.
ศึกชิงผู้ว่าฯ 2556..ฐานเสียง 6 แสนจะสู้กับ 9 แสน อย่างไร
โดย มุกดา สุวรรณชาติ คอลัมน์ หลักศิลากลางน้ำเชี่ยว
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2556 ปีที่ 33 ฉบับที่ 1692 หน้า 20
คู่แข่งหลักในศึกชิงผู้ว่าฯ กทม. 2556
คือ เพื่อไทย และ ปชป.
การเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ในยุคการเมืองเลือกข้าง คู่แข่งหลักจะมาจากค่ายการเมืองใหญ่ ผู้สมัครอิสระที่เคยมีโอกาสชนะพรรคการเมืองหลายครั้ง คราวนี้เหลือโอกาสน้อยมากๆ
ประชาธิปัตย์ (ปชป.) ได้คะแนนในการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. เกินกว่า 900,000 ในสามครั้งหลัง แต่เพื่อไทยสนับสนุนใครไม่ว่าโดยตรงโดยอ้อม ก็ได้เพียง 500,000-600,000 เท่านั้น แล้วจะสู้กันได้อย่างไร? (ผู้วิเคราะห์ใช้ตัวเลขกลมๆ เพื่อจะได้จำง่าย) ลองย้อนดูการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ในอดีต ว่าใครแข่งกับใคร แพ้-ชนะ อย่างไร?
ตำนานการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.
ปี2518 มีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ครั้งแรก นายธรรมนูญ เทียนเงิน จาก ปชป. ชนะ ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ จากพลังใหม่ ได้คะแนน 99,000 มีผู้ใช้สิทธิเพียง 13.8% แต่หลังรัฐประหาร 6 ตุลาคม 2519 เพียงหกเดือน ผู้ว่าฯ จากการเลือกตั้งก็ถูกปลดจากตำแหน่ง และกลับไปใช้การแต่งตั้งเหมือนเดิม
จนกระทั่งถึงยุคประชาธิปไตยครึ่งใบก็มีการเลือกตั้งอีกครั้งในปี 2528 พลตรีจำลอง ศรีเมือง ได้รับเลือกด้วยคะแนนประมาณ 400,000 นายชนะ รุ่งแสง จาก ป.ช.ป.ได้ประมาณ 240,000 พรรคประชากรไทยได้ 140,000 มีผู้มาใช้สิทธิ 34.6% พลตรีจำลองเป็นผู้ว่าฯ จนหมดสมัย ก็ได้รับเลือกอีกครั้งด้วยคะแนนประมาณ 700,000 พรรคประชากรไทยได้ 280,000 พรรค ปชป.ได้ 60,000 มีผู้มาใช้สิทธิ 35.8% แต่พลตรีจำลองก็ลาออกกลางคันเพื่อไปเล่นการเมืองระดับชาติ
การเลือกตั้งในปี 2535 ร.อ.กฤษดา อรุณวงษ์ ณ อยุธยา รองผู้ว่าฯ ของพลตรีจำลองลงสมัครและได้รับเลือกด้วยคะแนน 360,000 ชนะ ดร.พิจิตต จาก ปชป. ซึ่งได้ 300,000 มีผู้มาใช้สิทธิ 23%
เมื่อครบวาระในปี 2539 พลตรีจำลองกลับมาเล่นการเมืองท้องถิ่นอีกครั้ง แต่ ร.อ กฤษดาผู้ว่าฯ ไม่ยอมหลีกทางให้ จึงต้องชนกันเอง ส่วน ดร.พิจิตตก็ชิ่งออกจาก ปชป.ลงสมัครอิสระอีกครั้ง เช่นเดียวกัน ถือว่าเป็นการแข่งขันของตัวเต็งเก่า
