http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2554-12-05

'การกลับมาของเทคโนแครต' โดย เกษียร, งานความเชื่อมั่น อนาคตประเทศไทย ในมือ"ยิ่งลักษณ์"

.
มีบทความตามหลัง คือ
" ข้อด้อยของยิ่งลักษณ์ " โดย สุริวงค์ เอื้อปฏิภาน
" ธุระไม่ใช่ " โดย สมิงสามผลัด
" มวยพลิกล็อก " โดย มันฯ มือเสือ

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -


' การกลับมาของเทคโนแครต '
โดย เกษียร เตชะพีระ
ใน มติชน ออนไลน์ วันอังคารที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554 เวลา 20:00:00 น.


มหาอุทกภัยซึ่งแปรสภาพไปเป็นวิกฤตการบริหารจัดการภัยพิบัติโดยรัฐที่รวมศูนย์สูงแต่ขาดเอกภาพเหมือนพีระมิดที่แตกเป็นเสี่ยงของไทย และทำท่าจะลุกลามกลายเป็นวิกฤตการเมืองสำหรับรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ทำให้คณะรัฐมนตรีตัดสินใจแต่งตั้งคณะกรรมการสำคัญขึ้น 2 ชุด

ได้แก่ คณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (กยน.) ซึ่ง ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนารับเป็นที่ปรึกษา, และคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ (กยอ.) ซึ่ง ดร.วีรพงษ์ รามางกูร อดีตรองนายกรัฐมนตรี, รัฐมนตรีคลังและที่ปรึกษาเศรษฐกิจของนายกฯหลายสมัยรับเป็นประธาน เมื่อวันที่ 8 พ.ย. ศกนี้

ขณะกระแสสังคมส่วนใหญ่เน้นวิเคราะห์วิจารณ์ไปในแง่ยุทธวิธีการเมืองเฉพาะหน้าว่าสะท้อนการประนีประนอม แบ่งปันอำนาจบริหารแก่ระเบียบสถาปนาเดิม (the Establishment) แลกกับตัวช่วยโอบอุ้มรัฐบาลไว้ไม่ให้จมน้ำในยามวิกฤต

ผมคิดว่าความหมายนัยระยะยาวของมันอาจไปไกลกว่านั้น

กล่าวคือ หากถือตามที่ ศาสตราจารย์อัมมาร สยามวาลา เคย วิเคราะห์ว่าวิกฤตเศรษฐกิจการเงินใหญ่ พ.ศ.2540 นำไปสู่อวสานของอำนาจเทคโนแครตไทย (ซึ่งไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง แต่มาจากความชำนาญเฉพาะทาง) ในการบริหารจัดการเศรษฐกิจมหภาคโดยมีระบอบทักษิณเป็นสัปเหร่อกลบฝังแล้ว

มหาอุทกภัยครั้งนี้ก็อาจนำไปสู่การฟื้นฟูอำนาจเทคโนแครตและจัดวางสถาบันรองรับอำนาจนั้นขึ้นมาใหม่ในโครงสร้างการบริหารจัดการทุนนิยมไทยตามตัวแบบสมัยรัฐบาลพลเอกเปรม อันเป็นยุคโชติช่วงชัชวาลของประชาธิปไตยครึ่งใบ

จากคำสัมภาษณ์หลายชิ้นทางสื่อมวลชนต่างๆ ของ ดร.สุเมธและ ดร.วีรพงษ์ หลังเข้ารับตำแหน่งในคณะกรรมการยุทธศาสตร์ทั้งสอง มีบางประเด็นเด่นๆ ที่สอดคล้องพ้องกัน อาทิ: -

-ทั้งสองท่านตกปากรับคำทันทีไม่ลังเล เมื่อนายกฯยิ่งลักษณ์โทร.ไปทาบทาม

-มูลเหตุจูงใจสำคัญคือต้องร่วมกันช่วยชาติในยามวิกฤต ถือเป็นการชาติ (หรือ การราชา-ชาติ อันเป็นหนึ่งเดียวกันในกรณี ดร.สุเมธ) ไม่ใช่การเมือง

-ทั้งสองท่านปัดปฏิเสธการเมือง (แม้จะยอมรับว่าเอาเข้าจริง การแทรกแซงทางการเมืองเป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่พ้น แต่ไม่สนใจในกรณี ดร.วีรพงษ์)

สำหรับประเด็นที่แตกต่างกันอันเกี่ยวกับการเข้าใจฐานะบทบาท, แนวทางการทำงาน, และภาระหน้าที่ของทั้งสอง มีสาระสำคัญน่าสนใจหลายประเด็น กล่าวคือ: -

-ดร.สุเมธเข้าใจบทบาทของตนเองในฐานะที่ปรึกษา กยน.ว่าคือการให้คำปรึกษาแทนพระองค์ในแง่บริหารจัดการน้ำแก่รัฐบาล ค่าที่เคยถวายงานมานานตลอด 30 ปี จึงพอจะถ่ายทอดสิ่งต่างๆ ถึงรัฐบาลได้

