http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2556-01-14

นิธิ เอียวศรีวงศ์: กฎหมายปรองดอง

.

นิธิ เอียวศรีวงศ์ : กฎหมายปรองดอง
ในมติชน ออนไลน์ วันจันทร์ที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2556 เวลา 11:11:11 น.
( ที่มา  บทความกระแสทรรศน์  นสพ.มติชน รายวัน 14 มกราคม 2556 )


นอกจากผมแล้ว คงมีอีกหลายคนที่ไม่เชื่ออย่างเดียวกันว่า ความขัดแย้งทางการเมืองด้วยความรุนแรงในเมืองไทย ที่ดำเนินมาหลายปีนี้ จะสามารถแก้ได้ด้วยกฎหมายฉบับเดียว ไม่ว่ากฎหมายนั้นจะนิรโทษกรรมให้คนคนเดียว หรือคนทั้งฝูง หรือแม้แต่ออกกฎหมายให้เราสามารถย้อนกลับไปสู่ก่อนการรัฐประหาร 2549 โดยทำให้การรัฐประหารไม่มีผลใดๆ ก็ไม่อาจยุติความขัดแย้งด้วยความรุนแรงที่เราเผชิญอยู่ได้ (แม้ว่ากฎหมายประเภทหลังนี้ควรทำอย่างยิ่ง) ทั้งนี้ เพราะสัญญาณแห่งความขัดแย้งถึงขั้นความรุนแรงต่อกันนั้นได้เกิดขึ้นมาก่อนการรัฐประหาร กว่าความขัดแย้งจะดำเนินมาถึงขั้นนี้ได้ มีปัจจัยอื่นๆ ที่สลับซับซ้อนอยู่เบื้องหลังมากกว่าความฉ้อฉลทางการเมืองของบุคคล หรือกลุ่มการเมือง เช่น กองทัพ, อำมาตย์, ทุนสามานย์, ฯลฯ
ความฉ้อฉลทางการเมืองของบุคคลและกลุ่มบุคคลเกิดในเมืองไทยมานานแล้ว โดยไม่นำไปสู่ความขัดแย้งด้วยความรุนแรง แต่ความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมในประเทศไทยต่างหาก ที่ทำให้ลักษณะฉ้อฉลหลายอย่างที่เคยเป็นปกติในการเมืองไทย ไม่เป็นที่ยอมรับได้อีกต่อไป กฎหมายปรองดองฉบับเดียว ไม่อาจยุติความฉ้อฉลเหล่านั้นได้ 
ที่จริงแล้ว ตลอดความขัดแย้งด้วยความรุนแรง อาญาสิทธิ์ของกฎหมายนั่นแหละที่ถูกท้าทายอย่างเปิดเผยมาแต่ต้นจากทุกฝ่าย เหตุใดจึงไปคิดว่าอาญาสิทธิ์ของกฎหมายปรองดองจะศักดิ์สิทธิ์กว่ากฎหมายอื่น


อันที่จริงความฉ้อฉลในเมืองไทยนั้นไม่ได้จำกัดอยู่ที่การเมืองเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีความฉ้อฉลในหลายต่อหลายด้านอยู่ร่วมกันไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นความฉ้อฉลในการดำเนินธุรกิจ (ที่พันธมิตร เรียกว่าทุนสามานย์) ความฉ้อฉลในการบริหารรัฐกิจ ความฉ้อฉลในกระบวนการยุติธรรมทุกระดับ ความฉ้อฉลในกลไกความมั่นคงแห่งรัฐ ความฉ้อฉลในวงการสื่อ ฯลฯ มีความฉ้อฉลมากมายหลายด้าน ทั้งยังสัมพันธ์เชื่อมโยงกันอย่างแยกไม่ออกด้วย 
พัฒนามาจนถึงขั้นที่คนจำนวนมากรู้สึกว่าไร้ระเบียบกฎเกณฑ์ใดๆ ทั้งสิ้น และนี่คือที่มาแห่งความสำเร็จของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย นั่นคือเร้าความรู้สึกถึงความไร้ระเบียบกฎเกณฑ์ ปิ่มๆ จะย่างเข้าสู่แดนมิคสัญญี โดยอาศัยความฉ้อฉลทุกด้านที่มีอยู่จริงมาเสนอให้แก่ฝูงชน แต่ พธม.จำกัดความฉ้อฉลนั้นไว้ให้เป็นการกระทำของศัตรูทางการเมืองของแกนนำเท่านั้น (เช่นทักษิณและพรรคพวกเท่านั้นที่เป็นทุนสามานย์ ในขณะที่ทุนอื่นๆ เป็นทุนบริสุทธิ์!!!)
แม้กระนั้นก็ประสบความสำเร็จที่ทำให้ฝูงชนรู้สึกว่า เพื่อรักษาสังคมให้พ้นจากมิคสัญญี จำเป็นต้องก้าวข้ามระเบียบเล็กระเบียบน้อยทั้งหลาย ตามแกนนำไปยึดทำเนียบ, สนามบิน, หรือรัฐสภา โดยมองไม่เห็นความสำคัญของระเบียบกฎเกณฑ์ซึ่งถูกถือว่าเล็กน้อยเหล่านั้น



