http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2556-01-21

นิธิ: การเมืองมวลชนกับการปรองดอง

.

นิธิ เอียวศรีวงศ์ : การเมืองมวลชนกับการปรองดอง
ในมติชน ออนไลน์ วันจันทร์ที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2556 เวลา 13:19:17 น.
( ที่มา  บทความกระแสทรรศน์  นสพ.มติชน รายวัน 21 ม.ค. 2556 หน้า 6 )
( และจาก www.prachatai3.info/journal/2013/01/44795 . . Mon, 2013-01-21 00:13 )



นิธิ เอียวศรีวงศ์

หลายปีมาแล้ว ผมเสนอการวิเคราะห์ความขัดแย้งทางการเมืองในสังคมไทยว่า ระบบการเมือง (ความสัมพันธ์ทางอำนาจ) ไม่สามารถปรับตัวเอง ให้รองรับการขยายตัวของคนกลุ่มใหม่ซึ่งผมเรียกว่าคนชั้นกลางระดับล่างได้ คนเหล่านี้มีจำนวนมหึมาและจำเป็นต้องมีพื้นที่ต่อรองทางการเมืองในระบบ เพราะชีวิตของเขา โลกทรรศน์ของเขา และผลประโยชน์ของเขาเปลี่ยนไปแล้ว
ตราบเท่าที่ชนชั้นนำในระบบการเมืองไม่ยอมปรับตัว ความขัดแย้งอย่างรุนแรงก็จะดำเนินต่อไป และในหลายปีที่ผ่านมา ผมยังมองไม่เห็นสัญญาณว่าชนชั้นนำสำนึกถึงความจำเป็นในแง่นี้ หรือพร้อมจะหาหนทางต่อรองกับคนกลุ่มใหม่ เพื่อปรับระบบการเมือง


แต่ในช่วงประมาณ 1 ปีที่ผ่านมา ผมคิดว่าโอกาสดังกล่าวเริ่มปรากฏให้ทุกฝ่ายมองเห็นได้ชัดขึ้น และความเป็นไปได้ที่จะเกิดการปรับระบบการเมือง จนทุกฝ่ายพอยอมรับได้ และหันมาต่อสู้กันในระบบ (ซึ่งไม่ได้หมายความแต่ที่รัฐสภาอย่างเดียว) โดยไม่เกิดความรุนแรง เริ่มจะมีลู่ทางมากขึ้น แต่ก็ใช่ว่าจะปราศจากอุปสรรคอีกหลายอย่างที่จะทำให้เส้นทางสู่ความเป็นระเบียบนั้น อาจมีลักษณะกระโดกกระเดกบ้าง แต่ผมคิดว่าดีกว่าที่ผ่านมา

ฉะนั้น ผมจึงขอพูดถึงนิมิตหมายดีๆ ที่ปรากฏให้เห็นในช่วงนี้

ผมทายไม่ถูกหรอกว่าจะเกิดรัฐประหารขึ้นอีกหรือไม่ แต่รัฐประหารกลายเป็นเครื่องมือที่ไม่มีประสิทธิภาพอย่างเดิมเสียแล้ว อย่างน้อยการรัฐประหารครั้งล่าสุดก็ชี้ให้ชนชั้นนำเดิมเห็นประจักษ์แล้ว
ยิ่งไปกว่านั้นก็คือ แม้บางคนในหมู่ชนชั้นนำเดิม ซึ่งยังอาจมองไม่เห็น (เช่นผู้อยู่เบื้องหลังของการเคลื่อนไหวกลุ่มพิทักษ์สยาม) ก็ไม่อาจใช้การรัฐประหารได้ เพราะกองทัพไม่ยอมเคลื่อนเข้ามาเป็นเครื่องมือของฝ่ายใด อย่างน้อยก็ในระยะเวลาอันสั้นข้างหน้า

ปราศจากเครื่องมือในการยับยั้งหรือชะลอการปรับระบบการเมือง ชนชั้นนำเดิมต้องหันมาใช้เครื่องมืออื่น ซึ่งดูเป็นการเคารพต่อ "ระเบียบสังคม" ทางการเมืองมากกว่า เครื่องมือสำคัญคือที่ได้ออกแบบฝังเอาไว้ในรัฐธรรมนูญ 2550 ได้แก่องค์กรอิสระซึ่งไม่ได้อิสระจริง กระบวนการทางตุลาการนานาชนิดซึ่งไม่มีใครสามารถตรวจสอบยับยั้งได้ นอกจากกลุ่มชนชั้นนำเดิม รวมทั้งวุฒิสภาซึ่งมาจากการสรรหาอีกครึ่งหนึ่งด้วย

