http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2556-01-13

“นิติราษฎร์” เสนอร่าง รธน.นิรโทษกรรมผู้ชุมนุม ..ย้ำทุกสี ทุกฝ่ายได้ประโยชน์

.
- ประกาศนิติราษฎร์ ร่างรัฐธรรมนูญว่าด้วยนิรโทษกรรมและการขจัดความขัดแย้ง
- VDO ตัวแทนคณะนิติราษฎร์ร่วมกันแถลงที่ห้องจิตติ ติงศภัทิย์ อธิบายข้อเสนอ ร่างรัฐธรรมนูญว่าด้วยนิรโทษกรรมและขจัดความขัดแย้ง

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

“นิติราษฎร์” เสนอร่าง รธน.นิรโทษกรรมผู้ชุมนุม ชี้ถ้า รบ.จริงใจให้เดินหน้าได้เลย ย้ำทุกสี ทุกฝ่ายได้ ปย.
ในมติชน ออนไลน์  วันอาทิตย์ที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2556 เวลา 16:05:03 น.
(ที่มา www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1358067279)


วันนี้ (13 ม.ค.) ที่ห้องจิตติ ติงศภัทิย์ คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ คณะนิติราษฎร์ นำโดยนายวรเจตน์ ภาคีรัตน์, นายปิยะบุตร แสงกนกกุล, นางจันทจิรา เอี่ยมมยุรา อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แถลงข้อเสนอวิชาการ เรื่องร่างรัฐธรรมนูญว่าด้วยนิรโทษกรรมและการขจัดความขัดแย้ง

นายวรเจตน์ กล่าวว่า ปลายปี 2553 คณะนิติราษฎร์เสนอล้มล้างผลพวงรัฐประหารไปครั้งหนึ่งแล้ว เกี่ยวกับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง แต่ ร่างรัฐธรรมนูญ แก้ไขเพิ่มเติม ฉบับนี้เกี่ยวเฉพาะผู้ร่วมเดินขบวน ชุมนุมทางการเมือง เกี่ยวเนื่องกับการชิงอำนาจรัฐ หลังรัฐประหารเดือนกันยายน 2549 รวมทั้งบุคคลที่กระทำการโดยมีมูลเหตุจูงใจมาจากความขัดแย้งทางการเมืองหลังรัฐประหาร ดังนั้น จึงไม่เกี่ยวกับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ส่วนการล้มล้างผลพวงรัฐประหาร ยกเลิกการดำเนินคดีทั้งหมด และประกาศให้ผู้ทำรัฐประหารเป็นโมฆะ จะเกิดในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่น่าจะได้ออกเสียงประชามติในอนาคต

ส่วนสาเหตุที่เสนอร่างเป็น ร่างรธน. โดยไม่เสนอเป็นพ.ร.บ. หรือพ.ร.ก. นั้น เพราะมีความซับซ้อนเมื่อเทียบกับ พ.ร.บ.ปรองดองฉบับอื่นๆ ที่เสนอก่อนหน้านี้ นายวรเจตน์มองว่าร่าง พ.ร.บ.ทั้งหมดนั้นไม่ครอบคุลมไม่สามารถแก้ไขปัญหาที่สลับซับซ้อน และร่างรธน. นี้ ไม่ได้แยกแกนนำกับผู้ชุมนุมเพราะเป็นเรื่องที่ทำได้ลำบาก จึงเสนอรวมไปในครั้งเดียว โดยหวังให้ครอบคลุมผู้มีความเห็นการเมืองทุกฝ่าย ทั้งเสื้อเหลือง เสื้อแดง และสีอื่นๆ ภายใต้เงื่อนไขที่ รธน. กำหนดไว้


