http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2558-03-06

พลวัตของคุณธรรม โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์

.

พลวัตของคุณธรรม
โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์
ใน www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1425645135
. . วันศุกร์ที่ 06 มีนาคม พ.ศ. 2558 เวลา 22:30:00 น.
( ที่มา : มติชนสุดสัปดาห์ 27ก.พ. -5มี.ค.58 ปี35 ฉบับ1802 หน้า32 )


ในงานเลี้ยงส่งนักวิชาการชาวต่างชาติท่านหนึ่งเจ้าภาพได้จัดให้มีการเสวนาทางวิชาการเกี่ยวกับการเมืองไทยขึ้น
ประเด็นที่ให้ความสำคัญกันมากในหมู่วิทยากรก็คือ เราจะออกจากทางตันที่เผชิญอยู่นี้ได้อย่างไร ดูเหมือนทุกคนจะเห็นพ้องต้องกันว่า ความแตกร้าวที่ผ่านมาต้องคลี่คลายลงเสียก่อน เพราะพลังที่จะผ่าทางตันนี้ต้องมาจากทุกฝ่าย ไม่ได้หมายความว่าทุกฝ่ายต้องมามีความเห็นทางการเมืองเหมือนกัน
เพียงแต่ทุกฝ่ายต้องเห็นพ้องต้องกันว่า วิถีทางประชาธิปไตยเท่านั้น ที่จะทำให้ขัดแย้งกันต่อไปโดยไม่นำมาสู่ทางตันเช่นนี้อีก

พูดอีกอย่างหนึ่งคือแสวงจุดร่วมสงวนจุดต่างกันได้อย่างไร


หนึ่งในวิทยากรเสนอว่า เราไม่อาจเอาเรื่องของความดีและคนดีออกมาเย้ยหยันเสียดสีได้ เพราะถึงอย่างไรความดีและคนดีก็น่าจะเป็นหนึ่งในบรรดา "จุดร่วม" ที่เราควรมีร่วมกัน

ฟังดูเหมือนจะง่าย เพราะอย่างน้อยในฐานะคนไทยด้วยกัน ก็คงถูกอบรมสั่งสอนมาให้ยึดถือว่าอะไรคือคุณธรรมความดีตรงกัน และความเคารพต่อคุณธรรมความดีก็ดูเหมือนจะเป็นคำสอนพื้นฐานที่สั่งสอนกันมาในทุกวัฒนธรรม


แต่ในความจริงคงไม่ง่ายเหมือนอย่างฟังกระมัง ผมคิดว่าความขัดแย้งทางการเมืองที่เราต้องเผชิญในหลายปีที่ผ่านมานั้น ไม่มีความขัดแย้งอะไรสักอย่างที่จีรังยั่งยืน ไม่ว่าทักษิณ, เปรม, ประชาธิปไตย หรือเผด็จการ ความเห็นต่อสิ่งเหล่านี้เสียอีกที่อาจเปลี่ยนได้เมื่อเวลาผ่านไป

แต่ความขัดแย้งที่ไม่เปลี่ยนง่ายๆ คือเรื่องของค่านิยมนี่แหละครับ




การที่คนฝ่ายหนึ่งเย้ยหยันคนที่อ้างตัวว่าเป็นคนดีนั้นไม่ได้เป็นเพียงเพราะคนเหล่านั้นมีความคิดเห็นทางการเมืองแตกต่างเท่านั้น แต่เพราะพฤติกรรมของคนเหล่านั้นเองถูกตั้งข้อสงสัยต่างหากว่า เป็นความดีแน่ละหรือ เช่นที่บางคน เช่น ยกตัวอย่าง พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ซึ่งยังอาศัยอยู่ในบ้านหลวงแม้ปลดเกษียณอายุราชการมานานแล้ว หรือการที่ท่านกินเงินเดือนของบริษัทเกษตรข้ามชาติ หรือร้ายไปกว่านั้น คือสนับสนุนการรัฐประหาร หรือเหตุใดหมอๆ ทั้งหลายซึ่งอ้างความเป็นคนดี จึงพากันเข้าไปบริหารเงินจำนวนพันๆ ล้านในองค์กรมหาชน ซึ่งหมอเองเป็นผู้ผลักดันให้เกิดขึ้น

