http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2556-01-20

การเมืองไทย2556 เมื่ออังคารอ่อนแรง! โดย สุรชาติ บำรุงสุข

.

การเมืองไทย 2556 เมื่ออังคารอ่อนแรง!
โดย สุรชาติ บำรุงสุข  คอลัมน์ ยุทธบทความ
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 18 มกราคม 2556 ปีที่ 33 ฉบับที่ 1692 หน้า 36-37
(ที่มา www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid
=1358670847 . . อาทิตย์ 20 ม.ค. 2556 เวลา 19:19:19 น.)



"วันที่ 23 เมษายน 2556 ดาวอังคารโคจรทับลัคนาราศีเมษของดวงเมืองร่วมกับดาวศุกร์มีตำแหน่งในราศีเมษ เล็งดาวเสาร์กับราหูในราศีตุล ทำมุมฉากกับเกตุในราศีมังกร ทำให้ดาวอังคารอ่อนเปลี้ยเพลียแรงหมดสภาพไปในปีนี้
...
ดาวอังคารเป็นดาวของผู้มาดูแลบ้านเมือง เป็นบุคคลในเครื่องแบบ จึงส่งผลให้บุคคลผู้มีอำนาจอยู่ในมือพร้อมอาวุธอ่อนกำลังอ่อนแอลงไป"
โสรัจจะ นวลอยู่
ศาสตร์แห่งโหร 2556



สําหรับท่านที่สนใจเรื่องโหราศาสตร์แล้ว คำทำนายทางการเมืองของ โสรัจจะ นวลอยู่ ที่ปรากฏในหนังสือ "ศาสตร์แห่งโหร 2556" น่าสนใจอย่างยิ่งว่า พลังทหารซึ่งเป็นแกนกลางของกลุ่มอำนาจนิยมไทยมาโดยตลอดนั้นมีสภาพที่จะอ่อนกำลังลง หรือสรุปง่ายว่า กองทัพจะอ่อนแรงลงในการเมืองไทยของปี 2556
แต่ถ้าพิจารณาอีกมุมหนึ่งที่ไม่ต้องอ้างอิงตำราทางโหราศาสตร์จากการเดินทางของดวงดาวในเรื่องของดวงเมืองแล้ว เราก็อาจจะเห็นภาพที่คล้ายคลึงกัน

เพราะหลังจากการล้อมปราบใหญ่ด้วยการใช้กำลังทหารสลายการชุมนุมของคนเสื้อแดงทั้งในปี 2552 และ 2553 แล้ว กองทัพได้ตกเป็นจำเลยของการ "สังหารหมู่ 98 ศพ" แม้จะมีการกล่าวว่า ปฏิบัติการล้อมปราบที่เกิดขึ้นเป็นไปตามคำสั่งของฝ่ายการเมืองในขณะนั้นก็ตาม หรือแม้นว่า กระบวนการสอบสวนที่เกิดขึ้นจะมุ่งไปสู่การเอาผิดผู้ออกคำสั่งในเหตุการณ์นั้นๆ
แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าการเสียชีวิตเกิดขึ้นจากกระสุนของอาวุธสงคราม


ในความเป็นจริงเช่นนี้ แม้จะถูกปกป้องด้วยการกล่าวว่า เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารปฏิบัติการใช้ "กระสุนจริง" ตามคำสั่งของฝ่ายการเมือง โดยมีคำสั่งของ ศอฉ. เป็นเครื่องยืนยัน 
แต่ในทางศีลธรรมแล้ว กองทัพปฏิเสธไม่ได้ว่าความตายที่เกิดขึ้น เป็นผลของปฏิบัติการทางทหาร 
ซึ่งหากกระบวนการสอบสวนเดินหน้าไปอีกขั้นหนึ่งจากการเอาผิดฝ่ายการเมืองในฐานะผู้ออกคำสั่งแล้ว ก็น่าสนใจว่า ผู้ปฏิบัติการทางทหารในระดับใดบ้างต้องอยู่ในฐานะ "ผู้รับผิดชอบร่วม" ด้วย

