http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2557-12-15

มองการเมืองไทยผ่านกรัมชี่ โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์

. 

มองการเมืองไทยผ่านกรัมชี่
โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์

ใน www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1418629117
. . วันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2557 เวลา 20:01:59 น.

( ที่มา : นสพ.มติชนรายวัน 15 ธ.ค.2557)


อํานาจที่จะปกครองรัฐได้นั้นมีสองส่วน หนึ่งคืออำนาจครอบงำ (domination) ซึ่งหมายถึงการเข้าไปกุมกลไกของรัฐ เช่น กองกำลังติดอาวุธ, ระบบราชการ, เครื่องมือสื่อสาร ฯลฯ กลายเป็นอำนาจใหญ่ที่ไม่มีใครต้านทานได้ ผูกขาดความรุนแรง และด้วยเหตุดังนั้นจึงเป็นผู้ตัดสินกรณีพิพาททั้งหมดแต่ผู้เดียว แต่อำนาจครอบงำอย่างเดียวถึงสามารถปกครองได้ก็ไม่ยั่งยืน เพราะอำนาจประเภทนี้มีวิธีใช้อยู่อย่างเดียว คือกดขี่ปราบปราม ซึ่งไม่เป็นที่ยอมรับในโลกปัจจุบันไปแล้ว นอกจากนั้น แม้ไม่มีป่าเหลือให้หลบหนีอีกแล้ว แต่ก็มีพื้นที่อื่นๆ ที่เกิดใหม่ในโลกปัจจุบัน ซึ่งทำให้ผู้คนสามารถเล็ดลอดหลบหลีกไปจนได้ เช่นในระบบการสื่อสารของโลกปัจจุบัน อาจจะง่ายกว่าสมัยโบราณที่ยังมีป่าอยู่ด้วยซ้ำ เพราะไม่ต้องเตรียมเสบียงอาหารมากนักและไม่ต้องขนเอาครอบครัวอพยพหนีตามไปด้วย

ดังนั้น อำนาจส่วนที่สองจึงมีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่าการครอบงำ นั่นคือ "อำนาจนำ" (hegemony) ซึ่งก็คือฐานทางวัฒนธรรมที่ทำให้สังคมยอมรับอำนาจครอบงำซึ่งรัฐต่างๆ ยึดกุมอยู่ รัฐที่อ่อนแอมีแต่อำนาจครอบงำ ในขณะที่รัฐแข็งแกร่งแทบไม่ใช้อำนาจครอบงำเลย หากใช้แต่อำนาจนำเท่านั้นในการปกครอง เพราะอำนาจนำของรัฐเช่นนั้นมีพลังไพศาลจนเกิดการยอมรับอย่างกว้างขวางทั้งสังคม การจลาจลหรือการแข็งข้อของคนบางกลุ่มบางเหล่าในสังคม จึงแทบไม่กระทบต่ออำนาจปกครองของรัฐเลย ไม่พักต้องพูดถึงการวิพากษ์วิจารณ์ซึ่งย่อมเปิดกว้างแก่ทุกคน


ในแง่นี้จะพูดว่าอำนาจนำมีความสำคัญกว่าอำนาจครอบงำก็ได้
เพราะในรัฐเช่นนั้น อำนาจนำย่อมแข็งแกร่งเสียจนยากที่ใครจะสร้างอำนาจนำทางเลือกขึ้นมาแข่งอย่างได้ผล อย่างไรก็ตาม ในช่วงจังหวะเวลาทางประวัติศาสตร์บางอย่าง บาง "ชนชั้น" (ซึ่งไม่ได้มีความหมายในเชิงเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว แต่หมายถึงสำนึกทางปัญญาและศีลธรรมที่เหมือนกัน หรือสำนึกใน "วัฒนธรรม" เดียวกันด้วย) ก็อาจประสบความสำเร็จในการสร้างอำนาจนำทางเลือกขึ้นมาแข่ง จนทำให้การยอมรับของผู้คนต่ออำนาจครอบงำของรัฐซึ่งมีอยู่สั่นคลอนไป


อำนาจนำไม่ว่าจะเป็นของ "ชนชั้น"ใด ไม่เคยเป็นระบบปิด หรือระบบความคิดและวัฒนธรรมที่หยุดนิ่งไม่ยอมขยับเปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด หากสามารถปรับเปลี่ยนไปได้ตามสำนึกใหม่ๆ ซึ่งเกิดขึ้นในสังคม เช่น การยอมรับสิทธิคนผิวสี, การยอมรับสิทธิเสมอภาคของสตรีและ LGBT ฯลฯ เพราะการยอมรับเช่นนี้ไม่ได้ทำให้หลักสำคัญของอำนาจนำสั่นคลอนลงแต่อย่างไร... คนดำ, ผู้หญิงและกะเทยก็ยังล้วนเป็นสินค้าในตลาดไม่ใช่หรือ ตรงกันข้ามด้วยซ้ำ อำนาจนำใดๆ ที่พยายามเป็นระบบปิด ไม่ยอมปรับเปลี่ยนเลย ย่อมแสดงให้เห็นว่าอำนาจนำนั้นอยู่สภาวะอ่อนแอจนจะไปไม่รอดอยู่แล้ว

....(เกือบทุกคนคงรู้แล้วว่านี่คืออันโตนิโอกรัมชี่แบบง่ายและตื้นกว่าของจริงเป็นสองเท่า สติปัญญาของผมอนุญาตให้เข้าใจกรัมชี่ได้อย่างง่ายและตื้นเท่านี้ นี่เป็นเท่าที่หนึ่ง ผมตั้งใจเขียนให้ง่ายและตื้นลงไปกว่าความเข้าใจของตนเอง เพื่อประโยชน์แก่ผู้อ่านทั่วไป นับเป็นเท่าที่สอง)


ผมคิดว่า หากมองรัฐไทยและสังคมไทยในช่วงจังหวะทางประวัติศาสตร์ขณะนี้ จากทรรศนะของกรัมชี่ ก็จะเกิดความเข้าใจอย่างหนึ่ง ซึ่งน่าวิตกห่วงใยอยู่มาก พร้อมกับเกิดความหวังใหม่อีกบางอย่างไปพร้อมกัน จึงขอแบ่งปันทั้งความเศร้าและความสุขแก่ผู้อ่าน

เห็นได้ชัดนะครับว่า รัฐที่ถูก คสช.ยึดเอาไปนั้น ในขณะนี้เหลือแต่เพียงอำนาจครอบงำเท่านั้น นับตั้งแต่วันแรกที่ยึดอำนาจได้ คสช.ก็ใช้อำนาจของกลไกรัฐ โดยเฉพาะกองทัพ เพื่อบีบบังคับให้ทุกฝ่ายต้องสยบยอมให้หมด บางครั้งยกกองกำลังและอาวุธยุทธภัณฑ์จำนวนมากอย่างน่าตกใจ เพื่อขับไล่ฝูงชนที่ปราศจากอาวุธซึ่งออกมารวมตัวกันเพื่อต่อต้านการรัฐประหาร แม้ประท้วงโดยสัญลักษณ์ของคนจำนวนน้อย ก็ยังต้องใช้กองกำลังติดอาวุธเป็นร้อยเพื่อจับกุม การเรียกคนไป "ปรับทัศนคติ" ในค่ายทหารยังทำต่อไปจนถึงทุกวันนี้

แม้กระนั้นการประท้วงในรูปแบบต่างๆ แล้วแต่ว่าบุคคลจะคิดสร้างสรรค์ขึ้นใหม่เพื่อสื่อสารกันเองในสังคม ก็ยังเกิดขึ้นอยู่ตลอดมา แสดงให้เห็นว่ามาตรการที่อาศัยอำนาจครอบงำเพียงอย่างเดียว ไม่สามารถสยบคนในสังคมลงได้

ไม่ใช่ว่า คสช.จะไม่มีสำนึกถึงความสำคัญของอำนาจนำเสียเลย หัวหน้า คสช.ได้เสนอค่านิยม 12 ประการมาตั้งแต่ยึดอำนาจระยะแรกๆ แล้ว กลไกของรัฐ เช่น กระทรวงศึกษาธิการ, องค์กรปกครองทั้งส่วนกลางและท้องถิ่น, และสื่อต่างๆ ที่อยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐ ก็พยายามเผยแพร่ค่านิยมนี้ในหมู่ประชาชน แต่หากดูจากปฏิกิริยาตอบรับของสังคมต่อค่านิยม 12 ประการ ก็จำเป็นต้องกล่าวว่า คสช.ประสบความล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงที่จะสถาปนาอำนาจนำขึ้นในสังคมได้สำเร็จ

วิธีการสถาปนาอำนาจนำของทหารเป็นวิธีการที่ไม่มีความหวังใดๆ ว่าจะสำเร็จด้วย เพราะใช้แต่อำนาจครอบงำเป็นเครื่องมือเพียงอย่างเดียว การใช้ ม.112 อย่างพร่ำเพรื่อและรุนแรง เท่ากับไปยกศัตรูของ คสช.ให้กลายเป็นศัตรูของสถาบันพระมหากษัตริย์ไปด้วย การจับกุมหรือเรียกตัวผู้คนมาปรับทัศนคติตามอำนาจในกฎอัยการศึก แม้ในเรื่องที่ไม่เป็นเรื่อง ยิ่งตอกย้ำให้เห็นว่า คสช.ไม่มีอำนาจนำอยู่ในมือเอาเลย แม้แต่จะยึดกุมฐานคติของอำนาจนำเก่ายังทำไม่ได้อีกด้วย

ผมไม่คิดว่า ทั้งนี้เพราะผู้นำของ คสช.ล้วนเป็นนักเรียนเก่าของโรงเรียนนายร้อย, นายเรือ และนายเรืออากาศ จึงทำให้ไม่มีความสามารถจะสถาปนาอำนาจนำได้ ผมได้รู้จักกับนักเรียนเก่าของเวสต์ปอยท์จำนวนหนึ่งเมื่อสมัยไปเรียนในสหรัฐ ก็พบว่าความสามารถของพวกเขาไม่ใช่การสถาปนาอำนาจนำแน่ แต่พวกเขาโชคดีที่ไม่ได้อยู่ในสังคมที่คาดหวังให้พวกเขาเข้ามายุ่งเกี่ยวอะไรกับอำนาจนำ ไม่ว่าจะสร้างขึ้นใหม่หรือปรับเปลี่ยนของเก่าให้ทันกับความเปลี่ยนแปลง

คำถามก็คือ ในรัฐที่ขาดอำนาจนำเช่นประเทศไทยในปัจจุบัน ยังมีทางเลือกอะไรในการที่ผู้ปกครองจะยึดรัฐต่อไปได้



กรัมชี่พบว่า ความเป็นไปได้ในประวัติศาสตร์ (ยุโรป) มีอยู่สามอย่าง หนึ่งคือการใช้กำลังกลไกของรัฐปราบปราม "ชนชั้น" อื่นๆ ที่ไม่ยอมรับอำนาจครอบงำอย่างเด็ดขาด ดังเช่นรัสเซียในสมัยพระเจ้าซาร์ สองคือการปฏิรูป (transformisto) เพื่อแย่งพื้นที่จาก "ชนชั้น" ก้าวหน้าทั้งหลาย ที่มีศักยภาพจะสร้างอำนาจนำใหม่ ในขณะเดียวกันก็สร้างอำนาจรัฐให้ครอบงำสังคมจนหมดตัว ในสภาพเช่นนี้กลุ่มคนระดับล่างก็หมดทางจะต่อรองกับรัฐ เพราะผู้นำของตนถูกผนวกเข้าไปกับรัฐ หรือกลายเป็นสมาชิก สนช.และ สปช.หมดแล้ว ตัวอย่างในประวัติศาสตร์คืออิตาลีหลังรวมประเทศได้จนถึงสงครามโลกครั้งที่ 1 อย่างที่สามน่าสนใจมากคือการสร้างระบบอำนาจนำปลอมขึ้น นั่นคือผู้ปกครองรัฐทำตัวประหนึ่งว่าเป็นตัวแทนของบาง "ชนชั้น" ใด "ชนชั้น" หนึ่ง ซึ่งในความเป็นจริงไม่ได้เป็น เพื่อทำให้เกิดภาพพจน์ของอำนาจนำ ดังเช่นนโปเลียน ซึ่งเถลิงอำนาจของตนขึ้นประหนึ่งว่าเป็นแชมเปี้ยนความใฝ่ฝันของกระฎุมพี ซึ่งเคยนำการปฏิวัติฝรั่งเศสมาก่อน

ผมคิดว่าวิธีแบบพระเจ้าซาร์ใช้ไม่ได้ผลเสียแล้วในประเทศไทย ปัจจุบันสถานะของไทยในประชาคมโลกไม่อนุญาต (เทียบกับพม่าภายใต้เนวินและสลอร์คไม่ได้) อีกทั้งยิ่งจะนำไปสู่การปะทะกันโดยตรงมากขึ้น ดังกรณีการสังหารหมู่ในปี 2553 กลับทำให้การเผชิญหน้ากับมวลชนในเมืองตึงเครียดมากขึ้น แตกต่างโดยสิ้นเชิงจากการสังหารหมู่ในวันที่ 6 ตุลา 2519

ผมอยากจะเดาด้วยว่า คสช.เข้าใจเรื่องนี้ได้ดี นับตั้งแต่แรกจนถึงนาทีนี้ คสช.พยายามหลีกเลี่ยงการใช้ความรุนแรงแบบนองเลือดตลอดมา

ดูเหมือนวิธีปฏิรูป เป็นวิธีที่ คสช.เลือกใช้ แต่ผมอยากเดาว่าไม่ได้ผลอย่างที่พรรคการเมืองในอิตาลีใช้เมื่อรวมประเทศได้ เหตุผลก็เพราะ คสช.ไม่สามารถขยายเครือข่ายความสัมพันธ์ข้ามไปยังกลุ่มที่กำลังพยายามสถาปนาอำนาจนำทางเลือกให้ทั่วถึง ดังที่กล่าวกันว่ามีคนตกรถไฟ คสช.จำนวนมาก ทั้งจากสลิ่มและสีแดง เรื่องนี้กรัมชี่พูดถึงการสร้างแนวร่วมของพรรคการเมืองทั้งปฏิรูปและปฏิวัติไว้มาก ซึ่งผมขอไม่กล่าวถึง ขอสรุปสั้นๆ แต่ว่า คสช.ไม่มีทั้งสมรรถนะและเจตนาที่จะทำอย่างนั้น เหตุดังนั้นเส้นทางปฏิรูปของ คสช.จึงไม่มีทางนำไปสู่ "รัฐที่ขาดอำนาจนำ แต่มั่นคงพอสมควรดังเช่นอิตาลีในช่วงนั้น"อย่างแน่นอน

ส่วนการสร้างอำนาจนำปลอม ซึ่ง คสช.พอทำได้โดยขึ้นมาเป็นตัวแทนของชนชั้นนายทุน หาก คสช.ตั้งใจจะทำอย่างนี้ ผมก็อยากบอกว่าคงไม่สำเร็จเสียแล้ว หากดูคำวิจารณ์ของท่านนายกฯ อานันท์ ปันยารชุน เมื่อเร็วๆ นี้ หรือแม้คำวิจารณ์ของรองประธานองค์กรธุรกิจเอกชนอะไรอีกสักอย่างหนึ่งก่อนหน้านั้น ในยามที่การแข่งขันมีสูงขึ้นจากโลกาภิวัตน์ นายทุนไทยหวังเอาตัวรอดจากการขูดรีดแรงงานและภาวะปลอดคอร์รัปชั่น ซึ่งผมเชื่อว่า คสช.ให้ไม่ได้ทั้งสองอย่าง (อย่างน้อยก็ให้ไม่ได้จนถึงนาทีนี้)

ท่ามกลางทางเลือกที่ไม่มีให้เลือกเช่นนี้ เมื่อสถานการณ์ที่เกิดจากรัฐซึ่งขาดอำนาจนำงวดเข้ามากขึ้น คสช.จะหันไปสู่ทางเลือกอะไร ที่น่าวิตกห่วงใยก็คือ สมรรถนะเดียวที่เหลืออยู่ และอาการคิดสั้นของผู้นำ คสช.บางคน จะหันไปเลือกวิธีของพระเจ้าซาร์ และนั่นจะเป็นการเสียเลือดเนื้อครั้งใหญ่อีกครั้งหนึ่งของประเทศไทย หลังการแข็งข้อของ พคท.ยุติลง



ในขณะที่พูดถึงความไร้สมรรถภาพของ คสช.ในการสร้างอำนาจนำ ผมควรกล่าวไว้ด้วยว่า คสช.อาจเป็นคณะรัฐประหารที่โชคร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์การรัฐประหารของไทย เพราะ คสช.เข้ามายึดรัฐในช่วงที่อำนาจนำซึ่งเคยผดุงรัฐไทยมาก่อนกำลังเสื่อมสลายลงอย่างรวดเร็ว คมช.ในปี 2549 ก็เผชิญกับสถานการณ์คล้ายอย่างนี้ แต่ไม่รุนแรงเท่า หากนับแต่นั้นเป็นต้นมา อำนาจนำในสังคมไทยก็เสื่อมสลายลงอย่างรวดเร็ว รัฐไทยเหลือแต่อำนาจครอบงำ ซึ่งยิ่งนำมาใช้มากขึ้นก็ยิ่งบั่นรอนอำนาจนำให้เสื่อมเร็วขึ้น จนแม้แต่อำนาจครอบงำเอง ก็แตกแยกจนไร้เอกภาพที่จะทำงานได้อีกต่อไป รัฐบาลก่อนรัฐประหารจึงเหลือทางเลือกอยู่ทางเดียวคือประนีประนอม โดยไม่ต้องอิงหลักการอะไรทั้งสิ้น เพราะเมื่อไม่มีอำนาจนำ ก็ไม่มีหลักการอะไรให้ต้องยึดถือ

และอย่างที่เห็นกันอยู่แล้ว คสช.พยายามรื้อฟื้นและฟื้นฟูกลไกของรัฐเพื่อสร้างอำนาจครอบงำเดิมให้กลับคืนมาใหม่ แต่ล้มเหลวที่จะสร้างหรือฟื้นฟูขึ้นใหม่ได้
การรัฐประหารจะสิ้นสุดลงในลักษณะใดผมทำนายไม่ถูก แต่เชื่อแน่ว่าหากการรัฐประหารสิ้นสุดลงในบางลักษณะที่ไม่ใช่การประนีประนอมยอมความกันระหว่างทุกฝ่าย แม้อาจเกิดความสูญเสียมาก แต่ก็เป็นโอกาสที่การสถาปนาอำนาจนำใหม่ในสังคมไทยจะเกิดขึ้นได้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์สมัยใหม่ของไทย


.

