http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2554-12-17

รัฐธรรมนูญ กับนางสาวสยาม, + กา...ถิ่นกาขาว โดย เพ็ญสุภา สุขคตะ ใจอินทร์

.


รัฐธรรมนูญ กับนางสาวสยาม
โดย ดร.เพ็ญสุภา สุขคตะ ใจอินทร์ คอลัมน์ ปริศนาโบราณคดี
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1635 หน้า 76


หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองปี 2475 กลุ่มคณะราษฎรได้จัดตั้งรัฐบาลขึ้นโดยมีพระยาพหลพลพยุหเสนา เป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกของประเทศไทย เดิมนั้นคณะราษฎรเคยตั้งใจว่าจะกำหนดเอาวันที่ 24 มิถุนายน เป็นวันรัฐธรรมนูญ

แต่แล้วปลายปี 2475 เดียวกันนั้นเอง พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ได้ลงพระปรมาภิไธย พระราชทานรัฐธรรมนูญให้แก่ปวงชนชาวไทยอย่างเป็นการ

ทำให้วันรัฐธรรมนูญจากเดิมที่เคยกำหนดไว้กลางปีต้องเปลี่ยนมาเป็นการอุปโลกน์เอาใหม่ช่วงปลายปีคือวันที่ 10 ธันวาคม แทน



ประกวดขาอ่อน
นโยบายดึงชาวบ้านร่วมงานฉลองรัฐธรรมนูญ

ในเมื่อรัฐบาลประกาศให้วันที่ 10 ธันวาคม เป็นวันรัฐธรรมนูญแล้ว ก็มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยเป็นหัวเรือใหญ่ สั่งการบ้านต่อให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกคนจัดกิจกรรมงานฉลองวันรัฐธรรมนูญขึ้นพร้อมกันทั่วประเทศ

โจทย์ใหญ่ที่ท้าทายรัฐบาลขณะนั้นก็คือ ทำอย่างไรถึงจะให้ชาวบ้านอย่างตาสีตาสายายมียายมา รู้จักว่ารัฐธรรมนูญคืออะไร หรือแม้ยังไม่เข้าใจแต่อย่างน้อยที่สุดก็ขอให้หันมาสนใจ อยากเข้าร่วมงานวันรัฐธรรมนูญที่ภาครัฐอุตส่าห์ตั้งใจตีฆ้องร้องป่าวบ้าง

ทางออกที่รัฐคิดได้ก็คือ การจัดประกวดขาอ่อน สมัยนั้นเรียกว่า "นางสาวสยาม" เริ่มครั้งแรกในปี พ.ศ.2477 เจ้าภาพหลักที่รับผิดชอบการจัดประกวด ได้แก่ กระทรวงมหาดไทย ยังไม่ใช่โรงเรียนวชิราวุธ อีกทั้งสมัยนั้นยังไม่มีค่ายชุบตัวนางงามอย่างป้าชุลี หรือป้ายรรยงเหมือนปัจจุบัน

ส่วนเวทีจัดงานใหญ่ที่กรุงเทพฯ นั้นใช้สวนของวังสราญรมย์ ไม่ใช่เวทีสวนอัมพรเหมือนยุคต่อมา สาวงามแต่ละจังหวัดต้องผ่านการประกวดโฉมในเวทีระดับจังหวัดมาแล้ว โดยผู้ว่าราชการจังหวัดมีหน้าที่ส่งนางงามของตนเข้าประกวดเวทีใหญ่นางสาวสยาม ก่อนที่จะเปลี่ยนชื่อเป็น "นางสาวไทย" เมื่อปี 2507

น่าสนใจยิ่งนัก ที่จุดเริ่มต้นของเวทีประกวดนางงามในสยามประเทศนั้น เกิดขึ้นจากกุศโลบายเร้นแฝงอยู่เบื้องหลังการเมือง โดยรัฐบาลยุคคณะราษฎรอ้างว่า

"...ชาวไทยเกือบทั้งประเทศไม่รู้เลยว่าประชาธิปไตยคืออะไร รัฐธรรมนูญแปลว่าอะไร บางคนเข้าใจว่ารัฐธรรมนูญกับประชาธิปไตยนี่ เป็นชื่อลูกชายของ พระยาพหลพล พยุหเสนา ด้วยซ้ำ การจัดประกวดนางสาวสยามและนางงามทั่วทุกจังหวัดในวันที่ 10 ธันวาคม จึงถือว่าจัดขึ้นเพื่อเป็นนางกวักให้คนเข้ามาชมงานรัฐธรรมนูญ..."