นายวรเจตน์ยังกล่าวต่อว่านอกจากนี้การเสนอเป็นร่าง พ.ร.บ. อาจมีผู้ยื่นให้ ศาล รธน. ตีความ ซึ่งจะทำให้ช้ากว่าเดิม และเมื่อเป็น ร่าง รธน. จะไม่ถูกประธานรัฐสภาตีความ เหมือนกรณีข้อเสนอ แก้ไขกฎหมาย อาญา มาตรา 112 ที่ ประธานรัฐสภาตีความว่า ไม่เข้าหมวด 3 และหมวด 5 ของรัฐธรรมนูญ และปฏิเสธเสนอเป็นเข้าที่ประชุมสภาวาระ แต่ถ้าเป็น ร่าง รธน. ประธานสภาฯไม่บรรจุไม่ได้ เพียงแต่ต้องใช้เสียงของประชาชนเสนอร่างสูง 5 หมื่นคน อย่างไรก็ตาม หากรัฐบาล หรือ ส.ส. เห็นด้วยก็อาจเข้าชื่อเสนอได้เลยทั้งนี้ ร่าง รธน.แก้ไขเพิ่มเติม ถ้าฝ่ายการเมืองแน่วแน่ ก็สามารถทำได้เร็วกว่า ร่าง พ.ร.บ. ที่ต้องเข้าสภาผู้แทนฯ 3 วาระ วุฒิสภาอีก 3 วาระ ทำให้เวลาเนิ่นช้าไป แต่ถ้าเป็น ร่าง รธน.แก้ไขเพิ่มเติม รัฐสภาพิจารณา 3 วาระไปได้เลย

อย่างไรก็ตาม เหตุผลอีกประการ คือ ร่าง รธน.ฉบับนี้ มีการเสนอตั้ง "คณะกรรมการขจัดความขัดแย้ง" มีหน้าที่พิจารณามูลเหตุจูงใจผู้กระทำผิด ซึ่งการก่อตั้งอำนาจ ไม่สามารถก่อตั้งโดยองค์กร ระดับ พ.ร.บ.ได้ และการเสนอเป็น ร่าง รธน. ยังป้องกันรัฐบาลในอนาคตออกกฎหมายระดับ พ.ร.บ.มานิรโทษกรรมด้วย โดยถ้าจะทำต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญเพียงอย่างเดียว

นายวรเจตน์ ยังระบุอีกว่า ปัญหาสำคัญที่ไม่ปล่อยให้เป็นอำนาจศาลมาวินิจฉัย แต่งตั้งคณะกรรมการขจัดความขัดแย้ง คือ ขณะนี้หลายคนถูกขังอยู่ในศาล ซึ่งเป็นคนเสื้อแดงมากกว่า และศาลไม่ได้ดู"มูลเหตุจูงใจทางการเมือง" ไม่ได้ดูว่าอะไรเป็นแรงผลักดันให้เกิดขึ้น ศาลจะดูเฉพาะประเด็นที่เกิดขึ้น เท่านั้น จึงต้องตั้งกรรมการชุดนี้เข้ามา เพราะกระบวนการยุติธรรมปกติไม่สามารถแก้ปัญหานี้ได้ และสาเหตุที่ไม่นิรโทษกรรมให้เจ้าหน้าที่ ผู้ปฏิบัติการในระดับใด ทั้งสิ้น ก็เพื่อต่อไปเจ้าหน้าที่ต้องปฏิเสธการกระทำที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย หรือการปฏิบัติตามอารมณ์ หรือเป็นคำสั่งที่ไม่ถูกต้องไม่ควรปฏิบัติตาม


