http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2554-12-30

นโยบาย"เร่งด่วน"ฯ ยกร่าง รธน.ใหม่ใน 1 ปี, "สื่อ"ไทยๆ กับ"ฝักฝ่ายทางการเมือง"

.
รายงานพิเศษ 3 - เปิดเรดแม็ป 2555 ภารกิจ 'คนเสื้อแดง' แก้ รธน.50-แรงฤทธิ์ 'ไพร่-อำมาตย์' ยังระอุ
รายงานพิเศษ 4 - "พล.อ.เสถียร เพิ่มทองอินทร์" ปลัด กห. ชิวชิว "เจ๊ดัน" สู่ดวงดาว กับเรื่องสีแดง และ ม.สระเอีย

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -


นโยบาย "เร่งด่วน" รัฐบาล จะยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ภายใน 1 ปี ประกาศเดือนสิงหาคม 2554
รายงานพิเศษ ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1637 หน้า 8


ไม่ว่าจะเป็น พรรคประชาธิปัตย์ ไม่ว่าจะเป็น พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มการเมืองที่มีส่วนในการยกร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550

หากได้ฟังการแถลงนโยบายของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ต่อรัฐสภา

โดยเฉพาะนโยบายเร่งด่วนที่จะเริ่มดำเนินการในปีแรก คือ ปีแรกจากเดือนสิงหาคม 2554 ถึงเดือนสิงหาคม 2555

ข้อ 1.16 บอกไว้อย่างเด่นชัดยิ่ง

"เร่งรัดและผลักดันการปฏิรูปการเมืองที่ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวาง โดยมีสภาร่างรัฐธรรมนูญที่เป็นอิสระ ยกร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ เพื่อวางกลไกการใช้อำนาจอธิปไตยที่ยึดหลักนิติธรรม และองค์กรที่ใช้อำนาจรัฐที่มีความรับผิดชอบต่อประชาชนและพร้อมรับการตรวจสอบ

ทั้งนี้ ให้ประชาชนเห็นชอบผ่านการออกเสียงประชามติ"

เป็นความแจ่มชัดอันไม่เพียงผ่านการรองรับจาก 2 วันที่รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แถลงนโยบายต่อรัฐสภา

อันเป็นจุดเริ่มต้นการบริหารราชการแผ่นดินเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2554



เป็นความแจ่มชัดว่ากระบวนการ "เร่งรัดและผลักดันการปฏิรูปการเมือง" โดยถือเอารัฐธรรมนูญเป็นเป้าหมายนี้

มิได้เป็นการแก้ไขในแบบปะผุ

ตรงกันข้าม เป็นการเร่งรัดและผลักดันการปฏิรูปการเมืองบนพื้นฐาน "ที่ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวาง"

ผ่าน "สภาร่างรัฐธรรมนูญ" ที่เป็นอิสระ

ยกร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ เพื่อวางกลไกการใช้อำนาจอธิปไตยที่ยึดหลักนิติธรรม และองค์กรที่ใช้อำนาจรัฐที่มีความรับผิดชอบต่อประชาชนและพร้อมรับการตรวจสอบ

ประการสำคัญคือ ในที่สุด ต้องผ่านการเห็นชอบของประชาชนโดย "ประชามติ"

คำแถลงต่อรัฐสภาเมื่อเดือนสิงหาคม 2554 ของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เช่นนี้จึงเป็นยิ่งกว่า "สัญญาประชาคม"

หากแต่ต้องลงมือปฏิบัติภายใต้กรอบเวลา 1 ปี

จึงถูกต้องแล้วที่พรรคเพื่อไทยจักลังเลไม่ได้ จึงถูกต้องแล้วที่ที่ประชุมคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) จักต้องมีมติออกมาอย่างเด่นชัดว่าจะขับเคลื่อนเรื่องนี้อย่างไร

ต้องเป็นเรื่องของรัฐบาลอันมีพื้นฐานจากพรรคเพื่อไทย พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดิน พรรคพลังชล พรรคมหาชน

บิดเบี้ยวแลเฉไฉไม่ได้



ที่สำคัญยิ่งกว่านั้น นโยบายรัฐบาลอันได้รับการจัดให้เป็น "นโยบายเร่งด่วนที่จะเริ่มดำเนินการในปีแรก" นี้ ก็มิได้เริ่มจากเจตจำนงอันว่างเปล่า

จุดสำคัญเป็นอย่างมาก คือ คำประกาศระหว่างหาเสียงของพรรคเพื่อไทย

ทั้ง ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง และ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ประกาศทุกเวทีว่า 1 จะเอา พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร กลับบ้าน 1 จะแก้รัฐธรรมนูญอันเป็นมรดกจากขบวนการรัฐประหาร 2549

กระทั่งประชาชนลงคะแนนให้กว่า 15 ล้านเสียง

ชัยชนะอย่างถล่มทลายเหนือพรรคประชาธิปัตย์ได้มาจากคำประกาศต่อประชาชนใน 2 ประเด็นนี้เป็นหลัก

อย่าลืม



++

จากปี 2554 สู่ปี 2555 บทบาทของ "สื่อ" แบบไทยๆ กับ "ฝักฝ่ายทางการเมือง"
โดย แมลงวันในไร่ส้ม
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1637 หน้า 78


ปี 2554 กำลังจะผ่านไป ถือว่าเป็นปีที่เต็มไปด้วยเหตุการณ์และข่าวสารที่ร้อนแรง -ขณะที่บทบาทของสื่อก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง

ต้นปี 2554 ยังเป็นเวลาของรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งผ่านปี 2553 มาได้แบบต้องระดมตัวช่วยมาอุ้มไว้

