http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-03-31

THIS MUST BE THE PLACE, Definitely Neighbors โดย นพมาส, มาดามหลูหลี

.
บทความปีที่แล้ว 2554 ครบรอบปี - "คนที่ตายมีใบหน้า คนที่ถูกฆ่ามีชีวิต" โดย คนมองหนัง

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

THIS MUST BE THE PLACE "ตลกร้าย"
โดย นพมาส แววหงส์ คอลัมน์ ภาพยนตร์
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1650 หน้า 87


กำกับการแสดง Paolo Sorrentino
นำแสดง Sean Penn
Frances McDormand
Judd Hirsch


ในอดีต ไชแยน (ฌอน เพนน์) เคยเป็นดารานักร้องในยุคทศวรรษ 1980 ประมาณเดียวกับ มิก แจ็กเกอร์ หรือ เดวิด โบวี ละกระมัง เขายังคงรักษาภาพลักษณ์ภายนอกของร็อกสตาร์ โดยแต่งตัว แต่งหน้าเต็มยศ เหมือนจะต้องขึ้นเวทีออกคอนเสิร์ตอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน
ปัจจุบันเขาอายุห้าสิบ ชื่อเสียงโด่งดังนั้นเคลื่อนคล้อยไปอยู่เบื้องหลังหมดแล้ว แต่อานิสงส์จากความดังในอดีตกาลก็ยังคงส่งผลมาถึงปัจจุบัน เขาไม่ต้องทำมาหากินอะไร ก็มีอันจะกินอย่างสบาย อาศัยอยู่ในคฤหาสน์ใหญ่ที่เจ้าของบ้านละเลยจนทรุดโทรมไปตามกาลเวลา
บริเวณที่เคยเป็นสระว่ายน้ำแต่ก่อนเก่าบัดนี้แห้งผากไม่มีใครเติมน้ำสักหยด ไชแยนใช้เป็นคอร์ตแรกเก็ตบอล ที่เขาใช้ออกกำลังกายเล่นกับเจน (ฟรานซิส แม็กดอร์มันด์) ภรรยาผู้แสนดีและเข้าอกเข้าใจสามี

ไชแยนเป็นร็อกสตาร์ที่แต่งตัวในแบบที่เรียกว่า "กอธ" (goth) ซึ่งถือเป็นวัฒนธรรมย่อย (sub-culture) แบบหนึ่งที่นิยมอยู่ในทศวรรษ 1980
เราๆ ท่านๆ คงเคยเห็นแฟชั่นแบบกอธ หรือกอธิก ที่ได้อิทธิพลมาจากวรรณกรรมกอธิกของศตวรรษที่ 19 และหนังสยองขวัญประเภทผีดิบดูดเลือด

เรื่องราวที่เป็นที่รู้จักกันดีก็มีอย่างเช่น The Headless Horseman หรือ Sleepy Hollow หรือแม้กระทั่งวรรณกรรมแวมไพร์ทั้งหลายที่เกิดตามมาอย่าง Twilight ที่นิยมกันถล่มทลายเป็นปรากฏการณ์

ถ้าพูดถึงหนัง ก็จะเป็นหนังจำพวกที่ ทิม เบอร์ตัน ชอบกำกับให้ จอห์นนี เดปป์ เล่น อย่าง Edward the Scissorhands และถ้าใครยังจำได้ถึงหนังชุดทางทีวี ก็อย่างเช่น The Addams Family และ The Munsters ซึ่งทั้งสองชุดเป็นหนังที่ตลกจี้เส้น เป็นต้น

การแต่งเนื้อแต่งตัวตามแบบกอธที่ว่านี้ คือผมดำปี๋ เขียนขอบตาดำเข้ม ทาเล็บสีดำ เสื้อผ้าชุดดำ ซึ่งเป็นลักษณะน่ากลัวชวนสยองขนหัวลุกเหมือนผีดิบอะไรทำนองนั้น
พระเอกของเราคือไชแยน ก็แต่งตัวแต่งหน้าอย่างนั้นแหละค่ะ ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับการบ่งบอกว่าอยากแต่งตัวเป็นผู้หญิงแต่อย่างใด เคยเห็นผู้หญิงแต่งแบบกอธที่ทาปากดำปี๋ แต่ไชแยนทาปากด้วยลิปสติกแดงแจ๋ทุกวัน

ซึ่งเป็นเหตุให้มีอยู่ฉากหนึ่งที่น่าขันคือ ฉากในลิฟต์ซึ่งมีผู้หญิงสองคนกำลังคุยกันเรื่องการแต่งหน้า และแลกเปลี่ยนทัศนะกันว่าจะทาปากอย่างไรให้ลิปสติกติดแน่นทนทาน ไชแยนซึ่งแอบฟังอยู่ โผล่หน้าออกมาร่วมเสวนาด้วย โดยให้ความเห็นว่าเขาพบว่าการลงรองพื้นและตบแป้งบนริมฝีปากก่อนจะทาลิปสติก จะทำให้สีติดทนอยู่ได้ทั้งวัน



ไชแยนซึ่งมีแต่อดีตอันรุ่งเรือง แต่ไม่มีอนาคตจะให้มองไปข้างหน้า ได้แต่ใช้ชีวิตอันสุขสบายอยู่ในความเบื่อหน่าย และเกียจคร้าน กับภรรยาที่แสนดี และเพื่อนฝูงไม่กี่คน
ทว่าชีวิตของเขากำลังจะเปลี่ยนไป เมื่อได้ข่าวว่าพ่อของเขากำลังจะตาย พ่อที่เขาไม่เคยได้พบหน้าหรือพูดคุยกันมาร่วมสามสิบปี
เขาเก็บเสื้อผ้าใส่กระเป๋า กล่าวลาภรรยา และออกเดินทางจากบ้านในเมืองดับลิน ไอร์แลนด์ ไปยังนิวยอร์ก แต่ก็ไม่ทันการเสียแล้ว

ไหนๆ ก็เดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลมาถึงอเมริกาแล้ว ไชแยนจึงยังไม่อยากเสียเที่ยวเดินทางกลับไอร์แลนด์หลังจากพ่อตาย เขาคิดถึงการแก้แค้นให้แก่ความอัปยศยิ่งใหญ่ที่พ่อไม่เคยลืมเลยตลอดชีวิต ซึ่งเกิดจากการอยู่ในค่ายกักกันของนาซี
ลักษณะของหนังจึงเป็นหนังที่เรียกว่า road movie เป็นการเดินทางของตัวเอก ซึ่งในกรณีนี้มีจุดประสงค์คือการตามหาตัวบุคคลคนหนึ่งที่เคยใช้ชื่อว่า เอโลอา มุลเลอร์ อดีตนาซีชาวเยอรมัน ที่มาใช้ชีวิตในอเมริกาและหลบซ่อนจากการถูกจับกุมไปขึ้นศาลในฐานะอาชญากรสงคราม

การพลิกแผ่นดินตามหาตัวอดีตนาซีคนนี้พาเขาตระเวนไปหลายแห่งในอเมริกา และได้พบกับ โมดิไค มิดเลอร์ (จัดด์ เฮิร์ตส์) ซึ่งเป็นนักล่าตัวนาซีมืออาชีพอีกคน


เอาละค่ะ เล่าได้แค่นี้แหละ ตามธรรมเนียมอันดีงามของการเขียนวิจารณ์ก็จะไม่สามารถบอกจนหมดเปลือกว่าไชแยนหาตัวมุลเลอร์เจอหรือไม่เจอ และการแก้แค้นของเขาสำเร็จหรือไม่อย่างไร บอกได้เพียงว่าการเดินทางครั้งนี้ของเขาจะเปลี่ยนชีวิตของเขาไปหมดเลย

ผู้กำกับฯ อิตาเลียนคนนี้ใช้นักแสดงฝีมือเยี่ยมสองคนคือ ฌอน เพนน์ (Milk, Dead Man Walking, Mystic River) กับ ฟรานซิส แมคดอร์มันด์ (Fargo) ที่เป็นสุดยอดฝีมือในวงการแสดง

บทของไชแยนนี่ถ้าไม่ใช่ ฌอน เพนน์ ก็คงต้องเป็น จอห์นนี เดปป์ ละมัง และเป็นบทที่นักแสดงที่จริงจังกับการแสดงทั้งหลายต้องอยากเล่น เพราะเปิดโอกาสให้สำรวจแง่มุมแปลกๆ ของมนุษย์และสร้างสรรค์ตัวละครที่น่าจดจำได้

หนังถ่ายถาพได้สวยงามดี แต่เดินเรื่องช้าๆ ซึ่งหลายคนอาจรู้สึกว่ายืดยาด ฌอน เพนน์ เปล่งวาจาออกมาแต่ละคำๆ เหมือนกับไม่อยากให้พิกุลร่วงจากปาก

บอกเสียหน่อยก็ดีว่า โทนของหนังจะดูเป็นหนังอาร์ตซึ่งคนทั่วไปอาจจะรู้สึกเหมือนไม่ได้ดังใจ เพราะคนสมัยนี้มักใจร้อนอยากรู้เรื่องให้จบๆ ไปในเวลาอันรวดเร็ว
เป็นหนังที่อาจไม่ได้เห็นฉายในโรงหนังปกติ แต่ก็ได้รางวัลจากเทศกาลต่างๆ มาแล้วพอควร

ใครใคร่ดูก็เชิญดูได้ค่ะ ยังฉายอยู่ในโรงบางโรงขณะนี้



++

Definitely Neighbors : คนข้างบ้าน
โดย มาดามหลูหลี : hluhlee@gmail.com คอลัมน์ เงาเกาหลี
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1650 หน้า 86


ในซีรี่ส์เกาหลีหลายเรื่อง เมื่อคู่สามีภรรยาที่ต้องหย่าร้างกันด้วยสาเหตุต่างๆ
และหนึ่งในสาเหตุสำคัญคือการสูญเสียลูกซึ่งเป็นโซ่ทองคล้องใจ เมื่อโซ่ทองมีอันขาดผึงลงชีวิตคู่ที่พยายามประคับประคองกันมาก็ไปกันไม่ได้ไปไม่รอด เช่น เรื่อง Alone in Love
และเรื่องนี้ Definitely Neighbors จากคนข้างตัวกลายเป็นคนข้างบ้านไปได้

คิมซังแจ (ซงฮยุนจู จาก Frist Wives" Club ปี 2007) สามียูนจียอง (ยูโฮจัง) ทั้งคู่มีลูกสาวคิมอึนซอ (อันอึนจัง) และลูกชาย เพราะพ่อแม่ทะเลาะกันทำให้ลูกชายออกจากบ้านและเกิดอุบัติเหตุเสียชีวิต นอกจากความเสียใจแล้วพ่อแม่ทั้งสองยังละอายใจ และมองหน้ากันไม่ติด การหย่าร้างจึงเป็นทางออกที่ดีของคู่สามีภรรยา
แต่ไม่ใช่คำตอบที่ใช่ของอึนซอลูกสาวที่เหลืออยู่

คนที่เรียกตัวเองว่าผู้ใหญ่และคิดว่าการกระทำของตัวเองเป็นผู้ใหญ่ จึงไม่คิดถึงหัวอกหัวใจของอึนซอเด็กหญิงตัวเล็กๆ ซึ่งเป็นลูกรักอีกคนหนึ่ง บางครั้งผู้ใหญ่จึงเป็นเพียงเด็กตัวโตเท่านั้น

ผู้หญิงเกาหลีกับผู้หญิงญี่ปุ่นมีวัฒนธรรมที่คล้ายกัน คือเมื่อแต่งงานก็ต้องทำหน้าที่แม่บ้านอย่างเดียวคือดูแลลูกและสามี ไม่ต้องทำงานประจำ
ซึ่งถ้าสาวๆ ของทั้งสองชาตินี้ทำงานออฟฟิศไปด้วยแม้ว่าแต่งงานแล้ว ประเทศเกาหลีกับญี่ปุ่นจะเจริญเพียงใดและน่าเกรงขามสักแค่ไหน? ด้วยพลังยิ่งใหญ่ของผู้หญิง

ยูนจียองจึงต้องหางานทำเพื่อเลี้ยงดูอึนซอกับตัวเอง และเช่าบ้านอยู่กันเอง แต่ชีวิตมักมีเรื่องตลกที่หัวเราะไม่ออกได้เสมอ เพราะบ้านใหม่ของยูนจียองดันมาอยู่ใกล้กับบ้านใหม่ของคิมฮยุนจูอดีตสามีของเธอ
ที่จะหนีหน้าให้ไกลกลับต้องมาอยู่ใกล้กันให้เห็นหน้าเหม็นๆ กวนจิตกวนใจได้บ่อยๆ


งานที่ยูนจียองได้เป็นงานผู้ช่วยเชฟจางกันฮี (ชินซังรอค) ในร้านอาหารหรูแห่งหนึ่ง เพราะจางกันฮีเชฟใหญ่เจ้าอารมณ์จึงหาผู้ช่วยได้ยากหรือไม่ก็อยู่ได้ไม่นาน ด้วยอดทนกับความเจ้าอารมณ์ของเชฟไม่ไหว

จางกันฮี นายแพทย์หนุ่มผู้ทิ้งเข็มฉีดยามาจับกระทะตะหลิว มาเป็นเชฟทำอาหารวิชาชีฟที่เขาหลงรัก แบบขัดใจคุณแม่ เขาคิดว่าการทำอาหารอร่อยให้คนรับประทานแล้วมีความสุขก็ไม่ต่างอะไรกับการรักษาชีวิต

หากเชฟจางเจ้าอารมณ์เหมือนเรื่อง Pasta ที่เชฟใหญ่เจ้าอารมณ์จนลูกน้องลาออกกันเกือบหมด อาจเป็นไปได้ว่าเชฟเหมือนวาทยกรใหญ่ เป็นศิลปินจึงเจ้าอารมณ์ จนลูกน้องกระเจิดกระเจิง ซึ่งในความเป็นจริงมนุษย์อย่างเราๆ อยากได้การสื่อสารที่จริงใจตรงไปตรงมาด้วยคำพูดสุภาพรื่นหูและให้เกียรติกัน

เพราะเธอเป็นแม่ ยูนจียองจึงต้องอดทนกับความจู้จี้จุกจิกจอมละเอียดของจางกันฮี งานผู้ช่วยในครัวจึงทำซ้ำหลายครั้ง ผักที่หั่นแล้วหั่นใหม่, เส้นสปาเก็ตตี้ต้มเสร็จแล้วต้มใหม่อีก กับงานอื่นๆ ที่ต้องทำใหม่ทำซ้ำจนกว่าเชฟใหญ่จะพอใจ กว่าจะได้มาตรฐานของเชฟ

ชีวิตที่เป็นแม่บ้านดูแลลูกและสามีมาตลอดของยูนจียอง พอได้ทำงานเป็นผู้ช่วยเชฟ เธอทำงานอย่างตั้งใจ และมีพัฒนาการขึ้นเป็นลำดับ ถึงขั้นเป็นสไตลิสต์ตกแต่งจานอาหารเพื่อถ่ายลงนิตยสารได้ สร้างความปลาบปลื้มใจให้ยูนจียองอย่างมาก ด้วยเธอไม่คิดว่าเธอจะมีความสามารถถึงขนาดนี้ เธอคิดว่าคงเป็นได้แค่แม่อึนซอ



ส่วนคิมซังแจสามีจียอง เริ่มสานสัมพันธ์ใหม่กับคังมีจิน (คิมซังรยุน จากอิมซังอ๊ก) คุณแม่ลูกหนึ่ง และคิมซังแจเอ็นดูเด็กชายซองจูนซู (ชาแจดอง) เพราะคล้ายลูกชายที่เสียชีวิตไป กับชมชอบความอ่อนโยนประนีประนอมของคังมีจิน

และคู่สามีภรรยาที่หย่าร้างกันกลับต้องมาเช่าบ้านซื้อบ้านอยู่ในละแวกเดียวกัน ถ้าไม่ใช่เพราะลูกสาวที่ทำให้ทั้งคู่ยังต้องมีเรื่องให้เกี่ยวข้องกันแล้ว ทั้งคู่คงแทบไม่อยากเจอะเจอกัน

แถมยังมีพ่อหม้ายคิมวูจิน (ฮงโยซอบ ดาราใหญ่เคยรับบทพระราชาจาก Princess Ja Myung Go) อาของคิมซังแจ ที่มาเช่าบ้านอยู่ใกล้กัน และเริ่มมีใจรักชอบแชยองชิล (คิมมีซุก แม่เลี้ยงใจร้ายใน Shining Inheritance) สาวใหญ่สาวโสดที่เพิ่งรีไทร์จากงานประจำ

ดูน่าจะเป็นคู่ที่เหมาะสมลงตัว แต่ก็ยังมีอุปสรรค เพราะการหย่าร้างของคิมวูจินและอดีตภรรยาเอกสารยังไม่เรียบร้อย เนื่องจากกฎหมายการหย่าร้างของเกาหลีค่อนข้างเข้มงวด เพื่อให้คู่สมรสไม่อาจหย่ากันได้ง่ายๆ

เป็นการป้องกันครอบครัวแตกร้าวอีกชั้นหนึ่ง



ด้วยความยาวของละครที่มีจำนวนตอนถึง 65 ตอน เรื่องราวจึงมีผู้คนและตัวละครมากมายที่เกี่ยวข้องกัน มีความสัมพันธ์ผูกโยงกันเป็นเครือข่าย ซึ่งล้วนแต่เป็นดารามือเก่ามือเก๋าทั้งสิ้น

ยูนอินซู (ปักกึนฮยุน ดาราอาวุโส) พ่อของยูจียองที่แต่งงานใหม่กับอีซังอ๊ก (จังแจซูน) แม่ของยูนฮายอง (ฮันแชอาห์) ไปจับคู่กับแชกีฮุน (ชอยวอนยอง) น้องชายแชยองชิล ครอบครัวทั้งสาม คือตระกูลคิม, ตระกูลยูน, และตระกูลแช จึงได้มาเกี่ยวดองกันทั้งละครยังเล่าเรื่องราวชีวิตของยูนอินซู คนทำงานออฟฟิศเมื่อต้องเกษียนจะต้องดำเนินชีวิตอย่างไรหลังเกษียณ และอีซังอ๊กภรรยาผู้เป็นแม่บ้าน ซึ่งการเกษียณของสามีก็มีปัญหากับการจัดการชีวิตของเธอและสามีให้ลงตัว ช่วงกลางวันที่ต่างคนต่างอยู่ เมื่อต้องมาขลุกอยู่ด้วยกันตลอดเวลา จึงสร้างความอึดอัดให้คุณแม่บ้านไม่ใช่น้อย

ซึ่งคล้ายๆ กับแชยองชิล สาวใหญ่ที่ทำงานออฟฟิศมาตลอด เมื่อขอเกษียณตัวเองก่อน จะจัดการชีวิตตัวเองอย่างไร จะอยู่ตัวคนเดียวได้อย่างไรถ้าน้องชายต้องแต่งงานมีครอบครัวไป

ต้องชื่นชม โจนัมกุก ผู้กำกับการแสดงและผู้เขียนบท ที่สามารถผูกเรื่องเล่าเรื่องได้อย่างน่าติดตามดูไม่เบื่อ เหมือนเฝ้าดูเรื่องราวชีวิตของคนที่เรารู้จักมักคุ้นเป็นเพื่อนบ้านที่หวังดี อยากให้เขาและเธอเหล่านั้นมีชีวิตที่ลงตัวมีความสุข



Defintely Neighbors เป็นซีรี่ส์ที่มีเรตติ้งดีเรื่องหนึ่ง ละครดีๆ ที่เราติดตามดูทุกๆ สัปดาห์ จนกลายเป็นส่วนหนึ่งของกิจวัตรประจำวัน

ทั้งยังเป็นสิ่งที่เฝ้ารอดูคอยลุ้นไปกับตัวละครด้วย อย่างคุณๆ แม่บ้านอาจุมม่าทั้งหลาย

แม่ที่อยู่บ้านทำงานบ้านที่น่าเบื่อทั้งวัน ได้มีความบันเทิงให้ผ่อนคลาย

ถามแม่ว่าอยากดูตอนต่อไปแบบตอนต่อตอนแผ่นต่อแผ่นมั้ย จะเอามาให้ดู

แม่บอกว่า

"อย่ามายุ่งกะกรู เดี๋ยวดูจบหมดแล้วกรูก็ไม่มีอะไรดูซิ!"