ผลปรากฏว่า ดร.พิจิตตชนะ ได้คะแนนประมาณ 770,000 พลตรีจำลองได้ประมาณ 520,000 ร.อ.กฤษดา ผู้ว่าฯ เก่าได้ 240,000 มีผู้มาใช้สิทธิ 43.5%
การแพ้ของพลตรีจำลองครั้งนี้มีคนกล่าวว่าสาเหตุมาจากการตัดคะแนนกันเองกับ ร.อ.กฤษดา
การเลือกตั้งปี 2543 ดร.พิจิตตเป็นมาครบสี่ปีไม่ได้ลงสมัครอีก ครั้งนี้มีผู้มาใช้สิทธิเกินครึ่ง คือ 58.8% ผู้ได้รับเลือกตั้งคือ นายสมัคร สุนทรเวช ได้คะแนนเกินหนึ่งล้านคะแนน (ถือเป็นคะแนนสูงสุดจนถึงปัจจุบัน) สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ จากไทยรักไทยได้ 520,000 ปชป.ได้ 250,000
การเลือกตั้งปี 2547 ผู้ได้รับเลือกตั้ง คือ นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน จาก ปชป.ได้ 910,000 นางปวีณา หงสกุล สมัครอิสระได้ 620,000 นายชูวิทย์ กมลวิสิษฎ์ ได้ 330,000 ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุงได้ 160,000 การเลือกตั้งครั้งนี้ดำเนินการตามกฎหมายใหม่ ควบคุมโดย กกต. ปีนี้มีผู้มาใช้สิทธิสูงถึง 62.5%
เมื่อผู้ว่าฯ อภิรักษ์ครบวาระในปี 2551 ก็ลงเลือกตั้งใหม่อีกครั้ง ได้คะแนน 990,000 ชนะ นายประภัสร์ จงสงวน จากพลังประชาชนซึ่งได้ 540,000 นายชูวิทย์ กมลวิสิษฎ์ ได้ 340,000 ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ ได้ 260,000 มีผู้มาใช้สิทธิ 54% แต่หลังเลือกตั้งเพียงเดือนเศษ ป.ช.ป. ก็ชี้มูลความผิดนายอภิรักษ์เรื่องคดีรถและเรือดับเพลิง จึงต้องลาออก
การเลือกตั้งใหม่ในวันที่ 11 มกราคม 2552 ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ได้รับเลือกด้วยคะแนน 930,000 พรรคเพื่อไทยส่ง นายยุรนันท์ ภมรมนตรี ลงแข่งได้ 610,000 และ มล.ณัฏฐกรณ์ เทวกุล (หม่อมปลื้ม) สมัครอิสระได้ 330,000 นายแก้วสรร อติโพธิ 140,000 ผู้มาใช้สิทธิ 51%
ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ ลาออกตามวาระเมื่อวันที่ 9 มกราคม 2556 และจะมีการเลือกตั้งใหม่วันที่ 3 มีนาคม 2556 และการเลือกตั้งผู้ว่าฯ ครั้งนี้มิได้เป็นเพียงการเลือกผู้บริหาร แต่จะมีผลกระทบต่อเนื่องไปยังการเมืองส่วนอื่นๆ และแนวรบอื่นที่กำลังขัดแย้ง ทั้งปัจจุบันและอนาคต
ปัจจัยที่จะทำให้ได้คะแนนเสียงมาจากไหน?
1.ฐานเสียงของพรรค 2.คุณสมบัติของผู้สมัคร 3.นโยบาย 4.กำลังคนสนับสนุน และเสบียงกรัง 5.ยุทธวิธีในการหาเสียงและหาคะแนน 6.ทีมงานและทีมเสนาธิการ 7.ใครเป็นคู่แข่งและใครเป็นตัวแปร
เราจะเริ่มต้นจากการวิเคราะห์ การแข่งขันและสถานการณ์ในอดีตเพื่อทำความเข้าใจกับฐานคะแนน
1. ฐานเสียง ใน กทม.ของพรรคเพื่อไทย และ ปชป.แบบเลือกข้าง ในสถานการณ์ หลังรัฐประหารและตุลาการภิวัฒน์
ปี 2551 การเลือกตั้งผู้ว่าฯ ยุคแบ่งข้างแบ่งสี เป็นการเลือกตั้งหลังรัฐประหารรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ในปี 2549 ช่วงระหว่างการรัฐประหาร ผู้ว่าฯ กทม. คือนายอภิรักษ์ ได้ดำรงตำแหน่งอยู่ได้ปกติไม่มีการเปลี่ยนแปลงหรือถูกปลดเหมือนสมัยนายธรรมนูญ แม้จะถูกร้องเรียนเกี่ยวกับเรื่องคดีทุจริตรถดับเพลิง
และเมื่อหมดสมัย ปชป.ก็ยังส่งนายอภิรักษ์ลงสมัครอีก ส่วนพรรคพลังประชาชนส่ง นายประภัสร์ จงสงวน อดีตผู้ว่าการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน ลงแข่งขัน
การเลือกตั้งกำหนดไว้วันที่ 5 ตุลาคม 2551 แต่การหาเสียงเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.เกิดขึ้นในขณะที่ฝ่ายรัฐบาลพรรคพลังประชาชนถูกกดดันด้วยการชุมนุม วันที่ 25 พฤษภาคม 2551 กลุ่มพันธมิตรฯ ชุมนุมยืดเยื้อ มีการยึดทำเนียบในเดือนสิงหาคม 2551 กลบข่าวการเลือกตั้งผู้ว่าฯ เกือบหมด
และกลุ่มอำนาจเก่าก็ยังรุกต่อไปด้วยตุลาการภิวัฒน์ จนนายกฯ สมัครต้องถูกปลดด้วยข้อหาทำกับข้าวออกทีวี เมื่อ 9 กันยายน 2551 แม้หานายกฯ ใหม่คือ นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ มาได้แล้วแต่ยังไม่มีโอกาสเข้าทำเนียบ การเลือกตั้งครั้งนั้นจึงเป็นการเลือกตั้งที่พลังประชาชน ไม่มีโอกาสสู้ เพราะมัวแต่หนีตาย (ซึ่งผลสุดท้ายก็ไม่รอด)
ผลการเลือกตั้ง ปชป.จึงได้ไป 990,000 ขณะที่พลังประชาชนได้ 540,000
ดูเหมือนว่าผลการเลือกตั้งจะเป็นตัวชี้นำให้กลุ่มอำนาจเก่าได้ใจ วันที่ 6-7 ตุลาคม 2551 จึงได้เคลื่อนกำลังปิดล้อมรัฐสภา จึงเกิดเรื่องราวมีทั้งตำรวจและประชาชนได้รับบาดเจ็บ
จากนั้นวันที่ 24-25 พฤศจิกายน 2551 ก็บุกยึดสนามบิน วันที่ 2 ธันวาคม 2551 ศาลรัฐธรรมนูญ ก็ปลดนายกฯ สมชาย ยุบพรรคพลังประชาชน พรรคชาติไทยและพรรคมัชฌิมาธิปไตย
สรุปผลการต่อสู้ปี 2551 เสียนายกไป 2 คน ถูกยุบไปอีก 3 พรรค ผู้ว่าฯ กทม. เป็นของ ปชป.แถมได้นายกรัฐมนตรีอีกหนึ่งคน (มีการเปลี่ยนขั้วรัฐบาลในค่ายทหาร โดยพรรค ปชป.ขึ้นมาเป็นแกนนำ มีอภิสิทธิ์เป็นนายกฯ ในวันที่ 17 ธันวาคม 2551)
