http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2556-07-29

ปรารภบุญ โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์


.

ปรารภบุญ โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์
ใน www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1375094230
วันอังคารที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2556 เวลา 21:46:03 น.
(ที่มา: มติชนรายวัน 29 ก.ค.2556)


ในสมัยนี้ พูดอะไรเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา กลายเป็นเครื่องประกาศความเป็นคนดีของตัวเอง ผมจึงขอบอกไว้ก่อนว่า ที่จะพูดต่อไปนี้เป็นคำพูดของปุถุชนคนบาปครับ

ทีวีช่องหนึ่ง ตั้งปัญหาในรายการข่าวว่า การไปทำบุญในวันสำคัญทางศาสนา แล้วถ่ายรูปส่งข่าวให้เพื่อนๆ ออนไลน์รู้ว่าตัวไปทำบุญ เพื่อนๆ ก็กดไลค์กลับมาเพื่ออนุโมทนา ถามว่าการอนุโมทนาเช่นนี้ได้บุญหรือไม่ อย่างน้อยในบุญกิริยาวัตถุก็มีเรื่อง "ปัตติทานมัย" ซึ่งท่านแปลว่าเฉลี่ยส่วนความดีให้ผู้อื่น และ "ปัตตานุโมทนามัย" ซึ่งท่านแปลว่ายินดีในความดีของผู้อื่น

ผมคิดว่าเป็นคำถามที่สะท้อนให้เห็นความสับสนในเรื่อง "บุญ" ของชาวพุทธในปัจจุบันได้ดี เพราะหากเข้าใจแล้ว คำถามนี้ก็ไม่ต้องถามแต่แรก

หนึ่งในคำแปลของคำว่า "บุญ" ก็คือ การกระทำที่ชำระจิตใจให้สะอาดบริสุทธิ์ ถามว่าสะอาดบริสุทธิ์จากอะไร ตอบอย่างสรุปก็คือสะอาดบริสุทธิ์จากความเห็นแก่ตัว หรือยึดมั่นถือมั่นในตัว (เพราะนี่คือความไม่สะอาดที่จรมาจับใจที่เป็นประภัสสรของเรา) ฉะนั้น หากกดไลค์ด้วยใจที่ยินดีกับการทำดีของผู้อื่น หรือด้วยใจที่ยินดีว่าสิ่งดีๆ ในโลก (คือพระศาสนา) จะดำรงอยู่ต่อไปเพื่อประโยชน์สุขของผู้อื่น คือไม่ได้คิดถึงตนเอง แต่คิดถึง "ผู้อื่น" อย่างแคบๆ เฉพาะบุคคล หรืออย่างกว้างคือมวลสรรพสัตว์ทั้งหมดก็ตาม ย่อมเป็นบุญอย่างไม่ต้องสงสัย

ตรงกันข้าม หากกดไลค์เพื่อเอาใจเพื่อน เพราะกลัวเขาจะโกรธเรา หรือกดเพื่อทำให้ผู้อื่นเห็นว่าตัวเป็นคนดีมีธรรมะ จะได้เป็นที่ยอมรับของคนอื่น ก็ไม่ได้บุญ แต่อาจได้เพื่อน

สรุปก็คือทำอะไรแล้วจะได้บุญหรือไม่ ไม่ได้อยู่ที่การกระทำ แต่อยู่ที่ใจของผู้ทำว่าทำด้วยทัศนคติอย่างไร ตรงกับความเห็นของผู้ทำบุญท่านหนึ่งซึ่งทีวีไปสัมภาษณ์ แล้วตอบว่า กดไลค์ด้วยจิตที่เป็นกุศลหรืออกุศลเล่า หากเป็นกุศลย่อมได้บุญเป็นธรรมดา (ผู้รู้ทางพุทธศาสนาท่านหนึ่ง เคยบอกผมว่า ทั้งหมดของพุทธศาสนาคือเรื่องทัศนคติหรือท่าทีต่อชีวิต)


แล้วทีวีก็ไปถามพระภิกษุรูปหนึ่ง ท่านก็ตอบว่าได้บุญเพราะตรงกับคำบาลีว่าอย่างนั้นอย่างนี้ แต่ได้บุญไม่เท่ากับการไปทำบุญเอง (ที่วัดกระมัง เพราะคำถามเริ่มต้นจากการไปทำบุญที่วัด) แต่ท่านไม่ได้พูดเรื่องใจเลย
อันที่จริงเราสามารถทำบุญตามคติพระพุทธศาสนาได้ทุกวัน และทุกเวลานาทีด้วยซ้ำ โดยไม่ต้องไปวัดเลยก็ได้ ขับรถด้วยความสำนึกถึงประโยชน์ตนประโยชน์ท่านให้พร้อม จะจอดรถให้คนอื่นออกจากซอยได้ ก็ต้องดูหลังว่าคันหลังเขาจะจอดทันไหม ดูหน้าว่าเป็นจังหวะให้รถวิ่ง หรือถึงแล่นไปก็ติดข้างหน้าเห็นๆ อยู่ เพราะสิทธิบนถนนไม่ใช่ของเราคนเดียว ที่จะเที่ยวยกให้ใครได้ตามใจชอบ ก็เป็นการทำบุญอย่างหนึ่ง เพราะลดความเห็นแก่ตัวลงได้ ซ้ำยังต้องทำบุญโดยใช้สติและปัญญาด้วย ตรงกับคำสอนของพระพุทธเจ้า

อะไรเกิดขึ้นกับตัวไม่ว่าดีหรือร้าย ย่อมตั้งสติรำลึกพระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ไว้ให้มั่น จนมองเห็นว่าโลกก็เป็นเช่นนี้เอง นับเป็นการทำบุญยิ่งใหญ่ เพราะความยึดมั่นถือมั่นย่อมลดลงเป็นธรรมดา และฝึกให้รู้เท่าทันความไม่เที่ยงแท้แน่นอนของชีวิตไปพร้อมกัน (นี่ก็เป็นการทำบุญที่ยิ่งใหญ่มาก โดยไม่ต้องไปวัดเลย)


คำตอบของพระภิกษุเกี่ยวกับเรื่องบุญในทีวีที่กล่าวข้างต้น จึงสะท้อนอะไรสองอย่างที่น่าวิตกในพุทธศาสนาไทยปัจจุบัน

ประการแรก เรื่องของจิตใจหรือทัศนคติดูเหมือนจะหายไปจากองค์กรที่เป็นทางการของพุทธศาสนาเสียแล้ว และนี่คือส่วนหนึ่งของคำอธิบายการทำบุญทางวัตถุกันอย่าง "บ้าคลั่ง" ที่เป็นปรากฏการณ์ทางศาสนาในปัจจุบัน งานวิจัยของอาจารย์ที่นิด้าชิ้นหนึ่งบอกว่า ในบรรดาวัดกว่าสามหมื่นของไทยนั้น มีรายได้จากการทำบุญถึงปีละประมาณ 120 ล้านบาท (รวมกันกว่า 360,000 ล้านบาท) วัดจึงมักใหญ่และแพงกว่าโรงเรียน, โรงพยาบาล, ระบบชลประทาน, ระบบขจัดขยะ ฯลฯ ท้องถิ่น

จะแปลกใจทำไมว่า มีภิกษุบางรูปฉ้อฉลคดโกงเงินบริจาคเหล่านี้ไปเป็นประโยชน์ส่วนตัว และจะแปลกใจทำไมที่วัดต่างๆ พากันสร้างสิ่งก่อสร้างนานาชนิดเพื่อ "บอกบุญ" ชาวบ้านอยู่เป็นประจำ

มีคำอธิบายที่มองการ "ทำบุญ" กันอย่างมโหฬารเช่นนี้ในฝ่ายทายกทายิกาว่า ความสัมพันธ์หลักในระบบทุนนิยมคือการซื้อขายแลกเปลี่ยนซึ่งต้องผ่านเงิน ความสัมพันธ์กับศาสนาก็หนีไม่พ้นรูปแบบดังกล่าว ผู้คนเลือกรูปแบบความสัมพันธ์ในระบบทุนนิยมซึ่งเขาเคยชินไปใช้กับศาสนา

ข้อนี้จะจริงเท็จอย่างไรก็ตาม แต่ผมคิดว่าปรากฏการณ์เช่นนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้ หรือเกิดในอาณาบริเวณกว้างขวางเท่านี้ไม่ได้ หากทางฝ่ายสงฆ์เองไม่ละเลยมิติด้านจิตใจของพระพุทธศาสนา จะออกเงินสร้างพระแก้วมรกตจำลองไปทำไม ถ้าไม่ทำให้ความเห็นแก่ตัวของผู้บริจาคลดลง (จนถึงที่สุดจะสร้างพระแก้วมรกตจำลองไปทำไม)

ประการที่สอง คำสอนของพระพุทธศาสนาในประเทศไทยขาดมิติทางสังคม (ยกเว้นเรื่องเดียวคือเพื่อยกย่องเชิดชูสถาบันพระมหากษัตริย์) มิติทางสังคมของการทำบุญจึงไม่มีส่วนที่เกี่ยวข้องกับ "คนอื่น" ในความหมายถึงสังคมในวงกว้าง หรือมวลมนุษยชาติ อันที่จริงมิติทางสังคมนั้นเป็นหลักสำคัญอย่างหนึ่งในคำสอนของพระพุทธเจ้า ("ชนเหล่าใดปลูกสวน ปลูกป่า สร้างสะพาน จัดบริการน้ำดื่ม และบึงบ่อสระน้ำ ให้ที่พักอาศัย บุญของชนเหล่านั้น ย่อมเจริญงอกงามทั้งคืนทั้งวัน...") ส่วนนี้ในศาสนาแบบไทยแต่ก่อน ฝากไว้กับความเชื่อเรื่องผีเป็นส่วนใหญ่ ครั้นรัฐกล่อมให้เราเลิกนับถือผี พระพุทธศาสนาก็ไม่ได้เข้ามาแทนที่ หรือแทนที่อย่างฉลาด คือต้องปรับให้เข้ากับความเปลี่ยนแปลงของสังคมด้วย (ควรกล่าวไว้ด้วยว่า ก่อนการปฏิรูปคณะสงฆ์ใน ร.5 วัดไม่เคยผูกขาดความเป็นศูนย์กลางของชีวิตทางศาสนาของคนไทยมาก่อน)

ผมคิดว่าสองเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ ใหญ่กว่าพระนั่งเจ็ตส่วนตัว หรือสวมแว่นกันแดดราคาแพง หรือนอนกับผู้หญิง และฉ้อโกง แต่มันใหญ่เสียจนไม่มีใครรับผิดชอบ สำนักงานพระพุทธศาสนาเห็นว่าอยู่พ้นอำนาจหน้าที่ของตน เพราะตัวมีหน้าที่เพียงเป็นไวยาวัจกรของคณะสงฆ์เท่านั้น มหาเถรสมาคมก็ไม่คิดว่าตนมีอำนาจหน้าที่เหมือนกัน ก็ไม่มีอะไรผิดวินัยนี่ครับ ผิดเมื่อไรค่อยว่ากันเป็นเรื่องๆ ไป

