http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2554-12-05

พายุใหญ่มา..อย่างไรจะอยู่รอด?โดยมุกดา,..ตลาดต่างแดน, เคลื่อนสู่ภูมิภาค

.
- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

ศูนย์ปฏิบัติการข่าวด้านความมั่นคง บช.น. สันติบาล ศปก.มท. กอ.รมน.กทม. รายงานสรุปสถานการณ์ความเคลื่อนไหวของกลุ่มต่างๆ ดังนี้

ในพื้นที่ กทม. วันที่ 7 ธ.ค. เวลา 16.00-20.00 น. และ วันที่ 7 ของแต่ละเดือนกลุ่มวันอาทิตย์สีแดง นำโดยนายนที สรวารี และนายสมศักดิ์ ปัญจมาตย์ นัดจัดกิจกรรมวันอาทิตย์สีแดง ที่อนุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช วงเวียนใหญ่ กทม. โดยการจัดกิจกรรมจะมีการผูกผ้าแดงรอบอนุสาวรีย์ฯ และวางดอกไม้ อ่านบทกวีเชิดชู ผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมือง เม.ย.-พ.ค. 53 คาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมชุมนุมประมาณ 200 คน

วันที่ 9 ธ.ค. เวลา 09.00 น. กลุ่มผู้ใช้แรงงานนำโดยนายมนัส โกศล ประธานสภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย น.ส.วิไลวรรณ แซ่เตีย ประธานกลุ่มสมานฉันท์แรงงานไทย และนายสาวิทย์ แก้วหวาน เลขาธิการสมาพันธ์แรงงานวิสาหกิจสัมพันธ์ พร้อมผู้ใช้แรงงานประมาณ 500 คน นัดรวมตัวชุมนุมที่กระทรวงแรงงาน ถ.มิตรไมตรี เขตดินแดง กทม. เพื่อกดดันเรียกร้องให้คณะกรรมการค่าจ้างแรงงาน พิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 250 บาท ?

วันที่ 10 ธ.ค.เวลา 10.00 น.กลุ่มวันอาทิตย์สีแดง ร่วมกับกลุ่ม 24 มิถุนาฯ นำโดยนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข ? นัดจัดกิจกรรมที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย กทม. เนื่องในวันรัฐธรรมนูญ ส่วนนายจตุพร พรหมพันธุ์ ได้แถลงถึงกิจกรรมการชุมนุมของ นปช.ในวันที่ 10 ธ.ค.นั้น จะเริ่มในเวลา 17.00-20.00 น.ภายใต้หัวข้อการชุมนุม “8 เดือนผ่านฟ้า 78 ปี รัฐธรรมนูญ” โดยการชุมนุมจะเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ตามที่เคยจัดมา ไม่มีการตั้งเวทีหรือใช้เครื่องขยายเสียง มีกิจกรรมจุดเทียนแดง ปล่อยนก และชูป้ายเรียกร้อยรัฐธรรมนูญ 2540 กลับมาใช้ คาดว่าจะมีผู้ร่วมกิจกรรมประมาณ 5,000 คน

วันที่ 10 ธ.ค. เวลา 13.30 น.กลุ่มสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท) ประมาณ 30 คน นำโดย น.ส.สุญญาตา เมี้ยนละม้าย โฆษก สนนท. จะเข้าร่วมกิจกรรม รำลึกวันรัฐธรรมนูญที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ร่วมกันแนวร่วมกลุ่ม นปช.และกลุ่มอื่นๆ โดยจะมีการชูป้ายเรียกร้องให้นำรัฐธรรมนูญ 2540 กลับมาใช้ และแสดงละครเชิงสัญลักษณ์หลังจากจัดกิจกรรมเสร็จสิ้น กลุ่มจะแยกย้ายเดินทางกลับ

วันที่ 10 ธ.ค. เวลา 12.00 น.แนวร่วมกลุ่ม นปช.(กลุ่มเรดเชิ๊ต) จะเข้าร่วมกิจกรรมไว้อาลัยแด่รัฐธรรมนูญ 50 เนื่องในวันรัฐธรรมนูญและทุกวันที่ 19 ของแต่ละเดีอน ทางกลุ่มฯ จะเดินทางไปจัดกิจกรรมที่หน้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพ เพื่อให้กำลังใจแกนนำ นปช.ที่ถูกคุมขัง และช่วงเย็นจะไปจัดกิจกรรมรำลึก ที่บริเวณแยกราชประสงค์

วันที่ 11 ธ.ค. กลุ่ม 24 มิถุนาฯ ประชาธิปไตย จัดแรลลี่ รวมใจคนรักประชาธิปไตยทั้งแผ่นดิน กทม.-กาญจนบุรี โดยปล่อยขบวนในเวลา 17.00 น.ที่ห้างอิมพิเรียลเวิลด์ ลาดพร้าว โดยขบวนจะผ่านสถานที่สำคัญเชิงสัญลักษณ์ เช่น กรมทหารราบที่ 11 และหยุดทำกิจกรรมที่ศาลรัฐธรรมนูญ และกรมสอบสวนคดีพิเศษ ก่อนมุ่งหน้า จ.กาญจนบุรี

