.
การเมืองเรื่องทรงผม
โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 18 มกราคม 2556 ปีที่ 33 ฉบับที่ 1692 หน้า 30
(ที่มา www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1358671584 . . อาทิตย์ 20 ม.ค. 2556 เวลา 15:59:55 น.)
ครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่มีการถกเถียงกันเกี่ยวกับทรงผมของนักเรียน ผมสงสัยว่าเมื่อ จอมพล ป.พิบูลสงคราม สั่งให้นักเรียนชายตัดผมทรงลานบินครั้งแรก ตามอย่างนักเรียนญี่ปุ่นสมัยสงคราม ก็คงมีการถกเถียงกันแล้ว แต่ไม่ดังเพราะบรรยากาศทางการเมืองระหว่างนั้น ไม่มีใครกล้าส่งเสียงดังๆ
ใช่ครับ ทรงลานบินคือการกล่อมเกลาเด็กให้มีจิตใจแบบทหาร ฉะนั้น จึงตามมาด้วยวินัยการแต่งกายอีกหลายอย่าง เช่น สีของกางเกง, ความยาวของขอบกางเกง, ถุงเท้า, รองเท้า, เข็มขัด, หัวเข็มขัด, ฯลฯ เป็น "เครื่องแบบ" ครบบริบูรณ์อย่างที่เรารู้จัก และนี่คือกองกำลังยุวชนของชาติไงครับ ช่วยเสริมให้การศึกษาของเราแข็งแกร่งขึ้นด้วยการเชื่อฟังครูหรือผู้บังคับบัญชาอย่างมืดบอดสืบมา
จิตใจแบบทหารสอดคล้องกับเผด็จการทหารที่ดำรงอยู่อย่างสืบเนื่องในประเทศไทย นับตั้งแต่ พ.ศ.2490 จนถึงอย่างน้อยก็ 14 ตุลาคม 2516 การเรียกร้องของนักเรียนในแนวทางเสรีนิยมหลัง 14 ตุลาคม ทำให้กระทรวงศึกษาออกระเบียบ 2518 ผ่อนปรนทรงผมนักเรียนทั้งหญิงและชายลงไปเป็นอันมาก เช่น ผู้ชายจะไว้ผมรองทรงก็ได้ ผู้หญิงไว้ผมยาวเกินต้นคอก็ได้ แต่ต้องรวบผม เป็นต้น แต่น่าประหลาดที่โรงเรียนส่วนใหญ่ยังบังคับให้นักเรียนไว้ผมตามระเบียบเดิมต่อไป ครูและผู้บริหารคงรู้ว่าเสรีนิยมที่ทรงผมอาจซึมลงไปถึงหัวสมองของเด็ก และทำให้การศึกษาแบบเผด็จการที่ดำเนินมานานแล้ว ดำเนินต่อไปไม่ได้
ด้วยเหตุใดก็ไม่ทราบ ที่นักเรียนเคลื่อนไหวกันเรื่องทรงผมอีกครั้งในตอนนี้ รัฐมนตรีศึกษาจึงอ้างระเบียบปี 2518 ขึ้นมาใหม่ เพื่อไม่ต้องตัดสินใจทำอะไรที่อาจก่อให้เกิดการกระเพื่อมทางการเมือง ไม่ว่าจากนักเรียนหรือจากครู
ผมคิดว่าสิ่งที่น่าสนใจในการเคลื่อนไหวเรื่องทรงผมและเครื่องแบบในครั้งนี้ก็คือ เราไม่สามารถทำความเข้าใจเรื่องนี้ได้จากอุดมการณ์เสรีนิยม v.s. อุดมการณ์ทหารได้อีกแล้ว เพราะกระแสสังคมนิยมในช่วงนี้ไม่ได้ปะทุขึ้นแรงกว่าที่ผ่านมา
