http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2554-12-07

คิดคำนึง กลางสายน้ำหลาก, งู...ปู...โมเสส.. ! เรื่องเล่าในสายน้ำ.. โดย สุรชาติ บำรุงสุข

.

คิดคำนึงกลางสายน้ำหลาก !
โดย สุรชาติ บำรุงสุข คอลัมน์ ยุทธบทความ
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 02 ธันวาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1633 หน้า 39


"ไพรนคร-ล่ม พนมเปญ-วินาศ บางกอก-ศิโรราบ แลเสียมเรียบ-ปราศภัย "
อภิญญา ตะวันออก


ผมอยากจะขอเริ่มต้นบทความนี้จากคำทำนายเก่าที่ปรากฏในข้อเขียนของ "อภิญญา ตะวันออก" ในบทความชุด "อัญเจีย ขะแมร์" ในมติชนสุดสัปดาห์...

ที่ต้องขอเริ่มด้วยคำทำนายนี้ก็เพราะว่า ในชีวิตช่วงหนึ่งผมเคยเห็นภาพของการอพยพใหญ่หลังจาก "ไพรนครล่ม" หรือ "ไซง่อนแตก" จากการบุกของกองทัพเวียดนามเหนือและบรรดาพลพรรคเวียดกง ในเดือนเมษายน 2518

และในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน ก็เห็นอาการเดียวกันเมื่อ "พนมเปญแตก" ด้วยชัยชนะของเขมรแดงในปลายเดือนเมษายน 2518

สำหรับผมเรื่องราวเหล่านี้ไม่ใช่เป็นเพียงเรื่องของความทรงจำเท่านั้น เพราะเมื่อต้องเป็นผู้สอนวิชา "นโยบายต่างประเทศและความมั่นคงไทย" ในคณะรัฐศาสตร์แล้ว เหตุการณ์ทั้งสองกรณีเป็นเรื่องใหญ่ที่ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อนโยบายต่างประเทศและความมั่นคงไทย

จนเวลาต่อมาผู้คนร่วมสมัยในยุคนั้นคงจำได้ดีกับภาพการอพยพของชาวเวียดนามใต้พยายามบุกเข้าไปในสถานทูตสหรัฐ ที่กรุงไซง่อน

โดยเฉพาะภาพสำคัญก็คือ ผู้คนที่พยายามปีนป่ายไปบนหลังคาของสถานทูต เพื่อไปขึ้นเฮลิคอปเตอร์หนีออกจากไซง่อน ตลอดจนถึงภาพเฮลิคอปเตอร์นำผู้คนที่หนีตายออกจากไซง่อนลงบนเรือบรรทุกเครื่องบินที่ลอยลำอยู่ในทะเลจีนใต้ จำนวนคนมีมากจนต้องผลักเอาเฮลิคอปเตอร์ที่บินมาส่งทิ้งลงทะเลไป

เช่นเดียวกับภาพเมื่อพนมเปญแตก ผู้คนหนีตายไม่ได้แตกต่างไปจากไซง่อน


ในทุกครั้งที่สอนถึงเหตุการณ์ "ไพรนครล่ม พนมเปญวินาศ" ผมมักจะเอาภาพเหตุการณ์จริงเหล่านี้ให้นิสิตได้เห็น เพราะอย่างน้อยพวกเขาไม่ได้อยู่ในสถานการณ์ดังกล่าวเช่นคนในยุคสมัยของผม

เรื่องราวเหล่านี้ทำให้ผมนึกถึงเมื่อตอนไปเรียนหนังสือต่อในสหรัฐอเมริกาไม่ได้ ทุกครั้งที่นั่งมองย้อนกลับดูบ้านตัวเองเปรียบเทียบกับบรรดาประเทศเพื่อนบ้านแล้ว ผมมีความรู้สึก "โชคดี" ไม่ว่าคำนี้จะอธิบายจากมิติทางวิทยาศาสตร์ หรือทางจิตวิญญาณก็ตาม เพราะอย่างน้อยสิ่งที่สังคมไทยต้องเผชิญนั้น น่าจะรุนแรงน้อยกว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาก

และความรุนแรงที่สุดของยุคสมัยในขณะนั้นก็คือ กรณีสังหารโหดกลางเมืองหลวงในวันที่ 6 ตุลาคม 2519

ในระหว่างเรียนปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยคอร์แนลในสหรัฐอเมริกา อาจารย์ที่เคารพท่านหนึ่งของผมคือ ศาสตราจารย์เบน แอนเดอร์สัน เคยกล่าวถึงคำตอบจากแบบสอบถามที่ทำขึ้นในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ว่า ถ้าท่านเลือกเกิดใหม่ได้จริงแล้ว ท่านอยากจะเกิดเป็นประชาชนในประเทศใด

... คำตอบ (คำตอบนะคร้าบ...) ประเทศไทย

ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องน่าผิดคาดสำหรับสถานการณ์ทางการเมืองหลังไซง่อนและพนมเปญแตกในปี 2518 เพราะแม้สถานการณ์ในไทยจะรุนแรงจากเหตุการณ์ในปี 2519 แต่โดมิโนก็ไม่ได้ล้มลงตามไพรนครและพนมเปญ ยังสามารถประคับประคอง

