http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2554-12-08

วิกฤตโลกรอบใหม่ กำลังก่อตัว, จีนน่าลงทุนที่สุด

.
มีโพสต์ถัดจากบทความหลัก
- สหรัฐมีทอง 8,133.5 ตัน ยึดกุมถือครองทองคำอันดับ 1 โลก ไทยทะยานยึดอันดับ 23
- ช็อปกระจายและโหดมันส์ฮา กับ "แบล็กฟรายเดย์"

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * ** * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *


วิกฤตโลกรอบใหม่ กำลังก่อตัว!
คอลัมน์ ต่างประเทศ
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 02 ธันวาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1633 หน้า 102


ระหว่างที่วิกฤตการณ์ทางการเงินในยุโรป ที่เรียกกันง่ายๆ ว่า วิกฤตหนี้ หรือ วิกฤตตราสารหนี้ กำลังเลวร้ายลงไปเรื่อยๆ ทีละเล็กทีละน้อยทุกวัน น่าสนใจที่ว่า สหภาพยุโรป (อียู) และบรรดาผู้นำในกลุ่มประเทศที่ใช้เงินยูโร หรือ ยูโรโซน ดำเนินความพยายามเพื่อแก้ปัญหานี้มาต่อเนื่องร่วมๆ 2 ปี วิกฤตการณ์หนนี้ไม่เพียงไม่สามารถแก้ไขลุล่วงได้เท่านั้น แต่ยังเลวร้ายและลุกลามเพิ่มมากขึ้นทุกขณะ

ถึงตอนนี้คำถามที่ถามกันมากที่สุดก็คือ เกิดอะไรขึ้น ทำไมยูโรโซนถึงแก้ปัญหาหนี้ที่เกิดขึ้นภายในระบบของตัวเองไม่ได้?

คำตอบของคำถามนี้น่าสนใจอย่างมาก เพราะมันอาจหมายถึงหนทางแก้ปัญหานี้ในระยะยาว หรือไม่ก็จะเป็นเครื่องสะท้อนให้เห็นว่า วิกฤตการณ์ทำนองเดียวกันนี้สามารถมาเยือนอีกเมื่อใดก็ได้

หากปัญหาที่แท้จริงอยู่ที่โครงสร้างทั้งทางการเมืองและการเงินการคลังของยูโรโซน

แต่ในเวลาเดียวกัน มีคำถามที่สำคัญกว่า ฉุกเฉินเฉียบพลันมากกว่าอีกคำถามเกิดขึ้น นั่นคือ วิกฤตยูโรโซนหนนี้หนักหนาสาหัสขนาดไหนและเป็นภัยคุกคามต่อเศรษฐกิจภายนอกอาณาเขตยูโรโซนอย่างไร?

คำตอบของคำถามนี้สำคัญอย่างยิ่งยวด เนื่องเพราะมันผูกพันถึงการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกา เชื่อมโยงถึงเศรษฐกิจในจีนและประเทศอื่นๆ อีกครึ่งซีกโลก

และถ้าเชื่อกันว่าเศรษฐกิจภายใต้ภาวะโลกาภิวัตน์เชื่อมโยงถึงกันและกันอย่างแนบแน่นกันทั่วโลกแล้วละก็ คำตอบของคำถามนี้ก็จะยิ่งสำคัญต่อการ "เตรียมพร้อมรับมือ" ของประเทศอีกมากมายมหาศาลที่จำเป็นต้องดูแล "ความอยู่ดีกินดี" ของประชาชนของตนเอง


นักวิเคราะห์ส่วนหนึ่ง ทั้งที่อยู่ในแวดวงวิชาการและอยู่ในสำนักวิจัยภาคเอกชน หรือขององค์กรรัฐบาล กึ่งรัฐบาลทั้งหลาย เริ่มบอกออกมาชัดเจนแล้วว่า ถ้าสมมุติฐานในคำถามข้างต้นนั้นเป็นจริง ทั้งโลกก็ควรเตรียมตัวให้พร้อมได้แล้ว เพราะวิกฤตการณ์ระดับโลกครั้งใหม่ที่สืบเนื่องจากผลกระทบจากวิกฤตหนี้ยูโรโซน กำลังก่อตัวขึ้นและแสดงผลให้เห็เป็นรูปธรรมมากขึ้นตามลำดับแล้ว

ข้อเท็จจริงที่ว่า วิกฤตการเงินโลกรอบใหม่กำลังก่อตัวอยู่ในเวลานี้นั้น สะท้อนออกมาให้เห็นในรูปของการเข้มงวดการปล่อยสินเชื่อที่เริ่มแพร่ออกจากบรรดาธนาคารทั้งหลายในภาคพื้นยุโรปลุกลามออกไปส่งผลกระทบต่อธุรกิจหลากหลายรูปแบบนอกพื้นที่ยูโรโซนมากขึ้นเรื่อยๆ ชนิดที่ทำให้องค์กรระหว่างประเทศที่เป็นตัวแทนของกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วอย่าง องค์การความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (โออีซีดี) ต้องแถลงเตือนอย่างเป็นทางการว่า

