http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2557-08-25

งานศพผิดวัดครั้งใหม่ (1) โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์

.

นิธิ เอียวศรีวงศ์ : งานศพผิดวัดครั้งใหม่ (1)
ใน www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1408953644 
. . วันจันทร์ที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2557 เวลา 19:10:05 น.
( ที่มา: นสพ.มติชนรายวัน 25 สิงหาคม 2557 )


ผมไม่คิดว่าคำสนทนาของท่านนายกรัฐมนตรีนอกตำแหน่งอานันท์ปันยารชุนกับคุณภิญโญ ไตรสุริยธรรมา ควรค่าแก่การวิจารณ์ตอบโต้ เพราะคำพูดที่ขัดแย้งกันเองแต่ต้นจนปลายเช่นนั้นไม่มีสาระที่ควรได้รับความใส่ใจจากใคร อย่างไรก็ตาม ความเห็นที่เป็นพื้นฐานความคิดของข้อถกเถียงไร้สาระนั้นกลับน่าสนใจกว่า เพราะเป็นวิธีคิดพื้นฐานที่อยู่ปลายจมูกของคนไทยจำนวนหนึ่งมานานแล้ว และผมอยากตอบโต้วิธีคิดพื้นฐานเหล่านั้น จึงขอยกเอาคำกล่าวของคุณอานันท์มาเป็นจุดเชื่อมไปสู่วิธีคิดพื้นฐานดังกล่าว เพราะเป็นวิธีคิดที่ไม่ไกลไปกว่าปลายจมูกเหมือนกัน หากการเขียนทำให้เข้าใจผิดว่าล่วงเกินคุณอานันท์เป็นการส่วนตัว ก็ขออภัยไว้ด้วย เจตนามิได้เป็นเช่นนั้น

คุณอานันท์แสดงความฉงนว่าคนไทยรักฝรั่งเสียเหลือเกิน ทั้งๆ ที่ "ฝรั่งไม่ใช่พ่อใช่แม่" ของเรา ยังไม่ทันขาดคำดีคุณอานันท์ก็ยกความเห็นของศาสตราจารย์มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดท่านหนึ่ง ซึ่งเขียนบทความซึ่งคุณอานันท์เชื่อว่านักการเมืองฝรั่งไม่เคยอ่าน ฝรั่งคนนั้นคิดว่าการรัฐประหารมีทั้งดีและเลว เกณฑ์สำหรับใช้วัดก็คือ หากรัฐประหารเพื่อทำให้ประชาธิปไตยเจริญเติบโตขึ้นก็ถือว่าดี หากเป็นการรัฐประหารที่ทำลายประชาธิปไตยก็ถือว่าไม่ดี แล้วท่านก็ยกตัวอย่างรัฐประหารที่ดีคือในกรณีของโปรตุเกศ, กรีก, และตุรกี กับอีกเกณฑ์หนึ่งคือ รัฐประหารแล้วกลับสู่ประชาธิปไตยได้เร็วช้าเพียงไร

ด้วยความอนุเคราะห์ของเพื่อนนักรัฐศาสตร์สองท่าน (อาจารย์เวียงรัตน์ เนติโพธิ์ และ อาจารย์ประจักษ์ ก้องกีรติ) จึงทำให้สามารถหมายได้ว่าข้อเขียนฝรั่งที่คุณอานันท์อ้างถึงนั้นคือ Ozan O. Varol, "The Democratic Coup d Etat," ในวารสาร Harvard International Law Journal, 53/2, 2012 ผู้เขียนไม่ได้เป็นศาสตราจารย์ฮาร์วาร์ด แต่เป็นรองศาสตราจารย์ที่วิทยาลัยกฎหมายแห่งหนึ่งในชิคาโก (ที่พูดนี่เป็นเรื่องของข้อเท็จจริง มิได้หมายความว่าศาสตราจารย์ฮาร์วาร์ดเท่านั้นที่พูดอะไรไม่เคยผิด)

ผมไม่แน่ใจว่าคุณอานันท์ได้อ่านบทความนี้เองหรือไม่ หรือได้อ่านละเอียดหรือไม่ การรัฐประหารที่ผู้เขียนเห็นว่าเป็นการรัฐประหารเชิงประชาธิปไตยนั้นต้องประกอบด้วยคุณสมบัติ 7 ประการ เช่น ต้องล้มล้างระบอบเผด็จการ, ตอบสนองต่อเสียงคัดค้านต่อต้านรัฐบาลนั้น, ผู้นำของระบอบเผด็จการปฏิเสธที่จะลงจากอำนาจ, กองทัพได้รับความเคารพนับถือจากประชาชน ฯลฯ

ถ้าคุณอานันท์ได้อ่านอย่างละเอียดพอสมควร ก็หมายความว่า คุณอานันท์เชื่อตามที่กลุ่ม กปปส.อ้างว่า รัฐบาลคุณยิ่งลักษณ์เป็นรัฐบาลเผด็จการ ไม่ได้รับการต้อนรับจากประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ ปฏิเสธที่จะลงจากตำแหน่งแม้ได้ประกาศยุบสภาไปแล้ว เพียงเท่านี้ก็ทำให้วิจารณญาณด้านการเมืองของคุณอานันท์เป็นที่พึงระแวงสงสัยอย่างยิ่ง ว่ายังมีความเที่ยงธรรมอยู่หรือไม่


อันที่จริงนาย Varol ยังอ้างงานศึกษาเชิงประจักษ์ว่า นับตั้งแต่หลังสงครามเย็นเป็นต้นมา 74% ของการรัฐประหารในโลกล้วนตามมาด้วยการเลือกตั้งทั้งสิ้น แต่สถิติเชิงประจักษ์ไม่มีความหมายอะไร ยิ่งมาอยู่ในมือของนักวิชาการที่มองอะไรเลยจมูกไปไม่ได้ไกลอย่างนาย Varol เพราะเขาแยกการรัฐประหารโดยกองทัพที่เขาศึกษาให้หลุดออกไปจากบริบททางสังคมทั้งหมด จึงมองไม่เห็นว่ามีพลังทางเศรษฐกิจและสังคมที่กำกับการรัฐประหารอยู่เบื้องหลัง ทำให้การรัฐประหารบางครั้งถูกเขานิยามได้ว่าเป็นประชาธิปไตย และบางครั้งไม่เป็นประชาธิปไตย

การรัฐประหารสามกรณีที่เขาพูดถึงคือโปรตุเกส, กรีก และอียิปต์นั้น ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะทหารนั่งคิดกันเหนือขวดเหล้าในค่ายทหารว่า ยึดอำนาจเผด็จการเสียทีเถิดวะ แล้วนำประเทศไปสู่ประชาธิปไตย แต่มันมีเงื่อนไขทางเศรษฐกิจและสังคมในสามประเทศนั้น อันเกิดขึ้นจากความเปลี่ยนแปลงของโลกที่ทำให้เผด็จการไม่อาจครองอำนาจอยู่ต่อไป โดยไม่ยอมปรับเปลี่ยนโครงสร้างอำนาจได้ กองทัพ "เลือก" ที่จะเข้าข้างประชาชนในจังหวะที่ไม่เหลือทางเลือกมากนักต่างหาก นาย Varol ไม่ได้สนใจเงื่อนไขทางเศรษฐกิจ-สังคมเหล่านี้เลย หากสนใจศึกษาการเมืองที่พิจารณาบริบทอย่างรอบด้าน ก็ควรอ่าน Samuel Huntington, The Third Wave, Democratization in the Late Twentieth Century ศาสตราจารย์ฮาร์วาร์ดตัวจริงคนนี้ ตั้งข้อสังเกตกับปรากฏการณ์ระดับโลกว่า ในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 20 ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดในด้านต่างๆ ระดับโลกนั้น ทำให้ระบบเก่า (ในหลายๆ รูปแบบ และรวมเผด็จการทหารด้วย) ล้าสมัย หรือไม่อาจตอบสนองต่อความเปลี่ยนแปลงนั้นได้ จึงเกิดคลื่นลูกที่สามซึ่งมีพลังผลักประชาธิปไตยให้ขยายไปยังประเทศต่างๆ ทั่วไป ไม่เฉพาะในยุโรป มีอีกส่วนหนึ่งที่ Huntington ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับดินแดนนอกยุโรปด้วย (เช่น 14 ตุลาในประเทศไทย)

คุณอานันท์พูดเองในตอนท้ายของการสนทนาว่า ประชาธิปไตยไม่ได้มีความหมายแต่การเลือกตั้ง ยังมีค่านิยมและอื่นๆ ของสังคมและนักการเมืองเกี่ยวข้องกับความเป็นประชาธิปไตยอยู่ด้วย แล้วการรัฐประหารล่ะครับ ถ้าคิดให้เลยจมูกออกไปเหมือนประชาธิปไตย มีแต่กองทัพอย่างเดียวได้หรือ


นาย Varol ไม่ปฏิเสธว่า เมื่อกองทัพยึดอำนาจด้วยข้ออ้างประชาธิปไตยได้แล้ว ก็มักจะร่างรัฐธรรมนูญที่แฝงฝังอำนาจ, ผลประโยชน์, และบทบาทของกองทัพไว้ในระบบปกครองใหม่ (แต่คุณอานันท์ไม่ได้พูดถึงเรื่องนี้เลย) ปัญหามาอยู่ที่ว่าประชาธิปไตยที่ปลอดจากอำนาจอันไม่ต้องรับผิดชอบต่อประชาชนเช่นนี้จะหมดไปได้อย่างไร นาย Varol ไม่ได้กล่าวถึง เพียงแต่แจกแจงวิธีแฝงฝังอำนาจกองทัพไว้ในรัฐธรรมนูญว่ามีกี่ชนิดเท่านั้น เรื่องนี้ก็ยิ่งชัดเจนขึ้นไปใหญ่ว่า พัฒนาการของประชาธิปไตยที่มาจากการรัฐประหารนั้น จะก้าวหน้าต่อไปได้หรือไม่เพียงไร ไม่ได้ขึ้นกับการตัดสินใจของกองทัพ เพราะมีปัจจัยทางเศรษฐกิจ-สังคมที่มีพลังมากกว่าเหล่านายพลเป็นผู้กำหนด