นี่คือเหตุผลที่ต้องขัดขวางการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทุกวิถีทางที่จะเป็นไปได้ แม้แต่ศาลรัฐธรรมนูญก็ต้องให้ "คำแนะนำ" ที่ไม่เกี่ยวกับคดี

แต่สิ่งที่น่าสนใจอยู่ที่ว่า ความขัดแย้งเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญนี้ แม้มีมวลชนเข้ามาร่วมด้วย แต่ไม่นำไปสู่วิกฤตทางการเมืองครั้งใหญ่ ต่างฝ่ายต่างใช้สื่อของตนเองในการโต้เถียงกัน ด้วยเหตุผลบ้าง ด้วยอารมณ์บ้าง แม้กระนั้นก็ไม่ปะทุกลายเป็นการยกพวกตีกัน หรือจลาจลกลางเมือง

เช่นเดียวกับการรัฐประหาร การชุมนุมใหญ่เพื่อสร้างเงื่อนไขเชิงบังคับกลายเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพน้อยลงแก่ขบวนการมวลชน ฉะนั้นโอกาสที่จะเกิดการชุมนุมใหญ่จนปะทะกันจึงมีน้อยลงไปมาก ความจริงผมคิดด้วยว่า ประเด็นใหญ่ที่จะดึงผู้คนมาร่วมชุมนุมใหญ่นั้น หมดความขลังไปเป็นส่วนใหญ่ เช่น ประเด็นการล่วงละเมิดสถาบันพระมหากษัตริย์ซึ่งเคยดึงคนมาได้มากมายนับตั้งแต่ 6 ตุลา 2519 เป็นต้นมา ไม่ขลังดังเดิมเสียแล้ว
ผู้ที่ยังต้องการใช้ประเด็นนี้ ต้องกลับไปคิดว่าจะเสนอการละเมิดในลักษณะใด จึงจะปลุกคนขึ้น ประเด็นอื่นเช่นบุรณภาพเหนือพื้นที่ชายแดน จะปลุกขึ้นหรือไม่ ต้องรอคำตัดสินของศาลโลก แต่ผมออกจะสงสัยว่าไม่ขึ้นอีกนั่นแหละ เพราะที่จริงแล้ว มีพื้นที่ชายแดนของไทยซึ่งยังมีสถานะคลุมเครืออีกทั่วทุกด้าน และกับเพื่อนบ้านทุกประเทศ

ปัญหาอยู่ที่ว่าจะจัดการความคลุมเครือนั้นไปในทางใด - สันติภาพ หรือสงคราม - ต่างหาก



แท้ที่จริงแล้ว ผมสงสัยว่าชนชั้นนำการเมืองทุกฝ่ายกำลังตกใจกับ "การเมืองมวลชน" ชนชั้นนำไทยเคยใช้ "การเมืองมวลชน" มานานแล้วก่อน 14 ตุลา แต่ใช้เพียงรูปแบบ เช่นการประกาศสงครามกับฝ่ายอักษะ, เรียกร้องดินแดนจากฝรั่งเศส, และล้มการเลือกตั้ง "สกปรก"
14 ตุลา เป็นการใช้ "การเมืองมวลชน" กว้างขวางอย่างไม่เคยมีมาก่อนของชนชั้นนำกลุ่มหนึ่ง แต่ด้วยความหวังแบบเก่าว่า เมื่อล้มกลุ่มอำนาจที่ครองอำนาจอยู่ขณะนั้นได้แล้ว มวลชนก็จะกลับบ้านนอนตามเดิม การณ์ไม่เป็นไปอย่างคาดหวัง เพราะ 14 ตุลาเป็น "การเมืองมวลชน" ที่แท้จริง มากกว่ารูปแบบ ปีกหนึ่งของมวลชนคือนิสิตนักศึกษาไม่ยอมกลับบ้านนอน ซ้ำยังอยู่ห่างจากการกำกับของชนชั้นนำอีกด้วย และด้วยเหตุนั้นจึงต้องสร้าง "การเมืองมวลชน" จากอีกปีกหนึ่งมาล้างผลาญปีกนิสิตนักศึกษา
ซึ่งเท่ากับเพิ่มพลังให้แก่พรรคฝ่ายค้านของระบบที่แท้จริงคือ พ.ค.ท. กลายเป็นบทเรียน (ซึ่งชนชั้นนำได้เรียนหรือไม่ก็ไม่ทราบได้) ว่าการทำลายพลังของ "การเมืองมวลชน" ด้วยวิธีรุนแรงแบบนั้น จะยิ่งทำให้ศัตรูของระบบเข้มแข็งขึ้น เอาเข้าจริงแล้ว "การเมืองมวลชน" ที่แท้จริง เป็นอันตรายต่อชนชั้นนำทางการเมืองมาก เพราะพลังทำลายล้างระบบของ "การเมืองมวลชน" รุนแรงมาก และกำกับไม่ได้ โดยเฉพาะกำกับไม่ได้โดยฝ่ายอำนาจ ระบบการเมืองตามประเพณีของสังคมทั้งหลายในโลกนี้พังทลายลงด้วย "การเมืองมวลชน" ทั้งนั้น


