http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2554-12-29

รัสเซียในอนาคต, + สหรัฐจะล่มสลาย?, คิวบากับ..รัสเซีย โดย อนุช อาภาภิรม

.

บทความเมื่อตอนต้นปี 2554

รัสเซียในอนาคต
โดย อนุช อาภาภิรม คอลัมน์ วิกฤติศตวรรษที่21
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1604 หน้า 42


เราได้มาถึงบทลงท้ายของชุดรัสเซียปัจจุบัน โดยจะกล่าวถึงรัสเซียในอนาคตอีก 10-15 ปีข้างหน้า การกล่าวถึงอนาคตใน 10-15 ปีข้างหน้าเป็นสิ่งค่อนข้างยากกว่าเดิม เพราะโลกกำลังอยู่ในช่วงการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ จากโลกขั้วอำนาจเดียวที่นำโดยตะวันตกอันมีสหรัฐ-อังกฤษเป็นแกน เป็นเวลายาวนานราว 200 ปี สู่โลกที่มีหลายขั้วอำนาจ

อนึ่ง แม้ในยุคสงครามเย็นที่เหมือนมี 2 ขั้วอำนาจ คือสหรัฐกับสหภาพโซเวียต แต่แท้จริงอิทธิพลสหรัฐแผ่ครอบคลุมไปทั่วโลก และสหภาพโซเวียตตกอยู่ในภาวะถูกปิดล้อมจนล่มสลายในที่สุด

การเปลี่ยนแปลงใหญ่ในระดับโลกดังกล่าว ก่อให้เกิดความผันผวนไม่แน่นอนอย่างสูง กับทั้งยังมีวิกฤติอื่นรุมเร้าโดยเฉพาะทางสิ่งแวดล้อม อาจเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิดเช่นสงครามใหญ่ โรคระบาดทั่วโลก วิกฤติทรัพยากรธรรมชาติ ได้แก่ น้ำและน้ำมัน ความอดอยากโหยหิวทั่วโลก เป็นต้น ซึ่งจะกระทบต่อความเป็นไปของประเทศต่างๆ รวมทั้งรัสเซีย ซึ่งการทำนายอนาคตยิ่งเป็นเรื่องยาก

ในที่นี้ต้องการเพียงวาดภาพใหญ่บางประการ และตัดเอาเหตุไม่คาดคิดออก

อนึ่ง ในการกล่าวถึงอนาคตของสิ่งหนึ่งๆ นั้น นิยมตั้งคำถามพื้นๆ 3 ข้อ ได้แก่

ก) อะไรบ้างที่คงเดิมหรือมีการเปลี่ยนแปลงน้อยมาก

ข) อะไรบ้างที่เปลี่ยนแปลง และ

ค) อะไรบ้างที่เกิดใหม่ จะได้กล่าวเป็นลำดับไป



อะไรบ้างที่เหมือนเดิม

สิ่งที่เหมือนเดิมมักเป็นเรื่องทางโครงสร้าง ซึ่งเปลี่ยนแปลงยาก สิ่งที่เหมือนเดิมน่าจะมีอยู่ 3 ประการได้แก่

1) อำนาจของรัฐบาลกลาง ซึ่งบางทีเรียกอำนาจเคลมลิน น่าจะแข็งแกร่งและค่อนข้างรวมศูนย์เหมือนเดิม

ในปี 2012 จะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดี ซึ่งเป็นที่จับตาดูกัน ว่ากลุ่มอำนาจนำจะส่งใคร ระหว่าง ปูติน กับ เมดเวเดฟ มาเป็นตัวแทน และคาดหมายทั่วไปว่าน่าจะได้แก่ ปูติน โดยเห็นกันว่าถ้าหากเป็นปูตินการเมืองของรัสเซียก็จะมีลักษณะรวมศูนย์คล้ายกับที่เป็นอยู่ เพื่อให้การพัฒนาเศรษฐกิจ-การเมืองเป็นไปอย่างไม่สะดุด

ถ้าหากเป็นเมดเวเดฟก็จะหนักไปในทางเสรีนิยมกว่า แต่ไม่ว่าจะเป็นใครรัฐบาลรัสเซียก็จะรักษาอธิปไตยไม่ยอมให้สหรัฐและตะวันตกเข้ามาแทรกแซงสั่งสอนอย่างง่ายๆ โดยเฉพาะในยามที่ตะวันตกประสบวิกฤติเศรษฐกิจ-สังคมรุมเร้า ศูนย์เสียอิทธิพลลงไปมาก

2) เศรษฐกิจทรัพยากรธรรมชาติ ที่สำคัญคือน้ำมันและพลังงานยังคงเป็นฐานหลักของเศรษฐกิจ ว่าไปแล้ว ปรากฏว่ารัสเซียปัจจุบันพึ่งพาการส่งออกแร่ธาตุและพลังงานมากเสียกว่าสมัยสหภาพโซเวียตเสียอีก

ยิ่งกว่านั้น ในปี 2006 ปูตินครั้งเมื่อยังเป็นประธานาธิบดีได้ประกาศว่าจะทำให้รูเบิลเป็นสกุลเงินที่สามารถแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศได้ เพื่อที่จะให้รูเบิลสามารถใช้ในการทำธุรกรรมทางด้านน้ำมันและก๊าซธรรมชาติรวมทั้งสินค้าอื่นได้ ซึ่งย่อมมีผลระดับหนึ่ง เพราะว่ารัสเซียเป็นผู้ส่งออกน้ำมันถึงร้อยละ 15.2 ของโลก และเป็นผู้ส่งออกก๊าซธรรมชาติร้อยละ 25.8 (ดูบทความของ Mike Whitney ชื่อ Vladimir Putin and the Rise of the Petro-Ruble ใน freeforum101.com 230506)

สำหรับธาตุหายาก (Rare Earth Metal- REM) มีแทนทาลัม ไนโอเนียม ซีร์โคเนียม แลนธานัม และเซเรียม เป็นต้น ซึ่งจีนถือว่าผูกขาด โดยเป็นผู้ส่งออกแร่โลหะหายากนี้ถึงร้อยละ 97 ของโลก

ปรากฏว่ารัสเซียก็มีแร่ธาตุเหล่านี้อยู่เป็นอันมาก กล่าวคือมีปริมาณธาตุหายากที่สำรวจพบแล้วมากเป็นอันดับ 2 ของโลก และคาดหมายว่าจะมีแหล่งแร่หายากสำรองมากที่สุดในโลก

เมื่อจีนประกาศในปี 2010 ว่าจะลดการส่งออกธาตุหายากลงจนกระทั่งถึงขั้นยุติการส่งออกทั้งหมดได้ก่อความตื่นตระหนกไปทั่วโลก เนื่องจากธาตุหายากเหล่านี้จำเป็นในการผลิตผลิตภัณฑ์ไฮเทคจำนวนมาก ได้แก่ อุปกรณ์ในโทรศัพท์มือถือและคอมพิวเตอร์ แสงเลเซอร์ อุปกรณ์ยานอวกาศ แบตเตอรี่เก็บไฟมากและนาน กระจกเลนส์ และกังหันลมขนาดใหญ่ เป็นต้น

การตัดสินใจลดการส่งออกธาตุหายากอย่างฮวบฮาบของจีน จึงกลายเป็นโอกาสหารายได้ของรัสเซีย ที่ผลิตธาตุหายากเหล่านี้อยู่แล้วในรูปแบบของผลพลอยได้ของแร่ธาตุอื่น อย่างเช่นแมงกานีส หากธาตุหายากเกิดมีราคาดี ก็จะผลิตเป็นกอบเป็นกำได้ (ดูบทความชื่อ Russia May Cash in As China Cuts Rare Earth Metal Exports ใน telegraph.co.uk 250411)

