http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2554-12-31

การเมืองเรื่อง "ผ้าซิ่น" เจ้าดารารัศมีกับซิ่นตีนจก-ลุนตยา โดย เพ็ญสุภา สุขคตะ ใจอินทร์

.
มีโพสต์บทกวี - เพ็ญ ภัคตะ : ก้าวข้ามความกลัว

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * ** * * * * *


การเมืองเรื่อง "ผ้าซิ่น" เจ้าดารารัศมีกับซิ่นตีนจก-ลุนตยา
โดย เพ็ญสุภา สุขคตะ ใจอินทร์ คอลัมน์ ปริศนาโบราณคดี
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1637 หน้า 76


การเมืองเรื่อง "ผ้าซิ่น" เป็นของคู่กันกับ "ราชนารี" มาแต่ไหนแต่ไรแล้ว

ผ้าซิ่นผืนแรกในประวัติศาสตร์สยามที่สร้างความฮือฮา ปรากฏอยู่ในตำนานเรื่องพระนางจามเทวี ตอนที่พระนางเด็ดชายผ้าซิ่นป้ายเลือดประจำเดือนแล้วถักทอเป็นหมวก นำไปให้ขุนหลวงวิลังคะผู้ท้ารบ-ท้ารัก ด้วยมีจิตปฏิพัทธ์ต่อพระนางสวมใส่ก่อนที่จะพุ่งสะเหน้า (หอก) ครั้งที่สองจากดอยสุเทพให้ตกมายังนครหริภุญไชย

ผลก็คืออาคมไสยศาสตร์ของชายชาตรีที่เคยขมังเวทสามารถพุ่งสะเหน้าครั้งแรกตกลงมาปักเฉียดใจกลางเมืองลำพูน พลันเสื่อมเวทมนตร์ไปในบัดดล

เพราะผ้าซิ่นผืนนั้นแท้ๆ เทียว ที่ทำให้นครหริภุญไชยรอดพ้นจากปากเหยี่ยวปากกาของกองทัพพญาลัวะ

ในเมื่อผ้าซิ่นของแม่ญิงล้านนาได้กลายเป็นอาวุธสำคัญที่ใช้ประหัตประหารชายชาติอาชาไนยได้อย่างแสบสันต์ทั้งทางตรงและทางอ้อม เช่นนี้

แล้วเราจึงไม่ต้องแปลกใจว่า ทำไมหญิงเหล็กอย่าง ออง ซาน ซูจี จึงใส่แต่ผ้าซิ่นแพรปักลายดอกแบบพม่าร่วมสมัย หรือแม้แต่การตอกย้ำสายตระกูลผ่านผ้าไหมชินวัตรของนายกฯ หญิงก็ดี

แต่ทั้งหมดนั้น ยังไม่น่าสนใจเท่ากับผ้าซิ่นอีกผืนหนึ่งที่ช่วยซับคราบความอ้างว้างให้แก่เจ้าของผู้สวมใส่ ในยุคหัวเลี้ยวหัวต่อของการเมืองสยาม-พม่า-ล้านนา ย้อนหลังกลับไปหนึ่งศตวรรษเศษ


ผ้าซิ่นตีนจก
หัวใจของราชนารีล้านนา

นับแต่ปี 2429 ช่วงแรกที่พระชายา เจ้าดารารัศมี ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เข้ามาถวายตัวในราชสำนักสยาม ด้วยวัยเพียง 13-14 นั้น เป็นที่ทราบกันดีว่า "หญิงอึ่ง" ทรงภูษาภรณ์ด้วย "ผ้าซิ่นตีนจก" แบบชาวล้านนาเป็นกิจวัตร

ผ้าซิ่นตีนจกคืออะไร กล่าวให้ง่ายก็คือผ้าซิ่นที่ต่อเชิงล่างหรือส่วนที่เรียกว่า "ตีนซิ่น" ด้วยลวดลายที่เกิดจากการ "จก" เส้นด้ายขณะทอให้นูนเด่น เป็นกรรมวิธีที่ยุ่งยากซับซ้อนแต่ก็พิเศษสวยงามกว่าการทอผ้าพื้นธรรมดา