ดังคำสัมภาษณ์ตอนหนึ่งว่า: "...หน้าที่ท่าน (พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว) แนะให้กำลังใจชี้ทาง เหมือนพระเทศนาทำความดีนะ เหมือนกับผมเป็นที่ปรึกษา เนี่ยผมกำลังทำหน้าที่ที่ปรึกษาแทนท่าน" หรือดังที่คุณธรรมสถิตย์ ผลแก้ว สรุปจ่าหัวรายงานพิเศษการสัมภาษณ์ครั้งนี้ใน น.ส.พ.โพสต์ทูเดย์ประจำวันที่ 12 พ.ย.2554 ว่า "สุเมธ ผู้เชิญพระราชดำริ"

แน่นอนว่าฐานะที่ปรึกษาย่อมไม่มีอำนาจหน้าที่ความรับผิดชอบเชิงบริหารจัดการดำเนินงานอันเป็นเรื่องของรัฐบาล แต่น้ำหนักแห่งคำปรึกษาของผู้ให้คำปรึกษาแทนพระองค์ย่อมหนักหน่วงยิ่งและไม่ใช่สิ่งที่รัฐบาลจะละเลย

-ข้าง ดร.วีรพงษ์ก็เข้าใจบทบาทของตนเองในฐานะประธาน กยอ.ว่าเสมือนหนึ่งสถาปนิกอนาคตของประเทศและความหวังของประชาชนท่ามกลางวิกฤตมหาอุทกภัย


ขณะผู้ชมผู้ฟังอาจหูผึ่งไปกับนัยทางการเมืองของคำสัมภาษณ์บางประเด็นที่ ดร.วีรพงษ์กล่าวในรายการตอบโจทย์ทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสเมื่อคืนวันที่ 8 พ.ย. ศกนี้ อาทิ ท่านไม่ได้จะไปบอกแต่จะไปถามนักลงทุนญี่ปุ่นว่าจะเอาอะไร แล้วท่านก็จะทำตาม, น้ำท่วมใหญ่ครั้งนี้ท่านไม่โทษว่าเป็นความผิดพลาดของใคร แต่โทษธรรมชาติ (Act of God), ท่านให้คะแนนการบริหารจัดการภัยพิบัติน้ำท่วมของรัฐบาลยิ่งลักษณ์เต็ม 10 รัฐบาลอื่นใดมาเจอปัญหาใหญ่แบบนี้ก็คงทำได้พอๆ กัน เป็นต้น

ทว่า เนื้อหาสำคัญยิ่งกว่ากลับอยู่ในรายละเอียดด้านกระบวนการ บริหารจัดการและดำเนินงานของ กยอ. ซึ่งปรากฏในคำสัมภาษณ์ชิ้นต่างๆ กล่าวคือ (มติชนรายวัน, 10 พ.ย.2554 ): -

"ยึดรูปแบบอีสเทิร์นซีบอร์ดเป็นโมเดลการทำงาน.....ถือเป็นโมเดลที่มีความชัดเจน ได้ถกเถียงกันในวงแคบและปลอดการเมืองพอสมควร ไม่ต้องยุ่งยากการเมืองมากมายนัก

"จะมีคณะกรรมการแทนคณะรัฐมนตรี มีฝ่ายเลขาฯคือ สศช. (สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติหรือที่เรียกกันว่า ?สภาพัฒน์?)

"มติคณะกรรมการชุดนี้ ส่งไปให้ ครม.รับทราบ (ไม่ใช่เห็นชอบ) และถือเป็นมติ ครม.

"จะต้องมีการแก้ไขและตรากฎหมายเพื่อแต่งตั้งและกำหนด ขอบเขตอำนาจของคณะกรรมการชุดนี้อย่างเป็นทางการอีกครั้ง"

อีสเทิร์นซีบอร์ดอันเป็นตัวแบบสถาบันเทคโนแครตปลอดการเมือง (depoliticized technocratic institution) ซึ่ง ดร.วีรพงษ์หยิบยกอ้างอิงเป็นโมเดล สำหรับ กยอ.นี้มีชื่อเต็มว่าคณะกรรมการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก

จัดตั้งขึ้นโดยรัฐบาล พล.อ.เปรม เพื่อร่วมกับคณะกรรมการอีก 5 ชุดแก้วิกฤตเศรษฐกิจและปรับโครงสร้างเศรษฐกิจครั้งใหญ่สมัยนั้น

