http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2554-04-30

ประเทศไทยที่รัก โดย คำ ผกา

.
ประเทศไทยที่รัก
โดย คำ ผกา
ในมติชนสุดสัปดาห์ ออนไลน์ ฉบับวันศุกร์ที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1602 หน้า 89



"ผมรักประเทศนี้ แต่เราต้องการประเทศหรือบ้านที่มีสภาพแวดล้อมที่น่ารักกว่านี้ ที่คนมีเสรีภาพของความเป็นมนุษย์ ถ้ามีเรื่องไม่เห็นด้วยก็แสดงความไม่เห็นด้วยออกมา"
(สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล)

"กลุ่มนิติราษฎร์เห็นว่าเป็นภาระหน้าที่ทางวิชาการที่ต้องทำเรื่องเหล่านี้ เพื่อให้เรื่องเหล่านี้เป็นประเด็นสาธารณะ อภิปรายกันได้อย่างเปิดเผยในที่สาธารณะไม่ต้องหลบๆ ซ่อนๆ อภิปรายกัน สิ่งที่เกิดขึ้นถ้าเราไม่ทำอะไรเลย ยังคงนิ่งเฉย ที่สุดแล้ว พื้นที่น้อยนิดที่มีในสังคมไทยก็จะหดหายไปด้วย...เราไม่ได้มีกำลังทรัพย์สิน ไม่ได้มีอาวุธ เรามีเพียงกำลังสติปัญญาตอบแทนกับสังคม การที่บุคคลที่ไม่มีอะไรเลยอย่างพวกเรา ถูกกระทำในลักษณะที่ล่วงละเมิดต่อสิทธิเสรีภาพอย่างนี้ เราต้องทำเพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ท่านทั้งหลายด้วย"
(วรเจตต์ ภาคีรัตน์) http://www.prachatai3.info/journal/2011/04/34198



ถึงประเทศไทยที่รัก,


ใช่, มันเป็นจดหมาย, ไม่ว่ามันจะถูกส่งผ่านกล่องข้อความในเฟซบุ๊ก ส่งทางอีเมล หรือจะถูกพับใส่ซอง ติดแสตมป์ส่งไปรษณีย์ มันก็ยังคงเป็นจดหมาย

ฉันเขียนจดหมายถึงเธอ ประเทศไทย เขียนถึงทั้งๆ ที่ฉันเองก็ไม่แน่ใจว่าเธอเป็นใครหรือเป็นอะไรกันแน่

อาจารย์สมศักดิ์พูดว่า "ผมรักประเทศนี้" ฉันฟังแล้วน้ำตาเกือบไหล ในศตวรรษนี้ใครยังมานั่งพูดว่า "ผมรักชาติ บ้านเมือง" หรือ "ผมรักบ้านเกิดเมืองนอนของผม" หรือ "ผมรักประเทศนี้" สำหรับคนหัวก้าวหน้า มันช่างเป็นคำพูดที่เชยแสนเชย

ความรักมักจะเรียกร้องเอาความเสียสละ เรียกร้องเอาความอดทน และในหลายต่อหลายครั้งที่ความรักกลับฉ้อฉลเรียกค่าไถ่เอาไปแม้กระทั่งเสรีภาพของเรา ทว่าเรามักเดินไปสู่กรงขังความรักด้วยสำนึกอันโรแมนติกที่ว่า "เพื่อความรักของเราฉันยอมที่จะสละบางสิ่งบางอย่างในชีวิตของฉันไปได้"

ฉันรู้ว่ามันยากที่เราจะจำนนต่อความคิดที่ว่าในความรักไม่มีคำว่า "ความยุติธรรม"

แต่ในขณะที่ฉันนั่งมองความรักชาติด้วยตระหนักว่าครั้งหนึ่งมันคือเครื่องมือในการสร้างชาติ และแน่นอนว่าทั้งกำเนิด และกระบวนการสร้างชาติของแต่ละชาติ แต่ละประเทศในโลกนี้ย่อมเกิดขึ้นไม่พร้อมกัน และเกิดขึ้นท่ามกลางเงื่อนไขที่แตกต่างกัน บางชาติมีแต่ชาติไม่มีประเทศ บางแห่งมีแต่ประเทศไม่มีชาติ

หรือสำหรับประเทศไทยตอนนี้ฉันเริ่มเห็นว่ามีชาติมากกว่า 1 ชาติ ใน 1 ประเทศ เพราะเราเริ่มเห็นนิยามของความเป็น "ชาติ" ที่แตกต่างจากที่เราเคยเห็นมาในอดีต และเรากำลัง นิยามความหมายของคำว่า "ชาติ" ของเราขึ้นมาใหม่ อีกทั้งพยายามกำหนดความสัมพันธ์ของชาติกับประชาชนและหน่วยทางการเมืองอื่นๆ ขึ้นมาใหม่โดยอ้างอิงกับนิยามใหม่ของคำว่าชาติอันใหม่ของเรานี้ด้วย


เมื่อฉันเป็นหนึ่งในผู้ที่เห็นและรู้เท่าทันความรักชาติในฐานะที่เป็น "เครื่องมือ" อย่างหนึ่งเท่านั้น ฉันควรจะเป็นหนึ่งในผู้นั่งหัวเราะเยาะผู้ที่ยังงมงายรักชาติ จนกระทั่งเพื่อนของฉันคนหนึ่งบอกว่า "เธอเขียนหนังสือด้วยสำนึกชาตินิยม"

แม้คำกล่าวนี้จะทำให้ฉันเกือบตกเก้าอี้ ทว่าเมื่อตั้งหลักนั่งคิดใหม่ ฉันคงต้องยอมรับว่าแม้ในอีกหลายๆ สังคมบนโลกใบนี้จะก้าวพ้นแนวคิดเรื่อง "ชาติ" ไปแล้ว (เช่นการรวมตัวกันของอียู การมีรัฐสภายุโรป และสกุลเงินของยุโรป) แต่การที่ยังมีนักเขียนจำนวนหนึ่ง นักวิชาการอีกจำนวนหนึ่ง นักกิจกรรมอีกจำนวนหนึ่ง ยังทุ่มเทพลังงานของพวกเขาไปในการอ่าน เขียน พูด วิจัย ด่าทอ บ่น จิกกัด ประณาม และในหลายๆ ครั้งเกือบจะเป็นการถลกหนังหัว "ชาติไทย" ของพวกเขาออกมาเพื่อให้เห็นว่าภายใน "หัว" นั้น มันบรรจุเรื่องหลอกลวง มายาคติ นิทานปรัมปราอะไรไว้บ้าง

ฉันจึงต้องหันมาถามตัวเองอีกว่า พวกเขาทำไปเพื่ออะไร? ถ้าไม่ใช่ความด้วยความรัก ถ้าไม่ใช่ด้วยความปรารถนาจะเห็นประเทศชาติของเราเป็นประเทศที่น่าอยู่ขึ้น ถ้าไม่ใช่ด้วยความปรารถนาที่อยากจะเห็นคนไทยทุกคนอยู่ในประเทศนี้อย่างมีศักดิ์ศรี มีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน มีความไว้เนื้อเชื่อใจในกันและกัน และมีความเคารพต่อกันบนความเชื่อที่ว่าทุกคนต่างเป็นมนุษย์ที่มีความเท่าเทียมกัน

และเพื่อที่จะบรรลุถึงจุดนั้น ฉันและเพื่อนๆ เชื่อว่าหนทางทางที่จะนำไปสู่การตระหนักในศักดิ์ศรีและเสรีภาพที่มีอยู่เท่าเทียมกันของมนุษย์ทุกคนคือระบอบการเมืองที่ชื่อว่า "ประชาธิปไตย" ซึ่งเคารพในเสียงข้างมากของประชาชน มากไปกว่านั้นพวกเรายังเชื่อว่า ไม่ว่าจะมีการศึกษาสูงหรือต่ำ ไม่ว่าจะดีหรือเลว ไม่ว่าจะโง่หรือฉลาด บนสิทธิแห่งการเป็นพลเมืองของรัฐพวกเขามีหนึ่งสิทธิหนึ่งเสียงเท่าเทียมกันทุกประการในคูหาเลือกตั้ง

การปกครองในระบอบประชาธิปไตยเช่นนี้เองที่ทำให้ความหมายของคำว่า "ชาติ" ในหมู่พวกเราไม่ตรงกับคำว่า "ชาติ" ของกลุ่มที่ไม่เชื่อมั่นในสิทธิและศักดิ์ศรีของมนุษย์ว่าพึงมีอยู่อย่างเท่าเทียมกัน

สำหรับการปกครองในระบอบประชาธิปไตย "ชาติ" ของเราหมายถึง "ประชาชน" ไม่อาจเป็นอย่างอื่น

ผู้ที่พูดว่า "รักชาติ" นั่นย่อมหมายถึงการที่พวกเขาหมายถึง "รักประชาชน" การปกป้องชาติ คือการปกป้องประชาชน-แน่นอนพวกเราก็เป็นหนึ่งในประชาชนนั้นด้วย



ประเทศไทยที่รัก, สำหรับฉันมันเป็นเรื่องที่น่าเสียใจอยู่เหมือนกันที่ เพื่อนร่วมชาติของฉันจำนวนมากกลับปฏิเสธที่เชื่อว่า "ชาติ" เท่ากับพวกเขาที่เป็นประชาชน เพื่อนร่วมชาติของฉันจำนวนไม่น้อยเชื่อว่าชาติเป็นของใครคนใดคนหนึ่ง และพวกเขาเชื่อว่าถ้าเรามอบ "ชาติ" ของเราให้กับคนดีๆ สักหนึ่งคนแล้วละก็ อะไรๆ มันจะก็ดีตามไปด้วย และเมื่อเรามีเจ้าของชาติที่ดีเพียงหนึ่งคนแล้ว หลังจากนั้นเราก็เพียงแต่ทำ "หน้าที่" ของเราให้ดีที่สุด จากนั้นสังคมก็จะสงบสุข

จะไม่ให้ฉันเสียใจได้อย่างไรว่าเหตุใดมนุษย์จึงยินดีที่จะสูญเสียสิทธิที่มีมาแต่กำเนิดของตนเองไปโดยง่ายดาย

และเหตุใดพวกเขาจึงเชื่ออย่างสนิทใจว่าในโลกนี้มีสิ่งที่เรียกว่า "คนดี" เพราะการเป็นคนดีนั้นมันสัมพันธ์อยู่กับหลายเงื่อนไข เช่น เขาอาจเป็นคนดีสำหรับเราแต่เลวสำหรับคนอื่น หรือเขาอาจเป็นคนดีเพียงเพราะเก่งในการสร้างภาพ เก่งในการโฆษณา นอกจากนั้นต้องถามต่อว่า การเป็นคนดีไม่เพียงพอต่อการสร้างความเป็นธรรมแก่สังคม

ด้วยเหตุนั้น การมอบอาญาสิทธิ์ในการปกครองให้ใครคนใดคนหนึ่งเพียงเพราะเขาเป็นคนดีนั้นจึงเป็นเรื่องเสี่ยงเกินไป

ฉันและเพื่อนๆ จึงยินดีที่ไม่สนใจความดีของตัวบุคคล แต่เราเลือกที่อยู่ในระบอบที่มีโครงสร้างและกฎเกณฑ์ที่ออกแบบมาเพื่อสร้างความเป็นธรรมให้คนในสังคมมากที่สุด แน่นอนว่าไม่มีระบอบการเมืองการปกครองใดดีเลิศ สมบูรณ์แบบ และไม่มีสังคมใดที่ปราศจากข้อบกพร่องด่างพร้อย

แต่ระบอบประชาธิปไตยเป็นระบอบที่เปิดโอกาสให้คนได้มีส่วนร่วมในการกำหนดชะตากรรมและอนาคตของตนเองผ่านการออกเสียงเลือกตั้งและมีส่วนในการตรวจสอบนักการเมืองที่ตนเองเลือกเข้าไปทำงานได้มากที่สุด


ฉันเชื่อว่ากลุ่มคณะราษฎรได้ร่วมกันเปลี่ยนแปลงการปกครองของไทยให้เป็นประชาธิปไตยในปี 2475 ก็เพราะพวกเขามีความรัก "ชาติ" ที่หมายถึง "ประชาชน" และเชื่อว่าถึงเวลาแล้วที่อำนาจทางการเมืองต้องอยู่ในมือของประชาชนมิใช่คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง

ไม่น่าเชื่อว่าผ่านไปเกือบ 80 ปี ภารกิจของคณะราษฎรยังไม่สำเร็จ เพราะการช่วงชิงความหมายของคำว่าชาติว่าเป็นของใครกันแน่ยังไม่จบสิ้น การรัฐประหารทุกครั้งที่เกิดขึ้นหลังปี 2475 เป็นต้นมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังปี 2490 เป็นต้นมา คือการรัฐประหารเพื่อชิงความหมายของคำว่าชาติออกจากประชาชน

และหากติดตาม Time Line หรือตารางเวลาของประวัติศาสตร์การเมืองไทยจะเห็นว่า การขัดจังหวะก้าวย่างของประชาธิปไตยนั้นเกิดขึ้นเกือบจะทุกๆ สิบปี

และในท่ามกลางการขัดจังหวะก้าวย่างทางเดินของประชาธิปไตยนี้ ปัญญาชน นักวิชาการ นักเขียน ของไทยจำนวนหนึ่งยังไม่เคยหยุดที่จะหาคำตอบว่า สาเหตุหลักของการขัดจังหวะหรือการ "หยุด" พัฒนาการประชาธิปไตยของไทยเกิดขึ้นจากอะไร?



ประเทศไทยที่รัก, นักวิชาการบางคนเข้าไปสำรวจความผิดปกตินี้จากหลายมุมมองทั้งทางวัฒนธรรม บางคนเข้าไปสำรวจปัญหานี้จากมุมมองของสตรีนิยม, วิถีทางเพศ, บางคนเข้าไปมองจากมุมมองของพุทธศาสนากับการครอบงำ, บางคนมองจากแง่มุมทางประวัติศาสตร์, บางคนเข้าไปหาคำตอบจากการเข้าไปศึกษาการเมืองท้องถิ่น, บางคนศึกษาจากการเปรียบเทียบการเมืองไทยกับประเทศอื่นๆ, บางคนศึกษาจากโครงสร้างสถาบันทางการเมือง บางคนศึกษาจากบทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์จากระเบียบวิธีศึกษาแบบประวัติศาสตร์ ฯลฯ

ในประเทศด้อยพัฒนาและยากจนอย่างประเทศของเรา นักวิชาการและปัญญาชนต่างตระหนักว่าเราไม่อาจเป็นเพียงผู้คงแก่เรียน ถือตำรา สถิตอยู่ ณ หอคอยงาช้าง ท่ามกลางรายได้เฉลี่ยต่อหัวอันน้อยนิดของคนไทย เหล่าปัญญาชนต่างตระหนักว่าตนเองยังชีพอยู่ด้วยเงินภาษีของประชาชน ทั้งมหาวิทยาลัยที่เราสอน ทั้งเงินเดือนที่เรารับ เพราะฉะนั้นนอกจาก เขียน อ่าน และ สอน ในมหาวิทยาลัย

แล้วเหล่านักวิชาการจึงต้องออกมา พูด เขียน ต่อสาธารณชนในประเด็นสาธารณะ

ในท่ามกลางวิกฤตของประชาธิปไตย ในยามที่อุดมการณ์ครอบงำทางวัฒนธรรมของคนกลุ่มน้อยซึ่งทำงานหนักเพื่อลดความชอบธรรมในการยืนยันสิทธิของประชาชน...ในฐานะที่เป็นคนเท่าๆ กัน นักวิชาการฝ่ายเสรีนิยมยิ่งต้องออกมาพูด ออกมาเสนอมุมมอง แนวคิด ข้อมูล ออกมาแสดงหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ทฤษฎี เสนอความรู้ทางกฎหมายต่อประชาชน ทั้งนี้ เพื่อเป็นภูมิคุ้มกันให้สังคมนี้เข้มแข็งและมีเรี่ยวแรงจะต้านทานต่อความไม่เป็นธรรมและฉ้อฉลที่เกิดกับสังคม อีกทั้งความวิปริตนานาที่เกิดกับสังคมไทย

(การที่ฝ่ายรัฐว่าประชาชนตายเพราะวิ่งเข้าหากระสุนนับเป็นความวิปริตอย่างหนึ่งหรือไม่? การที่คนกรุงเทพฯ มองคนต่างจังหวัดที่เข้ามาประท้วงใน กทม. ว่าเป็นควายเป็นความวิปริตหรือไม่?)



"ผมรักประเทศนี้ แต่เราต้องการประเทศหรือบ้านที่มีสภาพแวดล้อมที่น่ารักกว่านี้"

คำพูดของ อาจารย์สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล สะท้อนสำนึกของปัญญาชนที่ยังซื่อสัตย์ต่ออุดมการณ์ที่ยึดถือให้ประชาชนเป็นใหญ่ นั่นคือนับถือในสิทธิและเสรีภาพของประชาชน

และเราอาจพูดได้ว่า เหตุที่ปัญญาชน นักวิชาการ ออกมาก่นด่า สังคมไทยก็เพียงเพราะเราอยากเห็นสังคมไทยเป็นสังคมที่น่ารักกว่านี้ น่าอยู่กว่านี้ ศิวิไลซ์กว่านี้ มีเหตุผล มีความคิดเป็นวิทยาศาสตร์มากกว่านี้

นักวิชาการไม่มีปืน ไม่มีอาวุธ ไม่อาจออกไปอุ้ม ฆ่า หรือใช้กำลังกับใครได้ ไม่แม้แต่จะมีความสามารถไปสมัครเป็น ส.ส. พวกเขาแค่สวมวิญญาณนัก "ชาตินิยม" ที่ปรารถนาจะเห็นบ้านเมืองที่เขารักเป็นแผ่นดิน เป็นประเทศที่คนหลากหลายฐานะ อาชีพ ชนชั้น พื้นเพ สามารถอยู่ร่วมกันได้ด้วยความเคารพในศักดิ์ศรีของกันและกัน ภายใต้กฎหมายและกติกาเดียวกัน เป็นสังคมที่ศิวิไลซ์มากพอที่จะฟัง ถกเถียง ขัดแย้ง เคารพในความคิดเห็นของผู้อื่นที่ต่างไปจากตนเอง


ประเทศไทยที่รัก, ฉันอยากจะบอกว่า อย่ากลัวคนที่ว่ากล่าวท่านอย่างตรงไปตรงมา

แต่พึงระวังคนที่สอพลอต่อท่านไว้ให้ดี

.

2554-04-29

มติอาเซียน 22 ก.พ.ฯ และ กระแส"ชาตินิยม-การเมือง"ฯ

.
มติอาเซียน 22 ก.พ. ผู้สังเกตการณ์ จาก "อินโดนีเซีย" มติที่ยากยิ่งจะปฏิเสธได้
คอลัมน์ รายงานพิเศษ
ในมติชนสุดสัปดาห์ ออนไลน์ ฉบับวันศุกร์ที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1602 หน้า 8


สงสัยหรือไม่ว่า เหตุปัจจัยอะไรทำให้รัฐบาลกัมพูชาไม่ยอมรับการติดต่อกับรัฐบาลไทยโดยตรง

ทั้งๆ ที่ประเทศกัมพูชาได้ชื่อว่าเป็นประเทศเล็กกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศไทย ทั้งๆ ที่ในทางแสนยานุภาพกองทัพกัมพูชามิอาจสู้กับกองทัพไทยได้

ที่สำคัญก็คือ กัมพูชาเป็นรองไทยทั้ง กองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ

แต่ไม่ว่าจะเป็นความพยายามในระดับคณะกรรมการร่วมระดับท้องถิ่นอันยื่นไปโดย พล.ท.ธวัชชัย สมุทรสาคร แม่ทัพภาคที่ 2

ก็ไม่มีการขานรับ

และไม่ว่าจะเป็นความพยายามในระดับคณะกรรมการร่วมทั่วไป อันเป็นเรื่องระหว่างกระทรวงกลาโหมกับกระทรวงกลาโหม

ก็ไม่มีการขานรับ

หรือแม้กระทั่งจะเป็นความพยายามในระดับคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วม อันเป็นเรื่องระหว่างกระทรวงการต่างประเทศกับกระทรวงการต่างประเทศ

ก็มิดอิมซิม



ไม่ว่าจะเป็น สมเด็จฮุน เซน นายกรัฐมนตรี ไม่ว่าจะเป็น นายฮอร์ นัมฮง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็น พล.อ.เตีย บันห์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

ได้มองข้ามจุดนี้ไปแล้ว

หากสังเกตการณ์การเคลื่อนไหวของรัฐบาลกัมพูชาภายหลังการปะทะกัน ซึ่งเริ่มเมื่อวันศุกร์ที่ 22 เมษายน บริเวณปราสาทตาเมือนธม ปราสาทตาควาย

เป้าหมาย 1 คือ คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ

เป้าหมาย 1 ซึ่งอยู่ใกล้ตัวมากกว่าคือ นายมาร์ตี นาตาลาเกวา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอินโดนีเซีย ในฐานะประธานอาเซียน

ไม่ใช่ประเทศไทย


เหตุผลเพราะว่าคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติมีมติเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ให้อาเซียนรับผิดชอบในการทำให้กรณีพิพาทระหว่างไทย-กัมพูชา ไปสู่การหยุดยิงอย่างถาวร

ขณะเดียวกัน การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ ณ กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ มีมติขานรับการส่งคณะผู้สังเกตการณ์จากอินโดนีเซียเข้าไปประจำในพื้นที่อันเป็นกรณีพิพาททั้งฝั่งไทยและฝั่งกัมพูชา

มตินี้มีเป้าหมายเพื่อทำให้มติของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติว่าด้วยการหยุดยิงอย่างถาวรปรากฏเป็นจริง

มติคณะมนตรีความคงแห่งสหประชาชาติกับมติอาเซียนจึงมีความสำคัญ



ขอให้ประเมินท่าทีที่ยืนหยัดอยู่อย่างมั่นคงของ นายมาร์ตี นาตาลาเกวา ในฐานะประธานอาเซียน

แม้จะมีความล่าช้าในเรื่องผู้สังเกตการณ์จากอินโดนีเซีย แต่ประธานอาเซียนก็ยังดำรงความมุ่งหมาย

"ไทยเห็นด้วยกับแนวคิดให้มีผู้สังเกตการณ์ ยังเหลือประเด็นทางเทคนิคบางประการที่ต้องหารือกัน ผมเห็นว่าควรเร่งดำเนินการให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อป้องกันความสับสนว่าใครทำอะไร และทำเมื่อใด"

ยิ่งกว่านั้น ยังเป็นท่าทีจากกระทรวงต่างประเทศของสิงคโปร์

"เป็นเรื่องสำคัญที่ประเทศทั้ง 2 จะต้องร่วมกับอินโดนีเซียในฐานะประธานอาเซียนปฏิบัติตามข้อตกลงในคราวประชุมอย่างไม่เป็นทางการของรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์"

ถึงอย่างไรก็หลีกเลี่ยงไม่พ้นที่จะต้องสนองรับการเข้ามาของ "ผู้สังเกตการณ์" จากอินโดนีเซีย


++

กระแส"ชาตินิยม-การเมือง" กดดัน บีบคั้น "ไทย-เขมร"เปลี่ยนจุดยืนไม่ได้ รบชายแดน"ยืดเยื้อ-รุนแรง"
คอลัมน์ ในประเทศ
ในมติชนสุดสัปดาห์ ออนไลน์ ฉบับวันศุกร์ที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1602 หน้า 10


แม้มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 26 เมษายน ต่อปัญหาความขัดแย้งกับกัมพูชา จะค่อนข้างระมัดระวัง

คือ

1. มาตรการทางทหารจะไม่ให้พื้นที่ปะทะกันขยายวงออกไป เพื่อไม่ให้กัมพูชาสามารถนำไปกล่าวอ้างกับนานาชาติในการยกระดับปัญหาระหว่างไทยกับกัมพูชาให้เป็นปัญหาสากล

2. มาตรการทางการทูตในการขอความร่วมมือจากนานาชาติและอาเซียนช่วยดึงกัมพูชากลับมาสู่กรอบการหารือระดับทวิภาคี

3. มาตรการที่ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องทำงานร่วมกันในเรื่องนี้ ไม่ว่าจะเป็นการให้ข่าว การร่วมมือทางการค้า และเรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ส่วนกำลังทหารแต่ละจุดตามแนวชายแดนนั้นยังคงจำนวนจุดประจำเท่าเดิมและไม่มีการเพิ่มกำลังทหาร แต่ถ้าจะขยายจุดหรือเพิ่มกำลังทหาร จะต้องนำเข้าที่ประชุม ครม. เพื่อขอความเห็นชอบ ขณะที่การปิดด่านชายแดนนั้นต้องไม่ส่งผลกระทบต่อภาคเอกชนและประชาชนตามแนวชายแดน โดยมอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปศึกษาและประเมินผล

แต่เมื่อประเมินสถานการณ์การสู้รบที่ขยายตัวจากสมรภูมิภูมิซรอล ภูมะเขือ ปราสาทตาเมือนธม ปราสาทตาควาย แล้วดูเหมือนจะยากต่อการยุติลงง่ายๆ

