http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2558-05-18

Admin'บทความดี' ขอแสดงเพจสุดท้ายในชีวิตแล้วครับ

.

Admin'บทความดี' ขอแสดงเพจสุดท้ายในชีวิตแล้ว
Admin'บทความดี' ขอแสดงเพจสุดท้้ายในชีวิตแล้วครับ  บัดนี้ร่างกายของผมกำลังเจ็บป่วยและชราร่วงโรยมาก ทำอะไรได้ด้วยตนเองยากมาก จึงขอทิ้งเพจเหล่านี้ให้เป็นแหล่งค้นคว้าในโลกออนไลน์ต่อไป (เหมือนที่มันเคยเป็นมาทุกวัน คือเพจเก่าประมาณ220-700 เพจ ) สมาชิกบางท่านสื่อสารมาว่า ทำไมไม่มอบให้คนอื่นทำต่อ ....ต้องบอกว่า เป็นงานส่วนตัวโดยแท้ คนในครอบครัวยังไม่มีใครรู้ ดังนั้นพวกเขาจึงไม่ควรถูกกลั่นแกล้งจากการเมืองใดๆ  



 - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

มันน่าเสียใจที่ผมต้องจากไปในขณะบ้านเมืองย้อนกลับเผด็จการล้าหลัง ฝืนความก้าวหน้าของโลก ...อย่างไรก็ตามตาที่สว่างได้จุดขยายไปทั่วประเทศและทั่วโลก อย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน (มีแต่คนตัดสินใจแทะเศษเนื้อค้างกระดูกจึงจะทำเป็นลืมความสว่างนี้)  แต่จากกรณีพี่สรรเสริญ นี่แค่ๆคนๆเดียว การต่อสู้ของพี่จะเป็นกำลังใจให้นักประชาธิปไตยที่เลือกการต่อสู้และกดดันหลายรูปแบบ  ผม(แน่ๆ)แค้นใจมาก ก็ขอส่งความคิดถึงพี่และนักประชาธิปไตยในวาระท้ายนี้

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

เบื้องหลัง ‘สรรเสริญ ศรีอุ่นเรือน’ ไม่รับสารภาพ คดีระเบิดหน้าศาล
ใน http://prachatai.org/journal/2015/03/58442  
. . Wed, 2015-03-18 17:16

สรรเสริญ ศรีอุ่นเรือน มีอาชีพขับแท็กซี่และเคยเป็นแกนนำ นปก.รุ่น 2 ถูกจับกุมโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจระหว่างเดินทางกลับบ้านย่านพุทธมณฑล ในช่วงกลางคืนวันที่ 9 มี.ค.58 เวลาประมาณ 22.00 น. เขาถูกนำตัวไปกองบัญชาการตำรวจนครบาล

สรรเสริญเข้าใจเอาเองว่าถูกจับจากกฎอัยการศึกเนื่องจากบทบาททางการเมืองที่ผ่านมา เพราะเขาแสดงท่าทีทางการเมืองที่ชัดเจนว่าคัดค้านการรัฐประหารตลอดมาตั้งแต่ปี 2549

เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ส่งมอบตัวเขาให้เจ้าหน้าที่ทหารซึ่งมารับตัวต่อไปยังกรมสารวัตรทหารเวลาประมาณ 23.00 น.ของวันที่ 9 มี.ค.นั้นเอง เมื่อไปถึงกรมสารวัตรทหาร เขาจึงทราบข้อกล่าวหาว่ามีส่วนพัวพันกับคดีขว้างระเบิดที่ศาลอาญา เขาโดนใส่กุญแจมือไพล่หลัง ใช้ผ้าดำปิดตาพร้อมกับเอาถุงดำคลุมหัว และถูกบังคับให้สารภาพว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ดังกล่าว

เขาอยู่ในความควบคุมของทหาร 7 วัน ก่อนเจ้าหน้าที่นำตัวไปฝากขังที่ศาลทหารและนำตัวเข้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ในวันที่ 16 มี.ค.58

ในเรื่องการซ้อมทรมานนี้ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้ออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 17 มี.ค.ที่ผ่านมา ระบุว่าได้รับการร้องเรียนจากผู้ต้องหาคดีระเบิดหน้าศาลอาญา 4 รายในจำนวน 9 รายว่ามีการซ้อมผู้ต้องหาระหว่างการควบคุมตัวตามกฎอัยการศึก (อ่านรายละเอียดที่นี่)



ย้อนกลับไปในขณะถูกเจ้าหน้าที่จับกุม สรรเสริญได้ยุติการดื่มน้ำและรับประทานอาหาร ซึ่งเป็นมาตรการที่เขาได้เตรียมการไว้ล่วงหน้าหากมีการจับกุมเกิดขึ้น ทั้งยังได้ทำหนังสือไว้กับทางเจ้าหน้าที่ตำรวจว่าเขาขอมอบร่างกายให้กับคณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ระบุว่าโครงกระดูกก็มอบให้คณะแพทย์ไว้ใช้สำหรับการศึกษา
และหากมีเศษของร่างกายหลงเหลือจากการใช้เพื่อการศึกษา ให้นำไปฝังไว้ที่ดอยม่อนยะ อ.แม่วาง เชียงใหม่  โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ทำการเก็บสำเนาหนังสือมอบอำนาจของเขาไว้

เขาว่าเหตุที่ไปพัวพันกับเหตุการณ์ปาระเบิดศาลอาจเนื่องมาจากเขาได้รับการชวนจากชาญวิทย์ (ถูกจับกุมเช่นกัน)  ให้ไปเป็นวิทยากรบรรยายเรื่องอุดมการณ์ทางการเมืองให้กับกลุ่มผู้สนใจทางการเมืองกลุ่มหนึ่งที่ จ.ขอนแก่น ประมาณสิบกว่าคน โดยที่เขาไม่ได้เคยรู้จักกับกลุ่มดังกล่าวมาก่อนแต่อย่างใด งานดังกล่าวจัดขึ้นในวันที่14-15 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ในเขตอำเภอเมือง ชาญวิทย์เขาบอกว่าชาญวิทย์พูดคนเดียวไม่ไหวจึงต้องการให้เขาไปช่วยพูด ขณะที่ทหารรวมถึงตำรวจซึ่งมีการแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนได้สรุปรวมว่ากิจกรรมดังกล่าวเป็นการพบปะเพื่อวางแผนก่อเหตุ โดยมีสรรเสริญและชาญวิทย์เป็นคนบรรยายแนวคิด

กระบวนการที่เจ้าหน้าที่พยายามทำให้สารภาพคือ การขู่ตะคอก ตบหน้า ชกเขาที่บริเวณลิ้นปี่และชายโครง รวมถึงเหยียบบริเวณลำตัว รอยช้ำส่วนใหญ่เริ่มจางลงไปไปหมดแล้ว เหลืออยู่เพียงบางส่วน อย่างไรก็ตาม เขายังรู้สึกเจ็บชายโครงที่ถูกชก

สรรเสริญไม่ยอมรับสารภาพว่าเกี่ยวข้องกับเหตุดังกล่าว เจ้าหน้าที่จึงได้ใช้ไฟฟ้าช็อตที่บริเวณต้นขา เขาประมาณว่าถูกช็อตราว 30-40 ครั้ง

สรรเสริญนิยามตัวเองว่าเป็นโซเชียลลิสต์(นักสังคมนิยม) เป็นผู้นิยมในแนวทางของพรรคซินเฟน (Sinn Fein) ชมชอบมาร์ติน ลูเธอร์ คิงส์ ชื่นชมในความเด็ดเดี่ยวของโฮจิมินห์ และเช เกวารา โดยเฉพาะเช เขาว่าหากเชอยู่คิวบาอย่างน้อยก็ต้องได้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขแต่เชกลับเลือกที่จะทำการปฏิวัติต่อจนตัวตาย

แนวทางสันติของเขาชัดเจนมาตั้งแต่อดีต ต้นปี 2553 เขาคือหนึ่งในผู้ก่อตั้งพรรค ‘แนวร่วมสังคมประชาธิปไตย’ ซึ่งเน้นเรื่องความเท่าเทียมของโอกาสของผู้คนในสังคม

แต่พรรคที่เขานิยามว่าเป็น ‘พรรคกระยาจก’ นี้ก็ถูกยุบไปหลังจากนั้นเพราะหาสมาชิกไม่ทันตามกำหนด อย่างไรก็ตาม ในห้วงการก่อตั้งพรรคเขาเคยให้สัมภาษณ์ถึงแนวคิดและแนวทางของเขาว่า

“เราพยายามรื้อฟื้นจิตวิญญาณที่ทำเพื่อคนอื่นขึ้นมา คนที่อยากจะทำอะไรเพื่อสังคมยังคงมีอยู่เยอะในสถานการณ์ที่ทางโน้นคนก็ไม่ชอบ ทางนี้คนก็ไม่ชอบ”

“การผลิตที่ทันสมัยเป็นของมนุษยชาติ มีแต่คนไร้เดียงสาเท่านั้นที่จะบอกว่านั่นเป็นของทุน คอนเซ็ปต์เดิมของสังคมนิยมไม่ได้อธิบายเรื่องการผลิต พูดแต่เรื่องการแบ่งปัน

อุดมการณ์เดิมนั้นดูกันที่การแบ่งปัน แต่สำคัญเราต้องทำการผลิตที่ก้าวหน้า แล้วกำหนดกติกาการแบ่งปัน การบริหารจัดการที่ไม่ให้กลุ่มคนต่างๆ เอาเปรียบกัน ที่สำคัญ

ต้องมีการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ให้ท้องถิ่นมีทั้งอำนาจ มีเงิน และรับผิดชอบต่อประชาชนโดยตรง”

“พรรคเพื่อไทยรับภารกิจได้ระดับหนึ่ง เขาไม่สะดวกจะทำบางอย่าง เช่น ภาษีก้าวหน้า คนที่จะทำเรื่องพวกนี้ คือพวกที่ไม่มีเนื้อจะเฉือน”

สำหรับการควบคุมตัวในคดีปาระเบิดศาลอาญานี้เจ้าหน้าที่ควบคุมตัวคนอีกหลายคน และปัจจุบันถูกนำเข้าเรือนจำทั้งหญิงและชาย ตำรวจแจ้งข้อกล่าวหาเขาว่า “ร่วมกันพยายามฆ่าโดยไตร่ตรองไว้ก่อน, กระทำให้เกิดระเบิดจนน่าจะเป็นอันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์ของผู้อื่น, มีและใช้เครื่องกระสุนปืนที่ใช้เฉพาะแต่การสงครามซึ่งนายทะเบียนไม่สามารถออกใบอนุญาตให้มีและใช้ไว้ในความครอบครองโดยผิดกฎหมาย, มีและใช้อาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในความครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต, พาอาวุธติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุจำเป็นเร่งเด่วนตามสมควรแก่พฤติการณ์, ยิงปืนซึ่งใช้ดินระเบิดโดยใช่เหตุในเมือง หมู่บ้านหรือที่ชุมนุมชนและมียุทธภัณฑ์ทางทหารไว้ในความครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต

 สรรเสริญยืนยันว่าเขาไม่ใช่พวกก่อวินาศกรรม ไม่ใช่พวกวางระเบิด

“ผมไม่ใช่คนแบบนั้น จะให้ผมยอมรับได้อย่างไร " เขากล่าวพร้อมน้ำตา

“ผมพูดได้เท่าที่ผมคิดและผมกระทำ(ต่อต้านการรัฐประหาร) ผมไม่สามารถยอมรับสิ่งที่ผมไม่ได้ทำได้ เขาซ้อมจนผมชนะเขา”

สุดท้ายเจ้าหน้าที่ได้ยุติมาตรการดังกล่าว กักตัวเขาไว้จนครบ 7 วันก่อนนำตัวเขามาแถลงข่าวในเวลาต่อมา ระหว่างนั้นเจ้าหน้าที่พยายามเกลี้ยกล่อมให้เขาดื่มน้ำ รับประทานอาหาร ด้วยคำขอว่า ขอให้เห็นแก่มิตรภาพของเรา


.......................................................................................................................................

ขอจบและลาด้้วยลิสต์ ที่อาจช่วยให้ให้การค้นหัวเรื่องของปีก่อนๆที่เหลื่อมซ้อนกันอยู่ง่ายขึ้น

[2011]2554 www.botkwamdee.blogspot.com/2011/01/1-2.html ทางตันและทางออกของชนชั้นนำไทย (1)(2) โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์
2554 www.botkwamdee.blogspot.com/2011/02/blog-post_20.html มรดกโลก มรดกเลือด มรดกเรา มรดกลวง โดย เพ็ญสุภา สุขคตะ ใจอินทร์
2554 www.botkwamdee.blogspot.com/2011/03/blog-post_22.html ผีเสื้อกระพือปีก โดยวิษณุ โชลิตกุล
2554 www.botkwamdee.blogspot.com/2011/04/blog-post_07.html นับถอยหลัง...ประชาคมอาเซียน โดย บัณฑิต หลิมสกุล
2554 www.botkwamdee.blogspot.com/2011/05/blog-post.html ประเทศเสรี, สาวสีลม, "ส" ส่งเสริม และ บาปบุญตรงไหน โดย ทราย เจริญปุระ
2554 www.botkwamdee.blogspot.com/2011/06/2011.html การเมืองเรื่องเลือกตั้งฯ และ "เลือกตั้ง 2011" เลือกไปเพื่ออะไร? โดย เทศมองไทย
2554 www.botkwamdee.blogspot.com/2011/07/siu.html จดหมายถึงคุณยิ่งลักษณ์ฯ และ จดหมายถึงพรรคประชาธิปัตย์ฯ โดย SIU
2554 www.botkwamdee.blogspot.com/2011/08/3-unsuspecting-heart.html พิโรธวาทัง,.. UNSUSPECTING HEARTฯ
2554 www.botkwamdee.blogspot.com/2011/09/matichon.html จะเอนเอียงต่อไป, 'ความเป็นกลาง' โดยคอลัมนิสต์ข่าวสด-มติชน
2554 www.botkwamdee.blogspot.com/2011/10/35-sch232.html บทเรียนจากกรณี 6 ตุลาคม โดย สุชีลา




.

