http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2556-03-28

ขาใหญ่ โดย คำ ผกา

.

ขาใหญ่
โดย คำ ผกา

ที่มา “คำ ผกา” จัดเต็ม “ขาใหญ่ คนล้มชาติ-ล้มประชาธิปไตย” และ “ทีวีสาธารณะ”
( www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1364320383 )

ในมติชน ออนไลน์ วันที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2556 เวลา 17:00:33 น.
จาก บทความ “ขาใหญ่” มติชนสุดสัปดาห์ 22 มี.ค. 56 ปีที่ 33 ฉบับที่ 1701 หน้า 89


ที่ผ่านมาเราพยายามจะ "สุภาพ" ตัวฉันเองก็พยายามอย่างยิ่งที่จะ "สุภาพ" ทั้งๆ ที่ความสุภาพนั้นขัดกับสันดานเดิม จริตเดิมอย่างยิ่ง เราพยายามที่จะ "สุภาพ" เสียจนลืมคิดไปว่า บางครั้งก็ยากที่จะแยกความสุภาพกับความตอแหลออกจากกัน

อันที่จริง เราควรต้องมานิยามคำว่า "สุภาพ" กันเสียก่อนว่าหมายถึงอะไร

เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ฉันได้อ่านข้อความที่โพสต์ในเฟซบุ๊กของบุรุษผู้หนึ่งซึ่งเป็นผู้มีชื่อเสียงระดับปานกลางในสังคม เขาโพสต์ว่า "หากใครวิจารณ์สถาบันให้เขาได้ยิน เขาจะลากปืนมายิงให้คลานเหมือนหมา"

ประโยคที่ไม่มีคำหยาบคาย แสดงความปรารถนาออกมาจากใจจริง ทว่า เป็นความไม่หยาบคายที่เต็มไปความเกลียดชัง วาทะเช่นนี้เรียกกันว่าเป็น hate speech


ในสังคมประชาธิปไตย เราผู้รักในสันติ คงต้องอดทน อดกลั้น ต่อวาทะเช่นนี้ แล้วพยายามสืบหาที่มาของการบ่มเพาะความคับแคบ เกลียดชัง

ชวนให้ตั้งคำถามต่อไปว่า "สังคมแบบไหนกันที่ผลิตพลเมืองเช่นนี้ออกมา?"

ไปจนถึงการถามต่อไปว่า "เราสามารถดูดายต่อปรากฏการณ์อย่างนี้ในสังคมได้หรือไม่?"


เพื่อนของฉันหลายคนโพสต์ข้อความในโซเชียลมีเดียด้วยภาษาที่"หยาบคาย" อย่างมหาศาล ทั้งแสดงความรู้สึกที่เป็นเนื้อแท้ของตนเองออกมาอย่างไม่เกรงว่าจะเสียภาพพจน์ต่อสื่อ

และน่าประหลาดใจมากกว่าในบรรดาคนที่ใช้ภาษาหยาบคายเป็นนิจศีล โดยมากเป็นคนที่มีความสุภาพ จริงใจต่อผู้อื่น ไม่สร้าง hate speech

หลายครั้งยังทำลายบรรยากาศของ hate speech ด้วยความตลกขบขันในการคัดสรรคำหยาบมาล้อเลียนความรุนแรงใน hate speech จากบรรดาผู้ใช้ภาษาสุภาพนั้นเสียอีก



เขียนทั้งหมดนี้เพื่อจะบอกว่าสังคมไทยเป็นสังคมติดเปลือก เป็นสังคมฉาบฉวย ตื้นเขิน

เราวัดความสุภาพกันที่การใช้ภาษา "สุภาพ" แต่เราไม่เคยดูให้ลึกลงไปว่าในภาษาที่ "สุภาพ" และเราคิดว่ามันไม่หยาบคายนั้นกลับมีเนื้อหา มีแก่นสารที่เต็มไปด้วยความรุนแรง การสร้างความเกลียดชัง

แบบเรียนวิชาประวัติศาสตร์ สุนทรพจน์ของนักปราชญ์ นักบุญ นักเทศน์ จำนวนไม่น้อยก็เข้าข่ายนี้

ทว่า บังเอิญมันอยู่ในสังคมเปลือกๆ กากๆ จึงไม่มีใครเห็นว่า ความ "สุภาพ" เหล่านี้คือ "ความรุนแรง"


ความตื้นเขิน ติดเปลือกนี้มีอยู่ในทุกลมหายใจของความเป็นไทย
เช่น เรามักจะคิดว่าการรักชาติแสดงออกด้วยการยืนตรงเคารพธงชาติ การเป็นบัณฑิตแสดงออกด้วยการศิโรราบต่อพิธีกรรมการรับปริญญาอย่างปราศจากอารมณ์ขัน อยากรักสิ่งแวดล้อมให้ปลูกป่า อยากเป็นคนดีก็สวดมนต์ มีอุปสรรคในชีวิตมากนักก็ไปปล่อยปลา ปล่อยนก


อยากดู กากที่สุด ตื้นที่สุด คือการบอกว่า สังคมมันจะดีขึ้นได้ง่ายๆ แค่ทุกคนทำตัวเป็นคนดี ทำตามหน้าที่ของตนเอง

มีนักโทษการเมืองที่ถูกจำคุกอย่างไม่เป็นธรรมหรือ? นั่นก็เรื่องของเขา คุณเป็นครู เป็นหมอ เป็นครูบาอาจารย์ เป็นแม่ค้า ก็ทำหน้าที่ ทำงานของตนเองไปให้ดีที่สุด

มีคนถูกฆ่าจากอำนาจรัฐหรือ? ก็ช่วยไม่ได้ อยากออกไปประท้วงเอง ถ้ารู้จักทำตามหน้าที่ของตัวเอง นั่งทำมาค้าขาย เป็นพ่อที่ดี แม่ที่ดี ลูกที่ดีอยู่บ้าน จะตายมั้ย? บ้านเมืองจะไม่เป็นอะไร ถ้าทุกคนสงบเงี่ยมเจียมตนอยู่ในที่ตั้ง

เข้าใจหรือเปล่า?




สังคมไทยตื้นเขินเช่นนี้ จึงทำให้มีคนกลุ่มหนึ่งสามารถ "หากิน" กับความตื้นเขิน จะว่าไปแล้วพวกเขาคือกลุ่มคนที่ชักใย หรือ manipulate หล่อเลี้ยงความตื้นเขินของสังคมไทยให้ตื้นเขินมากขึ้น กว้างขวางขึ้น-คนรุ่นใหม่บางคนเขาใช้คำศัพท์สวยหรูว่าเป็นการ "สำเร็จความใคร่ทางอุดมการณ์"

คนกลุ่มนี้ทำให้สังคมไทยเชื่อไปโดยปริยายว่า คนดีคือคนที่ไม่ดื่มเหล้า ไม่สูบบุหรี่ ไม่มีพุง ไม่ทะเลาะเบาะแว้งกันในครอบครัว 
คนดีคือคนที่เห็นโลกสวยงาม น่ารัก น่าเอ็นดู มองโลกในแง่ดี
คนเหล่านี้ทำให้สังคมไทยเห็นพ้องต้องกันว่า ประเทศไทยจะผุดผ่องดั่งทองทา เป็นประเทศที่ศิวิไลซ์หากเราออกกฎหมายกำหนดเวลาขายสุราอย่างเคร่งครัด

คนเหล่านี้ทำให้เราเชื่อว่าการห้ามขายเซ็กซ์ทอยจะช่วยให้เยาวชนไม่มีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร 


คนกลุ่มนี้สร้างทฤษฎีขึ้นมาง่ายๆ ว่า ปัญหาของสังคมไทยเกิดจากการเติบโตของทุนนิยม ความโลภของพ่อค้า การที่พ่อค้าหันมาเป็นนักการเมืองแล้วเข้าสัมปทานประเทศ มอมเมาประชาชนให้ลุ่มหลงในวัฒนธรรมบริโภคนิยม ทำให้ชนบทล่มสลาย เมืองก็เสื่อมทราม ศีลธรรมทรุด อิทธิพลตะวันตกเข้าครอบงำ ฟาสต์ฟู้ด หนังฮอลลีวู้ดเข้าเกาะกุมจิตใจประชาชน 
ทางออกของประเทศคือ ขจัดทุนสามานย์ กอบกู้ชนบท ช่วยชาวบ้านที่หลงผิดให้คิดถูก ลด ละ เลิก อบายมุข หันมาถือศีล เข้าวัด ปลูกข้าวอินทรีย์ มีเศรษฐกิจยั่งยื่น


ขณะเดียวกัน คนกลุ่มนี้ก็ลืมไปว่าตนเองอาศัยอยู่ในเมืองที่มีสาธารณูปโภคพร้อมสรรพ มีเทคโนโลยีทุกประเภทในความครอบครอง ดื่มไวน์สลับกับไปเจริญสติ มีรถขับ มีบีทีเอส เอ็มอาร์ที นั่งเครื่องบินชั้นธุรกิจ

แต่ไม่สิ คนเหล่านี้จะบอกตนเองว่า 
"พวกชั้นบริโภคสิ่งเหล่านี้อย่างรู้เท่าทัน ไม่กินฟาสต์ฟู้ด ไม่อุดหนุนสินค้าอุตสาหกรรมเกษตร เดินวิลล่า หาซื้อข้าวอินทรีย์ ผักปลอดสาร หรือไม่ก็อุดหนุนสินค้าของชาวบ้านจากสหกรณ์ทางเลือก ใส่ผ้าไทย หิ้วกระเป๋าผ้าทอมือเก๋ๆ พวกชั้นเป็นผู้บริโภคที่ฉลาดย่ะ แต่ชาวบ้านสิ จนแล้วยังถูกนายทุนมอมเมา คนดีๆ คนฉลาด คนรู้เท่าทันความชั่วอย่างชั้นต้องไปกอบกู้เอาชาวบ้านกลับคืน เอาหมู่บ้านชนบทอันง่ายงามกลับคืนมา (แต่กูนอนคอนโดฯ หรูกลางเมืองนะ)"


ด้วยความคลั่ง "คนดี" ที่ตื้นเขินนี่เอง ที่ได้เบิกทางให้กับการรัฐประหาร เพื่อขจัดทุนสามานย์ นักการเมืองโสมม ด้วยการ manipulate "คนดี" อย่างเป็นระบบ ได้แผ้วถางทางให้ธุรกิจการค้าทางจิตวิญญาณเฟื่องฟู

"คนดี" ทั้งหลายได้สัมปทานทำนโยบายเสริมสร้างความเข้มแข็งให้คุณธรรมความดีกันยกใหญ่ ตั้งแต่ขึ้นป้ายโฆษณา ทำแคมเปญรณรงค์ จัดสัมมนาครั้งแล้วครั้งเล่า จัดงานอีเวนต์ฟื้นฟูชุมชน ทำเวิร์กช็อปเรียนรู้บทเรียนจากปราชญ์ท้องถิ่น รณรงค์ไม่กินน้ำตาล ทำห้องนิพพานจำลอง ฯลฯ


จนกระทั่งนำมาสู่การทำช่องทีวีสาธารณะที่อ้างว่าเป็นอิสระจากรัฐ อิสระจากทุน เป็นทีวีที่เป็นกลางปราศจากผลประโยชน์ เป็นทีวีที่จะไม่มอมเมาประชาชนด้วยละครน้ำเน่า เกมส์โชว์ไร้สาระ หรือข่าวบันเทิงที่วันๆ อยากรู้แค่ว่าดาราคนไหนไปเอากับใคร ใครเลิกกับใคร ใครแต่งกับใคร ใครลำเลิกกันในอินสตาแกรม

ทีวีสาธารณะจะใช้เงินจากภาษีที่เรียกกันว่า "ภาษีบาป"
(คนบาปที่ทั้งดื่มและสูบอย่างฉันก็อยากจะกรีดร้องว่า "บาปแล้วงัยยยยยยยยย" การเที่ยวไปป้ายสีใส่บาปต่อผู้อื่น ถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือไม่ มีอย่างที่ไหน ด่าเขา แล้วก็อยากใช้เงินเขา-ฉันไม่มีปัญหากับการเอาเงินจากกาสิโน จากซ่อง จากกัญชา จากหวย ไปพัฒนาประเทศ แต่มีปัญหากับการเหยียดมนุษย์ด้วยกันให้ต้อยต่ำหรือยกให้สูงส่งด้วยการตั้งค่ามาตรฐานความดีตามอำเภอใจ)มาบริหารงานเพื่อจะได้ทำข่าว ทำรายการแบบไม่เกรงหน้าอินทร์หน้าพรหม ไม่สนใจว่าต้องทำรายการเอาใจลูกค้า กลัวโฆษณาไม่เข้า ไม่มีรายได้ เพราะว่ากันว่า รายการดีๆ ที่มีประโยชน์นั้น ทำออกมามักจะเจ๊ง

ว่ากันไปตามทฤษฎีก็คือ ต้องหาแหล่งทุนจากที่ไหนสักแห่งหนึ่ง สนับสนุนสื่อคุณภาพจะได้ไม่ต้องเที่ยวไปขอเงิน "พ่อค้า" กินให้สิ้นศักดิ์ศรี ไม่ต้องเป็นสื่อขายตัว ขายอุดมการณ์

ทฤษฎีนี้จะจริงหรือไม่อย่างไร ยังถกเถียงกันได้อีก แต่ชะรอยเมืองไทยเชื่อในทฤษฎีอย่างสุดจิตสุดใจจึงมีทีวีสาธารณะเกิดขึ้น

เกิดขึ้นปุ๊บ ด้วยความที่ไม่ต้องอาศัยเงิน "พ่อค้า" จึงกล้าประกาศตัวทันทีว่า เป็นสื่อที่เป็นกลาง เป็นสื่อที่มุ่งหวังทำแต่รายการโทรทัศน์ที่จะมีประโยชน์ต่อประชาชน ประเทศชาติ ให้ความรู้ ให้สาระ ให้ความบันเทิงที่มีรสนิยม

ทว่า ทีวีที่อ้างตนว่าเป็นกลาง เป็นสาธารณะ เป็นของประชาชนนั้น มีความยึดโยงกับประชาชนตรงไหนบ้าง ฉันก็ยังงงๆ เพราะประชาชนเดินดินกินข้าวแกงที่ไม่ใช่ประชาชนเครือข่ายของเอ็นจีโอ ดิน น้ำ ลม ไฟ ทั้งหลายจะได้มีส่วนร่วมในสภาพลเมือง ในเครือข่ายพลเมืองสักเครือข่ายหนึ่งของทีวีสาธารณะหรือไม่?

