http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2557-05-23

จาตุรนต์: ความเห็นต่อการยึดอำนาจและการรายงานตัว

.
โพสต์เพิ่ม - โคทม นำทีมนักสันติวิธี ออกแถลงการณ์ค้านรัฐประหาร ชี้ช่องศาล รธน.วินิจฉัยขัด ม.68
_____________________________________________________________________________

ความเห็นต่อการยึดอำนาจและการรายงานตัว
โดย จาตุรนต์ ฉายแสง

ใน https://www.facebook.com/Chaturon.FanPage
. . 4 hours ago · Edited 


สวัสดีครับทุกท่าน ในหลายสิบปีมานี้ผมได้แสดงความเห็นไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหารมาตลอดและยังได้เคยให้ความเห็นไว้หลายครั้งว่าไม่ว่าจะเกิดปัญหาอะไรขึ้นในสังคม การรัฐประหารจะยิ่งทำให้ปัญหาเลวร้ายยิ่งขึ้นเสมอ วันนี้ผมก็ยังมีความเห็นอย่างเดิมคือไม่เห็นด้วยกับการยึดอำนาจในครั้งนี้และเห็นว่าการยึดอำนาจไม่ใช่ทางออกของประเทศ หากมีแต่จะยิ่งทำให้ประเทศมีปัญหามากยิ่งขึ้นไปอีก

เมื่อเป็นเช่นนี้ ผมจึงขอสงวนสิทธิ์ที่จะแสดงความไม่เห็นด้วยกับการยึดอำนาจในครั้งนี้และจะเรียกร้องผลักดันให้บ้านเมืองเป็นประชาธิปไตยโดยเร็วต่อไป ทั้งนี้การดำเนินการใดๆของผมจะยึดมั่นในหลักการประชาธิปไตย ผลประโยชน์ของประเทศชาติและโดยสันติวิธี

สำหรับกรณีที่มีการให้ผมกับนักการเมืองและบุคคลจำนวนมากไปรายงานตัวต่อคสช.นั้น ขอเรียนว่าเมื่อผมไม่เห็นด้วยกับการยึดอำนาจและเห็นว่าการยึดอำนาจนี้ไม่เป็นการแก้ปัญหาของบ้านเมืองและไม่เป็นไปตามหลักการประชาธิปไตย ผมจึงไม่อาจไปรายงานตัวต่อคสช.ได้ ทั้งนี้มิใช่ว่าผมต้องการจะไปกระทำการอะไรที่ขัดต่อกฎหมายบ้านเมืองตามปรกติ และก็มิได้ต้องการจะก่อความไม่สงบใดๆ

ทราบจากเพื่อนรัฐมนตรีบางคนที่เข้าไปรายงานตัวว่าบางท่านได้รับแจ้งว่ารมต.ที่ถูกกักตัวไว้จะได้รับการปล่อยตัวเมื่อรมต.ทุกคนมารายงานตัวกันครบแล้ว ผมก็เลยกลายเป็นภาระต่อท่านเหล่านั้น

หากกรณีเป็นเช่นนั้นจริงผมก็ไม่ขัดข้องที่จะไปพบกับคสช. เพียงแต่ว่าคงต้องขอที่จะไม่ไป"รายงานตัว" หากคสช.จะกรุณาก็ขอให้ช่วยมารับตัวหรือจะเรียกว่าคุมตัวไปพบกับคสช.ก็ได้ ในเวลาที่เหมาะสมผมจะได้ประสานติดต่อเพื่อการนี้ต่อไป

อยากจะเรียนยืนยันต่อทุกฝ่ายทุกท่านด้วยความเคารพว่าในท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมืองในหลายปีมานี้ รวมทั้งในอดีตจนถึงปัจจุบัน ผมไม่มีความผิดหรือข้อกล่าวหาว่ากระทำผิดกฎหมายใดๆติดตัวอยู่เลยแม้แตเรื่องเดียวและก็ไม่ต้องการที่จะทำผิดกฎหมาย(ปรกติและที่ชอบธรรม)ใดๆด้วย ผมจึงมิได้คิดจะหลบหนีเจ้าหน้าที่ผู้รักษากฎหมายแต่อย่างใด

จึงเรียนมาเพื่อทราบทั่วกัน



++

โคทม นำทีมนักสันติวิธี ออกแถลงการณ์ค้านรัฐประหาร ชี้ช่องศาล รธน.วินิจฉัยขัด ม.68
ใน www.prachatai.com/journal/2014/05/53443
. . Fri, 2014-05-23 18:32


23 พ.ค.2557 คณะบุคคล ประกอบด้วย โคทม อารียา, ลัดดาวัลย์ ตันติวิทยาพิทักษ์, ไพรินทร์ โชติสกุลรัตน์, นันทิยา สุคนธ์ปฏิภาค, ใจสิริ วรธรรมเนียม, งามศุกร์ รัตนเสถียร, เอกพันธุ์ ปิณฑวณิช, อังคณา นีละไพจิตร, ประทับจิต นีละไพจิตร, ชำนาญ จันทร์เรือง, จุฬารัตน์ ดำรงวิถีธรรม, จันทนา ภู่เจริญ, เนติลักษณ์ นีระพล, พนิดา วสุธาพิทักษ์, ศิริพร ฉายเพ็ชร, ปัททุมมา ผลเจริญ, ชัชวาล ทองดีเลิศ, สุจิตรา สุทธิพงศ์, กฤนกรรณ สุวรรณกาญจน์, อาทิตย์ ชูสกุลธนะชัย และ ขวัญชาย ดำรงขวัญ ร่วมออกแถลงการณ์แสดงความไม่เห็นด้วยกับรัฐประหาร เรียกร้องให้กองทัพบกยุติการใช้อำนาจที่ไม่ชอบ ตลอดจนการละเมิดสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ขอให้ยกเลิกกฎอัยการศึก และขอให้ฟื้นคืนประเทศกลับสู่กระบวนการประชาธิปไตยโดยเร็วที่สุด พร้อมขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยการกระทำอันเป็นการละเมิดรัฐธรรมนูญมาตรา 68 ที่บัญญัติห้ามการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตย และการได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ และขอให้ผู้รักและมีความจริงใจต่อประชาธิปไตยทุกคนอาศัยสิทธิตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 69 เพื่อต่อต้านโดยสันติวิธีซึ่งการกระทำใดๆ ที่เป็นไปเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการที่มิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ

รายละเอียดมีดังนี้

แถลงการณ์
ขอแสดงความไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร


พวกเราขอแสดงความไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหารในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ซึ่งเป็นการกระทำที่เกินกว่าเหตุ ในเบื้องต้นกองทัพบกอ้างว่าต้องประกาศกฎอัยการศึกเพื่อดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน มิใช่การรัฐประหาร และขอให้ทุกคนดำเนินชีวิตตามปกติ แต่การรัฐประหารเป็นการทำลายหลักนิติธรรม หลักสิทธิมนุษยชนและหลักประชาธิปไตยโดยสิ้นเชิง

คณะรัฐประหารเริ่มด้วยการห้ามบุคคลทั่วราชอาณาจักรออกนอกเคหสถานระหว่างเวลา 22.00-05.00น. การบังคับให้สถานีวิทยุและโทรทัศน์ทุกสถานีถ่ายทอดเฉพาะรายการของกองทัพบก การฉีกรัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพของชนชาวไทยและการเลือกตั้งผู้แทนของประชาชน การห้ามชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป และการปิดสถานศึกษาทุกแห่ง เป็นต้น การดำเนินการดังกล่าวเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพโดยไม่มีเหตุผลอันควร เพราะทุกฝ่ายได้ให้ความร่วมมือกับกองทัพบกหลังการประกาศกฎอัยการศึกอยู่แล้ว

การยึดอำนาจโดยการรัฐประหารเป็นการถอยหลังครั้งแล้วครั้งเล่า เป็นอีกครั้งหนึ่งที่กองทัพบกใช้อำนาจนิยมและกำลังบังคับในการแก้ไขปัญหา และเป็นความผิดต่อความไว้วางใจที่ประชาชนมอบแก่กองทัพบกรวมทั้งมอบอาวุธและกองกำลังเพื่อไว้ใช้ป้องกันประเทศเป็นหลักมิใช่ให้ใช้อาวุธและกำลังมาบังคับใจประชาชนจำนวนมาก นอกจากนี้ การรัฐประหารยังนำมาสู่ความสุ่มเสี่ยงต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนในเขตพื้นที่เปราะบาง เช่น พื้นที่ติดกับชายแดนซึ่งอาจกระทบต่อสิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ รวมทั้งพื้นที่ความขัดแย้งรุนแรงอย่างในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และพื้นที่ความขัดแย้งด้านทรัพยากรธรรมชาติเช่น กรณีเหมืองแร่ทอง จ.เลย เป็นต้น

พวกเราจึงขอเรียกร้องต่อกองทัพบกและฝ่ายต่างๆ ดังนี้

1) ขอให้กองทัพบกยุติการใช้อำนาจที่ไม่ชอบ ตลอดจนการละเมิดสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ขอให้ยกเลิกกฎอัยการศึก และขอให้ฟื้นคืนประเทศกลับสู่กระบวนการประชาธิปไตยโดยเร็วที่สุด เพื่อเปิดทางให้ทุกฝ่ายกลับมาร่วมกันเดินหน้าสถาปนาวัฒนธรรมประชาธิปไตย

2) ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยการกระทำอันเป็นการละเมิดหลักนิติธรรมและการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 68 ที่บัญญัติห้ามการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตย และการได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ พร้อมทั้งสั่งการให้เลิกการกระทำดังกล่าว โดยให้คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเป็นเด็ดขาด มีผลผูกพันองค์กรของรัฐทุกองค์กรตามมาตรา 216

3) ขอให้ผู้รักและมีความจริงใจต่อประชาธิปไตยทุกคนอาศัยสิทธิตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 69 เพื่อต่อต้านโดยสันติวิธีซึ่งการกระทำใดๆ ที่เป็นไปเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการที่มิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ

22 พฤษภาคม 2557

โคทม อารียา
ลัดดาวัลย์ ตันติวิทยาพิทักษ์
ไพรินทร์ โชติสกุลรัตน์
นันทิยา สุคนธ์ปฏิภาค
ใจสิริ วรธรรมเนียม
งามศุกร์ รัตนเสถียร
เอกพันธุ์ ปิณฑวณิช
อังคณา นีละไพจิตร
ประทับจิต นีละไพจิตร
ชำนาญ จันทร์เรือง
จุฬารัตน์ ดำรงวิถีธรรม
จันทนา ภู่เจริญ
เนติลักษณ์ นีระพล
พนิดา วสุธาพิทักษ์
ศิริพร ฉายเพ็ชร
ปัททุมมา ผลเจริญ
ชัชวาล ทองดีเลิศ
สุจิตรา สุทธิพงศ์
กฤนกรรณ สุวรรณกาญจน์
อาทิตย์ ชูสกุลธนะชัย
ขวัญชาย ดำรงขวัญ


_________________________________________________________________

- เชียงใหม่รวมตัวเป็นวันที่ 4 ชูป้าย "ขี้จุ๊เบ่เบ๊" ให้กองทัพ
http://www.prachatai.com/journal/2014/05/53447
ตัวอย่าง


- ประมวลภาพประชาชนต้านรัฐประหารและการจับกุม
http://www.prachatai.com/journal/2014/05/53456
ตัวอย่าง


- เพลง NO COUP
http://www.youtube.com/watch?v=cVkQWiTIf7Y



.

2557-05-16

เรากำลังทำลายระบบ โดย วีรพงษ์ รามางกูร

.

วีรพงษ์ รามางกูร : เรากำลังทำลายระบบ
ใน www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1400217158
. . updated: 16 พ.ค. 2557 เวลา 12:10:13 น.
( ที่มา :  นสพ.มติชนรายวัน 15 พ.ค.57 )


ทุกวันนี้เวลาไปพบกับใครที่รู้จักไม่ว่าจะเป็นเพื่อนฝูง ผู้ร่วมงานในงานแต่งงาน งานศพ งานพบปะเพื่อปรึกษาหารือธุระการงาน คำถามที่ทั้งตัวเราเองถามหรือถูกถามจากผู้ที่พบปะกัน ก็คือ "แล้วบ้านเมืองของเราจะไปทางไหน" หรือไม่ก็ถามว่า "แล้วบ้านเมืองเราจะลงอย่างไร"

คำถามยอดนิยมเหล่านี้เป็นคำถามที่ไม่มีใครตอบได้ ไม่ว่าบุคคลผู้นั้นจะอยู่ใน "วงใน" หรือ "วงนอก" ขนาดไหนก็ตาม มีหลายคนพยายามจะตอบคำถามเหล่านี้ แต่เมื่อถูกซักหรือถูกตั้งคำถามกลับก็ตอบไม่ได้ เพราะ "ตรรกะ" ที่ใช้ในการหาคำตอบเป็น "ตรรกะ" ที่ไปไม่ได้ตลอดรอดฝั่ง


เมื่อศาลแพ่งมีคำสั่ง 9 ข้อ รับรองความถูกต้องชอบธรรมของกลุ่มผู้ชุมนุมในการเข้ายึดหรือเข้าล้อมสถานที่ราชการ เช่น ทำเนียบรัฐบาล กระทรวง ทบวงกรม หรือที่ทำการรัฐวิสาหกิจ ปิดถนนหนทางโดยใช้ "กองกำลังส่วนตัว" กระทำการตรวจค้นผู้คนที่สัญจรไปมา ขับไล่ข้าราชการพนักงานให้หยุดทำงาน หยุดปฏิบัติหน้าที่ ห้ามตำรวจและเจ้าพนักงานติดอาวุธ ไม่ว่าจะเป็นอาวุธประจำกาย หรือแม้แต่กระบอง เจ้าหน้าที่ตำรวจก็ไม่อาจจะใช้กำลังในการปฏิบัติหน้าที่ได้