แต่ด้วยเงื่อนไขการเมืองของฝ่ายรัฐบาลที่ต้องยอมรับความจริงว่า การได้รับชัยชนะจากการเลือกตั้งในเดือนกรกฎาคม 2554 นั้น ใช่ว่ารัฐบาลจะสามารถยึดกุมอำนาจรัฐได้อย่างแท้จริง กลไกรัฐในหลายๆ ส่วนยังมีท่าทีที่เป็นปฏิปักษ์กับรัฐบาลอยู่มาก 
ยิ่งในส่วนของผู้นำกองทัพแล้ว ก็น่าสงสัยอย่างมากว่า พวกเหล่านั้นยอมรับหรือไม่ว่า กองทัพเป็น "กลไก" ของรัฐบาล หรือพวกเขายังเชื่อว่า กองทัพเป็น "องค์กรอิสระ" ที่แม้จะได้รับงบประมาณของรัฐ แต่พวกเขาก็เป็นอิสระจากรัฐ และไม่ใช่กลไกรัฐแต่อย่างใด


สถานภาพทางการเมืองเช่นนี้ทำให้รัฐบาลยิ่งลักษณ์มีท่าทีประนีประนอมกับผู้นำกองทัพอย่างมาก จนหลายๆ ครั้งทำให้กลุ่มมวลชนที่สนับสนุนรัฐบาลรู้สึกไม่พอใจ 
หรือในอีกมุมหนึ่งก็จะเห็นท่าทีเช่นนี้จากการที่รัฐบาลแทบไม่ได้มีบทบาทที่เด่นชัดในงานด้านทหาร 
เช่น กรณีของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) ซึ่ง กอ.รมน. เป็นเสมือน "กล่องดวงใจ" ของกองทัพโดยเฉพาะมิติด้านงบประมาณ และได้รับการยอมรับว่าเป็น "สิ่งที่แตะต้องไม่ได้" จากรัฐบาลพลเรือน หรือเรียกง่ายๆ ว่าเป็น "untouchable" ในความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลกับกองทัพทุกยุคทุกสมัย

การที่รัฐบาลเองไม่ได้มีฐานะทางการเมืองที่เข้มแข็ง และประกอบกับฝ่ายการเมืองบางส่วนมีทัศนะแบบ "หนีความขัดแย้ง" เพราะเชื่อว่า การไม่เข้าไปยุ่งในพื้นที่ที่เป็นปริมณฑลแห่งอำนาจของทหารนั้น จะเป็นเงื่อนไขสำคัญทำให้ชีวิตของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งยืนนานต่อไปได้ 
พวกเขาจึงมักจะมีท่าทีแบบ "ประนีประนอมสูง" กับฝ่ายทหาร

อีกทั้งหลังจากการขึ้นสู่อำนาจของรัฐบาลเมื่อต้องเผชิญกับ "มหาอุทกภัย" ในช่วงปลายปี 2554 นั้น รัฐบาลได้รับความช่วยเหลืออย่างมากจากผู้นำกองทัพในการนำเอาทหารออกมาแสดงบทบาทในการบรรเทาภัยพิบัติทางธรรมชาติ 
จนมีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า วิกฤตน้ำท่วมกลายเป็นช่วงเวลาของ "น้ำผึ้งพระจันทร์" ทางการเมืองระหว่างผู้นำกองทัพกับผู้นำรัฐบาล

สำหรับผู้นำรัฐบาลและฝ่ายการเมืองบางส่วนดูจะเชื่อว่า น้ำผึ้งพระจันทร์ไม่ได้หายไปกับสายน้ำหลาก เพราะหลังจากวิกฤตน้ำท่วมแล้ว ต้องยอมรับอย่างมากว่า ความสัมพันธ์ระหว่างผู้นำหญิงของรัฐบาลกับผู้นำทหารนั้น เป็นไปด้วยดี และดูจะดีมากกว่าที่หลายคนประมาณการเอาไว้เช่นในช่วงต้นของรัฐบาล 
ดังนั้น จึงไม่แปลกอะไรที่ท่าทีของรัฐบาลดูจะไม่ประสงค์ที่จะให้การชี้ความผิดในคดีสังหารหมู่ 98 ศพ ไปไกลเกินจากฝ่ายการเมือง
หรือกล่าวในทางคดีอีกนัยหนึ่งก็คือ รัฐบาลดูจะต้องการกันฝ่ายทหารไว้เป็นพยาน มากกว่าจะถือว่าเป็นผู้กระทำความผิดร่วม
และก็มีท่าทีที่ชัดเจนว่าไม่ได้ต้องการเดินไปให้ถึงจุดที่กองทัพจะตกเป็น "จำเลยร่วม" แต่อย่างใด



การเมืองในสภาพเช่นนี้ยังผสมกับเงื่อนไขของความจำกัดอันเป็นผลจากการเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐประหาร 2549 ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังจะเห็นได้ว่าแม้รัฐประหารดังกล่าวจะล่วงเลยมามากกว่า 6 ปีแล้ว แต่การวิพากษ์วิจารณ์ยังเกิดขึ้นโดยตลอด 
อีกทั้งผู้นำรัฐประหารดังกล่าวก็แสดงออกถึงการต่อต้านการยึดอำนาจด้วยการพาตัวเองลงสู่สนามเลือกตั้ง และเข้าสู่รัฐสภาด้วย "รถหาเสียง" ไม่ใช่ด้วย "รถถัง" การกระทำดังกล่าวของผู้นำรัฐประหารจึงเท่ากับเป็นการทำลายเครดิตและความขลังของการยึดอำนาจอย่างหมดสิ้น 
และเท่ากับเป็นการยืนยันว่าในที่สุดแล้ว ถ้าผู้นำทหารต้องการเล่นการเมือง ก็สามารถทำได้ด้วยการลงสมัครรับเลือกตั้งเช่นนักการเมืองโดยทั่วไป และหากความน่าเชื่อถือยังคงพอมีอยู่แล้ว การได้รับการเลือกตั้งเข้าสู่รัฐสภาก็เกิดขึ้นได้โดยไม่จำเป็นต้องอาศัยขบวนรถถังเช่นในยามรัฐประหาร
ดังนั้น จึงไม่แปลกอะไรนักที่จะกล่าวว่า รัฐประหาร 2549 เป็นผลในด้านกลับ ถือเป็นการยึดอำนาจที่ทำลายพลังของกองทัพในทางการเมืองได้อย่างชัดเจน หรืออีกนัยหนึ่งก็คือเป็นการรัฐประหารที่ทำลายตัวเองอย่างรวดเร็ว อาจจะมากกว่ารัฐประหาร 2534 เสียด้วย 

แม้จะมีข้อโต้แย้งได้ว่า รัฐประหาร 2534 นั้นในที่สุดแล้วก็จบลงด้วยวิกฤตการเมืองด้วยการล้อมปราบในเดือนพฤษภาคม 2535 ซึ่งกองทัพพ่ายแพ้และคลี่คลายต่อมาด้วยการออกรัฐธรรมนูญ 2540 แต่ก็จะเห็นได้ว่า ผลกระทบเกิดขึ้นในปี 2535 เป็นหลัก แต่กับอำนาจในส่วนอื่นๆ ของกองทัพนั้นดูจะถูกปรับเปลี่ยนไปน้อยมาก 
สำหรับรัฐประหาร 2549 และตามมาด้วยการล้อมปราบครั้งแรกในสงกรานต์ปี 2552 และล้อมปราบใหญ่ในปี 2553 นั้น แม้กองทัพจะเป็นฝ่ายชนะในการล้อมปราบ แต่ก็ส่งผลกระทบกับกองทัพอย่างมาก จนกลายเป็น "ตราบาป" ของนายทหารที่เกี่ยวข้องเพราะมีผู้เสียชีวิตมากถึง 98 ศพ

