http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2556-01-07

นิธิ เอียวศรีวงศ์: รถคันแรก

.

นิธิ เอียวศรีวงศ์ : รถคันแรก
ในมติชน ออนไลน์ วันจันทร์ที่ 07 มกราคม พ.ศ. 2556 เวลา 11:05:10 น.
( ที่มา  บทความกระแสทรรศน์  นสพ.มติชน รายวัน 7 มกราคม 2556 )


ไหนๆ ก็ไหนๆ แล้ว ผมไม่คิดว่านโยบายรถคันแรกของรัฐบาลเลวร้ายอย่างที่ทีวีสาธารณะพยายามหยิบประเด็นขึ้นมาบ่อนทำลาย ไม่ได้ถูกต้องนักหรอก แต่ก็ไม่ผิดจนรับไม่ได้ มันก็เหมือนนโยบายของทักษิณโดยทั่วไป คือขาดความชัดเจนในเป้าหมาย และด้วยเหตุดังนั้นจึงขาดมาตรการหลายอย่างที่จะช่วยให้โครงการได้ผลในหลายๆ ด้าน ก่อให้เกิดผลกระทบที่ไม่พึงปรารถนา เพราะไม่เตรียมการรองรับไว้ก่อน
ระหว่างการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการกู้เงินมาแจกกันคนละ 2,000 บาท กับการลดภาษีให้แก่รถคันแรก อย่างไหนถึงจะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการบริโภคภายในที่ได้ผลกว่ากัน เมื่อสิบปีที่แล้ว รัฐบาลญี่ปุ่นเคยใช้นโยบายแจกเงินเพื่อให้เกิดการใช้จ่ายภายในมาแล้ว จนบัดนี้ญี่ปุ่นยังโงหัวไม่ขึ้นเลย

ทำไมถึงต้องเป็นรถยนต์ ก็เพราะอุตสาหกรรมรถยนต์จ้างงานโดยอ้อมสูงมาก ในการผลิตก็จ้างงานในโรงงานยาง, แบตเตอรี่ และชิ้นส่วนอีกนานาชนิด ไปจนถึงน้ำมันประเภทต่างๆ ที่ใช้ในการประกอบรถยนต์ พอเอามาใช้ก็ต้องใช้แรงงานอีกมากนับตั้งแต่ช่างซ่อมบำรุงไปจนถึงแรงงานล้างรถ ทีวีสาธารณะพยายามหานักวิชาการซึ่งขับรถมาเตือนว่า มีรถยนต์ก็ทำให้ต้องเสียเงินอีกมาก แต่นั่นก็ตรงกับนโยบายไงครับ คือเร่งการบริโภคภายใน โดยไม่แจกเงินเฉยๆ แต่กระตุ้นการผลิตภายในไปพร้อมกัน
แม้กระนั้น นโยบายนี้ก็หยาบเกินไป เพราะนอกจากกระตุ้นการบริโภคภายในได้แล้ว รัฐบาลยังผูกนโยบายนี้ไว้กับอีโคคาร์ด้วย โดยกำหนดว่ารถคันแรกต้องประหยัดน้ำมันด้วย (มีอัตราใช้น้ำมันหนึ่งลิตรต่อกี่กิโลเมตร... ซึ่งผมจำไม่ได้) แต่ก็เป็นอัตราที่ใจดีเกินไป

รัฐบาลไทยหลายชุดมาแล้วตั้งเป้าว่า ไทยจะเป็นศูนย์กลางการผลิตรถอีโคคาร์ แต่บริษัทรถยนต์ในประเทศไทยไม่สู้จะตอบสนองต่อนโยบายนี้เท่าไรนัก เพราะไม่มีตลาดภายในรองรับ จนกระทั่งมาถึงนโยบายรถคันแรก จึงเริ่มขยับตัวเข้ามาหากำไรในตลาดใหม่ที่รัฐบาลสร้างขึ้น แม้แต่รถเครื่อง 1500 ซีซี ยังเปลี่ยนมาผลิตใหม่ด้วยตัวถังเดิมให้เป็น 1200 ซีซี แต่ปัญหาอยู่ที่ว่าหลังจากที่ตลาดรถคันแรกไม่ได้สิทธิลดภาษีแล้ว คือเมื่อไม่มีตลาดภายในรองรับบริษัทรถยนต์ยังจะผลิตรถยนต์นั่งเครื่องขนาดเล็กต่อไปหรือไม่ 
จะผลิตต่อไปหรือไม่ขึ้นอยู่กับตลาดภายนอกจะเข้ามาช่วยเสริมมากน้อยเพียงไร ในช่วงที่ตลาดภายในแข็งแกร่งขึ้นนี้ รัฐบาลไม่ได้ทำอะไรที่จะสร้างเงื่อนไขจูงใจให้บริษัทรถยนต์พยายามบุกตลาดอีโคคาร์ในต่างประเทศ นับตั้งแต่สร้างการรับรองมาตรฐานซึ่งเป็นที่น่าเชื่อถือ ไปจนถึงช่วยลดต้นทุนด้านการตลาดและอื่นๆ ฉะนั้นการเอานโยบายรถคันแรกไปผูกกับอีโคคาร์ จึงดูจะเป็นการผูกไปโดยไม่มีเป้าหมายที่ชัดเจนอะไรเกี่ยวกับการเป็นศูนย์กลางของการผลิตอีโคคาร์


จะเอานโยบายรถคันแรกไปผูกกับอะไรนั้น ถ้าไม่ประสงค์เพียงแค่หาเสียง มีเรื่องให้คิดและถกเถียงกันมากพอสมควร เช่น หากจะผูกกับการกระตุ้นเศรษฐกิจ รถคันแรกน่าจะเป็นปิกอัพ ที่ห้ามต่อเติมในระยะเวลา 5 ปี มิฉะนั้นก็จะเรียกเงิน 1 แสนบาทคืนเข้าคลัง เพราะปิกอัพสร้างโอกาสของงานและงานจ้างมากกว่า จริงอยู่มันอาจจะอุ้ยอ้ายเกะกะท้องถนน แต่เราก็จะได้ภาษี (ทั้งทางตรงและทางอ้อม) เพิ่มจากงานที่ปิกอัพสร้างขึ้น จำเป็นต้องขยายถนนส่วนที่ควรขยาย ก็ทำเลย 
ผมได้ยินคนขับแท็กซี่ในกรุงเทพฯบ่นมานานแล้วว่า นโยบายรถคันแรกทำให้รถติดหนึบ ผมเห็นใจเสียงบ่นของเขา เพราะเขาไม่มีทางเลือกอื่น ก็มีอาชีพขับแท็กซี่ รถติดมากนักจะขนแท็กซี่ขึ้นขนส่งสาธารณะไม่ได้นี่ครับ กระทบต่อทางทำมาหากินโดยตรงเช่นนี้ก็สมควรบ่นอยู่หรอก

แต่เมื่อได้ยินนักวิชาการและคนทำงานทีวีสาธารณะพยายามบ่นนำทางทีวี ก็ให้รู้สึกคันปากอยากถามว่า คุณมีปัญญาจะเลื่อยขารัฐบาลยิ่งลักษณ์อยู่แค่นี้เท่านั้นหรือ



เมื่อมีรถในถนนมากขึ้น ก็ย่อมทำให้รถติดมากขึ้นตามไปด้วยเป็นธรรมดา แต่สาเหตุที่ทำให้รถติดนั้น จะชี้ที่คันนั้นคันนี้ไม่ได้ รถคันแรกของคนจน ก็เป็นเหตุให้รถติดเท่ากับรถคันที่ห้าสิบของคนรวย หากคิดจะเอารถออกจากถนน ไม่ควรเจาะจงเอาแต่รถของคนจนออกไป เพื่อให้คนรวยได้ใช้รถคันที่ห้าสิบได้สะดวกขึ้น ขอประทานโทษ มึงเป็นเจ้าของรถ ไม่ใช่เจ้าของถนน