การเรียกร้องให้กองกำลังตำรวจมาดูแลรักษาความปลอดภัยให้กับ"กองกำลังส่วนตัว" ของกลุ่มผู้ชุมนุม ที่กำลังเดินทางไปปิดสถานที่ราชการ ข่มขู่ให้ข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ ให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งในสายตาของคนทั่วไป กลับรู้สึกว่าเป็นสิ่งถูกต้อง แต่การขัดขวางหรือการสลายการชุมนุมกลายเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง

เพราะคำสั่งของศาลแพ่ง 9 ข้อได้ห้ามเอาไว้

เมื่อคำสั่งของศาลแพ่ง เป็นคำสั่งที่ขัดต่อสามัญสำนึกทางรัฐศาสตร์ที่จะทำให้สังคมมีความสงบเรียบร้อย จึงเป็นคำสั่งที่ขัดต่อสิ่งที่จะทำให้สถานการณ์เข้าสู่ภาวะปกติ เหตุการณ์ความไม่ปกติก็จะดำรงต่อไปได้อีกนาน



เห็นได้ชัดว่า กลุ่มผู้ชุมนุมขนคนมาจากต่างจังหวัดเพียง 2 หมื่นคน ก็สามารถสร้างสถานการณ์ยึดสถานีโทรทัศน์ช่องพื้นฐาน ไว้ได้โดยง่าย กองกำลังตำรวจจำนวนเท่าๆ กัน ถูกส่งเข้ามาดูแลสถานการณ์แต่ห้ามติดอาวุธ สถานีโทรทัศน์ก็ยังคงออกอากาศไปตามปกติ เหตุการณ์เช่นว่านี้คงจะดำเนินไปได้เรื่อยๆ ตราบใดที่ศาลอุทธรณ์และศาลฎีกายังไม่ได้ถอนคำสั่งของศาลแพ่ง

ผู้คนคาดเหตุการณ์เอาไว้แล้วว่า ศาลรัฐธรรมนูญคงจะมีคำวินิจฉัยให้นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีทั้งคณะพ้นสภาพการเป็นรัฐมนตรีที่ต้องอยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าคณะรัฐมนตรีชุดใหม่จะเข้ามารับหน้าที่
แต่ศาลรัฐธรรมนูญกลับวินิจฉัยให้คณะรัฐมนตรีกับรัฐมนตรีอีก 9 คนเท่านั้นที่พ้นจากสภาพรัฐมนตรี แต่ก็ยังคงเหลือรัฐมนตรีอีก 25 คน ปฏิบัติหน้าที่ต่อไป ช่องว่างจึงยังไม่เกิด สร้างความงุนงงสงสัยกับผู้คนหลายคนเพราะศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยอย่างไรก็ได้ เลิกถกเถียงกันเรื่องประเด็นกฎหมายได้แล้ว


วุฒิสภาเปิดประชุม เพื่อพิจารณารับรองคุณสมบัติของกรรมการ ป.ป.ช.ใหม่ และที่ปรึกษาตุลาการศาลปกครอง ก็ยังสามารถหาเหตุผลเอาเองให้ดำเนินการประชุมนอกระเบียบวาระการประชุมเพื่อเลือกประธานของตน โดยแสดงท่าทีอย่างชัดเจนว่าเมื่อ "มีช่องว่าง" ก็จะได้ทำหน้าที่แทนสภาผู้แทนราษฎร เสนอชื่อ "คนกลาง" เป็นนายกรัฐมนตรีได้ ทั้งๆ ที่การประชุมนอกระเบียบวาระการประชุมนั้นทำไม่ได้ ถ้าผู้ปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรีไม่นำขึ้นทูลเกล้าฯ ก็คงจะถูกกล่าวหาว่า "ละเว้น ไม่ปฏิบัติหน้าที่" มีความผิดตามมาตรา 157 แพ่งประมวลกฎหมายอาญา เมื่อทูลเกล้าฯและทรงลงพระปรมาภิไธย แล้วมีผู้ร้องไปที่ศาลรัฐธรรมนูญ ว่าขัดรัฐธรรมนูญก็ไม่เป็นไร เพราะศาลรัฐธรรมนูญก็คงจะวินิจฉัยว่าทำได้ ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ แล้วก็คงจะไม่มีใครทำอะไรได้ แต่สถานการณ์ก็คงไม่หยุดอยู่กับที่หรือมีความ "เสถียร" แต่จะดำเนินไปสู่ความ "ไม่มีเสถียรภาพ" ทางการเมืองต่อไป

ที่เกี่ยวพันกับความไม่มีเสถียรภาพทางการเมืองก็คือความไม่มีเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและสังคมเพราะการเมืองที่มุ่งไปสู่สภาวะที่ไม่มีเสถียรภาพ ย่อมดึงภาวะเศรษฐกิจออกจากจุด "ดุลยภาพ" และเคลื่อนไปสู่สภาวะไร้เสถียรภาพ อันเป็นพื้นฐานที่ทำให้การบริโภคและการลงทุนทั้งของภาครัฐบาลและของเอกชนหดหายไป

ภาวะเศรษฐกิจก็จะเคลื่อนเข้าสู่ภาวะ "ชะงักงัน" ซึ่งสะท้อนออกมาให้เห็นจากเครื่องชี้ต่างๆ เช่น การขยายตัวทางเศรษฐกิจ การส่งออกการนำเข้า อัตราเงินเฟ้อชะลอตัวอย่างรวดเร็ว พลวัตเหล่านี้จะส่งผลกลับไปที่เสถียรภาพทางการเมืองอีกทีหนึ่งเป็นวัฏจักร

ยิ่งฝ่ายที่รู้สึกว่าฝ่ายตนเป็นฝ่ายที่ถูกกระทำซ้ำแล้วซ้ำอีกจากการถูกปฏิบัติอย่างไม่เท่าเทียมกันความเข้มข้นของความรู้สึกก็เพิ่มทวีขึ้นตามการปฏิบัติหรือการกระทำขององค์กรที่เชื่อว่าเป็นเครื่องมือของผู้มีอำนาจหรือตัวแทนของชนชั้นปกครองในบ้านเมือง การจัดตั้งขบวนการประชาชนในต่างจังหวัดจึงประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็ว เพราะมีตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมให้เห็นซ้ำแล้วซ้ำอีก


ถ้าฝ่ายนี้สามารถทำให้เกิดภาวะสุญญากาศ ทำให้เกิดช่องว่างเพื่อสามารถตั้งนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีที่ไม่เป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ความขัดแย้งก็น่าจะบานปลายจนเกิดการปะทะกัน ระหว่างผู้ชุมนุมซึ่งส่วนใหญ่มาจากภาคใต้และกรุงเทพฯ กับอีกฝ่ายที่มาจากต่างจังหวัดจากภาคเหนือและภาคอีสาน

เมื่อสถานการณ์มาถึงจุดนี้ ซึ่งน่าจะเป็นความต้องการของผู้ที่ชุมนุมอยู่ในกรุงเทพฯ และพรรคประชาธิปัตย์ ทางกองทัพก็คงจะไม่มีทางเลือก นอกจากต้องเข้ามาแทรกแซง ด้วยการทำปฏิวัติรัฐประหาร ยกเลิกรัฐธรรมนูญ ตั้งสภานิติบัญญัติเพื่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ สถานการณ์ดังกล่าวไม่ว่าจะชอบหรือไม่ชอบอาจจะต้องเกิดขึ้นอย่างที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

หลังการปฏิวัติรัฐประหารสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้คือการเคลื่อนของมวลชนฝ่ายเสื้อแดง เข้ามาทำการประท้วงในกรุงเทพฯ แทนผู้ที่ทำการประท้วงที่ดำเนินการอยู่ที่สวนลุมพินี หรือที่ทำเนียบรัฐบาล และอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย



ถ้าเหตุการณ์เช่นนั้นเกิดขึ้นจริงก็จะเกิดสภาวะอนาธิปไตยจะจบลงอย่างไรก็คงคาดเดาได้ อาจจะเหมือนกับกรณี 6 ตุลาคม 2519 หรืออาจจะไม่เหมือนกันก็ได้

กล่าวคือฝ่ายผู้ประท้วงจากต่างจังหวัดถูกปราบปรามเหมือนกับกรณี 6 ตุลาคม 2519 แล้วมีการสถาปนารัฐบาลเผด็จการทหารมาทำการปกครอง แล้วร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

อีกทางหนึ่งก็คือมีการตกลงกันให้มีรัฐบาลที่ฝ่ายทหารแต่งตั้ง อาจจะเป็นพลเรือน ยกเลิกรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญที่เป็นปัญหาก่อให้เกิดความขัดแย้งกันอย่างรุนแรง ซึ่งเคยเรียกรัฐธรรมนูญฉบับนี้ว่าเป็น "มรดกอสูร" ควรจะยกเลิกเสีย แล้วกลับไปใช้รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2540 แทน โดยการปรับปรุงแก้ไขบางมาตรา

หากจะให้บ้านเมืองกลับไปสู่ภาวะปกติต้องมีการปฏิรูปองค์กรอิสระทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นศาลปกครอง ศาลรัฐธรรมนูญ คณะกรรมการการเลือกตั้ง วุฒิสภาและอื่นๆ เพราะเห็นได้ชัดว่าวิธีคิดขององค์กรอิสระเหล่านี้ หรือแม้แต่ตุลาการบางท่านในศาลยุติธรรมมีวิธีคิดที่เป็นปัญหา ไม่สามารถแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในสังคมให้เหตุการณ์กลับเข้าสู่ภาวะปกติและสามารถดำเนินการตามขบวนการประชาธิปไตยได้

แต่ถ้าหลังจากการปฏิวัติคณะทหารต้องการจะอยู่ในอำนาจเป็นเวลานาน หรือพยายามเข็นรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นประชาธิปไตยอย่างเดียวกับรัฐธรรมนูญปี 2550 หรือเป็นประชาธิปไตยน้อยกว่าฉบับปี 2540 ปัญหาทางการเมืองก็ไม่มีวันจบ คงจะยืดเยื้อต่อไปอีกเป็นเวลานาน และอาจจะจบลงโดยการล้มลงของระบบการเมืองทั้งระบบก็ได้ ซึ่งไม่ใช้ผลดีต่อประเทศชาติในระยะยาว


สิ่งที่น่ากลัวซึ่งถ้าไม่ระมัดระวังก็คือ การล้มลงของระบบการเมืองทั้งระบบ ซึ่งเคยเกิดขึ้นกับหลายประเทศมาแล้ว จะประมาทไม่ได้

เมื่อระบบล้มลงทั้งระบบ จะมีระยะเวลาหนึ่งที่สังคมจะพยายามแสวงหาจุด "ดุลยภาพ" ใหม่ ที่มีเสถียรภาพ ที่เป็นที่รับได้จากประชาชนทุกฝ่าย ซึ่งไม่มีใครคาดการณ์ได้ว่าจะเป็นอย่างไร การลดราวาศอก "ยกรถไฟที่ตกรางกลับขึ้นไปไว้บนราง" กล่าวคือสิ่งใดที่ออกนอกลู่นอกทาง จากระบอบนิติรัฐหรือ Rule of Law นอกรัฐธรรมนูญ นอกระเบียบแบบแผน ที่สามารถอยู่ด้วยกันอย่างสันติแม้จะมีความคิดเห็นที่แตกต่างกัน เหตุการณ์ก็อาจจะไม่เปลี่ยนไปในเชิงพลวัต จากจุดที่ "ไร้เสถียรภาพ" ไม่ไปสู่จุดดุลยภาพที่มีเสถียรภาพ ที่จะสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ ไม่เพิ่ม "พลังการทำลาย" จนกระทั่งระบบทั้งระบบพังทลายลง

เป็นสิ่งที่น่ากลัวถ้าไม่ระมัดระวัง แต่ก็หวังว่าจะไม่เกิดภาวการณ์เช่นนั้น



.

2557-05-09

รัฐบุคคล กับ รัฐบุรุษ .. จับตา “ป๋าเปรม” กับกระแสเจรจา

.