นายวรเจตน์  อธิบายว่า การนิรโทษกรรมมีการแบ่งกลุ่ม 2 กลุ่มใหญ่ๆ กลุ่มที่พ้นจากความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิง หลังประกาศใช้ รธน.ฉบับแก้ไขนี้ คือ ผู้ร่วมชุมนุมในระหว่างประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินและอีกกลุ่มคือ กลุ่มที่ความผิดอัตราโทษสูง หรือ ไม่ได้ร่วมชุมนุม โดยตรง แต่แสดงความเห็นแล้วมีผลทางคดีอาญา ให้ระงับโทษชั่วคราว และปล่อยตัวโดยทันที หลังจากนั้น เรื่องไปที่คณะกรรมการขจัดความขัดแย้ง ถ้ากรรมการชี้ว่า ทำไปโดยมีมูลเหตุจูงใจทางการเมือง คดีสิ้นสุดลง แต่เงื่อนไข ต้องไม่ขัดกับพันธกรณีระหว่างประเทศอย่างไรก็ตามกรณีมีผู้ยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ จากการใช้ รธน.หมวดนี้ เพื่อขจัดปัญหา เสนอให้ รัฐสภาเป็นผู้ทรงไว้ซึ่งสิทธิเด็ดขาดในการตีความ วินิจฉัย โดยการประชุมรัฐสภา คดีจะไม่ไปที่ศาล เพราะถือเป็นเรื่องทางการเมือง และผลการตีความของรัฐสภา จะมีผลผูกพันองค์กรของรัฐทุกองค์กร ผู้ไม่พอใจผลการตีความจะไม่สามารถนำไปฟ้องศาลได้

ขณะที่ระยะเวลา ที่มีผลตามกฎหมายนี้ คือ หลัง 19 กันยายน 2549 ถึง 9 พ.ค. 54 วันที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ยุบสภา เพราะมีทั้ง ผู้ไปเดินขบวน ไปชุมนุม หรือแสดงความคิดเห็นผ่าน ช่องทางต่างๆ ซึ่งถือว่ามีมูลเหตุจูงใจทางการเมือง อันเนื่องมาจากการยึดอำนาจ กันยายน 2549 ความผิดหลังจากนี้ ไม่อยู่ในข่ายไป

นายวรเจตน์ ยังกล่าวต่อไปว่า ข้อเสนอนี้ไม่ดีที่สุด แต่ครอบคลุมที่สุด สาเหตุที่มาเสนอในช่วงนี้ เพราะกระบวนการยุติธรรมธรรมดา ยังไม่เพียงพอ ผู้กระทำผิดหลายคนยังไม่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว รัฐบาลก็ไม่ได้ขยับทำอะไรอย่างที่ควรจะเป็น แต่หลังจากนี้ถ้ารัฐบาลเห็นความสำคัญ พรุ่งนี้ มะรืนนี้ สามารถเสนอเข้าสู่สภาได้ทันที ถ้าจะทำ อาจมีบางท่านเสนอปรับปรุงก็เป็นไปได้ แต่ไม่ควรปล่อยเวลาให้นานเกินไป สำหรับกรอบใหญ่ ที่นิติราษฎร์เสนอ 3 กรอบเรื่องใหญ่คือ 1.นิรโทษกรรม ขจัดความขัดแย้ง ตามร่างแก้ไข รธน.นี้  2. ลบล้างผลของรัฐประหาร และยกเลิกคดี ซึ่งต้องทำใน รธน.ใหม่ และ 3. จัดโครงสร้างความสัมพันธ์ขององค์กรทางการเมืองใหม่ ซึ่งต้องทำใน ร่าง รธน.ใหม่ ถ้าทำได้ จะพาสังคมไทยพ้นจากความขัดแย้งไปได้

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า  กังวลไหมว่า ฝ่ายตรงข้ามจะบอกว่า เป็นกฎหมายล้างผิดให้คนเผาบ้านเผาเมือง นายวรเจตน์ตอบว่าไม่กังวล เพราะเรื่องจะเข้าสู่ คณะกรรมการขจัดความขัดแย้ง ซึ่งจะมีการพิจารณาว่ามาจากแรงจูงใจใด คำว่า "คนเผาบ้านเผาเมือง" ประดิษฐ์ขึ้นมาใหม่ โดยใส่ความรู้สึกเข้าไป สมัย ฮิตเลอร์ เคยมีการเผาสภาฯ แล้วกล่าวหาว่า ฝ่ายตรงข้ามเป็นคนทำ เป็นการกล่าวหาโดยใช้สถานการทางการเมือง ถ้าเรื่องของการเผาไม่เกี่ยวกับมูลเหตุจูงใจทางการเมือง จะไม่ได้รับการนิรโทษกรรมอยู่แล้ว ดังนั้น ก่อนจะมีการวิจารณ์ ขอให้ทำความเข้าใจข้อเสนอก่อน อย่าเป็นเหมือนครั้งก่อน ที่กล่าวหากันว่า เสนอนิรโทษกรรมให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี


ด้านนายปิยบุตร เห็นว่า ข้อเสนอนี้ ทำเพื่อคนทุกสี เขียนโดยไม่ได้ดูสีเสื้อเป็นหลัก แต่ต้องยอมรับว่า คนเสื้อแดงจะได้ประโยชน์มากกว่า เพราะเป็นผู้ได้รับผลกระทบ ทั้งนี้ การที่ข้อเสนอไม่เกี่ยวกับนักการเมือง จะหาฉันทามติทางการเมืองได้ง่ายขึ้นไม่คิดว่าจะมีใครค้าน เพราะไม่เกี่ยวข้องกับรัฐบาล ฝ่ายค้าน ถ้าทำสำเร็จ พิสูจน์ให้เห็นว่า แม้จะเห็นต่างกัน อยู่ร่วมชาติกันได้ และเป็นการปูทางให้เกิดความปรองดอง ถ้าสำเร็จจะเกิดวัฒนธรรมทางการเมืองใหม่ๆ ในประเทศนี้

ขณะที่นางจันทจิรา กล่าวว่า ข้อเสนอร่างแก้ไข รธน.นี้ องค์กรตุลาการอาจจะกังวล แต่ยืนยันว่า คณะกรรมการขจัดความขัดแย้ง มีหน้าที่ขอบเขตจำกัด ทำเฉพาะกรณีความขัดแย้ง และผลกระทบที่เกิดขึ้น คือ การชุมนุม และสถานการณ์ที่ยึดโยงกัน โดยบทบาทหน้าที่กรรมการ สิ้นสุดลงทันทีที่กลุ่มคดีเหล่านี้สิ้นสุดลง ซึ่งมีผู้ศึกษาวิจัยจำนวนรวมไว้แล้ว


อ่านร่างฉบับเต็ม ได้ที่ www.enlightened-jurists.com/blog/75



+++

ร่างรัฐธรรมนูญว่าด้วยนิรโทษกรรมและการขจัดความขัดแย้ง
จาก www.enlightened-jurists.com/blog/75 . . 06 January 2013


ร่างรัฐธรรมนูญว่าด้วยนิรโทษกรรมและการขจัดความขัดแย้ง


บันทึกหลักการและเหตุผล
ประกอบร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..)
พุทธศักราช ....

_____________                

หลักการ
          แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยเพื่อนิรโทษกรรมแก่ประชาชนซึ่งได้กระทำความผิดอันเนื่องมาจากเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองภายหลังการยึดอำนาจรัฐโดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขเมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๙ และจัดตั้งคณะกรรมการขจัดความขัดแย้ง

