http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2556-02-28

นิธิ: โพลและการเลือกตั้ง

.

นิธิ เอียวศรีวงศ์ : โพลและการเลือกตั้ง
ในมติชน ออนไลน์ วันจันทร์ที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556 เวลา 11:30:25 น.
จาก www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1361765214
( ที่มา  บทความกระแสทรรศน์  นสพ.มติชน รายวัน 25 ก.พ. 2556 )
( ภาพล้อเลียนจากเวบบอร์ดทั่วไป ไม่เกี่ยวกับผู้เขียนและมติชน )


ผมสงสัยว่าชนชั้นนำไทย โดยเฉพาะที่อยู่ในวงการเมืองและราชการ ดูจะอ่อนไหวกับผลสำรวจโพลผิดปกติธรรมดา ในขณะที่คนไทยทั่วไปก็ตอบสนองต่อโพลเหมือนคนในสังคมสมัยใหม่อื่นๆ คือมีผลต่อการตัดสินใจทางการเมืองบ้าง แต่ไม่มากนัก

โพลคือการสำรวจข้อเท็จจริงหรือความเห็นของคนทั้งสังคม แต่ทำโดยการเลือกสำรวจคนกลุ่มหนึ่งซึ่งคิดว่าสามารถเป็นตัวแทนของสังคมทั้งหมดได้ดี เป็นการสำรวจทางสถิติธรรมดาๆ ซึ่งเราก็ทำอย่างหยาบๆ ในชีวิตประจำวันเหมือนกัน เพียงแต่ผลที่ออกมาไม่ค่อยน่าเชื่อถือ เพราะกลุ่มคนที่เราเลือกมานั้นมักเป็นคนที่เรารู้จัก และด้วยเหตุดังนั้น จึงมักเป็นคนที่อยู่ในสถานภาพเดียวกันเท่านั้น หาได้เป็นตัวแทนของสังคมทั้งหมดไม่ หรือมิฉะนั้นก็เอาจากข่าวหนังสือพิมพ์ ซึ่งยิ่งเชื่อถือไม่ได้ เพราะสิ่งที่หนังสือพิมพ์รายงานนั้นเป็นเพียงหนึ่งในร้อยกรณี ซ้ำตัวรายงานเองยังใส่สีตีไข่เข้าไปอีกแยะ

หากการเลือกกลุ่มคนที่จะเป็นตัวแทนของสังคมทั้งหมดทำได้ดี มีจำนวนคนที่ถูกสำรวจมากพอ ตั้งคำถามที่ข้ามข้อยับยั้งทางวัฒนธรรมและการเมืองได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผลของการสำรวจข้อเท็จจริงมักฟังขึ้น เช่น สำรวจว่าผู้หญิงไทยในปัจจุบันก่อนจะถึงอายุ 50 มีผัวมากี่คนแล้ว คำตอบที่ได้มาก็น่าจะใกล้เคียงความจริง

แต่การสำรวจความคิดเห็น แม้ทำอย่างถูกหลักวิชาเพียงใด ก็ฟังได้ยากกว่าการสำรวจข้อเท็จจริงเสมอ เหตุผลง่ายๆ ก็เพราะขึ้นชื่อว่าความเห็นย่อมเปลี่ยนได้เสมอ ความเห็นบางอย่างก็เปลี่ยนได้รวดเร็ว บางอย่างก็อาจช้าหน่อย
ด้วยเหตุดังนั้น การทำโพลเกี่ยวกับความคิดเห็น เขาจึงมักทำเป็นระยะ เพื่อดูแนวโน้มทิศทางความเปลี่ยนแปลง เช่น ความเห็นเกี่ยวกับผู้สมัครรับเลือกตั้ง เป็นต้น


โพลเลือกตั้งจะมีผลต่อการตัดสินใจลงคะแนนของคนหรือไม่ มีน่ะมีแน่ครับ แต่มีไม่มาก และไม่ใช่การชี้นำแน่ เพราะไม่รู้ว่าจะชี้ไปทางไหน
โพลบอกว่า เบอร์นั้นเบอร์นี้จะชนะการเลือกตั้ง อาจทำให้ผู้นิยมอีกเบอร์หนึ่งซึ่งเคยเชื่อว่านอนมาแหงๆ พากันออกมาเลือกตั้งเพื่อช่วยผู้สมัครที่ตัวชื่นชอบกันเต็มที่ ในขณะที่ผู้นิยมผู้สมัครเบอร์ที่โพลทายว่านอนมาแน่ กลับไม่ออกมาลงคะแนน เพราะเชื่อว่าชนะแหงๆ อยู่แล้ว ผลเลยกลายเป็นตรงกันข้ามก็ได้

โพลก็คือโพลนะครับ ตอนสำรวจบอกว่าจะไม่ออกมาลงคะแนน แต่ผลโพลทำให้ต้องขมีขมันออกมาก็ได้


หนังสือพิมพ์ลงข่าวว่า กกต.สั่งห้ามทำโพลก่อนการเลือกตั้ง 1 สัปดาห์ หากสั่งจริงก็เป็นการลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนโดยไม่จำเป็น อยากทำก็ทำไปสิครับ ถ้า กกต.เชื่อว่าโพลมีผลต่อการตัดสินใจทางการเมืองของประชาชน ก็ห้ามได้เฉพาะการประกาศโฆษณาผลการสำรวจ ไม่ใช่ห้ามสำรวจ อย่างเดียวกับที่ปล่อยให้สำนักข่าวต่างๆ ทำเอ็กซิทโพลในวันเลือกตั้ง แต่ห้ามประกาศผลก่อนปิดหีบในเวลา 15.00 น.

ความระแวงสงสัยต่อการทำโพลนี้ ผมคิดว่าเป็นเรื่องเดียวกับความเชื่อเรื่องซื้อสิทธิขายเสียง คือทั้งสองอย่างนี้ประเมินการตัดสินใจของประชาชนในการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งไว้ต่ำมากๆ ความไม่เชื่อถือวิจารณญาณทางการเมืองของประชาชนนี่แหละ ที่เป็นฐานคิดสำคัญทั้งของรัฐธรรมนูญปี 40 และ 50 (เพียงแต่แสดงออกมาอย่างชัดเจนใน 50 มากกว่าเท่านั้น)

มีงานวิจัยเกี่ยวกับการตัดสินใจทางการเมืองของผู้บริหารระดับสูงในเมืองไทยอยู่บ้าง แต่เท่าที่ผมทราบไม่มีงานวิจัยทำนองเดียวกันเกี่ยวกับการตัดสินใจทางการเมืองของประชาชน ที่ใกล้เคียงคือการศึกษาเกี่ยวกับการตัดสินใจลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง (การเมืองในชีวิตจริงมีความหมายมากกว่าการเลือกตั้งมาก การไปหรือไม่ไปร่วมชุมนุมก็เป็นการเมือง แม้แต่ตัดสินใจไปช่วยงานแต่งงานลูกสาวใครบ้างก็เป็นการเมือง ถ้านิยามการเมืองว่าคือการต่อรองเพื่อเข้าถึงทรัพยากรในหลายลักษณะ)

แม้แต่สมัยที่เชื่อกันอย่างสนิทใจว่า ประชาชนโดยเฉพาะในต่างจังหวัด ตัดสินใจลงคะแนนเท่าไรขึ้นอยู่กับจำนวนเงินที่ได้จากการซื้อเสียง แต่งานวิจัยแม้ในสมัยนั้นก็ชี้ให้เห็นว่า กระบวนการตัดสินใจมีความซับซ้อนกว่านั้นมาก สายสัมพันธ์กับหัวคะแนนมีความสำคัญกว่าจำนวนเงิน นี่คือเหตุผลที่เจ้าบุญทุ่มแพ้เลือกตั้งมาแยะแล้ว เพราะจับสายของหัวคะแนนผิด เงินมีส่วนในการตัดสินใจอยู่บ้างก็จริง แต่มีความสำคัญน้อยกว่าสายสัมพันธ์เชิงเครือญาติ, เครือข่ายที่อาจเชื่อมโยงกับอำนาจ, ฯลฯ สรุปก็คือการตัดสินใจของประชาชนขึ้นอยู่กับว่า หากผู้สมัครที่ตัวเลือกได้รับเลือกตั้ง ตัวจะได้โอกาสเข้าถึงทรัพยากรมากขึ้นแค่ไหน

ไม่แตกต่างจากคนในสังคมประชาธิปไตยอื่นๆ การตัดสินใจลงคะแนนเสียงในการเลือกตั้งมีพื้นฐานอยู่ที่ผลประโยชน์ จะเป็นผลประโยชน์ทางวัตถุธรรมหรือนามธรรมก็ตาม แต่ผลประโยชน์คือพื้นฐานของการตัดสินใจทั้งนั้น



ความคิดว่า ผู้เลือกตั้งเข้าคูหาด้วยใจบริสุทธิ์ผุดผ่อง ปราศจากผลประโยชน์ใดๆ ทั้งสิ้น นอกจากผลประโยชน์ของประเทศชาติส่วนรวม เป็นความไร้เดียงสาที่เกิดขึ้นจริงแก่คนไร้เดียงสา หรือเป็นความไร้เดียงสาที่คนเจนโลกแสร้งทำ อันที่จริงแม้แต่ความคิดถึงผลประโยชน์ส่วนรวม ก็คือผลประโยชน์เชิงอุดมการณ์ของบุคคล

ผมไม่ปฏิเสธว่าผลประโยชน์เชิงอุดมการณ์นั้นมีพลังกำกับการตัดสินใจของคนได้สูง โดยเฉพาะในบางสถานการณ์ เช่นที่คนจำนวนมากเลือกพรรคเพื่อไทยจนได้ชัยชนะท่วมท้น ก็ไม่ใช่เพราะชอบพรรคเพื่อไทย แต่เพราะไม่ชอบประชาธิปัตย์ภายใต้ คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เสียจนไม่มีทางเลือกต่างหาก แต่ กกต.และรัฐธรรมนูญไม่เคยรังเกียจหรือกีดกันผลประโยชน์เชิงอุดมการณ์ให้มีผลต่อการเลือกตั้งเลย

หัวใจบริสุทธิ์ผุดผ่องในคูหาเลือกตั้งอย่างที่คิดฝันกันนั้น การเลือกตั้งก็เกือบจะเท่ากับการจับฉลากน่ะสิครับ

ผลโพลก็เหมือนกัน เป็นส่วนหนึ่งของข่าวสารข้อมูลที่ผู้เลือกตั้งใช้ในการตัดสินใจ และดังที่กล่าวแล้วว่าเป็นข่าวสารข้อมูลที่คาดเดาไม่ถูกว่าจะชี้นำไปทางใด เพราะผลของโพลไม่ได้เป็นข่าวสารข้อมูลอย่างเดียวที่ผู้เลือกตั้งมี เป็นเพียงส่วนเดียวเท่านั้น และเป็นส่วนเดียวที่เมื่อนำไปรวมกับข่าวสารข้อมูลอื่นๆ ที่มีอยู่ ก็อาจนำไปสู่การตัดสินใจได้หลายอย่าง


ถ้าไม่ใฝ่ฝันสิ่งที่เป็นไปไม่ได้คือหัวใจบริสุทธิ์ผุดผ่องของผู้เลือกตั้ง และไม่เหยียดวิจารณญาณทางการเมืองของผู้เลือกตั้ง ผลโพลไม่มีอันตรายอะไร โดยเฉพาะโพลที่ทำถูกต้องตามหลักวิชา (ส่วนผลโพลเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. จะทำถูกหลักวิชาหรือไม่ ผมไม่ทราบเพราะไม่ได้ไปขอดูกระบวนการของเขา แต่ทั้งสี่สำนักแสดงผลเหมือนกัน จะถูกจ้างวานทั้งสี่สำนักก็กระไรอยู่ แต่น่าประหลาดที่ผู้กล่าวหาไม่แคร์พอจะไปตรวจสอบกระบวนการของเขาเลย) โดยตัวของมันเองอย่างเดียว ไม่มีผลต่อการตัดสินใจของผู้เลือกตั้งแน่ แต่เมื่อรวมกับข่าวสารข้อมูลอื่นที่ผู้เลือกตั้งมีอยู่ ย่อมมีผลต่อการเลือกตั้งเป็นธรรมดา

แล้วจะให้คนเข้าคูหาโดยไม่มีข่าวสารข้อมูลเลยกระนั้นหรือ

สำนักโพลคงประสบความเดือดร้อนต่อไป หากยังทำโพลการเมือง (ซึ่งคงต้องทำ เพราะให้ผลดีต่อภาพพจน์ของสำนัก ซึ่งอาจเอาไปใช้เพื่อประโยชน์ทางธุรกิจได้) แต่ไม่ใช่เพราะนักการเมืองใจแคบหรือใจกว้าง แต่เพราะชนชั้นนำไทยไม่เชื่อในวิจารณญาณทางการเมืองของประชาชนต่างหาก



.

2556-02-23

ยุทธวิธีหาเรื่อง..ยุทธวิธีหาคะแนน 1,060,000 ฯ โดย มุกดา สุวรรณชาติ

.

ยุทธวิธีหาเรื่อง...ยุทธวิธีหาคะแนน 1,060,000
วิธีหาผู้ว่าฯ เพื่อแก้ปัญหากรุงเทพฯ
โดย มุกดา สุวรรณชาติ
ใน www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1361546408 . . 23 ก.พ. 2556  09:00:25 น.
จากคอลัมน์ หลักศิลากลางน้ำเชี่ยว มติชนสุดสัปดาห์ 22-28 ก.พ. 2556 ปีที่ 33 ฉบับที่ 1697 หน้า 20


ถึงวันที่ คน กทม. ต้องเลือก...
การบริหารพัฒนาเมือง หรือ เล่นการเมือง


8 ปีกับ 4 เดือน ที่ประชาธิปัตย์ (ปชป.) ส่งผู้ว่าฯ สองคนมาบริหารกรุงเทพมหานคร (กทม.) นับแต่ปลายเดือนสิงหาคม 2547 ผู้ว่าฯ อภิรักษ์ โกษะโยธิน ชนะเลือกตั้งครั้งแรก และลงแข่งอีกครั้งในปี 2551 ขณะที่เกิดเหตุการณ์ยึดทำเนียบ ปลดนายกฯ สมัคร สุนทรเวช แต่เมื่อชนะกลับอยู่ได้เพียงเดือนเดียวก็ต้องลาออกเพราะ ปปช. ชี้มูลความผิดคดีรถดับเพลิง

ช่วงนั้นการเมืองใหญ่กำลังวุ่นวาย มีการยึดสนามบิน ปลดนายกฯสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ยุบพรรคพลังประชาชน เปลี่ยนขั้วรัฐบาล ตั้งรัฐบาลใหม่ในค่ายทหาร ได้ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกฯ เมื่อธันวาคม 2551 หลังจากเป็นรัฐบาลไม่นาน ก็มีการเลือกตั้ง กทม. ในเดือนมกราคม 2552 และ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ก็ได้รับเลือกตั้ง เป็นผู้ว่าฯ กทม.
ปชป.จึงได้บริหาร กทม. อย่างต่อเนื่องและมีผลอย่างที่ทุกคนได้เห็นในทุกวันนี้



ผลงาน 8 ปีกว่าของ ปชป. ทำให้ประชาชนต้องตัดสินใจว่าจะเปลี่ยนผู้บริหารหรือไม่?

ถ้าดูจากการสำรวจความเห็นประชาชน จากสถาบันต่างๆ ที่อยากเลือก ผู้ว่าฯ กทม. ในวันที่ 3 มีนาคมนี้ ยังมีแนวโน้มที่เป็นไปได้ทั้งสองทาง

1. ถ้าคนกรุงอยากเปลี่ยนแปลง อยากทดลองฝีมือของคนใหม่ พล.ต.อ.ดร.พงศพัศ พงษ์เจริญ จะมีโอกาสมากที่สุด พงศพัศที่ดูแล้วน่าจะเก่ง เพราะเรียนเก่งได้ที่ 1 มาตลอด เป็นนักเรียนทุนไปเรียนถึงปริญญาเอกมาจากเมืองนอก พูดเก่ง ท่าทางคล่องแคล่ว ถึงเวลาทำงานจริง จะมีฝีมือบริหารเมืองได้แค่ไหน ทำได้สักกี่เปอร์เซ็นต์ของที่พูด เพราะถ้าได้เป็นผู้ว่าฯ ก็ต้องมีแรงหนุนจากรัฐบาลแบบเต็มลูกสูบ ดังนั้น จึงไม่มีข้อแก้ตัวใดๆ ถ้าทำงานไม่สำเร็จตามเป้าหมายที่พูดไว้ 
ถ้าคนกลางๆ ในกรุงเทพฯ พากันออกมาใช้สิทธิมากๆ เขาก็มีโอกาสสูงที่จะได้เป็นผู้ว่าฯ กทม.

2. แต่ถ้าคนกรุงเทพฯ เกิดกลัวเงายักษ์ ทักษิณ ชินวัตร ในหนังตะลุงที่ ปชป. เชิดออกมา เหมือนคนรุ่นก่อนเคยกลัวผีคอมมิวนิสต์ ไม่กล้าเปลี่ยนแปลง ก็จะต้องทนอยู่แบบ 8 ปี ที่ผ่านมา ซึ่งมีทั้งวิกฤติการเมือง วิกฤติของเมืองใหญ่ ปัญหาสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิต มีถนนที่เต็มไปด้วยรถติด มีทางเท้าที่เต็มไปด้วยแผงลอยร้านค้า มีคลองที่เต็มแต่น้ำเน่า

แม้ปัญหาเหล่านี้จะไม่สามารถแก้ไขได้โดยง่ายในเร็ววัน แต่ก็ต้องมีคนคิดวิธีแก้ไข กล้าแก้ไข กล้าลงทุน กล้าทำงานใหญ่ เพื่อลดปัญหาและเพิ่มคุณภาพชีวิตให้คนกรุงเทพฯ มิใช่ทำงานประจำไปวันๆ และสร้างปัญหาสะสมให้มากขึ้นเรื่อยๆ ในทุกๆ ปี

ช่วงเวลานี้จึงเป็นโอกาสเดียวเพราะอำนาจยังอยู่ในมือประชาชน การตัดสินใจเลือกอย่างมีเหตุผลเป็นวิธีเดียวที่จะเปลี่ยนกรุงเทพฯ ให้ดีขึ้น ถ้าพลาด ก็รอไปอีก 4 ปี



ปชป. ปรับยุทธวิธี ช่วงสุดท้าย

ผลสำรวจจากโพลหลายสถาบันและของภายในคู่แข่งขันต่างๆ พบว่า คุณชายสุขุมพันธุ์ที่สนับสนุนโดย ปชป. มีคะแนนตามหลัง พล.ต.อ.พงศพัศ จากเพื่อไทยมาโดยตลอด หลังจากทีมงาน ปชป. ประเมินว่ากำลังทางอากาศสู้ไม่ได้แน่นอน แต่ก็ยังมีความหวังเพราะผลการวัดทุกช่วงเวลาแม้ไล่หลังอยู่ แต่ถูกนำไม่ห่าง จึงมีการปรับยุทธวิธี ที่สังเกตได้ดังนี้

1. การหาเสียงด้วยการชูนโยบายทุกวันนี้เป็นการหาเสียงภาคบังคับ แต่คงเปลี่ยนเป็นคะแนนได้ไม่มาก เนื่องจาก ปชป.ไม่มีผลงานเด่นในอดีตที่ สะดุดใจ จนคนจำได้ แถมยังมีเรื่องบกพร่อง และปัญหาและคดีความค้างคามากมาย ตลอด 8 ปี พอเสนอนโยบายอะไรไป ชาวบ้านก็บอกว่า อยู่มา 4 ปี-8 ปี ทำไมไม่ทำ จะมาคิดทำอะไรตอนนี้ 
บอกว่าจะติดกล้องเพิ่มก็โดนต่อว่าเรื่องกล้องปลอม จะทำอุโมงค์ระบายน้ำเพิ่ม คนก็ไม่เชื่อว่าจะใช้แก้น้ำท่วมได้

สรุปว่าชาวบ้านส่วนใหญ่ขาดความเชื่อมั่นในการบริหาร เพราะไม่เห็นผลงาน การให้คุณชายชูนโยบายทุกวันนี้จึงเป็นงานประจำ ให้มีภาพและเป็นข่าว

2. เสริมจุดอ่อนเรื่องตัวบุคคล มีคนบางกลุ่มสรุปว่าที่คะแนนไม่ดี เป็นเพราะตัวคุณชายเอง แต่ไม่เคยโทษพฤติกรรมหรือแนวทางการเมืองของพรรคตลอด 6-7 ปี ที่ผ่านมา ว่าทำให้ประชาชนรู้สึกอย่างไร ในการหาเสียงช่วงนี้ บางจุดจึงใช้คนอื่นเช่นผู้ว่าฯ อภิรักษ์ นายกฯ อภิสิทธิ์หรือ ส.ส. จากภาคใต้ โดยคิดว่าจะได้คะแนนเท่ากับหรือดีกว่า ผู้ว่าฯ สุขุมพันธุ์ ในเชิงปริมาณอาจใช่ แต่มองอีกด้านหนึ่งเหมือนลดความสำคัญผู้สมัครลงไป
ที่จริงคุณชายพูดชัดเจนว่าที่อยู่ในพรรคทุกวันนี้ ไม่หนีไปไหน เพราะเชื่อมั่นอดีตนายกฯ ชวน หลีกภัย และที่บอกว่าอย่ามาดูถูกผม เพราะคุณชายไม่เคยคิดหักหลังพรรค แม้จะน้อยใจต่อเสียงดูถูกดูแคลนของคนบางกลุ่มที่นินทาลับหลัง ไม่ว่าเรื่องการกินการอยู่ การนอน ความคิด การพูดจา คุณชายอาจรู้สึกเจ็บใจที่การเลือกตั้งใหญ่ครั้งที่แล้ว เสี่ยงช่วยจนพลิกกลับมาชนะการเลือกตั้งในกรุงเทพฯ ได้หลายเขต แต่ผ่านมาถึงวันนี้ คนพวกนั้นกลับลืมความสามารถและความช่วยเหลือครั้งนั้นไปแล้ว

ทีมงานแก้ไข โดยใช้แกนนำพรรคที่เด่น ดัง หล่อ เข้าเสริมการหาเสียง และให้ผู้อาวุโสของพรรค ภาพในจอทีวีทุกวันนี้จึงเห็นการโชว์ตัวอภิสิทธิ์และอภิรักษ์มากขึ้น อาจจะมากกว่าผู้สมัครเสียอีก

3. ต้องหาเสียงจากจุดแข็ง คือใช้การเมือง สร้างความนิยมในกลุ่มคนที่มีแนวทางการเมืองเดียวกัน เก็บคะแนนจากคนที่เลือกข้างแล้ว ช่วงเวลานี้จึงคล้ายกับการเลือกตั้งใหญ่ จำเป็นต้องใช้ไม้เด็ดทางการเมือง ภายใต้วาทกรรม เผาบ้านเผาเมือง ทักษิณจะยึดกรุงเทพฯ หรือกล่าวหาอะไรที่แรงๆ แบบไม่ให้แก้ตัวทัน ซึ่งคาดว่าจะใช้แผนนี้ ก่อนเลือกตั้ง 2-3 วัน

ซึ่งดูเหมือน สุเทพ เทือกสุบรรณ จะทำหน้าที่ในการทดลองแผนนี้แล้ว โดยหวังว่าจะทำให้คนกรุงเทพฯ ลืมฝีมือบริหารช่วง 8 ปีกว่าของ ปชป. หวังให้คนกรุงเลือกโดยใช้การแบ่งสีแบ่งข้างมากกว่าให้ดูผลงานและนโยบายและตัวบุคคล

4. รุกทำคะแนนจากการจัดตั้ง หกสิบกว่าปีของการวางรากฐานพรรค ปชป. ตั้งแต่ นายควง อภัยวงค์ จนถึงปัจจุบัน รากฐานการจัดตั้งของพรรคที่เก่าแก่ที่สุด คือกรุงเทพฯ โดยเฉพาะในชุมชนเก่าแก่ของเมืองกรุง การทำคะแนนในวันจริงจากสายงานของพรรคเป็นจริงที่สุด แน่นอนกว่ากระแสการเมืองซึ่งไม่รู้ว่าที่ชอบ ที่เชียร์ ถึงวันจริงจะออกมาลงคะแนนหรือไม่

ที่สำคัญคราวนี้ไม่มีเลือกตั้งล่วงหน้า จะหวังตัวช่วยอื่นๆ คงมีโอกาสน้อย ดังนั้น จึงมีการระดมกำลังหัวคะแนน และกำลังจัดตั้งอย่างเต็มที่

สมาชิกพรรค, ส.ส., ส.ก. และ ส.ข. ของ ปชป. มีเป็นจำนวนมาก และได้ทำงานกับชุมชนต่างๆ ให้บริการมาแล้ว ติดต่อกัน 8 ปี จนรู้จักกันแบบเทศบาลต่างจังหวัด เอาเก้าอี้ไปช่วยเวลามีงาน มีงบประมาณช่วยปัญหาชุมชน พาไปสัมมนาชายทะเล ฯลฯ สภาพแบบนี้เหนือกว่าเพื่อไทยมาก นี่อาจเป็นการใช้ทรัพยากรใกล้เคียงหรือมากกว่า ศึกเลือกตั้งใหญ่ 2554 ถ้านับเฉพาะเขต กทม.