แหล่งทอผ้าซิ่นตีนจกที่ขึ้นชื่อว่าประณีตงดงามที่สุดยังตกค้างอยู่ที่อำเภอแม่แจ่ม เชียงใหม่ และแหล่งอื่นๆ กระจายตัวอยู่ที่ฮอด จอมทอง สันป่าตอง เชียงแสน ลำปาง แพร่ น่าน ฯลฯ

กล่าวกันว่าแม่ญิงล้านนาทุกคนใฝ่ฝันที่จะมีผ้าซิ่นตีนจกเป็นของตัวเองอย่างน้อยหนึ่งผืนในชีวิต เพื่อใช้ใส่ปีละ 2-3 หนเฉพาะงานบุญวันสำคัญ

และหากเป็นไปได้ในวันสิ้นลมนั้นขอให้ลูกหลานช่วยเอาผ้าซิ่นห่มคลุมร่างใส่ในโลงศพให้ด้วย เพื่อจะได้เอาไปถวายเป็นพุทธบูชาแด่พระธาตุเจดีย์จุฬามณีบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์

ส่วนในชีวิตประจำวันนั้นไม่ใช่ธรรมเนียมนิยมของพวกไพร่ที่จะมานุ่งผ้าซิ่นตีนจก สงวนไว้เป็นของสูงสำหรับเจ้าหญิงในราชสำนักเท่านั้น

ก็ไม่เห็นน่าแปลกตรงไหน หากพระชายาจะทรงสวมผ้าซิ่นตีนจกช่วงประทับที่วังหลวง สอดรับกับเจตจำนงที่ต้องการประกาศจุดยืนของความเป็นแม่ญิงล้านนาให้ใครๆ ได้รู้ได้เห็น

คงไม่แปลก ถ้าหากว่าพระชายาจะทรงสวมผ้าซิ่นตีนจกนั้นตลอดพระชนม์ชีพ หรือมาตรแม้นได้ผ่านชีวิตอยู่ในสยามมานาน หากจะทรงเปลี่ยนไปนุ่งผ้าโจงกระเบนแบบสาวชาวกรุงบ้างก็ไม่ถือว่าเสียหายตรงไหน เหตุเพราะวัฒนธรรมสามารถถ่ายเทอิทธิพลถึงกันได้ท่ามกลางสิ่งแวดล้อมรอบข้าง

แต่การณ์หาเป็นเช่นนั้นไม่ ยิ่งผ่านกาลเวลาเนิ่นนานวันมากเพียงไร นอกจากจะไม่ทรงสนพระทัยในภูษาภรณ์แบบราชนารีในภาคกลางแล้ว ยังทรงหันไปสวมผ้าซิ่นลุนตยาแบบพม่าอีกด้วย



ผ้าซิ่นลุนตยา
ราชธิดาบุญธรรมของควีนวิกตอเรีย ?

ผ้าลุนตยาเป็นชื่อเรียกย่อของคำว่า "ลุนตยาอะฉิก" ชาวพม่าออกเสียง "โลนตะหย่า" แปลว่า ร้อยกระสวย เนื่องจากเป็นผ้าทอเทคนิคพิเศษที่ต้องใช้กระสวยบรรจุเส้นไหมสีต่างๆ นับร้อยๆ กระสวย ส่วน "อะฉิก" แปลว่าลายคลื่น เรียกตามลวดลายลูกคลื่นที่ปรากฏบนผ้าทอ

ว่ากันว่า ลายลูกคลื่นนี้ไม่ใช่สักแต่ว่าประดิษฐ์ขึ้นให้มีความงามพลิ้วไหวเท่านั้น แต่ยังซ่อนสัญลักษณ์คติจักรวาลทางพุทธศาสนาอีกด้วย