แต่เรื่องมันใหญ่กว่าพระรูปนั้นรูปนี้ประพฤติล่วงพระวินัย หากเป็นเรื่องของคุณค่าและความหมายของพระพุทธศาสนาในสังคมสมัยใหม่ ซึ่งนั่งท่องแต่คุณสมบัติของพุทธธรรมว่า "อกาลิโก" อย่างเดียว ไม่แก้ปัญหาอะไร

พระปรมัตถธรรมอาจเป็นอกาลิโก แม้กระนั้นก็ยังต้องมีการตีความให้เข้ากับยุคสมัยอยู่นั่นเอง เล่นหุ้นอย่างไรจึงจะไม่ลืมพระไตรลักษณ์ ทำบุญอย่างไรจึงจะได้ชำระล้างจิตใจให้สะอาด (จากตัวตน) เจตนาเลี่ยงภาษีให้ไม่ผิดกฎหมายเป็นอทินนาทานหรือไม่ ถือหุ้นในบริษัทชำแหละเนื้อสัตว์เป็นปาณาติบาตหรือไม่ ฯลฯ เหล่านี้ล้วนต้องการการตีความจากผู้รู้ซึ่งส่วนหนึ่งคงเป็นนักบวชในพระศาสนา



คิดดูก็แปลกดี มหาเถรสมาคมนั้นเพิ่งมีขึ้นครั้งแรกในสยามตาม พ.ร.บ.ลักษณะปกครองคณะสงฆ์ พ.ศ.2445 ตั้งขึ้นเพื่อเป็นหัวหอกในการ "ปฏิรูป" ศาสนา และเป้าหมายของการ "ปฏิรูป" ก็คือ ผนวกเอาพระสงฆ์สยามทั้งหมดไว้ภายใต้การกำกับของสมบูรณาญาสิทธิราชย์สยาม แม้กระนั้นก็มีผลกระทบต่อการตีความหลักธรรมคำสอนอย่างมาก เมื่อบ้านเมืองเปลี่ยนแปลงไปถึงบัดนี้ ศักยภาพในการนำเพื่อตีความของมหาเถรสมาคมได้เสื่อมสลายไปหมดแล้ว

เมื่อองค์กรทางศาสนาไม่ทำงานที่สำคัญอย่างนี้ จึงเป็นธรรมดาที่ผู้คนพากันไปแสวงหาธรรมะจากแหล่งต่างๆ โดยเฉพาะสำนักปฏิบัติธรรมของพระภิกษุและฆราวาส ความทุกข์ของโลกทุนนิยมมันเปลี่ยนไป ต่างคนต่างต้องการคำตอบให้แก่ความทุกข์เฉพาะหน้าของตน จึงเป็นธรรมดาที่สำนักทั้งหลายย่อมเน้นการแก้ทุกข์ระดับปัจเจกเป็นสำคัญ และละเลยมิติด้านสังคมเหมือนเดิม

คนชั้นกลางระดับบนอาจไปสำนักที่สอนวิปัสสนากรรมฐาน คนชั้นกลางระดับกลางอาจเดินทางไปแสวงบุญในอินเดีย (ซึ่งถูกเรียกอย่างน่าอัศจรรย์ว่า "พุทธภูมิ") คนชั้นกลางระดับล่างอาจทำบุญเก้าวัด หรือนมัสการอัฐิหลวงพ่อหลวงปู่ต่างๆ ซึ่งได้รับการตัดสินจากฆราวาสว่าเป็นพระ "อรหันต์" ทั้งหมดนี้คือการ "ปฏิบัติธรรม" ทั้งนั้น แตกต่างตามนิสัยปัจจัยของผู้ทำบุญ



การจัดองค์กรทางศาสนาเวลานี้ จัดการได้แต่ปัญหาเล็ก แต่จัดการกับปัญหาใหญ่ไม่ได้ ซ้ำยังจัดการปัญหาเล็กได้อย่างสายเกินไปทุกที จึงถึงเวลาแล้วที่ควรหันกลับมาทบทวนการจัดองค์กรพุทธศาสนากันใหม่ ไม่แต่เพียงการปกครองคณะสงฆ์เท่านั้น แต่คิดทบทวนตั้งแต่ความสัมพันธ์ระหว่างศาสนากับรัฐ และศาสนากับสังคม ให้เหมาะกับสภาพที่เป็นจริง

มีปัญหาสำคัญๆ ที่ควรถกเถียงอภิปรายกันหลายประเด็น นับตั้งแต่เราควรแยกศาสนาออกจากรัฐให้เด็ดขาดไปหรือไม่
แต่รัฐจะต้องปฏิบัติต่อศาสนาและองค์กรศาสนาอย่างเท่าเทียมกัน จะคืนวัดให้กลับมาเป็นของประชาชนและอยู่ภายใต้การกำกับของประชาชนได้อย่างไร

การจัดองค์กรในพระพุทธศาสนาอาจมีได้หลายรูปแบบ และดังนั้นจึงปรับเปลี่ยนไปตามความเหมาะสมได้เสมอ (อันที่จริงเวลานี้ก็เป็นอยู่แล้ว หากคิดถึงสันติอโศกและธรรมกาย แต่เป็นเสรีภาพที่ไม่ได้ประกันไว้แก่ "สำนัก" อื่นๆ ทั้งหมด ที่ไม่มีพลังทางการเมือง และ/หรือทรัพย์เท่าสองสำนักนี้)

ทำอย่างไรสังคมจึงมีพลังพอจะควบคุมองค์กรศาสนาได้จริง

ความเป็นเถรวาทนั้นอยู่ตรงไหนกันแน่ และนักบวชในพระพุทธศาสนาไทยมีเสรีภาพที่จะไม่เป็นเถรวาทได้หรือไม่

จะเชื่อมโยงการศึกษาทางโลกและทางธรรมให้ได้ผลอย่างไร จะมีนักบวชหลายระดับที่ทำหน้าที่ต่อสังคมแตกต่างกันได้หรือไม่ และอย่างไร

ฯลฯ 



.

2556-07-23

ฟ้อนผี-โหนพุทธ โดย คำ ผกา

.

คำ ผกา : ฟ้อนผี-โหนพุทธ
ในมติชน ออนไลน์ วันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2556 เวลา 23:03:00 น.
(www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1374488240)
จาก บทความ ฟ้อนผี-โหนพุทธ มติชนสุดสัปดาห์ 19 ก.ค. 56 ปีที่ 33 ฉบับที่ 1718 หน้า88


มีอยู่เรื่องหนึ่งที่คาใจฉันมานานมาก ไม่เพียงแต่คาใจแต่ยังเป็นปัญหาเชิงจริยธรรมที่หาคำตอบให้ตัวเองไม่ได้ นั่นคือ ฉากในการฟ้อนผีมดครั้งหนึ่งนานมาแล้ว

ฟ้อนผีมดคืออะไร เท่าที่ฉันรู้ (แบบไม่ใช่นักมานุษยวิทยา) ผีมด แปลว่าผีที่ดูแล คุ้มครอง ปกปักรักษา เป็นผีจากบรรพบุรุษฝ่ายหญิง ซึ่งคนในสายตระกูลจะตัดสินใจกันว่า "หิ้งผี" ของสายตระกูลจะอยู่บ้านใคร ถึงเวลาก็ไปไหว้ผีบรรพบุรุษกัน

นอกจากไหว้ผีก็จะมีการจัดฟ้อนผีมด ซึ่งแต่ละตระกูลไม่ได้จัดทุกปี แต่เนื่องจากมีกันหลายตระกูล แต่ละปีจึงมีงานฟ้อนผีมดให้เราไปเข้าร่วมตลอด

การเข้าร่วมมีตั้งแต่ "ไปดู" หรือมีความเกี่ยวดองเป็นญาติ ไปช่วยจัดงาน ช่วยจัดสถานที่

สำหรับเด็กๆ อย่างฉันการไปดูฟ้อนผีมด มันสนุกตรงที่ได้ไปเห็นคนแต่งตัวแปลกๆ คนแต่งตัวแปลกๆ เหล่านั้นมาจากไหน เข้าใจว่า เจ้าภาพเชิญ "ร่างทรง" ต่างๆ มาร่วมงาน ยิ่งเจ้าภาพร่ำรวยใหญ่โตมากก็จะสามารถเชิญร่างทรงผู้ทรงอิทธิพลมาร่วมได้มาก

ถามว่าใครคือร่างทรงผู้มีอิทธิพลมากหรือน้อย ก็ต้องดูจาก "ผี" ที่ตนเป็นร่างทรง ซึ่งส่วนมากเป็นผีของ "เจ้า" ผู้ครองนครต่างๆ ในอดีต

เรียกได้ว่าการไปทำความรู้จักชื่อ "เจ้าผู้ครองแว่นแคว้น" ผ่านร่างทรงเหล่านี้ อาจทำให้เด็กอย่างฉัน "มึน" กับภูมิศาสตร์การเมืองอีกชุดหนึ่งอันไม่ได้ถูกสอนไว้ในแบบเรียนเลย เนื่องจากเมืองม่าน เมืองมอญ เมืองลำพูน เมืองละกอน และอีกสรรพตระกูลเจ้าผู้ครองนครที่เกิดมาก็ไม่เคยได้ยินชื่อ

ทั้งไม่มีอันใดเกี่ยวข้องกับภูมิศาสตร์ประเทศไทยที่ฉันคุ้นเคยเลยแม้แต่น้อย



บรรดา "เจ้า" เหล่านี้จะแต่งตัวเป็น "เจ้า" กันมาเต็มที่ "เจ้า" ผู้ชายใส่เสื้อไหม โสร่งตาตารางไหม โพกผ้าผูกโบว์ทิ้งชายห้อยข้างหู เป็น "เจ้าเมืองพม่า" (จำไม่ได้ว่ามี "เจ้า" ผู้หญิงหรือเปล่า) ใส่แหวนพลอย แหวนทับทิมวงใหญ่ (แน่นอนว่าทั้งหมดเป็นเพียง "คอสตูม")

ที่น่าตื่นตาตื่นใจคือ "เจ้า" เหล่านี้จะแต่งหน้า ทาลิปสติก ทุกอย่างในเนื้อตัวจะแพรวพราว เหนือจริงไปหมด ขัดแย้งกับปรัมลานฟ้อนที่เป็นลานดิน กับบ้านช่องอันไม่น่าจะเป็นสถานที่ที่ "เจ้า" พึงมาสังสันทน์กัน

และที่ฉันทึ่งมากคือ จริต กิริยาของบรรดา "เจ้า" เหล่านี้ จะต้อง "ดัด" ให้เหมือน "เจ้า" (ในจินตนาการของร่างทรงซึ่งแท้จริงคือ ชาวบ้าน และชาวนา) ทั้งการเดินที่จะเนิบช้า ทอดน่อง หลังตรง อกแอ่น การกรีดนิ้ว สูบบุหรี่ การดื่มเหล้า การแตะศอกทักทาย "เจ้า" ด้วยกันอย่างให้เกียรติ ยกย่อง และเรียกกันและกันว่า "เจ้า" (จะว่าไปภาษากายคล้ายลิเก หรือภาษาที่คนภาคเหนือสมัยนี้ใช้พูดกับ "เจ้านายฝ่ายเหนือ" ก็คลับคล้ายคลับคลาว่า ดัดๆ แปลงๆ มาจากภาษาที่ "เจ้าร่างทรง" ในฟ้อนผีมดเขาใช้คุยกัน เช่น คำว่า เจ้าพ่อนั้น เจ้าแม่นี้)

