http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2556-12-31

ปฏิวัติประชาชน โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์


.

ปฏิวัติประชาชน
โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์

ใน www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1388385118
วันจันทร์ที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2556 เวลา 21:32:16 น.

( ที่มา : นสพ.มติชนรายวัน 30 ธ.ค.2556 ) 
( ภาพจาก http://pantip.com/topic/31411558 )


สภาประชาชนของ กปปส.ถูกอาจารย์ธีรยุทธ์ บุญมียกระดับขึ้นมาเป็นการปฏิวัติของประชาชนไปแล้ว

คำว่า "ประชาชน" นี้น่าสนใจเป็นพิเศษ และควรทำความเข้าใจให้ถ่องแท้เสียก่อน "ประชาชน" เป็นนามธรรม หมายถึงองค์รวมของคนทั้งหมดในชาติ ไม่ใช่คน 65 ล้านคนรวมกัน ซึ่งอาจแยกออกเป็นคนๆ ได้ และอาจตรวจวัดว่าแต่ละคนมีเจตจำนงทางการเมืองอย่างไรได้

ดังนั้น "ประชาชน" ที่เป็นนามธรรมจึงไม่มีเจตจำนงทางการเมืองของตนเอง ขึ้นอยู่กับว่าใครจะสามารถยึดกุม "ประชาชน" ที่เป็นนามธรรมนี้ แล้วอ้างเอาเจตจำนงทางการเมืองของตนไปเป็นเจตจำนงของ "ประชาชน" ที่อยู่ในหมอกควันนี้เท่านั้น


วิธีในการยึดกุมหมอกควัน "ประชาชน" นี้ ทำได้หลายอย่าง อาจารย์ธีรยุทธยกกรณีที่ประมุขแห่งรัฐให้การรับรอง ซึ่งก็ปรากฏอยู่บ่อยครั้งในประวัติศาสตร์ไทย เมื่อกองทัพอ้าง "ข้าราชการทหาร พลเรือน พ่อค้า ประชาชน" เข้าไปยึดอำนาจรัฐด้วยการรัฐประหารในนามของ "ประชาชน" ที่เป็นแค่หมอกควัน นี่ก็เป็นวิธีการหนึ่งซึ่งคนไทยคุ้นเคย

แต่ยังมีวิธีการอื่นๆ อีกมาก เช่นตั้งกองกำลังติดอาวุธของตนเอง ทำสงคราม "ประชาชน" จนได้ชัยชนะแล้วก็สถาปนาระบอบปกครองของตนเองขึ้น ตามเจตจำนงของหมอกควัน "ประชาชน"

บางคนยังสามารถทำให้การอ้างของตนน่าเชื่อถือกว่านั้นอีก เช่น ฮิตเลอร์ชนะการเลือกตั้งในสมัยที่ได้รับแต่งตั้งให้เป็นนายกฯ ด้วยการปราบปรามเข่นฆ่าศัตรูทางการเมืองของตนราบคาบไปแล้ว หรือ นโปเลียนจัดให้ลงประชามติหลอกๆ ว่า "ประชาชน" ในหมอกควันมีเจตจำนงที่จะให้เขาดำรงตำแหน่งจักรพรรดิ



แม้ว่า "ประชาชน" ที่เป็นนามธรรมเป็นเพียงหมอกควันที่ไม่มีใครจับต้องได้ แต่คำนี้กลับมีพลังไพศาล เพราะมันเกิดความชอบธรรมใหม่สำหรับอำนาจทางการเมือง ที่ทำลายล้างความชอบธรรมของอำนาจทางการเมืองแบบเก่าไปหมด นับตั้งแต่ปฏิวัติฝรั่งเศสในปลายศตวรรษที่ 18 เป็นต้นมา คำ "ประชาชน" ที่เป็นนามธรรมนี้ก็ถูกนักการเมืองแย่งยื้อกัน เพื่อแปรเจตจำนงของ "ประชาชน" ที่เป็นนามธรรมให้ออกมาเป็นรูปธรรม

ในหมู่คนทั่วไป พลังของคำนี้อยู่ที่ตัวเขาเองถูกนับเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของรัฐเป็นครั้งแรก ฉะนั้นแม้เป็นหมอกควัน แต่ก็เป็นความมัวซัวที่มีตัวเขาอยู่อย่างเด่นชัดในนั้น
ดังนั้น ใครก็ตามที่ใช้คำ "ประชาชน" ที่เป็นนามธรรมนี้ โดยแบ่งแยกคนจำนวนมากให้กลายเป็นคนนอก เพราะมีการศึกษาต่ำ ถูกซื้อเสียง หรือยากจน (sans-culottes-ไร้สมบัติ) คาถา "ประชาชน "ของเขาจึงไร้มนตร์ขลัง ที่จะปลุกคนส่วนใหญ่ให้ลุกขึ้นมาร่วม "ปฏิวัติ" ด้วย

ก่อนที่คำนี้จะมีความหมายเป็นนามธรรม เราใช้คำว่า "ราษฎร" มาก่อน และนั่นคือที่มาของคณะราษฎรซึ่งทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองในประเทศไทย เพื่อประกาศว่าคนส่วนใหญ่ของประเทศเป็น "ราษฎร" ไม่ใช่ "ข้าราษฎร" และคำนี้หมายรวมถึงทุกคนโดยไม่มีการแบ่งแยก


หลังการปฏิวัติฝรั่งเศสอีกเช่นกัน ที่เกิดการ "ปฏิวัติประชาชน" ตามมาอีกมากมาย อันที่จริง แม้แต่ก่อนปฏิวัติฝรั่งเศส คำนี้ก็ถูกใช้มาแล้วในการปฏิวัติของอเมริกัน เพียงแต่การเคลื่อนไหวต่อต้านอังกฤษถูกมองว่าเป็นสงคราม "ประกาศอิสรภาพ" มากกว่าการ "ปฏิวัติประชาชน" เท่านั้น สงครามกู้เอกราชของนักชาตินิยมซึ่งเริ่มในละตินอเมริกามาก่อนใคร ก็เป็น "ปฏิวัติประชาชน" เหมือนกัน เพราะนักชาตินิยมอ้างเจตจำนงของ "ประชาชน" ที่เป็นนามธรรมนี้เช่นกัน ลัทธิชาตินิยมขยายไปทั่วโลก นำไปสู่"ปฏิวัติประชาชน"ในทุกทวีปของโลกต่อมา

"ปฏิวัติประชาชน" จึงไม่ใช่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้ยาก ตรงกันข้าม เกิดขึ้นบ่อยทั่วทั้งโลก และ (เท่าที่ผมนึกออก) การ "ปฏิวัติประชาชน" ทุกครั้ง หากทำสำเร็จก็มักจบลงที่คนกลุ่มเล็กๆ กลุ่มหนึ่ง สามารถยึดกุมอำนาจไว้เหนือผู้คนทั้งหมด ด้วยข้ออ้างว่าพวกเขาเท่านั้นที่เป็นตัวแทนของเจตจำนงของ "ประชาชน" ที่เป็นหมอกควัน

แม้แต่การปฏิวัติอเมริกัน ก็มีคนอเมริกันอีกมากในช่วงนั้นที่ไม่ต้องการเป็นกบฏต่อพระเจ้าแผ่นดิน เฉพาะคนจำนวนหนึ่งเท่านั้น ที่ผลักดันให้แยกตัวจากอังกฤษ ชนชั้นนำเหล่านี้เป็นใคร มีการตีความของนักประวัติศาสตร์ไว้หลายอย่าง นับตั้งแต่เจ้าที่ดินรายใหญ่ ไปจนถึงพ่อค้าในเมืองใหญ่ และพวกเคร่งศาสนา เป็นต้น

ไม่จำเป็นต้องพูดถึงการ "ปฏิวัติประชาชน" ในที่อื่นๆ อีกหลายแห่ง เช่นรัสเซีย, จีน, ละตินอเมริกา, เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และแอฟริกา มีคนจำนวนน้อยเท่านั้นที่อ้างหมอกควัน "ประชาชน" เข้ามายึดกุมอำนาจเด็ดขาดทางการเมือง เพื่อชนชั้นของตน, ตระกูลของตน, หรือพรรคของตน

มีตลกอเมริกันที่เล่ากันว่า มัคคุเทศก์ซึ่งนำคณะทัวร์เที่ยวมหานครนิวยอร์ก ประกาศว่า บัดนี้เราเริ่มเข้าสู่มหานครนิวยอร์กแล้ว ระวังกระเป๋าสตางค์ของท่านให้ดี ผมจึงอยากสรุปอย่างเดียวกันว่า เมื่อไรได้ยินใครอ้างถึง "ประชาชน" ในความหมายนามธรรม จงระวังสิทธิเสรีภาพของท่านให้ดี


"ประชาชน" ในความหมายหมอกควันเช่นนี้มีใช้ในระบอบเสรีประชาธิปไตยหรือไม่ ก็มีใช้เหมือนกัน แต่ในความหมายตามหลักการบางกรณี เช่นในการฟ้องร้องคดีอาญาของสหรัฐ โจทก์จะเป็น"ประชาชน"เสมอ เป็นคดีระหว่าง"ประชาชน"กับนาย ก. นาย ข. เพราะความผิดทางอาญา คือการล่วงละเมิดต่อ "ประชาชน" ในความหมายที่เป็นนามธรรมเช่นนี้ ในอังกฤษซึ่งมีกษัตริย์เป็นประมุข ใช้คำว่า The Crown แทน แต่ก็ไม่ได้หมายถึงองค์สมเด็จพระบรมราชินีนาถ แต่หมายถึงสถาบันที่มีอำนาจหน้าที่ใช้อำนาจอธิปไตยแทนปวงชน

"ประชาชน" ในความหมายเชิงนามธรรมเช่นนี้ หากเป็นกรณีประเทศไทย ก็ต้องหมายถึงสถาบันพระมหากษัตริย์เช่นกัน แต่มิใช่องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว หากหมายถึงอธิปไตยของปวงชน ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นผู้ใช้ตามบัญญัติของรัฐธรรมนูญ เช่นทรงใช้อำนาจนิติบัญญัติ ผ่านสภาที่มาจากการเลือกตั้ง ไม่อาจทรงใช้ผ่านสภาเทือกตั้งได้

ส่วนใหญ่ของ "ประชาชน" ที่ใช้ในระบอบเสรีประชาธิปไตย จึงหมายถึงอะไรที่เป็นรูปธรรม เช่นกลุ่มคนทั้งหมดที่เป็นพลเมืองของรัฐ กลุ่มคนทั้งหมดที่ชุมนุมกันอยู่ ณ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย หรือกลุ่มคนทั้งหมดที่เป็นเหยื่อของรถติดในกรุงเทพฯ

เพราะเป็นรูปธรรม จึงอาจนับหัวได้ แม้ว่าอาจนับยาก แต่ก็นับได้หากอยากนับ ระบอบเสรีประชาธิปไตยวางอยู่บนหัวของคน ซึ่งนับได้ กิจการสาธารณะใดๆ ย่อมตัดสินใจกันที่จำนวนของหัว เสียงข้างมากจึงมีความสำคัญในระบอบเสรีประชาธิปไตย และการเลือกตั้งอย่างเสรีและอิสระจึงเป็นกระบวนการที่ขาดไม่ได้ของระบอบปกครองนี้


เสียงข้างมากอาจไม่ใช่เสียงที่มีคุณภาพที่สุด ตราบที่เรายังเป็นมนุษย์ปุถุชน เราย่อมเห็นผิดได้เสมอ รวมทั้งเห็นผิดพร้อมกันจำนวนมากๆ จนกลายเป็นเสียงข้างมากก็ได้ เสรีประชาธิปไตยจึงต้องเป็นระบบที่เปิดให้เสียงข้างน้อย ได้แสดงออกอย่างอิสระเสรีภายใต้ขอบเขตของกฎหมายและประเพณี เพื่อจะได้ขี้แจงแสดงเหตุผล จนทำให้คนส่วนใหญ่ที่หลงผิด คิดใหม่และตัดสินใจใหม่จากข้อมูลและเหตุผลที่ดีกว่า

เสียงข้างน้อยของประเทศประชาธิปไตยทั่วโลก เคยทำอย่างนี้สำเร็จมาไม่รู้จะกี่แห่งแล้ว แต่ที่จะทำอย่างนี้ได้สำเร็จ ต้องมีความเคารพและเชื่อมั่นในศักยภาพของมนุษย์อย่างเท่าเทียมกัน จึงมีความอดทนที่จะชี้แจงแสดงเหตุผล ทำให้เห็นจุดอ่อนจุดแข็งของนโยบายที่แตกต่างกัน

เสียงข้างน้อยที่ปราศจากความเชื่อมั่นศรัทธาต่อศักยภาพของมนุษย์อย่างเท่าเทียมกัน จะไม่มีความอดทนเช่นนี้ หันไปใช้การขว้างเก้าอี้และเข้าของในสภา หรือลาออกจากสมาชิกภาพ หรือบอยคอตการเลือกตั้ง เพราะเชื่อเสียแล้วว่า ถึงพูดไปคนส่วนใหญ่ซึ่งโง่เง่ากว่าพรรคพวกของตนก็ไม่มีวันเขัาใจ

การสงวนกระบวนการปฏิรูปไว้ในมือคนกลุ่มน้อย ก็มาจากความไม่เคารพในศักยภาพอันเท่าเทียมกันของมนุษย์นั่นเอง เพราะกระบวนการปฏิรูปในระบอบประชาธิปไตย คือการต่อรองกันของคนกลุ่มต่างๆ ด้วยเหตุผลและข้อมูลที่พิสูจน์ได้ ไม่ควรมีคนกลุ่มใดมีอำนาจสั่งให้คนอื่นเปลี่ยนแปลงไปตามผลประโยชน์ของตนเองเพียงฝ่ายเดียว

แต่เพราะต้องการยึดกุมอำนาจไว้กับกลุ่มของตนเพียงฝ่ายเดียวต่างหาก จึงเหยียดหยามดูถูก "ประชาชน" ในความหมายที่เป็นรูปธรรม แต่ยกย่องสรรเสริญ "ประชาชน" ที่เป็นนามธรรม เพราะ "ประชาชน" ประเภทหลังนี้แหละที่คนกลุ่มนี้สามารถอ้างตนเองเป็นตัวแทนได้ โดยไม่ต้องพิสูจน์ สามารถจัดการประโยชน์สาธารณะให้เข้ามือตนเองฝ่ายเดียวได้ง่าย การปฏิรูปของพวกเขา (ซึ่งถูกอาจารย์ธีรยุทธยกระดับขึ้นมาเป็นการปฏิวัติไปแล้ว) โดยเนื้อแท้แล้วคือการปล้นกันกลางวันแสกๆ นี่เอง

. . . . . . . . . .


.

2556-12-29

อาเร็นดท์..ของนิธิและมวลชนแบบไทยๆ..ฯ โดย อรรถสิทธิ์ สิทธิดํารง

.

อาเร็นดท์ของนิธิและมวลชนแบบไทยๆในการเคลื่อนไหวทางการเมืองแบบเผด็จการเบ็ดเสร็จ
โดย อรรถสิทธิ์ สิทธิดํารง

ใน http://prachatai3.info/journal/2013/12/50795
. . Sun, 2013-12-29 10:40

( ภาพในอดีต : หัวหน้ารัฐบาลหอย หวังแช่แข็งเผด็จอำนาจ๑๒ปี )


อรรถสิทธิ์ สิทธิดํารง
อาจารย์สอนปรัชญาและทฤษฎีการเมืองที่หลักสูตรรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์


ความต่างอย่างสำคัญระหว่างผู้ศึกษาปรัชญา(และทฤษฎี)การเมืองกับผู้ศึกษาปรัชญาโดยทั่วไปก็คือ ในขณะที่ฝ่ายหลังอาจทุ่มเทสรรพกำลังเพื่อทำความเข้าใจปมปัญหาทางนามธรรมที่จับต้องได้ยาก ฝ่ายแรกกลับให้ความสำคัญกับแนวคิดที่มิเพียงซับซ้อน ลึกซึ้ง หากยังต้องมีปฏิสัมพันธ์สามารถช่วยให้ผู้คนเข้าใจบริบท สภาพสังคมที่แวดล้อมแนวคิดเหล่านั้นได้ด้วย ปรัชญาและทฤษฎีการเมืองจึงเป็นศาสตร์ที่แม้อาจวางอยู่บนแนวคิดนามธรรมจับต้องได้ยาก แต่ก็ยังมุ่งให้ผู้ศึกษาสามารถอธิบายปรากฏการณ์ต่างๆในสังคมได้อย่างแหลมคม ทรงพลัง ด้วยเหตุนี้ บทความของ ศ.นิธิ เอียวศรีวงศ์เรื่อง “มวลมหาประชาชน” ซึ่งเผยแพร่ในเว็บไซต์มติชนออนไลน์ เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2556 ที่ผ่านมา[1] จึงเป็นบทความที่น่าสนใจสำหรับผู้ศึกษาปรัชญาและทฤษฎีการเมืองเป็นอย่างยิ่ง เพราะนอกจากจะเป็นบทความที่นำเอาแนวคิดทฤษฎีมาวิเคราะห์ปรากฏการณ์ทางการเมืองร่วมสมัยได้อย่างหลักแหลม แยบคายแล้ว ยังตอกย้ำถึงพันธกิจของการศึกษาปรัชญาและทฤษฎีการเมือง พันธกิจซึ่งคงเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้นอกจากการไขปริศนาและสร้างความกระจ่างต่อปรากฏการณ์ต่างๆทางสังคมทั้งที่เกิดขึ้นไปแล้วในอดีตและที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน

ทั้งนี้ คงไม่มีใครปฏิเสธว่าหลักใหญ่ใจความสำคัญของบทความเรื่อง “มวลมหาประชาชน” นี้ก็คือการทำความเข้าใจแบบแผนการเคลื่อนไหวของกลุ่มที่เรียกตัวเองว่ามวลมหาประชาชน โดย อ.นิธิได้ชี้ให้เห็นว่าที่สุดแล้ว มวลมหาประชาชนอันเป็นผลรวม(แบบหยาบๆ) ของมวลชนผู้สนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์และชนชั้นกระฎุมพีเมืองกรุงผู้หงุดหงิดกับปัญหาคอรัปชั่นและเกลียดชังอดีตนายกทักษิณ ชิณวัตรนั้น หาใช่อะไรเลยนอกจากการรวมตัวตามแบบซึ่งในทางทฤษฎีเรียกกันว่ามวลชน หรือ Mass ที่มีลักษณะสำคัญคือ การเป็นอณู หรือก็คือ:

    “ประชาชนทั่วไปที่หลุดพ้นไปจากพันธะทั้งหลายที่เคยมีมา เช่นเครือญาติ, ชุมชน, ท้องถิ่น, ศาสนา, พรรคการเมือง, และแม้แต่ชนชั้น... กลายเป็น...อณูที่ไม่ได้คิดอะไรนอกจากแข่งขันกันในตลาด เพื่อเอาชีวิตรอด มีตนเองเป็นศูนย์กลางของจักรวาล และด้วยเหตุดังนั้นจึงเงียบเหงาเปล่าเปลี่ยวในส่วนลึกของจิตใจ เพราะหาความหมายของชีวิตไม่เจอ”
[2]

โดย อ.นิธิยังชี้ให้เห็นว่าในกรณีของไทยนั้น การเกิดขึ้นของอณูดังกล่าวจะสอดคล้องต้องกันกับกระแสของการแสดงออกถึงความจงรักภักดีอย่างล้นเกินต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ เพราะสถาบันพระมหากษัตริย์คือพันธะเดียวที่ยังเหลืออยู่-และดังนั้นจึงอาจสร้างความมั่นคงทางจิตใจให้กับ-ชีวิตของอณูเหล่านี้[3]  ในแง่นี้ มวลมหาประชาชน-จากสายตาของ อ.นิธิ-จึงไม่ต่างอะไรกับมวลชนซึ่งเป็นฐานให้กับการเคลื่อนไหวแบบเผด็จการเบ็ดเสร็จเฉกเช่นเดียวกับลัทธินาซีในเยอรมันหรือเผด็จการฟาสซิสต์ในอิตาลี ที่ขับเคลื่อนด้วยความเชื่อมั่นทางอารมณ์ ความรู้สึกซึ่งไม่พอใจ-จนพร้อมจะล้มล้าง-กลไก สถาบันที่คอยค้ำจุนระเบียบการเมืองปัจจุบันไม่ว่าจะเป็นรัฐสภา กฎหมายหรือกระทั่งรัฐธรรมนูญซึ่งเอื้อให้ความฉ้อฉล(ตามสายตาของพวกเขา)ดำรงอยู่ได้[4]