โดยสรุป ปชป. เชื่อว่าการประโคมเรื่องความขัดแย้งทางการเมือง ผ่านวาทกรรมต่างๆ จะดึงคะแนนฐานเสียงเดิมไว้ ซึ่งแน่นอนว่าฐานเสียงเชิงอุดมการณ์แบบบลูสกายไม่ไปไหนแน่ 

ทีมวิเคราะห์ประเมินว่าจะมีประมาณ 5 แสน ส่วนการใช้คะแนนจัดตั้งจากชุมชนต่างๆ คนส่วนนี้มีจำนวนไม่น้อย น่าจะได้คะแนนเป็นหลักแสน แต่คะแนนส่วนนี้ อาจซ้ำซ้อนกับคะแนนบลูสกาย 
วันนี้ทีมงานหาเสียง ปชป. ทำงานหนักกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา แต่ผลจะเป็นอย่างไรไม่รู้

ช่วงสุดท้ายของการศึก ปชป. กำลังท้าทายคนกรุงเทพฯ ให้ใช้ความคิดตัดสินใจเลือกระหว่างความกลัวทักษิณกับความต้องการเปลี่ยนแปลงของกรุงเทพฯ (แต่คนบางกลุ่มอาจกลัว ปชป. มากกว่าก็ได้)



เพื่อไทยยังขายความเชื่อมั่น ขายนโยบาย

การแพ้หรือชนะของพงศพัศ มีผลโดยตรงต่อการบริหารงานของรัฐบาลในขอบเขต กทม. และปริมณฑล เพราะสภาพจริงของพื้นที่ทั้งหมดเหมือนเมืองเดียวกันแล้ว เวลารถติดก็ติดข้ามจังหวัด การแก้ปัญหาต่างๆ จึงต้องคิดแบบต่อเนื่อง

ซึ่งตรงนี้แหละที่ทั้งคนกรุง และจังหวัดรอบๆ หวังให้ผู้ว่าฯ คนใหม่ และรัฐบาลแก้ไข การโฆษณานโยบายจึงได้ผล แต่คนรอบ กทม. ไม่มีสิทธิลงคะแนน อย่างมากก็ช่วยเชียร์ให้คนรอบข้างเห็นด้วย

วันนี้เพื่อไทยเดินตามยุทธศาสตร์ และทำทุกอย่างไปตามแผน ตามขั้นตอนที่วางไว้ ทีมวิเคราะห์มองว่าเพื่อไทยจะขี่กระแสไปจนถึงวันหย่อนบัตร มีการปรับยุทธวิธีเพียงเล็กน้อยที่ทำได้ตอนนี้คือ

1. เพิ่มบทบาทนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ในการหาเสียง เช่นเดียวกับแกนนำ ปชป. ดังนั้น พงศพัศ และนายกฯ ยิ่งลักษณ์ จะต้องเรียกร้องให้คนกรุงเทพฯ ออกมาลงคะแนนให้มากที่สุด เพื่อดึงคะแนนคนกลางๆ และคนที่อยากเปลี่ยนแปลง กทม.

2. เน้นการโชว์นโยบาย ทำให้ประชาชนเชื่อมั่นว่า ทำได้ และจะทำในอีกไม่นานนี้ แม้ยากก็จะประสานกับรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทำให้ได้ ถ้าถามประชาชน วันนี้พวกเขาจะบอกว่า พงศพัศอาจจะขยัน แต่ทำได้หรือไม่ขึ้นอยู่กับรัฐบาลเพื่อไทยที่จะสนับสนุนจนนำนโยบายมาปฏิบัติได้สำเร็จ นี่เป็นสิ่งที่เหนือกว่า ปชป. และจะทำคะแนนจากคนกลางๆ ได้มากขึ้น

3. การใช้กำลังภาคพื้นดินเพียงเพื่อกระตุ้นการลงไปลงคะแนน ส่วนคะแนนจัดตั้งหวังจาก ส.ส., ส.ก., ส.ข. ได้บ้างแต่มีกำลังน้อยกว่า ปชป. หลายเท่า หวังจากเสื้อแดงได้อีกจำนวนหนึ่งแต่จะได้มากน้อยแค่ไหนไม่รู้ เพราะตอนนี้มีการงอนกันเล็กน้อย ที่จริงทุกคนก็รู้ว่าถ้าชนะจะเป็นผลดีทางการบริหารและการเมือง ดังนั้น คะแนนจากส่วนนี้ยังไม่สามารถประเมินได้ชัดเจน

4. เฝ้าสังเกตการณ์การเลือกตั้ง ให้บริสุทธิ์ ยุติธรรมที่สุด จับตาทุกหน่วยเลือกตั้งทุกช่วงเวลา โดยเฉพาะช่วงชั่วโมงสุดท้าย และต้องระวังการถูกวางยา ทุกรูปแบบ จะได้ไม่มีการมาฟ้องร้องกันทีหลัง

เลขาฯ พรรค คุณภูมิธรรม เวชยชัย และกรรมการที่รับผิดชอบดูแลเรื่องเลือกตั้ง กทม.ทำอย่างเต็มกำลังได้เท่านี้ แม้นายกฯ ยิ่งลักษณ์และ พล.ต.อ.พงศพัศ ก็ทำอะไรไม่ได้มากกว่านี้ เพราะนี่เป็นการเลือกตั้งผู้บริหารเมืองใหญ่ จึงต้องฝากการชี้ชะตาไว้กับความคิดของคน กทม. ซึ่งมีการศึกษาสูงสุด รับรู้ข่าวสารมากสุด

เพียงแต่ต้องคอยลุ้นว่าจะมีคนออกมาใช้สิทธิมากพอที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงหรือไม่



ประเมินผลการศึก กทม. ช่วงสุดท้าย

ประเมินผู้มาใช้สิทธิ 53-62% ประมาณ 2.3-2.6 ล้านคน แม้ดูว่าการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ครั้งนี้คึกคัก แต่ทีมวิเคราะห์ดูจากข้อมูลการเลือกผู้ว่าฯ ในอดีต เทียบกับการเลือกตั้งใหญ่ 2554 ที่คึกคักมากกว่า ดังนั้น การประเมินความตื่นตัวของผู้มาใช้สิทธิขั้นสูงจึงน่าจะอยู่ที่ 60% ไม่ใช่ 70% อย่างที่ กกต. ตั้งเป้า

แม้คนกรุงเทพฯ มีสิทธิเลือกผู้ว่าฯ อยู่จังหวัดเดียว 4 ล้านกว่าคน แต่ที่ผ่านมามีเพียงครั้งเดียว ที่คะแนนของผู้ชนะถึงล้าน เป็นของผู้ว่าฯ สมัคร สุนทรเวช จึงเป็นสถิติที่ไม่สวยเท่าไรสำหรับ กทม. ครั้งนี้จึงหวังว่าคนจะมาใช้สิทธิถึง 60% และได้ผู้ว่าฯ ที่คะแนนเกินล้านอีกครั้ง

ที่จริงตลอดทั้งชีวิตคนเราจะได้ใช้สิทธิเลือกตั้งไม่กี่ครั้ง และการใช้เหตุผลในการเลือกจะมีส่วนสำคัญในการกำหนดอนาคตและวิถีชีวิตของประชาชนทั้งหมด แต่พวกเราชอบคิดว่านี่เป็นสิทธิของเราจะใช้หรือไม่ใช้ก็ได้ ซึ่งถูกเพียงครึ่งเดียว เพราะถ้าไม่ใช้อาจมีคนอื่นมาใช้แทน หรือผลการเลือกอาจเปลี่ยนไป อาจทำให้นโยบายที่ดีไม่เกิด เช่นรถไฟฟ้าที่จะผ่านหน้าบ้านไม่ได้สร้าง ไม่อยากได้ Sky walk 30,000 ล้านก็อาจจะได้


คะแนนของผู้สมัคร

คาดว่าผู้ชนะการเลือกตั้งเป็นผู้ว่าฯ กทม. น่าจะมีคะแนน 1,060,000-1,200,000 คะแนน ขึ้นอยู่กับจำนวนผู้ใช้สิทธิ 

คะแนนของผู้สมัครอิสระ บวกกับคะแนนกับตัวประกอบอื่นน่าจะมีถึง 6-700,000 คะแนน
คะแนนของผู้สมัครอิสระ มีความหมายทางการเมือง เพราะพันธมิตรหนุนเต็มตัว ส่ง ประพันธ์ คูณมี ลงเป็นรองผู้ว่าฯ ถ้าได้คะแนนถึง 300,000 ถือว่าแจ่ม เป็นการปูฐานทางการเมืองของผู้สมัครนั้น และแสดงว่า พันธมิตร ยังมีคนเชียร์อยู่ ตอนนี้วิเคราะห์ตามโพลจะได้คะแนน 180,000-200,000 ถึงวันเลือกอาจได้มากขึ้น

มีวิธีการวิเคราะห์และคำนวณคะแนนทุกตำแหน่งมีหลักการเหตุผลที่อธิบายได้ ซึ่งต้องใช้หลักวิทยาศาสตร์และผลการสำรวจของสำนักต่างๆ



ความรู้สึกของประชาชน...

"เราชื่นชมผู้สมัครทุกคนที่มาร่วมในการแข่งขันแบบประชาธิปไตย เราไม่ได้ดูถูกใคร แต่เราให้โอกาส มา 4 ปี 8 ปี แล้ว ยังไม่รู้สึกว่าบ้านเมืองดีขึ้น ไอ้เรื่องที่แย่ๆ ไม่อยากไปพูดถึง คราวนี้ควรให้โอกาสคนอื่นลองทำดูบ้าง อย่าเอาความกลัวทักษิณ หรือความขัดแย้งการเมือง มาขู่ชาวบ้านเลย คนที่ชนะเลือกตั้งไม่ใช่พวกปล้น กทม. มีแต่ชนะเลือกตั้งแล้วถูกปล้น ปล้นทั้งประเทศก็ทำมาแล้ว"

"แต่พวกเราเป็นคนธรรมดาที่อยากมีชีวิตที่ดีขึ้น เราไม่ใช่คนโง่ รู้จักดูคน ดูผลงาน ดูพรรค ดูนโยบาย รู้ว่าอะไรพอทำได้บ้าง อะไรทำได้ยาก พวกเราไม่เคยหวังว่าจะได้คนที่เก่งกาจมาเนรมิตเมืองในฝัน"

ภายในช่วงเวลาสั้นๆ พวกเราอยากได้คนเก่งพอประมาณ มีความตั้งใจ อดทนที่จะแก้ปัญหา ไม่โกง มีกำลังสนับสนุนที่จะทำงานตามนโยบายให้ได้ซักครึ่งเดียวก็พอ"



.
Admin ไม่สามารถเข้าถึงบทความประจำที่นำเสนอมาร่วม 2ปีเสียแล้ว จึงจะไม่ได้เสนอครบถ้วนเหมือนเคย ..ขออภัยผู้ติดตามทุกท่านด้วย

2556-02-21

อย่าดูถูก(กู)ประชาชน อย่าเสียค่าโง่ซ้ำซาก โดย มุกดา สุวรรณชาติ

.

อย่าดูถูก(กู)ประชาชน อย่าเสียค่าโง่ซ้ำซาก
โดย มุกดา สุวรรณชาติ
ใน www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1361364189 . . 21 ก.พ. 2556  08:03:21 น.
จากคอลัมน์ หลักศิลากลางน้ำเชี่ยว มติชนสุดสัปดาห์ 15-21 กุมภาพันธ์ 2556 ปีที่ 33 ฉบับที่ 1696 หน้า 20


ว่าจะไม่เขียนเรื่องซากโรงพัก 396 แห่ง แต่พอได้ยินว่าคนทำสัญญาไม่ผิดแต่รัฐบาลใหม่บริหารสัญญาไม่เป็นเอง ชาวบ้านก็อยากจะบอกว่า...อย่าดูถูกกู กูไม่โง่ และขอร้องว่าคนทำสัญญาอย่าแกล้งโง่ เพื่อจะเสียค่าโง่
คดีซากรถดับเพลิง, ซากโรงพัก 396 แห่ง และการต่อสัญญารถไฟฟ้า BTS เป็นบทเรียนการเสียค่าโง่ จากอดีต ปัจจุบันและจะเกิดขึ้นในอนาคต แต่อาจจะมิใช่ไม่มีฝีมือในการบริหารสัญญาอย่างที่คนของพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวอ้าง
แต่เป็นเพราะการมีผลประโยชน์ทับซ้อนในโครงการก่อนร่างสัญญา



โครงการสร้างโรงพัก 396 แห่งและแฟลต 163 แห่ง...
ค่าโง่ปัจจุบัน วงเงินหมื่นล้าน


ค่าโง่จากเรื่องนี้มิใช่มีเพียงแค่เงินและเวลา แต่คนที่อยากได้ส่วนแบ่งจากโครงการนี้ ไม่มีสามัญสำนึกและความรับผิดชอบต่อสังคม นำเอาความเดือดร้อนและความปลอดภัยของประชาชน กับตำรวจมาหาประโยชน์ เรื่องนี้จะเป็นตำนานของคนที่กล้าโกงตำรวจทั้งประเทศ

17 กุมภาพันธ์ 2552 ครม.ยุคนายกฯ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นคนอนุมัติหลักการสร้างโรงพักใหม่ทดแทนโรงพักที่เก่าเกิน 30 ปี ตามที่ สตช. เสนอมา หลังจากตั้งรัฐบาลในค่ายทหารได้ 2 เดือน 
18 พฤษภาคม 2552 พล.ต.ท.พงศพัศ พงษ์เจริญ ในฐานะที่ เป็น ผู้ช่วย ผบ.ตร. เป็นประธานกรรมการที่เสนอให้การประมูล สร้างโรงพักทดแทนโรงพักเก่า โดยแยกการเสนอราคาเป็นรายภาค (9 ภาค) พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผบ.ตร. และ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯ ปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรี เป็นผู้ลงนามรับทราบ..ถึงตรงนี้ทุกอย่างปกติ

18 พฤศจิกายน 2552 เวลาผ่านไป 6 เดือนเต็ม มีการสั่งยกเลิกการประมูลแบบเดิมที่แบ่งเป็น 9 ภาค ทั้งการสร้างโรงพัก 396 แห่ง วงเงินเกือบ 6,300 ล้าน และการประมูลสร้างแฟลตตำรวจ วงเงิน 3,700 ล้าน และให้เปลี่ยนเป็นการประมูลแบบใหม่ ให้เลือกผู้รับเหมารายเดียวทำทั้งประเทศ
ช่วงนั้นรัฐบาลเปลี่ยน ผบ.ตร. เป็น พล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐ ตั้งแต่เดือนตุลาคม และ พล.ต.ท.พงศพัศ ก็ไม่ได้เกี่ยวข้องแล้ว เรื่องนี้กลายเป็น พงศพัศเสนอวิธีที่ดีแต่ไม่ทำ กลับไปเปลี่ยนวิธี ทำให้เสียค่าโง่ โรงพักกลายเป็นตอ

1. ทำไมต้องเปลี่ยนให้มันยากขนาดนั้น ทำแล้วมีผลดีตรงไหน? ดีกับใคร?

