http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2556-01-13

ทิศทางขบวนการประชาชน 2556 โดย สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ

.

ทิศทางขบวนการประชาชน 2556
โดย สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ
จาก www.prachatai.com/journal/2013/01/44632 . . Sat, 2013-01-12 13:44


สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ
( ที่มา: โลกวันนี้วันสุข ฉบับที่ ๓๙๔  วันที่ ๑๒ มกราคม ๒๕๕๖ )



เวลาของปี พ.ศ.๒๕๕๕ ผ่านไปอีก ๑ ปี ท่ามกลางการต่อสู้ที่ขบวนการของประชาชนไทยยังคงเข้มแข็งมากขึ้น เมื่อปีที่ผ่านมานี้ ได้มีการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์หลายประการที่น่าจะส่งผลต่อทิศทางทางการเมืองของประเทศต่อไป

ในด้านรัฐบาลพรรคเพื่อไทย ซึ่งบริหารประเทศมาแล้ว ๑๗ เดือน ต้องถือว่าประสบความสำเร็จในด้านการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจ นโยบายสำคัญ เช่น ลดภาษีรถคันแรก การรับจำนำข้าวจากชาวนา ต่างก็บรรลุเป้าหมายอันน่าพอใจ รวมถึงนโยบายขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ที่เริ่มดำเนินการในช่วงปีใหม่นี้เป็นต้นไป ก็จะส่งผลด้านบวกต่อพี่น้องประชาชนผู้ใช้แรงงาน แน่นอน การดำเนินนโยบายทุกอย่างต้องมีผู้ได้รับประโยชน์และสูญเสียผลประโยชน์ การแสดงความไม่เห็นด้วยหรือต่อต้านคัดค้านถือเป็นเรื่องปกติ ยิ่งกว่านั้น รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ยังมีโจทย์เจ้าประจำ นั่นคือ ฝ่ายคนเสื้อเหลือง พวกสลิ่มอนุรักษ์นิยม พรรคประชาธิปัตย์ นักวิชาการอำมาตย์ จนถึงพวกสื่อมวลชนฝ่ายขวา ประเภทผู้จัดการ แนวหน้า ไทยโพสต์ ซึ่งใช้อคติต่อต้านคัดค้านนโยบายทุกเรื่องอยู่แล้ว ไม่ว่าจะทำอะไร หรือแม้แต่ไม่ทำอะไรเลย ให้ถือว่า การต่อต้านของคนกลุ่มนี้ เป็นพวกแก้เหงา เพราะพวกเขาวิตกว่าจะไม่มีอะไรทำ

ความจริงแล้ว การดำเนินนโยบายเหล่านี้ ชี้ให้เห็นความแตกต่างอย่างชัดระหว่างพรรคเพื่อไทยกับพรรคประชาธิปัตย์
ความล้มเหลวอย่างสำคัญของรัฐบาลประชาธิปัตย์ในการบริหารประเทศ คือ การไม่สามารถผลักดันนโยบายทางเศรษฐกิจอย่างใหม่ที่มีผลสะเทือนและกระทบชีวิตของประชาชน เมื่อมาถึงวันนี้ แทบจะนึกไม่ออกเลยว่า นโยบายเศรษฐกิจอะไรบ้างของรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ ที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างสำคัญในชีวิตของผู้คนและจะทำให้ระลึกถึง ดังนั้น ถ้าจะสร้างพรรคให้เข้มแข็งและเป็นทางเลือกใหม่ของประชาชนในอนาคต พรรคประชาธิปัตย์จะต้องหานโยบายใหม่ที่แตกต่าง และสร้างความประทับใจให้กับประชาชนให้ได้ การมุ่งโจมตีว่า นโยบายของเพื่อไทยเป็นแบบประชานิยมซื้อใจประชาชนคงไม่มีประโยชน์ เพราะเมื่อพรรคประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาลก็ดำเนินการแบบเดียวกัน
จนทำให้เกิดคำอธิบายความแตกต่างได้อีกว่า นโยบายของพรรคประชาธิปัตย์คือ ประชานิยมที่ล้มเหลว แต่นโยบายพรรคเพื่อไทยคือ ประชานิยมที่สำเร็จ


