http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2554-11-15

ขอบพระคุณทุกฝ่ายค่ะ, สื่อในฯภัยพิบัติ โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์

.

โพสต์เพิ่มภายหลัง ' ใครเป็นใครใน Blue Sky "ทีวีจอฟ้า" กับคนกันเอง แนวรบใหม่ ปชป. สู้ "สื่อทักษิณ" '

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -



ขอบพระคุณทุกฝ่ายค่ะ
โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์
ในมติชน ออนไลน์ วันจันทร์ที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554 เวลา 20:00:00 น.


วิกฤตน้ำท่วมครั้งนี้ ทำให้ผมได้เห็นสถานะทางการเมืองของนายกฯยิ่งลักษณ์มากขึ้น ที่จริงถึงน้ำไม่ท่วมก็พอมองเห็นได้ แต่บังเอิญผมไม่ได้มองจนกระทั่งท่านนายกฯต้องมีบทบาทชัดเจนขึ้น

สำนักโพลแห่งหนึ่งรายงานว่า จากการสำรวจความเห็นเกี่ยวกับนักการเมือง ในบรรดาคุณสมบัติต่างๆ ของท่านนายกฯ คะแนนต่ำสุดที่ได้ คือการตัดสินใจและความเด็ดขาด กล่าวคือ มีน้อยเกินไป แล้วก็มีนักธุรกิจที่เคยสัมผัสกับคุณยิ่งลักษณ์สมัยทำธุรกิจออกมาให้สัมภาษณ์ว่า วิธีการดำเนินธุรกิจของคุณยิ่งลักษณ์คือการประนีประนอมมากกว่าการเผชิญหน้า

ในเรื่องบุคลิกภาพนั้น ผมขอไม่พูดถึง เพราะไม่ได้รู้จักคุณยิ่งลักษณ์เป็นส่วนตัว แต่ขอพูดถึงเงื่อนไขทางการเมืองที่แวดล้อม ซึ่งมีส่วนกำหนด "ยุทธวิธี" ไม่น้อยไปกว่าบุคลิกภาพ

อันที่จริงผู้นำไทยที่ผ่านมา ส่วนใหญ่ก็ใช้วิธีเดียวกัน จะยกเว้นก็แต่ สฤษดิ์ ธนะรัชต์ และทักษิณ ชินวัตร ซึ่งสร้างความประทับใจให้คนชั้นกลางไทย - ทั้งระดับบนและล่าง - เป็นอันมาก

ทั้งสองคนต่างมีเงื่อนไขทางการเมืองที่อนุญาตให้เลือกใช้การตัดสินใจอย่างเด็ดขาดเป็น "ยุทธวิธี" ทั้งคู่

คนแรกคือผู้นำกองทัพที่ใช้กำลังยึดอำนาจบ้านเมือง แล้วไม่คิดจะกลับคืนสู่ระบอบที่มีการถ่วงดุลอำนาจจากหลายฝ่ายอีก "ยุทธวิธี" ที่น่าจะได้ผลที่สุดคือ สร้างความกลัวให้แผ่ขยายไปทั่วสังคม (กลัวเผ่าศรียานนท์, กลัวคอมมิวนิสต์, กลัวจีน, กลัวเวียดนาม, กลัวความด้อยพัฒนา, กลัว ม.17 และที่สำคัญที่สุดคือกลัวสฤษดิ์) นอกจากนี้ในสมัยที่สฤษดิ์เป็นนายกฯ ก็ไม่มีอำนาจทางวัฒนธรรมอื่นใดที่จะถ่วงดุล
อำนาจกองทัพได้ ไม่ว่าจะเป็นวัดหรือวังหรือ(หมู่)บ้าน

คนที่สองยิ่งน่าสนใจกว่า เพราะเป็นผู้นำที่มาจากการเลือกตั้ง แต่มีเงื่อนไขพิเศษที่ไม่เคยเกิดในการเมืองไทยในระบอบรัฐสภามาก่อน นั่นคือได้คะแนนเสียงท่วมท้นจากการเลือกตั้งเสียจนมีเสถียรภาพทางการเมืองอย่างที่ไม่เคยมีรัฐบาลจากการเลือกตั้งไทยเคยมีมาก่อน คุณทักษิณใช้วิธีคล้ายกับสฤษดิ์ นั่นคือความกลัว เพียงแต่ไม่ได้ใช้อำนาจดิบเป็นเครื่องมือ หากใช้อำนาจในระบบแทน (การวางโฆษณาในสื่อ, ปปง., และกฎหมาย ที่ผ่านสภาฉลุย แต่ค่อนข้างให้อำนาจนายกฯอย่างตรวจสอบไม่ได้ ฯลฯ)


ส่วนใหญ่ของผู้นำไทยก็ใช้การประนีประนอมเป็น "ยุทธวิธี" ทั้งนั้น ไม่แต่ในสมัยปัจจุบันนี้เท่านั้น ย้อนกลับไปในสมัยโบราณก็เช่นเดียวกัน ฝรั่งที่เข้ามาอยู่อยุธยารายงานว่า การรัฐประหารชิงอำนาจในอยุธยานั้นไม่ค่อยนองเลือด พอฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งตั้งตนเป็นกษัตริย์ได้ ฝ่ายอื่นก็พร้อมจะก้มกราบขอสวามิภักดิ์ (The King was done for. Long live the King) ผู้นำตามประเพณีในหมู่บ้านไทยสมัยก่อนก็เช่นเดียวกัน การประนีประนอมคือพื้นฐานสำคัญสุดของการนำในวัฒนธรรมไทย(เดิม)

ทั้งนี้ เพราะเงื่อนไขทางการเมืองของการนำในสังคมไทย มักไม่ตกอยู่ในมือใครคนหนึ่งคนเดียว แต่จะตกอยู่กับหลายกลุ่มที่ประสานกันเป็นเครือข่ายซึ่งสัมพันธ์กันอย่างสลับซับซ้อนมาก ผมคิดว่าเงื่อนไขเช่นนั้นยังดำรงสืบมาถึงปัจจุบันในทุกระดับ นานๆ ครั้งเงื่อนไขดังกล่าวจึงอ่อนกำลังลงเสียที

