http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-09-30

สุรพศ: ศาสนาปฏิบัติต่อมนุษย์ “อย่างมีศีลธรรม” หรือไม่?

.
Adminโพสต์นำเสนอแล้ว . .หลักๆ คือผู้เขียนตั้งคำถามถึงว่า " สิ่งที่ศาสนาสอนๆ กันอยู่ มันใช่ "ศีลธรรม" หรือไม่? " 
..และก็เห็นความตั้งใจของผู้เขียนที่ต้องการถกเถียงถึงวิถีการคิดที่มุ่งถึง “เสรีภาพและความยุติธรรมที่เป็นอิสระ” ซึ่งก็เป็นการต่อสู้มิติหนึ่ง .
.
ขณะที่สังคมนั้นเต็มไปด้วยมิติที่ไม่อิสระของความขัดแย้ง, การต่อรองและผูกขาด ในการสร้างอำนาจกำหนดการใช้ทรัพยากรและได้ประโยชน์ของกลุ่มต่างๆ ( โดยมีเวทีขับเคลื่อนที่หาจุดลงตัวค่อนข้างถาวรได้ยากยิ่ง ..แม้ในหมู่ประชาชนกันเองก็แล้วแต่ )

______________________________________________________________________________________________________

สุรพศ ทวีศักดิ์: ศาสนาปฏิบัติต่อมนุษย์ “อย่างมีศีลธรรม” หรือไม่?
ในมติชน ออนไลน์ วันอาทิตย์ที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2555 เวลา 09:00:49 น.
( และใน www.prachatai.com/journal/2012/09/42895 . . Sat, 2012-09-29 12:50  มีความคิดเห็นท้ายบท )


ป้ายโฆษณา“ตักบาตรแอปเปิ้ลรับเกรดA” เป็นที่วิจารณ์กันในโซเชียลมีเดีย บ้างก็ว่า “เป็นการมอมเมา งมงาย ไม่ซื่อตรงต่อหลักการพุทธศาสนาที่เน้นปัญญาความมีเหตุผล” บ้างก็ว่า “นี่เป็นกุศโลบายดึงคนหนุ่มสาวปัจจุบันที่ห่างวัดให้หันมาสนใจใส่บาตรทำบุญ” หรือพยายามพูดให้ดูมีเหตุผลว่า “เมื่อใส่บาตรแล้วสบายใจจิตสงบก็ทำให้มีสติดูหนังสือ และสอบได้เกรด A” บ้างว่า “มันเป็นสิทธิที่เขาจะทำเช่นนั้นได้ ตราบที่ไม่ทำให้คนอื่นเดือดร้อน ถ้าจะทำการตลาดกับศรัทธาทางศาสนาของชาวบ้านก็เป็นเรื่องปกติเพราะอะไรๆ ในสังคมปัจจุบันก็เป็นเรื่องการตลาดทั้งนั้น”
แต่ปัญหาที่ผมสนใจคือศาสนาที่ใช้ “กุศโลบาย” ทำนองนี้ (ที่ทำกันอยู่ทั่วไป) กำลังเดินสวนทางกับสิ่งที่เรียกว่า“ศีลธรรม” หรือไม่?

ศีลธรรมที่ผมพูดถึงหมาย ถึงศีลธรรมที่อยู่บนพื้นฐานการ “เคารพศักดิ์ศรีของมนุษย์” ผมกำลังพูดศีลธรรมตามทัศนะของค้านท์ (Immanuel Kant) ซึ่งผมคิดว่า มีความหมายใกล้เคียงกับศีลธรรมตามสาระสำคัญของพุทธ สำหรับค้านท์ศักดิ์ศรีมนุษย์อยู่ที่ศักยภาพที่จะใช้เสรีภาพและเหตุผลเลือก“กฎศีลธรรม” สำหรับตนเอง (ลองคิดเปรียบเทียบหลวมๆถ้าสิทธัตถะมัวแต่เดินตามทางของคนอื่น ไม่เชื่อในเสรีภาพและปัญญาของตน ก็ไม่มีพุทธะที่ค้นพบอิสรภาพภายในด้วยตนเองแน่นอน ไม่มีใครค้นพบมันเพื่อคนอื่นได้)


หากมองจากหลักศีลธรรมแบบค้านท์ กุศโลบาย “ตักบาตรรับเกรด A” (หรือ ทำบุญแล้วรวย สวย หล่อเจริญด้วยลาภ ยศ สรรเสริญ สุข หรือ “การกระทำภายใต้เงื่อนของการหวังผลตอบแทนใดๆ”) ย่อมไม่ใช่การกระทำที่มีศีลธรรม เพราะความมีศีลธรรมไม่ได้ขึ้นต่อเงื่อนไขหรือผลลัพธ์ที่ต้องการ ไม่ใช่เป้าหมายกำหนดความถูกต้องของวิถี (endjustifies means) แต่วิถีหรือตัวการกระทำเป็นสิ่งที่ถูกต้องในตัวมันเองไม่เกี่ยวกับผลที่เป็นบวกหรือลบ ความพอใจ ไม่พอใจ ฯลฯ

เพราะถ้าอ้างผลลัพธ์ที่ต้องการมาตัดสินความถูกต้องของการกระทำย่อมมีปัญหาตามมา เช่น ทำให้การกระทำที่ผิดศีลธรรมเป็นสิ่งที่ถูก (ลอกข้อสอบแล้วได้เกรดA ถ้าเอาผลลัพธ์เป็นเกณฑ์ตัดสิน การลอกข้อสอบก็ไม่ผิด เพราะทำให้ได้ผลลัพธ์ที่พึงพอใจ)ทำให้การกระทำที่ไม่ใช่เรื่องศีลธรรมกลายเป็นเรื่องทางศีลธรรม (ชมสาวๆว่าสวยแล้วเธอปลื้มใจ ถ้าเอาผลคือความปลื้มใจเป็นเกณฑ์ การชมว่าสวยซึ่งเป็นคำพูดธรรมดาๆก็กลายเป็นความดีทางศีลธรรมไป)หรือแม้กระทั่งการอ้างประโยชน์ของคนส่วนใหญ่เพื่อละเมิดความเป็นมนุษย์ของคนส่วนน้อยก็กลายเป็นสิ่งที่ถูกต้องทางศีลธรรม (เช่น ใช้ ม.112 เชือดไก่ให้ลิงดูเป็นการจัดการกับคนส่วนน้อยที่อ้างว่าเพื่อคำนึงถึง “ความรู้สึก” ของคนส่วนใหญ่)


สมมติเราถามว่า“ทำไมเสรีภาพจึงเป็นสิ่งมีค่า?” ถ้าตอบว่า เสรีภาพมีค่าเพราะมันก่อให้เกิดความสุขระยะยาวแก่คนส่วนใหญ่  คำตอบนี้ก็จะมีปัญหาว่า ถ้ามีหลักประกันความสุขระยะยาวที่ดีกว่าเสรีภาพ เช่น ความจงรักภักดีเผด็จการโดยธรรม เผด็จการโดยทุนที่ทำให้คนส่วนใหญ่ร่ำรวยสุขสบายได้ หรือ ฯลฯ (ซึ่งใครๆก็อาจอ้างได้) เสรีภาพก็ไม่จำเป็น แน่นอน ค้านท์ย่อมไม่ตอบแบบนี้ สำหรับค้านท์เสรีภาพเป็นสิ่งที่มีค่าเพราะว่ามัน “มีค่าในตัวมันเอง” หรือค่าของเสรีภาพอยู่ที่เสรีภาพ ไม่ขึ้นอยู่กับว่ามันจะนำไปสู่ผลลัพธ์อะไร คุณปกป้องเสรีภาพแล้วเจ็บปวด ติดคุก หรือถูกฆ่าตาย ก็ไม่ได้ทำให้เสรีภาพเป็นสิ่งไร้ค่า ในทางตรงข้ามใครที่ทำลายเสรีภาพของเพื่อนมนุษย์แล้วสุขสบาย มีอำนาจวาสนา ก็ไม่ได้ทำให้การกระทำที่เลวนั้นเป็นเป็นสิ่งที่ดีหรือมีเกียรติทางศีลธรรมไปได้

ฉะนั้นการกระทำที่ดีจึงเป็นสิ่งที่มีค่าในตัวมันเอง มันไม่ได้มีค่าเพราะว่าเป็นวิถี หรือเป็นเครื่องมือไปสู่สิ่งอื่นด้วยเหตุนี้ เราจึงทำดีเพื่อความดี ทำสิ่งที่ถูกต้องเพื่อรักษาความถูกต้อง เราปกป้องเสรีภาพ ความยุติธรรม เพราะเสรีภาพ ความยุติธรรมมีค่าในตัวมันเองไม่เกี่ยวกับว่าปกป้องเสรีภาพ ความยุติธรรมแล้วใครจะได้หรือเสียประโยชน์ เช่นเป็นหน้าที่ที่เราต้องต่อต้านรัฐประหาร และ/หรือระบบอำนาจใดๆ ที่ทำลายเสรีภาพและความยุติธรรม  การต่อต้านนี้เป็นการกระทำที่ถูกต้องในตัวของมันเองไม่เกี่ยวกับว่าใครหรือฝ่ายไหน จะได้หรือเสียประโยชน์    


ถ้าคำนึงว่าใครจะได้หรือเสียประโยชน์ก็เท่ากับว่าการได้หรือเสียประโยชน์เป็นเงื่อนไขของความถูกต้องของการปกป้องเสรีภาพและความยุติธรรม แต่นิยามของ “ได้-เสียประโยชน์” เป็นสิ่งที่ลื่นไหลไม่แน่นอนตายตัว การปกป้องเสรีภาพและความยุติธรรมภายใต้เงื่อนไขดังกล่าวจึงไม่แน่นอนตายตัวไปด้วย เราไม่มีทางปกป้องเสรีภาพและความยุติธรรมในกรณีที่ศัตรูหรือคนที่เราเกลียดจะได้ประโยชน์(เช่นไม่มีทางที่คนเกลียดทักษิณจะยอมรับการล้างผลพวงรัฐประหาร)หรืออาจสะใจที่ศัตรู คนที่เราเกลียดถูกละเมิดเสรีภาพ หรือถูกกระทำอย่างอยุติธรรม

ฉะนั้นจึงมีแต่การยอมรับว่าเสรีภาพ ความยุติธรรมมีค่าในตัวมันเองเท่านั้นเราจึงจะเกิดสำนึกปกป้องเสรีภาพและความยุติธรรมว่าเป็นหน้าที่ที่ต้องทำอย่างปราศจากเงื่อนไข และนี่จึงทำให้การกระทำสิ่งที่ถูกต้องเพื่อความถูกต้อง (เช่น ปกป้องเสรีภาพเพื่อรักษาเสรีภาพ หรือปกป้องความยุติธรรมเพื่อรักษาความยุติธรรม) เป็นไปได้

การยอมรับว่าความดีความถูกต้องเป็นสิ่งมีค่าในตัวมันเอง(ไม่เกี่ยวกับว่าทำสิ่งที่ดีที่ถูกต้องแล้วจะทำให้ตนเองดูดี เป็นคนดี) อยู่บนฐานของการยอมรับว่า“มนุษย์มีคุณค่าและศักดิ์ศรีในตัวเอง” การกระทำที่ดีหรือถูกต้องจึงอยู่บนพื้นฐานของการเคารพในคุณค่าและศักดิ์ศรีของมนุษย์ทั้งของตนเองและผู้อื่นหรือ “มนุษยชาติ” ทั้งมวล  คุณค่าและศักดิ์ศรีของมนุษย์คือ “ศักยภาพที่จะมีเสรีภาพและเหตุผล” เลือกกฎศีลธรรมสำหรับตนเอง ที่สามารถทำให้เป็นกฎศีลธรรมสากลสำหรับมนุษย์ทุกคนได้



ความคิดดังกล่าวนี้ของค้านท์ถูกอ้างอิงอย่างหนักแน่นในการสนับสนุนหลักสิทธิมนุษยชนที่วางอยู่บนพื้นฐานของการเคารพคุณค่าสากลที่มนุษย์ทุกคนมีร่วมกัน
ในทัศนะของค้านท์ แม้โดยธรรมชาติมนุษย์อาจถูกชักจูงด้วยอารมณ์สัญชาตญาณ ความต้องการ กิเลสตัณหาต่างๆ แต่มนุษย์ก็มีศักยภาพที่จะมีเสรีภาพเหนือสิ่งเหล่านั้น เสรีภาพไม่ได้มีความหมายแค่ว่า “ไม่ถูกบังคับ” แต่เสรีภาพคือการกระทำตาม“อัตตาณัติ” (การกระทำที่เป็นอิสระ-autonomously) หมายถึง การกระทำตามกฎที่เรากำหนดให้กับตนเอง ไม่ใช่กฎของธรรมชาติ หรือธรรมเนียมของสังคม

วิธีเข้าใจเสรีภาพตามความคิดของค้านท์ เราต้องเปรียบเทียบอัตตาณัติที่ตรงข้ามกับ “อัญญาณัติ” (heteronomy) เวลาที่เราทำตามอัญญาณัติ หมายถึงเรากำลังทำตามเหตุปัจจัยที่นอกเหนือจากตัวเองไม่ว่าจะเป็นเหตุปัจจัยทางสังคม ศาสนา วัฒนธรรม ประเพณี กฎธรรมชาติ เช่น เราหล่นจากที่สูง(หรือถูกผลัก) ขณะที่เรากำลังตกลงสู่พื้นไม่มีใครบอกว่าเราเป็นอิสระ เพราะการเคลื่อนไหวของเราถูกกำกับด้วยแรงโน้มถ่วงถ้าบังเอิญเราทับใครตายก็ไม่ต้องรับผิดชอบทางศีลธรรม ค้านท์กำลังจะบอกว่าเราต้องมีเสรีภาพจากการกำหนดโดยสิ่งอื่นๆการกระทำใดๆ ของเราจึงจะมีค่าทางศีลธรรม

ประเด็นของค้านท์คือเมื่อเรากระทำสิ่งใดๆ ตามแรงปรารถนา หรือแรงดึงดูดจากสิ่งอื่น เช่น อยากได้เกรด A เราไม่ได้มีเสรีภาพเพราะเราถูกกำกับโดยสิ่งอื่น (อัญญาณัติ)ไม่ต่างอะไรจากการหล่นจากที่สูงที่เราถูกกำกับโดยแรงโน้มถ่วง
เมื่อเรา “ใส่บาตรเพราะอยากได้เกรด A” ดูเผินๆเหมือนกับว่าเราเลือกอย่างอิสระ เพราะไม่มีใครบังคับ แต่ที่จริงเราไม่ได้เลือกอย่างอิสระ เราถูกความอยากได้ผลลัพธ์ (เกรด A) กำหนดให้เราทำหรือเกรด A คือเงื่อนไขให้เราใส่บาตร

เราไม่ได้เป็นเจ้าของเป้าหมายที่อยู่นอกตัวเราแต่เราตกเป็นเครื่องมือของเป้าหมาย (ใดๆ) ที่เราไล่ตาม มันคือการที่เราลดทอนความเป็นมนุษย์ของตนเองให้เป็นสิ่งของที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือเพื่อบรรลุเป้าหมายนอกตัว
โดยเฉพาะเป็นเป้าหมายนอกตัวจาก“การวางเงื่อนไข” โดยคนอื่น คนที่โฆษณาชวนเชื่อให้มาตักบาตรรับเกรด A ก็คือคนที่ใช้เพื่อนมนุษย์เป็นเครื่องมือ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของพวกเขาเอง เช่น พวกเขาอาจจะมีเป้าหมายว่า เพื่อดึงคนให้หันมาสนใจใส่บาตรทำบุญให้มากๆ หรือต้องการให้คนศรัทธาในศาสนามากขึ้นหรือแม้แต่เป้าหมายแบบ “คิดแทน”คนอื่นๆ ว่าเมื่อพวกเขาได้มาใส่บาตรแล้วเขาจะมีความสุข เป็นคนดี ฯลฯก็ล้วนแต่เป็นการไม่เคารพความเป็นมนุษย์ที่มีเสรีภาพและเหตุผลในตนเองของคนอื่นๆทั้งสิ้น


การมีเสรีภาพจึงหมายถึงการเป็นอิสระที่จะทำตามเหตุผล (ไม่ใช่ทำตามเงื่อนไขชักนำของอารมณ์ความรู้สึก กิเลส กฎธรรมชาติ ศาสนา ประเพณีฯลฯ) นักประโยชน์นิยมอาจมองว่า เราใช้เหตุผลเป็นเครื่องมือเพื่อให้บรรลุผลประโยชน์ที่ต้องการมันช่วยให้เราบรรลุเป้าหมายบางอย่าง ธอมัส ฮอบส์ เรียกเหตุผลว่า “แมวมองของความปรารถนา”(scout for the desires) ส่วนเดวิด ฮูม เรียกเหตุผลว่า “ทาสของอารมณ์” (slave of the passions)

แต่สำหรับค้านท์การใช้เหตุผลที่แสดงว่า มนุษย์มีเสรีภาพเลือกกฎศีลธรรมสากลได้ หมายถึง “เหตุผลบริสุทธิ์เชิงปฏิบัติ”(a pure practical reason) ที่เป็นอิสระจากอารมณ์ อคติอิทธิพลของเงื่อนไขทางศาสนา สังคม วัฒนธรรม และเหตุผลนี่เองที่รู้ว่าอะไรคือความถูกต้องและเห็นว่าความถูกต้องคือหน้าที่ที่ต้องทำหรือทำสิ่งที่ถูกต้องเพื่อความถูกต้องไม่ใช่เพื่อจุดประสงค์อื่นใด

การใช้เหตุผลตามทัศนะของค้านท์จึงหมายถึงการมีเจตนาทำสิ่งที่ถูกต้องเพราะเห็นว่ามันถูกต้องโดยไม่ขึ้นกับเงื่อนไขว่าผลลัพธ์จะเป็นบวกหรือลบเป็นความสุขหรือความเจ็บปวด พอใจหรือไม่พอใจ ฯลฯสิ่งที่ถูกต้องมันถูกต้องในตัวมันเอง เช่น การพูดความจริงถูกต้องเสมอ ไม่ว่าคนจะชอบหรือไม่ก็ตาม(การมีกฎหมายอย่าง 112 ห้ามพูดความจริงจึงผิดหลักการนี้) การเอาสิ่งที่คนชอบมาล่อ หรือเป็น“กุสโลบาย”ให้คนทำสิ่งที่ดี ไม่ใช่สิ่งที่มีค่าหรือมีเกียรติทางศีลธรรมมันไม่ต่างอะไรกับการลงทุนเพื่อหวังกำไรเหมือนการทำธุรกิจทั่วๆ ไป

แน่นอนผมกำลังพูดถึง “การใส่บาตรแอปเปิ้ลรับเกรด A” เป็นเพียงกรณีตัวอย่างแท้จริงแล้วสังคมเราเป็นสังคมที่มีวัฒนธรรมการใช้ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นเครื่องมือไปสู่ผลประโยชน์ที่ตนเองต้องการจึงเป็นสังคมที่ไม่สามารถเดินไปได้บน “หลักการที่ถูกต้อง”คือ หลักเสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ จึงเกิดรัฐประหารมากที่สุดในเอเชียและจึงไม่มีตัวบุคคล กลุ่มบุคคล องค์กร สถาบันไหนจะมี “ความเป็นกลาง” ที่น่าเชื่อถือได้จริงมีแต่หลักการที่ถูกต้องในตัวมันเองเท่านั้นที่มีความเป็นกลางจริงๆ


ผมคิดว่าแก่นสาระของพุทธคล้ายกับค้านท์ (แม้จะมีรายละเอียดบางด้านต่างกัน) เพราะพุทธศาสนามองว่าคุณค่าในตัวเองของมนุษย์คือ “พุทธภาวะ” หมายถึง ศักยภาพที่จะมีเสรีภาพด้านในและเสรีภาพด้านในจะแสดงตัวออกมาเป็นปัญญาที่ปราศจากการครอบงำ (พูดภาษาค้านท์ คือเป็นอิสระจากอัญญาณัติ-heteronomy) ปัญญา คือการเห็นตามเป็นจริง และเห็นว่าความถูกต้องเป็นหน้าที่ที่ต้องทำไม่ใช่ทำเพื่อพอกพูนความต้องการสิ่งอื่นๆ หรือเพื่อไปสู่เป้าหมายอื่นๆที่รอคอยอยู่ข้างนอกจากการกระทำที่ถูกต้องนั้นๆ ฉะนั้น “วิถีกับจุดหมายจึงเป็นหนึ่งเดียวกัน” หรือ “จุดหมายที่ถูกต้องงอกงามออกมาจากวิถีที่ถูกต้อง” (ท่านพุทธทาสพูดคล้ายกับค้านท์ว่า “ทำหน้าที่เพื่อหน้าที่” ซึ่งมีความหมายลึกซึ้งเกินกว่าจะนำมาพูดเพียงล้อเล่น)

แท้จริงแล้วค้านท์ไม่ได้ปฏิเสธอารมณ์ความรู้สึก ความปรารถนา ความต้องการ หรือกิเลสของมนุษย์หรือไม่ยอมรับความจริงว่า มนุษย์มักทำสิ่งต่างๆ บนเงื่อนไขของการต้องการผลประโยชน์บางอย่างแต่เขาเห็นว่า สิ่งเหล่านั้นไม่ใช่ฐานอ้างอิงของศีลธรรมได้เลย ศีลธรรมต้องมาจากเสรีภาพและเหตุผลของมนุษย์และเป็นศีลธรรมที่อยู่บนพื้นฐานของการเคารพคุณค่าและศักดิ์ศรีในตัวเองของมนุษย์เท่านั้นไม่ใช่การใช้ตัวเองและเพื่อนมนุษย์เป็นเครื่องมือไม่ว่าในกรณีใดๆ ฉะนั้นศีลธรรมคือหน้าที่ที่ต้องเคารพคุณค่าและศักดิ์ศรีในตัวเองของมนุษย์!