2558-04-28

วิกฤตร่างรัฐธรรมนูญ 2558 โดย รศ.ดร.พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์

.

วิกฤตร่างรัฐธรรมนูญ 2558
โดย รศ.ดร.พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ 
ใน http://www.lokwannee.com/web2013/?p=141852
. . On April 28, 2015


ในที่สุดคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญก็ได้เสนอร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ปี 2558 เข้าสู่การพิจารณาของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ระหว่างวันที่ 20-26 เมษายน ซึ่งก็มีเนื้อหาที่ไม่ได้ผิดไปจากความคาดหมาย

เนื้อหาสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญนี้คือ มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 450 คน เป็น ส.ส.แบบแบ่งเขต 250 คน และส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ 200 คน โดยระบบบัญชีรายชื่อแบ่งประเทศไทยเป็น 6 ภาค ส.ส. มีอำนาจนิติบัญญัติน้อยลง


ส่วนสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) มีจำนวน 200 คน ประกอบด้วย อดีตปลัดกระทรวง อดีตผู้บัญชาการเหล่าทัพ ตัวแทนวิชาชีพ ท้องถิ่น ชุมชน ผู้ทรงคุณวุฒิ 123 คน ส่วนสมาชิกวุฒิสภาจากแต่ละจังหวัดจะมีคณะกรรมการกลั่นกรองทำการคัดเลือกรายชื่อ “ผู้ทรงคุณวุฒิและคุณธรรม” จังหวัดละ 10 รายชื่อ แล้วให้ประชาชนลงคะแนนเลือกมา 1 คน ฉะนั้นสมาชิกวุฒิสภาทั้ง 200 คนก็มาจากการแต่งตั้งนั่นเอง โดยเคลือบคลุมไม่ให้โจ่งแจ้งเกินไปด้วยวิธีการสรรหาและกลั่นกรอง

วุฒิสภามีอำนาจหน้าที่ล้นเหลือ ทั้งตั้งองค์กรอิสระต่างๆ และถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้ทุกตำแหน่ง ที่สำคัญคือสามารถเสนอร่างกฎหมายได้เองโดยไม่ต้องรอสภาผู้แทนราษฎร


นายกรัฐมนตรีไม่จำเป็นต้องมาจากสภาผู้แทนราษฎร ถ้า “คนนอก” ถูกเสนอชื่อก็จะต้องได้รับคะแนนเสียงในสภาไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ส่วนการตั้งรัฐมนตรี นายกฯต้องส่งรายชื่อรัฐมนตรีให้วุฒิสภาตรวจสอบประวัติคุณธรรมจริยธรรมก่อน


นอกจากบรรดาองค์กรอิสระที่มีอำนาจเหนือสภาที่มาจากการเลือกตั้งเช่นเดียวกับรัฐธรรมนูญ 2550 แล้ว ร่างรัฐธรรมนูญยังกำหนดให้มี “สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศและคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปแห่งชาติ” ประกอบด้วยสมาชิกที่มาจากสภาปฏิรูปแห่งชาติชุดรัฐประหารจำนวน 60 คน จากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ชุดรัฐประหารจำนวน 30 คน และ “ผู้ทรงคุณวุฒิ” อีก 30 คน มีอำนาจจัดทำนโยบายปฏิรูปเสนอให้คณะรัฐมนตรีทำตาม ถ้าคณะรัฐมนตรีไม่ทำก็สามารถจัดให้มีการออกเสียงประชามติในประเด็นนั้นเพื่อบังคับคณะรัฐมนตรีให้ทำ แล้วยังมีอำนาจเสนอร่างกฎหมายปฏิรูปผ่านทางวุฒิสภาได้อีกด้วย


มีองค์กรที่กำหนดให้มีอำนาจ “ตรวจสอบ” มากมายซ้ำซ้อนค้ำคอองค์กรอื่นๆที่มาจากการเลือกตั้ง เช่น “สมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ” มาจัดทำ “ประมวลจริยธรรม” มีอำนาจในการสอบสวนและเสนอให้ถอดถอนนักการเมืองและเจ้าหน้าที่รัฐทุกตำแหน่งที่ไม่ทำตามประมวลจริยธรรม โดยองค์กรนั้นๆไม่ต้องสอบสวนเพิ่มอีก มีสภาตรวจสอบภาคพลเมืองจังหวัด สมัชชาพลเมือง ฯลฯ


นอกจากนี้ยังมีคณะกรรมการปฏิรูปสารพัด กำหนดวาระปฏิรูปด้านต่างๆเสนอต่อรัฐสภาหรือรัฐบาล เช่น คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย คณะกรรมการปฏิรูปด้านการเงิน การคลัง และภาษีอากร คณะกรรมการการกระจายอำนาจแห่งชาติ คณะกรรมการนโยบายการศึกษาและพัฒนามนุษย์แห่งชาติ สมัชชาศิลปวัฒนธรรม ฯลฯ


ร่างรัฐธรรมนูญ 2558 ได้กำหนดให้สืบทอดระบอบรัฐประหาร 2557 ต่อไปอีกคือ มาตรา 310 ให้บรรดาองค์กรอิสระที่ตั้งโดยคำสั่งคณะรัฐประหารยังคงทำหน้าที่ต่อไปจนครบวาระ และมาตรา 315 กำหนดการกระทำทั้งปวงที่รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 เป็นการชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญใหม่นี้ด้วย



ต้นแบบของร่างรัฐธรรมนูญนี้คือ ระบอบรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญ 2521 ซึ่งมีวุฒิสภาแต่งตั้งทั้งชุด มีสภาผู้แทนราษฎรที่ประกอบด้วยพรรคการเมืองขนาดเล็กกระจัดกระจาย เลือกตั้งเข้ามาแล้วก็เสนอชื่อเลือก “คนนอก” ซึ่งก็คือ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ มาเป็นนายกรัฐมนตรีต่อเนื่องยาวนานถึง 8 ปี คณะรัฐมนตรีมาจากทั้ง “คนนอก” และจากโควตาพรรคการเมืองที่ยกมือสนับสนุน พล.อ.เปรมนั่นเอง

นี่ยังเป็นต้นแบบให้กับรัฐประหารปี 2534 เมื่อคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) สืบทอดอำนาจผ่านรัฐธรรมนูญ 2534 จัดตั้งพรรคการเมืองของทหารขึ้นคือ พรรคสามัคคีธรรม รวบรวมเสียง ส.ส. จากพรรคอื่นๆรวมกันแล้วยกมือเลือก พล.อ.สุจินดา คราประยูร เป็นนายกรัฐมนตรี จนนำไปสู่เหตุการณ์นองเลือดพฤษภาคม 2535 ผู้คนบาดเจ็บล้มตายสูญหายหลายร้อยคน และการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้นายกรัฐมนตรีต้องมาจากสภาผู้แทนราษฎรในที่สุด



เช่นเดียวกันคือ ร่างรัฐธรรมนูญ 2558 ถูกจัดทำขึ้นเพื่อสืบทอดอำนาจรัฐประหาร โดยเฉพาะตามรูปแบบข้างต้นมีการเปิดช่องให้ “คนนอก” ได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกฯได้เช่นกัน เป็นการ“ถอยหลัง” ที่เลวร้ายยิ่งกว่ารัฐธรรมนูญ 2550 คือย้อนยุคไปถึงปี 2521 และเป็นการกระทืบซ้ำผู้ที่สูญเสียในเหตุการณ์นองเลือดเดือนพฤษภาคม 2535 อีกด้วย

หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แสดงท่าทีชัดเจนว่า จะไม่มีการทำประชาพิจารณ์หรือลงเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญนี้อย่างแน่นอน ถ้าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่านความเห็นชอบจาก สปช. และ คสช. จนประกาศใช้แล้ว สิ่งที่เราจะได้เห็นก็คือ การจัดตั้งพรรคการเมืองเพื่อผ่องถ่ายอำนาจคณะรัฐประหารไปสู่รัฐบาลหลังเลือกตั้งโดยผ่านนายกรัฐมนตรี “คนนอก” ดังที่มี “ข่าวลือ” มาเป็นระยะๆแล้วว่า มีการเคลื่อนไหวของนักการเมืองบางกลุ่มที่จะก่อรูปเป็นพรรคการเมืองเพื่อรองรับนายกรัฐมนตรี “คนนอก” และการจัดตั้งรัฐบาลหลังการเลือกตั้งครั้งต่อไป ทั้งหมดนี้ทำให้ความสูญเสียเลือดเนื้อและชีวิตในเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 และเมษายน-พฤษภาคม 2553 เป็นโศกนาฏกรรมที่สูญเปล่า

ยิ่งกว่านั้นคือ รัฐธรรมนูญที่ย้อนยุค ฝืนการเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยเช่นนี้ มีแนวโน้มที่จะทำให้ความขัดแย้งและวิกฤตปัจจุบันยืดเยื้อรุนแรงยิ่งขึ้น จนในที่สุดรัฐธรรมนูญนี้ก็จะต้องถูกฉีกทิ้งอีกโดยคณะรัฐประหาร หรือโดยประชาชนที่ไม่อาจทนต่อการครอบงำของพวกเผด็จการได้อีกต่อไป



อย่างไรก็ตาม มีแนวโน้มเช่นกันว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้อาจจะถูกคว่ำกลางคันด้วยสาเหตุสำคัญคือ รัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ยังไม่ได้บรรลุภารกิจหลักที่ได้วางไว้แต่ต้น ได้แก่ การจัดการ “การเปลี่ยนผ่าน” ให้เป็นไปโดยสงบเรียบร้อยและมั่นคง การปราบปรามกลุ่มคนที่ฝ่ายทหารเชื่อว่าเป็น “พวกล้มเจ้า” การกำจัดนักการเมืองตระกูลชินวัตรไม่ให้หวนคืนสู่การเมือง การสลายพรรคเพื่อไทยและเครือข่ายคนเสื้อแดง โดยเฉพาะ 3 ประการหลังนี้ยังอยู่ในระหว่างดำเนินการที่จะยังไม่เสร็จสิ้นในเวลาอันใกล้นี้

การเห็นชอบและประกาศใช้ร่างรัฐธรรมนูญ 2558 ยังจะทำให้ คสช. สลายตัวและเริ่มต้นการผ่องถ่ายอำนาจไปสู่นายกรัฐมนตรี “คนนอก” ภายหลังการเลือกตั้ง ซึ่งมีอำนาจและความมั่นคงทางการเมืองน้อยกว่าอย่างมาก อีกทั้งยังต้องอิงนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งที่มีความไม่แน่นอน


ถ้าร่างรัฐธรรมนูญนี้ถูกคว่ำกลางคันก็จะต้องแต่งตั้งสภาปฏิรูปแห่งชาติและคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญชุดใหม่เพื่อเริ่มกระบวนการร่างใหม่ทั้งหมด เป็นการยืดเวลาให้คณะรัฐประหารปฏิบัติภารกิจ 4 ประการข้างต้นให้เสร็จสิ้น แต่การกระทำเช่นนั้นจะทำให้ระบอบรัฐประหารเข้าสู่ภาวะวิกฤต สูญเสียความเชื่อถือจากผู้ที่สนับสนุนจำนวนมากทั้งในหมู่ประชาชน นักธุรกิจ และนักการเมือง ที่ต้องการรื้อฟื้นการเมืองแบบเลือกตั้งโดยเร็ว ตลอดจนจะถูกกดดันจากประชาคมนานาชาติหนักหน่วงยิ่งขึ้น

ร่างรัฐธรรมนูญ 2558 จึงเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญที่จะชี้ว่าระบอบรัฐประหารนี้จะไปสู่จุดจบอย่างไร  



.

2558-03-06

พลวัตของคุณธรรม โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์

.

