http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2556-01-06

อาคารศาลยุติธรรมของไทย ได้ต้นแบบมาจากสวิตเซอร์แลนด์? โดย เพ็ญสุภา สุขคตะ ใจอินทร์

.

อาคารศาลยุติธรรมของไทย ได้ต้นแบบมาจากสวิตเซอร์แลนด์?
โดย ดร.เพ็ญสุภา สุขคตะ ใจอินทร์  คอลัมน์ ปริศนาโบราณคดี
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 04 มกราคม พ.ศ. 2556 ปีที่ 33 ฉบับที่ 1690 หน้า 76


กระแสต่อต้านการรื้อกลุ่มอาคารศาลฎีกา สถาปัตยกรรมที่สร้างขึ้นโดยคณะราษฎรเพื่อสร้างใหม่ เกิดการตื่นตัวเคลื่อนไหวขึ้นในหมู่คนรักประชาธิปไตย ตลอดช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมานี้

โดยที่ทางศาลได้ดำเนินการทุบอาคารไปแล้ว เริ่มจากศาลอาญากรุงเทพใต้ (ฝั่งถนนราชินี ริมคลองหลอด) ซึ่งเป็นอาคารเชื่อมต่อกับอาคารศาลยุติธรรม เนื่องจากตั้งบนผังรูปตัว V ที่หักไปสู่ถนนราชดำเนินใน 
การรื้อสถาปัตยกรรมที่สร้างขึ้นในยุคประชาธิปไตยเบ่งบานที่สุดในสยาม (ระหว่างปี พ.ศ.2475-2490) มองมุมหนึ่งคล้ายจงใจทำลายสัญลักษณ์ของอุดมการณ์ทางการเมืองที่คณะราษฎรสร้างฝากไว้เป็นอนุสรณ์


อาจารย์ชาตรี ประกิตนนทการ ผู้เชี่ยวชาญด้านสถาปัตยกรรมสมัยรัตนโกสินทร์ช่วงเปลี่ยนผ่าน ได้จุดประกายเรื่องนี้ไว้อย่างเข้มข้นจนตกผลึกยิ่ง ด้วยคำถามหลายประเด็น อาทิ 
จริงหรือที่ว่าโครงสร้างอาคารศาลนั้นเริ่มผุพัง ก็ในเมื่อเพิ่งสร้างไม่ถึง 100 ปี ซ้ำยังเป็นอาคารแบบคอนกรีตเสริมเหล็กสมัยใหม่
จริงหรือที่รูปลักษณ์ทางสถาปัตยกรรมนั้นแข็งกระด้าง ไม่สอดคล้องกลมกลืนกับบรรยากาศรายรอบทุ่งพระเมรุ ที่ต้องเน้นแต่การ "สวมมงกุฎบนหลังคา ใส่ชฎาครอบอาคาร" ที่คิดกันเองว่าต้องแบบนี้เท่านั้น จึงจักสะท้อนถึงอัตลักษณ์ "ความเป็นไทย"


หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช เคยปรามาสศิลปกรรมที่สร้างขึ้นในยุคที่ปกครองโดยคณะราษฎรว่า เป็นศิลปะของพวกฟาสซิสม์ แข็งทื่อ ขาดความวิจิตร ไร้รสนิยม จึงเป็นตัวตั้งตัวตีออกรณรงค์ให้รื้อทุบกลุ่มอาคารของคณะราษฎรให้หมดไปจากสยามประเทศ

จริงหรือไม่ ที่สถาปัตยกรรมของคณะราษฎร์เป็นฟาสซิสม์?