++++

บทความปีที่แล้ว 2554 ครบรอบปี

"คนที่ตายมีใบหน้า คนที่ถูกฆ่ามีชีวิต"
โดย คนมองหนัง คอลัมน์ นอก "กระแส"
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1600 หน้า 85 หน้า 85


เหตุการณ์ปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐ คนเสื้อแดง และ "กลุ่มชายชุดดำ" ไม่ทราบฝ่าย/สังกัด เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2553 ผ่านพ้นมาได้เป็นเวลา 1 ปีเต็ม
เวลาผันผ่านไปอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะเมื่อนำไปเปรียบเทียบกับกระบวนการแสวงหาผู้กระทำผิดมาลงโทษ
ซึ่งยังคงเต็มไปด้วย "ความหวังอันว่างเปล่า"

อย่างไรก็ตาม ในขณะที่การแสวงหาผู้กระทำผิดมารับโทษดำเนินไปอย่างยากเย็น กระบวนการทบทวนความทรงจำของผู้สูญเสียกลับดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง
เมื่อเหตุการณ์ "10 เมษายน 2553" ได้สร้างความสูญเสียให้แก่ทั้งผู้ชุมนุมคนเสื้อแดงและเจ้าหน้าที่รัฐ
ความทรงจำของผู้สูญเสียสองฝ่ายจึงดำเนินหรือถูกนำมา "จัดวาง" เคียงคู่กันไป


ดังนั้น เมื่อเวลา 1 ปีผ่านไป เราจึงยังมีโอกาสได้รับรู้ความรู้สึกของ คุณนิชา หิรัญบูรณะ ธุวธรรม ภรรยา พล.อ.ร่มเกล้า ธุวธรรม นายทหารผู้เสียชีวิตบริเวณโรงเรียนสตรีวิทยา (ผู้สนใจโปรดอ่านบทสัมภาษณ์ "ครบ 1 ปี 10 เม.ย. "เลือด" เปิดใจภรรยา "พล.อ.ร่มเกล้า" "ไม่ปรองดองคนผิด-รอความยุติธรรม"" โดย นัฐวัฒน์ ดวงแก้ว ในหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับประจำวันที่ 8 เมษายน 2554 หรือที่ http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1302240062&grpid=no&catid=02)

แต่ขณะเดียวกัน เสียงของผู้สูญเสียฝ่ายเสื้อแดง ก็เป็นเสียงอันก้องดังที่เรามิอาจแสร้งทำเป็นไม่ได้ยินหรือไม่ยอมรับรู้ถึงการดำรงอยู่

และเสียงสามัญชนผู้สูญเสียเหล่านั้นก็ถูกนำเสนอออกมาอย่างเป็นระบบผ่านหนังสือชื่อ "วีรชน 10 เมษา : คนที่ตายมีใบหน้า คนที่ถูกฆ่ามีชีวิต" ผลงานการเขียนของ "กรกช เพียงใจ" เรียบเรียงข้อมูลโดย "กองบรรณาธิการประชาไท" มี "ไอดา อรุณวงศ์" และ "วริศา กิตติคุณเสรี" เป็นบรรณาธิการ และดำเนินการผลิตโดย "สำนักพิมพ์อ่าน"

นอกจาก "ลำดับเหตุการณ์สำคัญ" ตั้งแต่วันที่ 12 มีนาคม - 10 เมษายน 2553 ที่ถูกจัดทำอย่างละเอียดโดย กองบรรณาธิการประชาไท แล้ว

เนื้อหาส่วนสำคัญที่โดดเด่นที่สุดในหนังสือเล่มนี้ ก็คือ การพาผู้อ่านไปทำความรู้จักกับพลเรือนทั้งไทยและเทศที่เสียชีวิตรวมทั้งสิ้นจำนวน 21 ศพ ในเหตุการณ์ 10 เมษายน 2553 ผ่านข้อมูลประวัติโดยย่อของผู้เสียชีวิตแต่ละราย เรื่องราวภูมิหลังของพวกเขา ตลอดจนบาดแผลความทรงจำอันถูกทิ้งค้าง ซึ่งถูกเปิดเผยออกมาจากปากคำของคนใกล้ชิดที่ยังมีชีวิตอยู่ข้างหลัง

อาทิ

เรื่องราวของ "ยุทธนา ทองเจริญพูลพร" (เตย) เด็กหนุ่มวัย 23 ปี จากจังหวัดราชบุรี ว่าที่บัณฑิตวิศวกรรมศาสตร์ สาขาไฟฟ้า และกำลังจะแต่งงาน ทว่า การเสียชีวิตของเขา ก็ทำให้ความหวังความฝันทั้งมวลต้องมลายหายไป

"หลังการจากไปของเตย บรรดาพี่ป้าน้าอาที่เลี้ยงเขามาต่างพากันโศกเศร้า พวกเขารักเตยเหมือนลูก เพราะอุปถัมภ์เตยมาแต่เล็ก เนื่องจากเตยเป็นลูกชายคนเดียวที่อยู่กับพ่อพิการ ไม่เคยพบหน้าแม่

"ถึงตอนนี้บ้านของเตยที่ราชบุรีถูกปิดร้าง พ่อของเตยจากไปก่อนหน้าเขา 6 เดือน บัดนี้ลูกชายคนเดียวก็มาเสียชีวิตตามไป ใหม่ (ว่าที่ภรรยาของเตย - ผู้เขียนบทความ) ตัดสินใจย้ายออกจากบ้านหลังนั้นกลับไปอยู่บ้านแม่ เพราะไม่สามารถทนบรรยากาศเวิ้งว้างว่างเปล่าได้ คงเหลือเพียงความทรงจำว่าครั้งหนึ่งบ้านหลังนี้เคยมีรอยยิ้ม ความหวัง ความฝันของคนคู่หนึ่ง" (หน้า 43)


ความสูญเสียที่เกิดกับยุทธนาก็อาจคล้ายคลึงกับ "อำพน ตติยรัตน์" เด็กหนุ่มวัย 26 ปี ซึ่งกำลังศึกษาปริญญาตรีเทอมสุดท้าย ที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม อำพนอาจยังไม่มีแผนการการสร้างครอบครัวของตนเอง แต่ความตายของเขาก็ส่งผลกระทบยิ่งใหญ่ต่อพ่อแม่และน้องที่บ้าน

ดังที่พ่อของอำพนได้ระบายความแค้นด้วยการจินตนาการถึงวิธีการแบบตาต่อตาฟันต่อฟันที่ตนเองมิอาจลงมือกระทำได้ในโลกแห่งความจริงเอาไว้ว่า "ตอนนี้จิตใจก็ยังไม่ดี ยังทำใจไม่ได้ ถ้าผมสามสิบกว่าผมคงเอาแบบทางใต้ ทำกับลูกผม ผมก็ต้องเอาคืน เล่นเอาปืนกลไล่ยิงพวกผมแบบนี้ ถ้าเป็นไปได้อยากจะเอาลูกระเบิดวางไว้เลยที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ที่พานรัฐธรรมนูญ แล้วปืนเอาวางไว้เลยรอบๆ นั่น แต่นี่ผมแก่แล้ว ผมก็ไม่รู้จะทำยังไง (เสียงเครือ) เราเป็นรากหญ้า สู้อะไรเขาไม่ได้ ก็ได้แต่สาปแช่ง ให้เขาได้รับเวรรับกรรมของเขา" (หน้า 82)

ขณะที่แม่ก็เล่าเรื่องราวของน้องชายคนสุดท้องวัย 19 ปีของอำพนว่า "ลูกชายคนเล็กนี่คลั่งเลยนะ วันที่เขา (เจ้าหน้าที่รัฐ - ผู้เขียนบทความ) จะเริ่มสลายที่นี่ (19 พ.ค. 53) เขากั้นที่นี่หมดเลย ปิดไฟ ปิดอะไร แล้วลูกชายมันเครียดมากเลย ก็เลยไปกินเบียร์ กินก็ไม่เมา ร้องไห้ใหญ่เลย มามองรูปพี่แล้วก็บอก "เฮ้ย พี่อู๊ด (ชื่อเล่นของอำพน - ผู้เขียนบทความ) ทำไมต้องตาย ใครทำให้พี่อู๊ดตาย" พูดเสร็จก็บอกจะไปฆ่าทหาร "มันมาฆ่าพี่กู" ฉันต้องจับไว้ บอกไม่เอานะลูกนะ ดึงไว้ยังไงก็ไม่ฟัง พ่อต้องเอาเชือกมามัดประตูไว้" (หน้า 82)



ความสูญเสียยังเกิดกับ "เกรียงไกร คำน้อย" คนขับรถตุ๊กตุ๊กวัย 24 ปี จากอำเภอพนมไพร จังหวัดร้อยเอ็ด ซึ่งเมื่อเดือนเมษายน 2552 เขายังเป็นทหารเกณฑ์ในสังกัดกองทัพเรือ แต่เพียงอีก 1 ปีถัดมา เขาก็กลายเป็นผู้ชุมนุมที่ถูกยิงเสียชีวิตในเหตุการณ์สลายการชุมนุม

"ก่อนหน้าบ่ายวันที่ 10 ที่เขาไปดูเหตุการณ์เผชิญหน้ากันระหว่างผู้ชุมนุมและทหารที่สะพานมัฆวานฯ กับเพื่อนอีก 3 คน น้าของเขาที่เป็นจ่าทหารอยู่กาญจนบุรีโทร.มาเตือนกับน้าอีกคนหนึ่งว่า อย่าให้ลูกหลานออกไปเพราะ "เขาเอาจริงแล้ว" แต่คำเตือนก็ไม่อาจทัดทานคนหนุ่มได้ ขณะที่หน่วยงานของผู้เป็นน้าก็ถูกเรียกมายังกรุงเทพฯ แต่ยังไม่ทันได้ออกปฏิบัติการ

"หลังจากเขาเสียชีวิต แม่ของเขาหัวใจสลาย ด้วยความโกรธแค้น เธอโทร.ไปต่อว่าน้องชายที่เป็นทหารผู้นั้นว่าทำไมต้องยิงหลาน มันคงเป็นคำถามที่หมายความถึงทหารโดยทั่วไป แต่พุ่งตรงไปยังเป้าหมายที่ล็อกตัวได้ ปลายสายได้แต่ตอบว่า เขาไม่ได้ตั้งใจลงมายิงหลาน แต่ต้องทำตามหน้าที่" (หน้า 112)


มิใช่มีแค่การเสียชีวิตของคนหนุ่มเท่านั้น แต่ความตายของ "วสันต์ ภู่ทอง" วัย 39 ปี ก็ได้ส่งผลให้สมาชิกในครอบครัวลุกขึ้นสู้ด้วยการเข้าร่วมชุมนุมกับคนเสื้อแดงที่สี่แยกราชประสงค์หลังวันที่ 10 เมษายน 2553 ด้วยอารมณ์ความรู้สึกที่ "น้ำทิพย์ พ่วงท้วม" น้องสาวคนเล็กของวสันต์กล่าวเอาไว้ว่า

"มันไม่ได้เกี่ยวกับทักษิณเลย แค่ถามว่าขอประชาธิปไตย ขอเลือกตั้งเองได้ไหม ง่ายๆ ภาษาชาวบ้านคือ ฉันขอเลือกเอง แค่นี้เอง ฟังง่ายๆ ไม่ได้เหรอ" (หน้า 67) และ "คือคนที่เราเลือกของเรา เขายึดของเราไป ยึดประชาธิปไตยของเราไป แต่เราไม่มีสิทธิทำอะไรเลย" (หน้า 69)


และสำหรับผู้เสียชีวิตที่มีสถานะเป็นพ่อคน ความทรงจำอันเจ็บปวดก็ต้องถูกฝังตรึงอยู่ในความคิดของลูกน้อยอย่างมิอาจหลีกเลี่ยงได้ ดังกรณีของ "ไพรศล ทิพย์ลม" ชาวขอนแก่นวัย 38 ปี ที่เข้ามาทำงานเป็นชิปปิ้งของบริษัทเอกชนแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ

"สังวานย์ สุทธิเสน" ภรรยาชาวลาวของไพรศล เล่าให้ฟังถึงปฏิกิริยาของลูกน้อยในวันที่ผู้เป็นพ่อเสียชีวิตเอาไว้ว่า

"วันที่พ่อเสีย เขาเห็นพ่อ เขาบอกทหารยิงพ่อ ทหารฆ่าพ่อน้อง ทหารใจร้าย เดี๋ยวนี้ลูกเจอทหารไม่ได้ เขาจะพูดว่าทหารคนนี้ฆ่าพ่อน้อง ไม่ว่าทหารคนไหน เขาจะพูดแบบนี้" (หน้า 151)



เหล่านี้ คือตัวอย่างส่วนเสี้ยวหนึ่งเท่านั้นของหนังสือ "วีรชน 10 เมษา : คนที่ตายมีใบหน้า คนที่ถูกฆ่ามีชีวิต" ที่บอกเล่าเรื่องราวความสูญเสียของสามัญชนใน "เหตุการณ์ 10 เมษา" ซึ่งทางกองบรรณาธิการประชาไทเห็นว่า

"...เป็นจุดเริ่มต้นของความสูญเสียครั้งใหญ่ และวาทกรรม "ผู้ก่อการร้าย" ก็ถือกำเนิดขึ้นจากเหตุการณ์นี้ และยิ่งเข้มข้นขึ้นในช่วงก่อนและหลังการสลายการชุมนุมบริเวณสี่แยกราชประสงค์ที่ตามมาในวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 ผลจากปฏิบัติการทางทหารได้ทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก

"นับเป็นความสูญเสียทางการเมืองครั้งใหญ่ที่สุดในช่วงประวัติศาสตร์การเมืองไทยสมัยใหม่" (หน้า(11))



.

100 ปีชาตกาล ศ.ฌอง บัวเซอลีเยร์ ..แห่งปลายบุรพทิศรุ่นสุดท้าย โดย เพ็ญสุภา สุขคตะ ใจอินทร์

.

100 ปีชาตกาล ศาสตราจารย์ "ฌอง บัวเซอลีเยร์" สายสัมพันธ์โบราณคดีไทย-สำนักฝรั่งเศส แห่งปลายบุรพทิศรุ่นสุดท้าย
โดย ดร.เพ็ญสุภา สุขคตะ ใจอินทร์ www.facebook.com/pensupa.sukkatajaiinn คอลัมน์ ปริศนาโบราณคดี
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1650 หน้า 76


26 เมษายนศกนี้ จะครบรอบ 100 ปีชาตกาลของนักโบราณคดีชาวฝรั่งเศสนามอุโฆษ "ฌอง บัวเซอลีเยร์"
ท่านเกิดปี พ.ศ.2455 (ค.ศ.1912) และได้จากโลกนี้ไปแล้วเมื่อปี พ.ศ.2539 ขณะที่มีอายุ 84 ปี
ความน่าสนใจของศาสตราจารย์ท่านนี้ก็คือ เป็นนักโบราณคดีชาวฝรั่งเศสรุ่นสุดท้าย ที่เชื่อมโยงสายสัมพันธ์ระหว่าง "สำนักฝรั่งเศสแห่งปลายบูรพทิศ" กับวงการโบราณคดีสยามเข้าด้วยกัน ก่อนจะปิดฉากลงอย่างไม่รู้เนื้อรู้ตัว

เพราะหลังจากนั้นแล้ว แวดวงประวัติศาสตร์ศิลป์ไทยก็ค่อยๆ แยกทางเดินเหินห่างออกจากเพื่อนบ้านอินโดจีนในยุคคอมมิวนิสต์ พร้อมกับโบกมือลามหาวิทยาลัยซอร์บอนน์อย่างเงียบๆ แล้วหันไปสมาทานวิชาโบราณคดีสายอเมริกัน-ออสเตรเลียนแทน


Jean Boisselier อ่านเป็นไทยว่าอย่างไร?

เมื่อต้องเขียนนาม Jean Boisselier ให้เป็นภาษาไทย แทนที่จะใช้ว่า "ช็อง บ๊วสเซอลีเย่" ตามเสียงอ่านที่เราเสพคุ้น กลับกลายเป็นว่า หากยึดถือหลักคำทับศัพท์ภาษาต่างประเทศ ตามที่ราชบัณฑิตยสถานกำหนดไว้ อาจต้องใช้ "ฌอง บัวเซอลีเยร์"

หรือดีไม่ดี ฌอง อาจถูกเปลี่ยนเป็น ชอง และเยร์ ไม่น่าจะมี ร์

จริงเท็จอย่างไร ใคร่รบกวน อาจารย์นิตยา กาญจนะวรรณ แห่งคอลัมน์ "มองไทยใหม่" มาช่วยยืนยันให้ด้วย เนื่องจาก 2-3 เดือนก่อน ท่านเคยเปิดประเด็นชื่อนักของปรัชญาคนดัง Jean-Jacques Rousseau ฌอง-ฌาคส์ รุสโซ นามที่เราคุ้นเคย ทว่า อาจารย์นิตยามีหลักเกณฑ์ให้เขียนใหม่ว่า "รูโซ" ไม่ใช่ "รุสโซ"

เหตุก็เพราะภาษาฝรั่งเศสนั้น หากดับเบิลเอส SS เจอกันเมื่อไหร่ เอสตัวแรกจะกลายเป็นใบ้ไม่ออกเสียง ด้วยถือว่าเป็นตัวสะกดที่คล้ายว่าใส่การันต์ของคำหน้า ส่วนเอสตัวหลังก็กลายเป็นตัวสะกดของสระถัดไป

เช่น Paris อ่านแบบฝรั่งเศสว่า ปารี ไม่มีเสียงเอสตบท้าย หรือจิตรกร Degas เดอกา ก็ไม่ออกเสียงเป็น เดอกาส

ในขณะที่หากมีเอสเพียงตัวเดียว ตั้งอยู่ระหว่างสระสองตัวประกบหน้า-หลัง เอสตัวนั้นกลับทำหน้าที่สองอย่าง คือเป็นทั้งตัวสะกดและพยัญชนะต้นของตัวหลัง

งงกันใช่ไหม ทีเอสสองตัวออกเสียงเหมือนมีเอสตัวเดียว แต่ครั้นพอเอสตัวเดียวกลับออกเสียงเหมือนเอสสองตัว นี่แหละความมหัศจรรย์ของภาษาฝรั่งเศส!