คิดจากศีลธรรมปกป้องคุณค่าและศักดิ์ศรีในตัวเองของมนุษย์แบบค้านท์แล้วผมไม่แน่ใจว่าพุทธศาสนาบ้านเราปฏิบัติต่อเพื่อนมนุษย์ “อย่างมีศีลธรรม”หรือไม่?


หมายเหตุ:ผมสรุปเนื้อหาความคิดของค้านท์จาก หนังสือ “ความยุติธรรม:JUSTICE: WHAT”S THE RIGTH THING TO DO?” ของ Mjchael J.Sandel แปลโดย สฤณี อาชวานันทกุล ผู้สนใจโปรดอ่านเพิ่มเติมในหนังสือนี้ หน้า 138-183



.

“พลิกประวัติวัดปทุมฯ” เขตอภัยทาน6ศพ! โดย เพ็ญสุภา สุขคตะ ใจอินทร์

.

“พลิกประวัติวัดปทุมฯ” เขตอภัยทาน 6 ศพ !
โดย ดร.เพ็ญสุภา สุขคตะ ใจอินทร์ www.facebook.com/pensupa.sukkatajaiinn คอลัมน์ ปริศนาโบราณคดี
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1676 หน้า 76


มีวัดไม่มากนักที่ถูกประวัติศาสตร์จารึกไว้ในฐานะ "อารามเลือด" ซึ่งแน่นอนว่า "วัดปทุมวนาราม" (อย่าจำสับสนกับ "วัดปทุมคงคา" แถวสัมพันธวงศ์ ซึ่งมีอายุเก่ากว่า สร้างตั้งแต่ครั้งรัชกาลที่ 1) ก็ไม่ประสงค์จะให้โลกจารจำชื่อวัดด้วยภาพลักษณ์เช่นนี้เท่าใดนัก
ขนาดว่าในสมัยอยุธยา ช่วงสงครามระหว่างกรุงศรีฯ กับหงสาวดีนั้น กิ่งพระศรีมหาโพธิ์ที่วัดสามวิหารถูกกระสุนปืนยิงหัก กองทัพพลันแตกตื่น เชื่อว่าเป็นอัปมงคลลางร้าย ถึงกับมีชาวสยามใจกล้าอาสาผูกคอตายที่ต้นโพธิ์นั้นเพื่อแก้เคล็ด
แต่ด้วยสถานการณ์พาไป เพราะทำเลที่ตั้งของวัดปทุมวนารามนั้นอยู่ใกล้จุดยุทธศาสตร์ของการชุมนุมประท้วงเรียกร้องให้นายกฯ อภิสิทธิ์ยุบสภา จึงยากที่จะหลีกเลี่ยงได้
นำมาสู่วลีที่ชาวไทยพุทธสลดหดหู่ใจ "เขตอภัยทาน 6 ศพ!"


ภาพเหตุการณ์คืนวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 ถูกนำมากรอฉายซ้ำใหม่รอบแล้วรอบเล่า เพื่อค้นหาความจริงที่ถูกความลวงบังบด เมื่อ คอป. กระทำการทรยศหักหลังต่อวิญญูชน ใส่ร้ายว่าคนบริสุทธิ์ทั้งหกตายเพราะชายชุดดำ ที่หาตัวตนไม่เจอ ยอมตาบอดแสร้งมองไม่เห็นทหารโหดเกือบครึ่งแสน พร้อมอาวุธครบมือที่ชำเราชีวิตผู้คนตามราชประสงค์ถึงสวนลุม-บ่อนไก่!!! 
น่าละอายใจ เสียจนคิดว่าถ้ายังหลงเหลือความเป็นคนอยู่บ้าง ก็น่าจะมีผู้สังเวยชีวิตเพื่อการปรองดองแห่งชาติ ในฐานะที่กล้าฉีกสัตยาบันทิ้ง ด้วยการผูกคอตายที่ต้นโพธิ์หลังวิหารวัดปทุมฯ ไม่งั้นอับอายต่อทหารกรุงศรีฯ เปล่าๆ




จากวัดอรัญวาสี สายธรรมยุติกนิกาย 
สู่ที่พึ่งสุดท้ายท่ามตึกรามไฮโซ


ไม่ต้องสงสัยเลยว่าทำไมเมื่อปีกลาย (19 พฤษภาคม 2554) คณะญาติผู้เสียชีวิตจึงถูกทางวัดปทุมฯ ปฏิเสธ ห้ามไม่ให้มีการจัดงานทำบุญรำลึกถึงเหตุการณ์การต่อสู้ทางการเมืองภายในวัดอย่างเด็ดขาด 
เหตุก็เพราะวัดปทุมวนาราม (ชื่อลำลองว่าวัดสระปทุม) เป็นวัดในสายธรรมยุติกนิกาย สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2400 หรือ 155 ปีมาแล้วโดยรัชกาลที่ 4 เพื่ออุทิศพระราชกุศลถวายแด่ สมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี (พระราชชนนีของรัชกาลที่ 5)
คงไม่ต้องขยายความอะไรมากนักว่า กองทัพธรรมสายนี้ผูกพันใคร?


หลายคนไม่อยากเชื่อว่าวัดนี้เก่าแก่ถึงสมัยรัชกาลที่ 4 จริง น่าจะสร้างเมื่อหลัดๆ นี่กระมัง เหตุเพราะที่ตั้งช่างอยู่ไกลปืนเที่ยง ห่างจากพระบรมมหาราชวังเหลือประมาณ
แน่นอนทีเดียว การเลือกสถานที่สร้างวัดปทุมฯ ในทำเลห่างไกลชุมชนบางกอกซะขนาดนั้น ก็เพราะประสงค์จะให้เป็นวัด "อรัญวาสี" หรือวัดป่าสายวิปัสสนาธุระชั้นนอกสุดของราชธานี โดยมีวัดบรมนิวาสเป็นวัดอรัญวาสีชั้นใน ตามอย่างราชธานีสุโขทัย เมืองในอุดมคติของพระองค์ ที่มีวัดคามวาสีอยู่คู่กับอรัญวาสีอีกสองชั้นเสมอ 
จึงโปรดให้ขุดหนองน้ำขนาดใหญ่ปลูกดอกบัวสารพัดพันธุ์ทั้งไทย-เทศ แทนสัญลักษณ์ตามคติพุทธมหายาน ที่เชื่อว่าพระธยานิพุทธเจ้า "อมิตาภะ" ประทับอยู่กลางสระบัว อันเป็นดินแดนแห่งสุขาวดี

สระบัวแห่งนี้เชื่อมต่อคลองบางกะปิ คลองอรชร และคลองแสนแสบ น่าเสียดายยิ่ง ที่ถนนพระราม 1 (บำรุงเมือง) ได้ตัดผ่านและถมทับสภาพของวัดที่เคยมีน้ำล้อมรอบ จากวัดป่าชนบทวิเวกห่างไกลผู้คนมากที่สุดในสมัยรัชกาลที่ 4 ได้กลายเป็นวัดที่อยู่กลางแหนห้อมศูนย์การค้าไฮโซจอกแจกจอแจมากที่สุดในมหานคร
การสร้างพระอารามกลางน้ำนั้น แท้ก็เป็นการจำลองคตินิยมของวัดลังกาวงศ์สายรามัญนิกาย ที่เน้นพิธีอุปสมบทกลางแม่น้ำ เรียกว่าอุทกุกเขปสีมา ดังเช่นวัดตระพังเงิน วัดสระศรี ของสุโขทัย



ตอนที่ ศอฉ. สั่งล้อมปราบเข่นฆ่าประชาชนบริเวณสี่แยกราชประสงค์นั้น นายโคทม อารียา ผอ.ศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล ประสานมายังพระธรรมธัชมุนี เจ้าอาวาสวัดปทุมวนาราม เพื่อขอให้พื้นที่แห่งนี้เป็น "เขตอภัยทาน" สำหรับการเข้ามาพักพิงอาศัยแก่เด็ก สตรี และคนชรา 
ซึ่งถือว่าทางวัดได้มีเมตตาอย่างสูงแก่ผู้ร่วมชุมนุม แม้ปีรุ่งขึ้นจะปฏิเสธไม่อนุญาตให้ "เสื้อแดง" เข้ามาจัดพิธีรำลึกถึงผู้เสียชีวิตก็ตาม ซึ่งทุกคนก็เข้าใจดีว่าทางวัดย่อมเกิดความหวั่นไหวเกรงใจใบสั่งของเสื้ออีกสีหนึ่ง 
อย่างไรก็ดี มิอาจจินตนาการได้เลยว่า หากค่ำคืนนั้นปราศจากเสียซึ่งร่มเงาของวัดปทุมวนาราม จะมีผู้ถูกสังหารหมู่เพิ่มอีกกี่ศพ?


ศพที่เสียชีวิตในวัดปทุมฯ มีผู้เห็นเหตุการณ์กับตานับพัน และได้ให้สัมภาษณ์ถึงเบื้องลึกเบื้องหลังทั้งในที่ลับ-ที่แจ้งจนเป็นที่ประจักษ์ใจ แต่ไฉนในรายงานของ คอป. กลับชักแม่น้ำทั้งห้าเฉไปไฉมา โยนบาปไปให้ "ชายชุดดำ" ที่แฝงปลอมตัวมาเป็นฆาตกร  
ช่างกล้าพูดนะว่า เจ้าหน้าที่รัฐหรือกลุ่มทหารถือปืน เป็นเพียงผู้ลากเอาศพที่ถูกชายชุดดำยิง มาเก็บรวบรวมไว้ที่วัดเท่านั้นเพื่อความปลอดภัย!??




พระเสริม พระแสน พระไส 
พระประธานจากลาวล้านช้าง


เชื่อว่าผู้ชุมนุมที่หนีตายมาหลบซ่อนภายในวัดปทุมฯ อยู่ในสภาวะอกสั่นขวัญแขวน คงไม่มีอารมณ์สุนทรีย์มากพอที่จะไปเดินนวยนาดชมศิลปะสถาปัตยกรรมอันวิจิตรตามเสนาสนะต่างๆ อย่างแน่นอน 
จึงพลาดโอกาสได้เห็นภาพจิตรกรรมในพระวิหารที่แสดงเรื่อง "ศรีธนญชัย" หรือ "เซียงเมี่ยง" ในภาษาลาว ซึ่งปรมาจารย์ด้านจิตรกรรมคือ "น. ณ ปากน้ำ" ตั้งข้อสังเกตว่าเป็นภาพเขียนที่มีเนื้อหาแปลก  
ทำไมจึงไม่เลือกเขียนเรื่องพุทธประวัติ ชาดก ทศชาติ หรือปริศนาธรรม ตามขนบนิยม แต่กลับหยิบวรรณกรรมเบาสมองแต่ร้ายลึกมานำเสนอแทน คำตอบก็น่าจะเป็นเพราะว่าศรีธนญชัย คือนิทานยอดฮิตที่แพร่หลายในหมู่ไทย-ลาว  

ซึ่งเรื่องนี้มันโยงใยกับกลุ่มประชากรที่ตั้งบ้านเรือนอาศัยอยู่แถบนั้นมาก่อนหน้าที่จะมีการสร้างวัดปทุมวนาราม พื้นที่ตำบลสระปทุม (ชื่อย่านเมื่อครั้งกระโน้น) ล้วนอัดแน่นด้วยครอบครัวคนลาวที่ถูกกวาดต้อนมาจากล้านช้างให้ตั้งถิ่นฐานอยู่รอบนอกบริเวณชานเมืองด้านทิศตะวันออก สองฟากคลองแสนแสบ  
และยังเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับปริศนาที่ว่า ทำไมวัดนี้จึงมีพระพุทธรูปประธานสามองค์ที่ได้มาจากเมืองเวียงจัน? อันได้แก่ พระเสริม พระแสน (ทั้งสององค์ตั้งเป็นพระประธานคู่กันอยู่ในพระวิหาร) และพระไส (พระประธานในอุโบสถ) พระองค์นี้มักเขียนผิดเป็นพระใส หรือไสย-ไสยาสน์ แท้จริงแล้วภาษาลาวเรียกว่า "พระสายน์" ด้วยเชื่อว่ามีพุทธานุภาพด้านการประทานสายฝน

ช่วงที่สร้างวัดเสร็จใหม่ๆ รัชกาลที่ 4 ทรงมีพระราชประสงค์ว่า จะนำพระพุทธรูปทั้งสามองค์ที่รัชกาลที่ 3 ตีได้ตอนปราบกบฏเวียงจัน มาประดิษฐานไว้ที่วัดปทุมฯ เนื่องจากอยู่ท่ามกลางชุมชนชาวลาว 
แต่กลับได้รับการทักท้วงจากอำมาตย์ทั้งหลายว่าไม่สมควร ตามความเชื่อที่ว่าหากประดิษฐานพระพุทธรูปสำคัญไว้ในที่แห่งเดียวกันแล้วจะเกิดอาถรรพณ์ ชิงบารมีกันเอง เรียกว่า "พุทธปักษ์" ต้องแยกให้อยู่องค์ละแห่ง ด้วยเกรงว่าเทพอารักษ์ของพระพุทธรูปแต่ละเองค์จะยกพวกตีกัน ดังเช่นกรณีที่ไทยต้องส่งพระบางกลับคืนลาวไปมิเช่นนั้นจะเป็นปรปักษ์ต่อพระแก้วมรกต 
อันที่จริงพระไสนั้นเคยประดิษฐานที่วัดโพธิ์ไชย หนองคายอยู่ช่วงระยะเวลาหนึ่ง เป็นเหตุการณ์ที่วังหน้าของรัชกาลที่ 3 คือสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพย์ สั่งให้เผาทำลายเมืองเวียงจันแล้วย้ายพระพุทธปฏิมาข้ามโขงมาเพื่อเพิ่มความสำคัญให้แก่เมืองหนองคายแทนที่

ครั้นถึงยุคสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว พระอนุชาในรัชกาลที่ 4 ได้อัญเชิญพระไสไปประดิษฐานที่วัดเขมาภิรตาราม แต่จนแล้วจนรอด ก็มีเหตุการณ์ให้รัชกาลที่ 4 ต้องนำพระไสมาที่วัดปทุมวนาราม 
เช่นเดียวกับพระเสริม เคยอยู่ที่หนองคายด้วยกัน สมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ ก็ได้นำมาไว้ที่ท้องพระโรงวังหน้า แต่สุดท้ายรัชกาลที่ 4 ก็นำมาอยู่รวมดาวด้วยกันที่วัดปทุมวนารามอีกองค์ 
ส่วนพระแสนนั้น อัญเชิญมาจากถ้ำในแขวงมหาไชย ของเวียงจัน

เหล่าอำมาตย์ไม่รู้จะทัดทานเรื่อง "พุทธปักษ์" อย่างไร อีกทั้งมองว่าวัดปทุมฯ เป็นถึงพระอารามหลวง แต่กลับมายกย่องเชิดชูเอาพระพุทธรูปจาก "กบฏเมืองลาว" เป็นพระประธาน จึงได้เพ็ดทูลตามตรงไปเลยว่า พระพุทธรูปทั้งสามองค์นี้ได้มาจากเมืองเชลย ย่อมถือเป็นเสนียดจัญไรแก่บ้านเมือง เห็นควรให้ฝ่ายวังหน้าดูแลเช่นเดิมเหมาะสมดีแล้ว หากยังดันทุรังนำมาบูชาในสายวังหลวง อาจเกิดอาเพศแผ่นดิน ฝนฟ้าไม่ตก ข้าวยากหมากแพง ขึ้นมาได้  
แม้กระนั้นรัชกาลที่ 4 ก็ยังยืนยันพระราชปณิธานหนักแน่นว่า พระพุทธปฏิมาสาม "ส" จากล้านช้างจักต้องประดิษฐานอยู่ด้วยกัน ณ วัดปทุมวนารามเท่านั้น จะไม่ยกให้ "วังหน้า" แยกไปประดิษฐานตามวัดต่างๆ อีกแล้ว ทั้งนี้ เพื่อให้ชาวลาวในละแวกทุ่งปทุมวัน-คลองแสนแสบผู้พลัดที่นาคาที่อยู่เกิดขวัญกำลังใจ ได้กราบไหว้บูชาบ้าง 
ข้อขัดแย้งของวัดปทุมฯ จึงมีอยู่ตั้งแต่แรกสร้างว่า วัดอยู่ในฐานะอรัญวาสี สายธรรมยุติ ซึ่งยากจะให้ชาวบ้านเข้าถึง แต่กลับมีพระพุทธรูปโบราณถึงสามองค์ที่ได้มาจากชายขอบ แม้จะเป็นพระพุทธปฏิมาในระดับชั้น "วังหน้า" มิใช่ "วังหลวง" แต่กลับเป็นวัดที่รัชกาลที่ 4 ทรงโปรดปรานมากเป็นพิเศษ เห็นได้จากวันฉลองพระอารามทรงเสด็จประพาสทางชลมารคมาประทับแรมถึง 5 คืน  
ท่ามกลางการทักท้วงของขุนนางอย่างต่อเนื่องอีกหลายระลอกว่า
"ระวังจะเกิดเหตุร้าย "กาลกิณี" มีผู้คนล้มตายในวัดนี้เข้าสักวัน!"


เหตุการณ์สังหารหมู่ "เขตอภัยทาน 6 ศพ" ณ วัดปทุมวนาราม คงไม่เกี่ยวข้องอะไรกับอาถรรพณ์พระพุทธรูปจากล้านช้างที่เหล่าอำมาตย์ตั้งข้อรังเกียจเดียดฉันท์ 
หากแต่เกิดจากอาถรรพณ์แห่ง "คนดีของพ่อ คนหล่อของป๋า" ผู้ใจดำ สั่งยิงคนไม่มีทางสู้ รู้ทั้งรู้ว่าคนที่วิ่งหลบในวัดปทุมฯ นั้นส่วนใหญ่ มีแต่เด็ก คนแก่ แม้กระทั่งพยาบาลอาสาอย่างน้องเกด
แล้ววิบัติซ้ำด้วยความจริงอันอัปยศของ คอป. ที่เล่นลิ้นยิ่งกว่าศรีธนญชัย ถ่มถุยกระหน่ำซ้ำเติม เสมือนเป็นการออกใบอนุญาตฆ่า


พระเสริม พระแสน พระไส พระพุทธปฏิมาพลัดถิ่น ร่ำไห้อีกเป็นคำรบสอง หลังจากครั้งแรกที่กัดฟันทนคนสยามเผาเวียงจันแล้วยัดเยียดข้อหา "กบฏ" ให้ เมื่อถูกกระชากร่างพรากมาเป็นตัวประกันอยู่คลองแสนแสบ ยังต้องทนเห็นคนตายถูกประณามว่าเป็นผู้ก่อการร้ายอีกหรือนี่?



.

2555-09-29

เกษียร(3): ‘ข้อสังเกต-สถานการณ์ปัจจุบัน: The Politics of Mediocrity’

.

เกษียร เตชะพีระ : ‘ข้อสังเกตเกี่ยวกับสถานการณ์ปัจจุบัน: The Politics of Mediocrity’
ในมติชน ออนไลน์  วันศุกร์ที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2555 เวลา 09:50:08 น.
( ที่มา คอลัมน์กระแสทรรศน์ โดย เกษียร เตชะพีระ นสพ.มติชนรายวัน ประจำวันศุกร์  28 ก.ย. 2555 )


".....ตนพูดกับคนทางไกล ในเมื่อจะขอไม่เห็นด้วยกับเรื่องวาระสามทำไมไม่ฟัง ไม่ด่า แต่ไม่ฟังตน เลยบอกว่าท่านครับตั้งแต่รู้จักกันมา วิเคราะห์การเมืองหลายเรื่อง มีเรื่องไหนบ้างไม่เป็นแบบที่ตนพูด แม้แต่เรื่องหลังสุด พ.ร.บ.ปรองดอง ตนค้านตั้งแต่นาทีแรกจนถึงนาทีสุดท้าย ว่าไม่ควรเร่งรีบ เอาเข้าไป แล้วเป็นอย่างไร พอพูดอย่างนี้ก็นิ่งไป ตนพูดอย่างนี้เขาจึงยอมฟัง มาหมัดสุดท้าย หมัด น็อก ที่ฟังตนแล้วนิ่ง คือทางการเมืองพรรคเพื่อไทยเดินมาถูกต้องโดยตลอด การเมืองเขาไม่เอาขุน ออกมาเล่นโดยไม่จำเป็น หมายถึงไม่เอานายกฯมาเสี่ยง ที่ผ่านมาเดินมาถูกโดยตลอด เอาเผือกร้อน ให้ตนอุ้มไว้มาให้ถูกต้องแล้ว วันนี้มาแย่งเผือกร้อนจากมือตนไปคิดอย่างไร...

"...พรุ่งนี้ว่างไหม 10.30 น. จะประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์ท่านทักษิณจะสไกป์มา ซึ่งปรากฏว่าบรรยากาศคนละเรื่อง เพราะก่อนหน้านี้ตนโดนรุมกินโต๊ะ แต่วันนี้ ปรากฏคนทางไกลพูดแทนตนหมดเลย เอาเหตุผลที่ตนล้มล้างความคิดของพรรค ลบล้างกรรมการยุทธศาสตร์ทั้งหมด ภาระหน้าที่ต่อไปคือไม่เห็นด้วยที่จะเอา พ.ร.บ.ปรองดองมาเข้าสภา ตนพูดเป็นหมื่นครั้งว่าท่านทนลำบากมา 5 ปี ลำบากอีก 3 เดือน 6 เดือนจะเป็นอะไร ฉะนั้น 1 ส.ค. ถอนออกไปและไปเสวนาหาทางออกทั่วประเทศไทย ใช้สื่อของรัฐ โหมประโคมความจริงวันนี้ แล้วประชาชนจะเป็นเกราะคุ้มกันให้เรา ถึงเวลานั้น 3-6 เดือน เอา พ.ร.บ.ปรองดองกลับมา ไม่มีเหตุผลที่ต้องเอาขุนมาเสี่ยง ถ้าจะเป็นให้ฝ่ายเขาประกาศสงคราม เราอย่าไปประกาศสงคราม เรารักษาอำนาจรัฐบริหารรัฐ อำนาจอยู่ในมือ แล้วไปกระทืบๆ สุดท้ายเกลี้ยง"
คลิปเสียงสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎรและประธานรัฐสภา 
เปิดใจกับแกนนำขอนแก่นในงานวันเกิด 27 มิ.ย.2555 ที่ จ.เพชรบูรณ์
http://news.mthai.com/headline-news/174694.html

"ขุนค้อนทิ้งทวนงบฯปี 55 พาทัวร์ยุโรป-ดูบอลแมนยูฯ-ลิเวอร์พูล" 
sanook.com, 19 ก.ย.2555
http://news.sanook.com/1143289/



ข้อความทั้งสองที่ยกมาข้างต้นยึดกุมและสะท้อนแก่นแท้แห่งแนวทางการเมืองของรัฐบาล และแกนนำพรรคเพื่อไทยได้เป็นอย่างดี
มันเป็นแนวทางที่เลือกวางน้ำหนักไว้ที่การรอมชอมประนีประนอมกับพลังอำนาจชนชั้นนำเก่าที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง มากกว่าสนองตอบข้อเรียกร้องของฐานเสียงมวลชนคนเสื้อแดงให้ รุกคืบหักหาญปรับเปลี่ยนโครงสร้างอำนาจเดิมที่เป็นมรดกตกค้างจากรัฐประหารของ คปค.
มันเป็นแนวทางที่หลีกเลี่ยงการปะทะเผชิญหน้าแบบแตกหัก หากมุ่งผ่อน-ถ่วง-ซื้อเวลาเพื่อรักษาและเสริมขยายฐานอำนาจรัฐฝ่ายบริหารในมือให้แข็งแกร่งมั่นคงพร้อมพรักเสียก่อน 
มันเป็นแนวทางให้หัวหน้าฝ่ายบริหารลอยตัวเหนือความขัดแย้งและวิวาทะรายวันทางการเมือง แล้วมุ่งบริหารจัดการแก้ปัญหาของบ้านเมือง จัดสรรงบประมาณฯ วางคนในตำแหน่ง บริหารและกำกับดูแลกระทรวงทบวงกรมและรัฐวิสาหกิจที่เป็นกลไกยุทธศาสตร์สำคัญ เพื่อเตรียมการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจและเปิดต่อขยายโครงสร้างพื้นฐานด้านเส้นทางคมนาคมของประเทศครั้งใหญ่รอบใหม่ ซึ่งจะเปิดพรมแดนด่านหน้าของทุนนิยมไทยไปเชื่อมต่อกับเขตลงทุนใหม่ๆ ในประเทศเพื่อนบ้านรายรอบ สร้างโอกาสเศรษฐกิจในการผลิตมูลค่าเพิ่มตามอาณาบริเวณชั้นใน และพลิกโฉมสังคมไทยด้วยคลื่นความมั่งคั่งระลอกใหม่ที่จะบันดาลฐานเสียงสนับสนุนอันมั่นคงแก่พรรคไปอีกนับสิบปี สิบๆ ปี

เพื่อการใหญ่ดังกล่าวนี้ หากจะต้องวางหลักการสำคัญแห่งสิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตย ที่มวลชนคนเสื้อแดงได้เอาเลือดเนื้อและชีวิตเสียสละเข้าแลกในรอบหลายปีที่ผ่านมา - วางมันไว้ข้างๆ หรือขึ้นหิ้งเสียก่อน ไม่ว่าจะเป็นการปฏิรูปกฎหมายอาญามาตรา 112, พ.ร.บ.ปรองดอง, การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เป็นมรดกตกทอดของ คมช., การให้สิทธิประกันตัวแก่ผู้ต้องหาคดีการเมือง คดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพและนักโทษมโนธรรม, การรับเขตอำนาจศาลอาญาระหว่างประเทศ ฯลฯ ก็ต้องทำ ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็เพื่อผลทางปฏิบัติในการรักษาอำนาจรัฐในมือไว้ก่อนเหนืออื่นใด

แนวทางการเมืองของรัฐบาลพรรคเพื่อไทยจึงเป็น the politics of mediocrity หรือการเมืองแบบพอถูๆ ไถๆ เฮงๆ ซวยๆ เอาอำนาจรอดไปวันๆ เพื่อวันข้างหน้า มีการสนองตอบชดเชยค่าความเสียหายจากงบประมาณฯแก่มวลชนผู้ชุมนุมที่ถูกรัฐละเมิดสิทธิจนบาดเจ็บพิการล้มตายบ้าง พอหอมปากหอมคอ มีตุกติกใช้จ่ายเงินหลวงหว่านซื้อหาเสียงอุปถัมภ์เผื่อแผ่พรรคพวกบ้างพออุจาดตา ตามประสานักการเมืองจากการเลือกตั้ง
ซึ่งถึงอย่างไรประชาชนก็ชาชินกับระดับความดีและความสะอาดโดยสัมพัทธ์ที่พอคาดหวังได้จาก ฯพณฯ ผู้ทรงเกียรติทั้งหลายแล้ว แต่ที่หัวเด็ดตีนขาดอย่างไรก็ไม่มีทางทำแน่นอน คือยืนสู้ตายคาหลักการในวันนี้เคียงข้างกับมวลชน มิไยว่าหมอเหวง, คุณธิดา ถาวรเศรษฐ, คุณจาตุรนต์ ฉายแสง, หรือพันเอก ดร.อภิวันท์ วิริยะชัย จะทวงถาม เรียกร้องรุกเร้าเอากับรัฐบาลอย่างไรก็ตาม


การตัดสินใจของรัฐบาลและแกนนำพรรคเพื่อไทยที่จะทำการเมืองแค่แบบพอถูไถไปวันๆ ขอรักษาอำนาจรัฐในมือไว้ก่อนนั้นกล่าวให้ถึงที่สุดแล้วตั้งอยู่บนการคาดคำนวณเวลา 2 เวลา
คือเวลาความอยู่ยั้งยืนนานของระบอบเลือกตั้งประชาธิปไตยที่อุดหนุนค้ำจุนโดยนานาอารยประเทศอย่างหนึ่ง
กับเวลาความอยู่ยืดคงทนของเครือข่าย "อำมาตย์" หรือนัยหนึ่งบรรดาบุคลากรและสถาบัน อำนาจที่ไม่ได้มาจากเสียงข้างมากในการเมืองไทยที่ย่อมมีอันเป็นไปตามหลักความเป็นอนิจจังของ สังคมอีกอย่างหนึ่ง 
ว่าเวลาทั้งสองนี้ อย่างไหนจะยืนยาวกว่ากัน.....

และดูเหมือนว่าท่าทีของพลังการเมืองและราชการฝ่ายต่างๆ ในระยะผ่านของความขัดแย้ง เปลี่ยนแปลงก็พลิกแพลงโอนเอนไปตามผลการคาดคำนวณเวลาทั้งสองนี้เช่นกัน 
ดังที่คอลัมน์หน้า 3 ของมติชนรายวันศุกร์ที่ 21 ก.ย.ศกนี้ วาดวางแผนยุทธศาสตร์ระยะยาวของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ให้เห็นเป็นฉากๆ ชัดๆ ว่า:

".....การขับเคลื่อนของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กำลังเดินหน้า 
"ไม่เพียงแต่เดินหน้าในเรื่องการวางโครงสร้างพื้นฐานเพื่อบริหารและจัดการทรัพยากรน้ำ ในวงเงิน 3.4 แสนล้านบาท 
"เป้าหมายคือ ไม่ให้เกิดมหาอุทกภัยอย่างที่เห็นเมื่อปลายปี 2554 
"หากที่สำคัญเป็นอย่างมาก ยังเป็นการตระเตรียมแผนแม่บทในการสร้างอนาคตประเทศไทยภายในวงเงินงบประมาณ 2.27 ล้านล้านบาท
"ภายใน 6-7 ปีข้างหน้า..... 
".....2.27 ล้านล้านบาท ยังครอบคลุมไปยังโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูง เหนือถึงเชียงใหม่ ใต้ถึงหาดใหญ่ ตะวันตกถึงกาญจนบุรี ตะวันออกเฉียงเหนือทะลุนครราชสีมาไปยังหนองคาย.....  
"ทั้งหมดนี้ดำเนินการภายใต้แนวทางใหญ่อันงอกงามมาจากคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศไทย (กยน.)
"เท่ากับเป็นการสร้างประเทศไทย "ใหม่" 
"เป็นการสร้างประเทศไทยใหม่บนพื้นฐานแห่งความมั่นใจว่าจะบริการจัดการทรัพยากรน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ ยั่งยืน เป็นประโยชน์ ขณะเดียวกัน ก็สามารถเชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน ไม่ว่าจีน ลาว เวียดนาม กัมพูชา มาเลเซีย สิงคโปร์ พม่า และอินเดีย 
"โดยวางประเทศไทยให้เป็น "ศูนย์กลาง"..... 
"สร้างอนาคตประเทศไทย "ใหม่" 

"มาดขรึม รัฐบาลอยู่เหนือความขัดแย้ง ขับเคลื่อนประเทศ"
http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1348227749&grpid=03&catid=&subcatid=



หากรัฐบาลยิ่งลักษณ์ไม่สะดุดวิกฤตความชอบธรรมทางการเมืองเรื่องคอร์รัปชั่นขนาดใหญ่และวิกฤตประสิทธิภาพด้านการบริหารจัดการประเทศเรื่องแก้ไขป้องกันน้ำท่วมและการคลังเสียก่อน ก็คงยากที่ฝ่ายค้านในและนอกสภาแบบ The Zombie Opposition ตอนนี้จะสกัดขัดขวางได้

แต่ถ้าถามว่าเราควรทนอยู่กับ The Politics of Mediocrity ของรัฐบาลยิ่งลักษณ์และพรรคเพื่อไทยแบบนี้หรือ? คำตอบคงขึ้นอยู่กับว่าสังคมไทยเรียนรู้อะไรในหลายปีที่ผ่านมา? และต้องการอะไรต่อไปข้างหน้า? 
พูดอย่างรวบยอดความคิดจากประสบการณ์ อาจกล่าวได้ว่าสังคมไทยในหลายปีที่ผ่านมา เป็นสังคมที่ผู้คนจำนวนมากยอมฆ่าเพื่อสิ่งที่เชื่อและตายเพื่อสิ่งที่เชื่อ 

ปัญหาของสังคมที่มีความเชื่อรุนแรงเข้มข้นขนาดนี้ อยู่ตรงหากไปพบภายหลังว่าสิ่งที่เชื่อเกิดผิดขึ้นมาล่ะ จะทำอย่างไร? คนที่ยอมฆ่าก็ฆ่าไปแล้ว และคนที่ยอมตายก็ตายไปแล้ว ไม่อาจเรียกฟื้นคืนชีวิตที่สูญเสียไปของผู้คนกลับมาได้ 
แล้วคนเหล่านั้นฆ่าและตายไปเพื่ออะไร? มันคุ้มกันไหม? เทียบกับการเรียนรู้ที่จะไม่เชื่ออย่างสุดโต่ง, เลิกเชื่อด้วยความเข้าใจ, และทะเลาะกันอย่างสันติ เผื่อว่าวันข้างหน้า สิ่งที่เชื่อเกิดผิดขึ้นมา ก็ยังจะมีชีวิตของเขาของเราอยู่ต่อไปทะเลาะกันรอบใหม่ได้


และการเมืองที่เหมาะสมคู่ควรกับสังคมที่ไม่ยอมฆ่าและไม่ยอมตายเพื่อสิ่งที่เชื่อก็อาจเป็น The Politics of Mediocrity แบบพอถูๆ ไถๆ เฮงๆ ซวยๆ เอาอำนาจรอดไปวันๆ ก็เป็นได้

ในที่สุด ปัญหาคงอยู่ที่ว่าในสังคมที่ไม่ยอมฆ่าและไม่ยอมตายเพื่อสิ่งที่เชื่อนี้ได้เพาะหน่ออ่อนแห่งวิกฤตซุกแฝงรอวันระเบิดไว้ในสังคมหรือไม่? และระหว่างเอาตัวรอด คิดการณ์ใหญ่ ทำมาหากินไปวันๆ นั้น สังคมได้ใช้โอกาสของการไม่มีการฆ่าไม่มีการตายในปัจจุบัน (ยกเว้นบริเวณจังหวัดชายแดนภาคใต้) ไปขุดค้นหาทางแก้ไขรากเหง้าหน่ออ่อนเพื่อตัดตอนวิกฤตแต่ต้นมือหรือไม่?

หรือปล่อยให้มันซึมลึกแผ่ขยายลุกลามจนอาจนำไปสู่วิกฤตและการฆ่าการตายครั้งใหญ่รอบใหม่ในอนาคต?



.

อำนาจกระจุกและอำนาจกระจาย โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์

.

อำนาจกระจุกและอำนาจกระจาย
โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1676 หน้า 28  


สามก๊กนั้นเป็นวรรณกรรมอันน่าอัศจรรย์มากของไทยในต้นรัตนโกสินทร์ เริ่มตั้งแต่ทำไมถึงถูกแปลเป็นภาษาไทย และทำไมถึงเป็นที่นิยมกันอย่างกว้างขวาง (อย่างน้อยในหมู่ชนชั้นนำ) กลายเป็นบทละคร ภาพสลักหิน (ซื้อมาจากจีน) และความเปรียบต่างๆ ในภาษาไทยอย่างแพร่หลาย 
สามก๊กและความนิยมจนแพร่หลายของสามก๊กสะท้อนความเปลี่ยนแปลงแนวคิดทางการเมืองบางอย่างในสังคมไทยสมัยนั้น 

ทำไมผมจึงคิดเช่นนั้น ผมขออธิบายดังต่อไปนี้ครับ


ในบทความครั้งที่แล้ว ผมพูดถึงแนวคิดเกี่ยวกับอำนาจของชวา ตามการศึกษาของ อาจารย์เบน แอนเดอร์สัน ซึ่งในหลายลักษณะของแนวคิดนั้น ก็เหมือนกับของไทย  
อำนาจในแนวคิดของชวา (และไทย) นั้นมีลักษณะกระจุก คือไม่แยกออกเป็นอำนาจหลากหลายชนิด (การเมือง, เศรษฐกิจ, วัฒนธรรม ฯลฯ) และด้วยเหตุดังนั้น จึงไม่ได้แยกผู้ถืออำนาจออกเป็นหลายฝ่าย แต่กระจุกอยู่กับคนเดียวหรือสถาบันเดียว

ที่ว่าทั้งหมดนี้เป็นแนวคิดในอุดมคตินะครับ ไม่ได้หมายความว่าในความเป็นจริง ไม่มีการแก่งแย่งอำนาจด้านต่างๆ ระหว่างคนต่างกลุ่มในชวาหรือเมืองไทยโบราณเลย เพียงแต่ว่าหากการแก่งแย่งนั้นอยู่พ้นการควบคุมของอำนาจใหญ่จนเลยเถิดไป (เช่น จับอาวุธขึ้นรบกัน หรือพรรคพวกบริวารตีกันในขบวนแห่พระ-ตามพระราชพงศาวดาร ร.1) ก็แสดงว่าอำนาจกำลังเสื่อมเสียแล้ว จึงไม่มีลักษณะกระจุกอีกต่อไป เป็นอันตรายต่อบ้านเมืองอย่างยิ่ง 

อำนาจถูกกระจุกด้วยอิทธิฤทธิ์ของพลังจักรวาล ในชวาซึ่งได้อิทธิพลฮินดูมากกว่าไทย พลังดังกล่าวอาจเป็นพระศิวะ
ส่วนของไทยเป็นพลังแห่งกรรม 
ย้อนกลับไปดูวรรณคดีหลวงสมัยอยุธยา อำนาจย่อมกระจุกด้วยพลังแห่งกรรมทั้งนั้น พระสมุทโฆษตกทะเลเพราะพระขรรค์วิเศษหลุดมือ แต่ในที่สุดก็ได้รับความช่วยเหลือจากเทวดา จนเหาะได้อีกครั้ง และกลับมามีอำนาจที่กระจุกอยู่ในมือตนเอง เป็นอันจบเรื่องจบราวกันไป 
พระเวสสันดร หรือพระราม ก็เหมือนกัน (ถ้ามองจากพลังแห่งกรรม แทนที่จะมองจากภารกิจของพระเจ้า) 
คนเหล่านี้ เมื่อได้อำนาจแล้วก็เป็นอำนาจที่กระจุกทั้งนั้น แม้แต่บริวารที่ส่งไปครองเมืองต่างๆ ก็ยังจงรักภักดีถวายหัวเหมือนเดิม ศัตรูที่ไม่จงรักภักดี (เช่น ชูชก) ก็ถูกพลังกรรมทำให้สิ้นชีวิตลง



แต่สามก๊กไม่ใช่นะครับ อำนาจกระจายมาตั้งแต่ชื่อเรื่องแล้ว แม้ในที่สุด คนดีมีฝีมืออาจรวบรวมก๊กต่างๆ ให้มาอยู่ภายใต้อำนาจของตนได้หมด แต่นั่นเป็นตอนท้ายที่ไม่ใช่ท้องเรื่องหลักของวรรณกรรม 
ยิ่งกว่านั้น ตัวละครหลักๆ ทุกตัว ไม่มีใครสมบูรณ์เลยสักตัวเดียว ล้วนมีจุดเด่นและจุดด้อยในตัวเองทั้งนั้น พูดอีกอย่างหนึ่งคือมีอำนาจจากคุณสมบัติบางอย่างของตัว แต่ก็เป็นอำนาจที่จำกัด 


อำนาจในสามก๊กนั้นกระจาย ไม่ใช่กระจายไปตามก๊กต่างๆ ซึ่งมีจุดแข็งจุดอ่อนที่ต่างกันเท่านั้น แต่แม้ในก๊กเดียวกัน อำนาจก็กระจาย ไม่ว่าจะเป็นตั๋งโต๊ะ ลิโป้ โจโฉ ซุนกวนหรือเล่าปี่ ล้วนมีศัตรูภายในที่มีอำนาจอยู่มาก จนกระทั่งเจ้านายต้อง "ต่อรอง" ด้วยวิธีต่างๆ มากกว่าขจัดออกไปอย่างง่ายๆ 
คนไทยที่เคยชินกับนิยายที่อำนาจกระจุกอยู่กับพระเอกคนเดียว นิยมชมชอบสามก๊กเพราะอะไร แค่อ่านหรือฟังรู้เรื่องก็น่าอัศจรรย์แล้วนะครับ เพราะแม้แต่จะหา "พระเอก" ในเรื่องสามก๊ก โดยอาศัยมาตรฐาน "พระเอก" แบบไทย ก็หาไม่เจอด้วยซ้ำ



ผมไม่ทราบหรอกครับว่า เรื่องสามก๊กเริ่มรู้เริ่มเล่ากันในสังคมไทยตั้งแต่เมื่อไร แต่ผมไม่เชื่อหรอกครับว่า จู่ๆ เจ้าพระยาพระคลัง จะมานั่งแปลสามก๊ก โดยไม่มีฐานความนิยมในสังคมมาก่อนเลย ฉะนั้น หากจะมีหลักฐานว่าคนไทยในปลายอยุธยาก็รู้เรื่องสามก๊กอยู่บ้าง ผมก็ไม่แปลกใจอะไร 
อาจเป็นได้ว่าเค้าของความคิดเรื่องอำนาจกระจาย ปรากฏในวรรณคดีไทยอีกเรื่องหนึ่งคือขุนช้างขุนแผน แม้เรื่องนี้ถูกใช้สำหรับขับเสภามาแต่ปลายอยุธยา แต่เรารู้โครงเรื่องและตัวอย่างเสภาจากอยุธยาน้อยมาก ขุนช้างขุนแผนฉบับที่เรารู้จักทุกวันนี้ ไม่ว่าจะเป็นฉบับที่ถูกชำระแล้วหรือยังไม่ถูกชำระ ล้วนเป็นงานสมัยรัตนโกสินทร์ทั้งสิ้น  