ผมคิดว่าการทำความเข้าใจกับการยอมรับและการปฏิเสธทรงผม-เครื่องแบบนักเรียน ทั้งในครั้งนี้และครั้งอื่นๆ ที่ผ่านมา อาจทำได้ดีกว่าหากมองจากแง่ของ "การเมืองเรื่องอัตลักษณ์" (Politics of Identity) เพราะนอกจากเราอาจเข้าใจการยอมรับหรือปฏิเสธแล้ว ยังอาจทำให้มองเห็นความเปลี่ยนแปลงทางสังคมในประเทศไทยด้วย
ในสังคมการเมืองทุกประเภทในโลกนี้ อัตลักษณ์คือเครื่องมือสำคัญในการต่อรองอำนาจ เพราะฉันหรือเรา มีผลประโยชน์, วิถีชีวิต, ความใฝ่ฝัน, โลกทรรศน์, ฯลฯ แตกต่างจากคนอื่น จึงจำเป็นต้องจัดการทางสังคมที่เอื้อต่อฉันหรือเราด้วย ใครที่ไม่สร้างลักษณะเฉพาะของฉันหรือเรา คือคนที่ไม่มีอัตลักษณ์ และผลประโยชน์, วิถีชีวิต, ความใฝ่ฝัน, โลกทรรศน์, ฯลฯ ของเขาจึงถูกคนอื่นมองข้าม และด้วยเหตุดังนั้น เราจึงอาจมองความสัมพันธ์เชิงอำนาจ ไม่ว่าระหว่างหมู่ชนในสังคม หรือระหว่างปัจเจกบุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไปว่า คือการเมืองเรื่องอัตลักษณ์
เมื่อตอนที่ จอมพล ป. บังคับให้นักเรียนตัดผมทรงลานบินตามอย่างญี่ปุ่น สืบมาจนถึง 14 ตุลาคม นักเรียนและผู้ปกครองทั่วไปก็ยอมรับโดยดี เหตุผลก็เพราะมันสอดคล้องกับการสร้างอัตลักษณ์ใหม่ของกลุ่มคนที่เรียกว่า "นักเรียน" (และครอบครัวของเขาโดยนัยยะ)
"นักเรียน" นั้นแทบไม่เคยเป็นอัตลักษณ์ของคนกลุ่มใด และเราจะเห็นความไม่มีอัตลักษณ์ร่วมของนักเรียนได้ดีจากเครื่องแบบ
เมื่อก่อนสงคราม เฉพาะโรงเรียนหลวงในกรุงเทพฯ เช่น เทพศิรินทร์, สวนกุหลาบ, วชิราวุธ, เท่านั้นที่มีเครื่องแบบนักเรียน ซ้ำเป็นเครื่องแบบที่โรงเรียนกำหนดขึ้นเอง ที่น่าสนใจคือเครื่องแบบเหล่านั้นคือการจำลองเครื่องแต่งกายของผู้ดีใหม่ ซึ่งสัมพันธ์เชื่อมโยงกับราชการของรัฐ นั่นคือนุ่งผ้านุ่ง (ตามสีที่โรงเรียนกำหนด) สวนเสื้อราชปะแตน และสวมหมวกกะโล่ตามสีที่โรงเรียนกำหนดเช่นกัน นักเรียนเหล่านี้คือคุณหลวงน้อย ทั้งในสายตาของผู้พบเห็นและในสำนึกของตัวนักเรียนเอง
"นักเรียน" ไม่ใช่อัตลักษณ์อีกอันหนึ่งในสังคม
เพราะนักเรียนในโรงเรียนที่เรียกว่า "ประชาบาล" ทั่วประเทศ (ซึ่งก็ยังมีไม่มากนัก) หาได้มีเครื่องแบบแต่อย่างใดไม่ แต่งตัวไปเรียนหนังสือเหมือนหรือเกือบเหมือนกับตอนที่อยู่บ้าน ไม่มีข้อกำหนดตายตัวว่าต้องแต่งอย่างไรหรือไว้ผมทรงอะไร
