http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2554-12-02

ฝนตกขึ้นฟ้า, สังคมดราม่าของ เป็นเอก, หนังสั้น 2554, น้องมาร์คลงนรก โดย คนมองหนัง

.

"ฝนตกขึ้นฟ้า" ในฐานะ "หนังการเมืองร่วมสมัย"
โดย คนมองหนัง คอลัมน์ นอก "กระแส"
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 02 ธันวาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1633 หน้า 88


เมื่อสัปดาห์ก่อน ได้กล่าวถึงบทสัมภาษณ์ของ "เป็นเอก รัตนเรือง" ในรายการตอบโจทย์ มาสัปดาห์นี้จึงจะขอพูดถึงหนังเรื่องล่าสุดของเขาบ้าง

นั่นคือ "ฝนตกขึ้นฟ้า"

ดังที่เคยเขียนไปแล้วว่า หลังจาก "มนต์รักทรานซิสเตอร์" เป็นต้นมา ผมก็ไม่ค่อยรู้สึกสนุกกับหนังของผู้กำกับคนนี้มากนัก

อย่างไรก็ตาม ผมคงเหมือนกับคนดูหนังอีกหลายราย ที่เห็นว่า "ฝนตกขึ้นฟ้า" เป็นหนังของเป็นเอกที่ลงตัว (ในแง่การเล่าเรื่อง/ความเป็นภาพยนตร์) และสนุกที่สุดในรอบหลายปีที่ผ่านมา


นอกจากประเด็นเรื่อง "ความเป็นหนัง" เราคงปฏิเสธมิได้ว่า ภาพยนตร์ไม่ได้เป็นงานศิลปะ/พาณิชย์ศิลป์ ที่ดำรงสถานะอยู่อย่างโดดเดี่ยว ไม่มีความข้องเกี่ยวกับสภาพสังคม-การเมือง ซึ่งรายล้อมภาพยนตร์เรื่องนั้นๆ อยู่

ยิ่งเป็นเอก (เลือก) เปิดตัวหนังใหม่ของตนเอง ผ่านการให้สัมภาษณ์กับสื่อในประเด็นการเมือง โดยมีท่าทีวิพากษ์วิจารณ์นักการเมืองด้วยแล้ว

"ฝนตกขึ้นฟ้า" ซึ่งมีประเด็นหลักของเรื่องอ้างอิงกับสภาพสังคมการเมืองไทยอยู่เดิม ก็ยิ่งมี "ความเป็นหนังการเมือง" เข้มข้นมากขึ้นไปอีก

ผมคล้อยตามความเห็นของ "ชญานิน เตียงพิทยากร" นักวิจารณ์ภาพยนตร์รุ่นใหม่ ซึ่งจัดหมวดหมู่ให้ผลงานเรื่องล่าสุดของเป็นเอก เป็นหนึ่งในหนังการเมืองไทยร่วมสมัยที่น่าสนใจ ร่วมกับหนังไทยเรื่องอื่นๆ

อย่าง "อินทรีแดง" โดย วิศิษฎ์ ศาสนเที่ยง, "มือปืนดาวพระเสาร์" และ "หมาแก่อันตราย" (ชื่อเดิม คือ "มือปืนดาวพระศุกร์") โดย ยุทธเลิศ สิปปภาค, "ชั่วฟ้าดินสลาย" และ "อุโมงค์ผาเมือง" โดย ม.ล.พันธุ์เทวนพ เทวกุล, "ลุงบุญมีระลึกชาติ" โดย อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล และ "เจ้านกกระจอก" โดย อโนชา สุวิชากรพงศ์



จากมุมมองส่วนตัว ผมเห็นว่า "ฝนตกขึ้นฟ้า" ของเป็นเอก มีลักษณะคล้ายคลึงหรือมีจุดร่วมบางอย่างกับอินทรีแดง และมือปืนพระเสาร์ (โดยที่ยังไม่เคยอ่านนวนิยายต้นฉบับของ วินทร์ เลียววาริณ และไม่ได้ดูหมาแก่อันตรายของยุทธเลิศ)

กล่าวคือ หากดูเผินๆ หนังเหล่านี้ก็เป็นเหมือน "หนังการเมือง" ที่แอนตี้ได้แค่ "นักการเมือง" และสถาบันอื่นๆ ซึ่งอยู่ใต้หรืออย่างมากก็อยู่ในระนาบเดียวกันกับนักการเมือง เช่น "ตำรวจ"

แต่ลึกๆ แล้ว ดูคล้ายผู้กำกับ-เขียนบทของหนังทั้ง 3 เรื่อง กำลังเกิดคำถามขึ้นในใจของตนเอง ก่อนจะถ่ายทอดปริศนาดังกล่าวมาสู่คนดูว่า สภาพสังคม-การเมืองที่เรารู้สึกว่ามันสกปรกโสโครกน่ารังเกียจนั้น มีสาเหตุมาจาก "นักการเมืองผู้เลวทราม" เท่านั้นหรือ?