รัฐบุคคล กับ รัฐบุรุษ “ป๋า” กับ “คุณสายหยุด” เมื่อทหารเก่า 94 คุยกับทหารแก่ 92 จับตา “ป๋าเปรม” กับกระแสเจรจา
ใน www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1399651033
. . วันศุกร์ที่ 09 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 เวลา 23:02:09 น.
( ที่มา : มติชนสุดสัปดาห์ ประจำ2-8 พ.ค.57 ปี34 ฉ.1759 หน้า16 )


รายงานพิเศษ

ทุกดวงไฟกำลังฉายส่องไปที่ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ อีกครา

แล้วก็ต้องจับจ้องที่ พล.อ.สายหยุด เกิดผล อดีตผู้บัญชาการทหารสูงสุด และ คณะรัฐบุคคล อีกครั้ง

แม้ว่า พล.อ.เปรม จะรีบสยบกระแส การเข้าเฝ้าฯ เพื่อขอพระราชทานนายกรัฐมนตรี มาตรา 7 ตามที่ พล.อ.สายหยุด ออกมาให้ข่าว หลังจากการเข้าพบ พล.อ.เปรม ที่บ้านสี่เสาเทเวศร์ เมื่อบ่าย 25 เมษายน ด้วยการระบุว่า "คุณสายหยุด เข้าใจผิด" แล้วก็ตาม

แต่ก็เกิดความกังขา ในบทบาทและจุดยืนของ พล.อ.เปรม ว่า จากวันล้มระบอบทักษิณ ด้วยการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 จนถึงวันนี้ พล.อ.เปรม ยังเป็นคนเดิมอยู่หรือไม่

เพราะแค่การให้เชิญ พล.อ.สายหยุด ไปพบที่บ้าน ก็ถูกมองว่า มีนัยสำคัญ และเป็นการให้ความสำคัญกับคณะรัฐบุคคล

เพราะแม้จะเป็นเพื่อนร่วมรุ่นกัน แต่การเชิญ พล.อ.สายหยุด ซึ่งเพิ่งเสนอในนาม "คณะรัฐบุคคล" ให้ พล.อ.เปรม เข้าเฝ้าฯ เพื่อขอพระราชวินิจฉัย เพื่อแก้ปัญหา ก่อนเกิดสุญญากาศทางการเมือง โดยเฉพาะการขอนายกรัฐมนตรี ตามมาตรา 7 นั้นถูกมองว่า หากป๋าเปรมไม่ได้ให้ความสำคัญ หรือสนใจ ก็คงไม่ต้องเชิญ พล.อ.สายหยุด มาพบพูดคุย

อีกทั้งก่อนหน้านี้ มีการตั้งข้อสังเกตกันว่า การที่ พล.อ.สายหยุด ออกมาเสนอแบบนี้ ถือเป็นส่วนหนึ่งของแผนการเขี่ยลูก หรือชง เพื่อให้ พล.อ.เปรม เล่นต่อหรือไม่


อย่าลืมว่า การก่อตั้ง คณะรัฐบุคคล หรือ Man of the State นั้น ก็ถูกมองว่า มีชื่อที่สื่อถึงรัฐบุรุษ หรือ Stateman อย่าง พล.อ.เปรม

อีกทั้งแกนนำที่ก่อตั้ง และอยู่เบื้องหลัง ก็เป็นทหารเก่า ที่ได้ชื่อว่า เป็นพวกต่อต้านระบอบทักษิณ และเคยเป็นสายพันธมิตรฯ เก่า และพยายามดึงอดีตผู้บัญชาการเหล่าทัพ เข้าร่วม เพื่อให้คณะรัฐบุคคล ดูยิ่งใหญ่และมีน้ำหนัก

ทั้งการเชิญ พล.อ.วิมล วงศ์วานิช อดีต ผบ.ทบ. พล.ร.อ.วิเชษฐ์ การุณยวณิช อดีต ผบ.ทร. และ พล.อ.อ.กันต์ พิมานทิพย์ อดีต ผบ.ทอ. มาร่วม

แต่ก็มีข่าวออกมาเสมอว่า ทั้ง 3 ผบ.เหล่าทัพ มาร่วมด้วยความเกรงใจ หลายครั้งถูกนำแค่ชื่อมาร่วม แต่ตัวไม่ได้มา

จนต้องมีการเชิญพบปะหารือแล้วมีการปล่อยคลิปออกมาเพื่อยืนยันว่า อดีตผู้นำทหารนี้เป็นส่วนหนึ่งของคณะรัฐบุคคลด้วย โดยแนวทางในการแก้ปัญหาทางการเมืองของคณะนี้ ถูกมองว่า ต้องการให้กองทัพเป็นหลัก และการรัฐประหาร

แต่เมื่อ บิ๊กตู่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. ไม่ให้ความสำคัญ โดยระบุว่า เป็นแค่คนแก่ที่ไม่มีอะไรทำหลังเกษียณ มานั่งกินกาแฟคุยกันเรื่องชาติบ้านเมือง ก็เสนอแนวคิดต่างๆ แต่ทว่า พวกท่านไม่ใช่ผู้รับผิดชอบแล้ว แต่ก็เข้าใจว่า เป็นความหวังดีของผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมือง

จึงทำให้ทิศทางของคณะรัฐบุคคล เบี่ยงมาที่ พล.อ.เปรม โดยเฉพาะเมื่อ พล.อ.เปรม แบ่งรับแบ่งสู้ การเป็น "คนกลาง" ในการเชิญ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รักษาการนายกรัฐมนตรี กับ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส. มาเจรจากัน ด้วยคำพูดที่ว่า "เขาจะยอมฟังผมหรือ เพราะผมเองก็ยังโดนเหมือนกัน"

รวมทั้งเมื่อ พล.อ.เปรม ไม่ได้ตอบปฏิเสธการเป็นนายกรัฐมนตรีคนกลาง หากเกิดสถานการณ์จำเป็น

ที่สำคัญคือ การที่ พล.อ.เปรม เข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่พระราชวังไกลกังวล เมื่อ 16 เมษายนที่ผ่านมา แม้จะเป็นการถวายรายงานตามปกติ แต่ก็มีการปล่อยข่าวลือออกมามากมาย ว่ามีเรื่องการหาทางออกของบ้านเมือง

พล.อ.เปรม จึงกลับมาเป็นความหวังของฝ่ายที่ต้องการล้มระบอบทักษิณ อีกครั้ง โดยเฉพาะเมื่อ พล.อ.สายหยุด ย่องเข้าพบป๋าเปรม

จนส่งผลให้ นายเรืองไกร ลือกิจวัฒนะ ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญ ตรวจสอบเรื่องเงินประจำตำแหน่งของ พล.อ.เปรม เดือนละ 114,000 บาท นั้นว่า มีกฎหมายรองรับหรือไม่ ทั้งๆ ที่มีพระราชกฤษฎีกาออกมารองรับตั้งนานแล้วก็ตาม

แต่ประโยคที่ว่า "คุณสายหยุด เข้าใจผิด" ของ พล.อ.เปรม ที่ยืนยันว่าแค่รับฟัง พล.อ.สายหยุด เท่านั้น ก็ทำให้ พล.อ.เปรม ถูกมองว่า กำลังปฏิบัติการ ลับลวงพราง อยู่หรือไม่



ต้องยอมรับว่า บทบาทของ พล.อ.เปรม หลังการรัฐประหาร 19 กันยายน ในการต่อต้านระบอบทักษิณนั้น ถูกมองว่า ลดความเข้มข้นลง ตั้งแต่การให้ นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ เมื่อครั้งเป็นนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เข้าพบ

จนมาถึงยุค น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ก็พยายามขยับเข้าใกล้ พล.อ.เปรม แล้ว พล.อ.เปรม ก็ดูมีท่าทีเป็นมิตร หรือเอ็นดูนายกรัฐมนตรีหญิง อยู่ไม่น้อยเหมือนกัน

จนในสายอำมาตย์ หวาดระแวงว่า พล.อ.เปรม จะวางมือและวางเฉย จนต้องเตรียมหาหัวขบวนอำมาตย์คนใหม่ ที่ก็เล็งไปที่ บิ๊กแอ้ด พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ องคมนตรี ลูกป๋า และอดีตนายกรัฐมนตรี หลังการรัฐประหาร


แต่หากให้ความเป็นธรรมกับ พล.อ.เปรม แล้ว กรณีการเชิญ พล.อ.สายหยุด มาพบที่บ้านครั้งนี้ เพราะต้องการรับฟังแนวคิด และอยากรู้ว่า คณะรัฐบุคคล คืออะไร มีใครบ้าง เนื่องจากทำให้ พล.อ.เปรม ตกเป็นข่าวใหญ่มาหลายครั้ง พล.อ.เปรม จึงอยากรู้เป้าประสงค์

อีกทั้งเป็นเพื่อนกับ พล.อ.สายหยุด อยู่แล้ว การเชิญมาพบ จึงไม่ได้คิดว่าเป็นเรื่องเสียหายใดๆ

แต่ทว่า ท่าทางของ พล.อ.เปรม อาจทำให้ พล.อ.สายหยุด เข้าใจไปเองว่า เห็นด้วยกับสิ่งที่ตนเองพูดและเสนอ ทั้งการพยักหน้า ยิ้ม หรือเม้มปาก

แต่คนใกล้ชิดป๋าแล้วก็น่าจะรู้ดีว่า เป็นบุคลิกลักษณะของป๋า ที่เมื่อรับฟังอะไรแล้วก็จะพยักหน้า ที่ไม่ได้หมายถึงการเห็นด้วย แต่หมายถึง การรับฟัง รับทราบ ว่าได้ยินที่พูดแล้ว

อีกทั้ง พล.อ.เปรม นั้นอายุ 94 ปีแล้ว ก็ย่อมมีปัญหาเรื่องการได้ยิน ที่จะต้องตะโกนให้เสียงดังในระดับหนึ่ง แถมเมื่อคู่สนทนา คือ พล.อ.สายหยุด ที่อายุไล่เลี่ยกัน ก็ยิ่งทำให้เกิดปัญหาในการสื่อสารพูดคุยกันได้ เพราะต่างก็ไม่ได้ยินชัดนัก แต่ทว่า ป๋าเป็นฝ่ายถาม พยักหน้ารับฟัง แต่ พล.อ.สายหยุด เป็นฝ่ายพูดและอธิบายเสียเป็นส่วนใหญ่ ตลอดเวลาราว 1 ชั่วโมง

นี่อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้ พล.อ.สายหยุด เข้าใจว่า พล.อ.เปรม เห็นด้วยกับทุกสิ่งที่เขาเสนอ จนออกมาให้ข่าว ถึงขั้นที่ว่า พล.อ.เปรม เห็นด้วยกับแนวทางของคณะรัฐบุคคล และจะทำหน้าที่ของรัฐบุรุษ และให้ร่างพระบรมราชโองการ ขึ้นมาเพื่อทูลเกล้าฯ ที่ทำให้ พล.อ.เปรม ถูกวิจารณ์อย่างหนัก


แม้ว่า พล.ท.พิศณุ พุทธวงศ์ นายทหารคนสนิท จะออกมาชี้แจงทันทีที่ พล.อ.สายหยุด ให้ข่าวว่า เป็นแค่การรับฟังเท่านั้น ไม่ใช่การเห็นด้วย ไม่ใช่การตอบรับหรือปฏิเสธ ก็ตาม

แต่เพราะคำให้สัมภาษณ์ของ พล.อ.สายหยุด ได้เป็นการปลุกความหวังให้กับฝ่ายต่อต้านระบอบทักษิณ อย่างมาก

แต่ก็ทำให้ความสัมพันธ์ฉันเพื่อนของ พล.อ.สายหยุด กับ พล.อ.เปรม สั่นคลอนไปบ้าง ตรงที่ พล.อ.เปรม ปฏิเสธว่า "คุณสายหยุดเข้าใจผิด"

ด้วยเพราะในเวลานี้มีอีกกระแสที่สะพัดในกองทัพ ที่โยงกับการที่ พล.อ.เปรม เข้าเฝ้าฯ เมื่อ 16 เมษายน ว่า บทบาทของ พล.อ.เปรม ไม่ได้เป็นไปดั่งที่คณะรัฐบุคคล คาดหวัง

โดยมีการเชื่อมโยงกับการพลิกบทบาทของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่ประกาศตนเป็นคนเจรจากับทุกฝ่ายเพื่อหาทางออก โดยขอไปพบ บิ๊กเจี๊ยบ พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร ผบ.สส. เป็นคนแรกๆ เมื่อ 28 เมษายนที่ผ่านมา ที่ บก.กองทัพไทย

แม้ว่าการหารือกันเกือบ 2 ชั่วโมง จะถูกเปิดเผยออกมาแค่ 3 ประเด็น คือ พล.อ.ธนะศักดิ์ สนับสนุนบทบาทของนายอภิสิทธิ์ ในการเดินสายเจรจาหาทางออก และยืนยันบทบาทของกองทัพ ที่จะยึดตามกรอบกฎหมายรัฐธรรมนูญ และปัญหาการเมืองก็ต้องแก้ด้วยการเมือง

ที่อาจหมายถึง การที่ พล.อ.ธนะศักดิ์ ยืนยันว่ากองทัพจะไม่แทรกแซงการเมือง ไม่ก่อการปฏิวัติรัฐประหาร และสนับสนุนให้มีการเลือกตั้ง

ด้วยเพราะมีการตั้งข้อสังเกตว่า บทบาทของนายอภิสิทธิ์ ในครั้งนี้ เป็นสัญญาณของการนำไปสู่การลงเลือกตั้ง 20 กรกฎาคม อย่างมีเงื่อนไขหรือไม่ เพราะเป็นจุดที่ทำให้นายอภิสิทธิ์ แยกวงออกมาจากนายสุเทพ และ กปปส.