จนในที่สุดสังคมไทยก็สามารถผ่านพ้นวิกฤตยุคสงครามเย็นไปได้

โดยในท้ายที่สุดบางกอกก็ไม่ต้องประสบเหตุเช่นเมืองทั้งสอง และพวกเราทั้งหลายก็ไม่ต้องกลายเป็น "ผู้อพยพ" เช่นพี่น้องในประเทศเพื่อนบ้าน


ผมจบปริญญาโทกลับสู่ประเทศไทย พร้อมกับสถานการณ์สงครามเย็นในบ้านเริ่มลดระดับของภัยคุกคามลง มีโอกาสพบกับเพื่อนๆ หลายคนที่เดินทางเข้าสู่ฐานที่มั่นในชนบทหลังเหตุการณ์สังหารโหดวันที่ 6 ตุลาคม 2519...

ภัยคุกคามเก่าของสังคมไทยกำลังปิดฉากลง ป่าแตกพร้อมๆ กับการเดินทางของ "สหาย" ระดับต่างๆ ออกจากฐานที่มั่นของ พคท.

พวกเขามีเรื่องสนุกระคนทุกข์เล่าให้ผมฟังอย่างเฮฮา พร้อมๆ กับเพลงที่เพียงฟังครั้งแรกก็ติดหูทันทีคือ "เดือนเพ็ญ" ของ "สหายไฟ" (หรือนายผี-อัศนี พลจันทร)...

ฟังแล้วก็ต้องขอคารวะต่อจิตวิญญาณแห่งการต่อสู้ของท่านผู้นี้เป็นอย่างยิ่ง!

ผมกลับไปเรียนต่ออีกครั้งในระดับปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย และในระหว่างเรียนอยู่ได้เห็นสถานการณ์ใหม่ที่ไม่เคยคาดคิดมาก่อนก็คือ การรวมชาติของเยอรมนีพร้อมกับการทุบทำลายกำแพงเบอร์ลินในวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ.2532

ซึ่งก็คือการสิ้นสุดของสงครามเย็น ผลกระทบอย่างสำคัญต่อชีวิตส่วนตัวก็คือ ผมเรียนวิชา "ความมั่นคงศึกษา" ที่ผูกโยงอยู่กับระเบียบโลกสงครามเย็นมาโดยตลอด แล้วถ้าไม่มีสงครามเย็นเป็นกรอบแล้ว วิชาความมั่นคงศึกษาของผมจะอิงอยู่กับปัญหาและภัยคุกคามอะไร ประเด็นเช่นนี้เป็นเรื่องที่ค้างคาใจผมมาตลอดระยะเวลาจนกระทั่งกลับบ้าน...

ถ้าไม่มีสงครามคอมมิวนิสต์ภายในแล้ว สังคมไทยจะเผชิญกับปัญหาความมั่นคงอะไร

หรือเราจะเชื่อเอาเองว่า หมดคอมมิวนิสต์ ก็เท่ากับหมดปัญหาความมั่นคง

และถ้าเป็นเช่นนั้นจริง สังคมไทยก็คงกำลังก้าวเข้าสู่ "ยุคพระศรีอาริย์" แล้ว



หากแต่ในความเป็นจริง หมดยุคสงครามเย็นหรือสงครามคอมมิวนิสต์ในบ้านแล้ว ผมกลับพบว่าปัญหาความมั่นคงไทยมีความซับซ้อน และบางทีอาจจะยุ่งยากมากกว่าที่ผมคิด

ปัญหาความมั่นคงทางทหาร ไม่ใช่เรื่องของการเผชิญหน้ากับกองทัพข้าศึก หากเป็นเรื่องว่าทำอย่างไรจะพัฒนากองทัพให้มีความเข้มแข็งและทันสมัยไปกับความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย

และยิ่งนานวันข้าศึกของสงครามตามแบบที่กองทัพไทยต้องเผชิญก็ยิ่งไม่ปรากฏ

จนบางทีอาจจะต้องยอมรับว่า ถ้าผู้นำทางการเมืองและผู้นำทหารไทยไม่ "บ้า" จนเกินไปแล้ว โอกาสที่ไทยจะเข้าสู่สงครามใหญ่ในลักษณะของสงครามตามแบบกับประเทศใกล้เคียงน่าจะเป็นไปไม่ได้

ปัญหาความมั่นคงทางทหารปรากฏให้เห็นชัดอีกครั้งก็เมื่อเกิดเหตุการณ์ปล้นปืนในจังหวัดชายแดนภาคใต้เมื่อค่ำคืนของวันที่ 4 มกราคม 2547 หรือกล่าวได้ว่า สงครามเย็นยุติไปแล้ว 15 ปี กองทัพไทยจึงต้องเผชิญกับสถานการณ์สงครามอีก...

