http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2554-10-31

น้ำเข้า กทม.ใครจะแพ้ฯ โดย มุกดา, มายาคติของน้ำท่วม, 5 ผู้ลุกฮือฯรางวัลสิทธิมนุษยชน

.

ถ้าน้ำเข้า กทม. ใครจะแพ้ ที่แน่ๆ มี...การเมืองใต้น้ำ
โดย มุกดา สุวรรณชาติ คอลัมน์ หลักศิลากลางน้ำเชี่ยว
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1628 หน้า 20


แม้น้ำจะท่วมมิดหัวก็อย่าฝันว่าคู่แข่งทางการเมืองจะเลิกต่อสู้กัน

ผู้เขียนได้รับฟังการวิเคราะห์ว่า น้ำจะเข้า กทม. ปลายเดือนตุลาคมแน่นอน แต่เกมการเมืองก็ไม่หยุดเดิน ทุกฝ่ายรู้ดีว่าประชาชนไม่ชอบการฉวยโอกาสโจมตี จึงต้องทำแบบไม่เปิดเผย

ไม่ว่าน้ำจะท่วมแค่ตาตุ่มหรือท่วมปาก กลุ่มอำนาจและตัวแทนก็ยังคงชิงไหวชิงพริบต่อสู้กันต่อไป

เพียงแต่การต่อสู้ใต้น้ำมองเห็นไม่ชัดเจน เสียงก็ไม่ดังเท่าไร


มวลน้ำขนาดใหญ่ ใหญ่แค่ไหน?
จะไหลเข้า กทม. หรือไม่?

ในความเป็นจริง ไม่มีใครป้องกันน้ำท่วมขนาดใหญ่ได้ในระยะสั้น มวลน้ำขนาดหมื่นล้าน ลบ.ม.ผ่านเข้าไปที่ไหน น้ำก็จะต้องท่วมใหญ่หลายเมืองหลายวัน

ทุกคนสงสัยว่าทำไมน้ำถูกปล่อยออกมาจากเขื่อนมากมายขนาดนี้ แต่จนถึงวันนี้ ผู้รับผิดชอบเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ ยังใช้ยุทธวิธีไม่โต้ตอบ ไม่อธิบาย คงคิดว่าเดี๋ยวคนก็ลืมไปเอง

แต่เรื่องใหญ่ขนาดนี้คงไม่มีใครลืม มีบางคนคิดว่ารัฐบาลถูกโจมตีโดยใช้น้ำเป็นอาวุธ

แต่บางคนก็คิดว่าเป็นเรื่องความผิดพลาดเนื่องจากความต้องการเก็บกักน้ำไว้ในการผลิตกระแสไฟฟ้า หรือใช้การเกษตรหน้าแล้ง ทำให้เขื่อนขนาดใหญ่ที่มีความจุน้ำ 13,000 ล้าน ลบ.ม. และ 9,000 พันกว่าล้าน ลบ.ม. มีน้ำเต็มจนล้นในหน้าฝนก็จำเป็นต้องปล่อยน้ำออกมาแบบเต็มกำลัง จนเกิดน้ำท่วมใหญ่

ยุทธศาสตร์สำคัญคือ เมื่อพบกับมวลน้ำขนาดใหญ่ ต้องไม่ตั้งแนวต้านตรงๆ แต่ต้องคิดเรื่อง ทำอย่างไรน้ำจึงจะผ่านไปเร็วที่สุด ต้องคิดเหมือนกับตอนที่เราเจอพายุ ยิ่งพายุผ่านไปเร็วเท่าไรก็ยิ่งดี

ธรรมชาติของน้ำจะต้องไหลจากที่สูงลงสู่ที่ต่ำ น้ำท่วมครั้งนี้ไหลจากเหนือลงใต้ ปริมาณที่ปล่อยมาประมาณวันละ 100 ล้าน ลบ.ม. เป็นปริมาณมหาศาลเทียบกับตึกสูงประมาณ 7 ชั้น (20 เมตร) เรียงเป็นแถวกว้างเท่ากับถนน 12 เลน (50 เมตร) และมีความยาว 100 กิโลเมตร

ขบวนน้ำที่สูงใหญ่และยาวเหยียดวิ่งออกจากเขื่อนผ่านโตรกธาร ผ่านลำน้ำ ลงสู่ที่ราบ กระจายตัวออก สมทบกับปริมาณน้ำที่มีอยู่แล้ว

จากฝนที่ตกหนักใต้เขื่อน สามารถทำให้เกิดน้ำท่วมแผ่กว้างออกไปริมสองฝั่งแม่น้ำ

แม้ไม่สูงเท่าตึกเจ็ดชั้น แต่ที่นครสวรรค์ก็สามารถท่วมบ้านสองชั้นได้ และไหลลงไปท่วมจังหวัดที่อยู่ด้านล่างลงไปจนถึงอยุธยา ก็ยังท่วมบ้านจนมิดหลังคา และก็ไหลลงสู่พื้นที่ต่ำสุดคือปทุมธานี นนทบุรี กรุงเทพฯ และสมุทรปราการ ก่อนจะลงอ่าวไทย

ขบวนน้ำขนาดใหญ่พุ่งออกจากเขื่อนต้นทางติดต่อกันไม่มีหยุดแม้แต่วินาทีเดียวเป็นเวลาหลายวันแล้ว วันนี้แม้ลดลงเหลือ 60 ล้าน ลบ.ม. ต่อวันแต่ก็ยังถือว่ามากอยู่ดี

เมื่อสมทบกับน้ำท่วมที่ตกค้างอยู่ มีผู้คาดว่า ยังมีน้ำที่จะต้องไหลลงสู่อ่าวไทยมีปริมาณมากถึง 12,000-15,000 ล้าน ลบ.ม. บอกไม่ได้ว่ามากขนาดไหน เพราะกว้างไกลสุดสายตา

และถ้ามีปริมาณมากขนาดนั้นจริงๆ น้ำจะท่วมในที่ราบลุ่มตอนล่างทั้งอยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี และกรุงเทพฯ ไปอีกนาน

ถ้าเราสามารถระบายน้ำลงทะเลได้วันละ 400 ล้าน ลบ.ม. ก็ต้องใช้เวลาประมาณ 30-45 วันเป็นอย่างน้อย

การเพิ่มช่องทางระบายน้ำให้ผ่านประตูน้ำต่างๆ และทุกคูคลองให้มากที่สุด เป็นวิธีเดียวที่จะช่วยทำให้น้ำลดเร็วขึ้น ประชาชนมีสิทธิ์ป้องกันบ้านตัวเอง แต่ไม่ควรขัดขวางการระบายน้ำ เพราะจะยิ่งทำให้น้ำท่วมนานเข้าไปอีก ทุกคนควรจะตรวจสอบว่าอะไรเป็นอุปสรรคในการระบายน้ำ

คนเสื้อแดงซึ่งอยู่ในเขตน้ำท่วมควรเป็นกำลังสำคัญ เพราะเป็นการช่วยทั้งตัวเองและประเทศชาติ



ถ้าน้ำต้องไหลผ่าน กทม. ตามแผน
ก็เป็นเรื่องปกติเหมือนที่อื่น ไม่มีใครแพ้

บทเรียนตลอดหนึ่งเดือนที่ผ่านมาพิสูจน์แล้วว่าไม่มีใครต้านมวลน้ำที่ใหญ่ขนาดนี้ได้ นิคมอุตสาหกรรมที่มีทั้งเครื่องมือและวิศวกรได้สร้างคันดินและเขื่อนขึ้นมาป้องกัน หลายเมืองก็สร้างกำแพงขึ้นมาล้อมเมือง แต่ก็ไม่มีใครต้านอยู่ ทุกคนดิ้นรนเอาตัวรอดด้วยการสร้างกำแพงขึ้นมาป้องกันหมู่บ้านและบ้านของตัวเอง แต่ส่วนใหญ่แล้วไม่สามารถป้องกันน้ำได้ เพราะน้ำมีวิธีเล็ดลอดเข้าไปในทุกๆ แห่งซึ่งเป็นพื้นที่ต่ำกว่าเสมอ เข้าตรงๆ ไม่ได้ก็มุดดินมุดท่อเข้าไป

ถามว่า กทม. เก่งแค่ไหนถึงจะต้านน้ำไว้ได้ แม้จะเตรียมการณ์สู้กับน้ำท่วมมานับ 20 ปีและมีอุปกรณ์และกำลังคนพร้อม แต่ผู้เขียนคาดว่าน้ำต้องเข้า กทม. อย่างแน่นอน เพราะเป็นพื้นที่ต่ำ น้ำจะต้องผ่านคูคลองเพื่อออกทะเล

แม้จะเสี่ยงต่อน้ำท่วมบ้าง ถ้ามีการจัดการที่ดี น้ำก็จะไม่ท่วมสูงมากนัก แต่จะช่วยให้น้ำออกทะเลเร็วขึ้น

แต่การที่น้ำจะผ่านกรุงเทพฯ กลายเป็นปัญหาการเมืองขึ้นมา เพราะเป็นเมืองหลวงและศูนย์กลางเศรษฐกิจ มีคนอยู่อาศัย 6 ล้าน คนมีอำนาจ คนมีเงิน อาศัยอยู่ที่นี่ก็เลยเกิดความคิดว่าจะต้องปกป้องกรุงเทพฯ ไว้สุดชีวิต ถ้าน้ำเข้ามาได้ก็เหมือนกรุงแตก

แต่ก็มีคนอีกกลุ่มหนึ่งคิดว่าปล่อยให้น้ำเข้ามาบ้างก็ได้ แต่อย่าให้ถึงขั้นอพยพ เพราะคนหลายล้านไม่มีที่ให้ไป ถ้าน้ำผ่านคลองต่างๆ ใน กทม. แล้วช่วยให้ไหลลงทะเลเร็วขึ้นควรถือว่าได้ช่วยแบ่งทุกข์กับเพื่อนร่วมชาติแล้ว แบบนี้ถือว่าไม่แพ้

แต่ที่จะทำให้แพ้ก็คือน้ำขบวนใหญ่ที่วิ่งผ่ากลาง กทม. อยู่แล้ว คือแม่น้ำเจ้าพระยา ถ้าคันกั้นน้ำทั้งฝั่งธนฯ และกรุงเทพฯ ทำหน้าที่ได้สมบูรณ์ตลอดทั้งแนว ในระยะเวลา 2 เดือนน้ำจะผ่านเข้า กทม. จากทางเหนือ ตามแผนระบายน้ำซึ่งชาวบ้านพอรับกันได้ แต่ถ้าแนวคันกั้นน้ำริมเจ้าพระยาแตก พื้นที่ริมฝั่งจะคล้ายนครสวรรค์ตอนคันดินพัง

แต่ประสบการณ์ของสำนักระบายน้ำ กทม. มีมายาวนาน วันนี้จะได้พิสูจน์ฝีมือ และจะได้เห็นประสิทธิภาพของอุโมงค์ระบายน้ำยักษ์



การเมืองยังต้องเดินต่อ แม้อยู่ใต้น้ำ

ทั้งสองฝ่ายไม่มีเรือดำน้ำ แต่ก็เปิดยุทธการการเมืองใต้น้ำไปพร้อมๆ กับแก้ปัญหาน้ำท่วม พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ภาคกลาง จะเห็นว่าพรรคเพื่อไทยมี ส.ส. ซึ่งต้องดูแลจังหวัดที่น้ำท่วมอยู่ต่างจังหวัด 39 คนและกรุงเทพฯ 10 คน รวม 49 คน

ประชาธิปัตย์มี ส.ส. ที่ต้องดูแลต่างจังหวัด 6 คน ในกรุงเทพฯ 17 คน รวม 23 คน

พรรคชาติไทยพัฒนามี ส.ส. ที่ต้องดูแลจังหวัดที่น้ำท่วมอยู่ 9 คน

ภาระหน้าที่เหล่านี้จะตกอยู่กับผู้บริหารท้องถิ่นและ ส.ส.เขต ซึ่งความรู้สึกของประชาชนเมื่อได้รับความทุกข์ยากก็จะนึกถึงตัวแทนของพวกเขา ตั้งแต่ อบต. ส.ส. รัฐบาล จนถึงนายกรัฐมนตรี

เรื่องนี้เป็นภาระหน้าที่ทางมนุษยธรรมและทางการเมือง แม้วันนี้ป้องกันน้ำท่วมไม่ได้ แต่ช่วยเหลือได้ และถ้าหลังน้ำลด สามารถช่วยเหลือเยียวยาได้ดี ประชาชนก็ยังยอมรับ

อุทกภัยครั้งนี้เป็นเรื่องใหญ่มาก มีผลทางการเมืองตั้งแต่ระดับนโยบาย จนถึงการปฏิบัติ

คำถามทางการเมืองข้อแรก... น้ำท่วมครั้งนี้จะทำให้คนอยู่ในเขตภัยพิบัติเปลี่ยนใจในการเลือก ส.ส.หรือไม่?

คำตอบที่พอประเมินได้ขณะนี้ คือ กองเชียร์ หรือคนทั่วไปไม่เคยกล่าวหาว่าพรรคเพื่อไทยทำให้น้ำท่วม ซ้ำยังตั้งข้อสงสัยว่ามีคนแกล้งรัฐบาลโดยปล่อยน้ำมาท่วม (สงสัยจะอ่านสามก๊กมากไปหน่อย)

แต่เรื่องแบบนี้ คงไม่มีใครตั้งใจปล่อยน้ำมาท่วมชาวบ้านเป็นล้านๆ คนที่เลือกพรรคเพื่อไทยเข้าใจถึงสาเหตุและคงเลือกพรรคเพื่อไทยเหมือนเดิม พวกเขาจะสนใจการให้ความช่วยเหลือหลังน้ำลด ถ้าทำได้ดีก็จะได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น ถ้าทำได้ไม่ดีก็จะมีผลกระทบถึงคะแนนเสียง

เมื่อถึงฤดูฝนในเดือนมิถุนายน-พฤศจิกายน 2555 อาจต้องลุ้นระทึกอีกครั้งว่าฝนจะตกเหนือเขื่อนใต้เขื่อนมากน้อยแค่ไหน และเขื่อนจะปล่อยน้ำออกมามากเท่าใด

ถ้าเจอแบบวันละร้อยล้านลูกบาศก์เมตรก็คงจะจมบาดาลอีกเหมือนเดิม เพราะโครงการป้องกันต่างๆ จะต้องใช้เวลาหลายปีถึงจะสำเร็จเรียบร้อย รัฐบาลคงต้องมีโครงการพิเศษขึ้นมารองรับปัญหา หลังจากอุทกภัย ปี 2554 สามารถรักษาความนิยมไว้ได้เท่าเดิม ก็ต้องถือว่าเป็นยอดฝีมือแล้ว

คำถามทางการเมืองข้อที่ 2 การที่ผู้ว่าฯ กทม. สังกัด ปชป. สกัดน้ำไม่ให้เข้ากรุงเทพฯ ทำให้กรุงเทพฯ แห้งหรือท่วมน้อยมาก จะได้คะแนนนิยม ของ ปชป. เพิ่มขึ้นหรือไม่?

คำตอบพอประเมินได้ดังนี้

ถ้ากรุงเทพฯ น้ำแห้ง ผู้ว่าฯ คงได้คะแนนเพิ่มบ้าง วันนี้คะแนนเสียงใน กทม. แม้ ปชป. จะชนะเพื่อไทย แต่เมื่อนับคะแนนออกมาแล้วก็ต่างกันไม่มากนักคือ 2.3 ล้านกับ 2.1 ล้าน คาดว่าคนทั้งสองกลุ่มคงไม่เปลี่ยนใจไปเลือกพรรคอื่น

แต่ถ้าจังหวัดรอบ กทม. และจังหวัดอื่นถูกน้ำท่วมพินาศย่อยยับ ผู้คนต้องแช่อยู่ในน้ำเป็นเดือนๆ คะแนนที่ผู้ว่าฯ ได้ไปจะคุ้มกับการเสียคะแนนของ ปชป. ในทุกเขตที่น้ำท่วมหรือไม่เพราะในแต่ละเขต ปชป. ก็ได้รับคะแนนมากพอสมควร ยิ่งลอยคออยู่ในน้ำนานเท่าไหร่ นักการเมืองทุกพรรคก็จะได้รับแรงกดดันมากขึ้น แต่ผู้ว่าฯ กับนายกฯ จะหนักกว่าคนอื่น

ประเมินว่าเสียงของ ปชป. ไม่น่าจะมีการเปลี่ยนแปลงจากกรณีอุทกภัย แต่ถ้าออกลุยโจมตีคู่แข่งแบบไม่ดูตาม้าตาเรืออาจมีผลลบได้

คำถาม ข้อสาม ความนิยมในตัวผู้ว่าฯ กทม. จะเป็นอย่างไร?

ตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม. จะครบวาระสี่ปีในเดือนมกราคม 2556 หมายความว่าหลังน้ำลดตอนปีใหม่ 2555 ผู้ที่จะแข่งขัน จะมีเวลาเตรียมตัวกันอีก 1 ปี แต่การต่อสู้ทางการเมืองไม่รอเวลา ไม่เลือกสถานที่ แต้มการเมืองต้องรักษาและเตรียมล่วงหน้า

ตัวผู้ว่าฯ กทม. เองไม่ได้มีพื้นฐานคะแนนเสียงอยู่กับพรรค ปชป. ทั้งหมด แต่มีฐานความนิยมเฉพาะส่วนตัวของผู้ว่าฯ เองซึ่งจะมาจากผลงานหรือคุณสมบัติส่วนตัว ความคิด คำพูด ของผู้ว่าฯ จึงเป็นเรื่องที่จะกระทบต่อตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม. ถ้าจะลงเลือกตั้งอีกครั้ง คงต้องใจกว้าง และกล้าอาสามากกว่านี้

ปัจจุบัน กทม. เป็นหน่วยงานเดียวที่มีศักยภาพป้องกันน้ำท่วมสูงสุด ใช้เงินภาษีประชาชนลงทุนไปมากที่สุดหลายหมื่นล้าน มีสำนักระบายน้ำซึ่งมีบุคลากรจำนวนมาก สร้างทั้งเขื่อนและอุโมงค์ระบายน้ำ มีเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่ มากที่สุด มีประสบการณ์ในการต่อสู้กับน้ำท่วมมายาวนานตั้งแต่สมัยผู้ว่าฯ จำลอง ศรีเมือง รวมเวลาไม่น้อยกว่า 25 ปี

ส่วนการประปานครหลวงมีความเชี่ยวชาญในการผลิตน้ำสะอาดส่งไปตามท่อเพื่อให้คน กทม. ได้มีน้ำสะอาดบริโภค ทำมาหลายสิบปีเช่นกัน

การประปาผลิตน้ำให้คนใช้ทุกวัน แต่ไม่มีประสบการณ์เรื่องการป้องกันน้ำท่วมมากนัก ผู้ว่าฯ กทม. สามารถแสดงความเก่งในการป้องกันน้ำท่วมได้เต็มที่ แต่จะให้การประปามาเก่งเรื่องนี้คงไม่ได้

สำหรับปัญหาในเขตต่อเนื่องถ้าจะบอกว่าอยู่นอกเขตรับผิดชอบแล้วไม่ช่วย ก็รู้อยู่แล้วว่า ผลสุดท้ายถ้าด่านต่างๆ ที่อยู่ข้างนอกแตก จะเกิดอะไรขึ้นกับ กทม. มีจิตอาสามากขึ้นคนก็รัก และในทางยุทธศาสตร์ศึกครั้งนี้ คือสงครามเก้าทัพ คงต้องแบ่งกำลังกันออกไปรับนอกกรุง



วันนี้น้ำไหลจนถึง กทม. แล้วและต้องการออกไปสู่ทะเลให้เร็วขึ้น ถ้าน้ำจะท่วมกทม.บ้าง ก็ไม่มีใครกล่าวโทษผู้ว่าฯ กทม. เหมือนกับที่ทุกจังหวัดที่น้ำไหลผ่านและท่วมจนราบเรียบ

ผู้ว่าฯ ชัยนาทไม่เคยต่อว่าผู้ว่าฯ นครสวรรค์ ผู้ว่าฯ อยุธยาก็ไม่เคยบ่นว่าทำไมผู้ว่าฯ อ่างทองไม่กักน้ำไว้ ผู้ว่าฯ ปทุมฯ ก็รู้ว่าเมื่ออยุธยาแตก น้ำก็ต้องเข้าท่วมปทุมธานีแน่ ถ้าจะต้องกล่าวโทษย้อนกันไปเรื่อยๆ ก็จะต้องไปตั้งคำถามว่าทำไมเขื่อนต้องปล่อยน้ำมามากขนาดนี้ เขื่อนก็ต้องถามฝนว่าทำไมตกมาเยอะจัง สุดท้ายฝนก็บอกว่ามนุษย์ทำให้โลกร้อน ไอน้ำในอากาศมีมากขึ้น ภูมิอากาศแปรปรวน ฝนก็ต้องตกหนักเป็นธรรมดา

สำหรับรัฐบาล ทุกเรื่องต้องรับผิดชอบกันเต็มที่ ก็ดีแล้วที่นายกฯ ยิ่งลักษณ์ไม่เคยปฏิเสธแม้แต่เรื่องเดียว หลังน้ำลดถ้าติดลบไม่มากถือว่าเป็นผลบุญของความพยายามทุ่มเททำงานอย่างสุดจิตสุดใจ แม้ผลงานจะไม่ดีนัก พรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์ เวลานี้อาจปะทะกันใต้น้ำเพราะประชาชนไม่ต้องการเห็นความขัดแย้งในช่วงเวลานี้ การต่อสู้ใต้น้ำจึงดำเนินต่อไป

แต่พอน้ำลด การปะทะจะดุเดือดขึ้น เพื่อไทยจะต้องเสียเปรียบเพราะต้องบริหารการฟื้นฟูเยียวยาและบูรณะในทุกๆ เรื่องซึ่งจะต้องมีจุดอ่อนให้ ปชป. โจมตี คาดว่าการต่อสู้ทางการเมืองจะดุเดือดไปขึ้นหลังปีใหม่

แต่ที่ต้องทำด่วนวันนี้คือ...