2. ใครเป็นผู้อยู่เบื้องหลังคำสั่งยกเลิกการประมูลแบบ 9 ภาค และเปลี่ยนวิธีจัดจ้าง? 
อย่าอ้างว่า ตำรวจเสนอมาเพราะข้าราชการไม่ว่าใหญ่แค่ไหน ก็ไม่มีน้ำยาที่จะทำเรื่องแกล้งโง่ขนาดใหญ่อย่างนี้ได้ เรื่องนี้ทำไมรองนายกฯ สุเทพจึงไม่ค้าน มีแต่ผู้รับเหมาที่คัดค้าน แต่ผลสุดท้าย ทุกคนต้องยอมตามผู้มีอำนาจ

3. ทุกคนรู้แก่ใจว่าบริษัทเดียวไม่สามารถทำเสร็จให้ทันเวลาทั้ง 396 แห่ง แต่สามารถขออนุญาตให้มีคนรับช่วงงานได้ แต่ผู้ว่าจ้างต้องยอมอนุมัติ ดังนั้น คนที่กล้าประมูลงานนี้และรับงานไปทำ ต้องมั่นใจว่าตนเองเส้นใหญ่พอ ที่จะจ่ายงานให้ผู้รับเหมา รับช่วงต่อไปได้โดยได้รับอนุมัติ และถึงไม่ได้รับอนุมัติก็ไม่มีใครกล้ามายุ่ง

4. มีการเบิกเงินล่วงหน้าค่าก่อสร้าง 15% ซึ่งทำได้เพราะไปเขียนไว้ในเงื่อนไข ที โอ อาร์ในยุคของ พล.ต.ท.ธีรยุทธ กิติวัฒน์ โดยมี พล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐ รักษาการ ผบ.ตร. และ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯ ปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรี เป็นผู้ลงนามรับทราบ 
ผู้ประมูลงานได้จึงมีสิทธิเบิกเกือบ 900 ล้านไปใช้ แต่เบิกไปตั้งแต่เมื่อใด? ทำไมผู้รับเหมาจึงไม่ได้รับเงินเพื่อไปใช้ในการก่อสร้าง จึงต้องทิ้งงาน? เงินเดินทางไปเที่ยวที่ไหน? ต้องติดตาม

5. การขยายเวลาในสัญญา ...ไม่เพียงแต่สาเหตุเรื่องน้ำท่วม แต่การส่งมอบพื้นที่ล่าช้าของโรงพักหลายแห่ง เป็นข้ออ้างทำให้ผู้รับเหมาขอขยายเวลาเพื่อต่อสัญญา ตำรวจที่อยู่ในท้องที่แจ้งว่าเป็นเพราะหลายโรงพักไม่มีพื้นที่ว่างให้สร้างโรงพักใหม่ จำเป็นต้องรื้อโรงพักเก่า แต่ตำรวจต้องทำงานตามปกติ การขยับขยายพื้นที่เพื่อส่งมอบจึงไม่สามารถทำให้ได้ตามกำหนด เมื่อถูกเร่ง พวกเขาก็ต้องขยับขยายไปตามมีตามเกิด ผลสุดท้าย เมื่อโรงพักเก่าถูกรื้อ และโรงพักใหม่สร้างไม่เสร็จ สภาพการทำงานของตำรวจเหล่านั้น จึงอยู่ในสถานที่ที่ไม่เหมาะสม น่าอเนจอนาถเป็นอย่างยิ่ง

แต่จะเห็นว่าไม่ว่าจะส่งมอบพื้นที่เร็วหรือช้า ก็ไม่มีโรงพักไหนสร้างเสร็จเพราะเหตุผลหลักคือ ผู้ประมูลได้จ่ายเงินให้คนก่อสร้างจริงน้อยมาก ทุกคนจึงต้องทิ้งงาน

ส่วนเรื่องค่าปรับ อย่าไปฝัน...เพราะคนที่กล้าโกงตำรวจทั้งประเทศไม่คิดจะเสียค่าปรับอยู่แล้ว



รัฐบาลปัจจุบัน
บริหารสัญญาไม่เป็นเลยทำไม่เสร็จ จริงหรือ?


การที่ ปชป. อ้างว่า มีการเซ็นสัญญา สร้างโรงพัก 396 แห่ง ก่อนการเลือกตั้งปี 2554 ไม่กี่เดือน หลังจากนั้นมีเวลาเป็นปีที่รัฐบาลชุดใหม่ต้องไปหาวิธี บริหารสัญญา ตามงบประมาณและเวลา ให้บรรลุเป้าหมาย ห้ามมาโทษผู้เซ็นสัญญา
ถ้าเป็นแบบนี้ มีคนไปเซ็นสัญญาเสียเปรียบ สัญญาขี้โกง สัญญาที่ทำไม่ได้ รัฐบาลชุดถัดไปก็ต้องเตรียมจ่ายค่าโง่ทุกครั้งไป

ที่รัฐบาลชุดนี้ ยังไม่ยกเลิกสัญญา เพราะอีกเพียงเดือนเดียวก็จะหมดอายุสัญญา หลังจากนั้นควรจัดการฟ้องร้องหาคนผิดมาลงโทษ เรียกค่าเสียหายให้สมกับความเดือดร้อนของตำรวจและประชาชน
ส่วนสัญญาใหม่ ควรใช้การประมูลเป็นรายจังหวัด ซึ่งจะแก้ไขปัญหาได้อย่างรวดเร็ว ไม่ต้องผูกพันกัน ทั้งงบประมาณและเวลา


ตัวอย่างการบริหารสัญญา 
การซื้อรถและเรือดับเพลิง
...การเสียค่าโง่ในอดีต 6,687 ล้าน...


เรื่องฝีมือการบริหารการจัดซื้อจัดจ้างตามสัญญา ต้องมาดู 8 ปี กทม. ในยุค ปชป.ได้แสดงฝีมือให้เห็นในการซื้อรถและเรือดับเพลิงมูลค่า 6,687 ล้าน เดิมเรื่องนี้เป็นแค่ข้อตกลงแบบ AOU ต่อเนื่องมาจากสมัยสมัครเป็นผู้ว่าฯ จึงสามารถที่ยกเลิกสัญญาได้ไม่กระทบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ 
แกนนำ ปชป. เวลานั้น ก็เห็นว่าไม่ควรเปิด L/C แต่สุดท้ายผู้ว่าฯ อภิรักษ์ โกษะโยธิน ก็ตัดสินใจเปิด L/C ในปี 2548 มีแกนนำ ปชป. โวยวายกันอยู่พักหนึ่งและก็เงียบไป แต่เรื่องนี้ถูกกลบด้วยความขัดแย้งทางการเมือง และการรัฐประหาร ในปี 2549 จนกระทั่งมีการส่งมอบรถดับเพลิง แต่มีปัญหายาวนานต่อเนื่อง


รถและเรือจึงถูกจอดทิ้งไว้อยู่ที่ท่าเรือแหลมฉบังมาประมาณ 6 ปีแล้ว ข้ามมาจนหมดสมัย ผู้ว่าฯ สุขุมพันธุ์ และ กทม.ก็จ่ายเงินเป็นงวดๆ ตามสัญญาให้กับบริษัทสไตเออร์จนครบ 6,687 ล้านบาท บริษัทไทยและคนติดต่อ ก็รับค่านายหน้าไปแล้ว 
แต่ปัจจุบันรถและเรือดับเพลิง ไม่สามารถนำมาใช้ปฏิบัติการได้ และ กทม. ยังค้างจ่ายค่าภาษีศุลกากรอีกประมาณ 1,300 ล้านบาท


ตอนรับรถก็อยู่ในสภาพใหม่ แต่จอดตากแดดตากฝนมา 6-7 ปี สภาพวันนี้ไม่มีใครรู้ว่าจะใช้ได้หรือไม่ แถมต้องเสียค่าเช่าที่อีก
เรื่องนี้คงต้องตกไปอยู่ในมือผู้ว่าฯ คนที่จะชนะเลือกตั้ง ซึ่งจะต้องถูกกล่าวหาว่าไม่สามารถบริหารจัดการให้ดีอีกตามเคย ทั้งๆ ที่ ปชป. บริหารอย่างสุดฝีมือมาตั้งแต่เป็นรถจนกระทั่งกำลังจะกลายเป็นเศษเหล็ก


ดังนั้น ผู้ว่าฯ คนต่อไปต้องแสดงฝีมือบริหารเศษเหล็ก 6,687 ล้าน ให้เป็นประโยชน์สูงสุด



อย่าดูถูกว่าเราไม่รู้
เรื่อง ค่าโง่ในอนาคต กรณีต่อสัญญา BTS 190,000 ล้าน


เรื่องในอดีตทำให้ต้องคาดการณ์เรื่องอนาคต ที่ กทม. ต่อสัญญาจ้างบริหารกับ BTS ล่วงหน้า 17 ปี ทั้งๆ ที่ควรจะทำในวาระของผู้ว่าฯ คนใหม่ถัดจากนี้ไปอีกสองสามคนคือในระยะเวลา 10-12 ปีข้างหน้า 
แต่วันนี้มีการต่อสัญญาไปแล้ว โดยไม่รู้ว่าอนาคตอีก 17 ปีข้างหน้า เทคโนโลยีจะพัฒนาล้ำหน้าไปแค่ไหน อาจมีผู้มารับจ้างที่มีเทคโนโลยีที่ดีและถูกกว่าก็ได้ แต่เมื่อต่อสัญญาไปแล้ว ทำให้ผู้บริหาร กทม. และรัฐบาลในอนาคตต้องเตรียมใจรับปัญหา


รีบต่อสัญญาทำไม?

ค่าจ้างบริหาร 190,000 ล้าน ทั้งส่วนต่อขยายและของเดิมซึ่งจะหมดสัญญาอีก 17 ปี จะได้รับการต่อสัญญาไปหมดพร้อมกันในอีก 30 ปีข้างหน้า ทำไมไม่ต่อสัญญาของส่วนต่อขยายเพียงแค่ 17 ปี จะได้หมดสัญญาพร้อมกันใน 17 ปีข้างหน้า
เพราะนี่คือการชิงความได้เปรียบของ BTS ที่ชิงยึดศูนย์กลางของกรุงเทพฯ ซึ่งเจริญที่สุดไว้ในมืออีก 30 ปี

จะเกิดอะไรขึ้นใน 5-10 ปี ข้างหน้า คือ กทม.และปริมณฑล จะมีเครือข่ายรถไฟฟ้าของรัฐบาล ทั้งเหนือดินและใต้ดินทั่วไปหมด ไปไกลถึงบางบัวทอง บางแค ปากน้ำ ลาดพร้าว บางกะปิ ศรีนครินทร์ ฯลฯ คนบางแคมาบางกะปิได้ด้วยรถไฟฟ้า
แต่บริเวณกลางเมือง เป็นเขตสัมปทานของ BTS ไปแล้ว อาจจะมีปัญหาเรื่องการแบ่งผลประโยชน์ถ้าใช้ตั๋วระบบเดียว ถ้าต่างระบบค่าโดยสารก็ต่างและยุ่งยาก

ตรงนี้จะเห็นว่าถ้าวันนี้ ต่อสัญญาเพียงแค่ 17 ปี อีก 10 ปีข้างหน้า BTS สัญญาจะเหลือแค่ 7 ปี ใกล้ระยะเตรียมการต่อสัญญาพอดี อีกทั้งอาจจะมีรายอื่นๆ ซึ่งบริหารรถไฟฟ้าสายอื่นอยู่เป็นตัวเลือก ทำให้เกิดการแข่งขันและต่อรองได้ ทั้งค่าจ้าง ค่าโดยสาร
แต่การต่อสัญญาอีก 30 ปี จะทำให้อำนาจการต่อรองของรัฐลดลงทันทีเพราะ BTS จะเหลือสัญญาอีก 20 ปี ยังมีอีกหลายเรื่องที่คิดว่าหลังการสอบสวนจะรู้มากขึ้น เช่น รายได้

ที่ประชาชนสงสัยไม่ใช่เรื่องที่ว่า กทม. มีอำนาจทำหรือไม่ แต่พวกเขาสงสัยว่าการรีบร้อนต่อสัญญาครั้งนี้แกล้งโง่หรือเปล่า?


ใครได้ประโยชน์?

คาดว่าค่าโง่ในอนาคตจากเรื่องนี้ จะเป็นทั้งเรื่องเทคโนโลยีและค่าโดยสารทั้งระบบ แต่อาจมีค่าโง่บางส่วนอาจถูกจ่ายตั้งแต่วันนี้แล้ว อย่าคิดว่าชาวบ้านและคนที่กำลังตรวจสอบไม่ได้กินข้าว

ทั้งเรื่องรถดับเพลิง, โรงพัก 396 แห่งและต่อสัญญา BTS เป็น ค่าโง่ ในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต ที่ผิดพลาดซ้ำซาก มิใช่เป็นความไร้ฝีมือของคนรับผิดชอบ แต่เพราะการมีผลประโยชน์ทับซ้อนในโครงการก่อนร่างสัญญา และระบบตรวจสอบ ที่ไม่มีประสิทธิภาพและเอียงข้าง

เรื่องฝีมือการบริหารสัญญา ของ ปชป. ถ้าจะยกมาอีกคงต้องทำเป็นเล่ม เรื่องใหญ่คือการบริหาร ปรส. ที่ขายทรัพย์สินของชาติ 851,000 ล้าน ให้ฝรั่งไปเพียง 190,000 ล้าน หรือเรื่องเล็กอย่างการบริหารสัญญาก่อสร้างสนามฟุตซอลที่หนองจอก การติดตั้งกล้องวงจรปิด

ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งมากไปจึงไม่อยากพูดถึง
แต่วันนี้ดูเหมือนทีมงานหาเสียง ออกแนวมวยวัดเอาจุดอ่อนไปปะทะ แบบนี้จบเร็วแน่



การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.
ปชป. จะแลกหมัด...ตอนกระแสตก


ขอปิดท้ายด้วยข่าวศึกชิงผู้ว่าฯ
สองยกแรกผู้ท้าชิงทำคะแนนชนะอย่างเอกฉันท์ ฝ่ายแชมป์เก่าออกอาการนิดๆ พี่เลี้ยงฝ่ายแชมป์ก็เลยสั่งลุยแลกหมัดตั้งแต่ยกสาม ดังนั้น จึงมีผู้คิดเกมแลกหมัดขึ้นมา...เกมลากพงศพัศไปโยงกับคดีสร้างโรงพัก 396 แห่ง แต่ระวังศอกกลับ เกมนี้สงสัยว่า ผลการปะทะจะทำให้พี่เลี้ยงของ ปชป.บาดเจ็บทั้งค่าย

วันนี้สิ่งที่คุณชายควรให้ทีมหาเสียงของ ปชป. ทำคือ หาเสียงอยู่ในกรอบของการเมือง กทม. และโจมตีให้น้อยที่สุดเพราะเมื่อออกนอกกรอบ เข้าสู่การเมืองแบบเลือกข้าง อาจถูกใจคนกลุ่มเดิมที่เลือก ปชป. อยู่แล้ว แต่ไม่ได้คะแนนเพิ่ม และจะเสียคะแนนคนกลางๆ หรือบางคนจะไม่ออกมาลงคะแนนให้เลย เรื่องการโจมตีให้น้อยเป็นเพราะทั้งคุณชายและ ปชป. มีแผลบาดเจ็บเต็มตัว ถ้าฝ่ายตรงข้ามโต้ตอบกลับมา อาการเจ็บช้ำจะกำเริบและอาจเสียหายไปถึงคนอื่นๆ ด้วย


ผู้ช่วยคุณชายหายไปไหน?
คำถามนี้ยังไม่มีใครตอบได้จริงๆ มีแต่คนคาดว่า ตำแหน่งรองผู้ว่าฯ ของคุณชาย ถ้าชนะเลือกตั้ง จะต้องถูกแบ่งสรรให้หลายฝ่ายตามที่ตกลงกัน คนที่คิดว่าไม่ได้ตำแหน่งก็เลยเงียบหายไป

และวันนี้ผู้ช่วยขาเก่าของคุณชายบางคนอาจจะแอบหัวเราะอยู่ในใจที่เห็นสไตล์หาเสียงแบบอ้างการเผาบ้านเผาเมืองและทักษิณจะยึด กทม. แล้วอ้างการซื้อเสียง 
พวกเขานึกถึงนักการเมืองรุ่นเก่าบางคนที่ไร้วิสัยทัศน์ แต่ไม่อาจเปลี่ยนอะไรได้มาก

บางทีการจากไปอย่างเงียบๆ จะดีที่สุดแถมปลอดภัยจากการเป็นเป้าทางคดีต่างๆ

พวกเขาจะปล่อยให้พวกหัวรุนแรงแลกหมัดและแพ้น็อกอย่างสะใจ



.
Admin ไม่สามารถเข้าถึงบทความประจำที่นำเสนอมาร่วม 2ปีเสียแล้ว จึงจะไม่ได้เสนอครบถ้วนเหมือนเคย ..ขออภัยผู้ติดตามทุกท่านด้วย

2556-02-13

จาก“เทียนวรรณ” “นรินทร์กลึง” ถึง“สมยศ”กบฏบรรณาธิการ โดย เพ็ญสุภา สุขคตะ ใจอินทร์

.

จาก “เทียนวรรณ” “นรินทร์กลึง” ถึง “สมยศ”กบฏบรรณาธิการ
โดย ดร.เพ็ญสุภา สุขคตะ ใจอินทร์ www.facebook.com/pensupa.sukkatajaiinn
ในมติชน ออนไลน์ วันที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556 เวลา 23:59:59 น.
ที่มาจากคอลัมน์ ปริศนาโบราณคดี มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับประจำวันที่ 8-14 กุมภาพันธ์ 2556
( ภาพจาก http://blogazine.in.th/blogs/somyot-redpower/post/3972 )


ผลการตัดสินของศาลชั้นต้นที่มีคำพิพากษาให้จำคุก นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ "วอยซ์ออฟทักษิณ" ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เป็นเวลา 10 ปี บวกกับโทษกรณีหมิ่นประมาท พลเอกสพรั่ง กัลยาณมิตร อีก 1 ปี รวมเป็น 11 ปีนั้น

"ความผิดอันสืบเนื่องมาจากความคิด ควรได้รับการลงทัณฑ์เยี่ยงอาชญากรคดีอุกฉกรรจ์หรือไม่"? กลายเป็นประเด็นคำถามร้อนแรงของสังคมไทย
แม้กระทั่งบอ.กอ. เครางาม "สุชาติ สวัสดิ์ศรี" และคณะยังได้จัดทำ "คำแถลงการณ์จากผู้ประกอบวิชาชีพบรรณาธิการ" ตั้งข้อสังเกตว่า การตัดสินคดีนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข ครั้งนี้เป็นตัวอย่างการสาธิตการขยายขอบเขตการใช้อำนาจตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 
รวมถึงการไม่ควรสร้าง "บรรยากาศแห่งความกลัว" ต่อบรรณาธิการทุกค่ายทุกสีที่มีความเห็นต่างหรือเห็นพ้อง ในฐานะที่ทุกคนมีสิทธิขั้นพื้นฐานของพลเมืองในอารยประเทศ

ตัวอย่างเหตุการณ์ของ "กบฏบรรณาธิการ" หรือการที่บรรณาธิการถูกกล่าวหาปรักปรำให้เป็น "กบฏต่อแผ่นดิน" เคยมีมาแล้วหลายครั้งหลายหน ในที่นี้ดิฉันจะขอหยิบยกเพียงกรณีของ "เทียนวรรณ และ "นรินทร์กลึง" มาเป็นอุทาหรณ์



เทียนวรรณ ฝันเห็น "ฟรี" และ "ปาลิเมนต์"


คําว่า "ฟรี" ในสมัยที่เทียนวรรณมีชีวิตอยู่ (ระหว่างปลายสมัยรัชกาลที่ 3-6 พ.ศ.2385-2458) นั้นยังไม่มีคำแปลเป็นไทยว่า "เสรีภาพ" ทำให้บทกวีหรือบทความของเทียนวรรณจึงใช้คำว่า "ฟรี" ทับศัพท์แทนความหมายของ "เสรีภาพ" ทุกแห่ง
อาจกล่าวได้ว่าเทียนวรรณเป็นบุคคลรายแรกๆ ของสยามที่กล้าคิดกล้าฝันถึงคำว่า "เสรีภาพ" ทั้งๆ ที่ยังอยู่ในยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ซึ่งราษฎรยุคนั้นยังเต็มไปด้วยทาสและไพร่ แต่เทียนวรรณก็กล้าฝัน 

"การให้พลเมืองได้เรียนรู้มาก กับการให้พลเมืองมี "ฟรี" จะเป็นเครื่องชักนำส่วนหนึ่งให้ชาติไทยผูกมิตรกับนานาประเทศได้ง่ายเข้า" เป็นข้อเรียกร้องของเขาที่ขอให้ประชาชนได้มีเสรีภาพ (มีฟรี) ในการศึกษาเล่าเรียนมากกว่าที่เป็นอยู่

ข้อเขียนอีกชิ้น เป็นเสมือนปณิธานของเขา "ตราบใดที่ยังมีลมหายใจอยู่ ก็จะบากบั่น เขียน พูด เพื่อชาติบ้านเมืองไปจนกว่าจะสิ้นลมหายใจ จนกว่าจะโปรดให้ราษฎรเป็นฟรีแล้ว"

บรรยากาศแห่งการเรียกร้อง "ฟรี" ของปัญญาชนสยามโดยมี "เทียนวรรณ" เป็นหัวหอกนั้น สุดท้ายก็นำไปสู่การบัญญัติศัพท์คำว่า "เสรีภาพ" ขึ้นมาในสมัยรัชกาลที่ 6

"เสรีภาพ" มีขึ้นใช้ในภาษาไทยเนื่องจากภาวะสงครามโลกครั้งที่ 1 โดยพระมหาธีรราชเจ้ารัชกาลที่ 6 ทรงบัญญัติคำนี้ขึ้นเพื่อแปล Freedom จากภาษาอังกฤษขึ้นใช้เป็นครั้งแรก ปรากฏในพระราชนิพนธ์เรื่อง "เสรีภาพแห่งทะเล" ภายใต้พระบรมนามาภิไธย "รามจิตติ" 
กล่าวถึงกฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วย "เสรีภาพ" ในการเดินเรือของทุกชาติที่เป็นคู่สงครามกันในทะเลหลวงอันไม่มีประเทศใดเป็นเจ้าของ ว่าต่างฝ่ายต่างได้รับเสรีภาพในการคุ้มครองดูแลเท่าเทียมกัน 
นี่คือจุดเริ่มต้นของคำว่า "เสรีภาพ" ที่นำมาใช้อย่างกว้างขวางแทนคำว่า "ฟรี" ที่เทียนวรรณเรียกร้องมาทั้งชีวิต แม้เพิ่งจะมาบัญญัติขึ้นภายหลังจากที่เขามรณกรรมไปแล้วก็ตาม

เช่นเดียวกับคำว่า "ปาลิเมนต์" เป็นอีกคำที่ชาวสยามยุคเขายังไม่รู้จัก และไม่เคยมีการบัญญัติศัพท์ภาษาไทยจนกว่าจะถึงสมัยรัชกาลที่ 7

มูลเหตุแห่งการเรียกร้อง "ปาลิเมนต์" ของเทียนวรรณ หนุนเนื่องมาจากความไม่พอใจในขบวนการยุติธรรมของบ้านเมือง ที่ปล่อยให้ศาลสถิตยุติธรรมมีอำนาจมากเกินเหตุในการพิจารณาความอาญาและความแพ่ง โดยปราศจากกระบวนการตรวจสอบ
จึงทำหนังสือถึงล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 5 ขอให้แต่งตั้งองคมนตรี และเสนาบดี (รัฐมนตรี) เข้าไปช่วยกำกับดูแลถ่วงดุลอำนาจการออกกฎหมายของฝ่ายศาลบ้าง ในรูปแบบที่เรียกว่า "ปาลิเมนต์" ซึ่งอาจจะยังไม่ใช่ระบอบรัฐสภาเต็มรูปแบบดังที่เราเข้าใจกันในยุคปัจจุบัน 

ด้วยความคิดหัวก้าวหน้าล้ำยุคสมัยเทียนวรรณจึงถูกฝ่ายอนุรักษ์ประณามว่า "เป็นพวกชอบชิงสุกก่อนห่าม" หรือ "อย่าเพิ่งฝันถึง "ปาลิเมนต์" เลยตราบที่ประเทศนี้ราษฎรยังขาดการศึกษาและยังยากจนอยู่" 
โดยที่บุคคลเหล่านั้นไม่เคยย้อนถามตัวเองกลับว่าใครเป็นผู้อยู่เบื้องหลังที่คอยถ่วงรั้งให้ราษฎรของประเทศนี้จมจ่อมอยู่กับสภาพไร้การศึกษาและโง่จนเจ็บ!