นักเรียนไทยไปอยู่ปารีสใหม่ๆ แกรมมาร์ยังไม่แข็งพอ มักเรียก poisson (พัวซง) แปลว่า ปลา กับ poison (พ็วสซง) แปลว่าน้ำหอม หรือยาพิษ สลับกันเสมอ

หรือคำว่า Renaissance เรอเนซอง ไม่เคยนึกแปลกใจกันบ้างหรือไร ว่าทำไมไม่เขียนว่า เรอแนสซองส์ อุ๊ย! ไม่เอาดีกว่า ชักจะลากยาวไปไกล ประเดี๋ยวอาจารย์นิตยาจะ "งานเข้า" มากเกินไป

เอาเป็นว่า เมื่อลูกศิษย์ลูกหาชาวศิลปากรเห็นคำว่า Boisselier สะกดด้วยเอสสองตัว จึงเรียก บ๊วสเซอลีเย่ และเรียกแบบย่อๆ ว่า "อาจารย์บ๊วส"



อาจารย์บ๊วสกับสำนักฝรั่งเศสแห่งปลายบุรพทิศ

สํานักฝรั่งเศสแห่งปลายบุรพทิศ ชื่อแปลเป็นไทยสุดเท่นี้มีที่มาจากภาษาฝรั่งเศสว่า 'Ecole FranCaise d'Extre^me-Orient หรือชื่อย่อ EFEO เดิมเคยเป็นที่รู้จักกันเฉพาะในแวดวงโบราณคดีเท่านั้น

จนกระทั่งเกิดชนวนปราสาทเขาพระวิหารขึ้นเมื่อ 2-3 ปีก่อน ทำให้นักวิชาการสลิ่มเหลืองได้หยิบยกเอาชื่อสถาบันนี้มาโจมตีในเชิงลบ หาว่าก่อตั้งด้วยเจตจำนงอำพรางมาแล้วตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 หน้าฉากใช้งานโบราณคดีศิลปวัฒนธรรมหลอกหากิน แต่หลังฉากนั้นเป็นเสมือนเครื่องมือรังแกอินโดจีนและสยามในยุคล่าอาณานิคม

อาจมีส่วนจริงตรงที่จุดเริ่มต้นของ สำนักฝรั่งเศสแห่งปลายบุรพทิศ ก่อตั้งขึ้นในยุคจักรวรรดินิยม ประเทศฝรั่งเศสมีความตั้งใจส่งนักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ศิลปะ โบราณคดี ภาษาโบราณ ชาติพันธุ์วิทยา เข้ามาทำการสำรวจค้นคว้าแหล่งโบราณสถาน โบราณวัตถุ ในเวียดนาม ลาว กัมพูชา และหลายพื้นที่ในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง โดยจัดทำแผนผัง ภาพสเกตช์ วิเคราะห์ บันทึกรายงานไว้อย่างละเอียด นับแต่ปี พ.ศ.2443 เป็นต้นมา

หากมองในแง่ร้ายด้วยสายตาคนล้าหลังคลั่งชาติแบบสลิ่มเหลือง สำนักฝรั่งเศสฯ นี้ก็คือ "ระเบิดเวลา" ที่ฝรั่งเศสถอดสลักไว้ รอวันเขมือบขโมยเขาพระวิหารจากไทยไปให้เขมร

แต่หากมองอย่างสร้างสรรค์ ในยุคที่สยามยังไม่รู้จักกับงานโบราณคดีแม้แต่น้อย ถือว่าสำนักฝรั่งเศสฯ นี้มีคุณูปการต่อแนวทางการศึกษาและบริหารจัดการงานโบราณคดี ศิลปวัฒนธรรม แบบ Academy อย่างมีระบบระเบียบมากที่สุดในแถบอินโดจีน

ศ.ยอร์ช เซเดส์ ผู้มีส่วนช่วยถอดความศิลาจารึกหลักที่ 1 สุโขทัยนั้น ก็เคยเป็นอดีตผู้อำนวยการสำนักนี้มาก่อนแล้ว ติดตามด้วยนักโบราณคดีหัวหอกยุคบุกเบิกที่เป็นผลผลิตจากสำนักนามเก๋ไก๋นี้อีกเป็นชุดๆ แต่ละท่านล้วนแต่มีส่วนเติมเต็มงานวิชาการให้แก่แวดวงโบราณคดีไทย อาทิ หลุยส์ ฟิโนต์ (ไม่ใช่ หลุยส์ ฟิโก้ นักฟุตบอลโปรตุเกสนะ), อองรี ปามังทิเยร์, ฟิลิป สแตร์น, ฟิลิป กลอสสิแยร์, ปิแยร์ ดูปองต์ ฯลฯ

ยอร์ช เซเดส์ นั้นเป็นสหายโบราณคดีรุ่นพ่อ คือรุ่นเดียวกับสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
ส่วน ฌอง บัวเซอลีเยร์ เป็นสหายรุ่นลูก สนิทสนมยิ่งนักกับ ศ.มจ.สุภัทรดิศ ดิศกุล นักประวัติศาสตร์ศิลปะชื่อก้องที่ร่วมสมัยกัน


จากปารีสสู่นครวัด
จบลงที่สยามประเทศ

อาจารย์บ๊วสเกี่ยวข้องอะไรกับสำนักฝรั่งเศสแห่งปลายบุรพทิศหรือไม่

ท่านเคยปฏิเสธที่จะรับตำแหน่งผู้อำนวยการสำนัก หากแต่ย้อนหลังกลับไปเมื่ออายุได้ 10 ขวบ ท่านมีความใฝ่ฝันอยากไปเดินทางไปนครวัด ก็เพราะได้อ่านผลงานที่ตีพิมพ์จากสำนักแห่งนี้เป็นแรงดาลใจ
เกิดที่ปารีสในครอบครัวที่สืบเชื้อสายมาจากศิลปินหลายชั่วอายุ พ่อเป็นจิตรกร ปู่เป็นปราชญ์ด้านภาษากรีก-ละติน ส่วนทวดเป็นประติมากรหล่อโลหะ-แกะสลักไม้ อาจารย์บ๊วสจึงได้รับการบ่มเพาะสุนทรียวิสัยมาเต็มๆ โดยสายเลือด

หลังจากที่เข้าเรียนในสายออกแบบสถาปัตย์และวิจิตรศิลป์ระดับปริญญาตรีแล้ว ท่านตัดสินใจเบนเข็มศึกษาต่อระดับปริญญาโท ด้านโบราณคดีและประวัติศาสตร์ศิลปะขอมอย่างเจาะลึก โดยขลุกตัวลงพื้นที่เก็บข้อมูลท่ามกลางซากปรักหักพังที่นครวัดนครธมอยู่นานหลายปี ทำวิทยานิพนธ์เรื่อง ซุ้มโคปุระของปราสาทบันทายกเด็ย
เมื่อเป็นมหาบัณฑิตแล้ว ได้ปวารณาตัวสร้างผลงานชิ้นโบแดงให้แก่รัฐบาลกัมพูชา นั่นคือการจำแนก-วิเคราะห์-จัดทำคำบรรยาย โบราณวัตถุสมัยต่างๆ มากกว่า 6,000 ชิ้น เพื่อจัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติกรุงพนมเปญ จวบจนปัจจุบันหนังสือนำชมโบราณวัตถุในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ ก็ยังคงใช้เวอร์ชั่นเดิมที่ท่านเรียบเรียงไว้

ภายหลังจากที่คร่ำหวอดด้านขอมศึกษาจนขึ้นแท่นมือหนึ่ง ท่านได้เขยิบความสนใจไปทำวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอกเกี่ยวกับเรื่องศิลปกรรมจามปา (รัฐโบราณในเวียดนาม) เพื่อขยายฐานองค์ความรู้

ในระหว่างที่อินโดจีนแปรผันไปเป็นคอมมิวนิสต์และปิดประเทศนานกว่าสามทศวรรษ ท่านจึงกลับฝรั่งเศส แต่ยังคงเป็นนักวิจัยมือทองของสำนักฝรั่งเศสแห่งปลายบุรพทิศ ในขณะเดียวกันก็สอนวิชาประวัติศาสตร์ศิลปะที่มหาวิทยาลัยซอร์บอนน์

ตราบที่ยังเข้ากัมพูชาไม่ได้ อาจารย์บ๊วสหันมาให้ความสำคัญต่องานโบราณคดีสยามแทนที่ โดยเฉพาะระหว่างช่วงซัมเมอร์ของยุโรปตรงกับเดือนกรกฎาคม-กันยายน เป็นเวลาที่เราเปิดเทอม อาจารย์บ๊วส มักจะมาช่วยท่านสุภัทรดิศ กับ ศ.ไขศรี ศรีอรุณ (ขณะนั้นประจำอยู่ภาควิชาภาษาฝรั่งเศส คณะโบราณคดี) สอนหนังสือที่ศิลปากร ท่านจึงมีความผูกพันกับเหล่าลูกศิษย์ของอาจารย์ทั้งสองตามไปด้วย

โดยส่วนตัว ดิฉันชอบสนทนาแลกเปลี่ยนความคิดกับอาจารย์บ๊วส เพราะท่านมักตั้งคำถามในนามของพุทธศาสนิกชนอย่างแหลมคม
กระทั่งปี 2535 อาจารย์บ๊วสได้กรุณาเขียนใบรับรอง (Recommendation) ถึงคณบดีคณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยโลซานน์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ให้แก่ดิฉัน ถือไปสมัครสอบเรียนต่อปริญญาเอก
ช่วงนั้น ศ.ดร.ศักดิ์ชัย สายสิงห์ ซึ่งเป็นรุ่นพี่ตอนเรียนปริญญาตรี แต่เรียนปริญญาโทรุ่นเดียวกัน ก็ได้รับทุนไปเรียนปริญญาเอกในห้วงเวลาไล่เลี่ยกันแต่คนละประเทศ (ศักดิ์ชัยเรียนที่ฝรั่งเศส) เราถือว่าเป็นลูกศิษย์รุ่นสุดท้ายของท่านอาจารย์บ๊วสก็ว่าได้
เพราะหลังจากนั้น ท่านเสียชีวิตเมื่อปี 2539 ในระหว่างที่เรายังเรียนไม่จบดีนัก ทำให้พี่ศักดิ์ชัยต้องเปลี่ยนอาจารย์ที่ปรึกษากลางคัน ส่วนดิฉันก็ต้องเปลี่ยน Co-Adviser กับเขาด้วย (ล่อกรรมการอ่านวิทยานิพนธ์ซะข้ามประเทศเชียว)



คณะโบราณคดี-กรมศิลปากร
กับศาสตราจารย์ฌอง บัวเซอลีเยร์

ใครจะรังเกียจรังงอนนักโบราณคดีชาวฝรั่งเศส ตามคำชวนเชื่อของนักวิชาการสมุนอำมาตย์ หาว่าเป็นพวกนักล่าเมืองขึ้น แอบวางยาจนทำให้ไทยต้องเสียเขาพระวิหารแก่เขมรก็ตามที
แต่สำหรับดิฉันแล้ว เห็นว่าในวาระครบรอบ 100 ปีชาตกาล "ศาสตราจารย์ฌอง บัวเซอลีเยร์" ซึ่งจะมาถึงในวันที่ 26 เมษายนนี้ คนในแวดวงวิชาการโบราณคดี ไม่ว่าจะเป็นภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร หรือแม้แต่นักโบราณคดี-ภัณฑารักษ์ชาวกรมศิลป์ กระทรวงวัฒนธรรม ที่เคยเป็นศิษยานุศิษย์ของอาจารย์บ๊วสหลายต่อหลายรุ่น น่าจะจัดกิจกรรมสัมมนาทางวิชาการในวาระใดวาระหนึ่งของปีนี้ เพื่อรำลึกถึงท่านบ้าง

อย่างน้อยที่สุดก็อาจเป็นการเปิดฉาก รื้อฟื้นสายสัมพันธ์ฝรั่งเศส-ไทย-กัมพูชา-ลาว-เวียดนาม ในด้านวิชาโบราณคดีที่ต่างคนต่างหันหลังแยกทางกันเดินมานาน
ต้อนรับศักราชใหม่แห่งการปรองดองเตรียมพร้อมการก้าวสู่ประชาคมอาเซียน



.

ศิลา: เรียนร่ำ เรียนรู้/ ทราย: ระหว่าง "คนสองคน"

.
คอลัมน์ การ์ตูนที่รัก - เมื่อวานเจ๊ทานอะไร? (1) โดย นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

เรียนร่ำ เรียนรู้
โดย ศิลา โคมฉาย คอลัมน์ แตกกอ-ต่อยอด
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1650 หน้า 67


ผมกับภรรยา ตกลงใจยอมกระเบียดกระเสียร ทุบทุกกระปุก ควักทุกกระเป๋า รวบรวมทุนให้ลูกสาวได้ไปประเทศจีนช่วงสั้นๆ ตอนปิดเทอมตามโครงการของโรงเรียน
ไปร่วมกิจกรรมศึกษาเรียนรู้ แลกเปลี่ยนวัฒนธรรม และท่องเที่ยว กับโรงเรียนพันธมิตร
โรงเรียนซึ่งตั้งอยู่ในท้องถิ่นที่อาจนับเป็นบ้านนอก
ต้าลี่ เขตปกครองตนเองชนชาติไป๋ มณฑลยูนาน

ต้าลี่ที่นานมาแล้ว ประวัติศาสตร์ไทยเคยจินตนาการเอาว่า เป็นตาลีฟู แห่งอาณาจักรน่านเจ้า คนวัยผ่านครึ่งร้อยไปลิบแล้ว ลองหาของแข็งเคาะกะโหลกตนเองดู พระนามกษัตริย์ไทยแปลกๆ อาจจะหลุดออกมาให้ได้เห็น อย่างพระเจ้าสินุโล พระเจ้าพีล่อโก๊ะ พระเจ้าโก๊ะล่อฝง อะไรทำนองนี้

สาวน้อยเลือกเรียนสายศิลป์ภาษา ทั้งไม่ได้รักการเรียนเป็นพิเศษ เพราะเติบโตขึ้นมาในแวดวงลุง ป้า น้า อา ที่ส่วนใหญ่เป็นศิลปิน พวกหน่ายห้องเรียน หนักไปทางรักสนุก เราจึงไม่ได้ตั้งความหวังอะไรนัก แค่คิดว่าเธอน่าจะได้คำภาษาจีนเพิ่มขึ้นจาก สวัสดี...ลาก่อน..ฉันรักเธอ...หิวข้าว...กระหายน้ำ...ถ่ายหนัก...ถ่ายเบา...ที่เรียนจากห้องเรียน
แต่คิดถึงผลพลอยได้จากการต้องอยู่กับคนอื่น ท้องถิ่นอื่น กับวิถีซึ่งแตกต่างออกไป
สถานการณ์อาจกระตุ้น ผลักดันให้เธอต้องค้นหาศักยภาพตัวเอง เพื่อใช้มันเป็นเครื่องมือให้สามารถอยู่ได้อย่างปลอดภัย ค้นคิดและสร้างสรรค์ศิลปะการประสานสัมพันธ์กับผู้คน
เรียนรู้จากการสัมผัส สังเกตสังกา ซึมซับเอา

หรือหากโชคดี เธออาจได้พบแรงบันดาลใจ

ผมคาดคิดแบบกลวงๆ เอาจากประสบการณ์ของตัวเอง คนไม่ค่อยรักเรียนผู้เป็นต้นแบบของลูกๆ มองผ่านชีวิตระหกระเหิน จากปักษ์ใต้ถึงเมืองหลวง ท่องไปอีสาน ข้ามสู่ลาว ถึงสิบสองปันนาในจีน ย้อนมาปักหลักในภาคเหนือ กับคนเมืองและชนเผ่าบนภูดอย
พานพบชีวิต วัฒนธรรมหลากหลาย มีมิตรสหายไม่น้อย
ที่มักแอบปลื้มอยู่ลึกๆ คือ ผมอ่านหนังสือ ความเป็นมาของคำสยาม ไทย ลาว และ ขอม และลักษณะทางสังคมของชื่อชนชาติฯ ของ จิตร ภูมิศักดิ์ ได้ง่ายขึ้น

ลูกควรได้เรียนเพื่อรู้ เป็นพื้นฐานหรือเชื่อมโยงไปสู่การเรียนรู้อย่างกว้างขวาง
มิควรแค่ร่ำเรียน อันมีความหมายว่า เรียนให้ขึ้นใจ เพื่อหวังผลเฉพาะหน้า


เรามีความเชื่อว่าลูกเป็นประชากรโลก ความรู้ตามระบบการศึกษา ซึ่งในทางปฏิบัติถูกลดค่า เป็นแค่ใบผ่านทาง ไม่น่าจะพอเพียงกับการดำเนินชีวิตในฐานะชาวประชาคม เมื่อประเทศไร้พรมแดนผู้คนต้องร่วมมือกันและเป็นคู่แข่งขันกันทั้งภูมิภาค เด็กชาวเพื่อนบ้านที่มีพื้นฐานภาษาที่สอง-ที่สาม มาจากยุคล่าอาณานิคมของชาติตะวันตก ย่อมอยู่ในฐานะได้เปรียบ เราจำเป็นต้องเติมการเรียนเพื่อรู้อย่างกว้างขวาง เพื่อการยกระดับคุณภาพคน
เป็นคนซึ่งมีทัศนคติถูกต้องเหมาะสม
ลูกควรได้รับโอกาสได้ไปถึงจุดนั้น

และบางทีอาจเป็นแรงขับลับๆ ผลจากการได้สัมผัสถึงปัญหาทางธุรกิจของเพื่อน เจ้าของโรงเรียนเอกชนในหัวเมือง ผู้ตั้งใจจะจัดการเรียนการสอน เพื่อเด็กในท้องถิ่นได้เรียนเพื่อรู้อย่างมีความสุข แต่ไม่ค่อยเป็นที่ยอมรับของผู้ปกครอง
พวกเขาวัดความสำเร็จของโรงเรียนที่ จำนวนเด็กประถมซึ่งสามารถสอบผ่านเข้าเรียนต่อในโรงเรียนมัธยมสาธิตได้

เพื่อนจึงตกอยู่ในภาวะสับสน ควรจะลดการลงทุนเกี่ยวกับการเรียนการสอน ภาพลักษณ์ต่างๆ ลง แล้วเปลี่ยนไปทุ่มเสาะแสวงหาข้อสอบ แนวข้อสอบ ช่วยให้เด็กสอบเข้าเรียนได้ตามประสงค์ สนองประดาผู้ปกครองเพื่อผลทางธุรกิจ
ผมได้แต่รับฟังอย่างสะทกสะเทือน
หรือแม้แต่โครงการเรียนรู้กู้บ้านเกิด ของตี้ กรรมาชน เมื่อหลายปีก่อน รับเอาเด็กชาวเขาเผ่าม้ง ลัวะ จากจังหวัดน่านและตาก มาเรียนต่อชั้นมัธยมที่โรงเรียนของเขา ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เรียนตามหลักสูตรสายสามัญ และหลักสูตรเพิ่มเติมที่เน้นการเรียนรู้อย่างกว้างขวาง ผ่านการลงมือปฏิบัติจริงทางการงาน กิจกรรมทางศิลปวัฒนธรรม และดนตรี
เด็กยินดีเข้าร่วม เพราะได้เห็นคุณค่าในสิ่งที่ทำแบบจับต้องได้

ผลที่เกิดได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง ทุกฝ่ายนิยมชมชื่น แม้ในหมู่ผู้ปกครองของเด็กชาวเมือง แต่ไม่มีใครยินดีเข้าร่วมการเรียนตามโครงการนี้
ใครๆ ล้วนมีความคิดว่า ลูกควรร่ำเรียนเพื่อสอบแข่งขันเข้ามหาวิทยาลัย



บางทีการปรับเปลี่ยนทัศนะเรื่องเช่นนี้ อาจจะเริ่มได้ในยุคเด็ก ป.1 ได้รับการแจกแท็บเล็ต เครื่องไม้เครื่องมืออำนวยความสะดวกเพื่อการเข้าถึงแหล่งความรู้

เห็นว่ารัฐมีแนวคิดจะสร้างผู้เชี่ยวชาญทางเทคนิคขั้นเทพ 100 องค์ เพื่อสร้าง 1,000 แกนนำไปขยายความรู้ความสามารถในการใช้เทคโนโลยี โอกาสนี้ควรจะเพิ่มอีก 100 เซียน เพื่อปลูกฝัง ทั้งเน้นย้ำให้ตระหนักกันเป็นสำคัญว่า เครื่องมือเครื่องไม้ ล้วนมีไว้เพื่อการเสาะแสวงหาความรู้ สืบค้น เข้าถึงอย่างไร้ขีดจำกัด นำมาคัดกรองเพื่อใช้ประโยชน์

มิใช่แค่ก๊อบปี้ข้อมูลแบบมักง่ายไม่ต้องคิดอ่าน ทำรายงานส่งครูเอาคะแนนเก็บ

เด็กยุคบำรุงเลี้ยงด้วยแท็บเล็ต ต้องเป็นนักเรียนเพื่อรู้ และใฝ่รู้



++

ระหว่าง "คนสองคน"
โดย ทราย เจริญปุระ charoenpura@yahoo.com คอลัมน์ รักคนอ่าน
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1650 หน้า 80


เธอ และ เขา
เธอ-รอคอยความรักจากเขา
เขา-รอคอยความรักจากใครสักคน

สถานที่
ทุกที่ เมื่อคนทุกคนลุกจากไปแล้ว และเหลือเพียงความเงียบอันหนักอึ้ง กับความจำเป็นที่ต้องสร้างบทสนทนาที่ต่างก็พยายามหลีกเลี่ยง


บทสนทนา

เขา-ผมอยากเจอใครสักคน คนที่พอดี คนที่เข้ามาแล้วล่วงรู้ทุกอย่างว่าผมต้องการอะไร ทำไม เข้ามาใกล้เมื่อผมต้องการ ห่างออกไปเมื่อผมอยากอิสระ
เธอ-มันจะเป็นไปได้อย่างไร การที่มนุษย์คู่หนึ่งจะมาอยู่ร่วมกันได้นั้น แน่นอนว่าย่อมต้องมีความเหมือนกัน แต่ความเหมือนกันจะมีประโยชน์อะไรถ้าไม่มีความต่างเลย มันจะไม่เหมือนการใช้ชีวิตกับเงาในกระจกหรือร่วมรักกับตัวเองหรืออย่างไร

เขา-เมื่อก่อนนั้น ผมเคยไปหาคนที่รักผม เขารักผมมาก รักผมที่สุด เขารอคอยผม พอผมไปหาเขา เขาบอกว่าผมมาช้าเกินไป ถัดขึ้นมาอีกไม่นาน ผมรักคนคนหนึ่งมาก รักที่สุด สุดหัวใจ แต่เขาไปมีคนอื่น เขาไม่เข้าใจผม
เธอ-แน่ใจหรือว่าเขาไม่เข้าใจ?