ส่วนแร่ธาตุอื่นที่รัสเซียถือว่าเป็นผู้ผลิตรายใหญ่อยู่แล้วได้แก่ เหล็กและเหล็กกล้า นิกเกิล ถ่านหิน ซึ่งรัสเซียเป็นผู้ส่งออกใหญ่อันดับสาม ทองคำซึ่งรัสเซียเป็นผู้ส่งออกอันดับ 6 ของโลก และคาดว่าน่าจะมีแหล่งแร่สำรองทองคำใหญ่ที่สุดของโลก

นอกจากนี้ รัสเซียยังได้กลายเป็นผู้ผลิตเพชรอันดับ 1 ของโลก ในปลายเดือนเมษายนนี้พบเพชรสีเหลืองหนักกว่า 136 กะรัต และเมื่อมีการคาดหมายว่าโลกจะพบกับวิกฤติขาดแคลนน้ำ ก็มีข่าวว่ารัสเซียที่มีสำรองน้ำจืดมากที่สุดในโลก มีความคิดที่จะส่งออกน้ำไปยังตะวันออกกลาง เป็นต้น

แต่มีบางคนแย้งว่า รัสเซียเองก็ยังแก้ปัญหาน้ำของตนไม่ได้ดี (ดูรายงานข่าว Russian Water to Become Export Earner ใน rt.com 261010) เศรษฐกิจแบบนี้แม้จะมีจุดอ่อนที่ไม่ยั่งยืนและมีการปรับพัฒนาเทคโนโลยีช้า แต่ก็มีจุดแข็งที่ว่ามีการแข่งขันน้อย โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับน้ำมันและพลังงาน ซึ่งมีแนวโน้มที่จะมีราคาดี เนื่องจากมีความต้องการสูง

3) พื้นฐานเศรษฐกิจที่ค่อนข้างมั่นคงเมื่อเทียบกับของสหรัฐและยุโรปตะวันตกที่ยังเผชิญวิกฤติและเปราะบาง และเมื่อคำนึงถึงว่า รัสเซียสามารถผ่านวิกฤติปี 2008 ได้อย่างค่อนข้างมั่นคง โดยรัสเซียมีหนี้น้อย หนี้รัฐบาลปี 2010 ประมาณว่าตกราวร้อยละ 9.5 ของจีดีพี อยู่ในอันดับที่ 123 ของโลก ทุนสำรองระหว่างประเทศสูงเกือบ 483 พันล้านดอลลาร์ มากเป็นอันดับสามของโลก

การค้าระหว่างประเทศยังได้ดุล คาดหมายว่าเศรษฐกิจยังสามารถขยายตัวดีอย่างต่อเนื่องแม้จะเทียบกับจีนและอินเดียไม่ได้

อย่างไรก็ตาม อัตราเงินเฟ้อค่อนข้างสูง ตกร้อยละ 6.7 ในปี 2010 และยังต้องพึ่งพาเงินลงทุนจากต่างประเทศอยู่มาก (CIA Factbook)



อะไรบ้างที่เปลี่ยนแปลง

ที่เรียกว่าเปลี่ยนแปลงเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ค่อนข้างเห็นชัดและมีความสำคัญพอสมควร แต่ยังไม่มากพอที่จะกระทบต่อโครงสร้าง อาจกล่าวได้ว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงทางปริมาณ ซึ่งที่สำคัญน่าจะได้แก่

ก) ความสำคัญขึ้นขององค์กรธุรกิจเอกชนตามการขยายตัวของเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม ทั้งนี้ เนื่องจากรัฐบาลมีความสามารถอย่างจำกัด เช่น ในการรักษาความมั่นคงและสถานะเดิม และภาระการสนองบริการสาธารณะแก่ประชาชนก็กินทรัพยากรและแรงงานไปมาก การขับเคลื่อนเศรษฐกิจจริงๆ จึงตกอยู่ในมือของภาคธุรกิจเอกชนที่รวมศูนย์ทุนไว้ในมือของตนจำนวนน้อย

กลุ่มทุนเหล่านี้จะค่อยๆ ขยายไปสู่วิสาหกิจที่รัฐผูกขาดอยู่ เช่น ด้านน้ำมันและพลังงาน รวมไปถึงการธนาคาร พร้อมกันนั้นก็ขยายกิจการใหม่ที่ให้ผลกำไรดี เช่น อสังหาริมทรัพย์ รถยนต์ และการค้าปลีกเป็นต้น จนในที่สุดมีส่วนกำหนดวัฒนธรรมของรัสเซียสมัยใหม่ เช่น วัฒนธรรมการบริโภค ดนตรีร็อก แฟชั่น และการบริการต่างๆ

ข) บทบาทที่มากขึ้นของประชาสังคม ตามการเปิดเสรีทางเศรษฐกิจ-การเมือง การเรียกร้องสิทธิผลประโยชน์ต่างๆ โดยการชุมนุมประท้วงน่าจะมากขึ้น

ค) การพัฒนากองทัพหลังจากที่อยู่ในภาวะที่ทรงกับทรุดมานานเนื่องจากการล่มสลายและการขาดเงิน ความคิดในการปฏิรูปกองทัพได้มีการพูดกันมาหลายปีแล้ว และดูเหมือนจะเพิ่มความเข้มข้นขึ้น การพัฒนานี้เป็นการเปลี่ยนแปลงที่รอบด้าน ทั้งการบริหาร การเปลี่ยนอาวุธให้ทันสมัย ไม่พึ่งแต่อาวุธนิวเคลียร์เหมือนเดิม

การสร้างอุตสาหกรรมที่เข้มแข็ง การกำหนดยุทธศาสตร์สงคราม ทั้งนี้ เพราะรัสเซียตกอยู่ในแรงบีบจากทั้ง 2 ด้าน คือ สหรัฐและจีน (ดูบทรายงานข่าวชื่อ Russia Must Prepare for New "Times of Troubles" Sa6s Military Analyst ใน rt.com 280311)



อะไรบ้างที่เกิดใหม่

สิ่งเกิดใหม่จริงๆ มักเกิดขึ้นในภาวะที่เกิดความปั่นป่วน จนกระทั่งโครงสร้างเดิมดำรงอยู่ได้ยาก และเริ่มแตกตัวเป็น 2 ขั้ว ซึ่งไม่ทราบชัดว่าจะไปทางไหน ในที่นี้หมายถึงการอุบัติขึ้นของบางอย่างที่มีผลกระทบสูงต่อโครงสร้างทางสังคม ที่ควรกล่าวถึง ได้แก่ การตื่นตัวของชาวไซบีเรีย ซึ่งก่อนหน้านั้นไม่มีการพูดถึงชาวไซบีเรียที่เป็นกลุ่มรวม ในการสำมะโนประชากรปี 2010 เริ่มมีการพูดถึงประเด็นนี้

การตื่นตัวของชาวไซบีเรีย เกิดจากการพัฒนาภูมิภาคไซบีเรียตะวันออกและภาคตะวันออกไกลของรัสเซียขึ้นมามากในช่วง 20 ปีมานี้ ทำให้เกิดศูนย์ทางเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม การเมือง การศึกษาและวัฒนธรรมขึ้นในบริเวณนี้

ที่น่าจับตาอีกประการหนึ่ง ได้แก่ บทบาทที่เพิ่มขึ้นของกลุ่มบริกส์ (บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน แอฟริกาใต้) และองค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้ ที่รัสเซียจะใช้เป็นเครื่องมือในการต่างประเทศ

เนื่องจากรัสเซียไม่สามารถทำได้ตามลำพัง ต้องพึ่งประเทศตลาดเกิดใหม่ขนาดใหญ่เหล่านี้



ความฝันของปูติน

คําปราศรัยของปูตินต่อสภาดูมาวันที่ 20 เมษายน 2011 วาดความฝันเกี่ยวกับรัสเซียในอีก 10 ปีข้างหน้า (2011-2020) ไว้ว่า