ด้วยเพราะข่าวที่สะพัดนั้น อ้างผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองสนับสนุนให้เกิดการพูดคุยเจรจา และให้ทุกฝ่ายทำหน้าที่ของตนเองให้ดีที่สุด รวมทั้งการร้องขอไม่ให้ทำให้สถาบันแตกแยก หรือนำมาเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งทางการเมือง เพราะประชาชนคนไทยทุกคนก็คือประชาชนของพระองค์ท่าน

จนทำให้มีการจับตาไปที่คำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ หรือ ป.ป.ช. ที่ในเวลานี้ ฝ่ายรัฐบาลพรรคเพื่อไทย และคนเสื้อแดง เชื่อว่า ศาลจะต้องตัดสินให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ พ้นสภาพนายกรัฐมนตรีรักษาการ ที่จะทำให้คนเสื้อแดงไม่พอใจ ออกมา แล้วมีความวุ่นวาย จนนำไปสู่การรัฐประหารแน่นั้นด้วย ว่า ศาลอาจไม่ตัดสินในทางที่จะนำมาซึ่งปัญหาเช่นนั้นก็เป็นได้

อีกทั้งเมื่อครั้งที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้พบปะหารือกับ ผบ.เหล่าทัพ ก่อนการประชุมสภากลาโหม เมื่อ 24 เมษายนที่ผ่านมานั้น พล.อ.ประยุทธ์ ก็ได้ให้ความสบายใจว่า ทหารจะทำหน้าที่ของทหารอย่างที่สุด ขอให้นายกฯ ทำหน้าที่ให้ดีที่สุดเช่นกัน หลังจากที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ออกตัวว่า หากต้องถูกศาลหรือ ป.ป.ช. ตัดสินให้พ้นจากนายกรัฐมนตรี ก็ต้องการให้คนที่มาเป็นนายกรัฐมนตรีแทนนั้น เป็นไปตามกฎหมาย ไม่ใช่นายกรัฐมนตรีคนกลาง หรือคนนอก

ที่สำคัญคือ พล.อ.ประยุทธ์ ผบ.ทบ., พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย ผบ.ทร., พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง ผบ.ทอ. และ พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก ปลัดกลาโหม ที่ร่วมหารือนั้นต่างเห็นพ้องกันว่า การเลือกตั้ง เป็นทางออกเดียว โดยกองทัพพร้อมสนับสนุนการเลือกตั้ง และ กกต. เพื่อให้เลือกตั้งเกิดขึ้น แต่ก็ต้องการให้ กกต. รัดกุมมากขึ้น เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาการเลือกตั้งโมฆะอีก



บทบาทของนายอภิสิทธิ์ ในการเจรจา ทำให้ฝ่ายรัฐบาล และโดยเฉพาะ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ขานรับ และชื่นชม โดยพร้อมพูดคุยกับนายอภิสิทธิ์นี้ ทำให้เกิดความหวังของการหาทางออก ท่ามกลางการจับตามองว่า นายอภิสิทธิ์ จะนำพลพรรคประชาธิปัตย์ลงเลือกตั้ง แต่ต้องมีการทำสัตยาบันกันว่า ใครเป็นรัฐบาลจะต้องปฏิรูปการเมือง ปฏิรูปประเทศ ใน 1 ปี แล้วยุบสภา ให้มีการเลือกตั้งใหม่ ตามที่หลายฝ่ายเสนอหรือไม่

โดยเฉพาะกองทัพนั้นสนับสนุนการเลือกตั้งที่มีรายงานข่าวด้วย พล.อ.ธนะศักดิ์ ก็พูดหยั่งเชิง และเสนอแนะให้นายอภิสิทธิ์พิจารณาเรื่องการลงเลือกตั้ง ในโอกาสที่พบกันเมื่อ 28 เมษายนที่ผ่านมา


อีกทั้งในเวลานี้ กระแสการต่อต้านกลุ่ม กปปส. ในกองทัพ เริ่มมีมากขึ้น หลังจากที่เกิดเหตุการ์ด กปปส. แจ้งวัฒนะ ยิงและทำร้ายร่างกาย พ.อ.วิทวัส วัฒนกุล จนทำให้เกิดการปล่อยใบปลิวอิเล็กทรอนิกส์ ปลุกกระแสรักศักดิ์ศรีทหาร เพราะที่ผ่านมา มีทหารหลายคน รวมทั้งของ บก.กองทัพไทย และ ทบ. เอง ก็ถูกการ์ด กปปส. และ คปท. ยิง จนบาดเจ็บปางตาย แต่ทางกองทัพก็ไม่มีปฏิกิริยาใด นอกจากยอมรับว่า เป็นการเข้าใจผิด ที่ยิ่งทำให้ทหารในกองทัพไม่พอใจ เพราะระยะหลังการ์ด กปปส. จะยิงใครก็ได้ง่ายๆ

งานนี้พุ่งเป้าไปที่ พล.อ.ธนะศักดิ์ ที่ไม่ออกมาแสดงปฏิกิริยาในการปกป้องลูกน้อง ทั้งยังการปิดข่าว เหตุ บก.กองทัพไทย ถูกยิงกระจกแตกอีกด้วย จนที่สุด การ์ด กปปส. ก็ต้องเข้ามาที่ บก.กองทัพไทย และขอขมาต่อ พล.ท.สีหนาท วงศาโรจน์ เจ้ากรมข่าวทหาร ในฐานะผู้บังคับบัญชาของ พ.อ.วิทวัส แทน โดยที่มีการนำภาพการขอขมา ลงเว็บไซต์ บก.กองทัพไทย เพราะต้องการให้เรื่องยุติ โดยลงคำชี้แจงของการ์ดที่ว่า เข้าใจผิดเพราะคิดว่า พ.อ.วิทวัส เป็นคนที่จะก่อเหตุเนื่องจากเวทีแจ้งวัฒนะ เพิ่งถูกยิงเอ็ม 79 ใส่ ท่ามกลางการจับตามองว่า จะมีการดำเนินการตามกฎหมายจนถึงที่สุดหรือไม่

เพราะต้องยอมรับว่า กองทัพเกรงใจ กปปส. เกรงใจนายสุเทพ มาตลอด จนทำให้ถูกมองว่าเอนเอียงเข้าข้าง แต่ความสัมพันธ์ที่ยังดีและใกล้ชิดกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ก็ทำให้กองทัพถูกมองว่า เกรงใจนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม หญิง ด้วยเช่นกัน

เข้าทำนองที่ว่า กองทัพ ไม่ช่วย แต่ก็ไม่ทำร้าย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ปล่อยให้ "สถานการณ์" เป็นตัวตัดสิน ท่ามกลางความหวาดระแวงที่ว่า วิกฤตินี้จะจบด้วยการรัฐประหารอีกครา

และบทบาท พล.อ.เปรม ที่ไม่ใช่แค่การนั่งแต่งเพลง ร้องเพลง ในบ้านสี่เสาฯ ท่ามกลางการเมืองที่ร้อนระอุเท่านั้น แต่ทว่า มีความเคลื่อนไหว ภายใต้เสียงเพลงนั้นอยู่ตลอดเวลา



...........................................................
ร่วมคลิกไลค์แฟนเพจมติชนสุดสัปดาห์ผ่านทางเฟซบุ๊กได้ที่
www.facebook.com/matichonweekly


.

2557-05-08

หลัง“ยิ่งลักษณ์”, + เส้นทางสายไหน โดย วรศักดิ์ ประยูรศุข

.

วรศักดิ์ ประยูรศุข : หลัง“ยิ่งลักษณ์”
ใน www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1399548138
. . วันพฤหัสบดีที่ 08 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 เวลา 21:02:14 น.
( ที่มา: คอลัมน์ สถานีคิดเลขที่12  นสพ.มติชนรายวัน 8 พ.ค.2557 )
ภาพจากเวบบอร์ด


เที่ยงวันพุธที่ผ่านมา หลายคนจดจ่ออยู่หน้าจอทีวี เพื่อติดตามเหตุการณ์สำคัญ 
ศาลรัฐธรรมนูญฟันเปรี้ยงตามคาดว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร พ้นจากตำแหน่ง "ปฏิบัติหน้าที่นายกฯ" แล้ว เพราะไปก้าวก่ายแทรกแซงการย้าย นายถวิล เปลี่ยนศรี
พร้อมกับ ครม.ที่ร่วมลงมติเมื่อวันที่ 6 ก.ย. 2554

ครม.ที่เหลือ 25 คนทำหน้าที่รักษาการต่อไป โดยรองนายกฯ นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รักษาการนายกฯแทน

วันที่ 8 พ.ค. ทาง ป.ป.ช.จะลงดาบสองต่อไปในคดีข้าว หาก ป.ป.ช.มีมติชี้มูลความผิด ก็จะส่งเรื่องให้วุฒิสภาถอดถอน พร้อมกับส่งอัยการเพื่อดำเนินคดีอาญา


สำหรับพรรคเพื่อไทย ซึ่งโดนยุบมา 2 ครั้ง เปลี่ยนชื่อมาเป็นครั้งที่ 3 ควรบันทึกไว้เป็นเกียรติประวัติด้วยว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์เป็นนายกฯคนที่สี่จากพรรคนี้ ที่ต้องพ้นจากตำแหน่งในลักษณะใกล้เคียงกัน นับจากพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร โดนรัฐประหาร 2549 จากนั้น สมัคร สุนทรเวช กับ สมชาย วงศ์สวัสดิ์ ในปี 2551 เรียกว่าใช้นายกฯสุรุ่ยสุร่ายมาก

สาเหตุของชะตากรรมอันพิสดารนี้ ปัญหามาจากนักการเมือง
หรือมาจากกฎหมาย การบังคับใช้กฎหมายกันแน่ เชิญสาธุชน วิญญูชน ลองไปหาคำตอบกันเอาเอง

แต่ครั้งนี้ ศาลฯไม่เดินสุดซอย จนเกิดสุญญากาศอย่างที่เกรงกัน

ยังเหลือ ครม.รักษาการไว้ให้กลุ่มต่อต้านได้บริหารจัดการกันต่อไปอีก

คำขอให้ศาลสั่งให้มีการตั้งนายกฯ โดยวุฒิสภา ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 172 โดยอนุโลม ศาลสั่งยก บอกว่า อยู่นอกอำนาจ ไม่รับวินิจฉัย

แผนการที่จะเสนอ "นายกฯคนกลาง" ต่อเนื่องไปเลย จึงสะดุด


แต่วิกฤตคงไม่จบแค่นี้ เพราะเป้าหมายของแต่ละฝ่ายยังไม่บรรลุ

ทางกลุ่มล้มระบอบทักษิณ ไม่ต้องการให้เลือกตั้ง จะกวาดล้างระบอบทักษิณให้เสร็จก่อน กับทางรัฐบาลรักษาการและพรรคเพื่อไทยที่ต้องการให้เลือกตั้ง

เป็นเป้าหมายที่สวนทางกันอย่างคนละโลก ดังนั้น ความขัดแย้งจะเดินหน้าต่อไปอีก

แรงกดดันและแรงบีบ ทั้งด้วยการใช้มวลชน และการฟ้องร้องด้วยแง่มุมทางกฎหมายที่พลิกแพลงต่างๆ จะพุ่งเป้าไปที่นายกฯรักษาการและรัฐบาลรักษาการที่เหลืออยู่ เพื่อให้พ้นทางให้ได้

เรียกว่าเป็นด่านสุดท้าย ก่อนไปสู่สุญญากาศในความฝัน


ครม.ชุดนี้ จะต้านทานความพยายามนำประเทศไทยไปสู่สุญญากาศได้แค่ไหน จะทำให้การเลือกตั้งเกิดขึ้นได้หรือไม่ ยังสงสัย

เพราะอีกฝ่ายจัดหนักจริงๆ ทุ่มทุนสร้างแบบเทหมดหน้าตัก

แต่สุดท้าย ประชาชนคิดยังไง จะยอมไหม คงจะได้เห็นกันในรอบนี้



++

วรศักดิ์ ประยูรศุข : เส้นทางสายไหน
ใน www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1398346933
. . วันที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2557 เวลา 21:02:03 น.
( ที่มา: คอลัมน์ สถานีคิดเลขที่12  นสพ.มติชนรายวัน 24 เม.ย. 2557 )
ภาพจากเวบบอร์ด


สื่อต่างประเทศหลายสำนักเสนอข่าวสถานการณ์ในประเทศไทยล่าสุด

สรุปความว่า นายกฯยิ่งลักษณ์ ชินวัตร คงจะพ้นจากนายกฯ เรียบร้อย ร.ร.องค์กรอิสระ-ศาลรัฐธรรมนูญในต้นเดือน พ.ค.นี้

กองทัพนั้นชัดเจนแล้วว่า จะไม่ปฏิวัติ แต่ใช่ว่าจะกอดอกยืนดูบนภูเฉยๆ เสียทีเดียว ยังคงกดดันอยู่เบื้องหลัง

เพราะทหารมีบทเรียนจากการรัฐประหาร 2549 และต้องการสร้างภาพบวกในสายตาประชาชน

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้กองทัพไม่ใช่ไพ่ตายทางการเมืองเพียงใบเดียว ยังมีศาล และองค์กรอิสระที่อาจล้มรัฐบาลได้เช่นกัน

ขณะที่ตรงกันข้ามกัน ยังมีกลุ่มพลังใหญ่ คือ ขบวนการของคนรากหญ้าหรือคนเสื้อแดง

และขณะนี้ยังไม่รู้ว่าคนเสื้อแดงจะมีปฏิกิริยาใด ต่อคำวินิจฉัยหรือไพ่ที่จะทิ้งลงมา


แม้จะเชื่อว่ากองทัพหลีกเลี่ยงไม่อยากเข้ามาเกี่ยวข้อง ไม่ว่ายิ่งลักษณ์จะเจอสถานการณ์หนักขนาดไหน แต่กองทัพอาจเข้าแทรกแซงการเมืองจนได้ หากเกิดเหตุม็อบ 2 ฝ่ายเข้าปะทะห้ำหั่นกัน

นั่นคือสาระบางส่วนจากสื่อต่างประเทศ ซึ่งเข้าใจการเมืองบ้านเรา และแยกแยะได้ว่าอย่างไรคือทิศทางที่เป็นประชาธิปไตย อย่างไรไม่ใช่

ก่อนหน้านี้ เชื่อกันว่า หลังสงกรานต์ ปลาย เม.ย.นี้ ศาลรัฐธรรมนูญและ ป.ป.ช.จะลงดาบฟัน "ยิ่งลักษณ์"

แต่เกิดเสียงโต้แย้งว่ารวบรัดไฟลนมากเกินไป ตอนนี้ขยับออกไปต้นเดือน พ.ค

โดย ป.ป.ช.สั่งตัดพยาน เตรียมชี้มูลความผิดยิ่งลักษณ์ต้นเดือน พ.ค.นี้ ส่วนศาลรัฐธรรมนูญ ยอมขยายเวลาให้ยิ่งลักษณ์ชี้แจง

คาดหมายว่า นายกฯยิ่งลักษณ์ คงต้องพ้นจากรักษาการนายกฯ ในต้นเดือน พ.ค. ด้วยผลของคดีย้าย ถวิล เปลี่ยนศรี ส่วน ครม.ยังรักษาการต่อ ตามรัฐธรรมนูญที่ให้พ้นเป็นการเฉพาะตัว และตามแนวคำตัดสินคดี นายสมัคร สุนทรเวช

แล้วให้รองนายกฯที่มีภาพกลางๆ ไม่ทักษิณจ๋า มารักษาการนายกฯแทน พร้อมๆ กับเดินหน้าจัดเลือกตั้ง ส่วนจะให้คำมั่นว่าจะปฏิรูปกันแบบไหนอย่างไร ต้องรอฟัง



ม็อบ กปปส.คงไม่เห็นด้วย และคาดว่าจะเคลื่อนไหว ขัดขวาง

แต่วิกฤตรอบนี้ ไม่มีทางออกอื่น นอกจากเลือกตั้ง ไม่อย่างนั้น คงเกิดเหตุใหญ่แน่

สัญญาณเตือน มีมาตลอดและล่าสุดเห็นได้จากการสังหาร คุณไม้หนึ่ง ก.กุนที กวีและผู้นำเสื้อแดง อย่างอุกอาจ เมื่อบ่ายวันพุธที่ 23 เม.ย. ที่ลาดปลาเค้า ในกรุงเทพฯ

ประวัติศาสตร์เตือนเราว่า เลือดเนื้อชีวิตของประชาชน ความสูญเสีย และเหตุการณ์วุ่นวายในบ้านเมือง สำหรับคนบางกลุ่มก็คือทางลัดที่นำไปสู่โอกาสทางการเมือง

ไม่มีก็สร้างขึ้นมาได้ เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นเสมอๆ โดยประชาชนเป็นฝ่ายสูญเสียตลอด

เส้นทางสายไหนที่มุ่งไปสู่สภาพอย่างที่ว่า คงพอมองกันออก




..............................................................

