http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2554-12-18

สุขาอยู่หนใด(ให้รีบไป) โดย คำ ผกา, ‘แท่งอัปลักษณ์’แสดงสถิติคดีหมิ่นฯ กลางถนนราชดำเนิน

.

สุขาอยู่หนใด (ให้รีบไป)
โดย คำ ผกา
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1635 หน้า 89


มีคนส่งคลิปรายการเหมือนจะชื่อ "สุขาอยู่หนได๋" หรืออะไรสักอย่างของดาราที่ชื่อ "ได๋" - ฟังแล้วอาจน่าหมั่นไส้ว่านี่คืออาการดัดจริตของคนที่แอบหลงว่าตนเองเป็นชนที่มีปัญญา - ฉันคือหนึ่งในนั้น - คือมีอคติกับความบันเทิงของมวลชน ยิ่งเป็นมวลชนกระฎุมพี ยิ่งไม่อยากปะทะสังสรรค์ เพราะไม่อยากระเบิดความรำคาญออกมาเป็นภาษาที่หยาบคาย ดังนั้น จึงหลีกเลี่ยงที่จะดูละครหลังข่าว เกมโชว์ ทอล์กโชว์ ข่าวซุบซิบบันเทิง

เมื่อเป็นเช่นนั้นเสียแล้ว ฉันจึงไม่รู้จักดาราหรือนักร้องร่วมสมัยคนใดเลย รวมทั้งคนที่ชื่อ "ได๋" ไม่นับว่าดาราสาวสวย หนุ่มหล่อทั้งหมดในวงการมีหน้าตา ทรงผม และสีผิว ที่ใกล้เคียง คล้ายคลึงกันจนยากที่แยะแยะว่าใครเป็นใคร สุดท้ายฉันก็ยอมแพ้ ยกเลิกความพยายามที่จะจดจำ

เขียนมาทั้งหมดเพื่อจะบอกว่าฉันไม่รู้จัก "ได๋" แต่รายการของเธอตอน "จับจ๊ะแจ๊ซ" ทำให้ฉันอึ้ง อึดอัด หายใจไม่ออก

ก่อนจะรู้สึกเวทนาสำนึกระฎุมพีไทยอย่างสุดซึ้ง


เปิดรายการมาด้วย

- ได๋ใส่เสื้อกล้าม กางเกงขาสั้น นอนเกลือกกลิ้งอยู่บนเตียงพร้อมกระดาษและปากกา ใส่แว่น - แปลว่า - หญิงสาวชนชั้นกลาง และช่วยไม่ได้ที่เธอผุดผ่อง สะอาดสะอ้าน แต่ไม่ได้แปลว่าเธอไม่มีสมอง เธอไม่ครุ่นคิด (สำแดงผ่าน กระดาษ ปากกา และแว่นตา)

- ความสุขอยู่ที่ไหน ได๋ถามตัวเอง ความสุขอยู่ที่ตัวเอง ความสุขของได๋อยู่ตรงที่ได้ไปพบปะพูดคุยกับคน บันทึกผ่านไดอารี่ อันเป็นเสมือนการดีท็อกซ์ความคิด เพราะหากคิดแล้วไม่ได้ระบายออกบ้างก็เหมือนคนไม่ได้ขี้ อาจเป็นมะเร็งในที่นี้อาจเป็นมะเร็งความคิด - แปลว่า - สิ่งที่ได๋พูดอาจถกเถียงได้จากหลายมุมมองทางศาสนา ปรัชญา ประวัติศาสตร์ เถียงได้แม้กระทั่งว่า นิยามของความสุขคืออะไร

แต่ทั้งหมดนี้ต้องการสื่อให้เห็นว่า ได๋ไม่ใช่ดารากิมกลวง รู้จักตั้งคำถาม เปรียบเทียบ และไม่อยากทำไรตื้นเขินเหมือนที่คนอื่นทำ (ชั้นเหนือกว่าพวกหล่อนดาราดาดๆ นะยะ) เพราะได๋บอกว่า เธอไม่ต้องการทำรายการแบบ "สวัสดีค่าคุณผู้ชม ขอต้อนรับเข้าสู่รายการ - (ทำเสียงแหลม)

ภาพตัดมาที่เธอไปพบ จ๊ะ เทอร์โบ เจ้าของเพลงคันหู เธอบอกว่า อยากไปทำความรู้จักจ๊ะ เพราะคิดว่าเธอไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการพิพากษาที่ตัดสินเธอจากเพลงและท่าเต้น คันหู เท่านั้น

จากนั้นเธอพาจ๊ะไปร้อง คันหู ในเวอร์ชั่นของแจ๊ซ ก่อนจะจบแบบที่เธอคิดว่ามันสะเทือนใจคือสารภาพกับจ๊ะว่ามีหลายโรงแรมที่เธอขอเข้าไปใช้สถานที่แล้วปฏิเสธไม่ให้ใช้เมื่อบอกว่าแขกรับเชิญคือจ๊ะ (ภาษากายคือดวงตาเต็มไปด้วยความสะเทือนใจพร้อมทั้งมือที่เอื้อมไปจับแขนของจ๊ะอย่างต้องการจะปลอบประโลม ส่วนปฏิกิริยาของจ๊ะคือ "งงๆ"

(ไม่เห็นจะน่าสะเทือนใจอะไรขนาดนั้น ไม่เข้าใจว่า พี่ทำไมต้องทำหน้าเศร้าขนาดนั้น)


"จับจ๊ะแจ๊ซ" ในรายการ "สุขาอยู่หนได๋" ทำให้ฉันนึกถึง บทกวีของ Rudyard Kipling ที่ชื่อ The White Man"s Burden (1899) ว่าด้วย "ภาระของคนผิวขาว" ที่พูดถึงความจำเป็นของอเมริกาในการเข้าไปยึดครองฟิลิปปินส์

ทั้งนี้ การเข้าไปปกครองประเทศที่ยัง "ไร้เดียงสา" เหล่านี้ก็เพื่อผลประโยชน์ของคนพื้นเมืองที่ยังไม่ประสีประสาเหล่านั้น เพราะคนผิวขาวจะนำเอาความรุ่งเรือง ปัญญา องค์ความรู้ ศาสนา (ที่ดีกว่า) เหตุผล ฯลฯ มาปรับปรุงคุณภาพชีวิตของคนพื้นเมือง

เช่น จากที่เคยนับถือผีสางนางไม้ก็ให้หันมานับถือพระเจ้า จากที่เคยอยู่ในเวทมนตร์ ไสยศาสตร์ก็ให้หันมาเรียนวิทยาศาสตร์

จากที่เคยใช้หมอผีรักษาโรคภัยไข้เจ็บก็ให้หันมาไว้วางใจการแพทย์แบบตะวันตก

จากที่เคยเดินเปลือยกายโทงเทงก็ให้หันมารู้จักการใส่เสื้อผ้า

จากที่เคยใช้มือกินข้าวก็ให้หันมาใช้ จาน ชาม ช้อน ส้อม มีด

จากที่เคยกินอาหารไม่ถูกสุขลักษณะ ก็ให้เรียนรู้เรื่องโภชนาการ และวัฒนธรรมการกิน ดื่มอย่างมีอารยะ

ในที่นี้จะขอละเว้นไม่พูดเรื่อง "การขูดรีดส่วนเกินทางเศรษฐกิจ" ของลัทธิจักรวรรดินิยม แต่จะพูดถึงด้านอัปลักษณ์ของแนวคิด "ภาระของคนผิวขาว" ในเชิงวัฒนธรรมที่โหดร้ายไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าในเชิงเศรษฐกิจ

เพราะภาระของคนผิวขาวนั้นอบอวลไปด้วยการดูถูกมนุษย์บนฐานของชาติพันธุ์ โดยยึดเอาวัฒนธรรมความเป็นคนผิวขาวเป็นศูนย์กลางของจักรวาลและสูงส่งกว่าใครในโลก ก่อนจะ "ธุดงค์" ไปทั่วโลกเพื่อ "โปรดสัตว์" ยังดินแดนต่างๆ

โดยไม่ได้สนใจว่าคนเหล่านั้นต้องการอะไร

แต่เรามีหน้าที่ไปบอกเขาว่า "เขาควรจะต้องการอะไร"


"จับจ๊ะแจ๊ซ" ได๋ เดินทางไปพบจ๊ะ ด้วยศีลธรรมอันสูงส่งและอยากจะไปให้ Morral Support เพราะเธอบอกว่า "อยากไปกะเทาะเปลือก ผู้หญิงคนหนึ่งที่สังคมพิพากษาไปแล้วว่าเป็นคนไม่ดี" - ตรงนี้เป็นการวาง "ทุน" ทางศีลธรรมให้แก่ตัว ได๋ เองว่า เหตุใดเธอจึงมีความชอบธรรมพอที่จะเข้าไปกอบกู้ชีวิตของ "จ๊ะ" ขึ้นมาใหม่ได้

(แปลว่า - ฉันเป็นคนดีพอนะ, ฉันเล็งเห็นแล้วว่ามนุษย์กินคนเหล่านี้จริงๆ แล้วไม่ใช่คนดุร้าย ป่าเถื่อน เพียงแต่เขาได้รับการสั่งสอนที่ผิดๆ มาเท่านั้น ถ้าเราไปสอนเขาให้เดินไปถูกทางแล้วละก็ เขาจะกลับตัวกลับใจเป็นคนดีๆ ได้เหมือนพวกเรานี่ล่ะ งุงิ )

ในบทสนทนาระหว่างได๋กับจ๊ะ สิ่งที่เราได้ยินคือ จ๊ะฟังว่าได๋พูดอะไร แต่ได๋ไม่ฟัง (ฟัง แต่ไม่ได้ยินว่าจ๊ะพูดว่าอะไร?")

เริ่มตั้งแต่เธอใช้ "วัตถุ" มา "ล่อ" น้องจ๊ะ ด้วยการบอกว่า จะพาไปซื้อเสื้อผ้าประตูน้ำ (ทำไมประตูน้ำ ก็คนอย่างน้องจ๊ะ หรือน้องจ๊ะอาจจะบอกเองว่าชอบไปประตูน้ำ) เหตุที่เอา "วัตถุ" นำ เพราะในจิตไร้สำนึกของคนขาวย่อมมองว่าคนพื้นเมืองขาดแคลนและกระหายในวัตถุ ดังนั้น ได๋ จึงตั้งหน้าตั้งตาใช้วัตถุซื้อมิตรภาพตั้งแต่

- เดี๋ยวพาซื้อเสื้อผ้าที่ประตูน้ำ
- เดี๋ยวส่งครีมล้างหน้าไปให้ หน้าจะขาวเด้งวิ้งๆ เหมือนพี่ - ในตัวรายการทำกราฟิกวิ้งๆ ขึ้นให้ดูด้วย)
- จะรับค่าตัวหรือรับเป็นเสื้อผ้า
- ถ้ายอมร้องเพลงแจ๊ซจะยกชุดสวยๆ ที่เตรียมมาให้

ส่วนจ๊ะรับไมตรีทางวัตถุที่ได๋ทอดมาให้ มิใช่เพราะความตะกลาม ขาดแคลน เธอรับมาด้วยเหตุผลเดียวคือ "ไม่มีเหตุผลอะไรที่จะไม่รับ", "ให้ก็เอาแต่ไม่ได้ขอ และถ้าไม่ให้ก็ไม่ได้เดือดร้อนอะไร"


ได๋สำแดงความเป็นคนผิวขาวที่เปี่ยมเมตตาต่อคนพื้นเมืองต่อด้วยการพยายามพูดสำเนียงเหน่อๆ แบบน้องจ๊ะ เพื่อจะบอกว่า "นี่ไง พี่เป็นพวกเดียวกับหนูนะ พี่ไม่ใช่คนถือตัวเล้ยยย" พูดไปขำไป - เราพึงรู้ว่า ถ้าคนกรุงเทพฯ พยายามพูดเหน่อ มันจะน่ารัก แต่ถ้าคนสุพรรณฯ พยายามดัดสำเนียงให้เหมือนคนกรุงเทพฯ จะถูกคนกรุงเทพฯ ค่อนให้อีกว่า กระแดะ ดัดจริต ลืมกำพืด

ได๋ถามถึงค่าตัว ถามว่าเก็บเงินได้เท่าไหร่ ร้องเพลงมากี่ปีแล้ว ทั้งหมดนี้ imply หรือส่อนัยอยากสื่อสารตรวจสอบว่า จ๊ะได้ค่าแรงที่เป็นธรรมไหม คนพื้นเมืองที่น่าสงสารอาจถูกนายทุนใจร้ายขูดรีดเอารัดเอาเปรียบอยู่ก็ได้

คำตอบของจ๊ะน่าสนใจมาก ฉันไม่ได้สนใจว่าจ๊ะเก็บเงินได้เท่าไหร่ แต่เธอบอกว่า เธอร้องเพลงออกแขกลิเกมาตั้งแต่เด็กๆ เพราะที่บ้านเป็นคณะลิเก เล่นลิเกกันทั้งบ้าน ปู่ ย่า ตา ยาย พ่อ แม่

ได๋ไม่ได้ฟัง ไม่ได้ยินว่า ครอบครัวของจ๊ะเป็นครอบครัวศิลปินพื้นบ้าน เป็นศิลปินกันทั้งเนื้อทั้งตัว จ๊ะร้องเพลง เต้น และ perfrom ได้เหมือนเรากินข้าว

จ๊ะเกิดมาพร้อมกับชีวิตของนักแสดง วัฒนธรรมของการเลี้ยงชีพด้วยการแสดง สั่งสมทักษะนี้มาจนเป็นเรื่องสามัญ ระบบค่าตอบแทนจะเป็นธรรมหรือไม่เป็นธรรมเป็นสิ่งที่จ๊ะจะเรียนรู้เอง ประเมินด้วยตนเอง (อีกทั้งตัวฉันก็จะไม่เข้าไปตัดสิน)

ทว่า สำหรับได๋ คำว่า "เป็นลิเกกันทั้งบ้าน" ไม่มีความหมายอะไรกับเธอเลย เพราะในสายตาของคนผิวขาว ศิลปะการแสดงของคนท้องถิ่นนั้นเป็นแต่สิ่งน่ารักน่าเอ็นดู หาได้มีคุณค่าอื่นแต่อย่างใดไม่

ยังไม่หนำใจ คนผิวขาวยังขอร้องให้จ๊ะพูดอย่างมีหางเสียงลงท้ายด้วยคำว่า "คะ ขา" พลาง เอียงคอมอง "สิ่งมีชีวิตแสนไร้เดียงสาน่ารักซื่อใส" นี้อย่างพึงใจ อิ่มเอม ระคนขบขัน ลางทีก็ส่ายหัวระอาใจ

ไม่นับคำถามแบบ

"อยากดังมั้ย", "อยาก", ทำไมถึงอยากดัง", "ดังแล้วก็มีเงิน มีเงินก็ซื้อรถ ซื้อบ้าน ให้เงินพ่อแม่ไว้ใช้ " - สิ่งที่จ๊ะพูด คือความจริงแสนสามัญที่คนผิวขาวอย่างได๋ก็ทำในสิ่งเดียวกัน ตระหนักในสิ่งเดียวกัน ทว่า ไม่กล้าพูดออกมาอย่างไม่สะทกสะท้านอย่างจ๊ะ เพราะอาภรณ์ของคนผิวขาวคือ Morral ที่ต้องพอกให้หนาเตอะเข้าไว้

เฉกเดียวกับลัทธิจักรวรรดินิยมที่เข้าไปสูบกินทรัพยากรในดินแดนต่างๆ อย่างเหี้ยมโหด พร้อมๆ กับการสอนพระคัมภีร์แก่คนพื้นเมือง


ฉากที่น่าสนใจอีกฉากหนึ่งคือ ได๋กับจ๊ะนั่งรถกระบะไปยังสถานที่ที่จ๊ะไปร้องแจ๊ซ

คำถามคือทำไมต้องเป็นรถกระบะ?

เพราะได๋คิดว่านี่คือการลงไปสัมผัสกับความเป็นชาวบ้าน ขณะที่รถกระบะแล่นไปบนถนน เธอแหกปากตะโกนถามผู้คนบนถนนด้วยอาการค่อนไปทางคุ้มคลั่ง เพื่อสำแดงความ อปกติ ของเหตุการณ์ที่เธอรู้อยู่แก่ใจว่าเธอมีความเป็นดารามากกว่า ดังกว่า ที่พยายาม fake ตนเองให้ติดดินเพื่อจะเชิดอีกฝ่ายหนึ่งที่อยู่ต่ำกว่าให้ดูสูงขึ้นอย่างวิปริต

"รู้จักจ๊ะ คันหูมั้ย?"
"นี่ดารานะ"
"นี่จ๊ะ เทอร์โบ"

ถัดมาคือจุดพีคของรายการภาระของคนผิวขาวนั่นคือ ได๋ต้องการ purify เพลง "คันหู" ด้วยการให้ไปอยู่ในเวอร์ชั่นของ Jazz

"เคยฟังแจ๊ซมั้ย"
"ไม่เคย"

"คิดว่าร้องได้มั้ย"
"ไม่รู้หนูร้องแต่ลูกทุ่ง"

นอกจากจับจ๊ะไปแจ๊ซ ได๋ยังจับจ๊ะ แต่งหน้า ทำผม แต่งตัว ทำท่ายั่วยวนอย่างที่เธอคิดว่ามัน Classy - ทำผมยุ่งๆ หน่อย ดูเป็นธรรมชาติ ได๋ไม่ได้สนใจว่าจ๊ะพูดอะไรหรือรู้สึกอย่างไร เพราะเธอมัวแต่เคลิบเคลิ้มกับผลงานของเธอในขณะที่จ๊ะบอกว่า
"จะทำอะไรก็ทำ หนูจะได้กลับบ้าน"



ความวิตถารอย่างยิ่งในรายการนี้ของการปฏิบัติภารกิจของคนขาว (ที่ในบริบทไทยคือ ขาวด้วยการเป็นลูกครึ่งจีนหรือลูกครึ่งอื่นๆ บวกกับการใช้ไวต์เทนนิ่ง ฉีดกลูต้าฯ บวกการศึกษาแบบล้าหลังอนุรักษนิยมคับแคบ โถมทับด้วยช่องทางอันตีบตันในการเข้าถึงอาหารทางปัญญาที่มากกว่าหนังสือเบสต์เซลเลอร์และธรรมะย้อมใจที่อ้างว่าเป็นปรัชญาอันลึกล้ำ) คือการใช้เพลงแจ๊ซเป็นสื่อบอกความ classy ทั้งๆ ที่ดนตรีแจ๊ซคือวิญญาณของคนผิวดำผู้ถูกความรันทดที่สะท้อนออกมาในท่วงทำนองของสิ่งที่เรียกว่าแจ๊ซ

แจ๊ซไม่ใช่ชุด LBD สีดำ ไม่ใช่โรงแรมหกดาว (แม้จะสมมุติ) ไม่ใช่ความ classy, sophisticated ที่ได๋บอกว่า ถ้าจับจ๊ะมาแจ๊ซได้มั่นจะเก๋กว่า จะอารยะกว่า จะหลุดพ้นจากความป่าเถื่อน ไร้รสนิยมได้มากกว่า

ขอยืนไว้อาลัยแด่ชนชั้นกลางผิวขาว (กลูต้าฯ แอนด์ไวต์เทนนิ่ง) ของไทย อาเมน



++


‘แท่งอัปลักษณ์’ แสดงสถิติคดีหมิ่นฯ กลางถนนราชดำเนิน
ภาพโดย สรวุฒิ วงศ์ศรานนท์ จาก www.prachatai.com/journal/2011/12/38371 . . Sat, 2011-12-17 21:54


17 ต.ค.54 ที่อนุเสาวรีย์ประชาธิปไตย มีการจัดงานแสดงศิลปะกลางแจ้ง “แท่งอัปลักษณ์” แสดงสถิติคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ หรือความผิดตามมาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญา ตั้งแต่ปี 2548-2553 โดยจัดทำเป็นแท่งสูงทำด้วยกล่องกระดาษบริเวณลานอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยหันหน้าไปทางด้านสนามหลวง มีการกล่าวปราศรัย อ่านแถลงการณ์ แสดงดนตรี และเปิดให้ประชาชนร่วมเขียนแสดงความเห็น พ่นข้อความรณรงค์ต่างๆ บนกล่องเปล่ารูป 112 และอากง โดยมีประชาชนผู้สนใจทยอยเข้าร่วมงานตลอดค่ำที่ผ่านมา

งานดังกล่าวจัดขึ้นโดย กลุ่มเราคืออากง สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) กลุ่มอาสากู้ภัยน้ำตื้น กลุ่ม article112 โดยนำข้อมูลสถิติกระทงในคดีหมิ่นฯ จากสำนักงานศาลยุติธรรม มาจัดแสดงเปรียบเทียบผ่านการตั้งกล่องกระดาษเป็นแนวตั้ง โดยในปี 2548 มี 33 กระทง, ปี 2549 มี 30 กระทง, ปี 2550 มี 126 กระทง, ปี 2551 มี 77 กระทง, ปี 2552 มี 164 กระทง, ปี 2553 มี 478 กระทง และในโปสเตอร์จัดงานนิยามงานนี้ไว้ว่า “ถ้าศิลปะคือความงาม นี่ไม่ใช่ศิลปะ ถ้าศิลปะคือความซาบซึ้ง นี่ไม่ใช่ศิลปะ ถ้าศิลปะเปลือยให้เห็นความอัปลักษณ์ นี่ (อาจจะ) เป็นศิลปะ”


ธนาพล อิ๋วสกุล บรรณาธิการนิตยสารฟ้าเดียวกัน หนึ่งในผู้ร่วมจัดงานกล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการจัดงานครั้งนี้ว่า หลังจากมีการพูดกันมากเกี่ยวกับคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ ก็อยากหาช่องทางในการนำเสนอให้ประชาชนเห็นความรุนแรงของสถานการณ์จากการสถิติที่มีออกมาแสดงให้เป็นรูปธรรม

ขวัญระวี วังอุดม จากลุ่ม article112 กล่าวว่า หลังจากนี้กลุ่มกิจกรรมที่ทำเรื่องเกี่ยวกับกฎหมายมาตรา 112 และพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2551 จะร่วมกันตั้งคณะทำงานเพื่อรณรงค์ล่ารายชื่อเพื่อแก้ไขมาตรา 112 โดยจะใช้ร่างกฎหมายที่คณะนิติราษฎร์ได้เคยนำเสนอไว้เป็นตัวตั้ง ซึ่งจะมีการเปลี่ยนแปลงหลายประการ เช่น เรื่องโทษที่จะไม่มีโทษขั้นต่ำ และปรับลดโทษขั้นสูง, การฟ้องร้องจะให้สำนักราชเลขาธิการเป็นผู้เสียหายที่มีอำนาจฟ้องร้องโดยตรงแทนการร้องทุกข์กล่าวโทษแทนใครก็ได้ เป็นต้น

ขวัญระวี กล่าวอีกว่า การเสนอรูปธรรมโดยการแก้ไขกฎหมายยังมีความมุ่งหมายอีกประการว่า หากมีการผลักดันเข้าสู่รัฐสภา ประเด็นนี้ก็จะเป็นที่ถกเถียงในทางสาธารณะ ถือเป็นการให้การศึกษาเกี่ยวกับปัญหาที่เกิดขึ้นและเปิดการถกเถียงสาธารณะอย่างเป็นทางการ

กลุ่มผู้จัดกิจกรรมยังได้ออกแถลงการณ์ด้วย ดังนี้


แถลงการณ์งานประติมากรรมกลางแจ้ง “แท่งอัปลักษณ์”

17 ธันวาคม 2554 โดยกลุ่ม “เราคืออากง”

เราต่างปฏิเสธไม่ได้ว่าท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมืองหลายปีที่ผ่านมา การหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเป็นประเด็นหนึ่งที่ถูกหยิบยกมาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองมากที่สุด มีการกล่าวหาฝ่ายต่าง ๆ ว่ามีเจตนาล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ จนกระทั่งนำมาเป็นเงื่อนไขหนึ่งของคณะปฏิรูปการปกครองฯ ในการทำรัฐประหารขับไล่รัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ในปี 2549

ความรุนแรงของสถานการณ์ที่เกี่ยวเนื่องกับกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ นั้นเกิดทั้งจากตัวกฎหมายเอง รวมถึงอุดมการณ์และวัฒนธรรมที่อยู่เบื้องหลังการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าว อาทิ

1. ตัวบทกฎหมายที่มีนิยามคลุมเครือ โดยเฉพาะการดูหมิ่น ทำให้การใช้และตีความกฎหมายเป็นไปในลักษณะที่กว้างขวาง

2. อัตราโทษที่กำหนดสูงเกินไป และไม่มีความได้สัดส่วนกับหลักประชาธิปไตย

3. การตีความกฎหมายอาญามาตรา 112 ให้เกี่ยวกับความมั่นคง ส่งผลให้กระบวนการพิจารณาคดีมักเป็นไปโดยลับ ทำให้ไม่อยู่ในวิสัยที่จะตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของกระบวนการ (due process)ได้ นอกจากนั้นผู้ต้องหามักไม่ได้รับสิทธิในการประกันตัวอันเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน และเป็นสิทธิของผู้ถูกดำเนินคดีทางอาญาที่มีกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญเพื่อคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพของผู้ถูกกล่าวหา และให้ผู้ถูกกล่าวหาสามารถสู้คดีได้อย่างเต็มที่

4. การบังคับใช้กฎหมายซึ่งสามารถให้ใครฟ้องร้องใครก็ได้ ส่งผลให้กฎหมายถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง

5. อุดมการณ์ราชาราชนิยมซึ่งรายล้อมกฎหมายได้ครอบงำทัศนคติของบุคคล ในกระบวนการยุติธรรม ทำให้การพิสูจน์ว่าคำพูดหรือข้อความนั้นเป็นจริงหรือเท็จดังปรากฏในกฎหมายหมิ่นประมาทบุคคลทั่วไปไม่ถูกนำมาปฏิบัติ ดังเห็นได้จากคำพิพากษาในหลายกรณีที่ตัดสินจากความจงรักภักดีซึ่งเป็นมโนสำนึกภายในที่ไม่สามารถพิสูจน์ได้


นอกจากนี้ ด้วยเหตุว่าสภาพทางสังคมการเมืองที่ผ่านมาหลังรัฐประหารจนปัจจุบัน ล้วนขับเคลื่อนไปในทิศทางที่ยิ่งสร้างหรือเสริมให้เกิดรอยร้าวลึกระหว่างผู้คนในสังคมและบดบังปัญหาที่แท้จริงอันรายล้อมรอบตัวกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเอง

…จึงไม่แปลกที่รายงานงบประมาณแผ่นดิน ปีล่าสุด (ซึ่งบังคับใช้เดือนตุลาคม 2553) มีการทุ่มเงินงบประมาณจำนวนถึง 242,998,800 บาท หรือคิดเป็น 12 เปอร์เซ็นต์ของรายงานฯนี้ให้แก่หน่วยงานภาครัฐเพื่อสร้างค่านิยมในการ “ปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์”

…จึงไม่แปลกที่จะเห็นการโหมกระหน่ำผลิตซ้ำวาทกรรม “ไม่รักเจ้า ไม่ใช่คนไทย” ที่ผลักไสให้คนที่คิดต่างไปอยู่ขั้วตรงข้าม ตลอดจนการเกิดขึ้นของกลุ่ม “ล่าแม่มด” ตามโลกออนไลน์ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานรัฐอย่างเป็นทางการและไม่เป็นทางการ

…และไม่แปลกที่จะเห็นรัฐบาลที่มาจากรัฐประหารและมาจากการเลือกตั้งในปัจจุบันพากันทำแต้มแสดงความจงรักภักดีผ่านการใช้กฎหมายหมิ่นฯ จับกุมลงโทษอย่างเมามัน

ข้อมูลสถิติจากสำนักงานศาลยุติธรรมเปิดเผยให้เห็นความรุนแรงจากกฎหมายหมิ่นฯที่เข้าสู่ชั้นศาลมากขึ้นเป็นประวัติการณ์ โดยก่อนรัฐประหารมีคดีหมิ่นฯที่เข้า สู่ศาลชั้นต้นปีละไม่ถึง 5 คดี แต่ก่อนเกิดรัฐประหารในปี 2549 ไม่นาน จำนวนคดีหมิ่นฯ นับตามจำนวนกระทงความผิดค่อย ๆ ไต่ระดับเพิ่มสูงขึ้นจาก 33 กระทงในปี 2548 มาสู่ 478 กระทงในปี 2553 ยังไม่นับรวมผู้ที่ถูกกล่าวหาและตกเป็นจำเลยทางสังคมก่อนถูกศาลพิพากษา


สิ่งเหล่านี้ทำให้สังคมไทยตกอยู่ในความหวาดกลัวต่อการแสดงความคิดเห็นเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์ในที่สาธารณะ ทั้งที่เป็นสิทธิ เสรีภาพโดยชอบของประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย ที่จะแสดงความเห็นในเรื่องการจัดวางตำแหน่งแห่งที่ บทบาท และสถานะของสถาบันกษัตริย์ให้เป็นไปตามครรลองของระบอบประชาธิปไตย

ดังนั้นเราจึงเห็นว่า ความอัปลักษณ์จากการใช้กฎหมายหมิ่นฯไม่ควรที่จะเก็บไว้ใต้พรมแห่งความจงรักภักดีอีกต่อไป แต่ควรนำออกมาแสดงอย่างเปิดเผยให้สังคมได้รับรู้เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาให้ถูกต้องตรงประเด็นต่อไป



.