ชัดเจนว่าข้อวิเคราะห์ของอ.นิธิข้างต้นเป็นข้อวิเคราะห์ภายใต้อิทธิพลจากกรอบทฤษฎีของฮานน่า อาเร็นดท์ (Hannah Arendt) หนึ่งในนักทฤษฎีการเมืองคนสำคัญเมื่อศตวรรษที่แล้ว โดยเฉพาะการแสดงให้เห็นถึงปฏิสัมพันธ์ระหว่างมวลชนกับการเคลื่อนไหวแบบเผด็จการเบ็ดเสร็จ ทั้งนี้ ในส่วนที่สามของหนังสือเรื่อง กำเนิดเผด็จการเบ็ดเสร็จ หรือ The Origins of Totalitarianism ซึ่งตีพิมพ์ภายหลังสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดไม่กี่ปี อาเร็นดท์ได้ชี้ให้เห็นว่าการปกครองแบบเผด็จการเบ็ดเสร็จนั้นไม่มีทางเกิดขึ้นมาได้หากขาดปัจจัยรองรับสำคัญอย่างการสนับสนุนจากมวลชนซึ่งเป็นกลุ่มคนที่อาเร็นดท์มองว่าปราศจากสำนึกถึงผลประโยชน์ร่วมทางชนชั้น ขาดความสนใจทางการเมืองอย่างจริงจัง ไม่เคยเป็นสมาชิกพรรคการเมืองกระทั่งอาจไม่เคยไปเลือกตั้งด้วยซ้ำ[5] มวลชนสำหรับอาเร็นดท์จึงเป็นการรวมกลุ่มที่ไม่ได้วางอยู่บนการใช้เหตุผล ครุ่นคิดหรือวางแผนเพื่อต่อรองผลประโยชน์ต่างๆ แต่จะเป็นการรวมกลุ่มที่หล่อเลี้ยงตัวเองด้วยความเชื่อมั่นทางอารมณ์ตลอดจนความเกลียดชังทางการเมืองเท่านั้น[6]

แต่มวลชนมิได้ดำรงอยู่ในสุญญากาศ แม้มวลชนอาจเป็นหัวใจสำคัญของการเคลื่อนไหวแบบเผด็จการเบ็ดเสร็จ แต่การก่อเกิดขึ้นของมวลชนย่อมต้องถูกกำกับจากเงื่อนไขทางสังคมโดยไม่อาจหลีกเลี่ยงไปได้ ในแง่นี้ อาเร็นดท์จึงชี้ให้เห็นต่อมาว่าการก่อตัวดังกล่าวของมวลชนนั้น เอาเข้าจริงแล้วคือผลลัพธ์จากความล้มเหลวของระบอบประชาธิปไตยรัฐสภา พรรคการเมืองและสายสัมพันธ์ระหว่างชนชั้นที่ไม่สามารถเชื่อมต่อ ประสาน ถ่ายทอดและสร้างผลประโยชน์ร่วมกับผู้คนจำนวนมากจนผลักไสให้พวกเขาเหล่านั้นกลายเป็นอณูอันล่องลอย ไม่สามารถยึดโยงตัวเองเข้ากับกลุ่มก้อนทางการเมืองในระบบปกติ ทำให้กลายเป็นมวลชนผู้อัดแน่นไปด้วยความเกลียดชังต่อระเบียบการเมืองชุดเดิมและไม่ได้มีเป้าหมายอื่นใดนอกจากการทำลายล้างระเบียบดังกล่าวให้สิ้นซากลงไปในท้ายที่สุด[7] นั่นจึงไม่แปลก ที่อาเร็นดท์จะย้ำให้เห็นว่าการรวมกลุ่มแบบมวลชนนั้นหลักๆแล้วจะเป็นการรวมกลุ่มของเหล่าชนชั้นกระฎุมพีในเมืองใหญ่ผู้ถูกผลักให้หลุดออกจากสายสัมพันธ์ทางชนชั้นที่คอยเชื่อมโยงและเป็นตัวแทนพวกเขา(รวมทั้งผลประโยชน์ของพวกเขา)ในระบบการเมืองตามปกติ เพราะกระฎุมพีเหล่านี้คือกลุ่มคนที่ใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางสังคมเมืองที่เต็มไปด้วยการชิงดีชิงเด่น พึ่งพาได้แต่ตนเอง ไว้ใจใครไม่ได้และมักพบว่าตนเองคือผู้แพ้จากโลกของการแข่งขันอันโหดร้ายจนหมดสิ้นความหวัง ไร้ซึ่งความภาคภูมิใจต่อตนเองและกลายเป็นพาหะแห่งความคั่งแค้นต่อระบบระเบียบทุกอย่างไม่เว้นแม้แต่สามัญสำนึกและการใช้เหตุผลขั้นพื้นฐานของตน[8]

โดยไม่จำเป็นต้องประเมินถึงการใช้ทฤษฎีของอาเร็นดท์เพื่ออธิบายปรากฏการณ์ทางการเมืองไทยของ อ.นิธิ(ซึ่งทำได้ยอดเยี่ยมอยู่แล้ว) ลำพังแค่ข้อเสนอข้างต้นของอาเร็นดท์เองก็นับว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งยวดโดยเฉพาะการชี้ให้เห็นถึงพลังทางการเมืองอันมหาศาลของมวลชน จริงอยู่ แม้คำอธิบายถึงการดำรงอยู่ของมวลชนอาจไม่ใช่สิ่งแปลกใหม่ น่าตื่นเต้น เพราะนักปรัชญา/ทฤษฎีจำนวนไม่น้อยต่างก็เคยอธิบายถึงการดำรงอยู่ของมวลชนมาก่อนแล้ว หากแต่คำอธิบายทางทฤษฎีเหล่านั้นมักเพิกเฉยต่อพลังทางการเมืองของมวลชนราวกับว่ามวลชนเป็นเพียงแค่ฝูงชนอันโง่เขลาที่ปราศจากการครุ่นคิดด้วยปัญญา ไร้รากทางวัฒนธรรมและเสพย์ติดสินค้าบันเทิงอันปราศจากแก่นสารจนเป็นได้แค่เพียงเหยื่ออันโอชะที่รอคอยการกดขี่ขูดรีดจากชนชั้นปกครองและระบอบทุนนิยมซ้ำแล้วซ้ำเล่า[9] ด้วยเหตุนี้ คำอธิบายของอาเร็นดท์ที่ชี้ให้เห็นถึงผลลัพธ์จากความกระตือรือร้นทางการเมืองอันทรงพลังของมวลชนอย่างการเคลื่อนไหวแบบเผด็จการเบ็ดเสร็จจึงเป็นคำอธิบายที่นักทฤษฎีการเมือง นักรัฐศาสตร์ตลอดจนผู้สนใจวิเคราะห์ปรากฏการณ์ทางการเมืองไม่อาจเพิกเฉย มองข้ามไปได้ โดยเฉพาะบทบาทของความเกลียดชัง(Terror) ที่สำหรับอาเร็นดท์แล้ว คือแรงผลักสำคัญต่อการรวมกลุ่มและแสดงออกอันคลุ้มคลั่งของมวลชน ในแง่นี้ นอกจากการรวมกลุ่มของมวลชน อีกเงื่อนไขหนึ่งที่คอยรองรับการก่อตัวของเผด็จการเบ็ดเสร็จจึงเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้นอกจากความเกลียดชังซึ่งจะทำหน้าที่เป็นตัวกระตุ้น ปลุกเร้าอารมณ์ความรู้สึกของมวลชนอย่างสม่ำเสมอ[10]

นั่นจึงไม่แปลกที่การเคลื่อนไหวทางการเมืองแบบเผด็จการเบ็ดเสร็จจะตั้งอยู่บนการสร้างศัตรูร่วมในจินตนาการทุกครั้ง สำหรับอาเร็นดท์แล้วประเด็นสำคัญไม่ได้อยู่ที่ว่าศัตรูร่วมดังกล่าวมีตัวตนดำรงอยู่จริงหรือไม่ เพราะสิ่งที่สำคัญกว่าก็คือการกระตุ้น ปลุกเร้าความรู้สึกเกลียดชังของมวลชนให้พร้อมออกมาต่อสู้ ทำลายล้าง “เป้าหมาย” เหล่านั้นให้สิ้นซากต่างหาก[11]  (แม้ในหลายๆครั้งศัตรูที่กล่าวมานี้อาจเป็นเพียงแค่จินตนาการหาได้ต้องตรงกับความเป็นจริงแต่อย่างใด) ทั้งกำเนิดของลัทธินาซีซึ่งด้านหนึ่งอาศัยพลพวงจากความเกลียดชังชาวยิวของคนเยอรมันในขณะนั้น หรือการครองอำนาจของโจเซฟ สตาลินที่ใช้ความกลัวจากการปั้นแต่งให้ผู้คนที่มีทัศนะแตกต่างจากตนกลายเป็นศัตรูของพรรคและต้องถูก “จัดการ” ให้หมดสิ้น ในแง่นี้ การทำความเข้าใจถึงการดำรงอยู่ของมวลมหาประชาชนจึงมิเพียงแต่ต้องทำความเข้าใจลักษณะเชิงสังคมวิทยาของผู้เข้าร่วม หากแต่ยังต้องชี้ให้เห็นถึงความเกลียดชังในฐานะแรงผลักที่คอยปลุกเร้าและหล่อเลี้ยงการดำรงอยู่ของพวกเขาเหล่านี้ ซึ่งอาจารย์นิธิก็ไม่พลาดที่จะชี้ให้เห็นประเด็นดังกล่าว(แม้อาจไม่ได้กล่าวอย่างตรงไปตรงมานัก)ดังเนื้อหาในบทความที่ว่า:

    “จำนวนมากของผู้ที่ร่วมใน "มวลมหาประชาชน" ของคุณสุเทพ...ไม่ได้เข้าร่วมเพราะวาทศิลป์ของคุณสุเทพ... หากร่วมเพราะเป็นความเชื่อมั่น (conviction) ทางอารมณ์และความรู้สึก นั่นคือเป็นการตอบสนองต่อสภาวะอันไม่น่าพอใจที่ตนได้ประสบมาในชีวิตของสังคมอณูที่ไร้ความผูกพันใดๆ ซ้ำเป็นสภาวะที่ตนมองไม่เห็นทางออกอีกด้วย คุณยิ่งลักษณ์, พรรคเพื่อไทย หรือคุณทักษิณ เป็นเหยื่อรูปธรรมของความเชื่อมั่นทางอารมณ์และความรู้สึกนั้น สักวันหนึ่งข้างหน้า เหยื่อรูปธรรมจะเปลี่ยนเป็นคนอื่นได้หรือไม่ ผมมั่นใจว่าเปลี่ยนได้ อาจเป็นกองทัพ, สถาบันต่างๆ เช่นตุลาการ, หรือศาสนา หรืออะไรอื่นได้อีกหลายอย่าง...เพราะการเมืองมวลชนเชิงเผด็จการเบ็ดเสร็จย่อมต้องสร้างศัตรูขึ้นเป็นเป้าแห่งความเกลียดชังเสมอ”
[12]



อย่างไรก็ตาม แม้การนำทฤษฎีของอาเร็นดท์มาใช้อธิบายการดำรงอยู่ของมวลมหาชนข้างต้น อาจเต็มไปด้วยความแม่นยำ น่าชื่นชม แต่การใช้ทฤษฎีดังกล่าวก็กลับสร้างความลักลั่นในระดับทฤษฎีอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงไปได้ เพราะมวลมหาประชาชนตามคำอธิบายของ อ.นิธินั้น หากกล่าวอย่างถึงที่สุดก็คือการรวมกลุ่มซึ่งมีศูนย์กลางอยู่ที่ชนชั้นกระฎุมพีเมืองกรุงเสียเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งเอาเข้าจริงแล้วกลับคือ “เสียงข้างน้อย” เมื่อเทียบกับจำนวนของพลเมืองไทยทั้งสังคม มวลมหาประชาชนตามคำอธิบายของ อ.นิธิจึงเป็นขบวนการเคลื่อนไหวของเสียงข้างน้อย หากเป็นเผด็จการเบ็ดเสร็จก็ย่อมจะต้องเป็นเผด็จการเบ็ดเสร็จโดยเสียงข้างน้อยดังที่ อ.นิธิได้เขียนว่า

    “การกล่าวว่าม็อบคุณสุเทพคือ เผด็จการของเสียงข้างน้อย ถูกเป๊ะตรงเป้าเลย และน่าจะถูกใจม็อบด้วย ก็เคลื่อนไหวทั้งหมดมาก็เพราะต้องการเป็นเผด็จการของเสียงข้างน้อย เหมือนเผด็จการของชนชั้นกรรมาชีพ เผด็จการของอารยันบริสุทธิ์ เผด็จการของคนดี...เผด็จการเบ็ดเสร็จที่ไหนๆ ก็ทำลายหลักการเสียงข้างมากของประชาธิปไตยทั้งนั้น เสียงข้างมากที่ถือว่าทุกคนเท่าเทียมกันทางการเมืองนั่นแหละคือ ตัวปัญหา เพราะทุกคนไม่ควรเท่าเทียมกันทางการเมือง ในเมื่อมีการศึกษาต่างกัน ถือหุ้นในประเทศไม่เท่ากัน และเห็นแก่ส่วนรวมไม่เท่ากัน คนที่ยอมกลืนตัวให้หายไปใน "มวลมหาประชาชน" จะเท่าเทียมกับคนอื่นซึ่งมัวแต่ห่วงใยกับประโยชน์ของตนเองและลูกเมียได้อย่างไร”


แน่นอน หากพิจารณาจากประสบการณ์ทางการเมืองที่แต่ละคนคุ้นชิน คงไม่มีใครปฏิเสธว่า มวลมหาประชาชนดังกล่าว-หากคือการรวมกลุ่มที่ส่วนใหญ่แล้วเป็นชนชั้นกระฎุมพีดังที่ อ.นิธิวิเคราะห์-คือการเคลื่อนไหวของเสียงข้างน้อย กระนั้น เมื่อพิจารณาการรวมกลุ่มตรงนี้ผ่านแว่นตาทางทฤษฎีที่มีชื่อว่า “มวลชน” คำอธิบายของ อ.นิธิก็กลับเกิดปัญหาในระดับทฤษฎีขึ้นมาโดยทันที เพราะถ้ามวลชนคือกรอบทฤษฎีที่ อ.นิธิใช้วิเคราะห์การรวมกลุ่มของมวลมหาประชาชน และถ้ามวลมหาประชาชนคือเสียงข้างน้อยของสังคม นั่นก็เท่ากับ อ.นิธิกำลังกล่าวว่ามวลชนคือเสียงข้างน้อยของสังคมตามไปด้วย ซึ่งผู้ศึกษาทางด้านปรัชญาหรือทฤษฎีการเมืองคงต้องรู้สึกแปลกแปร่งเป็นแน่ ยิ่งเมื่อพิจารณาถึงพัฒนาการทางความคิดของโลกตะวันตก(ซึ่งให้กำเนิดแนวคิดเรื่องมวลชน) ด้วยแล้ว ก็จะพบว่า “มวลชน” นั้นมิเพียงแต่ไม่สอดคล้องกับ “เสียงข้างน้อย” หากแต่ยังมีสถานะเคียงคู่กระทั่งเป็นคำที่ใช้แทน “เสียงข้างมาก” มากกว่า อันที่จริงการกล่าวถึงมวลชนในโลกตะวันตกยังมีนัยยะส่อถึงภัยคุมคามต่อการดำรงอยู่ของเสียงข้างน้อยด้วยซ้ำ[13] แม้แต่ อาเร็นดท์ในทฤษฎีที่ อ.นิธิใช้เองก็ยังไม่กล้าที่จะสรุปแบบ อ.นิธิว่ามวลชนคือเสียงข้างน้อย ใกล้เคียงที่สุดก็แค่กล่าวว่ามวลชนซึ่งเป็นผู้ขับเคลื่อนการเคลื่อนไหวเชิงเผด็จการเบ็ดเสร็จนั้นหาได้นำมาสู่การจัดตั้งรัฐเผด็จการเบ็ดเสร็จที่สามารถกำกับครอบงำผู้คนได้ทั้งสังคม[14] (หรือพูดง่ายๆคือมวลชนไม่เท่ากับคนทั้งสังคม แต่การไม่เท่ากับคนทั้งสังคมย่อมมิได้ทำให้มวลชนเท่ากับเสียงข้างน้อยเป็นแน่) ดังนั้นหากพิจารณาจากสายตาทางทฤษฎี แม้การวิเคราะห์ทำความเข้าใจมวลมหาประชาชนของ อ.นิธิ อาจเป็นการวิเคราะห์ที่แหลมคม ทรงพลัง แต่พร้อมๆกันนั้น การวิเคราะห์ดังกล่าวก็กลับเต็มไปด้วยความพิลึกพิลั่นโลดโผนพิสดารไม่น้อยทีเดียว

กระนั้น การกล่าวข้างต้นนี้ย่อมมิได้มีเป้าประสงค์ที่จะโจมตี อ.นิธิ ว่าใช้ทฤษฎีผิดหรือมองไม่เห็นความลักลั่นจากการใช้ทฤษฎีของตน เพราะข้อจำกัดประการหนึ่งที่ผู้ศึกษาปรัชญาและทฤษฎีการเมืองสมควรตระหนักก็คือ ทุกๆทฤษฎี-ไม่ว่าจะยอมรับหรือไม่-ต่างก็วางอยู่บนประสบการณ์ทางสังคมและการเมืองภายใต้บริบท พื้นที่และห้วงเวลาที่มีลักษณะเฉพาะเจาะจงเสมอ ไม่เว้นแม้แต่ทฤษฎีของอาเร็นดท์ซึ่งตั้งอยู่บนประสบการณ์ทางการเมืองภายใต้บริบทของยุโรปช่วงครึ่งแรกของศตวรรษที่แล้วที่อาจสัมพันธ์กับพัฒนาการทางภูมิปัญญาของโลกตะวันตกเท่านั้น[15] การนำทฤษฎีมาอธิบายปรากฏการณ์ต่างๆทางสังคมจึงย่อมต้องได้รับการปรับแต่งไม่มากก็น้อย หาไม่แล้ว ทฤษฎีก็คงเป็นได้แค่บทเรียนทางสังคมที่สรุปจากบริบทและห้วงเวลาหนึ่งๆโดยไม่อาจก้าวข้ามไปสร้างความกระจ่างให้กับปรากฏการณ์ทางสังคมในบริบทอื่นๆได้เลย ในแง่นี้ ความน่าสนใจในการวิเคราะห์ทำความเข้าใจมวลมหาประชาชนของ อ.นิธิ จึงมีได้เพียงแค่วางอยู่บนการนำทฤษฎีตะวันตกมาปรับใช้วิเคราะห์ปรากฏการณ์ทางการเมืองไทยอย่างมีประสิทธิภาพ หากแต่ยังอาจสร้างบทสนทนาทางทฤษฎีเพื่อสร้างความเป็นไปได้ให้ทฤษฎีดังกล่าวสามารถปรับระดับ ก้าวข้ามเพดานที่เคยจำกัดขอบเขตของตัวมันเองตามไปด้วย โดยเฉพาะแนวคิดเรื่อง “มวลชน” ที่แม้ในโลกตะวันตกอาจมีนัยหมายถึง “เสียงข้างมาก” แต่เมื่อได้รับการปรับแต่งเพื่ออธิบายสังคมการเมืองไทยแล้ว มวลชน(แบบไทยๆ)ก็อาจไม่ใช่อะไรเลยนอกจากการรวมกลุ่มของชนชั้นกระฎุมพีเมืองกรุงเอง


ว่าไปแล้ว ความพยายามในการอธิบายความสัมพันธ์ระหว่างชนชั้นกระฎุมพีเมืองกรุงกับการเคลื่อนไหวแบบเผด็จการเบ็ดเสร็จในไทยนั้น ก็หาใช่การค้นพบที่แปลกใหม่แต่อย่างใด เพราะอย่างน้อยที่สุด เบเนดิก แอนเดอร์สัน(Benedict Anderson) นักรัฐศาสตร์ชื่อดังก็เคยชี้ให้เห็นเงื่อนปมความสัมพันธ์ดังกล่าวในบทความ-ซึ่งมีเนื้อหากล่าวถึงปัจจัยที่นำมาสู่เหตุการณ์ “ฆาตกรรมแห่งชาติ” เมื่อวันที่ 6 ตุลา 2519-เรื่อง “บ้านเมืองของเราลงแดง: แง่มุมทางสังคมและวัฒนธรรมของรัฐประหาร 6 ตุลาคม” โดย อ.แอนเดอร์สันได้ชี้ให้เห็นถึงความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นระหว่างชนชั้นใหม่อย่างกระฎุมพีกับการก่อความรุนแรงในเหตุการณ์ 6 ตุลาทั้งในรูปของผู้กระทำการ(ผ่านสายสัมพันธ์กับกลุ่มกระทิงแดง ลูกเสือชาวบ้านตลอดไปจนถึงข้าราชการท้องถิ่น) และในรูปของเสียงโห่ร้อง สนับสนุนให้เกิดการปราบปรามขบวนการนักศึกษาในครั้งนั้น[16] ทั้งนี้ อ.แอนเดอร์สันได้วิเคราะห์ว่าการที่ชนชั้นกระฎุมพีสนับสนุนกระทั่งลุกขึ้นมาก่อความรุนแรงในเหตุการณ์ดังกล่าวคือผลโดยตรงของความความเกลียดชังในหมู่พวกเขาซึ่งก่อตัวอยู่บนอาการวิตกจริต ไม่มั่นใจกับอนาคตที่จะมาถึงโดยเฉพาะเมื่อต้องเผชิญหน้ากับความโกลาหลทางเศรษฐกิจและการเมืองไม่ว่าจะเป็นภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจในพ.ศ. 2517 เสรีภาพอันล้นเกินของกลุ่มนักศึกษาหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาหรือการรุกคืบของลัทธิคอมมิวนิสต์ จนทำให้ชนชั้นใหม่นี้-ซึ่งโดยตัวมันเองเป็นอณูอันล่องลอย ไม่อาจเชื่อมต่อเข้ากับความสัมพันธ์ระหว่างชนชั้นในอดีต-ต้องหันกลับไปยึดโยงตนเองเข้ากับสถาบันกษัตริย์ในฐานะพันธะเดียวที่ช่วยปลอบประโลมและสร้างความมั่นคงทางใจให้กับพวกเขาพร้อมๆกับเร่งเร้าความเคียดแค้นชิงชังที่มีต่อขบวนการนักศึกษาซึ่ง-ในสายตาของกระฎุมพีเหล่านี้แล้ว- คือผู้ทรยศ ไม่จงรักภักดีกระทั่งเป็นข้าศึกที่ควรต้องถูกชะล้างให้หมดสิ้นไป ดังย่อหน้าที่ว่า:

    “ถึงตรงนี้ก็คงเป็นที่เข้าใจได้ชัดขึ้นว่า เพียงไม่นานหลังจากมีการตั้งรัฐบาลประชาธิปไตยเสรีนิยม มีการยกเลิกระบบเซ็นเซอร์ . . การตั้งข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ก็เริ่มขึ้น ไม่ใช่เพราะว่ากลุ่มผู้ปกครองโกรธแค้นนักศึกษา นักพูดหัวรุนแรงเท่านั้น แต่เป็นเพราะกระบวนการอันต่อเนื่องของวิกฤติสังคมไทยทั้งหมด เริ่มตกผลึกรอบๆสัญลักษณ์ของสถาบันกษัตริย์ การสิ้นสุดของเศรษฐกิจบูมที่มีมายาว ความหงุดหงิดอย่างคาดไม่ถึงที่เกิดจากการขยายการศึกษาอย่างรวดเร็ว ความขัดแย้งระหว่างวัย และความวิตกที่เกิดการการถอนตัวทางยุทธศาสตร์ของอเมริกา รวมทั้งผู้นำทหารที่หมดความน่าเชื่อถือ วิกฤติต่างๆที่ผูกโยงกันอยู่นี้เป็นประสบการณ์ที่หนักหน่วง สำหรับพวกกระฎุมพีใหม่ พวกชนชั้นใหม่นี้นั้นถือว่าสถาบันกษัตริย์เป็นทั้งหลักชัยและเกราะคุ้มกันทางจิตใจ รากลึกทางประวัติศาสตร์และความมั่นคงของสถาบันดูจะเป็นของขลังกั้นยันความไร้ระเบียบและความพินาศให้ และไม่ว่าจะมีความเลวร้ายของชีวิต หรือการที่ต้องพึ่งพิงทั้งทางวัฒนธรรมและเศรษฐกิจต่อชาวต่างชาติจะเป็นเช่นไรก็ตาม สมาชิกของชนชั้นนี้ก็รู้สึกว่าความเป็นชาตินิยมของตัวตนนั้น ประกันได้ด้วยความจงรักภักดีต่อราชบัลลังก์ ซึ่งถือว่าเป็นองค์รวมของมรดกชาติ ดังนั้น การโจมตีใดๆต่อสิทธิอันชอบธรรมของราชบัลลังก์ ไม่ว่าจะเป็นโดยอ้อมก็ตาม จะเป็นที่รู้สึกได้เลยว่าคุกคามต่อเกราะคุ้มกันนั้น”[17]


น่าสนใจว่าขณะที่มวลชนโดยทั่วไป(หรืออย่างน้อยในโลกตะวันตก) อาจสัมพันธ์กับกลุ่มคนผู้ผูกขาดเสียงข้างมาก มวลชนแบบไทยๆกลับคือชนชั้นกระฎุมพีเมืองกรุงผู้เต็มไปด้วยความเกลียดชังซึ่งแม้อาจไม่ได้เป็นเสียงข้างมากของสังคม แต่ก็ครอบครองพื้นที่สื่อสารมวลชนที่คอยขยายระดับความดังให้กับเสียงของพวกเขาจนจำนวนอันน้อยนิด(เมื่อเทียบกับผู้คนทั้งประเทศ)หาได้เป็นอุปสรรคต่อพลังและการเคลื่อนไหวแบบเผด็จการเบ็ดเสร็จของพวกตนแต่อย่างใด ไม่ว่าจะในเหตุการณ์นองเลือด 6 ตุลาคม-หากเราเชื่อตามข้อสรุปของ อ.แอนเดอร์สัน-หรือในรูปของมวลมหาประชาชนในครั้งนี้ จริงอยู่ แม้ยุคสมัยที่แตกต่างอาจทำให้รายละเอียดของทั้งสองเหตุการณ์ไม่เหมือนกัน
แต่ความเกลียดชังที่รายล้อมควบคู่ไปกับความภักดีอย่างล้นเกินต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ก็อาจไม่ได้ทำให้บทบาทของชนชั้นกระฎุมพีมีความแตกต่างจากเมื่อปี พ.ศ.2519 มากนัก
คำถามสำคัญก็คือ ตลอดระยะเวลาเกือบสี่ทศวรรษหลังเหตุการณ์นองเลือด 6 ตุลาคม 2519 ชนชั้นกระฎุมพีรวมทั้งสังคมไทยโดยรวมไม่เคยเรียนรู้ถึงความโหดร้ายของตนเลยหรือ? เหตุใดชนชั้นกระฎุมพีไทยถึงยังไม่สามารถก้าวข้ามความเกลียดชังซึ่งเคยหลอกหลอนตนเมื่อเกือบสี่ทศวรรษที่แล้วไปได้?
บางที คำตอบอาจมาจากข้อเท็จจริงอันโหดร้ายที่ว่าพลังจากความเกลียดชังดังกล่าวไม่เคยเลยที่จะประสบพบเจอกับความพ่ายแพ้ ตรงกันข้ามกับลัทธินาซี ฟาสซิสต์ที่ต่างก็พ่ายแพ้ในสงครามโลกจนถูกทำลายล้างอย่างราบคาบ พลังของเผด็จการเบ็ดเสร็จซึ่งขับเคลื่อนด้วยความเกลียดชังกลับยังคงดำรงอยู่ แฝงฝังและเป็นเนื้อเดียวกับวัฒนธรรมทางการเมืองของชนชั้นกระฎุมพีไทยมาโดยตลอด[18] ไม่ว่าจะเป็นความเกลียดชังต่อลัทธิคอมมิวนิสต์ พ่อค้ายาเสพย์ติดหรือระบอบทักษิณในปัจจุบัน และคงไม่ใช่เรื่องแปลกหากความเกลียดชังดังกล่าวอาจดำรงอยู่ต่อไปถ้าการเคลื่อนไหวของมวลมหาประชาชนในครั้งนี้ประสบกับ “ชัยชนะ”

หรือนี่คือราคาที่สังคมไทยต้องจ่ายสำหรับการทำให้เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 กลายเป็นเพียงบาดแผลทางประวัติศาสตร์เท่านั้น... 



--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
เชิงอรรถ

[1 ]ดู นิธิ เอียวศรีวงศ์, “มวลมหาประชาชน” เข้าใช้เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม, 2556.

[2] เพิ่งอ้าง

[3] เพิ่งอ้าง

[4] เพิ่งอ้าง

[5] Hannah Arendt, The Origins of Totalitarianism(New York: A Harvest Book, 1968), pp 311-2

[6] Ibid., p 311  

[7] Ibid., pp 312-5  

[8] Ibid., pp 315-8

[9] ดู Jose Ortega y Gasset, The Revolt of the masses (New York: w.w. Norton & Company, Inc, 1964) และ Dialectic of Enlightenment: Philosophical Fragment. Edmund Jephcott (Translated), Gunzelin Schmid Noerr (Edited)(Stanford: Stanford University Press, 2002), Ch.3 อนึ่ง ทัศนะที่มองมวลชนว่าเป็นเพียงกลุ่มคนที่ปราศจากพลังในการเปลี่ยนแปลงสังคมและมักตกเป็นเหยื่อของชนชั้นปกครองตลอดจนระบอบทุนนิยมนั้นยังเป็นทัศนะที่ทรงพลังมาจนถึงทุกวันนี้ ไม่เว้นแม้แต่ทฤษฎีหลังสมัยใหม่ที่แม้อาจพยายามชี้ให้เห็นพลังของมวลชน แต่ก็ยังมิวายพิจารณาว่าพลังดังกล่าวคือความเงียบ ความเฉยชาที่สื่อและสัญลักษณ์ต่างๆไม่สามารถทำหน้าที่ดูดกลืน ถ่ายทอดและแสดงตนเป็นตัวแทนของมวลชนได้ โปรดดู Jean Baudrillard, In The Shadow of The Silent Majorities, Paul Foss, John Johnston, Paul Patton and  Andrew Berardini(Translated)(Los Angelis: Semiotext(e), 2007)  

[10] Arendt, “On the Nature of Totalitarianism: an Essay in Understanding”, in Essays in Understanding 1930-1954: Formation, Exile, and Totalitarianism, pp 341-4. 

[11] Ibid., p 342

[12] นิธิ เอียวศรีวงศ์, “มวลมหาประชาชน” .
และแทบจะเป็นเรื่องตลกร้ายที่เดียวที่บุคคลซึ่งอาจยืนยันความถูกต้องจากการใช้ทฤษฎีของอาเร็นดท์ดังกล่าวก็คือ อ.อรรถจักร สัตยานุรักษ์ผู้ออกตัวอย่างชัดเจนว่าไม่เห็นด้วยกับการวิเคราะห์ของ อ.นิธิ ดังเนื้อหาในบทความที่ต้องการจะโต้ อ.นิธิในเรื่องนี้ ซึ่ง อ.อรรถจักรเองยังยอมรับถึงปฏิสัมพันธ์อย่างแยกไม่ออกระหว่างมวลมหาประชาชนกับความเกลียดชังทั้งที่ถูกสร้างโดยระบอบทักษิณและที่มีต่อตัวระบอบทักษิณเอง ปัญหาเดียวที่ดูเหมือน อ.อรรถจักร มีต่อข้อวิเคราะห์ของ อ.นิธิ ก็คือการไม่เห็นด้วยที่ อ.นิธิมองว่ามวลมหาประชาชนเป็นการรวมตัวของอณูที่ปราศจากความคิด ตรงกันข้าม อ.อรรถจักรกลับมองว่า ความรู้สึกหวาดกลัวต่อระบอบทักษิณต่างหากที่ทำให้มวลมหาประชาชนต้องคิดและลุกขึ้นมาแสดงตัวตนบนท้องถนน ( ดู อรรถจักร สัตยานุรักษ์, “มวลมหาประชาชนไม่ได้เป็นอณูในสุญญากาศ” เข้าใช้เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2556) แน่นอน ข้อวิจารณ์ของ อ.อรรถจักรตรงนี้ย่อมเป็นข้อวิจารณ์ที่น่าสนใจไม่น้อย โดยเฉพาะการชี้ให้เห็นถึงความสัมพันธ์เชิงเหตุผลระหว่างอารมณ์ความรู้สึกกับการคิด ซึ่งคงน่าสนใจเป็นอย่างมากหากว่า อ.อรรถจักรจะไม่กล่าวอ้างไปถึงฐานทฤษฎีของอาเร็นดท์ เพราะสำหรับอาเร็นดท์แล้ว อารมณ์ความรู้สึกกับการคิดเป็นคุณลักษณะทางจิตที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง กล่าวคือในขณะที่อารมณ์ความรู้สึกอาจตอกย้ำถึงชีวิตและการเป็นส่วนหนึ่งที่สัมพันธ์กับครรลองของสังคมและโลก การคิดกลับเป็นกิจกรรมที่ผู้คิดต้องแยกตัวออกจากโลกและกิจกรรมต่างๆในชีวิตประจำวัน เพื่ออยู่(และสนทนา)กับตนเองเพียงลำพังโดยทิ้งโลกซึ่งคุ้นเคยอยู่ตรงหน้าเอาไว้เบื้องหลัง ดู Arendt, The Life of the Mind(New York: Harcourt, 1978), 1:197-9.

[13] ทัศนะดังกล่าวสะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนในกลุ่มผู้ชื่นชม “วัฒนธรรมชั้นสูง” (High Culture) อย่างแวดวงวรรณคดีศึกษาและวรรณกรรมวิจารณ์ในช่วงต้นศตวรรษก่อน ที่มองว่าการเติบโตของมวลชนนั้นหาใช่อะไรเลยนอกจากสัญญาณทางวัฒนธรรมที่บ่งบอกว่ารสนิยมอันสูงส่งแบบชนชั้นนำ(ซึ่งเป็นคนกลุ่มน้อยของสังคม) กำลังถูกคุกคามจากรสนิยมอันต่ำช้า สามานย์ของคนทั่วไป(หรือก็คือกลุ่มคนส่วนมากของสังคม) ดู F.R. Leavis, “Mass Civilization and Minority Culture”, In Popular Culture : A Reader, Raiford Guins, Omayara Zaragaza Cruz (Edited)(London: Sage Publications, 2005),pp 33-8 

[14] Arendt, The Origins of Totalitarianism, p 310

[15] ดูรายละเอียดได้ใน Dana Villa, “Totalitarianism, Modernity and the Tradition”, in Politics, Philosophy, Terror: Essays on the Thought of Hannah Arendt(Princeton: Princeton University Press, 1999) , ch.8

[16] เบเนดิก แอนเดอร์สัน, “บ้านเมืองของเราลงแดง: แง่มุมทางสังคมและวัฒนธรรมของรัฐประหาร 6 ตุลาคม”, ใน จาก 14 ถึง 6 ตุลา, ชาญวิทย์ เกษตรศิริ และ ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์(บรรณาธิการ)(กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2551), หน้า 99-164.

[17] เพิ่งอ้าง, หน้า 135 การเน้นข้อความเป็นของผู้เขียน ( หมายเหตุ adminบทความดี : ต้นฉบับที่เราคัดลอกมิได้แสดงการเน้นข้อความไว้ จึงขออภัย.. )

[18] ตัวอย่างอันน่าเศร้าที่ช่วยสะท้อนประเด็นดังกล่าวได้อย่างชัดเจนที่สุดคงหนีไม่พ้นสถานะทางประวัติศาสตร์ของเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 เอง ดังข้อมูลจากงานวิจัยของ อ.ธงชัย วินิจจะกุล ที่ชี้ให้เห็นว่านอกจากไม่ค่อยได้รับการตระหนัก จดจำจากสังคมเท่าที่ควรแล้ว การกระทำอันโหดร้าย ป่าเถื่อนในเหตุการณ์ดังกล่าวยังไม่เคยถูกประเมินว่าเป็นการกระทำที่ผิดพลาด ไม่สมควรเกิดขึ้นแม้แต่น้อย โดยเฉพาะกับกลุ่มผู้กระทำความรุนแรงในเหตุการณ์วันนั้นเองที่แม้อาจเก็บตัวเงียบ ไม่ออกมาแก้ต่างการกระทำของตนแต่ก็เป็นความเงียบที่ยังคงเป็นชัยชนะอยู่วันยังค่ำ ดู ธงชัย วินิจจะกุล, “6 ตุลาในความทรงจำของฝ่ายขวา 2519-2549: จากชัยชนะสู่ความเงียบ(แต่ยังชนะอยู่ดี)”, ใน ความรุนแรงซ่อน/หาสังคมไทย, ชัยวัฒน์ สถาอานันท์(บรรณาธิการ)(กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มติชน, 2553), หน้า 407-512.



.

2556-12-17

มวลมหาประชาชน โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์

.

นิธิ เอียวศรีวงศ์: มวลมหาประชาชน
ใน http://prachatai3.info/journal/2013/12/50488
. . Tue, 2013-12-17 13:58
ที่มา: นสพ.มติชนรายวัน 16 ธ.ค.2556
(แฟ้มภาพ: ประชาไท 9 ธ.ค.2557)


นิธิ เอียวศรีวงศ์

ผมได้เตือนทั้งในข้อเขียนและรายการทีวีว่า เมืองไทยปัจจุบันได้เกิดมวล(มหาประชา)ชนขึ้นแล้ว และการเมืองของมวลชนนั้นเป็นได้ทั้งสองทาง คือ ขยายกลไกและการมีส่วนร่วมเชิงประชาธิปไตยไปกว้าง
ขวางขึ้น หากกลไกและสถาบันอื่นๆ ที่มีอยู่พร้อมจะปรับเปลี่ยนไปทางนั้น หรือทางที่สองคือ เกิดการเมืองแบบเผด็จการเบ็ดเสร็จขึ้น เพราะเผด็จการเบ็ดเสร็จเกิดขึ้นไม่ได้หากไม่มีมวล(มหาประชา)ชน

ที่พูดนี้ไม่ต้องการจะบอกว่า ผมปราดเปรื่องล้ำลึกกว่าคนอื่น เพราะผมก็คาดไม่ถึงเหมือนกันว่า การเมืองแบบเผด็จการเบ็ดเสร็จจะมาเร็วอย่างนี้

บทความเกี่ยวกับเผด็จการเบ็ดเสร็จที่เขียนครั้งแรก ได้ความคิดจาก Hannah Arendt ความวุ่นวายทางการเมืองที่เกิดขึ้นในระยะสองสัปดาห์ที่ผ่านมา ทำให้ผมต้องกลับไปอ่านงานของเธออีกครั้งหนึ่ง

ความงุนงงสงสัยหลายอย่างเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของ "มวลมหาประชาชน" ของคุณสุเทพจึงคลี่คลายลง ปัญหาที่ผมสนใจไม่ได้อยู่ที่ว่า คุณสุเทพมีใครหนุนหลังอยู่บ้าง แต่อยู่ที่ว่า เหตุใดคนจำนวนมาก (แม้ตัดพวกที่ขนมาจากภาคใต้ออกไปแล้ว ก็ยังถือว่ามากอยู่ดี) จึงเข้าร่วมชุมนุมประท้วงรัฐบาล


เผด็จการเบ็ดเสร็จนั้นอาจเกิดกับการเคลื่อนไหวทางการเมืองก็ได้ หรือเกิดกับรัฐคือ กลายเป็นรัฐเผด็จการเบ็ดเสร็จก็ได้ แต่รัฐขนาดเล็กและมีประชากรน้อยอย่างไทยนั้น ในทรรศนะของ Arendt ไม่มีทางเป็นรัฐเผด็จการเบ็ดเสร็จได้ อย่างไรก็ตาม นั่นไม่ได้หมายความว่า การเคลื่อนไหวทางการเมืองในแบบเผด็จการเบ็ดเสร็จจะเกิดในรัฐเล็กๆ แบบไทยไม่ได้

และดังที่กล่าวแล้วว่า ฐานพลังของเผด็จการเบ็ดเสร็จคือ มวลชน คำนี้ไม่ได้หมายถึงประชาชนทั่วไปเท่านั้น แต่หมายถึงประชาชนทั่วไปที่หลุดพ้นไปจากพันธะทั้งหลายที่เคยมีมา เช่น เครือญาติ, ชุมชน, ท้องถิ่น, ศาสนา, พรรคการเมือง, และแม้แต่ชนชั้น (ก็แม้แต่ชาวสลัมยังชื่นชมคุณชายและท่านชายราชตระกูลจุฑาเทพได้) กลายเป็นปัจเจกโดดๆ  อาจารย์เกษียร เตชะพีระ เคยท้วงผมว่า ปัจเจกบุคคล ยังคิดเองได้ ที่ถูกควรพูดว่าถูกแยกออกเป็นอณูต่างหาก ครับใช่เลย เป็นอณูที่ไม่ได้คิดอะไรนอกจากแข่งขันกันในตลาด เพื่อเอาชีวิตรอด มีตนเองเป็นศูนย์กลางของจักรวาล และด้วยเหตุดังนั้นจึงเงียบเหงาเปล่าเปลี่ยวในส่วนลึกของจิตใจ เพราะหาความหมายของชีวิตไม่เจอ

สังคมไทยกำลังแปรเปลี่ยนไปสู่สังคมอณู และด้วยเหตุดังนั้น ผมจึงคิดว่าพันธะเดียวที่ยังเหลืออยู่ในชีวิตของอณูเหล่านี้ในสังคมไทยคือ สถาบันพระมหากษัตริย์ ความจงรักภักดีที่เรียกกันว่า "ล้นเกิน" ต่อสถาบันนี้ โดยเฉพาะในหมู่คนชั้นกลาง ซึ่งกลายเป็นอณูมากกว่าใคร จึงเป็นปรากฏการณ์ที่พบได้อยู่เสมอ

ทั้งยังทำให้คาดได้ว่า การเคลื่อนไหวทางการเมืองเชิงเผด็จการเบ็ดเสร็จของคุณสุเทพมีศูนย์กลางอยู่ในกรุงเทพฯ

"มวลมหาประชาชน" ของคุณสุเทพ ประกอบด้วยอณู เพราะหากไม่เป็นอณูคนจะกลายเป็น "มนุษย์มวลชน" (ตามคำของ Arendt) ไม่ได้ และเพราะเป็นอณูจึงหลอมรวมเป็น "มวลมหาประชาชน" ได้