แต่กระนั้น คงจะต้องกล่าวเช่นกันว่า ในด้านการเมือง การตัดสินใจในการลงมือทำ รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กล้าทำน้อยกว่ามาก การผลักดันนโยบายทางการเมือง โลเลและล่าช้า เพราะความเกรงใจพลังฝ่ายอำมาตย์ โดยเฉพาะองคมนตรี ศาล และกองทัพบก ที่เป็นปัญหาสำคัญอันดับแรกคือ เรื่องนักโทษการเมืองฝ่ายคนเสื้อแดงที่เป็นผู้สนับสนุนรัฐบาล และเสียสละในการต่อสู้จนถึงขั้นบาดเจ็บล้มตาย และติดคุกตั้งแต่เดือนเมษายน-พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๓ ต่อมา เมื่อพรรคเพื่อไทยมาเป็นรัฐบาลในเดือนสิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๔ ประชาชนก็ยังคงติดคุกต่อจนถึงปัจจุบัน ไม่เห็นความพยายามจากฝ่ายรัฐบาลที่จะช่วยให้ประชาชนผู้บริสุทธิ์เหล่านี้ให้ได้รับการนิรโทษและปล่อยตัว ยิ่งกว่านั้น ในกรณีที่เป็นพี่น้องประชาชนที่ถูกเล่นงานด้วยคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพตามกฎหมายอาญามาตรา ๑๑๒ ต่างก็ถูกทอดทิ้งโดยสิ้นเชิง

แต่ในอีกด้านหนึ่ง การดำเนินการที่จะให้มีการนำตัวฆาตกรที่เข่นฆ่าประชาชนมาลงโทษก็ดำเนินการอย่างเป็นไปเอง และล่าช้า ไม่มีการผลักดันอย่างใดจากฝ่ายพรรคเพื่อไทย แม้จะอ้างกันว่า คดีมีความคืบหน้า เพราะกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ.)ได้ทำการจนถึงขั้นเริ่มต้นที่จะนำไปสู่การฟ้องร้องดำเนินคดีต่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง แต่จะเห็นได้ชัดว่า กระบวนทั้งหมดดำเนินไปโดยปกป้องกองทัพบก ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการเข่นฆ่าประชาชน ยิ่งกว่านั้น รัฐบาลยังดำเนินการโดยจงใจที่จะถ่วงเวลาให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเลี่ยงการลงนามเป็นภาคีในศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ(ไอซีซี.) เพื่อเปิดทางให้อัยการของศาลระหว่างประเทศสอบสวนคดีสังหารหมู่ประชาชนอย่างยุติธรรมตามแบบสากล ทำให้ประชาชนที่ตกเป็นเหยื่อยังต้องพึ่งเพียงศาลไทย ที่มีปัญหาในด้านความยุติธรรมอย่างมาก


ข้อที่แสดงให้เห็นความลังเลล้มเหลวที่สุดในทางการเมืองของรัฐบาลพรรคเพื่อไทย ก็คือเรื่องการผลักดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้มีการปฏิรูปทางการเมืองไปสู่ประชาธิปไตย ทั้งที่ได้มีการดำเนินการอย่างถูกต้องตามระบบรัฐสภา จนญัตติผ่านวาระที่สองไปแล้ว แต่พอถูกศาลรัฐธรรมนูญทักท้วง กระบวนการรัฐสภาก็ชะงักงัน พรรคเพื่อไทยไม่กล้าแม้กระทั่งผลักดันให้มีการลงมติในวาระสามตามขั้นตอน กลับหาข้ออ้างที่จะให้มีการลงประชามติเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อผลักดันระเบียบวาระทั้งหมดมาให้ประชาชนตัดสิน ซึ่งจะยิ่งทำให้กระบวนการทั้งหมดล่าช้าออกไป และในที่สุด นายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็ได้แถลงในวันที่ ๓๐ ธันวาคม ยอมรับว่า การแก้รัฐธรรมนูญนั้น “สำคัญแต่ไม่เร่งด่วน” ซึ่งทำให้เป็นที่แน่ใจได้ว่า การผลักดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญคงจะไม่ลุล่วงใน พ.ศ.๒๕๕๖ กรณีนี้ แตกต่างอย่างมากกับสมัยรัฐบาลประชาธิปัตย์ ที่แก้ไขรัฐธรรมนูญได้เลยโดยทันที

ข้อเสนอสำคัญที่ผลักดันโดยกลุ่มนิติราษฎร์ และดำเนินการโดยคณะครก.๑๑๒ ในปีที่ผ่านมา คือ เรื่องการปฏิรูปกฎหมายมาตรา ๑๑๒ เพื่อให้มีกระบวนการอันเป็นประชาธิปไตย และไม่ให้เกิดการนำมาใช้ในการทำร้ายผู้บริสุทธิ์ที่มีความแตกต่างทางความคิด ไม่เคยได้รับความสนใจจากพรรคเพื่อไทย และถูกล้มอย่างง่ายโดยประธานสภาผู้แทนราษฎร
ในที่นี้อยากจะขอย้ำว่า เรื่องการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นเรื่องที่ใหญ่มาก และมีความจำเป็นอย่างยิ่งในอนาคตอันใกล้นี้ เพื่อสร้างหลักประกันแห่งประชาธิปไตยในอนาคต เป็นที่น่าสงสัยว่า ชนชั้นนำไทย จะวางเฉยต่อเรื่องนี้ไปได้อีกนานไหม ก่อนที่สถานการณ์ความขัดแย้งของชนชั้นสูงจะวิกฤต และส่งผลกระทบต่อประเทศชาติยิ่งกว่านี้