ในวาระปีใหม่ 2554 ผู้สื่อข่าวทำเนียบตั้งฉายารัฐบาลอภิสิทธิ์ว่า เป็น "รัฐบาลรอดฉุกเฉิน" ที่คอลัมนิสต์ไต้ฝุ่นแห่งไทยรัฐ ตั้งข้อสังเกตว่า ฟังแล้วยังเป็นบวก เช่นเดียวกับ "กระโจมไฟ" แห่งเดลินิวส์ ชี้ว่า เบาไป

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯ ขณะนั้น ได้ฉายา "ซีมาร์คโลชั่น" นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯ ได้ฉายา "ทศกัณฐ์กรำศึก" ที่เจ้าตัวเองพอใจกับฉายาแบบเบาะๆ

นายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง "โย่งคาเฟ่" นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รมต.ประจำสำนักนายกฯ ได้ฉายา "กริ๊ง...สิงสื่อ"

ขณะที่สถานการณ์จริง รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ เข้าสู่ปี 2554 ได้เผชิญกับกระแสวิพากษ์วิจารณ์ และทวงถามการสอบสวนกรณีสลายม็อบ 91 ศพ อย่างดุเดือดร้อนแรง

รัฐมนตรีต่างประเทศญี่ปุ่น เดินทางมาวางหรีดและโค้งคำนับสถานที่เกิดเหตุช่างภาพรอยเตอร์ชาวญี่ปุ่น ส่งทูต และเจ้าหน้าที่ทูตมาติดตามความคืบหน้าอีกหลายครั้ง แต่ไม่เกิดอะไรขึ้น

ในงานวันสตรีสากล เดือนมีนาคม 2554 น.ส.จิตรา คชเดช ผู้นำแรงงาน ได้เขียนป้ายกระดาษ "ดีแต่พูด" ยกชูในงานที่นายอภิสิทธิ์รับเชิญไปปาฐกถา

"ดีแต่พูด" กลายเป็นวาทะติดตลาด ทำให้ฝ่ายสนับสนุนรัฐบาลขณะนั้น พยายามคิดค้นข้อความมาตอบโต้เป็นพัลวัน



วันที่ 9 พฤษภาคมมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ พระราชกฤษฎีกายุบสภา มีผลบังคับใช้ในวันที่ 10 พฤษภาคม กำหนดเลือกตั้งทั่วไป 3 กรกฎาคม 2554

นายอภิสิทธิ์ แถลงผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย โดยทิ้งท้ายว่า "เชื่อมั่นในการตัดสินใจของประชาชนในการเลือกตั้งครั้งนี้"

ไฮไลต์ของการเลือกตั้ง คือการที่พรรคเพื่อไทย ประกาศเปิดตัว น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร น้องสาว พ.ต.ท.ทักษิณ ลงชิงเก้าอี้นายกรัฐมนตรี โดยสมัคร ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์อันดับ 1 ท่ามกลางกระแสตอบรับ

คู่ต่อสู้ของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ คือนายอภิสิทธิ์ ที่ลงป้องกันตำแหน่งแชมป์ ในสภาพที่มีสื่อบางกลุ่มโอบอุ้ม

ระหว่างการหาเสียงเลือกตั้ง เว็บไซต์แห่งหนึ่งได้เผยแพร่อีเมลของผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย อ้างว่าได้ทำหน้าที่ดูแลสื่อให้เสนอข่าว น.ส.ยิ่งลักษณ์

สภาการหนังสือพิมพ์ฯ หยิบยกเรื่องนี้ขึ้นพิจารณา ตั้งอนุกรรมการขึ้นสอบสวน ก่อนจะสรุปว่า ผู้มีชื่อเกี่ยวข้องในอีเมล ไม่มีพฤติกรรมรับสินบน

แต่ที่งอกขึ้นมานอกเหนือจากอีเมล อนุกรรมการได้เพิ่มประเด็นสอบหนังสือพิมพ์ 5 ฉบับ แล้วสรุปว่า ข่าวสด และมติชน "น่าจะมีความเอนเอียงในการก่อให้เกิดประโยชน์แก่พรรคเพื่อไทยอย่างเป็นระบบ"

มติชน ข่าวสด ออกแถลงการณ์ตอบโต้ ไม่ยอมรับผลการสอบดังกล่าว และถอนตัวจากสภาการหนังสือพิมพ์ฯ ในวันที่ 7 กันยายน ต่อมาวันที่ 20 กันยายน "ข่าวหุ้น" รายวัน ได้ถอนตัวอีกฉบับ

นับเป็นกรณีที่ก่อให้เกิดวิวาทะตามมาอย่างกว้างขวาง



ผลการเลือกตั้ง 3 กรกฎาคม พรรคเพื่อไทยชนะถล่มทลายด้วยจำนวนเสียง 265 ประชาธิปัตย์ 159 เสียง

ทำให้การเมืองไทยเปลี่ยนแปลง มีนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์ ตั้งรัฐบาลผสม 4 พรรค

ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ปฏิบัติการ "รับน้อง" ใหม่ ผ่านทางพื้นที่สื่อต่างๆ รวมถึงในโซเชี่ยลมีเดีย ก็เกิดขึ้น

ด้วยการเปิดประเด็น "โง่" "หุ่นเชิด" "ไม่เก่งภาษาอังกฤษ" และเป็น "มือใหม่" ไม่เข้าใจประเพณีการเมือง

"เว่อร์" จากการใส่รองเท้าบู๊ตแบรนด์เนมลุยน้ำท่วม, สั่งอาหารกินในทำเนียบมื้อละสองแสน ยืนบนธงชาติ และ "ลายมือไม่สวย"

