http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2556-01-01

หนุ่มเมืองจันท์: “ปัญหา” คือ “โอกาส”

.

“ปัญหา” คือ “โอกาส”
โดย หนุ่มเมืองจันท์ www.facebook/boycitychanFC คอลัมน์ ฟาสต์ฟู้ดธุรกิจ
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 33 ฉบับที่ 1689 หน้า 24 


ใครที่เห็นข่าว "แมคโดนัลด์" ออกประกาศเตือนเด็กที่มาใช้ร้านเป็นที่ติวหนังสือแบบสิงสถิตยาวนาน 
ส่วนใหญ่ทุกคนจะเห็นใจเจ้าของ 
เพราะทำธุรกิจขายอาหาร ไม่มีใครอยากให้ลูกค้านั่งแช่หรอกครับ 
อยากให้ "กิน" แล้วรีบ "ไป"


ส่วนลูกค้าที่ต้องการเข้าไปใช้บริการจริงๆ ก็ไม่พอใจที่หาที่นั่งไม่ได้
แถมบางโต๊ะก็มีการวางหนังสือจองไว้ทั้งที่ตัวคนยังไม่มา 
แต่ในอีกมุมหนึ่งก็น่าเห็นใจเด็กรุ่นใหม่ที่ต้องการหาสถานที่ดูหนังสือ หรือติวหนังสือ

วัฒนธรรมของเด็กรุ่นใหม่ ไม่เหมือนกับคนรุ่นเก่า 

สมัยก่อน การอ่านหนังสือจะต้องการบรรยากาศโรแมนติก 
เงียบ-เงียบ คนเดียว 
ถ้าไม่อ่านที่บ้านก็อ่านในห้องสมุด



แต่วันนี้วัฒนธรรมการอ่านหนังสือเปลี่ยนไป
เด็กๆ ไม่ชอบอ่านหนังสือคนเดียว 
เขาจะรวมกลุ่มนั่งอ่านหนังสือด้วยกัน 
ไม่ต้องการความเงียบ แต่ต้องการบรรยากาศความคึกคัก 
คุยกันได้ กินขนม พักสายตาด้วยการมองสาวหรือมองหนุ่มๆ

ไม่ชอบบรรยากาศห้องสมุด
มันเงียบเกินไป คุยกันไม่ได้


นอกจากนั้น เด็กรุ่นใหม่ยังติวกันเป็นอาชีพ 
ติวกันตั้งแต่ประถมจนถึง ม.ปลาย 
นอกจากเข้าเรียนในสถาบันกวดวิชาแล้ว ยังมีระบบติวส่วนตัวอีก 
การติวส่วนตัวก็ต้องการสถานที่ที่เดินทางสะดวก มีแอร์เย็นๆ บรรยากาศไม่น่าเบื่อ 
และประหยัด

นั่นคือ เหตุผลที่เขาเลือกร้านแมคโดนัลด์ ทั้งที่เปิดในห้างสรรพสินค้า
หรือแยกมาเปิดต่างหากนอกห้าง
เพราะองค์ประกอบครบครับ
เดินทางสะดวก 
มีแอร์เย็นๆ 
มีอาหารและเครื่องดื่ม 
บรรยากาศคึกคัก 
และ "ประหยัด"



ในอีกมุมหนึ่ง "ปัญหา" ของร้านแมคฯ ก็คือ "โอกาส" ทางธุรกิจ 
เพราะแสดงว่ามี "ดีมานด์" เรื่องหาสถานที่อ่านหนังสือ หรือติวหนังสือของเด็กรุ่นใหม่จริง 

เราเห็นความต้องการของคนกลุ่มนี้ชัดเจน 
เพียงแต่เป็น "ดีมานด์" ที่ไม่ตรงกับลักษณะธุรกิจของ "แมคฯ" เท่านั้นเอง

ลองคิดเล่นๆ ว่าถ้าเราเอาความต้องการของเด็กกลุ่มนี้เป็นตัวตั้ง 
แล้วดีไซน์รูปแบบธุรกิจมาตอบสนองความต้องการนั้น 
เป็นไปได้ไหม
ผมว่าเป็นไปได้ 
ตอนนี้มีคนหนึ่งทำแล้วครับ 
เขาชื่อ "เอนก จงเสถียร"


ธุรกิจหลักของเขาคือทำโรงงานผลิตฟิล์มถนอมอาหารใหญ่ที่สุดในประเทศไทย 
"เอ็ม แรป" 
จนวันหนึ่งเขาไปเรียนปริญญาโทแล้วมีปัญหา หาสถานที่อ่านหนังสือตอนกลางคืนไม่ได้ 
ต้องไปอ่านหนังสือที่ออฟฟิศของเพื่อน 
จะไปร้านกาแฟก็ปิดแค่ 4 ทุ่ม 
"เอนก" ตั้งคำถามว่าทำไมเมืองไทยไม่มีสถานที่อ่านหนังสือดีๆ สำหรับนักเรียน นักศึกษาบ้าง 

และนั่นคือ ที่มาของร้าน Too fast to sleep ตรงข้ามจามจุรีสแควร์ ใกล้สถานีรถไฟใต้ดินสถานีสามย่าน 
เปิดบริการ 24 ชั่วโมง 
เป็นสถานที่มั่วสุมทางปัญญา 
ตกแต่งร้านทันสมัย คล้ายห้องสมุด 
มีอาหารและเครื่องดื่มบริการ

ผมชอบแนวคิดของ "เอนก" มาก 
เขาบอกว่าทำ Too fast to sleep ไม่ได้หวังกำไรสูงสุดเหมือนธุรกิจทั่วไป 
ขอแค่มีรายได้พอเลี้ยงลูกน้องก็พอ 
แต่เป็นธุรกิจที่ทำแล้วมีความสุข 
ดีกว่าสร้างวัดสร้างโรงเรียน

ความจริงแล้วแนวคิดเรื่องสถานที่ดูหนังสือ หรือติวหนังสือของเด็กนักเรียน นักศึกษา นั้นน่าสนใจมาก 
อาจไม่ต้องทำหรูแบบ Too fast to sleep ก็ได้ 
"เอนก" ลงทุนไปประมาณ 10 ล้านบาท 
และพึ่งรายได้จากการขายอาหาร เครื่องดื่ม

ผมลองคิดเล่นๆ ว่า ถ้าเราพลิกมุมคิดใหม่ 
ลงทุนกับการตกแต่งน้อยลง 
รายได้มาจากเวลาที่นั่งอ่านหนังสือ 
คิดเงินตามเวลาที่นั่ง 

เหมือนที่จอดรถ 
ไม่ต้องคิดแพง

ราคาอาหารและเครื่องดื่มอย่าคิดแบบฟาสต์ฟู้ด 
แต่คิดแบบร้านอาหารทั่วไปที่เด็กจ่ายได้ 

คำนวณดีๆ อาจกลายเป็นธุรกิจใหม่ 
แปร "ปัญหา" ให้เป็น "โอกาส"




ประมาณเดือนมีนาคมที่ผ่านมา "มติชนออนไลน์" เคยไปสัมภาษณ์ "เอนก" 
เขาบอกว่าไม่มีงานไหนที่ทำแล้วภูมิใจเท่ากับงานนี้
"เอนก" เล่าว่าเขาเคยเจอเด็กคนหนึ่งเดินมาขอดูหนังสือโดยไม่ซื้อของในร้าน เพราะไม่มีสตางค์ 
"ผมก็อนุญาตนะ บอกให้มานั่งได้เลย ที่นี่มีน้ำเปล่าให้ดื่มฟรี มีดินสอเหลาไว้ให้ใช้ แล้วผมก็ถามเขาว่าทำไมไม่อยู่อ่านหนังสือที่บ้าน"
เด็กคนนั้นตอบว่าเขาอยู่บ้านเช่า ที่ห้องอยู่ด้วยกัน 5 คน เวลานอนแค่พลิกตัวยังแทบไม่ได้ เพราะห้องมันเล็ก จะเปิดไฟอ่านหนังสือก็ไม่ได้

"ตอนฟังผมสลดใจมาก ร้องไห้เลย เห็นเลยว่าสังคมมันแตกต่างกัน"
เด็กคนนั้นจึงได้สิทธิพิเศษอ่านหนังสือที่ร้านทุกวันตั้งแต่ตอนเย็นถึงตอนเช้า


พอเริ่มเปิดร้าน Too fast to sleep เขาก็ได้เจอประสบการณ์ที่นึกไม่ถึง
"เด็กหอ" ครับ 
กลุ่มนี้จะส่งตัวแทนมาดูลาดเลาก่อน 1 คน 
ดูว่าที่ร้านมีที่ว่างไหม 
ถ้าว่างก็จะโทร.เรียกเพื่อน 
เพื่อนที่มาก็เตรียมพร้อมเต็มที่ ใส่กางเกงชาวเลมาเลย 
บางคนเตรียมผ้าห่มและหมอนมาด้วย
ดูหนังสือกันยันสว่าง

ครับ นี่คือ พฤติกรรมการดูหนังสือของเด็กรุ่นใหม่ 
วิธีคิดและวิธีการดำเนินชีวิตของเขาอาจแตกต่างจากคนรุ่นเรา 

แต่อย่าตัดสินเขาจากมาตรฐานของเราเป็นอันขาด
เพราะคนทุกรุ่นล้วนมีเหตุผลตามยุคสมัย

ต้องพยายามเข้าใจเขาจากมุมของ "เขา"
ไม่ใช่ในมุมของ "เรา"




.