ฉะนั้น ผู้นำที่ตัดสินใจได้เองอย่างเด็ดขาดเสียอีก ที่เป็นสิ่งแปลกปลอมในวัฒนธรรมไทย



กลับมาดูว่าเงื่อนไขแวดล้อมทางการเมืองภายในของคุณยิ่งลักษณ์เป็นอย่างไร ผมมีข้อมูลน้อยมากเกี่ยวกับเรื่องนี้ ส่วนใหญ่เป็นข่าวลือ ซึ่งไม่รู้ว่ามีมูลความจริงอยู่สักเท่าไร แต่โดยรวมๆ แล้วผมขอเดาว่า ฐานการสนับสนุนทางการเมืองของคุณยิ่งลักษณ์ประกอบด้วยกลุ่มต่างๆ ดังนี้ โดยวิเคราะห์จาก ครม.ของคุณ ยิ่งลักษณ์

กลุ่มแรกคือ "สายทักษิณ-และเครือญาติ" คนกลุ่มนี้ขึ้นรับตำแหน่งรัฐมนตรีเพราะได้รับความไว้วางใจ (ไว้วางใจให้ทำอะไรก็ไม่ทราบ) และบางคนอาจเป็นการตอบแทนต่อการกระทำที่ผ่านมา ผมออกจะสงสัยว่าคนกลุ่มนี้ไม่มีพลังทางการเมืองสูงนัก เพราะคนที่มีพลังทางการเมืองในสายนี้ถูกเว้นวรรคทางการเมืองไปเสียมาก ดังนั้น จึงไม่มีเสียงสนับสนุนในสภาเป็นของตัวเองอย่างมั่นคง ในขณะเดียวกันก็ไม่มีเสียงสนับสนุนนอกสภาเป็นปึกแผ่น

กลุ่มที่สองคือกลุ่มที่ "อำมาตย์" (ใช้ในที่นี้ ในความหมายถึง The Establishment) พอรับได้ แบ่งออกเป็นสายธุรกิจและสายทหาร แต่ "พอรับได้" ไม่ได้หมายถึงชอบ จนถึงนาทีนี้ผมเดาว่าคนกลุ่มนี้ยังไม่สามารถแปรความ "พอรับได้" ให้กลายเป็นความนิยมในหมู่ "อำมาตย์" ด้วย เหตุดังนั้นคุณยิ่งลักษณ์จึงต้องระดมคนนอกเข้ามาเป็นประธานกรรมการชุดต่างๆ ในแผนงานฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังน้ำท่วม ดังนั้น กลุ่มที่สองจึงคล้ายกับกลุ่มแรกที่ไม่มีพลังทางการเมืองสนับสนุนนอกสภาสูงนัก

กลุ่มที่สามเป็นความพยายามที่จะหยั่งรากลงไปหาการยอมรับหรือความนิยมจากระบบราชการ จึงมีอดีตหัวหน้าหน่วยงานราชการ ร่วมอยู่ใน ครม. เช่น คุณโกวิท วัฒนะ, คุณประชา พรหมนอก เป็นต้น แต่ให้น่าสงสัยว่าคนเหล่านี้จะสามารถเรียกความยอมรับหรือนิยมของราชการได้มากน้อยเพียงไร คุณประชาเองอาจมีพลังทางการเมืองของตนเอง แต่ก็ยังไม่ยิ่งใหญ่ถึงกับจะเป็นหัวหน้ามุ้งทางการเมืองได้ด้วยตนเอง

อันที่จริง มีอดีตนายทหารซึ่งเคยดำรงตำแหน่งสูงในกองทัพที่น่าจะมีลูกน้องสนับสนุนมากอีกหลายคน ที่น่าจะเลือกมาเป็นรัฐมนตรี แต่ในที่สุดคนเหล่านั้นก็ไม่ได้รับเลือก เพราะเป็นทหารคนละกลุ่มกับผู้นำทหารในปัจจุบัน จึงมีแรงเสียดทานสูงกว่า

แสดงให้เห็นว่า คุณยิ่งลักษณ์เลือกแนวประนีประนอมเป็นหลักอยู่มาก


กลุ่มที่สี่คือกลุ่มที่มาจากพรรค พท.เอง แต่ พท.แตกต่างจาก ทรท.อย่างมาก เพราะไม่มีหัวหน้ามุ้งขนาดใหญ่ไว้คุมลูกพรรค รัฐมนตรีในกลุ่มนี้จึงมาจากหัวหน้าพรรค, รองหัวหน้าพรรค, ประธาน ส.ส.พรรค, และประธานวิปของ พท. อย่างน้อยคนเหล่านี้ก็ประคองพรรคให้อยู่รอดมาได้ คงพอมีบารมีจะคุม ส.ส.ได้ในระดับหนึ่ง อย่างน้อย ส.ส.ก็ได้ดำรงตำแหน่งประธานและสมาชิกของคณะกรรมาธิการชุดต่างๆ ของสภา อีกทั้งยี่ห้อของพรรค พท.มีนัยยะสำคัญในการเลือกตั้งด้วย อำนาจของกรรมการบริหารพรรคจึงพอมีน้ำยาอยู่บ้าง

กลุ่มที่ห้าคือคนของบ้านเลขที่ 111 ผมไม่ทราบหรอกครับว่า รัฐมนตรีคนใดเป็นคนของบ้านเลขที่นี้ แต่โฆษกรัฐบาลนั้นใช่แน่ เพราะพี่ชายของเธอเป็นหลักคิดของพรรคสืบเนื่องมา ซ้ำยังมีประสบการณ์ทางการเมืองสูง อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่าคนบ้านเลขที่ 111 มีอิทธิพลในพรรคไม่น่าจะมากนัก ส่วนหนึ่งไม่สามารถนำคนของตัวเข้าสภาได้เป็นกอบเป็นกำ อีกส่วนหนึ่งอาจไม่ได้ควักเงินร่วมในการเลือกตั้งเลย