ประชาชนเดินดินกินข้าวเหนียว หมูปิ้ง ลาบ น้ำตก บนฟุตปาธอย่างเราๆ ท่านๆ มีโอกาสได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการสรรหาบอร์ดผู้บริหารของทีวีสาธารณะบ้างหรือไม่?

ถ้ามี มีผ่านช่องทางใด จะเข้าไปได้อย่างไร?


นอกจากจะหาช่องทางเข้าไม่เจอแล้ว วันดีคืนดี ทีวีของประชาชนก็เล่น "ข่าว" เข้าทางเผด็จการบ้าง เข้าทางฝ่ายรัฐประหารบ้าง เข้าทางรัฐบาลร่างทรงทหาร ลากอาวุธสงครามมาฆ่าประชาชนโครมๆ เสียก็มี

รายการดีมีสาระที่อวดอ้างว่าจะมีก็ไม่เห็นมี

เคยนั่งดูสารคดีลุ่มน้ำสาละวินทำความรู้จักเพื่อนบ้านของทางช่องนี้แล้วก็ได้แต่เอาตีนก่ายหน้าผาก เพราะนึกว่ากำลังอ่านสารคดีท่องเที่ยวของอนุสาร อ.ส.ท. เมื่อยี่สิบปีที่แล้ว ทั้งล้าสมัย ทั้งเต็มไปด้วยคำสำนวนเพ้อฝัน ล่องลอย สายน้ำ ท้องฟ้า ความงามของผู้คนหลากหลายเผ่า มิตรภาพ บลา บลา บลา

นอกจากประชาชนจะไม่ได้รู้เห็นเป็นใจกับการเลือกคนทำงาน หรือมีส่วนในการกำหนดทิศทางของทีวีสาธารณะแล้ว (ไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อม) ฉันยังไม่เห็นว่าประชาชนผู้เสียภาษีอย่างฉันจะสามารถเข้าไปตรวจสอบการใช้งบประมาณ

อีกทั้งมีสิทธิมีเสียงในการตัดสินใจว่าเงินนี้ งบประมาณนี้ เอาไปใช้อย่างนี้ เอาไปผลิตรายการแบบนี้ เอาไปจ้างคนแบบนี้-เหมาะสมหรือไม่ โปร่งใสหรือเปล่า?


แน่นอนว่าเราคงไม่ได้เรียกร้องให้ประชาชนเจ็ดสิบล้านคนเข้าไปบริหารทีวีสาธารณะ

แต่ที่ผ่านมาทีวีสาธารณะไม่ได้สำแดงที่มาแห่งอำนาจในการบริหารจัดการให้ประชาชนได้ทราบเลยว่า มันยึดโยงกับ "เสียง" ของประชาชนเจ้าของภาษีอย่างไร

มันตอบสนองความต้องการของประชาชนดังที่ได้ตั้งเจตนารมณ์เอาไว้หรือไม่


ไม่เพียงเท่านั้น ท้ายที่สุดทีวีสาธารณะยังตบหน้าประชาชนด้วยการเซ็นเซอร์รายการของช่องอย่างกะทันหันทั้งๆ ที่เป็นรายการอันผ่านกระบวนการพิจารณาเห็นชอบจากกรรมการไปแล้วว่าออกอากาศได้

ทีวีสาธารณะที่อหังการประกาศก้องว่าใครก็มาแทรกแซงไม่ได้ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายค้านหรือฝ่ายรัฐบาลเพราะอหังการของทีวีสาธารณะคือความเป็น "อิสระ"

แต่ท้ายที่สุด ทีวีสาธารณะก็เปลื้องผ้าต่อหน้าคนดูทั้งประเทศว่า มันคือองค์กรที่ฝ่ายค้านก็แทรกแซงไม่ได้ ฝ่ายรัฐบาลก็แทรกแซงไม่ได้

มีแต่ใครบางคน บางกลุ่มที่แทรกแซงได้ โดยอ้างโวหารคุณงามความดี ความรักชาติบ้านเมือง ความสามัคคี การไม่สร้างความแตกแยก การหลีกเลี่ยงความรุนแรงบลาบลาบลา
(ตั้งใจเขียนติดกันเป็นพืดไม่เว้นวรรค เพราะถ้อยคำเหล่านีมันหลั่งไหลมาโดยไม่ต้องใช้สมองเพราะถูกกรอกใส่หูมาตั้งแต่เกิด)


นี่คือความรุนแรงเชิงโครงสร้าง

นี่คือความรุนแรงทางอุดมการณ์ที่ดำเนินอยู่ในสังคมไทยที่คนกลุ่มหนึ่งสถาปนาความดีขึ้นมาชุดหนึ่งเพื่ออำพรางกระบวนการขัดขวางการเติบโตของอุดมการณ์ประชาธิปไตย แช่แข็งสติปัญญาของสังคมไม่ให้เติบโต ถนอมไว้ให้แคะแกรน ตื้นเขิน ฉาบฉวย เห็นอวิชชาคือคุณธรรม สร้างคนโง่ที่คิดว่าตนเองฉลาดให้ดกดื่นเต็มเมือง สร้างอุปสรรคมิให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ ถกเถียงในสังคม ขัดขวางสิทธิ เสรีภาพในการพูด คิด ตั้งคำถาม สถาปนาตนเองเป็นเจ้าพ่อ เจ้าแม่ เป็นเอเย่นต์ขาใหญ่ของภาคประชาชน

ส่วนประชาชนตัวจริงที่สู้เพื่อประชาธิปไตยโดยไม่ผ่านขาใหญ่ของภาคประชาชน จะถูกเรียกว่าควายแดงบ้าง ถูกทักษิณซื้อบ้าง โง่บ้าง ถูกนักการเมืองหลอกบ้าง ไม่รู้จักว่าประชาธิปไตยที่แท้จริงคืออะไรบ้าง ฯลฯ

ส่วนฉันเรียกคนเหล่านี้ว่าคนขาใหญ่ คนล้มชาติ ล้มประชาธิปไตย 



.

2556-03-27

“องค์กษัตริย์ไม่อาจถูกละเมิดได้” คืออะไร? โดย ปิยบุตร แสงกนกกุล

.

ปิยบุตร แสงกนกกุล: “องค์กษัตริย์ไม่อาจถูกละเมิดได้” คืออะไร?
ใน เวบประชาไท http://blogazine.in.th/blogs/piyabutr-saengkanokkul/post/4058
บล็อกของ Piyabutr Saengkanokkul . . 27 มีนาคม, 2013 - 13:02


รัฐธรรมนูญได้มอบเอกสิทธ์และความคุ้มกันบางประการแก่ประมุขของรัฐในฐานะที่ประมุขของรัฐเป็นผู้แทนของรัฐ (Representation de l’Etat) และเป็นสัญลักษณ์ของการประกันความต่อเนื่องของรัฐ (Continuite' de l’Etat) เอกสิทธิ์เหล่านั้น ได้แก่ ความไม่ต้องรับผิด และความคุ้มกันไม่ถูกดำเนินคดีใดๆ

ในกรณีที่ประมุขของรัฐเป็นประธานาธิบดี รัฐธรรมนูญจะใช้คำว่า “ประธานาธิบดีไม่ต้องรับผิดชอบ” เช่น รัฐธรรมนูญฝรั่งเศส ๑๙๕๘ มาตรา ๖๗ บัญญัติว่า “ประธานาธิบดีไม่ต้องรับผิดชอบจากการกระทำในการปฏิบัติหน้าที่...” หรือ รัฐธรรมนูญอิตาลี มาตรา มาตรา ๙๐ กำหนดให้ประธานาธิบดีไม่ต้องรับผิดในการปฏิบัติหน้าที่ เป็นต้น นอกจากนี้ ประธานาธิบดียังไม่อาจถูกดำเนินคดีใดๆได้ตลอดระยะเวลาดำรงตำแหน่ง

อย่างไรก็ตาม เอกสิทธิ์และความคุ้มกันของประธานาธิบดีไม่สัมบูรณ์เด็ดขาด รัฐธรรมนูญอาจกำหนดข้อยกเว้นบางประการให้ประธานาธิบดีต้องรับผิดได้ เช่น รัฐธรรมนูญกำหนดว่าประธานาธิบดีไม่ต้องรับผิดชอบจากการกระทำในการปฏิบัติหน้าที่ เว้นแต่การปฏิบัติหน้าที่ของประธานาธิบดีนั้นเป็นการทรยศต่อชาติ เป็นการละเมิดรัฐธรรมนูญ หรือเป็นการปฏิบัติหน้าที่ผิดพลาดบกพร่องอย่างร้ายแรง ซึ่งรัฐธรรมนูญก็จะกำหนดกระบวนกล่าวหาและพิจารณาคดีแตกต่างไปจากบุคคลทั่วไป อาจใช้วิธีการทางการเมืองแท้ๆ คือ ให้ รัฐสภาถอดถอนออกจากตำแหน่ง[1] หรือ วิธีการทางการเมืองและกฎหมายผสมกัน คือ ให้สมาชิกรัฐสภาเป็นผู้ริเริ่มกล่าวหา และศาลเป็นผู้พิจารณาคดี ซึ่งอาจเป็นศาลรัฐธรรมนูญ[2] ศาลฎีกา[3] ศาลพิเศษที่ตั้งขึ้นมาโดยเฉพาะ[4]

จะเห็นได้ว่าเอกสิทธิ์ที่รัฐธรรมนูญมอบให้แก่ประธานาธิบดีนั้น คุ้มครองเฉพาะการกระทำของประธานาธิบดีในการปฏิบัติหน้าที่เท่านั้น ในกรณีที่ประธานาธิบดีกระทำความผิดโดยการกระทำนั้นไม่ใช่การปฏิบัติหน้าที่ ประธานาธิบดีก็ยังคงต้องรับผิดชอบ อย่างไรก็ตาม ไม่สามารถดำเนินคดีกับประธานาธิบดีได้ เพราะ ประธานาธิบดีได้รับความคุ้มกันในการไม่ถูกดำเนินคดีใดๆในระหว่างดำรงตำแหน่ง หากต้องการดำเนินคดี ก็ต้องรอให้ประธานาธิบดีพ้นจากตำแหน่งไปก่อน หรือในบางประเทศ อาจกำหนดเป็นกรณีพิเศษว่า ดำเนินคดีประธานาธิบดีในระหว่างดำรงตำแหน่งได้แต่ต้องให้รัฐสภาอนุญาตก่อนว่าจะให้ดำเนินคดีหรือไม่[5]

ในกรณีที่ประมุขของรัฐเป็นกษัตริย์  เอกสิทธิ์และความคุ้มกันของกษัตริย์ในฐานะเป็นประมุขของรัฐจะแตกต่างไปจากประธานาธิบดี กษัตริย์มีเอกสิทธิ์และความคุ้มกันที่สัมบูรณ์เด็ดขาดกว่าประธานาธิบดี โดยผ่านสูตรที่เรียกกันว่า “องค์กษัตริย์ไม่อาจถูกละเมิดได้” - The Person of the King is inviolable.