ตัวอย่างใกล้ตัวก็ได้ เมื่อพลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ปฏิเสธที่จะรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อไป เพราะตัวท่านเองคงมองเห็นความเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจ-สังคมที่เกิดขึ้นว่า รูปแบบการครองอำนาจของกองทัพผ่านตัวท่านนั้น ล้าสมัยไปแล้ว ในส่วนกองทัพขณะนั้นหาได้มีปัญญาญาณที่จะเห็นอย่างนั้นได้ จึงเป็นเหตุให้เกิดรัฐประหาร รสช.ซึ่งต้องจบลงอย่างนองเลือดและน่าอับอายแก่กองทัพ



วิจารณญาณทางการเมืองอันน่าแคลงใจของคุณอานันท์วินิจฉัยว่ารัฐบาลเผด็จการทหารของโปรตุเกส,กรีกและอียิปต์ ไม่ต่างจากรัฐบาลยิ่งลักษณ์ซึ่งมาจากการเลือกตั้ง ดังนั้น คุณอานันท์จึงยืนยันในตอนท้ายการสนทนาว่า การรัฐประหารของกองทัพในครั้งนี้เป็นแค่ปลายเหตุ ต้นเหตุคือความไม่โปร่งใส, ไร้ประสิทธิภาพ, และความวุ่นวายเป็นจลาจลภายใต้รัฐบาลยิ่งลักษณ์ต่างหาก ความแตกต่างระหว่างรัฐบาลเผด็จการทหารกับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในทรรศนะของคุณอานันท์ ไม่ได้อยู่ที่สิทธิเสรีภาพของพลเมือง (ขนาดปล่อยให้ประท้วงระดับจลาจลในท้องถนนได้) ไม่ได้อยู่ที่การยอมอยู่ใต้การตรวจสอบขององค์กรตามรัฐธรรมนูญ นับตั้งแต่รัฐสภามาจนถึงองค์กรอิสระ และไม่ได้อยู่ที่การยอมลงจากอำนาจเมื่อต้องเผชิญการประท้วงขนาดใหญ่ แต่อยู่ที่ไหนไม่มีใครทราบ นอกจากวินิจฉัยส่วนตัวของคุณอานันท์เองในฐานะ "ผู้ใหญ่" เท่านั้น เกณฑ์การวินิจฉัยของ "ผู้ใหญ่" ไม่จำเป็นต้องตั้งอยู่บนเหตุผลและข้อเท็จจริง ซึ่งทำให้คนอื่นสามารถตรวจสอบหรือคัดค้านได้ ระบบนี้แหละครับที่พวกเสื้อแดงเรียกว่า "อำมาตยาธิปไตย" อันเป็นระบบที่มีอยู่จริงในเมืองไทยอย่างปฏิเสธไม่ได้ ครอบงำความคิดของผู้ใหญ่จนมองไม่เห็นว่ามันมีอยู่ เพราะไม่เคยรู้สึกตัวได้ถึงขนาดนี้ (แต่ก็น่ายินดีที่บัดนี้มันครอบงำได้แต่เฉพาะ "ผู้ใหญ่" เท่านั้น)

ท่าทีในทำนองวินิจฉัยของ "ผู้ใหญ่" ปรากฏในเรื่องอื่นๆ ของการสนทนาอยู่อีกมาก และหนึ่งในนั้นที่คุณอานันท์พูดย้ำอยู่เสมอก็คือ "โลกของความเป็นจริง" ฟังดูเหมือนเป็นประสบการณ์ของ "ผู้ใหญ่" เท่านั้นที่อาจมองเห็นได้ แต่มันคืออะไรหรือครับ ท่ามกลาง "มายา" และ "มายาคติ" ที่ครอบงำมนุษย์อยู่อย่างหนาแน่นนี้ มีใครที่ไม่ใช่ศาสดาของศาสนาใดสามารถอ้างได้เต็มปากว่า เขาได้ฟันฝ่าออกไปพบ "โลกของความเป็นจริง" ได้แล้ว หากคิดง่ายๆ เพียงว่า "โลกของความเป็นจริง" คือตรงกลางระหว่างสุดขั้วของสิ่งที่ปฏิบัติได้ (practicality) กับอุดมคติ (ideal) จุดตรงกลางที่เป็นไปได้ที่สุดก็ไม่ใช่สิ่งที่หาพบได้ง่ายๆ โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับมนุษย์และสังคม และจากประสบการณ์ในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ มีคนทั้งที่เป็นปัจเจกและสังคม ได้บรรลุสิ่งที่เคยถือว่าเป็นอุดมคติ ไม่สามารถปฏิบัติได้จริงมาแล้ว ตัวอย่างใกล้ตัวก็เช่นพระพุทธเจ้า และระบอบประชาธิปไตยเป็นต้น



ประชาธิปไตยเป็นอุดมคติอย่างหนึ่ง ซึ่งตั้งอยู่บนการประเมินศักยภาพของมนุษย์ไว้สูง แต่มันก็ปฏิบัติได้จริงในหลายสังคม เผด็จการก็เป็นอุดมคติอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งประเมินศักยภาพของมนุษย์ไว้ต่ำเกือบเท่าสัตว์ แต่มันก็ปฏิบัติได้จริงเป็นบางครั้งในบางสังคม เพราะอะไร เป็นเรื่องที่ต้องศึกษาและอธิบายกันอย่างสลับซับซ้อน อันไม่อาจทดแทนได้ด้วยบัญญัติของ "ผู้ใหญ่" ว่าด้วย "โลกของความเป็นจริง"

ผมไม่ทราบว่าคุณอานันท์ประเมินศักยภาพของคนไทยไว้แค่ไหน แต่ก่อนจะประกาศการค้นพบ "โลกของความเป็นจริง" จำเป็นต้องวิเคราะห์ศักยภาพของคนไทยและสังคมไทยให้แตกเสียก่อน เพราะ "โลกของความเป็นจริง" ของคุณอานันท์อาจไม่ตรงกับของคนอื่นก็ได้

คุณอานันท์กล่าวว่า ทหารไม่ได้อยากทำรัฐประหาร ที่ตัดสินใจทำก็เพราะมีความจำเป็นอย่างยิ่งยวด ด้วยเหตุดังนั้น ท่านจึง "เห็นใจ" (sympathize) ทหาร ผมไม่ทราบว่าท่านตั้งใจใช้คำนี้ หรือตั้งใจให้หมายถึง "เข้าใจ" (comprehend, understand) หากเป็นคำหลังผมก็เห็นด้วย และคิดว่านักวิชาการโดยทั่วไปก็เห็นด้วย อย่าว่าแต่ทหารที่ทำรัฐประหารเลย แม้แต่พระเทวทัต เราก็ควรทำความเข้าใจ-ต่อตัวท่าน และต่อเงื่อนไขทางการเมือง, เศรษฐกิจ, สังคม และวัฒนธรรม ที่แวดล้อมท่านอยู่-แต่เราคงไม่มีวัน "เห็นใจ" พระเทวทัต

แต่เพราะไป "เห็นใจ" เสียแล้ว จึงจำเป็นต้องให้ความชอบธรรมแก่การรัฐประหารด้วยประการต่างๆ เช่นการเมืองถึง "ทางตัน" โดยไม่ต้องรับรู้ว่า "ทางตัน" นั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร แม้มีการยุบสภาซึ่งเป็นทางออกอย่างหนึ่งที่ใช้กันเป็นปกติในระบอบประชาธิปไตย ทางออกนี้ก็ถูกขัดขวางด้วยวิธีรุนแรง และเหตุผลอื่นๆ ซึ่งฟังดูเหมือนคุณอานันท์เพิ่งกลับจากเคมบริดจ์เมื่อก่อนรัฐประหารเพียงวันเดียว แต่เหตุผลทั้งหมดเหล่านี้ หากเห็นด้วย ก็เท่ากับถือว่ากองทัพเป็นองค์กรทางการเมืองที่ตั้งอยู่นอกโลก จึงปราศจากความพัวพันเชิงอำนาจ, เชิงผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ, เชิงเกียรติยศ, เชิงเครือข่าย ทั้งที่เป็นของตนเองหรือกับใครในเมืองไทยเอาเลย

ต้องใช้ความไร้เดียงสาถึงเพียงไหน จึงอาจคิดได้ว่าใน "โลกของความเป็นจริง" มีกองทัพอย่างนี้อยู่จริงในประเทศใดประเทศหนึ่งของโลก



ผมไม่ปฏิเสธว่า การรัฐประหารเป็นวิธีการแก้ปัญหาอย่างหนึ่ง แต่เป็นวิธีการที่จำเป็นหรือไม่ ในสถานการณ์อย่างไรจึงจำเป็น และสถานการณ์อย่างไรที่ไม่จำเป็น ฯลฯ ทั้งหมดเหล่านี้เป็นเรื่องที่เถียงกันได้ ในขณะเดียวกันกระบวนการประชาธิปไตยก็เป็นวิธีการแก้ปัญหาอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งมีข้อดีและข้อจำกัดในตัวเองเหมือนกัน เป็นไปได้ในสถานการณ์ใดและเป็นไม่ได้ในสถานการณ์ใด ก็เป็นเรื่องที่เถียงกันได้เช่นกัน

ไม่ใช่เถียงกันหน้าดำหน้าแดงนะครับ แต่เถียงกันด้วยข้อมูลที่กว้างขวางและเหตุผล เพื่อประเมินเลือกว่าควรจะใช้วิธีการใดกันแน่ในการแก้ปัญหา ไม่เฉพาะแต่ปัญหาเฉพาะหน้าซึ่งต้องทำความเข้าใจให้กระจ่างเท่านั้น ยังต้องคิดเลยไปถึงผลข้างเคียง และผลกระทบระยะสั้นและระยะยาวข้างหน้าด้วย เช่นที่เชื่อว่าเป็นทาง "ตัน" ทางการเมืองนั้น รัฐประหารแล้วจะทำให้หายตันได้ หรือทำให้ความตันเปลี่ยนรูปไปเท่านั้น

ต้องใช้ความไร้เดียงสาถึงเพียงไหน จึงอาจคิดได้ว่ากองทัพได้นั่งลงเถียงกันในลักษณะนี้ ก่อนลงมือทำรัฐประหาร


..................................