ผู้นำ "ทั่วโลก" ควรเตรียมการรับมือกับสถานการณ์ "เลวร้ายที่สุด" เท่าที่จะเกิดขึ้นได้กับ "ยูโรโซน" ได้แล้ว



โออีซีดี ปรับลดการขยายตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาในปีหน้าลงจาก 3.1 เปอร์เซ็นต์เป็น 2 เปอร์เซ็นต์ เช่นเดียวกันกับการคาดการณ์สภาวะเศรษฐกิจในยุโรปที่ถูกปรับลดลง เพราะเศรษฐกิจจะถดถอยไปจนกระทั่งถึงสิ้นไตรมาสแรกในปีหน้า ภายใต้ข้อแม้ว่าวิกฤตยูโรโซนจะไม่เลวร้ายลงไปกว่าที่เป็นอยู่ ไม่เช่นนั้น เศรษฐกิจของอียูทั้งหมดอาจจะติดลบต่อเนื่องไปทั้งปีหน้าและในปี 2013

ขณะเดียวกัน มูดี้ส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือสำคัญของโลก ยกระดับความเป็นไปได้ที่จะมีการปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้ของอียูลง ในเวลาเดียวกันกับที่ สแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์ เครดิต เรตติ้ง เอเยนซี่อีกแห่ง ก็ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของธนาคารระดับโลกลงถึง 15 ธนาคาร รวมทั้งธนาคารยักษ์ใหญ่ในสหรัฐอเมริกาที่เหลือรอดไม่ถูกปรับลดอันดับเพียงรายเดียวเท่านั้นเอง

ธนาคารขนาดใหญ่ในยุโรป ถูกมองว่ากลายเป็น "จุดอ่อน" ที่สุดในบรรดาห่วงโซ่ที่ร้อยเรียงกันขึ้นเป็นระบบการเงินโลกในเวลานี้ เนื่องเพราะแต่ละแห่งต่างถือครองตราสารหนี้ของรัฐบาลที่มีหนี้สินมหาศาลในยูโรโซนอยู่เป็นจำนวนมาก แต่นั่นเป็นเพียงปัญหาส่วนหนึ่งเท่านั้นเอง

ในเวลาเดียวกันบรรดาธนาคารเหล่านี้ก็ถูกบรรดา "ผู้กำกับดูแล" จากภาครัฐของแต่ละประเทศ บีบบังคับให้เพิ่มทุนสำรองของตัวเองให้มากขึ้น เพื่อเป็นเครื่องการันตีว่า ถ้าหากเกิดวิกฤตเปรี้ยงปร้างขึ้นมา ธนาคารจะยังสามารถยืนหยัดอยู่ได้

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อจำเป็นต้องปรับลดหนี้ที่ถืออยู่ในรูปของพันธบัตรรัฐบาลต่างๆ ออกไปถึง 50 เปอร์เซ็นต์เพื่อช่วยพยุงสถานะของกรีซ ไม่ให้ล้มละลายจนต้องพักชำระหนี้ตามข้อตกลงของรัฐบาลในยูโรโซนเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา

ยิ่งมีหนี้มาก ยิ่งต้องสำรองมาก เพื่อให้มีเงินสำรองอยู่มากเพียงพอตามกฎใหม่ ธนาคารหลายแห่งหรือแทบทุกธนาคารในยุโรปจึงจำเป็นต้องลดหรืองดปล่อยกู้ไปโดยปริยาย


อเล็กซ์ โรเวอร์ นักวิเคราะห์ของ เจพี มอร์แกน บอกกับ นิวยอร์ก ไทม์ส เอาไว้ว่า ถ้าหากธนาคารใหญ่ๆ ไม่สามารถให้สินเชื่อได้ ก็จะส่งผลไปบ่อนทำลายพัฒนาการทางเศรษฐกิจไปโดยปริยาย สิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาก็คือ ภาวะเศรษฐกิจถดถอยนั่นเอง