ข้อความ “องค์กษัตริย์ไม่อาจถูกละเมิดได้” ในรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย ส่งผลทางกฎหมายในการให้เอกสิทธิ์และความคุ้มกันแก่กษัตริย์ใน ๒ ประการ ประการแรก กษัตริย์ไม่ต้องรับผิดชอบจากการกระทำใดๆของตนเลย แต่เป็นรัฐมนตรีที่ลงนามรับสนองฯที่เป็นคนรับผิดชอบ ประการที่สอง กษัตริย์ไม่ถูกดำเนินคดีใดๆ ทั้งทางแพ่ง ทางอาญา ทางปกครอง ไม่มีผู้ใดฟ้องคดีแพ่ง ฟ้องคดีอาญา ฟ้องคดีปกครองหรือดำเนินการทางวินัยต่อกษัตริย์ได้ และไม่มีผู้ใดจะจับกุมกษัตริย์หรือคุมขังกษัตริย์ได้

ในกรณีที่การกระทำของกษัตริย์เป็นการกระทำในการปฏิบัติหน้าที่ ย่อมไม่มีปัญหาแต่ประการใด เพราะ รัฐมนตรีที่ลงนามรับสนองฯเป็นผู้รับผิดชอบ เช่น กษัตริย์ลงนามประกาศสงคราม แล้วต่อมาประเทศนั้นตกเป็นผู้แพ้สงคราม สมาชิกในรัฐบาลถูกดำเนินคดีฐานอาชญากรสงคราม แต่กษัตริย์ก็ไม่ต้องรับผิดและไม่ถูกดำเนินคดี เพราะ กษัตริย์ลงนามประกาศสงครามโดยมีคนลงนามรับสนองฯ และคนลงนามรับสนองฯนั้นต้องเป็นผู้รับผิดชอบ

ปัญหาจะเกิดขึ้นทันที ถ้ากรณีการกระทำของกษัตริย์นั้นเป็นเรื่องส่วนตัว ไม่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติหน้าที่ หากเป็นเรื่องในทางแพ่ง ให้ฟ้องต่อพระราชวังบ้าง ฟ้องต่อพระคลังข้างที่บ้าง ฟ้องต่อสำนักงานทรัพย์สินฯบ้าง แล้วแต่ว่าประเทศนั้นจะจัดการกองทรัพย์สินของกษัตริย์ ซึ่งเป็นนิติบุคคลต่างหากจากกษัตริย์ ไว้ในรูปลักษณ์อย่างไร[6]

ในทางอาญา เช่น กษัตริย์เอาปืนไปยิงคนตาย หรือกษัตริย์ขับรถชนคนตาย ปัญหาจะทำอย่างไร นี่เป็นเรื่องใหญ่มาก ในทางตำรา ไม่มีตำราไหนเสนอทางออกไว้เลย A.V. Dicey อธิบายไว้ในตำรารัฐธรรมนูญของเขาว่า “กษัตริย์อาจเอาปืนระเบิดหัวขมองอัครมหาเสนาบดีได้โดยไม่ต้องไปศาล” แต่ Dicey บอกว่านี่เป็นตัวอย่างแบบสุดขั้ว สุดโต่ง หากเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้นจริงนั่นแสดงว่า วันสุดท้ายของราชบัลลังก์ใกล้มาถึงแล้ว[7]

ความข้อนี้ แสดงให้เห็นว่า “องค์กษัตริย์ไม่อาจถูกละเมิดได้” มีความเข้มข้นกว่า “ประธานาธิบดีไม่ต้องรับผิดในการกระทำอันเป็นการปฏิบัติหน้าที่” หากประธานาธิบดีกระทำความผิดอาญา และการกระทำนั้นไม่ใช่การปฏิบัติหน้าที่ เมื่อประธานาธิบดีพ้นจากตำแหน่ง ก็จะถูกดำเนินคดีตามปกติ 

เอกสิทธิ์และความคุ้มกันในการไม่ถูกฟ้องร้องหรือกล่าวหาในทางอาญาของกษัตริย์ เป็นประเด็นสำคัญที่ทำให้รัฐบาลแห่ง “ราชอาณาจักรไทย” ไม่ยอมลงนามให้สัตยาบันในธรรมนูญกรุงโรมว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศ เพราะในธรรมนูญกรุงโรม มาตรา ๒๗ เขียนไว้ชัดเจนว่าถ้ากฎหมายภายในรัฐสมาชิก ให้เอกสิทธิ์และความคุ้มกันใดๆแก่ประมุขของรัฐ ให้ถือว่าเอกสิทธิ์และความคุ้มกันนั้นหมดไปเมื่อเป็นกรณีดำเนินคดีอาญาระหว่างประเทศ น่าแปลกใจว่า เหตุใดราชอาณาจักรไทยจึงอ้างเหตุผลนี้ในการไม่ลงนามให้สัตยาบัน ทั้งๆที่ราชอาณาจักรอื่นๆในโลกนี้ ก็ลงนามให้สัตยาบันกัน และในนามของหลัก The King can do wrong ในระบอบประชาธิปไตยแล้ว ไม่มีทางที่กษัตริย์ไปกระทำความผิดอันเข้าข่ายฐานความผิดอาญาระหว่างประเทศในนามส่วนตัว และการกระทำใดๆในการปฏิบัติหน้าที่ของกษัตริย์ต้องมีผู้ลงนามรับสนองฯเสมอ และเป็นผู้ลงนามรับสนองฯนั้นเองที่เป็นผู้กระทำโดยแท้จริงและเป็นผู้รับผิดชอบ

ปัญหาต่อมา คือ เอกสิทธิ์และความคุ้มกันที่รัฐธรรมนูญมอบให้แก่กษัตริย์นั้นมีผลในช่วงเวลาใด? คุ้มครองเฉพาะช่วงเวลาที่เป็นกษัตริย์? หรือคุ้มครองกษัตริย์ตลอดชีวิต?

หากเป็นกรณีที่กษัตริย์เสียชีวิตไป เอกสิทธิ์และความคุ้มกันนั้นก็ตกไปอยู่กับกษัตริย์องค์ต่อไปทันที เพราะเอกสิทธิ์และความคุ้มกันนั้นเป็นไปตามตำแหน่ง แต่ถ้ากษัตริย์สละราชสมบัติไป จะฟ้องร้องต่อการกระทำของกษัตริย์ในสมัยที่เป็นกษัตริย์ได้หรือไม่? ต่อประเด็นปัญหานี้ มีความเห็นออกเป็นสองแนว แนวแรก เห็นว่า สามารถฟ้องร้องหรือกล่าวหากษัตริย์ที่พ้นจากตำแหน่งไปแล้วได้ เพราะเอกสิทธิ์และความคุ้มกันที่ให้แก่กษัตริย์ เป็นการให้แก่ตำแหน่งกษัตริย์ มิใช่ให้แก่ นาย ก. ที่มาเป็นกษัตริย์ เมื่อสละราชสมบัติ ก็กลายเป็นบุคคลธรรมดา เอกสิทธิ์และความคุ้มกันต่างๆย่อมหมดไป แนวสอง เห็นว่า ไม่สามารถฟ้องร้องหรือกล่าวหากษัตริย์ที่พ้นจากตำแหน่งไปแล้วได้ เพราะ การกระทำในสมัยที่เป็นกษัตริย์ได้รับความคุ้มครองไปแล้วว่าไม่ต้องรับผิด ดังนั้น การกระทำของกษัตริย์จึงได้รับการคุ้มครองตลอดไป

ในกรณีที่การกระทำนั้นเกิดขึ้นก่อนที่บุคคลนั้นขึ้นเป็นกษัตริย์ แต่ยังไม่มีการฟ้องร้องหรือกล่าวหาใดๆ หรืออาจฟ้องร้องหรือกล่าวหาแล้วแต่ยังไม่มีคำพิพากษา เมื่อบุคคลนั้นขึ้นเป็นกษัตริย์ เขาก็จะได้รับความคุ้มกัน ไม่ถูกฟ้องร้องหรือกล่าวหา

ประเด็นนี้ เคยถูกหยิบยกขึ้นอภิปรายเมื่อคราวร่างรัฐธรรมนูญ ๒๔๙๒ พันโท โพยม จุลานนท์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดเพชรบุรี ได้อภิปรายว่า “ข้าพเจ้าใคร่จะขอตั้งข้อสังเกตอันหนึ่งว่า การสืบราชสันตติวงศ์นั้นย่อมสืบลงมาเป็นลำดับ แต่หากว่าในราชตระกูลนั้น บังเอิญท่านผู้นั้นได้กระทำผิดกฎหมายอาญาขึ้นก่อน แต่คดียังไม่ได้มีการฟ้องร้อง แต่บังเอิญได้ถูกสถาปนาขึ้นครองราชย์บัลลังก์ขึ้นมาแล้ว การฟ้องร้องการกระทำความผิดก่อนเสวยราชย์ก็ฟ้องร้องไมได้ เพราะเป็นพระมหากษัตริย์ เช่นนี้ ข้าพเจ้าเห็นว่ามันขัดกัน ข้าพเจ้ามีความเห็นอย่างนี้”[8]

อนึ่ง รัฐธรรมนูญมอบเอกสิทธิ์และความคุ้มกันให้แก่กษัตริย์เท่านั้น สมาชิกในครอบครัวของกษัตริย์ ไม่ว่าจะเป็นราชินี บุตร ธิดา หลาน เหลน โหลน ตลอดจนบุคคลรายล้อมกษัตริย์ เช่น องคมนตรี ข้าราชบริพาร นางสนองพระโอษฐ์ ฯลฯ ไม่ได้รับเอกสิทธิ์และความคุ้มกันเหมือนกษัตริย์


.......................

ข้อความ “องค์กษัตริย์ไม่อาจถูกละเมิดได้” ปรากฏมาอย่างช้านานตั้งแต่ยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่กษัตริย์เป็นเจ้าชีวิต เป็นผู้ทรงอำนาจเด็ดขาด และเป็นรัฐ การที่กษัตริย์ไม่อาจถูกวิจารณ์ได้ ไม่อาจถูกตำหนิติเตียนได้ ไม่ต้องรับผิด และไม่ต้องถูกดำเนินคดีใด ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ อย่างไรก็ตาม เมื่อเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองเป็นประชาธิปไตยแล้ว แต่ยังต้องการเก็บกษัตริย์ไว้เป็นประมุขของรัฐต่อ ข้อความ “องค์กษัตริย์ไม่อาจถูกละเมิดได้” ที่เคยปรากฏในระบอบเก่า เมื่อนำมาใช้ในระบอบใหม่ ก็ต้องถูกอธิบายใหม่ให้สอดคล้องกับประชาธิปไตยและความเสมอภาค

ในระบอบประชาธิปไตย องค์กษัตริย์ไม่อาจถูกละเมิดได้ หรือ กษัตริย์ไม่ต้องรับผิดและไม่ถูกดำเนินคดีใดๆ ก็ต่อเมื่อกษัตริย์ปฏิบัติตามเงื่อนไขทั้ง ๔ ประการ ครบถ้วน ดังนี้[9]

ประการแรก กษัตริย์ไม่กระทำการใดตามลำพัง การกระทำของกษัตริย์ต้องมีผู้ลงนามรับสนองฯเสมอ และผู้ลงนามรับสนองฯ คือ ผู้กระทำการนั้นอย่างแท้จริงและเป็นผู้รับผิดชอบต่อการกระทำนั้น การลงนามรับสนองฯ นี้ หยุด แสงอุทัยอธิบายว่า เป็นไปเพื่อรับรองว่า เป็นพระปรมาภิไธยอันแท้จริงของกษัตริย์ และเพื่อแสดงว่าผู้ลงนามรับสนองฯจะเป็นผู้รับผิดชอบในเรื่องแบบพิธี ความถูกต้องของข้อความ และสาระของข้อความ[10]

ประการที่สอง อำนาจบริหารเป็นหนึ่งเดียว ไม่มีการแยกกษัตริย์กับรัฐบาลออกจากกัน รัฐบาล คือ รัฐบาลในกษัตริย์ จะไม่มีการกระทำของกษัตริย์อย่างหนึ่ง และการกระทำของรัฐบาลอย่างหนึ่ง

ประการที่สาม ไม่มีบุคคลใดทราบได้ว่ากษัตริย์คิดอะไร กษัตริย์อาจให้ความเห็น คำแนะนำ หรือข้อปรึกษาหารือแก่รัฐบาลได้ แต่ต้องเป็นความลับ และรัฐบาลเป็นผู้ตัดสินใจเองว่าจะปฏิบัติตามคำแนะนำของกษัตริย์หรือไม่ เพราะในท้ายที่สุดแล้ว รัฐบาลต้องเป็นผู้รับผิดชอบ