เพราะ "จุดยืน" ที่ทั้งไทย และกัมพูชา ยึดถืออย่างแน่วแน่นั้น ได้ทำให้หนทาง "สันติ" แคบลงเรื่อยๆ

และที่สุดก็นำไปสู่การปะทะระลอกใหม่ อย่างที่เราเห็นขณะนี้



ทางด้านกัมพูชานั้น ชัดเจนว่า เมื่อเห็นความชะงักงัน ของการดึง "ผู้สังเกตการณ์จากอินโดนีเซีย" เข้ามาในพื้นที่

เห็นความชะงักงัน ของการดึงนานาชาติ เข้ามาพัวพันกับปัญหาความขัดแย้ง

และเห็นว่า หากปล่อยสถานการณ์ให้เป็นเช่นนี้ ก็เท่ากับว่าไหลไปเข้าทางฝ่ายไทย

นี่จึงเป็นเหตุให้เสียงปืนดังขึ้นที่ชายแดนไทย-เขมร ด้าน จ.สุรินทร์ โดยมีเป้าหมายที่ปราสาทตาเมือนธม และปราสาทตาควาย ซึ่งสะสมเงื่อนไข ความรุนแรง มานาน

ซึ่งถือเป็นการขยายแนวรบ จากพื้นที่เขาพระวิหาร จ.ศรีสะเกษ ให้มากยิ่งขึ้น

ความขัดแย้งได้ถูก "ยกระดับ" ให้ใหญ่โต อย่างมีเป้าหมายชัดเจน

ชัดเจน ในสายตาของอาเซียน องค์การสหประชาชาติ และประเทศมหาอำนาจ ไม่ว่า สหรัฐ จีน ฝรั่งเศส

กัมพูชา หวังว่าความชัดเจนนี้ จะบีบรัด กดดัน ให้เกิดการแทรกแซงจากนานาชาติ

ไม่ยอมให้ปัญหาไทย-เขมร เป็นเรื่องของ "ทวิภาคี" อย่างเด็ดขาด


ขณะเดียวกัน ก็เป็นไปได้สูง ที่ สมเด็จฮุน เซน ซึ่งเชี่ยวในเกมการเมืองมาในทุกรูปแบบ ประเมินว่า ปัจจัยภายในของไทยกำลังระส่ำระสาย

ด้านหนึ่ง กำลังจะเกิดการยุบสภา รัฐบาลไทย จะอยู่ในฐานะรัฐบาลรักษาการ

ด้านหนึ่ง เกิดความระส่ำระสายในการดูแลปัญหาเรื่องพื้นที่ทับซ้อนที่เขาพระวิหาร ไม่ว่าการร้องเพลงคนละคีย์ ระหว่าง กองทัพกับกระทรวงการต่างประเทศ การที่ นายสุวิทย์ คุณกิตติ ประกาศขอถอนตัวจากหัวหน้าคณะผู้แทนเจรจามรดกโลก ฝ่ายไทย โดยอ้างว่า ขัดแย้งกับแนวทางของกระทรวงการต่างประเทศ ร้อนถึง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่ได้ขอร้องแกมบังคับ ให้นายสุวิทย์ทำหน้าที่ต่อไป

แม้นายสุวิทย์จะทำหน้าที่ต่อ แต่สิ่งที่นายสุวิทย์แสดงออกนั้นชัดเจนว่า มีความไม่ราบรื่นในการขับเคลื่อนเรื่องนี้

"ปัจจัยภายในของไทย" ที่ไร้เอกภาพนี้อาจทำให้ สมเด็จฮุน เซน ฉวยจังหวะที่จะรุก เพราะหวังจะ "ได้เปรียบ"



ทางด้านฝั่งไทย ก็ชัดเจนว่า "ฝ่ายทหาร" ภายใต้มติของสภากลาโหม ได้ยืนกรานที่จะไม่รับคณะผู้สังเกตการณ์จากอินโดนีเซีย

ไม่รับการแทรกแซงจากนานาชาติ

การเจรจาจะมีขึ้นก็เฉพาะไทยกับกัมพูชาเท่านั้น

ท่าทีอัน "แข็งขัน" นี้ ได้กลายเป็นแนวทาง "กองทัพ" นำ "รัฐบาล" ไปโดยปริยาย

อันทำให้ข้อตกลงของกระทรวงการต่างประเทศไทยที่ไปตกลงกับกัมพูชา โดยมีอินโดนีเซียในฐานะประธานอาเซียนเป็นสักขีพยาน

ในเรื่องการส่งคณะผู้สังเกตการณ์เข้ามาในพื้นที่ มีเงื่อนไขเพิ่มเติม

เป็นเงื่อนไขที่ไทยต้องการให้มีการระบุในเอ็มโอยู ก่อนที่คณะผู้สังเกตการณ์จะเข้ามา นั่นก็คือ ทหารกัมพูชาจะต้องถอนทหารออกไปจากพื้นที่ข้อพิพาท 4.6 ตารางกิโลเมตร รอบเขาพระวิหารก่อน จึงจะยินยอมให้คณะผู้สังเกตการณ์เข้ามา

เงื่อนไขนี้ ว่าไปแล้ว ยากยิ่งที่กัมพูชาจะยินยอม

จึงมีโอกาสสูงที่เอ็มโอยูจะเซ็นไม่ได้ และเกิดความชะงักงันในเรื่องผู้สังเกตการณ์

ซึ่งตรงนี้ ก็ไปสอดคล้องกับความต้องการลึกๆ ของกองทัพ ที่จะไม่อยากให้มีฝ่ายที่สามเข้ามาเกี่ยวข้อง

ความชะงักงันดังกล่าว ทำให้ความสุ่มเสี่ยงที่จะทำให้เกิดการปะทะระหว่างไทย-กัมพูชา ขยายตัวและยกระดับความรุนแรงสูงยิ่งขึ้น

แต่นาทีนี้ดูเหมือนกองทัพและฝ่ายการเมืองของไทย จะโน้มเอียงไปในทาง อะไรจะเกิดก็ต้องเกิด


โดยในฟากของกองทัพนั้น ก็คงต้องแสดงให้คนไทยเห็นว่า นอกเหนือจาก "การตบเท้าเพื่อโชว์ความพร้อมรบ" และแสดงการสนับสนุนผู้บัญชาการทหารบกในการปกป้องสถาบันของหน่วยทหารต่างๆ ขณะนี้แล้ว

กองทัพก็ยังมีศักยภาพในปกป้องอธิปไตยของชาติ

ซึ่งจะเห็นว่า ทันทีที่เสียงปืนดังขึ้นที่ปราสาทตาเมือนธม และปราสาทตาควาย กองทัพบกก็ได้เปิดฉากถล่มฝ่ายกัมพูชาอย่างหนัก

ผู้บัญชาการทหารระดับสูง ถึงขนาดบอกว่า เมื่อเขมรมาหนึ่ง ฝ่ายไทยถล่มกลับไปสิบ

นี่ย่อมสะท้อนให้เห็น "ดีกรี" ความรู้สึกของฝ่ายทหารได้เป็นอย่างดี

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ถึงกับประกาศว่า

"ถ้ากัมพูชาเขายังไม่หยุด เราก็ไม่หยุด เราจะไม่ยอมให้เขาทำเฉยๆ เขาทำอะไรเรามา เราก็ตอบไปอย่างนั้น"

ขณะที่ฟากทางการเมืองเอง เมื่อเข้าสู่โหมด "เลือกตั้ง" ย่อมทำให้เกิดแรงกดดันอย่างหนักหน่วงที่จะต้องไม่ "หงอให้กัมพูชา"

การตอบสนองกระแส "ชาตินิยม" เป็นสิ่งที่พรรคการเมืองหลีกเลี่ยงไม่ได้

ซึ่งแม้นายอภิสิทธิ์ จะค่อนข้างระมัดระวังตัว แต่ นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ จากพรรคประชาธิปัตย์ ก็ได้หยิบปีกเหยี่ยวขึ้นมาเสียบหลัง พร้อมกับบอกอย่างแข็งกร้าวว่า

"นโยบายอดทนอดกลั้น และพยายามเจรจามาตลอดของเราต้องทบทวน"



ประเมินจากท่าทีของทั้งไทยและกัมพูชา รวมทั้งหากทั้งสองชาติยังไม่เปลี่ยนเป้าหมายในการขับเคลื่อน

โอกาสที่การสู้รบตามแนวชายแดน จะยืดเยื้อ และเพิ่มความรุนแรง เป็นไปได้สูง

ซึ่งหากมองผ่านแว่น "ชาตินิยม" อาจจะได้ความสาสมใจ

แต่กระนั้น ก็ต้องไม่ลืมว่า ชาวบ้านตามแนวชายแดนทั้งสองประเทศ หลายหมื่นคน ล้วนแต่ตกเป็นเหยื่อของสถานการณ์

ต้องบาดเจ็บล้มตาย

ต้องอพยพหนีภัย อย่างทุกข์ทรมาน

ขณะเดียวกัน เสียงจาก "สภาธุรกิจไทย-กัมพูชา" ก็ได้เตือนถึงความสูญเสียทางเศรษฐกิจ ที่จะติดตามมา

หากสถานการณ์บานปลายถึงขั้นปิดด่าน การส่งออกปี 2554 ไม่ต่ำกว่า 80,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นการค้าชายแดนประมาณ 51,000 ล้านบาท จะต้องกระทบทันที ยังไม่รวมถึงการลงทุนในกัมพูชาของไทยอีกหลายหมื่นล้านที่จะได้รับผลกระทบ

และที่สำคัญ นานาชาติ จะยินยอมให้ "ไทย-กัมพูชา" สู้รบกันโดยไม่เข้าแทรกแซงหรือ

ถ้าเข้าแทรกแซง จะเป็นผลดีกับไทยที่ยึดมั่นแนวทาง "ทวิภาคี" อย่างไร

นี่เป็นโจทย์ที่ต้องแก้ และรีบมีคำตอบ

จะลื่นไหลไปกับกระแสชาตินิยมอย่างเมามัน คงไม่ฉลาดแน่

.

2554-04-28

2554-2556 จุดเปลี่ยนของยุคที่ 3 สงครามหรือสันติภาพ โดย มุกดา สุวรรณชาติ

.
2554-2556 จุดเปลี่ยนของยุคที่ 3 สงครามหรือสันติภาพ
โดย มุกดา สุวรรณชาติ คอลัมน์ หลักศิลากลางน้ำเขียว
ในมติชนสุดสัปดาห์ ออนไลน์ ฉบับวันศุกร์ที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1601 หน้า 20



2554 ครบรอบ 100 ปีของกบฏ ร.ศ.130

2555 ครบรอบ 80 ปีของปฏิวัติ 2475

2556 ครบรอบ 40 ปีของการเคลื่อนไหว 14 ตุลาคม 2516


ความขัดแย้งและการต่อสู้เพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้นเป็นวิวัฒนาการตามปกติของสังคมมนุษย์ซึ่งเป็นไปตามสัจธรรมที่สรรพสิ่งในโลกล้วนเป็นอนิจจัง ไม่หยุดนิ่ง แต่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา คู่ขัดแย้งในโลก ทั้งผู้ปกครอง และผู้ถูกปกครอง ผู้กดขี่ และผู้ถูกกดขี่ ต่างก็มีบทบาทที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงซึ่งเป็นการสร้างความก้าวหน้าให้กับสังคม เป็นความจำเป็นที่จะต้องเปลี่ยนโครงสร้างทางการเมืองการปกครองให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อม ชีวิตและการทำมาหากิน การแบ่งผลประโยชน์ของคนกลุ่มต่างๆ ในสังคม

ถ้าพิจารณาจากประวัติศาสตร์ทางการเมืองยุคใหม่ของประเทศไทย จะพบว่าการต่อสู้ทางการเมืองเกิดขึ้นแล้ว 2 ยุคสมัย ซึ่งทำให้มีการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้าง หรือทางความคิด และยุคที่ 3 ที่กำลังต่อสู้อยู่ก็น่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญขึ้นในเร็วๆ นี้ แม้ว่าแต่ละยุคใช้ช่วงเวลาการต่อสู้ที่ยาวนาน แต่ถ้าย้อนดูการปฏิวัติฝรั่งเศสใน ค.ศ.1789 ก็ยังต้องใช้เวลากว่า 80 ปี จึงจะเป็นประชาธิปไตยที่ใช้ได้จริงโดยไม่ต้องฆ่ากัน



ยุคที่ 1 การเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตย ภายใต้ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์


พระมหากษัตริย์ ซึ่งเล็งเห็นถึงภัยคุกคามจากลัทธิล่าอาณานิคมของตะวันตกและความจำเป็นในการติดต่อค้าขายกับต่างประเทศ จึงต้องการปรับปรุงระบบการปกครอง ระบบการศึกษา เชื้อพระวงศ์หลายพระองค์ได้ถูกส่งไปศึกษาในประเทศยุโรป และนี่เป็นจุดเริ่มต้นของการได้รับอิทธิพลที่ก้าวหน้าและได้ส่งผลสะท้อนกลับมายังประเทศสยาม

ค.ศ.1868 จักรพรรดิเมจิแห่งญี่ปุ่นมีพระชนมายุเพียง 16 ปี ได้รับอำนาจคืนจากโชกุนโยชิโนบุ ซึ่งทนแรงกดดันของมหาอำนาจสหรัฐอเมริกาไม่ไหว ต้องยอมตัดสินใจยกเลิกระบบโชกุนซึ่งบริหารประเทศมายาวนานถึง 700 ปี เพื่อลดความขัดแย้งของกลุ่มซามูไรและยอมอ่อนข้อให้กับอเมริกา จากนั้นก็พัฒนาประเทศตามแนวทางประชาธิปไตยสมัยใหม่ ที่เรียกว่า การฟื้นฟูครั้งใหญ่สมัยเมจิ ทำให้ญี่ปุ่นเจริญก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว

ในปีเดียวกันนั้น รัชกาลที่ 5 ของประเทศสยามก็ได้ขึ้นครองราชย์ด้วยอายุเพียง 15 ชันษา แต่อำนาจบริหารยังตกอยู่ในมือของผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน คือ สมเด็จเจ้าพระยามหาศรีสุริยวงศ์ ต่อมา ร.5 ก็ช่วงชิงอำนาจบริหารได้ หลังจากทรงบรรลุนิติภาวะมาได้ระยะหนึ่ง มีการปรับปรุงระบบบริหารโดยการตั้งสภารัฐมนตรี (Council of State) และองคมนตรีสภา (Privy Council) ในปี พ.ศ.2417 สำหรับเป็นที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน ปรึกษาราชการในพระองค์ และช่วยวินิจฉัยฎีกาต่างๆ แต่อำนาจยังรวมศูนย์อยู่ที่พระมหากษัตริย์ นี่เป็นเพียงการเริ่มต้นปฏิรูป

ลอนดอน พ.ศ.2427 มีการเคลื่อนไหวของกลุ่มปฏิรูป ร.ศ.103

พระเจ้าน้องยาเธอและข้าราชการสถานทูตได้ทำหนังสือกราบบังคมทูลเพื่อขอให้เปลี่ยนแปลงบ้านเมืองเพื่อตั้งรับการรุกรานของมหาอำนาจอย่างรวดเร็วโดยได้ส่งหนังสือลงวันที่ 8 มกราคม 2428 และร่วมลงนามในหนังสือรวม 11 ท่าน เช่น

1. พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระนเรศวรฤทธิ์ พระราชโอรสลำดับที่ 17 ของ ร.4

2. พระองค์เจ้าโสณบัณฑิต พระราชโอรสลำดับที่ 61 ของ ร.4

3. พระองค์เจ้าสวัสดิ์โสภณ พระราชโอรสลำดับที่ 15 ของ ร.4

4. พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ พระราชโอรส ร.3 เป็นราชทูตไทยประจำลอนดอน และข้าราชการประจำสถานทูตอีก 7 ท่าน

เนื้อหาในหนังสือกราบบังคมทูลคือ ภัยอันตรายจากลัทธิล่าเมืองขึ้นจะมาถึงกรุงสยามแล้ว การที่จะรักษาบ้านเมืองให้พ้นอันตรายต้องอาศัยการเปลี่ยนแปลงทำนุบำรุงบ้านเมืองตามที่ญี่ปุ่นได้ทำมาแล้วอย่างรวดเร็ว

จะเห็นว่าผู้ที่กล้าคิดเปลี่ยนแปลงอาจเรียกได้ว่าเป็นปัญญาชนซึ่งเป็นคนชั้นสูงเท่านั้นแต่การเปลี่ยนแปลงของประเทศสยามไม่ทันกับการรุกรานของมหาอำนาจ แม้จะรักษาเอกราชไว้ได้ ก็ยังต้องเสียดินแดนให้กับฝรั่งเศสหลายครั้ง

คือในปี 2431 หลังจากปราบกบฏฮ่อ กลับต้องเสียแคว้น สิบสองจุไทยให้กับฝรั่งเศส และในปี 2436 ก็เกิดเหตุการณ์ ร.ศ.112 ฝรั่งเศสนำเรือรบเข้ามาขู่ถึงกรุงเทพ ไทยต้องเสียดินแดนฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงและเสียเงินค่าปรับให้กับฝรั่งเศส

ในปี พ.ศ.2446 ต้องเสียเมืองจำปาศักดิ์และดินแดนฝั่งขวาแม่น้ำโขงเพื่อแลกกับการให้ฝรั่งเศสถอนทหารออกจากจันทบุรี

ในปี พ.ศ.2449 ต้องเสียเมืองเสียมราฐและพระตะบองเพื่อแลกกับการที่ฝรั่งเศสถอนทหารออกจากตราดและสิทธิทางศาล

ปี พ.ศ.2451 ต้องยก ปะลิศ ไทรบุรี กลันตัน ตรังกานู ให้กับอังกฤษเพื่อแลกกับสิทธิทางศาลเพื่อให้คนในบังคับอังกฤษต้องมาขึ้นศาลไทยและขอกู้เงินมาสร้างทางรถไฟสายใต้เชื่อมกับมลายู

ในปี พ.ศ.2454 ได้เกิดกบฏ ร.ศ.130 ขึ้นโดยคณะนายทหารหนุ่มซึ่งนำโดย ร้อยเอกเหล็ง ศรีจันทร์ ซึ่งมีจุดประสงค์ต้องการเปลี่ยนแปลงให้ประเทศเจริญก้าวหน้า โดยหวังว่าถ้าปฏิวัติเปลี่ยนแปลงแล้วประเทศจะเจริญก้าวหน้าแบบญี่ปุ่น ซึ่งขณะนั้นได้เห็นตัวอย่างการปฏิวัติของ ดร.ซุนยัดเซนในจีน แต่การเตรียมการปฏิวัติครั้งนั้นก็ล้มเหลว ผู้ร่วมก่อการทั้ง 91 คนถูกจับ


ปารีส พ.ศ.2469 การเคลื่อนไหวของคณะราษฎร

คณะราษฎรได้จัดประชุมครั้งแรกที่หอพัก Rue De Somerard ผู้ร่วมประชุมคือ

1. ร.ท.ประยูร ภมรมนตรี

2. ร.ท.แปลก ขีตตะสังคะ

3. ร.ต.ทัศนัย มิตรภักดี

4. นายตั้ว ลพานุกรม

5. หลวงสิริราชมนตรี

6. นายแนบ พหลโยธิน

7. นายปรีดี พนมยงค์

การประชุมใช้เวลา 5 วัน และลงมติให้ นายปรีดีเป็นประธานและหัวหน้าคณะราษฎร

จากเหตุการณ์การเคลื่อนไหวของกลุ่ม ร.ศ.103 ที่ลอนดอน จนถึงการประชุมที่ปารีสของคณะราษฎร เว้นระยะห่างกันถึง 42 ปี หลัง

จากนั้น 6 ปี กลุ่มคณะราษฏรก็ได้ทำการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองในวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ประเทศไทยจึงได้ใช้ระบอบการปกครองใหม่คือระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ เป็นการเปลี่ยนแปลงที่มีคนเข้าร่วมจำนวนน้อย และส่วนใหญ่ก็เป็นข้าราชการชั้นสูง ความคิดปฏิวัติยังไม่ได้กระจายลงไปสู่คนชั้นกลางและชั้นล่างเลย



ยุคที่ 2 การเคลื่อนไหวเพื่อสร้างระบอบประชาธิปไตยภายใต้อำนาจจักรวรรดินิยม ศักดินาทหารและนักการเมือง


หลังการปฏิวัติ 2475 ปีปัญหาและอุปสรรคในการพัฒนาระบอบประชาธิปไตยอย่างมากมาย ในเวลาไม่ถึง 1 ปี คณะรัฐมนตรีก็ประกาศใช้ พ.ร.บ.คอมมิวนิสต์ และบีบบังคับให้นายปรีดีเดินทางออกนอกประเทศแต่พระยาพหลฯ ได้ยึดอำนาจจากพระยามโนปกรณ์นิติธาดาและเชิญนายปรีดีกลับมา

ในเดือนตุลาคม 2476 ก็เกิดกบฏบวรเดชแต่ถูกปราบจนพ่ายแพ้ไป

ปี พ.ศ.2477 รัชกาลที่ 7 ทรงสละราชสมบัติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลขึ้นครองราชย์แทน

พ.ศ.2484 ญี่ปุ่นยกพลบุกประเทศไทยในสงครามโลกครั้งที่ 2

มิถุนายน 2489 พระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลสวรรคต นายปรีดีได้เสนอต่อสภาให้สมเด็จพระอนุชาขึ้นครองราชย์สืบต่อไป

พ.ศ.2490 เกิดการรัฐประหารโดย พลโทผิณ ชุณหะวัณ นายปรีดีต้องหนีไปต่างประเทศ จอมพล ป. กลับมามีอำนาจอีกครั้ง

จนถึง พ.ศ.2500 ได้มีการเลือกตั้งทั่วไปซึ่งกล่าวกันว่าเป็นการเลือกตั้งที่สกปรกที่สุด และเป็นข้ออ้างที่ทำให้จอมพลสฤษดิ์ นำทหารมายึดอำนาจในวันที่ 16 กันยายน ภายใต้การสนับสนุนของอเมริกา จอมพล ป. หนีไปต่างประเทศ จากนั้นประเทศไทยก็เข้าสู่ระบอบเผด็จการ

จอมพลสฤษดิ์ได้เสียชีวิตลงในปี 2506 จอมพลถนอมก็ปกครองต่อด้วยระบอบเผด็จการจนถึงปี พ.ศ.2516 จึงเกิดการเคลื่อนไหวของนักศึกษาปัญญาชน มีการเดินขบวนครั้งใหญ่ และเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ทำให้จอมพลถนอมต้องหนีออกไปต่างประเทศ

การต่อสู้ในยุคที่ 2 สิ้นสุดลงในวันที่ 14 ตุลาคม 2516 ถ้านับจากปี 2475 ก็ใช้เวลาถึง 41 ปี

สิ่งที่พัฒนาขึ้นภายหลังเหตุการณ์ 14 ตุลา คือการตื่นตัวของคนชั้นกลาง นักศึกษาปัญญาชนที่ต้องการมีส่วนร่วมทางการเมือง กระแสประชาธิปไตยพุ่งขึ้นสูงในขณะที่แนวคิดสังคมนิยมก็พุงขึ้นสูงด้วยเช่นกัน




ยุคที่ 3 การต่อสู้เพื่อพัฒนาระบอบประชาธิปไตยให้เป็นจริง


ในปีแรกหลังเหตุการณ์ 14 ตุลา มีผู้เปรียบเทียบว่าเหมือนท้องฟ้าสีทองผ่องอำไพ ถึงเวลาที่ประชาชนจะต้องเป็นใหญ่แล้ว แต่การเคลื่อนไหวของนักศึกษาปัญญาชน กลับถูกต่อต้านและจบลงอย่างรวดเร็วโดยการรัฐประหาร 6 ตุลาคม 2519 โดยทหาร กลุ่มขวาจัดและอเมริกา

มีการสังหารหมู่กลางกรุงเทพฯ อย่างโหดร้ายทารุณ ทำให้นักศึกษาจำนวนหนึ่งหนีเข้าป่าไปร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.)