2557-09-05

พจนานุกรมภาค 2, ไม่มีคดี 99 ศพ, เบ็ดเสร็จสุดโต่ง โดย สุริวงค์ เอื้อปฏิภาน

.

สุริวงค์ เอื้อปฏิภาน : พจนานุกรมภาค 2
ใน www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1409918313
. . วันศุกร์ที่ 05 กันยายน พ.ศ. 2557 เวลา 21:00:36 น.
( ที่มา: คอลัมน์ สถานีคิดเลขที่ 12 นสพ.มติชนรายวัน 5 ก.ย. 2557 )
( ภาพจากเวบบอร์ด ไม่เกี่ยวกับผู้เขียนและมติชน )


หลัง คสช.ยึดอำนาจการปกครองได้ไม่นาน ได้มีคำสั่งย้ายนายอรรถพล ใหญ่สว่าง อัยการสูงสุดพ้นเก้าอี้ทันที พร้อมกับให้นายตระกูล วินิจนัยภาค รองอัยการสูงสุด ขึ้นดำรงตำแหน่งแทน

ดังนั้น จึงไม่ควรมีข้อสงสัยใดๆ ถึงบทบาทของอัยการสูงสุดคนใหม่ ว่าจะเป็นคนของระบอบทักษิณ คนของรัฐบาลเพื่อไทย อะไรแบบนั้น

ทั้งนี้เพื่อไม่ให้เกิดความสับสน ในการวิเคราะห์วิจารณ์ ความเห็นของอัยการในคดีจำนำข้าวของอดีตนายกฯยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

หลังคณะทำงานของอัยการ พิจารณาสำนวนคดีจำนำข้าวของ ป.ป.ช. ซึ่งได้ชี้มูลความผิดอดีตนายกฯยิ่งลักษณ์ ว่ากระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ ละเลยไม่ระงับยับยั้งโครงการรับจำนำข้าว ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ปล่อยให้มีการทุจริตจนรัฐเสียหาย


แล้วอัยการมีความเป็นเอกฉันท์ว่า สำนวนคดีของ ป.ป.ช.ยังไม่สมบูรณ์พอที่จะดำเนินคดีตามข้อกล่าวหาได้

ความเห็นของคณะทำงานอัยการดังกล่าว ได้เสนอให้อัยการสูงสุดพิจารณา ก่อนเซ็นคำสั่งว่าสำนวนของ ป.ป.ช.ยังไม่สมบูรณ์

สรุปว่ายังไม่สามารถดำเนินคดีทางอาญาต่ออดีตนายกฯปู ตามที่ ป.ป.ช.สรุปเสนอได้

จึงต้องเน้นย้ำว่า อย่ามองความวินิจฉัยของอัยการในกรณีนี้ ด้วยข้อหาระบอบทักษิณอะไรอีกเป็นอันขาด


ต้องพิจารณาจากสาระ มากกว่าด้วยอคติ ซึ่งอัยการได้ชี้ถึงข้ออ่อนของสำนวน ป.ป.ช. 3 ประเด็น

1.โครงการรับจำนำข้าว เป็นโครงการของรัฐบาลที่แถลงไว้เป็นนโยบายต่อรัฐสภา ซึ่งเป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ ดังนั้นจึงควรรวบรวมพยานหลักฐานให้ได้ชัดว่า นายกรัฐมนตรีมีอำนาจในการที่จะยับยั้งโครงการที่เป็นนโยบายของรัฐบาลที่ได้แถลงไว้ต่อรัฐสภาแล้วหรือไม่

2.ควรทำการไต่สวนรวบรวมพยานหลักฐานให้สิ้นกระแสความว่า ภายหลังจากที่ได้ถูกท้วงติงจาก ป.ป.ช. และ สตง.แล้ว ผู้ถูกกล่าวหาดำเนินการตรวจสอบและป้องกันการทุจริตหรือไม่ อย่างไร ผลการตรวจสอบเป็นอย่างไร

3.ควรไต่สวนพยานเพิ่มเติมให้ได้ความว่า พบการทุจริตในขั้นตอนใดและมีการทุจริตอย่างไร นอกจากนั้นมีการกล่าวอ้างถึงรายงานวิจัยโครงการนโยบายข้าวของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือทีดีอาร์ไอ (TDRI) ว่า โครงการดังกล่าวมีการทุจริตและมีความเสียหายจำนวนมาก แต่ในสำนวนการไต่สวนปรากฏว่ามีเพียงหน้าปกรายงานวิจัยเท่านั้น


อ่าน 3 ข้อนี้แล้ว พอเห็นภาพได้ว่าสภาพของสำนวน ป.ป.ช.นั้น ไม่สมบูรณ์อย่างไร

โดยเฉพาะในข้อ 3 เรื่องงานวิจัยของทีดีอาร์ไอ เป็นเรื่องที่สร้างความขบขันไปทั่วมาแล้ว เมื่อ ป.ป.ช.เปิดประเด็นนี้ออกมา

องค์กรอิสระกับการเล่นงานรัฐบาลยิ่งลักษณ์นั้น เคยอาศัยพจนานุกรมมาแล้ว นี่อาศัยงานวิจัยเพิ่มเข้ามาอีก




นายวิชา มหาคุณ กรรมการ ป.ป.ช. ได้เคยกล่าวถึงประเด็นนี้ว่า ถ้าไม่มีการริเริ่มของผู้ทรงคุณวุฒิทางเศรษฐศาสตร์ที่วิเคราะห์วิจัยเอาไว้ เช่น ผลการศึกษาเรื่องมาตรการแทรกแซงตลาดข้าวของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ตนฟันธงว่า ป.ป.ช.จะไม่สามารถชี้มูลความผิดกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้เลย

ฟังแล้วแปลได้ว่า งานวิจัยคือหัวใจสำคัญสุดของพยานหลักฐานในสายตา ป.ป.ช.

ไม่เท่านั้น นายวิชายังบอกว่า การทำงานของ ป.ป.ช.ต่อจากนี้จะใช้สหสาขาวิชาศาสตร์ คือ การผนึกกำลังระหว่างนิติศาสตร์กับเศรษฐศาสตร์ และศาสตร์อื่นๆ เพื่อให้เกิดผลลัพธ์ในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตให้เกิดผลมากยิ่งขึ้น

ฟังแล้วอดนึกไม่ได้ต้องนึกถึงไสยศาสตร์




++

สุริวงค์ เอื้อปฏิภาน: ไม่มีคดี 99 ศพ
ใน www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1409292079
. . วันศุกร์ที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2557 เวลา 16:02:56 น.
( ที่มา: คอลัมน์ สถานีคิดเลขที่ 12 นสพ.มติชนรายวัน 29 ส.ค. 2557 )


บางคนอาจจะได้คำตอบแล้วว่า ทำไม นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ซึ่งขณะนี้ห่มเหลืองเป็นพระสุเทพ รวมไปถึงคนแวดล้อมในสังกัดประชาธิปัตย์ จึงพูดมาตลอดว่า ไม่ขอรับการนิรโทษกรรมในคดีที่เกี่ยวกับความขัดแย้งทางการเมือง โดยเฉพาะคดี 99 ศพ

คนเหล่านี้ยืนยันตลอดว่า พร้อมจะต่อสู้คดี ถ้าผิดจริงก็พร้อมจะติดคุก


เช้าวันที่ 28 สิงหาคม คงมีคำตอบแล้วว่า ทำไมเขาจึงกล้าพูด

เช้าวันที่ 28 สิงหาคม เป็นวันที่อภิสิทธิ์และพระสุเทพ รวมทั้งทีมกฎหมายของประชาธิปัตย์ มีความสุขที่สุด

เพราะศาลอาญา มีคำพิพากษายกฟ้อง คดีที่สำนักงานอัยการสูงสุดเป็นโจทก์ นายอภิสิทธิ์และพระสุเทพเป็นจำเลย

ในความผิดฐานร่วมกันก่อหรือใช้ให้ผู้อื่นกระทำผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาและพยายามฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 288, 80, 83, 84 และ 90 จากกรณีออกคำสั่งให้เจ้าหน้าที่เข้าขอคืนพื้นที่การชุมนุม นปช.เมื่อปี 2553

หรือที่เรียกกันว่าคดี 99 ศพ


โดยคำพิพากษาศาลอาญาระบุว่า การกระทำของจำเลยทั้ง 2 ที่ออกคำสั่งให้เจ้าหน้าที่สลายการชุมนุมโดยใช้อาวุธปืนจริงและกระสุนจริง ทำให้มีผู้เสียชีวิต เป็นการออกคำสั่งในฐานะนายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี และ ผอ.ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.)

ไม่ใช่การกระทำทางอาญาที่กระทำโดยส่วนตัวหรือนอกเหนือหน้าที่ราชการ

แต่การปฏิบัติต้องทำไปตามที่กฎหมายบัญญัติและไม่เกินกว่าเหตุ โดยเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติจะไม่ใช้อาวุธปืนจริงและกระสุนปืนจริง การใช้อำนาจของจำเลยทั้ง 2 จึงเป็นการใช้อำนาจโดยมิชอบ และผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ


จึงเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหาใช่อยู่ในอำนาจการพิจารณาของศาลอาญาไม่

ศาลอาญาจึงไม่มีอำนาจรับคำฟ้องของโจทก์  จึงพิพากษายกฟ้อง


ฟังคำพิพากษาจบ คนกลุ่มหนึ่งรู้สึกเหมือนยกภูเขาออกจากอก

แต่ญาติมิตรของประชาชนผู้ร่วมชุมนุมที่ล้มตายหลายสิบศพ ย่อมรู้สึกตรงกันข้าม

ผลจากคำพิพากษานี้ เท่ากับว่า คดี 99 ศพในส่วนที่เป็นคดีอาญา ข้อหาร่วมกันก่อหรือใช้ให้ผู้อื่นกระทำผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา และพยายามฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา

จะตกไปทันที


ดังนั้นที่ต้องรอดูต่อไปก็คือ สำนักงานอัยการสูงสุดซึ่งเป็นโจทก์ ต้องดำเนินการยื่นอุทธรณ์ เพื่อยืนยันว่าเป็นคดีความผิดทางอาญา ไม่ใช่ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่

พร้อมๆ กับญาติพี่น้องของผู้ตายส่วนหนึ่งที่ยื่นขอเป็นโจทก์ร่วม คงยื่นอุทธรณ์เช่นกัน

แต่หากการอุทธรณ์ไม่เป็นผล

คดีจะต้องส่งไปยังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติหรือป.ป.ช.เพื่อดำเนินการสอบสวนต่อไป

รับแล้วจะรวดเร็วเหมือนคดีที่ฟากของพวกยิ่งลักษณ์หรือไม่ ยังไม่รู้

หรือจะเหมือนคดีอื่นของคนชื่ออภิสิทธิ์ที่อยู่ในมือ ป.ป.ช. ก็คือติดน้ำท่วมไม่เลิกหรือไม่ ต้องรอดูกันต่อไป



อีกทั้งสุดท้าย ถ้า ป.ป.ช.ชี้ว่าไม่มีมูล ก็เป็นอันจบ คนที่ตายไป 99 ศพก็จบชีวิตไปโดยไม่มีใครต้องรับโทษ

หรือถ้า ป.ป.ช.ชี้ว่ามีมูลความผิด ก็ส่งฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญานักการเมือง

แต่จะเป็นการฟ้องตามมาตรา 157 คือความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ข้อหาเปลี่ยน โทษเปลี่ยน

แต่ที่สำคัญคือ จะไม่มีคดีฆาตกรรม 99 ศพ มีแค่คดีผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ




++

สุริวงค์ เอื้อปฏิภาน: เบ็ดเสร็จสุดโต่ง
ใน www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1407501496
. . วันศุกร์ที่ 08 สิงหาคม พ.ศ. 2557 เวลา 21:30:00 น.
( ที่มา: คอลัมน์ สถานีคิดเลขที่ 12 นสพ.มติชนรายวัน 8 ส.ค. 2557 )


แม้ว่า "เขมรแดง" จะปิดฉากตัวเอง หมดสิ้นอำนาจและสูญสลายไปกว่า 30 ปีแล้ว แต่โลกยังไม่ลืมเลือน ตำนานการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์และคิลลิ่งฟีลด์ยังคงเป็นที่กล่าวขวัญกันไม่สิ้นสุด

ขณะเดียวกัน ยังมีการดำเนินคดีกับผู้นำของกลุ่มเขมรแดงที่ยังคงหลงเหลือและมีชีวิตอยู่บางส่วน ในข้อหาก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ เนื่องจากมีกำจัดศัตรูทางชนชั้น ศัตรูทางการเมือง จนมีผู้คนต้องเซ่นสังเวยไปหลายล้านชีวิต


เมื่อวันที่ 7 สิงหาคมที่ผ่านมานี้เอง ศาลพิเศษด้านอาชญากรสงครามกัมพูชา ที่มีสหประชาชาติสนับสนุน เพิ่งอ่านคำพิพากษาให้จำคุกตลอดชีวิตนายนวน เจีย และนายเขียว สัมพัน หลังจากการพิจารณาคดีมายาวนาน

แต่ผู้นำเขมรแดงทั้งสองก็อายุปาเข้าไป 80 กว่าจะ 90 แล้ว การถูกจำคุกตลอดชีวิตก็คงอีกไม่ยาวนานนัก

ส่วนผู้นำเขมรแดงคนอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น พล พต, เอียง ซารี, ซอน เซน, ตา ม็อก ล้วนจากลาโลกไปหมดแล้ว

คงมีจำเลยเหลือให้เอาผิดได้แค่ไม่กี่คนเท่านั้น

ก่อนหน้านี้ก็มี นายคังเก็ก เอียว หรือ "สหายดุช" อดีต ผบ.เรือนจำตวลสเลง ถูกตัดสินจำคุกหลายปีเป็นรายแรก


เรือนจำตวลสเลง เป็นคุกอำมหิตที่คนทั้งโลกรู้จักกันดี ทุกวันนี้ทางการกัมพูชายังรักษาเอาไว้เป็นพิพิธภัณฑ์ให้นักท่องเที่ยวไปเยี่ยมชม เพื่อเพิ่มอารมณ์สยดสยองและหดหู่

เช่นเดียวกับทุ่งสังหาร อันเป็นสถานที่ท่องเที่ยวยอดฮิต มีกะโหลกมนุษย์มากมายมหาศาลเก็บใส่ตู้กระจกให้ดูไปขนลุกไป

เป็นอนุสรณ์เตือนความทรงจำต่อคนทั้งโลก ว่าอย่าได้ดำเนินตามเส้นทางนี้กันอีก


เส้นทางการปกครองและมุ่งสร้างสังคมตามอุดมการณ์อันสุดโต่ง ใช้การบังคับเข่นฆ่า เพื่อทำให้เป้าหมายในการสร้างประเทศที่ปราศจากชนชั้นบรรลุเร็วที่สุด โดยไม่อยู่บนความเป็นจริง

เขมรแดงก็คือ พรรคคอมมิวนิสต์กัมพูชา ซึ่งจับอาวุธลุกขึ้นต่อสู้กับรัฐบาลของนายพลลอน นอล อันเป็นกลุ่มอำนาจฝ่ายขวาซึ่งมีสหรัฐให้การสนับสนุน

ในช่วงระยะเดียวกันนั้น กระแสคอมมิวนิสต์ในภูมิภาคนี้กำลังมาแรง มีการนำมวลชนตั้งกองกำลังปฏิวัติล้มรัฐบาลฝ่ายขวาที่อิงสหรัฐ ทั้งในเวียดนาม ลาว จนได้รับชัยชนะพร้อมๆ กันในช่วงประมาณปี 2518

แต่ถัดจากนั้น เขมรแดงมาแรงสุด เพราะนโยบายการสร้างสังคมปราศจากชนชั้นแบบสุดโต่ง เดินแนวทางเผด็จการชนชั้นกรรมาชีพ ชูอุดมการณ์ปฏิวัติแบบเบ็ดเสร็จ

กวาดต้อนประชาชนออกจากเมืองหลวงและเมืองใหญ่ เพื่อไปใช้แรงงานในชนบท กำจัดศัตรูทางชนชั้นแบบถอนรากถอนโคน




ก่อนหน้าเขมรแดงจะได้รับชัยชนะ ประชาชนกัมพูชาเผชิญกับรัฐบาลที่บริหารประเทศแบบเละเทะ ตามลักษณะของผู้มีอำนาจในประเทศด้อยพัฒนาทั้งหลาย แต่พอฝ่ายคอมมิวนิสต์ชนะ ก็เจออำนาจแบบเด็ดขาดสุดขั้ว คือ ยากลำบากทำงานหนักอย่างเสมอภาคกันหมด

มีเรื่องเล่าว่า ขนาดจีนซึ่งเป็นลูกพี่ เสนอให้การช่วยเหลือเครื่องมือด้านเกษตรกรรมในการสร้างประเทศ เช่น รถแทรกเตอร์ แต่ผู้นำเขมรแดงตอบกลับไปว่าขอให้ส่ง "จอบ" มาแทนแล้วกัน

เขมรแดงจึงเป็นตัวอย่างของกลุ่มอำนาจเบ็ดเสร็จสุดโต่ง มีอุดมการณ์มีความมุ่งมั่นจะสร้างสังคมใหม่ให้ได้

แต่เป็นอุดมการณ์ที่ทำตามความเชื่อของคนกุมอำนาจกลุ่มเดียว คิดแทนประชาชนทั้งหมด และใช้อำนาจอย่างสุดขั้วเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย

จึงกลายเป็นตำนานที่โลกต้องจารึกเอาไว้ เพื่อไม่ให้กลุ่มอำนาจในประเทศไหนๆ เดินตามอีก




.

..“เสื้อใหม่ของนายธนาคาร” เรียบเรียงโดย สฤณี อาชวานันทกุล

.