ประการที่สี่ พระราชดำรัส พระราชหัตถเลขา การกระทำอื่นใดที่เกี่ยวพันกับประเด็นทางการเมือง ต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐมนตรี เหตุที่การกระทำของกษัตริย์ในเรื่องเหล่านี้ ต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐมนตรีก่อน ก็เพราะว่า รัฐธรรมนูญกำหนดให้องค์กษัตริย์ไม่อาจถูกละเมิดได้ หากยอมให้กษัตริย์กระทำการเอง ก็อาจส่งผลให้องค์กษัตริย์ต้องถูกตำหนิ วิจารณ์ และรับผิดชอบ แต่หากการะทำเหล่านี้ผ่านความเห็นชอบจากรัฐมนตรี ก็หมายความว่า รัฐมนตรีเป็นผู้รับผิดชอบ นอกจากนี้ หยุด แสงอุทัย ยังเห็นอีกว่า “แม้ในเรื่องอื่นๆ ที่มิใช่เรื่องของอำนาจบริหารแต่เกี่ยวกับราชการแผ่นดิน เช่น พระราชดำรัสทางวิทยุกระจายเสียง พระมหากษัตริย์ก็ต้องทรงกระทำตามคำแนะนำของคณะรัฐมนตรี เพราะต้องมีผู้รับผิดชอบในพระราชดำรัส ส่วนปัญหาที่ว่าพระมหากษัตริย์จะทรงร่างพระราชดำรัสเอง แล้วจึงส่งมาให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาเห็นชอบ หรือคณะรัฐมนตรีร่างไปทูลเกล้าฯ ถวายแล้วพระมหากษัตริย์ทรงแก้ไขด้วยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี ย่อมเป็นเรื่องภายในระหว่างพระมหากษัตริย์กับคณะรัฐมนตรี และในเรื่องที่เกี่ยวกับการราชการแผ่นดินเช่นว่านี้ พระมหากษัตริย์จะไม่ทรงรับสั่งทูตานุทูตหรือข้าราชการอื่นใดโดยไม่ได้กระทำต่อหน้ารัฐมนตรีหรือด้วยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี...”[11]
อย่างไรก็ตาม การพิจารณาว่าการกระทำใดเกี่ยวกันกับการเมืองหรือการบริหารราชการแผ่นดินนั้น จะต้องระลึกถึงสถานะประมุขของรัฐของกษัตริย์ด้วย การกระทำบางเรื่อง หากพิจารณาจากสถานะสามัญชน อาจเป็นเรื่องส่วนตัวโดยแท้ แต่ถ้ากษัตริย์เป็นผู้กระทำ เรื่องนั้นก็อาจเกี่ยวกับการเมืองได้ เช่น การสมรส ดังเช่นกรณีที่เคยปรากฏขึ้นในสหราชอาณาจักรที่คณะรัฐมนตรีไม่ให้ความเห็นชอบในการที่พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ ๘ จะสมรส จนพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ ๘ ต้องตัดสินใจสละราชสมบัติ[12]

เมื่อเงื่อนไขทั้ง ๔ ประการครบถ้วน เมื่อนั้น กษัตริย์จึงไม่ทำอะไรผิด กษัตริย์ไม่ต้องรับผิดชอบในการกระทำใดๆ และกษัตริย์ไม่ถูกดำเนินคดีใดๆ

ในระบอบประชาธิปไตย กษัตริย์จึงไม่มีทางกระทำผิด (The King can do no wrong) เพราะ กษัตริย์ไม่ทำอะไรเลย (The King can do nothing) แต่เป็นผู้ลงนามรับสนองฯต่างหากที่เป็นผู้กระทำและเป็นผู้รับผิดชอบ ดังนั้น การอธิบายว่า The King เป็นมนุษย์ จึงสามารถ do wrong ได้นั้น แม้ฟังแล้ว อาจซาบซึ้งว่าเป็นกรณีที่กษัตริย์มีน้ำใจและประกาศว่าตนอาจทำผิดพลาดได้เสมอเหมือนคนทั่วไป แต่คำพูดเช่นนี้ผิดหลักประชาธิปไตยอย่างยิ่ง เพราะ หากบอกว่ากษัตริย์ทำผิดได้ นั่นแสดงว่า กษัตริย์จะทำการเกินกว่ารัฐธรรมนูญกำหนด จะทำการลำพังด้วยตนเอง โดยไม่มีผู้รับสนองฯ หากกล่าวอย่างเคร่งครัดแล้ว ในระบอบประชาธิปไตย ย่อมไม่มี The King ที่ can do wrong เพราะ ในระบอบประชาธิปไตย มีแต่ The King ที่ can do nothing 

เมื่อการกระทำของกษัตริย์เป็นไปตามเงื่อนไขทั้ง ๔ ประการแล้ว กษัตริย์ก็ไม่ต้องรับผิด และไม่ถูกฟ้องร้องหรือกล่าวหาในทางใดๆ ดังนั้น หากแปลความกลับกันว่าถ้ากษัตริย์กระทำการลงไปโดยไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขทั้ง ๔ ประการดังกล่าว ผลจะเป็นเช่นไร? องค์กษัตริย์อาจถูกละเมิดได้ กษัตริย์ต้องรับผิด? กษัตริย์ถูกฟ้องร้องหรือกล่าวหาในทางใดๆได้?

ความข้อนี้นับเป็นปัญหาสำคัญยิ่ง รัฐธรรมนูญของหลายประเทศโดยเฉพาะในช่วงที่การต่อสู้ระหว่าง “กษัตริย์” กับ “สภาผู้แทนราษฎร” ดำเนินไปอย่างถึงพริกถึงขิง ผลัดกันแพ้ผลัดกันชนะนั้น ยามใดที่ฝ่ายประชาธิปไตยชนะ ก็มักเขียนในรัฐธรรมนูญป้องกันเอาไว้ก่อนว่า กษัตริย์อาจถูกถอดออกจากตำแหน่งได้ด้วยเหตุใดบ้าง เช่น ละเมิดรัฐธรรมนูญ, เดินทางไปต่างประเทศโดยไม่ได้รับอนุญาตจากสภาผู้แทนราษฎร และเมื่อสภาผู้แทนราษฎรเรียกให้กษัตริย์เดินทางกลับประเทศแล้วกษัตริย์ไม่ยอมกลับ, ทรยศชาติ เป็นต้น โดยให้สภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้มีอำนาจวินิจฉัยว่าสมควรถอดถอดกษัตริย์ออกจากตำแหน่งหรือไม่[13] เมื่อฝ่ายประชาธิปไตยชนะฝ่ายกษัตริย์อย่างเด็ดขาด สามารถวางรากฐานประชาธิปไตยได้อย่างสถาพร และกษัตริย์ยอมตนลงไปอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญอย่างเคร่งครัดแล้ว ในรัฐธรรมนูญก็จะไม่มีบทบัญญัติเกี่ยวกับเหตุแห่งการถอดถอนกษัตริย์ เพราะ มั่นใจว่าจะไม่มีกรณีที่กษัตริย์ละเมิดรัฐธรรมนูญ หากกษัตริย์ละเมิดรัฐธรรมนูญอย่างร้ายแรง ผลก็คือ สาธารณชนจะวิพากษ์วิจารณ์กษัตริย์ กระแสสังคมร่วมกันกดดันให้กษัตริย์สละราชบัลลังก์ หรือหากร้ายแรงที่สุด สถาบันกษัตริย์ก็อาจปลาสนาการไปจากประเทศนั้น


............................

ในรัฐธรรมนูญไทย ปรากฏข้อความ “องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้” แต่ข้อความดังกล่าว ก็เปลี่ยนแปลงแก้ไขไปตามแต่ละยุคสมัย หากเราสำรวจข้อความ “องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้” ในรัฐธรรมนูญไทยแต่ละฉบับ อาจเบ่งกลุ่มได้ ดังนี้

* กลุ่มแรก ไม่มีข้อความ “องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้” แต่มีข้อความ “กษัตริย์จะถูกฟ้องร้องคดีอาชญายังโรงศาลไม่ได้เป็นหน้าที่ของสภาผู้แทนราษฎรจะวินิจฉัย” (มาตรา ๖ ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว ๒๗ มิถุนายน ๒๔๗๕)

* กลุ่มที่สอง มีเฉพาะ คำว่า “องค์พระมหากษัตริย์ดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้” (รัฐธรรมนูญ ๑๐ ธันวาคม ๒๔๗๕, ๒๔๘๙, ๒๔๙๐, ๒๔๙๕, ๒๕๐๒)

* กลุ่มที่สาม มีคำว่า “องค์พระมหากษัตริย์ดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้” ในมาตราหนึ่ง และเพิ่มไปอีกมาตราหนึ่งว่า “ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใดๆ มิได้” (รัฐธรรมนูญ ๒๔๙๒, ๒๕๑๑, ๒๕๑๗)

* กลุ่มที่สี่ คำว่า “องค์พระมหากษัตริย์ดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้” และ “ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใดๆ มิได้” มารวมอยู่ในมาตราเดียวกัน (รัฐธรรมนูญ ๒๕๑๕, ๒๕๑๙, ๒๕๒๐, ๒๕๓๔ – รสช, ๒๕๔๙)

* กลุ่มที่ห้า คำว่า “องค์พระมหากษัตริย์ดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้” และ “ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใดๆ มิได้” มารวมอยู่ในมาตราเดียวกัน แต่แยกวรรค (รัฐธรรมนูญ ๒๕๒๑, ๒๕๓๔, ๒๕๔๐, ๒๕๕๐)


หากไม่ใช้ถ้อยคำเป็นเกณฑ์ในการแบ่งกลุ่ม แต่แบ่งกลุ่มตามยุคสมัย อาจแบ่งได้ ดังนี้ 

ยุคแรก ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยาม (๒๗ มิถุนายน ๒๔๗๕ – ๙ ธันวาคม ๒๔๗๕)

ภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยาม ๒๗ มิถุนายน ๒๔๗๕ ไม่มีข้อความว่า “องค์พระมหากษัตริย์ดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้” แต่มีมาตรา ๖ บัญญัติว่า “กษัตริย์จะถูกฟ้องร้องคดีอาชญายังโรงศาลไม่ได้ เป็นหน้าที่ของสภาผู้แทนราษฎรจะวินิจฉัย” อะไรคือเหตุผลของผู้ร่าง? ผู้เขียนมีสองสมมติฐาน ดังนี้

สมมติฐานแรก นายปรีดี พนมยงค์ ผู้ร่างธรรมนูญฯนี้ ทราบดีอยู่แล้วว่า ระบอบการปกครอง ประชาธิปไตยแบบมีรัฐสภาและมีกษัตริย์นั้น กษัตริย์มีเอกสิทธิ์เรื่องไม่ต้องรับผิดใดๆและไม่ถูกดำเนินคดีใดๆอยู่แล้ว หากว่าการกระทำของกษัตริย์นั้นมีผู้รับสนองฯ นายปรีดีฯ จึงไม่เขียนว่า “องค์กษัตริย์ไม่อาจถูกละเมิดได้” ลงไป ส่วนกรณีคดีอาญานั้น เกรงว่าหากกษัตริย์กระทำความผิดอาญา โดยการกระทำนั้นทำลงไปในนามส่วนตัวแล้วจะแก้ปัญหาอย่างไร จึงเขียนไปในมาตรา ๖ ให้สภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้วินิจฉัย

สมมติฐานที่สอง ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามรับอิทธิพลมาจากรัฐธรรมนูญ ๑๗๙๑ ของฝรั่งเศส ซึ่งมีบทบัญญัติว่ากษัตริย์ไม่ต้องรับผิด และกษัตริย์ไม่อาจถูกฟ้องร้องหรือกล่าวหาในทางใดๆ แต่ก็บัญญัติเหตุแห่งการถอดถอนกษัตริย์ไว้ด้วย โดยให้สภาผู้แทนราษฎรเป็นองค์กรที่มีอำนาจวินิจฉัย

เกี่ยวกับมาตรา ๖ นี้ หลวงประเจิดอักษรลักษณ์ นักกฎหมายรัฐธรรมนูญ ผู้สำเร็จการศึกษาปริญญาเอกทางกฎหมายจากประเทศฝรั่งเศส และทำวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอกเรื่อง รัฐธรรมนูญสยาม ได้อธิบายเมื่อครั้งบรรยายวิชากฎหมายรัฐธรรมนูญให้กับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง ว่า