ไม่ใช่ถูกคุณสุเทพหลอมรวมนะครับ แต่เขาหลอมรวมกันเอง และหลอมรวมคุณสุเทพเข้าไปด้วย ทั้งหมดได้ค้นพบเป้าหมายแห่งชีวิตที่อ้างว้างเปล่าเปลี่ยวคือ การเป็นส่วนหนึ่งของ "มวลมหาประชาชน" ซึ่งมีชีวิตจิตใจของมันเอง คุณสุเทพคือตัวเขาเองที่พูดออกมา และ "มวลมหาประชาชน" ก็พูดแทนประชาชนทั้งหมด

จึงเป็นเรื่องผิดฝาผิดตัวที่ไปถามว่า "มวลมหาประชาชน" ของคุณมีจำนวนเท่าไร ห่างไกลจากตัวเลข 65 ล้านคน อันเป็นประชากรไทย การเมืองของเผด็จการเบ็ดเสร็จไม่ได้อยู่ที่จำนวน แต่อยู่ที่คุณเป็นเสียงของใคร มีระบอบเผด็จการเบ็ดเสร็จที่ไหน เริ่มต้นจากเสียงข้างมาก แม้แต่นาซีซึ่งได้เสียงข้างมากในสภา ก็เริ่มจากแก๊งอันธพาลข้างถนน รวบรวมกลุ่มคนที่ล้มเหลวในชีวิตทุกด้านไว้ด้วยกัน มุสโสลินียึดรัฐได้ด้วยเสียงข้างน้อยในสภา บอลเชวิคก็เป็นเสียงข้างน้อย แต่เป็นตัวแทนของ "มวลมหาประชาชน" การกล่าวว่าม็อบคุณสุเทพคือ เผด็จการของเสียงข้างน้อย ถูกเป๊ะตรงเป้าเลย และน่าจะถูกใจม็อบด้วย ก็เคลื่อนไหวทั้งหมดมาก็เพราะต้องการเป็นเผด็จการของเสียงข้างน้อย เหมือนเผด็จการของชนชั้นกรรมาชีพ เผด็จการของอารยันบริสุทธิ์ เผด็จการของคนดี


เผด็จการเบ็ดเสร็จที่ไหนๆ ก็ทำลายหลักการเสียงข้างมากของประชาธิปไตยทั้งนั้น เสียงข้างมากที่ถือว่าทุกคนเท่าเทียมกันทางการเมืองนั่นแหละคือ ตัวปัญหา เพราะทุกคนไม่ควรเท่าเทียมกันทางการเมือง

ในเมื่อมีการศึกษาต่างกัน ถือหุ้นในประเทศไม่เท่ากัน และเห็นแก่ส่วนรวมไม่เท่ากัน คนที่ยอมกลืนตัวให้หายไปใน "มวลมหาประชาชน" จะเท่าเทียมกับคนอื่นซึ่งมัวแต่ห่วงใยกับประโยชน์ของตนเองและลูกเมียได้อย่างไร

ด้วยเหตุดังนั้น อย่าถามถึงจำนวนเลย "มวลมหาประชาชน" ฟังไม่รู้เรื่อง

เมื่อทำลายหลักการของเสียงข้างมาก ก็ทำให้ความชอบธรรมทั้งหมดของสถาบันที่อยู่กับเสียงข้างมากสูญสลายไปด้วย รัฐบาลที่มาจากการรับรองของเสียงข้างมากในสภาจึงเป็นโมฆะ แม้แต่สภาหรือรัฐสภาที่ให้การรับรองก็เป็นโมฆะ หน่วยงานราชการที่อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของคนโมฆะ ก็ย่อมโมฆะ

ทุกอย่างโมฆะหมด หรือทุกอย่างถูกแผ้วถางออกไปหมด เพื่อทำให้ "มวลมหาประชาชน" สร้างสิ่งใหม่ขึ้นได้ ไม่ว่าจะเป็นสภาประชาชน หรือนายกรัฐมนตรีคนดีที่มาจากการเลือกสรรของคนดี ทูลเกล้าฯ ให้ได้รับการแต่งตั้ง

การคัดค้านว่าทั้งหมดนี้ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เป็นการค้านที่ผิดฝาผิดตัว เพราะ "มวลมหาประชาชน" อันอ้างเป็นเสียงของประชาชนทั้งมวลนั้น ไม่ได้ตั้งใจให้ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ซึ่งเปิดโอกาสให้คนชั่วมีอำนาจอยู่แล้ว ที่ยังไม่ประกาศให้รู้ชัดๆ ไปเลยก็เพราะยังไม่ถึงเวลา

ทำไมจึงไม่ประกาศให้ชัดเจนว่า แผนการทางการเมืองของ "มวลมหาประชาชน" คืออะไร คำอธิบายของ Arendt นั้นลึกซึ้งมาก โครงการหรือแผนการใดๆ ทำให้อณูกลายเป็นปัจเจก เพราะต้องมีหลักที่แน่นอนอย่างใดอย่างหนึ่งให้ยึดถือ ถ้าอณูเริ่มยึดถือหลัก เขาก็หมดความเป็นอณู เพราะต้องคิดสนับสนุนหรือต่อสู้ กับการคัดค้าน เมื่อนั้นมวล (มหาประชา) ชนก็สลายตัว กลายเป็นแค่ม็อบ ที่ทุกคนต่างมีความประสงค์ที่แตกต่างกัน การหลวมรวมตัวเข้าไปใน "มวลมหาประชาชน" จึงเกิดขึ้นไม่ได้


นี่คือเหตุผลที่ความเคลื่อนไหวของ "มวลมหาประชาชน" มีแผนได้แทบจะเฉพาะชั่วโมงต่อชั่วโมง และต้องคอยยกระดับกันทุกวัน เพราะเป้าหมายหรือแผนคือ การทำลายตนเองของ "มวลมหาประชาชน"

อย่าลืมว่า เมื่อไรที่มีแผน เมื่อนั้นก็จะประสบความสำเร็จหรือความล้มเหลวได้ แล้วหลังจากนั้นล่ะ? นโยบายพรรคภายใต้สตาลินและเหมาเปลี่ยนได้ทุกปี เพื่อให้ "มวลมหาประชาชน" ต้องเข้มแข็ง เตรียมพร้อม และสู้รบตลอดไป

ต้องหาอะไรให้ม็อบทำ อย่าชุมนุมเฉยๆ เป็นคำอธิบายเชิงยุทธวิธี แต่ในเชิงยุทธศาสตร์ มีอะไรที่ลึกกว่านั้นไปอีก

"มวลมหาประชาชน" ของคุณสุเทพถูกโจมตีว่าทำผิดกฎหมายถึงขั้นกบฏ และบางครั้งก็อาจถูกโจมตีว่าทำผิดศีลธรรมด้วย ที่ยั่วยุให้เกิดความรุนแรง บางคนขุดคุ้ยประวัติของคุณสุเทพขึ้นมา "แฉ" ทั้งหมดนี้เพื่อลดความชอบธรรมของ "มวลมหาประชาชน"

น่าประหลาดมากที่ Arendt ชี้ให้เห็นว่า การละเมิดกฎหมายและศีลธรรมนั้นเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่ง ที่ทำให้มวล(มหาประชา)ชนเข้ามาหลอมรวมตัวกับผู้นำ 
ผู้นำของการเคลื่อนไหวเชิงเผด็จการเบ็ดเสร็จหลายคนจะเล่าถึงประวัติอาชญากรรมของตนอย่างภาคภูมิใจ คุณสนธิ ลิ้มทองกุล รับบนเวทีว่า ตนเคย "เหี้ย" (คำของเขา) มาอย่างไร และบัดนี้หันมาปฏิบัติธรรมจนห่างพระองคุลิมาลไม่ถึงคืบหนึ่งดี 

คำอธิบายง่ายๆ ของผมต่อปรากฏการณ์นี้ก็คือ มวล(มหาประชา)ชนเกลียดสังคมที่ทำให้ตนไม่รู้สึกสุขสงบ สังคมเช่นนั้นดำรงอยู่บนระบบกฎหมายและศีลธรรมชนิดที่ควรละเมิดนั่นแหละ จึงทำให้เขาลุกขึ้นมาร่วมเป็นมวล(มหาประชา)ชน การละเมิดกฎหมายและศีลธรรมยิ่งทำให้น่าวางใจว่า ขบวนการจะเดินไปสู่อะไรที่ใหม่และดีกว่าเก่า


จำนวนมากของผู้ที่ร่วมใน "มวลมหาประชาชน" ของคุณสุเทพ (ตัดม็อบว่าจ้างและคนที่ถูกขนมาจากเขตเลือกตั้งของตนแล้ว) ไม่ได้เข้าร่วมเพราะวาทศิลป์ของคุณสุเทพ ไม่ได้เข้าร่วมเพื่อประโยชน์ส่วนตน แต่จะพูดว่ามีอุดมการณ์เดียวกับคุณสุเทพไม่ได้ เพราะอุดมการณ์เกิดขึ้นจากการคิดไตร่ตรอง ผ่านการถูกโต้แย้งและการตอบโต้มามาก หากร่วมเพราะเป็นความเชื่อมั่น (conviction) ทางอารมณ์และความรู้สึก
นั่นคือเป็นการตอบสนองต่อสภาวะอันไม่น่าพอใจที่ตนได้ประสบมาในชีวิตของสังคมอณูที่ไร้ความผูกพันใดๆ ซ้ำเป็นสภาวะที่ตนมองไม่เห็นทางออกอีกด้วย คุณยิ่งลักษณ์, พรรคเพื่อไทย หรือคุณทักษิณ เป็นเหยื่อรูปธรรมของความเชื่อมั่นทางอารมณ์และความรู้สึกนั้น สักวันหนึ่งข้างหน้า เหยื่อรูปธรรมจะเปลี่ยนเป็นคนอื่นได้หรือไม่ ผมมั่นใจว่าเปลี่ยนได้ อาจเป็นกองทัพ, สถาบันต่างๆ เช่น ตุลาการ, หรือศาสนา หรืออะไรอื่นได้อีกหลายอย่าง
เพราะการเมืองมวลชนเชิงเผด็จการเบ็ดเสร็จย่อมต้องสร้างศัตรูขึ้นเป็นเป้าแห่งความเกลียดชังเสมอ


ผมคงสามารถยกคำอธิบายของ Arendt มาทำความเข้าใจกับมวล (มหาประชา) ชนของคุณสุเทพได้อีกมากมาย แต่ขอยุติเพียงเท่านี้ เพื่อจะบอกด้วยความแน่ใจว่า คุณสุเทพกำลังนำ "มวลมหาประชาชน" ไปในทิศทางของเผด็จการเบ็ดเสร็จอย่างชัดเจน คุณสุเทพไม่ใช่คนแรกที่ทำอย่างนี้ แต่มีคนอื่นทำมาแล้ว แต่ไม่ชัดเจนเท่าครั้งนี้

เราจะออกจากการเมืองมวลชนแบบที่นำไปสู่เผด็จการเช่นนี้ได้อย่างไร ผมคิดว่าการชี้ให้เห็นความไม่ชอบธรรมของขบวนการเช่นนี้ในทางกฎหมายเป็นสิ่งจำเป็นและต้องเร่งทำ แต่ไม่ใช่เพื่อบอกกล่าวแก่ผู้เข้าร่วมชุมนุม เพราะมวล(มหาประชา)ชน ไม่มีหูจะรับฟัง แต่เราต้องทำความเข้าใจกับคนนอกอีกมาก ทำให้คนนอกเหล่านั้น ซึ่งจำนวนไม่น้อยก็มีชีวิตในสังคมอณูเช่นกันเชื่อว่า ทางเลือกในระบอบประชาธิปไตยยังมีอยู่ หากเราให้โอกาส


ม็อบแบบ "มวลมหาประชาชน" นั้นมีในทุกสังคมอณู แต่ไม่จำเป็นต้องมีพลังครอบงำทางเลือกของสังคมอย่างม็อบของฮิตเลอร์, มุสโสลินี, สตาลิน, หรือเหมา เสมอไป ขึ้นอยู่กับว่า ประชาชนส่วนใหญ่ในสังคมนั้น มีสติ ความอดกลั้น และความเข้าใจเพียงพอ ที่จะไม่ปล่อยให้มวล(มหาประชา)ชน ชักนำไปอย่างมืดบอดหรือไม่

เราทุกคน รวมทั้งคุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กำลังอยู่ในวิกฤตทางเลือกที่สำคัญขนาดคอขาดบาดตายสำหรับสังคมไทย หากคุณยิ่งลักษณ์และเราทุกคนช่วยกันประคองให้สังคมไทยหลุดรอดจากทางเลือกของการเมืองแบบเผด็จการเบ็ดเสร็จไปได้ในครั้งนี้

หลานของผมและลูกคุณยิ่งลักษณ์จะมีชีวิตที่พูดอะไรก็ได้ตามความคิดของตน สามารถตอบโต้คัดค้านความคิดของคนอื่นได้ โดยไม่ต้องหวาดกลัวว่า

จะถูกมวล(มหาประชา)ชนลงโทษ ด้วยการเป่านกหวีดใส่ ไปจนถึงจำขัง, เนรเทศ หรือประหารชีวิต



.

2556-11-24

อารยะขัดขืนอีกแย้ว โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์

.

อารยะขัดขืนอีกแย้ว
โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์

ใน www.khaosod.co.th/view_newsonline.php?newsid=TVRNNE5USTJOemMxTnc9P
วันอาทิตย์ที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556 เวลา 11:35 น.

(ที่มา : มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 22-28 พฤศจิกายน 2556 หน้า 25)
ภาพจากเวบบอร์ด มิใด้เกี่ยวข้องกับ มติชนหรือผู้เขียน


อารยะขัดขืนคือคำแปลของภาษาอังกฤษว่า civil disobedience ซึ่งนักเรียนอักษรศาสตร์ต้องรับไปด้วยความพะอืดพะอม เพราะมีรูปเหมือนคำสมาส ทั้งๆ ที่ไม่น่าจะเอาสองภาษามาสมาสกันได้ ถ้าแปลว่าขัดขืนอย่างอารยะ ก็ฟังเป็นไทยกว่า แม้ความเป็นคำนามดูจะหายไปก็ตาม

ผมจู้จี้กับเรื่องนี้เพราะ “อารยะ” มีความสำคัญมากในศัพท์นี้ ทั้งที่ในภาษาอังกฤษ ผมเข้าใจว่า civil ในที่นี้หมายถึงอะไรที่ไม่ใช่รัฐ มากกว่าหมายถึงนาครธรรม (civility) แต่โดยรากศัพท์สองคำนี้มีความเกี่ยวเนื่องกัน จะแปลว่าอารยะก็ได้ เพราะฝรั่งเชื่อว่าอารยธรรมมากับความเป็นเมืองหรือ “นาคร” และที่จริงอารยธรรมก็เป็นรากศัพท์เดียวกันในภาษาฝรั่งอีกนั่นแหละ

อารยะสำคัญอย่างไรในการทำอารยะขัดขืน ผมหวังว่าผู้อ่านจะเห็นได้เองข้างหน้า


คุณสุเทพ เทือกสุบรรณ แกนนำฝูงชนที่ประท้วงรัฐบาลอยู่ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ยกระดับการประท้วงไปสู่การทำอารยะขัดขืนสี่แนวทางด้วยกัน

1. หยุดจ่ายภาษี แต่มาขยายความในภายหลังว่าให้ชะลอการจ่ายภาษี

2. หยุดงานและหยุดเรียนทั่วประเทศ

3. ชักธงชาติขึ้นทุกบ้านเป็นสัญลักษณ์การประท้วง

4. เป่านกหวีดใส่นักการเมืองฝ่ายตรงข้าม

คุณสุเทพไม่ใช่คนแรกในเมืองไทยที่อ้างการกระทำของตนว่าเป็นอารยะขัดขืน ผู้ประท้วงรัฐบาลทักษิณตั้งแต่ก่อนรัฐประหารก็อ้างการกระทำของตนว่าเป็นอารยะขัดขืนเช่นกัน พันธมิตรฯ ก็เคยอ้างการละเมิดกฎหมายของตนว่าเป็นการทำอารยะขัดขืน

แต่มันใช่หรือครับ?

หลักข้อแรกของการทำอารยะขัดขืนซึ่งคุณสุเทพหรือใครอื่นที่อยากทำควรสำเหนียกไว้ด้วยก็คือ สิ่งที่ทำนั้นเป็นการละเมิดกฎหมาย แต่เพราะกฎหมายไม่ชอบธรรม หรือเพราะรัฐทำสิ่งที่เสียหายมากจนต้องประท้วงด้วยการละเมิดกฎหมาย แต่ผู้ประท้วงไม่ต้องการทำลายรัฐ อันเป็นรากฐานสำคัญของ “อารยะ” ถึงประท้วงรัฐก็ยอมรับอำนาจของรัฐ และความจำเป็นที่รัฐจะต้องดำรงอยู่ต่อไป ด้วยเหตุดังนั้นจึงยินดีรับโทษด้วยความยินดี นักปฏิบัติอารยะขัดขืนเห็นว่า การรับโทษนั่นแหละยิ่งทำให้ผู้คนมองเห็นความไม่ชอบธรรมของรัฐมากขึ้น จนออกมาร่วมประท้วงจำนวนมาก กลายเป็นพลังที่สามารถกำกับควบคุมให้รัฐยุติการกระทำที่ไม่ชอบธรรมนั้นได้

ผมไม่ทราบว่า คุณสุเทพยอมรับหลักการนี้แค่ไหนเพียงไร แต่อยากเตือนว่า นักปฏิบัติอารยะขัดขืนที่เข้าคุกหรือโดนยิงเป้า แล้วก่อให้เกิดความไม่พอใจในหมู่ราษฎรอย่างกว้างขวาง มีจำนวนน้อยมากในโลก เท่าที่ผมนึกออกก็มีกรณีที่เห็นได้ชัดคือท่านมหาตมะคานธี และ ดร. มาร์ติน ลูเธอร์ คิง แต่ที่เห็นไม่ชัดอาจมีอีกก็ได้ (เพราะมักแยกไม่ออกระหว่างนักปฏิบัติอารยะขัดขืนกับนักปฏิวัติ เช่น โฮเซ่ ริซาล แห่งฟิลิปปินส์) ส่วนใหญ่ของนักปฏิบัติอารยะขัดขืน มักรับโทษไปคนเดียว ดังเช่นเดวิด โธโรส์ เจ้าตำรับชาวอเมริกัน

ในอนาคต คุณสุเทพอาจมีชื่อในประวัติศาสตร์ แต่ยังไม่สามารถทำให้ประชาธิปัตย์เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลได้ในตอนนี้ เพราะถึงมีรัฐประหาร เขาก็คงไม่ชักสายล่อฟ้าอภิสิทธิ์ขึ้นอีก แค่ไม่มีอภิสิทธิ์ ยังไม่รู้ว่าจะปรามการจลาจลได้อย่างไร


ยิ่งคิดถึงผู้เข้าร่วมประท้วง ผมยิ่งค่อนข้างเชื่อว่า ส่วนใหญ่คงไม่อยากจะหยุดการชำระภาษี เพราะมีโทษปรับเป็นอย่างน้อย หากชำระเกินเวลาที่รัฐกำหนดไว้ อย่าลืมสิ่งที่เบนจามิน แฟรงกลิน กล่าวไว้นะครับว่า สิ่งที่แน่นอนในชีวิตมนุษย์นั้นมีอยู่สองอย่างคือความตายกับภาษี

อันที่จริง ภาษีเป็นเครื่องมือสำคัญของรัฐที่จะดำเนินการอะไรต่างๆ ทั้งที่ชอบธรรมและไม่ชอบธรรม การหยุดชำระภาษีจึงเท่ากับปลดอาวุธของรัฐได้ราบเรียบอย่างแน่นอน และนักประท้วงรัฐทั่วโลกก็คิดเรื่องนี้มาหลายศตวรรษแล้ว แม้ไม่ได้คิดประท้วงรัฐเลย ก็ไม่อยากเสียภาษีอยู่ดีแหละครับ

คนที่ไม่รู้ว่าจ่ายภาษีครบหรือไม่ และออกมาพูดว่า การเสียภาษีเป็นหน้าที่พลเมืองนั้น ผมคิดว่าพลาดประเด็นไปถนัด ก็เพราะเป็นหน้าที่ซึ่งรัฐกำหนดขึ้นล่ะสิครับ จึงเอามาขัดขืนอย่างอารยะได้

แต่การไม่เสียภาษีบำรุงการกระทำที่ไม่ชอบธรรมของรัฐโดยไม่ต้องรับโทษนั้นมีวิธีครับ หากเป็นวิธีที่คนส่วนใหญ่ซึ่งใจไม่ถึงทำไม่ได้ นั่นก็คืออย่ามีรายได้หรือมีกำไรในการค้าสิครับ รวมทั้งไม่ซื้อสินค้าหรือบริการใดๆ เพื่อไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มด้วย

ไม่ง่ายครับ แต่มีคนใจถึงทำมาแล้ว นั่นคือ นายเดวิด โธโรส์ ที่กล่าวถึงไปแล้ว เขาเลิกทำงาน แล้วออกไปอยู่ดงหนองน้ำ Walden คนเดียวทั้งปี กินอาหารตามธรรมชาติ ไม่มีรายได้ที่จะนำมาประเมินภาษีได้ รวมทั้งไม่ซื้อหาอะไรมาบริโภคอีกด้วย เขาเห็นว่ารัฐเอาเงินภาษีไปทำสงครามรุกรานประเทศเพื่อนบ้านเล็กๆ ไม่ชอบธรรม การเสียภาษีจึงเท่ากับร่วมมือกับรัฐในการประกอบอาชญากรรมระหว่างประเทศไปด้วย