เหตุผล
          โดยที่ได้ปรากฏความขัดแย้งทางการเมืองอันเป็นเหตุให้มีการเดินขบวนและชุมนุมประท้วงทางการเมืองของประชาชนตลอดจนมีการกระทำอื่นใดไม่ว่าจะเป็นการกระทำทางกายภาพหรือการแสดงความคิดเห็นอันเนื่องมาจากเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองภายหลังการยึดอำนาจรัฐโดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขเมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๙ อันนำไปสู่การกล่าวหาและดำเนินคดีกับประชาชนจำนวนมาก ทั้งนี้เมื่อได้คำนึงว่าบรรดาการกระทำต่าง ๆ ของประชาชนนั้นได้กระทำไปเพื่อแสดงออกซึ่งความคิดเห็นทางการเมืองอันเป็นสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน จึงสมควรให้มีการนิรโทษกรรมแก่ประชาชนในกรณีดังกล่าวเพื่อขจัดความขัดแย้งที่ยังคงปรากฏอยู่ในปัจจุบัน นอกจากนี้ องค์กรตุลาการซึ่งมีหน้าที่วินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาททางกฎหมายนั้น ได้พิจารณาการกระทำความผิดแต่เพียงตามองค์ประกอบทางกฎหมาย โดยไม่คำนึงถึงมูลเหตุจูงใจของการกระทำอันเนื่องมาจากเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง ดังนั้นภายใต้โครงสร้างแห่งระบบกฎหมายปกติตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ จึงไม่สามารถขจัดความขัดแย้งทางการเมืองที่ดำรงอยู่ได้ เพราะการแสดงออกของประชาชนอันมีมูลเหตุจูงใจทางการเมืองนั้นมีความสัมพันธ์โดยตรงกับความขัดแย้งทางการเมือง จึงจำเป็นต้องจัดตั้งคณะกรรมการขจัดความขัดแย้งขึ้นและให้มีฐานะเป็นองค์กรทางรัฐธรรมนูญ เพื่อให้วินิจฉัยกรณีการกระทำความผิดอันผู้กระทำได้กระทำไปโดยมีมูลเหตุจูงใจทางการเมือง
          จึงจำเป็นต้องตรารัฐธรรมนูญนี้

ร่าง
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..)
พุทธศักราช ....

..................................
..................................
..................................

          ...........................................................................................................
.................................

          โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

          ...........................................................................................................
..................................

มาตรา ๑ รัฐธรรมนูญนี้เรียกว่า “รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พุทธศักราช ....”

มาตรา ๒ รัฐธรรมนูญนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา

มาตรา ๓ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็น หมวด ๑๖ ว่าด้วยนิรโทษกรรมและการขจัดความขัดแย้ง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐

“หมวด ๑๖
ว่าด้วยนิรโทษกรรมและการขจัดความขัดแย้ง

          มาตรา ๒๙๑/๑ บรรดาการกระทำใด ๆ ของบุคคลอันเป็นความผิดตามกฎหมายจากการฝ่าฝืนข้อกำหนด ประกาศ หรือคำสั่งที่ออกตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘ หรือข้อกำหนดที่ออกตามพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. ๒๕๕๑ ซึ่งได้ประกาศใช้อันเนื่องมาจากการเดินขบวนและการชุมนุมประท้วงทางการเมืองภายหลังจากการยึดอำนาจรัฐโดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขเมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๙ ให้ผู้กระทำพ้นจากความผิด และความรับผิดโดยสิ้นเชิง

          มาตรา ๒๙๑/๒ บรรดาการกระทำใด ๆ ของบุคคลผู้เข้าร่วมเดินขบวนและชุมนุมประท้วงทางการเมืองในเขตท้องที่ที่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินหรือการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘ หรือพื้นที่ที่มีการประกาศให้เป็นพื้นที่ปรากฎเหตุการณ์อันกระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักรตามพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. ๒๕๕๑ ซึ่งได้ประกาศใช้อันเนื่องมาจากการเดินขบวนและการชุมนุมประท้วงทางการเมืองภายหลังจากการยึดอำนาจรัฐโดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขเมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๙  หากเป็นความผิดลหุโทษตามประมวลกฎหมายอาญา หรือเป็นความผิดอันมีโทษปรับสถานเดียวหรือเป็นความผิดอันมีโทษจำคุกไม่เกิน ๒ ปีตามกฎหมายอื่น ให้ผู้กระทำพ้นจากความผิด และความรับผิดโดยสิ้นเชิง