น่าทบทวน อ่านบทความ เมื่อ2ปีที่แล้ว
http://botkwamdee.blogspot.com/2012/06/ws-oldway.html
ที่เก่า-เวลานี้ โดย วรศักดิ์ ประยูรศุข
+ ประชาชาติวิเคราะห์ - ถอดรหัส“สุเทพ” คว่ำบาตรจัดรัฐบาลแห่งชาติ“ทักษิณ” วิเคราะห์มีแต่เสียมากกว่าได้




.

ประวัติศาสตร์ไทยร่วมสมัย โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์

.

นิธิ เอียวศรีวงศ์: ประวัติศาสตร์ไทยร่วมสมัย
ใน www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1399546597
. . วันพฤหัสบดีที่ 08 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 เวลา 20:20:21 น.

( ที่มา: มติชนสุดสัปดาห์ ประจำ 2-8 พ.ค.57 ปี34 ฉ.1759 หน้า 30 )


ผมเชื่อมานานแล้วว่า หนึ่งในเครื่องมือการครอบงำสำคัญที่มนุษย์สามารถกระทำต่อกันได้คือความทรงจำเกี่ยวกับอดีต เพราะความทรงจำมีส่วนอย่างมากในการที่เราสร้างอัตลักษณ์ขึ้นมา หรือบอกแก่ตนเองและผู้อื่นว่า ฉันเป็นใคร มาจากไหน และพึงมีความสัมพันธ์กับคนอื่นอย่างไร

ประวัติของตระกูล ซึ่งไม่จำเป็นต้องออกมาในรูปของเรื่องราวเพียงอย่างเดียว อาจออกมาในรูปไม้คานเลี่ยมทอง รูปเล่ากงไว้เปีย หรือคำประกาศพระราชทานนามสกุล ฯลฯ ล้วนมีส่วนกำหนดอัตลักษณ์ของลูกหลานในตระกูล

กลุ่มคน ไม่ว่าในตระกูล สมาคม โรงเรียน มหาวิทยาลัย บริษัท ชนชั้น หรือชาติ ฯลฯ จึงต้องมีความทรงจำร่วมกัน หากมีความพยายามจะครอบงำสูง ก็ยิ่งมีความจำเป็นจะต้องยึดกุมความทรงจำนั้นให้มั่นคงปลอดภัยจากการแทรกแซงให้แข็งแรงเพียงนั้น


และด้วยเหตุดังนั้น ผมจึงมีความใฝ่ฝันมานานว่า สักวันหนึ่ง ผมคงสามารถเขียนหนังสือประวัติศาสตร์ไทยได้สักเล่ม ซึ่งเหมาะที่คนทั่วไปจะอ่าน หรือเหมาะที่จะใช้อ่านแนะนำสำหรับนักเรียนที่ไม่ประสงค์จะเรียนประวัติศาสตร์ แต่ต้องรู้ประวัติศาสตร์เป็นพื้นฐาน ผมหวังว่าจะเป็นหนังสือประวัติศาสตร์ที่เสนอความทรงจำอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งไม่เปิดโอกาสให้คนกลุ่มใดใช้อดีตเป็นเครื่องมือในการครอบงำคนอื่นอย่างง่ายๆ อีก เพราะความทรงจำสำนวนของผมจะเปิดพื้นที่ให้แก่คนทุกกลุ่มในประวัติศาสตร์ ได้เข้ามามีบทบาทตามที่เป็นจริงในอดีต

ไม่มีคำประณามพจน์ให้ใคร และไม่มีคำประณามหยามเหยียดให้ใครอีกเหมือนกัน แต่จะทำให้เข้าใจเงื่อนไขต่างๆ ที่แวดล้อมการกระทำและความคิดของบุคคล สถาบัน องค์กร และกลุ่มคนในอดีต

แต่ผมก็ไม่เคยสามารถทำความใฝ่ฝันให้เป็นจริงได้ เพราะรู้ว่าความรู้ความสามารถของตนยังไม่พอ ได้แต่ฝันๆ ไปโดยไม่ได้เตรียมตัวเองให้พร้อมจะทำได้มาหลายสิบปี




บัดนี้ถึงเวลาที่ผมไม่ต้องใฝ่ฝันแล้ว เพราะมีคนทำอย่างที่ผมอยากทำไปแล้ว ซ้ำทำได้ดีกว่าที่ผมจะมีความสามารถทำได้เองเสียอีก นั่นคือ อาจารย์ผาสุก พงษ์ไพจิตร และอาจารย์คริส เบเกอร์ ได้เขียนประวัติศาสตร์ไทยร่วมสมัยขึ้น แต่เดิมเขียนเป็นภาษาอังกฤษตามคำเชิญของสำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ตอนนี้ท่านได้แปลออกเป็นภาษาไทย และจัดพิมพ์เรียบร้อยแล้วโดยสำนักพิมพ์มติชน

เวลาที่นักประวัติศาสตร์เรียกว่า "ร่วมสมัย" โปรดระวัง เพราะมันไม่ได้หมายความว่าเมื่อวานนี้ หนังสือเล่มนี้ครอบคลุมเนื้อหาอย่างสรุปๆ มาตั้งแต่ก่อนประวัติศาสตร์ แต่ตัวเนื้อหาไม่สู้มีความสำคัญเท่ากับความเข้าใจเกี่ยวกับเนื้อหา เช่น เข้าใจว่าคนไทยอพยพลงมาเป็นใหญ่เหนือคนชาติอื่นทั้งหมดในแหลมทอง ก็ทำให้เรามองบทบาทของ "ชาติ" เราในการปกครองไปอย่างหนึ่ง

หากเข้าใจว่า ที่เรียกคนไทยในปัจจุบันนั้นร้อยพ่อพันแม่ ทั้งกลุ่มชาติพันธุ์ที่หลากหลายซึ่งอยู่ในดินแดนแถบนี้มาตั้งแต่ก่อนประวัติศาสตร์ และทั้งอีกหลายกลุ่มชาติพันธุ์ที่อพยพเข้ามาหรือถูกกวาดต้อนเข้ามา เราก็มองบทบาทของ "ชาติ" ในการปกครองไปอีกอย่างหนึ่ง ความเข้าใจที่แตกต่างกันต่อประวัติศาสตร์โบราณ เป็นประเด็นหลักอันหนึ่งของการช่วงชิงความหมายของคำว่า "ชาติ" ในจินตนาการเกี่ยวกับชาติในสมัยหลัง จึงจำเป็นต้องพูดถึงไว้อย่างย่อๆ มาตั้งแต่ต้น


ส่วนใหญ่ของเนื้อหาประวัติศาสตร์ร่วมสมัยคือ ตั้งแต่ประมาณ 200 กว่าปีที่ผ่านมา อันเป็นเรื่องราวของความเปลี่ยนแปลงที่เกิดในสังคมไทย ทั้งในทางการเมือง เศรษฐกิจ วัฒนธรรม ภูมิปัญญา ฯลฯ จนทำให้เกิดเมืองไทยที่เราพบเห็นอยู่ในทุกวันนี้ แม้ว่าพูดถึงความเปลี่ยนแปลงหลายด้าน แต่ก็มองเห็นความสัมพันธ์ของด้านต่างๆ อยู่ตลอดเวลา เช่น ความจำเป็นที่จะต้องหาตลาดใหม่นอกจีนหลังสงครามฝิ่นไปแล้ว ทำให้เราต้องหันไปหาตลาดที่ฝรั่งครอบงำมากขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และการ "เปิดประเทศ" ก็เป็นทางเลือกหนึ่งที่ตอบสนองประโยชน์ของคนหลายกลุ่มในขณะนั้น ไม่ได้เกิดจากการมองการณ์ไกลของผู้นำเพียงอย่างเดียว

ความสามารถในการเชื่อมโยงปัจจัยหลากหลายด้าน ทั้งภายในภายนอก ทั้งที่มาจากชนชั้นนำและมาจากคนเล็กคนน้อยหลากหลายประเภทเช่นนี้แหละ ที่ทำให้ประวัติศาสตร์ไทยร่วมสมัยสร้างพลวัตหรือพลังขับเคลื่อนประวัติศาสตร์ จากเนื้อหาของประวัติศาสตร์เอง (historicism) พลังขับเคลื่อนความเปลี่ยนแปลงในประวัติศาสตร์ไทยในทัศนะของนักประวัติศาสตร์ไทยรุ่นก่อน คือผู้นำหรือพระมหากษัตริย์ แต่พลวัตที่แคบอย่างนั้น หยั่งไม่ถึงความสลับซับซ้อนของความเปลี่ยนแปลงในประวัติศาสตร์ ฉะนั้น หากหนังสือเล่มนี้ถูกอ่านอย่างแพร่หลายมากขึ้น ก็จะเปลี่ยนทัศนคติที่มีต่อความเปลี่ยนแปลงทางสังคมของคนไทยจำนวนมาก

(ซึ่งก็จะยกระดับความขัดแย้งทางการเมืองไปสู่อะไรที่สร้างสรรค์กว่าปัจจุบัน เช่น เปลี่ยนไปสู่นโยบายแทนบุคคล)



ความหลากหลายจึงเป็นหัวใจสำคัญของประวัติศาสตร์ไทยร่วมสมัย ไม่แต่เพียงมีความหลากหลายของชาติพันธุ์เท่านั้น ที่ประกอบกันขึ้นเป็นพสกนิกร (subject) ของรัฐไทยโบราณหลายรัฐ แต่ยังมีความหลากหลายทางสถานะทางเศรษฐกิจ-สังคม (ชนชั้น?) อีกด้วย คนทั้งหมดเหล่านี้ล้วนเป็น "ตัวละคร" ของเรื่อง มีบทบาทและมีส่วนในการทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในประวัติศาสตร์ไทย หรืออย่างน้อยก็ทำให้อนุชนเข้าใจความเปลี่ยนแปลงของสังคมได้ชัดขึ้น โดยที่เขาเหล่านั้นอาจไม่ได้คิดถึง "ชาติ" เลย เพียงแต่ตอบสนองต่อเงื่อนไขในชีวิตที่เปลี่ยนไปเพื่อรักษาหรือเพิ่มพูนประโยชน์ ทั้งในทางเศรษฐกิจและทางอื่นๆ ของตนเอง กลายเป็นพลังขับเคลื่อนความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในสังคมโดยไม่มีใครตั้งใจ

เหมือนความเปลี่ยนแปลงนานาชนิดที่เราพบได้ในชีวิตจริงของเราเอง


ดังนั้น นอกจากพระมหากษัตริย์ เจ้านาย เจ้าประเทศราช ขุนนาง เจ้าสัว ข้าศึก ฯลฯ แล้ว ยังมีตัวละครอีกมากมายในประวัติศาสตร์ พ่อค้าจีนที่เที่ยวเร่รับซื้อข้าวจากชาวนาก็เป็นตัวละครหนึ่ง กระฎุมพีข้าราชการที่ไร้เส้นในระบบราชการก็เป็นตัวละครหนึ่ง แรงงานอพยพชาวอีสานก็เป็นตัวละครหนึ่ง พุ่มพวง ดวงจันทร์ สายัณห์ สัญญา สมรักษ์ คำสิงห์ จนแม้แต่ กษิต ภิรมย์ ก็มีบทบาทที่ต้องกล่าวถึงในประวัติศาสตร์ไทยแบบนี้

บางครั้งก็กล่าวถึงบทบาทของเขา บางครั้งก็กล่าวถึงเขาในฐานะเป็นตัวแทนของแนวโน้มความเปลี่ยนแปลงบางอย่าง บางครั้งก็เป็นตัวแทนของกลุ่มคนประเภทเดียวกับเขา ... ใครๆ ก็มีชื่อในประวัติศาสตร์ได้ โดยไม่จำเป็นต้องเป็นมหาบุรุษหรือมหาผู้ร้าย