ศาลยุติธรรม สถาปัตยกรรมแนวนิยมประชา 
สู่นานาสากล Bauhuas & International Style


ประวัติความเป็นมาของการก่อสร้างอาคารกระทรวงและศาลยุติธรรม ระบุไว้ชัดในหนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ พลเรือตรีถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ "นายกฯ ลิ้นทอง" พิมพ์เมื่อปี 2532 
กล่าวถึงสมัยที่ยังดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ว่ายุคนั้นได้มีมติ ครม.ลงวันที่ 7 กรกฎาคม 2482 เป็นคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาออกแบบอาคารของกระทรวงและศาลยุติธรรม 
โดยมี น.อ.หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ (ยศขณะที่เป็น รมต.ยุติธรรม) เป็นประธาน พระยารักตประจิตธรรมจำรัส ปลัดกระทรวงยุติธรรมเป็นรองประธาน และมีกรรมการอีก 6 คนคือ หลวงจักรปาณีศรีศิลวิสุทธิ์ พระสาโรชรัตนนิมมานท์ หลวงธรรมนูญวุฒิกร นายหมิว อภัยวงศ์ นายเอฟ.บิสโตโน และหลวงบุรกรรมโกวิท 
คณะกรรมการมีมติเห็นชอบให้ส่ง หลวงจักรปาณีศรีศิลวิสุทธิ์ เป็นตัวแทนไปศึกษาดูแบบตัวอย่างอาคารกระทรวงและศาลยุติธรรมในหลายๆ ประเทศ (ไม่ระบุว่ามีประเทศใดบ้าง)

จนในที่สุดก็ได้ข้อสรุปว่า อาคารศาลยุติธรรมของประเทศสวิตเซอร์แลนด์นั้นสวยงามเรียบง่ายเป็นศรีสง่า เหมาะสมที่จะจำลองแบบมาสร้างมากที่สุด
น.อ.หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ มอบหมายให้ พระสาโรชรัตนนิมมานท์ หัวหน้ากองสถาปัตยกรรม กรมศิลปากร เป็นผู้เขียนแบบอาคาร
ข้อความโดยรวมที่กล่าวถึงเรื่องการก่อสร้างอาคารกระทรวงและศาลยุติธรรมในหนังสือเล่มดังกล่าวมีคร่าวๆ เพียงเท่านี้ ไม่มีการระบุแม้กระทั่งชื่อเมืองอันเป็นที่ตั้งของศาลในสวิตเซอร์แลนด์ด้วยซ้ำ 
อีกทั้งมิได้มีภาพเปรียบเทียบสถาปัตยกรรมต้นแบบ


ในที่นี้ ดิฉันจึงขอเสริมข้อมูลด้านดังกล่าวที่ขาดหายไปจากการรับรู้ของสังคมไทย ว่าด้วยเรื่องความสัมพันธ์ด้านรูปแบบสถาปัตยกรรมระหว่างอาคารศาลไทยกับศาลที่สวิตเซอร์แลนด์ 

อาคาร "ศาลสูงแห่งสมาพันธรัฐสวิส" หรือที่เรียกเป็นภาษาฝรั่งเศสว่า "Le Tribunal Fe"de"ral de la Suisse" นั้นตั้งอยู่ที่เมืองโลซานน์ ริมทะเลสาบเลมอง
สวิตเซอร์แลนด์เป็นประเทศที่ปกครองแบบกระจายอำนาจให้แก่เมืองต่างๆ โดยเท่าเทียมกัน ดังนั้น สถานที่สำคัญจึงไม่ได้กระจุกตัวอยู่แค่ในนครหลวงคือกรุงเบิร์นเพียงเมืองเดียว จริงอยู่ที่ทำเนียบรัฐบาล และตึกรัฐสภาตั้งอยู่ที่เบิร์น แต่ทว่าศาลโลก และสภากาชาดสากลกลับตั้งอยู่ที่เจนีวา ธนาคารโลกตั้งอยู่ที่ซูริก หอศิลป์ระดับชาติตั้งอยู่ที่บาเซิล ศูนย์การประชุมนานาชาติตั้งอยู่ที่เมืองดาวอส เช่นเดียวกับสภาโอลิมปิกสากล และศาลสูงแห่งสมาพันธรัฐสวิส ก็ตั้งอยู่ที่เมืองโลซานน์เช่นกัน

สถาปัตยกรรมแห่งนี้สร้างขึ้นภายใต้หลักคิดว่าด้วยวาทกรรม "Lex Justitia Pax" หรือ "Loi Justice Paix" ในภาษาฝรั่งเศส ถอดเป็นภาษาอังกฤษได้ว่า "Law Justice Peace" แปลเป็นไทยอีกทีคือ "ตราชู คู่ยุติธรรม นำไปสู่สันติภาพ" 
สถาปนิกชื่อดังชาวสวิส อัลฟองโซ ลาแวร์ริแยร์ (Alphonse Laverrie"re) เป็นผู้ออกแบบเมื่อปี 1922 (พ.ศ.2465) ด้วยรูปแบบ "นีโอคลาสสิค" ตอนปลายๆ จึงยังคงมีปูนปั้นรูปเทพีผู้พิทักษ์ความยุติธรรมประดับในกรอบแผ่นสามเหลี่ยมหน้าจั่วอยู่ อันเป็นผลงานของประติมากร Carl Angst


ในเมื่อต้นแบบอาคารศาลยุติธรรมของไทยที่โลซานน์นั้นเป็นศิลปะแบบ "นีโอคลาสสิค" เหตุไฉนอาคารกระทรวงและศาลยุติธรรมที่ริมคลองหลอด กลับถูกประณามว่าเป็นรูปแบบ "ฟาสซิสม์" แข็งกระด้างเหมือนค่ายทหารของจอมเผด็จการเล่า?