          มาตรา ๒๙๑/๓ บรรดาการกระทำใด ๆ ของบุคคลผู้เข้าร่วมเดินขบวนและชุมนุมประท้วงทางการเมือง ในเขตท้องที่หรือพื้นที่ตามมาตรา ๒๙๑/๒ อันเป็นความผิดตามกฎหมายซึ่งมิได้รับนิรโทษกรรมตามมาตรา ๒๙๑/๑ หรือมาตรา ๒๙๑/๒ ตลอดจนการกระทำใด ๆ ที่ได้กระทำขึ้นระหว่างวันที่ ๑๙ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๙ ถึงวันที่ ๙ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๔ ของบุคคลซึ่งไม่ได้เข้าร่วมเดินขบวนและชุมนุมประท้วงทางการเมือง แต่การกระทำนั้นมีมูลเหตุเกี่ยวข้องหรือเกี่ยวเนื่องกับความขัดแย้งทางการเมืองภายหลังการยึดอำนาจรัฐโดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขเมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๙ หากการกระทำดังกล่าวไม่ว่าจะเป็นการกระทำทางกายภาพหรือการแสดงความคิดเห็นเป็นความผิดตามกฎหมายอันผู้กระทำได้กระทำไปโดยมีมูลเหตุจูงใจทางการเมือง ให้ผู้กระทำพ้นจากความผิด และความรับผิดโดยสิ้นเชิง ทั้งนี้ เท่าที่ไม่ขัดกับพันธกรณีตามกฎหมายระหว่างประเทศ
          ให้คณะกรรมการขจัดความขัดแย้งวินิจฉัยว่าการกระทำใด ๆ เป็นความผิดตามกฎหมายอันผู้กระทำได้กระทำไปโดยมีมูลเหตุจูงใจทางการเมืองตามวรรคหนึ่ง

          มาตรา ๒๙๑/๔ ให้มีคณะกรรมการขจัดความขัดแย้งอันประกอบด้วยกรรมการขจัดความขัดแย้งจำนวน ๕ คน ซึ่งประธานรัฐสภาเป็นผู้แต่งตั้งจากบุคคลดังต่อไปนี้
          (๑) บุคคลซึ่งได้รับเลือกโดยคณะรัฐมนตรี จำนวน ๑ คน
          (๒) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรซึ่งได้รับเลือกโดยที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรจำนวน ๒ คน โดยต้องมาจากพรรคการเมืองที่สมาชิกในสังกัดของพรรคดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีจำนวน ๑ คน และต้องมาจากพรรคการเมืองที่สมาชิกในสังกัดของพรรคมิได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีจำนวน ๑ คน
          (๓) ผู้พิพากษาหรืออดีตผู้พิพากษาในศาลยุติธรรมซึ่งได้รับเลือกโดยที่ประชุมรัฐสภา จำนวน ๑ คน
          (๔) พนักงานอัยการหรืออดีตพนักงานอัยการซึ่งได้รับเลือกโดยที่ประชุมรัฐสภา จำนวน ๑ คน  
          ให้ดำเนินการเลือกกรรมการขจัดความขัดแย้งตามวรรคหนึ่งให้แล้วเสร็จภายใน ๖๐ วัน นับแต่วันที่รัฐธรรมนูญนี้มีผลใช้บังคับ
          ให้ผู้ได้รับเลือกตามวรรคหนึ่ง ประชุมและเลือกกันเองให้คนหนึ่งเป็นประธานกรรมการขจัดความขัดแย้ง แล้วให้ประธานรัฐสภาประกาศแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการขจัดความขัดแย้งในราชกิจจานุเบกษาในกรณีที่มีกฎหมายห้ามมิให้บุคคลใดดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการหรือห้ามการปฏิบัติหน้าที่อื่นใดในการดำรงตำแหน่ง มิให้นำกฎหมายนั้นมาใช้บังคับแก่การได้รับเลือกและการปฏิบัติหน้าที่เป็นกรรมการขจัดความขัดแย้ง
          การพ้นจากตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในกรณีกรรมการขจัดความขัดแย้งที่ได้รับเลือกตามวรรคหนึ่ง (๒) การพ้นจากตำแหน่งผู้พิพากษาในศาลยุติธรรมในกรณีกรรมการขจัดความขัดแย้งที่ได้รับเลือกตามวรรคหนึ่ง (๓) หรือการพ้นจากตำแหน่งพนักงานอัยการในกรณีกรรมการขจัดความขัดแย้งที่ได้รับเลือกตามวรรคหนึ่ง (๔) ไม่เป็นเหตุให้การปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งกรรมการขจัดความขัดแย้งสิ้นสุดลง  
ให้สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรรับผิดชอบงานด้านธุรการของคณะกรรมการขจัดความขัดแย้ง และปฏิบัติหน้าที่ตามที่คณะกรรมการขจัดความขัดแย้งมอบหมาย
          ค่าตอบแทนหรือค่าใช้จ่ายอื่นใดในการปฏิบัติหน้าที่กรรมการขจัดความขัดแย้ง ให้เป็นไปตามระเบียบที่รัฐสภาได้บัญญัติขึ้น

