http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2558-02-27

อารมณ์ความรู้สึกทางศาสนา โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์

.

อารมณ์ความรู้สึกทางศาสนา 
โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์
ใน www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1425037443
. . วันที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558 เวลา 21:32:07 น.
( ที่มา : มติชนสุดสัปดาห์ ปี35 ฉ.1801 ประจำ20-26 ก.พ.2558)


วิดีโอที่ผมชอบดูเป็นพิเศษคือ Les Miserables ชุดที่เป็นละครเพลง เพราะนอกจากเพลงไพเราะแล้ว ส่วนใหญ่ของผู้แสดงร้องเพลง (ซึ่งดีทั้งทำนองและเนื้อร้อง)ได้เป็นเลิศ ฟังแล้วจับใจมาก ว่างเมื่อไรผมจึงชอบนำมาเปิดดูเสมอ

ครั้งสุดท้ายที่ได้ดู จึงได้พบว่า มีศาสนาคริสต์ถึงสามศาสนาในละครเพลงเรื่องนี้ (หรือในนิยายเรื่องนี้) ก็ไม่น่าแปลกอะไรนะครับ จะหานักคิดของชาติอะไรที่หมกมุ่นกับศาสนายิ่งไปกว่านักคิดสมัยใหม่ของฝรั่งเศสได้ยาก ทั้งปฏิเสธ ทั้งสนับสนุน ทั้งตีความใหม่ ทั้งจัดสถานะให้ศาสนาไว้ในที่ต่างๆ ทางการเมืองและสังคมแตกต่างกันเป็นหลายสิบอย่าง ดังนั้น หาก วิกตอร์ อูโก ไม่พูดถึงศาสนาในนิยายชิ้นเอกนี้เลยสิ ถึงจะแปลก


ศาสนาคริสต์แรกเป็นของชาแวร์ต สารวัตรตำรวจ ผู้ตามล่าวัลชองตัวพระเอก ซึ่งเคยก่ออาชญากรรมลักขโมยเพื่อเอาเงินไปช่วยน้องสาวที่กำลังป่วยมาก่อน จนถูกจำขังให้ทำงานหนัก และได้รับภาคทัณฑ์ปล่อยตัว ในโลกของชาแวร์ต มนุษย์มีเพียงสองประเภท คือคนดีกับคนชั่ว หน้าที่ของตำรวจคือกีดกันคนชั่วออกไปจากโลกของคนดี ตัวเขามีหน้าที่รักษากฎหมายเพื่อผดุงระเบียบสังคมเช่นนี้
ดังนั้น จึงต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด เพราะระเบียบสังคมเช่นนี้สอดคล้องกับกฎของพระเจ้า ซึ่งจะลงโทษคนชั่วซ้ำอีกเมื่อถึงวันชำระ กฎหมายคือประจักษ์พยานของพระเจ้าในโลกนี้ กฎหมายและพระเจ้าจึงเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน


ศาสนาคริสต์ที่สองคือศาสนาของวัลชองและหลวงพ่อ (หรือคุณพ่อ)ที่ไม่เอาผิดกับเขา เมื่อจับได้ว่าเขาขโมยเครื่องเงินของโบสถ์ไป นี่คือคริสต์ศาสนาแห่งความรัก ความเข้าใจ และการให้อภัย ซึ่งสามารถชุบชูอาชญากรให้ออกมาเป็นคนที่มีคุณค่าต่อสังคมได้ ดังที่วัลชองช่วยเหลือลูกสาวของโสเภณีที่เขาหลงรักให้กลายเป็นหญิงสาวที่มีจิตใจอันงดงาม ช่วยชาแวร์ตให้รอดพ้นจากการถูกนักศึกษาปฏิวัติสังหาร ฯลฯ


