http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2556-01-18

จริตตอแหลกับโครงการรถยนต์คันแรก โดย พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์

.

พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์: จริตตอแหลกับโครงการรถยนต์คันแรก
ใน www.prachatai.com/journal/2013/01/44741 . . Thu, 2013-01-17 23:10


รศ.ดร.พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์
( ตีพิมพ์ครั้งแรกใน “โลกวันนี้วันสุข” ฉบับวันศุกร์ที่ 18 มกราคม 2556 )



ในที่สุด โครงการรถยนต์คันแรกก็สิ้นสุดไปเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2555 มีผู้มาใช้สิทธิ์ 1.25 ล้านราย เป็นผลให้กรมสรรพสามิตต้องทะยอยคืนเงินภาษีให้กับผู้ใช้สิทธิเป็นจำนวน 9.1 หมื่นล้านบาท
ผู้ที่ใช้สิทธิ์มีสองประเภท กลุ่มแรกเป็นคนชั้นกลางซึ่งต้องการซื้อรถใหม่อยู่แล้ว จึงใช้โอกาสนี้ซื้อรถใหม่ในราคาต่ำลง รวมทั้งซื้อให้ลูกหลานนักศึกษาหรือบัณฑิตจบใหม่ กลุ่มที่สองเป็นคนชั้นกลางระดับล่างไปจนถึงคนมีรายได้น้อย ซึ่งไม่อยู่ในฐานะที่จะหาเงินมาผ่อนซื้อรถยนต์ในราคาปกติได้

นี่เป็นอีกหนึ่งนโยบายหาเสียงของพรรคเพื่อไทยที่ถูกด่าทอมากที่สุดไม่น้อยไปกว่าโครงการรับจำนำข้าวและค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทต่อวันทั่วประเทศ และก็เหมือนปฏิกิริยาต่อโครงการเหล่านี้คือ เสียงวิพากษ์วิจารณ์มีทั้งอ้างเหตุผลทางวิชาการต่าง ๆ ไปจนถึงการด่าทอแบบปัญญาอ่อน เช่น “โครงการรถยนต์คันแรกทำให้จราจรติดขัดมากขึ้น” รับและส่งต่อกันเป็นทอดๆ ในโซเชียลเน็ตเวิร์ก ไปจนถึงพวกสื่อมวลชนกระแสหลักที่เลือกข้างเผด็จการ
คนพวกนี้อ้างซ้ำๆ กันว่า จำนวนรถยนต์คันแรกในโครงการสามารถนำมาเรียงต่อกันได้ยาวถึง 4,000 กิโลเมตร คือยาวมากจากประเทศไทยไปถึงประเทศญี่ปุ่น จินตนาการว่า จำนวนรถอีก 1.25 ล้านคันนี้จะท่วมท้นล้นทะลักถนนในกรุงเทพฯ จนกลายเป็นภาพหลอนที่สร้างความหวาดกลัวสุดขีดให้กับคนชั้นกลางและคนรวยในกรุงเทพฯที่ต้องเผชิญกับปัญหาจราจรติดขัดอย่างสาหัสอยู่แล้วทุกวัน


จากสถิติกรมการขนส่งแสดงว่า ปัจจุบันมียานพาหนะในกรุงเทพฯประมาณ 6.8 ล้านคัน เป็นรถยนต์ประมาณ 4 ล้านคัน ที่เหลือเป็นรถจักรยานยนต์ ยิ่งกว่านั้น ในแต่ละปี จะมีรถยนต์จดทะเบียนใหม่ในกรุงเทพฯประมาณ 4 แสนคัน หมายความว่า ถึงแม้จะไม่มีโครงการรถยนต์คันแรกของพรรคเพื่อไทยเลย ปี 2556 นี้ก็จะมีรถยนต์ใหม่เพิ่มขึ้นอยู่แล้วตามปกติประมาณ 4 แสนคัน

ส่วนจำนวนรถยนต์ในโครงการรถยนต์คันแรกนั้น เป็นรถยนต์ที่จดทะเบียนในกรุงเทพฯเพียงร้อยละ 30 เท่านั้น คือประมาณเกือบ 4 แสนคัน ส่วนอีกร้อยละ 70 เป็นรถยนต์ที่จดทะเบียนในต่างจังหวัด นอกจากนั้น ในแต่ละปี ก็จะมีรถยนต์เก่าปลดระวางเป็นจำนวนมาก และเนื่องจากอุปสงค์ต่อรถยนต์ใหม่ได้ถูกดูดซับไปส่วนหนึ่งแล้วจากโครงการรถยนต์คันแรก ผลก็คือ การเพิ่มขึ้นของรถยนต์ใหม่ที่ไม่ได้อยู่ในโครงการรถยนต์คันแรกในปี 2556 ก็จะไม่สูงมากเท่าปีก่อน ๆ ดังนั้น จำนวนรถยนต์ใหม่ที่จะเพิ่มขึ้นบนท้องถนนกรุงเทพในปี 2556 หักด้วยรถยนต์ปลดระวางจึงน่าจะสูงกว่ากรณีไม่มีโครงการรถยนต์คันแรกไม่มากมายนัก