พลวัตของคุณธรรม
โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์
ใน www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1425645135
. . วันศุกร์ที่ 06 มีนาคม พ.ศ. 2558 เวลา 22:30:00 น.
( ที่มา : มติชนสุดสัปดาห์ 27ก.พ. -5มี.ค.58 ปี35 ฉบับ1802 หน้า32 )


ในงานเลี้ยงส่งนักวิชาการชาวต่างชาติท่านหนึ่งเจ้าภาพได้จัดให้มีการเสวนาทางวิชาการเกี่ยวกับการเมืองไทยขึ้น
ประเด็นที่ให้ความสำคัญกันมากในหมู่วิทยากรก็คือ เราจะออกจากทางตันที่เผชิญอยู่นี้ได้อย่างไร ดูเหมือนทุกคนจะเห็นพ้องต้องกันว่า ความแตกร้าวที่ผ่านมาต้องคลี่คลายลงเสียก่อน เพราะพลังที่จะผ่าทางตันนี้ต้องมาจากทุกฝ่าย ไม่ได้หมายความว่าทุกฝ่ายต้องมามีความเห็นทางการเมืองเหมือนกัน
เพียงแต่ทุกฝ่ายต้องเห็นพ้องต้องกันว่า วิถีทางประชาธิปไตยเท่านั้น ที่จะทำให้ขัดแย้งกันต่อไปโดยไม่นำมาสู่ทางตันเช่นนี้อีก

พูดอีกอย่างหนึ่งคือแสวงจุดร่วมสงวนจุดต่างกันได้อย่างไร


หนึ่งในวิทยากรเสนอว่า เราไม่อาจเอาเรื่องของความดีและคนดีออกมาเย้ยหยันเสียดสีได้ เพราะถึงอย่างไรความดีและคนดีก็น่าจะเป็นหนึ่งในบรรดา "จุดร่วม" ที่เราควรมีร่วมกัน

ฟังดูเหมือนจะง่าย เพราะอย่างน้อยในฐานะคนไทยด้วยกัน ก็คงถูกอบรมสั่งสอนมาให้ยึดถือว่าอะไรคือคุณธรรมความดีตรงกัน และความเคารพต่อคุณธรรมความดีก็ดูเหมือนจะเป็นคำสอนพื้นฐานที่สั่งสอนกันมาในทุกวัฒนธรรม


แต่ในความจริงคงไม่ง่ายเหมือนอย่างฟังกระมัง ผมคิดว่าความขัดแย้งทางการเมืองที่เราต้องเผชิญในหลายปีที่ผ่านมานั้น ไม่มีความขัดแย้งอะไรสักอย่างที่จีรังยั่งยืน ไม่ว่าทักษิณ, เปรม, ประชาธิปไตย หรือเผด็จการ ความเห็นต่อสิ่งเหล่านี้เสียอีกที่อาจเปลี่ยนได้เมื่อเวลาผ่านไป

แต่ความขัดแย้งที่ไม่เปลี่ยนง่ายๆ คือเรื่องของค่านิยมนี่แหละครับ




การที่คนฝ่ายหนึ่งเย้ยหยันคนที่อ้างตัวว่าเป็นคนดีนั้นไม่ได้เป็นเพียงเพราะคนเหล่านั้นมีความคิดเห็นทางการเมืองแตกต่างเท่านั้น แต่เพราะพฤติกรรมของคนเหล่านั้นเองถูกตั้งข้อสงสัยต่างหากว่า เป็นความดีแน่ละหรือ เช่นที่บางคน เช่น ยกตัวอย่าง พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ซึ่งยังอาศัยอยู่ในบ้านหลวงแม้ปลดเกษียณอายุราชการมานานแล้ว หรือการที่ท่านกินเงินเดือนของบริษัทเกษตรข้ามชาติ หรือร้ายไปกว่านั้น คือสนับสนุนการรัฐประหาร หรือเหตุใดหมอๆ ทั้งหลายซึ่งอ้างความเป็นคนดี จึงพากันเข้าไปบริหารเงินจำนวนพันๆ ล้านในองค์กรมหาชน ซึ่งหมอเองเป็นผู้ผลักดันให้เกิดขึ้น

ผมไม่ปฏิเสธเลยนะครับว่า การกระทำของท่านเหล่านี้ไม่เคยถูกมองว่าเป็นความชั่วในวัฒนธรรมไทยมาก่อน บุคคลที่คนทั่วไปเห็นว่าได้ทำคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติมามาก อย่างพลเอกเปรม ย่อมพึงได้รับอภิสิทธิ์ต่างๆ ที่สังคม (หรืออย่างน้อยก็บางส่วนของสังคม) ยินดีมอบให้ด้วยความเต็มใจ การรับเงินเดือนของนักธุรกิจอภิมหาเศรษฐีก็เป็นส่วนหนึ่งของอภิเกียรติยศที่ท่านควรได้รับ หรือรัฐประหารก็ไม่ใช่ความชั่วช้าอะไรที่คนดีๆ จะสนับสนุนไม่ได้ หมอๆ ที่ไปบริหารองค์กรมหาชนก็เหมือนกัน ต่างมีชื่อเสียงว่าเป็นผู้อุทิศตนให้แก่ประโยชน์ส่วนรวมของสังคม เช่น รณรงค์ต่อต้านบุหรี่และสุรามานานแล้วบ้าง เป็นหมอหนุ่มไฟแรงของกระทรวงสาธารณสุขบ้าง ก็ควรไปนั่งบนเก้าอี้ที่ควรนั่งถูกแล้ว

ที่เคยถือกันว่าเป็นความดีนั้น ถูกคนจำนวนมากตั้งข้อสงสัย กล่าวคือสงสัยทั้งในสิ่งที่เคยเรียกว่าดี (หรือไม่เห็นว่าชั่ว) และสงสัยทั้งผู้ปฏิบัติสิ่งเหล่านั้นว่า ปฏิบัติได้จริงอย่างสมบูรณ์ดังข้ออ้างของตนละหรือ ทั้งนี้ ยังไม่รวมไปถึงความสงสัยว่าเราควรให้อภิสิทธิ์อะไรแก่ความดีและคนดี

พูดอีกอย่างหนึ่งคือความเปลี่ยนแปลงทางค่านิยมพื้นฐาน และเกณฑ์การวินิจฉัยเกี่ยวกับความดี, ความชั่ว, และคนดี, คนชั่ว



เรื่องจึงไม่ง่ายอย่างที่วิทยากรท่านนั้นพูดประหนึ่งว่าความดีเป็นนิรันดร เพราะตรงกันข้ามเลย ทั้งความดีและมาตรฐานของความดีในสังคมไทยกำลังเปลี่ยนอย่างมโหฬาร จึงทำให้ความแตกแยกนั้นร้าวลึกกว่าประเด็นขัดแย้งทางการเมืองและผลประโยชน์มากนัก

ยิ่งอ้างเอาความดีเป็นความชอบธรรมของอำนาจก็ยิ่งจะสับสนขึ้นไปใหญ่ จริงอยู่ทฤษฎีอำนาจของไทยโบราณ คือบารมีหรือความดีที่ได้สั่งสมไว้คือที่มาของอำนาจอันชอบธรรม แต่คนไทยโบราณคิดถึงความดีที่ได้สั่งสมมาไว้ในอดีตชาติ ฉะนั้น บารมีหรือความดีที่อ้างถึงคือคุณธรรมระดับจักรวาล (cosmic virtue) ไม่อาจมีบันทึกไว้ให้ใครตรวจสอบได้ (นอกจากพระอินทร์) แต่ความดีคนดีที่อ้างกันในปัจจุบัน เป็นความดีที่ได้ทำในโลกนี้ มีบันทึกให้คนอื่นตรวจสอบได้ และเมื่อตรวจสอบได้ก็ตั้งคำถามได้ด้วย

เพียงแค่ทัศนะของคนปัจจุบันซึ่งเพ่งเล็งโลกนี้มากกว่าวัฏจักรแห่งการเวียนว่ายตายเกิดเพียงอย่างเดียว คติเรื่อง "บารมี" ก็เปลี่ยนไปแล้ว

นอกจากความดีไม่ใช่สิ่งนิรันดรแล้ว ความดียังไม่เป็นสากลอีกด้วย ไม่เฉพาะแต่ไม่สากลข้ามวัฒนธรรมเท่านั้น ผมคิดว่ามีมิติทางชนชั้นของความดีอยู่ด้วย แม้ในวัฒนธรรมเดียวกัน



การคอร์รัปชั่นหรือที่แต่ก่อนเรียกว่าการฉ้อราษฎร์บังหลวงนั้นเป็นความชั่วมาแต่โบราณแล้วหากทว่าคนโบราณมองการคอร์รัปชั่นว่าเป็นภัยต่อราษฎร ทำให้เกิดความเดือดร้อนต่างๆ นานา เช่น รีดภาษีจากผู้ผลิตเกินพิกัดอัตราที่หลวงท่านตั้งไว้ เพื่อเอาเป็นอาณาประโยชน์ส่วนตัว ราษฎรที่ถูกรีดภาษีย่อมเดือดร้อน หรือตุลาการเรียกสินบนจากคู่ความ ตัวคู่ความเองก็เดือดร้อน การคอร์รัปชั่นเป็นความชั่วเพราะทำความเดือดร้อนให้แก่ราษฎรเป็นกรณีๆไป ไม่ใช่ทำความเสียหายให้แก่สังคมโดยรวม

พูดง่ายๆ ก็คือฉ้อราษฎร์นั่นแหละคือความชั่ว ส่วนบังหลวงดูออกเป็นเรื่องปรกติธรรมดา ก็หลวงท่านไม่ได้จ่ายเงินเดือนให้ข้าราชการ ให้ไปแต่อำนาจในขอบเขตหนึ่ง แล้วก็ให้หาเลี้ยงตัวด้วยอำนาจในขอบเขตนั้น การที่ขุนนางเกณฑ์กำลังไพร่สมในสังกัดของตนไปทำนา เพื่อได้ข้าวมาเป็นสมบัติส่วนตัว จึงเป็นการหารายได้ที่สุจริตอยู่แล้ว แม้แต่ไพร่ในสังกัดไม่เข้าเวรแต่ยอมจ่ายเป็นเงินให้แก่มูลนายแทน มูลนายจะทำอย่างไรกับเงินได้ดีไปกว่าเก็บเข้ากระเป๋า เพราะนั่นคือค่าแรงของมูลนายซึ่งต้องรับราชการโดยไม่มีเงินเดือน

ทั้งหมดนี้ ถ้าพูดใหม่ให้ฟังเป็นวิชาการก็คือ คนไทยโบราณมีความคิดเกี่ยวกับ "ส่วนตัว" และ "ส่วนรวม" (private and public) ไม่เหมือนกับฝรั่งสมัยใหม่ บางคนบอกว่าคนไทยโบราณไม่มีความคิดเกี่ยวกับเรื่องนี้เลย ซึ่งผมสงสัยว่าไม่จริง อย่างน้อยในหมู่บ้านเขาก็รู้ว่าอะไรเป็นสมบัติส่วนรวม ซึ่งมีผีและฮีตคอยคุ้มครองอยู่ เช่น บ่อน้ำ, วัดและสมบัติในวัด, ศาลผี, ทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์, ฯลฯ เพียงแต่ว่าสิ่งที่เขาจะเห็นเป็น "ส่วนรวม" ได้นั้น ต้องเป็นสิ่งที่เขาสามารถเข้าร่วมใช้และร่วมจัดการด้วยเท่านั้น

ของ "หลวง" จึงไม่ใช่ของ "ส่วนรวม" ในทัศนะของเขา คนเราจะมองเห็นของ "หลวง" ว่าเป็นของส่วนรวมได้ ก็ต้องมีความคิดเรื่องสังคมก่อน คำว่าสังคมที่หมายถึงส่วนรวมของคนทั้งชาติไทยไม่เคยมีในภาษาไทยมาก่อน ก็ไม่แปลกอะไรนะครับ แม้แต่ชาติไทยก็ไม่มีมาก่อน จะให้เขาคิดถึงสังคมไทยได้อย่างไร



แนวคิดเรื่อง"ส่วนตัว" กับ "ส่วนรวม" เป็นความคิดฝรั่งสมัยใหม่ ซึ่งซึมเข้าสู่ชนชั้นกลางไทยผ่านการศึกษาและสื่อ ฉะนั้น คอร์รัปชั่นในความหมายของชนชั้นกลางไทยจึงไม่ต่างจากฝรั่ง เอาเงินงบประมาณไปสร้างสะพาน แต่กินสินบนกันเสีย 30% แม้ว่าได้สะพานมาอย่างต้องการ แต่ก็สูญเงินไปเปล่าๆ ปลี้ๆ 30% ชนชั้นกลางคิดว่า เงินที่เสียไปโดยใช่เหตุนี้ เอาไปใช้ทำอย่างอื่นให้แก่ส่วนรวมได้อีก การคอร์รัปชั่นจึงน่ารังเกียจ เป็นความชั่วที่ไม่น่าให้อภัย แต่ชาวบ้านซึ่งยังรับแนวคิดเรื่อง "ส่วนตัว" - "ส่วนรวม" แบบฝรั่งไม่มากนัก ย่อมมองคอร์รัปชั่นแบบนี้เหมือนสมัยโบราณ กล่าวคือ ไม่ทำให้ราษฎรคนไหนเดือดร้อนสักคน

เมื่อชาวบ้านตอบคำถามของสำนักโพลต่างๆ (ซึ่งนับวันยิ่งไม่น่าเชื่อถือมากขึ้นทุกที) ว่า หากคอร์รัปชั่นแล้วได้อะไรคืนมาก็ไม่น่ารังเกียจนัก จึงเป็นคำตอบที่ไม่น่าตระหนกตกใจอะไร เป็นวิธีคิดที่มีเหตุมีผลในสังคมไทยตั้งแต่อยุธยาแล้ว แต่หากถามชาวบ้านว่า นายทุนร่วมมือกับมหาดไทยมายึดทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ หรือหนองน้ำของหมู่บ้านไปเป็นของส่วนตัว คอร์รัปชั่นอย่างนี้น่ารังเกียจไหม ผมมั่นใจว่าร้อยทั้งร้อยย่อมตอบว่าน่ารังเกียจทั้งนั้น

ในทางตรงกันข้าม หากนำคำถามนี้มาถามชนชั้นกลางบ้าง ผมเชื่อว่าจำนวนมากต้องถามกลับก่อนว่า นายทุนยึดที่ดินชาวบ้านไป "พัฒนา" (ซึ่งแปลว่าเอาไปใช้เพื่อผลิตสินค้าที่ให้ผลตอบแทนเป็นมูลค่าที่สูงกว่าเดิม) หรือยึดไปเฉยๆ หากเอาไป "พัฒนา" ก็พอจะรับได้ แปลว่าในทัศนะของชนชั้นกลาง การคอร์รัปชั่นก็พอจะทนได้เหมือนกัน หากมีเงื่อนไขเพื่อการ "พัฒนา" ส่วนความเดือดร้อนของชาวบ้านนั้น ก็ต้องเสียสละเพื่อ "ส่วนรวม" อาจควรจ่ายชดเชยไปพอสมควร