ส่งผลให้การพัฒนาอุตสาหกรรมไทยเปลี่ยนทิศทางจากการผลิตเพื่อทดแทนการนำเข้า -> ผลิตเพื่อส่งออก (import substitution -> export-oriented industries) ด้วยการออกเป็นระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ตั้งคณะกรรมการระดับชาติ ทำหน้าที่แทน ครม. มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และ สศช. เป็นฝ่ายเลขานุการ

ดำเนินภารกิจหลัก 3 ส่วนคือ 1) จัดทำแผนยุทธศาสตร์ 2) วางแผนปฏิบัติการ 3) ประสานให้หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องทุกหน่วยทำตามแผนที่วางไว้


ดร.เสนาะ อูนากูล อดีตเลขาธิการ สศช.และเลขานุการอีสเทิร์นซีบอร์ดสมัยนั้นให้สัมภาษณ์เสนอแนะบางประเด็นสำคัญแก่ กยอ.จากประสบการณ์เดิมว่า (มติชนออนไลน์, 14 พ.ย.2554 ): -

"ปัจจัยสำคัญอีกเรื่องหนึ่งก็คือฝ่ายเลขานุการ เมื่อ กยอ.จะยังใช้ สศช.เป็นฝ่ายเลขานุการเหมือนกัน แต่ปัจจุบัน สศช.ก็เปลี่ยนไปเยอะ ก็ต้องทำให้ สศช.กลับมาเข้มแข็งเหมือนเดิม (= revive & strengthen the key technocratic institution; รัฐบาลทักษิณผลัก สศช.ไปอยู่ชายขอบ ยึดบทบาทวางแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาแต่เดิมของ สศช.มาให้ทีมที่ปรึกษานายกฯทำแทน, แล้วให้ สศช.คอยตามเก็บรวบรวมและรายงานสถิติข้อมูลเศรษฐกิจสังคมเท่านั้น)

"นายกฯยิ่งลักษณ์จะปล่อยให้คุณวีรพงษ์ทำงานคนเดียวไม่ได้ ต้องคอยแบ๊กให้ในฐานะผู้มีอำนาจสูงสุดในการบริหารงานของประเทศ..... โดยเฉพาะเรื่องอำนาจ การควบคุมและสั่งการหน่วยงานต่างๆ ให้ปฏิบัติตาม (สะท้อนความสำคัญเป็นพิเศษของตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้าฝ่ายบริหารต่อระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข โดยเฉพาะหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516)

"ปัญหาที่เป็นเรื่องพิเศษเรียกร้องต้องการวิธีพิเศษเข้ามาช่วย คือการจัดตั้งคณะกรรมการเป็นองค์กรประสานงานในรูปแนวนอน เพื่อแก้ปัญหาการประสานงานของระบบบริหารราชการไทยที่เป็นแนวตั้ง

ข้อควรระวังก็คือต้องทำงานแบบต่อเนื่อง มิฉะนั้นเรื่องพิเศษจะกลายเป็นเรื่องปกติ แล้วสุดท้ายก็เลิกกันไปหมด ไม่มีการสานต่อ เพราะทุกกระทรวงอยากทำงานเฉพาะของตัวเอง ไม่ชอบอยู่ใต้แผนรวมของใคร"

ที่เรากำลังพูดถึงอยู่นี้จึงไม่ใช่คณะกรรมการเฉพาะกิจชั่วครั้งชั่วคราว, นานๆ จะเรียกประชุมที, กระแสตกหรือสื่อลืมหรือน้ำแห้งแล้วก็ยุบเลิก, ภารกิจจะเสร็จไม่เสร็จก็ช่าง, แต่เป็นสถาบันอำนาจเทคโนแครตปลอดการเมืองที่ต่อเนื่องยืนนาน (enduring) อันมีเงาลางๆ ของต้นแบบอุดมคติอยู่ในประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 11 (22 ต.ค.2501 ) ซึ่งเปรียบเสมือนสูติบัตรของระบอบเทคโนแครตไทยภายใต้การโอบอุ้มของเผด็จการอาญาสิทธิ์ของจอมพลสฤษดิ์ ดังที่ปรากฏบทวิเคราะห์อ้างแหล่งข่าวถึงแนวคิดเบื้องหลัง กยอ.และ กยน.ว่า: -

"ก่อนที่จะออกมาเป็นรูปแบบคณะกรรมการ 2 ชุดใหญ่ได้มีการคิดว่าควรจะมีสถานะทางกฎหมายอย่างไร ควรจะเป็นแบบไหนถึงจะมีศักยภาพในการทำงาน และเรียกศรัทธาความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติกลับคืนมาได้ โดยมีการมองย้อนกลับไปดูในอดีตยุคจอมพลสฤษดิ์ ได้ตั้งกระทรวงพัฒนาการแห่งชาติมารับมือภารกิจพิเศษ ขณะที่ในสมัยพลเอกเปรม ได้ตั้งเป็นคณะกรรมอีสเทิร์นซีบอร์ด สุดท้ายเห็นว่าน่าจะเป็นรูปแบบคณะกรรมการ แล้วให้มีการออกกฎหมายพิเศษผ่านการพิจารณาจากสภารองรับ.....