แน่นอนว่า สงครามครั้งนี้ไม่ง่าย... 8 ปีแล้วที่กองทัพไทยยังติดกับสงครามอยู่ในภาคใต้ สถานการณ์ความรุนแรงยังคงดำเนินต่อไป โดยไม่ได้ถูกจำกัดว่าใครจะมาเป็นรัฐบาล ไม่ว่าไทยรักไทย/เพื่อไทย หรือประชาธิปัตย์ล้วนแต่ต้องเผชิญกับปัญหานี้ไม่แตกต่างกัน

ไม่มีสงครามในแบบที่พร่ำสอนในโรงเรียนทหารให้ต้องกลัว มีแต่สงครามนอกแบบในภาคใต้เป็นความท้าทายใหญ่ และจวบจนวันนี้ก็ไม่มีใครให้คำตอบว่า สุดท้ายแล้วสงครามนี้จะจบลงอย่างไร

และยิ่งเห็นสงครามแบบที่คล้ายคลึงกันในอัฟกานิสถานหรือในอิรักแล้ว ก็ยิ่งต้องตระหนักว่า สงครามหลังสงครามเย็นของไทยครั้งนี้เป็น "โจทย์ยุทธศาสตร์ใหญ่" ที่จะอาศัยความโชคดีแบบหลังปี 2518 ไม่ได้

แต่ถ้าไม่ใช่ปัญหาความมั่นคงทางทหารเป็นประเด็นหลักแล้ว อะไรคือปัญหาความมั่นคงใหม่ๆ ที่สังคมไทยต้องเผชิญ?


หลังจากกลับมาจากเรียนต่อครั้งหลัง ผมยอมรับว่าปัญหาความมั่นคงทางทหารแบบเก่าลดความสำคัญลงอย่างมาก

ความสนใจในเรื่องของอาวุธยุทโธปกรณ์แบบที่ผมชอบก็ลดลง แม้ความรักและความสนใจในเรื่องของทหารของผมจะไม่เปลี่ยนแปลงไปก็ตาม หากแต่ผมยอมรับเอาเรื่องอื่นๆ เข้ามาสู่ความสนใจของตัวเองมากขึ้น

และเห็นมากขึ้นถึงความจำกัดของการยึดเอาปัญหาความมั่นคงทางทหารเท่านั้นเป็นประเด็นหลัก

ซึ่งผมเองก็อยู่ในภาวะที่อาจจะเรียกว่า "ทำใจ" ที่จะเปิดรับเอาประเด็นที่หลากหลายเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาความมั่นคง

ในระหว่างที่ยังเรียนปริญญาเอกอยู่นั้น ผมไม่ค่อยรับแนวคิดใหม่ๆ เช่นนี้เท่าใดนัก ยังคงชอบและสนุกกับเรื่องทหาร

จำได้ว่ามีวิชาหนึ่งที่ไม่ได้ลงทะเบียนเรียน จนรู้สึกเสียดายเมื่อกลับบ้าน คือวิชา "ชาติพันธุ์กับความขัดแย้ง"

เพราะเมื่อเกิดปัญหาสงครามก่อความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้แล้ว ผมต้องหวนกลับมาทำความเข้าใจในเรื่องของความขัดแย้งในมิติของชาติพันธุ์มากขึ้น

การ "เปิดใจ" รับเอาปัญหาความมั่นคงใหม่เข้ามาเป็นหัวข้อของความสนใจ ทำให้เห็นว่าสังคมไทยเผชิญกับปัญหาความมั่นคงใหม่หลากหลายรูปแบบ ซึ่งผมเองก็ไม่ค่อยจะแน่ใจว่า แล้วกลุ่มผู้มีอำนาจในการบริหารประเทศ หรือแม้กระทั่งองค์กรอย่างสภาความมั่นคงแห่งชาติ ซึ่งเป็นกลไกหลักด้านความมั่นคงคิดถึงเรื่องราวเหล่านี้มากน้อยเพียงใด

ผมคิดว่าประเด็นปัญหาใหม่ที่ทุกฝ่ายดูจะยอมรับตั้งแต่ในยุคต้นๆ ก็คงเป็นเรื่องของ "การอพยพย้ายถิ่นกับความมั่นคง" ซึ่งก็เกี่ยวข้องกับปัญหาที่เราเห็นอยู่บ่อยครั้งในสังคมก็คือ เรื่องของแรงงานข้ามชาติ ปัญหาเหล่านี้เป็นข้อถกเถียงอย่างกว้างขวางในสังคมไทยมาอย่างยาวนานพอสมควร


ส่วนอีกประเด็นหนึ่งที่เปิดในเวทีสากล และเป็นที่ยอมรับกันอย่างมากจนกลายเป็นหัวข้อที่รัฐบาลไทยในยุคหนึ่งนำเอามาเป็นชื่อของกระทรวงในระบบราชการไทยคือ "กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์"