เด็กอย่างฉันไปยืนดูก็อัศจรรย์ใจว่า ลุงทา ป้าแก้ว ลุงมี เมื่อวาน วันนี้กลายเป็น "เจ้า" ไปซะเฉยๆ อย่างนั้น (คิดๆ แล้ว งานฟ้อนผีมดนี่เหมือนรวมญาติเป็นการประชุม UN ของบรรดา "เจ้า" แห่งแว่นแคว้นก่อนเข้าสู่ยุคของรัฐชาติสมัยใหม่) มารวมกันแล้ว บวงสรวง ไหว้ผี แก้บนกันแล้วก็จะเริ่มฟ้อน มีวงดนตรีมาเล่นดนตรีที่คึกคักเร้าใจอย่างยิ่ง

"เจ้า" ซึ่งเริ่มดื่มกันมาประมาณหนึ่งก็จะออกไปฟ้อนในลีลาที่เหมือนถูก "ทรง" ด้วยบางสิ่งบางอย่างจริงๆ คือ ฟ้อนแบบลืมตัวลืมตน

ระหว่างนี้ คนดูก็อยู่ข้างนอกวิพากษ์วิจารณ์ "เจ้า" คนนั้นคนนี้ กินเหล้าไป ทักทายญาติมิตรไป แต่ระวังว่า เราอาจจะถูกผีเข้าทรงเมื่อไหร่ก็ได้ทุกเมื่อ

มีคนหลายคนที่ถูกผีเข้า จะมีอาการบางอย่างที่เป็นที่รับรู้ว่า "ผีเข้าแล้ว" เมื่อมีคนนอกปรัมถูกผีเข้า ร่างทรงเจ้าก็จะวิ่งมาถอดผ้าคล้องไหล่บ้าง ผ้าโพกหัวบ้าง ไปคล้องให้ หรือไปโพกหัวให้ จากนั้นก็กล่าวทักทาย "เจ้า" องค์นั้นอย่างคุ้นเคยก่อนจะชวนเข้าไปฟ้อนด้วยกัน

ใครก็ตามที่ถูกผีเข้าก็ถูกนับเป็นเจ้าร่วมตระกูลไป และบางคนก็ต้องกลายเป็นร่างทรงหรือที่ภาษาเหนือเรียกว่า "ม้าขี่" ไปตลอดชีวิตเลยก็พบ



จุดที่สนุกที่สุดของฟ้อนผีมดคือช่วงเย็นที่ทุกคนเมากันมากๆ แล้ว ทีนี้ทั้งผีทั้งคนทั้งเจ้าร่างทรงก็จะฟ้อนกันอีรุงตุงนังฟั่นเฟือน

แต่เรื่องที่คาใจฉันคือ น้ากะเทยสองคนของฉันมักจะผีเข้ากับเขาในช่วงชุลมุนนี้ ก่อนจะสถาปนาตนเองเป็นผู้หยั่งรู้ฟ้าดิน รักษาโรค พ่นคาถาใส่น้ำให้กลายเป็นน้ำมนต์ให้คนจ่ายเงินซื้อไปดื่มไปอาบ บอกหวย และอีกสารพัด ให้คนมาหมอบไหว้ เชิดชู จนกว่าผีจะ "ออก"
จากนั้นพวกเขาก็จะกลับบ้านไปหัวเราะกันอย่างครื้นเครงที่ "หลอก" คนได้ พร้อมทั้งนั่ง invent ประดิษฐ์คาถาใหม่ๆ ตลกๆ สำหรับงานอื่น หรือคิด "ท่า" เวลา "องค์ลง" ใหม่ๆ ให้ดูน่าตื่นตาตื่นใจมากขึ้น


จุดนี้เองที่ทำให้ฉันมีคำถามเชิงจริยศาสตร์ : สิ่งที่น้าของฉันทำเป็นการต้มตุ๋น หลอกลวงหรือไม่?

ชาวบ้านที่มากราบไหว้รู้หรือไม่ว่านี่คือการแสดง? และ/หรือ เราควรจะเรียกพิธีฟ้อนผีมดทั้งหมดว่าคือ ปาหี่ หลอกลวง ผีไม่มีจริง

ชาวบ้านที่อ้างตัวว่าเป็น "เจ้า" เหล่านั้นก็ไม่ใช่ "เจ้า" ไม่นับว่า ชื่อเสียงเรียงนามของเจ้าต่างๆ นานาที่เรียกกันก็ไม่มีในบันทึกประวัติศาสตร์


เท้าความมายาวมากและเกือบจะไม่เกี่ยวอะไรกับสิ่งที่จะเขียนต่อไปเพื่อที่จะบอกว่า เราจะแยกแยะการแสดงบทบาท, พิธีกรรม, ความเชื่อ, ตำนาน ออกจากการโกหกหลอกลวงได้อย่างไร? ทำไมเราจึงเชื่อว่ามีเทวดาปลอมตัวลงมาในไร่แตงโมแล้วแกะสลักพระแก้วมรกต จากแตงโมในไร่ที่บังเอิญไม่ใช่แตงโมแต่เป็นมรกต!!!!

ประเด็นของฉันคือ "การสร้างตำนาน" ให้กับตนเองเป็นการโกหกหรือไม่ ไม่สำคัญเท่ากับเรื่องที่เขา "สร้างขึ้น" นั้นมันทำงานอย่างไรในสังคม

เพราะจะว่าไปแล้ว การ "กุเรื่อง" หรือการสร้าง "อุบาย" เพื่อหวังผลทางสังคมน่าจะเป็นสิ่งที่เกิดมาคู่กับมนุษยชาติ เพียงแต่สิ่งที่เป็นตำนานในยุคหนึ่งอาจกลายเป็นอาชญากรรม หากเอามาตรฐานของอีกยุคหนึ่งไปตัดสิน

เช่น หากเอาคอนเซ็ปต์เกี่ยวกับ "ความจริง" ของโลกสมัยใหม่ไปดูฟ้อนผีมด บรรดาร่างทรงในปรัมพิธีคงถูกจับข้อหาหลอกลวงปลอมตัวกันหมด



"ผมขอมีชีวิตอยู่เพื่อทำความดี" (ดร.นพ.ปิยวงศ์ เศรษฐวงศ์)
"รวงข้าวโน้มไปหาโบสถ์เพื่อฟังพระธรรม" (http://morning-news.bectero.com) 
"ผมเลือกข้างแล้ว ผมเลือกข้างพระพุทธเจ้า" (สุทธิพงษ์ ธรรมวุฒิ)


ในยุคเริ่มแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเมื่อห้าสิบกว่าปีที่แล้ว "ตำนาน" ที่เอาไว้ "เครดิต" ให้คนในสังคมเชื่อถือคือการมีปริญญาบัตร และจะอิชาบาละโกะยิ่งขึ้นหากเป็นปริญญาบัตรจากต่างประเทศ และมีหลายๆ ปริญญายิ่งดี สังเกตว่าพระเอกนิยาย หนัง ละครสมัยนั้นนอกจากจะต้องเป็นคุณชายสูบไปป์แล้วยังต้องเป็นนักเรียนนอกอีกด้วย แต่ไม่ปรากฏว่า พระเอกหรือนางเอกสมัยนั้นต้องเข้าวัด ฟังธรรม หรือฝักใฝ่ในพระพุทธเจ้าเป็นพิเศษ

จำเนียรกาลผ่านไป ล่วงเข้าปรัตยุบันสมัย (ดูขลังมั้ย แต่ไม่รู้สะกดถูกหรือเปล่า) สังคมไทยยังคลั่งวุฒิปริญญาบัตรกันเหมือนเดิม ยิ่งใครบอกว่ามาจากเคมบริดจ์ อ๊อกซ์ฟอร์ด ฮาร์วาร์ด คนไทยจะเชื่อไว้ก่อนว่าเก่งว่าเจ๋งเป็นเทพ

แต่ที่พิเศษไปกว่านั้นปริญญาและมหาวิทยาลัยดังเพียงอย่างเดียวไม่พอ ต้องประกาศตัวให้ฝักใฝ่ในพระพุทธศาสนา ปฏิบัติธรรม เข้าวัดป่า เป็นศิษย์พระพุทธทาส หลวงพ่อชา หรือฮิปๆ หน่อยก็ต้องเป็นศิษย์ของ ว.วชิรเมธี ที่สอนอะไรคมมากๆๆๆ ตลอดเวลา เช่น

"รถทุกคันล้วนมีเบรก รถทุกคันล้วนมีท่อไอเสีย คนทุกคนต้องมีเบรกคือสติ ต้องมีท่อไอเสียคือการปล่อยวาง"

โห...คมจี๊ดดดดดดดดดดดดบาดใจกันไปตามๆ กัน



หันมามองการตลาด การ "ปั้น" คนเข้าสู่วงโคจรของการเป็นเซเลบริตี้ไทย หนทางลัดที่สุดที่จะนำพาคุณไปสู่การเป็นคอลัมนิสต์ของนิตยสารชั้นนำ, เป็นวิทยากรขององค์กรที่จัดงานเก๋ๆ อย่าง "เวทีปลวกพลังบุก" (คิดตั้งนานว่าคือการเล่นกับคำว่า "ปลุกพลังบวก"), เป็นแบบอย่างที่ดีของวัยรุ่นหรือ role model, เป็นบุคคลที่ได้ชื่อว่าทำงานอุทิศตนเพื่อสังคม-สิ่งที่จะขาดเสียไม่ได้คือการหมั่นพูด jargon ธรรมะเก๋ๆ เช่น มุทิตาจิต, กุศลจิต อิทธิปัจจยตา
ฯลฯ และอย่าลืมโพสภาพตัวเองนุ่งขาวห่มขาว นั่งพับเพียบสนทนาธรรมกับพระชื่อดังที่เป็นไอดอลของสังคม


ตอนนี้ฉันเลิกสงสัยและปลดภาระทางจริยศาสตร์ต่อการฟ้อนผีมดแล้ว แต่หันมาสงสัยอาการ "โหน" พุทธศาสนาอย่างเข้มข้นในสังคมการตลาดไทยในปัจจุบันสมัยแทน



.

2556-07-19

สภาวะอำนาจนิยมของสิ่งที่เรียกกันว่า 'การรับน้อง' โดย ธเนศวร์ เจริญเมือง

.