อาการชิงสุกก่อนห่ามของเทียนวรรณหรือนามจริง "นายเทียน วัณณาโภ" บอ.กอ.นิตยสาร "ศิริพจนภาค" แห่งย่านสี่กั๊กเสาชิงช้า ถนนบ้านตะนาว ที่กล้าวิพากษ์วิจารณ์ระบบสังคมทาสในสยาม ความไม่เป็นธรรมระหว่างชาย-หญิง และอยากให้ประชาชนมี "ฟรี" กับ "ปาลิเมนต์"

นำไปสู่ข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ถูกจองจำกักขัง "ฟรี" อยู่ในคุกนานถึง 17 ปี ทั้งในฐานะนักโทษการเมือง และในฐานะนักเขียน บรรณาธิการที่เป็นกบฏต่อแผ่นดิน



นรินทร์กลึง ถึงจะขวางโลก แต่ก็ต่อสู้เพื่อคนรากหญ้า

อีกหนึ่ง "กบฏ บอ.กอ." ที่โลกต้องจารึกนามไว้ในฐานะคลื่นลูกที่สองของปัญญาชนสยามที่กล้าท้าทายอำนาจแผ่นดินต่อเนื่องจาก "เทียนวรรณ" คลื่นลูกแรก ก็คือผู้ใช้นามว่า "นรินทร์ ภาษิต" แต่ผู้คนเรียกเขาว่า "นรินทร์กลึง"

เหตุที่เรียกว่านรินทร์กลึงก็เพราะชื่อเดิมของเขาคือ "กลึง" เด็กชาวสวนเมืองนนท์ ถือกำเนิดในปีที่ 7 แห่งการครองราชย์ของรัชกาลที่ 5 เคยรุ่งโรจน์ถึงขนาดเป็นเจ้าเมือง (ผู้ว่าราชการจังหวัด) ปราจีนบุรี ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ "พระพนมสารนรินทร์" ด้วยวัยเพียง 39 ปีเท่านั้น
แต่ด้วยบุคลิกขวานผ่าซาก พฤติกรรมประหลาดที่ทำท่าคล้ายว่าจะเพี้ยนหรือขวางโลกตลอดเวลานั้น กอปรกับมีฝีปากกล้า ชอบวิจารณ์สิ่งที่ไม่เห็นด้วยอย่างตรงไปตรงมา ไม่เกรงใจหน้าอินทร์หน้าพรหมที่ไหน ทำให้เส้นทางชีวิตราชการประเภทต้องยอมไหลตามน้ำนั้นต้องสะดุดลงโครม

เขาเป็นอีกผู้หนึ่งที่ถูกทางการดำเนินคดีด้วยข้อหา"กบฏภายในที่เขียนข้อความเป็นปฏิปักษ์ต่อความสงบเรียบร้อยของประเทศ" อันเป็นคดีเดียวกันกับบุคคลร่วมสมัยที่คนล้านนาให้ความเคารพเลื่อมใสอย่างสูงสุดคือ "ครูบาเจ้าศรีวิชัย"

ทั้งครูบาเจ้าศรีวิชัยและนรินทร์กลึง ต่างก็ได้ผ่านห้วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงจากยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในสมัยรัชกาลที่ 5-6 มาสู่ยุคการปกครองของคณะราษฎร ในสมัยรัชกาลที่ 7-8 ครูบาเจ้าศรีวิชัยได้เรียนรู้แบบอย่างการต่อสู้ของ "กบฏพญาผาบ" นักต่อสู้เพื่อชาวนาแห่งบ้านสันทราย เช่นเดียวกับการที่นรินทร์กลึงได้ศึกษานิตยสาร "ศิริพจนภาค" ตามแนวทางที่เทียนวรรณวางไว้

เมื่อไม่มีระบบราชการมาค้ำสถานภาพ นรินทร์กลึงก็ประกาศตัวเป็นอิสระจากพันธะทางรูปแบบทั้งมวล เขาโกนผมครึ่งศีรษะเฉพาะด้านขวาด้านเดียว แต่ด้านซ้ายปล่อยยาว ไปไหนมาไหนนุ่งผ้าแดงจนเป็นยูนิฟอร์ม แถมยังเอารูปวาดของพระเจ้าตากสินมาแขวนคออีกด้วย
ชีวิตของนรินทร์กลึงโลดโผนน่าตื่นเต้นจนไม่อาจสาธยายได้หมดในพื้นที่อันจำกัดนี้

ขอยกตัวอย่างกรณีที่น่าสนใจยิ่งคือเขาจัดการบวชลูกสาวทั้งสองเป็นสามเณรี แน่นอนว่าย่อมเกิดการงัดข้อกับมหาเถรสมาคม แต่เขาให้เหตุผลว่า เป็นการเรียกร้องสิทธิธรรมให้แก่สตรีเพศมีความทัดเทียมกับชาย แถมยังออกนิตยสารชื่อ สารธรรม ในนามของพุทธบริษัทสมาคม เปิดโปงวงการสงฆ์อันเสื่อมทรามในทำนอง "สอนสังฆราช" จนต้องเข้าไปนอนในคุกอยู่ 2 ปีกว่า
เขาเปิดหนังสือพิมพ์อีกหลายฉบับ อาทิ เหมาะสมัย เสียงนรินทร์ ในฐานะนักเขียนและบรรณาธิการ รวมทั้งตั้งพรรคการเมืองชื่อ "พระศรีอาริย์" ซึ่งถูกมองว่าเป็นพรรคที่มีอุดมการณ์ไปในทางคอมมิวนิสต์

ประเด็นสำคัญที่ทำให้นรินทร์กลึงถูกรัฐจับตามองความเคลื่อนไหวในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพก็คือเขาได้เรียกร้องให้มีการคลี่คลายปมปัญหากรณีสวรรคตรัชกาลที่ 8 ให้ปรากฏชัดเจน โดยได้เลียนแบบ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) พรหมรํสี แห่งวัดระฆังโฆสิตาราม ที่เคยถือตะเกียงคบเพลิงเข้าไปยังเขตพระราชฐานของล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 4 กลางวันแสกๆ ในช่วงที่บ้านเมืองเต็มไปด้วยบรรยากาศอึมครึม
เช่นเดียวกับนรินทร์กลึงที่ใช้สัญลักษณ์นี้ ถือตะเกียงเจ้าพายุจุดไฟออกไปเดินตามท้องถนนชุมชนต่างๆ ทั่วเมืองในเวลากลางวัน พร้อมตะโกนว่า บ้านนี้เมืองนี้มันช่างมืดมนจริงโว้ย!

ผลงานที่คนไทยทั้งประเทศโดยเฉพาะคนรากหญ้าเป็นหนี้นรินทร์กลึงก็คือเขายอมอดข้าว 21 วันประท้วงรัฐบาลขอให้ยกเลิกการเก็บภาษีค่ารัชชูปการและการบังคับเกณฑ์แรงงานคนที่ไม่มีเงินไปทำงานแทน อันเป็นการต่อสู้เรียกร้องมาตั้งแต่ยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์แล้ว แต่ไม่เป็นผลสำเร็จ

เมื่อเห็นว่ารัฐบาลยุคคณะราษฎรมีพื้นฐานมาจากประชาชนรากหญ้าเหมือนกัน นรินทร์กลึงจึงหยิบปัญหานี้มาปัดฝุ่นอีกครั้งด้วยการแจกใบปลิว "ไทยไม่ใช่ทาส" ขอให้ยกเลิกการบังคับเก็บเงินรัชชูปการหรือภาษี 4 บาท จากคนยากคนจนเสีย โดยเปรียบเปรยว่าการกระทำดังกล่าวนี้ "เหี้ยมโหดยิ่งกว่ามหาโจร เพราะโจรจะไม่ปล้นคนจน แต่จะปล้นเฉพาะคนมั่งมี"
ข้อความจากใบปลิวแผ่นนั้นทำให้นรินทร์กลึงถูกจับเข้าคุก (ตามระเบียบ) 2 ปีแถมเพิ่มโทษอีก 8 เดือนฐานที่ติดคุกหลายครั้งแล้วไม่ยอมหลาบจำ

"คนเราจับสัตว์มาขังกรงได้ ถึงแม้จะเลี้ยงให้กินดีกว่าอยู่ในป่า สัตว์ก็ไม่รู้สึกขอบคุณหรือชื่นชมยินดีอย่างใด จะมาทุกข์โศกไปไย" นรินทร์กลึงจึงเอาชีวิตเข้าแลกด้วยการอดอาหารนานถึง 21 วัน จนกระทั่งรัฐบาลยุคพระยาพหลพลพยุหเสนา อดรนทนไม่ไหว จำยอมยกเลิกการเก็บเงินรัชชูปการนั้น


เมื่อทบทวนดูเส้นทางชีวิตของนักคิด นักเขียน บรรณาธิการในสายการเมืองนับแต่ เทียนวรรณ นรินทร์กลึง มาจนถึง สมยศ พฤกษาเกษมสุข เห็นได้ว่าประเทศไทยยังไม่เคยให้ "ฟรี" (เสรีภาพ) แก่ปัญญาชนหัวก้าวหน้า ในการวิพากษ์วิจารณ์สังคมด้วยมุมมองที่เห็นต่างจากผู้มีอำนาจเลย

นอกเหนือไปจากคำพูดเดิมๆ ที่ว่า "สมน้ำหน้า ไอ้พวกนี้มันชอบชิงสุกก่อนห่าม"


* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

ร่วมคลิกไลค์เป็นแฟนเพจมติชนสุดสัปดาห์ผ่านทางเฟซบุ๊กได้ที่ www.facebook.com/matichonweekly



.
Admin ไม่สามารถเข้าถึงบทความประจำที่นำเสนอมาร่วม 2ปีเสียแล้ว จึงจะไม่ได้เสนอครบถ้วนเหมือนเคย ..ขออภัยผู้ติดตามทุกท่านด้วย

2556-02-10

ร้อนแรง-ท้าทาย วิพากษ์ “สื่อไทย-เทศ” กรณีจำคุก “สมยศ” จาก แมลงวันในไร่ส้ม

.

ร้อนแรง-ท้าทาย วิพากษ์  “สื่อไทย-เทศ” กรณีจำคุก “สมยศ”
ใน www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1360499753
. . 10 ก.พ. 2556 22:35:36 น.
จากคอลัมน์ แมลงวันในไร่ส้ม มติชนสุดสัปดาห์ 8-14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556 ปีที่ 33 ฉบับที่ 1695 หน้า 78


กรณีศาลอาญาจำคุก สมยศ พฤกษาเกษมสุข 10 ปี ในความผิดมาตรา 112 ยังเป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์
และมีความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจหลายเหตุการณ์


ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มบรรณาธิการสำนักพิมพ์ ที่นำโดย สุชาติ สวัสดิ์ศรี ที่ออกมาตั้งข้อสังเกตต่อการลงโทษสมยศ 
นอกจากนี้ ในงานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ ธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ได้มีการกางป้ายผ้าขนาดใหญ่ มีข้อความ Free Somyot บนอัฒจันทร์ กลางสนามศุภฯ  กลายเป็นประเด็นน่าสนใจ ยิ่งกว่าขบวนล้อการเมือง

ที่หลายคนเห็นว่า ไม่น่าจะใช่ความคิดของนิสิตนักศึกษาที่ทำกิจกรรมการเมือง

องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนในไทยนั้นชัดเจนมาแต่ไหนแต่ไรว่า มี "เงื่อนไข" ในการปกป้องสิทธิ
เช่นเดียวกับองค์กรสื่อของประเทศไทยก็เข้าใจได้ไม่ยากเช่นเดียวกัน จาก "จุดยืน" ที่แสดงออกอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ก่อนรัฐประหาร 2549 ไปจนถึงการเข้าเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการหลัง 2549


แม้แต่สื่อต่างประเทศในประเทศไทย ภายใต้ชื่อ สโมสรผู้สื่อข่าวต่างประเทศในไทย (FCCT-The Foreign Correspondents" Club of Thailand) ก็ไม่ได้ออกมาแสดงท่าที และถูกวิพากษ์วิจารณ์จาก "แอนดรูว์ แม็กเกรเกอร์ มาร์แชล" 
โดยมี ซับเอดิเตอร์ชาวต่างประเทศของเดอะเนชั่น พยายามเข้าไปชี้แจง และถูกโต้กลับอีกครั้ง




