http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2554-12-31

การเมืองเรื่อง "ผ้าซิ่น" เจ้าดารารัศมีกับซิ่นตีนจก-ลุนตยา โดย เพ็ญสุภา สุขคตะ ใจอินทร์

.
มีโพสต์บทกวี - เพ็ญ ภัคตะ : ก้าวข้ามความกลัว

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * ** * * * * *


การเมืองเรื่อง "ผ้าซิ่น" เจ้าดารารัศมีกับซิ่นตีนจก-ลุนตยา
โดย เพ็ญสุภา สุขคตะ ใจอินทร์ คอลัมน์ ปริศนาโบราณคดี
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1637 หน้า 76


การเมืองเรื่อง "ผ้าซิ่น" เป็นของคู่กันกับ "ราชนารี" มาแต่ไหนแต่ไรแล้ว

ผ้าซิ่นผืนแรกในประวัติศาสตร์สยามที่สร้างความฮือฮา ปรากฏอยู่ในตำนานเรื่องพระนางจามเทวี ตอนที่พระนางเด็ดชายผ้าซิ่นป้ายเลือดประจำเดือนแล้วถักทอเป็นหมวก นำไปให้ขุนหลวงวิลังคะผู้ท้ารบ-ท้ารัก ด้วยมีจิตปฏิพัทธ์ต่อพระนางสวมใส่ก่อนที่จะพุ่งสะเหน้า (หอก) ครั้งที่สองจากดอยสุเทพให้ตกมายังนครหริภุญไชย

ผลก็คืออาคมไสยศาสตร์ของชายชาตรีที่เคยขมังเวทสามารถพุ่งสะเหน้าครั้งแรกตกลงมาปักเฉียดใจกลางเมืองลำพูน พลันเสื่อมเวทมนตร์ไปในบัดดล

เพราะผ้าซิ่นผืนนั้นแท้ๆ เทียว ที่ทำให้นครหริภุญไชยรอดพ้นจากปากเหยี่ยวปากกาของกองทัพพญาลัวะ

ในเมื่อผ้าซิ่นของแม่ญิงล้านนาได้กลายเป็นอาวุธสำคัญที่ใช้ประหัตประหารชายชาติอาชาไนยได้อย่างแสบสันต์ทั้งทางตรงและทางอ้อม เช่นนี้

แล้วเราจึงไม่ต้องแปลกใจว่า ทำไมหญิงเหล็กอย่าง ออง ซาน ซูจี จึงใส่แต่ผ้าซิ่นแพรปักลายดอกแบบพม่าร่วมสมัย หรือแม้แต่การตอกย้ำสายตระกูลผ่านผ้าไหมชินวัตรของนายกฯ หญิงก็ดี

แต่ทั้งหมดนั้น ยังไม่น่าสนใจเท่ากับผ้าซิ่นอีกผืนหนึ่งที่ช่วยซับคราบความอ้างว้างให้แก่เจ้าของผู้สวมใส่ ในยุคหัวเลี้ยวหัวต่อของการเมืองสยาม-พม่า-ล้านนา ย้อนหลังกลับไปหนึ่งศตวรรษเศษ


ผ้าซิ่นตีนจก
หัวใจของราชนารีล้านนา

นับแต่ปี 2429 ช่วงแรกที่พระชายา เจ้าดารารัศมี ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เข้ามาถวายตัวในราชสำนักสยาม ด้วยวัยเพียง 13-14 นั้น เป็นที่ทราบกันดีว่า "หญิงอึ่ง" ทรงภูษาภรณ์ด้วย "ผ้าซิ่นตีนจก" แบบชาวล้านนาเป็นกิจวัตร

ผ้าซิ่นตีนจกคืออะไร กล่าวให้ง่ายก็คือผ้าซิ่นที่ต่อเชิงล่างหรือส่วนที่เรียกว่า "ตีนซิ่น" ด้วยลวดลายที่เกิดจากการ "จก" เส้นด้ายขณะทอให้นูนเด่น เป็นกรรมวิธีที่ยุ่งยากซับซ้อนแต่ก็พิเศษสวยงามกว่าการทอผ้าพื้นธรรมดา

แหล่งทอผ้าซิ่นตีนจกที่ขึ้นชื่อว่าประณีตงดงามที่สุดยังตกค้างอยู่ที่อำเภอแม่แจ่ม เชียงใหม่ และแหล่งอื่นๆ กระจายตัวอยู่ที่ฮอด จอมทอง สันป่าตอง เชียงแสน ลำปาง แพร่ น่าน ฯลฯ

กล่าวกันว่าแม่ญิงล้านนาทุกคนใฝ่ฝันที่จะมีผ้าซิ่นตีนจกเป็นของตัวเองอย่างน้อยหนึ่งผืนในชีวิต เพื่อใช้ใส่ปีละ 2-3 หนเฉพาะงานบุญวันสำคัญ

และหากเป็นไปได้ในวันสิ้นลมนั้นขอให้ลูกหลานช่วยเอาผ้าซิ่นห่มคลุมร่างใส่ในโลงศพให้ด้วย เพื่อจะได้เอาไปถวายเป็นพุทธบูชาแด่พระธาตุเจดีย์จุฬามณีบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์

ส่วนในชีวิตประจำวันนั้นไม่ใช่ธรรมเนียมนิยมของพวกไพร่ที่จะมานุ่งผ้าซิ่นตีนจก สงวนไว้เป็นของสูงสำหรับเจ้าหญิงในราชสำนักเท่านั้น

ก็ไม่เห็นน่าแปลกตรงไหน หากพระชายาจะทรงสวมผ้าซิ่นตีนจกช่วงประทับที่วังหลวง สอดรับกับเจตจำนงที่ต้องการประกาศจุดยืนของความเป็นแม่ญิงล้านนาให้ใครๆ ได้รู้ได้เห็น

คงไม่แปลก ถ้าหากว่าพระชายาจะทรงสวมผ้าซิ่นตีนจกนั้นตลอดพระชนม์ชีพ หรือมาตรแม้นได้ผ่านชีวิตอยู่ในสยามมานาน หากจะทรงเปลี่ยนไปนุ่งผ้าโจงกระเบนแบบสาวชาวกรุงบ้างก็ไม่ถือว่าเสียหายตรงไหน เหตุเพราะวัฒนธรรมสามารถถ่ายเทอิทธิพลถึงกันได้ท่ามกลางสิ่งแวดล้อมรอบข้าง

แต่การณ์หาเป็นเช่นนั้นไม่ ยิ่งผ่านกาลเวลาเนิ่นนานวันมากเพียงไร นอกจากจะไม่ทรงสนพระทัยในภูษาภรณ์แบบราชนารีในภาคกลางแล้ว ยังทรงหันไปสวมผ้าซิ่นลุนตยาแบบพม่าอีกด้วย



ผ้าซิ่นลุนตยา
ราชธิดาบุญธรรมของควีนวิกตอเรีย ?

ผ้าลุนตยาเป็นชื่อเรียกย่อของคำว่า "ลุนตยาอะฉิก" ชาวพม่าออกเสียง "โลนตะหย่า" แปลว่า ร้อยกระสวย เนื่องจากเป็นผ้าทอเทคนิคพิเศษที่ต้องใช้กระสวยบรรจุเส้นไหมสีต่างๆ นับร้อยๆ กระสวย ส่วน "อะฉิก" แปลว่าลายคลื่น เรียกตามลวดลายลูกคลื่นที่ปรากฏบนผ้าทอ

ว่ากันว่า ลายลูกคลื่นนี้ไม่ใช่สักแต่ว่าประดิษฐ์ขึ้นให้มีความงามพลิ้วไหวเท่านั้น แต่ยังซ่อนสัญลักษณ์คติจักรวาลทางพุทธศาสนาอีกด้วย

เหตุเพราะลายลูกคลื่นนี้ทำซ้อนขดตัวกันถึงเจ็ดชั้นไล่โทนสีกันไป หมายถึงเขาสัตตบริภัณฑ์ทั้งเจ็ดที่ตั้งรายล้อมเขาพระสุเมรุอันเป็นแกนกลางของโลก

ภูเขาทั้งเจ็ดลูกนับจากชั้นในสุดออกมา กอปรด้วย ยุคันธร อิสินธร กรวิก สุทัสนะ เนมินธร วินันตะกะ อัสกัณณะ แต่ละช่วงภูเขาถูกคั่นด้วยมหานทีสีทันดร เกลียวคลื่นทะเลนี้ถ่ายทอดบนผืนผ้าด้วยลายโค้งมนตอนล่างรองรับเขาสัตตบริภัณฑ์ ซึ่งเวลาทอช่างต้องใช้ความพยายามอย่างยิ่งด้วยเทคนิคการล้วงแบบพิเศษ เพราะไม่ใช่ลายเรขาคณิตเหมือนผ้าทอประเภทอื่นๆ

ลุนตยาอะฉิกมาจากไหน เกี่ยวข้องอะไรกับเจ้าดารารัศมี?

ลุนตยาอะฉิกเป็นผ้าซิ่นของชาวพม่าที่ใช้กันแพร่หลายในราชสำนักอังวะมัณฑะเลย์ อมรปุระ ย่างกุ้ง และเมืองตองคยีแถบรัฐฉาน ถือเป็นผ้านุ่งและผ้าโจงของกษัตริย์พม่าแห่งราชวงศ์อลองพญาที่ใช้สืบต่อกันมาเป็นเวลาหลายร้อยปี

การที่พระชายาทรงเปลี่ยนจากการสวมภูษาแบบผ้าซิ่นตีนจก ไปเป็นผ้าซิ่นลุนตยาตามอย่างราชนารีพม่านั้น จึงมีนัยยะสำคัญชวนให้ขบคิดไม่น้อย

ผู้เชี่ยวชาญเรื่องผ้าบางคนมองว่าไม่มีอะไรในกอไผ่ เหตุเพราะผ้าลุนตยานั้นได้แพร่หลายและเป็นที่รู้จักกันดีอยู่แล้วในล้านนา ซึ่งเป็นดินแดนที่มีวัฒนธรรมผสมผสานของชนเผ่าหลากหลายชาติพันธุ์ หนึ่งในนั้นก็มีพวกพม่าไทใหญ่เข้ามาอาศัยปะปนอยู่จำนวนมาก

ฉะนั้น การที่เจ้าดารารัศมีทรงสนพระทัยในผ้าซิ่นลุนตยาอะฉิกก็เป็นเพียงรสนิยมส่วนพระองค์ที่ต้องการเปลี่ยนแปลงบรรยากาศเดิมๆ ให้พ้นไปจากผ้าซิ่นตีนจกบ้าง

หากแต่นักประวัติศาสตร์ที่สนใจเรื่องการเมืองสยาม-ล้านนา-พม่า ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสมัยรัชกาลที่ 4-5-6 นั้น ย่อมมองทะลุไปถึงนัยยะแห่งผ้าซิ่นลุนตยานั้นได้ชัดว่า มีวาระซ่อนเร้นทางเมืองแฝงอยู่อย่างไม่ต้องสงสัย

เหตุเพราะที่เชียงใหม่ไม่เคยมีเจ้านายฝ่ายเหนือพระองค์ใดทรงภูษาผ้าซิ่นลุนตยาอย่างราชนารีพม่ามาก่อน แม้จะเป็นรัฐบ้านใกล้เรือนเคียงกัน แต่ราชนารีล้านนาก็พยายามรักษาอัตลักษณ์ของตนไว้ด้วยการสวมผ้าซิ่นตีนจกมาตลอด

จึงไม่ควรมองว่าการสวมผ้าซิ่นลุนตยาของเจ้าดารารัศมีนั้นเป็นเรื่องสามัญ ยิ่งการที่พระองค์อาจหาญสวมใส่ขณะอยู่ท่ามกลางราชสำนักสยาม ผู้เป็นศัตรูคู่อาฆาตกับพม่าชั่วนิรันดร์กาล ย่อมยิ่งถือว่าเป็นเรื่องไม่สามัญอย่างยิ่ง


ผ้าซิ่นลุนตยาผืนนั้นมีอะไรพิเศษล่ะหรือ

แน่นอนทีเดียว หากเราวิเคราะห์การเมืองในสมัยรัชกาลที่ 5 ระหว่างการต่อสู้ของสยาม ที่กำลังชิงไหวชิงพริบกับพม่า ทั้งสยามและพม่าต่างจ้องตะครุบยื้อแย่ง "ล้านนา" มาเป็นส่วนหนึ่งของแคว้นตนในฐานะรัฐกันชน เพื่อปกป้องการรุกล้ำมาของอีกฝ่ายหนึ่ง

สถานะของล้านนาขณะนั้นอ่อนไหวเปราะบางยิ่งนัก ไม่มีหนทางอื่นใดเลยหรือที่จะสามารถไถ่ตนให้เป็นประเทศอิสระโดยไม่ต้องขึ้นอยู่กับฝ่ายใดทั้งสิ้น ฤๅความฝันนั้นดับสูญมานานแล้วตั้งแต่ถูกพระเจ้าบุเรงนองยึดครอง หลังจากนั้น ล้านนาก็อยู่ในสภาวะที่ถูกบีบให้เลือกข้างมาโดยตลอด ต้องช่างน้ำหนักว่าจะเอาพม่าหรือจะเอาสยาม

แม้สถานะของเจ้าดารารัศมีเปรียบเสมือนดั่ง "จำเลยรัก" ที่ทางสยามพยายามทอดสายสัมพันธ์ผูกมัดล้านนามิให้แปรพักตร์ไปเป็นอื่น

แต่ทางล้านนาเองก็ยังอดไม่ได้ที่จะมีความหวัง โหยหาช่องทางหลุดพ้นจากสภาพความเป็นเมืองขึ้นไม่ว่าของฝ่ายใด

หรือว่าบางทีการตัดสินใจอยู่ข้างพม่าซึ่งกำลังตกเป็นอาณานิคมของเครือจักรภพอังกฤษนั้น อาจเป็นอีกหนทางหนึ่งที่ช่วยให้ล้านนาสลัดโซ่ตรวนจากรัฐประเทศราชของสยาม แม้นอนาคตยังต้องสุ่มเสี่ยงชนิดไม่รู้หัวรู้ก้อยว่า หากอังกฤษคืนอิสรภาพให้แก่แว่นแคว้นต่างๆ แล้ว ล้านนาจะได้รับการประกาศเอกราชตามมาด้วยหรือไม่

หรือว่าในท้ายที่สุดแล้วก็ต้องกลายเป็นส่วนหนึ่งของพม่า (ดังเช่น รัฐมอญ กะเหรี่ยง ไทใหญ่ ที่เราเห็นในยุคต่อมา)


ข่าวลือเรื่องพระบรมราชินีนาถวิกตอเรียแห่งอังกฤษ ส่งทูตมาเจรจากับพระเจ้าอินทวิชยานนท์ กษัตริย์เชียงใหม่ เพื่อขอเจ้าดารารัศมีไปเป็นพระราชธิดาบุญธรรมและสถาปนาให้เป็น "เจ้านายเชื้อพระราชวงศ์อังกฤษ" ในฐานะ "ปริ๊นเซสออฟเชียงใหม่" ทายาทเจ้านครสตรีแห่งราชวงศ์วินเซอร์นั้น ไม่ว่าจริงหรือเท็จประการใด แต่ก็สามารถเขย่าบัลลังก์ให้ราชสำนักสยามเกิดอาการอกสั่นขวัญแขวน

สิ่งที่ชวนให้น่าขบคิดยิ่งไปกว่านั้นคือ ช่วงบั้นปลายชีวิตในวังหลวง นอกจากจะทรงโปรดปรานผ้าซิ่นลุนตยาอย่างมากแล้ว เจ้าดารารัศมียังได้ประดิษฐ์คิดค้น นำเอาลายตีนจกที่เป็นอัตลักษณ์ของล้านนามาต่อเป็นเชิงล่างที่ตีนซิ่นของผ้าลุนตยานั้นอีกชั้นหนึ่ง

โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายหลังจากเหตุการณ์สิ้นพระชนม์ของพระองค์เจ้าวิมลนาคนพีสี พระธิดาเพียงองค์เดียวของเจ้าดารารัศมีกับสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง จากเสียงซุบซิบเย้ยหยันกันให้แซ่ดทั่ววังหลวงว่าเจ้าหญิงน้อยวัยสามขวบถูกมือดีวางยาเบื่อ ยิ่งสร้างความเจ็บช้ำน้ำใจให้แก่เจ้าดารารัศมีอย่างสุดคณานับ


แม้ไม่มีหลักฐานบันทึกความในใจว่าเจ้าดารารัศมีต้องการสื่ออะไรบางอย่างถึงคนในราชสำนักสยามบ้างหรือไม่ก็ตาม แต่นักประวัติศาสตร์ท้องถิ่นล้านนารุ่นหลังๆ ตีความได้ว่า มูลเหตุแห่งการที่นำตีนจกมาต่อจากซิ่นลุนตยาของพม่านั้น มีนัยแฝงให้ชาวสยามพึงสำเหนียกว่า

หากสยามยังคงเดินหน้าเหยียบย่ำน้ำใจรังแกให้ล้านนาชอกช้ำมากไปกว่านี้ ล้านนาก็พร้อมที่จะเข้าหาพม่าหรืออังกฤษได้ทุกเมื่อ

พูดถึงบรรทัดนี้แล้วชวนให้นึกถึงผ้าซิ่นของ ออง ซาน ซูจี ที่กระชับจับมือมั่นกับผ้าไหมชินวัตรของนารีทั้งสองเมืองขึ้นมาอย่างตงิดๆ



++

เพ็ญ ภัคตะ : ก้าวข้ามความกลัว
ใน www.prachatai.com/journal/2011/12/38521 . . Thu, 2011-12-29 00:34


ก้าวให้พ้นความกลัวคอยกักขัง

ก้าวให้พ้นความชังคอยข่มเหง

ก้าวให้พ้นอำนาจเฝ้ายำเยง

เธอจักไม่วังเวงเคว้งวิญญาณ์


ออกคำสั่งหัวใจให้องอาจ

พายุฟาดพินาศฝันยังฟันฝ่า

อุปสรรคหนักแสนเท่าแผ่นฟ้า

ดั่งทายท้าดวงหทัยเอนไหวโอน


ก้าวให้พ้นความเกลียดความเคียดแค้น

ก้าวให้พ้นอ้อมแขนถอดหัวโขน

ก้าวให้พ้นมารยาทแสร้งอ่อนโยน

มากระโจน! เปิดใจใกล้ความจริง


เขาเป็นเพียงมรดกจากอดีต

ที่จารีตหลอมปรุงจนรุ่งริ่ง

ผิดกาละเทศะต้องละทิ้ง

หาใช่หิ้งบูชามหาชน


ก้าวให้พ้นค่านิยมสังคมหยาม

ก้าวให้พ้นคำนิยามอย่าสับสน

ก้าวให้พ้นภักดีก้าวให้พ้น

อย่าจำนนยอมเป็นทาสประกาศไท


มนุษย์มีศักดิ์ศรีแห่งมนุษย์

ตาชั่งฉุดยุติธรรมโลกร่ำไห้

รังแกคนจนแต้มแถมจนใจ

หลงกราบไหว้สิ่งสมมติดุจเทวดา


ก้าวให้พ้นมนต์มารหนึ่งหนึ่งสอง

ก้าวให้พ้นครรลองต้องหาญกล้า

ก้าวให้พ้นเพื่อไทยเพื่อประชา

ก้าวให้พ้นปีหน้า... รากหญ้าเอง



.

คนมองหนัง: การเมืองเชิงสัญลักษณ์, นพมาส: MIDNIGHT IN PARIS, +FAIR GAME

.

การเมืองเชิงสัญลักษณ์
โดย คนมองหนัง คอลัมน์ นอก "กระแส"
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1637 หน้า 85


หลังจากเมื่อสัปดาห์ก่อนเขียนถึงไอคอน "คุณซาบซึ้ง" และสติ๊กเกอร์ "วันอาทิตย์สีแดง" ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ทางการเมืองแบบไทยๆ ที่มีนัยยะเชื่อมโยงกับภาวะเปลี่ยนผ่านทางการเมืองและความโศกเศร้าของมวลชนในประเทศเกาหลีเหนืออย่างน่าสนใจไปแล้ว

ล่าสุด ผมมีโอกาสได้อ่านหนังสือ "คู่มือแกนนอน : เปลี่ยนมวลชนเป็นผู้ปฏิบัติงาน เปลี่ยนสภากาแฟเป็นกลุ่มปฏิบัติการ" จัดพิมพ์โดยกลุ่มวันอาทิตย์สีแดงร่วมกับสำนักพิมพ์ของเรา

ซึ่ง พัชรี อังกูรทัศนียรัตน์ เรียบเรียงคำสัมภาษณ์ของ "สมบัติ บุญงามอนงค์" (หนูหริ่ง หรือ บ.ก.ลายจุด) ว่าด้วยแนวทางการเคลื่อนไหวทางการเมืองของเขา

ในบทที่ 4 ของหนังสือที่มีชื่อบทว่า "แกนนอน ทำอะไรดี?" มีเนื้อหาย่อยส่วนหนึ่ง ("ใช้สัญลักษณ์ เลี้ยงกระแส ชิงพื้นที่สื่อ") กล่าวถึงประเด็นเรื่องการเมืองเชิงสัญลักษณ์ไว้อย่างครอบคลุมรอบด้านพอสมควร

จึงขออนุญาตคัดลอกข้อความบางส่วนมาเผยแพร่ต่อ ดังนี้


"การเคลื่อนไหวในรูปแบบแกนนอนช่วงแรกๆ เกิดขึ้นท่ามกลางสถานการณ์ที่ถูกปิดกั้นช่องทางการสื่อสาร ทำให้ต้องหาทางออก และพบว่าปฏิบัติการเชิงสัญลักษณ์นั้นปลอดภัยและเหมาะกับเวลา สิ่งสำคัญที่ต้องคำนึงถึงคือต้องส่ง message (สาร - คนมองหนัง) ที่อยู่ข้างหลังสัญลักษณ์นั้นออกไปให้ได้ สัญลักษณ์บางอย่างเมื่ออยู่ในบริบทสังคมที่สอดคล้องก็ทำให้สัญลักษณ์นั้นทรงพลังขึ้นมา

"ยกตัวอย่างกรณี "ชูนิ้วกลาง" ก็ตีความได้หลากหลาย ในทัศนะหนูหริ่งมันเป็นการแสดงอารมณ์ว่าสุดจะทน ไม่ต้องพูดอะไรกันแล้ว คุยกันไม่ได้แล้ว เป็นการปลดปล่อยความรู้สึกของคนในสังคมจำนวนหนึ่งที่อึดอัด ไม่รู้จะทำอย่างไรหลังเหตุการณ์ 19 พ.ค.2553 ที่ราชประสงค์ บางคนอาจตีความว่าเป็นการด่าทอ เพราะนิ้วกลางในทางสากลคือคำด่า ก็เป็นการตีความอีกแบบ เพราะในสังคมที่ไม่ยอมพูดความจริง หรือหลบเลี่ยงความจริง มันไม่มีอะไรต้องพูด ชูนิ้วกลางเลยดีกว่า

"นี่คือตัวอย่างปฏิบัติการเชิงสัญลักษณ์ที่สอดคล้องและลงตัวกับบริบทสถานการณ์ ถ้าไม่พอดีก็สุ่มเสี่ยงที่คนส่วนใหญ่จะไม่รับสารนี้ กรณีชูนิ้วกลางนั้นหนูหริ่งไม่ได้ชูต่อหน้าสื่อ แต่ว่าสื่อตีพิมพ์ภาพนี้หลังเขาถูกจับกุม (26 มิ.ย.2553 หนูหริ่งถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมตัวขณะทำกิจกรรมผูกผ้าแดงที่ป้ายแยกราชประสงค์ ภายหลังศาลอนุญาตให้ประกันตัวในวันที่ 9 ก.ค. ปีเดียวกัน) ทำให้สารนี้ทรงพลังและเรียกคนที่ไม่เห็นด้วยกับการจับกุมนั้นออกมาจำนวนมาก

"กิจกรรมผูกผ้าแดงที่ราชประสงค์ก็เช่นกัน เริ่มจากความคิดที่ว่าทำอย่างไรให้คนไม่ลืมเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่ราชประสงค์ แล้วอะไรคือสัญลักษณ์ของราชประสงค์ ก็คือป้าย จะต้องทำอะไรกับป้าย ในที่สุดก็คิดว่าเอาผ้าแดงไปผูกป้าย เป็นกิจกรรมที่ไม่ต้องลงทุนอะไรเลย ไปคนเดียวก็ได้ ปัญหาคือสารนี้คนจะรับได้ไหม ปรากฏว่าเจ้าหน้าที่รัฐถึงกับยกป้ายออกแล้วสื่อก็เข้ามาขยายผลอย่างกว้างขวาง ทำให้การผูกผ้าแดงกลายเป็นเรื่องที่มีความหมายขึ้นมา

" "การเคลื่อนไหวเชิงสัญลักษณ์จะไม่มีพลังเลยถ้าสังคมไม่รู้ว่าเราจะสื่ออะไร" สัญลักษณ์มันทำงานระดับจิตใต้สำนึก หมายความว่าถ้าสัญลักษณ์ไหนที่ผู้คนเข้าใจและมีความพิเศษมันก็จะมีพลัง"



"เมื่อสัญลักษณ์ทำงานมันจะต่อยอดไปได้เอง เช่นการตะโกน "ที่นี่มีคนตาย" หรือการแต่งผีไปปรากฏตัวตามที่เกิดเหตุ ก็ถือเป็นการเคลื่อนไหวเชิงสัญลักษณ์ซึ่งต้องทำควบคู่ไปกับปฏิบัติการอื่นๆ เพราะลำพังสัญลักษณ์ก็มีขีดจำกัดของมัน เป็นการสื่อข้อความบางอย่าง เหมาะกับกิจกรรมที่ต้องการส่งสัญญาณเท่านั้น แต่ถ้าใช้สัญลักษณ์เป็น ก็จะกลายเป็นตัวช่วยหลายเรื่อง ทั้งเรื่องการสื่อสารและจิตวิญญาณ โดยเฉพาะการสื่อสารกับคนที่มีอคติต่อกัน ถึงที่สุดต้องสื่อสารข้ามกำแพงความคิด โดยผ่านช่องทางการสื่อสารระดับจิตใต้สำนึกที่เรียกว่า "ใจถึงใจ"

"การทำงานกับสื่อจำเป็นต้องเลี้ยงกระแส "เลี้ยงกระแสก็เหมือนเลี้ยงลูกปิงปอง!" คือค่อยๆ ยกกระแส ถ้าทำแล้วหยุดกว่าจะสร้างกระแสขึ้นมาใหม่ได้ต้องใช้เวลาเริ่มนับหนึ่งใหม่ ดังนั้น ต้องทำต่อเนื่อง คิดและดูจังหวะ เช่น กิจกรรมปิกนิกที่สวนสาธารณะ ทำบ่อยๆ หลายอาทิตย์สื่อเริ่มไม่เล่นด้วย วันหนึ่งหนูหริ่งจึงตัดสินใจไปหน้าธนาคารกรุงเทพ ไปทำกิจกรรม กดเอทีเอ็ม ปรากฏว่าสื่อเล่นด้วย หรือกิจกรรมจัดกินอาหารไพร่เล่นกับกระแสที่กำลังเป็นข่าวอยู่ (กรณีคนชั้นสูงดื่มเบียร์-คนชั้นไพร่ดื่มไวน์ ระหว่าง "กรณ์ จาติกวณิช" กับ "ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ" - คนมองหนัง) เรียกว่า "ชักใบทัน" เมื่อมีกระแสลมมาเราต้องชักใบเรือโต้กระแส โต้คลื่น เล่นปิงปองกับกระแสนั้นได้ หรือกิจกรรมส่งจดหมายถึงฟ้าก็เล่นพื้นที่ข่าวหน้าหนึ่งได้และเป็นการสื่อสารถึงสังคม การเล่นกับกระแสคือการช่วงชิงพื้นที่ข่าว ชิงพื้นที่สื่อ และสื่อสารวงกว้าง

"ในอนาคตอาจมีการสร้างสถาบันเพื่อการสร้างสรรค์วิธีการประท้วง หรือ political creative มีการศึกษารูปแบบการต่อสู้ของคนทั่วโลก มีการถอดบทเรียน ลองผิดลองถูก ท้าทายและทะลุกรอบคิดของขบวนการเคลื่อนไหวแบบเดิมในอดีต..."

นี่เป็นมุมมองที่มีต่อประเด็นการเมืองเชิงสัญลักษณ์ของ สมบัติ บุญงามอนงค์

บุคคลสำคัญคนหนึ่งทางการเมืองไทย ในช่วงรอยต่อระหว่างหลังเหตุการณ์นองเลือดพฤษภาคม 2553 ถึงการเลือกตั้ง 3 กรกฎาคม 2554



++

MIDNIGHT IN PARIS "ถวิลหาอดีต"
โดย นพมาส แววหงส์ คอลัมน์ ภาพยนตร์
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1637 หน้า 87


กำกับการแสดง Woody Allen
นำแสดง Owen Wilson , Rachel McAdams
Michael Sheen , Kathy Bates
Marion Cotillard , Adrien Brody


วูดดี อัลเลน ยังคงทำหนังตลกในแนวเฉพาะที่เขาเขียนเรื่องเองออกมาปีสองปีเรื่อง และเขาตกหลุมรักกับปารีสอย่างถอนตัวไม่ขึ้นเสมอมา

ความหลงใหลในนครแห่งแสงสีแห่งนี้ปรากฏบนจอภาพยนตร์อีกครั้ง

ปารีสเคยเป็นศูนย์กลางของวัฒนธรรมโลกในช่วงครึ่งแรกของศตวรรษที่ยี่สิบ บรรดานักปรัชญา นักคิด นักเขียนและศิลปินชื่อดังหลากหลายสาขาจะพากันไปอยู่ที่นั่น แลกเปลี่ยนทัศนะและสร้างสรรค์งานเขียนและงานศิลปะจรรโลงใจคนทั้งโลก ซึ่งยังได้รับยกย่องมาถึงปัจจุบัน

ใน Midnight in Paris อัลเลนเขียนเรื่องที่มีตัวตนของเขาเป็นตัวละครตัวเอกอีกนั่นแหละ (คนที่คุ้นกับ วูดดี อัลเลน จะรู้ดีว่าคาแร็กเตอร์ของอัลเลนจะเป็นคนพูดน้ำท่วมทุ่ง เรื่องมาก ช่างตอแย ชอบต่อล้อต่อเถียง) เพียงแต่ว่าตอนนี้เขาแก่เกินแกงไปเสียแล้ว คราวนี้เลยใช้ตัวตายตัวแทนเป็น โอเวน วิลสัน ในบท "กิล" นักเขียนบทภาพยนตร์ในฮอลลีวู้ดผู้ประสบความสำเร็จ แต่ใฝ่ฝันจะกลายเป็นนักเขียนแท้ๆ ในวงวรรณกรรม ไม่ใช่นักเขียนบทหนังสำหรับโลกบันเทิง

กิลเดินทางมาปารีส พ่วงติดมากับครอบครัวของแฟนสาวอิเนซ (เรเชล แม็กอาดัมส์) พ่อของอิเนซเป็นนักธุรกิจใหญ่ที่กำลังจะรวมกิจการให้ธุรกิจใหญ่ยิ่งขึ้นไปอีก

ทั้งพ่อแม่และอิเนซไม่เคยเข้าใจว่าทำไมกิลถึงต้องการจะออกจากวงการนักเขียนบทที่ได้รับความสำเร็จแล้วในฮอลลีวู้ดไปเป็นนักประพันธ์ไส้แห้งที่ไม่มีอะไรเป็นหลักประกันด้านเงินทองบ้านช่องอัครฐานในมาลิบู แคลิฟอร์เนีย

แต่กิลเป็นชายหนุ่มผู้ถวิลหาอดีตอันรุ่งเรืองเก่าก่อน นวนิยายที่เขาซุ่มเขียนอยู่และยังไม่ลงตัวนัก เป็นเรื่องของชายหนุ่มที่ทำงานในร้านที่เรียกว่า ร้านหวนหาอดีต (nostalgia shop) ซึ่งพอบอกใครทุกคนแล้ว ก็ต้องอธิบายตามหลังว่าเป็นร้านขายของจิปาถะที่ชวนให้คิดถึงกาลเวลาที่ล่วงผ่านไป

อิเนซเป็นคนหลงติดอยู่ในความสำเร็จปลอมๆ เธอพบเพื่อนเก่าชื่อพอล (มาร์ติน ชีน) เป็นชายหนุ่มที่เธอทึ่งในความเก่งกาจฉลาดเฉลียวในทุกเรื่อง แต่กิลเห็นว่าเขาเป็น "นักวิชาเกิน" ไม่ใช่นักวิชาการ เพราะดูเหมือนจะเชี่ยวชาญไปเสียทุกเรื่อง แต่รายละเอียดก็ผิดเพี้ยนไปหมดจากความจริง

เมื่อรสนิยมของคู่รักแยกทางกันไปดังนี้ คืนหนึ่งกิลก็พบตัวเองต้องเดินกลับโรงแรมคนเดียวเพราะอิเนซปลีกตัวไปสนุกสนานต่อกับพอลยามค่ำคืน


กิลหลงทางกลางดึก และขณะกำลังนั่งอยู่ที่ขั้นบันไดกลางเมืองปารีส เขาก็ได้ยินเสียงนาฬิกาตีบอกเวลาเที่ยงคืน ทันใดนั้น ก็มีรถเปอโยต์รุ่นเก๋าเป็นมันปลาบแล่นเข้ามาเทียบ และเขาได้รับการคะยั้นคะยอให้นั่งรถไปด้วยกัน

กิลถูกพาตัวไปพบปะกับผู้คนที่น่าสนใจมากมาย และพบว่าคนเหล่านั้นคือบุคคลที่มีชื่อเสียงในวงการศิลปะและวรรณกรรมในช่วงทศวรรษ 1920 ซึ่งเขารู้จักดีจากผลงานอันลือชื่อของพวกเขา

อาทิเช่น นักเขียนนวนิยายชื่อดัง เอฟ. สก็อต ฟิตซ์เจอรัลด์ (ทอม ฮิดเดลสตัน) กับเซลดา (อลิสัน พิลล์) ภรรยาอารมณ์แปรปรวนของเขา และ เออร์เนสต์ เฮมิงเวย์ (คอรีย์ สตอลล์) นักแต่งเพลงแจ๊ซ โคล พอร์เตอร์ (อีฟ เฮ็ก) นักเขียนและนักวิจารณ์ เกอร์ทรูด สไตน์ (แคธี เบตส์) จิตรกรผู้ยิ่งใหญ่ ปาโบล ปิคัสโซ (ไมเคิล ดิ ฟอนโซ โบ) กับแฟนสาวสวยที่กำลังจะเลิกกับเขา อาเดรียนา (มาริอง โกติยาร์ด)

กิลได้รับคำแนะนำในการเขียนนวนิยายโดยเฉพาะจาก เกอร์ทรูด สไตน์ นักวิจารณ์ที่มีชื่อเสียงซึ่งเปิด "ห้องรับแขก" หรือ "ซาลอง" ให้เป็นที่พบปะสนทนาแลกเปลี่ยนทัศนะของนักเขียนและศิลปินของยุค

กิลตื่นขึ้นมาตอนเช้าในกาลเวลาปัจจุบันและใช้ชีวิตปกติในปารีสศตวรรษที่ยี่สิบเอ็ด จนถึงเที่ยงคืนซึ่งเขาไปรอรถโบราณให้มารับเขา ณ จุดเดิมอีกหลายต่อหลายคืน

และได้พบกับจิตรกร กวีและศิลปินด้านต่างๆ อีกมากมาย ซึ่งล้วนเป็นแรงบันดาลใจให้เขา อาทิ กวีและนักเขียนบทละคร ที. เอส. เอเลียต (เดวิด โลว์) จิตรกรเซอร์แนวเรียลิสต์ ซัลวาดอร์ ดาลี (เอเดรียน โบรดี) ผู้กำกับหนังแนวเซอร์เรียลิสต์ หลุยส์ บุนนูเอล (เอเดรียม เดอ แวน) ซึ่งมีบทสนทนาฮากลิ้งระหว่างเขากับบุนนูเอล ซึ่งพยายามหาเหตุผลให้กับไอเดียเหนือจริง (เซอร์เรียลิสต์) ที่กิลเสนอให้เอาไปทำหนัง เรื่องน่าขันตรงนี้อยู่ที่ว่าบุนนูเอลตั้งคำถามเอาเป็นเอาตายเพื่อหาเหตุผลให้แก่สถานการณ์ที่ไม่ได้วางอยู่บนเหตุผลของความสมจริงเลย

นอกจากนั้น กิลยังเกิดหลงรักสาวสวยในอดีตที่เป็นแฟนกับปิคัสโซ ซึ่งเธอเองก็หวนหากาลเวลาอันรุ่งเรืองในอดีตอยู่ด้วยเหมือนกัน ทำให้ทั้งสองลึกเข้าไปในอดีตใกล้เคียงอีกยุคหนึ่ง ที่มีศิลปินอย่างเช่น อองรี มาติส (อีฟส์ อังตวน สโปโต) ตูลูส-โลเตร็ก (วินเซนต์ เมนจู คอร์เตส) พอล โกแกง (โอลิวิเอร์ ราบูร์แดง) และ เอ็ดการ์ เดกาส์ (ฟรังซัวส์ รอสแตน) เป็นต้น

การหลุดเข้าไปใช้ชีวิตยามราตรีในอดีตกาลทำให้กิลมองเห็นความต้องการของตนได้ถ่องแท้ยิ่งขึ้น นำไปสู่การตัดสินใจครั้งสำคัญในชีวิตจริง



สําหรับคนที่มีภูมิหลังทางด้านศิลปะและวรรณกรรมอยู่บ้างน่าจะสนุกกับรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ของตัวละครและชีวิตแสงสีของปารีสในอดีต ซึ่ง วูดดี อัลเลน ปลุกให้กลับมีชีวิตขึ้นมาอีกอย่างมีสีสันและมีอารมณ์ขัน

ประสบการณ์แปลกประหลาดหลังเที่ยงคืนในหนังเรื่องนี้ วูดดี อัลเลน ไม่ได้พยายามอธิบายถึงที่มาที่ไปในแง่ของเหตุผลในความเป็นจริง นอกจากว่าเป็นเรื่องของมนตร์ขลังของปารีสอันเต็มไปด้วยเสน่ห์ล้ำลึก สำหรับผู้คนที่หลงรักปารีสแล้ว เมืองนี้เป็นความหลังฝังใจที่ไม่อาจถอนตัวได้ขึ้น

Midnight in Paris อาจไม่ใช่หนังสำหรับทุกคน โดยเฉพาะบางคนที่ไม่ค่อยคุ้นเคยกับโลกศิลปะและวรรณกรรม

แต่สำหรับบางคนแล้ว หนังเรื่องนี้มีมนต์เสน่ห์และความพิเศษเหลือแสนทีเดียว



+ + + +

บทความของปลายปีที่แล้ว ( 2553 )

FAIR GAME "เบื้องหลังสงครามอิรัก"
โดย นพมาส แววหงส์ คอลัมน์ ภาพยนตร์
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1579 หน้า 87

กำกับการแสดง Doug Liman
นำแสดง Naomi Watts , Sean Penn
Ty Burrell , Bruce McGill
David Andrews , Sam Shepard


เมื่อประธานาธิบดี จอร์จ ดับเบิลยู. บุช กล่าวปราศรัยรายงานสถานภาพของประเทศ (state of the union) ต่อหน้ารัฐสภาและประชาชนชาวอเมริกัน ในปี ค.ศ.2003 เขาให้เหตุผลความจำเป็นว่าจะต้องส่งกองทหารเข้ารุกรานอิรักภายใต้ ซัดดัม ฮุสเซน

เนื่องจากหน่วยข่าวกรองอเมริกันสืบทราบว่าอิรักเป็นภัยคุกคามร้ายแรงต่อเสถียรภาพของโลก ด้วยว่ามีอาวุธนิวเคลียร์อยู่ในครอบครอง หรือไม่ก็กำลังพัฒนาศักยภาพของอาวุธร้ายแรง ที่สามารถทำลายล้างคนจำนวนมาก อย่างที่เรียกกันว่า WMD หรือ weapon of mass destruction

ดังนั้น จึงจำเป็นต้องตัดไฟแต่ต้นลม และจัดการกับอิรักขั้นเด็ดขาด เพื่อไม่ให้สร้างแสนยานุภาพทางทหารเป็นภัยคุกคามต่อโลกต่อไป

อเมริกาประกาศสงครามกับอิรัก

หลังจากคำปราศรัยของประธานาธิบดีบุชไม่นาน อดีตเอกอัครราชทูต โจ วิลสัน ก็เขียนบทความลงหนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทมส์ เปิดเผยว่าตัวเองคือแหล่งข่าวที่ซีไอเอส่งไปยังไนเจียร์ เพื่อสืบหาความเป็นไปได้ของการที่ไนเจียร์ขายแร่ยูเรเนียมให้แก่อิรัก เพื่อนำไปผลิตอาวุธนิวเคลียร์

แต่รายงานที่เขาเขียนส่งให้ซีไอเอ บอกว่าเขามองไม่เห็นทางเป็นไปได้ว่าจะมีการค้าขายและขนส่งสินค้าดังกล่าวจากไนเจียร์สู่อิรัก การขนส่งสินค้าที่เป็นแร่กัมมันตภาพรังสีขนาดนั้นผ่านทะเลทราย ย่อมต้องทิ้งร่องรอยให้พบเห็นอยู่บ้าง แต่เขาไม่พบเค้าลางที่ส่อว่ามีการขนส่งแบบนั้นอยู่เลย

แต่อยู่ดีๆ อเมริกากลับประกาศสงครามกับอิรัก โดยอ้างแหล่งข่าวกรองที่สืบทราบความเคลื่อนไหวในไนเจียร์เยี่ยงนี้

พูดง่ายๆ คือ มีคนเอารายงานเขาไปบิดเบือน เพื่อหาเหตุผลกระโจนเข้าสู่สงคราม เพื่อจะเข้าไปจัดการกับ ซัดดัม ฮุสเซน ให้สิ้นฤทธิ์ในฐานที่แข็งข้อกับมหาอำนาจยักษ์ใหญ่อย่างอเมริกา

ครั้นพอ โจ วิลสัน เปิดตัวออกมาแถลงต่อสื่อมวลชนว่า ข่าวกรองที่อ้างนั้นเป็นเรื่องหลอกลวงทั้งเพ เจ้าหน้าที่ระดับสูงจากทำเนียบขาวก็ตอบโต้ด้วยการปล่อยข่าวเปิดเผยว่าภรรยาของวิลสัน-แวเลอรี เพลม-เป็นเจ้าหน้าที่ซีไอเอ ทำให้เธอต้องถูกถอดถอนจากปฏิบัติการลับทั่วโลก แหล่งข่าวของเธอถูกทิ้งให้ตกอยู่ในอันตราย และเธอเองก็ถูกคุกคามต่างๆ นานา


Fair Game สร้างจากบันทึกความทรงจำของ แวเลอรี เพลม และ โจ วิลสัน ซึ่งเล่าถึงชีวิตจริงของเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการที่ต้องลงพื้นที่ปัญหาทั่วโลก แม้แต่เพื่อนสนิทของครอบครัวก็ไม่รู้จักตัวตนเบื้องหลังของแวเลอรี (เนโอมี วัตส์) อย่างแท้จริง

แวเลอรีซึ่งทำงานอยู่กับองค์กรข่าวกรองมานาน เป็นคนที่ออกจะเก็บตัวและไม่แสดงออกนัก เธอมีเครือข่ายของปฏิบัติการสำคัญๆ อยู่ทั่วโลก

สามีของแวเลอรีคือ อดีตเอกอัครราชทูต โจ วิลสัน (ฌอน เพนน์) ผู้มีนิสัยเลือดร้อน และขวานผ่าซาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการต่อต้านอคติต่อชนชาติโดยไร้เหตุผล

แต่แม้แต่สามีเธอเอง ก็ยังไม่ทราบว่าในช่วงเวลาที่เธอเดินทางไปทำงานหลายๆ วันนั้น เธอไปอยู่ที่ไหน

เรื่องนี้ทำให้นึกขำๆ ย้อนไปถึงหนังที่ อาร์โนลด์ ชวาเซเนกเกอร์ เล่นกับ เจมี ลี เคอร์ติส ชื่อ True Lies ซึ่งอาร์โนลด์เป็นจารชนที่แม้แต่ภรรยาเขาเองก็ยังไม่รู้ว่าเขาเป็นสายลับ แต่ True Lies เป็นหนังแอ๊กชั่น-คอเมดี้-ธริลเลอร์แบบหวือหวาโครมคราม


ขณะที่ Fair Game เป็นดรามาที่เล่าเรื่องจริงของสามีภรรยาสองคนนี้ ที่ต้องถูกเปิดโปงให้ร้ายและต้องต่อสู้เพื่อปกป้องชื่อเสียงของตัวเองกับอำนาจรัฐที่ใช้ในทางที่ผิด

ตัวร้ายในเรื่องคือ สกูเตอร์ ลิบบี (เดวิด แอนดรูส์) ซึ่งเป็นคนของรองประธานาธิบดี ดิก เชนีย์

หนังใช้ชื่อจริงนามสกุลจริงของผู้ที่มีบทบาทเกี่ยวข้องสำคัญๆ เหล่านี้ ประหนึ่งจะท้าทาย โดยไม่กลัวถูกฟ้องหมิ่นประมาท สงสัยจะตั้งใจบอกแก่คนดูว่าความจริงเป็นสิ่งไม่ตาย ฝ่ายที่พูดความจริงจึงไม่สมควรกลัวสิ่งใด ไหนๆ จะต่อสู้กับอำนาจมืดแล้วก็ต้องต่อสู้ด้วยความจริงจะปลอดภัยกว่า เพราะฝ่ายผู้เสียหายย่อมกลัวจะฟ้องร้อง ไม่งั้นจะต้องไปพิสูจน์ความจริงกันในศาล และในศาลนั้นจะเอาเรื่องโกหกพกลมมาพิสูจน์ความจริงก็ไม่ได้

เป็นหนังอเมริกันเรื่องเดียวที่เข้าฉายในเทศกาลหนังเมืองคานส์ที่ผ่านมา กำกับฯ โดยผู้กำกับฯ ฝีมือดี ดัก ไลแมน ที่กำกับฯ The Bourne Identity อย่างเฉียบคมชวนระทึก

นักแสดงนำสองคน ทั้ง เนโอมี วัตส์ และ ฌอน เพนน์ ก็เล่นอย่างน่าเชื่อ เข้มข้น เหมาะเจาะลงตัวพอดิบพอดี ไม่มีเว่อร์ ไม่มีหลุดสักขณะจิตเดียว แค่ไปดูฝีมือการแสดงกินขาดของสองคนนี่ก็คุ้มสุดคุ้มแล้ว แถมในตอนจบ เมื่อเห็นฟุตเทจของ แวเลอรี เพลม ตัวจริง ทำให้เห็นความคล้ายคลึงของรูปร่างหน้าตาบุคลิกที่เนโอมีสร้างแคแร็กเตอร์ให้เหมือนตัวจริงได้อย่างน่าอัศจรรย์

ส่วน ฌอน เพนน์ ก็เช่นเคย เป็นนักแสดงที่วิเศษเหลือเกิน จับแก่นของตัวละครได้อยู่หมัดทุกบท



แถมท้ายในสิ่งที่ไม่ได้มาจากหนัง แต่เกี่ยวพันกันอยู่ คือ ได้อ่านคำพูดจากปากของอดีตประธานาธิบดี บุชจากนิตยสารไทม์บอกว่า เขารู้สึกคลื่นเหียนวิงเวียน (sickening) ทุกครั้ง เมื่อมาคิดว่าไม่เคยได้เจออาวุธมหาประลัยใดๆ เลยในอิรัก จากการเข้ารุกรานทำสงครามกับอิรักในครั้งนั้น

ท่าทางว่าบุชจะถูกเชนีย์กับลิ่วล้อแหกตาครั้งใหญ่ซะละมัง

ไม่ว่าอย่างไร เป็นถึงประมุขของประเทศมหาอำนาจที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกขนาดนี้ ถูกเสนาธิการและคนข้างเคียงแหกตาเอาได้ ก็ต้องหน้าแตกไม่มีใครรับเย็บฉะนี้แหละ



.

ปรารถนา: Aung San Suu kyi.., ทราย: สอนใจ, เช็กสต๊อกหนังสือ โดย หนุงหนิง

.


Aung San Suu kyi : ready to be the president :: (ใคร?) ส่งสัญญาณบวก!!!
โดย ปรารถนา รัตนะ คอลัมน์ Se[XO]ver
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1635 หน้า 82


Flashback : ไม่นานมานี้...กลางตลาดสด

ดิฉันดั้นด้นหอบสัมภาระเข้าไปกินสุกี้ทะเลน้ำกลางตลาดที่อร่อย และบรรยากาศเดิมๆ กินจนเหมือนญาติ บางทีที่ชอบคงไม่ใช่รสชาติอาหาร (แต่เป็นบรรยากาศ) ที่เราต้องการ นั่น...คว้าหนังสือพิมพ์ (มารองจาน) อ่านไป กินไป

มีการพูดถึงบทสัมภาษณ์ของ ซูจี กับ เอเอฟพี มันเป็นการพูดที่มีนัยยะว่าพร้อมเป็นประธานาธิบดีจริงเหรอ หรือนี่คือการฟอร์เวิร์ดภาพไปข้างหน้า ก่อนที่มันจะเกิดหรืออย่างไร มึนและอึมครึม

แต่อย่าเชื่อในสิ่งที่เห็น อย่าเชื่ออะไรง่ายๆ (ดิฉันบอกตัวเอง) จึงควักสมุดจดชื่อคนสัมภาษณ์ ชื่อสำนักข่าว เพื่อหาต้นฉบับภาษาอังกฤษอ่าน

พลางกินไป คิดไป เรฟโวลูชั่น มันเทกไทม์ มันอาจจะใช้เวลาเกินกว่าช่วงชีวิตเราด้วยซ้ำไป จนถึงวันนี้ที่ม่านฟ้าพม่าเปิด เมื่อโอบามาแจ้นมาอาเซียน เพื่อประกบ สยบมังกร แถมส่งฮิลลารี่ ไปดูลาดเลา อืมม์ อย่างที่รู้ ทุนในพม่าเป็นทุนจีนซะมาก เพราะจีนรุกด้วยการเข้าสร้าง infrastructure เป็นสงครามเย็นทางเศรษฐกิจร้อนๆ

อะไรกัน ละครของโลกจะสนุกสนานปานฉะนี้หนอ!!!


