http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2554-12-09

จีน : สู่เจ้าไฮเทค, บล็อกเฟซบุ๊ก บล็อกประชาชน, อีบุ๊ก..ทำง่ายจัง, ความหลัง EM โดย ศิริพงษ์ วิทยวิโรจน์

.
โพสต์ข่าวอวกาศภายหลัง " นาซ่าพบ'อุกกาบาต' 1,000ลูกลอยใกล้โลก "

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -


จีน : ย่างก้าวสู่เจ้าไฮเทค
โดย ศิริพงษ์ วิทยวิโรจน์ siripong@kidtalentz.com คอลัมน์ แลไปข้างหน้า
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 09 ธันวาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1634 หน้า 100


เคยเห็นคนบนเฟซบุ๊กโพสต์ภาพสินค้าลอกเลียนแบบของจีนแล้วเขียนข้อความในเชิงขำๆ กึ่งเสียดสีความเป็นนักเลียนแบบของจีน ที่เลียนแบบได้ทุกอย่างตั้งแต่สินค้าไฮเทคไปจนถึงแม้กระทั่งอย่างที่เป็นข่าวโด่งดังเมื่อสักระยะหนึ่งมานี้ที่เลียนแบบร้านแอปเปิ้ลสโตร์กันทั้งร้าน ทำให้นึกถึงสมัยเด็กๆ ที่สายตาของคนไทยมองไปที่สินค้าญี่ปุ่นก็มีลักษณะคล้ายๆ กัน

กึ่งดูถูกดูหมิ่นสินค้าและสติปัญญาของเขาว่างั้นเถอะ

เมื่อเวลาผ่านไป นักเลียนแบบที่เราเคยดูหมิ่นอย่างญี่ปุ่นก็ก้าวขึ้นสู่ระดับเวิลด์ คลาส กลายเป็นนักนวัตกรรมที่ทำให้พระอาทิตย์ย้อนกลับมาขึ้นทางตะวันออก แม้แต่ฝรั่งมังค่ายังยอมซูฮก จนถึงระดับคลั่งไคล้ด้วยซ้ำในยุคหนึ่งที่นักเศรษฐศาสตร์บางคนบอกว่ามี "วรรณกรรมสนามบิน" ที่เกี่ยวกับความสำเร็จของญี่ปุ่นเต็มไปหมด

ขณะที่ญี่ปุ่นอาศัยการส่งออกเป็นพลังผลักดัน จีนอาศัยตลาดภายในที่ใหญ่โตมโหฬารเป็นตัวขับเคลื่อนนวัตกรรมแทน



เมื่อเราพิจารณาไปที่สาธารณรัฐประชาชนจีนให้ดีๆ สถานะของจีนเองก็เริ่มเปลี่ยนไปเรื่อยๆ การพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็วมาก ก้าวไกลไปถึงขั้นเดินหน้าโครงการสถานีอวกาศนานาชาติกันแล้ว ในระหว่างที่หลายอย่างยังมีคนเอามาหัวเราะเยาะกันบนหน้าเฟซบุ๊กของคนไทยนี่แหละ

ในเดอะนิวยอร์กไทม์ส มีรายงานเรื่องเป้าหมายที่ก้าวขึ้นสู่ความเป็นเจ้าโลกทางด้านไฮเทคเอาไว้ค่อนข้างหน้าสนใจ และนำเสนอไว้ว่าเส้นทางของจีนที่จะไปถึงจุดดังกล่าวนั้นมีโอกาสสูงมากเป็นอย่างยิ่ง แต่อาจจะเป็นแบบแผนที่แตกต่างกันออกไปในแง่ของการสร้างนวัตกรรม

หลักไมล์ที่ชี้ให้เห็นเป็นหลักฐานชัดเจนในการก้าวสู่ระดับเวิลด์คลาสทางด้านคอมพิวติ้งดีไซน์ ก็คือการที่จีนสามารถสร้าง Tienhe-1A ซูเปอร์คอมพิวเตอร์ที่เร็วที่สุดในโลกขึ้นได้ในปี 2010 แม้จะเป็นซูเปอร์คอมพิวเตอร์ที่ใช้โปรเซสเซอร์ของอเมริกาและถูกญี่ปุ่นแซงหน้าขึ้นไปในเวลาต่อมาก็ตามที