วันที่ 11 มกราคม 2552 มีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. อีกครั้งแทน นายอภิรักษ์ที่ลาออกเพราะถูก ป.ช.ป. ชี้มูลความผิด วันนั้นกลุ่มอำนาจเก่าก็มีอำนาจทั้งหมดอยู่ในมือ ทั้งนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ มีทั้งมหาดไทย กลาโหม กกต. และ ป.ช.ป. หรือองค์กรอิสระอื่นๆ
ผลคะแนนที่ออกมา ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ จาก ปชป. ได้ 930,000 และพรรคเพื่อไทย (ซึ่งเพิ่งเปลี่ยนชื่อจากพลังประชาชนที่ถูกยุบ) ได้ 610,000
การปรับฐานเสียงของสองพรรคใหญ่
หลังการสลายการชุมนุม 2553
พรรคเพื่อไทย การเลือกตั้ง กทม. 4 ครั้ง ในปี 2543, 2547, 2551, 2552 ในสถานการณ์การเมืองต่างๆ คะแนนเสียงเพื่อไทย อยู่ที่ประมาณ 5-6 แสน เป็นฐานคะแนนที่สวิงน้อยมาก เมื่อเทียบกับ ปชป.นี่จึงเป็นสมมุติฐานที่คนจำนวนหนึ่งเชื่อว่าพรรคเพื่อไทยไม่น่าจะชนะ ปชป.ได้ในการเลือกตั้งเดือนมีนาคมที่จะถึงนี้
กว่าคะแนนเสียงใน กทม.ของเพื่อไทย จะขยับ ต้องรอจนหลังเกิดเหตุการล้อมปราบเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553 รอจนประชาชนเห็นฝีมือการบริหารของ ปชป. 2 ปีกว่า จึงจะมีการเปลี่ยนความนิยม ดูได้จากคะแนนของเพื่อไทย เขต กทม. ในการเลือกตั้งใหญ่ กรกฎาคม 2554 ซึ่งฝ่ายตรงข้ามกุมทุกอย่าง เพื่อไทย ดิ้นหนีตาย ระดมสุดแรง มีเสื้อแดงช่วย ได้มาถึง 1.2 ล้านเสียง เพิ่มขึ้นเกือบ 100%
ปชป. การเลือกตั้ง สามครั้งหลังจะเห็นว่าปชป.ได้คะแนนระดับเก้าแสนเศษทั้งสิ้น ก่อนหน้านั้นในวันที่ตกต่ำอาจจะอยู่ที่หกหมื่น และเมื่อ ปชป.ไม่ได้อยู่ในยุครุ่งโรจน์ ปี 2543 ส่ง นายธวัชชัย สัจจกุล (บิ๊กหอย) ซึ่งเป็นที่รู้จักของแฟนฟุตบอล ก็ได้คะแนนประมาณ 250,000 ก่อนก้าวกระโดดขึ้นมาเป็น 910,000 ในปี 2547 เพราะในครั้งนั้นกระแสต่อต้านทักษิณเพิ่งจะเริ่มขึ้น
หลังจากนั้น ปชป.ก็เก็บกระแสต้านทักษิณมาเป็นคะแนนได้แทบทั้งหมด แต่คะแนนเก้าแสนสองครั้งหลังในปี 2551 และ 2552 น่าจะเกิดจากองค์ประกอบทางการเมืองและอำนาจอื่นๆ เข้ามาช่วยเสริม หลังสลายการชุมนุม 1 ปีและเป็นรัฐบาล 2 ปี ปชป.มีอำนาจรัฐอยู่ในมือ คุม กทม. ทุกปัจจัยพร้อม วันเลือกตั้งใหญ่ กรกฎาคม 2554 มีการเลือกตั้งล่วงหน้า ทุ่มสุดกำลังทุกวิถีทาง ได้มาถึง 1.30 ล้านเสียง เพิ่มขึ้น 40%