เพราะโลกนี้คือโรงละคร (จริงๆ)

ชีวิตอองซาน ผู้พ่อ น่าสนใจมาก เขาคือฮีโร่ที่มีความสำคัญในพิพิธภัณฑ์และประวัติศาสตร์ของพม่า

แต่ภาพในอดีตของชีวิตของ อองซาน ผู้ลูก เหมือนดูหวานแหวว เมื่อเด็กอ๊อกซ์ฟอร์ด พบรักกับติวเตอร์หนุ่ม ที่เป็นติวเตอร์ให้กับราชวงศ์กษัตริย์ภูฏาน ซูจี จึงมีโอกาสไปไต่เขามาตั้งแต่สาวๆ

ภาพที่เราคุ้นเคยคือภาพเธอยืนเหนือรั้วอ้อมล้อมด้วยผู้คน ด้วยบทบาทลูกสาว เธอคือทายาทคนสำคัญ ภาพส่วนตัวในคอลเล็กชั่นสะสม ช่างแตกต่างจนแทบไม่น่าเชื่อว่าเป็นชีวิตเดียวกัน


เมื่อครั้งสาวนักศึกษาอ๊อกซ์ฟอร์ดแต่งงานกับหนุ่มอังกฤษ มีบุตรชายสองคน ชีวิตที่ดูเหมือนจะปักหลักที่อังกฤษก็เริ่มเปลี่ยนไป จากการที่ อองซาน ผู้พ่อถูกสังหาร

และเธอคงไม่คิดว่าการเดินทางกลับแผ่นดิน จะเป็นการปิดฉากตำนานรักที่อังกฤษ เมื่อเธอไม่ได้รับอนุญาต แม้จะออกจากพม่าไปเพื่อเยี่ยมสามีที่เป็นมะเร็งที่เสียชีวิตไปแล้ว




สัญญาณบวก

การส่งสัญญาณบวกทางสัญลักษณ์เริ่มจากการที่ลูกชายคนเล็กเพิ่งได้รับวีซ่าเข้าพม่าพบแม่หลังจากไม่ได้เจอกันมานาน

เรียกว่า พม่าเป็นโมเดลระดับโลกไปแล้ว โดยมี ซูจี เป็นนางเอก นางเอกที่รอเวลานานที่สุดในจักรวาล เป็นนางเอกที่การเป็นสัญลักษณ์การต่อสู้ ที่ซูจีเองบอกว่าเธอไม่ต้องการการเปลี่ยนแปลงแบบในประเทศลิเบีย หรือไม่ต้องการปฏิวัติดอกมะลินองเลือด

ตอนนี้มีแต่สัญญาณบวกๆๆ แม้ทุกคนต่างรู้สึกไม่ชอบมาพากล และมันน่าสงสัยว่า เอ มันเป็นการจัดฉากหรือเปล่า



บทลา (รอคอย) the new light of Myanmar

ตอนนี้นักคาดการณ์ต่างนั่งมองพม่าด้วยความงุนงงสงสัย ซูจีเองก็เช่นกัน

"I don"t think of my political role in terms of becoming president as such, but I believe that things like this have to be decided by the people and not by individual politicians or even by their parties,"

ดิฉันได้ไปเดินงานสัปดาห์หนังสือที่ผ่านมา ด้วยความขี้เกียจถือ จึงได้หนังสือเล่มหนึ่งเกี่ยวกับการผ่าขุมทรัพย์พม่า อ่านแล้ว (ยังไม่จบ) ถือว่า พม่าน่าสนใจจริงๆ ไม่ว่าจะมองในแง่ของโรแมนติก หรือหนังพีเรียด

นี่คือเพื่อนบ้าน (มนุษย์ทองคำ) ที่เราหลงลืมและละเลย (ในการสานมิตรภาพ) อย่างแท้จริง

(ไม่อยากจะคิดว่า เป็นการปรับตำแหน่งของพม่าเพื่อรับประชาคมอาเซียนที่สังคมไทยยังขาดการตระหนักรู้ (ความเสียเปรียบ) อย่างรุนแรงที่สุด!!)



++

สอนใจ
โดย ทราย เจริญปุระ charoenpura@yahoo.com คอลัมน์ รักคนอ่าน
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1637 หน้า 80


ฉันเป็นคนไม่ค่อยมองย้อนไปในอดีตที่ผ่านมา ไม่ค่อยนั่งนึกว่าถ้าวันนั้นเราทำอย่างนี้แล้วเหตุการณ์มันจะเปลี่ยนไปหรือไม่
ไม่ได้หมายถึงว่าไม่ให้ความสำคัญกับอดีต แต่ฉันเคารพมันเกินกว่าจะคิดขัดแย้ง
ไม่ใช่ไม่เคยผิด ไม่ใช่ไม่เคยพลาด ไม่ใช่ไม่เสียใจ
แต่ความเป็นจริงก็คือ, สิ่งที่เกิดขึ้นนั้นจะคงอยู่ไปตลอดกาล


มีบางช่วงบางจังหวะที่เรารู้สึกว่าชะตากรรมโบยตีเราหนักหน่วง
เหมือนคอยคิดแต่จะหาวิธีใดก็ได้มาทำร้ายเราให้แสนสาหัส
เราอดเปรียบเทียบชีวิตตัวเองกับคนอื่นไม่ได้ เฝ้ามองอย่างสงสัยว่าทำไมใครต่อใครถึงไม่เป็นอย่างเรา
แต่ความเป็นจริงก็คือ, ชะตากรรมนั้นเสมอภาคและเท่าเทียม
ขึ้นอยู่กับว่าเราจะบอกให้คนอื่นรู้หรือไม่เท่านั้นเอง



อีกปีหนึ่งกำลังจะผ่านไป

อายุมากขึ้นทำให้คนมักเข้าใจว่าเราจะรู้อะไรมากขึ้น

ทั้งที่จริงแล้ว วัยเป็นเพียงตัวสร้างความเข้าใจผิด

อายุมากขึ้นนั้นจะรับความเปลี่ยนแปลงได้น้อยลง บาดแผลใหม่ๆ จะหายช้า และไม่มั่นใจมากขึ้น

เมื่อเรายังเด็กนั้นเราจะยืดหยุ่นมากกว่า แต่คนก็จะตั้งข้อสงสัยในเส้นทางของเราเสมอ

แต่พอโตขึ้นนั้นคนจะเชื่อในการตัดสินใจของเรามากขึ้น

มีแต่เพียงตัวเราเท่านั้น ที่ไม่มั่นใจในการตัดสินใจของตัวเอง

ด้วยว่าถูกประสบการณ์ขัดขวางความบ้าบิ่นของวัยเยาว์ที่กำลังจะจากไปเสียแล้ว


แล้วจะอย่างไรกัน
ไม่คิดถึงอดีตเสียแล้ว แต่ถ้าหากถามว่าฉันนั้นมุ่งหวังหมายมาดคาดล่วงหน้าไปถึงวันในอนาคตหรือไม่
ฉันก็ตอบได้เลยว่า ไม่อีกนั่นแหละ
ใครจะล่วงรู้ว่าอนาคตนั้นจะพาอะไรเข้ามาสู่ชีวิตเราหรือเราจะเดินไปหาอะไรในเบื้องหน้า
ความคาดหวังนั้นรังแต่จะทำร้ายจิตใจ
เพราะขึ้นชื่อว่าความคาดหวังเสียแล้วนั้น มันก็มักจะออกไปในข้างที่เป็นไปไม่ได้เสียมากกว่า
ถ้าไม่หวังเสียแต่แรก ก็ไม่ต้องมาหมดหวังกันทีหลัง



สรุปง่ายๆ ก็คือปีเก่าที่ร่ำๆ จะผ่านไป และปีใหม่ที่เฉียดๆ จะมาถึงนี่ก็ไม่ได้ทำให้ฉันเปลี่ยนแปลง

ไม่เคยตั้งจิตปณิธานที่หาญมุ่ง ไม่เคยคิดแก้ไขอะไร ไม่สร้างอะไรใหม่ๆ ไม่แม้แต่จะดูดวงชะตาสำหรับปีหน้า

ดูจะเป็นคนรกโลกอย่างไรก็ไม่ทราบ

แต่ฉันก็เป็นเช่นนี้ และฉันก็ยังสบายใจดี

ดังนั้น, ปีใหม่นี้ ฉันขออวยพรให้ทุกคนจงมีความสุขกับอะไรก็ตามที่มีเข้ามาในชีวิตแล้วกัน

ไม่ขอลาภยศ เงินทองหรือสุขภาพอะไรให้หรอก เพราะล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องที่ท่านทั้งหลายต้องทำขึ้นด้วยตัวเอง

จงดูแลชีวิตและจิตใจของตนให้ได้อยู่ยืนยาวถึงซึ่งวันที่สิ่งอันตั้งใจไว้จะมาถึง

และขอฝากภาษิตโบราณสอนใจในการประคองชีวิตของทุกท่านให้อยู่อย่างมีความสุขไปจนถึง

วันนั้น, ดังนี้


ใครจะไว้ใจอะไรตามใจเถิด
แต่อย่าเกิดไว้ใจในสิ่งห้า
หนึ่ง อย่าไว้ใจทะเลทุกเวลา
สอง สัตว์เขี้ยวเล็บงาอย่าวางใจ

สาม ผู้ถืออาวุธสุดจักร้าย
สี่ ผู้หญิงทั้งหลายอย่ากรายใกล้
ห้า มหากษัตริย์ทรงฉัตรชัย
ถ้าแม้นใครประมาทอาจตายเอย ฯ *

โปรดปรับใช้ให้เหมาะกับวิถีทางและสถานการณ์

สวัสดีปีใหม่

* * * * * * *
* จาก นิทานเวตาล



++

คอลัมน์ เช็กสต๊อกหนังสือ โดย หนุงหนิง nu_ning_inlove@hotmail
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1637 หน้า 81


นักวิทยาศาสตร์ของฮิตเลอร์ : วิทยาศาสตร์ สงคราม และสัญญากับปีศาจ (สำนักพิมพ์มติชน, จำนวน 632 หน้า, ราคา 420 บาท) นพดล เวชสวัสดิ์ แปลจากเรื่อง Hitler"s Scientists : Science,War and the Devik"s Pact ผลงานของ John Cornwell

"เมื่อฮิตเลอร์เถลิงอำนาจในปี 1933 วิทยาศาสตร์ การแพทย์ และเทคโนโลยี หลอมรวมเข้าไปรับใช้ระบอบการปกครองใหม่ อาณาจักรไรซ์ที่ 3 เรียกร้องจิตวิญญาณ "ไกลซ์ชาลทุง" (การตบเท้าเดินพร้อมเพรียงกัน) ทรัพยากรทั้งมวลของระบอบการปกครองจักต้องสอดคล้องไปในทิศทางเดียวกัน

การศึกษา สื่อสารมวลชน จิตวิทยา และการสื่อสาร จะปรับให้ไปรับใช้อุดมการณ์นาซี เพื่อปรับพื้นฐานและหล่อหลอมความคิดสาธารณะให้ชูธง* "การปฏิวัตินาซี"* เหล่านักวิทยาศาสตร์ยินยอมค้อมรับแรงกดดันนั้น (จะมีข้อยกเว้นเพียงบางคน)

นักประวัติศาสตร์, โยเซฟ ฮาเบอเรอร์ กล่าวไว้ว่า "ภาวะผู้นำในวงการวิทยาศาสตร์ที่มีความเกี่ยวข้องกับความมักได้และการค้อมหัวศิโรราบ จะสุมหัวกันเล่นเกมใต้ดิน สรรหาแพะรับบาปจากสมาชิกในชุมชน"

แต่คนบางกลุ่มส่วนใหญ่จะเป็นนายแพทย์และนักมานุษยวิทยา ไม่เพียงแค่ยอมตัวเป็นข้ารับใช้ แต่เลยไกลไปถึงขั้นริเริ่มรุกคืบ สนับสนุนนโยบายกีดกันแบ่งแยกเชื้อชาติ"

...หนังสือเล่มนี้เผยให้เห็นชื่อโฉมของนักวิทยาศาสตร์เยอรมันภายใต้ระบอบนาซี ซึ่งมีทั้งฝ่ายธรรมที่พยายามรักษาแก่นคุณธรรมของความเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่ว่า วิทยาศาสตร์มีไว้เพื่อช่วยเหลือและสร้างสรรค์ ไม่ใช่เพื่อทำลายล้างหรือรับใช้การเมือง

กับฝ่ายอธรรมที่ทุ่มกายใจรับใช้ฮิตเลอร์อย่างเต็มกำลังเพราะเห็นแก่ตำแหน่ง...

เราจะเห็นนักวิทยาศาสตร์ทั้ง 2 ด้าน ทั้งที่ยอมสยบอยู่ *ใต้ฝ่าเท้าฮิตเลอร์* และด้านที่ยืนหยัดต่อสู้กับกับแรงกดดันเพื่อรักษาไว้ซึ่งแก่นแท้ของวิทยาศาสตร์

และที่สำคัญไม่ว่าวิทยาศาสตร์จะถูกใช้ไปในด้านใด วิทยาศาสตร์ก็พัฒนาเติบโตขึ้นทั้งสิ้น



นิทานล้านบรรทัด (สำนักพิมพ์ a book, จำนวน 160 หน้า, ราคา 220 บาท) โดย ประภาส ชลศรานนท์

"นิทานทุกเรื่องในโลกนี้ไม่มีเรื่องใดสมเหตุสมผลเลย เรื่องที่เป็นไปไม่ได้เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลาในนิทาน

ลิงพูดได้ ใบไม้มีขา ม้าล่องหน แต่นี่แหละคือเสน่ห์แห่งนิทาน

ปรัชญาอันยิ่งใหญ่ที่ติดตัวมากับมนุษย์ตั้งแต่เกิด "ความคิดที่ว่าทุกสิ่งทุกอย่างเป็นไปได้หมด"

และว่ากันว่าปรัชญาง่ายๆ ข้อนี้ มันจะค่อยๆ เสื่อมสลายไปเมื่อใช้ชีวิตเรื่อยๆ บนโลก" จากบท ราชินีแห่งดินแดนมหัศจรรย์

ไม่มีอะไรที่จะเป็นไปไม่ได้ ในโลกของนิทาน ดังนั้น เรื่องราวของนิทานทั้ง 16 เรื่องภายในเล่ม จึงทั้งสนุก ถ้าคิดอ่านแค่เอาสนุก อย่างรักสามเส้าที่กลายเป็น *รักสี่เส้าของ ดิน น้ำ ลม แดด*

และถ้าอยากได้มากไปกว่านั้นก็มีให้เหลือเฟือ เรื่องที่แฝงปรัชญาอย่างเรื่อง พระอาทิตย์ เมื่อเด็กชายตาบอดที่เที่ยวถามใครต่อใคร อยากรู้ว่าพระอาทิตย์เป็นอย่างไร สุดท้ายพระอาทิตย์ก็อยู่ในดวงตาของเรานั่นเอง

เรื่อง *เจ้าหญิงแสนโหล* ที่ไม่อยากโหล แต่ว่า คนเรายิ่งอยากพิเศษมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งไม่พิเศษมากขึ้นเท่านั้น

สรุปง่ายๆ ไม่มีเรื่องไหนที่ไม่ชอบ



ไต+หัวใจ อวัยวะสำคัญที่ต้องดูแล ถ้าไม่อยากแก่ง่ายและตายเร็ว (สำนักพิมพ์ เก็ท ไอเดีย, จำนวน 256 หน้า, ราคา 179 บาท) โดย พิมลพรรณ อนันต์กิจไพศาล

ลองสำรวจตัวเองดูซิว่า ปวดศีรษะบ่อยครั้งโดยไม่ทราบสาเหตุมั้ย มีก้อนนูนแข็งบริเวณไตรึป่าว ปัสสาวะขุ่นเป็นฟอง อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย ไม่มีแรง มีอาการบวมตามใบหน้า ขา เท้า และลำตัว

ถ้าเข้าข่ายละก็คุณอาจกำลังเสี่ยงที่จะเป็น *โรคไต* อยู่ก็ได้นะ

แลถ้ามีอาการแน่นหรือเจ็บบริเวณหน้าอก มีคอเลสเตอรอลในเลือดสูง เหนื่อยง่าย วิงเวียน หน้ามืด หรือเป็นลมบ่อยๆ ตัวเย็น เหงื่อออกมาก

นี่ก็อยู่ในภาวะเสี่ยงที่จะเป็น *โรคหัวใจ* นะจ๊ะ

ไตและหัวใจ สองอวัยวะสำคัญที่เมื่อเสื่อมหรือเกิดโรคขึ้นมาแล้ว ก็ยากที่จะเยียวยาให้กลับมาใช้การได้ดีเหมือนเดิม

หนังสือเล่มนี้จะแนะนำการดูแลไตและหัวใจอย่างถูกวิธี รวมทั้งสาเหตุ อาการ การป้องกัน และวิธีการรักษา เพื่อให้คุณห่างไกลจากโรคร้าย ซึ่งเป็นสาเหตุให้คนไทยเสียชีวิตในอันดับต้นๆ

ปีใหม่แล้วมีหลายๆ อย่างที่คุณอาจตั้งใจทำ สิ่งหนึ่งที่อย่าลืมก็คือการเช็กสุขภาพนะคะ



และใครที่กำลังคิดจะจัดปาร์ตี้ฉลองปีใหม่ และกำลังมึนตื้บไม่รู้ว่าจะเอาเมนูอะไรดี หนังสือ 2 เล่มนี้น่าจะช่วยคุณได้

เล่มแรก *foodstylist* (ฉบับเดือนธันวาคม 2554, ราคา 95 บาท)

เสนอเมนูฉลองปีใหม่แบบไม่ตกกระป๋อง มีให้ครบทั้งอาหารคาว หวาน

พร้อมทั้งแนะนำร้าน "สุดชิค" รอบกรุงให้ไปเคาต์ดาวน์กันหลากสไตล์

อีกเล่ม *HEALTH&CUISINE* (ฉบับเดือนธันวาคม 2554, ราคา 90 บาท)

เล่มนี้มีสำรับอาหารสุขภาพสำหรับใครที่กำลังคิดจะทำบุญขึ้นปีใหม่ เดี๋ยวนี้ทำบุญทั้งทีอร่อยไม่พอ ต้องสุขภาพดีด้วย

หรือใครกำลังคิดจะอบขนมแจกเป็นของขวัญปีใหม่ ก็อย่าพลาดเชียว มีสูตรคุกกี้อร่อยๆ มาฝากด้วยล่ะ



มาลองคิดกันเล่นๆ ขำๆ ว่าถ้าสโลแกนของสินค้ายี่ห้อดังๆ เหล่านี้มาเป็นสโลแกนของ condom จะเป็นอย่างไร

มิสทิน -- ถุงยางมาแล้วค่ะ

คอลเกต -- ถุงยางไม่ผุอยู่แล้ว

เบียร์ไท -- รสดี ดีกรีหนัก

carson -- ทนดี ไม่มี ย้วยยยย

ปตท. -- พลังไทยเพื่อไทย

ชิกเกล็ต -- มันจนหยุดไม่ด้ายยยยยยยย

คลีนิค เคลียร์ -- จุดจบของอสุจิ

Olay -- ให้คุณรักถุงยางยิ่งกว่าเคยรัก

ใกล้ชิด -- รักแท้แพ้ถุงยาง

พริงเกิลล์ -- ลองเมื่อไหร่มันไม่เลิก

เลย์ -- ชิ้นเดียวไม่เคยพอ

ลอรีอัล -- ถุงยางที่คุณคู่ควร



.

'คอป.' เสนอแก้ 'ม.112' หนักสุดคุกไม่เกิน7ปี, 6กลุ่ม นศ.ประณามเครือ ผจก.กรณีข่าว'ก้านธูป'

.
โพสต์เพิ่ม บันทึกการวางอำนาจของคนบาปที่ไล่ 'ล่าแม่มด ' - ลือ! ก้านธูป ณัฐกานต์ ..ได้ทุนไปเรียนนอก

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * ** * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

'คอป.' เสนอรัฐสภาแก้ 'ม.112' หนักสุดคุกไม่เกิน 7 ปี
ใน www.prachatai.com/journal/2011/12/38535 . . Fri, 2011-12-30 17:49


'คอป.' เสนอแก้ ม.112 เสนอต่อรัฐสภา โทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี หรือปรับไม่เกิน 14,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ การสอบสวนดำเนินคดีจะกระทำได้ต่อเมื่อได้รับอำนาจจากเลขาธิการพระราชวัง ด้านประธานศาล รธน.ค้านแก้

30 ธ.ค. 54 - เว็บไซต์คมชัดลึก รายงานว่า นายคณิต ณ นคร ประธานคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ(คอป.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 29 ธ.ค.ที่ผ่านมา คอป.ได้ประชุมหารือร่วมกันเพื่อกำหนดทิศทางการทำงานในปี 2555 โดยคณะกรรมการเห็นตรงกันที่จะเน้นการทำงานในด้านการออกเดินสายรับฟังข้อมูลจากทุกภาคส่วนในสังคม เพื่อนำข้อมูลที่ได้รับมาสังเคราะห์ เพื่อแก้ไขปัญหาให้บ้านเมืองเกิดความสงบ นอกจากนี้ในวันที่ 15-17 ก.พ.55 นายโคฟี อันนัน อดีตเลขาธิการสหประชาชาติ(ยูเอ็น) จะเดินทางมายังประเทศไทย เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ให้สังคมไทยรับรู้ว่าการแก้ปัญหาในประเทศแอฟริกาใต้ที่เคยทำได้สำเร็จนั้น ทำอย่างไร แม้ว่านายโคฟีจะเคยแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับ คอป.แล้ว แต่เพื่อให้สังคมได้รับทราบนายโคฟีจึงต้องการเผยแพร่ความคิดเห็นในวงกว้างให้สาธารณะและคนไทยได้รับทราบอย่างทั่วถึง

นายคณิต กล่าวอีกว่า ล่าสุดคอป.ได้ทำหนังสือด่วนที่สุดลงวันที่ 30 ธ.ค. 54 เรื่องข้อเสนอแนะของ คอป.เกี่ยวกับความผิดที่ต้องให้อำนาจหรือการดำเนินคดีมาตรา 112 ซึ่งสังคมมีความสับสนมาก ฝ่ายหนึ่งได้ใช้ความผิดฐานดังกล่าวเป็นเครื่องมือในการดำเนินการทางการเมืองของตน อ้างว่าเพื่อเป็นการปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์โดยเรียกร้องให้ดำเนินคดีกับผู้ถูกกล่าวหา ม.112 อย่างเคร่งครัด ส่วนอีกฝ่ายหนึ่งเห็นว่าเป็นเรื่องของการใช้เสรีภาพในทางการเมืองตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งหากกระทำเป็นความผิดอาญาย่อมขัดต่อเสรีภาพในการแสดงความเห็นจึงเสนอให้ยกเลิก ม.112

ทั้งนี้คอป.ได้รับแต่งตั้งโดยฝ่ายการเมืองและดำรงอยู่โดยฝ่ายการเมืองหรือได้รับการแต่งตั้งจากรัฐบาลก่อนและดำรงอยู่ได้เพราะได้รับการยอมรับจากรัฐบาลปัจจุบัน ที่ผ่านมาคอป.ทำงานอยู่บนพื้นฐานความรับผิดชอบต่อรัฐ และประชาชน ข้อเสนอแนะจึงเป็นการเสนอต่อทุกภาคส่วนของสังคม โดยตระหนักดีว่าสังคมปัจจุบันไม่ว่าความสงบจะเกิดขึ้นในประเทศใดก็ย่อมกระทบกับสังคมนานาประเทศด้วย


นายคณิต ระบุในหนังสือคอป.ด้วยว่า ในส่วนของความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพนั้น คอป.ได้ทำการศึกษาในแง่มุมของกฎหมายควบคู่ไปด้วย เพราะประโยชน์ในการแก้ไขปรับปรุงตัวบทกฎหมาย เพื่อให้เกิดความปรองดองต่อคนในชาติ โดยได้ทำการศึกษาถึงพื้นฐานความแตกต่างในสังคมประชาธิปไตยในต่างประเทศกับในสังคมไทย พบว่าในประเทศประชาธิปไตยคนในกระบวนการยุติธรรมจะมีความเป็นเสรีนิยมสูง แต่คนในกระบวนการยุติธรรมของไทยมีความเป็นอำนาจนิยมสูง

ในส่วนของพรรคการเมืองประเทศประชาธิปไตยอื่นๆ พรรคการเมืองจะมีหน่วยที่ปรึกษาด้านกฎหมาย และเศรษฐกิจทำงานอย่างต่อเนื่องจนเป็นสถาบันควบคู่กับพรรคการเมือง เพื่อศึกษาและแก้ปัญหาของชาติโดยใช้กฎหมาย แต่ในประเทศไทยพรรคการเมืองยังไม่พัฒนาไปถึงสถาบันทางการเมือง มีลักษณะเป็นพรรคเฉพาะกิจ หน่วยที่ปรึกษากฎหมายจึงมีฐานะเฉพาะกิจตามไปด้วย ความแตกต่างด้วยพื้นฐานจึงส่งผลถึงการแก้ปัญหาของประเทศที่แตกต่างกันไปด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อรัฐประสบปัญหาทางการเมือง ที่ต้องแก้ปัญหาความรุนแรงในทางการเมือง

คอป. ได้ศึกษาเหตุการณ์ในอดีตจากกลุ่มกองทัพแดงในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นกลุ่มที่นิยมคอมมิวนิสต์และนิยมความรุนแรงในรัฐบาล ซึ่งหัวหน้ากลุ่มกองทัพแดงถูกดำเนินคดี เนื่องจากกระบวนการยุติธรรมของญี่ปุ่นมีประสิทธิภาพสูงหรือกรณีกองทัพแดงในเยอรมันที่ใช้ความรุนแรงล้มล้างรัฐบาลในลักษณะอาชญากรก่อการร้าย ซึ่งนำไปสู่การแก้กฎหมายของเยอรมันในเวลาต่อมา ครั้งนี้การที่ คอป.หยิบยกเหตุการณ์ที่แสดงถึงบทบาทของฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติของประเทศต่างๆ ขึ้นมา เพื่อชี้ให้เห็นว่าในระบอบประชาธิปไตยย่อมมีทางแก้ปัญหาในระบบในทางการเมืองอย่างมีหลักการหลักเกณฑ์ได้เสมอ เพียงแต่นักการเมืองของประเทศต้องมีเจตจำนงในการเมืองที่ถูกต้องและจริงจังเท่านั้น ในประเทศไทยทุกฝ่ายเรียกร้องประชาธิปไตยมาตลอด ประชาชนก็เบื่อหน่ายการยึดอำนาจของทหาร ครั้งหลังสุดกลุ่มนิติราษฎร์ได้เสนอให้ประกาศให้การกระทำบางอย่างอันเกี่ยวกับการยึดอำนาจให้เป็นโมฆะ ซึ่งถือเป็นการตื่นตัวที่ดีมาก


นายคณิต ระบุด้วยว่า เกี่ยวกับกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพที่กำลังเป็นที่โต้เถียงและขัดแย้งกันมา คอป.เห็นว่าการจะยกเลิก ม.112 เสียเลยน่าจะยังไม่เหมาะสมกับสภาพสังคมไทย แต่การที่จะคงสภาพเป็นความผิดอาญาในลักษณะปัจจุบันโดยไม่มีทางออกใดๆ ในการดำเนินคดีกับผู้ที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดก็ไม่ถูกต้องเช่นกัน เพราะยังมีการใช้ความผิดฐานนี้เป็นเครื่องมือทางการเมือง จากการศึกษาของ คอป.พบว่าความผิดฐานนี้มีช่องทางในทางกฎหมายที่จะสร้างความสมดุลได้ เช่น ในเยอรมันมีการบัญญัติความผิดอาญาบางฐานที่ไม่ร้ายแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นความผิดที่ผู้เสียหายเป็นบุคคลสาธารณะ ซึ่งอาจแปลเป็นภาษาไทยได้ว่าเป็นความผิดที่ต้องให้อำนาจกล่าวคือ แม้การกระทำของผู้ถูกกล่าวหาจะเป็นความผิดอาญาแต่การดำเนินคดีขึ้นอยู่กับความสมัครใจของผู้เสียหายเป็นสำคัญ เช่นการดูหมิ่นประธานาธิบดี การสอบสวนจะเริ่มได้ต่อเมื่อประธานาธิบดีให้อำนาจดำเนินการเท่านั้น

นโยบายทางอาญาในระบบกฎหมายเยอรมันแสดงให้เห็นว่าประเทศที่เป็นประชาธิปไตย นโยบายทางอาญาก็ต้องเป็นนโยบายที่ส่งเสริมการฝึกและพัฒนาคน นักการเมืองก็ต้องฝึกและพัฒนาในด้านจิตสำนึกความเป็นประชาธิปไตย ในเมืองไทยพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตโต) ได้กล่าวไว้ว่า กฎหมายมีสองแบบ ถ้าเน้นอำนาจก็เป็นกฎหมายที่เด่นในด้านกำจัดคนชั่ว แต่ถ้าเป็นกฎหมายที่เน้นการศึกษาซึ่งมุ่งสร้างคนดีจะมีลักษณะในการจัดสรรโอกาส ในทางปกครองและกฎหมายจะต้องทำหน้าที่สองด้านคือ ส่งเสริมคนดีและกำราบคนร้าย แต่คอป.เห็นว่ากฎหมายของไทยเน้นที่การบังคับด้านเดียว ส่วนมากจะจบลงด้วยบทกำหนดโทษ นโยบายทางอาญาของไทยทำให้เกิดสภาพกฎหมายอาญาเฟ้อ รัฐควรวางเป็นนโยบายเพื่อให้กฎหมายและระบบกฎหมายเป็นไปในทิศทางที่ถูกต้องและดีขึ้น

สำหรับการแก้ปัญหาของชาติโดยเฉพาะการสร้างความปรองดอง คอป.เห็นว่านอกจากฝ่ายกระบวนการยุติธรรมแล้ว ฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติควรพิจารณาร่วมกันเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยคอป.ขอยื่นข้อเสนอแนะดังนี้

1.ควรตรากฎหมายกำหนดให้ความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเป็นความผิดที่ต้องให้อำนาจ โดยถือว่าการตรากฎหมายดังกล่าวมีความสำคัญและเร่งด่วน

2.ความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เป็นความผิดที่คุ้มครองความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร อันเป็นคุณธรรมทางกฎหมายที่เป็นส่วนรวม เป็นเรื่องของสถาบันหาใช่เรื่องส่วนพระองค์ไม่ ดังนั้น การจะให้พระมหากษัตริย์เป็นผู้มอบอำนาจให้ดำเนินคดีย่อมเป็นการไม่เหมาะสมและขัดต่อจารีตประเพณีของบ้านเมืองที่ต้องเทิดทูนสถาบัน เลขาธิการพระราชวังเป็นข้าราชการพลเรือนในประองค์ที่ได้รับการแต่งตั้งตามพระราชอัธยาศัยจึงอาจกำหนดให้เลขาธิการพระราชวังเป็นผู้ให้อำนาจดำเนินคดี

3.ในส่วนของระวางโทษตาม ม.112 ควรมีความเป็นเสรีนิยมมากกว่าในปัจจุบันหรือโทษควรเบาลง อย่างน้อยควรกลับไปนำโทษที่เคยกำหนดไว้เดิมมาใช้

4. คอป.เสนอให้แก้กฎหมายอาญา ม.112 เสนอต่อรัฐสภา ดังนี้ ใครหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาทหรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี หรือปรับไม่เกิน 14,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ ความผิดตามวรรค 1 เป็นความผิดที่ต้องให้อำนาจการสอบสวนดำเนินคดีจะกระทำได้ต่อเมื่อได้รับอำนาจจากเลขาธิการพระราชวัง

5. ความผิดตาม ม.112 และ ม.133 เป็นเรื่องที่ยึดโยงกันเมื่อแก้ ม.112 ก็ต้องแก้ ม.133 ในคราวเดียวกัน โดยให้บัญญัติว่าผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาต มาดร้ายต่อราชาธิบดี ราชินี ราชสามี รัชทายาท หรือประมุขแห่งรัฐต่างประเทศ มีระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

นายคณิต ระบุท้ายข้อเสนอว่า คอป.ทำงานตั้งอยู่บนพื้นฐานความรับผิดชอบต่อประชาชน ข้อเสนอแนะของคอป.ข้างต้นถือเป็นข้อเสนอแนะของทุกฝ่ายต่อรัฐสภาและประชาชนด้วย ในส่วนของรับสภานั้นคอป.เห็นว่าเหมาะสมที่จะผลักดันกฎหมายดังกล่าวและประชาชนเองก็ควรที่จะผลักดันให้กฎหมายดังกล่าวเกิดขึ้นด้วย เพื่อช่วยกันสร้างสันติและความปรองดองของคนในชาติ โดยคอป. ได้ส่งเอกสารแนบท้ายข้อเสนอแนะประกอบด้วยหนังสือรวมบทความการก่อการร้ายกับการมอบอำนาจให้ดำเนินคดี หนังสือนิติศาสตร์แนวพุทธของ ป.อ.ปยุตโต เอกสารเกี่ยวกับกลุ่มก่อการร้ายญี่ปุ่นและเอกสารเกี่ยวกับกลุ่มก่อการร้ายในเยอรมัน



ประธานศาล รธน.ค้านแก้ '112' ย้อนถาม 'คุ้มครองเฉพาะประมุข ตปท.เหรอ'?

ด้านกรุงเทพธุรกิจออนไลน์รายงานว่า นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ แสดงความคิดเห็น กรณีที่มีข้อเสนอให้ยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เกี่ยวกับเรื่องหมิ่นสถาบัน ว่า ไม่เห็นด้วย ในประมวลกฎหมายอาญามีหมวดความผิดต่อสัมพันธไมตรีกับต่างประเทศ อยู่ในมาตรา 130-135 ที่บัญญัติในลักษณะเป็นการคุ้มครองประมุขแห่งรัฐต่างประเทศ หรือผู้แทนรัฐต่างประเทศ ว่าใครจะดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายมิได้ มีทั้งโทษจำคุกและปรับ

ดังนั้น ถ้ายกเลิกป.วิอาญามาตรา 112 ถามว่า เราจะคุ้มครองแต่ประมุขรัฐต่างประเทศเท่านั้นใช่หรือไม่ จะไม่คุ้มครองประมุขรัฐไทยใช่หรือไม่ ซึ่งตนเห็นเหมือนกับนักกฎหมายหลายคนที่แสดงความเห็นก่อนหน้านี้ว่า คนที่คิดจะเลิกมาตรา 112 เขาต้องการที่จะหมิ่นสถาบัน โดยไม่ผิดกฎหมายใช่หรือไม่ กฎหมายอยู่ดี ๆ ถ้าเขาไม่ไปหมิ่นก็ไม่มีใครเดือดร้อน

ถ้าจะยกเลิกมาตรา 112 มันก็ต้องยกเลิกรัฐธรรมนูญมาตรา 8 ที่บัญญัติว่า องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใดๆ มิได้ด้วย และถ้าเราทำจริง ประเทศไทยก็จะเป็นประเทศแรกที่ยกย่องประมุขต่างประเทศ ยิ่งกว่าประมุขของเราเอง แล้วก็จะได้ลงบันทึกกินเนสส์บุ๊คเลย” นายวสันต์ กล่าว



++

6 กลุ่มนักศึกษาประณามเครือผู้จัดการ กรณีข่าว 'ก้านธูป'
ใน www.prachatai.com/journal/2011/12/38538 . . Sat, 2011-12-31 02:46

นักศึกษา 6 กลุ่มนำโดย สนนท. ออกแถลงการณ์ประณามเครือผู้จัดการ กรณีเสนอข่าวละเมิดสิทธิ "ก้านธูป" พร้อมเรียกร้องให้สมาคมนักข่าว-กรรมการสิทธิ์ออกมาทำงาน

หมายเหตุ: เมื่อวานนี้ (30 ธ.ค.) องค์กรนักศึกษา 6 กลุ่ม ได้แก่ สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย กลุ่มประชาคมจุฬาเพื่อประชาชน กลุ่มประชาคมศิลปากรเพื่อประชาชน กลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตย กลุ่มประชาคมมหิดลเสรีเพื่อประชาธิปไตย และกลุ่มเสรีเกษตรศาสตร์ ได้เผยแพร่แถลงการณ์กรณีเว็บไซต์ผู้จัดการออนไลน์ นำเสนอข่าว “ธรรมศาสตร์ในวันที่อ้าแขนรับ “ก้านธูป”” มีรายละเอียดดังนี้



จากกรณีที่เว็บไซต์ผู้จัดการออนไลน์หรือ ASTV ได้นำเสนอข่าวในวันที่ 26ธันวาคม 2554 เวลา 16:46 น. โดยใช้หัวเรื่องว่า “ธรรมศาสตร์ในวันที่อ้าแขนรับ “ก้านธูป”” ซึ่งเนื้อหามีการเขียนถ้อยคำโจมตีตัวบุคคลอย่างรุนแรง นำเสนอข้อความอย่างเป็นเท็จ และยังเผยแพร่ข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลผู้อื่นอย่างร้ายแรง โดยไม่เกิดประโยชน์ใดๆ ต่อสาธารณะ และยังเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคล ตามรัฐธรรมนูญในมาตราที่ 35 ซึ่งบัญญัติไว้ว่า สิทธิของบุคคลในครอบครัว เกียรติยศ ชื่อเสียง ตลอดจนความเป็นอยู่ส่วนตัวย่อมได้รับความคุ้มครอง การกล่าวหรือไขข่าวแพร่ หลายซึ่งข้อความหรือภาพไม่ว่าด้วยวิธีใดไปยังสาธารณชน อันเป็นการละเมิดหรือกระทบถึงสิทธิของบุคคลในครอบครัว เกียรติยศ ชื่อเสียง หรือความเป็นอยู่ส่วนตัวจะกระทำมิได้ เว้นแต่กรณีที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ บุคคลย่อมมีสิทธิได้รับความคุ้มครองจากการแสวงประโยชน์โดยมิชอบจากข้อมูลส่วนบุคคลที่เกี่ยวกับตน ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ

เราเห็นว่าบทบาทของผู้จัดการออนไลน์ในฐานะสื่อมวลชนควรนำเสนอข้อมูลอย่างตรงไปตรงมาไม่บิดเบือนและสร้างข้อมูลที่เป็นเท็จอันนำไปสู่ความแตกแยกของประชาชน การนำข้อมูลมาบิดเบือน แต่งเติม เพื่อโจมตีตัวบุคคลนั้น เป็นสิ่งที่น่ารังเกียจและกล่าวได้ว่าไร้จรรยาบรรณของสื่อมวลชนอย่างยิ่ง แม้ว่าสิ่งที่ทางผู้จัดการออนไลน์กล่าวหาจะเป็นความจริงหรือไม่ก็ตาม หรือบุคคลที่ถูกกล่าวหาจะกระทำการดังเช่นว่าจริงหรือไม่ก็ตาม แต่มันก็เป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลตามรัฐธรรมนูญ เราขอแสดงจุดยืนในการปกป้องสิทธิส่วนบุคคลในการเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวโดยที่เจ้าตัวไม่ยินยอมของผู้ถูกกล่าวหา และจะไม่ยอมให้ผู้จัดการออนไลน์ในฐานะสื่อมวลชนกระทำการที่เห็นแก่ความสะใจ เพียงอย่างเดียว เหยียบย่ำความเป็นมนุษย์และริดรอนสิทธิเสรีภาพของนักศึกษาประชาชนอย่างเป็นอันขาด

เราขอประณามการกระทำเหล่านี้และเรียกร้องให้ผู้จัดการออนไลน์ในฐานะสื่อมวลชนแสดงความรับผิดชอบต่อการกระทำที่ละเมิดสิทธิส่วนบุคคลนี้ด้วยการนำข่าวดังกล่าวออก และหยุดการเผยแพร่ข่าวดังกล่าว เพื่อไม่ให้เกิดการเข้าใจผิดและนำไปใช้ในการเผยแพร่หรืออันจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อบุคคลต่อไป และยังเป็นการส่งเสริมการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล ซึ่งไม่ควรจะเกิดขึ้นในสังคมประชาธิปไตย

ทั้งนี้เราขอเรียกร้องไปยังสามองค์กรหลักต่อไปนี้ที่มีความเกี่ยวข้องกับประเด็นดังกล่าว ไม่ให้นิ่งเฉยต่อการกระทำที่ลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เช่นนี้ ได้แก่

1. สมาคมนักข่าว นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ต้องออกมาตรวจสอบจรรยาบรรณของสื่อที่ละเมิดสิทธิส่วนบุคคลโดยการนำข้อมูล ส่วนบุคคลมาเผยแพร่โดยไม่ได้รับอนุญาต อีกทั้งยังนำเสนอข้อมูลอันไม่มีหลักฐานยืนยันว่าเป็นความจริง และก่อให้เกิดความเสียหายต่อบุคคลในข่าว

2. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน ต้องออกมาปกป้องสิทธิส่วนบุคคลที่มนุษย์ทุกคนพึงมี และตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนว่าด้วยการหมิ่นประมาทและเผยแพร่ข้อมูลส่วนบุคคลโดยไม่ได้รับอนุญาต

3. องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ต้องออกมาแสดงจุดยืนในการปกป้องนักศึกษาของตนที่ถูกคุกคาม

เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าผู้จัดการออนไลน์ในฐานะสื่อมวลชน จะมีจริยธรรมและความรับผิดชอบต่อสังคม ตระหนักถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์มากพอที่จะทำตามข้อเรียกร้องของเรา และเราหวังอย่างยิ่งว่าองค์กรหลักที่เกี่ยวข้องดังที่กล่าวมาข้างต้นจะไม่นิ่งเฉยกับปัญหาเหล่านี้ มิฉะนั้นแล้ว องค์กรเหล่านี้จะมีไว้เพื่ออะไร

ด้วยจิตคารวะ
สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย
กลุ่มประชาคมจุฬาเพื่อประชาชน
กรุมประชาคมศิลปากรเพื่อประชาชน
กลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตย
กลุ่มประชาคมมหิดลเสรีเพื่อประชาธิปไตย
กลุ่มเสรีเกษตรศาสตร์



++

ลือ! ก้านธูป ณัฐกานต์ ..ได้ทุนไปเรียนนอก
< เรียบเรียงข้อมูลใหม่ จากกระปุกดอทคอม ภาพประกอบไม่เกี่ยวข้องกับข้อมูล >


ลือ! ก้านธูป ณัฐกานต์ .. สาวเฟรชชี่เสื้อแดง ได้ทุนไปเรียนนอก หลังสละสิทธิ์ ม.เกษตรฯ และถูกตัดสิทธิ์เรียนที่ ม.ศิลปากร ปมหมิ่นสถาบัน

กลายเป็นข่าวร้อนประเด็นฮอตขึ้นมาทันที เมื่อหนังสือพิมพ์ "เอเอสทีวี-ผู้จัดการ" รายงานข่าวกรณี นางสาวณัฐกานต์ .. หรือ ก้านธูป สอบติดคณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร แต่ถูกตัดสิทธิ์ไม่ให้เข้าเรียน เนื่องจากพบว่า ณัฐกานต์ มีประวัติหมิ่นสถาบันเบื้องสูง และเคยขึ้นเวที นปช. ในนามกลุ่ม "สมัชชาแดงก้าวหน้า" โดยมีการเรียกร้องให้เด็กและเยาวชนออกมาร่วมชุมนุมด้วย

เกี่ยวกับเรื่องนี้ รศ.ดร.มณีปิ่น พรหมสุทธิรักษ์ คณบดีคณะอักษรศาสตร์ ม.ศิลปากร เปิดเผยว่า ก้านธูป ณัฐกานต์ .. สอบติดคณะอักษรศาสตร์ ม.ศิลปากร จริง โดยเป็น 1 ใน 200 คนที่ผ่านการคัดเลือกจากผู้สมัครหลายพันคน ที่ได้ศึกษาในโครงการพิเศษ สาขาเอเชียศึกษา

รศ.ดร.มณีปิ่น กล่าวต่อว่า ความจริงแล้ว ก้านธูป ได้รับโอกาสที่ดี เธอสามารถทำข้อสอบได้ สอบสัมภาษณ์ผ่าน จนกระทั่งได้เข้าร่วมเรียนในโครงการพิเศษของ ม.ศิลปากร แต่ขณะเดียวกัน มีผู้ส่งข้อมูล และประวัติของ ก้านธูป เพื่อคัดค้านการรับเธอเข้าศึกษาต่อเป็นจำนวนมาก ซึ่งจากการพิจารณาเอกสารหลักฐาน ก็พบว่า ก้านธูป ขาดคุณสมบัติในข้อที่ว่า นักศึกษาต้องมีความจงรักภักดีต่อสถาบันหลักของประเทศ อันถือเป็นกฎหลักของมหาวิทยาลัย อีกทั้งยังพบว่า เป็นผู้ที่บุคลิกภาพมีปัญหา หากเข้ามาเรียน อาจเข้ากับเพื่อนไม่ได้ จึงจำเป็นต้องตัดสิทธิ์ ก้านธูป ไม่ให้เข้าเรียน

อย่างไรก็ตาม มีรายงานข่าวว่า ก้านธูป ณัฐกานต์ ..ไปสมัครสอบที่ ม.เกษตรศาสตร์ หลังเธอต้องพลาดหวังจาก ม.ศิลปากร โดยมีการ์ดคนเสื้อแดงกว่า 40 คน ไปให้กำลังใจ ทว่าในวันที่ 25 พ.ค. กลับไม่ปรากฎตัว ก้านธูป มารายงานตัวสอบสัมภาษณ์ที่ ม.เกษตรฯ แต่อย่างใด นั่นหมายความว่า เธอสละสิทธิ์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่ก็ไม่วายมีข่าวลือออกมาอีกว่า เหตุผลที่ ก้านธูป สละสิทธิ์ เป็นเพราะเธอได้ทุนการศึกษาไปเรียนฟรีถึงเมืองนอก ส่วนได้จากใครอย่างไรนั้นไม่มีการเปิดเผย

ทั้งนี้ จากการสืบประวัติของ ก้านธูป ณัฐกานต์ .. พบว่า เธอคือผู้โพสต์ข้อความ 'หมิ่นฯ' ในเฟซบุ๊กของตัวเอง และในเวบไซต์ใต้ดิน จนถูกกระแส 'ล่าแม่มด'กดดันอย่างหนัก เธอถูกไล่ออกขณะเรียนชั้นมัธยมศึกษาที่โรงเรียนรัตนราษฎร์บำรุง อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี

ต่อจากนั้น ก้านธูป ก็ได้ย้ายมาศึกษาต่อที่โรงเรียนธารปราสาทเพชรวิทยา จ.นครราชสีมา ซึ่งขณะเรียนอยู่ที่นี่เธอมักจะถูกว่ากล่าวตักเตือนเรื่องการสำนึกรักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้เธอเปลี่ยนความคิดแต่อย่างใด ทุกคนต่างรู้จักเธอดีในฐานะคนประชาธิปไตยหัวรุนแรง โดย ก้านธูป เคยได้รับรางวัลชนะเลิศ และรางวัลดีเด่น โครงการประกวดเรียงความส่งเสริมประชาธิปไตย หัวข้อ "ประชาธิปไตยสมบูรณ์" ขณะเรียนอยู่ชั้น ม.5 ก่อนจะจบการศึกษาชั้น ม.6 เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา

......

ศ.ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้แสดงความคิดเห็นในกรณีประเด็นร้อนนี้ว่า หากธรรมศาสตร์ไม่รับ ก้านธูป เข้าเรียนมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์คงไม่แคล้วโดนฟ้อง และแปลกใจที่เขาไม่ฟ้อง ม.ศิลปากร ม.เกษตรศาสตร์



.

2554-12-30

นโยบาย"เร่งด่วน"ฯ ยกร่าง รธน.ใหม่ใน 1 ปี, "สื่อ"ไทยๆ กับ"ฝักฝ่ายทางการเมือง"

.
รายงานพิเศษ 3 - เปิดเรดแม็ป 2555 ภารกิจ 'คนเสื้อแดง' แก้ รธน.50-แรงฤทธิ์ 'ไพร่-อำมาตย์' ยังระอุ
รายงานพิเศษ 4 - "พล.อ.เสถียร เพิ่มทองอินทร์" ปลัด กห. ชิวชิว "เจ๊ดัน" สู่ดวงดาว กับเรื่องสีแดง และ ม.สระเอีย

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -


นโยบาย "เร่งด่วน" รัฐบาล จะยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ภายใน 1 ปี ประกาศเดือนสิงหาคม 2554
รายงานพิเศษ ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1637 หน้า 8


ไม่ว่าจะเป็น พรรคประชาธิปัตย์ ไม่ว่าจะเป็น พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มการเมืองที่มีส่วนในการยกร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550

หากได้ฟังการแถลงนโยบายของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ต่อรัฐสภา

โดยเฉพาะนโยบายเร่งด่วนที่จะเริ่มดำเนินการในปีแรก คือ ปีแรกจากเดือนสิงหาคม 2554 ถึงเดือนสิงหาคม 2555

ข้อ 1.16 บอกไว้อย่างเด่นชัดยิ่ง

"เร่งรัดและผลักดันการปฏิรูปการเมืองที่ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวาง โดยมีสภาร่างรัฐธรรมนูญที่เป็นอิสระ ยกร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ เพื่อวางกลไกการใช้อำนาจอธิปไตยที่ยึดหลักนิติธรรม และองค์กรที่ใช้อำนาจรัฐที่มีความรับผิดชอบต่อประชาชนและพร้อมรับการตรวจสอบ

ทั้งนี้ ให้ประชาชนเห็นชอบผ่านการออกเสียงประชามติ"

เป็นความแจ่มชัดอันไม่เพียงผ่านการรองรับจาก 2 วันที่รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แถลงนโยบายต่อรัฐสภา

อันเป็นจุดเริ่มต้นการบริหารราชการแผ่นดินเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2554



เป็นความแจ่มชัดว่ากระบวนการ "เร่งรัดและผลักดันการปฏิรูปการเมือง" โดยถือเอารัฐธรรมนูญเป็นเป้าหมายนี้

มิได้เป็นการแก้ไขในแบบปะผุ

ตรงกันข้าม เป็นการเร่งรัดและผลักดันการปฏิรูปการเมืองบนพื้นฐาน "ที่ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวาง"

ผ่าน "สภาร่างรัฐธรรมนูญ" ที่เป็นอิสระ

ยกร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ เพื่อวางกลไกการใช้อำนาจอธิปไตยที่ยึดหลักนิติธรรม และองค์กรที่ใช้อำนาจรัฐที่มีความรับผิดชอบต่อประชาชนและพร้อมรับการตรวจสอบ

ประการสำคัญคือ ในที่สุด ต้องผ่านการเห็นชอบของประชาชนโดย "ประชามติ"

คำแถลงต่อรัฐสภาเมื่อเดือนสิงหาคม 2554 ของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เช่นนี้จึงเป็นยิ่งกว่า "สัญญาประชาคม"

หากแต่ต้องลงมือปฏิบัติภายใต้กรอบเวลา 1 ปี

จึงถูกต้องแล้วที่พรรคเพื่อไทยจักลังเลไม่ได้ จึงถูกต้องแล้วที่ที่ประชุมคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) จักต้องมีมติออกมาอย่างเด่นชัดว่าจะขับเคลื่อนเรื่องนี้อย่างไร

ต้องเป็นเรื่องของรัฐบาลอันมีพื้นฐานจากพรรคเพื่อไทย พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดิน พรรคพลังชล พรรคมหาชน

บิดเบี้ยวแลเฉไฉไม่ได้



ที่สำคัญยิ่งกว่านั้น นโยบายรัฐบาลอันได้รับการจัดให้เป็น "นโยบายเร่งด่วนที่จะเริ่มดำเนินการในปีแรก" นี้ ก็มิได้เริ่มจากเจตจำนงอันว่างเปล่า

จุดสำคัญเป็นอย่างมาก คือ คำประกาศระหว่างหาเสียงของพรรคเพื่อไทย

ทั้ง ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง และ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ประกาศทุกเวทีว่า 1 จะเอา พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร กลับบ้าน 1 จะแก้รัฐธรรมนูญอันเป็นมรดกจากขบวนการรัฐประหาร 2549

กระทั่งประชาชนลงคะแนนให้กว่า 15 ล้านเสียง

ชัยชนะอย่างถล่มทลายเหนือพรรคประชาธิปัตย์ได้มาจากคำประกาศต่อประชาชนใน 2 ประเด็นนี้เป็นหลัก

อย่าลืม



++

จากปี 2554 สู่ปี 2555 บทบาทของ "สื่อ" แบบไทยๆ กับ "ฝักฝ่ายทางการเมือง"
โดย แมลงวันในไร่ส้ม
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1637 หน้า 78


ปี 2554 กำลังจะผ่านไป ถือว่าเป็นปีที่เต็มไปด้วยเหตุการณ์และข่าวสารที่ร้อนแรง -ขณะที่บทบาทของสื่อก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง

ต้นปี 2554 ยังเป็นเวลาของรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งผ่านปี 2553 มาได้แบบต้องระดมตัวช่วยมาอุ้มไว้

ในวาระปีใหม่ 2554 ผู้สื่อข่าวทำเนียบตั้งฉายารัฐบาลอภิสิทธิ์ว่า เป็น "รัฐบาลรอดฉุกเฉิน" ที่คอลัมนิสต์ไต้ฝุ่นแห่งไทยรัฐ ตั้งข้อสังเกตว่า ฟังแล้วยังเป็นบวก เช่นเดียวกับ "กระโจมไฟ" แห่งเดลินิวส์ ชี้ว่า เบาไป

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯ ขณะนั้น ได้ฉายา "ซีมาร์คโลชั่น" นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯ ได้ฉายา "ทศกัณฐ์กรำศึก" ที่เจ้าตัวเองพอใจกับฉายาแบบเบาะๆ

นายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง "โย่งคาเฟ่" นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รมต.ประจำสำนักนายกฯ ได้ฉายา "กริ๊ง...สิงสื่อ"

ขณะที่สถานการณ์จริง รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ เข้าสู่ปี 2554 ได้เผชิญกับกระแสวิพากษ์วิจารณ์ และทวงถามการสอบสวนกรณีสลายม็อบ 91 ศพ อย่างดุเดือดร้อนแรง

รัฐมนตรีต่างประเทศญี่ปุ่น เดินทางมาวางหรีดและโค้งคำนับสถานที่เกิดเหตุช่างภาพรอยเตอร์ชาวญี่ปุ่น ส่งทูต และเจ้าหน้าที่ทูตมาติดตามความคืบหน้าอีกหลายครั้ง แต่ไม่เกิดอะไรขึ้น

ในงานวันสตรีสากล เดือนมีนาคม 2554 น.ส.จิตรา คชเดช ผู้นำแรงงาน ได้เขียนป้ายกระดาษ "ดีแต่พูด" ยกชูในงานที่นายอภิสิทธิ์รับเชิญไปปาฐกถา

"ดีแต่พูด" กลายเป็นวาทะติดตลาด ทำให้ฝ่ายสนับสนุนรัฐบาลขณะนั้น พยายามคิดค้นข้อความมาตอบโต้เป็นพัลวัน



วันที่ 9 พฤษภาคมมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ พระราชกฤษฎีกายุบสภา มีผลบังคับใช้ในวันที่ 10 พฤษภาคม กำหนดเลือกตั้งทั่วไป 3 กรกฎาคม 2554

นายอภิสิทธิ์ แถลงผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย โดยทิ้งท้ายว่า "เชื่อมั่นในการตัดสินใจของประชาชนในการเลือกตั้งครั้งนี้"

ไฮไลต์ของการเลือกตั้ง คือการที่พรรคเพื่อไทย ประกาศเปิดตัว น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร น้องสาว พ.ต.ท.ทักษิณ ลงชิงเก้าอี้นายกรัฐมนตรี โดยสมัคร ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์อันดับ 1 ท่ามกลางกระแสตอบรับ

คู่ต่อสู้ของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ คือนายอภิสิทธิ์ ที่ลงป้องกันตำแหน่งแชมป์ ในสภาพที่มีสื่อบางกลุ่มโอบอุ้ม

ระหว่างการหาเสียงเลือกตั้ง เว็บไซต์แห่งหนึ่งได้เผยแพร่อีเมลของผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย อ้างว่าได้ทำหน้าที่ดูแลสื่อให้เสนอข่าว น.ส.ยิ่งลักษณ์

สภาการหนังสือพิมพ์ฯ หยิบยกเรื่องนี้ขึ้นพิจารณา ตั้งอนุกรรมการขึ้นสอบสวน ก่อนจะสรุปว่า ผู้มีชื่อเกี่ยวข้องในอีเมล ไม่มีพฤติกรรมรับสินบน

แต่ที่งอกขึ้นมานอกเหนือจากอีเมล อนุกรรมการได้เพิ่มประเด็นสอบหนังสือพิมพ์ 5 ฉบับ แล้วสรุปว่า ข่าวสด และมติชน "น่าจะมีความเอนเอียงในการก่อให้เกิดประโยชน์แก่พรรคเพื่อไทยอย่างเป็นระบบ"

มติชน ข่าวสด ออกแถลงการณ์ตอบโต้ ไม่ยอมรับผลการสอบดังกล่าว และถอนตัวจากสภาการหนังสือพิมพ์ฯ ในวันที่ 7 กันยายน ต่อมาวันที่ 20 กันยายน "ข่าวหุ้น" รายวัน ได้ถอนตัวอีกฉบับ

นับเป็นกรณีที่ก่อให้เกิดวิวาทะตามมาอย่างกว้างขวาง



ผลการเลือกตั้ง 3 กรกฎาคม พรรคเพื่อไทยชนะถล่มทลายด้วยจำนวนเสียง 265 ประชาธิปัตย์ 159 เสียง

ทำให้การเมืองไทยเปลี่ยนแปลง มีนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์ ตั้งรัฐบาลผสม 4 พรรค

ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ปฏิบัติการ "รับน้อง" ใหม่ ผ่านทางพื้นที่สื่อต่างๆ รวมถึงในโซเชี่ยลมีเดีย ก็เกิดขึ้น

ด้วยการเปิดประเด็น "โง่" "หุ่นเชิด" "ไม่เก่งภาษาอังกฤษ" และเป็น "มือใหม่" ไม่เข้าใจประเพณีการเมือง

"เว่อร์" จากการใส่รองเท้าบู๊ตแบรนด์เนมลุยน้ำท่วม, สั่งอาหารกินในทำเนียบมื้อละสองแสน ยืนบนธงชาติ และ "ลายมือไม่สวย"

บทบาทของสื่อทีวีในการตั้งคำถาม สร้างความไม่พอใจให้กับคนเสื้อแดง จนเกิดกรณีแจ้งความระหว่างนักข่าวช่อง 7 กับแกนนำเสื้อแดงเพชรบุรี และองค์กรสื่อได้ออกมาเรียกร้องให้เคารพในเสรีภาพของนักข่าว


โรเบิร์ต อัมสเตอร์ดัม ทนายความของ พ.ต.ท.ทักษิณ ได้เขียนบทความเรื่อง "ท่าทีต่อศีลธรรมและการผลิตนิทานปรัมปราของสื่อมวลชนไทย" ออกเผยแพร่ในห้วงเดือนกันยายน 2554

สาระสำคัญวิจารณ์ท่าทีสื่อไทยที่แยกไม่ออกจากท่าทีสนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์ โดยนิ่งเฉยต่อการเสียชีวิตของผู้ชุมนุมเสื้อแดง

สร้างกระแสเรื่องคุณธรรมที่สูงเกินจริง โดยป้ายสีคนเสื้อแดง ซึ่งอัมสเตอร์ดัมเห็นว่า เป็นภาคประชาชนที่กล้าหาญที่สุดกลุ่มหนึ่ง ว่าเป็นสัญลักษณ์ของจิตใจที่คับแคบ

อัมสเตอร์ดัมระบุว่า สื่อใหญ่ 2 เครือเป็นผู้นำในเรื่องนี้ พร้อมกับชี้ว่า ท่าทีเกี่ยวกับเรื่องศีลธรรมจอมปลอมของกลุ่มสื่อชั้นนำในประเทศไทย ไม่ได้เกิดขึ้นอย่างกะทันหัน

แต่เป็นการผลิตนิทานเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับการใช้ความรุนแรงต่อคนเสื้อแดงในปี 2553

เมื่อครั้งที่รัฐบาลเก่าปิดวิทยุชุมชน จำคุกนักโทษการเมือง สั่งใช้อาวุธกับผู้ชุมนุม พวกกลุ่ม "เอ็นจีโอ" เหล่านี้ไม่พูดอะไรแม้แต่นิดเดียว

อัมสเตอร์ดัมระบุว่า การที่คนกลุ่มนี้เคลื่อนไหวปกป้องผู้สื่อข่าวช่อง 7 จึงเป็นความเสแสร้ง และฉกฉวยโอกาส

พร้อมกับชี้ว่า สื่อไทยกำลังถูกท้าทายอย่างล้ำลึก ในการทำหน้าที่อำนวยความสะดวกให้กับการกระทำผิด และทำให้ผู้กระทำผิดรู้สึกสบายใจ

หากตัดสินจากวันแรกๆ ที่พรรคประชาธิปัตย์เป็นฝ่ายค้าน สื่อมวลชนมีแนวโน้มสนใจ "โครงเรื่อง" ในจินตนาการที่เน้นความรุนแรงของเสื้อแดงอย่างขาดความเชื่อมโยง และไม่สมเหตุสมผล

"และเพิกเฉยต่อเรื่องราวสำคัญคือการที่ประเทศจะกลับไปสู่ยุคที่ปกครองโดยรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน" ทนายของ พ.ต.ท.ทักษิณ ระบุ



เมื่อเกิดมหาอุทกภัยท่วมภาคกลางและกรุงเทพฯ ระหว่างเดือนตุลาคมและพฤศจิกายน สื่อต่างๆ ก็มีบทบาทอย่างสูง

ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลเพื่อไทย ได้โหมกระแสโจมตีรัฐบาลอย่างหนักผ่านสื่อต่างๆ ทั้งหนังสือพิมพ์และอินเตอร์เน็ต พร้อมกับเชิดชูบทบาทของกองทัพไปพร้อมกัน

ขณะที่พรรคฝ่ายค้านได้ "ฟันธง" ว่า หลังน้ำท่วมจะเกิด "จลาจล" เพราะการบริหารจัดการปัญหาของรัฐบาลล้มเหลว

ท่ามกลาง "กองแช่ง" รัฐบาลพรรคเพื่อไทยก็ผ่านวิกฤตไปจนได้ และน่าสังเกตว่า ประเทศต่างๆ ได้ยื่นมือเสนอให้ความช่วยเหลืออย่างคึกคัก

กระแสข่าวสารปลายปี 2554 ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของระเบิดป่วน และวิวาทะเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ รวมถึงกระแสต้านรัฐบาลที่แสดงออกผ่านสื่อต่างๆ

ถือเป็นสัญญาณเตือนว่า ปี 2555 จะเป็นอีกปีที่ท้าทายการทำงานของสื่อต่างๆ

ว่าจะทำหน้าที่ เสนอข่าวได้อย่างเป็นกลาง โดยปราศจากอคติ เป็นที่พึ่งพาในด้านข่าวสารข้อมูล สำหรับประชาชนทุกกลุ่มทุกฝ่าย ได้มากกว่าที่ผ่านๆ มาหรือไม่



++

เปิดเรดแม็ป 2555 ภารกิจ 'คนเสื้อแดง' แก้ รธน.50-แรงฤทธิ์ 'ไพร่-อำมาตย์' ยังระอุ
คอลัมน์ ในประเทศ
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1637 หน้า 10


กรณีศาลอุทธรณ์มีคำสั่งปล่อยตัวชั่วคราว นายอริสมันต์ พงษ์เรืองรอง จำเลยคดีร่วมกันก่อการร้าย

หลังเดินทางเข้ามอบตัวต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เมื่อวันที่ 7 ธันวาคมที่ผ่านมา และยื่นขอประตัวชั้นพนักงานสอบสวนและชั้นศาลมาแล้ว 2 ครั้ง

น่าจะเป็นสัญญาณดีส่งท้ายปี 2554 ของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) หรือคนเสื้อแดง

โดยเฉพาะช่วงครึ่งปีหลัง จากที่พรรคเพื่อไทยชนะเลือกตั้ง 3 กรกฎาคม สถานการณ์คนเสื้อแดงก็แตกต่างลิบลับ หากเปรียบเทียบกับเมื่อปี 2553 และต้นปี 2554 ในยุครัฐบาลประชาธิปัตย์

และทันทีที่พรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาล แกนนำคนเสื้อแดงและแนวร่วมที่เคยหลบหนีหัวซุกหัวซุนหลังเหตุการณ์ 19 พฤษภาคม 2553 ต่างตัดสินใจทยอยเข้ามอบตัวกับทางการ

จากรายงานของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบ และค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ฉบับที่ 2 เสนอต่อรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2554

สรุปจำนวนผู้ต้องขังคดีความผิดต่อ พ.ร.ก.การบริหาราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ถึงวันที่ 22 กรกฎาคม 2554 มีทั้งสิ้น 105 คน

ก่อนหน้ากรณีนายอริสมันต์ หลายคนได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว จำนวนหนึ่งได้รับพระราชทานอภัยโทษ รวมถึงหลายคดีที่ศาลมีคำพิพากษาไปแล้ว และจำนวนไม่น้อยที่ศาลมีคำสั่งยกฟ้อง ได้รับอิสรภาพอย่างถาวร

นางธิดา โตจิราการ ประธาน นปช. เผยว่า จากการสำรวจรายชื่อผู้ถูกคุมขังจากเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองหลังบางส่วนได้รับการพระราชทานอภัยโทษแล้ว

มีจำนวนคงเหลือทั้งสิ้น 72 คน


นอกจากนี้สิ่งที่แกนนำ นปช. เคลื่อนไหวมาตลอดนับตั้งแต่ได้รัฐบาลชุดใหม่ และสอดคล้องกับข้อเสนอแนะปรองดองของ คอป. เกี่ยวกับการคุมขังนักโทษคดีการเมือง คือ

"ดำเนินการอย่างจริงจังเพื่อให้มีการปล่อยตัวชั่วคราวอันเป็นสิทธิพื้นฐานของผู้ต้องหาและจำเลย เพื่อให้สามารถต่อสู้คดีพิสูจน์ความบริสุทธิ์ รัฐบาลควรจัดหาหลักประกันให้ผู้ต้องหาและจำเลยทุกคนที่ไม่สามารถจัดหาหลักประกันได้

อนึ่ง พึงตระหนักว่าการถูกข้อหาร้ายแรงนั้น ไม่ใช่ข้ออ้างที่จะไม่อนุญาตให้มีการปล่อยตัวชั่วคราว

และเนื่องจากผู้ต้องหาและจำเลย มิใช่เป็นผู้ร้ายหรืออาชญากรดังเช่นในคดีอาญาตามปกติ แต่เป็นผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดอันมีมูลเหตุทางการเมือง

หากไม่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว รัฐบาลสมควรจัดหาสถานที่ควบคุมที่เหมาะสม ที่มิใช่เรือนจำปกติเป็นสถานที่ควบคุมตัวผู้ต้องหาหรือจำเลย ดังเช่นที่เคยใช้กับนักโทษทางการเมืองในอดีต?

ถัดมาไม่กี่วัน รัฐบาลโดยกระทรวงยุติธรรมได้ทำตามข้อเสนอของ คอป. ด้วยการปรับปรุงเรือนจำชั่วคราวหลักสี่ สถานควบคุมพิเศษกองบัญชาการตำรวจสันติบาลในการควบคุมผู้ต้องขังคดีการเมือง

ปัจจุบันทีมกฎหมายกรมราชทัณฑ์อยู่ระหว่างร่างหลักเกณฑ์ ให้ผู้ต้องขังคดีอาญาทั้งความผิดวางเพลิง เผาทรัพย์ ก่อการร้าย หรือคดีอื่นที่มีมูลเหตุจูงใจในการกระทำผิดมาจากเรื่องการเมือง

เข้าข่ายเป็นนักโทษการเมืองที่จะได้แยกขังที่เรือนจำชั่วคราวหลักสี่ ซึ่งมีประมาณ 50 คน ส่วนการย้ายตัวผู้ต้องขังคาดว่าจะดำเนินการได้ไม่เกินเดือนกุมภาพันธ์ 2555


นอกจากการเดินหน้าทวงถามอิสรภาพให้คนเสื้อแดงในเรือนจำ

ที่คนเสื้อแดงยังต้องติดตามชนิดห้ามคลาดสายตาคือ คดี 91 ศพจากเหตุการณ์เดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553

ถึงแม้คดี 91 ศพจะยังห่างไกลจากฉากสุดท้ายในการนำตัวผู้สั่งการเข่นฆ่าประชาชนมารับโทษทัณฑ์ตามกฎหมาย

แต่จากความคืบหน้าคดีชันสูตรพลิกศพ 16 ศพ ซึ่งรวมถึง 6 ศพในวัดปทุมวนาราม และ นายฮิโรยูกิ มูราโมโตะ ช่างภาพรอยเตอร์ชาวญี่ปุ่น

ซึ่งมีการเรียกตัว นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกฯ และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกฯ และ ผอ.ศอฉ. มาให้การต่อพนักงานสอบสวน

ก่อนที่พนักงานสอบสวนจะสรุปสำนวนส่งอัยการครบทั้ง 16 คดี และคาดว่าอัยการจะนำส่งต่อศาลเพื่อเปิดการไต่สวนภายในเดือนมกราคม 2555 นี้ ก็ถือเป็นฉากแรกที่น่าพึงพอใจ

คดีการตายของ พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล หรือ เสธ.แดง และคดี นายฟาบิโอ โปเลงกี ช่างภาพชาวอิตาลี ก็กำลังเข้าสู่กระบวนการดังกล่าวเช่นกัน

ถ้าเทียบกับอายุความ 20 ปีแล้ว วันเวลา 1 ปี 8 เดือนจากปี 2553 ถึงปี 2555 อาจเรียกได้ว่าเป็นช่วงเวลาที่งานเลี้ยงเพิ่งเริ่มต้นเท่านั้น



ในการแถลงข่าวนัดสุดท้ายปี 2554

นางธิดา โตจิราการ ประธาน นปช. เปิดเผยถึง โรดแม็ป การต่อสู้ของ นปช. แดงทั้งแผ่นดินในปี 2555

1.การรณรงค์ให้รัฐบาลยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ผลผลิตของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) และเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ฉบับประชาชนที่เป็นประชาธิปไตยขึ้นมาแทน รวมทั้งลบล้างกฎหมายที่ไม่เป็นธรรม

2.ยุติการรัฐประหารทุกรูปแบบให้หมดจากประเทศไทย นอกจากนี้จะดำเนินการจัดตั้งโรงเรียนนิติรัฐ-นิติธรรมแห่งประเทศไทยขึ้นมา เพื่อให้ประชาชนเรียนรู้ประชาธิปไตยมากขึ้น

ส่วนการแก้กฎหมายอาญามาตรา 112 ยังเป็นทางคณะนิติราษฎร์เป็นหัวหอกในการแก้ไข?

ขณะเดียวกันข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลให้เร่งเยียวยา?คนทุกสี ซึ่งไม่ใช่แค่ผู้บาดเจ็บ เสียชีวิต แต่ต้องรวมถึงกลุ่มผู้ถูกจับไปขังแล้วศาลยกฟ้องภายหลังก็ต้องได้รับการชดเชย ยังต้องดำเนินต่อไปในปี 2555

ต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ นปช. มีเป้าหมายรณรงค์และแจกจ่ายหนังสือลงชื่อแสดงพลัง สนับสนุนให้รัฐบาลเร่งแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2550 โดยตั้งเป้าไม่เกินกลางเดือนมกราคม 2555 จะได้ครบอย่างน้อย 50,000 รายชื่อ หรืออาจจะมากถึง 200,000-300,000 แสนรายชื่อ

สำหรับหมู่บ้านเสื้อแดงที่ขยายตัวเติบโตอย่างรวดเร็วในปี 2554 มีความเป็นไปได้ว่าในปี 2555 อาจพัฒนาขึ้นเป็นตำบลเสื้อแดง หรืออำเภอเสื้อแดง


อย่างไรก็ตาม แกนนำ นปช. นายจตุพร พรหมพันธุ์ ซึ่งอยู่ระหว่างรอกระบวนการศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยชี้ขาดว่าจะต้องขาดจากสมาชิกภาพการเป็น ส.ส. ตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ส่งเรื่องมาหรือไม่

ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ข่าวสด โดยยังปักใจเชื่อว่ากลุ่มอำมาตย์หรือกลไกพรรคการเมืองที่เป็นของอำมาตย์ ไม่มีทางรอให้รัฐบาลชุดนี้ทำงานครบ 4 ปี เพื่อเลือกตั้งครั้งหน้าแล้วหวังจะได้รับชัยชนะ

เนื่องจากคนกลุ่มนี้เชื่อว่ายิ่งให้รัฐบาลยิ่งลักษณ์บริหารประเทศนานเท่าไหร่ จะไม่เป็นผลดีต่อการทวงคืนอำนาจเท่านั้น

เพราะเคยมีบทเรียนมาแล้วจากการปล่อยให้รัฐบาลทักษิณอยู่บริหารประเทศนานถึง 6 ปีเต็ม ทำให้ไม่สามารถขุดรากถอนโคนได้จนถึงตอนนี้ จึงต้องรีบลงมือเช่นที่ทำกับรัฐบาลสมัครและรัฐบาลสมชาย

โดยมีกลุ่มม็อบในเครือข่ายทำหน้าที่เปิดประตู ส่วนของจริงจะใช้วิธีเหมือนกับการโค่นล้มรัฐบาล 3 ครั้งที่ผ่านมา

กระบวนการล้มรัฐบาลมีอยู่จริง แต่ให้รู้ด้วยว่าคุณจะเจอการต่อต้านชนิดที่ไม่เคยเจอมาก่อน นายจตุพรประกาศภารกิจคนเสื้อแดงที่พร้อมทำหน้าที่องครักษ์พิทักษ์รัฐบาล แต่อยู่บนเงื่อนไขที่ว่า

พรรคเพื่อไทยสมัครรับเลือกตั้ง คนเสื้อแดงเป็นผู้สนับสนุน ดังนั้น ข้อเรียกร้องของคนเสื้อแดง อะไรที่ทำได้ แม้บางเรื่องไม่ง่ายนัก แต่รัฐบาลต้องแสดงถึงความพยายาม ไม่ใช่ละเลย

เพราะกว่าจะได้เป็นรัฐบาลต้องแลกมาด้วยเลือดเนื้อ คราบน้ำตาประชาชนและชีวิต 91 ศพ สูญสิ้นอิสรภาพอีกนับไม่ถ้วน

เมื่อเป็นเช่นนี้รัฐบาลต้องไม่ทำให้ประชาชนผิดหวัง



+++

"พล.อ.เสถียร เพิ่มทองอินทร์" ปลัด กห. ชิวชิว "เจ๊ดัน" สู่ดวงดาว กับเรื่องสีแดง และ ม.สระเอีย
รายงานพิเศษ ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1637 หน้า 14


ในการโยกย้ายทหารระดับนายพลครั้งใหญ่ ครั้งแรกของรัฐบาลพรรคเพื่อไทย เมื่อเดือนกันยายน 2554 ที่ผ่านมา ตำแหน่งที่ฮือฮาที่สุดคือ ปลัดกระทรวงกลาโหม

ที่แย่งชิงกันระหว่างบิ๊กอู๊ด พล.อ.วิทวัส รัชตะนันทน์ รองปลัดกลาโหม กับบิ๊กเปี๊ยก พล.อ.เสถียร เพิ่มทองอินทร์ ประธานที่ปรึกษากองบัญชาการกองทัพไทย (บก.ทท.)

คนแรกส่งเข้าประกวดโดย บิ๊กอ๊อด พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รมว.กลาโหม เพราะทำงานในสำนักปลัดกลาโหมด้วยกันมายาวนาน เรียกว่าพอมีชื่อ พล.อ.ยุทธศักดิ์ เป็น รมว.กลาโหม ปุ๊บ ใครๆ ก็รู้ว่า พล.อ.วิทวัส ต้องได้เป็นปลัดกลาโหม แน่นอน

ส่วน พล.อ.เสถียร นั้นมาแรงแซงทางโค้ง เพราะแม้จะพลาดเก้าอี้ ผบ.สส. แต่ก็มาสมหวังได้นั่งเป็นปลัดกลาโหม ในที่สุด ถึงขั้นที่นายกฯ ปู-ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ต้องเอ่ยปาก "สั่ง" ด้วยตัวเอง ให้แก้ชื่อจาก พล.อ.วิทวัส มาเป็น พล.อ.เสถียร โดยมีเสียงจากบิ๊กตุ้ย พล.อ.ทรงกิตติ จักกาบาตร์ ผบ.สส. ในขณะนั้น หนุนอีกแรง

ที่เล่นเอา พล.อ.ยุทธศักดิ์ เสียหน้าเสียฟอร์มไปไม่น้อย เพราะทั้งๆ ที่เป็น รมว.กลาโหม แต่กลับเลือกปลัดกลาโหม ไม่ได้

จนเป็นที่จับตามองว่า เมื่อมาทำงานจริงๆ แล้ว จะเกิดอาการ "เกาเหลา" ไม่กินเส้นกันหรือไม่ ทั้ง พล.อ.ยุทธศักดิ์ กับ พล.อ.เสถียร


และที่แน่นอน คือ ระหว่าง พล.อ.เสถียร กับ พล.อ.วิทวัส ซึ่งเป็นเพื่อนเตรียมทหาร 11 ด้วยกัน

แต่ด้วยความเป็นพี่อ๊อดที่แสนใจดีของ พล.อ.ยุทธศักดิ์ จึงทำให้สิ่งที่ทหารทั้งกองทัพจับตามอง ไม่ปรากฏให้เห็น คงมีแต่ภาพความใกล้ชิดชื่นมื่นของ พล.อ.ยุทธศักดิ์ กับ พล.อ.เสถียร ที่ออกงานด้วยกันตลอด พูดจาทักทายกันอย่างสนิทสนม หัวร่อต่อกระซิก จนบ่อยครั้งที่ไม่มี พล.อ.วิทวัส น้องรักอยู่ในวงด้วย

เพราะถึงยังไง พล.อ.ยุทธศักดิ์ กับ พล.อ.เสถียร ก็เป็นพวกเดียวกัน ใกล้ชิดพรรคเพื่อไทยเหมือนกัน อีกทั้งโดยตำแหน่งแล้ว พล.อ.เสถียร ก็มักจะออกงานคู่กับ รมว.กลาโหม เสมอๆ

"ไม่มีอะไร ก็ทำงานด้วยกันปกติ ผมก็ทำหน้าที่ของผม พี่อ๊อดท่านน่ารัก ใจดี มีอะไรก็คุยกัน แล้วผมเอง ไม่รู้ซิ ผมเป็นคนที่ผู้ใหญ่รัก" พล.อ.เสถียร ออกตัว

แต่ที่สำคัญ คือ การวางบทบาทของตัวเองในฐานะ ปลัดกลาโหม ที่แม้จะเป็นเบอร์ 1 ในหมู่ข้าราชการประจำของกลาโหม แต่ก็ต้องไม่ลืมว่า เบอร์ 1 ตัวจริง หรือ กห.1 คือ พล.อ.ยุทธศักดิ์ รมว.กลาโหม นั่นเอง

"ผมก็ทำงานเงียบๆ ไม่ค่อยอยากให้สัมภาษณ์ เพราะไม่อยากออฟไซด์ผู้ใหญ่ อาจมีบ้างนานๆ ครั้ง ก็ได้ แต่ไม่อยากออกสื่อบ่อยๆ" พล.อ.เสถียร กล่าว

นี่จึงเป็นเหตุผลหนึ่งว่าทำไม พล.อ.เสถียร จึงไม่ค่อยให้สัมภาษณ์ เพราะตั้งแต่เป็นปลัดกลาโหม มาตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2554 เคยให้สัมภาษณ์แค่สัก 3 ครั้งเท่านั้น เป็นเรื่องการช่วยเหลือน้ำท่วม เพราะเจ้าตัวไม่ขอแสดงความคิดเห็นในประเด็นที่เกี่ยวกับการเมือง

อีกทั้งเคยมีตัวอย่างจากบิ๊กหมู พล.อ.กิตติพงษ์ เกษโกวิท ปลัดกลาโหม คนก่อน ที่ 1 ปีในตำแหน่ง ไม่เคยให้สัมภาษณ์แม้แต่ครั้งเดียว ด้วยเหตุผลที่ว่า "ขอร้องล่ะ พูดไม่เป็น ให้สัมภาษณ์ไม่เป็น"

มาตอนนี้ นักข่าวสายทหารจึงพอยอมรับได้ในบุคลิก และความตั้งใจของ พล.อ.เสถียร ที่จะสงบปากสงบคำ



แต่ในส่วนตัวแล้ว พล.อ.เสถียร เป็นนายทหารที่มีความสนิทสนมกับสื่อเป็นการส่วนตัวมาตั้งแต่เป็นผู้บัญชาการหน่วยทหารพัฒนา (ผบ.นทพ.) แล้ว จึงไม่ส่งผลต่อความสัมพันธ์กับสื่อ ในเมื่อไม่ให้สัมภาษณ์ นักข่าวก็ไม่ขัดใจ ยกเว้นเมื่อมีประเด็นสำคัญที่เกี่ยวข้อง ก็ต้องสัมภาษณ์กันล่ะ แต่ในบางโอกาส พล.อ.เสถียร ก็พูดคุยกับสื่อแบบนอกรอบ

พล.อ.เสถียร เป็นนายทหารบ้านนอกคนหนึ่งที่หน้าตายิ้มแย้มแจ่มใส อารมณ์ดีตลอด แต่งตัวมีสไตล์ ที่ใช้ของแบรนด์เนม ที่ภริยาจัดให้ หัวจรดเท้า และชอบสวมเสื้อแจ๊กเก็ตที่แมตช์เข้ากัน

พล.อ.เสถียร เป็นนายทหารผู้กว้างขวางคนหนึ่ง เพราะว่ามีพี่น้องเพื่อนฝูง และลูกน้องมากมาย และนี่อาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เขาได้เป็นปลัดกลาโหม

พล.อ.เสถียร เป็นทั้งประธานเตรียมทหาร 11 และ จปร.22 และเป็นประธานนักศึกษาวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.) รุ่น 48 และเป็นหัวหน้ากลุ่มสิงโต เรียกได้ว่าใครเดือดร้อนอะไรก็มาขอให้ พล.อ.เสถียร ช่วยเหลือ แล้วเขาก็ช่วยได้ทุกเรื่องเลยทีเดียว

จนลูกน้องและผองเพื่อน พากันเรียกขานเขาว่าเป็น "ป๋า" เป็นป๋าเถียร แห่งเหล่าทหารปืนใหญ่

ที่สำคัญ การที่ พล.อ.เสถียร มีภริยาเป็นนักการเมืองท้องถิ่น ก็ยิ่งทำให้เขามีบารมีและกว้างขวาง

แถมทั้ง คุณอู๊ด-ณัฐนิชาช์ ก็เป็นผู้หญิงประเภท ใจถึงพึ่งได้ แบบนักการเมืองที่ใจกว้าง แถมใจนักเลง ตรงไปตรงมา

ประเด็นนี้จึงกลายเป็นที่เม้าธ์กันสนั่นว่า เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ พล.อ.เสถียร ได้เป็นปลัดกลาโหม แบบแซงในโค้งสุดท้าย จนได้รับฉายาว่ามี "เจ๊ดัน"


เจ๊ดัน คนแรกคือ นางณัฐนิชาช์ ภริยาของตัวเอง ที่มีความใกล้ชิดกับแกนนำพรรคเพื่อไทย และการเป็นนายกเทศมนตรี ต.คำขวาง อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี ซึ่งเป็นฐานเสียงสำคัญของพรรค และมีส่วนช่วยในการสู้ศึกเลือกตั้ง

เหล่านี้คือเหตุผลที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ก็กลายเป็นหนึ่งใน เจ๊ดัน ให้ พล.อ.เสถียร เป็นปลัดกลาโหม เพราะโดยส่วนตัวก็สนิทสนมรวมเลยไปถึงตระกูลดามาพงศ์ ทีเดียว

"ไม่ใช่แบบนั้น ไม่ใช่ได้ดีเพราะภริยา แต่ผมกับภริยานี่ เราช่วยเหลือเกื้อหนุนซึ่งกันและกัน ผมก็ช่วยเหลือเขาตลอด แต่ผมเป็นผู้ชาย ผมขอเป็นช้างเท้าหน้าแล้วกัน" พล.อ.เสถียร กล่าวพร้อมหัวเราะอย่างอารมณ์ดี

"เรื่องภริยาแซวมากไม่ดี เพราะผู้หญิงส่วนใหญ่ก็ดุทั้งนั้น" ป๋าเถียร กล่าว

"ผมเจออู๊ดตั้งแต่ผมจบใหม่ ก็ลงไปเป็นทหารที่อุบลฯ ก็เจอเขา ก็ชอบ ตามจีบ อู๊ดเขาเป็นผู้หญิงที่ตรงไปตรงมา แฟรงก์ๆ เป็นตัวของตัวเอง มีความมั่นใจในตัวเอง ผู้ใหญ่รักเขาทั้งนั้น" พล.อ.เสถียร พาดพิงภริยาผู้แสนเปรี้ยวจี๊ด

แต่กว่าจะมาเป็นปลัดกลาโหมได้ ก็ผ่านการถูกวิจารณ์มาพอสมควร ว่าอาศัยสายสัมพันธ์ทางการเมืองกับพรรคเพื่อไทย ขึ้นมา

"ผมว่ามันเป็นเรื่องของผู้บังคับบัญชาพิจารณา ไม่ใช่ว่าผมเลือกเองได้" พล.อ.เสถียร ออกตัว

แต่ก็ยอมรับว่ามีความรู้จักสนิทสนมกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ มาก่อน "ก็รู้จักมานานแล้ว เจอกันบ่อย แต่ตอนหลังนี่ท่านเป็นนายกฯ แล้วไม่ค่อยว่าง"

เพราะฉะนั้น ก็อย่าแปลกใจเลยที่ทำไม พล.อ.เสถียร จึงเป็นผู้นำทหารคนเดียวที่ไปเยี่ยม น.ส.ยิ่งลักษณ์ ที่โรงพยาบาล เมื่อครั้งที่เกิดอาการอาหารเป็นพิษ ในขณะที่ ผบ.เหล่าทัพ คนอื่นๆ แค่ส่งดอกไม้หรือกระเช้าเยี่ยมไข้เท่านั้น

"ก็ไม่เห็นเป็นไรเลย ก็รู้จักกัน ก็ไปเยี่ยม ไม่น่าเสียหายอะไรนี่นา" พล.อ.เสถียร กล่าว


แต่ถ้าใครจะถามตรงๆ ว่าเป็น "สีแดง" หรือเปล่า คำตอบที่ได้จาก พล.อ.เสถียร คือ "ผมไม่มีสี ผมกลางๆ แต่ก็แล้วแต่ใครจะมองนะ ผมไม่อยากต้องไปเถียง หรือไปชี้แจงว่าผมเป็นยังไง ใครจะว่ายังไงก็เรื่องของเขาแล้วกัน"

"แต่ภริยาผม สีอะไร ไปถามเอาเอง" บิ๊กเถียรหัวเราะอย่างอารมณ์ดี ทุกครั้งที่เอ่ยถึง ม.สระเอีย

ด้วยสายสัมพันธ์นี้ จึงทำให้ พล.อ.เสถียร มีชื่ออยู่ในแคนดิเดต รมว.กลาโหม คนต่อๆ ไป อยู่ที่ว่าจะเล่นการเมืองหลังเกษียณราชการ กันยายน ปี 2555 หรือว่า จะต้องลาออกจากราชการทหารไปเป็นรัฐมนตรี ซึ่งอาจจะไม่ต้องเป็น รมว.กลาโหม ก็ได้

"ไม่ๆ ผมยังไม่สนใจจะเล่นการเมืองหรอก เป็นทหารอยู่" พล.อ.เสถียร กล่าว ซึ่งนั่นอาจหมายถึงการเข้าสู่สนามการเมืองในอนาคต เพราะในเมื่อภริยาเป็นนักการเมือง ก็ยากที่ผู้เป็นสามีจะแยกตัวออกมาไม่เกี่ยวข้อง อีกทั้งโดยบุคลิกแล้ว พล.อ.เสถียร ก็สนใจการเมืองไม่น้อย

แต่ที่ต้องจับตามองคือ ภริยาของเขาอาจจะได้เป็นรัฐมนตรีในอีกไม่ช้านี้ เพราะทั้งมีผลงาน และทั้งสายสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และ น.ส.ยิ่งลักษณ์


ความโดดเด่นของ พล.อ.เสถียร อีกประการคือ เขาถือเป็นพี่ใหญ่ของ ผบ.เหล่าทัพ ในฐานะที่เป็นรุ่นพี่ ตท.11 เช่นเดียวกับบิ๊กเฟื่อง พล.อ.อ.อิทธพร ศุภวงศ์ ผบ.ทอ. เพราะบิ๊กเจี๊ยบ พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร ผบ.สส. และบิ๊กตู่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. ก็เป็นรุ่นน้อง ตท.12 ส่วนบิ๊กหรุ่น พล.ร.อ.สุรศักดิ์ หรุ่นเริงรมย์ ผบ.ทร. เป็น ตท.13

"กับ ผบ.เหล่าทัพ ยิ่งไม่มีปัญหา เป็นพี่น้อง เจอกันตลอด ประชุมต่างๆ ทานข้าว คุยกัน" พล.อ.เสถียร กล่าว

แต่กับคนชื่ออู๊ดอีกคน อย่าง พล.อ.วิทวัส ที่เคยเป็นเพื่อนรักกันนั้น ยังคงเป็นที่จับตามองกันทั้งกลาโหม เพราะแม้ว่าทั้งคู่จะทำงานด้วยกัน ประชุมด้วยกัน เจอหน้ากันทุกวัน แต่ก็ดูเหมือนยังมีระยะห่างอยู่บ้าง อันเกิดจากเมื่อครั้งแย่งชิงเก้าอี้ปลัดกลาโหม กันมา

แต่เมื่อมีโปรดเกล้าฯ แล้ว พล.อ.วิทวัส ก็นำผองเพื่อน ตท.11 มาแสดงความยินดีกับ พล.อ.เสถียร "ไม่มีอะไร ผมก็ทำงานร่วมกับวิทวัสเขาตลอด ก็แบ่งงานกันทำ" พล.อ.เสถียร กล่าว

เพราะสำหรับทหารแล้ว ถือว่าจบ แต่ในหัวใจอาจจะยังมีรอยแตกร้าวอยู่หรือไม่ เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่เชื่อว่ามิตรภาพและสายใยแห่งเพื่อนจะสามารถสมานรอยร้าวนั้นได้

"ผมก็เห็นใจเขา แต่ว่าผมไม่ได้เป็นคนเลือก ผู้บังคับบัญชาเป็นคนเลือก เป็นคนตัดสินใจ ผมเชื่อว่าเขาเข้าใจ" พล.อ.เสถียร กล่าว

"ผมไม่มีอะไรกับใครหรอก เพื่อนพี่น้องกันทั้งนั้น สบายๆ" ป๋าเถียรตบท้ายสไตล์ปลัดกลาโหม ชิวชิว

แต่ก็ไม่รู้ว่าจะมีอะไรรออยู่เบื้องหน้า เพื่อพิสูจน์ฝีมือและหัวใจของป๋าเถียรคนนี้อีกบ้าง



.

2554-12-29

สัญญาณวิกฤตเงินเฟ้อฯ, กรณีลุกขึ้นสู้ที่ตูนิเซียและอียิปต์, ..เหตุการณ์จะเป็นอย่างไรต่อไป โดย อนุช อาภาภิรม

.

บทความเมื่อกลางปี 2554

สัญญาณวิกฤตเงินเฟ้อและแนวทางแก้ไข
โดย อนุช อาภาภิรม คอลัมน์ วิกฤติศตวรรษที่21
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1605 หน้า 39


มีนักวิเคราะห์บางคนชี้ว่าหากราคาทองคำเพิ่มขึ้นเป็น 1,500 ดอลลาร์ต่อออนซ์แล้ว น่าจะถือเป็นสัญญาณว่าโลกกำลังเข้าสู่ภาวะเงินเฟ้อที่น่าวิตก ต้องเตรียมรับมืออย่างจริงจัง ตอนนี้ราคาทองคำยืนอยู่เหนือ 1,500 ดอลลาร์มาระยะหนึ่งแล้ว แม้จะปรับตัวลดลงบ้าง ก็น่าจะกล่าวถึงปัญหานี้ดู เพราะว่ามันเป็นสิ่งที่กำลังเกิดในประเทศของเราด้วย โดยเฉพาะในด้านราคาอาหารและเชื้อเพลิง

เราจะดูกันว่า ...เงินเฟ้อเป็นอย่างไร เกิดขึ้นจากเหตุปัจจัยใด และใครเป็นคนก่อ และมีแนวทางแก้ไขกันอย่างไร

ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องข้างต้นพูดกันไปต่างๆ บางทีถึงกับเป็นตรงกันข้าม เช่นในปัญหาเดียวว่าใครเป็นต้นตอให้เกิดสัญญาณวิกฤติเงินเฟ้อ ก็มีการกล่าวโทษกันไปมา ตะวันตกโทษตะวันออกโดยเฉพาะจีนเป็นผู้ส่งออกเงินเฟ้อ ตะวันออกโทษตะวันตกว่าพิมพ์ธนบัตรเข้าสู่ระบบมากจนเกิดเงินร้อนไหลบ่าไปทั่วโลกและกระตุ้นเงินเฟ้อขึ้น

อย่างไรก็ตาม พบว่าภาวะเงินเฟ้อในปัจจุบัน ไม่สามารถศึกษาอยู่แต่ในวงหรือโมเดลทางเศรษฐศาสตร์เท่านั้น แต่ต้องนำเอาเหตุปัจจัยทางการเมืองและสิ่งแวดล้อมเข้ามาร่วมพิจารณาด้วย



ลักษณะสัญญาณวิกฤติเงินเฟ้อครั้งนี้เป็นอย่างไร

เงินเฟ้อนั้นเป็นของคู่กับระบบทุนนิยม ในระบบเงินตราทั่วโลก เมื่อนำมาเทียบกับความสามารถในการซื้อในสกุลเงินตนเมื่อราว 50 ปีที่ผ่านมา ก็จะพบว่าลดลงเป็นอันมาก และจะเกิดภาวะเงินเฟ้อจนน่ากังวลในที่บางแห่งบางเวลาโดยตลอด

ภาวะเงินเฟ้อทั้งหลายมีลักษณะร่วมกันว่ามีปริมาณเงินมากเกินกว่าการขยายตัวทางเศรษฐกิจ

แต่ภาวะเงินเฟ้อแต่ละครั้งก็มีลักษณะเฉพาะตัวบางประการ สำหรับลักษณะเฉพาะของสัญญาณเงินเฟ้อครั้งนี้น่าจะได้แก่

1. เป็นเงินเฟ้อในขอบเขตทั่วโลก เกิดขึ้นทั้งในประเทศตลาดเก่าที่พัฒนาแล้ว และในประเทศตลาดเกิดใหม่ที่กำลังพัฒนา ไม่ใช่เป็นวิกฤติของประเทศใดประเทศหนึ่งเท่านั้น แสดงว่าประเทศต่างๆ ทั่วโลกมีส่วนในทางหนึ่งทางใดในการทำให้วิกฤตินี้เกิดขึ้น

โดยทั่วไปประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญย่อมมีบทบาทสูงในการก่อวิกฤตินี้ ในอีกด้านหนึ่งน่าจะแสดงว่ามีเหตุปัจจัยบางประการที่ทรงพลังมาก จนสามารถก่อให้เกิดวิกฤติเงินเฟ้อทั่วโลกได้

2. เป็นภาวะเงินเฟ้อที่มีลักษณะเปลี่ยนแปลงทางกระบวนทัศน์ (Paradigm Shift) หรือทางคุณภาพ นั่นคือเศรษฐกิจโลกนับแต่นี้ ได้ปรับฐานเข้าสู่ภาวะเงินเฟ้ออย่างเห็นได้ชัดและถาวร มีนักวิเคราะห์การลงทุนที่มีชื่อเสียงผู้หนึ่งชี้ว่าเป็นเวลา 102 ปีมาจนถึงปี 2002 ราคาสินค้าโภคภัณฑ์จาก 33 ตัวอย่าง มีเช่น ข้าวสาลี ข้าวโพด น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ เหล็ก และนิกเกิล เป็นต้น มีราคาเฉลี่ยลดลงร้อยละ 1.2 ต่อปี เมื่อลดลงต่ำสุดในปี 2002 ก็ได้ทะยานสูงขึ้นอย่างไม่มีแววว่าจะลดลง

อนึ่ง สำหรับสินค้าโภคภัณฑ์แต่ละตัวมีพฤติกรรมต่างออกไป โดยเฉพาะน้ำมันที่ได้เริ่มผันผวนมากตั้งแต่ทศวรรษ 1970 (ดูบทความของ Jeremy Grantham ชื่อ Time to Wake Up : Days of Abundant Resources and Falling Prices are Over Forever ใน gmo.com เมษายน 2011 ...GMO Capital เป็นกองทุนขนาดใหญ่มีเม็ดในความดูแลกว่า 1 แสนล้านดอลลาร์)

3. เป็นเงินเฟ้อใหญ่ในหมวดอาหารและพลังงานเป็นสำคัญ ทั้ง 2 หมวดนี้จำเป็นแก่การดำรงชีพโดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนา และวิถีแห่งโลกที่ศิวิไลซ์ในประเทศอุตสาหกรรม สินค้าหมวดอื่นยังขึ้นน้อย เช่นในสหรัฐราคาบ้านยังทรงตัว บางข่าวว่ายังทรุดตัวลงอีก

4. เป็นภาวะเงินเฟ้อที่คล้ายกับว่าก่อตัวในประเทศพัฒนาแล้ว แต่มาออกดอกและช่อในประเทศตลาดเกิดใหม่อย่างเช่นจีนและอินเดีย นั่นคือ มีการพิมพ์ธนบัตรปริมาณมากเพื่อไถ่ถอนสถาบันการเงินและบรรษัทใหญ่รวมทั้งกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศตะวันตก ได้แก่ สหรัฐ และอียู เป็นต้น เงินเหล่านี้ส่วนหนึ่งไหลไปเก็งกำไรในประเทศตลาดเกิดใหม่ เมื่อผสมกับการทุ่มเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศตลาดเกิดใหม่ ทำให้ปริมาณเงินเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จนเกิดภาวะเงินเฟ้อที่เห็นได้ชัด

อาจกล่าวได้ว่าวิกฤติเงินเฟ้อนี้ เป็นผลสืบเนื่องจากสงครามเงินตรา ซึ่งทำให้ประเทศกำลังพัฒนาขนาดเล็กหรือประเทศใดๆ ที่ไม่ได้เตรียมตัว จะเสียหายมาก



เหตุปัจจัยของภาวะเงินเฟ้อคืออะไร

เหตุปัจจัยของสัญญาณเงินเฟ้อที่กล่าวถึงทั่วไปได้แก่

1. การขาดแคลนและการเสื่อมโทรมทางสิ่งแวดล้อม ที่สำคัญคือการการแคลนน้ำมันหรือกล่าวให้ถูกยิ่งขึ้นคือน้ำมันราคาแพง กดดันให้ราคาอาหารเพิ่มขึ้น ทำให้เกิดภาวะวิกฤติจนต้องอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบจนกลายเป็นภาวะเงินเฟ้อ

มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่าภาวะเศรษฐกิจถดถอยของสหรัฐ 6 ครั้งนับแต่ทศวรรษ 1970 ทั้งหมดยกเว้นเพียงภาวะถดถอยในปี 2001 เท่านั้นที่ไม่ได้สัมพันธ์หรือถูกกระตุ้นโดยราคาน้ำมันที่พุ่งขึ้นสูง

แต่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยปี 2008 นี้หนักหนาเป็นพิเศษ เนื่องจากเป็นทั้งวิกฤติราคาน้ำมันและราคาอาหารสูงขึ้นมาก และจุดพลิกเปลี่ยน (Tipping Point) ซึ่งก็คือเมื่อค่าใช้จ่ายของน้ำมันสูงร้อยละ 6 ของรายจ่ายครัวเรือน นั่นเป็นจุดที่ฉุดให้เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอย (ดูบทความของ Christina Cheddar Berk ชื่อ Killer Combo of High Gas, Food Prices at Key Tipping Point ใน cnbc.com 210411)