บทบาทของสื่อทีวีในการตั้งคำถาม สร้างความไม่พอใจให้กับคนเสื้อแดง จนเกิดกรณีแจ้งความระหว่างนักข่าวช่อง 7 กับแกนนำเสื้อแดงเพชรบุรี และองค์กรสื่อได้ออกมาเรียกร้องให้เคารพในเสรีภาพของนักข่าว


โรเบิร์ต อัมสเตอร์ดัม ทนายความของ พ.ต.ท.ทักษิณ ได้เขียนบทความเรื่อง "ท่าทีต่อศีลธรรมและการผลิตนิทานปรัมปราของสื่อมวลชนไทย" ออกเผยแพร่ในห้วงเดือนกันยายน 2554

สาระสำคัญวิจารณ์ท่าทีสื่อไทยที่แยกไม่ออกจากท่าทีสนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์ โดยนิ่งเฉยต่อการเสียชีวิตของผู้ชุมนุมเสื้อแดง

สร้างกระแสเรื่องคุณธรรมที่สูงเกินจริง โดยป้ายสีคนเสื้อแดง ซึ่งอัมสเตอร์ดัมเห็นว่า เป็นภาคประชาชนที่กล้าหาญที่สุดกลุ่มหนึ่ง ว่าเป็นสัญลักษณ์ของจิตใจที่คับแคบ

อัมสเตอร์ดัมระบุว่า สื่อใหญ่ 2 เครือเป็นผู้นำในเรื่องนี้ พร้อมกับชี้ว่า ท่าทีเกี่ยวกับเรื่องศีลธรรมจอมปลอมของกลุ่มสื่อชั้นนำในประเทศไทย ไม่ได้เกิดขึ้นอย่างกะทันหัน

แต่เป็นการผลิตนิทานเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับการใช้ความรุนแรงต่อคนเสื้อแดงในปี 2553

เมื่อครั้งที่รัฐบาลเก่าปิดวิทยุชุมชน จำคุกนักโทษการเมือง สั่งใช้อาวุธกับผู้ชุมนุม พวกกลุ่ม "เอ็นจีโอ" เหล่านี้ไม่พูดอะไรแม้แต่นิดเดียว

อัมสเตอร์ดัมระบุว่า การที่คนกลุ่มนี้เคลื่อนไหวปกป้องผู้สื่อข่าวช่อง 7 จึงเป็นความเสแสร้ง และฉกฉวยโอกาส

พร้อมกับชี้ว่า สื่อไทยกำลังถูกท้าทายอย่างล้ำลึก ในการทำหน้าที่อำนวยความสะดวกให้กับการกระทำผิด และทำให้ผู้กระทำผิดรู้สึกสบายใจ

หากตัดสินจากวันแรกๆ ที่พรรคประชาธิปัตย์เป็นฝ่ายค้าน สื่อมวลชนมีแนวโน้มสนใจ "โครงเรื่อง" ในจินตนาการที่เน้นความรุนแรงของเสื้อแดงอย่างขาดความเชื่อมโยง และไม่สมเหตุสมผล

"และเพิกเฉยต่อเรื่องราวสำคัญคือการที่ประเทศจะกลับไปสู่ยุคที่ปกครองโดยรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน" ทนายของ พ.ต.ท.ทักษิณ ระบุ



เมื่อเกิดมหาอุทกภัยท่วมภาคกลางและกรุงเทพฯ ระหว่างเดือนตุลาคมและพฤศจิกายน สื่อต่างๆ ก็มีบทบาทอย่างสูง

ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลเพื่อไทย ได้โหมกระแสโจมตีรัฐบาลอย่างหนักผ่านสื่อต่างๆ ทั้งหนังสือพิมพ์และอินเตอร์เน็ต พร้อมกับเชิดชูบทบาทของกองทัพไปพร้อมกัน

ขณะที่พรรคฝ่ายค้านได้ "ฟันธง" ว่า หลังน้ำท่วมจะเกิด "จลาจล" เพราะการบริหารจัดการปัญหาของรัฐบาลล้มเหลว

ท่ามกลาง "กองแช่ง" รัฐบาลพรรคเพื่อไทยก็ผ่านวิกฤตไปจนได้ และน่าสังเกตว่า ประเทศต่างๆ ได้ยื่นมือเสนอให้ความช่วยเหลืออย่างคึกคัก

กระแสข่าวสารปลายปี 2554 ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของระเบิดป่วน และวิวาทะเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ รวมถึงกระแสต้านรัฐบาลที่แสดงออกผ่านสื่อต่างๆ

ถือเป็นสัญญาณเตือนว่า ปี 2555 จะเป็นอีกปีที่ท้าทายการทำงานของสื่อต่างๆ

ว่าจะทำหน้าที่ เสนอข่าวได้อย่างเป็นกลาง โดยปราศจากอคติ เป็นที่พึ่งพาในด้านข่าวสารข้อมูล สำหรับประชาชนทุกกลุ่มทุกฝ่าย ได้มากกว่าที่ผ่านๆ มาหรือไม่



++

เปิดเรดแม็ป 2555 ภารกิจ 'คนเสื้อแดง' แก้ รธน.50-แรงฤทธิ์ 'ไพร่-อำมาตย์' ยังระอุ
คอลัมน์ ในประเทศ
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1637 หน้า 10


กรณีศาลอุทธรณ์มีคำสั่งปล่อยตัวชั่วคราว นายอริสมันต์ พงษ์เรืองรอง จำเลยคดีร่วมกันก่อการร้าย

หลังเดินทางเข้ามอบตัวต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เมื่อวันที่ 7 ธันวาคมที่ผ่านมา และยื่นขอประตัวชั้นพนักงานสอบสวนและชั้นศาลมาแล้ว 2 ครั้ง

น่าจะเป็นสัญญาณดีส่งท้ายปี 2554 ของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) หรือคนเสื้อแดง