ในขณะที่คอร์รัปชั่นของชาวบ้าน คือภัยต่อหัวคน คอร์รัปชั่นของชนชั้นกลางคือภัยต่อส่วนรวมที่ไม่มีหัวคนอยู่ในนั้น คำว่าฉ้อราษฎร์บังหลวงนั้น ชาวบ้านเห็นว่าการฉ้อราษฎร์คือคอร์รัปชั่น ชนชั้นกลางเห็นว่าบังหลวงคือคอร์รัปชั่น




ความซื่อสัตย์สุจริตของบุคคลสาธารณะนั้นล้วนเป็นที่ยกย่องของคนไทยทุกชนชั้น แต่มีความหมายที่ต่างกันมาก ฉะนั้น จึงอย่ามาพูดดีกว่าว่า เราทุกฝ่ายที่ขัดแย้งทางการเมืองอยู่ในเวลานี้ ต้องยอมรับความดีและคนดีเหมือนกัน ก็ความดีและคนดีมันมีความหมายไม่เหมือนกัน ระหว่างคนต่างสถานภาพ, ต่างชนชั้น และต่างวัฒนธรรม พอพูดบ่อยๆ เข้าก็เท่ากับพูดว่า พวกมันเลวหมด พวกกูดีหมด

ผมคงยกตัวอย่างของคุณธรรมความดีที่ไม่มีใครปฏิเสธได้อีกนับเรื่องไม่ถ้วนแต่ขอยกเป็นตัวอย่างอีกเรื่องเดียวคือกตัญญูกตเวทิตา ซึ่งก็ยังเป็นคุณธรรมที่ไม่มีใครปฏิเสธในปัจจุบัน แต่ความกตัญญูรู้คุณในความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์ กับความกตัญญูรู้คุณในระบบที่ความสัมพันธ์ทางสังคมเปลี่ยนเป็นระหว่างปัจเจกบุคคลไปมากแล้ว ย่อมไม่เหมือนกันอีกต่อไป และด้วยเหตุดังนั้น กตเวทิตาหรือการตอบแทนบุญคุณจึงต้องต่างไปด้วย

ทั้งหมดนี้ล้วนอธิบายได้ด้วยหลักพระพุทธศาสนาทั้งความดีและความชั่วนั้นท่านสอนว่าเป็นสังขตธรรมทั้งคู่ คือเป็นธรรมที่มีเงื่อนไข ที่มันดีก็เพราะอยู่ในเงื่อนไขอย่างนี้ๆ มันชั่วก็เพราะอยู่ในเงื่อนไขอย่างนี้ๆ ดังนั้น ทั้งความดีและความชั่วจึงแปรเปลี่ยนไปได้ตามเงื่อนไขทางโลกียะที่แวดล้อมมันอีกทีหนึ่ง ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าทำดีทำชั่วก็ได้ผลเท่ากันนะครับ เงื่อนไขทางโลกย์นั่นแหละที่กำหนดว่า ทำดีแล้วจะได้ผลอะไร ทำชั่วแล้วจะได้ผลอะไร ไม่ว่าจะทำดีหรือทำชั่วจึงต้องใช้ปัญญา เล็งเห็นผลของการกระทำได้ว่าจะเกิดผลอย่างไร ทั้งแก่ตนเอง ทั้งแก่ผู้อื่น และแก่หนทางดับทุกข์ในเบื้องหน้าไปพร้อมกัน

ส่งเสริมการรัฐประหารเป็นความดีหรือความชั่วไม่สามารถตอบได้ง่ายๆ เพราะต้องใช้ปัญญาให้รอบคอบ เอาประโยชน์ตน ประโยชน์ท่าน และประโยชน์แห่งพระนิพพาน มาไตร่ตรองให้ดี

ผมแสดงพระธรรมเทศนาตรงนี้ เพื่อเตือนสิ่งสำคัญอย่างยิ่งไว้ด้วยว่า อำนาจที่แข็งแรงมั่นคงที่สุดซึ่งมนุษย์สามารถสถาปนาขึ้นเหนือผู้อื่นได้ นับแต่โบราณนานไกลมาแล้ว คือการทำให้คนอื่นต้องยอมรับสิ่งที่ตัวบัญญัติว่าเป็นความดีอย่างไม่มีทางปฏิเสธหรือต่อรองได้เลย มีคนจำนวนมากในสังคมไทยปัจจุบัน ลุกขึ้นมาตั้งคำถาม จนถึงปฏิเสธมาตรฐานตายตัวของความดีที่ถูกสถาปนาไว้อย่างกว้างขวาง ชนิดที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนเลยเช่นนี้ เป็นพยานอย่างดีว่าประชาธิปไตยในสังคมไทยเข้มแข็งขึ้นอย่างมาก ไม่ว่าเราจะอยู่ภายใต้ระบอบปกครองอะไรก็ตาม


.

2558-02-27

อารมณ์ความรู้สึกทางศาสนา โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์

.

อารมณ์ความรู้สึกทางศาสนา 
โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์
ใน www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1425037443
. . วันที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558 เวลา 21:32:07 น.
( ที่มา : มติชนสุดสัปดาห์ ปี35 ฉ.1801 ประจำ20-26 ก.พ.2558)


วิดีโอที่ผมชอบดูเป็นพิเศษคือ Les Miserables ชุดที่เป็นละครเพลง เพราะนอกจากเพลงไพเราะแล้ว ส่วนใหญ่ของผู้แสดงร้องเพลง (ซึ่งดีทั้งทำนองและเนื้อร้อง)ได้เป็นเลิศ ฟังแล้วจับใจมาก ว่างเมื่อไรผมจึงชอบนำมาเปิดดูเสมอ

ครั้งสุดท้ายที่ได้ดู จึงได้พบว่า มีศาสนาคริสต์ถึงสามศาสนาในละครเพลงเรื่องนี้ (หรือในนิยายเรื่องนี้) ก็ไม่น่าแปลกอะไรนะครับ จะหานักคิดของชาติอะไรที่หมกมุ่นกับศาสนายิ่งไปกว่านักคิดสมัยใหม่ของฝรั่งเศสได้ยาก ทั้งปฏิเสธ ทั้งสนับสนุน ทั้งตีความใหม่ ทั้งจัดสถานะให้ศาสนาไว้ในที่ต่างๆ ทางการเมืองและสังคมแตกต่างกันเป็นหลายสิบอย่าง ดังนั้น หาก วิกตอร์ อูโก ไม่พูดถึงศาสนาในนิยายชิ้นเอกนี้เลยสิ ถึงจะแปลก


ศาสนาคริสต์แรกเป็นของชาแวร์ต สารวัตรตำรวจ ผู้ตามล่าวัลชองตัวพระเอก ซึ่งเคยก่ออาชญากรรมลักขโมยเพื่อเอาเงินไปช่วยน้องสาวที่กำลังป่วยมาก่อน จนถูกจำขังให้ทำงานหนัก และได้รับภาคทัณฑ์ปล่อยตัว ในโลกของชาแวร์ต มนุษย์มีเพียงสองประเภท คือคนดีกับคนชั่ว หน้าที่ของตำรวจคือกีดกันคนชั่วออกไปจากโลกของคนดี ตัวเขามีหน้าที่รักษากฎหมายเพื่อผดุงระเบียบสังคมเช่นนี้
ดังนั้น จึงต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด เพราะระเบียบสังคมเช่นนี้สอดคล้องกับกฎของพระเจ้า ซึ่งจะลงโทษคนชั่วซ้ำอีกเมื่อถึงวันชำระ กฎหมายคือประจักษ์พยานของพระเจ้าในโลกนี้ กฎหมายและพระเจ้าจึงเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน


ศาสนาคริสต์ที่สองคือศาสนาของวัลชองและหลวงพ่อ (หรือคุณพ่อ)ที่ไม่เอาผิดกับเขา เมื่อจับได้ว่าเขาขโมยเครื่องเงินของโบสถ์ไป นี่คือคริสต์ศาสนาแห่งความรัก ความเข้าใจ และการให้อภัย ซึ่งสามารถชุบชูอาชญากรให้ออกมาเป็นคนที่มีคุณค่าต่อสังคมได้ ดังที่วัลชองช่วยเหลือลูกสาวของโสเภณีที่เขาหลงรักให้กลายเป็นหญิงสาวที่มีจิตใจอันงดงาม ช่วยชาแวร์ตให้รอดพ้นจากการถูกนักศึกษาปฏิวัติสังหาร ฯลฯ


ศาสนาคริสต์ที่สามคือศาสนาของนักศึกษาปฏิวัติ ผู้ฝันถึงสังคมที่มีความเท่าเทียม ปราศจากการกดขี่เอารัดเอาเปรียบ ที่ซึ่งทุกคนสามารถ เสวยผลของการทำงานของตนได้โดยไม่ถูกผู้มีอำนาจแย่งชิงแบ่งส่วนไป ทั้งในบทเพลงและในเนื้อเรื่อง เราอาจคิดว่านักศึกษาปฏิวัติไม่มีศาสนาก็ได้ แต่โลกที่อุบัติขึ้นจากการปฏิวัติคือภาพสะท้อนอาณาจักรของพระเจ้าในสวนอีเดนนั่นเอง อันเป็นภาวะที่อาจกลับเกิดขึ้นได้ใหม่ โดยไม่ต้องรอถึงวันชำระ



ข้อสังเกตประการแรกก็คือ คริสต์ศาสนาทั้งสามไม่เกี่ยวหรือไม่ค่อยเกี่ยวกับโลกหน้า ทั้งหมดเป็นอุดมคติของศาสนาที่อาจและควรเกิดขึ้นได้ในโลกนี้ ตกมาถึงสมัยของ วิกตอร์ อูโก นักคิดฝรั่งเศสไม่ใส่ใจกับมิติของโลกหน้าในศาสนาอีกแล้ว แต่หากศาสนาจะยังมีอยู่ ก็ต้องอธิบายให้ได้ว่าศาสนาสัมพันธ์กับโลกนี้อย่างไร


ข้อสังเกตประการที่สองสำคัญกว่า เพราะเป็นประเด็นที่ผมอยากนำมาเปรียบกับพัฒนาการของพระพุทธศาสนาในประเทศไทย นั่นก็คือสิ่งที่เรียกทางสังคมวิทยาว่า religiosity ซึ่งผมไม่รู้จะแปลไทยว่าอย่างไรดีไปกว่าคำที่คนไทยใช้มานานแล้วคือ "ถือ" ศาสนา
การถือศาสนานั้น แบ่งคุณลักษณะออกได้เป็นสามอย่าง
หนึ่งคือความรู้ความเข้าใจ (จะผิดหรือถูกตามคัมภีร์หรือไม่ก็ไม่สำคัญ)
สองคือสิ่งที่กระทบต่อจิตใจซึ่งผมขอเรียกให้เข้าใจง่ายๆ ว่า อารมณ์ความรู้สึก (ก็อีกเหมือนกันนะครับ สิ่งที่รู้สึกหรือมีอารมณ์นั้นจริงหรือไม่ก็ไม่สำคัญ แต่รู้สึกจริงและมีอารมณ์จริงสำคัญกว่า เช่น คนเชื่อผีและได้เห็นผี เป็นต้น) 
และสามคือการปฏิบัติศาสนา จะเป็นพิธีกรรมหรือนำมาใช้ในชีวิตก็ตาม



ผมอยากพูดถึงคุณลักษณะอย่างที่สองของการถือศาสนา นั่นคือด้านอารมณ์ความรู้สึก ถ้าจะแปลคำนี้ในภาษาอังกฤษว่า sentiment, emotion ก็อาจยังไม่พอในบางกรณี เพราะอารมณ์ความรู้สึกทางศาสนาอาจพัฒนาไปถึงขั้นที่อาจเรียกได้ว่าเป็น ecstasy ก็ได้ ในพิธีกรรมหรือสถานการณ์ที่เหมาะสม คือแรงเสียจนบังคับตัวเองไม่อยู่ ต้องไหลไปตามอารมณ์ความรู้สึกจนหมดตัว  
เช่น ในพิธีมะหะหร่ำของ (แขก) เจ้าเซน (มุสลิมนิกายชีอะห์) ผู้ร่วมขบวนแห่ในบางสังคม ทำร้ายตนเองจนเลือดตกยางออก หรือการลุยไฟของพิธีไหว้เจ้าของชาวจีนที่ภูเก็ต เป็นต้น

ขอให้สังเกตด้วยว่า การถือคริสต์ศาสนาทั้งสามใน Les Miserables นั้น ผู้ถือล้วนมีอารมณ์ความรู้สึกในการถือศาสนาอย่างเข้มข้นทั้งสิ้น ชาแวร์ตไม่ได้ตามล่าวัลชองด้วยความรักความเกลียดส่วนตัว แต่พระเจ้าหรือระเบียบทางสังคมที่เขามีหน้าที่รักษาเชิดชูไว้ ทำให้เขาปล่อยวัลชองไปไม่ได้ แทบจะเท่ากับการปฏิเสธพระเจ้าทีเดียว เพราะวัลชองคือตัวแทนของผู้ทำลายระเบียบกฎหมาย ซึ่งเท่ากับต่อต้านพระเจ้า ดังนั้น เมื่อเขาได้รับการช่วยชีวิตจากวัลชอง จึงทำให้เกิดความว้าวุ่นใจอย่างสุดขีด ยิ่งเมื่อเขาปล่อยให้ซาตานวัลชองนำคนเจ็บไปโรงพยาบาล แทนที่จะจับกุมไว้ ก็เท่ากับเขาเริ่มวางใจซาตานด้วยการกระทำ ชีวิตของเขาจึงไร้ความหมายแก่ตนเองไปทันที