นี่เป็นการเปลี่ยนแนวทางการต่อสู้ที่สำคัญเพราะไม่ต้องการใช้แนวทางรัฐสภา แต่จะใช้อาวุธเพื่อยึดอำนาจรัฐเพื่อตอบโต้กับอำนาจรัฐเผด็จการทหารที่ใช้อาวุธปราบประชาชน เป็นการตอบโต้แบบตาต่อตา ฟันต่อฟัน มีสงครามย่อยๆ เกิดขึ้นในขอบเขตทั่วประเทศ

ตรงนี้เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญ ถ้า พคท. ชนะ ประเทศไทยก็จะเปลี่ยนรูปโฉมไปอีกแบบหนึ่ง

แต่ในความเป็นจริง หลังจากต่อสู้ด้วยอาวุธมา 6 ปี สงครามก็สงบลง เนื่องจากปัญหาภายในของ พทค. นโยบายของรัฐ และปัญหาความขัดแย้งของค่ายคอมมิวนิสต์ในทางสากล สงครามสงบลงปี 2525 มีผู้เสียชีวิตไปเป็นจำนวนมาก

แต่ปี 2522 การพัฒนาประชาธิปไตยในแนวทางรัฐสภาก็เริ่มขึ้นอีกครั้งหนึ่งแม้มีอำนาจเผด็จการครอบคลุมอยู่ค่อนข้างสูง นายกรัฐมนตรี พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เปิดให้มีการเลือกตั้ง มีรัฐสภา จากนั้นอำนาจก็เปลี่ยนมือไปสู่ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เราเรียกว่าเป็นยุคประชาธิปไตยครึ่งใบซึ่งกินเวลาประมาณ 10 ปี

การพัฒนาประชาธิปไตยเต็มรูปแบบ เริ่มขึ้นในยุคพลเอกชาติชายเป็นนายกฯ แต่ก็ถูกรัฐประหารโดยคณะ รสช. ในปี 2534 แต่ รสช. ก็ถูกประชาชนโค่นลงในปี 2535 ที่เรียกว่าเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ

จากนั้น ประชาธิปไตยก็พัฒนาต่อเนื่อง ประชาชนสามารถมีนายกรัฐมนตรีที่เป็นคนธรรมดาและมาจากการเลือกตั้ง เป็นหัวหน้าพรรคการเมือง เช่น คุณชวน หลีกภัย จาก ปชป. คุณบรรหาร ศิลปอาชา จาก ชาติไทย พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ จากพรรคความหวังใหม่ มีการยุบสภา มีการลาออก มีการเลือกตั้งตามกติกา และในปี พ.ศ.2544 ก็มีการนำรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 มาใช้ในการเลือกตั้งครั้งแรก ประชาชนเลือกคุณทักษิณเป็นนายกฯ ถึง 2 สมัยซ้อน

แต่ก็มีการรัฐประหารในเดือนกันยายน 2549 รัฐธรรมนูญฉบับ 2540 ที่ถือว่าเป็นประชาธิปไตยที่สุดถูกฉีกทิ้ง ความคาดหวังว่าจะพัฒนาประชาธิปไตยต่อเนื่องได้สะดุดลงและผลจากตุลาการภิวัตน์ในปี 2551 ทำให้เห็นว่ามีการแทรกแซงที่น่ากลัวกว่าการใช้อาวุธ

แต่สิ่งที่ไม่คาดคิดก็เกิดขึ้น คือการลุกขึ้นสู้ของคนชั้นล่างซึ่งไม่เคยมีมาก่อน กลุ่มคนเสื้อแดงขยายตัวอย่างรวดเร็ว การเคลื่อนไหวในปี 2553 แสดงถึงความพร้อมที่จะเข้าต่อสู้แม้จะต้องใช้ชีวิตเข้าแลกก็ตาม



การครบรอบ 40 ปี 14 ตุลาคม 80 ปี การปฏิวัติ 2475, 100 ปี กบฏ ร.ศ.130 ถ้านำมาศึกษาแล้วจะพบว่า การเข้าร่วมของคนจะมีผลต่อการวิวัฒนาการทางสังคมจากปี 2427 ถึงปี 2516 ระยะเวลาร่วม 90 ปี ผู้ที่เข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองจากคนชั้นสูงเพียงหยิบมือเดียวกลายมาเป็นปัญญาชนจำนวนมาก และพอถึงในปี 2535 เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ เราได้เห็นพลังของชนชั้นกลางที่เข้าร่วมต่อต้านอำนาจเผด็จการ ในการเคลื่อนไหวเดือนพฤษภาคมปี 2553 กลุ่มคนเสื้อแดงได้บอกให้เรารู้ว่า คนชั้นล่างได้เข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างเต็มตัวแล้ว แม้จะมาช้าหน่อย (126 ปี) แต่มาช้าแล้วทำให้ทุกอย่างจบลงอย่างเรียบร้อยก็ถือว่าดี


การเลือกตั้งปี 2554 และสถานการณ์การเมืองในช่วงหลังจากนั้นจะเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อของการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่

1. ปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง ถูกขยายอย่างรวดเร็วในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เพราะกลุ่มผู้กุมอำนาจได้ขยายความขัดแย้งกับทักษิณให้กลายเป็นความขัดแย้งกับแนวร่วมประชาชนทั้งประเทศ

2. ปัญหาทางเศรษฐกิจ ประเมินว่าในช่วงปีสองปีนี้จะเกิดปัญหาเนื่องจากการใช้จ่ายเกินขนาดเพื่อสร้างคะแนนเสียงของรัฐบาล เพื่อเอาใจทหาร พรรคร่วมและประชาชน การแข็งค่าของเงินบาท การรุกเข้ามาของสินค้าจากต่างประเทศ เช่น จีน เวียดนาม ซึ่งทำให้โรงงานอุตสาหกรรมขนาดเล็กล้มละลายอย่างรวดเร็ว ราคาน้ำมันจะทำให้ค่าครองชีพสูงขึ้นมาก ปัญหาใหญ่อีกปัญหา คือการคอร์รัปชั่น ซึ่งจะทำให้ประชาชนต้องการการเปลี่ยนแปลง

3. การปรับเปลี่ยนและรับรู้เพื่อพัฒนาความคิดของประชาชนรวดเร็วขึ้น กว้างขวางขึ้น จากเทคโนโลยีในยุคที่ 2 หนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ เปลี่ยนเป็นโทรศัพท์มือถือ อินเตอร์เน็ต จานดาวเทียม คอมพิวเตอร์ ทำให้ประชาชนทั้งประเทศ ได้รู้ข้อเท็จจริงต่างๆ ได้ง่ายขึ้น ไม่มีใครผูกขาดและปิดบังข่าวสารได้ ผู้คนมีความอยากได้สิ่งที่เห็นในจอ ไม่ว่าจะเป็นวัตถุ ความงาม เสรีภาพ ความยุติธรรม คนกล้าคิดกล้าแสดงออก กล้าต่อสู้มากขึ้น พลังส่วนนี้ปิดกั้นไม่ได้แล้ว



การต่อสู้ทางการเมืองครั้งต่อไปจะไม่ใช่เรื่องของคนกลุ่มเล็กๆ อีกแล้ว ใครจะคิดทำอะไร ขอให้คิดให้ดี ให้รอบคอบ ไม่ว่าจะใช้แนวทางไหน ก็จะมีคนร่วมเป็นล้านๆ คนทั้งสิ้น ถ้าหย่อนบัตรเลือกตั้งก็ง่ายหน่อย หาเสียง 2 เดือน นับคะแนนไม่เกิน 3 วัน อีกเดือนเดียวก็ตั้งรัฐบาลได้ แต่ถ้าจะใช้อำนาจช่วงชิงกัน การต่อสู้อาจจะไม่สิ้นสุดเพียง 2-3 เดือน เวลาเกิดเรื่องร้ายขึ้นมาแล้ว จะเหมือนไฟไหม้ป่าในหน้าแล้ง เหตุการณ์เมษายน-พฤษภาคม 2553 จะเป็นเพียงแค่หนังตัวอย่าง วันนี้ผู้มีอำนาจ หัวหน้าพรรค หัวหน้ากลุ่มต้องใจเย็นๆ

กรรมการต้องตั้งหลักให้มั่น ความยุติธรรม คือยาที่ดีที่สุดในการรักษาความสงบ และสันติ

การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญจะพาประเทศเข้าสู่สงครามหรือสันติภาพคงจะได้เห็นกันเร็วๆ นี้

.

2554-04-26

เปิด"แถลงการณ์"เพื่อน สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล" และ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

.
เปิด"แถลงการณ์"เพื่อน สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล" วอนรัฐหยุดคุกคามเสรีภาพ
ในมติชน ออนไลน์ วันจันทร์ที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2554 เวลา 11:00:25 น.


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 24 เม.ย. ภายหลังนายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ มธ. แถลงข่าวถึงผลกระทบต่อเสรีภาพทางวิชาการ กรณีการอภิปรายเรื่อง สถาบันกษัตริย์-รัฐธรรมนูญ-ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2553 ที่ผ่านมา ได้มีนักวิชาการจากกลุ่มสันติประชาธรรม และกลุ่มต่างๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้รัฐยุติการคุกคามเสรีภาพของประชาชน


เริ่มจาก แถลงการณ์จากเครือข่ายสันติประชาธรรม ในหัวข้อ"หยุดคุกคามสิทธิเสรีภาพของประชาชน"


ท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมืองที่ทวีความเข้มข้นมากขึ้นนับตั้งแต่การรัฐประหารปี 2549 ประชาชนที่มีความคิดเห็นทางการเมืองแตกต่างจากผู้ยึดกุมอำนาจรัฐ ก็ต้องเผชิญกับการคุกคามสิทธิและเสรีภาพมากขึ้นเรื่อย ๆ ในขณะนี้ เงาทะมึนของการคุกคามได้ลุกลามเข้าสู่ผู้คนในวงวิชาการด้วยเช่นกัน ล่าสุดคือการคุกคามที่เกิดขึ้นกับอาจารย์ ดร.สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ด้วยสาเหตุที่อาจารย์ได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับบทบาทและสถานะของสถาบันกษัตริย์ในสังคมไทยในเวทีวิชาการต่าง ๆ หลายครั้งหลายครา

พวกเราในฐานะนักวิชาการเครือข่ายสันติประชาธรรม และประชาชนที่เห็นด้วยกับแถลงการณ์นี้ เชื่อว่าการแสดงความคิดเห็นอย่างตรงไปตรงมาและเปิดเผยของอาจารย์สมศักดิ์ วางอยู่บนเจตจำนงที่ต้องการเห็นสถาบันกษัตริย์ดำรงควบคู่อย่างสอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตย ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญยิ่งต่อความมั่นคงของทั้งสถาบันกษัตริย์และต่อสังคมไทยโดยรวม แต่เป็นสิ่งที่น่ากังวลอย่างยิ่งที่การแสดงความคิดเห็นของอาจารย์สมศักดิ์ ที่มุ่งเรียกร้องให้ผู้มีอำนาจได้ตระหนักถึงปัญหาที่สังคมไทยกำลังเผชิญอยู่นี้ ได้ถูกโจมตีว่าเป็นการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ มุ่งล้มล้างสถาบันกษัตริย์ และอาจถึงขั้นถูกนำไปเป็นข้ออ้างสำหรับการรัฐประหารครั้งต่อไปก็ได้ นอกจากนี้ อาจารย์สมศักดิ์ไม่ใช่คนแรกและคนสุดท้ายที่จะแสดงความเห็นในเรื่องดังกล่าวอย่างแน่นอน คำถามคืออำนาจรัฐจะติดตามคุกคามประชาชนด้วยประเด็นปัญหานี้อีกกว้างขวางแค่ไหน

พวกเราจึงขอเรียกร้องให้ผู้ที่เกี่ยวข้องยุติการคุกคามเสรีภาพทางวิชาการของอาจารย์สมศักดิ์ และต่อประชาชนกลุ่มอื่น ๆ ที่มีความคิดทางการเมืองที่แตกต่าง โปรดตระหนักว่าในสังคมประชาธิปไตย ทุกสถาบันควรได้รับการตรวจสอบและวิพากษ์วิจารณ์ได้เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่จะเป็นประโยชน์กับสังคมประการสำคัญ การเปิดกว้างยินยอมให้มีการแสดงความคิดที่แตกต่างได้อย่างเปิดเผย โดยปราศจากภัยคุกคามและความกลัวต่างหาก ที่จะช่วยนำสังคมไทยฝ่าออกไปจากวิกฤติในขณะนี้ได้

ด้วยความเคารพต่อสิทธิ เสรีภาพ และความยุติธรรม
เครือข่ายสันติประชาธรรม

1.กฤตยา อาชวนิจกุล สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
2.ศรีประภา เพชรมีศรี ศูนย์สิทธิมนุษยชนศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล
3.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
4.ธงชัย วินิจจะกูล ภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-เมดิสัน
5.พวงทอง ภวัครพันธุ์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
6.เวียงรัฐ เนติโพธิ์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
7.จักรกริช สังขมณี คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
8.เกษม เพ็ญภินันท์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
9.นฤมล ทับจุมพล คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
10.ภูมิอินทร์ สิงห์ชวาลา คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
11.ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
12.เสาวนีย์ อเล๊กซานเดอร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบล
13.ลักขณา ปันวิชัย นักเขียน
14.บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์ คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
15.จีรพล เกตุจุมพล คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง
16.ธนาพล อิ๋วสกุล สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน
17.กานต์ ทัศนภักดิ์ นักเขียน ช่างภาพ และคนทำงานศิลปะ
18.นภัทร สาเศียร นิสิตปริญญาโท สาขาประวัติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
19.วันรัก สุวรรณวัฒนา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
20.อภิชาต สถิตนิรมัย คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
21.ไอดา อรุณวงศ์ สำนักพิมพ์อ่าน
22.เบญจรัตน์ แซ่ฉั่ว ศูนย์สิทธิมนุษยชนศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล
23.วิภา ดาวมณี คณะกรรมการรับข้อมูลและสืบพยานเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519
24.สุดแดน วิสุทธิลักษณ์ คณะสังคมวิทยาและมนุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
25.เชษฐา พวงหัตถ์ ภาควิชาสังคมศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
26.ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
27.อาดาดล อิงคะวณิช มหาวิทยาลัยเว็สต์มินสเตอร์
28.บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง
29.อรอนงค์ ทิพย์พิมล คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
30.นวลน้อย ตรีรัตน์ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
31.ดาริน อินทร์เหมือน สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน
32.ชาตรี ประกิตนนทการ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาศิลปากร
33.มุกหอม วงษ์เทศ นักเขียน
34.รักนิรันดร์ วรรณวีรพงษ์
35.ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์
36.อัจฉรา รักยุติธรรม คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
37.นิรมล ยุวนบุณย์
38.นายพันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ
39.เยาวลักษ์ อนุพันธุ์ ทนายความ
40.ชญานิน เตียงพิทยากร
41.อุเชนทร์ เชียงเสน
42.ชาตรี สมนึก
43.วิทยา พันธ์พานิชย์
44.พิภพ อุดมอิทธิพงศ์
45.รุ่งรวี เฉลิมศรีภิญโญรัช International Crisis Group
46.กิตติศักดิ์ สฤษดิสุข
47.ธนศักดิ์ สายจำปา
48.จอน อึ๊งภากรณ์
49.ประจักษ์ ก้องกีรติ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
50.ยุกติ มุกดาวิจิตร คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
51.วรวิทย์ ไชยทอง นิสิตภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงณ์มหาวิทยาลัย
52.นันทา เบญจศิลารักษ์
53.สุขุม ชีวาเกียรติยิ่งยง
54.ปกป้อง เลาวัณย์ศิริ นักสิทธิมนุษยชน
55.ธร ปีติดล คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
56.กรรณิกา เพชรแก้ว
57.วิโรจน์ อาลี รัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
58.วีระ หวังสัจจะโชค
59.นิภาพร รัชตพัฒนากุล คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
60.นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักวิชาการ
61.ภัควดี วีระภาสพงษ์ นักเขียน-นักแปล
62.อานันท์ กาญจนพันธ์ สังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
63.คริส เบเกอร์ นักวิชาการ
64.โกวิท แก้วสุวรรณ คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
65.ชาญณรงค์ บุญหนุน มหาวิทยาลัยศิลปากร
66.กฤษณะ มณฑาทิพย์ มหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์
67.คมลักษณ์ ไชยยะ มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา
68.บุญยืน สุขใหม่
69.โกวิท แก้วสุวรรณ
70.ทองทัช เทพารักษ์
71.ศรีสมร กิจภู่สวัสดิ์
72.วสันติ ลิมป์เฉลิม มหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี
73.ณัฐนพ พลาหาญ นิสิตคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
74.ดิน บัวแดง กลุ่มประชาคมจุฬาฯเพื่อประชาชน
75.ฉลอง สุนทราวาณิชย์ นักวิชาการ



ต่อด้วยจดหมายเปิดผนึก (จากนักวิชาการด้านไทยศึกษาในต่างประเทศ)


ในนามของนักวิชาด้านไทยศึกษาซึ่งพำนักอยู่นอกประเทศไทย เราได้เฝ้าสังเกตการลิดรอนพื้นที่ของการแลกเปลี่ยนทางความคิดที่เกิดขึ้นเรื่อยมานับตั้งแต่เหตุการณ์รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 และมีความกังวลใจอย่างถึงที่สุด ทั้งนี้การคุกคามเสรีภาพของการคิดและการแสดงออกนี้ได้ทวีความรุนแรงมากขึ้นนับตั้งแต่เหตุการณ์ความรุนแรงเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553 ดังตัวอย่างที่สำคัญ

เช่น การจับกุมกักขัง ดร.สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยศูนย์อำนวยการภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉินในเดือนเมษายน 2553 การตั้งข้อกล่าวหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพต่อนายใจ อึ๊งภากรณ์ และการดำเนินคดีต่อนางสาวจีรนุช เปรมชัยพร ผู้ดูแลเว็บไซต์ประชาไท

ตลอดช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ดร.สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นอีกผู้หนึ่งซึ่งถูกคุกคาม อันเนื่องมาจากการวิพากษ์วิจารณ์รัฐ สถาบันพระมหากษัตริย์และความสัมพันธ์ระหว่างสองสถาบันนี้ เราจึงต้องการที่จะแสดงออกซึ่งความห่วงใยอย่างที่สุดต่อกรณีนี้

การคุกคามที่มีต่อ ดร.สุธาชัย นายใจ นางสาวจีรนุช และ ดร.สมศักดิ์ เช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นต่อประชาชนชาวไทยอีกจำนวนนับไม่ถ้วนนั้น เป็นลักษณะบ่งชี้ถึงการปฏิบัติอย่างกว้างขวางและหลายรูปแบบของรัฐ ซึ่งการกระทำเหล่านี้คุกคามต่อสิทธิเสรีภาพและอนาคตของประชาธิปไตยไทยอย่างรุนแรง สิ่งที่ชัดเจนในขณะนี้คือ ความขัดแย้งจะไม่มีทางหมดไปจากระบบการปกครองของไทย ไม่ว่ารัฐไทยจะเลือกใช้มาตรการจัดการที่รุนแรงเพียงใด ผู้ซึ่งอยู่ในอำนาจควรจะตระหนักได้แล้วว่าการอภิปรายและการวิพากษ์วิจารณ์เป็นสิ่งที่จำเป็นต่อกระบวนการทางประชาธิปไตย

เราซึ่งมีชื่อด้านล่างนี้ขอแสดงจุดยืนเคียงข้างเพื่อนร่วมวิชาชีพจากเครือข่ายสันติประชาธรรม ขอเรียกร้องให้หยุดการข่มขู่คุกคามต่อดร.สมศักดิ์ และหยุดการปฏิบัติใดๆอันเป็นการลิดรอนเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น

1.Dr.Michael K. Connors, La Trobe University
2.Dr.Nancy Eberhardt, Knox College
3.Dr.Nicholas Farrelly, Australian National University
4.Dr.Arnika Fuhrmann, Hong Kong University
5.Dr.Jim Glassman, University of British Columbia
6.Dr.Tyrell Haberkorn, Australian National University
7.Dr.Kevin Hewison, University of North Carolina-Chapel Hill
8.Dr.CJ Hinke, Freedom Against Censorship Thailand
9.Dr.Soren Ivarsson, University of Copenhagen
10.Dr.Andrew Johnson, Sogang University
11.Dr.Tomas Larsson, Cambridge University
12.Dr.Charles Keyes, University of Washington
13.Mr.Samson Lim, Cornell University
14.Dr.Tamara Loos, Cornell University
15.Dr.Mary Beth Mills, Colby College
16.Ms.Nattakant Akarapongpisak, Australian National University
17.Dr.Craig Reynolds, Australian National University
18.Mr.Andrew Spooner, Nottingham Trent University
19.Mr.Sing Suwannakij, University of Copenhagen
20.Dr.Michelle Tan, Independent Scholar, USA
21.Mr.Giles Ji Ungpakorn, Independent Scholar, UK
22.Dr.Andrew Walker, Australian National University
23.Dr.Thongchai Winichakul, University of Wisconsin-Madison
24.Mr.Kritdikorn Wongswangpanich, Aberystwyth University
25.Dr.Adadol Ingawanij, University of Wesminster, UK.
26.Dr.Rachel V Harrison, University of London
27.Dr. Abner Soffer, Tel Aviv University



และแถลงการณ์จากนักสันติวิธี เรื่อง "ขออย่าทวีความร้าวฉานในสังคม"


ความขัดแย้งของสังคมไทยในช่วง 5-6 ปีมานี้ มีลักษณะที่แตกต่างไปจากช่วงอื่นๆอย่างชัดเจน กล่าวคือ เป็นความขัดแย้งที่ขยายวงไปยังทุกภาคส่วนและสังคมหน่วยต่างๆ ตั้งแต่ภายในครอบครัว กลุ่มอาชีพ หน่วยงาน ไปจนถึงสถาบันต่างๆ เช่น สถาบันยุติธรรม พรรคการเมือง การบริหารราชการ การบัญญัติกฎหมาย ฯลฯ ทั้งยังเป็นปฏิปักษ์ต่อกันโดยไม่มีแนวโน้มว่าจะลดราลง ความขัดแย้งในลักษณะเช่นนี้อาจเป็นเหตุก่อให้เกิดผลได้ทั้งทางบวกและทางลบ ทั้งนี้ขึ้นกับวิธีการแก้ไขความขัดแย้งนี้ในระยะสั้นและระยะยาว

กรณีการออกหมายจับ ดร. สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งกำลังเกิดขึ้นในวันเวลานี้นั้น เป็นดัชนีที่ชี้ให้เห็นถึง มรรควิธีในการจัดการความขัดแย้งอย่างไม่คำนึงถึงหลักวิชา ไม่ว่าจะในเชิงนิติศาสตร์ และสังคมศาสตร์สาขาต่างๆ ทั้งยังไม่เป็นไปตามหลักที่ถือปฏิบัติกันของประชาคมโลกสมัยปัจจุบัน ตั้งแต่ สิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน ไปจนถึงเสรีภาพในทางวิชาการ การแสดงความคิดเห็นโดยไม่ได้มีเจตนาให้ก่อการจลาจล หรือ มุ่งร้ายหมายชีวิตบุคคลหรือกลุ่มคนใดๆ

เป็นที่หวั่นเกรงว่า การดำเนินการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งด้วยการใช้อำนาจและกำลังที่ละเมิดศีลธรรมและนิติธรรมซึ่งสังคมไทยควรยึดถือ โดยน้ำมือเจ้าหน้าที่ของรัฐและบุคคลบางกลุ่มบางฝ่ายที่อาจจะกำหนดอยู่เบื้องหลังนี้นั้น ส่อถึงเจตนาที่ไม่บริสุทธิ์และไร้ความปรารถนาดีต่อการคลี่คลายความขัดแย้งอย่างสร้างสรรค์ อันจะยิ่งทำให้ปัญหาที่สั่งสมอยู่แล้วทวีความรุนแรงขึ้น

ผู้มีรายนามท้ายนี้ ขอเสนอให้เจ้าหน้าที่ของรัฐและฝ่ายอื่นๆที่พยายามดำเนินการใส่ร้าย กล่าวหา ดร. สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ได้ล้มเลิกการคุกคามและความประสงค์ที่จะทำร้ายไม่ว่าจะทางกายภาพและทางจิตใจ ทั้งในกรณีนี้และอื่นๆที่อาจจะตามมา เช่น การถอดถอนประกันที่สาธารณชนรู้จักกันในนาม ‘แกนนำนปช.’ การออกหมายจับบุคคลต่างๆที่อาจมีการเตรียมการไว้ และการกระทำต่างๆนานาที่มิได้เอื้อต่อการประคับประคองการเปลี่ยนแปลงสังคมด้วยหลักสันติธรรม

วันที่ 24 เมษายน 2554

1.ไชยันต์ รัชชกูล สถาบันศาสนา วัฒนธรรม และสันติภาพ มหาวิทยาลัยพายัพ
2.สุชาติ เศรษฐมาลินี สถาบันศาสนา วัฒนธรรม และสันติภาพ มหาวิทยาลัยพายัพ
3.ชาญชัย ชัยสุขโกศล ศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล
4.เอกรินทร์ ต่วนศิริ ศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
5.งามศุกร์ รัตนเสถียร ศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล
6.ประทับจิต นีละไพจิตร นิสิตคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
7.ใจสิริ วรธรรมเนียม ศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล
8.อธิษฐาน์ คงทรัพย์ ศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล
9.เอกพันธ์ ปิณฑวณิช ศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล


++

แถลงการณ์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
เรื่อง การคุกคามเสรีภาพในการแสดงความเห็น คือ การคุกคามประชาธิปไตย

ท่ามกลางสถานการณ์ความขัดแย้งอย่างรุนแรงในสังคมไทย เสรีภาพในการแสดงความเห็นเป็นเงื่อนไขพื้นฐานสำคัญประการหนึ่งสำหรับการแก้ไขปัญหาต่างๆ เพื่อลดความขัดแย้งและความรุนแรง เพราะช่วยให้สามารถแลกเปลี่ยน ถกเถียง โต้แย้ง ระหว่างผู้คนกลุ่มต่างๆ ที่มีความคิดเห็นแตกต่างเพื่อนำไปสู่การแสวงหาทางออกร่วมกัน รวมทั้งการหาข้อตกลงในการดำรงอยู่ร่วมกันอย่างสันติในระยะยาว ด้วยเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นอย่างเสมอภาคและปราศจากการคุกคามเท่านั้นที่จะนำมาสู่การต่อรองและการสร้างกติกาที่ทุกฝ่ายยอมรับร่วมกัน