วันที่ 11 ธ.ค. เวลา 13.00-17.00 น.กลุ่มสมาพันธ์ นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท) และกลุ่มสมัชชาสังคมก้าวหน้า จะจัดเสวนาในหัวข้อ “ความจริงหลังลูกกรง ผมถูกจำคุก 6 เดือน เพราะบัตร นปช.” ที่ห้องประชุมอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา แขวงบวรนิเวศ เขตพระนคร กทม. โดยมีผู้เข้าร่วมเสวนาประกอบด้วย นายประยูร สุระพินิจ นายวิษณุ กมลแมน นายชั้น ทุนน้อย น.ส.สุญญาตา เมี้ยนละม้าย และนายชัยรินทร์ กุหลาบอ่ำ

วันที่ 12 ธ.ค. เวลา 17.00 น.นายนที สรวารี และเพื่อน ๆ นำแนวร่วม นปช.เฟซบุ๊ก นัดรวมตัวกันที่ลานอนุสาวรีย์รัชกาลที่ 6 สวนลุมพินี กทม. เพื่อจัดกิจกรรมรำลึก เสธ.แดง โดยจะจัดทุกวันอาทิตย์ที่ 2 ของเดือน มีรายละเอียด คือ 17.00 น. รวมตัวที่ลานอนุสาวรีย์ รัชกาลที่ 6 เวลา 17.45 น. เริ่มกิจกรรมชูป้าย สื่อมวลชนไทยต่างประเทศบันทึกภาพ ส่วนเวลา 18.00 น. ร้องเพลงชาติ กิจกรรมนอนตาย ที่นี่มีคนตาย ต่อมาเวลา 18.15 น.แสดงกิจกรรมจำลองเหตุการณ์ เสธ.แดงถูกยิง โดยนายนที และเพื่อนๆ แนวร่วมกลุ่ม นปช.เฟซบุ๊ก ถัดมาเวลา 18.30 น. ตั้งขบวนคนเสื้อแดงนำโดยนายนที และตัวแทน สนนท.เดินไปตัวแทนจาก สนนท.อ่านประวัติของเสธ.แดง และเวลา 19.00 น.ร่วมกับผูกผ้าแดงจุดเทียนแดงร้องเพลงนักสู้ธุลีดินโดยศิลปินแนวร่วม นปช.รับเชิญนักสู้ธุรีดิน จิ้น กรรมาชน คาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมชุมนุมประมาณ 500 คน

วันที่ 13 ธ.ค. กลุ่ม 24 มิถุนาฯ ประชาธิปไตย จะเดินทางไปยังหน้าสถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่น ประจำประเทศไทย ถ.วิทยุ แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กทม.เพื่อไว้อาลัย กรณีนายฮิโรยูกิ มิราโมโตะ นักข่าวรอยเตอร์ชาวญี่ปุนที่ถูกยิงเสียชีวิต ระหว่างการสลายการชุมนุมบริเวณแยกคอกวัว

วันที่ 19 ธ.ค. เวลา 09.00 น. กลุ่มเรดเชิ๊ต นำโดยนายพฤกษ์ พฤกษ์สุนันท์ (ลุงยิ้ม ตาสว่าง) และนางพจมาน นิลนาค (นุช พจมาน) จะจัดกิจกรมที่หน้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพ ถ.งานวงศ์วาน ลาดยาว จตุจักร กทม. เพื่อให้กำลังใจแกนนำ นปช.ที่ถูกคุมขัง และเรียกร้องให้ปล่อยนักโทษทางการเมืองที่ถูกขังทั่วประเทศ คาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมชุมนุมประมาณ 300 คน

วันที่ 25 ม.ค.เวลา 10.00 น. เดิมกำหนดวันที่ 11 ธ.ค. กลุ่มพันธมิตรฯ นำโดย นายสนธิ ลิ้มทองกุล พล.ต.จำลอง ศรีเมือง นายสมศักดิ์ โกศัยสุข นายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ และนายสุริยะใส กตะศิลา นัดรวมตัวชุมนุม ที่บริเวณสะพานมัฆวานฯ ถ.ราชดำเนินนอก กทม. เพื่อคัดค้านกรณีที่หากรัฐบาลลงมติรับร่างบันทึกตกลงคณะกรรมาธิการเขตแดนไทย- กัมพูชา (เจบีซี) คาดว่าจะมีผู้ชุมนุมประมาณ 3,000 คน

สำหรับความเคลื่อนไหวในต่างจังหวัด เริ่มตั้งแต่ วันที่ 9 ธ.ค. เวลา 19.00 น.แนวร่วมกลุ่ม นปช.กาฬสินธุ์ ประมาณ 60 คน นำโดยนายประสิทธิ์ ปิยะประสิทธิ์ ประธานชมรมคนหัวใจสีเดียวกัน จะเดินทางโดยรถบัส 1 คัน และรถยนต์ส่วนตัว 2 คัน เพื่อเข้าร่วมกิจกรมกับกลุ่ม นปช.ส่วนกลาง ที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย กทม.ในวันที่ 10 ธค.