"ดูแล้วเหมือนกับว่าเมืองไทยต่อไปจะเป็นแบบหนึ่งประเทศมี 2 รัฐบาลทำหน้าที่บริหาร/จัดการบ้านเมืองให้สามารถแข่งขันกับโลกได้ รัฐบาลหนึ่งทำหน้าที่ดูแลทุกข์สุขประชาชนตามที่ได้แถลงนโยบายต่อสภา และอีกรัฐบาลหนึ่งได้รับการแต่งตั้งจากรัฐบาลให้ทำหน้าที่พิเศษรับมือกับปัญหาเร่งด่วน ปัญหาที่ต้องใช้เวลาและความต่อเนื่องไม่ว่าจะเปลี่ยนไปกี่รัฐบาลก็จะต้องมีคนคณะหนึ่งทำหน้าที่สานต่อภารกิจหน้าที่ให้บรรลุเป้าหมายที่ได้ตั้งไว้ เหมือนเช่นการทำหน้าที่เยียวยาฟื้นฟูและป้องกันไม่ให้เกิดอุทกภัยแบบเดียวกันนี้อีกในเมืองไทย"

"ธปท.หนาวเจอ ดร.โกร่ง โฉมใหม่ไทยมี 2 รัฐบาล ออก กม. รับรองฐานะ กยน.-กยอ."
ดอกเบี้ยธุรกิจรายสัปดาห์, 11 พ.ย. 2554
http://www.dbbnews.com/index.php/689-ธปท-หนาวเจอ ดร-โกร่ง.html



ในฐานะผู้นำรัฐบาลจากการเลือกตั้ง นายกฯยิ่งลักษณ์เข้าใจและตระหนักหรือไม่อย่างไรเกี่ยวกับนัยระยะยาวของการตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ทั้ง 2 ชุด ต่อโครงสร้างสัมพันธภาพทางอำนาจเหนือการบริหารจัดการทุนนิยมไทย? ปรากฏรายงานข่าววงในจากการประชุม ครม.ที่แต่งตั้ง กยอ.และ กยน.เมื่อวันที่ 8 พ.ย. ศกนี้ ในผู้จัดการออนไลน์ (9 พ.ย.2554) ว่า: -

"นายกฯยังกล่าวกับ ครม.ด้วยว่า ขอให้รัฐมนตรีทุกคนต้องเข้าใจสถานภาพตัวเองว่าทุกคนเหมือนเป็นบอร์ด คือนั่งอยู่ใน ครม.ซึ่งเป็นบอร์ดใหญ่ ถ้าเห็นรายชื่อคณะกรรมการยุทธศาสตร์ฟื้นฟูประเทศไทยในระยะยาวแล้ว อย่าตกใจว่าไม่มีรายชื่อของตัวเอง อาจจะเหลือรัฐมนตรีที่เข้าไปเป็นคณะกรรมการเพียงแค่ 4-5 คน แต่ไม่ใช่ว่ารัฐมนตรีคนอื่นๆ จะไม่เกี่ยวข้องไม่มีชื่อ เพราะถึงอย่างไรสุดท้ายไม่ว่าใครจะไปทำอะไรก็ต้องกลับมาพิจารณากันในบอร์ดใหญ่คือใน ครม.อยู่แล้ว ดังนั้นทุกคนต้องมีส่วนร่วมในการทำงานที่เข้มแข็งกันต่อไป....."

จากรายงานข่าว ดูเหมือนนายกฯยิ่งลักษณ์จะตระหนักอยู่ แต่ตระหนักหรือไม่เป็นเรื่องหนึ่ง มีพลังทางการเมืองที่จะรับมือหรือถือหางเสือกำกับควบคุมทิศทางการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นหรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง โดยเฉพาะในสภาพตอนนี้ที่เธออาจทำอะไรไม่ได้มากไปกว่า "ขอบพระคุณทุกฝ่ายค่ะ" (นิธิ เอียวศรีวงศ์, มติชนรายวัน, 14 พ.ย.2554)


* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง

อาการน่าเป็นห่วงใครๆเขาก็เตือน โดย เกษียร เตชะพีระ
www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1322795983&grpid=&catid=02&subcatid=0207

ขอบพระคุณทุกฝ่ายค่ะ, .. โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์
http://botkwamdee.blogspot.com/2011/11/nthank.html



++

งานความเชื่อมั่น อนาคตประเทศไทย ในมือ "ยิ่งลักษณ์"
ในมติชน ออนไลน์ วันเสาร์ที่ 03 ธันวาคม พ.ศ. 2554 เวลา 16:00:56 น.