เหตุเพราะลายลูกคลื่นนี้ทำซ้อนขดตัวกันถึงเจ็ดชั้นไล่โทนสีกันไป หมายถึงเขาสัตตบริภัณฑ์ทั้งเจ็ดที่ตั้งรายล้อมเขาพระสุเมรุอันเป็นแกนกลางของโลก

ภูเขาทั้งเจ็ดลูกนับจากชั้นในสุดออกมา กอปรด้วย ยุคันธร อิสินธร กรวิก สุทัสนะ เนมินธร วินันตะกะ อัสกัณณะ แต่ละช่วงภูเขาถูกคั่นด้วยมหานทีสีทันดร เกลียวคลื่นทะเลนี้ถ่ายทอดบนผืนผ้าด้วยลายโค้งมนตอนล่างรองรับเขาสัตตบริภัณฑ์ ซึ่งเวลาทอช่างต้องใช้ความพยายามอย่างยิ่งด้วยเทคนิคการล้วงแบบพิเศษ เพราะไม่ใช่ลายเรขาคณิตเหมือนผ้าทอประเภทอื่นๆ

ลุนตยาอะฉิกมาจากไหน เกี่ยวข้องอะไรกับเจ้าดารารัศมี?

ลุนตยาอะฉิกเป็นผ้าซิ่นของชาวพม่าที่ใช้กันแพร่หลายในราชสำนักอังวะมัณฑะเลย์ อมรปุระ ย่างกุ้ง และเมืองตองคยีแถบรัฐฉาน ถือเป็นผ้านุ่งและผ้าโจงของกษัตริย์พม่าแห่งราชวงศ์อลองพญาที่ใช้สืบต่อกันมาเป็นเวลาหลายร้อยปี

การที่พระชายาทรงเปลี่ยนจากการสวมภูษาแบบผ้าซิ่นตีนจก ไปเป็นผ้าซิ่นลุนตยาตามอย่างราชนารีพม่านั้น จึงมีนัยยะสำคัญชวนให้ขบคิดไม่น้อย

ผู้เชี่ยวชาญเรื่องผ้าบางคนมองว่าไม่มีอะไรในกอไผ่ เหตุเพราะผ้าลุนตยานั้นได้แพร่หลายและเป็นที่รู้จักกันดีอยู่แล้วในล้านนา ซึ่งเป็นดินแดนที่มีวัฒนธรรมผสมผสานของชนเผ่าหลากหลายชาติพันธุ์ หนึ่งในนั้นก็มีพวกพม่าไทใหญ่เข้ามาอาศัยปะปนอยู่จำนวนมาก

ฉะนั้น การที่เจ้าดารารัศมีทรงสนพระทัยในผ้าซิ่นลุนตยาอะฉิกก็เป็นเพียงรสนิยมส่วนพระองค์ที่ต้องการเปลี่ยนแปลงบรรยากาศเดิมๆ ให้พ้นไปจากผ้าซิ่นตีนจกบ้าง

หากแต่นักประวัติศาสตร์ที่สนใจเรื่องการเมืองสยาม-ล้านนา-พม่า ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสมัยรัชกาลที่ 4-5-6 นั้น ย่อมมองทะลุไปถึงนัยยะแห่งผ้าซิ่นลุนตยานั้นได้ชัดว่า มีวาระซ่อนเร้นทางเมืองแฝงอยู่อย่างไม่ต้องสงสัย

เหตุเพราะที่เชียงใหม่ไม่เคยมีเจ้านายฝ่ายเหนือพระองค์ใดทรงภูษาผ้าซิ่นลุนตยาอย่างราชนารีพม่ามาก่อน แม้จะเป็นรัฐบ้านใกล้เรือนเคียงกัน แต่ราชนารีล้านนาก็พยายามรักษาอัตลักษณ์ของตนไว้ด้วยการสวมผ้าซิ่นตีนจกมาตลอด

จึงไม่ควรมองว่าการสวมผ้าซิ่นลุนตยาของเจ้าดารารัศมีนั้นเป็นเรื่องสามัญ ยิ่งการที่พระองค์อาจหาญสวมใส่ขณะอยู่ท่ามกลางราชสำนักสยาม ผู้เป็นศัตรูคู่อาฆาตกับพม่าชั่วนิรันดร์กาล ย่อมยิ่งถือว่าเป็นเรื่องไม่สามัญอย่างยิ่ง


