http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-01-31

พื้นที่แห่งความสมานฉันท์ โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์

.

พื้นที่แห่งความสมานฉันท์
โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์
ในมติชน ออนไลน์ วันจันทร์ที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2555 เวลา 21:00:00 น.


เหมือนตรุษจีนทุกปี คนไทยเชื้อสายจีนจำนวนมากแห่ไปสักการะและห่มผ้าหลวงพ่อโต วัดพนัญเชิง

ในสายตาของชาวจีนโพ้นทะเล นอกจากเป็นพระพุทธรูปแล้ว หลวงพ่อโตวัดพนัญเชิง ยังเป็น "ซำปอกง"ด้วย หมายถึง เจิ้งเหอ แม่ทัพเรือจีนสมัยต้นราชวงศ์หมิง (ซึ่งเป็นทั้งขันทีและเป็นทั้งมุสลิม) ผู้ได้นำกองเรือมหึมาแผ่บารมีของจักรพรรดิจีนไปทั่วเอเชีย เลยไปถึงบางส่วนของแอฟริกา (และบางกระแสว่าไปถึงทวีปอเมริกาก่อนโคลัมบัส)

เจิ้งเหอจึงเป็น "กง" หรือผู้น่าเคารพระดับเทพของชาวจีนโพ้นทะเลทั่วไป ฉะนั้น ไม่แต่ชาวไทยเชื้อสายจีนเท่านั้น ที่นับถือซำปอกง แม้ชาวจีนอื่นๆ ทั้งที่อยู่โพ้นทะเลและในแผ่นดินใหญ่ ก็ล้วนนับถือ "เทพ" องค์นี้กันทั้งสิ้น และในบรรดาศาลเจ้าซำปอกงซึ่งมีอยู่ดาษดื่นทั่วไปในดินแดนที่ชาวจีนอพยพไปตั้งภูมิลำเนา หลวงพ่อโต วัดพนัญเชิงเป็นหนึ่งที่ถือว่าศักดิ์สิทธิ์ที่สุดมาแต่โบราณกาล

แม้เป็นซำปอกง แต่หลวงพ่อโต ก็ยังเป็นหลวงพ่อโตของชาวพุทธไทยอยู่เหมือนเดิม นับเป็นพระพุทธรูปที่ได้รับความนับถือมาแต่โบราณเหมือนกัน เพราะสร้างขึ้นมาตั้งแต่ยังไม่ได้สร้างเมืองอยุธยาขึ้นบนเกาะเมือง หรือพูดอีกอย่างหนึ่งก็คือสร้างขึ้นตั้งแต่เมื่อเมืองยังอยู่นอกเกาะ และคงจะชื่อเมืองศรีรามเทพนคร (ซึ่งแปลความหมายแล้วก็คืออยุธยาหรืออโยธยาอยู่นั่นเอง)


บนพื้นที่เดียวกัน บนประติมากรรมชิ้นเดียวกันนี้ กลายเป็นวัตถุเคารพของคนสองวัฒนธรรม ซึ่งอยู่ร่วมแผ่นดินเดียวกันมาเป็นเวลานาน

นี่คือพื้นที่แห่งความสมานฉันท์ พิธีกรรมเป็นพื้นที่แห่งความสมานฉันท์ที่สำคัญในทุกสังคม ในภาคใต้งานวัดและงานฉลองฮารีรายอ ไม่ได้แบ่งชาวพุทธและมุสลิมออกจากกัน แต่เคยเป็นพื้นที่ซึ่งคนสองความเชื่อนี้มาสนุกร่วมกัน มุสลิมหลายครอบครัวในภาคใต้เชื่อว่า บรรพบุรุษเป็นพุทธ ฉะนั้น จึงมักส่งบุตรบางคนที่เจ็บป่วยกระเสาะกระแสะไปบวชฉลองคุณบรรพบุรุษ (ตามคำบอกเล่าของอาจารย์ลออแมน) สึกแล้วก็กลับมาเป็นมุสลิมใหม่ พิธีกรรมจึงขยายขอบเขตของความสมานฉันท์เสียยิ่งกว่างานฉลองหรือตัวพิธีกรรม

ในอยุธยา งานแห่เจ้าเซนของมุสลิมนิกายชิอะห์ซึ่งเคยเป็นส่วนใหญ่ของมุสลิมในสมัยนั้น เป็นงานสนุกสนานรื่นเริงของชาวพุทธไม่น้อยไปกว่าชาวมุสลิมเชื้อสายเปอร์เซีย

ในภาคเหนือเมื่อชนเผ่าต่างๆ บนที่สูงได้อพยพเข้ามาอยู่แล้ว ความสัมพันธ์ระหว่างคนพื้นราบและคนบนที่สูง มีหลายพื้นที่ ในทางเศรษฐกิจ มีการแลกเปลี่ยนซื้อขายสินค้าระหว่างกันอย่างสม่ำเสมอ (รวมทั้งฝิ่นด้วย) ชาวเขาอาจเป็นตัวตลกในทรรศนะของคนเมือง แต่ก็เป็นแค่ตัวตลก ไม่ใช่ศัตรูและไม่ใช่อันตรายของชาติ มีการกลืนระหว่างกันอยู่พอสมควร นอกจากผ่านการสมรสแล้ว ในบางหมู่บ้านบนที่สูง ยังมีคนเมืองอพยพขึ้นไปอยู่ร่วมกับชนเผ่า

สังคมใดๆ ก็มีความแตกต่างทางชาติพันธุ์บ้าง, ศาสนาบ้าง, ภาษาบ้าง, วัฒนธรรมประเพณีบ้าง ฯลฯ ฉะนั้นพื้นที่แห่งความสมานฉันท์จึงมีความสำคัญในทุกสังคม

ตำราประวัติศาสตร์ไทยมักอธิบายว่า สถาบันพระมหากษัตริย์คือพื้นที่แห่งความสมานฉันท์ เพราะทรงรับคนต่างชาติต่างศาสนาเข้ารับราชการปะปนกันไป สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นพื้นที่แห่งความสมานฉันท์ในสังคมไทยแน่ แต่ไม่ใช่พื้นที่เดียว และอาจไม่ใช่พื้นที่สำคัญที่สุดด้วย เพราะพระราชอำนาจในสมัยโบราณมีจำกัดอยู่ในอาณาบริเวณที่ไม่กว้างใหญ่นัก สังคมใดๆ ก็ย่อมมีพื้นที่สมานฉันท์มากกว่าหนึ่งเดียวเสมอ

ยิ่งกว่าต้องมีพื้นที่แห่งความสมานฉันท์มากกว่าหนึ่ง พื้นที่เหล่านั้นยังเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ พื้นที่ซึ่งเคยมีอาจไม่ทำงานได้อย่างเคย เมื่อสังคมเปลี่ยนไป พื้นที่ใหม่จำเป็นต้องเกิดขึ้นเพื่อรองรับความแตกต่างอันไม่เหมือนความแตกต่างอย่างเก่าอีกแล้ว

เช่นความสำคัญของหลวงพ่อโต วัดพนัญเชิง กำลังกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวมากกว่าพื้นที่แห่งความสมานฉันท์ระหว่างคนไทยเชื้อสายจีน และคนไทยอื่นๆ ศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวเคยเปลี่ยนไปเป็นพื้นที่แห่งความขัดแย้งด้วยซ้ำไป



ความเปลี่ยนแปลงในโลกสมัยใหม่ซึ่งกระทบไปทุกสังคม รวมทั้งสังคมไทย คือการเปลี่ยนไปสู่สังคมชาติ ความแตกต่างที่เคยมีในสังคมของรัฐแบบเก่า อาจไม่เป็นประเด็นสำคัญอีกแล้ว หรือในทางตรงกันข้าม อาจกลายเป็นประเด็นที่แหลมคมยิ่งกว่าเดิม เช่นความแตกต่างทางชาติพันธุ์และศาสนา ในขณะที่เกิดความแตกต่างใหม่ๆ ที่เกิดจากความทันสมัยและทุนนิยมโลกาภิวัตน์

และตรงนี้แหละที่เป็นความล้มเหลวของสังคมและรัฐไทยปัจจุบัน ในอันที่จะสร้างพื้นที่แห่งความสมานฉันท์ใหม่ๆ ให้เกิดขึ้น ดังจะยกตัวอย่างบางประการเปรียบเทียบกับสังคมอื่น ซึ่งมีพื้นที่แห่งความสมานฉันท์แบบใหม่หลากหลาย จึงทำให้มีพลังเผชิญกับความแตกต่างและความขัดแย้งได้ดี

รัฐสภาและพรรคการเมือง เป็นพื้นที่แห่งความสมานฉันท์ที่สำคัญในหลายสังคม ในสังคมที่ประกอบด้วยหลายชาติพันธุ์ หรือหลายอัตลักษณ์ ที่นั่งในสภาจะถูกสงวนไว้ให้แก่แต่ละชาติพันธุ์และอัตลักษณ์ แม้ต้องผ่านการเลือกตั้งเช่นเดียวกัน ในบางประเทศ ที่นั่งจำนวนหนึ่งถูกสงวนไว้แก่ผู้ด้อยโอกาส เช่น วรรณะจัณฑาล ในบางประเทศสงวนไว้แก่คนในบางศาสนา เป็นต้น

พรรคการเมืองจะมีความอ่อนไหวต่อการเคลื่อนไหวของภาคประชาชน (เช่นการถอนร่างกฎหมายป้องกันการโจรกรรมทางคอมพิวเตอร์ในสหรัฐเมื่อเร็วๆ นี้) พรรคเล็กๆ ตัดสินใจเข้าร่วมรัฐบาล ไม่ใช่เพื่อจับจองตำแหน่งรัฐมนตรีการท่องเที่ยวหรือเกษตร แต่เพื่อต่อรองแลกเปลี่ยนกับนโยบายที่เป็นฐานเสียงของพรรคบางประการ

กลุ่มกดดันทางการเมืองอีกจำนวนมาก ยังอาจทำงานได้โดยไม่ถูกขัดขวาง และทำให้การเมืองทั้งระบบ ไม่อาจดำเนินไปในทางสุดโต่ง (ไม่ว่าขวาหรือซ้าย) ได้ ฉะนั้นตัวระบบการเมืองเองนั่นแหละคือพื้นที่แห่งความสมานฉันท์ที่กว้างใหญ่และมีประสิทธิภาพ

น่าเศร้าที่พื้นที่แห่งความสมานฉันท์ใหม่ๆ เช่นนี้ไม่เกิดในการเมืองไทย จะด้วยเหตุผลใดก็ตามเถิด แต่ไม่เกิดหรือยังไม่เกิด


กฎหมายก็เป็นพื้นที่แห่งความสมานฉันท์ที่สำคัญของสังคมสมัยใหม่เช่นกัน อันที่จริงในทุกสังคมมีความต่างด้านกฎหมาย (หรือหลักของกฎหมาย) อยู่ด้วยกันทั้งสิ้น เพราะนอกจากกฎหมายของรัฐแล้ว มนุษย์ยังต้องอยู่ภายใต้กฎหมายของเผ่า, ของประเพณี, ของศาสนา, และของวัฒนธรรมบางอย่าง ฯลฯ อยู่ด้วยทั้งสิ้น

ปัญหาคือกฎหมายเหล่านี้กับกฎหมายของรัฐต้องไม่ขัดแย้งกัน ด้วยเหตุดังนั้น ในกฎหมายของหลายรัฐ จึงเปิดให้กฎหมายประเพณี, กฎหมายศาสนา, กฎหมายชนเผ่า ฯลฯ เข้ามามีส่วนในระบบกฎหมายของรัฐด้วย (เพื่อหลีกเลี่ยงความขัดแย้งกัน) เช่น กรรมสิทธิ์เหนือทรัพยากรที่กฏหมายยอมรับนั้นมีหลากหลายประเภท ไม่ตายตัวอยู่เพียงสองประเภท (สมบัติเอกชน-สมบัติรัฐ) ดังเช่นที่ปรากฏในกฎหมายไทย บางรัฐยอมรับสิทธิการไม่ถูกเกณฑ์ทหารของประชาชนผู้นับถือนิกายศาสนาบางอย่างซึ่งห้ามการจับอาวุธขึ้นสังหารเพื่อนมนุษย์

กฎหมายที่ไม่แข็งกระด้างจนเกินไป จึงเป็นพื้นที่แห่งความสมานฉันท์ในสังคมชาติ และในทางตรงกันข้าม กฎหมายที่บัญญัติไว้อย่างแข็งกระด้าง ย่อมกลายเป็นพื้นที่แห่งความขัดแย้ง ซึ่งอาจกลายเป็นความขัดแย้งที่รุนแรงได้ด้วย ดังคำพิพากษาตามกฎหมายที่ประชาชนนักอนุรักษ์จำนวนมากได้รับในเมืองไทยเวลานี้


การปกครองส่วนท้องถิ่นที่เป็นอิสระก็เป็นพื้นที่แห่งความสมานฉันท์ที่สำคัญในรัฐสมัยใหม่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นซึ่งต้องมีอำนาจที่สลับซับซ้อนและหลากหลายกว่าตำแหน่งบริหารที่มาจากการเลือกตั้ง ในขณะที่มีอำนาจในการจัดการทรัพยากรนานาชนิดในท้องถิ่นของตนเองระดับหนึ่ง ทำให้ความขัดแย้งย่อส่วนลงมาเหลือแต่เพียงท้องถิ่น ประชาชนในท้องถิ่นสามารถกำกับให้ความขัดแย้งนั้น คลี่คลายไปตามกติกาได้ การปกครองท้องถิ่นในลักษณะดังกล่าวนี้ จึงเป็นพื้นที่แห่งความสมานฉันท์ที่มีประสิทธิภาพ เพราะการตัดสินใจซึ่งจะมีผลกระทบต่อชีวิตของผู้คนในท้องถิ่น จะต้องกระทำโดยยอมรับการต่อรองจากทุกฝ่าย ได้ผลในเชิงประนีประนอมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

น่าเสียดายที่การปกครองส่วนท้องถิ่นในลักษณะดังกล่าวยังไม่เกิดขึ้นในสังคมและรัฐไทย


ทั้งหมดนี้เป็นเพียงตัวอย่างของพื้นที่แห่งความสมานฉันท์ซึ่งสังคมสมัยใหม่จำเป็นต้องพัฒนาขึ้น ในหลายปีที่ผ่านมา เราพูดถึงความสมานฉันท์ในสังคมไทยกันอยู่เสมอ แต่มักมีความหมายแคบๆ เพียงว่ามีเวทีให้คู่ขัดแย้ง (มุสลิมกับพุทธ, เหลืองกับแดง, เอา 112 กับไม่เอา 112 ฯลฯ) ได้มาพบปะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน สร้างพื้นที่แห่งความสมานฉันท์ขึ้นชั่วคราว เพื่อระงับความขัดแย้ง

ก็ถือว่าดีกว่าไม่มีพื้นที่ประเภทนี้เสียเลย และอาจระงับความขัดแย้งได้ชั่วคราวเท่าเวที เพราะพื้นที่แห่งความสมานฉันท์ที่จะมีประสิทธิภาพจริง ต้องเป็นส่วนหนึ่งของระบบ ไม่ใช่สิ่งชั่วคราวเฉพาะกิจ หากเป็นส่วนหนึ่งของระบบการเมือง, เศรษฐกิจ, สังคม และวัฒนธรรม, เป็นเวทีถาวรที่ทุกฝ่ายเข้าไปใช้ได้อย่างเสรี, และเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตในสังคมสมัยใหม่

ฉะนั้น ตราบเท่าที่สังคมไทยไม่ร่วมกันพัฒนาพื้นที่แห่งความสมานฉันท์ประเภทนี้ขึ้น สังคมไทยก็จะเป็นสังคมแห่งความเครียด การเคลื่อนไหวทุกอย่างอาจนำไปสู่ "อุบัติเหตุ" ที่ไม่มีใครคาดคิดหรือต้องการได้ง่ายๆ

หลวงพ่อโต วัดพนัญเชิง ช่วยอะไรไม่ได้เสียแล้ว



.

2555-01-27

แอปเปิ้ลลูกที่สาม โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์

.
admin บทความดี จะโพสต์ตามปกติอีกครั้งในวันที่ 31 ม.ค. 2555

______________________________________________________________

แอปเปิ้ลลูกที่สาม
โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1641 หน้า 30


หลังมรณกรรมของ นายสตีฟ จ็อบส์ บางคนกล่าวยกย่องเขาว่า ในโลกนี้มีแอปเปิ้ลอยู่สามลูกที่เปลี่ยนวิถีชีวิตของมนุษยชาติทั้งหมด ลูกแรกคือลูกที่คุณย่าอีฟกินเข้าไป ลูกที่สองคือที่หล่นลงศีรษะของ เซอร์ไอแซ็ก นิวตัน และลูกที่สามคือแอปเปิ้ลซึ่งเป็นยี่ห้อของสินค้าไอทีนานาชนิด

ผมสงสัยแอปเปิ้ลลูกที่สามนี่แหละครับ ไม่ใช่สงสัยว่าไม่มีผลต่อวิถีชีวิตมนุษย์นะครับ แต่สงสัยว่ามีอะไรที่แตกต่างระหว่างแอปเปิ้ลลูกนี้ กับอีกสองลูกแรกอย่างมากเสียจนกระทั่งการเอาแอปเปิ้ลสามลูกมาปนกันเช่นนี้ สะท้อนความเปลี่ยนแปลงที่มโหฬารในวิธีคิดของคนปัจจุบัน

ดังนั้น ผมจึงพูดถึงแอปเปิ้ลสองลูกแรกเพื่อชี้ให้เห็นว่ากระทบต่อวิถีชีวิตมนุษย์เราอย่างไร

ผมขอเริ่มจากแอปเปิ้ลลูกที่สองก่อน


ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 17 นั้น นักปราชญ์ในยุโรปรู้จักระบบสุริยจักรวาลแล้ว แม้แต่คำนวณวิถีการโคจรของดาวพระเคราะห์ต่างๆ ก็ทำได้แล้วอย่างแม่นยำ แต่มีปัญหาอยู่ว่า เหตุใดดวงจันทร์ซึ่งโคจรรอบโลกจึงไม่ถูกเหวี่ยงกระเด็นออกไปจากวิถีโคจร นัยยะก็คือระบบสุริยจักรวาลทั้งระบบนั้นมีแบบแผนการเคลื่อนที่ของเทหวัตถุที่ตายตัวอย่างนั้นได้อย่างไร

แอปเปิ้ลที่หล่นลงศีรษะของเซอร์ไอแซ็ก (ซึ่งไม่ทราบว่าเกิดขึ้นจริงหรือไม่) ทำให้เขาคิดวาดภาพพลังที่กำหนดการเคลื่อนที่ของเทหวัตถุทั้งจักรวาลขึ้นมาได้ เรียกว่า "แรงโน้มถ่วง" เป็นคำอธิบายโลกและเอกภพที่เนี้ยบที่สุดเท่าที่มนุษย์เคยคิดขึ้นได้ (ไม่ว่าจะจริงหรือไม่ หรือจริงแค่ไหนก็ตาม)

อันที่จริง นอกจากเซอร์ไอแซ็กแล้ว ยังมีนักคำนวณอีกหลายคนในยุโรป ทั้งก่อนหน้าและร่วมสมัยเขาที่คิดอะไรทำนองใกล้กันมาแล้ว ฉะนั้น ถ้าแอปเปิ้ลลูกนั้นไม่หล่นลงศีรษะของเขา แต่ไปหล่นลงศีรษะคนอื่น ก็คงจะเกิดทฤษฎีอะไรสักอย่างที่อธิบายการเคลื่อนที่ของเทหวัตถุทั้งจักรภพได้อยู่นั่นเอง

อย่างไรก็ตาม แอปเปิ้ลลูกนั้นไปกำหนดโลกทรรศน์ของมนุษย์สืบต่อมาอีกหลายร้อยปี โลกทางวัตถุทั้งหมดล้วนสัมพันธ์กันในเชิงกลไก แม้แต่โลกที่ไม่เป็นวัตถุเช่นความสัมพันธ์ทางสังคม (ในทางการเมือง, เศรษฐกิจ, การบริหาร, สังคม ฯลฯ ) ก็ล้วนอธิบายได้ด้วยความสัมพันธ์เชิงกลไกในวิถีเดียวกับสิ่งที่เป็นวัตถุ

ดังนั้น สิ่งที่ไม่อาจอธิบายในเชิงกลไกได้ทั้งหลาย (เช่น ผี, พระเจ้า หรือพระนิพพาน) จึงถือว่าไม่มี หรือถึงมีก็ไม่เกี่ยวอะไรกับเรา


แอปเปิ้ลลูกแรกกำหนดวิถีชีวิตของเราเสียยิ่งกว่าลูกไหน แอปเปิ้ลลูกนี้คือลูกที่ย่าอีฟกินเข้าไป อันที่จริงผลไม้ลูกนี้จะเป็นแอปเปิ้ลหรือมิใช่ก็ไม่มีใครรู้ เพียงแต่ว่าชาวคริสต์ตะวันตกไปสมมติให้เป็นแอปเปิ้ล ก็เลยถือกันมาว่าคือแอปเปิ้ล พระคัมภีร์เรียกผลไม้ชนิดนี้ว่ามาจาก "ต้นไม้แห่งความสำนึกในความดีและความชั่ว" นี่เป็นคำแปลใหม่ของคัมภีร์พันธสัญญาเก่า ฉบับเดิมที่ผมเคยอ่านเมื่อเป็นเด็กเรียกว่า "ต้นไม้แห่งความรู้ (ดีรู้ชั่ว)" ซึ่งตรงกับฉบับแปลอังกฤษของพระเจ้าเจมส์

คุณย่าตัดสินใจกินแอปเปิ้ลลูกนี้ทำไม พระคัมภีร์บอกว่างูมาหลอกให้กิน แต่ในฐานะลูกหลานของคนที่กินผลไม้แห่งความรู้เข้าไปแล้ว ผมออกจะสงสัยว่าคุณย่าได้เลือกแล้ว ระหว่างชีวิตสุขสบายที่ไร้ "ความรู้" (หรือสำนึกผิดชอบชั่วดี) กับชีวิตยากเข็ญที่กอปรด้วยความรู้ คุณย่าเลือกอย่างหลัง และสาปให้เราทั้งหมดต้องมีชีวิตที่เต็มไปด้วยขวากหนาม แต่ต่างจากเพื่อนสัตว์ของเราทุกตัวในสวนอีเดน จะผิดหรือถูกก็ตาม คุณย่าอีฟคือผู้หญิงคนแรกที่เราทุกคนควรคารวะแม้น้ำตาจะอาบแก้ม