ป้องกันทางด่วนลอยฟ้า บางนา-ชลบุรี ที่เหลือเพียงเส้นเดียวสำหรับเข้า-ออก กทม. เมื่อน้ำท่วม ป้องกันไม่ให้ผู้มีอภิสิทธิ์ใช้เป็นที่จอดรถ (เห็นคนรักรถหลายคนขับไปจอดที่ชลบุรี)

แก้ปัญหาขยะและสิ่งปฏิกูลในเขตน้ำท่วมโดยอาศัยความร่วมมือของประชาชน ระยะเวลา 1 เดือนถ้าไม่สร้างระบบรองรับจะก่อปัญหาใหญ่ตามมา ต้องรีบออกคำแนะนำโดยด่วน

ปรับโครงการต่างๆ เช่น ช่วยเหลือเรื่องซื้อรถ ซื้อบ้าน เป็นซ่อมรถ ซ่อมบ้าน ฯลฯ

ถ้าน้ำเข้า กทม. แบบควบคุมได้ถือว่าไม่มีใครแพ้ แต่ถ้าคันกั้นน้ำพัง แล้วท่วมถึงหน้าอก ก็ต้องยอมรับว่าแพ้ และรับชะตากรรมร่วมกัน



++

มายาคติของน้ำท่วม สิ่งที่อยากให้ลองกลับมาทบทวนใหม่อีกครั้ง
ในเวบไซต์ www.siamintelligence.com/myths-flood/


ปัญหาต่างๆ ที่มาพร้อมกับม่านหมอกน้ำ อาจบังตาสิ่งที่เห็นและเป็นอยู่จริง ลองใช้เวลาสั้นเท่าที่ยังพอมีตั้งสตินิดหนึ่งและมองปัญหา หนทางแก้ไข และทางเลือกที่เกิดขึ้น มองข้ามวาทกรรมต่างๆทั้งหลาย บางทีพอเราฉุกคิด เราอาจพบว่าสิ่งที่เรากำลังเผชิญนั้นเป็นปัญหาแท้จริงส่วนหนึ่ง และปัญหาที่มากับมายาคติส่วนหนึ่ง


1. น้ำท่วมเป็นความผิดของรัฐบาลทั้งหมด

ต้องทำความเข้าใจว่าการบริหารที่ไม่สามารถจัดการกับน้ำอาจเป็นความผิดส่วนหนึ่งของรัฐบาล แต่ปริมาณน้ำที่มากกว่าเดิมถึง 30-40% จากน้ำท่วมในปีก่อนนั้น มันเกินจะรับมือเหมือนกัน ซึ่งอะไรที่มันเกินรับมือจากปรกติเช่นน้ำท่วมในฤดูน้ำหลาก เราเรียกสิ่งเหล่านี้ว่า “ภัยพิบัติ” และเมื่อเกิดภัยพิบัติย่อมแปลว่ากลไกของรัฐบาลและราชการไม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ เพราะเกิด “ความไม่สะดวก” (inconvenience) ในการปฏิบัติงาน จากปัจจัยต่างๆ เช่น การร้องขอความช่วยเหลือจำนวนมากที่ไม่สามารถจัดการได้พร้อมกันหมด หรือ การเกิดปัญหาในหลายๆพื้นที่พร้อมกัน ถ้าเข้าไปแก้สถานการณ์ที่หนึ่ง อีกที่ๆ ไม่สามารถแก้ไขสถานการณ์ได้ก็มักจะได้รับเสียงเรียกร้องที่ไม่พอใจ

ดังนั้นกลไกชุมชน เอกชน และภาคประชาสังคมต้องหนุนเสริม สิ่งสำคัญก็คือการสืบสวนและหาบทเรียนหลังจากที่สถานการณ์ผ่านไปแล้วและปรับแก้ ไม่ใช่ปล่อยให้เกิดซ้ำๆ ส่วนรัฐบาลเองก็ต้องเปิดโอกาสให้กับภาคส่วนต่างๆ เข้ามาทำงานมากขึ้น เช่น สมมุติจะตั้งศูนย์อพยพหลายพันแห่ง แต่มีข้อจำกัดที่จะต้องเลือกสถานที่สาธารณะหรือสถานที่ราชการ เช่น วัด โรงเรียน มหาวิทยาลัยซึ่งบางครั้งชัยภูมิในการตั้งนั้นไม่เหมาะ (แถวบ้านผมเลือกวัดที่ติดริมแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นศูนย์พักพิง!!) อาจจะขอความร่วมมือในการใช้พื้นที่เอกชน เป็นศูนย์อพยพ และดึงภาคประชาสังคมเข้าไปบริหารจัดการ เป็นต้น


2. สถานการณ์สร้างวีรบุรุษไม่มีจริง

จากข้อที่ผ่านมาทำให้เราเห็นขนาดของปัญหาที่แท้จริงว่ามันใหญ่โตเกินกลไกรัฐ ดังนั้นคำพูดประเภท “ถ้าเรื่องกรุงเทพฯให้ฟังผมคนเดียว” หรือ “ศปภ. มั่นใจว่าสามารถเอาอยู่” นั้นสะท้อนว่าทัศนคติในการทำงานของฝ่ายรัฐยังคงต้องการ “รบ” กับสิ่งที่มีขนาดมหึมาอยู่ เพื่อหวังว่าการปราบศัตรูนั้นจะสร้างความเป็นวีรบุรุษให้กับตน แต่แท้ที่จริงแล้วสถานการณ์เช่นนี้มันใหญ่เกินกว่าที่จะทำได้โดยลำพัง

เดิมพันมันสูงมากกว่าตำแหน่งและอนาคตทางการเมืองของทั้งสองพรรคใหญ่ เพราะมีเรื่องของประชาชนเป็นเดิมพัน ดังนั้นอย่าให้ภาพความร่วมมือทุกอย่างจบเพียงแค่วันที่นายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร พบปะกับอดีตนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ที่ดอนเมือง แต่เรากลับพบว่าสิ่งที่เป็นกลไกให้แต่ละพื้นที่ผ่านวิกฤตไปได้ กลับเป็นคนตัวเล็กตัวน้อยในชุมชนต่างๆ ที่บางครั้งไม่ได้มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรง (ในหลายกรณีผู้ใหญ่บ้านทิ้งหมู่บ้านไปแล้ว) แต่คนเหล่านี้เป็นตัวกลางในการเชื่อมประสานกับภาคส่วนต่างๆในการช่วยเหลือ


3. การมีชีวิตในช่วงภัยพิบัติคือการ “อยู่รอด” ไม่ใช่ “อยู่สบาย”

จากประสบการณ์ที่ได้พูดคุยกับผู้ประสบภัยหลายๆท่าน สิ่งหนึ่งที่เป็นปัญหาใหญ่ก็คือเรื่องของการยึดติดกับรูปแบบชีวิตเดิมๆที่เคยชิน เช่น เวลาจะขับถ่ายต้องขอเป็นส้วมที่สะอาดถูกสุขลักษณะ แต่เวลาภัยพิบัติมามันไม่สามารถทำแบบนั้นได้แต่ละบ้านก็เรียกขอสุขาลอยน้ำกันทุกบ้าน ซึ่งถ้าหากคิดดูว่ามีผู้ประสบภัย 6 ล้านคนเท่ากับเราต้องผลิตสุขาลอยน้ำถึง 6 ล้านถัง แล้วเมื่อเวลาน้ำลดสิ่งเหล่านี้จะนำไปไว้ไหน? จากการพูดคุยสิ่งที่น่าคิดก็คือชาวบ้านที่ได้รับน้ำท่วมบ่อยๆจะมีประสบการณ์มากกว่าในเขตเทศบาลและเขตเมือง เขาจะปรับตัวได้ การถ่ายลงน้ำและดูแลคุณภาพน้ำไปด้วยก็สามารถดูแลจัดการได้ดีกว่าเราเพียงแต่จะหาความต้องการที่แท้จริงว่าเขาต้องการส้วม หรือ แค่ระบบขับถ่าย เพื่อจะแก้ปัญหาให้ตรงจุด บางทีจากสุขาลอยน้ำอาจเป็นแค่เก้าอี้และถุงดำที่ประดิษฐ์เป็นส้วม พร้อมน้ำยา EM เพื่อปรับสภาพน้ำแทน จดจำว่าภัยพิบัตินั้นคือสภาวะไม่ปรกติ คุณไม่สามารถนอนกระดิกเท้ากินป๊อปคอร์นและดูละครหลังข่าวได้


4. น้ำมาค่อยอพยพดีกว่าไหม?

เรื่องนี้สำคัญมากและขอตอบว่าไม่จริง!! ถ้าหากว่าเราอยู่ในพื้นที่ที่เสี่ยงน้ำท่วม สิ่งที่ควรทำก็คืออพยพออกมาแต่เนิ่นๆจะสามารถทำได้ง่ายกว่า หากรอถึงการประกาศอพยพรับรองว่าจะต้องเกิดเหตุการณ์โกลาหลวุ่นวายมาก ได้พูดคุยกับชาวบ้านที่บ้านอยู่หลังคันกั้นน้ำหลายๆคนที่ไม่ยอมอพยพ ก็เพราะคิดว่าสามารถรับมือได้ไม่มีปัญหาและไม่ย้ายออก (คนที่คุยด้วยวันก่อนหน้านั้นยังดู ผีอีเม้ยอยู่เลย ตอนนี้หนีไปอยู่ชลบุรีแล้ว) ปรากฏว่าวันรุ่งขึ้นคันกั้นน้ำแตก ทีนี้เรื่องร้องเรียนถูกส่งมายังหน่วยช่วยชีวิตและอพยพของทีมมูลนิธิกระจกเงาจำนวนมาก ในสถานการณ์ที่เอาคนออกมายากเพราะน้ำสูง ทางที่ดีล็อกบ้าน สับสะพานไฟ และออกจากบ้านแต่เนิ่นๆจะเป็นสิ่งที่ดีที่สุด

สาเหตุยอดนิยมของคนที่ไม่อพยพก็คือ ไม่มีญาติที่ไหน หรือมีภาระ เช่น ห่วงสัตว์เลี้ยงและทรัพย์สิน อยากให้ลองคิดว่าความปลอดภัยของชีวิตต้องมาก่อน และรัฐก็ควรจะทำให้รู้สึกว่าศูนย์อพยพนั้นไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิดไว้ และผู้อพยพก็ต้องเข้าใจว่ามันไม่สะดวกสบายเหมือนที่บ้าน แต่นี่คือภาวะจำเป็น

5. ใครๆ ก็อยากทำความดี งั้นทุกคนมาทำงานอาสากัน

แน่นอน! การลงมือทำย่อมเป็นสิ่งที่ดีและจะก่อให้เกิดสิ่งดีๆตามมา แต่การทำแบบต่างคนต่างทำนั้นก็เป็นปัญหาหนึ่ง จากวงประชุมของสถานีโทรทัศน์ช่องหนึ่งได้ข้อเสนอที่น่าสนใจว่าทุกคนอยากทำความดี แต่ทุกคนก็เต้นไปตามกระแสที่มันเปลี่ยนไป ยกตัวอย่างเช่น หากสื่อนำเสนอความเดือดร้อนในอยุธยา ความช่วยเหลือก็หลั่งไหลไปอยุธยาทั้งกำลังเงิน กำลังคน และกำลังทรัพย์ พอสื่อบอกว่าปทุมธานีเดือดร้อนทุกคนก็แห่ไปปทุมธานี และทิ้งชาวอยุธยาไว้ สิ่งสำคัญก็คือเราจะรักษาสมดุลได้อย่างไรให้ความช่วยเหลือไม่ไหลไปตามสายน้ำ ดังนั้นควรจะมีการวางแผนประสานงานกันและกัน ไม่ใช่ความช่วยเหลือไปกระจุกตัวเป็นที่เดียว ส่วนงานอาสาสมัครนั้นแท้จริงมีความหลากหลายลองค้นหาสิ่งที่จะเอาศักยภาพมาใช้ให้ได้มากที่สุด เช่น เด็กอาชีวะ ตอนเฟสฟื้นฟูต้องอาศัยทักษะในงานช่างเป็นอย่างมาก

มันน่าจะดีกว่าการขับรถฝืนไปกับน้ำร่วม 400 กิโลเมตรเพื่อบริจาคน้ำสองแพ็กและถ่ายรูปลง Facebook เพื่อให้รู้สึกดีกับตัวเอง แต่รถไปจมน้ำแล้วเสียหรือลำบากหน่วยงานที่ต้องเข้าไปช่วยเหลือ เรื่องแบบนี้อาจจะส่งมอบของให้หน่วยงานที่มีศักยภาพในการเข้าไปส่งมอบ เพราะเวลาที่เราจะช่วยเหลือกัน บางครั้งอาจจะไม่ต้องการ"การที่คนอื่นจะต้องมายอมรับและสำนึกในสิ่งที่เราทำ" แต่เป็นการกระทำโดยมนุษยธรรมและไม่เลือกกรณี


6. ฉันเลือกรัฐบาลมาแล้ว รัฐบาลต้องช่วยฉันทุกเรื่อง

คำพระท่านบอกว่า “ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน” ในสถานการณ์แบบนี้ประชาชนจำเป็นต้องพึ่งตนเองให้มากที่สุด (และรัฐเองก็ต้องให้ข้อมูลมากที่สุดเพื่อให้ประชาชนตัดสินใจได้) การรอความช่วยเหลือเพียงฝ่ายเดียว สุดท้ายย่อมกลายเป็นปัญหา ในยามวิกฤตเรามักจะเห็นแต่จุดอ่อนของตัวเอง จากการสอบถามข้อมูลในการทำงาน ศปภ.ตำบล บางทีเราค้นพบจุดเด่นที่น่าสนใจในแต่ละหมู่บ้านเช่น หมู่บ้านหนึ่งที่อยุธยามีนางพยาบาล อีกหมู่บ้านหนึ่งมีเรือแต่มีคนป่วย แทนที่เขาจะรอหมอจากภาครัฐเข้าไปช่วย พอเราให้ข้อมูลเขาไป เขาก็เอาเรือไปรับนางพยาบาลมาดูแลคนป่วยแทน แต่ถ้าหากขาดแคลนยาตรงนี้คือส่วนงานที่รัฐต้องเข้าไปหนุนเสริม


7. การประเมินตนเป็นเรื่องสำคัญ อย่าประมาณตนสูง และอย่าดูถูกตนเองต่ำไป

ศูนย์พักพิงหลายแห่งที่รับคนเกินจำนวนที่สามารถรองรับได้ และอยู่ในจุดเสี่ยงที่ใกล้น้ำท่วมอาจจะประเมินศักยภาพตัวเองสูงไป (ด้วยความมั่นใจว่าน้ำจะไม่ท่วม หรือด้วยศักดิ์ศรีของผู้มีอำนาจรับผิดชอบ) ปัญหาที่ตามมาก็คือสุดท้ายเมื่อรับมือไม่ไหว (และไม่ยอมอพยพตอนแรก) ก็จะต้องมาช่วยเหลือกันตอนที่ปัญหามันโคม่าแล้ว กลับกันผู้ประสบภัยบางคนประเมินศักยภาพตนเองต่ำไป พบเคสที่ผู้ประสบภัยพบน้ำในระดับข้อเท้า มีอาหารสำรองแล้ว แต่เรียกขอถุงยังชีพจากหลายๆ หน่วยงานเข้าไปเพิ่มอีกแทนที่จะได้กระจายไปให้ผู้อื่น

บางทีอาจต้องทำความเข้าใจว่าหน่วยงานที่ช่วยเหลือไม่ได้ทำหน้าที่เหมือนร้านพิซซ่าที่ต้องส่งเดลิเวรี่ให้ลูกค้าทุกรายตามต้องการ เราต้องการให้ทุกคนอยู่รอดไปด้วยกัน ดีกว่ามีคนกลุ่มหนึ่งอยู่สบายและอีกกลุ่มลำบากเจียนตาย



8. น้ำแห้งแล้ว ทุกอย่างจบสิ้นลง

ตอนนี้หลายคนคงเริ่มฝันถึงว่าเมื่อไหร่น้ำจะแห้ง (มีรายงานว่าอาจจะต้องอยู่กับน้ำ 3-4 สัปดาห์) แต่หลังน้ำแห้งปัญหามากมายยังรอการแก้ไขอยู่มาก ทั้งเรื่องการปรับโครงสร้างทางผังเมืองและกลไกราชการ การเข้าสู่เฟสฟื้นฟูที่อาจกินเวลาไม่ต่ำกว่า 1 ปี กระแสต่างๆ ทั้งความช่วยเหลือ ความร่วมมือ และสื่อมวลชนต้องมีอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้กลไกในการฟื้นฟูสามารถเดินหน้าได้เต็มที่ไม่ใช่แค่ภาครัฐเท่านั้นที่ทำหน้าที่ฟื้นฟู เคล็ดลับความสำเร็จหลายๆครั้งมาจากการที่คนในชุมชนมาร่วมวางแผนกันเอง เช่น ที่นครสวรรค์ บางพื้นที่ที่น้ำแห้งแล้วเริ่มวางแผนจะฟื้นฟู เพราะนอกจาก “แก้ไขไม่แก้แค้น” แล้ว รัฐบาลจะต้อง “แก้ไขอย่าแก้ขัด” เหมือนรัฐบาลที่ผ่านๆ มาที่เวลาน้ำท่วมทีไรก็ได้แต่แก้ปัญหาเฉพาะหน้าแก้ขัด รอบนี้จะต้องแก้กันทั้งระบบทั้งการป้องกัน รับมือ และแก้ไขในอนาคตด้วย

สุดท้ายนี้สิ่งที่อยากจะย้ำเตือนก็คือ ในวาระแบบนี้การประสานความร่วมมือและการพึ่งพาตนเองให้เต็มศักยภาพจะเป็นหนทางที่ดีที่สุด ที่เราจะต้องทำให้ชินเป็นนิสัยและทัศนคติใหม่ๆของคนไทย เราจะต้องเปลี่ยนสถานะจาก “ผู้ประสบภัย” ให้กลายเป็น “ผู้ช่วยเหลือ”ให้ได้

ผมยังจำป้ายที่เขียนที่โรงอาหารกลางมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต (ที่วันนี้น้ำท่วมไปแล้ว) ตอนสึนามิได้ บนกระดานเขียนว่า “เราจะผ่านเรื่องร้ายไปด้วยกัน” ขอให้คนไทยทุกคนผ่านไปให้ได้ ถึงแม้ว่ามันจะไม่ค่อยสะดวกนัก

ป.ล. เขียนกลั่นกรองจากที่เป็นตัวแทน Siam Intelligence Unit เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของ ศปภ.ภาคประชาชน ที่นำโดยมูลนิธิกระจกเงา ตลอดระยะเวลาตั้งแต่วันที่ 9 ตุลาคม ที่ผ่านมา

www.siamintelligence.com/myths-flood/
Related Posts:
*-“อาสาสมัคร” มือที่จะช่วยพาชาติพ้นวิกฤตน้ำท่วมและร่วมสร้างประเทศไทยใหม่อีกครั้ง
*-สื่อนอกจับกระแส: คนนับหมื่นอพยพหนีน้ำท่วม งดเข้ากรุงเทพ
*-พักเรื่องการเมืองไว้ก่อน
*-ทักษิณมาแล้ว!! บริจาคเรือช่วยชาวบ้านน้ำท่วมฝากผ่านตัวแทน



++

5 นักกิจกรรมผู้ลุกฮือในอาหรับได้รางวัลสิทธิมนุษยชนซาคารอฟ
ในเวบไซต์ ประชาไท (www.prachatai.com/journal/2011/10/37649) . Fri, 2011-10-28 18:02


รางวัลสิทธิมนุษย์ชนซาคารอฟของยุโรป มอบแด่ 5 นักกิจกรรมผู้ร่วมสร้างปรากฏการณ์อาหรับสปริง ประกอบด้วยชายขายผลไม้ผู้จุดไฟเผาตัวเองในตูนีเซีย อดีตนักโทษการเมืองในลิเบีย ทนายผู้นำการลุกฮือในซีเรีย นักเขียนการ์ตูนล้อเลียนรัฐบาล และตัวแทนกลุ่มเยาวชนในอียิปต์ผู้ใช้โซเชียลเน็ตเวิร์กช่วยรณรงค์ชุมนุมต้านรัฐบาลเผด็จการ










การประท้วงในอียิปต์เมื่อต้นปีที่ผ่านมา
ภาพจาก nebedaay (CC BY-NC-SA 2.0)

นักกิจกรรมผู้ร่วมสร้างปรากฏการณ์การลุกฮือของประชาชนในตะวันออกกลาง (Arab Spring) 5 คนได้รับรางวัลสิทธิมนุษย์ชนซาคารอฟของยุโรป หนึ่งในรายนามผู้ได้รับรางวัลนั้นมีคนขายผลไม้ชาวตูนีเซียที่จุดไฟเผาตัวเองจนเป็นชนวนให้เกิดการลุกฮือครั้งใหญ่ด้วย

โมฮาเมด บูวอาซีซี คนขายผลไม้ผู้เสียชีวิตจากการเผาตัวเอง ได้รับประกาศรางวัลนี้ ผู้ได้รับรางวัลรายอื่นๆ ได้แก่บล็อกเกอร์ชาวอียิปต์ อัสมา มาห์ฟูซ์, อดีตนักโทษลิเบีย อาห์เม็ด อัลซูแบร์ กับอาห์เม็ด อัลซานูซี, ชาวซีเรียอีกสองคนได้แก่ ทนายความ ราซาน เซโตเนห์ และนักเขียนการ์ตูน อาลี ฟาร์ซัท

โดยเมื่อวันที่ 27 ต.ค. ที่ผ่านมาสภายุโรปประกาศชื่อผู้ได้รับรางวัลซาคารอฟที่เมืองสตราส์บูร์ก ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งเป็นรางวัลที่มอบให้บุคคลผู้ที่ต่อสู้เพื่อเปลี่ยนแปลงประเทศของตน

"บุคคลเหล่านี้มีส่วนในการเปลี่ยนแปลงทางประวัติศาสตร์ของโลกอาหรับ" เจอร์ซี บูเซ็ก ประธานสภายุโรปกล่าวและว่า รางวัลนี้ย้ำให้เห็นถึงการที่สภายุโรปสนับสนุนและเป็นหนึ่งเดียวกับการต่อสู้เพื่อเสรีภาพ ประชาธิปไตย และการโค่นล้มระบอบเผด็จการ และการกระทำของผู้ได้รับรางวัลเหล่านี้ก็เป็นสัญลักษณ์ของผู้ที่ทำงานเพื่อศักดิศรีความเป็นมนุษย์ ประชาธิปไตย และสิทธิขั้นพื้นฐานในโลกอาหรับและสถานที่อื่นๆ