ด้วยเหตุที่ขุนแผนเป็นพระเอก จึงต้องบรรยายความเก่งกล้าสามารถของขุนแผนไว้มากมาย จนดูเหมือนอำนาจจะกระจุกอยู่กับพระเอก แต่ในเนื้อเรื่องอำนาจของขุนแผนกลับถูกจำกัดลงด้วยอำนาจอื่น เช่น อำนาจของพระเจ้าแผ่นดิน อำนาจของความสัมพันธ์ทางสังคมอื่นๆ รวมทั้งความหวงแหนนางวันทองด้วย แม้แต่ความเลวของขุนช้างก็ยังสามารถจำกัดอำนาจของขุนแผนลงได้  
แต่บางคนอาจเห็นว่า ถึงอย่างไรขุนแผนก็ไม่ใช่เจ้าแผ่นดิน ฉะนั้น อำนาจย่อมไม่กระจุกอยู่กับสามัญชนอยู่แล้ว นั่นก็เป็นได้ครับ เพราะเรื่องราชาธิราชก็มี "พระเอก" เป็นทหารเอก ที่อำนาจไม่ได้กระจุกอยู่กับเขาเหมือนกัน

อย่างไรก็ตาม เรื่องสามก๊ก, ขุนช้างขุนแผน และราชาธิราช ก็เป็นวรรณกรรมที่ได้รับความนิยมอย่างสูงในต้นรัตนโกสินทร์ ทั้งที่ล้วนเป็นเรื่องที่อำนาจในท้องเรื่องต่างเป็นเรื่องของอำนาจที่กระจายออกไปจากจุดเดียวทั้งนั้น 
วรรณกรรมเหล่านี้ จึงสะท้อนความเปลี่ยนแปลงบางอย่างที่สำคัญในสังคมไทยสมัยนั้นด้วย อุดมคติของชนชั้นนำว่า อำนาจต้องกระจุกกำลังสลายลง หรืออย่างน้อยเริ่มถูกปรับเปลี่ยน  
ทั้งหมดนี้มีปัจจัยทางสังคมอะไรหนุนหลังให้เกิดการปรับเปลี่ยน ผมตอบไม่ได้ ยกเว้นแต่มีข้อเดาด้านการเมือง



นับจากความมั่งคั่งที่อยุธยาได้รับใน "ยุคแห่งการค้า" (คริสต์ศตวรรษที่ 16-17) ที่ทำให้อยุธยาขยายอำนาจ สร้างระบบราชการที่ใหญ่ขึ้น ลักษณะของ "รัฐราชสมบัติ" คือพระเจ้าแผ่นดินเป็นเจ้าของทรัพย์และอำนาจทุกอย่างในรัฐแต่ผู้เดียว คลอนคลายลง เช่นแม้อำนาจของเจ้าเมืองที่ใกล้พระนครอ่อนลง แต่อำนาจของขุนนางส่วนกลางกลับแก่กล้าขึ้น จนพระเจ้าแผ่นดินต้องระวังตัวอยู่ตลอดเวลา  
ตกถึงปลายอยุธยา ขุนนางส่วนกลางมีอำนาจมากพอจะสั่งสมอำนาจนั้นไว้ในตระกูลสืบเนื่องกันได้ กลายเป็นอำนาจปลูกฝัง (ในท้องถิ่นหรือในตำแหน่งราชการ) ที่พระเจ้าแผ่นดินไม่สามารถมองข้ามได้ และก็เป็นที่รู้กันทั่วไปในหมู่ชนชั้นสูง "ความเป็นจริง" ที่ประจักษ์แก่ผู้คนขัดแย้งกับทฤษฎีอำนาจกระจุกอย่างเห็นได้ชัด  
และอย่างที่รู้กันอยู่แล้วว่า การกระจายอำนาจไปในหมู่ขุนนางในสมัยต้นราชวงศ์จักรี ก็ยังดำเนินต่อไปอย่างคึกคัก ว่ากันที่จริงแล้ว พระมหากษัตริย์ใน 4 รัชกาลแรกของราชวงศ์นี้ ต้อง "ต่อรอง-negotiate" อำนาจกับขุนนางทุกพระองค์ 
เมื่อสิ้นรัชกาลที่ 4 อำนาจของขุนนางซึ่งเคยมีหลายกลุ่มเกี่ยงแย่งกันอยู่ ขุนนางตระกูลเดียวช่วงชิงไว้ได้มากที่สุด จึงคุกคามความมั่นคงของราชวงศ์อย่างยิ่ง   

ผมคิดว่า "ความเป็นจริง" เช่นนี้ทำให้สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ ไม่คิดจะชิงราชสมบัติ ก็อยู่ๆ จะเลื่อนขึ้นไปอยู่ในตำแหน่งที่อำนาจกระจุกอยู่กับตัวน้อยกว่าทำไมล่ะครับ ฉะนั้น หากไม่มีการปฏิรูปของ ร.5 ระบอบกษัตริย์ของไทยก็คงเปลี่ยนไป (ตัวท่านก็เป็นคนหนึ่งที่นิยมชมชอบนิยายจีนอย่างมาก ล้วนเป็นเรื่องของอำนาจที่กระจายทั้งนั้น)  
บางคนคิดว่าเมืองไทยอาจเกิดระบอบ "โชกุน" ขึ้นในเมืองไทย แต่ผมคิดว่าเกิดขึ้นไม่ได้ง่ายนัก เพราะถึงแม้ตระกูลบุนนาคจะมีอำนาจมาก แต่ก็ไม่มากถึงกับจะสร้างระบอบนี้ขึ้นได้  
อย่าลืมว่าอำนาจที่ได้มานั้นไม่ได้มาจากการทำศึกกับศัตรู จึงเป็นอำนาจที่ไม่เด็ดขาดเท่าโตกุงาวาของญี่ปุ่น


เมื่ออำนาจเลื่อนมาอยู่ในกลุ่มขุนนาง แต่ไม่มีกลุ่มใดที่ยึดอำนาจได้เด็ดขาด อำนาจต้องนำมาแบ่งปันกัน ตามสัดส่วนน้อยมากแล้วแต่กำลังต่อรองของตน สถานการณ์เช่นนี้ หากไม่นำไปสู่สงครามกลางเมือง ก็นำไปสู่การสร้างเวทีต่อรองอำนาจ ไม่ได้หมายถึงรัฐสภาในระบอบประชาธิปไตยนะครับ แต่อาจจะเป็นสภาขุนนาง ซึ่งเป็นสถาบันที่เกิดขึ้นได้ตามธรรมชาติของรัฐที่อำนาจกระจาย แต่ไม่เกิดขึ้นในเมืองไทย เพราะความพยายามที่จะรักษาอำนาจให้กระจุกสืบมาเป็นเวลานาน  
แน่นอนว่า ในสภาขุนนาง (ทุกแห่ง) อำนาจไม่ได้กระจายไปยังสมาชิกอย่างเท่าเทียมกัน แต่มีบางกลุ่มบางตระกูลที่ได้ส่วนแบ่งของอำนาจสูงกว่าคนอื่น และกลุ่มนี้แหละที่จะคอยกำกับมติของสภาขุนนาง แม้ไม่เด็ดขาดแต่ก็มักเป็นมติที่เอื้อต่อประโยชน์ของฝ่ายตนได้มาก

ดังนั้นสิ่งที่น่าจะเกิดหลัง ร.4 มากกว่า คือสภาขุนนางหรือ Hlutdaw ซึ่งเป็นสถาบันที่เกิดในพม่ามานานแล้ว อันที่จริงสมเด็จเจ้าพระยาท่านก็อาศัยการประชุม Hlutdaw เพื่อให้ความชอบธรรมแก่การตัดสินใจของท่าน ไม่ว่าจะชี้เอาใครมาสืบราชสมบัติต่อจาก ร.4 (เป็นผู้เยาว์ที่ในช่วงนั้นสุขภาพกำลังย่ำแย่ ชนิดที่ผู้คนไม่แน่ใจว่าจะมีชีวิตรอดหรือไม่) หรือเตรียมเจ้านายในโอวาทของท่านไว้สืบต่อในตำแหน่งวังหน้าด้วย 
ที่ประชุมขุนนาง (ซึ่งแม้ยังไม่เป็นสถาบันอย่างชัดเจนเท่าพม่า) กลายเป็นเครื่องมือแห่งอำนาจในการเมืองไทยสืบมา สิ่งที่ต้องทำก็คือครอบงำสภาขุนนางให้ได้ แม้แต่ ร.5 เองก็ทรงตั้ง Hlutdaw ชื่อเคาน์ซิลออฟสเตตภายใต้การครอบงำของพระองค์เป็นเครื่องมือในการสถาปนาอำนาจของราชบัลลังก์เหมือนกัน

แต่พัฒนาการทางการเมืองในแนวนี้มายุติลงด้วยการสถาปนาระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ได้สำเร็จ อำนาจที่เริ่มกระจายถูกนำมากระจุกไว้ภายใต้ราชบัลลังก์ วรรณกรรมที่สร้างขึ้นนับจากนั้น หันมาสู่การเมืองแบบอำนาจกระจุก ไม่ว่าจะเป็นนิทราชาคริต, พระร่วง, มาจนถึงสี่แผ่นดิน

แนวคิดทางการเมืองของไทยหันกลับไปสู่ "รัฐราชสมบัติ" ใหม่อีกครั้งหนึ่ง การเรียงรายพระนามของกษัตริย์หรือรายชื่อของนายกรัฐมนตรี ก็กลายเป็นงานเขียนทางประวัติศาสตร์ไปได้ 
เพราะแนวคิดอำนาจกระจุกกลายเป็นตัวแบบการปกครอง ที่สั่งสอนอบรมสืบทอดกันมาในแบบเรียนจากชั้นประถมถึงมหาวิทยาลัย ส่งผ่านละครทีวี, หนังไทย, งานวรรณกรรม และศิลปะทุกแขนง จนทำให้คนไทยปัจจุบันเชื่อว่า ระเบียบของสังคมนั้นดำรงอยู่ได้ก็ต่อเมื่ออำนาจถูกกระจุกไว้ที่จุดใดจุดหนึ่ง (ซึ่งควรเป็น "คนดี", คนมีเกียรติยศสูงสุด และเป็นที่ยอมรับของคนทั่วไป)

อาจพูดได้ว่า ความแตกต่างด้านจินตนาการทางการเมืองของเสื้อเหลืองและแดง ก็คือฝ่ายหนึ่งคิดถึงอำนาจที่ต้องมีธรรมชาติกระจุก ในขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งคิดถึงอำนาจที่ต้องมีธรรมชาติกระจาย



.

เขียนประวัติศาสตร์ โดย คำ ผกา

.

เขียนประวัติศาสตร์
โดย คำ ผกา http://th-th.facebook.com/kidlenhentang
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1676 หน้า 89


"นายสมชาย หอมละออ กล่าวว่า รายงานความจริงนี้จะนำไปสู่ความปรองดอง เพราะสังคมมีความจริงกันคนละชุด ขึ้นอยู่กับชุดความจริงและมูลเหตุจูงใจของแต่ละคนแต่ละฝ่าย ดังนั้น รายงาน คอป. จะทำให้เกิดข้อเท็จจริงที่เข้าใจตรงกันไม่มากก็น้อย โดยการทำงานที่ผ่านมาเป็นการทำงานด้วยจิตอาสาและใช้ข้อเท็จจริงตามหลักวิทยาศาสตร์"
http://www.prachatai.com/journal/2012/09/42697


"ในรายงาน คอป. นอกจากการระบุอย่างเลื่อนลอยว่าพบคนชุดดำที่นี่บ้าง ที่นั่นบ้าง และบางที่ก็ระบุว่ามีการยิงอาวุธใส่เจ้าหน้าที่ แต่ไม่มีหลักฐานสนับสนุนชัดเจน ถ้ามีจริง ก็ควรยกเป็นกรณีตัวอย่างโดยละเอียดสักกรณีหนึ่ง เพื่อให้ทราบว่าคนชุดดำมีที่มาที่ไปอย่างไร เป็นใคร มีการจัดระดมพล และฝึกฝนกันอย่างไร งบสนับสนุนมาจากไหน ฯลฯ 
สรุปว่าการปฏิบัติงานของ คอป. คุ้มเงินของรัฐมาก เพราะช่วยสร้างทฤษฎีที่สนับสนุนการใช้กองกำลังเพื่อปราบปรามการชุมนุมของประชาชนได้เป็นอย่างดี ไม่จำเป็นต้องอาศัยการออก พ.ร.บ. เพื่อมาควบคุมหรือจำกัดสิทธิในการชุมนุมแต่อย่างใด และเป็นการวิเคราะห์ข้อมูลโดยอาศัยพยานหลักฐานที่แย่มากๆ (flimsy) และข้อมูลส่วนใหญ่เป็นของรัฐ เรียกว่าถ้าเอาพยานหลักฐานที่ คอป. กล่าวอ้างไปใช้ในศาลที่เป็นอิสระ ผมสงสัยว่าศาลจะรับพิจารณาหรือไม่" 
รายงานฉบับสมบูรณ์ของ คอป.: "ใบอนุญาตให้ฆ่า" พิภพ อุดมอิทธิพงศ์ 
http://prachatai.com/journal/2012/09/42698



ชื่อเต็มของ คอป. คือ "คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ" คุณสมชาย หอมละออ บอกว่า สังคมแตกแยกไม่ปรองดอง เพราะมี "ความจริง" หลายชุด-ฟังอย่างนี้มีเรื่องที่คนโง่ๆ อย่างฉันต้องเอามานอนคิดหลายคืน
เวลาเราพูดว่า "ความจริงมีหลายชุด" นี่ฟังดูดีนะ ฟังดูเป็นคนฉลาด อ่านหนังสือปรัชญา ฟังดูเป็นใจกว้าง รู้เท่าทันโลก 
นักเรียนที่เรียนประวัติศาสตร์จะซึ้งใจกับเรื่อง "ความจริงหลายชุด" นี้มากที่สุด เพราะวิชาแรกที่สำคัญมากที่นักเรียนประวัติศาสตร์ทุกคนต้องเรียนคือวิชา "ประวัติศาสตร์นิพนธ์" อันแปลไทยเป็นไทยได้ว่า วิชาว่าด้วยการ "แต่ง" เรื่องราวในอดีต

เราเรียนวิชาการ "แต่ง" เรื่องราวในอดีตเพราะเราตระหนักว่าในอดีตมีเหตุการณ์นับล้านๆ เหตุการณ์เกิดขึ้น แต่ "ใคร" เลือกเหตุการณ์ไหนมา "ร้อยเรียง" กันจนเป็น "เรื่อง" เรื่องหนึ่ง กลายเป็น "ชุดเหตุการณ์" หนึ่งอย่างไร และชุดเหตุการณ์ไหน ได้รับการยกระดับให้เป็น "ประวัติศาสตร์" 
ดังนั้น นักเรียนประวัติศาสตร์จึงทำสองอย่างคือ ศึกษาวิธีเขียนประวัติศาสตร์ของผู้อื่นในอดีตเพื่อทำความเข้าใจสังคมที่เป็นเจ้าของประวัติศาสตร์ในแต่ละห้วงเวลา 
สอง นักเรียนประวัติศาสตร์ก็ "แต่ง" ชุดของอดีตของตนเองขึ้นมาในฐานะที่เป็นแบบฝึกหัดของการ "เขียน" อดีตด้วยในเวลาเดียวกัน


และในการเรียน "ประวัติศาสตร์เช่นนี้" ก็ทำให้เรารู้ว่า "ประวัติศาสตร์" จำนวนมากไม่ได้จำกัดอยู่แค่การ "แต่งอดีต" ด้วยวิธีการเลือกและเรียงข้อเท็จจริงในอดีตเพื่อสร้าง "ความจริง" ขึ้นมาหนึ่งชุด แต่เป็นการ "แต่ง" เรื่อง "เท็จ" มาผสมปนเปกับเรื่อง "จริง" หรือแม้กระทั่งเรื่อง "เท็จ" ล้วนๆ ก็มีอยู่ไม่น้อย 
เมื่อเป็นเช่นนี้จึงมีคำอยู่สามคำที่น่าสนใจคือ "ข้อเท็จจริง", "ชุดความจริง" และการสถาปนา "ความจริง"



การเลือกเรียงร้อยข้อเท็จจริง และการเลือกเรียงลำดับเวลาของเหตุการณ์หรือข้อเท็จจริง ก่อให้เกิด ชุดความจริงหนึ่งชุด ท่ามกลางชุดความจริงหลายๆ ชุด ชุดไหนจะได้รับการสถาปนาให้กลายเป็น "ความจริง" ของสังคมนั้นเป็นเรื่องของ "อำนาจ"

นี่คือจุดที่อาจก่อให้เกิด "ความขัดแย้ง" หากมีการปะทะกันของ "อำนาจ" ที่ต้องการให้ ชุดของจริงของฝ่ายตนได้รับการสถาปนาให้กลายเป็น "ความจริง" ของสังคม 
ในสังคมประชาธิปไตยที่ไม่กลัว "ความจริง" และมีหลักประกันต่อสิทธิเสรีภาพของพลเมืองจะไม่มีความหวาดกลัวต่อความขัดแย้งของการต่อสู้กันของความจริงหลายๆ ชุด ยิ่งขัดแย้งมากยิ่งดี ประชาชนยิ่งได้กำไรจากการได้เห็นชุดความจริงมากชุดที่สุดออกมาปะทะ โต้ตอบกันที่แจ้ง ใครมีหลักฐานมากกว่า ใครพบหลักฐานใหม่ หรือบางเรื่องการพิสูจน์ หรือสถาปนาความจริงก็มีอันสิ้นสุดไปชั่วคราวด้วยจำนนต่อหลักฐาน เพราะยังไม่มีหลักฐานใหม่มาหักล้าง เช่น เรื่องท้าวสุรนารีมีจริงหรือไม่?

ทีนี้ "อดีต" บางอย่างมันเกี่ยวพันกับความสูญเสียในปัจจุบันที่ยังพอจะสืบสาวราวเรื่องกลับไปได้ เช่น การบุกนานกิงของญี่ปุ่น เมื่อปรากฏหลักฐานว่าโหดร้าย และอาชญากรรมเช่นนั้นจริง ก็ต้องมีการขอโทษ สำนึกผิด ชดใช้ ชดเชย หรือการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวของนาซี ก็ต้องมีการขึ้นศาล ลงโทษ และยอมรับว่ามีเหตุการณ์นั้นเกิดขึ้น "จริง" 
การจะได้ซึ่งความจริงที่ไม่ได้หมายถึงประวัติศาสตร์นิพนธ์ แต่คือ "ความจริง" ของเหตุการณ์เพื่อนำมาซึ่งความยุติธรรม และเป็นบรรทัดฐานของสังคมต่อไปในภายภาคหน้าเพื่อเป็นประสบการณ์ของการรับมือกับความขัดแย้งอย่างเป็นอารยะ

ชุดทำงานแบบ คอป. จึงสำคัญมากต่อ "สันติภาพ" ของสังคม
(เลี่ยนคำว่าปรองดองที่เหลวแหลกเละเทะเลื่อนเปื้อน)


หน้าที่ของคณะกรรมการอิสระเพื่อค้นหาความจริงคือการสืบหาข้อเท็จจริงให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ รอบด้านที่สุดเท่าที่จะรอบด้านได้และเป็นภววิสัย (ไม่ใช่เป็นกลาง) นั่นคือไม่ต้องใส่ความคิดเห็น ข้อเสนอแนะหรือการติดสินชั่วดีผิดถูก นั่นคือแสดงหลักฐานข้อเท็จจริงอย่างที่เป็น-เท่านั้น
หน้าที่ของ คอป. ไม่ใช่เรื่องของการมาบอกว่า ความจริงมีหลายชุด แต่เดี๋ยวผมจะสร้างขึ้นมาให้อีกชุดหนึ่งและชุดนี้แหละเป็นชุด "สถาปนา" เป็นกลางที่สุด เป็นธรรมที่สุด
ถามว่าทำไมเป็นกลาง ทำไมเป็นธรรม คำตอบคือ ก็อ้าว พวกผมมาทำด้วยจิตอาสานี่คร้าบบบ (หกสิบกว่าล้านบาท) มาด้วยความปรารถนาดีต่อชาติบ้านเมืองนี่คร้าบ แถมยังมีความเป็นวิทยาศาสตร์ด้วยคร้าบ (นาทีนี้นึกถึงคำพูดของ ว.วชิรเมธี ที่บอกว่า อย่างมงายในวิทยาศาสตร์ ฮ่าๆๆ)


อันที่จริงเราตั้งคำถามกันตั้งแต่ที่มาของคณะกรรมการอิสระฯ ว่า กระบวนการสรรหากรรมการนั้นจะทำให้เกิดความไว้วางใจต่อคู่ความขัดแย้งทุกฝ่ายในสังคมได้หรือไม่?
คอป. พูดถึงหลักธรรมาภิบาล ประชาธิปไตย และอื่นๆ แต่ไม่เคยกล่าวถึงกระบวนการสรรหาของคณะกรรมการของตนว่ามีความเป็นประชาธิปไตยตามหลักการที่อ้างถึงตลอดเวลาราวกับคำว่าอาเมน สาธุ ของผู้เคร่งศาสนาแต่ปาก 
แต่กระบวนการสรรหาคนมาเป็นกรรมการก็เป็นชนวนให้เกิดความขัดแย้งแล้ว เพราะบางท่านเป็นกรรมการร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่มาจากการรัฐประหาร 
อนุกรรมการบางท่านมีส่วนได้ส่วนเสียกับคู่ความขัดแย้งชัดเจน แต่สังคมก็อดทน รอคอยให้พวกท่านทำงาน มิด่วนตัดสินว่า กระบวนการสรรหาคณะกรรมการที่ไม่เป็นประชาธิปไตยนั้นจะนำมาสู่การเสนอรายงานที่มีความอัตวิสัยมากเกินไป 
เพราะประเดี๋ยวจะถูกกล่าวหาว่า เป็นพวกชายชุดดำ เอ๊ย ตัวจุดประกายความขัดแย้งและความรุนแรงในสังคม  
ท้ายที่สุด เมื่อเปิดรายงานของ คอป. ออกมา เราจึงพบรายงานฉบับหนึ่งที่ไม่ได้นำเสนอข้อเท็จจริงอย่างเป็นภววิสัย แต่ประกอบได้ด้วย "ชุดความจริง" ชุดหนึ่ง ก่อนจะตบท้ายด้วย "ข้อเสนอแนะ" ที่สวยหรู ดูดี มีหลักการ มีปัจฉิมโอวาทของผู้เจริญแล้ว เข้าถึงแล้วซึ่งอารยธรรมสั่งสอนแก่คนเถื่อนคนป่า พวกมีวัตถุ "เทียมอาวุธ" อยู่ในมือที่เป็นลูกน้องของพวกนักการเมืองขี้ฉ้อ สันดานโกง ไม่รักชาติ เห็นแก่ตัว ไม่เสียสละ


ในรายงาน คอป. มีส่วนที่ยืนยันถึงวิถีกระสุนในแนวราบอันมาจากฝั่งทหาร แต่กลับไม่ได้รับความสำคัญเพราะการนำเสนอมุ่งเน้นไปที่การปรากฏตัวของชายชุดดำ อันนำไปสู่ข้อสรุปที่ว่า รัฐจำเป็นต้องใช้อาวุธกับผู้ชุมนุมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ 
ในขณะที่ คอป. เป็นห่วงการนำเสนอของสื่อที่ไม่ moderate คือ สื่อเลือกข้าง คอป. เองกลับเลือกนำเสนอ ขับเน้น ข้อมูลที่ไกลจากคำว่า moderate อย่างมาก อันทำให้สื่อแสน moderate ที่ได้ชื่อว่าเป็นสื่อสาธารณะ รักความเป็นธรรมอย่างพอเพียงได้เล่นข่าวตีภาพเรื่องชายชุดดำอย่างไม่พอเพียงไปได้หลายเพลา 
ไม่นับทัศนอคติของคณะกรรมการที่บ้างก็อ้างอย่างผิดๆ ว่า ปรีดี พนมยงค์ เลือกจะไม่กลับเมืองไทยเพราะเสียสละ-อันเป็นทั้งอคติและฉันทาคติที่ไร้เดียงสาอย่างยิ่ง 
ไม่นับข้อเท็จจริงที่ผิดพลาดว่า ปรีดี พนมยงค์ ไม่มีความพยายามจะกลับเมืองไทย เพราะหลักฐานทางประวัติศาสตร์บอกเราชัดเจนว่า ปรีดี มีความพยายามจะกลับแต่ไม่สำเร็จ

แต่นั้นยังไม่สำคัญเท่ากับ มุมมองของการอธิบายปัญหาความขัดแย้งของสังคมจาก "ตัวบุคล" 
มันมีด้วยหรือในโลกนี้ที่ปัญหาปัญหาหนึ่งจะเกิดจากบุคคลหนึ่งคน ไม่มีปัจจัยอื่นๆ ในเชิงโครงสร้างเข้ามาเกี่ยวข้อง? ทฤษฎีมหาบุรุษและโมฆบุรุษนั้นเป็นทฤษฎีที่ใช้อธิบายปรากฏการณ์ทางสังคมไม่ได้ 
เช่น ฉันจะไม่มีวันบอกว่า คอป. ทำงานล้มเหลว เพราะ คณิต หรือ สมชาย ไม่เก่ง ไม่ยุติธรรม ฯลฯ แต่ อย่างน้อยที่สุดเราต้องอธิบายความความล้มเหลวของ คอป. อาจเกิดจากการกระบวนการสรรหาคณะกรรมการที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ขาดการมีส่วนร่วมของคู่ขัดแย้ง


ความจริงเพื่อความยุติธรรมนั้นไม่ใช่เรื่องของ "ชุดความจริง" แต่เป็นเรื่องของการแสดงข้อเท็จจริงในปริมาณที่มากที่สุด รอบด้านที่สุด โดยปราศจากการตีความและการตัดสิน-เพราะนั่นเป็นขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรม

แต่รายงานของ คอป.ไม่ใช่การแสดงข้อเท็จจริง แต่เป็นการนำเสนอ "ชุดความจริง" ซึ่งแน่นอนว่าในอนาคตมันจะกลายเป็นงานเขียนทางประวัติศาสตร์ที่แปลว่า การ "แต่ง" อดีตด้วยการผสม "ข้อเท็จจริง" ร้อยเรียงเลือกสรรจนได้เรื่องเล่าขึ้นมาหนึ่งเรื่อง เราเรียกงานเขียนแบบนี้ว่า ประวัติศาสตร์นิพนธ์



.

บทสรุป คอป. ฉบับเกรงใจและเสียสละ ความจริงที่ไม่ต้องค้นหาฯ โดย มุกดา สุวรรณชาติ

.

บทสรุป คอป. ..ฉบับเกรงใจและเสียสละ ความจริงที่ไม่ต้องค้นหา ปรองดองที่มองไม่เห็น
โดย มุกดา สุวรรณชาติ คอลัมน์ หลักศิลากลางน้ำเชี่ยว
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1676 หน้า 20


ได้อ่านรายงานสรุปของ คอป. และฟังเสียงวิจารณ์จากหลายฝ่าย ทีมวิเคราะห์มีความเห็นว่า คอป. ทำหน้าที่ของตัวเองเสร็จแล้ว และได้สรุปรายงานตามหน้าที่
แต่คนที่ได้อ่านตั้งฉายารายงานฉบับนี้หลายชื่อ 
เช่น ข้อสรุปฉบับหมาป่ากับลูกแกะ 
ฉบับเกรงใจผู้มีพระคุณ 
ฉบับใบบัวปิดซากช้าง หรือฉบับอุ้มเทพ 


ถ้าจะวิจารณ์กันละเอียด คงไม่มีเนื้อที่พอ
แต่กล่าวได้ว่าผลสรุปนี้เอียงไปตามอำนาจ ไม่ใช่ตามข้อเท็จจริง


คอป.ตั้งขึ้นมาทำไม? เพื่อใคร?

คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ถูกตั้งเมื่อ 8 มิถุนายน 2553 สมัยนายกฯ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ โดยมี อ.คณิต ณ นคร เป็นประธาน 
สำนักงาน คอป. ถือเป็นหน่วยงานกระทรวงยุติธรรม มีคณะกรรมการและเลขานุการ คอป. จำนวน 12 คน ที่ปรึกษา คอป. จำนวน 6 คน คณะอนุกรรมการต่างๆ จำนวน 116 คน และเจ้าหน้าที่ที่ทำงานประจำหมุนเวียนทั้งสิ้น 48 คน 
ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากรัฐบาลรวมทั้งสิ้น 77 ล้านบาท 


อำนาจหน้าที่ของ คอป. ที่ได้รับมอบหมาย 
ตรวจสอบและค้นหาความจริง ในช่วงเดือนเมษายนถึงเดือนพฤษภาคม 2553 รวมตลอดถึงประเด็นที่เป็นรากเหง้าของปัญหาความขัดแย้ง เยียวยาและฟื้นฟูผู้ที่ได้รับผลกระทบเพื่อส่งเสริมให้เกิดความปรองดองในประเทศต่อไปวางมาตรการเพื่อลดความขัดแย้งในสังคมไทย และป้องกันมิให้เกิดเหตุความรุนแรง 
จัดทำรายงานความคืบหน้าของการทำงานทุกรอบหกเดือน รวมทั้งรายงานสรุปผลและข้อเสนอแนะเมื่อเสร็จสิ้นภารกิจเสนอต่อคณะรัฐมนตรีและสาธารณชน



คอป.ทำหน้าที่เสร็จแล้ว 
แต่ทำแบบอิสระหรือไม่?


ไม่ควรบ่นด่าว่ากล่าว เรื่องผลสรุปรายงาน คอป. กันให้มากนัก เพราะในความเป็นจริง คอป. ถูกตั้งขึ้นมาเพื่อเป็นกันชนให้รัฐบาลอภิสิทธิ์หลังจากการปราบปรามประชาชนไม่ถึงเดือน มาถึงวันนี้ครบสองปีตามเงื่อนไขที่กำหนด ถือว่า คอป. ทำหน้าที่เสร็จสิ้นตามสถานการณ์การเมืองที่เป็นจริง ว่าใครมีอำนาจแค่ไหน วันนี้ถ้าหากมิได้เปลี่ยนรัฐบาลเป็นคณะนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ผลสรุปอาจออกมาหนักกว่านี้ 
นี่ถือว่าเกรงใจทั้งสองฝ่าย 
ความเป็นอิสระของ คอป. จึงมิได้เป็นไปตามชื่อองค์กร แต่จะผูกมัดอยู่กับทัศนะทางการเมืองของคน ผลประโยชน์ และอำนาจที่ดันหลังอยู่



การวิเคราะห์รากเหง้าของปัญหาความขัดแย้งในสังคมไทย
(ความจริงบางส่วนของ คอป.)


อ่านแล้วลื่นไหลดีมีเหตุผล แต่ไม่กล้าพูดความจริงที่เลวร้ายของอำนาจเก่า ใช้วิธีอ้อมแอ้มผ่านไป 
ความสามารถของคนใน คอป. มีหรือที่จะไม่รู้สาเหตุของปัญหา 
คนระดับ สมชาย หอมลออ รู้จักวิเคราะห์สังคม และวิเคราะห์สถานการณ์มา 40 ปีแล้ว 
ยิ่งมีทีมงานเก่งๆ ก็สามารถวิเคราะห์ได้ละเอียดขึ้น 
แต่จะสรุป เทน้ำหนักไปทางใด ให้คุณให้โทษ ทำหนักให้เป็นเบาก็ขึ้นอยู่กับฝีมือการเขียนของผู้สรุป


สรุปว่าทักษิณเป็นต้นเหตุ
คอป. สรุปว่ารากเหง้าของปัญหาความขัดแย้งเกิดจากหลายปัจจัยที่โยงใยสัมพันธ์กันอย่างซับซ้อน เนื่องจากสังคมไทยในอดีตมีความไม่เท่าเทียมกันในเชิงโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคม ส่งผลให้เกิดชนชั้นในสังคม คือชนชั้นผู้ปกครองที่มีอำนาจทางเศรษฐกิจและการเมือง กับชนชั้นผู้อยู่ใต้ปกครองซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของสังคม ซึ่งก่อให้เกิดความขัดแย้งในสังคม ต่อมามีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเศรษฐกิจ รัฐบาลได้ดำเนินนโยบายนำประเทศสู่ยุคทุนนิยมอย่างเต็มรูปแบบ ก่อให้เกิด "กลุ่มทุนใหม่" และ "กลุ่มทุนเก่า" เกิดการเคลื่อนย้ายทุน แรงงานและการกระจายความเจริญไปยังส่วนภูมิภาค 
ในช่วงเวลาที่ประเทศไทยเผชิญกับปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจ ทำให้กลุ่มทุนใหม่มีโอกาสเข้ามามีอำนาจในการบริหารประเทศ ภายใต้การสนับสนุนของประชาชนรากหญ้าผ่านนโยบายประชานิยม นำไปสู่การสร้างความนิยมและศรัทธาในตัวผู้นำ แต่ทำให้เกิดการคอร์รัปชั่นเชิงนโยบายอย่างกว้างขวาง

*คอป. ยกคดีซุกหุ้นของทักษิณ ว่านี่เป็นสาเหตุใหญ่ที่ทำให้เกิดการต่อต้านและทำให้เกิดการรัฐประหาร
ที่จริงแล้วนี่เป็นเพียงข้ออ้าง เพราะเรื่องนี้ถ้าเทียบกับคดี การขายทรัพย์สินขององค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน หรือ ปรส. ซึ่งรัฐบาล ปชป. สมัย นายกฯ ชวน หลีกภัย ได้ขายสินเชื่อที่อยู่อาศัย 56 สถาบันการเงินที่ถูกปิดกิจการ มูลค่า 851,000 ล้านบาท แต่นำไปประมูลขายเพียง 190,000 ล้าน วันนี้คดี ปรส. ยังค้างอยู่ที่ ป.ป.ช. ทำให้ประชาชนทั้งประเทศต้องแบกรับภาระหนี้รวมดอกเบี้ยมากกว่า 1 ล้านล้าน แต่ไม่เห็นมีใครต้องมาทำการรัฐประหารรัฐบาล ปชป. 3 ครั้ง

และจะเห็นว่า ถึงไม่มีข้อกล่าวหานี้ ก็จะมีข้อกล่าวหาเรื่องการทำบุญในวัดพระแก้ว เรื่องการล้มเจ้า ฯลฯ  
คอป. ไม่กล้าพูดว่า นี่คือแผนยึดอำนาจ แม้เรื่องจะมาถูกเปิดโปงชัดเจน เมื่อมีการใช้ตุลาการภิวัฒน์ และปลดนายกฯ สมัครในข้อหารับจ้างสอนคนทำกับข้าวออกโทรทัศน์  
คนทั้งโลกจึงรู้ว่า ต่อให้ ลูกแกะไม่กวนน้ำขุ่น ก็จะโดนข้อหา...พ่อเอ็งเคยด่าข้าไว้... อยู่ดี



คอป. ไม่กล้าพูดว่าความผิดพลาดหลักมาจากใคร?

คอป. พูดถึงความขัดแย้ง ซึ่งเป็นระยะช่วงชิงอำนาจ มีหลายข้อที่ทีมวิเคราะห์พอเห็นด้วย แต่หลายข้อก็ไม่เห็นด้วย รายงานฉบับนี้ได้ยกตัวอย่างปัจจัยที่มีส่วนกระตุ้นให้ความขัดแย้งกลายเป็นความรุนแรงในหลายๆ มิติ เช่น

- ความเข้าใจระบอบประชาธิปไตยที่แตกต่างกัน
** เรื่องนี้ทีมวิเคราะห์มองว่าทั้งสองฝ่ายรู้เรื่องประชาธิปไตยดี แต่ฝ่ายที่รู้ว่าเลือกตั้งต้องแพ้แน่นอน ก็ไม่อยากสู้ในระบบนี้ พวกเขาไม่อยากเป็นเสียงข้างน้อย ลองย้อนดูช่วงเวลาที่พวกเขาเป็นรัฐบาล เขาก็อ้างหลักการเสียงข้างมากและก็ยกมือในสภาให้ชนะทุกครั้งเช่นกัน

- การขยายตัวของสื่อการเมืองและสื่อบุคคล เมื่อ "สื่อรูปแบบใหม่" สามารถเผยแพร่ข้อมูลแบบ โฆษณาชวนเชื่อ (Propaganda) หรือทำให้เกิดความเกลียดชัง (Hate Speech)
**ข้อนี้ทีมวิเคราะห์เห็นด้วย

**ส่วนเรื่องหลักของความขัดแย้งคือการรัฐประหารในเดือนกันยายน 2549 และการยึดอำนาจโดยตุลาการภิวัฒน์ในเดือนธันวาคม 2551 คอป. ไม่ได้เน้นให้เห็นว่าเป็นแผนการ เพื่อต้องการยึดอำนาจโดยกลุ่มอำนาจเก่า ทั้งยังมีการอ้างว่าเมื่อโครงสร้างการถ่วงดุลอำนาจระหว่างฝ่ายบริหารกับฝ่ายนิติบัญญัติเสียดุลไป ฝ่ายตุลาการจึงเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในการถ่วงดุลอำนาจ (ที่จริงแทรกเข้ามาเพื่อทำลายอีกฝ่าย)

**คอป. พูดถึงการแทรกแซงองค์กรอิสระและอำนาจศาลโดยพยายามยกคดีซุกหุ้นขึ้นมาอ้าง ทั้งๆ ที่การใช้อำนาจทั้งศาลและองค์กรอิสระปรากฏชัดแจ้งว่ามีสองมาตรฐาน คนไทยเห็นคลิปก็รู้ว่าใครสั่งใครทำ คนทั้งโลกก็ตกตะลึงต่อการตัดสินกรณีต่างๆ เช่น การยุบพรรคเพิกถอนสิทธิทางการเมืองของนักการเมืองย้อนหลัง การที่ กกต. ส่งคดีให้ศาลไม่ทันจนหมดอายุความทำให้พรรคประชาธิปัตย์ไม่ต้องถูกยุบ
และล่าสุด อำนาจตุลาการก็ยังเข้าไปยับยั้งการลงมติของสภาผู้แทนราษฎรเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญ


คอป. ไม่พูดว่ารัฐธรรมนูญฉบับ 2550
เป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ความขัดแย้งขยายตัว


คอป. บอกว่ามีสองมาตรฐานในกระบวนการยุติธรรม มีการอ้างสถาบันกษัตริย์เพื่อประโยชน์ทางการเมือง มีการผลิตชุดความคิดที่ว่าสถาบันองคมนตรีเข้ามาแทรกแซงทางการเมือง 

แต่ไม่กล้าพูดว่าแทรกแซงจริงหรือไม่
ไม่กล้ายกตัวอย่างรูปธรรมสักเรื่อง รู้ว่าการใช้ทหารมาจัดการกับผู้ชุมนุมไม่ถูกต้องแต่ก็ยังอ้างว่าการโฟนอินของอดีตนายกฯ ทักษิณก็เป็นส่วนหนึ่งของต้นเหตุ

**ทีมวิเคราะห์มองว่าการโฟนอินของนายกฯ ทักษิณที่ผ่านมาเป็นเรื่องเล็กมาก ถึงไม่โฟนอินคนก็มาชุมนุม แต่ถ้าทักษิณอยากจะสู้แบบตาต่อตา คงตั้งรัฐบาลพลัดถิ่น ขึ้นในต่างประเทศและการปะทะหนักก็จะเกิดขึ้นนานแล้ว แค่โฟนอินเข้ามาก็ถือว่าอดทนมากแล้ว

**ในขณะที่ คอป. มิได้พูดถึงการหมกเม็ด ซ่อนรูปเผด็จการไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 ซึ่งมีแผนการยึดอำนาจ แต่งตั้งตัวแทนเข้าไปในวุฒิสภาและองค์กรต่างๆ ให้เป็นกรรมการอยู่นานถึง 7 ปี 9 ปี หลังรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 คณะรัฐประหาร คปค. ได้มีการตั้งบุคคลต่างๆ เข้าไปเป็นทันที เช่น วันที่ 20 กันยายน ตั้ง กกต. 5 คน วันที่ 20 กันยายน ปลด คตง. เดิม และประธาน คตง. พ้นจากตำแหน่ง และให้ คุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา ผู้ว่าการสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ดำเนินการแทน คตง. วันที่ 22 กันยายน ตั้ง ป.ป.ช. 7 คน และตั้ง คตส. 12 คน เมื่อวันที่ 30 กันยายน ต่ออายุราชการให้ตุลาการอยู่ถึง 70 ปี คนกลุ่มนี้มีอำนาจสรรหาวุฒิสมาชิก ถึง 74 คน

คปอ. สรุปว่า ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นได้หยั่งรากลึกถึงปัญหาในระดับโครงสร้างขั้นพื้นฐานทางเศรษฐกิจ สังคม ชนชั้น และการเมืองของประเทศ โดยความขัดแย้งนั้นเดิมอาจเริ่มจากความขัดแย้งระหว่างบุคคลหรือกลุ่มบุคคลซึ่งมีความแตกต่างทางแนวคิดและอุดมการณ์อย่างชัดเจน และมีความหวาดระแวงต่อการผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสังคมของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งว่าจะส่งผลกระทบต่อผลประโยชน์หรืออำนาจที่เคยมีอยู่เดิม
ทำให้เกิดการต่อต้านการเปลี่ยนแปลง เพื่อรักษาสถานะเดิมของตนไว้มิให้เปลี่ยนแปลง (Status Quo)


สรุปว่าความจริงอยู่ข้างหน้า...
จะเปิดเผยหรือปกปิด


รายงานที่เป็นข้อสรุปนี้ถ้ามองในประเด็นค้นหาความจริง ก็ไม่ได้ค้นคว้าอย่างละเอียด เทียบไม่ได้กับรายงานของ ศปช. 
ถ้าจะเอาความจริงแบบที่มองเห็นก็ไม่ต้องค้นหาเพราะมันวางอยู่ตรงหน้า คนทั่วทั้งโลกรู้ บางคนเห็นด้วยตาในเหตุการณ์จริง คนหลายล้านดูผ่านจอ ผ่านแผ่นซีดี 
สิ่งที่เป็นภาระหนักคือการปกปิดความจริง เพราะคนตายเกือบร้อย บาดเจ็บ 2,000 มีพยานรู้เห็นเป็นหมื่นๆ เรื่องนี้เท่ากับช้างตายหลายตัว เอาอะไรมาปิดก็ไม่มิด 
ทีมวิเคราะห์เห็นว่า การสรุปส่วนที่ 3 พอใช้ได้ แต่ไม่เนียน ใช้คน 3 คน ทำ 3 เดือนก็เสร็จ


ไม่ต้องแสดง...การปรองดอง

ในความเห็นของ คอป. การเปลี่ยนแปลงทางสังคมถือเป็นเรื่องปกติ การเปลี่ยนแปลง บางครั้งนำมาซึ่งความความหวาดระแวงว่าจะส่งผลกระทบต่อผลประโยชน์หรืออำนาจที่เคยมีอยู่เดิม ทำให้เกิดการต่อต้านการเปลี่ยนแปลง เพื่อรักษาสถานะเดิมของตนไว้มิให้เปลี่ยนแปลง (Status Quo) 
คอป. คาดว่าความขัดแย้งนี้จะขยายตัวและเกิดความรุนแรงจึงเสนอให้มีวิธีการปรองดองต่างๆ

** แต่ทีมวิเคราะห์มองท่าทีทางการเมืองของสองฝ่าย ตามทฤษฎีวิวัฒนาการของสังคม บอกได้ว่ายังมองไม่เห็นทางปรองดอง และคิดว่าไม่ต้องเสแสร้ง ปล่อยให้ความขัดแย้งดำเนินต่อไปและแก้ด้วยตัวของมันเอง จะต้องมีฝ่ายแพ้และฝ่ายชนะเด็ดขาด 
การปรองดองแบบได้ทั้งสองฝ่ายไม่มี เพราะนั่นเปรียบเหมือนสองฝ่ายแข่งเต้นรำ แต่สถานการณ์การเมืองวันนี้เปรียบเหมือนการแข่งฟุตบอล สองฝ่ายวางแผนเพื่อชัยชนะ ใช้เงื่อนไขต่างๆ ที่เหนือกว่าเข้าโจมตี แม้กระทั่งการตุกติกนอกกติกา ไม่ว่าจะดึงเสื้อ เตะขา ล้วนทำได้เพื่อชัยชนะทั้งสิ้น 
วันนี้การต่อสู้จะพัฒนาไปตามธรรมชาติ ในเมื่อไม่มีใครต้องการปรองดอง (ยกเว้น คอป.) ก็ปล่อยไปตามธรรมชาติ กลุ่มนำทั้งหลาย ต่างก็หัวหงอก ผ่านโลกโชกโชน น่าจะจัดทัวร์ไปดูงาน อียิปต์ ลิเบีย ซีเรีย แล้วจะรู้ว่าเส้นทางสู่ประชาธิปไตยนั้นคดเคี้ยวยิ่งนัก


เสียสละ

เสียตำแหน่ง นายก ระหกระหิน
เสียทั้งเงิน ครอบครัว ก็ห่างหาย 
ถ้าจะกลับ บ้านเกิด เขาให้ตาย
เขาบอกให้ เสียสละ เพื่อแผ่นดิน

ประชาชน ก็ต้อง เสียสละ
ชัยชนะ ถูกปล้น จนหมดสิ้น
ชนะอีก ตุลาการ เอาไปกิน
พอสู้ใหม่ สละชีวิน เป็นร้อยคน

ผู้แทน ทั้งสภา ต้องเสียสละ
จะยกมือ ให้ชนะ ยังสับสน
อำนาจ อธิปไตย ของปวงชน
เสียสละ ให้โจร ก็แล้วกัน



(เรื่องความตาย คนชุดดำ ผู้ก่อการร้าย
วีรชน เผาบ้านเผาเมือง จะเปรียบเทียบกับกรณี 14 ตุลา และ 6 ตุลา ฉบับหน้า
)



.

11-9/11 ความรุนแรงร่วมสมัย! โดย สุรชาติ บำรุงสุข

.

11-9/11 ความรุนแรงร่วมสมัย!
โดย สุรชาติ บำรุงสุข  คอลัมน์ ยุทธบทความ
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1676 หน้า 36


"การก่อการร้ายและการต่อต้านการก่อการร้าย
ทำลายกฎเกณฑ์เก่าของรัฐ ของการทูต และของการสงครามทิ้งทั้งหมด"
James Der Derian
"In Terrorism" (2002)



เหตุการณ์ 11 กันยายน 2544 (ค.ศ.2001) หรือที่เรียกแบบย่อว่า "9/11" เวียนมาครบรอบ 11 ปี และเมื่อพิจารณาควบคู่กับสถานการณ์ความเป็นไปของโลกแล้ว อาจจะต้องยอมรับว่า ปีที่ 11 ที่เริ่มขึ้นหลังเหตุการณ์ 9/11 นั้นเป็นความท้าทายอย่างยิ่ง... 
อย่างไรก็ตาม สถานะเชิงอำนาจของมหาอำนาจใหญ่อย่างสหรัฐนั้น เป็นผลโดยตรงจากการสิ้นสุดของสงครามเย็น ซึ่งการพังทลายของมหาอำนาจใหญ่อีกค่ายหนึ่งคือสหภาพโซเวียตรัสเซีย ได้เปิดโอกาสโดยตรงให้สหรัฐ กลายเป็น "มหาอำนาจเดี่ยว" ในเวทีโลก และทั้งความเป็นมหาอำนาจเช่นนี้ยังถูกตอกย้ำจากการมีขีดความสามารถทางทหารอย่างที่รัฐอื่นๆ ในเวทีโลกไม่มี 
แต่แล้วความเป็นมหาอำนาจเดี่ยวของสหรัฐ ก็ถูกท้าทายอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน 

การโจมตีที่เกิดขึ้นในวันที่ 11 กันยายน 2544 เท่ากับทำลายทฤษฎีเดิมที่เป็นเสมือน "ข้อยกเว้นพิเศษ" หรือที่เรียกกันในภาษาอังกฤษว่า "Exceptionalism" 
กล่าวคือ สหรัฐมีลักษณะพิเศษที่จะไม่ติดเชื้อจาก "โรคก่อการร้าย" เช่นที่เกิดขึ้นในหลายๆ ประเทศ ซึ่งก็คือคำตอบว่า สหรัฐจะไม่ถูกโจมตีจากการก่อการร้ายจากภายนอกนั่นเอง (ทฤษฎีนี้ถูกใช้อธิบายในยุคสงครามโลกที่สงครามโลกครั้งที่ 1 และ 2 ไม่เคยกระทบต่อตัวภาคพื้นทวีปของสหรัฐโดยตรง)

ใน 11 ปีที่ผ่านมา เราจะเห็นได้ถึงความเปลี่ยนแปลงของปัจจัยต่างๆ ที่สำคัญ ได้แก่


1.สงครามใหม่

สงครามหลัง 9/11 ปรากฏรูปลักษณ์ใหม่ที่ชัดเจนมากขึ้น หรือที่นักทฤษฎีบางคนถึงกับเรียกปรากฏการณ์เช่นนี้ว่า "สงครามใหม่" (The New Wars) ซึ่งสงครามชนิดนี้ไม่ใช่เรื่องของความขัดแย้งระหว่างรัฐกับรัฐ สงครามจึงไม่ใช่การสู้รบของกองทัพแห่งชาติของรัฐแต่ละฝ่ายที่เป็นศัตรูกันอีกต่อไป 
หากแต่สงครามใหม่กลับมีลักษณะของความเป็น "ภายใน"  
และขณะเดียวกันการต่อสู้ที่เกิดขึ้นจึงมีลักษณะเป็น "สงครามเล็ก" หรือเป็นยุทธศาสตร์ที่ไม่ใช้การรบแตกหักในทางทหารเป็นเครื่องมือตัดสิน
และที่สำคัญก็คือ ชัยชนะเป็นผลผลิตทางการเมืองมากกว่าการทหาร อันทำให้ชัยชนะในสนามรบกลายเป็นเพียงความเหนือกว่าทางทหารในระดับยุทธการ หรือบางทีก็เป็นเพียงระดับยุทธวิธีเท่านั้นเอง

ดังนั้น เมื่อสหรัฐอเมริกาตัดสินใจเข้าสู่สงครามในอัฟกานิสถานและในอิรัก จึงเป็นเสมือนการต่อสู้ของอำนาจแบบเก่าในทางทหาร ที่มีเทคโนโลยีสมรรถนะสูงเป็นองค์ประกอบหลักสู้กับกลุ่มคนอีกฝ่ายหนึ่ง ซึ่งไม่ได้ครอบครองเทคโนโลยีทางทหารแบบที่สหรัฐมี หากแต่อาวุธสำคัญของพวกเขากลับเป็น "ความเชื่อและความศรัทธา" ที่ไม่อาจลบล้างได้ และพวกเขาพร้อมจะสู้จนตายกับศรัทธานี้ 
ปรากฏการณ์ของการต่อสู้เช่นนี้ยังเป็นปัญหาความขัดแย้งเชิงทัศนะระหว่าง "การต่อต้านการก่อการร้าย vs การก่อการร้าย" และความขัดแย้งนี้พร้อมที่จะขยายไปสู่พื้นที่ส่วนต่างๆ ของโลก และยิ่งเมื่อถูกกระตุ้นจากปัจจัยของ "ความศรัทธา" แล้ว ความขัดแย้งชุดนี้ก็ง่ายที่จะขยายตัวออกไป จนแม้บางทีความเป็น "มหาอำนาจเดี่ยว" ของสหรัฐอเมริกาก็ไม่อาจหยุดยั้งได้ 
และในทางตรงกันข้าม สงครามชุดนี้ยังอาจลดทอนความน่าเชื่อถือของพลังอำนาจทางทหารของสหรัฐได้ ไม่แตกต่างจากการที่กองทัพรัสเซียเคยประสบมาแล้วในเชชเนียร์ เป็นต้น


2.สงครามอารยธรรม

สงครามและความขัดแย้งชุดใหม่กำลังถูกขับเคลื่อนด้วยปัจจัยทางด้านวัฒนธรรม ในความหมายอย่างแคบก็คือปัจจัยของความเชื่อและความศรัทธา ผลกระทบของปัจจัยนี้เห็นได้ชัดเจนมากขึ้นในเวลาปัจจุบัน คลิปภาพยนตร์สั้นเรื่อง "The Innocence of Muslims" ได้จุดชนวนของความขัดแย้ง จนกลายเป็นการประท้วงต่อต้านสหรัฐ ด้วยความรุนแรงในหลายจุดของโลก 
ปรากฏการณ์เช่นนี้เป็นคำตอบอย่างดีว่า การบริหารจัดการความมั่นคงในบริบทของความแตกต่างทางวัฒนธรรมนั้น จะต้องตระหนักถึงความสำคัญและความละเอียดอ่อนของปัจจัยนี้ 
และไม่ว่าเราจะเห็นด้วยหรือไม่กับแนวคิดทางทฤษฎีของ แซมมวล ฮันติงตัน นักรัฐศาสตร์ชาวอเมริกันที่นำเสนอเรื่องของ "สงครามระหว่างอารยธรรม" (The Clash of Civilization) แต่อย่างน้อยการเปิดประเด็นของฮันติงตันก็เป็นการเตือนใจให้เราตระหนักเสมอว่า ประเด็นทางด้านวัฒนธรรมเป็นปัจจัยที่มีความสำคัญและจะละเลยในการทำความเข้าใจไม่ได้ในสถานการณ์โลกปัจจุบัน

ประจักษ์พยานของความรุนแรงในการต่อต้านสหรัฐ ที่กำลังขยายตัวในโลกมุสลิม แม้จะเกิดจากปัญหาภาพยนตร์สั้น แต่ก็เกิดขึ้นในกรอบเวลาครบรอบ 11 ปีของเหตุการณ์ 9/11 
ฉะนั้น นักความมั่นคงในอนาคตจะต้องเรียนรู้เรื่องความละเอียดอ่อนของปัจจัยด้านวัฒนธรรมด้วย


3.สงครามตัวแสดงที่ไม่ใช่รัฐ

อำนาจและบทบาทของรัฐในยุคหลัง 9/11 มีสภาพที่ถดถอยลง ซึ่งก็คือรัฐในยุคโลกาภิวัตน์อ่อนแอลง หรือที่นักทฤษฎีทางรัฐศาสตร์กล่าวโดยเปรียบเทียบว่า นับตั้งแต่การกำเนิดของรัฐในปี พ.ศ.2191 (ค.ศ.1648) จนถึงปัจจุบันนั้นอยู่ในภาวะ "ถดถอย" และในสภาวะเช่นนี้ก็เห็นได้ชัดเจนถึงการขยายบทบาทของ "ตัวแสดงที่ไม่ใช่รัฐ" ซึ่งถือได้ว่าเป็นคู่แข่งสำคัญของรัฐในเวทีโลกปัจจุบัน 
ในทางทฤษฎีเรากล่าวเสมอว่า รัฐเป็นผู้ผูกขาดปัจจัย 2 ประการของความเป็นอำนาจรัฐก็คือ รัฐผูกขาดความภักดีของคนในรัฐ และรัฐผูกขาดการเป็นผู้ถือครองเครื่องมือของความรุนแรง (ซึ่งก็คือ รัฐเป็นเจ้าของกองทัพ)

แต่ในสภาวะร่วมสมัย เราจะเห็นได้ชัดเจนว่า รัฐไม่ใช่ผู้ผูกขาดปัจจัยทั้งสองแต่เพียงผู้เดียวอีกต่อไป ตัวแสดงที่ไม่ใช่รัฐในความหมายของขบวนการทางการเมืองอาจจะสร้างความเป็นเจ้าของปัจจัยทั้งสองได้ไม่แตกต่างจากรัฐ ดังจะเห็นได้ว่า ในวันนี้มีขบวนการทางการเมืองที่สามารถครอบครองเครื่องมือของความรุนแรงแข่งขันกับรัฐได้ ไม่ว่าจะเป็นขบวนการก่อการร้าย ขบวนการของกลุ่มก่อความไม่สงบ แม้กระทั่งขบวนของกลุ่มอาชญากรรมข้ามชาติ เป็นต้น 
ความเป็นคู่แข่งขันของรัฐที่เห็นได้จากการขยายบทบาทและอำนาจของตัวแสดงที่ไม่ใช่รัฐเช่นนี้ ยังเห็นได้ชัดเจนจากปรากฏการณ์สำคัญที่ตัวแสดงดังกล่าวได้กลายเป็นคู่สงครามกับรัฐ เพราะคู่สงครามในอดีตของรัฐจะเป็นรัฐอีกฝ่ายหนึ่ง ไม่ใช่เรื่องของตัวแสดงที่ไม่ใช่รัฐแต่อย่างใด

ดังนั้น จึงไม่แปลกอะไรที่สงครามในปัจจุบันจะเป็นสงครามระหว่างรัฐกับตัวแสดงที่ไม่ใช่รัฐนั่นเอง!


4.สงครามอสมมาตร

ดังได้กล่าวในข้างต้นแล้วว่า ความเป็นมหาอำนาจเดี่ยวของสหรัฐนั้น รับรู้ได้จากการที่กองทัพอเมริกันครอบครองอาวุธสมรรถนะสูงในรูปแบบต่างๆ จนแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่จะมีกองทัพของชาติใดชนะกองทัพสหรัฐ ในสนามรบของสงครามตามแบบได้ 
ผลจากการมีขีดความสามารถเช่นนี้ ทำให้การต่อสู้กับอำนาจและอิทธิพลของโลกตะวันตกต้องต่อสู้ด้วยความเป็น "อสมมาตร" ซึ่งความเป็นอสมมาตรเช่นนี้ทำให้คู่ต่อสู้ของโลกตะวันตกใช้วิธีการที่ไม่มีขีดจำกัด  
และขณะเดียวกันก็ไม่มีกฎเกณฑ์ใดๆ รองรับ อันทำให้เกิดยุทธวิธีใหม่ๆ ขึ้นในสงครามอสมมาตร

ตัวแบบจากกรณีการสังหารทูตอเมริกันในลิเบียสะท้อนให้เห็นถึงความใหม่อย่างชัดเจน พวกเขาไม่จำเป็นต้องอาศัยรถระเบิดหรือระเบิดพลีชีพในการทำลายสถานทูตและชีวิตของนักการทูตอเมริกัน  
แต่พวกเขาสามารถใช้เงื่อนไขของความไม่พอใจของประชาชนในพื้นที่เป็นจุดเริ่มต้นของการก่อเหตุ และแฝงตัวเข้ามาพร้อมกับหน่วยติดอาวุธขนาดเล็ก ที่จะฉวยโอกาสจากสถานการณ์ดังกล่าวในการก่อการร้าย 
ซึ่งเหตุการณ์ในลักษณะเช่นนี้เป็นสิ่งที่ป้องกันได้ยาก เพราะเรามักจะป้องกันความรุนแรงในลักษณะของรถระเบิด หรือระเบิดพลีชีพ 
บางทีเราอาจจะต้องยอมรับว่า การก่อการร้ายจาก 11 กันยายน 2544 จนถึงปัจจุบันมีนวัตกรรมของรูปแบบใหม่ๆ จนเป็นประเด็นที่ต้องติดตามและศึกษามากขึ้นในอนาคต


5.สงครามเมือง

ความเปลี่ยนแปลงอย่างสำคัญที่เป็นสัญญาณของความรุนแรงที่เกิดขึ้นนับตั้งแต่ 11 กันยายน 2544 เป็นต้นมาก็คือ เมืองเป็นเป้าหมายของการใช้ความรุนแรงมากขึ้น  
ซึ่งก็อาจจะสอดรับกับปรากฏการณ์ในโลกสมัยใหม่ที่ความเป็นเมือง (urbanization) มีความหมายรวมถึงระบบต่างๆ ที่องค์ประกอบของความเป็นเมืองสมัยใหม่ เช่น ระบบโครงสร้างที่มีความสำคัญยิ่ง (Critical Infrastructure) และยังรวมถึงระบบขนส่งในรูปแบบต่างๆ อาคารที่เป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของเมือง เช่น ศูนย์การค้า เป็นต้น ดังนั้น เมืองสมัยใหม่จึงเป็น "ความเปราะบาง" อย่างยิ่ง 
โครงสร้างเหล่านี้ล้วนเป็นเป้าหมายที่เปราะบาง หรือเป็น "soft target" เพราะเป็นสิ่งที่ไม่ได้มีระบบของการป้องกันตัวเอง อันกลายเป็นจุดอ่อนที่เปิดโอกาสให้ผู้ก่อเหตุกระทำการโจมตีต่อเป้าหมายเหล่านี้ได้ง่าย  
ดังคำกล่าวของบทบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทม์ว่า "การโจมตีตึกเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ไม่ได้พิสูจน์อะไรมากไปกว่า การที่สำนักงาน โรงงาน เครือข่ายการขนส่งและการติดต่อสื่อสาร และโครงสร้างพื้นฐานของเราล้วนแต่เปราะบางอย่างมากจากการโจมตีของผู้ก่อการร้ายที่มีความเชี่ยวชาญ" 
คำกล่าวเช่นนี้ก็คือการตอกย้ำถึงปรากฏการณ์ของความเป็น "สงครามเมือง" ให้เห็นชัดขึ้น  

สภาพเช่นนี้ทำให้ "ความมั่นคงเมือง" เป็นประเด็นสำคัญของการบริหารจัดการความมั่นคงในโลกร่วมสมัย เพราะเห็นได้ชัดว่าความรุนแรงในยุคปัจจุบันล้วนแต่เกิดในพื้นที่ที่เป็นเมืองเป็นสำคัญ


6.ผู้นำตาย สงครามไม่ตาย

อาจจะต้องยอมรับว่าความสำเร็จที่สำคัญของรัฐบาลของประธานาธิบดีโอบามาก็คือ ในที่สุดแล้วสหรัฐ ก็สามารถสังหาร อุสซามะห์ บิน ลาดิน ซึ่งเป็นผู้นำกลุ่มอัลกออิดะห์ ที่ถือกันว่าเป็นกลุ่มที่มีบทบาทโดยตรงในการก่อเหตุรุนแรงในวันที่ 11 กันยายน 2544  
แต่การจบชีวิตของ บิน ลาดิน ก็ไม่ใช่คำตอบที่บ่งบอกถึงการสิ้นสุดของการก่อการร้ายแต่อย่างใด  
ประเด็นเช่นนี้อาจจะใกล้เคียงกับกรณีการจับกุมอดีตประธานาธิบดี ซัดดัม ฮุสเซน ซึ่งในที่สุดแล้วก็ถูกประหารชีวิต โดยหวังว่าการตายของเขาจะทำให้การก่อความไม่สงบที่เกิดขึ้นเพื่อต่อต้านกองทัพสหรัฐจะสิ้นสุดลง หรืออย่างน้อยก็ส่งผลให้การใช้ความรุนแรงนั้นอ่อนแอลง

แต่ก็ไม่เป็นความจริง เพราะหลังจากการเสียชีวิตของซัดดัม ความรุนแรงยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในอิรัก 
สิ่งที่เราจะต้องยอมรับก็คือ สงครามตลอดรวมถึงความรุนแรงในรูปแบบต่างๆ ซึ่งได้แก่การก่อการร้ายด้วยนั้น ล้วนแต่มีรากฐานของความคิดและ/หรืออุดมการณ์ทางการเมืองรองรับทั้งสิ้น เพราะความรุนแรงที่เกิดขึ้นล้วนแต่เป็นไปเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ทางการเมือง มิใช่ความรุนแรงที่เกิดโดยปราศจากรากฐานทางการเมืองแต่อย่างใด  
ฉะนั้น ถ้าเปรียบขบวนการเมืองเช่นนี้เป็นเสมือน "งูพันหัว" ที่เมื่อหัวใดหัวหนึ่งที่ถูกตัดทิ้งอาจจะไม่มีความหมายเท่าใดนัก เพราะแม้จะเสียหัวบางส่วนไป แต่ขบวนจริงๆ ก็ยังคงขับเคลื่อนต่อไปได้   
สงครามใหม่ไม่จบสิ้นไปพร้อมกับการจากไปของผู้นำ


ประเด็นสำคัญที่ตระหนักอย่างมากในอีกส่วนหนึ่งก็คือ สงครามในโลกปัจจุบันเป็น "สงครามความคิด" หรือกล่าวให้ชัดเจนก็คือ สงครามความคิดระหว่างโลกเสรีนิยมตะวันตกกับโลกมุสลิมจารีตนิยม

และปรากฏการณ์เช่นนี้จะยังคงดำรงอยู่ต่อไปในทศวรรษที่ 2 ของโลกหลัง 9/11 อย่างแน่นอน!