อินทรีแดงของวิศิษฎ์เล่าเรื่องราวขององค์กรลับ "มาตุลี" (ชื่อเป็น "เทพบริวาร" ของพระอินทร์-เทวราชา แต่สัญลักษณ์ขององค์กรกลับเป็นเศียร "ยักษ์") ที่มีอำนาจอยู่เหนือนักการเมืองตัวร้ายไปอีกหนึ่งขั้น

ส่วนมือปืนดาวพระเสาร์ตั้งคำถามอ้อมๆ ว่า ถ้าเราตัดสินใจส่งมือปืนสไนเปอร์ไปเข่นฆ่าล้างสังหารนักการเมืองมันให้หมดสิ้น แล้วจะยังไงต่อ?


"ฝนตกขึ้นฟ้า" เล่าเรื่องราวของตำรวจหนุ่ม ที่ถูกอิทธิพลมืดของน้องชายนักการเมืองผู้มีพฤติกรรมค้ายาเสพติดกลั่นแกล้ง กระทั่งต้องออกจากราชการและกลายเป็นนักโทษในเรือนจำ

ต่อมา เขาได้รับการช่วยเหลือจาก "นายแพทย์สูงอายุ" ผู้มีความเชื่อเรื่องการกำจัด "ยีนชั่ว" ออกจากสังคมมนุษย์ และเป็นผู้ประสานงาน (แต่ไม่น่าจะใช่ "ผู้มีอำนาจสูงสุด" ซึ่งไม่ถูกเปิดเผยตัวในหนังเรื่องนี้) ของหน่วยล่าสังหาร "คนเลว" (โดยเฉพาะนักการเมือง)

เมื่อผนวกกับเงื่อนไขในชีวิตบางประการ พระเอกของเราจึงตัดสินใจพลิกผันตนเองมาเป็นมือสังหารขององค์กรลับดังกล่าว

จนชะตาชีวิตของเขาต้องเข้าไปเกี่ยวพันกับนักการเมือง, ลูกนักการเมือง (ที่ต้องการแก้แค้นให้ "พ่อ" เพราะมึงฆ่า "พ่อ" กู), คำถามว่าอะไรคือ "ความยุติธรรม"? (ถ้าคนคนนั้น "เลว" แล้วเราไปฆ่าเขา นั่นคือ "ความยุติธรรม" -หนังใช้คำว่า "ความชอบธรรม"- หรือไม่?) และด้านมืดขององค์กรกำจัดยีนชั่วที่ตนเองสังกัดอยู่

ก่อนจะนำไปสู่สถานการณ์ "ชำระล้าง" แทบทุกอย่างและแทบทุกคนที่เกี่ยวข้องกับความผิดบาปซึ่งเคยเกิดขึ้น

เหมือนคนชั่วจะหมดไป

แต่สุดท้าย กระสุนปืนจาก "ใครไม่รู้" ก็ยังติดตามอดีตนายตำรวจหนุ่มไปอย่างไม่ลดละ แม้เขาจะพยายามหันหน้าเข้าหาผ้าเหลืองภายหลังเหตุการณ์ "ชำระล้าง" หนี้เลือดครั้งนั้นแล้วก็ตาม

และพระเอกของเราอาจตระหนักถึงอะไรต่อมิอะไรได้มากขึ้น ในตอนจบของหนัง

"วิวัฒน์ เลิศวิวัฒน์วงศา" นักวิจารณ์ (นักเขียน-นักทำหนังสั้น) อีกคนหนึ่งสรุปประเด็นปิดท้ายของ "ฝนตกขึ้นฟ้า" ไว้อย่างแหลมคมว่า "ฝนตกขึ้นฟ้า = ตาสว่าง"



สําหรับผม หนังของเป็นเอก, ยุทธเลิศ และวิศิษฎ์ ถือเป็นหนังการเมืองร่วมสมัย "สายกลาง" ไม่ใช่สาย "ฮาร์ดคอร์" หรือหนังที่เล่นการเมืองผ่าน "ระบบสัญลักษณ์"

กล่าวคือ หนังทั้ง 3 เรื่อง ไม่ได้มีเนื้อหาแหลมคม สุดขั้ว ตรงเป้า ชัดเจน และเปิดเผยจุดยืนทางการเมืองของคนทำอย่างหมดเปลือก (คำถามต่อเนื่อง ได้แก่ มีหนังยาวซึ่งเข้าฉายในโรงภาพยนตร์เชิงพาณิชย์เรื่องใด ที่กล้าหาญหรือเสียสละตนจนถึงระดับนั้น?)