กว่าจะเล่าประวัติศาสตร์ให้ครอบคลุมไปหมดทุกส่วน ทั้งไม่ทิ้งความซับซ้อนซ่อนเงื่อนของพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ด้วยได้เช่นนี้ อาจารย์ผาสุกและอาจารย์คริสต้องใช้หลักฐานมากมายและหลากหลายประเภทมาก หากนักเรียนประวัติศาสตร์อ่านหนังสือนี้ด้วยความสังเกตหลักฐานที่ถูกนำมาใช้ ก็คงได้ประโยชน์ เพราะไม่แต่เพียงเอกสารของทางราชการ หรือสิ่งพิมพ์ร่วมยุคสมัยเท่านั้นที่บอกให้เราประมาณได้ว่า ได้เกิดอะไรขึ้นในอดีต ภาพยนตร์ เรื่องสั้น เพลงลูกทุ่ง บทกวีร่วมสมัย วรรณคดี ตลกทีวี สำนวนภาษาวัยรุ่น ฯลฯ ล้วนแฝงนัยยะบางอย่าง ที่ทำให้เราเข้าใจความคิดและการกระทำของคนในแต่ละสมัย และสาเหตุหรือเงื่อนไขที่ทำให้เขาเป็นอย่างที่เขาเป็น และทำอย่างที่เขาทำ
ทั้งหมดเหล่านี้เขียนขึ้นด้วยภาษาเรียบง่าย ไม่มีศัพท์แสงวิชาการที่ยากแก่ความเข้าใจทั้งของผู้อ่าน (และบางครั้งผู้เขียนด้วย) อ่านสนุก เพราะเป็นเรื่องราวที่เป็นเหตุเป็นผลส่งทอดกันไปตามลำดับแห่งตรรกะธรรมดาของมนุษย์ปัจจุบัน (คือไม่ใช่สักแต่ตามลำดับของเวลา)




เป็นเรื่องน่ายินดีที่หนังสือนี้ได้ถูกแปล (และเขียน) ในภาษาไทยแล้ว ผมเชื่อว่าจะเป็นหนังสือที่ต้องถูกพิมพ์ซ้ำแล้วซ้ำอีกไปอีกหลายปี คงปรากฏในบัญชีหนังสือต้องอ่านของนักศึกษาสายสังคมศาสตร์ทุกแขนง เป็นการปูพื้นความรู้ประวัติศาสตร์ไทยที่กระชับและดีที่สุด โดยไม่ต้องเสียเวลาพูดในชั้นเรียน ในขณะเดียวกัน ก็เหมาะแก่คนไทยทั่วไปจะอ่าน แม้แต่ที่จบการศึกษาไปแล้วก็ตาม เพราะเมื่อคนไทยมองอดีตไปในแนวนี้ ก็จะทำให้คนไทยต้องตั้งคำถามกับตนเองในเรื่องอื่นๆ อีกหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นในทางเศรษฐศาสตร์ การเมือง สังคม วัฒนธรรม จริยธรรมและศีลธรรม ความยุติธรรม ระเบียบทางสังคม ฯลฯ อย่างน้อยก็ทำให้ต้องตั้งคำถามกับข้อสรุปที่ตัวถูกสอนให้ยึดถือมานาน แล้วอาจได้คำตอบเหมือนเดิมก็ได้ แต่จะเป็นครั้งแรกที่ทำให้ต้องคิดทบทวนอะไรต่อมิอะไรที่ถือๆ กันมาโดยไม่เคยตั้งคำถาม

ในโลกนี้มีหนังสืออยู่สองประเภท หนึ่งคือหนังสือที่อ่านแล้วทำให้เราเป็นอย่างที่เราเป็นหนักแน่นขึ้น รัดกุมขึ้น มั่นใจมากขึ้น ฯลฯ หนังสืออีกประเภทหนึ่งคือหนังสือที่อ่านแล้วทำให้เราอาจกลายเป็นคนใหม่ที่ไม่เหมือนเดิม มากบ้างน้อยบ้างแล้วแต่บุคคล

ประวัติศาสตร์ไทยร่วมสมัย เป็นหนังสือประเภทหลังนี้




.

ต้องเปลี่ยนแปลงสังคมแบบถอนรากถอนโคน โดยใจ อึ๊งภากรณ์

.

ใจ อึ๊งภากรณ์ : ต้องเปลี่ยนสังคมแบบถอนรากถอนโคน
ใน http://turnleftthai.blogspot.com/2014/05/blog-post_8.html
และ ใน http://prachatai3.info/journal/2014/05/53085
. . Thu, 2014-05-08 14:50



ใจ อึ๊งภากรณ์


ตอนนี้มันชัดเจนว่าแนวประนีประนอมของพรรคเพื่อไทย และ แนว นปช. ที่เดินตามเพื่อไทย ล้มเหลวโดยสิ้นเชิง
     ถ้าเราเข้าใจลักษณะของ “รัฐ” ในระบบการเมืองของโลก ตามที่ มาร์คซ์ เองเกิลส์ และเลนิน เคยอธิบาย เราจะเข้าใจว่าการเป็นรัฐบาลในระบบรัฐสภาประชาธิปไตยทุนนิยม ไม่ใช่สิ่งเดียวกับการคุมอำนาจรัฐเลย เพราะรัฐประกอบไปด้วย ทหาร ศาล ตำรวจ และคุก และรัฐเป็นเครื่องมือของชนชั้นปกครองทุกซีกทุกก๊ก เพื่อกดขี่ชนชั้นอื่นๆ มันไม่เคยเป็นกลางและไม่เคยเป็นประชาธิปไตย แม้แต่ในประชาธิปไตยตะวันตกก็เป็นแบบนี้ เพียงแต่ว่าในประเทศดังกล่าวพลังของคนทำงานและประชาชนโดยทั่วไป คอยห้ามไม่ให้รัฐล้ำเส้นมากเกินไปเท่านั้น แต่ทุกอย่างไม่แน่นอนมั่นคง พื้นที่ประชาธิปไตยไม่ได้แช่แข็ง มันขยายและมันหดได้


     วันนี้เราเห็นอำนาจรัฐ ผ่านตลก.(ร้าย)รัฐธรรมนูญ โค่นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเป็นครั้งที่สาม ก่อนหน้านั้นเราเห็นทหารทำรัฐประหาร และเห็นทหารเข่นฆ่าคนเสื้อแดงที่ท้าทายเผด็จการและอำนาจรัฐ โดยเรียกร้องประชาธิปไตย

     เครื่องไม้เครื่องมือในการใช้อำนาจรัฐมีอีกมากมาย เช่นกระบวนการที่คนใหญ่คนโตแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี หรือการใช้วุฒิสภาหรือหัวหน้าสถาบันวิชาการ ในการเชียร์พวกที่มุ่งหวังลดพื้นที่ประชาธิปไตย ส่วนม็อบสุเทพก็เป็นเพียงอันธพาลชนชั้นกลาง เป็นคนส่วนน้อย และผู้อยู่ใต้การอุปถัมภ์ของพรรคประชาธิปัตย์ เขาพยายามสร้างภาพว่าเป็นมวลมหาประชาชน แต่การที่เขาทำอะไรก็ได้บนท้องถนน แสดงว่าส่วนต่างๆ ของรัฐสนับสนุนเขา ถือว่าม็อบสุเทพเป็นเครื่องมือที่ให้ “เอกชน” ทำแทน
     ทักษิณและนักการเมืองพรรคเพื่อไทยเป็นส่วนหนึ่งของชนชั้นปกครอง และเขาเคยเป็นก๊กหนึ่งของรัฐไทย เพราะรัฐไม่ได้มีลักษณะรวมศูนย์เป็นกลุ่มก้อนเดียวกัน มันเป็น “คณะกรรมการเพื่อร่วมบริหารผลประโยชน์ของชนชั้นนายทุน” อย่างที่ มาร์คซ์ กับ เองเกิลส์ เคยเขียนไว้ และมันมีความขัดแย้งภายในด้วย นี่คือสาเหตุที่ทักษิณและนักการเมืองเพื่อไทยไม่ต้องการนำการต่อสู้ที่แตกหักกับกลุ่มอำนาจอนุรักษ์นิยมของรัฐ
    

     แต่ถ้าไทยจะเป็นประชาธิปไตย เราต้องเปลี่ยนการเมืองและสังคมแบบถอนรากถอนโคน ถ้าแค่เล่น “ปฏิกูลการเมืองก่อนเลือกตั้ง” มันไม่มีวันที่จะขยายพื้นที่ประชาธิปไตยได้เลย

     สิ่งที่ต้องถูกเปลี่ยนแบบถอนรากถอนโคนมีมากมาย แต่เรื่องหลักๆ เฉพาะหน้าคือ

1. ต้องสร้างพลังของคนธรรมดา เพื่อห้ามการทำลาย หรือจำกัด เสรีภาพประชาธิปไตย และเพื่อให้มีการเคารพพลเมือง ทุกคนต้องมีหนึ่งเสียงเท่ากัน พลังนี้คนอื่นสร้างให้ไม่ได้ ต้องสร้างจากรากหญ้าข้างล่าง
2. ต้องยกเลิกกฏหมาย 112, พรบ.คอมพิวเตอร์ และกฏหมายหมิ่นศาลในรูปแบบปัจจุบัน เพื่อเปิดให้พลเมืองมีสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกตามกระบวนการประชาธิปไตยสากล ซึ่งแปลว่าต้องปล่อยนักโทษทางความคิดเช่น สมยศ พฤกษาเกษมสุข และคนอื่น
3. ต้องยกเลิกองค์กรที่อ้างความอิสระ และยกเลิกศาลตุลาการในรูปแบบที่เป็นอยู่ เพราะองค์กรที่อ้างความอิสระทั้งหลายไม่เคยเป็นกลาง และยิ่งกว่านั้นองค์กรที่มาจากการแต่งตั้งโดยทหารหรือฝ่ายเผด็จการอื่นๆ เช่น ตลก.(ร้าย)รัฐธรรมนูญ มักใช้อำนาจเผด็จการเหนือผู้แทนที่ได้รับเลือกมาจากประชาชน ที่สำคัญคือแนวคิดเรื่อง “องค์กรอิสระ” เป็นแนวคิดที่มองว่าพลเมืองส่วนใหญ่ไม่มีวุฒิภาวะในการลงคะแนนเสียง จึงต้องให้ “ผู้รู้” คอยควบคุมตรวจสอบ ในอนาคตเราจะต้องคานอำนาจหรือตรวจสอบรัฐบาลและรัฐสภาด้วยองค์กรที่มาจากการเลือกตั้งเท่านั้น
4. ต้องลดบทบาททางการเมืองและสังคมของทหารลงไป เพื่อไม่ให้ทำรัฐประหารหรือแทรกแซงการเมือง ซึ่งแปลว่าต้องลดงบประมาณ ปลดนายพลจำนวนมาก และนำทหารออกจากสื่อมวลชนและรัฐวิสาหกิจ
5. ต้องสร้างมาตรฐานสิทธิมนุษยชน ด้วยการนำ “ฆาตกรรัฐ” มาขึ้นศาล ไม่ว่าจะเป็นทหารระดับสูง หรือนักการเมืองอย่าง อภิสิทธ์ สุเทพ หรือ ทักษิณ และต้องมีการยอมรับอำนาจศาลอาญาระหว่างประเทศอีกด้วย
6. ต้องเก็บภาษีในอัตราสูงจากคนรวยอย่างถ้วนหน้า เพื่อลดความเหลื่อมล้ำผ่านการสร้างรัฐสวัสดิการ


ถ้าจะทำสำเร็จต้องทำพร้อมกัน และทำด้วยความมั่นใจ แต่ที่สำคัญที่สุดคือ ต้องอาศัยพลังที่อยู่นอกกรอบรัฐในการกระทำ คือขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมเพื่อประชาธิปไตยนั้นเอง ซึ่งตอนนี้มีอยู่แล้วในรูปแบบเสื้อแดง อย่างไรก็ตามการเคลื่อนไหวต้องอาศัยแนวความคิดทางการเมือง ซึ่งในขบวนการเสื้อแดงมีหลายแนว
ในเมื่อแนวหลักของ นปช. กับเพื่อไทย ใช้ไม่ได้ และไม่มุ่งหวังสร้างประชาธิปไตยจริง กลุ่มคนที่อยากเปลี่ยนสังคมแบบถอนรากถอนโคน ต้องพยายามรวมตัวกันเป็นองค์กร เพื่อช่วงชิงการนำ และเพื่อลงมือสร้างสายสัมพันธ์กับขบวนการสหภาพแรงงานที่เห็นด้วยกับประชาธิปไตย เพราะในสังคมทุนนิยม กรรมาชีพมีพลังถ้ารู้จักใช้



.

2557-05-06

ก่อการร้ายโดยรัฐเผด็จการ โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์

.

ก่อการร้ายโดยรัฐเผด็จการ
โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์

ใน www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1399352597
. . วันอังคารที่ 06 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 เวลา 12:10:10 น.

