http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2556-01-22

ออกจากถ้ำเถอะ โดย คำ ผกา

.

ออกจากถ้ำเถอะ
โดย คำ ผกา
( ในมติชน ออนไลน์  วันอังคารที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2556 เวลา 08:45:00 น.
ที่มา มติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 18 มกราคม 2556 ปีที่ 33 ฉบับที่ 1692 หน้า 89  www.facebook.com/matichonweekly
ภาพ: ไม่เกี่ยวกับ ผู้เขียนและมติชน
)


หลายวันที่ผ่านมามีเรื่องรำคาญใจเกี่ยวกับผม เช่น เวลายืนเบียดเสียดอยู่ในรถไฟฟ้าใต้ดินหรือรถบีทีเอส แล้วพลันรู้สึกจั๊กกะเดียมที่แก้ม หรือ แขน ขา เนื้อ ตัว เปล่าไม่ได้มีใครแอบลวนลาม แต่แสดงให้เห็นว่าในขบวนรถนั้นมีสาวๆ ผมสยายสลวยสะบัดยามเธอเคลื่อนไหวร่างกาย เดินขึ้นและลงรถ หลายครั้งที่แพผมสลวยนั้นสะบัดโดนใบหน้าของฉันเข้าไปเต็มโดยที่เจ้าตัวหารู้ไม่ เพราะผมนั้นอยู่ข้างหลัง สะบัด สยายไปโดนใครเจ้าตัวก็มองไม่เห็น 
ส่วนประสบการณ์การโดนผมสยายใส่หน้าของฉันพบว่าบางคนก็ผมหอม บางคนก็ผมเหม็น บางคนก็ผมเหนียวเพราะใส่น้ำมันเจลสเปรย์


แต่บ่อยครั้งจะถามตนเองเสมอว่าการปล่อยผมยาวสยายในที่สาธารณะนั้นเป็นเรื่อง"เหมาะสม"หรือไม่?
ถามตัวเองในใจปุ๊บก็ขนลุกซู่ ที่คนเขาว่า คนเรายิ่งแก่ยิ่งอนุรักษนิยมเห็นทีจะจริง เพราะเมื่อไหร่ก็ตามที่เราเริ่มเห็นว่าหญิงสาวไม่พึงปล่อยผมยาวสยายในที่สาธารณะ เมื่อนั้นมันแสดงว่าเราต้องอนุรักษนิยมมากแน่ๆ 
มิหนำซ้ำยังขัดตาเวลาที่เห็นนักศึกษาสาวใส่ชุดนักศึกษาเหมือนเรียบร้อยแต่กลับมีผมยาวแถมยังม้วนเป็นหลอดเป็นริ้วอันทรงผมม้วนปลายเป็นหลอดอย่างที่นิยมกันนี้ว่ากันว่าทำให้ผู้หญิงดูเซ็กซี่และไร้เดียงสาในเวลาเดียวกัน
ยิ่งมาปะทะกับ"ยูนิฟอร์ม"เข้าด้วยแล้วผลของมันคือทำให้นักศึกษาผู้นั้นดูเหมือนกำลังสวมบทบาทดาราเอวีของญี่ปุ่นมากกว่าเป็นนักศึกษา


ฉันต้องหยิกตัวเองอีกรอบและถามตัวเองว่า-นี่เราเป็นพวกหัวโบราณอนุรักษนิยมใช่ไหม?


แต่ความเข้าข้างตัวเอง(การเป็นลิเบอรั่นมันเท่กว่านี่นา)ทำให้ฉันคิดว่าความขัดหูขัดตารำคาญใจ(อาจเป็นเพราะโดนผมผู้อื่นปัดแก้มอยู่เป็นนิตย์ในชั่วโมงเร่งด่วน) นั้นเป็นความรำคาญใจเดียวกันกับเวลาเห็นหญิงสาวใส่รองเท้ากลางคืนกับชุดกลางวัน ใส่ชุดที่ควรจะเดินชายหาดในห้างสรรพสินค้า ใส่ชุดที่ควรจะไปทำงานในออฟฟิศที่ชายทะเล ใส่รองเท้าแตะกับสูท ใส่บู๊ตเหนือเข่ากับเฟอร์ที่เชียงใหม่ ฯลฯ
ฉันกำลังจะบอกว่าทั้งหมดนี้เกี่ยวข้องกับคำว่า "กาละเทศะ"

