http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2556-04-10

ฝูงชนในการปฏิวัติสยาม(2) โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์

.
บทความก่อนหน้า - ฝูงชนในการปฏิวัติสยาม(1) โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์ http://botkwamdee.blogspot.com/2013/04/n-bad-old.html

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

ฝูงชนในการปฏิวัติสยาม (2)
โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์

ใน มติชนออนไลน์ วันพุธที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2556 เวลา 19:00:24 น.
( www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1365580997 )
ที่มา มติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 5 เมษายน 2556 ปีที่ 33 ฉบับที่ 1703  หน้า 30
( ภาพจาก sanamluang2008.blogspot.de )


การที่ส่วนใหญ่ของชาวนาไทยคือชาวนารายย่อยที่เป็นเจ้าของที่ดินของตนเองนี้ เป็นหมอนกันกระทบต่อความผันผวนทางเศรษฐกิจได้มากกว่าชาวนาเวียดนามและพม่าอยู่ไม่น้อย เพราะอย่างน้อยก็ยังผลิตเพื่อยังชีพ และมีข้าวกิน ในขณะเดียวกัน เพราะไม่มีเจ้าที่ดินรายใหญ่ในท้องถิ่น ทรัพยากรสาธารณะต่างๆ จึงยังอยู่ ไม่ถูกใครฮุบเอาไป ชาวนาจึงสามารถฝากท้องไว้กับห้วยหนองคลองบึงและป่าได้อีกส่วนหนึ่งด้วย

นี่คือเหตุผลที่พวกกษัตริย์นิยมในสมัยหลัง (เช่น ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช) ชอบพูดว่า ส่วนใหญ่ของคนไทยซึ่งเป็นชาวนาอยู่สุขสบายดีใน พ.ศ.2475 อย่างน้อยก็มีข้าวกิน และการดุลข้าราชการคือสาเหตุอย่างเดียวที่ทำให้เกิดการปฏิวัติขึ้น สรุปก็คือเฉพาะพวก "หัวใหม่" ในหมู่กระฎุมพีเท่านั้น ที่ไม่พอใจระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ คนอื่นเขาปลื้มกันทั้งนั้น

แต่นี่เป็นการมองชีวิตชาวนาไทยจากด้านเดียว คือเอากล้าไปจิ่มไว้ในเลน แล้วก็รอเก็บเกี่ยวเอามาหุงกิน

แม้ไม่มีเจ้าที่ดินมาคอยแบ่งผลผลิตหรือเก็บค่าเช่านา แต่ชาวนาจะหันไปผลิตเพียงเพื่อยังชีพในปีที่ราคาข้าวตกต่ำได้หรือไม่ คงไม่ง่ายอย่างนั้น เพราะจากการสำรวจในทศวรรษ 2470 ชาวนาในภาคกลางแต่ละครอบครัวล้วนมีหนี้สินจำนวนมากทั้งสิ้น อย่างไรเสียก็ต้องผลิตมากกว่าที่ครอบครัวจะบริโภค เพื่อได้เงินไปใช้หนี้หรืออย่างน้อยก็ใช้ดอก ซ้ำข้าวที่ผลิตเพื่อมุ่งใช้หนี้ยังราคาตกเสียอีก ยิ่งต้องผลิตมากขึ้นหรืออดมากขึ้น (คือแบ่งส่วนที่จะให้ลูกเมียได้กินไปเพิ่ม) จึงจะพอใช้หรือผ่อนหนี้ได้

อย่างไรเสีย การผลิตเพื่อตลาดก็ยังเป็นส่วนสำคัญอยู่นั่นเอง


การผลิตเพื่อตลาดนั้นเปลี่ยนชีวิตชาวนาเลี้ยงตนเองไปทั้งชีวิตเลยนะครับ เปลี่ยนตั้งแต่การเลือกคู่ไปถึงการเลี้ยงลูก แต่ผมจะขอพูดแต่ด้านปากท้องด้านเดียว

การผลิตเพื่อยังชีพใช้ต้นทุนไม่มาก และชาวนาส่วนใหญ่ก็หามาได้เอง เช่น แรงงานของตนเองและครอบครัว งัวควาย พันธุ์ข้าวซึ่งเก็บมาแต่ปีกลาย เครื่องมือการเกษตร ที่ดินซึ่งจับจองเอาได้ แหล่งน้ำจากฟ้าเป็นอย่างน้อย ฯลฯ ได้ข้าวมาก็กิน ไม่มีทุนอะไรจะเก็บไว้นอกจากที่ดิน, งัวควาย เครื่องมือ และแรงงาน

พอหันมาผลิตเพื่อตลาด จะเอาทุนที่ไหนมาเพิ่มได้ นอกจากกู้หนี้ยืมสิน เอามาจ่ายค่าแรง และก็มีหลักฐานการเดินทางของชาวอีสานลงมารับจ้างทำนาตั้งแต่สมัยนั้นแล้ว บางทีก็ต้องเช่าที่ดินของชาวนารวยมาเสริมที่ดินของตน เพื่อให้คุ้มแก่การผลิต พันธุ์ข้าวที่มีอยู่ไม่พอก็ต้องซื้อหา

ที่สิ้นเปลืองมากที่สุดคือเวลาครับ ที่จะเอามาทอผ้าเอง, ซ่อมเครื่องมือจับปลาและการเกษตรเอง, นั่งสีไฟหุงข้าวเอง, ทำไต้ใช้เอง ฯลฯ ก็ไม่มี จึงต้องซื้อหาจากตลาดด้วยเงินสด ก่อนเก็บเกี่ยวจะเอาเงินจากไหน ก็ต้องกู้ยืมอีกนั่นแหละ ซ้ำในยามเศรษฐกิจตกต่ำสินค้าเครื่องใช้จำเป็นในชีวิตเหล่านี้ ก็มีแนวโน้มราคาสูงขึ้นด้วย

ดังนั้น ถึงแม้ชาวนาไทยมีข้าวกิน แม้ในปีที่ข้าวไม่ดี เพราะไม่มีเจ้าที่ดินมาแบ่งเอาไป ก็ยังต้องกินน้อยลงในปีนั้น เพื่อหมุนหนี้ให้วนต่อไปได้ และอย่าลืมเป็นอันขาดว่า หนี้ไม่ได้มีแต่เงินต้น มีดอกซึ่งค่อนข้างสูงติดมาด้วยเสมอ (เพราะแหล่งเงินกู้มีน้อย)

เศรษฐกิจตกต่ำจึงมีผลร้ายต่อชาวนาอยู่มาก เกินกว่าที่คนเป็น ม.ร.ว. หรือกระฎุมพีในเมืองจะเข้าใจได้


เงินสดอีกก้อนที่ชาวนาต้องแบกรับคือค่านาและค่ารัชชูปการปีละ 6 บาท ค่านาในภาคกลางนั้น ชาวนาในภาคกลางบางส่วนเริ่มเสียเป็นเงินแทนข้าวมาตั้งแต่ก่อนสนธิสัญญาเบาว์ริงแล้ว พอมาสมัย ร.5 ก็เก็บเป็นเงินหมด ว่าถึงจำนวนที่เรียกเก็บก็อาจกล่าวได้ว่าไม่สูงนัก โดยเฉพาะในปีที่ข้าวดี

ส่วนเงินค่ารัชชูปการคือ "ค่าราชการ" (จ่ายเป็นเงินแทนการเข้าเวรรับราชการ) ที่แปรเปลี่ยนมาเก็บเป็นรายหัวปีละ 6 บาท ภาษีรายหัวเป็นภาษีที่ทางเศรษฐศาสตร์เรียกว่า "ถอยหลัง" (regressive) ที่สุดอย่างหนึ่ง เพราะเก็บจากหัวคนรวยและหัวคนจนเท่ากัน (ทั้งๆ ที่สองฝ่ายย่อมได้ประโยชน์จากรัฐไม่เท่ากัน) ฉะนั้น การที่ ร.6 ทรงประกาศว่า พระองค์เองก็จ่ายค่ารัชชูปการปีละ 6 บาท เหมือนราษฎรไทยทุกคน จึงฟังดูตลกสิ้นดี ไม่รู้จะเอามายอพระเกียรติได้อย่างไร ในสมัย ร.6 เป็นต้นมายังมีการเก็บภาษีที่เรียกว่า "ศึกษาพลี" เพิ่มอีกหัวละ 1 บาท

สิ่งที่ต้องสำนึกไว้ก็คือ "ภาษี" เหล่านี้ (และเงินต้นกับดอกเบี้ย) เก็บในอัตราตายตัว ในขณะที่รายได้ของชาวนาเป็นข้าวซึ่งไม่ได้มีราคาตายตัว ขึ้นลงได้ตามความผันผวนของราคาตลาดโลก ฉะนั้น ในปีที่ข้าวดี ความเดือดร้อนที่ต้องเสียภาษีเหล่านี้แก่รัฐ (และจ่ายหนี้) ก็ไม่สู้กระไร แต่ในปีที่ข้าวไม่ดีหรือเศรษฐกิจตกต่ำ ย่อมแปลว่าข้าวในยุ้งถูกตักตวงเอาไปมากกว่าที่ชาวนาจะรับไหว

ในช่วงทศวรรษ 2470 มีฎีกาของชาวนาจำนวนมากซึ่งหลั่งไหลเข้ามาถวาย ขอร้องให้ลดหรืองดค่านาและเงินรัชชูปการ (ภาษีรายหัว) ในช่วงข้าวยากหมากแพงนี้ ไม่ต่างจากรัฐบาลอาณานิคมทั้งในเวียดนาม, พม่า และชวา ก็ได้รับคำร้องเรียนเช่นนี้จากชาวนาเหมือนกัน



เงินสดที่ชาวนาต้องเสีย "ภาษี" ในรูปต่างๆ เหล่านี้ เมื่อเทียบกับดอกเบี้ย และค่าเช่าที่ดินอาจมีสัดส่วนที่น้อยกว่ามาก แต่ก็มากพอที่จะทำความเดือดร้อนแก่ชาวนาในภูมิภาคอุษาคเนย์ได้ไม่น้อยเหมือนกัน ทั้งในเวียดนามและพม่า กบฏชาวนาพากันไปยึดที่ทำการรัฐบาล เพื่อทำสองอย่างคือยึดเงินที่ถูกเก็บภาษีไปหากยังไม่ได้ส่งถึงส่วนกลาง และทำลายเอกสารการจ่ายภาษีและการเช่าที่ดิน เพื่อทำให้ไม่สามารถกลับมาเรียกเก็บได้อีก

ในเมืองไทยมีกลุ่มคนที่เรียกว่า "นักเลง" ในชุมชนชาวนา ไม่ว่าเราจะเข้าใจความหมายของ "นักเลง" มาอย่างไรก็ตาม ผมขอนิยามเอาเองอย่างง่ายๆ ว่านักเลงคือคนกล้าตีกล้าต่อย (ด้วยปูมหลังอย่างไรก็ตามทีเถิด) เพราะจะทำให้เราเข้าใจปรากฏการณ์ "นักเลง" ซึ่งไม่ได้เกิดเฉพาะในภาคกลางของไทยเท่านั้น แต่เกิดในสังคมชาวนาของอุษาคเนย์อีกหลายแห่ง

ในประเทศที่มีเจ้าที่ดินรายใหญ่ๆ เช่น เวียดนามและพม่าล่าง "นักเลง" คือคนของเจ้าที่ดินและ "อำมาตย์" ของหมู่บ้าน ถูกจ้างหรือไหว้วาน (ด้วยความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์) ให้ต่อยตีหรือกระทืบลูกนาที่ไม่ยอมแบ่งข้าวให้ตามสัญญา (จาก 50% ไปจนถึง 70%) หรือชาวนาที่ไม่ยอมจ่ายภาษีให้รัฐ รวมทั้งขับไล่ลูกนาเบี้ยวหนี้เหล่านี้ออกจากที่นาด้วย

ในเมืองไทยก็มีบทบาทของ "นักเลง" อย่างนี้เหมือนกันแถบทุ่งรังสิต คือเผาบ้านของชาวนาบุกเบิกที่เข้าไปจับจองที่ดินทำกินมาก่อนที่บริษัทคูคลองสยามจะได้พระบรมราชานุญาตไปถือครองด้วยการขุดคลอง แต่พ้นจากทุ่งรังสิตไป เราไม่ค่อยได้ยินบทบาทอย่างนี้ของ "นักเลง" ไทย


"นักเลง" ไทยคือคนกล้าตีกล้าต่อยที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านตำบล มีอิทธิพลในแถบนั้น เพราะมีสมัครพรรคพวกมาก นอกจากให้ความคุ้มครองชาวบ้านแล้ว ก็มีหลักฐานจำนวนมากที่บอกว่าพวกเขายังลักหรือปล้นงัวควายชาวบ้าน (ในหมู่บ้านตำบลอื่น) ด้วย ซ้ำยังมีหลักฐานด้วยว่า ยกกำลังกันไปปล้นกองเก็บค่านาของหลวง โดยเฉพาะในสมัย ร.5 เมื่ออำนาจรัฐแผ่เข้าไปในชนบทได้เบาบาง (อย่างน้อยก็เพราะมีเงินสดให้ปล้น)

รัฐบาลต้องส่งกำลังเข้าไปปราบ "อ้ายเสือ" ในชนบทเป็นระยะสืบมาจนถึง ร.6 จำนวนของคนเหล่านี้ที่รัฐไปปราบหรือจับได้ บางครั้งก็มีจำนวนสูงมากอย่างน่าตกใจ นี่คือ "กบฏชาวนา" ของภาคกลางซึ่งไม่มี "ผีบุญ" หรือ "ผู้มีบุญ" เป็นผู้นำ เหมือนภาคอิสานและภาคเหนือ



"นักเลง" สัมพันธ์กับ "อ้ายเสือ" อย่างไร ไม่มีการศึกษาที่ดีพอจะบอกได้ในเวลานี้ (อาจารย์เครก เรย์โนลดส์ แนะจากประวัติของขุนพันธารักษ์ราชเดชว่า "นักเลง" สัมพันธ์กับตำรวจด้วย) แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าส่วนหนึ่งของการเป็นนักเลงคือลักขโมยและปล้นอยู่ด้วย ฉะนั้น เราน่าจะเข้าใจนักเลงได้ดีกว่า หากหันไปดูนักเลงในแง่ "โจรทางสังคม" (social bandits) อย่างที่ Eric Hobsbawm เสนอไว้

Hobsbawm เสนอว่า โจรประเภทนี้เกิดในสังคมชาวนา และไม่ว่าพวกเขาจะปล้นเงินคนรวยมาแจกคนจนอย่างโรบินฮู้ดหรือไม่ก็ตาม พวกเขาต้องมีฐานความนิยมในชุมชนชาวนา เช่น มีหมู่บ้านที่เป็นมิตรกับพวกเขา มีเรื่องราวเล่าลือถึงความใจ "นักเลง" ของเขาที่ให้แก่คนยากคนจน เขามีศัตรูที่เป็นศัตรูของชาวนาโดยทั่วไปด้วย เขาจึงเป็นวีรบุรุษของชาวนา มีตำนาน, ร้อยกรองและเพลงที่เล่าขานถึงคนเหล่านี้มากมาย

น่าเสียดายที่เรามีงานศึกษาเกี่ยวกับชนบทไทยในช่วงที่เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่ครั้งนี้น้อยเกินไป ทำให้ไม่สามารถพูดอย่างชัดเจนได้ว่า สภาวะปั่นป่วนทางสังคมที่เกิดในชนบทเป็นครั้งคราวนั้น เกิดขึ้นจากสภาวะเศรษฐกิจโดยรวมอย่างไรบ้าง แต่การระบาดของ "อ้ายเสือ" ในภาคกลางก็มีตลอดมานับตั้งแต่ปลาย ร.5 เป็นต้นมา ในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำทศวรรษ 2470 ยิ่งมีมากขึ้นหรือไม่ ผมก็ไม่ทราบแน่

แต่แน่นอนว่า ชาวนาไทยไม่ได้อยู่เฉยๆ อย่างเป็นสุข ไม่ว่าจะเกิดความผันผวนทางเศรษฐกิจอย่างไร แต่มีการเคลื่อนไหวในรูปต่างๆ เสมอมา