มนุษย์นั้นหากมีความหวังในความรักซักน้อยนิดให้พอเป็นแสงส่องทาง
มนุษย์เราย่อมกล้าที่ก้าวไปหาแสงนั้น

แต่หากความหวังซึ่งเปรียบเป็นเหมือนแสงสว่างวูบลับดับหายไปต่อหน้าต่อตา
เหมือนกับการแสดงกริยาอันเปรียบได้กับคำว่า "ไม่รัก"
คนที่หลงอยู่ในความมืดของความรักอันเปี่ยมล้นย่อมเคว้งคว้างเสียกำลังใจ
แรกๆ อาจยังยอมกัดฟันฝ่าก้าวไปในความมืด แต่จะไปได้ไกลแค่ไหนกัน?

เดินไปเพื่อหวังว่าเดี๋ยวมันคงจะมีแสงขึ้นมาจนได้อย่างนั้นหรือ? มันเป็นเรื่องน่าขำเกินไปไหม


เขา-ก็แบบนี้ไง ผมถึงบอกว่าผมต้องการคนที่พอดี คนที่รู้ว่าผมรักเขาโดยที่ไม่ต้องอยู่ด้วยกันตลอด แต่อยู่เฉพาะเวลาที่ผมต้องการ
เธอ-เห็นแก่ตัว
เขา-ก็คุณถามผมถึงสิ่งที่ผมต้องการ ผมก็บอกในสิ่งที่ผมต้องการ คุณจะมาว่าผมเห็นแก่ตัวได้อย่างไร

เธอ-ถ้าคุณยังคงกลัวการที่โดนคนว่า ว่าเห็นแก่ตัวหรือโง่หรืออะไรก็ตาม คุณจะไม่มีวันได้เจอคนแบบที่คุณต้องการหรอก

มิพักต้องพูดถึงความต้องการของคุณที่ใหญ่จนล้นโลกหล้า และเป็นการร้องขอที่ไม่เคยให้คืนแล้ว
คุณยังเป็นคนที่พยายามปฏิเสธตัวเองอีกว่าไม่ได้เป็นคนเช่นนั้น

เราทุกคนต่างมีความเห็นแก่ตัวในความรัก เราอยากได้รักดีๆ
รักที่เป็นเหมือนกระจกเงาที่สะท้อนกลับมาบ้าง ไม่ใช่รักที่เป็นเหมือนกระจกใส
ให้ไปเท่าไหร่ก็สะท้อนผ่านเลยไปไม่เคยมีอะไรกลับมาให้ชม

เขา-ไหนว่าความรักอันยิ่งใหญ่นั้นต้องไม่หวังผลตอบแทน
เธอ-แล้วคุณหวังไหม
เขา-... (เงียบ)
เธอ-ก็นั่นอย่างไร, คุณหวังจะได้ แต่ไม่หวังจะให้

ความรักที่ไม่หวังผลตอบแทนนั้นคือรักของพ่อและแม่ ที่ก็ไม่อาจจะพูดได้ว่าไม่หวังผลตอบแทนในท้ายสุดอย่างแท้จริง แต่อาจเป็นความหวังว่าจะให้ลูกมาดูแลเมื่อตัวแก่เฒ่าลงไป หวังว่าลูกจะเป็นเหมือนอย่างใจตน ซึ่งจะว่าไปแล้วก็ไม่ต่างจากความรักของหนุ่มสาวซักนิด เพียงแต่ไม่มีด้านของเพศสัมพันธ์มาเกี่ยวข้องเท่านั้นเอง


เขา-คุณก็รักผมนี่
เธอ-ใช่, ฉันรัก และฉันหวังจะได้รับความรักตอบ

ฉันเป็นคนใส่ใจคนที่ฉันรักอย่างที่ไม่ทำกับคนอื่น ก็ไม่ได้หมายความว่าจะให้ฟรีๆ แบบเปลืองเปล่า ฉันรักคุณ แต่ถ้าคุณไม่รักฉัน ฉันก็เสียใจ

แต่มันไม่ใช่ความผิดของคุณ
สิ่งเดียวที่ฉันอยากให้คุณรู้สึกจากการไม่รักฉัน คือความสำนึกผิด
การมองกลับไปที่ตัวเองและเห็นอนาคตที่ว่างเปล่าของคุณ
หรือเห็นไปถึงวันหนึ่งที่คุณไม่มีใครแล้วต้องคว้าเอาอะไรที่จำใจมาอยู่ข้างกายเพียงเพื่อจะได้บอกตัวเองว่าคุณมีคนรัก คุณเจอคนนั้นแล้ว ทั้งที่จริงมันไม่ใช่ และคุณต้องอยู่กับความสำนึกเสียใจนี้ในทุกวันของชีวิต

เขา-อ้าว ตอนแรกคุย คุณดูเข้าอกเข้าใจกว่านี้

เธอ-ความเข้าใจมาพร้อมกับความรัก ในเมื่อคุณไม่รักฉัน ฉันจึงเหลือเพียงคำสาปแช่งเท่านั้นที่จะให้

ไอ้เวร!
แล้วบทสนทนาอันว่าด้วยความรักระหว่างคนทั้งสองก็จบลงไปตลอดกาล



+++

เมื่อวานเจ๊ทานอะไร? (1)
โดย นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ คอลัมน์ การ์ตูนที่รัก
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1650 หน้า 85


การ์ตูนญี่ปุ่นเรื่องใหม่ เมื่อวานเจ๊ทานอะไร เล่มหนึ่ง หน้าปกสีครีมเป็นรูปชายหนุ่มสองคน คนแรกใส่สูทผูกไทถือหม้ออาหาร คนที่สองใส่สเว็ตเตอร์สวมแว่นยืนทำท่าเสมือนชื่นชมอาหาร เมื่อพลิกดูปกหลังไม่พบเรื่องย่อใดๆ ตามที่ควรจะมี เป็นที่ผิดสังเกตยิ่งนัก

เมื่อพยายามมองหาเรตติ้งจึงพบว่าเป็นกลุ่มเหมาะสำหรับผู้อ่านระดับวัยรุ่นขึ้นไป
เป็นธรรมเนียมที่หนังสือการ์ตูนญี่ปุ่นวางแผงใหม่จะถูกห่อพลาสติกมิให้แกะเล่น ก็พอเดาได้แล้วว่าเกี่ยวกับเรื่องอะไร

ผลงานของ ฟูมิ โยชินากะ


"นี่นี่ ข้าวเย็นเมื่อวานกินอะไรบ้าง" โอซามุ ทนายร่างท้วมเอ่ยขึ้น
ขณะที่สาวๆ ในสำนักงานนึกคำตอบไม่ออก ทนายอาวุโสก็นึกไม่ออก โอซามุจึงหันมาถามคาเคย์ ทนายหนุ่มรูปงาม คาเคย์ตอบว่า

"เอ่อ... ไก่ทอดคาราอาเกะกับสลัดมันฝรั่ง แล้วก็... เอ่อ ซุปเต้าเจี้ยวเนี่ยใส่เครื่องอะไรบ้างนะ ใส่ผักกวางตุ้งต้นหอมญี่ปุ่นวาคาเมะแล้วก็เต้าหู้แผ่นทอด นอกจากนั้น ข้าวขาวที่กินยังผสมข้าวกล้องงอกไปด้วย 1/3 ทั้งหมดก็มีเท่านี้" คาเคย์ในชุดสูทสีเข้มผูกไทค่อยๆ ตอบ "ปีกไก่กับหัวไชเท้าต้มหวานเค็มตามด้วยบร็อกโคลีคลุกปลาโอแผ่นแห้ง ยังมีเมนูที่เป็นนางะอิโมะกับไข่ปลาเมไทโกะคลุกกับน้ำส้มสายชูสองช้อนแต่งหน้าด้วยวาซาบิสาหร่ายแล้วก็..."
ทั้งสำนักงานอึ้ง

คาเคย์มิได้เปิดเผยว่าเขาเป็นเกย์ คนในสำนักงานรู้เพียงว่าเขาอายุสี่สิบสามและยังไม่แต่งงาน คาเคย์เป็นคนรูปหล่อแต่งกายเนี้ยบและชอบทำอาหารเป็นชีวิตจิตใจ
เขามิใช่ทนายที่ขยันแต่เขาไม่เคยปฏิเสธงานด้วยเช่นกัน อะไรที่ใครไม่อยากทำก็สามารถส่งให้เขาได้ขอเพียงอย่างเดียวคือเขาจะทำงานตามเวลา มาตรงเวลากลับตรงเวลา ทำงานตามที่รับผิดชอบ ไม่น้อยกว่าไม่มากกว่า

คาเคย์มิเพียงชอบทำอาหาร เขาทำอาหารแต่ละมื้อเยอะมากๆ ในทุกๆ บทที่จะอ่านต่อไปเขาต้องทำอาหารอย่างน้อยหนึ่งมื้อ การ์ตูนจะบรรยายกรรมวิธีเตรียมและทำอาหารอย่างละเอียดหลายหน้าเสมือนหนึ่งเป็นการ์ตูนหรือตำราทำอาหารเสียมากกว่า
คาเคย์มิเพียงชอบทำอาหารแต่ละมื้อมากๆ เขาชอบนำอาหารเหลือกินหรือเศษของเครื่องปรุงและวัตถุดิบเล็กๆ น้อยๆ ในตู้เย็นมาปรุงเป็นอาหารสุดวิเศษอีกด้วย

"จะได้ไม่อ้วน" เป็นคำอธิบายว่าทำไมเขาทำกับข้าวมากมายเพื่อจะได้ไม่ต้องกินข้าวมากเกินไป
"ไม่เคยเห็นคาเคย์ป่วยเลย" คนในสำนักงานตั้งข้อสังเกต เพราะเขากินอาหารครบห้าหมู่ตลอดเวลานั่นเอง
ที่คนอื่นไม่รู้คือเขาทำกับข้าวเพื่อกินด้วยกันกับเคนจิ คนรักซึ่งเป็นช่างตัดผมที่อาศัยอยู่ด้วยกัน



"กลับมาแล้วจ้า" คาเคย์ถือถุงสำรับกับข้าวเข้าบ้านเตรียมปรุงอาหารมื้อเย็นมื้อใหญ่ตามเดิม นอกจากเขาจะรูปงาม ไม่อ้วน เป็นเกย์ ทำงานดี และนิยมทำอาหารแล้ว เขายังเป็นคนประหยัดไปจนถึงงกเล็กน้อยกับการใช้เงินและเลือกซื้อกับข้าว

"คุณชิโรเนี่ย งกจังเลย" เคนจิพูดกับคาเคย์ขณะกินข้าวด้วยกัน "อาชีพทนายน่าจะทำเงินได้เป็นกอบเป็นกำนะ"
"ไอ้เรื่องนั้นน่ะ ถ้าเป็นสำนักงานทนายความขนาดใหญ่ก็ได้เป็นกอบเป็นกำอย่างที่นายว่านั่นแหละ แต่ต้องทำงานหนักปางตายเลยทีเดียว สำหรับฉันล่ะก็ขอทำงานรายได้ธรรมดาๆ แต่ได้ใช้ชีวิตเหมือนมนุษย์ดีกว่า" คาเคย์ ชิโร พูดไปกินไป "ยิ่งกว่านั้นถึงฉันจะงกเงินแล้วจะเสียหายตรงไหน เกย์ที่ไม่มีลูกๆ มาเลี้ยงดูตอนแก่น่ะก็มีแต่เงินเท่านั้นแหละที่พึ่งพาได้"

คุณแม่ของคาเคย์โทรศัพท์เข้ามาหา "วันก่อนแม่ไปดูหนังเรื่องทรานส์อเมริกามา ลูกไปดูหรือยัง"
"แม่คร้าบ ผมบอกแม่ตั้งหลายหนแล้วว่าผมไม่ได้เป็นอย่างนั้น" คาเคย์เซ็ง

หนังอินดี้ Transamerica เล่าเรื่องคนที่เป็น Transvestism ผ่าตัดแปลงเพศ แต่ว่าคาเคย์มิใช่ทรานส์เวสไตซ์ เขาเป็นโฮโมเซ็กชวล อันที่จริงถ้าคุณแม่ของเขาจะเข้าใจเขามากขึ้นควรดูเรื่อง I Love You Philip Morris มากกว่า จิม แครีย์ และ ยวน แม็กเกรเกอร์ เป็นเกย์ทั้งคู่ ทั้งสองรักกันเสมือนชายหนุ่มหญิงสาวทั่วไปที่รักกัน มิได้มีใครต้องการผ่าตัดแปลงเพศ

"เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา แม่ไปเข้ากลุ่มพ่อแม่ที่มีลูกเป็นโรคผิดปกติในเอกลักษณ์ทางเพศด้วย"
"เอาอีกแล้วเหรอ ก็ผมบอกแล้วไงว่าผมไม่ได้เป็นอย่างพวกนั้น" คาเคย์รำคาญ
"ไอ้เรื่องที่ลูกเป็นรักร่วมเพศน่ะ ได้แสดงออกให้ที่ทำงานรู้หมดแล้วใช่มั้ย"
"ไม่มีใครรู้ทั้งนั้น เรื่องแบบนี้จำเป็นต้องบอกให้ใครรู้ซะที่ไหน" คาเคย์กุมขมับ
"บอกให้รู้กันไปเลย เป็นเกย์ไม่ใช่เรื่องน่าอายสักหน่อย มนุษย์เราน่ะแต่ละคนมีความเป็นตัวของตัวเองต่างกันออกไป เป็นเรื่องวิเศษออกที่เราได้รู้จักตัวตนของเราเอง"
"เอ้อ เท่านี้นะครับ ผมจะวางสายแล้ว" คาเคย์เหลืออด



เป็นบทสนทนาที่ดีจริงๆ แทนที่การ์ตูนจะเล่าเรื่องความไม่สบายใจหรือความผิดหวังของคนเป็นแม่ออกมาตรงๆ กลับใช้บทสนทนาทางโทรศัพท์ยาวสองหน้าแสดงให้เห็นว่าคุณแม่พยายามกลบเกลื่อนอาการไม่ยอมรับด้วยการแสดงออกแบบ "เข้าใจ"

โดยเฉพาะอย่างยิ่งคำว่า "โรคผิดปกติในเอกลักษณ์ทางเพศ" ซึ่งควรกล่าวซ้ำๆ อีกว่าโฮโมเซ็กชวลหรือเกย์มิใช่โรค ไม่ต้องการการรักษาแต่ต้องการการยอมรับของสังคม (อันที่จริงผมไม่ทราบว่าต้นฉบับภาษาญี่ปุ่นมีคำว่า "โรค" ปรากฏด้วยหรือเปล่า)

"นี่ เคนจิ ตอนที่แม่นายรู้ว่านายเป็นเกย์ เป็นไงมั่ง" คาเคย์หันมาถามคนรัก
"แม่ว่าไอ้ลูกอกตัญญู"
"ก็ยังดีนะ อย่างน้อยก็เข้าใจได้ง่ายกว่าแม่ฉัน" คาเคย์สรุป

คาเคย์มิได้เปิดเผยว่าตนเป็นเกย์ไปเรื่อยเปื่อย มิได้ประกาศตนโจ่งแจ้งต่อที่สาธารณะ แต่เขาก็มิได้เดือดเนื้อร้อนใจกับเรื่องนี้มากมายจนต้องปิดบังอย่างแข็งขัน วันหนึ่งเขาเดินไปพบแตงโมลูกใหญ่น่ากินราคา 880 เยน ซึ่งนับว่าถูกมาก แต่ก็ติดปัญหาว่าลูกใหญ่เกินกว่าจะกินหมดอยู่ดี เขาจึงหาแม่บ้านแถวนั้นออกเงินซื้อด้วยกันจนได้ คาเคย์เป็นคนเลือกอาหารโดยดูราคาด้วยเสมอ แบ่งได้แบ่ง ซื้อลดราคาได้ซื้อ เซลที่ไหนไปที่นั่น

"ปกติเราจะเอาช้อนค่อยๆ แคะเม็ดแตงโมออกก่อนแล้วค่อยกิน" คาเคย์นึกในใจ หลังจากถูกคุณแม่บ้านที่หารค่าแตงโมด้วยกันเชิญไปนั่งที่บ้าน "ไอ้วิธีละเลียดกินแบบนี้มันจะดูเป็นเกย์หรือเปล่าน้า ไม่ได้การ อย่างนี้เราต้องกัดคำโตๆ จะได้ดูเป็นแมนหน่อย" ว่าแล้วคาเคย์จึงกัดแตงโมมูมมามให้สมเป็นชาย "จ๊วบ" แย่แล้ว น้ำแตงโมย้อยลงมาตามมุมปาก!
เหตุการณ์ชุลมุนหลังจากนี้กลายเป็นอีกเรื่องที่น่าขำอย่างไม่น่าเชื่อ
"ผมเป็นเกย์ครับ" คาเคย์พูดเสียงดัง

จะเห็นว่าคาเคย์มิได้โฆษณาว่าตนเป็นโฮโมเซ็กชวลแต่เขาก็มิได้พยายามปิดบังอย่างเอาเป็นเอาตาย เขารูปร่างดี สูง แต่งกายเรียบร้อยยามทำงาน ใส่เสื้อลายดอกวันพักผ่อน จ่ายกับข้าวและทำกับข้าวด้วยตนเอง เช่าห้องพักกับผู้ชายอีกคนที่เป็นช่างตัดผม ยอมรับว่าตนเองเป็นเกย์ ยอมรับว่าแม่ไม่ยอมรับ
และยอมรับกับคนอื่นว่าตนเองเป็นเกย์ถ้าเหตุการณ์จะพาไป


หนังสือ Male Homosexuality in Modern Japan : Cultural Myths and Social Realities เขียนโดย Mark J.McLelland สำนักพิมพ์ RoutLedge Curzon ปี 2000 เขียนว่าเกย์ในญี่ปุ่นมีลักษณะเฉพาะคือชอบทำกับข้าว

พวกเขามีวิธีเลือกอาหารแบบของตนเอง ละเอียดลออและประณีต
มีสัมผัสเรื่องกลิ่นพิเศษกว่าพ่อครัวชายหรือแม่บ้านทั่วไป
แน่นอนว่าพวกเขาแต่งกายสุภาพและสะอาดสะอ้านด้วย เป็นนักฟังที่ดี
และมีความสามารถพิเศษเข้าใจจิตใจของผู้หญิงมากกว่าแฟนหรือสามีจริงๆ ของเธอเสียอีก

ทั้งหมดนี้เป็นลักษณะของ คาเคย์ ชิโร ทนายหนุ่มเกย์ขี้งกผู้พิสมัยการทำอาหารเป็นชีวิตจิตใจ



.

วิวาทะ "เกษียร-ไพวรินทร์" 'เมื่อกวีคิดนามธรรมไม่เป็น?' กรณีเงินเยียวยา 7 ล.บาท

.

วิวาทะ "เกษียร-ไพวรินทร์" (featuring สุวินัย) เมื่อ "กวีคิดนามธรรมไม่เป็น?" กรณีเงินเยียวยา 7 ล้านบาท
จากมติชน ออนไลน์ วันเสาร์ที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2555 เวลา 17:30:00 น.


ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบหลักเกณฑ์และวิธีการให้ความช่วยเหลือเยียวยาด้านการเงินตามหลักมนุษยธรรม จากเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมือง (2548-2553) โดยกรณีที่เสียชีวิตจะได้รับ 1.เงินช่วยเหลือกรณีเสียชีวิต 4,500,000 บาทต่อราย ซึ่งคณะทำงานจะเป็นผู้พิจารณารูปแบบการจ่าย 2.เงินช่วยเหลือสำหรับค่าปลงศพ อัตรา 250,000 บาท และ 3.เงินช่วยเหลือเยียวยาความสูญเสียด้านจิตใจ จำนวน 3,000,000 บาท

นอกจากนี้ในกรณีที่เสียชีวิต โดยได้เข้ารับการรักษาก่อนเสียชีวิต ยังมีสิทธิได้เงินช่วยเหลือค่ารักษาพยาบาล อัตราเท่าที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 200,000 บาท รวมกรณีเสียชีวิตนั้นอาจจะได้เงินช่วยเหลือสูงถึงประมาณ 7.95 ล้านบาท

มติครม.ดังกล่าวถูกวิจารณ์จากหลายฝ่าย รวมทั้งนักเขียน นักกวี


"ไพวรินทร์ ขาวงาม" เจ้าของรางวัลซีไรต์ประจำปี พ.ศ. 2538 จากหนังสือรวมบทกวี "ม้าก้านกล้วย" ได้เขียนบทกวีแสดงถึงความรู้สึกต่อมติครม.ครั้งนั้นออกมาผ่านทางเฟซบุ๊กส่วนตัวเมื่อวันที่ 12 มกราคม 2555 ว่า


ต่อมา เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2555 "เกษียร เตชะพีระ" นักวิชาการคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้แสดงความเห็นผ่านเฟซบุ๊ก วิจารณ์บทกวีของไพวรินทร์ว่า

ปัญหาของกวี/ศิลปินรักชาติ ที่คิดนามธรรมไม่เป็น

ประเด็นของไพวรินทร์ไม่ต่างจากวสันต์ สิทธิเขตต์ ที่เขียนสเตตัสเขาในเฟซบุ๊กก่อนหน้านี้ กล่าวคือมองไม่เห็น ไม่สามารถเข้าใจ ว่ารัฐเอาชีวิต พลเมืองของรัฐโดยมิชอบ ไม่ได้, ว่าอำนาจรัฐต้องถูกจำกัดโดยสิทธิเหนือร่างกาย ชีวิต ทรัพย์สินของผู้คนพลเมือง, เมื่อไหร่รัฐไปละเมิดสิทธิเหล่านั้นโดยมิชอบด้วยกฎหมาย (ฆ่า ทำร้าย โดยไม่เป็นไปตามกฎหมาย คือไปละเมิดสิทธิของพลเมืองโดยมิชอบ) เมื่อนั้นรัฐใช้อำนาจเกินเลย (รัฐที่เป็นตัวแทนไพวรินทร์และวสันต์ด้วยนั่นแหละ) และต้องรับผิดชอบชดใช้

มันคนละเรื่องเลย กับทหารที่ไปรบกับข้าศึกแล้วตายที่ชายแดน ในกรณีหลังนั้น เขาทำงานให้รัฐตามกฎหมาย รัฐสั่งให้เขาไปรบไปเสี่ยงสละชีวิตตามกฎหมาย รัฐไม่ได้ละเมิดสิทธิหรือใช้อำนาจเกินเลยต่อทหารเหล่านั้นแต่อย่างไร ความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นมันคนละแบบ คนละเรื่อง และเพราะคนละแบบ จะเรียกร้องให้รัฐช่วยเหลือครอบครัวผู้อยู่หลังของทหารเหล่านั้นผู้ประกอบคุณงามความดีและเสียสละเพื่อชาติก็ย่อมทำได้ อย่าว่าแต่เจ็ดล้านเจ็ดเลย สิบล้านก็ได้ แต่ไม่ใช่เป็นค่าชดเชยที่รัฐละเมิดสิทธิของทหารเหล่านั้น เพราะรัฐไม่ได้ละเมิด

กวีคิดนามธรรมไม่เป็น เป็นเรื่องน่าเศร้า คือมีอิทธิพลมาก แต่น่าเสียดายที่ใช้ความสามารถทางภาษาสูงของตัวแพร่ความคิดที่ตื้นเขินผิด ๆ ออกไป



จากนั้น เมื่อวันที่ 23 มีนาคม ไพวรินทร์ได้โพสต์ข้อความกล่าวถึงเกษียร ผ่านทางเฟซบุ๊กในหัวข้อ "บันทึกถึง Kasian Tejapira" มีเนื้อหาดังนี้

มันก็แค่คิดต่าง หรือมองเห็นต่างกัน มิใช่หรือครับ Kasian Tejapira ไม่เห็นจะคิดนามธรรมเป็น-ไม่เป็นตรงไหน? เป็นเรื่องน่าเศร้าตรงไหน? น่าเสียดายตรงไหน? หรือแพร่ความคิดที่ตื้นเขินผิด ๆ ออกไปตรงไหน? เพราะจะว่าไปแล้ว ผมก็ไม่เห็น Kasian Tejapira แพร่ความคิดที่ถูกต้องเป็นธรรม หรือลึกล้ำอะไรมากมาย เฉพาะจากข้อเขียนนี้

เราต่างมีสิทธิ์ตั้งข้อคำถามในข้อกังขาเรื่องการชดใช้-เยียวยามิใช่หรือครับ? ว่าเป็นเกมการเมือง หรือบริสุทธิ์ยุติธรรมเท่าเทียมกันทุกฝ่ายแล้ว? จริงอยู่ เรื่องที่ผมถามเปรียบเทียบ มันคนละเรื่องกัน แต่คนละเรื่องนั่นแหละที่สามารถนำมาเปรียบเทียบกันเพื่อถามใจกันดู ว่ามันยุติธรรมดีแล้วหรือ? คนเขาถามกันมากมาย มิใช่เพียงผมคนเดียว ถึงกับมีการทำตารางสถิติเปรียบเทียบให้ดูก็ไม่น้อย ใช่-มันไม่เกี่ยวกัน แต่เรามีสิทธิ์คิดและสะเทือนใจหลายกรณี ผู้ถูกรัฐละเมิด มิได้มีแค่ที่กรุงเทพฯ ในปี 2553 เท่านั้นหรอกครับ และเรื่องนี้คดีความก็ยังไม่สิ้นสุด ความจริงก็ยังไม่ปรากฏรอบด้าน เหตุใดรัฐรีบชิงทำเรื่องนี้?

ผมว่าผมกังขานโยบายรัฐวันนี้ หรือกังขาผู้พูดคำว่า "อย่ากลับบ้านมือเปล่า" มากกว่า มิได้หมิ่นแคลนกลุ่มผู้ชุมนุม หรือผู้บาดเจ็บล้มตาย เพราะถ้าจะต้องมีการชดใช้-เยียวยา ผมก็มิได้คัดค้านอะไรเลย แต่ถามถึงความบริสุทธิ์ยุติธรรมในกระบวนการของมัน ถึงวันนี้ผมก็ยังได้ยินคนถามเรื่องนี้กันอยู่เลย ด้วยถ้อยคำแรงๆ และกล่าวหาร้ายๆ มากกว่าผมด้วยซ้ำ

อย่างเรื่องการปรองดองนี่อีก เราก็มีสิทธิ์ตั้งคำถามมิใช่หรือครับ? นี่เป็นแค่เกมการเมือง หรือเป็นความบริสุทธิ์ยุติธรรมที่มีการพิจารณาอย่างรอบด้านแล้ว ผมก็เห็น Kasian Tejapira ตั้งคำถามเรื่องเรื่อง "จำ" เรื่อง "ลืม" อยู่มิใช่หรือครับ? ผมว่าเป็นคำถามที่น่าสนใจทีเดียว ถึงวันนี้คดีความก็ยังดำเนินอยู่ ความจริงก็ยังสับสน แต่เหตุใดการรีบชิงทำอะไรต่างๆ จึงปรากฏชัดอย่างผิดสังเกต

ผมมิใช่คนฉลาดรอบรู้สูงส่งลึกล้ำหรอกครับ มิใช่อาจารย์ มิใช่นักวิชาการ มิใช่นักทฤษฎี มิใช่นักประวัติศาสตร์ แต่ผมก็เชื่อว่าตัวเองมีสามัญสำนึกในการรู้สึกนึกคิด กับเหตุการณ์ที่สัมผัสรับรู้ด้วยหัวใจ ไม่ต้องเสียเวลาน่าเศร้าน่าเสียดายอะไรกับผมหรอกครับ ถ้าจะกรุณาก็ลองไปอ่าน "ฟ้าเดียวกัน" ที่เขานำกลอนของผมไปเทียบเคียงกับคำสำรากไร้วัฒนธรรมนั้นบ้างเถอะครับ

ขอยืนยัน ผมไม่ได้คิดจะแพร่ความคิดผิดๆ ใดๆ แต่ผมอาจคิดผิดจากคุณ คิดไม่เหมือนคุณ แค่ตั้งคำถามจากความข้องใจ มิได้ไปคัดค้านหัวชนฝาอะไร ถ้าจะเยียวยาก็เยียวยา ถ้าจะปรองดองก็ปรองดอง แต่ความเป็นจริง ความเป็นธรรม เราก็ต้องพิสูจน์กัน

การหลับตาเยียวยา ปรองดอง โดยปิดบังซ่อนเร้นความเป็นจริง ทำลืมๆ แล้วๆ กันไป ผมก็เห็นแต่ปัญหารออยู่เบื้องหน้า หนักหนากว่า "ปัญหาของกวี/ศิลปินรักชาติ ที่คิดนามธรรมไม่เป็น" เสียอีก!

ด้วยความเคารพ ที่ผมเคยเข้าไปขอสัมภาษณ์ Kasian Tejapira สมัยทำ "ปาจารยสาร"

ไพวรินทร์ ขาวงาม

ศุกร์ 23 มีนาคม 2555


ทั้งนี้ คำชี้แจงดังกล่าวของไพวรินทร์ได้ถูกเว็บไซต์เมเนเจอร์ออนไลน์นำไปเสนอข่าว โดยพาดหัวว่า "เกษียร" เนื้อเต้น อัดนักเขียนซีไรต์ร่ายกลอนเหน็บเงินเยียวยาแดง 7.7 ล. และโปรยประเด็นข่าวว่า นักวิชาการแดง "เกษียร" โพสต์เฟซบุ๊กโจมตีนักเขียนซีไรท์ แต่งกลอนเปรียบทหารชายแดนกับเสื้อแดงได้เงินล้านคิดนามธรรมไม่เป็น อ้างทหารทำงานให้รัฐตามกฎหมาย เหน็บใช้ภาษาสูงคิดตื้น เจ้าตัวโต้กลับทุกคนมีสิทธิ์ตั้งคำถาม แม้คนละเรื่องแต่มีคนเปรียบเทียบ กังขายุติธรรมดีแล้วหรือ เหตุใดรัฐชิงเรื่องนี้ทั้งที่คดียังไม่สิ้นสุด ยันไม่ได้ค้านหัวชนฝา เชื่อมีสามัญสำนึก



หลังจากนั้น เกษียรได้เขียนบทความในเฟซบุ๊กตอบโต้ไพวรินทร์อีกสองชิ้นในวันที่ 24 มีนาคม ได้แก่

เรื่องไม่ลึกซึ้งที่คุณไพวรินทร์ในที่สุดก็ยังไม่อาจเข้าใจ

มีประเด็นหลักประเด็นเดียวที่ผมอ่านคำตอบของคุณไพวรินทร์จนหมดแล้ว ก็ยังไม่พบข้อที่ชี้ว่าคุณไพวรินทร์เข้าใจเรื่องนี้ ซึ่งผมคิดว่าสำคัญ แต่แน่นอนคุณไพวรินทร์อาจไม่เห็นเช่นนั้นก็ได้

คือความสัมพันธ์ระหว่างรัฐ กับ พลเมืองเจ้าของรัฐผู้บาดเจ็บล้มตายในการชุมนุมจากการใช้อำนาจโดยมิชอบของรัฐ

ความสัมพันธ์นี้เป็นเรื่องนามธรรม มีพันธะหน้าที่ต่อกันระหว่างอำนาจรัฐกับพลเมืองเจ้าของรัฐในลักษณะสัญญาประชาคม เมื่อมีการล่วงละเมิดสัญญา ใช้อำนาจเกินเลยโดยมิชอบ ทำร้ายสิทธิเหนือร่างกายชีวิตทรัพย์สินของพลเมืองแล้ว รัฐต้องรับผิดชอบ แค่นี้เองครับ

จริง ๆ มันก็ไม่ได้ลึกซึ้งอะไรอย่างที่คุณไพวรินทร์ว่านั่นแหละ ผมก็เลยแปลกใจไงครับ ว่าไม่ลึกซึ้งอย่างนี้ ทำไมคุณไพวรินทร์จนแล้วจนรอด ไม่เข้าใจ?


ส่วนกระบวนการที่รัฐชดเชยชดใช้แก่การละเมิดสิทธิเหนือร่างกาย ชีวิตและทรัพย์สินของพลเมืองเจ้าของรัฐในการชุมนุมครั้งต่าง ๆ นั้น มันยุติธรรม สะอาด โปร่งใสหรือไม่? อันนี้ก็น่าคิด น่าสนใจ และควรที่เราจะมาพิจารณาตรวจสอบกัน แต่มันเป็นคนละเรื่อง คนละประเด็นกับความชอบธรรมหรือไม่ในการชดเชย ซึ่งเป็นเรื่องความสัมพันธ์ทางนามธรรมข้างต้นดังกล่าว - และผมคิดว่าคุณไพวรินทร์แสดงความไม่เข้าใจไว้ในกลอนชัดเจน โดยเอาไปเปรียบเทียบกับกรณีทหารไทยเสียชีวิตชายแดน (กรุณากลับไปอ่านกลอนตอนต้นของคุณไพวรินทร์เองอีกครั้งหนึ่งนะครับ)

ส่วนเรื่องผมเป็นนักวิชาการ "แดง" หรือไม่นั้น? ปล่อยให้เป็นเรื่องที่เอเอสทีวี/ผู้จัดการเขา "เนื้อเต้น" พร่ำเพ้อไปเถิดนะครับ มันไม่เกี่ยวกับเรื่องที่เราเห็นต่างกันอยู่ ซึ่งไม่เกี่ยวกับสี แต่เกี่ยวกับวิธีมองโลก เข้าใจโลก ทางสังคมการเมือง ในฐานะเพื่อนพลเมืองเจ้าของรัฐด้วยกัน


และ

รูปธรรมกับนามธรรม

เที่ยงวันหนึ่งหลายปีก่อน ผมไปนั่งทานข้าวอยู่ที่ร้านสั่งทำอาหารเป็นจาน ๆ ริมคลองภาษีเจริญ ตรงข้ามวัดนิมมานรดี ระหว่างรอข้าวราดกระเพราอยู่นั้น ก็มีซากสุนัขสีดำขาวตัวหนึ่งลอยตามน้ำโผล่แต่ขาผ่านมาบริเวณหน้าวัด จากจุดนั้น ก็เริ่มมีการส่งเสียงวิเคราะห์วิพากษ์วิจารณ์ของแม่ค้าทำกับข้าวและแขกที่มานั่งกินบางคนนานราว 10 นาที จนซากนั้นลอยผ่านไป ในทำนองว่า....

"สงสัยหมามันตกน้ำตายนะ"
"หรือป่วยตายแล้วเขาโยนลงคลองมากกว่า"
"น่าสงสาร ทำไมเจ้าของไม่มาตามเก็บ"
"บาปกรรม...."
"พันธุ์อะไรน่ะ? หมาไทยหรือหมาเทศ?"
"กทม.ควรจะดูแล ทิ้งแบบนี้น้ำเน่าหมด"

ฯลฯลฯลฯลฯลฯ

เสียงสนทนา 10 นาทีนั้นพูดให้ถึงที่สุดไม่เปลี่ยนอะไรเกี่ยวกับข้อเท็จจริงที่ว่ามีหมาตายลอยน้ำมาเลย มันตายแล้ว มันลอยน้ำมาแล้ว และจะลอยน้ำต่อไปตามคลอง แต่ก็มีแต่มนุษย์อย่างเรา ๆ ท่าน ๆ นี่แหละ ที่อยู่ในโลกของความหมาย ทรรศนะ แนวคิด ซึ่งเป็นนามธรรมกำกับความสัมพันธ์ของคนเรากับสิ่งรอบข้าง ไม่ว่า กทม. กระทรวงสาธารณสุข ศาสนา วัดวาอาราม สุนัขพันธุ์ต่าง ๆ ฯลฯ ที่แคร์และเดือดร้อนมากพอที่จะต้องเอาตัวไปเชื่อมโยงสัมพันธ์กับข้อเท็จจริงนั้น และบรรยาย/วิเคราะห์/วิจารณ์เพื่อจัดความสัมพันธ์ ระหว่างตนเองกับข้อเท็จจริงดังกล่าว เป็นวรรคเป็นเวร

การมีชีวิตอยู่ในโลกแห่งความหมายที่เป็นนามธรรมเป็นปกติวิสัยมนุษย์ (human condition) แบบหนึ่ง มันกำกับบงการความหมายและความสัมพันธ์ระหว่างเรากับมนุษย์คนอื่นในสังคม และระหว่างเรากับธรรมชาติโดยพื้นฐาน ไม่ว่าเราจะตระหนักรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม


ในทางแนวคิดทรรศนะ ผมเข้าใจเรื่องนี้จากบทสัมภาษณ์ยาวของ Hilary Putnam อาจารย์ปรัชญาชาวอเมริกัน เกี่ยวกับปรัชญาวิทยาศาสตร์โดยอาศัยแนวคิดของ Immanuel Kant นักปรัชญาจิตนิยมเยอรมันในอดีต ในรายการ BBC ที่รวมพิมพ์เป็นหนังสือ Men of Ideas ต้้งแต่เมื่อเกือบ 30 ปีก่อน ว่าในการอยู่กับโลก เรียนรู้เข้าใจโลกนั้น มนุษย์ไม่ได้ทำด้วยตาเปล่าหูเปล่าหรือใจเปล่า หากทำผ่าน "โครงสร้างความคิด" หรือ "กลไกแนวคิด" บางอย่างเสมอ ที่เป็นนามธรรมและเป็นตัวให้ความหมาย จัดความสัมพันธ์ระหว่างตัวมนุษย์กับสิ่งนั้น ๆ

ฉะนั้นเมื่อเราสังเกตเห็นปรากฏการณ์รูปธรรมหนึ่ง ๆ ที่ดูผิวเผินเหมือนกัน แต่เอาเข้าจริงมันอาจมีความหมายนัยที่ต่างกันมากไปคนละเรื่องเลยทีเดียว เนื่องจาก "โครงสร้างความคิด" นามธรรมของมนุษย์ที่กำกับและจัดความสัมพันธ์ของมันกับมนุษย์ด้วยกันอยู่ ยกตัวอย่างอาทิ

กวีมองเห็นคนยื่นเงินเจ็ดล้านเจ็ดให้คนอีกคนหนึ่ง.....
เอาเข้าจริงมันอาจมีความหมายนัยต่าง ๆ ได้แตกต่างหลากหลายกันไปมาก แล้วแต่นามธรรมที่กำกับ เช่น

-ลูกค้าจ่ายเงินค่าซื้อบ้านจัดสรร/รถยนต์ส่วนบุคคลให้เซลส์ขายรถยนต์
-นายทุนรับเหมาก่อสร้างจ่ายเงินติดสินบนนักการเมือง
-ผอ.กองสลากจ่ายเงินรางวัลที่หนึ่งให้ผู้ถูกล็อตเตอรี่
-เอเย่นต์ยาเสพติดจ่ายเงินค่ายาให้ผู้ผลิตยาบ้า
-พ่อฝ่ายเจ้าบ่าวจ่ายค่าสินสอดทองหมั้นให้พ่อฝ่ายเจ้าสาว
-เศรษฐีบริจาคเงินให้มูลนิธินำไปพัฒนาวัดวาอาราม

-ผบ.ทบ.จ่ายค่าทำขวัญบำเหน็จความดีความชอบให้ญาติทหารหาญผู้สละชีวิตชายแดน
-รัฐบาลจ่ายค่าชดเชยให้ญาติผู้เสียชีวิตจากการชุมนุมเนื่องจากรัฐใช้กำลังเกินกว่าเหตุไปละเมิดสิทธิของคนผู้นั้น

ฯลฯลฯลฯลฯลฯลฯ

เพราะกวีแต่งกวีเก่ง แต่เผอิญกวีไม่เข้าใจนามธรรม กวีจึงไม่สามารถแยกแยะความต่างระหว่างความสัมพันธ์ที่แตกต่างหลากหลายเหล่านี้ได้ เห็นแต่เงินเปลี่ยนมือ ก็ตีขลุมว่าเหมือนกันหมด

ไม่ทราบว่าทีนี้กวีเข้าใจหรือยัง?