สำหรับในด้านอาหารราคาแพงมีรายงานของธนาคารพัฒนาแห่งเอเชียหรือเอดีบีว่า ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2010-กุมภาพันธ์ 2011 ราคาอาหารทั่วโลกเพิ่มสูงขึ้นถึงร้อยละ 40.4 โดยน้ำตาลมีราคาสูงขึ้นร้อยละ 85.9 ธัญพืชร้อยละ 67.9 และน้ำมันพืชร้อยละ 65.9 และว่าหากราคาอาหารเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 10 ในปี 2011 ก็จะทำให้ประชากรราว 64 ล้านคนต้องตกอยู่ใต้เส้นแห่งความยากจน

2. การที่ประเทศสหรัฐและยุโรปตะวันตกอัดฉีดเงินจำนวนมาก เพื่อช่วยเหลือสถาบันการเงินที่ "ใหญ่เกินกว่าจะล้ม" และอัดฉีดเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจหลายระลอก ทำให้ค่าเงินดอลลาร์อ่อนตัวอย่างเห็นได้ชัด มีข่าวว่าในเดือนสิงหาคม 2010 ราคาน้ำมันอยู่ที่ราว 75 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล แต่หลังจากธนาคารกลางสหรัฐใช้มาตรการเพิ่มปริมาณเงินให้คล่องตัวครั้งที่สองแล้ว เมื่อถึงปลายเดือนเมษายน 2011 ราคาน้ำมันที่ตลาดนิวยอร์กเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 112 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล (เอพี 280411)

3. วิกฤติหนี้ในประเทศตะวันตกหลายประเทศที่มากเกินกว่าจะชำระได้ เช่นที่ กรีซและโปรตุเกส และอาจเกิดขึ้นอีกที่สเปน อิตาลีและอังกฤษ แม้กระทั่งสหรัฐก็ยังมีผู้สงสัยว่าจะสามารถชำระหนี้ได้หรือไม่ ประเทศเหล่านี้ต้องอาศัยการกู้เงินหรือพิมพ์ธนบัตรมาใช้หนี้ พร้อมกับลดค่าใช่จ่ายของรัฐบาล ซึ่งต้องเผชิญกับแรงกดดันของประชาชนผู้ใช้แรงงานที่ไม่พอใจอย่างสูง ทำให้เกิดความระส่ำระสายทางเศรษฐกิจ-สังคมในระดับที่แน่นอน

4. การอัดฉีดเงินปริมาณมหาศาลของประเทศตลาดเกิดใหม่ มีจีนเป็นต้น เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ พร้อมกันมีการขึ้นค่าแรงคนงาน ผสมกับราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้น เหล่านี้ทำให้ราคาสินค้าที่ส่งออกจากจีนมีราคาสูงขึ้น และเนื่องจากจีนเป็นประเทศโรงงานโลก ดังนั้น จึงกลายเป็นเหมือนส่งออกภาวะเงินเฟ้อดังที่ตะวันตกวิจารณ์

อนึ่ง ในจีนเองที่เซี่ยงไฮ้มีคนขับรถบรรทุกนับพันก่อการชุมนุมประท้วงราคาน้ำมันดีเซลที่สูงขึ้นเป็นต้น ทางการจีนประกาศงดส่งออกน้ำมันสำเร็จรูป



ผลกระทบของวิกฤติเงินเฟ้อ

เงินเฟ้อนั้นเป็นโจรไร้น้ำใจ ปล้นทั้งคนจนและคนรวย แต่คนจนที่มีทรัพย์สินน้อยย่อมได้รับผลกระทบมากกว่ากลุ่มเศรษฐี ผลกระทบหลักน่าจะมี 3 ประการได้แก่

1. ทำลายชนชั้นล่างและชนชั้นกลางทั่วโลก ทำให้สังคมแยกขั้วชัดเจนขึ้นอีก

2. ก่อให้เกิดความปั่นป่วนจลาจล วิเคราะห์กันว่าการลุกขึ้นสู้ของประชาชนในอียิปต์และตูนิเซียมีเหตุปัจจัยหนึ่งจากการที่น้ำมันและอาหารราคาแพง ผสมกับการว่างงานและความหงุดหงิดใจที่ไม่มีปากเสียงในการปกครองประเทศ

3. อาจนำมาสู่การชะลอตัวทางเศรษฐกิจรุนแรงอีกครั้ง ที่เรียกว่า "ทวิเศรษฐกิจถดถอย" (Double-dip Recession) เป็นภาวะถดถอยเนื่องจากเงินเฟ้อ ซึ่งจะมีผลย้อนกลับทำให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ลดต่ำลง

4. น่าจะนำไปสู่สงครามทรัพยากรธรรมชาติ (Resource War) ขนาดใหญ่อย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน



จะทำอย่างไรดี

การแก้ปัญหาสัญญาณวิกฤติเงินเฟ้อนี้แบ่งเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่

กลุ่มที่หนึ่ง ดูเหมือนเป็นเชิงรุกหรือมองโลกในแง่ดี แต่เป็นเชิงรุกหรือการมองแง่ดีเพื่อรักษาสถานะเดิม ผู้ที่ใช้วิธีนี้ได้แก่ รัฐบาล สถาบันการเงินใหญ่ และนักเศรษฐศาสตร์ชื่อดังในระบบ และสื่อมวลชนยักษ์ใหญ่เป็นต้น ตามแนวคิดนี้เห็นว่า

1) เรื่องเงินเฟ้อนั้นยังไม่ร้ายแรงถึงขั้นวิกฤติ ปัญหาใหญ่ยังเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจให้เคลื่อนตัวไปอย่างมั่นคง ในสหรัฐมีการวิเคราะห์ว่าที่สุดธนาคารกลางสหรัฐอาจกระตุ้นเศรษฐกิจรอบที่ 3

นอกจากนี้ ยังมักออกข่าวอีกว่าเศรษฐกิจกำลังฟื้นตัวอย่างแข็งแรง ดูได้จากดัชนีตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์กที่พุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ในรอบ 3 ปี และถึงแม้จะเกิดวิกฤติจริงก็ไม่ได้เป็นเรื่องที่ต้องตื่นตระหนก เพราะในระบบทุนก็เกิดปัญหานี้หลายครั้งแล้ว แต่ทุกครั้งก็ผ่านมาได้ พร้อมกับอัตราการขยายทางเศรษฐกิจต่อไปอีก

2)ระบบเศรษฐกิจมีความสามารถในการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตอย่างสูงต่อเนื่องมาราว 200 ปีแล้ว ทำให้สามารถผลิตอย่างมีประสิทธิภาพขึ้น ใช้พลังงานและวัตถุดิบน้อยลง มีของเสียจากการผลิตและการใช้ลดลงหรือสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ ในด้านเทคโนโลยีพลังงาน มีการพัฒนาเทคนิคการสำรวจขุดเจาะที่สามารถหาแหล่งใหม่ได้เพิ่มขึ้น หรือใช้ประโยชน์จากแหล่งเดิมได้สูงขึ้น หรือใช้เทคโนโลยีใหม่เพื่อการผลิตพลังงาน เช่น การผลิตก๊าซจากหินดินดาน (Shale Gas) เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังสามารถพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตพลังงานทดแทน ที่สำคัญคือพลังลม พลังแสงแดด และคลื่นได้อีก ทำให้การพึ่งพาแหล่งเชื้อเพลิงฟอสซิลแบบเดิมลดลง

3) การพัฒนาระบบตลาดและการค้าให้ทั่วถึงยิ่งขึ้น เพราะระบบตลาดและการค้านั้นเป็นกลไกสำคัญในการเข้าถึงและนำทรัพยากรธรรมชาติมาใช้ทุกซอกทุกมุม ส่งเสริมการแบ่งงานกันทำทั้งในระดับประเทศและระหว่างประเทศ ซึ่งเหล่านี้จะช่วยสร้างความมั่งคั่งและความไพบูลย์ขึ้น

4) การบำรุงรักษาโซ่อุปทาน (Supply Chain) ให้ดี เช่น การพัฒนาระบบพลังงาน ระบบการขนส่ง ระบบคลังสินค้า และประกันให้สายโซ่อุปทานนี้ไม่สะดุดขาดไป ซึ่งแม้ต้องใช้ปฏิบัติการทางทหารขนาดใหญ่ก็เป็นสิ่งจำเป็น เช่น การทำสงครามอัฟกานิสถานและอิรัก และในระยะใกล้ ได้แก่ การวางกำลังป้องกันโจรสลัด การบุกโจมตีหวังล้มระบอบกาดาฟีที่ลิเบีย ซึ่งกล่าวกันว่าเนื่องด้วยน้ำมัน รวมทั้งปฏิบัติการที่สาธารณรัฐโกตดิวัวร์ เพื่อรักษาโซ่อุปทานโกโก้ของโลก

กลุ่มที่สอง เป็นการปรับตัวและรับมือในระบบ พบการแนะนำแก่นักลงทุนรายย่อย เช่น อย่าถือเงิน ให้ถือทรัพย์สินที่จับต้องได้ เช่น ที่ดิน ทองคำ และเงิน เป็นต้น

และดูเหมือนว่าบรรดาขาใหญ่ เช่น รัฐบาลจีนและอินเดียก็ดูเหมือนจะปฏิบัติในระดับหนึ่ง โดยเฉพาะจีนที่ไม่ต้องการถือเงินดอลลาร์มากเกินไป และมีข่าวว่ามีเป้าหมายจะซื้อทองคำสำรองให้ถึง 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ

กลุ่มที่สาม เป็นกลุ่มที่รับมือนอกระบบหรือพึ่งพาระบบเดิมให้น้อยที่สุด ผู้มีแนวคิดในกลุ่มนี้มีตั้งแต่นักกระต่ายตื่นตูม ไปจนถึงกลุ่มก้าวหน้าและนักเคลื่อนไหวที่เห็นว่าระบบที่ดำรงอยู่ในปัจจุบันยากที่จะดำเนินต่อไปได้อย่างเคย และกำลังเปลี่ยนผ่านสู่ระบบใหม่ การเตรียมรับมือมีหลากหลาย เช่น

1) การตุนอาหารและสิ่งของเครื่องใช้ที่จำเป็นไว้ในบ้าน

2) สร้างชุมชุนที่มั่นคงเพื่อรับวิกฤติ

3) ตั้งกลุ่มเคลื่อนไหวเพื่อการเปลี่ยนผ่าน

ในทั้งสามกลุ่มนี้ กลุ่มแรกเป็นกระแสหลัก พรั่งพร้อมทั้งกำลังเงินทุน ทรัพยากรบุคคล กลไกทางเศรษฐกิจ-การเมือง ตลอดจนการควบคุมสื่อมวลชน

ดังนั้น มองด้านความสงบราบรื่นก็ต้องภาวนาให้การแก้ปัญหาของกลุ่มแรกนี้ประสบความสำเร็จ หาไม่แล้ว จะเกิดการจลาจลปั่นป่วนและสงครามไปทั่วโลก ขณะที่แนวทางแก้ปัญหาสองกลุ่มหลังที่เป็นกระแสรอง จะมีพลังขึ้น



+++

กรณีลุกขึ้นสู้ที่ตูนิเซียและอียิปต์ : เหตุปัจจัยและผู้แสดงสำคัญ
โดย อนุช อาภาภิรม คอลัมน์ วิกฤติศตวรรษที่21
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 03 มิถุนายน พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1607 หน้า 42


ตูนิเซียและอียิปต์เป็นดินแดนที่มีประวัติศาสตร์ต่อเนื่องกันนานหลายพันปี

ก่อนคริสตกาลและก่อนมีศาสนาอิสลาม ดินแดนที่เป็นประเทศตูนิเซียปัจจุบันเคยเป็นที่ตั้งของอาณาจักรคาร์เธจ ที่เป็นศูนย์กลางการค้าของโลกในสมัยโบราณ และเป็นคู่แข่งสำคัญของจักรวรรดิโรมัน แต่พ่ายแพ้ในการศึก ตกเป็นอาณานิคมของจักรวรรดิโรมันยาวนาน

สำหรับอียิปต์ยิ่งเก่าแก่ไปกว่านั้นอีก เป็นที่ตั้งจักรวรรดิโบราณตั้งแต่ก่อนสมัยกรีกและโรมันรุ่งเรือง เมืองท่าชื่ออเล็กซานเดรียของอียิปต์ มีความสำคัญต่อการค้าโลกต่อเนื่องกันมาหลายพันปี

เมื่อเกิดศาสนาอิสลาม ทั้งสองประเทศได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิมุสลิมอาหรับและออตโตมาน ฝรั่งเศสเจ้าอาณานิคมสมัยใหม่ได้เข้ามาครอบครองประเทศทั้งสองนี้

อียิปต์ที่เป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญโดยเฉพาะหลังจากขุดคลองสุเอซแล้ว อังกฤษได้พยายามแทรกตัวเข้ามามีบทบาทเพิ่มขึ้น ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง

ตูนิเซียและอียิปต์ได้กลายเป็นสมรภูมิสำคัญในตอนเหนือของแอฟริการะหว่างฝ่ายสหรัฐ-อังกฤษ กับ เยอรมนี-อิตาลี

เมื่อได้เอกราชค่อนข้างสมบูรณ์หลังสงครามโลกครั้งที่สอง ตูนิเซียซึ่งเป็นประเทศขนาดเล็กมีประชากรปัจจุบัน 10 ล้านคนเศษ มุ่งเน้นในการพัฒนาประเทศ

ส่วนอียิปต์ซึ่งเป็นประเทศใหญ่ ปัจจุบันมีประชากรกว่า 84 ล้านคน แสดงบทบาทเป็นมหาอำนาจของภูมิภาค สร้างแนวทางชาตินิยมอาหรับและลัทธิรวมชาติอาหรับ แต่ได้ผลอย่างจำกัด

ที่สำคัญ เกิดจากพ่ายแพ้แสนยานุภาพของสหรัฐ-อิสราเอล ต้องหันมาสังกัดค่ายสหรัฐและมหาอำนาจตะวันตก



ตูนิเซียและอียิปต์ปัจจุบัน มีความเหมือนและความต่างในการทิศทาง ระดับการพัฒนาและนโยบายระหว่างประเทศที่สำคัญดังนี้ คือ

1. ทั้งสองเป็นแบบโลกวิสัย (Secular) ไม่เน้นการเคร่งศาสนาอย่างที่ปฏิบัติในประเทศซาอุดีอาระเบีย เป็นต้น โดยเฉพาะในตูนิเซียที่ผู้นำประเทศได้ต่อสู้กับกลุ่มเคร่งศาสนาอย่างเฉียบขาด จนกลุ่มเหล่านี้มีอิทธิพลบทบาทน้อย

สตรีตูนิเซียได้รับสิทธิเสรีภาพแบบสตรียุโรปค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับประเทศอื่นในภูมิภาค เช่น เป็นชาติแรกในรัฐอาหรับที่สตรีมีสิทธิเลือกตั้ง สิทธิในการทำแท้ง การห้ามชายมีภรรยาหลายคน อัตราการรู้หนังสือของสตรีตูนิเซียสูงถึงร้อยละ 71 (ดูบทความของ Katrin Bennhold ชื่อ Woman"s Rights a Strong Point in Tunisia ใน nytimes.com 220211)

2. ทั้งสองพัฒนาทุนนิยมแบบตะวันตก ตูนิเซียดูจะสามารถพัฒนาเศรษฐกิจไปอย่างทั่วถึงกว่า เนื่องจากมีประชากรน้อย การพัฒนาประเทศเป็นไปอย่างไม่สม่ำเสมอ เกิดความเหลื่อมล้ำทางสังคม

3. ตูนิเซียและอียิปต์มีนโยบายต่างประเทศเป็นแบบเอียงข้างตะวันตก ตูนิเซียเป็นแบบฝรั่งเศส ส่วนอียิปต์เป็นแบบสหรัฐ

4. ทั้งสองประเทศอยู่ในระบอบรวบอำนาจเป็นเวลานาน ตูนิเซีย 23 ปี ส่วนอียิปต์ราว 30 ปี

5) การใช้อินเตอร์เน็ตและโทรศัพท์มือถือในตูนิเซียค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับอัตราเฉลี่ยของโลก ส่วนในอียิปต์ก็เพิ่มขึ้นรวดเร็ว แต่การใช้อินเตอร์เน็ตก็ยังไม่สูงเท่าอัตราเฉลี่ยของโลก

การที่ประชาชนชาวอาหรับได้รับข่าวสารที่มากและรวดเร็ว ช่วยทำให้เปิดหูตากว้าง และกระตุ้นให้เกิดการตื่นตัวทั่วถึงขึ้น แต่การให้ความสำคัญถึงขั้นว่าเป็นการปฏิวัติจากเฟซบุ๊กและวิกิลีกส์ก็น่าจะเกินเลยไป เหตุปัจจัยพื้นฐานน่าจะได้แก่ระบอบปกครองเหล่านี้ปฏิบัติหน้าที่ได้ยากลำบากและขาดความชอบธรรมน่าเชื่อถือ

ที่กล่าวมา เป็นเรื่องการเปรียบเทียบประเทศตูนิเซียกับอียิปต์ ต่อไปจะกล่าวถึงบางหัวข้อที่น่าสนใจเกี่ยวกับการลุกขึ้นสู้ใน 2 ประเทศนี้ คือดัชนีการกบฏของชาวอาหรับ เหตุปัจจัย และผู้แสดงสำคัญ



ดัชนีการปฏิวัติชาวอาหรับ

เมื่อการลุกขึ้นสู้ของประชาชนในประเทศตูนิเซียและอียิปต์ ระบาดไปยังประเทศอาหรับอื่น ทั้งในภูมิภาคแอฟริกาเหนือและตะวันออกกลาง ก็ได้มีผู้คิดสร้างดัชนีการปฏิวัตินี้ว่าประกอบด้วยอะไรบ้าง พร้อมกับถ่วงน้ำหนักเพื่อจะทำนายล่วงหน้าว่าการต่อสู้ในประเทศเหล่านั้นจะดุเดือดรุนแรงเพียงใด

พบดัชนีและการถ่วงน้ำหนักที่สำคัญดังนี้คือ

1. สัดส่วนของประชากรที่อายุต่ำกว่า 25 ปีสูงมาก ได้รับน้ำหนักถึงร้อยละ 35

2. จำนวนปีของรัฐบาลที่อยู่ในอำนาจ ได้รับน้ำหนักร้อยละ 15

3. ดัชนีคอร์รัปชั่น (ดูได้จาก Transparency International) น้ำหนักร้อยละ 15

4. ดัชนีความไม่เป็นประชาธิปไตย (ดูจาก eiu.com) น้ำหนักร้อยละ 15

5. จีดีพีต่อหัว ได้รับน้ำหนักร้อยละ 10

6. ดัชนีการเซ็นเซอร์สื่อมวลชน ได้รับน้ำหนักร้อยละ 5 (ดูจาก Freedom House)

และ 7. จำนวนจริง (ไม่ใช่คิดเป็นสัดส่วน) ประชากรอายุต่ำกว่า 25 ได้รับน้ำหนักร้อยละ 5

เมื่อนำดัชนีและการถ่วงน้ำหนักมาประมวลกันแล้ว ผลออกมาว่าประเทศที่มีเงื่อนไขที่จะเกิดการก่อกบฏสูงสุดที่ประเทศเยเมน ตามด้วยลิเบียและอียิปต์ ส่วนตูนิเซียอยู่อันดับ 11 แต่กลายเป็นจุดก่อชนวนการลุกขึ้นสู้ในโลกอาหรับขึ้น

อย่างไรก็ตาม การใช้ดัชนีนี้มีรายละเอียดกว่านี้อีกมาก (ดูบทความของ Jason ชื่อ Arab Revolution-Economist Shoe-thrower"s Index ใน globalsherpa.org ผู้สร้างเว็บนี้เคยเป็นที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจ สร้างดัชนีขึ้นเพื่อเป็นเครื่องมือในการพิจารณาในการลงทุน)



เหตุปัจจัยของการลุกขึ้นสู้และผู้แสดงสำคัญ

การลุกขึ้นสู้ในตูนิเซียและอียิปต์นั้นมีเหตุปัจจัยใหญ่ 4 ประการได้แก่

1. ความขัดแย้งพื้นฐานระหว่างชนชั้นนำและประชาชน โดยมีกลุ่มสหรัฐ-นาโต้เป็นผู้สนับสนุนระบอบปกครองประเทศแบบรวบอำนาจที่สนับสนุนตะวันตกมาหลายสิบปี โดยประธานาธิบดีไซน์ เบน อาลี แห่งตูนิเซีย ครองอำนาจตั้งแต่ปี 1987-2011 (ไม่นับประธานาธิบดีคนก่อนหน้า) และประธานาธิบดีมูบารัคที่ครองอำนาจตั้งแต่ปี 1981

โดยที่ประธานาธิบดีก่อนหน้านั้นคือซาดัด (1970-1971) ได้เดินนโยบายสนับสนุนตะวันตกมาก่อนหน้านั้นแล้ว ขณะที่ประชาชนส่วนใหญ่ต้องการอิสระเสรี ให้ทั้งประเทศและตัวเขาเองสามารถอยู่อย่างมีศักดิ์ศรี

เมื่อชาวอียิปต์เริ่มลุกขึ้นสู้ โจ ไบเดน รองประธานาธิปดีสหรัฐให้สัมภาษณ์ว่า "มูบารัคเป็นพันธมิตรเราในหลายเรื่อง และเขามีบทบาทสำคัญต่อผลประโยชน์ทางภูมิรัฐศาสตร์ในภูมิภาคนี้ของสหรัฐ การที่เขาพยายามจะสร้างสันติภาพในตะวันออกกลาง และการที่อียิปต์ฟื้นฟูสัมพันธภาพกับอิสราเอล ผมไม่เห็นว่าเขาเป็นผู้เผด็จการ"

ไบเดนยังเห็นว่ามูบารัคไม่จำเป็นต้องออกจากตำแหน่ง (ดูบทรายงานชื่อ Joe Biden Says Egypt"s Mubarak no Dictator, He Shouldn"t Step Down ใน csmonitor.com 270111)

2. การพัฒนาประเทศแบบไม่ได้สมดุล ก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำต่ำสูงมาก เช่นกล่าวกันว่า ประชากรอียิปต์ถึงราวร้อยละ 40 ยังชีพด้วยรายได้ต่ำกว่า 2 ดอลลาร์สหรัฐต่อวัน จำนวนผู้ว่างงานโดยเฉพาะที่เป็นคนหนุ่มสาวก็สูงมาก สำหรับกรณีประเทศตูนิเซียไม่รุนแรงเท่า ความเหลื่อมล้ำเพิ่มความไม่พอใจให้กลายเป็นความเคียดแค้น นั่นคือผสมด้วยความสิ้นหวังมองไม่เห็นทางออกในการแสวงหาอนาคตที่ดีกว่าภายในระบอบเดิมได้อย่างไร

3. วิกฤติเศรษฐกิจ อาหาร และน้ำมันแพง ตั้งแต่ปี 2008 ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนโดยทั่วไปทุกข์ยากขึ้นเป็นอันมาก จนไม่อาจจะทนอยู่แบบเดิมได้อีกต่อไป ขณะที่ทางการรัฐบาลเองก็ดูเหมือนประเมินกำลังของตนเองสูงไป และกำลังของประชาชนต่ำไป ไม่ได้เข้ามาเยียวยาแก้ไขอย่างทันการณ์

4. อิทธิพลของสหรัฐ-นาโต้ ตกต่ำลง เนื่องจากติดหล่มในสงครามที่ไม่อาจชนะได้ในอิรักและอัฟกานิสถาน นอกจากนี้ ยังเกิดวิกฤติเศรษฐกิจใหญ่อย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สอง เกิดความแตกแยกไม่พอใจรุนแรงในประเทศสหรัฐ-นาโต้เอง

หนังสือพิมพ์ฮาเรตซ์ของอิสราเอลซึ่งบางคนเทียบชั้นว่าเป็นเหมือนนิวยอร์ก ไทมส์ ของสหรัฐ ได้ตีพิมพ์บทวิจารณ์ว่า การลุกขึ้นสู้ของชาวอาหรับครั้งนี้เป็นปรากฏการณ์คล้ายกับการลุกขึ้นสู้ของชาวปาเลสไตน์ในปี 1987 ซึ่งจะเปลี่ยนตะวันออกกลางไปอย่างมาก

ทั้งนี้ ส่วนหนึ่งเกิดจากนโยบายที่ไม่เหมาะสมของตะวันตก ที่ทำให้ไม่สามารถเป็นผู้นำในภูมิภาคนี้ได้อีก (ดูบทความชื่อ The Arab Revolution and Western Decline ใน haaretz.com 030211)

สำหรับผู้แสดงสำคัญก็มี 2 ซีกด้วยกันคือ ซีกชนชั้นนำที่สนับสนุนโดยสหรัฐ-นาโต้ และซีกประชาชน

สำหรับฝ่ายประชาชนยังประกอบด้วย 4 กลุ่มใหญ่ ใช้การลุกขึ้นสู้และการชุมนุมประท้วงอย่างสันติและกว้างขวางทั่วประเทศ เช่น ทั้งไคโรและเมืองอเล็กซานเดรียเป็นเครื่องมือสำคัญ ในที่นี้จะใช้กรณีประเทศอียิปต์เป็นตัวอย่าง