"ข้าพเจ้ามีความเห็นว่า คดีอาชญาซึ่งกษัตริย์ทำผิดจะต้องถูกฟ้องร้องต่อสภาผู้แทนราษฎรนั้นไม่ฉะเพาะแต่ความผิดที่บัญญัติไว้ในกฎหมายอาชญาเท่านั้น ยังหมายความเลยไปถึงความผิดซึ่งกษัตริย์กระทำการบกพร่องอย่างสำคัญในการบริหารราชการแผ่นดิน ตัวอย่างเช่น ละเมิดต่อกฎหมายรัฐธรรมนูญ หรือกระทำผิดต่อสัญญาทางพระราชไมตรีอันเป็นเหตุจะนำมาซึ่งความเสียหายแก่ประเทศบ้านเมือง นี่เป็นความเห็น คือว่า ในคดีอาชญาไม่หมดความฉะเพาะแต่ความผิดซึ่งบัญญัติไว้ในกฎหมายอาชญา ร.ศ. ๑๒๗ แต่กินความเลยไปถึงการกระทำของกษัตริย์ซึ่งเป็นการละเมิดรัฐธรรมนูญปกครองแผ่นดินสยามมาตราใดมาตราหนึ่ง หรือว่ากระทำการผิดสัญญาทางพระราชไมตรี ซึ่งจะนำความเสียหายมาสู่ประเทศบ้านเมือง ในกรณีเหล่านี้กษัตริย์ควรจะต้องรับผิดชอบและถูกฟ้องร้องตามมาตรา ๖"[14]

ผู้เขียนเห็นว่าคำอธิบายมาตรา ๖ ของหลวงประเจิดอักษรลักษณ์ดังกล่าว เป็นการพิจารณาตำแหน่งประมุขของรัฐเป็นสำคัญ โดยไม่ได้ให้ความสำคัญว่าประมุขของรัฐนั้นเป็นประธานาธิบดีหรือกษัตริย์ เมื่อ ประธานาธิบดีมีเอกสิทธิ์และความคุ้มกันบางประการที่รัฐธรรมนูญมอบให้ และมีข้อยกเว้นที่ประธานาธิบดีต้องรับผิดในกรณีละเมิดรัฐธรรมนูญหรือทรยศชาติได้ กษัตริย์ก็อาจมีเหตุที่อาจทำให้ต้องถูกถอดถอนเหมือนประธานาธิบดีได้ดุจกัน พูดอีกอย่างก็คือ หลวงประเจิดอักษรลักษณ์ อาจเห็นว่า ประธานาธิบดีมีสถานะเป็นประมุขของรัฐเช่นเดียวกับกษัตริย์ ไม่มีความแตกต่างกันแต่อย่างใด นอกจากนี้อาจเป็นไปได้ว่าหลวงประเจิดอักษรลักษณ์เห็นว่าบทบัญญัติในมาตรา ๖ คล้ายกับรัฐธรรมนูญฝรั่งเศส ๑๗๙๑


ยุคที่สอง “องค์พระมหากษัตริย์ดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้” (๑๐ ธันวาคม ๒๔๗๕ ถึง ๒๔๙๒)

เมื่อรัฐธรรมนูญ ๑๐ ธันวาคม ๒๔๗๕ ประกาศใช้ ปรากฏว่าบทบัญญัติแบบมาตรา ๖ ในธรรมนูญฯ ๒๗ มิถุนายน ๒๔๗๕ ได้หายไป แต่มีบทบัญญัติในมาตรา ๓ มาแทนว่า “องค์พระมหากษัตริย์ดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการ ผู้ใดจะละเมิดมิได้”

บทบัญญัติมาตรา ๓ ของรัฐธรรมนูญ ๑๐ ธันวาคม ๒๔๗๕ มีความเป็นมาอย่างไร เราอาจสำรวจได้จากรายงานการร่างรัฐธรรมนูญสมัยนั้น ดังนี้[15]

“ประธานอนุกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า ในมาตรา ๓ นี้ อ่านว่า “พระองค์พระมหากษัตริย์ดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพผู้ใดจะละเมิดมิได้ ซึ่งได้แสดงความหมายของมาตรานี้โดยย่อๆแล้วว่า พระมหากษัตริย์เป็นประมุขแห่งชาติและปวงชนทั้งปวง และดำรงอยู่ในฐานะอันพึงพ้นจากความถูกติเตียนในทางใดๆ เพราะฉะนั้น รัฐธรรมนูญของบ้านเมืองใดที่ปกครองโดยกษัตริย์และมีรัฐธรรมนูญ เขาก็วางหลักการไว้เช่นเดียวกันนื้ทุกแห่ง และในรัฐธรรมนูญญี่ปุ่น คำว่า (Sacred) ซึ่งท่านนักแปลคนหนึ่งได้แปลว่า เคารพ ก็ถูกอยู่ แต่ถ้าจะให้ถูกดีแล้วก็ควรมีคำว่า สักการะ ด้วย ซึ่งอนุกรรมการได้เห็นชอบด้วยแล้ว คำว่าผู้ใดจะละเมิดมิได้นี้ เราหมายว่า ใครจะไปละเมิดฟ้องร้องว่ากล่าวไม่ได้ ถ้าอาจจะมีใครสงสัยว่าถ้าฟ้องร้องท่านไม่ได้แล้วจะทำอย่างไรเมื่อมีใครได้รับความเสียหาย ประการหนึ่งเราต้องนึกว่าที่ว่าเป็นประมุขนั้น ตามแบบเรียกว่า “รัฐบาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ศาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พิจารณาตัดสินความในนามของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพราะฉะนั้นถ้าจะพูดถึงหลักกฎหมายในบางประเทศแล้ว ฟ้องร้องท่านไม่ได้ทั้งทางอาชญาและประทุษฐ์ร้ายส่วนแพ่ง แต่มีว่าถ้าท่านต้องทรงรับผิดชอบในเรื่องเงินแล้วก็ฟ้องร้องได้ทางพระคลังข้างที่ และที่เขียนมานี้ไม่กะทบกระเทือนสิทธิและความเสียหายของราษฎรใดๆเลย จึ่งขอเติมคำว่า “สักการะ” ต่อคำว่า “เคารพ”

นายสงวน ตุลารักษ์ ว่าที่กล่าวว่า “พระองค์” แคบเกินไป อยากจะขอเสนอให้ตัดออกเสีย เพราะเรามิได้เคารพแต่ฉะเพาะพระองค์เท่านั้น เราเคารพถึงพระบรมรูป พระเกียรติยศ ฯลฯ อีกด้วย

หลวงประดิษฐ์มนูธรรม รับรอง

ประธานอนุกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า ตามหลักนั้น หมายถึง person of the King คือตัวท่าน แต่ในภาษาไทยจะใช้คำว่า “พระมหากษัตริย์” เฉยๆ จะได้ความหรือไม่นั้น ขอเชิญเจ้าพระยาธรรมศักดิ์โปรดอธิบาย

เจ้าพระยาธรรมศักดิ์ กล่าวว่า ถ้าความหมายอย่างที่ว่า person ที่เขียนก็ได้ความแล้ว แต่ถ้าจะหมายถึงเป็น body แล้ว ก็จะเป็นจริงอย่างที่นายสงวนว่า จึงคิดว่าเอาคำว่า “พระ” ออก คงเหลือแต่ “องค์พระมหากษัตริย์” ก็จะได้

ประธานอนุกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ รับรอง

นายสงวน ตุลารักษ์ เห็นชอบ

ประธานสภาฯ กล่าวว่า ในมาตรา ๓ นี้ มีแก้ไข ๒ แห่ง คือ เติมคำว่า “สักการะ” ต่อท้ายคำว่า เคารพ และ ตัดคำว่า “พระ” ออก คงอ่านได้ในมาตรา ๓ ว่า “องค์พระมหากษัตริย์ดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้” เมื่อไม่มีผู้ใดคัดค้าน ก็ขอให้ลงคะแนน สมาชิกทั้งหมดลงมติเห็นชอบ เป็นอันว่ามาตรา ๓ นั้น ใช้ได้ตามแก้ไขมานั้น”



ยุคที่สาม มีทั้ง “องค์พระมหากษัตริย์ดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้” และ “ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใดๆ มิได้” (๒๔๙๒ ถึง ปัจจุบัน)

ในยุคนี้ มีการเพิ่ม “ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใดๆ มิได้” เข้ามา โดยปรากฏครั้งแรกในรัฐธรรมนูญ ๒๔๙๒ และนับแต่นั้น ข้อความทั้งสองวรรคนี้ ก็ปรากฏในรัฐธรรมนูญไทยทุกฉบับ

หยุด แสงอุทัย อธิบายว่า เหตุที่ต้องบัญญัติ “ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใดๆ มิได้” เพิ่มขึ้นอีก ก็เพื่อความชัดเจนและย้ำหลักการ “องค์กษัตริย์ไม่อาจถูกละเมิดได้” เท่านั้นเอง[16]

อนึ่ง มีข้อควรสังเกตว่า ในยุคสมัยนั้น มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้อภิปรายแสดงความคิดเห็น และตั้งข้อสงสัยว่า เหตุใดรัฐธรรมนูญต้องกำหนดว่า องค์กษัตริย์ไม่อาจถูกละเมิดได้ และไม่มีผู้ใดฟ้องร้องหรือกล่าวหากษัตริย์ในทางใดๆได้ การกำหนดไว้เช่นนี้ ไม่ขัดกับหลักความเสมอภาคหรือ บรรดาผู้ร่างรัฐธรรมนูญสมัยนั้นและนักกฎหมายสมัยนั้น มักอธิบายว่า เพราะ ศาลตัดสินในพระปรมาภิไธยของกษัตริย์ การให้กษัตริย์ไปขึ้นศาลของตนเอง จึงเป็นเรื่องประหลาด ผู้เขียนเห็นว่า การอธิบายให้เหตุผลเช่นนี้ไม่ถูกต้อง เพราะเป็นการอธิบายตามสูตรของระบอบเก่า หากยึดหลักการประชาธิปไตย ก็ต้องอธิบายว่า เหตุที่กษัตริย์ไม่ต้องรับผิด และไม่อาจถูกฟ้องหรือกล่าวหาในทางใดๆนั้น ก็เพราะกษัตริย์ไม่ได้เป็นผู้กระทำการใดๆ แต่มีผู้รับสนองฯที่เป็นผู้กระทำและรับผิดชอบ 

ในห้วงเวลาหัวต่อหัวเลี้ยวเช่นนี้ คนจำนวนมากเข้าใจความหมายของรัฐธรรมนูญ มาตรา ๘ ผิดไป และมีผู้ที่จ้องเล่นแร่แปรธาตุกับบทบัญญัติในมาตรา ๘ ของรัฐธรรมนูญ ให้กลายเป็นบทบัญญัติแบบสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ จึงจำเป็นต้องเข้าใจเสียใหม่ให้สอดคล้องกับหลักวิชาและระบอบประชาธิปไตย

ผู้เขียนเห็นว่า หากเรายืนยันว่า “ราชอาณาจักรไทย” ปกครองในระบอบประชาธิปไตย ไม่ใช่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ไม่ใช่ระบอบประชาธิปไตยแบบอำนาจจำกัด[17] ไม่ใช่ระบอบที่ “อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข” เป็นคำนาม และ “ประชาธิปไตย” เป็นคุณศัพท์ แล้วล่ะก็ บทบัญญัติในมาตรา ๘ “องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้” และวรรคสองที่ว่า “ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใดๆ มิได้” นั้น ต้องอธิบายดังนี้

คำว่า “เคารพสักการะ” ต้องแปลความว่า เป็นการถวายพระเกียรติให้แก่ตำแหน่งกษัตริย์ เป็นการประกาศ ไม่ใช่กฎเกณฑ์ (norm) ไม่มีผลบังคับ (sanction) ไม่มีข้อห้าม ไม่มีบทลงโทษ นี่เป็นการแปลความแบบรัฐธรรมนูญของเดนมาร์ก และนอร์เวย์ ซึ่งยังคงใช้รัฐธรรมนูญเก่าแก่และปรากฏคำพวกนี้อยู่ คำว่า “สักการะ” ของรัฐธรรมนูญเดนมาร์กและนอร์เวย์เป็นมรดกตกทอดมาจากอดีต ยังไม่ได้ถูกยกเลิกไป แต่เขาก็ใช้วิธีการแปลความไปในทางที่เป็นคุณกับประชาธิปไตยและสอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตย

คำว่า “ผู้ใดจะละเมิดมิได้” คือ ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใดๆ มิได้ ส่วนมาตรา ๘ วรรคสอง ที่ว่า “ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใดๆ มิได้” ก็เป็นการเขียนมาเพื่อขยายความคำว่า “ผู้ใดจะละเมิดมิได้” ให้ชัดเจนขึ้นเท่านั้น