เมื่อพูดถึง "อ้ายเสือ" ในภาคกลางแล้ว ทำให้ต้องย้อนคิดไปถึงการเคลื่อนไหวของชาวนาในภาคอีสานและเหนือ ในช่วงที่เรียกกันว่ากบฏ "ผีบุญ" ด้วย

ความเคลื่อนไหวเหล่านี้เกิดในช่วงกลางทศวรรษ 2440 แต่ไม่พบความสัมพันธ์กันระหว่างใต้, เหนือ และอีสาน อย่างไรก็ตาม จะสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับความเปลี่ยนแปลงที่รัฐไทยสร้างขึ้นหรือไม่อย่างไร การศึกษาที่ผ่านมาไม่สู้จะให้ความสนใจนัก เช่น การรวมอำนาจเข้าศูนย์กลางในดินแดนที่เคยเป็นประเทศราชเหล่านี้ ตลอดจนการเก็บส่วยเป็นตัวเงินแทนสินค้าซึ่งก่อให้เกิดความยากลำบากแก่ชีวิตชาวนาอยู่มาก

อันที่จริง งานศึกษาการเคลื่อนไหวของชาวนาไทยในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำในทศวรรษ 2470 นั้น ยังไม่ได้ทำเลย จะกล่าวว่าการปฏิวัติสยามใน 2475 เป็นเรื่องของกระฎุมพีข้าราชการแย่งอำนาจกับชนชั้นนำเดิมเพียงด้านเดียว จึงเป็นการด่วนสรุปเกินไป


ในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำ เมื่อชาวนาเดือดร้อนกับค่านาและค่ารัชชูปการนั้น รัฐบาลสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไม่ได้ตอบสนองต่อข้อเรียกร้องของชาวนาให้งดหรือลดภาษีจำนวนนี้ลงเลย และตรงกันข้ามด้วยซ้ำ
ในยามเช่นนี้ ทั้งในพม่าและเวียดนาม เมื่อรัฐบาลอาณานิคมขาดเงินที่จะจ่ายเงินเดือนข้าราชการ รัฐบาลกลับเร่งรัดและเก็บเงินจำนวนนี้จากชาวนาอย่างเคร่งครัดขึ้น เพื่อชดเชยเงินที่ขาดหายไปในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำ
ผมไม่ได้เห็นหลักฐานว่ารัฐบาลสมบูรณาญาสิทธิราชย์สยามทำอย่างเดียวกันหรือไม่ แต่แน่นอนว่า แม้เก็บอย่างขาดๆ เกินๆ ก็ทำความเดือดร้อนแสนสาหัสแก่ชาวนาแล้ว

ในช่วงเดียวกันนี้ กระฎุมพีน้อยในเมือง (ทั้งที่เป็นข้าราชการและไม่ใช่) เสนอให้รัฐบาลหาทางชดเชยเงินที่ขาดหายไป ด้วยการเก็บภาษีรายได้ และภาษีที่ดิน (คือไม่ใช่ค่านา แต่เก็บจากเจ้าของที่ดิน อย่างที่เราทำในปัจจุบัน) อันเป็นภาษีที่ "ก้าวหน้า" และเป็นธรรม เพราะชนชั้นผู้มีสมบัติต้องจ่าย แต่รัฐบาลสมบูรณาญาสิทธิราชย์ก็ปฏิเสธ และไม่ยอมขยายฐานภาษีไปยังกลุ่มเจ้าสมบัติซึ่งล้วนเป็นพระประยูรญาติหรือผู้ใต้อุปถัมภ์ของตน เป็นธรรมดาที่คนเหล่านั้นย่อมยินดีจ่ายค่ารัชชูปการหัวละ 6 บาทต่อปีมากกว่า


* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
ร่วมคลิกไลค์แฟนเพจมติชนสุดสัปดาห์ผ่านทางเฟซบุ๊กได้ที่
www.facebook.com/matichonweekly




.

2556-04-09

ฝูงชนในการปฏิวัติสยาม(1) โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์

.

ฝูงชนในการปฏิวัติสยาม (1)
โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์

ใน มติชนออนไลน์ วันพุธที่ 03 เมษายน พ.ศ. 2556 เวลา 20:05:26 น.
( www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1364993032 )
ที่มา มติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2556 ปีที่ 33 ฉบับที่ 1702 หน้า 32
( ภาพจาก http://chaoprayanews.com/ )


การปฏิวัติสยาม 2475 ถูกเล่ากันมาทั้งในแบบเรียนประวัติศาสตร์และงานวิชาการในทำนองเดียวกัน คือเป็นความขัดแย้งด้านต่างๆ ทั้งทางอุดมการณ์, การกระจายผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ, ความไม่เสมอภาคทางสังคมและการเมือง ฯลฯ ระหว่างชนชั้นนำในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และเหล่า "กระฎุมพีข้าราชการ" ซึ่งรวมหัวกับนายทุนไทย-จีน จนในที่สุดก็สามารถยึดอำนาจบ้านเมืองมาได้ในวันที่ 24 มิถุนายน

ไม่มีมวลชนอื่นเข้ามาเกี่ยวข้องเลย จนบางคนเรียกมันว่าการรัฐประหาร แย่งอำนาจกันในกลุ่มชนชั้นปกครองเท่านั้น ไม่ใช่การปฏิวัติ และอีกเสี้ยวศตวรรษต่อมาก็ถอดวันที่ 24 มิถุนายน ออกจากความเป็นวันชาติ ทั้งที่ "ชาติ" ไทยถือกำเนิดขึ้นในวันนั้นเป็นครั้งแรก เมื่อคณะราษฎรประกาศว่าประเทศไทยเป็นสมบัติของปวงชนชาวสยาม หาใช่ของกลุ่มบุคคลเพียงกลุ่มเดียวไม่

วันชาตินั้นเปลี่ยนไปด้วยอำนาจ ก็เปลี่ยนกลับด้วยอำนาจได้เหมือนกัน แต่ที่น่าสังเกตกว่าคือผู้คนไม่สนใจลุกขึ้นมาทักท้วงต่างหาก ลองฝรั่งเศสคนไหนคิดเปลี่ยนวันชาติจาก 14 กรกฎาคม บ้าง คงต้องเป็นเรื่องใหญ่ในสังคมฝรั่งเศสแน่


ผมไม่ค่อยแน่ใจว่า ภาพการปฏิวัติสยามที่เสนอกันมา โดยปราศจากบทบาทของมวลชนระดับล่างเลยนั้น เป็นภาพที่จริงหรือไม่ หรือเป็นเพียงการบิดเบือน (ทั้งโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจ) จะไม่ให้ความสนใจแก่ความเคลื่อนไหวของประชาชนระดับล่างเลย

ดังนั้น 24 มิถุนายน จึงถูกเชื่อมโยงกับความเคลื่อนไหวของชนชั้นนำนับตั้งแต่คำกราบบังคมทูลของเจ้านายข้าราชการในสมัย ร.5 ลงมาถึง "กบฏ" ร.ศ.130 มากกว่าเชื่อมโยงกับความเป็นไปในสังคมวงกว้าง ซึ่งต้องรวมชาวนา, กรรมกร และพ่อค้ารายย่อยด้วย อย่างน้อยก็เพราะความเคลื่อนไหวของชนชั้นนำมีหลักฐานเป็นลายลักษณ์อักษร จึงศึกษาได้สะดวกกว่า

แต่ก็มีหลักฐานบางอย่างที่ชี้ให้เห็นว่า คนธรรมดาสามัญก็มีความตื่นตัวทางการเมืองในระดับหนึ่ง และแน่นอน ในฐานะมนุษย์ก็คงมีทั้งความพอใจหรือไม่พอใจต่อนโยบายที่กระทบชีวิตของเขา มากบ้างน้อยบ้างเป็นธรรมดา ถ้าอดอยากยากแค้นหรือลำบากลำบนมากนัก ก็อาจคิดอย่างที่คนไทยโบราณคิดก็ได้ว่า พระเจ้าแผ่นดินองค์นี้หมดบุญวาสนาเสียแล้ว บ้านเมืองจึงได้ยุคเข็ญอย่างนี้

หลักฐานภาพถ่ายในหนังสือพิมพ์ของวันที่ 24 มิถุนายน ชี้ให้เห็นว่า คนกรุงเทพฯ พากันออกมายืนริมถนนจำนวนมาก เพื่อชมขบวนทหารที่เคลื่อนผ่านหน้าไปสู่พระที่นั่งอนันตฯ ภาพนี้แสดงให้เห็นว่าประชาชนไม่ได้นอนหลับไม่รู้นอนคู้ไม่เห็น กับการแย่งอำนาจกันของชนชั้นปกครองแน่ ไม่ว่าเขาจะเข้าใจมันมากน้อยเพียงไรก็ตาม

บางคนอาจบอกว่าก็ไทยมุงไง เรื่องตื่นเต้นขนาดนี้จะไม่ให้มุงตามวัฒนธรรมได้อย่างไร ก็อาจจะจริง เพราะผมบอกจากภาพไม่ได้ว่าเขาออกมาแสดงความยินดีต้อนรับนักปฏิวัติ หรือออกมามุงเฉยๆ บางคนบอกว่ามีคนโบกมือให้ทหารในภาพด้วย แต่ผมไม่ได้เห็นภาพนั้น และการโบกมือให้แก่ "อำนาจ" ก็เป็นส่วนหนึ่งที่คนไทยทำกันเสมอ โดยไม่แสดงให้รู้ถึงความคิดจิตใจของผู้โบก

ที่น่าสังเกตกว่าคือ ในภาพที่ผมเห็น ไม่อาจบอกได้ว่าเขายินดีหรือไม่ แต่ก็บอกไม่ได้เหมือนกันว่า เขายินร้ายหรือไม่ ที่ผมอยากจะชี้ให้ดูในที่นี้ก็คือ ตลอดเวลาที่คณะราษฎรมีอำนาจนั้น ไม่มีการต่อต้านจากประชาชนระดับล่างเลยนะครับ มีแต่การต่อต้านของ "ระบอบเก่า" หรือ ancien regime เท่านั้น

ผมสรุปอย่างนี้จะยุติธรรมไหมว่า ประชาชนระดับล่างไม่หนาวด้วยความโหยหาระบอบเจ้า แต่ก็ไม่ร้อนด้วยความคึกคักกับการมาของระบอบใหม่... อย่างน้อยตามหลักฐานที่ปรากฏ



ผมอยากเตือนด้วยว่า การปฏิวัติสยามไม่ใช่การเปลี่ยนราชวงศ์อย่างที่คนไทยรู้จักกับการชิงราชสมบัติที่ทำกันมาแต่อดีต หากเป็นการเปลี่ยน "ระบอบ" ปกครอง ความไม่หนาวไม่ร้อนตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์นั้น อาจบอกอะไรได้มากกว่านั้น

บอกอะไรได้บ้าง? ความกระตือรือร้นที่จะใช้สิทธิเสรีภาพอันได้มาในวันที่ 24 มิถุนายน มีให้เห็นในหลักฐานมากมาย ที่ใช้กันเป็นบุคคลเช่นนักเรียนใช้กับครู ผู้ใต้บังคับบัญชาใช้กับผู้บังคับบัญชา ฯลฯ ผมจะไม่พูดถึง แต่ผมอยากให้สังเกตการใช้ในลักษณะองค์กร เช่นเรื่องของ คุณถวัติ ฤทธิเดช อย่าลืมนะครับว่าเขาเป็นประธานสหภาพแรงงานรถราง มีความจำเป็นที่เขาจะต้องรักษาความนิยมในหมู่แรงงานด้วยกัน ฉะนั้น การกระทำของเขาจึงต้องผ่านการ "คำนวณ" ของตัวเขาเองแล้วว่า จะไม่บั่นรอนความนิยมต่อตัวเขาในหมู่สมาชิกของสหภาพ
ทั้งนี้ ย่อมแสดงว่า มีคนเล็กคนน้อยอยู่จำนวนหนึ่งที่ยินดีปรีดากับการปฏิวัติที่เกิดขึ้นแน่


ย้อนไปก่อนหน้าการปฏิวัตินานพอสมควร ท่านรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ บันทึกว่า ตั้งแต่ท่านเป็นเด็ก บิดาของท่านก็พูดคุยเรื่องการเมืองและสิทธิเสรีภาพของราษฎรกับเพื่อนชาวนาด้วยกันแล้ว แสดงว่าสำนึกทางการเมืองไม่ได้จำกัดอยู่กับนักเรียนยุโรป และกระฎุมพีข้าราชการเท่านั้น

"กบฏ" เก๊กเหม็ง (การปฏิวัติของจีน) และกบฏ "บอลเชวิค" ในรัสเซีย สร้างความตระหนกให้แก่เจ้านายอย่างมาก ไม่ใช่เพียงเกรงว่าความคิดแบบนั้นจะเล็ดลอดเข้ามาในสยาม แต่มีการกล่าวหากันมาว่าคนนั้นคนนี้เป็นพวก "เก๊กเหม็ง" แสดงว่ามันเล็ดลอดเข้ามาแล้ว และถึงกับมี "สาวก" ของลัทธิแล้วเหมือนกัน หนังสือลัทธิไตรราษฎร์ของคุณหมอซุนยัตเซนถูกแปลเป็นไทยแล้ว และพรรคคอมมิวนิสต์ (อินโดจีน) ก็มีสาขาในไทยแล้ว
เขาคงไม่คิดจะแปลลัทธิไตรราษฎร์ให้เจ้าอ่าน และพรรคคอมมิวนิสต์คงไม่ได้คิดจะเชิญเจ้ามาเป็นสมาชิกพรรค เขามุ่งไปที่ใครเล่าครับ อาจเฉพาะเจ๊กลากรถ แต่มันไม่หกไปถึงคนไทยบ้างเลยหรือ


นี่แหละครับ หากเล่าเรื่องปฏิวัติประชาธิปไตยไทยเฉพาะจากร้านกาแฟในปารีส โดยไม่สนใจสังคมไทยในวงกว้าง ก็จะมองเห็นการปฏิวัติสยามเป็นเพียงการรัฐประหารแย่งอำนาจกันของชนชั้นปกครอง


เรามักพูดถึงเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลกซึ่งเริ่มมาตั้งแต่ 2472 ว่าเป็นสาเหตุที่ทำให้รัฐบาลสมบูรณาญาสิทธิราชย์ต้องปลดข้าราชการและปรับลดเงินเดือน "กระฎุมพีข้าราชการ" เพราะงบประมาณขาดดุลต่อเนื่องกันหลายปี แต่ไม่ค่อยมีใครสนใจว่าเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลกครั้งนั้น กระทบต่อชีวิตราษฎรสามัญประเภทต่างๆ อย่างไรบ้าง

ผมอยากเตือนไว้ด้วยว่าเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลกในครั้งนี้ สร้างความเดือดร้อนแสนสาหัสให้แก่ชาวนาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างกว้างขวาง และเกิดกบฏชาวนาขนาดใหญ่ขึ้นในอาณานิคมทั้งของอังกฤษและฝรั่งเศส นั่นคือกบฏซายาซานในพม่าล่าง กับกบฏตั้งโซเวียตชาวนาขึ้นในเวียดนามกลางและล่าง (อันนัมและโคชินไชนา) อันที่จริง เกิดกบฏอย่างเดียวกันในชวา แต่ไม่ใหญ่เท่า ทั้งหมดนี้คือกรณีศึกษาเพื่อทำความเข้าใจเศรษฐกิจเชิงศีลธรรมของ ศาสตราจารย์เจมส์ สก๊อต ในหนังสือเลื่องลือชื่อ The Moral Economy of the Peasant 
มีความเหมือนและความต่างที่สำคัญระหว่างชาวนาไทย และชาวนาเวียดนาม-พม่า ที่ทำให้การตอบสนองต่อภาวะเศรษฐกิจตกต่ำมีระดับความรุนแรงต่างกัน


ชาวนาในสามประเทศนี้ต่างหันมาผลิตเพื่อตลาดอย่างเข้มข้นขึ้น จริงอยู่ไม่เท่ากับในปัจจุบัน เพราะการผลิตเพื่อยังชีพยังเป็นพื้นฐานสำคัญ แต่ก็ต้องผลิตมากกว่า "พอเพียง" เพื่อจะได้เงินสดใช้ในชีวิตประจำวัน ในส่วนประเทศไทย การผลิตเพื่อสนองตลาดโลกนี้เริ่มในภาคกลางก่อน (บางแห่งอาจจะก่อนสนธิสัญญาเบาว์ริงด้วยซ้ำ) เพราะมีเส้นทางคมนาคมถึงโรงสีและท่าเรือสะดวก แต่เมื่อมีการใช้เรือไอและต่อมาสร้างทางรถไฟไปถึงโคราชและลำปาง การผลิตป้อนตลาดโลกก็ขยายจากภาคกลางไปยังบางส่วนของภาคเหนือและอีสาน แม้กระทั่งภาคใต้อันมีพื้นที่เหมาะแก่นาข้าวไม่มาก