          มาตรา ๒๙๑/๕ ในกรณีที่ประธานกรรมการขจัดความขัดแย้งหรือกรรมการขจัดความขัดแย้งพ้นจากตำแหน่ง ให้ดำเนินการดังต่อไปนี้
          (๑) ในกรณีที่เป็นกรรมการขจัดความขัดแย้งซึ่งได้รับเลือกโดยคณะรัฐมนตรี ให้ดำเนินการตามมาตรา ๒๙๑/๔ วรรคหนึ่ง (๑) ให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวันนับจากวันที่พ้นจากตำแหน่ง
          (๒) ในกรณีที่เป็นกรรมการขจัดความขัดแย้งซึ่งได้รับเลือกโดยที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ให้ดำเนินการตามมาตรา ๒๙๑/๔ วรรคหนึ่ง (๒) ให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวันนับจากวันที่พ้นจากตำแหน่ง
          (๓) ในกรณีที่เป็นกรรมการขจัดความขัดแย้งซึ่งได้รับเลือกจากผู้พิพากษาหรืออดีตผู้พิพากษาในศาลยุติธรรมโดยที่ประชุมรัฐสภา ให้ดำเนินการตามมาตรา ๒๙๑/๔ วรรคหนึ่ง (๓) ให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวันนับจากวันที่พ้นจากตำแหน่ง
          (๔) ในกรณีที่เป็นกรรมการขจัดความขัดแย้งซึ่งได้รับเลือกจากพนักงานอัยการหรืออดีตพนักงานอัยการโดยที่ประชุมรัฐสภา ให้ดำเนินการตามมาตรา ๒๙๑/๔ วรรคหนึ่ง (๔) ให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวันนับจากวันที่พ้นจากตำแหน่ง
          ในกรณีที่ประธานกรรมการขจัดความขัดแย้งพ้นจากตำแหน่ง ให้นำบทบัญญัติมาตรา ๒๙๑/๔ วรรคสามมาใช้บังคับ
          ในกรณีที่ประธานกรรมการขจัดความขัดแย้งหรือกรรมการขจัดความขัดแย้งพ้นจากตำแหน่ง ให้คณะกรรมการขจัดความขัดแย้งประกอบด้วยกรรมการเท่าที่มีอยู่แต่ต้องไม่น้อยกว่าสามคน

          มาตรา ๒๙๑/๖ คณะกรรมการขจัดความขัดแย้งมีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้
          (๑) วินิจฉัยการกระทำความผิดตามกฎหมายอันผู้กระทำได้กระทำไปโดยมีมูลเหตุจูงใจทางการเมือง ซึ่งได้รับนิรโทษกรรมตามมาตรา ๒๙๑/๓
          (๒) วินิจฉัยกรณีที่มีข้อสงสัยว่าการกระทำใดตกอยู่ภายใต้บังคับของบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญว่าด้วยนิรโทษกรรมและการขจัดความขัดแย้ง อันทำให้การกระทำดังกล่าวได้รับนิรโทษกรรมตามมาตรา ๒๙๑/๑ หรือมาตรา ๒๙๑/๒
          ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการขจัดความขัดแย้งตาม (๑) หรือ (๒) จะดำเนินการทางกฎหมายกับผู้ถูกกล่าวหาไม่ได้ ในกรณีที่มีการฟ้องร้องเป็นคดีและคดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาล ให้ศาลระงับการดำเนินกระบวนพิจารณา และให้ปล่อยตัวจำเลยไป ในกรณีที่มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษแล้ว ให้คณะกรรมการขจัดความขัดแย้งมีคำสั่งปล่อยตัวผู้ต้องขังไป ทั้งนี้จนกว่าคณะกรรมการขจัดความขัดแย้งได้มีคำวินิจฉัย
          ในกรณีที่คณะกรรมการขจัดความขัดแย้งวินิจฉัยว่าการกระทำใดไม่ตกอยู่ภายใต้บังคับของบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญว่าด้วยนิรโทษกรรมและการขจัดความขัดแย้ง อันทำให้การกระทำดังกล่าวได้รับนิรโทษกรรมตามมาตรา ๒๙๑/๑ หรือมาตรา ๒๙๑/๒ หรือวินิจฉัยว่าการกระทำความผิดใด ผู้กระทำไม่ได้กระทำไปโดยมีมูลเหตุจูงใจทางการเมือง ซึ่งได้รับนิรโทษกรรมตามมาตรา ๒๙๑/๓ ให้ดำเนินการกับบุคคลที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดตามกระบวนการยุติธรรมต่อไป
          คำวินิจฉัยของคณะกรรมการขจัดความขัดแย้งให้มีผลผูกพันองค์กรของรัฐทุกองค์กร และไม่อาจเป็นวัตถุในการพิจารณาขององค์กรตุลาการหรือองค์กรอื่นใด

          มาตรา ๒๙๑/๗ ให้คณะกรรมการขจัดความขัดแย้งมีอำนาจในการออกระเบียบกำหนดการทั้งหลายอันจำเป็นแก่การปฏิบัติหน้าที่ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญว่าด้วยนิรโทษกรรมและการขจัดความขัดแย้ง
ระเบียบที่บัญญัติขึ้นตามวรรคหนึ่ง ไม่อาจเป็นวัตถุในการพิจารณาขององค์กรตุลาการหรือองค์กรอื่นใด

          มาตรา ๒๙๑/๘ การกระทำของบรรดาเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องในเหตุการณ์ชุมนุมประท้วง ตลอดจนการสลายการชุมนุมไม่ว่าจะได้กระทำการในฐานะเป็นผู้สั่งการหรือผู้ปฏิบัติการ และไม่ว่าจะกระทำในขั้นตอนใด ๆ หากการกระทำนั้นเป็นความผิดตามกฎหมาย ให้บุคคลนั้นยังคงมีความผิดตามกฎหมาย
          บทบัญญัติในวรรคหนึ่งให้ใช้บังคับกับบุคคลที่เป็นตัวการ ผู้ใช้ หรือผู้สนับสนุนในความผิดนั้น

          มาตรา ๒๙๑/๙ รัฐสภาเป็นผู้ทรงไว้ซึ่งสิทธิเด็ดขาดในการตีความบทบัญญัติในหมวดนี้ การตีความของรัฐสภาให้มีผลผูกพันองค์กรของรัฐทุกองค์กร และไม่อาจเป็นวัตถุในการพิจารณาขององค์กรตุลาการหรือองค์กรอื่นใด”


ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

................................................
               นายกรัฐมนตรี


___________________________

ดาวน์โหลด [PDF] : ร่างรัฐธรรมนูญว่าด้วยนิรโทษกรรมและการขจัดความขัดแย้ง
ได้ที่ www.enlightened-jurists.com/download/85 



+++

( ที่มา www.prachatai.com/journal/2013/01/44657 . . Mon, 2013-01-14 11:15 )

Ntirad : ร่าง รธน.ว่าด้วยนิรโทษกรรมฯ 
www.youtube.com/watch?v=4Lclu9MmQig 





.
Admin ไม่สามารถเข้าถึงบทความประจำที่นำเสนอมาร่วม 2ปีเสียแล้ว จึงจะไม่ได้เสนอครบถ้วนเหมือนเคย..ขออภัยผู้ติดตามทุกท่านด้วย