แต่ความมีประสบการณ์ทางการเมืองและการบริหารสูง ตลอดจนบางคนได้รับความนิยมสูงด้วย ก็อาจกลับมามีบทบาทในฐานะรัฐมนตรีได้อีกหลังเดือน พ.ค.ปีหน้า


มีข่าวลือในช่วงน้ำท่วมว่า คนบ้านเลขที่ 111 เสนอให้เปลี่ยนตัวนายกฯ เป็น คุณประชา พรหมนอก ผมไม่ทราบว่าข่าวนี้จริงหรือไม่ แต่เมื่อถูกนักข่าวถาม ท่านนายกฯก็ไม่ได้ปฏิเสธว่าไม่จริง ที่น่าสนใจคือทำไมต้องเป็นคุณประชา ซึ่งแทบไม่มีบทบาทอะไรเลย แม้แต่ดำรงตำแหน่งประธานศปภ.ก็เป็นแต่ชื่อ เพราะท่านนายกฯลงไปกำกับเองทุกอย่าง

ผู้เสนอคงต้องการกำกับการเมือง โดยเฉพาะหลังเดือน พ.ค.ปีหน้ามากขึ้น จึงเลือกคุณประชาเป็นนายกฯ นอกจากนี้ ข้อเสนอนี้ย่อมไม่ตรงกับความต้องการของคุณทักษิณ แสดงว่าในกลุ่ม 111 นี้ บางคนได้แตกจากคุณทักษิณไปแล้ว ซึ่งก็ไม่แปลกเพราะบางคนในกลุ่มนี้ก็ได้เห็นมาก่อนรัฐประหารแล้วว่า คุณทักษิณนั้นหนักเกินไปทางการเมืองที่จะแบกไว้


กลุ่มที่หกคือกลุ่มเสื้อแดง ซึ่งแม้ไม่ได้รับตำแหน่งรัฐมนตรี เพราะแรงเสียดทานสูงเกินไป (ผมสงสัยว่าไม่ใช่แรงเสียดทานจากนอกพรรคเพียงอย่างเดียว แม้แต่ในพรรคเองก็อาจมีแรงเสียดทานอยู่ด้วย) แต่ก็ได้ตำแหน่งอื่นๆ อยู่บ้าง เสื้อแดงนั้นเป็นพลังทางการเมืองแน่ แต่แกนนำเสื้อแดงมีอิทธิพลต่อเสื้อแดงแค่ไหนยังน่าสงสัยอยู่

บทบาทของเสื้อแดงในการช่วยผู้ประสบภัยครั้งนี้มีมาก แต่ก็จัดการกันในระดับท้องถิ่น ไม่ใช่การนำจากแกนนำส่วนกลาง ปราศจากการเผชิญหน้ากับ "อำมาตย์" แกนนำส่วนกลางจะยังมีบทบาทอะไรเหลืออยู่บ้าง อย่างไรก็ตาม แม้ปราศจากการนำโดยชัดเจน เสื้อแดงก็ยังสนับสนุนรัฐบาลนี้อย่างเหนียวแน่นจนถึงนาทีนี้

เป็นอำนาจที่ใช้คุม ส.ส.ได้ และหากใช้เป็นยังเป็นอำนาจในการต่อรองทางการเมืองได้อีกหลายอย่าง เช่นจะแก้ พ.ร.บ.กลาโหม โดยปราศจากพลังสนับสนุนของเสื้อแดงย่อมเป็นไปไม่ได้ และจนถึงที่สุด ยังเป็นพลังคุ้มครองให้รัฐบาลนี้อยู่รอดจากภัยคุกคามของอำนาจนอกระบบต่างๆ ด้วย

น่าสังเกตนะครับว่า แม้รัฐบาลนี้มีเสียงสนับสนุนในสภาอย่างเด็ดขาด แต่ฐานการสนับสนุนจริงๆ ของรัฐบาลไม่ได้มาจากสภา หากมาจากภายนอกทั้งนั้น ไม่ว่าการยอมรับได้ของ "อำมาตย์" หรือเสื้อแดง หรือคุณทักษิณ หรือ บ้านเลขที่ 111


ผมไม่ทราบว่าในกลุ่มต่างๆ ที่สนับสนุนรัฐบาลนี้มีความแตกร้าวกันภายในมากน้อยเพียงไร แต่อย่างน้อยทุกกลุ่มก็เห็นพ้องกันว่า ควรประคองรัฐบาลนี้ไปก่อน เพราะพลังต่างๆ ในสังคมการเมืองไทยเวลานี้ ล็อกกันจนไม่มีฝ่ายใดสามารถนำความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองได้ โดยไม่เกิดการปะทะกันจนนองเลือด

ในสภาพเงื่อนไขทางการเมืองเช่นนี้ การนำที่เป็นไปได้ก็น่าจะเป็นอย่างคุณยิ่งลักษณ์นี่แหละครับ ไม่มีอะไรนะคะ เราจะฟันฝ่าวิกฤตทุกชนิดออกไปได้ด้วยแรงสนับสนุนของประชาชนฝ่ายเสื้อแดง ฝ่ายเสื้อเหลืองฝ่ายสลิ่ม และฝ่ายอำมาตย์ ขอบพระคุณค่ะ (แล้วไหว้ทีหนึ่ง)



++

สื่อในสถานการณ์ภัยพิบัติ
โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1630 หน้า 28


ตลกเมื่อสมัยผมเป็นเด็กที่ผมจำได้ดีเรื่องหนึ่งคือ นิยามทางภูมิศาสตร์ (ดูเหมือนจะเป็นของครูพล ปัญญามี) ภูเขาคือแผ่นดินที่ยื่นไปในอากาศ เหวคืออากาศที่ยื่นไปในแผ่นดิน อ่าวคือน้ำที่ยื่นเข้ามาในแผ่นดิน ฯลฯ