ทั้งหมดนั้นไม่ได้เป็นการวิเคราะห์แนวโน้ม แต่เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงแล้ว ตัวอย่างที่ชัดเจนก็คือ แอร์ฟรานซ์ ซึ่งเคย "กู้" เงินจากธนาคารยักษ์ใหญ่ในฝรั่งเศสอย่าง พีเอ็นพี พาริบาส์ และ โซซิเอเต้ เยเนอราล มาหมุนเวียนการดำเนินงานของสายการบินอยู่ราว 15 เปอร์เซ็นต์ของทุนหมุนเวียนทั้งหมด กลับถูกปฏิเสธเงินก้อนดังกล่าว จนต้องหันไปหาธนาคารจากจีนและญี่ปุ่นแทน ไม่ใช่เพราะเครดิตแอร์ฟรานซ์ไม่ดี แต่เป็นเพราะ 2 ธนาคารจากฝรั่งเศสต้องการเก็บเงินเอาไว้เพิ่มทุนสำรองของตัวเองนั่นเอง

เหตุการณ์ดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้นจำเพาะธนาคารในยุโรปอีกต่อไป แต่กำลังส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ ตัวอย่างที่เห็นชัดเจนก็คือ การปฏิเสธปล่อยกู้ให้กับ เอมิเรตส์ แอร์ไลน์ ที่จำเป็นต้องใช้เงินทุนเพื่อรองรับการซื้อเครื่องบินใหม่ทั้ง โบอิ้ง และ แอร์บัส รวม 243 ลำ ทำให้จำเป็นต้องหาแหล่งเงินทุนใหม่ ซึ่งหากไม่ได้ การส่งมอบเครื่องบินก็ทำไม่ได้ ส่งผลสะเทือนทันทีต่อโบอิ้งและคนงานประกอบเครื่องบินของโบอิ้งในสหรัฐอเมริกา

ปัญหาสินเชื่อขาดแคลน ไม่เพียงเกิดกับสายการบินใหญ่ๆ เท่านั้น ยังเกิดขึ้นกับโครงการพัฒนาสาธารณูปโภคขนาดใหญ่หลายๆ โครงการทั่วโลก ธนาคารขนาดใหญ่หลายแห่งหายหน้าหายตาไปจากงานระดมทุนเพื่อโครงการต่างๆ เหล่านี้ เช่นเดียวกันกับบริษัทเดินเรือเพื่อการพาณิชย์ระดับโลกอีกหลายแห่ง ที่ส่งผลกระทบไปถึงการทำงานคนงานท่าเรือในเยอรมนีมากกว่า 5,000 คนต้องตกงานฉับพลัน

เรื่อยไปจนกระทั่งถึงบรรดาธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในบางประเทศ เริ่มได้รับรสชาติของปัญหาขาดแคลนสินเชื่อแล้ว


มาร์ก ฟีลดิ้ง นายกสมาคมเอสเอ็มอี ของไอร์แลนด์ บอกว่า 58 เปอร์เซ็นต์ของกิจการขนาดกลางและขนาดย่อมในไอร์แลนด์ถูกปฏิเสธเงินกู้จากธนาคาร ทำนองเดียวกันกับบริษัทรับเหมาก่อสร้างในฮังการี

หรือแม้แต่ หยงกัง ว่านหยา บริษัทผู้ผลิตและส่งออกของเล่นเด็กในจีน ที่ออเดอร์หายไป 20-30 เปอร์เซ็นต์แล้ว

เดิร์ก ชูมักเกอร์ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสประจำภาคพื้นยุโรปของโกลด์แมน แซกส์ ระบุว่า ภาวะขาดแคลนและตึงตัวของสินเชื่อนับวันจะยิ่งเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ บริษัทก็จะหาเงินทุนยากขึ้นเรื่อยๆ และในที่สุดก็จะส่งผลสะเทือนออกไปทั่วโลก

แม้ไม่เฉียบพลันเหมือนเมื่อครั้ง เลห์แมน บราเธอร์ส ล้มทั้งยืน แต่ก็เจ็บปวด ทรมานปานๆ กัน!



++

จีนน่าลงทุนที่สุด.!!
ใน http://www.siamrath.co.th/web/?q=จีนน่าลงทุนที่สุด
ที่มา : โฮเมอร์ คอลัมน์วิถีโลก "จีนน่าลงทุนที่สุด", สยามรัฐ, 14 พฤศจิกายน 2554


เมื่อเร็วๆ นี้มีข้อมูลจาก “เหลียง เจ้าจี” นักเศรษฐศาสตร์ระดับสูงของธนาคารดีบีเอส (DBS) ให้การคาดการณ์ล่าสุดไว้ว่า

“อัตราการเติบโตเฉลี่ยของจีนใน 10 ปีข้างหน้า จะอยู่ที่ร้อยละ 8.5 และจีนยังคงเป็นตลาดที่น่าลงทุนที่สุด “

ยิ่งไปกว่านั้น ข้อมูลดังกล่าวยังเป็นไปในทิศทางเดียวกับรายงานล่าสุดของสำนักงานบัญชี Ernst & Young ที่ชี้ให้เห็นว่า ประเทศจีนยังคงรักษาไว้ ซึ่งฐานะที่เป็นประเทศที่น่าลงทุนที่สุด รองลงมาคือ ประเทศอินเดีย บราซิล สหรัฐอเมริกา และออสเตรเลีย..!