ถอดรื้อมายาคติที่ไม่ยั่งยืน : บทเรียนจาก “เสื้อใหม่ของนายธนาคาร” (1)
โดย สฤณี อาชวานันทกุล

ใน http://thaipublica.org/2014/08/bankers-illusions-1/
. . 7 สิงหาคม 2014


ละสายตาจากเรื่องยุ่งๆ ของการเงินที่ยังไม่ยั่งยืนในไทยชั่วคราว หันมาดูสถานการณ์ของภาคการเงินนอกบ้านเรากันบ้าง

วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์กับวิกฤตยูโรโซนที่ทำให้ทั้งโลกปั่นป่วนเมื่อหลายปีก่อนเริ่มทุเลาความรุนแรง หายไปจากพาดหัวในหน้าสื่อ แต่หลังฉากการถกเถียงเรื่องการปรับปรุงระบบกำกับดูแลภาคธนาคารก็ยังคงดำเนินต่อไปอย่างเข้มข้น ถึงแม้คนที่อยู่นอกภาคการเงินอาจมองไม่เห็น

ในบรรดาข้อเสนอที่ผู้เชี่ยวชาญหลายคนคิดว่า “จำเป็น” ต้องทำที่สุดเพื่อปรับปรุงระบบธนาคารและลดความเสี่ยงที่มันจะฉุดลากเศรษฐกิจโลกไปอยู่ปากเหวอีก คือการเพิ่มระดับทุนขั้นต่ำที่ธนาคารต้องมี เป็น “เบาะกันกระแทก” ลดความเสี่ยงที่จะล้มจากการมีหนี้สินมากกว่าทรัพย์สิน หรือที่เรียกเป็นภาษาทางการว่า capital requirement

ข้อเสนอนี้มีเหตุมีผลอย่างยิ่ง แต่ยากมากที่จะเกิดเป็นรูปธรรม เพราะนอกจากจะต้องฝ่าด่านการล็อบบี้อย่างไม่ขาดสายของธนาคารยักษ์ใหญ่ระดับโลกแล้ว ผู้เสนอยังต้องถอดรื้อกำแพงแห่งมายาคติที่นายธนาคารหลายคนสร้างขึ้นมาให้คนหลงเชื่อ และอีกหลายคนก็สับสนคิดไปเองว่ามายาคติคือความจริงเพราะท่องตามๆ กันมาช้านาน

มายาคติที่กีดกันการปรับปรุงระบบกำกับดูแลธนาคารคืออะไร? หนังสือที่ตอบคำถามนี้ได้อย่างชัดเจนที่สุด และเขียนอธิบายให้คนนอกวงการธนาคารเข้าใจง่ายที่สุด คือ The Bankers’ New Clothes (“เสื้อใหม่ของนายธนาคาร” ตั้งชื่อเลียนนิทานดังเรื่อง “เสื้อใหม่ของพระราชา” เพราะสื่อนัยเดียวกัน) เขียนโดยนักเศรษฐศาสตร์การเงินชื่อดังสองคน คือ ดร. อนัท แอดมาที (Anat Admati) จากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดในสหรัฐอเมริกา ร่วมกับ ดร. มาร์ติน เฮลวิก (Martin Hellwig) จากมหาวิทยาลัยบอนน์ในเยอรมนี














ที่มาภาพ: http://blog.tagesanzeiger.ch/wp-content/uploads/sites/11/2013/02/Nevermind_HeAd.jpg

นอกจากจะเป็นนักเศรษฐศาสตร์ที่มีความสามารถล้นเหลือในการ “ย่อย” เรื่องยากๆ ให้คนทั่วไปเข้าใจอย่างแจ่มแจ้ง ผู้เขียนทั้งสองยังมีบทบาทโดยตรงในวิวาทะและเวทีถกเถียงเชิงนโยบายเกี่ยวกับการกำกับดูแลภาคการเงินการธนาคาร โดยแอดมาทีเป็นสมาชิกคณะกรรมการที่ปรึกษาการคลี่คลายเชิงระบบ สถาบันประกันเงินฝากอเมริกัน (FDIC Systemic Resolution Advisory Committee) ส่วนเฮลวิกนั้นเป็นประธานคนแรกของคณะกรรมการที่ปรึกษาวิทยาศาสตร์ คณะกรรมการความเสี่ยงเชิงระบบยุโรป (European Systemic Risks Board) หน่วยงานภายใต้สหภาพยุโรป ซึ่งถูกก่อตั้งขึ้นมาหลังวิกฤตยูโรโซน

แอดมาทีกับเฮลวิกตั้งใจเขียน “เสื้อใหม่ของนายธนาคาร” ในภาษาง่ายๆ ให้คนธรรมดาเข้าใจ เพราะอยากให้ทุกคนในสังคมได้มีส่วนร่วมในเวทีอภิปราย และอยากถอดรื้อมายาคติอีกประการที่ว่า ประเด็นทางการเงินการธนาคารเป็นเรื่อง “สลับซับซ้อน” ที่ต้องปล่อยให้เป็นเรื่องของผู้เชี่ยวชาญและด็อกเตอร์ทั้งหลายเท่านั้น

เป้าหมายที่สำคัญที่สุดคือ แอดมาทีกับเฮลวิกอยากให้ทุกคนตื่นตัวว่า ระบบธนาคารยังอันตรายและเปราะบางไม่ต่างจากก่อนเกิดวิกฤต แต่วิธีแก้เชิงนโยบายไม่ถูกนำไปใช้อย่างจริงจัง ทั้งๆ ที่เรารู้แล้วว่าควรแก้ไขอย่างไร สาเหตุสำคัญก็เพราะมายาคติที่ยังครอบงำวิธีคิดของผู้ดำเนินนโยบายและนายธนาคารจำนวนมาก

หนังสือเล่มนี้ได้รับการกล่าวขวัญและสรรเสริญอย่างมากมายตั้งแต่ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 2013 แต่โชคร้ายที่มายาคติต่างๆ ที่ผู้เขียนเพียรชี้ให้เห็นในหนังสือ ก็ยังคงครอบงำวิวาทะเรื่องการกำกับดูแลธนาคารต่อไป ส่งผลให้แอดมาทีกับเฮลวิกตัดสินใจ “อัพเดท” เนื้อหาในหนังสือ ด้วยการเขียนบทความขนาดยาวเรื่อง “The Parade of the Bankers’ New Clothes Continues: 23 Flawed Claims Debunked” (พาเหรดของเสื้อใหม่นายธนาคารยังดำเนินต่อไป: บทหักล้างข้ออ้าง 23 ข้อที่ไม่ถูกต้อง) ให้ดาวน์โหลดฟรีจากเว็บไซต์ของหนังสือ ( http://bankersnewclothes.com/wp-content/uploads/2013/06/parade-continues-June-3.pdf )



มายาคติหลักๆ และข้อหักล้างมีอะไรบ้าง? ผู้เขียนจะคัดสรร แปลและเรียบเรียงมาเล่าสู่กันฟังดังนี้

มายาคติ 1: ทุน (capital) คือเงินที่ธนาคารกันเอาไว้เป็น “เงินสดสำรอง” เหมือนกับเงินสดที่เราๆ ท่านๆ กันไว้ใช้ยามฉุกเฉิน

ผิดเพราะอะไร? ทุนในภาคธนาคารนั้นเป็นแหล่งทุนประเภทหนึ่ง สามารถนำไปใช้ปล่อยกู้และลงทุนได้ ไม่ต้องเก็บไว้เฉยๆ เพียงแต่ภาคธนาคารเรียกทุนนี้ว่า capital ขณะที่ธุรกิจอื่นเรียกว่า “ส่วนของผู้ถือหุ้น” หรือ equity แอดมาทีกับเฮลลิกชี้ว่า ธนาคารปกติใช้ทุนของตัวเองไม่ถึงร้อยละ 10 ในการลงทุนต่างๆ ขณะที่ธุรกิจอื่นมักจะต้องใช้ทุนไม่น้อยกว่าร้อยละ 25 ในการลงทุน นอกจากนี้ บริษัทที่ประสบความสำเร็จจำนวนมากยังแทบไม่มีหนี้สินใดๆ เลย


มายาคติ 2: ข้อเสนอให้ธนาคารกันเงินสดสำรองเท่ากับร้อยละ 15 ของสินทรัพย์ทั้งหมดของธนาคารนั้น ไม่ทำให้ธนาคาร “ปลอดภัย” กว่าเดิม เช่นเดียวกัน ข้อเสนอให้เพิ่มระดับทุนขั้นต่ำของธนาคารเป็นร้อยละ 15 ก็จะไม่ช่วยแก้ปัญหาใหญ่ๆ ในภาคการธนาคารเหมือนกัน

ผิดเพราะอะไร? มายาคติข้อนี้ตั้งอยู่บนความสับสนระหว่างทุนของธนาคาร (capital) กับเงินสดสำรอง (cash reserve) ดังที่กล่าวไปข้างต้นในมายาคติ 1

ทุนของธนาคารไม่ใช่เงินสดสำรอง แต่เป็นแหล่งทุนของธนาคาร ข้อกำหนดเรื่องทุนสำรองนั้นไม่ได้บังคับว่าธนาคารจะต้องถือสินทรัพย์อะไรบ้าง ไม่ได้บังคับว่าธนาคารต้องเพิ่มเงินสดสำรองในมือ (คือเอาไปปล่อยกู้แสวงกำไรไม่ได้) ในเมื่อข้อกำหนดปัจจุบัน และแม้แต่ภายในข้อเสนอในระบบ Basel III ปล่อยให้ธนาคารมีทุนขั้นต่ำเพียงร้อยละ 3 ของสินทรัพย์ทั้งหมด การเพิ่มข้อกำหนดนี้เป็นร้อยละ 15 (ดังเช่นร่างกฎหมาย Brown-Vitter ในอเมริกาเรียกร้องให้บังคับกับธนาคารที่ใหญ่ที่สุดหกแห่งในประเทศ) ก็จะทำให้ธนาคารปลอดภัยกว่าเดิมมาก ตัวเลข 15% นี้ยังต่ำกว่าสัดส่วนทุนต่อสินทรัพย์ที่ถือกันว่า “ปกติ” สำหรับบริษัทในธุรกิจอื่นที่แข็งแกร่งทางการเงินด้วยซ้ำไป เมื่อมีส่วนทุนมากขึ้น ธนาคารก็จะสามารถซึมซับผลขาดทุนได้มากกว่าเดิมมาก ลดความเสี่ยงที่จะประสบปัญหาทางการเงินถึงขั้นจะล้มละลาย ร้อนให้รัฐต้องมาอุ้ม

ในทางกลับกัน ข้อกำหนดเรื่องเงินสดสำรองในมือ (reserve requirement) มีประโยชน์ในแง่ความปลอดภัยน้อยกว่าข้อกำหนดเรื่องทุนขั้นต่ำ (capital requirement) มาก ยกเว้นว่ามันจะสูงมากๆ ยกตัวอย่างเช่น สมมุติว่าธนาคารหนึ่งมีเงินฝาก (เป็นหนี้สินของธนาคาร เพราะเป็นเงินของผู้ฝากเงิน) 97,000 ล้านบาท มีส่วนทุน 3,000 ล้านบาท (เท่ากับว่ามีหนี้สิน 94,000 ล้านบาท) การมีเงินสดสำรองในมือ (นับเป็นสินทรัพย์) อยู่ 15,000 ล้านบาทก็จะไม่ช่วยให้ธนาคารรอดเลย ถ้าขาดทุน 4,000 ล้านบาทจากหนี้เสียและผลขาดทุนจากการลงทุนอื่นๆ เพราะผลลัพธ์จะกลายเป็นว่ามีสินทรัพย์ 96,000 ล้านบาท ล้มละลายเพราะส่วนทุนติดลบ (3,000-4,000 = -1,000 ล้านบาท) เช่นเดียวกับที่เจ้าของบ้าน “จมน้ำ” (under water) ถ้าหากภาระการผ่อนบ้านมีมูลค่าสูงกว่ามูลค่าของบ้าน (คนอเมริกันจำนวนมากจึงยอมให้ธนาคารยึดบ้านในช่วงวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์)

แต่ถ้าหากธนาคารมีเงินฝาก 85,000 ล้านบาท มีส่วนทุน 15,000 ล้านบาท มันก็จะสามารถซึมซับผลขาดทุน 4,000 ล้านบาทได้อย่างสบายๆ โดยไม่เสี่ยงที่จะล้มละลายแต่อย่างใด


มายาคติ 3: ข้อเสนอให้ธนาคารเพิ่มสัดส่วนทุนขั้นต่ำนั้นเพียงแต่ตั้งอยู่บนทฤษฎี โมดิกลิอานี-มิลเลอร์ (Modigliani-Miller theorem) ซึ่งใช้กับโลกจริงไม่ได้เพราะสมมุติฐานของทฤษฎีนี้ไม่สมจริง

ผิดเพราะอะไร? ทฤษฎี โมดิกลิอานี-มิลเลอร์ บอกว่าภายใต้เงื่อนไขพิเศษบางประการ ส่วนผสมระหว่างหนี้สินกับส่วนทุนของบริษัทใดก็ตาม (เช่น ไม่ว่าจะเลือกใช้หนี้ 80 ทุน 20 หรือหนี้ 10 ทุน 90 ฯลฯ) จะไม่ส่งผลต่อมูลค่าของบริษัทและต้นทุนในการระดมทุน (cost of capital)



แต่แอดมาทีกับเฮลลิกชี้ชัด (ผ่านการยกตัวอย่างมากมายในหนังสือ) ว่า ข้อค้นพบที่สำคัญที่สุดของทฤษฎีนี้คือ ในตลาดการเงินที่ทำงานได้ดี อัตราผลตอบแทนที่นักลงทุนต้องการขึ้นอยู่กับระดับความเสี่ยง และระดับความเสี่ยง (ตลอดจนอัตราผลตอบแทนที่สะท้อนความเสี่ยงระดับนั้น) ของหลักทรัพย์อะไรก็ตาม (เช่น หุ้น) ที่ออกโดยบริษัท ก็ขึ้นอยู่กับส่วนผสมระหว่างหนี้สินกับทุน พูดอีกอย่างคือ ยิ่งบริษัทมีหนี้มากเมื่อเทียบกับส่วนทุน ความเสี่ยงของบริษัทก็ยิ่งสูง นักลงทุนก็จะยิ่งเรียกร้องอัตราผลตอบแทนสูงๆ ในการลงทุน

ด้วยเหตุนี้ ข้อถกเถียงอะไรก็ตามที่พูดถึงอัตราผลตอบแทนจากการลงทุน (Return on Equity ย่อว่า ROE) ที่นักลงทุนต้องการ ราวกับว่ามันสถิตเสถียรไม่เปลี่ยนแปลง และเป็นอิสระจากส่วนผสมระหว่างหนี้กับทุนของบริษัท จึงเป็นข้อถกเถียงที่บกพร่องระดับฐานคิดเลยทีเดียว

ใน “เสื้อใหม่ของนายธนาคาร” แอดมาทีกับเฮลวิกอธิบายเงื่อนไขในโลกจริงอีกหลายข้อที่หักล้างสมมุติฐานที่ว่าส่วนผสมหนี้กับทุนไม่สำคัญ เช่น กฎหมายภาษีอาจทำให้บริษัทอยากใช้หนี้มากกว่าทุนก็ได้


อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนทั้งสองก็ย้ำว่า มายาคติข้อนี้หักล้างข้อเสนอว่าธนาคารควรมีทุนขั้นต่ำมากกว่าเดิมไม่ได้ เพราะข้อเสนอนี้ไม่ได้ตั้งอยู่บนสมมุติฐานที่ว่าส่วนผสมระหว่างหนี้กับทุนไม่สำคัญ แต่ตั้งอยู่บนการเปรียบเทียบต้นทุนกับประโยชน์ที่สังคมจะได้รับ จากการมีส่วนผสมระหว่างหนี้กับทุนระดับต่างๆ ของธนาคาร แอดมาทีกับเฮลวิกสรุปว่า การให้ธนาคารใช้หนี้สินมหาศาลเมื่อเทียบกับส่วนทุนในการดำเนินธุรกิจนั้น เป็นต้นทุนมหาศาลที่สังคมต้องแบกรับโดยไม่ได้ประโยชน์ใดๆ เลย.



++

ถอดรื้อมายาคติที่ไม่ยั่งยืน : บทเรียนจาก “เสื้อใหม่ของนายธนาคาร” (จบ)
โดย สฤณี อาชวานันทกุล

ใน http://thaipublica.org/2014/09/bankers-new-clothes-2
. . 4 กันยายน 2014


ตอนที่แล้วผู้เขียนเริ่มสรุป “มายาคติ” – กับดักทางความคิดบางประการที่ยังครอบงำวงการการเงินการธนาคารกระแสหลัก และกีดขวางการปฏิรูปภาคการเงินโลก จากบทความขนาดยาวเรื่อง “The Parade of the Bankers’ New Clothes Continues: 23 Flawed Claims Debunked” (พาเหรดของเสื้อใหม่นายธนาคารยังดำเนินต่อไป: บทหักล้างข้ออ้าง 23 ข้อที่ไม่ถูกต้อง – ดาวน์โหลดฟรีจากเว็บไซต์หนังสือ http://bankersnewclothes.com/wp-content/uploads/2013/06/parade-continues-June-3.pdf ) โดยนักเศรษฐศาสตร์การเงินชื่อดังสองคนที่กำลังมีบทบาทสูงมากในวิวาทะเรื่องการปฏิรูปภาคการเงิน ได้แก่ ดร. อนัท แอดมาที (Anat Admati) และ ดร. มาร์ติน เฮลวิก (Martin Hellwig) ผู้เขียนหนังสือเรื่อง The Bankers’ New Clothes (“เสื้อใหม่ของนายธนาคาร”)


แอดมาทีกับเฮลิวิกเป็นสองหัวหอกในกลุ่มนักเศรษฐศาสตร์ที่ออกมาเรียกร้องให้องค์กรกำกับดูแลภาคการธนาคารระดับโลกและระดับชาติจัดการปฏิรูปภาคการธนาคารอย่างมีความหมายและยั่งยืนกว่าที่แล้วมา โดยเฉพาะด้วยการเพิ่มระดับ “ทุนขั้นต่ำ” ที่ธนาคารต้องมีเมื่อเทียบกับหนี้สินทั้งหมด

นักเศรษฐศาสตร์กลุ่มนี้เชื่อว่า ตราบใดที่ยังไม่แก้กฎกติกาเช่นนี้ ตราบนั้นโลกก็จะยังคงมีความเสี่ยงจากพฤติกรรมเสี่ยงเกินเลยของภาคธนาคารต่อไป

ตอนที่แล้วสรุปมายาคติข้อ 1-3 วันนี้มาว่ากันต่อด้วยมายาคติสำคัญๆ ข้ออื่น



มายาคติ 4: การค้นพบหลักๆ ของวิชาการเงินธุรกิจ (corporate finance) เกี่ยวกับเศรษฐศาสตร์การระดมทุนนั้นนำมาใช้กับธนาคารไม่ได้ เพราะธนาคารไม่เหมือนบริษัทอื่น