.

2555-09-28

คนกรุงระทม, สมัครโมเดล, ใจ.., จริงใจนำการเมือง, สัปดาห์ของรอยต่อ, ไม่เป็นกลาง? ในคอลัมน์ ทิ้งหมัดเข้ามุม

.
คอลัมน์ ชกไม่มีมุม - ชุดดำและใจดำ โดย วงค์ ตาวัน
คอลัมน์ วิเคราะห์การเมือง - กรณี พัน คำกอง ดุลพินิจ อภิสิทธิ์ สุเทพ กรณีคำสั่งศาล

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

คนกรุงระทม
โดย สมิงสามผลัด  คอลัมน์ ทิ้งหมัดเข้ามุม
ในข่าวสดออนไลน์  วันศุกร์ที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2555 เวลา 00:01 น.


แทบไม่เชื่อเลยว่าแค่ฝนตก 1-2 ชั่วโมง ถนนหลักๆ ของกรุงเทพฯถูกน้ำท่วมขังหมด 
การจราจรเป็นอัมพาตทั้งกรุง 
ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมานี้จะเห็นได้ว่าฝนตกช่วงเย็นๆ ทุกวัน 
น้ำก็ท่วมขัง รถราก็ติดหนึบ

ยิ่งล่าสุดมีการเผยแพร่ภาพถ่ายดาวเทียมของญี่ปุ่นที่ถ่ายไว้ 25 ก.ย.ที่ผ่านมา 
เห็น แล้วน่าตกใจอย่างยิ่ง เพราะบ่งบอกว่ามีร่องมรสุมกำลังแรงปกคลุมประเทศไทย ซึ่งจะทำให้มีฝนตกหนักต่อเนื่อง ตั้งแต่วันที่ 26 ก.ย.ถึง 2 ต.ค.นี้ 
โดยเฉพาะกรุงเทพฯจะมีฝนตกหนักมากกว่าที่ผ่านมาถึง 10 เท่า !? 
คนกรุงเตรียมใจขับรถลุยน้ำท่วมขังไปอีกอย่างน้อย 7 วัน  
เตรียมตัวเผื่อเวลาในการเดินทางได้เลย


น้ำท่วมกรุงช่วง 2-3 วันที่ผ่านมาก็มีความพยายามโยนบาปให้รัฐบาลว่าบริหารจัดการไม่ได้เรื่อง ทำน้ำท่วมกรุงอีก 
ทั้งที่ข้อเท็จจริงแล้ว น้ำท่วมขังในกรุงเทพฯ ก็เพราะฝนตกหนัก 
ไม่เกี่ยวกับน้ำเหนือ น้ำเขื่อน หรือฟลัดเวย์ 
ที่ต้องรับผิดชอบไปเต็มๆ ก็คือ กทม.

เป็นความบกพร่องที่ปฏิเสธไม่ได้ว่าขาดประสิทธิภาพในการลอกท่อระบายน้ำ ขุดลอกคูคลอง 
ทำให้น้ำฝนระบายไม่ทัน !? 
หากจำกันได้น้ำท่วมใหญ่ปีก่อน กระสอบทราย-บิ๊กแบ๊กถูกขนมาวางเป็นปราการป้องกันน้ำ 
ทรายจำนวนมหาศาลไหลลงท่อระบายน้ำและคูคลองทั่วกรุงเทพฯ
หากขาดประสิทธิภาพในการขุดลอกให้ท่อระบายน้ำ-คูคลอง ก็จะเป็นอย่างที่เห็น  
คือฝนตกไม่กี่ชั่วโมงน้ำก็ท่วมขัง  
อุโมงค์ยักษ์ก็ช่วยอะไรไม่ได้

แทนที่จะเร่งแก้ปัญหา ผู้บริหาร กทม.กลับหยิบมาเป็นประเด็นตอบโต้กับรัฐบาล 
ขยายให้เป็นประเด็นการเมืองซะงั้น 
เป็นบรรยากาศความขัดแย้งที่เห็นจนชินตั้งแต่น้ำท่วมใหญ่ปีก่อน

ฉะนั้น ยิ่งใกล้ถึงเวลาเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.เข้าไปทุกที 
คนกรุงเทพฯคงต้องมาทบทวน-ไตร่ตรองให้ดีว่าอยากได้ผู้ว่าฯกทม.คนใหม่แบบไหน !?



++

สมัครโมเดล 
โดย มันฯ มือเสือ
  คอลัมน์ ทิ้งหมัดเข้ามุม
ในข่าวสดออนไลน์  วันพฤหัสบดีที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2555 เวลา 00:01 น.


ไม่รู้ว่าบังเอิญหรือจงใจ
กรณี นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกฯ และรมว.มหาดไทย หลีกเลี่ยงการนั่งเป็นประธานประชุม ครม. เมื่ออังคารที่ผ่านมา ในฐานะรักษาการนายกฯ ช่วงที่น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อยู่ระหว่างร่วมประชุมยูเอ็น ที่สหรัฐ 
ด้วยการเดินทางไปตรวจน้ำท่วมที่ปราจีนบุรี

บางกระแส ข่าวบอกว่า นายกฯ ยิ่งลักษณ์ โทร.มาสั่งการให้นายยงยุทธเดินทางไปตรวจสถานการณ์น้ำท่วมเป็นการด่วน เพราะชาวปราจีนบุรีกำลังเดือดร้อนหนัก 
แต่บางกระแสก็ว่านายยงยุทธไม่กล้าเสี่ยงนั่งเป็นประธานประชุม ครม. เพราะไม่มั่นใจในสถานภาพของตนเองจากกรณีปัญหาที่ดินอัลไพน์

ที่มีความเห็นแตกออกเป็น 2 ทาง
คือถึงเลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) และเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ตลอดจนปลัดกระทรวงมหาดไทยจะยืนยันว่า
นายยงยุทธอยู่ในข่ายได้รับอานิสงส์จากพระราชบัญญัติล้างมลทินปี 2550 ถือว่าไม่เคยถูกลงโทษมาก่อน จึงไม่มีผลกระทบต่อตำแหน่งในปัจจุบัน
แต่ก็แน่นอนว่าจะต้องมีฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยโดยเฉพาะพรรคฝ่ายค้านและแนวร่วม ที่เห็นว่ากรณีนายยงยุทธไม่เข้าข่ายได้รับการล้างมลทิน
ก่อนจะมีมติเข้าชื่อส.ส. 50 คนเตรียมไว้เพื่อยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญตีความคุณสมบัติความเป็นส.ส.และรัฐมนตรีของนายยงยุทธ 
ซึ่งยังไม่มีใครรู้ว่าเรื่องจะไปจบลงตรงไหน อย่างไร


แต่ตามเค้าโครงที่ปรากฏ ไม่ว่าจะเป็นการที่เรื่องผ่านมานาน 10 ปีแต่อยู่ดีๆ ป.ป.ช.ก็ลัดคิว หยิบเรื่องนี้ขึ้นมาพิจารณาชี้มูลความผิด 
ก่อนที่พรรคประชาธิปัตย์จะกระโดดรับลูกขยายผล เตรียมเก็บรวบรวมข้อมูลส่งต่อให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตีความเรื่องคุณสมบัติ

ขบวนการเดิมๆ นี้เองที่พรรคเพื่อไทยต้องไม่ประมาท
อย่าลืมว่านายสมัคร สุนทรเวช เพียงแค่ทำกับข้าวออกทีวีเท่านั้น
ก็ยังต้องหลุดจากเก้าอี้นายกรัฐมนตรี 



++

ใจ...
โดย คาดเชือก คาถาพัน
  คอลัมน์ ทิ้งหมัดเข้ามุม
ในข่าวสดออนไลน์  วันพุธที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2555 เวลา 00:01 น.


จะเก็บเอาไว้เป็นความภาคภูมิใจ หรือจะเก็บไปพิจารณาทบทวนตัวเองก็แล้วแต่ว่าใจกรรมการในคณะกรรมการอิสระเพื่อตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดอง หรือ คอป. จะเป็นอย่างไร
เพราะตั้งแต่แถลงรายงานการสอบสวนเหตุการณ์สลายการชุมนุมเมษายน-พฤษภาคม 2553 มาร่วมสัปดาห์แล้ว 
เสียงวิพากษ์วิจารณ์ก็ไม่ได้ลดลง

ซ้ำบางส่วนยังหนักขึ้น แรงขึ้น และชี้ให้เห็นจุดอ่อนข้อด้อยของรายงานได้ชัดเจนยิ่งขึ้น 
ที่สำคัญคือไม่ได้วิจารณ์กันด้วยอคติชอบหรือชัง หรือสักแต่วิจารณ์ 
แต่วิจารณ์กันแบบแจกแจงทีละเม็ด แบบที่อ่านมาแล้วทั้งฉบับแล้วค่อยพูด อย่างที่กรรมการ คอป.ท่านท้าเอาไว้เสียด้วย


ประเด็นใหญ่ของผู้วิจารณ์ก็คือ"ความเอียง"ของรายงานฉบับดังกล่าว 
ที่เลือกให้ความสำคัญกับจุดเล็กมากกว่าภาพรวม 
ขยายภาพและบทบาทชายชุดดำให้ใหญ่โตน่ากลัว ทั้งที่มีหลักฐานประกอบเบาบางยิ่ง อาศัยแค่คำว่า "เชื่อว่า"
ก็ทำให้ความเชื่อส่วนตัวกลายเป็นความจริงขึ้น มาได้?

ในขณะที่อีกด้านหนึ่ง ก็กดน้ำหนักและความสำคัญของการตัดสินใจของรัฐบาลที่สั่งการให้ทหารถืออาวุธจริง-กระสุนจริงเข้ามาในเมืองเพื่อปราบปรามประชาชนของตนเองลงไป 
ไม่เจตนาอุ้มก็เหมือนอุ้ม

จะไม่ให้คนตั้งข้อสงสัย จะไม่ให้คนวิจารณ์ จะไม่ออกมาน้อมรับเลย ก็ใจจืดไปหน่อย
ประเภทตัดบทว่า บัดนี้หน้าที่ คอป.จบแล้ว มีรายงาน(ซึ่งก่อปัญหามหาศาลตามมา)แล้ว ไม่ต้องทำอะไรแล้ว
ก็เหมือน "ตีหัวเข้าบ้าน" นั่นแหละครับ


สำหรับญาติของผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ หรือผู้ได้รับบาดเจ็บพิการจาก "กระสุนจริง" 
แผลเก่ายังไม่ทันหายแปลบข้างใน มีแผลใหม่เพิ่มขึ้นมาให้ปวดแสบปวดร้อนยิ่งกว่าเก่า 
ใครที่มีส่วนร่วมเขียนรายงานฉบับนี้ขึ้นมา
ถามว่าก่อนนอนเคยสวดมนต์บ้างไหมครับ?



++

จริงใจนำการเมือง
โดย จ่าบ้าน
  คอลัมน์ ทิ้งหมัดเข้ามุม
ในข่าวสดออนไลน์  วันอังคารที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2555 เวลา 00:01 น.


สื่อมวลชนทุกประเภทต่างมีความเห็นต้องตรงกันว่า "รัฐบาลกับฝ่ายค้าน" ต่าง "ชื่นมื่น" เข้าหากันในการหารือร่วมกันเพื่อแก้ไขปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เมื่อวันอังคารก่อน
ปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เริ่มเห็นทางคลี่คลายมาตลอดเวลา หลังจากรัฐบาลตัดสินใจนำแนวทาง "การเมืองนำการทหาร" เพื่อเดินไปสู่การ "เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา" ตามแนวทางพระราชดำริ 

เมื่อเริ่มแนวทางการเมืองนำการทหาร การเจรจาทั้งทางลับและทางแจ้งก็เกิดขึ้น โดยเฉพาะจากพันตำรวจเอกทวี สอดส่อง ผู้อำนวยการ ศอ.บต. ซึ่งเข้าพื้นที่หาผู้คนเพื่อสร้างความเข้าใจ และเข้าถึงปัญหามาตลอด 
(เชื่อว่า) การที่ผู้นำฝ่ายก่อความไม่สงบเข้าเจรจากับฝ่ายรัฐบาลตามหลักการ "ผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย" อันมีที่มาจากนโยบาย 66/23 เมื่อครั้งพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี เกิดจากการดำเนินงานของ ศอ.บต. ที่มีพันตำรวจเอกทวี สอดส่อง เป็นผู้อำนวยการ

ยิ่งเมื่อผู้นำมุสลิมโลกเข้าพบกับนายกรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อก่อนหน้านี้ ก็ยิ่งทำให้การคลี่คลายปัญหาความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เริ่มขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม



การที่รัฐบาลส่งเทียบเชิญผู้นำฝ่ายค้านในสภา นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในจังหวัดภาคใต้ของพรรคมาพบปะเพื่อหารือรับฟังข้อคิดเห็นและแนวทางร่วมกันแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นมานาน เพื่อหาช่องทางนำไปสู่สันติสุขให้กับพี่น้องสามจังหวัดภาคใต้และพี่น้องมุสลิมทั้งผองอย่างเป็นเอกภาพและยั่งยืน กับผู้นำรัฐบาลและผู้ที่เกี่ยวข้องไม่เพียงแต่เป็นภารกิจอันทรงคุณค่าของทั้งสองฝ่ายเท่านั้น  
กรณีดังกล่าวยังจะทำให้ประชาชนไทยเห็นว่าการใช้ความจริงใจมานำแนวทางการเมือง ผลย่อมเกิดขึ้นในทิศทางที่ดีและนำไปสู่การแก้ไขปัญหาได้ในที่สุด 
แม้ว่าเหตุการณ์ครั้งนี้จะเป็นครั้งแรกที่รัฐบาลกับฝ่ายค้านหันหน้าเข้าร่วมกันแก้ปัญหาของชาติ ซึ่งน่าจะดำเนินการต่อไปจนประสบผลสำเร็จในไม่ช้านี้ แต่ก็เป็นครั้งที่นักการเมืองควรนำไปเป็นกรณีศึกษาว่า ในทางการเมืองนั้นการจะแก้ปัญหาของชาติได้ทุกฝ่ายต้องใช้ความจริงใจต่อกัน

ไม่ใช่เอาแต่จะ "เล่นการเมือง" ตลอดเวลาอย่างที่ผ่านมา 80 ปี



++

สัปดาห์ของรอยต่อ 
โดย จ่าบ้าน 
คอลัมน์ ทิ้งหมัดเข้ามุม
ในข่าวสดออนไลน์  วันจันทร์ที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2555 เวลา 03:47 น.


สัปดาห์สุดท้ายของผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติพลตำรวจเอกเพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ มีเวลาปฏิบัติหน้าที่ราชการในตำแหน่งถึงวันที่ 30 กันยายน เวลา 24.00 น. แม้ว่าเป็นวันอาทิตย์แต่งานในหน้าที่ ของตำรวจเป็นงาน 24 ชั่วโมง โดยเฉพาะงานของผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ
ไม่ว่าเหตุเกิดที่ไหน ผู้บัญชา การตำรวจแห่งชาติต้องอยู่ที่นั่น เพราะหน้าที่โดยตรงของตำรวจคือ
พิทักษ์สันติราษฎร์ เพื่อ ให้ "ตำรวจอยู่ไหน ประชาอุ่นใจทั่วกัน"

ระหว่างนี้ อาจมีเหตุการณ์รุนแรงเกิดขึ้นที่นั่นที่นี่ เป็นเรื่องปกติธรรมดา แต่ในวันอาทิตย์ที่ 30 กันยายน จนถึงเที่ยงคืน โปรดอย่ามีเหตุการณ์รุนแรงเกิดขึ้นได้ไหม โดยเฉพาะเหตุอาชญากรรมร้ายแรง 
การปฏิบัติหน้าที่ราชการในตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ นับว่าพลตำรวจเอกเพรียวพันธ์ปฏิบัติหน้าที่ได้ดีทีเดียว แทบไม่มีคำครหานินทาว่าร้ายแต่ อย่างใด 
แม้ว่าการโยกย้ายตำแหน่งหน้าที่การงานของตำรวจใต้บังคับบัญชาจะไม่ค่อยเรียบร้อยนักก็ตาม
แต่เป็นเรื่องของคณะกรรมการตำรวจแห่งชาติที่ต้องร่วมกันพิจารณาและรับผิดชอบ ไม่ว่าจะเป็นโดยเสียงเอกฉันท์ หรือเสียงข้างมากเพียงเสียงเดียวก็ตาม



ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา และในขณะนี้เกิดความเดือดร้อนของประชาชนในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่ชุ่มน้ำหรือน้ำท่วม ปีนี้กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลางอยู่ในความดูแลของพลตำรวจโทพงศ์พัฒน์ ฉายาพันธุ์ ผู้บัญชาการ มีเจ้าหน้าที่ตำรวจในสังกัดกระจายไปทั่วประเทศไม่ว่าจะเป็นกองบังคับการตำรวจปราบปราม กองบังคับการตำรวจทางหลวง และกองบังคับการตำรวจน้ำ  
ทุกกองบังคับการในกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ผู้บังคับบัญชามีคำสั่งด่วนให้กองบังคับการจัดกำลังตำรวจในโครง การ "ตำรวจผู้รับใช้ชุมชน" ลง พื้นที่ช่วยเหลือประชาชนเต็มพื้นที่  

ส่วนในกรุงเทพมหานคร แม้กระแสน้ำยังไม่ลงมาถึง แต่ในหลายจังหวัดปริมณฑลเริ่ม มีน้ำหลากลงมาแล้ว หวังว่า พลตำรวจโทคำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง ผู้บัญชาการตำรวจ นครบาล คงพร้อมรับมือแล้วเช่นกัน 
หากตำรวจปฏิบัติหน้าที่เป็น "ตำรวจผู้รับใช้ชุมชน" รอยต่อระหว่างคนเก่ากับคนใหม่ก็จะราบรื่น



++

ไม่เป็นกลาง?
โดย สมิงสามผลัด 
คอลัมน์ ทิ้งหมัดเข้ามุม
ในข่าวสดออนไลน์  วันเสาร์ที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2555 เวลา 00:01 น.


ยังเป็นกระแสวิจารณ์ต่อเนื่องในสังคมถึงกรณีรายงานสรุป คอป.ที่ถูกมองว่าโยนบาปให้ชายชุดดำเป็นต้นเหตุของความรุนแรง 
สร้างความชอบธรรมให้รัฐบาลก่อนในการปราบปรามม็อบแดง 
เป็นการรับรองคำสั่งยิงของ ศอฉ.