ที่ประชุม ครม.เมื่อวันอังคารที่ 8 พฤศจิกายน อนุมัติเห็นชอบให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการโดยอาศัยระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี (มติชนรายวัน ฉบับวันที่ 3 ธันวาคม 2554)

1 คณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ หรือ กยอ.

1 คณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ หรือ กยน.

กยอ. มี นายวีรพงษ์ รามางกูร เป็นประธาน ขณะที่ กยน. มีนายกรัฐมนตรีหรือรองนายกรัฐมนตรีที่ได้รับมอบหมายเป็นประธาน แต่ที่สำคัญก็คือ มี นายสุเมธ ตันติเวชกุล เป็นที่ปรึกษา

ในฐานะประธาน กยอ. นายวีรพงษ์ รามางกูร แถลง

"ภายใน 1 ปีจากนี้ไปต้องทำให้เกิดความมั่นใจได้ว่า ในปีหน้าหากฝนตกต้องไม่เกิดเหตุการณ์อุทกภัยเช่นนี้ขึ้นอีก ที่สำคัญ หลังจากนี้ หากทำให้บริษัทประกันภัยทั่วโลกเข้ามารับประกันโรงงานอุตสาหกรรมในเขตน้ำท่วมได้ก็ถือว่าเป็นผลสำเร็จแล้ว"

จากนั้น นายวีรพงษ์ รามางกูร ก็เดินทางไปพบบริษัทประกันภัยทั้งที่ประเทศอังกฤษและที่ประเทศญี่ปุ่น

วันที่ 1 ธันวาคม นายวีรพงษ์ รามางกูร แถลงว่า

"ภารกิจในการฟื้นฟูความเชื่อมั่นของประเทศในส่วนของการประกันภัยของผมได้สิ้นสุดลงแล้ว"

สิ้นสุดลงภายในเวลาเพียง 3 สัปดาห์

แม้ว่าภายในความสำเร็จนี้จะดำเนินไปอย่างไม่เรียบร้อย กล่าวคือ มีบริษัทประกันภัยฝรั่งเศสเห็นต่างไปจากอังกฤษและญี่ปุ่น

ขณะเดียวกัน เป็นความสำเร็จที่มีเงื่อนแง่ติดตามมา

นั่นก็คือ บริษัทประกันภัยของทั้งอังกฤษและญี่ปุ่นตอบรับการประกันบนพื้นฐาน 1 การเพิ่มเงื่อนไข 1 การเพิ่มเบี้ยประกัน

นั่นก็เป็นสิ่งที่สามารถเข้าใจได้

"เมื่อเห็นผลงานของรัฐบาลว่าทำได้จริงตามที่ให้คำมั่นไว้ว่าจะไม่ให้เกิดความเสียหายจากน้ำท่วมเหมือนปีนี้อีก การทำประกันภัยในปีต่อไปก็จะราบรื่นขึ้น"

เป็นความคาดหวัง เป็นความเชื่อมั่นของ นายวีรพงษ์ รามางกูร


ประเด็นอยู่ที่ว่า 1 การร่วมมือระหว่างคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (กยน.) กับ คณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ (กยอ.) จะดำเนินไปอย่างมีประสิทธิผลมากน้อยเพียงใด

ยิ่งกว่านั้น ปัจจัยที่สำคัญอย่างยิ่งยวด 1 คือ รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร สนองรับและอำนวยความสะดวกอย่างราบรื่นและเรียบร้อยหรือไม่

หาก 3 ส่วนดำเนินไปอย่างเป็นเอกภาพ นั่นหมายถึง โอกาสของนิวไทยแลนด์ เกิดได้แน่

กระสวนการขับเคลื่อนประเทศในอีก 1 ปีข้างหน้าที่สำคัญเป็นอย่างมาก คือ การเสนอพิมพ์เขียวจากคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (กยน.) อย่างเป็นรูปธรรม

เป็นรูปธรรมบนปัญหาและความเป็นจริงของประเทศ

ขณะเดียวกัน คือการเคลื่อนไหวอย่างเป็นฝ่ายกระทำอันมาจากสมองก้อนโตของคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ (กยอ.)

ประเมินจากแถลงของ นายวีรพงษ์ รามางกูร

"ภารกิจต่อไป คือ การกลับมาบุกงานเรื่องความเชื่อมั่น ซ่อมสร้างสิ่งที่มีอยู่แล้วให้แข็งแรงมากขึ้น โดยจุดแรกคือ การทำให้นักท่องเที่ยวกลับมาให้ได้ดังเดิม เพราะนักท่องเที่ยวถือเป็นกระบอกเสียงสำคัญที่จะช่วยกระจายข่าวในลักษณะปากต่อปาก"

เป้าหมายเฉพาะหน้า 1 คือ เม็ดเงินอันมาจากนักท่องเที่ยว เป้าหมายที่ยาวไกลกว่านั้น 1 คือ การสร้างความมั่นใจให้นักลงทุนจากทั่วโลก