และการเสียชีวิตในครั้งนี้ไม่ได้ถูกปล่อยให้กลายเป็น "คลื่นกระทบฝั่ง" เช่นในปี 2516 หรือ 2519
หรือจบลงด้วยการประนีประนอมจนไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นเช่นในปี 2535
หากกลุ่มผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการสูญเสียหลายๆ คนตัดสินใจสู้ เพื่อไม่ให้ทุกอย่างเงียบไป ประกอบกับการเติบโตของสื่อใหม่อย่าง "โซเชียลมีเดีย" ทำให้เรื่องราวของการเสียชีวิตครั้งนี้ได้รับการกระตุ้นเตือนอยู่ตลอด 
โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องยกเครดิตในอีกส่วนหนึ่งให้แก่กลุ่มนักวิชาการของ "ศูนย์ข้อมูลติดตามประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุมกรณีเมษายน-พฤษภาคม 2553 (ศปช.)" ซึ่งได้จัดทำรายงานการเสียชีวิตของผู้คนในเหตุการณ์ดังกล่าวอย่างเป็นระบบ และมีความยาวถึง 1,390 หน้า(เอกสารตีพิมพ์ในปี 2555)



เรื่องราวเหล่านี้กลายเป็นข้อจำกัดทางการเมืองของกองทัพโดยตรง เพราะเมื่อใดก็ตามที่มีการพูดถึงเรื่องของการล้อมปราบที่ราชประสงค์ ก็อดไม่ได้ที่จะต้องพูดถึงบทบาทของปฏิบัติการทางทหารที่เกิดขึ้นในครั้งนั้นด้วย 
อีกทั้งในการต่อสู้ทางการเมืองที่เกิดขึ้น ได้มีเสียงเรียกร้องมาโดยตลอดที่ต้องการให้รัฐบาลไทยตัดสินใจเข้าร่วมเป็นภาคีในอนุสัญญาศาลอาญาระหว่างประเทศ หรือที่รู้จักกันในชื่อของ "ICC" (ไอซีซี) 

การเรียกร้องเช่นนี้ดูเหมือนจะไม่เกี่ยวข้องกับฝ่ายทหาร แต่ถ้าพิจารณาให้ดีจะเห็นได้ว่า การเรียกร้องเช่นนี้มีผลกระทบโดยตรงต่อบทบาทของกองทัพในการเมืองไทย
เพราะจากการล้อมปราบทางการเมืองของไทย ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 6 ตุลาคม 2519 พฤษภาคม 2535 รวมถึงเหตุการณ์ล่าสุด เมษายน 2552 และเมษายน-พฤษภาคม 2553 ล้วนเป็นเรื่องของการใช้ปฏิบัติการทางทหารเข้าสลายการชุมนุมของฝูงชนที่ต่อต้านรัฐบาลทั้งสิ้น

ซึ่งถ้ารัฐบาลไทยตอบรับในการเข้าร่วมอนุสัญญาดังกล่าว การใช้กำลังทหารในการปราบปรามทางการเมืองจะเป็นประเด็นที่มีความละเอียดอ่อนเป็นอย่างยิ่ง 
เพราะปฏิบัติการทางทหารเช่นนั้นอาจถูกฟ้องในศาลอาญาระหว่างประเทศ ซึ่งอาจทำให้ผู้นำทหารที่เกี่ยวข้องกลายเป็น "อาชญากร" ในศาลดังกล่าวได้ไม่ยากนัก

ฉะนั้น แม้หลายคนจะคิดว่า การผลักดันให้รัฐบาลกรุงเทพฯ ยอมรับในเรื่องของศาลนี้แล้ว จะเป็นเสมือนการ "ปิดประตู" ของการใช้กำลังทหารในทางการเมือง โดยเชื่อว่า ถ้ารัฐบาลพลเรือนยอมรับอำนาจของศาลดังกล่าว จะทำให้เกิดเครื่องมือของ "การป้องกัน" บทบาทของการใช้กำลังทหารในการปราบปราม หรือบางทีอาจจะเป็นกลไกของ "การป้องปราม" รัฐประหารในตัวเองด้วย 
แต่ว่าที่จริงก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่รัฐบาลพลเรือนจะกล้าตัดสินใจในเรื่องเช่นนี้ เพราะยังมีปัจจัยอื่นที่สำคัญเข้ามาเกี่ยวข้องจนรัฐบาลอาจจะไม่สามารถตัดสินใจได้ในปี 2556

