http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-10-31

โอบามา-รอมนีย์-หน้ากาก-และถ้วยกาแฟ โดย พิศณุ นิลกลัด

.
บทความปี 2554 - จิตสำนึกของความเป็นคนยามเกิดภัยพิบัติ โดย พิศณุ นิลกลัด

___________________________________________________________________________________________________

โอบามา-รอมนีย์-หน้ากาก-และถ้วยกาแฟ
โดย พิศณุ นิลกลัด คอลัมน์ คลุกวงใน
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 33 ฉบับที่ 1680 หน้า 104


การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐในวันที่ 6 พฤศจิกายนนี้บรรยากาศ 2 สัปดาห์ก่อนวันเลือกตั้งสูสีที่สุด
เมื่อวันพุธที่ 24 ตุลาคมที่ผ่านมาผมคุยโทรศัพท์กับเพื่อนคนไทยที่เป็นพลเมืองอเมริกัน ขอให้เขาทำนายผลการเลือกตั้งในฐานะเขาเรียนรัฐศาสตร์ สนใจการเมือง และจะไปใช้สิทธิลงคะแนน 
เขาตอบว่าขณะนี้คู่คี่มาก 


พร้อมกับบอกด้วยว่าก่อนการโต้วิสัยทัศน์ครั้งที่ 1 บารัค โอบามา มีคะแนนนิยมทิ้งห่าง
แต่หลังดีเบตครั้งแรกคะแนน มิตต์ รอมนีย์ ทะยานขึ้นไล่จี้แบบหายใจรดต้นคอเพราะ โอบามาดีเบตด้วยอาการเหมือนไก่ง่วง 
"ก่อนดีเบตครั้งที่ 1 นายทุนพรรคหลายเจ้าทำท่าจะไม่ลงเงินช่วยหาเสียงต่อไปอีก แต่พอ มิตต์ รอมนีย์ โชว์ฟอร์มดีมีความหวัง ทุกคนก็ควักกระเป๋าสู้เต็มที่" เพื่อนผมบอก 
เพื่อนผมคนนี้ 4 ปีที่แล้วเขาลงคะแนนให้โอบามา วันที่ 6 พฤศจิกายนนี้เขาก็จะโหวตเหมือนเดิม แต่บอกว่าไม่ค่อยมั่นใจว่าจะชนะ 100 เปอร์เซ็นต์ เหมือนเมื่อคราวที่แล้ว 
"ตอนนี้ภาวนาอย่างเดียวให้ชนะที่รัฐโอไฮโอ เพราะตามประวัติศาสตร์ผู้สมัครที่ชนะที่โอไฮโอจะได้เป็นประธานาธิบดี"


นอกจากจับตามองคะแนนที่รัฐโอไฮโอแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่เพื่อนผมคนนี้ติดตามอย่างใกล้ชิดคือยอดขายหน้ากากวันฮัลโลวีนของเว็บไซต์บายคอสตูมส์ดอตคอม (Buycostumes.com) ซึ่งเป็นเว็บไซต์ขายหน้ากากและเครื่องแต่งกายวันฮัลโลวีนยอดนิยมของอเมริกา เนื่องจากวันฮัลโลวีนปีที่มีการเลือกตั้งประธานาธิบดี เว็บไซต์นี้จะทำหน้ากากผู้สมัครรับเลือกตั้งขายพร้อมๆ กับหน้ากากผี ปีศาจ และคนดังอีกเป็นสิบๆ คน 
นับตั้งแต่ปี ค.ศ.2000 เป็นต้นมา หน้ากากผู้สมัครประธานาธิบดีคนใดมียอดขายสูงสุด ผู้สมัครคนนั้นจะชนะการเลือกตั้งทุกครั้ง 
เว็บไซต์นี้โฆษณาว่า 1 หน้ากากมีค่าเท่ากับ 1 คะแนนเสียง (1 mask = vote) รับประกันความแม่นยำ 100 เปอร์เซ็นต์

หน้ากากที่ขายนั้นเป็นหน้ากากกระดาษราคา 0.99 เซ็นต์ หรือ 31 บาท ซึ่งยอดขายหน้ากากเมื่อวันที่ 19 กันยายนก่อนการโต้วิสัยทัศน์ครั้งแรกจะเริ่มขึ้น หน้ากากโอบามามีคะแนนนำ 65% ต่อ 35% 
แต่หลังจากการโต้วิสัยทัศน์รอบแรกจบลง รอมนีย์พูดจาหนักแน่นกว่าโอบามา และโพลหลายสถาบันให้รอมนีย์เป็นผู้ชนะการโต้วิสัยทัศน์ครั้งนั้น ยอดขายหน้ากากรอมนีย์ 
ก็เพิ่มขึ้นถึง 83% ส่วนหน้ากากโอบามา ยอดขายตกลง 32% 
การโต้วิสัยทัศน์รอบ 3 ซึ่งเป็นรอบสุดท้าย โพลของทีวีช่อง CNN ออกมาว่า โอบามาชนะรอมนีย์ 48% ต่อ 40% ส่วนรอบ 2 นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ให้โอบามาเป็นฝ่ายชนะแต่ไม่ถึงกับขาดลอย 
ตอนนี้ยอดขายหน้ากากโอบามากับรอมนีย์ใน Buycostumes.com สูสีกันมาก ตัวเลขล่าสุดโอบามา นำ 52% ต่อ 48%

โพลรายงานการขายหน้ากากประธานาธิบดีทำออกมาได้ดูน่าเชื่อถือ จริงจังไม่แพ้เว็บไซต์ CNN.com เลยทีเดียว มีการแสดงยอดขายแยกย่อยในแต่ละรัฐทั้ง 50 รัฐ และวิเคราะห์ว่าในรัฐสวิงสเตต (Swing State) หรือรัฐที่ไม่ใช่ฐานเสียงของพรรคใดพรรคหนึ่ง เช่น ไอโอวา เนวาด้า มิสซูรี่ และเวอร์จิเนีย โอบามาเป็นต่อรอมนีย์  
Buycostumes.com มีตัวเลขยืนยันยอดขายหน้ากากผู้สมัครประธานาธิบดีทำนายผลการเลือกตั้งถูกต้องมาสามสมัยติดกัน 
ปี 2000 หน้ากาก จอร์จ ดับเบิ้ลยู. บุช ขายได้ 53% ส่วน อัล กอร์ 43% 
ปี 2004 หน้ากาก จอร์จ ดับเบิ้ลยู. บุช ขายได้ 53% ส่วน จอห์น แคร์รี่ 47%
ปี 2008 หน้ากากโอบามา ขายได้ 55% ส่วน จอห์น แม็กเคน 45%



นอกจากนี้ ร้าน 7-Eleven ในอเมริกา ก็ร่วมทำนายผลการเลือกตั้งประธานาธิบดี โดยลูกค้าสามารถแสดงออกว่าตัวเองจะเลือกผู้สมัครคนไหนโดยการเลือกสีถ้วยกระดาษเวลาซื้อกาแฟแบบกดบริการด้วยตัวเองซึ่งเริ่มทำตั้งแต่การเลือกตั้งปี 2000 โดยมีสโลแกนว่า Every Coffee Cup Counts หรือทุกถ้วยกาแฟนับคะแนน 
เลือกถ้วยกาแฟกระดาษสีฟ้า ซึ่งเป็นสีของพรรคเดโมแครตแสดงว่าสนับสนุนโอบามา 
เลือกถ้วยกาแฟกระดาษสีแดง ซึ่งเป็นสีของพรรครีพับลิกันแสดงว่าสนับสนุนรอมนีย์ 
สำหรับคนที่เป็นกลางหรือยังไม่ตัดสินใจเลือกใคร ทาง 7-Eleven ก็จัดถ้วยกาแฟกระดาษที่ไม่มีชื่อของโอบามา หรือรอมนีย์ให้


7-Eleven รับประกันในความแม่นยำของถ้วยกาแฟทำนายผลเลือกประธานาธิบดี 100% เช่นกัน 
ปี 2004 ถ้วยกาแฟ จอร์จ ดับเบิ้ลยู. บุช ขายได้ 51% ส่วน จอห์น แคร์รี่ 49% 
ปี 2008 ถ้วยกาแฟโอบามา ขายได้ 52% ส่วน จอห์น แม็กเคน 46%

จากสถิติเมื่อปลายเดือนกันยายนก่อนการโต้วิสัยทัศน์ครั้งแรก ยอดถ้วยกาแฟโอบามานำรอมนีย์ที่ 58% ต่อ 42% และหลังจากโต้วิสัยทัศน์ครั้งที่สามจบลง โอบามายังนำอยู่ที่ 59% ต่อ 41%

สัปดาห์หน้าจะรายงานตัวเลขยอดขายหน้ากากวันฮัลโลวีนและถ้วยกาแฟให้ทราบอีก เพื่อจะได้ข้อมูลที่ใกล้วันที่ 6 พฤศจิกายนให้มากที่สุด



++
บทความของปี 2554 ระลึกพิบัติภัยอดีต

จิตสำนึกของความเป็นคนยามเกิดภัยพิบัติ
โดย พิศณุ นิลกลัด คอลัมน์ คลุกวงใน
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1630 หน้า 96
















(ดูภาพโปสเตอร์ที่ www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1319792888&grpid=01&catid=01 )


เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ผมเห็นโปสเตอร์ของประเทศญี่ปุ่นที่รณรงค์ไม่ให้คนกักตุนอาหาร และสิ่งจำเป็นเกินความพอดี โดยให้เห็นแก่เพื่อนผู้ทุกข์ยากคนอื่นๆ ด้วย เป็นโพสต์ในเว็บไซต์หนังสือพิมพ์ออนไลน์ประชาไท 
เว็บไซต์นี้ได้ทำภาพประกอบ ทำให้เห็นว่าของที่เรากักตุนเผื่อไว้กิน ไว้ใช้ เพียงคนเดียวนั้น สามารถช่วยเหลือคนอีกมากมายในสังคมที่ต้องการอาหารและสิ่งจำเป็นเหมือนกับเรา 
เช่น ข้าว 5 กิโลกรัม หุงทำเป็นข้าวปั้นให้คนทานได้ถึง 120 คน หรือ กระดาษชำระ 12 ม้วน สามารถใช้ได้ถึง 1,000 คน



ตอนเกิดแผ่นดินไหวและสึนามิที่ญี่ปุ่นเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ชาวญี่ปุ่นทุกคนที่อาศัยอยู่ใกล้บริเวณที่เกิดภัยพิบัติ เหนื่อย หิว หวาดกลัวและเป็นห่วงชีวิตเหมือนกันหมดทุกคน แต่ทุกคนไม่เห็นแก่ตัว ยังยืนต่อแถวนาน 2-3 ชั่วโมง เพื่อซื้ออาหาร เครื่องดื่ม และสิ่งของจำเป็น คนละเพียงไม่กี่ชิ้น ทั้งๆ ที่ร้านไม่ได้จำกัดจำนวนการซื้อว่าแต่ละคนสามารถซื้อสินค้าได้คนละกี่ชิ้น 
ผมได้ดูข่าวผู้สื่อข่าว CNN ซึ่งรายงานสดที่เมืองเซ็นได เดินเข้าไปถามผู้หญิงคนหนึ่งที่เพิ่งต่อแถวซื้อของเสร็จ โดยเธอซื้อของใส่ถุงพลาสติกขนาดปกติทั่วไปในซูเปอร์มาร์เก็ตเพียงถุงเดียว 
ผู้สื่อข่าว CNN ถามผ่านล่ามว่า ทำไมซื้อของกักตุนเพียงแค่นี้ ซึ่งเธอตอบว่าหากซื้อของกักตุนไว้เองคนเดียวมากๆ ก็จะไม่มีเหลือให้คนอื่นๆ ที่ต่อแถวรอซื้อซึ่งมีความจำเป็นต้องใช้ไม่ต่างกัน

คําตอบของเธอทำเอาผู้สื่อข่าว CNN ถึงกับอึ้ง และหันมาพูดกับผู้ชมทางบ้านว่า ได้ฟังคำตอบแล้ว ทำเอาตัวเขารู้สึกผิดที่เขาถามคำถามนี้ เพราะสำหรับเธอการซื้อของแต่พอดี ไม่ใช่เรื่องแปลก แต่เป็นเรื่องปกติของคนที่มีสามัญสำนึกและไม่เห็นแก่ตัวพึงปฏิบัติ
ไม่เพียงแต่คนญี่ปุ่นจะไม่กักตุนอาหาร ไม่โหมซื้อสินค้ามากมายเกินความจำเป็น ร้านค้าต่างๆ ยังร่วมใจกันไม่โก่งราคา เพราะช่วงเวลาแห่งความลำบากยากแค้น ทุกคนต้องช่วยเหลือกัน ไม่ใช่ฉกฉวยโอกาสที่จะเอาเปรียบผู้ที่กำลังตกทุกข์ได้ยากอย่างแสนสาหัส 
ร้านขายของหรือบ้านเรือนที่แม้ไม่มีเจ้าของดูแล ก็ไม่มีรายงาน ว่าถูกปล้นถูกขโมยทรัพย์สิน

5 เดือนหลังจากเหตุแผ่นดินไหวและสึนามิ สำนักงานตำรวจแห่งชาติญี่ปุ่นรายงานว่าประชาชน เจ้าหน้าที่ตำรวจ และหน่วยกู้ภัย เจอตู้เซฟ 5,700 ตู้ และส่งให้กับตำรวจเพื่อหาเจ้าของ โดยเงินในตู้เซฟรวมแล้วสูงถึง 2,360 ล้านเยน หรือ 923 ล้านบาท ซึ่ง 96 เปอร์เซ็นต์ของตู้เซฟสามารถหาเจ้าของและส่งคืนถึงมือผู้เป็นเจ้าของจนครบ 
นอกจากนี้ ยังมีเงินอีก 1,300 ล้านเยน หรือ 508 ล้านบาท ที่เก็บได้จากกระเป๋าถือและตามซากปรักหักพัง โดย 85% ของเงินได้กลับไปอยู่กับเจ้าของเดิม!

หากตัวเลขที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติญี่ปุ่นรายงานนั้นเป็นความจริง ต้องยกย่องในความซื่อสัตย์ของชาวญี่ปุ่นที่ไม่คิดเก็บทรัพย์สมบัติที่ไม่ใช่ของตัว และเจ้าหน้าที่ตำรวจก็ไม่ฉ้อฉลเงินของผู้เสียหาย 
สิ่งเหล่านี้ได้สะท้อนให้เห็นถึงการพัฒนาด้านจิตใจและศีลธรรมอันน่ายกย่องของชาวญี่ปุ่น

แม้แผ่นดินไหวและสึนามิจะคร่าชีวิตคนญี่ปุ่นหลายหมื่นคน ทำลายล้างตึกรามบ้านช่อง แต่ก็ไม่สามารถทำลายความมีระเบียบวินัย ความซื่อสัตย์ ความไม่เห็นแก่ตัวและจิตวิญญาณของความเป็นมนุษย์ที่เจริญแล้วของชาวญี่ปุ่น

วิบัติภัยน้ำท่วมประเทศไทยครั้งนี้สร้างความเสียหายมากมายมหาศาลให้กับประเทศและคนไทยอย่างไม่เคยประสบมาก่อน ดังนั้น ขออย่าให้ความมีน้ำใจของชาวไทยที่เคยมีให้แก่กันมาตลอดต้องจมหายไปกับสายน้ำ



.

ปิ่นแก้ว: K-Drama กับกระแสวัฒนธรรมป๊อบ

.

K-Drama กับกระแสวัฒนธรรมป๊อบ: ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี
ใน www.prachatai.com/journal/2012/10/43336 . . Fri, 2012-10-26 07:36


จากเสวนา "K-Drama กับกระแสวัฒนธรรมป๊อบ" ที่ Book Re:public เชียงใหม่ ซึ่งนอกจากละครแนว "Trendies" และ "Ajumma" แล้ว "ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี" ยังอภิปรายเรื่องละครเกาหลีแนว "Saguek" ที่พัฒนามาเป็นแนว "Fusion Saguek" ละครเกาหลีอิงประวัติศาสตร์ ที่แปลงเรื่องราวของราชวงศ์เกาหลีโบราณให้เป็นสินค้าทางวัฒนธรรม

วันที่ 20 ต.ค.55 เวลา 16.00 น. ร้าน Book Re:public จังหวัดเชียงใหม่ ได้จัดเสวนาในหัวข้อ “K-Dramaกับกระแสวัฒนธรรมป๊อบ” โดยมีผู้ร่วมเสวนาได้แก่ ดร.อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์, ดร.ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี และดำเนินรายการโดย ดร.อภิญญา เฟื่องฟูสกุล โดยก่อนหน้านี้ประชาไทนำเสนอการอภิปรายของอาจารย์อุบลรัตน์ (อ่าน www.prachatai.com/journal/2012/10/43317หรือhttp://botkwamdee.blogspot.com/2012/10/rep-kdrama1.html  )


ละครอิงประวัติศาสตร์เกาหลีกับการแปลงราชวงศ์ให้เป็นสินค้า

(ต่อ) ในการนำเสนอของอาจารย์ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี เสนอว่าโครงเรื่องในละครเกาหลีคงไม่ต่างจากละครไทย แต่วิธีคิดในการนำเสนอโครงเรื่องของละครเกาหลีมีความต่าง โดยอุตสาหกรรมละครเกาหลีเฟื่องฟูไปทั่วโลก หรือที่รู้จักกันดีในนามของ Korean wave (Hallyu) ถึงขนาดที่แฟนละครในเกาหลีมีชื่อเรียกละครประเภทต่างๆ เช่น แนว Trendies (ละครป๊อปที่เกี่ยวกับวัยรุ่น), แนว Ajumma (ละครเกี่ยวกับผู้หญิงในวัยป้าๆ ทั้งที่แต่งงานแล้ว หรือแต่งงานแล้วหย่าและพบรักใหม่), แนว Makjang (ละครที่มีพล็อตแบบสุดขั้ว สถานการณ์เหลือเชื่อ และบีบคั้นอารมณ์), แนว Sageuk (ละครอิงประวัติศาสตร์ ที่มีพล็อตเกี่ยวกับราชวงศ์ เกี่ยวกับกษัตริย์ เกี่ยวกับการเมือง เกี่ยวกับความขัดแย้งและสงครามในยุคต่างๆ) 
โดยละคร Sageuk แต่ก่อนคนที่นิยมดูจะเป็นชายสูงวัย ยังไม่เป็น Pop Culture ยังดูกันในวงจำกัด แต่ภายหลังปี 2000 มีการปฏิวัติละครแนวนี้ขนานใหญ่ โดยเริ่มจากในเรื่อง Damo (2003) ซึ่งเป็นที่มาของการเรียกว่าเป็น Fusion Saguek คือละครที่รวมเอาพล็อตเรื่องสมัยใหม่ การดำเนินเรื่องและวิธีคิดสมัยใหม่เข้าไปในละครอิงประวัติศาสตร์ ในปีเดียวกันก็มี Da-Jang Guem (2003) ที่มีพล็อตที่ต่างจากละครอิงประวัติศาสตร์อย่างมาก เนื้อเรื่องแม้จะใช้เหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์เป็นบริบทของเรื่อง แต่เนื้อเรื่องเป็นเรื่องการต่อสู้ของผู้หญิงสามัญชนคนหนึ่งในท่ามกลางอุปสรรคและโรมานซ์ หรือในเรื่อง Hwang Jin Yi (2006)

แม้ละครเหล่านี้จะเป็นเรื่องอิงประวัติศาสตร์ แต่มันพูดด้วยภาษาสมัยใหม่ สื่อสารกับผู้หญิงสมัยใหม่ และพูดเรื่องสิทธิผู้หญิง สิ่งเหล่านี้ทำให้ละครแบบ Sageuk กลายเป็นส่วนหนึ่งของ Korean Wave ขยายฐานคนดูออกไปอย่างกว้างขวาง ทุกเพศทุกวัย

ปลายทศวรรษ 2000 ยังมีการพัฒนาละครประเภท Fantasy Saguek ซึ่งเป็นละครเกี่ยวกับกษัตริย์ที่ไม่มีตัวตนในประวัติศาสตร์ เช่นเรื่อง The Moon that Embraces the Sun, Roof Top Prince, Dr.Jin  โครงเรื่องละครแบบนี้อาจกล่าวว่าเป็นแบบหลังสมัยใหม่ ที่ก่อกวนวิธีคิดในการแบ่งเวลาแบบเส้นตรงของละครอิงประวัติศาสตร์ หรือทำให้โลกในอดีตมีความเป็นแฟนตาซีเท่าๆ กับโลกในปัจจุบัน ซึ่งทำให้วัยรุ่นชอบดู


ดร.ปิ่นแก้ว กล่าวต่อว่าละครอิงประวัติศาสตร์ของเกาหลีมีความน่าสนใจ เพราะมีความย้อนแย้งในตัวเอง นำไปสู่คำถามที่สำคัญสามประการ คือ หนึ่ง เกาหลีเป็นประเทศที่เป็นสาธารณรัฐ ไม่มีกษัตริย์มากว่าหนึ่งศตวรรษ แต่เกาหลีกลับเป็นประเทศที่ผลิตสร้างละครเกี่ยวกับกษัตริย์ไปทั่วโลกมากที่สุดประเทศหนึ่ง คำถามคือละครอิงประวัติศาสตร์แบบนี้ทำหน้าที่อะไรในทางการเมืองและเศรษฐกิจ ระดับชาติและระดับข้ามชาติ 
สอง คือละครอิงประวัติศาสตร์มีลักษณะและบริบทที่เฉพาะอย่างยิ่ง ทั้งในแง่ Time ที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์เฉพาะช่วงเวลาหนึ่ง แง่ Space เกิดในสังคมเฉพาะที่หนึ่ง และแง่ Class คือเป็นเรื่องของชนชั้นสูง แต่ทำไม Saguek จึงกลายเป็นวัฒนธรรมมวลชน ที่ใครๆ ก็เข้าถึงได้  และ สาม คือคนดูเสพหรือบริโภคอะไรจาก Segeuk

ดร.ปิ่นแก้วเสนอว่าละคร Sageuk ได้ตอบสนองต่อแรงปรารถนาและแฟนตาซีสามประการด้วยกัน คือทำหน้าที่ในการสร้างความทรงจำใหม่และสิทธิธรรมใหม่เกี่ยวกับความเป็นชาติขึ้นใหม่ในสังคมโลก, การตอบสนองต่อแฟนตาซีว่าด้วยการรวมชาติ และการแปลงประวัติศาสตร์ราชวงศ์ให้เป็นสินค้าท่องเที่ยว
ปมคำถามแรก คือในประวัติศาสตร์เกาหลี เคยถูกผนวกรวมเป็นส่วนหนึ่งของญี่ปุ่น (1910-1945) ญี่ปุ่นรุกรานเข้าไปในเกาหลีและล้มเลิกระบบกษัตริย์ ผนวกเกาหลีเป็นส่วนหนึ่งของราชวงศ์ใหญ่ของญี่ปุ่น แม้หลังจากนั้นก็ไม่มีการรื้อฟื้นราชวงศ์ขึ้นมา การผนวกรวมของญี่ปุ่นทำมากกว่าอาณานิคม คือญี่ปุ่นมาพร้อมกับสมมติฐานว่าโดยเชื้อชาติ เกาหลีสืบเชื้อสายมาจากญี่ปุ่น ผลคือทำให้ในแง่อัตลักษณ์ความเป็นชาติ เกาหลีกลายเป็นชาติที่ว่างเปล่า ไม่มีประวัติศาสตร์ของตัวเอง เกาหลีเป็นชาติที่ไม่มี Origin 

การสร้างละคร Sageuk ขึ้นมา จึงเป็นเครื่องมือสำคัญในการประกอบสร้างความทรงจำเกี่ยวกับความมีรากเหง้าและความเป็นชาติขึ้นมาใหม่ ที่ต่างไปจากญี่ปุ่นและจีน มีความเป็นตัวของตัวเอง ละครจำนวนมากพยายามแสดงให้เห็นว่าเกาหลีในยุคก่อน มีกษัตริย์ที่เข้มแข็ง อุตสาหะในการสร้างชาติ และมีวัฒนธรรมอาหาร ดนตรี สิ่งประดิษฐ์ต่างๆ มาหลายร้อยปี 
ละครพวกนี้แม้จะมีกษัตริย์เป็นตัวเอกหรือเป็นองค์ประกอบ แต่ไม่ใช่ละครบูชากษัตริย์ เพื่อสร้างชาตินิยมภายใต้ลัทธิบูชากษัตริย์แบบละครไทย ในทางตรงข้าม ตัวเอกที่เป็นกษัตริย์ในยุคต่างๆ ถูกนำมาใช้ในละคร ในลักษณะที่เป็นสัญลักษณ์ของความมีรากที่ยาวนาน แข็งแกร่ง และสืบเนื่องเพียงเท่านั้น เพื่อบอกว่าเกาหลีแม้เป็นสาธารณรัฐ แต่ไม่ได้เป็นประเทศใหม่ หากเก่าแก่ไม่แพ้จีนและญี่ปุ่น โดยมีกษัตริย์เป็นประจักษ์พยานทางหลักฐาน ความเก่งกล้าสามารถของกษัตริย์จึงทำหน้าที่เพียงเป็นประจักษ์พยานทางวัฒนธรรม ละครหลายเรื่องมีกษัตริย์เป็นแค่บริบท พูดง่ายๆ คือกษัตริย์ในละครเหล่านี้ปรากฏในฐานะ “มรดกทางวัฒนธรรม” ไม่ต่างจากประดิษฐ์กรรมทางวัฒนธรรมอื่นๆ ที่เกิดขึ้นจากการกลับไปค้นหา origin ของเกาหลี ซึ่งเริ่มเมื่อไม่นานมานี้ เพื่อหาหรือประกอบสร้างอัตลักษณ์ของชาติเกาหลีขึ้น

ประการที่สอง Segeuk ได้สร้างแฟนตาซีว่าด้วยการรวมชาติ ซึ่งเป็นความปรารถนาเฉพาะของเกาหลีใต้ เช่น เรื่อง Jumong เป็นเรื่องการรวมดินแดนสามอาณาจักรเข้าด้วยกัน ถ้าดูเรื่องนี้หรือละครอิงประวัติศาสตร์ยุคนี้ มันไม่มีสิ่งที่เรียกว่าเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ เพราะทั้งสองอยู่ภายใต้อาณาจักรเดียวกัน หรือเรื่อง King2Hearts ก็สะท้อนความต้องการรวมชาติของเกาหลีใต้กับเกาหลีเหนือ แต่สิ่งเหล่านี้ก็เป็นแฟนตาซีเฉพาะของเกาหลีใต้ฝ่ายเดียว

ประการที่สาม คือ Segeuk คือการแปลงประวัติศาสตร์ราชวงศ์ให้เป็นสินค้าท่องเที่ยว ส่วนนี้อาจจะเป็นผลอันไม่ตั้งใจของความนิยมเรื่องแดจังกึม ทำให้แหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ที่ปรากฏในละครโด่งดังมาก รัฐบาลก็ส่งเสริมและทำให้ประวัติศาสตร์ราชวงศ์กลายเป็นการท่องเที่ยวอย่างแข็งขัน แต่ก็มีภาวะที่ย้อนแย้งที่น่าสนใจ โดยเจ้าชาย Yi Seok เชื้อพระราชวงศ์องค์สุดท้ายของราชวงศ์ลีแห่งโชซอนที่ยังมีชีวิตอยู่ เคยกล่าวว่าเขาตระหนักว่าคุณค่าของระบบกษัตริย์ในเกาหลีเป็นได้อย่างมากก็เป็นแค่เครื่องหมายในการท่องเที่ยว แม้เขาจะเรียกร้องผ่านสื่อมวลชนให้มีการรื้อฟื้นระบบกษัตริย์ขึ้นมา แต่จะให้เป็นเพียงกษัตริย์เชิงสัญลักษณ์ เขาบอกว่าตนเองพร้อมจะไปทุกหนแห่งเพื่อขอการสนับสนุนการรื้อฟื้นระบบ และถ้ายอมให้ตนไปอยู่วัง ตนจะพานักท่องเที่ยวเที่ยวชมวัง นี่เป็นสิ่งที่ดีไม่ใช่หรือ
และดูเหมือนคนเกาหลีก็ตระหนักดีถึงข้อเท็จจริงอันนี้  ว่าสถาบันกษัตริย์ในสังคมเกาหลีนั้น มีที่ทางเฉพาะ เพียงในประวัติศาสตร์ ในขณะที่ในปัจจุบัน สถาบันดังกล่าวมีคุณค่าก็เพียงเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์เท่านั้น โดยในปี 2006 มีการสำรวจความเห็นของประชาชนต่อการรื้อฟื้นระบบกษัตริย์ 54.4% เห็นด้วยว่าควรมีการรื้อฟื้นสถาบันกษัตริย์ ปี 2010 สัดส่วนตกมาเหลือ 40.4%

ในขณะนั้นก็มีการถกเถียงในฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยว่า ประเทศได้ก้าวหน้าไปไกลแล้วในระบบสาธารณรัฐ กษัตริย์ก็เป็นพลเมืองคนหนึ่ง ไม่ควรนำสถานะนี้มาใช้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจ เขาอยู่เป็นพลเมืองก็ดีแล้ว อย่าเอาเขามาหารายได้ บางคนประณามสถาบันนี้ที่ทำให้เกาหลีตกเป็นเมืองขึ้นญี่ปุ่น ส่วนฝ่ายเห็นด้วยมักเห็นว่าก็ไม่เสียหายอะไร ถ้าให้มีสถาบันโดยไม่ต้องมีอำนาจทางการเมือง อย่างน้อยก็ทำให้เกาหลีมีสัญลักษณ์ของชาติเพิ่มขึ้นมาอีกอันหนึ่ง


คำถามที่สอง คือ ทำไม Seguek ถึงกลายเป็นวัฒนธรรมมวลชนที่ใครๆ ก็เข้าถึงได้ โดยมีข้อสังเกตว่าละครเหล่านี้แม้ท้องเรื่องจะเกี่ยวกับกษัตริย์หรือกษัตริยา แต่เนื้อหาจริงๆ ไม่ใช่เรื่องกษัตริย์แต่ละองค์ แต่มันเป็นอุปมานิทัศน์ (Allegory) ของสามัญชนในสังคมเกาหลี สะท้อนความคิดของสังคมเกาหลีที่มีต่อบุคคล ไม่ใช่ต่อกษัตริย์ในฐานะที่เป็นเทพ หรือบุคคลเหนือธรรมดา ดังนั้นละครเหล่านี้แม้ท้องเรื่องจะเป็นเรื่องของกษัตริย์ในยุคก่อนสมัยใหม่ ที่สมัยนั้นมองกษัตริย์เป็นสมมติเทพ แต่ในละครกลับทอนเรื่องให้เป็นสมัยใหม่และเป็นวิทยาศาสตร์ กษัตริย์ในแต่ละเรื่องมีลักษณะเป็นคนธรรมดา รู้ร้อนรู้หนาว รู้จักรัก ผิดพลาด กลัว เหลวไหล หรืออ่อนแอ
ละครเกาหลีเหล่านี้กลายเป็นวัฒนธรรมมวลชนได้ ก็เพราะมันได้ถ่ายทอดประสบการณ์ชีวิตของบุคคลธรรมดา ไม่ใช่ประวัติชีวิตแบบทวยเทพของชนชั้นสูงใดๆ ดังนั้นจึงเป็นประสบการณ์ร่วมสมัย ซึ่งมนุษย์ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ เข้าใจได้ เห็นใจได้ และดังนั้นจึงสะเทือนใจ หรือบางเรื่องก็เอากษัตริย์มาทำเป็นเรื่องขำขัน (Comedy) เช่น Roof top Prince มีลักษณะการทำให้กษัตริย์เป็นสามัญชนที่ชัดเจน


คำถามที่สาม คือคนดูเสพอะไรจากละครอิงประวัติศาสตร์ คำถามนี้สำคัญที่สุดแต่ตอบยากที่สุด ต้องการการทำวิจัย เพราะคนกลุ่มที่แตกต่างกันน่าจะรับรู้และรับสารที่แตกต่างกัน จึงไม่สามารถนำมาสร้างเป็นความเห็นโดยทั่วไปได้โดยไม่มีการทำวิจัย 
แต่ดร.ปิ่นแก้วได้ตั้งข้อสังเกตจากประสบการณ์ส่วนตัว พบว่าชาวบ้านทั่วไปในไทยนั้นก็ติดละครเกาหลีด้วย ในช่วงที่ทำวิจัยเรื่องเสื้อแดง ในหลายพื้นที่พบว่าไม่ได้ดูข่าวทีวี ไม่ดูตั้งแต่สองทุ่มเป็นต้นไป แต่ชาวบ้านผู้ชายคนหนึ่งกลับบอกว่าถ้าดู ก็ดูละครเกาหลี เมื่อถามว่าทำไมดู เขาตอบว่าก็มันเหมือนการเมืองไทย พวกที่ครองอำนาจคงไม่ปล่อยให้คนอื่นมาแย่งอำนาจไปง่ายๆ หรอก


ดร.ปิ่นแก้วสรุปว่าเราอาจจะตีความได้ว่าละคร Seguek สำหรับคนเกาหลีแล้ว ถ้ามันเปรียบเหมือนอุปมานิทัศน์ของชีวิตสามัญชนตัวแบบในสังคมเกาหลี ที่คนเกาหลีอยากจะเป็น แม้จะอ่อนแอ ผิดพลาด โดดเดี่ยว แต่ก็ฝ่าฟัน เรียนรู้ ค้นพบ สร้างตัวตนและคุณค่าของตนใหม่ขึ้นมา

สำหรับชนชั้นล่างในสังคมไทยแล้ว ละครอิงประวัติศาสตร์ของเกาหลี ที่ท้องเรื่องส่วนใหญ่เปลือยให้เห็นแก่นแท้ของความฉ้อฉล แก่งแย่ง หรือช่วงชิงอำนาจกันเองภายในชนชั้นสูง ละครพวกนี้ทำหน้าที่เป็นอุปมานิทัศน์ให้ชาวบ้าน ในการเปรียบเทียบถึงสิ่งที่พวกเขาคิด หรือมีทัศนะต่อกลุ่มชนชั้นสูงในสังคมไทย อันเป็นเรื่องที่ถูกพูดถึงไม่ได้ และละครไทยไม่มีทางนำธีมเหล่านี้มาทำเป็นละคร


อุบลรัตน์_ปิ่นแก้ว_อภิญญา_ 2 of 4
www.youtube.com/watch?v=QvL4PHtP54c



* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

อุบลรัตน์_ปิ่นแก้ว_อภิญญา_ 3 of 4
www.youtube.com/watch?v=xEXXkdJoy_c




.

อุบลรัตน์: K-Drama กับกระแสวัฒนธรรมป๊อบ

.

K-Drama กับกระแสวัฒนธรรมป๊อบ: อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์
ใน www.prachatai.com/journal/2012/10/43317 . . Thu, 2012-10-25 11:27
และคลิปการอภิปรายโดยอุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์ (ที่มาของคลิป: Book Re:public)


จากเสวนา "K-Drama กับกระแสวัฒนธรรมป๊อบ" ที่ Book Re:public เชียงใหม่ โดย "อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์" อภิปรายสามประเด็น คือกระแสวัฒนธรรมป๊อปจากเอเชียตะวันออก ส่งถึงประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การเปรียบเทียบละครวัยรุ่นญี่ปุ่น เกาหลี และไต้หวัน ในฟรีทีวีไทย เหมือนหรือต่างกันอย่างไร และวิธีการผลิตวัฒนธรรมป๊อป

วันที่ 20 ต.ค.55 เวลา 16.00 น. ร้าน Book Re:public จังหวัดเชียงใหม่ ได้จัดเสวนาในหัวข้อ “K-Drama กับกระแสวัฒนธรรมป๊อบ” โดยมีผู้ร่วมเสวนาได้แก่ ดร.อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์, ดร.ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี และดำเนินรายการโดย ดร.อภิญญา เฟื่องฟูสกุล


www.youtube.com/watch?v=BFp1RcXYwXo
อุบลรัตน์_ปิ่นแก้ว_อภิญญา_ 1 of 4


กระแสป๊อปเกาหลี: J-Pop K-Pop T-Pop

ดร.อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์ ได้อภิปรายถึงกระแสวัฒนธรรมป๊อปเกาหลีใน 3 ประเด็น ได้แก่ กระแสวัฒนธรรมป๊อปจากเอเชียตะวันออก ส่งถึงประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้, การเปรียบเทียบละครวัยรุ่นญี่ปุ่น เกาหลี และไต้หวัน ในฟรีทีวีไทย เหมือนหรือต่างกันอย่างไร และวิธีการผลิตวัฒนธรรมป๊อป

ในประเด็นแรก คำถามหลักคือทำไมจึงมีกระแสนิยมวัฒนธรรมป๊อปเกาหลี (K-Pop) ซึ่งมาแรงกว่ากระแสจากญี่ปุ่น (J-Pop) หรือฮ่องกง ซึ่งเคยได้รับความนิยมในอดีต  K-Pop มีอะไรที่เป็นข้อได้เปรียบ เหตุใดแฟนๆ ในไทยหรืออาเซียนรุ่นที่นิยมกันในปัจจุบันจึงนิยมกระแสป๊อปจากเอเชียตะวันออกมากกว่าจากสหรัฐ และความนิยมนี้มีผลกระทบต่อความสัมพันธ์ทางสังคมวัฒนธรรมการเมืองอย่างไร และวัฒนธรรมป๊อปนี้จะทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่าเอเชียภิวัตน์ในโลกาภิวัตน์หรือไม่
ดร.อุบลรัตน์ชี้ให้เห็นว่าจากข้อมูลสถิติมูลค่าการส่งออกละครชุดเกาหลีในปี 1998-2008 การส่งออกเริ่มไต่ขึ้นในช่วงปี 2001-2002 ขณะที่การนำเข้าละครไม่ค่อยเยอะ ชี้ให้เห็นว่าเกาหลีผลิตละครเป็นสินค้าส่งออก โดยส่วนใหญ่ส่งออกมาขายในกลุ่มประเทศเอเชียด้วยกัน (91.8% ในปี 2008) และเป็นการส่งออกละครชุดเป็นส่วนใหญ่

สถิติมูลค่าการส่งออกละครชุดเกาหลี 1998-2008

โดยปัจจัยที่ทำให้เกิดอุตสาหกรรมการส่งออกวัฒนธรรมของเกาหลี ได้แก่รัฐบาลเกาหลีได้วางนโยบายที่ชัดเจนในการผลิตสินค้าวัฒนธรรมและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ตั้งแต่ทศวรรษ 1990, มีการเปลี่ยนความสัมพันธ์ระหว่างญี่ปุ่นกับเกาหลี หลัง 1990 มีการเปิดตลาดรับสินค้าของกันและกัน, มีการสร้างความร่วมมือระหว่างรัฐและเอกชนในการผลิตและส่งออก และเริ่มแรกเกาหลีใช้การบุกตลาดโดยการให้เปล่า หรือขายราคาถูกเพื่อจูงใจผู้ซื้อ โดยลักษณะของสินค้าเกาหลีคือเอาใจตลาด ขณะที่ญี่ปุ่นจะเป็นตัวของตัวเองสูง ขณะที่เกาหลีผลิตตามรสชาติของตลาดต่างประเทศ


ในประเทศไทย ละครชุดเกาหลีเริ่มนิยมมาตั้งแต่ปี 2002 จนไต่ขึ้นไปถึง 1,500 ตอนต่อปี และเริ่มนิ่งในช่วง 2006-07 เป็นต้นมา ขณะที่ในเวียดนามความนิยมละครเกาหลียังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ถ้าดูเฉพาะในฟรีทีวีของไทย ในปี 2005-06 พบว่าละครเกาหลีขึ้นมาเป็น 34.3% แซงหน้าละครจีน (30.4%) ญี่ปุ่น (20.6%) และขยายไปแทบทุกช่องในฟรีทีวี กระจายเวลาอยู่ตามช่องต่างๆ ตั้งแต่สายยันดึก

ความนิยมของละครชุดเกาหลีในไทยและเวียดนาม
ที่มา: Lee Miji, Kyoto University, Graduate School of Asian and African Area Studies, 2010


สาเหตุสำคัญทางเศรษฐกิจที่การส่งออกละครเกาหลีสำเร็จและแพร่หลายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คือเกาหลีต้องการทุนการผลิต ทำให้ต้องส่งออก ในขณะที่ในประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้นการซื้อละครถูกกว่าการผลิตเอง ทำให้เกิดการนำเข้ารายการราคาถูกจากต่างประเทศ จึงเกิดการพึ่งพากันในการนำเข้าและส่งออก