(ต่อ) นิธิ เอียวศรีวงศ์ : งานศพผิดวัดครั้งใหม่ (2) อ่านที่  http://botkwamdee.blogspot.com/2014/09/n-x-taps2.html



.

2557-08-21

ขัอสังเกตคดี112หลัง รปห. โดย สมัคร รักธรรม

.

ขัอสังเกตคดี 112 หลังรัฐประหาร
โดย สมัคร รักธรรม
ใน http://prachatai3.info/journal/2014/08/55158
. . Thu, 2014-08-21 12:39

ภาพและเพลงจากเวบบอร์ด

www.youtube.com/watch?v=43AfTOYmuy8
บทเพลงของสามัญชน - Cover ประกาย+ไฟเย็น (เฉพาะกิจ)


ประชาไท รายงานเมื่อ 20 สค. 57 ว่า หลังการรัฐประหารมีผู้ถูกดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ทั้งหมด 15 คน อันที่จริง ยังมีผู้หลบหนีไม่รายงานตัวอีกจำนวนหนึ่ง ถ้ายึดตามรายงานของไทยรัฐ วันที่ 25 กค. 57 มีจำนวน 55 คน  ในจำนวนนั้นส่วนหนึ่งเป็นผู้ที่เคยถูกดำเนินคดี 112 มาก่อนแล้วแต่ได้รับการอภัยโทษแล้วหรือไม่ก็คดีสิ้นสุดแล้ว อีกส่วนหนึ่งคาดว่าอาจจะถูกดำเนินคดี 112 หากคนเหล่านี้มารายงานตัว ก็อาจจะทำให้จำนวนผู้ถูกดำเนินคดีเพิ่มขึ้นอีก


การดำเนินคดี 112 ในขณะนี้ยิ่งตอกย้ำให้เห็นถึงปัญหาของกฎหมายข้อนี้ที่คาราคาซังมาเนิ่นนานอยู่แล้วหลายประการด้วยกัน ดังนี้


หนึ่ง ผู้ถูกกล่าวหาส่วนใหญ่ไม่ได้รับการประกันตัว มีเพียงผู้มีชื่อเสียง 2 คนจาก 15 คน (ตามรายงานของประชาไท) เท่านั้นที่ได้รับการประกันตัว ทั้งนี้อาจเพราะเพื่อลดความกดดัน หากแต่ส่วนใหญ่เป็นคนที่ไม่มีชื่อเสียง ไม่เป็นที่รู้จัก หรือมีอาชีพที่ไม่มั่นคง จึงแทบไม่เป็นข่าว ไม่มีใครรับรู้ และไม่มีหลักประกันอย่างเป็นทางการ เช่น นักศึกษามหาวิทยาลัยต่างจังหวัด ผู้ประกอบอาชีพอิสระ เป็นเกษตรกร นี่สะท้อนความยุติธรรมที่วางอยู่บนความเหลื่อมล้ำของสังคม


สอง ผู้ถูกกล่าวหาส่วนใหญ่ถูกตีตราว่าเป็นคนผิด ก่อนที่จะมีการดำเนินคดี ข้อนี้เห็นได้ชัดจากกรณีของผู้ต้องหารายล่าสุด ที่ถูกปฏิเสธไม่ให้ประกันตัวเนื่องจาก "การกระทำความผิดของผู้ต้องหากับพวก..." ซึ่งเป็นเสมือนการตัดสินไปก่อนแล้วว่าผู้ต้องหา "กระทำความผิด" ทั้งๆ ที่ยังไม่ได้ดำเนินคดี นี่แสดงให้เห็นถึงทัศนคติของเจ้าหน้าที่รัฐ ที่ไม่ให้ความยุติธรรมกับผู้ต้องหาก่อนที่จะเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม


สาม มีแนวโน้มที่การดำเนินคดีจะไม่โปร่งใส และอาจจะไม่ได้รับความยุติธรรมยิ่งขึ้น เนื่องจากมีการประกาศใช้ศาลทหาร และผู้ถูกดำเนินคดีบางรายถูกดำเนินคดีโดยศาลทหาร ข้อนี้ยิ่งทำให้ผู้ถูกเรียกตัวจำนวนมากลังเลที่จะเข้ารายงานตัว


สี่ ถูกใช้เพื่อกลั่นแกล้งทางการเมือง แนวโน้มดังกล่าวสอดคล้องกับการดำเนินคดีที่ผ่านมา และในกรณีหลังการรัฐประหาร แนวโน้มนี้ยิ่งเด่นชัดขึ้นว่าผู้ถูกดำเนินคดีส่วนใหญ่ หรืออาจจะทั้งหมด ล้วนเป็นผู้เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวของฝ่ายการเมืองที่ขัดแย้งกับผู้มีอำนาจในปัจจุบัน หรือเป็นฝ่ายที่ต่อต้านอำนาจของคณะรัฐประหาร คณะรัฐประหารจึงใช้คดี 112 เพื่อหวังผลสืบเนื่องจากการดำเนินคดี กล่าวคือเพื่อลดการต่อต้านคณะรัฐประหาร ด้วยการข่มขู่ว่าจะดำเนินคดี 112



หากแนวโน้มยังคงเป็นเช่นนี้ การดำเนินคดีกับผู้ต้องหาคดี 112 ก็จะกลายเป็นเครื่องมือในการควบคุมทางการเมืองที่คนกลุ่มหนึ่ง ชนชั้นหนึ่ง ใช้อย่างลำเอียงต่อคนอีกกลุ่มหนึ่ง อีกชนชั้นหนึ่ง ตลอดจนสะท้อนปัญหาความยุติธรรม ความเหลื่อมล้ำของสังคม ปัญหาการกระบวนการยุติธรรมและทัศนคติของเจ้าหน้าที่รัฐ และเหนืออื่นใดคือ ปัญหาการลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนอยู่ต่อไป


























































































.

2557-08-18

การเมืองของคอร์รัปชั่น โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์

.

นิธิ เอียวศรีวงศ์ : การเมืองของคอร์รัปชั่น
ใน www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1408341608 
. . วันจันทร์ที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2557 เวลา 21:55:10 น.
( ที่มา: นสพ.มติชนรายวัน 18 สิงหาคม 2557 )


คอร์รัปชั่นเป็นวัฒนธรรมอย่างหนึ่ง แต่พูดอย่างนี้ทำให้งงและชวนให้แย้งโดยไม่ทันอ่าน จึงขอพูดใหม่ด้วยความหมายเดิมว่า คอร์รัปชั่นคือความสัมพันธ์ทางสังคมชนิดหนึ่ง

คนเรารู้จักสร้างเครือข่ายความสัมพันธ์กับคนอื่น เพื่อแสวงหาโภคทรัพย์, เกียรติยศ, อำนาจ และการยอมรับมาตั้งแต่สมัยหิน
ในปัจจุบัน เราอาจพูดว่าการสร้างเครือข่ายความสัมพันธ์นั้น พึงทำได้ก็ต่อเมื่อไม่นำเอาทรัพยากรสาธารณะไปใช้เพื่อประโยชน์ส่วนตัว แต่ต้องไม่ลืมด้วยว่า ความคิดที่ว่า มีทรัพยากรที่เป็นสาธารณะและที่เป็นส่วนตัวอย่างเด็ดขาดนั้น เป็นความคิดสมัยใหม่ เพิ่งเกิดขึ้นในโลกไม่นานมานี้เอง ก่อนหน้านี้ขึ้นไป ไม่มีเส้นแบ่งที่ตายตัวและชัดเจนนัก

พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ คอร์รัปชั่นตามความหมายที่ใช้ในปัจจุบัน เกิดขึ้นได้ก็เพราะเหตุสองอย่าง หนึ่งคือต้องยอมรับกันทั่วไป ว่ามีทรัพยากรที่เป็นสาธารณะและทรัพยากรที่เป็นส่วนตัว ซึ่งปะปนกันไม่ได้ และสอง ความสัมพันธ์ทางการเมืองที่ถูกต้องมีอยู่อย่างเดียว คือต้องตั้งอยู่บนฐานของหลักเหตุผลและกฎหมาย (rational and legal)


คอร์รัปชั่นได้รับความสนใจในสังคมไทยมาหลายปีแล้ว กลายเป็นข้อถกเถียงหลักอันหนึ่งระหว่างประชาธิปไตยที่มีการเลือกตั้ง และประชาธิปไตยที่ห้ามเลือกตั้ง หลังรัฐประหาร คอร์รัปชั่นยังเป็นประเด็นหลักอีกอันหนึ่งของสภาปฏิรูป
ประเทศไทยใหม่ที่ คสช.อ้างว่าจะสร้างขึ้น จะมีประชาธิปไตยหรือไม่ มีความสำคัญน้อยกว่าว่ามีคอร์รัปชั่นหรือไม่ ต้องไม่มีคอร์รัปชั่นเสียก่อน ถึงจะมีประชาธิปไตยได้