ผมไม่ปฏิเสธเลยนะครับว่า การกระทำของท่านเหล่านี้ไม่เคยถูกมองว่าเป็นความชั่วในวัฒนธรรมไทยมาก่อน บุคคลที่คนทั่วไปเห็นว่าได้ทำคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติมามาก อย่างพลเอกเปรม ย่อมพึงได้รับอภิสิทธิ์ต่างๆ ที่สังคม (หรืออย่างน้อยก็บางส่วนของสังคม) ยินดีมอบให้ด้วยความเต็มใจ การรับเงินเดือนของนักธุรกิจอภิมหาเศรษฐีก็เป็นส่วนหนึ่งของอภิเกียรติยศที่ท่านควรได้รับ หรือรัฐประหารก็ไม่ใช่ความชั่วช้าอะไรที่คนดีๆ จะสนับสนุนไม่ได้ หมอๆ ที่ไปบริหารองค์กรมหาชนก็เหมือนกัน ต่างมีชื่อเสียงว่าเป็นผู้อุทิศตนให้แก่ประโยชน์ส่วนรวมของสังคม เช่น รณรงค์ต่อต้านบุหรี่และสุรามานานแล้วบ้าง เป็นหมอหนุ่มไฟแรงของกระทรวงสาธารณสุขบ้าง ก็ควรไปนั่งบนเก้าอี้ที่ควรนั่งถูกแล้ว

ที่เคยถือกันว่าเป็นความดีนั้น ถูกคนจำนวนมากตั้งข้อสงสัย กล่าวคือสงสัยทั้งในสิ่งที่เคยเรียกว่าดี (หรือไม่เห็นว่าชั่ว) และสงสัยทั้งผู้ปฏิบัติสิ่งเหล่านั้นว่า ปฏิบัติได้จริงอย่างสมบูรณ์ดังข้ออ้างของตนละหรือ ทั้งนี้ ยังไม่รวมไปถึงความสงสัยว่าเราควรให้อภิสิทธิ์อะไรแก่ความดีและคนดี

พูดอีกอย่างหนึ่งคือความเปลี่ยนแปลงทางค่านิยมพื้นฐาน และเกณฑ์การวินิจฉัยเกี่ยวกับความดี, ความชั่ว, และคนดี, คนชั่ว



เรื่องจึงไม่ง่ายอย่างที่วิทยากรท่านนั้นพูดประหนึ่งว่าความดีเป็นนิรันดร เพราะตรงกันข้ามเลย ทั้งความดีและมาตรฐานของความดีในสังคมไทยกำลังเปลี่ยนอย่างมโหฬาร จึงทำให้ความแตกแยกนั้นร้าวลึกกว่าประเด็นขัดแย้งทางการเมืองและผลประโยชน์มากนัก

ยิ่งอ้างเอาความดีเป็นความชอบธรรมของอำนาจก็ยิ่งจะสับสนขึ้นไปใหญ่ จริงอยู่ทฤษฎีอำนาจของไทยโบราณ คือบารมีหรือความดีที่ได้สั่งสมไว้คือที่มาของอำนาจอันชอบธรรม แต่คนไทยโบราณคิดถึงความดีที่ได้สั่งสมมาไว้ในอดีตชาติ ฉะนั้น บารมีหรือความดีที่อ้างถึงคือคุณธรรมระดับจักรวาล (cosmic virtue) ไม่อาจมีบันทึกไว้ให้ใครตรวจสอบได้ (นอกจากพระอินทร์) แต่ความดีคนดีที่อ้างกันในปัจจุบัน เป็นความดีที่ได้ทำในโลกนี้ มีบันทึกให้คนอื่นตรวจสอบได้ และเมื่อตรวจสอบได้ก็ตั้งคำถามได้ด้วย

เพียงแค่ทัศนะของคนปัจจุบันซึ่งเพ่งเล็งโลกนี้มากกว่าวัฏจักรแห่งการเวียนว่ายตายเกิดเพียงอย่างเดียว คติเรื่อง "บารมี" ก็เปลี่ยนไปแล้ว