วัลชองเองได้รับการชุบจิตวิญญาณขึ้นมาใหม่จากหลวงพ่อที่ช่วยปกป้องเขาจากการก่ออาชญากรรมครั้งใหม่ จากนั้นเขาก็ยึดถือศาสนาคริสต์อย่างแน่วแน่ ไม่ใช่เพียงมีความเชื่อตามพระคัมภีร์เท่านั้น เมื่อต้องเลือกระหว่างการพูดเท็จ กับการยอมรับความจริงซึ่งจะทำให้คนงานทั้งหมดต้องตกงาน เพลงร้องในตอนนี้แสดงว่าไม่ใช่การเลือกระหว่างทางเลือกในทางโลกย์ธรรมดา เป็นทางเลือกทางศาสนา เขาหวั่นวิตกว่า หากเขาเลือกการกล่าวเท็จ เขาก็จะถูกพระเจ้าลงโทษ ในขณะที่การปล่อยให้กิจการล้มลงด้วยการยอมรับความจริง คือการปฏิเสธความรักของพระเจ้าซึ่งในทางปฏิบัติคือความรักต่อเพื่อนมนุษย์นั่นเอง ในที่สุดวัลชองจึงเลือกการหนีเป็นการปฏิบัติศาสนาที่พร้อมมูลที่สุด
นี่คืออารมณ์ความรู้สึกทางศาสนาที่รุนแรงและลึกซึ้ง เพราะกำกับการตัดสินใจของผู้ศรัทธาแม้ในยามวิกฤต เช่นเดียวกับการช่วยชีวิตชาแวร์ต และคำสัญญากับชาแวร์ตว่าเขาจะกลับมามอบตัว เมื่อได้พาคนเจ็บไปโรงพยาบาลแล้ว

ในส่วนอารมณ์ความรู้สึกทางศาสนาของนักศึกษาปฏิวัตินั้น เห็นได้ชัดจนไม่จำเป็นต้องอธิบายให้ยาวความ แม้การปฏิวัติอาจไม่ใช่คำสอนของคริสต์ศาสนา แต่อารมณ์ความรู้สึกที่รุนแรงอันมีต่อพันธะของการปฏิวัตินั้น ไม่ต่างอะไรจากอารมณ์ความรู้สึกทางศาสนาของชาแวร์ตและวัลชองแต่อย่างใด



ผมคิดว่าคุณลักษณะอย่างที่สองของศาสนาคืออารมณ์ความรู้สึกนี้ เป็นตัวชีวิตของศาสนา เพราะมันเชื่อมคุณลักษณะอย่างที่หนึ่งคือความรู้ความเข้าใจให้ต่อกับคุณลักษณะอย่างที่สามคือการปฏิบัติ หากไม่มีอารมณ์ความรู้สึกมาทำหน้าที่นี้ ศาสนาก็สูญเสียชีวิตไป อย่างที่เราพบได้ในพระพุทธศาสนาของไทยปัจจุบัน (หรือจะว่าไปก็ในการ "ถือศาสนา" อื่นของสังคมอื่นในโลกปัจจุบันอีกมาก)

การ"ปฏิรูปศาสนา" ซึ่งกระทำในช่วงที่รัฐไทยกำลังเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ความเป็นรัฐสมัยใหม่ภายใต้ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ นอกจากทำให้องค์กรคณะสงฆ์ตกอยู่ใต้การกำกับควบคุมของรัฐอย่างเต็มที่แล้ว ยังตัดรอนเนื้อหาด้านอารมณ์ความรู้สึกทางศาสนาของชาวพุทธไทยออกไปจนหมดอีกด้วย เพราะปัญญาชนไทยผู้นำการปฏิรูปอาศัยตรรกะของวิทยาศาสตร์ และเหตุผลนิยมแบบตะวันตกในยุคสมัยนั้น เป็นบรรทัดฐานในการตีความพระพุทธศาสนาที่พึงได้รับคำรับรองจากรัฐ

อารมณ์ความรู้สึกทางศาสนาของชาวพุทธไทยอยู่ที่ผี, เทวดา, เจ้าป่าเจ้าเขา, นรก, สวรรค์, อิทธิปาฏิหาริย์ ทั้งที่สอดคล้องและไม่สอดคล้องกับศีลธรรมแบบพุทธ ที่ไม่ละเมิดทรัพย์สินของผู้อื่นก็เพราะกลัวตกนรก ไม่ละเมิดทรัพย์สินสาธารณะก็เพราะกลัวผีหรือเทพซึ่งคุ้มครองสิ่งเหล่านั้นจะทำร้ายเอา แต่ความรู้ความเข้าใจพระพุทธศาสนาแบบนี้ขัดกับหลักวิทยาศาสตร์ จึงต้องถูกขจัดออกไปจากพระพุทธศาสนาที่ถูกปฏิรูปแล้ว (บางคนเรียกว่าพุทธศาสนาที่เป็นทางการ)

อำนาจของรัฐซึ่งขยายมากขึ้นทั้งทางกว้างและทางลึก ทำให้พระพุทธศาสนาแบบไทยซึ่งมีมาแต่เดิมถูกกีดกันกดทับมากขึ้น จนกระทั่งในสำนักคนทรงทุกวันนี้ พระพุทธรูปเป็นเพียงหนึ่งในบรรดาผีและเทพอีกหลายตนและองค์ที่ยกขึ้นบูชาบนหิ้งของอาจารย์ ความเกี่ยวพันกับพระพุทธศาสนาเหลือแต่สัญลักษณ์ แม้การทรงเจ้าเข้าผีเป็นอารมณ์ความรู้สึกทางศาสนาอย่างปฏิเสธไม่ได้ แต่ไม่ใช่อารมณ์ความรู้สึกทางศาสนาของพระพุทธศาสนาแน่


พระพุทธศาสนาที่เป็นทางการของไทยทุกวันนี้ เป็นศาสนาที่โหว่ตรงกลาง คือมีความรู้ความเข้าใจหลักธรรมคำสอน อาจดีกว่าสมัยโบราณด้วย เพราะอาจรู้กว้างขวางไปถึงคัมภีร์มหายานและวัชรยาน ซึ่งโบราณไม่รู้ แต่ความรู้ความเข้าใจเหล่านี้ไม่สู้จะมีผลไปสู่การปฏิบัติมากนัก เช่น เหลือคนถือศีลกินเพลในวันพระน้อยลงเต็มที อดเหล้าเข้าพรรษาทีก็ต้องรณรงค์กันขนานใหญ่ และไม่ได้ผลนักเพราะยอดจำหน่ายสุราและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไม่ได้ลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญ

นี่เป็นธรรมดาของศาสนาที่โหว่กลาง คือไม่มีส่วนที่เป็นอารมณ์ความรู้สึก ซึ่งเป็นสะพานเชื่อมโยงความรู้ความเข้าใจไปสู่การปฏิบัติ และนี่เป็นผลอย่างหนึ่งที่เกิดกับศาสนาในยามที่ศาสนาเหลือแต่คำสอน, องค์กรนักบวช, สื่อ และผู้อ้างตนเป็นคนดีอีกฝูงใหญ่ ฯลฯ เมื่อศาสนาขาดอารมณ์ความรู้สึก




ผมยังอยากหยั่งลงไปถึงผลพวงของความโหว่กลางของพระพุทธศาสนาแบบทางการของไทย ในด้านอื่นๆ ที่อาจไม่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนาโดยตรง

ความเฟื่องฟูของเครื่องรางของขลังและอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ต่างๆ ดังที่กล่าวข้างต้น ก็อาจมองได้ว่าเป็นผลพวงอีกอย่างหนึ่งของการที่พระศาสนาไม่มีอารมณ์ความรู้สึกทางศาสนา ผมไม่ได้หมายความว่าแต่ก่อนเขาไม่เล่นพระเครื่องนะครับ พระเครื่องเมื่อเริ่มเล่นกันแพร่หลายมากขึ้นนั้น เต็มไปด้วยอารมณ์ความรู้สึกทางศาสนาทีเดียว เช่น การปลุกพระนั้นคืออารมณ์ความรู้สึกทางศาสนาอย่างแรง ชนิดที่จะเรียกว่า ecstasy ยังได้ แต่คุณของพระเครื่องอย่างพระสมเด็จนั้น แม้ปลุกขึ้น แต่จะเป็นผลได้จริง ผู้บูชาก็ต้องถือศีลห้าด้วย พระเครื่องในทุกวันนี้แทบไม่สัมพันธ์อะไรกับคำสอนในพระพุทธศาสนาอีกแล้ว เหลือแต่เพียงสัญลักษณ์เหมือนพระพุทธรูปเหนือหิ้งผีของ"อาจารย์" ใบ้หวยนั่นแหละ

สำนักสมาธิวิปัสสนาจำนวนมากริเริ่มและดำเนินการโดยฆราวาส รับ "สาวก" ได้จำนวนมากจนหลายแห่งทำในเชิงธุรกิจก็มี ความเฟื่องฟูของสมาธิวิปัสสนาคือการตอบสนองต่อสิ่งที่ขาดหายไปในพระพุทธศาสนาที่เป็นทางการ เพราะการทำสมาธิ (หากไม่ใช่พิธีกรรมแล้ว) คือเรื่องของอารมณ์ความรู้สึกทางศาสนาโดยตรง แม้แต่ได้ขณิกสมาธิในช่วงสั้นๆ ก็เปี่ยมล้นด้วยอารมณ์ความรู้สึกอย่างรุนแรง ส่วนจะนำไปสู่การทำวิปัสสนาหรือไม่เป็นคนละเรื่อง ก็ดังที่ทุกท่านทราบแล้วว่า การทำสมาธิไม่ได้เป็นสมบัติของพระพุทธศาสนาเพียงอย่างเดียว มีในทุกศาสนา หรืออาจทำโดยไม่ต้องเกี่ยวกับศาสนาอะไรเลยก็ได้

ที่น่าสังเกตอีกอย่างหนึ่งในเรื่องนี้ก็คือ อาจารย์สำนักสมาธิจำนวนไม่น้อยที่มีศิษย์หาจำนวนมากนั้น เป็นผู้หญิง สตรีเพศเป็นพลังของอารมณ์ความรู้สึกทางศาสนาอย่างไร เป็นเรื่องยาวอีกเรื่องหนึ่งซึ่งยังไม่ขอคุยในที่นี้ เอาแต่ว่ามันเกี่ยวกันอย่างลึกซึ้งทีเดียว


ผลอีกด้านหนึ่งของศาสนาที่ไร้อารมณ์ความรู้สึก ต้องดูจากลุงบุญมีผู้ระลึกชาติได้ ลุงบุญมีผู้"ถือศาสนา"ที่ยังครบถ้วนด้วยอารมณ์ความรู้สึก มีความสัมพันธ์กับผู้คนอย่างผู้ร่วมทุกข์ด้วยกันกว้างขวางมาก ทั้งคนงานอพยพในไร่ เพื่อนบ้าน ผู้ดูแลพยาบาล ฯลฯ ไปจนถึงผีของเมียและญาติที่ตายไปแล้ว แม้จนผีในตำนานกำเนิดชาวอีสานก็เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตลุงบุญมี แต่เด็กหนุ่มที่บวชหน้าไฟให้ลุงบุญมี (เป็นลูกหรือหลาน ผมก็ไม่แน่ใจ) นั้นแทบจะหาความสัมพันธ์กับคนอื่นไม่ได้เลย เพราะเขาถือศาสนาที่ไร้มิติของอารมณ์ความรู้สึก เมื่อนั่งดูรายการข่าวในโทรทัศน์ ทุกคนนั่งเงียบกริบ เพราะข่าวโทรทัศน์กำลังพูดถึงคนอื่นในสังคมวงกว้าง ซึ่งตนไม่รู้ว่าจะเชื่อมต่อตนเองเข้าไปกับคนที่เป็นนามธรรมเช่นนั้นได้อย่างไร
และว่าที่จริงเขาเชื่อมต่อกับตัวเองยังไม่ได้ด้วยซ้ำ เมื่อเขาชวนน้าออกไปกินข้าวฟังเพลงในตอนท้ายเรื่องนั้น วิญญาณของเขาออกไปฟังเพลง หรือตัวเขาออกไปฟังเพลงกันแน่ เขาเองก็ไม่รู้และไม่สนใจ เพราะวิญญาณของเขาไม่ได้อยู่ในผ้าเหลืองมาแต่ต้นแล้ว ผ้าเหลืองเป็นการปฏิบัติศาสนาที่ไร้อารมณ์ความรู้สึกเท่านั้น

หนังเรื่อง "ลุงบุญมีฯ" บอกเราว่า อารมณ์ความรู้สึกทางศาสนานั้น มีผลต่อความสัมพันธ์ทางสังคมของบุคคลด้วย เราเป็นหนึ่งในโครงข่ายความสัมพันธ์อันกว้างใหญ่ทั้งในชาตินี้และชาติก่อน หรือเป็นปัจเจกชนโดดๆ ที่ไม่เชื่อมโยงกับอะไรอีกเลย



เมื่อหาอารมณ์ความรู้สึกทางศาสนากับพระพุทธศาสนาที่เป็นทางการไม่ได้ คนอีกจำนวนมากทีเดียวนำเอาอารมณ์ความรู้สึกทางศาสนานี้ไปให้แก่บุคคล และบุคคลที่ได้รับโอนอารมณ์ความรู้สึกทางศาสนาไว้ได้มากที่สุดคือพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในรัชกาลปัจจุบัน มีผู้ถามว่าเมื่อราษฎรสามัญได้เข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในวโรกาสต่างๆ เหตุใดจึงต้องหลั่งน้ำตา ผมคิดว่าคำตอบก็คือเป็นอารมณ์ความรู้สึกทางศาสนา เหมือนคนโบราณได้เห็นพระบรมธาตุลอยไปในอากาศเป็นแสงรุ่งเรืองก่อนจะลับหายเข้าไปในพระบรมธาตุเจดีย์สักองค์หนึ่ง ชาวพุทธเรียกอาการอย่างนี้ว่า "ปีติ"

อารมณ์ความรู้สึกทางศาสนาไม่ได้อุบัติขึ้นโดยไร้ที่มาที่ไป หากคิดถึงข้อมูลข่าวสารที่ประชาชนได้รับผ่านสื่อมาแต่เล็กแต่น้อยเกี่ยวกับพระราชกรณียกิจ รวมไปถึงผลในทางปฏิบัติทั้งในโครงการหลวงและการเดินตามพระราชดำริในเรื่องต่างๆ หากมองจากคุณลักษณะสามด้านของศาสนา ประชาชนรับรู้เกี่ยวกับความรู้ความเข้าใจ และหนทางปฏิบัติซึ่งตนเองก็อาจมีส่วนร่วมโดยตรง เช่นโดยเสด็จพระราชกุศล จึงไม่แปลกอะไรที่คุณสมบัติด้านที่สองอันเกี่ยวกับอารมณ์ความรู้สึกทางศาสนาจะยึดกุมจิตใจของผู้ศรัทธาไปด้วย

ผมเชื่อว่า หากมองจากแง่มุมของความโหว่กลวงของศาสนา เราอาจอธิบายปรากฏการณ์ทางสังคมอีกหลายอย่างที่เกิดในสังคมไทยเวลานี้-ทั้งที่เกี่ยวกับศาสนาโดยตรง และเกี่ยวโดยเปรียบเทียบ-ว่าสัมพันธ์อย่างไรกับอารมณ์ความรู้สึกทางศาสนาซึ่งขาดหายไปในพระพุทธศาสนาแบบทางการของไทย



.

2558-01-10

ไนซ์ ถูกแบนงดออกรายการช่อง5 ถกอนาคตประเทศของเยาวชน

.

ไนซ์ ถูกแบนงดออกรายการช่อง5 ถกอนาคตประเทศของเยาวชน
ใน http://prachatai.org/journal/2015/01/57341
. . Sat, 2015-01-10 10:21

ไนซ์ เลขาธิการกลุ่ม 'การศึกษาเพื่อความเป็นไท' โพสต์แจงเหตุถูกแบนงดออกรายการช่อง5 ถกอนาคตประเทศของเยาวชน เนื่องจากเตรียมถามสดเรื่องปัญหาการคอรัปชั่นอำนาจประชาชนจากการยึดอำนาจ ต่อประธาน สปช.

เมื่อวันที่ 9 ม.ค. เวลา 22.54 น. ที่ผ่านมา ณัฐนันท์ วรินทรเวช (ไนซ์) นักเรียนมัธยมปลายและเลขาธิการกลุ่ม 'การศึกษาเพื่อความเป็นไท' โพสต์แถลงการณ์ ‘ข้อกังขาต่อความจริงใจของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.)’ ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ‘Nattanan Warintarawet’ เล่าถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นขณะเตรียมตัวออกรายการสด "เจาะประเด็นร้อน" ทางช่อง 5 เพื่อแสดงความคิดเห็นและถามคำถามเกี่ยวกับประเทศไทยที่อยากเห็นในอนาคตของเยาวชน กับ เทียนฉาย กีระนันทน์ ประธาน สปช. อย่างไรก็ตาม ณัฐนันท์ กลับไม่ได้ร่วมในรายการดังกล่าว เนื่องจากถูกเจ้าหน้าที่ของรายการดังกล่าวเชิญออกมาก่อน พร้อมกล่าวกับ ณัฐนันท์ ด้วยว่า "เชิญมาผิดคน"

ณัฐนันท์ เปิดเผยว่า ก่อนหน้าที่จะถูกเชิญออกในระหว่างคุยประเด็นเตรียมออกรายการกับเทียนฉาย ดังกล่าว ณัฐนันท์ได้ถาม 2 คำถาม กับ เทียนฉาย ว่า 1. "สปช.จะแก้ปัญหาการคอรัปชั่นได้อย่างไร? ในเมื่อการเข้าสู่อำนาจของพวกเขาก็คือการขโมยหนึ่งสิทธิ์หนึ่งเสียงของประชาชน ซึ่งในมุมมองของฉันคือการคอรัปชั่นทางอำนาจซึ่งไม่ได้เลวร้ายน้อยไปกว่าการคอรัปชั่นทางการเงินเลย" และ 2. "พวกเขาเหล่านี้ได้มองว่าการเข้าสู่อำนาจโดยมิชอบคือการคอรัปชั่นหรือไม่?" โดย เทียนฉาย ตอบกลับด้วยว่า อย่ายึดติด ต้องมองอนาคตประเทศ

จากนั้นเจ้าหน้าที่ของรายการจึงเชิญตัวณัฐนันท์ออกมาทำให้ไม่ได้ร่วมในรายการดังกล่าว


ไนซ์ คนที่ 2 จากขวา ภาพขณะอ่านอาขยาน ถึง พล.อ.ประยุทธ์ เมื่อวันที่ 14 ต.ค.57 หน้า ก.ศึกษาฯ ค้านการใช้หลักค่านิยมไทย 12 ประการที่ชี้นำความคิดเยาวชนไทย (อ่านรายละเอียด)


สำหรับรายละเอียดในแถลงการของณัฐนันท์ มีดังนี้

แถลงการณ์ : ข้อกังขาต่อความจริงใจของสภาปฏิรูปแห่งชาติ

ก่อนอื่นขอชี้แจงความเป็นมาสักเล็กน้อย เนื่องจากฉันได้รับคำเชิญให้ไปเข้าร่วมรายการ "เจาะประเด็นร้อน" ทางช่อง 5 เพื่อแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับประเทศไทยที่อยากเห็นในอนาคต ร่วมกับคุณเทียนฉาย กีระนันทน์ และเยาวชนอีกคนหนึ่ง ในตอนแรกลังเลเล็กน้อยเพราะไม่แน่ใจว่าจะมีอิสระในการแสดงความคิดเห็นมากน้อยเพียงใด แต่ท้ายที่สุดก็ตัดสินใจตอบตกลง เนื่องจากคิดว่าทางสปช.น่าจะมีความใจกว้างในการรับฟังอยู่ไม่น้อย เท่าที่ดูจากการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นประชาชนนับร้อยนับพันเวที

ฉันเดินทางไปถึงสถานีช่อง 5 ที่สนามเป้า ทางเจ้าหน้าที่ได้ให้การต้อนรับเป็นอย่างดี พร้อมอธิบายเนื้อหาในรายการ(รวมถึงแนวคำตอบอย่างคร่าวด้วย) ฉันจึงชี้แจงไปว่าฉันมีแนวคิดเสรีนิยมและไม่เห็นด้วยกับรัฐประหาร และไม่ชอบท่องสคริปต์ ในตอนนั้นฉันเห็นสีหน้ากระอักกระอ่วนใจเล็กน้อย แต่ทุกอย่างก็ยังเป็นปกติ

สักครู่มีเจ้าหน้าที่เรียกให้ไปเตรียมตัวก่อนออกอากาศ เมื่อเข้าไปในสตูดิโอก็เหลือเวลาอีกเล็กน้อย เจ้าหน้าที่บอกว่าสามารถถามคำถามและคุยแลกเปลี่ยนกับคุณเทียนฉายได้ในประเด็นที่สงสัย

ฉันจึงตัดสินใจเสี่ยงถามคำถามที่ค้างคาใจมาเป็นเวลานานนับตั้งแต่การรัฐประหาร

ถามไปหลายข้อทีเดียว แต่มีสองคำถามที่ต้องใช้ความกล้าในการถามมากที่สุด : "สปช.จะแก้ปัญหาการคอรัปชั่นได้อย่างไร? ในเมื่อการเข้าสู่อำนาจของพวกเขาก็คือการขโมยหนึ่งสิทธิ์หนึ่งเสียงของประชาชน ซึ่งในมุมมองของฉันคือการคอรัปชั่นทางอำนาจซึ่งไม่ได้เลวร้ายน้อยไปกว่าการคอรัปชั่นทางการเงินเลย"

และ "พวกเขาเหล่านี้ได้มองว่าการเข้าสู่อำนาจโดยมิชอบคือการคอรัปชั่นหรือไม่?"

คนในสตูดิโอมองตากันเลิ่กลั่ก สักพักเจ้าหน้าที่คนหนึ่งได้ "เชิญ" ฉันออกนอกสตูดิโอก่อนที่รายการจะเริ่มเพียงไม่กี่นาทีเท่านั้น และให้ไปนั่งที่ห้องรับรองจนรายการจบ และยังบอกด้วยว่า "เชิญมาผิดคน"

นี่ทำให้ฉันเกิดคำถามขึ้นมากมาย

สปช. บอกเองว่ารับฟังความคิดที่แตกต่างไม่ใช่หรือ?

สปช. บอกเองว่ามีความเป็นกลางไม่ใช่หรือ?

แล้วสิ่งที่การกระทำของพวกเขาบ่งบอก มันคืออะไร?

เวทีรับฟังความคิดเห็นมากมายที่เขาจัดขึ้น มีจุดประสงค์เพื่ออะไรกันแน่?

คำถามเหล่านี้.. ไม่รู้ว่าจะมีคำตอบเมื่อไหร่

แต่ฉันสงสัย ฉันชอบถาม และฉันจะยังคงตั้งคำถามต่อไป

เสรีภาพทางความคิดต้องมีอยู่คู่สังคมแห่งนี้

หากไร้ซึ่งเสรีภาพ..สังคมก็ไร้ซึ่งอนาคต



.

2558-01-09

หลังงุนงงในพฤติกรรมสลิ่ม โดย สมาชิกพันทิป1916617

.

หลังจากงุนงงในพฤติกรรมสลิ่มอยู่หลายปี ผมคิดว่าในที่สุดผมก็ได้คำตอบในสิ่งที่สงสัยมาตลอดแล้วล่ะ
โดย สมาชิกพันทิป1916617

ใน http://pantip.com/topic/33052320
. . 2 มกราคม 2558 เวลา 13:23 น.


หลังจากงุนงงในพฤติกรรมสลิ่มอยู่หลายปี ผมคิดว่าในที่สุดผมก็ได้คำตอบในสิ่งที่สงสัยมาตลอดแล้วล่ะ
....หลังจากได้อ่านกระทู้แนะนำนี้  " สลิ่ม " คุณไม่รู้ตัวจริงๆเหรอ ว่า คุณกำลังสนับสนุน กลุ่มคนที่จะมาริดรอนสิทธิ์ของตัวคุณเองน่ะ !!! ใน http://pantip.com/topic/33032022


เจ้าของกระทู้นั้นแกถามว่า สลิ่มไม่รู้ตัวจริงๆหรือว่า คุณกำลังสนับสนุนกลุ่มคนที่มาริดรอนสิทธิ์ของตัวคุณเองน่ะ !! คำตอบคือ ผมว่าเขารู้ตัวนะ แต่จะทำไมล่ะในเมื่อเขาไม่ได้เดือดร้อนและไม่ได้รับผลกระทบอะไรแต่แรก เขาไม่ได้แคร์กับการเลือกตั้ง หรือ ไม่เลือกตั้ง ไม่ได้สนว่าประเทศจะเป็นประชาธิปไตยหรือไม่ เพราะชีวิตพวกเขา ครอบครัวเขา คนรอบข้างเขา อยู่ในระบอบที่ดีกว่าประชาธิปไตยอยู่แล้ว ระบอบที่ผมขอเรียกว่า "ระบอบอภิสิทธิ์" นั่นปะไร

ระบอบอภิสิทธิ์ ให้แปลตามตัวคือ ระบอบสิทธิมหาศาล เป็นระบอบที่อยู่คู่สังคมไทยมาช้านานก่อนประชาธิปไตยจะเกิดเสียอีก เป็นระบบที่ทำให้เขามีสิทธิ มีเสรีภาพมากกว่าระบอบประชาธิปไตยด้วยซ้ำ เทียบกันแล้วดีกว่ากันทุกประการ ประชาธิปไตยให้คุณได้แค่ 1 คนมีค่าเท่ากับ 1 เสียงเหมือนกันหมด แต่สิ่งที่ระบอบอภิสิทธิ์ให้คุณได้คือ ชีวิตเหนือระดับและ Conection ที่จะอำนวยสิทธิประโยชน์เหนือผู้อื่นให้คุณตลอดเวลา ถ้าพลังของระบอบประชาธิปไตยคือนโยบาย พลังของระบอบอภิสิทธิ์ก็คือ การอุปถัมป์ เส้นสาย และ ความเมตตากรุณาจากผู้ใหญ่ นโยบายส่งผลเป็นวงกว้างทั่วถึงแต่อยู่บนพื้นฐานความเป็นจริงและผลกระทบไม่รวดเร็วทันใจเท่าระบบเส้นสายและ ความเมตตากรุณาจากผู้หลักผู้ใหญ่ที่ส่งผลราวเนรมิตรให้ได้ราวปาฏิหาริย์ อยู่ประเทศไทยหากคุณสามารถเข้าถึงระบอบนี้ได้เมื่อไหร่อย่าแปลกใจที่ระบอบประชาธิปไตยในสายตาคุณจะเป็นขยะไร้ค่าไปเลย เพราะเทียบกันแล้วระบอบอภิสิทธิ์ดีกว่ากับชีวิตคุณทุกประการ ตั้งแต่ลูกเกิด เข้าโรงเรียน เข้ามหาวิทยาลัย ทำงาน เกษียร ยันตาย การศึกษาที่ดีกว่าช่องทางที่ดีกว่า โอกาสที่ดีกว่า ทางเลือกชีวิตที่ดีกว่า คุณภาพชีวิตที่ดีกว่า ฯลฯ