ในรายงานประเมินแนวโน้มการพัฒนาเศรษฐกิจของจีนชิ้นนี้ ระบุว่า ในปี 2563 แม้ว่าอัตราการเติบโต จีดีพีของจีนจะชะลอตัวลงอยู่ที่ร้อยละ 7.5 แต่อัตราการขยายตัวโดยเฉลี่ยภายใน 10 ปีข้างหน้า ยังอยู่ที่ระดับร้อยละ 8.5 และในปี 2563 จีดีพีที่ประเทศจีนสร้างขึ้นมาจะครองสัดส่วนร้อยละ 59 ของจีดีพีของ 10 ประเทศในเอเชีย

นอกจากนี้ ยังคาดการณ์ว่า ในปี 2563 รายได้เฉลี่ยของประชาชนจีนจะอยู่ที่ 9,205 ดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งจะแซงหน้าประเทศไทย และประเทศอินโดนีเซีย..!!

ว่าไปแล้วในอีก 10ปีข้างหน้า ยากจะหาประเทศไหนร้อนแรงไปกว่าจีนแล้ว แม้ว่าวิกฤติการเงินโลกส่งผลกระทบให้การพัฒนาของเศรษฐกิจโลกชะลอตัว แต่เมืองต่างๆ ตอนในของจีนยังคงรักษาอัตราการเติบโตที่ค่อนข้างเร็วในระหว่างปี 2551 ถึง 2554 และยังคาดการณ์ว่า

ใน 10 ปีข้างหน้า มณฑลทางภาคกลางของจีนจะกลายเป็นเขตพื้นที่หลักที่ทำให้อุปสงค์ภายในประเทศเติบโตขึ้น ยิ่งเครือข่ายรถไฟความเร็วสูงของจีนสร้างเสร็จสิ้นสมบูรณ์ จะทำให้มณฑลต่างๆ ที่อยู่ในภาคกลางของจีนสามารถเชื่อมต่อกับศูนย์กลางเศรษฐกิจของจีนได้ เช่น สามเหลี่ยมแม่น้ำจูเจียง สามเหลี่ยมแม่น้ำแยงซีเกียง เขตปักกิ่ง-เทียนจิน ฯลฯ “

แนวโน้มของภาพรวมจีนที่จะเกิดขึ้นในอนาคตเช่นนี้ ทำให้นักลงทุนต่างประเทศที่มาลงทุนในจีนจะมีทางเลือก และตัดสินใจมาลงทุนที่จีนมากขึ้น! โดยเฉพาะอุตสาหกรรมกรีนฟู้ดจะเป็น “เรือธง” ใหม่ของจีน เห็นได้จากจำนวนผู้ประกอบการธุรกิจด้านสินค้าเกษตรประเภท “กรีนฟู้ด” ในมณฑลเสฉวนมีเพิ่มขึ้นเป็น 245 ราย มีปริมาณการผลิตทั้งมณฑล 1.87 ล้านตันต่อปี และมีมูลค่าการค้ารวมทั้งสิ้น 14,500 ล้านหยวนต่อปี

กระทรวงเกษตรมณฑลเสฉวนรายงานเรื่องนี้ว่า จีนได้ผลักดันการพัฒนาอุตสาหกรรมประเภทกรีนฟู้ดอย่างเต็มที่ โดยตั้งเป้าเมื่อสิ้นสุดแผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับที่ 12 หรือในอีก 5 ปีข้างหน้า จะสามารถเพิ่มปริมาณการผลิตสินค้าเกษตรกรีนฟู้ดให้ได้ถึงร้อยละ 10 ของสินค้าเกษตรทั้งหมดในมณฑลเสฉวน พร้อมจะส่งเสริมให้ประชาชนสามารถบริโภคสินค้าเกษตรกรีนฟู้ดเพิ่มขึ้น

เรียกว่า ปัจจุบันปริมาณการผลิตสินค้าเกษตรกรีนฟู้ดของมณฑลเสฉวนจัดอยู่ในอันดับที่ 7 ของประเทศ และเป็นอันดับที่ 1 ของภาคตะวันตก รวมถึงพื้นที่การผลิตสินค้าเกษตรกรีนฟู้ดที่ได้มาตรฐานนั้นมีมากที่สุดเป็นอันดับ 1 ในเขตภาคตะวันตกของจีน

เป็นยังไงครับถึงตอนนั้นยักษ์ใหญ่ด้านอุตสาหกรรมกรีนฟู้ดชั้นนำของโลก คงต้องร้อนๆ หนาวๆ เพราะจีนขยับทีไร โลกธุรกิจก็สั่นสะท้านทุกครั้ง..!