แม้ในช่วงแรกของการจัดตั้งกระทรวงนี้จะมีข้อถกเถียงว่า ภารกิจของกระทรวงในกรอบของนิยาม "ความมั่นคงของมนุษย์" คืออะไร แต่เมื่อเวลาผ่านไป เราก็พัฒนาบทบาทในงานด้านความมั่นคงของมนุษย์มากขึ้น แม้ว่าจะยังไม่สมบูรณ์นักก็ตามที

แต่ในความเป็นจริงแล้ว สังคมไทยมีประเด็นความมั่นคงใหม่อีกหลายเรื่อง เป็นแต่เพียงเราไม่ค่อยจะคิดถึงเรื่องเหล่านี้ในกรอบงานความมั่นคงเท่าใดนัก

อาจจะเป็นเพราะฝ่ายการเมืองที่เป็นผู้กำหนดนโยบายไม่ค่อยเห็นความสำคัญ หรือกลไกสำคัญด้านความมั่นคงอย่างสภาความมั่นคงแห่งชาติที่ควรจะมีบทบาทผลักดันอย่างจริงจัง ก็ไม่ได้มีบทบาทอะไรมากนัก

หรือบุคลากรบางส่วนแทนที่จะเป็น "นักความมั่นคง" พวกเขากลับกลายเป็น "นักพัฒนาเอกชน" แบบพวกเอ็นจีโอไปเลย



ถ้าพิจารณาสถานการณ์ปัจจุบัน จะเห็นได้ว่าปัญหาสิ่งแวดล้อม ปัญหาพลังงาน ปัญหาน้ำ ปัญหาอาหาร ปัญหาสุขภาพ ได้กลายเป็นประเด็นใหม่ๆ ในโลกความมั่นคงร่วมสมัย

ดังตัวอย่างของ ปัญหาความมั่นคงด้านพลังงาน ซึ่งทุกประเทศทั่วโลกล้วนต้องเผชิญกับปัญหาเช่นนี้ไม่แตกต่างกัน อาจจะยกเว้นก็แต่ประเทศผู้ผลิตน้ำมัน (OPEC)

หรือปัญหาความมั่นคงด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งเห็นได้ว่าความเปลี่ยนแปลงของสภาวะอากาศของโลกเป็นประเด็นที่ประเทศต่างๆ ในปัจจุบันต้องให้ความสนใจ เพราะความเปลี่ยนแปลงเช่นนี้สามารถก่อให้เกิดพายุฝน หรือความแห้งแล้ง อันส่งผลกระทบโดยตรงต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน ไม่ว่าจะเป็นพายุน้ำท่วมหรือฝนแล้งก็ตาม หรือปัญหาความมั่นคงด้านสุขภาพ ก็เห็นได้ชัดเจนจากกรณีโรคเอดส์ โรคหวัดซาร์ส โรคหวัดนก จนถึงไข้หวัด 2009 ก็เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของปัญหาความมั่นคงกับระบาดวิทยา ซึ่งบุคคลสำคัญอาจจะไม่ใช่ทหารจากกองทัพ หากแต่เป็นบุคลากรจากสายการแพทย์และสาธารณสุข เป็นต้น

ตัวอย่างเหล่านี้เป็นปัญหาใหม่ จนกระทั่งปลายปี 2547 ผมเห็นปัญหาใหม่อีกชุดหนึ่ง ปรากฏการณ์สึนามิในมหาสมุทรอินเดียที่ทำให้ประชาชนประมาณ 230,000 คนเสียชีวิต ในช่วงระยะเวลาเช่นนี้

ถ้าเราดูข่าวต่างประเทศก็จะพบว่าในระยะไม่กี่ปีที่ผ่านมา ข่าวพายุ น้ำท่วมใหญ่เกิดขึ้นบ่อยครั้งในหลายๆ ประเทศ หรือกรณีของแผ่นดินไหว ดินถล่ม หิมะถล่ม ก็เป็นตัวอย่างของปรากฏการณ์ธรรมชาติที่คร่าชีวิตของผู้คนครั้งละมากๆ หรือทำลายเศรษฐกิจของประเทศที่ประสบภัยอย่างรวดเร็ว

ปัญหาภัยคุกคามทางธรรมชาติกลายเป็นภัยชุดใหม่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ไปแล้ว


ถ้า พ.ศ.2505 เราประสบวาตภัยใหญ่ที่แหลมตะลุมพุก

2532 ประสบปัญหาจากพายุเกย์ 2547 ประสบกับสึนามิ และ 2554 ต้องประสบภัยน้ำท่วมใหญ่ในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และตัวเมืองหลวงคือกรุงเทพฯ...

สำหรับนักความมั่นคงแล้ว ปรากฏการณ์เช่นนี้คิดเป็นอย่างอื่นไม่ได้เลย นอกจากต้องพิจารณาให้ประเด็นนี้เป็นปัญหาความมั่นคงใหม่

และเตรียมออกแบบระบบของประเทศที่จะรองรับต่อปัญหาดังกล่าวให้ได้

แต่ถ้าเราไม่คิดทำอะไรกันจริงจังแล้ว คำทำนายเก่าแก่เช่นที่กล่าวในข้างต้นก็คงปรากฏเป็นจริงว่า "บางกอก-ศิโรราบ"...