ความไร้ระเบียบ ไม่ว่าจะเกิดขึ้นจากความฉ้อฉลทุกด้านที่สั่งสมมานาน หรือเกิดขึ้นจากการปลุกปั่น ย่อมก่อให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า "โครงสร้างโอกาส" (Opportunity Structure) ใหม่เพื่อมาแทนอันเก่า ทั้งนี้ รวมทั้งโอกาสที่จะมีอำนาจ, โอกาสที่จะแสวงหาโภคทรัพย์, โอกาสที่จะมีเกียรติยศ, โอกาสที่จะมีโอกาส ฯลฯ 
ในระหว่างความขัดแย้งอย่างไร้ระเบียบดำรงอยู่นี้ เราจะเห็นคนหลายกลุ่มเข้ามาสร้างโอกาสใหม่ในสภาวะนี้ กองทัพซึ่งเริ่มถูกคุมงบประมาณจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ได้โอกาสใหม่ที่จะประกันความมั่นคงการเพิ่มงบประมาณประจำปีของตน ฝ่ายตุลาการใช้โอกาสใหม่ในการแทรกเข้าไปควบคุมการใช้อำนาจอธิปไตยของฝ่ายอื่น คนชั้นกลางระดับล่างสร้างโอกาสใหม่ที่จะได้ส่วนแบ่งของงบประมาณเพิ่มขึ้นในโครงการประชานิยม สื่อซึ่งกำลังเดินมาถึงทางตันพบโอกาสของการอยู่รอดด้วยการผูกสัมพันธ์กับทุนให้แน่นหนามากขึ้น ฯลฯ

ในทุกสังคมที่โครงสร้างโอกาสกำลังเปลี่ยน ความขัดแย้งย่อมมีสูงเสมอ เราทุกคนเป็นนักเล่นเกม ในช่วงที่กติกาไม่ชัดเจน การสร้างโอกาสอย่างไม่ถูกต้องตามกฎหมายหรือความชอบธรรม อาจให้กำไรมากกว่าการสร้างโอกาสอย่างถูกกฎหมายและความชอบธรรม และด้วยเหตุดังนั้น ภาวะไร้ระเบียบจะยิ่งรุนแรงขึ้น ซึ่งเป็นผลให้กำไรจากการเล่นเกมอย่างผิดกฎหมายและความชอบธรรมมีมากขึ้น ก่อให้เกิดภาวะงูกินหางไปเรื่อยๆ 
ไม่มีช่วงไหนที่การบังคับใช้กฎหมาย (ที่ชอบธรรม) จะมีความจำเป็นยิ่งไปกว่าในยามที่โครงสร้างโอกาสกำลังเปลี่ยน ความปรองดองจะเกิดขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อการบังคับใช้กฎหมายต้องมีประสิทธิภาพสูงสุด ทั้งนี้ รวมถึงการยกเลิกหรือเปลี่ยนแปลงกฎหมายที่ถูกมองว่าไม่ชอบธรรมด้วย เพราะเป้าหมายสำคัญคือการสร้างระเบียบที่ทุกคนยอมรับได้ และพร้อมจะเล่นเกมกันอย่างแฟร์ๆ