ภาพรวมในปี 2556 คือ จะมีรถยนต์ใหม่เพิ่มเติมบนถนนกรุงเทพฯ ทั้งจากโครงการรถยนต์คันแรกและจากรถยนต์ที่ไม่ได้อยู่ในโครงการ โดยอาจมีจำนวนพอ ๆ กัน คำถามคือ การจราจรที่ติดขัดเพิ่มขึ้นในกรุงเทพฯ ควรจะโทษส่วนไหน? โทษคนชั้นกลางล่างและคนจนที่ซื้อรถยนต์คันจิ๋วที่เป็นอีโคคาร์ในโครงการรถยนต์คันแรก หรือโทษคนชั้นกลางและคนรวยที่มีรถยนต์อยู่แล้วครอบครัวละหลายคันแล้วซื้อยังรถยนต์ใหม่เพิ่ม คันใหญ่ในราคาแพงกว่า หรูหรากว่า สิ้นเปลืองและทำลายสิ่งแวดล้อม มากกว่า?



พวกที่ด่าทอโครงการรถยนต์คันแรกจึงมีสองจำพวกคือ พวกคนชั้นกลางระดับบนและคนรวยในกรุงเทพฯ กับ “พวกแพ้เลือกตั้ง” ที่หาเรื่องโค่นล้มรัฐบาลทุกเม็ดทุกประเด็นโดยไม่เลือกหน้า 
พวกคนชั้นกลางระดับบนและคนรวยในกรุงเทพฯ จำนวนมากเป็นสิ่งมีชีวิตที่เห็นแก่ตัวและมีจริตตอแหลที่สุดชนิดหนึ่งในโลก คนพวกนี้คือต้นเหตุของการจราจรติดขัดและสภาพแวดล้อมอันเลวร้ายในกรุงเทพฯมาตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา แต่ไม่เคยสำนึก ไม่เคยยอมรับ เอาแต่โทษคนอื่น โทษรัฐบาล โทษนักการเมือง และที่สำคัญคือ โทษคนจนและคนต่างจังหวัดที่ละทิ้งบ้านเกิด เข้ามาทำงานรับใช้ให้ความสะดวกสบายกับพวกเขาในกรุงเทพฯนั่นเอง

คนพวกนี้มิใช่หรือที่มีรถยนต์ครอบครัวละหลาย ๆ คัน ล้วนแล้วแต่หรูหราราคาแพง ขนาดและกำลังเครื่องยนต์ใหญ่โตมโหฬาร? คนพวกนี้มิใช่หรือที่ไม่ยอมใช้บริการขนส่งมวลชน เอาแต่ความสะดวกสบายภายในรถยนต์ของตน? คนพวกนี้มิใช่หรือที่เช้าเย็นขับรถยนต์ไปรับส่งลูกหลานที่โรงเรียนใหญ่ชื่อดัง ค่าเล่าเรียนแพง ทำให้รถติดตั้งแต่หน้าโรงเรียนยาวไปหลายสิบกิโลเมตรทั่วทั้งกรุงเทพฯ สร้างความเดือดร้อนให้ผู้ใช้รถใช้ถนนคนอื่น ๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องทุกวัน? 
คนพวกนี้คือคนที่นั่งอยู่ในรถยนต์อันหรูหราคันโต แอร์เย็นฉ่ำ มองไปนอกรถ เห็นพ่อแม่และลูกเล็กอีกสองคนขี่ซ้อนกันบนรถจักรยานยนต์อันบอบบางอย่างเสี่ยงอันตรายเพราะรถยนต์คันเล็ก ๆ ตามปกติก็ยังราคาแพงเกินไป เห็นคนจนที่ไม่มีเงินพอที่จะซื้อรถยนต์ราคาแพง จำต้องขี่จักรยานยนต์ไปทำมาหากินอยู่ทุกวัน คนจนและเด็ก ๆ เหล่านี้ประสบอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์ครั้งแล้วครั้งเล่า ทั้งตายและบาดเจ็บ แต่คนพวกนี้มองดูอย่างไม่ยี่หระ หรือที่แย่ไปกว่านั้น ก็มองอย่างดูถูกเหยียดหยามว่า รถจักรยานยนต์ของคนจนช่างเป็นพาหนะที่น่ารำคาญ ทำให้การขับรถยนต์คันหรูของตนน่ารื่นรมย์น้อยลง และพอคนจนเหล่านี้ได้อานิสงส์จากโครงการรถยนต์คันแรก ยอมควักเงินที่หามายากยิ่ง ผ่อนรถยนต์อีโคคาร์ขนาดจิ๋วสักหนึ่งคันให้ชีวิตประจำวันสะดวกสบายและปลอดภัยขึ้นอีกเล็กน้อย ก็ถูกคนรวยพวกนี้ชี้หน้าด่าทอว่า “พวกมึงทำให้รถติดเพิ่มขึ้น กูขับรถมีความสุขน้อยลง!”