ส่วนการใช้อำนาจเพื่อให้บางฝ่ายมีโอกาสพูดและสื่อสารกับสังคมในขณะที่บางฝ่ายถูกปิดกั้น มีแต่จะนำไปสู่ความแค้นเคืองและขยายความขัดแย้งให้สูงขึ้น เพราะตอกย้ำความไม่เป็นธรรมที่มีอยู่แล้วให้เห็นชัดเจนยิ่งขึ้น โดยไม่ก่อให้เกิดผลดีต่อส่วนรวมแต่อย่างใด

อย่างไรก็ตาม เป็นที่ประจักษ์ชัดว่าการคุกคามต่อเสรีภาพในการแสดงความเห็นจากฝ่ายผู้ถืออำนาจรัฐกลับทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นในสังคมไทยปัจจุบัน ทั้งโดยการใช้อำนาจนอกกฎหมายและอำนาจตามกฎหมาย ทั้งที่ปรากฏให้เห็นอย่างชัดแจ้งและอย่างแฝงเร้น ทำให้มีคนจำนวนมากที่ต้องเผชิญกับการคุกคามหรือแม้แต่การจับกุมคุมขังเมื่อ มีการแสดงความเห็นของตนออกมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีการดำเนินการหลายรูปแบบเพื่อปิดปากประชาชนภายใต้ข้อ กล่าวอ้างเรื่องความจงรักภักดีและการปกป้องสถาบัน รวมทั้งกรณีการเคลื่อนไหวของนายทหารบางกลุ่มในระยะนี้

สังคมไทยพึงตระหนักว่า กฎหมายของไทยมิได้เปิดให้มีการใส่ร้ายป้ายสีต่อบุคคลหรือสถาบันใดๆ ได้อย่างเสรี ตรงกันข้ามมีกฎเกณฑ์และบทลงโทษอย่างรุนแรงอยู่แล้ว ไม่จำเป็นที่ทหารจะต้องออกมาสำแดงกำลังแม้แต่น้อย อนึ่ง ในฐานะหน่วยราชการหน้าที่หลักขององค์กรทหารย่อมอยู่ที่การปกป้องอธิปไตยของชาติ สถาบันทหารควรหลีกเลี่ยงจากการกระทำใดๆ ที่เป็นส่วนหนึ่งของการแสดงบทบาทในทางการเมือง เพื่อป้องกันการนำสถาบันทหารเข้ามาเป็นเครื่องมือในการแสวงหาประโยชน์ของบุคคลหรือฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด

ในสังคมประชาธิปไตย บุคคลและสถาบันใดก็ตามที่เข้ามามีบทบาทและใช้อำนาจในทางการเมืองย่อมไม่อาจพ้นไปจากการวิพากษ์วิจารณ์จากผู้คนในสังคมได้ เพราะในสังคมที่ประกอบด้วยกลุ่มคนหลากหลายซับซ้อน การใช้อำนาจไม่ว่าจะเป็นไปด้วยเจตนาดีเพียงใด ก็ย่อมมีทั้งผู้ได้ประโยชน์และผู้เสียประโยชน์ หรือย่อมส่งผลดีในบางด้านและส่งผลเสียในบางด้าน การวิพากษ์วิจารณ์เพื่อต่อรองหรือเพื่อตรวจสอบตามครรลองของระบอบประชาธิปไตย จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง การใช้อำนาจโดยไม่ต้องการถูกวิพากษ์วิจารณ์แตะต้อง หรือถูกตรวจสอบจึงเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ในโลกปัจจุบัน ความพยายามในการปิดปากผู้คนต่อการแสดงความเห็นตามครรลองของระบอบประชาธิปไตย ไม่ว่าจะด้วยวิธีการใดๆ ก็ตาม จึงไม่เพียงแต่เป็นการคุกคามต่อเสรีภาพในการแสดงความเห็นของบุคคลเท่านั้น หากยังหมายความถึงการคุกคามต่อระบอบประชาธิปไตยอย่างสำคัญ

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจึงขอเรียกร้องให้สังคมไทยร่วมกันปกป้องเสรีภาพในการแสดงความเห็น และร่วมกันแสดงการคัดค้านต่อบุคคล, สถาบัน, การกระทำ หรือกฎหมายใดๆ ก็ตาม ที่คุกคามต่อเสรีภาพดังกล่าวนี้ ไม่ว่าจะเป็นการกระทำที่มาจากฝ่ายใดก็ตาม เพื่อให้สังคมไทยสามารถจะก้าวเดินต่อไปบนพื้นฐานของสังคมประชาธิปไตย เฉกเช่น นานาอารยประเทศได้อย่างสันติและเสมอภาคกัน


มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
26 เมษายน 2554

.

2554-04-25

สงครามความเชื่อ "ใครยิงก่อน" และ ไทยจะอยู่กันอย่างไร โดย นฤตย์ เสกธีระ

.
สงคราม “ความเชื่อ”กรณี“ใครยิงก่อน”ที่ชายแดน“ไทย-กัมพูชา”
บทความในมติชน ออนไลน์ วันอาทิตย์ที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2554 เวลา 19:25:27 น.


ทุกครั้งที่มีเสียงปืนดังขึ้นที่ชายแดนไทย-กัมพูชา
ทั้งกองทัพไทย และกองทัพกัมพูชาจะชี้นิ้วใส่กันทันทีว่าอีกฝ่ายหนึ่งเป็นผู้ลั่นกระสุนก่อน
ซึ่งเป็น“เรื่องยาก”ที่จะพิสูจน์ได้

ในอดีตการปะทะกันระหว่างกองทัพ 2 ประเทศจะจบลงด้วยการเจรจาหยุดยิง และสานสัมพันธ์กันใหม่

แต่ทันทีที่กรณีพิพาทไทย-กัมพูชา ยกระดับเข้าสู่ที่ประชุมคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2554
ปัญหาความขัดแย้งก็“ยกระดับ”ขึ้นทันที
สหประชาชาติโยน“ลูกบอล”แห่งความขัดแย้งใส่มือ“อาเซียน”ซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของอินโดนีเซีย เป็นประธาน

และที่ประชุมคณะรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ณ.กรุงจาการ์ต้า ประเทศอินโดนีเซีย เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ มีมติชัดเจน

“ยินดีต่อการที่กัมพูชาและไทยได้เชิญผู้สังเกตการณ์จากอินโดนีเซียไปยังพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบบริเวณชายแดนกัมพูชา-ไทยในฝั่งของกัมพูชาและของไทยตามลำดับ เพื่อสังเกตการณ์การปฏิบัติตามคำมั่นของทั้ง 2 ฝ่ายที่จะหลีกเลี่ยงการปะทะด้วยอาวุธไม่ให้เกิดขึ้นระหว่างกันอีก”

ถ้าตีความแบบไม่ซับซ้อนก็คือ มี“คนกลาง”มาเฝ้าระวังที่ชายแดน 2 ประเทศ เพื่อเป็น“พยาน”ว่า 2 ฝ่ายจะยุติการปะทะกัน
และหากเกิดปะทะกันจะได้มี “คนกลาง”ตัดสินว่าใครลงมือก่อน


“กัมพูชา”ที่มี“จุดยืน”ชัดเจนว่าต้องการให้องค์กรระหว่างประเทศและ“คนกลาง”เข้ามาจึงเปิดประตูรับทันทีแบบไม่มีเงื่อนไข
พร้อมให้ 15 ผู้สังเกตการณ์ทหารจากอินโดนีเซียเข้าไปได้ทุกจุดแม้ในค่ายทหาร

ในขณะที่ฝั่งไทย มติสภากลาโหมเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ กลับมีมติสวนทางกับกระทรวงการต่างประเทศ

“สถานการณ์ไทย-กัมพูชา ยังไม่ได้อยู่ในภาวะสงคราม เป็นการปะทะกันระดับพื้นที่เท่านั้น ถ้าหากส่งผู้สังเกตการณ์เข้ามาในพื้นที่ซึ่งเป็นคนต่างชาติอาจจะทำให้ความเข้าใจในข้อมูลคลาดเคลื่อน”

และภายใต้เหตุผลเรื่อง“อธิปไตย”ของประเทศ ทางกองทัพจึงมีเงื่อนไขเพิ่มเติมว่าผู้สังเกตการณ์ต้องไม่ใส่ชุดทหาร ไม่พกอาวุธ และเป็นส่วนหนึ่งของสถานเอกอัครราชทูตอินโดนีเซียประจำประเทศไทย

ด้วยท่าที”ที่แตกต่างกัน ฝั่งหนึ่งเปิดกว้างสำหรับคนกลาง” แต่อีกฝั่งหนึ่งมีเงื่อนไขในการเปิดประตู
การเดินเกมของกระทรวงต่างประเทศที่ไม่เป็นเอกภาพภายในทำให้ไทยเพลี่ยงพล้ำเรื่องความเชื่อถือ” ไม่ว่าจะเรื่องคนกลาง” หรือ การถอนบันทึกข้อตกลงเจบีซี 3 ฉบับออกจากสภาฯ

ภาพที่ออกมา“ไทย”ย่อมเป็นฝ่ายเสียเปรียบ

ดังนั้น เมื่อเกิดการสู้รบครั้งใหม่ที่ชายแดนไทย-กัมพูชา
และทั้งสองฝ่ายต่างชี้นิ้วใส่กันว่าอีกฝั่งหนึ่งเป็นฝ่ายเริ่มก่อน

คำถามเรื่อง“ความเชื่อ”จึงเกิดขึ้น

"สหประชาชาติ"และ"อาเซียน"จะเชื่อใคร

...................

ประเทศไทยไม่ได้อยู่เพียงเดียวดายในโลก
แต่ประเทศไทยอยู่ในสังคมโลก

“ความเชื่อ”ว่าปราสาทพระวิหารเป็นของไทย
พื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตรเป็นของไทย
“กัมพูชา”รุกราน“ไทย”ก่อน ฯลฯ

ทั้งหมดอาจเป็นความเชื่อ”ของคนกลุ่มหนึ่งในเมืองไทย

แต่ในสังคมโลกที่ต้องฟังและต้องคำนึงถึง“วิธีคิด”และ“กติกา”ที่เป็นสากล

ประเด็นสำคัญที่สุด ก็คือ ประเทศไทยได้สร้าง“ความน่าเชื่อถือ”มากแค่ไหนในระดับนานาชาติ
โดยเฉพาะเรื่องปัญหาชายแดน“ไทย-กัมพูชา”


ในทางการเมือง มีคนเคยบอกว่า“ความเชื่อ”คือ“ความจริง”
ไม่ว่าจะเป็นการเมืองระหว่างประเทศ หรือ การเมืองในประเทศ
ตอนที่สหรัฐอเมริกาบุกอิรัก และจับ“ซัดดัม ฮุสเซ็น”ประหารชีวิต ประธานาธิบดีบุชสร้าง“ความเชื่อ”ระดับเรื่อง “อิรัก”สร้างระเบิดนิวเคลียร์ขึ้นมา

เมื่อโลกเชื่อ “ความชอบธรรม”ก็เกิด
แม้สุดท้ายจะพิสูจน์แล้วว่า“ระเบิดนิวเคลียร์”เป็นเพียง“นิยาย”ที่สหรัฐอเมริกาสร้างขึ้นมา
“ความเชื่อ”นั้นผิดพลาด
แต่ “ความจริง”ก็คือ “อิรัก”ราบเป็นหน้ากลอง และยังไม่สงบจนถึงทุกวันนี้

การเมืองระหว่างประเทศเรื่อง“ไทย-กัมพูชา”ก็เช่นกัน
ไม่มีใครรู้ว่า“ความจริง”เป็นอย่างไร

ใครยิงใครก่อน

แต่สำคัญที่ว่า“โลก”จะเชื่อใคร

นี่คือ “สัจธรรม”ที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่งสำหรับประเทศไทย


++

ไทยจะอยู่กันอย่างไร
โดย นฤตย์ เสกธีระ max@matichon.co.th คอลัมน์ สถานีคิดเลขที่ 12
ในมติชน ออนไลน์ วันจันทร์ที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2554 เวลา 18:00:00 น.


คำถามทางการเมืองในปัจจุบันทยอยมีคำตอบออกมา

คำถามที่ว่าจะยุบสภาเมื่อไหร่ มีคำยืนยันว่า ไม่เกินสัปดาห์แรกของเดือนพฤษภาคม โดยสุ้มเสียงจากพรรคประชาธิปัตย์บอกว่า 6 พฤษภาคม

เท่ากับว่าพฤษภาคม นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ยุบสภาแน่


ต่อมามีคำถามว่า จะมีการเลือกตั้งจริงหรือ

คำตอบมีว่า การเลือกตั้งมีแน่ เพราะผู้คนในสังคมต้องการให้มีการเลือกตั้ง แม้จะรู้ทั้งรู้ว่าเลือกตั้งไปก็อาจจะมีเรื่อง แต่ก็ยืนยันว่าอยากจะมีเลือกตั้ง

แม้สัปดาห์ที่ผ่านมา ทหารจะแสดงปฏิกิริยาแสดงความจงรักภักดี ประกาศปกป้องสถาบัน จนเกิดความหวาดเสียวเรื่องปฏิวัติ

แต่คนไทยก็ยังยืนยันว่า ปกป้องสถาบันกับการเลือกตั้ง เป็นคนละเรื่องกัน

ปกป้องสถาบันก็ปกป้อง เลือกตั้งก็เลือกตั้ง


พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ.ออกมาย้ำว่า มีการเลือกตั้งแน่ นี่แสดงว่า การเลือกตั้งมีแน่

ต้องมีการเลือกตั้ง เพราะสังคมไทยต้องการ

และแล้วก็มีคำถามตามมาอีก หลังเลือกตั้งผ่านพ้นไปแล้วจะสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้หรือไม่

คำตอบปัญหาข้อนี้จำแนกแยกแยะออกเป็นบทวิเคราะห์มากมาย

มีทั้งคำตอบว่าจัดตั้งได้ มีทั้งคำตอบว่าจัดตั้งไม่ได้

คำตอบที่อยู่ในกลุ่มจัดตั้งได้ ก็แบ่งเป็นทั้งจัดตั้งโดยธรรมชาติ คือ จัดตั้งโดยพรรคที่ได้รับเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร

และจัดตั้งได้โดยถูกกดดัน

จัดตั้งโดยสมมติฐานว่า พรรคการเมืองนั้นรวมกับพรรคการเมืองนี้แล้วสถานการณ์ต่างๆ จะเป็นอย่างไร


ส่วนที่บอกว่าจัดตั้งไม่ได้ก็บอกว่าสถานการณ์จะเลวร้าย เพราะเหตุไม่ยอมรับการเลือกตั้ง จนจัดตั้งรัฐบาลไม่ได้

คำถามเหล่านี้มีคำตอบ ....เพียงแต่เป็นคำตอบเชิงคาดการณ์ ต้องรอดูว่าคำตอบไหนเป็นคำตอบที่ถูกต้อง



แต่สังเกตไหมว่า คำถามและคำตอบดังกล่าว เป็นคำถามและคำตอบที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มการเมืองที่มีความขัดแย้งกัน

ยุบสภาไหม เลือกตั้งไหม ตั้งรัฐบาลได้ไหม เหล่านี้เป็นคำถามในชั้นเชิงการเมืองระหว่างกลุ่มที่คุมอำนาจอยู่กับกลุ่มที่พยายามแย่งอำนาจไป

คำถามที่ใหญ่กว่าและสำคัญกว่า เป็นคำถามว่า แล้วประเทศไทยจะอยู่ต่อไปกันอย่างไรหลังจากศึกแย่งชิงอำนาจผ่านพ้นไปแล้วนั้น

กลับยังไม่มีคำตอบ

คำถามที่ว่า หลังจากเลือกตั้งและมีรัฐบาลขึ้นมาทำหน้าที่บริหารประเทศแล้ว ปัญหาต่างๆ ของประเทศไทยมีแนวทางแก้ไขกันอย่างไร?

คำถามที่ว่า หลังการเลือกตั้งหากมีการปฏิวัติรัฐประหารขึ้น คณะรัฐบาลที่ได้รับการแต่งตั้งจากคณะรัฐประหารจะมีวิธีการแก้ไขปัญหาของประเทศไทยได้อย่างไร?



อย่าลืมนะครับว่า ปัญหาของประเทศไทยมีมากมาย และดูเหมือนว่านับวันปัญหาต่างๆ จะยิ่งหมักหมมยาวนาน

ปัญหาการเมืองเป็นปัญหาที่เรามักคุ้นกันดี และกลายเป็นที่มาของคำถามเฉพาะกลุ่มขัดแย้ง 2 กลุ่ม จนไม่มีเวลาหาคำตอบให้กับปัญหาอื่นๆ ของคนไทย

ปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับกัมพูชา จะแก้ไขกันอย่างไร เพราะขณะที่รัฐบาลพยายามบอกว่า คลี่คลายไปแล้ว แต่ในความเป็นจริง การปะทะกันตามแนวชายแดนยังมีอยู่

ปัญหาปราสาทพระวิหารที่คาราคาซังอยู่ในคณะกรรมการมรดกโลก จะดำเนินการกันเช่นไร กลางปีนี้จะมีการประชุมคณะกรรมการมรดกโลก ปัญหานี้จะนำความรุนแรงให้เกิดขึ้นมากน้อยเพียงใด

ปัญหาเศรษฐกิจจะลงเอยอย่างไร ประชาชนยังจะต้องตกอยู่ในยุคข้าวยากหมากแพงต่อๆ ไปอีกนานแค่ไหน ราคาน้ำมันและราคาเชื้อเพลิงที่มีปัญหา และรัฐบาลผลักดันให้เข้าแทรกแซงกลไกการตลาดอยู่ในขณะนี้ เมื่อถึงรัฐบาลหน้าจะทำอย่างไร

เช่นเดียวกับปัญหาสังคม ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคม ปัญหาการศึกษา ที่เหมือนจะถูกดองไม่มีการแก้ไขมาตั้งแต่ประเทศไทยเกิดความขัดแย้งกัน จนล่าสุดปรากฏข่าวความเสื่อมทรุดทางจริยธรรม ที่จำเป็นต้องเร่งเยียวยา

ปัญหาแบบนี้ยังไม่มีคำตอบ ทั้งๆ ที่คำตอบเหล่านี้คือการวางอนาคตของประเทศ

มีแต่คำตอบของกลุ่มการเมือง ไม่มีคำตอบของประเทศแต่อย่างใด

.

2554-04-24

โลกเปลี่ยน-คนไม่เปลี่ยน และ ประชาธิปไตยแบบ "ผี-ผี" โดย สรกล อดุลยานนท์

.
โลกเปลี่ยน-คนไม่เปลี่ยน
โดย สรกล อดุลยานนท์ คอลัมน์ สถานีคิดเลขที่ 12
ในมติชน ออนไลน์ วันเสาร์ที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2554 เวลา 20:00:00 น.


วันก่อนมีโอกาสได้อ่านเอกสารข้อสรุปและข้อเสนอของคณะกรรมการที่ตรวจสอบ "ข้อเท็จจริง" ในเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม

อ่านแล้วอึ้งครับ

คณะ กรรมการชุดนี้สรุปว่า ความผิดพลาดครั้งนี้เกิดขึ้นมาจาก "นายกรัฐมนตรี" คิดว่าด้วยกำลังกองทัพที่หนุนหลัง และคะแนนเสียงพรรคร่วมรัฐบาลจะสามารถบริหารราชการแผ่นดินไปได้

ทำให้ไม่ฟังเสียงประชาชน

ทางหน่วยข่าวกรองของทหารก็รายงานผิดพลาด โดยแจ้ง "ผู้บังคับบัญชา" ว่ามีผู้เข้าร่วมชุมนุมไม่ถึงหมื่นและเป็น "มวลชนจัดตั้ง"

นอกจากนั้น ยังประเมินผู้ชุมนุมว่า "จะมาทำลายความสงบเรียบร้อย"

และเป็น "ผู้ก่อการร้าย"


ความผิดพลาดต่อมา คือกองกำลังที่เข้าปฏิบัติการ เป็นกำลังพลที่ไม่เคยฝึกปราบปรามการก่อความไม่สงบหรือจลาจล

อาวุธยุทโธปกรณ์ที่ใช้ก็เป็นอาวุธที่ใช้ในสนามรบและ "กระสุนจริง"

ในการสลายการชุมนุม ทหารที่ใช้กำลังก็เพราะเชื่อว่ากำลังปราบปรามผู้ก่อความไม่สงบ และขัดขวาง "บุคคลที่เป็นอันตรายต่อประเทศชาติและราชบัลลังก์"


หลังการสอบสวน คณะกรรมการชุดนี้มีข้อเสนอทั้งระยะสั้นและระยะยาว

เขาเสนอว่าในระยะสั้นควรจะ

1.ปรับย้ายผู้บังคับบัญชาที่ใช้วิจารณญาณผิดพลาดและดึง "กองทัพ" ไปเกี่ยวข้องกับการเมืองตั้งแต่ต้น

2.ปรับย้ายฝ่ายเสนาธิการที่ปฏิบัติการผิดพลาด


ส่วนแนวทางแก้ไขปัญหาในระยะยาว "ควรจะปลูกฝังประชาธิปไตยให้เกิดในหมู่ทหาร-สถาบันการศึกษาของทหารทุกระดับ"

ให้ทุกฝ่ายเข้าใจในสิทธิและหน้าที่ของตนในระบอบประชาธิปไตย

หน่วยทหารและผู้นำหน่วยจะต้องไม่เข้าไปก้าวก่ายหรือเกี่ยวข้องกับการเมืองโดยตรง

จะต้องลบล้างความรู้สึกที่ว่าประเทศไทยจะต้องปกครองโดยทหาร

และทหารจะเป็นองค์กรหลักในการจัดตั้ง "รัฐบาล" หรือจัดตั้ง "วุฒิสภา"

ทั้งหมดนี้คือ "ข้อสรุป" ของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง เกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของฝ่ายเจ้าหน้าที่ทหาร ในเหตุการณ์ที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมของประชาชนระหว่างวันที่ 17-20 พฤษภาคม
พ.ศ.2535 ไม่ใช่ปี 2553


"พล.อ.พิจิตร กุลละวณิชย์" องคมนตรี เป็นประธานคณะกรรมการชุดนี้

ที่บอกว่า "อ่านแล้วอึ้ง" ก็เพราะรู้สึกว่า 18 ปีผ่านไป วิธีคิดของรัฐบาลและกองทัพยังคงเหมือนเดิม
ทั้งการมองว่าเป็นมวลชนจัดตั้งหรือคิดว่าเป็น "ผู้ก่อการร้าย"

ที่สำคัญ ถ้าข้อเสนอระยะยาวเมื่อ 18 ปีที่แล้วเป็นจริง
ไม่ว่าจะเป็นการปลูกฝังประชาธิปไตยในหมู่ทหาร และทำให้นายทหารทุกคนเข้าใจสิทธิและหน้าที่ของตนในระบอบประชาธิปไตย ไม่เข้าไปก้าวก่ายหรือเกี่ยวข้องกับการเมืองโดยตรง

19 กันยายน 2549 พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน คงไม่ทำรัฐประหาร
ธันวาคม 2551 พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา คงไม่ร่วมจัดตั้งรัฐบาลในค่ายทหาร
และเดือนเมษายน 2554 เราคงไม่ได้ยินคำขู่ว่า "อย่าให้ทหารจับปืน"

18 ปีผ่านไป หลายสิ่งหลายอย่างเปลี่ยนแปลงไปมาก

แต่ใครจะไปนึกว่าทันทีที่เกิดเหตุโทรทัศน์จอดำทุกช่อง

คนส่วนใหญ่ตกใจเพราะคิดว่ากองทัพทำรัฐประหาร

คำถามก็คือความคิดของคนไทยไม่ปลี่ยน

หรือใครที่ไม่ยอมเปลี่ยน


++

ประชาธิปไตยแบบ "ผี-ผี"
โดย สรกล อดุลยานนท์ คอลัมน์ สถานีคิดเลขที่ 12
ในมติชน ออนไลน์ วันเสาร์ที่ 09 เมษายน พ.ศ. 2554 เวลา 20:00:00 น.