นอกจากความดีไม่ใช่สิ่งนิรันดรแล้ว ความดียังไม่เป็นสากลอีกด้วย ไม่เฉพาะแต่ไม่สากลข้ามวัฒนธรรมเท่านั้น ผมคิดว่ามีมิติทางชนชั้นของความดีอยู่ด้วย แม้ในวัฒนธรรมเดียวกัน



การคอร์รัปชั่นหรือที่แต่ก่อนเรียกว่าการฉ้อราษฎร์บังหลวงนั้นเป็นความชั่วมาแต่โบราณแล้วหากทว่าคนโบราณมองการคอร์รัปชั่นว่าเป็นภัยต่อราษฎร ทำให้เกิดความเดือดร้อนต่างๆ นานา เช่น รีดภาษีจากผู้ผลิตเกินพิกัดอัตราที่หลวงท่านตั้งไว้ เพื่อเอาเป็นอาณาประโยชน์ส่วนตัว ราษฎรที่ถูกรีดภาษีย่อมเดือดร้อน หรือตุลาการเรียกสินบนจากคู่ความ ตัวคู่ความเองก็เดือดร้อน การคอร์รัปชั่นเป็นความชั่วเพราะทำความเดือดร้อนให้แก่ราษฎรเป็นกรณีๆไป ไม่ใช่ทำความเสียหายให้แก่สังคมโดยรวม

พูดง่ายๆ ก็คือฉ้อราษฎร์นั่นแหละคือความชั่ว ส่วนบังหลวงดูออกเป็นเรื่องปรกติธรรมดา ก็หลวงท่านไม่ได้จ่ายเงินเดือนให้ข้าราชการ ให้ไปแต่อำนาจในขอบเขตหนึ่ง แล้วก็ให้หาเลี้ยงตัวด้วยอำนาจในขอบเขตนั้น การที่ขุนนางเกณฑ์กำลังไพร่สมในสังกัดของตนไปทำนา เพื่อได้ข้าวมาเป็นสมบัติส่วนตัว จึงเป็นการหารายได้ที่สุจริตอยู่แล้ว แม้แต่ไพร่ในสังกัดไม่เข้าเวรแต่ยอมจ่ายเป็นเงินให้แก่มูลนายแทน มูลนายจะทำอย่างไรกับเงินได้ดีไปกว่าเก็บเข้ากระเป๋า เพราะนั่นคือค่าแรงของมูลนายซึ่งต้องรับราชการโดยไม่มีเงินเดือน

ทั้งหมดนี้ ถ้าพูดใหม่ให้ฟังเป็นวิชาการก็คือ คนไทยโบราณมีความคิดเกี่ยวกับ "ส่วนตัว" และ "ส่วนรวม" (private and public) ไม่เหมือนกับฝรั่งสมัยใหม่ บางคนบอกว่าคนไทยโบราณไม่มีความคิดเกี่ยวกับเรื่องนี้เลย ซึ่งผมสงสัยว่าไม่จริง อย่างน้อยในหมู่บ้านเขาก็รู้ว่าอะไรเป็นสมบัติส่วนรวม ซึ่งมีผีและฮีตคอยคุ้มครองอยู่ เช่น บ่อน้ำ, วัดและสมบัติในวัด, ศาลผี, ทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์, ฯลฯ เพียงแต่ว่าสิ่งที่เขาจะเห็นเป็น "ส่วนรวม" ได้นั้น ต้องเป็นสิ่งที่เขาสามารถเข้าร่วมใช้และร่วมจัดการด้วยเท่านั้น

ของ "หลวง" จึงไม่ใช่ของ "ส่วนรวม" ในทัศนะของเขา คนเราจะมองเห็นของ "หลวง" ว่าเป็นของส่วนรวมได้ ก็ต้องมีความคิดเรื่องสังคมก่อน คำว่าสังคมที่หมายถึงส่วนรวมของคนทั้งชาติไทยไม่เคยมีในภาษาไทยมาก่อน ก็ไม่แปลกอะไรนะครับ แม้แต่ชาติไทยก็ไม่มีมาก่อน จะให้เขาคิดถึงสังคมไทยได้อย่างไร