ปัญหารถติดในกรุงเทพฯและเมืองใหญ่ทั่วประเทศไทยนั้น มีสาเหตุมาจากวิธีคิดอย่างนี้แหละครับ - คนอื่นคือนรก รถยนต์ทั้งถนนทำให้รถติด ยกเว้นรถกูคันเดียว ฉะนั้น อ้ายเบื๊อกที่ไม่ควรขี่รถยนต์ แต่ขี่ได้เพราะนโยบายรถคันแรก จึงต้องรับผิดชอบมากที่สุด อย่างน้อยก็เพราะมันเป็นอ้ายเบื๊อก 
ในฐานะประเทศที่ถูกประเมินว่า เป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลางระดับบน การที่คนอีกมากควรมีรถยนต์ส่วนตัวไว้ใช้ ก็ไม่ใช่ความฟุ้งเฟ้อทะเยอทะยานเกินไป ผมไม่ปฏิเสธนะครับว่า ไม่มีได้ก็ดี แต่ไม่ใช่เฉพาะคนที่เพิ่งเงยหน้าอ้าปาก ใครๆ ที่สามารถมีชีวิตที่เป็นสุขได้โดยไม่มีรถยนต์ส่วนตัว ก็ไม่ควรมีทั้งนั้นแหละครับ แม้ว่าจะเป็นเศรษฐี, นักวิชาการ หรือทำงานทีวีสาธารณะ โดยเฉพาะคนที่อยู่ในกรุงเทพฯ เมืองที่มีระบบขนส่งมวลชนดีที่สุดในประเทศ และทำท่าจะดีขึ้นไปกว่านี้อีกมากด้วย

ถ้าไม่คิดเพียงแค่หาเสียง รัฐบาลก็น่าจะรู้อยู่แล้วว่า นโยบายรถคันแรกจะทำให้รถติดมากขึ้น แต่ไม่ควรยกเลิกนโยบายนี้เสียเพราะกลัวรถติด ตรงกันข้าม ควรใช้โอกาสใหม่ที่เกิดขึ้นจากนโยบายนี้ ในการจัดการกับรถติดในกรุงเทพฯอย่างเด็ดขาด 
สิ่งแรกที่ต้องทำก็คือ สำเหนียกถึงข้อจำกัดของเทคโนโลยีไว้ให้ดี รถติดในกรุงเทพฯ และเมืองใหญ่ต่างๆ นั้น เกิดจากปัญหาเชิงโครงสร้าง (ทั้งทางเศรษฐกิจ, การเมือง, สังคม และวัฒนธรรม) ซึ่งไม่มีเทคโนโลยีอะไรในโลกนี้จะช่วยได้ คนชั้นกลางไทยเชื่อเทคโนโลยีเหมือนเชื่อพระอินทร์ เพราะการแก้ปัญหาด้วยเทคโนโลยีทำให้ไม่ต้องไปรื้อโครงสร้างอำนาจไงครับ เช่น ความเหลื่อมล้ำจะมีมากสักแค่ไหน และจะเพิ่มขึ้นอีกมากแค่ไหน ก็ไม่ต้องไปแตะมัน ขอแต่ให้มีเทคโนโลยีมาแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเท่านั้นเป็นพอ สังเกตให้ดีเถิดครับ ยิ่งมีอำนาจมากก็ยิ่งเชื่อเทคโนโลยีมาก เพราะเทคโนโลยีไม่กระทบต่ออำนาจของเขา 
ฉะนั้นเลิกพึ่งเทคโนโลยีอย่างมืดบอดเสียที แต่กล้าทำอะไรที่กระทบต่อคนมีอำนาจบ้าง เพราะการแก้ปัญหารถติดที่ได้ผลที่สุดก็คือ เอารถออกไปจากถนนเสียบ้าง ไม่ว่าจะเป็นรถคันแรกหรือคันที่ห้าสิบ

จะเอารถยนต์ออกจากถนนได้ ก็ต้องพุ่งเป้าไปที่รถส่วนตัว วิธีการคือทำให้การใช้รถส่วนตัวไม่อำนวยความสะดวกเท่ากับการใช้รถสาธารณะ พูดอีกอย่างหนึ่งคือรังแกรถส่วนตัว โดยเพิ่มมาตรการรังแกไปทีละขั้นๆ ตามการพัฒนาของระบบขนส่งมวลชน


มาตรการแรกที่น่าจะทำได้คือ ห้ามจอดในถนนสายหลักและเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ จนเกือบทั่วเมือง รถยนต์ส่วนตัวแทบหาที่จอดไม่ได้เลยระหว่าง 6 โมงเช้า ถึง 6 โมงเย็นของวันทำการทุกวัน 
แล้วจะมีรถคันแรกหรือคันที่ห้าสิบไปทำไม มีไว้ใช้สิครับ ไปช็อปปิ้งหรือไปเที่ยวต่างจังหวัดวันหยุด เมียเจ็บท้องก็สามารถส่งโรงพยาบาลได้เอง (อย่างน้อยในโรงพยาบาลก็น่าจะมีที่จอด) ไปรับพ่อแก่แม่แก่ที่สนามบินหรือสถานีขนส่ง ฯลฯ แต่รถยนต์ไม่ได้มีไว้ทำร้ายกันและกันหรือทำร้ายส่วนรวม

การใช้รถส่วนตัวจะมีโสหุ้ยสูงขึ้น เพราะต้องไปเช่าที่จอดของเอกชนซึ่งคงคิดแพงพอสมควร เนื่องจากยังมีอยู่น้อย ซ้ำต้องวนกันหลายรอบกว่าจะหาที่จอดได้ เพียงแค่นี้คนจำนวนมากก็ยินดีทิ้งรถไว้ที่บ้าน แล้วขึ้นรถสาธารณะไปทำงาน เมื่อมีรถในถนนน้อยลง รถสาธารณะ ไม่ว่าจะเป็นรถเมล์หรือแท็กซี่ก็จะวิ่งได้คล่องขึ้น ความอึดอัดในรถเมล์ก็หายไป เพราะรถวิ่งได้คล่อง ระบายผู้โดยสารได้เร็ว รถก็น่าจะแน่นน้อยลง แต่ละป้ายไม่ต้องรอนาน ซ้ำถึงปลายทางในเวลาที่รวดเร็วเสียอีก

ปัญหาที่ตามมาก็คือ การสร้างตึกจอดรถ (parking structure) จะได้กำไรทางธุรกิจ ตึกจอดรถเป็นอสุรกายที่น่าเกลียดในทุกเมืองใหญ่ ต้องเคร่งครัดกับรูปแบบให้มากขึ้น ลดความอุจาดให้เหลือน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ แต่ในอนาคตธุรกิจรับจอดรถก็จะไม่ค่อยได้ผลตอบแทนคุ้ม เมื่อผู้คนพากันทิ้งรถไว้ที่บ้านเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากระบบขนส่งมวลชนดีขึ้นไปกว่านี้ 
เมื่อรถบนถนนน้อยลง ก็ขยายทางเท้า การสัญจรขั้นพื้นฐานในเมืองที่ไหนก็ตามทั่วโลก คือการเดินครับ ทำทางเท้าให้เดินได้สะดวก แม้แต่แก่คนตาบอดและพิการ เอาตำรวจที่คอยโบกรถยนต์มาอำนวยความปลอดภัยบนทางเท้า บางคนบอกว่าเมืองไทยแดดร้อน เดินไม่ได้ ในลอนดอน ฝนตกชั่วนาตาปี เราเรียกคนหนีบร่มในลอนดอนว่า ?ผู้ดี? ถ้าคนไทยในเมืองใหญ่จะหนีบร่มกันแดดบ้าง ทำไมจึงกลายเป็น ?ไพร่? ไปได้ล่ะครับ

นอกจากทางเท้าแล้ว สร้างเส้นทางจักรยานที่ปลอดภัยให้ทั่วเมือง ไม่มีพาหนะอันตรายทั้งหลาย นับตั้งแต่แมงกะไซค์ขึ้นไป เข้ามารบกวนในเส้นทางจักรยานได้เลย ถ้าคนไทยในเมืองใหญ่ใช้จักรยานเป็นพาหนะให้มากขึ้น เมืองใหญ่ของไทยจะเป็นเมืองน่าอยู่ติดอันดับโลกแน่นอน... ทุกเมืองด้วย 
มลภาวะทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นทางอากาศ, ทางเสียง, ทางน้ำ ในเมืองใหญ่ทั้งหลายจะลดไปมาก ผมจะไม่พูดถึงล่ะครับ เพราะพูดกันมามากแล้ว แต่ยังมีมลภาวะอีกอย่างหนึ่งซึ่งผมอยากพูดถึง นั่นคือมลภาวะทางสังคม