ในสมัยนั้นตลกเพราะมันตรงกันข้ามกับนิยามที่ครูสอน แต่คิดอย่างไรก็ไม่ผิด สมัยนี้คงไม่ขำอะไรแล้ว แต่ยังติดใจเพราะเตือนให้เรารำลึกว่า ปรากฏการณ์ทั้งหลายนั้นมีความหมายอย่างไร ก็ขึ้นอยู่กับว่าเรามองมันจากมุมไหน คนปัจจุบันมักใช้ความเปรียบเรื่องเหล้าครึ่งแก้วมากกว่า คือแค่ครึ่งแก้วก็หมดแล้ว หรือยังเหลืออีกตั้งครึ่งแก้ว

นักญาณวิทยาชี้ให้เราเห็นมากว่าศตวรรษแล้วว่า อันที่จริงความหมายทุกอย่าง แม้แต่ความจริงทางวิทยาศาสตร์ เช่น น้ำเดือดที่ร้อยองศาเซนติเกรด ล้วนเป็นสิ่งที่เราสร้างขึ้นทั้งนั้น ปรากฏการณ์ทั้งทางธรรมชาติและสังคมหาได้มีความหมายในตัวเองไม่



ผมคิดถึงเรื่องตลกโบราณ เพราะออกจะผิดหวังกับสื่อไทยในอุทกภัยครั้งใหญ่ ไม่ใช่เรื่องออกข่าวโดยไม่ตรวจสอบ หรือลำเอียงด้วยอคติทางการเมือง เพราะนั่นเห็นได้ชัดเสียจนไม่ต้องพูดแล้ว แต่ในฐานะคนที่ไม่ต้องเผชิญภัยแต่อย่างไร ผมจับภาพรวมของสิ่งที่เกิดขึ้นได้ยากมาก จึงทำให้คิดว่าคนที่ต้องเผชิญภัย จะ "เฝ้าระวัง" (คำที่สื่อทีวีชอบใช้) หรือเตรียมตัวรับปัญหาของตนอย่างไร

ผมคิดว่าคนเราจะเฝ้าระวังอะไรได้ ก็ต้องมีภาพรวมของสิ่งที่เกิดขึ้นอยู่หลังหัว ข้อมูลที่สัมพันธ์กับตัวโดยตรงย่อมเป็นส่วนหนึ่งของภาพรวมเสมอ มีแต่ข้อมูลโดยไม่มีภาพรวมจึงไม่ค่อยมีความหมายอะไรนัก

หลังจากติดตามข่าวน้ำท่วมทางทีวีหลายช่อง และหนังสือพิมพ์หลายฉบับ ผมเพิ่งทราบจากวอลล์สตรีทเจอร์นัลว่าน้ำได้ท่วมกรุงเทพฯ ไปประมาณ 20% แล้ว (หลายวันมาแล้ว) จริงหรือไม่ผมก็ไม่ทราบหรอก แต่พอนึกออกว่าภาวะของบ้านเกิดผมเป็นอย่างไร (นอกจากความเดือดร้อนทุกข์ยากของผู้คนซึ่งมีอยู่เต็มในรายงานข่าว) ผมเพิ่งเข้าใจหลังจากที่เขาวางบิ๊กแบ็กใกล้จะเสร็จแล้วว่า เจตนาของเขาคือชะลอน้ำให้ไหลลงกรุงเทพฯ น้อยลง เพื่อจะได้สูบน้ำที่เอ่ออยู่ในกรุงเทพฯ ออกได้ทัน

ผมเดาเอาเองจากการติดตามข่าวว่า ตั้งแต่นครสวรรค์ลงมาถึงกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่มากๆ ของผู้ประสบภัยไม่ได้อพยพไปอยู่ที่ศูนย์พักพิง และออกจะสงสัยว่าไม่ได้อพยพไปไหนทั้งสิ้น แต่ทนอยู่กับน้ำที่ท่วมบ้านมิดนั้นเอง

ผมอยากเห็นความพยายามของสื่อที่จะคำนวณจากข้อมูลที่ไม่สมบูรณ์ให้ได้ว่า ศูนย์พักพิงที่ทางการตั้งขึ้นในที่ต่างๆ นั้น สามารถบรรจุคนได้เป็นกี่เปอร์เซ็นต์ของประชากรซึ่งโดนน้ำท่วมในบริเวณนั้นๆ และเมื่อรวมตัวเลขทั้งประเทศแล้ว จะเป็นกี่เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั้งหมดที่ประสบภัย

ผมประมาณเอาเองจากข่าวแล้ว พบว่าศูนย์พักพิงซึ่งทางการและเอกชนตั้งขึ้นนั้น บรรจุคนที่ประสบภัยได้ไม่เกิน 10% เท่านั้น คนที่เหลือไปพักกับญาติหรือเพื่อน หรืออีกมากกว่าเสียอีกที่ทนอยู่บ้านต่อไป

ถ้าเราสามารถเผยแพร่ตัวเลขของภาพรวมเช่นนี้ให้แก่สังคมได้ ผู้บริหารรัฐทุกระดับจะได้เลิกพูดเรื่อง "อพยพ" เสียที เพราะมันไม่ง่ายเหมือนน้ำลายที่กระเซ็นออกจากปาก ตั้งศูนย์พักพิงก็ตั้งไป แต่ปัญหาใหญ่กว่าคือคนซึ่งไม่ได้ไปไหนต่างหาก ประกาศเขต "อพยพ" ในกรุงเทพฯ ได้ทุกวัน แล้วจะให้เขาไปอยู่ไหนครับ ยิ่งบางท่านคิดขนาดอพยพทุกเขตในกรุงเทพฯ "จะบ้าหรือเปล่า" ประมาณ 12 ล้านคนนะครับ

