http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2558-04-28

วิกฤตร่างรัฐธรรมนูญ 2558 โดย รศ.ดร.พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์

.

วิกฤตร่างรัฐธรรมนูญ 2558
โดย รศ.ดร.พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ 
ใน http://www.lokwannee.com/web2013/?p=141852
. . On April 28, 2015


ในที่สุดคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญก็ได้เสนอร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ปี 2558 เข้าสู่การพิจารณาของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ระหว่างวันที่ 20-26 เมษายน ซึ่งก็มีเนื้อหาที่ไม่ได้ผิดไปจากความคาดหมาย

เนื้อหาสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญนี้คือ มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 450 คน เป็น ส.ส.แบบแบ่งเขต 250 คน และส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ 200 คน โดยระบบบัญชีรายชื่อแบ่งประเทศไทยเป็น 6 ภาค ส.ส. มีอำนาจนิติบัญญัติน้อยลง


ส่วนสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) มีจำนวน 200 คน ประกอบด้วย อดีตปลัดกระทรวง อดีตผู้บัญชาการเหล่าทัพ ตัวแทนวิชาชีพ ท้องถิ่น ชุมชน ผู้ทรงคุณวุฒิ 123 คน ส่วนสมาชิกวุฒิสภาจากแต่ละจังหวัดจะมีคณะกรรมการกลั่นกรองทำการคัดเลือกรายชื่อ “ผู้ทรงคุณวุฒิและคุณธรรม” จังหวัดละ 10 รายชื่อ แล้วให้ประชาชนลงคะแนนเลือกมา 1 คน ฉะนั้นสมาชิกวุฒิสภาทั้ง 200 คนก็มาจากการแต่งตั้งนั่นเอง โดยเคลือบคลุมไม่ให้โจ่งแจ้งเกินไปด้วยวิธีการสรรหาและกลั่นกรอง

วุฒิสภามีอำนาจหน้าที่ล้นเหลือ ทั้งตั้งองค์กรอิสระต่างๆ และถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้ทุกตำแหน่ง ที่สำคัญคือสามารถเสนอร่างกฎหมายได้เองโดยไม่ต้องรอสภาผู้แทนราษฎร


นายกรัฐมนตรีไม่จำเป็นต้องมาจากสภาผู้แทนราษฎร ถ้า “คนนอก” ถูกเสนอชื่อก็จะต้องได้รับคะแนนเสียงในสภาไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ส่วนการตั้งรัฐมนตรี นายกฯต้องส่งรายชื่อรัฐมนตรีให้วุฒิสภาตรวจสอบประวัติคุณธรรมจริยธรรมก่อน


นอกจากบรรดาองค์กรอิสระที่มีอำนาจเหนือสภาที่มาจากการเลือกตั้งเช่นเดียวกับรัฐธรรมนูญ 2550 แล้ว ร่างรัฐธรรมนูญยังกำหนดให้มี “สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศและคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปแห่งชาติ” ประกอบด้วยสมาชิกที่มาจากสภาปฏิรูปแห่งชาติชุดรัฐประหารจำนวน 60 คน จากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ชุดรัฐประหารจำนวน 30 คน และ “ผู้ทรงคุณวุฒิ” อีก 30 คน มีอำนาจจัดทำนโยบายปฏิรูปเสนอให้คณะรัฐมนตรีทำตาม ถ้าคณะรัฐมนตรีไม่ทำก็สามารถจัดให้มีการออกเสียงประชามติในประเด็นนั้นเพื่อบังคับคณะรัฐมนตรีให้ทำ แล้วยังมีอำนาจเสนอร่างกฎหมายปฏิรูปผ่านทางวุฒิสภาได้อีกด้วย