ดังนั้น ถ้านำการเลือกตั้งใหญ่ครั้งสุดท้ายมาร่วมพิจารณาด้วย ลดปัจจัยตัวบุคคลของอภิสิทธิ์และยิ่งลักษณ์ลง ยังไม่นำนโยบายที่จะเสนอในปี 2556 มาคิด ความเหนือกว่าของฐานคะแนน ปชป. ใน กทม. ต้องมากกว่า เพื่อไทยประมาณ 10% (ประมาณ 80,000-100,000 คะแนน) ซึ่งถือว่าไม่ห่างกันเกินไป
สามารถเบียดกันเข้าเส้นชัยได้ถ้าเพื่อไทยมีความเหนือกว่าด้านอื่น
ต้องทำคะแนนเท่าไรจึงมีโอกาสชนะ
ที่ผ่านมาคะแนนของที่ 1...ที่ 2... จะมีความห่างกันประมาณ 200,000 เป็นอย่างน้อย ยกเว้นปี 2535 ร.อ.กฤษดา ชนะ ดร.พิจิตต เพียง 60,000 คะแนน ส่วนคะแนนที่เลือกผู้สมัคร ลำดับ 3-5 จะรวมกันได้ประมาณ 400,000-600,000 คะแนน แต่ การต่อสู้ครั้งนี้คะแนนที่จะกระเด็นออกไปจากพรรค ปชป. และเพื่อไทยคงจะไม่มากเท่าเก่า เนื่องจากเป็นยุคการเมืองที่เลือกข้างแล้ว
ปี 2556 กระแสการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. อาจไม่แรงเท่าเลือกตั้งใหญ่ 2554 การออกสตาร์ตถ้าคิดตามฐานเสียงของคู่แข่งจากสองพรรค จะมิได้อยู่ที่ 1.3 ล้าน ต่อ 1.2 ล้าน ผู้ที่เคยลงคะแนน 30% จะถอยกลับมาคิด บางคนไปลงให้คนใหม่ๆ หรือสลับข้าง
บางคนผิดหวังไม่เลือกใคร ผลงานและพฤติกรรม ของพรรคและผู้สมัครจึงมีส่วน
ดังนั้น ฐานคะแนนน่าจะเริ่มจาก 9 แสน ต่อ 8 แสนจากนั้นก็จะต้องมีการทำคะแนนเพิ่มจาก ปัจจัยอื่นๆ เช่น นโยบาย ครั้งนี้ ผู้ชนะจะต้องได้เกิน 1 ล้าน และทำลายสถิติเดิมของนายสมัคร แต่คะแนนหลักหมื่น ก็อาจชี้ขาดชัยชนะได้
เกมนี้ไม่มีเสมอ จะแพ้ได้หรือไม่ได้ก็ต้องมีคนแพ้ เพราะคนชนะมีคนเดียว
นี่ว่ากันเฉพาะฐานเสียง แต่ยังมีอีกหลายปัจจัยที่จะชี้ขาดชัยชนะ ที่สำคัญ เพื่อไทยต้องระวังอย่าให้ถูกยุบพรรคก่อนวันเลือกตั้ง เดี๋ยวคนเลือกจะจำชื่อใหม่ไม่ได้เหมือนปี 2551
(การวิเคราะห์การเลือกตั้ง กทม. จะมีทุกสัปดาห์ในบางส่วนของบทความนี้ จนสิ้นสุดการเลือกตั้ง)
.
Admin ไม่สามารถเข้าถึงบทความประจำที่นำเสนอมาร่วม 2ปีเสียแล้ว จึงจะไม่ได้เสนอครบถ้วนเหมือนเคย ..ขออภัยผู้ติดตามทุกท่านด้วย
Selected Messages & Good Article for People Ideas and Social Justice .. หวังความต่อเนื่องของพลังประชาธิปไตยและการเลือกตั้งของปวงชนอันเป็นรากฐานอำนาจอธิปไตย เพื่อกำกับกติกาและอำนาจการเมือง-อำนาจตุลาการ ไม่ว่าต่อคนชั่ว(เพราะใคร?) และคนดี(ของใคร?) ไม่ให้อยู่เหนือนิติรัฐของประชาชน
http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย