http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2557-04-25

แผนซ้อนแผน ชิงรัฏฐาธิปัตย์..ไม่มีชัยชนะบนความตาย โดย มุกดา สุวรรณชาติ

.

แผนซ้อนแผน ชิงรัฏฐาธิปัตย์..ไม่มีชัยชนะบนความตาย
โดย มุกดา สุวรรณชาติ
  คอลัมน์ หลักศิลากลางน้ำเชี่ยว
ใน www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1398404038
. . วันศุกร์ที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2557 เวลา 12:42:53 น.

( ที่มา: มติชนสุดสัปดาห์ประจำ 18-24 เม.ย.57 ปี34 ฉ.1757 หน้า 20 )


ตั้งแต่ปี 2548 มีคนคิดอยากเป็น รัฏฐาธิปัตย์ อย่างต่อเนื่อง ยาวนาน เพื่ออำนาจและผลประโยชน์ จึงวางแผนคิดการใหญ่
แต่แนวทางที่เดิน สร้างปัญหามากมายให้กับตนเองและประเทศ
เมื่อแผนแรกพลาด ก็ใช้แผนสองแก้
ยิ่งผิด ยิ่งแก้ ความขัดแย้งยิ่งขยาย



เลือกแนวทางชิงรัฏฐาธิปัตย์...
ถูกหรือผิด


แผนแรกที่ผิดพลาดของกลุ่มอำนาจเก่า คือการตัดสินใจทำการรัฐประหารในเดือนกันยายน 2549 ต้องเรียกว่าเป็นการดันทุรัง ฝืนโลก
แต่ประชาชนก็ไม่ยอมรับรัฏฐาธิปัตย์...ของคณะ คมช. จึงต้องรีบเลือกตั้งใหม่ ซึ่งก็แพ้เหมือนเดิม

ผิดคราวนี้สร้างศัตรูขึ้นเป็นล้านๆ คน สูญเสียการยอมรับจากนานาชาติ


ต้องใช้แผนสองที่วางซ้อนไว้ในรัฐธรรมนูญ คือการใช้อำนาจตุลาการภิวัฒน์ในปลายปี 2551 เพื่อโค่นรัฐบาลและยุบพรรคพลังประชาชน ซึ่งเป็นการดึงเอาตุลาการ และองค์กรอิสระ มาเป็นเครื่องมือการต่อสู้ทางการเมือง ความยุติธรรมก็ต้องเปลี่ยนไปตามสี ตามฝ่าย

รัฏฐาธิปัตย์ แปลงขั้วในค่ายทหาร โดนต่อต้านอีกครั้ง และก็แก้ไขโดยการปราบปรามประชาชนด้วยอาวุธสงครามในปี 2553

ความผิดพลาดครั้งนี้ จำเป็นต้องแก้ไขด้วยการยอมเปิดการเลือกตั้ง ในปี 2554 และก็แพ้อีกครั้ง


8 ปีผ่านไปพวกเขาสรุปว่า การใช้แผนยึดอำนาจด้วยกำลังและกฎหมาย เป็นแนวทางที่ถูกต้อง เพราะได้อำนาจจริง

แต่การยอมรับการเลือกตั้งหลังถูกกดดันเป็นแนวทางที่ผิด เพราะแพ้ทุกครั้ง
ดังนั้น ต้องยึดอำนาจอีกครั้ง แต่จะไม่ยอมให้มีเลือกตั้งอีกแล้ว


นักวิเคราะห์มองว่าเดินแนวทางผิด แต่เสนาธิการกลุ่มอำนาจเก่ามองว่าถูก อาจเป็นเพราะมีจุดยืนต่างกัน พวกเขามีผลประโยชน์มหาศาลต้องปกป้อง ทำให้คิดเสี่ยงกับความเสียหายโดยรวมของประเทศ



แผนชั้นที่หนึ่ง
เป่านกหวีด ให้มะม่วง รัฏฐาธิปัตย์ หล่น


แผนยึดอำนาจครั้งที่สาม เป็นแผนกึ่งจริง กึ่งหลอก ที่เหมือนเดิมคือไม่ปลูกมะม่วง แต่จะสอยมะม่วงบ้านคนอื่นซึ่งไม่ง่าย จึงต้องคิดแผนการช่วงชิงรัฏฐาธิปัตย์ ซ้อนไว้หลายแผน หลายขั้น

1. ขั้นแรกเแผนทดสอบหยั่งกำลังตลอดทั้งปี 2556 ฝ่าย นปช. ไม่ตอบโต้   เมื่อโอกาสเปิดตอน พ.ร.บ.นิรโทษสุดซอย กำลังแนวร่วมที่เตรียมไว้หลายปี (และผ่านการวัดปริมาณเมื่อครั้งเลือกผู้ว่าฯ กทม.) ก็ถูกระดมออกมา

มีหลายช่วงเวลาที่มวลชนออกมามาก จนแกนนำ กปปส. คิดอยากจะยึดอำนาจจริงๆ

แกนนำบางคนที่แอบซ่อนอยู่ข้างหลังรีบโดดขึ้นเวที เพราะคิดว่าอีกไม่เกิน 3 วัน ชนะแน่นอน

แต่เป้าหมายของมวลชนส่วนใหญ่คือคัดค้านการนิรโทษกรรมสุดซอย
พอเปลี่ยนไปไล่รัฐบาล คนก็น้อยลง และโดนแก้เกมด้วยการยุบสภา
เมื่อไปขัดขวางการเลือกตั้งใหม่ คนยิ่งน้อยลงไปอีก


สุดท้ายก็คิดจะจบด้วยการปิดกรุงเทพฯ ปิดถนน ปิดเมือง ปิดสถานที่ราชการ เลียนแบบกลุ่มพันธมิตรฯ ที่ปิดสนามบิน แต่ สนธิ ลิ้มทองกุล ในวันนั้นอ่านสถานการณ์เฉพาะหน้าขาดกว่าสุเทพ และแกนนำ กปปส. วันนี้

หันไปสำรวจอีกครั้ง ก็พบว่าคนที่แขวนนกหวีดเหลือน้อยมากแล้ว การยึดอำนาจด้วยตนเองเป็นไปไม่ได้


2. ขั้นที่สองเมื่อชายชุดเขียวก็ไม่ออกมาช่วย มีแค่มือปืนป๊อปคอร์น ใครๆ ก็รู้ว่าต้องใช้องค์กรอิสระและศาลธรรมนูญทำการปลดนายกรัฐมนตรี หรือปลดนายกฯ และ ครม. ทั้งคณะ

เช่น เรื่องการย้ายเลขา สมช. เพื่อให้เกิดช่องว่างในอำนาจการบริหาร

ขณะที่อำนาจนิติบัญญัติเกิดช่องว่างเหลือเพียงวุฒิสภาซึ่งยังไม่สมบูรณ์การชี้ขาดใดๆ ที่ต้องใช้อำนาจของรัฐสภาอาจทำไม่ได้ แต่เรื่องใดที่ใช้อำนาจวุฒิสภาก็อาจมีการจัดการ เช่น การถอดถอนนายกฯ หรือประธานรัฐสภา

สุเทพจึงต้องนัดมวลชน กปปส. มาชุมนุมใหญ่ หลังสงกรานต์ในจังหวะที่ศาลและองค์กรอิสระจะมีการประกาศชี้มูลความผิดหรือตัดสินเพื่อปลดนายกฯ ยิ่งลักษณ์ และ ครม. แต่หลังจากถูก นปช. เปิดชื่อขณะนี้ยังไม่มีใครกล้าและยอมรับอย่างเปิดเผยว่าจะเป็นนายกฯ ด้วยวิธีพิเศษ และไม่มีใครยอมรับเป็นตัวแทนที่จะเสนอชื่อนายกฯ คนใหม่ขึ้นไปให้โปรดเกล้าฯ

ดังนั้น จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะมีคนกลางๆ มารับงาน นอกจากคนภายในกลุ่มที่ร่วมวางแผนกันมา

สุเทพจึงสรุปว่า...จะเกิดช่องว่างของอำนาจรัฐและ กปปส. ถือว่ามีกำลังมากที่สุด ลุงกำนันในฐานะที่เป็นคณะที่ยึดอำนาจจะเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการตั้งนายกรัฐมนตรี ตั้งสภานิติบัญญัติของประชาชน จะออกกฎหมายยึดทรัพย์ จับกุมลงโทษ ฯลฯ ปฏิรูปการเมืองการปกครอง

ส่วนเรื่องการกำหนดเวลา ว่าจะไม่เกินสิ้นเดือนเมษายน จริงๆ แล้วไม่มีอะไรมาบังคับ ความเหมาะสมของสถานการณ์จะเป็นตัวกำหนด

ถ้าเป็นปี 2551 ก็จะจบแบบนี้ แต่ปีนี้ 2557 การต่อต้านมีแน่

นี่จึงเป็นแค่แผนชั้นแรก



แผนชั้นที่สอง
โค่นต้นมะม่วง... ด้วยขวานคู่


3. ขั้นที่สาม เมื่อเป่านกหวีดจนหมดลม แต่มะม่วงไม่หล่น ก็ต้องใช้ขวานองค์กรอิสระหรือศาลรัฐธรรมนูญ โค่นต้น แล้วฉวยโอกาสอ้างตัวเป็นรัฏฐาธิปัตย์

แม้ไม่เป็นที่ยอมรับ แต่ก็จะหาพรรคพวก กปปส. ที่เป็นข้าราชการ มารายงานตัว และใช้สื่อสร้างกระแสให้คนยอมรับ

ถ้ากำลังที่ต่อต้านไม่เพียงพอและมีแรงหนุนจากอำนาจลึกลับก็มีโอกาสฟลุก ที่จะมีอำนาจปกครองไปได้ระยะหนึ่ง ซึ่งจะทำให้มีครบทั้ง อำนาจนิติบัญญัติ บริหาร และอำนาจตุลาการ

แผนนี้จะบีบบังคับให้ นปช. และแนวร่วมอื่นๆ ต้องจัดกำลังขึ้นมาต่อต้าน (ซึ่งเตรียมนัดกันแล้ว) ตามหัวเมืองใหญ่และกรุงเทพฯ ต่างฝ่ายก็อ้างเป็นตัวแทนประชาชน เป็นรัฏฐาธิปัตย์ เรียกร้องให้ประชาชนส่วนใหญ่และนานาชาติยอมรับอำนาจการปกครองของตนเอง

จะมีการปะทะเกิดขึ้นในหลายเมืองโดยเฉพาะรอบๆ กรุงเทพฯ


4. ขั้นที่สี่ ถึงเวลาที่ต้องใช้ขวานอันที่สองของทหาร เพราะความวุ่นวายจากการปะทะของคนสองกลุ่ม สามารถเกิดได้หลายระดับและมีเขตพื้นที่กว้างขวาง คาดว่าจะเกิดในหลายจังหวัด โดยเฉพาะกรุงเทพฯ และปริมณฑล ส่วนต่างจังหวัดจะมีหลายเมือง และค่อยขยายออกไป