ไม่ต้องขนาดกรุงเทพฯ หรอกครับ เอาแค่เฉพาะเขตตัวเมืองของอยุธยา, อ่างทอง, สิงห์บุรี, ชัยนาท, อุทัยธานีและนครสวรรค์ ซึ่งล้วนท่วมหมดพื้นที่ แต่ละแห่งก็มีประชากรเป็นหลักแสนทั้งนั้น จะให้อพยพไปอยู่ที่ไหนล่ะครับ

นอกจากผู้บริหารรัฐทุกระดับควรเลิกพูดเรื่องอพยพกันง่ายๆ แล้ว พวกเขาจะได้หันมาทุ่มเทความพยายามในการจัดความช่วยเหลือให้ถึงมือคนที่ติดอยู่ในบ้านได้อย่างเป็นระบบ (ที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้)

ผมทราบดีครับว่า การให้ความช่วยเหลือแก่คนในศูนย์พักพิงย่อมทำได้ง่ายกว่าคนที่ติดอยู่ตามบ้านแน่ แต่ศูนย์พักพิงไม่ใช่คำตอบแก่คนส่วนใหญ่ ที่สำคัญกว่าคือคนที่ติดอยู่กับบ้านต่างหาก จะจัดองค์กรกันอย่างไร จึงจะทำให้เขาไม่ถูกทอดทิ้งในยามที่ลำบากจนเลือดตาแทบกระเด็นอยู่แล้ว

รัฐไม่มีกำลังที่จะทำคนเดียวแน่ ต้องอาศัยความร่วมมือของสังคม แต่สังคมลงไปช่วยอย่างระเกะระกะไปหมด ความช่วยเหลือก็ไม่มีทางกระจายไปอย่างทั่วถึง จำเป็นต้องมีการจัดองค์กรระดับท้องถิ่น เพื่อกระจายความช่วยเหลือได้ทั่ว การจัดองค์กรระดับท้องถิ่นที่จะมีประสิทธิภาพได้ก็ขึ้นอยู่กับเรื่องกระจายอำนาจ คนไทยไม่มีทางเผชิญสาธารณภัยขนาดใหญ่ได้ ภายใต้การปกครองที่รวมศูนย์อย่างนี้

ฉะนั้น การปฏิรูปโครงสร้างอำนาจจึงมีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าฟลัดวงฟลัดเวย์, เขื่อน, พนัง, หรือแม่น้ำเจ้าพระยาสายสอง และต้องเข้ามาอยู่ในลำดับต้นๆ ของโครงการที่จะเสริมสร้างความแข็งแกร่งของประเทศในการเผชิญภัยพิบัติขนาดใหญ่



ข่าวสารข้อมูลที่จะให้อำนาจ (empower) แก่ผู้คนในการกำหนดและกำกับนโยบายสาธารณะ คือข่าวสารข้อมูลภาพรวมต่างหาก แค่รู้ว่าใครถูกท่วมถึงเข่าถึงเอวถึงคอ ทำได้เพียงกระตุ้นความเห็นใจ และมี "จิตอาสา" ลงไปช่วยเหลือด้วยประการต่างๆ ซึ่งก็ดีนะครับ แต่ไม่ได้ให้อำนาจแก่สังคม

เพราะภาพรวมให้อำนาจ ดังนั้น ในช่องว่างที่ไม่มีภาพรวมให้เห็นนี้ เหล่าคนฉลาดทั้งหลายจึงสร้างมันขึ้นมาให้แก่สังคม เป็นส่วนหนึ่งของอำนาจในการกำหนดนโยบายสาธารณะ หรือกำหนดว่าจะแบ่งปันทรัพยากรส่วนรวมให้แก่ใครก่อน

ผมหมายถึงเหล่าผู้บริหารของสมาคมนายจ้างนายทุนทั้งหลาย และนักเศรษฐศาสตร์ในสังกัด ต่างออกมาบอกตัวเลขได้ชัดเจนว่า ภาคอุตสาหกรรมของเราเสียหายไปเท่าไรจากน้ำท่วม อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจจะลดลงเท่าไร ใช้เวลาอีกเท่าไรจึงจะฟื้นตัว อัตราค่าแรงที่เหมาะสมคือคงเดิมไปก่อน พูดง่ายๆ ก็คือฉิบหายกันหมดแล้ว ยกเว้นแต่...

ยกเว้นแต่นโยบายเศรษฐกิจหลังน้ำลดต้องทุ่มลงมาให้แก่พวกของตัว ลดภาษี เพิ่มเอกสิทธิ์ หาหรือสร้างแหล่งเงินกู้ปลอดดอกเบี้ย นานาจิปาถะล่ะครับ เหลือก็แต่ยังไม่ได้เสนอให้เอารูปปล่องโรงงานใส่ลงไปในธงชาติเท่านั้น

ทั้งหมดนี้ไม่ได้บอกเลยว่า คุณคำนวณอย่างไร ใช้โมเดลอะไร และเก็บข้อมูลมาละเอียดแค่ไหน แค่มองน้ำอย่างเดียวก็พูดได้เป็นฉากๆ



คงจำได้นะครับว่า เมื่อน้ำเริ่มท่วมนิคมอุตสาหกรรมแถวอยุธยา คนเหล่านี้ก็ออกมาขู่ว่าต่างชาติจะย้ายฐานการผลิตไปจากไทย (เพื่อไปหาน้ำท่วมในประเทศอื่น) แต่พอบริษัทแม่ในญี่ปุ่นบอกว่า ไม่ได้คิดจะย้ายอะไรเลย เทวดาเหล่านี้ก็เงียบเสียงเรื่องย้ายฐาน

