http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2556-01-02

LIFE OF PI “อัศจรรย์ของชีวิต” โดย นพมาส แววหงส์

.

LIFE OF PI “อัศจรรย์ของชีวิต”
โดย นพมาส แววหงส์  คอลัมน์ ภาพยนตร์
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 33 ฉบับที่ 1689 หน้า 87


กำกับการแสดง Ang Lee
นำแสดง Suraj Sharma 
Irrfan Khan 
Rafe Spall 
Gerard Depardieu



บราโว! กับเรื่องราวชีวิตของหนุ่มน้อยชาวอินเดียที่ชื่อว่า "ไพ" ที่ผู้กำกับมือทอง อังลี่ สร้างจากนวนิยายเรื่องเยี่ยมรางวัลบุคเคอร์สไพรซ์ ซึ่งใครๆ ล้วนคิดว่าเป็นเรื่องที่จะเอามาสร้างเป็นหนังได้ยังไงกัน 
แต่อังลี่ทำได้...และทำได้อย่างยอดเยี่ยมเหนือคาดเสียด้วย

อังลี่ใช้นักแสดงที่ยังไม่เป็นที่รู้จักหรือเป็นที่รู้จักน้อยแทบทั้งสิ้น โดยเฉพาะหนุ่มน้อยสุราช ชาร์มา ที่รับบทหนักแบบที่ต้องเคยอาศัยนักแสดงเจนสังเวียนอย่าง ทอม แฮงส์ ที่มาเล่นอยู่คนเดียวกว่าครึ่งค่อนเรื่องใน Castaway ณ ที่ซึ่งเขาไปติดเกาะอยู่คนเดียวกลางมหาสมุทรอันเวิ้งว้าง และต้องเรียนรู้ที่จะเอาตัวรอดอยู่เพียงลำพัง

สุราช ชาร์มา เป็นนักแสดงหน้าใหม่ ที่จับคนดูเอาไว้อยู่โดยตลอด ในการต่อสู้เอาชีวิตรอดอยู่ในเรือลำเล็ก ที่มีผู้ร่วมทางเป็นเสือลายพาดกลอนตั้งเบ้อเริ่มหลงติดมาด้วย

เรื่องของเรื่องคือ พ่อของไพเป็นเจ้าของสวนสัตว์ในเมืองปอนดิเชอรี ในอินเดีย เมื่อกิจการสวนสัตว์ไปได้ไม่ดี ครอบครัวเขาก็ตัดสินใจย้ายไปอยู่แคนาดา โดยลำเลียงสัตว์นานาชนิดลงเรือสินค้าสัญชาติญี่ปุ่น รอนแรมไปในมหาสมุทรแปซิฟิก 
เรือเดินสมุทรไปเจอเข้ากับพายุใหญ่จนอับปาง ไพถูกนำตัวลงเรือเล็ก และพบว่ามีแต่ตัวเขาอยู่ในเรือกับม้าลายกับลิงอุรังอุตังที่ตะเกียกตะกายโจนขึ้นเรือมาด้วย ไม่แต่เท่านั้นในเรือลำเล็กยังมีสัตว์ดุร้ายอีกสองตัว คือไฮยีนากับเสือโคร่งลายพาดกลอนตัวใหญ่หลบอยู่ในเรือด้วย

เรื่องราวทั้งหมดคือความน่าอัศจรรย์ของการมีชีวิต การดิ้นรนต่อสู้และศรัทธา


หนังเล่าเรื่องโดยชายเชื้อชาติอินเดีย ที่มีชื่อว่า ไพ พาเทล โดยเริ่มตั้งแต่ชีวิตในวัยเด็กของเขาที่โตขึ้นในสวนสัตว์ โดยมีเกร็ดขำๆ เกี่ยวกับที่มาของชื่อที่เป็นค่าทางคณิตศาสตร์นี้ ลุงเขาตั้งชื่อเขาตามชื่อสระว่ายน้ำในภาษาฝรั่งเศส ว่า พิสซีน (Piscine) ซึ่งออกเสียงคล้ายคำในภาษาอังกฤษว่า pissing ที่แปลว่าฉี่ เขาทนเพื่อนล้อเลียนเป็นเวลานาน จนอดรนทนไม่ไหว เลยสร้างชื่อเรียกตัวเองขึ้นใหม่ให้เป็นภาษาคณิตศาสตร์ไปเสียเลย

ไพเป็นเด็กที่ช่างคิดช่างสงสัยเกินวัย เขานับถือศาสนาฮินดูที่มีเทพเจ้าหลายองค์ตามประเพณีของชาวฮินดู แต่ก็ทดลองหันเหศรัทธามาสู่คริสต์ศาสนานิกายคาทอลิกซึ่งพระเจ้าส่งพระบุตรมาไถ่บาปแทนมวลมนุษย์ และแบ่งศรัทธาไปสู่ศาสนาอิสลามด้วย 
พ่อผู้เฉลียวฉลาดของเขาวิจารณ์ว่าความเชื่อในทุกสิ่งอย่างที่ไพทำอยู่ก็คือความไม่เชื่อในอะไรสักอย่างเลยนั่นเอง หมายความว่าเขาไม่ได้ถูกครอบงำโดยระบบความคิดใด แต่มีศรัทธากว้างใหญ่ไพศาลและเปิดกว้าง