วันศุกร์ 1 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เว็บไซต์ข่าวประชาไท เสนอข่าว "โฆษกรัฐบาลสหรัฐชี้ไทยควรพิทักษ์เสรีภาพการแสดงออกตามหลักสากล" 
และเว็บข่าวไทยอีนิวส์ได้นำมาเสนอต่อ มีเนื้อหาบางตอนดังนี้


วิกตอเรีย นูแลนด์ โฆษกรัฐบาลสหรัฐได้ตอบคำถามจากสื่อในระหว่างการแถลงข่าวที่ทำเนียบขาว ณ กรุงวอชิงตัน ในประเด็นนายสมยศว่า สหรัฐอเมริกามีความเป็นห่วงเป็นอย่างยิ่งต่อการตัดสินคดีดังกล่าว และกระตุ้นให้ทางการไทยพิทักษ์เสรีภาพในการแสดงออกตามพันธกรณีระหว่างประเทศ 
"แน่นอนว่าไม่มีใครควรถูกจำคุกจากการแสดงความคิดเห็นอย่างสันติ และเราได้กระตุ้นอย่างสม่ำเสมอ, ทั้งในทางส่วนตัวและสาธารณะ, ให้ทางการไทยรับรองว่า การแสดงออกไม่ใช่อาชญากรรม และพิทักษ์เสรีภาพในการแสดงออกตามพันธกรณีของไทยในทางสากล" นูแลนด์ กล่าว

เว็บข่าวยังระบุว่า ชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ประธานสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ตอบคำถามในระหว่างการสัมมนาเรื่องเสรีภาพในการแสดงออกที่สหภาพยุโรปเมื่อวันอังคารที่ผ่านมาว่า สมาคมยังสนับสนุนเสรีภาพในการแสดงออก 
แต่การแสดงออกนั้นต้องอยู่ภายใต้กฎหมายไทย ส่วนการตัดสินคดีเรื่องมาตรา 112 จะเป็นธรรมหรือไม่ ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง 

"เรื่องที่ว่าทำไมไม่ได้ออกแถลงการณ์ เรื่องนี้ไม่ได้หยิบยกมา เพราะยังมีความสับสนว่าอะไรเป็นสื่อ ไม่เป็นสื่อ ยังถกเถียงกันภายในสมาคมอยู่ แต่ได้คุยเบื้องต้นว่า สิ่งที่เราต้องพิทักษ์คือสื่อที่นำเสนอรอบด้าน แต่ถ้าสื่อใดจะมีวัตถุประสงค์ทางการเมืองของกลุ่มทางการเมือง เราก็ไม่สามารถคุ้มครองได้" ชวรงค์ กล่าว

ในข่าวเดียวกัน ยังมีคำให้สัมภาษณ์ของ นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ที่กล่าวว่า ในขณะนี้ กสม. กำลังอยู่ในระหว่างการหารือภายในเรื่องการออกแถลงการณ์ หลังจากที่ได้รับจดหมายสอบถามจากสมาคมนักข่าวเรื่องท่าทีต่อกรณีสมยศ
นพ.นิรันดร์ กล่าวว่า ในฐานะส่วนตัวได้ช่วยเป็นนายประกันและพยานในกรณีการไต่สวนของนายสมยศ และได้ติดตามเข้าเยี่ยมในเรือนจำ แต่ในฐานะองค์กรสามารถทำได้เพียงเท่านี้



ประเด็นเป็นสื่อหรือไม่ใช่สื่อ และข้อความบางตอนในแถลงการณ์ บ.ก.สำนักพิมพ์ ที่ สุชาติ สวัสดิ์ศรี ระบุว่า วอยซ์ออฟทักษิณ ของสมยศ เป็นสื่อเอียงข้างมากกว่าสื่อที่เป็นฐานันดรที่ 4


มีคอมเมนต์จากเฟซบุ๊กของ เกษียร เตชะพีระ ว่า "สื่อเลือกข้างเราคุ้มครอง? สื่อเลือกข้างอื่นไม่คุ้มครอง?" 
พร้อมกับรายละเอียดว่า "...ถ้าการเลือกข้างเป็นเกณฑ์แบ่ง Voice of Thaksin กับ ASTV/Manager ก็เป็นสื่อเลือกข้างเหมือนกันนะครับ เพียงแต่เลือกคนละข้างเท่านั้นเอง" 
"ทำไมจึงถูกปฏิบัติต่อต่างกัน...? เพราะเลือกข้างเรากับเลือกข้างอื่นหรือ?"

"สื่อเลือกข้างเป็นธรรมดาโลก พอๆ กับสื่อที่ตัดสินใจไม่เลือกข้างใดข้างหนึ่งในคู่ขัดแย้ง แต่เสนอมุมมองอื่น จากจุดยืนอื่นในสังคม (ในสังคม ไม่จำต้องมีจุดยืนแค่ 2 ฝ่ายที่ขัดแย้งกัน เพราะมีหลายกรณีขัดแย้งที่ถูกประเมินวัดต่างๆ กันไป)..."

ปัญหาแท้จริงจึงไม่ใช่เลือกหรือไม่เลือกข้าง แต่คือรักษาหรือละเมิดจรรยาบรรณของวิชาชีพสื่อมวลชน (เช่น ไม่โกหก ลงข่าวเท็จ ชวนให้ไขว้เขว ยุให้คนฆ่ากันแบบศาลเตี้ย ฯลฯ) และหลักสิทธิเสรีภาพของตนเองและเคารพสิทธิเสรีภาพของผู้อื่น

หากยังอยู่ในกรอบของจรรยาบรรณวิชาชีพ สิ่งที่เขาทำนั้นก็ควรได้การคุ้มครอง ในทางกลับกัน หากสิ่งที่เขาทำล่วงละเมิดกรอบจรรยาบรรณวิชาชีพสื่อมวลชน ล่วงละเมิดสิทธิเสรีภาพของผู้อื่น ต่อให้ไม่เลือกข้างหรือเลือกข้างเราหรือข้างใดก็ตาม ก็ไม่ควรไปคุ้มครอง แต่ควรประณาม และหันมาคุ้มครองคนอ่าน, ผู้อื่นที่ถูกสื่อรังแก ไม่ใช่หรือครับ?

อ.เกษียณ ยังระบุว่า ตรรกะเดียวกัน ขณะที่ สุชาติ สวัสดิ์ศรี กล่าวถึง "Voice of Taksin" ว่า "เอียงข้างไปทางตัวบุคคลและกลุ่มการเมืองกลุ่มหนึ่งมากกว่าเป็นสื่อมวลชนในความหมายของฐานันดรที่ 4" ชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ประธานสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย บอกว่า "ยังมีความสับสนว่าอะไรเป็นสื่อ ไม่เป็นสื่อ...สิ่งที่เราต้องพิทักษ์คือสื่อที่นำเสนอรอบด้าน แต่ถ้าสื่อใดจะมีวัตถุประสงค์ทางการเมืองของกลุ่มทางการเมือง เราก็ไม่สามารถคุ้มครองได้" 
"เป็นตรรกะที่...(pathetic) มาก เป็นความใจแคบของวงการนิเทศศาสตร์ไทยที่มองว่า สื่อต้องไม่เอียงข้างทางการเมือง..." เกษียณ ชี้

ก่อนวิพากษ์ต่อไปว่า ทั้งๆ ที่ในตัวตนที่เป็นจริงของทั้งสองคนนี้ หรือคนอื่นๆ เคยทำงานกับสื่อที่ไม่เอียงข้างทางการเมืองจริงหรือ

ไทยรัฐของชวรงค์ไม่เอียงข้างเลยนะ เดลินิวส์ไม่เอียงข้างหาประชาธิปัตย์เหรอ สยามรัฐของคุณชายคึกฤทธิ์ไม่เอียงข้างเหรอ แนวหน้าไม่เอียงข้างเหรอ โพสต์ทูเดย์ล่ะ ฯลฯ ASTV เป็นไง พวกนี้ไม่เอียงเลยนะ

รถ ASTV ถูกยิง สมาคมคุณชวรงค์ออกแถลงการณ์ให้คุ้มครองเสรีภาพสื่อ แต่บรรณาธิการถูกตัดสินจำคุก ทั้งๆ ที่ไม่เขียนบทความ คุณบอกว่าเขาไม่ใช่ "สื่อ"!


นั่นคือส่วนหนึ่งของวิวาทะที่ต่อเนื่องจากกรณี "สมยศ"

ดุเดือด และ "ท้าทาย" หลักคิดของคนในวงการสื่ออย่างแหลมคม



.

2556-02-06

ขอโทษนะ โดย คำ ผกา

.

ขอโทษนะ 
โดย คำ ผกา
ที่มา “คำ ผกา” เขียนถึงกรณีสมยศและนักโทษการเมือง “ขอโทษนะ-ประชาชนเขาไม่ยอมอีกต่อไปแล้ว”
ในมติชน ออนไลน์ วันที่ 06 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556 เวลา 06:00:00 น.
จาก บทความ "ขอโทษนะ" มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับประจำวันที่ 1-7 กุมภาพันธ์ 2556
ภาพจากเพจ Chulalongkorn Community for the People (CCP)



เปรยกับเพื่อนหลายคนว่า "ไปไม่เป็นแล้ว" สำหรับการเฝ้ากระตุกให้สังคมไทยตระหนักถึงปัญหาสำคัญของประเทศไทยนั่นคือ ภาวะที่เรากำลังเดินออกห่างจากหลักการประชาธิปไตยสากลจนกลายเป็นความแปลกหน้าต่อกันอย่างสิ้นเชิง

หลายๆ คนบอกว่า เมืองไทยมีปัญหาไม่มีพื้นที่สำหรับคน "คิดต่าง"-เรื่อง "คิดต่าง" ตามหลักสากลที่สังคมพึงมีขันติธรรมต่อคนคิดต่างนั้น ออกจะกลับตาลปัตรกับสังคมไทยอยู่มาก

เช่น สังคมที่ยึดถือคุณค่าของประชาธิปไตย ต่างเห็นพ้องต้องกันว่าคนรักประชาธิปไตยซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศพึงมีขันติธรรมต่อคนที่ไม่เชื่อในประชาธิปไตย อาจจะเชื่อในสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เชื่อในเผด็จการ เชื่อในแนวคิดของการปฏิเสธอำนาจรัฐโดยสิ้นเชิง
หรือสังคมที่คนส่วนใหญ่นับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก การเคารพคนคิดต่าง อาจหมายถึงการเคารพคนที่นับถือศาสนาอื่นๆ ที่ไม่ใช่คาทอลิก หรือเคารพคนที่ไม่นับถือศาสนา

สำหรับฉันนี่คือหลักการของการมีขันติธรรมต่อคนที่คิดต่าง

แต่ในสังคมไทยกลับตาลปัตร เพราะคน "คิดต่าง" ในสังคมไทยนั้นมักเป็นคนที่มีความคิดเหมือนคนในนานาอารยประเทศ อันไม่จำเป็นต้องมี "ขันติ" ให้เป็นพิเศษ เพราะเป็นความคิดที่ไม่ได้มีพิษมีภัยอะไร 
ยกตัวอย่างง่ายๆ เช่น ในบริบทของสังคมไทยคนที่ถูกเรียกร้องให้ได้รับความเป็นธรรมและขันติธรรมจากสังคมคือ คนที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย สิทธิ เสรีภาพ เช่น การบอกว่า "คุณสมยศไม่ได้ทำอะไรผิด เขาแค่คิดต่าง"

หากการต่อสู้เพื่อสิทธิ เสรีภาพในสังคมไทยกลายเป็นความ "คิดต่าง"
นั่นแสดงว่าเราได้ยอมรับโดยดุษฎีว่าสังคมไทยเป็นสังคมที่ปฏิเสธคุณค่าประชาธิปไตย และหลักสิทธิมนุษยชนที่เป็นสากล เท่ากับเราได้ยอมรับไปโดยไม่รู้ตัวว่าสังคมของเราเป็นสังคมอนารยะ ป่าเถื่อน เพราะมีแต่สังคมที่ป่าเถื่อนเท่านั้นที่เห็นว่าต้องมีขันติธรรมให้กับความ "อารยะ" และมีแต่สังคมเผด็จการเท่านั้นที่เห็นว่าต้องมีขันติธรรมต่อความเชื่อเรื่องประชาธิปไตย 

(ซึ่งย้อนแย้งอย่างมาก เพราะมีแต่หลักการของประชาธิปไตยเท่านั้นที่มีหลักประกันความปลอดภัยให้กับคนที่คิดต่าง แต่ในสังคมที่ไม่เป็นประชาธิปไตยย่อมไม่มีการให้คุณค่าเรื่องขันติธรรมต่อความคิดต่างโดยปริยาย
เมื่อเป็นดังนี้คุณสมยศและคนอื่นๆ ที่คิดเหมือนคุณสมยศจึงติดคุก)