เมื่อมองในภาพรวมเศรษฐกิจจีนจะพบว่า ตั้งแต่ปี 2551 เป็นต้นมา จีนรักษาอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากรัฐบาลจีนใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ประกอบด้วยการอัดฉีดเงิน 4 ล้านล้านหยวน เข้าไปสู่ระบบเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง และให้ภาคธนาคารปล่อยสินเชื่อเข้าไปในระบบมากกว่า 10 ล้านล้านหยวน โดยกำหนดอัตราดอกเบี้ยในระดับต่ำ

แต่เรื่องนี้ก็สร้างความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจฟองสบู่ แต่รัฐบาลจีนได้ดำเนินการใน 3 ด้านช่วงปี 2553 คือ

(1) ปรับอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ ให้เหมาะสม เพื่อลดผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจฟองสบู่และเงินเฟ้อ

(2) กระจายความเจริญทาง เศรษฐกิจ เพื่อแก้ปัญหาช่องว่างทางเศรษฐกิจระหว่างมณฑลชายฝั่งตะวันออก และมณฑลในพื้นที่ตะวันตก

(3) ควบคุมการปล่อยสินเชื่อในธุรกิจบางประเภท และให้การส่งเสริมการลงทุนของธุรกิจเอสเอ็มอี (SMEs)

เมื่อจีนถูกประเมินว่า เป็นประเทศที่น่าลงทุนที่สุดในโลก การที่จะเข้าไปลงทุนในจีนต้องศึกษา และวางแผนเชื่อมหน่วยงานต่างๆ ของจีน รวมถึงศึกษาพฤติกรรมการบริโภคของคนจีนให้ดี เพราะไม่เช่นนั้นอาจต้องพังกลับมา เหมือนกับยักษ์ใหญ่ของโลกหลายรายที่พ่ายกลับมาแล้วเช่นกัน

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้สรุป “กลยุทธ์บุกทำธุรกิจในจีน“ ไว้อย่างน่าสนใจ ก็ขอนำบางส่วนที่สำคัญมาขยายความให้ได้อ่านกัน ซึ่งเขาประเมินว่า สิ่งสำคัญประการแรกที่ขาดเสียไม่ได้ หากจะเข้าไปลงทุนในจีนคือ ต้องศึกษาและติดตามทิศทางนโยบาย เศรษฐกิจ ของรัฐบาลกลาง รวมถึงรัฐบาลท้องถิ่นของจีนเป็นสำคัญ! ทั้งนี้ เพื่อให้ธุรกิจที่ประสงค์จะเข้าไปลงทุน หรือส่งออกสินค้าไปขาย ได้รับการสนับสนุน และอำนวยความสะดวก และยังต้องติดตามการเปลี่ยนแปลงด้านกฎระเบียบการค้าและการลงทุนของจีน ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอๆ ให้ดี

อันนี้สำคัญมากครับ..!

เพราะจีนอยู่ระหว่างการพัฒนากฎระเบียบ เพื่อให้สอดคล้องกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ

ประการถัดมา คือ ต้องพิจารณาปัจจัยพื้นฐานของแต่ละมณฑลที่ต้องการจะเข้าไปลงทุน เพื่อให้ได้ประโยชน์จากการใช้วัตถุดิบและแรงงานที่เหมาะสมในการดำเนินธุรกิจ พิจารณาความเป็นไปได้ของธุรกิจที่จะเข้าไปลงทุนในจีนว่า

มีโอกาสมากน้อยเพียงใด โดยควรเดินทางไปสำรวจตลาดยังพื้นที่จริงด้วยตนเอง

ประการสุดท้าย สิ่งสำคัญที่ห้ามละเลย คือ การแสวงหาผู้ประกอบการจีนเพื่อร่วมเป็นพันธมิตรที่เชื่อถือได้ด้านการค้าและการลงทุน โดยยึดหลักพื้นฐานต่างตอบแทนซึ่งกันและกัน เพื่อให้การดำเนินธุรกิจเป็นไปอย่างยุติธรรม และควรเรียนรู้และเข้าใจวัฒนธรรมการค้าและการลงทุนของชาวจีน

โดยเฉพาะด้านการสร้างสายสัมพันธ์ (Guanxi) และภาษาจีนกลาง เพื่อเสริมสร้างประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจ

เพราะหากไม่เรียนรู้จีนให้ดี และลึกซึ้ง การลงทุนก็อาจจะล้มเหลวได้...!!


* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * ** * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
www.youtube.com/watch?v=ZoURE7kheKg
Kitaro- Silk Road




++++

สหรัฐมีทอง 8,133.5 ตัน ยึดกุมถือครองทองคำอันดับ 1 โลก ไทยทะยานยึดอันดับ 23
รายงานพิเศษในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 02 ธันวาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1633 หน้า 101


กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) รายงานว่า ขณะนี้สหรัฐถือว่าเป็นประเทศที่ถือครองทองคำไว้เป็นทุนสำรองของประเทศรายใหญ่สุดในโลก

ด้วยทองคำจำนวน 8,133.5 ตัน

ทั้งนี้ ในเดือนกันยายน 2554 รัสเซียเพิ่มการซื้อทองคำ 6.75 ตัน ส่งผลให้ทองคำที่ใช้เป็นทุนสำรองเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 851.551 ตัน

โบลิเวียเพิ่มการถือครองทองคำในทุนสำรองของประเทศเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกันโดยเพิ่มขึ้น 7 ตันสู่ 49.34 ตัน ขณะที่โบลิเวียเป็นผู้ถือครองทองคำอย่างเป็นทางการรายใหญ่สุดอันดับที่ 43 ของโลก รองจากอาร์เจนตินาซึ่งอยู่ที่อันดับ 42 โดยถือครองทองคำ 54.7 ตัน

นับตั้งแต่ต้นปี 2554 จนถึงเดือนพฤศจิกายน ธนาคารกลางต่างๆ เป็นผู้ซื้อทองคำสุทธิโดยเพิ่มทุนสำรองของประเทศสุทธิ 191.3 ตัน

ขณะที่เม็กซิโกเพิ่มทองไว้ในทุนสำรองต่างประเทศมากที่สุด 83.7 ตัน รวมทองคำที่มีสุทธิ 105.4 ตัน ตามมาด้วยรัสเซียซึ่งเพิ่มทองคำในทุนสำรองของประเทศ 59.3 ตัน รวมทองคำถือครองไว้ 775.2 ตัน มากสุดในโลกอันดับ 8

ส่วนฟิลิปปินส์เป็นผู้ขายทองคำสุทธิรายใหญ่สุดในปี 2554 โดยขายทองคำราว 24 ตัน ทำให้มีทองคำเหลือสุทธิ 128.77 ตันในทุนสำรองของประเทศ

มูลค่าการถือครองนี้ช่วยให้ฟิลิปปินส์เป็นผู้ถือครองรายใหญ่สุดอันดับ 24


ข้อมูลของสภาพทองคำโลก (เวิลด์ โกลด์ เคาน์ซิล) ปรากฏว่า การถือครองทองคำไว้เป็นทุนสำรองระหว่างประเทศ ทำให้การถือครองคำอย่างเป็นทางการของจีนมากที่สุดติดอันดับ 6 ของโลก

มูลค่าสุทธิ 1,054.1 ตัน หรือร้อยละ 1.6 ของทุนสำรองสกุลเงินต่างประเทศ

โดยกลุ่มประเทศตลาดเงินใหม่ ซึ่งส่วนใหญ่มียอดเกินดุลบัญชีเดินสะพัดในระดับสูงกำลังหาทางเพิ่มความหลากหลายทุนสำรองเงินตราต่างประเทศ โดยลดการพึ่งพาดอลลาร์หรือยูโร

ข้อมูลของอินเวสโทปิเดีย ดอตคอม บอกให้รู้ว่า สหรัฐถือครองทองคำมากที่สุด มูลค่าสุทธิ 8,133.5 ตัน อันดับ 2 เยอรมนี 3,401.0 ตัน อันดับ 3 กองทุนการเงินระหว่างประเทศ 2,846.7 ตัน อันดับ 4 อิตาลี 2,451.8 ตัน อันดับ 5 ฝรั่งเศส 2,435.46 ตัน

นางอีเดล ทูลลี นักวิเคราะห์ให้ความเห็นว่า

การปรับฐานของราคาทองคำช่วงปลายเดือนกันยายน 2554 อาจกระตุ้นแรงซื้อเพิ่มขึ้น แต่ไม่คิดว่าราคาจะเป็นปัจจัยสำคัญมากสำหรับบรรดาธนาคารกลางทั่วโลกที่ตัดสินใจเพิ่มปริมาณการถือครองทองคำและยังเต็มใจซื้อทองคำเพิ่ม

ราคาทองคำแตะระดับสูงเป็นประวัติการณ์ที่ 1,920.30 ดอลลาร์ต่อออนซ์เดือนกันยายน 2554

เป็นการปรับขึ้นร้อยละ 24 ก่อนค่อยๆ ปรับลงมาแตะ 1,757 ดอลลาร์ต่อออนซ์



ข้อมูลจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ไทยเพิ่มการถือครองทองคำ 15.6 ตันในทุนสำรองของประเทศในเดือนกันยายน 2554