ไม่ทราบเหมือนกันว่าหลังจากที่ชาวบ้านแห่แหนกันเข้าร่วมงานวันรัฐธรรมนูญที่สนามหน้าศาลากลางของแต่ละจังหวัด โดยเอานางงามมาล่อแล้ว พวกเขามีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญเพิ่มขึ้นมากน้อยแค่ไหน


ทว่า เส้นทางของนางงามมิได้หยุดอยู่เพียงแค่ "ไม้ประดับ" ที่ช่วยลดดีกรีความร้อนแรงทางการเมืองเท่านั้น ผลพวงหลังจากที่ได้มงกุฎนอกจากจะพลิกชีวิตของน้องนางบ้านนาหลายอนงค์ให้กลายเป็นนางเอกภาพยนตร์หรือประชาสัมพันธ์ร้านขายผ้าฝ้ายผ้าไหมแล้ว

รางวัลเกียรติยศดังกล่าว ยังถูกใช้เป็นเครื่องมือในการสร้าง "ภาพลักษณ์" ใหม่ให้แก่ "เอื้องเหนือ" ไม่ว่านางสาวลำพูน หรือนางสาวถิ่นไทยงามจากเชียงใหม่ เชียงราย ที่มักไปคว้ารางวัลเวทีนางสาวไทยหลายรุ่น ด้วยรัฐบาลสยามเริ่มเห็นช่องทางทำมาหากิน นำไปสู่นโยบายโปรโมตการท่องเที่ยวเมืองเหนือ เช่น การจัดสาวงามคอยต้อนรับแขกต่างชาติตามงานเลี้ยงขันโตกเพื่อดึงดูดเม็ดเงิน หรือการชูจุดขายหลักสองอย่างควบคู่กันคือ "ธรรมชาติอันตระการ" และ "ความอ่อนหวานของผู้หญิง"

คนรุ่น 40-50 อัพ ย่อมเคยได้ยินเพลงมนต์รักป่าซาง (ทั้งของ ชรินทร์ นันทนาคร และ สุรพล สมบัติเจริญ) หรือมนต์เมืองเหนือ ล้วนแต่มีเนื้อหาระบุถึงความประทับใจที่ได้มาแอ่วชมความงามของน้ำตกสวย ฟ้าใส ดอยสูง และไม่ลืมที่จะต้องตบท้ายด้วยการหลงมนต์เสน่ห์สาวงาม!

ทั้งๆ ที่ผู้หญิงเหนือครั้งอดีตยุครัชกาลที่ 4-5 ในสายตาผู้ดีสยาม ขนาดเป็นถึงเจ้านายฝ่ายเหนือ อย่างเช่น พระราชชายา เจ้าดารารัศมี เพิ่งจะถูกดูแคลนเหน็บแนมว่าเป็น "อีลาวกินกิ้งก่า" มาหมาดๆ

ไม่น่าเชื่อว่างานฉลองวันรัฐธรรมนูญ จักกลายเป็นเวทีที่ช่วยชุบชีวิตใหม่ให้สาวเหนือ หายเหม็นกลิ่นสาบปลาร้า กลายเป็นนางในฝัน ผิวขาวอมชมพู (ไม่ต้องใช้ไวต์เทนนิ่ง) หุ่นอวบอิ่ม อันเป็นมายาคติ ให้ชายทั่วทุกภูมิภาคหลงใหลคลั่งไคล้กันไปได้ ชนิดหน้ามือเป็นหลังมือ



นางงามเบ่งบาน
อวสานรัฐธรรมนูญ

ปัจจุบันไม่มีจังหวัดไหนอีกแล้วที่เอางานประกวดนางงามมาผูกติดกับงานฉลองวันรัฐธรรมนูญ ต่างคนต่างแยกย้ายกันเดินทางไปยามยถาวิถี