ว่าถึงสถานการณ์ของ "การเมืองมวลชน" ในประเทศไทย ผมคิดว่าทั้งกลุ่มเหลืองและแดง ค่อยๆ พัฒนาเจตจำนงอิสระของตนเองขึ้น จนผู้อยู่เบื้องหลังกำกับควบคุมยากขึ้นทุกที การทำงานของเหลืองไม่สัมพันธ์สอดคล้องกับ "แนวหน้า" กลุ่มจารีตนิยมฝ่ายอื่น เช่น กองทัพ หรือพรรค ปชป. รวมไปถึงองค์กรอิสระ เช่น กกต.และ ป.ป.ช.ด้วย

วีรบุรุษของฝ่ายแดงคือคุณทักษิณรู้สึกถึงความหนักของเสื้อแดงมากขึ้นทุกที แม้แต่จะเอาชีวิตเลือดเนื้อของฝ่ายแดงไปแลกกับการพ้นคดีของตนเองก็ทำไม่ได้ เพราะมวลชนฝ่ายแดงจำนวนมากไม่ยอม และถึงกับออกมาประณามวีรบุรุษอย่างรุนแรง คุณทักษิณต้องรีบออกมาขอโทษ ซัดทอดความเหนื่อยล้าอ่อนเพลียไข้หวัดไปโน่น นับวัน "การเมืองมวลชน" ก็เป็นภาระที่หนักขึ้นทุกที คุณทักษิณจึงได้แต่ขอบคุณ "เรือ" เสื้อแดงที่มาส่งถึงฝั่งแล้ว ขอแยกย้ายกันต่างคนต่างไปเสียที

แม้อ่อนกำลังลง แต่ "การเมืองมวลชน" ก็ยังอยู่นะครับ ยังไม่สลายสิ้นซากเสียทีเดียว เพราะตราบเท่าที่ระบบการเมืองไม่ถูกปรับให้รับกับความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม "การเมืองมวลชน" ก็ยังเป็นเครื่องมือเดียวที่จะกดดันให้มีการปรับระบบการเมืองจนได้
แต่ผมคิดว่า "การเมืองมวลชน" เป็นอิสระมากขึ้น และสุขุมคัมภีรภาพมากขึ้นในการเคลื่อนไหว เพราะต่างฝ่ายยังต้องสะสมพลังมากกว่านี้อีกมาก เพื่อจะกดดันให้มีการปรับระบบการเมืองอย่างได้ผล ผมรู้สึกว่า แม้แต่แกนนำที่พูดเก่งๆ อย่างคุณสนธิ ลิ้มทองกุล หรือคุณณัฐวุฒิ ไสยเกื้อ ก็กุม "การเมืองมวลชน" ได้น้อยลง "การเมืองมวลชน" อาจกำลังเดินไปสู่อะไรที่สร้างสรรค์กว่าก็ได้ นอกจากนี้ ผมคิดว่าทั้งสองฝ่ายต่างรู้แล้วว่า ไม่มีฝ่ายใดสามารถเอาชนะอีกฝ่ายหนึ่งได้อย่างเด็ดขาด

ในสภาวะที่ความขัดแย้งพัฒนาถึงจุดงันทั้งสองฝ่ายนี้ เป็นสภาวะที่ดีที่สุดสำหรับการปรองดอง เสียงของคนอย่างอาจารย์ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ ซึ่งไม่มีฝ่ายใดได้ยินมาก่อน ก็จะมีคนฟังบ้าง การพบปะเพื่อแลกเปลี่ยนความเห็นกันระหว่างมวลชนของสองฝ่าย อาจเกิดขึ้นได้โดยโคตรเหง้าเหล่ากอไม่ถูกสื่อของทั้งสองฝ่ายพล่าผลาญเกียรติคุณลง

อย่างไรก็ตาม เวลาเราพูดถึงความปรองดอง สื่อและผู้นำทั้งสองฝ่ายไม่สนใจ "มวลชน" และไปคิดว่า หากผู้นำคู่ขัดแย้งสามารถจับเข่าคุยกันได้ ทุกอย่างก็จะจบ แต่นั่นเป็นการจบแบบเกี้ยเซี้ย ซึ่งความขัดแย้งในเมืองไทยได้เดินเลยจุดที่ผู้นำเกี้ยเซี้ยกันได้ แล้วทุกอย่างจะจบลงเสียแล้ว อย่าลืมว่าความขัดแย้งกันครั้งนี้ออกมาในรูป "การเมืองมวลชน" นับตั้งแต่แรก