ไม่มีแอปเปิ้ลลูกแรก ก็ไม่มีลูกที่สอง และลูกที่สาม



คราวนี้ก็มาถึงแอปเปิ้ลลูกที่สาม

คงไม่มีใครปฏิเสธความเป็นอัจฉริยะของ นายสตีฟ จ็อบส์ ได้ รวมทั้งคงไม่มีใครปฏิเสธว่าสินค้าของเขานำความเปลี่ยนแปลงมาสู่วิถีชีวิตของผู้คนไม่น้อยเลย

แต่เขาไม่ได้เป็นนักประดิษฐ์อย่างเอดิสันนะครับ คนที่สร้างแอปเปิ้ล 1 และ 2 คือเพื่อนของเขาซึ่งเป็นวิศวกรชื่อ สตีฟ วอซนิแอก (และคงเป็นวิศวกรอัจฉริยะด้านอิเล็กทรอนิกส์) จ็อบส์เพียงแต่มองเห็นโอกาสทางด้านการตลาดของผลิตภัณฑ์ใหม่นี้ เห็นสิ่งที่คนอื่นมองไม่เห็นว่า คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลจะแทรกเข้าไปในวิถีชีวิตของคนสมัยใหม่ได้อย่างไร

เมาส์ซึ่งดูเหมือนเป็นนวัตกรรมของแอปเปิ้ลก็เหมือนกัน บริษัทที่คิดขึ้นก่อนคือซีรอกซ์ แต่จ็อบส์มองเห็นว่าหากเอามาเชื่อมต่อกับโปรแกรมให้รับคำสั่งของผู้ใช้ การใช้งานก็จะง่ายเสียจนการใช้คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลไม่ต้องการอะไรมากไปกว่ามีสตางค์ซื้อ

ไอพอดไม่ได้ใช้เทคโนโลยีอะไรใหม่ การเก็บไฟล์ในรูปเอ็มพีสามมีคนคิดขึ้นก่อนนานแล้ว แม้แต่การเอาเพลงใส่กระเป๋า โซนี่ก็เสี่ยงทำมาก่อนเป็นสิบปี กับ "ซาวด์อะเบาต์" หรือเทปตลับพกพาและประสบความสำเร็จอย่างสูง เทคโนโลยีดิจิตอลทำให้เครื่องเล็กลงและคุณภาพเสียงดีขึ้นอย่างผิดหูผิดตาเท่านั้น ฉะนั้น ไอพอดจึงไม่ได้แสดงอัจฉริยภาพ แม้แต่ด้านการตลาดด้วยซ้ำ

ที่น่าจะถือว่าหลักแหลมด้านการตลาดกว่า น่าจะเป็นไอทูนส์ หรือโปรแกรมจัดการกับเพลงนับตั้งแต่เก็บ, เล่น และซื้อขาย แต่ในด้านการค้าขายนั้น ไม่ใช่ผู้เล่นทำเองนะครับ ต้องมีศูนย์อยู่ที่บริษัทแอปเปิ้ล ซึ่งได้กินกำไรจากการซื้อขายอีกทีหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ทำให้ธุรกิจเพลงในโลกตะวันตกเปลี่ยนแปลงไปอย่างมโหฬาร

จ็อบส์เองก็ยอมรับก้าวใหญ่ๆ ที่พ่อค้าอื่นได้ทำมาก่อน เช่นเมื่อประสบความสำเร็จอย่างเลื่องลือแล้ว "ผมเคยพูดว่า แอปเปิ้ลจะเป็นโซนี่ของธุรกิจนี้ แต่ความจริงแล้ว ผมคิดว่าแอปเปิ้ลควรเป็นแอปเปิ้ลของธุรกิจนี้" จ็อบส์กล่าว

จ็อบส์ไม่ใช่ผู้สร้างเวิลด์ไวด์เว็บขึ้น แต่ผู้สร้างทำมันขึ้นจากคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลยี่ห้อ NeXT อันเป็นผลิตภัณฑ์ของบริษัทที่จ็อบส์ตั้งขึ้น (หลังจากถูกบีบให้ออกจากแอปเปิ้ล) อันเป็นคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลที่ก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีอย่างยิ่งในสมัยนั้น ทั้งฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์

แต่จ็อบส์อาจเป็นคนแรกหรือคนแรกๆ ที่เห็นว่า คอมพิวเตอร์ "ระหว่างบุคคล-interpersonal-" นี่แหละ ที่จะเป็นฐานการตลาดมหึมา เพราะผู้บริโภคพร้อมจะจ่ายเงินเพื่อซื้อเข้าบ้านแล้ว

บริษัทของเขาไม่ได้ริเริ่มคิดระบบจอสัมผัสขึ้นก่อน แต่จ็อบส์มองเห็นศักยภาพของจอสัมผัสในแง่การตลาดก่อน จนแอปเปิ้ลพัฒนาระบบ multi-touch ขึ้น ซึ่งทำให้เราสามารถย่อหรือขยายจอได้ด้วยนิ้วของเราเอง (จอสัมผัสแต่เดิมแตะได้ทีละจุดเดียว)

เมื่อรวมความสามารถของเครื่องเหล่านี้เข้าด้วยกัน ไอโฟนก็อยู่แค่เอื้อม อันที่จริงไอโฟนไม่ได้มีเทคโนโลยีอะไรใหม่เลย แต่อาศัยเทคโนโลยีที่มีอยู่แล้วมาย่นย่อเข้าไปในเครื่องโทรศัพท์มือถือที่เต็มไปด้วยลูกเล่น

ความสำเร็จจึงไม่ได้อยู่ที่ประดิษฐกรรมใหม่ แต่อยู่ที่ทัศนวิสัยที่ทำให้เห็นว่า สิ่งละอันพรรค์ละน้อยเหล่านี้ เมื่อนำมารวมกันแล้วจะเกิด "ผลิตภัณฑ์" ใหม่ขึ้นได้อย่างไร


ในทัศนะของจ็อบส์ นี่คือการสร้างสรรค์ เขากล่าวว่า

"การสร้างสรรค์คือการเอาสิ่งต่างๆ มาต่อกัน เมื่อคุณถามนักสร้างสรรค์ว่าเขาทำอะไรบางอย่างขึ้นมาได้อย่างไร เขาจะรู้สึกผิดนิดๆ เพราะที่จริงเขาไม่ได้ทำมันขึ้นมา เขาเพียงแต่เห็นอะไรบางอย่างเท่านั้น ดูจะเห็นได้ชัดในหมู่นักสร้างสรรค์หลังจาก[ได้คิด]สักครู่ว่า เพราะเขาสามารถเอาประสบการณ์ที่เขาเคยมีมาต่อกัน แล้วก็สังเคราะห์สิ่งใหม่ขึ้น"

ที่จริงแล้ว จ็อบส์เป็นศิลปินมากกว่านักประดิษฐ์อย่างเอดิสัน วิชาในมหาวิทยาลัยซึ่งประทับใจเขามาก ได้นั่งเรียนโดยไม่ลงทะเบียนเพราะลาออกแล้ว คือวิชาอักษรศิลป์ (calligraphy) อันทำให้เขาสร้างฟรอนต์คอมพิวเตอร์ให้งามด้วยระยะช่องไฟที่เท่ากันให้แก่แอปเปิ้ลมาก่อนที่จะถูกวินโดวส์ลอกเลียนไป เขาคือผู้ออกแบบผลิตภัณฑ์ (หรือกำกับการออกแบบ) ที่ดึงดูดลูกค้าได้เหมือนมนต์สะกด เรียบ ง่าย แต่สวยทน

ในจำนวนผลิตภัณฑ์ 342 รายการที่จดสิทธิบัตรไว้กับกรมทรัพย์สินทางปัญญาของสหรัฐ ส่วนใหญ่แล้วเป็นด้านออกแบบ ในด้านที่เป็นสิ่งประดิษฐ์มีอยู่เพียง 43 รายการ

การออกแบบมีความสำคัญอย่างไรในตลาดที่การแข่งขันมีสูง คงไม่ต้องพูดถึง

และความเป็นศิลปินเช่นนี้เอง ที่ทำให้การบริหารของเขาคือเจ้าอารมณ์ เล่ากันว่า เมื่อเขากลับมาแอปเปิ้ลใหม่อีกครั้ง พนักงานบริษัทเกรงจะพบเขาในลิฟต์ เพราะอาจถูกไล่ออกระหว่างทาง ดังที่เขาทำไปแล้วกับพนักงานบางคน

ทั้งๆ ที่ตัวจ็อบส์เองกล่าวว่า วิธีทำธุรกิจของเขาเอาแบบจากสี่เต่าทอง คือต่างถ่วงดุลความบกพร่องของกันและกัน จนเกิดสิ่งใหม่ที่ไม่ใช่ผลรวมของสี่คน "สิ่งใหญ่ๆ ในโลกธุรกิจไม่ได้ทำคนเดียว แต่ทำโดยทีม"

ฉะนั้น ต้องระวังสิ่งที่เขาพูดกับสิ่งที่เขาทำ ไม่จำเป็นว่าจะสอดคล้องกันเสมอไป



จ็อบส์เคยกล่าวโจมตีนักสิ่งแวดล้อมอย่างหนัก เพราะแอปเปิ้ลถูกโจมตีว่าไม่มีแผนในการรีไซเคิลผลิตภัณฑ์ของตน แต่ชั่วไม่กี่สัปดาห์หลังจากนั้น จ็อบส์คงพบว่าไม่อาจต่อต้านกระแสอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมได้ แอปเปิ้ลกลับมาเสนอแผนรีไซเคิลแก่ผลิตภัณฑ์ตนเองยกใหญ่ เช่น รับเครื่องเก่าไปรีไซเคิลทันทีที่ซื้อเครื่องใหม่ เป็นต้น

เขาซื้อบ้านหลังใหญ่ที่สถาปนิกมีชื่อของสหรัฐเป็นผู้ออกแบบ แต่กลับทิ้งให้มันเสื่อมโทรม และจะรื้อทิ้งทั้งหลัง กลายเป็นคดีกับชาวบ้านที่อยากเก็บบ้านนั้นเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของท้องถิ่น (และของชาติ) ในที่สุดเขาก็ได้สิทธิ์รื้อบ้านหลังนั้นลงจากคำพิพากษาขั้นอุทธรณ์

นักคอมพิวเตอร์บางคนตั้งข้อสังเกตว่า ผู้บริโภคถูกควบคุมอย่างไรจากผลิตภัณฑ์ของแอปเปิ้ล (ง่ายๆ เช่น ไอแพดไม่สามารถต่อเชื่อมกับแฟลชไดรฟ์ได้ สื่อบางสำนักยกย่องเขาว่า จ็อบส์คือผู้สร้างคุกที่นุ่มนวลที่สุดแก่เสรีชนผู้งมงาย)

สำนักพิมพ์ที่พิมพ์ชีวประวัติของเขาโดยไม่ได้รับอนุญาต ถูกห้ามเสนอชื่อหนังสือไปจำหน่ายผ่านไอทูนสตอร์ เด็กหนุ่มที่เป็นสาวกของเขาคนหนึ่งถูกฟ้องร้องให้ปิดเว็บบล็อกของตน เพราะเก่งในการทำนาย "ความลับ" ของผลิตภัณฑ์ตัวใหม่ของแอปเปิ้ล เนื่องจากจ็อบส์ถือว่า ความลับเป็นสุดยอดของพลังที่จะกระตุ้นความสนใจของผู้บริโภค เมื่อจะเปิดตัวสินค้าใหม่

แม้เขาจะกล่าวว่า สิ่งสำคัญในชีวิตของเขาไม่ใช่มีเงินร้อยล้านเหรียญในป่าช้า แต่คือการได้คิดได้ทำสิ่งมหัศจรรย์ใหม่ๆ ให้แก่โลก เขาจึงมีเงินตามประมาณการของ Forbes ใน ค.ศ.2010 อยู่ถึง 8.3 พันล้านเหรียญ เป็นเศรษฐีอเมริกันลำดับที่ 42

สินค้าตัวสำคัญสุดของแอปเปิ้ลที่จ็อบส์เฝ้าออกแบบมาอย่างเนี้ยบที่สุดคือ สตีฟ จ็อบส์

สตีฟ จ็อบส์ ตัวจริงจะเป็นอย่างไรก็ตามเถิด แต่การที่เขากลายเป็นแอปเปิ้ลลูกที่สามนี่สิครับ ที่สะท้อนให้เห็นว่าโลกได้เปลี่ยนไปจากการตัดสินใจของคุณย่าอีฟเสียแล้ว เราอยากกลับไปอยู่ในสวนอีเดนใหม่ และสิ่งแรกที่เราต้องทำคือคายแอปเปิ้ลหรือผลไม้แห่งความรู้ (ดีรู้ชั่ว) ออกมา



______________________________________________________________

admin บทความดี จะโพสต์ตามปกติอีกครั้งในวันที่ 31 ม.ค. 2555

ขอเชฺิญคลิกอ่าน บทความแรกๆของบล็อค เช่น

ทางตันและทางออกของชนชั้นนำไทย (1)(2) โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์
http://botkwamdee.blogspot.com/2011/01/1-2.html

'ประชาธิปไตยแบบไทย', .36 ในการเมืองท้องถิ่น โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์
http://botkwamdee.blogspot.com/2011/03/36.html



.

2555-01-26

แก้รัฐธรรมนูญ (ถอนตะปูออกจากเท้า) ปรับ ครม. (เร่งจังหวะก้าวเดิน) โดย มุกดา สุวรรณชาติ

.

แก้รัฐธรรมนูญ (ถอนตะปูออกจากเท้า) ปรับ ครม. (เร่งจังหวะก้าวเดิน)
โดย มุกดา สุวรรณชาติ คอลัมน์ หลักศิลากลางน้ำเชี่ยว
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1641 หน้า 20


นับเป็นการเขียนถึงการแก้รัฐธรรมนูญเป็นครั้งที่ 3 ในรอบปี

แม้ฝ่ายที่ยอมรับว่าควรแก้ไขถกเถียงกันไปถึง วิธีการแก้ไข แต่ก็ยังมีกลุ่มคนที่ออกมาคัดค้าน เช่น กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กลุ่มอนุรักษนิยม กลุ่มนักวิชาการที่เคยเข้าร่วมกับคณะรัฐประหาร กลุ่มเอ็นจีโอบางส่วน กลุ่มชนชั้นสูงและชนชั้นกลางที่ต่อต้าน ทักษิณ ชินวัตร หัวชนฝา

เหตุผลสำคัญคือ เห็นว่าจะเป็นการแก้ไขเพื่อคนคน เดียวคือทักษิณ เพราะอำนาจทางการเมืองจะหลุดจากมือชนชั้นนำที่ผ่านวุฒิสมาชิกที่มาจากการแต่งตั้ง และองค์กรอิสระที่กลุ่มอำนาจเก่าตั้งมากับมือ ทำให้อำนาจต่างๆ ตกไปอยู่ในมือขององค์กรที่มีที่มาจากประชาชนโดยผ่านการเลือกตั้ง

รวมทั้งเหตุผลลึกๆ ที่หวั่นเกรงคือรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อาจจะนำไปสู่การกำหนดบทบาท สถานะและความสัมพันธ์ใหม่ขององค์กรและสถาบันที่ใช้อำนาจทางการเมืองให้มีลักษณะที่ต้องฟังเสียงประชาชนมากขึ้น

คนสามแสนจะให้คน 16 ล้านหุบปากเงียบไม่ได้อีกแล้ว


ทำไมต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับ 2550

ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ พูดถึงเหตุที่ต้องแก้รัฐธรรมนูญไว้สั้นๆ ว่า...

รัฐธรรมนูญฉบับที่ใช้ในปัจจุบันเป็นกติกาซึ่งไม่เป็นที่ยอมรับของหลายฝ่าย จึงเป็นกติกาที่ขัดขวางความปรองดองตัวจริงทีเดียว หากไม่แก้ไขรัฐธรรมนูญก็ยากที่จะนำสังคมไปสู่ความปรองดองที่แท้จริงได้ ดังนั้น หากต้องการความปรองดองจริง วิธีเดียวคือสร้างกติกาซึ่งเป็นที่ยอมรับกันทุกฝ่ายขึ้นใหม่ โดยพยายามตัดวงจรของการล้มกระดานหรือการรัฐประหารให้แน่นหนาที่สุดเท่าที่จะทำได้ด้วย

จาตุรนต์ ฉายแสง อธิบายเหตุผลไว้ค่อนข้างละเอียดว่าทำไมต้องแก้รัฐธรรมนูญ

รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีที่มาจากการรัฐประหาร ถือได้ว่าคณะรัฐประหารเป็นผู้ร่างขึ้น รัฐธรรมนูญฉบับนี้ยังได้รับรองการรัฐประหารด้วย การคงใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ต่อไปทั้งที่มีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งแล้ว

ในสายตาของอารยประเทศเขาถือเป็นเรื่องแปลกประหลาดที่รัฐบาลและรัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้งกลับยอมรับกฎกติกาที่พวกเผด็จการสร้างไว้

ในส่วนของเนื้อหา รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีเนื้อหาที่ไม่เป็นประชาธิปไตยและขัดต่อหลักนิติธรรมคือให้องค์กรที่มาจากการแต่งตั้งโดยคณะรัฐประหารหรือผ่านความเห็นชอบมาจากคณะรัฐประหารสามารถล้มรัฐบาลจากการเลือกตั้งได้

คนไม่กี่คนที่ไม่เชื่อมโยงกับประชาชนเลยสามารถหักล้างมติของประชาชนทั้งประเทศได้ การตรวจสอบ ควบคุมและถอดถอนฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารรวมทั้งข้าราชการระดับสูงทำโดยองค์กรที่ขาดความชอบธรรมและสามารถเลือกปฏิบัติโดยปราศจากการตรวจสอบถ่วงดุล นอกจากนี้ ยังมีประเด็นอื่นๆ ที่เป็นปัญหาอีกมาก

เมื่อใช้รัฐธรรมนูญนี้มาระยะหนึ่งก็พิสูจน์แล้วว่าทำให้ประเทศไม่มีเสถียรภาพทางการเมือง ใครมาเป็นรัฐบาลก็ไม่มีเสถียรภาพและไม่สามารถบริหารประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ พรรคการเมืองและระบบพรรคการเมืองถูกทำลายให้อ่อนแอลงอย่างมาก

ความไม่เป็นประชาธิปไตยและขัดต่อหลักนิติธรรมของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ยังเป็นต้นเหตุสำคัญให้เกิดความขัดแย้งอย่างรุนแรงในสังคมไทยที่นับวันจะหนักหนายิ่งขึ้น

ทำให้ประเทศไทยเสียโอกาสในการพัฒนา ประชาชนเสียประโยชน์ทั้งๆ ที่ประเทศไทยอยู่ในจุดที่มีภูมิรัฐศาสตร์ที่เอื้ออำนวย มีโครงสร้างพื้นฐานในด้านต่างๆ ที่พัฒนาก้าวหน้ากว่าประเทศเพื่อนบ้านหลายประเทศ แต่ต้องกลับมาติดหล่มความขัดแย้งและยังขาดความน่าเชื่อถือจากนานาประเทศ

โดยเฉพาะในระบบความยุติธรรมและความไม่มีเสถียรภาพ

ทำให้ความสนใจที่เขาจะมาลงทุนหรือทำมาค้าขายด้วยน้อยลงไปอย่างมาก



การแก้รัฐธรรมนูญ คือการถอนตะปูที่ตำเท้าออก

สําหรับทีมวิเคราะห์เห็นว่าเวลาของการแก้รัฐธรรมนูญ ปี 2550 มาถึงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้แล้ว รัฐบาลยิ่งลักษณ์ แถลงเป็น นโยบายเร่งด่วน ต้องทำให้เสร็จใน 1 ปี ตอนนี้เหลือเวลาอีกไม่กี่เดือน

แต่เหตุผลที่สำคัญ คือประเทศไทยเดินต่อไปไม่ได้ เราหยุดเดินมาตั้งแต่การรัฐประหาร 2549 เพราะไปเหยียบตะปูที่กลุ่มอำนาจเก่าวางไว้ถึง 3 ตัว

ตะปูตัวที่หนึ่ง คือรัฐธรรมนูญฉบับ 2550

ตะปูตัวที่สอง คืออำนาจที่บงการขบวนตุลาการภิวัฒน์ ที่สามารถทำให้คนที่ผัดกับข้าวอยู่ตกลงไปในกระทะได้

ตะปูตัวที่สาม คืออำนาจลึกลับที่บงการอยู่เหนือผู้ถืออาวุธ ทำให้คนทั้งประเทศต้องคอยพะวงแต่เรื่องรัฐประหาร

วันนี้การแข่งขันเพื่อการอยู่รอดของประเทศต่างๆ ไม่ใช่สงครามแต่เป็นการผลิต และการค้า 10 ปี ที่แล้วเราวิ่งนำเพื่อนบ้าน แต่หลังการรัฐประหาร 2549 มีตะปู 3 ตัวมาเสียบฝ่าเท้า ก็คนในชาติเดียวกันนี่แหละ ที่ขี้อิจฉา ริษยา ด้วยความโง่เขลา จึงเริ่มต้นทำลายความก้าวหน้าของชาติตัวเอง ด้วยการพยายามเสกตะปูเข้าท้อง

เมื่อไม่สำเร็จ ก็ยกพวกมาปล้น

พอชาวบ้านออกมาช่วย พวกโจรก็หลบหนีไปซ่อนอยู่ในเงามืด บ้างก็แปลงกายเป็นคนดี แต่ยังวางกับดักตะปูไว้ 3 ตัว เมื่อตะปูเสียบเข้าฝ่าเท้า ทั้งประเทศก็เดินไม่ได้ ถ้าอยากจะเดินต้องถอนตะปูออก