ถนนหนทางที่จะเข้าสู่กรุงเทพฯ อาจใช้ไม่ได้เพราะการปะทะกัน

การทำธุรกิจทั้งภาคบริการและอุตสาหกรรมก็จะหยุดชะงัก

ดังนั้น ก็จะถึงจุดที่ทหารจะต้องออกมาแก้ไขสถานการณ์ โดยอาจจะประกาศกฎอัยการศึกและเคลียร์พื้นที่ขัดแย้งให้เกิดความสงบ จากนั้น ก็จะประกาศไม่ยอมรับอำนาจรัฏฐาธิปัตย์ของทั้งสองฝ่าย และขอตั้งนายกฯ พิเศษ (อีกคนหนึ่ง) เพื่อเข้ามาแก้ปัญหา

ดังนั้น อาจมีช่วงเวลาหนึ่งที่ประเทศไทยมีนายกรัฐมนตรีถึง 3 คน


5. ถึงขั้นนี้การมีนายกฯ จากการแต่งตั้ง ก็จะเป็นจริง (แต่จะอยู่ได้นานกี่วันไม่รู้) และนายกฯ แต่งตั้งก็ประกาศว่าก็จะอยู่ชั่วคราวเพื่อเคลียร์สถานการณ์ให้สงบ ประกาศปรับปรุง แก้ไขรัฐธรรมนูญ ปฏิรูปการเมือง เลือกตั้งใหม่ในเร็ววัน จะมีการตั้งสภาใหม่อีกครั้งซึ่งมิได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชนเป็นสภาชั่วคราวเพื่อความสามัคคีและการปฏิรูป เมื่อแผนเดินมาถึงตรงนี้ก็ถือว่าบรรลุเป้าหมายของ กปปส.

แต่แผนสองที่วางไว้ก็ใช่ว่าจะสำเร็จได้โดยง่าย เพราะคนไทยยุคใหม่ไม่ใช่คนโง่ การประกาศว่าจะปฏิรูปการเมืองหรือร่างรัฐธรรมนูญใหม่มีบทเรียนมาแล้วหลังพฤษภาทมิฬ 2535 ครั้งนั้นต้องใช้เวลาถึง 5 ปี

ดังนั้น เรื่องที่จะยอมให้มีรัฐบาลชั่วคราว สภานิติบัญญัติชั่วคราว โดยการตั้งกันเองจึงไม่มีใครยอมให้ถูกหลอกง่ายๆ



เมื่อหมดหนทางปฏิรูป
แม้ไม่มีแผนก็เหลือแต่การปฏิวัติ


6. โอกาสเดียวที่จะตกลงกันได้คือเมื่อสลายอำนาจของสองฝั่งได้ เคลียร์เหตุการณ์ให้สงบลงได้ต้องประกาศการเลือกตั้งตัวแทนการปฏิรูปจากประชาชนทั้งประเทศทันที เพื่อหารัฐบาลและสภาเพื่อการปฏิรูปโดยให้แล้วเสร็จไม่เกิน 60 วัน ผ่านการเลือกจากประชาชนทั้งประเทศ

แต่กลุ่มอำนาจเก่า ไม่มีทางยอมเลือกตั้ง เพราะผิดแนวทาง

ดังนั้น ผู้ยึดอำนาจด้วยกำลัง ก็จะยืนยันที่รักษาอำนาจและตั้งตนเองเป็นรัฏฐาธิปัตย์ กลุ่มของสุเทพจะยอม แต่ของฝ่ายประชาธิปไตยและคนเสื้อแดง จะไม่ยอม เมื่อไม่เลือกตั้ง ก็ต้องต่อสู้


7. ปฏิวัติประชาชนจริงๆ จะเกิดขึ้นหลังจากนี้ การปฏิวัติประชาชนที่สุเทพเคยประกาศ หลุดจากมือ กปปส. ไปนานแล้ว จะไปเกิดอีกครั้งในกองกำลังของฝ่ายประชาธิปไตย

แม้ไม่ได้วางแผนซ้อนเพื่อการปฏิวัติ แต่การปฏิวัติก็จะเกิดขึ้น

เพราะในความเป็นจริง การชิงรัฏฐาธิปัตย์ ไม่สามารถตัดสินด้วยการแข่งกันชุมนุมสำแดงพลังว่าใครมากกว่า ไม่สามารถตั้งแถว ชักเย่อ ว่าใครชนะ ถ้ายอมรับกติกาได้ ก็ใช้การเลือกตั้งก็ตัดสินได้นานแล้ว เมื่อไม่ยอมรับกติกาก็สู้แบบไร้กติกา


การต่อสู้จะขยายไปเรื่อยๆ คำว่า จบ คำว่าเด็ดขาด ไม่มีทางเกิดขึ้น การมีสองอำนาจจะมีดำรงอยู่และจากมวลชนธรรมดาต่างฝ่ายก็จะมีทหารเป็นของตัวเองสภาพการเป็นอยู่ของสังคมเมืองอย่างกรุงเทพฯ และปริมณฑลจะเดือดร้อนมาก จนต้องอพยพไปต่างจังหวัด แบบเบาๆ ที่เห็นคือสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่ที่จะเกิดในอนาคตจะหนักกว่านั้นหลายเท่า กินพื้นที่กว้างขวางหลายสิบจังหวัด ไม่มีความปลอดภัยใดๆ ให้กับประชาชนแม้แต่กำลังทหารที่เคลื่อนออกนอกพื้นที่

ถ้าการต่อสู้ยังดำเนินอยู่ ไม่ว่าฝ่ายใดก็จะไม่สามารถปกครองทั้งประเทศได้ ส่วนประชาชนมีมากเจ๊งมาก มีน้อยเจ๊งน้อย



ความสงบจะเกิดจากการเจรจาเท่านั้นแต่ไม่มีใครสามารถไปบังคับใครให้รักกันได้ เหลือเพียงความยากลำบาก ความเดือดร้อน ความตาย จะบีบบังคับให้คนทุกฝ่าย ทุกชั้น เริ่มหันมามองแนวทางประนีประนอม แล้วก็จะบีบบังคับให้ทุกฝ่ายเปิดการเจรจา

ถ้าไม่ยอมยุติสงคราม คนไทยทั้งประเทศจะเหมือนอยู่ในรถบัสท่องเที่ยวที่กลิ้งตกเหวลึก  ในกองเลือดและซากศพ จะไม่มีใครนึกถึงจุดหมาย ชายทะเล และเกลียวคลื่น นอกจากจะหนีให้พ้นความตาย



................................
ร่วมคลิกไลค์แฟนเพจมติชนสุดสัปดาห์ผ่านทางเฟซบุ๊กได้ที่
www.facebook.com/matichonweekly




.

2557-04-12

ใช้ตำแหน่งเลขาฯ สมช. ชิงรัฏฐาธิปัตย์ โดย มุกดา สุวรรณชาติ

.

ใช้ตำแหน่งเลขาฯ สมช. ...ชิง รัฏฐาธิปัตย์
โดย มุกดา สุวรรณชาติ 
คอลัมน์ หลักศิลากลางน้ำเชี่ยว
ใน www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1397295116
. . วันที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2557 เวลา 18:32:04 น. 

( ที่มา: มติชนสุดสัปดาห์ประจำ 11-17 เม.ย.57 ปี34 ฉ.1756 หน้า 20 )


ปัญหาความขัดแย้งที่ผ่านมา 8 ปี เป็นเพราะกลุ่มอำนาจเก่าไม่เข้าใจการเปลี่ยนแปลงของโลก และมุ่งแต่จะรักษาอำนาจและผลประโยชน์ของตนโดยไม่สนใจผลกระทบ ต่อประชาชน ต่อสถาบัน และองค์กรต่างๆ   เป้าหมายคือตั้งกลุ่มตนเองเป็นรัฏฐาธิปัตย์ คือเป็นผู้มีอำนาจสูงสุดในการปกครอง

ถ้าเป็นยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ อำนาจนี้เป็นของพระมหากษัตริย์ ในขณะนั้น

ถ้าเป็นยุคประชาธิปไตย อำนาจนี้เป็นของปวงชนชาวไทย โดยประชาชนไปเลือกตั้ง เพื่อเลือกคนที่จะไว้ใจมอบหมายให้ทำหน้าที่ ใช้อำนาจรัฏฐาธิปัตย์ ปกครอง บริหารบ้านเมือง ผ่านองค์กรและสถาบันต่างๆ

แต่หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 มีบางคนและกลุ่มคน พยายามตั้งตนเป็นรัฏฐาธิปัตย์ โดยไม่สนใจว่าประชาชนจะยินยอมหรือไม่

จอมพล ป. พิบูลสงคราม เคยทำได้ช่วงหนึ่ง

จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก็เคยทำได้ช่วงหนึ่ง โดยการรัฐประหาร



ซึ่งการรัฐประหารหลายครั้งที่ผ่านมา มีคนใช้ทหารเป็นกำลังหลัก แต่ก็ยังมีอีกหน่วยงานหนึ่ง คือสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ซึ่งควรจะเป็นหูตา และมือไม้ให้รัฐบาลกลับไปร่วมกับผู้ทำการรัฐประหาร ปัญหาเกลือกลายเป็นยาพิษ เป็นเรื่องทั่วไปทุกยุคทุกสมัย และทุกประเทศ

รัฏฐาธิปัตย์ ทุกแห่ง จึงต้องมีวิธีการที่จะสร้างหน่วยงานความมั่นคง มิให้กลายเป็นหอกข้างแคร่ หรือเป็นระเบิดเวลา

สถานการณ์วันนี้ ตำแหน่งเลขาฯ สมช. กลายเป็นระเบิดเวลาที่วางไว้เป็นปีแล้ว แต่ศาลรัฐธรรมนูญจะจุดชนวนหรือไม่ แรงระเบิดจะทำให้ระบิดลูกอื่นๆ ระเบิดตามหรือไม่ และเชื้อเพลิงที่สุมอยู่ทั้งประเทศจะลุกเป็นไฟหรือไม่?