นายโธโรส์ทำอะไรเหมือนบรรพบุรุษของคนทั้งโลกเคยทำมาแล้ว คือเมื่อทนเสียภาษี ถูกเก็บส่วยและเกณฑ์แรงงานไม่ไหว ก็หนีออกไปอยู่ในที่ซึ่งมือของรัฐเอื้อมไปไม่ถึง แต่รัฐสมัยใหม่ที่นายโธโรส์มีชีวิตอยู่มือมันยาวมาก ไม่มีที่ไหนจะหนีรอด จึงต้องยากลำบากถึงเพียงนั้น เพื่อให้พ้นมือของรัฐไปได้

ผมไม่เชื่อว่าจะมีผู้เข้าร่วมประท้วงกับคุณสุเทพสักคนเดียวที่พร้อมจะหยุดจ่ายภาษีด้วยวิธีอารยะขัดขืน เพราะมันแพงไปในทุกทาง แพงค่าปรับ และแพงชีวิตเกินกว่าคนทั่วไปจะรับไหว



ผมอดคิดถึงการประท้วงธนาคารของคนจนฟิลิปปินส์ไม่ได้ ดูเหมือนธนาคารเรียกเก็บเงินค่ารักษาบัญชีอะไรทำนองนั้น คนจนจึงประท้วงด้วยการถอนเงินและฝากเงินที่เคาน์เตอร์กันทั้งวัน จนธนาคารแทบทำอะไรไม่ได้ นอกจากบริการลูกค้าที่ถอนๆ ฝากๆ อยู่ทั้งวัน นี่คืออารยะขัดขืนจริง และทำได้ในโลกสมัยปัจจุบัน ยังมีวิธีอารยะขัดขืนที่คนจนทั่วโลกคิดขึ้นอีกหลายวิธี ล้วนเด็ดๆ และเป็นการขัดขืนอย่างอารยะทั้งนั้น เพราะอารยะคือเกราะป้องกันตัวของคนจนคนไร้อำนาจ อาวุธของคนจนจึงล้วนเป็นอารยาวุธทั้งสิ้น

แต่อาวุธที่อารยะเหล่านี้ไม่ได้เกิดจากผู้นำคนเดียวหรือกลุ่มเดียว ขึ้นไปร้องตะโกนบนเวที แล้วให้ปรบมือหรือเป่านกหวีดรับเป็นมติ อาวุธอารยะเกิดขึ้นจากการประชุมร่วมกัน คิดร่วมกัน ช่วยกันแก้ไขข้อบกพร่องและอุดช่องโหว่ต่างๆ จึงลงมือปฏิบัติการร่วมกันให้ได้ผล การดำเนินการแบบประชาธิปไตยนั้นเป็นหัวใจสำคัญของขบวนการคนจน ไม่ใช่การนำของวีรบุรุษเอกชนคนเดียวหรือกลุ่มเล็กๆ กลุ่มเดียว

ยกเว้นแต่มีผู้นำระดับมหาตมะคานธี แต่คนอย่างคานธีไม่ได้เกิดมีขึ้นได้บ่อยๆ ทั้งในอดีตและปัจจุบัน กระบวนการประชาธิปไตยจึงมีความสำคัญที่ขาดไม่ได้ของการทำอารยะขัดขืน เพราะดังที่กล่าวแล้วว่า ในรัฐปัจจุบัน การทำอารยะขัดขืนโดยปัจเจกบุคคล เป็นเรื่องที่ยากเกินไป จำเป็นต้องทำเป็นกลุ่มก้อนขนาดใหญ่พอสมควร กลุ่มก้อนนั้นจะรวมตัวกันติดเป็นเวลานานได้ ก็คือการมีส่วนร่วมอย่างเท่าเทียมเท่านั้น ทุนอุดหนุนการชุมนุมก็ตาม, วาทศิลป์ของผู้นำก็ตาม, ความบันเทิงบนเวทีก็ตาม ฯลฯ มาแทนที่การมีส่วนร่วมอย่างเท่าเทียมไม่ได้

เพราะดูยังไงๆ ก็เป็นการประท้วงของคุณสุเทพและแฟนานุแฟนของ ปชป. อยู่ดี ไม่ใช่อารยะขัดขืน

การหยุดงานและหยุดเรียนก็มีราคาเหมือนกัน หากผู้ประกอบการทั้งหลายพากันปิดงานประท้วง ราคาที่ต้องจ่ายก็คือ อาจผลิตสินค้าได้ไม่ทันออเดอร์ ในขณะที่พนักงานไม่มีราคาต้องจ่าย ยกเว้นแต่ลูกจ้างรายวัน (ซึ่งมีจำนวนมหึมาในแรงงานไทย) แต่หากให้พนักงานแต่ละคนหยุดงานโดยสมัครใจ คงทำได้จำนวนน้อยเท่านั้น เพราะพนักงานส่วนใหญ่คือคนที่ต้องเกรงใจนายจ้าง คนที่นายจ้างเกรงใจมีจำนวนน้อย แม้แต่หน่วยราชการและรัฐวิสาหกิจ ก็มีเฉพาะบางหน่วยที่ไม่ต้องกลัวนายเท่านั้น เช่นมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์บางคณะ หรือการไฟฟ้าฝ่ายผลิตบางหน่วย ก็อย่างที่บอกแล้วว่ามันมีราคาที่ประมาณลำบาก เรี่ยไรเงินยังพร้อมจ่ายมากกว่า เพราะรู้แล้วว่าจะจ่ายเท่าไร

ผมไม่ทราบว่าเหตุใดผู้นำการประท้วงจึงเลือกวิธีนี้ในการทำอารยะขัดขืน เพราะเป็นวิธีที่หวังผลได้น้อย อยากจะเดาว่าประเมินกำลังของตนเองผิด เหมือนการนำคนเดียวในที่อื่นและสถานการณ์อื่น

การประเมินผิดเป็นจุดอ่อนของระบบนำคนเดียวเสมอ นับตั้งแต่นโปเลียนมาถึงฮิตเลอร์ สตาลิน เหมาเจ๋อตง คุณทักษิณ และคุณสุเทพ


ส่วนชักธงชาตินั้น ผมมองไม่ออกว่าขัดขืนอะไร ประเทศนี้ใช้ธงชาติกล่อมให้ประชาชนลืมความอยุติธรรมและความยากลำบากมานานแล้ว ยิ่งชักยิ่งชอบ ผมเห็นหลายบ้านชักธงชาติคู่กับธงตราประจำรัชกาลมานานแล้ว แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าเขาชักเพื่อร่วมประท้วง หรือเขาชักอยู่เป็นประจำ ถ้าอย่างนั้นทำไมไม่เสนอให้นุ่งกางเกงประท้วงเป็นสัญลักษณ์ล่ะครับ พรึบเลย นับเป็นการขัดขืนที่ “อารยะ” จริงๆ เลยทีเดียว คือเอากิจวัตรปรกติมาเป็นสัญลักษณ์ของการขัดขืน เสียแต่ว่า คุณยิ่งลักษณ์จะรู้ไหมเนี่ย ว่าถูกขัดขืนไปแล้ว


มาถึงการเป่านกหวีดใส่นักการเมืองพรรคเพื่อไทย คิดอย่างไรก็คิดไม่ออกว่า การรังแกผู้อื่นเป็นอารยะขัดขืนไปได้อย่างไร มหาตมะคานธีตั้งกฎการเดินขบวนที่แม้แต่สาวกใกล้ชิด (เช่นท่านเนห์รู) ก็ทำไม่สำเร็จ นั่นคือเมื่อตำรวจอินเดียซึ่งใช้ไม้กระบองยาวเป็นอาวุธ (ลาธิ) ยกขึ้นจะตีหัวผู้เดินขบวน ท่านแนะว่า อย่าแม้แต่ยกมือรับกระบองเพื่อป้องกันศีรษะ (อันเป็นสัญชาตญาณของมนุษย์) เพราะการเคลื่อนไหวเพื่อรับกระบอง สอดรับกับการใช้ความรุนแรง อันเป็นเหตุให้ตำรวจยิ่งใช้ความรุนแรงมากขึ้น นี่เป็นสุดโต่งของอารยะขัดขืน แต่เห็นหลักการของอหิงสาซึ่งเป็นส่วนที่ขาดไม่ได้ของอารยะขัดขืนได้ชัดดี

ถึงยกเรื่องอารยะขัดขืนออกไป การเป่านกหวีดใส่ปฏิปักษ์ก็ทำได้ยากในวัฒนธรรมไทย ครูของผมคนหนึ่งคือ ศาสตราจารย์เฮอเบิร์ต ฟิลลิปส์ พูดถึงบุคลิกภาพของชาวนาไทย (ซึ่งอาจรวมถึงคนไทยทั่วไปด้วย ไม่มากก็น้อย) เรื่องหนึ่งไว้ว่า คนไทยไม่ชอบการเผชิญหน้าตรงๆ (face-to-face conflict) แต่เลี่ยงไปเกาะกลุ่มนินทา บัตรสนเท่ห์ หรือโจมตีปฏิปักษ์ด้วยสถานการณ์ที่ไม่เห็นคู่ขัดแย้งอย่างโจ่งแจ้ง

การเป่านกหวีดเป็นการเผชิญหน้าตรงๆ คนถูกเป่าก็เห็นหน้าคนเป่าอย่างถนัด ผมเชื่อว่าคนไทยส่วนใหญ่ไม่อยากทำ ยกเว้นในสถานการณ์ที่มีผู้เป่านกหวีดมากเสียจนหน้าของผู้เป่าถูกกลบไปในฝูงชน เสียงบ่นของ คุณจาตุรนต์ ฉายแสง ที่ถูกนักการเมืองเป่านกหวีดใส่นั้นน่าสนใจนะครับ ท่านบอกว่าก็คนรู้จักกันมานานๆ ทั้งนั้นไม่น่าทำอย่างนี้เลย คุณจาตุรนต์ลดการประท้วงมาเป็นเรื่องส่วนบุคคล และด้วยเหตุดังนั้น จึงกลายเป็นการเผชิญหน้าตรงๆ คนไทยฟังแล้วคงเห็นว่า อ้าว ไม่ใช่เรื่องบ้านเมืองหรอกหรือ ที่แท้ก็เรื่องหมากัดกัน กูไม่เกี่ยวดีกว่า

ผมอยากช่วยคงความหมายของ civil disobedience มาหลายครั้งแล้ว แต่ไม่สำเร็จสักที เหตุผลสำคัญคงอยู่ที่ว่า civil disobedience เกิดขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อสังคมนั้นต้องมีสำนึกในเรื่อง civil society อย่างชัดเจนและเต็มเปี่ยมกว่านี้ การเกาะกลุ่มกันเพื่อแย่งอำนาจรัฐจึงถูกบิดเบือนความหมายเป็น civil disobedience ได้ง่ายด้วยประการฉะนี้



.

2556-11-13

พิชญ์: จากม็อบต้านโกง ถึงระบอบต้านโกงแบบไทยๆ

.

จากม็อบต้านโกง ถึงระบอบต้านโกงแบบไทยๆ
โดย พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ 
madpitch@yahoo.com
ใน www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1384249824
วันพุธที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556 เวลา 07:00:29 น.

( ที่มา : นสพ.มติชนรายวัน อังคาร12พ.ย.2556 )


เรื่องราวที่อยากจะเขียนถึงต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นของปฏิกิริยาของการผ่านร่างกฎหมายนิรโทษกรรมของสภาผู้แทนฯนั้นมีมากมาย แต่เรื่องที่น่าจะเป็นจุดสำคัญจุดหนึ่งนั่นก็คือเรื่องของ "ม็อบต้านโกง"

หรือจะให้กล่าวอีกอย่างก็คือ เราจะพบว่า การต้านกฎหมายนิรโทษกรรมนั้น มีลักษณะของความซับซ้อนเพราะร่างกฎหมายนิรโทษกรรมที่ผ่านสภาผู้แทนฯนั้น ในความรับรู้ร่วมกันของสังคมก่อนที่จะผ่านสภานั้น เป็นเรื่องของการพยายามนิรโทษกรรมบรรดาคนตัวเล็กตัวน้อย ที่ถูกม้วนเข้าสู่ความขัดแย้งทางการเมือง และก่อนที่จะมีประเด็นการถกเถียงเช่นวันนี้ ก็มีแต่เรื่องราวสำคัญที่เป็นข่าวอยู่เรื่องเดียวหลักๆ ก็คือว่า ตกลงทหารจะหลุดหรือไม่ (วันนี้เรื่องนี้เงียบไป) เพราะแกนนำการชุมนุม และผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าสั่งฆ่านั้นต่างก็เชื่อมั่นว่าตนนั้นถูกต้องและพร้อมจะสู้คดี

แต่เมื่อเกิดความเปลี่ยนแปลงในเรื่องของเนื้อหาของตัวร่างกฎหมายในขั้นกรรมาธิการ และเมื่อเกิดการเคลื่อนไหวคัดค้านร่างกฎหมายนิรโทษกรรมฉบับนี้ เรื่องราวก็เปลี่ยนไปจากเรื่องราวของการนิรโทษกรรมมาสู่เรื่องของระบอบต้านโกงเป็นเนื้อหาหลัก ด้วยความเชื่อที่ว่าหากกฎหมายฉบับนี้ผ่าน คนโกงก็จะได้รับการนิรโทษ และเรื่องของการโกงในสังคมไทยก็จะกลายเป็นเรื่องที่รับได้


ทั้งที่ในเรื่องของการต่อต้านร่างกฎหมายนิรโทษกรรมฉบับนี้ยังมีเรื่องของการคัดค้านในอีกด้านหนึ่งด้วย นั่นก็คือ หากร่างกฎหมายฉบับนี้ผ่าน ก็จะทำให้คนที่ถูกกล่าวหาว่าสั่งฆ่าผู้ชุมนุมนั้นหลุดรอดไปด้วย แต่เรื่องราวในฝั่งนี้ถูกนำเสนอในแง่ของความแตกแยกระหว่างเสื้อแดงกับพรรค หรือในแง่ของการถูกหลอกของคนเสื้อแดงเสียมากกว่า


ขณะที่ข่าวการต่อต้านกฎหมายนิรโทษกรรมในแบบต้านโกงนั้นถูกนำเสนอในแง่ของม็อบที่จุดติด และพลังจำนวนมหาศาลของมวลมหาประชาชน ด้วยภาพสีสันของข่าวและความสอดคล้องกันของภาคส่วนต่างๆ ของสังคม

โดยไม่ได้ตั้งข้อสงสัยถึงลักษณะที่อาจจะขัดกันเองหลายๆ ประการของม็อบที่น่าจะเรียกง่ายๆ ว่า "ม็อบต้านโกง" เช่นเมื่อเกิดการเคลื่อนไหวเช่นนี้แล้ว ทางออกของการนิรโทษกรรมคืออะไร? เพราะเรื่องนี้ควรจะกลับไปตั้งหลักที่ เรื่องของการนิรโทษกรรม ความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน และความปรองดอง แต่สุดท้ายก็มาจบลงที่เรื่องของการต้านโกง การไม่นิรโทษคนโกง และการไม่ปรองดองกับคนโกง


หรือการที่แกนนำของม็อบเองนั้นก็เคยเป็นหนึ่งในนักการเมืองที่ถูกกล่าวหาว่าโกงมาก่อน หรือระบอบที่มาจัดการคนโกงอย่างการทำรัฐประหารเองนั้นก็นำมาซึ่งความเคลือบแคลงสงสัยเพราะว่าผู้นำที่ได้รับการแต่งตั้งจากระบอบรัฐประหารก็ถูกกล่าวหาว่าโกงเช่นกัน


คําถามที่สำคัญจึงอยู่ที่ว่า ทำไมการต้านโกงของประเทศนี้จึงเป็นเรื่องที่ใหญ่โตเสียจนทำให้คุณค่าในส่วนอื่นๆ ของสังคมนั้นสามารถถูกลดทอนลงได้ อาทิ เรื่องของสิทธิที่จะได้รับการประกันตัวหรือการพิจารณาในแง่ของการให้อภัยสำหรับคนตัวเล็กตัวน้อยที่ถูกม้วนตัวเข้าสู่ความขัดแย้งทางการเมือง หรือในแง่ของประชาธิปไตย-ที่ข้อกล่าวหาเรื่องของการโกง ทำให้การทำรัฐประหารซึ่งเป็นการทำลายกฎหมายและระบบนิติรัฐ-นิติธรรม รวมทั้งระบอบการเลือกตั้งและประชาธิปไตยนั้นเกิดขึ้นได้ (ยิ่งโดยเฉพาะกับคนหลายคนที่ยอมรับว่าไม่ต้องการการรัฐประหาร แต่เห็นว่าการรัฐประหารเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ยาก เพราะหนทางปกติในการต้านโกงนั้นทำงานไม่ได้)

ถ้าเราไม่ด่วนสรุปกันจริงๆ ว่า ม็อบต้านโกงนั้นเป็นเรื่องที่เท่ากับม็อบต้านคุณทักษิณ เราก็คงต้องมานั่งคิดมากอยู่ว่าสังคมไทยรับไม่ได้กับการโกงเอาเสียเลย หรือสังคมไทยนั้นรับไม่ได้กับการโกงอะไรบ้าง

หรือถ้าคิดอีกทีว่า ถ้าเรากล้าฟันธงไปเลยว่า ถ้าม็อบต้านโกงกับม็อบต้านคุณทักษิณนั้นเป็นเรื่องเดียวกัน เราก็ต้องมานั่งคิดว่าทำไมคนจำนวนไม่น้อยถึงรับคนอย่างคุณทักษิณไม่ได้เอาเสียเลย

พูดอีกอย่างก็คือ ระบอบต้านโกงแบบบ้านเรานั้นมีชีวิตที่เติบโตขึ้นอย่างใหญ่โต มีตรรกะของมันเอง และมีพัฒนาการไปสู่เรื่องที่ใหญ่โตขึ้นไปกว่านั้นคือ ระบอบต้านโกงนั้นมิได้มีความสำคัญในด้านของเนื้อหาสาระว่าการโกงคืออะไร

แต่ยังรวมไปถึงการทำหน้าที่ทางการเมืองของการกล่าวหาคนโกงที่สามารถรองรับการละเมิดกฎเกณฑ์ปกติของการจัดการการโกงได้ด้วย
ซึ่งหมายถึงว่าเอาเข้าจริงแล้ว เมื่อเรากล่าวหาว่าการโกงนั้นเป็นเรื่องของการไม่ทำตามกฎเกณฑ์ แต่ท้ายที่สุดเราก็จัดการ-การไม่ทำตามกฎเกณฑ์ด้วยการล้มกฎล้มเกณฑ์ด้วยอำนาจนอกระบบเช่นกัน โดยเฉพาะการทำรัฐประหาร และที่สำคัญจะพบว่าการทำรัฐประหารในสองครั้งหลังคือเมื่อ 2534 และ 2549 นั้นก็มีเรื่องของการโกงเป็นข้ออ้างสำคัญในการทำรัฐประหาร และมีกระบวนการจัดการการโกงในลักษณะพิเศษทั้งสองครั้ง


ทีนี้เมื่อมาพิจารณาในเรื่องของการโกง เราคงต้องตั้งคำถามก่อนว่า การโกงมีกี่แบบ และแบบไหนที่สังคมไทยรับไม่ได้มากที่สุด

ผมอยากจะลองตอบว่า การโกงน่าจะมีอยู่สักสี่แบบ หรือสี่กลุ่มใหญ่ นั่นก็คือ ชาวบ้าน นักธุรกิจ ข้าราชการ และนักการเมือง

การโกงของชาวบ้านนั้นไม่ค่อยเป็นเรื่องใหญ่ เพราะเป็นเรื่องระหว่างกัน หรือเป็นเรื่องที่สามารถใช้อำนาจรัฐในการไล่จับได้

การโกงของเอกชนก็เช่นกัน โดยเฉพาะเรื่องใหญ่สุดก็คงจะมีสองเรื่องคือ โกงประชาชน และโกงภาษี ซึ่งก็จะรุนแรงมากขึ้นไปกว่าการโกงของชาวบ้าน

การโกงของข้าราชการในอดีตนั้นจับได้ยาก และประชาชนไม่ค่อยได้รับความเชื่อมั่น เพราะข้าราชการเขาเป็นผู้ปกครองประเทศเสียเอง แต่ในระยะหลังเมื่อมีองค์กรที่ตรวจสอบ หรือมีสื่อต่างๆ เรื่องของการโกงของข้าราชการนั้นก็ถูกตรวจสอบมากขึ้น


การโกงของนักการเมืองนั้นเป็นการโกงที่เป็นเรื่องใหญ่ที่สุดในความรู้สึกของเรา อันนี้จะว่าไม่ให้ความเป็นธรรมกับนักการเมืองก็อาจจะไม่ได้ เพราะนักการเมืองนั้นเมื่อโกงก็จะรุนแรงที่สุดในความหมายที่ว่า เขาเข้ามาสู่อำนาจรัฐ (หรือร่วมมือกับเจ้าหน้าที่รัฐ) จึงจับได้ยาก และหากนักการเมืองนั้นมาจากนักธุรกิจและโกงให้ธุรกิจตนเองด้วยก็จะยิ่งทำให้กลไกการตรวจสอบมันทำงานได้ยาก