ตะปูตัวแรกที่ถอนได้ง่ายๆ ที่สุดคือรัฐธรรมนูญ 2550 ใช้สภาผู้แทนฯ กับมติของประชาชนก็จัดการได้ จากนั้นจึงจะมีโอกาสนำรัฐธรรมนูญใหม่ ไปถอนตะปูตุลาการภิวัฒน์ และใช้ถอนตะปูอำนาจที่บงการอาวุธให้มาอยู่ในกรอบของการป้องกันประเทศ



จับจังหวะการเดินให้ทันโลก

การหมุนของโลกคงเดิม แต่จังหวะการเคลื่อนไหวของคนในโลกเร็วขึ้น ถ้าผู้นำช้า คนทั้งประเทศจะก้าวไม่ทันโลก ผู้นำและทีมงานต้องปรับตัวก่อน เช่น การชิงจังหวะลงทุนที่เมืองทวายในพม่า ผู้นำปรับตัวไปแล้วแต่ประชาชนพม่ายังงงๆ ไม่รู้จะปรับตัวรับกับประชาธิปไตยแบบหล่นจากฟ้าได้อย่างไร ก็ได้แต่หวังว่าครั้งนี้ น้ำจากฟ้า จะส่งผลให้พืชผล ต้นไม้ใบหญ้างอกงามขึ้นมาบ้าง

สำหรับประเทศไทย ถ้าถอนตะปูออกจากเท้าได้แล้ว ก็ต้องเร่งปรับจังหวะก้าวเดินให้ทันเพื่อนบ้านและประเทศอื่นๆ ที่พัฒนานำหน้าไปแล้ว

คนชั้นนำในพม่าดูตัวอย่างประเทศจีนและคิดว่า จีนคอมมิวนิสต์ยังพัฒนาทุนนิยมได้ วันนี้จึงทั้งรวยทั้งมีอำนาจ ผู้อาวุโสในพม่าซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นคนสูงวัยจึงเร่งจังหวะก้าวเดินเพราะทุกคนอยากเห็นความสำเร็จในขณะที่ตนเองยังมีชีวิตอยู่

วันนี้การเปลี่ยนนโยบายของพม่าจึงตรงตามความต้องการของทุกฝ่ายเพื่อจะได้โชติช่วงชัชวาลย์ทันตาเห็น

ส่วนกัมพูชา วัยของผู้นำกัมพูชาก็อยู่ในบั้นปลายชีวิต ในขณะที่ประเทศกัมพูชา ยังมิใช่ประเทศอุตสาหกรรม รายได้จากการท่องเที่ยวนครวัด นครธม ก็ยังน้อยมาก การเร่งจังหวะก้าวเดินของกัมพูชา ก็เพื่อหารายได้มาพัฒนาประเทศและเสริมความมั่นคงทางการเมือง จากทรัพยากรก๊าซและน้ำมันที่ชายฝั่งทะเลซึ่งทับซ้อนกับไทย

สำหรับมหาอำนาจต่างๆ ก็พอมองออกแล้วว่า ในระยะ 3- 5 ปีข้างหน้า ปัญหาพลังงานจะเป็นปัญหาใหญ่ หลายประเทศสงวนแหล่งพลังงานภายในประเทศของตนไว้แต่ออกล่าหาแหล่งอื่น แม้จะอยู่ไกลสุดหล้าฟ้าเขียว

แหล่งพลังงานในพม่าทั้งก๊าซและน้ำมันที่จะขุดได้ในอนาคตอาจไม่เหลือพอขายมากนัก เพราะพม่าจะพัฒนานิคมอุตสาหกรรมทวายให้มีขนาดใหญ่เป็น 8 เท่าของนิคมแถบจังหวัดระยอง

ในขณะพม่าประกาศยกเลิกโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินและยกเลิกโครงการสร้างเขื่อนขนาดยักษ์ตามการเรียกร้องของกลุ่มอนุรักษ์ธรรมชาติ การใช้น้ำมันและแก๊สที่ขุดได้จึงต้องมีจำนวนมหาศาล

ความหวังของกลุ่มผู้บริโภคและผู้ค้าน้ำมันจึงยังคงอยู่ที่แหล่งน้ำมันทับซ้อนไทยกัมพูชา

คาดว่าภายในปี 2555 น่าจะมีการอนุมัติสัมปทานเพื่อการสำรวจและขุดเจาะให้กับบริษัทของอเมริกา จีน อังกฤษ ฝรั่งเศส และ ปตท. ของประเทศไทย

เพราะการนำพลังงานเหล่านี้มาใช้ อาจต้องใช้เวลา 3-5 ปี จึงจะประสบความสำเร็จ



ปรับ ครม.
ส่วนหนึ่งของการเร่งจังหวะการเดิน

สําหรับรัฐบาลไทย มีความจำเป็นต้องเตรียมพร้อมเรื่องพลังงานเพราะถ้าหากเกิดปัญหาการขาดแคลนพลังงานขึ้นในประเทศ ในจังหวะเดียวกับที่การทรุดตัวของเศรษฐกิจในอเมริกาและยุโรป ที่ส่งผลสะเทือนมาถึง อาจทำให้รัฐบาลล้มได้

ดังนั้น การเตรียมพร้อมทางความมั่นคง ด้านพลังงานของรัฐบาลไทย จึงเป็นความต้องการที่ตรงกันกับทุกประเทศ

วันนี้ไทยอ่านเกมบนเวทีโลกได้อย่างแน่นอนแล้ว ทั้งพม่าและกัมพูชาเป็นศูนย์หน้าตัวเป้า ไทยเป็นกองกลาง ต้องโยนลูกให้แม่นเพื่อบุกเข้าไปยิงประตู

กัปตันทีมแบบยิ่งลักษณ์รู้แผนของโค้ชแล้วและเสนอให้เปลี่ยนตัวผู้เล่นเพื่อให้ได้ผลตามแผนที่วางไว้ ถ้าเปลี่ยนครั้งแรกยังไม่สำเร็จก็ต้องมีการเปลี่ยนครั้งที่ 2

ถ้าการปรับปรุงทีมครั้งนี้ได้ผลก็จะสามารถแก้ปัญหาทั้งภายในและภายนอกได้ ทั้งยังสามารถดึงพลังการเมืองจากต่างประเทศมาคานอำนาจกับกลุ่มอนุรักษนิยมและกลุ่มเผด็จการแผงที่ยังหลงเหลืออยู่ ถ้าสามารถแก้ปัญหาเศรษฐกิจหลักๆ ได้ ก็จะเพิ่มความนิยมและผลักดันให้รัฐบาลก้าวต่อไป มีกำลังต่อสู้กับอำนาจ ทุกรูปแบบ

ผู้วิเคราะห์มองว่าการปรับ ครม. เป็นเรื่องปกติ ในเมื่อโค้ชลงเล่นเองไม่ได้ ก็ต้องวางแผนอย่างดี หานักฟุตบอลที่เล่นเก่งได้ตามแผน เพื่อเสริมทีมให้แข็งแกร่ง สามารถชนะได้ในครั้งต่อไป เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย โค้ชจะไม่แคร์กับเสียงโห่ของฝ่ายตรงข้าม หลังจากนี้อีก 5-6 เดือนก็คงมีการเปลี่ยนตัวกันอีก

เวลานี้ประเทศไทยไม่มีทางเลือกอื่น นอกจาก ถอนตะปูออกจากฝ่าเท้า รักษาแผล แล้วเดินต่อไป หลายประเทศที่เป็นเพื่อนบ้านก็เร่งถอนตะปูออกเช่นกัน ที่อินโดนีเซียทำมาหลายปีแล้ว และได้ผล ส่วนพม่ากำลังเร่งถอนตะปูออกเช่นกัน

แต่ที่บ้านเรายังกังวลกันว่า วันนี้จะมีคนบางกลุ่ม แอบวางกับดักตะปูเพิ่มเข้าไปอีก โดยซ่อนไว้ใต้พรมของกระบวนการยุติธรรม ถ้ามีเหตุการณ์แบบนั้น เราจะได้เห็นการถีบยอดอกและเตะก้านคอทั้งๆ ที่เท้ายังมีตะปูคาอยู่



.

คู่มือรู้จักประเทศไทยแบบบ้านๆ..โดย คำ ผกา

.

คู่มือรู้จักประเทศไทยแบบบ้านๆ (กลัวคนฉลาดอ่านไม่รู้เรื่อง)
โดย คำ ผกา
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1641 หน้า 89


อ่านข่าวในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาแล้วต้องสะบัดหัวตัวเองสาม-สี่ครั้ง ก่อนจะหันไปมองซ้ายมองขวา ถามตัวเองอีกรอบว่า

"เฮ้ย ตรูอยู่ที่ไหนในโลกนี้??"

ลองอ่านตัวอย่างข่าวและบทความในหนังสือพิมพ์ที่ทำให้ฉันไม่รู้ว่าตัวเองอยู่ที่ไหนในโลก เสื้อผ้าที่นุ่งห่มนั้นไยไม่เป็นใบตองปิด "ตรงนั้น" สักสองใบ อาศัยอยู่ในถ้ำ ทุบหัวศัตรู หรือล่าฆ่าพวกที่คิดต่างมาบูชายัญ เจาะกินน้ำเหลือง ผ่ากะโหลก ดูสมอง หรือเฉาะสมองพวกที่เป็นศัตรูของเรามาร่วมในพิธีกรรมกินสมอง "ศัตรู" เพื่อความสาแก่ใจ สงสัยจังว่า นี่เราอยู่ในโลกที่มีตึกรามบ้านช่อง มีคอมพิวเตอร์ มีอินเตอร์เน็ต มีรถยนต์ เครื่องบิน กันจริงๆ หรือ?

"ผมชักชอบ "วรเจตน์ แอนด์ เดอะ แก๊ง" ขึ้นมาแล้วซีแฮะ นับวัน "ตลกร้าย" ขึ้นทุกที ยึดธรรมศาสตร์เป็นศูนย์กลาง "แดงล้มสถาบัน" ล่าสุด...ใช้ฤกษ์ตรุษจีน ประกาศจัดระเบียบ "สถาบันพระมหากษัตริย์-ศาล-กองทัพ-สถาบันการเมือง" ใหม่ คนที่เป็นพระมหากษัตริย์ต้องสาบานตน ประธานศาลต้องรัฐบาลตั้ง และ ผบ.เหล่าทัพต้องนายกฯ เท่านั้น...ตั้ง"
เสียดายที่ผมไม่ได้ไปร่วมฟังกับขบวนการแดงที่ธรรมศาสตร์วานซืนนี้ (22 มกราคม 2554) ได้แต่อ่านตามหน้าหนังสือพิมพ์ที่เขานำมารายงานเป็นข่าวไว้ แค่อ่านยังมันเข้าไส้ ไม่รู้ไปคิดเค้นรูปแบบและวิธีการแปลงบ้าน - แปลงเมืองอย่างนี้มาแต่ไหน
นับถือ...นับถือ นรกจกเปรตดีจริงๆ!" (เปลว สีเงิน, ไทยโพสต์ www.thaipost.net/news/240112/51540)

หรือ

"ผมว่าก่อนจะแก้รัฐธรรมนูญตามที่พวกคุณเสนอ ควรแก้ข้อบังคับทุนอานันทมหิดลให้ผู้รับทุนสาบานว่าจะไม่เนรคุณและไม่ทรยศ ต่อพระมหากษัตริย์ผู้พระราชทานทุนจะง่ายกว่ามั้ย ข้อเสนอผมไม่ต้องแก้รัฐธรรมนูญเลย.!!!" (บวรศักดิ์ อุวรรโณ. ข่าวจาก www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9550000010283)

หรือคำถามของนักข่าวที่มีต่อ ผบ.ทบ. ว่า

"เมื่อถามว่า ต้องเรียกคณะนิติราษฎร์มาพบปะพูดคุยหรือไม่ " หรือ

"มีการเสนอให้พระมหากษัตริย์สาบานตนก่อนเข้ารับตำแหน่ง พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า เขาทำได้หรือไม่ เขาคิดของเขา ก็ปล่อยให้เขาคิดไป เมื่อถามว่า ใกล้เคียงจะมีการเปลี่ยนระบอบการปกครองหรือไม่"
(www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1327301201&grpid=00&catid=&subcatid=)

เมื่ออ่านแล้ว คิดว่าสิ่งที่ดินแดนที่ฉันอาศัยอยู่ ณ ขณะนี้ รวมทั้งเพื่อนร่วมสังคมเดียวกันต้องการคือ "คู่มือรู้จักประเทศไทยในศตวรรษที่ 21 ฉบับบ้านๆ"



เริ่มเลยแล้วกัน

ก. นับตั้งแต่ปี 2475 (1932) ประเทศไทยปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยแบบราชอาณาจักร พระมหากษัตริย์เป็นประมุข อยากรู้ว่าประชาธิปไตยแบบราชอาณาจักรเป็นอย่างไร ดูตัวอย่างประเทศ ญี่ปุ่น และอังกฤษ พระมหากษัตริย์เปรียบเสมือน พระพุทธรูปบนหิ้งพระ เป็นที่เคารพ ทว่าไม่มีบทบาททางการเมือง

คำพูดที่ว่า The King can do no wrong - พระมหากษัตริย์ไม่มีวันทำอะไรผิดนั้นถูกต้องอย่างยิ่ง ทั้งนี้ เนื่องจากรัฐธรรมนูญกำหนดให้พระมหากษัตริย์ "ไม่ทรงทำการใดๆ" ทุกครั้งที่ทำ ต้องมีผู้รับสนองพระบรมราชโองการ พูดภาษาบ้านๆ ว่า "เพื่อปกป้องมิให้พระมหากษัตริย์ต้องแปดเปื้อน เราจึงกำหนดมิให้ท่านกระทำการทางการเมืองใดๆ ทั้งสิ้น"

พูดให้บ้านกว่านั้นก็คือ เรื่อง "การเมือง" นั้นเป็นเรื่อง โลกย์ๆ บ้านๆ ปล่อยให้เป็นเรื่องของ "นักการเมือง" และ "ประชาชน" ที่จะเข้ามาเปลืองตัว แปดเปื้อนเถิด


ข.การปกครองระบอบประชาธิปไตยนั้น จะเรียกได้ว่าเป็นประชาธิปไตยอย่างน้อยต้องมี "การเลือกตั้ง" หากปราศจากการเลือกตั้งแล้ว ไม่เรียกว่าประชาธิปไตย

ดังนั้น อย่ามาอ้างว่า "สมัยสุโขทัยก็เป็นประชาธิปไตย", ภูมิปัญญาในท้องถิ่นของเราก็มีความเป็นประชาธิปไตย ดูจากการเลือกผู้นำของชุมชน, ประชาธิปไตยไม่ใช่แค่การเลือกตั้ง, ประชาธิปไตยซับซ้อนกว่าการเดินไปกากบาทในคูหา, เราต้องการประชาธิปไตยแบบยั่งยืน ไม่ถูกครอบงำโดยทุน ฯลฯ

ย้ำแบบบ้านๆ ว่า จะต้องการประชาธิปไตยแบบพิสดาร พันลึก ซับซ้อน ซ่อนเงื่อน ปรึกษาหารือ มีส่วนร่วม หรืออะไรก็ตาม แต่ต้องเริ่มต้นจากการมีการเลือกตั้งและนับที่เสียงข้างมากเป็นเบื้องแรกเสมอ


ค.คนไทยยังโง่อยู่ ไม่พร้อมสำหรับการปกครองระบอบประชาธิปไตย ขอตอบแบบบ้านๆ ว่า การนับเสียงข้างมากนั้นไม่เกี่ยวกับความโง่ความฉลาดของประชาชน และไม่มีใครสามารถไปชี้หน้าตัดสินใครว่า "มึงแม่ง โง่ว่ะ" หรือ "เออ กูว่ามึงค่อยฉลาดมานิดนึงแระ เอาแซมเปิ้ลประชาธิปไตยแบบซองเล็กไปลองใช้ก่อนไหม ถ้าเวิร์กแล้วค่อยมาซื้อแบบขวดใหญ่ไปใช้ต่อ"

พวกคนที่คิดว่าตัวเองฉลาดจงฟังให้ดี ประชาธิปไตยนับที่เสียงข้างมาก เป็นกติกาที่อยู่บนฐานของแนวคิดที่เห็นคนที่ค่ามีสิทธิมีเสียงเท่ากัน วัดกันที่หนึ่งสิทธิหนึ่งเสียง

แล้วไอ้การวัดเสียงข้างมากก็ทำกันทุกๆ 4 ปี ไม่ได้อยู่ไปตราบชั่วฟ้าดินสลาย ประเดี๋ยวก็เปลี่ยน ประเดี๋ยวก็ได้ลงสนามมาวัดกันใหม่แบบแฟร์ๆ

ด้วยกติกาเช่นนี้ เราจะลดการตีหัวกัน ฆ่ากัน เพราะแย่งชิงอำนาจผลประโยชน์เยี่ยงมนุษย์ถ้ำ ง่ายๆ เท่านี้เอง

(ใครโง่กันแน่ฟะ เรื่องง่ายๆ ขนาดนี้ยังไม่เข้าใจ)


ง.ชาติ เป็นของประชาชน ไม่ใช่ของคนใดคนหนึ่งหรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ชาติไม่ใช่ "บ้าน" ที่จะมี "เจ้าของบ้าน" อันถือสิทธิที่จะบอกว่าคนนี้สมควรอยู่ในบ้านต่อ คนนี้สมควรถูกไล่ออกจากบ้าน - ตลกไปป่าว??

บุคคลาธิษฐานที่เปรียบว่า ชาติคือบ้าน คือครอบครัว มีพ่อมีแม่ มีลูก ลูกๆ ต้องเชื่อฟังพ่อแม่ ต้องกตัญญู ต้องตอบแทนบุญคุณ ต้องไม่เนรคุณ ทรยศ แถมยังมีการอุปโลกน์ศัตรูของชาติที่สมาชิกของครอบครัวต้องร่วมกันเกลียดขี้หน้า

บุคคลาธิษฐานแบบนี้เป็น จินตกรรมของชาติที่ผู้นำเผด็จการสร้างขึ้นเพื่อหลอกลวงให้ประชาชนเชื่อว่าตนเองเป็นเพียงเด็กเล็กๆ ของผู้นำ เชื่อเช่นนี้จะได้ปกครองง่ายๆ สั่งอะไรไปก็ไม่โต้เถียง เพราะขืนเถียงก็โดนข้อหาเนรคุณหรือสร้างความแตกแยกในครอบครัวเท่านั้น

แถมเมื่อผู้นำใช้ให้ตายก็จะไป เพราะนึกว่านี่เป็นการสนองคุณ


จ.งบประมาณที่ใช้ในการบริหารประเทศเป็นเงินภาษีของประชาชน สาธารณูปโภค โรงเรียน โรงพยาบาล ถนนหนทาง สถานที่ราชการ เงินเดือนข้าราชการ ทหาร ตำรวจ ครู หมอ มหาวิทยาลัย ทุนการศึกษาของรัฐบาล เงินเดือนข้าราชการสถานทูต ข้าราชการ ก.พ. ที่ดูแลนักเรียนไทยในต่างประเทศ ทุนการศึกษาในมหาวิทยาลัย ฯลฯ ล้วนแต่มาจากภาษีของประชาชน

เพราะฉะนั้น ในประเทศนี้ไม่มีใครเป็นหนี้บุญคุณใคร เพราะทุกคนเป็นประชาชน เสียภาษีเหมือนกัน อยู่ร่วมกันใช้เงินภาษีบนกติกาที่โลกอารยะคิดค้นมาแล้วว่า คนที่มีรายได้มากก็เสียมาก คนมีรายได้น้อยก็เสียน้อย แต่ทุกคนมีสิทธิเข้าถึงการให้บริหารของรัฐอย่างเสมอหน้ากัน

นี่คือกลไกลดความเหลื่อมล้ำในสังคม เป็นบันไดให้มีการขยับอัพคลาสเกิดกลุ่มชนชั้นกลางมากขึ้น คนรวยมีน้อยลงขณะเดียวกันคนจนก็จะมีน้อยลงไปด้วย

ง่ายอีกแระ - ไม่เห็นต้องไปเปลืองงบประมาณตั้งสองพันล้านไปจ้างคณะกรรมการปฏิรูปมาลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำในสังคม - ทำเรื่อง "พื้นๆ" นี้ให้ได้ก่อนเถอะ ค่อยไปคิดเรื่องยาก

แต่นี่โครงสร้างภาษีในประเทศไทยยังลักลั่นอัปลักษณ์ คนยิ่งรวยยิ่งมีหนทางฉ้อฉลในกลไกการเสียภาษี ภาษีที่ดิน ภาษีมรดกก็ไม่เก็บ

แค่นั้นยังไม่พอ พวกฉ้อฉลงมงาย ไม่สำเหนียกว่าประเทศชาติอยู่ได้ด้วยภาษีอากรของประชาชนยังชอบมาอ้างบุญคุณว่า "พวกตรูรวยกว่า เสียภาษีมากกว่า (แต่ไม่เคยอ้างอิงว่า "มากนั้น มากจากการอ้างอิงกับอะไร") เบื่อไอ้พวกคนจน เสียภาษีน้อยแล้วยังมามีหนึ่งสิทธิหนึ่งเสียงเท่าตรู โลกนี้ไม่ยุติธรรม

ขอย้ำอีกครั้งว่า ประเทศชาติบริหารจัดการด้วยเงินภาษีของประชาชน ไม่มีใครเป็นหนี้บุญคุณใคร ทุกคนมีศักดิ์ศรี มีสิทธิเท่าเทียมกัน ข้าราชการเป็นข้าราชการของประชาชน และเป็นประชาชน ทหารเป็นทหารของประชาชน ต้องปกป้องประชาชน เพราะประชาชนจ่ายเงินเดือน ตำรวจ ครู หมอ ล้วนเป็นลูกจ้างของประชาชน ครูบาอาจารย์ที่ได้รับทุนไปเรียนทั้งในประเทศและต่างประเทศยิ่งต้องตระหนักว่า นี่คือภาษี ยิ่งต้องละอายใจหากจะฉ้อฉลคดโกงต่อวิชาชีพของตนเอง

ไม่นับว่าองค์กรอิสระอีกหลายองค์กรที่กินเงินภาษีประชาชนอยู่ แต่ไม่เคยออกมาปกป้องสิทธิของประชาชนอย่างเช่น คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนของไทย - ท่านเหล่านี้ต้องไปหัดสะกดคำว่า หิริโอตตัปปะกันให้มาก


ฉ.ประเทศไทยไม่เหมาะสมกับการปกครองระบอบประชาธิปไตย

หากท่านเชื่อเช่นนี้ก็ต้องระบุมาให้ชัดเจนว่า ประเทศไทยเหมาะสมกับการปกครองแบบใด

เพราะเหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น

เรามีลักษณะพิเศษเช่นไร หรือเราเป็นมนุษย์ต่างดาว?