(1) สถานการณ์โลกปั่นป่วนล่อแหลม เนื่องจากมีสหรัฐที่เป็นอภิมหาอำนาจพิมพ์ธนบัตรเพื่อแก้ปัญหาของตนแต่ส่งผลกระทบไปทั่วโลก นอกจากนี้ ยังเกิดความไม่สงบในโลกอาหรับทั้งในตะวันออกกลางและแอฟริกาตอนเหนือ

(2) รัสเซียจะต้องสร้างประเทศให้มั่นคงเข้มแข็งทั้งทางเศรษฐกิจ การเมือง การทหารและทางสังคม เพราะหากว่าอ่อนแอแล้ว "ก็จะมีบางคนที่ต้องการจะเข้ามาหรือบินมาเพื่อแนะนำอย่างแจ่มแจ้งว่าคุณควรจะเดินไปในแนวทางไหน ปฏิบัตินโยบายใด หรือเดินไปตามหนทางใด"

(3) ความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจแสดงออกที่ขนาดเศรษฐกิจของรัสเซียจะใหญ่เป็นอันดับที่ 5 ของโลก รายได้ต่อหัวต่อปีของประชากรจะเพิ่มเป็น 35 พันล้านดอลลาร์ซึ่งจะสูงกว่าของฝรั่งเศสและอิตาลีในปัจจุบัน จะเพิ่มสัดส่วนผลิตภัณฑ์นวัตกรรม (Innovative Products) จากร้อยละ 12 เป็นร้อยละ 25-35 ของผลิตภัณฑ์มวลรวม ส่งเสริมการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศให้ได้ปีละ 70 พันล้านดอลลาร์ (ในปี 2010 การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศตก 40.5 พันล้านดอลลาร์) การสร้างชุมชนทางเศรษฐกิจตั้งแต่ลิสบอนในโปรตุเกสถึงวลาดิวอสตอก เชื่อมเศรษฐกิจรัสเซียเข้ากับสหภาพยุโรป และการพัฒนาอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงและพลังงานแบบก้าวกระโดด

(4) ความเข้มแข็งทางการเมืองแสดงออกที่มีรัฐบาลกลางที่มั่นคง ลักษณะความเป็นอิสระและอธิปไตยของชาติ หลีกเลี่ยงความเอนเอียงใน 2 ด้าน นั่นคือไม่เดินไปตามทิศทางเสรีนิยมที่ไม่มีการพิสูจน์ว่าถูกต้อง (Unjustified Liberalism) และไม่เดินนโยบายฉวยโอกาสการเมืองเพื่อคะแนนทางสังคม (Social Demagogy)

(5) ความเข้มแข็งทางการทหารแสดงออกที่การปฏิรูปให้ทันสมัย โดยใช้เงินงบประมาณกว่า 7 แสนล้านดอลลาร์ใน 10 ปีข้างหน้า โดยเฉพาะในกองทัพเรือ เงินที่ใช้นี้จะช่วยสร้างอุตสาหกรรมทหารของรัสเซียให้แข็งแกร่งขึ้นอีกมาก

(6) ความเข้มแข็งทางสังคมแสดงออกที่จำนวนประชากรเพิ่มขึ้น โดยจะเพิ่มอัตราการเกิดระหว่างร้อยละ 25-30 ในปี 2015 จากปี 2006 และทำให้อายุคาดหมายเฉลี่ยเพิ่มขึ้นเป็น 71 ปี ซึ่งจะต้องใช้เงินงบประมาณหลายล้านล้านรูเบิลในโครงการด้านประชากร เช่น สนับสนุนทางสินเชื่อให้ครัวเรือนชาวรัสเซียสามารถมีโอกาสซื้อบ้านเพิ่มจากร้อยละ 12 ในปัจจุบัน เป็นอย่างน้อย 1 ใน 3 นอกจากนี้ ยังจะแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยแก่ทหารได้ทั้งหมดในปี 2013 เพิ่มเงินบำนาญแก่ผู้รับบำนาญ เพิ่มเงินเพื่อสนับสนุนการศึกษาระดับอนุบาล เพิ่มเงินค่าครองชีพแก่แพทย์ฝึกงานขึ้นเท่าตัว ส่งเสริมการดำเนินชีวิตที่มีสุขภาวะ และยับยั้งภาวะสมองไหล (ดูบทรายงานชื่อ Putin Reports Government"s Performance in 2010 to State Duma ใน itar-tass.com 200411 เป็นต้น)

การวิเคราะห์และการคาดฝันของปูตินน่าสนใจตรงที่เขายังคงมีอิทธิพลสูง และเคยทำสิ่งที่ประกาศออกมาได้ตามนั้นในระดับหนึ่ง

ข้างต้นนี้กล่าวได้ว่าเป็นอนาคตที่พึงประสงค์สำหรับกลุ่มอำนาจนำของรัสเซีย ส่วนอนาคตของรัสเซียจะเป็นอย่างไรนั้นขึ้นอยู่กับการจัดการสัมพันธ์ภายในของอำนาจ 3 ฝ่าย ได้แก่ อำนาจรัฐและกลไกการบริหาร อำนาจองค์กรธุรกิจเอกชน และประชาสังคม ว่าจะจัดการกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม แบ่งปันความมั่งคั่ง และการสร้างความมั่นคงหรือความคงทนต่อการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วได้อย่างไร

และนี่ก็ดูเหมือนว่าจะใช้กับประเทศต่างๆ ได้ทั่วโลก



+++

สหรัฐจะล่มสลาย เหมือนสหภาพโซเวียตหรือไม่
โดย อนุช อาภาภิรม คอลัมน์ วิกฤติศตวรรษที่21
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1588 หน้า 43


เมื่อสหภาพโซเวียตล่มสลายได้เกิดการคาดหมายว่า นี่คือการสิ้นสุดของระบบสังคมนิยมโลก และการเริ่มต้นของศตวรรษแห่งอเมริกา ที่สหรัฐจะเป็นอภิมหาอำนาจแต่ผู้เดียวในโลกไปยาวนาน

นักวิชาการสหรัฐบางคนถึงกับเสนอแนวคิดเรื่อง "ที่สุดแห่งประวัติศาสตร์" ว่า อุดมการณ์ทุนนิยมได้รับชัยชนะเด็ดขาดแล้ว และประวัติศาสตร์มนุษย์จะสิ้นสุดในระบบทุนนิยมนี้เอง

แต่มีบางคนเห็นเป็นอย่างอื่น กลับเห็นว่าสหรัฐมีแนวโน้มที่จะล่มสลายทำนองเดียวกับสหภาพโซเวียต

เขาผู้นี้คือ ดิมิทรี ออร์ลอฟ (Dmitry Orlov เกิด 1962)

ออร์ลอฟเกิดที่เมืองเลนินกราด (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นเซนต์ ปีเตอร์สเบิร์ก) อพยพมาสหรัฐตั้งแต่อายุ 12 ขวบ จบการศึกษาทางด้านวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ เขาได้เดินทางกลับไปเยือนบ้านเกิดหลายครั้งตั้งแต่ปี 1989 จนถึงกลางทศวรรษ 1990 ได้มีประสบการณ์ตรงต่อการล่มสลายของสหภาพโซเวียต

เขาเหมือนเป็นคนของ 2 วัฒนธรรมที่อยู่คนละขั้วคือโซเวียตและสหรัฐ

ออร์ลอฟเห็นความคล้ายคลึงบางอย่างในระบอบโซเวียตและสหรัฐ เขาได้คิดถึงเรื่องนี้มานาน และได้นำเสนอแนวคิดนี้ที่โน่นที่นี่ตั้งแต่ปี 2005 ในปี 2008 ได้ตกผลึกเป็นหนังสือเล่มไม่ใหญ่ชื่อ "การประดิษฐ์ความล่มสลายใหม่" (Reinventing the Collapse: The Soviet Example and American Prospects)