ตอนนี้การเมืองไทยมี "ผี" อยู่ 2 ตัว ที่กำลังหลอกหลอนคนไทย

"ผี" ตัวแรก คือ ผีรัฐประหาร

ขนาด "อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" นายกรัฐมนตรี ประกาศจะยุบสภาไม่เกินสัปดาห์แรกของเดือนพฤษภาคม
และผลักดัน "กฎหมายลูก" อย่างจริงจัง
แต่คนในแวดวงการเมืองก็ยังถามกันอยู่เลยว่า "จะมีการเลือกตั้ง" หรือไม่

จน "ผู้บัญชาการ" ทุกเหล่าทัพต้องออกมายืนเรียงหน้ากระดานประกาศว่าจะไม่มีการรัฐประหาร และไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง

"ท่านเชื่อเถอะว่าเราจะไม่ล่วงละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน ท่านเลิกเชื่อข่าวลือเถอะ ที่บอกว่าทหารจะปฏิวัติ ไม่มีหรอก ทหารจะ

ไม่เกี่ยวข้องการเมืองใดๆ ทั้งสิ้น"

ทุกประโยคของพล.อ.ทรงกิตติ จักกาบาตร์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด นั้นชัดเจนมาก ไม่ปฏิวัติ และไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง

แต่คนจำนวนไม่น้อยก็ยังไม่เชื่อ


ถามว่าแปลกใจไหม
ตอบได้เลยว่า "ไม่แปลก"

เพราะประวัติศาสตร์ช่วง 5 ปีที่ผ่านมายังสดๆ ร้อนๆ
จำคำสุดฮิตในอดีตได้ไหมครับ
"ลับ-ลวง-พราง"

เป็นคำที่พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน อดีตผู้บัญชาการทหารบก ภาคภูมิใจมาก
"พูดอย่าง-ทำอย่าง" คือหนึ่งในกลยุทธ์ "ลับ-ลวง-พราง" ของ "บิ๊กบัง"

หรือกรณีพล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา อดีตผู้บัญชาการทหารบก ร่วมประชุมกับ "สุเทพ เทือกสุบรรณ" และแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลที่ กรมทหารราบ11 รอ.
เสนอ "เงื่อนไขที่ปฏิเสธไม่ได้" เพื่อให้ย้ายขั้วมาหนุน "ประชาธิปัตย์"

นักการเมืองที่อยู่ในวงสนทนาวันนั้นออกมาเล่าให้นักข่าวฟังเป็นฉากๆ
ล่าสุด "ไพโรจน์ สุวรรณฉวี" ก็เพิ่งพูดถึงเรื่องนี้เมื่อประมาณ 1 เดือนที่ผ่านมา

"ความจริง" ในอดีตที่ "ผู้นำ" รุ่นก่อนทำไว้ทำให้คนไม่เชื่อมั่นคำสัญญาของผู้นำเหล่าทัพในวันนี้

"ผีรัฐประหาร" จึงยังคงหลอกหลอน "คนไทย" ต่อไป



ส่วน "ผี" ตัวที่ 2 คือ ผีคอมมิวนิสต์ ครับ

"หมอผี" ที่ปลุกกระแสนี้มาหลอกหลอกคนไทยคือ "สุเทพ เทือกสุบรรณ"
เขากล่าวหา "คนเสื้อแดง" ว่าใช้แนวคิด "คอมมิวนิสต์"
ทั้งที่วันนี้ลัทธิ "คอมมิวนิสต์" มีแต่หดหายไปจากโลก ประเทศคอมมิวนิสต์อย่าง "จีน" ก็กำลังลอกคราบเข้าสู่ "ทุนนิยม"
แต่ "สุเทพ" ก็ยังปลุกผีคอมมิวนิสต์ขึ้นมา

ไม่แปลกหรอกครับที่ "แทน เทือกสุบรรณ" ลูกชายของ "สุเทพ" จะถามคุณพ่อว่าเป็นรัฐบาลมา 2 ปีกว่า ทำไม "คนเสื้อแดง" จึงไม่ลดลง

เพราะเมื่อวิธีคิดผิด การกระทำก็ผิด


"ผี" 2 ตัวในโลกการเมืองวันนี้ล้วนเกิดขึ้นจาก "ความกลัว" ทั้งสิ้น
ตัวหนึ่ง เกิดขึ้นจาก "ความกลัว" ของคนไทยจาก "ความจริง" ในอดีตที่ทิ้งรอยแผลเป็นไว้
แต่ผีอีกตัวหนึ่ง เกิดจาก "ความกลัว" ของคนที่มีอำนาจ
กลัวจะหลุดจากอำนาจ

ก็เลยทำตัวเป็น "หมอผี" ปลุกผีคอมมิวนิสต์ขึ้นมา

ว่ากันว่า "เหมา เจ๋อ ตุง" ยังบ่นเลย

เอ็งมา ข้ามุด เอ็งหยุด ข้าแหย่ เอ็งแย่ ข้าตาม
...เอ็งอย่าพยายาม ข้าไม่เอาด้วย

.

2554-04-23

ทำไมเร็วจัง และ วันที่ไม่มีของฟรี โดย "แม่ลูกจันทร์" และ ลม เปลี่ยนทิศ

.

ทำไมเร็วจัง
โดย "แม่ลูกจันทร์"
ในไทยรัฐ ออนไลน์ วันศุกร์ที่ 22 เมษายน 2554, 05:00 น.


ถ้านายกฯอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ประกาศยุบสภาฯภายในสัปดาห์แรกของเดือนพฤษภาคม

รัฐบาลจะเหลือวีซ่าอีกเพียง 15 วัน ประชุม ครม.ได้อีก 2 ครั้งเท่านั้นเอง

“แม่ลูกจันทร์” เคยกระชุ่นคอการเมืองให้จับตาช่วงใกล้ยุบสภาฯให้ดีๆเพราะจะมีการฉวยจังหวะชุลมุนอนุมัติทิ้งทวนโครงการใหญ่ๆ แน่นอน!!

ล่าสุดในการประชุม ครม.เมื่อวานซืน ก็มีการอนุมัติทิ้งทวนโครงการมูลค่าสี่แสนห้าหมื่นเจ็ดพันล้านบาท ซื้อเครื่องบินฝูงใหญ่ของบริษัทการบินไทย รวดเดียว 75 ลำ

งานนี้ โสภณ ซารัมย์ รมว.คมนาคม ชงใส่พานเสนอที่ประชุม ครม. และที่ประชุมคณะรัฐมนตรีก็เปิดไฟเขียวให้ลุยถั่วได้ทันที

โอ้แม่เจ้า...นี่คือรายการ “จัดหนัก” ระดับแซ่ดบอมบ์

เพราะเป็นการอนุมัติจัดซื้อเครื่องบินจำนวนมากที่สุด ราคาแพงที่สุด ระเบิดเถิดเทิงที่สุดในประวัติศาสตร์ประเทศไทย

“แม่ลูกจันทร์” เชื่อว่าโครงการจัดซื้อเครื่องบิน 75 ลำ มูลค่าเกือบห้าแสนล้านบาทของการบินไทย จะไม่ผ่านฉลุยเหมือนหยอดจาระบี ถ้าไม่มีการสมานฉันท์ในพรรคร่วมรัฐบาล

สรุปอย่างสั้นๆคือ รัฐบาลเห็นชอบให้การบินไทยจัดซื้อ หรือจัดหาเครื่องบินโดยสารล่วงหน้าระยะยาวถึง 12 ปี

ตั้งแต่ พ.ศ.2554 คร่อมไปถึง พ.ศ. 2565 โน่นเลย

โดยกระทรวงคมนาคมเห็นชอบให้แบ่งการจัดซื้อเครื่องบิน 75 ลำ เป็น 2 ช่วง ช่วงละ 6 ปี

6 ปีแรก อนุมัติจัดซื้อ หรือเช่าซื้อเครื่องบินใหม่จำนวน 37 ลำ คิดเป็นมูลค่า 216,000 ล้านบาทโดยประมาณ

6 ปีหลัง อนุมัติจัดซื้อ หรือเช่าซื้อเครื่องบินใหม่เพิ่มอีก 38 ลำ เป็นเงิน 241,000 ล้านบาทโดยประมาณ

โครงการนี้ กระทรวงคมนาคมได้ส่งให้ สภาพัฒน์พิจารณารายละเอียดตามระเบียบราชการ

และสภาพัฒน์ได้ศึกษารายละเอียดอย่างรอบคอบ และให้ความเห็นชอบแผนจัดซื้อเครื่องบินทั้ง 75 ลำ ก่อนเสนอขออนุมัติจากที่ประชุม ครม.


ถ้าฟังแล้วไม่คิดมากๆ มันก็เป็นโครงการธรรมดาๆ
แต่มันมีความไม่ธรรมดาที่ “แม่ลูกจันทร์” หยิบมาเป็นข้อสังเกต 3 ประการ

ข้อสังเกตประการที่ 1, โครงการจัดซื้อเครื่องบินตามปกติเป็นโครงการ 5 ปี หรือยาวที่สุดก็ไม่เกิน 8 ปี

เหตุไฉน รัฐบาลอภิสิทธิ์รีบร้อนอนุมัติยาวถึง 12 ปี

แถมอนุมัติให้ซื้อเครื่องบินโครมเดียว 75 ลำ

สมมติว่าค่าคอมมิชชั่นจิ๊บๆ 10 เปอร์เซ็นต์

10 เปอร์เซ็นต์ของสี่แสนห้าหมื่นล้านบาท ก็ สี่หมื่นห้าพันล้านบาท นะคุณโยม


ข้อสังเกตประการที่ 2, การบินไทย เพิ่งเสนอแผน 5 ปี ขออนุมัติเช่าเครื่องบิน 37 ลำ ให้กระทรวงคมนาคมพิจารณา เมื่อวันที่ 19 มีนาคม สดๆร้อนๆ นี่เอง

แต่แผนเช่าเครื่องบิน 37 ลำถูก “โสภณ” รมว.คมนาคม เหยียบดิสก์เบรกให้บริษัทการบินไทยกลับไปทบทวน

เป็นไปได้อย่างไร ที่การบินไทยใช้เวลาไม่ถึงเดือนจัดทำแผนรายละเอียดจัดซื้อ หรือเช่าซื้อเครื่องบิน 75 ลำ ระยะเวลา 12 ปี (สนองนโยบายของฝ่ายการเมือง) เสร็จเรียบร้อยรวดเร็วอย่างน่ามหัศจรรย์

เป็นไปได้หรือที่สภาพัฒนาเศรษฐกิจฯ ใช้เวลาศึกษารายละเอียดโครงการจัดซื้อเครื่องบิน 75 ลำ มูลค่าเกือบห้าแสนล้านบาท ให้ความเห็นชอบเรียบร้อยรวดเร็วในเวลาสัปดาห์เดียว


ข้อสังเกตประการที่ 3, ประธานบอร์ดการบินไทย ชื่อ ดร.อำพน กิตติอำพน เลขาธิการคณะรัฐมนตรี ผู้มีหน้าที่บรรจุเรื่องเข้า ครม. ก็ชื่อ ดร.อำพน กิตติอำพน

คนเดียวกันแต่ดันใส่หมวก 2 ใบ

มิน่าล่ะ...โครงการนี้ถึงผ่านความเห็นชอบจาก ครม.รวดเร็วทันใจ สะดวกสบายสะดือบาน

ภาษาเขมรเค้าบอกว่า “เนียงสะระบอง”.



++

วันที่ไม่มีของฟรี
โดย ลม เปลี่ยนทิศ
ในไทยรัฐ ออนไลน์ วันศุกร์ที่ 22 เมษายน 2554, 05:00 น.


นโยบายหาเสียงล่วงหน้าของ นายกฯอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กำลังทำให้ประชาชน นักวิชาการ พ่อค้านักธุรกิจ มึนงงไปตามๆกัน ไม่รู้ไปร่ำเรียนมาจากสำนักไหน แต่ไม่ใช่วิธีการที่ถูกต้องแน่นอน สุดท้ายแล้วประเทศไทยและคนไทยทุกคนก็ต้องจ่ายอยู่ดี

เรื่องการอุ้มน้ำมันดีเซลเพื่อไปตายเอาดาบหน้า ยังไม่รู้ว่าจะตายแบบไหน คนบ่นกันไม่ทันข้ามวัน

วันวาน นายดิเรก ลาวัณย์ศิริ ประธานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (เรกกูเลเตอร์) ก็ออกมาเปิดเผยว่า นโยบายประชานิยม ของ นายกฯอภิสิทธิ์ เรื่อง “ไฟฟ้าฟรี” จะเสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ วันที่ 27 เมษายนนี้ ผู้ประกอบการทุกราย ไม่ว่า เล็ก กลาง ใหญ่ และหน่วยราชการจะต้อง“รับภาระจ่ายค่าไฟฟ้าฟรี” เพื่อสนองนโยบายหาเสียงของ นายกฯอภิสิทธิ์ และ พรรคประชาธิปัตย์

คาดว่าจะต้องเริ่มจ่ายตั้งแต่เดือน มิถุนายน นี้เป็นต้นไป

นาย ดิเรกบอกว่า ผู้ที่ซื้อไฟฟ้าตรงจากการไฟฟ้าจะต้อง เป็นผู้ร่วมจ่ายค่าไฟให้กับผู้ใช้ไฟฟรีไม่เกิน 90 หน่วยต่อเดือน ซึ่งมีอยู่ทั้งหมด 7.9 ล้านครัวเรือน คิดเป็นเงิน เดือนละ 1,000 ล้านบาท ปีละ 12,000 ล้านบาท ทำให้ผู้ประกอบการทุกรายจะต้องจ่ายค่าไฟฟ้าเพิ่ม หน่วยละ 10 สตางค์ เบื้องต้นจะนำเงินจากการไฟฟ้า 3 แห่งจ่ายไปก่อน

ฟังคำอธิบายแล้วพูดได้คำเดียวว่านี่คือการ “ปล้น” ชัดๆ


นักการเมืองไปหาเสียงไว้กับประชาชน เพื่อสร้างคะแนนนิยมให้ตัวเอง แต่กลับมาออกกฎ บังคับให้ผู้ประกอบการทั้งประเทศจ่ายเงินก้อนนี้แทน ไม่เพี้ยนก็เมายาบ้า มันยุติธรรมหรือไม่ เอาหัวอะไรก็ได้ตรองดูเถิด แค่เอาเงินภาษีคนทั้งประเทศไปจ่ายชดเชยน้ำมันดีเซลหาเสียง มันก็แย่พออยู่แล้ว นี่จะมาปล้นเงินในกระเป๋าเอกชนไปหาเสียงให้ตัวเองอีก

คงเห็นผู้ประกอบการไทยกินหญ้ากินแกลบมั้ง

ทำไมจึงไม่เอา กำไรการไฟฟ้า 3 แห่งปีละหลายหมื่นล้าน ไปจ่ายแทน


หากวันที่ 27 เมษายน นายกฯอภิสิทธิ์ ประธานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ อนุมัติเรื่องนี้ออกมา ผมไม่แน่ใจว่าผู้ประกอบการทั้งประเทศจะมีใครเลือกคุณ อภิสิทธิ์และพรรคประชาธิปัตย์ กลับมาเป็นรัฐบาลอีก

การบริหารประเทศต้องตั้งอยู่พื้นฐานความถูกต้องและความยุติธรรม ไม่ใช่นึกเอาแต่ประโยชน์ส่วนตัวเป็นที่ตั้ง

อย่างการลดภาษีอุ้มน้ำมันดีเซล คุณกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีคลัง บอกว่า ทำให้รัฐเสียรายได้เดือนละ 8,496 ล้านบาท ถ้าอุ้มไปถึงเดือนกันยายน จะเสียรายได้ 44,380 ล้านบาท ถ้าอุ้มไป 1 ปี จะเสียรายได้ 101,952 ล้านบาท ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อรายได้ปี 2555 ถ้าพรรคประชาธิปัตย์ได้รับเลือกกลับมาเป็นรัฐบาล ก็จะต้องปรับลดงบประมาณรายจ่ายลง

การลดงบประมาณรายจ่าย ก็คือ ลดงบลงทุนนั่นเอง ถนนหนทาง สะพาน สาธารณูปโภคต่างๆก็จะสร้างเพิ่มไม่ได้ รัฐบาลไม่มีเงิน ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและความเจริญของประเทศ กระทบต่อคุณภาพชีวิตคนไทย 65 ล้านคน

ทำไมคนไทย 65 ล้านคน ประเทศไทยทั้งประเทศ จะต้องจ่ายเงินหลายแสนล้านบาท เพื่อคะแนนนิยม ของคนชื่อ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เพียงคนเดียว



ในโลกนี้ไม่ มีอะไรฟรี เมื่อคนหนึ่งได้อีกคนก็ต้องจ่าย นี่คือ สัจธรรม ลองคิดดู หากวันใดไม่มีของฟรี น้ำมันดีเซลต้องจ่ายตามราคาจริง

รถเมล์ รถไฟ ไฟฟ้า ต้องจ่ายตามจริง คนไทยและคนจนจะทำอย่างไร มันคือระเบิดเวลามหาประลัย ที่จะทำให้สังคมไทยเดือดร้อนไปทุกหย่อมหญ้าในอนาคต

ผมเห็นด้วยกับการช่วยคนจน เพื่อให้เขาหายจน ให้เขามีคุณภาพชีวิตที่ดี แต่ผมไม่เห็นด้วยกับวิธีมอมเมาคนจนด้วยของฟรีแต่ไม่ฟรีจริง เราควรสอนให้คนจนมีวินัยชีวิต รู้จักดิ้นรนทำมาหากิน ประเทศชาติถึงจะเจริญครับ.



.

2554-04-22

อนุรักษ์วัฒนธรรมให้ไม่เหมือนเดิม โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์

.
อนุรักษ์วัฒนธรรมให้ไม่เหมือนเดิม
โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์
ในมติชนสุดสัปดาห์ ออนไลน์ ฉบับวันศุกร์ที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1601 หน้า 28


เมื่อตอนผมมาอยู่เชียงใหม่แรกๆ ในช่วงสงกรานต์หรือปีใหม่เมืองนั้น เขาเล่นน้ำกันเกิน 10 วัน ยิ่งหากออกไปนอกเมืองไกลๆ ก็อาจได้เห็นเด็กเอาน้ำมาสาดคนขี่มอเตอร์ไซค์ตั้งแต่เริ่มเดือนเมษายนเลยทีเดียว จนหลังสงกรานต์ไปอีกเป็นอาทิตย์ "น้อย" เหล่านั้นก็ยังคงสาดน้ำอยู่ข้างถนนกันเหมือนเดิม

ผมไม่ทราบหรอกว่า ก่อนหน้านั้นขึ้นไปเขาเล่นสาดน้ำในช่วงสงกรานต์กันอย่างไร ดูตำราประเพณีทางเหนือ ก็ว่าเขาไม่ได้สาดน้ำกันมากมายอย่างนี้ เล่นกันเฉพาะวันเนาเมื่อพากันขนทรายขึ้นวัดแล้ว หนุ่มสาว (และคงเด็กๆ ด้วย) ก็เล่นสาดน้ำกันก่อนกลับบ้าน

เล่นสาดน้ำนะครับ ไม่ใช่รดน้ำดำหัวซึ่งเป็นประเพณีอีกอย่างหนึ่ง คือแสดงความเคารพต่อผู้ใหญ่โดยเฉพาะคนเฒ่าคนแก่ในเครือญาติ นั่นเขาอาจทำไปได้หลายวันในช่วงปีใหม่

ในช่วงที่ผมเริ่มมาอยู่เชียงใหม่ เดือนเมษายนเป็นเดือนที่ว่างจริงๆ สำหรับคนส่วนใหญ่ ข้าวนาปีก็ได้เก็บเกี่ยวไปหลายเดือนก่อนหน้านั้นแล้ว อย่างไรก็ตาม ก่อนที่การทำนาปีละเกินหนึ่งครั้งจะเข้ามา คนเหนือไม่ปล่อยที่นาให้ว่างเปล่า เพราะถือครองที่ดินต่อครอบครัวค่อนข้างต่ำ จึงมักใช้ที่นา ปลูก "พืชเงินสด" อย่างอื่น เช่น ถั่ว หรือยาสูบ แต่นั่นก็ได้เก็บเกี่ยวไปแล้ว และมักจะขายสู่ตลาดแล้วด้วย

ส่วนงัวควายก็ไม่สู้จะเป็นภาระมากนัก ในตอนนั้นในหลายพื้นที่ของทางเหนือ ยังมีธรรมเนียมการปล่อยควายเข้า (ชาย) ป่าไปหากินเองหลังหน้านา เป็นโอกาสให้ควายได้ผสมพันธุ์ข้ามเหล่ากอ เท่ากับรักษาคุณภาพของควายไปด้วย ส่วนถนนหนทางก็ไม่สู้จะสะดวกนัก จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะมีสิบล้อแอบมาขนควายทั้งฝูงไปทำลูกชิ้น อย่างที่พบมากในอีสานสมัยหลัง

ฉะนั้น เด็กๆ จึงมีความสุขเหลือเกินที่ได้อะไรที่สนุกอย่างสาดน้ำคนแปลกหน้ามาทำในระหว่างขึ้นปีใหม่


แต่เมื่อนำประเพณีนี้มาใช้ในเขตเมืองด้วย คนในเมืองคงไม่น่าจะสนุกนัก เพราะราชการห้างร้านก็ยังทำงานอยู่ แต่เดินทางด้วยความลำบากลำบน รถสี่ล้อแดงนั้นเป็นเหยื่อที่สนุกที่สุด เพราะสาดน้ำโครมเดียว หากได้จังหวะเหมาะๆ คนทั้งรถก็มะล่อกมะแล่กหน้าเหลอไปหมด อายแชโดว์ของน้องคนนั้นไหลเปรอะแก้ม ผมโป่งๆ ของคุณป้าคนนั้นแฟบลงทันตาเห็น

การสวมเสื้อฝนเดินทางด้วยมอ"ไซค์หรือรถสี่ล้อในช่วงร้อนแล้งอย่างเมษายนในตัวเมืองเชียงใหม่ จึงเป็นเรื่องธรรมดา

ในตอนนั้น ส่วนใหญ่ของรายได้ครัวเรือนในชนบทของเชียงใหม่ยังมาจากภาคเกษตร แม้ว่าสัดส่วนของรายได้จากนอกภาคเกษตรกำลังเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วก็ตาม จึงไม่แปลกที่คนจะว่างและไม่ว่างพร้อมกัน ยกเว้นก็แต่คนในเมืองเท่านั้น รวมทั้งนักท่องเที่ยว (อันเป็นคนว่างอยู่ชั่วนาตาปี) ซึ่งขึ้นมาเล่นสงกรานต์เชียงใหม่ก็ยังไม่สู้มากนัก


หลังจากปีแรกๆ ในเชียงใหม่แล้ว งานวิจัยด้านเศรษฐกิจครัวเรือนของเชียงใหม่และภาคเหนือ ซึ่งทำกันมาเป็นระยะ ล้วนชี้ให้เห็นว่าสัดส่วนของรายได้ครัวเรือนที่มาจากนอกภาคเกษตรมีแต่เพิ่มสูงขึ้น ในระยะแรกสัดส่วนของแรงงานรับจ้างในภาคเกษตรเองก็ยังสูงอยู่

แต่ต่อมาก็เริ่มลดลงกลายเป็นงานรับจ้างหรืออื่นๆ นอกภาคเกษตรเด็ดขาดไปเลย จนในที่สุดก็เหมือนปัจจุบัน คือส่วนใหญ่ (70-80%) ของรายได้ครัวเรือน ล้วนมาจากนอกภาคเกษตรทั้งสิ้น

มันแปลว่าอะไร? ก็แปลว่าคนส่วนใหญ่แม้ในชนบทเองก็เข้ามาอยู่ใน "ตลาด" เต็มตัว คือกลายเป็น "ลูกจ้าง" ประเภทต่างๆ หรือมิฉะนั้น ก็ผลิตป้อนตลาดโดยตรง และขายสินค้าและบริการในตลาด

ดังนั้น วันว่างจึงเริ่มตรงกัน ซ้ำมีน้อยลงเสียด้วย เช่น รับจ้างเสริมสวยในหมู่บ้าน ช่วงใกล้ปีใหม่ยิ่งมีลูกค้ามากขึ้น จึงไม่ยอมปิดร้านเป็นธรรมดา เขาเล่นน้ำกันเปียกผม ก็มีลูกค้าอยากจะสระเซ็ตผมอีกมาก ฉะนั้น บางครั้งแม้วันสงกรานต์เอง ก็ยังขายบริการอยู่



พูดง่ายๆ ก็คือ ชีวิตในเมืองกับในหมู่บ้านไม่ค่อยจะแตกต่างกันเท่าไรนัก จำนวนวันของการเล่นสาดน้ำจึงเริ่มลดลง เข้ามาอยู่ในช่วงวันหยุดเป็นหลัก จะก่อนจะเกินไปบ้างก็ไม่มากนัก จนกระทั่ง...