ขณะเดียวกัน ผู้กำกับกลุ่มนี้ก็ไม่ได้สร้าง "ค่ายกล" เป็นเครือข่ายสัญลักษณ์อันกำกวมคลุมเครือให้โยงใยรายรอบผลงานของตนเอง จน "ความเป็นการเมือง" ถูกแปรสภาพกลายเป็นบรรยากาศเลือนรางที่ปรากฏขึ้นในองค์ประกอบต่างๆ นานา อันจะนำไปสู่เป้าหมายที่ทรงพลังของหนัง ซึ่งอาจเปล่งพลานุภาพออกมา เมื่อผู้ชมสามารถถอด "รหัสนัย" ได้สอดคล้องใกล้เคียงกับผู้กำกับฯ

(หนังของเป็นเอก, ยุทธเลิศ และวิศิษฎ์ อาจเล่นกับเป้าหมายปลายทางที่คลุมเครือ ด้วยการทิ้งคำถามให้คนดูว่า "มันเหมือนจะมีอะไรอื่นนอกเหนือไปจากนักการเมือง?" ทว่าองค์ประกอบจำนวนมากในหนังการเมืองของพวกเขาก็ถูกจัดระบบระเบียบไว้อย่างค่อนข้างชัดเจน เช่น ความแตกต่างระหว่าง "ความดี-ความเลว" เป็นต้น ตัวอย่างที่น่าสนใจในกรณีนี้คือ แม้เป็นเอกจะพยายามสร้างให้ "ฝนตกขึ้นฟ้า" นัวร์ - ตัวละครมีลักษณะ "หญิงร้ายชายเลว"- ขนาดไหน แต่สุดท้าย เรากลับยังสัมผัสได้ถึง "ความดีงาม" ของพระเอก)

อย่างไรก็ดี ในยุค "เปลี่ยนผ่านสำคัญ" ของประเทศไทย "ภาพยนตร์การเมืองสายกลาง" เหล่านี้ ล้วนเป็นภาพแทนของสังคมการเมืองไทยที่ชวนครุ่นคิดตีความต่อทั้งสิ้น

อย่างน้อยก็ถือได้ว่า เรากำลังนั่ง (ชม) ฟังความเห็นของ "ชนชั้นกลางวัฒนธรรม" เกี่ยวกับความผันผวนปรวนแปรซึ่งกำลังดำเนินอยู่ในบ้านเมืองที่พวกเราเป็นเจ้าของร่วมกัน



++

"สังคมดราม่า" ของ เป็นเอก
โดย คนมองหนัง คอลัมน์ นอก "กระแส"
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1632 หน้า 85


"เป็นเอก รัตนเรือง" กำลังจะมีผลงานภาพยนตร์เรื่องล่าสุด "ฝนตกขึ้นฟ้า" ลงโรงฉาย

ช่วงเรียน ม.ปลาย - ปริญญาตรี ในฐานะคนดูหนัง ผมรู้สึกว่าภาพเคลื่อนไหวและตัวละครเด่นๆ ของเป็นเอกมักมีความน่าสนใจเสมอ จาก "ฝัน บ้า คาราโอเกะ" "เรื่องตลก 69" มาจนถึง "มนต์รักทรานซิสเตอร์"

แม้ว่ากับเรื่องหลังสุด อาจนำไปสู่การถกเถียงกันได้ เรื่อง "ภาพแทน" ของสังคมชนบทซึ่งปรากฏในหนัง แต่อย่างน้อยมันก็ยังเป็นภาพยนตร์ที่ดูสนุก

ทว่าผลงานหลังจากนั้นของเป็นเอก กลับดูไม่สนุกเอาเสียเลย ตามรสนิยมส่วนตัวของผม (ที่ไม่หยุดนิ่งอยู่กับที่ พอๆ กับแนวทางการทำหนังของผู้กำกับฯ รายนี้)


เป็นเอก เพิ่งมาถูกพูดถึง (และแชร์ในเฟซบุ๊ก) อย่างกว้างขวางในหมู่ปัญญาชนคนชั้นกลาง เมื่อช่วงสัปดาห์ที่แล้ว หลังจากเขาออกมาแสดงทัศนะเรื่องการเมืองกับน้ำท่วม ผ่านรายการ "ตอบโจทย์" ทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ซึ่งมี ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา เป็นพิธีกร ด้วยบุคลิก ลีลาการพูดจา ตลอดจนแง่มุมความคิด อันเป็นเอกลักษณ์และเต็มเปี่ยมไปด้วยเสน่ห์

ผู้กำกับฯ วัย 49 กล่าวถึงประเด็นที่น่าสนใจมากๆ อยู่ประเด็นหนึ่ง ซึ่งกระตุ้นให้เกิดการคิดต่อ รวมทั้งการถกเถียงแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเป็นอย่างยิ่ง

แต่ก่อนอื่น ควรพิจารณาก่อนว่า เราจะทำการถกเถียงกับเป็นเอก ในฐานะที่เขาเป็นใคร?


"สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล" นักวิชาการจากภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพิ่งเสนอแนวคิดคร่าวๆ เรื่อง "ชนชั้นกลางวัฒนธรรม" (Cultural Middle Class) ผ่านทางเฟซบุ๊กส่วนตัว

เขามองว่าเป็นปรากฏการณ์สำคัญ ที่บรรดาชนชั้นกลางผู้อยู่ในแวดวง ซึ่งอาจเรียกกว้างๆ ได้ว่า "วัฒนธรรม" ตั้งแต่ หมอ ทนายความ นักวิชาการ-ปัญญาชนสาธารณะ เรื่อยไปจนถึงคนในวงการสื่อ, บันเทิง, นักเขียน, นักร้อง, นักแสดง และ "เอ็นจีโอ" ส่วนใหญ่ในปัจจุบัน