ธเนศวร์ เจริญเมือง: สภาวะอำนาจนิยมของสิ่งที่เรียกกันว่า 'การรับน้อง'
ใน ประชาไท www.prachatai3.info/journal/2013/07/47747 . . Wed, 2013-07-17 18:07


ธเนศวร์ เจริญเมือง
เผยแพร่ครั้งแรกในเฟซบุควันที่ 8 กรกฎาคม 2556
โดยผู้เขียนอนุญาตให้ปรับปรุงและนำมาเผยแพร่ต่อในประชาไท


000

ทำไมคนไทยส่วนใหญ่ไม่ชอบอ่านหนังสือ

1. เพราะในระหว่างเรียน ไม่ได้สอนให้เห็นความสำคัญของการอ่านมากๆ แต่เน้นให้จำ จำเพื่อจะได้ไปสอบ สอบให้ได้คะแนนดีๆ คะแนนดีๆ แล้วสมัครอะไร เขาก็จะรับ

2. เพราะในระหว่างเรียน ไม่ได้สอนให้เน้นการคิด การวิเคราะห์ การตั้งคำถาม ตั้งข้อสงสัย การฝึกค้นคว้า การออกไปค้นหาความจริงในที่ต่างๆ และที่ห้องสมุด แต่เป็นการเรียนให้จำ ให้จด ไม่ต้องถามมาก หรือไม่ถามเลยยิ่งดี

3. เพราะเรียนจบแล้ว ก็บอกว่าจบ จบหลักสูตรแล้ว ก็จึงไม่ต้องอ่านอะไรอีกแล้ว เพราะจบแล้ว ฉลาดแล้ว ได้ปริญญาแล้ว ได้ถ่ายรูปใบสำคัญเอาไว้อวดเพื่อนบ้านญาติมิตรแล้ว ได้กินเลี้ยงแล้ว ก็ไม่เห็นต้องอ่านอะไรอีกล่ะ

4. เพราะรอบๆ สถาบันการศึกษา มีร้านหนังสือน้อยมาก ส่วนใหญ่เป็นร้านอาหาร ร้านดนตรี กินดื่มเต้น และร้านขายของสารพัด แทบไม่มีร้านหนังสือเลย หรือมีน้อยมากๆ มีหนังสือพิมพ์วางขายหน้าร้าน 3 -4 เล่ม มีนิยาย นิตยสารให้เช่าจำนวนหนึ่ง นอกนั้นแทบไม่มีอะไรเลย นี่ไงครับ บัณฑิต ที่ครองตน ครองคน และครองงาน หนังสือไม่ต้องอ่าน เพราะจบแล้วหรือว่าใกล้จะจบแล้วนี่ครับ เวลาขึ้นรถไฟฟ้า หรือรถเมล์ ก็แทบไม่เห็นว่ามีใครอ่านหนังสือเลย



แล้วถ้าถามต่อไปว่า ก็ทำไมไม่ปฏิวัติการเรียนการสอน และการสอบ ตามข้อ 1-2-3 ที่ได้พูดไป ก็ต้องบอกว่าก็คนสอนเขาไม่ต้องการให้คนเรียนคิดเป็น ถามเป็น ตอบเป็น เถียงเป็น ค้นคว้าเป็น หรือตั้งคำถามเป็นนี่นา

ไม่เชื่อก็ลองเข้าไปเป็นปี 1 ดูสิครับ กฎระเบียบทุกอย่างที่วางไว้โดยสถาบันและโดยรุ่นพี่ วางกรอบ วางกฎไว้หมดทุกอย่าง ถามได้ไหม เถียงได้ไหม แย้งได้ไหม เสนอได้ไหม สงสัยได้ไหม ขอให้ทบทวนได้ไหม ฯลฯ
ก็แทบไม่ได้สักอย่างเดียว แล้วจะคาดหวังอะไรจากระบบการศึกษาเช่นนี้ครับ


000

ใครเป็นคนทำ VDO นี้ ไม่ได้บอกชื่อไว้ แต่ขอได้รับคำขอบคุณจากคนดูครับ
เพราะให้ภาพชัดดี ข้อมูลมากมาย (ดูวิดีโอที่นี่)


www.youtube.com/watch?v=7rOmSFFQ234
ประเพณีรับน้องขึ้นดอย "56 (CMU trekking 2013)



"รับน้องขึ้นดอย 56" กิจกรรมสำคัญของสถาบันอุดมศึกษาสำคัญแห่งหนึ่งในภาคเหนือยังคงสะท้อนสภาวะสำคัญที่เราเรียกกันระบบรับน้อง และระบบว้ากน้อง ที่ร่วมมือกัน โดยคน 4-5 กลุ่ม ที่มีความคิดโดยหลักๆ เป็นเอกภาพ ตรงกัน คล้ายคลึงกัน คือเป็นแบบอำมาตยาธิปไตย ดังนี้

กลุ่มที่ 1 กลุ่มผู้บริหารและคณาจารย์
กลุ่มที่ 2 กลุ่มนักศึกษารุ่นปี 2-3-4-5-6
กลุ่มที่ 3 คือบรรดาศิษย์เก่าที่จบไปแล้ว แต่คิดถึง เลยมาแวะดู ยืนดู เชียร์ หาน้ำหาขนม หาเงินมาให้ มาหนุน
กลุ่มที่ 4 บรรดาสื่อมวลชน ซึ่งก็คือพวกศิษย์เก่า มารายงานข่าว เก็บเก่า ยืนดูไป เชียร์ไปด้วย เพราะผ่านมาแล้ว เห็นด้วย ชื่นชม อาจจะควักเงินด้วย และอาจมีน้ำตาไหลด้วย แล้วก็กลับไปเขียนเชียร์

นี่คือ 4 กลุ่มหลักที่เป็น Actors และเป็น conductors ด้วย ส่วนบรรดาน้องใหม่ ก็เป็น Actors ที่แสดงบนท้องถนนที่ผู้คนเห็นหน้ามากที่สุด แต่พวกเขาก็เป็นเหมือนตัวละครแบบพวกจุฑาเทพ หรือละครไหน นั่นคือ กลุ่มทั้ง 4 โดยเฉพาะกลุ่ม 1-2-3 สั่งให้ทำอย่างไร ก็ทำตามนั้น


 ตัวอย่าง
1. แต่งชุดเหมือนกันหมด โชว์ส่วนที่เป็นล้านนา เพราะมหาลัยเห็นแล้วว่าต้องทำให้โลกเห็นว่าศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นต้องสืบสาน ถ้าไม่ทำ เดียวโดนวิจารณ์ อีกอย่างมันขายได้ เอาไปขอเงินได้ นักท่องเที่ยวก็ชอบมาดู ไปของบจากรัฐบาล ก็จะดูดี

2. เน้นคณะนิยม แบบขุนศึกศักดินาเป็นก๊กๆ แต่ละก๊ก ธงไม่เหมือนกัน แต่งกายไม่เหมือนกัน เพื่อโชว์ก๊กใคร ก๊กมัน ก๊กของเราต้องสวยเลิศกว่าคนอื่น ระบอบอำมาตยาก็สร้างก๊กไว้แบบนี้

3. เน้นแต่งกายทะมัดทะแมง เพื่อสะดวกเวลาพี่สั่งให้น้องๆวิ่งขึ้นไป โชว์ความแข็งแกร่ง โชว์พลังของก๊ก น้องปี 1 หญิงต้องนุ่งกางเกง ล้านนา สตรีนุ่งซิ่นเอาเก็บไว้ ไม่ได้ เพราะต้องวิ่งขึ้นโชว์ความแข็งแกร่ง ทรหดอดทน สปิริต พี่สั่งอะไร น้องต้องทำให้ได้ ทุกอย่างตามที่พี่อยากเห็น

4. สังเกตไหม น้องยืนตัวตรง หน้าบึ้ง ไม่ยิ้ม เหมือนทหารถูกบังคับ

5. ได้ยินไหมครับ พี่ตะโกนบอก เราจะเดินขึ้น สูงชัน โหด ทำภารกิจอันยิ่งใหญ่

6. แล้วก็ก้มๆเงยๆ บูมๆๆๆๆ ประกาศนามก๊กให้ดังสุดเสียง ให้โลกรู้ว่ากูคือใคร คณะอะไร ได้ยินไหม ก็คือเพลงเชียร์คณะที่ซ้อมกันมาเป็นเดือนนั่นแหละ

7. แล้วพี่ก็สั่งให้เกาะบ่ากัน วิ่งๆๆๆๆ ขึ้นโค้งขุนกัณฑ์ หรือหากเิดินช้าไป เกิดช่องว่าง ก็ต้องเร่งให้วิ่ง ให้แถวกระชั้นเข้ามา

8. มีรุ่นพี่ตะโกน ว่าให้น้องๆดูแลกัน ช่วยกัน และพี่จะเข้าไปช่วย

9. เห็นชัดไหมครับ พี่ๆ ปี 2-3-4 แทบทุกคณะไม่แต่งกายล้านนา ไม่เข้าแถว กับน้อง แต่ส่วนหนึ่ง จะยืนหน้าสุด เหมือนทหาร ถือธงอันยิ่งใหญ่ของก๊ก เหมือนไปรบพุ่งกับศัตรู ใบหน้าเข้ม เอาจริง ยืนแบบนั้นหน้าขบวน ไม่่กี่คนครับ แต่ข้างๆทั้งชายหญิงคือรุ่นพี่ ที่ดูแลน้องๆ มักใส่เสื้อสีน้ำเงินหรือสีดำ พวกเขาไม่แต่งตัวแบบน้อง เพราะถือว่าผ่านมาแล้ว ปีก่อน ทำแล้วนี่ ปีนี้ก็ไม่ต้อง แต่เป็นผู้กำกับบท และคอยช่วยเหลือ คอยดูแล และแน่นอน คอยเชือด คอยบันทึก ถ้าใครไม่ให้ความร่วมมือ กลับลงมาจากดอย กลับไปที่ก๊ก มึงตายแน่ เจอโทษแน่ ฯลฯ



จาก 9 ข้อนี้ เราเห็นชัดเจนมากครับว่า นี่คือการเอาการขึ้นดอยไปไหว้พระธาตุมาทำให้ดูดี ด้วยการทำทุกปี แล้วบังคับให้ยึดกันเป็นประเพณี (จะได้ดูเป็นคนมีอารยธรรม มีศิวิไลซ์ ไม่ใช่คนล้าหลัง เพราะเป็นคนมีรากเหง้า มีแบบแผน) แต่ทั้งหมด ก็ให้ดูดี ดูล้านนา (แม้บางส่วน) ดูนำไปขายได้ อวดโลกได้ แต่ทั้งหมดก็คือ ส่วนหนึ่งของการสร้างก๊ก ให้น้องๆอยู่ในโอวาท สั่งอะไรให้ทำตาม ต้องทำตาม เพราะยังจะต้องมีกีฬาอีกหลายรายการ ที่น้องๆต้องไปเชียร์ ไปร้องเพลง ไปเป็นลีด ไปปรบมือ ไปตะโกน สู้ ๆ บูมๆๆๆๆ ประกาศนามอันเกรียงไกรของก๊ก

น้องๆ ต้องทำสิ่งเหล่านี้ เพราะพี่ๆ ผ่านมาแล้ว เมื่อพี่ๆ ทำมาแล้ว น้องก็ต้องทำตาม ไม่ทำไม่ได้ ห้ามขัดประเพณี

ก็ถามสิครับ คนล้านนาเดินขึ้นดอย ไปทำไม ไปไหว้พระ ไปสงบจิตใจ ไปหาคำสอน บนนั้นไม่มีหิมะ ไม่ใช่ไปตาย เดินไปหยุดไป คุยไป ออกกำลังไป รู้จักกันไป ผูกมิตรกันไป ทำไมต้องเครียด ทำไมต้องแข่งกัน ใครถึงก่อน ใครตะโกนร้องเพลง เสียงดังกว่า

ถึงได้บอกว่า การขึ้นดอยเป็นเพียงเครื่องมือ เป็นเพียงวิธีการที่นำไปรับใช้ระบบรับน้องและว้ากน้องเท่านั้น น้องคือเครื่องมือ น้องคือตัวแสดง ที่ผู้กำกับบท เจ้าของค่าย เจ้าของก๊ก อยากเห็นและอยากให้ทำ และรักษาระบบอำนาจนี้ รักษาระบบการกดขี่ ลิดรอนสิทธิเสรีภาพนี้ให้คงอยู่ต่อไป

ถามว่า แล้วเราจะจัดประเพณีแบบประชาธิปไตย ที่สถาบันการศึกษาสูงส่งนี้ทำได้ และทำได้ดี มีคนรัก คนชื่นชม คนยกย่องได้ไหม ได้ครับ

เช่น เข้าแถวได้ ทำตัวให้สบาย ไม่ต้องยืนแบบทหาร ไม่ต้องตะคอก ไม่ต้องสั่ง ไม่ต้องยืนคุมรอบๆ เพื่อกดดันน้อง ไม่ต้องทำตัวเป็นเจ้าของก๊ก เจ้าของค่าย ปีที่แล้ว พวกคุณไปแล้ว ก็ไม่ต้องไป ถ้าไม่อยากไป และไม่ต้องมาคุม มาบงการ มาสั่งการ มาคอยดูแลพฤติกรรมเพื่อที่จะเล่นงานและลงโทษน้องเมื่อลงจากดอย

แต่งตัวตามคณะก็ได้ เหมือนก้ันก็ได้ ไม่เหมือนกันก็ยังได้ ด้วยการถาม ปรึกษาหารือกัน ให้น้องออกแบบก็ยังได้ เปิดประชาธิปไตย กันได้ เหนื่อยก็พัก ไปวัด ไปทำใจสงบ ไม่ต้องสำแดงเดช ไม่ต้องบูม ไม่ต้องแหกปาก แค่มีป้ายถือบอกคณะไหน ผู้คนก็รู้หมดแล้ว บางคณะทำแย่มาก สังเกตไหมครับ เอาป้ายชื่อน้องแขวนน้องทุกคนด้วย ก็คือบังคับในมหาลัยยังไม่พอ จะขึ้นดอย ยังตามมาบังคับกันอีก

ความจริง ถ้าเดินขึ้นจากถนนสุเทพ ไปทางกาแล เดินขึ้นไปบนเส้นทางนั้นแบบบรรพชนชาวล้านนาเมื่อหลายร้อยปีก่อน ก่อนปี พ.ศ. 2477 เดินทั้งขึ้นและลง ทำทางให้ขยายกว้างกว่าเดิม ไม่ต้องมาใช้ถนนที่ครูบาศรีวิชัยสร้าง ก็อาจจะเท่ไปอีกแบบด้วยซ้ำไป อาจจะดีกว่า ได้บุญมากกว่าด้วยซ้ำไป

สุดท้าย ถ้าทำแบบโอลิมปิค ก็ยังได้ ออกเช้า ค่อยๆ เดิน พักไปเรื่อยๆ ก็ไม่เครียด ขากลับแตกคณะเดินคละกัน เอาธงทุกคณะมารวมกันเดินเข้าสเตเดียมด้วยกันแบบพิธีปิดโอลิมปิคยังได้เลย
แต่พวกเขาถูกบังคับแต่แรกให้ไป บีบกันมาก สั่งให้วิ่ง สั่งให้ไปถึงก่อนคณะคู่แข่ง แบบนี้ ใครจะมีความสุข ในใจมันมีแต่กิเลส มันมีแต่การแข่งขัน ที่พระพุทธเจ้าไม่เคยสอนไว้ แล้วใครจะเดินกลับมาเพราะมันหมดแรงหมดใจ ไม่ได้อิ่มเอิบอะไร เพราะไปวัดไปดอยมาหลายหนแล้ว ไปกันเอง ไปกับครอบครัว นี่ยังมาบังคับกะเกณฑ์ (กรู) อีก มันจะอะไรนักหนา จะแหกปากกันไปถึงไหน ทุกอย่างก็ให้มหาลัยได้หน้า ให้พวกรุ่นพี่มีความสุข สะใจได้บังคับรุ่นน้อง ได้ล้างแค้นสำเร็จแล้ว ก็เท่านั้น

นี่ไงครับ ปฏิบัติการแบบอำมาตยาธิปไตยในแวดวงการศึกษาระดับสูงของประเทศนี้


000

ปล.1 เราไปวัดเพื่ออะไรครับ ... ก็ไปทำบุญ ไปไหว้พระ ชมสิ่งก่อสร้างเก่าๆ ซึ่งเป็นอารยธรรมที่บรรพชนเราท่านสร้างไว้ ไปสงบจิตใจ ไปเข้าใกล้ธรรมะ ไปหาพลังชีวิต ฯลฯ

หลายร้อยปีที่ผ่านมา คนล้านนาเดินขึ้นดอยสุเทพคืนก่อนวันวิสาขบูชา ก็ด้วยจิตใจมุ่งมั่นต่อพระศาสนา ก่อนไปควรจะอวดใครในโลกนี้ไหมว่า นี่ๆ ฉันจะเดินไปวัดแล้วนะ รู้ไหม

ฉันจะเอาป้ายไปหลายใบ บอกให้ใครทั่วโลกรู้ว่าฉันเป็นใคร เรียนอะไร คณะไหน มหาวิทยาลัยอะไร ฯลฯ

วันนี้ คนมีการศึกษาเอาการขี้นดอยเป็นเครื่องมือเพื่ออวดสถาบันตัวเอง แข่งขันวิ่งขึ้นไป ใครจะถึงจุดหมายก่อน จะได้ร้องเพลงประกาศ นามสถาบันดังๆ ในวัดหรือหน้าวัด คิดไปคิดมา ก็ชวนสงสัยว่าการศึกษาที่สูงขึ้นทำให้เราควรจะเป็นชาวพุทธที่สุขุม อ่อนน้อมมากขึ้น หรืออหังการมากขึ้น โอ้อวดตัวเองมากขึ้น?


000

ปล. 2 เราจะทำอะไร รวมหมู่กัน ไม่ว่าในหน่วยงานไหน สถาบันไหน แบบประชาธิปไตยได้ไหมครับ
ไม่ยากเลย

1. เคารพซึ่งกันและกัน เพราะเราเป็นคนเหมือนกัน ปี 1 2 3 4 5 6 อาจารย์ใหม่ เก่า ทุกคนก็มีค่าความเป็นคนเท่ากัน ไม่มีใครใหญ่กว่าใคร และไม่ควรมีใครบังคับใคร สั่งใคร เพราะเราทุกคนเท่ากัน ดังน้น ก็ถามความเห็นกัน ปรึกษากัน ชวนกัน ให้ทุกคนทำตามใจสมัคร

2. จะคิดทำอะไร ก็วางแผนร่วมกัน เช่น เพื่อนๆ ปี 1 ที่รักทั้งหลาย ทุกปี เราจะมีงานเดินขึ้นดอย ที่ผ่านมา เราทำแบบนี้ (ฉายวีดีโอให้ดูประกอบ) ดูร่วมกันเสร็จก็ถามปี 1 เลย เอ้า เพื่อนๆ ปี 1 เราจะทำต่อดีไหมครับ ถ้าจะทำ จะทำแบบไหน แต่งกายอย่างไร ใครจะออกเงิน ออกแบบ ใครจะแบ่งงานกันอย่างไร

แล้วก็แบ่งแผนงานไปคิด แยกกันไปทำ แล้วมานำเสนอ ให้ที่ประชุมรับรอง จากนั้น ก็เอ้า ใครจะไป ใครจะไม่ไป ใครจะออกเงินช่วย

อ้าว ปีนี้ เพื่อนๆ ปี 1 ไม่มีใครอยากไปเลย เพราะเดินขึ้นดอยมาหลายหนแล้ว ตอนอยู่สาธิต อยู่ยุพราช วัฒโน พ่อแม่พาไป ฯลฯ ไม่อยากไปตอนนี้ เอ้า ไม่ไปก็ไม่ไป พวกเรา ปี 2-3-4 -5 มานั่งคุยกันเอง เราก็ไปของเราเอง ฯลฯ

นี่คือตัวอย่างครับ พี่น้อง ประชาธิปไตยต้องเป็นไปด้วยความสมัครใจ เคารพกัน ฟังกัน และทุกอย่างทำไปด้วยใจ ด้วยความรัก ด้วยศรัทธา ไม่มีบังคับกันเลย

ปุจฉา ชาตินี้ จะได้เห็นกิจกรรมแบบนี้ไหม ในสถาบันอุดมศึกษาของประเทศนี้


000

ปล. 3 มีคนเขียนแซวหลังไมค์มา
สมัย ศ.นพ.บุญสม มาร์ติน เป็นรองอธิการบดี ได้ให้นักศึกษาเดินขึ้นดอย วิ่งขึ้น เป็นการออกกำลังกายด้วย

ก็ดีนี่ครับ แต่ว่าเราจะต้องไม่บังคับกัน ไม่ใช่ให้ทุกคนในคณะวิ่งไปพร้อมกัน ยกเท้าพร้อมกัน ไปถึงจุดหมายพร้อมกัน ไม่ใช่ครับ คนเราเดินไม่เท่ากัน วิ่งไม่เท่ากัน เราไปวัด ไปขึ้นดอย ไปไหว้พระด้วยศรัทธา อย่าเอาฮิตเล่อร์ อย่าเอามุสโสลินีมายุ่งกับกิจกรรมพระพุทธศาสนาแบบนี้ เราเป็นสถาบันปัญญาชน ใช้ปัญญาไปวัด ไปหาพระ เราไม่ใช่สถาบันที่ใช้ตีน และใช้อาวุธ เราเป็นสถาบันที่ใช้สมองครับ โปรดทราบ



.

2556-07-18

“ทำไมคนมลายูไม่ภูมิใจภาษาของตัวเอง” โดย ชินทาโร่ ฮารา

.