วันนี้จึงต้องพูดถึงตำแหน่งเลขาฯ สมช. อีกครั้ง


เลขาฯ สภาความมั่นคงแห่งชาติ
โค่นรัฐบาลเลือกตั้งมาแล้วหลายครั้ง


สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) มีอายุเกิน 100 ปี ก่อตั้งมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 แต่ใช้ชื่อว่าสภาป้องกันพระราชอาณาจักร และมาเปลี่ยนเป็นสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.)ในปี 2502  มีหน้าที่เป็นที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแก่นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี เพื่อใช้ในการกำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์เกี่ยวกับความมั่นคง

ส่วนการบริหารงานเป็นรูปแบบคณะกรรมการ ซึ่งประกอบด้วย นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง เป็นรองประธาน รมว.กระทรวงกลาโหม รมว.กระทรวงการต่างประเทศ รมว.กระทรวงการคลัง รมว.กระทรวงมหาดไทย รมว.กระทรวงคมนาคม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติเป็นกรรมการและเลขานุการของคณะกรรมการ

ในทางปฏิบัติ ฝ่ายการเมืองที่จะมาดูแลงานนี้คือรองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคง การปฏิบัติจริงเป็นหน้าที่ของสำนักงานเลขาธิการ

ดังนั้น ความเป็นความตายของรัฐบาลส่วนหนึ่งจึงตกอยู่ในมือของเลขาฯ สมช. อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้


ตัวอย่างการโค่นรัฐบาลที่ สมช. มีส่วนเกี่ยวข้อง เช่น ยุค พล.อ.อ.สิทธิ เศวตศิลา ซึ่งมาดำรงตำแหน่งหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ช่วงนั้นมีการปราบขบวนการนักศึกษาอย่างหนัก จนถึงวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ก็เกิดการรัฐประหารรัฐบาล หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช

แต่ สมช. คงไม่ได้ช่วยอะไรรัฐบาลเลย เพราะวันที่ 5 ตุลาคม นายกฯ เสนีย์เพิ่งปรับ ครม. เพียงวันเดียวก็ถูกรัฐประหารในวันที่ 6 ตุลาคม

คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินขึ้นมาเป็นรัฐบาล แต่ สมช. ก็ยังคงอยู่ และเลขาฯ สมช. ก็ยังเป็นคนเดิม ทำงานให้รัฐบาลเผด็จการต่อไปอีกหลายปี ท่ามกลางสงครามกองโจร ของ พคท. ทั่วประเทศ

ยุค พลเอกวินัย ภัททิยกุล เข้ามารับตำแหน่งในปี 2545 สมัยนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร เขาเข้าอยู่ในตำแหน่งจนถึงปี 2549 วันที่เกิดการรัฐประหาร ก็ยังเป็นเลขาฯ สมช. การรัฐประหารครั้งนั้น สมช. ไม่ได้มีบทบาทช่วยนายกฯ ทักษิณเลยแม้แต่น้อย

ในที่สุดความจริงก็ปรากฏว่าพลเอกวินัย มีตำแหน่งเป็นเลขาธิการของคณะรัฐประหาร แม้แต่ชื่อ คณะรัฐประหาร (คปค.) ก็เป็นคนตั้ง

งานนี้ต้องถือว่ารัฐบาลโดนหอกข้างแคร่แทงทะลุหลัง



ตำแหน่งเลขาฯ สมช.
ต้องได้รับความไว้วางใจจากนายกรัฐมนตรี


ยุค น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ ได้ตำแหน่งเลขาธิการ สมช. ในปี 2523 เป็นผู้ดูแลความมั่นคงให้ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ซึ่งเพิ่งเข้ามารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แบบประชาธิปไตยครึ่งใบ  เลขาฯ สมช. ทำงานเข้ากับนายกฯ ที่มาจากทหารได้ดี ฝีมือการทำงานของคุณประสงค์ เป็นที่เลื่องลือ ได้ฉายาว่าเป็น CIA เมืองไทย มีทหารบางกลุ่มพยายามรัฐประหารพลเอกเปรมหลายครั้งแต่ไม่สำเร็จ เขาลาออกมารับตำแหน่งเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ให้พลเอกเปรมในปี 2529

การไว้วางใจและทำงานเข้าขาของหัวหน้ารัฐบาล กับ เลขาฯ สมช. จึงเป็นเรื่องจำเป็น
และเป็นอย่างนี้ทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นประเทศมหาอำนาจหรือประเทศเล็ก


หลังรัฐประหาร 2549 ในปี 2550 เมื่อ พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกฯ ก็ตั้ง พลโทศิรพงศ์ บุญพัฒน์ ขึ้นเป็นเลขาธิการ สมช.

ในปี 2551 เมื่อ นายสมัคร สุนทรเวช ขึ้นเป็นนายกฯ การเมืองเปลี่ยนขั้ว มีการโยกย้ายและตั้ง พลโทสุรพล เผื่อนอัยกา ขึ้นเป็นเลขาธิการแทน

ในปี 2552 หลังจากมีการตุลาการภิวัฒน์ สลับขั้วรัฐบาลและจัดตั้งรัฐบาลในค่ายทหารสำเร็จ นายกฯ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็เปลี่ยนเลขาฯ สมช. เป็น นายถวิล เปลี่ยนศรี

นายถวิล เปลี่ยนศรี เป็นเลขาฯ สมช. ที่เติบโตมาด้วยการสนับสนุนของพลเอกวินัย หลังการรัฐประหารกันยายน 2549 ก็ได้รับตำแหน่งเป็นรองเลขาฯ ของ สมช.

และเมื่อประชาธิปัตย์ขึ้นเป็นรัฐบาล ก็ได้ย้ายพลโทสุรพลออกไปเพราะเป็นเพื่อนร่วมรุ่นกับอดีตนายกฯ ทักษิณ ประชาธิปัตย์ไว้ใจ ถวิล มากกว่าซึ่งก็เป็นเรื่องปกติ



คนที่เข้าใจธรรมเนียมแห่งอำนาจของ สมช. ดีที่สุดคือ คุณถวิล เพราะได้เข้าทำงานมาตั้งแต่เจ้าหน้าที่ระดับ 3 ได้เห็นการรัฐประหารรัฐบาล ม.ร.ว.เสนีย์ ได้ศึกษาการทำงานของคุณประสงค์ เรียนรู้งานจนมาถึงการรัฐประหารนายกฯ ทักษิณ ได้เป็นรองเลขาธิการและเป็นเลขาธิการในยุคที่ คมช. มีอำนาจ

สถานการณ์ปัจจุบัน ถวิล เปลี่ยนศรี ไม่ใช่หอกข้างแคร่ของรัฐบาล แต่เป็นระเบิดเวลา

รัฐบาลพยายามนำไปไว้ในที่ปลอดภัย แต่ศาลก็สั่งให้นำมาไว้ใกล้ตัว ตอนนี้ยังถูกฟ้องว่าย้ายคนที่เป็นคู่ปรับทางการเมืองในเหตุการณ์สลายการชุมนุมเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553 เพราะ ถวิล เปลี่ยนศรี ก็นั่งอยู่ในตำแหน่งเลขาฯ ของ ศอฉ. ได้รู้เรื่องราวทั้งหมดและต้องร่วมรับผิดชอบในกรณีที่มีผู้เสียชีวิตเกือบ 100 คน บาดเจ็บเกือบ 2,000 คน

เมื่อฝ่ายที่ถูกทำรัฐประหาร ในปี 2549 และถูกปราบในปี 2553 เกิดชนะเลือกตั้ง ในปี 2554 ขึ้นมา จะเอาศัตรูทางการเมืองมานั่งอยู่ในตำแหน่งเลขาธิการความมั่นคงก็เป็นเรื่องที่ฝืนธรรมชาติ


ไม่ว่าจะมี พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ อยู่ในโลกนี้หรือไม่ ก็ต้องย้าย เลขาฯ สมช. เพื่อความปลอดภัย และเพื่อให้ทำงานเป็นคณะกรรมการได้ตามโครงสร้างองค์กร

ถ้ารัฐบาลถูกฟ้องและต้องถูกล้มด้วยข้อหา ย้ายเลขาฯ สมช. ก็จะเป็นเรื่องตลกมาก ที่รัฐบาลมีความผิดเพราะไม่เอาศัตรูทางการเมืองมานั่งอยู่ในตำแหน่งเลขาธิการความมั่นคง


แค่หาเหตุผลให้รัฐบาลแต่งตั้งถวิลกลับมาเป็นเลขาฯสมช. ก็ยากแล้ว คนที่ไปขึ้นเวทีขับไล่รัฐบาล และสนับสนุน กปปส. ที่ประกาศยึดอำนาจจากรัฐบาล จะมาเป็นคนดูแลสภาความมั่นคงได้อย่างไร ต่อไปประเทศนี้ก็ไม่ต้องมีรัฐบาลจากการเลือกตั้ง และ ผู้ที่มีตำแหน่งใหญ่โตทั้งหลาย จะมีโอกาสได้เลือกคนใกล้ชิดที่ดูแลความปลอดภัยให้ตนเองหรือไม่ เรื่องแบบนี้คงจะถูกเผยแพร่ไปทั่วโลกยิ่งกว่ากรณีปลดนายกฯ สมัคร

ถ้าถวิลกลับไปอยู่ในตำแหน่งเลขาฯ สมช. แล้วเกิดการยึดอำนาจจากรัฐบาล ถวิลจะทำตัวอย่างไร?



6 เดือนของแผนชิงรัฏฐาธิปัตย์...
จะเดินต่ออย่างไร?


ในที่สุด สุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาฯ กปปส. ก็เผยเป้าหมาย (อย่างไม่เกรงกลัวกฎหมายมาตรา 113 และ 114) ในแผนศึกชิงรัฏฐาธิปัตย์ออกมาแล้ว เป็นแผนยึดอำนาจ ซึ่งสุเทพได้ยกตัวแบบของจอมพลสฤษดิ์มาให้เห็นเป็นรูปธรรมว่า หลังการยึดอำนาจ เขาจะเป็นรัฏฐาธิปัตย์โดยอ้างความชอบธรรมที่มีมวลมหาประชาชนจำนวนมากสนับสนุน จัดตั้งนายกรัฐมนตรี ตั้งสภานิติบัญญัติ ออกกฎหมายยึดทรัพย์ ประกาศจับบุคคลต่างๆ

บางคนอาจพูดว่าสุเทพคงพูดแบบเพ้อเจ้อไปเรื่อย แต่ในความเป็นจริงแล้วเรื่องเหล่านี้เป็นไปตามแผนบางส่วน ซึ่งหลังสงกรานต์ 2557 อาจจะมีเหตุการณ์เกิดขึ้นหลายอย่าง

แต่เรื่องการชิงรัฏฐาธิปัตย์จะมิได้เดินไปง่ายๆ ด้วยแผนชั้นเดียว เพราะฝ่ายหนุนระบบการเลือกตั้ง ก็เตรียมตั้งรับทุกรูปแบบแล้ว ต่างฝ่ายจึงต้องมีทั้งแผนหลอกและแผนจริง

ณ บัดนี้ การปฏิรูปได้ยุติแล้ว เหลือแต่การปฏิวัติหรือรัฐประหาร แล้วแต่แผนใครจะเหนือกว่า
คอยพบกับ... แผนซ้อนแผนชิงรัฏฐาธิปัตย์...ตอนต่อไป




........................................................................................

