http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2554-12-10

MMMM โดย นพมาส, สารคดี ฉบับ "ไทยพรีเมียร์ลีก" โดย คนมองหนัง

.
โพสต์ภายหลัง ข่าวสารวรรณกรรม
++++ " กาเบรียล การ์เซีย มาเกซ " กับ 17 ปีที่รอคอย ( . . ไม่ต้องนานถึง One Hundred Years Of Solitude )
- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -



MARTHA MARCY MAY MARLENE "เหยื่อลัทธิ"
โดย นพมาส แววหงส์ คอลัมน์ ภาพยนตร์
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 09 ธันวาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1634 หน้า 87


กำกับการแสดง Sean Durkin
นำแสดง Elizabeth Olsen
John Hawkes
Sarah Paulson
Hugh Dancy


รางวัลซันแดนซ์สำหรับผู้กำกับยอดเยี่ยมจากเทศกาลภาพยนตร์ปีนี้คือ ฌอน เดอร์คิน จากหนังที่ชื่อเรียกยากจำยากที่สุดเรื่องหนึ่ง ซึ่งใช้ชื่อผู้หญิงสี่คนที่สะกดด้วยพยัญชนะต้นคือตัว M เรียงต่อกัน Martha Marcy May Marlene ความหมายของชื่อหนังว่า MMMM นี้ขอเก็บไว้พูดทีหลังอีกทีนะคะ

นอกจาก ฌอน เดอร์คิน ที่ได้รางวัลใหญ่ไปแล้ว นักแสดงวัยรุ่นที่สร้างความฮือฮาน่าดูคือ เอลิซาเบธ ออลเซน ที่เล่นบทนำในชื่อของหนัง

หลายคนคงคุ้นหน้าคุ้นตากับพี่น้องฝาแฝดตระกูลออลเซนอยู่บ้าง แฝดคู่นี้เล่นหนังมาตั้งแต่เด็กแล้ว ด้วยความเป็นเด็กแก่แดดเกินวัย จวบจนเติบใหญ่สู่วัยสาว เอลิซาเบธ คือน้องสาวของแฝดออลเซน และสร้างความประทับใจไม่น้อย

ถือว่าเกิดเต็มตัวในวงการเกินหน้าพี่สาวสองคนที่ได้แต่เล่นบทหน่อมแน้มน่ารัก


หนังเล่าเรื่องคู่ขนาน สลับกันไปมาระหว่างชีวิตเก่ากับชีวิตใหม่ของมาร์ธา (เอลิซาเบธ ออลเซน) มาร์ธาหนีจากชีวิตในคอมมูนเล็กๆแบบฮิปปี้ที่มีผู้นำเป็นชายวัยกลางคนเจ้าเสน่ห์ชื่อแพตทริก (จอห์น ฮอว์กส์) มาอยู่กับพี่สาวที่ตามหาตัวน้องสาวจ้าละหวั่นตลอดสองปีที่ผ่านมา และไม่รู้ว่าน้องสาวเป็นตายร้ายดีอย่างไร

ความเป็นมาของพี่น้องสองสาวนี้เราไม่ทราบมากนัก ได้แต่สรุปเอาว่าน่าจะมาจากครอบครัวบ้านแตกสาแหรกขาด ที่ทำให้มาร์ธากระเจิดกระเจิงไปหาครอบครัวใหม่ที่อยู่นอกกรอบสังคมโดยสิ้นเชิง ลูซี (ซาราห์ พอลสัน) ซึ่งเป็นพี่สาว บอกสามีว่ามาร์ธาไม่เหลือใครในโลกอีกแล้วนอกจากเธอคนเดียว

ลูซีแต่งงานกับเท็ด สถาปนิกที่ประสบความสำเร็จและมีฐานะดีและมีบ้านริมทะเลสาบที่กว้างขวางใหญ่โตเป็นที่พักผ่อน

เมื่อมาอยู่กับพี่สาวหลังจากหายหน้าไปสองปีเต็ม มาร์ธาไม่ยอมปริปากเล่าถึงชีวิตก่อนหน้า และมีพฤติกรรมประหลาดให้ลูซีกับเท็ดตกอกตกใจไม่น้อย