ชินทาโร่ ฮารา: “ทำไมคนมลายูไม่ภูมิใจภาษาของตัวเอง”
ใน www.prachatai3.info/journal/2013/07/47753 . . Wed, 2013-07-17 23:28


อ.ชินทาโร่ ฮารา เขียนในภาษามลายู
อับดุลเลาะ วันอะฮ์หมัด ถอดความเป็นภาษาไทย 

ชาวญี่ปุ่นที่ศึกษาภาษามลายูยังมีจำนวนไม่ค่อยมากเท่าไหร่ ด้วยเหตุนี้ใคร่ขออนุญาตที่จะเล่าเรื่องราวในฐานะที่เป็นชาวญี่ปุ่นมาแต่กำเนิดที่มีโอกาสได้สัมผัสกับภาษามลายู และมีความเป็นมาอย่างไรถึงได้มีความหลงใหลในภาษานี้ จนต้องศึกษาต่อเพิ่มเติมที่ประเทศมาเลเซีย

ชื่อบทความเดิม : “ภาษามลายูนำทางชีวิต” (Bahasa Melayu penentu perjalanan hidup)




ผมเริ่มเรียนรู้ภาษามลายูที่ประเทศญี่ปุ่น ณ มหาวิทยาลัยเอกชนแห่งหนึ่งที่ชื่อ มหาวิทยาลัยกิโอะ(Keio) ซึ่งก่อนหน้านี้ ผมเองไม่ได้มีความรู้เกี่ยวกับภาษามลายูเลยแม้แต่น้อย สิ่งที่ผมได้รู้จักมักคุ้นก่อนหน้านี้ก็คือ มาเลเซียนั้นเป็นประเทศหนึ่งที่มีการส่งออกยางพาราและแร่ต่างๆ ที่ติดอันดับต้นๆ ของโลก
จากนั้นผมก็ได้เข้าไปศึกษาต่อที่คณะการจัดการนโยบาย (Pengurusan Dasar) ซึ่งเป็นคณะใหม่ที่เปิดสอนที่มหาวิทยาลัยโชนาน ฟูจิซาว่า (Shonan Fujisawa) ซึ่งที่คณะดังกล่าวนี้เอง ได้บังคับให้นักศึกษาทั้งหมดต้องเลือกวิชาภาษาต่างประเทศ

ในขณะเดียวกันนั้นเองทางคณะได้เปิดให้เลือกภาษาต่างประเทศ คือ ภาษาอังกฤษ ภาษาฝรั่งเศส ภาษาเยอรมัน ภาษาจีน ภาษาเกาหลี และภาษามลายู ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วภาษาที่ถูกเสนอให้เลือกเรียน มักเป็นภาษาที่คนญี่ปุ่นจะเรียนเป็นปรกติอยู่แล้ว แต่มีอยู่ภาษาหนึ่งที่ดูเหมือนว่าค่อนข้างแปลก นั่นก็คือภาษามลายู

ในรอบๆ ตัวของผมเองไม่มีใครที่สามารถพูดภาษามลายูได้เลย หรือไม่มีแม้แต่คนที่เคยศึกษาภาษามลายู และผมเองก็ชอบที่จะเลือกทำในสิ่งที่คนอื่นเขาไม่ค่อยจะเลือกกัน ผมจึงตัดสินใจเลือกที่จะเรียนหลักสูตรภาษามลายูเป็นวิชาภาษาต่างประเทศ

คณะที่ผมศึกษาคือ คณะ Pengurusan Dasar ไม่ใช่คณะภาษามลายูแต่อย่างใด เพราะว่าหลักสูตรวิชาภาษามลายูเป็นแค่วิชาเลือกภาษาต่างประเทศวิชาหนึ่ง ที่ได้เปิดสอนตามหลักสูตรแบบเข้มเท่านั้น ทว่าผมไม่ได้มีพรสวรรค์ และไม่ค่อยชอบกับคณะนี้เท่าไหร่ แต่ผมเองกลับไปให้ความสนใจกับภาษามลายูเป็นอย่างมาก และความลุ่มหลงต่อภาษามลายูของผมนับวันก็ยิ่งมีมากขึ้นทุกขณะ



เมื่อประตูสู่โลกมลายูเปิด
อาจารย์ที่มีส่วนช่วยในการเรียนภาษามลายูของผมสมัยที่กำลังศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัยนั้น เขาเป็นอาจารย์ชาวมลายูท่านหนึ่งชื่อ ท่านซัยฟูบาฮารีย์ อะฮ์หมัด ที่ผมมักจะเรียกท่านว่าอาจารย์ซัยฟูล ท่านเป็นชาวมลายูที่มีพื้นเพมาจากเมืองบาตูปาฮัต ซึ่งเป็นอาจารย์รุ่นแรกเลยก็ว่าได้ ที่ถูกส่งมายังประเทศญี่ปุ่น ภายใต้นโยบายของชาติที่ว่าด้วยการเหลียวมองสู่ภาคตะวันออกของรัฐบาล(มาเลเซีย)

ท่านมิเพียงแต่มีความเชี่ยวชาญทางด้านภาษามลายูอย่างเดียวเท่านั้นไม่ หากยังมีความรู้ความสามารถในด้านภาษาญี่ปุ่นได้เป็นอย่างดีอีกด้วย การใช้ภาษาญี่ปุ่นของท่านอยู่ในขั้นดีมาก จนคนส่วนใหญ่นึกว่าท่านเป็นคนญี่ปุ่นโดยแท้ด้วยซ้ำ ประกอบกับรูปร่างหน้าตาของท่านจะดูเป็นคนเชื้อสายจีน ทำให้หลายคนอดใจไม่ได้ที่จะมองว่าท่านเป็นชาวจีนมากกว่า

ท่านยังสามารถอธิบายปัญหาที่เกี่ยวกับการใช้ภาษามลายูในภาษาญี่ปุ่นได้เป็นอย่างดีและชัดเจนอีกด้วย ในขณะนั้นผมเองก็ยังไม่มีเครื่องไม้เครื่องมือในการเรียนรู้ภาษามลายูอะไรเลย ไม่ว่าจะเป็นพจนานุกรมภาษามลายู-ญี่ปุ่นและคู่มือต่างๆ แต่การมาของท่านนั้น มาในฐานะนักพูดที่เป็นเจ้าของภาษามลายูโดยแท้ที่ใช้ภาษาญี่ปุ่นได้อย่างคล่องแคล่วเป็นอย่างดี สามารถที่จะสร้างความกระจ่างชัดให้กับบรรดานักศึกษาได้เกือบหมด

บรรยากาศในห้องเรียนก็แสนสนุกอีกด้วย เพราะนักศึกษาจะถูกตั้งชื่อเล่นใหม่เป็นภาษามลายูทุกคน และจะใช้ชื่อที่ตั้งใหม่นั้นใช้เรียกในการเรียนการสอนทุกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นในห้องหรือนอกห้องเรียน

ในวันแรกของการเรียน ท่านอาจารย์ซัยฟูลจะเขียนชื่อภาษามลายูบนกระดานแล้วให้นักศึกษาเลือกชื่อเหล่านั้นที่ทุกคนชื่นชอบ ส่วนตัวนั้นได้เลือกชื่อว่า ‘Badiuzzaman’ เพราะชื่อดังกล่าว ท่านอาจารย์ได้บอกว่า เป็นชื่อของนักปราชญ์ท่านหนึ่ง และมีเพื่อนคนหนึ่งที่ขอใช้ชื่อตัวเอง โดยได้ให้ท่านอาจารย์ช่วยแปลชื่อเขาให้เป็นภาษามลายูให้หน่อย ซึ่งชื่อเพื่อนคนนั้นมีความหมายว่าเป็น‘mutiara’ (ไข่มุก) เขาจึงได้ตั้งชื่อว่ามูเตียรา

ภายหลังจากที่แต่ละคนได้รับการตั้งชื่อเป็นภาษามลายูโดยครบถ้วนแล้ว ทำให้บรรยากาศในการเรียนดูเหมือนยิ่งสนุกไปกันใหญ่และมีความผูกพันยิ่งขึ้นกว่าเดิม ผมเองมีความรู้สึกซาบซึ้งในชื่อภาษามลายู จนบางครั้งผมเองเกือบจะลืมชื่อญี่ปุ่นไปด้วยซ้ำ



สัมผัสดินแดนมลายู
ความพิเศษของท่านอาจารย์ซัยฟูลก็คือ การที่มีความมุ่งมั่นในการถ่ายทอดวิชาความรู้ให้แก่ลูกศิษย์ของท่านอย่างตั้งใจ เช่น ทุกๆ ปลายภาคเรียนประจำปี ท่านจะนำลูกศิษย์ไปเยี่ยมบ้านเกิดของท่านอยู่เป็นประจำ ที่หมู่บ้านตือโละบูโละฮ์ เมืองบาตูปาฮัต รัฐยะโฮร์ ซึ่งนักศึกษาจะได้ใช้ชีวิตอยู่ที่นั่นอย่างน้อยประมาณ 3 สัปดาห์ โดยที่พักอาศัยอยู่กับครอบครัวอุปถัมภ์ของแต่ละคนที่ได้จัดไว้ให้

โอกาสเช่นนี้ถือเป็นโอกาสที่ดีและมีความหมายต่อนักศึกษาเป็นอย่างมาก เพราะว่าที่ประเทศญี่ปุ่นนั้น แทบจะไม่มีโอกาสในการใช้ภาษามลายูเลยแม้แต่น้อยนอกจากในชั้นเรียนเท่านั้น ในขณะเดียวกันนั้นผมเองก็ได้มีโอกาสในการเรียนรู้ภาษามลายูจากเจ้าของภาษามลายูโดยตรง

ผมเองก็ชอบที่จะไปเยี่ยมเยือนชาวบ้านและทำความรู้จักมักคุ้นกัน และพวกเขาเองก็ต้อนรับผมในฐานะลูกบุญธรรมคนหนึ่งด้วยดีมาตลอด ผมเองก็เรียกชื่อคนในครอบครัวด้วยชื่อที่ไพเราะ ที่เต็มไปด้วยความผูกพัน เช่น ดาโต๊ะ อีบู กากะ อาเดะ เป็นต้น ตัวผมเองก็ถูกเรียกในภาษามลายูเช่นกัน ในที่สุดผมก็ได้กลายเป็นสมาชิกของหมู่บ้านนั้นโดยปริยาย

ปกติแล้วผมเองอาจเดินทางไปที่นั่นหลังจากที่จบหลักสูตรวิชาภาษามลายู นั่นก็คือตอนปิดภาคเรียนที่สอง แต่ด้วยการที่มีความรู้สึกผูกพันที่ดีกับชาวบ้านที่นั่น ทำให้หลายคนรวมทั้งตัวผมเองด้วยที่มักจะกลับไปเยี่ยมหมู่บ้านนั้นอยู่เป็นนิจ

มีอยู่ช่วงหนึ่งที่ผมได้มีโอกาสได้ร่วมเทศกาลเนื่องในวันตรุษอิดิ้ลฟิตรีย์ที่หมู่บ้านดังกล่าว ซึ่งจะมีทั้งญาติพี่น้องที่กลับมาจากกรุงกัวลาลัมเปอร์ มีทั้งที่กลับจากสิงคโปร์และจากที่อื่นๆ พวกเขาก็จะชักชวนผมไปเยี่ยมเยือนครอบครัวของพวกเขาด้วย และโอกาสที่ผมจะได้ท่องแวะเยี่ยมเยือนก็พลอยมีมากขึ้นอีกด้วย ถ้าหากว่าผมได้ไปยังกรุงกัวลัมเปอร์หรือที่สิงคโปร์เมื่อใด ผมแทบไม่ต้องพักโรงแรมอย่างเช่นเคยอีก แต่จะเป็นบ้านพักของผู้คนที่ผมได้รู้จัก และยังได้ช่วยสอนการแนะนำในการเขียนงานอีกด้วย