ดังนั้น หนังจึงแฝงความหมายเชิงอภิปรัชญาและจิตวิญญาณในการเล่าเรื่องการต่อสู้อย่างโดดเดี่ยวกลางมหาสมุทรของไพท่ามกลางภยันตรายจากธรรมชาติ ตามทฤษฎีการดิ้นรนเอาชีวิตรอดตามแบบของ ชาร์ลส์ ดาร์วิน ที่ว่า Survival for the fittest 
มนุษย์กับสัตว์ป่าจะ "ลงเรือลำเดียวกัน" ไปได้ตลอดรอดฝั่งหรือไม่อย่างไร ในสัญชาตญาณสัตว์ป่าที่มีชีวิตอยู่ตามวังวนของห่วงโซ่อาหารตามธรรมชาติ 

ไพซึ่งได้รับบทเรียนเรื่องการไม่ไว้ใจสัตว์ป่าหน้าขนอย่างเช่น เจ้าเสือเบงกอลตัวใหญ่ที่มีชื่อเก๋ไก๋ว่า ริชาร์ด พาร์กเกอร์ ตัวนี้ ได้ข้อสรุปแก่ตัวเองในที่สุดว่า เขาอาจไม่สามารถปราบให้สัตว์หน้าขนตัวนี้เชื่องได้ แต่ทั้งสองต่างก็ต้องเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกันในเรือลำน้อย ซึ่งเป็นอุปมาถึงโลกอันกว้างใหญ่นี้ได้ 
ที่สำคัญ ข้อสรุปที่ไพได้กระจ่างแจ้งแก่ใจตัวเองคือ ถ้าไม่มีเจ้า ริชาร์ด พาร์กเกอร์ ตัวนี้ลงเรือมาด้วย เขาก็คงหมดกะจิตกะใจจะต่อสู้และมีชีวิตรอดไปนานแล้ว ไม่สามารถดิ้นรนกระเสือกกระสนมาถึงสองร้อยกว่าวัน ในเรือลำเล็กที่ลอยเท้งเต้งอยู่กลางทะเลกว้างใหญ่ไพศาล

สรุปง่ายๆ คือ ชีวิตคนเรานั้นถ้าไม่มีอุปสรรคขวากหนามเสียแล้ว คนเราก็จะไม่มีเรี่ยวแรงหรือกำลังใจให้ฮึดสู้และเดินหน้าต่อไป



ไพได้เรียนรู้อีกอย่างจากการศึกษาศาสนาทั้งฮินดู คริสต์ อิสลาม และพุทธ ว่าที่สุดของที่สุดแล้วคือการปล่อยวาง และเดินหน้าต่อไป

ฉากที่ทำให้หัวใจสลายที่สุด-แม้ว่าหนังจะไม่ได้ทำอะไรที่บีบคั้นอารมณ์ หรือเล่นอารมณ์จนเกินเลย-คือการลาจากของเพื่อนร่วมชะตากรรมกลางมหาสมุทรหนึ่งคนกับหนึ่งตัวนี้ ไพรู้ว่าจะต้องปล่อยวาง แต่เขาก็ยังอดหวังแบบมนุษย์ไม่ได้ว่า ขอให้มีการอำลาที่จะปิดฉากความสัมพันธ์อย่างบริบูรณ์ 
เมื่อเสือเดินกลับเข้าป่า เขาหวังว่ามันจะเหลียวกลับมามองเพื่อนร่วมทางที่ฝ่าฟันต่อสู้ด้วยกันมาถึงแปดเก้าเดือนสักครั้ง แต่สัญชาตญาณสัตว์ป่ากับมนุษย์นั้นไม่เหมือนกันเลย


เรื่องราวของไพเหลือเชื่อน่าอัศจรรย์ใจสำหรับคนบางคน จนเขาต้องเปลี่ยนไปเล่าอีกเวอร์ชั่นหนึ่ง ภายใต้เค้าโครงเดียวกันนั่นแหละ
ใครจะเลือกเชื่ออย่างไรก็สุดแท้แต่วิสัย



นี่เป็นหนังยอดเยี่ยมที่สุดเรื่องหนึ่งของปีนี้แน่นอน และจะต้องเข้าชิงภาพยนตร์ยอดเยี่ยมแน่นอน ที่แน่ที่สุดคือฝีมือการกำกับของอังลี่ จะต้องได้รับการยอมรับอย่างไม่มีข้อสงสัย 
และยังสร้างดาวรุ่งดวงใหม่ให้แก่วงการภาพยนตร์อย่างไม่มีข้อสงสัย


ปกติผู้เขียนออกจะไม่ชอบดูหนังสามมิติ ดูหนังสองมิติแบบดั้งเดิมก็เต็มอิ่มจากเนื้อหาและการสร้างสรรค์ภาพอันชวนตื่นตาพออยู่แล้ว

แต่ต้องบอกว่าหนังเรื่องนี้คุ้มค่าจะดูในระบบสามมิติ ด้วยมุมมองใหม่ๆ ที่ทำให้เรามองโลกแตกต่างไปจากเดิม



.