ล้วนอยู่ในค่ายที่ "แอนตี้ทักษิณ" "แอนตี้เสื้อแดง" และเชียร์ขั้วการเมืองตรงข้ามทักษิณ-เสื้อแดง แทบทั้งสิ้น

ปัญหา/คำถาม ที่นักวิชาการธรรมศาสตร์ทิ้งท้ายเอาไว้ก็คือ "อนาคตของประชาธิปไตยไทยจะสามารถสร้างขึ้นมาได้ไหม ถ้า "ชนชั้นกลางวัฒนธรรม" ส่วนใหญ่ มีจุดยืนอย่างที่เห็นในปัจจุบัน"

เพราะโดยประวัติศาสตร์แล้ว เป็นเรื่องยากลำบากมากที่ประเทศใดๆ จะเดินทางไปถึงระบอบประชาธิปไตย หากขาด "ชนชั้นกลางวัฒนธรรม" เข้าร่วม



จากแนวคิดที่ถูกร่างขึ้นโดยสมศักดิ์ ผมมองว่าคนทำหนังอย่างเป็นเอกน่าจะอยู่ในข่ายของ "ชนชั้นกลางวัฒนธรรม" เหมือนกัน

นอกจากคำสัมภาษณ์ในรายการตอบโจทย์ ในบทสัมภาษณ์ชิ้นอื่นๆ อาทิ "คุยกับเป็นเอก รัตนเรือง (ตอนที่ 1) : สังคมไทยควรถูกยิงกบาล!" (www.matichon.co.th/news_detail.php? newsid=1321933837&grpid=01&catid=08&subcatid=0801) เป็นเอกก็แสดงจุดยืนอย่างชัดเจน ว่าเขาแอนตี้นักการเมือง รวมถึง ทักษิณ ชินวัตร

หากถามว่าผู้กำกับภาพยนตร์รายนี้แอนตี้เสื้อแดงไหม? คงไม่มีคำตอบชัดเจน อย่างไรก็ตาม ขณะที่เขาวิพากษ์อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในรายการตอบโจทย์ ข้อบกพร่องของอดีตนายกฯ ซึ่งเป็นเอกกล่าวถึง คือ การไร้ความสามารถที่จะควบคุมสมาชิก ครม. ผู้มีพฤติกรรมไม่เหมาะไม่ควร

โดยมิได้เอ่ยอ้างถึงกรณีประชาชนกว่า 90 ราย ถูกสังหารหมู่ใจกลางกรุงเทพมหานคร แต่อย่างใด

และแน่นอนว่า เป็นเอกเคยมีผลงานในโครงการพิเศษ ที่ช่วย (หรือพยายาม) เสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่ "ขั้วการเมืองอื่นๆ" ซึ่งไม่ได้กอปรขึ้นมาจากนักการเมือง

ดังนั้น บทความชิ้นนี้จึงพยายามจะถกเถียงแลกเปลี่ยนความเห็นกับบทสัมภาษณ์ของเป็นเอกอย่างเป็นมิตร ในฐานะที่เขาเป็น "ชนชั้นกลางวัฒนธรรม" ซึ่งน่าชวนมาเข้า "พวก" หากเราคิดจะสถาปนาประชาธิปไตยขึ้นในประเทศนี้


ประเด็นที่ได้รับการกล่าวขานอ้างอิงถึงอย่างแพร่หลาย จากคำสัมภาษณ์ของเป็นเอก โดยภิญโญ ได้แก่

การมองสังคมไทย (สังคมการเมืองไทย) เป็น "สังคมดราม่า" ที่เต็มไปด้วยนักการเมืองซึ่งพยายามปฏิบัติตนเป็นดารา, การแสดง และ โวหาร แม้กระทั่งในภาวะอุทกภัย ประเทศไทยก็ยังพยายามแก้ไขวิกฤตดังกล่าวด้วยมิวสิกวิดีโอ

ในทัศนะของเป็นเอก หลายๆ ฝ่ายมีส่วนต่อการก่อร่างสร้างสังคมดราม่าขึ้นมา ทั้งสื่อมวลชน (ซึ่งอาจถือเป็น "ชนชั้นกลางวัฒนธรรม" เช่นเดียวกันกับเขา) และประชาชน

โดยคล้ายจะมี "นักการเมือง" เป็นดารา/นักแสดง ผู้ยืนอยู่บนยอดสูงสุดของพีระมิดแห่งสังคมดราม่าแบบนั้น

ทั้ง "ดาราที่ดีกว่า" อย่าง อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และคนที่ไม่มีคุณสมบัติ "ความเป็นนักแสดง" เลย อย่าง ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

เป็นเอก-ภิญโญ สนทนาทิ้งท้ายในรายการตอบโจทย์เทปนั้นว่า ตกลงแล้วสังคมไทยเพี้ยน หรือพวกตน 2 คนนั่นแหละที่เพี้ยน ในสังคมไทยที่เป็นปกติอยู่แล้วกันแน่?