ผิดเพราะอะไร? ผู้เขียนทั้งสองอธิบายในมายาคติ 3 (ดูตอนก่อนหน้านี้) ไปแล้วว่า ข้อพิสูจน์กรณีเฉพาะของทฤษฎี โมดิกลิอานี-มิลเลอร์ (Modigliani-Miller theorem) ที่นายธนาคารชอบยกมาอ้างว่า ส่วนผสมระหว่างหนี้กับส่วนทุนไม่ส่งผลใดๆ ต่อมูลค่าของบริษัทและต้นทุนในการระดมทุนนั้น เป็นจริงเฉพาะในกรณีที่อยู่ใต้ “สมมุติฐานพิเศษ” บางประการเท่านั้น ในขณะที่ “ข้อค้นพบที่สำคัญที่สุดของทฤษฎีนี้คือ ในตลาดการเงินที่ทำงานได้ดี อัตราผลตอบแทนที่นักลงทุนต้องการขึ้นอยู่กับระดับความเสี่ยง และระดับความเสี่ยง (ตลอดจนอัตราผลตอบแทนที่สะท้อนความเสี่ยงระดับนั้น) ของหลักทรัพย์อะไรก็ตาม (เช่น หุ้น) ที่ออกโดยบริษัท ก็ขึ้นอยู่กับส่วนผสมระหว่างหนี้สินกับทุน พูดอีกอย่างคือ ยิ่งบริษัทมีหนี้มากเมื่อเทียบกับส่วนทุน ความเสี่ยงของบริษัทก็ยิ่งสูง นักลงทุนก็จะยิ่งเรียกร้องอัตราผลตอบแทนสูงๆ ในการลงทุน”

แอดมาทีกับเฮลวิกเปรียบเปรยว่า การปฏิเสธว่าข้อค้นพบที่สำคัญที่สุดของทฤษฎีนี้เป็นสากล ใช้ได้กับทุกบริษัททุกธุรกิจ ก็เหมือนกับการปฏิเสธว่ากฎแรงโน้มถ่วงกำกับทุกสิ่งบนโลกด้วยการอ้างว่าอากาศมีแรงต้าน

อันที่จริง ตรรกะของโมดิกลิอานี-มิลเลอร์ ใช้ได้ดีมากกับส่วนทุนและการกู้ยืมของธนาคารในตลาดสินเชื่อและตลาดพันธบัตร ธนาคารมีปฏิสัมพันธ์กับนักลงทุนกลุ่มเดียวกันกับที่ซื้อหุ้นและพันธบัตรของบริษัทอื่น นักลงทุนเหล่านี้ตีมูลค่าหุ้นและพันธบัตรของธนาคารในบริบทของพอร์ตลงทุนรวมของตัวเอง โดยใช้หลักเกณฑ์ชุดเดียวกันในการประเมินการลงทุนทั้งหมด ตรรกะที่ว่าต้นทุนและความเสี่ยงในการระดมทุนของนักลงทุนขึ้นอยู่กับส่วนผสมระหว่างหนี้กับทุนของธนาคารนั้น ใช้ได้กับกรณีที่ธนาคารกู้ยืมเงินมาจากสถาบันการเงินอื่นเช่นกัน

ผู้เขียนทั้งสองย้ำว่า ธนาคารเหมือนกับบริษัทอื่นทุกบริษัทตรงที่มีเจ้าของหรือผู้ถือหุ้น เลือกได้ว่าจะใช้ส่วนทุนของผู้ถือหุ้นเท่าไร จะกู้ยืมเงินเท่าไร เหมือนกับบริษัทอื่นตรงที่มีแนวโน้มจะประสบปัญหาทางการเงินหรือแม้แต่ถึงขั้นล้มละลายเมื่อมีหนี้สินสูงมโหฬาร มีส่วนทุนนิดเดียว

นอกจากนี้ ความขัดแย้งระหว่างผลประโยชน์ระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้ รวมถึงการบิดเบือนและความไร้ประสิทธิภาพจากการมีหนี้สินสูงเกินไปนั้นก็พบเห็นในวงการธนาคารไม่น้อยกว่าวงการอื่น คนที่เถียงว่าธนาคาร “ไม่เหมือนธุรกิจอื่น” และพยายามสร้างความชอบธรรมให้กับการใช้หนี้สูงๆ ในการดำเนินธุรกิจธนาคารนั้น มักจะละเลยหรือทำเป็นมองไม่เห็นการบิดเบือนและความไร้ประสิทธิภาพที่เกิดขึ้น – แล้วพอธนาคารเกิดปัญหา ผู้เสียภาษีหรือสังคมก็มักจะเป็นผู้ที่ต้องแบกรับความเสียหาย


มายาคติ 5: ธนาคารเป็นสถาบันพิเศษเพราะมันผลิต (หรือสร้าง) เงิน

ผิดเพราะอะไร? มายาคติข้อนี้ตั้งอยู่บนการใช้คำว่า “เงิน” อย่างผิดความหมาย แนวคิดที่ว่าธนาคาร “ผลิต” หรือ “สร้าง” เงินได้นั้น ตั้งอยู่บนการสังเกตว่า เราๆ ท่านๆ สามารถแปลงเงินฝากให้เป็นเงินสดได้อย่างง่ายดาย ด้วยการไปถอนเงิน และคนก็มองว่าเงินที่ฝากไว้ในธนาคารนั้นคล้ายกับเงินสด สามารถใช้เงินฝากในการใช้จ่าย เช่น ด้วยการเซ็นเช็คสั่งจ่าย หรือรูดบัตรเครดิต ด้วยเหตุนี้ นักเศรษฐศาสตร์การเงินจึงเรียกเงินสดในมือและยอดเงินฝากในบัญชีออมทรัพย์รวมกันว่า “ปริมาณเงิน”

อย่างไรก็ตาม การที่บัญชีออมทรัพย์ถูกรวมไว้ในดัชนีสำคัญของเศรษฐศาสตร์มหภาคนั้น ไม่ได้หมายความว่ายอดบัญชีออมทรัพย์เหมือนกันกับเงินสด ความแตกต่างที่สำคัญที่สุดคือ เงินฝากคือ “หนี้” รูปแบบหนึ่ง – หนี้ซึ่งผู้ฝากเงินเป็นเจ้าหนี้ ธนาคารเป็นลูกหนี้ ธนาคารมีพันธะที่จะต้องจ่ายเงินคืนแก่ผู้ฝากเงิน เมื่อไรก็ตามที่เขาหรือเธออยากถอนเงินคืน ถ้าหากธนาคารไม่มีเงินมาคืน ปัญหาก็จะเกิด ในทางตรงกันข้าม เงินสดในรูปของเหรียญและธนบัตรที่ธนาคารกลางพิมพ์ออกมากระจายในระบบนั้นไม่ใช่ “หนี้” ของใครเลย

จากมุมมองของธนาคาร ความแตกต่างประการสำคัญระหว่างเงินฝากและหนี้สินประเภทอื่นไม่ใช่ว่าเงินฝาก “คล้ายเงิน” แต่เป็นประเด็นที่ว่า ธนาคารส่งมอบบริการต่างๆ แก่ผู้ฝากเงิน อาทิ การจ่ายเงินผ่านเช็คธนาคารและบัตรเครดิต หรือเครื่องกดเงินสดอัตโนมัติ (เอทีเอ็ม) ซึ่งทำให้ลูกค้าถอนเงินได้ตลอดเวลา ความต้องการฝากเงินของประชาชนขึ้นอยู่กับบริการเหล่านี้ รวมทั้งอัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่ธนาคารเสนอ ตลอดจนระดับความเสี่ยงที่ธนาคารจะล้มละลายหรือไม่มีเงินคืนผู้ฝาก


มายาคติ 6: การเพิ่มระดับทุนขั้นต่ำตามกฎหมาย (equity requirement) จะลิดรอนความสามารถของธนาคารในการคืนเงินฝากและชำระหนี้ระยะสั้นประเภทอื่นที่มีสภาพคล่องและใช้ได้เสมือนกับเงิน

ผิดเพราะอะไร? มายาคติข้อนี้ตั้งอยู่บนสมมุติฐานผิดๆ ว่า ส่วนทุนของธนาคารนั้นคงที่และมีจำกัด ไม่อาจทดแทนหนี้สินของธนาคารได้ด้วยการเพิ่มทุนในทางที่ไม่กระทบกับ “ระดับสภาพคล่องสำรอง” ที่ต้องมี แต่ในความเป็นจริง ธนาคารสามารถเพิ่มทุนได้ด้วยการนำกำไรสุทธิไปลงทุนเพิ่ม หรือออกหุ้นเพิ่มทุน ไม่ต่างจากบริษัทในธุรกิจอื่น ยิ่งมีส่วนทุนเพิ่ม ธนาคารก็จะยิ่งสามารถรับเงินฝากได้มากขึ้น ถ้าหากผู้กำกับดูแลเพิ่มระดับทุนขั้นต่ำที่ต้องมี การมีส่วนทุนมากขึ้นก็จะทำให้ธนาคารสามารถเก็บเงินฝากและหนี้ “เปี่ยมสภาพคล่อง” ระยะสั้นเอาไว้ได้เหมือนเดิม ไม่ใช่ว่าต้องมีน้อยลง

การมีส่วนทุนมากขึ้นเมื่อเทียบกับหนี้สินจะทำให้ธนาคารสามารถเพิ่มสภาพคล่องได้มากกว่าเดิมด้วยซ้ำ เพราะส่วนทุนที่มากขึ้นจะทำให้หนี้สินของธนาคารได้รับความไว้วางใจมากขึ้นจากเจ้าหนี้

ด้วยเหตุนี้ ลักษณะ “เปี่ยมสภาพคล่อง” หรือ “คล้ายเงิน” ของเงินฝากและหนี้ระยะสั้นจะดีกว่าเดิม ถ้าธนาคารมีหนี้สินน้อยลง มีส่วนทุนมากขึ้น


มายาคติ 7: การเพิ่มระดับทุนขั้นต่ำนั้นไม่เหมาะสม เพราะต้นทุนการระดมทุนของธนาคารจะเพิ่มขึ้น

ผิดเพราะอะไร? มายาคติข้อนี้ตั้งอยู่บนการสังเกตพื้นๆ ว่า ผลตอบแทนจากทุน (ที่นักลงทุนต้องการ) นั้นสูงกว่าผลตอบแทนจากหนี้ (ที่เจ้าหนี้ต้องการ) แต่ในความเป็นจริง ผลตอบแทนจากทุน หนี้ หรือหลักทรัพย์ใดๆ ก็ตามที่นักลงทุนหรือเจ้าหนี้ต้องการนั้น ขึ้นอยู่กับ “ส่วนผสม” ระหว่างหนี้กับทุนของแต่ละบริษัท ถ้าธนาคารมีส่วนทุนมากขึ้น อัตราผลตอบแทนที่นักลงทุนและเจ้าหนี้ต้องการก็จะน้อยลง (เพราะธนาคารมีความเสี่ยงน้อยลง)

แอดมาทีกับเฮลวิกชี้ว่า สาเหตุหลักจริงๆ ที่ต้นทุนรวมในการระดมทุนของธนาคารอาจปรับตัวสูงขึ้นหลังจากที่ทางการเพิ่มระดับทุนขั้นต่ำ คือ ถ้าหากธนาคารต่างๆ มีทุนมากขึ้น ธนาคารก็จะได้ประโยชน์น้อยลงจากการรับประกันและเงินอุดหนุนต่างๆ นานาของรัฐ ซึ่งเข้ามา “อุ้ม” ด้วยเงินภาษีของประชาชน!

ในการถกเถียงเชิงนโยบาย ประเด็นสำคัญอยู่ที่การเปรียบเทียบต้นทุนกับประโยชน์ต่อสังคมจากการที่ธนาคารใช้ส่วนผสมของหนี้และทุนในระดับต่างๆ เนื่องจากความเปราะบางของระบบการเงินนั้นมีต้นทุนสูงและก่อความเสียหายมหาศาล
ฉะนั้นผู้เขียนทั้งสองจึงสรุปว่า ประโยคที่ถูกต้องคือ “การเพิ่มระดับทุนขั้นต่ำตามกฎหมายจะลดต้นทุนต่อสังคมจากการที่มีระบบการเงินไร้ประสิทธิภาพ ระบบที่สถาบันการเงินกู้ยืมเงินเกินตัว และดังนั้นกฎนี้จะเป็นประโยชน์มหาศาลต่อสังคม”


....................................
ขอเชิญผู้อ่าน อ่านต้นฉบับจาก http://thaipublica.org ซึ่งมีภาพประกอบและลิ้งค์เอกสารมากมาย



.

2557-09-01

งานศพผิดวัดครั้งใหม่ (2) โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์

.

นิธิ เอียวศรีวงศ์ : งานศพผิดวัดครั้งใหม่ (2) 
ใน www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1409548590 
. . วันจันทร์ที่ 01 กันยายน พ.ศ. 2557 เวลา 13:29:24 น.
( ที่มา: มติชนรายวัน 1 กันยายน 2557 )


(ตอนเดิม - นิธิ เอียวศรีวงศ์ : งานศพผิดวัดครั้งใหม่ (1) อ่านที่  http://botkwamdee.blogspot.com/2014/08/n-x-taps1.html )

(ต่อ)

เช่นเดียวกับคนอีกจำนวนไม่น้อยในประเทศไทย คุณอานันท์กล่าวถึง "ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์" ดูเหมือนเป็นเหตุผลส่วนหนึ่งของการทำรัฐประหาร นั่นคือประชาธิปไตยของไทยไม่สมบูรณ์ และการรัฐประหารคงจะนำประเทศไปสู่หนทางเริ่มต้นที่จะบรรลุประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ได้

คุณอานันท์อาจแตกต่างจากคนอื่นตรงที่สามารถบอกได้เลยว่า อังกฤษและสหรัฐนั้น ได้บรรลุ "ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์" ในปี ค.ศ.อะไร เช่นอังกฤษเพิ่งบรรลุเมื่อ 1928 เพราะยอมให้ผู้หญิงมีสิทธิทางการเมืองเท่าเทียมกับผู้ชาย ส่วนสหรัฐเมื่อทศวรรษ 1960 เมื่อยอมรับสิทธิอันเท่าเทียมของคนผิวสี

แล้วมัน "สมบูรณ์" จริงหรือครับ ลองถามคนดำและคนขาวจำนวนมากในเมืองเฟอร์กูสัน มิสซูรีในตอนนี้ พวกเขาคงโวยวายว่าไม่จริง ถึงต้องออกมาประท้วงในท้องถนน ไม่กี่ปีที่ผ่านมา มีคนจำนวนมากในสหรัฐออกมา "ยึด" หรือ occupy โน่นนี่เต็มไปหมดหลายเมือง ด้วยข้ออ้างถึงความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจสุดขั้วในสังคมตนเอง การหลั่งไหลของชาวมุสลิมเข้าไปตั้งหลักแหล่งภูมิลำเนาในยุโรปตะวันตก เผยให้เห็นอคติต่อชาติพันธุ์และศาสนาของคนในระบอบ "ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์" ทั่วไปในเกือบทุกประเทศ รวมทั้งอังกฤษด้วย

ไม่มีหรอกครับ ประชาธิปไตย "ที่สมบูรณ์" ในโลกนี้ เราอาจนิยามประชาธิปไตยด้วยอุดมคติ เช่น ใช้คำขวัญของการปฏิวัติฝรั่งเศส-เสรีภาพ เสมอภาพ และภราดรภาพก็ได้ หรือของลิงคอล์น-รัฐบาลของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชนก็ได้ หรือของนิธิ-อำนาจต่อรองที่เท่าเทียมกันของทุกคนและทุกกลุ่มในทุกเรื่อง แต่นี่เป็นอุดมคติเท่านั้น ประชาธิปไตยไม่ได้ทำงานด้วยอุดมคติ หากทำงานด้วย "สำนึก" ครับ โดยเฉพาะสำนึกของประชาชนทั่วไป ขึ้นชื่อว่าสำนึกก็ไม่อยู่คงที่แน่นอน บางสำนึกก็หลุดหายไปหรือได้รับความสำคัญน้อยลง บางสำนึกก็เกิดขึ้นใหม่เนื่องจากสังคมแปรเปลี่ยนไปตลอด แต่สำนึกใหม่เหล่านี้มักถูกบิดเบือน ขวางกั้น หรือทำลายโดยผู้มีประโยชน์ปลูกฝัง (vested interest) อยู่เสมอ

ยกตัวอย่างสิทธิสตรีก็ได้นะครับ ในการปฏิวัติฝรั่งเศสนั้น ผู้หญิงมีบทบาทอย่างมาก โดยเฉพาะเมียพ่อค้าและแม่บ้านชนชั้นแรงงานซึ่งต้องซื้อขนมปังในราคาแพงขึ้นตลอด พากันออกมาก่อจลาจลต่างๆ ในปารีสเพื่อประท้วงผู้ปกครอง (ทั้งพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 และผู้นำการปฏิวัติในเวลาต่อมา) ผมไม่ทราบว่าเมื่อผู้นำปฏิวัติพูดถึงเสมอภาพ เขาคิดถึงผู้หญิงหรือไม่ แต่สิทธิทางการเมืองของผู้หญิงก็ถูกจำกัดมาตั้งแต่ระยะแรกๆ และอาจเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามจะจำกัดอำนาจทางการเมืองของมวลชนด้วย

หลังจากผู้หญิงได้สิทธิเท่าเทียมทางการเมืองในครึ่งแรกของศตวรรษที่ 20 ในประเทศประชาธิปไตยทั่วไปแล้ว ผู้หญิงก็หาได้รับความเสมอภาพเหมือนผู้ชายในทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมไม่ ผู้หญิงก็ไม่รู้สึกอะไรจนกระทั่งสำนึกใหม่มาเกิดขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่สอง จึงเกิดการเคลื่อนไหวใหม่ที่จะเรียกร้องสิทธิเท่าเทียมแก่ผู้หญิงในมิติอื่นๆ ด้วย จนถึงทุกวันนี้ความเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิสตรีก็หาได้ยุติลง เพราะยังเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญของ "สำนึก" ของผู้คน ไม่ว่าหญิงหรือชาย

สำนึกใหม่เกิดขึ้นได้เสมอ โดยเฉพาะเกิดพร้อมกับอัตลักษณ์ใหม่ ซึ่งก็เป็น "สำนึก" อีกชนิดหนึ่ง เช่น เพศที่สามไม่เคยมีอัตลักษณ์ที่ชัดเจนของตนเอง แต่เมื่อเกิดสำนึกใหม่ถึงตัวตนที่มีอยู่จริงของเพศที่สาม ปลดเปลื้อง "ตราบาป" ต่างๆ ออกไปได้แล้ว ก็เกิดอัตลักษณ์ใหม่ที่ทำให้ต่างจากผู้หญิงหรือผู้ชาย เกิดอัตลักษณ์ใหม่ก็ทำให้คิดถึงสิทธิเสมอภาพของตนเองได้ กลายเป็นการเคลื่อนไหวระดับโลกเพื่อเรียกร้องสิทธิเสมอภาพของเพศที่สาม