ร่วมคลิกไลค์แฟนเพจมติชนสุดสัปดาห์ผ่านทางเฟซบุ๊กได้ที่
www.facebook.com/matichonweekly 




.

2557-04-11

“คนดี” กับอำนาจหน้าที่, +ความเป็นไทยอันประเสริฐ โดย ใบตองแห้ง

.

“คนดี” กับอำนาจหน้าที่
โดย อธึกกิต แสวงสุข

ใน ข่าวสดออนไลน์ วันศุกร์ที่ 11 เม.ย 57 เวลา 00:01 น. 
( ที่มา: คอลัมน์ ใบตองแห้ง นสพ.ข่าวสด 11 เม.ย 57 )


ปลัดกระทรวงยุติธรรม กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก (และได้รับเสียงเชียร์จากคนอีกฝ่าย) จากการเปิดห้องพูดคุยต้อนรับ สุเทพ เทือกสุบรรณ และพรรคพวก ซึ่งประกาศตนเป็น "รัฏฐาธิปัตย์"

นี่ ไม่ใช่ครั้งแรกที่ข้าราชการระดับสูงถูกวิพากษ์วิจารณ์ เพราะปลัดกระทรวงสาธารณสุขประกาศจุดยืน "เลือกข้าง" ชัดเจนไปก่อนแล้ว แต่ต่างกันที่คุณกิตติพงษ์เป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดของกระทรวง "ยุติธรรม" ซึ่งดูแลกรมสอบสวนคดีพิเศษ สำนักงานนิติวิทยาศาสตร์ และทำงานประสานกับอัยการสูงสุด

ซึ่งแปลว่าคุณกิตติพงษ์มีอำนาจให้คุณให้โทษ ต่อสุเทพ และแกนนำ กปปส. ผู้ต้องข้อหา "กบฏ" (โดยยังไม่นับคดีปิดถนนปิดสถานที่ราชการทำลายทรัพย์สิน ฯลฯ อีกสารพัด)

คุณกิตติพงษ์ชี้แจงว่าที่เชิญแกนนำ กปปส.มาพูดคุย เพราะเกรงจะเกิดเผชิญหน้า ซึ่งก็พอฟังได้ แต่ที่หลายคนข้องใจคงเป็นการที่คุณกิตติพงษ์แสดง "ความเห็นส่วนตัว" ในประเด็น "ปฏิรูป" เออออไปกับ กปปส. แม้เรียกร้องให้ถอยคนละก้าว มาพูดคุยกันระหว่างยังไม่มีเลือกตั้ง ซึ่งฟังดูเป็น "ความปรารถนาดี" แต่ก็มีคำถามว่าท่านแยกแยะบทบาทตัวเองออกหรือเปล่า ระหว่าง "ผู้ปรารถนาดี" กับปลัดกระทรวงยุติธรรมที่ต้องทำหน้าที่

ถ้าท่านไปพูดในเวทีอื่นเป็นส่วนตัว ไม่ใช่ในเก้าอี้ปลัด ในห้องรับรองของปลัด จะน่าฟังมากครับ


อันที่จริง คุณกิตติพงษ์เป็นคนที่ยกย่องได้เต็มปากว่า "คนดี" มีทัศนะเปิดกว้าง มีบทบาทมีผลงานด้านปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม แต่นั่นก็ยิ่งย้อนแย้ง เมื่อถูกถามว่าคุณกิตติพงษ์ยอมรับการ "ปฏิรูป" ด้วยการกระทำผิดกฎหมายของ กปปส.ได้อย่างไร


กรณีคุณกิตติพงษ์ยังมีข้อถกเถียงกันได้ ผมยังไม่อยาก "ฟันธง" เพียงอยากยกเป็นอุทาหรณ์ เพราะถึงอย่างไรก็ยังไม่น่าเกลียดเท่าข้าราชการบางส่วน ที่ "เลือกข้าง" อย่างเปิดเผย ไม่คำนึงถึงความรับผิดชอบต่อหน้าที่ ที่กินเงินภาษีประชาชน

ข้าราชการที่เข้าร่วมม็อบ มักอ้างเสรีภาพทางการเมืองที่จะ "เลือกข้าง" นอกเวลาราชการแล้วทำอะไรก็ได้ ใช่ครับ ถ้าคุณเป็นข้าราชการธรรมดา เลิกงานไปม็อบไม่มีใครว่า ขึ้นเวทีด่ารัฐบาลก็ยังไหว ถ้าไม่มีอำนาจหน้าที่ให้คุณให้โทษใคร

แต่ลองเป็นหัวหน้าส่วนราชการ มีผู้ใต้บังคับบัญชา ลองคิดดูว่าเหมือนกันไหม
ข้อแรก การเลือกข้างทางการเมืองจะส่งผลต่อความเชื่อมั่นในการปฏิบัติหน้าที่ไหม
ข้อสอง ส่งผลให้เกิดความหวั่นไหวต่อผู้ใต้บังคับบัญชาหรือไม่



ผู้จัดการบริษัทเป่านกหวีด พนักงานไม่พอใจก็ออกไป แต่ผู้อำนวยการโรงพยาบาลนกหวีด ติดป้ายสัญลักษณ์หน้าที่ทำงาน พยาบาล คนงาน ใต้บังคับบัญชา ถ้าเห็นต่างจะทำอย่างไร เขาทำตัวลำบากใช่ไหม นี่ไม่ได้ว่าม็อบฝ่ายไหน เพราะถ้า ผอ.ใส่เสื้อแดงเดินอาดๆ ก็มีปัญหาเหมือนกัน

เพียงแต่ที่เกิดขึ้นแล้วก็คือ เมื่อผู้บริหารประกาศตัวชัดเจน ล่ารายชื่อไล่รัฐบาล ก็เอาชื่อข้าราชการ ลูกจ้าง ใส่ทุกคน บอกว่าใครไม่เห็นด้วยให้ถอนชื่อออก โห ใครมันจะกล้า

ท้าทายไปกว่านั้น ชมรมแพทย์ชนบทยังเอารถโรงพยาบาลสนาม จากสุราษฎร์ธานีมาใช้ในม็อบ แพทย์หลายกลุ่มอ้างว่ามาตั้งโรงพยาบาลสนามในกรุงเทพฯ เบิกเบี้ยเลี้ยง ค่าเดินทาง ได้อีกต่างหาก

ตลกไหมครับ ถ้านึกภาพ ร.พ.หนองอีแหนบ (นามสมมติ) อยู่ท้องถิ่นกันดาร แต่แพทย์มาตั้งโรงพยาบาลสนามที่สีลม


นี่ยังไม่พูดถึงการใช้อำนาจหน้าที่ครู อาจารย์ พาเด็กนักเรียน นักศึกษา มา "ทัศนศึกษา" หรือทำรายงานพิเศษ


สังคมไทยกำลังเผชิญปัญหาที่ต่อสู้ทางการเมืองกัน แล้วไม่รู้จักแยกแยะอำนาจหน้าที่ ความรับผิดชอบ ออกจากความคิดเห็น ไม่ว่าจะเป็นข้าราชการ นักวิชาการ ไปจนกระทั่งสื่อ

เมื่อเชื่อว่าตัวเองกำลังทำเพื่อเป้าหมายที่ "ดี" ก็พร้อมจะ "ฉ้อฉล" อำนาจหน้าที่เพื่อบรรลุเป้าหมาย

กระทั่งผู้มีอำนาจหน้าที่สำคัญระดับชาติ ก็ยังกล้าๆ ประกาศว่าขอลำเอียงเพื่อประชาชน จะทำงานใหญ่ ต้องกล้าลำเอียง




นี่เป็นปัญหาอย่างมาก ต่อระบบและอนาคตของสังคม ถ้าคุณคิดว่าจะ "ฉ้อฉลต่อหน้าที่" เพื่อเป้าหมายที่คุณเห็นว่าดี แล้วอะไรคือสิ่งที่คุณยึดถือว่าดี เอาเข้าจริงก็เป็นทัศนะที่มองโลกแบบขาวดำ ดีสุดขั้ว ชั่วสุดขีด เชื่อว่าวันนี้ทำลายเป้าหมายนี้ไป พรุ่งนี้โลกจะสดใส วันนี้นรก พรุ่งนี้สวรรค์ ซึ่งมันไม่ใช่

การปฏิรูปประเทศ การสร้างสังคมที่มีอนาคต ต้องใช้เวลา ต้องวางระบบ สถาปนากติกา ทำให้ผู้คนตระหนักต่อหน้าที่ มีความรับผิดชอบ


การใช้อำนาจหน้าที่เพื่อเป้าหมายทางการเมืองอย่างฉาบฉวย ไม่เพียงไม่สามารถบรรลุเป้าหมายที่ดีงาม แต่สุดท้ายในความต้องการเอาชนะ ก็จะยอมรับเอาใครก็ตามที่ฉ้อฉลต่อหน้าที่เพื่อเป้าหมายเดียวกัน เข้ามาเป็นพวก ทำให้เกิดพวก "ฉวยโอกาส" ห้อยโหนขบวนการเปลี่ยนแปลงทางสังคมเพื่อฟอกตัวเป็น "คนดี"

ทั้งที่คนกลุ่มหลังนี้ปลิ้นปล้อน ฉ้อฉลต่อหน้าที่ ตั้งแต่อดีต ปัจจุบัน และจะเป็นปัญหาต่อไปในอนาคต




++

ใบตองแห้ง: ความเป็นไทยอันประเสริฐ
ใน www.khaosod.co.th/view_newsonline.php?newsid=TVRNNU56SXpNRGd3TVE9PQ
. . วันเสาร์ที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2557 เวลา 00:01 น.