ในสถานการณ์ดังที่กล่าวนี้ น่าสังเกตด้วยว่า ความขัดแย้งได้พัฒนาไปสู่ความขัดแย้งเชิงนโยบาย (เช่น รับจำนำข้าว, ค่าแรง 300 บาท หรือรถคันแรก) มีการนำปรัชญาแนวคิดของทั้งตะวันตกและตะวันออกมาใช้เพื่อโต้แย้งกันในเรื่องอุดมการณ์ ผมรู้สึกว่าการโต้เถียงกันด้วยคำบริภาษหยาบคาย หรือข้อโต้แย้งแบบเดิมๆ กำลังลดน้อยถอยลง (อาจยังเหลืออยู่ใน ASTV กับพรรค ปชป.) ข่าวเรื่องบุคคลชาวเสื้อเหลืองที่ต้องคำพิพากษาให้จำคุก เพราะถูกกล่าวหาว่าเจตนาทำร้ายเจ้าพนักงานด้วยการขับรถชนและทับ ได้รับความเห็นใจและให้การปฏิบัติฉันมิตรจากชาวเสื้อแดงในเรือนจำ นับเป็นข่าวดี และสะท้อนบรรยากาศที่คลี่คลายไปในทางดีในช่วงนี้

แต่อย่าเพิ่งมองเห็นฟ้าทองผ่องอำไพ หนทางยังไม่ราบรื่นอย่างนิมิตหมายที่ดีซึ่งมองเห็นได้ในปัจจุบัน 
ขบวนการของมวลชนยังไม่เข้มแข็งพอที่จะทำให้ "การเมืองมวลชน" นำไปสู่การปรับระบบการเมือง แต่อาจลงเอยที่การเกี้ยเซี้ยของกลุ่มต่างๆ ในหมู่ชนชั้นนำเท่านั้นก็ได้ ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้น ก็ยากที่จะเกิดความสงบขึ้นได้

นับวันสื่อที่มุ่งจะทำหน้าที่ของตนโดยสุจริตมีน้อยลง คนทำสื่อก็เป็นมนุษย์ ย่อมเลือกข้างได้ แต่เลือกข้างแล้วก็ยังต้องทำหน้าที่ของตนอย่างซื่อตรงต่อไป คนกวาดถนนเลือกข้างแล้ว แต่แอบเจาะโพรงในถนนเพื่อให้ข้างปรปักษ์ตกลงไปขาหัก ก็ไม่น่าจะเรียกตนเองว่าคนกวาดถนนได้อีกต่อไป ฉันใดก็ฉันนั้น

มีความรู้อีกมากที่สังคมควรรู้ แต่เป็นความรู้ที่ต้องสร้างขึ้นจากการศึกษาวิจัย นักวิชาการออกมารณรงค์ร่วมกับมวลชนก็ได้ แต่ยังมีหน้าที่เฉพาะของตนต้องทำต่อไป อย่างซื่อตรงต่อหน้าที่ด้วย


ผมคิดว่าสื่อและความรู้มีความสำคัญอย่างยิ่ง ที่จะทำให้เราขัดแย้งกันต่อไปได้โดยไม่ต้องใช้ความรุนแรง แต่เราขาดทั้งสองอย่างในเวลานี้

สังคมขาดเครื่องมือทางการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งใช้พรรคการเมืองเพื่อแก้ความขัดแย้งไม่ได้เลย เพราะพรรคการเมืองนำความขัดแย้งไปสู่การแย่งอำนาจ แทนที่จะนำไปสู่การต่อรองของฝ่ายต่างๆ
ยังไม่มีนิมิตหมายอะไรที่แสดงว่าพรรคการเมืองจะเปลี่ยนตัวเอง

ผู้ทำความล้มเหลวแก่สังคมไทยในหนึ่งทศวรรษที่ผ่านมา อาจไม่ใช่เสื้อสี
แต่คือส่วนอื่นๆ ที่กุมเงื่อนไขของ "การเมืองมวลชน" ให้ทำอะไรไม่ได้มากไปกว่าการสร้างความไร้ระเบียบขึ้นต่อรองกัน




.
Admin ไม่สามารถเข้าถึงบทความประจำที่นำเสนอมาร่วม 2ปีเสียแล้ว จึงจะไม่ได้เสนอครบถ้วนเหมือนเคย ..ขออภัยผู้ติดตามทุกท่านด้วย