สำนึกใหม่และอัตลักษณ์ใหม่เป็นอนิจจังครับ เกิดดับได้ไม่สิ้นสุด ด้วยเหตุดังนั้นประชาธิปไตยจึงไม่เคย "สมบูรณ์" สักที และเพราะไปคิดถึงความสมบูรณ์ที่หยุดนิ่งเช่นนี้แหละครับ ที่ทำให้สลิ่มไทยจำนวนไม่น้อยไม่เข้าใจ "สำนึก" ที่เปลี่ยนไปแล้วของมวลชนระดับล่าง ปรารถนาให้คนเหล่านั้นไม่ใส่ใจการเมืองระดับชาติเหมือนเดิม เลือกผู้แทนมาอย่างเบี้ยหัวแตก เพื่อให้สลิ่มสามารถจัดตั้งและควบคุมรัฐบาลได้เหมือนเดิม



เราจึงอาจมองรัฐประหารได้สองอย่าง หนึ่งคือมองอย่างคุณอานันท์ว่า เพราะประชาธิปไตยไทยไม่ "สมบูรณ์" จึงต้องใช้อำนาจนอกระบบมาทำให้ "สมบูรณ์" หรือมองแบบผมก็คือประชาธิปไตยไทยในระยะนี้ มีพลวัตที่แรงและเร็วเกินปัญญาและประสบการณ์ของชนชั้นนำจะปรับตัวได้ จึงต้องใช้อำนาจนอกระบบมาหยุดพลวัตของประชาธิปไตยไว้ที่กรอบแคบๆ ตามเดิม

อีกเรื่องหนึ่งที่คุณอานันท์พูดถึงคือ "ทฤษฎีฝรั่ง" ที่คนไทยมักนิยมยกย่องจนเหมือนเห็นฝรั่งเป็นพ่อเป็นแม่ (ความโดยนัยยะ ไม่ใช่คำพูดคำต่อคำ) แต่ตั้งแต่เกิดจนบัดนี้ ผมยังไม่เคยเห็นใครโต้เถียงกับ "ทฤษฎีฝรั่ง" เท่าฝรั่ง หากผมเห็นด้วยกับฝรั่งที่โต้แย้งทฤษฎีฝรั่งที่คุณอานันท์ไม่ชอบ ผมยังเห็นฝรั่งเป็นพ่อเป็นแม่อยู่หรือไม่ โดยสรุปก็คือความเห็นอันไร้สาระเช่นนี้ไม่ได้เป็นของคุณอานันท์คนเดียว แต่เป็นของผู้มีการศึกษาไทยอีกมาก รวมทั้งนายพลที่ทำรัฐประหารด้วย

ที่เรียกว่า "ทฤษฎี" คืออะไร พูดให้เข้าใจง่ายๆ คือ "มุมมอง" นั่นเอง ไม่ว่าเราจะศึกษาอะไรก็ตาม เราต้องมี "มุมมอง" อย่างใดอย่างหนึ่งเสมอ อาจโดยไม่รู้ตัวอย่างที่คนไทยทั่วไปมักไม่รู้ตัว เพราะปราศจากมุมที่จะมองเลย ก็ไม่เห็นอะไร สิ่งที่เราศึกษานั้น มองจากมุมนี้ก็มีลักษณะอย่างหนึ่ง มองจากอีกมุมหนึ่งก็มีลักษณะอีกอย่างหนึ่ง มุมที่จะมองจึงมีความสำคัญอย่างมาก

มุมที่จะมองสิ่งหนึ่งสิ่งใดนั้น เป็นมุมที่นำไปมองอะไรอื่นด้วยมุมเดียวกันได้อีกมาก เช่น ทฤษฎีแรงโน้มถ่วง อาจใช้มองเทหวัตถุอื่นๆ ได้ทั้งจักรวาล ไม่จำกัดเฉพาะลูกแอปเปิลและดวงจันทร์เท่านั้น แต่ "มุมมอง" นี้ก็มีข้อจำกัดซึ่งการค้นพบในสมัยหลังชี้ให้เห็น เช่น ที่ไม่ใช่เทหวัตถุก็อาจตกอยู่ใต้อำนาจของแรงโน้มถ่วงได้เช่นแสง เป็นต้น การเคลื่อนที่ของเทหวัตถุที่เล็กมากๆ เช่น อะตอมหรือในนิวเคลียสของอะตอม ก็เคลื่อนที่ด้วยแรงแม่เหล็กไฟฟ้าและแรงนิวเคลียร์ ทฤษฎีหรือมุมมองของฝรั่งคนแรกจึงมีข้อจำกัด กล่าวคือใช้มองบางอย่างได้ แต่มองบางอย่างไม่ได้ (นี่ก็พ่อแม่ฝรั่งเป็นคนชี้ให้เห็นอีก)


แต่น่าประหลาดที่คนไทยผู้มีการศึกษาจำนวนมากมักไม่คิดว่าทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์ก็เป็นมุมมองอย่างหนึ่ง ไม่ต่างจากทฤษฎีทางสังคมศาสตร์ จึงสามารถรับทฤษฎีวิทยาศาสตร์ได้โดยไม่ต้องเกรงว่าพ่อแม่ของตนจะเปลี่ยนสัญชาติไป วิทยาศาสตร์โชคดีกว่าสังคมศาสตร์ตรงที่ว่า ปรากฏการณ์ทางธรรมชาติมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันทั้งโลก (หรือทั้งเอกภพ?) ในขณะที่ปรากฏการณ์ทางสังคมแปรผันไปตามแต่ละสังคมและยุคสมัย แต่ก็ไม่ต่างอะไรจากการสร้างทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์ นักสังคมศาสตร์รวบรวมข้อเท็จจริงจากสังคมต่างๆ จำนวนมาก เพื่อ "สังเกตการณ์" ว่าในประเด็นที่เขาสนใจนั้นมีอะไรที่เหมือนกัน และมีอะไรที่ต่างกัน แล้วค้นหาพลัง (หรือบางคนเรียกว่า "กฎ") ที่กำกับควบคุมให้ปรากฏการณ์กลุ่มนั้นๆ เหมือนกันหรือต่างกัน แล้วจึงเสนอมุมมองใหม่ที่ทำให้สามารถใช้เป็นมุมสำหรับมองปรากฏการณ์กลุ่มนี้ในสังคมทั่วๆ ไปได้ มีอำนาจอธิบายเพิ่มขึ้น และมีอำนาจพยากรณ์ได้ระดับหนึ่ง แม้ไม่แม่นยำเหมือนทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์ ทฤษฎีก็มีความหมายเพียงเท่านี้ ไม่ใช่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่หากใครนับถือแล้วจะต้องเสียผู้เสียคนไป

ไม่ปฏิเสธว่า ทฤษฎีทางสังคมศาสตร์ของฝรั่งนั้น มักสำรวจจากสังคมฝรั่งเสียเป็นส่วนใหญ่ (ปัจจุบัน เนื่องจากฝรั่งหันมาสนใจสังคมที่ไม่ใช่ฝรั่งมากขึ้น ทฤษฎีรุ่นใหม่จึงอาจเป็นผลจากการสำรวจที่กว้างขวางกว่าเก่า) ดังนั้น เมื่อนำมาใช้อธิบายสังคมที่ไม่ใช่ฝรั่งก็อาจมีปัญหา ผมได้ยินเสียงบ่นอย่างนี้มาหลายสิบปีแล้ว แต่ไม่เคยเห็นนักวิชาการไทยชี้ให้ชัดว่า ปัญหาที่ว่านั้นคืออะไรและอยู่ตรงไหน เพราะเอาเข้าจริง นักวิชาการไทยก็มีความรู้ในเชิงประจักษ์กับสังคมตัวเองไม่มากนัก จึงมองเห็นได้ไม่ชัดว่า มันมีข้อยกเว้นในทฤษฎีฝรั่งอะไรบ้างเมื่อนำมาอธิบายสังคมไทย

ดังนั้น เมื่อเอาทฤษฎีประชาธิปไตยมาอธิบายการเมืองไทย ปัญญาญาณของไทยจึงมีแต่กุดๆ แค่ว่าไม่เหมาะกับสังคมไทย เพราะเป็นทฤษฎีฝรั่งเท่านั้น สังคมฝรั่งกับไทยไม่เหมือนกัน เขามีเวลาปรับตัวนานกว่าเราเป็นศตวรรษ บล่ะๆๆๆ กลวงๆ ไปอย่างนั้น

คนไทยจึงถูกสาปให้ยืนอยู่กับที่ ไปไหนไม่ได้ เพราะปัญญาญาณของชนชั้นนำไทยและนักวิชาการไทยกุดอยู่ที่ปลายจมูก หากจะแหลมออกมาบ้างก็เป็นแค่นกหวีด



เรื่องสุดท้ายที่ผมอยากพูดถึงคือเลือกตั้ง ได้ยินกันมานานแล้วว่าประชาธิปไตยไม่ได้หมายถึงการเลือกตั้งเพียงอย่างเดียว บางคนก็พูดเลยไปถึงว่าประชาธิปไตยไม่ใช่การเลือกตั้งไปโน่นเลย ความหมายก็คือเราอาจเป็นประชาธิปไตยโดยไม่ต้องเลือกตั้งก็ได้ อย่างที่นักปราชญ์ไทยชอบยกรัชสมัยที่เชื่อกันว่า "ดี" บางรัชสมัย (เช่นรัชกาลพระเจ้ารามคำแหง) ว่านั่นก็เป็นประชาธิปไตย โดยไม่ต้องมีการเลือกตั้งเลย

แต่ในปัจจุบัน มีใครหรือครับที่เชื่อว่าการเลือกตั้งคือประชาธิปไตย แม้แต่คนเสื้อแดงก็ไม่ได้พูดอย่างนั้น รัฐบาลที่ตั้งขึ้นในค่ายทหารต่างหากที่ยืนยันว่าตัวมาจากการเลือกตั้ง และได้รับเสียงสนับสนุนจากสภา จึงมีความชอบธรรมเป็นรัฐบาลในระบอบประชาธิปไตย คนเสื้อแดงเองเสียอีกที่บอกว่า การเลือกตั้งและเสียงสนับสนุนภายใต้เงื่อนไขที่กองทัพแทรกแซงเช่นนั้น ไม่สามารถให้ความชอบธรรมทางการเมืองของประชาธิปไตยได้

แม้กระนั้น การเลือกตั้งก็เป็นกลไกที่ขาดไม่ได้ของประชาธิปไตย เพราะเป็นกลไกที่ให้อำนาจประชาชนในการกำกับควบคุมฝ่ายบริหาร ก็จริงแหละครับว่า จะกำกับควบคุมอย่างมีประสิทธิภาพจริง ยังต้องมีกลไกอื่นๆ อีกด้วย เช่น สื่อที่ทำงานอย่างเที่ยงตรงตามอาชีวปฏิญาณของตนเอง ความรู้ที่ทำให้เท่าทันอำนาจทางการเมืองทุกฝ่าย (แม้แต่ฝ่ายที่ไม่ได้เปิดหน้าเล่นการเมือง) ความรู้ที่จะทำให้มองเห็นประโยชน์ตนและประโยชน์ท่านในระยะสั้นและระยะยาว พื้นที่สาธารณะหลายรูปแบบที่เปิดให้คนต่างกลุ่มสามารถแสดงตัวตนของตัว รวมทั้งถูกคนอื่นตรวจสอบได้อย่างเท่าเทียมกัน ฯลฯ ถ้ากลไกอื่นเหล่านี้มีคุณภาพ ก็ยิ่งทำให้กลไกการเลือกตั้งมีประสิทธิภาพมากขึ้นไปอีก แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าเมื่อกลไกอื่นยังไม่พร้อม จึงต้องระงับการเลือกตั้งไว้ก่อน เพราะยิ่งระงับการเลือกตั้ง กลไกอื่นก็ยิ่งไม่พัฒนาขึ้นมาให้พร้อมสักที

ทำไมหรือครับ ก็เพราะกลไกเหล่านี้ทำงานร่วมกัน ยิ่งเลือกตั้งดำเนินไปได้อย่างมั่นคงสม่ำเสมอ กลไกอื่นก็ยิ่งพัฒนาขึ้น เช่น พื้นที่การต่อรองที่เท่าเทียมกัน ซึ่งมีลักษณะหลากหลายมากขึ้น จึงเปิดให้แก่คนที่มีปูมหลังต่างกันเข้าถึงได้ทั่วหน้ากว่าเดิม พื้นที่เช่นนี้มีมากขึ้นก็ทำให้คนใช้วิจารณญาณได้กว้างไกลขึ้นในการลงบัตรเลือกตั้ง อย่ามองอะไรเป็นขั้วตรงข้ามที่ไม่สัมพันธ์กันเลย ทั้งสองขั้วเป็นกระบวนการเดียวกัน เมื่อรัฐประหารขั้วใดขั้วหนึ่งไปแล้ว อีกขั้วหนึ่งก็เหี่ยวเฉาไปเอง กลายเป็นความสงบแห่งชาติอย่างที่เราเผชิญอยู่ในปัจจุบัน

ในเชิงรูปธรรม หากการเลือกตั้งหลังรัฐบาลยิ่งลักษณ์ยุบสภาสามารถดำเนินไปได้เป็นปรกติ แม้จะถูกบอยคอตจากพรรคฝ่ายค้านบางพรรค สังคมไทยและพรรคฝ่ายค้านบางพรรคก็จะเริ่มเรียนรู้ว่า หนทางเอาชนะทางการเมืองนั้น ไม่มีวิถีทางอื่นนอกจากแสวงหาความสนับสนุนจากประชาชน (อย่างฉลาด) ย่อมจำเป็นอยู่เองที่ต้องหันกลับมาเล่นการเมืองอย่างสร้างสรรค์ เลิกโยนเก้าอี้ในสภา หรือเลิกขว้างสิ่งของใส่ประธาน เข้าร่วมในพื้นที่สาธารณะที่ปลอดความรุนแรงทุกรูปแบบ เพื่อเสนอความเห็นและการติติงที่สร้างสรรค์แก่สังคม คนไทยก็จะมองเห็นทางเลือกของนโยบายสาธารณะได้อีกหลายแบบ

คุณอานันท์คิดว่า ถ้าเป็นเช่นนี้ ประชาธิปไตยไทยจะเข้มแข็งขึ้นหรืออ่อนแอลง ทั้งๆ ที่ "ความพร้อม" อีกหลายด้านของสังคมไทยในการเป็นประชาธิปไตยยังไม่มีหรือยังไม่พัฒนาไปไกลพอ



.

2557-08-25

งานศพผิดวัดครั้งใหม่ (1) โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์

.

นิธิ เอียวศรีวงศ์ : งานศพผิดวัดครั้งใหม่ (1)
ใน www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1408953644 
. . วันจันทร์ที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2557 เวลา 19:10:05 น.
( ที่มา: นสพ.มติชนรายวัน 25 สิงหาคม 2557 )


ผมไม่คิดว่าคำสนทนาของท่านนายกรัฐมนตรีนอกตำแหน่งอานันท์ปันยารชุนกับคุณภิญโญ ไตรสุริยธรรมา ควรค่าแก่การวิจารณ์ตอบโต้ เพราะคำพูดที่ขัดแย้งกันเองแต่ต้นจนปลายเช่นนั้นไม่มีสาระที่ควรได้รับความใส่ใจจากใคร อย่างไรก็ตาม ความเห็นที่เป็นพื้นฐานความคิดของข้อถกเถียงไร้สาระนั้นกลับน่าสนใจกว่า เพราะเป็นวิธีคิดพื้นฐานที่อยู่ปลายจมูกของคนไทยจำนวนหนึ่งมานานแล้ว และผมอยากตอบโต้วิธีคิดพื้นฐานเหล่านั้น จึงขอยกเอาคำกล่าวของคุณอานันท์มาเป็นจุดเชื่อมไปสู่วิธีคิดพื้นฐานดังกล่าว เพราะเป็นวิธีคิดที่ไม่ไกลไปกว่าปลายจมูกเหมือนกัน หากการเขียนทำให้เข้าใจผิดว่าล่วงเกินคุณอานันท์เป็นการส่วนตัว ก็ขออภัยไว้ด้วย เจตนามิได้เป็นเช่นนั้น

คุณอานันท์แสดงความฉงนว่าคนไทยรักฝรั่งเสียเหลือเกิน ทั้งๆ ที่ "ฝรั่งไม่ใช่พ่อใช่แม่" ของเรา ยังไม่ทันขาดคำดีคุณอานันท์ก็ยกความเห็นของศาสตราจารย์มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดท่านหนึ่ง ซึ่งเขียนบทความซึ่งคุณอานันท์เชื่อว่านักการเมืองฝรั่งไม่เคยอ่าน ฝรั่งคนนั้นคิดว่าการรัฐประหารมีทั้งดีและเลว เกณฑ์สำหรับใช้วัดก็คือ หากรัฐประหารเพื่อทำให้ประชาธิปไตยเจริญเติบโตขึ้นก็ถือว่าดี หากเป็นการรัฐประหารที่ทำลายประชาธิปไตยก็ถือว่าไม่ดี แล้วท่านก็ยกตัวอย่างรัฐประหารที่ดีคือในกรณีของโปรตุเกศ, กรีก, และตุรกี กับอีกเกณฑ์หนึ่งคือ รัฐประหารแล้วกลับสู่ประชาธิปไตยได้เร็วช้าเพียงไร

ด้วยความอนุเคราะห์ของเพื่อนนักรัฐศาสตร์สองท่าน (อาจารย์เวียงรัตน์ เนติโพธิ์ และ อาจารย์ประจักษ์ ก้องกีรติ) จึงทำให้สามารถหมายได้ว่าข้อเขียนฝรั่งที่คุณอานันท์อ้างถึงนั้นคือ Ozan O. Varol, "The Democratic Coup d Etat," ในวารสาร Harvard International Law Journal, 53/2, 2012 ผู้เขียนไม่ได้เป็นศาสตราจารย์ฮาร์วาร์ด แต่เป็นรองศาสตราจารย์ที่วิทยาลัยกฎหมายแห่งหนึ่งในชิคาโก (ที่พูดนี่เป็นเรื่องของข้อเท็จจริง มิได้หมายความว่าศาสตราจารย์ฮาร์วาร์ดเท่านั้นที่พูดอะไรไม่เคยผิด)