นั่นคือ สหรัฐกำลังประดิษฐ์การล่มสลายใหม่ในทำนองเดียวกับโซเวียต ซึ่งเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันหลายแง่มุม เว็บไซด์ของเขาชื่อ cluborlov blogspot.com

การจะเปรียบเทียบความคล้ายคลึงกันของประเทศทั้งสองดูออกประหลาด เมื่อคนทั่วไปเห็นว่าสหรัฐกับสหภาพโซเวียตมีภาพว่าอยู่คนละขั้ว หากจะมีความเหมือนก็อยู่ที่เป็นอภิหมาอำนาจหรือการเป็นจักรวรรดิ

แต่ก่อนที่จะกล่าวถึงการล่มสลายของสหรัฐว่าจะเป็นไปทำนอเงเดียวกับโซเวียตหรือไม่ ควรจะได้เข้าใจลักษณะทั่วไปของการล่มสลายว่าเป็นอย่างไร



การล่มสลายกับรัฐที่ล้มเหลว

คําว่า "การล่มสลาย" ใช้ในหลายที่หลายความหมาย ไม่มีคำจำกัดความที่เป็นที่ยอมรับกันทั่วไป เพียงแต่อาศัยเหตุการณ์หรือวิกฤติกลุ่มที่เกิดขึ้นแล้ว ทำให้ระบบนั้นไม่ว่าจะเป็นประเทศ จักรวรรดิ หรืออารยธรรมต้องอ่อนพลังไม่สามารถดำรงต่อไปอย่างเดิม แล้วก็กล่าวว่านี่คือการล่มสลาย

บางคนเสนอว่าการล่มสลายมีหลายมิติหรือหลายขั้น เช่น การล่มสลายทางการเงิน การล่มสลายทางการค้า การล่มสลายของระบอบรัฐ การล่มสลายของสังคมและวัฒนธรรม เป็นต้น

และมักเห็นกันว่า การล่มสลายขนาดใหญ่จะเป็นการล่มสลายที่เกิดขึ้นในหลายมิติพร้อมกัน หรือเกิดขึ้นต่อเนื่องกันไปหลายขั้น

มีอีกคำหนึ่งที่ใช้บ่อยขึ้นในสื่อมวลชนได้แก่ คำว่า "รัฐที่ล้มเหลว" (Failed State) ใช้ในการวิเคราะห์การเมืองระหว่างประเทศ เพ่งเล็งเอาที่ความสามารถในการปฏิบัติหน้าที่ของรัฐ

คำคำนี้มีผู้ให้คำจำกัดความที่พอจะเห็นพ้องกันว่า หมายถึงรัฐที่ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่สำคัญ 2 ประการ ได้แก่ การรักษาความสงบขั้นพื้นฐานและการพัฒนา ไม่สามารถควบคุมพื้นที่และชายแดนของตนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่สามารถผลิตซ้ำเงื่อนไขเพื่อการดำรงอยู่ของมันได้ มันเป็นรัฐ รัฐที่ล่มสลาย (State Collapse)

นอกจากนี้ ยังมีสำนักคิดสหรัฐชื่อ กองทุนเพื่อสันติภาพ (Fund for Peace) ได้สร้างดัชนีชี้วัดซึ่งมีทั้งทางด้านสังคม-ประชากร เศรษฐกิจ และการเมือง นั่นหมายความว่า รัฐที่ล้มเหลวจึงมักไม่ได้ล้มเหลวแต่ทางการเมือง หากยังล้มเหลวในด้านอื่นอีก

ที่น่าสนใจก็คือ สำนักคิดนี้ได้จัดอันดับรัฐตามดัชนีความล้มเหลวตั้งแต่ปี 2005 สำหรับในปี 2010 ได้ศึกษาใน 177 รัฐ ปรากฏว่ามี 20 รัฐที่แย่ที่สุด ซึ่งอาจถือว่าเข้าข่ายรัฐล้มเหลว ส่วนใหญ่อยู่ในแอฟริกาตอนใต้ทะเลทรายสะฮารา นอกนั้นได้แก่ อัฟกานิสถาน อิรัก ปากีสถาน (3 ประเทศนี้ ที่สำคัญเนื่องมาจากการแทรกแซงจากสหรัฐโดยตรง) เฮติ และพม่า เป็นต้น

มี 37 รัฐที่อยู่ในภาวะอันตราย (Alert)

92 รัฐอยู่ในขั้นควรระวัง (Warning ไทยอยู่ในขั้นนี้)

35 รัฐในระดับปานกลาง

มีเพียง 13 รัฐเท่านั้นอยู่ในสภาพมั่นคงยังยืน (Sustainable) ในนี้รวมถึงสหรัฐด้วย

ดังนั้น ใน 177 รัฐ มีเพียง 48 รัฐเท่านั้นที่พอวางใจ รัฐส่วนใหญ่ในโลกปัจจุบันอาจกลายเป็นรัฐล้มเหลวหรือเข้าสู่ภาวะการล่มสลายทางหนึ่งทางใดได้โดยง่าย

ยิ่งเมื่อมีการเสนอว่า แม้สหรัฐเองก็ตกสู่ภาวะล่มสลายได้ ก็เท่ากับว่าในปัจจุบันแทบไม่มีรัฐใดอยู่อย่างมั่นคงปลอดภัย

ทั้งสองคำมีความหมายเหลื่อมซ้อนกัน และบางทีอาจมีการใช้ปะปนกันไป โดยคำว่ารัฐที่ล้มเหลวมีการคิดดัชนีชี้วัดขึ้น ขณะที่คำว่าการล่มสลาย มองในมิติที่กว้างกว่า บางส่วนเป็นปรัชญา



ลักษณะทั่วไปของการล่มสลายเป็นอย่างไร

วิธีเข้าใจของการล่มสลายน่าจะโดยการเห็นว่าประเทศ จักรวรรดิ และอารยธรรมที่ล่มสลายนั้น มีพฤติกรรมคล้ายสิ่งมีชีวิตหรือระบบซับซ้อนที่ปรับตัวได้ (Complex adaptive system) ซึ่งมีทั้งการป้อนกลับเชิงบวก (Positive Feedback) และการป้อนกลับเชิงลบ (Negative Feedback) และความพยายามธำรงภาวะสมดุลในระบบไว้ (Homeostasis)

กล่าวอีกอย่างหนึ่งก็คือ ระบบทั้งหลายมีความจำกัดในตัวของมัน และไม่สามารถเติบโตอย่างไม่สิ้นสุดได้ สิ่งนี้เกิดขึ้นในโลกทางฟิสิกส์ด้วย

เช่น โมเลกุลของไฮโดรเจนกลุ่มหนึ่งอาจดึงดูดโมเลกุลหรืออะตอมไฮโดรเจนที่เล็กกว่ามารวม กันและใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ โดยแรงโน้มถ่วง เป็นการป้อนกลับเชิงบวก จนกระทั่งจุดระเบิดตัวเองกลายเป็นดวงดาว เป็นการป้อนกลับเชิงลบ และดำรงชีวิตอยู่ได้ด้วยการรักษาสมดุลระหว่างแรงระเบิดทางนิวเคลียร์กับการยุบตัวจากแรงโน้มถ่วง

จักรวรรดิและอารยธรรมสังเกตเห็นได้ง่ายกว่านั้น มันมักประกอบด้วยช่วงการเติบโต คล้ายเด็กโตขึ้นเป็นหนุ่มสาวอยู่ช่วงหนึ่ง และช่วงของวัยหนุ่มสาวจนถึงวัยผู้ใหญ่ ซึ่งเป็นช่วงการเติบโตถึงสูงสุด ถัดนั้นเข้าสู่ช่วงเสื่อมถอย เป็นช่วงของความชราจนถึงตายไป

นักประวัติศาสตร์บางคนกล่าวเปรียบเทียบการเติบโตและการล่มสลายของจักรวรรดิว่าเหมือนกับฤดูทั้งสี่ ได้แก่ ฤดูไบไม้ผลิ ฤดูร้อน ฤดูใบไม้ร่วง และฤดูหนาว อันเป็นช่วงล่มสลาย