แนวคิดเรื่อง"ส่วนตัว" กับ "ส่วนรวม" เป็นความคิดฝรั่งสมัยใหม่ ซึ่งซึมเข้าสู่ชนชั้นกลางไทยผ่านการศึกษาและสื่อ ฉะนั้น คอร์รัปชั่นในความหมายของชนชั้นกลางไทยจึงไม่ต่างจากฝรั่ง เอาเงินงบประมาณไปสร้างสะพาน แต่กินสินบนกันเสีย 30% แม้ว่าได้สะพานมาอย่างต้องการ แต่ก็สูญเงินไปเปล่าๆ ปลี้ๆ 30% ชนชั้นกลางคิดว่า เงินที่เสียไปโดยใช่เหตุนี้ เอาไปใช้ทำอย่างอื่นให้แก่ส่วนรวมได้อีก การคอร์รัปชั่นจึงน่ารังเกียจ เป็นความชั่วที่ไม่น่าให้อภัย แต่ชาวบ้านซึ่งยังรับแนวคิดเรื่อง "ส่วนตัว" - "ส่วนรวม" แบบฝรั่งไม่มากนัก ย่อมมองคอร์รัปชั่นแบบนี้เหมือนสมัยโบราณ กล่าวคือ ไม่ทำให้ราษฎรคนไหนเดือดร้อนสักคน

เมื่อชาวบ้านตอบคำถามของสำนักโพลต่างๆ (ซึ่งนับวันยิ่งไม่น่าเชื่อถือมากขึ้นทุกที) ว่า หากคอร์รัปชั่นแล้วได้อะไรคืนมาก็ไม่น่ารังเกียจนัก จึงเป็นคำตอบที่ไม่น่าตระหนกตกใจอะไร เป็นวิธีคิดที่มีเหตุมีผลในสังคมไทยตั้งแต่อยุธยาแล้ว แต่หากถามชาวบ้านว่า นายทุนร่วมมือกับมหาดไทยมายึดทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ หรือหนองน้ำของหมู่บ้านไปเป็นของส่วนตัว คอร์รัปชั่นอย่างนี้น่ารังเกียจไหม ผมมั่นใจว่าร้อยทั้งร้อยย่อมตอบว่าน่ารังเกียจทั้งนั้น

ในทางตรงกันข้าม หากนำคำถามนี้มาถามชนชั้นกลางบ้าง ผมเชื่อว่าจำนวนมากต้องถามกลับก่อนว่า นายทุนยึดที่ดินชาวบ้านไป "พัฒนา" (ซึ่งแปลว่าเอาไปใช้เพื่อผลิตสินค้าที่ให้ผลตอบแทนเป็นมูลค่าที่สูงกว่าเดิม) หรือยึดไปเฉยๆ หากเอาไป "พัฒนา" ก็พอจะรับได้ แปลว่าในทัศนะของชนชั้นกลาง การคอร์รัปชั่นก็พอจะทนได้เหมือนกัน หากมีเงื่อนไขเพื่อการ "พัฒนา" ส่วนความเดือดร้อนของชาวบ้านนั้น ก็ต้องเสียสละเพื่อ "ส่วนรวม" อาจควรจ่ายชดเชยไปพอสมควร

ในขณะที่คอร์รัปชั่นของชาวบ้าน คือภัยต่อหัวคน คอร์รัปชั่นของชนชั้นกลางคือภัยต่อส่วนรวมที่ไม่มีหัวคนอยู่ในนั้น คำว่าฉ้อราษฎร์บังหลวงนั้น ชาวบ้านเห็นว่าการฉ้อราษฎร์คือคอร์รัปชั่น ชนชั้นกลางเห็นว่าบังหลวงคือคอร์รัปชั่น




ความซื่อสัตย์สุจริตของบุคคลสาธารณะนั้นล้วนเป็นที่ยกย่องของคนไทยทุกชนชั้น แต่มีความหมายที่ต่างกันมาก ฉะนั้น จึงอย่ามาพูดดีกว่าว่า เราทุกฝ่ายที่ขัดแย้งทางการเมืองอยู่ในเวลานี้ ต้องยอมรับความดีและคนดีเหมือนกัน ก็ความดีและคนดีมันมีความหมายไม่เหมือนกัน ระหว่างคนต่างสถานภาพ, ต่างชนชั้น และต่างวัฒนธรรม พอพูดบ่อยๆ เข้าก็เท่ากับพูดว่า พวกมันเลวหมด พวกกูดีหมด

ผมคงยกตัวอย่างของคุณธรรมความดีที่ไม่มีใครปฏิเสธได้อีกนับเรื่องไม่ถ้วนแต่ขอยกเป็นตัวอย่างอีกเรื่องเดียวคือกตัญญูกตเวทิตา ซึ่งก็ยังเป็นคุณธรรมที่ไม่มีใครปฏิเสธในปัจจุบัน แต่ความกตัญญูรู้คุณในความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์ กับความกตัญญูรู้คุณในระบบที่ความสัมพันธ์ทางสังคมเปลี่ยนเป็นระหว่างปัจเจกบุคคลไปมากแล้ว ย่อมไม่เหมือนกันอีกต่อไป และด้วยเหตุดังนั้น กตเวทิตาหรือการตอบแทนบุญคุณจึงต้องต่างไปด้วย

ทั้งหมดนี้ล้วนอธิบายได้ด้วยหลักพระพุทธศาสนาทั้งความดีและความชั่วนั้นท่านสอนว่าเป็นสังขตธรรมทั้งคู่ คือเป็นธรรมที่มีเงื่อนไข ที่มันดีก็เพราะอยู่ในเงื่อนไขอย่างนี้ๆ มันชั่วก็เพราะอยู่ในเงื่อนไขอย่างนี้ๆ ดังนั้น ทั้งความดีและความชั่วจึงแปรเปลี่ยนไปได้ตามเงื่อนไขทางโลกียะที่แวดล้อมมันอีกทีหนึ่ง ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าทำดีทำชั่วก็ได้ผลเท่ากันนะครับ เงื่อนไขทางโลกย์นั่นแหละที่กำหนดว่า ทำดีแล้วจะได้ผลอะไร ทำชั่วแล้วจะได้ผลอะไร ไม่ว่าจะทำดีหรือทำชั่วจึงต้องใช้ปัญญา เล็งเห็นผลของการกระทำได้ว่าจะเกิดผลอย่างไร ทั้งแก่ตนเอง ทั้งแก่ผู้อื่น และแก่หนทางดับทุกข์ในเบื้องหน้าไปพร้อมกัน

ส่งเสริมการรัฐประหารเป็นความดีหรือความชั่วไม่สามารถตอบได้ง่ายๆ เพราะต้องใช้ปัญญาให้รอบคอบ เอาประโยชน์ตน ประโยชน์ท่าน และประโยชน์แห่งพระนิพพาน มาไตร่ตรองให้ดี

ผมแสดงพระธรรมเทศนาตรงนี้ เพื่อเตือนสิ่งสำคัญอย่างยิ่งไว้ด้วยว่า อำนาจที่แข็งแรงมั่นคงที่สุดซึ่งมนุษย์สามารถสถาปนาขึ้นเหนือผู้อื่นได้ นับแต่โบราณนานไกลมาแล้ว คือการทำให้คนอื่นต้องยอมรับสิ่งที่ตัวบัญญัติว่าเป็นความดีอย่างไม่มีทางปฏิเสธหรือต่อรองได้เลย มีคนจำนวนมากในสังคมไทยปัจจุบัน ลุกขึ้นมาตั้งคำถาม จนถึงปฏิเสธมาตรฐานตายตัวของความดีที่ถูกสถาปนาไว้อย่างกว้างขวาง ชนิดที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนเลยเช่นนี้ เป็นพยานอย่างดีว่าประชาธิปไตยในสังคมไทยเข้มแข็งขึ้นอย่างมาก ไม่ว่าเราจะอยู่ภายใต้ระบอบปกครองอะไรก็ตาม


.