ผ้าซิ่นลุนตยาผืนนั้นมีอะไรพิเศษล่ะหรือ

แน่นอนทีเดียว หากเราวิเคราะห์การเมืองในสมัยรัชกาลที่ 5 ระหว่างการต่อสู้ของสยาม ที่กำลังชิงไหวชิงพริบกับพม่า ทั้งสยามและพม่าต่างจ้องตะครุบยื้อแย่ง "ล้านนา" มาเป็นส่วนหนึ่งของแคว้นตนในฐานะรัฐกันชน เพื่อปกป้องการรุกล้ำมาของอีกฝ่ายหนึ่ง

สถานะของล้านนาขณะนั้นอ่อนไหวเปราะบางยิ่งนัก ไม่มีหนทางอื่นใดเลยหรือที่จะสามารถไถ่ตนให้เป็นประเทศอิสระโดยไม่ต้องขึ้นอยู่กับฝ่ายใดทั้งสิ้น ฤๅความฝันนั้นดับสูญมานานแล้วตั้งแต่ถูกพระเจ้าบุเรงนองยึดครอง หลังจากนั้น ล้านนาก็อยู่ในสภาวะที่ถูกบีบให้เลือกข้างมาโดยตลอด ต้องช่างน้ำหนักว่าจะเอาพม่าหรือจะเอาสยาม

แม้สถานะของเจ้าดารารัศมีเปรียบเสมือนดั่ง "จำเลยรัก" ที่ทางสยามพยายามทอดสายสัมพันธ์ผูกมัดล้านนามิให้แปรพักตร์ไปเป็นอื่น

แต่ทางล้านนาเองก็ยังอดไม่ได้ที่จะมีความหวัง โหยหาช่องทางหลุดพ้นจากสภาพความเป็นเมืองขึ้นไม่ว่าของฝ่ายใด

หรือว่าบางทีการตัดสินใจอยู่ข้างพม่าซึ่งกำลังตกเป็นอาณานิคมของเครือจักรภพอังกฤษนั้น อาจเป็นอีกหนทางหนึ่งที่ช่วยให้ล้านนาสลัดโซ่ตรวนจากรัฐประเทศราชของสยาม แม้นอนาคตยังต้องสุ่มเสี่ยงชนิดไม่รู้หัวรู้ก้อยว่า หากอังกฤษคืนอิสรภาพให้แก่แว่นแคว้นต่างๆ แล้ว ล้านนาจะได้รับการประกาศเอกราชตามมาด้วยหรือไม่

หรือว่าในท้ายที่สุดแล้วก็ต้องกลายเป็นส่วนหนึ่งของพม่า (ดังเช่น รัฐมอญ กะเหรี่ยง ไทใหญ่ ที่เราเห็นในยุคต่อมา)


ข่าวลือเรื่องพระบรมราชินีนาถวิกตอเรียแห่งอังกฤษ ส่งทูตมาเจรจากับพระเจ้าอินทวิชยานนท์ กษัตริย์เชียงใหม่ เพื่อขอเจ้าดารารัศมีไปเป็นพระราชธิดาบุญธรรมและสถาปนาให้เป็น "เจ้านายเชื้อพระราชวงศ์อังกฤษ" ในฐานะ "ปริ๊นเซสออฟเชียงใหม่" ทายาทเจ้านครสตรีแห่งราชวงศ์วินเซอร์นั้น ไม่ว่าจริงหรือเท็จประการใด แต่ก็สามารถเขย่าบัลลังก์ให้ราชสำนักสยามเกิดอาการอกสั่นขวัญแขวน

สิ่งที่ชวนให้น่าขบคิดยิ่งไปกว่านั้นคือ ช่วงบั้นปลายชีวิตในวังหลวง นอกจากจะทรงโปรดปรานผ้าซิ่นลุนตยาอย่างมากแล้ว เจ้าดารารัศมียังได้ประดิษฐ์คิดค้น นำเอาลายตีนจกที่เป็นอัตลักษณ์ของล้านนามาต่อเป็นเชิงล่างที่ตีนซิ่นของผ้าลุนตยานั้นอีกชั้นหนึ่ง

โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายหลังจากเหตุการณ์สิ้นพระชนม์ของพระองค์เจ้าวิมลนาคนพีสี พระธิดาเพียงองค์เดียวของเจ้าดารารัศมีกับสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง จากเสียงซุบซิบเย้ยหยันกันให้แซ่ดทั่ววังหลวงว่าเจ้าหญิงน้อยวัยสามขวบถูกมือดีวางยาเบื่อ ยิ่งสร้างความเจ็บช้ำน้ำใจให้แก่เจ้าดารารัศมีอย่างสุดคณานับ


แม้ไม่มีหลักฐานบันทึกความในใจว่าเจ้าดารารัศมีต้องการสื่ออะไรบางอย่างถึงคนในราชสำนักสยามบ้างหรือไม่ก็ตาม แต่นักประวัติศาสตร์ท้องถิ่นล้านนารุ่นหลังๆ ตีความได้ว่า มูลเหตุแห่งการที่นำตีนจกมาต่อจากซิ่นลุนตยาของพม่านั้น มีนัยแฝงให้ชาวสยามพึงสำเหนียกว่า

หากสยามยังคงเดินหน้าเหยียบย่ำน้ำใจรังแกให้ล้านนาชอกช้ำมากไปกว่านี้ ล้านนาก็พร้อมที่จะเข้าหาพม่าหรืออังกฤษได้ทุกเมื่อ

พูดถึงบรรทัดนี้แล้วชวนให้นึกถึงผ้าซิ่นของ ออง ซาน ซูจี ที่กระชับจับมือมั่นกับผ้าไหมชินวัตรของนารีทั้งสองเมืองขึ้นมาอย่างตงิดๆ



++

เพ็ญ ภัคตะ : ก้าวข้ามความกลัว
ใน www.prachatai.com/journal/2011/12/38521 . . Thu, 2011-12-29 00:34


ก้าวให้พ้นความกลัวคอยกักขัง

ก้าวให้พ้นความชังคอยข่มเหง

ก้าวให้พ้นอำนาจเฝ้ายำเยง

เธอจักไม่วังเวงเคว้งวิญญาณ์


ออกคำสั่งหัวใจให้องอาจ

พายุฟาดพินาศฝันยังฟันฝ่า

อุปสรรคหนักแสนเท่าแผ่นฟ้า

ดั่งทายท้าดวงหทัยเอนไหวโอน


ก้าวให้พ้นความเกลียดความเคียดแค้น

ก้าวให้พ้นอ้อมแขนถอดหัวโขน

ก้าวให้พ้นมารยาทแสร้งอ่อนโยน

มากระโจน! เปิดใจใกล้ความจริง


เขาเป็นเพียงมรดกจากอดีต

ที่จารีตหลอมปรุงจนรุ่งริ่ง

ผิดกาละเทศะต้องละทิ้ง

หาใช่หิ้งบูชามหาชน


ก้าวให้พ้นค่านิยมสังคมหยาม

ก้าวให้พ้นคำนิยามอย่าสับสน

ก้าวให้พ้นภักดีก้าวให้พ้น

อย่าจำนนยอมเป็นทาสประกาศไท


มนุษย์มีศักดิ์ศรีแห่งมนุษย์

ตาชั่งฉุดยุติธรรมโลกร่ำไห้

รังแกคนจนแต้มแถมจนใจ

หลงกราบไหว้สิ่งสมมติดุจเทวดา


ก้าวให้พ้นมนต์มารหนึ่งหนึ่งสอง

ก้าวให้พ้นครรลองต้องหาญกล้า

ก้าวให้พ้นเพื่อไทยเพื่อประชา

ก้าวให้พ้นปีหน้า... รากหญ้าเอง



.