อาทิเช่น มาร์ธาถอดเสื้อผ้าล่อนจ้อนลงว่ายน้ำเล่นในทะเลสาบ ทำให้พี่สาวต้องรีบเรียกให้ขึ้นจากน้ำและอธิบายว่าเป็นการกระทำที่ไม่สมควรในสายตาของสังคมทั่วไป หรือมาร์ธาเดินเข้าไปในห้องนอนของพี่สาวกับพี่เขยและนั่งลงหน้าตาเฉยบนเตียงระหว่างที่ทั้งคู่กำลังมีเซ็กซ์กันอยู่ ราวกับเป็นเรื่องปกติธรรมดาที่ทำอยู่ทุกวัน

ราวกับว่ามาร์ธาหลุดมาจากโลกอีกโลกที่ไม่ได้ใช้กฎเกณฑ์ทางสังคมแบบเดียวกัน


หนังสลับด้วยชีวิตของมาร์ธาในช่วงสองปีก่อนหน้า เธอไปอยู่กับครอบครัวฮิปปี้ที่มีรักเสรี นอนห้องเดียวกันกับผู้หญิงอีกห้าคน ผู้หญิงทุกคนในบ้านนี้ต้องหลับนอนกับแพตทริกผู้เป็นเสมือนเจ้าลัทธิในที่นี้

ในบ้านนี้ แพตทริกตั้งชื่อใหม่ให้มาร์ธาว่า "มาร์ซี เมย์" และผู้หญิงทุกคนในบ้านนี้ถูกสอนให้รับโทรศัพท์โดยแนะนำตัวกับคนภายนอกว่าชื่อ มาร์ลีน ขณะที่ผู้ชายทุกคนบอกว่าตนชื่อ ไมเคิล

นั่นคือที่มาของชื่อหนังยาวเหยียดเหมือนกับเอาชื่อคนหลายคนมาเรียงต่อกันเฉยๆ ซึ่งยากแก่การจดจำสำหรับคนที่ยังไม่ได้ดูหนัง

มาร์ธาทำตัวแปลกและเริ่มมีอาการผวาหวาดระแวง แถมยังไม่ยอมปริปากเล่าอะไรเลย จนพี่สาวและพี่เขยเริ่มหมดปัญญาจะจัดการกับเธอ

เราเริ่มเข้าใจมาร์ธามากขึ้นจากฉากที่สลับไปสู่ชีวิตของเธอในชื่อว่า มาร์ซี เมย์ ในไร่ที่อาศัยอยู่เป็นคอมมูน แรกๆ เธอได้รับการต้อนรับอย่างดีและได้รับการสอนให้ใช้ชีวิตแบ่งปันกันในคอมมูนแห่งนี้อย่างสงบสุข

แต่ต่อมาเธอก็เริ่มได้รับการสอนให้ใช้ปืนยิงสิ่งมีชีวิตโดยไม่เห็นค่าของชีวิต และประกอบอาชญากรรมตั้งแต่เล็กน้อยไปจนถึงขั้นร้ายแรง ภายใต้การดำเนินชีวิตด้วยปรัชญาเสรีสุดขั้วที่สมาชิกในคอมมูนถูกล้างสมองให้เชื่อ

หนังแฟลชแบ็กไปสู่จุดหักเหที่ทำให้มาร์ธาเกิดสับสนในชีวิตจนตัดสินใจหนีออกมาอยู่กับพี่สาวตั้งแต่เริ่มเรื่องในตอนแรก


บทบาทที่โดดเด่นมากอีกบทคือแพตทริก ที่เล่นโดย จอห์น ฮอว์กส์ ซึ่งเป็นแคแร็กเตอร์ที่ทำให้เราขนลุกเกรียว แพตทริกเป็นผู้นำคอมมูนที่เต็มไปด้วยเสน่ห์และเป็นที่ชื่นชมบูชาของสมาชิกคอมมูนทุกคน ตอนที่มาร์ธาเข้ามาอยู่ใหม่ๆ เขาเล่นกีตาร์และร้องเพลงที่เขาแต่งให้เธอ เป็นเพลงเพราะที่มีเนื้อร้องประหลาดชวนให้ขนลุกเกรียวเลย

เมื่อปีที่แล้ว จอห์น ฮอว์กส์ ก็แสดงฝีมือโดดเด่นน่าจับตาในบทสมทบในหนังเรื่อง Winter"s Bone จนได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงมาแล้ว ปีนี้ก็อาจจะมีทางได้ลุ้นอีกครั้ง

ฝีมือการแสดงที่โดดเด่นอีกคนคือ ซาราห์ พอลสัน ในบทพี่สาว ซึ่งมีฉากกับบทสนทนาดีๆ ร่วมกับมาร์ธาอยู่หลายตอน

แม้ว่าเรื่องราวของหนังจะเริ่มขึ้นโดยไม่ได้เล่าถึงที่มาของมาร์ธาก่อนหน้าที่จะเข้ามาอยู่ในคอมมูนแห่งนี้ และจบลงเกือบจะห้วนๆ ทิ้งให้เราสะดุดกึกและอยากรู้ถึงอนาคตเบื้องหน้าของมาร์ธา แต่ด้วยการวางแคแร็กเตอร์อย่างดีและฝีมือของนักแสดงที่เล่นได้ถึง ทำให้เป็นหนังที่ตราตรึงและชวนติดตามทุกบททุกตอน

ยามเมื่อฤดูกาลออสการ์เวียนมาบรรจบครบรอบอีกครั้งในต้นปีหน้า หนังเรื่องนี้ก็น่าจะเข้าข่ายมีชื่ออยู่ในโพยให้ลุ้นระทึกกันต่อไปในวันประกาศผล



++


สารคดี ฉบับ "ไทยพรีเมียร์ลีก"
โดย คนมองหนัง คอลัมน์ นอก "กระแส"
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 09 ธันวาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1634 หน้า 85



เพิ่งอ่านนิตยสารสารคดี ฉบับประจำเดือนพฤศจิกายน 2554 หรือฉบับ "ไทยพรีเมียร์ลีก" จบลงด้วยอารมณ์ตื่นเต้น-ประทับใจ กับสกู๊ปชุดใหญ่ซึ่งเจาะลึกในแทบทุกองคาพยพของฟุตบอลไทยพรีเมียร์ลีก อย่างที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน

พออ่านเสร็จ ก็มีอยู่ 3-4 ประเด็นสำคัญ ที่ทำให้อดคิดต่อจากสกู๊ปชิ้นเยี่ยมของสารคดีไม่ได้

บางเรื่อง รู้สึกเสียดายที่สารคดีไม่ได้เลือกจะสานต่อเนื้อหาไปให้สุดทาง

ขณะที่ในบางประเด็น ถูกฉุกคิดขึ้นพร้อมความคาดหวังว่า หากสื่อกีฬาแขนงอื่นๆ นำไปขยายความต่อจากสารคดีได้ ก็จะเป็นเรื่องดี


1.

เพลงสรรเสริญฯ ในสนามบอล

สกู๊ปเรื่องกองเชียร์ในไทยลีกเป็นประเด็นหนึ่งซึ่งกองบรรณาธิการสารคดีให้ความสำคัญ ทั้งยังสามารถทำออกมาได้ละเอียดรอบด้านมากๆ

อย่างไรก็ตาม ประเด็นย่อยๆ จุดหนึ่ง ซึ่งสารคดีเกริ่นไว้แต่ไม่ได้ใส่รายละเอียดตามมา ก็คือ การเปิดเพลง "สรรเสริญพระบารมี" ก่อนการแข่งขัน

จากประสบการณ์ส่วนตัว ผู้รู้สึกสะดุดใจ หลังจากได้ชมการถ่ายทอดสดฟุตบอลไทยพรีเมียร์ลีกผ่านทางโทรทัศน์ในช่วงต้นฤดูกาล เมื่อพบว่าทุกสนามล้วนมีการเปิดเพลงสรรเสริญฯ ก่อนบอลจะแข่ง

ซึ่งถ้าจำไม่ผิด ในสมัยก่อนการแข่งขันฟุตบอลไทยจะไม่มีประเพณีเช่นนี้ ยกเว้นการแข่งขันฟุตบอลชิงถ้วยพระราชทาน อย่าง "ถ้วย ก." หรือ "คิงส์คัพ"

น่าสนใจว่า ประเพณีดังกล่าวเกิดขึ้นมาจากปัจจัยอะไรบ้าง อาทิ

หนึ่ง เพราะคนไทยรักในหลวง

สอง เพราะอุตสาหกรรมฟุตบอลลีกได้บูมขึ้นมาจนกลายเป็น "มหรสพ" อีกชนิดหนึ่งของประชาชน ดังนั้น เมื่อการแข่งขันฟุตบอลมีสถานะเท่ากับมหรสพ ก็จำเป็นต้องมีการเปิดเพลงสรรเสริญฯ ก่อนความบันเทิงจะเริ่มต้นขึ้น เช่นเดียวกับภาพยนตร์ คอนเสิร์ต หรือละครเวทีทั่วๆ ไป


2.

จาก "แรงบีบภายนอก" สู่ "ความเปลี่ยนแปลงภายใน"

ผมเห็นด้วยที่สารคดีให้น้ำหนักกับวิสัยทัศน์ "วิชั่นเอเชีย" ของเอเอฟซี ว่าเป็นปัจจัยสำคัญอันส่งผลต่อความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของวงการฟุตบอลอาชีพไทย

เพราะไทยพรีเมียร์ลีกไม่ได้บูมขึ้นมาจาก "ปัจจัยภายใน" เท่านั้น แต่ความเปลี่ยนแปลงจากหน้ามือเป็นหลังมือดังกล่าวยังถูกขับเคลื่อนโดย "แรงบีบภายนอก" ด้วย

ทว่า สิ่งที่สารคดีกล่าวถึงไว้บ้างแต่ไม่มากนัก ก็คือ ระเบียบที่วิชั่นเอเชียกำหนดให้สโมสรฟุตบอลอาชีพต้องจดทะเบียนเป็นบริษัทนิติบุคคลเพื่อบริหารสโมสรในเชิงพาณิชย์อย่างเต็มตัวนั้น

ส่งผลให้หลายสโมสรฟุตบอลของไทยได้รับผลกระทบอย่างเต็มเปา และที่สำคัญ สโมสรเหล่านั้นกลับไม่ใช่ทีมของหน่วยงานราชการ-รัฐวิสาหกิจ

หากเป็นสโมสรของธนาคารพาณิชย์ ซึ่งไม่สามารถจัดตั้งทีมฟุตบอลในฐานะนิติบุคคลแยกออกมาอีกบริษัทหนึ่งได้ เพราะขัดกับระเบียบของธนาคารแห่งประเทศไทย จนต้องยุบทีมหรือให้กิจการอื่นๆ มาเทกโอเวอร์สโมสรไป ทั้งสโมสรธนาคารกรุงเทพ และ ธนาคารกรุงไทย

ผมคิดว่าหากสารคดีสามารถฉายภาพฉากนี้ออกมาอย่างละเอียด ภาวะปริแยกที่เกิดขึ้นกับวงการฟุตบอลอาชีพไทยในช่วงรอยต่อก็จะปรากฏสู่ความรับรู้ของคนอ่านได้อย่างทรงพลังมากยิ่งขึ้น


3.

นักเตะต่างชาติในไทยลีก

สำหรับเรื่องนักฟุตบอลต่างประเทศที่มาค้าแข้งในไทยพรีเมียร์ลีก กองบรรณาธิการสารคดีดูเหมือนจะให้ความสำคัญกับประเด็นเอเย่นต์ของนักฟุตบอล และมีการกล่าวถึงใบไอทีซี (ใบโอนย้าย) บ้างนิดหน่อย

อย่างไรก็ดี ถ้าสารคดีลงลึกเรื่องนักเตะต่างชาติให้มากกว่านี้ เนื้อหาในส่วนดังกล่าวย่อมจะมีความน่าสนใจเพิ่มขึ้น

ตั้งแต่เรื่องการคัดเลือกนักเตะจากแอฟริกา-อเมริกาใต้โดยเอเย่นต์, เส้นทางของนักฟุตบอลเหล่านั้นก่อนจะมาค้าแข้งในไทยลีก, เรื่องสัญญา-ค่าตอบแทนของพ่อค้าแข้งต่างชาติ ตลอดจนเส้นทางของพวกเขาหลังออกจากไทยพรีเมียร์ลีก

เช่น ซูมาโฮโร่ ยาย่า นักเตะไอวอรี่โคสต์ ที่ย้ายจากจากเมืองทอง ยูไนเต็ด ไปเคเอเอ เกนท์ ในจูบิแลร์ ลีก ของเบลเยียม

ทั้งนี้ รายละเอียดต่างๆ เกี่ยวกับนักเตะต่างชาติในไทยลีกที่ไม่ถูกเผยแพร่ออกสู่สาธารณชน คงไม่ใช่ข้อบกพร่องหรือการละเลยข้อมูลของสารคดีเสียทีเดียว

เพราะเรื่องสัญญา-ค่าตัวของนักฟุตบอลต่างประเทศในเมืองไทยเอง ก็ยังไม่ได้รับการเปิดเผยอย่างเป็นทางการมากนัก

ดังกรณีของ แฟรงค์ โอแฮนด์ซ่า ของบุรีรัมย์ พีอีเอ ที่แม้แต่ เนวิน ชิดชอบ ก็ให้สัมภาษณ์กับสารคดีฉบับนี้ ในทำนองว่าบุรีรัมย์ฯ ซื้อขาดมาและถ้าขายต่อจะได้กำไรมหาศาล

ขณะที่ข้อมูลบางส่วนในอินเตอร์เน็ตกลับระบุว่าตัวโอแฮนด์ซ่ามีสัญญาอยู่กับสโมสรในต่างประเทศ และเดินทางมาเล่นให้บุรีรัมย์ฯ ด้วยสัญญายืมตัวเท่านั้น

นอกจากนั้น น่าแปลกใจว่า ไม่มีบทสัมภาษณ์หรือสกู๊ปเจาะลึกนักฟุตบอลจากทวีปแอฟริกาในสารคดีเล่มนี้เลย ทั้งที่พวกเขาเป็นกำลังหลักสำคัญให้กับสโมสรของไทยพรีเมียร์ลีกและลีกระดับล่างอื่นๆ

แฟนบอลหลายคนคงอยากรู้ว่า จากปรากฏการณ์ที่เราเห็นชายชาวแอฟริกันมาเตะบอลกันตรงสนามหลวงเมื่อสิบกว่าปีก่อน, จนพวกเขาบางส่วนเข้ามาค้าแข้งในลีกไทยยุคแรก, ต่อมามีบางคนถูกจับข้อหายาเสพติด และเข้าไปคว้าแชมป์ฟุตบอลในเรือนจำ, กระทั่งถึงภาวะบูมของไทยพรีเมียร์ลีกยุคปัจจุบัน

วิถีนักฟุตบอลของแอฟริกันชนเหล่านั้นได้เปลี่ยนแปลงหรือมีพัฒนาการไปอย่างไรบ้าง?


4.

ฟุตบอลลีกกับฟุตบอลทีมชาติ

ประเด็นสุดท้ายซึ่งสารคดีกล่าวถึง ก็คือ ภาวะย้อนแย้งระหว่างการบูมของไทยพรีเมียร์ลีกกับผลงานที่ตกต่ำลงของทีมชาติไทย "ยิ่งรัก รักษ์สุวรรณ" สื่อมวลชนด้านกีฬาฟุตบอล เสนอผ่านสารคดี ให้ไทยพรีเมียร์ลีกลดโควต้าของนักเตะต่างชาติลง เพื่อนักบอลไทยจะได้มีโอกาสในการพัฒนาฝีเท้ามากขึ้น

ส่วนหนึ่งของโมเดลความคิดเช่นนี้มาจากระบบของมาเลเซีย (จ้าวลูกหนังอาเซียนในปัจจุบัน) ที่ห้ามนักเตะต่างชาติลงเล่นในฟุตบอล "เอ็มลีก"

ทว่า ระเบียบดังกล่าวเกิดขึ้นเพราะปัญหาเรื่องเงินๆ ทองๆ เป็นลำดับแรก มิใช่เพราะสมาคมฟุตบอลมาเลเซียต้องการจะปรับลดจำนวนนักเตะต่างชาติลงแต่อย่างใด (ดู "ไขความลับเสือน้อยแชมป์ซีเกมส์ เส้นทางที่ฟุตบอลไทยต้องมอง" โดย คุรุเทพ ในมติชนสุดสัปดาห์ฉบับที่แล้ว)

ส่วน "พินิจ งามพริ้ง" ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์เชียร์ไทยดอตคอม ให้สัมภาษณ์กับสารคดีว่า ถึงเวลาแล้วที่วงการฟุตบอลไทยจะต้องมีแท็กติกหรือสไตล์การเล่นเฉพาะตัวแบบไทยๆ

ซึ่งควรเริ่มต้นตั้งแต่ระดับนักเตะเยาวชนของทั้งทีมชาติและสโมสร เพื่อให้นักเตะเหล่านั้นมีความเข้าใจในแท็กติกร่วมกันตั้งแต่เด็กๆ

เหมือนกับที่อิตาลี เยอรมนี สเปน บราซิล หรือญี่ปุ่น ต่างก็มีรูปแบบแท็กติกหรือสไตล์การเล่นเฉพาะของตนเอง

จากประเด็นดังกล่าวในมุมมองของคนดูบอล ผมรู้สึกเสียดายเหมือนกัน ที่ไม่ค่อยได้เห็นบทวิเคราะห์-แจกแจงระบบการเล่น รวมทั้งแท็กติกของแต่ละสโมสรในไทยพรีเมียร์ลีก อย่างละเอียดลออมากนัก

ว่าแต่ละทีมมีแผนการเล่นแบบไหน ใช้แท็กติกอะไรบ้าง มีจุดดีข้อด้อยอย่างไร เพื่อนำไปสู่การทำความเข้าใจในระบบการเล่นและการวางแท็กติกแบบไทยๆ หรือของทีมชาติไทย (ซึ่งอาจมีความชัดเจนในเรื่องดังกล่าวมากขึ้น ภายใต้การทำทีมของโค้ชเยอรมัน วินฟรีด เชเฟอร์)

อย่างไรก็ตาม นี่อาจไม่ใช่หน้าที่หลักของนิตยสารอย่างสารคดี หากแต่ควรเป็นภาระของสื่อด้านฟุตบอลอื่นๆ ที่ถือกำเนิดขึ้นมาอย่างมากมายเพื่อรองรับภาวะบูมของไทยลีกมากกว่า



+ + + +

โพสต์ภายหลัง ข่าวสารวรรณกรรม


กาเบรียล การ์เซีย มาเกซ ? กับ 17 ปีที่รอคอย
ในมติชน ออนไลน์ วันอาทิตย์ที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2554 เวลา 12:59:39 น.


คริสต์มาสที่กำลังจะมาถึงนี้ กาเบรียล การ์เซีย มาเกซ นักเขียนชาวโคลอมเบีย ผู้สร้างสรรค์นวนิยายชื่อดัง One Hundred Years Of Solitude หรือ "หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว" เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรม เมื่อปี 1982 คงจะอิ่มอกอิ่มใจที่สุดกับของขวัญชิ้นหนึ่งที่ต้องใช้เวลารอคอยมานานถึง 17 ปี

ของขวัญที่ไม่ได้มีประโยชน์เพียงแค่กับตัวของเขาเท่านั้น คงเป็นคำตอบให้กับนักเขียนหลายๆ คนที่เขียนวรรณกรรมโดยได้แรงบันดาลใจมากจากบุคคลจริงที่ยังคงมีชีวิตอยู่ด้วย ว่าที่สุดแล้วผลงานดังกล่าวใครกันแน่ที่เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ นักเขียนหรือบุคคลต้นเรื่อง?

เพราะเมื่อปี ค.ศ.1994 มิเกล เรเยส พาเลนเซีย ชายชาวโคลอมเบียได้ยื่นฟ้องต่อศาลว่า กาเซีย มาร์เกซ ได้นำชีวิตจริงของเขามาเป็นต้นแบบของตัวละครที่ชื่อ บาร์ยาโน ซาน โรมัน ในนิยายขนาดสั้นเรื่อง Chronicle of a Death Foretold หรือที่รู้จักกันในชื่อไทยว่า หมายเหตุฆาตกรรม เพราะฉะนั้น เขาจึงควรได้รับส่วนแบ่งค่าลิขสิทธิ์จากหนังสือเรื่องนี้ร้อยละ 50 และการ์เซีย มาเกซ ก็ต้องใส่ชื่อของเขาไว้ในฐานะของผู้เขียนร่วมด้วย

มูลเหตุทั้งหมดทั้งมวลของการฟ้องร้องครั้งนี้นั้น เกิดขึ้น จากคดีฆาตกรรมสุดสยองที่เกิดขึ้นจริงๆ เมื่อปี ค.ศ.1951 เมื่อ คาเยตาโน เจนไทล์ ชิเมนโต หนุ่มน้อยนักศึกษาแพทย์ชาวโคลอมเบีย ที่ว่ากันว่าไม่เพียงฉลาดเฉลียว แต่ยังหล่อเหลาและเจ้าเสน่ห์มากด้วย ต้องตายเพราะเสน่ห์ของตัวเอง เนื่องจากถูกตัดสินจากศาลเตี้ยว่าเขาคือผู้ที่พรากพรหมจรรย์ของหญิงสาวที่กำลังจะเข้าสู่พิธีวิวาห์กับชายอื่น เจนไทล์ ชิเมนโตถูกจ้วงแทงด้วยมีดสั้นอย่างนับไม่ถ้วนจนขาดใจตาย อย่างทันที

คดีฆาตกรรมดังกล่าวกระทบใจของการ์เซีย มาเกซ เข้าอย่างจัง เขาเก็บข้อมูลและความรู้สึกต่างๆ ไว้ในกระแสสำนึกกว่า 30 ปี ก่อนจะนำมาถ่ายทอดเป็นวรรณกรรมขึ้นมาในปี 1981 และกลายเป็นผลงานชิ้นสำคัญอีกเล่มหนึ่งของนักเขียนชื่อก้องโลกท่านนี้ โดยได้รับการกล่าวขานว่าเป็นนิยายที่จิ๋วแต่แจ๋วหรือ big little book

โครงเรื่องหลักๆ ใน Chronicle of a Death Foretold ว่าด้วยเรื่องราวของฆาตกรที่มักจะบอกว่าตั้งใจในการก่อคดีให้ผู้อื่นฟัง เพื่อหวังคำห้ามปราม ทว่าไม่มีใครเอ่ยปากห้าม เขาจึงตัดสินใจฆ่าคนต่อไปเรื่อยๆ เพื่อรักษาคำพูดของตัวเอง

แล้วเกี่ยวข้องกับเรเยส พาเลนเซีย อย่างไร?