ในกรณีของชายชุดดำยังมี การโยงใยถึง"เสธ.แดง"พล.ต. ขัตติยะ สวัสดิผล จนถูกวิจารณ์หนัก 
เพราะเสธ.แดงเป็น "ผู้ถูกกระทำ" ถูกสไนเปอร์ลอบยิงเสียชีวิต 
แต่กลับกลายเป็น "ผู้ถูกกล่าวหา" ตามที่คอป.ระบุว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลังชายชุดดำ 
เป็นการกล่าวหาที่ผู้ถูกกล่าวหาไม่มีโอกาสลุกขึ้นมาชี้แจง 

จึงเป็นหน้าที่ของ น.ส.ขัตติยา สวัสดิผล ส.ส.พรรคเพื่อไทย ต้องตอบโต้ คอป.แทนคนที่ตายไปแล้ว 
"ที่ระบุว่าชายชุดดำมีความใกล้ชิดกับคุณพ่อนั้นขอให้ระบุออกมาให้ชัด ขอให้คอป.เอาหลักฐานมาแสดง อย่ากล่าวอ้างลอยๆ โดยไม่มีตัวบุคคลหรือเอกสารอ้างอิง"  
ส.ส.เดียร์ยังโพสต์ในทวิตเตอร์เปิดโปงภาพหลักฐาน "ชายชุดดำ" ถืออาวุธสงครามยืนปะปนอยู่ในกลุ่มทหาร และภาพทหารที่ปลอมตัวเป็นคนเสื้อแดง 
โดยตั้งข้อสงสัยว่าทำไม คอป.ถึงไม่ตรวจสอบบุคคลเหล่านี้เลยทั้งที่มีหลักฐานชัดเจน


นอกจากรายงานการศึกษาที่ไม่ครบถ้วนแล้ว คอป.ยังโดนติติงเรื่องความไม่เป็นกลาง 
ล่าสุดยังมีการเปิดโปงคณะอนุกรรมการทั้ง 5 คณะ 
มีกรรมการอย่างน้อย 2 คนเป็นเสื้อเหลือง เป็นกลุ่มต่อต้านทักษิณ 
เคยเป็นหัวหน้าการ์ดบางม็อบ !?
แต่กลับมีหน้าที่ศึกษาประเด็นความรุนแรง โดยเฉพาะการปะทะที่อนุสรณ์สถานดอนเมืองและสถานีดาวเทียมไทยคม เหตุการณ์ปะทะที่คอกวัว 10 เม.ย. และคดี 6 ศพที่วัดปทุมฯ

คอป.ให้คนที่ยืนอยู่ตรงข้ามคนเสื้อแดง มาตรวจสอบข้อเท็จจริงการสลายม็อบแดง 
ยิ่งตอกย้ำความไม่เป็นกลาง 
จึงเป็นเรื่องยากมากๆ ที่คนเสื้อแดงจะเชื่อถือรายงานคอป.ชุดนี้


+++

ชุดดำและใจดำ
โดย วงค์ ตาวัน
  คอลัมน์ ชกไม่มีมุม
ในข่าวสดออนไลน์  วันจันทร์ที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2555 เวลา 03:49 น.


การเปิดภาพทหารหน่วยซุ่มยิง ที่กระจายอยู่บน ตึกสูงต่างๆ ในกทม. ช่วงเหตุการณ์เมษายน-พฤษภาคม 2553 ซึ่งข่าวสดนำมาตีพิมพ์บนหน้า 1 เมื่อไม่กี่วันก่อน หลายคนไม่เคยเห็นภาพเหล่านี้มาก่อน 
เกิดคำถามขึ้นทันทีว่า รัฐบาลในขณะนั้น รักประชาชนอย่างไรกันแน่ ยอมรับในสิทธิการชุมนุมทางการเมืองแน่หรือ!? 
บ้างก็ว่าจัดหนักยิ่งกว่ารัฐบาลทหารในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 และ 17 พฤษภาคม 2535 เสียอีก

มิน่า ผู้ก่อการร้ายหนังสติ๊ก ก่อการร้ายบั้งไฟ ก่อการร้ายขวดน้ำมัน ตายกันเกลื่อน 
ทั้งน่าสงสัยว่า คนสั่งการเป็นใคร มีสิทธิอะไรที่ทำกับประชาชนคนไทยด้วยกันขนาดนี้ 


แต่ภาพแบบนี้ไม่ปรากฏในรายงานของคอป. 
มีแต่ภาพชายชุดดำมัวๆ เพราะสนใจแต่การค้นหาชุดดำ!
แล้วเอาเข้าจริงๆ มีพยานหลักฐานไหม ก็แค่ยืนยันตาม "ความเชื่อ" ว่ามีชายชุดดำจริง มีการต่อสู้กับทหารจริง


ทั้งดูจากภาพที่ปรากฏ อาจจะมีแค่ 2-3 คนด้วยซ้ำ 
คอป.สนใจคนไม่กี่คนกับอาวุธไม่กี่กระบอก! 
แต่ไม่สนใจการส่งกองกำลังรัฐนับหมื่น ถือปืนจริงกระสุนจริงลงสู่ท้องถนน แล้วยิงไปกว่าแสนนัด เพื่อจัดการกับการชุมนุมประท้วงตามระบอบประชาธิปไตย


เน้นย้ำตัวเลขว่าชุดดำฆ่าไป 9 ศพ แล้วอีก 80 กว่าศพเล่า ไม่ค่อยให้น้ำหนักสักเท่าไร!?
ยัดเยียดว่าเสธ.แดงเกี่ยวพันกับชุดดำ แล้วที่เสธ.แดงถูกยิงตายอย่างอุกอาจขนาดนั้น ไม่มีการค้นหาคำตอบว่าถูกใครฆ่า 
หรือว่าเพราะอีก 80 กว่าศพ และเสธ.แดงเป็นพวกทักษิณเลยไม่เป็นไร



คอป.ไม่เข้าใจว่าอะไรมาก่อนหลังระหว่าง "เหตุ" ที่นำมาสู่ "ผล" 
ถ้า ศอฉ.ไม่ส่งทหารถือปืนเข้าไปปราบม็อบ จะเกิดสถานการณ์บานปลายหรือไม่!?! 
ชายชุดดำถ้ามีจริง ก็เป็นเรื่องที่มาทีหลัง เป็นผลที่ตามมา 

อย่าสับสน พลิกเอาผลมาเป็นตัวตั้งเพื่อกลบเกลื่อนเหตุ 
เหมือนกับที่พูดเสียหรูหราว่าทักษิณควรเสียสละอย่างรัฐบุรุษปรีดี 
แปลว่าดีใจและชื่นชมที่คนอย่างปรีดีไม่ได้กลับประเทศไทยอย่างนั้นหรือ


ใจจืดใจดำกับคนที่ต้องไปตายในต่างแดน!



+++

กรณี พัน คำกอง ดุลพินิจ อภิสิทธิ์ สุเทพ กรณีคำสั่งศาล
คอลัมน์ วิเคราะห์การเมือง
ในข่าวสดออนไลน์  วันจันทร์ที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2555 เวลา 14:30 น.


ไม่ว่าการเคลื่อนไหวของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ไม่ว่าการเคลื่อนไหวของ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เป้าหมายใหญ่มิได้อยู่ที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อีกต่อไปแล้ว 
นับแต่วันที่ 17 กันยายน 2555 เป็นต้นมา เป้าก็แปรเปลี่ยน 
แปรเปลี่ยนจาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มาเป็น ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี มาเป็น นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ
แม้จะมีการแตะ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แต่ก็เพียงแผ่วเบา

ยิ่ง นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ออกมาเปิดเผยหนังสือกรมสอบสวนคดีพิเศษ ฉบับลงวันที่ 16 พฤศจิกายน กับ ฉบับลงวันที่ 23 พฤศจิกายน 2553 ของ นายธาริต เพ็งดิษฐ์ ถึงสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ยิ่งทำให้เห็นความเป็นจริง 
ความเป็นจริงที่แตกต่างระหว่างสำนักงานตำรวจแห่งชาติในยุครัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กับสำนักงานตำรวจแห่งชาติในยุครัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

เรื่องนี้ต้องฟัง นายสุเทพ เทือกสุบรรณ
เมื่อมีคนตายเกิดขึ้น 98 ศพ พนักงานสอบสวนได้สอบสวนและมีความเห็นว่า ไม่รู้ว่าใครทำให้ตาย ไม่มีพยาน หลักฐาน 
จึงส่งเรื่องให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ 
นายธาริต เพ็งดิษฐ์ แสดงความเห็นมาว่าใน 98 ศพมี 13 ศพที่เห็นว่าน่าจะเป็นการเสียชีวิตจากการกระทำของเจ้าหน้าที่จึงขอให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติไปชันสูตรพลิกศพใหม่ 
และทำหนังสือราชการ 2 ฉบับลงวันที่ 16 กับ 23 พฤศจิกายน 2553 โดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ตั้งคณะกรรมการไต่สวนขึ้นมี พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ เป็นประธาน ชันสูตรพลิกศพใหม่และทำรายงานกลับไปที่กรมสอบสวนคดีพิเศษยืนยันว่า ไม่มีหลักฐานว่าเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่ 

และเรื่องก็จบตรงนั้น 
นั่นเป็นยุครัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ แต่เมื่อมาถึงรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ภายหลังการเลือกตั้งเมื่อเดือนกรกฎาคม 2554
เรื่องดำเนินไปตรงกันข้าม 


ที่เป็นตรงกันข้ามนั้นเพราะว่าในการรื้อฟื้นคดีใหม่ เจ้าพนักงานการสอบสวนของกองบัญชาการตำรวจนครบาลได้ดำเนินการสอบสวนและส่งสำนวนให้พนักงานอัยการ 
ปรากฏว่ามี 36 ศพที่ระบุว่าตายเพราะเจ้าหน้าที่รัฐ  


และที่สำคัญเป็นอย่างมากเมื่อวันที่ 17 กันยายน 2555 ศาลอาญาได้วินิจฉัยและออกคำสั่งเป็นคดีแรก ระบุว่า นายพัน คำกอง ซึ่งตายเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2553 เพราะเจ้าหน้าที่รัฐ
ยืนยันโดยคำสั่งศาล

ไม่ว่า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ไม่ว่า นายสุเทพ เทือกสุบรรณ จะยึดบรรทัดฐานในแบบใด 
แต่กรณีของ นายพัน คำกอง ได้รับคำยืนยันมาแล้วโดยคำสั่งศาลอาญาที่ดำเนินการไต่สวนสรุปได้ว่า เป็นการตายเพราะปืนของเจ้าหน้าที่รัฐตามคำสั่งของ ศอฉ. 


ยังมีอีก 35 คดีกำลังรอการไต่สวนอยู่



.

พิชิต: คอป.หรือ คณะอุ้มอภิสิทธิ์ปกปิดความจริง?

.

พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์: คอป.หรือ คณะอุ้มอภิสิทธิ์ปกปิดความจริง?
ใน www.prachatai.com/journal/2012/09/42863 . . Fri, 2012-09-28 01:19


รศ.ดร.พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์
( ที่มา: เผยแพร่ครั้งแรกใน“โลกวันนี้วันสุข” ฉบับวันศุกร์ที่ 28 กันยายน 2555 )



ในที่สุด คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อความปรองดองแห่งชาติ หรือ คอป. ที่มีนายคณิต ณ นคร เป็นประธาน ก็ได้นำเสนอรายงานขั้นสุดท้ายเกี่ยวกับเหตุการณ์สังหารหมู่ประชาชนเมื่อเมษายน-พฤษภาคม 2553 ซึ่งผลก็เป็นไปตามความคาดหมาย คือ เต็มไปด้วยเรื่องปกปิดบิดเบือนความจริงที่เกิดขึ้น ฟอกขาวให้กับทั้งฝ่ายทหารและรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

คนที่เจ็บปวดกับผลงานของ คอป.ในครั้งนี้ก็คือ ครอบครัวและบรรดาญาติพี่น้องของผู้ที่เสียชีวิตและบาดเจ็บหลายพันคนในเหตุการณ์ รวมไปถึงประชาชนที่เข้าร่วมต่อสู้ที่ถือว่า บรรดาผู้สูญเสียเหล่านั้นคือพี่น้องร่วมอุดมการณ์ที่เสี่ยงตายมาด้วยกัน

ผลงานอัปยศของ คอป.ในครั้งนี้ ทำให้สมควรได้รับขนานนามใหม่ว่า คณะอุ้มอภิสิทธิ์ปกปิดบิดเบือนความจริงเพื่อความแตกแยกแห่งชาติ โดยแท้!

ผู้ที่ติดตามการทำงานของ คอป.มาโดยตลอดจะไม่แปลกใจเลย เพราะคณะกรรมการชุดนี้แต่งตั้งโดยรัฐบาลอภิสิทธิ์ ตัวบุคคลทั้งระดับกรรมการ อนุกรรมการ คณะทำงาน และที่ปรึกษา หลายคนเป็นพวกอีแอบพรรคประชาธิปัตย์และ “พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย” ที่เป็นศัตรูโดยตรงกับฝ่ายประชาชน

ใน คอป.จึงมีตั้งแต่คนที่เคยร่วมมือกับกลุ่มพันธมิตรฯอย่างเปิดเผย แล้วมานั่งทำงาน “รวบรวมข้อเท็จจริง” ไปจนถึงกรรมการบางคนที่เป็นเอ็นจีโอ เพียรสร้างภาพเปลือกนอกเป็นนักสิทธิมนุษยชน รณรงค์เรื่องประชาธิปไตยในประเทศเพื่อนบ้าน แต่กลับมีเนื้อแท้เป็นพวกสนับสนุนเผด็จการในประเทศไทย

รายงานของ คอป.มีเนื้อหาที่ดูถูกสติปัญญาของคนอ่านอย่างยิ่ง เพราะเต็มไปด้วยการเล่านิทานเหตุการณ์ที่ปราศจากพยานหลักฐาน เลี่ยงไม่ตอบคำถามสำคัญๆ ขณะที่อีกหลายคำถามที่จำต้องตอบก็โยนไปให้ “ชายชุดดำ” ซึ่งกลายเป็น “หลุมดำ” ที่ คอป. จับเอาบรรดาคำถามที่ไม่อยากตอบ โยนใส่ลงไปเท่านั้น ทั้งหมดนี้ มีจุดประสงค์เดียวคือ ล้างบาปและคราบไคลเลือดออกจากเนื้อตัวของทหารและรัฐบาลอภิสิทธิ์ โยนความผิดทั้งหมดไปให้ “ชายชุดดำ” และประชาชนที่บาดเจ็บล้มตาย

ทำราวกับว่า คนอ่านไม่มีสติปัญญาพอที่จะรู้เท่าทัน คอป.คนอ่านจึงได้แต่กังขาว่า ถ้าเอายี่ห้อ คอป.ออกไปจากรายงานชุดนี้ คนอ่านอาจเผลอนึกไปว่า กำลังอ่านสกู๊ปรายงานของสถานีโทรทัศน์เอเอสทีวีอยู่ก็ได้!


คำถามสำคัญที่สุดคือ คนเสียชีวิตเฉพาะที่รู้แน่นอนจำนวน 90 กว่าคนนั้น ตายอย่างไร? ในรูปแบบอาการอย่างใด? ใครเป็นคนกระทำ? ทหารนับพันที่ติดอาวุธหนักเบาตั้งแต่หัวถึงเท้าที่อยู่ในบริเวณนั้น กระหน่ำยิงกระสุนไปเป็นแสนนัด มีคลิปวิดีโอภาพการยิงอย่างเมามันนับไม่ถ้วน ทหารเหล่านี้มีส่วนรับผิดชอบแค่ไหน? นี่คือคำถามสำคัญที่สุดที่ รายงานของ คอป.ไม่ได้ตอบอย่างชัดเจนจนไร้ข้อสงสัย

ส่วนกรณีการเสียชีวิตที่ปฏิเสธไม่ได้ รายงานของ คอป. ก็มี “แพะ” ที่แสนจะสะดวกสบายคือ “ชายชุดดำ” ที่ถูกตั้งธงให้รับผิดชอบการบาดเจ็บเสียชีวิตของประชาชนจำนวนหนึ่ง และมีส่วนในการบาดเจ็บเสียชีวิตของฝ่ายทหาร แค่นั้น? โดยที่ คอป.ก็ไม่สามารถอธิบายได้ว่า ถ้าชายชุดดำเป็นกองกำลังของฝ่ายประชาชนผู้ชุมนุมจริง แล้วทำไมจึงไม่มีหลักฐานการมีอยู่ของคนพวกนี้เลย และก็ไม่มีความพยายามที่จะสืบสวนติดตามจับกุมแต่อย่างใดตลอดสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์?

ยิ่งไม่ต้องพูดถึงภาพถ่ายและคลิปวิดีโอจำนวนมากที่ปรากฏเป็นตรงข้ามคือ มี “ชายชุดดำติดอาวุธ” ปฏิบัติการอยู่เคียงข้างฝ่ายทหารที่ปราบปรามประชาชนในขณะนั้น!


แต่ความเลวร้ายที่ไม่อาจให้อภัยได้และถือว่า เป็นอยุติธรรมอย่างยิ่งก็คือ การที่ คอป. โยนบาปไปให้คนตาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กรณีทหารพลแม่นปืนยิงคนตายถึงหกศพในบริเวณวัดปทุมวนารม ซึ่งรายงาน คอป.กลับโยนไปให้ “ชายชุดดำที่ยิ่งต่อสู้กับเจ้าหน้าที่ทหาร” ทั้งที่ไม่มีหลักฐาน ไม่มีพยานใดๆ เกี่ยวกับ “ชายชุดดำ” ในบริเวณนั้นเลย รวมทั้งยังมีหลักฐานทางนิติเวชที่แสดงชัดว่า ผู้ตายทั้งหกศพเสียชีวิตด้วยกระสุนความเร็วสูงที่ยิงจากมุมสูงเข้าที่ศรีษะหรือหน้าอก ทุกศพ!

คนบาดเจ็บนับพัน ตายอีกร่วมร้อยศพ พวกเขาถูกทหารฆ่าตายยังไม่พอ ยังถูกสื่อมวลชนกระแสหลักสามานย์กระหน่ำซ้ำเติมมาตลอดสองปี แล้วในท้ายสุด ยังมาถูก คอป.กระทืบแล้วแทงซ้ำอีกในวันนี้! คอป.กล้าทำเพราะคนตายไปแล้ว คอป.จะโยนอะไรใส่ก็ได้ เพราะพวกเขาไม่สามารถลุกขึ้นมาโต้แย้งกับ คอป.ได้อีกแล้ว

คนที่รับผิดชอบสั่งการฆ่าประชาชนนั้น โดยธรรมชาติ ย่อมแก้ตัว เพื่อหลบหลีกความผิด แต่เจ้าหน้าที่ซึ่งเสวยงบประมาณจากภาษีประชาชนจำนวนมหาศาล มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงในการแสวงหาความจริงและให้ความยุติธรรม กลับมาปกปิดบิดเบือนความจริงเสียเอง แล้วล้างบาปให้กับฆาตกรตัวจริง เจ้าหน้าที่อย่างนี้ย่อมเลวกว่าคนที่กระทำผิดจริงเสียอีก



ผลลัพธ์เช่นนี้เป็นความรับผิดชอบโดยตรงของรัฐบาลพรรคเพื่อไทย ที่แสดง “ความใจกว้าง” ยอมให้ คอป.ทำงานต่อไปทั้งๆ ที่รู้อยู่ว่า พวกนี้คือ “ไข่ประชาธิปัตย์” เพราะรัฐบาลต้องการแสดงความจริงใจในการปรองดอง และมองในแง่ดีว่า คนพวกนี้น่าจะมี “จิตสำนึก” มากพอที่จะทำงานอย่างเที่ยงตรง 

รัฐบาลจะต้องแสดงจุดยืนอย่างชัดเจน ปฏิเสธและไม่รับรองรายงานของ คอป.ทั้งหมด ในทางตรงข้าม รัฐบาลจะต้องหันมาสนับสนุนการรวบรวมข้อเท็จจริงที่กระทำโดยประชาชนเอง คือ ศูนย์ข้อมูลผู้ได้รับผลกระทบเหตุสลายชุมนุม เม.ย.-พ.ค.53 หรือ ศปช.ซึ่งได้ทำหน้าที่รวบรวมความจริงทั้งหมดจากผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ ผู้บาดเจ็บ มิตรสหาย ครอบครัวและญาติผู้เสียชีวิต ละเอียดเป็นรายบุคคล ปัจจุบัน ได้สำเร็จลุล่วงเป็นรายงานหนากว่าหนึ่งพันหน้าออกเผยแพร่แล้ว  
สิ่งที่รัฐบาลควรกระทำคือ สนับสนุนการจัดพิมพ์และเผยแพร่รายงานฉบับ ศปช.ให้กว้างขวางที่สุด ไปสู่ห้องสมุดประชาชนและสถานศึกษาทุกแห่งทั่วประเทศ


ท้ายสุดคือ บทเรียนซ้ำซากที่รัฐบาลและพรรคเพื่อไทยหลับหูหลับตา ปฏิเสธที่จะยอมรับตลอดมาคือ พวกเผด็จการไม่เคยมีความคิดแม้แต่กระผีกริ้นที่จะ “ปรองดอง” กับพวกคุณ พวกเขาจะดิ้นรนต่อต้านประชาธิปไตยไปจนถึงที่สุด ซึ่งหมายความว่า พวกเขาจะหาทางบ่อนทำลายพรรคและรัฐบาลฝ่ายประชาธิปไตยทุกวิถีทาง รัฐบาลและพรรคเพื่อไทยจะต้องเลือกระหว่าง “เพ้อฝันปรองดองไปจนถูกทำลายในที่สุด” หรือจะยืนหยัดอยู่ข้างประชาชนอย่างเหนียวแน่นไปบรรลุประชาธิปไตยที่แท้จริงด้วยกัน



.