รถยนต์ทำให้สังคมหายไป ไม่ใช่เพียงแค่เราติดแอร์ปิดกระจกและสร้างโลกส่วนตัวขึ้นในรถของเราเท่านั้น แต่การจราจรที่ติดขัดทำให้เราหดตัวเราเองลงมาเหลือแต่ครอบครัว แม้แต่เพื่อนที่รักกันมากก็ได้พบกันแค่สองหน คือในงานแต่งงานและในงานศพของมันเท่านั้น สังคมมีราคาสูงเกินกว่าใครอยากจะรักษาไว้ 
อย่าลืมนะครับว่า ในชีวิตของผู้คนในเมืองใหญ่ของโลกปัจจุบัน ทางเท้าและถนนคือพื้นที่สาธารณะที่ใหญ่ที่สุด และครอบงำชีวิตคนมากที่สุด เราสำนึกถึงคนอื่นที่อยู่ร่วมสังคมกับเรา ก็บนทางเท้าและท้องถนนนี่แหละครับ 


ท่ามกลางทัศนคติ นรกคือคนอื่นของเจ้าของรถยนต์ในเมืองใหญ่ ที่ผมกล่าวมาทั้งหมดนี้ทำได้ในทางการเมืองหรือไม่?
ยากครับ แต่ทำได้ และทำได้ง่ายขึ้นในสมัยคุณยิ่งลักษณ์นี่แหละ เพราะคะแนนเสียงท่วมท้นที่พรรคเพื่อไทยได้มานั้น ไม่ใช่เพราะเขาเชียร์พรรคนี้สุดลิ่มทิ่มประตู จำนวนมากหรืออาจถึงส่วนใหญ่เลือกคุณยิ่งลักษณ์ เพราะกลืนคุณอภิสิทธิ์และคุณเนวินไม่ลงต่างหาก พรรคเพื่อไทยไม่เคยมีสัญญาอะไรกับเรื่องขจัดรถส่วนตัวออกจากถนน ฉะนั้นไม่ทำอะไรเลยก็ได้ แต่ที่สำคัญกว่าคือทำก็ได้

โดยเฉพาะแลกกับการสนับสนุนให้คนไทยเป็นเจ้าของรถยนต์ด้วยนโยบายรถคันแรก การมีรถยนต์เป็นของตนเองนั้นไม่ใช่ความชั่วร้าย แต่จะเอารถยนต์ไปทำร้ายส่วนรวม และทำร้ายกันและกันนั้นเป็นความชั่วร้ายแน่
ดังนั้น พร้อมกับนโยบายรถคันแรก ก็ประกาศเลยว่า รัฐบาลมีนโยบายขจัดรถส่วนบุคคลออกจากถนน เป้าหมายคือปลดปล่อยถนนคืนแก่ประชาชน ทั้งที่มีรถยนต์และไม่มีรถยนต์ แต่วิธีที่จะค่อยๆ ขจัดออกไปนี้ควรทำอย่างไร รัฐบาลจะใช้กระบวนการปรึกษาหารือ เปิดเวทีสำหรับการโต้เถียงขัดแย้ง และเสนอแนะจากคนทุกฝ่าย แต่ในที่สุด รัฐบาลต้องตัดสินใจ และต้องรับผิดชอบทางการเมืองต่อการตัดสินใจนั้น
นโยบายรถคันแรกก็จะเป็นจุดเริ่มต้นแก่ยุคใหม่ของสังคมเมืองที่สงบสุขในประเทศไทย

นโยบายหลายแหล่ของรัฐบาลยิ่งลักษณ์นั้น มีข้อที่ควรตำหนิติติงทั้งนั้น แต่ติเพื่อจะหาทางเลือกที่สร้างสรรค์ หรือติเพื่อจองล้างจองผลาญด้วยจุดประสงค์จะล้มรัฐบาลนี้ให้ได้
ทีวีสาธารณะควรทำหน้าที่อย่างไหนกันแน่

หรือต้องการเป็นแค่บลูสกายสองเท่านั้น



.