พิจารณาเปรียบเทียบสถาปัตยกรรมทั้งสองแห่งแล้วเห็นว่า หลวงจักรปาณีศรีศิลวิสุทธิ์ ผู้ได้รับมอบหมายให้ไปตระเวนศึกษารูปแบบอาคารศาลต่างๆ หลายแห่งของยุโรปนั้น คงมิได้ถ่ายแบบศิลปะนีโอคลาสสิกของศาลที่เมืองโลซานน์มาไว้ที่เชิงสะพานผ่านพิภพลีลา ชนิดจำลองต้นแบบมาร้อยเปอร์เซ็นต์เต็ม 
ทว่ามีการผสมผสานศิลปกรรมสมัยใหม่ที่กำลังได้รับความนิยมแทนที่ศิลปะนีโอคลาสสิกในยุคนั้น ได้แก่ ศิลปะร่วมสมัยสไตล์ "เบาเฮาส์" (Bauhaus) อันมีต้นกำเนิดในแถบเยอรมนี-สวิตเซอร์แลนด์ และกำลังแบ่งบานส่งอิทธิพลให้แก่สถาปัตยกรรมสมัยใหม่ สไตล์นานาชาตินิยม (International Style) ในยุคที่หลวงจักรปราณีศรีศิลวิสุทธิ์เดินทางท่องยุโรปช่วงปี 2482 พอดี 
โดยเฉพาะสถาปนิกสวิสผู้มีนามว่า "ฮานส์ เมเยอร์" (Hannes Meyer) นั้น เป็นผู้อำนวยการสถาบันเบาเฮาส์ลำดับที่สองต่อจาก "วอลเทอร์ โกรปิอุส" (Walter Gropius) 
ฮานส์ เมเยอร์ ผู้นี้เองที่ได้นำรูปแบบสถาปัตยกรรมแนวใหม่มาสถาปนาในมาตุคามหลายแห่งรวมถึงโลซานน์ด้วย



หัวใจของสถาปัตยกรรมสไตล์ Bauhaus คือการเน้นโครงสร้างเครื่องคอนกรีตแบบเรียบง่าย ตัดทอนเครื่องทรงอันรกรุงรัง ไม่มีการประดับประดาลวดลายปูนปั้นในกรอบหน้าบัน หรือบัวหัวเสาใดๆ อีกต่อไป 
เน้นประโยชน์ใช้สอย เป็นสถาปัตยกรรมแบบ "ประชา(ธิปไตย)นิยม" หรือ "นิยมประชา" ในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ผ่านมา สร้างแรงสะเทือนส่งอิทธิพลจนเป็นที่นิยมไปทั่วโลกตราบถึงทุกวันนี้  

การลงดาบตัดสินประเมินคุณค่าว่า สถาปัตยกรรมของคณะราษฎรคือสไตล์ศิลปะแบบฟาสซิสต์นั้นเกิดขึ้นจาก "โมหาคติ" ล้วนๆ
ในความเป็นจริงก็คือ สถาปัตยกรรมสมัยใหม่นี้ก่อกำเนิดขึ้นมาจากรากฐานประชาธิปไตยโดยยึดความนิยมของประชาชนรากหญ้าเป็นพื้นฐาน 
ข้อสำคัญสถาบันเบาเฮาส์ ยังได้ถูกฮิตเลอร์นาซีจอมเผด็จการกดขี่ขับไล่จนต้องปิดตัว โทษฐานที่มาชี้ช่องให้ประชาชนหูตาสว่าง ศิลปินและสถาปนิกต้องลี้ภัยฟาสซิสม์ แตกสานซ่านเซ็นออกจากเยอรมนีมาสุมตัวกันอยู่แถบซูริก บาเซิล และปารีส แทน