ในกรณีของ สมยศ พฤกษาเกษมสุข ซึ่งองค์กรระหว่างประเทศที่กังวลเรื่องสิทธิมนุษยชนล้วนแต่เต้นเร่าและตบอกผาง แสดงความกังวลอย่างลึกซึ้งต่อสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในเมืองไทย แต่คนไทยกลับไม่กังวลต่อเรื่องนี้เท่ากับนโยบายรถคันแรกทำให้รถติดวายป่วงหรือการจำนำข้าวจะทำให้มีเมล็ดข้าวท่วมทับหัวคนไทยจนมิดหัวมิดหู มีข้าวชื้น ขึ้นรา น่าละอาย ขายไม่ออก
จากวันนั้นถึงวันนี้ดูเหมือนประชาชนผู้ตื่นรู้ทางการเมืองเหล่านี้จะลืมไปแล้วว่าจำนำข้าวคืออะไร? และไม่ได้สนใจอีกต่อไปแล้วว่าข้าวในสต็อกของรัฐบาลจะขายออกหรือไม่ เพราะติดนิสัยเป็นกระต่ายตื่นตูมดราม่าป้อน feed ในเฟซบุ๊กกันไปเป็นวันๆ


มันน่าตระหนกมากสำหรับสังคมที่อวดอ้างความเป็นเมืองที่เคร่งครัดต่อศรัทธาทางศาสนา สังคมที่มักโอ่อวดความศรัทธาความดี จริยธรรม ศีลธรรม สังคมที่หนังสือเบสต์เซลเลอร์ของทุกสำนักพิมพ์คือหนังสือธรรมะ และหนังสือที่มุ่งชำระความผุดผ่องทางจิตวิญญาณ สังคมที่สัดส่วนของทรัพยากรจำนวนมหาศาลถูกนำไปใช้ในการสร้างสถานปฏิบัติธรรม รูปปั้น รูปเคารพบูชา อาราม ไม่รวมถึงกิจกรรมส่งเสริมการบุญบูชาที่มีอย่างหลากหลาย และมีพลังในการสร้างสรรค์กิจกรรมรูปแบบใหม่ออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง

สังคมเดียวกันนี้เอง ที่เพิกเฉยต่อความไม่เป็นธรรมที่เพื่อนมนุษย์ด้วยกันต้องเผชิญ และมีจำนวนไม่น้อยที่ไม่เพียงแต่เพิกเฉยแต่ผสมโรงสมน้ำหน้า บ้างถึงขั้นสาปแช่งให้ไปตาย



ไม่แต่กรณีสมยศ หลังการสลายการชุมนุม มีคนถูกจับเข้าคุกเพราะการกระทำอันมีมูลเหตุมาจากแรงจูงใจทางการเมืองจำนวนมาก และในจำนวนมากของจำนวนมากนั้นมิได้กระทำความผิดร้ายแรงอย่างที่ถูกกล่าวหา บ้างเป็นแค่ไทยมุง บ้างถูกหิ้วไปซ้อม บังคับให้รับสารภาพในชั้นพนักงานสอบสวน
จำนวนมากเป็นคนชายขอบของชายขอบซึ่งไม่อาจมีต้นทุนทางสังคมใดๆ มาปกป้องพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตนเอง เช่น เป็นคนจน เป็นโนบอดี้ไม่มีใครรู้จัก เป็นแค่คนหาเช้ากินค่ำ บ้างเป็นคนพิการแต่ถูกจับยัดอาวุธกล่าวหาว่าเป็นผู้ก่อการร้าย 
แน่นอนนี่คือกลไกการหาแพะมาสังเวยความสาแก่ใจของสังคมที่ลุซึ่งอำนาจ ลุ่มหลงในตนเอง โลกแคบ และขาดการศึกษา

เรื่องราวที่แสนสะเทือนใจและสะเทือนโครงสร้างทางสังคม (หากตั้งเป้าเอาไว้ว่าอยากสร้างสังคมที่เป็นธรรม อยากลดความเหลื่อมล้ำทางอำนาจอย่างที่พวกคนดีกินภาษีบาปมักสำรอกออกมาเป็นนิตย์) เหล่านี้กลับไม่เคยมีพื้นที่สำหรับ "ส่งเสียง" ของพวกเขาออกมาในสื่อไม่ว่าจะเป็นสื่อเสรี สื่อฟรี สื่อสาธารณะ ที่สำรอกคำว่าศีลธรรม ความดีงาม พลังของคนเล็กๆ ออกมาวันละห้าเวลาหลังอาหาร หลังตื่นนอน และก่อนนอน

ราษฎรอาวุโส, พระนักกิจกรรมเพื่อสังคม, นักรณรงค์ต่อสู้เพื่อสิทธิของสื่อ, นักสิทธิมนุษยชน และผู้รักความเป็นธรรม เกลียดนักการเมือง เพรียกหาพลังภาคประชาชน ภาคประชาสังคม ทั้งหลาย-กี่ปีแล้วที่พวกท่านนั่งเป็นพระอิฐพระปูน เป็น "ทอง" ไม่รู้ร้อน ต่อความฉ้อฉลในโครงสร้างทางการเมืองและความยุติธรรมที่เกิดขึ้นซึ่งๆ หน้า 
และเรียกประชาชนที่มีอุดมการณ์ทางการเมืองแตกต่างจากคุณว่าพวกเผาบ้านเผาเมือง เป็นขี้ข้าทักษิณและ "ไม่ดี" พอที่จะเป็น "ภาคประชาชน"


ทุกวันนี้ "ประชาชน" กลุ่มหนึ่งต้องติดคุก และถูกปฏิเสธสิทธิพื้นฐานที่ประชาชนทุกคนพึงมีนั่นคือสิทธิในการประกันตัว-คนเหล่านี้ถูกปฏิเสธครั้งแล้วครั้งเล่า แต่เท่าที่ได้ยินจากพวกท่านคือ "ความเงียบ" 
เงียบราวกับว่าเราอยู่คนละโลกและคนเหล่านี้มิได้อยู่ในข่ายของความยุติธรรมที่มนุษย์ทั่วไปพึงได้รับ


เหตุผลง่ายๆ ที่ไม่มีใครยอมรับอย่างกล้าหาญ คือเพียงเพราะเขามีจุดยืนทางการเมืองต่างกับพวกท่าน ท่านก็ไม่เห็นเขาเป็นคน ไม่มีพวกเขาอยู่ในสายตา ไม่มีค่าพอที่ท่านจะออกมาปกป้องแม้ว่าการปกป้องพวกเขาจะเท่ากับการปกป้องและยืนยันในหลักการของความเป็นธรรมที่พวกท่านเพรียกหา หรือแม้แต่หน้าด้านสถาปนาตัวเองเป็นตัวแทนแห่งความเป็น "ธรรม" 
ถ้าคนเหล่านี้ยังมีความละอายอยู่บ้าง น่าจะซื่อสัตย์กับตัวเองพอที่จะไม่เรียกตัวเองว่านักสิทธิมนุษยชน หรือกรรมการสิทธิมนุษยชน

แต่เรียกตนเองให้ถูกต้องตามความเป็นจริงว่า "คณะกรรมการทำลายสิทธิมนุษยชนให้สิ้นซากเพื่อต่อต้านความมั่นคงของระบอบประชาธิปไตยและสกัดกั้นความเข้มแข็งของประชาชนในทุกวิถีทาง" หรือ "คณะกรรมการส่งเสริมเผด็จการแห่งชาติ"



สื่อที่อ้างตัวเป็นสื่อสาธารณะน่าจะประกาศตัวชัดเจนไปเลยว่าเป็นสื่อที่รังเกียจประชาธิปไตยที่มาจากการเลือกตั้ง ปรารถนาประเทศที่ปกครองโดยเอ็นจีโออาวุโสเพราะเชื่อมั่นในคุณธรรมความดีของคนที่ทำมาหากินจากอาชีพ "ช่วยชาวบ้าน"

เราอาจเรียกการปกครองระบอบนี้ว่า เอ็นจีโอธิปไตย ก็ไม่เห็นแปลกอะไรหากชอบในหลักคิดและวิธีการทำงานของพวกเขาอย่างแท้จริง ส่วนจะปกครองประชาชนได้อย่างไรก็ต้องหาวิธีจัดการล้างสมองประชาชนให้เชื่องกันเอง
-และอาจจะยากนิดหน่อย เพราะที่เห็นทุกวันนี้ก็พยายามทำอยู่ไม่สำเร็จ

มันเป็นตลกร้ายสำหรับการเมืองไทยที่ถูกคนกลุ่มหนึ่งตั้งค่ามาตรฐานของวัฒนธรรมการเมืองเอาไว้ว่า การเลือกตั้งคือความฉ้อฉล นักการเมืองคือตัวแทนความสามานย์ ประชาธิปไตยเสียงข้างมากต้องมีการถ่วงดุลจาก ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้ทรงคุณธรรม ผู้ทรงไว้ซึ่งศีลธรรม ผู้เป็นปราชญ์
จนในที่สุดมาลงเอยที่ นักการเมืองถูกควบคุม ตรวจสอบ วิพากษ์ วิจารณ์
แต่ไม่มีใครตรวจสอบ ควบคุม วิพากษ์วิจารณ์ คนดี มีคุณธรรม หรือผู้ทรงคุณวุฒิทั้งหลายราวกับว่า หากใครได้ชื่อว่าเป็นผู้ทรงคุณวุฒิ หรือเป็นตัวแทนศีลธรรมอันดีก็จะอยู่ในสถานะที่ไม่พึงถูกตั้งคำถามอีกต่อไป 
คนที่ไปตั้งคำถามต่อพฤติกรรม และอุดมการณ์ของผู้ทรงคุณวุฒิ คุณธรรมเหล่านั้นต่างหากที่ชั่วช้า บังอาจ กำเริบ เหิมเกริม ถือดี

แต่บรรดาผู้ทรงคุณวุฒิ คุณธรรมที่อยู่เหนือการวิพากษ์ วิจารณ์ อันมีอยู่ดาษดื่นหลายร้อยหลายพันคนในประเทศไทยกลับสามารถนั่งดูเพื่อนร่วมชาติถูกสังหารหมู่จากอาวุธสงครามของกองทัพอย่างไม่สะทกสะท้าน


ใครก็ตามที่อ่านมาถึงตรงนี้ช่วยเอ่ยชื่อ "คนดี" ออกมาสักคนว่ามี "คนดี" คนไหนบ้างที่ออกมาประกาศกร้าวว่า ไม่ว่าจะในเงื่อนไขไหน รัฐบาลก็ไม่มีสิทธิเคลื่อนอาวุธสงครามออกมาฆ่าประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐ 
แต่ก็เปล่า ทั้งนี้เพราะเปิดหน้ากากสังคมไทยออกมาจริงๆ เราจะพบว่า สังคมไทยเป็นสังคมที่รังเกียจประชาธิปไตยอย่างถึงรากถึงโคน

ชนชั้นนำของไทยไม่เคยปรารถนาจะเห็นอำนาจการเมืองอยู่ในมือของประชาชน
พวกเขาอุตส่าห์คิดหาคำศัพท์ขึ้นมามากมายเพื่อกลบเกลื่อนความรังเกียจประชาธิปไตยของพวกเขาไม่ว่าจะเป็น ธรรมาธิปไตย, ระบอบการคานอำนาจนักการเมืองด้วยสภาประชาชนที่คัดสรรมาจากผู้ทรงคุณวุฒิ คุณธรรม, อำนาจขององค์กรกลาง, องค์กรอิสระ, ปราชญ์ชาวบ้านในฐานะผู้นำตามธรรมชาติ
แต่เบื้องหลังแนวคิดเหล่านี้ทั้งหมดเป็นไปเพื่อดิสเครดิตการเมืองจากการเลือกตั้งทั้งสิ้น
เพราะฉะนั้น เมื่อไหร่ก็ตามที่เสียงจากการเลือกตั้งของประชาชนเข้มแข็ง และหากจะมีการกวาดล้าง ฆ่า หรือจับใครเข้าคุกกันบ้าง "คนดี" เหล่านี้จึงพร้อมใจกันไปเป่าสาก บ้างไปเลี้ยงหลาน บ้างทำเบลอใส่เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น
เผลอๆ ก็โผล่บทความสำแดงความดีด้วยการเขียนเรื่อง "การลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม" ออกมาตามหน้าหนังสือพิมพ์ เพื่อรักษาภาพพจน์คนดีรักความเป็นธรรม


ปัญหาการละเมิดสิทธิ เสรีภาพในสังคมไทยตอนนี้ ไม่ใช่เรื่องของการไม่มีขันติธรรมต่อคนคิดต่าง 

แต่เป็นสงครามระหว่างกลุ่มคนที่ต้องการเคลื่อนประเทศไปสู่ความเป็นสมัยใหม่
กับกลุ่มคนที่อยากผูกขาดความเป็นสมัยใหม่ไว้ที่ชนชั้นตนเองเท่านั้น
และอยากเก็บชาวบ้านไว้กับความป่าเถื่อนเพื่อกดขี่บีฑาอย่างที่สุดและนับวันจะเลือดเย็นมากขึ้นทุกที


ขอโทษนะ-ประชาชนเขาไม่ยอมอีกต่อไปแล้ว


* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
ร่วมคลิกไลค์เป็นแฟนเพจมติชนสุดสัปดาห์ผ่านทางเฟซบุ๊ก
ได้ที่ www.facebook.com/matichonweekly




.