เมื่อท่านมีสิทธิเสนอว่า ประเทศไทยไม่เหมาะสมกับการปกครองระบอบประชาธิปไตย

คนอื่นๆ ที่เห็นว่า ไม่มีการปกครองระบอบไหนที่แย่น้อยไปกว่าประชาธิปไตยก็ย่อมมีสิทธิที่จะเสนอความคิดเห็นของพวกเขาเช่นกัน

โดยไม่จำเป็นต้องเจอข้อหา บั่นหัว ตัดคอ เสียบประจาน เนรคุณ


ช.น่าพิศวงมากว่า คนไทยชื่นชมความเจริญก้าวหน้า ความสวยงามน่าอยู่ ประสิทธิภาพในการบริหารจัดการเมองของเหล่าประเทศพัฒนาแล้วที่อยู่ในระบอบสหพันธรัฐบ้าง สาธารณรัฐบ้าง

เช่น ชอบประเทศ อเมริกา เยอรมัน ออสเตรีย ฝรั่งเศส ทัวร์ยุโรป ชอบโปรวองซ์ คลั่งกระเป๋าหลุยส์ อยากใส่แว่นกันแดดของอิตาลี

แต่ทำมั้ย ทำไม ถึงรังเกียจคำว่าสาธารณรัฐ ราวกับเป็นคำบาป คำต้องห้าม เป็นแวมไพร์ผีดิบ เจอคำนี้แล้วตาเหลือกถลน

ทำไมสังคมไทยไม่สามารถพูดถึงคำเหล่านี้ในฐานะที่เป็นคำศัพท์ทางการเมืองธรรมด๊า ธรรมดา

ไม่ชอบ ไม่อยากได้ก็ถกเถียงกันไปถึงข้อดีข้อเสีย

แต่ปรากฏการณ์สังคมไทยต่อ "คำ" เหล่านี้กลับกลายเป็น "บาป" อันสาหัส เป็นถ้อยคำสกปรก ทั้งๆ ที่ คนชั้นกลางมีการศึกษา อีกทั้งนักข่าวจำนวนมากที่คิดอะไรไม่ออกก็เอาไมค์ไปจ่อปาก ผบ.ทบ. ไว้ก่อน ก็ไม่รู้ว่าคำนี้แปลว่าอะไรและคืออะไรกันแน่?

เฉกเดียวกับที่ ประเทศไทยยังหลอนกับคำว่า "คอมมิวนิสต์" ทั้งๆ ที่เรายังไม่มีคำๆ นี้ในภาษาไทยเลยเสียด้วยซ้ำ - ตลกไหมอ่ะ ที่เราจะกลัวคำอะไรก็ไม่รู้ กลัวกระทั่งไม่มีการแปลออกมาเป็นภาษาไทย?????

โอ้ว...เรากลัวคำที่เรายังแปลกันไม่ได้เนี่ยะ - แล้วจะไม่ให้ฉันมองซ้ายมองขวาแล้วกลับมาถามตัวเองว่า "ที่นี่ที่ไหน" ได้ยังไง


ซ.เอ...คู่มือทำความรู้จักประเทศไทยฉบับบ้านๆ ต้องบอกด้วยหรือเปล่าว่า ประเทศไทย ไม่ได้มีอายุหลายร้อยปี สุโขทัย อยุธยา ธนบุรี หรือแม้กระทั่งรัตนโกสินทร์ก็ไม่ใช่ประเทศไทย เป็นแต่เพียงอาณาจักรต่างๆ

สำนึกเกี่ยวกับ "ชาติ" สำนึกว่าเราเป็นพลเมืองของ "ชาติไหน" นั้นเป็น สำนึกใหม่ ไม่เคยปรากฏมาก่อนในยุคสุโขทัย หรือพระนครศรีอยุธยา

เวลาดูหนัง ละคร อิงประวัติศาสตร์ ย้อนยุคทั้งหลายจะได้ไม่อินจนไข้ความเป็นไทยกำเริบ ตัวร้อน ผ่าวๆ อยากออกไปฆ่าฟันอริราชศัตรู

น่ากั๊วววว

ยิ่งไปกว่านั้น สำนึกของรัฐชาติสมัยใหม่ก็เกี่ยวพันกับการปกครองแบบประชาธิปไตยอย่างแยกไม่ออก เพราะฉะนั้น ถ้าไม่รักในประชาธิปไตยก็อย่าได้มาอ้างว่า "รักความเป็นไทย" นะจ๊ะ - อายเค้า


บทส่งท้ายคู่มือรู้จักประเทศไทยแบบบ้าน ขอเสนอข้อคิดแบบคมๆ ว่า (ถ้าคำสอนของพระเซเลบถูกยกย่องว่าคม ไอ้ที่ฉันกำลังจะเขียนนี่มันต้องคมมากแน่ๆ) : "การทำความดีย่อมไม่หวังผลตอบแทนและไม่ทวงบุญคุณ"

คมมั้ย???



.

เปิดๆ ปิดๆ เต้าไทย เต้าฝรั่ง และเต้าแขก โดย เพ็ญสุภา สุขคตะ ใจอินทร์

.

เปิดๆ ปิดๆ เต้าไทย เต้าฝรั่ง และเต้าแขก
โดย เพ็ญสุภา สุขคตะ ใจอินทร์ คอลัมน์ ปริศนาโบราณคดี
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1641 หน้า 76


มีคนเคยขอให้เขียนถึงเรื่องการเปิดๆ ปิดๆ นมต้มของผู้หญิงไทยมาหลายหนแล้ว ว่ามีความคิดเห็นอย่างไร นับแต่เกิดกรณีสาวน้อยย่านสีลมเปลือยอกเล่นน้ำในงานสงกรานต์เมื่อปีกลาย แล้วถูกผู้ใหญ่เคร่งจารีตในกระทรวงวัฒนธรรมลุกขึ้นมาเต้นตาม

กระทั่งมาถึงประเด็นร้อนแรงราวสองเดือนก่อน ต่อเสียงวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างโจ๋งครึ่มเรื่อง "ก้าวข้ามความกลัวด้วยหัวนม" ของ "คำ ผกา" ที่ถอดเสื้อเพื่อประท้วงกฎหมายมาตรา 112 ให้โลกรับรู้ว่ากรณีที่ศาลสั่งขัง "อากง" นานถึง 20 ปีแค่ส่ง SMS 4 ครั้งนั้นช่างเหี้ยมโหดเกินมนุษย์มนา

ตัดสินใจอยู่นานว่าจะเขียนเรื่องนมต้มให้ออกมาแนวไหนจึงจะไม่ดูเชย และซ้ำซากกับบทความของคนส่วนใหญ่ ที่มักหยิบสองประเด็นนี้มาใช้เป็นเครื่องมือแห่งอำนาจ นั่งเทศนาสั่งสอนศีลธรรมมนุษย์เสรีให้อยู่ในโอวาท จึงเลี่ยงบาลีหนีสีลมและ คำ ผกา

หันไปหยิบยกเรื่อง "บูรพาถัน" ทั้งของไทย ฝรั่ง แขก มาเปรียบเทียบกันแทนดีกว่า


เต้าไทย เต้าฝรั่ง
จากตะวันตกสู่ตะวันออก
จากตะวันออกสู่ตะวันตก

การเปลือยอกของผู้หญิงในช่วงร้อยปีเศษๆ นั้นสามารถหาดูได้จากภาพถ่ายเก่าสมัยรัชกาลที่ 4-5 ภาพเขียนลายเส้นประกอบหนังสือของนักผจญภัยชาวยุโรป รวมทั้งจิตรกรรมฝาผนังตามวัดต่างๆ ที่หลงเหลืออยู่มากมาย

ทั้งหมดนี้ล้วนแล้วแต่เป็นเครื่องยืนยันว่าผู้หญิงสยามในอดีตนั้นไม่ว่าอยู่ในภูมิภาคไหน ภาษาชนเผ่าชาติพันธุ์ใด ไพร่ชาวบ้านหรือพวกผู้ดีแปดสาแหรก ไปจนถึงสนมในรั้วในวัง แทบไม่มีใครได้สวมเสื้อแน่นอน

นอกจากอากาศจะร้อนร้ายแล้ว การเปลือยนมเดินโทงเทงยังถือว่าเป็นเรื่องธรรมชาติ เต้านมเป็นแค่เพียงอวัยวะส่วนหนึ่งของร่างกาย จะใหญ่จะเล็กจะยานเท้งเต้ง หัวนมดำหัวนมแดง ไม่ใช่เรื่องปมด้อยหรือปมเขื่องที่ต้องไปเสริมอึ๋มจนซิลิโคนเล่นงานกลายเป็นมะเร็งตามที่เป็นข่าวฮ็อต

ในทางตรงข้าม การเปิดนมกลับเอื้อประโยชน์ ใช้เป็นสัญลักษณ์สื่อให้ผู้ชายรู้ว่า หากเต้าไหนยังเป็นบัวตูม แสดงว่าฉันยังเอ๊าะอยู่นะจ๊ะ หรือเต้าไหนใหญ่เบ้อเร่อเบ้อร่า หากยังโสดก็อาจเนื้อหอมหน่อย เพราะแสดงว่าน่าจะเป็นแม่พันธุ์ที่ดีมีน้ำนมอุดมสมบูรณ์เลี้ยงลูกเต้าได้เป็นโหล เต้าไหนหย่อนคล้อยก็แสดงว่ามีลูกมีผัวแล้ว ก็แค่นั้น

ในเมื่อทุกคนต่างเปิดนมกันทั่วบ้านทั่วเมืองให้เห็นกันจะๆ แบบนี้ จนกลายเป็นเรื่องปกติ แสดงว่าคนยุคโบราณย่อมไม่ได้มองหน้าอกหน้าใจว่าเป็นเครื่องเย้ายวนกามารมณ์ และใช่เพียงแค่ผู้หญิงชาวอุษาคเนย์เท่านั้น หากมันยังเป็นวิถีชีวิตของชาวพื้นเมืองทั่วเอเชีย แอฟริกา อเมริกาใต้ อีกด้วย


กระทั่งถึงยุคพระนางเจ้าวิกตอเรียราชินีแห่งอังกฤษนี่แหละ ความคิดที่รู้สึกขยะแขยงอวัยวะส่วนที่เรียกว่าหัวนมนั้นพวยพุ่งขึ้นจนแทบจะปรี๊ดแตก ภายใต้คำว่า "สุภาพสตรีชั้นสูง" ต้องรู้จักรักนวลสงวนนม การปกปิดทรวงอกเริ่มแพร่หลาย ถึงขั้นออกกฎหมายให้พสกนิกรบ่าวไพร่สวมเสื้อกันถ้วนหน้า

หากใครไม่ปฏิบัติตาม ก็ถือว่าป่าเถื่อน ลามกอนาจาร!

ความคิดนี้ข้ามน้ำข้ามทะเลเข้ามาสู่ราชสำนักสยามในสมัยรัชกาลที่ 4 ยุคที่อังกฤษกำลังล่าอาณานิคมแถบเอเชีย เลดี้ทั้งหลายที่เป็นหม่อมห้ามนางในสมัยก่อนอาจห่มผ้าสไบผืนน้อยปกปิดเนินถันกัน แม้ไม่มิดชิดนัก คือพอเห็นเต้าวับๆ แวมๆ อยู่บ้าง ก็ต้องพลอยพยักเพยิดสวมเสื้อยุโรปแขนหมูแฮมระบงระบายลูกไม้ตั้งแต่คอปกเสื้อยันข้อมือกันอย่างประดักประเดิด ดูอย่างไรก็ไม่เข้ากันเลยสักนิดกับทรงผมดอกกระทุ่มที่ตัดสั้นจู๋ระต้นคอ คล้ายกับเอาเด็กนักเรียนที่ไว้ผมบ็อบติดกิ๊บปิ๊กแป๊กที่เราเรียกว่าทรงเด็กหญิงสมศรีไปใส่ชุดดรัมเมเยอร์ไม่มีผิด

บันทึกของ คาร์ล บ็อก นักธรรมชาติวิทยาชาวนอร์เวย์ที่เดินทางมาสำรวจแผ่นดินสยาม ในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้กล่าวถึงเหตุการณ์สะเทือนขวัญ ว่ามีผู้หญิงล้านนาคนหนึ่งถูกข่มขืนทารุณโดยขุนนางชาวสยาม เหตุเพราะไม่สวมเสื้อ คาร์ล บ็อก ใช้มุมมองแบบคนตะวันตกยุควิกตอเรียสรุปว่า จากนั้นมาสตรีล้านนาจำต้องป้องกันตัวเองให้พ้นจากบุรุษภัยด้วยการสวมเสื้อ

ค่านิยมเรื่องการปิดท่อนบนของสตรีสยามค่อยๆ ลุกลามจากกรุงเทพฯ สู่ชนบท จากราชสำนักสู่ชาวบ้าน ไม่นานเลยแค่เปลี่ยนยุคสมัยจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์สู่ยุคราชาธิปไตยชาตินิยม เผลอแผล็บเดียวความคิดนี้ได้กลายเป็นจารีตที่รับใช้อำนาจเผด็จการ เอะอะอะไรก็สั่งให้ปิดลูกเดียว ทั้งปิดหู ปิดตา ปิดปาก ห้ามแสดงออก ไปจนถึงปิดหัวนม


ค่านิยมว่าหัวนมคือเรื่องต้องห้ามและน่าอับอายทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเข้าสู่ยุคการสร้างภาพลักษณ์ของความเป็นกุลสตรีไทยผู้เรียบร้อยและแสนดี ในยุคที่พลตรีหลวงวิจิตรวาทการกำลับดูแลกระทรวงวัฒนธรรม ขึ้นชื่อว่าเกิดมาเป็นสตรีศรีสยามแล้วต้องรักนวลสงวนตัว ไม่นุ่งกางเกงขาสั้น เปิดเอวเปิดไหล่ชะเวิบชะวาบ หรือใส่เสื้อคอลึกเห็นร่องอก อย่าไปเอาอย่างพวกฝรั่งมังค่าเขา

อ้าว! ไหนกลายเป็นซะงั้น ก็เพิ่งบอกอยู่หยกๆ มิใช่หรือว่าเราเอาวัฒนธรรมการสวมเสื้อมาจากตะวันตก ช่างกระไรนี่! พอสิ่งใดที่คิดว่าไม่ดีกลับโทษฝรั่งอีก ทีจุดเริ่มต้นของความหวงแหนหัวนมนั้นฝรั่งเขาเป็นต้นคิดแท้ๆ แต่เรากลับไม่ให้เครดิต แกล้งมาทำเนียนว่าเป็นธรรมเนียมไทยแท้แต่โบราณ

ครั้นพอฝรั่งสายมะริกันนึกเบื่อจารีตอันคร่ำครึของผู้ดีอังกฤษ จึงลุกขึ้นมาขบถ แก้ผ้าแก้ผ่อนย้อนยุคกลับไปเหมือนกับสาวอุษาคเนย์ในอดีตบ้าง แทนที่จะมองว่านี่คือสัจธรรมแห่งการตีย้อนกลับของกระแสวัฒนธรรม ที่เมื่อเดินทางมาถึงจุดอิ่มตัวเดินต่อไปไม่ไหวแล้วก็มักสวิงกิ้งกลับไปสู่ขั้วตรงข้ามเสมอ

ก็ใครจะไปทนไหวเล่า กับกฎเกณฑ์ของผู้ดีตะวันตกที่ขีดเส้นให้สุภาพสตรีสูงศักดิ์ ต้องสวมชุดรัดเอวกิ่วคอดผูกเชือกแน่นกับกระโปรงสุ่มไก่ทั้งหนักทั้งบานขนาดนั้น หวังว่ายังจำนางเอกหนังเรื่องไททานิกกันได้นะ

คือคนไทยแยกไม่ออกระหว่างวัฒนธรรมต้นแบบของการสวมเสื้อกับวัฒนธรรมเปลื้องผ้า ว่าอันไหนเป็นของเราอันไหนเป็นของฝรั่ง เวลาจะบริภาษจึงด่าแบบผิดฝาผิดตัว เรามักคิดว่าเราขี้อายเป็นผู้ดีแต่ฝรั่งหน้าด้าน

แท้จริงแล้วกลับตาลปัตรกัน เรานั่นแหละที่เป็นสุดยอดแห่งความโป๊เปลือยตัวแม่ ในขณะที่ฝรั่งเพิ่งจะกล้าเดินตามรอยเราเมื่อไม่นาน



เต้าแขก
สตรีลังกากับผ้าทอเมืองกาสี

ลองหันมาดูเพื่อนบ้านแถบเอเชียใต้ว่าจะเปิดเปลือยหน้าอกเหมือนชาวอุษาคเนย์ไหม จึงนึกถึงภาพจิตรกรรมเขียนสีบนฝาผนังถ้ำที่เขาสีคิริยะ ศิลปะลังกาในสมัยราชวงศ์อนุราชปุระขึ้นมา เป็นภาพหญิงสาวยืนเป็นคู่ๆ ถือดอกบัวบานเตรียมไปบูชาพระ

ที่น่าประหลาดใจก็คือ บรรดาเจ้านางกลับโป๊ดูเหมือนไม่สวมเสื้อ แต่สาวใช้ที่ถือถาดเดินตามต้อยๆ กลับแต่งตัวมิดชิดมีผ้ารัดอกคาด ไฉนจึงเป็นเช่นนี้เล่า?

ยังจำคำสอนของ ศ.มจ.สุภัทรดิศ ดิศกุล ที่นักศึกษาชาวโบราณคดีนิยมเรียกว่า ท่านอาจารย์ หรือท่านสุภัทร ได้ดี ตอนที่ท่านฉายสไลด์ภาพนี้ ท่านอาจารย์ไขปริศนาว่า เหตุที่ผู้หญิงสูงศักดิ์ชาวลังกาหรืออินเดียดูคล้ายว่าโป๊นั้น แท้จริงแล้วไม่ได้โป๊ แต่เป็นการสวมผ้าทอเนื้อดีชั้นเยี่ยมซึ่งมีแหล่งทอจากเมืองกาสีในอินเดียต่างหาก ทำให้ผ้ามีลักษณะโปร่งใสบางเบา คือใส่แล้วเหมือนไม่ได้สวมอะไรเลย

ท่านสุภัทรยังกล่าวเชื่อมโยงถึงพระพุทธรูปอินเดียสมัยคุปตะที่ส่งอิทธิพลมายังสมัยทวารวดีในประเทศไทยด้วยว่า หากสังเกตให้ดีพระพุทธรูปเหล่านี้ก็ครองจีวรด้วยผ้าที่ทอมาจากเมืองกาสีเช่นกัน พระวรกายจึงเรียบเกลี้ยง คล้ายกับว่าจีวรที่ห่มคลุมนั้นบางแนบเนื้อจนมองเห็นพระถันนูน โชว์เอ็นกระดูกกล้ามเนื้อภายในชัดเจนทุกสัดส่วน แต่โชคดีที่มหาบุรุษเป็นเพศบริสุทธิ์จึงไม่มีการแสดงออกซึ่งองคชาต

ไม่ทราบเหมือนกันว่าโรงทอผ้าเนื้อดีที่สุดในโลกของเมืองกาสีประเทศอินเดียนั้นตั้งอยู่ที่ไหน ยุบกิจการไปแล้วหรือยัง เพราะเปิดโรงงานมานานแล้วกว่า 2,500 ปีตั้งแต่ยุคพุทธกาล เดาว่ายุคนั้นจะต้องเป็นโรงทอผ้าที่หัวกระไดไม่แห้งทีเดียว


แสดงว่าชนชั้นสูงทั้งชายหญิงในอินเดีย-ลังกายุคก่อน แม้นมีการสวมเสื้อผ้าอยู่จริง แต่ก็ให้คุณค่ากับเนื้อผ้าที่สามารถทอได้บางนุ่มเนื้อใสเนียนแบบซีทรู คือทะลุมองผ่านเห็นภายใน ชาวภารตะคงไม่ได้มองว่าอวัยวะภายใต้ผ้าผืนนั้นเป็นสิ่งควรสงวนต้องปกปิดหรือน่าอับอาย ตรงกันข้ามกลับมีความภูมิใจที่จะได้โชว์ "สรีระกล้ามเนื้อ" อันงดงามนั้นผ่านแพรพรรณเนื้อดี

ส่วนพวกไพร่ทาสวรรณะต่ำต้อย ไม่มีปัญญาจะเสาะหาผ้าเนื้อวิเศษราคาแพงจากเมืองกาสีมาสวมใส่เหมือนคนวรรณะสูง ก็จำต้องก้มหน้าก้มตาปกปิดนมต้ม ใส่ผ้าทอเนื้อหยาบหนาดูสากกระด้างกันไปตามมีตามเกิด


คุยเรื่องเต้าแขก ขอวกกลับมาที่เต้าไทย เมื่อเรามองเห็นเต้าสวยๆ อย่างสาวเล่นสงกรานต์ย่านสีลม หรือเต้าแขกของ คำ ผกา ("แขก" เป็นชื่อเล่นของเธอ) อันเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่ธรรมดานั้น แทนที่จะรุมประณามหรือแจ้งตำรวจมาปรับ 500 บาท ข้อหาอนาจาร

ทำไมจึงไม่คิดใหม่ว่า สิ่งที่เรามองเห็นนั้นแท้จริงมีผ้าผืนบางๆ เนียนๆ ที่ใส่แล้วเหมือนไม่ได้ใส่อะไรเลยห่มคลุมอยู่ด้วยต่างหาก

อันเป็นผ้าที่ทอมาจากเมืองกาสี เมืองที่สาวๆ วรรณะล่างอย่างพวกเธอถูกกีดกันผลักไสไล่ส่งและหมดสิทธิ์จะฝันถึง



.

คนมองหนัง: "วรเจี๊ยก"/ นพมาส: MONEYBALL"โลกธุรกิจในวงการกีฬา"

.