ปีใหม่ไทยเป็นช่วงรำลึกถึง "ความเป็นไทย" ไถ่ถาม "ความเป็นไทย" ว่ายังสบายดีอยู่หรือ ในยุคสมัยที่วิถีชีวิตเปลี่ยนไป ถึงยังลอยกระทง ยังเล่นสงกรานต์ แต่ก็มีผู้ทุกข์ร้อนห่วงใย จนลอยกระทงกลายเป็น "คืนเสียตัว" สงกรานต์กลายเป็น "เทศกาลห้ามตาย"

แหม จะสนุกหน่อยก็ไม่ได้ ห้ามนู่นห้ามนี่ จนแทบจะหมอบกราบรดน้ำ ถึงถูกต้องตามประเพณีไทย

หลายปีมานี้ กระแสหวงแหน "ความเป็นไทย" ขึ้นสูงปรี๊ด พร้อมกับจิตสำนึก "ความเป็นชาติ" ซึ่งประหลาดหน่อยๆ ไม่ได้ปลุกไปรบกับต่างชาติที่ไหน รบกับคนไทยด้วยกันเอง (เพียงแต่เวลาคนต่างขั้วมาม็อบ ก็ตัดต่อภาพให้เป็นพม่า เขมรไปเสียฉิบ)

กระแสหวงแหนความเป็นไทย เป็นภาคผนวกของ "กระแสศีลธรรม" ซึ่งปลุกขึ้นมาต้าน "นักการเมืองชั่ว" "ต้านโกง" ไล่มันให้พ้นไปจากแผ่นดินไทย ไม่ให้เป็น "คนไทย"



อันที่จริงการปลุกกระแสศีลธรรม ปลุกความเป็นไทย เป็นสิ่งที่ดี ไม่ใช่สิ่งผิด แต่ปลุกแล้วผูกขาดไปเป็นของตัวนี่สิ

น่าสังเกตว่า ปลุกไปปลุกมา ศีลธรรมและความเป็นไทยกลายเป็นของผู้ลากมากดี คนชั้นกลาง ชาวกรุง ซึ่งไปงานสัปดาห์หนังสือ ซื้อธรรมะท่านพุทธทาสและประวัติศาสตร์พระนเรศวรมาเต็มตู้ ขณะที่คนไทยบ้านๆ กลายเป็นคนลาว สปป.ล้านนา หรือพวกไร้การศึกษา ไม่มีวัฒนธรรม สงกรานต์ก็ขึ้นรถกระบะสาดน้ำ ประแป้ง เมาแอ๋ เปิดเพลงดังลั่น แดนซ์กันกระจาย

แหม่ สงกรานต์ไทยแท้เมาแอ๋แต่โบราณนะครับ เพราะเป็นการเฉลิมฉลองฤดูผลิตใหม่ ข้าวที่เก็บเกี่ยวไว้หมักใส่ไหกำลังได้ที่ สมัยนี้ก็แค่อย่าเมาแล้วขับ ถ้าไม่เป็นอันตรายกับใคร ม.ต.ล.ว.ก็สิทธิส่วนตัว


น่าสังเกตว่า ปลุกไปปลุกมา "ความเป็นไทย" กลายเป็นอะไรที่ดีงามสูงส่ง วิเศษกว่าใคร ทั้งที่คนชาติไหนก็มีข้อดีข้ออ่อน "ความเป็นไทย" กลายเป็นอะไรที่งามพร้อมแต่โบราณ แต่มาถูกทำลายเพราะวัฒนธรรมตะวันตก นักการเมือง และ "ทุนสามานย์" ถ้าไม่เปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ 2475 ประเทศไทยคงไปโลด

ปั่นถึงขีดสุด "คนไทยเหนือชาติใดในโลก" เพราะคนไทยไม่ต้องตามก้นฝรั่ง ไม่เอาเลือกตั้ง ไม่เอาประชาธิปไตย ก็ทำให้ประเทศเจริญได้ คนไทยจะคิดค้นระบอบการปกครองที่ดีกว่า ดีที่สุด ที่ไม่มีใครเคยคิดได้ ไม่มีใครเคยทำได้ เราเป็นชาติแรกในจักรวาลที่ "ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง"

ฝรั่งโง่ บังอาจวิพากษ์วิจารณ์ นักข่าวฝรั่งที่หาว่าไม่เป็นประชาธิปไตย ถูกทักษิณซื้อไปแล้วทั้งนั้น

ว่าแต่หลังห้ำหั่นกัน 8 ปี เราเคยย้อนถาม "ความเป็นไทย" ไหมว่ายังสบายดีอยู่หรือ "สยามเมืองยิ้ม" วันนี้ยิ้มแบบไหน ทำไมเห็นแต่แสยะ



ประเพณีไทยแท้แต่โบราณ ใครมาถึงเรือนชานต้องต้อนรับ ยังมีอยู่ไหม น่าจะมีครับ แต่ถามก่อนว่าสีไหน ที่จริงไม่ได้กีดกัน แต่ต้องเห็นใจ ไม่งั้นก๊งเหล้าไปจะกลายเป็นข่าวพาดหัวหนังสือพิมพ์

คนไทยขี้เกรงใจ อันที่จริงมีข้อเสีย คือไม่รู้จักประท้วง เพื่อสิทธิของตัว แต่ก็ไม่น่าตั้งตนเป็นรัฏฐาธิปัตย์ ปิดถนน ปิดเมือง ยกขบวนขึ้นทางด่วน รถติดยาวเหยียดไม่เกรงใจใคร (แต่คนส่วนใหญ่ก็ยังเกรงใจท่าน)

คนไทย แต่โบราณสอนให้เอาใจเขาใส่ใจเรา แต่ทำไมขัดแย้งทางการเมืองแล้วปิดกั้นความเห็นต่าง ไม่ยอมให้เลือกตั้ง แล้วบีบคอ ทำร้ายคนไปเลือกตั้ง ทำร้ายข้าราชการไปทำงาน

เมืองไทยเมืองพุทธ พุทธไม่ได้สอนว่า "คนดี" ต้อง "ปราบมาร" ด้วยการทำสงคราม ยึดอำนาจ (แต่ก็น่าประหลาด เมืองพุทธมีรัฐประหารมากอันดับต้นๆ ของโลก)

พุทธไม่ได้สอนให้ปลุกความเกลียดชัง พุทธสอนให้เอาชนะใจกันไม่ใช่หรือ แต่ทำไมเห็นคนฝ่ายตรงข้ามถูกทำร้าย บาดเจ็บล้มตาย คนไทยกลับโห่ร้องสะใจ


สู้เพื่อความเป็นไทย แต่ทำไมใช้ถุงป๊อปคอร์น



พูดอย่างนี้เหมือนว่าข้างเดียว อันที่จริงเป็นทั้งสองข้าง แต่ข้างไหนล่ะชอบอ้างความเป็นไทย ข้างไหนล่ะไม่เอาประชาธิปไตย

ประชาธิปไตยไม่ได้ขัดแย้งกับความเป็นไทย ถ้าพูดถึงความเอื้อเฟื้อ มีน้ำใจต่อเพื่อนมนุษย์ การยอมรับความแตกต่างหลากหลาย ทั้งทางชาติพันธุ์ และวัฒนธรรม (ตรุษไหนๆ พี่ไทยก็เมา-ฮา)


ประชาธิปไตยเอาใจเขาใส่ใจเรา เพราะยอมรับความเห็นต่าง ตัดสินด้วยการเลือกตั้ง แพ้ชนะไม่เข่นฆ่าล้างผลาญ แต่สู้กันต่อไปภายใต้หลักประกันสิทธิเสรีภาพ

ประชาธิปไตยเพียงอาจขัดแย้ง "ความเป็นไทย" บางอย่าง ที่ถูกยึดติด ตอกตรึง จนปรับตัวไม่ได้

และอาจขัดแย้งกับความเป็น "ไทยแท้" แบบ "ทำอะไรตามใจ" เอาชนะโดยไม่เลือกวิธีการ ไม่เคารพกติกา
เป็นกรรมการก็โกงเสียเอง อ้างว่า "โกงเพื่อชาติ"

ความเป็นไทยแบบหลัง ถ้ายังเอาไว้ก็ "ตามใจ" อ้าว จะไปทำอะไรได้ ก็มีอำนาจตีความตามใจ




.

2557-04-08

วิเคราะห์“แนวรบ-ต้าน” รัฐบาล-ตลก.-นายกฯม.7 โดย พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์

.


“พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์” วิเคราะห์"แนวรบ-ต้าน" รัฐบาล-ตลก.-นายกฯม.7
สัมภาษณ์พิเศษโดย ขจรศักดิ์ สิริพัฒนกรชัย
ใน www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1396886661
. . วันที่ 08 เมษายน พ.ศ. 2557 เวลา 07:00:02 น.

( ที่มา: นสพ.มติชนรายวัน 7 เมษายน 2557 )


หมายเหตุ - นายพิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้สัมภาษณ์ "มติชน" ถึงความพยายามใช้คำวินิจฉัยของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อเสนอนายกฯคนกลาง ตามมาตรา 7 ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งถูกมองว่าเป็นการรัฐประหารแบบหนึ่งพร้อมกันนี้ยังประเมินแนวต้านจากคนเสื้อแดง พลังที่ 3 และต่างประเทศต่อกรณีดังกล่าว


มองความพยายามที่จะผลักดัน "นายกฯคนกลาง" ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง

เบื้องหลังของความพยายามจากบางฝ่ายที่จะเสนอนายกฯคนกลาง เป็นเพราะสู้ด้วยเกมเลือกตั้งไม่ได้ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา จึงต้องยกเลิกระบบเลือกตั้งชั่วคราว เพื่อจัดการกับสิ่งที่เขาเรียกว่า "ระบอบทักษิณ" ให้หมดไปก่อน ให้เหลือเพียงแค่พรรคการเมืองที่ไม่เป็นภัยต่อเขา แล้วจึงจะปล่อยให้มีการเลือกตั้งใหม่ ดังนั้น การจะล้มรัฐบาลได้มี 2 วิธี คือ "รัฐประหารโดยกองทัพ" กับ "รัฐประหารโดยตุลาการ" ซึ่งเมื่อปี 49 ใช้ทหารแต่ก็ไม่สามารถจัดการกับระบอบทักษิณได้ พอมาคราวนี้ก็มีความพยายามที่จะใช้ทหารเหมือนกัน แต่ไม่ง่ายเหมือนเมื่อปี 49 เพราะขณะนี้มีเสื้อแดงแล้ว ทหารเองก็ไม่อยากทำด้วย เพราะมีบทเรียนและมีประสบการณ์ที่แย่มากจากปี 53 ถูกกล่าวหาว่าฆ่าประชาชน ขณะเดียวกันก็รู้ว่าหากมีการรัฐประหารจะมีการปะทะกับคนเสื้อแดงอย่างแน่นอน ซึ่งจะหลีกหนีการนองเลือดได้ยาก อีกทั้งต่างชาติก็รู้ชัดและแสดงท่าทีชัดเจนว่าไม่เอาการรัฐประหาร ดังนั้น การรัฐประหารโดยกองทัพจึงเกิดขึ้นได้ยาก แต่ไม่ได้หมายความว่าจะไม่เกิด จึงต้องใช้รัฐประหารโดยวิธีอื่นแทน
และขณะนี้มี 2 คดีที่เตรียมไว้ คำร้องโยกย้ายนายถวิล เปลี่ยนศรี โดยมิชอบ ซึ่งอยู่ที่ศาลรัฐธรรมนูญ กับคดีทุจริตโครงการรับจำนำข้าว ซึ่งอยู่ที่ ป.ป.ช. สุดท้ายหากมีการชี้มูลก็ต้องส่งให้วุฒิสภาถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม จึงปล่อยให้มีการเลือก ส.ว.ได้โดยง่ายเพื่อให้ ส.ว.เข้ามารับลูกต่อ และจากนั้นก็จะมีกระบวนการที่จะทำให้คณะรัฐมนตรีทั้งคณะพ้นไปด้วย ไม่มีใครขึ้นรักษาการต่อได้ ซึ่งธงข้างหน้าค่อนข้างชัดเจนแล้วว่า ภายในเดือนเมษายน-พฤษภาคมนี้คงจะต้องมีคำวินิจฉัยอย่างแน่นอน