โดยเฉพาะช่วงครึ่งปีหลัง จากที่พรรคเพื่อไทยชนะเลือกตั้ง 3 กรกฎาคม สถานการณ์คนเสื้อแดงก็แตกต่างลิบลับ หากเปรียบเทียบกับเมื่อปี 2553 และต้นปี 2554 ในยุครัฐบาลประชาธิปัตย์

และทันทีที่พรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาล แกนนำคนเสื้อแดงและแนวร่วมที่เคยหลบหนีหัวซุกหัวซุนหลังเหตุการณ์ 19 พฤษภาคม 2553 ต่างตัดสินใจทยอยเข้ามอบตัวกับทางการ

จากรายงานของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบ และค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ฉบับที่ 2 เสนอต่อรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2554

สรุปจำนวนผู้ต้องขังคดีความผิดต่อ พ.ร.ก.การบริหาราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ถึงวันที่ 22 กรกฎาคม 2554 มีทั้งสิ้น 105 คน

ก่อนหน้ากรณีนายอริสมันต์ หลายคนได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว จำนวนหนึ่งได้รับพระราชทานอภัยโทษ รวมถึงหลายคดีที่ศาลมีคำพิพากษาไปแล้ว และจำนวนไม่น้อยที่ศาลมีคำสั่งยกฟ้อง ได้รับอิสรภาพอย่างถาวร

นางธิดา โตจิราการ ประธาน นปช. เผยว่า จากการสำรวจรายชื่อผู้ถูกคุมขังจากเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองหลังบางส่วนได้รับการพระราชทานอภัยโทษแล้ว

มีจำนวนคงเหลือทั้งสิ้น 72 คน


นอกจากนี้สิ่งที่แกนนำ นปช. เคลื่อนไหวมาตลอดนับตั้งแต่ได้รัฐบาลชุดใหม่ และสอดคล้องกับข้อเสนอแนะปรองดองของ คอป. เกี่ยวกับการคุมขังนักโทษคดีการเมือง คือ

"ดำเนินการอย่างจริงจังเพื่อให้มีการปล่อยตัวชั่วคราวอันเป็นสิทธิพื้นฐานของผู้ต้องหาและจำเลย เพื่อให้สามารถต่อสู้คดีพิสูจน์ความบริสุทธิ์ รัฐบาลควรจัดหาหลักประกันให้ผู้ต้องหาและจำเลยทุกคนที่ไม่สามารถจัดหาหลักประกันได้

อนึ่ง พึงตระหนักว่าการถูกข้อหาร้ายแรงนั้น ไม่ใช่ข้ออ้างที่จะไม่อนุญาตให้มีการปล่อยตัวชั่วคราว

และเนื่องจากผู้ต้องหาและจำเลย มิใช่เป็นผู้ร้ายหรืออาชญากรดังเช่นในคดีอาญาตามปกติ แต่เป็นผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดอันมีมูลเหตุทางการเมือง

หากไม่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว รัฐบาลสมควรจัดหาสถานที่ควบคุมที่เหมาะสม ที่มิใช่เรือนจำปกติเป็นสถานที่ควบคุมตัวผู้ต้องหาหรือจำเลย ดังเช่นที่เคยใช้กับนักโทษทางการเมืองในอดีต?

ถัดมาไม่กี่วัน รัฐบาลโดยกระทรวงยุติธรรมได้ทำตามข้อเสนอของ คอป. ด้วยการปรับปรุงเรือนจำชั่วคราวหลักสี่ สถานควบคุมพิเศษกองบัญชาการตำรวจสันติบาลในการควบคุมผู้ต้องขังคดีการเมือง

ปัจจุบันทีมกฎหมายกรมราชทัณฑ์อยู่ระหว่างร่างหลักเกณฑ์ ให้ผู้ต้องขังคดีอาญาทั้งความผิดวางเพลิง เผาทรัพย์ ก่อการร้าย หรือคดีอื่นที่มีมูลเหตุจูงใจในการกระทำผิดมาจากเรื่องการเมือง

เข้าข่ายเป็นนักโทษการเมืองที่จะได้แยกขังที่เรือนจำชั่วคราวหลักสี่ ซึ่งมีประมาณ 50 คน ส่วนการย้ายตัวผู้ต้องขังคาดว่าจะดำเนินการได้ไม่เกินเดือนกุมภาพันธ์ 2555


นอกจากการเดินหน้าทวงถามอิสรภาพให้คนเสื้อแดงในเรือนจำ

ที่คนเสื้อแดงยังต้องติดตามชนิดห้ามคลาดสายตาคือ คดี 91 ศพจากเหตุการณ์เดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553

ถึงแม้คดี 91 ศพจะยังห่างไกลจากฉากสุดท้ายในการนำตัวผู้สั่งการเข่นฆ่าประชาชนมารับโทษทัณฑ์ตามกฎหมาย

แต่จากความคืบหน้าคดีชันสูตรพลิกศพ 16 ศพ ซึ่งรวมถึง 6 ศพในวัดปทุมวนาราม และ นายฮิโรยูกิ มูราโมโตะ ช่างภาพรอยเตอร์ชาวญี่ปุ่น

ซึ่งมีการเรียกตัว นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกฯ และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกฯ และ ผอ.ศอฉ. มาให้การต่อพนักงานสอบสวน

ก่อนที่พนักงานสอบสวนจะสรุปสำนวนส่งอัยการครบทั้ง 16 คดี และคาดว่าอัยการจะนำส่งต่อศาลเพื่อเปิดการไต่สวนภายในเดือนมกราคม 2555 นี้ ก็ถือเป็นฉากแรกที่น่าพึงพอใจ

คดีการตายของ พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล หรือ เสธ.แดง และคดี นายฟาบิโอ โปเลงกี ช่างภาพชาวอิตาลี ก็กำลังเข้าสู่กระบวนการดังกล่าวเช่นกัน

ถ้าเทียบกับอายุความ 20 ปีแล้ว วันเวลา 1 ปี 8 เดือนจากปี 2553 ถึงปี 2555 อาจเรียกได้ว่าเป็นช่วงเวลาที่งานเลี้ยงเพิ่งเริ่มต้นเท่านั้น



ในการแถลงข่าวนัดสุดท้ายปี 2554

นางธิดา โตจิราการ ประธาน นปช. เปิดเผยถึง โรดแม็ป การต่อสู้ของ นปช. แดงทั้งแผ่นดินในปี 2555

1.การรณรงค์ให้รัฐบาลยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ผลผลิตของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) และเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ฉบับประชาชนที่เป็นประชาธิปไตยขึ้นมาแทน รวมทั้งลบล้างกฎหมายที่ไม่เป็นธรรม

2.ยุติการรัฐประหารทุกรูปแบบให้หมดจากประเทศไทย นอกจากนี้จะดำเนินการจัดตั้งโรงเรียนนิติรัฐ-นิติธรรมแห่งประเทศไทยขึ้นมา เพื่อให้ประชาชนเรียนรู้ประชาธิปไตยมากขึ้น

ส่วนการแก้กฎหมายอาญามาตรา 112 ยังเป็นทางคณะนิติราษฎร์เป็นหัวหอกในการแก้ไข?

ขณะเดียวกันข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลให้เร่งเยียวยา?คนทุกสี ซึ่งไม่ใช่แค่ผู้บาดเจ็บ เสียชีวิต แต่ต้องรวมถึงกลุ่มผู้ถูกจับไปขังแล้วศาลยกฟ้องภายหลังก็ต้องได้รับการชดเชย ยังต้องดำเนินต่อไปในปี 2555

ต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ นปช. มีเป้าหมายรณรงค์และแจกจ่ายหนังสือลงชื่อแสดงพลัง สนับสนุนให้รัฐบาลเร่งแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2550 โดยตั้งเป้าไม่เกินกลางเดือนมกราคม 2555 จะได้ครบอย่างน้อย 50,000 รายชื่อ หรืออาจจะมากถึง 200,000-300,000 แสนรายชื่อ

สำหรับหมู่บ้านเสื้อแดงที่ขยายตัวเติบโตอย่างรวดเร็วในปี 2554 มีความเป็นไปได้ว่าในปี 2555 อาจพัฒนาขึ้นเป็นตำบลเสื้อแดง หรืออำเภอเสื้อแดง


อย่างไรก็ตาม แกนนำ นปช. นายจตุพร พรหมพันธุ์ ซึ่งอยู่ระหว่างรอกระบวนการศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยชี้ขาดว่าจะต้องขาดจากสมาชิกภาพการเป็น ส.ส. ตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ส่งเรื่องมาหรือไม่

ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ข่าวสด โดยยังปักใจเชื่อว่ากลุ่มอำมาตย์หรือกลไกพรรคการเมืองที่เป็นของอำมาตย์ ไม่มีทางรอให้รัฐบาลชุดนี้ทำงานครบ 4 ปี เพื่อเลือกตั้งครั้งหน้าแล้วหวังจะได้รับชัยชนะ

เนื่องจากคนกลุ่มนี้เชื่อว่ายิ่งให้รัฐบาลยิ่งลักษณ์บริหารประเทศนานเท่าไหร่ จะไม่เป็นผลดีต่อการทวงคืนอำนาจเท่านั้น

เพราะเคยมีบทเรียนมาแล้วจากการปล่อยให้รัฐบาลทักษิณอยู่บริหารประเทศนานถึง 6 ปีเต็ม ทำให้ไม่สามารถขุดรากถอนโคนได้จนถึงตอนนี้ จึงต้องรีบลงมือเช่นที่ทำกับรัฐบาลสมัครและรัฐบาลสมชาย

โดยมีกลุ่มม็อบในเครือข่ายทำหน้าที่เปิดประตู ส่วนของจริงจะใช้วิธีเหมือนกับการโค่นล้มรัฐบาล 3 ครั้งที่ผ่านมา

กระบวนการล้มรัฐบาลมีอยู่จริง แต่ให้รู้ด้วยว่าคุณจะเจอการต่อต้านชนิดที่ไม่เคยเจอมาก่อน นายจตุพรประกาศภารกิจคนเสื้อแดงที่พร้อมทำหน้าที่องครักษ์พิทักษ์รัฐบาล แต่อยู่บนเงื่อนไขที่ว่า

พรรคเพื่อไทยสมัครรับเลือกตั้ง คนเสื้อแดงเป็นผู้สนับสนุน ดังนั้น ข้อเรียกร้องของคนเสื้อแดง อะไรที่ทำได้ แม้บางเรื่องไม่ง่ายนัก แต่รัฐบาลต้องแสดงถึงความพยายาม ไม่ใช่ละเลย

เพราะกว่าจะได้เป็นรัฐบาลต้องแลกมาด้วยเลือดเนื้อ คราบน้ำตาประชาชนและชีวิต 91 ศพ สูญสิ้นอิสรภาพอีกนับไม่ถ้วน

เมื่อเป็นเช่นนี้รัฐบาลต้องไม่ทำให้ประชาชนผิดหวัง



+++

"พล.อ.เสถียร เพิ่มทองอินทร์" ปลัด กห. ชิวชิว "เจ๊ดัน" สู่ดวงดาว กับเรื่องสีแดง และ ม.สระเอีย
รายงานพิเศษ ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1637 หน้า 14


ในการโยกย้ายทหารระดับนายพลครั้งใหญ่ ครั้งแรกของรัฐบาลพรรคเพื่อไทย เมื่อเดือนกันยายน 2554 ที่ผ่านมา ตำแหน่งที่ฮือฮาที่สุดคือ ปลัดกระทรวงกลาโหม

ที่แย่งชิงกันระหว่างบิ๊กอู๊ด พล.อ.วิทวัส รัชตะนันทน์ รองปลัดกลาโหม กับบิ๊กเปี๊ยก พล.อ.เสถียร เพิ่มทองอินทร์ ประธานที่ปรึกษากองบัญชาการกองทัพไทย (บก.ทท.)