"วรเจี๊ยก"
โดย คนมองหนัง คอลัมน์ นอก "กระแส"
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1641 หน้า 85


นิตยสารข่าวรายสัปดาห์ฉบับหนึ่ง ที่แสดงจุดยืนทางการเมืองตรงข้ามกับนักวิชาการคณะ "นิติราษฎร์" และ "ครก.112" อย่างเด่นชัดมาตลอด

นำภาพของ "วรเจตน์ ภาคีรัตน์" นักวิชาการคนสำคัญของคณะนิติราษฎร์มาขึ้นปก และตกแต่งรูปนักวิชาการกฎหมายมหาชนรายนี้ให้กลายเป็นลิงยักษ์ "ชิมแปนซี" ซึ่งกำลังนำขบวนประท้วงต่อต้านกฎหมายอาญามาตรา 112

พร้อมคำพาดหัว "วรเจี๊ยก ลิงหลอกเจ้า"


ที่มาดั้งเดิมของภาพลิงยักษ์ดังกล่าว คือ ภาพยนตร์ฮอลลีวู้ดเนื้อหาแหลมคมเรื่อง "Rise of the Planet of the Apes" (กำเนิดพิภพวานร)

ก่อนหน้านั้น เคยมีคนในเครือข่ายสังคมออนไลน์นำภาพลิงยักษ์จากหนังดังเรื่องนี้มาตกแต่งล้อเลียนให้เข้ากับบริบททางการเมืองแบบไทยๆ มาแล้วครั้งหนึ่ง

ด้วยการเอาภาพของ "พิภพ ธงไชย" หนึ่งในแกนนำพันธมิตรฯ มาสวมบทลิงชิมแปนซี มีฉากหลังเป็นสนามบินสุวรรณภูมิ พร้อมคำโปรยว่า "กำเนิดพิภพ ธงไชย"

แม้จะมุ่งเสียดสีในแง่ "เนื้อหา" หรือจุดยืนทางการเมืองอยู่บ้าง แต่ภาพ "กำเนิดพิภพ ธงไชย" ในครานั้น ก็ดูจะให้น้ำหนักกับการเล่นสนุกเรื่อง "คำ" อยู่มิใช่น้อย

ผิดกับกรณี "วรเจี๊ยกฯ" ที่เป็นการหยิบยืมภาพจากภาพยนตร์ต่างประเทศ มาใช้ในอีกบริบทหนึ่งซึ่งแยกขาดต่างหากจากตัวหนัง คือ บริบทการเมืองไทยร่วมสมัย

โดยมีจุดประสงค์เพื่อที่จะลดทอนความน่าเชื่อถือ (ดิสเครดิต) ของคณะนิติราษฎร์ และ ครก.112 เป็นจุดใหญ่ใจความสำคัญ



ทว่า หากยังยึดถือบริบทแรกเริ่ม

"วรเจตน์ ภาคีรัตน์" ตัวจริง กลับมีชะตาชีวิตที่สอดคล้องกับเหล่าลิงยักษ์ในหนังฮอลลีวู้ดอย่างมีนัยยะน่าสนใจ

"Rise of the Planet of the Apes" เล่าเรื่องราวของ "ลิงชิมแปนซี" ที่สูญเสียแม่และเจริญเติบโตขึ้นมาจากการเป็น "สัตว์ทดลอง" ซึ่งถูกเลี้ยงดูมาอย่างมนุษย์

การทดลองดังกล่าวส่งผลให้เจ้าลิงตัวนี้กลายเป็น "ลิงอัจฉริยะ" ที่เริ่มมีความรับรู้และวิจารณญาณใกล้เคียงหรือทัดเทียมกับมนุษย์

กระทั่งมันได้ตระหนักว่า ตัวเองนั้นเป็น "ลิง" ไม่ใช่ "มนุษย์" อย่างที่เคยถูกเลี้ยงดูและถูกทำให้เชื่อมาตั้งแต่เด็ก

"มนุษย์" ต่างหากที่เป็นฝ่ายกดขี่ทำร้ายและใช้ประโยชน์จาก "ลิง" เพื่อผลประโยชน์ของพวก "มนุษย์" เอง แม้จะมี "มนุษย์" บางคน ที่รักและต้องการสงเคราะห์ลิงต่อไปเหมือน "ลูกแท้ๆ ก็ตาม"

สุดท้าย "ชิมแปนซีอัจฉริยะ" ก็เอื้อนเอ่ยคำว่า "No" ออกมา เพื่อปฏิเสธระบอบการปกครองของมนุษย์ มันกลายเป็นหัวขบวนปลดปล่อยบรรดา "เพื่อนลิง" ให้พ้นจากอำนาจครอบงำ ทั้งที่เป็น "อาวุธปืน" และ "ความรู้" ของมนุษย์

จนได้รับชัยชนะ กลายเป็นปฐมบทของหนังดังอีกเรื่องอย่าง "Planet of the Apes" ในที่สุด


คําว่า "No" ของตัวละครเอกซึ่งเป็นวานรในภาพยนตร์อเมริกัน ทำให้ผมนึกถึงคำสัมภาษณ์ขนาดยาวกว่า ที่วรเจตน์กล่าวไว้กับผู้สื่อข่าวมติชนออนไลน์

ทว่า คำปฏิเสธสั้นๆ และคำอธิบายยาวๆ คู่นี้ กลับคล้ายมีเจตจำนงหรือปณิธานบางประการร่วมกัน

ส่วนหนึ่งจากคำสัมภาษณ์ของนักวิชาการแห่งคณะนิติราษฎร์มีเนื้อหาว่า

"ปืนไม่ได้ดังตลอดเวลา มันแค่ดังอยู่ช่วงหนึ่งเท่านั้น สังคมที่ถูกกดทับเอาไว้ เนียนบ้างไม่เนียนบ้าง สักวันหนึ่งคนก็จะรู้ แล้วเขาก็จะค่อยๆ ลุกขึ้นยืน

"แน่นอนว่าการลุกขึ้นยืนมันต้องแลกมาด้วยความเจ็บปวดเพราะฝ่ายที่ไม่อยากให้ลุกขึ้นยืนจะกดทับไว้ แต่เชื่อเถอะว่าไม่มีพลังไหนที่จะแข็งแกร่งไปกว่าพลังหรืออำนาจของประชาชน

"แม้เสียงปืนจะดัง พลังของปืนจะรุนแรง แต่สุดท้ายแม้ในประวัติศาสตร์โลกก็จารึกไว้ว่า พลังของประชาชนนั้นแข็งแกร่งที่สุด ไม่มีใครต้านทานกระแสความเปลี่ยนแปลงได้หรอก"


การตกแต่งภาพและการเขียนคำพาดหัว ที่ถูกคิดค้นดัดแปลงให้เข้ากับบริบทของการเมืองแบบไทยๆ ในกรณี "วรเจี๊ยก ลิงหลอกเจ้า" เพื่อลดทอนคุณค่าของนักวิชาการ-ปัญญาชนที่รวมตัวกันเสนอให้มีการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112

จึงอาจมีความนัยที่พลิกกลับจากความประสงค์ของผู้สร้าง/ดัดแปลงอย่างสิ้นเชิง หากพิจารณาจากบริบทดั้งเดิมอันเป็นสากลของภาพที่ถูกหยิบยืมมาฉวยใช้

เมื่อ "ระบบคุณค่า" ของ "ความเป็นไทย" และ "ความเป็นสากล" ไม่ได้ (มิอาจ) แบ่งแยกออกจากกันโดยเบ็ดเสร็จเด็ดขาด

ดังนั้น คงต้องจับตาดูกันต่อไปว่านิยามประเภทไหนของ "วรเจี๊ยกฯ" จะ "ติดตลาด" หรือมีพลานุภาพในสังคมการเมืองไทยมากกว่ากัน



++


MONEYBALL "โลกธุรกิจในวงการกีฬา"

โดย นพมาส แววหงส์ คอลัมน์ ภาพยนตร์
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1641 หน้า 87


กำกับการแสดง Bennett Miller
นำแสดง Brad Pitt
Jonah Hill
Philip Seymore Hoffman
Robin Wright


เรื่องจริงที่เกิดขึ้นในฤดูกาลเบสบอลเมเจอร์ลีกปี ค.ศ.2002 คือทีมโอกแลนด์แอธเลติกส์ หรือเรียกย่อๆ ว่า โอกแลนด์ เอ. เล่นชนะการแข่งขันเกมแล้วเกมเล่าต่อเนื่องกับถึงยี่สิบเกม

โอกแลนด์ เอ. เป็นทีมหางแถวโหล่สุด ไม่มีทางติดฝุ่นทีมเต็ง งบประมาณจำกัดไม่มีเงินซื้อตัวผู้เล่นเก่งๆ มาเข้าทีม ซ้ำร้ายผู้เล่นหลักๆ ก็กำลังถูกทีมกระเป๋าหนักซื้อตัวไปไม่เหลืออะไรไว้ในมือ พูดง่ายคือเป็นทีมที่อับจนหนทางพาตัวไปสู่ชัยชนะ และเป็นม้านอกสายตาในฤดูกาลด้วยประการทั้งปวง

แต่เท่าที่ปรากฏ ในฤดูกาลนั้นเอง แม้จะออกตัวช้าด้วยความพ่ายแพ้เกือบหมดรูปไม่เหลือฟอร์ม แต่ทีมโอกแลนด์ เอ. กลับผงาดขึ้นมาแสดงฝีมือเหนือคาด ทำให้บรรดาเซียนเบสบอลและนักวิเคราะห์เกมการเล่นต่างตะลึงงัน ไม่รู้จะคิดยังไงกับเรื่องนี้

โอกแลนด์ เอ. เอาชนะใจแฟนเบสบอลทั่วอเมริกา ด้วยการเล่นชนะรวดเดียวยี่สิบเกม

ซึ่งถือเป็นปรากฏการณ์ของการทำลายสถิติการเล่นชนะในเกมต่อเนื่องเท่าที่เคยมีมา

หนังเรื่องนี้คือเรื่องราวของชัยชนะในความพ่ายแพ้...



เรื่องราวของการคิดนอกกรอบ และการกล้าเสี่ยงด้วยหน้าตักทั้งหมดที่มี เพื่อพิสูจน์สิ่งที่ตนเชื่อมั่น

เบื้องหลังทั้งหมดอยู่ที่ตัวบุคคลคนเดียว

... บิลลี บีน (แบรด พิตต์)...

ผู้แปรโฉมหน้าวงการเบสบอลอาชีพ ด้วยทัศนคติและรูปแบบใหม่ในการรวบรวมนักกีฬาเข้ามาอยู่ในทีม ต่างไปจากขนบแบบแผนเดิมๆ ที่เคยทำกันมานับร้อยปี

บิลลี บีน มีอดีตเป็นดาวรุ่งของเบสบอลอาชีพ เมื่อครั้งยังเป็นวัยรุ่น อายุเพียงสิบห้าปี ฝีมือการเล่นเบสบอลของเขาไปเข้าตาแมวมองซึ่งล้วนทำนายว่าเขาจะเป็นซูเปอร์สตาร์ที่มีอาชีพรุ่งโรจน์ในวงการต่อไป

แมวมองยื่นข้อเสนอด้วยแรงจูงใจก้อนใหญ่ให้เขาไปเล่นให้ทีมอาชีพ ซึ่งทำให้บิลลีต้องตัดสินใจเลือกทางเดินครั้งสำคัญในชีวิต เขาทิ้งทุนการศึกษาในมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ตัดหนทางสู่อนาคตอื่นใด นอกกรอบของนักกีฬาเบสบอลอาชีพ

สิบปีให้หลัง ศักยภาพยิ่งใหญ่ในตัวเขาที่แมวมองทำนายไว้ ไม่เคยเป็นอะไรนอกจากศักยภาพ เขาอยู่ในทีมใหญ่ แต่ไม่เคยได้ลงเล่นในสนามฤดูกาลแล้วฤดูกาลเล่า

บิลลีตัดสินใจครั้งใหญ่อีกครั้งที่จะเดินออกจากการเป็นนักกีฬาและผันตัวเองมาเป็นผู้จัดการทั่วไปของทีม

หน้าที่ของผู้จัดการทั่วไปคือจัดทีมสำหรับการแข่งขันตลอดฤดูกาล ซึ่งเช่นเดียวกับวงการกีฬายอดนิยมทั้งหลาย เป็นเรื่องเกี่ยวกับการซื้อขายแลกเปลี่ยนตัวนักกีฬาในทีมด้วยค่าตัวระดับเจ็ดหลักลงมา

เห็นๆ จากหนังเลยว่าถ้าใครไม่เขี้ยวจริงคงอยู่ในวงการนี้ได้ยาก

สิ้นฤดูกาล 2001 ทีมโอกแลนด์ เอ. ลงเอยด้วยความพ่ายแพ้

และทำท่าว่าจะต้องเสียนักกีฬามือดีไปอีกสามคน แถมยังไม่มีงบประมาณจะซื้อตัวนักกีฬาดีๆ มาสมทบ

บิลลีซึ่งเกลียดความพ่ายแพ้ยิ่งกว่าอะไรทั้งหมด ต้องปรับวิธีคิดใหม่ทั้งหมด และเผอิญได้พบกับบัณฑิตหนุ่มสาขาเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเยล ปีเตอร์ แบรนด์ (โจนาห์ ฮิลล์) ซึ่งเพิ่งจะได้งานทำเป็นครั้งแรก

ปีเตอร์ แบรนด์ เป็นนักวิเคราะห์ตัวเลขและสถิติที่ปราดเปรื่อง ดูจากตัวเลขของผลงานในอดีตของนักเบสบอลอาชีพแต่ละคนแล้ว เขาเชื่อว่าไม่ต้องใช้เงินมากก็จะสามารถจัดทีมที่นำไปสู่ชัยชนะได้

บิลลีจึงจ้างปีเตอร์เป็นผู้ช่วย และพลิกวงการด้วยการไม่แยแสกับคำวิเคราะห์ของกลุ่มแมวมองอาชีพรุ่นเก๋าที่เฝ้าดูผลงานของนักกีฬาแต่ละคนๆ ใช้สายตาและสมองวิเคราะห์ข้อดีข้อเสีย และใช้สัญชาตญาณในการคัดเลือกตัวนักกีฬาในทีม

อาจจะด้วยประวัติชีวิตนักกีฬาอาชีพที่ล้มเหลวจากคำพยากรณ์ของแมวมองก็ได้ ที่ทำให้บิลลีหันมาพึ่งสถิติล้วนๆ โดยเชื่อนักวิเคราะห์ตัวเลขที่แยกสถิติการเล่นของผู้เล่นแต่ละคนโดยละเอียด ซึ่งทำให้สามารถซื้อขายแลกเปลี่ยนตัวผู้เล่นที่อยู่นอกสายตาของแมวมอง ด้วยราคาที่พอจ่ายได้

ผลก็คือชัยชนะที่เป็นปรากฏการณ์ดังกล่าวข้างต้น แม้ว่าทีมโอกแลนด์ เอ. จะไม่ได้ก้าวไปถึงตำแหน่งแชมเปี้ยนของฤดูกาลนั้น หรือฤดูกาลต่อๆ มา

แต่นี่เป็นเรื่องราวการฝ่าฟันของบิลลีในวงการกีฬาอาชีพ และการทบทวนพิจารณาความหมายในชีวิตของเขา รวมทั้งการจัดความสำคัญในชีวิต

หนังจบลงที่ข้อความว่า บิลลี บีน ปฏิเสธข้อเสนอเป็นค่าตัวสิบสองจุดห้าล้านดอลลาร์ต่อปี ซึ่งเป็นค่าตัวสูงสุดของผู้จัดการทีมเบสบอล ฯลฯ



เป็นหนังเกี่ยวกับธุรกิจในโลกกีฬา มากกว่าตัวกีฬาเบสบอลเอง เพราะฉะนั้น ไม่จำเป็นต้องดูเบสบอลเป็น ก็พอจะดูหนังรู้เรื่อง

บทหนังเขียนอย่างฉลาด ด้วยผู้เขียนคนเดียวกับที่เขียนบท The Social Network และ แบรด พิตต์ ก็สร้างบทบาทที่น่าจดจำให้แก่ตัว บิลลี บีน จนทำให้ได้รับการเสนอเข้าชิงโกลเดน โกลบ แต่ก็พลาดไปแก่ จอร์จ คลูนีย์ ดังที่ทราบกันแล้ว

ในขณะที่บทบาทที่เรียกเสียงหัวเราะได้โดยไม่ตั้งใจทำมุข คือบทของ ปีเตอร์ แบรนด์ ซึ่ง โจนาห์ ฮิลล์ สร้างบทบาทที่โดนใจคนดูมาก เลยได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงสาขาสมทบชาย

เพลงที่ลูกสาวของบิลลีร้องตอนกลางเรื่อง ซึ่งกลายมาเป็นเพลงปิดเรื่องด้วย ยังก้องอยู่ในหูต่อมาอีกนาน ด้วยความหมายที่กินใจและสรุปสาระสำคัญของเนื้อหาได้ดี

อย่าพลาดนะคะ เป็นหนัง feel good อีกเรื่อง



.

ฟัง"นิธิ เอียวศรีวงศ์" เล่าเรื่อง500ปี สยาม-โปรตุเกส ความสัมพันธ์ที่จืดชืด ไร้สีสัน แต่...

.

ฟัง"นิธิ เอียวศรีวงศ์" เล่าเรื่อง500 ปี สยาม-โปรตุเกส ความสัมพันธ์ที่จืดชืด ไร้สีสัน แต่...
ในมติชน ออนไลน์ วันพฤหัสบดีที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2555 เวลา 14:08:07 น.


เมื่อวันที่ 26 ม.ค. มีการจัดสัมมนา "500 ปี ความสัมพันธ์สยามประเทศไทยกับโปรตุเกส และชาติตะวันตกในอุษาคเนย์ 2054-2554" ณ หอประชุมใหญ่ อาคาร 100 ปี มหาวิทยาลัยราชภัฎนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา

โดยในงานได้มีการกล่าวปาฐกถาพิเศษโดย ศ.ดร. นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักเขียนและนักวิชาการด้านประวัติศาสตร์


นิธิ กล่าวถึงการเข้ามามีบทบาททางการค้าในเอเชียว่าเมื่อโปรตุเกสเข้ามาถึงเอเชียนั้น โปรตุเกสตระหนักดีว่า การค้าระหว่างยุโรปและเอเชียไม่มีทางทำกำไรได้ สิ่งที่จะสามารถสร้างกำไรให้ได้ก็คือการค้าภายในเอเชียด้วยกันเอง โปรตุเกสจึงหาวิธีที่จะแทรกเข้ามาในการค้าที่รุ่งเรืองอยู่แล้วของเอเชีย โดยโปรตุเกสเข้ามาแย่งผลประโยชน์และมามีบทบาทในการค้าในเอเชีย ด้วยการหากำไรจากเครื่องเทศ ป้องกันไม่ให้เครื่องเทศไหลผ่านมือชนชาติอื่นไปสู่ยุโรป อย่างไรก็ดี การกระทำดังกล่าวมีต้นทุนสูงมาก โดยเฉพาะต้นทุนทางสังคม ทั้งการรบราฆ่าฟันเพื่อให้ได้มาซึ่งผลประโยชน์ดังกล่าว

ในการเข้ามามีบทบาททางการค้าในเอเชียนั้น ราชสำนักโปรตุเกสเป็นผู้ลงทุนและเก็บเกี่ยวผลกำไรเอง ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับสเปนที่ยังเปิดโอกาสให้คนนอกเข้ามาลงทุนได้บ้าง "โปรตุเกสคิดว่าตนได้เดินทางมาพบกับขุมทองขนาดมหึมา การเดินทางมาเอเชียและการค้าในเอเชียเองจึงเป็นความลับ"

"การเป็นความลับนี่เองยิ่งทำให้ตัวเองอ่อนแอเพราะเปิดรับใครก็ไม่ได้" นิธิกล่าว


นิธิ กล่าวต่อไปว่า ในส่วนของวิธีการหากำไรจากการค้านั้น นอกจากโปรตุเกสจะหากำไรจากการค้าเครื่องเทศและการค้าภายในเอเชียด้วยกันเองแล้ว โปรตุเกสยังผูกขาดเส้นทางการเดินเรือและเส้นทางการค้าอีกด้วย ทั้งในทะเลจีนใต้ มหาสมุทรอินเดีย ไปจนถึงทะเลอาหรับ ด้วยการขายใบอนุญาตเดินเรือ นอกจากนี้โปรตุเกสยังผูกขาดเครื่องเทศ 3 ชนิด คือ พริกไทย กานพลู และอบเชย ส่วนเครื่องเทศอื่นๆนั้นใครอยากค้าก็สามารถทำได้ แต่ต้องให้ส่วนแบ่งแก่โปรตุเกส 30 % "ดังนั้น การค้ากับการโจรสลัดก็เหมือนสองด้านของเหรียญเดียวกัน โดยเฉพาะในโลกตะวันตก ที่การค้ากับทำการปล้นเป็นสิ่งที่คล้ายกัน และในปัจจุบัน ในหลายๆประเทศก็ยังเป็นเช่นนั้นอยู่"

การหากำไรจากการค้าดังกล่าวนั้นมีต้นทุนสูง ไม่ว่าจะต้องมีเรือที่คอยตรวจตราเส้นทางการค้า ต้องคอยตรวจใบอนุญาตตลอดเวลา ต้องรบราฆ่าฟัน และแม้ว่าในระยะแรกๆ กำไรที่ราชสำนักโปรตุเกสได้มาจะมีสูงมาก ทว่าโปรตุเกสแทบจะไม่ได้เอากลับไปลงทุนในกิจการการค้าของตัวเองมากนัก แต่กลับนำเงินเหล่านั้นไปใช้ "เพื่อชีวิตที่หรูหราฟุ่มเฟือย และเพื่อซื้อความสวามิภักดิ์ของเจ้าครองแคว้นต่างๆที่ตนยังไม่สามารถซื้อได้ ดังนั้นระยะยาวแล้ว โปรตุเกสได้ผ่านระยะเวลาที่มีทุนไหลเข้าประเทศจากเอเชีย แต่แทบไม่ได้เอาทุนเหล่านี้ไปเป็นฐานในการเปลี่ยนเศรษฐกิจของตนเอง"