หลังจากที่พูดและเขียนเรื่องการยกเลิกกฎระเบียบว่าด้วยทรงผมและเครื่องแต่งกายของทั้งนักเรียนและนักศึกษาเหตุผลที่คนคัดค้านมักจะอ้างเสมอคือ"กลัวเด็กจะแต่งตัวไม่เรียบร้อย" 
คำถามของฉันคือ"การแต่งตัวเรียบร้อยคืออะไร?" 
สำหรับฉันการแต่งกายสุภาพคือการแต่งกายได้ถูกต้องตามกาละเทศะ ไม่เกี่ยวกับโป๊ไม่โป๊สั้นหรือยาวคอกว้างหรือคอเต่า

เช่นหากอายุห้าสิบก็ไม่ควรแต่งตัวเหมือนเด็กสาวอายุสิบแปด ถ้าไปทำงานก็ไม่แต่งตัวเหมือนไปเดินชายหาด ถ้าไปเดินชายหาดก็ไม่ควรแต่งตัวเหมือนไปทำงาน ไม่ใส่ชุดทำงานไปงานกลางคืน ไม่ใส่ชุดกลางคืนขึ้นรถเมล์ตอนกลางวัน ไม่ใส่รองเท้าแตะเป๊าะแป๊ะไปพบลูกค้า ฯลฯ
เช่นเดียวกับที่ฉันรู้สึกขัดตากับผมยาวสลวยปล่อยสยายที่ค่อนข้างผิดกาละเทศะ-ยอมรับตรงจุดนี้ก็ได้ว่าเป็นคนหัวโบราณ ฉันเห็นว่าสำหรับในชั่วโมง"ทำงาน"ผู้หญิงควรเก็บผมของเธอให้เรียบร้อยด้วยการมวยการรวบหรืออะไรก็แล้วแต่เพื่อป้องกันเส้นผมไปปะทะร่างกายของผู้อื่นโดยไม่ได้ตั้งใจเพราะ"ผม" นั้นเป็นอวัยวะที่เป็น "ส่วนตัว" เอามากๆ


และหากจะปล่อยผม ควรปล่อยอย่างตั้งใจปล่อย คือปล่อยให้เป็นทรงที่จัดแต่งมาอย่างดี ส่วนผมยุ่งเหยิงปลิวตามลมนั้นเอาไว้ดูกันเองในครอบครัว 
และนั่นย่อมหมายความว่าชุดนักศึกษาฟิตเปรี๊ยะสั้นจู๋ กับผมยาวสยายสุดเซ็กซี่นั้นย่อมไม่ใช่การแต่งกายที่ถูกต้องตามกาละเทศะแม้จะถูกระเบียบ



วัฒนธรรมว่าด้วยเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายนั้นก็เหมือนกับวัฒนธรรมอื่นๆนั่นคือเป็นผลผลิตของระบบสังคมการเมืองและเป็นหนึ่งในความเป็น"สมัยใหม่"ที่สังคมไทยเข้าใกล้มันแต่ไม่เคยไปถึงมัน ซ้ำยังอยู่กับมันอย่างลักลั่นเต็มทนเฉกเดียวกับที่เราอยู่กับความเป็นประชาธิปไตยแบบไทยๆ สิทธิมนุษยชนแบบไทยๆ 
มันคงสายเกินไป (อย่างน้อยสำหรับฉัน) ที่จะปฏิเสธ หรือเป็นกบฏต่อวัฒนธรรมการแต่งกายที่ได้รับการสถาปนายอมรับไปทั่วโลกแล้วว่าเป็น "สากล" เช่น ชุดกลางวัน กลางคืน รองเท้า กระเป๋า แต่ละแบบที่ถูกกำหนดมาว่าสำหรับวาระโอกาสไหน ในฤดูกาลอย่างไร เสื้อผ้าสำหรับเดินทางเป็นอย่างไร เสื้อผ้าสำหรับประกอบธุรกิจการงานเมืองเป็นอย่างไร เสื้อผ้าอย่างไม่เป็นทางการ ลำลองนั้นเป็นอย่างไร

ดังนั้น เมื่อไม่คิดจะกบฏต่อกฎเกณฑ์เหล่านี้ สิ่งที่ควรต้องเรียนรู้คือเรียนรู้ที่อยู่กับมันอย่างเหมาะสมเหมือนเราเรียนรู้วิธีใช้ตะเกียบ ช้อน ส้อม มีด เรียนรู้มารยาทบนโต๊ะอาหาร ฯลฯ  
หรือแม้แต่อยากจะกบฏ เราก็จะกบฏได้ก็ต่อเมื่อเรารู้ว่า อะไรคือ "มาตรฐาน" ที่เราต้องการกบฏ 
เช่น เราไม่แคร์วัฒนธรรมมนุษย์เงินเดือนที่ต้องใส่สูทไปทำงานจึงเลือกที่จะสวมเสื้อยืด กางเกงยีนส์ไปทำงาน
หรือเราไม่อยากเป็นผู้หญิงที่ถูกสอนมาให้หมกมุ่นอยู่กับการเอาอัตลักษณ์ของตนไปผูกไว้กับนมกับก้น จึงเลือกจะปลดปล่อยร่างกายออกจากเสื้อที่รัดรึงหันมาสวมเสื้อผ้าหลวมสบาย 
ดีไซเนอร์บางคนปฏิเสธรองเท้าส้นสูงโดยสิ้นเชิงด้วยเห็นว่ามันเป็นพันธนาการของผู้หญิงทำไมผู้หญิงต้องทรมานกระย่องกระแย่งเดินบนรองเท้าที่ทำให้เธอเจ็บทุกๆก้าวก็ออกแบบแต่เสื้อผ้าที่เหมาะกับจะสวมกับรองเท้าแบนราบสวมสบายเท่านั้น 


แต่นั่นต่างจากการแต่งตัวแบบผิดกาละเทศะเพราะความ"ไม่รู้"อย่างมาก ไม่นับความสัมพันธ์ทางอำนาจของ เพศ วัย ชนชั้น ที่สัมพันธ์กับกาละเทศะของการแต่งกายและการเป็นกบฏ

แต่ปัญหาของสังคมไทยคือ เรามีคนที่แต่งตัวได้ถูกต้องตามกาละเทศะ (จะเรียกว่า conform, conventional, conservative ก็ได้) น้อยเกินไป

ขณะเดียวกันก็มี กบฏทางการแต่งกายที่รู้ตัวว่ากำลังกบฏกับอะไรน้อยเกินไปด้วย ทว่ามีคนที่สักแต่แต่งตัวให้ถูก "ระเบียบ" หรือสักแต่แต่งตัวตามคนอื่นโดยไม่รู้ที่มาที่ไปมากเกินไป 
เรายังมีผู้หญิงวัยกลางคนที่ใส่ชุดผ้าไหมตีผมโป่งในทุกวาระโอกาสสถานที่ 
มีสาวน้อยที่ปล่อยผมสยายในทุกเวลาและสถานที่ 
เรายังมีสุภาพบุรุษที่แต่งตัวเหมือนกันตลอดเวลาไม่ว่าจะอยู่บนภูเขาหรือทะเลจะเป็นกลางวันหรือกลางคืน


เหตุที่เรา(รวมทั้งตัวฉันเอง)อยู่ในวัฒนธรรมที่คนใส่ชุดปีนเขามาเดินห้าง ใส่ชุดทำงานไปเที่ยวทะเลหรือมีแนวโน้มจะแต่งตัวผิดกาละเทศะตลอดเวลาก็เป็นเพราะเราไม่เคยสมาทานความเป็นสมัยใหม่ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความเป็นModernThaiที่หลุดออกจากความเป็นไทยแบบจารีตอย่างหมดจิตหมดใจนั่นเอง 
แต่ได้สร้างความเป็นไทยสมัยใหม่แบบพันทางขึ้นมาห่อหุ้มจิตวิญญาณแบบไทยจารีตเอาไว้ และเที่ยวหลอกตัวเองและหลอกคนอื่นว่า"นี่ไงฉันได้เข้าสู่ความเป็นสมัยใหม่เหมือนนานาอารยประเทศแล้ว"

แทนที่เด็กๆของเราในระบบการศึกษาสมัยใหม่จะได้รู้จัก"วิถีชีวิตสมัยใหม่"ผ่านทุกๆกิจกรรมในชีวิตประจำวัน เริ่มตั้งแต่ การแต่งกายอย่างสากล-เราไม่ได้ฟรีซลูกหลาน "ไพร่" ให้เปลือยร่างกายท่อนบน ไม่สวมรองเท้าอย่างคนป่าอีกต่อไป-แต่เราประยุกต์ใช้ "เครื่องแบบ" ของคนพื้นเมืองภายใต้การปกครองของเจ้าอาณานิคมให้เป็นเครื่องแบบของนักเรียน นักศึกษาไทยเสีย รวมถึงเครื่องแบบข้าราชการด้วย 
อีกทั้ง "หมายหัว" ความเป็นไพร่ไว้บนกบาลของพวกเขาด้วยทรงผมที่เป็นกฎข้อบังคับอันจะล่วงละเมิดไม่ได้ เป็นเรื่องคอขาดบาดตายของชีวิตนักเรียนทุกคน