หากเมื่อใดนักลงทุนมีความเชื่อมั่นและนำเงินมาลงทุน นั่นหมายถึงอนาคตประเทศไทย

เรื่องอย่างนี้ กยอ.คิดด้านเดียวไม่ได้ ต้องมีความเข้าใจจากรัฐบาล ต้องมีการสนองและขานรับจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย จากกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา

เอกภาพทางความคิดสำคัญ เอกภาพทางการลงมือปฏิบัติยิ่งสำคัญ


เมื่อน้ำลด รัฐบาลต้องลดการเมืองให้น้อยลงหน่อย เพิ่มเรื่องการบริหารบ้านเมืองให้มากและมากขึ้น

หากพรรคประชาธิปัตย์ หาก นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และบริษัทบริวารยังคิดจะเล่นการเมือง ตอดนิดตอดหน่อย ก็ปล่อยให้ทำไปตามความถนัด ตามความชมชอบ

เพราะงานสร้าง "ประเทศไทยใหม่" อยู่บนบ่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อย่างเต็มพิกัดแล้ว



++

ข้อด้อยของยิ่งลักษณ์
โดย สุริวงค์ เอื้อปฏิภาน คอลัมน์ สถานีคิดเลขที่ 12
ในมติชน ออนไลน์ วันศุกร์ที่ 02 ธันวาคม พ.ศ. 2554 เวลา 21:00:00 น.


คุณสมบัติที่เป็นด้านตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิง ระหว่างนายกฯหญิงยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กับอดีตนายกฯอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ คือ การพูด ในขณะที่นายกฯคนปัจจุบันนั้น กำลังโดนบางฝ่าย ไล่บดขยี้ในเรื่องการพูด ทั้งพูดไทยและพูดอังกฤษ ผิดไปหมด

พูดไทยก็ว่าไม่ไพเราะ พูดผิดพูดถูก ไม่มีถ้อยคำคมคาย น้ำเสียงก็บ้านๆ ภาษาอังกฤษก็พูดไม่ได้ใจความ

ความเป็นนายกฯในระบอบประชาธิปไตย ย่อมสามารถโดนแตะต้อง วิพากษ์วิจารณ์กันได้ เป็นเรื่องปกติธรรมดา

ถ้าสังคมส่วนใหญ่เห็นด้วย เรื่องนี้ก็คงจุดติดทันที

เหมือนกับกรณีอดีตนายกฯอภิสิทธิ์ พูดเก่ง พูดเพราะ หน้าตาหล่อเหลา

พอ จิตรา คชเดช ผู้นำแรงงานหญิงชูป้าย "ดีแต่พูด"

เปรี้ยงเดียวติดกระแสสังคม

เพราะผู้คนส่วนใหญ่รู้สึกเห็นด้วยอย่างยิ่ง

ทั้งที่ "ดีแต่พูด" เป็นคำที่ใช้กันอยู่ทั่วไป ไม่ได้แปลกใหม่อะไร

แต่เมื่องัดออกมาใช้ ถูกคน ถูกที่ ถูกเวลา กลายเป็นเกรียวกราว ขานรับกันไปทั้งบ้านทั้งเมือง

ขณะที่นายกฯหญิง ซึ่งโดนไล่บี้เรื่องการพูดนั้น อาจจะยังไม่ถูกที่ถูกเวลา เลยทำให้คนส่วนใหญ่ไม่ได้รู้สึกไปด้วยว่าจะเป็นเรื่องสลักสำคัญอะไร


แล้วความที่พูดไม่เก่งด้วยกระมัง เราจึงไม่เห็นนายกฯคนนี้ พูดจาให้สัมภาษณ์แบบตื่นเช้าขึ้นมาก็ต้องกวัดแกว่งปาก ตอบโต้ทุกคน ทุกคำพูด สวนกันทุกเม็ด

อันนี้แหละที่ข้อด้อยกลายเป็นข้อดี

ประชาชนคนไทยเลยรู้สึกชอบใจ ที่ผู้นำการเมือง ใช้เวลาไปกับการทำงาน มากกว่าการ จิก กัด แขวะ เหวี่ยง

พึงพอใจกันมาก ที่คนระดับนายกฯไม่ต้องมาเสียเวลากับการคอยเชือดเฉือนคารมใครต่อใครทุกวี่วัน

รวมทั้งอาจเป็นคำตอบด้วยว่า ทำไมข้อดีเด่นของอดีตนายกฯอภิสิทธิ์ จึงกลายเป็นข้อร้าย

คำว่าดีแต่พูด ได้สั่นคลอนภาพพจน์อันเลอเลิศจนกลายเป็นรุ่งริ่ง

จนกลายเป็นบทสรุปทางการเมืองในช่วงนั้นว่า จุดแข็งที่สุดของประชาธิปัตย์คือการพูดการอภิปราย แล้ววันนี้ได้กลายเป็นจุดทำลายประชาธิปัตย์จนยากจะเยียวยาได้

เรื่องการพูดจา ยังได้ช่วยให้ประชาชนได้ทบทวนสถานะของผู้นำการเมืองไทยไปพร้อมๆ กันด้วย

เราต้องการผู้นำพิเศษหรือผู้นำปกติธรรมดา


ขณะที่นายกฯหญิงนั้น มีความเป็นผู้คนปกติธรรมดา มีผิดมีพลาดมีเฟอะฟะ แต่ถ้ายังทำงานได้ ยังนำพารัฐบาลบริหารประเทศชาติต่อไปได้

ก็ว่ากันไป ถ้าไม่ไหวเมื่อไร ต้องลาออก ต้องยุบสภา ให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินใจตามกรอบกติกาประชาธิปไตย

น่าจะดีกว่าการมีผู้นำดูดีฉลาดอัจฉริยะ พูดเก่งกาจ แล้วยกกันจนเกินความเป็นคนปกติ แถมมีอำนาจพิเศษอุ้มชูอยู่อีก ยิ่งไปกันใหญ่

สุดท้ายในความเลอเลิศอันแตะต้องไม่ได้นั้น

อาจกำลังได้รับการเปิดความจริงอีกด้าน โดย "ไอ้โก้" ผู้นำทีมปฏิบัติการอันนำไปสู่การขุดคุ้ยทุจริตโครงการอภิมหาโปรเจ็กต์ของรัฐบาลยุคหนึ่ง

ไปจนถึงได้รับการเปิดเผยความจริงหลังฉากเลือด ด้วยคำให้การต่อพนักงานสอบสวนของเจ้าหน้าที่ทหารผู้ปฏิบัติตามคำสั่ง

ในเหตุการณ์ปี 2553



++


ธุระไม่ใช่
โดย สมิงสามผลัด คอลัมน์ ทิ้งหมัดเข้ามุม
ใน นสพ.ข่าวสดรายวัน วันศุกร์ที่ 02 ธันวาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 21 ฉบับที่ 7673 ข่าวสดรายวัน หน้า 6


ตามคิววันนี้ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตเลขาธิการพรรค จะต้องเข้าให้ปากคำกับพนักงานสอบสวนคดีเจ้าหน้าที่รัฐฆ่าเสื้อแดง 16 ศพ

เพราะก่อนหน้านี้ พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด อดีตโฆษกศอฉ. พร้อมนายทหารหลายคนเคยเข้าให้ปากคำ ยืนยันว่าในเหตุการณ์สลายม็อบแดงเมื่อปี 53 ทหารทำตามคำสั่ง ศอฉ.

ซึ่งมีนายสุเทพเป็นผอ.ศอฉ. และ ศอฉ.เกิดขึ้นตามคำสั่งของนายอภิสิทธิ์

การให้ปากคำของ"มาร์ค-เทือก"หนนี้ ทำให้ญาติพี่น้องผู้สูญเสีย 91 ศพบาดเจ็บอีกกว่า 2 พันคนต้องจับตาไม่กะพริบ

เพราะคดี 16 ศพจะเป็นตัวกรุยทางให้คดีที่เหลืออีก 75 ศพ

เพิ่มความหวังในการทวงยุติธรรม


ขณะที่นายอภิสิทธิ์เองก็ออกอาการตั้งแต่แรกๆที่มีการเปิดเผยคำให้ปากคำของเสธ.ไก่อู

ถึงขนาดโวยวายว่ารัฐบาลยุคนี้บิดเบือนพยานหลักฐานบ้าง กดดันเจ้าหน้าที่บ้าง

บอกด้วยว่ายุครัฐบาลประชาธิปัตย์ไม่เคยบิดเบือนคดี

ตรงนี้น่าแปลกใจ เพราะหากเป็นไปตามที่นายอภิสิทธิ์กล่าวอ้าง ทำไมคดี 91 ศพจึงไม่คืบหน้าเลยตลอดเวลาเกือบ 2 ปี

พอรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ใช้เวลาแค่ 3 เดือนก็สามารถสรุปไปแล้ว 4 จาก 16 สำนวน

ที่สำคัญ 13 คดีจาก 16 คดีก็เป็นสำนวนที่ดีเอสไอเคยทำไว้ในรัฐบาลก่อน

ไม่ใช่มาทำสำนวนกันใหม่

ตำรวจแค่รวบรวมผลชันสูตร สอบพยานที่เห็นเหตุการณ์ สอบทหารที่ปฏิบัติหน้าที่ จนคดีลุล่วงไปเยอะ

จึงไม่เข้าใจว่าทำไมนายอภิสิทธิ์ถึงกล่าวหาว่าบิดเบือนคดี


นอกจากนี้นายอภิสิทธิ์ยังวิพากษ์สื่อที่ติดตามคดี 91 ศพว่า "สื่อบางค่ายที่คิดว่าเป็นธุระของตัวเองไปแล้ว"

ตรงนี้แหละที่สะท้อนถึงวิธีคิดของผู้นำฝ่ายค้านได้ดีที่สุด สะท้อนถึงความไม่เข้าใจถึงหน้าที่ของสื่อมวลชน

สื่อมวลชนทั้ง "เกาะติด เจาะลึก ตีแผ่" คดีสลายม็อบแดง 91 ศพมาตลอด 2 ปีนั้น ล้วนอยู่ในกรอบของการค้นหาความจริงและความถูกต้องของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

น่าจะประหลาดใจมากกว่า หากสื่อไม่ขุดคุ้ยค้นหาความจริง ทั้งที่มีการเข่นฆ่าเกือบร้อยศพใจกลางเมืองหลวง

คงมีแต่นายอภิสิทธิ์เท่านั้นที่คิดว่าไม่ใช่ธุระของสื่อ !?



++

มวยพลิกล็อก
โดย มันฯ มือเสือ คอลัมน์ ทิ้งหมัดเข้ามุม
ใน นสพ.ข่าวสดรายวัน วันพฤหัสบดีที่ 01 ธันวาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 21 ฉบับที่ 7672 ข่าวสดรายวัน หน้า 6


ตอนแรกที่มีข่าวฝ่ายค้านยื่นญัตติซักฟอก พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รมว.ยุติธรรมและ ผอ.ศปภ.

กองเชียร์ต่างก็ใจหายใจคว่ำ

เพราะการบริหารงานใน ศปภ. เป็นอย่างไรก็เห็นๆ กันอยู่

และแม้พรรคเพื่อไทยจะมีส.ส.เกินครึ่งสภา แต่โดยบุคลิกของพล.ต.อ.ประชา ถึงจะมีฉายา"อินทรีอีสาน" แต่เป็นคนพูดไม่เก่ง ออกแนวหงิมๆ ติ๋มๆ ด้วยซ้ำ

หลายคนเลยเกรงจะตกเป็นเหยื่อรุมสกรัมของนักโต้วาที งานนี้ไม่ตายก็คางเหลือง

แล้วผลออกมาปรากฏว่าคาดการณ์ถูก-ผิดอย่างละครึ่ง


ส่วนถูกคือส.ส.รัฐบาลโหวตแบบ"จัดเต็ม" ช่วยให้พล.ต.อ.ประชาผ่านศึกไปได้ฉลุยตามคาด

ส่วนผิดและทำเอาทั้งกองเชียร์และกองแช่งอึ้ง-ทึ่งไปตามๆ กัน

คือชั้นเชิงลีลาการรุก-รับของพล.ต.อ.ประชา ที่ไม่ยอมเป็นเป้านิ่งให้ประชาธิปัตย์ไล่ถลุงฝ่ายเดียว อย่างที่ใครต่อใครเดิมพันเอาไว้

ไม่ว่ากรณีร่างพ.ร.ฎ.อภัยโทษ ที่ประชาธิปัตย์ตั้งใจจะกระแทกชิ่งถึงนายกฯยิ่งลักษณ์ ชินวัตร สุดท้ายก็เงื้อหมัดค้าง

ไม่ว่ากรณีถุงยังชีพที่มีการจัดซื้อก่อนตั้งศปภ.

หนำซ้ำสิ่งของในถุง บางอย่างราคาไม่ต่างจากที่รัฐบาลชุดก่อนเคยซื้อ บางอย่างแพงน้อยกว่าด้วยซ้ำไป

โดยเฉพาะการโชว์รูปถ่าย นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ยืนยิ้มแจกถุงยังชีพยี่ห้อกระทรวงพลังงานให้กับ ผู้ประสบภัยชาวพิษณุโลก

ประชาธิปัตย์ที่กำลังเมามันอยู่กับการเปิด"คลิปตัดแปะ" เจอแข้งสวนดอกนี้เข้าไปถึงขั้นเกือบ"เสียมวย"เลยทีเดียว


อย่าลืมว่าพล.ต.อ. ประชาก่อนมาเป็นรมว. ยุติธรรม เคยเป็นรัฐมนตรีว่าการมาแล้ว 3 กระทรวง อุตสาหกรรม แรงงาน และสาธารณสุข

เคยได้รับการเสนอชื่อเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี

ในอาชีพรับราชการเป็นถึงอธิบดีกรมตำรวจและ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ

และถ้าว่ากันตามธรรมชาติแล้ว

ถ้าไม่บินสูงจนชนหน้าผาร่วงลงมาเองเสียก่อน

"อินทรี"ไม่มีทางตกเป็นเหยื่อ"แมงสาบ"แน่นอน



.