ผมใคร่ต้องการที่จะพัฒนาแนวการเขียนภาษามลายูให้ดียิ่งขึ้น ด้วยเหตุนี้ ผมจึงทดลองเขียนเป็นภาษามลายูดู และหัวข้อของวิทยานิพนธ์ผมก็เลือกเอง อย่างเช่นจะเป็นแนวปัญหาสังคมของคนญี่ปุ่น วัฒนธรรมของคนมลายู ความพิเศษของภาษามลายู เป็นต้น และทุกๆ งานเขียนของผม ผมจะส่งไปยังอาจารย์ซัยฟูลก่อนทุกครั้ง เพื่อทำการตรวจทานอย่างละเอียด และท่านจะช่วยสรุปให้อีกที

แหละนี่คือปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญที่ได้สร้างขวัญกำลังแก่ตัวผม ซึ่งงานเขียนดังกล่าวผมยังเก็บรักษาไว้อย่างดี ถ้าหากได้อ่านงานเขียนชิ้นดังกล่าวเมื่อใด จะพบว่ายังมีข้อบกพร่องอีกมาก แต่ว่านั่นคือเป็นจุดเริ่มต้นสำหรับตัวผมในการเขียนหนังสือภาษามลายู

ในช่วงที่ผมอยู่ที่ประเทศญี่ปุ่น ผมก็ลองศึกษาเรียนรู้กับกลุ่มนักศึกษาแลกเปลี่ยนที่มาจากประเทศมาเลเซียอีกด้วย เพื่อเป็นเพื่อนพูดคุยเรียนรู้กับพวกเขา แต่ที่ค่อนข้างจะมีความสนิทสนมมากเป็นพิเศษก็คือ เห็นจะเป็นกลุ่มอดีตคณาจารย์มากกว่า ที่เข้ามาศึกษาต่อที่ประเทศญี่ปุ่น ถึงแม้ว่าพวกเขาจะมีอายุมากกว่าผมก็ตาม แต่พวกเขายินดีรับผมและเพื่อนๆ เป็นสมาชิกของพวกเขาอีกด้วย



การศึกษาต่อยังประเทศมาเลเซีย โอกาส และมิตรภาพ
ก่อนที่ผมจะจบการศึกษาระดับปริญญาตรีนั้น ผมก็ได้ตัดสินใจเลือกที่จะไปศึกษาต่อที่ประเทศมาเลเซีย แต่ในช่วงแรกนั้นค่อนข้างที่จะยุ่งยากนิดหน่อย เพราะยังมีหลายเรื่องที่ยังไม่มีความชัดเจน อย่างเช่น จะไปศึกษายังมหาวิทยาลัยใด? จะเรียนอะไรดี? และจะอยู่กับใคร? และประจวบกับโอกาสที่จะไปศึกษาต่อที่ประเทศมาเลเซียนั้นก็มาถึงพอดี

จากนั้นการเข้าออกประเทศมาเลเซียของผมจึงกลายเป็นเรื่องปกติ เมื่อครั้นที่ผมอยู่ที่ญี่ปุ่นผมก็ได้ทำงานไปด้วยเพื่อเก็บเงินไว้เป็นทุนเรียนต่อ ส่วนเงินที่เก็บสะสมมานั้นก็หมดไปกับการซื้อตั๋วเครื่องบินและค่าใช้จ่ายระหว่างทาง เหตุการณ์ที่ทำให้ผมไม่อาจลืมมันลงได้คือเป็นช่วงที่ผมไปยังมาเลเซีย แต่เป็นครั้งที่เท่าไหร่ผมจำไม่ได้แล้ว เพราะในช่วงที่ผมเป็นนักศึกษาอยู่นั้น ผมเข้าออกมาเลเซียไม่น้อยกว่าสิบครั้ง

มีอยู่ครั้งหนึ่ง ที่ผมและเพื่อนๆ ที่มาจากญี่ปุ่นด้วยกัน ได้มีโอกาสติดตามชาวบ้าน ที่บ้านตือโละบูโละฮ์ ที่ได้เดินทางไปเยี่ยมญาติพี่น้องของเขาที่บ้านบาตูปาฮัต ซึ่งผมเองก็ได้รู้จักเขามาแล้วก่อนหน้านั้น เพราะเขาเองก็เคยไปเยี่ยมเยือนหมู่บ้านที่เราเคยอยู่เป็นประจำ เขามีชื่อเรียกว่า กะนิ

ในระหว่างที่กำลังพูดคุยกันอยู่นั้น กะนิได้เอยถามผมว่า ยังจำชื่อแกอยู่ได้อีกไหม? แต่ที่รัฐยะโฮร์นั้นไม่เหมือนกับรัฐกลันตัน เพราะที่นี่คนที่มีชื่อนำหน้าด้วยคำว่านิ ไม่ค่อยมากเท่าไหร่ เพราะฉะนั้นเมื่อเราเอ่ยคำว่า กะนิ หลายคนในหมู่บ้านนั้นมักจะเข้าใจเป็นเสียงเดียวกันว่าหมายถึงใคร

ผมเองก็ยังไม่ลืมชื่อเต็มของเขา เพื่อเป็นการหยอกเย้ากัน ผมก็ได้เรียกชื่อของเขาด้วยความชื่นชอบและความเคารพ นั่นก็คือท่านนิซาฟียะฮ์ การิม ซึ่งหนังสือไวยกรณ์ของเดวันบาฮาซา(Tatabahasa Dewan) ผมได้อ่านจนจบไม่น้อยกว่าสองครั้งไปแล้วในช่วงนั้น หลังจากที่ได้อ่านหนังสือเล่มดังกล่าวบวกกับการที่ได้อ่านงานเขียนบทความของท่านในวารสารต่างๆ และในหนังสือพิมพ์ ผมจึงได้กลายเป็นแฟนพันธุ์แท้ของท่านโดยปริยาย ผมมีความหลงใหลในสไตล์การเขียนของท่านที่มีความกระจ่างและมีลำดับความ

และแล้วผมก็ต้องสะดุ้งตกอกตกใจ เมื่อท่านได้ตอบการล้อเล่นของผมว่า นั่นคือชื่อของพี่เขา แรกๆ นั้นผมไม่อยากจะเชื่อหูตัวเองเท่าไหร่นักกับคำตอบที่ได้ยิน

“ท่านอย่าโกหกนะ มันไม่ดีรู้ไหม!” ผมถาม

“ฉันโกหกที่ไหนกัน” เขาตอบด้วยความสุขุม

ผมก็ได้บอกกับท่านว่า ผมมีความรู้สึกภูมิใจเป็นอย่างมากกับคนที่ชื่อ นิซอฟียะฮ์ การีม และผมเองก็ได้ขอร้องให้ท่านแสดงออกมา เพื่อให้เห็นว่าท่านนั้นคือพี่น้องกันกับนักเขียนที่ผมชื่นชอบคนนั้นจริง

และแล้วท่านก็เอยถามผมว่า “คุณจะพูดกับเขาไหม?”

ใจผมตื่นเต้นเป็นอย่างมาก เพราะไม่เคยนึกไม่เคยฝันเลยว่าจะมีโอกาสได้คุยกับคนที่ผมให้ความเคารพและติดตามงานเขียนมาโดยตลอด ความหลงใหลของผมในช่วงนั้นมิได้เป็นนักร้องวงแอลล่า เฟาซียะฮ์ ลาตีฟ หรือแอรร่า ฟาซียะฮ์ แต่เป็นบุคคลทางด้านภาษาศาสตร์คนนี้ โดยความรวดเร็วผมตอบไปว่า “ก็ได้!”

กะนิ ก็ไม่รอช้า รีบกดโทรศัพทร์มือถือไปหาพี่เขา กะนิได้โต้ตอบกับคนที่อยู่ปลายสายด้วยสำเนียงการพูดแบบคนกลันตัน ด้วยหัวใจที่เปี่ยมไปด้วยความผูกพัน แน่นอนเป็นสิ่งยืนยันได้เป็นอย่างดีว่า กะนิคนนี้เป็นพี่น้องกันกับนักภาษาชื่อดังคนดังกล่าว


กะนิได้บอกกับคนที่อยู่ปลายสายว่า “ตอนนี้มีคนจากประเทศญี่ปุ่นอยากจะคุยกับเมาะจู”(ชื่อเรียกพี่ของกะนิ) จากนั้นกะนิก็ได้ยื่นเครื่องโทรศัพท์มาให้ผม

“อืม นี่พี่ฉันเอง” ด้วยการที่มีความตื่นเต้นมากเกินไป ทำให้ผมจำไม่ได้ว่าผมได้พูดอะไรกับบุคคลที่ผมชื่นชอบในขณะนั้น แต่ผมก็มีโอกาสได้กล่าวกับท่านว่า ผมมีความตั้งใจที่ต้องการอยากจะพบกับท่านสักครั้งหนึ่ง แล้วผมก็ได้ยื่นเครื่องโทรศัพท์ไปให้กะนิด้วยอาการที่ตื่นเต้นและมีความสุขที่สุด เพราะท่านเองก็ยินดีที่จะพบกับผม หากว่าผมเข้าไปยังเมืองหลวงในคราวหน้า

ผมมีโอกาสได้พบกับท่านศาสตราจารย์ นิซาฟียะฮ์ การีม สองครั้งด้วยกัน ณ บ้านพักของท่านที่ปือตาลิงจายา ในครั้งแรกนั้นท่านได้ต้อนรับผมเป็นอย่างดี และผมก็ได้บอกกับท่านว่า ผมมีความตั้งใจที่จะมาศึกษาต่อที่มาเลเซียแห่งนี้ และท่านก็ยังได้ชี้แนะและให้กำลังใจผมอีกด้วย

หลังจากนั้นผมก็ได้ศึกษาภาษามลายูอย่างขยันมากขึ้นกว่าเดิม  อีกไม่กี่เดือนหลังจากนั้น ผมก็ได้ไปเยี่ยมเยือนท่านอีกครั้ง และได้บอกกับท่านว่า ผมต้องการที่จะเข้าศึกษาต่อที่คณะศึกษาศาสตร์ภาษามลายู (APM : Akademi Pengajian Melayu) ที่มหาวิทยาลัยมาลายาหรือยูเอ็ม(UM)

และท่านก็ยังได้สอบถามอีกว่าอะไรคือสิ่งที่ผมต้องการ ซึ่งผมก็ได้อธิบายค่อนข้างที่จะยาว หลังจากที่ท่านได้รับฟังท่านก็ได้ตอบกลับมาว่า ถ้าอย่างนั้นเขาพร้อมที่จะเป็นผู้ดูแลในเรื่องนี้ให้ ความรู้สึกของผมในตอนนั้นแทบไม่ต้องอธิบายอะไรอีกแล้ว หลังจากจบหลักสูตรปริญญาตรีที่ญี่ปุ่น ผมไม่ได้รอช้าอะไร รีบกรอกข้อมูลเพื่อเข้าศึกษาต่อที่ยูเอ็มทันที ด้วยการระบุชื่อผู้ดูแลตามที่ได้เตรียมไว้แล้ว ที่พร้อมจะรับนักศึกชาวญี่ปุ่นคนใหม่อีกคน