และที่สำคัญนักการเมืองที่ถูกกล่าวหาว่าโกงนั้นถูกมองว่าร้ายที่สุดก็เพราะว่าเมื่อนักการเมืองที่ถูกกล่าวหาว่าโกงนั้น-มาจากประชาชนด้วย ก็จะยิ่งทำให้ระบอบประชาธิปไตยนั้นเปราะบางเข้าไปใหญ่ ทั้งจากคนที่มีศรัทธาในระบอบประชาธิปไตยเอง และสำหรับคนที่ไม่มีศรัทธาในระบอบประชาธิปไตยนั้น
การมีนักการเมืองจากประชาชนแล้วถูกกล่าวหาว่าโกงนั้น ยิ่งเข้าทางของการเป็นเงื่อนไขที่บอกว่าประชาชนยังไม่พร้อมที่จะปกครองตัวเอง และมันไม่ยุติธรรมในความหมายที่ว่ามันไม่สอดคล้องกับความจริงอันแสนจะงดงามที่ว่าคนแต่ละคนควรจะทำหน้าที่ตามคุณสมบัติ/คุณลักษณะของตนเอง (ขณะที่ความยุติธรรมอาจจะมีความหมายในแง่อื่นๆ อีก เช่นความเท่าเทียมกันในเรื่องของสิทธิและเสรีภาพ เป็นต้น แต่สิ่งนี้ไม่ได้รับการพิจารณา)

นอกจากนั้น การโกงของนักการเมืองนั้นเลวร้าย เพราะว่านักการเมืองนั้นสามารถสร้างกฎเกณฑ์ใหม่ได้ด้วย เพราะเขาไม่ใช่แค่คนคุมกฎเหมือนข้าราชการ แต่เขาสามารถเขียนกฎหมายใหม่ได้ด้วย


คนที่รักประชาชนเอามากๆ ก็จะยิ่งรับนักการเมืองที่โกงไม่ได้ เพราะเชื่อว่านี่คือปัญหาศีลธรรมที่สูงที่สุดอันหนึ่ง เพราะการโกงของนักการเมืองนั้นไปเปลี่ยนแปลงประชาชนให้ยอมรับการโกงต่อไป จึงเป็นอันตรายต่อประชาชนในระยะยาว ทั้งนี้ เพราะโดยทั่วไปการโกงนั้นถูกมองมาตลอดอยู่แล้วว่าเกิดได้เพราะวัฒนธรรมบางอย่าง-อาจจะมองว่าการโกงบางเรื่องนั้นรับได้ และยิ่งการโกงมีมากขึ้น และมีการลดแลกแจกแถมหรือแลกเปลี่ยนกันอีก การโกงก็จะไปเปลี่ยนวัฒนธรรมให้รับการโกงได้มากขึ้น และทำร้ายประชาชนในระยะยาว ซึ่งส่งผลมากกว่าในเรื่องทางเศรษฐกิจเข้าไปอีก



เท่าที่เขียนมาทั้งหมดนี้ผมคิดว่าเป็นเรื่องที่ควรทำให้กระจ่าง แต่ในขณะเดียวกัน เราก็ต้องพิจารณาอีกเรื่องหนึ่งด้วย นั่นก็คือ ระบอบต้านโกงที่ดำรงอยู่นั้นไม่ใช่ว่าไม่มี แต่อาจจะทำงานไม่ได้เต็มที่ แต่เราก็อาจจะต้องพิจารณาว่า ที่ทำไม่ได้เต็มที่นั้นเพราะว่าระบบเราไม่เข้มแข็ง หรือเพราะว่าวิธีคิดเรื่องของการต้านโกงนั้นมันก็มีประเด็นท้าทายสำคัญอยู่ในนั้นกันแน่? (หรือทั้งสองอย่าง?)

กล่าวคือ หากพิจารณาให้ดี ระบอบต้านโกงโดยเฉพาะระบอบต้านโกงที่มุ่งไปที่นักการเมืองนั้นปรากฏตัวอย่างชัดเจนนับตั้งแต่มีการปฏิรูปการเมือง ที่มุ่งเน้นที่จะจัดการนักการเมืองที่โกงให้ได้ ดังที่จะพบในกรณีของการตั้งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในฐานะหนึ่งในองค์กรอิสระภายใต้รัฐธรรมนูญ 2540 ทั้งนี้ ยังไม่รวมถึงองค์กรอื่นๆ ที่มีมาก่อน เช่น สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน หรือที่มาทีหลัง เช่น สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (2542) กรมสืบสวนคดีพิเศษ (2545) และ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ กระทรวงยุติธรรม (ป.ป.ท.) ในยุคหลังรัฐประหาร และสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน


งานวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก ของอาจารย์ประเทือง ม่วงอ่อน แห่งคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ได้ชี้ให้เห็นว่าระบอบการจัดการการทุจริตคอร์รัปชั่นนั้นเมื่อนับงบประมาณรวมกันแล้ว (ไม่นับในส่วนของศาล) มีสถานะเท่ากับกระทรวงย่อมๆ หนึ่งกระทรวง ซึ่งหมายถึงว่ามีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งและมีแนวโน้มที่จะเพิ่มงบประมาณขึ้นเรื่อยๆ ในทุกองค์กร นอกจากนั้น ยังมีลักษณะที่รวมศูนย์อยู่ที่ส่วนกลาง และทับซ้อนของอำนาจหน้าที่ ไม่รวมถึงความลักลั่นของการทำงานเช่นการไล่จับนักการเมืองท้องถิ่น แต่ก็ของบประมาณและความร่วมมือไปที่หน่วยการปกครองท้องถิ่นนั้นด้วยในกรณีของจังหวัดกับองค์กรปกครองท้องถิ่น ที่จับเขาด้วยและขอการสนับสนุนด้านงบประมาณกับเขาด้วย

ประเด็นท้าทายที่สำคัญอีกประเด็นที่อาจารย์ประเทืองชี้ให้เห็น ก็คือ ระบบการต้านการทุจริตฯในประเทศไทยนั้นมีลักษณะที่ถูกจัดตั้งมาเป็นเครื่องมือทางการเมืองเพื่อสร้างความชอบธรรมของรัฐบาลบางยุคสมัยเช่นกัน โดยเฉพาะหลังรัฐประหาร และที่สำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ ไม่มีความชัดเจนในเรื่องของการพยายามนิยามความดีและคุณธรรมที่องค์กรต่างๆ เชิดชู

หรือกล่าวอีกอย่างเมื่อพิจารณาจากงานวิจัย ก็คือการอ้างอิงถึงความดีและคุณธรรมนั้นบ่อยครั้งทำหน้าที่เป็นฐานความชอบธรรมของการมีระบอบต้านโกง ซึ่งบางครั้งก็อาจจะไปไกลถึงการมองว่าประชาชนนั้นยังขาดการศึกษา หรือไม่พร้อมที่จะดูแลตนเอง ดังคำสัมภาษณ์ผู้บริหารระดับสูงขององค์กรต้านโกงเหล่านั้นในงานวิจัยของอาจารย์ประเทือง ซึ่งเรื่องนี้ก็เป็นประเด็นที่ท้าทายต่อความชอบธรรมของระบอบประชาธิปไตยในภาพรวมด้วย
และเรามักจะไม่ค่อยนึกกัน ว่าสุดท้ายแล้วหากระบอบต้านโกงนั้นทำงานใหญ่โตขึ้นจนกลายเป็นเครื่องมือทางการเมืองเสียเอง โดยที่ไม่มีใครตั้งคำถามว่าระบอบได้พัฒนาขึ้นมาเสียจนสามารถจัดการทุกคนทุกเรื่องได้โดยไม่ต้องยึดโยงกับระบอบประชาธิปไตยด้วยแล้ว ระบอบต้านโกงก็อาจจะเป็นเครื่องมือทางการเมืองที่ยิ่งใหญ่ที่ทำให้ทุกคนกลายเป็นผู้ถูกกล่าวหาไปด้วย

ยิ่งในกรณีที่ระบอบต้านโกงที่เกิดขึ้นในวันนี้ยิ่งกว้างขวางไปกว่ากลไกตามรัฐธรรมนูญหรือหน่วยงานระบอบต้านโกงที่ทำงานอยู่ โดยเฉพาะเมื่อเรื่องต้านโกงการเป็นการช่วงชิงกันในแง่ของการกล่าวหาทางการเมือง และการรณรงค์ด้านจิตสำนึกมากกว่าการให้ความสำคัญกับกระบวนการทางกฎหมายที่เป็นธรรมกับทุกฝ่าย
ระบอบการต้านโกงแบบไทยๆ ที่มีลักษณะปฏิบัตินิยมสูง (คือมุ่งไปที่ผลโดยอาจไม่สนใจกระบวนการ)เช่นนี้ ก็อาจจะเป็นเรื่องที่ท้าทายต่อความเป็นธรรมและอาจเต็มไปด้วยอคติอีกมากมายที่เรานึกไม่ถึงก็อาจเป็นได้



.
___________________________________________________________________________________

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟซบุ๊กกับมติชนออนไลน์
www.facebook.com/MatichonOnline



.

2556-11-11

ราคาสุดซอย โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์

.

ราคาสุดซอย
โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์

ใน www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1384095819
วันจันทร์ที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556 เวลา 07:11:26 น.

( ที่มา : นสพ.มติชนรายวัน ฉบับวันอาทิตย์ที่ 10 พ.ย. 2556 หน้า 6 )
ภาพจาก นสพ.ไทยรัฐ www.thairath.co.th 


ในเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553 ผมอยู่ห่างจากสี่แยกคอกวัวและสี่แยกราชประสงค์กว่า 800 กม. ไม่มีญาติคนใดเข้าไปอยู่ในการประท้วงที่ชอบด้วยหลักการของกฎหมายสักคนเดียว แต่ผมเจ็บปวดกับการล้อมปราบด้วยอาวุธจริง จนเป็นเหตุให้ผู้คนเสียชีวิตเกือบร้อย และบาดเจ็บกว่า 2,000 รวมทั้งการใช้ (abuse) กฎหมายอย่างไม่เป็นธรรมแก่ผู้คนอีกร่วม 1,000 หลังจากนั้น

จึงอยากเรียนให้ ท่านนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ทราบว่า ผมไม่มีความ 'เจ็บปวด'(เจ็บแค้น) ส่วนตัวกับใครแต่อย่างใดทั้งสิ้น แม้กระนั้นผมก็ค้านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม เพราะผมห่วงลูกหลานในอนาคตว่าจะอยู่กันต่อไปในสังคมที่ผู้มีอำนาจใช้ความรุนแรงเยี่ยงนี้ได้อย่างไร ถ้าประเทศไทยจะเดินหน้าต่อไป ก็ต้องเดินหน้าไปสู่ความเป็นสังคมที่มีหลักประกันว่า ประชาชนจะมีสิทธิเสรีภาพอย่างเต็มที่ในการมีส่วนร่วมทางการเมืองของระบอบประชาธิปไตย (ไม่ใช่เพียงอ่านหนังสือพิมพ์ฉบับใดก็ได้)



ผู้มีอำนาจไทยใช้ความรุนแรงป่าเถื่อนกับประชาชนมาหลายครั้ง ทุกครั้งก็จะได้รับการนิรโทษกรรม ด้วยข้ออ้างอย่างเดียวกับที่คุณยิ่งลักษณ์ใช้ คือเพื่อให้ประเทศไทยเดินหน้าต่อไปได้ โดยไม่สนใจว่าแล้วจะเดินหน้าไปสู่อะไร ถ้าเห็นแก่ลูกหลานจริง ต้องหยุดความป่าเถื่อนของผู้มีอำนาจลงให้ได้ ไม่ใช่การให้อภัยตั้งแต่ผู้ทำผิดยังไม่สำนึกผิดเลย ดังร่าง พ.ร.บ.ซึ่งผ่านสภาผู้แทนฯไปด้วยการสนับสนุนของพรรคเพื่อไทย ซึ่งคุณยิ่งลักษณ์เป็นสมาชิกคนสำคัญอยู่

ผมพูดเรื่องนี้เพื่อบอกว่า คำประกาศถอยหลังสุดซอยของท่านนายกฯ ไม่ช่วยให้คะแนนเสียงของรัฐบาลดีขึ้นแต่อย่างใด เพราะคนที่ค้านร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ด้วยความคิดเหมือนกับผม คือไม่ใช่ความเจ็บแค้นส่วนตัว แต่เป็นความห่วงใยต่ออนาคตของสังคมไทย คงรู้สึกถูกสบปรามาสเหมือนกัน ผมเชื่อว่านอกจากผมแล้ว ยังมีคนอย่างนี้อีกมาก แม้เราไม่มีกำลังออกไปเดินประท้วงในถนนให้ทีวีรายงานข่าวก็ตาม

ผมไม่รู้ว่ากุนซือคนไหนที่ร่างแถลงการณ์ให้คุณยิ่งลักษณ์ แต่เมื่อออกจากปากของคุณยิ่งลักษณ์ได้ ก็เป็นสิ่งที่พวกเราควรเรียนรู้และจดจำไว้ ว่าคุณยิ่งลักษณ์และพรรคเพื่อไทยมีความเห็นต่อเราอย่างไร

ทั้งนี้ ยังไม่พูดถึงปฏิปักษ์ของคุณยิ่งลักษณ์ซึ่งอาจใช้ความกำกวมในการประกาศถอยหลังครั้งนี้ ไปในทางให้ร้ายคุณยิ่งลักษณ์ได้ถนัด เช่นข่าวของสำนักข่าวอิศราในสังกัดสมาคมนักข่าว ที่รายงานข่าวว่าคุณยิ่งลักษณ์ประกาศสู้สุดซอย ถ้านักข่าวอ่านหนังสือไทยไม่แตกได้ถึงแค่นี้ สิ่งที่สมาคมน่าจะฝึกอบรมนักข่าวก่อนอื่นคือวิชาอ่านเอาเรื่อง

ผมก็ไม่เข้าใจว่าเหตุใดกุนซือถึงไม่ร่างประกาศให้ตรงไปตรงมาว่า จะถอยโดยมติของวุฒิสภา เพราะความคิดของรัฐบาลในเรื่องนี้ ไม่เป็นที่ยอมรับของประชาชนจำนวนมาก... ทั้งที่แสดงออกในถนน และนอกถนน



ในขณะเดียวกัน ข้อค้านของกลุ่มที่ต่อต้านร่าง พ.ร.บ.นี้ก็น่าสังเวชพอๆ กัน นักกีฬา, ดารา, ป.ป.ช., ตุลาการ, และผู้บริหารมหาวิทยาลัย พากันออกมาประท้วงให้เป็นข่าวทั่วไป แต่เกือบทั้งหมดของแถลงการณ์หรือคำให้สัมภาษณ์ที่ผมได้อ่านและฟัง ล้วนต่อต้านร่าง พ.ร.บ.นี้ด้วยเหตุผลที่ร่าง พ.ร.บ.นี้ปล่อยให้คุณทักษิณ ซึ่งต้องโทษในกรณีปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ รอดพ้นจากการถูกลงโทษทั้งสิ้น

ยกตัวอย่างจากคำให้สัมภาษณ์ของอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นตัวอย่างก็ได้ ท่านบอกว่าร่าง พ.ร.บ.ทำลายระบบนิติรัฐ ส่งเสริมการคอร์รัปชั่น เพราะถึงโกงไปก็จะไม่เป็นไร เพราะจะได้รับนิรโทษกรรม ในฐานะอาจารย์มหาวิทยาลัยรู้สึกเดือดร้อน เพราะจะสอนลูกศิษย์ให้มีคุณธรรมได้อย่างไร ถ้าการคอร์รัปชั่นกลายเป็นเรื่องที่สังคมถูกบังคับให้ไม่เอาโทษ

แต่ท่านไม่พูดถึงการรัฐประหาร ว่าทำลายระบบนิติรัฐไปอย่างไร ท่านไม่พูดถึงรายละเอียดของคดีที่ดินรัชดาฯ ซึ่งศาลวินิจฉัยว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ (โดยพิสูจน์ไม่ได้ว่าใครได้ประโยชน์จากการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบนี้) ท่านไม่พูดถึงรายละเอียดในคดียึดทรัพย์ และข้อฉงนของนักกฎหมายอีกมากที่สงสัยว่าหลักฐานเหล่านั้นประกอบกันขึ้นเป็นความผิดทางกฎหมายได้หรือไม่ และแน่นอนท่านไม่พูดถึงกระบวนการของคดี ซึ่งเกิดขึ้นจากผลของการรัฐประหาร


ผมไม่ต้องการให้เข้าใจว่าคุณทักษิณ ชินวัตร เป็นผู้บริสุทธิ์ เพราะมีเหตุการณ์ที่สำคัญกว่านั้นอีกหลายอย่างที่เกิดขึ้นระหว่างที่คุณทักษิณเป็นนายกฯ เช่น กรณีกรือเซะ, ตากใบ, ฆ่าตัดตอน, การหายตัวไปของคุณสมชาย นีละไพจิตร ฯลฯ ล้วนยังไม่มีการสอบสวนให้กระจ่างสักเรื่องเดียว แม้แต่การปฏิบัติหน้าที่เพื่อเอื้อต่อประโยชน์ของตนเองและพวกพ้อง ไม่ว่าจะเป็นกรณีทุจริตที่เกิดขึ้นต่ออุปกรณ์ของสนามบินสุวรรณภูมิ หรือราคาที่เพิ่มขึ้นอย่างผิดสังเกตของหุ้นบริษัทมือถือของชินวัตร ฯลฯ ล้วนยังไม่มีการสืบสวนจนกระจ่าง หรือมีคำอธิบายที่พอจะรับได้จากใครทั้งสิ้น

คุณทักษิณนั้นรอดตัวกลายเป็นผู้บริสุทธิ์ไปทันที ที่กระบวนการทำคดีกลายเป็นผลมาจากการรัฐประหาร (ทั้งด้วยอาวุธและตุลาการภิวัฒน์)

เพราะใครๆ ก็อาจเคลือบแคลงได้ว่าทั้งหมดคือการกลั่นแกล้งทางการเมืองโดยไม่เป็นธรรมต่อคุณทักษิณ

ท่านอธิการบดีกำลังพูดถึงนิติรัฐด้านเดียว และกำลังพูดถึงการเว้นโทษแก่คนโกงโดยไม่ใส่ใจต่อรายละเอียดที่คนอื่นอาจใช้เพื่อสามารถใช้วิจารณญาณของตนเองได้ ถ้าเราเป็นครู ให้ข้อมูลด้านเดียวเพื่อนำมาสู่ข้อสรุปตามอคติส่วนตน จะถือว่าเป็นการโกงนักศึกษาหรือไม่ และนี่ใช่การคอร์รัปชั่นหรือไม่ เพราะครูไม่ใช่นักปลุกระดม


ยิ่งกว่านี้ ท่านอธิการไม่พูดถึงความสูญเสียที่ประชาชนได้รับ ไม่ว่าในกรณีกรือเซะ ตากใบ การอุ้มหาย การสังหารหมู่กลางเมืองที่สี่แยกคอกวัวและสี่แยกราชประสงค์เลย ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้บังคับให้สังคมเว้นโทษแก่ฆาตกรด้วย ทั้งๆ ที่การสืบสวนสอบสวนของบางเหตุการณ์กำลังดำเนินไปอย่างรัดกุมและโปร่งใส (เพราะสาธารณชนอาจตรวจสอบได้) นี่คือเรื่องชีวิตจริง เลือดเนื้อจริง และความทุกข์ยากจริงที่ครอบครัวญาติมิตรของเหยื่อได้รับ ลืมไปได้เฉยๆ เลย เหี้ยมไหมครับ

คุณธรรมที่จุฬาฯ อยากปลูกฝังให้ลูกศิษย์ของตนคืออย่าโกง แต่เหี้ยมโหดอย่างไรก็ได้ใช่หรือไม่


การต่อต้านกลางถนนที่ดำเนินไปในกรุงเทพฯ จึงช่วยผ่อนหนักเป็นเบาให้แก่พรรคเพื่อไทย เพราะเสื้อแดงที่ค้านร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้เป็นอันมาก ไม่เคลื่อนไหวอย่างชัดเจนเป็นรูปธรรมนัก เพราะความเหี้ยมของขบวนการต่อต้านกลางถนนเหล่านี้


อย่างไรก็ตาม เมื่อหันกลับมาดูทางฝั่งพรรคเพื่อไทย การก้าวพลาดทางการเมืองในครั้งนี้ มีราคาที่ต้องจ่ายหรือไม่ และมีราคาสักเท่าไร

ผมคิดว่ามีแน่ และเท่าที่จะพอประเมินได้ในขณะนี้ คงมีดังนี้

1. ร่าง พ.ร.บ.ช่วยชุบชีวิตของพรรคคู่แข่งคือ ปชป.ให้กลับมากระปรี้กระเปร่าในกรุงเทพฯ และเมืองใหญ่อื่นๆ ได้อีกครั้ง แนวทางทางการเมืองของคุณอภิสิทธิ์และคุณสุเทพที่เผชิญหน้าอย่างไม่ลดละนั้น ผมเชื่อว่าไม่เข้ากับอารมณ์ที่เปลี่ยนไปของคนในเขตเมืองเสียแล้ว และการเมืองภายในของพรรคทำให้หันเหออกจากแนวทางนี้ไม่ได้ อย่างน้อยก็ในช่วงระยะเวลานี้ แต่แนวทางนี้กลับดูมีเหตุผลมากขึ้น เมื่อต้องเผชิญกับการหักด้ามพร้าด้วยเข่าของพรรคเพื่อไทย