สื่อทำอย่างไรกับภาพรวมที่คนเหล่านี้สร้างขึ้น ก็เอามาเผยแพร่ต่อหน้าตาเฉย โดยไม่ได้ตรวจสอบข้อสรุปเหล่านี้กับนักวิชาการที่ไม่ได้สังกัดมหาวิทยาลัยพ่อค้า และกับเจ้าของโรงงานอื่นๆ ยังไม่พูดถึงกับประชาชนทั่วไปที่น้ำตาเช็ดหัวเข่าอยู่เวลานี้ ภาพรวมที่พวกเขาสร้างขึ้นจึงเต็มไปด้วยอำนาจที่บังคับให้ทำอย่างอื่นไม่ได้ นอกจากที่เขาสั่ง

แต่สื่อถูกสอนกันมาว่า สื่อไม่มีหน้าที่เสนออะไรอื่นนอกจากเหตุการณ์ที่ว่ากันไปตามเนื้อผ้า ภาพรวมเป็นสิ่งน่ากลัว เพราะทุกคนรู้ว่าถูกสร้างขึ้นทั้งนั้น ผมจึงนึกถึงตลกสมัยเด็กขึ้นมาว่า มันมีปรากฏการณ์อะไรในโลกนี้ที่มีแต่เนื้อผ้าให้เสนอหรือครับ ถึงมี ผู้อ่านจะรู้ไปทำไม

ครับ เพราะไม่ได้ให้อำนาจอะไรแก่เขา แม้แต่อำนาจที่จะเตรียมตัวเองเพื่อเผชิญอุทกภัยยังไม่ได้เลย

ตลกสมัยเด็กสอนให้รู้ว่า แม้แต่ข่าวที่บอกว่าหัวน้ำไปถึงไหนแล้ว ก็เป็นข่าวขึ้นมาได้เพราะผู้เสนอต้องมีภาพรวมบางอย่างอยู่หลังหัวไว้ก่อนแล้ว คติที่ว่า "The news that fit to print" ของหนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่อเมริกัน ไม่ได้อธิบายอะไรเลย จะตัดสินว่าอะไร fit หรือไม่ ขึ้นอยู่กับภาพรวมที่อยู่หลังหัว บ.ก. ต่างหาก

ผู้รับสื่อจึงไม่ได้ประโยชน์อะไรจากข่าว นอกจากสนุกดีที่จะรู้ไว้เหมือนดูละครทีวี ข่าวจึงมีลักษณะใกล้ละครทีวีไปทุกทีไงครับ



ผมคิดว่าการที่แหล่งข่าวของคนปัจจุบันเปลี่ยนจากสื่อตามประเพณีไปสู่เครือข่ายสังคมทางเน็ต ก็เพราะเครือข่ายสังคมป้อนภาพรวมให้แก่ผู้อ่านได้เลย แม้แต่อย่างผิดๆ ก็ตาม แต่ดูเหมือนทำให้ผู้รับรู้สึกว่ามีพลังอำนาจที่จะจัดการชีวิตตนเองและสังคมตนเองได้มากขึ้น (แม้ในจินตนาการก็ยังดี) ฉะนั้น หากสื่อตามประเพณีคิดจะแข่งกับสื่อใหม่ออนไลน์ ต้องเลิกรังเกียจภาพรวม ความรังเกียจนั้นกลับทำให้เสนอภาพรวมของคนอื่นโดยไม่ได้ไตร่ตรองด้วยซ้ำ

อันที่จริงสื่อตามประเพณีมีกำลังที่จะเสนอภาพรวมได้อย่างมีดุลยภาพกว่าสื่อใหม่ออนไลน์ด้วยซ้ำ เพียงแต่การจัดองค์กรเพื่อบรรลุเป้าหมายของงาน ไม่ได้เอื้อต่อการมองเห็นหรือเสนอภาพรวมเลย ก็แบ่งนักข่าวออกเป็นสายๆ ที่ไม่รู้อะไรกันเลย แม้แต่ บ.ก. ยังแยกออกเป็นสายตามนักข่าว จะเหลือพื้นที่ทั้งในสำนักงานและในสมองคนตรงไหนล่ะครับ ที่จะทำความเข้าใจกับภาพรวม

ผมไม่เคยทำสื่อสักวันเดียวในชีวิต จึงไม่ทราบหรอกครับว่าจะต้องแก้ไขปรับปรุงอย่างไร เพียงแต่แน่ใจว่าในสภาพที่เป็นอยู่ของสื่อไทยในปัจจุบัน เสนอภาพรวมไม่ได้หรอกครับ ได้แต่ตกเป็นกระบอกเสียงให้คนอื่นใช้เป็นเครื่องมือเสนอภาพรวมของตนเอง โดยสื่อเองก็ไม่รู้ตัวด้วยและกลายเป็นเครื่องมือเอารัดเอาเปรียบคนอื่นของคนบางกลุ่มไปโดยปริยาย

เมื่อใดก็ตาม ที่ใครมีโอกาสพูดคนเดียว ทุกคนพึงเร่งระวังตัวไว้ให้ดี



- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

+ + + +

โพสต์เพิ่มภายหลัง

ใครเป็นใครใน Blue Sky "ทีวีจอฟ้า" กับคนกันเอง แนวรบใหม่ ปชป. สู้ "สื่อทักษิณ"
คอลัมน์ ในประเทศ ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1631 หน้า 13


ในเมื่อสัมภาษณ์ "อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) เป็นเทปประเดิมรายการ ก็เรียกได้ว่าทีวีดาวเทียมช่อง Blue Sky ถือโอกาสเปิดตัวสถานี พ่วงจุดยืนของสถานีไปในเวลาเดียวกัน

ในช่วงเวลาที่แกนนำ ปชป. นิยมจัดประเภท-แยกหมวดหมู่สื่อต่างๆ ไม่ว่าโทรทัศน์ วิทยุ หนังสือพิมพ์ อินเตอร์เน็ต ฯลฯ ว่า "ช่องไหนอยู่ข้างไหน ฉบับไหนเป็นสีใด"

ไม่เพียงผู้จัดรายการที่คน ปชป. คุ้นหน้าคุ้นตาเป็นอย่างดี อย่าง "ถนอม อ่อนเกตุพล" อดีตเลขานุการ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (องอาจ คล้ามไพบูลย์)