การผลิตที่ส่วนสำคัญไปผูกกับความผันผวนของตลาดโลก ย่อมต้องได้รับผลกระทบจากความผันผวนนั้นเป็นธรรมดา วิกฤตเศรษฐกิจโลกไม่ได้เกิดขึ้นในช่วงทศวรรษ 2470 เป็นครั้งแรก ในปลายรัชกาลที่ 5 (ทศวรรษ 2450) ก็เคยเกิดวิกฤตเงินกู้ซึ่งเริ่มในสหรัฐก่อนมาแล้ว และก่อให้เกิด "กบฏ" และการประท้วงในรูปแบบต่างๆ ของชาวนาทั้งในเวียดนามตอนล่างและในพม่าล่าง ในช่วงนั้นเกิดอะไรกับชาวนาไทยบ้าง ผมไม่ได้ศึกษาค้นคว้าพอ จึงต้องบอกว่าผมไม่ทราบ

นี่เป็นความเหมือนที่สำคัญระหว่างชาวนาในสามประเทศ


แต่ความต่างที่สำคัญก็คือ ส่วนใหญ่ของชาวนาในพม่าล่างและเวียดนามกลางและล่างล้วนเป็นผู้เช่านาหรือชาวนารายย่อยที่มีที่ดินเพียงขนาดเล็กมากๆ จนผลิตได้ไม่พอกินและใช้จ่าย แต่ก็มีกิจการที่ต้องจ้างแรงงานอยู่บ้าง เช่นสวนยางในโคชินไชนา หรือท่าเรือและการขนส่งในพม่าเป็นต้น ทำให้ชาวนาได้รายได้เสริมจากงานจ้าง

ชาวนาเวียดนามและพม่าสูญเสียที่ดินของตนอย่างรวดเร็วเพราะความผันผวนของราคาข้าวในตลาดโลก และการอพยพเข้าของประชากรจากส่วนอื่นของประเทศและของอาณานิคม ทำให้ค่าแรงต่ำลง และค่าเช่านาสูงขึ้น ซ้ำรัฐบาลอาณานิคมยังกันสาธารณสมบัติเช่นป่า หรือหนองน้ำให้เป็นสมบัติของอาณานิคม ทำให้หาที่เพาะปลูกใหม่ไม่ได้ หรือพักพิงกับทรัพยากรซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นส่วนกลางของชุมชนไม่ได้

ตรงกันข้ามกับเจ้าที่ดินซึ่งในพม่าคือนายทุนเงินกู้ชาวอินเดียซึ่งยึดที่ดินของชาวนาล้มละลายไว้จำนวนมาก ในโคชินไชนาเจ้าที่ดินถือครองที่ดินกว้างใหญ่ไพศาลด้วยแรงสนับสนุนของรัฐบาลอาณานิคม ส่วนเจ้าที่ดินในอันนัมยึดที่ดินจากชาวนาล้มละลาย และยังขยายที่ดินของตนไปยึดครองที่สาธารณะอีกด้วย โดยรัฐบาลอาณานิคมทำเป็นมองไม่เห็น เพราะต้องอาศัยแรงสนับสนุนของเจ้าที่ดินซึ่งเป็น "อำมาตย์" ของหมู่บ้าน

ความต่างที่สำคัญคือส่วนใหญ่ของชาวนาไทยเป็นเจ้าของที่ดินของตนเอง พูดอย่างนี้แล้วก็ต้องย้ำด้วยว่า เป็นเจ้าของที่ดินในทางปฏิบัติเท่านั้นนะครับ คือหลวงไม่ได้รับรองกรรมสิทธิ์เหนือที่ดินซึ่งใช้กำลังเบิกป่าเป็นนาแต่อย่างไร นอกจากเก็บภาษีที่ดิน เพราะรัฐบาลสมัย ร.5 ได้ยกเลิกคำพิพากษาซึ่งมีมาในสมัย ร.4 อันได้ตัดสินว่า ที่ดินที่ชาวนาได้เสียเงินทำตราจองไว้และเสียค่านามาโดยตลอด ย่อมเป็นกรรมสิทธิ์ของชาวนาผู้นั้น

เหตุใดรัฐบาลในสมัย ร.5 จึงปฏิเสธการถือกรรมสิทธิ์ที่ดินของชาวนา ทั้งนี้ ก็เพราะเอกสารสิทธิ์เหนือที่ดินนั้น จะเป็นผลให้ขุนนางและเจ้าสัวในเมือง ไปลงทุนจับจองที่ดินเป็นของตนเองขนาดใหญ่ กลายเป็นเจ้าที่ดินซึ่งมีลูกนาจำนวนมาก และนั่นคือที่มาของอำนาจอันเป็นอิสระจากราชบัลลังก์ (เป็นระบบศักดินาของตลาด) พระบรมราโชบายคือการรวบอำนาจเข้าศูนย์กลางภายใต้ราชบัลลังก์ เอกสารสิทธิ์เหนือที่ดินขนาดใหญ่ของขุนนางและเจ้าสัวย่อมขัดกับพระบรมราโชบายโดยตรง เพราะกระจายอำนาจออกไปจากราชบัลลังก์
ทั้งนี้ ยกเว้นเฉพาะที่ดินแถบทุ่งรังสิต ซึ่งพระประยูรญาติถือครองอยู่คนละจำนวนมากๆ เท่านั้น


ดังนั้น ในประเทศไทย ชาวนารายย่อยคือพันธมิตรทางการเมืองที่แข็งแกร่งของราชบัลลังก์ กีดกันมิให้ขาใหญ่อื่นๆ ถ่วงดุลพระราชอำนาจด้วยการถือครองที่ดินทางการเกษตรขนาดใหญ่ ซึ่งจะทำให้มี "ไพร่" (ในระบบตลาด) สังกัดอยู่จำนวนมาก อย่างที่เกิดในพม่าและเวียดนาม... ก็อุตส่าห์เลิกไพร่ประเภทหนึ่งมาได้สำเร็จ จะปล่อยให้เกิดไพร่อีกอย่างหนึ่งขึ้นมาได้อย่างไร

(ยังมีต่อ)



.

2556-04-08

40 ปี สงครามเวียดนาม โดย ปิยมิตร ปัญญา

.

40 ปี สงครามเวียดนาม
โดย ปิยมิตร ปัญญา piyamitara@gmail.com
ในมติชน ออนไลน์ วันอาทิตย์ที่ 07 เมษายน 2556 เวลา 21:09:49 น.
( www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1365304273 )
(ที่มา มติชนรายวัน ฉบับวันอาทิตย์ที่ 7 เมษายน 2556 หน้า 22 )


กาลเวลา 40 ปี ทำให้สงครามเวียดนามกลายเป็นเพียงภาพรางเลือนในความทรงจำของหลายต่อหลายคน ในทางหนึ่งทั้งหมดอาจหดรวมกันเหลือเพียงแค่ แอ็บสแตรคของผู้ชนะและคนแพ้
ในอีกทางความทรงจำที่เด่นชัดกว่ากลับเป็นผลพวงของสงคราม ที่บางคราวเป็นโศกนาฏกรรมยิ่งกว่าตัวสงครามเองด้วยซ้ำไป


สงครามเวียดนามสร้างตัวเลขอัศจรรย์เอาไว้หลากหลายอย่างยิ่ง ตัวเลขที่บางทีทรงความหมายอย่างยิ่งในตัวของมันเอง ขอเพียงแค่นำกลับมาใคร่ครวญ พินิจพิเคราะห์ให้ลึกซึ้ง และปราศจากอคติบดบังเท่านั้น

สงครามเวียดนามเริ่มต้นในปี 1955 สิ้นสุดลงอย่างเป็นทางการเมื่อไซ่ง่อนแตกในปี 1975 ไม่มีใครรู้แน่ชัดว่า สงครามนี้คร่าชีวิตผู้คนไปเป็นจำนวนเท่าใดกันแน่ ได้แต่ประมาณกันไว้คร่าวๆ ว่า มีชีวิตคนสูญเสียชีวิตและส่วนหนึ่งส่วนใดของร่างกายไปกับสงคราม 20 ปีหนนี้มากถึง 5,773,190 คน
ในจำนวนนี้เป็นการสูญเสียชีวิตถึง 2,122,244 ราย

ในจำนวนอเมริกันที่ถูกเกณฑ์มาทำสงครามในเวียดนาม จำนวนทั้งหมด 2.59 ล้านคน เสียชีวิตไปมากถึง 58,169 ราย อายุเฉลี่ยของอเมริกันที่ตายไปในสงครามหนนี้คือ 23.11 ปี มีราว 11,465 ราย ที่เสียชีวิตในสงครามเวียดนาม อายุไม่ถึง 20 ปีด้วยซ้ำไป

อเมริกันอีก 304,000 คน ได้รับบาดเจ็บ ในจำนวนนี้มีอยู่จำนวน 75,000 คน ที่กลายเป็นคนพิการร้ายแรงไปตลอดชีวิตที่ยังหลงเหลือ นั่นเนื่องเพราะอาการบาดเจ็บที่ทำให้ถึงกับต้องพิการ ตัดแขนขา อวัยวะอย่างหนึ่งอย่างใดออกไปในสงครามเวียดนามนั้นมีสูงกว่าในสงครามโลกครั้งที่สองถึง 300 เปอร์เซ็นต์

ในขณะเดียวกัน มีทหารเวียดนามเหนือและเวียตกง (กองกำลังติดอาวุธคอมมิวนิสต์ในเวียดนามใต้) เสียชีวิตไปในระหว่างการต่อสู้ในสงคราม 444,000 ราย นั่นน้อยกว่าพลเรือนเวียดนามที่เสียชีวิตไปเพราะสงครามครั้งนี้มากถึง 587,000 ราย และมีทหารเวียดนามใต้ เสียชีวิตไปในสงครามครั้งนี้อีก 440,357 ราย

ประมาณกันว่า มีคนเวียดนามได้รับบาดเจ็บจากสงครามหนนี้ถึง 935,000 คน

จำนวนคนสัญชาติเวียดนาม ไม่แบ่งแยกเหนือใต้และทหารหรือพลเรือนที่เสียชีวิตไปในสงครามครั้งนี้จึงมีมากถึง 1,471,357 ราย น่าเศร้าเพียงใด น่าสลดใจเพียงใด


อเมริกันใช้เงินงบประมาณที่เก็บจากภาษีของราษฎรไปในการทำสงครามหนนี้ รวมแล้ว 352,000 ล้านดอลลาร์ 6,000 ล้านดอลลาร์จากจำนวนดังกล่าวถูกใช้ไปเพื่อการทิ้งระเบิดแบบปูพรมทั้งในเวียดนาม ลาว และกัมพูชา โดยเที่ยวบินทิ้งระเบิดจำนวนมากถึง 1,899,688 เที่ยวบิน ที่หย่อนระเบิดจำนวน 6,727,084 ตัน ลงสู่พื้นดินเป้าหมาย

ในสงครามโลกครั้งที่สอง กองทัพพันธมิตรทิ้งระเบิดใส่เยอรมนีเพียง 2,700,000 ตัน เท่านั้นเอง

ประเมินความเสียหายของเวียดนามเหนือจากผลของการทิ้งระเบิดเหล่านี้มีมากถึง 600 ล้านดอลลาร์ แต่นั่นยังไม่สำคัญเท่ากับการสูญเสียชีวิตผู้คนจำนวนมาก

ในเดือนเมษายน ปี 1975 เมื่อไซ่ง่อนแตก มีชาวเวียดนามอพยพหนีออกนอกประเทศในวันเดียวมากถึง 140,000 คน อีก 10 ล้านคน หลบหนีออกมาเป็นระยะๆ หลังจากนั้นในจำนวนนี้มี "กำพร้าสงคราม" มากถึง 900,000 คน

ชัยชนะหรือพ่ายแพ้ในสงครามจึงแทบไม่มีนัยสำคัญใดๆ

ในเมื่อสิ่งที่หลงเหลืออยู่คือความสูญเสียมหาศาลของทั้งสองฝ่ายเท่านั้นเอง



สงครามเวียดนามสิ้นสุดลงไม่พร้อมกัน สำหรับอเมริกันทั้งหลาย สงครามเวียดนามสิ้นสุดลงในวันที่ 29 มีนาคม 1973 เมื่อธงชาติ "สตาร์ แอนด์ สไตรป์ส" ที่ "กองบัญชาการให้ความช่วยเหลือด้านการทหารต่อเวียดนาม-เอ็มเอซีวี" ในไซ่ง่อน ถูกเชิญลงจากเสา พับเก็บ เป็นพิธีการสิ้นสุดการปฏิบัติการทางทหารทุกรูปแบบ หลังจากที่รัฐสภาอเมริกันลงมติตัดงบประมาณทั้งหมด เพื่อให้ความช่วยเหลือต่อกองทัพเวียดนามใต้ที่ดำเนินมามากกว่า 11 ปี 

สำหรับชาวเวียดนาม สงครามหนนี้ไม่เพียงเริ่มต้นเร็วกว่า ยังสิ้นสุดลงเร็วกว่าด้วย
หลังจากนั้น สงครามเวียดนามในความรู้สึกของชาวเวียดนาม สิ้นสุดลงอย่างเป็นทางการเมื่อ "ไซ่ง่อนแตก" กองทัพเวียดนามเหนือ-เวียตกงบุกเข้ายึดไซ่ง่อนได้อย่างเป็นทางการ
ในวันที่ 29 เมษายน 1975 หรือในอีก 2 ปีถัดมา


ความทรงจำเกี่ยวกับสงครามยาวนานนั้นขึ้นอยู่กับแต่ละผู้คน บาดแผลของสงครามที่กรีดผ่านความคิดและจิตใจของแต่ละผู้คนแตกต่างกันออกไป ผิวเผิน บางเบา และบาดลึกไม่เหมือนกัน

สิ่งที่ค้างคาอยู่ในจิตใจของ โฮเวิร์ด เคิร์น อดีตทหารอากาศยศจ่าสิบเอก จากโอไฮโอ หนักแน่นและยาว ไม่ใช่เหตุการณ์ในสงครามที่เขาใช้ชีวิตอยู่ยาวนานถึง 1 ปีเต็ม หากแต่เป็นความทรงจำเมื่อเดินทางกลับบ้านเกิดหลังการ "รับใช้ชาติ" ในปี 1968 ในห้วงเวลาที่การเดินขบวนประท้วงต่อต้านสงครามเวียดนามกำลังระอุอยู่ทั่วไปในสหรัฐอเมริกา

เคิร์นบอกว่า เขาบินกลับสหรัฐอเมริกามาพร้อมกับทหารคนอื่นๆ อีกจำนวนหนึ่ง ทุกคนได้รับคำบอกให้เปลี่ยนเครื่องแบบเป็นชุดพลเรือนตั้งแต่ยังอยู่บนเครื่องบิน-เพื่อไม่ให้ตกเป็นเป้าของการประท้วง

เคิร์นซึ่งขณะนี้อายุ 66 ปี บอกว่าสิ่งที่ติดค้างอยู่ในใจเขามากที่สุดก็คือความแตกต่างของบรรยากาศ "ก่อนหน้า" และ "หลัง" จากการเดินทางไปเสี่ยงชีวิตที่เวียดนาม

"สื่อต่างๆ พากันแสดงแต่สิ่งที่แย่ๆ ที่ทหารทำเอาไว้ที่โน่น แล้วก็จำนวนศพเท่านั้น" เขาบอกว่า จีไอทั้งหลายทำอะไรที่ดีๆ ไว้ไม่น้อย "แต่คุณไม่มีวันได้พบเห็นสิ่งเหล่านั้น ไม่มีวันได้เห็นอะไรดีๆ ที่จีไอทำ"

เคิร์นไม่ยอมติดริบบิ้นแสดงตัวเป็นทหารผ่านศึกเวียดนาม ไม่เคยบอกเล่าสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่จะเชื่อมโยงเขากับสงครามไกลโพ้น ไม่แม้แต่กับผู้เป็นภรรยา ตราบจนกระทั่งอีกหลายปีให้หลัง หลังจากที่พวกเขาแต่งงานกัน