ประเมินแนวทางการต่อสู้ของฝ่ายต่อต้านนายกฯคนกลางไว้อย่างไรบ้าง

พรรคเพื่อไทยกับตระกูลชินวัตรจะสู้อย่างไรไม่รู้ แต่ที่แน่ๆ คนเสื้อแดงจะต้องออกมาอย่างแน่นอน แต่ปัญหาอยู่ที่ว่า แกนนำ นปช.ยังยึดติดอยู่กับการต่อสู้ในรูปแบบเก่า กล่าวคือ ทำได้เพียงการชุมนุมแสดงพลังระดมคนให้ออกมาชุมนุมให้ได้มากที่สุด เพื่อข่มไม่ให้อีกฝ่ายหนึ่งทำรัฐประหาร ซึ่งวิธีการเช่นนี้ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ใหม่แล้ว ไม่ว่าจะออกมาชุมนุมที่ถนนอักษะ จำนวนเท่าไรก็ตาม จะไม่สามารถหยุดรัฐประหารได้ เพราะองค์กรเหล่านี้อยู่ใน กทม.ซึ่งขณะนี้มีม็อบ กปปส. มี คปท. ชุมนุมอยู่ ขณะเดียวกันมีพรรคประชาธิปัตย์คอยสนับสนุน และมีทหารออกมาคุ้มครองด้วยการตั้งบังเกอร์เต็มไปหมด เพื่อคอยกดการเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดงไม่ให้เข้ามาใน กทม. ดังนั้น การเคลื่อนไหวก็ทำได้เพียงรอบนอกเท่านั้น ขณะเดียวกัน มวลชนกลุ่มอื่น อย่าง คปท. กปปส. รู้ว่าเขาเองไม่สามารถระดมมวลชนที่สามารถอยู่ได้ยาวได้ ที่ผ่านมาจึงใช้วิธีตั้งเป็นมวลชนขนาดเล็กแล้วมีการติดอาวุธแทน


การเคลื่อนไหวใหม่ของ นปช.ควรจะเดินไปในแนวทางไหน

ควรเน้นการเคลื่อนไหวในพื้นที่ คนเสื้อแดงมีเครือข่ายที่เข้มแข็งอยู่แล้ว สนับสนุนให้เขาเคลื่อนไหวในพื้นที่ของเขาเองจะดีกว่า กดดันหน่วยราชการ กดดันทหารในพื้นที่ที่สนับสนุนพวกเผด็จการ สนับสนุนให้มีเครือข่ายที่เข้มแข็งเพื่อเตรียมรับมือกับการรัฐประหาร ซึ่งจะเป็นแนวทางที่ดีกว่าที่ระดมคนมาชุมนุม แล้วก็มีปัญหาเรื่องของการรักษาความปลอดภัย เพราะระหว่างการเดินทางที่อาจจะถูกดักโจมตีจากฝ่ายตรงข้ามอีก แม้จะมีการ์ดคอยดูแลเท่าไรก็ไม่สามารถดูแลได้ทั่วถึง ที่สำคัญยังจะไม่สามารถหยุดยั้งการรัฐประหารโดยตุลาการได้ด้วย


วิธีที่ว่าจะมีพลังเพียงพอที่จะถ่วงดุลกับฝ่ายตรงข้ามได้แค่ไหน

การสร้างเครือข่ายในพื้นที่เพื่อรอเวลาจะสามารถเคลื่อนไหวในพื้นที่ได้ทันทีที่มีการรัฐประหารโดยตุลาการ ส่วนใน กทม.ก็ปล่อยไป แล้วรัฐบาลก็ย้ายตัวเองออกไปอยู่ต่างจังหวัด โดยใช้เครือข่ายที่สร้างขึ้นไว้ล่วงหน้าเหล่านี้เป็นเกราะคุ้มครองรัฐบาล ขณะเดียวกันนายกฯต้องประกาศไม่ยอมรับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ และของ ป.ป.ช.ด้วย และยืนยันว่าตนเองยังเป็นรัฐบาลที่ได้รับการเลือกตั้งมาอย่างชอบธรรม และพร้อมจะออกจากตำแหน่งด้วยกระบวนการประชาธิปไตยเท่านั้น ซึ่งการที่รัฐบาลยืนยันว่าไม่ออก ทั้งๆ ที่มีคำวินิจฉัยไปแล้ว จะเป็นปัจจัยให้มีข้ออ้างให้ทหารทำรัฐประหารได้ ดังนั้น หากรัฐบาลไปอยู่ต่างจังหวัดก็จะมีมวลชนเป็นผนังคุ้มกันได้อีกทางหนึ่งหากมีรัฐประหารจริงๆ


แต่ทางพรรคเพื่อไทยกับตระกูลชินวัตรมักจะเล่นเกมประนีประนอมเสมอมา

เขายังหวังว่าจะต่อรองได้ หวังจะเกี้ยเซี้ย ซึ่งเป็นนิสัย ก็ให้เขาทำไป แต่คราวนี้เขาจะเล่นงานตระกูลชินวัตรอย่างหนัก จะไม่ใช่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ คนเดียวที่โดน อย่างน้อย น.ส.ยิ่งลักษณ์ และคนอื่นๆ ด้วย ถ้ามีรัฐบาลใหม่ได้ ก็จะตั้ง คตส.ใหม่ขึ้นมาเพื่อสอบสวนตระกูลชินวัตรทั้งหมด จะมีการจำคุกยึดทรัพย์กันอย่างถ้วนหน้า และถ้ายังอยู่ในเมืองไทยก็ต้องเข้าคุก ดังนั้น จึงต้องไปรวมตัวกันอยู่ที่ประเทศดูไบหมด อยู่นานแค่ไหนก็ไม่รู้ จากประวัติศาสตร์นายปรีดี พนมยงค์ อดีตนายกฯ และลูกๆ แต่ละคนกว่าจะกลับได้บางคนก็แก่แล้ว ส่วนนายปรีดีก็กลับมาแต่กระดูก ที่พูดแบบนี้ก็หมายความว่า เขาจะเล่นงานคุณ แต่คุณไม่สู้ หวังจะมีการต่อรองกัน โดยให้คุณออกจากการเมืองไปก่อนแล้วมีเคลียร์กันได้ เชื่อได้เลยว่าสุดท้ายเขาจะเล่นงานคุณอีกแน่นอน เพราะจาก 8 ปีที่ผ่านมาชี้ให้เห็นแล้วว่า ถ้ามันเกี้ยเซี้ยกันได้คงจบไปนานแล้ว


จะได้เห็น "พลังที่ 3" ที่จะลุกขึ้นมาต้านถ้ามีการชะลอการเลือกตั้งออกไปแล้วหรือไม่

ถ้ามีการล้มระบอบเลือกตั้งไปเลย แล้วนำนายกฯที่ไม่มาจากการเลือกตั้ง พลังที่ 3 เหล่านี้ก็จะมารวมตัวกัน จะกลายเป็นกลุ่มต่อต้านที่ไม่เอานายกฯคนกลางแน่นอน แล้วจะไม่ได้มีแต่คนเสื้อแดงด้วย เพราะคนทั่วไปที่ไม่ชอบ พ.ต.ท.ทักษิณ แต่เขาก็ไม่เอารัฐประหารและระบบการแต่งตั้งมีเยอะมาก เพราะจุดยืนคนเหล่านี้ต้องการการเลือกตั้ง


พลังที่ 3 จะมีพลังพอที่จะหยุดหรือชะลอนายกฯม.7 ได้หรือไม่

รัฐประหารมีแน่ แล้วคงมีความพยายามที่จะตั้งนายกฯคนกลางที่ไม่ใช่คนกลางจริง และจะต้องมีแรงต่อต้าน ส่วนวิธีการขึ้นอยู่กับฝ่ายตรงข้าม อาจจะเป็นแรงต่อต้านที่ซึมลึก อย่างใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ที่รัฐบาลใหม่อาจจะปกครองโดยมีการก่อกวนอยู่เสมอๆ ขณะเดียวกันต่างชาติจะไม่ยอมรับด้วย หรือ อีกรูปแบบหนึ่งก็อาจจะมีกองกำลังอย่างเปิดเผยก็เป็นได้ กล่าวคือเกิด "สงครามกลางเมือง" นั่นเอง ซึ่งขณะนี้มีความเป็นไปได้ค่อนข้างสูง เพราะดูจากการเคลื่อนไหวจาก 4-5 เดือนที่ผ่านมา มีการใช้อาวุธกันมากมาย ตำรวจตรวจจับได้เป็นจำนวนมาก แม้แต่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ.ยังออกมาพูดอยู่เสมอๆ ว่ามีอาวุธอยู่ด้วยกันทั้ง 2 ฝ่ายด้วยตัวเอง เพียงแต่ที่ผ่านมายังอยู่ในขอบเขตที่จำกัด