คำว่า “เคารพสักการะ” ก็ดี คำว่า “ผู้ใดจะละเมิดมิได้” ก็ดี ไม่ได้หมายถึง ผู้ใดจะพูดถึงกษัตริย์ในทางวิจารณ์ไม่ได้เลย

ในอนาคต หากปรารถนาให้ราชอาณาจักรไทยเป็นประชาธิปไตยอย่างสมบูรณ์ และป้องกันมิให้ผู้ใดแปลความมาตรา ๘ อย่างพิสดารโดยไม่สอดคล้องกับประชาธิปไตย สมควรเขียนมาตรา ๘ เสียใหม่ ให้ชัดเจนขึ้น โดยตัดถ้อยคำว่า “เคารพสักการะ” ออกไป และย้อนกลับไปนำมาตรา ๗ ของธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยาม ๒๗ มิถุนายน ๒๔๗๕ กลับมาบัญญัติไว้

การตัดคำว่า “เคารพสักการะ” ออกไป นอกจากจะป้องกันมิให้พวกกษัตริย์นิยมอาศัยถ้อยคำนี้ในการเอามาใช้ประกอบกับประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๒ เพื่อทำลายศัตรูแล้ว ยังทำให้กษัตริย์หลุดพ้นจากความเป็นเทพ ทำให้กษัตริย์มีความเป็นมนุษย์มากขึ้นซึ่งสอดคล้องกับกษัตริย์ในยุคสมัยใหม่

ส่วนการนำมาตรา ๗ ของธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยาม ๒๗ มิถุนายน ๒๔๗๕ ที่ว่า “การกระทำใดๆ ของกษัตริย์ต้องมีกรรมการราษฎรผู้หนึ่งผู้ใดลงนามด้วย โดยได้รับความยินยอมของคณะกรรมการราษฎรจึ่งจะใช้ได้ มิฉะนั้นเป็นโมฆะ” กลับมาบัญญัติไว้ใหม่นั้น ก็เพื่อป้องกันมิให้นักเล่นแร่แปรธาตุรัฐธรรมนูญ แปลความไปว่า บทบัญญัติในรัฐธรรมนูญที่เขียนว่ากษัตริย์มีอำนาจกระทำการต่างๆนั้น กษัตริย์มีอำนาจในการกระทำใดๆด้วยตนเองตามลำพัง และยังไม่ต้องรับผิดใดๆตามมาตรา ๘ อีกด้วย

ในความเห็นของผู้เขียน บทบัญญัติแบบมาตรา ๘ ของรัฐธรรมนูญ ควรเขียนใหม่ ดังนี้

“องค์พระมหากษัตริย์ไม่ต้องรับผิด และไม่อาจถูกฟ้องร้องหรือกล่าวหาในทางใดๆ รัฐมนตรีผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการเป็นผู้รับผิดชอบ

การกระทำของพระมหากษัตริย์ต้องมีผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการเสมอ การกระทำใดของพระมหากษัตริย์ที่ไม่มีผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ ให้ถือเป็นโมฆะ”



……………………

ในระบอบประชาธิปไตย การใช้อำนาจกับความรับผิดชอบจากการใช้อำนาจนั้นเป็นของคู่กัน ผู้ใดมีมีอำนาจ ผู้นั้นก็ต้องมีความรับผิดชอบตามมา ความรับผิดชอบต่อการใช้อำนาจแสดงออกได้จาก การถูกฟ้องร้องดำเนินคดี การปลดออกจากตำแหน่ง การรับโทษอาญา สภาวะความรับผิดชอบเช่นนี้ เราต้องการให้เกิดขึ้นกับกษัตริย์หรือไม่? ถ้าคำตอบ คือ ไม่ ก็ต้องตัดความรับผิดชอบออก และจะตัดความรับผิดชอบออกได้ ก็ต้องไม่มีอำนาจ เมื่อไม่มีอำนาจ ก็ไม่ต้องรับผิดชอบ เมื่อไม่ต้องรับผิดชอบ ก็หลุดพ้นจากการติฉิน ฟ้องร้อง ลงโทษ ปลดออก

การอธิบายคำว่า The King can do no wrong นั้น ต้องเอา The King can do no wrong ไว้ข้างหลังในฐานะเป็นส่วนผล และต้องอธิบายเงื่อนไขอันเป็นส่วนเหตุให้ครบทั้ง ๔ ข้อก่อนว่า
๑.) กษัตริย์ไม่กระทำตามลำพัง,
๒.) อำนาจบริหารเป็นหนึ่งเดียว (ไม่มีการแยกกษัตริย์กับรัฐบาล),
๓.) ไม่มีบุคคลใดทราบได้ว่ากษัตริย์คิดอะไร,
๔.) พระราชดำรัส พระราชหัตถเลขา การกระทำอื่นใด ที่เกี่ยวพันกับประเด็นทางการเมือง ต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐมนตรี
เมื่อเงื่อนไขทั้ง ๔ ข้อครบถ้วน เมื่อนั้น The King จึง can do no wrong กษัตริย์ไม่ต้องรับผิด และไม่มีผู้ใดกล่าวหาหรือฟ้องร้องกษัตริย์ในทางใดๆได้



หากพิจารณาโดยเอาประชาธิปไตยเป็นตัวตั้ง และกษัตริย์เป็นสถาบันการเมืองหนึ่งที่ขออาศัยอยู่กับประชาธิปไตยและอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ กษัตริย์ที่ดีหาใช่กษัตริย์ที่กระทำกิจการต่างๆมากมาย หาใช่กษัตริย์ที่พูดต่อประชาชนอย่างจับใจ หาใช่กษัตริย์ที่มีจริยวัตรดีงาม หาใช่กษัตริย์ที่ฉลาดปราดเปรื่อง หาใช่กษัตริย์ที่เป็นนักรบ หาใช่กษัตริย์ที่มีจิตใจเมตตา...

แต่กษัตริย์ที่ดีต้องเป็นกษัตริย์ที่เคารพรัฐธรรมนูญ


* * * * * * * * * *
[1] เช่น สหรัฐอเมริกา, ฝรั่งเศส 
[2] เช่น เยอรมนี, ออสเตรีย
[3] เช่น โปรตุเกส 
[4] เช่น กรีซ, อิตาลี 
[5] เช่น เยอรมนี, ออสเตรีย 
[6] โปรดดู หยุด แสงอุทัย, คำอธิบายรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๑๑ และธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช ๒๕๑๕ ว่าด้วยพระมหากษัตริย์, (วรเจตน์ ภาคีรัตน์ : บรรณาธิการ), ๒๕๕๑, หน้า ๑๙ และ หน้า ๒๓-๒๔. 
[7] พระยานิติศาสตร์ไพศาล, “คำอธิบายหลักรัฐธรรมนูญสยามเปรียบเทียบกฎหมายธรรมนูญอังกฤษ”, บทบัณฑิตย์, เล่ม ๗ ตอนที่ ๕, สิงหาคม ๒๔๗๕, หน้า ๒๕๔. 
[8] โปรดดู สุพจน์ ด่านตระกูล, ประวัติรัฐธรรมนูญ, สถาบันวิทยาศาสตร์สังคม, ๒๕๕๐, หน้า ๘๑. 
[9] Robert Senelle, Emile Cl?ment, Edgard Van de Velde, A l’attention de Sa Majest? le Roi : La monarchie constitutionnelle et le re'gime parlementaire en Belgique, Editions mols, 2006 ; โปรดดู หยุด แสงอุทัย, อ้างแล้ว, หน้า ๑๓-๔๗. 
[10] หยุด แสงอุทัย, อ้างแล้ว, หน้า ๕๑-๕๒.  
[11] เพิ่งอ้าง, หน้า ๓๔-๓๕.
[12] เพิ่งอ้าง, หน้า ๓๖ 
[13] ตัวอย่างเช่น รัฐธรรมนูญ ๑๗๙๑ ของฝรั่งเศส 
[14] หลวงประเจิดอักษรลักษณ์, กฎหมายรัฐธรรมนูญ คำสอนภาค ๑ ชั้นปริญญาตรี, ๒๔๗๗, หน้า ๗๕. 
[15] โปรดดู สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล, “ว่าด้วยข้อความ ‘องค์พระมหากษัตริย์ดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้’,” http://somsakwork.blogspot.com/2006/09/blog-post_13.html โปรดดูประเด็นนี้เพิ่มเติมใน สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล, “กรณีถวัติ ฤทธิเดช ฟ้องพระปกเกล้า,” http://somsakwork.blogspot.com/2006/10/blog-post.html  
[16] หยุด แสงอุทัย, อ้างแล้ว, หน้า ๒๓. 
[17] เป็นคำของ ณัฐพล ใจจริง โปรดดู ณัฐพล ใจจริง, “สยามบนทางสองแพร่ง ๑ ศตวรรษของความพยายามปฏิวัติ รศ.๑๓๐”, ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ ๓๒ ฉบับที่ ๔ (กุมภาพันธ์ ๒๕๕๕).



.

2556-03-22

ระงับ“ตอบโจทย์” คำถามร้อน“ทีวีสาธารณะ”แบบไทยๆ

.

ระงับ “ตอบโจทย์” ข่าวร้อน-คำถามร้อน “ทีวีสาธารณะ”แบบไทยๆ
ใน www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1363933056 . . 22 มี.ค. 2556 14:17:12 น.
จากคอลัมน์ แมลงวันในไร่ส้ม มติชนสุดสัปดาห์ 22-28 มีนาคม พ.ศ. 2556 ปีที่ 33 ฉบับที่ 1701 หน้า 78


จากรายการทีวีสู่ข่าวหน้า 1 อย่างเกรียวกราว

การสั่งระงับออกอากาศรายการ "ตอบโจทย์" ทางสถานีโทรทัศน์ทีวีไทย เมื่อวันศุกร์ที่ 15 มีนาคมที่ผ่านมา กลายเป็นเรื่องวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง

รายการตอบโจทย์ที่มี ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา เป็นผู้ดำเนินรายการ ได้นำเอาฝ่ายต่างๆ มาออกรายการในหัวข้อสถาบันพระมหากษัตริย์

ไฮไลต์คือ วันที่ 13 มีนาคม ที่นำเอา นายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มาตอบคำถาม
แล้วจึงนำเอา นายสมศักดิ์ กับ นายสุลักษณ์ ศิวรักษ์ ซึ่งเคยปะทะกันในเฟซบุ๊ก มาดีเบตกัน ในวันที่ 14 มีนาคม แยกเป็น 2 ตอน ตอนจบคือวันที่ 15 มีนาคม ซึ่งสุดท้ายไม่ได้ออกอากาศ

นายสมศักดิ์ เป็นนักกิจกรรมรุ่น 14 ตุลาคม 2516 - 6 ตุลาคม 2519 จบปริญญาโทด้านประวัติศาสตร์จากมหาวิทยาลัยชั้นนำของออสเตรเลีย

แวดวงวิชาการยอมรับว่า นายสมศักดิ์ เป็นนักวิชาการที่มีหลักคิดแหลมคม ด้วยพื้นฐานจากการเป็นนักกิจกรรม และค้นคว้าเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์ และแสดงทัศนะเกี่ยวกับมาตรา 112 ป.อาญา มาอย่างต่อเนื่อง และตรงไปตรงมา

รายการนี้สร้างบรรยากาศทางปัญญาให้กับวงการทีวีไทย แต่ผู้ชมส่วนหนึ่งไม่พอใจ ก่อนมายื่นคำขาดให้สถานียุติรายการ

ขณะที่บรรณาธิการของช่องจำนวนหนึ่ง ได้เข้าพบ นายสมชัย สุวรรณบรรณ ผู้อำนวยการสถานีไทยพีบีเอส เสนอให้ระงับการออกอากาศ


ที่น่าสนใจ ก็คือ นอกจากเข้าพบ ผอ.สถานีเพื่อให้ระงับการออกรายการแล้ว บรรณาธิการกลุ่มนี้ได้แสดงความเห็นผ่านเฟซบุ๊ก ดังที่ปรากฏเป็นข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์

ความเห็นของ "บรรณาธิการ" ของช่องไทยพีบีเอส ที่เสนอผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวเกี่ยวกับรายการนี้ ก็ทำให้เกิดเสียงวิจารณ์มากมายเช่นกัน

อาทิ ณาตยา แวววีรคุปต์ บก.ข่าวสังคมและนโยบายสาธารณะ โพสต์ในเฟซบุ๊กว่า "แนวทางการสื่อสารเรื่องอ่อนไหวในสังคมไทย ควรจะใช้วิธีที่ทำให้สื่อไม่กลายเป็นชนวนความขัดแย้งเสียเอง โดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งยากจะแตะต้องอย่างฉาบฉวย สื่อที่จะทำเรื่องนี้ต้องมองหาทางเลือกของวิธีการนำเสนออย่างเหมาะสม"