น่าสนใจที่ความคิดเรื่องนี้แตกต่างออกไปในปัจจุบัน อเมริกันจำนวนไม่น้อยยังคง "เกลียด" สงคราม ยังคงมีขบวนการและกระบวนการต่อต้านสงครามในสังคมอเมริกันเกิดขึ้นให้เห็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสงครามอิรัก

พวกเขาเกลียด "สงคราม" แต่ยังคงเคารพต่อ "นักรบ" และยินดีต้อนรับพวกเขากลับบ้าน แตกต่างกันอย่างลิบลับกับการต้อนรับด้วยการประท้วงและด่าทอเมื่อครั้งกระโน้น

หรือนี่คือความไร้ปรานีอีกรูปแบบหนึ่งของสงคราม



เวย์น เรย์โนลด์ส มีความทรงจำในอีกรูปแบบต่อสงครามเวียดนาม เขาทำหน้าที่เป็นทหารประจำหน่วยแพทย์อพยพ และกู้ชีพด้วยเฮลิคอปเตอร์ ระหว่างปี 1968-1969 ในวันที่เลวร้าย การสู้รบเกิดขึ้นอย่างหนักหน่วง เครื่องบินของเขาต้องบินขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่า เพื่อไปร่อนลงยังแนวรบไม่น้อยกว่า 4-5 ครั้ง เพื่อนำทหารที่ได้รับบาดเจ็บไปส่งยังโรงพยาบาลสนาม

ปฏิบัติการครั้งแล้วครั้งเล่าในบรรยากาศน่าพรั่นพรึง ภายใต้สภาวะแวดล้อมน่าหวาดหวั่น สยดสยอง กลับมาหาเขาในรูปของฝันร้าย ฝันถึงภาพของทหารบาดเจ็บ เลือดนองเต็มไปทุกหนแห่ง เสียงคร่ำครวญโอดโอย บาดแผลและสายตาพรั่นพรึงของเหยื่อแห่งความรุนแรงในสงคราม

ฝันร้ายยิ่งรุนแรงมากขึ้น เลวร้ายขึ้นในทุกครั้งที่เขาใช้เวลาส่วนใหญ่ของวันครุ่นคิดถึงมัน คิดถึงเวียดนาม ราวป่า เฮลิคอปเตอร์ ระเบิด กระสุนและเลือด
"ผมเห็นคนตายมามากเกินไป" เรย์โนลด์สบอก

ปัจจุบัน เรย์โนลด์สใช้ชีวิตอยู่ในเอเธนส์ รัฐอลาบามา ยึดอาชีพเป็นบุรุษพยาบาลจดทะเบียน และในเวลาเดียวกันก็ทำหน้าที่เป็นประธานทหารผ่านศึกเวียดนามแห่งอเมริกาประจำอลาบามามาแล้ว 13 ปี
หลังจากที่เคยพยายามปิดกั้นสงครามจากตัวเองมานานหลายปี ไม่พูดถึง ไม่เคยใส่มันไว้ในประวัติเพื่อการสมัครงานด้วยซ้ำไป

ความจริงย่อมเป็นความจริงอยู่วันยังค่ำ


ประสบการณ์ของ เดนิส ดี. เกรย์ แตกต่างออกไป เขาสัมผัสกับสงครามเวียดนามครั้งแรกในฐานะนายทหารฝ่ายข่าว ยศร้อยเอก ประจำหน่วยข่าวกรองทหารบก ในไซ่ง่อนระหว่างปี 1970-1971 ก่อนที่จะกลับไปที่นั่นอีกครั้ง ในฐานะของผู้สื่อข่าวประจำสำนักข่าวเอพี

ในเดือนสิงหาคม 1973 และส่งผลให้เขาผ่านสารพัดสงครามต่อเนื่องกันยาวนานในอีก 40 ปีต่อมา
ภารกิจที่หน่วยของเกรย์รับผิดชอบก็คือ การเตรียมการเพื่อถอนกำลังทหารออกมาจากเวียดนามใต้ โดยการส่งมอบโครงงาน สรรพาวุธและเสบียงต่างๆ ให้กับกองทัพเวียดนามใต้ ในช่วงที่ถือกันว่าเป็น "ระยะสุดท้าย" ของสงคราม

เกย์บอกว่า โดยส่วนตัวแล้วเขาเข้าสู่กองทัพและเดินทางมายังเวียดนาม เพราะ "อยาก" เชื่อว่า ถึงแม้นี่จะไม่ใช่ "สงครามที่เป็นธรรม" แต่ก็เป็น "สงครามที่จำเป็น" ต้องทำ 
"แต่เมื่อถึงที่สุดแล้ว ผมกับเพื่อนๆ แล้วก็ผู้ใต้บังคับบัญชา ต่างเลิกล้มความ "อยาก? ที่ว่านั้น และไม่ค่อยมีใครเชื่ออย่างนั้นอีกต่อไป" ซึ่งทำให้สถานการณ์ที่พวกเขาเผชิญสลับซับซ้อนมากยิ่งขึ้น

ตอนเขากลับมาอีกครั้ง หลังการถอนทหารอเมริกัน 
กลับบ้านราว 4 เดือน สงครามระหว่างกองทัพเวียดนามเหนือ-เวียตกง และกองทัพเวียดนามใต้ยังคงดำเนินต่อไป
ไซ่ง่อนไม่ได้แตกตื่น แต่เต็มไปด้วยความกระวนกระวาย ขวัญกำลังใจตกต่ำ ด้วยความรู้สึกที่ว่า สหรัฐอเมริกากำลังจะลาจากไปโดยไม่ได้ "ปิดงาน"

สงครามเวียดนามกลายเป็นเบ้าหลอมชีวิต "นักข่าว" อีกทั้งชีวิตในเวลาต่อมาของ เดนิส เกรย์ เขาผ่านสงครามและการก่อการร้ายอีกนับครั้งไม่ถ้วนในเวลาต่อมา ตั้งแต่กัมพูชา เรื่อยไปจนถึงอิรัก เขาบอกว่า แค่แว่วว่าจะมีสงคราม หลายคนก็ออกปากบอกว่าเขาต้องไปที่นั่น

"ทั้งๆ ที่ผมไม่ได้ชอบสงคราม-ผมเกลียดมันด้วยซ้ำไป"




โฮ วัน มินห์ อดีตนายทหารเวียดนามเหนือ บอกว่า เขาได้ยินเรื่องการถอนกำลังกลับประเทศของทหารอเมริกันเป็นครั้งแรก ตอนที่ประชุมร่วมกับผู้บังคับบัญชาในสนามรบ ภายในดินแดนของเวียดนามใต้ ข่าวที่ว่านั้นทำให้เกิดความคาดหวังใหม่ๆ ถึงชัยชนะ และ "ช่วยให้เรารบได้อย่างแข็งแกร่งมากขึ้น" แต่โดยส่วนตัวของ โฮ วัน มินห์ แล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาหลังจากนั้นคือ

"วันเวลาที่เลวร้ายที่สุด" ของสงคราม

โฮ วัน มินห์ เสียขาข้างขวาให้กับกับระเบิด ขณะยกกำลังมุ่งหน้าสู่ไซ่ง่อน เมืองหลวงของเวียดนามใต้ในเวลานั้น

แต่เขาบอกว่า การถอนกำลังออกไปของกองทัพอเมริกัน ทำให้กองทัพเวียดนามใต้อ่อนแอลง ขวัญกำลังใจของกองทัพเวียดนามเหนือสูงขึ้น ทุกคนล้วนเชื่อมั่นว่า อีกไม่นาน ไซ่ง่อนก็จะถูก "ปลดปล่อย"

40 ปีผ่านไป โฮ วัน มินห์ บอกว่า เขาไม่ได้หลงเหลือความรู้สึกโกรธ เกลียด ชิงชังใดๆ กับทหารอเมริกันเหล่านั้น แม้ว่าจะเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ประเทศของเขาเสียหายยับเยิน และทั้งทหารและพลเรือนเวียดนามราว 3 ล้านคน ต้องจบชีวิตลง

ถ้าเจอทหารผ่านศึกอเมริกันในวันนี้ โฮ วัน มินห์ บอกว่า เขาจะ "ไม่รู้สึกโกรธ" อีกต่อไป

"แทนที่จะกราดเกรี้ยว ผมจะบอกพวกเขาว่า ผมเห็นใจพวกเขา เพราะเขาถูกส่งมารบที่เวียดนามโดยไม่ได้สมัครใจแต่อย่างใด"

ในเวลาเดียวกัน เขาก็เชื่อมั่นในสิ่งที่ตัวเองทำไว้ระหว่างสงครามว่า เป็นสิ่งที่ต้องทำ

"ถ้าใครเข้ามาทำลายบ้านคุณ คุณก็ทำอย่างอื่นไม่ได้ นอกจากต้องยืนหยัดต่อสู้"

เท่านั้นเอง!




.

2556-04-07

กระบวนการสันติภาพ: อย่า“ฝันกลางวัน”! โดย สุรชาติ บำรุงสุข

.

กระบวนการสันติภาพ : อย่า“ฝันกลางวัน”!
โดย สุรชาติ บำรุงสุข
ในมติชน ออนไลน์ วันที่ 06 เมษายน พ.ศ. 2556 เวลา 23:29:22 น.
( www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1365240648 )
จากคอลัมน์ ยุทธบทความ มติชนสุดสัปดาห์ 5 เม.ย.56 ปีที่ 33 ฉบับที่ 1703 หน้า 36
( ภาพจากไทยรัฐ )


"ทำสงครามง่ายกว่าสร้างสันติภาพ"
Georges Clemenceau 
นายกรัฐมนตรีฝรั่งเศส 
20 กรกฎาคม ค.ศ.1919



ผลของการเปิดเวทีในการพบกันระหว่างเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติของไทยกับ นายฮัสซัน ตอยิบ ตัวแทนของกลุ่มบีอาร์เอ็นโคออร์ดิเนต (BRN-Coordinate) ที่ประเทศมาเลเซีย เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ก่อให้เกิดความคาดหวังอย่างมากว่า สงครามก่อความไม่สงบที่แสดงออกด้วยการใช้ความรุนแรงในรูปแบบต่างๆ ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยนั้น กำลังจะสิ้นสุดลง หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลไทยที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้ดูจะเชื่ออย่างมากว่า "สงครามกำลังจะสงบแล้ว!"
และขณะเดียวกันผลจากปรากฏการณ์ของการลงนามดังกล่าวก็ทำให้สังคมไทยเกิดความคาดหวังอย่างมากว่า ข่าวของความรุนแรงจากพื้นที่ภาคใต้ของไทยกำลังจะยุติลงในเวลาอีกไม่นานนัก


แต่ดูเหมือนสภาพการณ์ที่เกิดขึ้นยังไม่เป็นไปตามความคาดหวังทั้งของรัฐบาลและสังคมไทยแต่อย่างใด

หลังจากการเจรจาแล้ว ความรุนแรงยังคงเกิดขึ้นต่อเนื่องเสมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้นที่กัวลาลัมเปอร์แต่อย่างใด


แน่นอนว่า เราอาจจะตีความได้ง่ายๆ ว่า ปรากฏการณ์ของความรุนแรงที่ยังเกิดขึ้นเป็นเพราะบางส่วนของขบวนติดอาวุธยังไม่ยอมรับแนวทางการเจรจา และใช้ความรุนแรงเป็นเครื่องมือในการส่งสัญญาณตอบโต้ เป็นต้น

ปรากฏการณ์เช่นนี้ทำให้เราอาจจะต้องหันกลับมาพิจารณาผลของกระบวนการสันติภาพมากกว่าจะคาดหวังแบบง่ายๆ ว่า การลงนามที่เกิดขึ้นกำลังนำไปสู่การยุติสงคราม

เพราะหากผู้ที่เกี่ยวข้องกับฝ่ายรัฐบาลดำเนินการในเรื่องนี้อย่างขาดความรัดกุมแล้ว บางทีผลลัพธ์อาจจะกลายเป็นความรุนแรงที่มากขึ้น แทนที่จะเป็นความสงบที่มากขึ้น


ดังนั้น ถ้าฝ่ายรัฐบาลตัดสินใจที่จะเปิดการเจรจากับกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ สิ่งแรกที่จะต้องตระหนักก็คือ การเจรจามีความเสี่ยง เพราะทัศนะของกลุ่มที่คัดค้านการเจรจามักจะเริ่มจากประเด็นที่ถูกกล่าวถึงอยู่เสมอก็คือ "การเจรจาคือการยอมรับ"

กล่าวคือ การเปิดการเจรจาของรัฐบาลทำให้ถูกตีความได้ว่าเป็นการรับรองสถานะทางการเมืองของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบอย่างเป็นทางการ

และที่สำคัญก็คือ อาจถูกนำไปตีความในทางที่ผิดได้ว่า การเจรจาคือการยอมต่อการใช้ความรุนแรงที่เกิดขึ้น

อีกทั้งบางส่วนอาจมองว่า การเจรจาเป็นเสมือนการรับรองสถานะทางกฎหมายของกลุ่มผิดกฎหมายเหล่านั้น

ในขณะเดียวกันกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบบางส่วนก็มองว่า "การเจรจาคือโอกาส" เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าการขึ้นสู่โต๊ะเจรจาเป็นการรับรองสถานะโดยปริยายสำหรับกลุ่มก่อความไม่สงบทั้งหลาย

และสำหรับพวกเขาแล้ว การยอมรับสถานะเช่นนี้ถือได้ว่าเป็น "ชัยชนะทางการเมือง" อย่างแน่นอน เพราะผลที่เกิดขึ้นเป็นการยกสถานะบางกลุ่มซึ่งเป็นกองกำลังติดอาวุธและมีสถานะผิดกฎหมาย กลายเป็นกลุ่มที่มีการรับรองโดยรัฐ

ซึ่งว่าที่จริงประเด็นนี้เป็นเรื่องที่กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบต้องการมากที่สุด เพราะการได้รับรองสถานะเช่นนี้ถือว่าเป็น "ความคุ้มค่าทางการเมือง" ในเบื้องต้น อันทำให้เกิดสถานะทั้งทางการเมืองและกฎหมายขึ้นทันทีสำหรับกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ



สิ่งที่จะต้องตระหนักหลังจากการพูดคุยได้เริ่มต้นขึ้นก็คือ บ่อยครั้งที่การพูดคุยไม่ได้นำไปสู่ความสำเร็จดังที่คาดหวังไว้

ในหลายๆ กรณีจะพบว่าความล้มเหลวเกิดขึ้นบ่อยครั้ง และมักจะต้องเริ่มต้นกันใหม่ โดยเฉพาะมักจะพบว่า ในการพูดคุยนั้น มีประเด็นที่ไม่อาจตกลงกันได้เกิดขึ้นอยู่เสมอ และกลายเป็นปมปัญหาที่ทำให้การพูดคุยเดินหน้าต่อไปไม่ได้

หรือในบางกรณีกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบยอมรับเงื่อนไขการหยุดยิงในเบื้องต้นเพียงเพื่อต้องการผลักดันตนเองให้เข้าสู่กระบวนการเจรจา โดยพวกเขาคาดหวังว่าโต๊ะเจรจาอาจจะให้ผลตอบแทนทางการเมืองบางอย่าง

ฉะนั้น การตอบรับในการขึ้นสู่โต๊ะเจรจาอาจจะไม่ได้มีความหมายอะไรมากไปกว่าการสร้างสถานะของกลุ่มตนให้เกิดขึ้นในเวทีระหว่างประเทศ

และขณะเดียวกันก็เห็นได้ชัดในหลายๆ กรณีว่า กลุ่มก่อความไม่สงบมักจะไม่ยอมยุติการใช้ความรุนแรงลงในทันที

เพราะเมื่อใดก็ตามที่พวกเขายุติปฏิบัติการทางทหาร ก็เท่ากับอำนาจการต่อรองของพวกเขาจะหมดตามไปด้วย

ดังนั้น ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น พวกเขายังจำเป็นต้องคงปฏิบัติการของพวกเขาต่อไป

เช่น กลุ่มฮามาสอาจจะยอมตกลงประกาศการหยุดยิงครั้งแล้วครั้งเล่า แต่ในท้ายที่สุดการหยุดยิงดังกล่าวก็ล้มเหลว และสถานการณ์ถอยกลับไปสู่การต่อสู้กันอีกเช่นก่อนการประกาศหยุดยิง


นอกจากนั้น ในบางครั้งเราอาจจะพบว่า กลุ่มก่อความไม่สงบใช้การเจรจาเป็นเครื่องมือในการปรับตัว/ปรับกำลัง หรืออาจกล่าวได้ว่า "การเจรจาคือการซื้อเวลา"

กล่าวคือ อาศัยช่วงเวลาของการเจรจาเป็นจังหวะของการพักฟื้นกองกำลังของฝ่ายตน หรือเป็นเวลาของการปรับกำลัง/ปรับตัวของกลุ่มติดอาวุธก็ได้ เช่น กลุ่ม Provisional-IRA (P-IRA) ที่ได้ตัดสินใจแยกตัวออกจากการเจรจากับอังกฤษนั้น พวกเขาได้อาศัยช่วงเวลาของการหยุดยิงในการแสวงหาอาวุธเพิ่มเติม ทั้งหาจากแหล่งอาวุธในสหรัฐอเมริกาและในรัสเซีย

หรือกลุ่มบาสก์ (ETA) ในสเปนก็อาศัยการหยุดยิงในปี 2541 เป็นระยะเวลาของการปรับกำลัง เช่นเดียวกันกับกลุ่มพยัคฆ์ทมิฬอีแลมในศรีลังกาใช้เงื่อนไขของการหยุดยิงเป็นจังหวะของการเสริมสร้างขีดความสามารถทางทหารของตน เป็นต้น

ในสถานการณ์ของการเจรจาหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะทำให้เกิดการแตกตัวของขบวนก่อความไม่สงบออกเป็นกลุ่มย่อยๆ โดยเฉพาะปีกที่ไม่เห็นด้วยกับการเจรจานั้น พร้อมที่จะแยกตัวออกและจัดตั้งเป็นกลุ่มใหม่

ซึ่งกลุ่มที่แตกตัวออกเช่นนี้พร้อมที่จะใช้ความรุนแรงที่มากขึ้นเป็นเครื่องมือของการก่อเหตุร้าย หรืออาจกล่าวได้ว่า พวกเขาพร้อมที่จะขยายความรุนแรงให้กลายเป็นเครื่องมือของการตอบโต้กับการเจรจาที่เกิดขึ้น

ฉะนั้น ผลที่เกิดขึ้นจึงกลับกลายเป็นว่า การเจรจาเป็นปัจจัยที่ทำให้ความรุนแรงมีมากขึ้น และขณะเดียวกันก็เกิดความซับซ้อนมากขึ้นด้วย เพราะจำนวนกลุ่มของผู้ก่อความไม่สงบมีมากขึ้นจากการแยกตัวดังที่กล่าวแล้ว

กรณีของกลุ่ม P-IRA เป็นตัวอย่างที่ดีในกรณีนี้ หรือในกรณีของปัญหาแคชเมียร์ก็เกิดปรากฏการณ์นี้เช่นกัน เมื่อแนวร่วมปลดปล่อยอัมมูและแคชเมียร์มีท่าทีสนองตอบต่อแนวทางสันติ แต่กลุ่มหัวรุนแรงอีกส่วนหนึ่งกลับไม่เห็นด้วย และแยกตัวออกพร้อมกับดำเนินการด้วยความรุนแรงต่อไป

กล่าวคือ ในสถานการณ์ของการเจรจานั้น ต้องตระหนักถึงผลที่จะเกิดขึ้นได้เสมออย่างมีนัยสำคัญก็คือ การเจรจาที่เกิดขึ้นนั้นพร้อมที่จะทำให้มีกลุ่มใหม่ๆ เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา และขณะเดียวกันพวกเขาก็พร้อมจะดำเนินการต่อสู้ด้วยความรุนแรงต่อไปด้วย

การเจรจาในสถานการณ์เช่นนี้จึงไม่ได้เป็นอะไรมากไปกว่า "การพักครึ่งเวลา" ของสงครามเท่านั้น!



นอกจากนี้คงต้องยอมรับว่า คุณลักษณะของกลุ่มก่อความไม่สงบในปัจจุบันมีสภาพที่แตกต่างไปจากพรรคคอมมิวนิสต์ที่มี "ศูนย์การนำ" ที่แน่นอนและชัดเจน

การตัดสินใจของศูนย์การนำในการเปิดการเจรจานั้น สามารถใช้ระบบของการสั่งการแบบคอมมิวนิสต์ให้สมาชิกพรรคยอมรับแนวทางการเจรจาภายใต้แนวคิดแบบ "ประชาธิปไตยรวมศูนย์" ได้ แต่ก็มิได้หมายความว่า จะไม่มีการแตกตัวออก หากแต่การแตกตัวเพื่อจัดตั้งกลุ่มใหม่อาจจะน้อยกว่าองค์กรติดอาวุธในปัจจุบัน เพราะเงื่อนไขของกลุ่มก่อความไม่สงบร่วมสมัยเห็นได้ชัดเจนว่า พวกเขาคุมสมาชิกของกลุ่มไม่ได้ทั้งหมด

ประเด็นของการที่ผู้นำกลุ่มก่อความไม่สงบไม่สามารถควบคุมสมาชิกขององค์กรได้ทั้งหมดดูจะเป็นปัญหาปกติ
เช่น ในระหว่างการเจรจาสันติภาพอาจจะพบว่า มีการวางระเบิดเพื่อทำให้ความเชื่อถือในการเจรจาลดลง
และผลที่เกิดขึ้นยังทำให้เกิดความหวาดระแวงในทางฝ่ายรัฐบาล เพราะในระหว่างที่การเจรจาดำเนินอยู่นั้น กลับเกิดปฏิบัติการทางทหารอย่างต่อเนื่อง 
ซึ่งอาจจะส่งผลให้ในที่สุดแล้ว การเจรจาที่เกิดขึ้นอาจจะล้มลงได้

นอกจากนี้ ยังอาจจะพบว่า มีบางกลุ่มก่อความไม่สงบอาจจะใช้เวทีของการเจรจาเพื่อการเปลี่ยนสถานภาพทางการเมืองของตน ในการแสวงหาประโยชน์ตอบแทน
โดยอาจจะมีการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์กับการเจรจาที่เกิดขึ้น

ซึ่งหลายครั้งพบว่า ฝ่ายรัฐบาลอาจจะให้ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจแก่ผู้ร่วมเจรจาอีกฝ่ายหนึ่ง

ดังนั้น จึงอาจจะไม่ใช่เรื่องแปลกที่อาจจะพบว่า มีผู้เข้าร่วมการเจรจาบางส่วนที่เข้าร่วมด้วยความคาดหวังว่าจะได้รับผลตอบแทนบางประการ

แต่บางทีก็อาจจะต้องระมัดระวังว่า อาจจะมีบางส่วนยังคงใช้องค์กรที่เดินแนวทางแบบสายกลาง เป็น "เวทีเปิด" เพื่อการเจรจา

แต่ขณะเดียวกันก็แสวงหาความสนับสนุนทางเศรษฐกิจจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และนำเอาผลตอบแทนดังกล่าวส่งให้แก่กลุ่มที่ยังดำเนินแนวทางการต่อสู้ด้วยความรุนแรงต่อไป



ประเด็นอีกส่วนหนึ่งที่สำคัญเกี่ยวข้องกับประเทศที่สาม เพราะการเจรจามักจะเกิดขึ้นในประเทศที่สาม ดังนั้น ความสำเร็จของการเจรจาจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือของประเทศดังกล่าว เพื่อช่วยในการจัดเตรียมสถานที่ที่จะเอื้ออำนวยให้เกิดบรรยากาศในการพูดคุย

ดังเช่นกรณีของการเจรจาสันติภาพที่อาเจะห์ได้อาศัยประเทศฟินแลนด์เป็น "พื้นที่กลาง" ของการพบเจรจาระหว่างผู้แทนของรัฐบาลอินโดนีเซียและผู้แทนของกลุ่มอาเจะห์เสรี

ในกรณีอื่นๆ ก็เช่นกัน ประเทศที่สามที่จะเป็นพื้นที่เป็นกลางมีความสำคัญที่จะช่วยให้การเจรจาไม่ถูกจำกัดอยู่กับพื้นที่ที่เป็นปัญหา

อีกทั้งอาจจะต้องระมัดระวังถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประเทศเพื่อนบ้านด้วย เพราะสถานการณ์การก่อความไม่สงบที่เกิดขึ้น โดยทั่วไปนั้นจำเป็นต้องมีพื้นที่ที่เป็น "หลังพิง"

ซึ่งถ้าประเทศซึ่งถูกใช้เป็นฐานที่มั่นมีความตั้งใจที่จะช่วยเหลือประเทศเป้าหมายให้เกิดสถานการณ์ที่ความรุนแรงลดลงแล้ว แรงกดดันดังกล่าวก็จะมีส่วนช่วยอย่างมากที่จะเป็นปัจจัยให้เกิดการเจรจาขึ้น

แต่ถ้าแรงสนับสนุนจากประเทศเพื่อนบ้านยังคงมีอยู่มาก และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการให้ความช่วยเหลือในการเป็นฐานที่มั่นข้ามชายแดนยังคงดำเนินต่อไปแล้ว การก่อความไม่สงบก็น่าจะดำเนินต่อไปได้เช่นกัน

การยุติสงครามของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยเป็นตัวอย่างที่ดีในกรณีนี้ 
เพราะ พคท. ได้รับผลอย่างมากจากการประกาศยุติการให้ความช่วยเหลือของรัฐบาลจีน 
ประกอบกับการมีแนวทางที่แตกต่างกันระหว่างพรรคไทยกับพรรคลาวและพรรคเวียดนาม ทำให้หลังพิงที่ พคท. เคยใช้ต้องยุติลงไปโดยปริยาย จนกลายเป็นอุปสรรคอย่างสำคัญต่อความอยู่รอดของ พคท. ในสุดท้าย


ดังนั้น การทำลายหลังพิงของกลุ่มก่อความไม่สงบในประเทศเพื่อนบ้าน ไม่ว่าจะเป็นในอดีตหรือในปัจจุบันก็ตาม เป็นเรื่องที่มีความสำคัญ เพราะมีผลโดยตรงอย่างมากต่อการดำรงอยู่ของกองกำลังติดอาวุธที่อยู่ในดินแดนของอีกประเทศหนึ่ง

ซึ่งหากรัฐบาลประเทศข้างเคียงที่เป็นฐานที่มั่นดังกล่าวมีความจริงใจในการช่วยแก้ปัญหาแล้ว หลังพิงเช่นนี้คงถูกทำลายลงไม่ยากนัก

ซึ่งไทยกับประเทศเพื่อนบ้านมีปัญหาเช่นนี้ดำรงอยู่พอสมควร ทั้งทางใต้และทางตะวันตกในอดีต



อย่างไรก็ตาม เราอาจจะต้องยอมรับว่า ทุกการเจรจาจะต้องพบกับปัญหาของผู้ที่ต้องการให้การเจรจาล้มลง ซึ่งผู้ที่มีแนวคิดเช่นนี้อาจจะอยู่ทั้งกับฝ่ายรัฐบาลหรือกับฝ่ายผู้ก่อความไม่สงบก็ได้ 
ดังนั้น จึงอาจจะต้องทำใจยอมรับว่า เมื่อการเจรจาเริ่มขึ้นแล้ว การเจรจาดังกล่าวก็อาจถอยกลับสู่ที่เดิมได้ตลอดเวลา หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ ทุกขั้นตอนของการเจรจามี "ความเสี่ยง" เกิดขึ้นได้เสมอ


ดังนั้น กระบวนการนี้จะต้องดำเนินการด้วยความระมัดระวัง 
และจะต้องสร้างให้เกิดความเข้าใจแก่ทุกฝ่าย 
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกระบวนการนี้ต้องการการสร้างความเข้าใจแก่ภาคสังคม เพราะหากเกิดการเจรจาบนพื้นฐานที่ขาดความสนับสนุนหรือขาดความเข้าใจแล้ว ก็อาจกลายเป็นอุปสรรคใหญ่ได้เช่นกัน

เรื่องราวเหล่านี้บอกแก่เราอย่างมีนัยสำคัญว่า ต้องคิดถึงเรื่องของการเจรจาด้วยความละเอียด และด้วยความระมัดระวัง

จะคิดแต่เพียงด้วยอาการ "ฝันกลางวัน" อย่างเดียวคงไม่ได้!




.
Admin ไม่สามารถเข้าถึงบทความประจำที่นำเสนอมาร่วม 2ปีเสียแล้ว จึงจะไม่ได้เสนอครบถ้วนเหมือนเคย  . .ขออภัยผู้ติดตามทุกท่านด้วย

2556-04-06

คดีประหลาดยิ่งจริงยิ่งหมิ่น โดย สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ

.

คดีประหลาด ยิ่งจริงยิ่งหมิ่น
โดย สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ
จาก www.prachatai3.info/journal/2013/04/46125 . . Sat, 2013-04-06 12:05


สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ
( ที่มา: โลกวันนี้วันสุข ฉบับที่ ๔๐๕  วันที่ ๖ เมษายน ๒๕๕๖ )



เมื่อวันที่ ๒๘ มีนาคม ที่ผ่านมานี้ ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ได้อ่านคำพิพากษา คดี นายเอกชัย หงส์กังวาน ที่ถูกฟ้องในความผิดฐาน หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระราชินี รัชทายาท ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๒ และ พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวิดิทัศน์ พ.ศ.๒๕๕๑ คือ การประกอบกิจการจำหน่ายวีดีทัศน์ฯโดยไม่ได้รับอนุญาต ในที่สุด ศาลก็ตัดสินว่า จำเลยมีความผิดตามฟ้อง จึงให้ลงโทษจำคุก ๕ ปี และปรับ ๑ แสนบาท แต่เนื่องจากจำเลยเบิกความเป็นประโยชน์ลดโทษให้ ๑ ใน ๓ คงเหลือโทษจำคุก ๓ ปี ๔ เดือน และปรับ ๖๖,๖๖๖ บาท และหลังจากนั้น นายเอกชัยก็ถูกนำตัวเข้าคุกทันที

คงต้องอธิบายไว้ในที่นี้ว่า คดีนี้เป็นอีกกรณีหนึ่งของข้อถกเถียงในทางวิชาการเรื่องความไม่เป็นธรรมที่เกิดจากการตัดสินของศาล เพราะความจริงแล้ว กรณีนี้ในทางเหตุผลและหลักฐานไม่อาจจะอธิบายได้เลยว่า นายเอกชัยมีความผิด

นายเอกชัย หงส์กังวาน เดิมมีอาชีพขายหวยบนดิน หลังรัฐประหารใน พ.ศ.๒๕๔๙ เขาเริ่มสนใจการเมือง และเริ่มเข้าฟังการปราศรัยทางการเมืองเป็นระยะ เหตุการณ์การจับกุมนายเอกชัย หงส์กังวาน เกิดขึ้นในวันที่ ๑๐ มีนาคม พ.ศ.๒๕๕๔ ในขณะที่มีการชุมนุมของกลุ่มแดงสยามที่บริเวณอนุสาวรีย์ทหารอาสาข้างสนามหลวง นายเอกชัยได้นำเอาซีดีที่บันทึกรายการโทรทัศน์ของสำนักข่าวเอบีซี (the Australian Broadcasting Corporation) ของออสเตรเลีย และข้อมูลของวิกิลีกส์มาจำหน่าย ทางตำรวจจาก สน.ชนะสงคราม คือ พ.ต.ท.สมยศ อุดมรักษาทรัพย์ เห็นว่าเป็นเรื่องหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ จึงได้มอบหมายให้ ดาบตำรวจนคร คงกลิ่น ได้ทำการล่อซื้อซีดีที่เขาขายราคาแผ่นละ ๒๐ บาท จากนั้นก็จับกุมโดยแจ้งข้อหาคดีตามความผิดตามมาตรา ๑๑๒ ยังได้ยึดของกลางเป็นวีซีดีอีก ๑๔๑ แผ่น พร้อมเอกสารวิกิลีกส์อีก ๒๖ ฉบับ นายเอกชัยถูกขังอยู่ ๘ วัน จึงได้รับการประกันตัวออกไป แต่นายเอกชัยก็ยังถูกดำเนินคดีต่อมา


ประเด็นสำคัญคือ ในซีดีที่เป็นหลักฐานนี้ เป็นรายการสารคดีเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ของไทย โดยสำนักข่าวเอบีซี ซึ่งเผยแพร่ในออสเตรเลียเมื่อวันที่ ๑๓ เมษายน พ.ศ.๒๕๕๓ ซึ่งเป็นเรื่องข้อมูลธรรมดาที่เผยแพร่ทั่วไป และไม่มีคำหยาบหรือหมิ่นประมาทใครเลย ส่วนที่ถูกกล่าวหาว่าหมิ่นองค์รัชทายาท ก็เป็นเพียงภาพเคลื่อนไหวที่เรียกกันว่า คลิปริมสระ ซึ่งเป็นไปในทางชื่นชมพระบารมีของสมเด็จเจ้าฟ้าชายและพระองค์เจ้าศรีรัศม์ พระวรชายา ที่ประทับในงานเลี้ยงริมสระแห่งหนึ่ง แต่ พ.ต.ท.สมยศ ผู้ดำเนินการจับกุมอธิบายว่า การนำคลิปริมสระมาออกรายการ และการตั้งคำถามถึงความเหมาะสมขององค์รัชทายาทและราชินีองค์ต่อไป เป็นการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ โดยเฉพาะซับไตเติลที่กล่าวถึงการมีชายาหลายพระองค์ ซึ่งถือเป็นการเสื่อมเสียพระเกียรติ

ในกรณีนี้ คงต้องขออธิบายว่า ในเมื่อรายการสถานีโทรทัศน์ของออสเตรเลียครั้งนี้ ไม่เคยถูกประกาศที่ไหนให้เป็นรายการที่ผิดกฎหมายไทย นอกจากนี้ คงจะต้องย้ำว่า ในคำบรรยายของรายการที่เป็นภาษาอังกฤษ ก็เป็นไปโดยสุภาพและไม่ได้มีการหมิ่นประมาทใครเลย ดังนั้น การเผยแพร่รายการนี้ จึงไม่น่าจะเข้าข่ายผิดกฎหมาย เพราะคุณเอกชัยก็ไม่ได้ผลิตรายการนี้เอง หรือถ้าจะผิด ก็คงต้องให้สำนักข่าวออสเตรเลียฟ้องเรื่องลิขสิทธิ์เสียมากกว่า

นอกจากนี้ การอ้าง พ.ต.ท.สมยศที่ว่า ในรายการของเอบีซี มีการกล่าวถึงเรื่อง การมีพระชายาหลายคนเป็นเรื่องเสื่อมเสียพระเกียรติ ก็เป็นเรื่องเข้าใจผิดของทางตำรวจเอง เพราะพระมหากษัตริย์ของไทยในอดีตนั้น มีชายามากเป็นเรื่องธรรมดา ดังจะเห็นได้จากสมัยรัชกาลที่ ๔ และรัชกาลที่ ๕ เป็นต้น พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ ก็ได้เคยอธิบายเรื่องนี้ไว้ในเรื่อง เจ้าชีวิต ว่า การมีชายามากก็เป็นเรื่องปกติของกษัตริย์ในเอเชียด้วยซ้ำ เช่น กษัตริย์จีนในอดีตก็มีชายามากเช่นกัน ดังนั้น การมีชายามากในสายตาของเจ้านายจึงไม่ใช่เรื่องเสื่อมเสีย สรุปแล้ว การที่คุณเอกชัยนำเอารายการโทรทัศน์ของออสเตรเลียมาเผยแพร่จึงไม่น่าที่จะมีความผิดได้



ในส่วนที่สองเป็นส่วนข้อมูลรั่วไหลของวิกิลีกส์ ซึ่งเป็นคำปรารภด้วยความห่วงใยบ้านเมืองของบุคคล ๓ คน พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ พล.อ.อ.สิทธิ เศวตศิลา และ อานันท์ ปันยารชุน ต่อเอกอัครทูตสหรัฐประจำประเทศ ในเรื่องเกี่ยวกับสมเด็จเจ้าฟ้าชาย การรัฐประหาร พ.ศ.๒๕๔๙ และอนาคตทางการเมืองไทย เป็นที่น่าแปลกอย่างมากว่า ทางการตำรวจไม่เคยมีการดำเนินการล่อซื้อหรือจับกุมบุคคลทั้ง ๓ คน เพื่อมาดำเนินคดีในข้อหาหมิ่นพระเดชานุภาพเลย ราวกับเป็นที่ยอมรับกันว่า บุคคลทั้งสามมีสิทธิพิเศษทางกฎหมายเหนือกว่าคุณเอกชัย
และผู้พิพากษาในคดีนี้เอง ก็ยืนยันสิทธิพิเศษนี้ เพราะในเดือนพฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๕ ทนายฝ่ายจำเลยได้ยื่นเรื่องขอให้ศาลเชิญ พล.อ.เปรม พล.อ.สิทธิ และนายอานันท์ มาเป็นพยานในศาลอย่างเป็นทางการ เพื่อต่อสู้ในเชิงข้อเท็จจริงตามฟ้อง ผู้พิพากษาได้ทักท้วงเรื่องนี้เมื่อวันที่ ๑๙ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๕๕ โดยเฉพาะผู้พิพากษาที่ชื่อ นายอภิสิทธิ์ วีระมิตรชัย ได้ย้ำกับทนายจำเลยว่า การพิสูจน์ข้อเท็จจริงในคดีนี้ไม่มีความจำเป็นต่อการต่อสู้คดีเลย เพราะ”ยิ่งจริงยิ่งหมิ่น” การเชิญทั้งสามคนนั้นมาจึงไม่เป็นประโยชน์ต่อรูปคดี ด้วยท่าทีของผู้พิพากษาในลักษณะนี้ ทนายจำเลยจึงต้องถอนคำร้อง

แต่กระนั้น คงต้องอธิบายว่า การที่ศาลไม่เอาความผิดบุคคลทั้งสามในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ การดำเนินคดีเพื่อเอาความผิดต่อบุคคลอื่น ที่นำคำพูดของบุคคลทั้งสามมาเผยแพร่ ย่อมเป็นเรื่องที่ไม่สมเหตุผล

แต่กระนั้นศาลไทยก็ยังอุตส่าห์ตัดสินว่า จำเลยมีความผิด โดยอ้างว่า “รัฐและประชาชนมีหน้าที่ต้องรักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์มาตั้งแต่ครั้งโบราณกาล ผู้ใดจะล่วงละเมิดหรือใช้สิทธิเสรีภาพให้เป็นปฏิปักษ์ในทางหนึ่งทางใดมิได้” แต่ข้อความในซีดีและในเอกสารวิกิลีกส์ ศาลเห็นเองว่า เป็นการดูหมิ่น หมิ่นประมาท องค์รัชทายาท และยังกล่าวหาว่า พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ องคมนตรี และสมเด็จพระบรมราชินีนาถ ว่ามีความเชื่อมโยงกับการรัฐประหารพ.ศ.๒๕๔๙ และเกี่ยวข้องกับความยุ่งเหยิงของการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ซึ่งมีลักษณะจาบจ้วงล่วงเกิน หรือเสียดสีเปรียบเปรยทำให้พระองค์เสียพระเกียรติ ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง นายเอกชัยผู้เผยแพร่จึงถือว่ามีความผิด

ในคำพิพากษายังอธิบายด้วยว่า แม้ว่าจะอธิบายได้ว่า สำนักข่าวต่างประเทศเผยแพร่ข่าวสารจากประเทศไทย”มีความน่าเชื่อถือ มีมุมมองเชิงลึก และเป็นกลาง” ซึ่งหมายถึงว่าสำนักข่าวต่างประเทศนั้น ไม่ได้ตั้งใจหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ แต่ศาลเห็นว่าจะพิจารณาในลักษณะนี้ไม่ได้ “ต้องดูความเข้าใจของวิญญูชนทั่วไปที่ได้อ่านข้อความนั้น” ซึ่งเหตุผลของศาลในข้อนี้ ต้องถือเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง เพราะคำว่า “วิญญูชนทั่วไป”คงจะให้ความหมายได้ยาก ในกรณีที่บุคคลมีความเห็นแตกต่างกัน อย่างน้อยพยานโจทย์และพยานจำเลยก็มีความเห็นต่างกัน ถ้าอธิบายตามคำพิพากษาของศาล ย่อมหมายถึงว่า พยานโจทย์ที่ปรักปรำจำเลยให้มีความผิดเท่านั้นที่เป็น”วิญญูชน” หรืออธิบายใหม่ว่า วิญญูชนคือคนที่มีความเห็นสอดคล้องกับคณะผู้พิพากษา การพิจารณาคดีจึงไม่ได้ถือหลักนิติปรัชญาอันถูกต้องแต่ประการใด

นอกจากนี้ ในส่วนโทษปรับที่ศาลก็ขาดความสมเหตุผลอย่างมาก เพราะจากข้อมูลก็จะเห็นได้ว่า คุณเอกชัยขายซีดีเพียง ๒๐ บาท แต่ศาลปรับข้อหาขายซีดีไม่ได้รับอนุญาตกว่า ๖.๖ หมื่นบาทเป็นมูลค่าของซีดีมากกว่า ๓ พันแผ่น ถ้าพิจารณาว่า คนขายซีดีในประเทศไทยจำนวนมากก็ไม่มีใบอนุญาตจากคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ มาตรฐานการปรับจำนวนเช่นนี้จึงเป็นการลงโทษคนยากจนโดยไม่เป็นธรรม

สรุปแล้ว การตัดสินให้นายเอกชัยถูกลงโทษ จึงเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง และสะท้อนความไม่เป็นธรรมและการละเมิดสิทธิมนุษยชนจากศาลเอง และเป็นการสะท้อนอีกครั้งว่า คำพิพากษาของศาลนั้นขาดความยุติธรรมเป็นอย่างยิ่ง



.

“ยึดมั่น-ถือมั่น” โดย สรกล อดุลยานนท์

.

“ยึดมั่น-ถือมั่น”
โดย สรกล อดุลยานนท์  คอลัมน์สถานีคิดเลขที่ 12
ในมติชน ออนไลน์  วันเสาร์ที่ 06 เมษายน พ.ศ. 2556 เวลา 19:02:09 น.
(ที่มา คอลัมน์สถานีคิดเลขที่ 12 นสพ.มติชนรายวัน ฉบับวันเสาร์ที่ 6 เม.ย. 2556 )


ทุกครั้งที่มีการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2550 ผมจะนึกถึงคำพูดของ "จรัญ ภักดีธนากุล" ขึ้นมาทุกครั้งไป

ขออนุญาตย้อนอดีตหน่อยครับ
เพื่อไม่ให้ใครดูถูกว่าคนไทยลืมง่าย

ก่อนวันลงประชามติว่าจะ "รับ" หรือ "ไม่รับ" ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ มีการ "ดีเบต" กันระหว่างฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2550 
"จรัญ" อยู่ในฝั่ง "เห็นด้วย" เพราะเป็นผู้ร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 มากับมือ

และนี่คือคำพูดของ "จรัญ" วันที่เป็น "รองประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ"
ก่อนที่จะมาดำรงตำแหน่ง "ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ" ในวันนี้

ลองทบทวนความทรงจำกันอีกครั้ง

"ผมเองในฐานะได้รับมอบหมาย จากคณะผู้เสนอร่างรัฐธรรมนูญฉบับให้สรุป ผมก็ต้องสรุปอย่างนี้ครับว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เรายอมรับว่าไม่ใช่รัฐธรรมนูญที่ดีที่สุด สมบูรณ์ที่สุด
แต่เรามองว่า มันเป็นสิ่งที่จำเป็นที่สุดของการกลับคืนมาแห่งอำนาจของประชาชนอย่างราบรื่น.. ..ชัดเจน ..แน่นอน

จุดที่สองครับ การที่เราลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญนี้ จะให้ผลดีคือ ยุติระบบปฏิวัติรัฐประหารทันที
คมช. สิ้นสภาพทันที

ส่วนว่ารัฐธรรมนูญนี้ไม่ดี มีข้อบกพร่อง มีบางจุดหลายจุดที่ท่านนำเสนอมานี้ เราเริ่มกระบวนการแก้ไข การแก้ไขนี้ผมอยากจะให้ เราทำแบบเมื่อปี 2540 
เราเสนอแบบให้ 50,000 คนเท่านั้นครับ! แล้วก็ ส.ส.ในสภา 1 ใน 4 เท่านั้นครับ 
เสนอแก้ไข “มาตราเดียว” แบบที่เราเริ่มทำในปี 2540 แล้วให้กระบวนการนั้นจัดทำกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญของประชาชนขึ้นใหม่

ถ้าเราเดินอย่างนี้มันจะราบรื่นกว่าที่เราจะใช้วิธีการว่า เอาล่ะ! เราล้มร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ แล้วคาดหวังว่า คมช. กับ ครม. จะหยิบร่างรัฐธรรมนูญที่ดีที่สุดในอดีต มาปรับปรุงให้ดีกว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 ที่เรากำลังทำนี้

ท่านครับ ท่านไม่มีอะไรไปบังคับเขาได้นะครับ! ไม่มีเลย นี่เป็นความคาดหวังของเรา แล้วถ้าไม่เป็นไปตามที่เราคาดละครับ อะไรจะเกิดขึ้น

แต่ถ้าเรารับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ จะดีจะเลว เราได้ระบอบประชาธิปไตยกลับคืนมาเป็นของประเทศ เราได้อำนาจอธิปไตยกลับคืนมาเป็นของประชาชน 
แล้วหลังจากนั้นครับ เราช่วยกันเถิดครับ ช่วยกันพาประเทศนี้เข้าสู่กระบวนการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญที่เป็นของประชาชน ที่เราทุกคนอยากได้อีกครั้งหนึ่งเถิดครับ"


ใครที่ฟังในวันนั้นจะยอมรับเลยว่า "จรัญ" พูดด้วยน้ำเสียงที่จริงจังและจริงใจมาก

ทุกคนเชื่อว่า "จรัญ" คิดอย่างนั้นจริงๆ

คือ 1.ให้ "รับร่าง" ไปก่อน เพื่อให้ระบอบประชาธิปไตยคืนมา

และ 2.รับแล้วค่อย "แก้ไขใหม่" แบบปี 2540 เพราะการเสนอแก้ไขง่ายมาก

แต่ "ความเชื่อ" ของเขาถูกต้องเพียงแค่ครึ่งเดียว
คือ "รับร่างไปก่อน"

ส่วนการแก้ไขใหม่ง่ายๆ ไม่จริง เพราะแก้ไขยากมาก 
จะแก้ไขมาตราเดียว เพื่อทำแบบ ส.ส.ร.ปี 2540 ก็ไม่ได้ 
จะแก้ไขรายมาตราก็มีคนกล่าวหาว่าจะล้มล้างระบอบประชาธิปไตย


ผมนึกถึงคำพูดของ "จรัญ" อีกประโยคหนึ่งในวันเดียวกัน

"สิ่งที่ผมพบว่าเป็นปัญหาจริงๆ อยู่ที่ความยึดมั่น ถือมั่น ของพวกเรากันเอง"

วันนี้ผมเชื่อแล้ว!!

เพราะมีบางกลุ่ม "ยึดมั่น-ถือมั่น" ว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ห้ามแก้ไข

ถ้าไม่ใช่พวกเดียวกัน 



- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

www.youtube.com/watch?v=BSPdbucYl94
รับๆไปก่อนแล้วแก้ทีหลัง ตอนที่ 2 ( Published on Apr 26, 2012 )



www.youtube.com/watch?v=Gqlws1rXbkc
สุดยอดของการแถ จรัญ ภักดีธนากุล ( Published on Jun 8, 2012 )




.

2556-04-04

คำถามจาก“หมา” โดย คำ ผกา

.

คำถามจาก “หมา”
โดย คำ ผกา
ที่มา “คำ ผกา” เขียนเรื่องหมากับการเมือง ใครกันนะที่เห่าไม่เป็นแต่อยากเป็นกรรมการประกวดหมา?
( www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1365064081 )
ในมติชน ออนไลน์ วันที่ 04 เมษายน พ.ศ. 2556 เวลา 23:04:00 น.
จาก บทความ คำถามจาก “หมา” มติชนสุดสัปดาห์ 29 มี.ค. 56 ปีที่ 33 ฉบับที่ 1702 หน้า 89
( ภาพจากเพจ FB เจิมศักด์ ปิ่นทอง )


“ในการประกวดหมานั้น ต้องใช้เสียงข้างมากของกรรมการเป็นเครื่องตัดสิน โดยกรรมการต้องเป็นผู้ทรงคุณวุฒิที่รู้เรื่องหมาเป็นอย่างดี

แต่น่าประหลาดมากที่ประเทศไทยเราประกวดคนเพื่อคัดเลือกเข้าไปเป็น ส.ส. ส.ว. จนถึง รมต. รมว. นรม. แต่กรรมการผู้ตัดสินการประกวด (ผู้ลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง) จะเป็นหมูหมากาไก่ที่ไหนก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นผู้ทรงคุณวุฒิทางการเมืองเลย ทุกคน (ตัว) มีสิทธิลงคะแนนตัดสิน 1 คะแนนเท่ากันหมด

นี่แสดงว่าเรายอมรับกันว่าการประกวดหมาต้องพิถีพิถันกว่าการประกวดผู้บริหารประเทศใช่ไหม

ถ้าเราอยากได้นักการเมืองที่เก่งดี ก่อนอื่นต้องคัดเลือกกรรมการตัดสินเสียก่อน เพื่อให้มั่นใจได้ว่าเป็นผู้ทรงคุณวุฒิทางการเมือง เช่น ด้วยการสอบวัดความรู้ทางการเมืองให้ผ่านตามเกณฑ์ จึงจะมีสิทธิเข้าไปเป็นกรรมการตัดสินเพื่อลงคะแนนเสียงเลือกนักการเมือง

ไม่งั้นส่วนใหญ่ก็คงได้แต่นักการเมืองหมาๆ (ขี้เรื้อนอีกต่างหาก) เข้าไปเห่าหอนกันเต็มสภา

...คนถางทาง (20 มีนาคม 2556)” (จากสเตตัสเฟซบุ๊กของ ดร. เจิมศักด์ ปิ่นทอง)



นั่งอ่านข้อเขียนสั้นๆ ของ ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง แล้วครางในลำคอว่า "อือม..." ช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา มักมีข่าวให้คนไทยอกสั่นขวัญแขวนอยู่เนืองๆ เช่น นักเรียนไทยชั่วโมงเรียนสูงสุดแต่ระดับความรู้ต่ำสุด, การสอบวัดระดับวิชาหลักของนักเรียนไทยอยู่ในอันดับรั้งท้ายของโลก, ความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษของเด็กไทยอยู่ในอันดับรองบ๊วย ฯลฯ

สถิติเหล่านี้ดูสอดคล้องกับ "ทัศนคติ" ของอดีตปัญญาชนหลายต่อหลายคนในประเทศไทยที่อยู่ๆ ไปทำสติหายทำปัญญาหายเสียที่ไหนก็ไม่รู้ ถ้ามีการสอบวัดระดับความรู้ความเข้าใจทางการเมืองและประชาธิปไตยของ "ชนชั้นนำทางปัญญา" หรือ "ปัญญาชนสาธารณะ" ทั่วโลก รับรองว่า "ปัญญาชน" ของไทย คงติดอันดับบ๊วยเอาชนะทุกประเทศอย่างขาดลอย

ไม่น่าเชื่อว่า ดร.เจิมศักดิ์คือคนเดียวกับคนที่จัดรายการ "มองต่างมุม" รายการโทรทัศน์รายการแรกของประเทศไทยที่เปิด "เวที" ให้ "สามัญชน" ได้เปิด "มุม" ของตนเองที่แตกต่าง

ไม่น่าเชื่อว่า ดร.เจิมศักดิ์ครั้งหนึ่งเคยร่วมต่อสู้ผลักดันวาระของ "ป่าชุมชน" ด้วยเชื่อว่า "ชาวบ้าน ตาสีตาสา ชุมชน" สามารถจัดการทรัพยากรของตนเองได้

แต่เหตุใดคนที่เชื่อว่า "ชาวบ้าน" จัดการทรัพยากรเองได้ จึงไม่เชื่อว่าชาวบ้านมีวิจารณญาณที่จะเลือกผู้แทนของตน



เจิมศักดิ์ไม่รู้หรือแกล้งฝากสมองไว้ในธนาคาร (ได้ดอกเบี้ยเป็นปริมาณน้ำในกะโหลก) จึงไม่รู้ว่า หนึ่งคนหนึ่งเสียงคือความเสมอภาคทางการเมือง อันเป็นหลักการประชาธิปไตยที่ต่อยอดมาจากอุดมการณ์เสรีนิยมที่เชื่อในสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของปัจเจกบุคคล และสิทธิ เสรีภาพ ได้รับการรับรองในปฏิญญาสากลว่าด้วยหลักสิทธิมนุษยชนตั้งแต่ปี 1948

หัวใจสำคัญของประชาธิปไตยคือ "อำนาจเป็นของประชาชน" ส่วนขยายจากอำนาจของประชาชนคือ ปัจเจกบุคคลทุกคนมีความเสมอภาคทางการเมือง ความเสมอภาคทางการเมืองนี้แสดงผ่านหลักการ "หนึ่งคนหนึ่งเสียง" เมื่อออกไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง "ตัวแทน" ของตนเองไป "กระทำการทางการเมือง"

หลักการหนึ่งคนหนึ่งเสียง จึงไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับความข้องใจของ ดร.เจิมศักดิ์ที่บอกว่า "เอาหมู หมา กา ไก่ ที่ไหนก็ได้มาเลือก ส.ส." เพราะประชาชนเลือก "ตัวแทน" ของเขา ประชาชนไม่ได้เลือก "นางสาวไทย" ที่ต้องหาคนที่สวยที่สุด (ในสายตากรรมการ)

ในที่นี้จึงอาจจะถูกต้องหากกล่าวว่า "เรามี ส.ส. แบบไหนก็แสดงว่า เราเป็นคนแบบนั้น" เพราะถึงที่สุด ส.ส. เหล่านั้น คือตัวแทนของเรา

คนกรุงเทพฯ เลือก คนหล่อ พูดเก่ง ปากหวาน มีการศึกษาตามขนบนิยายน้ำเน่า ก็สะท้อนความหวัง ความฝันของคนกรุงเทพฯ

คนบางภูมิภาคเลือกใครก็ได้ที่ได้ชื่อว่าเป็น "พรรคพวก" ของตน จะผิด จะถูก จะทำหน้าที่ ส.ส. ในฐานะสมาชิกสภานิติบัญญัติได้ดีหรือไม่ ไม่สำคัญเท่ากับเป็น "พรรคพวกเรา"

การเลือกเช่นนี้ ไม่มีผิด ไม่มีถูก เพราะเราไม่มีวันได้ "ตัวแทน" ที่ดีกว่า "เรา"

"เรา" เป็นอย่างไร "ตัวแทน" ของเราก็เป็นอย่างนั้น ไม่เชื่อ ดร.เจิมศักดิ์ลองกลับไปดูคนที่ ดร.เจิมศักดิ์เลือก เขาก็เป็นเสมือนกระจกสะท้อนตัวตนของ ดร.เจิมศักดิ์เอง

ปัญหามันจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อ "เรา" และ "ตัวแทน" ของเรา ไม่ใช่ "เสียงข้างมาก" แต่การไม่ได้เป็นเสียงข้างมากในการเลือกตั้ง ไม่ได้แปลว่า คุณเป็นเสียงข้างน้อยถาวร เพราะสังคมจะได้เรียนรู้ทางการเมืองร่วมกันจากการทำงานของ "ตัวแทน" จากเสียงส่วนใหญ่

ไม่เพียงเท่านั้น กระบวนการทำงานในสภานิติบัญญัติยังถูกถ่วงดุลจากการทำงานของฝ่ายค้าน ฝ่ายรัฐบาลที่กลายเป็นฝ่ายบริหารถูกถ่วงดุลจากฝ่ายนิติบัญญัติ แถมยังมีอำนาจตุลาการมาทำหน้าที่ถ่วงดุลอำนาจด้วย



การร่วมต่อสู้กับการฟื้นฟูสิทธิในการดูแลป่าของชุมชนที่ ดร.เจิมศักดิ์เคยสนับสนุนก็เป็นอีกกระบวนการหนึ่งของการถ่วงดุลอำนาจรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง

นั่นคือ การถ่วงดุลประชาธิปไตยแบบตัวแทนด้วยการสร้างความเข้มแข็งให้กับกระบวนการประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม และประชาธิปไตยทางตรงในหน่วยย่อยๆ ของสังคม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งการแก้ไขปัญหาของการผูกขาดอำนาจของรัฐบาลกลางในระยะยาว อันจะนำไปสู่การกระจายอำนาจลงสู่ท้องถิ่น

แต่อย่างที่เราทุกคน (ซึ่งไม่ได้ฝากสมองไว้กับธนาคาร) ต่างก็รู้ดีว่า ประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม และประชาธิปไตยทางตรง จะไม่มีและไม่วันถูกเรียกว่าประชาธิปไตยหากไม่มี "การเลือกตั้ง" และไม่มีหลักความเสมอภาคทางการเมืองขั้นพื้นฐาน นั่นคือ "หนึ่งสิทธิ หนึ่งเสียง" ของคนที่บรรลุนิติภาวะ ทุกเพศสถานะ ทั้งนี้ ต้องรู้ตรงกันด้วยความเสมอภาคนี้หมายถึงความเสมอภาคต่อหน้ากฎหมาย

ความเสมอภาคนี้ไม่ได้แปลว่า ทุกคนต้องจบการศึกษาขั้นต่ำปริญญาตรี, มีไอคิว 100 ขึ้นไปทุกคน, สอบโทเฟลได้คะแนน 600 ฯลฯ

แต่หมายถึงปัจเจกบุคคลที่ไม่ว่าจะยากดีมีจน โง่ หรือฉลาด เรียนสูง หรือเรียนต่ำ กินเหล้าหรือไม่กินเหล้า มีศาสนาหรือไม่มีศาสนา ฯลฯ

ตามหลักการความเสมอภาคทางการเมือง ปัจเจกบุคคลเหล่านี้มีความเสมอภาคกันต่อหน้ากฎหมาย และมีความเสมอภาคกันทางโอกาส หรือที่เรียกว่า equality of opportunity

ทั้งนี้ คนที่ไม่ได้เอาสมองฝากธนาคารต่างก็เข้าใจตรงกันว่า ไม่มีประชาธิปไตยที่ดีและสมบูรณ์แบบ เรามีตัวแทนที่เลว เรามีรัฐบาลที่ฉ้อฉล เราเลือก "ตัวแทน" ผิดๆ หรือ เราอาจจะเลือกถูกแต่เสียงข้างมากของสังคมไม่เคยเลือกในสิ่งที่เราเลือก (และเราคิดว่าถูก) เราต่างก็รู้ดีว่าในกลไกการตรวจสอบถ่วงดุลนั้นมีข้อบกพร่อง มีช่องว่างให้คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งแสวงหาผลประโยชน์ได้มากกว่าคนกลุ่มอื่นเสมอ

ในสังคมที่ได้ชื่อว่าเป็นประชาธิปไตยมากที่สุดอย่างสหรัฐอเมริกายังมีเด็กหนุ่มฆ่าตัวตายเพียงเพราะเขาต่อสู้เพื่อสิทธิในการเข้าถึงข้อมูลทางวิชาการอย่างเท่าเทียม แทนที่จะถูกผูกขาดโดยมหาวิทยาลัยชั้นนำและสำนักพิมพ์ยักษ์ใหญ่

ในประเทศอย่างฝรั่งเศสอันเป็นตำนานของประชาธิปไตยยังมีการประท้วงอย่างรุนแรงมิให้คนเพศเดียวกันได้แต่งงาน

แต่ความไม่สมบูรณ์แบบนี้ไม่ได้แปลว่า ประชาธิปไตยเป็นลัทธิการปกครองที่เลวร้าย กักขฬะ เพราะอย่างน้อยที่สุดมันก็มีความเลวน้อยกว่าระบอบเผด็จการอย่างเทียบกันไม่ได้

อย่างน้อยที่สุดมันก็เป็นระบบที่มีหลักประกันเสรีภาพให้กับประชาชนมากกว่าระบอบการปกครองอื่นๆ

อย่างน้อยที่สุดมันก็เป็นระบอบการปกครองที่มีวิธีการจัดการกับความขัดแย้งที่สันติที่สุดอิงอยู่กับการมีส่วนร่วมและเสียงของเจ้าของประเทศมากที่สุด โปร่งใส และเรียกร้องการตรวจสอบได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด

ในขณะที่ระบอบเผด็จการไม่ให้โอกาสแก่คุณแม้แต่พื้นที่ของการส่งเสียงคัดค้านหรือแม้กระทั่งสิทธิที่จะ "ไม่รัก ไม่ชัง"


การเลือก "ตัวแทน" ซึ่งหมายถึง ส.ส. ส.ว. การที่รัฐมนตรีและนายกรัฐมนตรี มาจาก ส.ส. ไม่ใช่การประกวดหาผู้บริหารประเทศ แต่มันคือการบริหารประเทศโดยประชาชน โดยตัวแทนประชาชน

ในเมื่อมันไม่ใช่การประกวดมันจึงไม่มีคุณสมบัติตายตัว เพราะมันจะมีพลวัตไปตามความเปลี่ยนแปลงของสังคม เศรษฐกิจ วัฒนธรรม การเปลี่ยนแปลงภูมิศาสตร์เศรษฐกิจ การเปลี่ยนแปลงของระบบขนส่งมวลชน การเปลี่ยนแปลงของการใช้ที่ดิน การใช้พื้นที่สาธารณะ ความเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมการบริโภค ฯลฯ

เหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดพลวัตในระบอบประชาธิปไตยของสังคมแต่ละสังคม

ดังนั้น จึงไม่มีใครทำนายได้ว่าอีกห้าปีข้างหน้า คนไทยจะเลือก "ตัวแทน" แบบไหนไปบริหารประเทศ อีกสิบปีข้างหน้าคนไทยจะเลือก "ตัวแทน" แบบไหนไปบริหารประเทศ

ปีนี้เราอาจจะต้องการรัฐบาลที่เก่งเรื่องเศรษฐกิจ อีกสิบปีเราอาจจะต้องการรัฐบาลที่สนใจปัญหาสิทธิมนุษยชน อีกสามสิบปีข้างหน้าเราอาจจะต้องการรัฐบาลซ้ายจัดสังคมนิยม ทั้งหมดนี้ไม่มีใครรู้

ตรงกันข้ามกับระบอบประชาธิปไตย, สมมุติเราเรียกมันว่าระบบธรรมาธิปไตยให้คนดีปกครอง ขอถาม ดร.เจิมศักดิ์ว่า เราจะให้ใครนิยามความเป็นคนดี คนเก่ง ใครจะนิยามว่าวุฒิภาวะทางการเมืองใครดีกว่าใคร?

ใบปริญญารัฐศาสตร์ไม่ใช่หลักค้ำประกันความเข้าใจในหลักการสิทธิ เสรีภาพ ดังที่ ดร.เจิมศักดิ์ และอีกหลาย ดร. ที่สอนรัฐศาสตร์ก็เป็นตัวอย่างให้เห็นอยู่ทนโท่ว่าวิ่งโร่ไปสนับสนุนรัฐประหารแค่ไหน

มีคนดี คนเก่ง คนรู้เรื่องการเมืองมาปกครองแล้ว คำถามต่อไปคือการถ่วงดุลทางอำนาจทำอย่างใร? อำนาจนั้นยึดโยงอยู่กับประชาชนอย่างไร หรือจะเห็นประชาชนเป็น "หมา" มีตัวเองและพวกเป็นมนุษย์อยู่ฝ่ายเดียวคอยปกครองเหล่า "หมา" ไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด?



มันน่าหัวร่อมาก ที่ ดร.เจิมศักดิ์ยกตัวอย่างการประกวดหมาว่าต้องใช้กรรมการที่มีคุณวุฒิเรื่อง "หมา" ด้วยตรรกะนี้ หากฉันเป็นหมา ฉันจะถาม ดร.เจิมศักดิ์ว่า

"พวกคุณเป็นใครจึงบังอาจมาตัดสินว่าหมาตัวไหนดีกว่าหมาตัวไหน??? มนุษย์อย่างพวกคุณบังอาจมารู้เรื่องหมาดีกว่าหมาได้อย่างไร? การประกวดหมาทำไมต้องมีมนุษย์เป็นกรรมการ เกิดเป็นมนุษย์จะมารู้เรื่องหมาดีกว่าหมาได้อย่างไร เห่าก็ไม่เป็นเหมือนหมายังริจะมาเป็นกรรมการประกวดหมา"

หมามันคงอยากฝากมาถามอย่างนี้ อายดีไหมคะ?


* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
ร่วมคลิกไลค์แฟนเพจมติชนสุดสัปดาห์ผ่านทางเฟซบุ๊กได้ที่
www.facebook.com/matichonweekly




.
Admin ไม่สามารถเข้าถึงบทความประจำที่นำเสนอมาร่วม 2ปีเสียแล้ว จึงจะไม่ได้เสนอครบถ้วนเหมือนเคย ..ขออภัยผู้ติดตามทุกท่านด้วย

2556-04-01

นิธิ: ปฏิรูปต้องการมากกว่าสองล้านล้านบาท

.

นิธิ เอียวศรีวงศ์: ปฏิรูปต้องการมากกว่าสองล้านล้านบาท
ในมติชน ออนไลน์ วันจันทร์ที่ 1 เมษายน 2556 เวลา 11:11:11 น.
( www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1364786525 )
ที่มา  บทความกระแสทรรศน์  นสพ.มติชน รายวัน 1 เม.ย. 2556


ขณะที่เขียนบทความนี้ ร่าง พ.ร.บ.การลงทุนด้วยเงินกู้ (หรือสองล้านล้านบาท) ยังไม่ผ่านวาระหนึ่งจากสภา แต่ก็ไม่มีเหตุอะไรที่จะคิดว่าไม่ผ่าน แม้ฝ่ายค้านจะใช้โอกาสนี้ในการทำให้เห็นความเสี่ยงทางการคลังของประเทศ และโอกาสของการทุจริตในโครงการสักเพียงไรก็ตาม ไม่ใช่เพียงเพราะรัฐบาลมีเสียงข้างมากเท่านั้น แต่การปรับปรุงและขยายโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ ได้รับความเห็นชอบจากวงการธุรกิจอย่างพร้อมเพรียง ประชาชนจำนวนมากก็เห็นชอบด้วย เพียงแต่ห่วงใยเรื่องความโปร่งใสของโครงการเท่านั้น

ประเด็นความเสี่ยงทางการคลัง เท่าที่ผ่านมายัง "ปลุก" ไม่ขึ้น อยู่ที่ ปชป.จะสามารถทำให้ "ขึ้น" ในการอภิปรายได้หรือไม่เท่านั้น

และเพราะการสนับสนุนโครงการของสองภาคส่วนนี้ ก็ทำให้ต้องเดาต่อไปว่า ก็น่าจะผ่านวุฒิสภาได้อีกเช่นกัน


นายกรัฐมนตรีพูดชัดเจน (ที่ปาปัวนิวกินี) ว่า โครงการคมนาคมและขนส่งนี้จะทำให้ไทยเชื่อมต่อกับเพื่อนบ้านอาเซียนได้อย่างสะดวก และด้วยเหตุดังนั้น นักลงทุนจะสามารถใช้อาเซียนเป็นฐานการผลิต ได้เท่าๆ กับกระจายสินค้าแก่ตลาด 600 ล้านคนของอาเซียนอย่างสะดวกรวดเร็ว สภาวะที่กลายเป็นศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งของไทยเช่นนี้ ก็จะเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยไปด้วย

โครงการมหึมานี้เปลี่ยนประเทศไทยอย่างแน่นอน ท่านนายกฯพูดถึงการจ้างงานจะเพิ่มขึ้นครึ่งล้านอัตรา ดูดซับคนชั้นกลางที่ว่างงานไปได้มาก ในขณะเดียวกันก็คงจะดึงแรงงานในภาคเกษตรออกมาสู่งานนอกภาคเกษตรอีกไม่น้อย อย่างไรก็ตาม หากไม่ได้ทำอะไรมากไปกว่าตัวโครงการ ความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดแก่ประเทศไทยก็อาจเป็นเพียงการทำให้ดีกรีของความเปลี่ยนแปลงที่มีอยู่แล้วเวลานี้เข้มข้นขึ้น บางเรื่องก็ดีที่เข้มข้นขึ้น บางเรื่องก็ยิ่งแย่ลงเมื่อเข้มข้นขึ้น


อาจารย์แอนดรูว์ วอล์กเกอร์ แห่งมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลียคาดเดาว่า (และอาจารย์เกษียร เตชะพีระ ได้นำเสนอในโซเชียลเน็ตเวิร์กไว้แล้ว และมติชนออนไลน์ได้ขอนำมาลงอีกครั้งหนึ่ง) โครงสร้างพื้นฐานนี้จะสร้างงานให้แก่คนในชนบทไทย จนทำให้ความจำเป็นที่รัฐต้องคอยโอบอุ้มลดลง

อันที่จริง มีหรือไม่มีโครงการนี้ แรงงานในภาคชนบทก็หลั่งไหลเข้าสู่งานจ้างและภาคบริการมากขึ้นตลอดมา เพราะทำรายได้มากกว่าภาคเกษตร โครงสร้างพื้นฐานที่ได้รับการปรับปรุงและขยายในโครงการ ย่อมก่อให้เกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้น และเกิดโอกาสที่ชาวบ้านบางรายจะลงทุนในกิจการอื่นๆ เพิ่มขึ้นแน่ แต่จะทำให้เขามีรายได้เพิ่มขึ้นกว่าที่ได้อยู่แล้วเวลานี้มากน้อยเพียงไร ไม่ค่อยแน่เหมือนกัน โดยเฉพาะจะได้รายได้เพิ่มมากขึ้นทันกับความคาดหวังในชีวิตของผู้คนซึ่งต้องเพิ่มสูงขึ้นเป็นเงาตามตัว (เช่นมีรถยนต์ส่วนตัว หรือมีบ้านเป็นของตนเอง)

การเป็นศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งของภูมิภาคเพิ่มสมรรถนะในการแข่งขันแน่ โดยเฉพาะในระยะสั้นข้างหน้า แต่ในระยะยาว การแข่งขันที่จะสามารถยกระดับเศรษฐกิจไทยขึ้นไปได้ ขึ้นอยู่กับการพัฒนา (ทรัพยากร) มนุษย์ และส่วนนี้จำเป็นต้องลงทุนขนาดใหญ่ และทำอย่างจริงจังเสียยิ่งกว่าโครงสร้างพื้นฐานเสียอีก

แต่การพัฒนา (ทรัพยากร) มนุษย์มีอุปสรรคทางการเมืองอย่างมาก ไม่ใช่จากพรรคฝ่ายค้านหรือพวกอำมาตย์ แต่จากข้าราชการกระทรวงศึกษาธิการ, พ่อแม่ผู้ปกครองเด็ก, เจ้าของโรงงานอุตสาหกรรม (ซึ่งควรยินดีเพิ่มสมรรถภาพของคนงาน หากไม่กระทบต่อกำไรของเขา) หรือแม้แต่เด็กนักเรียนนักศึกษาเองก็อาจไม่ยินดีกับความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น

ดังนั้นอย่างมากที่พรรคการเมืองเลือกทำในเรื่องนี้ ก็คือแจกแท็บเล็ต เพราะไม่ต้องทะเลาะกับใครเลย (นอกจากบริษัทขายแท็บเล็ต) และผมไม่คิดว่ารัฐบาลพรรคเพื่อไทย (ทั้งในสมัยนี้และสมัยหน้า) จะริเริ่มทำอะไรอย่างเอาจริงเอาจังในเรื่องนี้ ดังนั้นโครงสร้างพื้นฐานที่ลงทุนไป 2 ล้านล้านบาทในครั้งนี้ก็คงจะดึงการลงทุนได้เพราะความสะดวกของโครงสร้างพื้นฐาน แต่ไม่ใช่เพราะคุณภาพของคนไทย ผลิตภัณฑ์ที่ต้องผลิตขึ้นจากฐานความรู้ อาจไหลจากสิงคโปร์และมาเลเซียสู่ไทย, เวียดนาม, พม่า และจีนได้สะดวก แต่ตัวอุตสาหกรรมฐานความรู้จะไม่เคลื่อนเข้ามาตามทางรถไฟความเร็วสูง


คนไทยจะเป็นเจ้าของตู้ไก่ย่างตราดาวต่างๆ มากขึ้น เพราะมีคนที่มีเงินซื้อไก่ย่างกินมากขึ้น แต่ตู้ไก่ย่างจะไม่นำไปสู่รถยนต์ส่วนตัว หรือบ้านอันเป็นของตนเอง (หรือลูกเข้าจุฬาฯ ธรรมศาสตร์ได้)

ร้ายยิ่งไปกว่านั้นก็คือ คนไทยอาจไม่ได้เป็นเจ้าของตู้ไก่ย่างเอง เป็นแต่เพียงพนักงานของบริษัทไก่ย่าง หรืออาจเป็น "ผู้ร่วมทุน" ของบริษัทที่มีฐานะไม่ต่างอะไรจากลูกจ้าง (เช่น อย่าคิดลดต้นทุนด้วยการหาซื้อไก่มาย่างเองเป็นอันขาด ต้องรับจากที่บริษัทนำมาส่งเท่านั้น)

ผมกำลังจะบอกว่า โครงสร้างพื้นฐานดีเยี่ยมที่กำลังจะสร้างขึ้นนี้ ไม่ทำให้การกระจุกรายได้และทรัพย์สินกับคนจำนวนน้อยในประเทศไทยเวลานี้เปลี่ยนแปลงไปในทางใด นอกจากยิ่งกระจุกมากขึ้น หรือที่กระจุกอยู่แล้วก็จะเป็นรายได้และทรัพย์สินก้อนใหญ่ขึ้น... ถ้าไม่ได้ทำอะไรนอกจากโครงสร้างพื้นฐาน

ถนนหนทางและทางรถไฟที่สะดวกสบาย ย่อมให้โอกาสหารายได้และทำกำไรแก่คนรวยมากกว่าคนจน แต่ทั้งนี้ไม่ใช่เพราะคนรวยฉลาดกว่าหรือเก่งกว่า แต่เพราะเขามีฐานของทรัพย์สินที่สะสมเอาไว้อย่างไม่เป็นธรรมมากกว่าต่างหาก


ยกตัวอย่างเพียงเรื่องเดียวคือที่ดิน แน่นอนว่าเส้นทางคมนาคมที่สะดวกสบายย่อมทำให้ราคาที่ดินสูงขึ้น โดยเฉพาะในชนบทใกล้เมือง (เช่นอยุธยา, นครปฐม, นครนายก เป็นต้น) ในขณะที่คนทั่วไปมีกำลังที่จะมีบ้านเป็นของตนเองมากขึ้น (แยกจากครอบครัวขยายไปสู่ครอบครัวเดี่ยว) ความต้องการที่ดินในชนบทก็สูงขึ้นเพราะตลาดขยายตัว

ที่ดินประมาณ 80-90% ในประเทศไทยกระจุกอยู่กับคนรวยไม่กี่ตระกูลอยู่แล้ว เขาได้กำไรหล่นทับ (windfall profit) ไปทันที จำนวนมหาศาลด้วย หลังจากทิ้งที่ดินให้หมาขี้มาหลายปี ยิ่งกว่านี้ เขาคือคนที่มีกำลังจะกว้านซื้อที่ดินเพื่อทำกำไรระยะสั้นได้มากที่สุด ราคาที่ดินซึ่งเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้ความใฝ่ฝันของคนไทยธรรมดาที่จะมีบ้านเป็นของตนเองห่างไกลขึ้นไปอีก แต่ความฝันนั้นก็ยังอยู่ใกล้ตัวเหมือนเดิม

รถไฟรางคู่และรถไฟความเร็วสูงยิ่งสร้างความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจให้หนักข้อขึ้น หากรถไฟไม่ได้มาพร้อมกันกับการปฏิรูปที่ดินขนานใหญ่ เพื่อทำให้ที่ดินไม่มีทางจะเป็นสินค้าเก็งกำไรได้เลย


นี่ยกตัวอย่างเพียงเรื่องเดียวคือที่ดิน ลองคิดดูเองเถิดครับว่า โครงสร้างพื้นฐานที่พัฒนาเต็มที่แล้วนี้ สร้างความได้เปรียบแก่คนรวยในเรื่องอื่นอย่างไรบ้าง การได้เปรียบเสียเปรียบทางเศรษฐกิจเกิดขึ้นเป็นธรรรมดา แต่ทำไมจึงเกิดแก่คนกลุ่มเดียว และเป็นความได้เปรียบที่มาจากความชอบธรรมของกฎเกณฑ์หรือไม่ นี่เป็นเรื่องสำคัญกว่า


ในปัจจุบัน ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจซึ่งมีสูงมากในสังคมไทย ยังไม่เป็นปัญหาสังคมและการเมือง อย่างน้อยคนเสื้อแดงซึ่งเป็นกลุ่มใหญ่สุดก็ตอบแบบสอบถามทัศนคติว่า พอรับได้ ในขณะที่คนเสื้อเหลืองตอบว่ารับไม่ได้ สักวันหนึ่งเมื่อคนเสื้อแดงมีความเห็นต่อความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจเหมือนคนเสื้อเหลือง ย่อมเป็นปัญหาทางสังคมและการเมืองอย่างหนักแน่

การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานนั้นจำเป็นและมีประโยชน์ ช่วยแก้ปัญหาขั้นพื้นฐานอย่างหนึ่งที่ประเทศต้องเผชิญในอนาคต แต่เท่านี้ไม่พอ ยังต้องปรับแก้อะไรที่พื้นฐานไม่น้อยกว่ากันหลายอย่าง เพื่อประโยชน์ระยะยาวของประเทศ

ส่วนที่เหลือซึ่งต้องทำนั้นยากมากในทางการเมือง และหวังไม่ได้ว่าจะมีการริเริ่มทางการเมือง ที่เป็นเช่นนี้ไม่ใช่เพราะนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งเลว ถึงแม้นักการเมืองที่มาจากอำนาจรัฐประหารก็ไม่มีทางริเริ่มสิ่งยากๆ ทางการเมืองเหมือนกัน


บางคนอาจคิดว่า ความขัดแย้งทางการเมืองอย่างหนักในช่วงนี้ ทำให้ไม่มีใครสามารถริเริ่มการแก้ปัญหาระดับโครงสร้างได้ ซึ่งก็จริงส่วนหนึ่ง แต่ที่สำคัญกว่าคือ ถึงไม่มีความขัดแย้งทางการเมือง เราจัดโครงสร้างทางการเมืองไว้ในลักษณะที่การเมืองจะเป็นผู้นำในการแก้ปัญหาได้หรือไม่ ผมคิดว่าไม่ได้

ทำให้ต้องนึกถึงรัฐธรรมนูญ ที่ต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ไม่ใช่เพียงเพราะเป็นสิ่งพึงทำในทางเทคนิคการเขียนกฎหมายเท่านั้น แต่รัฐธรรมนูญต้องเริ่มต้นจากการมองเห็นปัญหาของบ้านเมืองอย่างถนัดชัดเจน แล้วคิดว่าจะจัดความสัมพันธ์เชิงอำนาจอย่างไร (ซึ่งก็คือรัฐธรรมนูญ) จึงจะทำให้เราสามารถแก้ปัญหาเหล่านี้'ไปได้ด้วยกัน' ... ความหมายของ'ไปได้ด้วยกัน' คืออย่างเป็นประชาธิปไตย กล่าวคือทุกฝ่ายมีอำนาจต่อรองได้ใกล้เคียงกัน
แต่พรรครัฐบาลก็มุ่งจะแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตราไปแล้ว ทำให้คำถามในการร่างรัฐธรรมนูญหดตัวเหลือเพียงคำถามเดียวว่า รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันเป็นประชาธิปไตยหรือไม่ ก็นับเป็นคำถามที่สำคัญควรถาม แต่ไม่พอ 
เพราะคำถามนี้ต้องมาพร้อมกับคำถามสำคัญอีกอันหนึ่งด้วยคือ ประเทศไทยกำลังเผชิญกับปัญหาอะไร และทางออกที่เป็นประชาธิปไตยของปัญหานั้นจะเป็นไปได้อย่างไร



.