คณะราษฎรทำให้การศึกษาที่เป็นทางการขยายตัวขึ้นอย่างมากในเมืองไทย (แต่ครูประวัติศาสตร์กลับไปยกให้ ร.6) เพราะเป็นรัฐบาลแรกที่ดึงงบประมาณมาสร้างโรงเรียนอย่างแพร่หลาย เพื่อให้ชนทุกชั้นสามารถเข้าถึงการศึกษาได้ทั่วถึง แทนที่จะสนับสนุนการศึกษาด้วยลมปากอย่างที่ผ่านมา มีคนกลุ่มใหม่ที่ไม่ใช่ลูกคุณหลวงกลายเป็น "นักเรียน" มากขึ้น
แต่ดูเหมือนกระทรวงก็ยังไม่ได้กำหนดเครื่องแบบตายตัว หรือถึงกำหนดก็คงไม่เคร่งครัดนัก เพราะผมจำได้ว่าเมื่อแรกเรียนหนังสือยังไม่มีเครื่องแบบ และนักเรียนโรงเรียนประชาบาลที่อยู่ใกล้ๆ ก็ยังไม่ได้สวมเครื่องแบบต่อมาอีกนาน
ผมลานบินตามคำสั่ง จอมพล ป. ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงที่กำลังจะมีเครื่องแบบนักเรียนแห่งชาตินี่แหละ คือการสร้างอัตลักษณ์ให้แก่ "นักเรียน" อันเป็นคนกลุ่มใหม่ ซึ่งถูกสอนโดยการศึกษาให้เห็นความบกพร่องของอัตลักษณ์เดิมของครอบครัวตนเอง ดังนั้น จึงตอบสนองต่อความต้องการของพวกเขาพอดี
เครื่องแบบและทรงผมคือการเปลี่ยนอัตลักษณ์ตัวเอง จาก "ลูกชาวบ้าน" ให้กลายเป็น "นักเรียน" แม้เป็นภาระทางเศรษฐกิจของครอบครัว แต่อัตลักษณ์ใหม่ก็ช่วยเพิ่มอำนาจต่อรองทางวัฒนธรรมขึ้นมา แทนอัตลักษณ์เดิมที่แทบไม่เหลือศักดิ์ศรีไว้ต่อรองกับใครได้เลย
เครื่องแบบและทรงผมเปลี่ยน "ไอ้ตี๋" ให้กลายเป็น "นักเรียน" เปลี่ยนลูกคนจนให้กลายเป็น "นักเรียน" และในสมัยหลังเปลี่ยนลูกชาวเขาให้กลายเป็น "นักเรียน" เช่นกัน
ซ้ำเป็นนักเรียน "แห่งชาติ" ด้วย เพราะการศึกษาไทยถูกกำกับโดยชาติ ฉะนั้น "นักเรียน" คือคนที่มีบทบาทอย่างใดอย่างหนึ่งในชาติ ทั้งปัจจุบันและอนาคต พูดอีกอย่างหนึ่งคือผูกพันลูกเจ๊ก, ลูกชาวเขา, ลูกขอทาน กับชาติ เป็นอัตลักษณ์ที่มีคุณค่าในตัวมันเองอย่างที่ไม่มีใครปฏิเสธ กลายเป็นอำนาจต่อรองทางวัฒนธรรมอย่างหนึ่ง
ผมคิดว่าไม่ต่างจากที่ชาวนาต้องเสียแรงงานไปกับการเกณฑ์ทหาร ในแง่หนึ่งก็เสียดายแรงงาน แต่ในอีกด้านหนึ่งก็รู้สึกภาคภูมิใจที่ได้เห็นลูกชายในเครื่องแบบทหาร เพราะเขากลายเป็นส่วนหนึ่งของชาติไปแล้ว จากอัตลักษณ์เดิมที่ไม่มีใครมองเห็นและยอมรับ มาเป็น "รั้วของชาติ" ที่ได้รับการตอกย้ำในความสำคัญตลอดมา