ในคติพุทธ กล่าวถึงชีวิตมนุษย์ว่ามี เกิด แก่ ตาย บางทีเพิ่มเป็น เกิด แก่ เจ็บ ตาย อย่างหลังนี้ก็น่าจะถือได้ว่าเป็น 4 ฤดูเหมือนกัน

มีนักมานุษยวิทยาและนักประวัติศาสตร์ชาวสหรัฐผู้หนึ่งคือ โจเซฟ เทนเตอร์ (Joseph A. Tainter เกิด 1949) ได้รวมเอาความคิดและเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์เข้ากับเรื่องของสิ่งแวดล้อม เศรษฐศาสตร์พลังงาน ทฤษฎีเครือข่าย และระบบซับซ้อน เพื่อเสนอลักษณะทั่วไปของการล่มสลายของของอารยธรรมหรือสังคมที่ซับซ้อนในหนังสือที่เป็นที่กล่าวถึงกันมากชื่อ "การล่มสลายของสังคมซับซ้อน" (Collapse of Complex Societies เผยแพร่ปี 1988)

ทัศนะของเทนเตอร์อาจสรุปได้ดังนี้

อารยธรรมทั้งหลายที่มีประเพณีอันอุดม โครงสร้างทางสังคมที่ซับซ้อน และเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าที่สุดของยุคสมัย กระนั้น ก็พากันล่มสลายด้วยเหตุแห่งความเจริญของมันเอง

อารยธรรมทั้งหลายเริ่มต้นจากผู้คนหมู่หนึ่งที่ใช้ความสามารถในการจัดตั้งองค์กรของตนผสมกับความโชคดีทางสิ่งแวดล้อม สร้างทรัพยากรส่วนเกินขึ้นได้

ความมั่งคั่งส่วนเกินนี้ ถูกนำมาใช้ให้สังคมมีความซับซ้อนขึ้นทุกที เช่น เมื่อทำการเกษตร ก็จำต้องใช้ความรู้ทางการคำนวณ การสร้างยุ้งฉางนำมาสู่การพัฒนาการก่อสร้าง เป็นต้น

ในช่วงเริ่มต้นนี้ มูลค่าส่วนเพิ่มที่ได้จากความซับซ้อนนี้มีผลป้อนกลับเป็นบวก นั่นคือผลได้จากการสร้างความซับซ้อนหรือมูลค่าส่วนเพิ่มมีมากกว่าค่าใช้จ่ายในการปรับปรุงระบบ แต่ในที่สุด กฎการลดลงของผลผลิตจะเข้ามาทำงาน โดยที่ผลได้เพิ่มนั้นลดลงแม้ว่าจะเพิ่มการใช้ทรัพยากรขึ้นในอัตราเดิม จนในที่สุด ไม่ว่าจะใช้ทรัพยากรเพื่อสร้างมูลค่าส่วนเพิ่มให้สูงขึ้นเพียงใด ก็ไม่เกิดผล อารยธรรมนั้นก็ต้องล่มสลาย

ตัวอย่างที่ทำให้มองเห็นง่าย เช่น เมื่อหลายสิบปีมาแล้วที่สหรัฐ เมื่อเพิ่มสินเชื่อเข้าไป 1 ดอลลาร์ ก็จะสามารถทำให้เศรษฐกิจขยายตัวไป 90 เซนต์

แต่ในปัจจุบันสินเชื่อจำนวนเท่ากันทำให้เศรษฐกิจเติบโตได้เพียง 20 เซนต์

ถ้ามันลดลงเหลือศูนย์ การล่มสลายของเศรษฐกิจสหรัฐก็เลี่ยงไม่พ้น

ชนชั้นนำในสังคมจะพอกพูนระบบบริหารรัฐให้ซับซ้อนขึ้นทุกที จนกระทั่งนำทรัพยากรที่ใช้ได้มาใช้จนหมด และเมื่อถึงเวลาหนึ่งที่เกิดวิกฤติ สังคมที่ซับซ้อนไม่ยืดหยุ่นเหล่านั้นไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงได้ และล่มสลายลง ลักษณะทั่วไปของการล่มสลายคือการที่ขนาดและความซับซ้อนในโครงสร้างทางเศรษฐกิจ-การเมืองของสังคมเหล่านั้น ลดลงอย่างรวดเร็ว เนื่องจากค่าใช้จ่ายในการรักษาหรือพัฒนาระบบนั้นสูงเกินกว่าผลได้

(ดูบทความของ Clay Shirky ชื่อ The Collapse of Complex Business Models ใน shirky.com 010410)



สหรัฐจะล่มสลาย
เหมือนสหภาพโซเวียตหรือไม่

ออร์ลอฟนับว่าเป็นคนแรกๆ ที่เสนออย่างเอาจริงเอาจังว่า สหรัฐมีแนวโน้มที่จะล่มสลายทำนองเดียวกับโซเวียต

เขาเรียกงานศึกษาของเขาว่าเป็น "ทฤษฎีเปรียบเทียบการล่มสลายของอภิมหาอำนาจ" (Comparative theory of superpower collapse)

ออร์ลอฟเปรียบเทียบเนื้อหาของการล่มสลายที่คล้ายคลึงกันนี้ว่า เป็นน้ำซุปแห่งการล่มสลาย (Superpower Collapse Soup)

ซุปแห่งการล่มสลายสรุปได้ดังนี้

1) การที่โซเวียตและสหรัฐต้องขึ้นต่อราคาของน้ำมันอย่างสุดขีด โซเวียตในฐานะที่เป็นผู้ส่งออก และเป็นแหล่งของรายได้ใหญ่ เมื่อการผลิตถึงจุดสูงสุดในปี 1984 อีก 3 ปีต่อมาก็เข้าสู่ภาวะล้มละลาย ส่วนสหรัฐในฐานะผู้นำเข้าน้ำมันรายใหญ่ เมื่อน้ำมันขาดแคลนหรือราคาสูง ก็ทำให้เศรษฐกิจสหรัฐล่มสลาย

อนึ่ง สหรัฐผลิตน้ำมันดิบสูงสุดในปี 1970 หลังจากนั้นไม่กี่ปีก็เผชิญกับวิกฤติน้ำมัน และเศรษฐกิจถดถอย และวิกฤติเศรษฐกิจสหรัฐ นับแต่นั้นมาก็ดูมีความสัมพันธ์สูงมากกับราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้น

2) การใช้จ่ายทางความมั่นคงของชาติสูงอย่างสุดขีด โซเวียตด้วยความกลัวถูกปิดล้อมใช้เงินพัฒนาอาวุธและขยายกองทัพอย่างเต็มที่ สหรัฐเพื่อรักษาจักรวรรดิและเส้นทางลำเลียงน้ำมัน ได้ใช้งบประมาณทางการทหารกว่าร้อยละ 40 ของโลก นอกจากนี้ ยังมีงบเพื่อความมั่นคงภายในอีกมาก

3) การขาดดุลการค้าระหว่างประเทศ โซเวียตเนื่องจากการผลิตไม่มีประสิทธิภาพ สินค้าแข่งขันในตลาดโลกไม่ได้ ต้องนำเข้าสินค้าและอาหารจำนวนมาก และอาศัยการขายน้ำมันและแร่ธาตุเป็นสำคัญ

สำหรับสหรัฐเนื่องจากการเพิ่มความสำคัญแก่ภาคการเงิน และย้ายการผลิตทางอุตสาหกรรมไปนอกประเทศ โดยเฉพาะประเทศตลาดเกิดใหม่อย่างจีน เป็นต้น โอกาสที่จะฟื้นการผลิตภาคอุตสาหกรรมเพื่อลดการขาดดุลการค้านั้นยากมาก

4) มีการคอร์รัปชั่นสุดขีดและใช้ทรัพยากรทางเศรษฐกิจผิดพลาดมหันต์ของสหภาพโซเวียต การคอร์รัปชั่นอยู่ที่ระบบบริหารประเทศที่ใหญ่โตเทอะทะ

ส่วนของสหรัฐอยู่ที่ธนาคารและสถาบันการเงิน

การใช้ทรัพยากรผิดพลาดมหันต์ของโซเวียตน่าจะอยู่ที่การใช้เงินทางทหารและสอดส่องประชาชนของตนเอง

ส่วนของสหรัฐอยู่ที่การก่อสร้างมโหฬารเช่นเมืองและหมู่บ้านชานเมือง (Suburb) จนเกิดฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์หลายครั้ง ล่าสุดในปี 2008

5) ค่าใช้จ่ายสวัสดิการสังคมที่ไม่สามารถสนองได้ ของโซเวียตอยู่ที่สวัสดิการต่างๆ ตั้งแต่ระยะไกวเปลจนถึงหลุมศพ ส่วนของสหรัฐอยู่ที่ระบบประกันสุขภาพซึ่งปัจจุบันก็ยังไม่มีการตั้งงบประมาณไว้รองรับอย่างพอเพียง


ไม่เพียงเท่านั้น ลักษณะเฉพาะบางประการของสหรัฐและวิธีแก้วิกฤติ 2008 อาจทำให้การล่มสลายของสหรัฐไม่เพียงเลี่ยงไม่พ้นเท่านั้น หากยังน่าจะรุนแรงกว่าอีกด้วย ซึ่งพอสรุปได้ดังนี้

1) ระบบตลาด การผลิตและการบริหารที่มีประสิทธิภาพของสหรัฐ ทำให้ทุกอย่างขึ้นกับตลาดและส่วนกลาง ขณะที่ในโซเวียตประชาชนรู้จักพึ่งตนเองเพื่อการอยู่รอดมากกว่า

2) การสร้างการกดขี่แบบปัจเจกบุคคล (Individualization of oppression) ซึ่งให้ประชาชนสหรัฐรู้สึกว่าโดดเดี่ยว ไร้พลังและขาดความหมายที่จะทำอะไรได้ ขณะที่ในโซเวียตการกดขี่มีลักษณะสังคม สร้างความคิดรวมตัวขึ้น

3) วิกฤติเศรษฐกิจของสหรัฐในปัจจุบันยิ่งนำไปสู่การล่มสลาย เนื่องจากไม่ได้แก้ปัญหาถึงรากเหง้า หากใช้วิธีกระตุ้นเศรษฐกิจให้โต และรักษาสถาบันการเงินที่คอร์รัปชั่นไว้ เพิ่มโครงการของรัฐบาลและทางทหาร ลดข่ายความมั่นคงทางสังคม และยังคงพึ่งพาการนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศต่อไป

กล่าวสำหรับชาวสหรัฐ แม้ส่วนใหญ่จะยอมรับว่าประเทศของตนกำลังเสื่อมถอย แต่มีน้อยมากที่จะยอมรับว่ามันจะล่มสลาย

ตรงกันข้าม กลับรอคอยการฟื้นตัวจากวิกฤติเศรษฐกิจใหญ่ครั้งนี้



+++

คิวบากับการล่มสลายของสหภาพโซเวียต
โดย อนุช อาภาภิรม คอลัมน์ วิกฤติศตวรรษที่21
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 07 มกราคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1586 หน้า 43


ลาตินอเมริกาเป็นภูมิภาคที่อยู่ห่างไกลจากผืนทวีปยูเรเซีย ที่เป็นศูนย์กลางอำนาจและความขัดแย้งของโลกมาช้านาน แต่ปรากฏว่าการล่มสลายของสหภาพโซเวียตได้ส่งผลกระทบรุนแรงต่อภูมิภาคนี้อย่างคาดไม่ถึง

โดยได้เกิดวิกฤติเศรษฐกิจและความทุกข์ยากทางสังคมอย่างรุนแรงในประเทศคิวบา เป็นช่วงที่เรียกกันว่า "ห้วงเวลาพิเศษ" (Special Period)

ภาวะวิกฤตินี้ใจกลางของมันก็คือเกิดการขาดแคลนน้ำมันที่ได้รับการสนับสนุนจากสหภาพโซเวียตอย่างฉับพลัน ซึ่งเป็นกรณีน่าสนใจว่า หากน้ำมันเกิดขาดแคลนอย่างกะทันหัน ประเทศอื่นหรือในขอบเขตทั่วโลกจะเกิดอะไรขึ้น และจะมีมาตรการใดให้หลุดพ้นจากวิกฤตินี้ได้

เพราะว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับคิวบาสามารถเกิดขึ้นกับประเทศอื่นๆ ได้ทั่วโลก

กรณีห้วงเวลาพิเศษในคิวบาอาจช่วยให้เราจินตนาการจึงสภาวะนั้นได้ชัดเจนขึ้น



แนะนำประเทศคิวบา

คิวบาเป็นประเทศเกาะใหญ่ที่สุดในทะเลแคริเบียน มีประชากรกว่า 11 ล้านคน แผ่นดินแรกที่คริสโตเฟอร์ โคลัมบัสพบในปี 1492 เป็นเกาะหนึ่งซึ่งเป็นคิวบาในปัจจุบัน คิวบาเป็นประเทศปลูกอ้อยสำคัญของโลก

ประวัติศาสตร์ยุคใกล้ของคิวบาประกอบด้วยเหตุการณ์สำคัญควรกล่าวถึง 7 ประการ ได้แก่

1) การปลดปล่อยประเทศโดย ฟิเดล คาสโตร (เกิด 1926) ผู้นำปฏิวัติยกกองทัพยึดนครหลวงฮาวานาได้ในเดือนมกราคม ปี 1959 โค่นรัฐบาลบาติสตาที่ได้อำนาจจากการก่อรัฐประหาร เปลี่ยนคิวบาเป็นประเทศสังคมนิยมหนึ่งเดียวในลาตินอเมริกาและทะเลแคริเบียนในขณะนั้น

หลังการปลดปล่อย คิวบาได้แสดงบทบาทโดดเด่นสนับสนุนการปฏิวัติในประเทศโลกที่สาม ทั้งในลาตินอเมริกาและแอฟริกา ตั้งแต่ปี 1961

2) การปิดล้อมจากสหรัฐ โดยมีเจตนาใหญ่ 2 ประการ ได้แก่

ก) การไม่ยอมให้เกิดคิวบา 2 ในภูมิภาคนี้อีก จนเข้าแทรกแซงโค่นล้มทุกรัฐบาลในภูมิภาคนี้ที่ไม่เป็นพวกตัวแม้ว่าจะมาจากการเลือกตั้ง

ข) การทำให้คิวบาอ่อนแอทั้งด้านเศรษฐกิจ การเมือง การทหารและการทูต ปฏิบัติการปิดล้อม เช่น การไม่ค้าขายด้วย ไม่ซื้อน้ำตาลที่เป็นสินค้าหลักของคิวบา และไม่ขายน้ำมันให้ สนับสนุนชาวคิวบาอพยพจัดตั้งกองกำลังบุกคิวบาเพื่อล้มล้างระบอบคาสโตร จนเป็นข่าวใหญ่กรณีอ่าวหมู (ปี 1961) แต่ไม่สำเร็จ

อนึ่ง ชาวคิวบาอพยพนี้ ในระยะแรกเป็นกลุ่มคนฐานะดีและชนชั้นกลาง ซึ่งต้องจ่ายเงินก้อนเพื่อออกจากประเทศได้ นับแต่ปี 1980 จึงได้มีผู้คนระดับต่ำกว่านั้นอพยพออกมามาก ปัจจุบันประมาณว่า มีชาวคิวบาอพยพราว 1.2 ล้านคนไปอยู่ในสหรัฐ รวมทั้งประเทศอื่น ได้แก่ สเปน เม็กซิโก และแคนาดา เป็นต้น