จากมุมมองส่วนตัว ผมค่อนข้างมีความเชื่อโน้มเอียงว่า สังคมไทย คือ สังคมที่มักเกิดอาการดราม่าอยู่อย่างเป็นปกติตลอดมา

แต่ปัญหาที่อยากชวนคิดต่อจากเป็นเอกก็คือ สังคมไทยที่ทุกอย่างดำเนินไปผ่าน "การแสดง" นั้น มีที่มาจากจุดไหน? และสามารถถูกผลักไปไกลที่สุด ณ จุดใด?



ปัญหาแรก สังคมไทยเพิ่งมาถูกขับเคลื่อนด้วยอารมณ์ดราม่าและการแสดง จากฝีมือของนักการเมืองในระบบเลือกตั้ง และสื่อมวลชนสมัยใหม่เท่านั้นจริงหรือ ?

ถ้าใครพอจะสนใจประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้อยู่บ้างแบบงูๆ ปลาๆ ก็คงตระหนักว่า รัฐโบราณของดินแดนแถบนี้ มิได้ปกครองผู้คนโดยใช้อำนาจดิบ/ไม้แข็งขั้นรุนแรงอันโหดเหี้ยม แต่เพียงอย่างเดียว

ทว่ารัฐเหล่านั้น ยังปกครองผู้คนด้วยพิธีกรรม-ระบบสัญลักษณ์ ซึ่งสามารถสรุปรวมเป็น "การแสดง" ประเภทหนึ่ง

แนวคิด "นาฏรัฐ/รัฐละคร" (theatre state) ก็ถูกสร้างขึ้นเพื่อนำมาใช้อธิบายรัฐโบราณจำพวกนี้

คำถาม คือ สังคมไทยแบบดราม่าในปัจจุบัน มีส่วนเชื่อมโยงกับนาฏรัฐแบบโบราณมากน้อยแค่ไหน?

หากสังคมสองยุคมีความเชื่อมโยงกัน แล้วเราจะแน่ใจได้เพียงใดว่านักการเมืองถือเป็น "ตัวแบบ" สำคัญสูงสุดของสังคมการแสดงแห่งนี้?

อย่างไรก็ดี ในส่วนอิทธิพลของสื่อนั้น คงต้องยอมรับว่าเทคโนโลยีการสื่อสารยุคใหม่ย่อมส่งผลให้อารมณ์ดราม่าหรือการแสดงที่ถูกเปล่งประกายออกจากศูนย์กลางของรัฐ/สังคม สามารถแพร่กระจายไปสู่สาธารณชนในวงกว้างได้มากยิ่งขึ้น

แต่จะซาบซึ้งตรึงใจประชาชนคนดูขนาดไหน นั่นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

เพราะสารใดๆ ก็ตามซึ่งเดินทางผ่านสื่อ ล้วนมีโอกาสที่จะถูกถอดรหัสในเชิง "ต่อต้าน" จากผู้ชม ได้ทั้งสิ้น


ปัญหาต่อมา ได้แก่ อาการดราม่าของสังคมไทยอาจไม่ได้มีจุดเริ่มต้นย้อนไปไกลถึงยุคโบราณ แต่ตามมุมมองของนักคิดบางสาย อาการดังกล่าวอาจถือเป็นความป่วยไข้ของสังคมทุนนิยมสมัยใหม่

ซึ่งบรรดา "ภาพแทน" "การแสดง" หรือ "อารมณ์ดราม่า" ทั้งหลาย ที่ถูกผลิตขึ้นโดยอุตสาหกรรมวัฒนธรรม (และ "ชนชั้นกลางวัฒนธรรม" อย่างเป็นเอก) สามารถตรึงผู้คนอยู่หน้า "โลกสมมุติ" ในจอโทรทัศน์ (หรือคอมพิวเตอร์) เพื่อล่อลวงมิให้พวกเขาได้ตระหนักถึงบ่อเกิดอันแท้จริงของปัญหาในโลกภายนอก กระทั่งไม่อาจลุกขึ้นมารวมตัวกันเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมอย่างถึงราก

ถ้าอาการเช่นนี้เกิดขึ้นพร้อมกับสังคมทุนนิยม คำถามคือ สังคมไทยมีความเป็นสังคมทุนนิยมมากน้อยแค่ไหน?

และเมื่อสภาวะทางการเมือง-เศรษฐกิจของหลายประเทศในปัจจุบัน ได้ชี้ให้เห็นว่าการปกครองระบอบประชาธิปไตย ไม่จำเป็นต้อง "แต่งงาน" กับระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมเสมอไป

ดังนั้น อาจมีปัจจัยด้านสังคม-การเมืองอื่นๆ ซึ่งดูคล้ายจะอยู่นอกเหนือจากระบบทุนนิยม-ระบอบประชาธิปไตย ที่สามารถเข้ามาทำงานร่วมกับกลไกทางด้านวัฒนธรรมของระบบเศรษฐกิจดังกล่าว เพื่อหลอกล่อครอบงำผู้คนให้ติดอยู่ในสังคมดราม่าแบบนี้ตลอดไปได้หรือไม่?

ที่สำคัญ ปัญหาในแง่มุมนี้ มีนักการเมืองผู้ได้รับการเลือกตั้งจากประชาชนเป็นต้นตอหลักแต่เพียงฝ่ายเดียว (อีกแล้ว) เท่านั้นหรือ?