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -


พายุใหญ่กำลังมา...ทั้งที่ขายังแช่น้ำ ทำอย่างไรจะอยู่รอด ?
โดย มุกดา สุวรรณชาติ คอลัมน์ หลักศิลากลางน้ำเชี่ยว
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 02 ธันวาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1633 หน้า 20


ประชาชนที่ถูกน้ำท่วมกลายเป็นคนชั้นสูงเพราะต้องอยู่ในสภาพหนีน้ำไปอยู่บนชั้นสองหรือ...หนีน้ำขึ้นบนหลังคา น้ำตาไหลเคล้าสายชล... แต่ก็ยังอดทนและหวังว่าจะสู้ต่อได้เมื่อน้ำลด พวกเขานั่งวัดระดับน้ำกันทุกวันว่าลดลงไปกี่เซนติเมตรแล้ว

บางส่วนก็ถกเถียงต่อสู้กับรัฐหรือต่อสู้กันเองเพื่อรื้อคันกั้นน้ำ หรือประตูน้ำ ที่เดือดร้อนหนักก็ถึงขั้นปิดถนน

เรื่องเหล่านี้กลายเป็นปัญหาเฉพาะหน้าของประชาชนและรัฐบาล

ขณะที่รัฐบาลกำลังแก้ปัญหาให้คนหลายล้านซึ่งกำลังแช่น้ำ ปัญหาใหญ่อีกมากมายก็มารอให้รัฐบาลแก้ไข ถ้าละสายตาจากน้ำที่ท่วมหัวเข่าอยู่ เงยหน้ามองออกไปไกลๆ ก็จะเห็นพายุใหญ่ตั้งเค้าดำทะมึนมาแต่ไกล

ถ้าเป็นแค่พายุฝนซึ่งจะมาถึงในกลางปีหน้าคงไม่ใช่ปัญหาเพราะหน้าแล้งนี้ น้ำในเขื่อนคงจะถูกระบายออกจนแทบหมด ใครที่อยากทำนาปรัง จะได้ทำแน่นอน ดังนั้น เขื่อนจะรับปริมาณน้ำฝนได้อย่างมากมาย

แต่พายุที่เราจะรับไม่ไหวในปีหน้าคือพายุเศรษฐกิจ เป็นพายุลูกมหึมาที่พัดข้ามทวีปมาจากยุโรปและอเมริกา

ขายังแช่น้ำอยู่พายุก็จะมาถึงหน้าบ้าน จะทำอย่างไร ?



รัฐกับเอกชนร่วมมือกันฟื้นฟูให้เร็วที่สุด

มหาอุทกภัยที่ร้ายแรงแบบนี้ รัฐบาลไม่มีกำลัง และปัญญาเข้าช่วยเหลือประชาชนฟื้นฟูประเทศได้อย่างรวดเร็วโดยลำพัง ประชาชนจำนวนมากอยู่ในสภาพที่ได้รับความสูญเสียอย่างหนัก หลายคนแทบสิ้นเนื้อประดาตัว

ดังนั้น การร่วมมือของหลายองค์กรทั้งภาคเอกชนและรัฐจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้การฟื้นฟูประเทศเป็นจริง

ที่สำคัญ การร่วมมือจากหลายฝ่ายจะเป็นการปลุกกำลังใจ ปลุกพลังให้คนที่ล้มลงลุกขึ้นสู้อีกครั้ง

องค์กรที่ประชาชนน่าจะจับตามองบทบาทซึ่งจะให้ความช่วยเหลือในการฟื้นฟูหลังจากน้ำลดแล้วคือ...

1. สมาคมธนาคารไทยและธนาคารแห่งประเทศไทย ทั้งสององค์กรมีบทบาทสำคัญทางด้านการเงิน มีส่วนในการกำหนดอัตราดอกเบี้ยซึ่งประชาชนธรรมดาและผู้ประกอบการจะต้องกู้มาลงทุน กู้มาซ่อมแซมบ้านและอาคารพาณิชย์ โรงงาน รถยนต์ และอื่นๆ

ตลอดปีที่ผ่านมา ธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบมีกำไรสูงมาก คาดว่าถึงสิ้นปีน่าจะมีกำไรถึง 1.4 แสนล้าน

ในภาวะที่ลูกค้าธนาคารทุกกลุ่มเกิดผลกระทบจากอุทกภัย ธนาคารทั้งระบบควรจะแสดงน้ำใจช่วยเหลือลูกค้าทั้งระบบ ทั้งที่มีผลกระทบโดยตรงจากน้ำท่วม ที่อยู่อาศัย และสถานประกอบการและผู้ที่มีผลกระทบโดยอ้อมจากหยุดชะงักทางการค้าและการผลิต โดยการลดดอกเบี้ยเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 1 ปี

ธนาคารแห่งประเทศไทยก็ควรจะเข้ามาดูช่องว่างระหว่างดอกเบี้ยเงินกู้กับดอกเบี้ยเงินฝาก ให้มีช่วงแคบที่สุดในสถานการณ์แบบนี้

บทบาทของธนาคารรัฐ ทั้ง ธ.ออมสิน, ธ.อาคารสงเคราะห์, ธกส. และ SME.Bank ควรจะมีมาตรการและขั้นตอนที่พิเศษกว่าปกติเพื่อช่วยเหลือผู้เดือดร้อน

2. สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยและสภาหอการค้าไทย มหาอุทกภัยครั้งนี้มีผลกระทบต่อการผลิตทั้งในนิคมอุตสาหกรรมและโรงงานน้อยใหญ่ที่อยู่นอกนิคมจำนวนหลายพันโรงงาน ซึ่งได้รับผลกระทบมากน้อยต่างกัน การค้าทั้งระบบไม่สามารถกระจายไปตามระบบตลาดได้ตามปกติ ทำให้ทั้งนายทุนและผู้ใช้แรงงาน พ่อค้า ผู้บริโภค ได้รับความเสียหายและเดือดร้อน