ขณะเดียวกัน "สุวินัย ภรณวลัย" อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนักวิชาการกลุ่มสยามประชาภิวัฒน์ ได้แสดงความเห็นกรณีวิวาทะเกษียร-ไพวรินทร์ ผ่านทางเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า

วิวาทะเกษียร-ไพวรินทร์) ตรรกะเหตุผลที่คุณไพวรินทร์ใช้อธิบายวิธีมองโลกของเขาโดยเฉพาะข้อเขียนที่เขาเขียนว่า "การหลับตาเยียวยา ปรองดองโดยปิดบังซ่อนเร้นความเป็นจริง ทำลืมๆ แล้วๆ กันไป ผมก็เห็นแต่ปัญหารออยู่เบื้องหน้าหนักกว่าปัญหาของกวี/ศิลปินรักชาติที่คิดนามธรรมไม่เป็นเสียอีก" นั้น ผมเห็นด้วยในระดับเดียวกับที่ผมเห็นด้วยกับตรรกะเหตุผลของอาจารย์เกษียรที่อธิบายว่า "รัฐเอาชีวิตพลเมืองของรัฐโดยมิชอบมิได้" แม้ว่าทั้งคู่จะพูดถึงเรื่องเดียวกันจากมุมมองและจุดยืนที่ต่างกันก็ตาม พูดด้วยใจที่เป็นธรรมนะครับ ความเห็นต่างในเรื่องนี้คุณไพวรินทร์ไม่ควรถูกโจมตีด้วยข้อหา "คิดนามธรรมไม่เป็น" แต่อย่างใดเลย คนที่แต่งกลอนและใช้ตรระกเหตุผลวิวาทะกันได้แบบนี้ไม่มีทางคิดนามธรรมไม่เป็นตามมาตรฐานทางจิตวิทยาหรอกครับ เพียงแต่อาจจะขาดแง่มุมและภาษาแบบนักวิชาการไปบ้างเท่านั้น หรืออาจะไม่ได้ใช้วิธีคิดเชิงนามธรรมระดับสูงแบบ vision logic ที่อาจารย์เกษียรใช้อยู่ก็ตาม แต่การกล่าวหาคนอื่นด้วยข้อหาแบบนี้ มันค่อนข้างผิดจรรยาและไม่ถ่อมตนเลยนะครับ เหมือนอย่างเช่น เวลาเราไปคุยกับคนเก็บขยะ แล้วเราไปบอกเขาว่า "คุณคิดนามธรรมไม่เป็น" ผมว่านี่เป็นคำพูดที่ไม่สมควรพูดออกมานะครับ ถ้าหากเราเคารพความเป็นมนุษย์ของทุกคนเหมือนๆ กัน ไม่ว่าจะมีสถานะทางสังคม อาชีพ การศึกษาระดับใด การบอกว่า "คุณคิดนามธรรมไม่เป็น" ไม่ต่างไปจากนักเปียโนมืออาชีพที่ไปดูแคลนพ่อครัวทำอาหารว่าเขาเล่นเปียโนไม่เป็นแต่ประการใดเลย ก็คุณเป็นนักวิชาการระดับศาสตราจารย์นี่นา คุณก็ต้องคิดแบบนามธรรมชั้นสูงได้อยู่แล้วเพราะการฝึกฝนทางวิชาการของคุณ แต่นี่มิใช่เรื่องที่จะเอาไปยกตนข่มท่านแต่อย่างใดเลย อาจารย์เกษียรที่ผมรู้จักเป็นคนอ่อนโยน เขียนกวีเก่ง และเห็นอกเห็นใจผู้คนมากกว่านี้ แต่ถ้ากล่าวเฉพาะเหตุการณ์นี้ ผมเห็นแต่ปัญญาชนหัวดื้อคนหนึ่งที่กร้าวร้าว ไม่ยอมแพ้ และดูแคลนคนอื่นที่คิดต่างไปจากตนเอง


ส่วนเกษียรได้ตอบสุวินัยว่า

ผมยินดีมากที่ อ.สุวินัยแห่งกลุ่มสยามประชาภิวัฒน์เห็นด้วยกับหลักการอันเป็นนามธรรมที่ว่า "รัฐเอาชีวิตพลเมืองของรัฐโดยมิชอบมิได้" ทั้งหมดที่ผมต้องการบอกกับคุณไพวรินทร์ มีแค่นี้เท่านั้นเอ

ส่วนประเด็นหลัง คงจะจริงที่ผมหัวดื้อและก้าวร้าว ไม่ยอมแพ้เกินไปในการถกเถียงครั้งนี้ ถ้อยคำที่ใช้ก็อาจถูกตีความไปในเชิงว่าผมดูแคลนผู้ที่ผมถกเถียงอยู่ด้วยก็เป็นได้ ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้น ผมก็ต้องขออภัย

แต่ผมอยากเรียนว่าท่าทีดังกล่าวเป็นปฏิกิริยาต่อพลังของบทกวีที่แรงของคุณไพวรินทร์ ที่กระทบต่อบรรดาผู้สูญเสียทุกเสื้อสีจากความรุนแรงของฝ่ายรัฐในรอบหลายปีที่ผ่านมา คนเหล่านั้นเมื่ออ่านบทกวีที่เขียนอย่างมีพลังของคุณไพวรินทร์แล้ว แรงกระแทกใจจะเจ็บปวดอย่างไร ผมก็อยากให้อ.สุวินัยลองจินตนาการดูอย่างเพื่อนมนุษย์ด้วยกันด้วย นั่นคือเหตุที่ผมแสดงท่าทีเช่นนั้นไป ไม่ใช่ความยโสอหังการส่วนตัวแต่อย่างใด

ผมจึงอยากย้ำว่ากวีมีพลังของบทกวีที่แรงและทรงพลังมาก ทำอย่างไรจะใช้อย่างรัดกุมรอบคอบ และกำกับมันด้วยความรู้ความเข้าใจอย่างเท่าทัน เพื่อไม่ให้มันทำร้ายจิตใจคนอื่นอย่างผิดพลาดและดูดาย



.

การปรองดองต้องให้ได้ความจริงและยุติธรรม โดย พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์

.

พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์: การปรองดองต้องให้ได้ความจริงและยุติธรรม
ใน www.prachatai.com/journal/2012/03/39865 . . Fri, 2012-03-30 00:00
ภาพโดย pittaya (CC BY 2.0) www.flickr.com/photos/56286862@N00/251401050/

รศ.ดร.พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์
30 มีนาคม 2555

คำถามของ พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ถึง พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญชุด “ปรองดอง” เมื่อกลางสัปดาห์ที่แล้วว่า กระทำรัฐประหาร 19 กันยายนไปด้วยตนเองหรือมีผู้อยู่เบื้องหลังสั่งให้ทำนั้น แม้ความสนใจของสื่อมวลชนและประชาชนจะพุ่งไปที่คำตอบของพล.อ.สนธิ และคำตอบโต้กันหลังจากนั้น แต่เหตุผลที่พล.ต.สนั่นอ้างในการถามคำถามดังกล่าวกลับสำคัญยิ่งกว่า

เหตุผลของพล.ต.สนั่นก็คือ ประชาชนต้องการรู้ความจริง กระบวนการปรองดองใดๆ จะไม่เป็นผลทั้งสิ้นหากความจริงทั้งหมดยังไม่ได้ถูกเปิดเผยออกมาว่า ใครเป็นผู้สั่งให้กระทำรัฐประหาร และที่สำคัญคือ ตราบใดที่ยังไม่มีการยอมรับความจริง ความเคียดแค้นในหมู่ประชาชนก็จะยังคงอยู่

นี่คือมาตรฐานที่แท้จริงที่เป็นเครื่องวัดว่า การปรองดองใดๆ จะกระทำได้จริงหรือไม่? จะเป็นการปรองดองแห่งชาติที่แท้จริงหรือเป็นเพียง “การประนีประนอมกันชั่วคราว” ระหว่างพลังจารีตนิยมกับพรรคเพื่อไทย


การปรองดองแห่งชาติที่แท้จริงประกอบด้วยสองส่วนคือ การเปิดเผยความจริงทั้งหมด และการให้ความยุติธรรมแก่ทุกฝ่าย (ซึ่งประกอบด้วยการเยียวยา การลงโทษ และการอภัยโทษ)

เพียงประการแรกคือ การเปิดเผยความจริงทั้งหมด ในปัจจุบันก็มิอาจกระทำได้ วิกฤตการเมืองทั้งหมดตั้งแต่ต้นปี 2549 ถึงปัจจุบันเป็นเวลากว่าห้าปี มิได้มีเพียง พล.อ.สนธิ กองทัพกับรัฐประหาร 19 กันยายนเท่านั้น แต่ยังมี “เครื่องมือของจารีตนิยมอื่นๆ” ที่เคลื่อนไหวสอดประสานกันคือ พวกอันธพาลบนถนนที่เรียกตัวเองว่า พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย องค์กรตุลาการ พรรคประชาธิปัตย์ สื่อกระแสหลักบางค่าย นักวิชาการและนักกฎหมายบางจำพวก เป็นต้น

นัยหนึ่ง รัฐประหาร 19 กันยายน เป็นเพียงตัวแทนหนึ่งของเผด็จการและเป็นแนวรบชี้ขาดในเวลานั้น แต่ต้องพึ่งพาอาศัยแขนขาของจารีตนิยมอื่นๆ ในการตระเตรียมเงื่อนไขก่อนรัฐประหาร และช่วยซ้ำเติมให้ภารกิจเบ็ดเสร็จหลังรัฐประหาร

คำถามจึงไม่ใช่อยู่เพียงว่า ใครหรืออะไรที่บงการให้ พล.อ.สนธิกระทำรัฐประหาร 19 กันยายนเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงคำถามว่า ใครหรืออะไรที่บงการบุคคลและกลุ่มองค์กรเหล่านี้ได้ทั้งหมดให้เคลื่อนไหวสอดประสานกันเป็นแนวรบใหญ่ที่เป็นเอกภาพ ทำลายล้างรัฐบาลไทยรักไทยและรัฐบาลพลังประชาชนที่มาจากการเลือกตั้งได้สำเร็จ ต่อเนื่องมาเป็นกรณีเมษาเลือด 2552 และการสังหารหมู่ประชาชนเมื่อ เมษายน-พฤษภาคม 2553 ?

คำถามนี้จะมีคำตอบที่เปิดเผยได้ก็ต่อเมื่อมีการเปลี่ยนดุลกำลังทางการเมืองในอำนาจรัฐอย่างถึงรากเท่านั้น มิใช่ในวลานี้ที่แก่นแกนอำนาจรัฐทั้งหมดยังคงอยู่ในมือของกลุ่มจารีตนิยมอย่างเหนียวแน่น ในขณะที่พรรคฝ่ายประชาธิปไตยยึดกุมได้แต่เพียงรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งและเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรเท่านั้น!


และนี่คืออุปสรรคสำคัญที่สุดของการปรองดอง แม้แต่คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อความปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ก็ยังไม่สามารถบรรลุความจริงของเหตุการณ์ทั้งหมดได้ ยิ่งไม่ต้องพูดถึงการศึกษาของสถาบันพระปกเกล้าที่เสนอต่อคณะกรรมาธิการวิสามัญชุด “ปรองดอง” ข้างต้น ซึ่งจนกระทั่งบัดนี้ เมื่อพูดถึงสาเหตุความขัดแย้งทั้งหมด ก็ยังคงวนไปเวียนมาที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรอยู่นั่นแหละ!

ที่ยังไม่อาจเปิดเผยความจริงได้ทั้งหมดก็เพราะ “อำนาจรัฐยังไม่เปลี่ยนมือ” ก็เท่านั้นเอง

ในเมื่อไม่สามารถเปิดเผยความจริงได้ทั้งหมด การให้ความยุติธรรม ซึ่งเป็นขั้นตอนต่อไปของการปรองดองที่แท้จริง จึงไม่อาจกระทำได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การลงโทษผู้บงการที่แท้จริงและผู้รับคำสั่งระดับบนสุดที่กระทำอาชญากรรมการเมืองต่างๆ ตลอดหลายปีมานี้ ก่อนที่จะไปอภัยโทษให้กับผู้รับคำสั่งระดับล่างและมวลชนที่เข้าร่วม ตลอดจนเยียวยาชดเชยให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบทุกฝ่าย

พรรคเพื่อไทยรู้ดีว่า การปรองดองแห่งชาติที่แท้จริงและรอบด้านนั้นยังไม่อาจกระทำได้ในขั้นปัจจุบัน ทางออกของพรรคเพื่อไทยจึงเป็นการปรองดองที่มุ่งประนีประนอมเป็นสำคัญ แต่ “ปราศจากความจริง” คือไม่มีความพยายามที่จะสืบสวนหาความจริงทั้งหมดตั้งแต่เริ่มต้นวิกฤตปี 2549 ให้ได้ข้อสรุปที่ชัดเจนเพื่อนำไปสู่กระบวนการยุติธรรม

ด้วยเหตุนี้ การให้ความยุติธรรมของพรรคเพื่อไทยจึงหดแคบลงมาเหลือแค่การเยียวยาด้วยการชดเชยให้กับมวลชนทุกฝ่าย และที่น่าขบขันคือ เป็นการเยียวยาครอบคลุมถึงการชุมนุมทางการเมืองทั้งหมดตั้งแต่ปี 2549 ทั้งๆ ที่ยังไม่รู้ความจริงทั้งหมดด้วยซ้ำว่า ใครทำอะไรบ้าง ใครผิด ใครถูก

แม้แต่แผนการของรัฐบาลที่จะออกกฎหมายสองฉบับคือ พระราชบัญญัติการปรองดองแห่งชาติ และพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม ก็มีแนวโน้มลูบหน้าปะจมูกเหมือนกรณีความขัดแย้งอื่นๆ ในอดีต คือ “ยกเลิกคดีของ คตส. ทั้งหมด หลับหูหลับตานิรโทษกรรมให้กับทุกฝ่ายแล้วจบกัน”



การเคลื่อนไหวเรื่อง “ปรองดอง” โดยแกนนำพรรคเพื่อไทยในวันนี้ จึงไม่ใช่การปรองดองแห่งชาติที่แท้จริง แต่เป็นความเพ้อฝันลมๆ แล้งๆ ที่จะประนีประนอม “หย่าศึก” กับเผด็จการจารีตนิยม อีกรอบก็เท่านั้นเอง

สิ่งที่พวกเขาจะเผชิญก็เหมือนความพยายามประนีประนอมครั้งก่อนๆ คือ “การสะดุ้งตื่นจากฝันหวาน” มาพบโลกความจริงอันขมขื่นเมื่อฝ่ายจารีตนิยมตอบโต้กลับด้วยอำนาจรัฐในมือเหมือนทุกครั้งที่ผ่านมา เพราะสิ่งที่ฝ่ายนั้นไม่ยินยอมอย่างเด็ดขาดคือ การยกเลิกคดี คตส.ทั้งหมด ซึ่งเท่ากับเป็นการเปิดทางให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร กลับสู่ประเทศไทย และกลับสู่อำนาจการเมืองไทยอย่างถูกต้องตามกฎหมายนั่นเอง

ถ้าปล่อยให้เป็นเช่นนั้น ก็เท่ากับว่า การลงทุนลงแรงของฝ่ายจารีตนิยมตลอดหกปีมานี้ “สูญเปล่า” และประสบความพ่ายแพ้อย่างสิ้นเชิง มิหนำซ้ำ พวกเขายังได้สูญเสียการครอบงำทางความคิดอุดมการณ์ต่อสังคมไทยไปจนเกือบหมดอีกด้วย

ฉะนั้น ทั้งพรรคเพื่อไทยและประชาชนที่รักประชาธิปไตยจะต้องไม่อยู่ในความประมาท ต้องไม่เพ้อฝันไปกับการประนีประนอมในขั้นตอนปัจจุบัน มองให้เห็นถึงธาตุแท้ของพวกเผด็จการ เก็บรับบทเรียนจากคณะราษฎร เตรียมพร้อมอย่างเต็มที่เพื่อรับการตอบโต้ของฝ่ายจารีตนิยมที่อาจจะเกิดขึ้นไม่ช้าก็เร็ว


* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

มีการโพสต์ความคิดเห็นท้ายบท ร่วมอ่านและเขียน ที่ www.prachatai.com/journal/2012/03/39865



.

2555-03-30

เกมรัฐสภา ผ่านรายงาน กมธ.ปรองดอง/ ลึกแต่ไม่ลับ 30 มี.ค.55

.
รายงานพิเศษ - ปลุกทหารพันธุ์ใหม่ "ราชวัลลภ-ทม." สู้ บูรพาพยัคฆ์-ทหารเสือฯ เมื่อ "บิ๊กตู่" ลั่น "ชีวิตนี้ไม่เคยทำอะไรผิด"
คอลัมน์ โล่เงิน - คำมั่น "วินัย" ทำดีไม่ต้องวิ่งเต้น จัดเกรดโปรโมต "ช้างเผือก" "ไร้ผลงาน-เฉื่อยชา" คัดออก

______________________________________________________________________________________________________

วิเคราะห์ เกมรัฐสภา ผ่าน รายงานกรรมาธิการปรองดอง เอกภาพที่มีปัญหาฝ่ายค้าน
รายงานพิเศษ ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1650 หน้า 8


รัฐสภาเริ่มประชุมตั้งแต่เวลา 10.00 น. ของวันอังคารที่ 27 มีนาคม ตามที่กำหนด แต่กว่าจะนำญัตติเพื่อพิจารณารายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดองแห่งชาติ สภาผู้แทนราษฎร ได้ก็เมื่อเวลา 16.50 น. ตามข้อเสนอของ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ในฐานะวิปรัฐบาล
และนั่นเท่ากับเป็นจุดเริ่มต้นแห่งการอภิปราย การประท้วง การอภิปราย อันดุเดือดและรุนแรง จนประธานต้องสั่งยุติการประชุมถึง 2 ครั้ง
ความวุ่นวายมิได้เป็นความวุ่นวายจากวาทกรรมอันคมคายของแต่ละฝ่ายเท่านั้น

หากแต่ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับรายงานทั้งที่เป็น ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ และ ส.ว. ในกลุ่ม 40 ต่างก็เข้ามารุมล้อมโดยรอบ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน

น่าสนใจก็ตรงที่ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ตั้งรับด้วยความสงบ เยือกเย็นด้วยรอยยิ้ม
การประชุมภายหลังจากการยุติระยะสั้นๆ ถึง 2 คราวในเวลา 18.55 น. ท่ามกลางเสียงโห่ร้องจาก ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์
โดยเฉพาะเมื่อ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ชี้แจงยาวเหยียด


กระนั้น ไฮไลต์ของการประชุมก็เข้าสู่จุดขมวดอย่างเข้มข้นเมื่อผ่านการอภิปรายมาพอสมควร 21.20 น. ประธานสั่งให้ลงมติ
ญัตติที่เสนอโดย นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ให้เลื่อนการพิจารณาออกไปก่อน
ปรากฏผลออกมาว่า ที่ประชุมรัฐสภาเห็นชอบด้วย 173 เสียง ไม่เห็นชอบ 346 เสียง งดออกเสียง 6 เสียง

ญัตติที่เสนอโดย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ให้เลื่อนรายงานขึ้นมาพิจารณาก่อน
ปรากฏผลออกมาว่า ที่ประชุมเห็นด้วย 348 เสียง ไม่เห็นชอบ 163 เสียง และงดออกเสียง 12 เสียง
เป็นอันว่าญัตติของ นพ.น่าน ศรีแก้ว ชนะ

ความน่าสนใจอยู่ตรงที่ พรรคประชาธิปัตย์มีเสียงโดยพื้นฐาน 159 เสียง ที่ได้มา 173 เสียง ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นพรรคร่วมฝ่ายค้าน นั่นคือ จากพรรคภูมิใจไทย และอีกส่วนหนึ่งน่าจะมาจากเสียงของสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.)
นั่นคือ ได้เพิ่มมา 14 เสียง

ขณะเดียวกัน พรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมรัฐบาลมีเสียงโดยพื้นฐาน 300 เสียง ที่ได้มา 348 เสียงสะท้อนให้เห็นว่า 48 เสียง ส่วนหนึ่งน่าจะมาจากการลงคะแนนให้ของพรรคฝ่ายค้าน ส่วนหนึ่งน่าจะมาจากการลงคะแนนของสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.)
สะท้อนให้เห็นว่าภายในพรรคฝ่ายค้านมีเสียงแตก สะท้อนให้เห็นว่าภายในสมาชิกวุฒิสภาเห็นด้วยกับคณะกรรมาธิการมากกว่าเห็นด้วยกับพรรคประชาธิปัตย์



ปมเงื่อนที่พรรคประชาธิปัตย์จำเป็นต้องขบคิดและพิจารณาอย่างหนักภายหลังจากสถานการณ์ทั้งการลงมติในเรื่องแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ และการลงมติในเรื่องของคณะกรรมาธิการปรองดอง
เป็นเรื่องของเสียงภายในฝ่ายค้าน

แท้จริงแล้ว ในเมื่อรัฐบาลมีเสียงโดยพื้นฐาน 300 เสียง ที่ได้เพิ่มขึ้นมาแสดงว่ารัฐบาลได้รับการสนับสนุนมากกว่านั้น
เป็นเสียงอันได้มาจากภายในพรรคร่วมฝ่ายค้าน และเป็นเสียงอันได้มาจากบรรดาสมาชิกวุฒิสภา

สะท้อนความไม่เป็นเอกภาพภายในฝ่ายค้าน สะท้อนความไม่แข็งแกร่งของกลุ่ม 40 ส.ว.