ฝ่ายประชาชน 4 กลุ่มในอียิปต์ ได้แก่

1. เยาวชน นักศึกษาคนหนุ่มสาวที่มีจำนวนมาก

2. คนงานในโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ เป็นหัวหอกของการลุกขึ้นสู้ครั้งนี้ ตามข่าวปรากฏมักให้ความสำคัญแก่กลุ่มคนหนุ่มสาว แต่แท้จริงหากไม่มีการต่อสู้ของคนงานกรรมกรที่ลุกลามและกระทบต่อผลประโยชน์เฉพาะหน้าของกลุ่มทุนและชนชั้นนำอย่างสูงจนบีบให้มูบารัคยอมลงจากอำนาจ ใน 2 กลุ่มแกนนี้กลุ่มเยาวชนคนหนุ่มสาวภายหลังการล้มระบอบมูบารัคได้ ก็รวมตัวจัดตั้งกัน สำหรับกลุ่มคนงานกรรมกรนั้น มีกลุ่มและพรรคสังคมนิยมที่ยังคงมีอิทธิพลในอียิปต์ทำหน้าที่เป็นแกน

3. กลุ่มศาสนาที่สำคัญและปรากฏเป็นข่าวมากได้แก่ กลุ่มภราดรภาพมุสลิม จัดอยู่ในปีกขวา ไม่ได้เป็นพลังปฏิวัติที่เข้มแข็ง กลุ่มนี้สามารถสร้างพันธมิตรกับกลุ่มอื่นๆ ได้ดี มีการจัดตั้งที่เข้มแข็ง

4. กลุ่มทุนขนาดเล็กและขนาดกลางรวมทั้งชนชั้นกลาง ซึ่งประสบเคราะห์กรรมจากวิกฤติเศรษฐกิจและข้าวของแพง ขณะที่ก็ต้องการให้บ้านเมืองสงบเพื่อให้กลับมาทำมาหากินได้ต่อไปในบรรยากาศที่มีความหวังมากขึ้น

ฝ่ายชนชั้นนำในอียิปต์ เห็นได้ว่ามีความหวั่นไหวเมื่อเผชิญกับการลุกขึ้นสู้ขนาดใหญ่แบบไม่คาดฝันมาก่อน การหวั่นไหวที่สำคัญอยู่ที่สหรัฐ-นาโต้ที่มีอิทธิพลครอบงำภูมิภาคนี้ ซึ่งน่าจะเกิดจากเหตุปัจจัย 3 ประการได้แก่

1. ความจำกัดของแสนยานุภาพจนต้องติดหล่มสงครามถึง 2 แห่ง

2. เกิดวิกฤติเศรษฐกิจถึงขั้นหนี้สินล้นพ้นตัว อาจไม่สามารถชำระหนี้ได้

3. ไม่สามารถแสดงบทบาทนำทางโลกได้เหมือนเดิม จากนี้ทำให้นโยบายของสหรัฐ-นาโต้ ต่อการลุกขึ้นสู้ของชาวอาหรับมีลักษณะเลือกปฏิบัติตามสถานการณ์แต่ละพื้นที่

เช่น ที่อียิปต์ เมื่อสถานการณ์บานปลาย ผู้นำสหรัฐเรียกร้องให้มูบารัคก้าวลง ที่บาห์เรนซึ่งเป็นที่ตั้งฐานทัพเรือใหญ่ของสหรัฐ ก็ดูเหมือนจะเข้าข้างฝ่ายชนชั้นนำ รวมทั้งการยอมให้ซาอุดีอาระเบียส่งกองกำลังเข้าไปหนุนช่วย

ต่อลิเบียที่มีสำรองน้ำมันมากที่สุดในทวีปแอฟริกามีลักษณะเอาเป็นเอาตาย ต่อเยเมนประเทศอาหรับที่ยากจนมาก ออกไปในทางนิ่งดูดาย

สำหรับภายในชนชั้นนำของตูนิเซียและอียิปต์ การหวั่นไหวแสดงออกที่เกิดการแตกขั้วระหว่างรัฐบาลที่อ่อนปวกเปียกกับกองทัพที่เป็นกลไกรัฐที่เข้มแข็งที่สุด มีบทความชี้ว่าสหรัฐเองเป็นผู้เลือก ตันตาวี (Mohamed Hussein Tantawi) รัฐมนตรีกลาโหมและประธานสภาทหารของอียิปต์ให้ขึ้นสู่อำนาจในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2011 แต่ผู้นำทหารท่านนี้ก็ดูปฏิบัติไม่ได้ผลในการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยตามกระแสความต้องการของประชาชน

ในบทความนี้ยังกล่าวถึงผู้นำอื่นที่สหรัฐเลือกมาและล้มเหลว (ดูบทความชื่อ When Washington"s Handpicked Leaders Fail ใน nytimes.com 020511) ส่วนกรณีตูนิเซียยังไม่ได้พบข่าวเหมือนเช่นนี้

โลกอาหรับจะหันเหไปทางไหน และการปฏิวัติอาหรับจะก้าวต่อไปอย่างไร เป็นสิ่งที่น่าติดตามต่อไป



+++

โลกอาหรับ : เหตุการณ์จะเป็นอย่างไรต่อไป
โดย อนุช อาภาภิรม คอลัมน์ วิกฤติศตวรรษที่21
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1609 หน้า 44


โลกอาหรับในปัจจุบันระเบียบเก่าได้แตกกระจายไปแล้ว นั่นคือระเบียบของการปกครองแบบรวบอำนาจ ที่เกือบทั้งหมดได้รับการสนับสนุนค้ำจุนจากสหรัฐ-นาโต้

โลกอาหรับนี้แท้จริงมีความหลากหลายแตกต่างกันมาก มีลักษณะร่วมที่สำคัญเพียง 2 ประการ คือพูดภาษาอาหรับและถือศาสนาอิสลาม

แต่ในหลายประเทศอาหรับก็มีการใช้ภาษาของเจ้าอาณานิคมเดิมด้วย เช่น ตูนิเซียใช้ภาษาฝรั่งเศสเป็นภาษาต่างประเทศแรก

และบางประเทศก็ใช้ภาษาท้องถิ่นเป็นภาษาแห่งชาติ เช่น แอลจีเรียที่ใช้ภาษาเบอร์เบอร์ (Berber) ซึ่งเป็นภาษาตระกูลเอเชียแอฟริกาใช้ในหลายประเทศแถบแอฟริกาตอนเหนือ

โลกอาหรับมีระบอบปกครองแบบรวบอำนาจ แต่พ้นจากนั้นแล้วก็ต่างกันออกไป เช่น ซีเรียกับอิรัก อิงพรรคการเมืองแบบชาตินิยมอาหรับ

ลิเบียและอาจรวมเยเมน อิงอิทธิพลชนเผ่า

ซาอุดีอาระเบียและรัฐอ่าวอาหรับอิงศาสนา

อียิปต์และตูนิเซีย อิงการพัฒนาแบบตะวันตก


ในโลกอาหรับยังมีความแตกต่างกันทั้งขนาดและจำนวนประชากรมีตั้งแต่ขนาดเล็กจิ๋ว เช่น บาห์เรนที่มีประชากร ราว 1.2 ล้านคน และขนาดใหญ่ เช่น อียิปต์มีประชากรกว่า 80 ล้านคน และบางประเทศยากจน เช่น เยเมน บางประเทศร่ำรวยจากน้ำมัน

โลกอาหรับอาจแบ่งเป็น 2 ศูนย์กลางใหญ่ ศูนย์ซาอุดีฯ ในภูมิภาคตะวันออกกลาง ที่ต้องเผชิญกับการขยายอิทธิพลของอิหร่านที่ถือนิกายซีอะห์ สามารถรวบรวมกลุ่มไว้ได้แน่นแฟ้นพอสมควร ในระยะหลังมีข่าวว่าประเทศจอร์แดนจะเข้าร่วมกลุ่มรัฐอ่าวอาหรับอีก

อีกศูนย์หนึ่ง คืออียิปต์ ในภูมิภาคแอฟริกาตอนเหนือ แต่กล่าวได้ว่าเป็นศูนย์เนื่องจากขนาดและความเก่าแก่ของตัว ประเทศอาหรับในแอฟริกาตอนเหนือต่างมีแนวทางการพัฒนาของตนเอง ไม่ได้เหลียวมองอียิปต์มากนัก

ว่าไปแล้วระเบียบเก่าที่แตกกระจายนั้นปรากฏเห็นชัดในบริเวณแอฟริกาตอนเหนือที่ไม่มีสำรองน้ำมันมาก ยกเว้นประเทศลิเบีย ส่วนในประเทศอาหรับตะวันออกกลางที่มีสำรองน้ำมันถึงราวครึ่งหนึ่งของโลกนั้น ยังพอคุมสถานการณ์ได้ ยกเว้นที่เยเมนอันเป็นประเทศที่ค่อนข้างยากจน

แต่ไม่ว่าระเบียบเก่าจะถูกกระทบอย่างหนักหรืออย่างเบาก็กล่าวได้ว่าระเบียบนั้นได้แตกกระจายไปแล้ว ชนชั้นนำไม่สามารถปกครองในรูปแบบเดิม โดยไม่มีการปฏิรูปหรือแก้ไขปัญหาสำคัญที่ประเทศกำลังเผชิญอยู่ ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ-การเมืองและสังคมต่อไปได้อีก

ในด้านประชาชนชาวอาหรับเองก็เพิ่งเข้าสู่เวทีการเมือง ขาดทั้งกำลังทางจัดตั้งและแนวนโยบายในการต่อสู้ที่เป็นเอกภาพ ไม่อาจฉกฉวยชัยชนะได้มากกว่าความแข็งแกร่งที่มีอยู่ของตน กลายเป็นศึกยืดเยื้อที่ทำให้ทั้งภูมิภาคคุกรุ่น

การกล่าวคาดคะเนว่าเหตุการณ์จะเป็นอย่างไรต่อไปให้ได้เห็นภาพ น่าจะใช้วิธีหยิบยกบางกรณีที่สำคัญหรือเป็นตัวแทนของเหตุการณ์ขึ้นมากล่าว น่าจะช่วยให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น

ซึ่งจะเริ่มต้นจากสหรัฐที่เป็นผู้แสดงที่ทรงอิทธิพลที่สุดก่อน



สหรัฐต้องการสร้างประชาธิปไตย
ในโลกอาหรับจริงหรือไม่

ประธานาธิบดีโอบามาแห่งสหรัฐได้พยายามแสดงตัวหลายครั้งว่า เห็นด้วยกับการลุกขึ้นสู้ของชาวอาหรับ (นิยมใช้ศัพท์ว่า Arab Spring) ต้องการผลักดันให้มีการปฏิรูปทางการเมือง เพื่อพัฒนาประชาธิปไตยขึ้นในภูมิภาคนี้ แต่ก็เหมือนไม่บังเกิดผลอะไรมากนัก แม้ประเทศพันธมิตรสหรัฐอย่างอิสราเอลและซาอุดีฯ ก็ไม่ได้เชื่อถือ นี่นับเป็นความยากลำบากมากอย่างหนึ่งในการดำเนินนโยบายต่างประเทศของสหรัฐ

ถ้าสหรัฐจะประกาศนโยบายต่างประเทศของตนอย่างตรงไปตรงมาว่าเพื่อรักษาผลประโยชน์แห่งชาติ โดยไม่ต้องมีอะไรต่อท้าย ก็จะไม่มีปัญหามาก เพราะชาติไหนๆ ก็ดำเนินนโยบายต่างประเทศทำนองนี้ แต่สหรัฐที่แสดงบทบาทเป็นอภิมหาอำนาจและตำรวจโลก จำต้องแต่งองค์ให้ดูสวยและเกิดความน่ายำเกรง เพื่อแสดงการเป็นผู้นำและชี้แนวทางของโลก เช่นเป็นประทีปแห่งเสรีภาพ ป้อมปราการแห่งเสรีประชาธิปไตย

ซึ่งในทางปฏิบัติกระทำได้ยากมาก เพราะเพื่อผลประโยชน์แห่งชาติบางทีก็ต้องการพันธมิตรเป็นรัฐบาลประชาธิปไตย บางทีก็ต้องการที่เป็นเผด็จการ จนกล่าวกันว่าในกิจการต่างประเทศไม่มีมิตรแท้และศัตรูถาวร

ดังนั้น สหรัฐจึงผิดสัญญาเรื่องการเป็นประทีปแห่งเสรีภาพมาโดยตลอด นับแต่ต้นทศวรรษที่ 1950 ทางการสหรัฐมีส่วนรู้เห็นในการโค่นล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเสรีและสนับสนุนรัฐบาลเผด็จการทั่วโลก กรณีท้าย ได้แก่ การสนับสนุนคณะนายทหารก่อการรัฐประหารล้มรัฐบาลเซลายาที่ฮอนดูรัสในปี 2009

สำหรับผลประโยชน์แห่งชาติสหรัฐที่สำคัญในตะวันออกกลางก็คือน้ำมัน เมื่อประธานาธิบดีบุชโหมกลองศึกเพื่อบุกยึดครองอิรักในปี 2003 ได้อ้างเหตุต่างๆ ที่สำคัญข้อหนึ่งก็คือ ประธานาธิบดีซัดดัมนั้นเป็นผู้ปกครองที่กดขี่เข่นฆ่าปราบปรามประชาชน ต้องเข้าไปปลดปล่อยและสร้างระบอบประชาธิปไตยขึ้น

แต่ผู้คนก็ไม่ยอมเชื่อ คงเห็นว่าบุกเข้าไปเพราะน้ำมันโดยเฉพาะอิรักที่มีสำรองน้ำมันมากเป็นที่สองของโลก

ในที่สุด อลัน กรีนสแปน นักการเงินผู้ยิ่งใหญ่ของสหรัฐกลายเป็นผู้ตัดสินเมื่อเขาเขียนหนังสือระลึกความทรงจำ โดยกล่าวว่า "ผมรู้สึกเสียใจในความไม่สะดวกทางการเมือง (คือการยอมรับของเขาสามารถก่อความไม่สะดวกทางการเมืองแก่ชนชั้นนำสหรัฐได้) ที่จะต้องยอมรับอย่างที่ทุกคนทราบว่า สงครามอิรักส่วนใหญ่แล้วเป็นเรื่องของน้ำมัน" (จากหนังสือของ อลัน กรีนสแปน ชื่อ The Age of Turbulence : Adventures in a New World, 2007)

เมื่อประธานาธิบดีโอบามานำนิยายเก่าเรื่องปฏิรูปประชาธิปไตยมาขายอีกครั้งก็ดูไม่มีใครเชื่อมากนัก บางคนชี้ว่าหากลิเบียเป็นประเทศปลูกกล้วยหอมส่งออก สหรัฐ-นาโต้คงไม่ไปทิ้งระเบิดกรุงทริโปลี

บางคนชี้ไปถึงว่าสหรัฐไม่ได้ปรารถนาจะสร้างประชาธิปไตยในโลกอาหรับ เพราะว่าชาวอาหรับเห็นต่างกับนโยบายของสหรัฐ กล่าวคือขณะที่สหรัฐกล่าวว่าอิหร่านเป็นภัยคุกคามต่อภูมิภาค จากการสำรวจประชามติชาวอาหรับกลับเห็นว่าสหรัฐเป็นภัยคุกคาม

ทั้งชาวอาหรับส่วนใหญ่ยังเห็นว่าภูมิภาคนี้จะมีความมั่นคงขึ้น หากอิหร่านมีระเบิดนิวเคลียร์ ซึ่งในประเทศอียิปต์ผู้ที่เห็นเช่นนี้มีถึงร้อยละ 80 มีชาวอาหรับจำนวนน้อยในภูมิภาคนี้คือราวร้อยละ 10 เห็นว่าอิหร่านเป็นภัยคุกคาม (ดูบทสัมภาษณ์ของ Noam Chomsky ชื่อ U.S. And Its Allies Will Do Anything to Prevent Democracy in the Arab World ใน democracynow.org 110511)

เรื่องทั้งหมดก็ดูจะสรุปลงอย่างที่ทุกคนทราบว่า ประชาธิปไตยย่อมเกิดจากการยืดหยัดต่อสู้ของประชาชน ไม่มีผู้ใดมาประสิทธิประสาทให้ โลกอาหรับจะผลิบานเป็นประชาธิปไตยหรือไม่ ที่สำคัญอยู่ที่ชาวอาหรับเอง ไม่ได้อยู่ที่อื่น



ความสัมพันธ์สหรัฐ-ซาอุดีฯ

ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐกับประเทศซาอุดีฯ นั้น มองจากภายนอกจะเห็นความสัมพันธ์อันดี เช่น ซาอุดีฯ เป็นผู้ยืนหยัดต่อต้านอิทธิพลอิหร่าน เช่น เป็นแกนก่อตั้งกลุ่มรัฐอ่าวอาหรับ เปิดทางให้สหรัฐเข้ามามีอิทธิพลในภูมิภาคนี้ ในช่วงหนึ่งถึงกับให้สหรัฐเข้ามาตั้งฐานทัพในประเทศของตน เป็นแกนให้การซื้อขายน้ำมันอยู่ในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ และคอยดูแลไม่ให้ราคาน้ำมันไหวตัวจนเกินไป

รวมทั้งเป็นผู้ช่วยออกเงินสำคัญในปฏิบัติการร่วมกับสหรัฐ เช่น การตั้งกองกำลังนักรบทางศาสนาเพื่อต่อต้านการยึดครองของสหภาพโซเวียต และเป็นลูกค้าอาวุธสงครามรายใหญ่ของโลก

แต่ก็มีส่วนที่ปีนเกลียวกัน นั่นคือซาอุดีฯ ก็ต้องการสร้างบทบาทเป็นมหาอำนาจในภูมิภาคและในโลกอาหรับและโลกมุสลิม ได้ให้เงินช่วยเหลือจำนวนมากแก่ประเทศมุสลิม เช่น ในการสร้างโรงเรียนสอนศาสนาอิสลาม เงินช่วยเหลือนี้เป็นไปได้ว่าบางส่วนอาจพลัดเข้าสู่กลุ่มก่อการร้าย

ยิ่งเมื่อเกิดวินาศกรรม 11 กันยายน 2001 ที่ผู้ปฏิบัติงานส่วนใหญ่เป็นชาวซาอุดีฯ สัมพันธ์ระหว่างสหรัฐ-ซาอุดีฯ ก็ยิ่งไม่ราบรื่น

หลังจากบุกอิรักในปี 2003 ที่ซาอุดีฯ ไม่เห็นด้วย และเมื่อสหรัฐติดหล่มในสงคราม 2 แห่ง ซาอุดีฯ เริ่มการทูตแบบคบหลายฝ่าย เช่น มีผู้นำประเทศเดินทางไปเยือนรัสเซียและจีน เป็นต้น นอกจากนี้

บทบาทของซาอุดีฯ ในการตรึงราคาน้ำมัน และซื้อขายน้ำมันในสกุลดอลลาร์ก็อ่อนลงโดยลำดับ ก็ยิ่งทำให้ทั้งสองฝ่ายต่างมาทบทวนนโยบายต่างประเทศของตนกันใหม่

กรณีการลุกขึ้นสู้ชาวอาหรับที่สหรัฐพลิกไปเข้าข้างฝ่ายชาวอาหรับและเรียกร้องให้ประธานาธิบดีมูบารักลาออกนั้น กล่าวกันว่าสร้างความขุ่นเคืองให้แก่ผู้นำแห่งซาอุดีฯ เป็นอันมาก มีข่าวถึงขั้นว่าหากสหรัฐงดการช่วยเหลืออียิปต์ ซาอุดีฯ ก็จะออกเงินช่วยเหลือเอง นอกจากนี้

ซาอุดีฯ ยังส่งกองกำลังเข้าไปช่วยรัฐบาลบาห์เรนรักษาสถานการณ์ จนกระทั่งค่อยๆ ฟื้นตัวสู่สภาพปรกติ

กรณีนายกรัฐมนตรีคาเมรอนแห่งอังกฤษได้ปูพรมแดงเชิญเจ้าชายแห่งบาร์เรนไปเยือนที่ทำเนียบรัฐบาลที่ถนนดาวนิง (The Guardian 200511) เป็นสัญญาณแสดงว่าทั้งสหรัฐและซาอุดีฯ ยังต้องการกันและกัน และก็น่าที่จะพยายามรักษาสัมพันธไมตรีนี้ไว้



ความสัมพันธ์สหรัฐ-อิสราเอล

กล่าวได้ว่านับแต่สมัยประธานาธิบดีทรูแมนของสหรัฐ (ดำรงตำแหน่งระหว่าง 1945-1953) สหรัฐ-อิสราเอลได้พัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างกันที่แน่นแฟ้นขึ้นโดยลำดับ จนเมื่อถึงสมัยประธานาธิบดีไอเซนฮาวร์ (ดำรงตำแหน่งระหว่างปี 1953-1961) ก็ได้กลายเป็นความสัมพันธ์พิเศษ ที่อิสราเอลทำหน้าที่คล้ายเป็นนายอำเภอรักษาความสงบในภูมิภาคตะวันออกกลาง ส่วนสหรัฐทำหน้าที่ปกป้องคุ้มครองโดยยอม "เสียค่าใช้จ่ายทุกอย่าง" ให้เงินช่วยเหลือและติดอาวุธ

กล่าวอีกนัยหนึ่งคืออิสราเอลได้กลายเป็นทรัพย์สินทางยุทธศาสตร์ของสหรัฐในการช่วยควบคุมภูมิภาคนี้

แต่เมื่อเวลาผ่านไป สถานการณ์ได้เปลี่ยนไปมาก ทั้งสหรัฐและอิสราเอลไม่ได้ยิ่งใหญ่เหมือนเดิม ทั้งสองต่างไม่ประสบความสำเร็จในเรื่องที่มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ในการรักษาความสงบและควบคุมภูมิภาคตะวันออกกลาง

กล่าวคือสหรัฐไม่ประสบความสำเร็จในการยึดครองอิรักทั้งยังติดหล่มในสงครามอัฟกานิสถาน ไม่สามารถปิดล้อมทางการทูตต่ออิหร่าน

ข้างฝ่ายอิสราเอลไม่ประสบความสำเร็จในการกดการต่อสู้ของชาวปาเลสไตน์ลงไปได้ โดยปาเลสไตน์มีพันธมิตรเพิ่มมากขึ้นทั่วโลก

ที่สำคัญคือตุรกีที่เคยเป็นมิตรกับอิสราเอล ต้องการแสดงตัวเป็นมหาอำนาจท้องถิ่น และเข้ามาสนับสนุนการต่อสู้ของชาวปาเลสไตน์อย่างเต็มที่

ขณะที่พันธมิตรของอิสราเอลลดลง จนแทบกล่าวได้ว่า ต้องอยู่อย่างโดดเดี่ยว


ในสถานการณ์ใหม่เช่นนี้ได้มีนักวิชาการและนักยุทธศาสตร์สหรัฐหลายคนเริ่มมาทบทวนว่าอิสราเอลในปัจจุบันเป็นทรัพย์สินหรือหนี้สินกันแน่

การโอบอุ้มอิสราเอลต่อไปอาจทำให้สหรัฐต้องเสียมิตรในหลายประเทศในกลุ่มละตินอเมริกา สูญเสียตุรกี เพิ่มความชอบธรรมแก่อิหร่าน

และที่สำคัญที่สุดผลักไสชาวอาหรับหลายร้อยล้านคนให้ไปอยู่ขั้วตรงข้าม

โดยการเล็งเห็นเช่นนี้ประธานาธิบดีโอบามาจึงได้กดดันให้อิสราเอลเปิดเจรจาสันติภาพกันปาเลสไตน์ตั้งแต่เริ่มเข้ารับตำแหน่ง แต่ก็ไม่เป็นผล และกลับทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐ-อิสราเอลย่ำแย่ที่สุดในรอบ 35 ปี เมื่อเกิดการลุกขึ้นสู้ชาวอาหรับ


โอบามาได้แถลงนโยบายใหม่ในปลายเดือนพฤษภาคมเกี่ยวกับตะวันออกกลางว่าจะยึดหลัก 2 รัฐคืออิสราเอลและปาเลสไตน์ โดยยึดเส้นพรมแดนก่อนสงครามปี 1967 ซึ่งเป็นสิ่งที่หลายประเทศในละตินอเมริกาเสนอ

เมื่อนายเนทันยาฮู นายกรัฐมนตรีอิสราเอลได้ยินเข้าก็ควันออกหู จับเครื่องบินไปวอชิงตัน เข้าพบและเล็กเชอร์ให้ประธานาธิบดีโอบามาฟังอยู่นานถึงประวัติความเป็นมาของชาติยิว ความสำคัญและความมั่นคงของอิสราเอลที่มีต่อสหรัฐ

ภาพการแถลงข่าวร่วมของผู้นำทั้งสองปรากฏอาการห่างเหินมึนตึง ไม่มีภาพความสัมพันธ์พิเศษหลงเหลืออยู่เลย อย่างไรก็ตาม ทั้งสองประเทศต่างยังคงต้องการกันและกัน และพยายามไม่ขยายความขัดแย้งให้บานปลายไปกว่านี้

สำหรับในโลกอาหรับนั้นเห็นว่าอิสราเอลควรยอมรับความเป็นจริง โดยยอมให้มีรัฐปาเลสไตน์ตามเงื่อนไขของชาวปาเลสไตน์ (ดูบทความชื่อ Arab World Boos for Obama-Netanyahu Meeting ใน israelnationalnews.com 052211)


* * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

มีบทความที่เกี่ยวข้องและเคยเสนอแล้ว ที่ http://botkwamdee.blogspot.com/2011/07/blog-post_07.html



.