เครื่องแบบและทรงผมนักเรียนจึงดำรงอยู่สืบมา 40 ปี (เกินหนึ่งชั่วอายุคน) โดยไม่มีกระแสคัดค้านต่อต้านมากนัก
แต่ใน 40 ปีนี้ อัตลักษณ์ใหม่ไม่ได้สร้างความเสมอภาคขึ้นในคนกลุ่มใหม่ที่เรียกว่านักเรียน ความไม่เท่าเทียมอันเป็นเอกลักษณ์ไทยยังดำรงอยู่ได้ภายใต้อัตลักษณ์ใหม่นี้ เพราะแต่ละโรงเรียนสามารถกำหนดอัตลักษณ์เฉพาะของตนขึ้นได้ นับตั้งแต่สีของกางเกงและโบว์ ไปจนถึงชื่อย่อและเข็มกลัดโรงเรียนบนอกเสื้อ มีความแตกต่างที่พอจะเห็นได้ไม่ยากระหว่างนักเรียนโรงเรียนวัดลิงค่างบ่างชะนีกับโรงเรียนสวนกุหลาบ หรือราชวินิต อัตลักษณ์ใหม่ของนักเรียนจึงไม่ใช่อัตลักษณ์ของการปฏิวัติ เป็นแต่เพียงการดูดกลืนคนกลุ่มใหม่เข้ามามีที่ยืนในชาติ แต่ยืนที่บันไดของตนเอง ไม่ใช่รื้อทำลายบันไดลงทั้งหมด
และด้วยเหตุดังนั้น พลังต่อรองของอัตลักษณ์ใหม่จึงค่อยๆ ลดน้อยถอยลงไปเรื่อยๆ การต่อรองในสังคมสมัยใหม่เน้นอัตลักษณ์ของปัจเจกมากขึ้น สะท้อนให้เห็นในการแต่งกายของผู้คนที่แสดง "ตัวตน" ของตนเองมากกว่าของกลุ่ม ผมอาจไม่มีเสื้อยืดเวอร์ซาเช่สวมเหมือนคุณ แต่ผมเป็นแฟนตัวจริงของนักร้องชื่อดังนะเฟ้ย ขนาดมีลายเซ็นของเขาประทับอยู่บนอกเสื้อของผมด้วย ผมอาจจะจน แต่ผมไว้ผมทรงหนามซึ่งแสดงความเป็นแนวหน้าของกระแส อัตลักษณ์ของปัจเจกก้าวข้ามความไม่เสมอภาคไปได้ง่ายกว่า และเร็วกว่าอัตลักษณ์ของกลุ่ม
ผมคิดว่านี่คือกระแสใหญ่ที่ทำให้เกิดการเคลื่อนไหวในเรื่องเครื่องแบบและทรงผมนักเรียนในช่วงนี้ น่าสังเกตด้วยนะครับว่า การเคลื่อนไหวครั้งนี้ไม่ได้เรียกร้องให้เลิกเครื่องแบบ-ทรงผมนักเรียนลงทั้งหมด อย่างที่เคยเคลื่อนไหวหลัง 14 ตุลาคม แต่ให้เปิดเสรีมากขึ้นกับทรงผม (อาจรวมถึงการแต่งกายส่วนอื่นด้วย)
นั่นก็คือในอัตลักษณ์ของ "นักเรียน" ยังต้องมีอัตลักษณ์ของนักเรียนที่เป็นปัจเจกแต่ละคนด้วย อัตลักษณ์ของกลุ่มไม่ช่วยเพิ่มอำนาจต่อรองทางวัฒนธรรมกับคนอื่น ซึ่งล้วนสร้างอัตลักษณ์เฉพาะตัวขึ้นทั่วไป ผมเป็นนักเรียนแน่ ไม่ต้องการปฏิเสธ แต่จะให้ผมเชยจากหัวจรดเท้าได้อย่างไร