ถามผม ผมก็ว่า ระบอบอภิสิทธิ์ดีกว่าระบอบประชาธิปไตย ผมนี้ยอมรับโดยดุษฎีเลย และ ถ้าเคยลิ้มลองระบอบอภิสิทธิ์ชนดูซักครั้งจะติดใจจนแทบไม่อยากกลับไป 1 เสียง 1 สิทธิ อีกเลย เช่น ได้ฝากลูกเข้าโรงเรียนดัง ได้รับฝากเข้าทำงานรัฐวิสาหกิจชื่อดัง สวัสดิการดี โบนัสเยี่ยมโดยสอบพอเป็นพิธี ได้งานราชการมูลค่าหลายล้านอย่างง่ายดายโดยยื่นซองไปตามระเบียบ ได้เลื่อนตำแหน่งปีละ 2 ขั้นเพราะนามสกุล ได้ทุนไปศึกษาต่อต่างประเทศ กลับมารับตำแหน่งหน้าห้องพ่อ ไม่ต้องคัดเลือกเกณฑ์ทหาร เมาแล้วขับรถชนคนตายก็ไม่ต้องติดคุก มีเรื่องที่ไหนก็ได้ถามคำถามคนอื่นว่าพ่อกุเป็นใคร ฯลฯ  การใช้ชีวิตของคนไทยธรรมดาๆที่ถูกต้องตามระบอบอภิสิทธิ์ คือ คุณต้องขยันเรียนให้สูงที่สุด อัพเกรดตัวเอง อัพฐานะ แต่งงานกับคนรวย ทำทุกอย่างให้ตัวเองเข้าสู่ระบอบนี้ให้ได้ แล้วชีวิตจะสบายเหนือเพื่อนร่วมชาติส่วนใหญ่ที่ไม่ดิ้นรน หรือ ไม่รู้ตัวว่าประเทศเรามีระบอบนี้ และหากคุณดิ้นรนแล้วแต่ยังเข้าไม่ถึงอาจเนื่องจากความสามารถไม่พอ เส้นสายไม่มี ทางเลือกของคุณคือจงเป็นเด็กดี เคารพ เชื่อฟัง และรอความเมตตากรุณาจากท่านอยู่นิ่งๆ แล้วทุกอย่างจะดีเอง ประเทศจะสงบสุข ปราศจากปัญหา เป็นเช่นนั้นจริงๆ

มีคนเคยเปรียบเปรยชาวบ้านที่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งของตนในระบอบประชาธิปไตยว่า เลือกเพราะเห็นแก่เศษผลประโยชน์เล็กๆน้อยๆที่นักการเมืองหยิบยื่นให้ แค่เขาแจกเงินให้ไม่กี่ร้อยก็ใช้สิทธิเลือกเขาไปแล้ว  เทียบกับชาวบ้านที่อยู่ในระบอบอภิสิทธิ์ที่ได้รับคำสั่งให้ สงบ นิ่ง รอ อย่างผู้ดี สุดแต่ท่านจะเมตตา อย่าเห็นแก่เศษเนื้อจนไม่รักษาอาการแม้ท้องหิว หรือ ยางเหลือโลสี่สิบ นั่นแหละดีมาก เด็กดี  แล้วก็ไม่รู้อันไหนมันน่าสมเพชน้อยกว่ากัน !!!

บางคนเหมือนคนเข้าใจโลก บอกว่าโลกนี้ไม่มีหรอกความเท่าเทียมกันน่ะ มันย่อมมีเหลื่อมล้ำต่ำสูงเป็นธรรมดาโลกอยู่แล้ว แต่เผือกไม่เข้าใจว่าไอ้ที่เขาเรียกร้องกันนี่ เขาไม่ได้ขอรวยเท่ากัน หล่อเท่ากัน ดีเท่ากันหมดทุกอย่างไป นิ้วคนยังยาวไม่เท่ากันเลยชาวบ้านเขารู้หรอก เขาเรียกร้องแค่สิทธิขั้นพื้นฐาน ย้ำอีกครั้งว่า พื้นฐาน เท่านั้นที่ขอให้เท่าๆกัน ไม่ได้ต้องการอภิสิทธิ์ แต่แค่สิทธิน้อยๆ ก็ยังให้เขาไม่ได้ คิดดูว่ามันอนาถาแค่ไหน

"รัฐประหารไม่ได้ทำให้ใครเดือดร้อน ไม่ได้ลิดรอนสิทธิ์ ไม่ได้ทำให้เงินเดือนต่ำลง โบนัสก็ออกเหมือนเดิม ไม่ได้ห้ามออกไปช๊อปปิ้ง ยังคงใช้ชีวิตได้ตามปกติ  ไม่มีเลือกตั้งก็ไม่เห็นเป็นไร"  เป็นคำตอบที่ไม่น่าแปลกใจเลยสำหรับคนที่สบายดีหลวงพระบาง เอ้ย สบายดีไทยแลนด์อยู่ในระบอบนี้แล้ว ถึงจะเป็นปัญญาชน เรียนมาสูง และขัดแย้งกับหลักวิชา ตำราวิชาการที่เรียนมาอย่างไร หรือต่อให้ขัดแย้งกับความเห็นคนทั้งโลกแต่สุดท้ายแล้วมนุษย์ทุกคนย่อมเห็นแก่ตัวมากกว่าคนอื่น และมันก็ถูกของเขาจริงๆ เขาจะเดือดร้อนอะไรกับการริดลอนสิทธิเล็กๆน้อยๆ ในเมื่อที่ผ่านมาเขามีมันมากล้นจนเกินพอ !!! จะให้ไปหวงแหนสิทธิน้อยๆกระจ้อยร่อยอย่างหนึ่งคนหนึ่งเสียงเนี่ยนะ ใช่เรื่องมะนั่น

อ้าว !! แล้วถ้าระบอบอภิสิทธิ์มันดีปานนี้ทำไมเราไม่ Implement ระบอบนี้แทนประชาธิปไตยไปเลยล่ะ ดีกว่าเห็นๆ ดีกว่าทุกอย่าง คำตอบก็คือ เป็นไปไม่ได้ เพราะระบอบอภิสิทธิ์ ไม่สามารถทำให้ได้ทั่วถึงกันทุกคน ทันทีที่มีคนได้อภิสิทธิ์ หรือสิทธิมหาศาล 1 คน ก็จะมีคนเสียสิทธินับร้อยนับพันคน มีคนรวยกระจุกก็มีคนจนกระจาย และความเมตตากรุณาจากผู้หลักผู้ใหญ่ก็ไม่ใช่ฝนที่ตกทั่วฟ้าได้เหมือนนโยบาย และต่อให้เป็นผู้ใหญ่ที่ทรงอิทธิพล และ ร่ำรวยที่สุดในประเทศไทย ก็ไม่มีเงินมากเท่างบประมาณแผ่นดิน ทำให้การสร้างนโยบายผ่านงบประมาณแผ่นดินนั้น เป็นเครื่องมือที่ทรงพลังกว่าการให้ความเมตตากรุณาไปในที่สุด ปัญหามันก็เกิดอิตรงนี้แหละ

พลังจากการขับเคลื่อนนโยบาย ผ่านงบประมาณแผ่นดิน และ ความเข้มแข็งของระบอบประชาธิปไตย ทำให้คนที่อยู่ในระบอบอภิสิทธิ์กลายเป็นเสียงส่วนน้อยไปในที่สุด และมีแน้วโน้มถูกคุกคามจากการเรียกร้องความเท่าเทียมกันที่หนาหูขึ้นเรื่อยๆ  แต่ถึงจะกลายเป็นส่วนน้อยแต่ก็เป็นคนส่วนน้อยที่มีอภิสิทธิ์อยู่ดี ถึงพรรคการเมืองตัวแทนฝ่ายตนจะไม่สามารถเอาชนะได้ในการเลือกตั้ง แต่อภิสิทธิ์ Connection ก็มี Power พอที่จะล้มการเลือกตั้ง หรือ ล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งและทำการปฏิรูปทุกอย่างให้เข้าทางฝ่ายตนให้มากที่สุด เกิดเป็นการแย่งชิงการนำ และนำมาสู่ความขัดแย้งเรื้อรังแก่ประเทศสิบกว่าปีอย่างที่เห็นและเป็นอยู่โดยไม่รู้จะไปจบลงที่ใด แต่คงจนกว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะพ่ายแพ้ศิโรราบโดยสิ้นเชิง ว่าไปก็ยาวเปล่าๆกลับเข้าเรื่องต่อดีกว่า

ตามความเข้าใจของผม ถ้าจะให้แบ่งสายพันธุ์สลิ่มออกเป็น คงแบ่งออกได้เป็น 3  ประเภทใหญ่

1. กลุ่มที่อยู่ในระบอบอภิสิทธิ์ อยู่แล้วข้างต้น ซึ่งจากที่กล่าวมาคงตอบคำถามได้แล้วว่า ทำไมเขาไม่เดือดร้อนกับการรัฐประหาร หรือ ทำไมในใจเขาไม่มีประชาธิปไตยอยู่ในนั้น  ทำไมไม่เดือดร้อนกับการถูกลิดรอนสิทธิ ทำไมมองไม่เห็นความไม่ชอบมาพากลของเหล่าคนดี หรือ ไม่เห็นการทุจริตคอร์รัปชั่นของอภิสิทธิ์ชนด้วยกัน ป่วยการถามคำถามเหล่านี้กับสลิ่ม เขาเรียนมาสูง จบสูง ความคิดความอ่านก็มีไม่น้อยกว่าใครในแผ่นดินไทย มีหรือเขาจะไม่รู้ ไม่เข้าใจในสิ่งที่เป็นไปและเป็นอยู่ เจอคนที่ยังมีสำนึกอยู่บ้างเขาก็เงียบเสีย คนที่พาลๆหน่อยก็จะออกเรื่องทักษิณไปนู้นเลย เปล่าประโยชน์จะคาดคั้นเอาความถูกต้องตามหลักวิชาจากเขา จนนักประชาธิปไตยบางคนถอดใจไปเลย ที่เห็นคนระดับปัญญาชนของประเทศยังเป็นอย่างนั้น แต่คิดในแง่ปุถุชน กินขี้ปี้นอนไม่ได้บรรลุโสดาบัน ถึงเป็นคนดี ก็เห็นแก่ตัว เห็นแก่ครอบครัว ญาติพี่น้อง พรรคพวกตน ก่อนคนอื่นๆ อยู่ดี เพียงแต่เขาไม่อยากรับความจริงเพราะมันดูเป็นคนไม่ดีเท่าที่เขาอยากจะเป็นเท่านั้นเอง แค่การเห็นด้วยกับการเบียดเบียนสิทธิของคนอื่น ก็คงไม่ได้บาปมากในทางศาสนามั้ง ประมาณไม่ได้ไปฆ่าใครตาย แถมเพราะกลุ่มเราเป็นคนมีคุณตะพาบกว่า รักชาติกว่า รักสถาบันกว่า ให้เราจัดแจงให้ทุกอย่างสุดท้ายแล้วอาจดีกับพวกเขากว่าแล้วก็ได้ คือสุดแต่จะจินนาการหลอกตัวเองให้รู้สึกผิดในการปล้นสิทธิคนอื่นน้อยลงไปล่ะนะ แต่โดยสถานะของกลุ่มนี้ประชาธิปไตยมันไม่เข้าทางพวกเขาจริงๆ เพราะเหมือนจะคุกคามสถานะเขาให้ด้อยลงกว่าที่เคยเป็นมา

2. ชาวบ้านธรรมดาที่ไม่ได้เป็นอภิสิทธิ์ชน แต่ชอบและบูชาในระบอบอภิสิทธิ์ ซึ่งได้รับคำสั่งให้ สงบ นิ่ง รอ อย่างผู้ดีคนดีมีการศึกษาและรู้จักคำว่าพอเพียงสุดแต่ท่านจะเมตตา ได้แค่ไหนจงพอใจแค่นั้น ที่สำคัญ เราคือฝ่ายธรรมะ เขา คือฝ่ายอธรรม และ ธรรมมะยอมชนะอธรรม ข้าราชการคนดี นักการเมืองล้วนโกงกิน ฝ่ายคนดีถึงจะมีจำนวนน้อยกว่าแต่สุดท้ายแล้วจะชนะเพื่อนร่วมชาติไทยที่เป็นฝ่ายคนชั่ว หรือ คนโง่ซึ่งถูกคนชั่วหลอกใช้ ลอร์ดโวลเดอร์มอร์ต้องถูกกำจัด แผ่นดินจะสงบร่มเย็นเหมือนที่เป็นมาชั่วกัลปาวสานอวาลอน ผมขอเรียกกลุ่มนี้ว่าพวกคนดีโลกสวย ความคิดสติสตังค์ไม่ค่อยอยู่กับความเป็นจริง สนใจการเมืองแค่ฉาบฉวยแฟชั่นแล้วแต่แกนนำจะนำพาโพกผ้า หรือ เป่านกหวีด รอบหน้าอาจเป่าทรัมเป็ตก็คงทำอีกน่ะแหละ ไม่ได้มีความคิดปฏิวัติ ปฏิรูปใดๆจริงๆจังๆ แค่มองหา แฮรี่พอตเตอร์ วีระบุรุษกู้ชาติซักคน แล้วก็โยนให้เป็นหน้าที่ฮีโร่ไป ตัวเองดกเบียร์เชียร์ หรือทำงานหาเงินเที่ยวญี่ปุ่น เกาหลี อยู่บ้านพอแล้ว จึงไม่แคล้วถูกปลุกผีมาเป็นพักๆอยู่ร่ำไป