++

หนังสั้น 2554
โดย คนมองหนัง คอลัมน์ นอก "กระแส"
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1619 หน้า 85


เทศกาลภาพยนตร์สั้นครั้งที่ 15 โดยมูลนิธิหนังไทย เวียนมาบรรจบอีกครั้งหนึ่ง ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร สี่แยกปทุมวัน (ตรงข้ามห้างสรรพสินค้ามาบุญครอง) และงานจะดำเนินไปจนถึงวันที่ 28 สิงหาคมนี้

แม้กระบวนการคัดกรอง "หนังสั้นเข้ารอบ" โดยคณะผู้จัดงาน อาจส่งผลให้เทศกาลภาพยนตร์สั้นไม่สามารถเป็นภาพแทนความหลากหลายของวงการ "หนังสั้นไทย" ทั้งหมดได้อย่างครบถ้วน

(หากหวังจะได้สัมผัสกับความหลากหลายดังกล่าวในทุกแง่มุม ก็คงต้องไปชมงานหนังสั้นมาราธอนที่ถูกจัดขึ้นก่อนหน้านี้ ซึ่งจะจัดฉายหนังสั้นทุกเรื่องที่ถูกส่งเข้าประกวด มิใช่เพียงแค่หนังที่ผ่านเข้ารอบเท่านั้น)

อย่างไรก็ตาม ถึงจะมีฐานะเป็น "ภาพตัวแทน" ที่ผ่านการคัดสรรมาแล้ว แต่เทศกาลภาพยนตร์สั้นครั้งที่ 15 ก็ยังมีแง่มุมน่าสนใจดำรงอยู่


เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ผมมีโอกาสได้ไปชมหนังสั้นบางเรื่องซึ่งผ่านเข้ารอบสุดท้ายในการประกวดสาย "รัตน์ เปสตันยี" (หนังสั้นประเภทบุคคลทั่วไป)

และอยากพูดถึงหนังสั้น 2 เรื่อง ของ "อาทิตย์ อัสสรัตน์" และ "ปราโมทย์ แสงศร" สองผู้กำกับหนังอินดี้/หนังสั้น ที่เคยได้รับรางวัลจากเทศกาลภาพยนตร์สั้นของมูลนิธิหนังไทยเมื่อหลายปีก่อน ก่อนจะไปประสบความสำเร็จในระดับนานาชาติ แล้วหวนกลับมาส่งผลงานเข้าประกวดอีกครั้งในปีนี้

หนังยาวเรื่องแรกของอาทิตย์คือ "วันเดอร์ฟูล ทาวน์" ได้เดินทางไปหลายเทศกาลทั่วโลก และได้รับรางวัลสำคัญบนเวทีประกวดของหลายสถาบันภายในประเทศ

ขณะที่หนังสั้นของอดีตดาราวัยรุ่นอย่างปราโมทย์ได้รับเลือกเข้าฉายในหลายเทศกาลของต่างประเทศ นอกจากนี้ เจ้าตัวยังได้รับทุน "คานส์ เรซิเดนซ์" ให้เข้าร่วมเวิร์คช็อปอบรมการทำหนังที่ประเทศฝรั่งเศส



หนังสั้นที่เข้าฉายในสายรัตน์ปีนี้ของอาทิตย์มีชื่อว่า "6 to 6" เล่าเรื่องราวชีวิตของคนรับใช้กลุ่มหนึ่งซึ่งร่วมกันทำความสะอาดในอพาร์ตเมนต์หรูของเจ้านาย ที่นานๆ ที เจ้าของจึงจะเดินทางมาอยู่อาศัยจริง

ในช่วงบ่าย เมื่อเจ้านายไม่อยู่ คนรับใช้หญิงวัยกลางคนก็ขึ้นไปนอนหลับพักผ่อนบนโซฟาหลุยส์ ส่วนคนรับใช้หนุ่ม-สาว ก็พูดจาจีบ/งอนง้อกัน แล้วนั่งรอเวลา 6 โมงเย็น ให้เพลงชาติดัง เพื่อทั้งคู่จะได้ออกไปดูหนัง

ระหว่างรอ "เพลงชาติ" "เพลงบางเพลง" (ที่เหมือนจะเป็นเพลงธรรมดาแต่ไม่ "ธรรมดา") ก็ดังกังวานขับกล่อมคนรับใช้หนุ่ม-สาว และคนดู ก่อนหนังจะปิดฉากลง


สำหรับ "The Island of Utopias" ของปราโมทย์ ผมไม่แน่ใจว่าควรจะเล่าเรื่องย่ออย่างไรดี ครั้นจะพึ่งพาเรื่องย่อที่ตีพิมพ์ในหนังสือสูจิบัตรของทางเทศกาล ก็ยังรู้สึกว่าอาจ "แรง" เกินไปสำหรับพื้นที่คอลัมน์นี้

หากลองบรรยายคร่าวๆ หนังสั้นเรื่องนี้เล่าเรื่องราวของชายชราฐานะยากจนข้นแค้น (และอาจไร้บ้าน) ที่พยายามขุด-ทุบ ที่ดินรกร้างและซากตึกปรักหักพัง โดยแทบไม่มีผลลัพธ์ใดๆ บังเกิดขึ้น (ซึ่งทำให้นึกถึงนิทาน "ลุงโง่ขุดภูเขา" ได้อยู่เหมือนกัน)

คุณลุงใฝ่ฝันถึงเกาะยูโทเปีย ซึ่งเขาไม่เคยพบเห็นมันมาก่อนเลยในชีวิต ทว่าปัญหาก็คือ หนังมิได้แค่เล่าเรื่องของชายชรายากจนบุคลิกมอซอผู้นี้เพียงคนเดียว หากยังเชื่อมโยงความฝันที่ไม่มีวันเกิดขึ้นจริงของเขาเข้ากับเรื่องราวของ "ชาย" อีกผู้หนึ่ง

ซึ่งท้าทายการขบคิดตีความ การวิพากษ์วิจารณ์ ตลอดจนการซุบซิบนินทา ของคนดูอย่างมากมายเหลือคณานับ



ผลงานของผู้กำกับหนังอินดี้/หนังสั้น ที่เจนเวทีและมากประสบการณ์คู่นี้ สามารถแตะต้องหรือเล่าถึงประเด็นที่คล้ายจะเป็น/เคยเป็น "taboo" ของสังคมไทยได้อย่างน่าทึ่ง

กล่าวคือ เรื่องหนึ่งได้ดึงสิ่งที่เหมือนจะ "ลอย" อยู่เหนือวิถีชีวิตปกติ ให้ลดต่ำลงมาอยู่ในการดำเนินชีวิตสามัญของผู้คนทั่วไป

ส่วนอีกเรื่องหนึ่ง ได้นำองค์ประกอบที่ไม่ค่อยถูกนำมาใช้ในการสร้าง "เรื่องเล่า" ระดับสาธารณะ มาสอดใส่เข้าไปในเรื่องราวที่มีรสชาติ "ความคลุมเครือ" และ "ความชัดเจน" ปะปนระคนกันอย่างน่าแปลกประหลาด

จุดร่วมสำคัญอันโดดเด่นของหนังสั้นทั้ง 2 เรื่อง ก็คือ การแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์หรือความเชื่อมโยงกันระหว่าง "ส่วนยอดสุด" กับ "ส่วนล่างสุด" หรือ "ส่วนเกือบล่างสุด" ของ "พีระมิดสังคม" โดยมีสามัญชนคนธรรมดาเป็น "แกนหลัก" ในเรื่องเล่านั้นๆ

น่าสนใจที่ผลงานท้าทายความคิดความเชื่อหรือความเคยชินเก่าๆ ของอาทิตย์และปราโมทย์ กลับได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานสำคัญๆ ภายในประเทศ ทั้งที่เป็นภาครัฐและเอกชน

นี่อาจเป็น "หมุดหมายใหม่" อีกย่างก้าวหนึ่งของวงการหนังสั้นไทยในปี พ.ศ.2554



++

น้องมาร์คลงนรก
โดย คนมองหนัง คอลัมน์ นอก "กระแส"
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1615 หน้า 85


สุดสัปดาห์ที่ผ่านมา คุณแม่พาน้องมาร์คไปเที่ยวหอศิลป์ กทม. ตรงข้ามห้างมาบุญครองอีกครั้งหนึ่ง

ด้วยหวังว่างานศิลปะอันทรงคุณค่าจะช่วยกล่อมเกลาจิตใจหยาบกระด้างของลูกน้อย ให้ค่อยๆ แปรผันกลับมาเป็น "เด็กคิดบวก"

ไม่ใช่เอาแต่ "คิดลบ" "มองโลกในแง่ร้าย" หรือ "กวนบาทา" อย่างที่แล้วๆ มา

แต่เมื่อหอศิลป์เป็นพื้นที่สาธารณะซึ่งเปิดกว้างให้กับ "ความแตกต่าง" อย่างน้อยก็ในระดับหนึ่ง

อะไรๆ ในพื้นที่นี้จึงไม่ได้ "เป็นบวก" ไปเสียหมด

ดังเช่นสิ่งที่น้องมาร์คและคุณแม่มีโอกาสได้พบเจอบนชั้น 8 ของหอศิลป์แห่งนั้น

นั่นคือ "การ์ตูน" (รึเปล่า?) ที่มีข้อความบรรยายประกอบเต็มไปหมด ซึ่งมีชื่อเรื่องว่า "นรกพลังบวก" ของคุณลุงประชา


เรื่องของเรื่องก็มีอยู่ว่า บรรดาผีเปรตชาวนรกเริ่มมีอาการกระด้างกระเดื่อง มองนรกในแง่ร้าย หมดศรัทธาและความเชื่อมั่นในสถาบันทางสังคมต่างๆ

เพราะชาวนรกเหล่านั้น (ถูกเชื่อว่า) ขาด "พลังบวก"

ท่านพญายมจึงคิดแคมเปญรีแบรนด์นรก และรณรงค์ให้ชาวนรกหันมามองนรกในแง่ดี ด้วยมุมบวก แบบปรองดอง

ตามสไตล์ "คิดอย่างยั่งยืน" หรือ "Moderate Hell" อะไรทำนองนั้น

คือทำยังไงก็ได้ ให้ผีเปรตทั้งหลายรู้สึกว่า "สวรรค์อยู่ในอก นรกอยู่ในใจ"

หรือ คุณเจ็บ คุณทรมาน ก็เพราะใจของคุณดันไปคิดถึงมันเอง หัดมองโลกในแง่ดีกันซะบ้างสิ


แล้วไอ้สิ่งที่เรียกว่า "พลังบวก" นี่มันคืออะไร?