ผมคิดว่า นักต่อสู้คอร์รัปชั่นในประเทศไทย มีแนวโน้มที่จะมองคอร์รัปชั่นในเชิงศีลธรรมเพียงมิติเดียว จึงมักพบทางตันคือหาทางออกไม่เจอ นอกจากเปลี่ยนบุคลิกภาพของผู้คนทั้งหมด ซึ่งทำในความเป็นจริงไม่ได้ หรือชี้นิ้วประณามคนอื่น ครั้นตัวเองล้มเหลวก็มักหาทางรอนสิทธิคนอื่น เพราะเกรงว่าเขาจะคอร์รัปชั่น หรือสนับสนุนคอร์รัปชั่น
ผมไม่มีความรู้เกี่ยวกับการปราบคอร์รัปชั่นมากพอจะบอกได้ว่า มุมมองอย่างนี้เสียเปล่า เพราะจะไม่แก้ปัญหาอะไร จนไม่นานมานี้เพิ่งได้อ่านงานศึกษาของคุณ Marc Saxer เรื่อง Fighting corruption in transformation societies จึงออกประทับใจ ขอนำเอาบางส่วนบางตอนของเขามาเล่าในที่นี้ด้วยภาษาของผมเอง จึงอาจผิดพลาดจากที่คุณ Saxer ตั้งใจ เขาจึงไม่ควรรับผิดชอบอะไรกับบทความนี้


คอร์รัปชั่นเป็นสัญญาณของความเหลื่อมล้ำอย่างมากของสังคม ผมไม่ได้หมายความว่าคนจนจำนวนมากไม่มีกินจึงต้องโกง เพราะความจริงแล้วคนจนแทบไม่มีโอกาสโกงเลย ได้แต่เพียงพอใจจะรับประโยชน์โภชผลที่คนโกงมอบให้
คำถามก็คือคนโกงซึ่งไม่จนโกงทำไม คำตอบคงมีหลายอย่าง (รวมทั้งมิติทางศีลธรรมด้วย) แต่หนึ่งในหลายอย่างคือการแข่งขันกันแสวงหาอำนาจในสิ่งแวดล้อมทางสังคม ที่ไม่ได้ตั้งอยู่บนฐานของเหตุผลและกฎหมาย การแข่งขันจึงอยู่ที่การสร้างเครือข่ายความสัมพันธ์ทั้งระดับบนขึ้นไปและต่ำลงมาอย่างกว้างขวาง เพื่อใช้ต่อรองในการแสวงหาอำนาจ, ผลประโยชน์และเกียรติยศ

อำนาจที่แสวงหาไม่ได้หมายความถึงตำแหน่งทางการเมืองเพียงอย่างเดียว ศึกษาฯ จังหวัดช่วยฝากลูกญาติ, เพื่อน, ลูกน้อง ให้เข้าโรงเรียน ก็เป็นคอร์รัปชั่นอย่างหนึ่ง ในขณะเดียวกันก็เป็นการผดุงสถานะของตนในเครือข่ายด้วย เช่นเดียวกับนายตำรวจไปเอาใบขับขี่ที่ถูกยึดจากสถานีให้เพื่อนหรือเพื่อนของนายผู้อุปถัมภ์

นี่คือเหตุผลที่ "เจ้าพ่อ" มักได้รับความนิยมนับถือจากประชาชนในเขตอิทธิพลของตนอย่างสูง


ในแง่นี้คอร์รัปชั่นคือการกระจายทรัพยากรอย่างหนึ่ง เรียกในทางมานุษยวิทยาว่าaccumulativeredistributionคือรวบรวมทรัพย์ส่วนรวมไปกระจายแก่คนในเครือข่ายของตน ดังนั้น ในสังคมที่ขาดการยึดหลักเหตุผลและกฎหมาย เช่นสังคมสืบสถานะ (patrimonial society)ดังสังคมไทย คอร์รัปชั่นจึงเป็นน้ำมันหล่อลื่นให้แก่ระบบเศรษฐกิจ, การเมืองและสังคมของสังคมนั้นๆ ประวัติศาสตร์ชาติไทยที่จะสอนกันในโรงเรียนนั้น หากไม่คิดจะโกหกเด็ก ก็ต้องบอกว่ายั่งยืนอยู่มาได้ภายใต้โครงสร้างของรัฐสืบสถานะ (รัฐราชสมบัติ) ก็เพราะการคอร์รัปชั่นนี่แหละ

แต่นี่พูดถึงคอร์รัปชั่นในความหมายปัจจุบัน โบราณท่านไม่ได้คิดว่าเป็นการคอร์รัปชั่นแต่อย่างใด "ฉ้อราษฎร์บังหลวง" นั้นเป็นส่วนหนึ่งของระบบ (ก็ไม่ได้จ่ายเงินเดือนข้าราชการ) แต่อย่าทำให้เกินไปจนกลายเป็นอีกอำนาจหนึ่งที่แข่งขันกับพระราชอำนาจได้เท่านั้น

เมื่อเศรษฐกิจจำเริญขึ้นในรัฐสืบสถานะ การกระทำเหล่านี้เริ่มถูกมองว่าเป็นคอร์รัปชั่น แม้กระนั้นมันก็ยังทำหน้าที่ของมันอยู่ส่วนหนึ่งคือเป็นน้ำมันหล่อลื่นให้แก่การประกอบการทางเศรษฐกิจสมัยใหม่เมื่อ 4-50 ปีที่แล้ว เศรษฐกิจไทยต้องการบริการของธนาคารเพิ่มขึ้น จะตั้งธนาคารหรือขยายกิจการได้อย่างราบรื่นอย่างไร ก็ไปเชิญเผด็จการทหารมาเป็นประธานกรรมการของธนาคารสิครับ ทุกอย่างก็ดำเนินไปอย่างราบรื่นดี เกือบทุกธนาคารใหญ่ๆ ในเมืองไทยโตมาได้ถึงทุกวันนี้ก็เพราะอาศัย "เส้น" ทั้งนั้นแหละ บริษัทร้านค้าขนาดใหญ่ก็เหมือนกัน เพราะในขณะที่เศรษฐกิจเติบโตและซับซ้อนขึ้น การเมืองไทยก็ยังเป็นการเมืองของรัฐสืบสถานะอยู่เหมือนเดิม ไม่ได้ขยับไปสู่รัฐที่ตั้งอยู่บนฐานของเหตุผลและกฎหมายสักที

แต่การเมืองของรัฐสืบสถานะตั้งอยู่อย่างราบรื่นในรัฐที่เศรษฐกิจกลายเป็นเศรษฐกิจสมัยใหม่ที่ใหญ่โตซับซ้อนไม่ได้
ความไม่ราบรื่นทางการเมืองต่างๆในเมืองไทยที่เราได้เห็นมาเป็นสิบปีนั้นเกิดขึ้นเนื่องจากสังคมและรัฐไทยเปลี่ยนไม่ผ่านจากรัฐและสังคมสืบสถานะมาเป็นรัฐและสังคมที่ตั้งอยู่บนฐานของเหตุผลและกฎหมาย



ในสังคมที่กำลังเปลี่ยนรูปแบบเช่นนี้แหละที่คอร์รัปชั่นระบาดมากขึ้นส่วนหนึ่งจะมากน้อยแค่ไหนผมไม่ทราบ ก็คือการกระทำที่ครั้งหนึ่งไม่ถือว่าเป็นคอร์รัปชั่นกลับถูกมองว่าเป็นคอร์รัปชั่นไป เพราะสังคมกำลังขยับปรับเปลี่ยนตัวเองเมื่อเร็วๆ นี้ผมยังได้ยินคนบ่นว่า การจอดรถที่ขอบขาวแดงเป็นคอร์รัปชั่นอย่างหนึ่ง (ซึ่งในทรรศนะของผมไม่ใช่ เป็นแค่การละเมิดกฎหมายธรรมดาๆ)
อีกส่วนหนึ่งมาจากการผลักดันของธนาคารโลกและฉันทานุมัติวอชิงตันซึ่งสอดคล้องกับอุดมการณ์ของลัทธิเสรีนิยมใหม่คือกันรัฐออกไปจากตลาด เพราะเชื่อว่าตลาดสามารถดูแลจัดการตัวเองได้ดีกว่ารัฐ   คอร์รัปชั่นในรัฐสมัยใหม่เกิดอยู่ภายใต้อำนาจรัฐ การขจัดคอร์รัปชั่นของธนาคารโลกจะเน้นด้านวิธีการ ซึ่งก็คือขจัดอำนาจรัฐออกไปให้มากที่สุด (นักต่อต้านคอร์รัปชั่นในเมืองไทยสมาทานความเห็นของธนาคารโลกเข้าไปเต็มเปา เพราะตัวสมาทานลัทธิเสรีนิยมใหม่อยู่แล้ว หรือเพราะไร้เดียงสา ก็ไม่ทราบได้)


แต่ส่วนสำคัญที่สุดนั้น มาจากคอร์รัปชั่นยังทำงานเป็นน้ำมันหล่อลื่นของระบบเศรษฐกิจและสังคมนั่นเอง
กล่าวคือ เมื่อเครื่องกลทางเศรษฐกิจใหญ่โตซับซ้อนขึ้น แต่ไม่มีหลักเหตุผลและกฎหมายกำกับ การเสียดทานย่อมมากขึ้น และต้องอาศัยน้ำมันหล่อลื่นมากขึ้น ผมอยากขายจีที 200 ซึ่งไม่ทำงานให้กองทัพได้อย่างไร ถ้าไม่ใช้น้ำมันหล่อลื่น จะขายเครื่องตรวจอาวุธที่สนามบินใหม่ได้อย่างไรท่ามกลางการแข่งขันที่สูงขนาดนั้น นอกจากใช้น้ำมันหล่อลื่น และน้ำมันนั้นก็หล่อลื่นเศรษฐกิจจริงเสียด้วย เช่น นายทหารที่รวยจากการโกงก็ไปสร้างคฤหาสน์อยู่ เกิดการจ้างงานในการก่อสร้างและวัสดุก่อสร้าง พ่อค้าที่รวยจากการโกง ก็เอาทุนไปหาโครงการใหม่เพื่อขายราชการอีก ต้องจ้างงานคนไปสร้างโครงการปลอมๆ ขึ้น