อย่างน้อยก็เห็นได้ชัดเจนว่าบางกอกศิโรราบกับข้าศึกที่เป็นน้ำมวลใหญ่ พร้อมกับมีผู้อพยพเป็นจำนวนมาก แม้จะไม่ใช่แพ้สงครามแบบเก่าที่ไพรนครและพนมเปญเคยเผชิญ!



++

งู...ปู...โมเสส! เรื่องเล่าในสายน้ำหลาก
โดย สุรชาติ บำรุงสุข คอลัมน์ ยุทธบทความ
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1632 หน้า 40


"ความอยู่รอดของเราไม่ได้ขึ้นอยู่กับดุลยภาพทางทหารเท่านั้น หากแต่ยังขึ้นอยู่กับความร่วมมือในระดับโลก
เพื่อที่จะทำให้เกิดสภาพแวดล้อมที่ยั่งยืนจากการแบ่งปันทรัพยากรกันอย่างเท่าเทียม
"
The Independent Commission on International Development Issues
(ICIDI), 1980


นํ้าท่วมใหญ่ของประเทศไทยจนอาจจะต้องเรียกว่าเป็น "อภิมหาอุทกภัย" นั้น ไม่เพียงแต่จะกลายเป็นเรื่องของภัยคุกคามทางธรรมชาติต่อความมั่นคงของประเทศเท่านั้น หากแต่ยังกลายเป็นวิกฤตการเมืองในตัวเองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ด้วย

เพราะจากปัญหาวิกฤตที่เกิดขึ้นทำให้เป้าของการวิพากษ์วิจารณ์นั้นหลีกหนีไม่พ้นที่จะต้องมุ่งไปสู่ตัวนายกรัฐมนตรีในฐานะผู้นำของรัฐบาลโดยตรง

ดังนั้น วิกฤตการณ์น้ำครั้งนี้จึงมิใช่แต่เพียงเป็นเสมือน "เดิมพัน" อนาคตของรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เท่านั้น หากแต่ยังเป็นเดิมพันทางการเมืองถึงอนาคตของตัวเธอเองอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม ในวิกฤตครั้งนี้ มีเรื่องราวหลากหลายปัญหาที่จะต้องคิดทบทวน

และถ้าเป็นไปได้ก็น่าจะต้องมีข้อยุติกันจริงๆ ไม่ใช่ว่าปีหน้าฟ้าใหม่ ปัญหาเดิมๆ ก็จะต้องกลับมาหลอกหลอนผู้คนในสังคมไทยกันอีก

จนกลายเป็นปัญหาซ้ำซากในเทศกาลน้ำหลากทุกครั้งไป


สิ่งแรกที่อยากจะขอนำมาเปิดประเด็นก็คือ ปัญหาที่บรรดาผู้เลี้ยงสัตว์ "ที่ไม่ใช่สัตว์เลี้ยง" ได้สร้างความหวาดผวาให้กับผู้คนทุกครั้งที่มีปัญหาน้ำท่วมก็คือ กรณีของจระเข้ที่หลุดออกมาจากฟาร์ม ซึ่งเป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นทุกปี ก็จับกันได้บ้าง จับไม่ได้บ้าง แต่เมื่อน้ำลดแล้ว เราก็พร้อมที่จะลืมเรื่องราวของจระเข้เหล่านี้ไปโดยปริยาย

ผมไม่แน่ใจว่า มีใครเก็บข้อมูลตัวเลขหรือไม่ว่า ในกรณีน้ำท่วมแต่ละปีนั้น มีจระเข้หลุดออกมาจากบ่อเลี้ยงเป็นจำนวนเท่าใด และสามารถจับมาได้เท่าใด และจำนวนที่จับไม่ได้ พวกเขาเหล่านั้นไปอยู่ในแหล่งน้ำใด และจะก่ออันตรายแก่ประชาชนในอนาคตหรือไม่ ดูเหมือนจะไม่เคยมีใครบอกแก่เราในเรื่องเหล่านี้เท่าใดนัก

นอกจากจระเข้แล้ว ก็มีสัตว์มีพิษชนิดอื่นๆ ถ้าจำกันได้ น้ำท่วมปีที่แล้ว มีปลาปิรันยาซึ่งเป็นปลาที่มีความดุร้ายมากหลุดออกมากับสายน้ำ ทางราชการก็ดูจะทำได้เพียงประกาศเตือนให้ทุกคนที่ต้องลุยน้ำ ระมัดระวังปลาชนิดนี้ แต่ดูเหมือนจะไม่ค่อยจะมีใครตั้งคำถามกับผู้เลี้ยงสัตว์ชนิดนี้ว่า เมื่อเกิดปัญหาขึ้น ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบในความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้น