3. กลุ่มฐานคะแนนเสียงพรรคเก่าแก่ทางปักษ์ใต้ ซึ่งเป็นชาวบ้านธรรมดา มียากดีมีจนผสมปนเปกันเหมือนคนไทยภูมิภาคอื่นๆทั่วประเทศ และ ไม่ได้อยู่ในระบอบอภิสิทธิ์ใดๆเหมือนเขาหรอก แต่ภูมิใจในการปลูกฝังกันมาในการถือพรรคถือพวก และ ความรู้สึกมีส่วนร่วมในการเป็นพรรคคนใต้ พวกนี้ก็ไม่สนใจอะไรในประชาธิปไตยอยู่แล้ว สนแค่ว่าพรรคของตนจะชนะ หรือ แพ้เท่านั้น เอาหรอยเข้าว่าอย่างเดียว ขนาดความเดือดร้อนมาเยือนถึงชายคาบ้านก็ไม่ได้สนใจ ติดอยู่ในมายาคติของการถือพรรคถือพวก และ ความเกลียดทักษิณจนไม่ลืมหูลืมตาอันเกิดจากการยุแยงของนักการเมืองท้องถิ่น  เป็นคนบ้านนอกคอกนาเหมือนเพื่อนร่วมชาติภาคอื่นๆแท้ๆ แต่กลายเป็นเครื่องมือที่เข้มแข็งของอภิสิทธิ์ชนจากส่วนกลางไปซะงั้น

ทั้งสามกลุ่มนี้ ไม่กว่ากลุ่มไหน ก็ป่วยการคุยถึงหลักการประชาธิปไตย และ แน่นอน เขาไม่เดือดร้อนจากการถูกลิดรอนสิทธิกับการรัฐประหารแต่อย่างใด

และทั้งหมดนี้คือการแชร์ความเห็นผมจากการได้อ่านกระทู้แนะนำอันนั้นครับ


+ + + + + +
เชิญอ่านคำวิจารณ์และโต้แย้งทั้งรูปภาพ ที่ท้ายบทของต้นฉบับ http://pantip.com/topic/33052320
( และกระทู้ที่มาแต่แรก http://pantip.com/topic/33032022 )



.

2558-01-03

ประเทศที่ไร้ความหวัง โดย SIU

.

ประเทศที่ไร้ความหวัง
โดย Siam Intelligence

ใน http://www.siamintelligence.com/thailand-has-no-hope/
. . 3 มกราคม 2015


ทักษิณ ชินวัตร น่าจะถือเป็น “ความหวังครั้งสุดท้าย” ของสังคมไทยในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา

มหาเศรษฐีผู้ขี่กระแสคลื่นลูกที่สาม เจ้าพ่อแห่งวงการโทรคมนาคมผู้หันเหเข้าสู่วงการการเมือง เข้ามากระตุ้นสังคมไทยที่เจ็บช้ำปวดร้าวจากวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 ได้อย่างน่าทึ่งด้วยแนวนโยบายแบบใหม่และการบริหารที่กระฉับกระเฉงว่องไว

ในช่วงของรัฐบาลทักษิณ คนไทยมองไปข้างหน้าสู่อนาคตที่ดีกว่า เศรษฐกิจสดใสเต็มไปด้วยความหวังว่าไทยจะพัฒนาและก้าวขึ้นเป็นหนึ่งในประเทศสำคัญของเอเชีย สานต่อความฝัน “เสือตัวที่ห้า” ที่ยังทำไม่สำเร็จในทศวรรษ 2530 ความภูมิใจของคนในชาติเปี่ยมล้น ภูมิใจต่อพัฒนาการของ “ประเทศไทย” ที่สามารถต่อสู้กับอารยประเทศได้อย่างสมศักดิ์ศรี

แต่ทักษิณก็ทำให้คนไทยจำนวนไม่น้อยต้อง “ผิดหวัง” ความทะเยอทะยานและพฤติกรรมที่ล้นเกินไปหลายอย่างของเขาทำให้คนบางส่วน “รับไม่ได้” และเสื่อมความนิยมลงอย่างรวดเร็ว เป็นชนวนให้เกิดเหตุการณ์ชุมนุมตั้งแต่ช่วงปลายปี 2548 เป็นต้นมา และเป็นจุดเริ่มต้นของความขัดแย้งทางการเมืองที่ยังคงอยู่ในปัจจุบัน

เราต้องยอมรับว่ากลุ่มคนที่ “เกลียดทักษิณ” ในปัจจุบันนี้ เดิมทีเคยเป็นกลุ่มคนที่ตั้งความหวังกับทักษิณอย่างมาก และ “อกหัก” จนเปลี่ยนความรักเป็นความเกลียดชังในที่สุด

หลังจากนั้นเป็นต้นมา คนไทยก็ผิดหวังซ้ำแล้วซ้ำอีกมาโดยตลอด




ความหวังประเทศไทย

เมื่อรัฐบาลทักษิณถูกโค่นล้มลงไป คนไทยจำนวนไม่น้อยหวังว่าคณะรัฐประหาร คมช. และรัฐบาล “ขิงแก่” จะเข้ามากอบกู้ประเทศได้ในปี 2549 แต่สุดท้ายก็ล้มเหลว กลายเป็นรัฐประหารที่ถูกพวกเดียวกันมองว่า “เสียของ”

หลังจากนั้นคนไทยก็ให้ความหวังกับอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีหนุ่มดีกรีอ๊อกซ์ฟอร์ด หน้าตาหล่อเหลา วาจาคมคาย น่าจะเข้ามาบริหารบ้านเมืองได้ทันสมัยเป็นสากล แต่สุดท้ายก็ต้องผิดหวัง เหลือเพียงแค่วาทะ “ดีแต่พูด” เก็บไว้ในความทรงจำ

ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ขี่กระแสภาพลักษณ์และความหวังว่า “เมืองไทยจะกลับมาดีอีกครั้ง” อย่างเช่นสมัยรัฐบาลพรรคไทยรักไทย แต่สุดท้ายแล้ว รัฐบาลเพื่อไทยก็ทำลายความหวังเหล่านี้ลงในชั่วข้ามคืน ด้วยการผ่านร่าง พ.ร.บ. นิรโทษกรรม ที่แสนขัดแย้ง จนทำให้สุดท้ายรัฐบาลยิ่งลักษณ์ต้องพังทลาย จบลงด้วยรัฐประหารครั้งที่สองในรอบ 8 ปี

ล่าสุดกับรัฐบาล คสช. ที่นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ถึงแม้คนบางกลุ่มจะตั้งความหวังเป็นอย่างสูง แต่ทิศทางการบริหารประเทศในรอบครึ่งปีที่ผ่านมา ก็ไม่ได้แสดงให้เห็นว่า คสช. กำลังพาประเทศไทยไปสู่อนาคตสักเท่าไรนัก จะมีแต่การหมุนเข็มนาฬิกาย้อนกับไปสู่วันวานแห่งอดีตเสียเป็นส่วนใหญ่

มองให้ไกลกว่าประเด็นการเมือง สังคมไทยก็ผิดหวังซ้ำแล้วซ้ำเล่ากับแทบทุกเรื่อง เศรษฐกิจที่พึ่งพาการส่งออกเริ่มเดินมาถึงทางตัน สังคมฟอนเฟะในทุกมิติ สถาบันหลักของประเทศแทบทุกแห่งเต็มไปด้วยจุดด่างพร้อย ตั้งแต่รัฐสภาปาเก้าอี้ อธิการบดีมหาวิทยาลัยชื่อดังนั่งควบสองตำแหน่ง โครงการ GT200 ของทหาร ศาลสูงสุดที่เขียนคำวินิจฉัยแบบลวกๆ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนที่ไม่ทำงาน ไปจนถึงคณะกรรมการการเลือกตั้งที่ไม่อยากจัดการเลือกตั้ง

ความสามารถในการแข่งขันของประเทศถดถอยในการจัดอันดับแทบทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจ คอร์รัปชั่น สิทธิมนุษยชน หรือแม้กระทั่งการจัดอันดับมหาวิทยาลัย

ความภูมิใจต่อประเทศไทยเริ่มจืดจางลง หลายคนเลิกเปรียบเทียบประเทศไทยกับต่างชาติ ด้วยวาทกรรม “เมืองไทยมีแนวทางของตัวเอง” และ “อารยธรรมต่างชาตินำมาใช้กับเมืองไทยไม่ได้ทั้งหมด”

แน่นอนว่าพื้นฐานของประเทศไทยยังเข้มแข็ง ประเทศไทยยังไม่มีโอกาสจะล่มสลายลงในชั่วพริบตาแบบเดียวกับครั้งวิกฤตต้มยำกุ้ง แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกับประเทศไทยคราวนี้ถือภาวะเซื่องซึมที่ยาวนาน คนไทยยังอยู่ได้ มีกิน ชีวิตอยู่ได้ตามปกติสุข แต่มองไปทางไหนก็ยังไม่เห็นประกายความหวังในสายตา

สภาพการณ์อึมครึมแบบที่เป็นอยู่ กลายเป็นเหตุสั่งสมความเครียดโดยรวมของสังคม คนไทยจำนวนไม่น้อยหันไปคว้าจับ “สิ่งเหนือธรรมชาติ” ทั้งจิตและกรรมเป็นเครื่องยึดเหนี่ยว ในขณะที่คนไทยอีกส่วนหนึ่งก็หวังพึ่งโชคชะตาด้วยการ “รวยทางลัด” ทั้งหวยและหุ้น

ด้วยเหตุนี้จึงไม่น่าแปลกใจนัก ถ้าหากมีคนไทยกลุ่มไหนสามารถสร้าง “ความหวัง” มาตอบสนองภาวะโหยหาความภาคภูมิใจเหล่านี้ สังคมไทยจะตอบสนองอย่างท่วมท้น

ทีมฟุตบอลไทยภายใต้การนำของโค้ช “ซิโก้” เกียรติศักดิ์ เสนาเมือง ถือเป็นดาวความหวังดวงใหม่ล่าสุดของประเทศไทย ด้วยขีดความสามารถในการแข่งขันที่ยอดเยี่ยมในระดับอาเซียน สามารถทวงบัลลังก์เก่าของทีมฟุตบอลไทย (ที่ห่างหายไปนานหลายปี) อย่างแชมป์ซีเกมส์ และแชมป์ซูซูกิคัพ กลับคืนสู่อ้อมอกของคนไทยได้สำเร็จ ในขณะที่ระดับเอเชียก็ไม่น้อยหน้า สามารถขึ้นไปยืนอยู่ในระดับ 4 ทีมสุดท้ายฟุตบอลชายเอเชี่ยนเกมส์ได้อย่างเต็มภาคภูมิ

นักเตะในยุคของ “ซิโก้” ยังแสดงให้แฟนฟุตบอลชาวไทยเห็นว่า พวกเขามีมาตรฐานการเล่นทัดเทียมกับระดับสากล มีความขยัน มีทักษะ มีวินัย รู้จักการเล่นเป็นทีมเวิร์ค ต่างไปจากนักฟุตบอลไทยชุดก่อนๆ ที่ดูจะขี้เกียจ ไม่มีความฟิต และชอบเล่นฟุตบอลชายเดี่ยวเพื่อโชว์ความสามารถตัวเอง

การคว้าแชมป์ซูซูกิคัพในช่วงปลายปีของทีมฟุตบอลไทย จึงทำให้คนไทยทั้งประเทศ “สะใจ” ได้ปลดปล่อยความภูมิใจที่สะกดกลั้นมานาน และได้รู้สึกว่า “ประเทศไทยมีดี” กลับมาแข่งขันได้ในระดับสากล

แต่เมื่อหันกลับมามองที่แวดวงอื่น โดยเฉพาะวงการการเมือง เศรษฐกิจ สังคม เรากลับยังไม่เห็นความหวังแบบเดียวกันมากนัก เรายังไม่สามารถค้นพบดาวรุ่งกลุ่มใหม่ที่เต็มไปด้วยขีดความสามารถ ภาพลักษณ์ใสสะอาด ซื่อสัตย์ ตรงไปตรงมา ที่จะสามารถฝากความหวังว่าอนาคตของประเทศไทยจะดีขึ้นเอาไว้ได้

สภาพการณ์ของประเทศไทยในปี 2558 จึงยังอึมครึมต่อไป และคนไทยก็ยังต้องอยู่กับตัวละครหน้าเดิมๆ ต่อไปในทุกวงการ แม้จะรู้ว่าไม่สามารถฝากความหวังไว้กับคนเหล่านี้ได้ แต่ก็ไม่มีตัวเลือกอื่นใดที่ดีไปกว่านี้แล้ว

SIU ขอสวัสดีปีใหม่ผู้อ่านทุกท่าน และขอให้ทุกท่าน “อดทน” ต่อสภาวการณ์อันอึมครึมนี้ต่อไป จนกว่าประเทศไทยจะกลับมาเงยหน้าและมองขึ้นไปหาอนาคตอีกครั้ง



.