คนแรกส่งเข้าประกวดโดย บิ๊กอ๊อด พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รมว.กลาโหม เพราะทำงานในสำนักปลัดกลาโหมด้วยกันมายาวนาน เรียกว่าพอมีชื่อ พล.อ.ยุทธศักดิ์ เป็น รมว.กลาโหม ปุ๊บ ใครๆ ก็รู้ว่า พล.อ.วิทวัส ต้องได้เป็นปลัดกลาโหม แน่นอน

ส่วน พล.อ.เสถียร นั้นมาแรงแซงทางโค้ง เพราะแม้จะพลาดเก้าอี้ ผบ.สส. แต่ก็มาสมหวังได้นั่งเป็นปลัดกลาโหม ในที่สุด ถึงขั้นที่นายกฯ ปู-ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ต้องเอ่ยปาก "สั่ง" ด้วยตัวเอง ให้แก้ชื่อจาก พล.อ.วิทวัส มาเป็น พล.อ.เสถียร โดยมีเสียงจากบิ๊กตุ้ย พล.อ.ทรงกิตติ จักกาบาตร์ ผบ.สส. ในขณะนั้น หนุนอีกแรง

ที่เล่นเอา พล.อ.ยุทธศักดิ์ เสียหน้าเสียฟอร์มไปไม่น้อย เพราะทั้งๆ ที่เป็น รมว.กลาโหม แต่กลับเลือกปลัดกลาโหม ไม่ได้

จนเป็นที่จับตามองว่า เมื่อมาทำงานจริงๆ แล้ว จะเกิดอาการ "เกาเหลา" ไม่กินเส้นกันหรือไม่ ทั้ง พล.อ.ยุทธศักดิ์ กับ พล.อ.เสถียร


และที่แน่นอน คือ ระหว่าง พล.อ.เสถียร กับ พล.อ.วิทวัส ซึ่งเป็นเพื่อนเตรียมทหาร 11 ด้วยกัน

แต่ด้วยความเป็นพี่อ๊อดที่แสนใจดีของ พล.อ.ยุทธศักดิ์ จึงทำให้สิ่งที่ทหารทั้งกองทัพจับตามอง ไม่ปรากฏให้เห็น คงมีแต่ภาพความใกล้ชิดชื่นมื่นของ พล.อ.ยุทธศักดิ์ กับ พล.อ.เสถียร ที่ออกงานด้วยกันตลอด พูดจาทักทายกันอย่างสนิทสนม หัวร่อต่อกระซิก จนบ่อยครั้งที่ไม่มี พล.อ.วิทวัส น้องรักอยู่ในวงด้วย

เพราะถึงยังไง พล.อ.ยุทธศักดิ์ กับ พล.อ.เสถียร ก็เป็นพวกเดียวกัน ใกล้ชิดพรรคเพื่อไทยเหมือนกัน อีกทั้งโดยตำแหน่งแล้ว พล.อ.เสถียร ก็มักจะออกงานคู่กับ รมว.กลาโหม เสมอๆ

"ไม่มีอะไร ก็ทำงานด้วยกันปกติ ผมก็ทำหน้าที่ของผม พี่อ๊อดท่านน่ารัก ใจดี มีอะไรก็คุยกัน แล้วผมเอง ไม่รู้ซิ ผมเป็นคนที่ผู้ใหญ่รัก" พล.อ.เสถียร ออกตัว

แต่ที่สำคัญ คือ การวางบทบาทของตัวเองในฐานะ ปลัดกลาโหม ที่แม้จะเป็นเบอร์ 1 ในหมู่ข้าราชการประจำของกลาโหม แต่ก็ต้องไม่ลืมว่า เบอร์ 1 ตัวจริง หรือ กห.1 คือ พล.อ.ยุทธศักดิ์ รมว.กลาโหม นั่นเอง

"ผมก็ทำงานเงียบๆ ไม่ค่อยอยากให้สัมภาษณ์ เพราะไม่อยากออฟไซด์ผู้ใหญ่ อาจมีบ้างนานๆ ครั้ง ก็ได้ แต่ไม่อยากออกสื่อบ่อยๆ" พล.อ.เสถียร กล่าว

นี่จึงเป็นเหตุผลหนึ่งว่าทำไม พล.อ.เสถียร จึงไม่ค่อยให้สัมภาษณ์ เพราะตั้งแต่เป็นปลัดกลาโหม มาตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2554 เคยให้สัมภาษณ์แค่สัก 3 ครั้งเท่านั้น เป็นเรื่องการช่วยเหลือน้ำท่วม เพราะเจ้าตัวไม่ขอแสดงความคิดเห็นในประเด็นที่เกี่ยวกับการเมือง

อีกทั้งเคยมีตัวอย่างจากบิ๊กหมู พล.อ.กิตติพงษ์ เกษโกวิท ปลัดกลาโหม คนก่อน ที่ 1 ปีในตำแหน่ง ไม่เคยให้สัมภาษณ์แม้แต่ครั้งเดียว ด้วยเหตุผลที่ว่า "ขอร้องล่ะ พูดไม่เป็น ให้สัมภาษณ์ไม่เป็น"

มาตอนนี้ นักข่าวสายทหารจึงพอยอมรับได้ในบุคลิก และความตั้งใจของ พล.อ.เสถียร ที่จะสงบปากสงบคำ



แต่ในส่วนตัวแล้ว พล.อ.เสถียร เป็นนายทหารที่มีความสนิทสนมกับสื่อเป็นการส่วนตัวมาตั้งแต่เป็นผู้บัญชาการหน่วยทหารพัฒนา (ผบ.นทพ.) แล้ว จึงไม่ส่งผลต่อความสัมพันธ์กับสื่อ ในเมื่อไม่ให้สัมภาษณ์ นักข่าวก็ไม่ขัดใจ ยกเว้นเมื่อมีประเด็นสำคัญที่เกี่ยวข้อง ก็ต้องสัมภาษณ์กันล่ะ แต่ในบางโอกาส พล.อ.เสถียร ก็พูดคุยกับสื่อแบบนอกรอบ

พล.อ.เสถียร เป็นนายทหารบ้านนอกคนหนึ่งที่หน้าตายิ้มแย้มแจ่มใส อารมณ์ดีตลอด แต่งตัวมีสไตล์ ที่ใช้ของแบรนด์เนม ที่ภริยาจัดให้ หัวจรดเท้า และชอบสวมเสื้อแจ๊กเก็ตที่แมตช์เข้ากัน

พล.อ.เสถียร เป็นนายทหารผู้กว้างขวางคนหนึ่ง เพราะว่ามีพี่น้องเพื่อนฝูง และลูกน้องมากมาย และนี่อาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เขาได้เป็นปลัดกลาโหม

พล.อ.เสถียร เป็นทั้งประธานเตรียมทหาร 11 และ จปร.22 และเป็นประธานนักศึกษาวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.) รุ่น 48 และเป็นหัวหน้ากลุ่มสิงโต เรียกได้ว่าใครเดือดร้อนอะไรก็มาขอให้ พล.อ.เสถียร ช่วยเหลือ แล้วเขาก็ช่วยได้ทุกเรื่องเลยทีเดียว

จนลูกน้องและผองเพื่อน พากันเรียกขานเขาว่าเป็น "ป๋า" เป็นป๋าเถียร แห่งเหล่าทหารปืนใหญ่

ที่สำคัญ การที่ พล.อ.เสถียร มีภริยาเป็นนักการเมืองท้องถิ่น ก็ยิ่งทำให้เขามีบารมีและกว้างขวาง

แถมทั้ง คุณอู๊ด-ณัฐนิชาช์ ก็เป็นผู้หญิงประเภท ใจถึงพึ่งได้ แบบนักการเมืองที่ใจกว้าง แถมใจนักเลง ตรงไปตรงมา

ประเด็นนี้จึงกลายเป็นที่เม้าธ์กันสนั่นว่า เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ พล.อ.เสถียร ได้เป็นปลัดกลาโหม แบบแซงในโค้งสุดท้าย จนได้รับฉายาว่ามี "เจ๊ดัน"


เจ๊ดัน คนแรกคือ นางณัฐนิชาช์ ภริยาของตัวเอง ที่มีความใกล้ชิดกับแกนนำพรรคเพื่อไทย และการเป็นนายกเทศมนตรี ต.คำขวาง อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี ซึ่งเป็นฐานเสียงสำคัญของพรรค และมีส่วนช่วยในการสู้ศึกเลือกตั้ง

เหล่านี้คือเหตุผลที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ก็กลายเป็นหนึ่งใน เจ๊ดัน ให้ พล.อ.เสถียร เป็นปลัดกลาโหม เพราะโดยส่วนตัวก็สนิทสนมรวมเลยไปถึงตระกูลดามาพงศ์ ทีเดียว

"ไม่ใช่แบบนั้น ไม่ใช่ได้ดีเพราะภริยา แต่ผมกับภริยานี่ เราช่วยเหลือเกื้อหนุนซึ่งกันและกัน ผมก็ช่วยเหลือเขาตลอด แต่ผมเป็นผู้ชาย ผมขอเป็นช้างเท้าหน้าแล้วกัน" พล.อ.เสถียร กล่าวพร้อมหัวเราะอย่างอารมณ์ดี

"เรื่องภริยาแซวมากไม่ดี เพราะผู้หญิงส่วนใหญ่ก็ดุทั้งนั้น" ป๋าเถียร กล่าว

"ผมเจออู๊ดตั้งแต่ผมจบใหม่ ก็ลงไปเป็นทหารที่อุบลฯ ก็เจอเขา ก็ชอบ ตามจีบ อู๊ดเขาเป็นผู้หญิงที่ตรงไปตรงมา แฟรงก์ๆ เป็นตัวของตัวเอง มีความมั่นใจในตัวเอง ผู้ใหญ่รักเขาทั้งนั้น" พล.อ.เสถียร พาดพิงภริยาผู้แสนเปรี้ยวจี๊ด

แต่กว่าจะมาเป็นปลัดกลาโหมได้ ก็ผ่านการถูกวิจารณ์มาพอสมควร ว่าอาศัยสายสัมพันธ์ทางการเมืองกับพรรคเพื่อไทย ขึ้นมา

"ผมว่ามันเป็นเรื่องของผู้บังคับบัญชาพิจารณา ไม่ใช่ว่าผมเลือกเองได้" พล.อ.เสถียร ออกตัว

แต่ก็ยอมรับว่ามีความรู้จักสนิทสนมกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ มาก่อน "ก็รู้จักมานานแล้ว เจอกันบ่อย แต่ตอนหลังนี่ท่านเป็นนายกฯ แล้วไม่ค่อยว่าง"

