http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2554-12-14

การคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยด้วยการเข้าเป็นภาคีพิธีสารเลือกรับของ ICCPR โดย ประสิทธิ์ ปิวาวัฒนพานิช

.
มีโพสต์ถัดไป
- " ยุติธรรม เมตตาธรรม ตุลาการ โดย Horachio Nea "
- " ปธน.ใหม่ ตูนีเซียกล่าวปฏิญาณ บอกไม่ลืมผู้เสียชีวิตจากการปฏิวัติ "

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -




การคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยด้วยการเข้าเป็นภาคีพิธีสารเลือกรับของ ICCPR
โดย ประสิทธิ์ ปิวาวัฒนพานิช คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ใน www.prachatai.com/journal/2011/12/38278 . . Sun, 2011-12-11 17:18


บทนำ

เรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยนับเป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจมากในระยะประมาณ 6-7 ปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ตากใบ นโยบายการปราบปรามยาเสพติด การปราบปรามผู้ชุมนุมที่ราชประสงค์ รวมทั้งจำนวนที่เพิ่มขึ้นอย่างมากมายของความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ซึ่งเป็นประเด็นที่ต่างประเทศกำลังให้ความสนใจอยู่ในขณะนี้นั้น มีคำถามที่น่าสนใจว่า ในปัจจุบันที่กระแสประชาธิปไตยและหลักนิติธรรม รวมทั้งการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องที่นานาชาติให้ความสำคัญอย่างยิ่ง หากกระบวนการยุติธรรมของไทยไม่สามารถคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของคนไทยได้อย่างเป็นธรรมและมีประสิทธิภาพแล้ว ยังมีช่องทางเลือกอย่างอื่นอีกหรือไม่ที่ผู้เสียหายจะสามารถพึ่งพาได้ ข้อเขียนสั้นๆนี้ จะกล่าวถึงการเสนอข้อร้องเรียนไปยังองค์กรสากลอย่างคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนสหประชาชาติ (the UN Human Rights Committee) ว่าเป็นอีกช่องทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจที่จะเป็นที่พึ่งได้ในยามที่กระบวนการยุติธรรมของไทยมีปัญหาและในยามที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนของไทยไม่กระตือรือร้นเท่าที่ควรรวมถึงการดำรงอยู่ของกฎหมายที่รุนแรงเกินเหตุ (Draconian law) อย่างมาตรา 112


1.พิธีสารเลือกรับ คืออะไร

พิธีสารเลือกรับ ซึ่งแปลมาจากภาษาอังกฤษว่า “Optional Protocol” นั้นเป็นชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งของสนธิสัญญา เป็นตราสารระหว่างประเทศที่เพิ่มเติมมาจากกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights: ICCPR) ซึ่งก็เป็นสนธิสัญญาเหมือนกันและประเทศไทยก็เป็นภาคีด้วย แต่ในกรณีที่รัฐภาคีมิได้ปฏิบัติตาม ICCPR ก็มิได้มีผลที่จะให้ปัจเจกชนผู้เสียหายจากการที่สิทธิต่างๆที่ ICCPR รับรองซึ่งมีอยู่จำนวนมาก เช่น สิทธิในชีวิตและร่างกาย สิทธิที่จะได้รับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม (Fair trial) สิทธิที่จะห้ามมิให้ได้รับการเลือกปฏิบัติ สิทธิเสรีภาพในอันที่จะแสดงความคิดเห็น สิทธิที่จะชุมนุมโดยสงบ เป็นต้น

อย่างไรก็ดี แม้ว่า ICCPR จะรับรองสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานไว้ดีสักเพียงใดก็ตาม แต่หากสิทธิของประชาชนถูกละเมิดโดยเจ้าหน้าที่รัฐแล้ว ประชาชนก็ไม่สามารถมีช่องร้องเรียนไปยังคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติได้ เนื่องจากประชาชนจะพึ่งพากระบวนการร้องเรียนที่เรียกว่า Individual complains ได้ก็ต่อเมื่อ รัฐเจ้าของสัญชาติของเอกชนผู้นั้นเป็นภาคีของพิธีสารเลือกรับ ฉบับแรก [1] ของ ICCPR เสียก่อน เนื่องจากปัจจุบันนี้ ประเทศไทยยังมิได้ให้สัตยาบันพิธีสารเลือกรับนี้เป็นผลให้ประชาชนคนไทยไม่อาจเสนอข้อร้องเรียนไปยังคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติได้


2.กลไกการทำงานของพิธีสารเลือกรับ

การที่เอกชน อย่างนาย ก. นาย ข. จะริเริ่มกระบวนการร้องเรียนไปยังคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติได้นั้นจะต้องผ่านเงื่อนไขสำคัญที่สุดเสียก่อน เงื่อนไขที่ว่านี้ก็คือ เอกชนซึ่งเป็นผู้ร้องนั้นจะต้องพึ่งพากระบวนการยุติธรรมภายในของประเทศของตนอย่างเสร็จสิ้นกระบวนความเสียก่อน [2] หลักกฎหมายระหว่างประเทศนี้เรียกว่า “Exhausted local remedies rule” หมายความว่า เอกชนผู้นั้นจะต้องดำเนินการมาตรการทางกฎหมายเพื่อที่จะได้รับความเป็นธรรมหรือเยียวยาความเสียหายอย่างสุดเต็มความสามารถ หรือพึ่งพาช่องทางกระบวนการยุติธรรมทุกช่องทางที่มีอยู่แล้ว เช่น ผู้ร้องจะต้องใช้สิทธิอุทธรณ์ฎีกา หรือส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า กฎหมายนั้นขัดกับรัฐธรรมนูญ เป็นต้น แต่กระบวนการทางกฎหมายเหล่านี้ก็ยังไม่สามารถเยียวยาความเสียหายในสิทธิที่ตนเองถูกละเมิดได้หรือยังไม่ได้รับความเป็นธรรมอยู่ดี หากเป็นเช่นนี้แล้ว เอกชนผู้นั้นจึงจะเริ่มกระบวนการร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนสหประชาชาติได้ มีข้อสังเกตว่า ข้อร้องเรียนของเอกชนจำนวนไม่น้อยถูกคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติยกคำร้องเนื่องมาจากเหตุผลนี้ กล่าวคือ เอกชนผู้ร้องเรียนยังพึ่งพากระบวนการยุติธรรมตามกฎหมายภายในของประเทศผู้ร้องเรียนยังไม่เสร็จสิ้นกระบวนความ

เมื่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติรับเรื่องไว้แล้วภายในเวลา 6 เดือน ข้อร้องเรียนจะมีลักษณะเป็นข้อพิพาทระหว่างปัจเจกชนกับรัฐ โดยผู้แทนของรัฐจะส่งคำอธิบายที่เป็นลายลักษณ์อักษรต่อคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนเพื่อชี้แจ้งเกี่ยวกับข้อร้องเรียน [3] สำหรับผู้เสียหายก็มีสิทธิที่จะมีทนายแก้ต่างให้และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนก็จะเรียกให้ผู้แทนของรัฐมาชี้แจง โดยที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติจะฟังความทั้งสองฝ่าย เปิดโอกาสให้สองฝ่ายได้ชี้แจงจากนั้นจึงจะมีการสรุปความเห็นของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนในรูปของรายงาน


3.ผลบังคับของพิธีสารเลือกรับ

เมื่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนสหประชาชาติรับเรื่องร้องเรียนแล้วและมีคำตัดสินให้เอกชนชนะข้อพิพาท คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนก็จะทำรายงาน ซึ่งในรายงานก็จะมีคำเสนอแนะให้มีการเยียวยาความเสียหายแก่ผู้ร้องเรียน หรืออาจมีคำแนะนำให้รัฐภาคีแก้ไขกฎหมายให้สอดคล้องกับ ICCPR ก็ได้


4.ใครจะได้ประโยชน์จากการที่ประเทศไทยเข้าเป็นภาคีพิธีสารเลือกรับ

เป็นที่เห็นอย่างชัดเจนว่าผู้ที่จะได้รับประโยชน์จากการเข้าเป็นภาคีพิธีสารเลือกรับ ( เพิ่มเติมจากการอุทธรณ์ฎีกา หรือส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า กฎหมายนั้นขัดกับรัฐธรรมนูญ เป็นต้น) ตามตราสารที่เพิ่มเติมจากกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองก็คือประชาชนคนไทย เราๆท่านๆ เพราะว่าการเข้าเป็นภาคีพิธีสารเลือกรับนี้จะเป็นการเปิดช่องทางอีกทางหนึ่งให้แก่ประชาชนคนไทยที่สิทธิเสรีภาพในเรื่องที่รับรองไว้ใน ICCPR ถูกละเมิด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กรณีที่ตนเองไม่ได้รับความเป็นธรรมจากกระบวนการยุติธรรม หรือกรณีที่จำเลยไม่เห็นด้วยกับการตีความกฎหมายและการให้เหตุผลทางกฎหมายในคำพิพากษาของศาลที่ไม่สอดคล้องกับ ICCPR ผู้นั้นก็สามารถร้องเรียนไปยังคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติได้ ฉะนั้น การเข้าเป็นภาคีพิธีสารเพิ่มเติมนี้จึงเท่ากับเป็นการยกระดับการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของคนไทยให้ทัดเทียมกับมาตรฐานระหว่างประเทศและเป็นการตรวจสอบการตีความและการให้เหตุผลทางกฎหมายของศาลไทย อีกด้วย


บทสรุป

การเข้าเป็นภาคีพิธีสารเลือกรับของ ICCPR จะเป็นการเพิ่มทางเลือกอีกช่องทางหนึ่งให้กับประชาชนคนไทยที่ถูกละเมิดสิทธิเสรีภาพที่จะให้องค์กรสากลที่มีความน่าเชื่อถืออย่างคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนสหประชาชาติพิจารณา การเข้าเป็นภาคีพิธีสารเลือกรับของประเทศไทยช้าเท่าใด [4] ประชาชนก็จะมีสิทธิใช้ประโยชน์จากพิธีสารเลือกรับที่ว่านี้ช้าตามไปด้วย หากต้องการยกระดับการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนก็ต้องรีบเร่งศึกษาพิธีสารเลือกรับนี้ ควบคู่ไปกับการศึกษาการให้สัตยาบันธรรมนูญกรุงโรมหรือการทำคำประกาศฝ่ายเดียวยอมรับเขตอำนาจศาลอาญาระหว่างประเทศ ตามมาตรา 12 (3) หวังว่าสองอนุสัญญานี้พอจะเป็นความหวังสำหรับผู้ที่รักความยุติธรรม

* * * * * * * * *
[1] First Optional Protocol to the International Covenant on Civil and Political Rights
[2] ดูมาตรา 2 ของพิธีสารเลือกรับ
[3] ดูมาตรา 4 (2)
[4] ปัจจุบันมีรัฐที่เป็นภาคีพิธีสารเลือกรับนี้จำนวน 114 ประเทศ



++

ยุติธรรม เมตตาธรรม ตุลาการ
โดย Horachio Nea
ในเวบไซต์ ประชาไท . . Wed, 2011-11-30 22:42


จะกล่าวย้อนไปถึงหลักที่เหล่าบรรพตุลาการยึดถือมาแต่ครั้งโบราณคือ หลักอินทภาษป็นหลักในการดำรงตนและการปฏิบัติหน้าที่ของผู้พิพากษาผู้พิพากษาตุลาการว่า ผู้พิพากษาตุลาการต้องพิจารณาตัดสินอรรถคดีด้วยความเที่ยงธรรม ปราศจากความลำเอียงเข้าข้างฝ่ายใด อันเกิดจากอคติ 4 ประการ ได้แก่ ฉันทาคติ คือ ลำเอียงเพราะรักชอบเห็นแก่อามิสสินบน โทษาคติ คือ ลำเอียงเพราะโกรธ ภยาคติ คือ ลำเอียงเพราะกลัว และโมหาคติ คือลำเอียงเพราะหลง

และเปรียบเทียบว่า ผู้พิพากษาตุลาการที่ตัดสินคดีความโดยลำเอียงขาดความเที่ยงธรรม เป็นผู้มีบาปกรรมอันหนักยิ่งกว่าบาปอันเกิดจากการฆ่าประชาชนผู้หาความผิดมิได้และผู้ทรงศีลจำนวนมากเสียอีก แม้จะทำบุญมากมายจนมิอาจประมาณได้ ก็ยังไม่อาจลบล้างบาปกรรมนี้ได้

นอกจากนี้ผู้พิพากษาตุลาการต้องเป็นผู้รอบรู้และเชี่ยวชาญในขั้นตอนของวิธีพิจารณาความในศาลตั้งแต่รับและตรวจคำฟ้อง คำให้การ ให้รู้กระจ่างว่าส่วนใดเป็นข้อสำคัญ ส่วนใดเป็นข้อปลีกย่อย การกำหนดประเด็นข้อพิพาทที่เรียกว่า ชี้สองสถาน พิเคราะห์คำพยานต่างๆ เพื่อค้นหาความจริงให้ได้ เสมือนนายพรานล่าเนื้อตามแกะรอยสัตว์ที่ล่าจนได้ตัว การตัดสินคดีต้องถูกต้องแม่นยำ ประดุจเหยี่ยวโฉบจับปลาตัวที่มุ่งหมายไว้ ต้องยึดถือพระธรรมศาสตร์และหลักกฎหมายทั้งปวงเป็นหลักและตัดสินความด้วยกิริยาอันองอาจประดุจพญาราชสีห์

หลักอินทภาษจึงแฝงไว้ทั้งหลักธรรมแห่งผู้พิพากษาตุลาการพึงยึดถือปฏิบัติ และคติความเชื่อในเรื่องบาปบุญคุณโทษอันเกิดแก่ ผู้ที่ปฏิบัติและไม่ปฏิบัติตามหลักอินทภาษนี้

หลักดังกล่าวภายใต้หลักคิดแบบฮินดูพุทธของไทยที่เชื่อมาแต่โบราณว่า พระอินทร์เสด็จลงมาสั่งสอนเหล่าตุลาการให้ยึดมั่นในหลักดังกล่าว การตัดสินคดีต่างๆ นั้นผู้ตัดสินคดีต้องมีความมั่นคงแม่นยำในหลักกฏหมายแล้วนั้น การใช้ดุลยพินิจในการตัดสินข้อเท็จจริงและปรับบทข้อเท็จจริงกับข้อกฏหมาย ต้องเป็นไปด้วยหลักเมตตาธรรม


การปฎิบัติหน้าที่ของตุลาการนั้นภายใต้หลักแห่งระบอบแห่งประชาธิปไตย นอกจากการตัดสินภายใต้พระปรมาภิไธย องค์พระมหากษัตริย์แล้ว ยังคงต้องมีหลักที่ยึดโยงกับประชาชนด้วย เมื่ออำนาจตุลาการเป็นหนึ่งในสามอำนาจอธิปไตย แต่ยังคงเป็นเพียงอำนาจเดียวที่ไม่ได้มีที่มายึดโยงจากประชาชนและการตรวจสอบที่มาจากประชาชนเท่าใดนัก การปฎิบัติหน้าที่ที่มีอำนาจเหลือล้นตัดสินชีวิตประชาชนต้องมีความระมัดระวังทุกขณะจิตในการไม่ส่งผู้ไม่ผิดเข้าไปสู่การลงโทษที่ทำให้ไร้เสรีภาพอันเป็นการละเมิดสิทธิของมนุษย์ ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาก็ได้มีบทคุ้มครองในส่วนนี้ไว้ ป.วิ.อ. มาตรา 227