สถานการณ์แบบนี้สภาอุตสาหกรรมและสภาหอการค้าไทยต้องแสดงบทบาทสองด้านคือจะต้องประสานความร่วมมือระหว่างรัฐและเจ้าของโรงงานเพื่อพลิกฟื้นการผลิตโดยเร็ว ให้ระบบการผลิตสินค้าทุกประเภทดำเนินต่อไปให้เร็วที่สุดและมีปริมาณมากพอที่จะไม่ทำให้เกิดปัญหาต่อการบริโภคทั้งในและนอกประเทศ

อีกด้านหนึ่งก็ควรจะมีการร่วมมือกันที่จะควบคุมราคาให้เหมาะสมและการกระจายสินค้าให้ทั่วถึงไม่ควรปล่อยให้มีการฉวยโอกาสขึ้นราคาในภาวการณ์แบบนี้ โดยเฉพาะผู้ผลิตสินค้า เกี่ยวกับการก่อสร้างและอาหาร มาจับตาดูว่าทั้งสองสภาจะฉวยโอกาสหากำไรเพิ่ม หรือจะช่วยเหลือคนในยามยากลำบาก

3. ผู้รับผิดชอบระบบสาธารณูปโภค เช่น การไฟฟ้าฝ่ายผลิต การไฟฟ้าภูมิภาค และการไฟฟ้านครหลวง ทั้งสามองค์กรเป็นผู้ผลิตและจ่ายไฟฟ้าให้ผู้ใช้ทั้งประเทศ เหตุการณ์น้ำท่วมครั้งนี้แม้ กฟผ. จะปฏิเสธว่าไม่ได้เป็นสาเหตุหลักในการเกิดน้ำท่วมแต่ กฟผ. ก็เป็นผู้รับผิดชอบในการควบคุมเขื่อน

ขณะเดียวกันหลังจากที่น้ำท่วมก็มีผู้เสียชีวิตจากการโดนไฟช็อตเกินกว่าร้อยคน ทั้ง 3 องค์กรจึงควรแสดงความรับผิดชอบ แสดงน้ำใจที่ช่วยเหลือเยียวยาทั้งประชาชนที่เสียชีวิตจากไฟฟ้าช็อตและที่ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วม

จะใช้มาตรการอะไรก็ต้องปรึกษากันดู

เช่น ลดค่าไฟ 20 เปอร์เซ็นต์ ให้กับผู้ใช้ไฟในเขตน้ำท่วม ปรับปรุงระบบการเดินสายไฟทั้งไฟสาธารณะและตามบ้านเรือนประชาชนให้ปลอดภัยและดีขึ้นกว่าเดิม

การประปาในที่นี้หมายถึงระบบผลิตน้ำประปาให้ประชาชนทุกระดับทั้งในเมืองหลวง เมืองใหญ่และในเขตเทศบาลอื่นๆ จากปัญหาน้ำท่วมที่ผ่านมา สิ่งที่จะต้องปรับปรุงโดยเร่งด่วนคือแหล่งกักเก็บน้ำสะอาดที่จะผลิตน้ำประปาควรจะอยู่ที่ไหนและมีระบบคันป้องกันแบบมาตรฐานอย่างไร ซึ่งจะทำให้ผลิตน้ำสะอาดได้ในภาวะที่เกิดอุทกภัย

4. ผู้รับผิดชอบระบบสาธารณสุข เหตุการณ์น้ำท่วมได้มีผลกระทบต่อโรงพยาบาลจำนวนมาก หลายแห่งต้องย้ายคนไข้หนี ไม่สามารถทำการรักษาและช่วยเหลือประชาชนได้ หลังน้ำลดแล้ว ในแต่ละเขตจะต้องคิดว่าปรับปรุงอย่างไรเพื่อให้โรงพยาบาลเหล่านั้นเป็นที่พึ่งพาของประชาชนได้ในยามยากลำบาก

ส่วนหลังน้ำลดก็คือการป้องกันโรคระบาดและโรคติดต่อ จะต้องสร้างระบบอนามัยชุมชนอย่างเข้มงวดในเขตที่น้ำท่วม การร่วมมือจากองกรค์ด้านสิ่งแวดล้อมก็เป็นประโยชน์อย่างมาก

5. การตั้งคณะกรรมการเยียวยาและฟื้นฟูของรัฐบาลควรถูกจับตามองและตรวจสอบ วิธีที่ดีที่สุดคือการตั้งคณะอนุกรรมการประจำท้องถิ่นขึ้นมาตรวจสอบการให้เงินช่วยเหลือโดยให้มีประชาชนในท้องถิ่นเข้าร่วมเพราะพวกเขาจะรู้ปัญหาและรู้จักคนในท้องถิ่นเป็นอย่างดี ถ้าเกิดปัญหาความไม่ถูกต้องใดๆ การโต้แย้งและการตรวจสอบก็จะสามารถยืนยันความถูกต้องได้ระดับท้องถิ่น

ความช่วยเหลือจากระบบประกันสังคม เงินประกันสังคมที่เก็บไปจากผู้ใช้สิทธิประกันมีจำนวนเป็นแสนล้าน ถึงเวลาสมควรนำออกมาช่วยเหลือประชาชนที่จ่ายเงินประกันสังคมมาตลอดระยะเวลาหลายปี