ศาสนาคริสต์ที่สามคือศาสนาของนักศึกษาปฏิวัติ ผู้ฝันถึงสังคมที่มีความเท่าเทียม ปราศจากการกดขี่เอารัดเอาเปรียบ ที่ซึ่งทุกคนสามารถ เสวยผลของการทำงานของตนได้โดยไม่ถูกผู้มีอำนาจแย่งชิงแบ่งส่วนไป ทั้งในบทเพลงและในเนื้อเรื่อง เราอาจคิดว่านักศึกษาปฏิวัติไม่มีศาสนาก็ได้ แต่โลกที่อุบัติขึ้นจากการปฏิวัติคือภาพสะท้อนอาณาจักรของพระเจ้าในสวนอีเดนนั่นเอง อันเป็นภาวะที่อาจกลับเกิดขึ้นได้ใหม่ โดยไม่ต้องรอถึงวันชำระ



ข้อสังเกตประการแรกก็คือ คริสต์ศาสนาทั้งสามไม่เกี่ยวหรือไม่ค่อยเกี่ยวกับโลกหน้า ทั้งหมดเป็นอุดมคติของศาสนาที่อาจและควรเกิดขึ้นได้ในโลกนี้ ตกมาถึงสมัยของ วิกตอร์ อูโก นักคิดฝรั่งเศสไม่ใส่ใจกับมิติของโลกหน้าในศาสนาอีกแล้ว แต่หากศาสนาจะยังมีอยู่ ก็ต้องอธิบายให้ได้ว่าศาสนาสัมพันธ์กับโลกนี้อย่างไร


ข้อสังเกตประการที่สองสำคัญกว่า เพราะเป็นประเด็นที่ผมอยากนำมาเปรียบกับพัฒนาการของพระพุทธศาสนาในประเทศไทย นั่นก็คือสิ่งที่เรียกทางสังคมวิทยาว่า religiosity ซึ่งผมไม่รู้จะแปลไทยว่าอย่างไรดีไปกว่าคำที่คนไทยใช้มานานแล้วคือ "ถือ" ศาสนา
การถือศาสนานั้น แบ่งคุณลักษณะออกได้เป็นสามอย่าง
หนึ่งคือความรู้ความเข้าใจ (จะผิดหรือถูกตามคัมภีร์หรือไม่ก็ไม่สำคัญ)
สองคือสิ่งที่กระทบต่อจิตใจซึ่งผมขอเรียกให้เข้าใจง่ายๆ ว่า อารมณ์ความรู้สึก (ก็อีกเหมือนกันนะครับ สิ่งที่รู้สึกหรือมีอารมณ์นั้นจริงหรือไม่ก็ไม่สำคัญ แต่รู้สึกจริงและมีอารมณ์จริงสำคัญกว่า เช่น คนเชื่อผีและได้เห็นผี เป็นต้น) 
และสามคือการปฏิบัติศาสนา จะเป็นพิธีกรรมหรือนำมาใช้ในชีวิตก็ตาม



ผมอยากพูดถึงคุณลักษณะอย่างที่สองของการถือศาสนา นั่นคือด้านอารมณ์ความรู้สึก ถ้าจะแปลคำนี้ในภาษาอังกฤษว่า sentiment, emotion ก็อาจยังไม่พอในบางกรณี เพราะอารมณ์ความรู้สึกทางศาสนาอาจพัฒนาไปถึงขั้นที่อาจเรียกได้ว่าเป็น ecstasy ก็ได้ ในพิธีกรรมหรือสถานการณ์ที่เหมาะสม คือแรงเสียจนบังคับตัวเองไม่อยู่ ต้องไหลไปตามอารมณ์ความรู้สึกจนหมดตัว  
เช่น ในพิธีมะหะหร่ำของ (แขก) เจ้าเซน (มุสลิมนิกายชีอะห์) ผู้ร่วมขบวนแห่ในบางสังคม ทำร้ายตนเองจนเลือดตกยางออก หรือการลุยไฟของพิธีไหว้เจ้าของชาวจีนที่ภูเก็ต เป็นต้น