หรือ "การดี เลี่ยวไพโรจน์" อดีตรองโฆษก ปชป. ทีมงานของ "อภิรักษ์ โกษะโยธิน" ผู้คิดกลยุทธ์ในการหาเสียงเลือกตั้งภาค กทม. ครั้งที่ผ่านมา

ทีวีจอฟ้าช่องนี้ ยังมี "เถกิง สมทรัพย์" ผู้ใกล้ชิด "สาทิตย์ วงศ์หนองเตย" อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ผู้มีหน้าที่กำกับดูแลสื่อภาครัฐ ผู้ที่สามารถเดินเข้านอกออกในสถานีโทรทัศน์ช่อง 11 ได้ราวกับบ้านหลังที่ 2 ตลอดสมัยที่ ปชป. เป็นรัฐบาล รับหน้าที่เป็น "ผู้อำนวยการสถานี"

สถานี Blue Sky ใช้ที่ทำการอาคารย่านถนนเพชรบุรีตัดใหม่ เป็นที่แพร่ภาพ รูปแบบการนำเสนอข่าวเพื่อสนับสนุนการทำงานของ ปชป. เพิ่งทดลองและเริ่มออกอากาศ เมื่อต้นเดือนพฤศจิกายนนี้เอง



ความจริงความคิดอยากมี "สื่อ" เป็นของตัวเอง โดยเฉพาะสถานีโทรทัศน์ อยู่ในใจแกนนำ ปชป. มาพักใหญ่แล้ว

คนที่ออกมาแย้มว่า ปชป. จะมีทีวีของตัวเองคนแรก คือ "สุเทพ เทือกสุบรรณ" อดีตเลขาธิการ ปชป. ที่พูดไว้ตั้งแต่ต้นปี 2553 ว่า "มีผู้สนับสนุนจะลงขันทำทีวีให้"

จากนั้นข่าวก็เงียบหายไป เมื่อการเมืองเข้าสู่โหมดเลือกตั้ง

อย่างไรก็ตาม หลังพ่ายแพ้การเลือกตั้งให้กับคู่แข่ง อย่าง "พรรคเพื่อไทย (พท.)" ที่ชู "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" น้องสาวคนสุดท้ายของ "พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร" อย่างราบคาบในการเลือกตั้ง 3 กรกฎาคม ที่ผ่านมา แนวคิดดังกล่าวจึงถูกปัดฝุ่นอีกครั้ง

หลังแกนนำ ปชป. สรุปบทเรียน ก่อนเห็นพ้องร่วมกันว่าปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ พท. ชนะการเลือกตั้ง คือการมีสื่ออยู่ในมือ โดยเฉพาะทีวีดาวเทียมช่อง Asia Update ที่ถ่ายทอดสดการปราศรัยใหญ่ของ พท. ทุกครั้ง กระทั่ง "ยิ่งลักษณ์" ได้เป็นนายกรัฐมนตรี

และจู่ๆ อย่างไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ย วันที่ 2 พฤศจิกายน บนผังรายการของดาวเทียมจานส้ม ช่อง 42 ก็ปรากฏทีวีช่องใหม่ Blue Sky มีสัญลักษณ์จอสีฟ้า คล้ายกับสีประจำ ปชป.

มีรายงานว่า ผู้อยู่เบื้องหลังการกำหนดทีวีดาวเทียมช่องนี้ นอกจาก "เถกิง" อดีตผู้บริหาร บริษัท ว็อชด็อก จำกัด แล้ว ยังมี "วรรณธรรม กาญจนสุวรรณ" อดีตรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง (สุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี)

สอดคล้องกับกระแสข่าวว่า "นายทุนตัวจริง" ของทีวีดาวเทียมน้องใหม่นี้ คือนายหัวจาก จ.สุราษฎร์ธานี

ถ้าดู "ตัวละคร" ที่อยู่เบื้องหลังทีวีช่อง Blue Sky ไม่ว่าเบื้องหน้า-เบื้องหลัง พบว่าสิ่งที่แกนนำ ปชป. ปฏิเสธว่าไม่มีส่วนรู้เห็น ไม่ต่างจากคำปัดพัลวันของแกนนำ พท.-คนเสื้อแดง ที่ว่าไม่เคยอยู่เบื้องหลังทีวีช่อง Asia Update



ทีวีดาวเทียมช่อง Blue Sky ดำเนินการโดย บริษัท บลู สกาย แชนแนล จำกัด ซึ่งเพิ่งจดทะเบียนก่อตั้งเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2554 ด้วยทุนจดทะเบียน 5 ล้านบาท มีที่ตั้งอยู่เลขที่ 2170 อาคารกรุงเทพทาวเวอร์ ชั้น 8 ถ.เพชรบุรีตัดใหม่ แขวงบางกะปิ เขตห้วยขวาง กทม. 10310 ระบุประเภทธุรกิจว่ารับทำการถ่ายวิดีโอ เทปบันทึกภาพ ภาพนิ่ง

ที่น่าสนใจคือ รายชื่อกรรมการผู้มีอำนาจลงนามของบริษัท จำนวน 3 คน ที่นอกจาก "เถกิง" แล้ว ยังปรากฏชื่อของ "วิทเยนทร์ มุตตามระ" และ "บุรฤทธิ์ ศิริวิชัย" ทำให้เห็นคอนเน็กชั่นว่า มีแกนนำ ปชป. รายใด อยู่เบื้องหลังทีวีจอฟ้านี้บ้าง

รายแรก "วิทเยนทร์" อดีตผู้สมัคร ส.ส.กทม.เขต 14 บางเขน ในสีเสื้อ ปชป. ที่พ่ายให้กับ "อนุสรณ์ ปั้นทอง" ผู้สมัครค่าย พท. ไปด้วยคะแนนเสียง 4.9 หมื่นต่อ 4.2 หมื่น