ผู้รับผิดชอบควรคิดมาตรการการช่วยเหลือโดยตรงแบบให้เปล่า และการให้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำกับผู้ที่จ่ายเงินประกันสังคมมาเป็นเวลาหลายๆ ปี เพื่อจะได้มีโอกาสนำไปใช้จ่ายในการซ่อมแซมที่อยู่อาศัยหรือซื้อสินค้าเพื่อบริโภค อุปโภคอื่นๆ

6. การทำงานขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ประชาชนควรจับตาดูและเรียกร้องให้ผู้บริหารท้องถิ่น ทั้ง อบต. เทศบาล และองค์กรขนาดใหญ่อย่าง กทม. ปรับปรุงการบริหารให้มีการตั้งรับปัญหาที่จะเกิดขึ้นครั้งต่อไป

เช่น การดูแลสภาพคูคลอง ขยะ และระบบป้องกันน้ำท่วม ควรปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับ ถนน หมู่บ้านจัดสรรและอาคารเพื่อความสะดวกและเหมาะสมที่จะอยู่ในเขตอุทกภัย

7. การทำงานของกระทรวงคมนาคมในการซ่อมแซมถนนและเส้นทางสัญจรทุกขนาดเนื่องจากงบซ่อมแซมครั้งนี้มีสูงมาก ความเสียหายก็มีขอบเขตกว้างขวางมากเช่นกัน จึงขอเรียกร้องให้ชุมชนทุกท้องถิ่นที่มีการซ่อมแซมถนนหนทางเข้าไปตรวจสอบการทำงานเพื่อป้องกันการทุจริตและให้ได้ถนนที่มีคุณภาพที่ดีสุด สะพานที่มีคุณภาพดีที่สุด ที่จะสู้กับน้ำได้ในครั้งต่อไป

บทบาทคนเสื้อแดง ในฐานะที่เป็นกองหน้าและแนวร่วมทางการเมือง วันนี้นอกจากจะออกช่วยเหลือประชาชนแล้ว ควรมีบทบาทในการตรวจสอบในการเยียวยาฟื้นฟูบูรณะเพื่อสร้างมาตรฐานให้กับการช่วยเหลือทุกระดับ

การขอซ่อมแซมยุทโธปกรณ์ของกระทรวงกลาโหม แม้จะมีการโยกย้ายยุทโธปกรณ์หนีน้ำในขณะที่น้ำท่วมแต่กระทรวงกลาโหมก็ยังของบซ่อมแซมประมาณ 12,000 ล้าน ดังนั้น เรื่องนี้ควรจะมีรายละเอียดที่ชัดเจน เพราะงบประมาณนี้เท่ากับงบที่ซ่อมแซมถนนทั้งประเทศ ควรมีตัวแทนของประชาชนเข้าร่วมตรวจสอบอย่างใกล้ชิดเช่นเดียวกับการซ่อมถนน



พายุเศรษฐกิจกำลังจะมา

พายุลูกนี้ก่อตัวมาสามสี่ปีแล้ว IMF ประเมินความเสียหายทางเศรษฐกิจของยุโรปจากหนี้เสียต่างๆ ไว้ประมาณ 1.2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ และความเสียหายของอเมริกาอยู่ที่ 2.7 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ

วันนี้ผลกระทบจากอเมริกามาตกหนักที่ยุโรปก็เพราะยุโรปคือเจ้าหนี้รายใหญ่ของอเมริกา ประเทศที่อ่อนแอแต่ใช้เงินยูโรอย่างกรีซจึงทรุดลงเป็นประเทศแรกและเราจะเห็นอาการเซทรุดที่ต่างกันของไอร์แลนด์ โปรตุเกส อิตาลี สเปน ติดตามมา

ปัญหาเศรษฐกิจของทั้งยุโรปและอเมริกาสะเทือนไปทั่วทั้งโลกแน่เพราะยอดการค้าขาย สองทวีปนี้มีประมาณครึ่งหนึ่งของทั้งโลก

ในอดีตพวกเขาเป็นเศรษฐีที่มีกำลังซื้อเยอะแต่ทรุดลงติดต่อกันหลายปี ดูแล้วก็ไม่ฟื้นง่ายๆ เพราะพวกเขาใช้ชีวิตแพง ค่าแรงสูง แต่ปัจจุบันไม่ได้ผูกขาดเทคโนโลยีอะไรอีกแล้ว จึงไม่สามารถทำการผลิตแข่งขันกับประเทศที่กำลังพัฒนาซึ่งขยันและอดทนกว่าได้

ประเทศที่ผลิตสินค้าจากเอเชียเคยมองยุโรปและอเมริกาเป็นตลาดชั้นดี แต่วันนี้ตลาดชั้นดีก็เกิดปัญหาแล้ว ยอดการส่งออกของประเทศจีนลดลงอย่างเห็นได้ชัด หายไปประมาณครึ่งหนึ่ง

และวันนี้หนี้เสียในจีนก็มีถึง 10.7 ล้านล้านหยวน คนจีน 1,300 ล้านคน เป็นคนขยัน ไม่มีใครหยุดงาน รอให้อดตาย ถ้าเขาไม่หยุดผลิตก็ต้องหาตลาดอื่นมาทดแทน

วันนี้บ้านเราจึงเป็นแหล่งระบายสินค้าราคาถูกแห่งหนึ่ง ถ้าเดินไปตามตลาดนัดหรือตามห้างแทบทุกแห่งก็จะพบกับสินค้าจีนสารพัดชนิดที่มีราคาถูก ถูกจนคนไทยไม่คิดว่าจะมีใครทำได้

แต่เมื่อคนจีนทำได้ โรงงานเล็กๆ ของเราในประเทศจึงต้องปิดตัวลงไปมากมาย



ยุทธศาสตร์เพื่ออนาคต
เรื่องจำเป็นมากๆ

มหาอุทกภัยที่เกิดขึ้นแล้วและพายุเศรษฐกิจที่ตามมา ได้ส่งผลกระทบกับคนทั้งประเทศ ทั้งที่ถูกน้ำท่วมโดยตรงและกลุ่มที่ได้รับผลกระทบโดยอ้อม ไม่เพียงความเดือดร้อนเรื่องชีวิตความเป็นอยู่แต่กระแสน้ำได้กัดเซาะ ลึกจนไปถึงรากฐานในการทำมาหากินของประชาชนเกือบทุกกลุ่มตั้งแต่ด้านการเกษตร อุตสาหกรรม การท่องเที่ยว การค้าขายทั้งส่งละปลีก

ผู้ที่ได้รับผลกระทบ มีตั้งแต่เกษตรกร ผู้ใช้แรงงาน เจ้าของธุรกิจรายย่อย รายใหญ่ นายทุน เจ้าของโรงงาน ไม่เว้นแม้แต่นายทุนต่างชาติ

แม้จะบอกว่าฟื้นได้แต่พายุลูกใหม่ก็ปรากฏให้เห็นแล้ว แต่การทะเลาะ ตบตี หยิก ข่วนทางการเมืองคงห้ามไม่ได้

แม้น้ำจะท่วม ไฟไหม้ พายุถล่ม มีผู้วิเคราะห์ว่าพายุเศรษฐกิจลูกนี้จะมีผลยาวนานหลายปี ถ้าเปรียบเหมือนน้ำท่วมแล้วไม่วางแผนป้องกัน ครั้งนี้ก็ต้องขึ้นไป ตบตี หยิก ข่วนกันบนหลังคา จะได้หลั่งน้ำตากันทั้งประเทศ

ภาคอุตสาหกรรมของเราเคยแข็งแกร่งพอสมควรแต่ผลจากอุทกภัยจะกระทบแค่ไหนยังไม่รู้ นับตั้งแต่วิกฤตในอเมริกา การแข่งขันรุนแรงมากขึ้น

สำหรับการส่งออก เราต้องพบกับคู่แข่งที่น่ากลัว คือ จีน เวียดนาม เกาหลี อินเดีย อินโดนีเซีย มาเลเซีย เราต้องการวางยุทธศาสตร์เพื่อหาความได้เปรียบจะทำให้มีโอกาสแข่งขันได้ (เช่น อุตสาหกรรมอาหาร)

แต่ถ้าปล่อยให้ต่างคนต่างหาทางเอาตัวรอด โดยไม่มีใครบอกทิศทางกลางพายุ โอกาสพ่ายแพ้ก็จะสูงมาก

วันนี้ความร่วมมือของรัฐและเอกชนคือสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าไทย และสมาคมธนาคารไทย มีความจำเป็น โดยประสานผ่านกรรมการ กยอ. อย่างเป็นรูปธรรม ประเทศไทยต้องกำหนดยุทธศาสตร์เพื่ออนาคตให้ได้



++

เดินเล่น ตลาดต่างแดน
โดย อ้อมแอ้ม ณ แอลเอ.
ในนิตยสารเส้นทางเศรษฐี ฉบับวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554 ปีที่ 17 ฉบับที่ 289 หน้า 59


นิวยอร์กแบกะดิน ทำเลดีไม่ได้มีให้ทุกคน

คนที่บ่นเบื่อแผงลอยขายของบนทางเท้าบ้านเรา แล้วชอบพร่ำเพ้อว่าบ้านอื่นเมืองอื่นเขาไม่เห็นทำกันแบบนี้เลย ขอให้รู้ว่าไม่จริง บ้านอื่นเมืองอื่นเขาก็มีกันมากมาย ฉันไม่พูดไกล เอาอย่างที่อเมริกานี่ก็คาหูคาตา นิวยอร์กนี่แหละตัวดีนัก ขายกันตั้งแต่ขนมนมเนย ถั่วอบ เครื่องดื่ม ไอศกรีม เสื้อผ้า ถุงเท้า กระเป๋า สติ๊กเกอร์

ที่จริงแทบทุกเมืองของอเมริกาเขามีขายของบนที่สาธารณะ แต่มักอนุญาตให้ขายได้เฉพาะวันหยุด มีที่ทางให้ขายกันเป็นเรื่องเป็นราว อย่างที่ฉันเล่ามาให้ฟังเยอะแยะ ไม่ว่าจะตลาดกรีน หรือตลาดยูเนียนสแควร์ ที่นิวยอร์กนี่ ตลาดปลอดสารพิษ ที่ซานตาโมนิก้า แอลเอ., ตลาดโรสโบวล์ ที่พาซาดิน่า

แต่นิวยอร์กนี่ เขาให้ขายกันบนทางเท้าจะจะเป็นธุรกิจเป็นเรื่องเป็นราวเลย ย่านไหนคนมากเขายิ่งอนุญาตให้ขาย เอาง่ายๆ อย่างย่านไทม์สแควร์ ซึ่งทางหนึ่งเป็นย่านธุรกิจสำคัญ คนมากมายยังกะมดปลวก อีกทางหนึ่งเป็นย่านที่นักท่องเที่ยวมักแวะไปชม แบบว่าไปนิวยอร์กต้องไปให้ถึงไทม์สแควร์ หรือถ้าเป็นผู้หญิง พวกชอบช็อปปิ้งก็ต้องโผล่ไปที่ถนนสายที่ห้า หรือFifth Avenue ของไทม์สแควร์ เสียหน่อย เป็นนับว่าได้มาถึงกับเขาแล้ว

ในมหานครนิวยอร์กที่มีพลเมืองกว่า 44 ล้านคนนี่ มีคนขายของบนทางเท้า บนถนน หรือที่เขาเรียกว่า Street Vendorกว่าหมื่นคน นี่นับเฉพาะถูกกฎหมาย ได้ใบอนุญาตขายตลาด ตลาดนัด หรือย่านต่างๆ เป็นเรื่องราวนะคุณ ถ้านับเฉพาะย่านไทม์สแควร์ก็อยู่ที่หลายร้อยแหละ

เขาขายอะไรกันบ้าง?ก็ถั่วอบ 3 ถุง 10 เหรียญ ถุงมือคู่ละ 9 เหรียญ ผ้าพันคอผืนละ 5 เหรียญ เสื้อยืด I love New York ตัวละ 19 เหรียญ ทั้งหมดคุณภาพอยู่ในขั้นอีลุ่ยฉุยแฉก ซักเมื่อไหร่เป็นได้เรื่อง ฮอตดอกเนื้อฟ่ามๆ อันละ 5 เหรียญ เพรสเซลแป้งหยาบๆ ชิ้นละ 3 เหรียญ แล้วก็เครื่องดื่ม ไปหาเอาเถอะมากมาย ย่านไหนที่ขายกันซ้ำๆ ก็ตะโกนเรียกลูกค้าแข่งกันแบบบ้านเรานี่แหละ ส่วนคุณภาพก็กรุณาทำใจ สินค้าขายแบกะดินคาดหวังได้แค่ไหนก็แค่นั้นแหละคุณ


ส่วนใหญ่พวกที่ขายของบนทางเท้าที่คือทหารผ่านศึกจากสงครามเวียดนาม หรือไม่ก็พวกเซ็งลี้ใบอนุญาตต่อมาอีกที เพราะเทศบาลนิวยอร์กเขาอนุญาตเป็นกรณีพิเศษแก่ทหารผ่านศึก เข้าใจว่าเพื่อเป็นการช่วยเหลือนั่นแหละ ส่วนคนอื่นๆ ต้องยื่นขอใบอนุญาต ซึ่งเขาบอกว่า ถ้าดูเอาจากคนที่เข้าบัญชีรอไว้ กว่าจะได้ขายจริงก็รอไปอีก 25 ปี เพราะเขาจำกัดจำนวนคนขาย ตามที่เทศบาลนิวยอร์กเขาบอกน่ะ เขาจำกัดแผงขายอาหารไว้ที่ 3,100 ราย ไม่ใช่อาหาร 853 ราย ใครอยากขายให้ไปลงชื่อขอใบอนุญาตแล้วรอ และอย่างที่บอกว่าต้องรอ 25 ปี ที่จริงเขาปิดรับใบสมัครมา 18 ปีเข้านี่แล้ว ไม่งั้นคิวอาจยาวไปถึง 100 ปี เกิดชาติหน้ามาขายยังทัน

แต่ถ้าเป็นบรรดาทหารผ่านศึก หรือครอบครัว ได้สิทธิพิเศษไม่ต้องเข้าบัญชีรอ แต่ก็ต้องไม่เกินจำนวนที่เขามีไว้ ทหารผ่านศึกคนหนึ่งที่เคยเป็นข่าวคราวว่าสังเกตเห็นคนขับรถมาจอดย่านไทม์สแควร์ เพื่อเตรียมทำคาร์บอมบ์ แกเป็นทหารผ่านศึกเวียดนามขายเสื้อยืด I love New York มาตั้ง 20 ปีแล้ว เอากะแกสิ

อีกพวกหนึ่งที่ไม่ต้องขอใบอนุญาต (แต่ก็ต้องไม่เกินจำนวนที่เขากำหนดไว้) คือคนทำงานศิลปะ แต่เขาก็กำหนดไว้อีกล่ะว่า จะต้องเป็นประเภทภาพวาดและภาพถ่ายเท่านั้น จึงมีหนุ่มหน้าตาเอเชียหรือแอฟริกา ไปนั่งรอวาดรูปเหมือนภาพละ 10 เหรียญกันมากมาย แต่ถ้าเป็นของประดิษฐ์อย่างอื่น แม้จะทำออกมาด้วยความสามารถทางศิลปะ อย่างเครื่องประดับ หรือกระเป๋าหนังแท้เย็บด้วยมือ อันนี้เขาก็ไม่เรียกว่างานศิลปะ ต้องไปเข้าพวกกับสินค้าทั่วไป ซึ่งนี่ก็สร้างเสียงด่าระงมจากคนที่เขาทำกันอยู่ อย่างสาวจากมิชิแกนคนหนึ่ง ขายกระเป๋าตัดเย็บด้วยมือสวยสะ ชีก็บ่นๆๆๆๆ ให้ฟังจนหูชา


ย่านไทม์สแควร์นี่ค่าเช่าอาคารแพงระยับ เอาอย่างถนนสายที่ 5 หรือถนน 57 ที่คนชอบกันนักหนา ค่าเช่าราว 1,350 เหรียญ หรือ 40,000 บาท ต่อตารางฟุต เรียกว่าถ้าจะมีที่วางโต๊ะได้สักตัวจะต้องจ่ายค่าเช่าที่ล้านกว่าบาทขึ้นไป หรืออย่างร้านยีนส์ลีวายส์ ที่ฉันชอบเดินเข้าๆ ออกๆ ค่าเช่าปีละกว่าร้อยล้านบาท

แต่ถ้าเป็นคนขายของแบกะดินในย่านเดียวกัน เสียค่าใบอนุญาตให้รัฐปีละ 75 เหรียญ หรือ 2,000 กว่าบาท

ทำเลเดียวกัน ค่าเช่าต่างกันลิบอย่างนี้ ถ้าคิวมันจะยาวไปถึงพันปีฉันก็ว่าไม่แปลก



++

เคลื่อนสู่ภูมิภาค
โดย นาย ต. คอลัมน์ ก่อสร้างและที่ดิน
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 02 ธันวาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1633 หน้า 22


นํ้าท่วมใหญ่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ตลอดหลายจังหวัดในภาคกลาง กระตุ้นให้เกิดความเคลื่อนไหวในหมู่ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์หลายประเด็นด้วยกัน ซึ่งนอกจากเรื่องร้อนเฉพาะหน้าการกอบกู้โครงการที่เสียหายถูกน้ำท่วมแล้ว ในระยะกลาง ระยะยาวต่อไปทิศทางการเลือกทำเลที่ตั้งโครงการก็ดี หรือพื้นที่ที่จะทำการพัฒนาก็เป็นประเด็นร้อนที่ผู้บริหารอสังหาริมทรัพย์ต้องขบคิดและตัดสินใจ

กระแสความคิดการบุกตลาดบ้านจัดสรร คอนโดมิเนียม ต่างจังหวัดจึงค่อนข้างมาแรงในระยะนี้

ส่วนหนึ่งนั้น เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของคนกรุงเทพฯ เองที่ยังไม่มั่นใจว่า อนาคตข้างหน้าจะเกิดปัญหาน้ำท่วมใหญ่เช่นนี้อีก ความคิดที่จะมีบ้านหลังที่สองในต่างจังหวัดที่ไม่มีปัญหาน้ำท่วม และมีสภาพแวดล้อมที่ถูกใจ พื้นที่ที่คาดหมายว่าจะเป็นที่ต้องการในลักษณะเช่นนี้ อาทิ ชลบุรี พัทยา เชียงใหม่ ประจวบคีรีขันธ์ หัวหิน

ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์เอง ก็ถือเป็นการกระจายโครงการและลดความเสี่ยงจากปัญหาภัยธรรมชาติ

เหตุผลที่สอง ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งมีเป้าหมายอัตราการเติบโตสูงทุกปี เริ่มรู้สึกถึงความจำเป็นต้องขยายฐานโครงการไปต่างจังหวัด เพราะตลาดในกรุงเทพฯ มีการแข่งขันสูง มีความเคลื่อนไหวขยายโครงการไปต่างจังหวัดก่อนวิกฤติน้ำท่วมใหญ่แล้วหลายบริษัท

เหตุผลข้อที่สาม เศรษฐกิจสังคมในส่วนภูมิภาคของประเทศไทย 10 กว่าปีมานี้มีความเจริญเติบโตไปมาก ต่างไปจากอดีตอย่างสิ้นเชิง มีความต้องการที่อยู่อาศัยในรูปแบบโครงการบ้านจัดสรรจำนวนมาก

ปัจจุบันแม้แต่ในระดับอำเภอแทบทุกอำเภอก็มีโครงการบ้านจัดสรรโดยผู้ประกอบการท้องถิ่น ตอบสนองความต้องการของตลาดในพื้นที่นั้นๆ กันแล้ว



วิกฤติน้ำท่วมใหญ่ แม้ไม่ใช่เหตุผลหลักในการเคลื่อนตัวของบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ แต่เป็นตัวกระตุ้นที่มีนัยยะสำคัญ

แนวโน้มในอนาคตอันใกล้ ไม่เพียงแต่โครงการบ้านจัดสรร คอนโดมิเนียม จะแห่ไปขึ้นโครงการในส่วนภูมิภาค ค้าปลีกเกี่ยวกับวัสดุก่อสร้าง อาทิ โกลบอล ไทวัสดุ ดูโฮม ค้าปลีกเกี่ยวกับสินค้าตกแต่งซ่อมแซมและสินค้าเครื่องใช้ภายในบ้าน อาทิ โฮมโปร อินเด็กซ์ เอสบี บุญถาวร ก็ได้ไปปักธงแล้วในหลายพื้นที่และเชื่อว่าจะขยายตัวมากขึ้นเรื่อยๆ

แนวโน้มการบุกต่างจังหวัดของธุรกิจบ้านจัดสรร คอนโดมิเนียม ธุรกิจค้าปลีกวัสดุก่อสร้าง ตกแต่งและเครื่องใช้ในบ้าน คงไม่ใช่การเอาคืนการบุกของน้ำจากต่างจังหวัด แต่เป็นการตอบสนองความต้องการตลาดของคนต่างจังหวัดซึ่งทุกวันนี้เติบโตก้าวหน้าไม่ต่างอะไรกับกรุงเทพมหานคร

ประเทศไทยไม่ใช่แค่กรุงเทพฯ อีกแล้ว



.