แต่ยังมีอีกด้านหนึ่งที่ผมเห็นว่าน่าสนใจมาก เพียงแต่ข้อมูลที่ผมมีอยู่ค่อนข้างหยาบมากเท่านั้นเพราะเอามาจากรายการทีวีของ คุณสรยุทธ สุทัศนจินดา คนทำสื่อซึ่งแค่เห็นหน้าแกทางทีวีก็ทำให้ตาร้อนผ่าวไปด้วยความริษยาเสียแล้ว
เช้าวันหนึ่ง คุณสรยุทธไปเชิญนักเรียนมากลุ่มหนึ่ง ให้มาเถียงกันทางทีวีว่า ควรให้ใช้ระเบียบการแต่งกายของกระทรวงศึกษาฯ ซึ่งออกเมื่อปี 2518 หรือไม่ และแค่ไหน ผมพบด้วยความประหลาดใจว่า นักเรียนชายเห็นด้วยกับการปล่อยให้นักเรียนไว้ผมอย่างไรก็ได้ตามใจนั้นถูกต้องแล้ว ส่วนนักเรียนหญิงไม่เห็นด้วยเลย ทั้งนี้ แบ่งออกเป็นระหว่างชาย-หญิงอย่างสมบูรณ์ คือไม่มีนักเรียนชายอยู่ฝ่ายหญิง และไม่มีนักเรียนหญิงอยู่ฝ่ายชายเลย
ด้วยข้อมูลเพียงเท่านี้ ผมถามตัวเองว่า ทำไมผู้หญิงในวัฒนธรรมไทยจึงอยาก "อยู่ในร่องในรอย" มากกว่าผู้ชาย
ผมคิดว่าคำตอบนั้นค่อนข้างชัด การไม่อยู่ในร่องในรอยทำให้ผู้หญิงถูกลงโทษมาก ในขณะที่ผู้ชายได้รับอนุญาตให้ออกจากร่องจากรอยมากกว่ากันมาก ที่รู้กันดีก็เช่นพฤติกรรมทางเพศ ผู้หญิงจะถูกประณามอย่างมากหากมีเพศสัมพันธ์นอกสถาบันการสมรส ในขณะที่ผู้ชายได้รับการให้อภัย เพราะถือเป็นเรื่องปรกติตามธรรมชาติ และคงยกตัวอย่างอื่นๆ ได้อีกมาก
และด้วยเหตุดังนั้น ผู้หญิงจึงรู้สึกปลอดภัยมากกว่า หากจะออกนอกร่องนอกรอยเมื่อทำกันเป็นกลุ่ม และในความเป็นจริงนักเรียนผู้หญิงก็ดัดแปลงเครื่องแบบ-ทรงผมให้แสดงอัตลักษณ์ส่วนตัวไปมากแล้ว ไม่ต่างจากนักเรียนชาย แต่ไม่ได้ทำคนเดียว หากทำร่วมกับเพื่อนนักเรียนหญิงทั่วไป จะให้มาออกจากร่องจากรอยทางทีวีคนเดียว คงไม่ปลอดภัยแก่เธอ
ถึงอย่างไร แม้ไม่ลุกขึ้นมายืนยัน นักเรียนหญิงก็สามารถสร้างอัตลักษณ์ในเชิงปัจเจกอยู่แล้ว
จะมายืนยันในที่สาธารณะเช่นทีวี ทำไม
.
Admin ไม่สามารถเข้าถึงบทความประจำที่นำเสนอมาร่วม 2ปีเสียแล้ว จึงจะไม่ได้เสนอครบถ้วนเหมือนเคย ..ขออภัยผู้ติดตามทุกท่านด้วย
Selected Messages & Good Article for People Ideas and Social Justice .. หวังความต่อเนื่องของพลังประชาธิปไตยและการเลือกตั้งของปวงชนอันเป็นรากฐานอำนาจอธิปไตย เพื่อกำกับกติกาและอำนาจการเมือง-อำนาจตุลาการ ไม่ว่าต่อคนชั่ว(เพราะใคร?) และคนดี(ของใคร?) ไม่ให้อยู่เหนือนิติรัฐของประชาชน
http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย