http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2554-12-25

เอกลักษณ์ไทย โดย คำ ผกา

.
โพสต์เพิ่มข้อความเต็ม จาก " ความพิเศษ และ หนึ่งเดียวของ "ความเป็นไทย" uniqueness of Thainess !? โดย ชาญวิทย์ เกษตรศิริ "

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * ** * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *



เอกลักษณ์ไทย
โดย คำ ผกา
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1636 หน้า 89


* * * * * * * * * * * * * * * * * *

ความคิดว่าด้วย uniqueness นี้ มีจุดประสงค์เพื่อสนับสนุนทั้ง "สถาบันทหาร" คือ "ระบอบสฤษดิ์-ถนอม" กับสถาบันจารีตอื่นๆ ในการต่อสู้กับ "ลัทธิคอมมิวนิสม์" และ "ขบวนการชาตินิยม" ทั้งในจีน (แดง) และในอินโดจีน (เวียดนาม-กัมพูชา-ลาว) ความคิดเช่นนี้ มีข้ออ้างสำคัญ คือ "การพัฒนาเศรษฐกิจ" (กระแสหลัก) หรือ mainstream economic development แล้วให้ชะลอ "การพัฒนาการทางการเมืองกับสังคม" ไปก่อน

ความคิดที่ว่าไทยเป็น "หนึ่งเดียว-ไม่เหมือนใคร" ของอเมริกันยุค "ซิกซ์ตี้" นี้ ได้ รับการสืบทอด ตอกย้ำ โดยนักวิชาการกระแสหลักของไทยเอง ไม่ว่าจะเป็น นักรัฐศาสตร์ นิติศาสตร์ สังคมวิทยา มานุษยวิทยา ประวัติศาสตร์ และนักไทย (คดี) ศึกษา นักภาษาและวรรณคดีไทยๆ ตลอดจนสื่อสารมวลชน (ไทยๆ) เกือบจะทุกสำนัก (ไม่ว่าจะเป็น "นักเรียนนอก" และ "นักเรียนไม่นอก" ไม่ว่าจะจบหรือไม่จบ ม. ในกรุง หรือ ม. นอกกรุง) <www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1323711074&grpid&catid=02&subcatid=0207 โดยได้โพสต์ข้อความเต็มไว้แล้วหลังบทความนี้ >

* * * * * * * * * * * * * * * * * *


วันนี้ (6 ธันวาคม 2554) โฆษกกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฝ่ายเอเชียตะวันออก Darragh Paradiso ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวเอพีว่า สหรัฐรู้สึก "หนักใจ" กับการตัดสินของศาลในคดีของนายอำพล หรือ "อากง" ที่ถูกตัดสินจำคุกเป็นเวลา 20 ปี ในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพและละเมิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์

พาราดิโซให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวเอพีว่า รัฐบาลสหรัฐมีความเคารพยำเกรงต่อสถาบันกษัตริย์ไทยอย่างที่สุด อย่างไรก็ตาม เธอกล่าวว่า สหรัฐอเมริการู้สึก "หนักใจ" (troubled) กับการตัดสินคดีของศาลไทยเมื่อเร็วๆ นี้ ในคดีของนายอำพล ซึ่งไม่สอดคล้อง (inconsistent) กับหลักสิทธิมนุษยชนสากลด้านเสรีภาพในการแสดงออก
http://prachatai.com/journal/2011/12/38192


"อเมริกา คุณคิดว่าคุณเป็นผู้จัดการของโลกนี้หรืออย่างไร คุณเที่ยวไปแทรกแซงกิจการของประเทศโน้นประเทศนี้ มันกงการอะไรของคุณ ประเทศคุณไม่มีวัฒนธรรมเก่าแก่ และดีงามเหมือนประเทศไทย เพราะประเทศคุณไม่เคยมีพระมหากษัตริย์ ประเทศไทยไม่เคยเป็นเมืองขึ้นของใคร ก็เพราะเรามีพระมหากษัตริย์ เรามีภาษาพูดภาษาเขียนเป็นของเราเอง เพราะพระมหากษัตริย์ ประเทศคุณเสียอีก ชื่อประเทศอเมริกา แต่ใช้ภาษาของประเทศอังกฤษ คุณแทรกแซงเรื่องอื่นเราทนได้ แต่อย่ามาแทรกแซงเรื่องเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ของเรา "

"If you don"t care about Thai law. Please go out from my country. We love our King." (ถ้าคุณไม่ใส่ใจในกฎหมายไทย ก็โปรดจงออกไปจากประเทศของฉัน เรารักพระมหากษัตริย์ของเรา - มติชนออนไลน์ แปล) www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1323876283&grpid=03&catid=&subcatid=

ได้เข้าไปอ่านข้อความ "ถล่ม" เฟซบุ๊กของสถานทูตสหรัฐอเมริกาอย่างเร็วๆ ด้วยมีหลายพันข้อความ นับเป็นประสบการณ์อันน่าตื่นตาตื่นใจกับภาษาอังกฤษแบบไทยๆ ที่มีอยู่จริงและนี่คือสิ่งที่ อ.ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ เรียกว่า "ผลผลิตการศึกษาแบบท้องถิ่น" เมื่อเอ่ยถึงภาษาอังกฤษของนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

แต่สำหรับฉันเห็นว่า ผลผลิตของการศึกษาแบบ "ท้องถิ่น" ไทยนับตั้งแต่ปี พ.ศ.2500 เป็นต้นมา ไม่ได้อยู่ในไวยากรณ์ภาษาอังกฤษแบบไทยๆ เท่านั้น แต่ไวยากรณ์แบบไทยๆ นั้นมีไว้เพื่อรับใช้จิตสำนึกทางการเมืองและอุดมการณ์แบบไทยๆ ด้วย ดังที่เราเห็นในประโยค ที่ว่า "If you don"t care about Thai law. Please go out from my country"

บอกตามตรงว่า นับตั้งแต่ฉันเคยอ่านหนังสือที่เขียนโดยคนไทย ยังไม่เคยพบประโยคที่แสดงถึงความเป็น "ไทย" อันสมบูรณ์แบบทั้งในรูปประโยคและเนื้อหาอย่างนี้มาก่อนและเป็นสิ่งที่ยากจะจินตนาการได้ว่าจะมีคนชาติไหนอีกที่สามารถเขียนประโยคในภาษาอังกฤษออกมาได้เช่นนี้



อาจารย์ชาญวิทย์เสนอว่า แนวคิดเรื่องประเทศไทยไม่เหมือนใครในโลก ประเทศไทยมีเอกลักษณ์ มีลักษณะจำเพาะเป็นของตนเองนั้นเป็นผลผลิตของนักวิชาการอเมริกันยุคซิกซ์ตี้ เพราะฉะนั้น จึงไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่จะต้องเปรียบเทียบประเทศไทยกับประเทศไหนในโลก

และข้อเท็จจริงที่ไม่ได้เป็น "จริง" ทั้งหมดที่มีไว้รองรับความคิดเรื่องประเทศไทยไม่เหมือนที่ใดในโลกคือคือ ข้อ "เท็จ" และ "จริง" ที่ว่าประเทศไทยไม่เคยตกเป็นเมืองขึ้นของใคร

เมื่อเราไม่เคยตกเป็นเมืองขึ้นของใคร ประวัติศาสตร์การเมืองไทยจึงถูกตัดขาดจากชะตากรรมของดินแดนอื่นๆ ร่วมภูมิภาค เพียงเพราะดินแดนเหล่านั้นหากไม่เป็นเมืองขึ้นของดัตช์ ก็เป็นอังกฤษ หรือเป็นฝรั่งเศส

เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วจึงยากมากที่เราจะคิดคล้อยตามได้ว่าความภาคภูมิใจในข้อ "เท็จ" และ "จริง" เรื่องประเทศไทยไม่เคยตกเป็นเมืองขึ้นของใครนั้นถึงที่สุดมันคือส่วนหนึ่งของการสร้างอัตลักษณ์ "ความเป็นไทย" Thainess ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนจนกระทั่งปลายศตวรรษที่ 19 และถูกนำมารื้อฟื้นปัดฝุ่นใหม่ให้เข้มข้นยิ่งขึ้นในศตวรรษถัดมาในช่วงทศวรรษที่ 60 ดังที่อาจารย์ชาญวิทย์กล่าวไว้

ส่วนหนึ่งของการสร้างอัตลักษณ์ความเป็นไทยหรือ Thainess ที่ไม่เคยมีมาก่อนในโลกนี้จนกระทั่งถูกสร้างและลงหลักปักฐานอยู่ในจิตสำนึกของพลเมืองไทยผ่านการกล่อมเกลาทางสังคมนานารูปแบบไม่ว่าจะเป็นหลักสูตร ตำราเรียน เพลงปลูกใจ การอบรมลูกเสื้อชาวบ้าน ข่าวจากสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย นวนิยาย ละคร วิชาลูกเสือ เนตรนารี ฯลฯ นับตั้งแต่ทศวรรษที่ 60 หรือประมาณปี 2500 ลงมานั้นคือการสร้างความเป็น "ฝรั่ง" ขึ้นมาให้คนไทยได้รู้จัก

ในประวัติศาสตร์ว่าด้วยการเสียดินแดนถูก "นิพนธ์" ขึ้นมาด้วยพล็อตเรื่องว่าด้วยการเผชิญหน้าของสยามในฐานะที่เป็นลูกแกะแสนบริสุทธิ์น่าสงสาร ส่วนฝรั่งเศสกับอังกฤษนั้นคือมหาอำนาจที่เปรียบเสมือนหมาป่า เจ้าเล่ห์


บันทึกการเดินทางของชนชั้นนำที่ได้มีโอกาส "นิราศ" ยังโลกตะวันตก ถูกคัดสรร นำมาอ่านใหม่ ตอกย้ำ เล่าซ้ำ ในส่วนที่ต้องการกอบกู้ "ปมด้อย" ของสยามในสายตาของตะวันตกที่มองว่าเป็นดินแดนอันป่าเถื่อน ด้วยการอธิบายว่าวัฒนธรรมสยามนั้นมีความเก่าแก่ รุ่งเรืองไม่แพ้หรือแม้กระทั่งเหนือกว่า "ฝรั่ง" ในหลายๆ ด้าน

การเดินทางไปสั่งสอน "ฝรั่ง" ของแม่มณีผ่าน "ทวิภพ" ก็เป็นหนึ่งในโครงการกอบกู้ศักดิ์ศรีของความเป็นไทย เพื่อให้ฝรั่งตระหนักถึงความศิวิไลซ์ของไทยที่ไม่ด้อยไปกว่าชาติไหนในโลกนี้

ก่อนจะจบด้วยบทเรียนที่บอกว่า ต่อไปนี้ฝรั่งหน้าไหนอย่าได้มาบังอาจลบหลู่ความเป็นไทยอันสูงส่งของเรา - โดยหาได้สำเหนียก รู้ทัน ตั้งสติว่า เนื้อหา และอุดมการณ์ที่เหมือนจะสั่งสอนฝรั่งในนิยายเรื่องทวิภาพนั้น "ฝรั่ง" ไมได้อ่าน มีแต่คนไทยเท่านั้นที่อ่านกันเอง

เคลิ้มกันเอง ภูมิใจกันเอง สะใจกันเองที่เห็นฝรั่งถูกคนไทยสั่งสอน ทั้งไม่ทันคิดว่าที่แม่มณีมีศักยภาพไปสั่งสอนฝรั่งก็เพราะเธอได้รับการศึกษามาแบบฝรั่งนั่นเอง



ในทางวัฒนธรรม ฝรั่งหรือตะวันตกยังกลายเป็นผู้บุกทำลายวัฒนธรรมอันเก่าแก่ งดงาม ของวัฒนธรรมไทย นวนิยายหลายต่อหลายเรื่องพูดถึง "ผู้หญิงไทย" ที่เสียผู้เสียคนเพราะไปหลงผิดรับเอาวัฒนธรรมตะวันตก

นวนิยายโรแมนซ์กือบทั้งหมดของไทย ตำหนิผู้หญิงที่ดื่มเหล้า สูบบุหรี่ เฟลิต ผุ้หญิงที่แต่งตัวไม่เหมาะสมกับเป็นผู้หญิงไทย (โป๊) ผู้หญิงที่นั่งไขว่ห้าง (คนไทยจำนวนหนึ่งเห็นว่าการนั่งไขว่ห้างเป็นกิริยาอันไม่เหมาะสมที่ผู้หญิงไทยไปเลียนแบบฝรั่ง โดยมิทันคิดว่า ในโลกของฝรั่งยุคหนึ่งก็ห้ามมิให้ผู้หญิงนั่งไขว่ห้างด้วยเหตุผลที่ว่ามันเป็นท่านั่งที่ทำให้เกิดการเสียดสีที่หว่างขาและเป็นส่วนหนึ่งของการช่วยตัวเองของผู้หญิง)

น่าสังเกตว่าการรับเอาวัฒนธรรมตะวันตกในทางที่อาจหมายถึงความสำส่อน ความเสื่อมของอารยะธรรมไทยนั้นมักจะกระทำผ่าน "ผู้หญิง"

ในขณะที่ตัวละครผู้ชายที่ได้รับการยกย่องมักจะเป็นผู้ที่ได้รับการศึกษามาอย่างดีจาก "ตะวันตก" หรือ "เมืองนอก" ในขณะที่ผู้เสพวรรณกรรมอย่างเรามักจะไม่ทันคิดว่า เหตุใดเมื่อตัวละครหญิงที่มาจากต่างประเทศจะถูกตำหนิว่า "แหม่มจ๋า" ส่วนตัวละครชายที่กลับจากเมืองนอกจะได้คุณสมบัติ "คุณชาย"

ในโลกวิชาการ และในหมู่นักคิดจำนวนไม่น้อยก็ได้สร้างภาพ "ตะวันตก" ให้กลายเป็นปีศาจ ที่เข้ามาครอบงำ "ภูมิปัญญา" อันล้ำค่าของตะวันออก

โปรดสังเกตว่านักคิดเหล่านี้เกือบทั้งหมดผ่านการศึกษาร่ำเรียนมาจากตะวันตก หรือได้ไปใช้ชีวิตอีกทั้งชอบที่จะได้กลับไปใช้ชีวิตอยู่ในโลกตะวันตกอยู่เนืองๆ

ดังนั้น เมื่อพวกเขาอ้างตนว่าเป็นผู้ซึ่งรู้เช่นเห็นสันดานฝรั่ง พวกเขาจึงมีความชอบธรรมที่จะเป็นประกาศก (prophet) บอกกล่าวแก่ผู้ไม่รู้เท่าทันฝรั่งถึงความชั่วร้ายของซาตานทุนนิยมบ้าง ซาตานเพลงร็อกบ้าง ซาตาน ไมเคิล แจ๊กสัน บ้าง (เอา ไมเคิล แจ๊กสัน คืนไป เอาพระนารายณ์คืนมา) ซาตานอาหารแดกด่วนบ้าง ซาตานบริโภคนิยมบ้าง ซาตานวัตถุนิยมบ้าง

กิจกรรมของปัญญาชนและนักกิจกรรมเพื่อสังคมชาวไทยจำนวนไม่น้อยในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมาจึงทุ่มเทพลังไปกับการต่อสู้กับทุนสามานย์ โลกาภิวัตน์ บริโภคนิยม การเขมือบกลืนของทุนข้ามชาติ การครอบงำของความรู้ ปรัชญา อีกทั้งการแพทย์แผนใหม่ที่มองทุกอย่างแบบแยกส่วน เห็นมนุษย์เป็นเครื่องจักร มองข้ามความสัมพันธ์ของชุมชน

ก่อนจะตามมาด้วยกระแส การเชิดชูปราชญ์ชาวบ้าน การแพทย์พื้นบ้าน การตามหาเมล็ดพันธุ์พืชผักพื้นบ้าน

และสุดขั้วของกระแสแนวคิดนี้คือการเรียกร้องให้สร้างยุคที่เรียกว่า Post - Westernism แทนที่ Post Modernism



จะรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ตาม การเก็บ "ฝรั่ง" หรือ "ตะวันตก" ไว้ในชุดของอุดมการณ์แห่งการสร้าง "ความเป็นไทย" จนลืมทำความรู้จักกับ "ฝรั่ง" หรือ "ตะวันตก" ลืมแม้กระทั่งการเรียน "ภาษาอังกฤษ" ที่ไม่ผ่านการอาบ "อุดมการณ์"

ชาตินิยมฉบับขวาจัดคลั่งชาติ ท้ายที่สุดมันได้ก่อรูปความเป็นไทยที่มีลักษณะ unique หรือมีเอกลักษณ์ที่ไม่เหมือนใครขึ้นมาจริงๆ ไม่ว่าจะเป็นการคอนเฟิร์มคุณค่าของความไทยด้วยการใช้ "ฝรั่ง" เช่น รายการโทรทัศน์ที่ให้ฝรั่งออกมามาพูดว่าประเทศไทยนั้นดีกว่าประเทศอื่นๆ ดินแดนอื่นๆ อย่างๆ ไรและไม่มีความจำเป็นอะไรที่ "คนไทย" อย่างเราๆ ต้อง "เดินตามก้นฝรั่ง"

เอกลักษณ์ของความเป็นไทยที่สำคัญมากและไม่เหมือนใครเลยจริงๆ อีกประการหนึ่งคือลักษณะ เอะอะไรเราจะไล่คนออกจากบ้าน (ประเทศ) เป็นเบื้องแรก และด้วยความภาคภูมิใจ

ความสามารถที่จะขับไล่ไสใครก็ตามออกจากบ้าน (ประเทศ) ต้องเกิดจากความเชื่อที่ว่า บ้านของเราน่าอยู่ที่สุดในโลก เสียจนใครๆ ก็อยากอยู่ในบ้านหลังนี้

เรื่องนี้น่าตลกมายิ่งขึ้นไปอีก หากเราจะเทียบบ้านของเรากับประเทศอย่างอเมริกา สวิตเซอร์แลนด์ ญี่ปุ่น สวีเดน แล้วเราตะโกนไล่คนเหล่านั้นว่า "ไม่ชอบบ้านกูก็ออกไป ไป๊" (สำนึกเช่นนี้เข้าใจว่าส่วนหนึ่งมาจากละครไทยที่ผู้เป็นประมุขชอบขู่ลูกๆ หลานๆ ว่า หากใครไม่ทำตามกฎของบ้านจะถูกตัดออกจากกองมรดก)

เอกลักษณ์ที่บ่งบอกความเป็นไทยอันไม่เหมือนใครในโลกนี้เท่าที่จับได้จากข้อความที่โพสต์ในเฟซบุ๊กของสถานทูตอเมริกาคือ ความเชื่อที่ว่าประเทศไทยนั้นเก่าแก่ (เก่ากว่าอเมริกา?), มีภาษาพูดและเขียนเป็นของตนเอง (จึงเหนือกว่าชนชาติอื่นโดยอัตโนมัติ) ประเทศที่ไม่มีกษัตริย์เป็นประเทศที่ไม่มี "รากเหง้า" เท่ากับไม่มีวัฒนธรรม ไม่มีประเพณีให้ภาคภูมิใจ

เอกลักษณ์ไทยลำดับสุดท้ายเท่าที่ฉันจับความได้คือ หนึ่งในความเป็นไทยที่สมบูรณ์แบบคือ การปฏิเสธคุณค่าพื้นฐานของหลักสิทธิมนุษยชนสากล การปฏิเสธการปกครองระบอบประชาธิปไตย และการแลกอะไรก็ได้ที่มีอยู่เพื่อดำรงไว้ซึ่งสถาบันสำคัญตามประเพณี

สุดท้ายนี้ขอเสนอสัญลักษณ์ประจำชาติว่านอกจาก "ขวาน" แล้ว เราคนไทยต้องการ "กะลา "



+++

ความพิเศษ และ หนึ่งเดียวของ "ความเป็นไทย" uniqueness of Thainess !?
โดย ชาญวิทย์ เกษตรศิริ (ที่มา เฟซบุ๊กส่วนตัวของ "ชาญวิทย์ เกษตรศิริ")
ในมติชน ออนไลน์ วันอังคารที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2554 เวลา 15:00:00 น.


ความคิดที่ว่า "ความเป็นไทย" เป็น "หนึ่งเดียว-พิเศษ-ไม่มีใครเหมือน" และ "ไม่เหมือนใคร" ใน "โลกใบนี้" ที่ใช้และยืมมาจากคำอังกฤษ/อเมริกัน "unique/uniqueness" นั้น เป็นสิ่งที่สร้างขึ้นโดยนักวิชาการอเมริกัน ในยุค 1960s ของ "สงครามเย็น" โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เดวิด วิลสัน (David A. Wilson: Politics in Thailand, Cornell, 1962)

ความคิดว่าด้วย uniqueness นี้ มีจุดประสงค์เพื่อสนับสนุนทั้ง "สถาบันทหาร" คือ "ระบอบสฤษดิ์-ถนอม" กับสถาบันจารีตอื่นๆ ในการต่อสู้กับ "ลัทธิคอมมิวนิสม์" และ "ขบวนการชาตินิยม" ทั้งในจีน (แดง) และในอินโดจีน (เวียดนาม-กัมพูชา-ลาว) ความคิดเช่นนี้ มีข้ออ้างสำคัญ คือ "การพัฒนาเศรษฐกิจ" (กระแสหลัก) หรือ mainstream economic development แล้วให้ชะลอ "การพัฒนาการทางการเมืองกับสังคม" ไปก่อน

ความคิดที่ว่าไทยเป็น "หนึ่งเดียว-ไม่เหมือนใคร" ของอเมริกันยุค "ซิกสตี้" นี้ ได้รับการสืบทอด ตอกย้ำ โดยนักวิชาการกระแสหลักของไทยเอง ไม่ว่าจะเป็น นักรัฐศาสตร์ นิติศาสตร์ สังคมวิทยา มานุษยวิทยา ประวัติศาสตร์ และนักไทย (คดี) ศึกษา นักภาษาและวรรณคดีไทยๆ ตลอดจนสื่อสารมวลชน (ไทยๆ) เกือบจะทุกสำนัก (ไม่ว่าจะเป็น "นักเรียนนอก" และ "นักเรียนไม่นอก" ไม่ว่าจะจบหรือไม่จบ ม.ในกรุง หรือ ม. นอกกรุง)


ความคิด "หมู่" ว่าด้วย uniqueness นี้ยังประโยชน์ให้กับนักการเมือง (ทั้งในและนอกระบบ) นักการทหาร นักการปกครองของ "อำมาตยา-เสนาธิปไตย" ในการที่จะ "รักษาสถานเดิม" หรือ status quo ตลอดจนสืบทอดความคิด "อนุรักษ์นิยม" conservatism หรือขยายความต่อซึ่ง neo-liberalism (แถม post-modernism !? ด้วยก็ยังได้) ทั้งหลายทั้งปวง ที่ถ้าไม่ปฏิเสธตรงๆ ก็ขอ "เลื่อน/รอ" ไปก่อนซึ่ง"ประชาธิปไตยโดยรัฐสภา และการเลือกตั้ง" ตลอดจนการไม่ธำรงไว้ซึ่งหลักการณ์สากลว่าด้วย "ความเสมอภาค-เสรีภาพ-ภราดรภาพ" และ/หรือ "สิทธิมนุษยชน" นั่นเอง

ความคิดเช่นนี้ แถมยังให้ "ความชอบธรรม" หรือ justification/legitimacy ต่อการที่จะ (ยัง) ไม่ "ปฏิรูป" ไม่ว่าจะเป็นสถาบันใดๆ ของไทยแทบทุกสถาบันด้วย เช่นกัน

(ชาญวิทย์ เกษตรศิริ 11/12/2011 "รำพึงสยาม" หลังคืนจันทรคราสเต็มดวง)



.