เมืองเชียงใหม่กลายเป็นศูนย์กลางของการเล่นสาดน้ำสงกรานต์ของประเทศ นักท่องเที่ยวทั้งจากต่างประเทศและคนไทย ไม่เฉพาะแต่จากกรุงเทพฯ เท่านั้น แต่ทั่วประเทศเลย พากันเดินทางมาเล่นน้ำที่เชียงใหม่ จำนวนมากขับปิ๊กอัพพร้อมตุ่มไว้ใส่น้ำมาจากบ้านเลย

ไหนจะชาวเชียงใหม่ที่อยู่รอบนอกเอง ก็ยังพากันเข้ามาเล่นน้ำในเวียงอีกมาก

คลาคล่ำไปด้วยฝูงชนไปทั้งเมือง โดยเฉพาะตามถนนที่ติดคูเมืองซึ่งทางจังหวัดก็จะไขน้ำมาขังไว้เต็มเปี่ยมเพื่อการนี้โดยเฉพาะ

คราวนี้ผู้กำหนดวันเล่นน้ำก็ไม่ใช่ชาวเชียงใหม่อีกแล้ว แต่คือนักท่องเที่ยวซึ่งจะเริ่มเล่นกันตั้งแต่วันแรกของเทศกาลหยุดงาน ในปีนี้คือวันที่ 13 เมษายน แต่หากปีใดวันที่ 13 เป็นวันจันทร์ ก็อาจเริ่มสาดน้ำกันตั้งแต่วันเสาร์ที่ 11

สงครามน้ำจะทำกันไปทุกวันตั้งแต่พระอาทิตย์ขึ้นจนถึงตก และจนถึงวันสุดท้ายที่นักท่องเที่ยวกลับบ้าน วันรุ่งขึ้น ทุกอย่างก็กลับมาสงบเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น

ผู้จัดการเล่นสาดน้ำวันสงกรานต์ในเชียงใหม่ ไม่ใช่ชาวเชียงใหม่อีกต่อไป แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าคนเชียงใหม่ไม่ได้มาร่วมเล่นด้วยนะครับ ชาวเชียงใหม่ทั้งที่อยู่ในเมืองและมาจากรอบนอกต่างร่วมเล่นสาดน้ำกับนักท่องเที่ยวอย่างคึกคัก แต่ผู้กำหนดจังหวะเวลาของการเล่นคือนักท่องเที่ยว โดยมีราชการและทุนร่วมมืออย่างเต็มที่

วันเล่นสาดน้ำในเชียงใหม่ โดยเฉพาะในเวียงจึงตรงกับวันหยุดตามที่นักท่องเที่ยวกำหนดไว้



อํานาจของนักท่องเที่ยวนั้นไม่ได้มาจากเงินอย่างเดียว ที่สำคัญกว่าก็คือความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ-สังคมของเชียงใหม่เอง ซึ่งทำให้ชีวิตของนักท่องเที่ยวและชาวเชียงใหม่ไม่ได้แตกต่างอะไรกันนัก

ชาวเชียงใหม่จากรอบนอกบนหลังรถปิ๊กอัพ พร้อมตุ่มน้ำและเหล้า กับชาวกรุงเทพฯ บนหลังรถปิ๊กอัพพร้อมตุ่มน้ำและเหล้าคือคนพวกเดียวกัน จำนวนมากของคนเชียงใหม่เหล่านั้นต้องรีบจับรถทัวร์รถไฟกลับกรุงเทพฯ พร้อมกันกับนักท่องเที่ยว เพื่อให้ทันเข้างานเหมือนกัน เพียงแต่เขาได้กลับไปนอนบ้านที่แม่ริม ในขณะที่นักท่องเที่ยวต้องนอนโรงแรมในเวียงเท่านั้น

วัฒนธรรมประเพณีที่ปฏิบัติกัน และเฝ้าแปรเปลี่ยนไปเรื่อยๆ นั้นไม่ได้เกิดลอยๆ แต่เกิดขึ้นท่ามกลางบริบททางเศรษฐกิจ-สังคมหนึ่งๆ เสมอ

ผมเชื่อว่าบริบททางเศรษฐกิจ-สังคมนี้อธิบายความเปลี่ยนแปลงที่เกิดกับประเพณีพิธีกรรมต่างๆ ได้หมด นับตั้งแต่งานบุญบั้งไฟซึ่งกลายเป็นเวทีพนันครั้งใหญ่ ไปจนถึงงานบุญเดือนสิบในภาคใต้

ความพยายามจะอนุรักษ์ทุกอย่างให้เหมือนเดิม (เหมือนจริงหรือไม่ และเดิมแค่ไหนไม่ทราบได้) เป็นเพียงการรักษารูปแบบที่ไร้ความหมายในชีวิตคนปัจจุบัน

ผมคิดว่าการอนุรักษ์ที่แท้จริงไม่ใช่การอนุรักษ์รูปแบบ (ซึ่งทำได้ง่ายกว่า ด้วยพิพิธภัณฑ์ หรือภาพยนตร์สารคดี) แต่คือการเข้าถึงจุดมุ่งหมายหรือจะเรียกให้โก้กว่านั้นว่า "จิตวิญญาณ" ของตัวประเพณี เพราะจะทำให้เราสามารถปรับเปลี่ยนให้มีความหมายแก่ชีวิตคนปัจจุบันได้

รูปแบบเปลี่ยนไป แต่จิตวิญญาณยังไม่ไกลจากกันนัก



ผมขอยกตัวอย่างจากงานบุญเดือนสิบของภาคใต้ อันที่จริง ประเพณีนี้ประกอบด้วยความเชื่อทางศาสนาที่ซ้อนกันอยู่สองความเชื่อ หนึ่งคือความเชื่อในศาสนาผี และสองคือความเชื่อในศาสนาพุทธ

ด้านหนึ่งของบุญเดือนสิบคือพิธีสารท สังเวยบูชาผี (ทั้งบรรพบุรุษและไม่ใช่) ด้วยอาหารที่ทำจากพืชพันธุ์ธัญญาหารของชุมชนเกษตรเลี้ยงตนเอง (กระยาบวช-แสดงว่าเป็นผีดี) คนใต้ผนวกพิธีนี้ไว้ในประเพณีที่ทำกับพระบรมธาตุเมืองนคร เรียกว่า "ชิงเปรต" แต่มักทำกันนอกเขตศักดิ์สิทธิ์ของพุทธศาสนา ด้วยการวางขนมนมเนยซึ่งทำขึ้นไว้ให้ผีได้กิน แต่ในความเป็นจริงเด็กๆ จะแย่งชิงกันกินแทนผี เป็นที่สนุกสนาน

จิตวิญญาณของประเพณีนี้คือความเชื่อมโยงกันของสรรพชีวิต ก่อให้เกิดการเกื้อกูลกัน เคารพชีวิตของกันและกัน ดังนั้น จึงขยายจิตวิญญาณนี้ให้มาเชื่อมโยงกับชีวิตสมัยใหม่ได้มาก เช่น ถึงยังจะทำขนมกงขนมลาวางให้เด็กแย่งกันต่อไปก็ไม่เป็นไร แต่ก็มีส่วนสำคัญของพิธีกรรมอีกอย่างหนึ่ง คือเป็นโอกาสของเศรษฐีและบริษัทห้างร้านใจบุญทั้งหลาย ซึ่งบริจาคเงินบำรุงโรงพยาบาล, เป็นทุนการศึกษาของเด็กยากจน, สร้างห้องสมุด, หรือสาธารณประโยชน์ต่างๆ ได้มามอบเงินหรือสิ่งของอย่างเป็นทางการ

จะชวนนักเรียนมอบสิ่งของหรือทำอะไรเพื่อช่วยนักเรียนในโรงเรียนขาดแคลนด้วยก็ได้ เพราะเป็นการสอนให้เด็กรู้จักการให้และความเคารพต่อชีวิตคนอื่นผ่านพิธีกรรม

การทำประโยชน์เกื้อกูลสิ่งแวดล้อม ก็เป็นการสังเวยบูชาผีสมัยใหม่ ซึ่งสามารถผนวกเข้ามาในพิธี "ชิงเปรต" ได้

ในด้านความเชื่อฝ่ายพุทธ ประกอบด้วยพิธีกรรม "ยกผ้าขึ้นธาตุ" คือแห่ผ้าประดับองค์ระฆังไปรอบพระบรมธาตุเมืองนคร แล้วเปลี่ยนผ้าผืนเก่าเอาผืนใหม่ขึ้นประดับแทน จิตวิญญาณของพิธีนี้คือ การทำบุญใหญ่ร่วมกัน ปลุกสำนึกความเป็น "ชุมชน" เดียวกันของผู้คน

แต่คนสมัยใหม่มาร่วมทำบุญแล้วก็กลับบ้าน ไม่ได้อยู่ร่วมฉลองกันทั้งวันเหมือนคนสมัยก่อน จึงควรขยาย "งานบุญ" นี้ไปให้กว้างกว่าวัดพระบรมธาตุ เช่น ร่วมกันทำประโยชน์แก่สาธารณสถานอื่นๆ ด้วย แม้สาธารณสถานเหล่านั้นไม่ศักดิ์สิทธิ์เท่าพระบรมธาตุ แต่ผูกพันอยู่กับชีวิตคนไม่น้อยไปกว่ากัน เช่นโรงพยาบาล, โรงเรียน, ถนนหนทาง, ฯลฯ การช่วยกันออกแรงบูรณะปรับปรุงสถานที่เหล่านั้น ล้วนเป็นการทำอะไรเพื่อคนอื่นที่ไม่ใช่ตัวเองคนเดียวทั้งนั้น จึงล้วน "ได้บุญ" ไม่น้อยไปกว่ากัน

ปัจจุบัน มีบางโรงเรียนสอนเด็กให้ "สวดด้าน" เพื่อมานั่งสวดคัมภีร์ตามด้านต่างๆ ของพระบรมธาตุ ให้ตรงกับประเพณีโบราณ "สวดด้าน" คือ "สวดโอ้เอ้วิหารราย" ของพิธีหลวงในภาคกลาง ซึ่งนิยมสวดมหาชาติคำหลวง

จะอนุรักษ์ประเพณีด้วยการรื้อฟื้นของเก่าให้เหมือนเปี๊ยบอย่างนี้ก็ดีครับ แต่ไม่พอ เพราะคนทำบุญแล้วก็กลับบ้านหมดดังที่กล่าวแล้ว

ในขณะที่การสวดสมัยเก่ามีคนฟัง แถมฟังด้วยความซาบซึ้งด้วย เพราะมหาชาตินั้นเป็นสุดยอดของปรัชญาศาสนาสำหรับคนโบราณทีเดียว ฉะนั้น นอกจากสวดด้านแล้ว ก็น่าจะมีการแสดงธรรมที่ดึงคนปัจจุบันได้ดี เช่นปาฐกถาของพระตลก, ท่าน ว., หรือเสวนาธรรมที่มีคนอธิบายธรรมะเก่งๆ ทั้งพระและฆราวาส ก็ได้

จะมีการสอนโยคะ หรือสอนการทำสมาธิด้วยก็ยังได้

สรุปก็คือ จับ "จิตวิญญาณ" ของประเพณีพิธีกรรมให้ได้ แล้วปรับเปลี่ยนให้เหมาะกับเศรษฐกิจ-สังคมปัจจุบัน คือการอนุรักษ์

วัฒนธรรมอย่างหนึ่งที่สำคัญมาก แต่มักไม่ค่อยทำกันในเมืองไทย

.

2554-04-21

เลือกตั้ง-ทางเลือกเดียว โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์

.
เลือกตั้ง-ทางเลือกเดียว
โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์
ในมติชน ออนไลน์ ฉบับวันจันทร์ที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2554 เวลา 21:15:00 น.


การเลือกตั้งไม่ได้เลวร้ายอย่างที่คิด ไม่มีกระบวนการเข้าสู่ตำแหน่งอะไรที่ดีไปกว่าการเลือกตั้ง เพียงแต่ว่าการเลือกตั้งอย่างเดียวไม่พอ... ไม่พอที่จะทำให้สังคมใดเป็นประชาธิปไตย, ไม่พอที่จะแก้ปัญหา โดยเฉพาะปัญหาซึ่งจะมีผลในระยะยาว รวมทั้งปัญหาเชิงโครงสร้าง, ไม่พอที่จะให้ความชอบธรรมแก่อำนาจได้ตลอดไป

ปฏิเสธไม่ได้ว่า การซื้อเสียงเป็นส่วนหนึ่งของการเลือกตั้งของไทยมาหลายทศวรรษแล้ว (ว่ากันว่าเกิดหรือระบาดอย่างหนักมาแต่ต้นทศวรรษ 2520) แต่อย่าเข้าใจผิดว่า การซื้อเสียงหรือจำนวนเงินที่ซื้อเสียงเป็นปัจจัยชี้ขาดว่าใครจะได้รับเลือกตั้ง

มีงานวิจัยที่ทำโดยบุคคลต่างๆ และองค์กรต่างๆ มาหลายครั้ง และในทุกภาคของประเทศไทย ต่างพบตรงกันว่าปัจจัยสำคัญในส่วนแรกๆ ที่ชาวบ้านใช้ในการตัดสินใจเลือกผู้สมัคร จะวนเวียนกันอยู่ในปัจจัยดังต่อไปนี้คือ ความสัมพันธ์ส่วนตัวหรือการเข้าถึงได้, พรรคที่ผู้สมัครสังกัด, ความสามารถในการบริหาร, ประสบการณ์ของผู้สมัคร และเงินที่ได้รับแจก ปัจจัยใดจะมาเป็นอันดับหนึ่งอาจแปรเปลี่ยนไปได้เรื่อยๆ แต่ปัจจัยเงิน ไม่เคยมีความสำคัญขึ้นมาเป็นลำดับที่หนึ่งหรือสองเลย

แน่นอนว่า เงินเป็นปัจจัยหนึ่งที่มีความสำคัญ แต่เงินได้กลายเป็นสัญลักษณ์ว่าผู้สมัคร (หรือที่จริงเครือข่ายหาเสียงของผู้สมัคร) ให้ความสำคัญแก่ชาวบ้านหรือไม่ (ชาวบ้านใช้คำว่ามีน้ำใจต่อกันหรือไม่) สัญลักษณ์นี้ไม่ได้ขึ้นอยู่กับจำนวนเงิน ผู้สมัครที่สัญญาจะให้มากกว่ากลับแพ้เลือกตั้งเกิดขึ้นอยู่เสมอ แต่ขึ้นอยู่กับว่าชาวบ้านพอใจกับปัจจัยประการอื่นๆ ที่จะตัดสินใจเลือกผู้สมัครหรือไม่ แจกเงินหรือรับเงินเป็นขั้นตอนสุดท้ายที่ตัดสินใจไปแล้ว เพื่อแสดงน้ำใจเท่านั้น

ฉะนั้นการพูดว่า ส.ส.บ้านนอกล้วนแต่ซื้อเสียงมาทั้งนั้น จึงเป็นการนำข้อเท็จจริงที่ไร้บริบทมากล่าว ด้วยความเขลาหรืออคติก็ตาม

แต่ทำให้เกิดข้อสรุปที่ไร้เหตุผลของคนชั้นกลางทั่วไปว่าด้วยเหตุดังนั้น ส.ส.เหล่านั้นจึงไม่ใช่ "ผู้แทนราษฎร" จริง ความเห็นของเขาไม่ต้องฟัง และไม่ต้องมี ส.ส.เช่นนั้น เราก็เป็นประชาธิปไตยได้ เพราะแทนที่จะมีการเลือกตั้ง เรามอบหมายให้คนที่น่าไว้วางใจ เช่น ตุลาการ, คณะกรรมการที่ตั้งขึ้นพิเศษ ฯลฯ แต่งตั้งบุคคลขึ้นเป็น ส.ส.ก็ได้

ความเข้าใจผิดหรือความเข้าใจอย่างฉาบฉวยเกี่ยวกับการเลือกตั้ง (โดยเฉพาะนอกเขตเมืองใหญ่) ทำให้คนชั้นกลางไทยจำนวนมาก โน้มเอียงไปสู่ความเชื่อมั่นในการแต่งตั้งมากกว่าการเลือกตั้ง

นี่เป็นทั้งโมหาคติและโลภาคติ

โมหาคติก็เพราะรู้ไม่จริงดังที่กล่าวแล้ว

โลภาคติก็เพราะรู้อยู่แล้วว่า บุคคลที่ได้รับ "แต่งตั้ง" คือคนที่มีผลประโยชน์, โลกทรรศน์ และฉันทาคติทางการเมืองอย่างเดียวกับตัว

ดังนั้น หากสภาเต็มไปด้วย ส.ส.แต่งตั้ง ก็จะมี "ผู้แทน" ฝ่ายตัวอยู่หนาแน่นในสภา ย่อมปกป้องผลประโยชน์และจุดยืนของตนได้ดีกว่าสภาที่มาจากการเลือกตั้ง


ความไม่พร้อมจะอยู่อย่างประนีประนอมผลประโยชน์และโลกทรรศน์อันหลากหลายของสังคม-เขาได้บ้าง แต่เราไม่เสียเกินไป หรือเราได้บ้าง แต่เขาไม่เสียเกินไป-ทำให้คนชั้นกลางระดับกลางและสูงของไทยในปัจจุบัน เป็นศัตรูตัวฉกาจของระบอบประชาธิปไตย

บัดนี้ การชิงอำนาจระหว่างชนชั้นนำด้วยกันเอง ได้อาศัยโมหาคติและโลภาคติของคนชั้นกลางนี้ปลุกปั่นให้ "ปิดเทอม" ทางการเมือง ด้วยข้ออ้างว่าการเลือกตั้งจะไม่แก้ปัญหาอะไร ในขณะเดียวกันก็ไม่ต้องพิสูจน์ว่าการ "ปิดเทอม" และการแต่งตั้งจะแก้ปัญหาอะไรได้

เป็นการพูดเอาแต่ฝ่ายเดียว เพราะรู้อยู่แล้วว่าโมหาคติและโลภาคติของคนชั้นกลางระดับกลางและสูงจะไม่ทำให้ผู้ฟังตั้งคำถามในเชิงกลับกันดังกล่าว

คิดกันโดยปราศจากโมหาคติและโลภาคติ การเลือกตั้งก็ตาม การแต่งตั้งก็ตาม ย่อมไม่แก้ปัญหาอะไรทั้งนั้น เพราะการเลือกตั้งหรือการแต่งตั้งเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการตัดสินใจ ไม่ใช่ส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหา ผู้ที่ได้รับเลือกตั้งหรือผู้ที่ได้รับการแต่งตั้ง มีโอกาสจะเข้าใจปัญหาผิดหรือถูกได้เท่าๆ กัน, ตัดสินใจเลือกทางแก้ผิดหรือถูกได้เท่าๆ กัน, ถูกครอบงำด้วยผลประโยชน์ส่วนตัวได้เท่าๆ กัน

จะเลือกตั้งดี หรือจะแต่งตั้งดี จึงไม่ใช่การแก้ปัญหาทั้งคู่ แต่เป็นการเลือกว่าจะใช้กระบวนการอะไรในการตัดสินใจแก้ปัญหา

ฉะนั้นถ้าจะเปรียบเทียบวิธีการทั้งสอง ก็ต้องเปรียบเทียบกระบวนการตัดสินใจภายใต้วิธีการทั้งสอง ไม่ใช่ไปสรุปเอาเองว่าการเลือกตั้งจะแก้ปัญหาด้วยแนวทางนี้ และการแต่งตั้งจะแก้ปัญหาด้วยวิธีการนี้ (น่าสังเกตด้วยว่า ม็อบที่เสนอให้ "ปิดเทอม" ไม่เคยบอกว่า การแต่งตั้งจะแก้ปัญหาอย่างไร แม้แต่ระบุว่าอะไรคือปัญหาก็ยังไม่ชัดด้วยซ้ำ มีแต่การปลุกระดมให้วางใจและศรัทธาต่อบุคคลอย่างมืดบอดเท่านั้น)



สิ่งที่ต่างกันอย่างสำคัญในวิธีการทั้งสองคือ กระบวนการตัดสินใจว่าใช้แนวทางอะไรในแก้ปัญหาต่างหาก

การเลือกตั้งนำมาซึ่งเวทีเปิด ไม่เฉพาะแต่ผ่านหีบบัตรเลือกตั้งเท่านั้น แต่รวมถึงการเคลื่อนไหวในภาคสังคมต่างๆ นับตั้งแต่การผลักดัน, ควบคุม, กรั่นกรอง ผ่านสื่อที่ต้องเป็นอิสระเสรีจริง, ผ่านการให้สัมภาษณ์ของบุคคล, ผ่านรายการสนทนาทางทีวีหรือสื่ออื่น, ผ่านการรวมกลุ่มเพื่อส่งความเห็นของกลุ่มแก่สังคมในวงกว้าง, ผ่านการประชุมทั้งในเชิงวิชาการและเชิงการเมือง และแน่นอนผ่านการชุมนุมด้วย เป็นเวทีเปิดที่คนทุกกลุ่ม ตั้งแต่นายทุนขนาดใหญ่, ผู้ประกอบการรายย่อย, ไปจนถึงชาวบ้านธรรมดา และคนชั้นกลางระดับกลางและสูงทั่วไป

พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ สังคมทั้งหมดสามารถเข้ามาร่วมกันแสดงความคิดเห็นอย่างเปิดเผย, ขัดแย้งกันอย่างเปิดเผย และเลือกจะประนีประนอมกันได้ในประเด็นต่างๆ อย่างเปิดเผย ทั้งหมดนี้ทำกันได้บนเวทีสาธารณะซึ่งมีหลายรูปแบบดังที่กล่าวแล้ว ยิ่งเราสามารถยกเลิกหรือแก้ไขกฎหมายต่างๆ ที่ปิดกั้นการแสดงความเห็นอย่างอิสระเสรีลง เวทีเปิดของสังคมก็จะยิ่งผลิตความเห็นและทางเลือกนานาชนิดได้มโหฬาร

ความคิดความเห็นเหล่านี้ ย่อมมีผลประโยชน์ของแต่ละกลุ่มแทรกอยู่ด้วย ทั้งที่ผู้เสนออาจจะรู้ตัวหรือไม่รู้ตัว แต่ไม่มีความคิดความเห็นใดๆ หรอกที่ปลอดจากอคติอย่างใดอย่างหนึ่งโดยสิ้นเชิง ไม่ว่าจะเป็นความคิดเห็นจากใครก็ตาม ยิ่งไปคิดว่าความคิดเห็นของบางคนบางกลุ่มย่อมบริสุทธิ์ ไม่แปดเปื้อนด้วยอคติส่วนตัว กลับยิ่งมีอันตรายมากกว่า เพราะทำให้ไม่ใช้วิจารณญาณ

บนเวทีเปิดที่ทุกเสียงมีค่าเท่าๆ กัน ทุกคนย่อมระแวงอยู่แล้วว่าความคิดเห็นหนึ่งๆ ย่อมเจือปนด้วยอคติและผลประโยชน์ส่วนตัว ต่างฝ่ายก็จะใช้วิจารณญาณอย่างรัดกุม ในขณะที่ต่างฝ่ายต่างรู้ว่า ไม่มีความคิดเห็นของใครจะผ่านไปได้เต็มร้อย ทุกฝ่ายจึงพร้อมจะประนีประนอมกับฝ่ายอื่น

จนในที่สุดก็จะได้ความคิดเห็นที่อาจไม่ใช่ดีที่สุด แต่ "เป็นไปได้" ที่สุด ตรงกับชีวิตจริงของทุกคน คือเราต่างมีชีวิตอยู่ในโลกที่เป็น "เป็นไปได้" ที่สุด ไม่ใช่ "ดี" ที่สุด

นักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง ไม่ว่าจะซื้อเสียงมามากน้อยเพียงไร ก็ต้องจำนนต่อความคิดเห็นที่ลงตัวจนกลายเป็นเสียงเรียกร้องจากเวทีเปิดทั้งนั้น

นี่คืออำนาจและโอกาสของการต่อรอง ที่กระจายไปยังคนกลุ่มต่างๆ ในสังคมอย่างเท่าเทียมกัน การต่อรองไม่ได้เป็นเพียงพื้นฐานของสังคมประชาธิปไตยเท่านั้น แต่การต่อรองยังเป็นพื้นฐานสำคัญสุดของการมีชีวิตอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขในสังคมทุกชนิด

ปัญหาต่างๆ ที่เราเผชิญอยู่ในสังคมไทยเวลานี้ ไม่มีใครแก้ให้ได้ นอกจากสังคมไทยเอง ดังนั้น กระบวนการที่จะนำไปสู่แนวทางแก้ปัญหาจึงมีความสำคัญเสียยิ่งกว่าตัวแนวทางเองเสียอีก กระบวนการที่ปิดกั้นกีดกันสังคมออกไปเช่นการแต่งตั้งในภาวะ "ปิดเทอม" จะไม่อาจแก้ปัญหาได้เลยอย่างแน่นอน

การเมืองจะ "ปิดเทอม" จนใช้การแต่งตั้งได้ ก็ต้องอาศัยอำนาจนอกระบบ รัฐประหาร 19 ก.ย.49 ชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนแล้วว่า ในเมืองไทยเวลานี้ไม่เหลืออำนาจนอกระบบใดๆ ที่จะสามารถให้ความชอบธรรมแก่การรัฐประหารได้ (ไม่ว่าจะเป็นรัฐประหารดังๆ หรือรัฐประหารเงียบ) และเพราะขาดความชอบธรรมอันเป็นที่ยอมรับ ก็ยิ่งต้องใช้อำนาจดิบ (ทั้งที่ผ่านหรือไม่ผ่านกระบวนการยุติธรรม) ยิ่งใช้อำนาจดิบ ก็ยิ่งขาดความชอบธรรม ยิ่งขาดความชอบธรรม อำนาจที่ใช้ก็ยิ่งดิบมากขึ้น เป็นวัฏจักรทำลายตัวเองไปเรื่อยๆ จนกว่าจะสิ้นสุดลง ณ จุดใดจุดหนึ่ง อันมีความเป็นไปได้มาก ว่าเป็นจุดที่เลือดนองแผ่นดิน

ดังนั้น กระบวนการต่อรองอย่างเปิด เพื่อให้ทุกกลุ่มเข้ามาร่วมในการตัดสินใจเลือกแนวทางแก้ปัญหาจึงเกิดขึ้นไม่ได้ แนวทางการแก้ปัญหามาจากการตัดสินใจเลือกของอำนาจล้วนๆ ถึงอำนาจนั้นจะหาพันธมิตรมาได้มากสักเพียงไร ก็ยังเป็นคนส่วนน้อยของสังคมอยู่นั่นเอง เช่น ทหาร, ข้าราชการพลเรือนและเทคโนแครต, นายธนาคาร, นักธุรกิจขนาดใหญ่ และนักวิชาการบางกลุ่ม ไม่รวมแม้แต่คนชั้นกลางระดับกลางทั่วไปด้วยซ้ำ ไม่พักต้องพูดถึงคนชั้นกลางระดับล่างตามหัวเมืองทั่วประเทศ และคนชั้นล่างทั่วไป

แนวทางการแก้ปัญหาที่มาจากกระบวนการตัดสินใจแบบนี้ย่อมไม่อาจนำมาซึ่งแนวทางที่ "เป็นไปได้" อย่างแน่นอน ยิ่ง "เป็นไปได้" น้อย ก็ยิ่งต้องใช้อำนาจมาก ความชอบธรรมของผู้ได้รับการแต่งตั้งก็ไม่มี ซ้ำความชอบธรรมของแนวทางก็ยิ่งไม่มี จะเหลืออะไรในสังคมอีกเล่า นอกจากแตกแยกกันหนักมากขึ้น และหลีกไม่พ้นที่จะต้องยกกำลังมาเข่นฆ่ากัน (ซึ่งผู้ต่อต้านก็คงไม่โง่พอจะยกกำลังมาให้ฆ่าทิ้งที่สี่แยกใดในกรุงเทพฯ อีกแล้ว)

ยังจะเหลือพื้นที่สำหรับการดำเนินธุรกิจ หรือดำเนินชีวิตไปตามปกติและตามความใฝ่ฝันของแต่ละคนอีกหรือ

นายทุน, นักธุรกิจ และคนชั้นกลางระดับกลางขึ้นไป ถึงท่านไม่ศรัทธากับระบอบประชาธิปไตย และไม่คิดเป็นหัวหอกของพลังประชาธิปไตยในสังคมไทย แต่ท่านควรมีหัวคิด อย่างน้อยก็มีหัวคิดพอจะมองเห็นว่า ประโยชน์ของท่านอยู่ที่ไหนกันแน่

.