ข่าวร้ายของปีนี้ก็คือ กรณีงูเขียวที่ไม่ใช่งูเขียวไทย แต่เป็น "กรีน แมมบา" ซึ่งเป็นงูที่มีพิษร้ายแรงอย่างมากจากทวีปแอฟริกา และข่าวร้ายที่ตามมาก็คือ เมื่อไม่ใช่งูสายพันธุ์ไทย ก็ทำให้วงการแพทย์ของเราไม่มีเซรุ่มที่เอาไว้ช่วย หากเกิดมีคนถูกงูชนิดนี้กัดตาย ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบต่อชีวิตของเขา

บางทีสังคมไทยอาจจะต้องมีกฎเกณฑ์มากขึ้นกับการเลี้ยงสัตว์มีพิษทั้งหลาย เช่น อาจจะต้องมีกฎหมายบังคับให้ผู้เลี้ยงจระเข้ทำกรงสูงที่มีความแข็งแรง เพื่อป้องกันไม่ให้หลุดไปในภาวะน้ำท่วม หรือบรรดาสัตว์มีพิษทั้งหลาย

กฎหมายอาจจะไม่สามารถระบุรายชื่อของสัตว์เหล่านี้ทุกชนิดได้ แต่ทำอย่างไรที่จะมีมาตรการในการเอาผิดกับผู้เลี้ยงสัตว์ชนิดนี้ มิเช่นนั้นแล้ว เราก็คงจะต้องลองทายกันว่า ปีที่แล้ว เราเจอปลาปิรันยา ปีนี้ เราเจอกรีนแมมบา แล้วปีหน้าเล่า เราจะเจออะไร?


อีกเรื่องหนึ่งที่เราๆ ท่านๆ ทั้งหลายได้ยินประกาศของทางราชการอยู่เสมอก็คือ น้ำท่วมสูง 1 เมตร ในพื้นที่เขตนี้ น้ำท่วม 2 เมตร ในพื้นที่เขตนั้น ถ้าน้ำท่วมไปแล้ว ก็คงไม่ใช่เรื่องยุ่งยาก เพราะเราอาจจะวัดความสูงของระดับน้ำจากพื้นผิวถนน ซึ่งก็จะทำให้ผู้ขับขี่ยวดยานประเมินได้ทันทีว่า พวกเขาควรจะเสี่ยงหรือไม่ต่อการพารถไปดำน้ำ!

แต่หากน้ำยังไม่ท่วม ประกาศความสูงของระดับน้ำเช่นนี้ใช้อะไรเป็นตัวฐานของการอ้างอิง ซึ่งหลายครั้งที่เราได้ยิน เราแทบตอบไม่ได้เลยว่า ถ้าน้ำท่วมแถบที่เราอาศัยอยู่ น้ำจะท่วมบ้านเราจริงๆ ประมาณเท่าใด

ถ้าลองคิดกันเล่นๆ ในอนาคต เราอาจจะต้องมีการทำแผนที่สูงต่ำของภูมิประเทศทั่วประเทศ โดยเฉพาะในเขตกรุงเทพมหานครและพื้นที่แถบชานเมือง เช่น ในระยะต้น เราอาจจะต้องเอาถนนสายหลักของกรุงเทพฯ ทั้งหมดเป็นฐาน และทำการวัดระดับจากความสูงจากระดับน้ำทะเลโดยการอาศัยเครื่องมือกำหนดพิกัดของโลก หรือ "GPS" ซึ่งปัจจุบันเครื่องวัดเช่นนี้มีความแม่นยำอย่างมาก

เมื่อทำการวัดระดับความสูงต่ำของพื้นที่ในแต่ละเขตแล้ว ก็อาจจะเขียนมาตรวัดไว้กับเสาไฟฟ้าตามบริเวณข้างถนน ชาวบ้านที่ได้รับคำเตือนว่า ถ้าน้ำท่วม น้ำจะมีความสูงประมาณเท่าใด ก็จะสามารถเตรียมตัวได้ง่ายขึ้น และหากระบบการวัดเช่นนี้ สามารถเข้าไปทำให้ตรอกซอยต่างๆ ได้ด้วย ก็ใช้วิธีการเดียวกันโดยทั่วไปคือ

การเขียนระดับดังกล่าวไว้กับเสาไฟฟ้า ซึ่งก็จะเอื้อให้ผู้คนที่อยู่ในตรอกซอยสามารถกำหนดชีวิตของพวกเขาจากคำเตือนน้ำท่วมได้มากขึ้น

ในกรณีเช่นนี้ก็ยังช่วยให้ผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่ระดับน้ำท่วมไม่สูง ก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องกว้านซื้อทั้งทรายและกระสอบ จนนำไปสู่ความขาดแคลนได้ เพราะถ้ารู้ระดับน้ำได้แน่นอน ประชาชนก็อาจจะสร้างแนวกระสอบทรายเกินกว่าระดับน้ำที่ท่วมไว้ และไม่จำเป็นต้องสร้างสูงเกินกว่าระดับดังกล่าวอย่างมาก