++

คอลัมน์ ลึกแต่ไม่ลับ โดย จรัญ พงษ์จีน
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1650 หน้า 8


หากไม่มีประเด็น "การเมือง" มาเป็นอุปสรรค ทั้งปมปรองดอง-แก้ไขรัฐธรรมนูญ-ปรับคณะรัฐมนตรี เชื่อว่า "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" จะนำพารัฐนาวา "ปู" ไปได้ยาวนานทีเดียว ในช่วง 2-3 เดือนหลัง มี "สัญญาณพิเศษ" บอกเหตุได้เด่นชัดดูดียิ่ง

ภาพลักษณ์ในต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นช่วงนำคณะไปเยือนญี่ปุ่น หรือล่าสุด เกาหลีใต้ ร่วมประชุมระดับผู้นำว่าด้วยความมั่นคงทางนิวเคลียร์ปี 2555 ร่วมกับผู้นำจากประเทศต่างๆ ทั่วโลก 53 ประเทศ ทั้ง สหรัฐ-จีน-รัสเซีย-อินเดีย ร่วมกับ 4 องค์กร คือ สหประชาชาติ ทบวงปรมาณูเพื่อสันติ ตำรวจสากล สหภาพยุโรป "โกอินเตอร์" เร็วกว่าที่คาดหมาย

หลังจากเดินทางกลับจากเกาหลีใต้ "ยิ่งลักษณ์" มีภารกิจใหญ่อีกงาน ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพการประชุม World Economic Forum on East Asia ระหว่างวันที่ 30 พฤษภาคม - 1 มิถุนายน 2555
กับการเดินหน้าสานต่อ "ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน" ที่ตกลงจะตั้งให้แล้วเสร็จจากกำหนดเดิม ปี 2015 เร่งให้เร็วขึ้น


"ประชาคมอาเซียน" ประกอบด้วย 3 เสาหลัก คือ ประชาคมความมั่นคงอาเซียน-ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน-ประชาคมและวัฒนธรรม
มีวัตถุประสงค์ที่จะทำให้ประเทศในภูมิภาคอยู่อย่างสันติสุข ยึดมั่นในหลักความมั่นคงรอบด้าน มุ่งหมายให้เกิดการไหลเวียนอย่างเสรีของสินค้า บริการ การลงทุน เงินทุน การพัฒนาทางเศรษฐกิจ และการลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม โดยเห็นชอบร่วมกันให้เร่งรัดการรวมกลุ่มสินค้าและบริการสำคัญจำนวน 11 สาขานำร่อง เช่น สินค้าเกษตร ประมง ผลิตภัณฑ์ไม้ ยางพารา สิ่งทอ ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ เทคโนโลยีสารสนเทศ สุขภาพ การท่องเที่ยว และการขนส่งทางอากาศ

การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจของอาเซียน จะช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจในระดับภูมิภาค และเสริมสร้างศักยภาพในการแข่งขันของอาเซียนในตลาดโลก ซึ่งนับวันทวีความรุนแรงมากขึ้น จึงต้องขยายการค้าและการลงทุนทั้งภายในภูมิภาคและระหว่างภูมิภาคให้สูงขึ้น สร้างอำนาจต่อรองของอาเซียนในเวทีโลก เพื่อลดอุปสรรคทางภาษี และมิใช่ภาษีต่างๆ ลง ตลอดถึงพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขึ้น

เนื่องจากอาเซียนเป็นตลาดที่มีความสำคัญและมีศักยภาพในการเจริญเติบโต มีประชากรรวมกันกว่า 550 ล้านคน
ประเทศไทย มีความได้เปรียบในสถานที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ อยู่จุดศูนย์กลางของภูมิภาคอาเซียน มีเขตแดนที่สามารถเชื่อมโยงระหว่างประเทศสมาชิก คือ สิงคโปร์-มาเลเซีย-ลาว-กัมพชา-พม่า จึงได้ประโยชน์สูง หากเร่งให้ "ประชาคมอาเซียน" สำเร็จรวดเร็ว "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" นายกรัฐมนตรี จึงเดินหน้าขับเคลื่อนเต็มสูบ
เพราะประเมินว่า หากบรรลุ กลุ่มทุนและบุคลากรต่างชาติ จะแห่มาเมืองไทยจำนวนมหาศาล จึงวางแผนรับมือไว้ล่วงหน้า



ขณะที่การบริหาร-จัดการนโยบาย ก้าวไปข้างหน้าไม่หยุดหย่อน แต่พอเหลียวหลังมาดู "การเมือง" ถือว่าล้าหลังและเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศค่อนข้างสำคัญทีเดียว
ฟาก "นิติบัญญัติ" จะเป็นตัวแปรให้การบริหารสะดุด
หลังจากมีการเสนอแก้รัฐธรรมนูญ โดยเน้นไปที่มาตรา 291 เพื่อเปิดประเด็นการสรรหา ส.ส.ร.99 คน ที่มาจากการเลือกตั้งและแต่งตั้งมาเป็นผู้แก้ไข
แม้ว่าเกมแก้รัฐธรรมนูญ "50 จะเดินหน้าไปเรียบร้อยแล้ว แต่พลันที่ผ่านสภา กลิ่นแปลกๆ ในทางการเมืองกลับโชยออกมาเรื่อยๆ โดยเฉพาะข่าว "ปฏิวัติ-รัฐประหาร" ที่หายออกจากสารบบอยู่ระยะหนึ่ง ก็กลับมีชีวิตชีวาขึ้นมาอีกครั้ง "กูรู" หลายรายดาหน้าออกมาฟันธง

หรือกรณีล่าสุด การ "ถามตรง" ของ "พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์" ต่อหน้าธารกำนัลน้อยใหญ่ กับ "พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน" ในฐานะประธานกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดองแห่งชาติ
ในฐานะ หัวหน้าคณะปฏิวัติ 19 กันยายน 2549 ล้มล้าง "ระบอบทักษิณ"
ให้ตอบประเด็นว่า การปฏิวัตินั้น มีผู้อยู่เบื้องหลัง เป็นผู้มีอำนาจนอกรัฐธรรมนูญ-อำมาตย์ จริงหรือไม่ หรือปฏิบัติภารกิจคนเดียว ทั้งนี้ เมื่อได้คำตอบจริง ก็สามารถรุกคืบเข้าสู่การปรองดองได้ถูกต้อง จนล่าสุด "แผนปรองดอง" ได้สร้างความโกลาหลอลหม่านขึ้นในการประชุมรัฐสภา "กรรมาธิการ" สายประชาธิปัตย์ ยกทีมลาออกทั้งหมด เพราะไม่เห็นด้วยกับการรวบรัดเสนอแผนปรองดองเข้าสู่การพิจารณาในตอนนี้

ดังที่บอก ซีกบริหาร คือ "ยิ่งลักษณ์" ขยับทำแต้มนำห่างพรรคประชาธิปัตย์ออกไปรวดเร็ว แต่ "นิติบัญญัติ" กลับกระชากลากขาไว้ และ "กลิ่นปฏิวัติ" ก็เริ่มโชยลมออกมาอย่างต่อเนื่อง
สรุปแล้ว "ปฏิวัติ-รัฐประหาร" กับประเทศไทย เสมือนกับเกมผูกขาด คู่กันตลอดกาล นับเฉพาะช่วงเวลาตั้งแต่ปี 2500 เป็นต้นมา แค่ 55 ปี มีปฏิวัติ-ยึดอำนาจถี่ยิบ
เริ่มจาก 16 กันยายน 2500 "จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์" ยึดอำนาจ "จอมพล ป.พิบูลสงคราม"
20 ตุลาคม 2501 "จอมพลสฤษดิ์" คนเดิม ปฏิวัติรัฐบาล "จอมพลถนอม กิตติขจร"
17 พฤศจิกายน 2514 คราวนี้ "จอมพลถนอม" ปฏิวัติและยึดอำนาจรัฐบาลตัวเอง
6 ตุลาคม 2519 "พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่" ยึดอำนาจรัฐบาลเลือกตั้ง "ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช" 26 มีนาคม 2520 "พล.อ.ฉลาด หิรัญศิริ" ปฏิวัติรัฐบาล "ธานินทร์ กรัยวิเชียร" แต่ไม่สำเร็จ กลายเป็นกบฏ 20 ตุลาคม 2520 "พล.ร.อ.สงัด" เจ้าเก่า รัฐประหารรัฐบาล "ธานินทร์ กรัยวิเชียร"
1 เมษายน 2526 "พล.อ.สัญห์ จิตรปฏิมา" นำคณะยังเติร์ก หรือ จปร.7 ปฏิวัติรัฐบาล "พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์" แต่ไม่สำเร็จ 9 กันยายน 2528 "พ.อ.มนูญ รูปขจร" ก่อความไม่สงบ รัฐบาล "พล.อ.เปรม" แต่ไม่สำเร็จ
23 กุมภาพันธ์ 2534 "พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์" ปฏิวัติ รัฐบาล "พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ" 19 กันยายน 2549" พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน" ปฏิวัติ ยึดอำนาจรัฐบาล "ทักษิณ ชินวัตร"

ปี 2555-2556 แม้โลกจะเปลี่ยนแปลง เดินหน้าไปไกล แต่ "ปฏิวัติ-รัฐประหาร" ในประเทศไทย ยังไว้วางใจไม่ได้



+++

ปลุกทหารพันธุ์ใหม่ "ราชวัลลภ-ทม." สู้ บูรพาพยัคฆ์-ทหารเสือฯ เมื่อ "บิ๊กตู่" ลั่น "ชีวิตนี้ไม่เคยทำอะไรผิด"
รายงานพิเศษ ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1650 หน้า 14


หลังจากที่ปล่อยให้ บูรพาพยัคฆ์ และทหารเสือราชินี จาก พล.ร.2 รอ. ต่อแถวกันครองกองทัพบก มายาวนานตั้งแต่ก่อนการยึดอำนาจ 19 กันยายน 2549 เรื่อยมา จนทำให้บรรดาทหารวงศ์เทวัญ ที่เติบโตจากกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ (พล.1 รอ.) ที่เคยครองอำนาจใน ทบ. มายาวนาน ถูกดองและข้ามหัว

จนผลักไสให้วงศ์เทวัญบางส่วนกลายพันธุ์ไปเป็นทหารแตงโม เพราะต้องการล้มรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ เพราะหวังว่า เมื่อพรรคเพื่อไทยได้อำนาจรัฐ ก็จะคืนความชอบธรรมในการแต่งตั้งโยกย้ายทหาร ให้พวกเขา หรืออย่างน้อยก็ให้ยุติธรรมมากขึ้น

จึงมีการรวมกลุ่มปลุกกระแส ทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ (ทม.) และทหารราชวัลลภ ซึ่งถือเป็นทหารที่อยู่ในวงศ์เทวัญ เพราะทั้ง กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ (ร.1 รอ.) และ กรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ (ร.11 รอ.)
แม้ว่าปัจจุบัน ชื่อ ทม. จะใช้เรียกสำหรับทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ ในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ หรือ 904 เท่านั้น จากที่แต่ก่อนเคยใช้เรียกขาน ทหารของ ร.1 รอ. เรื่อยมาจนเรียกแค่ ร.1 พัน 4 รอ. เท่านั้นก็ตาม

แต่ก็เป็นที่ภาคภูมิใจของพวกเขาที่เป็นทหารของพระราชาตัวจริง เพราะโดยหน้าที่จะต้องดูแลถวายอารักขาแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ขณะที่ทหารเสือราชินี นั้น ถวายอารักขาเฉพาะสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ



ในระยะหลัง บทบาทของทหารราชวัลลภ ในทางการเมืองในกองทัพบก ในนามทหารวงศ์เทวัญ ลดน้อยลง เพราะไม่ได้คุมอำนาจ ตั้งแต่ บิ๊กป้อม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็น ผบ.ทบ. เรื่อยมา จนมาในยุค บิ๊กป๊อก พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา เป็น ผบ.ทบ. จนมีการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 จนมายุค บิ๊กตู่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็น ผบ.ทบ. ที่บูรพาพยัคฆ์ครองเมือง
ในกองทัพบก รู้กันดีว่า มีการวางทายาทอำนาจของ 3 ป. ป้อม-ป๊อก-ประยุทธ์ ระยะยาว ตั้งแต่การดัน บิ๊กโด่ง พล.ท.อุดมเดช สีตบุตร แม่ทัพภาคที่ 1 ที่จะขึ้น พลเอก ห้าเสือ ทบ. ในการโยกย้ายกันยายน ปี 2555 นี้ เพื่อจ่อเป็น ผบ.ทบ. ต่อจาก พล.อ.ประยุทธ์ ที่จะเกษียณกันยายน 2557
พล.ท.อุดมเดช แกนนำ ตท.14 ถือเป็น ทหารเสือราชินี ที่ครบเครื่องทั้งลักษณะทหาร รูปร่างหน้าตา เส้นทางเดินในสายคอมแมนด์ และความเป็นผู้นำ

แม้จะในยุครัฐบาลพรรคเพื่อไทย ก็ดูเหมือนว่าจะไม่เป็นอุปสรรคต่อ พล.ท.อุดมเดช เนื่องจากเขาก็แสดงความเป็นทหารอาชีพ เป็นกลไกของรัฐบาล ในการทำงาน และเข้ากับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้เป็นอย่างดี เพราะเธอก็รู้ว่า พล.ท.อุดมเดช เป็นใคร
มีการวางตัวต่อกันไว้ ด้วยว่า ต่อจาก พล.ท.อุดมเดช ที่เกษียณ 2558 ก็จะต่อด้วย บิ๊กอิ๊ด พล.ต.ภาณุวัชร นาควงษม์ ผบ.พล.ร.9 แกนนำ ตท.17 ที่มีอายุราชการถึงปี 2561 และเป็นบูรพาพยัคฆ์ และต่อด้วย บิ๊กเข้ พล.ต.เทพพงศ์ ทิพยจันทร์ ผบ.พล.ร.2 รอ. น้องรักของ พล.อ.ประยุทธ์ แกนนำ ตท.18 ที่มีอายุราชการถึงปี 2562
และต่อด้วย ตู่น้อย พ.อ.กู้เกียรติ ศรีนาคา รอง ผบ.พล.ร.2 รอ. แกนนำ ตท.20 ยังเติร์กแห่ง ทบ.


แต่ก็เม้าธ์กันว่า ในหมู่บูรพาพยัคฆ์ด้วยกันเองก็ต้องแย่งชิงกันเองด้วยเหมือนกัน เช่น พล.ต.ภาณุวัชร กับ พล.ต.เทพพงศ์ เนื่องจากมีอายุราชการใกล้เคียงกัน

อีกทั้งก่อนหน้านี้ พล.ต.ภาณุวัชร เคยถูกเด้งจาก รอง ผบ.พล.ร.2 รอ. ไปเป็น ผบ.มทบ.11 เพื่อเปิดทางให้ พล.ต.เทพพงศ์ น้องรักของ พล.อ.ประยุทธ์ ขึ้นเป็น ผบ.พล.ร.2 รอ. มาแล้ว ทั้งๆ ที่ พล.ต.ภาณุวัชร อาวุโสกว่า แต่กลับไม่ได้ขึ้น ผบ.พล.ร.2 รอ. บ้านเกิด

ส่วนฝ่ายวงศ์เทวัญ จะดันตัวแทนขึ้นชิงความชอบธรรม ทั้ง บิ๊กอ๋อย พล.ท.จิระเดช โมกขะสมิต รอง เสธ.ทบ. แกนนำ ตท.13 ที่มีอายุราชการถึงปี 2557 หากเกิดอุบัติเหตุทางการเมือง จากคดีเสื้อแดงกับ พล.อ.ประยุทธ์ เพราะ พล.ท.จิระเดช ถือเป็นหัวแถวของวงศ์เทวัญ โดยเฉพาะการเป็น ทม. และทหารราชวัลลภ

เช่นเดียวกับ บิ๊กต๊อก พล.ต.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รองแม่ทัพภาคที่ 1 ที่จะจ่อชิงเก้าอี้แม่ทัพภาคที่ 1 ที่ก็เคยเป็นทั้ง ผบ.ร.11 รอ. และ ผบ.ร.1 รอ. ที่ต้องชิงกับ บิ๊กอู๊ด พล.ต.วลิต โรจนภักดี รองแม่ทัพภาคที่ 1 เพื่อนร่วมรุ่น ตท.15 ทายาทบูรพาพยัคฆ์และทหารเสือฯ ที่ถูก พล.อ.ประยุทธ์ วางตัวให้เป็นเต็งหนึ่งแม่ทัพภาคที่ 1 โดยทั้งคู่เป็น ตท.15 ที่มีอายุราชการถึง 2559 เหมือนกัน


ตัวแทนวงศ์เทวัญ และทหารราชวัลลภ ที่ต้องจับตามองคือ บิ๊กโชย พล.ต.กัมปนาท รุดดิษฐ์ รองแม่ทัพภาคที่ 1 เตรียมทหาร 16 อดีต ผบ.ร.31 รอ. ที่มีอายุราชการถึงปี 2560 และ บิ๊กแกะ พล.ต.พิสิทธิ์ สิทธิสาร ผบ.พล.1 รอ. แกนนำ ตท.17 ที่มีอายุราชการถึงปี 2560 ที่ก็มีเลือดผสมของบูรพาพยัคฆ์อีกด้วย ที่ต้องจับตามองว่า บูรพาพยัคฆ์ หรือทหารราชวัลลภ จะเข้าเส้นชัย
เพราะเชื่อว่า พล.อ.ประยุทธ์ ก็จะดันนายทหารในสายบูรพาพยัคฆ์ เพราะว่ารู้จักสนิทสนมเติบโตด้วยกันมา ขึ้นสู่อำนาจ เพราะเขามองว่า พวกวงศ์เทวัญ และราชวัลลภ นั้น ส่วนใหญ่เป็นสายอำนาจเก่าของ ตท.10 ในสายของ บิ๊กโอ๋ พล.อ.พฤณท์ สุวรรณทัต เพื่อนซี้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร

แต่ทว่า พล.อ.พฤณท์ ก็ถือเป็นความหวังของวงศ์เทวัญ และราชวัลลภ ที่จะกลับมาแชร์อำนาจใน ทบ. เพราะในรัฐบาลพรรคเพื่อไทยที่มี บิ๊กโอ๋ พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต เป็น รมว.กลาโหม ก็น่าจะต่อรองได้บ้าง
โดยเฉพาะหากเมื่อ พล.อ.พฤณท์ ขึ้นเป็น รมว.กลาโหม ในอนาคตอันใกล้ พวกเขาก็จะมีความหวัง เพราะเขารู้กันดีว่า พล.อ.พฤณท์ นอกจากเป็นเพื่อนซี้ของ พ.ต.ท.ทักษิณ แล้ว ยังจะเป็น "ว่าที่พ่อตา" ของ โอ๊ค พานทองแท้ ชินวัตร ลูกชายหัวแก้วหัวแหวนของ พ.ต.ท.ทักษิณ อีกด้วย


แต่ทว่า ในการโยกย้ายกลางปีนี้ ไม่ปรากฏว่าฝ่ายการเมืองแทรกแซงหรือต่อรองตำแหน่งใดๆ ได้

