http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2557-07-29

พิชญ์: รัฐธรรมนูญมาแล้วจ้า..

.

รัฐธรรมนูญมาแล้วจ้า...
โดย พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์
madpitch@yahoo.com
ใน www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1406621542
. . วันอังคารที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2557 เวลา 16:40:02 น.
( ที่มา: นสพ.มติชนรายวัน 29 ก.ค.2557 )
ภาพจาก นสพ.ไทยรัฐ


ในที่สุดสังคมไทยก็ได้รัฐธรรมนูญ "ฉบับแม่น้ำห้าสาย" มาใช้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งผมขอหลีกเลี่ยงที่จะเรียกรัฐธรรมนูญฉบับนี้ว่ารัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวหรือฉบับถาวร แต่ขอเรียกรัฐธรรมนูญฉบับนี้ตามประโยคเด็ดว่าฉบับแม่น้ำห้าสายดีกว่า ด้วยว่าท่านอัครมหาเนติบริกรได้นิยามเอาไว้เอง โดยเฉพาะความมุ่งหมายของอัครเนติบริกรที่ไม่ต้องการให้การยึดอำนาจครั้งนี้ "สูญเปล่า"

อนึ่ง การใช้คำว่าเนติบริกรผู้ยิ่งใหญ่นั้นไม่น่าจะเป็นเรื่องทางลบอะไร คือบอกตรงๆ ว่าจะให้เรียกว่า "founding father" แบบรัฐธรรมนูญอเมริกาหรืออินเดียก็ลำบากใจครับ ในเมื่อทางท่านผู้มีอำนาจได้ไหว้วานให้เกิดการเขียนรัฐธรรมนูญเช่นนี้ก็คงต้องเป็นเช่นนี้ละครับ เว้นแต่ท่านจะยืนยันว่าท่านคิดไว้แล้วและสามารถสั่งการให้ผู้มีอำนาจปืนนำความคิดของท่านไปใช้ได้


ที่สำคัญ รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีความน่าสนใจที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับสังคมเป็นอย่างมาก และด้วยวิธีที่สลับซับซ้อน ต่างจากรัฐธรรมนูญชั่วคราวในอดีตที่มักมีวัตถุประสงค์สำคัญๆ อยู่สองประการ

หนึ่งคือ ใช้เป็นข้ออ้างในการปกครองไปเรื่อยๆ ของฝ่ายผู้มีอำนาจ โดยเฉพาะฝ่ายที่ล้มล้างประชาธิปไตย ดังจะเห็นจากการไม่ระบุเงื่อนเวลาของรัฐธรรมนูญไว้ว่าจะใช้ไปถึงเมื่อไหร่ คือทำให้รัฐธรรมนูญนั้นมีลักษณะชั่วคราวอย่างถาวร คือลากไปเรื่อยๆ ซึ่งก็ไม่น่าแปลกใจอะไร เพราะการปกครองด้วยอำนาจปืนและไม่ได้มาจากการเลือกตั้งนั้นมีลักษะเป็น "การปกครองด้วยข้อยกเว้น" อยู่แล้ว โดยเฉพาะในลักษณะของการประกาศใช้กฎหมายฉุกเฉิน หรือกฎอัยการศึกต่างๆ ที่ให้อำนาจในการสถาปนาอำนาจที่เหนือกว่าระบบกฎหมายปกติที่มีการกลั่นกรองและคานอำนาจกันของสถาบันทางการเมืองหลายสถาบัน หรือจะว่าง่ายๆ ก็คือเป็นรัฐธรรมนูญแบบทหารเป็นใหญ่ ปกครองเอง และลากยาวเอง อาทิ สมัยจอมพลสฤษดิ์ และจอมพลถนอม เป็นต้น

สองคือ รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวในอดีต เป็นรัฐธรรมนูญที่ค่อนข้างเกรงอกเกรงใจประชาชนอยู่บ้างในแง่ที่ว่า หากจะใช้อำนาจพิเศษในขณะเป็นรัฐบาลรักษาการ ก็มักจะตั้งคนนอกหรือคนกลางมาเป็นนายกรัฐมนตรี และมีคำมั่นสัญญาที่ชัดเจนว่าจะจัดให้มีทั้งรัฐธรรมนูญใหม่และมีการเลือกตั้งโดยเร็ว แต่ในแง่นี้ก็เป็นไปได้ว่ารัฐธรรมนูญดังกล่าวนั้นอาจจะให้อำนาจคณะรัฐประหารมากหน่อยในการสรรหาสมาชิก แต่เราจะเห็นว่ารัฐธรรมนูญแนวดังกล่าวมีลักษณะของการประนีประนอมอำนาจกับชนชั้นนำจากการเลือกตั้งอยู่มาก ไม่เปลี่ยนอะไรมากนักในรัฐธรรมนูญที่ร่างอยู่ และเร่งให้มีการเลือกตั้งโดยเร็ว

แต่กระนั้นก็ตาม รัฐธรรมนูญในแบบที่สองนี้ไม่ได้หมายความว่าทหารจะถอยออกไปง่ายๆ แต่หมายถึงการประนีประนอมอำนาจกับนักการเมืองในลักษณะที่นักการเมืองนั้นก็พร้อมจะสวามิภักดิ์กับทหาร โดยมีการย้ายพรรคหรือสร้างพรรคใหม่ให้ผู้นำทางทหารนั้นสามารถลงจากตำแหน่งแล้วเข้ามามีส่วนร่วมได้ ดังที่เราจะเห็นจากกรณีของรัฐธรรมนูญและการเมืองหลังรัฐธรรมนูญ ๒๕๓๔ ที่ รสช.นั้นมาไวเคลมไว แล้วก็แปรสภาพเข้ามาเป็นนักการเมือง หรือแม้กระทั่งความซับซ้อนของรัฐธรรมนูญ 2550 นั้นจะมีอยู่หลายเรื่องราว แต่เราก็เห็นว่าสุดท้ายการเลือกตั้งนั้นถูกให้สัญญาและนายกรัฐมนตรีรักษาการในช่วงนั้นก็มีความมุ่งมั่นที่จะคืนอำนาจให้ประชาชนอยู่ไม่ใช่น้อย และแม้ว่าเราจะไม่เห็นการเปลี่ยนผ่านของ คมช.เข้าสู่พรรคการเมือง แต่อย่างน้อยก็มีพื้นที่ให้หัวหน้าคณะปฏิวัติรอบนั้นจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่ขึ้นมา

ผมเขียนเรื่องราวอย่างยืดยาวเพื่อให้เห็นว่ารัฐธรรมนูญฉบับแม่น้ำห้าสายนี้ไม่ใช่รัฐธรรมนูญในแบบเดิมอย่างแน่นอน และมีเป้าประสงค์จะเปลี่ยนแปลงการเมืองอย่างจริงจังผิดไปจากขนบของการใช้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวที่ผ่านมา


ส่วนสิ่งที่จะเกิดขึ้นนั้นจะดีหรือไม่ดีอันนี้ผมขอไม่วิจารณ์ในที่นี้ ด้วยว่าบรรยากาศของประเทศนี้ไม่ใช่บรรยากาศที่จะสามารถวิพากษ์วิจารณ์อะไรได้มากนัก และตราบเท่าที่ยังไม่เห็นบรรดาสมาชิกที่จะเปิดเผยตัวเป็นพันธมิตรผู้ทำงานร่วมกับ คสช. ก็คงจะอธิบายได้ยากเหมือนกันว่าเจตจำนงของการเปลี่ยนแปลงและปฏิรูปประเทศด้วยวิธีที่ไม่ใช่ประชาธิปไตยเพื่อให้ได้มาซึ่งประชาธิปไตยที่สมบูรณ์นั้นจะบรรลุผลได้แค่ไหนเพียงใด


สำหรับพื้นที่ที่เหลือในอาทิตย์นี้นั้นจะขอใช้ไปเขียนเรื่องอะไรที่อัครเนติบริกรเขาไม่ค่อยได้ชี้แจงให้เห็น ในแง่ที่ว่านักรัฐศาสตร์นั้น ถ้าเขามองรัฐธรรมนูญแล้วเขาจะมองเห็นอะไรบ้างซึ่งจะขอแบ่งออกเป็นสักห้าประการใหญ่ๆ

หนึ่ง เขามองเห็นว่ารัฐธรรมนูญเป็นเรื่องของการจัดการปกครองและการเมือง แต่เวลาที่เขามองเรื่องนี้ เขาหลีกไม่พ้นที่มักจะตัดสินว่ารัฐธรรมนูญนั้นเป็นประชาธิปไตย เป็นเผด็จการ หรือเป็นลักษณะที่สะท้อนออกถึง "อุดมการณ์" ของประเทศนั้น

แนวคิดนี้ค่อนข้างเก่ามาก แต่มักจะอยู่ในสายของรัฐธรรมนูญเปรียบเทียบ หรือการปกครองเปรียบเทียบ ยิ่งในสมัยที่เรามีข้อมูลน้อย การเริ่มต้นศึกษาการเมืองของแต่ละประเทศก็เริ่มต้นจากการหารัฐธรรมนูญของแต่ละประเทศโดยเฉพาะที่เป็นลายลักษณ์อักษรมาอ่าน มาเปรียบเทียบ แต่ถึงแม้ว่าจะดูล้าสมัยและเชยแสนเชยเพียงใด อย่างน้อยแต่ละประเทศเขาก็จะประกาศออกมาได้ว่าประเทศเขามีอุดมการณ์อะไรกันแน่ และมีการปกครองแบบใดกันแน่


สอง เขามองเห็นถึงความแตกต่างระหว่างรัฐธรรมนูญที่เป็นอุดมการณ์หรือตัวบทที่เขียนไว้อย่างสวยหรู กับความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในแต่ละสังคมการเมือง ซึ่งผมอยากจะเรียกคร่าวๆ ว่าเป็นเรื่องของการพูดถึงรูปแบบการปกครองที่เป็นลายลักษณ์อักษร หรือ "รูปแบบ" กับ "เนื้อหา" จริงๆ ซึ่งเราจะเข้าใจเรื่องนี้ได้ก็ต่อเมื่อเราเข้าไปศึกษาประเทศนั้นๆ อย่างลึกซึ้งและเริ่มเข้าใจว่า รัฐธรรมนูญของแต่ละประเทศนั้นกับความเป็นจริงทางการเมืองของประเทศนั้นๆ ไม่ใช่เรื่องเดียวกัน หรือที่เรามักชอบวิจารณ์ว่า บ้านเราไม่มีประชาธิปไตยอย่างแท้จริง เพราะมีแต่เพียงรูปแบบ ไม่มีเนื้อหา ตราบใดที่เรายังไม่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมต่างๆ ของผู้คนและสถาบันทางการเมืองในประเทศเหล่านั้น


สาม เขามองเห็นว่า รัฐธรรมนูญนั้นจุดสำคัญไม่ใช่ตัวบทหรือการเขียน แต่เป็นเรื่องของการทำความเข้าใจที่มาที่ไปของการเขียนในความหมายที่ว่า รัฐธรรมนูญนั้นเป็นมากกว่าตัวบทหรือกฎหมายสูงสุด หากแต่เป็นสิ่งที่สะท้อน "สัมพันธภาพทางอำนาจ" ของกลุ่มพลังต่างๆ ในสังคม ไม่ว่าการเขียนในแบบที่มีกลุ่มหนึ่งเหนือกว่ากลุ่มหนึ่ง หรือเป็นการประนีประนอมอำนาจของกลุ่มพลังหลายกลุ่มพลัง

เรื่องการมองรัฐธรรมนูญในฐานะของสัมพันธภาพนั้น เราอาจจะมองอีกอย่างว่า การเขียนรัฐธรรมนูญนั้นเป็นเรื่องของการแย่งชิงอำนาจในการกำหนดนิยามความหมาย และก่อร่างสร้างสถาบันต่างๆ ซึ่งสิ่งนี้เอื้อประโยชน์เป็นอย่างมากในการศึกษาพัฒนาการของความคิดต่างๆ ในสังคมไทย นอกเหนือไปจากเรื่องของการออกแบบสถาบันทางการเมืองเท่านั้น เช่นไม่ได้ดูแค่ว่า สภามีกี่สภา หรือนายกรัฐมนตรีนั้นมาจากการเลือกตั้งหรือการแต่งตั้ง แต่การศึกษาในแบบนี้อาจจะชักพาเราให้ไปสนใจแนวคิดบางแนวคิดว่าลงหลักปักฐานในสังคมไทยจริงจังแค่ไหนและถูกตีความอย่างไร เช่น เรื่องของสิทธิมนุษยชน หรือเรื่องของเสรีภาพทางการเมืองด้านต่างๆ ที่การศึกษาวิจัยในด้านนี้ไม่ได้มองแค่ว่ามีหรือไม่มีในรัฐธรรมนูญแต่ละฉบับ แต่ต้องดูว่าแนวคิดดังกล่าวถูกนำเสนอเข้ามาอย่างไร ถูกตีความอย่างไร และมีการตกลงที่จะระบุอะไรเอาไว้ หรือมีการละเลย หรือแปรเปลี่ยนให้ออกมาในรูปแบบไหน

การศึกษาแนวนี้ได้รับอิทธิพลสำคัญจากศาสตราจารย์เสน่ห์ จามริก ในงานสุดแสนคลาสสิกที่ชื่อว่า "การเมืองไทยกับพัฒนาการรัฐธรรมนูญ" ซึ่งได้ให้แนวทางการศึกษาเรื่องพัฒนาการของรัฐธรรมนูญที่เหนือไปจากเรื่องของประวัติศาสตร์ของการเมืองในแบบประวัติศาสตร์การเมืองศึกษาผ่านรัฐธรรมนูญทีละฉบับ ซึ่งมักจะลงเอยด้วยลักษณะของการศึกษาแนววงจรอุบาทว์ ว่าจะมีการหมุนวนจากการมีรัฐธรรมนูญ ความขัดแย้ง และการฉีกรัฐธรรมนูญแต่ละรอบเมื่อไหร่ มาสู่การตั้งคำถามสำคัญถึงการคลี่คลายตัวของแนวคิดสำคัญที่ซ่อนอยู่ในรัฐธรรมนูญว่ามีชีวิตอย่างไร และเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร


สี่ เขามองเห็นว่า รัฐธรรมนูญนั้นจะต้องทำหน้าที่ "ลดต้นทุน" ในการทำให้ประชาชนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมือง และขยายสิทธิเสรีภาพภายใต้ระบอบประชาธิปไตยได้อย่างไร หรือจะพูดอีกอย่างก็คือ การเมืองนั้นก็ถือเป็นเสมือนตลาดแห่งการแลกเปลี่ยนความคิดแบบหนึ่ง และเอาเข้าจริงการเขียนรัฐธรรมนูญในแบบละเอียดยิบมากๆ เนี่ย อาจจะสะท้อนให้เห็นถึงความเก่งของผู้เขียน แต่อาจจะไม่ได้ทำให้สังคมนั้นสามารถมีวิวัฒนาการในการจัดการความขัดแย้งและอยู่ด้วยกันได้อย่างเสรี หากจะทำความเข้าใจถึงรากฐานของการเมืองแบบเสรีนิยมหรือประชาธิปไตยแบบเสรีนิยม มิหนำซ้ำ ยิ่งมีกฎระเบียบทางการเมืองมากจนเกินไปนั้น การเมืองก็อาจจะไม่ได้วิวัฒนาการไปในลักษณะที่ผู้ร่างต้องการ แต่อาจจะเกิดลักษณะของการติดขัด หรือการแปรสภาพไปเป็นภาระและต้นทุนที่ทำให้ระบบการเมืองนั้นๆ ต้องจ่ายอะไรมากมาย

แนวคิดเช่นนี้มองเห็นว่า การร่างรัฐธรรมนูญนั้นมีอคติบางอย่างแฝงฝังอยู่ (ไม่ได้ใช้คำหรูหราว่าอุดมการณ์) และอาจจะก่อให้เกิดปัญหาที่ทำให้คนเข้าไม่ถึงความมุ่งหวังของรัฐธรรมนูญจริงๆ แม้ว่าจะตั้งใจดี (ต่างจากการคิดว่ารัฐธรรมนูญเป็นเครื่องมือของผู้มีอำนาจ หรือเป็นกฎหมายสูงสุดที่เป็นกฎกติกาที่ไม่มีใครได้ประโยชน์ใดๆ) และอาจจะขัดกันเองระหว่างความมุ่งหวังที่ดี แต่มีกฎระเบียบที่ทำให้เกิดแรงจูงใจไปในทางอื่น ซึ่งหลักคิดสำคัญนั้นมาจากสำนักคิดทางเศรษฐศาสตร์การเมืองแนวสถาบัน ที่พยายามเข้าใจว่าอะไรที่มันทำงานกันมาอย่างยาวนานนั้น บางทีก็มีผลต่อการก่อร่างสร้างแบบแผนบางประการที่ทำให้การแลกเปลี่ยนในแบบเสรีและเป็นธรรมที่เรามุ่งหวังไว้มันไม่เกิดขึ้นจริงๆ

ตัวอย่างสำคัญของแนวคิดนี้มาจากงานวิจัยของศาสตราจารย์รังสรรร ธนะพรพันธุ์ ที่ชี้ให้เห็นถึงปมปัญหาหรือกับดักทางความคิดมากมายที่อยู่ในรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน 2540 อาทิ ความมุ่งหวังที่จะให้เกิดการคานอำนาจกับสถาบันรัฐสภาด้วยการลงชื่อของประชาชนนั้นอาจจะเกิดได้ยาก ด้วยปัญหาของการมีต้นทุนในการรวมตัวกันของคนที่ไม่ได้สังกัดพรรคการเมือง ที่พวกเขานั้นไม่มีงบประมาณหรือทรัพยากร ต่างจากพรรคการเมืองที่อาจได้รับเงินสนับสนุน เป็นต้น

พูดง่ายๆ ว่าการที่คนจะทำตามกฎหรือไม่ทำตามกฎต่างๆ นั้น สามารถอธิบายพฤติกรรมเหล่านั้นได้ด้วยหลักทางเศรษฐศาสตร์ หรือพฤติกรรมที่มีแรงจูงใจทางเศรษฐกิจ ไม่ใช่คิดเอาเองว่ามีกฎระเบียบมากๆ ผู้คนจะกลัวเกรง หรือจะเป็นไปตามนั้น


ห้า พวกเขาอาจจะมองถึง "รัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรม" ที่ศาสตราจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์เคยกล่าวถึงเอาไว้ว่า รัฐธรรมนูญของไทยฉบับที่เป็นทางการนั้นถูกฉีกทิ้งบ่อยมาก แต่ฉบับที่ไม่เป็นทางการนั้นอาจจะมีบางเรื่องที่คงอยู่ยาวนาน ราวกับเป็นวิถีชีวิตจริงๆ จังๆ ของสังคมการเมืองนั้น ซึ่งหน้าที่ของนักวิเคราะห์ทางการเมืองนั้นก็คือ จะต้องพยายามค้นหาให้เจอว่าแต่ละสังคมนั้นมีรัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมอย่างไร นั่นคือมีสถาบันทางการเมืองไหนที่คงอยู่ยาวนาน จะเขียนหรือไม่เขียนก็มีอิทธิพล หรือต่อให้เขียนไว้หลวมๆ ก็อาจจะเอาจริงเอาจังหรือชักพาไปสู่จุดนั้นได้เสมอ อาทิ การไม่มีการระบุถึงบทบาทของกองทัพในการทำรัฐประหารในฐานะการหาทางออกให้กับความขัดแย้งทางการเมือง แต่เอาเข้าจริงการทำรัฐประหารและการนิรโทษกรรมนั้นกลายเป็นส่วนหนึ่งของบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญไปแล้ว



หวังว่ามุมมองทางการเมืองเรื่องรัฐธรรมนูญที่หยิบยืมมาจากทั้งนักรัฐศาสตร์ นักปรัชญาการเมือง นักประวัติศาสตร์ และนักเศรษฐศาสตร์ จะทำให้เรามีเครื่องมือในการทำความเข้าใจกับรัฐธรรมนูญฉบับแม่น้ำห้าสายนี้ได้มากขึ้นนะครับ และไม่หลงประเด็นไปว่าตกลงรัฐธรรมนูญนี้จะเป็นฉบับชั่วคราวหรือถาวร แต่เราต้องมุ่งเน้นไปที่ลักษณะอุดมการณ์เบื้องหลัง สภาพความเป็นจริงทางการเมือง และการหายไปหรือการแปรเปลี่ยนของชุดแนวคิดในเรื่องต่างๆ ที่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญและการนำไปปฏิบัติจริง รวมไปถึงการตั้งคำถามว่า รัฐธรรมนูญนี้จะสามารถทำให้คนมีส่วนร่วมได้อย่างแท้จริงไหม หรือมีต้นทุนที่เรามองไม่เห็นและทำให้ความเป็นไปได้ในการเข้าถึงอำนาจและกระจายอำนาจออกสู่ประชาชนนั้นเป็นไปไม่ได้ รวมทั้งประเด็นท้าทายว่ารัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมของเราในวันนี้ต่างไปจากเดิมมากน้อยแค่ไหน

เรื่องแบบนี้สำคัญไม่น้อยไปกว่าการรับฟังเฉยๆ ว่าบ้านเมืองเรามีหลักนิติธรรมแล้ว เพราะมีรัฐธรรมนูญแล้ว หรือรัฐธรรมนูญนี้ทำตามสัญญาว่า จะไม่ทำให้การรัฐประหารนั้นเสียเปล่า ครับผม



.................................................................................
ร่วมเป็นแฟนเพจเฟซบุ๊กกับมติชนออนไลน์
www.facebook.com/MatichonOnline


.

2557-07-24

รธน.57 เน้นคนดี บี้การเมือง เริ่มนิรโทษ จบนิรโทษ

.
เพิ่มบทความ - การทหาร การเมือง ศึกษา สงคราม ′ป้อมค่าย′ ม้าไม้ ′เมืองทรอย′
.............................................................................................................................................................

ข้อสังเกต รัฐธรรมนูญ เน้นคนดี บี้การเมือง เริ่มนิรโทษ จบนิรโทษ
ใน www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1406186754
. . วันพฤหัสบดีที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2557 เวลา 14:31:00 น.
( ที่มา: นสพ.มติชนรายวัน 24 ก.ค.2557 )


รัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ.2557 ได้รับการพระราชทานลงมาเมื่อเย็นวันที่ 22 กรกฎาคม

เนื้อหาของทั้ง 48 มาตรา ไม่อยู่นอกเหนือความคาดหมายของผู้ติดตามความเคลื่อนไหวทางการเมือง

กระนั้นก็มีข้อสังเกตบางประการที่น่าสนใจ
เช่น แม้รัฐธรรมนูญฉบับล่าสุดพยายามจะอยู่บนมาตรฐาน "สากล" ด้วยการรับรองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพและความเสมอภาคของปวงชนชาวไทย ตามมาตรา 4

คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ก็ยังแสดงความปรารถนาดี ด้วยการกำหนดหลักเกณฑ์ และมาตรฐาน "ความดี" เอาไว้ในที่ต่างๆด้วยกัน
อาทิ
มาตรา 11 สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติย่อมเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย ต้องอุทิศตนให้แก่การปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของปวงชนชาวไทย

มาตรา 26 ผู้พิพากษาและตุลาการมีอิสระในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์ให้เป็นไปโดยยุติธรรมตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย

ข้อสังเกตต่อมา คือการกวาดนักการเมือง-โดยเฉพาะนักการเมืองที่ถูกระบุว่าทุจริต ออกไปจากเวทีการเมือง (ชั่วคราว) ด้วยบทบัญญัติต่างๆ อาทิ

มาตรา 8 สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติต้องไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังต่อไปนี้

(1) ดํารงตําแหน่งหรือเคยดํารงตําแหน่งใดในพรรคการเมืองภายในระยะเวลาสามปีก่อนวันที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ

(4) เคยถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง

(6) เคยต้องคําพิพากษาให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินเพราะร่ำรวยผิดปกติหรือมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติ

(7) อยู่ระหว่างต้องห้ามมิให้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง หรือเคยถูกถอดถอนจากตําแหน่ง

(8) เคยต้องคําพิพากษาถึงที่สุดว่ากระทําความผิดต่อตําแหน่งหน้าที่ราชการ หรือความผิดต่อตําแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม หรือกระทําผิดกฎหมายเกี่ยวกับยาเสพติด หรือกฎหมายเกี่ยวกับการพนันในฐานความผิดเป็นเจ้ามือหรือเจ้าสํานัก

ขณะที่ มาตรา 20 ระบุว่านายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม เช่น

(4) ไม่เป็นหรือเคยเป็นสมาชิกพรรคการเมืองภายในระยะเวลาสามปีก่อนวันที่ได้รับการแต่งตั้งและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 8

และ มาตรา 29 ระบุว่า สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 8 (2) (3) (4)(5) (6) (7) (8) และ (9)

และให้นําความในมาตรา 9 มาใช้บังคับแก่การสิ้นสุดสมาชิกภาพของสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติโดยอนุโลม

และมาถึงข้อที่ตรงกับความคาดหมายของคนทั่วไป คือการให้อำนาจกับหัวหน้า คสช."คู่ขนาน" ไปกับนายกรัฐมนตรีและรัฐบาล

ตาม มาตรา 44 ...เพื่อป้องกัน ระงับ หรือปราบปรามการกระทําอันเป็นการบ่อนทําลายความสงบเรียบร้อยหรือความมั่นคงของชาติราชบัลลังก์ เศรษฐกิจของประเทศ หรือราชการแผ่นดิน ไม่ว่าจะเกิดขึ้นภายในหรือภายนอกราชอาณาจักรให้หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติโดยความเห็นชอบของคณะรักษาความสงบแห่งชาติมีอํานาจสั่งการระงับยับยั้ง หรือกระทําการใดๆ ได้ ไม่ว่าการกระทํานั้นจะมีผลบังคับในทางนิติบัญญัติ ในทางบริหารหรือในทางตุลาการ และให้ถือว่าคําสั่งหรือการกระทํา รวมทั้งการปฏิบัติตามคําสั่งดังกล่าว เป็นคําสั่งหรือการกระทํา หรือการปฏิบัติที่ชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญนี้และเป็นที่สุด


ข้อสังเกตสุดท้ายก็คือการนิรโทษกรรม

ตาม มาตรา 48 ไม่ว่าจะเป็นหัวหน้า คสช. ผู้ได้รับคำสั่งโดยตรง ผู้ได้รับคำสั่งทางอ้อมอีกชั้นหนึ่ง ในการกระทำที่เกี่ยวเนื่องกับการยึดอำนาจการปกครองเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557

"และไม่ว่ากระทําในวันที่กล่าวนั้นหรือก่อนหรือหลังวันที่กล่าวนั้น หากการกระทํานั้นผิดต่อกฎหมาย

"ให้ผู้กระทําพ้นจากความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิง"

วิกฤตการเมืองระลอกล่าสุด ที่เกิดขึ้นเพราะกฎหมายนิรโทษกรรม ก็รูดม่านอีกฉากหนึ่งลงด้วยรัฐธรรมนูญที่มีบทบัญญัติของการนิรโทษกรรม


ส่วนจะเปิดองก์ใหม่ในสถานการณ์ใด

ผู้ชมซึ่งเป็นผู้เล่นไปด้วยในตัวต้องกำหนดกันเอง



++

การทหาร การเมือง ศึกษา สงคราม ′ป้อมค่าย′ ม้าไม้ ′เมืองทรอย′
ใน www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1405495072
. . วันพุธที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2557 เวลา 14:35:02 น.
( ที่มา: นสพ.มติชนรายวัน 16 ก.ค.57 )


ก่อนการ "ร่าง" ธรรมนูญการปกครอง ก่อนกำหนด "สมาชิก" สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) อันจะนำไปสู่การเสนอชื่อ "นายกรัฐมนตรี"

มีการศึกษา "บทเรียน" ทางการเมืองจาก "อดีต"

ไม่เพียงแต่อดีตจากการรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 หากแต่ยังย้อนไปยังอดีตจากการรัฐประหารเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2534 และยังย้อนไปไกลถึงอดีตจากการรัฐประหารเมื่อเดือนตุลาคม 2519
ไม่ว่านายกรัฐมนตรีที่ชื่อ นายธานินทร์ กรัยวิเชียร
ไม่ว่านายกรัฐมนตรีที่ชื่อ นายอานันท์ ปันยารชุน
ไม่ว่านายกรัฐมนตรีที่ชื่อ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์

เหตุนี้เองการตระเตรียมของ "คสช." จึงไม่รวดเร็วปานกามนิตหนุ่ม เพียง 1 เดือนก็ได้นายกรัฐมนตรี
ตรงกันข้าม ทอดเวลาร่วม 3 เดือน

กระนั้น กรณี "ศึกษา 1" อันอาจจะถูกมองข้ามไปโดยปริยาย ถูกมองข้ามไปโดยประมาท ถูกมองข้ามไปโดยเจตนาก็คือ หลักการทางการทหารอันเก่าแก่อย่างยิ่งที่ว่า

"ป้อมค่าย" ถูกตีแตกจาก "ภายใน"


บทสรุปนี้มาจากบทเรียนในกรณีศึกเมืองทรอย ดำเนินการอย่างยืดเยื้อโดย "ยูลิซิส" เขาสามารถเผด็จศึกได้อย่างเบ็ดเสร็จ
เมื่อมีการนำ "ม้าไม้" ไป "จัดวาง"
และเมืองทรอยชะล่าใจคิดว่าเสมอเป็นเพียงม้าไม้ จึงได้ลากดึงเข้าไปไว้ในกรุงทรอย ต่อจากนั้นก็เรียบโร้ยย
เพราะภายในม้าไม้นั้นซ่อนไว้ด้วยทหารแกร่งกล้า

ท่ามกลางความประมาท ท่ามกลางความชะล่าใจ ทหารซึ่งแฝงตัวอยู่ภายในม้าไม้ก็ออกมาและปฏิบัติการโจมตี
จัดการยึดกรุงทรอย
ที่ยึดได้เพราะการยุทธ์นี้ดำเนินไปในลักษณะของการประสาน 1 เริ่มโจมตีจากภายใน ขณะเดียวกัน 1 รุกเข้ามาจากภายนอก

กรุงทรอยจึงต้องรับศึก 2 ด้าน


จากจุดนี้เองจึงนำไปสู่บทสรุปการรบอย่างต่อเนื่องจากโบราณ แม้กระทั่งกลยุทธ์ของเหมาเจ๋อตุง กลยุทธ์ของโวเหวียนเกี๊ยบ นั่นก็คือ ทำอย่างไรจึงจะสามารถเร้นแฝงเข้าไปในใจกลางของฝ่ายตรงกันข้ามแล้วแตกเสียงปืน

"ป้อมค่าย" ตีแตกจาก "ภายใน"



ถามว่าภายในรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ มีอะไรอันกลายเป็น "จุดอ่อน" บ่อนเซาะให้ขาดประสิทธิภาพ ไม่มีประสิทธิผล
คำตอบเห็นได้จากกรณี "เขายายเที่ยง" 

อย่าได้สงสัยว่ากรณีเขายายเที่ยงเริ่มจากพรรคไทยรักไทย หรือเริ่มจากฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร
แท้จริงแล้ว เริ่มจาก "ลูกป๋า" ด้วยกัน
เป็น "ลูกป๋า" คนหนึ่งซึ่งมาดหมายที่จะได้ตำแหน่งบริหาร แต่เมื่อไม่ได้ก็ปล่อย "คนสนิท" ให้ดำเนินการเปิดโปง โจมตี

เสียงปืนของรัฐบาล นายอานันท์ ปันยารชุน ก็มาจาก "ภายใน"
รอยร้าวอันเนื่องแต่สัมปทานโทรศัพท์ 3 ล้านเลขหมายเริ่มขึ้นในกระทรวงคมนาคม และบานปลายถึงกับก่อกระแสจะปลด "นายกรัฐมนตรี"

ยิ่งเสียงปืนของรัฐบาล นายธานินทร์ กรัยวิเชียร ยิ่งมากด้วยความหวาดเสียว 
เป็นความหวาดเสียวที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยดำเนินกลยุทธ์แบบ "สายล่อฟ้า"


ในที่สุด บรรดา "เปลือก" ทั้งหลายตั้งแต่ระดับ "ยังเติร์ก" กระทั่ง "โอลด์เติร์ก" มิอาจทนต่อไปในบทคุ้มครองจึงต้องลอยแพ "หอย"

"ป้อมค่าย" ตีแตกจาก "ภายใน"



หากสัมผัส "ปฏิกิริยา" ต่อกระบวนการแต่งตั้ง "สนช." กระบวนการแต่งตั้ง "สภาปฏิรูป"

ทาง 1 เริ่มมีเสียงทวงบุญทวงคุณดังขึ้นจากปัญญาชน นักวิชาการ บางคนวางเป้าหมายถึงระดับ "รัฐมนตรี" ด้วยซ้ำไป ขณะเดียวกัน 1 หากคนเหล่านี้ไม่ได้รับบำเหน็จ รางวัลจะเป็นเช่นใด

"ป้อมค่าย" ตีแตกจาก "ภายใน"



.......................................................................
ร่วมเป็นแฟนเพจเฟซบุ๊กกับมติชนออนไลน์
www.facebook.com/MatichonOnline 


.

2557-07-10

ความหวาดระแวง โดย วีรพงษ์ รามางกูร

.

วีรพงษ์ รามางกูร : ความหวาดระแวง
ใน www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1404985194
. . วันพฤหัสบดีที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2557 เวลา 21:20:02 น.
( ที่มา: นสพ.มติชนรายวัน 10 ก.ค.57 )


ต่อจากความหวาดกลัวก็คือความหวาดระแวง ความหวาดระแวงว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลง หวาดระแวงว่าจะเกิดความสูญเสีย หวาดระแวงว่าจะถูกทำร้าย หวาดระแวงว่าจะถูกแย่งชิง ย่อมเป็นสภาพที่ทำให้เกิดความตึงเครียด หมดความสุข และเป็นบ่อเกิดของพฤติกรรมที่เบี่ยงเบนอย่างไม่มีเหตุผล

ครอบครัวที่มีความหวาดระแวงกันเป็นที่ทำให้เกิดความตึงเครียด เป็นต้นว่าสามีภรรยามีความหวาดระแวงกัน ไม่แน่ใจว่าอีกฝ่ายหนึ่งจะซื่อสัตย์ต่อตนเองหรือไม่ ครอบครัวนั้นก็จะมีความตึงเครียด โอกาสที่จะมีการทะเลาะเบาะแว้งกันก็จะมีสูง

อาจารย์กับลูกศิษย์บางทีก็เกิดความหวาดระแวงกันก็มี เช่น อาจารย์ของอหิงสกะ เกิดความระแวงเพราะเหตุลูกศิษย์เกิดในฤกษ์ดาวโจร จึงหลอกให้ลูกศิษย์ไปฆ่าคนให้ครบพันคน แล้วจะสอนวิชาการอันวิเศษสูงสุดให้ เพราะคิดว่าถ้าอหิงสกะกลายเป็นโจรออกไปฆ่าคนได้สักพักก็คงจะถูกฆ่าตาย อหิงสกะจึงกลายเป็นองคุลิมาลไป เป็นพฤติกรรมที่เบี่ยงเบนไปของผู้ที่เป็นอาจารย์ ซึ่งควรจะสอนให้ลูกศิษย์เป็นคนดีมีศีลธรรม แต่กลับทำในสิ่งตรงกันข้าม


การเมืองของโลกยุคหนึ่งก็เชื่อกันว่า ถ้าหากประเทศ 2 ประเทศมีอำนาจใกล้เคียงกันก็จะเกิด "ดุลแห่งอำนาจ" หรือ Balance of power ทั้งสองฝ่ายก็จะไม่กล้าทำสงครามกัน เพราะแต่ละฝ่ายไม่แน่ใจว่าตนจะเป็นฝ่ายแพ้หรือไม่ แต่ในที่สุดสงครามโลกก็เกิดขึ้น ทฤษฎีนี้ก็ไม่เป็นความจริง

ต่อมาเกิดความคิดว่า "ดุลแห่งความกลัว" ต่างหากที่ทำให้แต่ละฝ่ายไม่กล้าก่อสงคราม เพราะถ้าเกิดสงครามขึ้น ไม่ว่าฝ่ายใดที่เป็นฝ่ายแพ้หรือฝ่ายชนะย่อมจะได้รับความเสียหายล้มตายเป็นจำนวนมาก เสียหายด้วยกันทั้งสองฝ่าย ด้วยเหตุนี้ระหว่างสงครามเย็นหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ทั้งค่ายโลกเสรีและค่ายคอมมิวนิสต์จึงแข่งขันกันสร้างอาวุธบรรลัยกัลป์ เพื่อข่มขู่ให้แต่ละฝ่ายเกิดความเกรงกลัว และเมื่อทั้งสองฝ่ายเกิดความกลัว "ดุลแห่งความกลัว" ก็เกิดขึ้น โลกมนุษย์จึงรอดพ้นจากสงครามโลกมาได้จนบัดนี้ แต่ถ้าดุลแห่งความกลัวนี้เสียไป ฝ่ายหนึ่งไม่กลัวอีกฝ่ายหนึ่ง สงครามโลกก็อาจจะเกิดขึ้นได้ ถ้าจะว่าไปแล้ว "ดุลแห่งความกลัว" ก็คือ "ดุลแห่งความระแวง" นั่นเอง

ความระแวงจึงเป็นเรื่องสำคัญที่มีผลต่อการตัดสินใจที่เกี่ยวกับพฤติกรรมทางการเมืองและเหตุการณ์ทางการเมืองทั้งในระดับโลกและระดับประเทศ
ความที่การเมืองคือ "พฤติกรรมของการได้มาซึ่งอำนาจในการปกครอง เพื่อการจัดสรรทรัพยากรของสังคม และพฤติกรรมในการรักษาอำนาจที่ได้มานั้นให้มั่นคงยืนนานต่อไปเท่าที่จะทำได้" ดังนั้นการต่อสู้เพื่อการแย่งชิงอำนาจ และการต่อสู้เพื่อรักษาไว้ซึ่งอำนาจที่ตนมีอยู่ ย่อมเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา เป็นพฤติกรรมและสถานการณ์ปกติของการเมือง ไม่ว่าจะเป็นการเมืองภายในท้องถิ่น การเมืองระดับชาติ หรือการเมืองระหว่างประเทศ ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

ความระแวงสงสัยระหว่างกลุ่มที่ต่อสู้กันเพื่อแย่งชิงอำนาจ และกลุ่มที่ปกป้องรักษาอำนาจรักษาสถานะที่ตนมีอยู่จึงเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา

เมื่อมองไปในระยะยาวความระแวงต่อสถานการณ์ที่เป็นอยู่อาจจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ตนไม่ต้องการซึ่งอาจจะกระทบกระเทือนสถานะที่เป็นอยู่ของฝ่ายตนที่มีความได้เปรียบอยู่แล้วในสังคม ความระแวงเกิดขึ้นได้เสมอสำหรับสังคมที่ระดับการพัฒนาทางการเมืองยังไปไม่ถึงระดับที่การเปลี่ยนถ่ายอำนาจจะสามารถเกิดขึ้นได้ด้วยสันติวิธีและอาจจะเกิดขึ้นในทิศทางที่ตนไม่ปรารถนาความวิตกกังวลดังกล่าวทำให้เกิดความหวาดระแวง

เมื่อความหวาดระแวงกับการเปลี่ยนแปลงระยะยาวเกิดขึ้นก็ทำให้เกิดจินตนาการไปต่างๆนานาไปในทางที่ทำให้เกิดความวิตกกังวล ปฏิกิริยาตอบโต้จึงเกิดขึ้น โดยการสร้างกระแสจากการให้ข้อมูลที่ไม่จริง หรือบางครั้งก็เป็นข้อมูลเท็จ ความรู้สึกว่าสังคมต้องการ "วิศวกรการเมือง" หรือ "สถาปนิกการเมือง" ก็เกิดขึ้นจากความวิตกดังกล่าว

ในบรรดาประเทศที่ระบอบการเมืองยังไม่ลงตัว ยังไม่นิ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศในกลุ่มทวีปแอฟริกาและประเทศในแถบเอเชีย ที่กำลังดิ้นรนจากระบอบการปกครองที่สามารถดำรงอยู่ได้อย่างยั่งยืน ความที่ระบอบการปกครองระบอบประชาธิปไตยยังไม่หยั่งรากลึก ประชาชนยังไม่สามารถควบคุมรัฐบาลที่ตนเองเลือกเข้ามาบริหารประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในสถานการณ์อย่างนี้ ย่อมจะก่อให้เกิดความระแวงสงสัยในความซื่อสัตย์สุจริต การเล่นพรรคเล่นพวก ความไม่มีมาตรฐานในการบริหารประเทศย่อมเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา

ความวิตกกังวลและความระแวงสงสัยในความรู้สึกนึกคิดของประชาชนซึ่งมีเป็นทุนเดิมอยู่แล้วย่อมจะง่ายต่อการปลุกกระแสต่อต้านสร้างความเกลียดชังได้ง่าย ต่างก็เกิดขึ้นและเป็นอยู่เสมอโดยทั่วไปในหลายๆ ประเทศ



ในสังคมที่การเมืองยังไม่พัฒนา ประชาชนโดยทั่วไปย่อมมีความหวาดระแวง ว่าตนจะเป็นที่เพ่งเล็งของสังคมหรือไม่ การคิด การแสดงออก การกระทำ จะเป็นการกระทำที่กระแสสังคมถือว่าเป็นปฏิปักษ์กับความคิดของคนทั่วไปหรือไม่ จะเป็นภัยอันตรายกับตนเองหรือไม่ ถ้าหากตนมีความเห็น มีการกระทำหรือการแสดงออกที่แตกต่างออกไป สังคมที่สมาชิกในสังคมมีความรู้สึกอย่างนี้ ย่อมเป็นสังคมที่มองดูผิวเผินอาจจะรู้สึกว่ามีความสงบเงียบ แต่ภายใต้ความสงบเงียบนั้น ความระแวงซึ่งกันและกันก็คงยังดำรงอยู่ การที่ยังมีความระแวงสงสัยกัน ยังไม่ไว้วางใจ ก็เป็นเครื่องสะท้อนถึงความเป็นจริงของสถานการณ์อยู่นั่นเอง

ปฏิกิริยาตอบโต้ต่อความระแวงสงสัยกัน อาจจะเป็นปฏิกิริยาที่ตรงไปตรงมาอย่างง่ายๆ หรือเป็นปฏิกิริยาที่สลับซับซ้อนไม่ตรงไปตรงมาก็ได้ เพราะหากจะทำแบบตรงไปตรงมาก็อาจจะขัดต่อขนบธรรมเนียมประเพณี หรือแม้กระทั่งตัวบทกฎหมายที่ไม่อาจจะยอมรับได้ จึงต้องใช้วิธีทางอ้อมที่สลับซับซ้อนที่ไม่ต้องอธิบาย หรือไม่ก็อธิบายไปในทางอื่น เป็นประเด็นอื่นหรือกลุ่มบุคคลอื่น ที่อาจจะไม่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์หรือสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเลยก็ได้ ความสลับซับซ้อนของเหตุการณ์ต่างๆ ทำให้การเปลี่ยนประเด็นและเปลี่ยนเป้าหมายทำได้ง่ายขึ้นในสังคมที่มีความคลุมเครือ ไม่โปร่งใส และไม่อาจจะตรวจสอบได้

แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อนำเอามิติของเวลามาพิจารณาด้วยเมื่อเวลาผ่านไป บางครั้งก็ใช้เวลาไม่นาน บางครั้งก็ต้องใช้เวลานาน ข้อมูลข่าวสารมีเพิ่มมากขึ้น ก็อาจจะปรากฏอยู่เสมอว่า ความระแวงสงสัยนั้นตั้งอยู่บนสมมุติฐานที่ไม่มีความเป็นจริง หรือตั้งอยู่บนสมมุติฐานที่เป็น "จินตนาการ" ที่สังคมสร้างกันขึ้นมาเอง หรือสร้างขึ้นมาเพื่อเป็นเครื่องมือ เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ทางการเมืองบางอย่าง ที่เป็นเรื่องที่สร้างขึ้นจากจินตนาการทั้งนั้น


ตัวอย่างที่เห็นอยู่เสมอ เช่น ในเรื่อง "พลังงาน" ที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้ คนจำนวนมากมีความ "ระแวง" ว่าประเทศไทยนั้นอุดมไปด้วยแหล่งพลังงาน เช่น น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน แต่รัฐบาลทุกยุคทุกสมัยปิดบังข้อมูลอันแท้จริง ปตท.มิได้เป็นของรัฐ เหตุเพราะ ปตท.เป็นบริษัทมหาชนที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ถ้าโอนมาเป็นของรัฐเสียทั้งหมด ประชาชนก็จะสามารถใช้พลังงานในราคาที่ถูกลงกว่านี้เป็นอันมาก

ข้อมูลเหล่านี้คนจำนวนมากพร้อมที่จะเชื่อเพราะเป็นสิ่งที่ตนจะได้ประโยชน์โดยตรงอย่างง่ายๆ ไม่ได้ใช้เหตุผลสามัญสำนึกไตร่ตรอง แต่ใช้ความรู้สึกเป็นเครื่องตัดสินเพราะตรงกับความรู้สึก หรือตรงกับใจที่ตนมีอยู่แล้วเป็นทุนเดิม

ความรู้สึกและวิธีคิดอย่างนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วในหลายประเทศเช่นเยอรมนี ก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง หรือในสาธารณรัฐประชาชนจีนในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรมระหว่างปี 1965-1975 ซึ่งเหตุการณ์ที่ความรู้สึกเช่นนี้ถูกปลุกขึ้นมาได้สำเร็จ เพราะการใช้ความเกลียดชัง "ยิว" และความเกลียดชัง "ทุนนิยม" กลายเป็นกระแสความคิดหลักของสังคม และนำไปสู่ความหายนะอย่างใหญ่หลวง


ความระแวงอันเกิดขึ้นจากการปลุกปั่น จากการสร้างความเกลียดชัง จึงเป็นสิ่งที่ต้องระมัดระวังเป็นอย่างยิ่ง และเกิดขึ้นง่ายในช่วงที่มีช่องว่างในการปกครองที่ตรวจสอบไม่ได้

สังคมที่เต็มไปด้วยความหวาดระแวงเป็นสังคมที่ไม่มีความสุข



.

2557-07-09

พิชญ์: นักรัฐศาสตร์ในโลกตอนนี้เขาคุยอะไรกัน?

.

พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ : นักรัฐศาสตร์ในโลกตอนนี้เขาคุยอะไรกัน?
ใน www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1404832716
. . วันพุธที่ 09 กรกฎาคม พ.ศ. 2557 เวลา 09:31:08 น.
( ที่มา:  นสพ.มติชนรายวัน 8 ก.ค.57 )


เพิ่งได้รับจดหมายข่าว Comparative Democratization ฉบับล่าสุด คือ ปีที่ 12 ฉบับที่ 2 เมื่อสัปดาห์ก่อน ก็เลยอยากจะนำมาเล่าสู่กันฟังสักหน่อยว่า ตอนนี้วงการรัฐศาสตร์ระดับโลกเขาคุยอะไรกัน เพราะแต่ละวงการวิชาการเขาก็จะมีชุมชนของเขาที่จะพยายามตอบคำถามบางอย่างด้วย การเป็นนักวิชาการก็จะต้องรู้ "กระแส" เหล่านี้บ้าง แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะต้องตามกระแสไปทั้งหมด เพราะเรื่องที่เราสนใจอาจจะไม่ใช่เรื่องที่ใครหลายคนสนใจก็ได้ และก็ไม่แน่ว่าเรื่องที่เราสนใจแล้วคนอื่นไม่ค่อยจะสนใจนั้น อาจจะกลายเป็นเรื่องที่คนอื่นสนใจในอนาคตก็ได้

เรื่องแรก ที่ต้องเข้าใจก่อนนะครับ ว่าเมื่อพูดถึงวงการรัฐศาสตร์ในระดับโลกแล้ว ก็หนีไม่พ้นที่จะต้องอยู่ภายใต้อิทธิพลของสหรัฐอเมริกา อย่างน้อยก็เพราะเป็นประเทศใหญ่ เป็นประเทศมหาอำนาจ ที่มีการเรียนการสอนรัฐศาสตร์มากมาย รวมทั้งเป็นหนึ่งในตัวแบบสำคัญของการเมืองการปกครองที่เรียกว่าระบอบประธานาธิบดี รวมทั้งให้กำเนิดลักษณะการศึกษารัฐศาสตร์ในแบบที่อิงกับการค้นคว้าวิจัยด้วยเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์อยู่มาก เมื่อเทียบกับประเทศอื่น

และในสาขาที่สำคัญของรัฐศาสตร์ก็คือสาขาที่ชื่อว่า "การเมืองเปรียบเทียบ" (comparative politics) ซึ่งให้ความสนใจกับการเปรียบเทียบพัฒนาการและโครงสร้างทางการเมืองทั้งโลก ไม่ใช่ของอเมริกาเองเท่านั้น
และที่จะพูดถึงเรื่องนี้ก็เพราะจุลสาร Comparative Democratization ซึ่งอาจจะแปลว่า ประชาธิปไตยภิวัฒน์ เปรียบเทียบ หรือการจรรโลงประชาธิปไตย หรือการเปรียบเทียบกระบวนการการทำให้เกิดประชาธิปไตย นี่ก็เป็นหนึ่งในสิ่งพิมพ์ของ The American Political Science Association หรือสมาคมรัฐศาสตร์อเมริกัน ซึ่งเป็นสมาคมที่เป็นเสาหลักของวงการรัฐศาสตร์โลก ที่มีการประชุมประจำปีเป็นหมุดหมายสำคัญของวงการรัฐศาสตร์ของโลกนั่นแหละครับ สมาคมนี้ก่อตั้งตั้งแต่ปี ค.ศ.1903 และมีสมาชิกมากกว่า 80 ประเทศครับ


เรื่องที่สอง คือ ในจดหมายข่าวฉบับล่าสุดนี้ เป็นการรวบรวมตีพิมพ์ข้อเสนอและข้อค้นพบทางวิชาการจากการสัมมนาที่ว่าด้วยเรื่อง democratic consolidation ซึ่งถือเป็นประเด็นที่สำคัญมากในการศึกษาการเมืองเปรียบเทียบในสมัยนี้ ซึ่งถ้าจะแปลกว้างๆ เป็นภาษาไทย ก็น่าจะแปลว่า การผนึกประสานประชาธิปไตยให้เป็นหนึ่งเดียว
ซึ่งในแง่นี้ก็เป็นหนึ่งในการตีความว่าเราจะมีความสามัคคีในสังคมประชาธิปไตยได้อย่างไร ในความหมายว่า เราจะทำอย่างไรให้ประชาธิปไตยนั้นเป็น "กฎกติกาเดียวที่ใช้ในบ้านเมืองของเรา" (the only game in town) โดยไม่หันไปหากฎกติกาอื่น

หรืออีกทางหนึ่ง ผมจะขออนุญาตเสนอและแปลว่า เราจะสร้าง "สามัคคีประชาธิปไตย" ให้เกิดขึ้นได้อย่างไร

อธิบายเพิ่มขึ้นอีกนิด หลายคนอาจจะ "ต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งประชาธิปไตย" จากระบอบที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ซึ่งในอดีตเราก็คงจะพบกับทฤษฎีแบบที่ว่าด้วยการปฏิวัติอยู่มาก แต่สิ่งที่วงการรัฐศาสตร์สมัยหลังเขาสนใจก็คือ ในหลายประเทศที่เพิ่งได้มาซึ่งประชาธิปไตยนั้น เขาจะรักษาประชาธิปไตยให้มันสถิตสถาพรได้อย่างไร ไม่ใช่มาแล้วก็พัง คือพังในลักษณะที่ใช้ไม่ได้ และ/หรือ นำไปสู่การพังทลายลงด้วยการใช้กฎกติกานอกประชาธิปไตยมาทำลายมันลงไป

เอาเป็นว่าในสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในหลายๆ ที่นั้น บางคนก็จะสนใจว่าคนที่ทำลายนั้นผิดหรือไม่ผิด แต่บางคนก็พยายามมองต่อไปว่าจะไม่ทำให้มันเกิดขึ้นอีกได้อย่างไร

และนอกจากปัจจัยที่เกิดขึ้นจากภายนอก เช่น ความเข้มแข็งของทหารเองที่มีอำนาจเหนือกว่าในทางกำลังแล้ว เราจะทำอย่างไรให้ประชาธิปไตยที่เราได้มานั้นมันแข็งแรง ยืนนาน กว่าสีทาบ้านที่ชอบโฆษณากันนั่นแหละครับ



ผมขออนุญาตกล่าวถึงบทความสี่ชิ้นในจดหมายข่าวประชาธิปไตยภิวัฒน์เปรียบเทียบฉบับนี้ (พฤษภาคม 2014) ซึ่งประกอบด้วยงานสี่ชิ้นคือ "คุณภาพของรัฐบาลและการสร้างสามัคคีประชาธิปไตย" "รากฐานทางรัฐธรรมนูญ/การจัดการอำนาจของการสร้างสามัคคีประชาธิปไตย" "ทำไมนักวิชาการด้านประชาธิปไตยจำเป็นต้องเรียนรู้มากขึ้นเรื่องการสร้างรัฐ" และ "ผนังทองแดงกำแพงเหล็กแห่งรัฐ และการทำให้ประชาธิปไตยนั้นลงหลักปักฐาน"

1. คุณภาพของรัฐบาลและการสร้างสามัคคีประชาธิปไตย (Quality of Government and Democratic Consolidation) เป็นงานของศาสตราจารย์ Bo Rothstein แห่งมหาวิทยาลัย Gothenburg ประเทศสวีเดน ซึ่งโบเป็นนักวิชาการที่มีชื่อเสียงเป็นอย่างมากในเรื่องของการศึกษาเรื่องของการสร้างสามัคคีประชาธิปไตย ซึ่งประเด็นที่โบนำมาวิเคราะห์ก็คือการเรียนรู้จากประวัติศาสตร์ของสงครามกลางเมืองสองเหตุการณ์ที่นำไปสู่การล่มสลายลงของระบอบประชาธิปไตยในยูโกสโลวาเกีย เมื่อ 1991 และสงครามกลางเมืองในสเปน เมื่อ 1936 ในฐานะที่ความขัดแย้งทางการเมือง (ซึ่งในสังคมประชาธิปไตยนั้นเป็นสิ่งที่มีเป็นธรรมชาติและเป็นปกติอยู่แล้ว) ได้ยกระดับขึ้นมาจนกลายเป็นสงครามกลางเมือง และทำให้เห็นว่า การพยายามสร้างกฎกติกาประชาธิปไตยให้เป็นทางออกของปัญหานั้นล้มเหลว

กล่าวโดยสรุปจากบทเรียนประวัติศาสตร์ของสงครามกลางเมืองทั้งสองกรณีนั้น โบเห็นว่าความชอบธรรมทางการเมืองที่ลดลงของรัฐบาลและระบอบการเมืองโดยรวม
รวมไปถึงความล้มเหลวในการสร้างสามัคคีประชาธิปไตยนั้นล้วนได้รับอิทธิพลมาจากปัจจัยทางด้าน "ปัจจัยนำออก" ของระบบการเมือง (output) มากกว่า "ปัจจัยด้านนำเข้า" ของระบบการเมือง


พูดแบบที่นักรัฐศาสตร์ทุกคนต้องร้องอ๋อ ก็คือ ถ้าเราตั้งหลักการเข้าใจรัฐศาสตร์ในแบบที่ David Easton อธิบายว่า ระบบการเมืองคือการทำงานของการจัดสรรสิ่งที่มีคุณค่าโดยใช้สิทธิอำนาจ (ขอโทษผู้อ่านทั่วไปสักหน่อย แต่บางครั้งก็ต้องชี้แจงบ้างว่ารัฐศาสตร์เขาร่ำเรียนกันจริงจังเหมือนกัน ไม่ใช่มั่วไปเรื่อย)
โดยระบบการเมืองนั้นอยู่ท่ามกลางสิ่งแวดล้อมและมีทั้งส่วนที่เป็นปัจจัยนำเข้า (ข้อเรียกร้องและการสนับสนุน) ส่วนของกระบวนการตัดสินใจ และปัจจัยนำออก (นโยบาย) ซึ่งจะมีผลทำให้เกิดการสะท้อน (feedback) กลับไปยังปัจจัยนำเข้าอีกทีเป็นรอบๆ ไป ก็จะพบว่า ประชาธิปไตยนั้นจะยั่งยืนและเป็นกฎกติกาที่ทุกคนใช้มันร่วมกันในบ้านในเมืองได้ และความชอบธรรมทางการเมืองจะมีอยู่ได้หรือไม่

สิ่งที่สำคัญที่สุดไม่ได้อยู่ที่เรื่องของสิทธิในทางการเมืองแบบประชาธิปไตย หรือการมีนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งที่จะมาเป็นตัวแทนของประชาชน แต่ต้องหมายถึงการทำให้เราสามารถตรวจสอบ ควบคุมการทำงานของระบอบการเมืองนั้นได้ เช่น การปราบปรามคอร์รัปชั่น ประสิทธิภาพของรัฐบาล และหลักนิติรัฐ


ทั้งหมดนี้จากงานวิจัยพบว่าประชาชนในหลายๆ ประเทศนั้นเห็นว่าสำคัญกว่าการอ้างสิทธิประชาธิปไตย (เช่น การเลือกตั้ง) หรือจะพูดอีกอย่างก็คือ การที่ประชาชนจะพอใจกับระบอบประชาธิปไตยนั้นไม่ใช่เพียงเพราะว่าเป็นระบอบที่มาจากการเลือกตั้ง แต่ต้องหมายถึงประชาชนสามารถตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล และการมีระบบราชการที่ไม่เข้าข้างนักการเมือง และมีประสิทธิภาพต่างหาก

ส่วนหนึ่งในคำอธิบายของโบก็คือว่า ทำไมประชาชนให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการประเทศมากกว่าเรื่องของการเลือกตั้งในฐานะเงื่อนไขสำคัญของความชอบธรรมของระบอบการเมือง และความยั่งยืนของประชาธิปไตย ก็เพราะว่า อาจจะมีคนจำนวนหนึ่งไม่ไปเลือกตั้ง หรือรู้สึกว่าพรรคที่ตนชอบ คนที่ตนชอบยังไงก็ไม่ได้รับเลือก ดังนั้น การไปเลือกตั้งในฐานะการส่งปัจจัยนำเข้าไปสู่ระบบการเมืองนั้นไม่ได้มีความหมายกับพวกเขาขนาดนั้น หรือแม้กระทั่งเด็กที่ไม่มีสิทธิเลือกตั้ง ก็ไม่ได้มีส่วนร่วมกับส่วนปัจจัยนำเข้า

แต่กระนั้นก็ตามไม่ว่าคุณจะไปเลือกตั้งหรือเปล่า นโยบายทุกอย่างก็จะส่งผลกระทบย้อนกลับมาหาทุกคนในระบบการเมืองอยู่ดี ทั้งการศึกษา การสาธารณสุข หรือความปลอดภัย ซึ่งทั้งหมดนี้ชี้ว่าการพิจารณาประชาธิปไตยจากปัจจัยนำออกก็เป็นเรื่องสำคัญที่เชื่อมโยงกับประชาชนอย่างเป็นรูปธรรม
ซึ่งนั่นก็คือที่มาของการพยายามสร้างตัวชี้วัดในเรื่องหลักธรรมาภิบาล (good governance)


อย่างไรก็ตาม การจะทำความเข้าใจงานของโบให้ลึกซึ้ง เราต้องเข้าใจว่าโบมุ่งมั่นที่จะทำให้ประชาธิปไตยนั้นทำงานได้ ซึ่งการตรวจสอบรัฐบาลอย่างเข้มข้น และการป้องกันการคอร์รัปชั่น และการสร้างตัวชี้วัดที่ดีในการทำงานของรัฐบาลนั้นจะเป็นสิ่งที่ประชาชนรู้สึกว่าระบบนี้เป็นธรรม แต่โบไม่ได้บอกว่าไม่ต้องมีเลือกตั้ง หรือถ้าจะมองกันอีกแบบก็คือ โบต้องการชี้ว่าแม้ในพื้นที่ที่ผู้สมัครนั้นไม่ได้เป็นรัฐบาล การให้บริการสาธารณะอย่างทั่วถึง และไม่มีการคอร์รัปชั่น หรือเล่นพวกนั้นต่างหากที่จะทำให้คนทั้งหมดนั้นรู้สึกว่าประชาธิปไตยมันมีคุณค่ากับทุกคน อาทิ คนกลุ่มน้อยที่ยังไงก็ไม่มีทางจะได้เป็นรัฐบาล แต่เขาก็ยังรู้สึกว่าเขาได้รับสิ่งต่างๆ จากรัฐบาล

ดังนั้นในแง่นี้ ผมคิดว่าจากเดิมที่รัฐศาสตร์อาจจะสนใจเฉพาะเรื่องปัจจัยนำเข้าก็คงจะต้องสนใจเรื่องปัจจัยนำออกอย่างจริงจัง แต่ไม่ใช่ว่าจะมองว่าแก้ด้านเดียวแล้วจะจบ หรือเราจะต้องมองคนที่เห็นต่างจากเราว่าเน้นกันคนละด้านของการสร้างสามัคคีประชาธิปไตยมากกว่า


2. รากฐานทางรัฐธรรมนูญ/การจัดการอำนาจของการสร้างสามัคคีประชาธิปไตย (The Constitutional Foundations of Democratic Consolidation) เป็นงานของศาสตราจารย์ Jose Antonio Cheibub จากมหาวิทยาลัยแห่งมลรัฐอิลลินอยส์ ซึ่งพยายามชี้ประเด็นที่สำคัญในข้อถกเถียงหนึ่ง ซึ่งแทบจะถือว่าเป็นทฤษฎีหลักของการพูดถึงการสร้างสามัคคีประชาธิปไตย ที่พยายามจะบอกว่าระบอบประธานาธิบดีนั้นเป็นระบอบที่นำไปสู่ความแตกแยกและล่มสลายของสังคมได้มากกว่าระบอบรัฐสภา (นายกรัฐมนตรี) ในกรณีประเทศประชาธิปไตยเกิดใหม่ ซึ่งถือว่า Juan Linz นั้น เป็นเจ้าพ่อทฤษฎีนี้ และก็มีอิทธิพลอยู่มากในการถกเถียงในเรื่องของการร่างรัฐธรรมนูญของบ้านเราเช่นกัน สำหรับนักรัฐศาสตร์หลายคนที่สมาทานความคิดนี้ ที่แปลงความคิดต่อมาว่า ฝ่ายบริหารไม่ควรมีอำนาจมากเกินไป และกินรวบได้

แนวคิดแบบ Linzian ชี้ว่าฝ่ายบริหาร โดยเฉพาะประธานาธิบดีที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงนั้น อาจจะมีความเข้มแข็งมาก แม้อาจจะเป็นตัวชี้วัดที่ดีในแง่ของความนิยมและความชอบธรรมที่ได้จากการเลือกตั้ง แต่หากการทำงานของฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติไม่สอดประสานกันแล้ว หรือสอดประสานกันมากเกินไปจนขาดการเจรจาต่อรองประนีประนอมกับอำนาจอื่น เพราะระบบฝ่ายบริหารเข้มแข็งและมาจากการเลือกตั้งทางตรงนั้น อาจจะทำให้ไม่มีแรงจูงใจในการแสวงหาความร่วมมือกับฝ่ายอื่นๆ เพราะขาดกลไกในการแก้ปัญหาความขัดแย้งภายใน อาทิ ระหว่างฝ่ายบริหารกับนิติบัญญัติ เช่นการอภิปรายไม่ไว้วางใจ สิ่งที่จะเกิดตามมาก็คือฝ่ายที่ไม่มีอำนาจอาจเลือกใช้กลไกนอกสภา เช่น ประท้วงเพื่อโค่นล้มรัฐบาล หรือใช้กำลังทหารในการจัดการ