บทบัญญัติตาม ป.วิ.อ. มาตรา 227 มีความหมายว่า ในการพิจารณาพิพากษาคดีอาญาทั้งปวง ศาลมีอำนาจใช้ดุลพินิจวินิจฉัยว่า พยานหลักฐานใดมีน้ำหนักน่าเชื่อถือเพียงใดหรือไม่ พยานหลักฐานใดขัดต่อเหตุผลไม่น่ารับฟัง และในกรณีที่ศาลจะพิพากษาลงโทษบุคคลใด พยานหลักฐานในคดีนั้นต้องมั่นคงแน่นหนา และมีน้ำหนักรับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่าบุคคลนั้นได้กระทำความผิดจริงตามฟ้อง หากพยานหลักฐานในสำนวนมีข้อพิรุธน่าระแวงสงสัย ไม่มั่นคงพอที่จะรับฟังเป็นยุติว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้อง ก็ต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลย โดยพิพากษายกฟ้องโจทก์

แต่ทั้งนี้มิได้หมายความว่าหากพยานหลักฐานของโจทก์มีข้อแตกต่างขัดแย้งกันเอง หรือมีข้อน่าสงสัยบางประการแล้ว ศาลจะต้องพิพากษายกฟ้องของโจทก์เสียทุกกรณีไป ข้อพิรุธน่าระแวงสงสัยอันจะเป็นเหตุให้ยกฟ้องโจทก์นั้นต้องเป็นข้อบกพร่องของพยานหลักฐานโจทก์ที่ทำให้น้ำหนักคำพยานเลื่อนลอยไม่มั่นคงพอ ที่จะรับฟังเป็นความจริงได้โดยสนิทใจ ส่วนข้อแตกต่างขัดแย้งกันในกรณีอื่นที่ไม่มีผลต่อการรับฟังข้อเท็จจริงตาม คำพยานหาเป็นข้อพิรุธอันจะเป็นเหตุให้ยกฟ้องโจทก์ไม่ ข้อแตกต่างผิดเพี้ยนกันในรายละเอียดปลีกย่อยอันเป็น พลความหรือข้อพิรุธที่ไม่เกี่ยวกับการรับฟังข้อเท็จจริงที่มุ่งจะพิสูจน์ว่าจำเลยมีผิดหรือบริสุทธิ์ย่อมไม่เป็นเหตุทำลายน้ำหนักพยานหลักฐานของโจทก์

เหมือนหลักที่นักศึกษาวิชากฎหมายได้ถูกสั่งสอนจากอาจารย์ผู้ประสิทธิประสาทวิชาทุกเช้าค่ำว่า ปล่อยคนผิด 10 คนดีกว่าเอาคนบริสุทธิ์ 1 คนเข้าคุก



อีกประเด็นที่ที่ควรคำนึงถึงหลักเมตตาธรรมและการุณยธรรม ที่เหล่าตุลาการทั้งหลายเพิ่งมีจึงขอยกการตัดสินคดีดังนี้

ในคราวที่ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดลเสด็จพระราชดำเนินจังหวัดฉะเชิงเทรา ภายหลังที่ได้ทรงเยี่ยมเยียน พสกนิกรด้วยเวลาอันควรแล้ว พระองค์ก็เสด็จมายังศาลประจำจังหวัดเพื่อทรงร่วมพิจารณาคดี อันเป็นเรื่องราวที่พระองค์สนพระราชหฤทัยและทรงศึกษาอยู่

ในคราวนั้นผู้พิพากษากำลังพิพากษาคดีลักทรัพย์ ซึ่งมีหญิงแม่ลูกอ่อนเป็นจำเลย

ประชาชนได้พากันมาฟังความจนล้นหลามห้องพิจารณาด้วยเป็นกรณีพิเศษ ที่ประชาชนได้เข้าชมพระบารมีด้วย

ตามคำฟ้องของอัยการปรากฎว่า จำเลยได้ขโมยห่วงกุญแจนาคของโจทก์ โดยมีผู้เห็นและจับของกลางได้ หญิงผู้เป็นจำเลยได้ให้การรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา และอ้างว่าตัวเองยากจนไม่มีทางหาเงินมาเลี้ยงดูบุตรได้

ศาลจึงพิพากษาจำคุกจำเลย 6 เดือน

พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล ทรงใช้พระบรมราชวินิจฉัยตามสำนวนฟ้องแล้ว จึงมีพระราชดำรัสว่า การต้องโทษจำคุกจำเลย 6 เดือนนั้น ให้เปลี่ยนเป็นการรอลงอาญาไว้ เพราะจำเลยยังไม่เคยต้องโทษและไม่เคยกระทำความผิดมาก่อน

ในการที่ทรงพิพากษาตัดสินครั้งนั้น ยังความปลาบปลื้มและชื่นชมแก่ปวงพสกนิกรและประชาชนที่มาฟังความกันเป็นอย่างมาก

นางผู้เป็นจำเลย ได้คลานเข้าไปกราบที่บัลลังก์พร้อมกับตอบอย่างผู้สำนึกผิดด้วยรู้สึกซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นล้นพ้น แต่เมื่อได้กระทำผิดไปแล้ว ก็ใคร่จะรับโทษตามกฎหมาย

พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล ได้พระราชทานเงินส่วนพระองค์ให้แก่หญิงแม่ลูกอ่อนผู้เป็นจำเลย เป็นบำเหน็จความสัตย์ซื่อที่มีแก่อาญาแผ่นดิน ใคร่จะรับโทษตามความผิดของตนที่กระทำไปเพื่อลูก

พระราชกิจครั้งนั้นยังความปลาบปลื้มแก่ผู้ได้รู้ข่าวคราวเป็นยิ่งนัก

(ข้อมูลจากหนังสือ อานันทมหิดล ยุวกษัตริย์พระองค์แรกในระบอบประชาธิปไตย ราชทิตย์ ภพสยบ )


ผู้เขียนเองนั้นไม่ได้มีญาณบารมีทางกฎหมายมากเท่าเหล่านักวิชาการกฎหมายและเหล่านักกฎหมายใหญ่ในประเทศนี้ เพียงแต่ผู้เขียนเพิ่งจบมาไม่นานจากการเรียนในคณะนิติศาสตร์ เลยยังไม่ลืมเรื่องราวที่เหล่าอาจารย์พร่ำสอน

แต่นานๆไปคำสอนเหล่านี้อาจพร่าเลือนไปก็ได้ คงต้องอัญเชิญพระอินทร์ลงมาสั่งสอนอีกครั้งกระมัง


* * * * * * * * *
อ่านความคิดเห็นท้ายบทความ ที่ www.prachatai.com/journal/2011/11/38100



+ + + +


ปธน.ใหม่ ตูนีเซียกล่าวปฏิญาณ บอกไม่ลืมผู้เสียชีวิตจากการปฏิวัติ
ใน www.prachatai.com/journal/2011/12/38311 . . Wed, 2011-12-14 18:29


มอนเซฟ มาร์ซูวคี ประธานาธิบดีคนใหม่ของตูนีเซียอดีตนักกิจกรรมด้านสิทธิมนุษยชน ได้กล่าวให้สัตย์ปฏิญาณว่าจะรักษาผลประโยชน์ของชาติ ปกป้องเป้าหมายการปฏิวัติ พร้อมทั้งแสดงการคารวะต่อเหล่าผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ลุกฮือเพื่อโค่นล้มอดีต ปธน. เผด็จการ และบอกว่าจะช่วยเหลือพี่น้องผู้ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในเยเมนและซีเรีย

ประธานาธิบดีคนใหม่ของตูนีเซีย มอนเซฟ มาร์ซูวคี ได้กล่าวให้สัตย์ปฏิญาณต่อหน้าสภารัฐธรรมนูญ ในขณะที่ประเทศตูนีเซียมาถึงช่วงเปลี่ยนหน้าประวัติศาสตร์ใหม่หลังจากที่สามารถลุกฮือโค่นล้มอดีตประธานาธิบดี ซีเน เอล อบีดีน เบน อาลี ได้สำเร็จ จากการปฏิวัติ "อาหรับสปริง"

"ข้าพเจ้าจะเป็นผู้ค้ำประกันผลประโยชน์ของประเทศชาติ ตามหลักกฏหมายและสถาบัน ข้าพเจ้าจะซื่อสัตย์ต่อผู้พลีชีพ และต่อเป้าหมายของการปฏิวัติ" มาร์ซูวคีกล่าวให้สัตย์ปฏิญาณในช่วงเช้าของวันที่ 13 ธ.ค. โดยถือคัมภัร์อัลกุรอานไว้ในมือ

มาร์ซูวคีสวมผ้าคลุมยาวตามประเพณีของชาวอาหรับ ในขณะที่กล่าวให้สัตย์ว่าจะเป็นประธานาธิบดีของชาวตูนีเซียทุกคนและจะทำทุกอย่างเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของเหล่าเพื่อนร่วมชาติ

นอกจากนี้เขายังได้ให้การคารวะเหล่าผู้ที่เสียชีวิตจากการลุกฮือเพื่อโค่นล้มอดีตประธานาธิบดีเบน อาลี เมื่อปีที่ผ่านมาด้วย

"หากไม่มีการเสียสละจากพวกเขาแล้ว ข้าพเจ้าก็คงไม่มาอยู่ในที่นี้" มาร์ซูวคี ผู้เป้นอดีตนักกิจกรรมกล่าวโดยมีน้ำตาคลอเบ้า

ผู้สื่อข่าวอัลจาซีร่ารายงานจากเมืองหลวงกรุงตูนิสว่า คำปฏิญาณของเขาเต็มไปด้วยอารมณ์ความรู้สึก

"มันเป็นช่วงเวลาทางประวัติศาสตร์ ที่ชาวตูนีเซียจะจดจำไปอีกหลายรุ่น" เขากล่าว

ผุ้สื่อข่าวรายงานอีกว่า มาร์ซูวคีได้กล่าวถึงแผนโครงสร้างของรัฐบาลและสถาบันทางการเมือง โดยบอกอีกว่า "พวกเราต่างก็มีพันธกิจในทางประชาธิปไตย และพวกเราก็จะให้การช่วยเหลือเพื่อนพี่น้องของเราในซีเรียและเยเมนด้วย"

มาร์ซูวคีได้รับเลือกตั้งด้วยคะแนนเสียง 153 จากทั้งหมด 217 ที่นั่งในสภา โดยมีผู้แทน 3 รายจาก 202 รายให้คะแนนเสียงโหวตคัดค้าน 2 รายงดเว้นไม่ลงคะแนนเสียง และ 44 รายซึ่งเป็นสมาชิกพรรคฝ่ายค้านส่งบัตรลงคะแนนเปล่า

รัฐมนตรีกระทรวงการคลังของตูนีเซียซึ่งมาจากรัฐบาลผสมจะได้รับการแต่งตั้งโดยพรรคฝ่ายซ้าย ขณะที่พรรคเอนนาห์ดาซึ่งเป็นพรรคอิสลามจะทำหน้าที่ดูแลการต่างประเทศและตำแหน่งรัฐมนตรีมหาดไทย พวกเขาบอกว่าพรรคเอนนาห์ดาและพรรคร่วมขนาดเล็กอีกสองพรรคตกลงกันว่าหน้าที่รัฐมนตรีการคลังควรเป็นของพรรคเอตตาคาตอล ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายซ้าย โดยพวกเขายังไม่ได้ระบุตัวผู้ท้าชิงตำแหน่งนี้

แหล่งข่าวระบุว่า อาลี ลาราเยดห์ เจ้าหน้าที่พรรคเอนนาห์ดาและอดีตนักโทษการเมืองอาจจะได้เป็นรัฐมนตรีมหาดไทย ขณะที่ราฟีค อับเดสเลม นักวิเคราะห์จากอัลจาซีร่าและสมาชิกพรรคเอนนาห์ดาอาจจะได้เป็นรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศ โดยอับเดสเลมยังมีความสัมพันธ์โดยแต่งงานกับลูกสาวคนหนึ่งของราชิด กานนูวชี หัวหน้าพรรคเอนนาห์ดาด้วย


นักกิจกรรมด้านสิทธิมนุษยชน

ปธน. มาร์ซูวคี จบแพทย์จากฝรั่งเศส เป็นผู้นำสหพันธ์ปกป้องสิทธิมนุษยชนของตูนีเซีย (LTDH) ตั้งแต่ปี 1989 จนกระทั่งเขาถูกบังคับให้ออกจากประเทศในปี 1994 เขามีวีรบุรุษในดวงใจคือมหาตมะ คานธี ผู้เรียกร้องเอกราชของอินเดีย เขาเคยเดินทางไปอินเดียรวมถึงประเทศแอฟริกาใต้หลังช่วงที่เปลี่ยนผ่านไปเป้นประชาธิปไตยแล้ว

มาร์ซูวคี ยังได้เขียนหลังสือออกมาหลายเล่ม ทั้งในภาษาฝรั่งเศสและภาษาอาหรับ รวมถึงเล่มที่ชื่อว่า "จับตามองเผด็จการ : เส้นทางสู่ประชาธิปไตยของโลกอาหรับ" (Dictators on Watch: A Democratic Path for the Arab World)

ภารกิจแรกของประธานาธิบดีใหม่คือการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี โดยมีตัวเก็งคืออามาดี เจบาลี เบอร์สองของพรรคอิสลามสายกลางเอนนาห์ดา

อย่างไรก็ตาม มีนักวิจารณ์กล่าวหาว่ามาร์ซูวคี เป็นแค่เบี้ยหมากของพรรคเอนนาห์ดา ที่มีคะแนนเป็นอันดับหนึ่งจากการเลือกตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 23 ต.ค. ที่ผ่านมา โดยได้ไป 89 ที่นั่ง ขณะที่มาร์ซูวคีนั้นมาจากพรรคสภาเพื่อสาธารณรัฐ (Congress Party for the Republic) ซึ่งได้คะแนนมาเป็นอันดับสอง พรรคนี้มีสัญลักษณ์เป็นแว่นตาสีแดงที่ได้แรงบันดาลใจมาจากแว่นสายตาของเขาเอง

มาร์ซูวคีได้รับเลือกให้เป็นประธานาธิบดีสองวันหลังจากที่สภาได้มีมติรับรองรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวทำให้ประเทศสามารถเลือกรัฐบาลใหม่ได้ การลงมติเกิดขึ้น 5 วันหลังจากที่มีการโต้เถียงกันอย่างโกลาหลโดยมีประชาชนหลายร้อยคนมาชุมนุมกันหน้าอาคารสภาตะโกนคำขวัญว่า "เสรีภาพและศักดิ์ศรี"



.