ก็เพราะพล็อตรองของ Chronicle of a Death Foretold เป็นเรื่องราวของบาร์ยานโน ซาน โรมัน เศรษฐีชาวโคลอม เบียผู้มั่งคั่ง ที่ตัดสินใจจะแต่งงานกับ แองเจลา วิคาริโอ หญิงสาวชาวบ้านที่กิตติศัพท์ความงามของเธอเลื่องลือไปไกล แต่หลังจากคืนแรกของการแต่งงาน ซาน โรมันกลับส่งวิคาริโอคืนครอบครัวของเธอ เพราะเธอไม่ใช่หญิงสาวบริสุทธิ์

ครอบครัวของวิคาริโอรู้สึกเสียใจและเสียศักดิ์ศรีอย่างที่สุด จึงบังคับให้ลูกสาวบอกชื่อของชายที่พรากพรหมจรรย์เธอไป วิคาริโอกล่าวหาว่า ซานติเอโก นาซาร์ คือชายคนนั้น พี่ชายของวิคาริโอจึงไปสังหารนาซาร์ด้วยการใช้มีดสั้นจ้วงแทงครั้งแล้วครั้งเล่า

และเรเยส พาเลนเซีย ก็กล่าวต่อศาลว่า การ์เซีย มาเกซ สร้างตัวละครบาร์ยานโน ซาน โรมัน มาจากชีวิตจริงและประวัติศาสตร์ในครอบครัวของเขา เขาจึงสมควรที่จะได้รับทั้งค่าลิขสิทธิ์และสถานะของนักเขียนร่วมในหนังสือเล่มนี้


การ์เซีย มาร์เกซ ยอมรับต่อศาลว่าเขาได้รับแรงบันดาลใจในการเขียนเรื่องมาจากประวัติศาสตร์ของครอบครัวพาเลนเซีย รวมถึงคดีฆาตกรรมเจน ไทล์ ชิเมนโต แต่เรื่องราวต่างๆ รวมถึงตัวละครอื่นๆ ล้วนมาจากจินตนาการของเขาเอง

17 ปีผ่านไป ในที่สุดศาลสูงสุดของเมืองบาร์รันคิวลา โคลอมเบีย ก็มีคำสั่งยกฟ้องคดีนี้ โดยระบุในคำตัดสินว่ากรณีเรื่องค่าลิขสิทธิ์ร้อยละ 50 ว่า

"มีวรรณกรรม ศิลปะ และภาพยนตร์จำนวนมาก ที่สร้างโครงเรื่องหลักๆ ขึ้นมาจากชีวิตของบุคคลที่มีตัวตนจริงๆ ในที่สุดแล้วผู้สร้างสรรค์ก็จะดัดแปลงให้เป็นการเล่าผ่านมุมมองของตน ซึ่งไม่ว่าผู้ใดก็ไม่สามารถอ้างสิทธิทางมูลค่าเของผลงานนั้นๆ ซึ่งจะเป็นการขัดต่อสิทธิของผู้สร้างได้"

ในส่วนของข้อเรียกร้องเรื่องสถานะนักเขียนร่วมนั้น ศาล สูงสุดก็ระบุว่า

"พาเลนเซียจะไม่สามารถเล่าเรื่องได้อย่างที่การ์เซีย มาเกซ ทำได้ และยังไม่สามารถใช้วรรณศิลป์ในการเล่าเรื่องได้ด้วย ดังนั้น ผลงานชิ้นนี้จึงมีลักษณะเฉพาะและเป็นต้นแบบของตัวเอง"


หลังคำตัดสิน การ์เซีย มาร์เกซ ไม่ได้ออกมาให้สัมภาษณ์แต่อย่างใด มีเพียงทนายความ อัลฟรองโซ โกเมซ เมนเดซ เท่านั้น ที่กล่าวว่า

การตัดสินครั้งนี้ถือเป็นสิ่งสำคัญที่มากกว่าเรื่องส่วนตัว เพราะช่วยตอกย้ำความคิดหลักเกี่ยวกับศิลปะและวรรณกรรม ที่มีหน้าที่เสนอภาพแทนของความจริง ไม่ใช่ตัวความจริงเอง

"ไม่ต่างกับมีหญิงสาวคนหนึ่งเป็นแบบให้จิตรกรวาดรูป แล้วขอส่วนแบ่งค่าลิขสิทธิ์ครึ่งหนึ่ง ทั้งที่เธอเป็นเพียงเจ้าของร่างกายเท่านั้น ทว่ารูปภาพนั้นคือสิทธิของจิตรกร"



.