( ที่มา:  คอลัมน์ กระแสทรรศน์ นสพ.มติชน 5  พ.ค. 2557 )


โชคดีที่ข่าวคุณพอละจี รักจงเจริญ ถูกอุ้มหายไม่เงียบหายไป เพราะมีคนจากเกือบทั่วประเทศ รวมทั้งชาวกะเหรี่ยงในภาคเหนือ ที่ออกมารณรงค์ให้รัฐสอบสวน และทำความกระจ่างกับกรณีนี้ หากคุณพอละจีถูกอุ้มหายไปจริง ก็นับเป็นการกระทำที่อุกอาจมาก เพราะหน่วยงานของรัฐกำลังถูกชาวบ้านฟ้องร้องต่อศาลปกครอง กรณีละเมิดสิทธิ์อย่างร้ายแรง โดยบุกเข้าไปขับไล่ชาวบ้านออกจากป่า อีกทั้งเผาบ้านเรือนยุ้งฉางของชาวบ้านจนย่อยยับ

คุณพอละจีเป็นพยานปากสำคัญของคดี เพราะอยู่ในเหตุการณ์และได้เห็นการกระทำของหน่วยงานรัฐ หากถูกอุ้มหาย จึงไม่ใช่แต่เพียงละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงเท่านั้น ยังเท่ากับขัดขวางกระบวนการยุติธรรมอย่างอุกอาจด้วย

การอุ้มหายเป็นหนึ่งในวิธี "เก็บ" ศัตรูของผู้ถืออำนาจรัฐ ควบคู่กับการยิงทิ้ง การจับกุมและตั้งคดีใส่ร้ายอย่างฉ้อฉล (ซึ่งได้ผลดีในประเทศที่ไม่ให้ความเคารพแก่สิทธิการประกันตัวของจำเลย เพราะเท่ากับ "เก็บ" ศัตรูไว้ในที่ซึ่งไม่อาจมีบทบาททางการเมืองได้เป็นเวลานาน) และในบางครั้งที่โอกาสอำนวย ก็ยังอาจ "เก็บ" ศัตรูได้ด้วยการส่งไปรับการอบรมในค่ายกักกัน

ทั้งหมดเหล่านี้เป็นสิ่งที่ผู้ถืออำนาจของรัฐไทยเคยใช้มาแล้วทั้งสิ้น แต่ในขณะเดียวกันก็มีความเปลี่ยนแปลงด้านรูปแบบและวิธีการไปด้วยตลอดมา ความเปลี่ยนแปลงตรงนี้น่าสนใจ เพราะมันสะท้อนพัฒนาการทางการเมืองในประเทศไทยไปพร้อมกัน


วิธียิงทิ้งเคยใช้กันมากหลังรัฐประหาร 2490 ศัตรูทางการเมืองของคณะรัฐประหารซึ่งไม่ได้หนีออกนอกประเทศ มักถูกยิงทิ้งอย่างโหดร้ายทารุณ ดังเช่นการสังหารอดีตรัฐมนตรีแถวดอนเมือง โดยอ้างว่าเสียชีวิตจากการต่อสู้กับโจรจีนมลายู ขณะย้ายที่คุมขัง หรือนักการเมืองบางคนอาจถูกรัดคอจนเสียชีวิต แล้วยิงซ้ำศพทิ้งแม่น้ำเจ้าพระยา ผู้นำชาวมลายูมุสลิมในภาคใต้ถูกจับถ่วงทะเล

แม้ว่าใครๆ ก็ทราบว่าคนเหล่านี้ถูก "เก็บ" ด้วยกระบวนการนอกกฎหมาย แต่ทั้งหมดหรือเกือบทั้งหมดเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่ตำรวจเอง จึงไม่มีการสอบสวนสาเหตุของการตายอย่างขาวสะอาด จนเมื่อคณะรัฐประหารหมดอำนาจไปอย่างสิ้นเชิงใน พ.ศ. 2500 แล้ว เบื้องหลังการเสียชีวิตของเขาจึงได้เปิดเผยขึ้นอย่างเป็นทางการ

อีกส่วนหนึ่งของศัตรูคณะรัฐประหารถูกนำไป "เก็บ" ไว้ในคุก ด้วยข้อหา "กบฏสันติภาพ" ส่วนใหญ่คือคนที่พอจะเก็งได้ว่าไม่มีกำลังในการต่อต้านคณะรัฐประหาร มากไปกว่าการเผยแพร่ความคิดแก่สังคม

เหตุใดคนไทยสมัยนั้นจึงยอมทนต่อความอยุติธรรมและไร้มนุษยธรรมที่คณะรัฐประหารก่อขึ้นได้ ผมหวังว่าพอจะให้คำตอบส่วนหนึ่งได้ในตอนท้าย


ที่น่าสนใจก็คือ ในการรัฐประหารของสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในปี 2500 ศัตรูของคณะปฏิวัติ (ตามที่เขาเรียกชื่อกลุ่มของตนเอง) ไม่ได้ถูก "เก็บ" ด้วยการยิงทิ้ง ศัตรูที่ยังไม่ได้หนีเข้าป่า ถูก "เก็บ" ไว้ในคุกด้วยข้อหาคอมมิวนิสต์บ้าง อันธพาลบ้าง โดยไม่ผ่านกระบวนการยุติธรรม หากจะมีการ "เก็บ" ด้วยการสังหาร "คณะปฏิวัติ" ก็ทำให้การสังหารนั้นเป็นการประหารชีวิตตามกฎหมาย เพราะรัฐคุมสื่อไว้ในมือจึงสามารถสร้างกระแสให้ผู้คนในสังคมเห็นพ้องว่า บุคคลผู้นั้นเป็นอันตรายต่อส่วนรวมอย่างร้ายแรง

โดยเนื้อแท้แล้ว ไม่มีอะไรต่างกันระหว่างวิธี "เก็บ" ของคณะรัฐประหารกับคณะปฏิวัติ แต่สิ่งที่ต่างก็คือสังคมไทยต้องการความชอบธรรมในการ "เก็บ" มากขึ้น จำเป็นต้องมีคำอธิบายที่สังคมรับได้มากไปกว่าการแย่งชิงผู้ต้องหาโดยโจรจีนมลายา ดังนั้นความต่างตรงนี้ในทรรศนะของผมจึงมีความสำคัญ เพราะมันสะท้อนความเปลี่ยนแปลงบางอย่างในสังคมไทยด้วย

การลอบสังหารยังใช้กันอยู่ตลอดมา แต่มักไม่ได้ทำโดยผู้ถืออำนาจรัฐโดยตรง เท่ากับเอกชนซึ่ง "ซื้อ" อำนาจรัฐมาเกื้อหนุนการลอบสังหารอีกทีหนึ่ง มี "ซุ้ม" มือปืนที่ขายบริการเพื่อการนี้อยู่มาก ปัญหาจึงไม่ได้อยู่ที่จะเข้าถึงบริการเหล่านี้ได้อย่างไร แต่อยู่ที่ว่าหลังจากใช้บริการไปแล้ว จะลอยนวลพ้นกฎหมายได้อย่างไร

แต่ทั้งนี้มิได้หมายความว่า รัฐไทยยุติการใช้ความรุนแรงแล้ว ตรงกันข้าม รัฐยังใช้ความรุนแรงสืบมาและอย่างเป็นระบบมากขึ้นด้วยซ้ำ การสังหารหมู่ผู้ประท้วงใน 14 ตุลา, 6 ตุลา, พฤษภามหาโหด 35, และเมษา-พฤษภามหาโหด 53 กระทำขึ้นเพื่อปราบปรามการจลาจลตามกฎหมาย นอกจากสังหารศัตรูของผู้ถืออำนาจรัฐซึ่งหน้าในการล้อมปราบแล้ว หากฝ่ายผู้ถืออำนาจรัฐเป็นฝ่ายชนะ ยังใช้วิธี "เก็บ" ศัตรูที่เหลือ ด้วยการตั้งข้อหาแล้วจับกุมคุมขังเป็นเวลานานๆ โดยคดีคืบหน้าไปอย่างช้าที่สุด การลอบสังหารถูกนำกลับมาใช้ใหม่ในบางกรณี เช่นระหว่าง 2516-19 ผู้นำชาวนา, แรงงาน, และนักศึกษาถูกลอบสังหารไปหลายราย และจับมือใครดมไม่ได้มาจนถึงปัจจุบัน อีกวิธีหนึ่งที่ถูกนำกลับมาใช้คือการอุ้มหาย ดังเช่นคุณอารมณ์ พงศ์พงัน ผู้นำแรงงานซึ่งไม่ยอมจำนนต่อการยึดอำนาจของ รสช. และทนายสมชาย นีละไพจิตร ผู้เปิดโปงทารุณกรรมของตำรวจต่อผู้ต้องหาในสามจังหวัดภาคใต้ (ที่จริงยังมีรายอื่นอีกเช่น "ชิปปิ้งหมู" เป็นต้น)


อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่ามีความแตกต่างระหว่างการลอบสังหารกับการอุ้มหาย ในสภาวะที่ผู้ถืออำนาจรัฐต้องการทำให้เชื่อว่ารัฐอยู่ในสภาพปกติ อันเป็นสภาพที่น่าจะได้รับการสนับสนุนจากประชาชนมากกว่า
การลอบสังหารทำลายสภาพปกติลง ยิ่งทำบ่อยและทำมากก็ยิ่งไม่เป็นผลดีต่อผู้ถืออำนาจรัฐ ในขณะที่การอุ้มหายแม้บ่อนทำลายสภาพปกติเหมือนกัน แต่ดู "เนียน" กว่า เพราะพิสูจน์ยากว่าหายจริงหรือไม่ เนื่องจากไม่พบศพ กว่าคนทั่วไปจะยอมรับว่าเป็นการอุ้มหาย ข่าวก็ซาลงจนไม่อยู่ในความสนใจของผู้คนไปแล้ว

การลอบสังหารและการอุ้มหายที่ใช้กันมากในโลกสมัยใหม่คือประเทศชิลี และอาร์เจนตินา (ภายใต้เผด็จการทหาร)
ขอยกตัวเลขจากกรณีอาร์เจนตินา ซึ่งเก็บรวบรวมขึ้นหลังจากเผด็จการทหารถูกโค่นไปแล้ว ระหว่าง 2518-21 มีคน 22,000 คนถูกสังหารหรืออุ้มหาย ในจำนวนนี้มี 8,625 คนที่ถูกจับกุมไปกักกันในค่ายลี้ลับทั่วประเทศแล้วก็หายไป ตัวเลขประมาณการอื่นๆ กล่าวว่า ระหว่าง 2519-2526 เมื่อเผด็จการถูกขับไล่ออกไป มีคนที่ถูกฆ่าและอุ้มหายตั้งแต่ 9089 คนไปถึง 30,000
ตัวเลขในชิลีก็สูงไม่แพ้กัน


คำถามที่น่าสนใจก็คือ ทำไมต้องทำลายล้างกันมากขนาดนี้ คำตอบของนักรัฐศาสตร์คนหนึ่งมีว่า เพราะทั้งอาร์เจนตินาและชิลีเป็นประเทศที่ระบอบประชาธิปไตย (อย่างน้อยก็โดยรูปแบบ) ได้ตั้งมั่นอยู่พอสมควรแล้ว คิดดูก็แล้วกันว่า ขนาดชิลีสามารถเลือกฝ่ายซ้ายขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีได้ ก่อนที่นายพลปิโนเชต์จะได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐ (ตามนโยบายของคิสซินเจอร์ ซึ่งได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ) ให้โค่นประชาธิปไตยลงอย่างเหี้ยมโหด ในประเทศที่ประชาธิปไตยตั้งมั่นพอสมควรแล้วเช่นนี้ เผด็จการทหาร (หรือเผด็จการชนิดอื่น)ไม่สามารถสร้างความมั่นคงให้แก่ระบอบของตนเองได้ นอกจากการใช้ความรุนแรงอย่างไม่เลือกหน้าเช่นนี้ พูดอีกอย่างหนึ่งคือต้องใช้การก่อการร้ายโดยรัฐ ( "state terrorism" ที่จริงความหมายคือการใช้ความน่าสะพรึงกลัวเป็นเครื่องมือ) เท่านั้น จึงทำได้สำเร็จ 
การก่อการร้ายโดยรัฐนั้นให้ผลสองอย่าง หนึ่งคือทำให้ศัตรูถูก "เก็บ" ไปจนไม่มีเสียงอีก สองคือทำให้คนอื่นในวงกว้างรู้สึกกลัวกับความไม่แน่นอนจนต้องเงียบเสียงลง

กลับมาถึงเมืองไทยในปัจจุบัน ปฏิเสธไม่ได้ว่าประชาธิปไตยตั้งมั่นขึ้นในสังคมพอสมควรแล้ว และโอกาสที่เราจะต้องย้อนกลับไปสู่ระบอบเผด็จการอีกครั้งก็เป็นไปได้สูง ด้วยเหตุดังนั้นจึงพึงสังวรไว้ด้วยว่า กลวิธีแบบเก่าของเผด็จการไทย เช่นทำให้การ "เก็บ" ปฏิปักษ์สามารถอิงกับกฎหมายได้บ้างก็ตาม การลอบสังหารและการอุ้มหายเฉพาะรายก็ตาม ไม่เพียงพอที่จะผดุงระบอบเผด็จการให้มั่นคงได้อีกแล้ว อย่างไรเสียก็จำเป็นต้องใช้การก่อการร้ายโดยรัฐ และเป็นไปได้ว่าอย่างไม่เลือกหน้าด้วย

อีกด้านหนึ่งซึ่งควรกล่าวไว้ด้วยก็คือ จากวิธีก่อการร้ายโดยรัฐซึ่งใช้ในละตินอเมริกานั้น ไม่แต่เฉพาะแกนนำสำคัญของฝ่ายปฏิปักษ์เท่านั้นที่จะถูก "เก็บ" แต่รวมคนเล็กคนน้อยทั่วไปอย่างไม่เลือกหน้า เอาเข้าจริงแกนนำเสียอีกที่มีโอกาสหลบหนีการก่อการร้ายโดยรัฐได้ เพราะมีเงินจะหนีหรือเพราะความปลอดภัยของเขาถูกโลกจับจ้องอยู่ก็ตาม คนที่ตกเป็นเหยื่อส่วนใหญ่จึงไม่ใช่แกนนำ แต่เป็นคนธรรมดา (เช่นแม่ๆ จำนวนมากที่ถือกระทะตะหลิวออกมาประท้วงปิโนเชต์ในท้องถนนก่อนที่เขาจะหมดอำนาจ เพราะลูกผัวของเธอหายไปเฉยๆ) หรือคนมีชื่อเสียงขนาดกลางๆ เช่นนักวิชาการที่ยังกล้าต่อต้านเผด็จการอยู่




มีคำอธิบายที่ผมคิดว่าน่าสนใจอีกเรื่องหนึ่งคือ การลอบสังหารหรืออุ้มหายแกนนำคนสำคัญนั้น จะเป็นที่รับรู้ทั่วไป และอาจก่อให้เกิดการลุกฮือขึ้นต่อต้าน แต่การลอบสังหารคนระดับกลางๆ หรือคนเล็กคนน้อยที่ไม่มีใครรู้จัก เช่นการ์ดเสื้อแดงที่ถูกนำไปทิ้งแม่น้ำบางปะกง หรือ คุณไม้หนึ่ง ก.กุนที สร้างความน่าสะพรึงกลัวให้ขบวนการต่อต้านได้มากกว่า และจุดมุ่งหมายของการก่อการร้ายโดยรัฐคือการสร้างความสะพรึงกลัวแก่ศัตรู ไม่ใช่การตกเป็นข่าวไปทั่วโลก

การยอมรับเขตอำนาจศาลอาญาระหว่างประเทศจะช่วยยับยั้งการก่อการร้ายโดยรัฐเผด็จการได้หรือไม่ คงไม่ได้ในทันที ในชีลีมีคนที่ถูกฆ่า ถูกทรมาน ถูกเนรเทศออกนอกประเทศ (แล้วตั้งทีมสังหารตามล่านอกประเทศด้วยการสนับสนุนของซีไอเอ) มีจำนวนไม่ต่ำกว่า 35,0000 คน กว่านายพลปิโนเชต์จะถูกจับกุมและส่งตัวขึ้นศาล แต่ก็มีความสำคัญ เพราะอย่างน้อยผู้ที่ถูก "เก็บ" ทั้งหลายก็ยังวางใจได้ว่า ความยุติธรรมจะกลับคืนมาอย่างแน่นอน และลูกหลานของเขาจะไม่ต้องตกอยู่ใต้ชะตากรรมอันเลวร้ายเช่นนั้นอีก

หากคุณยิ่งลักษณ์จะตายในสนามประชาธิปไตย ก็อย่าตายเปล่า แต่ต้องทำให้น้องไปป์และลูกของน้องไปป์ไม่ต้องมาตายอย่างนี้อีก



.