หันมามองอาคารกระทรวงและศาลยุติธรรมของไทย แม้นจะอ้างว่าได้จำลองรูปแบบความสง่างามและเรียบง่ายมาจากสวิตเซอร์แลนด์ แต่ทว่าในความเป็นจริงนั้น กลับมีการหยิบยืมเอาหัวใจของ "เบาเฮาส์" เข้ามาเจือนีโอคลาสสิกชนิดแนบเนียนยิ่งนัก
กล่าวคือ การทำขั้นบันไดจำนวนมากเรียงถี่ๆ ทางด้านหน้านำไปสู่ "มุข" หลักของอาคารก็ดี หรือการจัดวางช่วงเสาเรียงรายที่ประตูทางเข้าช่วงกลางก็ดี การขัดแต่งผิวอาคารที่สร้างด้วยหินเหลือบสีสลับกันก็ดี รวมไปถึงการเจาะช่องหน้าต่างแต่ละชั้น ด้วยกรอบสี่เหลี่ยมที่มีขนาดลดหลั่นกันไป จากชั้นบนกรอบหน้าต่างยืดยาวมาก ชั้นสองลดความสูงลง และชั้นล่างสุดเกือบเป็นกรอบสี่เหลี่ยมจัตุรัส ล้วนเป็นการถ่ายแบบมาจากศาลสูงเมืองโลซานน์ทั้งสิ้น

แต่สิ่งที่ศาลยุติธรรมไม่รับอิทธิพลมาจากนีโอคลาสสิค ก็คือการไม่ทำแผ่นสามเหลี่ยมหน้าจั่วประดับปูนปั้นแบบกรีก การใช้แท่งเสาสี่เหลี่ยมไร้บัวหัวเสาแทนที่เสากลม หลังคาไม่ยกสูง แต่กลับตัดแบนราบ อีกทั้งการไม่ตกแต่งกรอบคิ้วบานหน้าต่างเป็นเส้นนูน การใส่บานกระจกแทนการใช้บานหน้าต่างผลักแบบ French Window 
ซ้ำบางจุดยังตกแต่งด้วยลูกกรงเหล็กดัดนั้น สะท้อนชัดว่าได้รับอิทธิพลแนวคิดจากลัทธิเบาเฮาส์ที่กำลังนิยมในสวิสมาผสมผสานกันอย่างลงตัว

สอดคล้องกับอุดมการณ์ของคณะราษฎร ที่ต้องการตัดทอนความฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือยเรื่ององค์ประกอบสถาปัตย์ที่ไม่จำเป็นออกไป ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในยุคที่เพิ่งจะฟื้นตัวจากวิกฤติเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลกมาได้หมาดๆ การก่อสร้างดำเนินขึ้นระหว่างปี 2482-2486 แต่หมดเงินไปไม่ถึงล้านบาท


มูลเหตุแห่งการเลือกรูปแบบของศาลสูงที่เมืองโลซานน์ สวิตเซอร์แลนด์ มาสร้างนั้น นอกเหนือไปจากความประทับใจในความงามสง่าเรียบง่ายแล้ว หลักฐานด้านเอกสารก็ไม่ได้ระบุเหตุผลอื่นๆ รองรับ ดิฉันจึงสันนิษฐานเพิ่มเติมว่า เป็นไปได้หรือไม่ที่รัฐบาลไทยต้องการเดินตามรอยสมาพันธรัฐสวิส ประเทศที่ประกาศตัวเป็นกลางไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด เป็นเสรีประชาธิปไตยต้นแบบที่ไม่เอาเผด็จการ

ทุกครั้งที่อ้างเหตุผลว่าต้องการรื้ออาคารศาล ไม่เคยเลยสักครั้งที่จะมีการกล่าวทบทวนถึงประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์เชิงสถาปัตยกรรมแบบเบาเฮาส์ผสมนีโอคลาสสิค ที่เชื่อมโยงมาจากประเทศแม่แบบประชาธิปไตย สวิตเซอร์แลนด์ กับอุดมคติของคณะราษฎร

หรือใจคอ ต้องการสาปให้สถาปัตยกรรมคณะราษฎรนั้นสูญพันธุ์อันตรธานหายไป อย่าได้มาลอยหน้าลอยตาอยู่บนแผ่นดินสยาม ด้วยการยัดเยียดวาทกรรม "สถาปัตยกรรมแบบฟาสซิสม์" ฝังสมองคนในชาติซ้ำแล้วซ้ำเล่า 



.