ชาวคิวบาอพยพนี้ด้านหนึ่งเป็นกำลังสำคัญในการเคลื่อนไหวต่อต้านระบอบคาสโตรนอกประเทศ อีกด้านหนึ่งเป็นผู้ส่งเงินตราต่างประเทศเข้ามาให้แก่ญาติของตนที่อยู่ข้างหลัง

การปิดล้อมและการต้านการปิดล้อมของคิวบานำไปสู่วิกฤติขีปนาวุธ (ตุลาคม 1962) ซึ่งเป็นช่วงที่โลกล่อแหลมต่อสงครามนิวเคลียร์ที่สุด และในปีนี้เองคิวบาถูกขับจากองค์การรัฐแห่งอเมริกา (Organization of American States- OAS)

3) การดำเนินเศรษฐกิจแบบวางแผนจากส่วนกลางแบบสหภาพโซเวียต เน้นการกระจายทรัพย์สินให้แก่ประชาชนคิวบาที่ยากจน ทรัพย์สินเหล่านี้ส่วนหนึ่งยึดมาจากเศรษฐีชาวอเมริกันที่ไปตั้งรกรากที่นั่น

ความพยายามดังกล่าวทำให้คิวบาในปี 1980 เป็นประเทศที่มีความเสมอภาคทางเศรษฐกิจมากที่สุดประเทศหนึ่งในโลก โดยช่องว่างค่าจ้างห่างกัน 5 ต่อ 1 ความเสมอภาคนี้ถือเป็นอุดมการณ์สำคัญของประเทศ

4) การเข้าร่วมและผูกพันกับกลุ่มโซเวียต (Soviet Bloc) ปี 1972 โดยเข้าเป็นสมาชิกในสภาเพื่อความช่วยเหลือระหว่างกันทางเศรษฐกิจ (Council for Mutual Economic Assistance -Comecon เรียกว่า CMEA ก็ได้) การช่วยเหลือจากสหภาพโซเวียตที่สำคัญคือการได้น้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมันราคาถูก ซึ่งบางทีมากจนคิวบาต้องส่งออกเนื่องจากเหลือใช้ และขายน้ำตาลได้ในราคาแพงกว่าท้องตลาด

เมื่อได้รับความช่วยเหลือทั้งด้านทหาร เศรษฐกิจและทางสังคม คิวบาสามารถพัฒนาเศรษฐกิจของตนได้เร็วกว่าประเทศอื่นในภูมิภาคเดียวกัน โดยการเปลี่ยนการเกษตรเป็นแบบสมัยใหม่ การพัฒนาอุตสาหกรรมน้ำตาล เพื่อผูกขาดการค้านี้ทั้งโลก และสร้างอุตสาหกรรมสมัยใหม่ ซึ่งเหล่านี้ต้องการใช้พลังงานจากน้ำมันทั้งสิ้น

5) ห้วงเวลาพิเศษปี 1989 เมื่อยุโรปตะวันออกและสหภาพโซเวียตล่มสลาย ทำให้น้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมันจากโซเวียตประมาณว่าเท่ากับร้อยละ 90 ของความต้องการน้ำมันของคิวบา และการค้าระหว่างประเทศคิวบา กับกลุ่มโซเวียตซึ่งมีสัดส่วนราวร้อยละ 85 เหมือนหายไปในชั่วพริบตา

6) คิวบาหลังจากห้วงเวลาพิเศษ นับแต่ปี 1995 เป็นต้นมา คิวบาเกิดการเปลี่ยนแปลงภายในใหญ่หลวงจากภาวะช็อคจากน้ำมัน คาสโตรถ่ายอำนาจให้แก่ราอูลน้องชายให้เข้าดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีปี 2008

7) องค์การรัฐแห่งอเมริกา ได้รับคิวบาเป็นสมาชิกในปี 2009



ห้วงเวลาพิเศษเป็นอย่างไร

"ห้วงเวลาพิเศษในยามสันติ" (Special Period in a Time of Peace นิยมเรียกสั้นๆว่า ห้วงเวลาพิเศษ) เป็นศัพท์ที่ทางการคิวบาเรียกห้วงเวลาที่คิวบา ตกระกำลำบากระหว่างปี 1990-1994

การประกาศนี้เพื่อปลุกระดมชาวคิวบาให้ร่วมกันลุกขึ้นต่อสู้กับภัยพิบัติใหญ่ คล้ายกับเกิดสงครามที่เกิดการขาดแคลนทุกสิ่งและการค้าต่างประเทศถูกตัดขาด

คาสโตรได้ประกาศว่า "ถ้าค่ายสังคมนิยมแตกสลาย เราจะสร้างสังคมนิยมในประเทศของเราต่อไป...ถ้าสหภาพโซเวียตแตกสลาย ถ้าสหภาพโซเวียตหายไป เราจะสร้างสังคมนิยมในประเทศเราต่อไป " (1990)

การขาดแคลนน้ำมันและการทรุดต่อทางการค้าได้ก่อผลสะเทือนและความยากลำบากแสนสาหัสต่อประชาชนคิวบา

ที่สำคัญคือการล่มสลายของภาคการขนส่งในตอนสิ้นปี 1992 บริการรถประจำทางและรถไฟของรัฐร้อยละ 40 หยุดให้บริการ ในต้นปี 1993 ราวครึ่งหนึ่งของรถประจำทางกรุงฮาวานาจำนวน 1,200 คัน หยุดให้บริการเนื่องจากขาดอะไหล่

และที่กระทบต่อปากท้องโดยตรงก็คือการพังทลายของภาคการเกษตร เนื่องจากขาดปุ๋ยและยาฆ่าศัตรูพืช ขาดน้ำมันสำหรับเดินรถแทรกเตอร์ การผลิตเนื้อ นม ไข่กระทบ เนื่องจากขาดอาหารสัตว์ที่นำเข้า การผลิตอ้อยลดต่ำจาก 8.1 ล้านตันในปี 1991 เหลือ 7 ล้านตันในปี 1992 ไม่มีอาหารเลี้ยงสุนัขและแมว หมาถูกปล่อยข้างถนน แมวถูกกิน และหายไปจากท้องถนน

ยูนิเซฟในฮาวานาประมาณว่าครึ่งหนึ่งเด็กทารกอายุระหว่าง 6-12 เดือน เป็นโรคขาดอาหาร

ภาคอุตสาหกรรมถูกกระทบอย่างทั่วด้าน ประมาณว่าโรงงานอุตสาหกรรมร้อยละ 50 ต้องหยุดการผลิตเนื่องจากขาดน้ำมัน ยามากกว่า 300 ตำหรับขาดตลาด เช่น เดียวกับกระดาษ การพิมพ์งานด้านวรรณกรรมถูกกระทบ ไฟฟ้าดับเป็นประจำ กระทบต่อปั้มน้ำ ตู้เย็น ตู้แช่ มีปัญหาต่อการสนองอาหารมาก

ในทางสังคม อัตราอาชญากรรมพุ่งขึ้นสูง ตลาดมืดเกิดขึ้นทั่วไป ปศุสัตว์ 45,000 ตัว ถูกขโมยมาขายเป็นเนื้อในตลาดมืด มีการขโมยตามบ้าน รถยนต์ ประมาณว่าจีดีพีประเทศลดลงกว่าร้อยละ 25 ในปี 1990 และอีกร้อยละ 15 ในปี 1991 (ดูบทความจากหนังสือชื่อ Cuba : Between Reform and Revolution โดย Louis A. Perez ใน historyofcuba.com)

คิวบาอยู่ในความยากลำบาก 5 ปี แล้วค่อยๆ ฟื้นตัวในราวปี 1995 แต่นักวิจารณ์บางคนเห็นว่าแม้จนถึงปัจจุบันคิวบาก็ยังไม่ได้พ้นจากผลกระทบของห้วงเวลาพิเศษนั้น