และแล้วในเดือนตุลาคมที่ผ่านมานี้ Sunday Bluelight MPP ซูเปอร์คอมพิวเตอร์อีกตัวของจีนก็ทำลายสถิติก้าวขึ้นไปเป็น 1 ใน 20 คอมพิวเตอร์ที่เร็วที่สุดของโลก

ทว่าเที่ยวนี้จีนทำให้โลกทึ่งยิ่งกว่า เพราะนอกจากจะใช้โพรเซสเซอร์ที่จีนสร้างเองแล้ว ยังเป็นซูเปอร์คอมพิวเตอร์ที่มีความก้าวหน้าอย่างมีนัยสำคัญในการใช้พลังงานต่ำอีกด้วย กล่าวคือผลการทำงานต่อวัตต์สูงกว่า ซึ่งถือเป็นองค์ประกอบสำคัญของซูเปอร์คอมพิวเตอร์รุ่นต่อไปที่จะที่เรียกว่าเอ็กซาสเกล ซูเปอร์คอมพิวเตอร์ซึ่งจะทำงานในระดับเร็วกว่าคอมพิวเตอร์ในปัจจุบันนี้ประมาณ 1,000 เท่า ภายในทศวรรษนี้

นั่นคือเป้าหมายของบริษัทจีน

นักวิชาการฝรั่งมังค่าถึงได้บอกว่าอย่าประมาทจีนต่ำเกินไป ส่วนนักไม่วิชาการบนเฟซบุ๊กก็โพสต์เล่นเอาขำไปวันๆ



++

บล็อกเฟซบุ๊ก บล็อกพลังประชาชน
โดย ศิริพงษ์ วิทยวิโรจน์ คอลัมน์ แลไปข้างหน้า
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 02 ธันวาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1633 หน้า 100


ก่อนหน้านี้ไม่นานนัก เห็นข่าวในสื่อต่างประเทศรายงานว่า รัฐบาลไทยติดต่อผ่านเฟซบุ๊กและยูทูบเพื่อขอให้ลบหน้าเพจหรือคลิปวิดีโอที่มีเนื้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพพระมหากษัตริย์และเชื้อพระวงศ์ออกไป ตามรายงานว่ามีมากกว่า 10,000 รายการ อันที่จริงรายงานข่าวที่ว่านี้อ้างอิงมาจากสื่อไทยอีกที และมีการอ้างชื่อของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงไอซีทีว่าเป็นผู้ดำเนินการเรื่องนี้

หลังจากนั้น ไม่นานก็เกิดกรณี ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์คนหนึ่ง ชื่ออะไรขี้เกียจจะจำ เสนอแนวความคิดเรื่องเดียวกันทำนองเดียวกันแต่ไปไกลถึงขนาดเสนอบล็อกทั้งเฟซบุ๊กและยูทูบไปเลย อ้างด้วยว่าประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนก็เคยทำ

ปรากฏว่ารายหลังโดนถล่มแหลกทั้งบนอินเตอร์เน็ตและผ่านสื่อบางเจ้า นัยว่าเป็นจุดยืนที่ไดโนเสาร์เต่าล้านปีเป็นอันมาก สวนทางกับแนวคิดในระบอบประชาธิปไตยที่ต้องเปิดกว้างในการแสดงความคิดเห็น

เพราะการไปบล็อกทั้งเว็บเท่ากับปิดกั้นโอกาสของคนทั้งหมดที่ส่วนใหญ่ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรด้วย เป็นการจัดการแบบเหมารวมอย่างง่ายๆ โดยไม่ได้นึกถึงแง่มุมอื่นๆ ที่ตามมา


ขอยกตัวอย่างกรณีเฟซบุ๊กก็แล้วกันเพราะทุกวันนี้มันได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันไปเรียบร้อยแล้ว ยิ่งช่วงลี้ภัยน้ำท่วม ออกบ้านมาเดือนกว่า เฟซบุ๊กยิ่งมีความสำคัญยิ่งกับผม

เช็กสถานการณ์น้ำท่วมบ้านผ่านเฟซบุ๊กนี่ละครับ เช็กทุกวันว่าถนนสายหลักเข้าบ้านเป็นอย่างไร ระดับน้ำในหมู่บ้านแค่ไหนแล้ว ข้อมูลข่าวสารระดับไมโครหรือระดับจุลภาคแบบนี้มันหาไม่ได้จากสื่อไม่ว่ากระแสหลักกระแสรอง หาไม่ได้จากหน่วยงานรัฐไม่ว่าในระดับใด แต่หาได้จากคนในพื้นที่ซึ่งใช้เฟซบุ๊กเป็นช่องทางในการสื่อสาร มีทั้งข้อความ ภาพถ่าย และวิดีโอ

ในบางชุมชน สร้างเพจบนเฟซบุ๊กขึ้นมารอรับสถานการณ์น้ำท่วมโดยเฉพาะ เหมือนอย่างหมู่บ้านของผมที่กรรมการหมู่บ้านเปิดเพจหมู่บ้านขึ้นมา ดูแล้วเหมือน ศปภ. ระดับหมู่บ้าน ที่เป็นศูนย์ประสานงานทุกๆ อย่าง ทั้งรายงานข้อมูลข่าวสาร สถานการณ์ในแต่ละวัน การประสานงานด้านต่างๆ การระดมสรรพกำลัง ความรู้ความคิดความอ่าน ในการจัดการระหว่างน้ำท่วม การวางแผนการกู้หมู่บ้าน ฯลฯ

นี่ตัวอย่างแค่หมู่บ้านเดียวนะครับ ความจริงมีอีกเยอะแยะ และมีหลายระดับ หลายเป้าหมาย แม้กระทั่งการอาศัยเฟซบุ๊กรวมกลุ่มในระดับชุมชนที่ใหญ่กว่าแค่หมู่บ้านเดียวก็มีให้เห็นและเป็นประโยชน์มาก ดังเช่นกรณีของคนนทบุรีที่ใช้เฟซบุ๊กรณรงค์จนเกิดการรวมพลังขึ้นมาเรียกร้องให้รัฐเกิดความสนใจเข้าไปแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขัง

เพราะสื่อกระแสหลักเล่นข่าวแต่เฉพาะผิวนอก หรือไม่ก็เล่นแต่ข่าวดราม่าที่ขาดข้อมูลเชิงลึก และไม่ครอบคลุม

เฟซบุ๊กจึงเป็นช่องทางการติดต่อสื่อสารแบบใหม่ที่เปี่ยมประสิทธิภาพเกินกว่าจะเอาเรื่องซึ่งเป็นจุดด่างเล็กๆ มาอ้างเป็นเหตุให้บล็อกการใช้งานไปทั้งหมด



ที่จริงยังมีแง่มุมอื่นๆ ที่ดีๆ อีกมากมายของเฟซบุ๊กที่สามารถจาระไนกันได้ยาวเหยียด

และต่อให้บล็อกก็บล็อกได้ไม่จริงอยู่ดี

เหมือนเมื่อต้นปีที่ผมไปเวียดนาม ที่นั่นรัฐบาลบล็อกเฟซบุ๊ก แต่เราสามคนที่ไปด้วยกันก็ยังสามารถใช้เฟซบุ๊กได้อยู่ดี...

เพราะพวกเราพร้อมจะ "เกรียน" สำหรับรัฐบาลที่ไม่มีความเป็นประชาธิปไตย



++

อีบุ๊กสวยๆ ทำเองก็ได้ง่ายจัง
โดย ศิริพงษ์ วิทยวิโรจน์ คอลัมน์ แลไปข้างหน้า
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1631 หน้า 100


วันที่มติชนสุดสัปดาห์ฉบับนี้ออกไปยังแผงหนังสือเป็นวันที่น้ำท่วมบ้านผมครบเดือนหนึ่งพอดี หลับตานึกภาพในบ้านคงเละเทะพอสมควร เพราะระดับน้ำยังคงท่วมเป็นเมตร จะเข้าไปต้องนั่งเรือถึงสองต่อ แล้วก็ไม่รู้จะไปดูมันทำไมเหมือนกัน

ดูไปก็ทำอะไรไม่ได้อยู่ดี รอน้ำแห้งแล้วค่อยมาว่ากันใหม่อีกที

ระหว่างที่ระเหเร่ร่อนเป็นผู้อพยพอยู่นอกบ้าน ได้อาศัยโทรศัพท์แอนดรอยด์ราคาย่อมเยาเครื่องหนึ่งในการเชื่อมต่อสัญญาณอินเตอร์เน็ต แล้วส่งต่อสัญญาณมาให้เน็ตบุ๊กกับไอแพดพออาศัยทำงานส่งเข้ามาที่สำนักงานได้

และได้พบอย่างหนึ่งว่าแท็บเล็ตอย่างไอแพดซึ่งเดิมทีซื้อมาก็เพื่อทดลองใช้งานแล้วเอามาถ่ายทอดต่อถึงท่านผู้อ่านนั้น กลับกลายเป็นอุปกรณ์พกพาที่สะดวกมากกับชีวิตไม่ติดที่แบบนี้

จากก่อนหน้าที่ยังเห็นมันเป็นของเล่นๆ อย่างหนึ่ง เมื่อวิถีชีวิตเปลี่ยน ประสบการณ์ใหม่ที่ได้มาก็ทำให้มุมมองเปลี่ยน ชัดเจนที่สุดก็คือการไม่ถูกจำกัดด้วยสถานที่ ไม่ต้องมีเก้าอี้มีโต๊ะก็ยังติดตามข่าวสารข้อมูลได้ทุกเมื่อ

ผมเชื่อว่าใครที่ตกอยู่ในสถานการณ์แบบผมก็ต้องอยากรู้สถานการณ์น้ำที่บ้านแบบเกาะติดพอสมควร อยากรู้ว่าระดับน้ำแต่ละวันมันเป็นอย่างไร ขึ้นหรือลด หรือมันจะแห้งไปเมื่อไหร่จะได้เริ่มต้นกระบวนการฟื้นฟูหลังน้ำท่วมกันเสียที แม้คาดเดาเองล่วงหน้าว่าน่าจะไม่ต่ำกว่าสองเดือน ก็ยังอดไม่ได้อยู่ดีที่ต้องคอยติดตามกันอยู่ทุกวัน

โอกาสที่จะประสาทกินก็มีอยู่สูงด้วยเช่นกันกับการเกาะติดสถานการณ์ถ้าสติสตังค์ไม่ค่อยมี



ระหว่างระเหเร่ร่อน ผมไปเจอแอพพลิเคชั่นตัวหนึ่งบนไอแพดที่เขาแนะนำไว้ ก็ซื้อมาลองใช้แล้วดูมันเข้าท่า ชื่อว่า บุ๊ก ครีเอเตอร์ ฟอร์ ไอแพด (Book Creator for iPad) เป็นแอพพลิเคชั่นสำหรับการทำอีบุ๊กแบบง่ายๆ จัดหน้าใส่ภาพประกอบสวยๆได้ เข้าท่าดี มันใช้งานได้ง่ายๆ ไม่ซับซ้อน ชนิดเด็กไม่กี่ขวบก็สามารถทำเองได้

แต่ไม่ได้จำกัดเฉพาะเด็กนะครับ ผู้ใหญ่ก็ใช้ได้ใช้ดีเช่นเดียวกัน

อีบุ๊กที่มีภาพประกอบ และมีตัวหนังสือไม่มาก จะเหมาะมาก อาจจะเป็นโฟโต้บุ๊ก อาร์ตบุ๊ก บทกวี บันทึกสั้นๆ แบบเขียนสด หรืออะไรแนวๆ นี้

ไม่เหมาะกับข้อเขียนยาวๆ ที่ต้องแก้แล้วแก้อีกแบบนิยายหรือแม้แต่เรื่องสั้น เพราะระบบการจัดหน้ามันทำได้ไม่ซับซ้อนเท่ากับโปรแกรมมืออาชีพบนเดสก์ท็อป

ข้อดีที่เห็นนอกจากความง่ายเพราะใช้แค่ปลายนิ้วก็ทำอีบุ๊กได้แล้ว อีบุ๊กที่ได้ออกมายังเป็นไฟล์ epub ที่ถือว่าเป็นมาตรฐานของอีบุ๊กส่วนใหญ่ในโลกนี้ที่อ่านได้จากเครื่องอ่านอีบุ๊กได้เป็นส่วนใหญ่ รวมทั้งอ่านบนสมาร์ทโฟนหรือคอมพิวเตอร์ก็ได้หมด ส่งต่อให้คนอื่นอ่านได้หลายทาง ทั้งทางอี-เมล ดร็อปบ็อกซ์

หรือจะส่งเข้าไอบุ๊กไปไว้แจกหรือขายผ่านไอบุ๊กสโตร์ก็ได้เช่นกัน จะทำเอาไว้อ่านเองคนเดียวก็ไม่มีใครว่า เวลาเปิดไอบุ๊กขึ้นมาอีบุ๊กที่เราเขียนเองทำเองเรียงเป็นแถวบนชั้นหนังสือดิจิตอลดูเท่ไม่หยอกเหมือนกัน

ผมยังเอากวีที่ตัวเองเขียนช่วงน้ำท่วมมาทดลองทำไว้เล่มหนึ่ง เปิดดูเปิดอ่านทีไรก็อิ่มใจครับ



++

ย้อนความหลังถึง EM ในญี่ปุ่น
โดย ศิริพงษ์ วิทยวิโรจน์ คอลัมน์ แลไปข้างหน้า
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1630หน้า 100


ผ่านมาสามอาทิตย์แล้วสำหรับผมยังไม่หลุดจากโหมดน้ำท่วม นอกจากบ้านท่วมและยังทรงตัวในระดับอกแล้ว ถนนหน้าห้องเช่าที่หนีน้ำมาอาศัยก็ยังท่วมอีกในระดับเข่า ดังนั้น เราหนีน้ำไปไม่พ้น และใช้วิธีมองแยกส่วนไม่ได้ด้วย

เห็นเรื่อง EM ที่ถกเถียงกันแล้ว ทำให้นึกถึงย้อนไปเมื่อสักสิบปีก่อน ตอนนั่งชิงกันเซ็นจากโตเกียวไปยามากาตะกินเวลาสองชั่วโมงครึ่ง นั่งรถตู้จากยามากาตะไปทาคาฮาตะอีกสักพักเพื่อไปดูอะไรบางอย่างที่คล้ายๆ กับ EM

ขออนุญาตเอาเรื่องเก่ามาเล่าใหม่สักนิด



ทากาฮาตะ เป็นเมืองที่มีคนอยู่เพียงแค่ประมาณหมื่นกว่าคน ส่วนใหญ่มีอาชีพด้านการเกษตร สถานที่เป้าหมาย มี คุณโคคิชิ อิโตะ เป็นผู้อำนวยการ คุณอิโตะนี่เป็นเกษตรกรนะครับ เรียนจบมาจากวิทยาลัยเทคนิคการเกษตร แล้วมาทำการเกษตรตั้งแต่หนุ่มๆ มีลูกชายสองคนเป็นหนุ่มแล้ว และทำการเกษตรอยู่กับพ่อเหมือนกัน

อิโตะเริ่มต้นมาจากการเลี้ยงวัว ทำนาและปลูกพืชผลอื่นๆ มานานมากแล้ว เมื่อมาถึงวิกฤตการณ์น้ำมันของโลกครั้งแรก ราคาวัวและผลผลิตต่างๆ ตกต่ำมาก แต่ราคาขายในตลาดถึงผู้บริโภคกลับแพง จึงเกิดคำถามขึ้นมา และมีอยู่ปีหนึ่ง ขนเอาองุ่นใส่รถไปตระเวนขายในโตเกียว สองวันขายไม่ได้สักพวง ก็เลยเอาไปฝากสหกรณ์ขาย

ปรากฏว่าวันเดียวหมดเกลี้ยง กลับมาบ้านก็เลยมานั่งคิด การขายตรงจากผู้ผลิตถึงบริโภคน่าจะดีกว่า เกษตรกรขายได้ราคาดีขึ้น ผู้บริโภคได้ราคาถูกลง แต่สินค้าที่ผู้บริโภคต้องการ ต้องมีคุณภาพ ปลอดภัย เลยรวมกลุ่มกันเป็นสหกรณ์ หันมาเริ่มทำออร์แกนิก ฟาร์ม

ตอนนั้นมีผลงานการคิดค้นของนักวิจัยญี่ปุ่นคนหนึ่งเกี่ยวกับการรีไซเคิลทางด้านการเกษตรแบบครบวงจร ซึ่งจะทำให้ผลผลิตปลอดจากสารเคมีแบบร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ไม่มีเกษตรกรคนไหนในญี่ปุ่นสนใจอยากจะทำตาม มีก็แต่คุณอิโตะนี่แหละ

แกทดลองทำดู


แค่บรรยายเฉยๆ ภาพมันยังไม่ชัด ต้องไปดูกันถึงสถานที่ ออกจากสำนักงาน ก็ไปแวะที่ฟาร์มมะเขือเทศของเกษตรกรรายหนึ่งซึ่งเป็นสมาชิกในกลุ่ม เก็บมะเขือเทศสดจากต้นกิน กรอบอร่อยฉ่ำเสียไม่มี มีดินเปื้อนบ้างบางลูก แต่ไม่ต้องล้างกันละ เช็ดๆ เอา มันปลอดสารเคมีโดยสิ้นเชิง

จากนั้นก็เข้าไปในบ้านของเกษตรกรที่ว่านี้ เป็นบ้านแบบชาวนาจริงๆ บนโต๊ะยาวกลางห้องซึ่งพื้นเป็นดิน มีมะเขือเทศกองโตอยู่บนโต๊ะ เขาบอกว่านี่คือมะเขือเทศที่ส่งให้กับห้างอิเซตัน แล้วหยิบแตงกวาญี่ปุ่นตรงหัวโต๊ะมากองๆ ให้ลองชิมกันดูอีก จิ้มมิโสะเอร็ดอร่อย

อิโตะสาธิตความกรอบสดของแตงกวาโดยหักแตงกวาดังเป๊าะ แล้วจับมันต่อกันเข้าที่เดิม ห้อยลงให้ดู บอกว่าแตงกว่าโดยทั่วไปมันจะแหยะๆ ไม่สามารถจะทำอย่างนี้ได้ ลูกชายรูปหล่อของคุณอิโตะอธิบายเพิ่มเติมถึงรูในเนื้อแตงกวาที่ทำให้เป็นแบบนั้นได้

อะไรทำให้มะเขือเทศ และแตงกวา ของเขาพิเศษปลอดสารเคมีโดยสิ้นเชิงได้อย่างนี้

ในห้องเล็กๆ มืดๆ ติดกับห้องกลางนี้ มีบ่อซีเมนต์ ในนั้นมีน้ำใสๆ มีหินใส่ถุงตาข่ายถ่วงเอาไว้ ผู้ไปเยือนดื่มน้ำกันไปคนละแก้ว บ้างก็จิบๆ น้ำที่เราล่อกันเข้าไปนั้น วัตถุดิบสำคัญ คือ ฉี่วัว

ฉี่นี่ไม่ใช่สดๆ นะครับ มันมีกรรมวิธีเขาเรียกว่า บีเอ็มดับบลิว ย่อมาจาก บักเตรี, แร่ธาตุ และน้ำ ที่โรงงานบีเอ็มดับบลิว ของคุณอิโตะ ใหญ่หน่อย วัสดุอุปกรณ์เป็นของรีไซเคิลแทบทั้งนั้น จากนั้นก็เดินทางไปดูสถานที่ผลิตแหล่งฉี่วัวใหญ่ของเขา โรงเลี้ยงวัวปลอดแมลง ไร้กลิ่น มีน้ำลงมาจากหลังคา น้ำผสมมูลวัวผ่านท่อไปยังโรงหมักที่มีถังหลายถัง

ถังใหญ่ใบแรก คือ ฉี่วัว หรือ หมู หรือ ไก่ เขาปั่นอากาศเอาไว้ตลอดเวลาให้มันถ่ายเท มีถุงใส่หินห้อยอยู่ในนั้น หลายถุง หินมีสองแบบ แบบแรกเป็นหินพรุนๆ เบาๆ ยังกับซากปะการัง แต่เขาบอกว่าเอามาจากภูเขา ในรูพรุนของหินมีจุลินทรีย์ธรรมชาติอยู่ หินแบบที่สองเป็นหินสำหรับให้แร่ธาตุ

จุลินทรีย์ในหินจะทำหน้าที่กินของเสียในฉี่ ถังละสิบวัน น้ำก็จะสะอาดขึ้น จนก่อนถังสุดท้าย มันกินจนไม่มีอะไรจะกินแล้ว ตัวมันก็ตาย ถึงถังสุดท้าย กลายเป็นน้ำใสๆ ที่คนดื่มได้ เอาไปทำอะไรหลายอย่าง

เอาไปให้สัตว์ในฟาร์มกินแทนน้ำธรรมดา เอาไปเป็นตัวเร่งในกระบวนการทำปุ๋ยหมัก อย่างปุ๋ยขี้วัวนี่ดมได้เลย ไม่มีกลิ่น ผสมในอาหารสัตว์ ฉีดลงมาในโรงเลี้ยงวัวไม่มีแมลงหรือแมลงวันมารบกวนในฟาร์มวัวแถมวัวยังโตเร็วให้เนื้อมากกว่าโดยทั่วไป เอาไปเป็นน้ำสำหรับแปลงผัก ทำให้ปลอดแมลงร้ายและโรคภัยไข้เจ็บ แข็งแรง โตเร็ว เอาไปรดนาข้าว ในขั้นเตรียมดิน ซึ่งให้ผลเหมือนแปลงผัก นี่คือ ฉี่วัวมหัศจรรย์ ทำให้เกษตรกรรมปลอดสารเคมีโดยสิ้นเชิง

นี่คือ EM แบบหนึ่งที่ไม่ใช่แบบของดอกเตอร์แห่งมหาวิทยาลัยริวกิว และนำไปใช้ในกิจการสาธารณะของฮาคาตะโดยไม่ต้องซื้อหัวเชื้อ เพราะเกษตรกรผลิตเองได้จนล้น



+ + + +

โพสต์ข่าวอวกาศภายหลัง

นาซ่าพบ 'อุกกาบาต' 1,000ลูกลอยใกล้โลก
จากข่าวสดรายวัน วันพุธที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 21 ฉบับที่ 7685 หน้า 28


องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐ หรือนาซ่า ค้นพบอุกกาบาตเกือบ 1,000 ลูก ที่มีขนาดใหญ่ มีอานุภาพทำลายล้างพอที่จะสังหารประชากรโลกได้ทั้งใบ ลอยอยู่ไม่ไกลจากโลก

เอมี่ เมนเซอร์ จากห้องทดลองเจ๊ต โพรพัลชั่น ในพาซาเดนา แคลิฟอร์เนีย นำเสนอผลการค้นพบที่ชวนสยองนี้ในที่ประชุมสหภาพธรณีฟิสิกส์อเมริกัน ในเมืองซานฟรานซิสโก เผยว่า สามารถระบุวัตถุท้องฟ้าที่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางเท่ากับหรือมากกว่า 1 กิโลเมตร หรือใหญ่เกือบจะเท่าโลก และเป็นภัยรุนแรงต่อโลกได้แล้วร้อยละ 93

ภายใต้โครงการชื่อสเปซการ์ด นักดาราศาสตร์จะติดตามแกะรอยวงโคจรของอุกกาบาตทั้งหมดและพยากรณ์ความเป็นไปได้ที่มันจะโหม่งโลกในอนาคต

นอกจากอุกกาบาตพิฆาตพันดวง โครงการสเปซการ์ดยังค้นพบอุกกาบาตน้อยที่อยู่บริเวณเดียวกัน 20,500 ดวง แต่โอกาสที่อุกกาบาตพวกนี้จะชนโลกมีน้อยมาก



.