กรณีทั้งหมดนี้ ได้นำมาสู่สถานการณ์ใหม่อันน่าสนใจ คือ ความเห็นที่ไม่ตรงกันระหว่างพรรคเพื่อไทยกับขบวนการคนเสื้อแดงปะทุออกเป็นรูปธรรมเป็นครั้งแรก โดยการที่ฝ่ายแนร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.)ได้ประกาศปฏิญญาโบนันซ่า ที่เขาใหญ่เมื่อวันที่ ๒๒ ธันวาคม โดยเสนอข้อเรียกร้องต่อรัฐบาล ๓ ข้อ คือ
๑. ขอให้สภาเดินหน้าแก้รัฐธรรมนูญในวาระที่สาม เพื่อนำไปสู่รัฐธรรมนูญฉบับของประชาชน
๒. เรียกร้องรัฐบาลและรัฐมนตรีว่าการต่างประเทศให้เดินหน้าลงนามรับรองเขตอำนาจศาลอาญาระหว่างประเทศ เฉพาะกรณีการปราบปรามประชาชน เมื่อปี ๒๕๕๓ 
และ ๓. ให้ออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้ประชาชนที่ตกเป็นผู้ต้องหาจากการชุมนุมทางการเมืองทุกกลุ่มยกเว้นแกนนำและคนสั่งการ


ที่สำคัญคือ ข้อแรก ซึ่งไม่ตรงกับรัฐบาล พรรคเพื่อไทย และ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่เสนอให้แก้ปัญหาโดยการลงประชามติ ข้อขัดแย้งในเรื่องนี้ ได้ถูกนำมาพิจารณาในการประชุมพรรคเพื่อไทยที่เขาใหญ่เมื่อวันที่ ๕-๖ มกราคมที่ผ่านมานี้ ในที่สุด ก็ยังไม่ได้ข้อสรุป พรรคเพื่อไทยก็เลื่อนความขัดแย้งตามเคย โดยจะเสนอให้สถาบันการศึกษาช่วยหาทางออกในเรื่องนี้

จากสถานการณ์ที่สรุปมานี้ ถ้าจะถามว่า ขบวนการประชาชนจะทำอย่างไรใน พ.ศ.๒๕๕๖ นี้ ก็คงตอบได้ว่า จะต้องให้การสนับสนุนพรรคเพื่อไทยในด้านการใช้นโยบายทางเศรษฐกิจเพื่อแก้ปัญหาของประชาชน แต่ในด้านการดำเนินการทางการเมืองของพรรคเพื่อไทยซึ่งถือว่า ยังใช้ไม่ได้ ขบวนการประชาชนคงต้องพึ่งตนเองในการเคลื่อนไหวต่อสู้ คงจะต้องช่วยผลักดันข้อเสนออันก้าวหน้าทั้งหลาย ที่ผลักดันโดยกลุ่ม นปช. กลุ่มนิติราษฎร์ ปฏิญญาหน้าศาล และอื่นๆ เร่งขยายฐานความคิดมวลชนให้เกิดการตาสว่างมากยิ่งขึ้น สถานการณ์จึงจะนำไปสู่ชัยชนะในอนาคต


* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
มีบทกวีในส่วนความคิดเห็นท้ายบท 

ว ณ ปากนัง

    @ ประชาธิปไตยไม่เคยได้จากการขอ
    หรือการรอโอกาสโชควาสนา
    มีแต่การต่อสู้ให้ได้มา
    ด้วยเสียงมวลประชามหาชน

    @ เพียงกล้าคิดกล้าทำกล้าสำแดง
    จุดคบให้ส่องแสงทุกแห่งหน
    ให้กระจ่างสว่างไปในสกล
    ให้สิทธิมนุษยชนเป็นผลจริง



.
Admin ไม่สามารถเข้าถึงบทความประจำที่นำเสนอมาร่วม 2ปีเสียแล้ว จึงจะไม่ได้เสนอครบถ้วนเหมือนเคย..ขออภัยผู้ติดตามทุกท่านด้วย