ขอให้สังเกตด้วยว่า การถือคริสต์ศาสนาทั้งสามใน Les Miserables นั้น ผู้ถือล้วนมีอารมณ์ความรู้สึกในการถือศาสนาอย่างเข้มข้นทั้งสิ้น ชาแวร์ตไม่ได้ตามล่าวัลชองด้วยความรักความเกลียดส่วนตัว แต่พระเจ้าหรือระเบียบทางสังคมที่เขามีหน้าที่รักษาเชิดชูไว้ ทำให้เขาปล่อยวัลชองไปไม่ได้ แทบจะเท่ากับการปฏิเสธพระเจ้าทีเดียว เพราะวัลชองคือตัวแทนของผู้ทำลายระเบียบกฎหมาย ซึ่งเท่ากับต่อต้านพระเจ้า ดังนั้น เมื่อเขาได้รับการช่วยชีวิตจากวัลชอง จึงทำให้เกิดความว้าวุ่นใจอย่างสุดขีด ยิ่งเมื่อเขาปล่อยให้ซาตานวัลชองนำคนเจ็บไปโรงพยาบาล แทนที่จะจับกุมไว้ ก็เท่ากับเขาเริ่มวางใจซาตานด้วยการกระทำ ชีวิตของเขาจึงไร้ความหมายแก่ตนเองไปทันที

วัลชองเองได้รับการชุบจิตวิญญาณขึ้นมาใหม่จากหลวงพ่อที่ช่วยปกป้องเขาจากการก่ออาชญากรรมครั้งใหม่ จากนั้นเขาก็ยึดถือศาสนาคริสต์อย่างแน่วแน่ ไม่ใช่เพียงมีความเชื่อตามพระคัมภีร์เท่านั้น เมื่อต้องเลือกระหว่างการพูดเท็จ กับการยอมรับความจริงซึ่งจะทำให้คนงานทั้งหมดต้องตกงาน เพลงร้องในตอนนี้แสดงว่าไม่ใช่การเลือกระหว่างทางเลือกในทางโลกย์ธรรมดา เป็นทางเลือกทางศาสนา เขาหวั่นวิตกว่า หากเขาเลือกการกล่าวเท็จ เขาก็จะถูกพระเจ้าลงโทษ ในขณะที่การปล่อยให้กิจการล้มลงด้วยการยอมรับความจริง คือการปฏิเสธความรักของพระเจ้าซึ่งในทางปฏิบัติคือความรักต่อเพื่อนมนุษย์นั่นเอง ในที่สุดวัลชองจึงเลือกการหนีเป็นการปฏิบัติศาสนาที่พร้อมมูลที่สุด
นี่คืออารมณ์ความรู้สึกทางศาสนาที่รุนแรงและลึกซึ้ง เพราะกำกับการตัดสินใจของผู้ศรัทธาแม้ในยามวิกฤต เช่นเดียวกับการช่วยชีวิตชาแวร์ต และคำสัญญากับชาแวร์ตว่าเขาจะกลับมามอบตัว เมื่อได้พาคนเจ็บไปโรงพยาบาลแล้ว

ในส่วนอารมณ์ความรู้สึกทางศาสนาของนักศึกษาปฏิวัตินั้น เห็นได้ชัดจนไม่จำเป็นต้องอธิบายให้ยาวความ แม้การปฏิวัติอาจไม่ใช่คำสอนของคริสต์ศาสนา แต่อารมณ์ความรู้สึกที่รุนแรงอันมีต่อพันธะของการปฏิวัตินั้น ไม่ต่างอะไรจากอารมณ์ความรู้สึกทางศาสนาของชาแวร์ตและวัลชองแต่อย่างใด



ผมคิดว่าคุณลักษณะอย่างที่สองของศาสนาคืออารมณ์ความรู้สึกนี้ เป็นตัวชีวิตของศาสนา เพราะมันเชื่อมคุณลักษณะอย่างที่หนึ่งคือความรู้ความเข้าใจให้ต่อกับคุณลักษณะอย่างที่สามคือการปฏิบัติ หากไม่มีอารมณ์ความรู้สึกมาทำหน้าที่นี้ ศาสนาก็สูญเสียชีวิตไป อย่างที่เราพบได้ในพระพุทธศาสนาของไทยปัจจุบัน (หรือจะว่าไปก็ในการ "ถือศาสนา" อื่นของสังคมอื่นในโลกปัจจุบันอีกมาก)

การ"ปฏิรูปศาสนา" ซึ่งกระทำในช่วงที่รัฐไทยกำลังเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ความเป็นรัฐสมัยใหม่ภายใต้ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ นอกจากทำให้องค์กรคณะสงฆ์ตกอยู่ใต้การกำกับควบคุมของรัฐอย่างเต็มที่แล้ว ยังตัดรอนเนื้อหาด้านอารมณ์ความรู้สึกทางศาสนาของชาวพุทธไทยออกไปจนหมดอีกด้วย เพราะปัญญาชนไทยผู้นำการปฏิรูปอาศัยตรรกะของวิทยาศาสตร์ และเหตุผลนิยมแบบตะวันตกในยุคสมัยนั้น เป็นบรรทัดฐานในการตีความพระพุทธศาสนาที่พึงได้รับคำรับรองจากรัฐ

อารมณ์ความรู้สึกทางศาสนาของชาวพุทธไทยอยู่ที่ผี, เทวดา, เจ้าป่าเจ้าเขา, นรก, สวรรค์, อิทธิปาฏิหาริย์ ทั้งที่สอดคล้องและไม่สอดคล้องกับศีลธรรมแบบพุทธ ที่ไม่ละเมิดทรัพย์สินของผู้อื่นก็เพราะกลัวตกนรก ไม่ละเมิดทรัพย์สินสาธารณะก็เพราะกลัวผีหรือเทพซึ่งคุ้มครองสิ่งเหล่านั้นจะทำร้ายเอา แต่ความรู้ความเข้าใจพระพุทธศาสนาแบบนี้ขัดกับหลักวิทยาศาสตร์ จึงต้องถูกขจัดออกไปจากพระพุทธศาสนาที่ถูกปฏิรูปแล้ว (บางคนเรียกว่าพุทธศาสนาที่เป็นทางการ)

อำนาจของรัฐซึ่งขยายมากขึ้นทั้งทางกว้างและทางลึก ทำให้พระพุทธศาสนาแบบไทยซึ่งมีมาแต่เดิมถูกกีดกันกดทับมากขึ้น จนกระทั่งในสำนักคนทรงทุกวันนี้ พระพุทธรูปเป็นเพียงหนึ่งในบรรดาผีและเทพอีกหลายตนและองค์ที่ยกขึ้นบูชาบนหิ้งของอาจารย์ ความเกี่ยวพันกับพระพุทธศาสนาเหลือแต่สัญลักษณ์ แม้การทรงเจ้าเข้าผีเป็นอารมณ์ความรู้สึกทางศาสนาอย่างปฏิเสธไม่ได้ แต่ไม่ใช่อารมณ์ความรู้สึกทางศาสนาของพระพุทธศาสนาแน่


พระพุทธศาสนาที่เป็นทางการของไทยทุกวันนี้ เป็นศาสนาที่โหว่ตรงกลาง คือมีความรู้ความเข้าใจหลักธรรมคำสอน อาจดีกว่าสมัยโบราณด้วย เพราะอาจรู้กว้างขวางไปถึงคัมภีร์มหายานและวัชรยาน ซึ่งโบราณไม่รู้ แต่ความรู้ความเข้าใจเหล่านี้ไม่สู้จะมีผลไปสู่การปฏิบัติมากนัก เช่น เหลือคนถือศีลกินเพลในวันพระน้อยลงเต็มที อดเหล้าเข้าพรรษาทีก็ต้องรณรงค์กันขนานใหญ่ และไม่ได้ผลนักเพราะยอดจำหน่ายสุราและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไม่ได้ลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญ

นี่เป็นธรรมดาของศาสนาที่โหว่กลาง คือไม่มีส่วนที่เป็นอารมณ์ความรู้สึก ซึ่งเป็นสะพานเชื่อมโยงความรู้ความเข้าใจไปสู่การปฏิบัติ และนี่เป็นผลอย่างหนึ่งที่เกิดกับศาสนาในยามที่ศาสนาเหลือแต่คำสอน, องค์กรนักบวช, สื่อ และผู้อ้างตนเป็นคนดีอีกฝูงใหญ่ ฯลฯ เมื่อศาสนาขาดอารมณ์ความรู้สึก




ผมยังอยากหยั่งลงไปถึงผลพวงของความโหว่กลางของพระพุทธศาสนาแบบทางการของไทย ในด้านอื่นๆ ที่อาจไม่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนาโดยตรง

ความเฟื่องฟูของเครื่องรางของขลังและอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ต่างๆ ดังที่กล่าวข้างต้น ก็อาจมองได้ว่าเป็นผลพวงอีกอย่างหนึ่งของการที่พระศาสนาไม่มีอารมณ์ความรู้สึกทางศาสนา ผมไม่ได้หมายความว่าแต่ก่อนเขาไม่เล่นพระเครื่องนะครับ พระเครื่องเมื่อเริ่มเล่นกันแพร่หลายมากขึ้นนั้น เต็มไปด้วยอารมณ์ความรู้สึกทางศาสนาทีเดียว เช่น การปลุกพระนั้นคืออารมณ์ความรู้สึกทางศาสนาอย่างแรง ชนิดที่จะเรียกว่า ecstasy ยังได้ แต่คุณของพระเครื่องอย่างพระสมเด็จนั้น แม้ปลุกขึ้น แต่จะเป็นผลได้จริง ผู้บูชาก็ต้องถือศีลห้าด้วย พระเครื่องในทุกวันนี้แทบไม่สัมพันธ์อะไรกับคำสอนในพระพุทธศาสนาอีกแล้ว เหลือแต่เพียงสัญลักษณ์เหมือนพระพุทธรูปเหนือหิ้งผีของ"อาจารย์" ใบ้หวยนั่นแหละ

สำนักสมาธิวิปัสสนาจำนวนมากริเริ่มและดำเนินการโดยฆราวาส รับ "สาวก" ได้จำนวนมากจนหลายแห่งทำในเชิงธุรกิจก็มี ความเฟื่องฟูของสมาธิวิปัสสนาคือการตอบสนองต่อสิ่งที่ขาดหายไปในพระพุทธศาสนาที่เป็นทางการ เพราะการทำสมาธิ (หากไม่ใช่พิธีกรรมแล้ว) คือเรื่องของอารมณ์ความรู้สึกทางศาสนาโดยตรง แม้แต่ได้ขณิกสมาธิในช่วงสั้นๆ ก็เปี่ยมล้นด้วยอารมณ์ความรู้สึกอย่างรุนแรง ส่วนจะนำไปสู่การทำวิปัสสนาหรือไม่เป็นคนละเรื่อง ก็ดังที่ทุกท่านทราบแล้วว่า การทำสมาธิไม่ได้เป็นสมบัติของพระพุทธศาสนาเพียงอย่างเดียว มีในทุกศาสนา หรืออาจทำโดยไม่ต้องเกี่ยวกับศาสนาอะไรเลยก็ได้

ที่น่าสังเกตอีกอย่างหนึ่งในเรื่องนี้ก็คือ อาจารย์สำนักสมาธิจำนวนไม่น้อยที่มีศิษย์หาจำนวนมากนั้น เป็นผู้หญิง สตรีเพศเป็นพลังของอารมณ์ความรู้สึกทางศาสนาอย่างไร เป็นเรื่องยาวอีกเรื่องหนึ่งซึ่งยังไม่ขอคุยในที่นี้ เอาแต่ว่ามันเกี่ยวกันอย่างลึกซึ้งทีเดียว


ผลอีกด้านหนึ่งของศาสนาที่ไร้อารมณ์ความรู้สึก ต้องดูจากลุงบุญมีผู้ระลึกชาติได้ ลุงบุญมีผู้"ถือศาสนา"ที่ยังครบถ้วนด้วยอารมณ์ความรู้สึก มีความสัมพันธ์กับผู้คนอย่างผู้ร่วมทุกข์ด้วยกันกว้างขวางมาก ทั้งคนงานอพยพในไร่ เพื่อนบ้าน ผู้ดูแลพยาบาล ฯลฯ ไปจนถึงผีของเมียและญาติที่ตายไปแล้ว แม้จนผีในตำนานกำเนิดชาวอีสานก็เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตลุงบุญมี แต่เด็กหนุ่มที่บวชหน้าไฟให้ลุงบุญมี (เป็นลูกหรือหลาน ผมก็ไม่แน่ใจ) นั้นแทบจะหาความสัมพันธ์กับคนอื่นไม่ได้เลย เพราะเขาถือศาสนาที่ไร้มิติของอารมณ์ความรู้สึก เมื่อนั่งดูรายการข่าวในโทรทัศน์ ทุกคนนั่งเงียบกริบ เพราะข่าวโทรทัศน์กำลังพูดถึงคนอื่นในสังคมวงกว้าง ซึ่งตนไม่รู้ว่าจะเชื่อมต่อตนเองเข้าไปกับคนที่เป็นนามธรรมเช่นนั้นได้อย่างไร
และว่าที่จริงเขาเชื่อมต่อกับตัวเองยังไม่ได้ด้วยซ้ำ เมื่อเขาชวนน้าออกไปกินข้าวฟังเพลงในตอนท้ายเรื่องนั้น วิญญาณของเขาออกไปฟังเพลง หรือตัวเขาออกไปฟังเพลงกันแน่ เขาเองก็ไม่รู้และไม่สนใจ เพราะวิญญาณของเขาไม่ได้อยู่ในผ้าเหลืองมาแต่ต้นแล้ว ผ้าเหลืองเป็นการปฏิบัติศาสนาที่ไร้อารมณ์ความรู้สึกเท่านั้น

หนังเรื่อง "ลุงบุญมีฯ" บอกเราว่า อารมณ์ความรู้สึกทางศาสนานั้น มีผลต่อความสัมพันธ์ทางสังคมของบุคคลด้วย เราเป็นหนึ่งในโครงข่ายความสัมพันธ์อันกว้างใหญ่ทั้งในชาตินี้และชาติก่อน หรือเป็นปัจเจกชนโดดๆ ที่ไม่เชื่อมโยงกับอะไรอีกเลย



เมื่อหาอารมณ์ความรู้สึกทางศาสนากับพระพุทธศาสนาที่เป็นทางการไม่ได้ คนอีกจำนวนมากทีเดียวนำเอาอารมณ์ความรู้สึกทางศาสนานี้ไปให้แก่บุคคล และบุคคลที่ได้รับโอนอารมณ์ความรู้สึกทางศาสนาไว้ได้มากที่สุดคือพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในรัชกาลปัจจุบัน มีผู้ถามว่าเมื่อราษฎรสามัญได้เข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในวโรกาสต่างๆ เหตุใดจึงต้องหลั่งน้ำตา ผมคิดว่าคำตอบก็คือเป็นอารมณ์ความรู้สึกทางศาสนา เหมือนคนโบราณได้เห็นพระบรมธาตุลอยไปในอากาศเป็นแสงรุ่งเรืองก่อนจะลับหายเข้าไปในพระบรมธาตุเจดีย์สักองค์หนึ่ง ชาวพุทธเรียกอาการอย่างนี้ว่า "ปีติ"

อารมณ์ความรู้สึกทางศาสนาไม่ได้อุบัติขึ้นโดยไร้ที่มาที่ไป หากคิดถึงข้อมูลข่าวสารที่ประชาชนได้รับผ่านสื่อมาแต่เล็กแต่น้อยเกี่ยวกับพระราชกรณียกิจ รวมไปถึงผลในทางปฏิบัติทั้งในโครงการหลวงและการเดินตามพระราชดำริในเรื่องต่างๆ หากมองจากคุณลักษณะสามด้านของศาสนา ประชาชนรับรู้เกี่ยวกับความรู้ความเข้าใจ และหนทางปฏิบัติซึ่งตนเองก็อาจมีส่วนร่วมโดยตรง เช่นโดยเสด็จพระราชกุศล จึงไม่แปลกอะไรที่คุณสมบัติด้านที่สองอันเกี่ยวกับอารมณ์ความรู้สึกทางศาสนาจะยึดกุมจิตใจของผู้ศรัทธาไปด้วย

ผมเชื่อว่า หากมองจากแง่มุมของความโหว่กลวงของศาสนา เราอาจอธิบายปรากฏการณ์ทางสังคมอีกหลายอย่างที่เกิดในสังคมไทยเวลานี้-ทั้งที่เกี่ยวกับศาสนาโดยตรง และเกี่ยวโดยเปรียบเทียบ-ว่าสัมพันธ์อย่างไรกับอารมณ์ความรู้สึกทางศาสนาซึ่งขาดหายไปในพระพุทธศาสนาแบบทางการของไทย



.