แต่อย่างน้อยก็คงพอคาดการณ์ได้ว่า เสียงเรียกร้องเรื่องนี้อาจจะมีมากขึ้น และแม้รัฐบาลอาจจะทำอะไรไม่ได้ แต่ในทางกลับกันก็จะกลายเป็นข้อจำกัดสำหรับผู้นำทหารในการเคลื่อนไหวทางการเมืองเช่นกัน 
และขณะเดียวกันหากมองในทางที่ดีแล้ว ก็คงต้องยอมรับว่า ผู้นำทหารหลังปี 2549 เองก็มีบทเรียนอยู่หลายเรื่อง 
และหลายคนก็ดูจะตระหนักถึงความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่กำลังเกิดขึ้นอยู่พอสมควร และไม่มีผู้นำทหารคนใดอยากตกเป็น "จำเลยการเมือง" อีก




อย่างไรก็ตามการอ่อนพลังลงของอำนาจทางทหารนั้นถูกพิสูจน์ด้วยผลของรัฐประหาร 2549 เอง เพราะเป็นการยึดอำนาจซึ่งในที่สุดแล้ว กลุ่มพลังที่ถูกทำลายลงจากการรัฐประหารกลับฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็วในรูปของขบวนของคนเสื้อแดง จนสามารถชนะการเลือกตั้งและจัดตั้งรัฐบาลได้ในปี 2554 
และขณะเดียวกันพรรคการเมืองที่ได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มทหารนั้น นอกจากจะแพ้ในการเลือกตั้งแล้ว พวกเขาตั้งรัฐบาลได้ก็ต่อเมื่อต้องใช้อำนาจทางทหารบีบคั้น จนเกิดการเปลี่ยนขั้วการเมืองได้ 


นอกจากนี้ นับวันจะเห็นชัดเจนมากขึ้นว่า กระแสการเมืองภายนอกไม่ยอมรับการเมืองนอกระบบที่ต้องอาศัยพลังทหารเป็นแกนกลางของการขับเคลื่อนแต่อย่างใด 
และยิ่งในช่วงปลายปี 2555 ที่เห็นถึงการเดินทางเยือนไทยทั้งของผู้นำสหรัฐอเมริกาและผู้นำจีนแล้ว ก็พอจะตีความได้ว่า ชาติมหาอำนาจที่ไทยต้องเกี่ยวข้องด้วยนั้น ไม่ได้ต้องการเห็นการเมืองไทยถอยกลับสู่ระบอบอำนาจนิยมอีกแต่อย่างใด
และทั้งการก้าวสู่ประชาคมอาเซียนในปี 2558 ก็เป็นอีกปัจจัยเหนี่ยวรั้งหนึ่งในเรื่องของทหารกับการแทรกแซงการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อผู้นำทหารพม่ากำลังคลายมือออกจากการเมืองแล้ว ในภูมิภาคนี้จึงไม่มีใครอยากเห็นผู้นำทหารไทยพยายามกระชับมือกับการเมืองไทยอีกแต่อย่างใด

ถ้าพิจารณาจากคำอธิบายอย่างสังเขปในข้างต้นแล้ว รัฐศาสตร์กับโหราศาสตร์ดูจะตอบคล้ายกันว่า ดาวอังคารน่าจะอ่อนแรงในปี 2556... แต่ก็อย่าประมาทจนเกินไป !



.
Admin ไม่สามารถเข้าถึงบทความประจำที่นำเสนอมาร่วม 2ปีเสียแล้ว จึงจะไม่ได้เสนอครบถ้วนเหมือนเคย ..ขออภัยผู้ติดตามทุกท่านด้วย