มองสถานการณ์ทางการเมืองและแนวทางของการต่อสู้ต่อจากนี้อย่างไร

มองในลักษณะ 2 ซีเนริโอ คือ "ซีเนริโอแรก" ถ้าพรรคเพื่อไทยกับตระกูลชินวัตรไม่สู้ ยอมออกจากการเมืองไป แล้วหวังว่าจะมีเลือกตั้งในอนาคตแล้วค่อยกลับมา หรืออาจจะมีการเกี้ยเซี้ยกัน โดยสัญญาว่าถ้าออกไปจากการเมืองดีๆ จะไม่เอาคดีมาให้ แล้วจะจบ ซึ่งตระกูลชินวัตรก็อาจจะยอมก็เป็นได้ ขนาด พ.ร.บ.นิรโทษกรรมยังเชื่อเลย จากนั้นก็ปล่อยให้รัฐบาลใหม่ที่มีทหารเป็นแบ๊กอัพเข้ามาบริหารได้อย่างราบรื่น แต่ที่สุดก็จะย้อนเกล็ดกลับมาเล่นงานตระกูลชินวัตรอยู่ดี เขาไม่ปล่อยไว้หรอก เป็นการจัดการให้ชินวัตรไม่กลับมายุ่งอีก จากนั้นก็ให้อำนาจทหารกวาดจับกุมแกนนำคนเสื้อแดงทั้งหมดทั่วประเทศ เพราะขณะนี้ในพื้นที่ต่างๆ มีสายของ กอ.รมน.ลงพื้นที่เก็บข้อมูลแล้ว เพราะเขาเชื่อว่าถ้าจับหัวแล้วหางจะไม่ส่าย แต่ไม่จริงหรอก ต่อให้กวาดล้างอย่างไรก็จะมีตัวแทนในที่สุด เพราะมวลชนยังอยู่ ความไม่พอใจยังอยู่ รากฐานของปัญหาคือความอยุติธรรมยังไม่หายไป ที่สุดถ้าเป็นซิเนริโอแรกก็จะมีมวลชนคนเสื้อแดงเคลื่อนไหวใต้ดินก่อกวนต่อไป
แต่ถ้าเป็น ซีเนริโอที่สองŽ ถ้ามีการใช้ช่องทางวุฒิสภาเสนอชื่อนายกฯคนกลาง หลังการรัฐประหาร แล้วพรรคเพื่อไทยและตระกูลชินวัตรตัดสินใจสู้ ด้วยการออกไปตั้งรัฐบาลอยู่ในต่างจังหวัดท่ามกลางมวลชนที่สนับสนุน สถานการณ์จะแหลมคมกว่ามาก เท่ากับว่าจะมี 2 รัฐบาลเผชิญหน้ากันอย่างชัดเจน


สมมุติว่าถ้าเกิดมี 2 รัฐบาลเผชิญหน้ากัน "ตัวชี้ขาด" จะเป็นปัจจัยใด

ต่างประเทศคือตัวชี้ขาดแรก ตัวชี้ขาดตัวที่สอง คือใครจะมีประชาชนมากกว่ากัน ส่วนกำลังทหารเป็นปัจจัยรอง ต่อให้รัฐบาลในซีเนริโอที่สอง ไม่มีทหารเลยแต่สุดท้ายอาจจะชนะได้ ถ้าต่างชาติกับประชาชนหนุนมากพอ ผมเคยเสนอให้ตั้งอาสาสมัครปกป้องประชาธิปไตย ในรูปแบบที่ทำได้ถูกกฎหมาย คือ อาสาสมัครตำรวจบ้าน ที่ทำแล้วใน จ.พะเยา ซึ่งเป็นรูปแบบที่ทำได้อย่างถูกต้อง เพราะเป็นหน่วยงานที่มีกฎหมายรองรับ มีตำรวจมาควบคุมอีกที ไม่ใช่กองกำลังอิสระที่ตั้งขึ้นมาเถื่อนๆ เพราะยังอยู่ในระบบ และไม่ได้ติดอาวุธ แต่เป็นอาสาสมัครประชาธิปไตยที่สนับสนุนรัฐบาลในแง่ของสวัสดิการ เศรษฐกิจ กำลังคน ข้อมูลข่าวสาร การรณรงค์ เป็นต้น


ปัจจัย "ภายนอกประเทศ" จะช่วยชะลอกระบวนการ "รัฐประหาร" ได้หรือไม่

ก่อนหน้าที่ปัจจัยทางด้านการต่างประเทศช่วยยื้อได้พอสมควร แต่ในช่วงระยะเวลา 1-2 เดือนที่ผ่านมา ต่อให้มีข้อมูลจากสื่อมวลชนต่างชาติมาตีแผ่กระบวนการในการโค่นล้มประชาธิปไตยแค่ไหน คิดว่าฝ่ายที่จ้องล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเขาไม่สนกระแสแล้ว เพราะมีคำสั่งให้เดินหน้าอย่างเดียว ต่อให้ต่างชาติกดดันอย่างไร คนเสื้อแดงออกมากี่ล้านก็ไม่มีผลแล้ว


ล่าสุดที่นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล ปฏิบัติหน้าที่รองนายกฯและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ออกมาจุดกระแสเรื่องให้ศาลอาญาระหว่างประเทศเข้ามาตรวจสอบการสลายชุมนุมในปี 53

ขอให้ทำจริงๆ ซึ่งผลที่ออกมาอาจมี 2 ทาง คือ ทางหนึ่ง อาจจะเป็นการต่อรองช่วยให้มีการชะลอการรัฐประหาร แต่อีกทางหนึ่ง ก็อาจจะเป็นตัวเร่งให้มีการทำรัฐประหารโดยเร็วยิ่งขึ้นก็ได้ เพราะรัฐบาลจะได้ลงนามในหนังสือรับรองเขตอำนาจของศาลอาญาระหว่างประเทศไม่ทัน เพราะตลอด 2 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลพรรคเพื่อไทยไม่กล้าลงนามในหนังสือรับรองเขตอำนาจของศาลอาญาระหว่างประเทศ ให้เข้ามาตรวจสอบกรณีดังกล่าว ทั้งๆ ที่มีคนเสื้อแดงออกมาเรียกร้อง เพราะกลัวจะเป็นตัวเร่งให้มีการล้มรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เร็วขึ้น
สำหรับผมรีบทำได้จะดีมาก เพราะเห็นแล้วว่าจะลงนามหรือไม่ ฝ่ายที่จ้องล้มรัฐบาลก็เดินหน้าจัดการคุณอยู่ดี เพราะการลงนามรองรับดังกล่าวจะเป็นการช่วยอำนวยในเรื่องกระบวนการยุติธรรมได้ หากมีการฆ่าประชาชนอีก สุดท้ายคนสั่งจะต้องโดนลงโทษ ทั้งจากกฎหมายภายในประเทศแล้ว และจากกฎหมายระหว่างประเทศด้วย



.

2557-04-07

เงาและเครื่องมือ โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์

.

นิธิ เอียวศรีวงศ์ : เงาและเครื่องมือ
ใน www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1396869412
. . วันจันทร์ที่ 07 เมษายน พ.ศ. 2557 เวลา 21:30:01 น.
( ที่มา: นสพ.มติชนรายวัน 7 เมษายน 2557 )


คุณ "ใบตองแห้ง" ตั้งคำถามหลังประกาศผลเลือกตั้ง ส.ว.ว่า เสื้อแดงหายไปไหน และตั้งข้อสังเกตว่าคงไม่มีใครรู้ว่าผู้สมัครรายใดที่สนับสนุนพรรคเพื่อไทย
ตรงกันข้ามกับผู้สมัครใน กทม.ของ กปปส.ซึ่งได้รับการแนะนำบนเวทีเลยว่า เป็นผู้ที่มีความสามารถควบคุมตรวจสอบการทุจริตของรัฐได้ดี

อันที่จริง พลพรรคเสื้อแดงไม่ได้ส่งให้ผู้สมัครของเพื่อไทยเข้าสู่ตำแหน่งนับตั้งแต่การเลือกตั้งใหญ่ใน พ.ศ.2554 มาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. หรืออื่นๆ แต่ในขณะเดียวกัน ก็น่าสังเกตด้วยว่า ผู้สมัครในนามของพรรคเพื่อไทยหรือผู้ที่ได้รับการสนับสนุนจากเพื่อไทย ชนะในการเลือกตั้งท้องถิ่นอย่างกว้างขวาง แม้แต่นายกเทศมนตรีของเมืองใหญ่ในภาคใต้บางแห่ง ก็มีรายงานว่าได้รับการสนับสนุนจากเพื่อไทย


ดูเหมือนจะแสดงว่า พลังในการจัดองค์กรเพื่อการเลือกตั้งของเสื้อแดงนั้น (หากจะมี) ก็มีผลเฉพาะในระดับท้องถิ่น เมื่อผู้สมัครมีความสัมพันธ์โดยตรงกับองค์กรและเครือข่ายของเสื้อแดงในท้องถิ่นเท่านั้น ไม่สามารถขยายไปเชื่อมโยงกันในระดับที่กว้างกว่านั้นได้มากนัก ตรงกับที่นักร่างรัฐธรรมนูญ 2550 คาดหวังไว้ว่า หากจัดการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตรวมเบอร์ เขตเลือกตั้งก็จะใหญ่เกินกว่าองค์กรประชาชนในท้องถิ่นจะสามารถเป็นพลังชี้ขาดผลการเลือกตั้งได้

ผมควรเตือนไว้ด้วยว่า การจัดองค์กรเพื่อการเลือกตั้ง กับการจัดองค์กรเพื่อการอื่น (เช่นต่อต้านเขื่อน, โรงไฟฟ้า, บ่อขยะ, โรงงาน, หรืออนุรักษ์ป่าชุมชน ซึ่งมีผลกระทบต่อท้องถิ่นโดยตรง) นั้น แตกต่างกันมาก ว่าไปแล้ว เรายังไม่เคยเห็นการจัดองค์กรภาคประชาชนในท้องถิ่นเพื่อการต่อรองผ่านการเลือกตั้งเลย เพราะโครงสร้างการบริหารของรัฐรวมศูนย์เสียจนการต่อรองผ่านการมี ส.ส.ของผลประโยชน์ท้องถิ่นเดียว ไม่มีผลต่อการวางนโยบายสาธารณะแต่อย่างไร

พรรคเพื่อไทยและพลังประชาชนได้คะแนนอย่างท่วมท้นจากเสื้อแดง ไม่ใช่โดยผ่านการจัดองค์กรของภาคประชาชนหรือของพรรค (ขบวนการเสื้อแดง) แต่เป็นการตอบสนองของประชาชนต่อเหตุการณ์เฉพาะหน้าทางการเมือง ฉะนั้นหากปราศจากการปลุกปั่นให้เกิดเหตุการณ์เฉพาะหน้าทางการเมือง ผมเชื่อว่าในระยะยาวแล้ว พรรคการเมืองอื่น (ยกเว้น ปชป.) ก็อาจแทรกเข้ามาใช้ขบวนการเสื้อแดงในท้องถิ่น เพื่อเป็นฐานคะแนนของตนเองได้เหมือนกัน


ทั้งหมดที่ผมพูดมาถึงตรงนี้ ก็เพื่อจะบอกว่า เอาเข้าจริงทั้งขบวนการเสื้อแดงและพรรคเพื่อไทยนั้น อ่อนแอทางการเมืองระดับชาติอย่างมาก คือมากกว่าที่เสื้อแดงและเพื่อไทยประเมินตนเอง และมากกว่าที่ศัตรูของเสื้อแดงและเพื่อไทยประเมินให้