หรือการเป็นเจ้าของผับชื่อดังแห่งหนึ่งบนเกาะสมุย ที่สมาชิก ปชป. ไปเลี้ยงฉลองหลังได้เป็นรัฐบาล เมื่อต้นปี 2552

ที่สำคัญเขาเคยดำรงตำแหน่งเลขานุการ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (สาทิตย์ วงศ์หนองเตย) คอยทำภารกิจลับแทนรัฐมนตรีร่างเล็ก โดยเฉพาะช่วงเหตุการณ์ชุมนุมคนเสื้อแดง ระหว่างเดือนมีนาคม-พฤษภาคม ปี 2553 กองบรรณาธิการฟรีทีวีหลายแห่ง คงคุ้นเคยกับเสียงโทรศัพท์จากชายชื่อ "วิทเยนทร์" นี้เป็นอย่างดี

จนเป็นที่มาของฉายา "กริ๊ง... สิง สื่อ" ที่สื่อมวลชนสายทำเนียบรัฐบาลตั้งให้กับ "เจ้านาย" ของเขาในปลายปี 2553

ขณะที่ "บุรฤทธิ์ ศิริวิชัย" จบการศึกษาจาก London School of Economics เคยดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมือง แต่ภารกิจตลอดเวลาที่พรรคสีฟ้าครองอำนาจ คือการทำหน้าที่เลขานุการของ "กรณ์ จาติกวณิช" รมว.คลัง


เมื่อตรวจสอบไปยังรายชื่อผู้ถือหุ้น นอกจาก"เถลิง-วิทเยนทร์-บุรฤทธิ์" ยังพบคนชื่อ "ภูษิต ถ้ำจันทร์" ซึ่งก็ไม่ใช่ใครที่ไหน เป็นผู้กำกับรายการ "เชื่อมั่นประเทศไทยกับนายกฯ อภิสิทธิ์" ที่ออกอากาศในช่วงเช้าวันอาทิตย์ ตลอดปี 2552-2554

จากนั้น เมื่อไล่เช็กสายสัมพันธ์เก่าๆ จะพบว่าทีมงานของ "ทีวีจอฟ้า" เคยร่วมขบวนการ "ล้มระบอบทักษิณ" เมื่อปี 2549 มาก่อน

โดยเฉพาะ "เถกิง" ผู้มีสายสัมพันธ์อันดีกับ "เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง" ผ่านการทำรายการ "มองต่างมุม", "ขอคิดด้วยคน", "เวทีชาวบ้าน", "กรองสถานการณ์" และอีกหลายรายการ รวมถึงผ่าน บริษัท ว็อชด็อก จำกัด และยังเป็นบรรณาธิการหนังสือ "รู้ทันทักษิณ" ที่จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ขอคิดด้วยคนรวม 5 เล่ม

ขณะที่ "วรรณธรรม" นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ก็เป็นขาประจำบนเวทีพันธมิตรฯ ระหว่างชุมนุม ตามแคมเปญ "ทักษิณ...ออกไป" ก่อนการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ก่อน "สุเทพ" จะดึงมาช่วยงานหน้าห้องหลังพลิกขั้วตั้งรัฐบาลอภิสิทธิ์สำเร็จ ช่วงปลายปี 2551

เมื่อดูสายสัมพันธ์ที่โยงใยเป็นเส้นแมงมุมขนาดนี้ จึงยากที่แกนนำพรรคสะตอจะปฏิเสธว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง และสุ่มเสี่ยงต่อการขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 48 ที่ห้ามไม่ให้ ส.ส. มีหุ้นในสื่อ

"สาทิตย์ วงศ์หนองเตย" เป็นผู้อยู่ตรงจุดศูนย์กลางใยแมงมุมที่ชื่อว่าทีวีช่อง Blue Sky จะรีบออกตัวปฏิเสธว่า ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำทีวีช่องดังกล่าว

"เรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับผม ต้องไปถามคนที่ทำ แต่คงไม่แปลกอะไรที่จะมีทีวีสักช่อง ซึ่งมีเนื้อหาสนับสนุน ปชป. หรือไปในทางเดียวกับ ปชป. ก็ขนาดทีวีเสื้อแดงยังมีตั้งหลายช่อง ไม่ว่าจะช่อง Asia Update ช่อง Voice TV ช่อง Spring News จะแดงเข้ม แดงมาก แดงอ่อน แดงกี่เฉดสีก็ว่ากันไป"



ในยุคปัจจุบันที่สื่ออย่าง "ทีวี" แทบจะกลายเป็น "ปัจจัยที่ 5" สำหรับคนในชนบท จึงน่าสนใจว่าทีวีช่อง Blue Sky จะสามารถช่วยในการสร้างฐานมวลชน รวมถึงปลูกฝังแนวคิดอย่างที่แกนนำ ปชป. ต้องการให้รับรู้หรือไม่

หลังจากที่ ปชป. เริ่มต้นใช้ประโยชน์จากโซเชี่ยลมีเดียในการสร้างกระแสโจมตีรัฐบาล ตลอดช่วงเวลาของมหาอุทกภัยที่ผ่านมา

น่าสนใจว่าเป้าหมายของแกนนำ ปชป. ทั้ง "อภิสิทธิ์" ที่ต้องการ "ถอนพิษทักษิณ" "สุเทพ" ที่อยาก "ต้านลัทธิใหม่" หรือ "สาทิตย์" ที่หวัง "สู้กับสื่อเสื้อแดง" จะบรรลุเป้าหมายได้หรือไม่ หลังได้ "ทีวีจอฟ้า" มาเป็นอาวุธชิ้นใหม่ทางการเมือง ในการต่อสู้บนกระดานสงครามข้อมูลข่าวสารกับ "ทีวีจอแดง" หรือสารพัดสื่อที่ ปชป. มองว่าอยู่ข้าง "ทักษิณ-พท.-เสื้อแดง"

ส่วนจะหวังผลถึงขนาดทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ อาจต้องมองกันอีกยาว !!!



.