ซากเดนอาณานิคมนี้เห็นได้จากกฏข้อบังคับของทรง "เกรียน" และ "ติ่งหู" อีกทั้งกางเกง "สีกากี" นั้นสงวนใช้สำหรับโรงเรียนรัฐบาล โรงเรียนประชาบาล โรงเรียนเทศบาล อันลูกหลานสามัญชนเรียน ลูกหลานผู้มีอันจะกินนั้นเรียนโรงเรียนเอกชนที่ส่วนใหญ่ให้นักเรียนหญิงไว้ผมยาวได้ภายใต้ข้อแม้ว่าต้องถักเปียแน่นหนา(ซึ่งถูกต้องจะได้ไม่สยายผมรุ่ยร่ายผิดกาละและเทศะ)
ส่วนลูก"ชนชั้นสูง" โดยมากไม่เรียนในโรงเรียน "ท้องถิ่น" แต่มักถูกส่งไปเรียนยังประเทศ "แม่" อันเป็น "เจ้าอาณานิคม" เสียตั้งแต่ยังเด็ก ในปัจจุบันกาลลูกหลานชนชั้นกลางชนชั้นกลางระดับสูงก็ไม่ได้ร่วมชะตากรรมเกรียน, ติ่งหู กับลูกไพร่ทั่วไป เพราะถ้าไม่เข้าโรงเรียนสาธิต, โรงเรียนทางเลือก ก็เรียนโรงเรียนนานาชาติ อันเป็น "สิทธิสภาพนอกอาณาเขต" ไม่จำเป็นต้องอยู่ภายใต้ "กฎ" ของไทย


การฟรีซนักเรียนไว้ในเครื่องแบบและการ "หมายหัว" ในนามของระเบียบ วินัย ความภาคภูมิใจทำให้ "สามัญชนชาวไทย" ไม่อาจก้าวเข้าสู่กระบวนการทำให้เป็นสมัยใหม่ที่มีศูนย์กลางอยู่ที่เสรีภาพและความรับผิดชอบของปัจเจกบุคคล
เมื่อกำกับบงการร่างกายให้เชื่องได้ การกำกับจิตสำนึกก็ไม่ใช่เรื่องยาก ไม่เพียงแต่ไม่เห็นว่าร่างกายของตนเองถูกบงการกักขัง-พวกเขายังภาคภูมิใจที่ได้แบกกรงขังนั้นไว้บนกบาลและกล้าบอกว่านี่คือเอกลักษณ์อันน่าภาคภูมิใจ

หลุดจากการถูกบงการโดยเครื่องแบบร่างกายของพวกเขาก็ประกาศความบกพร่องของการเป็น"สมัยใหม่"ด้วยการไม่สามารถแต่งกายให้ถูกต้องตามกาละเทศะเฉกเดียวกับที่พวกเขาไม่รู้มารยาทของการใช้พื้นที่สาธารณะ
มารยาทการใช้ถนน มารยาทในการใช้บริการขนส่ง มวลชนมารยาทในการใช้บันได้เลื่อน มารยาทในการใช้และรักษาความสะอาดห้องน้ำสาธารณะ และนานทีเดียวกว่าพวกเขาจะคุ้นเคยกับการเข้าคิว มารยาทในการใช้เสียง 
ไม่รู้ว่าผมที่ยาวนั้นเมื่อไหร่ควรเก็บให้เรียบร้อย เมื่อไหร่ควรปล่อยยาวสยาย 

และแยกไม่ออกระหว่างการปล่อยยาวสยายอย่างประณีตกับการยาวสยายอย่างไม่ "สำรวม"-ทั้งๆ ที่พวกเขาและพวกเราอ้างว่า เราคือมนุษย์ที่มีระเบียบเรียบร้อยภายใต้เครื่องแบบและทรงผมมาตลอดชีวิตของการเป็นนักเรียน

อาจจะสายไปมาก แต่ขอร้อง-ช่วยเปลี่ยนไปโดยสารขบวนรถที่ชื่อ Modernity เสียที



.
Admin ไม่สามารถเข้าถึงบทความประจำที่นำเสนอมาร่วม 2ปีเสียแล้ว จึงจะไม่ได้เสนอครบถ้วนเหมือนเคย ..ขออภัยผู้ติดตามทุกท่านด้วย