อย่างไรก็ตาม โฮเซ่เสนอว่า การจะพิจารณาเรื่องของปัญหาของฝ่ายบริหารมีอำนาจมากในแบบประธานาธิบดีในฐานะที่ทำให้เกิดความเปราะบางของประชาธิปไตยนั้น ในวันนี้อาจจะต่างจากเดิม ที่ในยุคเก่านั้นประเทศที่ประชาธิปไตยพังทลายเพราะมีประธานาธิบดีหรือฝ่ายบริหารที่เข้มแข็งนั้นมักจะไปโดยรัฐประหาร โดยเฉพาะในลาตินอเมริกาในช่วงทศวรรษที่ 1960-1970
แต่ในวันนี้ การรัฐประหารโดยทหารนั้นไม่ค่อยจะเกิดขึ้นแล้ว แต่จะพบว่าการพังทลายลงของประชาธิปไตยในวันนี้เกิดจากระบอบเผด็จการที่สร้างขึ้นโดยรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งเอง ซึ่งพยายามที่จะสร้างความได้เปรียบของพวกตน และลดโอกาสแข่งขันจากคู่แข่งอื่นๆ ซึ่งหากจะทำให้เกิดสามัคคีประชาธิปไตยได้นั้น จะต้องทำให้รัฐบาลที่อยู่ในตำแหน่งนั้นไม่ลดโอกาสคนกลุ่มอื่นๆ ในกระบวนการเลือกตั้ง

นอกจากนั้นแล้ว งานวิจัยใหม่ๆ ยังพบว่า ประชาธิปไตยจะยั่งยืนได้นั้นรัฐบาลจะต้องไม่มีเสียงสนับสนุนมากเสียจนไม่เปิดโอกาสให้ฝ่ายค้านได้ทำงาน หรือในบางครั้งความมหัศจรรย์ของประชาธิปไตยอาจจะเกิดขึ้นได้จากการมีรัฐบาลเสียงข้างน้อย และการมีการเผชิญหน้ากันระหว่างรัฐบาลกับสภาเสียอีก เพราะทำให้จะต้องเจรจาต่อรองกัน หรือหมายถึงว่าจะทำอย่างไรให้เกิดการเข้าใจว่าการทำงานที่ดีนั้นไม่ได้หมายถึงความรวดเร็วและไม่มีข้อขัดแย้ง มาสู่การทำให้เกิดการเจรจาและทำให้เกิดความขัดแย้งกันในอำนาจบริหารกับนิติบัญญัติที่สามารถใช้กฎกติการ่วมกันได้

ซึ่งในแง่นี้ไม่สามารถบอกได้ง่ายๆแล้วว่า ระบอบประธานาธิบดีหรือฝ่ายบริหารที่เข้มแข็งนั้นจะเป็นพวกที่สร้างปัญหาเท่านั้น แต่อาจจะต้องมองว่าทุกฝ่ายจะต้องเข้มแข็งทั้งหมด และไม่มีสูตรสำเร็จที่ตายตัวว่าระบอบไหนดีกว่าระบอบไหนแบบง่ายๆ อีกต่อไป


3. ทำไมนักวิชาการด้านประชาธิปไตยจำเป็นต้องเรียนรู้มากขึ้นเรื่องการสร้างรัฐ (Why Democratic Scholars Need to Learn More about State-Building) เป็นงานของศาสตราจารย์ Sheri Berman จากวิทยาลัย Barnard ซึ่งพยายามชี้ให้เห็นความสำคัญในการเข้าใจประวัติศาสตร์การเกิดรัฐสมัยใหม่ของแต่ละประเทศ โดยเฉพาะการพยายามทำความเข้าใจเงื่อนไขในการรวมศูนย์อำนาจของแต่ละรัฐในฐานะปัจจัยสำคัญในการสร้่างรัฐสมัยใหม่ ซึ่งการรวมศูนย์อำนาจนั้นเป็นฐานของการเกิดรัฐสมัยใหม่ และกองทัพในช่วงรวมศูนย์อำนาจในยุโรปนั้นเอาเข้าจริงใช้ทรัพยากรจำนวนมากในการจัดการกับความขัดแย้งภายในประเทศในนามของการปราบกบฏไม่น้อยไปกว่าการต้อสู้กับศัตรูจากภายนอกประเทศ นับตั้งแต่ศควรรษที่ 17-19 ซึ่งก็หมายถึงการรบรากันเป็นระยะเวลาข้ามศตวรรษกันทีเดียว
และก็ยังยืนยันให้เห็นข้อเสนอของนักวิชาการยุคก่อนอย่าง Tilly ที่ว่า รัฐนั้นไม่ได้สร้างสงครามเท่านั้น แต่สงครามหรือเงื่อนไขการมีสงครามต่างๆ นั้นก็สร้างรัฐด้วย
ดังนั้น ลักษณะบางอย่างในทางประวัติศาสตร์เป็นเรื่องที่ต้องตั้งคำถามในแบบไก่กับไข่ว่า ตกลงสงครามหรือการรวมอำนาจนั้นเป็นเหตุ หรือ เป็นผลกันแน่ และศาสตราจารย์เชอริเห็นว่าในกรณียุโรปนั้นความพยายามของผู้นำในการรวมอำนาจและสร้างรัฐเป็นเงื่อนไขให้เกิดสงคราม ความวุ่นวาย และความรุนแรงมากกว่าที่จะบอกว่า ความวุ่นวายและความรุนแรงนั้นเป็นเหตุที่จะต้องรวมอำนาจและใช้กำลังทหาร และที่สำคัญเป็นข้อสรุปก็คือ การพยายามรวมอำนาจไว้ที่ส่วนกลางนั่นแหละคือหัวใจของการสร้างรัฐสมัยใหม่นั่นเอง
ซึ่งเราก็คงจะต้องคิดต่อไปว่ารัฐสมัยใหม่นั้นจะสามารถกระจายอำนาจได้มากน้อยเพียงใด เพราะมันกระทบรากฐานของตัวของมันเองตั้งแต่แรก


4. ผนังทองแดงกำแพงเหล็กแห่งรัฐ และการทำให้ประชาธิปไตยนั้นลงหลักปักฐาน (State Firewalls and Democratic Deepening) ของทีมนักวิชาการจาก University of Gothenburg และ Arrhus University ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจและต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ เพราะทีมวิจัยนี้เสนอประเด็นที่น่าสนใจ(แต่ต้องใช้ให้ถูก)ว่า เงื่อนไขที่จะทำให้เกิดการสร้างสามัคคีประชาธิปไตยได้นั้นจะต้องพิจารณาในส่วนของการพยายามสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างการกำหนดนโยบาย และการนำนโยบายไปปฏิบัติ โดยเฉพาะในเรื่องของการสร้างความเป็นอิสระของฝ่ายข้าราชการออกจากฝ่ายการเมือง

เรื่องนี้ไม่ง่ายแค่ว่าห้ามแทรกแซงข้าราชการ แบบที่หลายคนฝันเอาไว้ แต่จะต้องหาความพอเหมาะพอดีให้ได้ต่างหาก เพราะถ้าไม่แทรกแซงเลยเราก็จะไม่มีหลักประกันในสังคมประชาธิปไตยว่าข้าราชการจะทำงานภายใต้การตรวจสอบของประชาชน แต่ในอีกด้านก็คือถ้าควบคุมมากเกินไป ในแง่ให้นักการเมืองมาคุมข้าราชการ สิ่งที่จะได้ตามมาอาจไม่ใช่การบริหารที่ดี
แต่จะเกิดการอุปถัมภ์ระหว่างนักการเมืองกับข้าราชการมากกว่าเรื่องการบริหารตามนโยบาย เพราะนักการเมืองจะเลือกข้าราชการเข้ามาเป็นพวก มากกว่านักการเมืองจะทำงานในระดับนโยบาย และจะทำให้การเมืองแทรกเข้ามาในระบบราชการ และอาจทำให้เป้าหมายทางนโยบายจริงๆ เสียไป เพราะมีแต่คน "สนองงาน" แต่อาจไม่ได้เป็นเรื่องของเป้าหมายในระดับหลักการที่จะต้องไม่ก่อให้เกิดระบบอุปถัมภ์และการคอร์รัปชั่น และทำให้ฝ่ายที่แพ้เลือกตั้งต้องรอมาแบ่งเค้กในรอบต่อไป หรืออาจจะหันไปชุมนุมโค่นรัฐบาลแทน 
คำถามก็คือทำเช่นนี้แล้วจะมีรัฐบาลไปทำไม?


คําตอบของทีมวิจัยนี้ก็น่าสนใจ เขามองว่าต้องมีประชาสังคมหรือภาคประชาชนที่เข้มแข็ง เพราะภาคประชาชนจะคอยตรวจสอบข้าราชการ แล้วนักการเมืองเองก็ทำงานคู่กันไป
ในกรณีนี้ภาคประชาสังคมเองก็จะไม่ต้องวิ่งเข้าหารัฐบาลแบบมายื่นหมูยื่นแมวเพื่อให้มาคุมระบบราชการ แต่หมายถึงว่าภาคประชาชนนั่นแหละจะเป็นตัวคานอำนาจและความรู้เชิงเทคนิคของระบบราชการที่ชอบอ้างนักอ้างหนาว่ามีเช่นกัน ทีนี้สังคมก็จะเห็นทั้งสองด้าน นักการเมืองก็จะได้ตัดสินใจแบบไม่แทรกแซงข้าราชการรายคน หรือไปสัญญาแบบอุปถัมภ์กับภาคประชาชนเพราะมีอำนาจเหนือระบบราชการแบบอำเภอใจ ดังนั้น ดุลอำนาจก็จะเกิดได้ แล้วประชาธิปไตยก็จะยั่งยืน และผลประโยชน์ก็ตกอยู่ทุกกลุ่ม ไม่ใช่อยู่แต่คนที่ชนะเลือกตั้ง
ดังนั้น คนที่จะชนกับระบบราชการคือภาคประชาชน ที่จะต้องสู้แบบมีส่วนร่วม ผ่านการตรวจสอบคุณภาพที่ทุกฝ่ายจับตามอง ไม่ใช่สู้แบบคุยกับนักการเมืองและได้ตำแหน่ง และนักการเมืองก็มาจากการนำเสนอนโยบายภาพรวมให้ประชาชนซึ่งเป็นทั้งคนในระบบราชการและภาคประชาชนตัดสิน

นั่นแหละครับ สิ่งนี้ก็จะทำให้รัฐมีสมรรถนะที่ดีและการมีส่วนร่วมทำอย่างจริงจัง และประชาธิปไตยทั้งปัจจัยนำเข้าและนำออกนั้นพัฒนาขึ้นและยั่งยืน

ยาวแล้วครับขอจบเท่านี้แล้วกันครับผม สรุปสั้นๆ ก็คือเราจะปฏิรูปหรือเลือกตั้งก่อนกันไม่ใช่ประเด็นเท่ากับต้องทำกันอย่างต่อเนื่องครบวง เพื่อให้เกิดสามัคคีประชาธิปไตยนั้นแหละครับ



........................................................................
ร่วมเป็นแฟนเพจเฟซบุ๊กกับมติชนออนไลน์
www.facebook.com/MatichonOnline


.

2557-07-07

สื่อในรัฐประหาร โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์

.

นิธิ เอียวศรีวงศ์ : สื่อในรัฐประหาร
ใน www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1404722239
. . วันจันทร์ที่ 07 กรกฎาคม พ.ศ. 2557 เวลา 20:00:46 น.
( ที่มา: นสพ.มติชนรายวัน 7ก.ค.57 )


ผมไม่ทราบว่าสื่อกระแสหลักสักกี่ฉบับกี่ช่องกี่คลื่นที่เสนอข่าวแถลงการณ์ของคุณจอม เพชรประดับ ได้เห็นข่าวออนไลน์ของหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งเสนอข่าวแต่เพียงว่า คุณจอมได้ประกาศยุติการทำหน้าที่สื่อไว้ก่อนจนกว่าประเทศไทยจะได้เสรีภาพกลับคืนมา แต่ก็ไม่มีรายละเอียดของแถลงการณ์ เพียงแต่อ้างที่มาของแถลงการณ์ไว้ในเว็บไซต์อื่นให้ตามไปอ่านกันเอง

เป็นที่เข้าใจได้ไม่ยากว่า เหตุใดแถลงการณ์ฉบับเต็มของคุณจอมจึงเสนอในสื่อกระแสหลักไม่ได้ เพราะนอกจากคุณจอมจะชี้ให้เห็นความน่าเคลือบแคลงของคณะรัฐประหารแล้ว คุณจอมยังตั้งคำถามสำคัญถึงสื่อทั้งหลายว่า ท่ามกลางการถูกจับกุมคุมขังและ "กระทำย่ำยีอย่างไร้ศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ต่อหน้าสื่อมวลชนจำนวนมาก" เหตุใดสื่อจึงไม่ทำหน้าที่ของตนเอง ปราศจากสิทธิเสรีภาพ สื่อทำงานต่อไปได้อย่างไร ในเมื่อสิ่งที่ทำอยู่นี้ก็ "เหมือนคนโกหกหลอกลวงตัวเอง และหลอกลวงคนอื่น"
ด้วยเหตุดังนั้น คุณจอมจึงเลือกที่จะยุติบทบาทสื่อจนกว่าบ้านเมืองจะเป็นประชาธิปไตยและมีเสรีภาพจริง

ขอค้อมหัวคารวะคุณจอม เพชรประดับ ไว้ ณ ที่นี้


คำถามแรกที่ผุดขึ้นในใจเมื่ออ่านแถลงการณ์ของคุณจอมก็คือ ปราศจากเสรีภาพอย่างที่เป็นอยู่เวลานี้ สื่อส่วนใหญ่ทนทำงานอยู่ได้อย่างไร เสรีภาพของสื่อซึ่งคนนอกสื่อเคยร่วมรณรงค์ปกป้องนั้นมีความสำคัญต่อการทำงานของสื่อจริงหรือ ปราศจากเสรีภาพที่สื่อเรียกร้องก็เห็นสื่อทำงานได้อย่างไม่อนาทรร้อนใจแต่อย่างไร ทั้งยังมีคำถามที่ร้ายแรงกว่านั้นด้วยว่า เสรีภาพที่สื่อเรียกร้องนั้น ตลอดหลายปีที่ผ่านมา สื่อกระแสหลักเอามันไปใช้ทำอะไร คุ้มหรือไม่ที่จะไปต่อสู้ปกป้องเสรีภาพของสื่ออีก

ผมทราบดีว่า ส่วนใหญ่ของคนทำสื่อเวลานี้ไม่มีที่หลบภัยในต่างประเทศอย่างคุณจอม อีกหลายคนมีสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมพอจะหลบไปอยู่ต่างประเทศได้ แต่ชีวิตส่วนตัวและความก้าวหน้าในอาชีพการงานก็ไม่อนุญาตให้ทำเช่นนั้นได้
ดังนั้นที่จะเขียนต่อไปนี้จึงไม่มีเจตนาจะโจมตีคนทำสื่อในฐานะบุคคล แต่อยากชวนให้ช่วยกันคิดถึงบทบาทของสื่อในสังคมปัจจุบัน (โดยเฉพาะสังคมไทย) ว่าสื่อกระแสหลักยังมีความสำคัญเพียงไรในสิทธิการรับรู้ของพลเมืองระบอบประชาธิปไตย

สื่อกระแสหลักในทุกวันนี้เป็นธุรกิจที่ใหญ่มาก ความจำเป็นในการแข่งขันด้านธุรกิจของโลกปัจจุบันทำให้สื่อไม่มีทางเลือกมากนัก มีรายได้น้อยก็ไม่อาจทำสื่อที่มีคุณภาพได้ คุณภาพที่ต่ำก็ทำให้โฆษณาไม่เข้า รายได้ก็ยิ่งหดหายไป จนในที่สุดก็ต้องเลิกกิจการ ดังนั้นสื่อจึงต้องลงทุนเพื่อประโยชน์ทางธุรกิจเป็นหลัก จนเป้าหมายของความเป็นสื่อลดความสำคัญลงเรื่อยๆ บ้างอาจขยายไปสู่ธุรกิจสื่อแขนงอื่นเพื่อลดต้นทุนการผลิต แต่ก็เพิ่มต้นทุนด้านภาระของลูกค้าไปพร้อมกัน เช่น เลือกจะไม่ลงข่าวที่เป็นผลเสียต่อลูกค้าโฆษณารายใหญ่
บ้างขยาย(หรืองอกมาจาก)ธุรกิจอื่นที่ไม่ใช่สื่อ ทำให้ต้องคอยระวังผลกระทบต่อธุรกิจทั้งด้านสื่อและด้านอื่นซึ่งตัวทำกำไรอยู่


ยิ่งลงทุนมากผลกำไรมากก็ยิ่งมีเดิมพันสูง จนกระทั่งบรรทัดฐานของการทำงานห่างไกลจากอุดมคติของความเป็นสื่อมากขึ้นทุกที เมื่อรัฐใช้อำนาจตรวจข่าว (ทางตรงหรือทางอ้อมก็ตาม) ธุรกิจสื่อย่อมเลือกที่จะ "โกหกหลอกลวงตัวเอง และหลอกลวงคนอื่น" ตามคำของคุณจอม เพชรประดับ มากกว่าเสี่ยงที่จะล้มละลายหรือขาดทุนสูงทางธุรกิจ


สภาวะทางธุรกิจในประเทศไทยอาจพร้อมที่จะเปิดให้สื่อลงทุนด้านธุรกิจขนาดใหญ่เช่นนี้แต่สภาวะทางการเมืองไม่พร้อม หากเปรียบเทียบกับโลกตะวันตกเสรีภาพของสื่อได้รับการประกันอย่างแน่นหนาไม่แต่เพียงตามรัฐธรรมนูญเท่านั้น แต่ได้รับการประกันอย่างแน่นหนาเสียกว่าจากสังคม ไม่มีฝ่ายบริหารคณะใด ไม่ว่าจะได้รับคะแนนเสียงเลือกตั้งมาอย่างท่วมท้นสักเพียงไร จะสามารถละเมิดเสรีภาพของสื่อซึ่งสังคมรับรองอย่างแข็งขันได้ แม้แต่สมมติให้เกิดรัฐประหารขึ้นในอังกฤษ หนึ่งในสิ่งที่คณะรัฐประหารไม่กล้าทำอย่างเด็ดขาดก็คือ ตรวจข่าวหนังสือพิมพ์หรือโทรทัศน์ แม้แต่ปลดผู้อำนวยการบีบีซีก็คงไม่กล้า

ในเมืองไทยมีแต่ความพร้อมด้านสภาวะทางธุรกิจ แต่ไม่มีความพร้อมด้านสภาวะทางการเมืองที่จะปล่อยให้สื่อขยายตัวจนกลายเป็นธุรกิจขนาดใหญ่เช่นนั้นได้ ยิ่งไปกว่านั้น ตลอดเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา ผมไม่แน่ใจว่าสื่อได้พยายามพิสูจน์ให้สังคมไทยเห็นหรือยังว่าเสรีภาพของสื่อมีความสำคัญต่อการอยู่ร่วมกันในสังคมสมัยใหม่อย่างไร
ผมหมายความว่าพิสูจน์ด้วยการกระทำนะครับไม่ใช่พิสูจน์ด้วยการโฆษณา (ชวนเชื่อ)

ผ่านไปแล้วครับ ยุคสมัยของ คุณกุหลาบ สายประดิษฐ์ หรือ คุณอิศรา อมันตกุล เหลือไว้เพียงชื่อให้สื่อในทุกวันนี้ทำมาหากินเท่านั้น นั่นเป็นยุคสมัยที่สื่อยังเป็นเอสเอ็มอี ไม่ใช่บริษัทมหาชนในตลาดหลักทรัพย์อย่างทุกวันนี้

ตรงกันข้ามกับสื่อกระแสหลัก คือ สื่อออนไลน์ทั้งหลาย ซึ่งบางทีก็เรียกว่าสื่อทางเลือก รวมทั้งโซเชียลมีเดียทั้งหลาย ก็เป็นส่วนหนึ่งของสื่อทางเลือกเหมือนกัน

สื่อเหล่านี้ในเมืองไทยยังไม่พัฒนาไปเป็นธุรกิจเต็มรูปแบบส่วนใหญ่ไม่เป็นธุรกิจเลยอีกทั้งการเริ่มกิจการก็ไม่ยาก จึงแทบไม่มีการลงทุนมากไปกว่าเวลาของผู้ทำและพร้อมจะถูกปิดเมื่อไรก็ได้ เพราะอาจหาช่องเปิดใหม่ได้ไม่ยากอีกเหมือนกัน หรือเลิกไปเลยก็ได้ ลูกเมียไม่เดือดร้อน



ภายใต้อำนาจของคณะรัฐประหาร สื่อทางเลือกเท่านั้นที่ยังพอรักษาเสรีภาพของสื่อไว้ได้ (เพราะต้นทุนในการรักษาต่ำ) เหตุดังนั้น ในทุกวันนี้หากต้องการตรวจสอบข่าวสารข้อมูลเพื่อให้รู้ว่าอะไรเกิดขึ้นจริงในบ้านเมือง สื่อทางเลือกเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ มีคลิปวิดีโอที่หาชมที่ไหนไม่ได้ มีเนื้อหาข่าวที่หาอ่านที่ไหนไม่ได้ มีตัวเลขข้อมูลบางอย่างซึ่งไม่เปิดเผยทั่วไป มีความเห็นของคนต่างๆ ซึ่งไม่อาจแสดงออกในสื่อใดได้เลย รวมทั้งมีบทความ (ทั้งแปลแล้วและยังไม่ได้แปล) จากสื่อต่างประเทศที่มีเสรีภาพจากคณะรัฐประหาร และอีกมากทีเดียวมีข่าวลือที่แพร่หลายทั่วไปในสังคม

ข่าวสารข้อมูลที่ได้จากสื่อทางเลือกเหล่านี้เชื่อถือได้หรือไม่ เพราะทำได้ง่ายอย่างแทบไม่ต้องลงทุน จึงทำให้ใครๆ ก็สามารถทำสื่อได้ ด้วยจุดประสงค์ที่คละเคล้ากันระหว่างประโยชน์ส่วนรวมและประโยชน์ส่วนตัว ดังนั้นจึงเชื่อถือไม่ได้เท่ากับข่าวสารข้อมูลที่ได้จากสื่อกระแสหลัก ไม่ว่าจะเป็นข่าวสารข้อมูลจากสื่อประเภทใด ผู้รับก็มีหน้าที่ต้องตรวจสอบทั้งนั้น แม้ไม่อาจตรวจสอบได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ก็ตรวจสอบเพื่อให้น้ำหนักแก่ข้อมูลเหล่านั้นได้ด้วยการตรวจสอบข่าวต่างๆ กันเองบนวิจารณญาณที่มีตรรกะของผู้ตรวจสอบ
อย่างที่เห็นได้ในสื่อทางเลือกอันหนึ่งคือ Bangkok Pundit พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ ความสามารถในการรู้เท่าทันสื่อเป็นความสามารถที่คนในโลกยุคปัจจุบันขาดไม่ได้เสมอ

สื่อกระแสหลักต้องการขายชื่อเพราะชื่อจะทำให้ได้มาซึ่งกำไรจากโฆษณา แต่พูดกันอย่างไม่เกรงใจยังไม่มีสื่อกระแสหลักใดในประเทศไทยที่มี "ชื่อ" ในความน่าเชื่อถือของข่าว ตรงกันข้ามด้วยซ้ำ มีความพยายามอย่างนี้ปรากฏในสื่อทางเลือกบางชื่อ ขอยกตัวอย่างเพียงชื่อเดียวคือ "ประชาไท" อย่างน้อย "ประชาไท" ก็เคยขออภัยผู้อ่านที่ลงข่าวผิดพลาด ในขณะที่สื่อกระแสหลักไม่เคยทำ แม้แต่ที่ถูกจับได้คาหนังคาเขา


ผมเดาไม่ถูกว่าสื่อทางเลือกในเมืองไทยจะก้าวเข้าสู่ธุรกิจโฆษณาเต็มรูปแบบพอจะเลี้ยงตนเองได้สักวันหนึ่งข้างหน้าหรือไม่(ไม่นับฉบับออนไลน์ของสื่อกระแสหลักซึ่งเป็นของแถมแก่ผู้ลงโฆษณา)แต่ในสถานการณ์ที่เป็นอยู่เวลานี้ ผมคิดว่าเสรีภาพของสื่อทางเลือกต่างหากที่เราต้องช่วยกันปกป้อง ไม่ใช่เสรีภาพของสื่อกระแสหลักซึ่งไม่ต้องการเสรีภาพมากไปกว่ากำไร

สักวันหนึ่งเมื่อเรากลับเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตย เราควรเฉยเมยต่อการละเมิดเสรีภาพสื่อกระแสหลักของนักการเมืองในฐานะสหภาพแรงงานสื่อ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์สู้เอาเอง
แต่เราควรร่วมกันปกป้องเสรีภาพของสื่อทางเลือก ผลักดันให้แก้ไข พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ในสภา นำเทคโนโลยีการหลบหลีกการเซ็นเซอร์ของนักการเมืองทั้งที่มาจากการเลือกตั้งหรือรัฐประหารมาเผยแพร่และพัฒนาให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

สื่อกระแสหลักอาจไม่ใช่สื่อของสังคมปัจจุบันไปแล้ว
เราจะดูทีวีออนไลน์ฟังวิทยุออนไลน์ และอ่านหนังสือพิมพ์ออนไลน์ อย่างรู้จักประเมินด้วยความระมัดระวัง (ซึ่งเรามักลืมที่จะทำอย่างนั้นกับสื่อกระแสหลัก)
และปล่อยให้สื่อกระแสหลักค่อยๆ ตายไปเอง



.

2557-07-04

ประชาธิปไตยของคอสตาริกา โดย สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ

.

สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ: ประชาธิปไตยของคอสตาริกา
ใน http://prachatai3.info/journal/2014/07/54403
. . Fri, 2014-07-04 04:51


สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ
ที่มา: โลกวันนี้ วันสุข ฉบับที่ 471 วันที่ 5 กรกฎาคม 2557



ในขณะที่ทีมฟุตบอลของคอสตาริกา ได้สร้างความแปลกใจด้วยการเข้ารอบสองเป็นที่หนึ่งในสายของฟุตบอลโลกครั้งนี้ และยังผ่านไปถึงรอบก่อนรองชนะเลิศแล้ว แต่ความจริงประเทศคอสตาริกามีสิ่งที่น่าสนใจมากกว่าอีกมาก โดยเฉพาะในฐานะประเทศที่เป็นประชาธิปไตยถาวรของอเมริกากลาง

คอสตาริกาเป็นประเทศเล็กอยู่ระหว่างนิการากัวและปานามา มีเนื้อที่เพียง 51,000 ตร.กม.(ราว 1 ใน 10 ของประเทศไทย) มีประชาชนเพียง 4,5 ล้านคน มีค่ารายได้ต่อบุคคลราว 9,300 ดอลลาร์ต่อปี(ไทย 5,700) ดินแดนดั้งเดิมเป็นที่อาศัยของอินเดียนแดง 20 ชนเผ่าจำนวนราว 4 แสนคน คริสโตเฟอร์ โคลัมบัสได้นำเรือของสเปนมาถึงคอสตาริกาครั้งแรกใน ค.ศ.1502 และเป็นผู้ตั้งชื่อดินแดนชายฝั่งว่า “la costa rica”ซึ่งหมายถึง”ชายฝั่งอันมั่งคั่ง” และจึงกลายมาเป็นชื่อประเทศในปัจจุบัน

ต่อมาสเปนเข้ายึดครองดินแดนนี้เป็นอาณานิคมราว ค.ศ.1524 โดยถือเป็นมณฑลหนึ่งขึ้นกับผู้ว่าการ”สเปนใหม่”ที่เม็กซิโก ซึ่งดินแดนอเมริกากลางจะแบ่งเป็น 5 มณฑล คือ กัวเตมาลา นิการากัว ฮอนดูรัส เอลซัลวาดอร์ และ คอสตาริกา ในระยะนี้ ชาวสเปนได้เข้ามาตั้งถิ่นฐานในคอสตาริกามากขึ้นและพบว่าไม่ได้เป็นดินแดนมั่งคั่งตามชื่อ ยิ่งกว่านั้น คอสตาริกาถือว่าอยู่ห่างไกลจากศูนย์กลางที่เม็กซิโก ถูกทอดทิ้งเพราะไม่มีทรัพยากรที่มีค่าเช่นโลหะเงินหรือทอง จึงถือเป็นดินแดนที่ยากจนและด้อยพัฒนาที่สุดในกลุ่มอาณานิคมของสเปน การผลิตในคอสตาริกาขึ้นกับเจ้าดินขนาดย่อย ไม่มีการสร้างไร่ขนาดใหญ่ที่ดินแดนนี้ พืชผลที่ปลูกคือข้าวโพด ถั่ว และปลูกอ้อยกับยาสูบสำหรับขายต่างประเทศ


ในระยะ ค.ศ.1810-1821 ดินแดนลาตินอเมริกาได้ก่อการปฏิวัติแยกตัวจากสเปน และนำมาซึ่งการประกาศเอกราชของเม็กซิโก เมื่อ.ศ.1810 อันนำมาซึ่งสงครามระหว่างสเปนกับเม็กซิโกจนถึง ค.ศ.1821 ดังนั้น ดินแดนอเมริกากลาง 5 มณฑลก็ได้ประกาศเอกราชจากสเปนในวันที่ 15 กันยายน ค.ศ.1821 แต่ยังคงถูกผนวกเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิเม็กซิโก จนถึง ค.ศ.1823 กลุ่มรัฐอเมริกากลางจึงประกาศความเป็นอิสระและปกครองตนเองด้วยระบอบสาธารณรัฐ โดยตั้งเป็น”สหมณฑลอเมริกากลาง” หวังจะให้มีลักษณะการบริหารแบบสหรัฐอเมริกา แต่ความขัดแย้งระหว่างมณฑล ทำให้สหพันธรัฐล้มเหลว เมื่อนิการากัวและคอสตาริกา แยกตัวเมื่อ ค.ศ.1838 จากนั้น รัฐอื่นก็แยกตัวเป็นเอกราช

ในระยะนี้ คอสตาริกาเริ่มมีชื่อเสียงในฐานะดินแดนที่ผลิตกาแฟ เพราะเขตเทือกเขาตอนกลางของประเทศ มีพื้นดินอันเหมาะสมที่จะปลูกกาแฟอาราบิกา ในที่สุด คอสตาริกากลายเป็นประเทศที่มีฐานะดีขึ้นด้วยการส่งออกกาแฟคุณภาพสูง อังกฤษกลายเป็นตลาดสำคัญของกาแฟจากคอสตาริกา และในขณะนั้น กาแฟกลายเป็นที่มาของเงินตราต่างประเทศถึง 90 % ของคอสตาริกา

ใน ค.ศ.1856 วิลเลียม วอล์คเกอร์ นักเผชิญโชคชาวอเมริกัน รวบรวมนักรบรับจ้างจำนวนหนึ่งเข้ายึดอำนาจในนิการากัว ตั้งตนเองเป็นประธานาธิบดีและรื้อฟื้นระบอบทาส วอล์คเกอร์พยายามขยายอำนาจเข้าสู่คอสตาริกา รัฐบาลคอสตาริกาส่งกองทัพไปป้องกัน ทหารระดับพลคนหนึ่งชื่อ ฮวน ซานตามาเรีย ได้ถือไฟเข้าไปเผาค่ายของฝ่ายศัตรู ทำให้คอสตาริกาชนะในการสู้รบ แต่ซานตามาเรียสละชีวิต ปัจจุบันถือว่าเขาเป็นวีรบุรุษแห่งชาติ สนามบินนานาชาติของคอสตาริกาจึงตั้งชื่อว่า สนามบินฮวนซานตามาเรีย

ต่อมาจากกาแฟ กล้วยหอมได้กลายมาเป็นสินค้าออกสำคัญ โดยรัฐบาลคอสตาริกาเปิดทางให้นักลงทุนจากอเมริกา มาลงทุนปลูกกล้วยหอมในประเทศ และเริ่มส่งออกไปยังอเมริกาตั้งแต่ ค.ศ.1890 กลับกลายเป็นว่ากล้วยหอมคอสตาริกาเป็นที่นิยมในอเมริกาอย่างรวดเร็ว ในที่สุด สินค้ากล้วยหอมก็แซงหน้ากาแฟ และคอสตาริกากลายเป็นประเทศผลิตกล้วยหอมรายใหญ่ที่สุดของโลกในต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20


คอสตาริกาในระยะแรกก็เริ่มต้นเหมือนประเทศอเมริกากลางอื่น คือ ฝ่ายขุนศึกจะทำรัฐประหารเพื่อคุมอำนาจ ค.ศ.1842 ฟรานซิสโก โมราซาน ผู้นำคนสุดท้ายของสหมณฑลอเมริกากลาง ยึดอำนาจในคอสตาริกา แล้วตั้งตนเป็นผู้เผด็จการ อย่างไรก็ตาม การพัฒนาประชาธิปไตยของคอสตาริกาเริ่มตั้งแต่ ค.ศ.1869 เมื่อเกิดการเลือกตั้งเสรีครั้งแรก จากนั้นระบอบรัฐสภาของประเทศก็พัฒนาอย่างค่อนข้างราบรื่น มีเพียงเมื่อ 27 มกราคม ค.ศ.1917 พล.อ.เฟแดริโก ทิโนโก กราเนดอส รัฐมนตรีกลาโหม ก่อการรัฐประหารแล้วดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี แต่ถูกประชาชนทั่วประเทศต่อต้าน และสหรัฐอเมริกาก็ไม่รับรอง จนถึง 13 สิงหาคม ค.ศ.1913 เฟแดริโกต้องลาออกแล้วไปลี้ภัยต่างประเทศ กระบวนประชาธิปไตยจึงดำเนินต่อมา

จากนั้น ในการเลือกตั้งเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ.1948 ซึ่งพรรคเอกภาพแห่งชาติชนะเลือกตั้ง แต่เป็นการเลือกตั้งที่ถูกโจมตีว่าทุจริต และนำมาซึ่งสงครามกลางเมือง 44 วัน ประเมินว่ามีผู้เสียชีวิตถึง 2,000 คน ในปีต่อมา ผู้นำฝ่ายปฏิวัติ คือ โฮเซ่ ฟิแกเรส แฟรแร ได้ตั้งตนเป็นประธานาธิบดีรักษาการ เขาเห็นว่าประเทศเพื่อนบ้านไม่ใช่ศัตรู และประเทศยังสามารถรักษาสันติภาพได้โดยไม่ต้องมีทหารประจำการ ดังนั้นจึงยกเลิกกองทัพทั้งหมด จึงเป็นการปิดฉากการแทรกแซงทางการเมืองของทหารมาจนถึงปัจจุบัน และทำให้ประชาธิปไตยคอสตาริกามั่นคงกว่าประเทศลาตินอเมริกาอื่น ต่อมา การพัฒนาในระบอบประชาธิปไตย ได้นำประเทศคอสตาริกาก้าวหน้าเหนือประเทศอื่นในอเมริกากลาง และเป็นประเทศที่ชื่อว่าสงบสันติที่สุด


การพัฒนาของลัทธิสังคมประชาธิปไตยในคอสตาริกา ยังนำมาซึ่งการสร้างสวัสดิการแก่ชนชั้นกรรมกร และคนยากจน และการเร่งนโยบายให้ประชาชนรู้หนังสืออย่างรวดเร็ว ทำให้คอสตาริกากลายเป็นประเทศที่มีสวัสดิการมากที่สุด และมีการศึกษาเฉลี่ยสูงที่สุดในอเมริกากลาง และทำให้คอสตาริกาหลีกเลี่ยงสงครามปฏิวัติจากกลุ่มฝ่ายซ้าย ทั้งที่ขบวนการปฏิวัติในนิการากัว เอลซัลวาดอร์ และ กัวเตมาลา มีอิทธิพลอย่างมากในช่วงทศวรรษที่ 1970 เป็นต้นมา

เศรษฐกิจคอสตาริกาแต่เดิมขึ้นกับการส่งออกกาแฟ กล้วยหอม และเนื้อวัว แต่ในระยะ 20 ปีที่ผ่านมา สินค้าส่งออกทางเทคโนโลยี และอุตสาหกรรมท่องเที่ยวได้พัฒนามากขึ้น และกลายเป็นที่มาของรายได้หลักของประเทศแทนที่สินค้าเกษตร โดยเฉพาะการท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ และการขายบริการทางการแพทย์ระหว่างประเทศ กลายเป็นที่มาสำคัญของรายได้ของคอสตาริกาปัจจุบัน

สรุปตัวอย่างจากประเทศที่เคยด้อยพัฒนาอย่างคอสตาริกา เราก็จะเห็นว่า ระบอบประชาธิปไตยที่มั่นคง และปราศจากการรัฐประหาร ก็สามารถพัฒนาประเทศให้ก้าวหน้าได้ และการพัฒนาในระบอบประชาธิปไตยนั้น มีข้อดีเหนือระบบอื่นคือ สิทธิมนุษยชนก็ได้รับการเคารพ เสียงของประชาชนคนรากหญ้าก็จะมีความสำคัญ ระบบการเมืองที่ใช้อำนาจปืนยึดอำนาจ กำหนดความเป็นไปของบ้านเมือง จึงเป็นเรื่องที่ล้าหลังอย่างยิ่ง ไม่สมควรจะเอาเป็นเยี่ยงอย่าง และสมควรแล้วที่ประเทศอันมีระบบการเมืองเหลวไหลอย่างนั้น จะถูกคว่ำบาตรจากนานาชาติ



.