ผมพูดเรื่องนี้เพื่อให้เห็นว่า คอร์รัปชั่นนั้นมันมีงานของมันต้องทำ ในสภาวะสังคมแบบไม่ยอมเปลี่ยนผ่านนี้แหละ



อย่างไรก็ตามแม้ว่าคอร์รัปชั่นยังเป็นน้ำมันหล่อลื่น แต่ในสังคมที่กำลังเปลี่ยนผ่านเช่นนี้คอร์รัปชั่นกลับขัดขวางประชาธิปไตยและความโปร่งใสของการบริหาร คอร์รัปชั่นขนาดใหญ่ทั้งหลายต้องมีคนใหญ่คนโตในวงการเมืองหรือราชการเข้ามาเกี่ยวข้องเสมอ จะเกี่ยวเพราะโลภหรือโง่ก็ตาม แต่ในรัฐประชาธิปไตยก่อนที่ความโลภและความโง่จะทำงานได้ผล ก็จะมีคนตรวจสอบและโวยวายขึ้นจนกระทั่งคอร์รัปชั่นเกิดขึ้นไม่ได้ พ่อค้าที่ฉลาดกว่า ก็จะเสนอขายกระบวนการ, บริการ หรือเครื่องมืออะไรก็ตาม ที่สามารถตรวจจับอาวุธตามด่านตรวจในภาคใต้ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทหารตำรวจไม่ต้องมาเสียชีวิตหรือบาดเจ็บโดยไม่จำเป็น พ่อค้าฉลาดก็รวยขึ้น และทำโครงการอะไรอื่นขายได้ใหญ่ขึ้น จ้างงานคนมากขึ้นและประเทศไทยก็รวยขึ้น ทำรัฐสวัสดิการได้โดยมีเสียงค้านน้อยลง

คอร์รัปชั่นนั้น โดยตัวของมันเองก็เป็นการเมือง โดยเฉพาะในสังคมที่เปลี่ยนไม่ผ่านอย่างไทย เพราะสามารถใช้ในการสร้างเครือข่ายการเมืองของตนเอง และทำลายเครือข่ายการเมืองของฝ่ายตรงข้ามได้ สภาวะเช่นนี้เห็นได้ชัดในปัจจุบัน เพราะผมไม่เคยได้ยินใครพูดถึงคอร์รัปชั่นของคนอื่น นอกจากฝ่ายทักษิณ ประหนึ่งว่าหากไม่มีทักษิณแล้วก็ไม่มีคอร์รัปชั่นเหลือในเมืองไทยอีกเลย ความไม่เที่ยงตรงของหน่วยงานปราบคอร์รัปชั่น ไม่ว่าจะอยู่ในหรือนอกระบบตุลาการ คือแรงหนุนสำคัญที่คอร์รัปชั่นต้องการ เพราะคอร์รัปชั่นดำรงอยู่ในสังคมที่เปลี่ยนไม่ผ่านได้ ก็เพราะคนโกงย่อมวางใจกับเครือข่าย (สร้างขึ้นหรือซื้อมา) มากกว่าหลักแห่งเหตุผลและกฎหมาย

และดังที่เห็นๆ กันอยู่ คอร์รัปชั่นยังถูกใช้เป็นเหตุผลให้ยกเลิกกระบวนการประชาธิปไตยที่กำลังเติบโตขึ้น


การปราบคอร์รัปชั่นที่ได้ผลจึงไม่ได้อยู่ที่วิธีการเพียงอย่างเดียว(เปิดเผยข้อมูล,ตั้งองค์กรตรวจสอบ,แจ้งทรัพย์สิน,เพิ่มกฎหมายและเพิ่มโทษ ฯลฯ) เท่านั้น สภาพแวดล้อมที่คอร์รัปชั่นต้องการที่สุดคือการเมืองของรัฐสืบสถานะ ดังนั้นเราจึงไม่อาจต่อต้านคอร์รัปชั่นในรัฐชนิดนี้ได้ จำเป็นต้องช่วยให้ประเทศไทยเปลี่ยนผ่านไปสู่สังคมประชาธิปไตย ที่ตั้งอยู่บนหลักของเหตุผลและกฎหมายให้สำเร็จ ในรัฐที่ทุกคนในฐานะปัจเจกย่อมเท่าเทียมกันที่จะได้โอกาสพัฒนาศักยภาพของตนเองไปสู่จุดสูงสุด โดยไม่ต้องอาศัยเครือข่ายความสัมพันธ์

รัฐประชาธิปไตยเป็นระบบความสัมพันธ์ทางสังคมอย่างหนึ่ง ที่ปัจเจกบุคคลทุกคนสัมพันธ์กันและสัมพันธ์กับรัฐโดยผ่านหลักเหตุผลและกฎหมาย
คอร์รัปชั่นเกลียดกลัวรัฐแบบนี้ ถึงจะมีการทุจริตคดโกงในรัฐแบบนี้ ก็เกิดขึ้นเป็นกรณีไป ไม่ใช่แฝงอยู่ในระบบการเมืองอย่างแยกไม่ออกเช่นรัฐสืบสถานะ ความพยายามจะปราบคอร์รัปชั่นภายใต้ระบอบเผด็จการจึงเป็นเรื่องเหลวใหล อย่างมากก็ทำได้แต่การสร้างวิธีการที่สลับซับซ้อนขึ้น อย่างที่ธนาคารโลกและฉันทานุมัติวอชิงตันให้แบบอย่างเอาไว้ แต่ดังที่กล่าวแล้วว่าคอร์รัปชั่นเป็นน้ำมันหล่อลื่นที่ขาดไม่ได้ในฟันเฟืองของระบบรัฐสืบสถานะ อย่างไรเสียมันย่อมต้องซึมผ่านวิธีการเหล่านั้นไปจนได้

หากรังเกียจคอร์รัปชั่นอย่างจริงใจต้องร่วมมือกันนำประเทศไทยให้เปลี่ยนผ่านไปสู่รัฐประชาธิปไตยให้ได้เท่านั้น



.

2557-08-15

ความเป็นไทยและ ปชต.ของ ปชต.แบบไทยๆ โดย ประวิตร โรจนพฤกษ์

.

ประวิตร โรจนพฤกษ์: ความเป็นไทยและประชาธิปไตยของประชาธิปไตยแบบไทยๆ
ใน http://blogazine.in.th/blogs/pravit/post/4978
. . ศ 15 สิงหาคม, 2014 - 05:58 | โดย pravit


เสาร์ที่แล้ว (9 สิงหาคม 2557) หัวหน้าคณะรัฐประหาร พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้เอ่ยถึงคำว่าประชาธิปไตยแบบไทยอย่างน้อยสองครั้งในระหว่างการพูดเปิดงานปฎิรูปประเทศไทยซึ่งได้ถ่ายทอดสดไปทั้งประเทศ

คำถามคืออะไรคือประชาธิปไตยแบบไทยๆ? และมีอะไรเป็นไทยหรือเป็นประชาธิปไตยในประชาธิปไตยแบบไทยบ้าง?
ประยุทธ์อาจมิได้ให้คำจำกัดความว่าประชาธิปไตยแบบไทยเป็นอย่างไรกันแน่ ต่างจากประชาธิปไตยแบบตะวันตกอย่างไร แต่ผู้เขียนก็อดสงสัยมิได้ว่าประชาธิปไตยแบบไทยอาจหมายถึงการยอมรับรัฐประหารเป็นระยะๆ หรือหมายถึงระบบเลือกตั้งที่ประชาชนมีอำนาจอธิปไตยจำกัดกว่าในอดีต หรือแม้กระทั่งอาจหมายถึงการให้คนดีที่มิได้ผ่านการเลือกตั้งมาปกครองโดยมิสามารถตรวจสอบได้


หากมองให้ลึกลงไป การใช้คำว่า ‘ไทย’ ขยายความคำว่าประชาธิปไตยช่วยทำให้คำว่า ‘ประชาธิปไตยแบบไทย’ ดูเหมาะสมกับคนไทยยิ่งขึ้นและทำให้ระบอบกึ่งเผด็จการดูเป็นที่ยอมรับของนานาชาติมากยิ่งขึ้น

ทว่ามันไม่มีอะไรที่เป็น ‘ไทย’ ในประชาธิปไตยแบบไทยๆเพราะคนไทยเองยังตกลงกันไม่ได้เลยว่าต้องการการปกครองแบบไหน


คนไทยที่มีการศึกษาจำนวนหนึ่งชอบโมเดลกึ่งเผด็จการแบบสิงคโปร์ที่ฝายค้านถูกทำให้อ่อนปวกเปียก บ้างชอบระบอบเผด็จการทหาร แต่ก็ยังมีคนไทยอีกจำนวนมิน้อยที่ต้องการให้ยึดระบอบประชาธิปไตยที่ไม่ต้องมาทนกับรัฐประหารเป็นระยะๆและเชื่อว่าควรปล่อยให้ระบอบประชาธิปไตยคลี่คลายปัญหาโดยตัวของมันเองเพราะหนทางประชาธิปไตยในไทยเพิ่งอายุแค่ 82 ปี

นอกจากนี้ยังมีคนไทยที่ต้องการย้อนกลับไปสู่ยุคสมบูรณาญาสิทธิราช แต่ก็มีบางคนที่ต้องการเห็นประเทศเป็นสาธารณรัฐ




ในขณะเดียวกัน แทนที่จะใช้คำว่าประชาธิปไตยแบบไทย เราอาจใช้คำว่าเผด็จการครึ่งใบหรือเผด็จการแบบไทยแทนก็ได้ แต่คำว่าเผด็จการนั้นมิน่าพิศมัยจึงเลือกใช้คำว่าประชาธิปไตยแทนดั่งคำว่า ‘ยิ้มสยาม’ ซึ่งอาจมิได้หมายถึงรอยยิ้มที่มาจากความดีใจก็เป็นได้

สังคมไทยควรเลิกหลอกตนเองเสียทีว่าอะไรคือประชาธิปไตยและอะไรคือเผด็จการโดยการใช้คำที่เคลือบแฝงสภาพความจริง


...............................
หมายเหตุ: บทความนี้ถอดความและดัดแปลงจาก ‘What makes ‘Thai-style democracy’ globally palatable?’ ซึ่งเขียนโดยผู้เขียนลงใน นสพ. The Nation ฉบับวันที่ 13 สิงหาคม 2557



.