พวกที่ด่าทอโครงการรถยนต์คันแรกอีกกลุ่มหนึ่งก็คือ พวกแพ้เลือกตั้งแล้วหาช่องทางโค่นล้มรัฐบาลทุกเม็ด ตั้งแต่เสื้ออผ้าหน้าผมของนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีเมาไวน์ กุเรื่องโกหก “ฟอกเงินที่ฮ่องกง” ไปจนถึงเรื่องใหญ่ ๆ เช่น โครงการรับจำนำข้าว ค่าจ้างขั้นต่ำ 300 ต่อวัน ไปจนถึงข้อกล่าวหาว่า รัฐบาลปล่อยให้มีการละเมิดสถาบันพระมหากษัตริย์ กระทั่งล่าสุด ปั่นกระแสคลั่งชาติกรณีปราสาทพระวิหาร หวังลม ๆ แล้ง ๆ ว่า น่าจะมีสักเรื่องหรือหลายเรื่องรวมกันที่เปิดช่องให้องค์กรเผด็จการในรัฐธรรมนูญเข้ามายุบพรรค ยุบรัฐบาล ปลดนายกรัฐมนตรี หรือเป็นข้ออ้างให้ทหารออกมาทำรัฐประหาร ทั้งหมดนี้สะท้อนว่า พวกนิยมเผด็จการทาสจารีตนิยมพวกนี้มีอาการเข้าขั้นที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า desperate แปลได้หลายคำว่า อับจนหนทาง เข้าตาจน สิ้นคิด หาทางออกไม่เจอ


แน่นอนว่า โครงการรถยนต์คันแรกอาจมีข้อดีทางเศรษฐกิจ เช่น กระตุ้นอุตสาหกรรมรถยนต์ตั้งแต่ต้นน้ำไปถึงปลายน้ำ จากโรงงานประกอบชิ้นส่วน โรงงานประกอบรถยนต์ ตัวแทนจำหน่าย ศูนย์ซ่อมรถยนต์ ไปจนถึงร้านห้องแถวโกโรโกโสที่ซ่อมรถยนต์ ธุรกิจประกันภัย ร้านประดับยนต์ ธุรกิจล้างรถยนต์ มีผลต่อผู้ผลิตและคนงานหลายแสนคนทั่วประเทศ แต่การกระตุ้นการซื้อและใช้รถยนต์เพิ่มขึ้นก็มีต้นทุนทางสังคมสูงมากเช่นกัน ทั้งการใช้พลังงาน ผลต่อสิ่งแวดล้อม อุบัติเหตุและการสูญเสียบนถนนเพิ่มขึ้น ข้อวิจารณ์เหล่านี้ย่อมรับฟังได้

แต่จากความเป็นจริงที่โครงสร้างพื้นฐานของประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การขนส่งมวลชนในเมืองใหญ่ ยังอยู่ในสภาพด้อยพัฒนาเช่นนี้ การสัญจรด้วยรถยนต์ส่วนบุคคลเป็นสิ่งจำเป็นที่เลี่ยงได้ยากสำหรับคนเมือง เราไม่อาจโยนความผิดทั้งหมดไปที่คนที่ขับรถยนต์ในกรุงเทพฯ ทางออกคือ ต้องเร่งพัฒนาและขยายระบบขนส่งมวลชนในเมืองใหญ่ให้หลากหลายและทั่วถึงโดยเร็วที่สุด เป็นทางเลือกที่จูงใจและมีราคาถูก และเมื่อถึงตอนนั้น การใช้มาตรการจำกัดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคลให้น้อยลงจึงจะเป็นสิ่งที่ทำได้ มีความชอบธรรม และจะถูกต่อต้านน้อยลง



.
Admin ไม่สามารถเข้าถึงบทความประจำที่นำเสนอมาร่วม 2ปีเสียแล้ว จึงจะไม่ได้เสนอครบถ้วนเหมือนเคย ..ขออภัยผู้ติดตามทุกท่านด้วย