มาตรการของรัฐบาลคิวบาในการแก้ปัญหา

มาตรการเฉพาะหน้าของรัฐบาลได้แก่การทำให้ระบบสังคมของคิวบายังสามารถดำรงอยู่และดำเนินต่อไปได้ มีมาตรการเร่งด่วนพื่อประกันให้ประชาชนยังคงมีอาหารและของกินของใช้ที่จำเป็น เช่นการควบคุมราคา การปันส่วนอาหาร น้ำมันและของใช้ที่จำเป็น

ขณะเดียวกันก็ต้องประกันให้รัฐบาลมีเงินพอที่จะดำเนินกิจการของรัฐได้ ทั้งนี้ โดยลดรายจ่าย เช่น ถอนกำลังทหารที่ไปช่วยการปฏิวัติในต่างแดน

การลดการอุดหนุนบางรัฐวิสาหกิจ การลดสวัสดิการของคนงานที่ต้องตกงานอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน ไปจนถึงการเพิ่มราคาสินค้าบางอย่าง ทั้งหมดมีความคิดชี้นำที่จะอาศัยความเข้มแข็งของชุมชนเป็นฐาน

การปฏิรูปเศรษฐกิจเพื่อรับมือกับภาวะยากลำบากมี 2 ด้านใหญ่คือด้านการรับมือกับการช็อคจากภายนอกมี 3 ประการ ได้แก่

1) เปิดรับการลงทุนจากต่างประเทศ

2) สร้างวิสาหกิจแบบผสม

3) ทำให้การเป็นเจ้าของเงินตราต่างประเทศถูกกฏหมาย

อีกด้านหนึ่งเป็นการปฏิรูปเพื่อลดช่องว่างทางการเงิน ทั้งนี้ รายรับของรัฐบาลลดลงถึงร้อยละ 23 ในปี 1993 เมื่อเทียบกับปี 1990 งบประมาณขาดดุลเท่ากับร้อยละ 33 ของจีดีพีในปีนั้น ตัดงบประมาณสนับสนุนรัฐวิสาหกิจที่ขาดทุน การปฏิรูปทั้งหมดอาจสรุปเป็น 4 กลุ่มด้วยกัน ได้แก่

(1) ยกเลิกการผูกขาดของรัฐในการค้าระหว่างประเทศและสถาบันการเงินโดยการแก้รัฐธรรมนูญในปี1992

(2) ยกเลิกกฎระเบียบ ได้แก่ ก) ยอมรับระบอบกรรมสิทธิ์แบบผสม ข) ออกกฎหมายให้ถือครองเงินตราต่างประเทศได้ ค) สร้างข่ายร้านค้าปลีกที่ใช้เงินตราต่างประเทศ ง) ออกกฎหมายให้จ้างตนเองได้ จ) อนุญาตให้ตั้งตลาดสินค้าเกษตร ฉ) กฎหมายสิทธิบัตร ช) กฎหมายรับลงทุนจากต่างประเทศ และเปิดสำนักแลกเปลี่ยนเงินตรา ซ) สร้างเขตเศรษฐกิจเสรี ปรับกฎหมายว่าด้วยภาษีศุลกากร ซ) สร้างตลาดผู้บริโภคในประเทศ

(3) การกระจายอำนาจ ได้แก่ ก) การสร้างหน่วยผลิตแบบสหกรณ์การเกษตร ข)ปฏิรูปองค์การบริหารส่วนกลางใหม่ ค) ปรับเปลี่ยนกระบวนการวางแผนทางวิสาหกิจและอาณาเขตใหม่ ง) กฎหมายจัดระบบธนาคาร

(4) มาตรการอื่นๆ ได้แก่ขึ้นราคาสินค้าที่ไม่จำเป็น ลดการให้บริการฟรีที่ไม่จำเป็นต่อนโยบายของสังคมในประเทศ การปฏิรูปภาษี การออกธนบัตรคิวบาที่ใช้แลกเปลี่ยนระหว่างประเทศได้ เป็นต้น

หลังการปฏิรูปดังกล่าว พบว่าในปี 2004 โครงสร้างเศรษฐกิจของคิวบาเป็นดังนี้คือ สัดส่วนของภาคบริการได้แก่การท่องเที่ยว การบริการทางสังคมและชุมชน เป็นต้น ตกร้อยละ 59 ของจีดีพี ภาคเกษตรเหลือเพียงร้อยละ 7 ภาคอุตสาหกรรม ยังคงมีน้ำหนัก คือตกร้อยละ 35 คาดหมายว่าภาคบริการจะขยายตัวต่อไปอีก และความเลื่อมล้ำทางรายได้เพิ่มขึ้นมากในภาคเศรษฐกิจต่างๆ (ดูบทความของ James K. Galbraith และคณะ ชื่อ Pay Inequality in Cuba: The Specail Period and After ใน ecigneq.org, 2006)


สำหรับนักเคลื่อนไหวทางด้านสิ่งแวดล้อมตะวันตกดูจะให้ความสำคัญแก่การปฏิรูปทางการเกษตรและทางด้านขนส่งค่อนข้างสูง ที่กล่าวถึงมาก ได้แก่ การเปลี่ยนการเกษตรให้เป็นแบบเกษตรธรรมชาติหรือเกษตรอินทรีย์

การหันมาใช้แรงงานคนและแรงงานสัตว์แทนเครื่องจักรและรถแทรกเตอร์มากขึ้น

ไม่ใช้ปุ๋ยเคมีและยาฆ่าศัตรูพืช

นอกจากนี้ มีการทำเกษตรในเมือง เช่นในนครหลวงฮาวานามีการเพาะปลูกที่ดาดฟ้า บริเวณหลังบ้าน ที่จอดรถ จากนั้นก็แพร่สะพัดไปยังเมืองต่างๆ ทั่วประเทศ (ดูบทความชื่อ Can the West Cultivate Ideas from Cuba"s Special Period ใน cnn.com 290309)

ในทางขนส่ง การขี่รถจักรยานแทนขึ้นรถประจำทาง โดยชาวเมืองใช้รถจักรยานราว 1 ใน 3 ของการเดินทาง รัฐบาลได้ผลิตจักรยานสนอง 7 แสนคันในปี 1994

และการฟื้นฟูยาสมุนไพรขึ้นขนานใหญ่


ผลกระทบอันลึกซึ้งยาวไกล

แม้คิวบาจะผ่านวิกฤติน้ำมันขาดแคลนมาได้ แต่ก็ต้องยอมปรับเปลี่ยนระบอบปกครองคาสโตร ไม่สามารถรักษาอุดมการณ์แห่งความเสมอภาคของสังคมนิยมไว้ได้ จำต้องนำการปฏิบัติแบบทุนนิยมเข้ามามากขึ้น ดังจะเห็นว่าธุรกิจเอกชนจ้างงานเพิ่มจากร้อยละ 8 ในปี 1981 เป็นร้อยละ 23 ในปี 2000 (ดูบทความของ Brendan C. Dolan ชื่อ Cubanonomics: Mixed Economy in Cuba Durint the Special Period ใน emory.edu) บรรษัทข้ามชาติตะวันตกเข้าไปลงทุนทั้งทางด้านเหมืองแร่ การธนาคาร และสินค้าอุปโภคบริโภค

คาสโตรเองก็ดูเหมือนจะยอมรับระบอบปกครองแบบเดิมที่รัฐมีบทบาทมากนั้นไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน

เราอาจกล่าวเป็นกลางๆได้ว่า ไม่ว่าจะอยู่ในระบบสังคมนิยมหรือทุนนิยม หากเผชิญกับวิกฤติน้ำมันขาดแคลนฉับพลันรุนแรงแล้ว ก็ยากที่จะรักษาระบอบปกครองเดิมไว้ได้

ส่วนที่จะมีการเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างไร ย่อมขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัยในที่นั้นๆ



.