2554-04-20

ตำนานพระเจ้าเลียบโลกฯ และ รอยเท้าใครฯ โดย เพ็ญสุภา สุขคตะ ใจอินทร์

.
ตำนานพระเจ้าเลียบโลก เชื่อมร้อยโลก มอญ ม่าน ฉาน และล้านนา
โดย เพ็ญสุภา สุขคตะ ใจอินทร์ คอลัมน์ ปริศนาโบราณคดี
ในมติชนสุดสัปดาห์ ออนไลน์ ฉบับวันศุกร์ที่ 08 เมษายน พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1599 หน้า 75


เชื่อว่ามีคนจำนวนไม่น้อยที่เกิดความคลางแคลงใจยามพบรอยพระบาทประดิษฐานตามที่ต่างๆ คำถามแรกมักหนีไม่พ้นว่า "เป็นของพระพุทธเจ้าจริงหรือ?"

กับอีกประเภทหนึ่ง มักเกิดความงุนงงเวลาไปกราบพระธาตุเจดีย์ในภาคเหนือ ไฉนแทบทุกแห่งจึงมีตำนานเล่าขานเหมือนกันหมด

ในทำนองว่าพระพุทธเจ้าเคยเสด็จมาตรัสพยากรณ์ว่าในอนาคตดินแดนแห่งนี้ต้องมีความเจริญรุ่งเรืองในบวรพุทธศาสนา และจบลงด้วยการประทานพระเกศาธาตุใส่กระบอกไม้ไผ่ให้แก่ชนพื้นเมืองทุกครั้ง

ปริศนาที่ผุดขึ้นกลางทรวงก็คือ พระธาตุเจดีย์ทั่วล้านนากว่า 30 องค์นี้ล้วนแต่มีความเป็นมาเก่าแก่ถึงยุคพุทธกาลทั้งสิ้น แล้วองค์ไหนสร้างก่อนองค์อื่นเล่า?

รอยพระบาทก็ดี การเสด็จมาตรัสพยากรณ์ของพระพุทธเจ้าก็ดี ทั้งหมดนี้ปรากฏอยู่ในวรรณกรรมชิ้นเอกเรื่อง "ตำนานพระเจ้าเลียบโลก"

ส่วนประเด็นที่จะนำเสนอในที่นี้ ไม่ได้มีเจตนามาชวนให้ท่านถกเถียงกันว่าเป็นเรื่องจริงหรือเท็จ ควรเชื่อหรือไม่ควรเชื่อ หากแต่จะชี้ชวนให้เห็นมุมมองใหม่ที่ซ่อนนัยทางสังคมบางอย่าง แอบแฝงไว้ระหว่างบรรทัดหรือใต้บรรทัดนั้นต่างหาก


ใครเขียนตำนานพระเจ้าเลียบโลก มีจุดมุ่งหมายใด

ก่อนอื่นต้องขออธิบายคำว่า "พระเจ้า" ในที่นี้มิได้หมายถึง "พระเจ้า" หรือ God ในความหมายของศาสนาคริสต์และฮินดู ในทำนอง "เทพเจ้า"

หากแต่คนทางเหนือนิยมเรียกพระพุทธเจ้าแบบย่อๆ ง่ายๆ เพียงแค่ "พระเจ้า" เท่านั้น ดังเช่นการขนานนามพระประธานในวิหารว่า "พระเจ้า" หลากหลายหมวด อาทิ พระเจ้าทันใจ พระเจ้าทั้งห้า พระเจ้าทองทิพย์ เป็นต้น

เดิมนั้นชาวเหนือไม่เคยทราบว่าใครเป็นคนเขียนตำนานพระเจ้าเลียบโลก เหตุเพราะไม่ปรากฏนามผู้แต่ง จึงเข้าใจกันเอาเองว่าเป็นเรื่องจริงที่มีมาตั้งแต่ยุคพุทธกาล กระทั่งนักวิชาการด้านล้านนาศึกษาได้ค้นคว้าที่มาที่ไปจนได้ความชัดเจนว่าวรรณกรรมเรื่อง "ตำนานพระเจ้าเลียบโลก" นี้รจนาโดยพระภิกษุชาวมอญนาม "พระธรรมรส" หรือ "ธรรมรโสภิกขุ" เรื่องของเรื่องคือ

เมื่อปี พ.ศ.2050 ท่านได้รับการอุปถัมภ์จากกษัตริย์แห่งกรุงหงสาวดีให้เดินทางไปศึกษาดูงานพระพุทธศาสนา ณ กรุงลังกา ทำให้รับรู้เรื่องราวการประดิษฐานพระบรมธาตุเจดีย์และรอยพระพุทธบาทในดินแดนต่างๆ ทั่วสุวรรณภูมิ

โดยเฉพาะพื้นที่ในเขตราชอาณาจักรมอญ (สมัยนั้นมอญเป็นรัฐอิสระที่เจริญรุ่งเรือง ไม่ขึ้นกับพม่า) และรัฐใกล้เคียง อันประกอบด้วย ล้านนา ฉาน และสิบสองปันนา ซึ่งรายชื่อพื้นที่การประดิษฐานพระพุทธเจดีย์หรือรอยพระบาทสำคัญในแต่ละท้องถิ่นนี้ได้มีการจดบันทึกเอาไว้อยู่ก่อนแล้ว ณ สำนักพระหิน หรือมหาเสลอาราม กรุงลังกา โดยเหล่าบรรดาพระภิกษุจากทั่วทุกสารทิศที่ได้มีโอกาสเดินทางไปศึกษางานพระศาสนายังลังกาก่อนหน้านี้คงช่วยกันแจ้งข้อมูลไว้แล้ว

น่าจะเป็นแรงบันดาลใจให้พระธรรมรสนำข้อมูลภาคทฤษฎีที่ได้รับทราบ ไปสู่การแกะรอยในภาคสนาม ท่านลงพื้นที่จริงด้วยการจาริกไปตามรายชื่อของบุญสถานนับหลายร้อยแห่งที่ปรากฏ ทั้งภายในราชอาณาจักรมอญตลอดจนถึงดินแดนต่อเนื่องใกล้เคียงเท่าที่จะสามารถเดินทางไปถึงได้ในช่วงระหว่างปี พ.ศ.2060-2066 โดยใช้เวลาธุดงค์ในดินแดนต่างๆ ทั้งสิ้น 6 ปี

ปี พ.ศ.2066 จึงเริ่มเขียนงานชิ้นโบแดงขึ้นชื่อ "พยาเทสะจารี" อันเป็นภาษามอญ-ม่าน (พม่า) ถือเป็นวรรณนิพนธ์ที่ต้องทุ่มเทความวิริยะอุตสาหะอย่างแรงกล้า มีความยิ่งใหญ่เหนือกว่าวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก น่าตื่นเต้นไม่น้อยที่เมื่อ 500 ปีก่อน พระภิกษุชาวมอญเพื่อนบ้านของเราได้นำเสนองานวิจัยระดับ Ph.D เล่มแรกๆ ของโลก

"พยาเทสะจารี" ได้รับการแปลเป็นภาษาล้านนาในระยะเวลาต่อมาด้วยชื่อ "ตำนานพระเจ้าเลียบโลก" และยังได้ส่งอิทธิพลให้แก่การเขียน "ตำนานพระอุรังคธาตุ" และ "ลำพระเจ้าเยี่ยมโลก" ของชาวลาวล้านช้างอีกด้วย โดยมีพล็อตเรื่องในทำนองเดียวกัน นั่นคือการเสด็จมาประทานเกศาธาตุตามที่ต่างๆ ของพระพุทธเจ้าพร้อมการตรัสพยากรณ์ยังดินแดนสำคัญที่มีการสร้างพระธาตุเจดีย์หรือมีรอยพระบาท



พระเจ้าเลียบโลก มาจากไหน และจะไปไหน

ตํานานพระเจ้าเลียบโลกฉบับภาษาล้านนานี้ "พระมหาโพธิสมภาร" ภิกษุชาวหริภุญไชยได้คัดลอกไว้เมื่อปี พ.ศ.2066 จากต้นฉบับที่พระธรรมรสได้นำติดตัวมาขณะเดินทางจาริกแสวงบุญตามศาสนสถานต่างๆ กระทั่งเข้ามาถึงอาณาจักรหริภุญไชย

ต่อมาวัดต่างๆ หลายแห่งทั่วภาคเหนือได้คัดลอกต่อๆ กันอีกหลายสำนวน จนถึงขนาดนำไปใช้เป็นคัมภีร์สำหรับ "สวดเทศนา" มีทั้งหมดบ้าง 11 กัณฑ์ บ้าง 12 กัณฑ์ หรือ 11-12 ผูก เนื้อหาโดยรวมกล่าวถึงพระพุทธเจ้าตั้งแต่แรกเสวยพระชาติเป็นพระโพธิสัตว์จนถึง

พระชาติสุดท้ายที่ทรงบรรลุพระอรหันต์ แล้วเสด็จมาโปรดเวไนยสัตว์ตามสถานที่ต่างๆ ในอุษาคเนย์ฟากตะวันตก พอสรุปเส้นทางย่อๆ ได้ดังนี้

ผูกที่ 1 หลังจากที่เสด็จโดยญาณวิถี (เหาะ) ออกมาจากกรุงพาราณสี ชมพูทวีปแล้ว จุดแรกที่พระพุทธเจ้าเสด็จมาเลียบโลกแถวนี้ คือ

เขตเมืองลี้ เลาะเลียบแม่น้ำปิง ถึงหริภุญไชยนคร ทรงทำนายว่าต่อไปพระพุทธศาสนาจะรุ่งเรืองที่นี่ แล้วเสด็จไปยัง อุจฉุตบรรพต (ดอยสุเทพ) ณ อภินวนคร (เมืองเชียงใหม่) ต่อไปยังปากแม่น้ำสา พระบาทผาชะแคง เมืองเชียงดาว

เดินทางต่อไปยังเมืองวิเทหะ (หนองแส?) อุตรปัญจนคร (แสนหวี?) จากนั้นเสด็จเสวยภัตตาหารพร้อมด้วยพระอรหันต์ 500 รูป ณ ดอยเวภารบรรพต (พระบาทรังรุ้ง) อันเป็นรอยต่อของ 3 อาณาจักร คือ กรุงโกสัมพี (ฉาน?) หริภุญไชย (สยาม) และเมืองแพรหลวง (จีน?)

ผูกที่ 2 และ 3 เสด็จมาประทานพระเกศาธาตุบนดอยสิงกุตร ในเขตเมืองหงสาวดีจากนั้นเข้าสู่เขตเมืองเชียงของ เชียงตุง ดอยมหิยังคณะ (เมืองยองในสิบสองปันนา) ฯลฯ

ผูกที่ 4 และ 5 เสด็จไปยังเมืองฮ่อ เขตยูนนาน แล้วมาเมืองลื้อ เขตสิบสองปันนา และเมืองแข่ (ชาวไตหลงหรือไทหลวง) เป็นต้น ต่อไปยังเมืองลาเหนือ เมืองลาใต้ เมืองเชียงแข็ง ฯลฯ

ผูกที่ 6 มีความน่าสนใจมาก นอกจากจะเสด็จประทับรอยพระบาทตามสถานที่ต่างๆ แล้ว ยังมีการสอนชาวเมืองให้รู้จักการทำยนต์ผัดน้ำ (ยนต์หมุน) เข้านา

ผูกที่ 7 ทรงปราบอาฬวกยักษ์ เมืองอาฬวี ให้ถือศีลห้า มีพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง และเสด็จไปเทศนายังสถานที่ต่างๆ เขตเขมรัฐ เชียงตุง

ผูกที่ 8 เสด็จมายังโยนกนาคนคร เชียงแสน เชียงราย ลำปาง พะเยา เป็นต้น

ผูกที่ 9 เสด็จเลียบแม่ปิงอีกครั้งคล้ายผูกแรก แต่สวนทางกัน ผูกที่ 1 นั้นขึ้นจากใต้สู่เหนือ แต่ผูกนี้ล่องแม่ปิงลงใต้สู่เขตเชียงใหม่ ทรงทำนายว่าต่อไปจะมีมหาอารามหลายแห่ง คือวัดบุปผาราม เวฬุวันอาราม วัดบุพพาราม อโศการาม พืชชอาราม สังฆาราม นันทอาราม และโชติอาราม เน้นว่ามีการบวชของนักบวชพม่า 2 รูปและเรื่องราวของชาวละว้าช่วยกันสร้างพระพุทธรูปดินเผาจำนวน 3,300,000 องค์ ถวายพระพุทธเจ้าแล้วโปรดให้ขุดหลุมฝังดินทั้งหมด เกี่ยวกับเรื่องนี้ผู้สนใจเรื่อง "พระพิมพ์สกุลลำพูน" ควรนำไปใช้ถอดรหัสตีความ

ผูกที่ 10 กล่าวตรัสพุทธทำนาย ถึงความเจริญและความเสื่อมของพระพุทธศาสนาในช่วง 5,000 ปี ว่าจะเกิดกลียุคหรือไฟบรรลัยกัลป์ล้างโลก เพราะเทวดาอารักษ์ไม่พอใจในการกระทำของมนุษย์

ผูกที่ 11 เสด็จไปแดนสิบสองปันนาอีกครั้ง ก่อนเข้าสู่ปรินิพพาน เมื่อถวายพระเพลิงพระบรมศพแล้ว กล่าวว่ามีการแบ่งพระบรมสารีริกธาตุเป็นกี่ส่วน มีการสังคายนาพระไตรปิฎกกี่ครั้ง

ท้ายสุดสรุปข้อมูลว่า มีพระบรมธาตุในอาณาจักรหงสาวดี 52 แห่ง ส่วนอาณาจักรหริภุญไชยมีพระธาตุ 23 แห่ง รอยพระบาท 12 แห่ง สุดท้ายในเขตสิบสองปันนามีพระบาทและพระบรมธาตุรวม 70 แห่ง


ตำนานห้ามถาม แต่อย่าห้ามเถียง

เมื่อมีเด็กขี้สงสัยเพียรถามผู้เฒ่าผู้แก่ถึงเรื่องความจริง-เท็จของตำนานพระเจ้าเลียบโลก ว่าเป็นไปได้ล่ะหรือที่พระพุทธเจ้าจะเสด็จออกมานอกชมพูทวีปด้วยการเหาะ?

มักจะถูกดุถูกห้ามในทำนองว่า "ยากเกินกว่าอธิบาย" หรือ "เรื่องนี้เป็นอจินไตย (รู้ไปก็ไร้ประโยชน์) อย่ามาเซ้าซี้ถามอีก" และลงท้ายแบบข่มขู่สำทับว่า "ไม่เชื่ออย่าลบหลู่"

กลายเป็น "ตำนานห้ามถาม" ยิ่งยั่วยุให้เด็กยุคหลังเยาะหยันคนรุ่นก่อนเอาได้ง่ายๆ ว่านอกจากจะใจแคบแล้วยังไม่มีภูมิปัญญาที่จะหาคำอธิบายได้ดีกว่าการออกคำสั่งให้เด็กหุบปาก

องค์ความรู้ในยุคนี้ ทำให้เด็กของเราหูตากว้างไกล เริ่มรู้ดีว่าพระพุทธเจ้าทรงเดินทางไปประกาศพระพุทธศาสนา (จริงๆ) เฉพาะในเขตแคว้นที่เจริญแล้วในชมพูทวีปเพียง 7 รัฐ เท่านั้น ได้แก่ มคธ โกศล วัชชี อังคะ วังสะ กาสี และอุชเชนี ส่วนมากเป็นแคว้นทางทิศเหนือ ตะวันออกเฉียงเหนือ และตอนกลางบางส่วน

สำหรับแคว้นทางตอนใต้สุด ตะวันออกสุด และตะวันตกสุดของอินเดีย เป็นการยากที่จะให้พระพุทธศาสนาหยั่งรากลงได้ เพราะเป็นเขตที่ศาสนาพราหมณ์ยังมั่นคงแข็งแรงอยู่ แม้แต่ในที่ที่พุทธศาสนาเจริญรุ่งเรือง ก็ยังมีศาสนาพราหมณ์และศาสนาเชนแทรกซึมอยู่ทุกแห่ง

ฉะนั้น คำถามที่ว่า "พระพุทธเจ้าเสด็จมาเลียบโลกตามแว่นแคว้นสุวรรณภูมิด้วยพระองค์เองจริงหรือไม่" นั้น ย่อมมีคำตอบกระจ่างชัดอยู่ในตัวเองดีอยู่แล้ว

เอาเถิด ใครที่ปักใจเชื่อว่าเป็นเรื่องจริง สะท้อนว่าคนผู้นั้นมีศรัทธานำปัญญา ก็ไม่ใช่เรื่องผิด ไม่มีความจำเป็นต้องไปต้อนให้เขาจนมุม ด้วยการหาเหตุผลอะไรมาอธิบาย เพราะอันที่จริงวัตถุประสงค์ของผู้แต่งนั้นตั้งใจจะใช้ "บุคคลาธิษญาณ" ให้เกิด "ธรรมาธิษฐาน" ต่างหาก

หมายความว่า ขณะที่เราก้มกราบสักการะพระธาตุเจดีย์หรือรอยพระบาทแห่งใดก็ตาม พลันเกิดความปีติศรัทธาที่จะทำความดีตามรอยพระพุทธองค์ ก็เสมือนว่ามีพระพุทธเจ้ามาประทับอยู่ ณ แห่งนั้นจริงในความรู้สึก



โลกไร้พรมแดนของมอญ ม่าน ฉาน ล้านนา

ในอดีต "ตำนานพระเจ้าเลียบโลก" เคยถูกดูแคลนว่าเป็นนิทานหลอกคนไร้การศึกษาให้หลงงมงาย นักวิชาการไม่น้อยกล่าวประณามถึงขั้นว่าเป็นตำนานโกหกทุศีลจาบจ้วงล่วงเกินองค์พระสัมมาสัมพระพุทธเจ้า

แต่ทว่ามุมมองของปราชญ์ล้านนายุคใหม่ กลับยกย่องว่านี่คืองานวรรณกรรมชิ้นเอกของพระภิกษุมอญ ที่ลงทุนเดินทางจาริกแสวงบุญด้วยความเหนื่อยยาก และยังมีความสามารถผูกตัวบทให้เชื่อมโยงระหว่างพุทธประวัติเข้ากับภูมิสถานที่สำคัญทางพระพุทธศาสนาในแถบสุวรรณภูมิตอนบนอย่างแนบเนียน จนเสมือนเป็นเรื่องที่น่าจะเกิดขึ้นจริง ถือเป็นพุทธตำนานฉบับท้องถิ่นที่สานร้อยสายสัมพันธ์ของชนเผ่ามอญ-ไท-ชาวเขาในดินแดนล้านนา สิบสองปันนา ไทใหญ่เข้าด้วยกัน

การเชิดชูสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ซึ่งสามารถโยงใยบ้านเล็กเมืองน้อย ให้เป็นแผนที่ใน "โลก" ของชนเผ่าชาวพุทธที่ไปมาหาสู่กันจนเป็น "อาณาจักร" หรือ "โลก" เดียวกัน คือความสัมพันธ์ระหว่างพี่ๆ น้องๆ เพื่อนบ้านชาวอุษาคเนย์ที่มีปฏิสัมพันธ์กันมาเนิ่นนานก่อนการแบ่งแยกอธิปไตยเหนือดินแดน เป็นไทย เป็นพม่า เป็นจีน เป็นลาว อย่างน่าชิงชังดังเช่นทุกวันนี้

สมัยก่อนเราต่างมีความผูกพันกันมิใช่แค่เพียงโลกของผลประโยชน์แบบหยาบๆ ในเชิงรูปธรรม เช่น การเมือง เศรษฐกิจเท่านั้น แต่ชาวอุษาคเนย์ยังมีความผูกพันร่วมกันไปถึงเรื่องของมโนทัศน์ ธรรมทัศน์ ซึ่งเป็นเรื่องของจิตวิญญาณที่ร่วมกันอีกด้วย โดยเฉพาะในเรื่องของพระพุทธศาสนานั้นมีบทบาทอย่างสำคัญต่อการเชื่อมร้อยให้ผู้คนต่างเผ่าหลากพันธุ์สามารถเข้ามาเป็นหมู่เป็นพวกเดียวกันได้อย่างละมุนละไม ไม่รังเกียจเดียดฉันท์กัน

ดังนั้น ตำนานพระเจ้าเลียบโลกจึงไม่ใช่เป็นเพียงตำนานที่ให้ข้อมูลเรื่องชื่อบ้านนามเมืองของแว่นแคว้นพระพุทธศาสนาเท่านั้น แต่ยังสะท้อนนัยถึงกลุ่มคนในดินแดนต่างๆ ว่ามนุษยชาติทั้งหมดนี้ล้วนมีศักดิ์ศรีและมีเกียรติเสมอกันด้วย

เห็นได้จากการที่พระพุทธองค์เสด็จไปยังแต่ละท้องถิ่น มักพบกับกลุ่มคนที่ "ต่ำต้อย" ที่สุดในสังคมก่อนเป็นพวกแรก นั่นคือ ชาวลัวะ กะเหรี่ยง เม็ง ขมุ ข่า ทมิฬ มิลักขะ อาฬวี หรือแม้แต่ "ยักษ์" ล้วนเป็นตัวละครที่มีโอกาสใกล้ชิดกับพระพุทธองค์ กลุ่มคนเหล่านี้ถูกทำนายให้ร่วมรับรู้การตรัสพยากรณ์เสมอ

จะเห็นว่าพระพุทธองค์ไม่เคยเสด็จไปพบกับเจ้าเมือง พระราชา หรือชนชั้นสูงของแต่ละเมืองเลย

วรรณกรรมชิ้นนี้จึงมิได้เขียนขึ้นเพื่อตอบสนองสังคมศักดินา หรือขีดวงจำกัดเฉพาะคนในชาติพันธุ์มอญ-ฉานหรือไทสามกลุ่มที่พระธรรมรสต้องนำไปรายงานให้พระเจ้ากรุงหงสาวดีทราบเท่านั้น

หากแต่ยังได้สร้างเรื่องเล่าของคนชายขอบจากกลุ่มอื่นเข้าไว้ในความทรงจำของตน ด้วยศักดิ์ศรีและฐานะที่เท่าเทียมกัน


เพราะเมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จไปยังสถานที่ใด ดินแดนที่พระองค์เสด็จไปนั้นย่อมมีความเจริญขึ้นด้วยสมบัติ 2 สถาน คือโลกียธรรมและโลกุตรธรรม

หากเสด็จไปเมืองใหญ่ที่มีความเจริญอยู่แล้ว มักตรัสพยากรณ์ว่าจะมีพระธาตุเจดีย์อุบัติขึ้น ส่วนหากเป็นดอยสูงในเขตป่าเขา ทรงประทับแค่รอยพระบาทเท่านั้น เหตุเพราะปัจจัยแวดล้อมไม่เอื้อให้สร้างพระธาตุเจดีย์ได้