ส่งผลให้ไทยเป็นผู้ซื้อทองคำอย่างเป็นทางการรายใหญ่ที่สุดอันดับ 3 รองจากเม็กซิโกและรัสเซีย

รายงานบอกด้วยว่า ไทยทยอยซื้อทอง 52.9 ตันแล้ว

ทำให้ในขณะนี้ ไทยถือครองทองคำรวม 152.4 ตัน ซึ่งมากสุดเป็นอัน 23 จาก 50 อันดับแรกของประเทศผู้ถือครองทองคำอย่างเป็นทางการทั่วโลก



++++

ช็อปกระจายและโหดมันส์ฮา กับ "แบล็กฟรายเดย์"
คอลัมน์ ต่างประเทศ ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 02 ธันวาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1633 หน้า 103


ภาพบรรยากาศที่ผู้คนช่วงชิงสิ่งของที่ซื้อกันถึงขั้นฉีดสเปรย์พริกไทยใส่กัน เพื่อให้ได้มาซึ่งสินค้าที่ลดราคาสุดๆ ในวัน "แบล็กฟรายเดย์" ที่สหรัฐอเมริกา หลังวันขอบคุณพระเจ้า 1 วัน ซึ่งในปีนี้ตรงกับวันที่ 24 พฤศจิกายน อาจจะทำให้รู้สึกแปลกใจไม่น้อย ว่าเหตุใดในสภาพเศรษฐกิจที่ย่ำแย่อยู่ขนาดนี้ คนตกงานในสหรัฐมากเป็นประวัติการณ์ แต่ทำไม จึงยังมีคนแห่กันไปซื้อของกันมากมายเช่นนี้

แล้วชื่อของ "แบล็กฟรายเดย์" ก็ปรากฏขึ้นมาให้เราได้เห็น ก่อนที่จะมีชื่อของวันอื่นๆ อย่างเช่น ไซเบอร์มันเดย์ กรีนทิวส์เดย์ มาเจนตาแซตเทอร์เดย์ สารพัดวันที่เราไม่เคยเห็นมันมาก่อนในปฏิทิน แต่มันมีจริงๆ ที่สหรัฐอเมริกา

ซึ่งก็มีที่มาที่ไปอยู่ว่า


ในช่วงปีทศวรรษ 1960 ช่วงวันหลังจากวันขอบคุณพระเจ้า 1 วัน ถือเป็นช่วงเวลาของการทำกำไรของพ่อค้า แต่ต่อมาเริ่มมีการนำเอาช่วงเวลานี้มาทำการตลาดว่าเป็นวาระเริ่มต้นของการช็อปปิ้งในช่วงวันหยุดยาว

บางร้านก็เลยถือโอกาสเปิดร้านแต่ไก่โห่ หรือไม่ก็ลดราคากันแหลกลาญมากสุดถึง 70 เปอร์เซ็นต์

เหตุนี้ ก็เลยกลายเป็นที่มาของการลดราคาสะบั้นหั่นแหลกกันของบรรดาร้านค้าในช่วงหลังวันขอบคุณพระเจ้า แล้วก็ตั้งชื่อตามวันที่ลดราคาและสีที่เป็นสัญลักษณ์ของแต่ละร้านว่ากันไป อย่าง ที-โมบายล์ ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่รายใหญ่ในสหรัฐ ก็ตั้งชื่อว่า "มาเจนตา แซตเทอร์เดย์" ซึ่งก็จะหมายถึงสีชมพูอมม่วงที่เป็นสัญลักษณ์ของ ที-โมบายล์ ที่ลดราคาสินค้าทั้งโทรศัพท์เคลื่อนที่และแท็บเล็ต

หรืออย่างร้านแมทเทล ก็ตั้งชื่อว่าเป็น พิงก์ ฟรายเดย์ และ บลู ฟรายเดย์ ลดราคาของเล่นมากถึง 60 เปอร์เซ็นต์ สำหรับลูกค้าที่เป็นเด็กหญิงและเด็กชายทั้งหลาย

ส่วนร้านค้าปลีกอย่าง แจนเดอร์ เมาเท่น ก็เปิดโอกาสให้นักช็อปได้ซื้อสินค้ากันในราคาลดสุดๆ ทุกๆ วันพฤหัสบดี ตลอดเดือนธันวาคม ที่เรียกว่าเป็น "คาโม เธิร์สเดย์" ซึ่งก็เป็นการทำตลาดที่แปลกไปอีกแบบ ต่างจากคนอื่นที่จัดทุกวันศุกร์