ออกกฎหมายปรองดอง โดยไม่ปฏิรูปกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบ ไม่มีทางที่จะบรรเทาการใช้ความรุนแรงเพื่อเอาชนะกันในความขัดแย้งได้ กฎหมายทั้งระบบในที่นี้รวมถึงรัฐธรรมนูญด้วย ต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เกิดความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่ายจริง มีการถ่วงดุลกันของอำนาจทุกฝ่ายอย่างเหมาะสม หากยังใช้การแก้รัฐธรรมนูญเป็นส่วนหนึ่งของการเล่นเกม เพื่อช่วงชิงโอกาสใหม่ในโครงสร้างโอกาส ดังที่เป็นอยู่ในเวลานี้ (จากทุกฝ่าย) รัฐธรรมนูญจะไม่มีทางนำมาซึ่งความปรองดองได้เป็นอันขาด

ความฉ้อฉลนานาชนิดที่ครอบงำสังคมไทยมาเป็นเวลานานนั้น เกิดขึ้นจากการรวมศูนย์อำนาจไว้ที่ส่วนกลางมากเกินไป (รวมศูนย์ไว้ในกรุงเทพฯ แม้แต่ความขัดแย้งกันด้วยความรุนแรง) ตัวความฉ้อฉลที่แพร่หลายอย่างมากนั้นเอง คือภาวะไร้ระเบียบในตัวของมันเอง ซึ่งอาจพัฒนาไปสู่ความรุนแรงหรือไม่ก็ได้ ความปรองดองจึงแยกไม่ออกจากการกระจายอำนาจ 
ไม่มีหลักประกันใดๆ ว่า การกระจายอำนาจจะไม่แพร่ความฉ้อฉลจากส่วนกลางไปสู่ส่วนท้องถิ่น แต่ความฉ้อฉลในท้องถิ่นนั้นเป็นสิ่งที่ใกล้ตัวประชาชน และเขาสามารถควบคุมได้ในระดับหนึ่ง หากการกระจายอำนาจคำนึงถึงอำนาจควบคุมในท้องถิ่นให้มาก ทั้งจากประชาชนโดยตรง และจากกลไกอื่นๆ ในท้องถิ่นที่ต้องสร้างขึ้นให้เป็นสถาบัน

อำนาจของท้องถิ่นในการปกครองตนเองนั้น ไม่ควรจำกัดอยู่แต่เพียงเข้ามาทำงานแทนกระทรวงมหาดไทยเพียงอย่างเดียว แต่ควรหมายถึงการจัดการตนเองในทุกด้าน จึงรวมงานของทุกกระทรวง และอำนาจการอนุมัติเกี่ยวกับการจัดการทรัพยากรในท้องถิ่นระดับหนึ่งด้วย แม้แต่ด้านที่ท้องถิ่นไม่มีอำนาจตัดสินใจได้เอง คือความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและการป้องกันประเทศ ท้องถิ่นก็ควรมีเสียงสะท้อนจากมุมมองและผลประโยชน์ของท้องถิ่นเอง เพื่อการพิจารณาของส่วนกลางด้วย

การปฏิรูปกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบ จะเกิดประสิทธิภาพได้จริง ก็ต่อเมื่อท้องถิ่นสามารถตรวจสอบและมีส่วนในการบังคับใช้ด้วย ดังนั้น การปฏิรูปด้านนั้นจึงไม่ใช่ทำโดยจำกัดบทบาทไว้ที่ส่วนกลางเท่านั้น ต้องกระจายบทบาทไปถึงท้องถิ่นด้วยเท่านั้น จึงจะเกิดผลจริง เช่นท้องถิ่นมีตำรวจของตนเองและควบคุมตรวจสอบตำรวจท้องถิ่นได้ หรือมีอำนาจในการออกกฎหมายบางอย่างที่ไม่ขัดกับเจตนารมณ์ของกฎหมายส่วนกลางได้ เป็นต้น