ผมไม่แน่ใจว่าคุณอานันท์ได้อ่านบทความนี้เองหรือไม่ หรือได้อ่านละเอียดหรือไม่ การรัฐประหารที่ผู้เขียนเห็นว่าเป็นการรัฐประหารเชิงประชาธิปไตยนั้นต้องประกอบด้วยคุณสมบัติ 7 ประการ เช่น ต้องล้มล้างระบอบเผด็จการ, ตอบสนองต่อเสียงคัดค้านต่อต้านรัฐบาลนั้น, ผู้นำของระบอบเผด็จการปฏิเสธที่จะลงจากอำนาจ, กองทัพได้รับความเคารพนับถือจากประชาชน ฯลฯ

ถ้าคุณอานันท์ได้อ่านอย่างละเอียดพอสมควร ก็หมายความว่า คุณอานันท์เชื่อตามที่กลุ่ม กปปส.อ้างว่า รัฐบาลคุณยิ่งลักษณ์เป็นรัฐบาลเผด็จการ ไม่ได้รับการต้อนรับจากประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ ปฏิเสธที่จะลงจากตำแหน่งแม้ได้ประกาศยุบสภาไปแล้ว เพียงเท่านี้ก็ทำให้วิจารณญาณด้านการเมืองของคุณอานันท์เป็นที่พึงระแวงสงสัยอย่างยิ่ง ว่ายังมีความเที่ยงธรรมอยู่หรือไม่


อันที่จริงนาย Varol ยังอ้างงานศึกษาเชิงประจักษ์ว่า นับตั้งแต่หลังสงครามเย็นเป็นต้นมา 74% ของการรัฐประหารในโลกล้วนตามมาด้วยการเลือกตั้งทั้งสิ้น แต่สถิติเชิงประจักษ์ไม่มีความหมายอะไร ยิ่งมาอยู่ในมือของนักวิชาการที่มองอะไรเลยจมูกไปไม่ได้ไกลอย่างนาย Varol เพราะเขาแยกการรัฐประหารโดยกองทัพที่เขาศึกษาให้หลุดออกไปจากบริบททางสังคมทั้งหมด จึงมองไม่เห็นว่ามีพลังทางเศรษฐกิจและสังคมที่กำกับการรัฐประหารอยู่เบื้องหลัง ทำให้การรัฐประหารบางครั้งถูกเขานิยามได้ว่าเป็นประชาธิปไตย และบางครั้งไม่เป็นประชาธิปไตย

การรัฐประหารสามกรณีที่เขาพูดถึงคือโปรตุเกส, กรีก และอียิปต์นั้น ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะทหารนั่งคิดกันเหนือขวดเหล้าในค่ายทหารว่า ยึดอำนาจเผด็จการเสียทีเถิดวะ แล้วนำประเทศไปสู่ประชาธิปไตย แต่มันมีเงื่อนไขทางเศรษฐกิจและสังคมในสามประเทศนั้น อันเกิดขึ้นจากความเปลี่ยนแปลงของโลกที่ทำให้เผด็จการไม่อาจครองอำนาจอยู่ต่อไป โดยไม่ยอมปรับเปลี่ยนโครงสร้างอำนาจได้ กองทัพ "เลือก" ที่จะเข้าข้างประชาชนในจังหวะที่ไม่เหลือทางเลือกมากนักต่างหาก นาย Varol ไม่ได้สนใจเงื่อนไขทางเศรษฐกิจ-สังคมเหล่านี้เลย หากสนใจศึกษาการเมืองที่พิจารณาบริบทอย่างรอบด้าน ก็ควรอ่าน Samuel Huntington, The Third Wave, Democratization in the Late Twentieth Century ศาสตราจารย์ฮาร์วาร์ดตัวจริงคนนี้ ตั้งข้อสังเกตกับปรากฏการณ์ระดับโลกว่า ในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 20 ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดในด้านต่างๆ ระดับโลกนั้น ทำให้ระบบเก่า (ในหลายๆ รูปแบบ และรวมเผด็จการทหารด้วย) ล้าสมัย หรือไม่อาจตอบสนองต่อความเปลี่ยนแปลงนั้นได้ จึงเกิดคลื่นลูกที่สามซึ่งมีพลังผลักประชาธิปไตยให้ขยายไปยังประเทศต่างๆ ทั่วไป ไม่เฉพาะในยุโรป มีอีกส่วนหนึ่งที่ Huntington ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับดินแดนนอกยุโรปด้วย (เช่น 14 ตุลาในประเทศไทย)

คุณอานันท์พูดเองในตอนท้ายของการสนทนาว่า ประชาธิปไตยไม่ได้มีความหมายแต่การเลือกตั้ง ยังมีค่านิยมและอื่นๆ ของสังคมและนักการเมืองเกี่ยวข้องกับความเป็นประชาธิปไตยอยู่ด้วย แล้วการรัฐประหารล่ะครับ ถ้าคิดให้เลยจมูกออกไปเหมือนประชาธิปไตย มีแต่กองทัพอย่างเดียวได้หรือ


นาย Varol ไม่ปฏิเสธว่า เมื่อกองทัพยึดอำนาจด้วยข้ออ้างประชาธิปไตยได้แล้ว ก็มักจะร่างรัฐธรรมนูญที่แฝงฝังอำนาจ, ผลประโยชน์, และบทบาทของกองทัพไว้ในระบบปกครองใหม่ (แต่คุณอานันท์ไม่ได้พูดถึงเรื่องนี้เลย) ปัญหามาอยู่ที่ว่าประชาธิปไตยที่ปลอดจากอำนาจอันไม่ต้องรับผิดชอบต่อประชาชนเช่นนี้จะหมดไปได้อย่างไร นาย Varol ไม่ได้กล่าวถึง เพียงแต่แจกแจงวิธีแฝงฝังอำนาจกองทัพไว้ในรัฐธรรมนูญว่ามีกี่ชนิดเท่านั้น เรื่องนี้ก็ยิ่งชัดเจนขึ้นไปใหญ่ว่า พัฒนาการของประชาธิปไตยที่มาจากการรัฐประหารนั้น จะก้าวหน้าต่อไปได้หรือไม่เพียงไร ไม่ได้ขึ้นกับการตัดสินใจของกองทัพ เพราะมีปัจจัยทางเศรษฐกิจ-สังคมที่มีพลังมากกว่าเหล่านายพลเป็นผู้กำหนด

ตัวอย่างใกล้ตัวก็ได้ เมื่อพลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ปฏิเสธที่จะรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อไป เพราะตัวท่านเองคงมองเห็นความเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจ-สังคมที่เกิดขึ้นว่า รูปแบบการครองอำนาจของกองทัพผ่านตัวท่านนั้น ล้าสมัยไปแล้ว ในส่วนกองทัพขณะนั้นหาได้มีปัญญาญาณที่จะเห็นอย่างนั้นได้ จึงเป็นเหตุให้เกิดรัฐประหาร รสช.ซึ่งต้องจบลงอย่างนองเลือดและน่าอับอายแก่กองทัพ



วิจารณญาณทางการเมืองอันน่าแคลงใจของคุณอานันท์วินิจฉัยว่ารัฐบาลเผด็จการทหารของโปรตุเกส,กรีกและอียิปต์ ไม่ต่างจากรัฐบาลยิ่งลักษณ์ซึ่งมาจากการเลือกตั้ง ดังนั้น คุณอานันท์จึงยืนยันในตอนท้ายการสนทนาว่า การรัฐประหารของกองทัพในครั้งนี้เป็นแค่ปลายเหตุ ต้นเหตุคือความไม่โปร่งใส, ไร้ประสิทธิภาพ, และความวุ่นวายเป็นจลาจลภายใต้รัฐบาลยิ่งลักษณ์ต่างหาก ความแตกต่างระหว่างรัฐบาลเผด็จการทหารกับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในทรรศนะของคุณอานันท์ ไม่ได้อยู่ที่สิทธิเสรีภาพของพลเมือง (ขนาดปล่อยให้ประท้วงระดับจลาจลในท้องถนนได้) ไม่ได้อยู่ที่การยอมอยู่ใต้การตรวจสอบขององค์กรตามรัฐธรรมนูญ นับตั้งแต่รัฐสภามาจนถึงองค์กรอิสระ และไม่ได้อยู่ที่การยอมลงจากอำนาจเมื่อต้องเผชิญการประท้วงขนาดใหญ่ แต่อยู่ที่ไหนไม่มีใครทราบ นอกจากวินิจฉัยส่วนตัวของคุณอานันท์เองในฐานะ "ผู้ใหญ่" เท่านั้น เกณฑ์การวินิจฉัยของ "ผู้ใหญ่" ไม่จำเป็นต้องตั้งอยู่บนเหตุผลและข้อเท็จจริง ซึ่งทำให้คนอื่นสามารถตรวจสอบหรือคัดค้านได้ ระบบนี้แหละครับที่พวกเสื้อแดงเรียกว่า "อำมาตยาธิปไตย" อันเป็นระบบที่มีอยู่จริงในเมืองไทยอย่างปฏิเสธไม่ได้ ครอบงำความคิดของผู้ใหญ่จนมองไม่เห็นว่ามันมีอยู่ เพราะไม่เคยรู้สึกตัวได้ถึงขนาดนี้ (แต่ก็น่ายินดีที่บัดนี้มันครอบงำได้แต่เฉพาะ "ผู้ใหญ่" เท่านั้น)

ท่าทีในทำนองวินิจฉัยของ "ผู้ใหญ่" ปรากฏในเรื่องอื่นๆ ของการสนทนาอยู่อีกมาก และหนึ่งในนั้นที่คุณอานันท์พูดย้ำอยู่เสมอก็คือ "โลกของความเป็นจริง" ฟังดูเหมือนเป็นประสบการณ์ของ "ผู้ใหญ่" เท่านั้นที่อาจมองเห็นได้ แต่มันคืออะไรหรือครับ ท่ามกลาง "มายา" และ "มายาคติ" ที่ครอบงำมนุษย์อยู่อย่างหนาแน่นนี้ มีใครที่ไม่ใช่ศาสดาของศาสนาใดสามารถอ้างได้เต็มปากว่า เขาได้ฟันฝ่าออกไปพบ "โลกของความเป็นจริง" ได้แล้ว หากคิดง่ายๆ เพียงว่า "โลกของความเป็นจริง" คือตรงกลางระหว่างสุดขั้วของสิ่งที่ปฏิบัติได้ (practicality) กับอุดมคติ (ideal) จุดตรงกลางที่เป็นไปได้ที่สุดก็ไม่ใช่สิ่งที่หาพบได้ง่ายๆ โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับมนุษย์และสังคม และจากประสบการณ์ในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ มีคนทั้งที่เป็นปัจเจกและสังคม ได้บรรลุสิ่งที่เคยถือว่าเป็นอุดมคติ ไม่สามารถปฏิบัติได้จริงมาแล้ว ตัวอย่างใกล้ตัวก็เช่นพระพุทธเจ้า และระบอบประชาธิปไตยเป็นต้น



ประชาธิปไตยเป็นอุดมคติอย่างหนึ่ง ซึ่งตั้งอยู่บนการประเมินศักยภาพของมนุษย์ไว้สูง แต่มันก็ปฏิบัติได้จริงในหลายสังคม เผด็จการก็เป็นอุดมคติอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งประเมินศักยภาพของมนุษย์ไว้ต่ำเกือบเท่าสัตว์ แต่มันก็ปฏิบัติได้จริงเป็นบางครั้งในบางสังคม เพราะอะไร เป็นเรื่องที่ต้องศึกษาและอธิบายกันอย่างสลับซับซ้อน อันไม่อาจทดแทนได้ด้วยบัญญัติของ "ผู้ใหญ่" ว่าด้วย "โลกของความเป็นจริง"

ผมไม่ทราบว่าคุณอานันท์ประเมินศักยภาพของคนไทยไว้แค่ไหน แต่ก่อนจะประกาศการค้นพบ "โลกของความเป็นจริง" จำเป็นต้องวิเคราะห์ศักยภาพของคนไทยและสังคมไทยให้แตกเสียก่อน เพราะ "โลกของความเป็นจริง" ของคุณอานันท์อาจไม่ตรงกับของคนอื่นก็ได้

คุณอานันท์กล่าวว่า ทหารไม่ได้อยากทำรัฐประหาร ที่ตัดสินใจทำก็เพราะมีความจำเป็นอย่างยิ่งยวด ด้วยเหตุดังนั้น ท่านจึง "เห็นใจ" (sympathize) ทหาร ผมไม่ทราบว่าท่านตั้งใจใช้คำนี้ หรือตั้งใจให้หมายถึง "เข้าใจ" (comprehend, understand) หากเป็นคำหลังผมก็เห็นด้วย และคิดว่านักวิชาการโดยทั่วไปก็เห็นด้วย อย่าว่าแต่ทหารที่ทำรัฐประหารเลย แม้แต่พระเทวทัต เราก็ควรทำความเข้าใจ-ต่อตัวท่าน และต่อเงื่อนไขทางการเมือง, เศรษฐกิจ, สังคม และวัฒนธรรม ที่แวดล้อมท่านอยู่-แต่เราคงไม่มีวัน "เห็นใจ" พระเทวทัต

แต่เพราะไป "เห็นใจ" เสียแล้ว จึงจำเป็นต้องให้ความชอบธรรมแก่การรัฐประหารด้วยประการต่างๆ เช่นการเมืองถึง "ทางตัน" โดยไม่ต้องรับรู้ว่า "ทางตัน" นั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร แม้มีการยุบสภาซึ่งเป็นทางออกอย่างหนึ่งที่ใช้กันเป็นปกติในระบอบประชาธิปไตย ทางออกนี้ก็ถูกขัดขวางด้วยวิธีรุนแรง และเหตุผลอื่นๆ ซึ่งฟังดูเหมือนคุณอานันท์เพิ่งกลับจากเคมบริดจ์เมื่อก่อนรัฐประหารเพียงวันเดียว แต่เหตุผลทั้งหมดเหล่านี้ หากเห็นด้วย ก็เท่ากับถือว่ากองทัพเป็นองค์กรทางการเมืองที่ตั้งอยู่นอกโลก จึงปราศจากความพัวพันเชิงอำนาจ, เชิงผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ, เชิงเกียรติยศ, เชิงเครือข่าย ทั้งที่เป็นของตนเองหรือกับใครในเมืองไทยเอาเลย

ต้องใช้ความไร้เดียงสาถึงเพียงไหน จึงอาจคิดได้ว่าใน "โลกของความเป็นจริง" มีกองทัพอย่างนี้อยู่จริงในประเทศใดประเทศหนึ่งของโลก



ผมไม่ปฏิเสธว่า การรัฐประหารเป็นวิธีการแก้ปัญหาอย่างหนึ่ง แต่เป็นวิธีการที่จำเป็นหรือไม่ ในสถานการณ์อย่างไรจึงจำเป็น และสถานการณ์อย่างไรที่ไม่จำเป็น ฯลฯ ทั้งหมดเหล่านี้เป็นเรื่องที่เถียงกันได้ ในขณะเดียวกันกระบวนการประชาธิปไตยก็เป็นวิธีการแก้ปัญหาอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งมีข้อดีและข้อจำกัดในตัวเองเหมือนกัน เป็นไปได้ในสถานการณ์ใดและเป็นไม่ได้ในสถานการณ์ใด ก็เป็นเรื่องที่เถียงกันได้เช่นกัน

ไม่ใช่เถียงกันหน้าดำหน้าแดงนะครับ แต่เถียงกันด้วยข้อมูลที่กว้างขวางและเหตุผล เพื่อประเมินเลือกว่าควรจะใช้วิธีการใดกันแน่ในการแก้ปัญหา ไม่เฉพาะแต่ปัญหาเฉพาะหน้าซึ่งต้องทำความเข้าใจให้กระจ่างเท่านั้น ยังต้องคิดเลยไปถึงผลข้างเคียง และผลกระทบระยะสั้นและระยะยาวข้างหน้าด้วย เช่นที่เชื่อว่าเป็นทาง "ตัน" ทางการเมืองนั้น รัฐประหารแล้วจะทำให้หายตันได้ หรือทำให้ความตันเปลี่ยนรูปไปเท่านั้น

ต้องใช้ความไร้เดียงสาถึงเพียงไหน จึงอาจคิดได้ว่ากองทัพได้นั่งลงเถียงกันในลักษณะนี้ ก่อนลงมือทำรัฐประหาร


..................................

(ต่อ) นิธิ เอียวศรีวงศ์ : งานศพผิดวัดครั้งใหม่ (2) อ่านที่  http://botkwamdee.blogspot.com/2014/09/n-x-taps2.html



.

2557-08-21

ขัอสังเกตคดี112หลัง รปห. โดย สมัคร รักธรรม

.