ปชป.ก็คงรู้ว่าตัวได้รับส้มหล่น และคงพยายามยืดเวลาบทพระเอกในท้องถนนของตนออกไปให้นานที่สุด เช่น คุณสุเทพเพิ่งประกาศเมื่อเขียนบทความนี้ว่าจะไม่เลิกการชุมนุมจนกว่าร่าง พ.ร.บ.ต้องตกไปจากรัฐสภาโดยสิ้นเชิง... คือวุฒิฯไม่รับร่าง ต้องส่งกลับมาสภาผู้แทนฯ ต้องโหวตให้ตกไป (หรือแก้ไขตามที่วุฒิฯเสนอ)... ทั้งหมดนี้กินเวลาพอสมควร


2. ความเนิ่นนานหมายถึงเหยื่อของฝ่ายเสื้อแดงต้องทนทุกข์ในคุกต่อไป อย่าลืมว่าพรรค พท.เองก็ปล่อยให้คนเสื้อแดงอยู่ในคุกมานานแล้ว คนเสื้อแดงที่ค้านร่าง พ.ร.บ.นี้กลุ่มแรกที่จะได้รับผลกระทบจากการเหมาเข่ง คือญาติมิตรของคนที่อยู่ในคุก ถ้าพวกเขายัง'เจ็บปวด'ไม่พอ ก็จะได้รับความ'เจ็บปวด'มากขึ้น ในขณะเดียวกัน ก็แสดงให้เสื้อแดงทุกฝ่ายเห็นได้ชัดมากขึ้นว่า เพื่อแลกกับการกลับบ้านของคุณทักษิณนั้น พรรคเพื่อไทยพร้อมแลกแม้แต่คุณค่าชีวิตของ'ไพร่'เท่าไรก็ได้ ถ้าพรรคเพื่อไทยเชื่ออย่างจริงใจว่า คนเหล่านี้ไม่ใช่ 'ควายแดง' เขาคงเรียนรู้พรรคเพื่อไทยและคุณทักษิณไปได้มากทีเดียว ดังนั้น จะหวังให้เขามีพฤติกรรมทางการเมืองเหมือนเดิม จึงไม่พึงคิด

ทั้งนี้ ไม่ได้หมายความว่าคนเสื้อแดงกลุ่มนี้จะไม่เลือกพรรค พท. แต่จำนวนไม่น้อยจะเลือก พท.ในเชิงยุทธศาสตร์ ในฐานะนักการเมือง-สมาชิก พท.น่าจะรู้ดีว่าการเลือกตั้งเชิงยุทธศาสตร์นั้นแตกต่างจากการเลือกตั้งเชิงความภักดีอย่างไร


3. ผมเชื่อว่าในการเลือกตั้งครั้งหน้า พรรคเพื่อไทยน่าจะได้คะแนนเสียงน้อยลง แม้ยังเป็นฝ่ายที่ได้คะแนนสูงสุด และเพื่อไทยจะได้เรียนรู้การเป็นรัฐบาลผสมที่ตัวไม่ได้มีเสียงเด็ดขาด ในขณะที่ปฏิปักษ์ของเพื่อไทยในสังคมยังแข็งแกร่งเหมือนเดิม พท.จะดำเนินนโยบายในการบริหารได้ยากขึ้น จนทำให้โครงการดีๆ เช่นปรับโครงสร้างพื้นฐาน ไม่อาจทำได้ราบรื่นยิ่งขึ้นไปอีก จนถึงอาจทำไม่ได้เลย ซึ่งย่อมทำให้คะแนนนิยมของพรรคเสื่อมลงไปอย่างหลีกไม่พ้น


4. ราคาที่ต้องจ่ายสูงไม่น้อยเหมือนกันคือคุณทักษิณ ชินวัตร โอกาส "กลับบ้าน" คงจะเนิ่นนานออกไป ชัยชนะของฝ่ายต่อต้านคุณทักษิณในครั้งนี้ ทำให้ผู้มีอำนาจนอกและเหนือการเมืองทั้งหมด ต้องต่อรองการ "กลับบ้าน" ในราคาที่สูงขึ้นกว่าที่ผ่านมาอย่างมาก เช่นคุณทักษิณอาจต้องยอมเข้าคุก อย่างน้อยก็ในช่วงเวลาสั้นๆ อันหนึ่ง



.

2556-10-31

แถลงการณ์นิติราษฎร์ ต่อร่าง พรบ.นิรโทษกรรมฯ และข้อเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎร

.

แถลงการณ์นิติราษฎร์ ต่อร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมฯ และข้อเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎร
ใน www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1383210181 
วันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2556 เวลา 16:15:59 น.

( ที่มา นิติราษฎร์ นิติศาสตร์เพื่อราษฎร  http://www.enlightened-jurists.com )


แถลงการณ์นิติราษฎร์

------------------------------

หมายเหตุ : วรเจตน์ ภาคีรัตน์ อ่านแถลงการณ์นิติราษฎร์ ต่อร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ที่ห้องประชุม LT1 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์



ความเห็นต่อร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมืองและการแสดงออกทางการเมืองของประชาชน พ.ศ. .... และข้อเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎร

ตามที่นายวรชัย เหมะ กับคณะได้เสนอร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง และการแสดงออกทางการเมืองของประชาชน พ.ศ. .... เข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร โดยมีหลักการและเหตุผลคือ ให้นิรโทษกรรมแก่ประชาชนที่กระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง และการแสดงออกทางการเมือง เพื่อเป็นการให้โอกาสแก่ประชาชนซึ่งเป็นพลเมืองของประเทศ รักษาและคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ รวมทั้งส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและสิทธิพลเมือง อันจะเป็นรากฐานที่ดีของการลดความขัดแย้ง และสร้างความปรองดอง และต่อมาสภาผู้แทนราษฎรได้มีมติในวาระที่หนึ่งรับหลักการร่างพระราชบัญญัติฯ ดังกล่าว หลังจากนั้นสภาผู้แทนราษฎรได้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ขึ้นคณะหนึ่งเพื่อพิจารณา คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ได้พิจารณาและมีมติแก้ไขร่างพระราชบัญญัติฯ ดังกล่าว โดยขยายการนิรโทษกรรมครอบคลุมไปถึง “บรรดาการกระทำทั้งหลายทั้งสิ้นของบุคคลหรือประชาชนที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมือง ความขัดแย้งทางการเมือง หรือที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้กระทำผิดโดยคณะบุคคลหรือองค์กรที่จัดตั้งขึ้นภายหลังการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 รวมทั้งองค์กรหรือหน่วยงานที่ดำเนินการในเรื่องดังกล่าวสืบเนื่องต่อมา ที่เกิดขึ้นระหว่าง พ.ศ. 2547 ถึงวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2556 ไม่ว่าผู้กระทำจะได้กระทำในฐานะตัวการ ผู้สนับสนุน ผู้ใช้ให้กระทำ หรือผู้ถูกใช้ หากการกระทำนั้นผิดต่อกฎหมาย ก็ให้ผู้กระทำพ้นจากความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิง” แต่ไม่นิรโทษกรรมให้แก่บุคคลซึ่งกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112


เมื่อพิจารณาจากร่างพระราชบัญญัติฯ ที่สภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติรับหลักการในวาระที่หนึ่งแล้ว พบว่าสภาผู้แทนราษฎรนิรโทษกรรมเฉพาะแก่ “บุคคลที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมือง หรือการแสดงออกทางการเมือง หรือบุคคลซึ่งไม่ได้เข้าร่วมการชุมนุมทางการเมือง แต่การกระทำนั้นมีมูลเหตุเกี่ยวข้องหรือเกี่ยวเนื่องกับความขัดแย้งทางการเมือง โดยการกล่าวด้วยวาจาหรือโฆษณาด้วยวิธีการใดเพื่อเรียกร้องหรือให้มีการต่อต้านรัฐ การป้องกันตน การต่อสู้ขัดขืนการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือการชุมนุม การประท้วง หรือการแสดงออกด้วยวิธีการใด ๆ อันอาจเป็นการกระทบต่อชีวิต ร่างกาย อนามัย ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดของบุคคลอื่น” จากถ้อยคำดังกล่าว เมื่อพิจารณาประกอบกับหลักการและเหตุผลของร่างพระราชบัญญัติ ฯ ที่ถูกเสนอเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎร จะเห็นได้ว่า สภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติรับหลักการให้นิรโทษกรรมเฉพาะประชาชนผู้กระทำการตามที่กล่าวข้างต้นเท่านั้น โดยไม่นิรโทษกรรมให้เจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องกับการสลายการชุมนุม ทั้งไม่นิรโทษกรรมให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดโดยคณะบุคคลหรือองค์กรที่จัดตั้งขึ้นภายหลังการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 แต่อย่างใด และเมื่อพิจารณาประกอบกับชื่อของร่างพระราชบัญญัติฯ ดังกล่าวที่ใช้ชื่อว่า “ร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง และการแสดงออกทางการเมืองของประชาชน พ.ศ. ....” แล้ว ยิ่งทำให้เห็นประจักษ์ชัดว่าร่างพระราชบัญญัติฯ นี้มุ่งหมายนิรโทษกรรมเฉพาะประชาชนเท่านั้น การที่คณะกรรมาธิการวิสามัญฯได้แก้ไขร่างพระราชบัญญัติฯ นี้ให้รวมถึงบุคคลอื่นนอกจากประชาชน จึงเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมที่ขัดกับหลักการแห่งร่างพระราชบัญญัติฯ ที่ผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรในวาระที่หนึ่ง อันเป็นการต้องห้ามตามข้อ 117 วรรคสามแห่งข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2551 ซึ่งทำให้กระบวนการตราพระราชบัญญัติฯ ดังกล่าวนี้ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ เพราะข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎรที่ห้ามมิให้การแก้ไขเพิ่มเติมร่างพระราชบัญญัติในวาระที่สองขัดกับหลักการแห่งร่างพระราชบัญญัตินั้นเป็นส่วนหนึ่งของรัฐธรรมนูญ

นอกจากประเด็นปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญแล้ว คณะนิติราษฎร์เห็นว่าร่างพระราชบัญญัติฯ ฉบับนี้ยังมีปัญหาในประการต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

1) การนิรโทษกรรมตามที่ปรากฏในร่างพระราชบัญญัติฯ ฉบับนี้ซึ่งครอบคลุมไปถึงบรรดาเจ้าหน้าที่ของรัฐทั้งหลายที่เกี่ยวข้องกับการสลายการชุมนุมอันนำไปสู่การบาดเจ็บล้มตายของประชาชนที่เข้าร่วมในการชุมนุมนั้น นอกจากจะไม่เป็นธรรมต่อผู้สูญเสียในเหตุการณ์สลายการชุมนุมแล้ว ยังขัดต่อพันธกรณีระหว่างประเทศด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights : ICCPR) การปล่อยให้เจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งกระทำการละเมิดสิทธิในชีวิตและร่างกายของประชาชนรอดพ้นจากความรับผิดดังเช่นที่เคยปฏิบัติมาในอดีตนอกจากจะเป็นการตอกย้ำบรรทัดฐานที่เลวร้ายให้ดำรงอยู่ต่อไปแล้ว ยังสร้างความเคยชินให้แก่เจ้าหน้าที่ของรัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทหาร ในการปฏิบัติต่อประชาชนในลักษณะดังกล่าวข้างต้นโดยไม่ต้องกังวลว่าตนจะต้องรับผิดในทางกฎหมายในอนาคต

2) ร่างพระราชบัญญัติที่ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ซึ่งนิรโทษกรรมให้แก่บุคคลทั้งหลายทั้งปวงที่กล่าวมาข้างต้นนั้น กำหนดยกเว้นไม่นิรโทษกรรมให้แก่บุคคลซึ่งกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ถึงแม้ว่าการกระทำความผิดของบุคคลนั้นจะเป็นการกระทำที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมือง หรือความขัดแย้งทางการเมืองก็ตาม การบัญญัติกฎหมายในลักษณะเช่นนี้ย่อมขัดหรือแย้งกับหลักแห่งความเสมอภาคที่รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 30 เนื่องจากหลักดังกล่าวเรียกร้องให้รัฐต้องปฏิบัติต่อสิ่งที่มีสาระสำคัญเหมือนกัน ให้เหมือนกัน และปฏิบัติต่อสิ่งที่มีสาระสำคัญแตกต่างกันให้แตกต่างกันออกไปตามสภาพของสิ่งนั้นๆ การนิรโทษกรรมตามความมุ่งหมายของร่างพระราชบัญญัตินี้มีสาระสำคัญอยู่ที่การยกเว้นความผิดให้แก่บุคคลที่กระทำความผิดที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมือง หรือความขัดแย้งทางการเมือง โดยไม่คำนึงว่าการกระทำนั้นจะเป็นความผิดฐานใด ดังนั้น การที่คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ตัดมิให้ผู้กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ที่ได้กระทำไปโดยมีความเกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมือง หรือความขัดแย้งทางการเมือง ได้รับประโยชน์จากการนิรโทษกรรมตามร่างพระราชบัญญัตินี้ จึงเป็นการปฏิบัติต่อสิ่งที่มีสาระอย่างเดียวกันให้แตกต่างกัน และขัดต่อหลักความเสมอภาคตามรัฐธรรมนูญ

3) เนื่องจากการนิรโทษกรรมในครั้งนี้ มีผลกับการกระทำความผิดที่เกิดขึ้นระหว่าง พ.ศ. 2547 ถึงวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2556 ซึ่งครอบคลุมเหตุการณ์จำนวนมาก มีบุคคลที่อาจได้รับประโยชน์จากร่างพระราชบัญญัติฯ ฉบับนี้หลายกลุ่ม และบุคคลดังกล่าวถูกดำเนินคดีในขั้นตอนที่แตกต่างกัน จากเหตุหลายประการดังกล่าวข้างต้น ทำให้เกิดความซับซ้อนจนหลายกรณีไม่อาจระบุลงไปให้แน่ชัดได้ว่าบุคคลใดบ้างเข้าข่ายได้รับการนิรโทษกรรม ในขณะที่ร่างพระราชบัญญัติฯ กำหนดให้พนักงานสอบสวน พนักงานอัยการ หรือศาล แล้วแต่กรณี มีอำนาจพิจารณาวินิจฉัยในประเด็นดังกล่าว จึงอาจทำให้การวินิจฉัยไม่เป็นเอกภาพ ส่งผลให้เกิดความไม่เสมอภาคในชั้นของการบังคับใช้กฎหมายในท้ายที่สุด

4) ถึงแม้ว่ากระบวนการกล่าวหาบุคคลที่เกิดขึ้นโดยองค์กรหรือคณะบุคคลที่จัดตั้งขึ้นภายหลังการรัฐประหารวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 จะดำเนินไปอย่างไม่ถูกต้องชอบธรรม และบุคคลที่ถูกกล่าวหาและถูกพิพากษาว่ามีความผิดสมควรได้รับคืนความเป็นธรรมก็ตาม แต่โดยที่ร่างพระราชบัญญัติฯ ฉบับนี้มุ่งหมายนิรโทษกรรมให้แก่บุคคลที่กระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมือง หรือความขัดแย้งทางการเมือง ซึ่งมีสภาพและลักษณะของเรื่องแตกต่างไปจากการกระทำของบุคคลที่ถูกกล่าวหาโดยคณะบุคคลหรือองค์กรที่จัดตั้งขึ้นโดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ว่าก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ ประการสำคัญ ในสภาวการณ์ความขัดแย้งของสังคมขณะนี้ การเสนอให้นิรโทษกรรมแก่บุคคลดังกล่าวอาจเหนี่ยวรั้งให้การหาฉันทามติในการนิรโทษกรรมแก่ประชาชนเป็นไปอย่างล่าช้า หรือไม่อาจเกิดขึ้นได้เลย ทั้งนี้ การแก้ปัญหาความไม่เป็นธรรมให้กับบุคคลที่ได้รับผลร้ายจากการทำรัฐประหารสมควรกระทำด้วยการลบล้างผลพวงของรัฐประหารตามข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์

5) มีข้อสังเกตว่า ร่างพระราชบัญญัติฯ ฉบับนี้กำหนดระยะเวลาเริ่มต้นของการนิรโทษกรรมให้กับการกระทำความผิดใด ๆ ที่เกิดขึ้นตั้งแต่พ.ศ. 2547 จึงไม่สอดคล้องกับบทบัญญัติที่ผ่านการรับหลักการในวาระที่หนึ่ง ซึ่งนิรโทษกรรมให้แก่การกระทำใด ๆ ที่เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 ถึงวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2554 การกำหนดระยะเวลาเริ่มต้นของการนิรโทษกรรมตั้งแต่พ.ศ. 2547 อาจส่งผลให้มีเหตุการณ์หรือการกระทำความผิดบางอย่างที่ไม่สมควรได้รับการนิรโทษกรรม เพราะไม่มีความเกี่ยวเนื่องกับการรัฐประหารเมื่อวันที่ วันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 ได้รับประโยชน์จากร่างพระราชบัญญัติฯ ฉบับนี้ด้วย

6) นอกจากนี้ยังมีข้อสังเกตด้วยว่า โดยที่ร่างพระราชบัญญัติฯ ฉบับนี้กำหนดให้บุคคลที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้กระทำความผิดโดยคณะบุคคลหรือองค์กรที่จัดตั้งขึ้นภายหลังการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 รวมทั้งองค์กรหรือหน่วยงานที่ดำเนินการในเรื่องดังกล่าวสืบต่อเนื่องมา ไม่ว่าบุคคลที่ถูกกล่าวหาดังกล่าวจะได้กระทำในฐานะตัวการ ผู้สนับสนุน ผู้ใช้ให้กระทำ หรือผู้ถูกใช้ หากการกระทำนั้นผิดต่อกฎหมายก็ให้บุคคลนั้นพ้นจากความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิงนั้น เมื่อพิจารณาจากคดีที่ศาลได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว การพ้นจากความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิงย่อมทำให้รัฐต้องคืนสิทธิให้แก่ผู้ที่ได้รับการนิรโทษกรรม เช่น ในคดีร้องขอให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน เมื่อผู้ถูกกล่าวหาในคดีนี้ได้รับนิรโทษกรรมแล้ว รัฐมีหน้าที่ต้องคืนทรัพย์สินที่ยึดมาตามคำพิพากษาให้แก่ผู้ถูกกล่าวหา ถึงแม้ว่าคณะนิติราษฎร์จะเห็นว่าบุคคลที่ถูกกล่าวหาหรือถูกพิพากษาว่ากระทำความผิดโดยองค์กรหรือคณะบุคคลที่จัดตั้งขึ้นภายหลังการรัฐประหาร มีความชอบธรรมอย่างเต็มที่ในการที่จะได้รับคืนทรัพย์สินที่ถูกยึดไปโดยกระบวนการทางกฎหมายที่เชื่อมโยงกับการทำรัฐประหาร แต่การที่จะได้รับคืนทรัพย์สินดังกล่าวนั้นควรจะต้องเป็นไปโดยหนทางของการลบล้างคำพิพากษาตามข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์ว่าด้วยการลบล้างผลพวงรัฐประหาร มิใช่โดยการนิรโทษกรรมตามร่างพระราชบัญญัติฯ นี้



ข้อเสนอคณะนิติราษฎร์

โดยเหตุที่ร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมฯ มีปัญหาบางประการดังกล่าวมาข้างต้นคณะนิติราษฎร์ จึงขอเสนอแนวทางแก้ปัญหา ดังต่อไปนี้

1) ต้องแยกบุคคลซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง ตลอดจนบุคคลที่ไม่ได้เข้าร่วมชุมนุมทางการเมืองแต่กระทำความผิดโดยมีมูลเหตุเกี่ยวข้องหรือเกี่ยวเนื่องกับความขัดแย้งทางการเมือง ออกจากบุคคลที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดโดยคณะบุคคลหรือองค์กรที่จัดตั้งขึ้นภายหลังการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549

2) ให้ดำเนินการนิรโทษกรรมแก่บุคคลซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง ตลอดจนบุคคลที่ไม่ได้เข้าร่วมชุมนุมทางการเมืองแต่กระทำความผิดโดยมีมูลเหตุเกี่ยวข้องหรือเกี่ยวเนื่องกับความขัดแย้งทางการเมือง โดยไม่นิรโทษกรรมให้กับบรรดาเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องในเหตุการณ์ชุมนุมประท้วง ตลอดจนการสลายการชุมนุมไม่ว่าจะได้กระทำการในฐานะเป็นผู้สั่งการหรือผู้ปฏิบัติการ และไม่ว่าจะกระทำในขั้นตอนใด ๆ ทั้งนี้ ตามร่างรัฐธรรมนูญว่าด้วยนิรโทษกรรมและการขจัดความขัดแย้ง ที่คณะนิติราษฎร์ได้เคยเสนอไว้