บูวอาซีซีจุดไฟเผาตัวเองเมื่อวันที่ 17 ธ.ค. ปีที่ผ่านมา (2553) ในเมือง ซิดิ บูวซิด และเสียชีวิตในอีกสองสัปดาห์ต่อมา ซึ่งเป็นการกระทำที่แสดงให้เห็นความคับแค้นของคนจน การว่างงานในตูนีเซีย และเป็นชนวนให้เกิดการประท้วงใหญ่จนสามารถขับไล่อดีตผู้นำ ซีเน เอล อบีดีน เบน อาลี ไปได้

พี่ชายของเขา ซาเลม บูวอาซีซี บอกว่าเขาขออุทิศรางวัลนี้ให้แด่ประชาชนชาวตูนีเซียทุกคน

"ผมมีความสุขมาก ผมขออุทิศรางวัลนี้ให้แด่ประชาชนชาวตูนีเซียทุกคนที่ทำให้การปฏิวัติของพวกเราสำเร็จ และได้แสดงความรู้สึกออกมาในการเลือกตั้งเหล่านี้" ซาเลมกล่าวและว่ารางวัลนี้แสดงให้เห็นว่านานาชาติต่างยอมรับว่า โมฮาเมด บูวอาซีซี มีบทบาทในการปฏิวัติตูนีเซีย

ผู้ได้รับรางวัลรายอื่นๆ คือมาห์ฟูซ์ เป็นสมาชิกของกลุ่มเคลื่อนไหวเยาวชน 6 เมษาฯ ที่ใช้ยูทูป เฟซบุ๊ก และทวิตเตอร์ ในการรณรงค์ให้ชาวอียิปต์ออกมาชุมนุมประท้วงที่จัตุรัสทาห์เรีย ในกรุงไคโร จนกระทั่งสามารถโค่นล้มประธานาธิบดีฮอสนี มูบารัค ได้สำเร็จ

ส่วนซานูซี ชาวลิเบีย เคยต้องใช้เวลา 31 ปีอยู่ในห้องขังเนื่องจากต่อต้านรัฐบาลของมุมมาร์ กัดดาฟี ประธานาธิบดีที่เพิ่งเสียชีวิตไปเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา จากฝีมือของกลุ่มปฏิวัติ

ขณะที่ประชาชนในอียิปต์ ลิเบีย และตูนีเซีย สามารถโค่นล้มอำนาจเผด็จการที่มีมายาวนานลงได้แล้ว ประชาชนที่ลุกฮือในซีเรียก็ยังคงถูกรัฐบาลบาชาร์ อัล อัสซาด ปราบปรามอย่างโหดเหี้ยม

เซโตเนห์ ทนายความชาวซีเรียผู้ได้รับรางวัลนี้เป็นคนที่นำกลุ่มแนวร่วมประท้วงต่อต้านประธานาธิบดีอัสซาด สร้างบล็อกเกี่ยวกับข้อมูลด้านสิทธิมนุษยชนของซีเรีย เพื่อเผยแพร่ความโหดเหี้ยมที่กองกำลังของรัฐกระทำต่อผู้ประท้วง

ซึ่งตอนนี้เซโตเนห์ยังคงหลบซ่อนตัวอยู่

ส่วน ฟาร์ซัท นักเขียนการ์ตูนล้อเลียนผู้ที่ถูกกลุ่มคนลอบทำร้ายจนนิ้วหักเมื่อเดือน ส.ค. ที่ผ่านมา บอกว่าขออุทิศรางวัลนี้ให้แด่เหล่า "นักสละชีพเพื่อเสรีภาพ"

"ฉันขอแชร์รางวัลนี้กับทุกคนที่ต่อสู้เพื่อเสรีภาพและประชาธิปไตย" ฟารืซัทกล่าว โดยยังบอกอีกว่ารางวัลนี้ช่วยทำให้คนมีความหวังกับอนาคต

ประธานสภายุโรปจะจัดพิธีมอบรางวัลนี้ในวันที่ 14 ธ.ค. ที่เมืองสตราส์บูร์ก ประเทศฝรั่งเศส

โดยรางวัลซาคารอฟนี้ ตั้งชื่อตาม อังเดร ซาคารอฟ นักฟิสิกส์นิวเคลียร์สมัยสหภาพโซเวียตผู้ต่อต้านรัฐบาล เป็นรางวัลรายปีจัดโดยสภายุโรป ก่อนหน้านี้มีผู้ได้รับรางวัลคือ เนลสัน แมนเดลา (2531) ผู้ต่อต้านการเหยียดผิวในแอฟริกาใต้, อองซานซูจี (2533) นักสู้เพื่อประชาธิปไตยในพม่า, หู เจีย (2551) นักกิจกรรมต่อต้านรัฐบาลจีน และปีก่อนหน้านี้คือ กุยเลอโม ฟารินาส (2552) ผู้อดอาหารประท้วงรัฐบาลคิวบา ซึ่งถูกรัฐบาลคิวบาห้ามไม่ให้ไปรับราลวัลที่ฝรั่งเศส

ก่อนหน้านี้หลายสัปดาห์ก็มีการประกาศรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ โดยนักกิจกรรมเพื่อประชาธิปไตยชาวเยเมน ทาวากุล คาร์มาน ได้รับรางวัลร่วมกันกับประธานาธิบดีของสาธารณรัฐลิเบอเรีย เอลเลน จอห์นสัน เซอรีฟ และ "นักสู้เพื่อสันติ" ที่เคียงข้างเธอ เลฟมาห์ จโบวี

ที่มา
Arab Spring activists win human rights award, Aljazeera, 27-10-2011
http://english.aljazeera.net/news/middleeast/2011/10/20111027184244121504.html

ข้อมูลเพิ่มเติม
en.wikipedia.org/wiki/Sakharov_Prize_for_Freedom_of_Thought



.

2554-10-30

น้ำ โดย คำ ผกา

.
- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

รู้สู้ flood ep.3 :เตรียมให้ชัวร์ ไม่ต้องกลัวน้ำ (Full)
http://www.youtube.com/watch?v=pPhKlLQyD6s



รู้สู้ flood ep.4 : เตรียมใจสู้ พร้อมอยู่กับน้ำ
http://www.youtube.com/watch?v=9BmDfRqFnNQ


- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -


น้ำ
โดย คำ ผกา
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1628 หน้า 89


ในฐานะของผู้ไม่ประสบภัยน้ำท่วมโดยตรง และในฐานะของผู้ไม่มีทั้งพลังใจ น้ำใจ กำลังกาย กำลังใจในการออกจากบ้านไปช่วยทำงาน "อาสา" ต่างๆ อย่างที่ผู้ไม่ประสบภัยทั้งหลายพึงทำ ฉันไม่ค่อยแน่ใจว่าตนเองมีความชอบธรรมแค่ไหนที่จะเขียนถึงเรื่องน้ำท่วม

ทว่า ในฐานะของผู้ที่ชอบเสือกในรายละเอียดของพฤติกรรมมนุษย์ขี้เหม็น น้ำท่วมเมืองไทย (?) ครานี้มีอะไรน่าจับตามองมากกว่าที่คิด

ทั้งสัมพันธ์กับความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของไทยหลังรัฐประหารที่ทำให้ "น้ำท่วม" เป็นมากกว่า ภัยธรรมชาติ



ต้องไม่ลืมว่าหลังจากเกิดกลุ่มการเมืองที่เรียกว่ากลุ่มพันธมิตรกลุ่มเสื้อเหลือง เกิดการรัฐประหาร เกิดกลุ่มเสื้อแดง เกิดการนองเลือดกลางเมืองหลวง ประชาชนไทยแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ๆ คือ

1. กลุ่มที่ไม่เชื่อในระบอบประชาธิปไตยเสียงข้างมาก ด้วยเชื่อมั่นในชาติวุฒิและคุณวุฒิของมนุษย์ ว่ามนุษย์ที่คุณวุฒิ ชาติวุฒิ สูงกว่าย่อมมีคุณภาพมากกว่ามนุษย์อื่นๆ

2. กลุ่มที่ยืนยันในประชาธิปไตยเสียงข้างมาก ปฏิเสธรัฐประหาร เชื่อว่ามนุษย์ทุกคนพึงมีสิทธิเท่าเทียมกันโดยไม่เกี่ยวกับคุณวุฒิหรือชาติวุฒิ

3. กลุ่มคนที่อ้างว่าเป็น "กลาง" ซึ่งในความเป็น "กลาง" นี้มีหลายเฉด ตั้งแต่กลางค่อนไปทางกลุ่มที่ 1 และกลางที่ค่อนมาทางกลุ่มที่ 2

สามกลุ่มใหญ่ๆ ในหมู่คนไทยแปรเป็นฐานเสียงของพรรคการเมืองใหญ่ 2 พรรค นั่นคือ พรรคเพื่อไทย และพรรคประชาธิปัตย์

ส่วนสื่อมวลชนทั้ง วิทยุ โทรทัศน์ และหนังสือพิมพ์ มีกลุ่มที่อยู่ข้างประชาธิปไตย กับกลุ่มที่ยืนอยู่ตรงกันข้ามกับประชาธิปไตย ออกมาให้เห็นชัดเจน

กับอีกประเภทหนึ่งที่มาในแนวทางของการสวมเสื้อภาคประชาชนในกระแสนิวเอจ แต่สำแดงความรังเกียจประชาธิปไตยเสียงข้างมากอย่างโจ่งแจ้งอยู่เสมอมา

แต่ที่สื่อแตกต่างไปจากประชาชนนั้นอยู่ตรงที่ สื่อที่ยืนอยู่ข้างประชาธิปไตยไม่ได้เป็นฐานเสียงของพรรคเพื่อไทยอย่างแน่นอนและยังทำงานวิจารณ์รัฐบาลอย่างเข้มข้น

ในขณะที่สื่อซึ่งอยู่อยู่ฝั่งตรงกันข้ามกับประชาธิปไตยสามารถทำลาย "ความชอบธรรม" ทางการเมืองของพรรคเพื่อไทยที่เป็นรัฐบาลได้อย่างมีพลัง



เราต้องไม่ลืมว่า ชัยชนะในการเลือกตั้งของพรรคเพื่อไทยครั้งนี้ ไม่ได้มาจาก merit ในตัวบุคลากรของคนในพรรค ไม่ได้มาจากนโยบายอันดึงดูดใจของพรรคล้วนๆ ไม่ต้องพูดถึงคะแนนของรายชื่อคณะรัฐมนตรีที่ต้องถือว่าสอบตกเกือบติดลบ

แต่ชัยชนะอันถล่มทลายของพรรคเพื่อไทยมาจากเสียงของคนที่อยากจะสื่อสารกับใครก็ได้ในประเทศนี้ว่า พอกันทีกับการรัฐประหาร และเราต้องการเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่กับการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่เคารพในเสียงข้างมาก

เรายินดีที่อดทนกับนักการเมืองที่ยังไม่รู้เหนือรู้ใต้ และจะประคับประคองระบบไปจนกว่าประชาชนจะปั้นนักการเมืองที่มีคุณภาพขึ้นมาจนได้ในอนาคต

พรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้งเพราะคนที่เลือกพรรคเพื่อไทยหวังว่า เมื่อพรรคเพื่อไทยได้เป็นรัฐบาลจะเข้ามาสะสาง แก้ไข และเขียนกฎหมายเพื่อปกป้องรัฐธรรมนูญ ประชาธิปไตย สิทธิ และเสรีภาพของประชาชน คืนความยุติธรรมให้กับคนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมในอดีต

เพราะฉะนั้น ความท้าทายของพรรคเพื่อไทยในฐานะที่เป็นรัฐบาลคือจะต้องถูกฐานเสียงของตนเอง ตรวจสอบ ทวงถามในเรื่องเหล่านี้อย่างไม่ลดราวาศอก และพร้อมจะหันหลังให้หากพบว่าพรรคเพื่อไทยไม่ได้เคารพต่อสัญญาที่ให้ไว้กับฐานเสียงของตนเอง

ในแง่นี้พรรคเพื่อไทยเสียเปรียบพรรคประชาธิปัตย์อย่างมาก เพราะในขณะที่ฐานเสียงของพรรคเพื่อไทยเป็นประชาชนที่พร้อมจะตั้งคำถามและตรวจสอบการทำงานของพรรคอย่างไม่เกรงใจในมิตรภาพและสามารถด่าพรรคได้อย่างสาดเสียเทเสียยามที่พรรคทำงานไม่เข้าเป้า

แต่ฐานเสียงของพรรคประชาธิปัตย์เป็นฐานเสียงที่ "ภักดี" ต่อ แบรนด์ หรือ ยี่ห้อ โดยไม่สนใจว่าคุณภาพของ "ยี่ห้อ" จะตกต่ำ ไร้คุณภาพ จะเลือดเย็น จะโกหก หลอกลวง ฐานเสียงของพรรคประชาธิปัตย์คือกลุ่มคนที่เมื่อรักแล้วแม้ตดก็ยังหอม ทำอะไรก็ดีไปหมด ถูกไปหมด และพร้อมจะออกมาแก้ตัว ปกป้องแบบสู้ตาย

น้ำท่วมครั้งนี้จึงเป็นโอกาสของการออกศึกของการเมืองสองขั้วในประเทศไทยที่ออกมา "รบ" กันอย่างแหลมคม โดยเฉพาะในฝ่ายของฐานเสียงหรือผู้สนับสนุนฝั่งที่อยู่ตรงกันข้ามกับการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่งัดเอากลยุทธ์ทางวัฒนธรรมออกรบอย่างไม่เหน็ดเหนื่อย



เริ่มตั้งแต่การบอกว่าน้ำท่วมครั้งนี้เป็นความผิดของรัฐบาลพรรคเพื่อไทยที่ทำงานห่วย ทำงานไม่เป็น

ซึ่งอาจจริงแต่ไม่ใช่ทั้งหมด

เพราะข้อกล่าวหานี้ละเลยข้อเท็จจริงที่ว่า น้ำท่วมเกิดจากการจัดการน้ำทั้งระบบตลอดปีที่ผ่านมา เกิดจากความผิดพลาดของกรมชลประทานในการวางแผนปล่อยน้ำออกจากเขื่อน เกิดจากปริมาณน้ำฝน และถึงที่สุด ดังที่เขียนไว้ในบทความอาทิตย์ที่ผ่านมาว่ามันสะท้อนความล้มเหลวของนโยบายผังเมืองของประเทศไทย และไม่ใช่เป็นความล้มเหลวที่เพิ่งเกิดขึ้น แต่ล้มเหลวมาตั้งแต่แต่กำเนิด นั่นคือ นับตั้งแต่ประเทศไทยถือกำเนิดมาบนโลกใบนี้ในฐานะรัฐสมัยใหม่ เราไม่เคยให้ความสำคัญกับเรื่องของผังเมือง

นอกจากโจมตีประสิทธิภาพการทำงานของรัฐบาลและโยนบาปน้ำท่วมนี้ให้รัฐบาลพรรคเพื่อไทยรับไปอย่างเละตุ้มเป๊ะไปตามลำพังแล้ว

ฝ่ายรังเกียจประชาธิปไตยยังสามารถใช้ข้ออ้างเชิงคติ พิธีกรรม ความเชื่อ ทั้งที่คนกลุ่มนี้ล้วนอ้างตัวเป็นผู้มีการศึกษา ไม่พึงเชื่อในคติ ความเชื่ออันคร่ำครึ งมงาย หรือไสยศาสตร์ นั่นคือ การปล่อยข่าวว่า บ้านเมืองถึงกาลวิบัติเพราะปล่อยให้ผู้หญิงเป็นผู้นำ

เมื่อมุขไสยศาสตร์แบบนี้ใช้ไม่ได้ผล แถมยังถูกเยาะเย้ยไยไพ อาวุธทางวัฒนธรรมเพื่อใช้ในการดิสเครดิตก็ถูกปล่อยออกมาอย่างต่อเนื่องทั้งพระราชดำรัสปลอม

การอ้างเอาภาพเก่ามาอ้างเป็นภาพปัจจุบัน

การปล่อยข่าวนายกฯ ไปดูคอนเสิร์ต

การเอาภาพหญิงสาวฟิลิปปินส์ในงานปาร์ตี้มาปล่อยข่าวว่านายกฯ เมาแอ๋ไม่ทำงาน

และจนกระทั่งประเด็นเรื่องรองเท้าบู๊ตอันลือลั่น ที่ล่าสุด มาดามอดีตภริยารัฐมนตรีท่านหนึ่งยังเอามาเป็นประเด็นอย่างเปิดเผยให้เห็นระดับความประณีตในจิตสำนึกของมาดามท่านนั้น

นอกจากอาวุธทางวัฒนธรรมจะถูกนำมาใช้อย่างต่อเนื่องและได้ผลในเชิงเสริมสร้างความแข็งแกร่งเชิงดราม่าฟูมฟายอันเป็นสิ่งที่ชนชั้นกลางของทุกสังคมในโลกนี้ล้วนเสพติด

อีกกระแสหนึ่งที่ตีขึ้นอย่างมีพลังคือ กระแสชื่นชมทหารในฐานะ "ฮีโร่"



ไม่เพียงแต่ในฐานะที่เป็นฮีโร่ คนจำนวนไม่น้อยยังถากถางอย่างเปิดเผยว่า "สำหรับคนที่เกลียดทหาร ด่าทหาร ออกมารับความช่วยเหลือจากทหารทำไม?"

คนเหล่านี้แกล้งทำเป็นไม่รู้ว่าทหารคือข้าราชการ กินเงินเดือนที่มาจากภาษีประชาชน อาวุธ ยุทโธปกรณ์ รถ รา ทุกอย่างที่เป็นสมบัติของกองทัพซึ่งมาจากเงินภาษีของประชาชน ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่ของทหารที่จะลำเลียงทรัพยากรที่ตนเองมีมาทำงานในยามที่บ้านเมืองประสบทุพภิกขภัย

ทหารชั้นผู้น้อยเหนื่อยสายตัวแทบขาด เสี่ยงต่อการโดนไฟดูด ไฟช็อร์ต ตาย เราชื่นชม แต่นั่นไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับการที่เราวิพากษ์วิจารณ์เรื่องทหารต้องไม่ข้องแวะกับการเมืองโดยสิ้นเชิง ทหารต้องไม่ออกมาทำรัฐประหาร ทหารต้องไม่เอาอาวุธมาฆ่าประชาชน เหล่านี้

เป็นคนละประเด็นกับการที่ทหารต้องทำหน้าที่ในฐานะเป็นผู้รับใช้ประชาชนเหตุเพราะกินเงินเดือนจากภาษีประชาชน

กลุ่มคนที่รังเกียจประชาธิปไตยยังฉวยใช้โอกาสนี้ตีฆ้องร้องป่าว เรียกร้องให้ทหารออกมายึดอำนาจในทำนองว่า "ดูสิ ในยามคับขัน เราพึ่งรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งไม่ได้ สู้ให้ทหารออกมายึดอำนาจเสียยังจะดีกว่า "

เป็นอาการมั่วนิ่มทางตรรกะกลบเกลื่อนอาการรังเกียจประชาธิปไตยเสียงข้างมาก โชว์ความล้าหลังป่าเถื่อนทางอุดมการณ์การเมืองอย่างไร้ความละอาย เพราะในสากลโลกไม่มีใครแก้ปัญหาความไร้ประสิทธิภาพของรัฐบาลด้วยการไปอ้อนวอนให้ทหารออกมาทำรัฐประหาร



ยังไม่นับการสร้าง "ภาพ" น้ำท่วมให้เท่ากับการเผชิญกับ "สงคราม" โดยมีกรุงเทพมหานครเป็น "หัวใจ" ของราชอาณาจักร

นักข่าวบางคนถึงกับบอกว่านี่เป็นการเสียกรุงฯ ครั้งที่ 3 (ทั้งที่การเสียงกรุงครั้งที่ 1 และ 2 ที่เชื่อมโยงร้อยรัดหัวใจของคนกรุงเทพฯ ในปัจจุบันสมัยเข้าด้วยกัน อันจะโยงไปที่การพร่ำเพรียกหา "คนดีของกรุงศรีอยุธยา" นั้นเป็นเพียง "ประวัติศาสตร์นิพนธ์" หนึ่งของฝ่ายอนุรักษนิยมเท่านั้น)

การออกมาประกาศ "เราจะปกป้องกรุงเทพฯ" ของผู้ว่าฯ กทม. นั้น มีผลในเชิงการละคร บิดเบือนปัญหาเรื่อง "น้ำ" ในฐานะที่เป็นภัยพิบัติทางธรรมชาติให้กลายเป็นประเด็นของการปกป้องมาตุภูมิ ปิตุภูมิ ปลุกเร้าสำนึกรักบ้านเกิด ท้องถิ่นนิยม เพื่อมุ่งหวังผลทางการเมืองแทนที่จะโฟกัสไปที่การแก้ไขปัญหาในเชิงกายภาพตามที่เป็นจริง

ผลของการ "ปกป้อง" กรุงเทพฯ อันเป็นทางผ่านของน้ำไปสู่ทางทางหนึ่งในหลายๆ ทางตามลักษณะภูมิศาสตร์ได้สร้างความระส่ำระสาย เพราะคนเริ่มมองไม่เห็นกรุงเทพฯ ที่อยู่ในฐานะ "พื้นที่" ทางภูมิศาสตร์ แต่เป็นพื้นที่ทางการเมือง คำว่า "น้ำก้อนใหญ่" ทะลักเข้ากรุงเทพฯ หรือ "มวลน้ำขนาดใหญ่จะเข้ากรุงเทพฯ" ทำให้คนแยกแยะไม่ได้ว่ากรุงเทพฯ ที่ว่าคือ รังสิต บางพลัด สุขุมวิท หรือ ดอนเมือง

เมื่อเป็นดังนั้น คนกรุงเทพฯ ที่อยู่ในเขตน้ำไม่ท่วมกลับต้องกักตุนมาม่า อพยพไปต่างจังหวัด

ส่วนคนกรุงเทพฯ ในเขตจมน้ำหาซื้อมาม่า น้ำดื่มไม่ได้ แถมยังอพยพไม่ทัน

และอีกจำนวนหนึ่งก็นั่งติดตามข่าวน้ำท่วมในทุกช่องทางของสื่อราวกับเป็นเรียลลิตี้โชว์ที่มาพร้อมกับอาการเครียด ประสาท แพนิก และหัวใจที่สั่นระรัวตลอดเวลา



ปัญหาหลังน้ำท่วมยังคงท้าทายรัฐบาล และสงครามของประชาชนสองฝ่ายในการช่วงชิงความชอบธรรมในเชิงวัฒนธรรมการเมืองจะดำเนินต่อไปอย่างเข้มข้นท่ามกลางภาวะข้าวยากหมากแพง การขาดแคลน อาหาร วัตถุดิบ

จำนวนคนที่ตกงานอันเนื่องมาจากการล่มสลายของนิคมอุตสาหกรรม

ปัญหาอาชญากรรมที่จะเพิ่มขึ้น

เงื่อนไขการต่อรองแลกเปลี่ยนผลประโยชน์เชิงอำนาจที่จะผลักให้ฐานเสียงของพรรคเพื่อไทยออกมาตรวจสอบ ทวงถามถึงสัญญาประชาคมว่าด้วยความยุติธรรม

รัฐบาลพรรคเพื่อไทยจะต้องเผชิญกับศึกทั้งสองด้านคือทั้งจากฐานเสียงของพรรคประชาธิปัตย์และจากฐานเสียงของพรรคเพื่อไทยเองที่จะไม่ยอมให้การต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งประชาธิปไตยของพวกเขาต้องสูญเปล่าไปกับความตายกลางถนนและถูกทำให้เลือนลับไปกับกาลเวลา

"น้ำ" นั้นสำคัญไฉน วันนี้เราก็ได้รู้แล้ว



.

ปฐมเขียน เมื่อเอินวิพากษ์ยิ่งลักษณ์, รำลึกนวมทอง ไพรวัลย์

.
*** 31 ตค. กลุ่ม 24 มิถุนาเชิญร่วมทำบุญเลี้ยงเพลให้ "นวมทอง" สะพานลอยไทยรัฐ 9 น. (ข่าวsmsTPNews)
- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

บทรำลึกสามัญชน: สัญลักษณ์ต้านรัฐประหาร ก่อนบทเรียบเรียงหลัก
“นวมทอง ไพรวัลย์” ประวัติศาสตร์ของสามัญชน: สัญลักษณ์ต้านอำนาจกองทัพ-รัฐประหาร
โดย "แนวร่วมคนเสื้อแดง"
จากเวบไซต์ ประชาไท ( www.prachatai.com/journal/2011/10/37668 ) . Sun, 2011-10-30 00:34


วันที่ 31 ตุลาคม เมื่อ 5 ปีที่แล้ว สำหรับหัวใจของ “คนเสื้อแดง” “คนรักประชาธิปไตย” คงไม่มีใครลืมประวัติศาสตร์อีกหน้าหนึ่งของคนธรรมดาสามัญชน ผู้รักประชาธิปไตย ที่ชื่อ

นวมทอง ไพรวัลย์

แม้ว่าหลักสูตรการอบรมบ่มเพาะครอบงำทางประวัติศาสตร์ของชนชั้นปกครองอำมาตย์ศักดินา มักจักให้ผู้คนในสังคมไทยจำในเรื่องในสิ่งที่พวกเขาอยากให้จำ และลืมในเรื่องในสิ่งที่พวกเขาต้องการให้ลืม แต่นับจากนี้ไป เราพบเห็นว่า “คนเสื้อแดง” “คนรักประชาธิปไตย” “ผู้ตาสว่าง” ได้สร้างประวัติศาสตร์ของตนเองด้วยความภาคภูมิใจขึ้นมาแล้ว

เราจึงได้ยินการเอ่ยถึง จิตร ภูมิศักดิ์ เตียง ศิริขันธ์ ปรีดี พนมยงค์ กุหลาบ สายประดิษฐ์ พระยาพหล พยุหเสนา ถวัติ ฤทธิเดช พ่อหลวงอินทา และอีกหลายคน ผู้มีความใฝ่ฝันถึง “เสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ ความยุติธรรม ความเท่าเทียม ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์”

คืนวันที่ 31 ตุลาคม “นวมทอง ไพรวัลย์” อดีตพนักงานการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย บางกรวย ผูกคอตายกับราวสะพานลอย บริเวณถนนวิภาวดีรังสิตฝั่งขาออก เยื้องกับที่ตั้งสำนักงานหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ (บริษัท วัชรพล จำกัด) โดยในจดหมายลาตายระบุว่า

ต้องการลบคำสบประมาทของ พันเอก อัคร ทิพโรจน์ รองโฆษก คปค. ที่ว่า ไม่มีใครมีอุดมการณ์มากขนาดยอมพลีชีพได้

ก่อนหน้านั้น เมื่อวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2549 “นวมทอง ไพรวัลย์” ได้ขับรถยนต์แท็กซี่ โตโยต้า โคโรลล่า สีม่วง ทะเบียน ทน 345 กรุงเทพมหานคร ของบริษัท สหกรณ์แหลมทองแท็กซี่ จำกัด พุ่งเข้าชนรถถังเบา M41A2 Walker Bulldog ป้ายทะเบียนตรากงจักร 71116 ของคณะปฏิรูปฯ (คณะรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 )และได้รับบาดเจ็บสาหัส

ในคืนที่นายนวมทองแขวนคอตาย เขาตั้งใจสวมเสื้อยืดสีดำ สกรีนข้อความเป็นบทกวี ที่เคยใช้ในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย โดยด้านหน้าเป็นบทกวีของรวี โดมพระจันทร์ ที่ว่า

ตื่นเถิดเสรีชน อย่ายอมทนก้มหน้าฝืน

ดาบหอกกระบอกปืน หรือทนคลื่นกระแสเรา

แผ่นดินมีหินชาติ ที่ดาดาษความโฉดเขลา

ปลิ้นปล้อนตะลอนเอา ประโยชน์เข้าเฉพาะตน

กล่าวได้ว่า การขับรถแท็กซี่ชนรถถังครั้งนั้นของ “นวมทอง ไพรวัลย์” เป็นการต่อสู้กับอำนาจนอกระบบของอำมาตย์ ที่ทำลายประชาธิปไตย และเป็นอุปสรรคขัดขางหนทางประชาธิปไตยในสังคมไทยมาหลายยุคหลายสมัย

การกระทำดังกล่าวของ “นวมทอง ไพรวัลย์” จึงเป็นสัญลักษณ์ต้านอำนาจกองทัพและรัฐประหารของระบบอำมาตย์ นั่นเอง

กระนั้นก็ตาม การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ในช่วงเมษา –พฤษภา 53 อำมหิต กองทัพได้เป็นกลไกหลักในการล้อมปราบประชาชนครั้งนั้น

จึงต้องนำคนฆ่า คนสั่งฆ่าดำเนินการตามกฎหมายเพื่อสร้างความยุติธรรมให้กับประชาชนผู้ถูกกระทำด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ถ้าหากสังคมไทย ต้องการปลดเปลื้องพันธนาการที่ลดทอนการเติบโตของพลังประชาธิปไตย ปฏิเสธไม่ได้ว่าปัจจัยหนึ่ง “ต้องปฏิรูปกองทัพไทย” เหมือนเช่นประเทศประชาธิปไตยทั่วโลกที่กระทำกัน

กล่าวสำหรับกองทัพไทย ภายใต้บริบทการเมืองไทย ภาวะ“รัฐซ้อนรัฐ” ดำรงอยู่ปัจจุบัน ผู้เขียนมีข้อเสนอ 3 ประการ ในการปฏิรูปกองทัพ คือ

1. สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ต้องดำเนิกระบวนการ แก้ไขพรบ.สภากลาโหม เพื่อให้อำนาจในการบังคับบัญชากองทัพ กลับมาอยู่กับผู้นำพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย

2. รัฐประชาธิปไตยต้องทำให้กองทัพมีขนาดเล็กลง ไม่มีระบบการเกณฑ์ทหาร งบประมาณก็ต้องลดลง เพื่อนำงบประมาณใช้จ่ายด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรมที่มีประโยชน์กว่า ท่ามกลางยุคที่หมดสมัยการทำสงครามกับประเทศเพื่อนบ้าน

3. รัฐประชาธิปไตย ต้องสร้างระบบการศึกษาและวัฒนธรรมกองทัพให้ทันสมัย เป็นประชาธิปไตยทั้งความคิดและการจัดองค์กร ที่ไม่เน้นระบบสายบังคัญชาแบบแบบสั่งการ โดยผู้ใต้บังคับบัญชาไม่มีส่วนร่วมแต่อย่างใด

การปฏิรูปกองทัพ คงเป็นความใฝ่ฝันหนึ่งของ “นวมทอง ไพรวัลย์”

ขอคารวะดวงวิญญาณ “นวมทอง ไพรวัลย์”

อุดมการประชาธิปไตย ของ “นวมทอง ไพรวัลย์” จงเจริญ

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -


ปฐมเขียน จม.ถึง เมื่อเอินวิพากษ์ยิ่งลักษณ์
เรียงลำดับใหม่ "จากผู้หญิงถึงผู้หญิง: เมื่อ "เอิน กัลยกร" วิพากษ์ "ยิ่งลักษณ์" สตรีผู้ขี่ม้า (น้ำ)"
ใน "มติชน ออนไลน์ วันเสาร์ที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2554 เวลา 21:05:00 น."


น.ส.กัลยกร นาคสมภพ หรือ "เอิน กัลยกร" อดีตนักร้องและนักแสดงชื่อดัง ได้เขียนบทความลงในเฟซบุ๊กส่วนตัว ที่ใช้ชื่อว่า Kalyakorn Earn Naksompop โดยแสดงการวิพากษ์วิจารณ์บทบาท และการทำงานของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในช่วงสถานการณ์น้ำท่วมที่กำลังรุมเร้ากรุงเทพมหานครในขณะนี้ จนก่อให้เกิดกระแสการวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง บทความดังกล่าว ซึ่งเผยแพร่เมื่อวันพุธที่ 26 ต.ค.ที่ผ่านมา โดยเนื้อหาทั้งหมดมีดังข้างล่าง-ชื่อว่า "จากผู้หญิง (ธรรมดา) ถึงผู้หญิง (ที่เป็นนายก)"

อย่างไรก็ดี เมื่อวันที่ 28 ต.ค.ที่ผ่านมา ได้มีผู้ใช้นามว่าว่า "ปฐม พยัคฆ์ร้ายเเห่งคลองบางหลวง " เขียน "จดหมาย" เพื่อโต้ตอบ "เอิน กัลยกร" ผ่านทางเฟซบุ๊กเช่นกัน โดยใช้ชื่อบทความว่า "จดหมายจากคลองกระจง ถึง คุณเอิน กัลยากร นาคสมภพ" ซึ่งมีข้อความดังนี้



จดหมายจากคลองกระจง ถึง คุณเอิน กัลยากร นาคสมภพ


ถ้าใครยังไม่รู้เรื่องราวของ คุณเอิน กัลยากร นาคสมภพ และสงสัยว่าเกิดเรื่องอะไรขึ้น ลองไปอ่านก่อนนะครับ

มีคนเอาลิงค์มาแปะในคอมเมนต์ ไปแวะอ่านกันก่อนแล้วค่อยอ่านของผมทีหลังหรือจะอ่านของผมก่อนแล้วไปอ่านของเอิน ก็แล้วแต่ท่านเหอะ


ในโลกนี้มีผู้หญิงที่ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำมากมายนะครับเอิน... อินทิรา คานธี , มาร์กาเร็ต แธตเชอร์ ชื่อเหล่านี้คงคุ้นหูเอินบ้างไม่มากก็น้อย แต่วันนี้ผู้หญิงที่ดูมีบทบาทมากที่สุดในโลกก็คงจะปฏิเสธ ฮิลลารี่ คลินตั้น กับ อองซานซูจี ไม่ได้เลย หลายคนคงพอเดาได้นะครับว่าข้าพเจ้ากำลังจะพูดถึงเรื่องอะไร ประเด็นไหน... ประเด็นแรกที่ข้าพเจ้าอยากบอกเอินคือ ผู้หญิงที่เป็นระดับผู้นำในโลกนี้หลายคนที่เอ่ยชื่อมาล้วนไม่ต่างกับ ยิ่งลักษณ์ เท่าไหร่ เพราะเขาก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำด้วยอาศัยบารมีเก่าของคนในครอบครัว เพราะคุณเอินได้เขียนในบันทึกของคุณว่า ยิ่งลักษณ์ได้เป็นนายกเพียงเพราะเป็นคนนามสกุล "ชินวัตร" ไม่ได้ต่อสู้มาด้วยตัวเอง ดังนั้นจึงไม่นับว่า ยิ่งลักษณ์ เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรก ข้าพเจ้าเลยจะบอกคุณเอินว่ารายนามข้างต้นนั้นก็ไม่ควรจะยกให้เป็นระดับผู้นำ อินทิรา คานธี ก็อาศัยบารมีของคุณพ่อคือ ศรีเนห์รู


อินทิรา คานธี ตอนขึ้นสู่ตำแหน่งผู้นำใหม่ ๆ เธอก็เป็นดั่งหุ่นเชิดจนมีคนตั้งฉายาว่าเธออย่างเจ็บแสบว่า ตุ๊กตาหน้าโง่ (ข้าพเจ้าขออภัยที่จำฉายานั้นเป็นภาษาฮินดีไม่ได้) แต่จากนั้นห้าปีเธอได้สะสมประสบการณ์และก้าวขึ้นการเป็นผู้นำที่ทรงอิทธิพลที่ใครไม่อาจจะปฏิเสธได้เลย เธอสะสมประสบการณ์ทางการเมืองและในทางเดียวกันเธอก็เข้าถึงใจคนจนที่นักปกครองทุกรุ่นหลงลืม จนสุดท้ายชื่อของเธอโดดเด่นเป็นตัวของตัวเอง เธอลบคำสบประมาทว่าก้าวสู่ตำแหน่งผู้นำได้เพราะพ่ออย่างหมดสิ้นและสิ้นเชิง คุณเอินว่า การเริ่มต้นของอินทิรากับยิ่งลักษณ์พอ ๆ กันไหมครับ เพราะเธอเข้าสู่ตำแหน่งวันแรก ๆ ผู้ชายก็รุมด่าเธอตั้งฉายาให้เธอว่า "ตุ๊กตาบาร์บี้" ไม่ต่างจาก อินทิรา เท่าไหร่ว่าไหม...


มาร์กาเร็ต แธตเชอร์ ล่ะ... คนนี้หญิงเหล็กของโลกเลยนะครับคุณเอิน แต่คุณเอินรู้ไหมว่ากว่าเธอจะก้าวสู่ตำแหน่งผู้นำเธอต้องได้รับการสนับสนุนจากใครบ้าง ไม่เพียงแต่ต้องการเสียงในสภาเสียงประชาชนเท่านั้น เพราะ มาร์กาเร็ต แธตเชอร์ ที่เธอมาถึงวันนี้ได้ก็เพราะว่าเธออาศัยรากฐานของครอบครัวเธอเป็นสำคัญ


อองซานซูจี ล่ะ... มิใช่ว่าเพราะพ่อของเธอหรอกเหรอ เธอถึงก้าวเป็นสัญลักษณ์ของพม่าในเวลาอันรวดเร็ว เธอเป็นแกนนำมวลชนเรียกร้องประชาธิปไตยในพม่าได้นั้นส่วนหนึ่งปฏิเสธไม่ได้เลยว่า เพราะเธอเป็นลูกของ นายพลอองซาน อองซานซูจีโดดเด่นในเวทีพม่าเพราะอาศัยรากฐานจากพ่อและเป็นที่สนใจของชาวโลกเพราะการสนับสนุนของอเมริกา


ฮิลลารี่ คลินตั้น ก็เช่นกัน จริง ๆ คนนี้เป็นผู้หญิงที่เก่งมากครับ เธอเก่งมาแต่เดิม แต่เธอทำทุกอย่างเพื่อสนับสนุนสามีเป็นหลังบ้านที่ดีเพื่อให้ บิลล์ เป็นหมายเลขหนึ่งของโลก แต่เราจะปฏิเสธได้หรือไม่ว่าวันนี้ที่เธอโดดเด่นและมีบทบาท เพราะอาศัยรากฐานจากสามีเช่นกัน


ทั้งหมดทั้งมวลที่ข้าพเจ้าไล่มานั้นเพียงเพื่อจะชี้ให้เห็นว่า ผู้นำที่โดดเด่นเหล่านี้จริงๆ แล้วถ้ามองในมุมคุณเอินจะเห็นว่าไม่มีใครต่อสู้ขึ้นมาด้วยตัวเองเลยแม้แต่คนเดียวเพราะเกือบทั้งหมดถ้าไม่อาศัยพ่อก็ต้องอาศัยผัว ไม่อาศัยผัวก็ต้องพึ่งพานามสกุล ซึ่งนั่นเป็นความจริงครับคุณเอิน เพราะมันเป็นรากเป็นฐาน อย่างคุณเอินและพี่สาว (หรือน้องสาว) ของคุณเนี่ย ถ้าไม่ได้นามสกุล "นาคสมภพ" จะได้เข้า
สู่วงการบันเทิงหรือไม่... จะมีฐานะเป็นที่รู้จักของคนเป็นเบื้องต้นหรือไม่... คุณเอินลองถามและตอบตัวเอง


แต่ผู้หญิงเหล่านั้นต่างจากคุณเอินครับ เพราะเมื่อเขามีรากฐานมาเขาได้โอกาสและพวกหล่อนคว้ามันไว้และทำโอกาสให้เป็นสิ่งดีงาม พวกเธอก็อยู่ในใจของผู้คน ซึ่งแตกต่างจากคุณเอินที่มีรากฐานได้โอกาส แต่เชื่อไหมครับว่าวันนี้ใครหลาย ๆ คนยังต้องระลึกชาติเลยว่า "คุณเป็นใคร" นั่นคือความต่างของ รากฐาน ที่คุณว่าไว้ ถ้าจะถามว่ายิ่งลักษณ์ได้ต่อสู้มาไหมในการเลือกตั้งที่ผ่านมา ข้าพเจ้าต้องเรียนคุณเอินว่า คุณยิ่งลักษณ์ได้ต่อสู้มาตลอดด้วยตัวของเธอเองแม้จะมีคนสนับสนุนแต่เธอก็ฝ่าฟันมาได้เอง ถ้าคุณเอินย้อนไปคิดดูตอนช่วงรณรงค์เลือกตั้ง คุณจำได้ไหมครับว่า คุณสุเทพ เทือกสุบรรณ และ คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อีกทั้งลูกหาบทั้งหลาย มั่นใจในคะแนนนิยมของพรรคประชาธิปัตย์แค่ไหน อย่างไร... มั่นใจมากหรือไม่ให้ไปดูวาทกรรมว่า "จะขุดรูอยู่" ของ คุณสุเทพ เทือกสุบรรณ ก็แล้วกัน


จากวาทกรรมฆ่าตัวเองของประชาธิปัตย์ มันชี้ให้เห็นว่าตอนแรกคะแนนนิยมของพรรคเพื่อไทยคงไม่เท่าไหร่ แต่ยิ่งลักษณ์ก็หมั่นลงพื้นที่หมั่นเข้าหาประชาชน ความอึดของเธอไม่ได้แพ้ผู้ชายอกสามศอกอย่างอภิสิทธิ์เลย ในขณะที่อภิสิทธิ์เอาสายสิญจน์ล้อมหัวหนุนชะตา ยิ่งลักษณ์ก็ยังลงพื้นที่โดยไม่มีเชือกใดมาพันกบาล ความแตกต่างตรงนี้คุณเอินพอมองเห็นอะไรบ้างไหมครับ


ยิ่งลักษณ์จริงอยู่ที่มีนามสกุล "ชินวัตร" เป็นพื้นฐาน แต่ถ้าเธอไม่เอาไหนรักษาโอกาสไม่ได้อย่างคุณ เธอก็คงถูกลืมเลือนและคงไม่ชนะเลือกตั้ง แต่คุณยิ่งลักษณ์รู้จักบริหารโอกาสรู้จักเข้าไปในใจประชาชน เธอจึงได้เป็นผู้นำ


การทำงานของยิ่งลักษณ์ในวันนี้... ข้าพเจ้าก็เห็นข้อผิดพลาดของเธอมากมายและหลายครั้งก็นึกเหมือนกันว่าถ้าข้าพเจ้าเป็นนายกรัฐมนตรีในวันนี้จะแก้ปัญหาอย่างไร ข้าพเจ้านึกได้เพียงสามนาทีแล้วก็ต้องเลิกคิดเพราะมันเป็นความสยดสยองที่ผุดขึ้นมาแทนที่ความฝันอันเรืองรอง ข้าพเจ้าไม่ทราบจริงๆ ว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร นักวิชาการเรื่องน้ำของประเทศเราวันนี้มีเยอะครับแต่มันเยอะจนเกินไปจนไม่รู้จะเลือกเชื่อใครสักคน ใครที่ว่าเก่งว่าเจ๋งก็คาดการณ์ผิดหน้าตาแหกกันเป็นแถวๆ ถ้าข้าพเจ้าเป็นนายกรัฐมนตรีก็คงตัดสินใจไม่ถูกว่าจะเลือกเชื่อใครดี แต่เธอก็กล้าหาญพอที่จะตัดสินใจและแก้ไขปัญหาอย่างเต็มความสามารถ ในสายตาของข้าพเจ้าแล้วคิดว่าเธอทำงานได้ดีแม้ไม่สง่างาม ภาวะวิกฤตน้ำแบบนี้ข้าพเจ้าเชื่อว่าไม่ว่าใครมาทำงานตรงนี้คงไม่เหลือความสง่างามให้เห็น แม้แต่ผู้ชายอย่าง ประยุทธ์ จันทร์โอชา , สุขุมพันธ์ บริพัตร สองคนนี้สภาพเหมือน...ตกน้ำซึ่งดูไปแล้วแย่ยิ่งกว่าสภาพปรัตยุบันของนายกรัฐมนตรีอย่างยิ่งลักษณ์เสียอีก


การจะมองความสามารถการทำงานนั้นต้องเทียบกับความหนักหนาของงานเป็นสำคัญ น้ำท่วมประเทศไทยหนนี้น่าจะจารึกในประวัติศาสตร์ชาติไทยได้เลยว่าเป็นปัญหาน้ำท่วมที่มีมวลน้ำหนักหนามากที่สุดและเป็นปัญหาที่รับช่วงต่อจาก นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในตอนที่ อภิสิทธิ์ รับมือกับน้ำท่วมที่ไม่หนักหนาเท่านี้ข้าพเจ้าพูดอย่างตรงไปตรงมาได้เลยว่า ทำงานได้ไม่สมชาย และแก้ปัญหาเพ้อเจ้อไม่สมกับเป็นเด็กอังกฤษ ถ้าเทียบกับยิ่งลักษณ์ตอนนี้ ข้าพเจ้าพูดด้วยความสัตย์ว่า ยิ่งลักษณ์ดูดีกว่ามากมายมหาศาล เธอไม่ท้อแม้จะมากแค่ไหน เธอตั้งใจ ไม่โทษใคร เธอต้องเดินฝ่าสงครามน้ำลายที่เพศชายโจมตีเธอ เธอก้มหน้าทำงานไม่ฟ้องประชาชนว่า "ผู้ชายไม่ได้ช่วยงานแถมเล่นสกปรกกับผู้หญิง" เธอมีสิทธิที่จะพูดแต่เธอไม่ได้พูดเรื่องใด แม้มีคนใส่ร้ายเธอมากมาย เธอก็ไม่เคยโจมตีกลับอะไรซึ่งผิดกับผู้ชายอกสามศอกที่หลุดอาการออกบ่อย ๆ ด้วยซ้ำไป ถ้านึกไม่ออกคุณเอินลองไปหาภาพอภิสิทธิ์ปรี่เข้าหานักข่าวหญิงได้นะครับ...


การที่คุณจะมองว่า ยิ่งลักษณ์ สอบตกทุกเรื่องนั้นก็เป็นสิทธิของคุณล่ะครับ แต่ถ้าเรามองความจริงและเอายิ่งลักษณ์มาเทียบกับอภิสิทธิ์และผู้นำคนก่อน ๆ ของไทย (เว้นไว้แต่ จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์) ยิ่งลักษณ์ทำงานได้ไม่แพ้กับผู้นำประเทศของเราที่ผ่านมา

เธอรับมือได้ดีและทำงานให้ผู้ชายเห็นว่า ผู้หญิงทำงานได้ดีกว่าผู้ชาย แม้เธอจะพูดไม่เก่งเหมือนอภิสิทธิ์แต่เธอก็ทดแทนด้วยการทำ... และทำ... และยอมรับความจริงจนดูเหมือนยอมพ่ายแพ้ แต่เธอก็ไม่ได้ทำผิดกับประชาชน ไม่ได้ฆ่าประชาชนแล้วบอกว่าไม่ฆ่า ไม่ได้ทำไม่ได้แล้วบอกว่าทำได้...


สำหรับคุณ ยิ่งลักษณ์อาจสอบตก สำหรับข้าพเจ้าเธอ "พอผ่าน" เพราะข้าพเจ้ามีมาตรฐานผู้นำที่สูง แต่สำหรับคนไทยทั่วไปที่ชินกับผู้นำแบบไทย ๆ โดยเฉพาะเทียบกับอภิสิทธิ์... เธอผ่านฉลุย


วันนี้สิ่งที่คุณเอินทำอยู่นั้นทำให้ข้าพเจ้านึกเรื่องหลาย ๆ เรื่องออก... สิ่งที่คุณเอินทำนั้นทำให้ข้าพเจ้านึกถึง โยนออฟอาร์ค เธอก็พยายามทำทุกอย่างเพื่อชาติและรับใช้พระเจ้าของเธอ แต่เธอก็ถูกผู้ชายรุมทำร้าย รุมใส่ความ แม้ติดคุกก็เจอผู้ชายข่มขืนในยามโดนเผาก็มีคนส่วนหนึ่งสาปแช่ง ในหมู่คนสาปแช่งโยนออฟอาร์คคงมีสักคนที่เป็นผู้หญิงและหมั่นไส้เธอแต่ไม่รู้ว่าสิ่งที่ทำเป็นอย่างไร คนที่สาปแช่งเธอนั้นไม่ได้มีความสามารถพอที่จะตัดสิน มีแต่อารมณ์ขุ่นเคือง จึงสาปแช่งเพศเดียวกันที่กำลังทำทุกอย่างเพื่อความถูกต้องของเธอ อีกเรื่อง เกิดขึ้นในตะวันออกกลาง คุณเอินเคยได้ยินเรื่องการประหารด้วยการปาหินไหมครับ ถ้ามีผู้หญิงคนหนึ่งถูกผู้ชายตัดสินว่ามีความผิดไม่ว่าเธอจะทำจริงหรือไม่จริง เธอต้องถูกประหารชีวิตด้วยการขว้างหิน ซึ่งผู้หญิงในตะวันออกกลางที่ตายไปนั้นมีกว่าเจ็ดสิบเปอร์เซนต์ที่เป็นผู้บริสุทธิ์ แต่ด้วยความเลวของชายจึงจับเธอมาประชาทัณฑ์ คุณเอินก็เป็นคนหนึ่งที่ขว้างหินใส่ผู้หญิงคนนั้น คุณเอินฆ่าคนและสาปแช่งคนโดยผู้ชายบอกว่า... สิ่งที่คุณด่าคุณยิ่งลักษณ์ ข้าพเจ้าอ่านสองรอบ ข้าพเจ้าไม่พบข้อมูลใดที่เกี่ยวพันทางการเมืองการปกครอง จะมีก็แต่อารมณ์ความรู้สึกและเรื่องราวที่เขาบอกมาเท่านั้น แสดงว่าคุณเอินไม่มีข้อมูลในมือในการด่าคุณยิ่งลักษณ์นอกจากอารมณ์และสิ่งที่เขาบอกให้ด่า แล้วคุณเอินจะต่างกับผู้หญิงที่สาปแช่งโยนออฟอาร์คหรือผู้หญิงที่ปาหินเพื่อประหารผู้หญิงด้วยกันโดยไม่รู้ความถูกผิดตรงไหนกันครับ...


แต่นั่นคือสิทธิของคุณเอินครับ แต่ข้าพเจ้าอยากฝากบอกไว้หน่อยว่า ถ้าคุณไม่ยอมรับว่า คุณยิ่งลักษณ์เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกและเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ยี่สิบแปดของคนไทยเพราะเขาคือหนึ่งในตระกูลชินวัตร ก็อยากเพิ่มตรรกะอีกอย่างให้คุณเอินได้ลองพิจารณา ว่า อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นับว่าเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ยี่สิบเจ็ดหรือไม่... เพราะเขาคือคนที่ขึ้นสู่ตำแหน่งด้วยความช่วยเหลือจากกองทัพมิใช่มาโดยครรลองของระบอบประชาธิปไตย ลองพิจารณา


ก่อนจะจบจดหมายนี้อยากพูดกับคุณเอินเรื่องวิทยาศาสตร์นิดหนึ่งครับ... ข้าพเจ้าก็จำไม่ได้ว่าอ่านเจอจากไหนแต่พอเจอกรณีจั๊ดจัด และกรณีคุณเอินแล้ว ทำให้นึกถึงบทความนี้ที่เคยอ่านเจอ นักวิทยาศาสตร์ชาวตะวันตกผู้เชี่ยวชาญเรื่องสิ่งเร้นลับ เขาได้เขียนบทความว่า "คุณเคยสงสัยไหมว่าทำไมในภาพยนตร์ผี ๆ มักจะมีฉากไฟติด ๆ ดับ ๆ โทรศัพท์ปิด ๆ เปิด ๆ เครื่องใช้ไฟฟ้ารวนเมื่อผีจะออกมา" เขาได้ให้เหตุผลต่อว่า "จากการศึกษาของผมเมื่อวิญญาณจะปรากฏตัวจะเกิดปรากฏการณ์อย่างนั้นจริง เพราะวิญญาณนั้นถ้าจะปรากฏตัวจะดูดพลังงานจากสิ่งต่างๆ ถ้าใช้ไฟฉายเขาก็จะดูดพลังงานจากแบตตอรี่ ดูดพลังงานทั้งหมด เพราะเขาจะปรากฏตัวให้เห็นไม่ได้ถ้าเขาไม่มีพลังงาน และเขาก็ไม่สามารถสร้างพลังงานได้ ต้องดูดเอาจากสิ่งรอบตัว"


คุณเอินกับจั๊ดจัดก็คล้าย ๆ กันกับวิญญาณแหละครับ เพราะปกติแทบไม่มีใครเห็นไม่มีใครรู้จักอยู่แล้ว... คุณต้องดูดพลังงานจากคนอื่นด้วยการด่าคนอื่น เพราะยิ่งคุณด่าคนอื่นมากเท่าไหร่ตัวตนของคุณจะปรากฏออกมาต่อสาธารณชน...


แต่จริง ๆ แล้ว ถ้าคนเราอยากมีตัวตนในสายตาคนอื่น เรามีวิธีอื่นนี่ครับ... จริงไหม... ไม่จำเป็นต้องทำร้ายใครเพื่อสร้างตัวตนของเราขึ้นมาเลย เคยได้ยินคำว่า "ความรู้ทำให้คนสง่างามไหมครับ" คุณจะมีตัวตนได้นะครับ ถ้าใช้วิชาความรู้ให้ถูกที่ถูกทาง หรือว่า

คุณเอินกับจั๊ดจัดไม่ชินกับการสร้างตัวตนโดยวิธีปกติ ชอบทางลัดด้วยการทำร้ายคนและเป็นช่างปั้นเรื่อง เหรอครับ...



____________________________


จากผู้หญิง (ธรรมดา) ถึงผู้หญิง (ที่เป็นนายก)


ตอนแรกก็ว่าจะเก็บไว้เขียนหลังน้ำท่วม ..แต่ก็นะ เราก็ไม่รู้ว่าวันนั้นมันจะถึงเมื่อไหร่ ที่สำคัญคือ หลังจากที่ได้ดู นายกฯ ยิ่งลักษณ์ ออกแถลงการณ์ทางทีวีเมื่อคืนนี้ ...บอกตรงๆ ละเหี่ยใจ และอดใจไม่ให้เขียนบทความนี้ไม่ได้แล้ว

คุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เข้ามาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2554 เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 28 และเป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของประเทศไทย

จริงๆ ตอนที่คุณยิ่งลักษณ์ได้ตำแหน่ง ผู้หญิงทั้งในและต่างประเทศ ก็รู้สึกยินดีที่ประเทศไทยได้มีนายกหญิงคนแรก เราเองได้เขียนลงเฟซบุ๊คว่า ส่วนตัวไม่ถือว่าคุณยิ่งลักษณ์เป็นนายกหญิงคนแรก เหตุเพราะคุณยิ่งลักษณ์ไม่ได้รับการเลือกตั้งเพราะความสามารถของเธอเอง แต่เป็นเพราะคนต้องการผู้ชายที่อยู่เบื้องหลังเธอต่างหาก ประชาชนที่เลือกเธอ ไม่ใช่เพราะชื่อ "ยิ่งลักษณ์" แต่เป็นเพราะนามสกุล "ชินวัตร" ที่เป็นสิ่งการันตีว่าเธอคนนี้คือ "สายตรง" ดังนั้นเราจะนับว่าคุณยิ่งลักษณ์เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกไม่ได้

เราจะมีนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกจริงๆก็ต่อเมื่อ เธอคนนั้นต่อสู้ฟันฝ่ามาด้วยตัวเอง และพิสูจน์ให้ประชาชนเห็นว่า "ผู้หญิงคนนี้มีความสามารถที่จะเป็นผู้นำประเทศได้" เท่านั้น

แต่ก็ช่างมันเถอะค่ะ สรุปว่า ประเทศไทยได้มีนายกรัฐมนตรีหญิงประดับประวัติศาสตร์กับเขาเสียที และจากวันที่เธอรับตำแหน่ง เราก็ควรจะดูแต่ผลงานของรัฐบาลภายใต้การนำของเธอคนนี้ ซึ่งแรกๆ นั้นเป็นไปได้ด้วยดีค่ะ คุณยิ่งลักษณ์ แม้จะดูไม่แข็งแรงห้าวหาญ แต่เธอมีความละมุนในบุคลิกที่ทำให้ภาพลักษณ์ของรัฐบาลซึ่งเต็มไปด้วยบุคคลที่เป็นที่กังขาของสังคมดูดีขึ้นแม้นโยบายของเธอจะเป็นที่ถกเถียงในวงกว้างแต่ก็มีทั้งคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย อยู่ที่ว่าใครมองมุมไหน แต่เวลาเธอไปเยี่ยมประเทศเพื่อนบ้านแล้วถ่ายรูปลงหนังสือพิมพ์นี่สิคะ แม้... ดูดี

สรุปว่าภาพลักษณ์ดูดีขึ้น เพราะเรามีนายกหญิงที่ดูดี ดูสง่า เป็นหน้าเป็นตาให้ประเทศไทย

จำได้ว่าตอนหาเสียง ผู้สนับสนุนเธอชอบบอกว่าเธอนี่แหล่ะ ที่จะเป็น "สตรีขี่ม้าขาว" ที่จะเข้ามากอบกู้ประเทศไทย ตามคำทำนายของหลวงพ่อฤาษีลิงดำ

แม้ไม่ได้สนับสนุนพรรคเธอ ก็แอบหวังลึกๆ ว่า "เป็นจริงก็ดี" ถึงตอนนี้ ถ้ามีคนที่สามารถพาประเทศไทยฝ่าวิกฤติทางการเมืองไปได้ จะเป็นใครมาจากฝั่งไหนก็สนับสนุนทั้งนั้น ยิ่งเธอปะยี่ห้อว่าเป็นผู้หญิงคนแรก ที่ได้รับหน้าที่สำคัญที่สุดในประเทศ คือการรับผิดชอบดูแลคนกว่า 70 ล้านคน งานใหญ่นะคะ ในฐานะที่เป็นผู้หญิงทำงานด้วยกัน ก็แอบเชียร์อยู่ อยากให้เธอเป็นนารีขี่ม้าขาวจริงๆ ประเทศเราจะได้ก้าวต่อไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคงเสียที

แต่แล้วอุทกภัยก็มาถึง มวลน้ำมหาศาลที่เข้ามาท้าทายความสามารถในการเป็นผู้นำของคุณยิ่งลักษณ์ ผลเป็นอย่างไร ...ไม่ต้องอธิบายให้มากความ

ไม่ใช่แค่คุณยิ่งลักษณ์สอบตกทุกด้าน ในฐานะที่เป็นผู้นำของประเทศ เธอยังทำให้ภาพลักษณ์ของผู้หญิงนั้นเสียหาย

ผู้ชายอาจจะไม่เข้าใจ แต่การเป็นผู้หญิงทำงาน เพื่อจะพิสูจน์ว่าตัวเองมีความสามารถ เหมาะสมกับหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย หลายคนต้องทำงานหนักกว่าผู้ชาย หลายคนต้องใช้เวลามากกว่าผู้ชาย เพื่อจะลบอคติที่ว่า "ผู้หญิงอ่อนแอ" หรือ "ผู้หญิงมีดีได้แค่สวย" เป็นผู้หญิง ต้องทนคนที่เข้ามาหวังหาเศษหาเลย ต้องปกป้องตัวเองโดยต้องไม่ให้กระทบกับงาน ในขณะเดียวกันก็ต้องแสดงให้เห็นว่าเราเก่งพอ
เพราะเราไม่สามารถไปนั่งกินเหล้า "เที่ยวผู้หญิง" กับเจ้านายเหมือนผู้ชายคนอื่นได้ เพราะเราไม่สามารถเล่นมุกฮาแบบลามกเต็มที่เหมือนผู้ชายคนอื่นได้ เราไม่สามารถมีช่วงเวลาส่วนตัวขนาดนั้นกับเจ้านายหรือผู้มีอำนาจซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ชายได้ เราจึงต้องใช้ความสามารถเท่านั้นเป็นเครื่องพิสูจน์

หลายคนอาจจะบอกว่านี่มันยุคนี้แล้วไม่มีแล้วเรื่องความไม่เท่าเทียม...มีค่ะ ยังมีอยู่ เป็นผู้หญิงค่ะ ทำงานค่ะ และยังเจอทุกสิ่งอย่างที่พูดมากับตัวเองค่ะ และไม่ใช่ผู้เขียนคนเดียวที่เจอ จึงได้เข้าใจและพูดได้

คุณยิ่งลักษณ์ ในฐานะที่เป็นผู้หญิง นอกจากจะต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าเป็นนายกที่ดีได้ ยังต้องพิสูจน์ด้วยว่า "ความสามารถไม่เกี่ยวกับเพศ" คุณเป็นนายกหญิงคนแรกนะคะ คุณแบกรับภาพลักษณ์ตรงนี้เอาไว้อยู่ค่ะ คุณต้องลุย (ลุยจริงๆ ไม่ใช่แค่ลุยออกสื่อ) คุณต้องแข็งแรง และคุณต้องเก๋า ...ต้องเอาให้อยู่

...แต่คุณยิ่งลักษณ์ทำไม่ได้ค่ะ

การที่สื่อที่เป็นผู้ชายไม่กล้าว่าหนักๆเหมือนที่ว่านักการเมืองคนอื่นหรือนักวิชาการไม่กล้าวิจารณ์แรงๆเหมือนที่วิจารณ์นักการเมืองผู้ชายเพราะเกรงว่าจะเป็นการ "รังแกผู้หญิงตัวเล็กๆ" หรือเพราะ "สงสาร" ก็ตาม คือหลักฐานว่ามันมีเส้นหนาๆกั้นอยู่ระหว่างเพศชายและหญิง ส่วนตัวนายกเองก็ไม่ได้ช่วยอะไรเลย เพราะเธอออกมาพูดด้วยน้ำเสียงที่ไม่เคยแข็งแรง ด้วยคำพูดที่ไม่เคยเข้มแข็ง และด้วยข้อความที่ไม่เคยชัดเจน นอกจากนั้นเธอยังไม่เคยแสดงให้เห็นถึงความสามารถในการคิดเองได้เลย

เธอทำให้เห็นเลยว่า ความละมุนของเธอนั้น จริงๆแล้วมาจากความอ่อนแอ

คุณยิ่งลักษณ์ตอกย้ำทุกวัน ว่าผู้หญิงอ่อนแอ ว่าผู้หญิงพูดจาเป็นงานเป็นการไม่รู้เรื่อง ว่าผู้หญิงคุมลูกน้องไม่ได้ ว่าผู้หญิงตัดสินใจไม่เป็น ว่าผู้หญิงเป็นผู้นำไม่ได้ สิ่งที่คุณยิ่งลักษณ์ทำ หรือทำไม่ได้ ตอกย้ำว่าผู้หญิงทำงานใหญ่ไม่ได้ ว่าผู้หญิงสุดท้ายก็เป็นได้แค่ผู้หญิงวันยังค่ำ ที่ได้แต่แต่งตัวสวยไปวันๆโดยที่ทำอะไรไม่เป็น ...เสียค่ะ เสียหายอย่างยิ่ง

ลองนึกดูนะคะ แม้ในอนาคตจะมีผู้หญิงที่มีความสามารถ แต่ใครจะอยากให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย มันขยาดนะคะ ประมาณว่าทดลองแล้ว ไม่สำเร็จ ก็จบแล้ว ยิ่งถ้าคนที่ไม่มีแบ๊คใหญ่ขนาดแบ๊คของคุณยิ่งลักษณ์ ยิ่งไม่ต้องหวังแล้วก็พาลสงสัย ว่าประวัติที่ผ่านมาของคุณยิ่งลักษณ์ ก็เป็นผู้บริหารบริษัทใหญ่ระดับประเทศทั้งนั้น แล้วบริษัทเหล่านั้นรอดมาได้อย่างไร

สงสัยแม้กระทั่งว่าคุณยิ่งลักษณ์เคยทำงานเองจริงๆหรือไม่ หรือได้แค่ใช้วุฒิการศึกษาที่ดูดี แต่งตัวดีๆ แต่งหน้าดีๆ ไปนั่งเฉยๆ ให้บริษัทนั้นดูภาพลักษณ์ทันสมัยขึ้น แค่นั้น? ...ถามจริงๆเถอะ ความสามารถในการสื่อสารและการทำงานระดับนี้ ถ้าไม่มี "พี่ชาย" คอยผลักคอยดันอยู่ข้างหลัง ป่านนี้คุณยิ่งลักษณ์จะทำอะไรอยู่ที่ไหน? ให้เดานะคะ ...แต่งตัวสวยๆ กลางวันไปช็อปปิ้ง ไปสปา กลับมานั่งสวยรอให้สามีชื่นชม

สรุปคือผิดหวังค่ะ เสียใจ และรู้สึกแย่ที่ผู้หญิงซึ่งได้รับตำแหน่งใหญ่ขนาดนี้คนแรก กลับทำให้ภาพลักษณ์ของผู้หญิงด้วยกันตกต่ำลงกว่าเดิม แต่งตัวสวยๆ หน้าผมเป๊ะนั้นไม่ผิดหรอกค่ะ ที่ผิดคือทำได้แค่นั้นจริงๆ

ยอมรับค่ะ ว่าการที่เขียนบทความนี้ขึ้นมาก็กลัวเหมือนกันว่าจะมีผลกระทบกับชีวิต ว่าอาจจะมีผู้สนับสนุนนายกออกมาล่าหัว โทษฐาน "วิจารณ์ผู้นำอันเป็นที่รักยิ่ง" แต่ต้องพูดค่ะ พูดอย่างเป็นกลางโดยไม่ฝักฝ่ายทางการเมือง พูดในฐานะประชาชนในระบอบประชาธิปไตยที่สามารถวิจารณ์ฝ่ายการเมืองได้ ...พูดในฐานะที่เป็นผู้หญิง

ย้ำนะคะ ไม่ว่าคุณยิ่งลักษณ์จะมาจากพรรคไหนก็ตาม หากได้เป็นนายกแล้วทำงานอย่างนี้ ก็จะออกมาพูดแบบนี้เหมือนกัน

เพราะคุณยิ่งลักษณ์ได้พิสูจน์แล้วว่าเธอไม่ได้ขี่ม้าขาว และเธอไม่ใช่สตรีในตำนาน (ก็อย่างที่คนข้างตัวเคยพูดไว้) สุดท้าย คุณยิ่งลักษณ์ ก็เป็นได้แค่ "สตรีขี่ม้าน้ำ" เท่านั้น

กัลยกร นาคสมภพ
26 ต.ค. 2554



+ + + +

เคยมีบทความที่เกี่ยวข้องหลายเดือนที่ผ่านมา

..ผู้นำหญิงบนเส้นทางการเมืองฯ โดย สุภัตรา ภูมิประภาส
http://botkwamdee.blogspot.com/2011/07/blog-post_12.html

..คนที่52 ของโลก โดย ซูม
http://botkwamdee.blogspot.com/2011/08/52.html


.

2554-10-29

สังคมไทย"ขัดแย้ง"เกินเยียวยา, แนะฝ่ายค้านพลิกวิกฤตน้ำท่วม, ..+

.
มีโพสต์บทความเพิ่ม หลังบทเรียบเรียงและสัมภาษณ์หลัก
- สำลักทฤษฎี โดย สุริวงค์ เอื้อปฏิภาน
- ชะตากรรม รัฐบาล มาด้วย "ไฟ" ไปด้วย "น้ำ" รัฐบาล "ยิ่งลักษณ์"

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

มุมมองนักวิชาการ เมื่อสถานการณ์ "น้ำท่วม" บ่งชี้ว่าสังคมไทย "ขัดแย้ง-แตกแยก" เกินเยียวยา?
ในมติชน ออนไลน์ วันเสาร์ที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2554 เวลา 22:00:00 น.

ท่ามกลางอุทกภัยในสภาวะวิกฤตหนักซึ่งไล่เรียงมาจากพื้นที่ภาคกลางตอนบน ถึงจังหวัดพระนครศรีอยุธยาและปริมณฑล ก่อนจะค่อยๆ คืบคลานเข้าสู่กรุงเทพมหานคร แต่หลายคนยัง "จับได้" ถึงสภาวะความขัดแย้งทางการเมืองอันดุเดือดร้อนแรง ซึ่งแฝงมากับภาวะเยียบเย็นของมวลน้ำ

มติชนออนไลน์ขออนุญาตประมวลความคิดเห็นของนักวิชาการ 2ท่าน ที่เชื่อมโยงประเด็นอุทกภัยเข้ากับความขัดแย้งทางการเมืองร่วมสมัย มานำเสนอ ดังนี้


"ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์" นักวิจัยจากสถาบันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษาแห่งสิงคโปร์ เขียนบทความชื่อ "Even this national disaster is being used as a political weapon." ลงในหนังสือพิมพ์เดอะ เนชั่น ก่อนจะถูกแปลเป็นภาษาไทยในชื่อ "แม้แต่หายนภัยของประเทศ ก็ไม่วายถูกใช้เป็นอาวุธทางการเมือง" โดยมีประเด็นสำคัญว่า

ท่ามกลางบรรยากาศน้ำท่วมครั้งใหญ่ การวิพากษ์วิจารณ์เรื่อง "ความโง่" ของนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ กลายเป็นสิ่งที่แพร่หลาย พร้อมๆ กับข่าวลือ ข่าวลวง ข่าวเท็จ เกี่ยวกับสถานการณ์อุทกภัย ซึ่งกล่นเกลื่อนเว็บไซต์เครือข่ายทางสังคมออนไลน์ต่างๆ โดยน่าจะมีเป้าหมายอยู่ที่ "การทำลายความเชื่อมั่นในรัฐบาล " "การทำลายความน่าเชื่อถือส่วนตัว " และ "ทำให้ความพยายามในการแก้ปัญหากลายเป็นเหมือนเรื่องเด็กเล่น "

การเมืองเรื่องน้ำตามความเห็นของปวินยังมีความเกี่ยวพันกับการทุ่มเทสรรพกำลังเพื่อป้องกันกรุงเทพมหานครจากภาวะน้ำท่วม ในขณะที่อีกหลายจังหวัดต้องทนทุกข์อยู่ใต้น้ำมาอย่างยาวนาน จึงเป็นอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งกรุงเทพฯ กลายเป็น "สัญลักษณ์ของความขัดแย้งทางการเมือง" ที่บ่งชี้ถึง "ความเหลื่อมล้ำ" ระหว่างคนต่างจังหวัดกับเมืองหลวง

นอกจากนี้ การเมืองเรื่องน้ำยังเชื่อมโยงกับสิ่งที่ปวินเห็นว่าเป็นความพยายามทำงานเพื่อ "แข่งขัน" (อย่างดุเดือด) มิใช่ "ร่วมมือ" กับรัฐบาลเพื่อไทย ของ "ฝ่ายตรงข้าม" หลายกลุ่ม เมื่อผนวกกับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ให้นายกฯ หญิง ลาออก ด้วยเหตุผลว่าเธอทำงานผิดพลาดในการบริหารจัดการสภาวะน้ำท่วม ฝ่ายที่สนับสนุนรัฐบาลจึงตีความว่าบรรยากาศ "การแข่งขัน" แย่งชิงผลงาน และแรงกดดันให้ยิ่งลักษณ์ลงจากตำแหน่ง อาจเป็นส่วนหนึ่งของแผนการ "รัฐประหารด้วยน้ำ "


หลายคนอาจคล้อยตามหรือเห็นแย้งกับข้อสังเกตเหล่านี้ของปวิน ทว่าข้อสังเกตประการหนึ่งที่นักวิชาการจากสถาบันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษาแห่งสิงคโปร์ เขียนไว้อย่างน่าสนใจชวนขบคิด ก็คือ

"การไม่หยุดปัดแข้งปัดขาแม้ในสภาวะวิกฤตที่สุดของชาติ แสดงให้เห็นถึงความจริงข้อหนึ่งของประเทศไทย ที่ว่าความแตกแยกในสังคมไทยตอนนี้มันบาดลึกยากเยียวยาเสียจนทำให้ความเชื่อทางการเมืองอยู่เหนือความรับผิดชอบต่อสาธารณะและความฉุกเฉินในการเยียวยาประเทศได้ ประเทศไทยไม่ได้เป็นประเทศที่ประชาชนยินดีที่จะทิ้งความแตกแยกไว้ข้างหลังแล้วจับมือฟันฝ่ามหันตภัยไปด้วยกันอีกต่อไปแล้ว การอาศัยภัยพิบัติของชาติเพื่อกำจัดศัตรูทางการเมืองจึงกลายเป็นสิ่งที่ยอมรับได้ในปัจจุบัน"



ด้าน "สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล" อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เขียนบันทึกข้อความขนาดสั้นๆ ติดต่อกัน 3 ชิ้น ลงในเฟซบุ๊กส่วนตัว เมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มีเนื้อหาโดยสรุปว่า

น้ำท่วมระดับ "หายนะ" ไม่ได้ทำให้ความขัดแย้งทางการเมืองในช่วงหลายปีที่ผ่านมาจางหายไป มิหนำซ้ำ ความขัดแย้งดังกล่าวยังแสดงออกมาอย่างรุนแรงมากท่ามกลางสถานการณ์อุทกภัย โดยเฉพาะในสังคมระดับ "เมือง" และ "ออนไลน์" ทั้งหลาย

ยกตัวอย่างเช่น การที่มีอาจารย์จากมหาวิทยาลัยดังออกมาพูดเรื่อง "ต้องใส่เสื้อแดงถึงเข้าไปที่ ศปภ. ได้ " แล้วมีคนเชื่อเยอะมาก แม้ต่อมาสื่อหลายสำนักจะนำหลักฐานมาแสดงให้เห็นว่าเรื่องดังกล่าวไม่ใช่เรื่องจริงก็ตาม หรือการออกมาเชียร์ทหารพร้อมกับการด่านายกรัฐมนตรีไปด้วย เป็นต้น

สำหรับสมศักดิ์ ภาวะขัดแย้งท่ามกลางเหตุน้ำท่วม ก็ไม่ต่างจากวิวาทะเรื่อง "ข้อเสนอคณะนิติราษฎร์" ที่มีลักษณะเหมือน "พูดกันคนละภาษา คนละเรื่อง (คนละประเทศ)"

ซึ่งล้วนแสดงให้เห็นถึง "เส้นแบ่ง" ของ "ทวิอำนาจ" อันเป็น "สาเหตุ" พื้นฐานที่สุด ของรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 และวิกฤตการเมืองตลอดช่วง 5 ปีที่ผ่านมา


อย่างไรก็ตาม การเมืองแบบ "ทวิอำนาจ" ในปัจจุบัน มีลักษณะ "มวลชน" สูงทั้ง 2 ฝ่าย จึงไม่ใช่เรื่องของบุคคลระดับ "แกนนำ" ที่จะไปตกลงอะไรกันเองได้เฉยๆ แต่มีคนระดับธรรมดาๆ เข้ามามีส่วนร่วมเป็นจำนวนมาก

อาทิ คนเล่นเฟซบุ๊กจำนวนเป็นแสนเป็นล้าน หรือ ผู้ลงคะแนนเลือกพรรคเพื่อไทยและประชาธิปัตย์ที่ล้วนอยู่ในระดับสิบล้านคนเหมือนกัน

ถ้าในกรณีของประเทศตะวันตกจำนวนมาก การมีพรรคหรือ "ฟาก" การเมืองใหญ่ 2 ฟาก ซึ่งมีคนสนับสนุนเป็นจำนวนมากเช่นนี้ จะไม่นำไปสู่ปัญหาอะไร ใครชนะเลือกตั้งก็เป็นรัฐบาล ส่วนคนอีก 10 ล้าน ซึ่งอยู่ในฟากที่แพ้ ก็ไม่มีปัญหากับเรื่องดังกล่าว

แต่ปัญหาของสถานการณ์ประเทศไทยในปัจจุบัน ในทรรศนะของอาจารย์ประวัติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ มีลักษณะต่างออกไป เพราะความขัดแย้งที่กำลังเกิดขึ้นมีลักษณะเป็น "มูลฐาน" (fundamental)

ระหว่างการจะยอมรับอำนาจที่มาจากการเลือกตั้งเป็นอำนาจนำของประเทศ หรือจะยังคงยืนยันให้อำนาจที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง เป็นอำนาจนำของประเทศ

โดยปราศจาก "จุดร่วม" ที่จะ "ยอมรับร่วมกันได้" ในเรื่อง "มูลฐาน" เชิงอำนาจดังกล่าว

ดังนั้น แม้จะจัดให้มีการเลือกตั้ง และได้รัฐบาลแล้ว แต่ก็ไม่สามารถทำให้เกิดภาวะ "ปกติ" ขึ้นได้ แม้แต่วิกฤตหายนะระดับน้ำท่วมใหญ่ ก็ยังไม่สามารถทำให้ปัญหาความขัดแย้งลดความรุนแรงแหลมคมลงไปแต่อย่างใด

ยิ่งกว่านั้น สมศักดิ์ยังชี้ให้เห็นถึง "ข่าวร้าย" หรือ "เรื่องน่าเศร้า" ก็คือ ในประวัติศาสตร์ ไม่ว่าในประเทศไทยหรือประเทศไหนๆ เมื่อมีความขัดแย้งในลักษณะ "มูลฐาน" แบบนี้ เกิดขึ้น

ความขัดแย้งดังกล่าวจะลงเอยหรือ "ยุติ" ลงด้วยการที่ฝ่ายใด ฝ่ายหนึ่ง ต้อง "พัง" ลงไป

เช่น ความขัดแย้ง "มูลฐาน" ที่ยืดเยื้อเป็นเวลา 10-20 ปี ระหว่างรัฐไทย กับ ขบวนการปฏิวัติที่นำโดยพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) และแนวร่วมต่างๆ

ซึ่งสุดท้ายความขัดแย้งก็ยุติลงด้วยการที่ฝ่าย พคท. "พัง" ไป


"ไม่เคยมีการ 'ประนีประนอม' ที่ 'ลงตัว' ในลักษณะ 'แบ่งๆ กันไป ' ได้เลย เพราะความขัดแย้งมันมีลักษณะ "มูลฐาน" เกินกว่าจะ 'แบ่งๆ กันไป ' ได้ - อันนี้ ไม่ได้แปลว่า ต้อง 'รุนแรง' หรือ เปลี่ยนอย่างสันติ ไม่ได้นะครับ อย่างกรณีอัฟริกาใต้ ในที่สุด ระบอบ Apartheid (การปกครองด้วยนโยบายแบ่งแยกสีผิว - มติชนออนไลน์) ก็ 'พัง' ไป และ เปลี่ยนเป็น majority rule หรือ ระบอบปกครองโดยคนส่วนมาก ช่วง "เปลี่ยน" ก็เรียกว่า 'สันติ' แม้ว่า ก่อนหน้านั้น หลายสิบปี ก็เสียชีวิตผู้คนไปนับไม่ถ้วน"

คำถามสุดท้ายที่สมศักดิ์ทิ้งไว้กับสังคมไทย ที่กรุ่นไอความขัดแย้งยังคงปรากฏแม้ในช่วงน้ำท่วมหนัก ก็คือ

"ความขัดแย้งในปัจจุบัน จะ 'ยุติ' อย่างไร?"



++

แนะฝ่ายค้านพลิกวิกฤตน้ำท่วม
ในคอลัมน์ รายงานพิเศษ ข่าวสดรายวัน ฉบับวันเสาร์ที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 21 ฉบับที่ 7639 หน้า 3


ในสถานการณ์วิกฤตปัญหาน้ำท่วม นอกจากการรอคอย ตรวจสอบ จับตาการบริหารจัดการของรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว การช่วยกันคนละไม้คนละมือถือเป็นหน้าของทุกภาคส่วนในการสนับสนุนรัฐบาลแก้ปัญหาให้ลุล่วง การเคลื่อนไหวของฝ่ายค้านยามนี้ ทั้งการโจมตีรัฐบาลโดยที่ไม่มีข้อมูลข้อเท็จจริง การโจมตีนายกฯ เรื่องร้องไห้ จึงถูกวิพากษ์วิจารณ์


โคทม อารียา
ผอ.ศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล

บทบาทของฝ่ายค้านไม่ว่ายุคใด สมัยใด หรือว่าพรรคใดเป็นฝ่ายค้าน หน้าที่หลักก็คือต้องค้านการทำงานของรัฐบาล หากเห็นว่าไม่ถูกไม่ต้องก็ต้องค้านเป็นเรื่องปกติ แต่เรื่องส่วนตัวก็ไม่ควรนำมาโจมตีกัน นี่คือหลักการกว้างๆ ของการทำหน้าที่ฝ่ายค้าน

การทำหน้าที่ของฝ่ายค้านในภาวะเช่นนี้ ต้องมองว่าฝ่ายค้านมีสถานะใน 3 แบบ หนึ่งคือสถานะของส.ส.พื้นที่ ที่ต้องดูแลทุกข์สุขชาวบ้าน หาสิ่งของช่วยเหลือผู้ประสบภัยที่เดือดร้อนในพื้นที่ที่ตัวเองเป็นส.ส.

แบบที่ 2 คือการเป็นส.ส.ในสภาที่ต้องตั้งกระทู้ถามถึงการช่วยเหลือประชาชนของรัฐบาล และแบบสุดท้ายก็คือการทำหน้าที่ฝ่ายค้านในฐานะของนักการเมือง ที่จะค้านในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง

ส่วนการทำหน้าที่ฝ่ายค้านของพรรคประชาธิปัตย์ในช่วงนี้ ส่วนตัวยังมองว่าเป็นไปในทิศทางที่ดี ไม่ใช่การค้านแบบไร้เหตุผล แต่การแถลงหรือให้สัมภาษณ์ของสมาชิกพรรคบางคนก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง อาจมีการวิพากษ์วิจารณ์บ้างตามสไตล์ของนักการเมือง ประชาชนก็จะเป็นผู้ใช้วิจารณญาณตัดสินเอง

ตอนนี้ฝ่ายค้านก็ถือว่าทำหน้าที่ได้ดีในภาพรวม คือระมัดระวังคำพูด หรือการวิพากษ์วิจารณ์ช่วงที่เกิดน้ำท่วมใหญ่ขนาดนี้ โดยเฉพาะผู้นำฝ่ายค้านอย่างนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ถือว่าเป็นนิมิตหมายที่ดีของการเมืองไทย

หรือแม้แต่การทำงานร่วมกันระหว่างรัฐบาลของพรรคเพื่อไทย และกทม.ที่มี ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ที่เป็นคนของพรรคประชาธิปัตย์ก็ทำงานร่วมกันได้

แนวทางการทำงานของฝ่ายค้านในช่วงนี้อยากให้เน้นไปในด้านการค้านเชิงสร้างสรรค์ หรือการค้านด้วยการเสนอข้อมูลมากกว่า


พล.อ.เอกชัย ศรีวิลาศ
ผอ.สำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นถือเป็นช่วงวิกฤตที่ดูแล้วใครก็ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ ทำได้เพียงเป็นแค่การป้องกันปัญหา รัฐบาลทำได้เพียงให้บรรเทาลง

การทำงานของรัฐบาลในช่วงเหตุการณ์วิกฤต การช่วยเหลือของของรัฐบาลและหน่วยงานของรัฐย่อมเป็นที่สนใจของสื่อ ฝ่ายค้านอาจเห็นว่าบทบาทรัฐบาลจะได้รับการเสนอมากกว่า ก็ต้องหาวิธีช่วงชิงพื้นที่ทางหน้าสื่อบ้าง ขณะเดียวกันรัฐบาลก็ต้องแสดงให้เห็นว่ามีความตั้งใจทำงาน

วิธีการโจมตีและสร้างข่าวจึงเกิดขึ้นทั้งที่อาจไม่เป็นความจริง ภาพนายกฯ ทำงานอย่างเหน็ดเหนื่อย แต่พรรคฝ่ายค้านก็พยายามโจมตีโดยไม่คำนึงถึงเหตุวิกฤต จึงอยากให้ทุกฝ่ายร่วมมือกันทำงาน ช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่ประสบปัญหาน้ำท่วม

ส่วนตัวเห็นว่าการออกมาโจมตีของพรรคประชาธิปัตย์ไม่น่าจะแฟร์กับการทำงานของรัฐบาล เช่น โจมตีเรื่องของบริจาค ทั้งที่ข้อมูลยังไม่แน่ชัด ถือเป็นการมุ่งโจมตีกันมากกว่า

กระทั่งออกมาหาว่านายกฯ แก้ปัญหาไม่ตก เอาแต่ร้องไห้ ถือว่าไม่เป็นลูกผู้ชาย ช่วงวิกฤตเราต้องสามัคคีและให้กำลังในการทำงานที่หนักหนาสาหัสในขณะนี้ ไม่ใช่เพียงเพื่ออยากเล่นการเมืองให้ได้เป็นข่าว

การทำงานของนายกฯ ในยามนี้เราต้องรับรู้ว่าเหนื่อยและหนัก ดังนั้นควรให้กำลังใจและช่วยกัน หากมีข้อเสนอแนะก็บอกกล่าว ไม่ใช่ออกมาตีโพยตีพายกันทุกวันเพื่อให้ได้หน้าทางสื่อ

โฆษกประชาธิปัตย์ที่ออกมาโจมตีการทำงานของรัฐบาลทุกวัน ผมว่าไม่น่าจะเป็นสุภาพบุรุษ

คำแนะนำให้พรรคฝ่ายค้านคงไม่มีอะไรดีกว่าจะช่วยกัน และร่วมมือกันทุกฝ่ายเพื่อทำงานให้หนัก คิดให้รอบคอบเพื่อทำให้ปัญหาวิกฤตผ่านพ้นไป

สถานการณ์ตอนนี้ทุกฝ่ายถ้าร่วมกันทำงานก็จะช่วยให้กรุงเทพฯ เราผ่านพ้นวิกฤตได้อย่างรวดเร็ว เราอย่ามาเล่นการเมืองในเวลานี้เลย


ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ
อดีตอาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์การเมือง จุฬาฯ

ช่วงวิกฤตที่บ้านเมืองกำลังเดือดร้อนจากปัญหาน้ำท่วมอย่างรุนแรงเช่นนี้ อย่ามัวแต่แบ่งข้าง แบ่งฝักแบ่งฝ่ายกันอยู่อีกเลย เพราะไม่ว่าจะเป็นฝ่ายไหน ทุกคนล้วนมีตำแหน่ง มีอำนาจหน้าที่ที่จะช่วยกันจัดการปัญหาได้

ถ้าพูดในมุมการเมือง ส.ส.หรือรัฐมนตรีไม่ใช่ตัวแทนของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่ส.ส. หรือข้าราชการทางการเมืองทุกคนคือ ตัวแทนของประชาชนทั้งประเทศ จึงควรจะออกมาหาทางออกให้กับประชาชนด้วยกัน หาข้อคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ หาคนที่เหมาะสมออกมาแก้ปัญหา

แม้วันนี้จะแก้ไขปัญหาได้ไม่ทันท่วงทีนัก แต่ส.ส.ที่จะมาทำหน้าที่แทนรัฐบาลก็ควรออกมาหาช่องทางในการบรรเทาทุกข์ให้กับประชาชน ไม่ใช่มัวแต่มานั่งทะเลาะกัน จนละเลยปัญหาที่เกิดกับประชาชนโดยตรง

สื่อมวลชนต่างประเทศเขามองว่าการเมืองบ้านเราเป็นการเมืองส่วนตัวไปแล้ว เราควรจะพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสโดยการช่วยกันสู้รบกับธรรมชาติ และหยุดพูดว่าใครเป็นฝ่ายไหน

ผมไม่ได้มองว่าใครผิดถูก แต่มองว่าสถานการณ์บ้านเมืองจะดีขึ้นได้ต้องมาจากความร่วมมือของคนทุกฝ่ายมากกว่า แล้วก็ควรมีนิติบุคคลที่เชี่ยวชาญ บัญญัติกฎหมายออกมาชี้แนะช่องทางโดยคำนึงถึงประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก


มนตรี สินทวิชัย
เลขาธิการมูลนิธิคุ้มครองเด็ก อดีตส.ว.

การที่ฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านกำลังแย่งชิงพื้นที่ข่าวกันนั้น เป็นการสร้างความสับสนและความตื่นตระหนกให้กับประชาชน เรื่องแบบนี้อยู่ในสายตาประชาชน ต้องไปดูว่าที่ผ่านมาใครเป็นผู้ที่จะแย่งซีน และแย่งอย่างไร

วิกฤตครั้งนี้ประเทศไทยต้องการสร้างความปรองดอง ขณะที่ทั้ง 2 ฝ่ายพยายามบี้กันทางการนำเสนอข่าว โดยเฉพาะอินเตอร์เน็ต ซึ่งออกมาใส่กันไม่ยั้งทั้งที่เป็นเรื่องจริงบ้าง ไม่จริงบ้าง ซัดกันนัวเนีย ตรงนี้ถือว่าไม่เหมาะสม

จริงๆ แล้วน่าจะมีการแนะนำ พูดคุยและร่วมกันแก้ปัญหาให้เกิดความหวังเพื่อจะได้ฝ่าวิกฤตตรงนี้ คลายความวิตกกังวลของประชาชน ไม่ใช่ออกมาเพื่อให้ได้เพียงพื้นที่ข่าวและประชาชนไม่ได้รับอะไร เพราะประชาชนเป็นผู้เสพข่าวที่รอคอยความช่วยเหลือ

ตอนนี้ต้องยุติอย่าใส่ร้ายทำลายกัน อย่าทำสงครามน้ำลาย อย่าเล่นการเมือง ควรจะมาร่วมมือร่วมใจ มีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาร่วมกัน

อยากเรียกร้องให้ปรองดองแม้จะเป็นเรื่องไม่ง่าย

เรื่องแจกของหากเห็นว่ามีข้อเท็จจริง ทำจริง ก็ว่ากล่าวตักเตือนเลย วันนี้เราต้องเอาความจริงมาพูดกัน ไม่ใช่ใช้เวทีสื่อมาอัด มาเล่นการเมืองเพื่อแย่งชิงพื้นที่ข่าว ประชาชนจะได้อะไร

เช่น การกั๊กสิ่งของบริจาคถ้าเป็นความจริงมันปิดกันไม่มิด หรือเห็นจริงก็เข้าไปตักเตือน เช่นเดียวกันกรณีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านที่เดินทางไปเกาะมัลดีฟส์ ก็ไม่จำเป็นต้องปิดบังหรือโกหก

เมื่อบอกว่าไปดูงานเพื่อไปศึกษาเรื่องแก้ไขน้ำท่วม ก็เป็นเรื่องดี แต่ต้องพูดความจริงกับประชาชน เพราะคนที่ฟังข่าว ดูสื่อ ก็อยากจะรู้ว่าเมื่อไปพบผู้นำมัลดีฟส์และได้รับคำแนะนำเรื่องการแก้ปัญหาน้ำท่วมจากผู้เชี่ยวชาญมาแล้ว ได้รับคำแนะนำมาอย่างไร

ผมอยากให้รัฐบาล ภาคการเมือง ภาคเอกชน ทำให้ประชาชนเกิดความเชื่อมั่นในการแก้ปัญหา ทำให้ประชาชนรู้สึกมีความหวังอย่างจริงจัง



+ + + +

สำลักทฤษฎี
โดย สุริวงค์ เอื้อปฏิภาน คอลัมน์ สถานีคิดเลขที่ 12
ในมติชน ออนไลน์ วันศุกร์ที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2554 เวลา 19:00:00 น.


ความเครียดที่ปกคลุมไปทั่วสังคมไทยโดยเฉพาะต่อชาวกรุงเทพฯ ในวิกฤตน้ำท่วมร้ายแรง ส่วนหนึ่งมาจากการเผยแพร่ข้อมูลที่ขาดการกลั่นกรอง ด้วยท่วงทำนองเร่งรีบ เอาเร็ว กลายเป็นยิ่งช่วยกันขยายความแตกตื่นตกใจให้เตลิดไปกันใหญ่

ส่วนหนึ่งเป็นเพราะรัฐบาลเอง ไม่สามารถมีศูนย์ข้อมูลข่าวสารที่ประชาชนยึดเป็นหลักได้ดีพอ

เลยเป็นจุดอ่อนให้กระบวนการข่าวลือเข้าโจมตีสังคมไทยได้ง่ายๆ ทั้งลือตามธรรมชาติ และทั้งลืออย่างเป็นขบวนการ


เมื่อปีที่แล้ว ครอบครัวไทยมีปัญหาภายในบ้าน อันเนื่องจากความคิดต่างสี

วันนี้หลายครอบครัวเบื่อหน่ายที่จะพูดคุยกัน คนหนึ่งกระต่ายตื่นตูม อีกคนใจเย็นเป็นน้ำแข็งเกินไป

นั่นก็เป็นตัวสะท้อนปัญหาความเครียดและการเสพข้อมูล

เช่นเดียวกับงานประชาสัมพันธ์ของรัฐบาลและหน่วยราชการอย่าง กทม.

ตอนแรกๆ ก็เน้นปลอบโยน เชื่อว่าคงไม่ท่วมแน่ เชื่อว่าป้องกันได้แน่

ผลสุดท้ายความมากมายของปริมาณน้ำ จึงทำให้การสกัดกั้นป้องกันล้มเหลวโดยตลอด

ชาวบ้านจึงเริ่มไม่ไว้วางใจ

เดี๋ยวนี้มีสัญญาณที่ไม่ค่อยดีนิดหน่อย จะสั่งให้ประชาชนอพยพไว้ก่อนในทันที

สั่งแบบนี้ไม่พลาดแน่

กล่าวกันว่าประเทศไทย ไม่เคยเผชิญกับพิบัติภัยร้ายแรงขนาดนี้มาก่อน จึงไม่เคยมีแผนแม่บทรองรับอย่างชัดเจน

รัฐบาลยิ่งลักษณ์เลยไม่สามารถโชว์ศักยภาพให้ประชาชนสบายใจได้


ในสภาพเช่นนี้เอง จึงเกิดความคิดเห็นในการแก้ปัญหาน้ำอย่างหลากหลาย จากนักคิดนักวิชาการ ไปจนถึงกลุ่มองค์กรเอกชน เข้ามามีบทบาทมากขึ้น

อาจารย์หลายคนกลายเป็นดาวดวงใหม่ในสังคมไทยยุคน้ำท่วมท้น

แน่นอนว่า ถ้ารัฐบาลและ ศปภ.เอาแต่ปฏิเสธความคิดที่แปลกใหม่จากคนวงนอก ก็จะทำให้มืดแคบ ไม่สามารถแก้ไขปัญหาให้ประชาชนได้ดีพอ

ระบบราชการในกรม ในกระทรวงที่รับผิดชอบปัญหาน้ำ บางครั้งก็คร่ำครึเกินไป

แต่สำหรับประชาชนที่ทุกข์กับน้ำมากอยู่แล้ว ก็อย่าเพิ่งสร้างความทุกข์ให้ตัวเองเพิ่มขึ้น ด้วยการรีบร้อนไปเชื่อในข้อเสนอที่หลากหลาย

แล้วพลอยไม่พึงพอใจว่ารัฐบาลทำไมไม่ยอมทำตาม

ต้องไม่ลืมว่า บางครั้งทฤษฎีมากเกินไป ใช้ทฤษฎีวิทยาศาสตร์ล้วนๆ ก็ไม่สอดรับกับธรรมชาติที่เป็นจริง

ยิ่งในยุคที่สามารถสืบค้นข้อมูลทางอินเตอร์เน็ตได้มากมาย ดึงภาพถ่ายดาวเทียมมาดูกันได้ทุกแง่มุม ก็มิได้หมายความว่า คนที่กวาดดูดข้อมูลได้มาก จะกลายเป็นคนเก่งกาจมากฝีมือ

เหมือนกับที่วงการตำรวจไทยเคยปั่นป่วนอยู่พักหนึ่ง เพราะจู่ๆ มีหมอดึงเอาทฤษฎีวิทยาศาสตร์มาอธิบาย ดูดีน่าเชื่อถือกว่าตำราสืบสวนสอบสวนแบบไทยๆ

สังคมก็พลอยฮือฮายกเป็นฮีโร่ ก่นด่าตำรวจว่าล้าหลัง ทำงานไม่ตรงไปตรงมา มีประโยชน์แอบแฝง

จนมากระจ่างกันในภายหลังว่า ทฤษฎีสืบสวนแบบหมอ แบบนักนิติวิทยาศาสตร์นั้น ก็ลอกมาจากหนังสารคดี หนังชุดที่แต่งเติมเป็นนิยายทางเคเบิลทีวีนั่นเอง


จริงอยู่รัฐบาลและ ศปภ.ต้องรับฟังความคิดของนักวิชาการในการแก้น้ำท่วม

แต่สำหรับชาวบ้าน อย่าเพิ่งไปหลงใหลไม่ไตร่ตรอง

สำลักน้ำก็พอแล้ว อย่าสำลักทฤษฎีอันทะลักล้นบนคลื่นน้ำท่วมอีกเลย



+ + + +

ชะตากรรม รัฐบาล มาด้วย "ไฟ" ไปด้วย "น้ำ" รัฐบาล "ยิ่งลักษณ์"
คอลัมน์ รายงานพิเศษ
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1628 หน้า 8


มีทั้งความเหมือนและความต่างระหว่างรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กับ รัฐบาล นายปรีดี พนมยงค์ ต่อเนื่องไปยังรัฐบาล พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์

เหมือนตรงที่ประสบ "วิกฤต" อันเนื่องแต่ความขัดแย้ง แตกแยก

ต่างก็เพียงแต่ว่ารัฐบาล นายปรีดี พนมยงค์ ต่อเนื่องไปยังรัฐบาล พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ สะสมความขัดแย้ง แตกแยก มาจากสงคราม

เป็นสงครามมหาอาเซียบูรพา เป็นสงครามโลกครั้งที่ 2

คู่ความขัดแย้ง 1 คือ ระหว่างรัฐบาล นายปรีดี พนมยงค์ ต่อเนื่องไปยังรัฐบาล พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ กับ พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นฝ่ายค้าน

คู่ความขัดแย้ง 1 คือ ระหว่างรัฐบาล นายปรีดี พนมยงค์ ต่อเนื่องไปยังรัฐบาล พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ กับ ผู้ทรงอำนาจทางการทหารตั้งแต่ก่อนและระหว่างสงคราม อันมี จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นผู้นำ

ขณะที่รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กำลังประสบอยู่ในขณะนี้ คือ คู่ความขัดแย้งกับพรรคประชาธิปัตย์ และคู่ความขัดแย้งกับขบวนการรัฐประหารที่เคยมีบทบาทเป็นอย่างสูงนับแต่เดือนกันยายน 2549 เป็นต้นมา

ความเหมือนอยู่ที่รัฐบาล นายปรีดี พนมยงค์ ต่อเนื่องไปยังรัฐบาล พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ มีขบวนการเสรีไทยเป็นสายล่อฟ้า

ขณะที่รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มีกลุ่มคนเสื้อแดงเป็นสายล่อฟ้าทางการเมือง


สถานการณ์หลังสงคราม ทำให้รัฐบาล นายปรีดี พนมยงค์ ต่อเนื่องไปยังรัฐบาล พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ยากลำบากอย่างยิ่งในการฟื้นเศรษฐกิจของประเทศเพราะสงครามก่อให้เกิดภาวะขาดแคลนอาหารการกิน

จุดอ่อนนอกเหนือจากการขึ้นสู่อำนาจของเสรีไทยอันเป็นที่เขม่นเป็นอย่างมาก ยังเป็นการผงาดขึ้นมาของรัฐมนตรี "บ้านนอก" จากภาคอีสาน

คนเหล่านี้เป็นพวก "ตีนหนา" เมื่อเทียบกับพวก "ตีนบาง" อย่างพรรคประชาธิปัตย์

การโจมตีรัฐมนตรีจากภาคอีสานเหมือนคางคกขึ้นวอจึงกระหึ่มขึ้น ประสานกับการโจมตีเรื่องทุจริตคอร์รัปชั่น คำว่า "กินจอบกินเสียม" เป็นวาทกรรมในการบ่อนทำลายพวกรัฐมนตรีจากภาคอีสานและเหล่าเสรีไทยที่ได้ดิบได้ดีทางการเมือง

เหมือนกับกระหึ่มแห่งการโจมตีการโดดเด่นขึ้นมาของ "คนเสื้อแดง" โดยมี นายจตุพร พรหมพันธุ์ และ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เป็นเป้าหมายใหญ่ แล้วก็โยงไปยังรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และพรรคเพื่อไทย

แม้กระทั่งภายในพรรคเพื่อไทยก็มีการกีดกันและใส่ร้าย "คนเสื้อแดง"



ปัญหาของรัฐบาล นายปรีดี พนมยงค์ ต่อเนื่องไปยังรัฐบาล พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ลงเอยด้วยการถูกรัฐประหารในเดือนพฤศจิกายน 2490

จากการโจมตีกล่าวหาในเรื่องทุจริตคอร์รัปชั่น

จากการโจมตีกล่าวหาในเรื่องกรณีสวรรคต และความพยายามเปลี่ยนประเทศไปสู่ระบบสาธารณรัฐ

ปัญหาของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แทบไม่แตกต่างไปจากเมื่อปี 2490 มากนัก

เพียงแต่วิกฤตนอกจากจะมีพื้นฐานมาจากการต่อต้าน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อันเป็นชนวนนำไปสู่รัฐประหารเดือนกันยายน 2549 แล้ว

ยังมีวิกฤตอันเนื่องจากปัญหาอุทกภัยใหญ่หลวงมหาศาลในเดือนตุลาคม 2554


มีการเสนอคำขวัญ รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มาด้วย "ไฟ" และ รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จะไปด้วย "น้ำ"

เป็นจริงหรือไม่ อีกไม่นานน่าจะมีคำตอบ



.

2554-10-28

ประสานวิกฤติให้เป็นโอกาส, อาชีวะอาสา โดย เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์, +ปฏิบัติการกู้ชีวิตที่ชิลี โดย เพ็ญศรี เผ่าเหลืองทอง

.

ประสานวิกฤติให้เป็นโอกาส
โดย เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์ คอลัมน์ วางบิล
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1627 หน้า 33


นัยว่าสถานการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้นเป็นความเดือดร้อนต่อประชาชนหลายสิบจังหวัด ตั้งแต่ภาคเหนือที่จบสิ้นไปแล้ว ลงมาภาคกลาง โดยเฉพาะที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา อ่างทอง นครสวรรค์ ชัยนาท ลพบุรี และเมื่อต้นสัปดาห์ถึงปลายสัปดาห์นี้ กรุงเทพมหานครก็ประสบภาวะน้ำล้นตลิ่ง ไม่รู้ว่าจะท่วมในพื้นที่มากน้อยเพียงใด

ระหว่างที่ความเดือดร้อนแผ่ขยายไปทั่ว ผู้ที่ต้องลงไปบัญชาการช่วยเหลือนับแต่รัฐบาลคือนายก รัฐมนตรีซึ่งจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบภัยขึ้นที่ท่าอากาศยานกรุงเทพ ดอนเมือง และรัฐมนตรีทุกคน ตลอดจนข้าราชการทุกระดับ ยังมีพี่น้องประชาชนที่ไม่ได้รับความเดือดร้อนอาสาสมัครเข้าไปช่วยอีกจำนวนมากในแต่ละวันเวลาตลอด 24 ชั่วโมง

การให้ความช่วยเหลือผู้ประสบความเดือดร้อนเนื่องจากน้ำท่วมมีหลายรูปแบบ เพราะความเดือดร้อนที่เกิดขึ้นมิได้เกิดเฉพาะบุคคลกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เพศ หรือห้วงอายุ แต่เกิดความเดือด้รอนไปทั่วทั้งลูกเล็กเด็กแดงหนุ่มสาว ผู้เฒ่าผู้แก่ ไปจนผู้เจ็บไข้ได้ป่วย

การช่วยเหลือ มิได้มีเฉพาะสิ่งของที่ขาดแคลน เพราะเมื่อน้ำท่วมไหลหลากพัดพาสิ่งของเครื่องใช้ไปกับกระแสน้ำ ชีวิตประจำวันของผู้ได้รับความเดือดร้อนก็ต้องขาดแคลนและมีผลกระทบไปด้วย

นับแต่การใช้ชีวิตประจำวันปกติตั้งแต่ตื่นนอน กระทั่งเข้านอน



ภารกิจประจำวันประการสำคัญที่สุด คือเมื่อต้องรับอาหารและน้ำเข้าสู่ร่างกาย เมื่อร่างกายจัดการให้เป็นไปตามระบบเรียบร้อยที่สุดคือการขับถ่าย

การขับถ่ายน้ำสำหรับผู้ชายและเด็กไม่สู้กระไร แต่กับผู้หญิง โดยเฉพาะผู้สูงอายุ ยามปกติไม่ใช่เรื่องยาก แต่ยามวิกฤติ อย่าว่าแต่ขณะน้ำท่วมบ้านอย่างนี้ แม้แต่การเดินทางปกติก็ลำบากไม่น้อย

องค์ประกอบสำคัญของการช่วยเหลือเร่งด่วน โดยเฉพาะผู้ที่ต้องอพยพหนีน้ำออกไปอาศัยในหลายพื้นที่ หลายแห่งใช้เกาะกลางถนนเป็นที่พักพิง หรือแม้แต่อยู่ในบ้านที่น้ำท่วมชั้นล่าง อยู่แต่ชั้นบนสิ่งที่ต้องการที่สุดคือ "ห้องระบายทุกข์" หรือห้องน้ำ แล้วแต่จะเรียก

เท่าที่ร่วมเดินทางไปมอบสิ่งของให้กับผู้ถูกน้ำท่วมขัง สิ่งสำคัญที่ชาวน้ำท่วมอยากได้คือ "ส้วม"

หลายพื้นที่จัดส้วมสำเร็จรูปลอยน้ำให้ชาวบ้านที่อยู่กันจำนวนหนึ่งใช้ร่วมกัน เป็นห้องน้ำรวม

เมื่อน้ำท่วมบางพื้นที่ครั้งก่อน บริษัท ปูนซิเมนต์ไทยประดิษฐ์ส้วมกระดาษสำหรับใช้ขับถ่าย นับเป็นนวัตกรรมที่ใช้ได้ในบ้านไม่ถูกน้ำท่วมมาก เช่นเดียวกับคราวนี้ มีส้วมเคลื่อนที่ลอยน้ำสำเร็จรูปมิดชิดไปลอยน้ำใกล้ที่อาศัยหลายแห่ง ทำให้คลายความเดือดร้อนไปได้ระยะหนึ่ง

ต่อมาคือสิ่งของเครื่องใช้ที่จำเป็น โดยเฉพาะผู้หญิง คือผ้าอนามัย หลายบริษัทจัดส่งผ้าอนามัยไปให้ตามศูนย์ช่วยเหลือหลายศูนย์ เมื่อ

ก่อนคิดว่าเป็นของใช้ส่วนตัว แต่วันนี้จะไปหาซื้อที่ไหนได้สะดวก รู้ไหม หากไม่มีผู้บริจาค และไม่รับบริจาค

ในส่วนความจำเป็นสำหรับชีวิตประจำวันในภาวะน้ำท่วม นอกจากอาหารการกินแล้ว ส่วนที่ต้องการยังมีที่นอนหมอนมุ้ง ไม่ใช่เพื่อความสะดวกสบาย ที่นอนนุ่ม หมอนกอด แต่ต้องการเพื่อใช้มุ้งกันยุง ขณะที่ไม่ได้อยู่ในมุ้งช่วงค่ำ แน่นอนว่า ที่ใดมีน้ำท่วมขัง ที่นั่นย่อมเกิดยุง

ยาทากันยุงจึงนับว่าจำเป็นไม่แพ้ยาอย่างอื่น อาจจำเป็นยิ่งกว่า เพราะต้องใช้ทุกวันทุกค่ำ



ปัญหาที่ต้องเร่งคิดและหาทั้งงบประมาณ วัสดุอุปกรณ์ และกำลังคนในขณะนี้ คือการประกอบอาหารในพื้นที่ เพราะการนำข้าวสารอาหารแห้งไปบริจาค หากผู้ที่ยังมีอุปกรณ์ประกอบอาหารได้ก็พอช่วยเหลือตัวเองได้ แต่กับผู้ที่ไม่สามารถดำเนินการเองได้ อาหารปรุงสำเร็จ ณ ขณะนั้นจะมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ดังที่ นายประพัฒน์ โพธิสุธน อดีตรัฐมนตรีและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัสุพรรณบุรี จัดตั้งครัวเคลื่อนที่ขึ้น ใช้ชื่อว่าครัวต่างแดน เป็นโรงครัวเคลื่อนที่บนรถเทลเลอร์ขนาดใหญ่ 5 เตาอยุ่บนรถ ใช้เป็นครัวประกอบอาหารสดสำเร็จรูปวันละ 10,000 ที่ หรือถุง แจกจ่าย 2 มื้อ คือมื้อเที่ยงกับมื้อเย็น

คุณประพัฒน์บอกว่าได้รับเงินบริจาคมาจากพี่สาว 5 แสนบาท จึงจัดตั้งครัวเคลื่อนที่ขึ้น ได้ผลดีอย่างมาก

อย่างน้อยผู้ที่เดือดร้อนจากน้ำท่วมมีอาหารกินวันละ 2 มื้อ



ระหว่างน้ำท่วม คงทำอะไรไม่ได้มากนัก เพราะต่างคนก็ต่างต้องพาชีวิตให้รอดพ้น และดิ้นรนไปจากความเดือด้รอนเท่าที่จะทำได้

แต่หลังจากน้ำลดลงแล้วนี่ซิ คือปัญหาใหญ่ที่ทุกคน โดยเฉพาะรัฐบาลต้องจัดการให้ดีให้ได้

ส่วนงานหนึ่งที่สำคัญ คือกระทรวงศึกษาธิการซึ่งมีกำลังช่างสำคัญคือส่วนของนักศึกษาอาชีวศึกษาทุกแผนก นับตั้งแต่งาน ช่างไม้ ช่างก่อสร้าง ช่างยนต์ ช่างไฟฟ้า รงวมไปถึงงานการเกษตรกรรม คหกรรม

วันนี้ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาต้องเรียกประชุมผู้รับผิดชอบทุกวิทยาลัยอาชีวศึกษา ไม่ว่าจะเป็น ช่างไม้ ช่างเฟอร์นิเจอร์ ช่างไฟฟ้า ช่างเครื่อง ช่างยนต์ รวมไปถึงนักศึกษาเกษตร กรรม คหกรรม และอีกหลายแขนง ให้ระดมสรรพกำลังนักศึกษาลงไปร่วมกันฟื้นฟูและซ่อมสร้างให้ความเสียหายนั้นกลับคืนมา แม้ไม่ดังเดิมก็ขอให้ใช้การได้ในระยะหนึ่งไปพลางก่อน

ประการสำคัญ ไม่เพียงแต่นักศึกษาอาชีวศึกษา ซึ่งเป็นแรงงานฝีมือระดับดีเท่านั้น ยังต้องขอให้เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาระดมสมองและความคิดกับการควบคุมดูแลจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลทุกแห่งที่มีวิชาทั้งสถาปัตยกรรม วิศวกรรม คหกรรม และบางแขนงวิชาที่เกี่ยวข้อง เช่นเดียวกับมหาวิทยาลัยทุกแห่งที่มีคณะวิชาดังกล่าว

ขณะนี้ โดยเฉพาะหลังภาวะน้ำท่วม นับเป็นโอกาสอันดีที่แนวทางความคิดของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ วรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล จะบรรลุวัตถุประสงค์ในการให้มหาวิทยาลัยเป็นพี่เลี้ยงอาชีวศึกษาเพื่อเอื้อประโยชน์ทางวิชาการกับปฏิบัติการเข้าด้วยกัน

ลำพังการปฏิบัติการใดจะให้ลุล่วงไปด้วยดีได้ หากไม่มีวิชาการนำ หรือวิชาการเป็นแนวทางชี้นำ การปฏิบัติการนั้นก็ไม่สามารถลุล่วงไปด้วยดีได้

สถานการณ์น้ำท่วมครั้งนี้ จึงเป็นโอกาสที่จะพลิกฟื้นวิกฤติให้เป็นโอกาส โดยเฉพาะทางการศึกษา เพื่อให้มหาวิทยาลัยซึ่งเป็นแหล่งสรรพกำลังทางวิชาการ มีคณาจารย์และนิสิตนักศึกษาที่เก่งทางความคิดความอ่าน ประสานสัมพันธ์กับการอาชีวศึกษาที่มีนักศึกษาเก่งทางแรงงานฝีมือ และร่ำเรียนมาโดยตรง จะได้เรียนรู้และปฏิบัติการตามแนวทางวิชาการได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ไม่ลองแล้วจะรู้ได้อย่างไร จริงไหมท่านรัฐมนตรี



++

อาชีวะอาสา
โดย เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์ คอลัมน์ วางบิล
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1628 หน้า 30


สภาวะน้ำท่วมขังยังหลั่งไหลลงจากเมืองบนมาเมืองล่างอย่างต่อเนื่อง สัปดาห์นี้และสัปดาห์หน้า กรุงเทพมหานคร ไข่แดงของประเทศต้องเป็นพื้นที่รองรับปริมาณน้ำกับเขาด้วย เพราะเป็นพื้นที่น้ำจากเหนือผ่านลงทะเลจาก 3 แม่น้ำสายหลัก ตั้งแต่แม่น้ำเจ้าพระยา เป็นสายกลาง แม่น้ำท่าจีน แม่กลอง ฝั่งตะวันตก และแม่น้ำบางปะกง ฝั่งตะวันออก ซึ่งยังมีคลองอีกสองสามคลองซึ่งช่วยผันน้ำไปลงแม่น้ำส่งออกทะเลต่อไป

น้ำท่วมขังสร้างความเดือดร้อนให้กับผู้ที่ประสบภัยจำนวนมาก ทำให้ต้องหาที่พักพิงชั่วคราว โรงเรียนและวิทยาลัยอาชีวศึกษาหลายแห่งต้องเปิดเป็นที่พักพิงชั่วคราว

ขณะนี้สถาบันการศึกษายังไม่เปิดภาคเรียน ขณะที่กระทรวงศึกษาธิการเลื่อนกำหนดเปิดภาคเรียนออกไปสำหรับโรงเรียนในพื้นที่น้ำท่วมขัง

สถานการณ์เช่นนี้ เป็นเวลาของการสร้างจิตสาธารณะ และอาสาสมัครของนักเรียนนิสิตนักศึกษาได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะนักศึกษาอาชีวศึกษาสังกัดโรงเรียนที่พักพิงชั่วคราว

นักศึกษาที่ไม่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม เมื่อสถาบันที่ตนศึกษาเปิดเป็นที่พักพิงชั่วคราว สมควรที่จะเข้าไปเป็นอาสาสมัครช่วยเหลือผู้ที่เข้าไปพักพิง

โดยเฉพาะวิทยาลัยอาชีวศึกษาที่มีการเรียนการสอนวิชาคหกรรม



เมื่อสัปดาห์ก่อนว่าถึงเรื่องครัวเคลื่อนที่ไปบ้างแล้ว สัปดาห์นี้เห็นว่า ในบรรดาสถานที่พักพิงชั่วคราวของผู้ได้รับความเดือดร้อนจากน้ำท่วม น่าจะต้องอาศัยอยู่ในสถานที่นั้นไปอีกสองสามสัปดาห์เป็นอย่างน้อย ก่อนที่ระดับน้ำในพื้นที่จะลดลงเป็นปกติให้เจ้าของบ้านกลับเข้าไปอยู่อาศัยต่อไปได้

ระหว่างที่พักพิงในศูนย์อพยพชั่วคราว ข้าวของเครื่องใช้ส่วนหนึ่งที่ได้รับมาคือข้าวสารอาหารแห้ง

ปัญหามีอยู่ว่า หากต่างคนต่างหุงหาอาหารในแต่ละมื้อของตัวเอง ความสะดวกคงมีไม่มากนัก

จึงเห็นว่าน่าจะจัดตั้งเป็นโรงครัว มีอาหารให้รับประทานกับ 3 มื้อตามปกติ

เพราะข้าวสารอาหารแห้งมีผู้บริจาคจำนวนมากอยู่แล้ว หากนำมารวมกัน แล้วมีนักศึกษาอาชีวศึกษาที่เรียนมาทางคหกรรมเข้าไปช่วยทำครัวรวมร่วมกันผู้พักพิงก็น่าจะเป็นไปได้

สำหรับที่พักพิงในวิทยาลัยอาชีวศึกษาให้ใช้นักศึกษาจากวิทยาลัยแห่งนั้น เว้นแต่วิทยาลัยอาชีวศึกษาแห่งนั้นไม่มีวิชาคหกรรม ก็ขอให้นักศึกษาจากวิทยาลัยอาชีวศึกษาอื่นซึ่งไม่ได้เป็นที่พักพิงอาสาสมัครเข้าไปดำเนินการก็ได้ เช่นเดียวกับที่พักพิงแห่งอื่น เช่นในโรงเรียน

บรรดาสิ่งของเครื่องใช้ที่มีผู้บริจาคจำนวนมาก ณ วันนี้คงมากพอในการกระจายออกไปแล้วกระมัง ส่วนกับข้าวกับปลาที่จะใช้เป็นเครื่องประกอบอาหาร เนื่องจากเป็นของสด หากสถานที่พักพิงมีเป็นกิจจะลักษณะ โดยเฉพาะโรงครัว เช่นเดียวกับการตั้งโรงครัวในงาน หรือที่มูลนิธิปอเต็กตึ๊ง มูลนิธิร่วมกตัญญู และมูลนิธิประเภทเดียวกันในหลายจังหวัดเคยตั้งโรงครัวเมื่อมีเหตุร้ายเกิดขึ้น เช่น ไฟไหม้ เป็นต้น ก็ควรจะมีผู้บริจาคของสด เช่น ผัก เนื้อสัตว์ หรือแม้แต่การที่ผู้ได้รับความเดือดร้อนจากน้ำท่วมช่วยกันออกไปตกปลามาร่วมประกอบอาหาร ก็จะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้เขาเหล่านั้นมีอาหารการกินอย่างน้อยอิ่มท้องครบมื้อ

ขณะนี้ ในจังหวัดที่ได้รับความเดือดร้อนจากอุทกภัยตั้งแต่เมื่อเดือนก่อนมาแล้ว หลายพื้นที่เหล่านั้นน้ำเริ่มลดลงไปเกือบเป็นปกติ เช่น จังหวัดนครสวรรค์ แน่นอนว่า ทางจังหวัด เช่น องค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล และส่วนราชการจังหวัด รวมถึงเจ้าของร้าน เจ้าของกิจการ เจ้าของบ้าน อยู่ระหว่างช่วยกันทำความสะอาดถนนหนทาง อาคารสถานที่ ทั้งในบ้านและนอกบ้าน

เพื่อให้ภาวะเศรษฐกิจของจังหวัดนครสวรรค์ฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว สมควรที่บรรดาอาสาสมัครทั้งจากวิทยาลัยอาชีวศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์ ควรร่วมกันเป็นอาสาสมัครด้วยจิตสาธารณะช่วยกันระดมสรรพกำลังฟื้นฟูบูรณะเมืองนครสวรรค์และปากน้ำโพให้กลับฟื้นคืนมาเป็นดั่งชื่อเพลงที่มีมานานแล้วว่า "เมืองแมนแดนสวรรค์" ซึ่ง สมยศ ทัศนพันธุ์ เป็นผู้ร้องไว้หลายสิบปีแล้ว ดุจเดิม

ใครจำได้บ้างเอ่ย



ในอีกหลายส่วนของความเสียหายจากเหตุอุทกภัยครั้งนี้ หมู่บ้านหลายแห่งได้รับความเดือดร้อนจากน้ำท่วมฉับพลันกลางดึก แม้จะเตรียมตัวตั้งแต่กลางวันแล้ว แต่การย้ายสิ่งของเครื่องใช้ขึ้นที่สูง ชั้นสอง ไม่อาจขนย้ายได้หมด ทั้งเฟอร์นิเจอร์ ทั้งเครื่องใช้ไฟฟ้า เช่นตู้เย็น ต้องปล่อยให้เสียหายจมน้ำ รวมไปถึงรถยนต์หลายคันที่บางคนเพิ่งออกรถป้ายแดงมาเพื่อใช้งาน เพิ่งผ่อนงวดแรกกระมัง ต้องจมเสียหายอยู่ใต้น้ำ

หลังน้ำทยอยลดลงในแต่ละพื้นที่ เพื่อให้ความเดือดร้อนครั้งนี้เป็นการร่วมกันแสดงพลังแห่งความสามัคคี ว่าคนไทยทุกวัย โดยเฉพาะวัยรุ่นที่ร่ำเรียนทางอาชีวศึกษาเป็นผู้มีจิตอาสาสาธารณะแท้จริง คือการที่นักศึกษาเหล่านั้นตั้งกลุ่มในลักษณะการช่างเข้าไปช่วยซ่อมสิ่งของเครื่องใช้ ตั้งแต่เฟอร์นิเจอร์และเครื่องใช้ ไฟฟ้าให้กลับมาเป็นปกติเท่าที่จะทำได้

แล้วทำได้อย่างไร ประการแรกคือ ทางวิทยาลัยต้องให้คำรับรองนักศึกษาเหล่านั้นว่าเรียนมาทางด้านใด ชื่อเสียงเรียงนามมีอย่างไร อาจจะเป็นกลุ่มนักศึกษาที่เรียนอยู่คนละสถาบัน เรียนการช่างคนละวิชา เช่น เป็นช่างไม้ ช่างเฟอร์นิเจอร์ ช่างไฟฟ้า ช่างอิเล็กทรอนิกส์ หรือช่างอื่นใดก็ตาม

ประการต่อมา ขอให้เจ้าของบ้านแจ้งความจำนงไปยังวิทยาลัยอาชีวศึกษาแห่งใดแห่งหนึ่งว่าต้องการให้นักศึกษาเหล่านั้นเข้าไปทำอะไร โดยมีค่าสิ่งของอุปกรณ์ที่จะใช้ได้เท่าที่ต้องใช้จ่าย อาจจะมีค่าตอบแทนบ้างเพียงเพื่อเป็นค่ายานพาหนะ และค่าอาหาร หรือค่าตอบแทนอีกเล็กน้อย ก็น่าจะพอ

ประการสำคัญ การออกไปเป็นอาสาสมัครครั้งนี้ นักศึกษาจะได้รับผลนอกจากความเบิกบาน ความภาคภูมิใจแล้ว ส่วนที่เป็นรางวัลสำคัญในการใช้ฝีมือคือการมีคะแนนภาคปฏิบัติที่ใช้ในการสอบ เพราะแทนที่จะปฏิบัติในโรงฝึกงาน ก็ให้ออกไปปฏิบัติจริงในเหตุที่เกิดขึ้น โดยมีครูอาจารย์ที่สอนในช่างเหล่านั้นมาคอยควบคุมดูแล

วันนี้ประเทศไทยอยู่ระหว่างการก้าวไปข้างหน้า เพื่อการท้าทายและแข่งขันกับกลุ่มประเทศอาเซียนด้วยกัน หากกระทรวงศึกษาธิการ โดยสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาพลิกผันแนวทางความคิดให้นักศึกษาอาชีวศึกษาสำเร็จการศึกษาออกไปเป็นแรงงานฝีมือในทุกระดับการเรียนการสอนที่มีมาตรฐานและคุณภาพสูงกว่าอีกหลายประเทศ ผู้ที่สำเร็จการอาชีวศึกษาเหล่านั้นจะได้มีงานทำ มีรายได้ที่ดี สามารถเลี้ยงตัวเองได้อย่างดี

เมื่อนั้น นักเรียนของเราก็จะนิยมเรียนวิชาอาชีวศึกษากันเอง ไม่ต้องมีการผลักดันให้มากเรื่อง



+ + + +

บทความ"กู้ภัย"ในช่วงนี้ปีที่แล้ว (2553)

ปฏิบัติการกู้ชีวิตที่ชิลี
โดย เพ็ญศรี เผ่าเหลืองทอง คอลัมน์ โลกหมุนเร็ว
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2553 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1576 หน้า 44


เมื่อวันที่ 13 ตุลาคมที่ผ่านมา มีรายงานว่าคนทั่วโลกกว่าพันล้านคนได้เฝ้าดูเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ของการช่วยเหลือคนงานเหมืองถล่มในชิลีให้รอดชีวิตกลับมาอย่างปาฏิหาริย์ นายปิเยอรา ประธานาธิบดีของชิลีบอกว่า เหมืองแร่ที่ซานโฮเซ่แห่งนี้จะถูกสร้างให้เป็นอนุสาวรีย์เพื่อสะท้อนถึง "ความหวัง" สำหรับคนรุ่นต่อๆ ไป

เหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้เราหันมาสนใจประเทศชิลี ถ้าถามคนชั้นกลางทั่วไปว่าเมื่อพูดถึงประเทศชิลีคุณนึกถึงอะไรเป็นอย่างแรก คำตอบก็คือ ไวน์ชิลี ที่คอไวน์เลือกว่าเป็นไวน์ดีราคาไม่แพง ดื่มได้ทุกวัน สามารถดื่มแทนไวน์จากฝรั่งเศสซึ่งมีราคาแพงกว่า

หากเป็นปัญญาชนที่สนใจวรรณกรรม ก็จะบอกว่า ประเทศชิลีมีกวีที่ได้รับรางวัลโนเบลที่เป็นที่รู้จักกันดืคือ พาโบล เนรูด้า ซึ่งได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมเมื่อปี 1971 รางวัลโนเบลนี้ถือเป็นข้อพิสูจน์ถึงคุณภาพและภูมิปัญญาของพลเมืองชาติต่างๆ ได้อย่างดี ชิลีไม่ได้มีเจ้าของรางวัลโนเบลเพียงคนเดียว แต่ก่อนหน้านั้นก็มี กาเบรียลา มิสตราล ซึ่งได้รับรางวัลโนเบลเมื่อปี 1945

ปัจจุบันชิลีเป็นหนึ่งในประเทศที่มั่นคงและร่ำรวยประเทศหนึ่งในทวีปแอฟริกาใต้ ในทางการเมืองประเทศนี้ได้ผ่านการปกครองแบบสังคมนิยมมาแล้ว และพัฒนาประชาธิปไตยผ่านการปฏิวัติ และการเลือกตั้งมาจนถึงจุดที่เรียกได้ว่าการเมืองมั่นคงเข้มแข็ง ทรัพยากรบุคคลของประเทศนี้ถือได้ว่ามีคุณภาพ

ชิลีเป็นผู้นำในการพัฒนาคน พัฒนาความสามารถในการแข่งขัน คุณภาพชีวิต คุณภาพการเมือง มีรายได้ต่อประชากรที่ดี มีอัตราความยากจนต่ำ และได้รับการยอมรับว่ามีเสรีภาพของสื่อที่ดี แต่ในขณะเดียวกันก็ยังมีช่องว่างของรายได้อยู่มาก

ชิลีเป็นประเทศแรกในอเมริกาใต้ที่เข้าเป็นสมาชิกขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organization for Economic Cooperation and Development OECD) เป็นสมาชิกก่อตั้งของสหประชาชาติและสหภาพอเมริกาใต้

ชิลียังเป็นประเทศที่มีเนื้อที่จากเหนือมาใต้ยาวที่สุดในโลกคือยาว 4,630 กิโลเมตร แต่กว้างเพียง 430 กิโลเมตร มีเทือกเขาแอนดีสกั้นอยู่ทางตะวันออก พื้นที่ทางตอนเหนือเป็นทะเลทราย แต่ร่ำรวยไปด้วยแร่ธาตุต่างๆ โดยเฉพาะทองแดงและไนเตรต ตอนกลางของประเทศ เป็นศูนย์กลางที่มีประชาชนหนาแน่นและทรัพยากรทางกษตร รวมทั้งเป็นศูนย์กลางทางประวัติศาสตร์ซึ่งชิลีมีการขยายตัวในศตวรรษที่ 19 ซึ่งหมายถึงการเชื่อมส่วนเหนือและส่วนใต้เข้าด้วยกัน ภาคใต้ของชิลีมีป่าไม้ ภูเขาไฟ และทะเลสาบ ชายฝั่งตอนใต้มีภูมิประเทศแบบฟยอร์ต คลอง แหลม เกาะแก่ง และยังเป็นส่วนหนึ่งของขั้วโลกใต้แอนตาร์ติกา

ในช่วงก่อร่างสร้างประเทศที่มีการเคลื่อนย้ายเข้ามาลงหลักปักฐานด้วยเกษตรกรรม วัฒนธรรมอัลติปลาโนมีอิธิพลอยู่ทางตอนเหนือ ในขณะที่ทางตอนใต้มีอิทธิพลของมาปูเช ในยุคอาณานิคมก็ได้รับอิทธิพลของอังกฤษ ฝรั่งเศส และเยอรมัน ผู้อพยพจากเยอรมันได้ทิ้งอิทธิพลไว้ในอาคารและสิ่งก่อสร้างต่างๆ ในสไตล์บาวาเรียนกับในอาหารที่พบได้ทางตอนใต้ของชิลี

ปัจจุบันชิลีมีระบบเศรษฐกิจตลาดเสรีที่มีการลงทุนจากต่างประเทศจำนวนมาก ชิลีถือเป็นแบบอย่างของการปฏิรูปเศรษฐกิจโดยเฉพาะในยุคปี 1990 เมื่อหันมาปกครองในระบอบประชาธิปไตยอีกครั้งหลังการปฏิวัติโดยทหารที่ทหารครองอำนาจนาน 17 ปี จากปี 1973-1990 จีดีพีเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 8 ระหว่างปี 1991-1997 และตกลงจากมาตรการทางการเงินที่เข้มงวด และการส่งออกที่ลดลง อันเนื่องมาจากวิกฤติต้มยำกุ้ง แต่ก็สามารถฟื้นตัวได้หลังจากนั้น และมีการเติบโตในระดับ 5-7% จนถึงปัจจุบัน

ชิลีนับเป็นประเทศในอเมริกาใต้ที่มีการเติบโตของจีดีพีสูงสุด

นโยบายเศรษฐกิจที่มั่นคงทำให้ชิลีสามารถลดความยากจนลงได้กว่าครึ่ง รัฐบาลทหารขายบริษัทของรัฐออกไป และรัฐบาลประชาธิปไตย 3 รัฐบาลตั้งแต่ปี 1990 ก็ค่อยๆ ทำการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ส่วนใหญ่รัฐบาลจะทำหน้าที่ออกกฏระเบียบต่างๆ ยกเว้นในกิจการเหมืองทองแดงของ CODELCO และบริษัทบางบริษัทที่รัฐบาลเข้าไปมีบทบาทมาก ชิลีมีธนาคารรัฐหนึ่งแห่ง และมีข้อตกลงการค้าเสรี (FTAs) กับหลายประเทศเช่นสหภาพยุโรป เกาหลีใต้ นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ บรูไน จีน ญี่ปุ่น รวมทั้งสหรัฐอเมริกา และบางส่วนกับอินเดีย ปี 2007 ชิลี

มีข้อตกลงการค้ากับออสเตรเลีย มาเลเซีย และประเทศไทย นอกจากนี้ ยังก่อตั้งกลุ่ม P4 ร่วมกับสิงคโปร์ นิวซีแลนด์ และบรูไน ในด้านการเงินและการลงทุน

คนชิลีมีวัฒนธรรมการออมสูงถึง 21% ของจีดีพี เมื่อรวมกับภาคการลงทุนที่สูงก็ทำให้มีการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ดี มีระบบบำนาญที่เอกชนเป็นผู้บริหาร หลังปี 2008 เมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัวค่าจ้างแรงงานก็สูงขึ้นอย่างรวดเร็วกว่าเงินเฟ้อ ทั้งนี้ เนื่องมาจากชิลีมีผลผลิตที่สูง ทำให้ประชาชนมีมาตรฐานความเป็นอยู่ดี คนยากจนที่อยู่ต่ำกว่าเกณฑ์ลดลงเหลือเพียง 13.7% ในปี 2006 ตามตัวเลขของรัฐบาลแม้จะมีผู้วิจารณ์ว่าความจริงสูงกว่านั้น

ตัวเลขส่งออกของชิลีในปี 2006 เน้นที่อเมริกา 42% เอเซีย 30% และยุโรป 24% คิดว่าในปัจจุบันนี้ตัวเลขคงเปลี่ยนไปและหันมาเน้นเอเซียมากขึ้น

ชิลีเป็นผู้ส่งออกไวน์อันดับห้าของโลก และเป็นผู้ผลิตไวน์อันดับแปดของโลก ตลาดส่งออกไวน์ที่ใหญ่ที่สุดก็คือสหรัฐ ญี่ปุ่น และเนเธอร์แลนด์

แต่แน่นอนสินค้าส่งออกของชิลีที่มีความสำคัญที่สุดก็คือทองแดง และบริษัทผลิตทองแดง CODELCO ของรัฐบาลก็คือผู้ผลิตทองแดงรายใหญ่ที่สุดของโลก ที่กล่าวได้ว่ามีทองแดงสำรองไปอีกนานถึง 200 ปี

ก็ถึงเวลานี้ไม่ต้องแปลกใจว่าทำไมชิลีถึงทุ่มสุดฤทธิ์ทั้งเงินทอง เทคโนโลยี และทรัพยากรบุคคลกอบกู้คนงานเหมืองจนกลายเป็นหนึ่งในก้าวสำคัญในประวัติศาสตร์ของชิลีเองและของโลกไปแล้ว



.