เพราะฉะนั้น ก็อย่าแปลกใจเลยที่ทำไม พล.อ.เสถียร จึงเป็นผู้นำทหารคนเดียวที่ไปเยี่ยม น.ส.ยิ่งลักษณ์ ที่โรงพยาบาล เมื่อครั้งที่เกิดอาการอาหารเป็นพิษ ในขณะที่ ผบ.เหล่าทัพ คนอื่นๆ แค่ส่งดอกไม้หรือกระเช้าเยี่ยมไข้เท่านั้น

"ก็ไม่เห็นเป็นไรเลย ก็รู้จักกัน ก็ไปเยี่ยม ไม่น่าเสียหายอะไรนี่นา" พล.อ.เสถียร กล่าว


แต่ถ้าใครจะถามตรงๆ ว่าเป็น "สีแดง" หรือเปล่า คำตอบที่ได้จาก พล.อ.เสถียร คือ "ผมไม่มีสี ผมกลางๆ แต่ก็แล้วแต่ใครจะมองนะ ผมไม่อยากต้องไปเถียง หรือไปชี้แจงว่าผมเป็นยังไง ใครจะว่ายังไงก็เรื่องของเขาแล้วกัน"

"แต่ภริยาผม สีอะไร ไปถามเอาเอง" บิ๊กเถียรหัวเราะอย่างอารมณ์ดี ทุกครั้งที่เอ่ยถึง ม.สระเอีย

ด้วยสายสัมพันธ์นี้ จึงทำให้ พล.อ.เสถียร มีชื่ออยู่ในแคนดิเดต รมว.กลาโหม คนต่อๆ ไป อยู่ที่ว่าจะเล่นการเมืองหลังเกษียณราชการ กันยายน ปี 2555 หรือว่า จะต้องลาออกจากราชการทหารไปเป็นรัฐมนตรี ซึ่งอาจจะไม่ต้องเป็น รมว.กลาโหม ก็ได้

"ไม่ๆ ผมยังไม่สนใจจะเล่นการเมืองหรอก เป็นทหารอยู่" พล.อ.เสถียร กล่าว ซึ่งนั่นอาจหมายถึงการเข้าสู่สนามการเมืองในอนาคต เพราะในเมื่อภริยาเป็นนักการเมือง ก็ยากที่ผู้เป็นสามีจะแยกตัวออกมาไม่เกี่ยวข้อง อีกทั้งโดยบุคลิกแล้ว พล.อ.เสถียร ก็สนใจการเมืองไม่น้อย

แต่ที่ต้องจับตามองคือ ภริยาของเขาอาจจะได้เป็นรัฐมนตรีในอีกไม่ช้านี้ เพราะทั้งมีผลงาน และทั้งสายสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และ น.ส.ยิ่งลักษณ์


ความโดดเด่นของ พล.อ.เสถียร อีกประการคือ เขาถือเป็นพี่ใหญ่ของ ผบ.เหล่าทัพ ในฐานะที่เป็นรุ่นพี่ ตท.11 เช่นเดียวกับบิ๊กเฟื่อง พล.อ.อ.อิทธพร ศุภวงศ์ ผบ.ทอ. เพราะบิ๊กเจี๊ยบ พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร ผบ.สส. และบิ๊กตู่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. ก็เป็นรุ่นน้อง ตท.12 ส่วนบิ๊กหรุ่น พล.ร.อ.สุรศักดิ์ หรุ่นเริงรมย์ ผบ.ทร. เป็น ตท.13

"กับ ผบ.เหล่าทัพ ยิ่งไม่มีปัญหา เป็นพี่น้อง เจอกันตลอด ประชุมต่างๆ ทานข้าว คุยกัน" พล.อ.เสถียร กล่าว

แต่กับคนชื่ออู๊ดอีกคน อย่าง พล.อ.วิทวัส ที่เคยเป็นเพื่อนรักกันนั้น ยังคงเป็นที่จับตามองกันทั้งกลาโหม เพราะแม้ว่าทั้งคู่จะทำงานด้วยกัน ประชุมด้วยกัน เจอหน้ากันทุกวัน แต่ก็ดูเหมือนยังมีระยะห่างอยู่บ้าง อันเกิดจากเมื่อครั้งแย่งชิงเก้าอี้ปลัดกลาโหม กันมา

แต่เมื่อมีโปรดเกล้าฯ แล้ว พล.อ.วิทวัส ก็นำผองเพื่อน ตท.11 มาแสดงความยินดีกับ พล.อ.เสถียร "ไม่มีอะไร ผมก็ทำงานร่วมกับวิทวัสเขาตลอด ก็แบ่งงานกันทำ" พล.อ.เสถียร กล่าว

เพราะสำหรับทหารแล้ว ถือว่าจบ แต่ในหัวใจอาจจะยังมีรอยแตกร้าวอยู่หรือไม่ เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่เชื่อว่ามิตรภาพและสายใยแห่งเพื่อนจะสามารถสมานรอยร้าวนั้นได้

"ผมก็เห็นใจเขา แต่ว่าผมไม่ได้เป็นคนเลือก ผู้บังคับบัญชาเป็นคนเลือก เป็นคนตัดสินใจ ผมเชื่อว่าเขาเข้าใจ" พล.อ.เสถียร กล่าว

"ผมไม่มีอะไรกับใครหรอก เพื่อนพี่น้องกันทั้งนั้น สบายๆ" ป๋าเถียรตบท้ายสไตล์ปลัดกลาโหม ชิวชิว

แต่ก็ไม่รู้ว่าจะมีอะไรรออยู่เบื้องหน้า เพื่อพิสูจน์ฝีมือและหัวใจของป๋าเถียรคนนี้อีกบ้าง



.