2557-08-14

ความเงียบ, +แก้ไหม?-รธน.ชั่วคราว โดย วรศักดิ์ ประยูรศุข

.

วรศักดิ์ ประยูรศุข : ความเงียบ
ใน www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1408015505
. . วันพฤหัสบดีที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2557 เวลา 21:02:14 น.
( ที่มา: คอลัมน์ สถานีคิดเลขที่12 นสพ.มติชนรายวัน 14 สิงหาคม 2557)
ภาพของเซีย ไทยรัฐ


22 ส.ค.นี้ จะครบ 3 เดือนของ คสช.
บ้านเมืองเงียบเชียบดี ราวกับว่า ผู้คนที่แตกแยกเห็นต่าง ได้บรรลุความเข้าใจ เลิกโกรธเกลียดกัน เกิดการปรองดอง สมานฉันท์ขึ้นแล้ว

แต่ความจริงยังน่าสงสัย ความเงียบเชียบในขณะนี้ น่าจะเป็นผลจาก "ยาแรง" เมื่อ 22 พ.ค. ที่แก้ปัญหาบางส่วนเท่านั้น


พูดไปก็เหมือนฟื้นฝอยหาตะเข็บ แต่ถ้าไม่ศึกษาสิ่งที่ผ่านเลยไป อีกหน่อยก็จะเจอกับดักเดิมๆ ตกหลุมเดิมๆ กันอีก

แต่ก่อนหน้า 22 พ.ค. ต้องยอมรับว่า เป็นฝันร้ายที่ต่อเนื่องยาวนานหลายเดือน
จากร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ที่เป็นความผิดพลาดของรัฐบาล กลายเป็นการชัตดาวน์กรุงเทพฯ
ปิดเมือง ปิดถนนอย่างยาวนาน ถนนสายที่เป็นหน้าตาของเมืองอย่างถนนราชดำเนิน มืดหม่นอย่างน่าใจหายในยามค่ำคืน

ธุรกิจการค้าขายซบเซาลงไปทีละน้อยบ้างมากบ้าง แต่นักธุรกิจน้อยใหญ่ยังอุตส่าห์บอกว่าไม่กระทบ 
เทศกาลปีใหม่ที่อยู่ระหว่างการชุมนุม ผู้คนหนีความขัดแย้งไปฉลองในต่างประเทศ 
เป็นห้วงเวลารุ่งโรจน์ของแกนนำ การด่าทอเป็นที่ชื่นชม ประดิดประดอยวาทะ
โวหารมาด่ากันเป็นรายวัน ถ่ายทอดสดผ่านสื่อต่างๆ ถ่ายสดแล้วยังเอามารีรัน กรอกหูกันตลอด 24 ชั่วโมง

หลัง 22 พ.ค เสียงเหล่านี้หายไปเหมือนกดสวิตช์ปิด

คสช.ประกาศปฏิรูปประเทศ เข้ามาดูแลการเมืองเอง เพื่อไม่ให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นอีก


ความเงียบในช่วงนี้ ก็คือ การเฝ้ารอดูว่า คสช.จะดำเนินการอย่างไรแบบไหน

แต่ตอนนี้ เริ่มมีเสียงบ่น และอาการกระฟัดกระเฟียดเกิดขึ้นบ้างแล้ว

ทั้งจากฝ่ายหนุนรัฐประหาร อยากมีส่วนร่วม อยากให้เดินสุดซอย กวาดล้างระบอบทักษิณ จะได้ไม่เสียของ

ทั้งฝ่ายไม่เห็นด้วยกับรัฐประหาร แต่ไม่รู้จะทำยังไง รอลุ้นว่า เผื่อจะมีอะไรดีๆ เกิดขึ้นบ้าง


ในระยะนี้ ฝ่ายที่อยากให้ คสช.เร่งเครื่องสุดซอย ออกอาการหงุดหงิดที่ไม่ได้ดั่งใจ เพราะถือว่าลุ้นมาแต่ต้น

ประกอบกับ คสช.ทำการบ้านล่วงหน้า พอยึดอำนาจก็ใช้เครือข่ายตัวเองทำงาน

ไม่ต้องใช้บริการคนที่อยากให้ใช้ เลยยิ่งไปกันใหญ่


ส่วนฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย ก็เริ่มเห็นช่องว่างจุดโหว่มากขึ้นเรื่อยๆ เหมือนกัน


21-22 ส.ค.นี้ สนช.จะโหวตเลือกนายกฯ จากนั้นเป็นคิวของการจัดตั้ง ครม.

ขับเคลื่อนโรดแมปคืบหน้าไปเรื่อยๆ เพื่อจะคืนอำนาจให้ประชาชนเลือกตั้ง ในเดือน ก.ย. 2558


แต่เรื่องสำคัญที่ไม่ค่อยได้พูดถึงกัน ก็คือ รอยร้าวรอยแตกได้หายไปจริงหรือไม่ การปรองดองสมานฉันท์ระหว่างคนในชาติได้เกิดขึ้นแล้วหรือยัง

โดยเฉพาะรากฐานของความปรองดอง คือ ความเป็นธรรม การได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมเสมอภาค ได้เกิดขึ้นหรือยัง

และนี่คือตัวชี้ขาดว่า "ความเงียบ" ที่เกิดขึ้นจะยั่งยืนแค่ไหนเพียงไร



++

วรศักดิ์ ประยูรศุข : แก้ไหม?-รธน.ชั่วคราว
ใน www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1407398977 
. . วันพฤหัสบดีที่ 07 สิงหาคม พ.ศ. 2557 เวลา 21:00:08 น.
( ที่มา: คอลัมน์ สถานีคิดเลขที่12 นสพ.มติชนรายวัน 7 สิงหาคม 2557)
ภาพของเซีย ไทยรัฐ


สื่อต่างๆ เสนอข่าวโผ ครม.กันกระหึ่ม

เพราะห้วงเวลาที่จะมีนายกฯ มีรัฐบาลมาบริหารประเทศ ตามรูปแบบสากล ใกล้เข้ามาทุกที

ใครจะไปใครจะมาก็ว่ากันไป แต่ที่หลายฝ่ายกำลังเป็นห่วง คือ ภาพของ ครม.ที่จะออกมา


จะเป็นรัฐบาลที่เต็มไปด้วยทหาร เหมือน สนช.อีกหรือไม่

คสช.อธิบายการตั้ง สนช.ว่า เป็นสถานการณ์ไม่ปกติ และต้องการเอกภาพ ก็เข้าใจได้

แต่รัฐบาลไม่เหมือน สนช. ซึ่งมีหน้าที่ประชุมตรากฎหมาย รับรองกฎหมาย

รัฐบาลต้องนั่งทำงาน ต้องรับแขก ต้องให้ต่างประเทศเชิญบินไปพบปะเจรจา ต้องแสดงจุดยืนท่าทีต่างๆ ฯลฯ

รูปโฉมของรัฐบาล ไม่ควรเป็นอุปสรรคกับการทำหน้าที่ของรัฐบาลเอง



ระยะนี้มีข่าวว่า การฟอร์ม ครม.ใหม่มีปัญหา จากรัฐธรรมนูญชั่วคราว มาตรา 8 และมาตรา 20

มาตรา 20 ระบุคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของนายกฯและ รมต.ไว้หลายข้อ

หนึ่งในนั้นคือ (4) ไม่เป็นหรือเคยเป็นสมาชิกพรรคการเมืองในระยะเวลาสามปี

ก่อนวันได้รับแต่งตั้ง และไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 8

ส่วนมาตรา 8 เป็นลักษณะต้องห้ามดำรงตำแหน่ง สนช. มีหลายข้อเช่นกัน ทั้งห้ามเป็นสมาชิกพรรคในระยะเวลา 3 ปีก่อนหน้านี้ และต้องไม่เคยถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง

มาตรา 8 นี้เอง ที่ทำให้ พล.อ.ธวัชชัย สมุทรสาคร ต้องถอนตัวจาก สนช. เพราะเคยสังกัดพรรคการเมือง

และเมื่อประกอบกับมาตรา 20 ก็ทำให้บรรดาผู้มีชื่อเสียง มีฝีมือ แต่เคยถูกถอนสิทธิเลือกตั้ง โดยเฉพาะในกรณีบ้านเลขที่ 109 และ 111 ต้องหมดสิทธิแบบกราวรูด

ห้ามเป็นหมด ทั้ง สนช. / นายกฯ / รมต. / สปช. และกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรรมนูญ

ตัวอย่างเห็นๆ คือ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษา คสช. ซึ่งมีข่าวว่าจะมาเป็นรัฐมนตรี เลยวืดหมด อาจจะต้องตั้งให้เป็นผู้แทนการค้าฯ ช่วยงานด้านต่างประเทศกันต่อไป

ยังมีอีกหลายท่านที่ไม่ขอเอ่ยนาม ที่อยู่ในข่ายนี้ หลายๆ คน คสช.ก็เคยทาบทาม แล้วก็ตกอกตกใจไปแล้วว่า มีบทบัญญัตินี้ในรัฐธรรมนูญชั่วคราวด้วยหรือ


คนที่เขียนกฎหมายมาตรานี้เข้ามา อาจหวังดีต่อ คสช. แต่ที่จริงไม่เป็นผลดี

และยังขัดแย้งกับแนวทางสมานฉันท์ของ คสช.เอง

และขัดแย้งกับคำปรารภของรัฐธรรมนูญที่จะฟื้นฟูความสงบเรียบร้อย ความรู้รักสามัคคีและความเป็นธรรมอีกด้วย

เพราะคนบ้านเลขที่ 109 และ 111 นั้น นอกจากได้ชื่อว่า พลอยซวยรับโทษจากความผิดที่ตัวเองไม่ได้ก่อแล้ว ยังรับโทษเว้นวรรค 5 ปีกันไปหมดแล้ว

พ้นโทษกลับมารับตำแหน่ง ไปลงคะแนนเลือกตั้ง ใช้สิทธิในแบบพลเมืองดี

กันหมดแล้ว

อยู่ๆ เกิดมีบทบัญญัติมาตรานี้ย้อนกลับไปเอาผิดอีก ก็เท่ากับโดนลงโทษซ้ำสอง


ถ้าคิดว่า เรื่องนี้เป็นปัญหาที่จะต้องแก้ มาตรา 46 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว ให้อำนาจ ครม.และ คสช.มีมติร่วมกัน เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้ โดยทำร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม เสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติเห็นชอบใน 15 วัน

จะแก้ไขหรือไม่ เป็นอีกประเด็นที่น่าติดตามดูกัน



..................................................................
ร่วมเป็นแฟนเพจเฟซบุ๊กกับมติชนออนไลน์
www.facebook.com/MatichonOnline



.

2557-08-11

รัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมไทย 2557 โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์

.

รัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมไทย 2557
โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์

ใน www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1407738818
. . วันศุกร์ที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2557 เวลา 13:50:10 น.
( ที่มา: คอลัมน์ กระแสทรรศน์ นสพ.มติชนรายวัน 11 ส.ค. 2557 )


รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 ซึ่งเพิ่งประกาศใช้ไม่นานมานี้ ไม่ได้รับการต้อนรับอย่างชื่นชมจากใคร แม้แต่พวกสลิ่มและ กปปส.ก็เพียงแต่สงบปากสงบคำเท่านั้น ไม่ถึงกับออกมายกย่องเชิดชู
อย่างไรก็ตามเสียงวิจารณ์ทั้งจากต่างประเทศและในประเทศ (ทั้งตรงไปตรงมาและระหว่างบรรทัด) ล้วนใช้มาตรฐาน "ฝรั่ง" ในการตัดสินทั้งสิ้น เช่น ความเป็นประชาธิปไตยบ้าง สิทธิมนุษยชนบ้าง ซึ่งล้วนจริงและถูกต้องทั้งสิ้น แต่บรรทัดฐานเหล่านั้นอาจไม่ได้มีความสำคัญในวัฒนธรรมไทยเท่าฝรั่งก็ได้ ผมจึงอยากประเมินรัฐธรรมนูญฉบับนี้จากมาตรฐานของวัฒนธรรมไทย (ตามความเข้าใจของผมเอง) บ้างว่า จะถือว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่สวยงามหรือขี้ริ้ว

ในปี 2534 ระหว่างที่ รสช.ประชุมนักปราชญ์ราชบัณฑิตฝ่ายเขาร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้น ผมได้เขียนเรื่อง "รัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมไทย" ลงในวารสารศิลปวัฒนธรรมมาในระยะไม่กี่ปีมานี้ ผมถูกถามเสมอว่า รัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมได้เปลี่ยนไปบ้างแล้วหรือไม่อย่างไร แล้วผมก็ตอบไม่ได้ เพราะลืมไปว่าเขียนอะไรลงไว้เมื่อ 20 ปีที่แล้วและไม่ได้คิดเรื่องนี้อีกเลย จึงต้องนำบทความนั้นกลับมาอ่านใหม่ และได้เห็นคำตอบลางๆ บางอย่างซึ่งจะพูดถึงข้างหน้านี้


อำนาจในวัฒนธรรมเก่าของไทยนั้นแบ่งแยกมิได้เพราะเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน แม้แต่อำนาจของพระเจ้าก็เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับอำนาจของกษัตริย์ เพราะกษัตริย์คืออวตารของพระเจ้า ดังนั้นความคิดว่าอำนาจอธิปไตยอาจแบ่งออกได้เป็นสามด้าน คือ นิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ คอยถ่วงดุลกันและกัน จึงเป็นความคิดของฝรั่งโดยแท้

แม้ว่าอำนาจเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน แต่คนไทยสมัยก่อนก็หาได้วางใจต่ออำนาจไม่ เพราะอำนาจที่เขารู้จักคือถูกเก็บส่วยหรือถูกเกณฑ์ทัพซึ่งเป็นความเดือดร้อนแสนสาหัสแก่ผู้คนในวิถีชีวิตชาวนา เขาจึงมีความคิดเกี่ยวกับการถ่วงดุลอำนาจของ "อำนาจ" อยู่เหมือนกัน วิธีทำแบ่งออกได้เป็นสองอย่าง
หนึ่งคือสถาปนาอำนาจใหม่ขึ้นมากำกับควบคุมอำนาจที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวนี้ ที่สำคัญสุดคือพระพุทธศาสนา ซึ่งวางมาตรฐานบางอย่างที่ควบคุมอำนาจของพระราชาได้ระดับหนึ่ง (แยกให้ชัดนะครับ หลักธรรมของพระพุทธศาสนานั้นเลิกล้างไม่ได้ แต่พระภิกษุแต่ละรูปนั้น พระเจ้าแผ่นดินจับสึกเสียเมื่อไรก็ได้ พระภิกษุแต่ละรูปจึงต้องสร้างอำนาจอีกชนิดหนึ่งซึ่งเรียกว่าอิทธิพลขึ้นเพื่อป้องกันตัว เช่น ทรงคุณวิเศษบางอย่างจนเป็นที่นับถือกว้างขวาง เปรียบเทียบกับสังคมมุสลิม ผู้รู้ทางศาสนามีอำนาจในตัวเอง จึงแตกต่างจากสังคมพุทธไทยอย่างมาก) อย่างไรก็ตาม การสร้างอำนาจใหม่นี้เป็นวิธีที่มีข้อจำกัดมาก

วิธีที่สองซึ่งใช้แพร่หลายกว่า คือ การใช้อิทธิพลคานกับอำนาจ สองอย่างนี้แตกต่างกันอย่างไร ผมนิยามตามความเห็นของนักวิชาการญี่ปุ่นว่า อำนาจคืออำนาจที่มีกฎหมายหรือประเพณีรองรับ ส่วนอิทธิพลคืออำนาจที่ไม่มีกฎหมายหรือประเพณีรองรับ พระราชอำนาจในราชอาณาจักรโบราณของไทยถูกจำกัดด้วยอิทธิพลนานาชนิด เช่น อิทธิพลของตระกูล นักเลง "เจ้าพ่อ" ในท้องถิ่น หรือแม้แต่ในเมืองหลวงเอง รวมทั้งอิทธิพลของพ่อค้าต่างชาติและหัวหน้าชุมชนต่างชาติด้วย

สามัญชนคนไทยมีชีวิตอยู่ท่ามกลางการเอาอิทธิพลกับอำนาจมาคานกัน บางครั้งก็ใช้อิทธิพลคานอำนาจ บางครั้งก็ใช้อำนาจคานอิทธิพล ผมขอยกตัวอย่างจากสังคมไทยสมัยหลัง 2500 เพื่อผู้อ่านจะได้นึกออกได้ง่าย

ผู้กำกับตำรวจในจังหวัดใหญ่แค่ไหน ก็ใหญ่มากนะครับ ถ้าพ่อจะรังแกใครด้วยการตั้งข้อหาใด คนนั้นก็เดือดร้อนไปหลายปี ผู้ว่าฯ ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาก็มีอำนาจจำกัด จะเข้าแทรกแซงได้ยาก ฉะนั้นเพื่อป้องกันตน คนไทยก็วิ่งเต้นกับอิทธิพลสิครับ เช่น วิ่งเต้นกับ "เจ้าพ่อ" ซึ่งสามารถ "เจรจา" กับผู้กำกับฯ ได้ หรือวิ่งเต้นกับ ผบ.ทหารในจังหวัดก็ได้ ผบ.ทหารไม่มี "อำนาจ" ไปก้าวก่ายงานของตำรวจก็จริง แต่ ผบ.ทหารมีอิทธิพลในท้องถิ่นแน่ (ยกทหารไปพังป้อมตำรวจก็เคยมีมาแล้ว) จึงสามารถ "เจรจา" กับผู้กำกับได้


ตรงกันข้ามนะครับ อิทธิพลก็อาจรังแกประชาชนได้เหมือนกัน เช่นในสมัยก่อน ทหารก็อาจสั่งควบคุมตัวลูกหลานในฐานะเป็นผู้ปฏิบัติงานของ พคท. เดือดร้อนกันยกใหญ่แน่ ชาวบ้านไทยจะทำอย่างไร ก็วิ่งเต้นกับอิทธิพลที่ใหญ่กว่าสิครับ ทั้งนี้หมายถึงทหารที่ใหญ่กว่านั้น รัฐมนตรี ส.ส. หรือถวายฎีกา หากการใช้อิทธิพลคานอิทธิพลยังไม่สำเร็จก็ต้องดึงเอาอำนาจเข้ามาคาน เช่น ร้องไทยรัฐเพื่อให้เป็นข่าวใหญ่ และอำนาจก็จะเข้ามาปรามเอง หรือจนถึงที่สุดก็หวังว่าอำนาจในกระบวนการยุติธรรมระดับที่สูงกว่าตำรวจจะขวางอิทธิพลได้ เช่น พนักงานอัยการหรือผู้พิพากษา

โดยสรุปก็คือ สามัญชนคนไทยเคยชินกับการคานอำนาจระหว่างอิทธิพลและอำนาจ ไม่อยากเห็นฝ่ายใดถูกอีกฝ่ายหนึ่งขจัดออกไปโดยสิ้นเชิง อำนาจก็มีอันตราย อิทธิพลก็มีอันตราย แต่ถ้ามีสองอย่างก็พอจะเอาตัวรอดไปได้



อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่ปลายทศวรรษ 2530 เป็นต้นมา ผมคิดว่ารัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมไทยเริ่มเปลี่ยนตรงนี้ นั่นคือ มีเหตุผลหลายอย่างที่ทำให้อิทธิพลเริ่มปรากฏน้อยลงในสังคม เช่น "เจ้าพ่อ" เบนทุนไปลงในธุรกิจสว่างหรือถูกกฎหมายมากขึ้น พคท.ล่มสลายทำให้บทบาทของทหารในสังคมลดลง อีกทั้งยังต้องกลับเข้ากรมกองต่อเนื่องกันตั้งแต่ 2535-2549 ฯลฯ ในขณะที่นักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งมีบทบาทสูงเด่นขึ้น รัฐธรรมนูญ 2540 ทำให้คนไทยเกิดความหวังว่า การใช้อำนาจถ่วงดุลอำนาจน่าจะมีประสิทธิผลมากขึ้น จนแม้เมื่อคณะรัฐประหารต้องเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ใน 2550 ก็ยังต้องรักษาอย่างน้อยก็รูปแบบของการถ่วงดุลอำนาจด้วยอำนาจเอาไว้

รัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมเริ่มเปลี่ยนไปสู่การจัดให้อำนาจมีสถาบัน กลไก กระบวนการ ที่ถ่วงดุลกันเอง สิ่งเหล่านี้ไม่เคยมีความสำคัญมาก่อน แต่เมื่ออิทธิพลลดน้อยถอยลง กลับกลายเป็นเรื่องสำคัญแก่คนไทยมากขึ้น พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ รัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรม ซึ่งไม่เคยคิดว่าอำนาจพึงแบ่งแยกเป็นหลายส่วนได้ ก็เริ่มเปลี่ยนมาเป็นการแบ่งแยกอำนาจเพื่อคานกันเองแบบฝรั่งมากขึ้น

แม้ว่ามีรัฐประหารโดยกองทัพในเมืองไทยบ่อยเหมือนฝนตก แต่ที่จริงแล้วรัฐประหารเป็นภาวะตึงเครียดตามรัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมไทย เพราะรัฐประหารคือการสถาปนาอิทธิพล (อำนาจที่ไม่มีกฎหมายหรือประเพณีรองรับ) ขึ้นเหนืออำนาจ (อำนาจที่มีกฎหมายหรือประเพณีรองรับ) หรือจะพูดให้ชัดกว่านี้ก็คือ รัฐประหารเป็นอิทธิพลที่ทำลายสถาบันอำนาจไปแทบหมดสิ้นก็ได้ เหลือไว้เพียงสถาบันพระมหากษัตริย์ ศาลสถิตยุติธรรม และการรับรองของมหาอำนาจต่างประเทศ ยิ่งรัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมเปลี่ยนไป ความตึงเครียดก็ยิ่งมากขึ้นเป็นธรรมดา

คณะรัฐประหารหลัง 14 ตุลาเป็นต้นมาจึงต้องพยายามรื้อฟื้นบรรยากาศของอำนาจกลับคืนมาโดยเร็ว อย่างน้อยก็โดยรูปแบบซึ่งเป็นที่ยอมรับกันได้ กล่าวคือ มีอำนาจที่ดูคล้ายจะเป็นอิสระ (หน่อยๆ) จากคณะรัฐประหารซึ่งเป็นอิทธิพลใหญ่สุด อาจประกาศใช้รัฐธรรมนูญใหม่ทันที (เช่น 2490 และ 2494 เป็นต้น)


คนชอบพูดกันถึงรัฐประหารของสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ซึ่งดูเหมือนสถาปนาอิทธิพลขึ้นเหนืออำนาจต่อเนื่องกันได้ถึง 16 ปี แต่ที่จริงแล้วสฤษดิ์ฉลาดกว่านั้นมาก เขาตั้งใจทำให้อิทธิพลใหญ่ที่เขาสถาปนาขึ้นดูเหมือนถูกถ่วงดุลมาแต่ต้น นายกรัฐมนตรีคนแรกของเขาคือ นายพจน์ สารสิน พลเรือนซึ่งได้รับการยอมรับทั้งในและต่างประเทศ อีกทั้งในตอนนั้นก็ไม่มีใครรู้เส้นสนกลในของความสัมพันธ์ระหว่างชนชั้นนำในช่วงนั้นด้วย รัฐมนตรีในคณะรัฐบาลของสฤษดิ์เองเป็นปลัดกระทรวงเดิม ในตอนนั้นยังมองระบบราชการแยกออกจากการเมืองและกองทัพมากกว่าปัจจุบัน ที่สำคัญเขานำเอานักวิชาการเข้ามาสู่องค์กรและสภาที่เพิ่งตั้งใหม่ประหนึ่งแยกความชำนาญการ (expertee) ออกไปจากการเมืองของอิทธิพลอย่างเด็ดขาด นักวิชาการรุ่นนั้นก็ต่างจากอธิการบดีในรุ่นนี้ซึ่งออกมาเต้นเหยงๆ เชียร์อิทธิพล-รัฐประหารกันอย่างน่าสมเพช อย่างน้อยก็ไม่มีใครรู้ว่าคนเหล่านั้นเชื่อมโยงกับอำนาจและอิทธิพลอย่างไรมาก่อน

จะเข้าใจความฉลาดของสฤษดิ์ได้ก็ต้องนำเอารัฐประหารของเขาไปเปรียบเทียบกับของถนอม กิตติขจร ใน 2514 หรือธานินทร์ กรัยวิเชียร ใน 2519 สองคนหลังนี้ไม่เข้าใจรัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมไทยเอาเลย จึงกลับพยายามรักษาภาพลักษณ์ของระบอบอิทธิพลไว้อย่างเหนียวแน่น เพราะนึกว่าอิทธิพลอย่างเดียวจะทำให้ตัวรักษาอำนาจได้ตลอดไป ในขณะที่สฤษดิ์รู้วิธีที่จะแปรบางส่วนของอิทธิพลให้มีภาพลักษณ์ของอำนาจ เพื่อความสบายใจของคนไทยว่าอิทธิพลถูกถ่วงดุลไว้แล้วในระดับหนึ่ง



เนื่องจากพื้นที่จำกัด ผมจะไม่เข้าไปหยิบยก รธน.2557 เป็นรายมาตรา เพราะก็ตรงกับคำวิจารณ์ของสื่อไทยและต่างประเทศอยู่แล้ว นั่นคือ ไม่เป็นประชาธิปไตยและไม่เคารพสิทธิมนุษยชน เปลี่ยนมาเป็นภาษาของรัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมก็คือ ไม่มีผลเปลี่ยนภาพลักษณ์ของอิทธิพลให้กลายเป็นอำนาจ

ยิ่งมาพิจารณาควบคู่กันไปกับมาตรการเด็ดขาดทั้งหลายที่คณะรัฐประหารกระทำหลังยึดอำนาจได้ ก็ยิ่งทำให้ภาพของอิทธิพลเด่นชัดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเรียกตัวบุคคลเข้าไปปรับทัศนคติ การคุกคามสื่อ การตั้ง สนช. และคงพอเดาได้ว่าสภาปฏิรูปจะมีหน้าตาอย่างไร ฯลฯ แม้ว่า คสช.พยายามใช้อิทธิพลเพื่อปราบอิทธิพล เช่น ยาเสพติด ค้าไม้เถื่อน ค้ามนุษย์ ค้าอาวุธ คิวรถ ฯลฯ ก็ไม่ช่วยให้อิทธิพลของการรัฐประหารกลายเป็นอำนาจที่คนวางใจได้

เพราะรัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมไทยบัญญัติไว้นานแล้วว่า อำนาจใดๆ ก็ตาม (ทั้งอิทธิพลและอำนาจ) ย่อมไม่เป็นที่น่าไว้วางใจทั้งสิ้น จนกว่าจะมีเกิดการถ่วงดุลกันอย่างมีประสิทธิผล

น่าประหลาดที่อำนาจอย่างเดียวที่เหลืออยู่ในการถ่วงดุลอิทธิพลเวลานี้ในทัศนะของคนไทยจำนวนไม่น้อย คือ มหาอำนาจต่างประเทศ นั่นคือเหตุผลที่ต้องเขียนป้ายประท้วงเป็นภาษาอังกฤษไงครับ

เนติบริกรและนักวิชาการบริกรทั้งหลายชอบพูดว่า ประชาธิปไตยไม่เหมาะกับวัฒนธรรมไทย ผมอยากจะชี้ว่า เผด็จการก็ไม่เหมาะกับวัฒนธรรมไทยเหมือนกัน เพราะเปิดให้อำนาจ (ทั้งอำนาจและอิทธิพล) ทำอันตรายผู้คนได้ โดยไม่มีทางจะป้องกันตัวได้



.