งานรัฐธรรมนูญ ณ วันนี้เหลือแต่การเกณฑ์หัวหน้าส่วนราชการไปทำรัฐพิธี (พอเป็นพิธี) ที่ศาลากลางจังหวัดตอนกลางวัน ไม่มีมหรสพชิงช้าสวรรค์ภาคค่ำ ยกเว้นบางจังหวัดที่ยังคงใช้ช่วงเทศกาลระหว่างวันพ่อ (ซึ่งมาบัญญัติให้เป็นวันหยุดราชการขึ้นภายหลัง) ลากยาวมาจนถึงวันรัฐธรรมนูญจัดงานรื่นเริงประจำปี แต่เปลี่ยนชื่อใหม่กลายเป็นงานกาชาดฤดูหนาว (ในขณะที่ทางกรุงเทพฯ จัดงานกาชาดเดือนเมษายน)

และแน่นอนยังคงมีไฮไลต์อยู่ที่การประกวดนางงาม อันเป็นวัฒนธรรมตกค้าง เพื่อใช้เป็นเวทีไต่เต้าไปสู่เวทีระดับชาติ ระดับจักรวาลต่อไป

ส่วนผู้ว่าราชการจังหวัดนั้น ไม่มีหน้าที่สรรหาสาวงามเข้าประกวดอีกแล้ว เพราะนางงามสมัยนี้มีสปอนเซอร์เป็นบริษัทห้างร้าน พ่อเลี้ยง แม่เลี้ยงที่มีอิทธิพลในพื้นที่ หรือได้รับงบฯ สนับสนุนจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

งานกาชาดฤดูหนาวทั่วประเทศ จึงไม่มีสำนึกหรืออุดมการณ์ทางประชาธิปไตยอีกต่อไป มีแต่ความมุ่งมั่นที่จะขอรับบริจาคปัจจัย ในรูปแบบสอยดาวชิงโชค จนพัฒนากลายมาเป็นงานวัดเต็มรูปแบบ


เดิมนั้นงานฉลองวันรัฐธรรมนูญกะจะหลอกใช้ "ผู้หญิง" มาเป็นเครื่องมือดึงดูดลูกค้า แต่แล้วไปๆ มาๆ ธุรกิจนางงามกลับขยายวงใหญ่โตขึ้นเรื่อยๆ ในที่สุดก็ครอบครองความสนใจชาวบ้านไว้ในอุ้งมือ กลายเป็นเครื่องต่อรองอำนาจทางสังคมและเศรษฐกิจแบบเบ็ดเสร็จ

ทั้งในสังคมเมืองที่เขยิบฐานะขึ้นเป็นมิสไทยแลนด์ยูนิเวิร์ส มิสเอเชียแปซิฟิก และมิสอะไรต่อมิอะไรอีกมากมาย ไม่เว้นแม้แต่สังคมชนบท หลามไหลจากนางสาวสยาม 10 ธันวาคม กระจายไปสู่ ธิดากาชาด นางนพมาส เทพีสงกรานต์ ธิดาลำไย อี่นางจาวยอง เทพีโหระพา...

"นางสาวไทย" กลายเป็นมรดกขุนนางเบียดชิงพื้นที่ของคำว่า "ประชาธิปไตย" ให้ถอยหลังไปยืนสงบเสงี่ยมเจียมเนื้อเจียมตัวอยู่นอกกำแพงรั้ว หรือนี่คือปรากฏการณ์อันล้มเหลวในการเรียนรู้เรื่องรัฐธรรมนูญโดยสิ้นเชิงของชาวบ้าน ถ้ามิเช่นนั้นคงไม่มีกฎหมายรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะฉบับใต้เท้าอำมาตย์ปี 2550 ที่เปิดช่องให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชน ด้วยการจับแพะอย่าง "อากง" มาเชือดไก่ให้ลิงดู



ประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญมาแล้ว 16 ฉบับ ถ้านับรวมการแก้ไขเพิ่มเติมยิบย่อยประเด็นเล็กประเด็นน้อยอีกกว่า 20 ครั้งแล้ว รวมกันก็ถือว่ามีการเปลี่ยนแปลงทางรัฐธรรมนูญเกือบ 40 ครั้ง

ทว่า รัฐธรรมนูญเกือบทุกฉบับมักได้มาจากการต่อสู้แย่งชิงอำนาจระหว่างชนชั้นปกครองด้วยกันเอง ยกเว้นบางฉบับต้องแลกมาด้วยชีวิตและเลือดเนื้อของประชาชนเช่นหลังเหตุการณ์นองเลือด 14 ตุลาคม 2516 และพฤษภาทมิฬ 2535

ไม่ว่าจะสังเวยวีรชนไปแล้วกี่หมื่นศพ แต่รัฐธรรมนูญที่เรามีอยู่ ก็ยังเสมือนเป็นของขวัญที่อภินันทนาการมาจากชนชั้นผู้ปกครอง แล้วหยิบยื่นมอบให้ปวงชนซึ่งถูกมองว่าเป็นชนชั้นไพร่หรือผู้ตาม ทั้งๆ ที่เนื้อแท้ของรัฐธรรมนูญตามที่ประเทศศิวิไลซ์เขาใช้กันนั้น ล้วนแต่หยุดยั้งการส่งเสริมอภิสิทธิ์อันล้นฟ้าของผู้ปกครอง แล้วหันมารับรองและประกันสิทธิของประชาชนในฐานะเจ้าของอำนาจที่แท้จริง



+++

บทความของเดือนธันวา ปีที่แล้ว ( 2553 )

กาเหลือง กาแดง กาแก้ว กาดำ และถิ่นกาขาว
โดย เพ็ญสุภา สุขคตะ ใจอินทร์ คอลัมน์ ปริศนาโบราณคดี
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2553 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1583 หน้า 76


เหตุไรยุคนี้สมเด็จพระพุทธาจารย์ (โต) พรหมรังสี จึงได้ทำนายไว้ตั้งแต่สมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ว่าจะเป็นยุค "ถิ่นกาขาว" ดังที่ได้ร้อยเรียงเป็นปริศนาคล้องจองกันสิบรัชกาล...

"มหากาฬ ภาณยักษ์ (บ้างเขียน พานพยัคฆ์) รักมิตร สนิทธรรม จำแขนขาด ราชโจรา ประชาร้องทุกข์ ยุคทมิฬ ถิ่นกาขาว ชาวศิวิไลซ์"

มีผู้พยายามตีความ "กาขาว" ไว้หลายนัย หลักๆ ก็คือ

นัยแรก กาขาวก็คือชาวตะวันตก หรือฝรั่งที่หลั่งไหลทะลักเข้ามาในประเทศไทย จนผู้คนชื่นชมนิยมในวัฒนธรรมตะวันตก?

นัยที่สอง กาขาว หมายถึง ยุคที่คนจะหวนกลับมาสนใจในพระพุทธศาสนาอีกครั้ง พร้อมใจกันเข้าวัดเข้าวานุ่งขาวห่มขาวประพฤติปฏิบัติธรรม ทั่วบ้านทั่วเมือง?

กาขาว ในนัยหลังนี้เอง ชวนให้ดิฉันประหวัดนึกถึงตำนานพระเจ้าเลียบโลกหลายแหล่ง ที่ต่างก็ใช้ "กา" เป็นสัตว์สัญลักษณ์ของผู้เฝ้าพระบรมสารีริกธาตุ หรือเป็นตัวแทนแห่งการประกาศพระพุทธศาสนา ดังปรากฏอยู่ในตำนานพระธาตุหริภุญไชยและตำนานพระมหาธาตุนครศรีธรรมราช

คนโบราณคิดเช่นไรจึงนำ "กา" มาเฝ้าพระธาตุ

ทั้งๆ ที่สุภาษิตและสำนวนไทยหลายบทล้วนแล้วแต่มองกาในเชิงลบ เหมือนเป็นตัวเสนียดจัญไร เช่น "อีกาขี้ขโมย" ต้องทำ "หุ่นไล่กา" "รอดปากเหยี่ยวปากกา" มาได้ ดูถูกคนแต่งกายไร้รสนิยมว่า"กาคาบพริก" ดูถูกคนไร้หัวนอนปลายเท้าว่า "กาฝาก" "สัญชาติกา" รวมไปถึง "นางกากี" (แปลว่ากาตัวเมีย)

น่าแปลกไหม ทั้งที่ลำพูนและนครศรีธรรมราชเมืองแห่งอารยธรรมโบราณกว่าพันปี ต่างก็ผูกตำนานให้สัตว์ต่ำต้อยที่ผู้คนหวาดกลัวและเกลียดชังชื่อว่า "กา" ทำหน้าที่ปกปักดูแลของสูงส่งของศักดิ์สิทธิ์

เป็นการพ้องกันโดยบังเอิญของสิงห์เหนือ-เสือใต้ หรือใครลอกใคร แล้วในสยามยังมีพระธาตุเจดีย์แหล่งอื่นใดอีกไหมที่ใช้ "กา" เฝ้าพระธาตุ เรื่องนี้น่าขบคิดไม่น้อย



ขอเริ่มที่เมืองคอนก่อน อันเป็นบ้านเกิดเมืองนอนบุพการีของดิฉัน ในวัยเด็กคุณพ่อเคยพาดิฉันไปกราบนมัสการองค์พระบรมธาตุเจดีย์ทรงกลมลังกา ณ วัดพระมหาธาตุนครศรีธรรมราช ภายในเขตสังฆาวาส ดิฉันได้เดินถือปิ่นโตต้อยๆ ตามคุณพ่อเพื่อนำภัตตาหารไปถวายแด่ "พระสงฆ์" ระดับพระครูผู้ทำหน้าที่ดูแลพระบรมธาตุสี่คณะ แต่ละคณะมีชื่อชวนให้ฝังใจจำจวบจนทุกวันนี้ว่า คณะกาแก้ว (กาขาว) ทิศตะวันออก คณะการาม (กาเหลือง) ทิศใต้ คณะกาชาด (กาแดง) ทิศตะวันตก และคณะกาเดิม (กาดำ) ทิศเหนือ เรียกโดยรวมว่า "พระครูสี่กา"

กาทั้งสี่ฝูงนี้ ตำนานพระมหาธาตุเมืองนครศรีธรรมราช ระบุว่าเกิดขึ้นจากการเสกหุ่นพยนต์ให้เป็น "กา" ณ บริเวณหาดทรายแก้วจำนวนสี่ฝูง ฝูงละ 500 ตัว เพื่อทำหน้าที่เฝ้ารักษา "พระทันตธาตุ" ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่พระเจ้ากรุงลังกามอบให้เมื่อ พ.ศ.854

ในขณะที่พระครูกาเดิมรูปหนึ่งเคยบอกแก่คุณพ่อและดิฉันว่า "กา" น่าจะมีนัยหมายถึง "ลังกาวงศ์" ซึ่งคนโบราณต้องการทิ้งร่องรอยของ "ลังกา" ไว้ด้วยคำว่า "กา" เพียงตัวเดียว สั้นและง่ายแก่การจดจำก็เป็นได้ จึงผูกตำนานเรื่อง "กา" ขึ้นมา??


เมื่อดิฉันทำงานที่ลำพูนในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา พบว่าพระบรมธาตุหริภุญไชยก็มีตำนานเกี่ยวกับเรื่อง "กา" แต่ที่ลำพูนนั้น มีกาสองจำพวกคือ "กาเผือก" และ "กาดำ"

พญากาเผือกติดตามพระพุทธเจ้ามาจากกรุงพาราณสีถึงที่ลำพูน เพื่อเป็นสักขีในการมอบพระเกศาธาตุใส่กระบอกไม้ไผ่ฝังลงดินให้แก่พรานป่า ผู้ได้รับการตรัสพยากรณ์ว่าในอนาคตจักกลายมาเป็นกษัตริย์ผู้สร้างพระบรมธาตุหริภุญไชย

ส่วน "กาดำ" ทำหน้าที่คอยเฝ้าบินวนอารักขาพระบรมสารีริกธาตุแทนเมื่อกาเผือกบินกลับ ครั้นพรานป่าได้กลับชาติมาเกิดใหม่เป็นพญาอาทิตยราช มีความประสงค์จะสร้างห้องสุขา ด้วยไม่รู้ว่ามีพระบรมสารีริกธาตุฝังอยู่ใต้ดินนานนับพันปี พระองค์ได้ถูกกาดำถ่ายมูลรดใส่ทุกครั้ง ทำให้ทรงกริ้ว ตรัสเรียกกาดำมาถามเงื่อนงำ

ดิฉันตีความเอาเองว่า "กาดำ" เป็นสัญลักษณ์ของคนพื้นเมืองพวกชาวเม็งหรือลัวะ ส่วน "กาเผือก" นั้นน่าจะหมายถึงอารยัน นักพรตชาวอินเดีย