ขณะเดียวกันโปรตุเกสเองก็ไม่มีเครือข่ายการค้าของตนเองในยุโรป ฉะนั้นเมื่อได้เครื่องเทศมาแล้วก็ต้องนำเครื่องเทศเหล่านี้ขายต่อให้พ่อค้าอิตาลีและเยอรมันเพื่อนำไปกระจายต่อในยุโรปกำไรที่โปรตุเกสได้จึงไม่มากนัก นอกจากนี้ โปรตุเกสก็แทบไม่มีสินค้าอะไรมาขายให้กับเอเชียด้วย "ว่ากันว่า เรือโปรตุเกสที่แล่นมายังเอเชียนั้นแทบจะไม่ได้บรรทุกอะไรมาเลยนอกจากอับเฉา และปืน" นิธิกล่าว



นิธิกล่าวต่อไปว่า และในส่วนของผู้ที่ควบคุมการค้าของโปรตุเกสในเอเชียนั้นก็เป็นพรรคพวกและคนที่ราชสำนักไว้วางใจ

"ใช้เฉพาะพวกอำมาตย์ว่าอย่างนั้นเถอะ เอาพวกอำมาตย์มาเป็นผู้ปกครอง ผู้หากำไร มาเป็นนายท่า เพราะไม่ไว้ใจคนเล็กๆ ซึ่งเมื่อเทียบกับประเทศตะวันตกอื่นๆอย่างฮอลันดานั้น ฮอลันดาค่อนข้างจะเปิดโอกาสให้คนที่มีความสามารถ- แม้จะเป็นไพร่ก็ตาม ได้ไต่เต้าในตำแหน่งบริหาร เพราะฉะนั้นการบริหารงานของโปรตุเกสในเอเชียจึงเต็มไปด้วยการทุจริต คดโกง ไม่สามารถควบคุมกิจการต่างๆที่ควรจะทำกำไรให้แก่โปรตุเกสได้"

"ในเมืองไทยชอบพูดเสมอว่าในวิกฤติมีโอกาส ผมอยากจะพูดว่า ในโอกาสก็มีวิกฤติ คือคุณอุตส่าห์รวยได้ขนาดนี้ แต่คุณกลับไม่สามารถใช้ประโยชน์จากความมั่งคั่งร่ำรวยได้" นิธิกล่าว


ส่วนสินค้าที่โปรตุเกสนำเข้ามาขายในประเทศไทยคือ ผ้าจากอินเดีย ซึ่งไม่ใช่ของใหม่แต่อย่างใดเพราะพ่อค้าอินเดียและพ่อค้าอาหรับนั้นเคยเอาเข้ามาขายในประเทศไทยอยู่ก่อนแล้ว ทั้งนี้ ผ้าจากอินเดียดังกล่าวได้ถูกพระคลังสินค้ารับซื้อเอาไว้ แต่เนื่องจากพระคลังสินค้าไม่ได้มีสาขาในการกระจายสินค้า ผ้าจากอินเดียที่รับซื้อไว้จึงไม่ได้ก่อให้เกิดผลต่อการผลิตผ้าในประเทศไทยแต่อย่างใด

สินค้านำเข้าอีกอย่างหนึ่งคือ ปืนคาบศิลาประจำตัวทหารซึ่งเป็นอาวุธที่ทันสมัยมากในสมัยนั้น อย่างไรก็ดี เนื่องจากปืนคาบศิลาเป็นอาวุธที่อันตรายมาก "เขาจะไม่เอาปืนคาบศิลาไปให้ทหารใช้ แต่จะเก็บใส่พระคลังแสงลั่นกุญแจ และมีคนคอยเฝ้าไว้ เพราะว่ากลัวจะไม่เอาไปยิงข้าศึกแต่จะเอาไปยิงนายตัวเอง มันจึงไม่เกิดผลต่อการจัดกำลังทัพของเอเชียเท่าใดนัก "

ในเรื่องของศาสนานิธิกล่าวว่า พระจากโปรตุเกสที่เข้ามายังอยุธยานั้นก็เป็น "พระเชยๆ" "พระโปรตุเกสในช่วงนั้นไม่ได้เป็นเอเย่นต์ของการนำคริสต์ศาสนามาสู่เอเชียที่ดีนัก" เมื่อเปรียบเทียบกับพระอิตาลีหรือพระฝรั่งเศสในสมัยเดียวกัน



สุดท้ายนี้นิธิกล่าวปิดท้ายการปาฐกถาว่า "สรุปแล้วผมคิดว่า ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับโปรตุเกสนั้นให้ผลต่อกันน้อยมาก หรือหากจะถามว่าการค้าในเอเชียนั้นส่งผลกระทบอะไรต่อสังคมโปรตุเกสบ้าง ก็ตอบได้ว่าไม่กระทบอะไร คุณอาจจะเห็นตึกแบบโปรตุเกส เห็นท่าเรือ แต่ถามว่าแล้วมันไปกระทบอะไรต่อสังคมโปรตุเกสบ้าง คำตอบคือไม่มีเลย"

"ในทางตรงข้าม ถามว่าเราได้อะไรจากโปรตุเกส คำตอบก็คือสิ่งละอันพันละน้อย คือการค้ากับโปรตุเกสไม่ได้กระทบกับโครงสร้างการผลิต อาวุธปืนและทหารก็ไม่ได้ไปเปลี่ยนกระบวนการรบ คือมันไม่มีอะไร มันอาจจะมีฝอยทอง หรือมีอิทธิพลจากภาษาโปรตุเกส มีอะไรอย่างที่พูดๆกันอยู่จำนวนหนึ่ง แต่ก็ไม่ได้กระทบถึงขั้นเปลี่ยนแปลงอะไร"

"สรุปแล้ว ความสัมพันธ์ระหว่างไทยและโปรตุเกสเป็นความสัมพันธ์ที่จืดชืด ไร้สีสัน" แต่...


"ก็เป็นสิ่งที่น่าจดจำ เพราะความสัมพันธ์ดังกล่าวดำเนินไปบนพื้นฐานของความเท่าเทียมกัน มากกว่าความสัมพันธ์ของเรากับชาติฝรั่งอื่นๆ โปรตุเกสไม่มีอำนาจเพียงพอ ไทยก็ไม่มีอำนาจเพียงพอ เราสัมพันธ์กันแบบคนเท่าเทียมกัน เขายอมรับเงื่อนไขของเรา เราก็ยอมรับเงื่อนไขของเขา"

"และสิ่งที่น่าจดจำก็คือความสัมพันธ์จืดๆอันนี้แหละครับ" นิธิกล่าวจบท้ายปาฐกถา " 500 ปี ความสัมพันธ์สยามประเทศไทยกับโปรตุเกส และชาติตะวันตกในอุษาคเนย์ 2054-2554 "



.

2555-01-25

วิกฤติอารยธรรมอุตสาหกรรม โดย อนุช อาภาภิรม

.

วิกฤติอารยธรรมอุตสาหกรรม
โดย อนุช อาภาภิรม คอลัมน์ วิกฤติศตวรรษที่21
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1639 หน้า 39


โลกสมัยใหม่อยู่ในยุคอุตสาหกรรมตอนปลาย นั่นคือ ก้าวจากอุตสาหกรรมโรงงานในศตวรรษที่ 19 สู่อุตสาหกรรมข่าวสาร อุตสาหกรรมการเงิน และอุตสาหกรรมบริการอื่น

อุตสาหกรรมเหล่านี้ได้เชื่อมโยงทั้งโลกเข้าด้วยกันอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน

อย่างไรก็ตาม ได้พบว่าอารยธรรมอุตสาหกรรมนี้กำลังประสบวิกฤติรุนแรง จนเกรงว่าจะไม่สามารถทนทานต่อวิกฤติได้

เราควรทำความเข้าใจเบื้องต้นเกี่ยวกับเรื่องอุตสาหกรรม อารยธรรมอุตสาหกรรมเป็นอย่างไร และอุตสาหกรรมได้ก่อวิกฤติทางสิ่งแวดล้อมและแก่ตนเองอย่างไร


ความเป็นมนุษย์กับเทคโนโลยีและอุตสาหกรรม

เทคโนโลยีและอุตสาหกรรมเป็นสิ่งเก่าแก่มาก ดำรงควบคู่ไปกับวิวัฒนาการของมนุษย์เมื่อราว 2.5 ล้านปีมาแล้ว นักบรรพชีวินวิทยา (Paleontologist) เรียกชื่อสายพันธุ์มนุษย์รุ่นแรกๆ ว่า โฮโม แฮบิลิส (Homo Habilis) แปลว่า มนุษย์ช่าง เนื่องจากมีความสามารถในการสร้างเครื่องมือเครื่องใช้ได้อย่างโดดเด่น โดยมีหลักฐานจำนวนมาก ได้แก่ เครื่องมือหิน แต่คาดว่ามนุษย์ช่างนี้น่าจะใช้วัสดุอื่นที่คงทนน้อยกว่าสร้างเครื่องมือเครื่องใช้ด้วย เช่น ไม้ เปลือกไม้ ใบหญ้า หนัง เปลือกไข่ กระดองเต่า น้ำเต้า แต่หลักฐานเหล่านี้สูญหายไป

โฮโม แฮบิลิส นี้มีชีวิตเมื่อราว 2.3 ล้านปี และสูญพันธุ์ไปเมื่อราว 1.4 ล้านปี มานี้ (ตัวเลขนี้เป็นโดยประมาณ กล่าวต่างกันไปบ้างตามแต่ละแหล่ง) มีขนาดสมองใหญ่ราว 450 ซีซี (สมองมนุษย์ปัจจุบันราว 1,350-1,400 ซีซี)

เมื่อราว 1.9-1.5 พันล้านปีมาแล้ว โฮโม แฮบิลิส ได้เข้าจับจองบริเวณช่องเขาโอลดูไว (Olduvai Gorge) ซึ่งปัจจุบันอยู่ทางตอนเหนือของประเทศแทนซาเนีย เป็นแหล่งหินภูเขาไฟที่ใช้เป็นวัสดุในการสร้างเครื่องมือที่มีคุณภาพดี ช่องเขาโอลดูไวนี้เป็นที่ตั้งถิ่นฐานและพัฒนาเครื่องมือหินของเผ่ามนุษย์มาหลายแสนปี จึงมีผู้ขนานนามว่าเป็น "อู่แห่งมนุษยชาติ"

โฮโม แฮบิลิส นี้ได้สร้างอุตสาหกรรมโอลโดวัน (Oldowan Industry) บางทีเรียกกลุ่มอุตสาหกรรมโอลโดวัน (Oldowan Industrial Complex) เนื่องจากมีการผลิตขนาดใหญ่และเกี่ยวเนื่องกัน

พบว่ามีการขนส่งหินควอร์ตไซต์ (Quartzite) เพื่อทำเครื่องมือไปทั่วบริเวณ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางภูมิทัศน์ในบริเวณนั้น

อุตสาหกรรมโอลโดวันนี้ต่อมา สายพันธุ์โฮโม อิเรกตัส (Homo Erectus) ที่มีชีวิตระหว่าราว 1.8 ล้านปี ถึง 150,000 ปี ได้พัฒนาให้ละเอียดซับซ้อนขึ้นเป็น อุตสาหกรรมเอเกอเลียน (Acheulean Industry) จุดเด่นอยู่ที่ขวานมือที่มีขนาดใหญ่กว่าเครื่องมือเดิม และมีดหิน 2 คม

มนุษย์ยืนตรงซึ่งอาจเป็นบรรพบุรุษโดยตรงของมนุษย์ มีขนาดสมองราว 900 ซีซี หรือราว 2 ใน 3 ของสมองมนุษย์ปัจจุบัน ตัวอย่างมนุษย์ยืนตรงที่มีชื่อเสียงเช่น มนุษย์ปักกิ่ง

กลุ่มอุตสาหกรรมในสมัยหินนี้ ได้พัฒนาจนปัจจุบันได้แปรโฉมเป็นกลุ่มอุตสาหกรรม-การทหาร (Military-industrial Complex) ที่ทรงอิทธิพลในสหรัฐ


วิวัฒนาการร่วมทางชีวะ-เทคโนโลยีของมนุษย์

สายพันธุ์มนุษย์นี้มีพฤติกรรมทั้งในด้านการสร้างและการใช้เครื่องมือ ก่อรูปเป็นพฤติกรรมที่ซับซ้อนและมั่นคงในตัวมนุษย์ เกิดการพัฒนาของสมองสัมพันธ์ใกล้ชิดกับพฤติกรรมการสร้างและการใช้เครื่องมือ

วิวัฒนาการของสมองที่ใหญ่ขึ้นนี้ อาจเกิดจากเหตุปัจจัยสำคัญ 3 ประการ ได้แก่

1) เกิดจากการอยู่รวมกลุ่มขนาดใหญ่ขึ้น เพื่อสะดวกในการล่าและป้องกันตนเอง ดังนั้น จึงต้องการสมองที่ใหญ่ขึ้นเพื่อทำหน้าที่ทางด้านสังคมในการติดต่อสัมพันธ์กัน

2) การใช้เครื่องมือ การกินเนื้อและไขกระดูกที่มีสารอาหารและพลังงานสูง ทำให้ลดขนาดของกระเพาะลำไส้ลง นำพลังงานที่เหลือนั้นไปใช้กับสมอง

3) การอุบัติขึ้นของภาษาเชิงสัญลักษณ์ เนื่องจากความจำเป็นในการต้องถ่ายทอดเทคโนโลยีและกิจกรรมทางสังคมที่ซับซ้อน

อนึ่ง วิวัฒนาการของสมองมนุษย์ ไม่ได้เพิ่มแต่ขนาดหรือปริมาณอย่างเดียว พบว่ามนุษย์ใหม่ก็ไม่ได้มีโครงสร้างสมองต่างกับมนุษย์โบราณ ยังคงใช้สมองแบบเดิม แต่ปรับเชื่อมต่อและการทำงานร่วมกันใหม่เกิดการรับรู้ การเรียนรู้และภาษาแบบมนุษย์ขึ้น เป็นเหตุปัจจัยสำคัญที่ทำให้สายพันธุ์มนุษย์ปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมที่หลากหลายได้ดีกว่าสัตว์ทั้งหลาย
(ดูคำบรรยายนิทรรศการชื่อ From the Big Bang to the World Wide Web ใน stoneageinstitute.org, 2011)



อารยธรรมอุตสาหกรรมและแบบรูปของวิกฤติเป็นอย่างไร

อารยธรรมอุตสาหกรรม (Industrial Civilization) มีลักษณะ 2 ด้าน ทั้งที่เป็นจุดอ่อนข้อบกพร่อง และจุดแข็งที่ทำให้เติบโตและยืนยงอยู่ได้

ในด้านจุดอ่อนนั้นมีการชี้ว่า อารยธรรมอุตสาหกรรมนั้นปล้นทุกอย่างไปจากตัวมนุษย์ ทำทุกอย่างให้เป็นสินค้าที่ผลิตขึ้นมาเพื่อหากำไร มีลักษณะเด่นดังนี้คือ

(1) การแผ่ของตัวเมืองอย่างรวดเร็ว ในหลายแห่งรายล้อมด้วยหมู่บ้านชานเมืองอันกว้างขวาง หลายแห่งมีเมืองสลัมอันเป็นแหล่งอาชญากรรมใหญ่ มีระบบเมืองที่ซับซ้อนและสิ้นเปลืองในการสร้างและดูแล กล่าวอย่างย่อก็คือเป็นระบบที่ไม่ยั่งยืน ต้องนำทรัพยากรและความมั่งคั่งจากภายนอกมาหล่อเลี้ยงอย่างไม่จบสิ้นและมากขึ้นทุกที

(2) การผลิตปริมาณมาก ขาดความคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและชีวิตของสัตว์อื่น และทำลายธรรมชาติแวดล้อมอย่างไม่ยั้งมือ

(3) เป็นการผลิตมาตรฐานเดียว เพื่อค้าขายทำตลาดหากำไรไปทั่วโลก จากนี้ทำให้เกิดวัฒนธรรมเดี่ยวที่มีรูปแบบเหมือนกันไปทั้งโลก ศิลปะทั้งหลายถูกทำให้เป็นเชิงพาณิชย์

(4) สร้างลัทธิผู้บริโภค ที่บริโภคแบบหรูเกินความจำเป็น

(5) ก่อให้เกิดการไล่ล่าอาณานิคมทั่วโลก การวางตัวเป็นใหญ่แบบจักรวรรดิ และสงครามที่มีอาวุธร้ายแรงมีอำนาจทำลายล้างสูงขึ้นทุกที ก่อความเหลื่อมล้ำทางสังคม

(6) ต้องการการเติบโตอย่างไม่สิ้นสุด ซึ่งย่อมเป็นไปไม่ได้ในโลกที่มีทรัพยากรธรรมชาติที่จำกัด

กล่าวในเชิงบวกหรือจุดแข็ง อารยธรรมอุตสาหกรรมมีด้านที่ผลักดันความก้าวหน้าของมนุษย์ ดังนี้

(1) การสร้างวิธีการและความคิดที่เป็นวิทยาศาสตร์ สร้างองค์ความรู้ที่พิสูจน์ได้ที่ใหญ่ขึ้นทุกที ขจัดความงมงาย ความเข้าใจธรรมชาติที่ผิดไป ทำให้คนเรามีความเข้าใจธรรมชาติ สังคม และตัวมนุษย์เองได้ดีขึ้น

(2) การสร้างของกินของใช้หรือปัจจัย 4 สนองแก่มนุษย์ รวมทั้งการสร้างความมั่งคั่งให้แก่สังคม เช่น โครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจ ทำให้สามารถดำเนินชีวิตที่สะดวกสบาย สวยหรู มีสุขภาพดีและอายุยืนยาวขึ้น

(3) สร้างสังคมที่มีการแบ่งงานกันทำที่ซับซ้อน เปิดทางเลือกและช่องทางแห่งโอกาสแก่ผู้คนจำนวนมาก กับทั้งสร้างระบบการศึกษาที่ทั้งถ่ายทอดและพัฒนาความรู้ใหม่ๆ ที่สร้างนวัตกรรมทางความรู้และเทคโนโลยีอยู่ไม่ได้ขาด

สำหรับรูปแบบของวิกฤตินั้น เป็นทำนองนี้ว่า อารยธรรมอุตสาหกรรมในช่วงเริ่มขึ้นด้านบวกมีสูง จะเจริญเติบโต เมื่อเผชิญปัญหา ก็พยายามปรับตัว เพื่อให้คงทนอยู่รอด ขณะที่ทำเช่นนี้ปรากฏว่า การเสริมพลังด้านบวกได้ผลลดลงไปทุกทีๆ พลังด้านลบจึงได้ค่อยๆ เพิ่มขึ้น

จนกระทั่งกลบลบด้านบวก เกิดเป็นวิกฤติ ที่แก้ไขได้ยากโดยลำดับ



อารยธรรมอุตสาหกรรมกับวิกฤติสิ่งแวดล้อม

ในที่นี้จะกล่าวถึงวิกฤติสิ่งแวดล้อมใหญ่ 3 ประการที่สามารถทำให้อารยธรรมอุตสาหกรรมล่มสลายได้

1) การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ภูมิอากาศของโลกเปลี่ยนแปลงไปด้วยเหตุทางธรรมชาติหลายประการ เช่น การแผ่รังสีของดวงอาทิตย์ รังสีคอสมิก วงโคจรของโลก การเคลื่อนที่ของทวีปที่ทำให้เกิดแผ่นดินไหว ภูเขาไฟระเบิด และการก่อตัวของเทือกเขาสูง แต่ที่ถกเถียงกันมากในปัจจุบันได้แก่ ภาวะโลกร้อน (Global Warming) ที่มนุษย์น่าจะมีส่วนสำคัญในการก่อขึ้น

นับแต่ยุคอุตสาหกรรมในศตวรรษที่ 19 มนุษย์ได้ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล ซึ่งได้ส่งก๊าซเรือนกระจกที่สำคัญขึ้นสู่บรรยากาศ นั่นคือ คาร์บอนไดออกไซด์เป็นปริมาณมหาศาล โดยเพิ่มจาก 280 ส่วนในล้านส่วนเป็น 390 ส่วนในปัจจุบัน

ก๊าซเรือนกระจกเหล่านี้เปรียบเหมือนผ้าห่มโลก กักไม่ให้รังสีความร้อนจากดวงอาทิตย์สะท้อนออกสู่อวกาศ ทำให้บรรยากาศและผิวน้ำของโลกอุ่นขึ้น ความเข้าใจทำนองนี้ได้เป็นที่ยอมรับในประชาคมนักวิทยาศาสตร์และสาธารณชนมากขึ้น

แต่ปัญหาก็คือว่า แม้จะมีการประชุมสัมมนาระดับโลกหลายครั้ง จนได้ข้อตกลง เช่น อนุสัญญากรุงเกียวโต (บังคับใช้ปี 2005) เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลง แต่ก็ดูไม่ได้ผล

มีรายงานว่าในปี 2010 มนุษย์ได้ส่งก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่บรรยากาศเพิ่มสูงเป็นประวัติการณ์ถึงร้อยละ 5.9 จากปี 2009 ที่อัตราการปล่อยก๊าซนี้ลดลงเนื่องจากภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจ นอกจากนี้ แคนาดา ซึ่งเป็นประเทศผู้ใช้และผลิตเชื้อเพลิงฟอสซิลรายใหญ่ ยังถอนตัวจากอนุสัญญาเกียวโตในตอนปลายเดือนธันวาคม 2011 โดยอ้างว่าจะกระทบต่อเศรษฐกิจของตน

ดังนั้น สถานการณ์โลกร้อนจึงอยู่ในภาวะตัวใครตัวมัน

2) การทำลายป่าไม้และดิน การทำลายป่าเป็นสาเหตุการล่มสลายของอาณาจักรโบราณหลายแห่ง การตัดไม้ทำลายป่าเพิ่มมากขึ้นตั้งแต่ปี 1850 เมื่อเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรมเต็มที่ เริ่มต้นในยุโรป สหรัฐก่อน จากนั้นกระจายไปทั่วโลกโดยเฉพาะหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ประมาณว่าราวครึ่งหนึ่งของไม้เขตร้อนถูกทำลายไป ถ้าหากไม่จัดการแก้ไขภายในปี 2030 ป่าไม้จะเหลือที่สมบูรณ์เพียงร้อยละ 10 ร้อยละ 10 เสื่อมโทรม และร้อยละ 80 สูญหายไป