มีองค์กรที่กำหนดให้มีอำนาจ “ตรวจสอบ” มากมายซ้ำซ้อนค้ำคอองค์กรอื่นๆที่มาจากการเลือกตั้ง เช่น “สมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ” มาจัดทำ “ประมวลจริยธรรม” มีอำนาจในการสอบสวนและเสนอให้ถอดถอนนักการเมืองและเจ้าหน้าที่รัฐทุกตำแหน่งที่ไม่ทำตามประมวลจริยธรรม โดยองค์กรนั้นๆไม่ต้องสอบสวนเพิ่มอีก มีสภาตรวจสอบภาคพลเมืองจังหวัด สมัชชาพลเมือง ฯลฯ


นอกจากนี้ยังมีคณะกรรมการปฏิรูปสารพัด กำหนดวาระปฏิรูปด้านต่างๆเสนอต่อรัฐสภาหรือรัฐบาล เช่น คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย คณะกรรมการปฏิรูปด้านการเงิน การคลัง และภาษีอากร คณะกรรมการการกระจายอำนาจแห่งชาติ คณะกรรมการนโยบายการศึกษาและพัฒนามนุษย์แห่งชาติ สมัชชาศิลปวัฒนธรรม ฯลฯ


ร่างรัฐธรรมนูญ 2558 ได้กำหนดให้สืบทอดระบอบรัฐประหาร 2557 ต่อไปอีกคือ มาตรา 310 ให้บรรดาองค์กรอิสระที่ตั้งโดยคำสั่งคณะรัฐประหารยังคงทำหน้าที่ต่อไปจนครบวาระ และมาตรา 315 กำหนดการกระทำทั้งปวงที่รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 เป็นการชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญใหม่นี้ด้วย



ต้นแบบของร่างรัฐธรรมนูญนี้คือ ระบอบรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญ 2521 ซึ่งมีวุฒิสภาแต่งตั้งทั้งชุด มีสภาผู้แทนราษฎรที่ประกอบด้วยพรรคการเมืองขนาดเล็กกระจัดกระจาย เลือกตั้งเข้ามาแล้วก็เสนอชื่อเลือก “คนนอก” ซึ่งก็คือ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ มาเป็นนายกรัฐมนตรีต่อเนื่องยาวนานถึง 8 ปี คณะรัฐมนตรีมาจากทั้ง “คนนอก” และจากโควตาพรรคการเมืองที่ยกมือสนับสนุน พล.อ.เปรมนั่นเอง

นี่ยังเป็นต้นแบบให้กับรัฐประหารปี 2534 เมื่อคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) สืบทอดอำนาจผ่านรัฐธรรมนูญ 2534 จัดตั้งพรรคการเมืองของทหารขึ้นคือ พรรคสามัคคีธรรม รวบรวมเสียง ส.ส. จากพรรคอื่นๆรวมกันแล้วยกมือเลือก พล.อ.สุจินดา คราประยูร เป็นนายกรัฐมนตรี จนนำไปสู่เหตุการณ์นองเลือดพฤษภาคม 2535 ผู้คนบาดเจ็บล้มตายสูญหายหลายร้อยคน และการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้นายกรัฐมนตรีต้องมาจากสภาผู้แทนราษฎรในที่สุด



เช่นเดียวกันคือ ร่างรัฐธรรมนูญ 2558 ถูกจัดทำขึ้นเพื่อสืบทอดอำนาจรัฐประหาร โดยเฉพาะตามรูปแบบข้างต้นมีการเปิดช่องให้ “คนนอก” ได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกฯได้เช่นกัน เป็นการ“ถอยหลัง” ที่เลวร้ายยิ่งกว่ารัฐธรรมนูญ 2550 คือย้อนยุคไปถึงปี 2521 และเป็นการกระทืบซ้ำผู้ที่สูญเสียในเหตุการณ์นองเลือดเดือนพฤษภาคม 2535 อีกด้วย

หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แสดงท่าทีชัดเจนว่า จะไม่มีการทำประชาพิจารณ์หรือลงเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญนี้อย่างแน่นอน ถ้าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่านความเห็นชอบจาก สปช. และ คสช. จนประกาศใช้แล้ว สิ่งที่เราจะได้เห็นก็คือ การจัดตั้งพรรคการเมืองเพื่อผ่องถ่ายอำนาจคณะรัฐประหารไปสู่รัฐบาลหลังเลือกตั้งโดยผ่านนายกรัฐมนตรี “คนนอก” ดังที่มี “ข่าวลือ” มาเป็นระยะๆแล้วว่า มีการเคลื่อนไหวของนักการเมืองบางกลุ่มที่จะก่อรูปเป็นพรรคการเมืองเพื่อรองรับนายกรัฐมนตรี “คนนอก” และการจัดตั้งรัฐบาลหลังการเลือกตั้งครั้งต่อไป ทั้งหมดนี้ทำให้ความสูญเสียเลือดเนื้อและชีวิตในเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 และเมษายน-พฤษภาคม 2553 เป็นโศกนาฏกรรมที่สูญเปล่า

ยิ่งกว่านั้นคือ รัฐธรรมนูญที่ย้อนยุค ฝืนการเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยเช่นนี้ มีแนวโน้มที่จะทำให้ความขัดแย้งและวิกฤตปัจจุบันยืดเยื้อรุนแรงยิ่งขึ้น จนในที่สุดรัฐธรรมนูญนี้ก็จะต้องถูกฉีกทิ้งอีกโดยคณะรัฐประหาร หรือโดยประชาชนที่ไม่อาจทนต่อการครอบงำของพวกเผด็จการได้อีกต่อไป



อย่างไรก็ตาม มีแนวโน้มเช่นกันว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้อาจจะถูกคว่ำกลางคันด้วยสาเหตุสำคัญคือ รัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ยังไม่ได้บรรลุภารกิจหลักที่ได้วางไว้แต่ต้น ได้แก่ การจัดการ “การเปลี่ยนผ่าน” ให้เป็นไปโดยสงบเรียบร้อยและมั่นคง การปราบปรามกลุ่มคนที่ฝ่ายทหารเชื่อว่าเป็น “พวกล้มเจ้า” การกำจัดนักการเมืองตระกูลชินวัตรไม่ให้หวนคืนสู่การเมือง การสลายพรรคเพื่อไทยและเครือข่ายคนเสื้อแดง โดยเฉพาะ 3 ประการหลังนี้ยังอยู่ในระหว่างดำเนินการที่จะยังไม่เสร็จสิ้นในเวลาอันใกล้นี้

การเห็นชอบและประกาศใช้ร่างรัฐธรรมนูญ 2558 ยังจะทำให้ คสช. สลายตัวและเริ่มต้นการผ่องถ่ายอำนาจไปสู่นายกรัฐมนตรี “คนนอก” ภายหลังการเลือกตั้ง ซึ่งมีอำนาจและความมั่นคงทางการเมืองน้อยกว่าอย่างมาก อีกทั้งยังต้องอิงนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งที่มีความไม่แน่นอน


ถ้าร่างรัฐธรรมนูญนี้ถูกคว่ำกลางคันก็จะต้องแต่งตั้งสภาปฏิรูปแห่งชาติและคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญชุดใหม่เพื่อเริ่มกระบวนการร่างใหม่ทั้งหมด เป็นการยืดเวลาให้คณะรัฐประหารปฏิบัติภารกิจ 4 ประการข้างต้นให้เสร็จสิ้น แต่การกระทำเช่นนั้นจะทำให้ระบอบรัฐประหารเข้าสู่ภาวะวิกฤต สูญเสียความเชื่อถือจากผู้ที่สนับสนุนจำนวนมากทั้งในหมู่ประชาชน นักธุรกิจ และนักการเมือง ที่ต้องการรื้อฟื้นการเมืองแบบเลือกตั้งโดยเร็ว ตลอดจนจะถูกกดดันจากประชาคมนานาชาติหนักหน่วงยิ่งขึ้น

ร่างรัฐธรรมนูญ 2558 จึงเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญที่จะชี้ว่าระบอบรัฐประหารนี้จะไปสู่จุดจบอย่างไร  



.