การใช้เสาไฟฟ้าเป็นเครื่องวัดระดับความสูงต่ำของพื้นที่นั้น จะต้องทำคู่ขนานกับการมีข้อมูลของระดับน้ำที่ถูกต้องมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อให้ประชาชนเตรียมตัวกับอุทกภัยที่อาจจะเกิดขึ้น

ดังนั้น การให้ข้อมูลแก่ประชาชนเพื่อให้รับรู้ถึงการเตือนภัยที่เกิดขึ้น ต้องการองค์กรที่จะเป็นผู้รับผิดชอบเรื่องนี้อย่างจริงจัง

เพราะข้อมูลเช่นนี้ไม่ใช่เป็นแต่เพียงเรื่องของการใช้นำกับเกษตรกรเท่านั้น หากแต่ยังกลายเป็นเรื่องของการเตรียมตัวของเมือง ซึ่งอาจจะต้องถือว่าเป็นเรื่อง "ความมั่นคงเมือง" แขนงหนึ่ง เพราะในโลกตะวันตกนั้น การเตรียมเมืองเพื่อรับกับปัญหาภัยพิบัติจากการกระทำของมนุษย์ เช่น การก่อการร้าย เป็นเรื่องเดียวกันกับการเตรียมตัวรับกับปัญหาภัยพิบัติทางธรรมชาติขนาดใหญ่ เช่น พายุเข้าปะทะกับเมืองหรือพื้นที่ที่เป็นเขตที่อยู่อาศัยหรือพื้นที่เขตเศรษฐกิจ หรือเกิดน้ำท่วมกับเมือง เป็นต้น

กล่าวคือ ความเสียหายของเมืองจากการก่อการร้ายหรือจากภัยพิบัติของพายุหรือของน้ำท่วมนั้น อาจจะต้องคิดว่าเป็นเรื่องในบริบทเดียวกัน ซึ่งหากกล่าวในทางทฤษฎีก็คือ การสร้างระบบความมั่นคงและปลอดภัยของเมืองนั่นเอง

ปัญหาเช่นนี้อาจจะดูเป็นเรื่องใหม่ แต่เราจะเห็นถึงการเตรียมเมืองเพื่อรับมือกับปัญหาใหม่ๆ หลังจากเหตุการณ์วันที่ 11 กันยายน 2544 ที่เกิดขึ้นกับเมืองนิวยอร์กและเมืองหลวงกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ของสหรัฐอเมริกา ซึ่งอาจเทียบเคียงได้กับพายุที่พัดถล่มเมืองอย่างกรณีเมืองนิวออร์ลีนมาแล้ว หรือกรณีสึนามิที่เกิดขึ้นแก่เมืองในประเทศญี่ปุ่นเช่นกัน

ดังนั้น การเตรียมแนวคิดในเรื่องของ "ความมั่นคงเมือง" เพื่อรองรับต่อปัญหาภัยพิบัติจากธรรมชาติและจากมนุษย์ เป็นประเด็นที่รัฐบาลไทยอาจจะต้องนำมาขบคิดมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปกป้อง "โครงสร้างพื้นฐานที่มีความสำคัญยิ่ง" (Critical Infrastructure) อันเป็นรากฐานของชีวิตของสังคมสมัยใหม่



ในวิกฤตน้ำท่วมครั้งนี้ อีกปัญหาหนึ่งที่จะต้องคิดสำหรับอนาคตก็คือ ปัญหาการควบคุมฝูงชน แม้ในหลายกรณีของความขัดแย้งที่เกิดขึ้นยังไม่มีสภาพที่กลายเป็น "จลาจล" ซึ่งอาจจะต้องยอมรับว่า สังคมไทยยังโชคดีที่ยังไม่เกิดสภาพอนาธิปไตยหรือเกิดจลาจล เช่น ความขาดแคลนอาหารและน้ำดื่มอาจนำไปสู่การปล้นสะดมร้านขายของเหล่านี้หรือนำไปสู่การทำลายสถานที่ราชการ เป็นต้น

แต่อย่างน้อยในหลายพื้นที่ เราเห็นถึงความขัดแย้งระหว่างประชาชน เช่น ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่น้ำท่วมกับประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่น้ำไม่ท่วม

ประชาชนที่ต้องทนทุกข์อยู่กับพื้นที่น้ำท่วมขังนั้น จึงมักต้องการทำลายสิ่งที่กีดขวางทางน้ำ โดยเชื่อว่าจะทำให้น้ำทะลักออกไปจนลดระดับลงในพื้นที่ของเขา ซึ่งก็อาจจะไม่เป็นความจริง เพราะในกรณีน้ำท่วมใหญ่นั้น เมื่อเขาเปิดให้น้ำส่วนหนึ่งไหลออกไป ก็จะมีมวลน้ำอีกส่วนหนึ่งไหลเข้ามา