การตัดไม้ทำลายป่านั้นเป็นไปเพื่อเหตุผลสำคัญ 3 ประการ ได้แก่ ทำเชื้อเพลิง ใช้ไม้เพื่อเป็นวัสดุ และเพื่อการเพาะปลูก

การทำลายป่าเป็นการทำลายประโยชน์จากป่า 2 ด้านด้วยกัน

ด้านแรกเป็นประโยชน์จากผลิตภัณฑ์จากป่า ซึ่งมีผลต่อเศรษฐกิจโดยรวม และชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านนับพันล้านคน

อีกด้านหนึ่งเป็นประโยชน์ต่อระบบนิเวศ เช่น การรักษาวงจรคาร์บอน วงจรน้ำ ซึ่งมีผลต่อภาวะโลกร้อน การป้องกันการเสื่อมของดินและการทำให้เป็นทะเลทราย การอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ

การทำลายป่าและดินจึงเป็นการเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศที่รุนแรงที่สุดอย่างหนึ่ง


วิกฤติมหาสมุทร (Oceanic Crisis)

มหาสมุทรกินเนื้อที่ราวร้อยละ 70 ของพื้นผิวโลก เป็นสิ่งควบคุมอุณหภูมิ ลมฟ้าอากาศของโลก และเป็นแหล่งอาหารที่สำคัญของผู้คนจำนวนมาก วิกฤติมหาสมุทรในปัจจุบันกล่าวได้ว่ามีสาเหตุจากการกระทำของมนุษย์ที่รุนแรงขึ้นตามการขยายตัวของอุตสาหกรรม

วิกฤติมหาสมุทรมีที่สำคัญ ได้แก่

1) การจับปลามากเกินไป ซึ่งเริ่มตั้งแต่มีการนำเรือประมงกลไฟมาใช้ตั้งแต่ปี 1906 การเปลี่ยนมาใช้อวนลากสมบูรณ์ในปี 1920 การขยายกองเรือประมง การติดตั้งห้องเย็นในเรือ ไปจนถึงการตั้งโรงงานในเรือประมง

การประมงแบบอุตสาหกรรมสมัยใหม่แพร่ไปทั่วโลกได้ทำให้ปริมาณปลาลดลงอย่างรวดเร็ว ที่แอฟริกา ภายใน 30 ปีที่ผ่านมา จำนวนประชากรปลาในทะเลลดลงราวร้อยละ 50 ชาวประมงรายย่อยหลายพันคนหมดที่ทำกิน

2) วิกฤติอื่น ได้แก่ มลพิษทางทะเล เช่น เกิดจากการขุดเจาะและขนส่งน้ำมัน อุณหภูมิน้ำทะเลสูงขึ้น การเกิดกรด (Acidification) ภาวะขาดออกซิเจน (Hypoxia) เนื่องจากมีปุ๋ยที่พัดพาจากแม่น้ำ จนเกิดสาหร่ายที่ใช้ออกซิเจนไปจนหมด บรรดาปลา กุ้งและสัตว์น้ำอื่นที่หนีไปไม่ทันจะตายหมด

วิกฤติอุตสาหกรรมที่ทำลายโลกอันเป็นที่อยู่ของมนุษย์ จึงเป็นวิกฤติความเป็นความตายเป็นวิกฤติอันดับสูงสุดของมนุษย์ และนี่เป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดมาก่อนในรอบแสนปีมานี้



.

“ซูม”: แบงก์ชาติต้องอิสระแต่ไม่ใช่“รัฐอิสระ”/ สมาน: ศิลปะในการบริหารธนาคารชาติฯ

.
บทความพิเศษ
- เผือกร้อนรับ รมว.คนใหม่ ราคาพลังงานขึ้นยกแผง
- นวัตกรรมเปลี่ยนโลก 5 ปีข้างหน้า มนุษย์ใช้สมองสั่งงานแล็บท็อป-โทรศัพท์มือถือได้

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

แบงก์ชาติต้องอิสระแต่ไม่ใช่...“รัฐอิสระ”
โดย “ซูม” ใน ไทยรัฐออนไลน์ . . 10 มกราคม 2555, 05:00 น.


ผมก็ได้แต่หวังว่า ร่าง พ.ร.ก.ที่รัฐบาลนี้กำลังดำเนินการอยู่ เพื่อที่จะหาทางกู้เงินก้อนใหญ่มาใช้ในการฟื้นฟูประเทศหลังน้ำท่วม โดยเฉพาะการโอนหนี้คงค้างจากการแก้ไขปัญหาสถาบันการเงิน 2540 คงจะผ่านไปด้วยดีทุกฉบับ

เพราะยังไม่มีข่าวการขัดแย้งระหว่างท่านรองโต้งกับธนาคารแห่งประเทศไทยเกิดขึ้นอีก ขณะที่ผมนั่งเขียนต้นฉบับวันนี้ (บ่ายๆวันอาทิตย์ที่แล้ว)

พาดหัวหนังสือพิมพ์ล่าสุดที่ผมอ่านพบขณะเขียนต้นฉบับก็คือ

พาดหัวว่า “ดร.โกร่งออกทีวีเฉ่ง ธปท. ...ชี้รัฐอิสระ...เดือดขวางกองทุน”

นัยว่าเป็นข่าวที่มติชนสรุปจากการออกทีวีของอาจารย์โกร่งที่มาพูดแทนนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ในรายการนายกฯยิ่งลักษณ์พบประชาชน


เมื่อวันเสาร์ที่จะเขียนวันนี้ก็คงมิได้ขัดแย้งกับ ดร.โกร่ง ส่วนใหญ่เห็นด้วยด้วยซ้ำเพียงแต่อาจจะมีมุมมองบางมุมเป็นการเพิ่มเติมบ้างเท่านั้น

ผมยังยืนยันและเห็นด้วยในหลักการสากลที่ว่า ธนาคารกลาง หรือธนาคารชาติ จะต้องเป็นอิสระจากรัฐบาล

แต่ก็ไม่ควรที่จะเป็นอิสระเต็มตัวจนถึงขั้นเป็น “รัฐอิสระ” อย่างที่อาจารย์โกร่งท่านวิจารณ์

ในหลายๆประเทศเขาจึงผูกธนาคารกลางไว้กับรัฐสภา คือ ก็ไม่ถึงกับให้รัฐสภาควบคุมการทำงานของธนาคารอย่างเต็มที่...แต่ก็มีกฎเกณฑ์ว่า ผู้ว่าการธนาคารกลางจะต้องมารายงานการดำเนินงานต่อคณะกรรมาธิการการเงินการธนาคารที่รัฐสภาแต่งตั้งขึ้นเป็นระยะๆ

หลายท่านคงเคยดู ซีเอ็นเอ็น ถ่ายทอดสดการซักไซ้ไล่เลียง ปู่ อะลัน กรีนสะแปน ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯคนก่อน และ คุณ เบน เบอร์นานกี ประธานคนปัจจุบัน โดยกรรมาธิการรัฐสภามาบ้างแล้ว

นี่ก็เป็นวิธีการหนึ่งที่เขาใช้กันอยู่ในสากล เพื่อมิให้ธนาคารกลาง หรือธนาคารชาติทำตัวเป็นรัฐอิสระจนเกินไป

อย่างน้อยก็ยังต้องมารายงานต่อรัฐสภา ซึ่งเป็นตัวแทนของประชาชนอยู่เป็นระยะ ถือเป็นการควบคุมในทางอ้อม


อีกประเด็นหนึ่งที่ผมอยากจะมีความเห็นเพิ่มเติมในวันนี้ เพื่อเป็นเครื่องเตือนใจ ธนาคารชาติ ให้สำนึกไว้เสมอ จะได้มีความระมัดระวังรอบคอบมากขึ้นก็คือ ความสำคัญอย่างยิ่งยวดของท่านต่อระบบเศรษฐกิจ

โดยส่วนตัว ผมมีความนึกคิดอยู่ตลอดว่า ธนาคารกลางเป็นอวัยวะที่สำคัญชิ้นหนึ่งของแต่ละประเทศ หรือแต่ละชาติ ซึ่งหากอวัยวะชิ้นนี้สูญเสีย หรือเสื่อมค่าลงไป ประเทศหรือชาตินั้นจะพลอยเสื่อมโทรมไปด้วย

อาจจะมิใช่อวัยวะสำคัญเท่ากับ “หัวใจ” ที่หยุดเต้น แล้วมนุษย์จะตายทันที แต่ก็อาจเป็นเสมือน “ไต” หรือ “ตับ” ซึ่งหากเสื่อมสภาพไป มนุษย์ก็จะต้องเสียชีวิตในที่สุดเช่นกัน

ด้วยความสำคัญเช่นนี้ เมื่อเกิดเหตุวิกฤติปี 2540 หลังจากธนาคารแห่งประเทศไทย โดนนายจอร์จ โซรอส โจมตีจนเสียหายยับเยิน...

รัฐบาลไทยจึงต้องเข้าประคับประคองสถานการณ์ด้วยการตั้งกองทุนฟื้นฟูขึ้นมาดังกล่าว

เพื่อที่จะรักษาอวัยวะชิ้นนี้ไว้ และขณะเดียวกันก็เพื่อจะรักษาชีวิตของประเทศไทยเราไว้ด้วย

ที่คนไทยต้องยอมกล้ำกลืนเสียภาษีอย่างหนักอยู่หลายปี ก็เพื่อจะรักษาชีวิตของประเทศไทย อันเป็นผลมาจากแบงก์ชาติ ซึ่งเปรียบเสมือน “ไต” เกิดอาการ “ไตเสื่อม” หรือ “ไตวาย” เพราะแพ้นายโซรอสนั่นแหละครับ

มาถึงทุกวันนี้...ไต...หรือแบงก์ชาติ ซึ่งดูจะแข็งแรงเป็นปกติดีแล้ว จึงควรที่จะกลับไปรับหน้าที่ในการชำระหนี้แทนคนไทยบ้าง

ปัญหาก็มีอยู่ว่า แบงก์ชาติแข็งแรงพอหรือยัง?

ถ้าแข็งแรงแล้วก็รับภาระกลับไปเถอะครับ

แต่ถ้ายังไม่แข็งยังไม่พร้อม ก็ชี้แจงเหตุผลให้ละเอียดด้วย...เพราะถ้าหากแบงก์ชาติเป็นอะไรลงไปอีก...คนที่จะเหนื่อยก็คือพวกเราประชาชนชาวไทยทั้งชาติเช่นเคย เนื่องจากไม่สามารถจะปล่อยให้อวัยวะสำคัญชิ้นนี้เสื่อมโทรมได้ด้วยเหตุผลข้างต้น


เฮ้อ การจะได้เงินกู้สักก้อนหนึ่งมาใช้เพื่อฟื้นฟูประเทศ ในยามที่หนี้สาธารณะชักจะสูง และวงเงินกู้เกือบจะเต็มวง มันก็ยุ่งยากอย่างนี้แหละครับ

ผมจึงต้องถือโอกาสจบข้อเขียนวันนี้ด้วยการ “สาปแช่ง” เอาไว้ล่วงหน้า...ว่า ถ้าได้เงินกู้มหาศาลมาแล้ว เอามาใช้จ่ายตามโครงการต่างๆแล้ว

ใครโกงกิน หรือตอดหน้าตอดหลัง หาประโยชน์จากเงินก้อนนี้ แม้แต่บาทเดียว ขอให้เป็นโรค “ไตวาย” ก็แล้วกัน จะได้สอดคล้องกับที่ผมเปรียบเทียบแบงก์ชาติว่า สำคัญเหมือนกับเป็น “ไต” ของประเทศไทยในตอนต้นนั่นแล.



++

ศิลปะในการบริหารธนาคารชาติ อย่างอิสระโดยไม่ต้องเป็นรัฐอิสระ
โดย สมาน เลิศวงศ์รัฐ
บทความพิเศษ ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1640 หน้า 25


นานๆ สักครั้งหนึ่งที่ "ซูม" เจ้าของคอลัมน์ "เหะหะพาที" ในยักษ์ใหญ่ไทยรัฐ จะสวมสูทผูกเน็คไทกลายเป็น สมชาย กรุสวนสมบัติ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสของสภาพัฒน์ ทั้งๆ ที่ได้เกษียณไปตั้งนานแล้ว ด้วยน้ำเสียงอันมีเยื่อใยไมตรีกับทั้ง "ดร.โกร่ง" วีระพงษ์ รามางกูร และท่านผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ด้วยการตั้งชื่อบทความของท่านว่า "แบงก์ชาติต้องอิสระ แต่ไม่ใช่รัฐอิสระ"

เนื้อหา ลำดับความก็เป็นไปอย่างละเอียด เคร่งขรึม และระมัดระวัง แต่ก็ได้ข้อสรุปตามชื่อแห่งบทความไว้ทุกประการ

ผู้เขียนไม่ใช่นักเศรษฐศาสตร์ แต่เคยได้ร่ำเรียนอยู่ที่คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มาครั้งหนึ่ง แม้จะไม่มีวาสนาได้ปริญญามาจากที่นี่ ความที่เป็นนักอ่านและเป็นนักสะสมหนังสือคนหนึ่ง ก็เลยหันกลับไปรื้อตู้หนังสือ หาสิ่งที่พอสั่งสอนตัวเองว่า ในสถานการณ์ที่เศรษฐกิจโลกกำลังปั่นป่วน เศรษฐกิจอเมริกันยังไม่เข้มแข็ง เศรษฐกิจยุโรปยังหาทางออกไม่เจอ เศรษฐกิจญี่ปุ่นยังไม่หายช้ำ เศรษฐกิจไทยที่โดนท่วมด้วยน้ำที่หนักที่สุดในรอบเจ็ดสิบปี จำเป็นต้องฟื้นฟูอย่างรวดเร็ว และต้องวางแผนระยะยาวไว้เพื่อความมั่นใจให้แก่ทุกฝ่ายนั้น เรื่อง "อิสระ" หรือ "รัฐอิสระ" คนรุ่นครูบาอาจารย์เขาบอกไว้อย่างไรบ้าง จึงพอนำมาแบ่งปันกันอ่าน

แลกเปลี่ยนกันตามประสาคนใฝ่รู้



ศาสตราจารย์ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ จบการศึกษาระดับปริญญาเอก จาก London school of economics นอกจากจะเคยเป็นคณบดีของคณะเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ แล้วท่านเคยบริหารมหาวิทยาลัยในฐานะของอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ด้วยเช่นเดียวกัน

ชีวิตส่วนใหญ่ของท่าน นอกจากจะเคยเป็นนักสู้กู้ชาติที่ชื่อว่า "เสรีไทย" แล้ว ตำแหน่งที่สำคัญมากของท่านคือ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งนับได้ว่าเป็นคนหนึ่งที่ได้วางหลักการที่สำคัญไว้สำหรับการบริหารเศรษฐกิจของประเทศไทย

เป็นคนเก่งที่ยึดมั่นในหลักการ ซื่อสัตย์สุจริต และเกี่ยวข้องกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่บุญน้อย เกิดมา เติบโต และทำคุณประโยชน์ไว้กับประเทศไทยบ้านเกิด แต่ไม่มีสิทธิ์ที่จะได้ตายในประเทศที่ตนรัก

อาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ได้ปาฐกถาเรื่อง "ศิลปะและวิทยาของการเป็นผู้ว่าการ" ตามคำเชิญของคณบดีคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2512 มีผู้นำไปถอดความและตีพิมพ์ในวาระต่างๆ หลายครั้ง

ข้อความเกี่ยวกับบทความนี้ทั้งหมดอ้างจากหนังสือ "60 ปีเศรษฐกิจไทย 60 ปีเศรษฐศาสตร์ธรรมศาสตร์" เมื่อเดือนกันยายน 2551 ในบทความที่ชื่อว่า "ศาสตร์และศิลป์ของการเป็นผู้ว่าการธนาคารกลาง"

อาจารย์ป๋วย อื๊งภากรณ์ เป็นผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยตั้งแต่ปี 2502-2514 ในช่วงเวลาดังกล่าว เป็นช่วงเวลาที่สถานการณ์ทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม แตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับสถานการณ์ปัจจุบัน

เราไม่อาจเอาสถานการณ์จำเพาะในขณะนั้นมาอธิบายสถานการณ์ในวันนี้ได้ เพราะในวันที่ท่านพูดเรื่องนี้ เงินทุนสำรองระหว่างประเทศของไทยมีอยู่เพียง 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐเท่านั้นเอง

สถานการณ์ทางการเมือง ทางเศรษฐกิจ และสังคมของไทยในขณะนี้ได้เปลี่ยนแปลงไปแล้วอย่างสิ้นเชิง

ท่านได้พูดเรื่องนี้โดยแบ่งเป็นสองหัวข้อ ข้อแรกท่านได้พูดถึง "วิทยาหรือนัยหนึ่งการพิจารณาทางทฤษฎีในด้านนโยบายการเงิน และข้อที่สอง ศิลป์ ศิลปะแห่งการดำเนินนโยบายตามเป้าหมายที่จะกำหนดไว้ในทางวิชาการ"


ในข้อแรกที่ว่าด้วยวิชาหรือวิชาการนั้น ท่านได้นำเสนอหลักการและทฤษฎีบริหารการเงินในแง่มุมของท่าน ในฐานะผู้ว่าการธนาคารกลางอย่างง่ายๆ

ภารกิจของธนาคารแห่งประเทศไทยในขณะนั้นมีเรื่องใหญ่ที่ต้องทำให้ได้คือ พยายามส่งเสริมให้การดำเนินเศรษฐกิจของประเทศเป็นไปด้วยดีและมีการพัฒนา

ซึ่งมีการเอ่ยถึงบทบาท ภาระหน้าที่ของธนาคารแห่งประเทศในยุคของท่านตามที่เป็นไปในขณะนั้น

ไม่ว่าเรื่องการออกพันธบัตร

การเป็นที่ปรึกษาทางการเงินของรัฐบาล

การให้คำปรึกษาด้านงบประมาณแก่รัฐบาล

การรักษาเสถียรภาพให้คู่ไปกับการพัฒนาเศรษฐกิจ

การรักษาเงินสำรองระหว่างประเทศให้อยู่ในฐานะดี

เป็นต้น



ในข้อที่สอง นี่คือหัวข้อที่น่าสนใจมาก ท่านพูดถึงศิลปะในการดำเนินการให้เป็นไปตามนโยบาย (นโยบายของธนาคารชาติ)

ท่านพูดถึงศิลปะในการดำเนินการให้เป็นไปตามนโยบายไว้ 3 ด้าน

ศิลปะในการทำงานกับธนาคารพาณิชย์

ศิลปะในการทำงานกับข้าราชการ รวมทั้งกับข้าราชการรวมทั้งนักการเมือง

และศิลปะในการทำงานกับบุคคลภายในธนาคารแห่งประเทศไทยเอง

ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ได้พูดถึงศิลปะในการทำงานกับข้าราชการซึ่งรวมทั้งนักการเมืองไว้ดังนี้ว่า

"คุณธรรมข้อนี้ ศิลปะข้อนี้กินความรวมไปจนกระทั่งการติดต่อระหว่างผู้ใหญ่ของธนาคารแห่งประเทศไทยกับผู้ใหญ่ของทางราชการ ตำแหน่งของผู้ว่าการธนาคารชาตินี้ในทำเนียบราชการไทยเป็นตำแหน่งที่ต่ำกว่ารัฐมนตรี และเราจำเป็นต้องติดต่อกับรัฐมนตรี เฉพาะอย่างยิ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ซึ่งมีอำนาจตามกฎหมายเป็นผู้กำกับการทำงานของธนาคารแห่งประเทศไทย"

"ให้รัฐบาลหรือบุคคลในรัฐบาลเชื่อถือว่าเราไม่ได้เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัว ไม่ได้เห็นแก่ผลประโยชน์ของธนาคารแห่งประเทศไทย แต่เห็นแก่ประโยชน์ของแผ่นดิน"

"ผู้ว่าการและผู้ใหญ่ในธนาคารแห่งประเทศไทย ต้องมีความกล้าหาญพอสมควร ถ้ามีอะไรไม่ดีแล้วจำเป็นต้องพูดได้ ถ้าไม่มีความกล้าแล้วอย่าเป็นดีกว่า เมื่อจำเป็นต้องติงรัฐบาลก็ต้องท้วง ไม่ท้วงก็บกพร่องต่อหน้าที่"

"อย่างไรก็ตาม ขอให้เข้าใจให้ชัดว่าระหว่างรัฐบาลกับธนาคารแห่งประเทศไทยนั้น "รัฐบาลมีความรับผิดชอบขั้นสูงสุด ธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นเพียงหน่วยงานหนึ่งของรัฐบาล ในกรณีที่รัฐบาลดำเนินนโยบายซึ่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยไม่เห็นด้วยและคัดค้านแล้วยังไม่สามารถจะเกลี้ยกล่อมได้ ถ้าเป็นนโยบายที่สำคัญเกี่ยวกับหลักการหรือ ความหายนะ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยก็มีทางออกอยู่อีกทางหนึ่งที่จะคัดค้านคือลาออก...เขียนหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังว่า "การที่ข้าพเจ้าลาออกเพราะเหตุว่าข้าพเจ้าไม่เห็นด้วยกับนโยบายของรัฐบาล"

"นี่เป็นการคัดค้านอย่างชัดแจ้ง ก็เป็นธรรมเนียมที่เขาทำกันอยู่ แต่ไม่ควรจะทำบ่อยนัก ทำบ่อยนักไม่ศักดิ์สิทธิ์ ควรที่จะเอาเรื่องที่สำคัญจริงๆ"



กฎหมายอันเกี่ยวกับการกำกับธนาคารแห่งประเทศไทยในยุคที่ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ชื่อ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ กับ ประสาน ไตรรัตน์วรกุล นั้นแตกต่างกันมากแล้ว

สถานการณ์ทางการเมืองและเศรษฐกิจเปลี่ยนไปมากแล้ว แต่ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลกับธนาคารแห่งประเทศยังคงเดิม ยังอยู่ในกรอบแห่งหลักการเดิม