การ์ตูนกึ่งบทความของคุณลุงประชาบอกว่า "พลังบวก" ก็คือ อย่าเรียกร้องความยุติธรรม "พลังบวก" คือ ไม่โทษคนอื่น

"พลังบวก" คือ การเสียสละตนเอง ยอมสังเวยชีวิต ยอมรับโทษทัณฑ์โดยสงบ และอย่าเรียกร้องอะไรจากนรกให้มากเกินไป

"พลังบวก" คือ ความเชื่อมั่นว่าประเทศไทย (เอ หรือนรกหว่า?) ไม่มีอะไรวิกฤต โดยเรา (หรือเปรตนรกพวกนั้น?) ต้องยอมอยู่เฉยๆ ยอมติดคุกฟรี ยอมปรองดองกับฆาตกร และยอมไม่กลับประเทศ เป็นต้น

"พลังบวก" ยังหมายถึง การห้ามไม่ให้ชาวนรกคิดถึง "อนาคต" เพราะการพูดถึง "วันพรุ่งนี้" ถือเป็นภัยสังคม เนื่องจาก "เสรีภาพ" นั้น คือการพูดได้ทุกเรื่อง ยกเว้นเรื่องที่ "ชนชั้นนำ" ไม่อยากได้ยิน

"พลังบวก" ยังอาจหมายถึง การแสวงหาแรงบันดาลใจ แต่ไม่ไปแตะต้องตัวปัญหา "พลังบวก" คือ การสะกดจิตตัวเอง หรือ "ดัดจริต" นั่นเอง

ว่ากันว่า รายการทีวีอินดี้ๆ อย่าง "ฉันอยากเป็นชาวนาในนรก" หรือหนังสารคดีอินดี้ๆ อย่าง "รากเราชาวนรก" ก็ถือเป็นส่วนหนึ่งของแคมเปญ "พลังบวก" ในนรกภูมิเช่นกัน

เฮ่อ! น่าจะเปลี่ยนชื่อจาก "นรก" เป็น "สวรรค์" เสียให้รู้แล้วรู้รอดไปเลย



อนิจจา ที่การ์ตูนเรื่องนี้ไม่ได้จบลงแค่ตรงจุดนั้น

เมื่อกระบวนการปราบปราม-ล้างสมอง-รีแบรนด์นรกของท่านพญายมเกิดล้มเหลว

เสียงเรียกร้องประชาธิปไตยในนรกจึงเริ่มดังขึ้น กระทั่งชนชั้นนำในนรกไม่สามารถปฏิเสธการเลือกตั้งได้อีกต่อไป

แล้วสุดท้าย ชนชั้นนำและเครือข่าย ก็ต้องพ่ายแพ้การเลือกตั้งอีกหน

พวกเขาจึงกลับหลังหันมา "คิดเชิงลบ" อีกครั้งหนึ่ง ท่ามกลางเสียงซุบซิบกันให้กระหึ่มว่า

ได้เวลาม็อบมีเส้นอีกแล้ว

ทำไมคนดีเข้าสภามาได้แค่ 160 คน

พวกเราเสียภาษีเยอะกว่า พวกนั้นมีสิทธิเท่ากับเราได้ยังไง

ชาวนรกบ้านนอกถูกนักการเมืองหลอก

ถ้าพวกมันมีเกินครึ่งจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงการปกครอง!!!

ฯลฯ

เพราะฉะนั้น แคมเปญต่อไปที่กำลังจะเกิดขึ้น ก็ได้แก่ การรีบชักชวนชาวนรก (เอ๊ะ! หรือคนไทย?) ให้เลิกเห่อ "พลังบวก" แล้วหันมาบ้า "พลังลบ" แทน


หลังเสร็จสิ้นการชมงานศิลปะที่หอศิลป์ คุณแม่ก็เปิดฉากสนทนากับน้องมาร์ค

"ได้อะไรจากการดูงานศิลปะบ้างคะลูก?"

"ตกลง พวกเราอยู่ในนรกใช่มั้ยคับ?"

"เราอยู่กรุงเทพฯ ค่ะ เออ แต่คุณแม่ว่าการ์ตูนเค้ามองโลกในแง่ร้ายไปหน่อยนะคะ มัน "จริง" เกินไปน่ะ"

"แต่มาร์คคิดว่า "เรา ชะนะ แล้ว, แม่จ๋า." คับ"

"เฮอะ ใครชนะคะ? เรากำลังแพ้ "พวกมัน" อยู่นะคะน้องมาร์ค"



.