บทบาทของ "กาดำ" จึงทำหน้าที่ได้เพียงแค่คอยเฝ้าเขตพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์มิให้เกิดความมัวหมอง แต่ครั้นเมื่อพญาอาทิตยราชมีพระประสงค์จะเจรจาความสำคัญ กาดำกลับไม่สามารถเฉลยปมปริศนาได้ด้วยตนเอง จำต้องไปอัญเชิญ "พญากาเผือก" มาอธิบายปูมหลังเรื่องราวจึงคลี่คลายกระจ่างแจ้ง

กาเผือกเฒ่าชรามากแล้ว กว่าจะบินจากป่าหิมพานต์มาถึงลำพูน ต้องใช้สัตว์ช่วยพยุงปีกทั้งสี่ทิศถึง 2,000 ตัว คือนกสี่จำพวก พวกละ 500 ตัว ได้แก่ กาดำ นกกาเหว่า นกปุณณมุข และ หงส์

กาสองตัว-นกสี่ฝูงของพระธาตุหริภุญไชย กับกาทั้งสี่เหล่าของวัดมหาธาตุนครศรีธรรมราชนั้นมีสัญญะอะไรที่เกี่ยวข้องกันไหม

เป็นประเด็นที่ดิฉันขอจุดประกาย เชื่อว่าวันข้างหน้าเราต้องมีคำตอบ



หวนกลับมาพินิจ "ถิ่นกาขาว" อีกครั้ง หลวงพ่อฤๅษีลิงดำ พยายามตีความปริศนาสั้นๆ ของสมเด็จโตวัดระฆัง ในมุมมองตรงกันข้ามโดยสิ้นเชิงเกี่ยวกับอีการ่วมสมัยเป็นกลุ่มคนสองฝ่าย ดี-ชั่ว ขาว-ดำ ด้วยบทกวีที่ท่านรจนาไว้

...จะมีการต่อตีกันกลางเมือง ขุนนางเขื่องกังฉินกินทั่วหล้า

คอร์รัปชั่นจะกัดกร่อนทั้งพารา ประดุจปลวกกินฝานั้นปะไร

ข้าราชการตงฉินถูกประณาม สามคนหามสี่คนแห่มาลากไส้

เกิดวิกฤติผิดเพี้ยนโดยทั่วไป โกลาหลหม่นไหม้ไร้ความดี

ประชาชนจะสับสนเรื่องดี-ชั่ว ถ้วนทุกทั่วจะมุดขุดรูหนี

ไม่แน่ใจสิ่งที่ทำนำความดี เกรงเป็นผีตายตกไปตามกัน...

...แผ่นดินแยกแตกเป็นสองปกครองยาก เกิดวิบากทุกข์เข็ญระส่ำระสาย

เกิดการปราบจลาจลคนล้มตาย เลือดเป็นสายน้ำตานองสองแผ่นดิน

ข้าเป็นนายนายเป็นข้าน่าสมเพช ผู้มีบุญมีเดชจะสูญสิ้น

ทั้งพฤฒาอาจารย์ลือระบิล จะร่วงรินดุจใบไม้ต้องสายลม

ความระทมจะถมทับนับเทวษ ดั่งดวงเนตรมืดบอดสุดขื่นขม

คนที่ดีจะก้มหน้าสุดระทม ส่วนคนชั่วหัวร่อร่าทำท่าดัง...

บรรยากาศของยุคถิ่นกาขาวในบทกวีช่างตรงกับเหตุการณ์ปัจจุบันอย่างเหลือเชื่อ เคยสงสัยมาตั้งแต่เด็กถึงคณะสี่กาที่นครศรีธรรมราช ว่าทำไมจึงแบ่งเป็น กาเหลือง กาแดง กาขาว และกาดำ


ดิฉันใกล้จะถึงบางอ้อแล้ว ว่าสีของกาเหล่านั้นสะท้อนถึงจิตสำนึกของผู้คนในยามแตกแยกออกเป็นฝักเป็นฝ่าย กาเหลือง-กาแดง-กาดำ คงไม่ต้องอธิบายอะไรมากในที่นี้ ปริศนาอยู่ที่ "กาขาว" แท้ก็คือกลุ่มซ่าหริ่ม (วัยรุ่นนิยมเรียกสลิ่ม) ที่ไม่อินังขังขอบกับกฎบัตรบ้านเมืองที่ถูกเบี่ยงเบนบิดเบือนจนไร้มาตรฐาน ขอเอาตัวรอดไปวันๆ คิดอย่างเดียวว่า "ช่างหัวมัน"



.