สำหรับณาตยา คือคนที่เคยโพสต์ข้อความให้นำเอาละคร "เหนือเมฆ" ที่ช่อง 3 สั่งแบน มาออกอากาศต่อที่ช่องไทยพีบีเอส และเชิญชวนให้ผู้เห็นด้วยมากด like

ความเห็นของ บ.ก. กลุ่มนี้ ถูก "ใบตองแห้ง" คอลัมนิสต์ดังวิพากษ์อย่างเผ็ดร้อน

ขณะที่กลุ่มผู้จัดรายการตอบโจทย์ ภิญโญ แถลงผ่านเฟซบุ๊กว่า ขอยุติการจัดรายการตอบโจทย์

ด้วยเหตุผลว่า เพราะไม่สามารถตอบสังคมว่า จะรักษาความเชื่อมั่นในเสรีภาพของสื่อสารมวลชน ซึ่งได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญไว้ได้อย่างไร

จึงขอสละรายการเพื่อรักษาหลักการ ยินดีถูกประณาม คุกคาม เพื่อนำการกล่าวร้ายโจมตีในที่มืด ออกสู่ที่แจ้ง ให้คนได้ถกแถลงแสดงเหตุผล และหักล้างกันด้วยปัญญา มิใช่อารมณ์



มติชนออนไลน์ วันที่ 18 มีนาคม ได้นำเอาบทความของ "ปราบ เลาหะโรจนพันธ์" เรื่อง มรดกจากรัฐประหาร 2549 ชื่อ "ไทยพีบีเอส" มาเผยแพร่
มีสาระบางตอน ระบุว่า ThaiPBS เป็นมรดกจากรัฐประหาร 2549 หลังจากปิด ITV ก็เกิด พ.ร.บ.องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย
การเมืองช่วงนั้นรุนแรงเข้มข้น ไม่มีรัฐบาลจากการเลือกตั้ง สังคมแบ่งแยกชัดเจน ผู้เขียนตั้งคำถามว่า ย้อนไปอีกที ตอนนั้นเราพร้อมหรือเปล่าที่จะมี "ทีวีสาธารณะ" 
ก็เมื่อที่มาและกลุ่มผู้บริหาร เลือกข้างอย่างชัดเจน แล้วจะสาธารณะและเป็นกลางได้อย่างไร


วันนี้ได้มีโอกาสดู ThaiPBS ตลอดทั้งวัน อยากรู้ว่านอกจาก "ตอบโจทย์" แล้วมีรายการไหนที่น่าสนใจบ้าง

ได้ข้อสรุปส่วนตัวออกมาว่า ThaiPBS เป็นช่องทีวีที่น่าเบื่อทีเดียว

เป็นรายการที่พยายามจะทำตัวเป็น "ทีวีสาธารณะ" มาก มีคั่นรายการทำนองว่า "ขณะนี้คุณกำลังดูทีวีสาธารณะ" เป็นภาษาท้องถิ่นต่างๆ ซึ่งดู fake สุดๆ เพราะจากนั้นก็ไม่มีรายการที่เป็นภาษาท้องถิ่นแต่อย่างใด

รายการส่วนใหญ่ยังเป็นการพูดถึงทุกข์ชาวบ้านผ่านแง่มุมของชนชั้นกลางในเมือง เชิดชูความเรียบง่ายแบบชนบท

ทุกข์ชาวบ้านคือนายทุนคอร์รัปชั่นนักการเมืองที่เข้ามาโกยทรัพยากรธรรมชาติ ชาวบ้านในอุดมคติต้องเรียบง่ายพออยู่พอกิน ที่สำคัญต้องทนสุดๆ ทนกับความยากจนของตัวเอง โดยยิ้มอารมณ์ดีใช้ชีวิตแบบพอเพียงให้เห็นเท่าไหร่ยิ่งดีเท่านั้น

ด้วยเหตุนี้ ThaiPBS จึงไม่มีรายการพูดถึงอีกด้านของทุกข์ชาวบ้านที่แก้ด้วยทุน ความเจริญ และเศรษฐกิจแบบทุนนิยมครับ


ช่วงนี้ผมกลับบ้านต่างจังหวัดรู้สึก enjoy กับพิซซ่าซื้อ 1 แถม 1 ที่มาเปิดแถวบ้านเป็นครั้งแรก นึกถึงช่วงเวลาเก่าๆ ที่เรามี 7-11 สาขาแรกของอำเภอ มีธนาคารครบทุกบริษัทเป็นครั้งแรก

สิ่งนี้กำลังเกิดขึ้นกับหัวเมืองในหลายจังหวัดโดยเฉพาะภาคอีสาน และนักอสังหาริมทรัพย์ก็รู้ดีว่าเมืองหลายแห่งขายคอนโดฯ อย่างเทน้ำเทท่า

แต่แน่นอนว่าสิ่งนี้จะไม่ออกจากปากของ "ชาวบ้าน" ในทีวีที่ชื่อว่าทีวีสาธารณะของคนไทย

เพราะสิ่งนี้ขัดต่อภาพจำของ NGOs สายชุมชนจำนวนมากที่กลายเป็นนักจัดรายการในทีวีสาธารณะทุกวันนี้

ทีวีที่บอกว่าตนเองไม่ใช่ทีวีที่แสวงหากำไร แต่ก็ไร้ประสิทธิภาพในการสื่อสาร จนบางคนกล่าวอย่างรุนแรงว่า เป็นเพียงแหล่งสำเร็จความใคร่ทางอุดมการณ์บางรูปแบบไปแล้วเท่านั้น


ผมไม่ปฏิเสธว่าทีวีสาธารณะเป็นสิ่งที่หลายประเทศมี และตอบโจทย์ในการเป็นพื้นที่ของสาระบางอย่างที่ไม่สามารถสร้างผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจแต่มีความจำเป็นในสังคม


การโยงทีวีสาธารณะกับรัฐประหาร หลายคนอาจจะบอกว่าไกลเกินไป หรือไม่เกี่ยวกัน

แต่ถ้ามองย้อนกลับไปแล้วสมมติว่า ThaiPBS เกิดขึ้นในยุคที่ประเทศเรามีประชาธิปไตยแบบเต็มใบ

หรือต่อให้ไม่เต็มใบ ก็ขอให้มันทำงานได้ในระดับหนึ่งเหมือนทุกวันนี้

การต่อรองเรื่องพื้นที่จัดรายการเนื้อหาสาระ ระหว่างขั้วทางการเมืองต่างๆ ขั้วทางความเชื่อและอุดมการณ์ต่างๆ ก็จะเกิดขึ้น

ทีวีสาธารณะคงไม่น่าเบื่อคงไม่เอียงกระเท่เร่แบบนี้ เพราะสิ่งหนึ่งที่หน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมและ ThaiPBS มีเหมือนกัน

ทั้งสองคือหน่วยงานที่กินภาษีประชาชนตัวแทนประชาชน (รัฐบาล) เข้าไปแทรกแซงไม่ได้แต่ที่อยู่ได้ก็คือ "ความศรัทธา" ที่ประชาชนมีให้ครับแต่ถ้าทำให้ศรัทธาไม่ได้กันเสียแล้ว...ก็ยุบเถอะครับ ไม่เป็นภาระของลูกหลาน


นั่นคืออีกความเห็น ต่อ "ทีวีสาธารณะ" ที่มองคำว่า "สาธารณะ" กว้างไกลออกไป

แทนที่จะ "สาธารณะ" อยู่แค่ทัศนะของคนในทีวีเพียงไม่กี่คน




* * * * * * * * * * * * * * * * *

มรดกจากรัฐประหาร 2549 ชื่อ "ไทยพีบีเอส"?
จากเฟซบุ๊กของ "ปราบ เลาหะโรจนพันธ์"

อ่านที่ www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1363482561
( มติชน ออนไลน์  วันที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2556 เวลา 10:00:00 น. )


.

2556-03-06

ชิงเมือง โดย คำ ผกา

.

ชิงเมือง
โดย คำ ผกา
ที่มา “คำ ผกา”เขียนเรื่อง “ชิงเมือง” หลัง กทม.รอด“เสียกรุงครั้งที่ 3” อย่างหวุดหวิด
ในมติชน ออนไลน์ วันที่ 06 มีนาคม พ.ศ. 2556 เวลา 15:00:00 น.
จาก บทความ “ชิงเมือง” มติชนสุดสัปดาห์ ประจำ1-7 มี.ค.56 ปีที่ 33 ฉบับที่ 1698 หน้า 89
( ภาพจาก นสพ.ไทยรัฐ )


"พวกคุณเป็นสัตว์ร้ายทางการเมือง" นายสุเทพกล่าว และว่า คุณคิดว่าประชาชนลืมสิ่งที่คุณทำไปหมดแล้ว ซึ่งไม่ใช่ ตนขอประกาศแทนได้ว่า คนนางเลิ้ง หมอโรงพยาบาลจุฬาฯ คนราชดำเนิน คนสีลม คนฝั่งธนบุรี ชาตินี้ทั้งชาติไม่มีวันลืมพวกคุณ
นายสุเทพกล่าวว่า พล.ต.อ.พงศพัศเหมือนพระเอกหนังตะลุง จะคอยถูกชักไยจากแดนไกล การเลือกตั้งครั้งนี้เหมือนศึกชิงเมืองหลวง ถ้าเขายึดได้ ปักษ์ใต้บ้านผมก็เอาไม่อยู่ "

(สัตว์ร้ายการเมือง "เทือก" ถล่มแดงเผาเมือง เดิมพันยึด กทม. ได้ใต้ไม่เหลือ, http://www.thaipost.net/sunday/240213/70032)


คนเชียงใหม่อย่างฉันติดตามข่าวการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ด้วยความรู้สึกหลายอย่างปะปนกัน
เช่น ทำไมข่าวการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กรุงเทพฯ จึงสามารถยึดครองพื้นที่สื่อราวกับมันเป็นการเมืองระดับชาติ


ผลการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กรุงเทพฯ สะท้อนภาพการเมืองระดับชาติทั้งหมดได้จริง หรือเราคิดกันเอาเอง?
หรือถึงที่สุดแล้วเราคิดว่ากรุงเทพฯ คือประเทศไทย ประเทศคือกรุงเทพฯ ความเปลี่ยนแปลงใดๆ ที่กรุงเทพฯ จึงส่งผลกระทบไปทั้งประเทศ


ทำไม มีแต่ กทม. เท่านั้นที่ได้เลือกตั้งผู้ว่าฯ
ทำไมเมื่อจังหวัดอื่นๆ อยากออกจาก "มหาดไทย" ไปเลือกตั้งผู้ว่าฯ เองบ้างกลับถูกมองว่าเป็นขบวนการแบ่งแยกดินแดน ไม่รักความเป็นไทย ไม่สามัคคี สร้างความแตกแยก แข็งข้อ แน่ใจได้อย่างไรว่ามีปัญญาปกครองตัวเอง แน่ใจได้อย่างไรว่าเมืองทั้งเมืองจะไม่ไปตกอยู่ในมือของมาเฟีย นายทุน นักการเมืองท้องถิ่น


...ประเทศไทยจึงมีโครงสร้างการบริหารประเทศที่แปลกๆ นั่นคือ (นอกจากพัทยา) เรามีกรุงเทพฯ เป็นหน่วยการปกครองพิเศษ มีผู้ว่าฯ เป็นของตนเองที่มาจากการเลือกตั้ง
ขณะเดียวกัน มีรัฐบาลกลางที่มีศูนย์กลางอยู่ที่กรุงเทพฯ (รัฐสภา, กองทัพ, ศาล) ปกครองและบริหารราชการทุกจังหวัดทั่วประเทศไทยผ่านกระทรวงมหาดไทย; ข้าราชการ งบประมาณ, นโยบาย

แม้การปกครองส่วนท้องถิ่นจะเข้มแข็งขึ้นเรื่อยๆ ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา แต่การปกครองส่วนภูมิภาคที่มีประมุขคือผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ เรื่อยลงมาจนถึงระดับผู้ใหญ่บ้านเปรียบเสมือนตัวแทนทางสัญลักษณ์ของอำนาจ "รัฐบาลกลาง" ยังคงดำรงอยู่

ราวกับไม่มั่นใจว่า "หัวเมืองประเทศราช" ที่ตกเป็นของสยามอย่างหลวมๆ เมื่อร้อยกว่าปีก่อนนั้น ได้ตกเป็นของสยามโดยเด็ดขาด สิ้นเชิงแล้วหรือยัง?



