http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2556-01-12

สรกล: เสรีภาพบนศีรษะ

.
- การ์ตูนคิวคน “วันเด็กไทย น่าเศร้า แท้ๆ เพราะอะไรตามไปดู !” โดย อรุณ วัชระสวัสดิ์

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - 

เสรีภาพบนศีรษะ
โดย สรกล อดุลยานนท์  คอลัมน์สถานีคิดเลขที่ 12
ในมติชน ออนไลน์  วันเสาร์ที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2556 เวลา 13:50:18 น.
(ที่มา คอลัมน์สถานีคิดเลขที่ 12 นสพ.มติชนรายวัน ฉบับวันเสาร์ที่ 12 ม.ค. 2556 )


ถือเป็น "ของขวัญวันเด็ก" ที่เด็กรอมานานหลายสิบปี 
เมื่อ "พงษ์เทพ เทพกาญจนา" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ประกาศยกเลิกทรงผม "ไถเกรียน" ของนักเรียนชาย
ขยับ "เสรีภาพ" เพิ่มขึ้นเป็นระดับ "รองทรง" 
ส่วนนักเรียนหญิงให้ไว้ผมยาวได้ แต่ต้องรวบผมให้เรียบร้อย

แน่นอนว่าทุกครั้งของการเปลี่ยนแปลง ย่อมมีทั้งฝ่ายคัดค้านและสนับสนุน 
การเปลี่ยนกฎครั้งนี้ก็เช่นกัน 
เป็นการต่อสู้ทางความคิดระหว่างผู้เชื่อมั่นใน "กฎ" 
เห็นอะไรว่าไม่ควรทำก็ต้องห้ามไว้ก่อน


กับฝ่ายที่เชื่อมั่นใน "เสรีภาพ"
เปิดโอกาสให้มนุษย์ตัดสินใจใช้ดุลพินิจของตัวเอง



ในบางเรื่องเราจำเป็นต้องมี "กฎ" เพื่อการอยู่ร่วมในสังคม 
แต่บางเรื่องเราจำเป็นต้องปล่อยให้คนตัดสินใจเอง 

คำถามก็คือว่า เรื่องความยาวของเส้นผมบนศีรษะของเด็กนักเรียน 
เราควรจะใช้ "กฎ" ข้อห้าม 
หรือจะมอบ "เสรีภาพ" ให้เด็กตัดสินใจเองว่าจะทำอย่างไรกับหัวของเขา


วิธีคิดในเรื่องนี้สำคัญนะครับ 
คำตอบในใจของแต่ละคนจะบอกว่า เราเชื่อมั่นในตัวเด็กมากแค่ไหน 
และอยากเห็นพัฒนาการในเรื่อง "ความรับผิดชอบ" ของเด็กเป็นอย่างไร 
เพราะ "เสรีภาพ" นั้นมาพร้อมกับ "ความรับผิดชอบ"

ถ้าเราไม่ปล่อยให้เด็กใช้ดุลพินิจในการตัดสินใจเลย
ก็เหมือนกับระบบการเรียนในอดีตของไทยที่เน้น "การท่องจำ"
มากกว่า "ความเข้าใจ"

"กฎ" ก็เหมือนกับ "การท่องจำ" 
ห้ามทำอย่างนั้น ห้ามทำอย่างนี้

"เสรีภาพ" เหมือน "ความเข้าใจ" 
เปิดให้คิดและตัดสินใจเอง

การอยู่ในกฎนั้นเป็นเรื่องง่าย 
เขาห้ามอย่างไร ก็ทำตามนั้น 
แต่การให้เสรีภาพคือการเปิดกว้างให้เด็กรู้จักตั้งคำถามและหาคำตอบ 
ต้องรับผิดชอบต่อการตัดสินใจของตัวเอง


ครับ แค่เรื่องเล็กๆ บนศีรษะของเด็ก ให้เขาได้ตัดสินใจเองเถอะครับ 
อย่าลืมว่า "เสรีภาพ" ที่เปิดกว้างจะทำให้เด็กได้เรียนรู้การใช้ "ดุลพินิจ" ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในการใช้ชีวิต 
การตัดสินใจบ่อยๆ จะทำให้เขากล้าตัดสินใจ 
เสียงปรบมือ หรือรอยแผลในชีวิตจะทำให้ "ดุลพินิจ" ของเขาเฉียบคมขึ้นเรื่อยๆ

จากการตัดสินใจในเรื่องเล็กๆ แค่ความยาวของเส้นผมจะนำไปสู่การตัดสินใจเรื่องใหญ่ในอนาคต 

มีคนเคยบอกว่า "กุญแจ" ชีวิตที่ใช้เปิดประตู "นรก" เป็นกุญแจดอกเดียวที่เปิดประตู "สวรรค์" 
กุญแจนั้นชื่อว่า "ดุลพินิจ" 


จะใช้ได้ถูกต้องหรือผิดพลาด
ต้องฝึกฝนตั้งแต่เด็ก





+++

วันเด็กไทย น่าเศร้า แท้ๆ เพราะอะไรตามไปดู !
การ์ตูนคิวคน โดย อรุณ วัชระสวัสดิ์
ในมติชน ออนไลน์ วันเสาร์ที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2556 เวลา 10:30:15 น.

ปิดหู ปิดตา ปิดปาก ดีกว่า !!!



.
Admin ไม่สามารถเข้าถึงบทความประจำที่นำเสนอมาร่วม 2ปีเสียแล้ว จึงจะไม่ได้เสนอครบถ้วนเหมือนเคย . .ขออภัยผู้ติดตามทุกท่านด้วย