ภาพความสัมพันธ์ของสังคมวัฒนธรรมขนาดใหญ่ครอบคลุมภูมิภาคกว้างไกลในบริเวณลุ่มแม่น้ำอิรวดี-สาละวิน-โขง คือฉากอันตระการที่ปรากฏอยู่ใน "ตำนานพระเจ้าเลียบโลก" ที่เมื่อเราหันกลับไปมองแผนที่โลกใบนั้นด้วยสายตาคนปัจจุบันนี้ ความงดงามกลับถูกเส้นชายแดนและวีซ่าขีดฆ่าเป็นแผ่นดินต้องห้าม ผสานด้วยการเหยียดหยามให้เกิดความต่ำต้อยในเรื่องชนเผ่าชาติพันธุ์

ภาพคนมอญ ไทใหญ่ กะเหรี่ยง ชาวเขาเผ่าต่างๆ ที่อพยพโซซัดโซเซจากเขตแดนพม่า เสี่ยงเป็นเสี่ยงตายลักลอบเข้าเมืองไทยแบบผิดกฎหมายมาหาเช้ากินค่ำด้วยแรงงานราคาถูก ได้รับคำประณามจากสังคม "ไทยพุทธ" ว่าเป็นพลเมืองชั้นสาม

ซึ่งก็ไม่น่าแปลกใจเท่าใดนัก เพราะแม้แต่คนไทยด้วยกันที่เป็นรากหญ้าพื้นฐานหลักในสังคมไทย ยังถูกตีค่าเป็นผักปลา หรือ "ไพร่" พลเมืองชั้นสอง ถูกล้อมปราบกวาดล้างจับกุมคุมขังสังเวยไปแล้วกี่ชีวิต ทุกครั้งที่มีการเรียกร้องความเท่าเทียมทางเสรีภาพ

พอทีเถอะ! เวลาที่ก้มลงกราบรอยพระบาทหรือพระธาตุเจดีย์ แล้วคิดว่าตัวเองฉลาดกว่าคนรุ่นก่อนในการนึกสงสัยว่าพระพุทธเจ้าเคยเสด็จมาประทับเลียบโลกจริงหรือไม่ เรื่องนั้นไม่ใช่ประเด็นสำคัญอะไรอีกต่อไป

นัยของตำนานพระเจ้าเลียบโลกนั้นอยู่ที่ คุณเคยเคารพสิทธิแห่งความมนุษย์ เคยให้เกียรติเพื่อนร่วมโลกทั้งชาวพุทธและผู้นับถือศาสนาอื่นว่า มีศักดิ์ศรีเสมอกันกับคุณหรือไม่เท่านั้นเองต่างหาก



++

รอยเท้าใคร ฝากไว้ในแผ่นศิลา?
โดย เพ็ญสุภา สุขคตะ ใจอินทร์ คอลัมน์ ปริศนาโบราณคดี
ในมติชนสุดสัปดาห์ ออนไลน์ ฉบับวันศุกร์ที่ 01 เมษายน พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1598 หน้า 75


ที่อำเภอแม่ทา จังหวัดลำพูน มีหลักฐานทางโบราณคดียุคก่อนประวัติศาสตร์และกึ่งก่อนประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจหลายชิ้น เนื่องจากเป็นแอ่งอารยธรรมโบราณยุคหินกลาง-หินใหม่-ยุคเหล็ก จนถึงยุคสำริด ตั้งอยู่บนรอยเลื่อนแม่ทาอันเป็นศูนย์กลางแห่งการเกิดแผ่นดินไหวครั้งแล้วครั้งเล่า

โบราณคดีจากแม่ทาครั้งนี้เป็นปริศนารูปรอยเท้าซ้อนกันหลายรอย ฝังไว้ในลานแผ่นหินบนเนินเขาที่ค่อนข้างลาดต่ำไม่สูงชันนัก

ชาวบ้านค้นพบรอยเท้าประหลาดนี้ที่เนินหินด้านหลังวัดดอยสารภี บ้านดอยสารภี ตำบลทาสบเส้า อำเภอแม่ทา มานานกว่าสี่สิบปี แต่เก็บงำเอาไว้ด้วยความพิศวงงุนงง ด้วยไม่รู้จะสอบถามใคร

จนกระทั่ง 4 ปีก่อน ดิฉันมีโอกาสลงพื้นที่สำรวจเรือโบราณอายุพันกว่าปีที่จมอยู่ใต้ลำน้ำแม่ทาของวัดเดียวกันนี้ ชาวบ้านแอบกระซิบกระซาบว่าจะพาไปดูของดีอีกชิ้นหนึ่งที่อยู่ด้านหลังวัดเราไต่ภูเขาขนาดเตี้ยๆ ลงไปพบเนินหินที่ถูกปกคลุมด้วยพงหญ้ารก ช่วยกันถากถางเศษใบไม้แห้ง พลันต้องตะลึงงันกับของดีชิ้นใหม่นี้

จนแทบจะหันหลังให้เรือไม้ตะเคียนทองยาว 20 กว่าเมตรนั้นไปเลย


รอยเท้าแท้หรือเทียม
ธรรมชาติเสกหรือมนุษย์สร้าง?

รอยเท้าบนแผ่นหินที่ว่านี้ พบอยู่หลายรอย แต่ละรอยมีขนาดเล็ก ประกอบด้วยริ้วเส้นขูดขีดเป็นร่องลึก ทำให้เกิดกรอบรูปสามเหลี่ยมบ้าง สี่เหลี่ยมด้านไม่เท่าบ้าง กลับหัวกลับหางไปคนละด้านก็มี บางรอยก็แกะให้เท้านูนลอยขึ้นมาจากพื้นหลัง แต่ส่วนใหญ่จะคว้านลึกลงในเนื้อหิน ให้เห็นแค่กรอบหรือขอบเท้ารอบนอกเท่านั้น

คณะสำรวจของเรา ได้เชิญผู้เชี่ยวชาญด้านธรณีวิทยาจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และจากศูนย์พฤกษศาสตร์ อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ ร่วมเดินทางไปด้วย จึงถือโอกาสขอให้ผู้ทรงคุณวุฒิเหล่านั้น ช่วยพิสูจน์เบื้องต้นให้หายคลางแคลงใจก่อนว่า

รอยเท้าที่เห็นนี้เป็นรอยเท้าสัตว์ยุคดึกดำบรรพ์ตามธรรมชาติ หรือเป็นร่องรอยที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางธรณีวิทยา หรือ ...สิ่งที่เราสนใจมากเป็นพิเศษ อาจเป็นผลงานการสร้างสรรค์โดยฝีมือมนุษย์?

หลังจากที่ผู้เชี่ยวชาญทั้งหลายถกเถียงกันอยู่ครู่ใหญ่ ต่างลงความเห็นเป็นเอกฉันท์ว่า ร่องรอยเหล่านี้หาใช่รอยเท้าของไดโนเสาร์หรือสัตว์ยุคดึกดำบรรพ์เหมือนที่พบตามภาคอีสานของไทยไม่

อีกทั้งไม่ใช่ร่องรอยของพื้นหินที่เกิดจากการแปรปรวนของ ดิน น้ำ ลม ไฟ ที่พัดพาตะกอนมาถมทับจนเกิดลวดลาย เพราะร่องรอยของธารน้ำที่กัดเซาะแผ่นหินมักจะเป็นรอยขีดตามแนวบน-ล่างหรือเฉียงเล็กน้อยเท่านั้น แต่ในที่นี้เต็มไปด้วยรอยขวางไขว้ไปมา

ข้อสรุปเบื้องต้นจากตาเนื้อ (ยังมิได้พิสูจน์ด้วยเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์) พบว่า มิใช่ร่องรอยธรรมชาติ แต่สำหรับเรื่องการกำหนดอายุว่ารอยเหล่านี้มีมาแล้วกี่พันปี ทีมนักวิทยาศาสตร์ขอให้ฝ่ายนักโบราณคดีช่วยเข้ามาทำหน้าที่ศึกษาสืบค้นกันต่อไปแทนจะดีกว่า

หลังจากนั้น อีกไม่นาน ดิฉันจึงได้เชิญนักโบราณคดีไปร่วมลงพื้นที่อีกสองครั้ง ครั้งแรกจากสำนักศิลปากรที่ 8 เชียงใหม่ และครั้งหลังจากคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร

นักโบราณคดีตั้งข้อสังเกตว่า รอยเท้าเหล่านี้เป็นรอยที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์ เนื่องจากพบว่ามีการตกแต่งรอยเท้าแต่ละรอยด้วยการยกขอบเส้นหนาประมาณ 1 เซนติเมตรอย่างจงใจ



Rock Art ชิ้นแรกในล้านนา
กับปริศนารอยพระบาท

ถือว่านี่เป็นครั้งแรกที่มีการค้นพบหลักฐานงานประติมากรรมขูดขีดบนแผ่นหินยุคก่อนประวัติศาสตร์ในภาคเหนือตอนบน หรือที่เรียกว่างาน Rock Art ไม่ใช่ Rock Painting ภาพเขียนสีแดงตามฝาผนังถ้ำซึ่งพบกันทั่วไปแล้วหลายแหล่ง

โดยปกติงานขูดขีดลวดลายบนแผ่นหินโดยไม่ใช้สีแดงนี้ ในประเทศไทยเคยพบมากแถบภาคอีสานตอนเหนือ เช่น ที่จังหวัดเลย สกลนคร อุดรธานี และภาคเหนือตอนล่างเคยพบที่พิษณุโลกเท่านั้น

ด้วยเหตุนี้การพบ Rock Art ที่แม่ทา ลำพูน จึงถือว่าเป็นการค้นพบหลักฐานชิ้นใหม่ครั้งแรกให้วงการโบราณคดีล้านนา

ลวดลายยุ่งเหยิงพัลวันพัลเกขนาดนั้น แน่ใจได้อย่างไรว่าเป็นรูปรอยเท้า?

แล้วหากเป็นรอยเท้าจริง ควรเป็นรอยเท้าใคร?

รอยพระบาทพระพุทธเจ้า รอยเท้ามนุษย์ หรือรอยเท้าสัตว์?

เหตุเพราะมันดูยาก ดิฉันจึงต้องขอแรงเชิญชวนผู้อ่านให้ช่วยกันสืบค้นหาเจ้าของรอยเท้านี้พร้อมๆ กัน

ลองมาดูความน่าจะเป็นของแต่ละกรณี เป็นไปได้หรือไม่สำหรับรอยพระบาทของพระพุทธเจ้าและบรรดาพระอรหันตสาวก?

ในตำนานพระเจ้าเลียบโลกมักปรากฏเรื่องราวว่าสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเสด็จโดยญาณวิถีออกนอกชมพูทวีปไปประทับรอย

พระบาทตามแว่นแคว้นต่างๆ ในสุวรรณภูมิเพื่อโปรดเวไนยสัตว์

ซึ่งหลักฐานทางโบราณคดีเกี่ยวกับรอยพระบาทที่พบในประเทศไทยชิ้นเก่าแก่มากที่สุดในเขตภาคเหนือตอนบน ได้แก่ พระบาทรังรุ้งหรือพระบาทสี่รอยที่อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่

ส่วนภาคอื่นๆ รอยพระบาทรุ่นเก่าพบที่สระมรกต และที่พระพุทธฉาย สระบุรี (เรื่องราวเกี่ยวกับความเป็นมาของ "รอยพระบาทกับตำนานพระเจ้าเลียบโลก" นี้เป็นประเด็นใหญ่ที่คงต้องแยกเขียนในโอกาสต่อไป)

ดิฉันได้สอบถามปราชญ์ชาวบ้านในละแวกแม่ทา ว่าเคยมีเรื่องเล่าเกี่ยวกับกฤษฎาภินิหารเรื่องรอยพระบาทแถวนี้บ้างหรือไม่ เพราะเห็นว่าแทบทุกอำเภอในลำพูนล้วนแล้วแต่มีการพบรอยพระบาทโดยเชื่อมโยงกับพุทธตำนานทั้งสิ้น

อาทิ พระพุทธบาทตากผ้าที่อำเภอป่าซาง พระบาทห้วยต้ม พระบาทป่าไผ่ พระบาทผาหนาม ที่อำเภอลี้ พระบาทดอยไซ ในอำเภอเมือง เป็นต้น

คำตอบของชาวบ้านก็คือ ไม่เคยมีเรื่องเล่าท้องถิ่นหรือตำนานเชิงมุขปาฐะที่เกี่ยวข้องกับการเสด็จมาของพระพุทธเจ้าในบริเวณนี้แต่อย่างใด

เว้นเสียแต่อีกปริศนาหนึ่งซึ่งทิ้งร่องรอยไว้ไม่ไกลจากบ้านดอยสารภี อยู่ค่อนไปในหุบเขา ได้มีการพบรอยฝ่ามือและนิ้วทั้งห้าขนาดใหญ่บนแผ่นหิน

ชาวล้านนาเรียกรอยนี้ว่า "หัตถบาท" (ผสมคำระหว่างมือและเท้าเข้าด้วยกัน) แต่ว่ารอยหัตถบาทที่แม่ทานี้ดิฉันยังไม่มีโอกาสเดินทางไปสำรวจ เคยไปพบแต่รอยหัตถบาทที่อำเภอบ้านโฮ่งเท่านั้น

โดยปกติแล้วครูบาเจ้าศรีวิชัยนักบุญแห่งล้านนา และบรรดาศิษยานุศิษย์ มักได้ค้นพบรอยพระบาทที่เชื่อกันว่าพระพุทธเจ้าเคยเสด็จมาประทับตามจุดต่างๆ เกือบทั่วทุกหนแห่งมาแล้ว ด้วยการแกะรอยตำนานพระเจ้าเลียบโลกที่เขียนไว้เมื่อราว 500 ปีก่อน

เมื่อพลิกดูข้อมูลดังกล่าวก็ไม่พบว่ามีการเสด็จมาแถบแม่ทาแต่อย่างใด ทั้งนี้ มิได้สรุปว่า หลักฐานดังกล่าวจะไม่เกี่ยวข้องกับรอยพระบาทของพระพุทธเจ้าเสียทีเดียว หากแต่ชื่อบ้านย่านนามที่ปรากฏในตำนานนั้นมักเขียนเป็นภาษาบาลีทั้งสิ้น มิได้ใช้ภาษาของคนเมืองในยุคปัจจุบัน

เช่น เรียกแม่น้ำขานว่าแม่น้ำโรหินี เรียกเวียงลี้ว่าเวียงลับแลลิ มีอยู่หลายจุดเหมือนกันที่ยังไม่มีข้อสรุปว่าชื่อเหล่านั้นตั้งอยู่ที่ไหนกันแน่ เช่น บ้านโทรคาม บ้านปทารคาม คำว่า "ทา" ในที่นี้จะเกี่ยวข้องกับแม่น้ำทา ในอำเภอแม่ทาหรือไม่

ฉะนั้น การเชื่อมโยงไปสู่เรื่องรอยพระบาทพระพุทธเจ้านั้น ขอให้พักไว้ก่อน ใช่เพียงแต่ไม่มีตำนานหน้าไหนมารองรับเท่านั้น หากหลักฐานด้านโบราณคดีก็พิสดารแปลกแหวกแนวไปจากรอยพระบาทอื่นๆ เกินกว่าจะให้เชื่อว่าเป็นรอยพระบาทได้



หากมิใช่รอยพระบาท
ฤาเป็นไพร่มนุษย์ในรอยเท้าสัตว์

การทำรูปรอยเท้าคนขนาดใกล้เคียงของจริงหลายรอยบนเนินหินนี้ นักโบราณคดีเชื่อว่าน่าจะใช้เป็นสถานที่สำหรับประกอบพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ของมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์

ซึ่งโดยปกติการวาดภาพบนผนังถ้ำนั้น เรามักจะเห็นแต่ร่องรอยของภาพ "มือแดง" อันมีความหมายถึงการแสดงความเป็นเจ้าของอาณาบริเวณนั้น รวมถึงการเซ็นเยี่ยมของแขกแปลกหน้า มากกว่าที่จะแสดงด้วย "รอยเท้า"

ในขณะที่ตำนานความเชื่อเรื่องการถือกำเนิดของมนุษย์ในแถบลุ่มแม่น้ำปิงหรือน้ำแม่ระมิงค์ก่อนยุคสร้างอาณาจักรหริภุญไชยราวพันหกร้อยปีที่ผ่านมานั้นกลับมีการระบุถึงคำว่า "รอยเท้าสัตว์"

ตำนานสร้างเมืองลำพูนตอกย้ำแล้วย้ำอีกว่า คนพื้นเมืองหรือไพร่แถบนี้เกิดมาจากรอยเท้าสัตว์ตระกูลต่างๆ สามตระกูล ได้แก่ ตระกูลช้าง แรด และวัว

โดยผูกเรื่องให้มี "ฤษี" กลุ่มหนึ่งนาม "วาสุเทพ" หรือ "สุเทวฤษี" นามนี้แท้ก็คือสมัญญาของ "กฤษณะวาสุเทพ" ผู้เป็นอวตารปางหนึ่งของพระนารายณ์นั่นเอง ฤษีในที่นี้หมายถึงนักพรตหรือพราหมณ์จากอินเดียที่เข้ามาเผยแผ่ศาสนาฮินดูในยุคสุวรรณภูมิ

ตำนานเขียนไว้ชวนสะท้อนใจว่า เหล่าฤษีได้ถ่ายคูถถ่ายมูตรไว้ในรอยเท้าสัตว์สามจำพวก ต่อมานางช้าง นางแรด นางโคได้ไปดื่มกินอุจจาระ-ปัสสาวะที่ฤษีถ่ายไว้ ให้เผอิญว่ามีเชื้ออสุจิของฤษีปะปน บรรดานางสัตว์เหล่านั้นเกิดตั้งครรภ์ จึงคลอดทารกชาย-หญิงในรอยเท้าของพวกตน ฤษียินดีรับเลี้ยงไว้เป็นลูก และเมื่อเด็กเหล่านั้นเติบใหญ่ ฤษีให้อยู่กินฉันผัวเมียกันเป็นคู่เป็นคู่ แล้วให้ปกครองหมู่บ้านแต่ละหมู่

นิทานหน้านี้ใครบ้างที่อ่านแล้วไม่สะดุ้งสะเทือน คนเขียนตำนานช่างตีค่าราคาของหญิงสาวพื้นเมืองซึ่งน่าจะเป็นชาวลัวะ-เม็ง-ขมุ ยุคพันกว่าปีเหล่านี้เสียต่ำต้อยเทียบได้กับ "สัตว์เดรัจฉาน" ตระกูลต่างๆ อุปโลกน์ให้เป็น ช้าง แรด วัว ตามสัญลักษณ์ Totem ไม้แกะสลักที่คนในสังคมบุรพกาลแต่ละหมู่บ้านนับถือ

ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริง พูดให้ง่ายขึ้นก็คือ บรรดาพราหมณ์นักพรตที่เข้ามาผจญภัยในดินแดนสุวรรณภูมิเหล่านี้ไม่ว่าจะเป็นพ่อค้าวาณิชหรือมิชชันนารีเผยแผ่ศาสนา ในขบวนเดินทางย่อมมีแต่บุรุษล้วนๆ ไม่ได้พกภรรยามาด้วย

เมื่อห่างไกลจากบ้านเมืองชมพูทวีปมานานเข้าๆ ก็เริ่มมีความปรารถนาทางเพศอย่างรุนแรง จึงได้สมสู่ (ขออนุญาตไม่ใช้คำว่า "สมรส") กับหญิงสาวพื้นเมืองผิวคล้ำที่ยังนับถือเทพเจ้าสัตว์ต่างๆ เมื่อหลวมตัวได้น้องนางบ้านป่ามาเป็นเมียแล้ว เป็นการยากเหลือเกินที่จะยกย่องให้เกียรติพวกนางในฐานะภรรยา ด้วยตระหนักว่าพวกตนเป็นชนชั้นพราหมณ์ ส่วนหญิงเหล่านั้นอยู่ในวรรณะศูทร อายแม้แต่จะบอกว่าได้หลับนอนร่วมเพศกับพวกเธอ

คำอธิบายประวัติศาสตร์หน้านี้ จึงเลี่ยงไปเขียนในทำนองว่า การที่พวกหล่อนเกิดตั้งท้องขึ้นมาได้นั้น เหตุเพราะดันมาดื่มกินน้ำเชื้ออสุจิจากรอยเท้าของสัตว์เองต่างหากเล่า หาได้เกิดจากการเสพสังวาสด้วยจิตปฏิพัทธ์ในฐานะมนุษย์กระทำกับมนุษย์ไม่

ทารกจัณฑาลหรือไพร่เหล่านั้นจึงถูกเรียกขานว่าเป็นพวก "สังเสทชะ" หรือ "โอปปาติกะ" คือเป็นวิญญาณเร่ร่อนที่ไม่มีใครตั้งใจให้มาเกิด

เรื่องราวการกดขี่ดูถูกคนพื้นเมืองเพศแม่ในลักษณะเช่นนี้เราสามารถพบเห็นได้ทั่วไป ดังเช่น การก่อเกิดอาณาจักรกัมพูชาก็เป็นอีกหนึ่งอุทาหรณ์ กล่าวว่าพวก "ขอม" หรือ "กรอม" คือผลผลิตจากการสมสู่ระหว่างเจ้าชายโกณฑิญญะจากอินเดียกับนางนาคโสมาวดี

อะไรทำนองนี้

คืออย่างไรเสีย ก็มิอาจยอมรับได้ว่าหญิงชาวบ้านผู้มีฐานะเป็นแม่ของลูกตนนั้น มีศักดิ์ศรีของมนุษย์ตัวเป็นๆ หากไม่เป็นช้าง ก็ต้องเป็น แรด วัว สมัน หรือไม่ก็งู

ตำนานเรื่องการกำเนิดมนุษย์ไพร่จากรอยเท้าสัตว์ในสุวรรณภูมินั้น บันทึกไว้โดยพวกพราหมณ์หรืออารยันในลักษณะการเหยียดผิวคนผิวดำว่าก่อนจะกลายมาเป็นชาวทมิฬหรือ "มิลักขุ-มิลักขะ" ในวรรณะศูทรนั้น เคยมีแม่เป็นสัตว์ที่เผอิญตั้งท้องโดยไม่มีพ่อมาก่อน

จากนั้นได้เล่าขานสืบต่อๆ กันมาในลักษณะมุขปาฐะ (Oral History)

จนกระทั่งพระภิกษุชาวล้านนาที่นับถือพระพุทธศาสนาสายลังกาวงศ์ราว 500 ปีก่อนได้เขียนตำนานพระเจ้าเลียบโลกขึ้นมาบ้าง โดยจงใจใช้บุคคลาธิษฐานให้ "รอยพระบาท" ของพระพุทธเจ้าเป็นเสมือนเครื่องมือลบรอยเท้าเดิมๆ ของพวกพราหมณ์ที่เคยเหยียบย่ำกดขี่ข่มเหงคนพื้นเมือง "ลูกไพร่ไม่มีพ่อ" ช่วยปลดปล่อยให้หายจากปมด้อยปมเขื่อง



ทั้งรอยพระบาทก็ดี หรือรอยเท้าสัตว์ตระกูลต่างๆ ก็ดี ทำไมต้องใช้ "รอยเท้า"?

หากมีเหตุการณ์เหล่านั้นเกิดขึ้นจริงในดินแดนสุวรรณภูมิ ราวสองพันกว่าปีที่ผ่านมา ก็ย่อมตรงกับยุคก่อนประวัติศาสตร์

แต่จะมีความเกี่ยวข้องอะไรกันไหมกับรอยเท้าบนแผ่นหิน เป็นเรื่องที่ชาวบ้านแม่ทากำลังรอคอยคณะนักโบราณคดีและนักวิชาการด้านอื่นๆ แบบสหสาขา มาทำการศึกษาพิสูจน์ด้วยใจระทึก

ยิ่งวันเวลาผ่านพ้นไป ชาวบ้านพรานป่ายังคงค้นพบรอยเท้าบนแผ่นหินตามซอกหลืบถ้ำลึกลับ เพิ่มจำนวนมากขึ้นอีกหลายจุด บางแหล่งปรากฏรอยเท้าช้าง รอยเท้าวัวขนาดใหญ่อยู่รอบนอก แล้วมีรอยเท้ามนุษย์เล็กๆ หลายรอยฝังอยู่ภายในรอยเท้าช้างและรอยเท้าวัวนั้น

ซึ่งชาวบ้านคอยรายงานให้ดิฉันทราบเป็นระยะๆ ว่าขณะนี้กำลังค้นหาร้อยเท้าแรดอีกตระกูลหนึ่ง!

นักโบราณคดีทั้งภาครัฐและเอกชน จะรอช้าอยู่ไย ใครสนใจร่วมไขปริศนา อยากพิสูจน์รอยเท้าบนแผ่นหิน เชิญแวะไปเยี่ยมชมได้ที่เนินหินด้านหลังวัดดอยสารภี ต.ทาสบเส้า อ.แม่ทา จ.ลำพูน ขอให้ผู้ใหญ่บ้าน (พ่อหลวง) นำทางไปก็ยิ่งดี จะได้ช่วยกันขบคิดให้แตกเสียทีว่า

รอยเท้าในตำนานของคนวรรณะจัณฑาลหรือชนชั้นไพร่ที่ถูกเรียกว่า "รอยเท้าสัตว์" นั้นยังหลงเหลือปรากฏให้เห็นอยู่จริงบนแผ่นหิน

หรือมิใช่?

.