ประเด็นที่สอง สาเหตุที่ทำให้ละครวัยรุ่น ไต้หวัน และเกาหลี ได้รับความนิยมในไทย ได้แก่ ลักษณะเนื้อหาของละครพูดถึงปัญหาของเอเชียร่วมกัน โดยคนดูส่วนใหญ่มักเป็นวัยรุ่นและเป็นผู้หญิง ละครเหล่านี้มันได้พูดถึงโจทย์เดียวกัน เช่น วัฒนธรรมเอเชียตะวันออกที่เป็นสังคมผู้ชายเป็นใหญ่ โดยผู้หญิงไม่ค่อยมีโอกาส นอกจากนั้นยังมีปัจจัยของการสร้างจุดขายและการแข่งขันในแต่ละสถานีโทรทัศน์ เช่น ในยุคหนึ่ง ช่อง 3 ใช้ละครฮ่องกงเป็นจุดขาย รวมทั้งปัจจัยด้านวงจรในอุตสาหกรรมสื่ออื่นที่เกี่ยวข้อง ทำให้เกิดการประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์แต่ละประเทศและสร้างความนิยมในสินค้าของประเทศนั้นๆ เป็นวิธีการโฆษณาที่ลึกซึ้งอย่างหนึ่ง

สำหรับลักษณะของละครญี่ปุ่นมีลักษณะเด่น คือเล่าเรื่องแบบกระชับรวดเร็ว มีลักษณะทีมสปิริต มีความขัดแย้งในเรื่อง แต่ลงเอยแบบประนีประนอม ส่วนใหญ่เรื่องที่นำเข้ามาฉายมักมีอารมณ์ขัน ตัวเอกไม่ว่าหญิงหรือชายมีลักษณะกบฏต่อสังคมนิดๆ และจบแบบไม่ปรองดอง
ส่วนลักษณะละครเกาหลี คือคนดูมักจะนึกถึงวิวทิวทัศน์ เช่น ชุดละคร 4 ฤดูกาล แนวเรื่องเป็นแบบโรแมนติก และนำเรื่องอดีตและความทรงจำขึ้นมาเป็นจุดขาย วิธีการแก้ไขปัญหาในเนื้อเรื่องไม่รุนแรง แต่ไม่จบ Happy Ending ทุกเรื่อง


ประเด็นที่สาม เปรียบเทียบถึงวิธีการผลิตวัฒนธรรมป๊อปของญี่ปุ่น เกาหลี และของไทย

สำหรับประเทศญี่ปุ่น ในตอนต้นญี่ปุ่นเกรงๆ ที่จะส่งออก ด้วยเหตุที่หลังสงครามโลกครั้งที่สองมา ภาพลักษณ์ของญี่ปุ่นไม่ดีในสายตาคนเอเชีย แต่ด้วยเหตุที่ภาวะเศรษฐกิจซบเซาในทศวรรษ 1990 ทำให้เกิดความคิดในการส่งออกวัฒนธรรม นำวัฒนธรรมมาขายและทำกำไร ในปี 1988 ญี่ปุ่นเริ่มวางนโยบายส่งออกรายการโทรทัศน์ มีการสร้างแรงจูงใจด้านการศึกษาและการเงิน โดยรัฐบาลมองว่าวิธีเผยแพร่วัฒนธรรมนี้เป็นวิธีแผ่ขยายความเป็นญี่ปุ่นในยุคใหม่ เป็นรูปแบบของอำนาจอย่างอ่อน (Soft Power)
ญี่ปุ่นมีกลยุทธ์การกระจายสินค้า โดยการสนับสนุนทุนการแปลและการพากย์ทำให้คนท้องถิ่นเข้าถึงง่ายขึ้น ใช้วิธีการขายหรืออนุญาตให้ใช้สิทธิ์เผยแพร่ การผลิตรายการร่วมหรือการร่วมทุนระหว่างญี่ปุ่นกับบริษัทท้องถิ่น หรือวิธีการขายรูปแบบรายการ ให้โทรทัศน์ในท้องถิ่นแต่ละประเทศเป็นผู้ซื้อซื้อรูปแบบไป

โดยสรุป ตัวแบบของญี่ปุ่นในการผลิต J-Pop คือใช้การสร้างไอดอล โดยสร้างดาราในอุตสาหกรรมเพลง และหมุนเวียนไปเล่นภาพยนตร์ หรือเล่นโฆษณา และละครชุด ดารานักร้องจึงกลายเป็นศูนย์กลางของอุตสาหกรรม นอกจากนั้นญี่ปุ่นยังสร้างต้นแบบละครแนวเทรนดี้ (Trendy) ซึ่งเป็นเรื่องแนววัยรุ่น และวัยทำงาน เกี่ยวกับความรัก ความหวัง และการแสวงหาชีวิตที่ดีกว่า แต่ญี่ปุ่นก็เผชิญปัญหากับกระบวนการก้าวข้ามพรมแดนประเทศ เช่น การแปลหรือบรรยายใช้ต้นทุนสูง หรือการต้องพึ่งพาตัวแทนจัดจำหน่ายในท้องถิ่น โดยไม่สามารถขายตรงได้เอง รวมถึงระบบลิขสิทธิ์ของญี่ปุ่นที่สลับซับซ้อนจนเป็นอุปสรรคสำคัญ


สำหรับของเกาหลี การผลิต K-Pop เริ่มจากวิกฤติเศรษฐกิจในทศวรรษ 1990 คล้ายกับญี่ปุ่น รัฐบาลจึงลงทุนใหม่ทำอุตสาหกรรมวัฒนธรรมให้เป็นเชิงพาณิชย์ยิ่งขึ้น มีการลงทุนสร้างระบบดิจิทัล และโดยเฉพาะบทเรียนสำคัญสำหรับไทย คือมีการยกเลิกมาตรการเซ็นเซอร์เนื้อหา นักวิจัยปริญญาเอกของเขาบอกเลยว่าสปิริตตัวนี้ทำให้มนุษย์คิดจะสร้างสรรค์ คิดอะไรก็ได้ จินตนาการได้เต็มที่ ขณะที่ตัวนี้เป็นเพดานของบ้านเรา คือสร้างหนังมาก็ไปเจอเรตแบนกับเรตชวนดู ทำให้มีปัญหามาก
รวมทั้งปัจจัยที่ละครของเกาหลีได้ไปแก้ปัญหาที่การผลิตละครของญี่ปุ่นเคยเผชิญ โดยในเกาหลีมีวิธีการพัฒนาเนื้อหา โดยการให้ทุนกับผู้ผลิต (Producer) อิสระ ที่ไม่ถูกลักษณะอุตสาหกรรมสูตรสำเร็จครอบงำ ทำให้สร้างไอเดียใหม่ๆ ได้หลากหลาย


ตัวแบบของ K-Pop คือการเลียนแบบอุตสาหกรรม J-Pop เช่น การสร้างไอดอล การผลิตละครแนวเทรนดี้ดราม่า แต่เกาหลีก็ได้สร้าง “ความเป็นเอเชีย” ในระบบการผลิต ไม่ได้เน้นชาตินิยมแบบญี่ปุ่น โดยเน้นการผลิตละครที่ทำให้คนเอเชียรู้สึกเป็นเจ้าของด้วย โดยออกแบบให้มีความใกล้ชิดทางภาษาและวัฒนธรรม ในส่วนของปัญหาของละครเกาหลี คือปัจจุบันราคาเริ่มสูงขึ้น จนบางประเทศลังเลว่าจะซื้อดีไหม และค่าตัวดารา นักแสดงสูงมาก ทำให้เพิ่มต้นทุนการผลิต รวมทั้งประเด็นที่เกาหลีเน้นการปกป้องตลาด เน้นนำละครของตนไปขายที่อื่น แต่ไม่เปิดให้ประเทศอื่นนำเข้านัก

สำหรับละครของไทย ที่ถูกเรียกว่าเป็นการผลิต T-Pop เริ่มจากสมัยทักษิณ ในปี 2545 มีองค์กรคล้ายๆ เกาหลีเกิดขึ้น เช่น สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (OKMD) ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) เป็นต้น จนในปี 2552 รัฐบาลอภิสิทธิ์ประกาศนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการฟื้นฟูเศรษฐกิจ แต่ของไทยกล่าวได้ว่าเป็นอุบัติการณ์ของกระแสส่งออกมากกว่า ระบบการส่งออกไปประเทศเพื่อนบ้านเป็นไปอย่างไม่สม่ำเสมอ 
ลักษณะของตัวแบบไทย คือพยายามผลิตแบบครบวงจรเลียนแบบญี่ปุ่นและเกาหลี มีไอดอลเหมือนกัน โดยพยายามผสมผสานความเป็นไทยเข้าไป ขณะก็ผสมเอเชียกับความเป็นตะวันตก เช่น ภาพยนตร์เรื่องก้านกล้วย แต่ที่แตกต่างสำคัญคืออุตสาหกรรมของไทยยังคงคิดว่าเราเป็นโรงงาน เน้นเชิญต่างประเทศมาลงทุนมาถ่ายทำ และเน้นไปทางเป็นศูนย์กลางการผลิตภาพยนตร์และสื่อ มากกว่าการสร้างสรรค์เอง ปัญหาคือละครไทยยังจำกัดวงอยู่ในประเทศเพื่อนบ้านมากกว่า เพราะไม่สม่ำเสมอ โทรทัศน์ช่องต่างๆ ไม่ค่อยอยากส่งออก ถือว่าฉายในประเทศก็กำไรแล้ว จึงไม่เน้นส่งออก รวมถึงปัญหาในการพัฒนาเนื้อหา ไม่มีการลงทุนอย่างจริงจังในการศึกษารสนิยมของผู้บริโภคกลุ่มใหญ่ในประเทศอื่นๆ



ดร.อุบลรัตน์สรุปในตอนท้ายว่าหากดูสัดส่วนการส่งออกสินค้าวัฒนธรรมในตลาดโลกในปี 2001 สหรัฐอเมริกาส่งออกประมาณ 41% ขณะที่ประเทศในเอเชียตะวันออกส่งออกประมาณ 13% ซึ่งคงจะมากขึ้นหลังจากปี 2001 เป็นต้นมา คำถามคือจะมีการเปลี่ยนฐานการผลิตสินค้าวัฒนธรรมจากสหรัฐฯ มาสู่เอเชียหรือไม่

ในงานศึกษาต่างๆ ก็มีข้อสันนิษฐานทางทฤษฎีในแง่มุมหลากหลาย เช่น อิวาบูชิ (Iwabuchi, 2004) มองว่าการครอบงำจากบรรษัทใหญ่ที่ผลิตสินค้าวัฒนธรรมของโลกตะวันตกที่เป็นศูนย์กลางมานาน จะถูกแทนที่ด้วยศูนย์กลางใหม่จากโลกตะวันออกในเอเชีย
ชิน และฉั่ว (Shin 2006, Chua, 2004) อธิบายถึงการเกิดลัทธิเอเชียนิยมในภูมิภาคเอเชียตะวันออก
ชิม (Shim, 2009) อธิบายว่า “กระแสเกาหลี” เกิดขึ้นเพื่อตอบโต้กับแรงกดดันจากสหรัฐฯ และพลังกระแสโลกาภิวัตน์และลัทธิเสรีนิยมใหม่
นิชชิม (Nissim, 2008) เสนอแนวคิดเรื่อง “พลังอำนาจอย่างอ่อน” (Soft power) ที่ประเทศเอเชียตะวันออกใช้ในการเผยแพร่อิทธิพลของตนผ่านสื่อสินค้าวัฒนธรรม

ขณะที่ดร.อุบลรัตน์เอง ได้เสนอให้พิจารณามิติทางเศรษฐกิจด้วย การค้าขายระหว่างประเทศในเอเชียด้วยกัน ทำให้เกิดลักษณะ“เอเชียภิวัตน์ในโลกาภิวัตน์” (Asianization in globalization)


______________________________________________________________________________________________________

โพสต์ไว้ หน้าเพจ1 .. แต่เป็น VDOตอนสุดท้ายของงาน
อุบลรัตน์_ปิ่นแก้ว_อภิญญา_ 4 of 4
www.youtube.com/watch?v=n0dIIe8UAwQ




.

เหล่า “ติ่ง” โดย ทราย เจริญปุระ

.
ผลสรุป - งานหนังสือทะลุเป้า-ยอดผู้เข้าร่วมงานสูงถึง1.95ล้านคน โกยยอดขายเกิน500ล้าน

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

เหล่า “ติ่ง”
โดย ทราย เจริญปุระ charoenpura@yahoo.com  คอลัมน์ รักคนอ่าน
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 33 ฉบับที่ 1680 หน้า 86


คุณเคยคลั่งไคล้หลงใหลอะไรบ้างหรือเปล่าคะ 
รักทั้งที่รู้ว่าจะไม่ได้ครอบครอง 
เฝ้าใฝ่ฝันแม้จะรู้ว่ามันแสนห่างไกล
ติดตามด้วยความห่วงใยอยู่เสมอ

ดูอาการแล้วน่าจะเหมือนการแอบรักใครซักคน
ก็ถูกในแง่หนึ่ง
ต่างกันตรงที่ว่าไม่ได้แอบรักจะเอามาเป็นนางแก้วประจำครอบครัว 
แต่รักและชอบในผลงานเท่านั้น 
ใช่ค่ะ, ฉันกำลังพูดถึงเหล่าแฟนคลับ 
หรือจะให้เฉพาะเจาะจงไปกว่านั้นคือเหล่า "ติ่ง"



ถ้าจะมีอะไรตรงข้ามกับเหล่าติ่ง หรือเหล่าแฟนคลับได้อย่างยิ่ง 
ก็คงจะเป็นกลุ่มชนสายอินดี้ ฟังเพลงที่ไม่สามารถไปร่วมร้องคาราโอเกะกับเพื่อนได้ ดูหนังที่มาจากประเทศซึ่งไม่อาจระบุได้ง่ายๆ ว่าอยู่ตรงไหนของแผนที่ 
แต่มันก็เป็นไปแล้ว ที่มนุษย์สองประเภทนี้จะมารวมอยู่ในคนเดียวกัน

คันฉัตร, ผู้เขียนหนังสือชื่อยาว "Sorry, Sorry ขอโทษครับ...ผมเป็นติ่ง" คือคนที่ฉันหมายถึง 
คันฉัตรเป็นอาจารย์สอนวิชาเกี่ยวกับภาพยนตร์ แถมยังเป็นผู้จัดตั้งกลุ่มฉายหนังอิสระที่เลือกเอาหนังเล็กๆ แปลกๆ ที่หาชมได้ยากมาจัดฉายให้คนได้ดูกัน 
แต่คันฉัตรก็เป็นแฟนบอยวงดนตรีเกาหลี อุทิศตัวเป็นติ่งที่นั่งเฝ้าจองบัตรคอนเสิร์ตเวลาศิลปินที่โปรดปรานมาเยือนเมืองไทย 
และคันฉัตรทำถึงขั้นไปดูคอนเสิร์ตที่เกาหลีใต้ ถิ่นกำเนิดของวงที่รักเลยทีเดียว

หยิบมาตอนแรกคุณอาจจะนึกว่าเป็นหนังสือเชิงสารคดีท่องเที่ยวที่พาคุณไปย่านต่างๆ ร้านรวงน่าชมในเกาหลีใต้
แต่มันไม่ใช่ 
สถานที่ถูกกล่าวถึงอย่างผ่านๆ 
(บางที่นั้นคันฉัตรอยากไปเพราะศิลปินในดวงใจเธอเคยเรียนอยู่ที่นั่นก็มี...ไม่ธรรมดาใช่ไหมล่ะ)

แต่หนังสือเล่มนี้กล่าวถึงการดั้นด้นไปสู่จุดหมายหลักนั่นคือการประคองตนให้รอดไปแต่ละวันจนกว่าจะถึงวันสำคัญคือวันดูคอนเสิร์ตไม่ต่างจากนักพรตผู้รอคอยพระจันทร์เต็มดวงเพื่อจะได้ถวายบูชา 
มันคือการบรรลุถึงอะไรบางอย่างในจิตใจเมื่อได้ยืนอยู่ในดินแดนเดียวกับคนที่คันฉัตรรู้จักและรักใคร่ ไม่ต่างกับผู้เดินทางกลับสู่ถิ่นกำเนิด
ที่สำคัญ
หนังสือเล่มนี้มันสนุกมาก!



คือ ถ้าคุณเป็นคนที่คิดว่า ทำไมการประกวดร้องเพลงในไทยถึงไม่เอาแต่เพลงไทยมาร้อง 
หรือการนั่งไขว่ห้างเป็นการกระทำที่ต่ำช้าอะไรแบบนี้ 
ข้ามหนังสือเล่มนี้ไปก่อนก็ได้ 
มันคงไม่ค่อยสนุกสำหรับคุณเท่าไหร่

แต่สำหรับฉันมันสนุกที่สุด
ใครจะซื่อสัตย์ต่อความชอบของตัวเองได้ขนาดนี้ 
ฉันเชื่อว่าคนส่วนใหญ่นั้น พอรู้ว่าสิ่งที่ตัวเองรักและชื่นชมเป็นสิ่งที่คนรอบตัวมักตั้งข้อกังขา หรือเรียกสายตาประหลาดใจแกมตระหนกจากผู้คนรอบข้างได้เหมือนสิ่งที่คันฉัตรชอบ คนส่วนใหญ่คงใช้วิธีหลบเลี่ยงไม่พูดถึงเท่าไหร่ 
แต่คันฉัตรยอมรับอย่างเต็มใจ 
และไปจนสุดทาง

มันจึงไม่ใช่หนังสือที่บรรจุเอาแต่เสียงกรีดร้องของคนที่ปวารณาตัวเป็นแฟนคลับ 
แต่มันคือการเดินเข้าหาตัวเองและยอมรับในความชอบของตัวเองอย่างซื่อสัตย์ 
แถมมองเลยไปด้วยว่าทำไมจึงเป็นเช่นนี้

เกาหลี (ใต้) มีดีอะไร ทำไมจึงผลิตนักร้องและวงดนตรีออกมาได้รับความนิยมอย่างมากมาย 
ทำไมเกมโชว์จึงมีอิทธิพลในการสร้างและเผยแพร่วัฒนธรมเกาหลีได้อย่างเข้มข้น 
ทำไมคนที่ชอบศิลปินจากเกาหลีแล้วจึงไม่สามารถบังคับตัวเองให้ชอบเพลงวงเดียวได้ 


คันฉัตรถอดรหัสเรื่องราวเหล่านี้สอดแทรกไปด้วยระหว่างเรื่องเล่าในการเดินทางของเขา 
และฉันก็ว่ามันคุ้มค่าที่จะอ่าน สำหรับผู้ที่ใจกว้างพอ 

ใจกว้างที่จะเรียนรู้โลกที่กำลังหมุนไปอย่างรวดเร็วว่ามันสนุกสนานมากขนาดไหน ในการเดินทางออกนอกประเทศครั้งแรกของผู้ชายคนหนึ่ง
ผู้ชายที่กล้าหาญมาก

และตลกมากกับภาษาอันฉวัดเฉวียนที่บ่อยครั้งก็วกกลับมากัดตัวเองได้อย่างเข้าอกเข้าใจ 
ดีไม่ดี พออ่านจบคุณอาจจะค้นพบตัวเองก็ได้

ใครจะรู้


* * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

“Sorry, Sorry...ขอโทษครับ ผมเป็นติ่ง” เขียนโดย คันฉัตร รังษีกาญจน์ส่อง ( FB: merveillesxx) ฉบับพิมพ์ครั้งแรกโดย สำนักพิมพ์ Salmon Books, ตุลาคม 2555



+++

งานหนังสือทะลุเป้า-ยอดผู้เข้าร่วมงานสูงถึง1.95ล้านคน โกยยอดขายเกิน500ล้าน
จากมติชน ออนไลน์  วันจันทร์ที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2555 เวลา 23:01:03 น.


 เมื่อวันที่ 29 ต.ค. นายวรพันธ์ โลกิตสถาพร นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT) กล่าวถึงผลสรุปของการจัดงานมหกรรมหนังสือระดับชาติครั้งที่ 17 วันที่ 18-28 ต.ค. 2555 ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ว่า ประสบความสำเร็จเกินความคาดหมาย จากยอดประเมินผู้เข้างานประมาณ 1.5 ล้านคน แต่ช่วงงานจริงมีสูงถึง 1.95 ล้านคน สูงกว่าที่คาดไว้ประมาณ 20% ส่วนยอดขายโดยรวมของงานนั้นน่าจะเกินกว่า 500 ล้านบาท โดยมีหนังสือออกใหม่ในงานนี้กว่า 3,000 ปก

"ประเภทที่ขายดีอันดับแรกยังคงเป็นนวนิยาย ถัดมาคือ การ์ตูน หมวดสุขภาพ หนังสือธรรมะยังอยู่ในกระแส และหนังสือแนวประสบการณ์ชีวิตก็มียอดขายที่น่าสนใจ โดยเฉพาะอัตชีวประวัติหรือประสบการณ์ของคนมีชื่อเสียงที่คนอ่านจะได้เรียนรู้ชีวิตด้วยทางลัด ไม่ต้องเรียนรู้บางอย่างด้วยตัวเอง มีอีกปรากฏการณ์ที่น่าสนใจคือการเติบโตของหนังสือในตลาดนิช มาร์เก็ต อาทิ การ์ตูนกลุ่มของเด็กผู้ชายที่มาแรงมากเพราะสำนักพิมพ์มีกลวิธีในการนำเสนอที่เข้าใจกลุ่มคนอ่าน เป็นนวัตกรรมในการนำเสนอ ในส่วนของตลาดนิยายก็พบว่าเด็กๆ ที่อ่านนิยายอายุลดลงกว่าเดิม ประมาณมัธยมต้นก็เริ่มอ่านแล้ว แสดงว่าเด็กโตเร็ว ขณะที่ตลาดหนังสือเด็กก็ขยายตัวอย่างชัดเจนสอดคล้องกับตัวเลขสถิติการอ่าน ผู้ปกครองให้ความสนใจมาก ด้านผู้ผลิตเองก็เชี่ยวชาญมากขึ้น ถือเป็นการยกระดับหนังสือเด็กบ้านเราและส่งเสริมการอ่านด้วย"นายวรพันธ์กล่าว



.

LOOPER “ข้ามเวลา” โดย นพมาส แววหงส์

.

LOOPER “ข้ามเวลา”
โดย นพมาส แววหงส์  คอลัมน์ ภาพยนตร์
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 33 ฉบับที่ 1680 หน้า 94


กำกับการแสดง Rian Johnson
นำแสดง Joseph Gordon-Levitt
Bruce Willis
Emily Blunt
Jeff Daniels
Paul Dano


ค.ศ.2044...
เศรษฐกิจซวดเซซบเซา จนอาชญากรรมที่เป็นระบบเฟื่องฟูแพร่หลายและแผ่อิทธิพลไปทั่วทั้งอเมริกา 

การเดินทางข้ามเวลากำลังจะถูกคิดค้นขึ้นในสามสิบปีจากนี้ 
แต่ทันทีที่มีคนสร้างเครื่องที่สามารถส่งคนให้เดินทางข้ามเวลาได้ ประดิษฐกรรมชิ้นนี้ก็กลายเป็นของต้องห้ามที่ผิดกฎหมายในทันที 
ก็ลองคิดดูสิว่าโลกจะวุ่นวายสับสนสักแค่ไหนหนอ หากคนเราสามารถเดินทางข้ามเวลาได้และไปยุ่งกับสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วในอดีตที่จะส่งผลถึงอนาคต 
อดีตกับอนาคตจะพัวพันกันอีนุงตุงนังจนแยกไม่ได้ว่าอะไรเกิดขึ้นแล้วหรือจะไม่มีโอกาสเกิดขึ้นได้เลย 
กระนั้น ในปี 2074 พวกมาเฟียก็ยังใช้เครื่องข้ามเวลานี้เป็นเครื่องมือในการกำจัดบุคคลที่ไม่ต้องการให้มีชีวิตอยู่ต่อไป


โจ (โจเซฟ กอร์ดอน-เลวิตต์) เป็นมือปืนรับจ้างของมาเฟียกลุ่มหนึ่ง เสียแต่ว่าคนที่เขาได้รับคำสั่งให้ฆ่า ไม่ได้อยู่ในกาลเวลาเดียวกับเขา แต่เป็นบุคคลที่ถูกส่งตัวมาจากโลกในอีกสามสิบปีข้างหน้า เพื่อนำกลับมากำจัด จะได้ไม่มีปัญหาเรื่องการกำจัดศพในโลกยุคที่เทคโนโลยีก้าวหน้าไปมากจนตำรวจสามารถสืบสาวไปสู่ต้นตอได้โดยง่าย
วิธีการคือมือสังหารจะต้องไปคอยอยู่ ณ สถานที่ที่กำหนด เมื่อถึงเวลาที่กำหนด ร่างของเป้าสังหารก็จะถูกส่งตัวข้ามเวลามา โดยถูกมัดมือมัดเท้าและมีถุงคลุมหัวมิด เมื่อมือสังหารยิงเหยื่อทิ้งโดยไม่ต้องได้เห็นหน้าค่าตาเหยื่อ ก็จะได้รับค่าตอบแทนเป็นเงินแท่งที่ติดมากับร่างของเหยื่อสังหาร 
มือปืนรับจ้างจะใช้ชีวิตอย่างสุขสบายด้วยเงินที่ได้จากตัวเหยื่อสังหารเป็นเวลาสามสิบปี ก่อนที่แก๊งมาเฟียจะ "ปิดลูป" หรือปิดวงจรชีวิตของมือปืนคนนั้นๆ 
นี่คือที่มาของชื่อหนังว่า "ลูปเปอร์" ซึ่งเป็นชื่อเรียกมือปืนที่มีอาชีพแบบนี้


หัวหน้าใหญ่ผู้คุมกิจการกำจัดคนแบบนี้เป็นชายที่มาจากอนาคต ชื่อเอ๊บ (เจฟฟ์ แดเนียลส์) ผู้รู้เหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นเพราะเขาผ่านกาลเวลาสามสิบปีนี้มาแล้ว 
ขณะเดียวกันมนุษยชาติก็กำลังก้าวไปสู่วิวัฒนาการอีกขั้นหนึ่ง คือเริ่มเกิดมีมนุษย์กลายพันธุ์ที่มีพลังจิตสามารถเคลื่อนย้ายวัตถุใกล้ตัวได้ 
มนุษย์กลายพันธุ์พวกนี้ได้ชื่อว่า ทีเค ซึ่งย่อมาจากคำว่า telekinetics 
พวกที่มีอำนาจจิตแบบอ่อนๆ จะสามารถบังคับวัตถุน้ำหนักเบา เช่น เหรียญ ให้ลอยขึ้นในอากาศได้ 
เล่าลือกันว่า ในอนาคต จะมีทีเคที่มีอำนาจจิตสูงมากคนหนึ่งเป็นผู้บงการกลุ่มมาเฟีย ทีเคคนนี้มีฉายาว่า Rainmaker หรือคนทำฝน 

โจทำงานเก็บหอมรอมริบไว้ใช้ในชีวิตบั้นปลายที่หวังจะเดินทางไปใช้ชีวิตอย่างสบายในฝรั่งเศส 
แต่การณ์กลับไม่เป็นไปตามที่เขาคาด เนื่องจากในงานสังหารเหยื่องานหนึ่ง เขากลับได้เห็นเหยื่อปรากฏร่างขึ้นโดยไม่ได้คลุมหน้า 
ใบหน้านั้นคือใบหน้าของเขาเองในวัยที่สูงขึ้นกว่าปัจจุบัน


โจผู้สูงวัย (บรูซ วิลลิส) หลบหนีการถูกสังหารไปได้ และหาวิธีเปลี่ยนแปลงแก้ไขอดีต เพื่อความอยู่รอดปลอดภัยของตัวเขาและผู้หญิงที่เขารัก
ภารกิจที่โจคนที่อยู่ในปี 2074 ต้องทำคือ ตามหาตัวเด็กคนที่จะโตขึ้นเป็นเรนเมกเกอร์ให้ได้และกำจัดทิ้งเสีย เป็นการตัดไฟแต่ต้นลม คือ ถ้าไม่มีเรนเมกเกอร์มาคุมองค์กรอาชญากรรมนี้ ก็จะไม่มีใครสั่งให้ "ปิดลูป" ของโจเสีย 
ขณะที่ภารกิจของโจคนที่อยู่ในปี 2044 ต้องทำคือ ติดตามกำจัดคนที่จะเป็นตัวเขาในอีกสามสิบปีข้างหน้าเสีย

เรื่องราวของการข้ามเวลาระหว่างอดีต ปัจจุบัน และอนาคตนี้เป็นเรื่องชวนพิศวงสงกาและน่าปวดเศียรเวียนเกล้า ในทำนองเดียวกับคำถามว่าไก่เกิดก่อนไข่ หรือไข่เกิดก่อนไก่



หนังที่มีเรื่องราวเกี่ยวกับการข้ามเวลา ก็มักมีจุดสนใจอยู่ตรงการพยายามกลับไปเปลี่ยนแปลงสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วในอดีต เพื่อแก้ไขสิ่งที่จะเกิดขึ้นอนาคต ทำนองเดียวกับ Back to the Future 
แต่ความคิดแบบนี้ดูเหมือนจะสนับสนุนทฤษฎีเอกภพคู่ขนาน ซึ่งพูดถึงความเป็นไปได้แบบต่างๆ ในโลก
Looper มีเนื้อหาที่น่าคิดดีอยู่หรอก แม้ว่าจะยังมีคำถามที่ยากเกินกว่าจะตอบได้ เกี่ยวกับเรื่องการเดินทางของเวลาแบบที่เป็นเส้นตรงและแบบที่บรรจบกันเป็นวง รวมทั้งความเกี่ยวพันของบุคคลต่างๆ ที่เป็นเหตุปัจจัยแก่กันและกัน

ส่วนที่ผู้เขียนคิดว่าหนังมีน้ำหนักและโดนใจมาก อยู่ที่เนื้อหาเกี่ยวกับการเลี้ยงดูเด็กด้วยความรักและเอาใจใส่ ซึ่งอาจจะสามารถหยุดศักยภาพของความรุนแรงที่จะเกิดในตัวเด็กคนนั้นต่อไปได้

เป็นหนังที่ดูสนุกใช้ได้นะคะ แม้จะยังมีช่องโหว่ที่ "ปิดลูป" ได้ไม่หมดก็ตาม



.

Salmon Fishing in the Yemen โดย พรพิมล ลิ่มเจริญ

.

Salmon Fishing in the Yemen
โดย พรพิมล ลิ่มเจริญ  คอลัมน์ “ใส่บ่าแบกหาม”
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 33 ฉบับที่ 1680 หน้า 83


เธอจ๊ะ

salmon อเมริกันอ่าน แซ้ม-เมิ่น อังกฤษอ่าน ซ้าม-เมิ่น "แอล" ไม่ออกเสียงทั้งคู่
ไทยอ่าน ซาล-ม่อน แต่จริงไทยอ่าน ซาว-ม่อน เพราะไทยเรียกตัว L ว่า "แอว"


Salmon Fishing in the Yemen เป็นหนังรักโรแมนติก มีความรักแล้วยังมีความหวัง มีแรงบันดาลใจ ดูจากชื่อเรื่องก็รู้ได้ ไปจับปลาแซมม่อนที่ประเทศเยเมน 
ประเทศเยเมนอยู่ที่ไหน? ประเทศเยเมนอยู่ติดกับตอนใต้ของประเทศซาอุดีอาระเบีย ขนาดใหญ่ประมาณประเทศไทยของเรา แต่มีประชากรน้อยกว่าเรามาก เว็บของซีไอเอประมาณไว้ว่า 24,771,809 คน  
ประชากรประเทศเยเมนเรียกว่าชาว Yemeni ใช้ภาษาอาราบิกเป็นภาษาหลัก  

Ewan McGregor แสดงเป็น ด๊อกเตอร์อัลเฟร็ด โจนส์ ผู้เชี่ยวชาญการเลี้ยงปลาแซมม่อน  
Emily Blunt แสดงป็น Harriet Chetwode-Talbot ที่ปรึกษาประจำบริษัทของท่านเชกแห่งเยเมน  
พี่ยวนกับน้องเอมิลี่ช่างเป็นพระเอกนางเอกที่เข้ากั๊นเข้ากัน ให้เราได้ค่อยๆ ปลาบปลื้มใจที่เห็นคนสองคนค่อยๆ ชอบพอกันขึ้นมาทีละนิดๆ จนรักกันในที่สุด ให้ได้ลุ้นว่าจะฝ่าอุปสรรคกันได้ไหม 
sheikh คือ คนที่เป็นผู้ใหญ่ผู้โตของชาวอาหรับ สะกด sheik หรือ sheikh ก็ได้ อ่านว่า ชีก หรือ เชก ก็ได้อีก


เรื่องก็มีอยู่ว่า ท่านเชกให้นางสาวแฮเรียตมาจัดการหาคนไปทำให้ท่าเชกตกปลาแซมม่อนที่ประเทศเยเมนให้ได้ 
นางสาวแฮเรียตจัดการหาข้อมูลมาอย่างดี พบว่าพระเอกของเรา-ด๊อกเตอร์โจนส์เก่งกาจทางด้านนี้ นางสาวแฮเรียตติดต่อไปที่กรมประมงที่พระเอกของเราทำงาน แต่พระเอกหาใส่ใจไม่  
แต่เหตุการณ์ประจวบเหมาะก็บังเกิด มีความร้าวฉานด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ระหว่างประเทศอังกฤษกับเหล่าประเทศอาหรับ นาง Patricia Maxwell ทำงานเป็น Press Secretary ของนายกรัฐมนตรีก็จำต้องทำหน้าที่ ด้วยการหาข่าวมาสร้างบรรยากาศทางการเมืองให้ดีขึ้น

We need a good news story
from the Middle East, a big one.
เราต้องมีข่าวดีให้ได้
ข่าวตะวันออกกลางข่าวใหญ่ๆ เลย

ชั่วพริบตา คุณแพทริเชียก็บังเกิดพุทธิปัญญาว่าข่าวเลี้ยงปลาแซมม่อนนี่แหละเหมาะสมที่สุด
ติดที่พระเอกของเรานี่สิ ไม่ยอม ไม่ยอมแม้แต่รับนัด

Why would I want to traipse 
across London to discuss that nonsense? 
ทำไมผมต้อถ่อสังขาร
ข้ามเมืองไปคุยเรื่องไร้สาระด้วย?

traipse อ่านว่า เทรพส แปลว่า walk or move wearily or reluctantly เดินหรือเคลื่อนไหวแบบเหนื่อยๆ หรือไม่ถนัด ฉันว่า ถ่อสังขารหรือลากสังขาร นี่แหละใกล้เคียง 
จนสุดท้าย เจ้านายพระเอกต้องบังคับ



พระเอกไม่สุภาพใส่นางเอกแบบตั้งใจมากๆ

Fish require water.
You are familiar with that concept? 
ปลาต้องอยู่ในน้ำ
คุณรู้หลักการนี้ไหม?

ถามแบบนี้ ชกกันหรือท้าดวลกันดีกว่าไหม พ่อคุณ?! 

ทันทีที่พระเอกเห็นแผนที่โลกแปะอยู่ข้างฝา ก็ปรี่เข้าไปหา แล้วชี้ให้นางเอกดู ชี้ประเทศอังกฤษสลับกับประเทศอาหรับที่กล่าวถึง

Here it"s very cold. It rains a lot.
Here it"s very hot. It doesn"t rain a lot. 
Do you see the difference?
นี่หนาวจัด ฝนตกชุก
นี่ร้อนจัด ฝนไม่ตกเท่าไหร่
เห็นความแตกต่างไหม?

พระเอกดูถูกนางเอกเห็นๆ ใช้ประโยคง่ายหยั่งก๊ะคุยกับเด็ก ป.1! 
ส่วนนางเอกนั้นเล่าใจแสนจะเย็นเป็นน้ำ

Well, you"re pointing to Saudi Arabia,
Dr. Jones, not the Yemen.
ที่ชี้น่ะมันซาอุดีอาระเบีย 
ใช่เยเมนที่ไหนกัน

นางเอกบอกเสียงเบา

If your sheikh wants to pour his money down the drain, 
why doesn"t he buy himself a football club
or something?
ถ้าท่านเชกของคุณอยากใช้เงินทิ้งๆ ขว้างๆ
ทำไมไม่ไปซื้อสมาคมฟุตบอล
หรืออะไรพวกนั้นเล่า?

แล้วพระเอกก็กลับไป เคืองใจเป็นที่สุด 
ก่อนไป ไล่ให้นางเอกไปสร้างเขื่อนที่เยเมนก่อนแล้วค่อยว่ากัน

Completed, couple of years ago.
สร้างเสร็จแล้ว ตั้งแต่สองสามปีที่แล้ว

พระเอกอึ้ง แต่ก็ยังไม่ลดละ

Could you arrange a meeting
with the hydro-engineering team
from the Three Gorges Dam?

นัดวิศวกรแหล่งน้ำ
ที่สร้างเขื่อน Three Gorges Dam

เขื่อนยักษ์ขนาดใหญ่ที่สุดในโลกที่อยู่เมืองจีน กั้นแม่น้ำแยงซีไง

British Oxygen Company.
A meeting with them as well.
แล้วก็บริษัทก๊าซแห่งอังกฤษ 
นัดให้ด้วย

นัดแต่บริษัทใหญ่ๆ ทั้งนั้นเลย

The big Russian military... 
Find out about renting two of those,
เครื่องบินรัสเซียลำโตๆ
หาเช่ามาสัก 2 ลำ

(แต่ไม่นานต่อมา นางเอกก็หามาให้ได้ทั้งหมด)


พี่ยวนแสดงดีที่สุด เป็นคนแสดงความรู้สึกไม่ได้มาก เพราะเป็นโรคแอสเปอร์เกอร์ แต่ก็ทำให้เราเชื่อว่าเขากำลังรักนางเอกของเราเข้าเต็มเปา

When things get tricky in my life,
I talk to my fish.
เวลาชีวิตมีเรื่องยากๆ 
ผมก็คุยกับปลาของผม

ประโยคซื่อๆ แบบนี้ต้องแสดงดีมากๆ ถึงจะเชื่อได้ลง ว่าไหม?

หนังรักเรื่องนี้ดูแล้วสบายตาสบายใจ ตกปลา อยู่กับน้ำ การตกปลาดูเป็นกิจกรรมสงบใจมากๆ เลย


For fishermen, the only virtues are 
patience, tolerance and humility.
สำหรับคนตกปลา คุณงามความดีของมันคือ
ความอดทน รู้จักอดกลั้น และความถ่อมตัว


แต่ประเทศเราไม่สอนให้เชื่อแบบนี้ เพราะฆ่าสัตว์ตัดชีวิต พวกเราทำกิจกรรมอะไรที่หัดให้เราเป็นคนอดทนรออะไรได้นานๆ ไม่พลุ่งพล่าน นึกไม่ออกแฮะ

ฉันเอง


______________________________________________________________________________________________________

เคยมีบทแนะนำ - หนัง "ภูมิภาค"/ SALMON FISHING IN THE YEMEN โดย คนมองหนัง/ นพมาส 
อ่านที่ http://botkwamdee.blogspot.com/2012/04/vreg-nsy.html



.

(การ์ตูนที่รัก) The Lorax, ป่าผี ฯ โดย นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์

.

The Lorax
โดย นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์  คอลัมน์ การ์ตูนที่รัก
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 33 ฉบับที่ 1680 หน้า 79


หนังการ์ตูนปี 2012 สร้างจากหนังสือนิทานสำหรับเด็กเรื่องเดียวกันของ Dr.Seuss สร้างและจัดจำหน่ายโดยอิลลูมิเนชั่นเอนเตอร์เทนเมนต์และยูนิเวอร์แซล 
เด็กชายธีโอดอร์ วิกกินส์ หรือเท็ด อายุ 12 ปี อาศัยอยู่กับย่าและแม่ในเมืองธนีดวิลล์ (Thneedville) เมืองในกำแพงที่ซึ่งไม่มีต้นไม้จริงๆ หรือดินจริงๆ อยู่เลย ทั้งเมืองสร้างขึ้นด้วยพลาสติก โลหะและสารสังเคราะห์อื่นๆ รวมทั้งอะไรที่เหมือนสนามหญ้าและต้นไม้สีเขียวด้วย 
เท็ดเป็นเด็กชายก่อนวัยรุ่นที่หลงรักออเดรย์เพื่อนสาววัยทีนที่ร่างกายเป็นสาวเต็มตัวไปก่อนแล้ว ออเดรย์ชอบวาดภาพต้นไม้บนกำแพงและให้สัญญาแก่เท็ดว่าจะให้จูบหากเท็ดสามารถหาต้นไม้จริงๆ มาให้ดูได้


เรื่องหาต้นไม้จริงๆ เป็นเรื่องเพ้อฝันและน่าหัวเราะ ทั้งนี้ ยังไม่นับว่าจะเอามาทำไมทั้งน่ายี้และน่าแหวะ ลองนึกถึงดินที่สกปรก ของเหลวที่ติดต้นหรือดอกมาด้วย ไหนจะโรคภูมิแพ้ ยิ่งไปกว่านั้นอากาศของเมืองธนีดวิลล์เป็นอากาศสังเคราะห์อยู่แล้ว ถ้าใครต้องการอากาศบริสุทธิ์พิเศษก็สามารถซื้ออากาศบรรจุขวดไว้สูดดม ผูกขาดและจัดจำหน่ายโดยบริษัทของท่านนายกเทศมนตรีโอแฮร์ได้ 
คุณย่าของเท็ดแนะนำให้เขาออกตามหาวันซ์เลอร์ (Once-ler) ที่ต้องเอาติดตัวไปด้วยคือเงินเหรียญ 15 เซ็นต์ ตะปู และโคตรหอยทากเก่าแก่หงำเหงอะ เท็ดได้ของกำนัลทั้งสามแล้วเดินทางออกนอกกำแพงเมืองเข้าสู่ดินแดนที่รกร้างว่างเปล่ามีแต่เนินเขาและพื้นราบสุดลูกหูลูกตาที่ไม่มีอะไรเลย ไปพบวันซ์เลอร์ซึ่งขังตัวเองอยู่บนบ้านทรงสูงปรี๊ดประหนึ่งหอคอย
แล้ววันซ์เลอร์ก็เล่าเรื่องในอดีตที่เขาเคยทำผิดพลาดให้เท็ดฟัง


วันซ์เลอร์เดินทางมาถึงดินแดนที่มีต้นทรัฟฟูลาสีสดใสขึ้นอยู่ทั่วไปอย่างอุดมสมบูรณ์ เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์สามชนิดอย่างมีความสุขคือ หมี นก และปลา นั่นคือสัตว์บก สัตว์น้ำ และสัตว์ปีก 
วันซ์เลอร์โค่นต้นทรัฟฟูลาต้นแรกลงเพื่อนำใบสีสวยงามมาทอเป็นธนีด พลันที่ต้นทรัฟฟูลาต้นแรกถูกตัดเหลือแต่ตอ ตัวสีส้มหนวดเฟิ้มชื่อลอแรกซ์ก็ปรากฏตัวเพื่อพูดในนามของต้นไม้เหตุเพราะต้นไม้พูดไม่ได้ และขอคำสัญญาว่าวันซ์เลอร์จะไม่ตัดต้นไม้อีก ซึ่งวันซ์เลอร์ก็ตกลง 

แต่ธนีดขายดี ชาวเมืองนิยมและฮิต ใครไม่มีไม่ใช้ธนีดเป็นได้ตกเทรนด์ขายขี้หน้าตาย ครอบครัวของวันซ์เลอร์ตามมาถึงที่และเริ่มโค่นต้นทรัฟฟูลาเพื่อขยายกิจการ 
จากการผลิตในครัวเรือนกลายเป็นธุรกิจข้ามชาติ บริษัทของวันซ์เลอร์เจริญรุ่งเรืองสวนทางกับจำนวนต้นทรัฟฟูลาที่ลดลงเรื่อยๆ พื้นดินเน่าเสีย อากาศและน้ำเป็นพิษ สัตว์ป่าทั้งสามล้มป่วยไม่มีที่อยู่ แล้ววันซ์เลอร์ก็สร้างเมืองธนีดวิลล์ 
ถึงตอนนี้เขาลืมสัญญาที่เคยให้ไว้แก่ลอแรกซ์หมดสิ้นไปนานแล้ว

เมื่อป่าหมด ทุกคนก็ตีจาก เวลานั้นคนงานคนหนึ่งเห็นโอกาสของธุรกิจใหม่นั่นคือขายอากาศบริสุทธิ์แทนป่าไม้ที่หมดไป อันเป็นจุดเริ่มต้นของบริษัทโอแฮร์ที่ยึดเมืองธนีดวิลล์ได้ในที่สุด 
ลอแรกซ์พาสัตว์ป่าอพยพหนีไป ทิ้งไว้แต่อักษรสลักบนก้อนหินว่า "เว้นเสียแต่ว่า"


หนังการ์ตูนมีเนื้อเรื่องแตกต่างจากหนังสือพอสมควรโดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นการเปิดเผยตัวตนของวันซ์เลอร์ 
อันที่จริง จะเป็นการไม่ยุติธรรมเท่าไรนักหากเปรียบหนังกับหนังสือ เพราะหนังสือของ ดร.เซอูซเป็นหนังสือเด็กที่ส่งข่าวสารให้แก่เด็กด้วยภาพและคำที่สละสลวยเพื่อสร้างภาพและคำในสมองของเด็กอย่างมีจังหวะจะโคนเป็นเลิศ จนมั่นใจได้ว่าไม่สามารถทำเป็นหนังได้ เมื่อกลายเป็นหนังจึงควรดูเพียงว่าหนังจะบอกอะไร หนังการ์ตูนเรื่องนี้บอกเรื่องพิษภัยของการตัดไม้ทำลายป่าได้ดีที่สุดเรื่องหนึ่ง

เมื่อทำลายป่า สัตว์ป่าสามชนิดก็หมดไป ดิน น้ำ และอากาศ เป็นพิษ คนเราต้องสร้างเมืองโลหะและพลาสติกเพื่ออยู่อาศัยและปิดล้อมตนเองไว้หลังกำแพงใหญ่ แม้แต่อากาศที่เคยเหลือเฟือก็ต้องซื้อหา (เหมือนที่ห้าสิบปีก่อน ไม่มีใครนึกภาพอนาคตที่น้ำสะอาดต้องบรรจุขวดขายได้เลย)
ที่แย่ของแย่ที่สุดคือจิตวิญญาณของคนที่หายไป ไม่เคยมีใครเห็นดิน ชาวเมืองรู้สึกว่าธรรมชาติเป็นเรื่องสกปรก และไม่มีใครต้องการต้นไม้อีกแล้ว 
นั่นทำให้การต่อสู้ระหว่างเท็ดและโอแฮร์ในตอนท้ายดุเดือดคุ้มค่าดูมาก (เมื่อเทียบกับมาตรฐานของเนื้อหาในการ์ตูนทั่วไป)

อักษรจารึกที่ลอแรกซ์ทิ้งไว้หมายถึง 'เว้นเสียแต่ว่าจะมีคนแคร์' คือเว้นเสียแต่ว่าจะมีคนแคร์ต้นไม้หรือป่าไม้ นั่นทำให้ผมนึกถึงการตัดต้นไม้ใหญ่เพื่อสร้างตึกสูงหรือขยายถนนซึ่งเกิดขึ้นทุกปีรอบบ้านหรือสำนักงานใดๆ และนึกถึงภูเขาลูกแล้วลูกเล่าสุดลูกหูลูกตาที่เคยขับรถผ่านแล้วพบว่าไม่มีต้นไม้ใหญ่ในสายตาให้เห็นเลย เรื่องแบบนี้จะแก้ได้ต่อเมื่อ "เว้นเสียแต่ว่าจะมีคนแคร์" ความยากอยู่ที่ว่าคนที่ว่าแปลว่าอะไร ดูในการ์ตูนนั้นง่าย 
ในโลกแห่งความจริงคงมิใช่หมายถึงคนคนเดียวอย่างแน่นอน



ย้อนไปยี่สิบปี หนังป่าไม้อีกเรื่องคือ FernGully : The Last Rainforest ปี 1992 เล่าเรื่องการตัดไม้ทำลายป่าด้วยโทนเรื่องที่ต่างกันออกไป เป็นหนังการ์ตูนที่สนุกและคุ้มค่าการดู
ย้อนกลับมาประเทศไทยปี 2012 อีกครั้ง การ์ตูนไทยสามมิติ เอกโค่ จิ๋วก้องโลก (Echo Planet) โดยกันตนาและคมภิญญ์ เข็มกำเนิด เล่าเรื่องเด็กชาวกะเหรี่ยงหน่อวาและจ่อเป ร่วมมือกับ แซม ลูกชายประธานาธิบดีแห่งแคปิตัลสเตทช่วยกันยับยั้งมหันตภัยโลกร้อน
นี่คือหนังการ์ตูนสิ่งแวดล้อม 3 เรื่องที่เหมาะมากสำหรับให้นักเรียนได้ดูและศึกษาเพื่อสร้างแรงบันดาลใจและกระตุ้นความใฝ่รู้เรื่องป่าไม้และโลกร้อน ซึ่งเป็นหนึ่งในเป้าหมายสำคัญของการศึกษาในศตวรรษที่ 21

การศึกษาที่ดีไม่ควรเริ่มในห้องเรียนแต่ให้เริ่มที่ความเป็นจริงของชีวิตนอกห้องเรียน ด้วยการกำหนดเป้าหมายของการเรียนรู้ให้ชัดเจนว่าในเด็กแต่ละช่วงชั้นเราอยากให้รู้อะไรเกี่ยวกับเรื่องป่าไม้ สิ่งแวดล้อม และโลกร้อน จากนั้นจึงให้นักเรียนสร้างโครงงานที่สามารถบูรณาการกลุ่มสาระวิชาทั้งหมด ได้แก่ คณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา ภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ เศรษฐกิจ สุขภาพ ความเป็นพลเมือง และสิ่งแวดล้อมในโครงงานนั้น โดยยึดหลักว่าเด็กเรียนรู้ได้เองโดยไม่ต้องสอน
เหมือนเท็ดที่เริ่มเรียนรู้ด้วยแรงจูงใจที่อยากจูบสาว แต่โครงงานที่ย่าและวันซ์เลอร์มอบให้นั้นน่าสนใจมากเพราะเป็นโครงงานของชีวิตจริง นั่นทำให้เท็ดใฝ่เรียนรู้ เทียวกลับมาพบวันซ์เลอร์แม้พบการขัดขวางจากโอแฮร์ และมุ่งมั่นที่จะรู้เรื่องทั้งหมดโดยมีแรงผลักดันคือความอยากรู้ มิใช่การจูบอีกต่อไป


วิธีเรียนรู้ของเท็ดคือโครงร่างของการศึกษาสมัยใหม่


++

ป่าผี ว่าด้วยจิตวิทยาของความกลัว(ผี)
โดย นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์  คอลัมน์ การ์ตูนที่รัก
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1679 หน้า 60


พูดถึงหนังไทย หนังผีเป็นตระกูลสำคัญตระกูลหนึ่ง
พูดถึงการ์ตูนไทย การ์ตูนผีก็เป็นตระกูลสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มที่เรียกว่าการ์ตูนเล่มละบาท 

ป่าผี เป็นผลงานของ A-best Limlamai (อเบศ ลิ้มละมัย) กลุ่มไทคอมิค วิบูลย์กิจ เล่ม 1 พิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2546 เป็นหนึ่งในผลงานของไทคอมิคที่ตีพิมพ์ในรูปเล่มขนาดใหญ่กว่าพ็อกเก็ตบุ๊ก มิใช่การ์ตูนเล่มละบาท ย่อมถูกคาดหวังให้เขียนได้ดีกว่า
จุดเด่นของป่าผีคือการผูกเรื่องในตอนต้นที่ปูพื้นไว้หลายๆ เรื่องพร้อมๆ กันรอเวลาสะสาง ลายเส้นทำได้ดีเมื่อวาดรูปผี พอใช้ได้เมื่อวาดรูปคน ควรปรับปรุงเมื่อวาดรูปหญิงสาว 
ส่วนที่การ์ตูนที่รักชอบคือความเชื่อเรื่องผีแบบไทยๆ ที่แทรกเข้ามาเป็นระยะๆ


เล่ม 1 เปิดฉากแรกกองกำลังไม่ปรากฏนามสองฝ่ายสาดปืนกลใส่กันอย่างดุเดือดในป่าแห่งหนึ่ง ก่อนที่จะพบว่าสถานที่แห่งนี้คือป่าผี จากนั้นเป็นฉากรถคว่ำตายหมู่ก่อนที่จะตัดมาที่ฉากเปิดตัวพระเอกชื่อ ก้า นักศึกษารุ่นพี่ของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง  
ก้าเป็นคนชอบดูหนัง เป็นเพื่อนกับก๊อบเจ้าของแผงหนังสือที่ก้าซื้อนิตยสารหนังอ่านเป็นประจำ เช้าวันนั้นก้าได้นิตยสารเล่มใหม่เดินออกจากร้านแล้วเห็นเงาของเพื่อนสนิทวัยเด็กชื่อ "เครา" หายแว็บไปกับตา รถคันหนึ่งก็พุ่งเข้าใส่ร้านของก๊อบแหลกเหลว
ฉากต่อมา ก้าช่วยชีวิตเด็กชายคนหนึ่งรอดจากการถูกรถชน เขาสังเกตเห็นร่องรอยของอุบัติเหตุถึงตายหลายครั้งที่โคนต้นไม้ซึ่งมีใครบางคนมาจุดธูปเซ่นไหว้
หลังจากนั้น จึงเป็นฉากสำคัญคือรับน้องในบ้านผีสิง รุ่นน้องที่ฝ่าฝืนกฎจำนวนหนึ่งถูกทำโทษให้เดินเข้าไปในบ้านผีสิงหลังหนึ่งทีละคน

ฉากนี้เป็นเช่นเดียวกับหนังไทยตระกูลหนังผีทั่วไปนั่นคือน่ากลัว ความน่ากลัวเกิดจากเงาของผีที่ปรากฏให้เห็นแต่ไม่ชัด แม้เมื่อปรากฏตัวในชุดไทยก็รู้สึกได้ว่าน่ากลัวไม่ชวนมอง 
ต่างจากฝูงผีป่าตอนต้นเรื่องและผีอีกหลายตนนับจากนี้ที่ดูโจ่งแจ้งแบบผีหนังฝรั่งแม้ว่าจะมีลายเส้นสวยงามแต่ก็ลดทอนความน่ากลัว 
เป็นความจริงที่ว่าผีน่ากลัวเพราะมันอยู่ในใจเรา ใจเราสามารถสร้างภาพ เสียง และบรรยากาศเพื่อหลอกหลอนตัวเองได้น่ากลัวมากเสมอ ถ้าเหตุการณ์เกิดขึ้นในสภาพแวดล้อมแบบไทยๆ แล้วจะยิ่งน่ากลัวเป็นพิเศษ ในทางตรงข้ามผีต่างชาติมักไม่น่ากลัว ที่เห็นในหนังผีทั่วไปยามเห็นตัวชัดๆ ยิ่งไม่น่ากลัว การ์ตูนมิใช่ข้อยกเว้น วาดชัดไม่น่ากลัว วาดให้ไม่เห็นแต่รู้สึกได้จึงน่ากลัว


เล่มสอง รุ่นน้องคนหนึ่งหายไปในบ้านผีสิง ก้าอาสาเข้าไปตาม ก้าพารุ่นน้องออกมาได้สำเร็จโดยไม่รู้ว่าระหว่างนั้นมีสายตาหลายคู่จากอีกภพหนึ่งจับตาดูเขาอยู่ตลอดเวลา พอก้าเดินออกจากบ้าน ผีไทยโบราณห้าตนก็ถูกปลดพันธะลอยตามก้าออกมา 
ก้าและเพื่อนผู้ชายสองคนชวน "วา" นักศึกษาสาวสวยและเพื่อนสาวร่วมมหาวิทยาลัยอีกคนหนึ่งไปเที่ยวบ้านก้าที่ต่างจังหวัด ตามท้องเรื่องว่าคือริมแม่น้ำมูล พวกเขาขับรถออกจากกรุงเทพมหานครในตอนกลางคืน ที่ติดหลังคารถไปด้วยคือผีไทยโบราณห้าตนจากบ้านผีสิงหลังนั้น
ผีไทยห้าตนเป็นชายร่างกำยำหนึ่ง ชายชราหนึ่ง หญิงชราหนึ่ง และหญิงสาวเปลือยอกสองนาง ระหว่างที่รถของก้าฝ่าความมืดไปตามถนน มีผีเร่ร่อนมากมายล่องลอยตามรถของก้าไปด้วย ขณะเดียวกันบนท้องฟ้ายามค่ำคืนปรากฏร่างของผีเสื้อคลุมลอยตามรถอยู่ห่างๆ โดยที่นักอ่านยังไม่รู้สาเหตุแน่ชัด ผีเสื้อคลุมร่อนลงมาต่อสู้กับผีชายไทยร่างกำยำนั้นอย่างดุเดือดเป็นเหตุให้ปั๊มน้ำมันที่รถของก้าแวะซ่อมหม้อน้ำถึงกับพินาศไปเป็นแถบๆ 
จึงว่าเป็นการ์ตูนผีที่ดูเหมือนจะมีการผสมผสานวัฒนธรรมระหว่างหนังผีข้ามชาติพอสมควร

ผีเสื้อคลุมและผีไทยร่างกำยำต่อสู้กันข้ามมาถึงเล่มสามผีเสื้อคลุมจึงล่าถอยจากไป หมอผีวัยกลางคนคนหนึ่งเห็นเหตุการณ์ทั้งหมดรวมทั้งมองเห็นฝูงผีที่ติดตามรถของก้าไปเรื่อยๆ จึงรู้ว่าก้าเป็นคนมีบุญบารมีพิเศษ 
บุญบารมีของก้าสามารถดึงดูดวิญญาณเร่ร่อนให้ติดตามเขาไปที่แห่งหนึ่ง ที่แห่งนั้นจะช่วยให้วิญญาณไปผุดไปเกิด หากไม่มีก้าผ่านมา วิญญาณทั้งหลายต้องรอให้ญาติทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้จึงจะได้ไปผุดไปเกิดซึ่งก็ไม่รู้ว่าเมื่อไร

ไม่ทราบว่าปัจจุบันธรรมเนียมไปวัดทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ตายลดน้อยถอยลงไปมากเพียงไรแล้ว ทุกปีใหม่เมืองตามธรรมเนียมล้านนาชาวบ้านจะตานขันข้าวที่วัดตอนเช้าวันที่ 15 เมษายนเพื่อทำบุญให้แก่ผู้ตาย จะมีพระออกมานั่งรอรับของทำบุญและสวดอุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้วายชนม์ตามกระดาษที่ญาติได้เขียนชื่อนามสกุลผู้ตายให้พระอ่าน ในกรณีเช่นนี้พระทำหน้าที่คล้ายนายแพทย์ที่ออกตรวจรักษาผู้ป่วยตามโรงพยาบาล ขณะที่นายแพทย์นั่งตรวจรักษาโรคทางกายแต่พระออกมานั่งเพื่อช่วยเหลือจิตวิญญาณของชาวบ้าน และช่วยเหลือวิญญาณของผู้ตายด้วย 
พระภิกษุในพุทธศาสนามีหน้าที่สืบทอดพระพุทธศาสนาก็จริง แม้ว่าภารกิจด้านจิตวิญญาณและวิญญาณนี้จะไม่ใช่แก่นของพุทธ แต่ก็มีความสำคัญต่อชาวบ้านมากมาย หากพระภิกษุไม่ออกมานั่งตรวจรักษาจิตวิญญาณเช่นนี้มีหวังได้ใช้จิตแพทย์ออกมานั่งตรวจเพิ่มอีกหลายคน

ปลายเล่มสามต้นเล่มสี่เปิดตัวชายฉกรรจ์กลุ่มหนึ่งกินเหล้าเคล้านารีในร้านคาราโอเกะข้างถนน เมื่อลูกสมุนคนหนึ่งดื่มได้ที่แล้วออกจากร้านไปยิงกระต่ายไม่ดูที่ทาง ผีตนหนึ่งเกาะหลังเขากลับเข้ามาด้วย ชายฉกรรจ์ที่เป็นหัวหน้าสามารถมองเห็นผีและขับไล่ไปได้พร้อมทั้งกล่าวเตือนว่าต่อไปจะไปยืนปัสสาวะที่ไหนให้ดูด้วย


เล่มสี่ ผีเสื้อคลุมยังคงติดตามก้าไปห่างๆ พร้อมทั้งกำจัดผีบางพวกรายทาง ในขณะเดียวกันดูเหมือนมันจะสะสมบริวารเป็นเหล่าผีตายโหงตามถนนจุดต่างๆ เพื่อนำไปสู่จุดนัดพบที่ปลายทางของก้า ในที่สุดก้าก็เดินทางถึงบ้าน ได้พบ "เครา" เพื่อนที่เขาคิดว่า "เห็น" ที่กรุงเทพฯ ตอนต้นเรื่อง ได้พบแม่ และไม่รู้ว่ามีผีจำนวนหนึ่งยืนดูเขากลับเข้าบ้าน 
เรื่องข้อห้ามปัสสาวะใต้ต้นไม้ใหญ่ไม่ทราบว่าพ่อแม่สมัยใหม่ยังสอนลูกหลานกันอยู่หรือเปล่า เรื่องขับรถผ่านศาลเพียงตาที่ศักดิ์สิทธิ์หรือเฮี้ยนให้ขับรถช้าลงแล้วบีบแตรทักทายไม่ทราบว่ายังทำกันมากน้อยเพียงไร ดูด้วยสายตาก็เชื่อว่าลดน้อยถอยลงไปกว่าเมื่อแต่ก่อนมากแล้ว ข้อห้ามและข้อควรปฏิบัติเหล่านี้เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม 
เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของยุคสมัยที่ผียังมีหน้าที่เป็นผู้พิทักษ์กติกา


เล่มห้า ก้าและวาพบกับชายหาปลาซึ่งตายไปแล้ว
เล่มหก ก้าและเพื่อนๆ ไปเที่ยวค้างคืนริมแม่น้ำโดยหารู้ไม่ว่ามีฝูงผีร้ายเรียงรายอยู่รอบข้าง ยังดีที่มีควายธนูของหมอผีวัยกลางคนคนนั้นเข้ามาช่วยไว้ได้
เล่มเจ็ด ก้าและเพื่อนๆ ไปเที่ยวน้ำตกโดยไม่รู้ตัวว่าฝูงผีร้ายกำลังรุมล้อมเข้ามาอีก ครั้งนี้เป็นผีสาวเสือสมิงที่ติดตามมาจากบ้านผีสิงในเล่มหนึ่งออกมาช่วยพวกเขาไว้ได้

ดูเหมือนก้าไปไหนจะมีผีร้ายตามอยู่ตลอดเวลา ที่ตามมาห่างๆ คือผีเสื้อคลุมซึ่งอาจจะเป็นยมทูต ผีไทยโบราณห้าตนจากบ้านผีสิงคอยปกปักรักษาเขา ในเวลาเดียวกันขบวนการค้ายาเสพติดที่มีหัวหน้าแก๊งเป็นหมอผีเช่นกันก็เดินทางมาถึง "ป่าผี" แห่งนี้
ก็ต้องยอมรับว่าโครงเรื่องซับซ้อนกว่าการ์ตูนผีทั่วไป


ผีคืออะไร ผีคือเรื่องชั่วในใจเราเองที่เรายอมรับไม่ได้ กลไกทางจิตจึงป้องกันตัวด้วยการ "โยน" เรื่องชั่วๆ นั้นออกไปนอกร่างกายและจิตใจ แต่เพราะว่าเรื่องชั่วๆ ที่ว่าก็ไม่ชัดเจนนักว่าคืออะไร มันจึงมักปรากฏเป็นผีที่เห็นเพียงเงาแว็บไปแว็บมา หรือเป็นใจเราที่ระแวดระวังไปก่อน อะไรที่อยู่ใต้เตียง อะไรอยู่ในตู้เสื้อผ้า อะไรรอเราอยู่ในกระจกเงา ผีเหล่านี้น่ากลัวเพราะไม่ชัดนั้นเอง ในอีกแง่หนึ่งหากเรื่องชั่วร้ายนั้นชัด ผีก็มักปรากฏตัวชัด ซึ่งแม้จะน่ากลัวแต่รับรองได้ว่าน่ากลัวน้อยกว่า

ป่าผีมีทั้งหมด 34 เล่มจบไปแล้ว



.

2555-10-30

หนุ่มเมืองจันท์: ลูกผู้ชายชื่อ “อรุณ”

.

ลูกผู้ชายชื่อ “อรุณ”
โดย หนุ่มเมืองจันท์ boycitychan@matichon.co.th www.facebook/boycitychanFC คอลัมน์ ฟาสต์ฟู้ดธุรกิจ
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 33 ฉบับที่ 1680 หน้า 24 


ขอเล่าเรื่อง พี่อรุณ วัชระสวัสดิ์ อีกครั้งได้ไหมครับ
ผมเพิ่งขึ้นเวทีแนะนำหนังสือ "อรุณตวัดการเมือง" ในงานมหกรรมหนังสือแห่งชาติ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา 
บนเวที นอกจากผมและพี่อรุณแล้ว ยังมี "ก้า" อริณธรณ์ นักร้อง นักเขียน และนักโฆษณาขึ้นเวทีด้วย 

คำแรกที่ผมถาม "ก้า" ก็คือ ขึ้นมาบนเวทีในฐานะอะไร 
"แฟนการ์ตูนพี่อรุณครับ" 
"ก้า" เป็นเพื่อนรุ่นพี่ของ "น้ำแข็ง" ลูกสาวพี่อรุณ 
แต่เรียกพ่อของเพื่อนว่า "พี่" มานานแล้ว


"น้ำแข็ง" เป็นนักวาดการ์ตูนและนักออกแบบปก เธอเป็นคนออกแบบปกซีดีเพลงของวงบาสเก็ตแบนด์ของ "ก้า" และ "นะ"
พี่อรุณเคยพูดเล่นๆ ว่า อุตส่าห์ส่งลูกไปเรียนเมืองนอก นึกว่าอนาคตจะไปไกล จะได้ดีกว่าพ่อ 
สุดท้ายก็กลายเป็น "ลูกไม้" หล่นใต้ต้น  
พี่อรุณเป็นคนมีอารมณ์ขัน แต่ผมไม่นึกว่าจะมากมายขนาดนี้ 
สัมภาษณ์พี่อรุณมา 3 ครั้ง หัวเราะกลิ้งทั้ง 3 ครั้ง 
คนอะไรก็ไม่รู้ เล่าซ้ำยังขำเลย

หลังกิจกรรมบนเวทีจบ "ก้า" กระซิบกับผมว่าเขาไม่คิดว่าพี่อรุณจะขำขนาดนี้ 
ไม่แปลกหรอกครับที่การ์ตูนการเมืองของพี่อรุณ ดูทีไรก็หัวเราะได้ทุกที  
หนังสือ "อรุณตวัดการเมือง" เป็นหนังสือรวบรวมผลงานการ์ตูนของพี่อรุณใน "มติชนสุดสัปดาห์" 

หลายคนคิดว่า "การ์ตูนการเมือง" จะเหมือนกับคอลัมน์วิจารณ์การเมือง 
คือ ใช้แล้วทิ้ง 
เพราะเป็นเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับเหตุบ้านการเมืองในช่วงนั้น
ผ่านไปแล้วก็ผ่านไปเลย
ผมขอเถียง...

หนังสือ "อรุณตวัดการเมือง" เป็นเหมือนหนังสือประวัติศาสตร์ที่บันทึกการเมืองไทยเป็นลายเส้น  
และ "อารมณ์ขัน" 
หรือบางเรื่องอ่านแล้วขำมาก 
เช่นเรื่อง 3จี 
ในหนังสือ "อรุณตวัดการเมือง" หน้า 80 พี่อรุณเขียนการ์ตูนล้อเรื่องการประมูล 3จี ที่ล้มไปในปี 2553 
เขาแบ่งเรื่องราวเป็น 2 ช่อง 
ช่องแรก "บ้านอื่นเมืองอื่น" เป็นรูปหน้าคน 2 คน
คนแรก อยู่ในช่วง You on 3G เป็นภาพหน้าคนที่เจอลมแรง เหมือนนั่งมอเตอร์ไซค์ด้วยความเร็วพอประมาณ 
คนที่สอง You on 4G หน้าของเขาเหมือนเจอลมแรงจัด หนังติดกระดูก ผมปลิว
เป็นการเปรียบเทียบให้รู้ว่า 4G นั้นเร็วกว่า 3G ขนาดไหน


แต่อีกช่องหนึ่งเขียนว่า "บ้านเราเมืองเรา" 
เป็นภาพคน 3 คน อยู่ในช่วง Thai on 2G /Thai on 3G /Thai on 4G 
ลมแรงเหมือนกันครับ 
คนแรก ยุค 2G หน้าตึง ผมปลิว 
คนที่สอง ยุค 3G หน้าแก่งั่ก 
คนที่สาม ยุค 4G เป็นรูปโครงกระดูก 
คือ รอ 3G จนแก่งั่ก  
กว่าจะถึง 4G ก็เหลือแต่กระดูกแล้ว  
โหย...คิดได้ไง



ในมุมของคนเขียนหนังสือ ผมศึกษางานการ์ตูนของพี่อรุณใน 2 มุม 
อีกมุมหนึ่ง คือ การทำเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่าย 
เวลาเขียนหนังสือเล่าเรื่องยากๆ ผมจะใช้การเปรียบเทียบกับเรื่องใกล้ตัวเพื่อให้เข้าใจง่าย 
ผมศึกษาพี่อรุณในมุมนี้

การใช้ภาพของสิ่งหนึ่งไปเปรียบเทียบกับเรื่องการเมือง 
พี่อรุณทำอย่างไร 
อย่างกรณี 98 ศพ ที่เป็น "บ่วงกรรม" ของ คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ  
พี่อรุณใช้ "เตียงนอน" เป็นคำอธิบาย  
เป็นภาพ "อภิสิทธิ์" นอนอยู่บนเตียงที่มีฟูกซ้อนอยู่หลายชั้น 
แต่มีหัวกะโหลกที่เขียนว่า 98 ศพ อยู่ใต้ฟูก
ฟูกจึงไม่เรียบ นอนไม่สบาย 
ภาพๆ เดียว ชัดเจนเลย



เคยถามประวัติวัยเด็กของพี่อรุณ  
พี่ท่านวาดรูปเก่งมาตั้งแต่เด็ก ตอนเรียนประถม พอถึงวิชาวาดเขียน เพื่อนๆ จะขอให้พี่อรุณวาดให้ 
เชื่อไหมครับภาพที่ส่งครูทั้งห้อง เป็นฝีมือของ ด.ช.อรุณ วัชระสวัสดิ์ ทั้งหมด 
แต่ความเก่งด้านวิชาวาดเขียน เป็นปฏิภาคผกผันกับวิชาภาษาอังกฤษ 
ตอนเรียนชั้นมัธยม ครูภาษาอังกฤษถึงขั้นเรียกเขามาคุยกันตัวต่อตัว 

ครูบอกว่าพี่อรุณคงจะเอาดีด้านศิลปะอย่างแน่นอน ภาษาอังกฤษคงไม่ได้ใช้  
"ครูจะช่วยเธอ" 
แล้วคุณครูที่น่ารักก็บอกว่าถ้าพี่อรุณสะกดคำว่า Art ที่แปลว่าศิลปะได้ 
"ครูจะให้เธอผ่านวิชาภาษาอังกฤษ" 
น่ารักมาก

พี่อรุณนั้นแม้จะชอบด้านศิลปะแค่ไหน แต่เขาก็รู้จักงานศิลปะในภาคภาษาไทยเพียงอย่างเดียว 
ครับ พี่อรุณสะกดคำว่า Art ไม่ได้ 
แต่สุดท้าย ครูก็เมตตายอมให้พี่อรุณสอบผ่านวิชาภาษาอังกฤษ

ในการสัมภาษณ์ครั้งหนึ่ง ผมถามพี่อรุณว่าเริ่มต้นวาดรูปตอนไหน 
"ให้ตอบจริงหรือเปล่า" 
ผมพยักหน้า 
พี่อรุณเล่าว่าตอนเด็กบ้านอยู่ใกล้ทะเล เขาเห็นหาดทรายเม็ดละเอียดเหมือนกับกระดาษ 
ทุกครั้งที่เกิดอาการน้ำในกระเพาะปัสสาวะต้องการระบายออก 
ด.ช.อรุณจะตรงไปที่ชายหาด 
และเริ่มวาดภาพสีน้ำ 
คือ ใช้น้ำวาดรูป

ถึงตอนนี้ผมหัวเราะกลิ้งเลย เพราะเป็นอารมณ์ซุกซนที่เด็กผู้ชายแทบทุกคนเคยเล่น 
มีคนเล่าให้ฟังว่ามีเมืองหนึ่งในประเทศเม็กซิโก มีปัญหาห้องน้ำสาธารณะของผู้ชายสกปรกมาก 
เพราะปฏิบัติการฉีดน้ำมักกระฉอกออกมาข้างนอก 
เทศบาลพยายามหาวิธีการแก้ไข

จะปรับเปลี่ยนรูปแบบโถปัสสาวะเท่าไรก็แก้ไม่ได้  
จนมีเด็กผู้ชายคนหนึ่งเสนอว่าให้หาจุดโฟกัสในโถที่จะไม่ทำให้เกิดอาการกระฉอก 
แล้วเอารูป "แมลงวัน" ติดลงไป  
เล่ามาถึงตรงนี้ ผู้ชายทุกคนคงนึกออก 
อารมณ์ซุกซนของผู้ชายจะเริ่มทำงาน 
ทุกครั้งที่เข้าประจำการที่โถ เขาจะเล็งไปที่แมลงวันตัวนั้น 
เพียงแค่นี้ปัญหาห้องน้ำสกปรกก็หายไป
เพราะแมลงวันตัวเดียว


ย้อนกลับไปเรื่องพี่อรุณ เขาเล่าเรื่องปฏิบัติการใช้น้ำวาดรูปที่หาดทรายว่า มีปัญหาอยู่ 2 เรื่อง 
เรื่องแรก วาดหัว ตัว และมือ เสร็จแล้ว 
กำลังจะวาด "ขา" 
"สีน้ำ" หมด

เรื่องที่สอง วาดภาพ หัว ตัว มือ และขาเสร็จ 
"รู้ไหมว่าอวัยวะส่วนไหนวาดยากที่สุด" พี่อรุณถาม 
ผมส่ายหน้า
"ดวงตา"
"ทำไมครับ"

พี่อรุณยิ้มแล้วอธิบายแบบ "ผู้ชาย" ย่อมเข้าใจ "ผู้ชาย" ด้วยกัน
"มันต้องขยักก่อนยิง" 
555 แค่นึกภาพก็ขำกลิ้งแล้ว


แต่หลังจากการคุยครั้งนั้น ผมเริ่มรู้สึกสงสัยอะไรบางประการ 
กลับมาที่ทำงาน รีบหยิบหนังสือ "อรุณตวัดการเมือง" มาดูอีกครั้งอย่างละเอียด 
ไม่แน่ใจว่าที่พี่อรุณเคยเล่าว่าเขาสเก็ตภาพด้วยปากกาแล้วสแกนลงเครื่องคอมพิวเตอร์ก่อน
จากนั้นค่อยลงสีด้วยโปรแกรมโฟโต้ช็อป

พี่อรุณทำแบบนั้นจริงๆ 
หรือว่า....




.

ปริญญา: “นักผังเมือง!”ที่กรมทางหลวง

.
บทความเพิ่ม - ฮือฮา “บ้านพื้นที่แคบที่สุดของโลก” ท้าทาย"วิถีอยู่อาศัย“ไม่จำเป็นต้องใหญ่”

___________________________________________________________________________________________________

นักผังเมืองที่กรมทางหลวง
โดย ปริญญา ตรีน้อยใส คอลัมน์ มองบ้านมองเมือง
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1679 หน้า 37


ในประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรมไทยนั้น เจ้าผู้ครองนครจะเป็นผู้กำหนดรูปแบบบ้านเมือง
เริ่มตั้งแต่การเลือกทำเลที่ไม่มีปัญหาน้ำป่าหลากทางภาคเหนือ ที่ไม่มีปัญหาน้ำท่วม (ส่วนที่เป็นชุมชน) ทางภาคกลาง ที่อยู่ใกล้แหล่งน้ำใหญ่ทางภาคอีสาน หรือที่ใกล้แม่น้ำลำคลองทางภาคกลาง จากนั้นก็จะกำหนดรูปแบบบ้านเมืองตามความเชื่อหรือคติต่างๆ หรือตามยุทธศาสตร์การป้องกันเมือง
อย่างกรุงเทพฯ ของเรา ศ.ม.ร.ว.แน่งน้อย ศักดิ์ศรี สรุปว่า มีลักษณะตรงตามตำราที่เรียกขานว่า นาคนาม คือตั้งตามทำเลที่ดอนตรงคุ้งแม่น้ำเจ้าพระยา ตำแหน่งพระบรมมหาราชวังอยู่ตรงศูนย์กลาง มีพระราชวังและวังอื่นๆ โอบล้อมทางทิศต่างๆ เหมือนกับการตั้งค่ายยามสู้ศึกสงคราม

เชียงใหม่และสุโขทัย มีผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมเหมือนกัน มีคูน้ำคันดินล้อมรอบเหมือนกัน
เชียงใหม่มีดอยสุเทพ ส่วนสุโขทัยมีเขาประทักษ์อยู่ทางทิศตะวันตกเหมือนกัน ประตูเมืองหลักจะอยู่ฝั่งตรงข้ามคือทางทิศตะวันออกเหมือนกัน
เชียงใหม่มีคลองแม่ข่าและแม่น้ำปิงไหลผ่าน แต่สุโขทัยนั้น มีคลองแม่รำพันและแม่น้ำยม รูปแบบเมืองอื่นๆ อาจไม่เป็นเหลี่ยมชัดเจนเหมือนสองเมืองที่กล่าวมา แต่ก็จะมีโครงร่างใกล้เคียงกัน ไม่ว่าจะเป็น แนวถนนสายหลัก ที่จะตัดผ่าเมืองไปยังศูนย์กลาง คือ วังและวัดหลวง
บริเวณนอกประตูเมืองที่เป็นทางสัญจรหลัก มักจะเป็นที่ตั้งถิ่นฐานของพ่อค้าต่างถิ่น ที่พัฒนาต่อเนื่อง จนกลายเป็นย่านการค้าในเวลาต่อมา
เมืองเก่าและย่านการค้านอกเมืองที่เกิดขึ้นมาภายหลัง ก็จะกลายเป็นจุดเริ่มต้นเมืองในปัจจุบัน



ครั้นเมื่อจำนวนประชากรเพิ่มขึ้น กิจการต่างๆ ทั้งอุตสาหกรรม คลังสินค้า สันทนาการและนันทนาการเพิ่มขึ้น จึงมีการวางผังเมืองรวมเพื่อเป็นกรอบสำหรับการจัดการจราจร ระบบสาธารณูปโภค และอื่นๆ โดยกำหนดประเภทการใช้ที่ดินต่างๆ อย่างชัดเจน เพื่อไม่ให้เกิดความสับสนวุ่นวาย 
อันเป็นที่มาของการกำหนดสีต่างๆ จนมีคนเข้าใจว่า ผังเมืองก็แค่การระบายสีพื้นที่ต่างๆ ให้ดูสวยงามเท่านั้น 

ส่วนการปลูกสร้างอาคาร และการใช้ประโยชน์ที่ดิน ยังทำได้ตามใจปรารถนาของเจ้าของที่ดินและพนักงานท้องถิ่น จึงเป็นที่มาของสภาพบ้านเมืองที่วุ่นวายในทุกวันนี้ ประกอบกับเทศบาลท้องถิ่นมีงบประมาณและพนักงานจำกัด ไม่มีการก่อสร้างถนนใหม่ ไม่มีการจัดการจราจร จึงเป็นที่มาของสภาพบ้านเมืองที่ขัดข้องในทุกวันนี้ 
นอกจากปัญหาความสับสนวุ่นวายภายในเมืองแล้ว การสัญจรผ่านเมืองยังเพิ่มปัญหามากขึ้น
วิศวกรกรมทางหลวงจึงสร้างทางเลี่ยงเมืองหรือถนนวงแหวนอย่างที่เห็นทั่วไป


ในต่างประเทศ การก่อสร้างทางหลวง (แผ่นดิน) Highway หรือ Super Highway ที่เชื่อมต่อเมืองหรือภูมิภาคนั้น มักจะเป็นถนนแนวตรง มีเขตทางกว้าง เพื่อความสะดวกรวดเร็ว และปลอดภัย จึงไม่ให้มีการเชื่อมทาง โดยจะมีแนวรั้วกั้นตลอดเส้นทาง 
ส่วนทางหลวง (ชนบท) หรือ Local Road ที่เป็นทางเชื่อมระหว่างชุมชน จะเป็นการปรับจากทางเกวียนหรือถนนเล็กๆ ที่มีอยู่เดิม จึงยอมให้มีการเชื่อมทางหรือใช้ประโยชน์ตลอดสองฝั่งถนน 

แต่ในประเทศไทย วิศวกรกรทางหลวงคงเป็นคนเดียวกับวิศวกรทางหลวงชนบท จึงมิได้ห้ามเชื่อมทางหลวง อีกทั้งขยันให้ใบอนุญาตเชื่อมทางหลวง ส่งผลให้ทางเลี่ยงเมืองและถนนวงแหวน กลายเป็นพื้นที่ขยายตัวของเมือง ศูนย์การค้า ร้านวัสดุก่อสร้าง ร้านอาหาร โรงแรม โรงพยาบาล และอื่นๆ เกิดขึ้นตามยถากรรม โดยไม่มีกฎระเบียบใดมาควบคุม 
นำไปสู่ความวุ่นวายสับสนเหมือนภายในเมือง นำไปสู่ปัญหาจราจรคับคั่ง จนต้องมีทางเลี่ยงเมือง และถนนวงแหวน ที่สองสามสี่ไปเรื่อยๆ


การวางผังเมืองไม่รู้จบแบบนี้ ดูจะเป็นที่นิยมในบ้านเรา 
กรมทางหลวงก็มีเหตุเปิดโครงการของบประมาณใหม่ 
เอกชนก็มีอิสระที่จะขยายธุรกิจต่างๆ ได้ตามใจชอบ ส่วนประชาชน ต่างนิยมชมชอบถนนกว้างใหญ่ และใช้สอยตามร้านค้าและสถานบริการก็แค่บ่นกล่าวโทษคนอื่นๆ ในขณะที่ บ้านเมืองยังคงวุ่นวาย การจราจรยังคงติดขัดต่อไป
(ฮา)

จนมีคนกล่าวว่า ทุกวันนี้ หาใช่นักผังเมืองกรมโยธาธิการและผังเมืองกระทรวงมหาดไทย เป็นผู้วางผังเมือง 
แต่เป็นวิศวกรกรมทางหลวงแผ่นดิน กระทรวงคมนาคม (ฮา)



+++

ฮือฮา “บ้านพื้นที่แคบที่สุดของโลก” ท้าทาย"วิถีอยู่อาศัย“ไม่จำเป็นต้องใหญ่”
ในมติชน ออนไลน์ วันอาทิตย์ที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2555 เวลา 13:20:05 น.
ชมภาพ ที่ www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1351401742&grpid=&catid=06&subcatid=0600


สำนักข่าวต่างประเทศรายงานเมื่อวันที่ 28 ต.ค.ว่า นายจาคับ แซคเซสนี่ สถาปนิกโปแลนด์ได้เปิดเผย"บ้านแคบที่สุดของโลก"ซึ่งตั้งอยู่ในกรุงวอร์ซอร์ เมื่อเร็ว ๆ นี้ โดยบ้านหลังนี้ ซึ่งถุกสร้างบริเวณซอกระหว่างตึก ถูกสร้างเหมือนงานศิลปะ ชั้นล่างประกอบด้วยครัว ห้องน้ำ ห้องอาบน้ำ พื้นที่กินอาหาร และผู้เช่าสามารถเข้าถึงห้องนอนชั้นบนผ่านบันไดเหล็ก โดยนายจาคับ แซคเซสนี่ เผยว่า พื้นที่อาศัยที่แคบๆ  นี้ มีสิ่งพื้นฐานทุกอย่างที่ผู้เช่าต้องการ รวมทั้งครัว ห้องน้ำเล็ก พื้นที่ทำงานเล็ก ซึ่งสามารถเข้าไปได้ผ่านบันไดเหล็ก และว่า ไอเดียนี้ถูกคิดขึ้นเพื่อท้าทายหลักการว่า พื้นที่แคบ ๆ ไม่สามารถสร้างเป็นบ้านได้ และสามารถพิสูจน์ได้ว่า คนเราไม่จำเป็นต้องใช้พื้นที่มากมายในการอยู่อาศัย และเป็นสิ่งคุ้มค่าถ้าจะหาบ้านที่ถูกกว่า และมีพื้นที่เล็ก ๆ

รายงานระบุว่า บ้านดังกล่าวถึงขณะนี้ มีผู้ใช้บริการแล้ว ซึ่งเป็นนักเขียนชาวอิสราเอล ซึ่งเคยมีครอบครัวเป็นชาวยิวที่ถูกขังในค่ายกักกันในโปแลนด์ และบ้านดังกล่าวถูกสร้างในย่านชุมชนยิวใหญ่ที่สุดในยุโรปด้วย





.

ขยะนิวเคลียร์ : ระเบิดเวลาลูกใหญ่ (5;จบ) โดย อนุช อาภาภิรม

.

ขยะนิวเคลียร์ : ระเบิดเวลาลูกใหญ่ (จบ)
โดย อนุช อาภาภิรม  คอลัมน์ วิกฤติศตวรรษที่21
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 33 ฉบับที่ 1680 หน้า 39


โรงไฟฟ้านิวเคลียร์มีราคาแพง ใช้เทคโนโลยีสูง พบใช้กันมากในกลุ่มประเทศที่เป็นมหาอำนาจ เช่น สหรัฐ แคนาดา ฝรั่งเศส อังกฤษ เยอรมนี อิตาลี และญี่ปุ่น 
 

หรือไม่ก็เป็นประเทศที่มีการพัฒนาทางอุตสาหกรรมไปสูง เช่น ประเทศในกลุ่มยุโรปเหนือ และเกาหลีใต้ 
ที่เหลือเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจค่อนข้างใหญ่อยู่ในกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ มีจีน อินเดีย บราซิล เป็นต้น 

การมีราคาแพงของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์นั้นเกิดในทุกขั้นตอนตั้งแต่การก่อสร้าง การปฏิบัติการและบำรุงรักษา ไปจนถึงการกำจัดขยะนิวเคลียร์ที่มีพิษยาวนาน
การมีราคาแพงของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์นั้นที่สำคัญมาจากอันตรายกัมมันตภาพรังสี จากยูเรเนียม-235 ที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงนั้นเอง


กัมมันตภาพรังสี เป็นอนุภาคต่ำกว่าอะตอมที่พุ่งออกมาด้วยความเร็วสูง บางรังสีมีความเร็วใกล้แสงและมีอำนาจทะลุทะลวงสูง ทำลายเนื้อเยื่อ สามารถเข้าไปรวมตัวในต่อมและไขกระดูกถึงขั้นทำลายสารพันธุกรรมดีเอ็นเอ ทำให้เกิดการกลายพันธุ์ โรคมะเร็ง และโรคอื่นอีกมาก กัดกินชีวิตของผู้รับสารกัมมันตรังสีเป็นเวลายาวนาน และทุกข์ทรมาน

ในตอนจบนี้จะได้กล่าวถึงการมีราคาแพงของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์และปัญหาเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ใช้แล้ว และก็ควรกล่าวถึงบางประเด็นก่อน นั่นคือ ในการประเมินราคาและอันตรายของพลังงานนิวเคลียร์นั้น อาจแบ่งเป็น 2 กระแส  
กระแสหนึ่งมีลักษณะเอียงข้างพลังงานนิวเคลียร์ว่าจะสามารถแก้ไขปัญหาวิกฤติพลังงานของมนุษย์ ผู้ที่อยู่ในกลุ่มนี้ได้แก่รัฐบาลและนักวิชาการทั่วไป
อีกกระแสหนึ่งมาจากกลุ่มเคลื่อนไหวต่อต้านพลังงานนิวเคลียร์ มีหลายกลุ่มพวกด้วยกัน ที่เห็นว่าพลังงานนิวเคลียร์มีอันตรายมาก ได้ไม่คุ้มเสีย

ในที่นี้จะประมวลสิ่งที่ทั้ง 2 ฝ่ายพอเห็นพ้องกัน และใช้บางรายงานได้แก่ จากสภาคองเกรสของสหรัฐ ผู้อ่านจำต้องตัดสินใจเองว่าจะเข้าข้างไหน หรือยังไม่ตัดสินใจ



โรงไฟฟ้านิวเคลียร์มีราคาแพงอย่างไร

ที่เรียกว่าราคาแพง เป็นการคิดในเชิงเศรษฐศาสตร์และธุรกิจใน 3 เรื่องใหญ่ เรื่องแรก ได้แก่ ค่าการก่อสร้างแพง ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายก้อนใหญ่ที่สุด บางแห่งประมาณว่าสูงถึงราวร้อยละ 70-80 ของราคาไฟฟ้าที่ผลิตขึ้น มีความเห็นพ้องกันว่า ราคาก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ยิ่งแพงขึ้นเรื่อยๆ 
การที่ค่าก่อสร้างแพงทำให้การก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ส่วนใหญ่ในโลกต้องได้รับการอุดหนุนช่วยเหลือจากรัฐบาลในทางใดทางหนึ่ง
นอกจากนี้ ระยะเวลาก่อสร้างก็ยาวนานราว 5 ปีหรือกว่านั้น กว่าจะผลิตกระแสไฟฟ้าออกขายได้ ต้องแบกภาระหนี้ยาวนาน

ในสหรัฐนับแต่ปี 2008 มีแผนการก่อสร้างเตาปฏิกรณ์หลายแห่งใน 9 รัฐเป็นอย่างน้อย ที่ล้มเลิกหรือเลื่อนเวลาออกไป ทั้งนี้ ไม่ใช่เพราะความกังวลในเรื่องความปลอดภัยหรือมีพวกฮิปปี้มานั่งประท้วง 
แต่เป็นเพราะความเป็นจริงทางการเงิน โครงการในรัฐอื่นก็ชะลอออกไป เนื่องจากราคาประเมินก่อสร้างเพิ่มขึ้น 3 เท่าตัวเป็นใกล้ 10 พันล้านดอลลาร์ต่อเตาปฏิกรณ์
ในทั่วโลก รัฐบาลทั้งหลายมีจีนและรัสเซียเป็นต้นเป็นผู้ลงทุนในการก่อสร้างเตาปฏิกรณ์ใหม่ 65 หน่วย (ดูบทความของ Michael Grunwald ชื่อ The Real Cost of U.S. Nuclear Power ใน time.com 250311)  

ค่าใช้จ่ายราคาแพงในกลุ่มที่ 2 ได้แก่ ค่าใช้จ่ายในการปฏิบัติการและการบำรุงรักษา ซึ่งประกอบด้วยการรักษาความปลอดภัยจากการก่อวินาศกรรม และอื่นๆ การรักษาความปลอดภัยในขณะปฏิบัติงาน 
ซึ่งในประการหลังนี้อาจต้องมีค่าใช้จ่ายมากอย่างคาดไม่ถึง เช่น หลังจากอุบัติเหตุโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ญี่ปุ่น ได้มีการทดสอบมาตรการรักษาความปลอดภัยโรงไฟฟ้าในสหภาพยุโรปซึ่งพบว่ามีจุดอ่อนข้อบกพร่องที่ต้องใช้เงินหลายพันล้านยูโรเพื่อแก้ไข 
ในการรักษามาตรฐานความปลอดภัยที่สูงทั้งสองประการนั้น จำเป็นต้องใช้เจ้าหน้าที่ที่มีการฝึกฝนมาอย่างดี และจ้างในราคาแพง เพราะต้องเผชิญกับความเสี่ยงสูง

นอกจากนี้ ราคาเชื้อเพลิงยูเรเนียมก็มีราคาแพง เคยขึ้นสูงกว่า 100 ดอลลาร์สหรัฐต่อปอนด์ ปัจจุบันราคาอยู่ที่ราว 50 ดอลลาร์ และมีแนวโน้มขยับตัวสูงขึ้นอย่างช้าๆ แต่ก็ควรคำนึ่งถึงปัจจัยเชื้อเพลิง ยูเรเนียมราคาแพงเอาไว้ด้วย

ค่าใช้จ่ายที่แพงกลุ่มที่ 3 เป็นค่าใช้จ่ายเฉพาะเรื่อง ซึ่งมีหลายประการด้วยกัน ได้แก่ 
ก. ค่าใช้จ่ายในการกำจัดขยะนิวเคลียร์ซึ่งมีความยุ่งยาก ดูเป็นเรื่องยืดเยื้ออย่างไม่รู้จบ 
ข. ค่าใช้จ่ายในการ "ปลดระวาง" โรงไฟฟ้าที่หมดอายุการใช้งานแล้ว ซึ่งประมาณกันว่า ตั้งแต่ 40 ถึง 60 ปี และค่าใช้จ่ายในการปิดโรงงานที่เต็มไปด้วยสารกัมมันตรังสีนี้มีค่าใช้จ่ายไม่น้อย บางแห่งระบุว่าราว 300 ล้านดอลลาร์หรือกว่านั้น คิดเป็นเงินไทยเกือบ 1 หมื่นล้านบาท ซึ่งทางโรงงานจะต้องเตรียมเงินไว้ใช้ในการนี้ อนึ่ง ถ้าหากอายุใช้งานสูงสุด 60 ปี ในราว 30 ปีข้างหน้า โลกจะเต็มไปด้วยโรงงานนิวเคลียร์ที่เก่าชรา และเกิดอุบัติเหตุได้ง่ายขึ้น 
ค. ค่าใช้จ่ายในอุบัติเหตุ ซึ่งหากเกิดขึ้นร้ายแรงก็ก่อความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินมูลค่ามหาศาลดังกรณีโรงไฟฟ้าฟุคุชิมาที่ 1 ในญี่ปุ่น
ง. ค่าใช้จ่ายในเงินประกันภัย 
จ. ค่าใช้จ่ายเนื่องจากการแพร่กระจายของอาวุธนิวเคลียร์ซึ่งอาจสนับสนุนให้การก่อการร้ายรุนแรงขึ้น เป็นค่าใช้จ่ายที่บางองค์กรเพิ่มขึ้น ที่อุตสาหกรรมไฟฟ้านิวเคลียร์ต้องรับผิดชอบ

รวมค่าใช้จ่ายต่างๆ เข้าด้วยกันแล้ว ก็เห็นพ้องกันว่าค่าใช้จ่ายในการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานนิวเคลียร์สูงกว่าจากเชื้อเพลิงประเภทถ่านหินและก๊าซธรรมชาติ 
แต่ผู้ที่เห็นด้วยด้วยกับพลังงานนิวเคลียร์บางรายเห็นว่าในบางเงื่อนไขอาจทำให้ไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ราคาถูกกว่าจากเชื้อเพลิงฟอสซิลได้



ปัญหาขยะนิวเคลียร์ : กรณีสหรัฐ

สหรัฐผลิตไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์มากที่สุดในโลก มีกฎหมายหลายฉบับที่ออกมาตั้งแต่ทศวรรษ 1950 มีหน่วยงานหลายแห่งที่ช่วยกำกับดูแลอุตสาหกรรมไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์ กล่าวได้ว่าเป็นประเทศที่จัดการเรื่องขยะนิวเคลียร์อย่างเอาจริงเอาจังและรอบด้าน เป็นการจัดการแบบประเทศเศรษฐีมหาอำนาจ ถือเป็นแบบฉบับได้ 
ปัญหาและการท้าทายจากขยะนิวเคลียร์ในสหรัฐที่จะนำมากล่าวนี้ ใช้รายงานของสำนักงานตรวจสอบรัฐบาลของสภาคองเกรสเป็นสำคัญ 
สำนักงานนี้ได้จัดทำเอกสารเกี่ยวกับเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ใช้แล้วเป็นระยะให้แก่สมาชิกสภาเพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐานในการตรวจสอบการปฏิบัติงานของรัฐบาลในประเด็นดังกล่าว รวมทั้งเพื่อประกอบการออกกฎหมายและข้อบังคับต่างๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้  
เอกสารชิ้นที่ใช้นี้ได้ชี้ให้เห็นถึงการท้าทายของขยะนิวเคลียร์ที่สะสมขึ้นทุกทีในเตาปฏิกรณ์เชิงพาณิชย์ (ดูเอกสารชื่อ Spent Nuclear Fuel- Accumulating Quantities at Commercial Reactors Present Storage and Other Challenges ใน gao.gov สิงคาคม 2012 )

การท้าทายจากปัญหาขยะนิวเคลียร์กล่าวโดยย่อ ได้แก่ เชื้อเพลิงนิวเคลียร์ใช้แล้วเป็นวัสดุสารที่มีอันตรายร้ายแรงที่สุดที่มนุษย์สร้างขึ้นมา ขณะนี้มันได้ถูกทิ้งสะสมไว้ตามเตาปฏิกรณ์โรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชิงพาณิชย์ทั่วประเทศเกือบ 7 หมื่นตัน และทุกปีมีปริมาณสะสมเพิ่มขึ้น 2,000 ตัน  
กว่าจะสร้างศูนย์เก็บรักษาเชื้อเพลิงใช้แล้วนี้เป็นการถาวรและเปิดบริการใช้ได้ ก็คาดว่าปริมาณขยะนิวเคลียร์ตามโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ก็จะเพิ่มมากขึ้นกว่าเท่าตัวเป็น 140,000 ตัน 
โดยคาดว่าศูนย์ดังกล่าวจะสามารถให้บริการเก็บรักษาได้อีก 15-40 ปีข้างหน้า และการจะขนย้ายเชื้อเพลิงใช้แล้วจากโรงไฟฟ้าไปยังศูนย์เก็บรักษาจนหมดก็ต้องใช้เวลาหลาย 10 ปี  
การท้าทายยังมีมากกว่านั้นในเมื่อในราวปี 2040 โรงไฟฟ้านิวเคลียร์เกือบทั้งหมดในสหรัฐที่กำลังใช้งานในปัจจุบันจะหมดอายุการใช้งาน และต้องปิดโรงงาน

ดังนั้น การปฏิบัติตามข้อผูกพันในเรื่องการจัดการเชื้อเพลิงใช้แล้วตามมาตรฐานก็จะมีความจำกัด และอันตรายสำคัญของขยะนิวเคลียร์ ได้แก่ การแผ่กัมมันตภาพรังสีที่มีอันตรายสูงต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม อันเนื่องจากการที่น้ำหล่อเย็นพร่องลง ทำให้แท่งเชื้อเพลิงลุกเป็นไฟและแผ่รังสีออกมา
เชื้อเพลิงนิวเคลียร์ใช้แล้วประกอบด้วยสารกัมมันตรังสีหลายชนิดด้วยกัน มีอายุการสลายตัวต่างกัน จะยกตัวอย่าง 3 ชนิดที่ปรากฏเป็นข่าว ได้แก่ 
ก. ไอโอดิน-131 ที่แผ่รังสีรุนแรง แต่มีอายุไม่นาน ภายใน 3 เดือนก็สลายตัวหมดไป สารกัมมันตรังสีชนิดนี้สามารถเข้าไปรวมที่ต่อมไทรอยด์ทำให้เกิดมะเร็งต่อมไทรอยด์ได้ ดังนั้น ประชาชนที่อยู่ใกล้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินทางนิวเคลียร์ขึ้น ก็จะแนะนำให้กินยาเม็ดไอโอดินเพื่อป้องกันมะเร็งดังกล่าว
ข. สารซีเซียม-137 เป็นสารกัมมันตรังสีสำคัญที่ปรากฏเป็นข่าวในกรณีอุบัติเหตุโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุคุชิมาที่ 1 ในญี่ปุ่น สารนี้เป็นตัวการทำให้เชื้อเพลิงที่ใช้แล้วร้อนจัด และสามารถปนเปื้อนในดิน ต้องใช้เวลานานถึง 300 ปีจึงสลายตัวได้หมด 
ค. พลูโตเนียม-239 สลายตัวอย่างช้าๆ โดยค่อยๆ สลายตัวเป็นสารกัมมันตรังสีอื่น ได้แก่ ทอเรียมและเรเดียม เป็นต้น จนที่สุดเป็นตะกั่วที่มีความเสถียร กว่าที่พลูโตเนียมนี้จะสลายตัวหมดต้องใช้เวลาหลายล้านปี แม้ว่าโดยทั่วไปแล้ว เชื้อเพลิงนิวเคลียร์ที่ใช้แล้วยิ่งมีอายุนาน และเย็นลงมาก ก็จะมีอันตรายน้อยลง แต่แท่งเชื้อเพลิงใช้แล้วดังกล่าวก็ยังมีสารที่เป็นอันตรายต่อชีวิตและสิ่งแวดล้อมเป็นเวลาหลายหมื่นปี



สำหรับขั้นตอนการกำจัดขยะนิวเคลียร์ตามโรงงานนั้นมีอยู่ 2 ขั้นด้วยกัน ได้แก่ ขั้นแรกการแช่ในบ่อน้ำเย็น ขยะเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ต้องแช่ในบ่อน้ำเย็นที่โดยทั่วไปลึกประมาณ 40 ฟุต (ราว 12 เมตร) โดยให้ระดับน้ำอยู่เหนือแท่งเชื้อเพลิงใช้แล้วอย่างน้อย 20 ฟุต  
บ่อนี้เป็นคอนกรีตเสริมเหล็กหนา 4-6 ฟุต บุด้วยเหล็กกล้า การแช่ต้องใช้เวลานานอย่างน้อย 5 ปีจึงค่อยเย็นลง โดยต้องรักษาอุณหภูมิไม่ให้สูงเกิน 120 องศาฟาเรนไฮต์ (48.8 องศาเซลเซียส)  
ถ้าแท่งเชื้อเพลิงที่เพิ่งใช้เกิดกระทบกับอากาศ อุณหภูมิจะสูงขึ้นเป็นหลายร้อยหรือหลายพันองศาฟาเรนไฮต์

ขั้นที่ 2 ได้แก่ การเก็บแบบแห้ง หลังจากหล่อในน้ำเย็นนานหลายปีจนค่อยเย็นลง ทั้งเนื้อที่ที่จะเก็บรักษาเชื้อเพลิงใช้แล้วก็ไม่พอเพียง จึงได้คิดหาวิธีเก็บรักษาแบบแห้งขึ้น โดยการนำเชื้อเพลิงใช้แล้วใส่ในกล่องเหล็กกล้าหุ้มด้วยเหล็กกล้าหนาอีกชั้น หรือหุ้มด้วยเหล็กกล้าและคอนกรีตหนาเพื่อป้องกันความร้อนและการแผ่รังสี แล้วยกขึ้นจากน้ำ นำมาเก็บไว้ในที่โล่ง ปฏิบัติการนี้ต้องทำอย่างระมัดระวัง และมีค่าใช้จ่าย ประมาณว่า การเปลี่ยนไปเก็บในกล่องเหล็กกล้าหุ้มคอนกรีต 5 แห่งจะใช้เงินราว 5.1 ล้านดอลลาร์ และมีแนวโน้มสูงขึ้น 
การเก็บแบบแห้งก็ยังต้องการการดูแลรักษาอย่างสม่ำเสมอ ที่จะปลอดภัยในระยะเวลาราว 60 ปี 
อย่างไรก็ตาม การเก็บรักษาในที่โล่ง ก็เกิดอันตรายจากการก่อวินาศกรรมและพวกก่อการร้ายมาขโมยเชื้อเพลิงใช้แล้วเหล่านี้ไป
นอกจากนี้ การเก็บไว้ในกล่องเหล็กผนึกมิดชิด ก็จะไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าสารกัมมันตรังสีสาลายตัวไปเพียงใด

การเก็บรักษาใน 2 ขั้นนี้เป็นเพียงมาตรการชั่วคราว แม้กระนั้นต้องใช้ช่างเทคนิคที่ชำนาญและมีค่าใช้จ่ายไม่น้อย ซ้ำยังไม่ยั่งยืน ต้องการศูนย์กำจัดเชื้อเพลิงใช้แล้วอย่างถาวร เพราะเชื้อเพลิงเหล่านี้ยังมีอันตรายต่อไปอีกนับหมื่นปี ซึ่งรัฐบาลกลางจำต้องเข้ามามีส่วนในการอุดหนุนและกำกับดูแล 
คาดหมายว่าถ้าหากสามารถตกลงว่าจะสร้างศูนย์เก็บรักษาเชื้อเพลิงนิวเคลียร์แห่งแรกของสหรัฐที่ภูเขายักกา ในรัฐเนวาดาได้ ก็จะสามารถเปิดบริการได้ในปี 2032 แต่ถ้าจำต้องไปสร้างในที่อื่นเนื่องจากโดนต่อต้านอย่างหนัก กว่าจะเปิดได้ต้องเลื่อนไปปี 2052 
การสร้างศูนย์เก็บรักษาเชื้อเพลิงใช้แล้วถาวร 2 แห่งราคา 16-30 พันล้านดอลลาร์ ถ้าหากรวมค่าการดูแลในกระบวนการเก็บรักษาครั้งสุดท้ายนี้ทั้งจะมีมูลค่าหลายหมื่นล้านดอลลาร์



แนวโน้มปัญหาขยะนิวเคลียร์

ขยะนิวเคลียร์มีแนวโน้มที่จะพอกพูนเป็นปัญหาใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ทั้งนี้ เพราะว่ามนุษย์ปัจจุบันมีอาการเสพติดพลังงาน เมื่อบริโภคพลังงานสูงขึ้น ชีวิตก็มีความสุขสบายคล้ายเสพฝิ่น เกิดความรู้สึกต้องการเสพเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ
คาดหมายว่าโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทั่งโลกจะมีปริมาณเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะในประเทศตลาดเกิดใหม่ มีจีน รัสเซีย และอินเดีย เป็นต้น ทั้งนี้ เนื่องจากแรงกดดันของความต้องการการพัฒนาอุตสาหกรรมและภาวะที่เชื้อเพลิงฟอสซิล 
เช่น กรณีประเทศไทย ก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยจะร่อยหรอลงไปมากภายใน 15 ปีข้างหน้า จำต้องเดินไปตามหนทางโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ที่มีราคาแพงและเสี่ยงอันตรายสูง 



.

2555-10-29

นิธิ เอียวศรีวงศ์: รัฐไทยกับความรุนแรง (2)

.

นิธิ เอียวศรีวงศ์ : รัฐไทยกับความรุนแรง (2)
ในมติชน ออนไลน์  วันจันทร์ที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2555 เวลา 12:30:06 น.
(ที่มา คอลัมน์ กระแสทรรศน์ ของ นสพ.มติชนรายวัน 29 ตุลาคม 2555 )


กองทัพ - ทั้งหมดหรือบางส่วน - มีบทบาทในความรุนแรงที่เกิดขึ้นทุกครั้ง ดูเหมือนกองทัพเป็นเพียงเครื่องมือเซื่องๆ ของบางกลุ่มในชนชั้นนำ แล้วแต่จะถูกสั่งให้ใช้ความรุนแรงเมื่อไร และอย่างไร เท่านั้น   
แต่ในโลกนี้ไม่มีใครเป็นไขควงให้ใครได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะมนุษย์มีความต้องการส่วนตนซึ่งอาจไม่ได้สอดคล้องกับความต้องการของผู้ใช้เสมอไป ฉะนั้นการไม่ทำตามคำสั่ง หรือทำตามคำสั่งด้วยจุดมุ่งหมายที่ต่างกัน จึงเกิดขึ้นตลอดเวลา

กองทัพไม่เคยเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันจริงมาแต่แรก เส้นที่แบ่งพรรคแบ่งพวกในกองทัพอาจมาจากยศ เช่นในช่วง 2475 การยึดอำนาจเกิดจากกลุ่มนายทหารระดับนายพัน ในขณะที่ทหารยศสูงกว่านั้นไม่ได้ร่วมด้วย เส้นดังกล่าวอาจมาจากกองทัพเอง เช่นระหว่างกองทัพบกและกองทัพเรือ อาจมาจากแก๊งผลประโยชน์เช่นค้าฝิ่น, ค้าอาวุธ หรือธุรกิจมืดอื่นๆ หรืออาจมาจากสังกัด เช่น ทหารม้า, ทหารราบ, ทหารปืนใหญ่, เสธฯ ฯลฯ ในแต่ละช่วงเวลา เส้นดังกล่าวจะมาจากอะไร ก็ขึ้นกับเงื่อนไขในการเกาะกลุ่มในช่วงนั้นๆ

กลุ่มต่างๆ ในกองทัพเหล่านี้ช่วงชิงอำนาจกัน โดยสนับสนุนให้คนในกลุ่มของตน (หรือตนมีเส้นสาย) ได้ขึ้นดำรงตำแหน่งผู้บังคับบัญชา ตั้งแต่ระดับล่างขึ้นไปจนถึงระดับผู้บัญชาการ อย่างน้อยก็เพื่อความก้าวหน้าในอาชีพราชการของตนเอง (ยังไม่พูดถึงผลประโยชน์ติดไม้ติดมืออื่นๆ) แต่มีประเพณีปฏิบัติอย่างหนึ่งซึ่งทำให้กองทัพไม่กลายเป็นกองโจรที่จับอาวุธขึ้นต่อสู้กันเอง นั่นก็คือหากไม่ใช่การยึดอำนาจรัฐแล้ว การต่อสู้ช่วงชิงอำนาจในกองทัพมักไม่ทำโดยการรบ แต่ทำโดยการวิ่งเต้นและต่อรองในระบบ

เหตุผลที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะหากถึงกับจับอาวุธขึ้นต่อสู้กันอย่างออกหน้า ความชอบธรรมของกองทัพในการแทรกแซงทางการเมืองก็จะอันตรธานไปด้วย
"ระบบ" ต้องอยู่ แต่ "ระบบ" ไม่ได้มีไว้เพื่อให้กองทัพทำหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ หรือได้อย่างมีเอกภาพ หากมีไว้เพื่อเปิดให้กลุ่มต่างๆ ได้ต่อรองอำนาจกันโดยไม่ถึงกับจับอาวุธมาเข่นฆ่ากันเอง ฉะนั้นใน "ระบบ" นี้ ผู้แพ้จะไม่ถึงกับหมดตัว ยังเหลือที่ทางให้ได้ยืนอยู่ต่อไปอย่างมีเกียรติ นี่คือเหตุผลที่ทำให้กองทัพไทยมีนายพลล้นเกิน (เมื่อเทียบจำนวนนายพลกับขนาดของกองทัพ - อาจถือได้ว่าเป็นกองทัพที่มีนายพลมากสุดในโลก)
คำพูดซึ่งใช้กันในสมัยหลังบ่อยๆ ก็คือ เมื่อมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แล้ว ทุกอย่างก็จบ นี่คือกติกาสำคัญที่รักษาระเบียบไว้ได้ท่ามกลางความแตกแยก


ระเบียบหรือ "ระบบ" ที่แม้มีการแย่งชิงอำนาจกันอยู่ แต่ก็เปิดให้ทำได้โดยสงบพอสมควรนี้ ทำให้การแทรกแซงกองทัพทำได้ยาก ใครจะขึ้นเป็นผู้บัญชาการกองทัพนั้น หลังจากสั่งสมกำลัง, เล่นเส้นเล่นสาย, และเจรจาต่อรองกันมาระดับหนึ่งแล้ว ก็รู้กันทั่วหน้าว่า "ไผเป็นไผ" ฉะนั้นการแต่งตั้งผู้บัญชาการเหล่าทัพอย่างเป็นทางการ จึงไม่ทำความแปลกใจให้คนในกองทัพ

ในทางตรงกันข้าม หากการสืบทอดตำแหน่งผู้บัญชาการตกอยู่ในกลุ่มเดียวกันนานๆ ก็ทำให้ "ระบบ" ที่เปิดให้มีการต่อสู้ช่วงชิงกันไม่อาจดำรงอยู่ได้ และนั่นย่อมเป็นอันตรายต่อกองทัพเอง ขอให้สังเกตว่าสองครั้งของการใช้ความรุนแรงโดยอาศัยทหารเป็นเครื่องมือคือ 14 ต.ค. และพฤษภามหาโหด กองทัพไม่ได้ร่วมดำเนินการทั้งกองทัพ เพราะกำลังหวาดระแวงว่าจะมีการผูกขาดตำแหน่งผู้บัญชาการไว้ในตระกูลเดียวบ้าง ในรุ่นเดียวบ้าง
อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่มีการยึดอำนาจรัฐ (โดยใครก็ตามที) กติกาจะเปลี่ยน นี่เป็นช่วงที่ทหารรบกันเองได้ และในประวัติศาสตร์ก็ได้เคยรบกันเองมาหลายครั้ง ทั้งในการรัฐประหารที่ล้มเหลว และการรัฐประหารที่สำเร็จ

ผมได้ทราบจากนายพลคนหนึ่งว่า เมื่อเกิดรัฐประหาร 19 ก.ย. บางส่วนของกองทัพคิดจะยกกำลังไปปราบ "กบฏ" (ก่อนที่คณะรัฐประหารจะได้เข้าเฝ้าฯ) แต่เมื่อเช็กกำลังกันหมดทุกสายแล้ว ในที่สุดก็ตัดสินใจแต่งชุดนายพลไปร่วมกับ คปค.
การอยู่ฝ่ายชนะในการรัฐประหาร เช่นเข้าร่วมด้วย หรือระดมกำลังของตนเข้าต่อต้านก็ดี หากทำได้สำเร็จก็จะพุ่งพรวดขึ้นมาเป็นผู้นำกองทัพหรือตำแหน่งสูงๆ ได้ในเร็ววัน

การล้อมปราบประชาชนอย่างป่าเถื่อนในเดือนเมษา-พฤษภา 2553 เป็นโอกาสอย่างที่กล่าวนี้ นั่นคือการชุมนุมใหญ่ของฝ่าย นปช. ถูกมองว่าเป็นการยึดอำนาจรัฐ กติกาเปิดให้ใช้ความรุนแรงได้เต็มที่ (อย่างที่เคยใช้กับ พคท.มาแล้ว) ที่สำคัญกว่านั้นก็คือ หากการปราบปรามกระทำโดยส่วนอื่นของกองทัพที่ไม่อยู่ในเส้นสายของตน ก็จะทำให้เพลี่ยงพล้ำในเกมส์แห่งอำนาจในกองทัพในภายหลังได้ ใครที่เข้ากระทำการย่อมเลือกใช้ความรุนแรง เพื่อให้ยุติลงโดยเร็วและภายใต้ปฏิบัติการที่เป็นของกลุ่มตน


ผมพูดถึงกองทัพมาทั้งหมด เพื่อชี้ว่า ไม่เฉพาะแต่ความแตกร้าวกันเองในกลุ่มชนชั้นนำต่างกลุ่มเท่านั้น แม้ในกลุ่มเดียวกันเองก็มีความแตกร้าวภายในอยู่ด้วย และมีอย่างลึกซึ้งทีเดียว 
ผมจำได้ว่า เคยได้รับจดหมายจากนายธนาคารชื่อดังคนหนึ่ง ชี้แจงว่าการที่นายแบงก์กลุ่มหนึ่งหิ้วกระเช้าดอกไม้ไปสนับสนุนคณะรัฐประหาร รสช.นั้น เขาไม่ได้ร่วมอยู่ด้วย ทั้งประกาศว่า เขาไม่เคยหิ้วกระเช้าไปหาคณะรัฐประหารกลุ่มใดทั้งสิ้นตลอดชีวิต ผมได้ยินสำเนียงดูหมิ่นถิ่นแคลนคนที่หิ้วกระเช้าไปถวายคณะรัฐประหารในคำชี้แจงประโยคนั้นด้วย 
ดูจากภายนอก ตระกูลนายแบงก์เหล่านี้ร่วมหุ้นกันในธุรกิจหลายประเภท ซ้ำยังแต่งงานบุตรหลานกันเองหลายคู่ แต่ลึกลงไปในใจของแต่ละคน ก็ใช่ว่าจะสมัครสมานยอมถืออัตลักษณ์ร่วมกันนัก

การที่คนในกลุ่มเดียวกันไม่ชอบขี้หน้ากันนั้นเป็นเรื่องปรกติธรรมดานะครับ ปัญหามาอยู่ที่ว่าการดำเนินการที่เป็น "สาธารณะ" ของกลุ่มนั้น พร้อมใจกันได้แค่ไหน เช่น สมาคมธนาคารไทยอาจลงมติเอกฉันท์คัดค้านการขึ้นดอกเบี้ยได้ แต่ลงมติเพื่อประโยชน์สาธารณะได้หรือไม่ (ที่ผ่านมาเรื่องเช่นนี้เป็นคำสั่งของธนาคารกลางทั้งสิ้น) หรือลงมติเอกฉันท์ในด้านกิจกรรมทางการเมืองได้หรือไม่ อย่างไร


ประเด็นจึงอยู่ที่ว่า ความขัดแย้งเป็นเรื่องปรกติธรรมดา แต่ชนชั้นนำกลุ่มต่างๆ มีกติกาที่จะแก้ปัญหาความขัดแย้งไม่ให้บานปลายไปสู่การใช้ความรุนแรงเป็นเครื่องมือหรือไม่
ในบรรดาพรรคการเมือง ก็ไม่มีกติกาดังกล่าว ประชาธิปัตย์สนับสนุนการยึดทำเนียบรัฐบาล และบางส่วนของสมาชิกไปร่วมยึดสนามบิน เช่นเดียวกับบางส่วนของสมาชิกพรรคเพื่อไทยไปร่วมการประท้วงของ นปช. ผมคิดว่ากรณีของ ปชป.นั้นน่าสนใจ กลุ่มที่ได้เข้ามาบริหารพรรค ช่วงชิงการนำมาจากกลุ่มอื่น เลขาธิการพรรคต้องพิสูจน์ฝีมือว่าสามารถนำพรรคไปจัดตั้งรัฐบาลได้ หัวหน้าพรรคเหลือกลุ่มให้เลือกได้ไม่มาก จึงแวดล้อมตัวเองด้วยฝ่ายบู๊ซึ่งเป็นพรรคพวกที่เหลืออยู่ทั้งหมด การชุมนุมประท้วงของ นปช.ไม่ได้คุกคามรัฐบาลอย่างเดียว แต่คุกคามการนำของกลุ่มในพรรค ปชป.ด้วย ทางเลือกในการจัดการจึงจำกัดลง ในท่ามกลางธรรมชาติของความแตกแยกในกลุ่มชนชั้นนำ และภายในกลุ่มดังกล่าวนี้ การล้อมปราบเป็นทางเลือกเดียว
ดังนั้น ความรุนแรงจึงแฝงฝังอยู่ในน้ำในเนื้อของรัฐไทย แยกออกจากกันไม่ได้ และไม่เว้นกลุ่มใดในบรรดาชนชั้นนำทุกกลุ่มที่ต้องเลือกทางเลือกแห่งความรุนแรง


ผมขอย้ำว่า เชื้อแห่งการใช้ความรุนแรงนั้นอยู่ที่ชนชั้นนำนะครับ ไม่ได้อยู่ที่ประชาชน แม้แต่ยอมรับรายงานของ คอป.ว่าการชุมนุมของ "เสื้อแดง" มีการใช้ความรุนแรงเจือปนอยู่ ก็ต้องยอมรับด้วยว่า ความรุนแรงที่เกิดขึ้นนั้นกระทำโดยกลุ่มคนที่มีเส้นสายโยงไยไปถึงกลุ่มชนชั้นนำนั่นเอง ไม่ใช่นาย ก. นาง ข.ที่พากันมาจากอีสานซึ่งเป็นส่วนใหญ่ของ "เสื้อแดง" และถ้าวิเคราะห์ลงไปให้ดี ก็จะพบว่ากลุ่มที่ใช้ความรุนแรงนั้นไม่มีทางเลือกอื่นเหมือนกัน (ทั้งเพื่อต่อสู้กับศัตรูร่วมกัน และเพื่อช่วงชิงการนำในกลุ่ม)

ทางออกจากความรุนแรงโดยรัฐจึงมีหลักอยู่ที่ว่า จะต้องจัดความสัมพันธ์ในระหว่างกลุ่มชนชั้นนำเสียใหม่ ให้เกิดช่องทางอื่นที่จะใช้เพื่อแสวงหาหรือรักษาผลประโยชน์ของตนได้ อันไม่ใช่ความรุนแรง
เกินสติปัญญาของผมที่จะนึกออกว่า ในเชิงรูปธรรมนั้น ควรทำอย่างไรบ้าง แต่ต้องเตือนว่า จะทำอย่างไรก็ตาม ต้องไม่กระทบต่อเส้นทางพัฒนาประชาธิปไตยในบ้านเมือง
ประชาธิปไตยนั้นดีหรือไม่ดีในตัวมันเอง เหมาะหรือไม่เหมาะกับสังคมไทย คงเถียงกันได้ แต่ในท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ-สังคมที่เราเผชิญอยู่ หากไม่ยึดประชาธิปไตยเอาไว้ การใช้ความรุนแรงจะไม่จำกัดอยู่แต่เพียงในหมู่ชนชั้นนำ หากจะทำให้ไม่มีทางเลือกสำหรับคนระดับล่างนอกจากใช้ความรุนแรง

ถึงตอนนั้นจะเละยิ่งกว่านี้



.