ขัอสังเกตคดี 112 หลังรัฐประหาร
โดย สมัคร รักธรรม
ใน http://prachatai3.info/journal/2014/08/55158
. . Thu, 2014-08-21 12:39

ภาพและเพลงจากเวบบอร์ด

www.youtube.com/watch?v=43AfTOYmuy8
บทเพลงของสามัญชน - Cover ประกาย+ไฟเย็น (เฉพาะกิจ)


ประชาไท รายงานเมื่อ 20 สค. 57 ว่า หลังการรัฐประหารมีผู้ถูกดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ทั้งหมด 15 คน อันที่จริง ยังมีผู้หลบหนีไม่รายงานตัวอีกจำนวนหนึ่ง ถ้ายึดตามรายงานของไทยรัฐ วันที่ 25 กค. 57 มีจำนวน 55 คน  ในจำนวนนั้นส่วนหนึ่งเป็นผู้ที่เคยถูกดำเนินคดี 112 มาก่อนแล้วแต่ได้รับการอภัยโทษแล้วหรือไม่ก็คดีสิ้นสุดแล้ว อีกส่วนหนึ่งคาดว่าอาจจะถูกดำเนินคดี 112 หากคนเหล่านี้มารายงานตัว ก็อาจจะทำให้จำนวนผู้ถูกดำเนินคดีเพิ่มขึ้นอีก


การดำเนินคดี 112 ในขณะนี้ยิ่งตอกย้ำให้เห็นถึงปัญหาของกฎหมายข้อนี้ที่คาราคาซังมาเนิ่นนานอยู่แล้วหลายประการด้วยกัน ดังนี้


หนึ่ง ผู้ถูกกล่าวหาส่วนใหญ่ไม่ได้รับการประกันตัว มีเพียงผู้มีชื่อเสียง 2 คนจาก 15 คน (ตามรายงานของประชาไท) เท่านั้นที่ได้รับการประกันตัว ทั้งนี้อาจเพราะเพื่อลดความกดดัน หากแต่ส่วนใหญ่เป็นคนที่ไม่มีชื่อเสียง ไม่เป็นที่รู้จัก หรือมีอาชีพที่ไม่มั่นคง จึงแทบไม่เป็นข่าว ไม่มีใครรับรู้ และไม่มีหลักประกันอย่างเป็นทางการ เช่น นักศึกษามหาวิทยาลัยต่างจังหวัด ผู้ประกอบอาชีพอิสระ เป็นเกษตรกร นี่สะท้อนความยุติธรรมที่วางอยู่บนความเหลื่อมล้ำของสังคม


สอง ผู้ถูกกล่าวหาส่วนใหญ่ถูกตีตราว่าเป็นคนผิด ก่อนที่จะมีการดำเนินคดี ข้อนี้เห็นได้ชัดจากกรณีของผู้ต้องหารายล่าสุด ที่ถูกปฏิเสธไม่ให้ประกันตัวเนื่องจาก "การกระทำความผิดของผู้ต้องหากับพวก..." ซึ่งเป็นเสมือนการตัดสินไปก่อนแล้วว่าผู้ต้องหา "กระทำความผิด" ทั้งๆ ที่ยังไม่ได้ดำเนินคดี นี่แสดงให้เห็นถึงทัศนคติของเจ้าหน้าที่รัฐ ที่ไม่ให้ความยุติธรรมกับผู้ต้องหาก่อนที่จะเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม


สาม มีแนวโน้มที่การดำเนินคดีจะไม่โปร่งใส และอาจจะไม่ได้รับความยุติธรรมยิ่งขึ้น เนื่องจากมีการประกาศใช้ศาลทหาร และผู้ถูกดำเนินคดีบางรายถูกดำเนินคดีโดยศาลทหาร ข้อนี้ยิ่งทำให้ผู้ถูกเรียกตัวจำนวนมากลังเลที่จะเข้ารายงานตัว


สี่ ถูกใช้เพื่อกลั่นแกล้งทางการเมือง แนวโน้มดังกล่าวสอดคล้องกับการดำเนินคดีที่ผ่านมา และในกรณีหลังการรัฐประหาร แนวโน้มนี้ยิ่งเด่นชัดขึ้นว่าผู้ถูกดำเนินคดีส่วนใหญ่ หรืออาจจะทั้งหมด ล้วนเป็นผู้เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวของฝ่ายการเมืองที่ขัดแย้งกับผู้มีอำนาจในปัจจุบัน หรือเป็นฝ่ายที่ต่อต้านอำนาจของคณะรัฐประหาร คณะรัฐประหารจึงใช้คดี 112 เพื่อหวังผลสืบเนื่องจากการดำเนินคดี กล่าวคือเพื่อลดการต่อต้านคณะรัฐประหาร ด้วยการข่มขู่ว่าจะดำเนินคดี 112



หากแนวโน้มยังคงเป็นเช่นนี้ การดำเนินคดีกับผู้ต้องหาคดี 112 ก็จะกลายเป็นเครื่องมือในการควบคุมทางการเมืองที่คนกลุ่มหนึ่ง ชนชั้นหนึ่ง ใช้อย่างลำเอียงต่อคนอีกกลุ่มหนึ่ง อีกชนชั้นหนึ่ง ตลอดจนสะท้อนปัญหาความยุติธรรม ความเหลื่อมล้ำของสังคม ปัญหาการกระบวนการยุติธรรมและทัศนคติของเจ้าหน้าที่รัฐ และเหนืออื่นใดคือ ปัญหาการลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนอยู่ต่อไป


























































































.

2557-08-18

การเมืองของคอร์รัปชั่น โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์

.

นิธิ เอียวศรีวงศ์ : การเมืองของคอร์รัปชั่น
ใน www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1408341608 
. . วันจันทร์ที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2557 เวลา 21:55:10 น.
( ที่มา: นสพ.มติชนรายวัน 18 สิงหาคม 2557 )


คอร์รัปชั่นเป็นวัฒนธรรมอย่างหนึ่ง แต่พูดอย่างนี้ทำให้งงและชวนให้แย้งโดยไม่ทันอ่าน จึงขอพูดใหม่ด้วยความหมายเดิมว่า คอร์รัปชั่นคือความสัมพันธ์ทางสังคมชนิดหนึ่ง

คนเรารู้จักสร้างเครือข่ายความสัมพันธ์กับคนอื่น เพื่อแสวงหาโภคทรัพย์, เกียรติยศ, อำนาจ และการยอมรับมาตั้งแต่สมัยหิน
ในปัจจุบัน เราอาจพูดว่าการสร้างเครือข่ายความสัมพันธ์นั้น พึงทำได้ก็ต่อเมื่อไม่นำเอาทรัพยากรสาธารณะไปใช้เพื่อประโยชน์ส่วนตัว แต่ต้องไม่ลืมด้วยว่า ความคิดที่ว่า มีทรัพยากรที่เป็นสาธารณะและที่เป็นส่วนตัวอย่างเด็ดขาดนั้น เป็นความคิดสมัยใหม่ เพิ่งเกิดขึ้นในโลกไม่นานมานี้เอง ก่อนหน้านี้ขึ้นไป ไม่มีเส้นแบ่งที่ตายตัวและชัดเจนนัก

พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ คอร์รัปชั่นตามความหมายที่ใช้ในปัจจุบัน เกิดขึ้นได้ก็เพราะเหตุสองอย่าง หนึ่งคือต้องยอมรับกันทั่วไป ว่ามีทรัพยากรที่เป็นสาธารณะและทรัพยากรที่เป็นส่วนตัว ซึ่งปะปนกันไม่ได้ และสอง ความสัมพันธ์ทางการเมืองที่ถูกต้องมีอยู่อย่างเดียว คือต้องตั้งอยู่บนฐานของหลักเหตุผลและกฎหมาย (rational and legal)


คอร์รัปชั่นได้รับความสนใจในสังคมไทยมาหลายปีแล้ว กลายเป็นข้อถกเถียงหลักอันหนึ่งระหว่างประชาธิปไตยที่มีการเลือกตั้ง และประชาธิปไตยที่ห้ามเลือกตั้ง หลังรัฐประหาร คอร์รัปชั่นยังเป็นประเด็นหลักอีกอันหนึ่งของสภาปฏิรูป
ประเทศไทยใหม่ที่ คสช.อ้างว่าจะสร้างขึ้น จะมีประชาธิปไตยหรือไม่ มีความสำคัญน้อยกว่าว่ามีคอร์รัปชั่นหรือไม่ ต้องไม่มีคอร์รัปชั่นเสียก่อน ถึงจะมีประชาธิปไตยได้


ผมคิดว่า นักต่อสู้คอร์รัปชั่นในประเทศไทย มีแนวโน้มที่จะมองคอร์รัปชั่นในเชิงศีลธรรมเพียงมิติเดียว จึงมักพบทางตันคือหาทางออกไม่เจอ นอกจากเปลี่ยนบุคลิกภาพของผู้คนทั้งหมด ซึ่งทำในความเป็นจริงไม่ได้ หรือชี้นิ้วประณามคนอื่น ครั้นตัวเองล้มเหลวก็มักหาทางรอนสิทธิคนอื่น เพราะเกรงว่าเขาจะคอร์รัปชั่น หรือสนับสนุนคอร์รัปชั่น
ผมไม่มีความรู้เกี่ยวกับการปราบคอร์รัปชั่นมากพอจะบอกได้ว่า มุมมองอย่างนี้เสียเปล่า เพราะจะไม่แก้ปัญหาอะไร จนไม่นานมานี้เพิ่งได้อ่านงานศึกษาของคุณ Marc Saxer เรื่อง Fighting corruption in transformation societies จึงออกประทับใจ ขอนำเอาบางส่วนบางตอนของเขามาเล่าในที่นี้ด้วยภาษาของผมเอง จึงอาจผิดพลาดจากที่คุณ Saxer ตั้งใจ เขาจึงไม่ควรรับผิดชอบอะไรกับบทความนี้


คอร์รัปชั่นเป็นสัญญาณของความเหลื่อมล้ำอย่างมากของสังคม ผมไม่ได้หมายความว่าคนจนจำนวนมากไม่มีกินจึงต้องโกง เพราะความจริงแล้วคนจนแทบไม่มีโอกาสโกงเลย ได้แต่เพียงพอใจจะรับประโยชน์โภชผลที่คนโกงมอบให้
คำถามก็คือคนโกงซึ่งไม่จนโกงทำไม คำตอบคงมีหลายอย่าง (รวมทั้งมิติทางศีลธรรมด้วย) แต่หนึ่งในหลายอย่างคือการแข่งขันกันแสวงหาอำนาจในสิ่งแวดล้อมทางสังคม ที่ไม่ได้ตั้งอยู่บนฐานของเหตุผลและกฎหมาย การแข่งขันจึงอยู่ที่การสร้างเครือข่ายความสัมพันธ์ทั้งระดับบนขึ้นไปและต่ำลงมาอย่างกว้างขวาง เพื่อใช้ต่อรองในการแสวงหาอำนาจ, ผลประโยชน์และเกียรติยศ

อำนาจที่แสวงหาไม่ได้หมายความถึงตำแหน่งทางการเมืองเพียงอย่างเดียว ศึกษาฯ จังหวัดช่วยฝากลูกญาติ, เพื่อน, ลูกน้อง ให้เข้าโรงเรียน ก็เป็นคอร์รัปชั่นอย่างหนึ่ง ในขณะเดียวกันก็เป็นการผดุงสถานะของตนในเครือข่ายด้วย เช่นเดียวกับนายตำรวจไปเอาใบขับขี่ที่ถูกยึดจากสถานีให้เพื่อนหรือเพื่อนของนายผู้อุปถัมภ์

นี่คือเหตุผลที่ "เจ้าพ่อ" มักได้รับความนิยมนับถือจากประชาชนในเขตอิทธิพลของตนอย่างสูง


ในแง่นี้คอร์รัปชั่นคือการกระจายทรัพยากรอย่างหนึ่ง เรียกในทางมานุษยวิทยาว่าaccumulativeredistributionคือรวบรวมทรัพย์ส่วนรวมไปกระจายแก่คนในเครือข่ายของตน ดังนั้น ในสังคมที่ขาดการยึดหลักเหตุผลและกฎหมาย เช่นสังคมสืบสถานะ (patrimonial society)ดังสังคมไทย คอร์รัปชั่นจึงเป็นน้ำมันหล่อลื่นให้แก่ระบบเศรษฐกิจ, การเมืองและสังคมของสังคมนั้นๆ ประวัติศาสตร์ชาติไทยที่จะสอนกันในโรงเรียนนั้น หากไม่คิดจะโกหกเด็ก ก็ต้องบอกว่ายั่งยืนอยู่มาได้ภายใต้โครงสร้างของรัฐสืบสถานะ (รัฐราชสมบัติ) ก็เพราะการคอร์รัปชั่นนี่แหละ

แต่นี่พูดถึงคอร์รัปชั่นในความหมายปัจจุบัน โบราณท่านไม่ได้คิดว่าเป็นการคอร์รัปชั่นแต่อย่างใด "ฉ้อราษฎร์บังหลวง" นั้นเป็นส่วนหนึ่งของระบบ (ก็ไม่ได้จ่ายเงินเดือนข้าราชการ) แต่อย่าทำให้เกินไปจนกลายเป็นอีกอำนาจหนึ่งที่แข่งขันกับพระราชอำนาจได้เท่านั้น

เมื่อเศรษฐกิจจำเริญขึ้นในรัฐสืบสถานะ การกระทำเหล่านี้เริ่มถูกมองว่าเป็นคอร์รัปชั่น แม้กระนั้นมันก็ยังทำหน้าที่ของมันอยู่ส่วนหนึ่งคือเป็นน้ำมันหล่อลื่นให้แก่การประกอบการทางเศรษฐกิจสมัยใหม่เมื่อ 4-50 ปีที่แล้ว เศรษฐกิจไทยต้องการบริการของธนาคารเพิ่มขึ้น จะตั้งธนาคารหรือขยายกิจการได้อย่างราบรื่นอย่างไร ก็ไปเชิญเผด็จการทหารมาเป็นประธานกรรมการของธนาคารสิครับ ทุกอย่างก็ดำเนินไปอย่างราบรื่นดี เกือบทุกธนาคารใหญ่ๆ ในเมืองไทยโตมาได้ถึงทุกวันนี้ก็เพราะอาศัย "เส้น" ทั้งนั้นแหละ บริษัทร้านค้าขนาดใหญ่ก็เหมือนกัน เพราะในขณะที่เศรษฐกิจเติบโตและซับซ้อนขึ้น การเมืองไทยก็ยังเป็นการเมืองของรัฐสืบสถานะอยู่เหมือนเดิม ไม่ได้ขยับไปสู่รัฐที่ตั้งอยู่บนฐานของเหตุผลและกฎหมายสักที

แต่การเมืองของรัฐสืบสถานะตั้งอยู่อย่างราบรื่นในรัฐที่เศรษฐกิจกลายเป็นเศรษฐกิจสมัยใหม่ที่ใหญ่โตซับซ้อนไม่ได้
ความไม่ราบรื่นทางการเมืองต่างๆในเมืองไทยที่เราได้เห็นมาเป็นสิบปีนั้นเกิดขึ้นเนื่องจากสังคมและรัฐไทยเปลี่ยนไม่ผ่านจากรัฐและสังคมสืบสถานะมาเป็นรัฐและสังคมที่ตั้งอยู่บนฐานของเหตุผลและกฎหมาย



ในสังคมที่กำลังเปลี่ยนรูปแบบเช่นนี้แหละที่คอร์รัปชั่นระบาดมากขึ้นส่วนหนึ่งจะมากน้อยแค่ไหนผมไม่ทราบ ก็คือการกระทำที่ครั้งหนึ่งไม่ถือว่าเป็นคอร์รัปชั่นกลับถูกมองว่าเป็นคอร์รัปชั่นไป เพราะสังคมกำลังขยับปรับเปลี่ยนตัวเองเมื่อเร็วๆ นี้ผมยังได้ยินคนบ่นว่า การจอดรถที่ขอบขาวแดงเป็นคอร์รัปชั่นอย่างหนึ่ง (ซึ่งในทรรศนะของผมไม่ใช่ เป็นแค่การละเมิดกฎหมายธรรมดาๆ)
อีกส่วนหนึ่งมาจากการผลักดันของธนาคารโลกและฉันทานุมัติวอชิงตันซึ่งสอดคล้องกับอุดมการณ์ของลัทธิเสรีนิยมใหม่คือกันรัฐออกไปจากตลาด เพราะเชื่อว่าตลาดสามารถดูแลจัดการตัวเองได้ดีกว่ารัฐ   คอร์รัปชั่นในรัฐสมัยใหม่เกิดอยู่ภายใต้อำนาจรัฐ การขจัดคอร์รัปชั่นของธนาคารโลกจะเน้นด้านวิธีการ ซึ่งก็คือขจัดอำนาจรัฐออกไปให้มากที่สุด (นักต่อต้านคอร์รัปชั่นในเมืองไทยสมาทานความเห็นของธนาคารโลกเข้าไปเต็มเปา เพราะตัวสมาทานลัทธิเสรีนิยมใหม่อยู่แล้ว หรือเพราะไร้เดียงสา ก็ไม่ทราบได้)


แต่ส่วนสำคัญที่สุดนั้น มาจากคอร์รัปชั่นยังทำงานเป็นน้ำมันหล่อลื่นของระบบเศรษฐกิจและสังคมนั่นเอง
กล่าวคือ เมื่อเครื่องกลทางเศรษฐกิจใหญ่โตซับซ้อนขึ้น แต่ไม่มีหลักเหตุผลและกฎหมายกำกับ การเสียดทานย่อมมากขึ้น และต้องอาศัยน้ำมันหล่อลื่นมากขึ้น ผมอยากขายจีที 200 ซึ่งไม่ทำงานให้กองทัพได้อย่างไร ถ้าไม่ใช้น้ำมันหล่อลื่น จะขายเครื่องตรวจอาวุธที่สนามบินใหม่ได้อย่างไรท่ามกลางการแข่งขันที่สูงขนาดนั้น นอกจากใช้น้ำมันหล่อลื่น และน้ำมันนั้นก็หล่อลื่นเศรษฐกิจจริงเสียด้วย เช่น นายทหารที่รวยจากการโกงก็ไปสร้างคฤหาสน์อยู่ เกิดการจ้างงานในการก่อสร้างและวัสดุก่อสร้าง พ่อค้าที่รวยจากการโกง ก็เอาทุนไปหาโครงการใหม่เพื่อขายราชการอีก ต้องจ้างงานคนไปสร้างโครงการปลอมๆ ขึ้น

ผมพูดเรื่องนี้เพื่อให้เห็นว่า คอร์รัปชั่นนั้นมันมีงานของมันต้องทำ ในสภาวะสังคมแบบไม่ยอมเปลี่ยนผ่านนี้แหละ



อย่างไรก็ตามแม้ว่าคอร์รัปชั่นยังเป็นน้ำมันหล่อลื่น แต่ในสังคมที่กำลังเปลี่ยนผ่านเช่นนี้คอร์รัปชั่นกลับขัดขวางประชาธิปไตยและความโปร่งใสของการบริหาร คอร์รัปชั่นขนาดใหญ่ทั้งหลายต้องมีคนใหญ่คนโตในวงการเมืองหรือราชการเข้ามาเกี่ยวข้องเสมอ จะเกี่ยวเพราะโลภหรือโง่ก็ตาม แต่ในรัฐประชาธิปไตยก่อนที่ความโลภและความโง่จะทำงานได้ผล ก็จะมีคนตรวจสอบและโวยวายขึ้นจนกระทั่งคอร์รัปชั่นเกิดขึ้นไม่ได้ พ่อค้าที่ฉลาดกว่า ก็จะเสนอขายกระบวนการ, บริการ หรือเครื่องมืออะไรก็ตาม ที่สามารถตรวจจับอาวุธตามด่านตรวจในภาคใต้ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทหารตำรวจไม่ต้องมาเสียชีวิตหรือบาดเจ็บโดยไม่จำเป็น พ่อค้าฉลาดก็รวยขึ้น และทำโครงการอะไรอื่นขายได้ใหญ่ขึ้น จ้างงานคนมากขึ้นและประเทศไทยก็รวยขึ้น ทำรัฐสวัสดิการได้โดยมีเสียงค้านน้อยลง

คอร์รัปชั่นนั้น โดยตัวของมันเองก็เป็นการเมือง โดยเฉพาะในสังคมที่เปลี่ยนไม่ผ่านอย่างไทย เพราะสามารถใช้ในการสร้างเครือข่ายการเมืองของตนเอง และทำลายเครือข่ายการเมืองของฝ่ายตรงข้ามได้ สภาวะเช่นนี้เห็นได้ชัดในปัจจุบัน เพราะผมไม่เคยได้ยินใครพูดถึงคอร์รัปชั่นของคนอื่น นอกจากฝ่ายทักษิณ ประหนึ่งว่าหากไม่มีทักษิณแล้วก็ไม่มีคอร์รัปชั่นเหลือในเมืองไทยอีกเลย ความไม่เที่ยงตรงของหน่วยงานปราบคอร์รัปชั่น ไม่ว่าจะอยู่ในหรือนอกระบบตุลาการ คือแรงหนุนสำคัญที่คอร์รัปชั่นต้องการ เพราะคอร์รัปชั่นดำรงอยู่ในสังคมที่เปลี่ยนไม่ผ่านได้ ก็เพราะคนโกงย่อมวางใจกับเครือข่าย (สร้างขึ้นหรือซื้อมา) มากกว่าหลักแห่งเหตุผลและกฎหมาย

และดังที่เห็นๆ กันอยู่ คอร์รัปชั่นยังถูกใช้เป็นเหตุผลให้ยกเลิกกระบวนการประชาธิปไตยที่กำลังเติบโตขึ้น


การปราบคอร์รัปชั่นที่ได้ผลจึงไม่ได้อยู่ที่วิธีการเพียงอย่างเดียว(เปิดเผยข้อมูล,ตั้งองค์กรตรวจสอบ,แจ้งทรัพย์สิน,เพิ่มกฎหมายและเพิ่มโทษ ฯลฯ) เท่านั้น สภาพแวดล้อมที่คอร์รัปชั่นต้องการที่สุดคือการเมืองของรัฐสืบสถานะ ดังนั้นเราจึงไม่อาจต่อต้านคอร์รัปชั่นในรัฐชนิดนี้ได้ จำเป็นต้องช่วยให้ประเทศไทยเปลี่ยนผ่านไปสู่สังคมประชาธิปไตย ที่ตั้งอยู่บนหลักของเหตุผลและกฎหมายให้สำเร็จ ในรัฐที่ทุกคนในฐานะปัจเจกย่อมเท่าเทียมกันที่จะได้โอกาสพัฒนาศักยภาพของตนเองไปสู่จุดสูงสุด โดยไม่ต้องอาศัยเครือข่ายความสัมพันธ์

รัฐประชาธิปไตยเป็นระบบความสัมพันธ์ทางสังคมอย่างหนึ่ง ที่ปัจเจกบุคคลทุกคนสัมพันธ์กันและสัมพันธ์กับรัฐโดยผ่านหลักเหตุผลและกฎหมาย
คอร์รัปชั่นเกลียดกลัวรัฐแบบนี้ ถึงจะมีการทุจริตคดโกงในรัฐแบบนี้ ก็เกิดขึ้นเป็นกรณีไป ไม่ใช่แฝงอยู่ในระบบการเมืองอย่างแยกไม่ออกเช่นรัฐสืบสถานะ ความพยายามจะปราบคอร์รัปชั่นภายใต้ระบอบเผด็จการจึงเป็นเรื่องเหลวใหล อย่างมากก็ทำได้แต่การสร้างวิธีการที่สลับซับซ้อนขึ้น อย่างที่ธนาคารโลกและฉันทานุมัติวอชิงตันให้แบบอย่างเอาไว้ แต่ดังที่กล่าวแล้วว่าคอร์รัปชั่นเป็นน้ำมันหล่อลื่นที่ขาดไม่ได้ในฟันเฟืองของระบบรัฐสืบสถานะ อย่างไรเสียมันย่อมต้องซึมผ่านวิธีการเหล่านั้นไปจนได้

หากรังเกียจคอร์รัปชั่นอย่างจริงใจต้องร่วมมือกันนำประเทศไทยให้เปลี่ยนผ่านไปสู่รัฐประชาธิปไตยให้ได้เท่านั้น



.

2557-08-15

ความเป็นไทยและ ปชต.ของ ปชต.แบบไทยๆ โดย ประวิตร โรจนพฤกษ์

.

ประวิตร โรจนพฤกษ์: ความเป็นไทยและประชาธิปไตยของประชาธิปไตยแบบไทยๆ
ใน http://blogazine.in.th/blogs/pravit/post/4978
. . ศ 15 สิงหาคม, 2014 - 05:58 | โดย pravit


เสาร์ที่แล้ว (9 สิงหาคม 2557) หัวหน้าคณะรัฐประหาร พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้เอ่ยถึงคำว่าประชาธิปไตยแบบไทยอย่างน้อยสองครั้งในระหว่างการพูดเปิดงานปฎิรูปประเทศไทยซึ่งได้ถ่ายทอดสดไปทั้งประเทศ

คำถามคืออะไรคือประชาธิปไตยแบบไทยๆ? และมีอะไรเป็นไทยหรือเป็นประชาธิปไตยในประชาธิปไตยแบบไทยบ้าง?
ประยุทธ์อาจมิได้ให้คำจำกัดความว่าประชาธิปไตยแบบไทยเป็นอย่างไรกันแน่ ต่างจากประชาธิปไตยแบบตะวันตกอย่างไร แต่ผู้เขียนก็อดสงสัยมิได้ว่าประชาธิปไตยแบบไทยอาจหมายถึงการยอมรับรัฐประหารเป็นระยะๆ หรือหมายถึงระบบเลือกตั้งที่ประชาชนมีอำนาจอธิปไตยจำกัดกว่าในอดีต หรือแม้กระทั่งอาจหมายถึงการให้คนดีที่มิได้ผ่านการเลือกตั้งมาปกครองโดยมิสามารถตรวจสอบได้


หากมองให้ลึกลงไป การใช้คำว่า ‘ไทย’ ขยายความคำว่าประชาธิปไตยช่วยทำให้คำว่า ‘ประชาธิปไตยแบบไทย’ ดูเหมาะสมกับคนไทยยิ่งขึ้นและทำให้ระบอบกึ่งเผด็จการดูเป็นที่ยอมรับของนานาชาติมากยิ่งขึ้น

ทว่ามันไม่มีอะไรที่เป็น ‘ไทย’ ในประชาธิปไตยแบบไทยๆเพราะคนไทยเองยังตกลงกันไม่ได้เลยว่าต้องการการปกครองแบบไหน


คนไทยที่มีการศึกษาจำนวนหนึ่งชอบโมเดลกึ่งเผด็จการแบบสิงคโปร์ที่ฝายค้านถูกทำให้อ่อนปวกเปียก บ้างชอบระบอบเผด็จการทหาร แต่ก็ยังมีคนไทยอีกจำนวนมิน้อยที่ต้องการให้ยึดระบอบประชาธิปไตยที่ไม่ต้องมาทนกับรัฐประหารเป็นระยะๆและเชื่อว่าควรปล่อยให้ระบอบประชาธิปไตยคลี่คลายปัญหาโดยตัวของมันเองเพราะหนทางประชาธิปไตยในไทยเพิ่งอายุแค่ 82 ปี

นอกจากนี้ยังมีคนไทยที่ต้องการย้อนกลับไปสู่ยุคสมบูรณาญาสิทธิราช แต่ก็มีบางคนที่ต้องการเห็นประเทศเป็นสาธารณรัฐ




ในขณะเดียวกัน แทนที่จะใช้คำว่าประชาธิปไตยแบบไทย เราอาจใช้คำว่าเผด็จการครึ่งใบหรือเผด็จการแบบไทยแทนก็ได้ แต่คำว่าเผด็จการนั้นมิน่าพิศมัยจึงเลือกใช้คำว่าประชาธิปไตยแทนดั่งคำว่า ‘ยิ้มสยาม’ ซึ่งอาจมิได้หมายถึงรอยยิ้มที่มาจากความดีใจก็เป็นได้

สังคมไทยควรเลิกหลอกตนเองเสียทีว่าอะไรคือประชาธิปไตยและอะไรคือเผด็จการโดยการใช้คำที่เคลือบแฝงสภาพความจริง


...............................
หมายเหตุ: บทความนี้ถอดความและดัดแปลงจาก ‘What makes ‘Thai-style democracy’ globally palatable?’ ซึ่งเขียนโดยผู้เขียนลงใน นสพ. The Nation ฉบับวันที่ 13 สิงหาคม 2557



.

2557-08-14

ความเงียบ, +แก้ไหม?-รธน.ชั่วคราว โดย วรศักดิ์ ประยูรศุข

.

วรศักดิ์ ประยูรศุข : ความเงียบ
ใน www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1408015505
. . วันพฤหัสบดีที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2557 เวลา 21:02:14 น.
( ที่มา: คอลัมน์ สถานีคิดเลขที่12 นสพ.มติชนรายวัน 14 สิงหาคม 2557)
ภาพของเซีย ไทยรัฐ


22 ส.ค.นี้ จะครบ 3 เดือนของ คสช.
บ้านเมืองเงียบเชียบดี ราวกับว่า ผู้คนที่แตกแยกเห็นต่าง ได้บรรลุความเข้าใจ เลิกโกรธเกลียดกัน เกิดการปรองดอง สมานฉันท์ขึ้นแล้ว

แต่ความจริงยังน่าสงสัย ความเงียบเชียบในขณะนี้ น่าจะเป็นผลจาก "ยาแรง" เมื่อ 22 พ.ค. ที่แก้ปัญหาบางส่วนเท่านั้น


พูดไปก็เหมือนฟื้นฝอยหาตะเข็บ แต่ถ้าไม่ศึกษาสิ่งที่ผ่านเลยไป อีกหน่อยก็จะเจอกับดักเดิมๆ ตกหลุมเดิมๆ กันอีก

แต่ก่อนหน้า 22 พ.ค. ต้องยอมรับว่า เป็นฝันร้ายที่ต่อเนื่องยาวนานหลายเดือน
จากร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ที่เป็นความผิดพลาดของรัฐบาล กลายเป็นการชัตดาวน์กรุงเทพฯ
ปิดเมือง ปิดถนนอย่างยาวนาน ถนนสายที่เป็นหน้าตาของเมืองอย่างถนนราชดำเนิน มืดหม่นอย่างน่าใจหายในยามค่ำคืน

ธุรกิจการค้าขายซบเซาลงไปทีละน้อยบ้างมากบ้าง แต่นักธุรกิจน้อยใหญ่ยังอุตส่าห์บอกว่าไม่กระทบ 
เทศกาลปีใหม่ที่อยู่ระหว่างการชุมนุม ผู้คนหนีความขัดแย้งไปฉลองในต่างประเทศ 
เป็นห้วงเวลารุ่งโรจน์ของแกนนำ การด่าทอเป็นที่ชื่นชม ประดิดประดอยวาทะ
โวหารมาด่ากันเป็นรายวัน ถ่ายทอดสดผ่านสื่อต่างๆ ถ่ายสดแล้วยังเอามารีรัน กรอกหูกันตลอด 24 ชั่วโมง

หลัง 22 พ.ค เสียงเหล่านี้หายไปเหมือนกดสวิตช์ปิด

คสช.ประกาศปฏิรูปประเทศ เข้ามาดูแลการเมืองเอง เพื่อไม่ให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นอีก


ความเงียบในช่วงนี้ ก็คือ การเฝ้ารอดูว่า คสช.จะดำเนินการอย่างไรแบบไหน

แต่ตอนนี้ เริ่มมีเสียงบ่น และอาการกระฟัดกระเฟียดเกิดขึ้นบ้างแล้ว

ทั้งจากฝ่ายหนุนรัฐประหาร อยากมีส่วนร่วม อยากให้เดินสุดซอย กวาดล้างระบอบทักษิณ จะได้ไม่เสียของ

ทั้งฝ่ายไม่เห็นด้วยกับรัฐประหาร แต่ไม่รู้จะทำยังไง รอลุ้นว่า เผื่อจะมีอะไรดีๆ เกิดขึ้นบ้าง


ในระยะนี้ ฝ่ายที่อยากให้ คสช.เร่งเครื่องสุดซอย ออกอาการหงุดหงิดที่ไม่ได้ดั่งใจ เพราะถือว่าลุ้นมาแต่ต้น

ประกอบกับ คสช.ทำการบ้านล่วงหน้า พอยึดอำนาจก็ใช้เครือข่ายตัวเองทำงาน

ไม่ต้องใช้บริการคนที่อยากให้ใช้ เลยยิ่งไปกันใหญ่


ส่วนฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย ก็เริ่มเห็นช่องว่างจุดโหว่มากขึ้นเรื่อยๆ เหมือนกัน


21-22 ส.ค.นี้ สนช.จะโหวตเลือกนายกฯ จากนั้นเป็นคิวของการจัดตั้ง ครม.

ขับเคลื่อนโรดแมปคืบหน้าไปเรื่อยๆ เพื่อจะคืนอำนาจให้ประชาชนเลือกตั้ง ในเดือน ก.ย. 2558


แต่เรื่องสำคัญที่ไม่ค่อยได้พูดถึงกัน ก็คือ รอยร้าวรอยแตกได้หายไปจริงหรือไม่ การปรองดองสมานฉันท์ระหว่างคนในชาติได้เกิดขึ้นแล้วหรือยัง

โดยเฉพาะรากฐานของความปรองดอง คือ ความเป็นธรรม การได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมเสมอภาค ได้เกิดขึ้นหรือยัง

และนี่คือตัวชี้ขาดว่า "ความเงียบ" ที่เกิดขึ้นจะยั่งยืนแค่ไหนเพียงไร



++

วรศักดิ์ ประยูรศุข : แก้ไหม?-รธน.ชั่วคราว
ใน www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1407398977 
. . วันพฤหัสบดีที่ 07 สิงหาคม พ.ศ. 2557 เวลา 21:00:08 น.
( ที่มา: คอลัมน์ สถานีคิดเลขที่12 นสพ.มติชนรายวัน 7 สิงหาคม 2557)
ภาพของเซีย ไทยรัฐ


สื่อต่างๆ เสนอข่าวโผ ครม.กันกระหึ่ม

เพราะห้วงเวลาที่จะมีนายกฯ มีรัฐบาลมาบริหารประเทศ ตามรูปแบบสากล ใกล้เข้ามาทุกที

ใครจะไปใครจะมาก็ว่ากันไป แต่ที่หลายฝ่ายกำลังเป็นห่วง คือ ภาพของ ครม.ที่จะออกมา


จะเป็นรัฐบาลที่เต็มไปด้วยทหาร เหมือน สนช.อีกหรือไม่

คสช.อธิบายการตั้ง สนช.ว่า เป็นสถานการณ์ไม่ปกติ และต้องการเอกภาพ ก็เข้าใจได้

แต่รัฐบาลไม่เหมือน สนช. ซึ่งมีหน้าที่ประชุมตรากฎหมาย รับรองกฎหมาย

รัฐบาลต้องนั่งทำงาน ต้องรับแขก ต้องให้ต่างประเทศเชิญบินไปพบปะเจรจา ต้องแสดงจุดยืนท่าทีต่างๆ ฯลฯ

รูปโฉมของรัฐบาล ไม่ควรเป็นอุปสรรคกับการทำหน้าที่ของรัฐบาลเอง



ระยะนี้มีข่าวว่า การฟอร์ม ครม.ใหม่มีปัญหา จากรัฐธรรมนูญชั่วคราว มาตรา 8 และมาตรา 20

มาตรา 20 ระบุคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของนายกฯและ รมต.ไว้หลายข้อ

หนึ่งในนั้นคือ (4) ไม่เป็นหรือเคยเป็นสมาชิกพรรคการเมืองในระยะเวลาสามปี

ก่อนวันได้รับแต่งตั้ง และไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 8

ส่วนมาตรา 8 เป็นลักษณะต้องห้ามดำรงตำแหน่ง สนช. มีหลายข้อเช่นกัน ทั้งห้ามเป็นสมาชิกพรรคในระยะเวลา 3 ปีก่อนหน้านี้ และต้องไม่เคยถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง

มาตรา 8 นี้เอง ที่ทำให้ พล.อ.ธวัชชัย สมุทรสาคร ต้องถอนตัวจาก สนช. เพราะเคยสังกัดพรรคการเมือง

และเมื่อประกอบกับมาตรา 20 ก็ทำให้บรรดาผู้มีชื่อเสียง มีฝีมือ แต่เคยถูกถอนสิทธิเลือกตั้ง โดยเฉพาะในกรณีบ้านเลขที่ 109 และ 111 ต้องหมดสิทธิแบบกราวรูด

ห้ามเป็นหมด ทั้ง สนช. / นายกฯ / รมต. / สปช. และกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรรมนูญ

ตัวอย่างเห็นๆ คือ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษา คสช. ซึ่งมีข่าวว่าจะมาเป็นรัฐมนตรี เลยวืดหมด อาจจะต้องตั้งให้เป็นผู้แทนการค้าฯ ช่วยงานด้านต่างประเทศกันต่อไป

ยังมีอีกหลายท่านที่ไม่ขอเอ่ยนาม ที่อยู่ในข่ายนี้ หลายๆ คน คสช.ก็เคยทาบทาม แล้วก็ตกอกตกใจไปแล้วว่า มีบทบัญญัตินี้ในรัฐธรรมนูญชั่วคราวด้วยหรือ


คนที่เขียนกฎหมายมาตรานี้เข้ามา อาจหวังดีต่อ คสช. แต่ที่จริงไม่เป็นผลดี

และยังขัดแย้งกับแนวทางสมานฉันท์ของ คสช.เอง

และขัดแย้งกับคำปรารภของรัฐธรรมนูญที่จะฟื้นฟูความสงบเรียบร้อย ความรู้รักสามัคคีและความเป็นธรรมอีกด้วย

เพราะคนบ้านเลขที่ 109 และ 111 นั้น นอกจากได้ชื่อว่า พลอยซวยรับโทษจากความผิดที่ตัวเองไม่ได้ก่อแล้ว ยังรับโทษเว้นวรรค 5 ปีกันไปหมดแล้ว

พ้นโทษกลับมารับตำแหน่ง ไปลงคะแนนเลือกตั้ง ใช้สิทธิในแบบพลเมืองดี

กันหมดแล้ว

อยู่ๆ เกิดมีบทบัญญัติมาตรานี้ย้อนกลับไปเอาผิดอีก ก็เท่ากับโดนลงโทษซ้ำสอง


ถ้าคิดว่า เรื่องนี้เป็นปัญหาที่จะต้องแก้ มาตรา 46 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว ให้อำนาจ ครม.และ คสช.มีมติร่วมกัน เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้ โดยทำร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม เสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติเห็นชอบใน 15 วัน

จะแก้ไขหรือไม่ เป็นอีกประเด็นที่น่าติดตามดูกัน



..................................................................
ร่วมเป็นแฟนเพจเฟซบุ๊กกับมติชนออนไลน์
www.facebook.com/MatichonOnline



.