หากยุบสภาแล้ว มีการเลือกตั้งโดยปกติ เพื่อไทยจะได้คะแนนเสียงลดลงอย่างเห็นได้ชัด เพราะร่าง พ.ร.บ.เหมาเข่งเหยียบย่ำเสื้อแดงซึ่งคือเหยื่อที่แท้จริงมากเสียกว่าเหยียบย่ำศัตรูทักษิณ การจัดองค์กรของขบวนการซึ่งหลวมอย่างมากอยู่แล้ว แทบจะแตกเป็นเสี่ยงๆ หลังร่าง พ.ร.บ.ถูกนำเข้าสภา แต่ผมออกจะเชื่อด้วยว่า คะแนนเสียงของเพื่อไทยซึ่งสูญเสียไปในหมู่เสื้อแดงจะไม่ตกแก่พรรค ปชป. แต่จะตกแก่พรรคเล็กอื่นๆ ต่างหาก และนั่นคือเหตุผลหลักที่ กปปส.ไม่ยอมกลับบ้านหลังยุบสภา

(ขอออกนอกเรื่อง เพื่อเตือนพวก "อำมาตย์" ไว้ด้วยว่า อย่านึกเป็นอันขาดว่าจะสามารถใช้พรรคการเมืองใดเป็น "เครื่องมือ" ของตนเองได้ฝ่ายเดียว ในโลกนี้ไม่มีใครเป็นไขควงของใครได้ตลอดไป พรรคการเมืองก็อาจใช้ความอ่อนโลกของ "อำมาตย์" เพื่อประโยชน์ทางการเมืองของพรรคตนเองได้เหมือนกัน เช่นในที่สุดเครือข่ายอำมาตย์กลับต้องเดินตามเกมของ กปปส.มากกว่ากลับกัน)



ดังที่ทราบอยู่แล้วว่า ขบวนการเสื้อแดงไม่ได้เกิดขึ้นเพื่อจัดองค์กรสำหรับการเลือกตั้ง แต่เกิดขึ้นเพื่อคัดค้านการรัฐประหารใน พ.ศ.2549 และเรียกร้องสิทธิความยุติธรรมให้แก่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ทั้งสองเป้าหมายดึงดูดผู้สนับสนุนได้จำนวนมาก ทั้งแฟนและไม่ใช่แฟนทักษิณ เหตุการณ์หลังจากนั้นยิ่งทำให้

ขบวนการเสื้อแดงมีการรวมตัวกันอย่างกว้างขวาง โดยไม่จำเป็นต้องจัดองค์กรเพื่อสนับสนุนการเลือกตั้งของพรรคใด แต่ก็นับเป็นโชคดีของขบวนการเสื้อแดงที่การเลือกตั้งถูกทำให้ไร้ความหมายลงไปเรื่อยๆ ความจำเป็นที่จะต้องจัดองค์กรเพื่อสนับสนุนการเลือกตั้งจึงไม่มี

สรุปให้เหลือสั้นๆ ก็คือ พลังของขบวนการเสื้อแดงมาจากความอยุติธรรมที่ชนชั้นนำสร้างขึ้นในสังคม ผมอยากจะย้ำว่าเป็นความอยุติธรรมตื้นๆ ด้วย กล่าวคือไม่ใช่ลึกระดับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ-การเมือง เช่นลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ด้วยการปฏิรูปโครงสร้างภาษี, การถือครองที่ดิน, หรือการกระจายอำนาจและทรัพยากรสู่ชนบทอย่างแท้จริง ฯลฯ อันอาจกระทบต่ออำนาจและผลประโยชน์ของชนชั้นนำ ขบวนการเสื้อแดงไม่เคยเรียกร้องสิ่งเหล่านี้ ได้แต่เรียกร้องให้เคารพการตัดสินใจทางการเมืองของตนผ่านการเลือกตั้งเท่านั้น

ดังนั้น หากประเทศไทยมีการเลือกตั้งไปตามปกติ โดยไม่มีอำนาจอื่นมาขัดขวางการตัดสินใจทางการเมืองของประชาชน ผมเชื่อว่าขบวนการเสื้อแดงก็จะค่อยๆ หมดพลังทางการเมืองลงไปเอง พรรคการเมืองที่สนับสนุนคุณทักษิณอาจได้รับเลือกตั้งด้วยคะแนนเสียงส่วนใหญ่ในระยะแรกๆ แต่ก็จะไม่มีพลังมวลชนหนุนหลังอย่างอุ่นหนาฝาคั่ง จะถูกองค์กรอิสระและวุฒิสภาถ่วงดุลอำนาจได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น (โดยไม่ต้องเบี้ยวให้เสียความเป็นธรรม) หากไม่ปรับตัวให้เป็นที่ยอมรับของสังคมในเวลาอันควร ก็จะแพ้เลือกตั้งไปไม่นานเอง


ไม่ใช่แต่ขบวนการเสื้อแดงเท่านั้น แม้แต่พรรคเพื่อไทยเองก็หาได้มีความเข้มแข็งทางการเมืองเรื่องเลือกตั้งมากนัก ปราศจากบรรยากาศแห่งความอยุติธรรมที่ครอบงำการเมืองมาหลายปี ผู้คนคงไม่พากันเทคะแนนให้พรรคเพื่อไทย (หรือพลังประชาชน) อย่างที่ผ่านมา พรรคเพื่อไทยมีลักษณะเป็นพรรคเฉพาะกิจอย่างมาก ร้ายไปกว่าเฉพาะกิจด้วยซ้ำ เพราะ "กิจ" ที่ตนคิดว่าต้องทำเป็นการเฉพาะนั้นคืออะไร ผมสงสัยว่าพรรคเพื่อไทยก็ยังไม่รู้ด้วยซ้ำ แม้แต่ที่ได้รับเลือกตั้งมาอย่างท่วมท้นเพราะอะไร ผมก็สงสัยเหมือนกันว่า พรรคเพื่อไทยไม่เคยรู้ และไม่เคยพยายามจะวิเคราะห์ด้วยข้อมูลความรู้ว่า เหตุผลที่ทำให้ชนะเลือกตั้งนั้นคืออะไร เป็นเหตุผลที่มีความยั่งยืนทางการเมืองมากน้อยแค่ไหน

เพื่อไทยเป็นพรรคการเมืองตัวแทนของคนกลุ่มไหนกันแน่ หากคิดว่าเป็นตัวแทนของผลประโยชน์คนชนบท เหตุใดจึงไม่รอบคอบกับนโยบายที่หวังจะได้คะแนนจากชนบท เช่นโครงการรับจำนำข้าว หากคิดจะหาคะแนนจากคนชั้นกลางระดับล่าง เหตุใดจึงไม่มีเป้าหมายระยะยาวแก่โครงการรถคันแรกมากไปกว่าเพิ่มยอดขาย ฯลฯ ถึงที่สุดแล้ว พรรคเพื่อไทยเก็บคะแนนจากคนที่ไม่พอใจการจัดการทางการเมืองของชนชั้นนำเท่านั้น โดยตนเองก็ไม่มีแผนการเปลี่ยนแปลงการจัดการทางการเมืองใดๆ ขึ้นมาทดแทน

พรรคการเมืองแบบนี้ตั้งอยู่ไม่ได้หรอก หากชนชั้นนำไม่ช่วยสร้างเงื่อนไขทางการเมืองจนคนส่วนใหญ่ของประเทศไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากต้องเลือกพรรคที่แทบไม่มีลักษณะเป็นพรรคการเมืองเอาเลยเช่นพรรคเพื่อไทย



เช่นเดียวกับขบวนการเสื้อแดง หากการเมืองไม่ถูกแทรกแซงด้วยความฉ้อฉลต่างๆ อย่างไร้ยางอาย ผมเชื่อว่าขบวนการนี้จะค่อยๆ สลายตัวลงไปในเวลาไม่นาน เพราะผู้คนจำนวนมากหยุดเคลื่อนไหวร่วมไปกับขบวนการ เนื่องจากไม่มีเหตุที่จะอยากเข้าไปร่วม และขบวนการเองก็ไม่ประสบความสำเร็จที่จะแปรเปลี่ยนตนเองเป็นขบวนการที่มีการจัดองค์กรเพื่อการเลือกตั้ง เช่นความพยายามของเสื้อแดงบางกลุ่มในภาคเหนือที่จะเรียกร้องให้พรรคเพื่อไทยจัดไพรมารี่โหวตในการส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้ง แต่ก็ถูกเจ๊ในพรรคเพื่อไทยขัดขวาง เพราะการเปิดให้ประชาชนในเขตเลือกตั้งกำหนดตัวผู้สมัครของพรรค ย่อมทำลายอิทธิพลของเจ๊อย่างแน่นอน

แต่เจ๊เพื่อไทยไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่ขวางอำนาจประชาชน เสื้อแดงโดยส่วนใหญ่ก็ไม่ได้เคลื่อนไหวไปในทิศทางที่จะแปรเปลี่ยนขบวนการของตนไปสู่การจัดองค์กรเพื่อการเลือกตั้งด้วย ได้แต่เลือกพรรคเพื่อไทยไป เพราะไม่มีทางเลือกอื่นที่จะเผชิญกับการขัดขวางประชาธิปไตยของชนชั้นนำได้ในช่วงนี้

ผมไม่ทราบว่า ชนชั้นนำไทยได้นำการต่อสู้ทางการเมืองไปสู่ความไม่สร้างสรรค์เช่นนี้ได้อย่างไร เพราะไม่เป็นประโยชน์อะไรเลยแก่การรักษาอำนาจและผลประโยชน์ของชนชั้นนำเองในระยะยาว สิ่งที่มองเห็นว่าเป็น "ศัตรู" ของตนนั้น เอาเข้าจริงก็เป็นแค่เงา
การต่อสู้เพื่อผลประโยชน์และอำนาจที่แท้จริงของชนชั้นนำยังมาไม่ถึง เมื่อมาถึงในอนาคต ชนชั้นนำไทยจะรักษาผลประโยชน์และอำนาจได้ก็โดยระบบที่คนส่วนใหญ่เชื่อว่าชอบธรรมต่างหาก แต่การเคลื่อนไหวในทางตรงกันข้ามในปัจจุบัน กลับไปทำลายโอกาสที่จะรักษาระบอบที่คนส่วนใหญ่เชื่อว่าชอบธรรมลง ซึ่งเป็นผลร้ายต่อชนชั้นนำมากกว่า (อย่าลืมว่าชนชั้นนำคือคนส่วนน้อยของสังคมเสมอ)


กลับมาสู่เรื่องเครื่องมือใหม่ เป็นไปได้หรือไม่ว่า ชนชั้นนำไทยวางใจกับเครื่องมือคือพรรคแมลงสาบเกินไป จนลืมไปว่าพรรคแมลงสาบก็มีเป้าหมายทางการเมืองของตนเอง ซึ่งไม่จำเป็นว่าจะสอดคล้องกับผลประโยชน์ทางการเมืองและเศรษฐกิจของชนชั้นนำเสมอไป



.