2557-05-01

กปปส.คราวถอยรูด โดย สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ

.

สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ: กปปส.คราวถอยรูด
ใน http://prachatai3.info/journal/2014/05/52968
. . Thu, 2014-05-01 22:04

( ภาพจาก เวบ hunsa.com )


สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ 
ที่มา โลกวันนี้วันสุข ฉบับ 461 วันที่ 26 เมษายน 2557



เมื่อวันที่ 17 เมษายน ที่ผ่านมานี้ นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ หัวหน้าพรรครักประเทศไทย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ถามถึงนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ในฐานะเลขาธิการ กปปส.(คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข)ว่า นายสุเทพต้องยกระดับการต่อสู้อีกกี่ครั้ง จึงจะถึงครั้งสุดท้ายจริงเสียที โดยอธิบายให้เห็นว่า เมื่อวันหยุดยาวเทศกาลสงกรานต์สิ้นสุดลง ชีวิตคนกรุงเทพฯก็กลับมาเป็นปกติ คือ ตื่นเช้า ฝ่ารถติด ทำงาน กลับบ้าน นอน เพื่อตื่นมาในวันรุ่งขึ้น แล้วทำเหมือนเดิม ซ้ำซากจำเจอยู่อย่างนี้ แต่ความซ้ำซากจำเจนี้รวมถึง ม็อบ กปปส.ด้วย ที่ประกาศชุมนุมครั้งสุดท้าย ขอแรงพี่น้องเพื่อโค่นระบอบทักษิณครั้งแล้วครั้งเล่าจนกลายเป็นเรื่องจำเจ

ต้นเรื่องมาจากคำปราศรัยของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ในวันที่ 16 เมษายน ที่เวทีชุมนุมสวนลุมพินีว่า กปปส.จะเริ่มปฏิบัติการต่อสู้ใน“ขั้นสุดท้าย” โดยจะมีการออกไปตามสถานที่และหน่วยงานต่างๆ เพื่อพบทั้งประชาชน ข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ และบริษัทห้างร้านต่างๆ เพื่อพูดคุยทำความเข้าใจว่า เป็นหน้าที่ของคนไทยที่ต้องร่วมมือกันปฏิบัติเพื่อชาติเพื่อแผ่นดินในการโค่นล้มระบอบทักษิณและปฏิรูปประเทศ นายสุเทพ อธิบายว่า จะไม่ยอมรับการเจรจายกเว้นแต่ว่า นายกรัฐมนตรีต้องมาเจรจาด้วยตัวเอง และจะต้องมีการถ่ายทอดสดให้ประชาชนทั่วประเทศ ต่อมาในวันที่ 20 เมษายน นายสุเทพก็ยังย้ำลักษณะจำเจว่า การนัดชุมนุมใหญ่ครั้งนี้จะเป็นครั้งสุดท้าย ซึ่งถ้าทำได้สำเร็จก็จะจัดตั้งสภาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย และว่า ถ้าหากปฏิรูปประเทศไม่ได้ ก็จะไม่มีการเลือกตั้งเด็ดขาด

แต่กระนั้น ก็เป็นที่อธิบายกันว่า การเคลื่อนไหวทั้งหมดของนายสุเทพขณะนี้ เป็นเพียงการกลบเกลื่อนความพ่ายแพ้เสื่อมถอยที่เกิดขึ้น อย่างน้อยตั้งแต่ต้นเดือนมีนาคมเป็นต้นมา ที่ กปปส.ต้องประกาศเลิกการปิดล้อมกรุงเทพฯ ยุบเวทีใหญ่ที่แยกปทุมวัน ราชประสงค์ อโศก และถอยเข้าไปหลบมุมอยู่ในสวนลุมพินี ทิ้งให้ม็อบเล็กน้อย เช่น คปท. และ กองทัพธรรม ปิดถนนราชดำเนินจนกลายเป็นถนนร้าง ยึดกระทรวงมหาดไทยอันว่างเปล่า และทิ้งให้พระพุทธอิสระ ปิดถนนก่อกวนอยู่ที่ถนนแจ้งวัฒนะ หรือเท่ากับว่า นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ได้ลดลักษณะของการชุมนุมมวลมหาประชาชนอันคึกคัก เหลือทิ้งไว้แต่ขบวนการม็อบอันธพาลกวนเมืองที่เกะกะระราน ที่ยังคงสร้างความเดือดร้อนแก่ประชาชนต่อไป


ย้อนกลับไปดูการเคลื่อนไหวของ กปปส. ที่เริ่มต้นจากม็อบพรรคประชาธิปัตย์ เริ่มชุมนุมในวันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ.2556 ที่บริเวณสถานีรถไฟฟ้าสามเสน ข้ออ้างในการชุมนุมขณะนั้น คือ การคัดค้านร่างกฎหมายนิรโทษกรรมแบบเหมาเข่ง ต่อมาวันที่ 4 พฤศจิกายน จะเป็นการยกระดับการชุมนุมครั้งแรก โดยย้ายเวทีมาชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

ปรากฏว่าการชุมนุมได้รับการตอบรับเกินคาดจากประชาชนชนชั้นกลางในเมือง ทำให้ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ที่ประกาศตัวลาออกจากพรรคประชาธิปัตย์มาเป็นแกนนำการชุมนุม ประกาศยกระดับการเคลื่อนไหวไปสู่การขับไล่รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และล้มล้าง”ระบอบทักษิณ” มีสถิติว่า ในเดือนพฤศจิกายนเพียงเดือนเดียว นายสุเทพประกาศยกระดับการชุมนุมอย่างน้อย 8 ครั้ง และยืนยันที่จะปิดฉากระบอบทักษิณภายในเดือนนั้น แม้ว่าจะมีประชาชนมาร่วมการชุมนุมจำนวนไม่น้อย และนายสุเทพได้นำพาประชาชนไปปิดสถานที่ราชการสำคัญได้หลายแห่ง โดยเฉพาะที่กระทรวงการคลัง และศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ แต่นายสุเทพก็ยังไม่สามารถล้มรัฐบาลได้ตามปรารถนา

การเคลื่อนไหวเข้าสู่เดือนธันวาคม พรรคประชาธิปัตย์เข้าร่วมช่วยกดดันสถานการณ์โดยในวันที่ 8 ธันวาคม ส.ส.ประชาธิปัตย์ 153 คน ประกาศลาออกจากการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ขณะที่ กปปส.นัดชุมนุมใหญ่ในวันที่ 9 ธันวาคม น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จึงตัดสินใจประกาศยุบสภาเพื่อคืนอำนาจการตัดสินใจแก่ประชาชนในเวลาเช้าวันนั้น แต่กลุ่ม กปปส.ของนายสุเทพกลับเสนอแนวทางปฏิเสธระบอบรัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้ง โดยเสนอคำขวัญ“ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง” แล้วเสนอสภาแต่งตั้งของมวลมหาประชาชนขึ้นมาแทน แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า แนวทางการเคลื่อนไหวของนายสุเทพ มิได้หวังพึ่งอำนาจประชาชนอย่างแท้จริง แต่เป็นการสร้างเงื่อนไขที่จะเรียกร้องให้กองทัพกระทำรัฐประหารโค่นรัฐบาลเป็นสำคัญ


ตั้งแต่วันที่ 17 ธันวาคม ม็อบ กปปส.หันไปใช้ยุทธศาสตร์ขัดขวางกระบวนการเลือกตั้งในทุกขั้นตอน และนำมาสู่ความรุนแรงจนถึงขั้นบาดเจ็บล้มตาย นายสุเทพอาจจะเห็นว่ามาตรการยังไม่รุนแรงกดดันเพียงพอ จึงประกาศ“ชัตดาวน์กรุงเทพฯ”ในวันที่ 13 มกราคม ร่วมกับแนวทาง“อารยะขัดขืนขั้นสำคัญ” คือตัดน้ำ-ตัดไฟ สถานที่ราชการ บ้านนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี ยืนยันว่า มาตรการนี้จะทำให้โค่นระบบทักษิณได้ในเร็ววัน

การปิดกรุงเทพฯดำเนินการโดยจัดการชุมนุมประชาชนปิดสี่แยกสำคัญที่เป็นย่านธุรกิจ หรือเป็นชุมทางของการเดินทาง คือ แยกปทุมวัน ราชประสงค์ อโศก แยกลาดพร้าว อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ และแจ้งวัฒนะ ซึ่งสร้างความเดือดร้อนอย่างหนักแก่พ่อค้าประชาชน แต่กระนั้น การเคลื่อนไหวทั้งหมดนี้ กลับไม่ได้สร้างความเดือดร้อนแก่ฝ่าย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ตามที่อ้าง เพราะกลุ่ม กปปส.มิได้มี“หมัดเด็ด”ที่จะล้มรัฐบาลได้

กลับกลายเป็นว่า การปิดกรุงเทพฯนอกเหนือจากการสร้างความเดือดร้อน และทำให้เศรษฐกิจเสียหายเหลือคณานับแล้ว ม็อบ กปปส.ไม่ได้บรรลุเป้าหมายอะไรเลย กองทัพก็ไม่อยู่ในเงื่อนไขที่พร้อมจะทำรัฐประหารตามคำสั่งนายสุเทพ
การขัดขวางการเลือกตั้งส่วนใหญ่ก็ไม่สำเร็จ การเลือกตั้งทั่วไปวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ผ่านไปโดยเรียบร้อย โดยมีประชาชนทั่วประเทศมาใช้สิทธิมากถึง 20 ล้านคน

ข้อเสนอ“ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง”กลายเป็นเรื่องตลก แม้ว่าจะมีสถิติว่า นายสุเทพได้ประกาศชัยชนะมาแล้วมากกว่า 21 ครั้งก็ตาม ในที่สุด ม็อบ กปปส.จึงต้องยอมคืนพื้นที่กรุงเทพฯในวันที่ 3 มีนาคม

ตั้งแต่นั้นมา การดำเนินการล้มล้างประชาธิปไตยได้หลุดจากมือของ กปปส.ไปสู่บทบาทขององค์กรอิสระและฝ่ายตุลาการ คือ ศาลรัฐธรรมนูญ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ศาลแพ่งและศาลอาญา เป็นต้น องค์กรเหล่านี้ได้ให้ความร่วมมือในการสร้างความชอบธรรมแก่การชุมนุมของ กปปส. และช่วยทำให้แกนนำและการ์ดของ กปปส.ที่ก่อการละเมิดกฎหมายหลายครั้ง ไม่ต้องถูกดำเนินคดี แต่กระนั้น นายสุเทพและ กปปส.ก็ไม่เคยที่จะสร้างกระแสประชาชนได้ในระดับเดิมที่เคยทำได้ในช่วงแรกของการชุมนุม ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากความเบื่อและความชินชาแม้กระทั่งจากผู้สนับสนุน กปปส. เพราะได้มีการเคลื่อนไหวชุมนุมมาแล้วถึง 6 เดือน ก็ไม่สามารถที่จะล้มรัฐบาลได้ดังใจหมาย การยืนหยัดของนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ได้กลายเป็นเงื่อนไขสำคัญในการรักษาระบอบประชาธิปไตยของประเทศไทย น้ำหนักในการเคลื่อนไหวของฝ่ายนายสุเทพ เทือกสุบรรณ จึงลดลงทุกที



บทเรียนแห่งการเคลื่อนไหวของฝ่ายขวามีมาแล้วก่อนหน้านี้ โดยเฉพาะการเคลื่อนไหวของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่นำโดย นายสนธิ ลิ้มทองกุล และ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ซึ่งเคยสร้างผลสะเทือนอย่างมากใน พ.ศ.2551 แต่วันนี้สิ้นความหมาย การชุมนุมของคณะเสนาธิการร่วมกองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณ ที่นำโดย พล.อ.บุญเลิศ แก้วประสิทธิ์ (เสธ.อ้าย) ที่เคยหวือหวาเมื่อ พ.ศ.2555 ก็ถูกลืมไปแล้วเช่นกัน

ม็อบ กปปส.ของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ก็กำลังเดินอยู่บนเส้นทางเช่นนั้น!



________________________

โพสต์เพิ่มเติม

ขออนุญาตเผยแพร่ สื่อสารการเมืองที่บรรดา บก. แต่ละคนของ http://blog.politicalroad.org โพสต์ไว้ที่ต่างๆ

..Narait ร่วมส่งต่อความดีงามที่ปวงชนชาวไทยควรยึดถือ

10 อันดับคนดีมีคุณธรรมของสังคมไทย คุณค่าที่คนไทยคู่ควร
www.youtube.com/watch?v=nYedp3MaA9U





.