ไม่มีใครต้องการที่จะละเมิดหลักการแห่งความเป็นอิสระของธนาคารแห่งประเทศแต่อย่างใด

เพียงแต่รัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งนั้นมีพันธะที่ต้องดำเนินนโยบายให้เป็นไปตามนโยบายที่สัญญาไว้กับประชาชนเท่านั้น



+++

เผือกร้อนรับ รมว.คนใหม่ ราคาพลังงานขึ้นยกแผง
คอลัมน์เศรษฐกิจ ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1640 หน้า 22


กระแสต่อต้านพลังงานราคาแพงที่มีต่อรัฐบาล นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กำลังดังขึ้นเรื่อยๆ หลังจากรัฐบาลดำเนินการตามมติของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ขึ้นราคาทั้งระบบ ประกอบด้วย

1.ปรับขึ้นราคาก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (เอ็นจีวี) อัตรา 50 สตางค์ต่อกิโลกรัมต่อเดือน ตั้งแต่วันที่ 16 มกราคมถึงธันวาคม 2555 รวม 6 บาทต่อกิโลกรัม ทำให้ราคาเอ็นจีวีสิ้นปีจะอยู่ที่ 14.50 บาทต่อกิโลกรัม จากปัจจุบัน 8.50 บาทต่อกิโลกรัม

2. ปรับขึ้นราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลว (แอลพีจี) อัตรา 75 สตางค์ต่อกิโลกรัม ตั้งแต่วันที่ 16 มกราคมถึงธันวาคม 2555 หรือราคาหน้าโรงกลั่น รวม 9 บาทต่อกิโลกรัม ทำให้ราคาแอลพีจีสิ้นปีจะอยู่ที่ 27.13 บาทต่อกิโลกรัม จากปัจจุบัน 18.13 บาทต่อกิโลกรัม

3. ปรับขึ้นราคาน้ำมันเบนซินทั้งระบบอัตรา 1 บาทต่อลิตร ทำให้เบนซิน 91 อยู่ที่ 31.09 บาทต่อลิตร เบนซิน 95 อยู่ที่ 42.42 บาทต่อลิตร แก๊สโซฮอล์ 91 อยู่ที่ 35.44 บาทต่อลิตร แก๊สโซฮอล์ 95 จะอยู่ที่ 37.19 บาทต่อลิตร และอี 20 อยู่ที่ 34.44 บาทต่อลิตร และราคาน้ำมันดีเซล อัตรา 60 สตางค์ต่อลิตร อยู่ที่ 31.09 บาทต่อลิตร เพื่อส่งเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (ยังไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) โดยน้ำมันทั้ง 2 ชนิดปรับขึ้นตั้งแต่วันที่ 16 มกราคม 2555 ส่วนการปรับขึ้นครั้งต่อไป กระทรวงพลังงานระบุว่าจะพิจารณาอัตราที่เหมาะสมและเสนอ กพช. พิจารณาอีกครั้ง

ผลพวงจากการปรับราคาพลังงาน คงสวยงามและได้รับการชื่นชมกว่านี้ เพราะเหตุผลหลักคือต้องการให้ราคาสะท้อนกับสถานการณ์จริงในปัจจุบัน โดยเฉพาะเอ็นจีวีและแอลพีจี ส่วนการขึ้นราคาน้ำมันก็เพราะต้องการรักษาเสถียรภาพของกองทุนน้ำมัน ไม่ให้ติดลบไปมากกว่านี้ (ตัวเลขฐานะกองทุน ณ วันที่ 6 มกราคม 2555 อยู่ที่ 14,550 ล้านบาท)

แต่ในความจริงกลับถูกต่อต้านจากประชาชน นั่นเพราะนโยบายรัฐบาลเองที่ผิดพลาดมาแต่แรก ผิดพลาดเพราะบิดเบือนกลไกตลาด ประจวบเหมาะกับต้องมาเจอแนวโน้มราคาน้ำมันในตลาดโลกพุ่งต่อเนื่อง


เริ่มตั้งแต่รัฐบาลเข้ารับตำแหน่งเมื่อเดือนสิงหาคม 2554 โดยรัฐบาลอ้างว่าต้องการผลักดันนโยบายลดการเก็บเงินกองทุนน้ำมัน 3 ชนิด คือ เบนซิน 91 เบนซิน 95 และดีเซล ที่ประกาศไว้กับประชาชน ดังนั้น กพช. จึงมีมติปรับลดเงินส่งเข้ากองทุน โดยน้ำมันเบนซิน 91 ลิตรละ 7.17 บาท เหลือ 34.77 บาทต่อลิตร เบนซิน 95 ลิตรละ 8.02 บาท เหลือ 39.32 บาทต่อลิตร และดีเซล ลิตรละ 3.00 บาท เหลือ 26.99 บาทต่อลิตร ส่งผลให้กองทุนน้ำมัน สูญรายได้ 6,160 ล้านบาทต่อเดือน จากฐานะกองทุน ณ วันที่ 26 สิงหาคม 2554 ที่มีรายได้เป็นบวก 1,064 ล้านบาท

แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้น เมื่อราคาเบนซินแตกต่างจากแก๊สโซฮอล์น้อยมาก จึงทำให้ผู้ใช้รถหันไปใช้น้ำมันเบนซินมากกว่า ส่งผลให้ยอดขายน้ำมันแก๊สโซฮลล์ตกฮวบ ขัดกับนโยบายประเทศที่จะพึ่งพาพลังงานทดแทนไม่ใช่เชื้อเพลิงที่รอวันหมดอย่างน้ำมัน

ปลายเดือนกันยายน 2554 รัฐบาลจึงกลับมาปรับอัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมัน และเงินชดเชยจากกองทุนน้ำมันของกลุ่มแก๊สโซฮอล์ใหม่ โดยลดเก็บเงินจากน้ำมันแก๊ซโซฮอล์ 95 ลง 1 บาทต่อลิตร ราคาจึงอยู่ที่ 35.37 บาทต่อลิตร เพิ่มเงินชดเชยให้กับน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91 ขึ้น 1.50 บาทต่อลิตร ราคาจึงอยู่ที่ 32.34 บาทต่อลิตร และเพิ่มเงินชดเชยให้กับอี 20 ขึ้น 1.50 บาทต่อลิตร ราคาอยู่ที่ 31.34 บาท ต่างกับราคาเบนซิน 95 ซึ่งอยู่ที่ 39.32 เบนซิน 91 อยู่ที่ 35.37 บาทต่อลิตร เพราะต้องการจูงใจให้ประชาชนหันมาใช้พลังงานทดแทนเหมือนเดิม

สรุปแล้ว นโยบายประชานิยมแบบไม่ดูตาม้าตาเรือ นอกจากจะไม่ได้รับคำชม หนำซ้ำยังก่อปัญหาให้ต้องตามแก้แล้ว รัฐบาลยังต้องคิดหนัก เพราะทำให้ฐานะกองทุนเริ่มติดลบ 1,302 ล้านบาท


กลับมาที่นโยบายขึ้นราคาพลังงานทั้งระบบ ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อปลายเดือนกันยายน 2554 เช่นกัน แรกเริ่มนโยบายนี้ไม่ถูกพูดถึงหรือวิพากษ์วิจารณ์มากนัก เพราะเป็นช่วงที่ประเทศกำลังประสบกับอุทกภัยครั้งร้ายแรง ประชาชนที่ได้รับผลกระทบต่างยุ่งอยู่กับปัญหาน้ำท่วม แต่เมื่อสถานการณ์น้ำคลี่คลาย รอยรั่วของนโยบายเพราะถูกต่อต้านก็ดังขึ้นเรื่อยๆ

เริ่มที่การขึ้นราคาก๊าซเอ็นจีวีและแอลพีจี โดยเอ็นจีวีเป็นก๊าซที่เหล่าผู้ขับแท็กซี่ออกมาต่อต้านการขึ้นราคา โดยอ้างว่าเป็นต้นทุนทางตรงที่เพิ่มขึ้นประมาณ 70% และเรียกร้องให้รัฐบาลทบทวนพร้อมข่มขู่ว่าจะก่อม็อบปิดถนน ซึ่งรัฐบาลทราบท่าทีมาโดยตลอด แต่เลือกเสนอให้ส่วนลด 2 บาทต่อกิโลกรัม ผ่านบัตรเครดิตพลังงาน

สุดท้ายบัตรเครดิตก็ส่อเหลว สมาชิกไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ผู้ขับแท็กซี่อ้างว่าวงเงินบัตรน้อยเกินไปและไม่มีใบขับขี่สาธารณะตามหลักเกณฑ์การขอบัตร จึงเห็นรัฐบาลตามแก้ปัญหาทั้งการเพิ่มวงเงินบัตรและประสานกระทรวงคมนาคมอำนวยความสะดวกเรื่องการทำใบขับขี่สาธารณะ

เมื่อไม่ได้ตามที่ต้องการ วันที่ 9 มกราคม 2555 จึงได้เห็นปรากฏการณ์กฎหมู่อยู่เหนือกฎหมายของบรรดาแท็กซี่ รถสาธารณะอื่น และรถบรรทุก จับมือกันออกมาปิดถนนเรียกร้องไม่ให้รัฐบาลปรับขึ้นราคา โดยกระจายกันปิดถนนวิภาวดี ขาออก และทำเนียบรัฐบาล

ลงท้ายด้วยการยอมอ่อนข้อของรัฐบาล โดยยอมขอโทษม็อบที่ไม่สื่อสารให้เข้าใจตรงกัน พร้อมยอมให้ส่วนลดรูปแบบเดียวกับบัตรเครดิตพลังงานกับรถสาธารณะทั้งหมด และตั้งคณะกรรมการเพื่อแก้ปัญหา แต่ขอขึ้นราคาเอ็นจีวีและแอลพีจีก่อน แต่ไม่เกิน 4 เดือน

ผลก็คือ รถสาธารณะได้ประโยชน์ถ้วนหน้า แต่รถบ้านเป็นกลุ่มเดียวที่รับภาระการขึ้นราคาเอ็นจีวี-แอลพีจี

เป็นผลงานที่แสดงถึงความอ่อนแอของรัฐบาล !!



ส่วนการขึ้นราคาน้ำมันกลุ่มเบนซิน และดีเซล เพื่อเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันนั้น ในส่วนของเบนซินอาจไม่สร้างผลกระทบมากนัก เพราะเป็นกลุ่มชนชั้นกลางที่รับภาระส่วนเพิ่มได้ แต่สำหรับดีเซลถือเป็นเชื้อเพลิงที่สัดส่วนมากที่สุด และครอบคลุมทุกกลุ่ม ทั้งรถบ้าน เกษตรกร รถ-เรือขนส่ง ดังนั้น การเพิ่มขึ้นของดีเซลจึงส่งผลกระทบกับราคาสินค้า ค่าครองชีพของประชาชนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ล่าสุด สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ออกโรงเตือนรัฐบาลให้ดูแลราคาดีเซลไม่ให้สูงกว่า 31-32 บาทต่อลิตร เพราะกระทบกับราคาสินค้าที่จะเพิ่มขึ้น 7% หากน้ำมันขึ้น 1 บาทต่อลิตร เนื่องจากภาคขนส่งใช้น้ำมันดีเซลมากถึง 70%

นอกจากนี้ยังเตือนว่าราคาน้ำมันมีสิทธิพุ่งไปถึง 40 บาทต่อลิตรภายในปีนี้ เพราะแนวโน้มของราคาในตลาดโลกยังพุ่งต่อเนื่องจากความตึงเครียดระหว่างอิหร่านกับสหรัฐอเมริกา

ขณะที่นักวิชาการด้านน้ำมันเตือนรัฐบาลด้วยเช่นกัน ว่า ต้องบริหารจัดการราคาดีเซลให้ดี เพราะนอกจากปัจจัยการเก็บเข้ากองทุนน้ำมันแล้ว ราคายังต้องเพิ่มจากการปรับปรุงคุณภาพน้ำมันเป็นยูโรโฟร์ และอัตราภาษีสรรพสามิตดีเซลที่ยังงดเก็บอยู่ประมาณ 5 บาทต่อลิตร

เป็นสัญญาณเตือนที่รัฐบาล โดยเฉพาะ อารักษ์ อารักษ์ ชลธารนนท์ อดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยคม ว่าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานคนใหม่ ต้องฟัง เพื่อตัดสินใจว่าจะปล่อยให้ราคาพลังงานปรับขึ้นไป ให้ประชาชนรับสภาพที่แท้จริง หรือจะยังใช้นโยบายประชานิยม ช่วยเหลือจนติดนิสัยเสพติดของถูกต่อไป

เป็นเผือกร้อนที่รอพิสูจน์ฝีมือ !!



++

นวัตกรรมเปลี่ยนโลก 5 ปีข้างหน้า มนุษย์ใช้สมองสั่งงานแล็บท็อป-โทรศัพท์มือถือได้
รายงานพิเศษ ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1640 หน้า 78


โลกทุกวันนี้อะไรก็เกิดขึ้นได้

ใครจะคิดบ้างว่า มือถือเครื่องเล็กๆ จะสามารถทำงานได้สารพัดรูปแบบ ทั้งค้นหาข้อมูล ส่งอี-เมล บันทึกตารางเวลานัดหมาย ทำให้ชีวิตคนทำงานง่ายขึ้นอย่างเหลือเชื่อ

ยิ่ง iPhone 5 ออกมาเขย่าตลาดด้วยโปรแกรมการทำงานที่ล้ำยุค มีการปลดล็อกด้วย "หน้า" เจ้าของ ยิ่งทำให้ผู้ใช้งานรู้สึกถึงความก้าวหน้าของเทคโนโลยีที่ไม่เพียงให้ผู้ใช้มีความสะดวกสบายมากขึ้นแต่ยังมีความปลอดภัยในการใช้งานสูง

การพัฒานวัตกรรมใหม่ๆ ไม่ได้เกิดขึ้นบนมือถือเพียงอย่างเดียว แต่ในระยะเวลาที่ผ่านมาเทคโนโลยีใหม่ๆ ได้ถูกพัฒนาขึ้นมาใช้กับสินค้าหลากหลายรูปแบบ

อีกตัวอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัด คือ "เมอร์เซเดสเบนซ์" ผู้นำแห่งโลกยานยนต์ที่ได้มีการพัฒนานวัตกรรม และเทคโนโลยีอย่างไม่หยุดยั้งอย่างต่อเนื่องไม่ว่าจะเป็นเรื่องรูปลักษณ์ ดีไซน์ สมรรถนะ ตลอดจนเทคโนโลยีความปลอดภัยที่ทรงประสิทธิภาพด้วยการคิดค้นนวัตกรรมต่างๆ

ไม่ว่าจะเป็นฟังก์ชั่นการควบคุมสมรรถนะรถยนต์

การดีไซน์ตามหลักสรีรศาสตร์ การควบคุมระบบปรับอากาศภายในรถ อุปกรณ์อำนวยความสะดวกเพื่อให้ง่ายต่อการขับขี่และปัจจัยต่างๆ ที่สามารถช่วยสร้างความสะดวกสบายอย่างเหนือชั้นให้แก่ผู้ขับขี่ และผู้โดยสาร จนสามารถครองใจลูกค้าระดับบนมาอย่างยาวนาน

นี่คือนวัตกรรมที่เราสัมผัสได้ในยุคนี้ ในอีก 5 ปีข้างหน้านวัตกรรมไอทีจะเปลี่ยนโลกอย่างไร เป็นเรื่องที่น่าสนใจและน่าติดตามอย่างยิ่ง



เมื่อเร็วๆ นี้ "นางพรรณสิรี อมาตยกุล" กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด ให้ข้อมูลว่า ไอบีเอ็มได้คิดค้นนวัตกรรมทางด้านเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อช่วยสร้างสรรค์โลกให้ฉลาดขึ้นภายใต้แนวคิด "สมาร์ตเตอร์ แพลนเน็ต" (Smarter Planet) มาอย่างต่อเนื่องจากผลงานวิจัยในห้องทดลองของไอบีเอ็มทั่วโลก ซึ่งจะมีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์นวัตกรรมเหล่านี้ให้กลายเป็นจริงได้

โดยล่าสุดไอบีเอ็มได้เปิดเผย 5 นวัตกรรมทางด้านเทคโนโลยีที่จะเปลี่ยนแปลงการดำเนินชีวิตของคนเราในอีก 5 ปีข้างหน้า หรือ ไอบีเอ็ม ไฟว์ อิน ไฟว์ (IBM Five in Five)

นวัตกรรมแรกคือ "มนุษย์สามารถสร้างพลังงานมาใช้ได้เอง" ซึ่งการเคลื่อนไหวต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการเดิน วิ่ง ขี่จักรยาน และสิ่งต่างๆ รอบตัวเรา เช่นความร้อนจากคอมพิวเตอร์ก็สามารถสร้างพลังงานได้ และสามารถที่จะเก็บรวบรวมมาใช้งานภายในบ้าน สถานที่ทำงาน และเมืองต่างๆ โดยนักวิทยาศาสตร์ของไอบีเอ็มในไอร์แลนด์กำลังศึกษาวิธีการแปลงพลังงานคลื่นในมหาสมุทรให้กลายเป็นกระแสไฟฟ้าและลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม

นวัตกรรมที่ 2 ก็คือ "มนุษย์จะใช้เสียงพูด ใบหน้าและดวงตาแทนรหัสผ่านได้" โดยในอนาคตเราจะไม่ต้องใช้รหัสผ่านอีกต่อไป เพราะข้อมูลทางไบโอเมตริก (Biometric) เช่น ข้อมูลเกี่ยวกับเค้าโครงใบหน้า การสแกนม่านตา และไฟล์เสียงพูด จะถูกประกอบเข้าด้วยกันผ่านทางซอฟต์แวร์ เพื่อสร้างรหัสผ่านออนไลน์ เราจึงสามารถเดินไปที่ตู้เอทีเอ็มเพื่อถอนเงินอย่างปลอดภัย โดยเพียงแค่พูดชื่อหรือมองเข้าไปในเซ็นเซอร์ขนาดเล็กที่สามารถรับรู้ความแตกต่างในม่านตาของแต่ละคน

ส่วนนวัตกรรมที่ 3 คือ "มนุษย์สามารถใช้สมองสั่งงานแล็ปท็อปและโทรศัพท์มือถือได้"การอ่านใจจะไม่ใช่เรื่องที่พบเห็นได้เฉพาะในนิยายวิทยาศาสตร์อีกต่อไป

ขณะนี้นักวิทยาศาสตร์ของไอบีเอ็มในสาขาวิชาชีวสารสนเทศ หรือไบโออินฟอเมติกส์ (Bioinformatics) กำลังทำการค้นคว้าวิธีการเชื่อมโยงสมองของคนเข้ากับอุปกรณ์ต่างๆ เช่น คอมพิวเตอร์ หรือสมาร์ทโฟน รวมถึงการออกแบบชุดหูฟังที่มีเซ็นเซอร์พิเศษสำหรับอ่านคลื่นไฟฟ้าสมอง รวมถึงสีหน้า ระดับความตื่นเต้น การมีสมาธิจดจ่อ และความคิดของบุคคล โดยที่บุคคลนั้นไม่จำเป็นต้องขยับร่างกาย

ภายใน 5 ปีข้างหน้าเราจะเริ่มเห็น

การประยุกต์ใช้งานเทคโนโลยีนี้ในอุตสาหกรรมเกมและความบันเทิง รวมถึงวงการแพทย์เพื่อทดสอบแบบแผนของสมอง และอาจช่วยในการฟื้นฟูผู้ป่วยที่เกิดภาวะเส้นเลือดสมองแตก และช่วยในการทำความเข้าใจเกี่ยวกับความผิดปกติของสมอง เช่น โรคสมาธิสั้น ได้อีกด้วย

สำหรับนวัตกรรมที่ 4 คือ "ทุกคนสามารถเข้าถึงข้อมูลต่างๆ ได้ทุกที่ทุกเวลาด้วยเทคโนโลยีโมบาย" โดยในช่วง 5 ปีนับจากนี้ ช่องว่างระหว่างผู้ที่มีข้อมูลและผู้ที่ไม่มีข้อมูลจะลดลงอย่างมาก เนื่องจากความก้าวหน้าของเทคโนโลยีโมบายอย่างเช่น ในอินเดียที่ไอบีเอ็มใช้เทคโนโลยีเสียงพูดและอุปกรณ์พกพาเพื่อช่วยให้ชาวชนบทที่ไม่รู้หนังสือสามารถถ่ายทอดข้อมูลผ่านทางข้อความที่บันทึกไว้ในโทรศัพท์ และการเข้าถึงข้อมูลได้อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน เช่น การช่วยให้คนเหล่านี้สามารถตรวจสอบรายงานสภาพอากาศ รู้ว่าจะมีแพทย์เดินทางเข้ามาในเมืองเมื่อไร และยังสามารถตรวจสอบระดับราคารับซื้อที่ดีที่สุดสำหรับพืชผลทางการเกษตร

และนวัตกรรมที่ 5 คือ "คอมพิวเตอร์จะช่วยคัดกรองและแจ้งข้อมูลสำคัญที่สอดคล้องกับความต้องการของเรา" ซึ่งในอีก 5 ปีข้างหน้า โฆษณาที่ไม่พึงประสงค์ อาจมีลักษณะสอดคล้องกับความต้องการของผู้รับอย่างมาก

ทั้งนี้ ไอบีเอ็มกำลังพัฒนาเทคโนโลยีที่ใช้ระบบวิเคราะห์ข้อมูลแบบเรียลไทม์ เพื่อกลั่นกรองและผนวกรวมข้อมูลจากทุกแง่มุมของชีวิต ตั้งแต่ข่าวสารไปจนถึงกีฬาและการเมือง

เทคโนโลยีจะรู้ว่าผู้รับชื่นชอบและต้องการอะไร เพื่อนำเสนอและแนะนำข้อมูลที่จะเป็นประโยชน์ตรงใจ ทำให้ต่อไปตั๋วคอนเสิร์ตของวงดนตรีที่ชอบจะถูกจองไว้ให้ทันทีที่เปิดขาย และจะสามารถซื้อตั๋วนั้นได้ทันทีจากอุปกรณ์พกพา

นี่คือความสะดวกสบายที่กำลังจะเกิดขึ้นในชีวิตประจำวันของพวกเราในอีก 5 ปีข้างหน้า โปรดอดใจรอ



.