ภาษานำสู่อิสลาม ‘ไม่ใช่อิทธิของนักเผยแพร่’
นั่นคือภาษามลายูที่ได้นำพาชีวิตของผม ไม่เพียงแค่นั้นอย่างเดียวไม่ หากแต่ภาษามลายูยังมีความหมายอย่างยิ่งสำหรับผม เพราะด้วยภาษามลายูนี้เองที่ทำให้ผมได้รู้จักกับศาสนาอิสลาม จนในที่สุดผมก็ได้เข้ารับอิสลามศาสนาที่บริสุทธิ์นี้จนได้

ผมรับอิสลามไม่ใช่ว่าได้รับอิทธิพลมาจากนักเผยแพร่ท่านใดเลย แต่สิ่งที่ทำให้ผมได้เข้ารับอิสลามก็คือด้วยวิถีชีวิตของคนมลายูที่มีรากฐานมาจากคำสอนของศาสนานั่นเอง ที่ได้ให้ความสำคัญกับสถาบันครอบครัวเป็นอย่างมาก การรักษาความสะอาดของร่างกายและมีความสมถะในการใช้ชีวิต ถ้าหากว่าผมไม่ได้ร่ำเรียนภาษามลายูบางทีผมอาจจะไม่มีโอกาสไดรู้จักกับศาสนาอิสลามได้อย่างแน่นอน

ด้วยเหตุนี้ภาษามลายูจึงมีความสำคัญอย่างมากสำหรับผม บางครั้งผมเองก็มีความรู้สึกที่ไม่ค่อยสบายใจเช่นกันกับคนมลายูบางคนที่ไม่ค่อยเห็นความสำคัญต่อภาษาของตนเอง ไม่เหมือนกับบางภาษาของประเทศเพื่อนบ้าน

ผมเองก็ยังได้มีโอกาสไปเยือนอินโดนีเซียหลายครั้งด้วยกัน ความจริงผมไม่เคยได้เรียนภาษาอินโดนีเซียอย่างเป็นทางการเลย แต่ไม่ได้เป็นอุปสรรคสำหรับผมแม้แต่น้อยในการพูดคุยกับคนอินโดนีเซีย ผมเองรู้สึกมีความยินดีทุกครั้งที่ได้ไปเยือนอินโดนีเซีย เพราะว่าคนอินโดนีเซียล้วนต่างก็มีความภาคภูมิใจในภาษาของตนเอง เมื่อพวกเขาได้ทราบว่าผมสามารถพูดภาษาอินโดนีเซียได้ แน่นอนเป็นสิ่งที่น่าภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่ง ถึงแม้ว่าภาษาที่ผมใช้นั้นอาจจะไม่ใช่ภาษาอินโดนีเซียก็ตาม แต่เป็นภาษามลายู




ทำไมคนมลายูไม่ภูมิใจในภาษาของตัวเอง

บางครั้งสิ่งที่เป็นเรื่องที่ตรงกันข้ามกันได้เกิดขึ้นที่มาเลเซีย ผมใคร่ขออนุญาตบอกเล่าเรื่องราวเล็กๆ ที่เกิดขึ้น เพื่อบ่งบอกให้เรารู้ว่า ยังมีคนมลายูส่วนหนึ่งที่ไม่มีความภาคภูมิใจในภาษาของตนเอง

เมื่อครั้นที่ผมกำลังเดินทางไปยังสถานที่แห่งหนึ่งในกรุงกัวลาลัมเปอร์ แต่ยังหาสถานที่ไม่พบ ขณะนั้นเอง ก็ได้มีหญิงสาวมลายูท่านหนึ่งเดินผ่านมาพอดี ผมได้ให้สลามกับเขาเพื่อให้เขาช่วยบอกเส้นทางที่จะไปยังที่หมายให้หน่อยโดยใช้ภาษามลายู คำตอบที่ได้รับก็คือ “OK, you go straight, and then turn left, you’ll find...” ผมก็ได้กล่าวขอบคุณว่า “terima kasih” ทว่าคำตอบที่เขาได้ตอบมาคือ “welcome”.

และเหตุการณ์ต่อมาก็เกิดขึ้นที่ด่านตรวจคนเข้าเมืองที่สนามบินนานาชาติซูบัง มีผู้ชายมลายูวัยกลางคนท่านหนึ่งที่กำลังปฏิบัติหน้าที่อยู่ ได้สอบถามโดยใช้ภาษาอังกฤษว่า “What’s the purpose of your visit?” แต่ผมกลับตอบเป็นภาษามลายูว่า “Saya mahu melanjutkan pelajaran di Universiti Malaya. Ini suratnya” พร้อมกับการยื่นแบบฟอร์มจากทางมหาวิทยาลัยให้เขาดู

เขาก็ยังถามอีกว่า  “So where’s your visa? You don’t have a student visa!” ผมก็ได้ตอบเขาไปว่าต้องการต่อวิซ่าในภายหลัง เจ้าหน้าที่คนดังกล่าวก็ได้ถามคำถามที่สามด้วยภาษาอังกฤษเช่นเดิม ด้วยที่ว่าผมเองก็ไม่ได้ชำนาญภาษาอังกฤษเท่าไหร่ ผมจึงได้ขอร้องให้เขาพูดภาษามลายูแทน

“ท่านครับ ท่านสามารถใช้ภาษามลายูได้ไหม? เพราะภาษาอังกฤษผมไม่ค่อยเข้าใจเท่าไหร่” แต่ว่าเขายังปฏิเสธด้วยเสียงที่แข็งกร้าวว่า “I speak English for you because you are a foreigner!” (ฉันพูดภาษาอังกฤษกับคุณเพราะคุณเป็นชาวต่างชาติ!)

แต่นั่นถือเป็นข้อดีสำหรับชาวต่างชาติที่ไม่เข้าใจภาษามลายู แต่ถามว่าอะไรคือเหตุผลที่เจ้าของภาษามลายูโดยแท้ใช้ภาษาอังกฤษกับชาวต่างชาติที่อ่อนด้อยในภาษาอังกฤษ ทว่าสามารถพูดภาษามลายูได้? ผมเองก็รู้สึกหงุดหงิดเช่นกัน จึงพูดออกไปว่า “คนต่างชาติไม่ทั้งหมดหรอกที่พูดอังกฤษได้! อีกทั้งภาษามลายูเองก็เป็นภาษาทางการของมาเลเซียอีกด้วย แล้วมันผิดตรงไหนที่ผมจะพูดภาษามลายู?”

เขาเองมีอาการสีหน้าที่ไม่ค่อยดี และเริ่มชักช้าในการให้บริการด้วยการถามโน่นถามนี่ไปต่างๆ นานา ทั้งยังเป็นคำถามที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการตรวจคนเข้าเมืองด้วยซ้ำ ทั้งหมดนั้นล้วนใช้ภาษาอังกฤษทั้งสิ้น คำตอบของผมยังเป็นในภาษามลายูเช่นเดิม หลังจากเสร็จสิ้นทุกอย่าง ผมก็รับพาสปอร์ตที่เขายื่นให้โดยที่ปราศจากคำขอบคุณใดๆ


อีกเหตุการณ์หนึ่งที่คล้ายๆ กันก็คือ เมื่อตอนที่ผมได้เข้าประชุมสัมมนา เกี่ยวกับภาษาและงานวรรณกรรมมลายู เอกสารทุกชิ้นล้วนเป็นภาษามลายู ในช่วงพักแบรกเช้า ปรากฏว่าได้มีมุสลีมะฮ์มลายูท่านหนึ่งที่เข้าสัมนาด้วยกัน ได้เข้ามาหาและชมเชยในการนำเสนอของผมว่า “Your Malay is very good. I was so impressed by your presentation! Where did you study Malay?”

ผมก็มีความรู้สึกภูมิใจที่การนำเสนอของผมได้รับคำชื่นชมจากผู้คน แต่ผมไม่รู้สึกภูมิใจตรงที่ว่า คำเชยชมที่ถูกกล่าวออกมา ไม่ได้เป็นภาษาที่ผมใช้ในการสัมนาแต่อย่างใด ผมเองก็ตอบเขาไปโดยใช้ภาษามลายู

แค่นั้นยังไม่พอ ทุกครั้งที่ได้ดูโทรทัศน์ของมาเลเซีย จะเห็นได้ว่านักการเมืองที่ไม่ใช่มลายูจะใช้ภาษามลายูมากกว่านักการเมืองมลายู แต่กลับตรงกันข้ามกับนักการเมืองมลายูที่ไม่ค่อยได้ใช้ภาษามลายูหรือไม่ก็จะพูดปนกันกับภาษาอังกฤษ ผมไม่เคยเห็นนักการเมืองของญี่ปุ่นท่านใดที่ตอบคำถามของสื่อมวลชนท้องถิ่นในภาษาอังกฤษ แต่ว่าในมาเลเซียบ่อยครั้งที่คำถามภาษามลายูมักจะถูกตอบในภาษาอื่น ถือว่าเป็นปรากฏการณ์หนึ่งที่น่าแปลกใจ


ความจริงยังมีเรื่องอีกมากมายที่ได้บันทอนกำลังใจของคนต่างชาติที่มีความตั้งใจที่จะเรียนในด้านภาษามลายู เพราะภาษาที่ผมกำลังศึกษาอย่างเอาจริงเอาจังอยู่นี้ เจ้าของภาษาที่แท้นั้นยังไม่ได้ให้ความสำคัญเอาเสียเลย

ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ภาษาที่มีความสำคัญสำหรับผมนั้น จะสามารถแพร่กระจายบนเวทีโลกได้อย่างแน่นอน ผมเองก็ได้มีความพยายามในการเข้ามามีส่วนร่วมในการช่วยกันเพื่อเผยแพร่ภาษามลายู เพราะผมรู้สึกถึงการเป็นหนี้บุญคุณต่อสังคมมลายูเหลือเกิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อบรรดาคณาจารย์และเพื่อนๆ ที่ช่วยเหลือในการเรียนภาษามลายูของผม แต่ในขณะเดียวกันสังคมมลายูเองจะต้องปรับเปลี่ยนทัศนะคติในแง่ลบที่มีต่อภาษามลายูออกไปด้วย

ผมต้องการที่อยากจะเห็นภาษามลายูมีสถานะเท่าเทียมกับภาษาอื่นๆ ในระดับสากล ส่วนในแง่ระดับความสามารถของตัวภาษาเองนั้น ผมเชื่อเหลือเกินว่า ได้ประสบความสำเร็จแล้วในระดับหนึ่ง ทั้งหมดนั้นจะต้องไปพร้อมๆกันกับทักษะและอุปนิสัยของผู้พูดที่มีความภูมิใจในภาษาของตนเองอีกด้วย ผมมีความภาคภูมิใจต่อภาษามลายูที่ผมได้ศึกษามาก่อนหน้านี้เป็นอย่างมาก แต่ก็ยังมีคนมลายูบางคนที่ไม่มีความภูมิใจต่อภาษามลายูทั้งๆ ที่ภาษามลายูนั้นเป็นภาษาภูมิบุตร(แม่)ของเขาเอง?



.