ปัญหาที่สำคัญมากปัญหาหนึ่งของสังคมไทยคือการไม่ยอมรับ "ความใหม่" ของตนเอง สังคมไทยไม่เคยยอมรับว่าประเทศไทยมีเอกราชสมบูรณ์แบบเมื่อเราได้เอกราชทางการศาลในปี 2481 
สังคมไทยไม่ยอมรับว่าประเทศไทยตามแผนที่อย่างที่เรารู้จักกันในปัจจุบันนั้นเพิ่งจะถือกำเนิดขึ้นเมื่อร้อยปีที่แล้ว

สังคมไทยไม่ยอมรับว่าสำนึกแห่งความเป็นไทยที่เรามีอยู่ในปัจจุบันนี้เป็นสิ่งที่สร้างขึ้นมาใหม่ไม่เกิน 70 ปี 
ไม่ยอมรับว่าภาษาไทยที่เราใช้กันอยู่ในปัจจุบันนี้เป็นของใหม่ถูก standardized หรือทำให้เป็นมาตรฐานเดียวกันเพื่อเป็นภาษาของรัฐชาติที่ถือกำเนิดขึ้นมาใหม่

เมื่อเราไม่ยอมรับว่าประเทศไทย ชาติไทย และความเป็นไทย ที่เป็นรูปขวานทองอยู่ทุกวันนี้เพิ่งจะก่อร่างสร้างตัวมาไม่นาน ไม่ได้แน่นแฟ้น รักกันปานจะกลืน ไม่ได้เข้ามารวมกันแบบสมัครใจในทุกกรณี เพราะหลายๆ กรณีก็ไม่รู้ตัวว่าถูกผนวกมาตอนไหน อย่างไร เพราะสำนึกเรื่องรัฐ และดินแดน "ผุด" ขึ้นมาในแต่ละท้องถิ่นไม่พร้อมกัน รู้ตัวอีกทีก็ "อ้าว"-กลายเป็นจังหวัดหนึ่งของประเทศไทยไปแล้ว

จากนั้นก็เข้าสู่การเรียนภาษาไทยมาตรฐาน
รับ "สื่อมวลชน" มาตรฐานจากส่วนกลาง เรียนหนังสือหลักสูตรจากส่วนกลางที่สอนเราว่าประเทศไทยนี้หนามีมาอย่างน้อย 700 ปี ตั้งแต่สมัยสุโขทัย จากนั้น วิชาประวัติศาสตร์ก็สอนกล่อมให้เราหลงเชื่อว่า เราเหล่าคนไทยในเจ็ดสิบกว่าจังหวัดเป็นคนไทยอยู่ด้วยกันอย่างนี้มาตาปีตาชาติ รู้รักสามัคคีมาด้วยกันตั้งแต่สมัยรบพม่ารามัญนู่น

ผลแห่งการสร้างประวัติศาสตร์ชาติไทยฉบับหลอกตัวเองนี้ทำให้คนไทยต้องเผชิญกับสภาวะขัดแย้ง สับสนในตัวเอง

เช่น ภูมิใจในความเป็นไทย ความรู้รักสามัคคี ความเก่าแก่ของชาติไทย ขณะเดียวกัน ก็เปราะบางหากถูกวิจารณ์ โจมตี หรือตั้งคำถามว่าความเป็นไทยดีจริงหรือ มีจริงหรือ งดงามจริงหรือ ยิ่งใหญ่จริงหรือ?

เหตุที่เปราะบางก็เพราะลึกๆ แล้วรู้ว่าทั้งหมดที่ตนเองเชื่อไม่มีข้อเท็จจริงรองรับอยู่สักเท่าไร


สภาวะเปราะบางขัดแย้ง สับสนในตัวเอง นี้ยังเกิดขึ้นกับกลุ่มอาการความกลัวเรื่องการแบ่งแยกดินแดน ฉันไม่สามารถจินตนาการได้เลยว่า หากมีใครสักคนเสนอว่าประเทศไทยน่าจะแบ่งเขตการปกครองใหม่ มีรัฐบาลท้องถิ่นที่มีสภาเป็นของตนเอง มีอำนาจออกกฎหมาย รวมทั้งอำนาจศาลที่เป็นศาลท้องถิ่นเป็นของตนเอง-หากมีใครอุตริเสนอโมเดลอะไรแบบนี้ขึ้นมาในเมืองไทยจะต้องถูกตราหน้าว่าเป็นพวก ล้มชาติ ฝักใฝ่สาธารณรัฐ มุ่งสร้างความแตกแยกให้กับประเทศชาติ กบฏ

หากมีใครเสนอว่าทางออกของปัญหาความขัดแย้งในภาคใต้ที่ดีที่สุดคือให้สี่จังหวัดภาคใต้เป็นเขตการปกครองพิเศษ-บุคคลผู้นั้นย่อมถูกมองว่าเป็นภัยต่อความมั่นคงแห่งชาติ ทั้งๆ ที่เราก็รู้กันอยู่ว่ารูปแบบของรัฐนั้นมีทั้งรัฐเดี่ยวและสหพันธรัฐ-การเป็นสหพันธรัฐ ไม่ได้หมายถึงการแยกประเทศแต่อย่างใด

แต่เหตุใดคนไทยและสังคมไทยจึงมีความรู้สึกราวกับว่าหากมิได้เป็นรัฐเดี่ยวเสียแล้ว ประเทศไทยคงสิ้นสลายไปในบัดดล ขวานทองของเราคงแตกออกเป็นเสี่ยงๆ พลันประเทศไทยจะหายไปจากแผนที่โลก-สูญพันธุ์!


นั่งลงสำรวจความกลัวนี้ให้ดีจะพบว่า มันมาจากการที่คนไทยทุกคนลึกๆ ก็รู้ดีอยู่ว่า "ความเป็นไทย" ที่จินตนาการเอาว่ามีอยู่อย่างนี้อย่างนั้นมันจับต้องไม่ได้ มีจริงหรือเปล่าไม่รู้

สิ่งเดียวที่จะทำให้มั่นใจว่า "ความเป็นไทย" ที่ตัวเองยึดมั่นถือมั่นเอาไว้จะไม่สูญหายไปไหนก็คือการเฝ้าระวังรักษาสัญลักษณ์แห่งความเป็น "ไทย" ทั้งหลายเอาไว้ให้มั่น รวมไปถึงการรักษาอำนาจของรัฐบาลกลางซึ่งเป็นศูนย์บัญชาการการรักษาความเป็นไทยแบบราชการเอาไว้ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น ภาษา วัฒนธรรม เครื่องแบบ พิธีกรรม ระบบบริหารราชการอันเป็นมรดกตกค้างของระบบของอาณานิคม

มิได้พัฒนาไปสู่ความเป็นสมัยใหม่แต่อย่างใด ตั้งแต่เครื่องแบบสีกากี ไปจนถึงวัฒนธรรมองค์กรที่ยังต้องมีนายใหญ่ที่ย้ายมาจากส่วนกลางทำงานกับเจ้าหน้าที่ระดับล่างที่เป็นคนท้องถิ่น ฯลฯ


ปัญหาความย้อนแย้งสับสนในตัวเองของสังคมไทยจะไม่เกิดขึ้นเลยหากเรากล้าเผชิญหน้ากับประวัติศาสตร์ของเราในฐานะที่เป็นประเทศที่เคยเป็นทั้งเจ้าอาณานิคม เป็นทั้งประเทศที่ตกเป็นอาณานิคม และเป็นทั้งหัวเมืองเล็กเมืองน้อยที่ถูกผนวกรวมเข้ากับสยามเมื่อครั้งสร้างรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ครั้งหนึ่ง และทั้งหมดนี้กลายเป็น "ไทย" อีกครั้งหนึ่งหลัง 2475

จนถึงวันนี้ควรจะมั่นคง มั่นใจได้แล้วว่า ประเทศไทยที่เกิดมาใหม่ๆ นี้ได้ก้าวเข้าสู่การเป็นรัฐชาติสมัยใหม่ที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย และพร้อมที่จะปรับปรุงโครงสร้างการบริหารประเทศให้เหมาะสมกับยุคสมัย
เช่น มีการกระจายอำนาจการปกครองสู่ท้องถิ่น หรือปล่อยให้ท้องถิ่นจัดการบริหารส่วนราชการของตนเองได้ ลดความสำคัญของกรุงเทพฯ สร้างหัวเมืองใหญ่ กระจายความเจริญ กระจายศูนย์อำนาจออกไปได้หลายจุดมากขึ้น จินตนาการถึงแผนที่ใหม่ๆ ที่จะเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยคิดถึงกรุงเทพฯ ได้น้อยลง ฯลฯ

และทั้งหมดนี้ไม่มีอะไรจะทำให้ประเทศไทยในฐานะประเทศหนึ่ง รัฐหนึ่ง จะหายไปจากแผนที่โลกได้

สังคมไทยควรต้องเดินออกจากภาพลวงตาเรื่องพม่าบุกยึดกรุงศรีอยุธยาอะไรนั่นเสียที 
เพราะอยุธยาก็คืออยุธยา ไม่ใช่ "ไทย" ในความหมายของประเทศไทยอันเป็นหน่วยการเมืองในความหมายของรัฐชาติสมัยใหม่


ไม่นับว่าเหตุการณ์ไทยรบพม่า พม่ารบไทย มีรายละเอียดหวือหวาอย่างที่เห็นในหนังและละครย้อนยุคที่เขียนบทตามจินตนาการของคน "ไทย" ในสมัยปัจจุบันที่เอาคอนเซ็ปต์ของ "ชาติ" ในศตวรรษที่ 19 ไปอธิบายสงครามระหว่างอาณาจักรในศตวรรษที่ 14 (ก่อนมี "ชาติ")



เดินออกมาแล้ว
จะได้ลงมานั่งหัวเราะเยาะเรื่อง "ยึดเมืองหลวง"


เพราะคงต้องถามว่า ยึดไปทำไม? เพื่ออะไร? เมืองหลวงในฐานะที่เป็นที่ตั้งของศูนย์ราชการ ยึดแล้ว-ยึดแล้วต้องถามว่า แล้วไง?

ถามต่ออีกว่า แล้วมันยึดได้จริงหรือเปล่าในทางกายภาพ?
พรรคประชาธิปัตย์เป็นเจ้าของอธิปไตยเหนือดินแดนกรุงเทพฯ ไปตั้งแต่เมื่อไหร่ที่หากแพ้การเลือกตั้งเพราะความไม่เอาไหนของตนเองแล้วถึงกับจะทำให้กรุงเทพฯ ต้องเสียอธิปไตย?!!!!

วาทกรรม "ยึดเหมืองหลวง" ของพรรคประชาธิปัตย์ต่างหากที่กำลังแยก กรุงเทพฯ ออกจากอีก 76 จังหวัดทั่วประเทศ

วาทกรรมนี้กำลังสร้างความเป็นอื่นให้กับประชาชนใน 76 จังหวัดที่เหลือ

วาทกรรมนี้กำลังทำให้คนกรุงเทพฯ รู้สึกว่าคนอีก 76 จังหวัดทั่วประเทศนั้นเปรียบเสมือนข้าศึกที่กำลังจะเดินทางเข้ามาเขมือบกลืนกินกรุงเทพฯ ทั้งกรุงเทพฯ ผ่านพรรคการเมืองของ "คนต่างจังหวัด" อันเป็นวาทกรรมที่สร้างขึ้นมาพร้อมกับเรื่องเล่า โง่ จน เจ็บ-คนต่างจังหวัด โง่ ขายเสียงให้นักการเมืองเลว


หากประเทศไทยจะแตกออกเป็นเสี่ยงๆ ก็เป็นเพราะการสร้างวาทกรรมแห่งความเกลียดชังเช่นนี้ออกสู่สาธารณะ มิใช่การกระจายอำนาจการปกครองไปสู่ท้องถิ่น

และหากจะมีประโยคใดในคำปราศรัยของ สุเทพ เทือกสุบรรณ ที่น่าฟัง ประโยคนั้นก็คือ "พวกคุณเป็นสัตว์ร้ายทางการเมือง" ที่น่าฟัง เพราะคนเสื้อแดง และผู้สูญเสียจากการสลายการชุมนุมภายใต้การนำของรัฐบาลประชาธิปปัตย์ก็ไม่เคยลืมเหตุการณ์วันที่ 12-19 พฤษภา 2553 เช่นเดียวกัน

ถ้าคุณคิดว่าประชาชนลืมสิ่งที่คุณทำไปหมดแล้ว คุณคิดผิด


* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
ร่วมคลิกไลค์เป็นแฟนเพจมติชนสุดสัปดาห์ผ่านทางเฟซบุ๊ก
ได้ที่ www.facebook.com/matichonweekly




.
Admin ไม่สามารถเข้าถึงบทความประจำที่นำเสนอมาร่วม 2ปีเสียแล้ว จึงจะไม่ได้เสนอครบถ้วนเหมือนเคย ..ขออภัยผู้ติดตามทุกท่านด้วย