แต่สิ่งกีดขวางที่ถูกสร้างขึ้นเป็นแนวกำแพงกั้นน้ำนั้น ในทางทฤษฎีเป็นการวางแนวเพื่อควบคุมเส้นทางน้ำ โดยหวังว่าจะทำให้น้ำไหลไปในทิศทางที่เป็นประโยชน์แก่ทุกฝ่ายมากที่สุด เช่น แนวกั้นเพื่อป้องกันน้ำท่วมเสียทะลักลงสู่คลองประปา ซึ่งจะทำให้ต้องลดกำลังการผลิตของระบบประปาของเมืองลง อันจะกลายเป็นวิกฤตการณ์อีกชุดหนึ่งในสถานการณ์น้ำท่วมคือ ความขาดแคลนน้ำดื่ม

ดังนั้น การควบคุมฝูงชนในกรณีนี้ แม้จะแตกต่างจากกรณีของฝูงชนทางการเมือง และอาจจะถือว่าเป็นเรื่องใหม่ แต่ก็อาจจะต้องถือว่าเป็นตัวแบบใหม่ของการควบคุมฝูงชนในสถานการณ์ปัจจุบัน แต่สิ่งที่ไม่แตกต่างกันก็คือ "อารมณ์ฝูงชน" ที่พร้อมจะเกรี้ยวกราดได้เช่นเดียวกับอารมณ์ทางการเมือง


ในอีกมุมหนึ่งของวิกฤตน้ำที่เป็นเรื่องดีๆ ให้เราได้ชื่นใจกันบ้างก็คงจะหนีไม่พ้นบทบาทของทหาร แทบไม่น่าเชื่อเลยว่า ในเดือนพฤษภาคม 2553 ทหารเอากำลังออกมาล้อมปราบประชาชนจนกลายเป็นกรณี "91 ศพ" ที่โด่งดังไปทั่วโลกด้วยวาทกรรม "กระชับพื้นที่" เพื่อปราบ "ผู้ก่อการร้าย"

แต่ในเดือนตุลาคม - พฤศจิกายน 2554 ทหารเอากำลังออกมาช่วยเหลือประชาชน และทั้งยังเห็นถึงการทำงานกันอย่างแข็งขันของกำลังพลทหารจากหน่วยต่างๆ ภาพและเรื่องราวเหล่านี้เห็นได้ชัดเจนจากสื่อต่างๆ หรือจากเครือข่ายสังคม จนวันนี้ต้องยอมรับว่า ทหารได้ใจประชาชนแล้ว!

บทบาทเชิงบวกของทหารในการช่วยเหลือประชาชนเช่นนี้ ทำให้เห็นถึงประเด็นในอนาคตว่า หากกองทัพมีบทบาทเชิงบวกในทางการเมืองแล้ว กองทัพก็จะเป็นองค์กรที่เสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่ประเทศไทย

และทั้งยังเห็นอีกด้วยว่า ถ้ารัฐบาลตัดสินใจทำ "ยุทธศาสตร์ชาติในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย" แล้ว กองทัพจะเป็นกลไกสำคัญในภารกิจนี้ในระบอบประชาธิปไตย

ความเป็นจริงที่ปฏิเสธไม่ได้ในอีกด้านหนึ่งก็คือ ยิ่งนานวัน รัฐบาลก็ยิ่งตกอยู่ในภาวะวิกฤตมากขึ้น ซึ่งคาดเดาได้ไม่ยากว่า วิกฤตน้ำได้กลายเป็นวิกฤตการเมืองไปแล้ว และจะขยายวงกว้างมากขึ้นเมื่อน้ำลด จนในที่สุดรัฐบาลจะถูกกดดันอย่างหนัก จนการอยู่รอดของนายกฯ ยิ่งลักษณ์กลายเป็นข้อถกเถียงใน "วงพนัน" (เรื่องราวแบบไทยๆ อย่าคิดมาก...น้ำท่วมก็พนันได้ น้ำลดก็พนันได้!)


สุดท้ายนี้ เราเห็น "โมเสส" ที่พยายามจะเปิดเส้นทางเดินรถสายใต้ด้วยการ "แหวกน้ำ" บนเส้นทางสาย 340 บางบัวทอง-สุพรรณบุรี ความพยายามนี้ดูจะไม่แตกต่างจากตำนานเรื่องของโมเสสในพระคัมภีร์ไบเบิลเก่าที่แหวกน้ำในทะเลแดง เพื่อพาชาวยิวหลบหนีจากการไล่ล่าของกองทัพอียิปต์

จะต่างกันก็แต่เพียง "โมเสสไทย" เปิดทางเพื่อหนีน้ำ และหากทำสำเร็จจริง ก็จะเป็นหนึ่งในตำนานน้ำท่วมใหญ่ 2554 อย่างแน่นอน

ก่อนที่จะจบต้นฉบับนี้ ความพยายามที่จะแหวกน้ำยังไม่สำเร็จ แต่เส้นทางสายพระราม 2 น้ำกำลังจะท่วม ซึ่งเป็นการพิสูจน์ว่า โมเสสไทยจะทำได้หรือไม่!



* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * ** * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
www.youtube.com/watch?v=w3DR98eL5mg
Bob Dylan - Blowin' in the Wind (Legendado)



.