3) สำหรับบุคคลที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดโดยคณะบุคคลหรือองค์กรที่จัดตั้งขึ้นภายหลังการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 ให้ลบล้างคำพิพากษา คำวินิจฉัย ตลอดจนการดำเนินกระบวนพิจารณาในทุกขั้นตอนที่เป็นผลสืบเนื่องมาจากการทำรัฐประหาร ทั้งนี้ ตามข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์ว่าด้วยการลบล้างผลพวงรัฐประหาร

4) อย่างไรก็ตาม โดยเหตุที่ข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์ ไม่ได้รับการพิจารณานำไปปฏิบัติจากผู้เกี่ยวข้อง ประกอบกับขณะนี้ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการนิรโทษกรรมอยู่ในระหว่างการพิจารณาในวาระที่สองของสภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้การนิรโทษกรรมแก่ประชาชนซึ่งกระทำความผิดหรือถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดอันเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมือง หรือความขัดแย้งทางการเมืองเป็นไปโดยรวดเร็วภายใต้ข้อจำกัดที่เป็นอยู่ คณะนิติราษฎร์จึงเสนอให้พิจารณาดำเนินการดังต่อไปนี้

  4.1 เนื่องจากคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ได้แก้ไขเพิ่มเติมร่างพระราชบัญญัติฯ จนขัดกับหลักการแห่งร่างพระราชบัญญัติฯ ที่สภาผู้แทนราษฎรได้มีมติรับหลักการในวาระที่หนึ่ง ทำให้มีปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ดังนั้น ร่างพระราชบัญญัติฯ ของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ จึงไม่สามารถใช้เป็นฐานในการพิจารณาในวาระที่สองได้ ด้วยเหตุนี้ สภาผู้แทนราษฎรจึงสมควรแก้ไขความบกพร่องดังกล่าวโดยการลงมติว่ากระบวนการตราพระราชบัญญัติฯ นี้ขัดกับข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎรข้อ 117 วรรคสาม เพื่อให้ร่างพระราชบัญญัติฯ ของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ตกไป

  4.2 ให้สภาผู้แทนราษฎรมีมติยกเลิกคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ชุดเดิม และมีมติตั้งคณะกรรมาธิการเต็มสภาเพื่อเริ่มพิจารณาร่างพระราชบัญญัติฯ ในวาระที่สองใหม่



คณะนิติราษฎร์: นิติศาสตร์เพื่อราษฎร
31 ตุลาคม พ.ศ. 2556




- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

ข้อเสนอของนิติราษฎร์ เมื่อต้นปี 2556 

“นิติราษฎร์” เสนอร่าง รธน.นิรโทษกรรมผู้ชุมนุม ..ย้ำทุกสี ทุกฝ่ายได้ประโยชน์ 
อ่านที่ http://botkwamdee.blogspot.com/2013/01/ej-blog75.html


____________________________________________________________________________________

หมายเหตุ Admin บทความดี 

ในสถานการณ์ที่กำลังมีการเปลี่ยนตัวละครสำคัญในระบบการเมืองและมีการตกลง-ถอยๆยันๆของชนชั้นนำ จึงนำมาซึ่งชุดแก้ปัญหาพิกลพิการ(..ที่จริงก็เกิดอยู่แล้วเป็นระยะๆมาช้านาน)ที่ประชาชนต้องกลืนเลือดอีกครั้ง กำลังกลายเป็นบทเรียนเชิงซ้อน และสร้างความแตกแยกกันเอง-เข้าทาง-ได้ประโยชน์ของกลุ่มอนุรักษ์ที่กำลังรู้ตัวว่าหลังฝุ่นตลบตนจะเพลี่ยงพล้ำมากกว่าเดิม(..จึงขยันเล่นละครต่อต้านเพื่อพยุงตนเองเท่าที่จะเป็นไปได้) ....ฝ่ายประชาชนควรรณรงค์ให้อำนาจตุลาการที่สองมาตรฐาน(เป็นต้นตอความขัดแย้ง)มานาน เร่งรัดดำเนินคดีแก่ฝ่ายอนุรักษ์ก่อน พรบ.พิการนี้มีผล และเปิดโปงแผนการเกลียดตัวกินไข่ของพวกต่อต้านประชาธิปไตย-อยากมีอิทธิพลในการเปลี่ยนตัวละครให้ตนได้ประโยชน์มากที่สุด -อยากล้มรัฐบาลนี้โดยฉวยใช้การปั่นกระแสความไม่พอใจ    มิตรของเรามิใช่ผู้ร้ายตัวจริงในขั้นนี้หรอกนะ(แม้อาจเป็นมิตรชั่วคราวไม่ถึง10ปีก็ตาม)
Admin บทความดี เชื่อว่า หากประชาชนเสื้อแดงผ่านการทดสอบครั้งนี้ โดยไม่มัวตีกันเองในซอยสภา มุ่งรักษาแนวทางใหญ่นอกสภาให้ก้าวไปข้างหน้าได้ และเมื่อสถานการณ์พิษนี้ถูกแทนด้วยเหตุการณ์ถัดไป ข้อเสนอของนิติราษฎร์ ที่ผ่านมาจะเป็นเครื่องมือที่สำคัญของฝ่ายประชาชนที่เรียกร้องต่อรัฐสภา



.

2556-10-29

อะไรอยู่ในเข่ง โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์

.

นิธิ เอียวศรีวงศ์ : อะไรอยู่ในเข่ง
ใน www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1382960763
วันอังคารที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2556 เวลา 07:55:47 น.

( ที่มา: นสพ.มติชนรายวัน 28 ต.ค.2556 )


คุณประยุทธ์ ศิริพานิชย์ เป็นใครหรือครับ เขาเคยเป็นรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย คงเป็นเพราะความอาวุโสทางการเมืองของเขาเป็นสำคัญ เท่าที่ทราบเขาไม่มี ส.ส.ใน "สังกัด" และเขาไม่มีส่วนร่วมในทุนของพรรคอย่างสำคัญ ด้วยเหตุดังนั้นเขาจึงไม่อยู่ในกรรมการบริหารพรรคสมัยนี้อีกแล้ว

เป็นไปได้หรือครับ ที่นักการเมืองระดับคุณประยุทธ์จะสามารถเสนอแก้ไขร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมในคณะกรรมาธิการ จนเป็นผลให้ผิดหลักการที่ได้รับอนุมัติจากสภาในวาระแรก และยังสามารถนำคะแนนเสียงของคณะกรรมาธิการจาก พท.ทั้งหมดให้สนับสนุนการแก้ไขอย่างถ้วนหน้าเช่นนั้น

หันไปดู สมาชิก พท.ในคณะกรรมาธิการบ้าง มีนักการเมืองอาวุโสอย่างคุณสามารถ แก้วมีชัย และคุณสุนัย จุลพงศธร เป็นแกนนำ ทั้งสองไม่อยู่ใน "เครือข่าย" ของคุณประยุทธ์แน่ เหตุใดจึงลงมติสนับสนุนข้อเสนอของคุณประยุทธ์พร้อมเพรียงกันถึงเช่นนี้ ทั้งๆ ที่เนื้อไม่ได้กิน หนังไม่ได้รอง แต่เอากระดูกมาแขวนคอชัดๆ ไม่ว่าที่นครสวรรค์หรือเชียงราย คะแนนเสียงของเสื้อแดงเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญของฐานเสียงคนทั้งสองแน่ การโยนซากศพของเสื้อแดงทิ้งอย่างง่ายๆ ในเขตเลือกตั้งที่คนเสื้อแดงเป็นเสียงส่วนใหญ่เช่นนี้ มองไม่เห็นว่าจะให้ประโยชน์ทางการเมืองแก่คนทั้งสองอย่างไร


เรื่องมันใหญ่ขนาดนี้ และทำได้พร้อมเพรียงขนาดนี้ เกิดขึ้นโดยพรรค พท.ไม่รู้เห็นอะไรมาก่อนเลย ย่อมเป็นไปไม่ได้ คุณจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ ในฐานะหัวหน้าพรรค (ที่ยุบได้ไม่เดือดร้อน) ทำคนเดียวไม่ได้ คณะผู้บริหารพรรคต้องร่วมรู้เห็นมาก่อน

คนทั่วไปอ่านการแก้ร่างกฎหมายนิรโทษกรรมครั้งนี้ว่ามาจากคำสั่งนายใหญ่ แต่นายใหญ่อ่านไม่ออกหรือว่า คิดจะกลับบ้านกันง่ายๆ เช่นนี้ ไม่น่าจะรอดจากการต่อต้านอย่างหนักจากปฏิปักษ์ โดยไม่มีกำแพงรั้วแดงคอยปกป้องด้วย จนอาจเกิดจลาจล อันเป็นเหตุที่คนไทยส่วนใหญ่คงอนุญาตให้กองทัพยึดอำนาจได้

นายใหญ่จะสั่งได้ ก็ต้องมีไพ่อีกบางตัวในมือที่ไม่ได้แบออกให้ใครเห็น (อาจยกเว้นคนใกล้ชิดซึ่งกุมพรรคเพื่อไทยอยู่เบื้องหลังคณะกรรมการบริหาร)


น่าสนใจที่จะพยายามคาดเดาว่าไพ่ใบนั้นคืออะไร และผมขอเริ่มคาดเดาด้วยการวิเคราะห์เบื้องต้นว่าใครจะได้ประโยชน์บนซากศพและบาดแผล (ทั้งกายและใจ) ของเสื้อแดงบ้าง

คุณทักษิณซึ่งเคยพูดว่าจะกลับบ้านอย่างมีเกียรตินั้นได้แน่ (และน่าเอาไปเปรียบเทียบกับคุณสุกรี ตาเลห์ แห่งสุไหงปาดี ซึ่งได้ต่อสู้ให้แก่ลูกชายซึ่งต้องสงสัยว่ามีส่วนในการฆาตกรรมใน พ.ศ.2551 ทั้งๆ ที่ลูกชายของเขาในขณะนั้นติดคุกอยู่ในคดีอีกข้อหาหนึ่ง กว่าได้ปล่อยตัวก็ตกถึง 2555 และหนีไปมาเลเซีย จนเข้าปีนี้ ทางฝ่ายความมั่นคงซึ่งได้รับการร้องเรียนอย่างสืบเนื่องจากคุณสุกรี จึงยืนยันว่าลูกชายของเขาติดคุกอยู่ในระหว่างนั้นจริงๆ และขอให้ทางตำรวจยกเลิกหมายจับเสียที เป็นการต่อสู้ต่อเนื่องกัน 5 ปี เพื่อเอาลูกชายกลับบ้าน "อย่างมีเกียรติ") และไม่ใช่เพียงแค่กลับบ้านเท่านั้น คดีอื่นๆ ทั้งหมดที่ยังติดค้างในศาลเวลานี้ ก็จะถูกระงับไปหมดด้วย ฉะนั้นเมื่อคุณทักษิณกลับบ้านด้วย พ.ร.บ.นิรโทษกรรมเหมาเข่งฉบับนี้ จะมีเกียรติจริงหรือไม่ก็ตาม คุณทักษิณก็จะตัวเบาเท่ากับก่อนรัฐประหาร แม้อาจไม่ได้เป็นนายกฯ อย่างออกหน้าอีกก็ตาม

แต่คุณทักษิณไม่ได้เป็นคนเดียวที่ได้

แกนนำเสื้อแดง และแกนนำเสื้อเหลืองซึ่งถูกกันออกไปในร่างฉบับคุณวรชัย เหมะ ก็ได้ด้วย ไม่ว่าคดีที่ติดค้างในศาลจะร้ายแรงขนาดไหนก็ตาม แม้ว่าแกนนำของทั้งสองฝ่าย ต่างยืนยันจะสู้คดีในศาลจนถึงที่สุด แต่ผลจากการชุมนุมทางการเมืองที่เลยไปถึงขั้น "วางเพลิง" หรือยึดทำเนียบและสนามบิน จะผ่านไปโดยไม่มีใครต้องรับผิดชอบเลย คงเป็นไปได้ยากในศาลที่อำนวยความยุติธรรม ไม่เฉพาะแก่จำเลย แต่แก่สังคมด้วย และการเลื่อนคดี จะทำไปโดยไม่มีที่สิ้นสุดย่อมเป็นไปไม่ได้

ทหารทั้งหมดที่ปฏิบัติการในเดือนเม.ย.-พ.ค.2553 ไม่ว่าจะปฏิบัติการเกินแก่เหตุ หรือสั่งการให้ปฏิบัติการเกินแก่เหตุ หรืออย่างไม่รอบคอบรัดกุม ก็ได้หมด คุณเฉลิม อยู่บำรุงเมื่อเป็นรองนายกฯ เคยให้สัมภาษณ์ว่า คดีที่กำลังคืบหน้าไปเรื่อยๆ นี้ทำความ "ไม่สบายใจ" แก่ผู้นำกองทัพอย่างยิ่ง หากกฎหมายนี้ผ่านสภาไปได้ ความ "สบายใจ" ก็จะกลับคืนมา

แน่นอน ผู้นำพรรคประชาธิปัตย์ก็ได้ด้วย แม้พวกเขายืนยันที่จะสู้คดีในศาลให้ถึงที่สุดเช่นกัน แต่ไม่มีใครรู้ว่าสังคมไทยจะเปลี่ยนผ่านไปแค่ไหน การเปลี่ยนผ่านที่อาจเกิดขึ้นจริง ย่อมไม่ยอมให้การสังหารหมู่ประชาชนลอยนวลได้แน่


และในประโยคสุดท้ายของข้อเสนอแก้ไขมาตรา 3 แห่งร่าง พ.ร.บ.คือ "ไม่รวมถึงการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112" ชัดเจนลงไปแทนร่างฉบับวรชัย เหมะ ซึ่งอาจตีความได้ว่า หากการกระทำความผิดในมาตรานี้มีเหตุทางการเมือง ก็อาจได้รับนิรโทษกรรมไปด้วย (ตามความเข้าใจของผมซึ่งไม่เคยเรียนกฎหมาย)

หากดูในเข่งที่จะถูกเหมาด้วยการแก้ไขของกรรมาธิการ ก็จะเห็นว่าอำนาจในโครงสร้างทางการเมืองของไทยทั้งหมด ต่างล้วนจะ "สบายใจ" ได้หมดทุกฝ่าย พรรค พท.อาจมีบทบาทเป็นผู้เสนอแก้ไขเปลี่ยนแปลง แต่น่าจะได้รับอนุมัติจากฝ่ายอื่นๆ มากกว่านายใหญ่เพียงคนเดียว

ในส่วนอำนาจใหม่ คือแกนนำเสื้อเหลือง, แกนนำเสื้อแดง และทักษิณหรือที่บางคนเรียกว่ากลุ่ม "ทุนใหม่" ก็จะถูกผนวกเข้าไปในโครงสร้างอย่างมีขั้นตอน อย่างที่แกนนำของขบวนการนักศึกษา 14 ตุลา และนักธุรกิจ-เจ้าพ่อในชนบทได้เคยถูกผนวกมาแล้ว... เป็นไปอย่างช้าๆ มีขั้นมีตอน อาจถูกเหนี่ยวรั้งไว้บ้าง เพื่อให้เรียนรู้ว่าไผเป็นไผในโครงสร้างนั้น โครงสร้างยังอยู่เหมือนเดิม แม้มีคนหน้าใหม่โผล่เข้ามาแจมบ้างก็ตาม

ส่วนมวลชนทั้งเหลืองและแดง ก็ควรกลับไปอยู่ตามที่ตามทางของตน รอรับการอนุเคราะห์จากชนชั้นนำทั้งเก่าและใหม่ในโครงสร้างอำนาจตามจังหวะเดิมๆ ต่อไป ไม่ต่างจากผลบั้นปลายที่เกิดขึ้นในการลุกขึ้นสู้ของมวลชนในเหตุการณ์ 14 ตุลา และพฤษภามหาโหด 2535

ถ้าเรียกสิ่งนี้ว่าการ "เกี้ยเซี้ย" มันไม่ใช่การ "เกี้ยเซี้ย" ระหว่างคนที่เป็นปฏิปักษ์ต่อกัน (อย่างเปิดเผยหรือโดยนัยะ) เท่านั้น ที่สำคัญกว่าคือการ "เกี้ยเซี้ย" เพื่อจรรโลงระบบอำนาจเดิมเอาไว้ โดยชนชั้นนำทุกกลุ่ม ไม่ว่าเก่าหรือใหม่ได้หมด เป็นการหันคืนสู่ "ความสงบเรียบร้อย" อย่างที่เอื้อต่อประโยชน์ของชนชั้นนำมานานแล้ว



ปราศจากเป้าหมายใหญ่ที่ครอบคลุมชนชั้นนำทุกกลุ่มได้เช่นนี้ ไม่มีใครกินเหล็กกินไหลมาจากไหน ไม่ว่าจะเป็นกรรมาธิการพรรค พท., พรรค พท., ทักษิณ ชินวัตร, หรือรัฐบาลคุณยิ่งลักษณ์ จะกล้าแก้ไขร่างกฎหมายนิรโทษกรรมให้เหมาเข่งเช่นนี้ได้

สังคมไทยซึ่งถูกทอดทิ้งก็จะเปลี่ยนไม่ผ่านอีกครั้งหนึ่ง
คุณทักษิณจะทุจริตคดโกงอย่างที่ถูกกล่าวหาหรือไม่ก็ตาม แต่ในฐานะนักการเมือง คุณทักษิณต้องถูกฟ้องตามกระบวนการยุติธรรมปรกติธรรมดาได้ ข้อเสนอของนิติราษฎร์ไม่ได้เว้นคุณทักษิณจากการถูกกล่าวหา แต่ต้องเป็นการกล่าวหาตามกระบวนการยุติธรรมปรกติธรรมดา แม้เป็นข้อกล่าวหาของ คตส.ก็ตาม แต่ต้องผ่านการพิจารณาไตร่ตรองจากหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมทีละขั้นทีละตอน คำพิพากษาจึงเป็นที่ยุติ จึงต่างจากนิรโทษกรรมแบบเหมาเข่ง เพราะไม่ได้ยกเว้นให้แก่คนทุจริตอยู่เหนือกฎหมาย แต่ให้โอกาสที่เป็นธรรมแก่ผู้ถูกกล่าวหาเท่านั้น


นิรโทษเหมาเข่งจึงทำให้สังคมไทยเปลี่ยนไม่ผ่าน เพราะนักการเมืองไม่ต้องรับผิดชอบทางกฎหมายแก่การกระทำของตนอีกต่อไป

ไม่ต่างจากการเว้นโทษแก่ผู้สั่งการสังหารหมู่ประชาชน
จะผิดหรือไม่ผิดก็ตาม แต่คนเหล่านั้นควรถูกตรวจสอบด้วยกระบวนการยุติธรรม และไม่ต่างจากการกระทำของกองทัพและตำรวจซึ่งเคยเป็นผู้ลงมือสังหารหมู่ประชาชนมาหลายครั้งแล้ว ไม่มีใครต้องรับผิดชอบอีกต่อไป

สังคมไทยจึงเปลี่ยนไม่ผ่าน เพราะมีอำนาจดิบที่คอยกดหัวประชาชนอยู่อย่างเดิม


จนถึงที่สุด เราจะมีสถาบันทางการเมืองที่ตรวจสอบไม่ได้อยู่ต่อไป ตรวจสอบไม่ได้เพราะการตกลงกันหลังฉากระหว่างผู้นำยังมีความสำคัญกว่าการตรวจสอบต่อสาธารณชนซึ่งเป็นเพียง "ป่าหี่" หรือตรวจสอบไม่ได้เพราะมีกฎหมายห้ามตรวจสอบก็เหมือนกัน

ส่วนมวลชนซึ่งถูกจัดให้กลับไปที่เดิม ก็จะพบว่าไม่มีที่เดิมให้กลับไปอีกแล้ว ในที่สุดก็ต้องกลับมาใหม่สู่พื้นที่ซึ่งไม่มีใครเปิดให้ การชุมนุมทางการเมืองซึ่งเป็นพื้นที่เดียวของพวกเขา ก็จะไม่มีกฎหมายรองรับที่ชัดเจนเหมือนเดิม จึงง่ายที่จะถูกสไนเปอร์เมื่อไรก็ได้

ความรุนแรงที่เกิดในการเมืองไทยระยะ 50 ปีที่ผ่านมา จึงจะยังเกิดอยู่ต่อไป ซ้ำอาจรุนแรงกว่าเดิมหลายเท่า



___________________________________________________________________________________
___________________________________________________________________________________

หมายเหตุ Admin บทความดี 

อย่าลืม คนที่ภาพพจน์ไม่ดี มีตำหนิให้คนสงสัย ผู้คนจึงพากันเฝ้าสังเกตุตรวจสอบ อันตรายน้อยกว่า คนที่ภาพพจน์ดี ดูมีปัญญา-เมตตาสูง เลยไม่มีคนกล้าตั้งคำถามตรวจสอบ สื่อก็เสนอแต่ด้านเปิดเผยดีงาม

อย่าลืม บรรดาพวกขุนพลอยพยัก ชอบผู้นำที่เขาเข้าถึงแล้วชักจูงได้ง่ายๆ มากกว่าผู้นำที่เข้าหายาก-เป็นตัวของตัวเองสูง เพราะเขาจะเลือกทางที่ได้ประโยชน์เข้าพวกพ้องแคบๆเป็นกอบเป็นกำมากกว่าความเป็นประโยชน์ก้าวหน้าแก่สังคม



.