ความขัดแย้งด้วยความรุนแรงที่เกิดในประเทศ มีสาเหตุมาจากความไร้ระเบียบกฎเกณฑ์ และความไร้ระเบียบกฎเกณฑ์เป็นผลมาจากความฉ้อฉลในทุกด้านที่สั่งสมสืบทอดมานานหลายทศวรรษ สร้างโครงสร้างโอกาสที่คนจำนวนน้อยฉกชิงโอกาสด้านต่างๆ ไปหมด เมื่อสังคมเปลี่ยนไป คนกลุ่มใหม่ที่เคยยอมรับโครงสร้างโอกาสที่ตัวเสียเปรียบกลับไม่ยอมรับ และพยายามจะใช้ช่องทางของการเลือกตั้งที่มีอยู่แล้วในโครงสร้างโอกาสให้เป็นประโยชน์แก่ตนเองบ้าง แต่กลุ่มได้เปรียบเดิมไม่ยอม ก่อให้เกิดความขัดแย้งที่รุนแรงมากขึ้นระหว่างกลุ่มอำนาจเดิมกับคนกลุ่มใหม่ กระทบต่อโครงสร้างโอกาสที่กำลังเปลี่ยนไป ทุกฝ่ายเข้ามาช่วงชิงโอกาสในโครงสร้างใหม่ ด้วยการเล่นเกมแบบใหม่ ทั้งโดยถูกต้องกฎหมายและทำนองคลองธรรม และไม่ถูกกฎหมายและทำนองคลองธรรม
ความปรองดองจะเกิดได้ก็ด้วยความพยายามลดความฉ้อฉลด้านต่างๆ ลง หันกลับมาสร้างระเบียบใหม่ที่ก่อให้เกิดโครงสร้างโอกาสที่เป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย เท่ากับบังคับให้ทุกฝ่ายต้องหันมาเล่นเกมที่จะทำกำไรได้ ก็ต่อเมื่อสอดคล้องกับระเบียบกติกาใหม่ และจะขาดทุนหากละเมิดระเบียบกติกานั้น

กฎหมายปรองดองฉบับเดียวช่วยอะไรไม่ได้ นอกจากช่วยสร้างมโนภาพว่ารัฐบาลใส่ใจกับความปรองดองเท่านั้น


อันที่จริงช่วงนี้เป็นช่วงที่เหมาะสมที่สุดสำหรับการปรองดอง เพราะทั้งสองฝ่ายยันกันได้โดยไม่มีทางที่ฝ่ายใดจะเพลี่ยงพล้ำอย่างสิ้นเชิง ฝ่ายหนึ่งได้อำนาจตามประเพณีไว้เกือบหมด อีกฝ่ายหนึ่งได้อำนาจจากหีบบัตรเลือกตั้งอย่างค่อนข้างมั่นคง จะล้มหีบบัตรก็ทำไม่ได้ ในขณะที่จะใช้อำนาจจากหีบบัตรเลือกตั้งเพื่อล้มล้างอีกฝ่ายหนึ่ง ก็ทำไม่ได้ 
ในความขัดแย้งอย่างรุนแรงทุกแห่ง หากพัฒนามาถึงจุดที่สองฝ่ายไม่อาจเพลี่ยงพล้ำต่อกันได้เช่นนี้ เสียงของคนกลางซึ่งไม่เคยมีใครรับฟังก็จะดังขึ้น
เราอาจไม่เหลือ "คนกลาง" ที่ทุกฝ่ายพร้อมรับฟังแล้ว แต่ทางออกที่เป็นกลาง โดยไม่เกี่ยวกับตัวบุคคล ยังอาจมีผู้รับฟังอยู่ ทางออกเช่นนั้นย่อมได้มาจากการศึกษาอย่างเป็นวิชาการถึงความขัดแย้งที่เกิดขึ้น ทำความเข้าใจทั้งในระดับปรากฏการณ์ และลึกลงไปถึงระดับโครงสร้าง ตรวจสอบทางออกต่างๆ ที่หลายต่อหลายสังคมได้เคยใช้มา ทั้งทางออกที่ได้ผลและทางออกที่ไม่ได้ผล เพื่อวิเคราะห์หาเหตุผลว่าเหตุใดจึงได้ผล และเหตุใดจึงไม่ได้ผล ในสถานการณ์อะไรที่ทำให้ได้ผล และในสถานการณ์อะไรที่ทำให้ไม่ได้ผล

เสนอความรู้เช่นนี้แก่สังคม เพื่อช่วยกันค้นหาทางออกที่เป็นจริง และเป็นไปได้ ความปรองดองจะเกิดขึ้นได้จากการกระทำเช่นนี้ มากกว่าการออกกฎหมายฉบับเดียวอย่างแน่นอน 



.
Admin ไม่สามารถเข้าถึงบทความประจำที่นำเสนอมาร่วม 2ปีเสียแล้ว จึงจะไม่ได้เสนอครบถ้วนเหมือนเคย..ขออภัยผู้ติดตามทุกท่านด้วย