แม้บรรดาพ่อค้าทั้งหลายจะรู้ดีว่า เป็นการยากที่จะควักเงินออกจากกระเป๋าสตางค์ของผู้คนในช่วงนี้ แต่พ่อค้าบางคนก็ยังมีความหวังว่า การทำการตลาดที่ดีจะช่วยทำให้ผู้คนหันมาจับจ่ายใช้สอยกันมากขึ้นในช่วง 2 เดือนสุดท้ายของปี ซึ่งถือเป็นช่วงกอบโกยรายได้มากที่สุดของแต่ละปี

บางรายสามารถสร้างรายได้ได้มากถึง 40 เปอร์เซ็นต์ ของรายได้สุทธิทั้งหมดในแต่ละปีทีเดียว

และภาพที่ปรากฏสู่สายตาโลกในช่วงวันแบล็กฟรายเดย์ที่ผ่านมา ก็น่าจะพิสูจน์ได้ว่า แม้ว่าสภาพเศรษฐกิจจะย่ำแย่ แต่ผู้คนก็ยังแห่ไปซื้อโทรทัศน์ 46 นิ้วกันประหนึ่งซื้อข้าวสารอาหารแห้งในยามน้ำท่วมหนักบ้านเรายังไงยังงั้น

โดยมีตัวเลขจากช็อปเปอร์แทร็ก ที่เก็บข้อมูลจากร้านค้าทั้งหมด 25,000 ร้านทั่วสหรัฐ รายงานออกมาว่า แบล็กฟรายเดย์ที่ผ่านมา ซึ่งตรงกับวันที่ 25 พฤศจิกายน มียอดขายเพิ่มขึ้นสูงกว่าปีก่อนถึง 7 เปอร์เซ็นต์ หรือราว 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยมียอดขายรวมทั้งสิ้น 11,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ



แต่แม้ว่าจะเป็นช่วงเวลาที่ผู้ประกอบการธุรกิจขายของหวังจะกอบโกย แต่ดูเหมือนภาพลักษณ์ของแบล็กฟรายเดย์ดูจะย่ำแย่ลงไปทุกวัน

โดยเฉพาะในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ที่วันแบล็กฟรายเดย์กลายเป็นวันที่หลายคนรอคอย แต่ก็รู้ว่าจะต้องเผชิญกับผู้คนจำนวนมาก เบียดเสียดแย่งซื้อสินค้ากัน เข้าแถวยาวเหยียด ความสับสนอลหม่าน หรือแม้กระทั่งความรุนแรงที่เกิดขึ้นจากการแย่งชิงสินค้าที่อาจเกิดขึ้นในกลุ่มนักช็อปบางกลุ่ม

อดัมสัน ผู้เชี่ยวชาญด้านแบรนด์ บอกว่า แบล็กฟรายเดย์ ได้กลายเป็นเหยื่อของความสำเร็จของตัวเอง

มันประสบความสำเร็จจากโอกาสที่สร้างขึ้นมา และหากคุณไม่ต้องการจะเจอกับความวุ่นวาย ก็น่าจะลองจัดวันลดราคาเป็นวันอื่น อย่างวันอังคารหรือวันอื่นก็ได้ดู

อย่างเช่นว่า "ไซเบอร์มันเดย์" ที่มีขึ้นตั้งแต่ปี 2548 ในช่วงที่การค้าขายออนไลน์กำลังฮิตติดลม ใครๆ ก็ต้องขายของผ่านออนไลน์ ดังนั้น ในวันจันทร์หลังวันขอบคุณพระเจ้าผ่านไปแล้ว ผู้ค้าออนไลน์ก็เลยประกาศขายของลดราคาในวันจันทร์ ขณะที่ทุกบ้านมีอินเตอร์เน็ตใช้กันหมดแล้ว การขายของออนไลน์ก็ยังคงต้องเสนอราคาสินค้าที่พิเศษและโปรโมชั่นอื่นๆ เพื่อให้ผู้คนสนใจที่จะซื้อสินค้าออนไลน์มากขึ้น และก็ยังคงมีขายอยู่จนถึงปัจจุบัน

และเมื่อปีก่อน อเมริกัน เอ็กซ์เพรส ก็จัดงานวัน "สมอลล์ บิสสิเนส แซตเทอร์เดย์" ขึ้น เพื่อกระตุ้นให้มีการซื้อข้าวของกันมากขึ้นเช่นกัน

ด้วยความสนุกสนานในการจับจ่ายใช้สอยที่ยังคงมีอยู่ทุกปีในช่วงเวลาแห่งความสุขปลายปีอย่างนี้ ก็คงจะมีอีกสารพัดวันเกิดขึ้น

ซึ่งแน่นอนว่า ผู้ที่ได้รับประโยชน์สูงสุดก็คือ ผู้บริโภคอย่างเราๆ ที่ตั้งหน้าตั้งตาคอยวันลดราคากระหน่ำ เพื่อได้ซื้อของราคาถูกสุดๆ กันอยู่นั่นเอง



.