จะเห็นได้ว่าโผทหารกลางปีนี้ ก็มีปฏิบัติการโผหลุดอีกครั้ง เนื่องจากมีการส่งให้ ผบ.เหล่าทัพ ลงนามท้ายคำสั่ง จึงทำให้มีการรั่วไหล แม้ว่าจะเป็นการเอาไว้ดูกัน แต่ทว่าก็เป็นการป้องกันการถูกแก้ไขล้วงลูกโผจากฝ่ายรัฐบาลพรรคเพื่อไทย และโดยเฉพาะ พล.อ.อ.สุกำพล รมว.กลาโหม อีกครั้ง หลังจากที่เคยทำมาแล้ว เมื่อโยกย้ายกันยายน 2554 ที่รัฐบาลพรรคเพื่อไทยขึ้นมาแรกๆ โดยมี บิ๊กอ๊อด พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา เป็น รมว.กลาโหม คนแรก

แต่ทว่า โผที่หลุดนั้นมีการแจกจ่ายกันเฉพาะในกองทัพบก แต่ไม่มีในกองทัพเรือและกองทัพอากาศ อันเป็นการสะท้อนเรื่องระเบียบวินัยของทหารได้ไม่น้อย

แต่ที่ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่แฮปปี้ในโผนี้ กับข่าวที่ว่า เขาจะดันเพื่อน ตท.12 ขึ้นมาเป็นแผงอำนาจ แล้วดัน ตท.13 ออกไป เช่น การดัน บิ๊กนมชง พล.ท.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รอง เสธ.ทบ. ขึ้นเป็น เสธ.ทบ. แทน บิ๊กบี้ พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล แห่ง ตท.13 ที่ทำงานไม่เข้าขา ในการโยกย้ายปลายปีนี้ จนเขาต้องเอ่ยปากแจงกลางที่ประชุมว่า ไม่เคยคิดเช่นนั้น

แต่ในโยกย้ายกลางปี พล.อ.ประยุทธ์ นั้นร้อนไม่น้อยกับเสียงวิจารณ์ที่ว่า เขาจะดัน บิ๊กติ๊ก พล.ต.ปรีชา จันทร์โอชา รองแม่ทัพภาคที่ 3 น้องชายแท้ๆ ให้ขึ้นพลโท เป็นแม่ทัพน้อยที่ 3 ทั้งๆ ที่ พล.ต.ปรีชา ต้องนั่งที่เดิมต่อไป เพราะต้องให้ พล.ต.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รองแม่ทัพภาคที่ 3 ตท.14 รุ่นพี่ ขึ้นเป็นแม่ทัพน้อยที่ 3 ก่อน เพราะเป็นรองแม่ทัพภาคที่ 3 ก่อน

ถึงขั้นที่เขาต้องพูดในที่ประชุมมอร์นิ่งบริ๊ฟของ ทบ. เพื่อชี้แจงว่า ไม่เป็นความจริง พร้อมโยนให้เป็นความผิดของสื่อที่ต้องการโจมตีตนเอง

และพร่ำย้ำเรื่องนี้หลายต่อหลายครั้ง เพราะเขาไม่ต้องการให้เป็นตราบาปในชีวิตของตนเองและตระกูล จันทร์โอชา ซึ่งก็ถือว่าเป็นตระกูลทหาร



พล.อ.ประยุทธ์ ขอร้องสื่ออย่าเขียนเรื่องที่ไม่เป็นความจริง ว่า ตนเองพยายามจะผลักดันให้น้องชายเป็นแม่ทัพน้อยที่ 3

"คุณไม่รู้หรอกว่าผมคิดอะไร การแต่งตั้งโยกย้ายไม่มีใครกดดันผม แต่ผมมีคุณธรรม เพราะรู้ว่ายังไม่ถึงเวลาของน้องชายผม ผมไม่เคยทำอะไรที่ผิดตลอดชีวิตของผม เพราะฉะนั้น อย่าสร้างความผิดพลาดให้กับกองทัพบกของผม เพราะมันจะอันตรายมาก" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

ยิ่งเมื่อมีการปลุกกระแสเรื่อง คมช.2 หรือการปฏิวัติรัฐประหารที่อาจจะเกิดขึ้นเมื่อใดก็ได้นั้น พล.อ.ประยุทธ์ ก็ยิ่งรำคาญใจ จนตำหนิสื่ออย่างรุนแรงว่า "สมองกลวง" ที่เสนอข่าวคำพูดของฝ่ายตรงข้าม จนทำให้กระแสปฏิวัติกลับมาอีกครั้ง ทั้งๆ ที่ความสัมพันธ์กับรัฐบาลและโดยเฉพาะกับนายกรัฐมนตรีหญิง กำลังไปได้ด้วยดี
ยิ่งเมื่อ "ลับลวงพราง ภาค 5" เปิดคำทำนาย โหร วารินทร์ บัววิรัตน์เลิศ อดีตโหร คมช. แห่งล้านนา ที่ว่า พล.อ.ประยุทธ์ ในชาติปางก่อนที่เกิดเป็นทหารเอกพระองค์ดำหรือพระนเรศวรมหาราช ที่จะได้นำกู้ชาติ
แม้โหรวารินทร์ จะไม่ได้ระบุว่า จะได้กู้ชาติได้รูปแบบใด จะเป็นการปฏิวัติ หรือการกู้ชาติอย่างสงบ แต่ในยามนี้ ก็แนะนำว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะต้องเป็น "ผบ.ทบ.คู่บุญ" ของนายกรัฐมนตรีหญิงไปก่อน ประมาณว่า จนกว่าฐานบุญของนายกรัฐมนตรีหญิงคนนี้จะหมด

เพราะโดยส่วนตัวนั้น พล.อ.ประยุทธ์ มีความเคารพนับถือสมเด็จพระนเรศวรฯ อย่างมาก เพราะเขาเองก็มีคนเคยกระซิบว่า เขาเป็นนายทหารที่สมเด็จพระนเรศวรฯ ส่งมาเกิด เพื่อมากู้ชาติ
"เมื่อใกล้ถึงเวลาแล้ว ผมจะบอก" โหรวารินทร์ เปรย


ท่ามกลางความเชื่อที่ว่า การกู้ชาติ อาจจะหมายถึงการปฏิวัติ เฉกเช่นที่โหรวารินทร์ ซึ่งเคยเป็นที่ปรึกษาด้านไสยศาสตร์ของ บิ๊กบัง พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ตอนเป็น ผบ.ทบ. ก่อนการปฏิวัติบอกว่า เขาเป็นทหารเอกพระเจ้าตากสิน ที่จะได้กู้ชาติ และเห็นภาพ พล.อ.สนธิ นำปฏิวัติ
แต่ทว่าในยุคนี้ โหรวารินทร์ ยังไม่เห็นภาพนั้นของ พล.อ.ประยุทธ์

แต่สำหรับ พล.อ.พัลลภ ปิ่นมณี ที่วันนี้ย้ายมาอยู่ฝั่ง พ.ต.ท.ทักษิณ จากที่เมื่อ 19 กันยายน นั้นเขาเป็นตัวแทนของ พล.อ.สนธิ ไปประชุมร่วมกับองคมนตรีและประธานศาล และนักวิชาการรวม 7 คน ที่บ้านคนดัง "ป." ย่านสุขุมวิท ยังเชื่อว่า อาจจะมี คมช.2 เกิดขึ้นอีก
"ก็เพราะพวกนี้ยังอยู่กันครบ ยังไม่มีใครตายเลย ลองดูซิ แค่ตอนนี้พวกนี้หลบๆ อยู่ แล้วมีการหารือกันอยู่ตลอด แล้วก็ไม่มีใครกล้าบอกว่า เมืองไทยจะไม่มีปฏิวัติอีกแล้ว เพราะการจะปฏิวัติหรือไม่ ไม่ได้อยู่ที่รัฐบาลสร้างเงื่อนไข หรืออยู่ที่กองทัพ หรือทหารคนถือปืน แต่อยู่ที่ "คนที่อยู่เบื้องหลังทหารที่ถือปืน" ว่าจะสั่งให้ทำหรือเปล่า" พล.อ.พัลลภ กล่าว

เพราะสำหรับ พล.อ.พัลลภ แล้ว แม้ว่าเขาจะย้ายข้างมา หลังจากที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ตามจีบตามตื๊อ จนเล่าเบื้องหลังรัฐประหารให้เกือบหมดแล้ว แต่ก็ยังมีอีกหลายเรื่องที่เขาบอกว่า "ยังไม่ถึงเวลา"

แต่บางเรื่องก็กำลังคิดอยู่ว่า "จะเปิดเผย" หรือว่า "จะให้ตายไปกับตัว"
แต่ความเคลื่อนไหวทั้งหมดนี้ อยู่ในสายตาของฝ่ายอำมาตย์ ทั้งหมด...



+++

คำมั่น "วินัย" ทำดีไม่ต้องวิ่งเต้น จัดเกรดโปรโมต "ช้างเผือก" "ไร้ผลงาน-เฉื่อยชา" คัดออก
คอลัมน์ โล่เงิน ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1650 หน้า 14 หน้า 99


แม้จะมาถึงห้วงสัปดาห์สุดท้ายก่อนคลอดบัญชีแต่งตั้งโยกย้ายนายตำรวจระดับรองผู้บังคับการ (รอง ผบก.) ถึงสารวัตร (สว.) วาระ 2554 แต่กระแสความเคลื่อนไหวในแวดวงสีกากี การวิ่งเต้นหาตั๋วยังมีอย่างต่อเนื่อง

ตามกำหนดเดิม พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) มีคำสั่งให้ผู้บัญชาการ (ผบช.) แต่ละ บช. ออกคำสั่งแต่งตั้งในวันที่ 29 มีนาคม 2555 และให้มีผลในวันที่ 2 เมษายน 2555 ขณะที่คณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) ขยายระยะเวลาแต่งตั้งให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 31 มีนาคม 2555

"การวิ่งเต้นมีแน่นอน แต่เราพยายามเอาระบบคุณธรรม คือทำดีได้ดีมาเสริมให้มากขึ้น" พล.ต.ท.วินัย ทองสอง ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) กำกับดูแลพื้นที่กรุงเทพฯ พื้นที่ที่เหล่าสีกากีต่างหมายปองจับจอง เปิดเผยกับ "โล่เงิน" ในห้วงที่จัดทำบัญชีการแต่งตั้งผ่านไปแล้วประมาณ 90 เปอร์เซ็นต์ และใกล้จะลุล่วง
ซึ่ง พล.ต.ท.วินัย เป็นคนหนึ่งที่เคยกล่าวว่า "ทำดีไม่ต้องวิ่งเต้น" โดยยกตัวอย่าง คดีที่ รอง สว.กก.สส.บก.น.5 (ร.ต.อ.พนม ผุยหนองโพธิ์) ติดตามแกะรอยจนมีผลงานจับกุมยาบ้า 1 ล้านเม็ด ยาไอซ์ 20 กิโลกรัม หากครบหลักเกณฑ์จะได้ขึ้นเป็นสารวัตร
"ผมเรียก รอง สว.กก.สส.บก.น.5 มาสอบถามแล้ว แต่ยังไม่ครบเกณฑ์ขึ้น สว. ผมตั้งใจว่าหากครบจะพิจารณาให้เป็น สว. ในงวดนี้ แต่นี่ยังไม่ครบ ปัจจุบันอยู่สืบ 5 ก็ถือว่าดีอยู่แล้ว"

พล.ต.ท.วินัย ยังกล่าวชื่นชม ร.ต.อ.พนม ด้วยว่า รอง สว. นายนี้ทุ่มเทการสืบสวน แสดงให้เห็นถึงความเอาใจใส่ ต้องการให้งานสัมฤทธิผล เป็นแบบอย่างว่าหากคุณทำดีก็ไม่ต้องวิ่งเต้นใคร ผู้บังคับบัญชาจะดูแล เพื่อให้ทุกคนมุ่งในการทำงาน เช่นเดียวกับการแต่งตั้งในครั้งนี้ เราเรียกประชุม รอง ผบช.น. ทุกสายงานไม่ว่าจะเป็น จราจร สืบสวน ปราบปราม เพื่อสอบถามว่าใครทำงานเข้มแข็ง ขยัน มีระเบียบวินัย จะถูกแต่งตั้งไปในทิศทางที่ดี



ทั้งนี้ พล.ต.ท.วินัย การันตีคำสั่งแต่งตั้งโยกย้ายที่กำลังจะคลอดในระลอกนี้ว่า เมื่อคำสั่งออกมาแล้ว แต่ละคนจะตกใจเลยว่าไปอยู่ที่เหล่านี้ได้อย่างไร ที่ที่มีงานมากขึ้น ที่ที่สำคัญขึ้น ถือเป็นการส่งเสริมพวกที่ทำงานแต่ไม่มีเส้น ให้มีขวัญและกำลังใจทำงาน ไม่ว่าจะเลื่อนตำแหน่ง การโยกย้ายไปอยู่ในที่ดีๆ หากทำให้เป็นแบบอย่าง คนอื่นจะได้ทำตาม ไม่ต้องมามัววิ่งเต้น ปลายปีก็ไปวิ่งผู้ใหญ่เอาตั๋วมาฝาก งานก็ทำไม่เป็น

"ครั้งนี้ทุก บก. จะมี "ช้างเผือก" ระดับรองผู้กำกับการถึงสารวัตร ที่ได้รับการดูแล 10-20 เปอร์เซ็นต์ โดยเจ้าตัวไม่ต้องรู้จักผู้บังคับบัญชาเลย และมีอีก 10-20 เปอร์เซ็นต์ ที่ทุกคนลงความเห็นว่าใช้ไม่ได้ จะถูกออกนอกหน่วย เอาที่ได้รับการคัดเลือกว่าเป็นคนทำงานมาแทน เรียกง่ายๆ ว่าเอาคนใหม่ที่ดีกว่าคนเก่ามาอยู่

"หากเขามีหน้าที่รับผิดชอบ ไม่ว่าจะเป็น รอง ผกก.ป. สวป. หรือ สว.สส. แต่มาอยู่แล้วไม่ดีก็ต้องคัดออก คัดสรรคนที่ดีกว่ามาอยู่แทน หากทำแบบนี้ได้สัก 3 รอบ ผมเชื่อว่า บช.น. จะเหลือแต่คนทำงานทั้งนั้น"


ซึ่งการแต่งตั้งโยกย้ายครั้งนี้ พล.ต.ท.วินัย บอกว่า พิจารณาจากผลงานที่ผ่านมาทั้งหมด รวมทั้งในห้วงวิกฤตอุทกภัย โดยยก พ.ต.อ.พงศ์อานันต์ คล้ายคลึง ผกก.สน.ตลิ่งชัน เป็นตัวอย่างว่า
"ผมไปพบและเห็นว่าช่วยเหลือชาวบ้านได้ดี คราวนี้ก็ได้รับการแต่งตั้งไปอยู่ในตำแหน่งสำคัญ ส่วนคนที่ไม่ช่วยในขณะที่ประชาชนเดือดร้อน ไม่มีจิตอาสา ก็ถูกเสนอชื่อให้ออกนอกหน่วย เอาคนอื่นมีจิตอาสาที่จะมาทำงานมากกว่า ครั้งนี้เลยมีที่ช่วยน้ำท่วมแล้วได้ดี กับไม่ช่วยชาวบ้านแล้วออกนอกหน่วย ผมไปสัมผัสเอง รู้เลยว่าไปช่วยเหลือชาวบ้านจริงไหม หรือมาเฉพาะตอนที่ผมไปตรวจ

"ผมไปตรวจน้ำท่วมทุ่งมังกร เขตตลิ่งชัน ถามชาวบ้านว่ามีเจ้าหน้าที่ตำรวจมาตรวจไหม ชาวบ้านในหมู่บ้าน 8-9 ราย ให้คำตอบว่านอกจากตำรวจนำอาหารมาส่งแล้ว ยังมาตรวจตราโจรทุกคืน ผกก.สน.ตลิ่งชัน จึงได้รับการโปรโมตไปอยู่ในตำแหน่งที่สำคัญกว่า ส่วนบางที่ไปตรวจแล้วไม่เคยออกมาช่วยเหลือชาวบ้านก็ถูกส่งออก และจะคัดเลือกคนนอกหน่วยมา เช่นมี รอง ผกก. คนหนึ่งจาก บช.ภ.2 สมัครใจขอมาอยู่ใน บช.น. มีประวัติได้โล่ดีเด่น ได้รางวัลข้าราชการพลเรือนดีเด่น ปราบปรามยาเสพติดดีเด่น แบบนี้ผมรับเลย เพราะคิดว่างานใน บช.น. หนักกว่างานในภูธร หากเอาคนเหล่านี้มาอยู่จะเกิดประโยชน์กับประชาชนมากกว่า"

ครั้นถามถึงกระแสข่าวว่ามี ผกก. ในนครบาลหมุนออกกว่า 20 คน จริงหรือไม่ พล.ต.ท.วินัย ยอมรับว่า จริง โดยเอาคนที่มีผลการประเมินต่ำสุดของแต่ละ บก. ออก ทำงานทั้งปีแล้วผลงานไม่เข้าตา จะเอาคนในหน่วยขึ้น ไม่ใช่ว่าไม่ดี แต่ต้องการให้ดีขึ้น เพื่อให้แข่งขันกันทำงาน
"ผมไม่ได้ทำอะไรเสียหาย ไม่ได้บอกว่าไม่ดี การย้ายไปอยู่ที่อื่นเงินเดือนก็เท่าเดิม เพียงแต่ต้องการให้มันดีกว่าเดิม การจัดทำบัญชีไม่รู้สึกกดดัน หากเราคิดว่าจะสร้างหน่วยให้ดีขึ้น ก็ต้องคัดคนดีที่สุดมาอยู่ เอาคนที่มีประสิทธิภาพน้อยออก เพื่อให้การแข่งขันมีตลอด และหากคราวต่อไปยังเฉื่อยชา เหมือนสอบแล้วไม่ผ่านก็ต้องสับเปลี่ยน การสับเปลี่ยนไม่ได้ทำให้เขาเสียสิทธิ แต่การจะมาอยู่หน่วยที่รับผิดชอบสูง ปัญหาสูงก็ต้องเอาคนที่มีประสิทธิภาพ" ผบช.น. แจง

ต่อข้อถามอาจถูกมองว่าเป็นการ "ล้างบาง" ผบช.น. กล่าวว่า "ไม่ได้กังวลอะไรเลย เพราะเราตั้งใจทำให้หน่วยดีขึ้น 1.ไม่ได้มีสาเหตุโกรธเคือง และ 2.ไม่ได้มีเจตนาชั่วร้ายจะไปทำร้ายใคร หากเกรงอกเกรงใจหน่วยก็ไม่พัฒนา คิดอย่างนั้นมากกว่า ไม่ได้โกรธเขา ไม่มีเรื่องส่วนตัวเลย"


ทั้งนี้ พล.ต.ท.วินัย กล่าวถึงในส่วนกองกำกับการสืบสวน (กก.สส.บก.น.) ว่า ผกก.สืบสวน บางคนสมัยก่อนวิ่งเต้นมาอยู่แล้วทำงานไม่ได้ ขณะนี้เปลี่ยนหมด ตำแหน่ง ผกก.สืบสวน ไม่รับวิ่งเต้น ใครฝากมาก็ไม่ให้ เพราะเอาคนทำงาน เดี๋ยวพอผลประกาศออกมาแล้ว จะรู้ว่ากองสืบของ บช.น. มีคนดีขึ้นเยอะเลย
"ตำแหน่ง รอง ผกก.ป. สวป. สว.สส. เปลี่ยนเยอะ ผกก.กองสืบฯ ก็เปลี่ยนเยอะ ยืนยันว่าพวกที่เอามารับได้หมด ต่อไปจะให้กองสืบฯ แต่ละ บก. แข็งขึ้นเพื่อช่วยกองสืบฯ ใหญ่ (บก.สส.บช.น.) ที่ผ่านมาเอาเด็กมาลง ผกก.กองสืบฯ แต่ไม่ทำงาน ไม่เคยเห็นหัว รอง ผบช.น. ไปตรวจก็ไม่อยู่ แบบนี้อยู่ไม่ได้ เราเอางานเข้าว่า เหมือนมายกเครื่อง"

ซึ่ง พล.ต.ท.วินัย ทิ้งท้ายด้วยว่า หากเป็นไปได้ในการแต่งตั้งโยกย้ายงวดหน้าจะรับสมัครคนเข้ามาทำงาน เพราะคนอยากอยู่ บช.น. เยอะ หากดูแล้วดี จะเอาเข้ามา แต่หากกินข้าวร้อน นอนตื่นสาย ไม่ทำงานอยู่ไม่ได้ ไปอยู่ที่อื่น!!



.